Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เชิญอ่านบทความเรื่องของ "คนต่างด้าวสำหรับประเทศไทย : คือใครบ้าง ? รัฐไทยต้องคุ้มครองไหม ? อย่างไรกัน ?"


เราพบว่า แนวคิดเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐมักเป็นตัวแปรในปัญหาประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าว แม้โดยหลักกฎหมายไทย รัฐไทยมีหน้าที่ที่จะต้องรับรองสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าว แต่ในทางปฏิบัติ หากเป็นเรื่องของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย คนต่างด้าวนี้ก็มักจะเข้าไม่ถึงการใช้ประโยชน์ในสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ เพราะหน่วยงานของรัฐฝ่ายความมั่นคงมักจะมีแนวคิดว่า คนต่างด้าวดังกล่าวเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ในขณะที่รัฐไทยมีอำนาจที่จะจำกัดเสรีภาพของคนต่างด้าวเพื่อมิให้คนต่างด้าวนี้ครอบงำเศรษฐกิจไทย แต่ในทางปฏิบัติ ปรากฏมีคนต่างด้าวจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาครอบงำธุรกิจไทยในสาขาอาชีพที่คนสัญชาติไทยประกอบการอยู่ ทั้งนี้ เพราะหน่วยงานของรัฐฝ่ายเศรษฐกิจไม่ได้มองเห็นว่า การครอบงำทางเศรษฐกิจของคนต่างด้าวเป็นภัยต่อรัฐ และมีผลเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

               สำหรับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ขอให้ อ.แหวว เขียนที่ อ.แหววคิดว่า สำคัญเกี่ยวกับคนต่างด้าวลงให้วารสารของสำนักงานฯ อ.แหววเลยเสนอที่จะเขียนเรื่องของ "คนต่างด้าวสำหรับประเทศไทย : คือใครบ้าง ? รัฐไทยต้องคุ้มครองไหม ? อย่างไรกัน ?" เขียนเสร็จตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่ทางสำนักงานฯ เพิ่งจัดพิมพ์เสร็จ และเพิ่งแจกสู่สังคมไทย  ท่านใดชอบกระดาษ ก็ไปขอจากทางสำหรับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ท่านใดอยากอ่าน โดยไม่ชอบเก็บกระดาษ ก็ดาวน์โหลดเอาได้เลยค่ะ คลิกตรงนี้เลยนะคะ

               คำถามนี้ไม่ยากเลยที่จะตอบสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน แต่คำตอบย่อมไม่มีคำตอบเดียว คำตอบย่อมเป็นไปได้ ๒ ทาง เพราะกฎหมายของรัฐชาติในสมัยปัจจุบันแยกการคุ้มครองคนต่างด้าวออกเป็น ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าว และ (๒) คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิที่ไม่มีลักษณะของสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าว 

คนต่างด้าวสำหรับประเทศไทย : คือใครบ้าง ? รัฐไทยต้องคุ้มครองไหม ? อย่างไรกัน ?"

เมื่อเราศึกษาเรื่องคนต่างด้าว อีกประเด็นที่จะต้องตระหนักอย่างมาก ก็คือ ความไม่แน่นอนของความเป็นคนสัญชาติหรือความเป็นคนต่างด้าว  เราสังเกตพบว่า ในทุกสังคมรัฐ  ความเป็นทั้งสองอาจจะสลับไปสลับมา ตามสถานการณ์ชีวิตของเอกชนและเจตนารมณ์ของรัฐ

รัฐไทยไม่ควรสับสนระหว่างความมั่นคงทางสัญชาติของประชากรกับความหลากหลายทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และแหล่งกำเนิดของประชากร

สถานการณ์ความมั่นคงทางสัญชาติของประชากรกับสถานการณ์ความหลากหลายทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์สังคมไทย ความเป็นเอกภาพของประชากรในเรื่องสัญชาติก็ไม่หมายถึงความสิ้นสุดของความหลากหลายทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และแหล่งกำเนิดของประชากร ในขณะเดียวกัน  ความหลากหลายดังกล่าวย่อมไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อปัญหาความมั่นคงทางดินแดนแห่งรัฐเช่นกัน ในทางกลับกัน ความเป็นต่างด้าวทางกฎหมายของมนุษย์ที่มีความกลมกลืนกับสังคมไทยแล้วกลับสร้างความไม่มั่นคงแก่สังคมไทย ดังนั้น การยอมรับกลไกการปรับคนต่างด้าวที่กลมกลืนกับสังคมไทยให้เป็นคนสัญชาติไทยต่างหากที่จะขจัดปัญหาชนกลุ่มน้อยในเชิงสัญชาติที่อาจเป็นภัยความมั่นคงแห่งดินแดน กระบวนการปรับเปลี่ยนก็จะเกิดขึ้นในกาลเวลาทีละเล็กทีละน้อย  อย่างเป็นธรรมชาติ  และเกิดขึ้นอย่างเป็นอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ตาม ความขัดข้องของกลไกก็อาจเกิดขึ้นได้ด้วยความไม่เข้าใจกฎหมายและอคติของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นภารกิจที่ฝ่ายปกครองของรัฐไทยย่อมจะต้องมีความชาญฉลาดในการบริหารความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งรัฐในอนาคต

ในสถานการณ์ที่คนต่างด้าวยังไม่มีความกลมกลืนกับสังคมไทย การให้สัญชาติก็อาจจะไม่ส่งผลดีต่อความมั่นคงของรัฐเท่าใดนัก แต่ในสถานการณ์ที่คนต่างด้าวได้กลมกลืนกับสังคมไทย จนกระทั่งความเป็นต่างด้าวทางข้อเท็จจริงสิ้นสุดแล้ว คงเหลือแต่ความเป็นต่างด้าวทางข้อกฎหมาย การปฏิเสธที่จะให้สัญชาติไทยแก่คนต่างด้าวเทียมนี้ ก็น่าจะส่งผลร้ายต่อความมั่นคงของรัฐมากกว่า

------------------------------------------------------------------
สรุปมาจากบทความเรื่อง "

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

งานเขียนฉบับนี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐

http://gotoknow.org/file/archanwell/view/155684

คำถามแรกที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ตั้งขึ้นก็คือ คนต่างด้าวได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทยหรือไม่ ? อย่างไร ?

หมายเลขบันทึก: 168867เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2008 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท