Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

คนสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสอง : ควรมีสิทธิทางการเมืองโดยจำกัดอย่างนั้นหรือ ?


เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒ อ.แหววมีนัดพิเศษกับคุณธีรยุทธ นักข่าวแสนเก่งจากช่อง ๙ เพื่อให้สัมภาษณ์เรื่องสิทธิทางการเมืองของอดีตคนไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย แน่นอน ซึ่งในวันนี้ มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยสุขสันต์ สามพายวรกิจหลักดินแดนโดยการเกิด มิใช่คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรอีกต่อไป

รายการนี้จะพูดถึง

(๑) คุณสุขสันต์ สามพายวรกิจ ซึ่งเป็นคนที่เกิดในไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๒ จากบิดาและมารดาซึ่งมีเชื่อสายเวียดนาม วันนี้ ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลนครอุบลราชธานี 

และ (๒) คุณณรงค์ชัย แซ่หลี่ ซึ่งเกิดที่เชียงรายเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ จากบิดาและมารดาซึ่งเป็นอดีตทหารจีนคณะชาติที่อพยพเข้ามาในไทยและมีประวัติชีวิตที่ช่วยรักษาแผ่นดินไทยร่วมกับกองทัพไทยมาตลอด  ความดีงามของครอบครัวนี้จึงทำให้ณงค์ชัยได้รับการยอมรับเป็นผู่ใหญ่บ้านในหมู่บ้านในตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย แต่พอครบวาระและจะลงสมัครใหม่เมื่อปลายปีผ่านมา กลับถูกทางการบอกว่า เป็นผู้ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากมีสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิวรรคสอง ที่พ่อแม่เป็นคนต่างด้าว ทางกฎหมายจะไม่ถือว่า เป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิด

ขอให้สังเกตว่า บุคคลทั้งสองมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตั้งแต่เกิด แล้วมาเสียสิทธิที่จะใช้สัญชาติไทยนี้ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ โดยผลของข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ แต่กลับคืนสัญชาติไทยในหลายปีต่อมา โดยมาตรา ๑๑ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่จะอนุมัติให้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ แก่คนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยจากบิดาและมารดาต่างด้าว ซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองแบบไม่ถาวร 

คนอย่างคุณสุขสันต์และคุณณรงค์ชัยเป็นคนที่มีความผุกพันกับประเทศไทยในระดับของ "เจ้าของแผ่นดิน" เพราะไม่มีจุดเกาะเกี่ยวโดยข้อเท็จจริงกับประเทศใดเลย แม้จะมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐต่างประเทศอยู่บ้าง เพราะบุพการีเกิดในรัฐต่างประเทศนั้น แต่ความเกาะเกี่ยวกับรัฐต่างประเทศนั้นก็เบาบางมาก ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าของแผ่นดินที่เกิดของบิดามารดาของคุณสุขสันต์ก็จริง แต่บุพการีของคุณสุขสันต์ก็ไม่ได้รับการยอมรับในทะเบียนราษฎรของรัฐเวียดนามในสถานะใดๆ เลย ในกรณีของคุณณรงค์ชัยก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน

การปฏิเสธสิทธิทางการเมืองแก่เจ้าของแผ่นดิน ก็คือ การปฏิเสธสิทธิที่จะปกครองตนเอง (Right to Self Determination) ของเจ้าของแผ่นดิน ซึ่งผลกระทบอาจมากมาย เจ้าของสิทธิเข้าไม่ถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานมากมาย และสังคมได้สร้างความกดดันจากความยุติธรรมทางสังคมแก่คนที่เป็นกำลังแห่งแผ่นดิน และวันหนึ่งที่ความกดดันมีมากขึ้นและแรงขึ้นการแย่งแผ่นดินก็จะเกิดขึ้น การรักษาความมั่นคงแห่งแผ่นดินจึงต้องทำดังที่รัชกาลที่ ๕ และ ๖ ทรงทำ ก็คือ การให้สิทธิในสัญชาติโดยการเกิดเพื่อที่จะให้สิทธิทางการเมืองแก่เหล่าเจ้าของแผ่นดิน กลยุทธง่ายที่ถูกละทิ้งโดยฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทยในยุคนี้..... น่าเสียดายและน่าเสียใจ

หมายเลขบันทึก: 273624เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2009 00:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท