ปิติกานต์ จันทร์แย้ม : อิสระทำให้โอกาสอยู่กับเรา
ปิติกานต์ จันทร์แย้ม : อิสระทำให้โอกาสอยู่กับเรา จันทร์แย้ม

ประสบการณ์ที่หาอ่านไม่ได้จากในหนังสือ : การจัดตลาดนัดความรู้ "การปฏิบัติสหกิจศึกษา"


ท่านใดมีประสบการณ์ที่หลากหลาย ช่วยเติมเต็มนะคะ...ขอบคุณคะ

ในการจัดตลาดนัดความรู้ "การปฏิบัติสหกิจศึกษา" เมื่อวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2551 ณ โรงแรมลิกอร์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ที่ท่านอาจารย์วัลลา ตันตโยทัยและคุณพรรณ ได้มาเป็นวิทยากรกระบวนการให้ ตนเองก็ได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์การการจัดตลาดนัดความรู้ และคิดว่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานต่างๆ มหาวิทยาลัยตามความเหมาะสม

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการสังเกตและร่วมกิจกรรม มีดังนี้

  1. การให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมคุณอำนวย และคุณลิขิตประจำกลุ่ม
    - นัดคุยเตรียมความพร้อมคุณอำนวย คุณลิขิต คุณกิจ (ทดลองเล่า) ถึง 2 ครั้ง
    - ได้มีการทดลองเล่าเรื่อง (เล่าแบบธรรมชาติไม่ใช่อ่านตามที่เตรียมมา ทดลองเล่าแบบย้อนศร)
    - ฝึกการตีความเกร็ดความรู้จากเรื่องเล่า
    การจัดสถานที่การจัดตลาดนัดความรู้
    - สถานที่ควรกว้างพอสมคร สามารถจัดกิจกรรม เคลื่อนไหว
    - นอกจากนั้น ห้องจะสามารถจัดเป็นกลุ่มแลกเปลี่ยนบริเวณรอบห้องได้โดยไม่รบกวนกันและวิทยากรกระบวนการสามารถเดินสังเกตการแลกเปลี่ยนในกลุ่มได้ตลอด
  2. ได้ความรู้ ไอเดีย ประสบการณ์การจัดสหกิจศึกษา ที่เห็นว่าจะสามารถนำมาปรับใช้กับการพัฒนาตนเอง และการพัฒนางานได้
  3. แนวคิดการจัดตลาดนัดความรู้ อาจารย์วัลลาได้อธิบายได้เห็นภาพชัดดีคะ ตลาดที่เรารู้จักคือเป็นสถานที่รวมสินค้าดีๆ มากมายมาแลกเปลี่ยนกัน สำหรับตลาดนัดความรู้ "การปฏิบัติสหกิจศึกษา" ก็เป็นการนำของดีๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติสหกิจของแต่ละคน แต่ละที่มาแลกเปลี่ยนกัน โดยใช้ KM มาเป็นเครื่องมือการแลกเปลี่ยนและนำมาใช้ต่อ
  4. การเตรียมการจัดตลาดนัดความรู้
    - คุณกิจที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนต้องเป็นคุณกิจตัวจริงที่ทำเรื่องนี้จริง ...ซึ่งจะทำให้การจัดตลาดนัดครั้งนี้ได้ประโยชน์ ได้ขุมความรู้ในการปฏิบัติสหกิจศึกษา
    - คุณกิจต้องได้รับการทาบทามถึงตัว และเป็นคนทำงานจริง ไม่ใช่คนที่ถูกเกณฑ์มา
    - จุดเด่นของการจัดครั้งนี้ มีนักศึกษา ผู้ประกอบการมาร่วมกิจกรรมด้วยซึ่งถือเป็น input เพื่อให้เราสามารถจัดระบบสหกิจที่ดี
  5. ความเนียนของวิทยากรในการออกแบบกิจกรรมที่ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการพร้อมเปิดใจให้กับเพื่อนในการเผยเคล็ดลับการปฏิบัติสหกิจศึกษา" อาจารย์วัลลาและคุณพรรณ ใช้กิจกรรม เช่น
    - การตกลงอายุ เนื่องจากผู้เข้าร่วมโครงการมีทั้ง อาจารย์ พนักงาน ศิษย์เก่า นักศึกษา ผู้ประกอบการ ซึ่งอายุหลากหลาย เพื่อให้กิจกรรมในครั้งนี้ลื่นไหลได้มีการกำหนดอายุผู้เข้าร่วมเป็นอายุเดียวกัน เชิญชวนถอดหัวโขน
    - กิจกรรมสัมพันธ์ เช่น การปรบมือ (ทำให้ใจเราเป็นหนึ่งเดียวกัน) หันหลังจ๊ะเอ๋ (เรียนรู้ที่จะเอาใจ เอาใจเราใส่ใจเขา) กิจกรรมคลายเชือก (ทำให้เราช่วยกันแก้ปัญหาร่วมกัน) กิจกรรมรวมเงิน (กระตุ้นให้เราวิ่งที่จะไปรู้จักคนอื่น) นำคำจากบัตรมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวและส่งคนมานำเสนอให้ตื่นเต้น (ทำให้เราเรียนรู้วิธีการเล่าเรื่อง) กิจกรรม Pizza กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เราสัมพันธ์กันได้อย่างรวดเร็วทั้งที่เราไม่รู้จักกันมาก่อน สามารถหยิบเอากิจกรรมง่ายๆ และสามารถสร้างความสัมพันธ์ได้ เช่น การเล่น Bingo จาก Bank 100 และยังมีกิจกรรมที่ฝึกทักษะการเล่าเรื่อง เช่น กิจกรรมกระจก (ทำให้เราฝึกเล่าเรื่อง ฝึกฟัง) ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมทักษะก่อนเล่าเรื่อง
    - การทำ BAR (Before Action Review) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมโดยใช้คำถามที่ชวนผู้เข้าร่วมตอบดังนี้
        1. ที่มาประชุมครั้งนี้ คาดหวังอะไร อยากได้อะไรกลับไปบ้าง
        2. เพื่อให้ได้สิ่งนั้น ตนเองจะทำอะไรบ้าง และอยากให้ผู้อื่นทำอะไร
       อาจจะมีการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเขียน card และพูดสดในเวที
  6. ตอกย้ำบทบาทจากการแนะนำกระบวนการ ของอาจารย์วัลลา ของ คุณอำนวย คุณลิขิต คุณกิจ ที่พอจะจับประเด็นได้มีดังนี้
    - คุณอำนวย (Group Facilitator) มีหน้าที่ในการทำให้การแลกเปลี่ยนลื่นไหล ไม่ออกนอกประเด็น สร้างบรรยากาศเชิงบวก ชื่นชมยินดี ให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มได้เล่าเรื่อง ตั้งคำถามกระตุ้นให้เล่าความรู้ฝังลึกออกมา หากคุณกิจเล่าแบบไม่ลงลึก คุณอำนวยก็สามารถถาม หรือเชิญชวนคุณกิจร่วมถามได้ เพื่อให้ได้วิธีการปฏิบัติและผลการปฏิบัติ ให้รู้เลยว่าจะเอาวิธีนี้ไปใช้ต่อจะต้องทำอย่างไรบ้าง เมื่อคุณกิจเล่าเสร็จ คุณอำนวยต้องเชิญชวนคุณกิจแต่ละคนผลัดกันตีความ ถอดประเด็นจากเรื่องเล่าให้อยู่ในรูปแบบของความรู้ปฏิบัติ
    - คุณกิจ (Knowledge Participant) เป็นผู้นำเสนอผลสำเร็จ นำเสนออย่างเร้าพลัง สำหรัในเวทีตลาดนัดความรู้ การเสนอสินค้าเป็นศิลปะ จะต้องเสนอให้น่าสนใจ มีสีสัน อย่าเล่าเป็นนามธรรม ให้เล่าเป็นรูปธรรมว่าทำอย่างไร มีวิธีการอย่างไร เล่า 1 ประเด็นต่อ 1 เรื่อง เล่าเห็นความคิดความเชื่อ เล่าแบบข้อมูลดิบๆ ไม่ผ่านการตีความของเรื่องเล่า คนเล่าต้องมีใจพร้อมให้ เอื้ออาทรผู้ฟัง คิดทบทวนเรื่องเล่าอย่างดี พูดมาจากใจไม่ใช่มาจากสมอง เล่าแบบไม่ผ่านการตีความ เล่า 2-3 นาที ให้เล่าแบบย้อนศร เล่าจากความสำเร็จ ความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงทำเช่นนี้
    - ผู้ฟัง ให้ฟังไม่ใช่แค่ได้ยิน มุ่งความสนใจด้วยสายตา เปิดใจฟังอย่างไม่มีอคติ เอาใจใส่ต่อข้อเท็จจริง ไม่มีการตัดสิน ...เปิดหู เปิดตา เปิดใจ ใช้ภาษากายด้วยการมองแสดงความสนใจ ชื่นชม ฟังด้วยใจ ซึ่งจะส่งผลต่อแววตาผู้เล่าสว่างไสว เป็นประกาย มีพลัง ซึ่งจะทำให้ความรู้ปฏิบัติจากผู้เล่าถูกปล่อยออกมาโดยไม่รู้ตัว
    - บรรยากาศ ต้องเป็นบรรยากาศสบายๆ ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียด สงบ
    - คุณลิขิต (Note Taker) จดประเด็นขุมความรู้จากเรื่องเล่าของสมาชิกกลุ่ม
  7. ขุมความรู้หรือเกร็ดความรู้ต้องเป็นวิธีปฏิบัติที่เห็นภาพชัดเจน
  8. แก่นความรู้ต้องเป็นกริยา Action หรือความรู้ปฏิบัติ ที่บ่งบองถึง Competency คือความสามารถที่สหกิจจะต้องมีจึงจะทำให้มีประสิทธิภาพ (หรือเป็นสิ่งที่ทำแล้วจะสามารถบรรลุตามเป้าหมายของการจัดครั้งนี้) และ Action นั้นจะต้องบ่งบอกถึงความมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ตัวอย่างแก่นความรู้ ของ KM สหกิจหมายถึง การจัดสหกิจศึกษาให้ดี ต้องมี Competency นี้
    - การจัดระบบงานสหกิจ
    - การสร้างความเข้าใจเรื่องสหกิจศึกษากับอาจารย์และนักศึกษา
    - การเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาก่อนออกสหกิจ
    - การจัดหาสถานประกอบการให้เพียงพอ
    - การคัดเลือกงานให้เหมาะกับนักศึกษา
    - การสร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับสถานประกอบการ
    - ระบบสนับสนุนนักศึกษาระหว่างปฏิบัติงาน
    - การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับสถานประกอบการ
  9. การทำตารางอิสรภาพ เป็นการบอกระดับความสามารถหลัก (Competency) เพื่อบรรลุเป้าหมายภายใต้บริบทที่เป็นอยู่ และที่ดีควรเป็นอย่างไร โดยพิจารณาจากแก่นความรู้ สร้างเกณฑ์ระดับความสามารถ 1-5 โดยให้คิดว่าแก่นความรู้ที่ดีจะประกอบด้วยอะไรบ้าง ระดับความสามารถอาจจะมาจากขุมความรู้ หรือที่ดีควรเป็นอย่างไร ถ้าไม่มาจากขุมความรู้ก็อาจจะเป็นบริบทของขุมความรู้ก็ได้ โดยให้กลุ่มสร้างเอง การกำหนดระดับต้องกำหนดว่า ให้ดีกว่าระดับ 1 ... 2 ควรทำอย่างไร ... 3 ดีกว่า 2 จริงหรือไม่ ตารางอิสรภาพทำไปเพื่อจะให้กลุ่มใหญ่ประเมินตนเองเพื่อพัฒนา ซึ่งเกณฑ์ที่สร้างขึ้นในเวลาจำกัดอาจจะไม่สมบูรณ์ ในขณะที่แต่ละสถาบันได้ประเมินตนเองและอ่านเกณฑ์ประเมินแล้วเห็นว่าไม่สมบูรณ์ ก็สามารถใส่ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุง
  10. กิจกรรมจับคู่เรียนรู้ เมื่อเราทำตารางอิสรภาพ และแต่ละสถาบันได้ประเมินตนเอง...ว่าใน 1 ปีข้างหน้าสถาบันเราจะไปจุดใด (เป้าหมาย) และปัจจุบันเราอยู่จุดใด ...แล้วทำให้เรารู้ว่าแต่ละแก่นความรู้สถาบันใดเป็นสถาบันพร้อมให้และพร้อมรับ กิจกรรมในครั้งนี้ได้จับคู่สถาบันที่พร้อมให้และพร้อมรับได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยให้นั้งคุยกันอีก ซึ่งระยะเวลาในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ค่อนข้างน้อย ...และเห็นว่าถ้าเรานำมาประยุกต์ใช้จริงในการนำมาใช้เห็นว่ากระบวนการนี้เราสามารถใช้ Peer Assist ที่ท่านอาจารย์วัลลาเคยแนะนำ ซึ่งจะทำให้ผู้พร้อมให้และผู้พร้อมรับได้ประโยชน์และสามารถนำประสบการณ์ แนวปฏิบัติไปประยุกต์ใช้ได้จริง ผู้พร้อมรับอาจจะต้องเตรียมความพร้อม เตรียมข้อมูล ประเด็นสิ่งที่ต้องการเรียนรู้จาก ผู้พร้อมให้ ผู้พร้อมให้ต้องเตรียมตัวเพื่อให้เห็นแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมก็น่าจะเกิดประโยชน์ในการนำไปปฏิบัติต่อ
  11. การเชื่อมเครือข่ายโดยการแนะนำการใช้ Blog มาเป็นเครื่องมือในการติดต่อและแลกเปลี่ยนกันต่อภายหลังการจัดกิจกรรมเสร็จสิ้น

สุดท้ายต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์วัลลา คุณพรรณ และโครงการสหกิจวลัยลักษณ์ที่เปิดโอกาสให้ตนเองได้เรียนรู้ ซึ่งไม่สามารถหาอ่านได้จากในหนังสือ ขอบคุณคะ

ท่านใดมีประสบการณ์ที่หลากหลาย ช่วยเติมเต็มนะคะ...ขอบคุณคะ

คำสำคัญ (Tags): #ตลาดนัดความรู้
หมายเลขบันทึก: 185023เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2008 23:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยกให้เป็นกระบี่เดี่ยวมือหนึ่งไปเลย พี่ขอนำไปปรับใช้ต่อเลยน่ะครับ และมีความเห็นเสริมนิดนึง  คนมาร่วมประชุมครั้งนี้ส่วนใหญ่อยู่ในวงการเดียวกันคือ คนที่ทำสหกิจศึกษา แม้จะระดับต่างกัน เช่น ฝ่ายนโยบาย ฝ่ายบริหาร และฝ่ายปฏิบัติการ ส่วนใหญ่พวกเราจะรู้จักกันมาก่อนแล้ว เพราะสหกิจศึกษาฯ ไม่ได้ทำเป็นปีแรก เช่นวลัยลักษณ์ ก็ทำมาแต่ปี 2544 แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ได้มาหลอมรวมกันอย่างลึกซึ้ง ด้วยกระบวนการของ การจัดการความรู้และ วิทยากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลา ตันตโยทัย และคุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน เพราะเวทีสัมมนาโดยทั่วไป มักจะไม่ลึกซึ้งเท่านี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท