ทำไมเจ้าดอกเห็ด “ความรู้” จึงบานสะพรั่งที่ NOK Precision บางปะอิน (ตอน ๑)


เรื่องเล่าจากบางปะอิน

ปีนี้ฝนชุก  ทำให้ผมนึกถึง “ดอกเห็ด”  ซึ่งมักจะเห็นผู้คนเก็บมาขายกันในช่วงฤดูกาลนี้ของปี    ด้วยสภาพฝนฟ้าอากาศเอื้ออำนวยทำให้เห็ดสารพัดชนิดเติบโตได้อย่างดี   ซึ่งหากอุปมาเรื่องความรู้  เปรียบเหมือน ดอกเห็ด แล้วละก้อ  ผมก็จะนึกถึงกรณี   บริษัท เอ็นโอเคพริชิชั่น คอมโพเนนท์ (ประเทศไทย) จำกัด  ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา    เปล่านะครับ! ที่นี่ไม่ได้เพาะเห็ดขาย   แต่ที่นี่มีสิ่งหนึ่งที่เติบโตแบบขยายตัวคล้ายดอกเห็ด   นั่นก็คือ “ความรู้”  เป็นความรู้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานด้านอุตสหกรรมผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนประกอบของ Hard Disk และโทรศัพท์มือถือ    ซึ่งมันดูงอกงามและบานสะพรั่งเต็มพื้นที่โรงงานเสียเหลือเกิน

                ผมพูดเกินไปหรือเปล่า?  ที่ว่า  “ความรู้” ของที่นี่บานสะพรั่งเต็มไปหมด  อย่าเพิ่งเชื่อ  แต่ขอแนะนำว่าต้องไปดู  ไปคุยที่ NOK ด้วยตนเอง เสียก่อน

 

ลานกิจกรรม วันกิจกรรม      

 

วันนั้นผมไปเยี่ยม NOK  เป็นวัน NOK Activity Day  ผมคาดหวังอยากไปสัมผัสบรรยากาศจริงๆ  ไปแบบไม่เป็นทางการ  ไปมองดูการดำเนินชีวิตของผู้คนใน ชุมชน NOK อย่างที่เขาเป็น อยู่ คือ จริงๆ      วันนั้น  ถนนหลังอาคารโรงงาน ๑  ถูกปัดกวาด  เอาเวทีมาวาง  มีบูธเรียงแถวไปสองข้างทางตลอดแนวหลังโรงงาน    บนเวทีมีวงดนตรีขับกล่อม  นักดนตรีทุกคนเป็นพนักงานของ NOK   คุณสราวุฒิ  พันธุชงค์  Department Manager  เล่าให้ฟังว่า นักดนตรีที่เห็นนั้น  มาจากหลายแผนก        หนึ่งในนั้นมีพนักงานขับรถพี่สุรพงษ์ ศุภจรรยา MD อยู่ด้วย  เป็นมือกลองของวง       ตอนนั้นเวลาก่อน ๑๑ โมงครึ่ง  ก็มีเสียงเพลงบรรเลงสดบนเวทีแล้ว  แต่พนักงานใน line การผลิตบางส่วนก็ยังคงทำงานอยู่  บางส่วนก็ทะยอยกันออกมา  

                ผมสอบถามคุณสราวุฒิว่างานนี้มีที่ไปที่มาอย่างไรบ้าง?  ได้คำตอบว่า  เดิมทีเดียว  กรรมการคณะทำงานแต่ละชุดตามเครื่องมือแต่ละประเภท   จะกำหนดวันจัดกิจกรรม เช่น  Safety Week, Quality Week  อะไรประมาณนี้    ซึ่งก็มีหลายกิจกรรม  ทำแยกกันเป็นเรื่องๆไป   หากมาคิดรวมๆแล้วลงทุนเยอะ  คุมงบประมาณไม่ค่อยได้  แถมมีข้อเสียตรงที่มันแปลกแยกการทำงานกันมากเกินไป   เลยปรับใหม่     ให้ทุกเรื่องที่ทำและใช้ใน NOK   กรรมการทุกชุดมาคุยร่วมกันออกแบบสสร้างเป็นพื้นที่บูรณาการทำไปพร้อมกันที่เดียวเลย   เป้าหมายหลักๆ  คือ  ต้องการให้คนใน NOK ได้รู้ว่าในองค์กรของเขามีทำอะไรกันบ้าง?   จึงเกิดวันนี้ขึ้นมา      ดังนั้น  ในงานนี้ก็จะมีบูท ๘  บูธ  ซึ่งมาจากแนวคิด ๘ เสาหลัก (Pillar)  ที่เป็นองค์ประกอบหลักๆ ของ TPM  (Total Productive Maintenance)   และยังมีบูธอื่นเพิ่มเติมอีก ๕ บูธ ได้แก่  ๕ ส.   ประหยัดพลังงาน   มาตรฐานแรงงานไทย  และ จัดการขยะ    งานนี้จัดปีละครั้ง    แต่ละปีจัด ๒ รอบใกล้ๆกัน  รอบแรกสำหรับคนทำงานกะกลางวันครั้งหนึ่ง  และรอบหลังสำหรับคนทำงานกลางคืนอีกครั้งหนึ่ง  ใช้เทคนิคง่ายๆแบบ walk rally  ทุกคนก็จะไปทัวร์ทุกบูธ  เข้าไปแต่ละบูธก็มีกิจกรรมให้ร่วมสนุก  แถมได้ความรู้เรื่องนั้นเพิ่มอีก   มีของรางวัลแทบทุกบูธ       นอกจากนั้น ยังมีบูธของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาลในพื้นที่ หรือ vendor ก็ได้รับเชิญมาร่วมด้วย  ปีนี้คุณสราวุฒิบอกว่าเน้นสัดส่วนสาระให้มากขึ้น  ซึ่งแต่เดิมบรรยากาศบันเทิงจะมากกว่าสาระคิดเป็นสัดส่วนโดยประมาณ ๖๐: ๔๐     

                จะเห็นว่ากิจกรรมใช้เวลาไม่มากนัก  แค่ช่วงพักกลางวัน แต่อย่างน้อยก็สร้างสีสันการเรียนรู้ให้ไม่น่าเบื่อ  ที่จริงวันนี้เป็นเพียงแค่วันกิจกรรมที่ต้องการให้คนเห็นภาพใหญ่   แต่ยังมีวันอื่นอีกที่เจาะลึกในบางประเด็นเน้นเนื้อหาเฉพาะมากขึ้น   และตัวบุคคลก็จะเฉพาะเจาะจงอีกเช่นกัน 

                 อีกมุมหนึ่งของงานที่น่ารัก คือ  พนักงานได้เรียนรู้อะไรไปก็จะได้มีโอกาสลองทำมาเสนอในงานนี้เช่นกัน   อย่างเช่น คนที่เรียนการทำ ปาท่องโก๋ และก๋วยเตี๋ยวลุยสวน    ปกติแล้วบริษัทจะจัดหาวิทยากรจากภายนอกมาสอนให้พนักงานที่สนใจอยากเรียน   จัดให้มีการเรียนทุกเย็น หลังเลิกงาน เก็บเงินค่าเรียนจากพนักงานเพียงคนละ ๕๐ บาท ส่วนที่เหลือบริษัทจ่ายให้   เงินที่บริษัทเอามาจ่ายให้ก็ไม่ได้มาจากไหนละครับ  มาจากเงินขายขยะที่พนักงานร่วมไม้ร่วมมือกันนั่นเอง  จุดนี้ก็น่าสนใจอีกเหมือนกัน  การที่ให้พนักงานทำอะไร  แล้วจะถูกเชื่อมโยงให้เห็นว่า  ประโยชน์จากการทำสิ่งเหล่านั้น มันกลับมาถึงตัวคนทำได้อย่างเป็นรูปธรรม

หมายเลขบันทึก: 411561เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2010 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีครับ อ.ธวัช KMI
  • เยี่ยมมากครับ
  • หากทุกฝ่ายให้โอกาสและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
  • องค์กรก็จะมีชีวิตชีวาดังภาพที่เห็น
  • ขอบคุณมากครับ

ขอโอกาสท่าน Thawat สกัดสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เห็นจากบันทึกอันทรงคุณค่านี้ ถ้าหากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่องไปขอท่าน Thawat ได้ให้ความกรุณาชี้แจงเพิ่มเติม

สิ่งที่ข้าพเจ้าได้เห็นแล้วต้องการที่จะพรรณาออกมาจากกิจกรรมนี้ก็คือ ภาพของสัดส่วนระหว่างการปฏิบัติงานจริงกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เหมาะสมและกลมกลืน

ต้องยอมรับด้วยความสัตย์จริงว่า ข้าพเจ้ามองเห็นสัดส่วนของภาพระหว่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการปฏิบัติงานจริงของหน่วยงานราชการว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กินเวลาของข้าราชการไทยไปเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเวลาที่จะทุ่มเทให้กับ "การบริการประชาชน"

แต่ในองค์กรนี้ ข้าพเจ้าได้เห็นสัดส่วนที่ลงตัวทำให้พลังแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้สำแดงเดช

เพราะองค์กรที่เน้นการปฏิบัติจริงเป็นหลัก และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตบท้ายเพื่อเสริมการปฏิบัติงานหลักนั้นย่อมเกิดศักยภาพในการทำงานที่แท้จริง

ความรู้จะบานสะพรั่งมากถ้าหากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นเกิดจาก Tacit knowledge ของผู้ปฏิบัติงาน

ในองค์กรเอกชน ตามปกติผู้บริหารย่อมไม่ปล่อยให้พนักงาน "ทิ้งงาน" ถึงจะมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นมาก็ตาม คุณก็ต้องทำงานตามหน้าที่ให้เสร็จลุล่วงเสียก่อน...

ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นส่วนตัว (ซึ่งอาจจะผิด) ว่า หน่วยงานราชการ น่าจะนำหลักการขององค์กรธุรกิจไปใช้ คือ ไม่ปล่อยให้พนักงานละทิ้งหน้าที่หลักของตนเองเพื่อไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้

หรือปรับเปลี่ยนงานบริการประชาชนเป็นงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อหวังแต่ผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Case study ขององค์กรนี้มีผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์

ถ้าหากได้เห็นภาพการจัดแบ่งงาน หรือคำพรรณาลักษณะงาน Job description ของพนักงานตามสายงานต่าง ๆ เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีขึ้นภายในองค์กรจะสามารถถอดบทเรียนนำไปเป็นแบบเป็นฐานให้กับนักวิชาการในมหาวิทยาลัยได้เลย

วันนี้ถึงเวลาแล้วที่สังคมจักต้องยอมรับว่า คนที่พัฒนาการทางวิชาการที่ดีที่สุดอยู่ในองค์กรเอกชน มิใช่อยู่ในมหาวิทยาลัยอีกต่อไปแล้ว

เพราะเอกชนไม่ทิ้งงาน งานอันเป็นงานประจำ ดังนั้น เมื่องานประจำไม่บกพร่อง ผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการจึงไม่เศร้าหมอง

งานหลักคือหัวใจของงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะช่วยเสริมสร้างงานหลักนั้นให้ "พัฒนา..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท