๑. เรียนรู้วิถีพ่อค้าผู้เก็บตั๋วผ่านด่าน ๒ มหาสมุทรของโลก


  One of Small Big Country  

สิงคโปร์เป็นเมืองท่าเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุนทรอินเดีย สามารถลดการเดินทางอ้อมโลกในการขนถ่ายสินค้าและการเดินทางทางเรือของโลก ระหว่างทวีปอเมริกา ยุโรป แอฟริกา กับกลุ่มประเทศในเอเชียและออสเตรเลียได้อย่างมหาศาล จึงนับว่าอยู่ในทำเลการเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกแดนใต้ แยกตัวออกมาจากมาเลเซียและสร้างชาติเป็นประเทศเมื่อปี ๒๕๐๘ มีพื้นที่เพียง ๖๑๘ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อย ๕๔ เกาะ แต่เป็นเกาะเล็กน้อยทำประโยชน์ได้เพียงบางส่วน เกาะที่เป็นแผ่นดินหลักนั้น พื้นที่กว้างที่สุดมีระยะทางเพียง ๔๒ กิโลเมตร ส่วนเหนือจรดใต้สุดเพียง ๑๓ กิโลเมตร ประชากรทั้งหมดไม่ถึง ๕ ล้านคนต้องอยู่ร่วมกันด้วยความหนาแน่นต่อพื้นที่สูงที่สุดของโลก ขาดทรัพยากรและพื้นที่เพาะปลูก ต้องอาศัยน้ำและทรัพยากรแทบทุกอย่างจากประเทศเพื่อนบ้านและจากทั่วโลก กิจการและอุตสาหกรรมหลายอย่างต้องถมทะเลขยายผืนดินออกไป

                          ภาพที่ ๑-๒ สิงคโปร์ เป็นเมืองท่าสำคัญ กุมการขนถ่ายสินค้าและการเดินเรือของโลกที่เชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียตรงช่องแคบมะละกา ติดต่อถ่ายเททางเศรษฐกิจสังคมของโลกตะวันตก อเมริกา และโลกตะวันออก

                          ภาพที่ ๓  Merlion สิงห์โตทะเล สัญลักษณ์ของแผ่นดินสิงปุระ สิงห์บุรี หรือสิงหนคร อันเป็นที่มาของสิงคโปร์

  Many Faces, One Heart 

สิงคโปร์มุ่งสร้างทุนมนุษย์และพัฒนาวิถีสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันในสภาพที่คนสิงคโปร์ต้องประกอบไปด้วยชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวมาเลเซีย ชาวอินเดีย และอื่นๆ ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งด้วยเงื่อนไขดังกล่าวนี้ หลายประเทศของโลกที่มีวิธีคิดชาตินิยมแบบคับแคบ มีความสำนึกต่อกลุ่มชนทางสังคมที่ผิดพลาด จะต้องเผชิญกับความขัดแย้งและสร้างความสูญเสียให้แก่ตนเอง จนขาดโอกาสพัฒนาตนเองให้ไปได้ไกลกว่านั้น

                        ภาพที่ ๔ อนุสาวรีย์เซอร์แสตมฟอร์ด ผู้ว่าราชการราชสำนักอังกฤษที่เกรทบริเตนในยุคจักรวรรดินิยมอังกฤษส่งไปสำรวจเกาะสิงคโปร์เมื่อทศวรรษ ๑๘๒๐

 เมืองการค้าและบริษัทจัดการเศรษฐกิจสังคมโลก

ทว่า ทางด้านการพัฒนาคนและการสร้างทุนทางสังคมดังกล่าวนี้ ทำให้สิงคโปร์กลับเป็นไปในทางตรงข้ามกับกระแสหลักของโลก เช่น เป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุด เป็นประเทศขนาดเล็กแต่มีอิทธิพลเสมือนบริษัทขนาดใหญ่ที่บริหารจัดการความเป็นไปของโลกหลายด้าน เป็นศูนย์กลางการเดินเรือและขนถ่ายสินค้าที่สำคัญของโลก เป็นแหล่งกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากอเมริกา เป็นศูนย์กลางการบินของโลกในภูมิภาคเอเชีย เป็นศูนย์กลางการเงินการธนาคาร ร่วมลงทุนทางการค้าและอุตสาหกรรมกับทั่วโลก เป็นประเทศที่จัดระบบที่พักอาศัยของประชากรจำนวนมากบนพื้นที่อันจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

                         ภาพที่ ๕ สิงคโปร์วางแผนเข้าสู่สังคมผู้สูอายุซึ่งเป็นแนวโน้มในอนาคตของสังคมโลกด้วยการปรับกระบวนทรรศน์ต่อความเป็นผู้สูงอายุ จากความเป็น Dependency Population หรือกลุ่มประชากรวัยพึ่งพิงซึ่งเป็นแนวคิดในกระแสหลักของโลก สู่ความเป็น Productive Aging หรือกลุ่มผลิตภาพสูงวัย

 ที่ซึ่งโลกผู้สูงอายุในอนาคตมีชีวิตเคลื่อนไหวสังคมแล้ว

ที่สนามบินแห่งชาติฉางจี ผมคุยกับลุงชราท่านหนึ่งอายุ ๗๔ ปีซึ่งเป็นพนักงานเดินเก็บรถเข็นในสนามบินเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารจากทั่วโลก ทำให้ได้ทราบว่ามีกลุ่มผู้สูงอายุเป็นพนักงานในลักษณะดังกล่าวในสนามบินนานาชาติอีกกว่า ๗๐ คนที่ทำงานบริการและใช้ชีวิตตามที่ต้องการจนกว่าจะทำงานไม่ไหว ด้วยรายได้วันละ ๒๑ ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือวันละประมาณ ๕๒๕ บาท เดือนละประมาณ  ๑๕,๗๕๐ บาท นอกเหนือจากสวัสดิการอื่นๆที่จะได้รับจากกองทุนรัฐสวัสดิการ ซึ่งหมายความว่า วิถีชีวิตของสังคมโลกในอนาคตซึ่งทั่วโลกจะเคลื่อนตัวไปสู่สังคมผู้สูงวัยนั้น สิงคโปร์ไม่เพียงวางแผนล่วงหน้าก่อนใครไปแล้วเท่านั้น แต่ทำให้ปรากฏทางออกทางการปฏิบัติไปแล้วในวันนี้

                         ภาพที่ ๖  การทำให้อุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมและความบันเทิง เป็นระบบเศรษฐกิจต่อเนื่องโดยสร้างเป็นเมือง ตัวละคร สถานที่และชุมชน ตามท้องเรื่องในภาพยนตร์ของบริษัทยูนิเวอร์แซล ให้ผู้มีประสบการณ์ร่วม มีความทรงจำ และความประทับใจในการชมภาพยนต์จากทั่วโลก ได้ชมและสัมผัสได้ในอีกมิติหนึ่ง

 ที่ซึ่งมีทรัพยากรเป็นของตนเองเพียงอย่างเดียวคือคนและทุนทางสังคม 

ผู้คนเป็นจำนวนมากทั้งจากสังคมไทยและทั่วโลก มักเห็นสิงคโปร์เพียงด้านที่เป็นแหล่งช็อปปิ้ง สถานคาสิโน และเมืองอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมบันเทิงที่ผลิตหนังจีนกำลังภายในส่งออกไปทั่วโลก แต่ลืมพิจารณาลงไปว่า เหนือโอกาสการพัฒนาของสังคมและสิ่งที่กล่าวถึงเหล่านี้ของสิงคโปร์นั้น ล้วนเป็นผลสืบเนื่องที่เกิดขึ้นภายหลังปัจจัยเรื่องคนและการสร้างทุนทางสังคม อีกทั้งในบรรดาความสำเร็จมากมายของการพัฒนาประเทศและพัฒนาคนนั้น ก็เป็นผลสืบเนื่องของกรณีความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งที่สังคมไทยและทั่วโลกอาจต้องขอเรียนรู้ว่า ข้อจำกัดมากมาย อีกทั้งบนความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติภายในสังคมนั้น เขาสร้างประเทศให้บังเกิดสิ่งต่างๆในข้างต้นขึ้นมาได้อย่างไร ?

                         ภาพที่ ๗ ผู้เขียนและกลุ่มนักศึกษาหลักสูตรการบริหารจัดการทางการศึกษา หลักสูตรนานาชาติ เป็นผู้อำนวยการและครูใหญ่ของสถานศึกษาจากภูมิภาคต่างๆของประเทศศรีลังกาที่ได้รับทุนการศึกษาปริญญาโทจากธนาคารโลก

 คำถาม  บทเรียนในวิถีปฏิบัติเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้สร้างพลเมืองและสังคมดังพึงประสงค์ของสิงคโปร์

หลังจากได้ไปสัมผัสและพบว่าสิงคโปร์มีหลายสิ่งมากกว่าที่เคยได้รู้ ทำให้ผมอยากให้คำตอบแก่ตนเองอีกหลายอย่าง.............

                          ภาพที่ ๘ เด็กๆและพลเมืองของสิงคโปร์มีความกลมกลืนในการอยู่ร่วมกันพร้อมกับคงความแตกต่างและเป็นตัวของตัวเอง สื่อต่างๆของสิงคโปร์ที่เผยแพร่สู่ชาวบ้านทั่วไปอาจทำเป็น ๔ ภาษาอย่างให้ความสำคัญเท่ากัน ไม่ทำให้เกิดความมีเชื้อชาติและภาษาใดที่เป็นคนกลุ่มน้อยและวัฒนธรรมย่อย ใช้ภาษามาเลย์และภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ ทว่า เน้นมุ่งสร้างคนและวิถีการอยู่ร่วมกัน มิใช่สร้างความเป็นสากล

 ประชาสังคมศึกษา : การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองสิงคโปร์

เขาจัดการศึกษาเรียนรู้พัฒนาพลเมืองอย่างไร จึงได้เป็นชาวสิงคโปร์บนแผ่นดินเดียวของหลายเชื้อชาติ ศาสนา ? เขาต่อเติมทุนมนุษย์และพลังสร้างสรรค์ของปัจเจกแทบทุกคนและทุกช่วงวัยอย่างไร คนเพียงหยิบมือเดียวจึงเป็นกำลังของสังคมที่กุมเครือข่ายเศรษฐกิจสำคัญของโลกเป็นจำนวนมาก ? 

                          ภาพที่ ๙ ห้องนำเสนอสื่อแบบผสมผสาน ในพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้จินตภาพความเป็นสิงคโปร์ Singapore Immages Learning Centre นำเอาศิลปะ สื่อ เทคโนโลยี IT เทคโนโลยีเลเซอร์ ละครเวที และการจัดแสดงนิทรรศการวิถีชีวิต มาผสมผสานกันและให้ความหมายที่ต่างออกไปของการท่องเที่ยว ให้เป็นการเรียนรู้และได้ประสบการณ์ทางสังคมอย่างมีความหมาย

 ประชาสังคมศึกษา : การศึกษาเรียนรู้ที่เป็นวิถีชีวิตและความเป็นอยู่

สื่อและกระบวนการเรียนรู้ในวิถีชีวิตเป็นอย่างไร การผลิต บริโภค และดูแลทรัพยากรอันจำกัดจึงเอื้อแก่การอยู่อาศัยและดำเนินชีวิตด้วยทักษะที่ทัดเทียมเพียงพอทั้งต่อความก้าวล้ำนำโลกและความเป็นท้องถิ่นสิงคโปร์ที่ไม่เหมือนใคร มีที่ทางอันเหมาะสมบนสารบบโลก พอเพียงแก่ตนเอง ?

                         ภาพที่ ๑๐ ประติมากรรมกลางแจ้ง เป็นทั้งสิ่งตบแต่งเมืองหรือ Street Furnitures สิ่งแวดล้อมทางศิลปกรรมที่ให้ทั้งความสุนทรียภาพ สร้าง Transformative Learning ที่ให้ประสบการณ์ทางสังคมและปลูกฝังความสำนึกรู้ต่อรากเหง้าตนเองในความเป็นกุลีท่าเรือ ก่อนที่จะมาเป็นสิงคโปร์เมืองท่าที่สำคัญที่สุดของโลกในภูมิภาคเอเชีย

  ความเป็นอารยะทางจิตใจที่อยู่เบื้องหลังความเจริญรุ่งเรืองทางวัตถุ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ 

ศิลปะและการกล่อมเกลาจิตวิญญาณความสร้างสรรค์ในพลังของมนุษย์เป็นอย่างไร เด็กๆและพลเมืองของเขาจึงสามารถพัฒนาปัจเจกภาพอย่างเหมาะสม  สะท้อนสรรพปัญญาของโลกลงสู่ตนเองได้อย่างกลมกลืน สง่างาม กระทั่งแปรไปสู่การดำเนินชีวิตและสร้างกำลังการผลิต ด้วยความเป็นสิงคโปร์ที่ผสมผสานไปกับทั่วโลก เขาสร้างความละเอียดอ่อนแก่คนของเขา ให้สามารถมีกำลังจิตใจนำตนเองและมีพลังสร้างสรรค์สิ่งต่างๆออกมา ด้วยวิธีคิดและแนวปฏิบัติกันอย่างไร ?

กระนั้นก็ตาม หลายอย่างก็ก่อให้เกิดผลกระทบ แรงกดดัน อีกทั้งเป็นความสูญหายและความสูญเสียทั้งของสังคมท้องถิ่น เพื่อนบ้าน และของสังคมโลกที่เกิดขึ้นควบคู่ไปด้วย ดังนั้น บทเรียนของสิงคโปร์สามารถให้แนวคิดต่อการนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทสังคมไทยว่าควรและไม่ควรทำอะไรและอย่างใดบ้าง ทำไม?

หมายเลขบันทึก: 391725เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2010 00:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะอาจารย์

ชมภาพแล้ว มาอ่านเรื่องต่อค่ะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ

  • ขอบคุณที่มาเยือนแต่เช้าเลยครับ ผมไปนอนเฝ้าไข้หมู่มิตรที่เคารพนับถือกัน เลยตื่นแต่เช้าและใช้เวลาเตรียม Presentation การประชุมไปพลางๆ ได้พักผ่อนไปในตัวเลยละครับ
  • สิงคโปร์มีย่านชุมชนเมืองและถนนสายหนึ่งที่ได้ชื่อว่า Cultural Belt มีแกลลอรี่ศิลปะ วิทยาลัยศิลปะลาซาล วิทยาลัยศิลปกรรมและการออกแบบ โบสถ์และศาสนสถานของทุกศาสนาที่รายเรียงต่อเนื่องกัน ผู้คนเดินเยี่ยมชม กราบไหว้และบูชาสิ่งเขารพของกันและกัน พร้อมกับเดินพักผ่อนและเสวนาสังสรรกันอย่างมีอัธยาศัย
  • แล้วจะนำมาเล่าแบ่งปันกันอีกครับ น่าประทับใจมากเลย
  • ชอบสิงคโปร์ในความสะอาด
  • ความเป็นระเบียบ
  • เคยไปครั้งเดียว ก่อนต่อเครื่องบินไปออสเตรเลีย
  • นักศึกษากลุ่มนี้น่าสนใจมากครับ
  • กลุ่มนักศึกษาหลักสูตรการบริหารจัดการทางการศึกษา หลักสูตรนานาชาติ เป็นผู้อำนวยการและครูใหญ่ของสถานศึกษาจากภูมิภาคต่างๆของประเทศศรีลังกาที่ได้รับทุนการศึกษาปริญญาโทจากธนาคารโลก

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ

  • ในภาพรวมแล้วสิงคโปร์บ้านเมืองสะอาด สิ่งแวดล้อมร่มรื่นทั้งในเมืองและพื้นที่ที่กันไว้ให้เป็นแหล่งธรรมชาติ มีความเป็นเมือง ๑๐๐ เปอร์เซนต์และหนาแน่นมาก แต่กลับไม่แออัด จอแจ และไม่มีมลพิษทั้งทางเสียง ควัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีแผ่นป้ายโฆษณาแบบติดเอาเองตามอำเภอใจเลย หมู่ตึกอาคารต่างๆเหมือนเป็นงานศิลปะสถาปัตยกรรมที่จัดวางบนอาณาบริเวณต่างๆ
  • แต่สิงคโปร์แพ้ไทยในเรื่องการสูบบุหรี่และทิ่งก้นบุหรี่สะเปะสะปะนะครับ คนสูบบุหรี่ตามแหล่งสาธารณะเยอะจริงๆ และทิ้งเลอะเทอะเอามากๆแทบทุกที่ เรื่องนี้ในไทยดีกว่ามากเลยครับ
  • เมื่อครั้งอาจารย์กับคุณครูอ้อยเล็กแวะไปหาผมและกินข้าวมื้อเย็นด้วยกันนั้น ผมอยากชวนอาจารย์ไปคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักศึกษาผมอยู่นะครับ
  • นักศึกษากลุ่มนี้ เป็นผู้นำการศึกษา ที่เราเน้นให้เห็นบทบาทของการศึกษาในการสร้างคนให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของสังคมในขอบเขตที่กว้าง โดยเฉพาะความเป็นกลุ่มประชาคมความร่วมมือที่สมดุลกับการแข่งขัน การสะท้อนประเด็นสังคมโลกสู่การสร้างพลเมืองของสังคมท้องถิ่น เหล่านี้เป็นต้น
  • ขอบคุณมากครับอาจารย์ที่กรุณา
  • คงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับนักศึกษากลุ่มนี้ครับ
  • กลุ่มนักศึกษาหลักสูตรการบริหารจัดการทางการศึกษา หลักสูตรนานาชาติ เป็นผู้อำนวยการและครูใหญ่ของสถานศึกษาจากภูมิภาคต่างๆของประเทศศรีลังกาที่ได้รับทุนการศึกษาปริญญาโทจากธนาคารโลก

ขอบคุณค่ะ..ประเด็นผลกระทบและแรงกดดันซึ่งเป็นผลเสียทางสังคมนั้น พี่เคยสังเกตได้เองในช่วงที่ไปสัมมนาทางการเงินหลายครั้งที่นั่นค่ะ

...คนสิงคโปร์ส่วนหนึ่งที่เห็น..ขาดความอบอุ่น แม้จะดูมั่งคั่งทางวัตถุ..จากอุดมคติที่ยึดมั่นว่า ชาติมาก่อน..สร้างชาติให้ดี..เราย่อมดีไปด้วย..แต่โดยแท้จริง..พวกเขาโหยหา ความสุขเชิงปัจเจก เหมือนมนุษย์ทั่วไป...เพื่อนสิงคโปร์ชอบมาเที่ยวเมืองไทยมาก..มาทุกโอกาสที่ว่าง..เพราะที่นี่มีทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ...โดยเฉพาะวิถีชีวิตที่ "ตามสบาย..คือไทยแท้" ..

                                        

 

สวัสดีครับคุณพี่นงนาท สนธิสุวรรณครับ

  • ผมเคยได้ยินหลายคนสะท้อนข้อสังเกตอย่างนี้มากเหมือนกันครับ รวมทั้งชาวสิงคโปร์เองด้วย
  • สิงคโปร์เน้นการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้เข้าถึงวิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของโลก การปฏิสัมพันธ์กับแหล่งความรู้ทั้งจากตะวันตก และการสื่อสารความรู้ทางเทคโนโลยี IT ก็ทำให้ได้กลุ่มคนรุ่นใหม่รุ่นต่างๆตามที่ต้องการเพื่อออกไปทำงาน บริการวิชาชีพได้ทั้งในสิงคโปรและทั่วโลก ทว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ คนสิงคโปร์มุ่งได้งานที่ต้องให้ปฏิสัมพันธ์กับคนน้อยลง มากขึ้น-มากขึ้น ทุกวัน งานดีกำลังหมายถึงงานที่ไม่ต้องปฏิสัมพันธ์กับคน
  • สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
  • หากอาจารย์มีกิจกรรมอยู่แถวๆนครปฐมหรือใกล้ๆที่พอไปกัลบได้ ๑ วัน ก็ช่วยบอกหน่อยนะครับ หากพอจัดการได้ก็อยากให้นักศึกษาที่สนใจเขาได้มีโอกาสสังเกตการณ์หรือเป็นลูกมือให้อาจารย์ เรียนรู้จากภาคปฏิบัติของคนที่เขาทำงานในแนวทางใหม่ๆ
  • อาทิตย์หน้านี้ผมว่าจะพาเขาไปเรียนในนาและสวนของโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่แถวคลองทวีวัฒนานี้สักหน่อยครับ
  • อยากให้พวกเขามีประสบการณ์ด้วยตนเองกับการทำงานด้านการศึกษาในประเทศไทยสะสมเอาไว้เป็นกรณีศึกษาของตัวเอง กลับไปทำงานแล้วจะได้มั่นใจ

สวัสดีค่ะอาจารย์ ดิฉันชอบระบบการสนับสนุนการศึกษาของคนที่นี่ค่ะ โดยเฉพาะงานห้องสมุด หากมีโอกาสอาจารย์ลองแวะชมห้องสมุดที่นี่ค่ะ ดีมาก สมาชิกสามารถแนะนำหนังสือที่ตนอยากอ่านได้และห้องสมุดจะจัดหามาไว้ หนังสือในห้องสมุดที่นี่บางเล่มมาก่อนร้านหนังสือเสียอีก

ด้วยการที่เป็นประเทศทุนนิยมแนวหน้าของเอเชีย ปัญหาหนึ่งที่ผู้คนชาวสิงคโปร์โดยกำเนิดกำลังประสบในตอนนี้คือ ความภาคภูมิใจในความเป็นสิงคโปร์ ทั้งนี้เพราะประเทศนี้เปิดรับชาวต่างชาติมากมายเข้ามาอาศัย คนที่นี่เริ่มรู้สึกไม่มั่นคงกับอนาคตของตนที่ต้องแข่งขันกับชาวต่างชาติในด้านการเรียน หน้าที่การงาน ฯลฯ

พวกทหารบางกลุ่มเขาเริ่มถามตัวเองว่าเขาปกป้องประเทศเพื่อใคร

น่าสนใจค่ะ

สวัสดีครับคุณปิริจมารจครับ

  • ผมมีโอกาสได้ไปดูห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง รวมทั้งได้ดูบรรยากาศการจัดกิจกรรมนักศึกษา และการจัดทรัพยากรสำหรับใช้ชีวิตชุมชนการศึกษาอย่างเบ็ดเสร็จในมหาวิทยาลัย เห็นแล้วก็ตื่นตาตื่นใจครับ
  • ห้องสมุดของเขามีบทบาทต่อการพัฒนาการศึกษาและสร้างชีวิตการเรียนรู้แก่นักศึกษามาก รวมทั้งต่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้าทั้งของนักศึกษาและอาจารย์มากครับ มีกิจกรรม ความเป็นชีวิต และการบริหารจัดการกิจกรรมต่างๆที่เป็นมากกว่าห้องสมุดอย่างที่เห็นในมหาวิทยาลัยต่างๆของไทย แต่หากนำมาทำอย่างนั้นในประเทศไทยก็คงจะดูดทรัพยากรจากสังคมไปมากมาย อีกทั้งในขณะที่ก้าวทันโลกภายนอกมากนั้น ก็จะแยกขาดและหลุดออกจากสังคมตนเองแน่นอนเลยครับ
  • แต่ก็ต้องเข้าใจไปตามเงื่อนไขแวดล้อมของเขามากเลยละครับ สิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรอย่างอื่นเลยนอกจากการลงทุนที่มนุษย์และส่งออกไประดมทุนและเข้าไปเป็นองค์ประกอบจัดการทรัพยากรทั่วโลก อีกทั้งในภูมิศาสตร์การเมืองและอำนาจการปกครองตนเองนั้น สิงคโปร์จำเป็นต้องดำรงอยู่และเติบโตไปกับความมีเครือข่ายสังคมเศรษฐกิจกับทั่วโลก
  • ด้านที่ดีก็น่าประทับใจมากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนา Complex และแหล่งเศรษฐกิจบูรณาการ ซึ่งในนั้นมีคาสิโนด้วยนั้น คาสิโนของเขาเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ทำให้ระบบบริหารจัดการอย่างอื่นหมุนไปได้ อีกทั้งเป็นแหล่งสันทนาการครบวงจรที่ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเสียเงินครั้งเดียวแต่ไปทำธุระต่างๆด้วยกันกับครอบครัวได้ในอาณาบริเวณเดียวกัน ดูแล้วไม่ใช่เพียงแค่ส่วนที่จะเล่นการพนันเพื่อดึงดูดเงินจากนักเล่นเอาเงินเข้าประเทศอย่างไม่ต้องลงทุนมาก อย่างที่เรารับรู้เลยนะครับ
  • เมื่อไปเห็นหลายอย่างแล้ว แง่หนึ่งผมก็ได้เรียนรู้ไปด้วยว่า การไปศึกษาดูงานยังต่างประเทศของเรา ไม่ว่าจะเป็นของนักการเมือง ผู้นำชุมชน และนักพัฒนาสาขาต่างๆนั้น มีจำนวนไม่น้อยที่ผมชักไม่แน่ใจว่าได้ไปเรียนรู้จริงๆหรือเพียงหยิบฉวยมาเป็นบางเรื่องอย่างไม่เข้าใจ แล้วก็เอามาจูงใจผู้คนไปอย่างไม่ถูกต้องหรือเปล่า เพราะเมื่อไปเห็นแล้วก็มักจะพบว่าหลายอย่างมันไม่ใช่อย่างที่เราได้รับรู้มาก่อนหน้านั้น
  • แต่ด้านที่เป็นเชิงลบของทุนนิยมแบบสิงคโปร์ก็มีมากเหมือนกันครับ โดยเฉพาะการเอาเปรียบแรงงานจากประเทศไทย ชนิดที่เรียกว่าขูดรีดกันเลยทีเดียว เราคงเคยได้ยินคนงานในโรงงานสิงคโปร์จากประเทศไทยเป็นกลุ่มโรคไหลตาย แล้วก็ถูกลอยแพ ถูกกระทำรุนแรงอยู่เสมอๆนะครับ แต่นั่นก็เป็นเมื่อก่อนนี้นะครับ เดี๋ยวนี้คงจะดีและแตกต่างจากเมื่อก่อนนี้มากแล้ว
  • ผมชอบการสร้างสังคมเพื่อการอยู่ด้วยกันบนความแตกต่างหลากหลายมากเลยครับ
  • ขอบคุณมากเลยครับที่แวะมาเยือน เป็นการเตือนในทางอ้อมว่าต้องหาโอกาสแวะมาเขียนต่อ ผมมีรูปและเรื่องราวต่างๆเพื่อบันทึกถ่ายทอดไว้ เยอะเลยครับ แต่ตอนนี้ทดไว้ก่อนครับ

พี่อาจารย์ไปสิงคโปร์ได้มาหน่อยนึง...http://gotoknow.org/blog/watchareeya/434839

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท