ลมหายใจสุดท้าย ที่ ER


Palliative Care ที่เคยได้ยินมาบ้าง แต่ไม่เคยคิดว่าจะใช้ได้ในห้องฉุกเฉิน และไม่คิดว่าข้าพเจ้าเองจะมีความสามารถมากพอที่จะหยั่งรู้ เข้าใจคนไข้และญาติ ประกอบกับความ Emergency ทำให้ข้าพเจ้าหลงลืม หรือจะเรียกว่าละเลยก็ไม่ผิดนัก
        แท้จริงแล้ว ใครจะรู้ว่า ชีวิตและความตายเป็นสิ่งเดียวกัน ความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แล้วชีวิตก็เป็นส่วนหนึ่งของความตาย แต่ละคนรับรู้เรื่องชีวิตและความตายไม่เหมือนกัน.....ไม่เท่ากัน

 

        เวลาสั้น ๆ ในห้องฉุกเฉิน (ER) กับพยาบาลตัวเล็ก ๆ อย่างข้าพเจ้า ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา จะมีเวลาทำให้ชีวิตและความตายมีความหมาย ที่จะก่อให้เกิดพลังของการมีชีวิต และจบชีวิตอย่างเบิกบานได้อย่างไร

 

          “ การเผชิญความตายอย่างสงบ”  ที่หลายคนพูดถึง ลำพังตัวผู้ป่วยเอง ด้วยความเป็นห้องฉุกเฉิน ความทุกข์ทรมาน เพราะถูกรุมเร้าด้วยความรู้สึกสับสน...หวาดวิตก...ตื่นตระหนก เพราะอาจจะรู้ดีว่า เวลาในโลกของเราเหมือนน้อยลงทุกที การทำให้พบกับความสงบ ในวาระสุดท้ายของชีวิต ที่เราไม่รู้จัก ไม่ได้ตระเตรียมเลย

 

          ความเกรี้ยวกราดของญาติ ความก้าวร้าว...อาละวาด...ฟูมฟาย...ใบหน้าที่ไร้ความเป็นมิตร ถ้าเป็นสมัยเมื่อก่อน ที่ข้าพเจ้าเริ่มทำงานใหม่ ๆ ความขัดแย้ง และการโต้เถียงลึก ๆ อยู่ภายในใจ แต่ทำอะไรไม่ได้ ของข้าพเจ้า คงจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ  แล้วมีหรือ เมื่อใจคิด แล้วภาษากายที่บ่งบอกทางใบหน้าและดวงตา.... จะไม่คิดออกมาด้วย เพียงแต่ตอนนั้น ข้าพเจ้าอาจจะไม่รู้สึกเลยก็ได้  ณ เวลานั้น ข้าพเจ้ามั่นใจเหลือเกินว่าข้าพเจ้าทำดีที่สุด ตามาตรฐานความรู้ วิชาการทุกอย่าง

 

           17  ปี  ของการปฏิบัติงาน เป็นพยาบาลวิชาชีพ ณ ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลแก่งคอย ทำให้ข้าพเจ้ารู้ว่า สิ่งที่เขาเกรี้ยวกราด...เรียกร้อง เพียงเพราะว่าในส่วนลึก ต้องการระบาย และต้องการคนเข้าใจเท่านั้นเอง
           โรงพยาบาลส่วนใหญ่ กำหนดบทบาทในการเยียวยารักษาโรคทางกาย แต่บางครั้งอาจลืมไปว่า...เพียงความรัก ความเข้าใจ ที่มีต่อญาติและผู้ป่วยนี้แหละสำคัญที่สุด  ที่ใคร ๆ เคยบอกว่า การเป็นผู้พูดทำได้ง่าย และการเป็นผู้ฟังนี่สิ ทำได้ยากสุด ๆ   เพิ่งเข้าใจก็วันนี้แหละ....บางครั้งการได้ฟังๆๆ และฟัง  แค่นี้ก็ทำให้เหตุการณ์สงบได้
  
           โดยทั่วไป ภาระกิจการช่วยชีวิตของแพทย์และพยาบาล มักตั้งอยู่บนความคาดหวัง จากคนไข้ และบรรดาญาติ ๆ ที่ต้องการรักษาชีวิตและโรคให้หาย...แต่หลายครั้ง.... ความคาดหวังกลับกลายเป็นกำแพงที่ขัดขวาง ให้ทั้งคนไข้และญาติ ยอมรับความจริง ในสภาพของความเจ็บป่วย และความตายได้ยากเต็มที

 

           มีใครใด ๆ ในโลกบ้างหนอ ที่จะมองชีวิตและความตายเป็นเรื่องเดียวกัน   ว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ที่ทุกคนต้องเผชิญ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง   ผู้คนส่วนใหญ่ก็หลีกเลี่ยงที่จะคิดถึง และพยายามผลักใสออกไปทุกที

 

           ถ้าเป็นคนไข้ระยะสุดท้ายที่หอผู้ป่วย ข้าพเจ้าคงถามได้ว่า  ก่อนตายอยากเห็นหน้าใครครั้งสุดท้าย  ก่อนตายอยากทำอะไรครั้งสุดท้าย  และก่อนตายมีอะไรที่ยังไม่ได้ทำ
            Palliative Care  ที่ข้าพเจ้าพอเคยได้ยินมาบ้าง แต่ไม่เคยคิดว่าจะใช้ได้ในห้องฉุกเฉิน และไม่คิดว่าข้าพเจ้าเองจะมีความสามารถมากพอที่จะหยั่งรู้  เข้าใจคนไข้และญาติ ประกอบกับความ Emergency ทำให้ข้าพเจ้าหลงลืม หรือจะเรียกว่าละเลยก็ไม่ผิดนัก
  
            กลางเดือน  กรกฏาคม  2553 ในวันเดียวกันในห้องฉุกเฉินมีผู้เสียชีวิตมาให้ชันสูตรพลิกศพถึง 4 ราย  2 รายเป็นผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ    อีก 2  รายเป็นผู้เสียชีวิตด้วยโรคเรื้อรังที่รุมเร้า  ซึ่งรายสุดท้ายนี้ที่ข้าพเจ้าเองสนใจ  ซึ่งเป็นลมหายใจสุดท้ายที่ ER
            ผู้ป่วยโรคตับแข็ง (Cirrhosis)  จากประวัติที่ญาติบอกไม่ทราบเป็นนานแค่ไหน  สองวันก่อนมาผู้ป่วยดื่มสุราจัดทุกวัน  ผู้ป่วยที่ฉันพบ  ท้องโตเหมือนคนใกล้คลอด ท้องบวมใสมาก ๆ มองเห็นเส้นเลือดแทบจะปริแตกออกมา  นอนกระสับกระส่าย สับสน..ขัดขืนการรักษาบางที   

 

            ตรวจร่างกายพบ  ความดันโลหิตตก  40/0 มิลลิเมตรปรอท  อัตราการเต้นของหัวใจ  134  ครั้งต่อนาที  คลำชีพจรได้เบามาก  ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดดำ (Oxygen saturation , O2 sat.)  92 %  อุณหภูมิของร่างกายสูง 40 องศาเซลเซียส  หัวหน้าทีมได้โทรตามแพทย์มาด่วน  ขณะที่ทีมพวกเราแต่ละคนก็ประจำทำหน้าที่โดยไม่ต้องบอกกล่าวเมื่อมีผู้ป่วยหนักมาในห้องฉุกเฉิน , ET  TUBE  ถูกเตรียมไว้พร้อมใช้เมื่อแพทย์มาถึง  เมื่อบอกว่า BP Drop (ความดันตก)  ผู้ป่วยถูกให้สารน้ำเข้าหลอดเลือดเพื่อช่วยระบบไหลเวียนในร่างกายทันที  “ขอ DTX ด้วย” ข้าพเจ้าบอกทีมก่อนโทรรายงานแพทย์

 

          “ญาติพอจะทราบมั้ยครับว่าป้าเป็นอะไร รักษาที่ไหน หมอเค้าบอกอะไรบ้าง”  แพทย์ซักถามประวัติเพิ่มเติมหลังตรวจผู้ป่วยแล้ว

 

           “ไม่รู้ ผมไม่รู้ ไม่เคยพาไป มีแต่น้องสาวเค้าพาไป   แต่ไม่เคยบอกผม” 

 

            ลุงเป็นสามีของผู้ป่วยที่แพทย์พูดคุยด้วย  ตอบด้วยสีหน้าเรียบเฉย ไม่ได้บ่งบอกความทุกข์  วิตกกังวล หรืออนาทรร้อนใจใดๆต่อความเจ็บป่วยของภรรยา  หากแต่แสดงท่าทางหงุดหงิด บ่งบอกความไม่พอใจต่อภรรยาที่ป่วยหนักทำให้ต้องพามาโรงพยาบาลบ่อยๆ แล้วยังดื่มเหล้าจัดอยู่ ถ้าให้คาดเดาตอนนี้ ลุงคงจะมีทั้งความโกรธ   ความขัดแย้ง   ความไม่พอใจ ในตัวภรรยา หรือ อาจจะปฏิเสธการเจ็บป่วยของภรรยา ก็ไม่อาจจะเดาได้

ภาพจาก Internet

            เมื่อหันไปมองสภาพผู้ป่วย ที่ทั้งตัวมีสาย oxygen , สายน้ำเกลือ , ท่อปัสสาวะ อุปกรณ์ต่าง ๆ ระโยงรยางค์ไปหมด  เครื่องวัดชีพจรส่งสัญญาณว่า หัวใจของป้า เต้น  แต่อ่อนแรงเต็มที  ป้าไม่สู้กับพวกเราแล้ว  ไม่มีเสียงใดๆในตอนนั้นนอกจากเสียงถอนหายใจเบาๆของแพทย์  แพทย์หนุ่มเปิดม่านออกมาพูดคุยกับญาติ

 

             “ลุงครับ  เท่าที่หมอได้ตรวจคนไข้ หมอคิดว่าการปั๊มหัวใจ ใส่ท่อช่วยหายใจ อาจจะช่วยอะไรได้ไม่มากนัก เพราะดูคนไข้ ก็คงจะรับไม่ไหว  หรือถ้าได้ ก็คงได้ไม่นาน   ผมอยากให้ญาติค่อย ๆ คิดและตัดสินใจนะครับ”  ข้าพเจ้าแอบสังเกตสีหน้าลุงซึ่งยังนิ่ง  เงียบเฉย   มีเพียงสายตาที่มองดูเริ่มหวั่นไหวบ้าง

 

              “เรื่องการตัดสินใจ  เป็นสิทธิ์ของญาตินะคะ   การปั๊มหัวใจ แม้ช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยก็จริง แต่จะเป็นการเพิ่มความทุกข์ ความเจ็บปวด ความทรมาน การดิ้นรนของคนไข้ เมื่อถึงวาระนี้...  แพทย์และพยาบาลเข้าใจคุณลุงนะคะ  แม่ของพยาบาลก็เป็นเหมือนป้านี่แหละ พยาบาลเองก็ไม่อยากให้แม่เจ็บปวด  จึงขอให้แม่ไปอย่างสงบ”  ตอนนั้นข้าพเจ้านึกออกได้ว่าจะเริ่มเรื่องอย่างไรในการพูดคุยกับญาติจึงยกเรื่องการเจ็บป่วยของแม่ที่เหมือนกับผู้ป่วยมาเล่าให้ญาติฟัง  เพราะข้าพเจ้าไม่มั่นใจนักว่าขณะนั้นญาติจะยอมรับได้หรือไม่

 

              “ลุงกับป้า คงจะผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกันเยอะ ตอนนี้ป้านอนหมดสติอยู่ที่เตียง แต่ก็อาจจะได้ยินเสียงรอบๆตัวอยู่เหมือนกัน คุณลุงน่าจะลองช่วยให้คุณป้า ได้รู้สึกสงบ สบาย ไม่กระวนกระวายใจ ดีมั้ยคะ”  ท่าทางที่คุณลุงเริ่มสนใจ ทำให้ข้าพเจ้าได้อธิบายต่อได้อีก

 

              “ลุงคะ   คนเราตายได้ครั้งเดียว  ถ้าไม่อโหสิกรรมตอนนี้   ก็ไม่รู้ว่าจะไปรอตอนไหน  ถ้าลุงไปยกมือไหว้ ขออโหสิกรรมต่อหน้าโรงศพ ป้าจะรับรู้หรือเปล่าก็ไม่รู้”  ลุงยังคงนั่งนิ่ง  ข้าพเจ้าคิดว่าลุงคงคิดตามข้าพเจ้า  ภาษากายลุงอาจจะไม่เคยแสดงต่อกันอาจทำให้ลุงเคอะเขินไม่กล้าแสดงออกแม้ในวาระสุดท้าย

 

               “ไม่มีใครบังคับลุงได้หรอก แต่อยากให้ลุงเข้าใจ ว่าสิ่งสำคัญ สำหรับวาระสุดท้าย คือความสุขสงบ จากคนที่เรารัก”    ข้าพเจ้าคิดว่า นี่อาจเป็นช่วงสุดท้ายของการสื่อสารของทั้งคู่ คนไข้ระยะสุดท้ายส่วนใหญ่ จะไวต่อความรู้สึกของคนรอบข้าง ทุกข์ทางกายนั้น แพทย์สามารถบรรเทาได้ด้วยยา แต่ทุกข์ทางใจของคนไข้ จำเป็นต้องอาศัยผู้ช่วย ค้นพบปัญหาที่ซ่อนอยู่ แล้วข้าพเจ้าจะทำได้อย่างไร ก็ในเมื่อข้าพเจ้ารู้จักคนไข้และญาติไม่ถึง 10 นาที

 

               ในใจของข้าพเจ้า คิดแล้วว่า เราคงคาดหวังการทำงานทุกอย่างไม่ได้ อย่าไปคาดหวัง จะได้ไม่ทุกข์ นักฟุตบอลเตะทุกครั้ง ยังไม่เข้าประตูทุกครั้งเลย ช่วงเวลาสั้น ๆ ข้าพเจ้าเองก็ไม่คาดหวังเช่นกัน

 

                “หมอ แล้วป้าเค้าจะได้ยินลุงจริง ๆ หรือ จะรับรู้ได้จริงหรือ”  ใจของข้าพเจ้าเต้นโครมคราม  ด้วยความดีใจเป็นยิ่งนักเมื่อลุงกล่าวกับข้าพเจ้า

 

               “หนูคิดว่า คุณป้ารอคุณลุงอยู่นะคะ ลุงมาทางนี้ค่ะ  เดี๋ยวหนูทำให้ดูแล้วจากนั้นเป็นหน้าที่ของลุงนะค่ะ” 

 

             ข้าพเจ้าพาลุงไปที่เตียงที่ป้านอนสงบนิ่งอยู่  พร้อมดึงม่านปิดกั้นให้เป็นสัดส่วนมิดชิด  ข้าพเจ้าสอดมือซ้ายของข้าพเจ้าเข้าใต้มือขวาของป้า   แล้วใช้มือขวาของข้าพเจ้าลูบเบา ๆ บนหลังมือของคุณป้า  แล้วก้มกระซิบข้างหูคุณป้าเบา ๆ

 

               “คุณป้าคะ คุณลุงมีอะไรอยากคุยด้วย คุณป้าทำใจให้สบายนะคะ ให้นึกถึงวันเวลาที่ใช้ชีวิตร่วมกันมา” 

 

           หลังจากนั้นข้าพเจ้าได้ให้คุณลุงและคุณป้าได้อยู่ด้วยกันตามลำพัง      ประมาณ 10 นาที ที่ลุงอยู่กับป้า   ไม่รู้พูดคุยอะไรกันบ้าง แต่อาการของผู้ป่วยดูสงบ ไม่ทุรนทุราย น้ำตาซึมจากขอบตาทั้งสองข้าง   ภาพกุมมือของสามีและภรรยา  ทำให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ อย่างไม่ติดใจสงสัยใด ๆ อีกเลย”

 

                “ลุงขอขอบคุณ คุณหมอนะครับ  ที่ช่วยให้ป้าไปอย่างสงบ ลุงกับป้าไม่สิ่งใดติดค้าง ลุงเอง ขออโหสิกรรมให้ป้าแล้ว ป้าคงพอใจ ป้าไปดีแล้ว” 

 

              ความโล่งใจเกิดขึ้นในใจของข้าพเจ้า  ใจของข้าพเจ้ายิ้มอย่างเป็นสุขอย่างบอกไม่ถูก  ข้าพเจ้าเองไม่ทราบว่า ได้คลายปมอะไรไป  แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าทำได้ในตอนนี้ คือการเชื่อมโยงความรัก  และความห่วงใย ที่ลุงกับป้าใช้ชีวิตร่วมกันมากว่า 40 ปี  ที่ทำให้ป้าจากไปอย่างสงบ ข้างคนที่ป้ารัก
                                                               
อัญชุรีย์  มันตะเข
งานอุบัติเหตฉุกเฉิน 

 

 

        ET Tube  หมายถึง ท่อสายยางที่ใส่เข้าไปในปากถึงหลอดลมคอเป็นการใส่ชั่วคราวเพื่อเป็นทางผ่านของอากาศช่วยให้ผู้ป่วยหายใจสะดวก ถ้าต่อกับเครื่องช่วยหายใจ ท่อชนิดนี้ปลายด้านที่อยู่ในหลอดลมมีกระเปาะใส่ลม (endotracheal tube with cuff) ขณะคาท่อหลอดลมไว้ ต่อกับเครื่องช่วยหายใจ ใช้  syringe ใส่ลมประมาณ 5-8 ซีซี ขยายกระเปาะป้องกันไม่ให้อากาในปอดรั่วออกมาทางหลอดลมนอกท่อ
         DTX ย่อมาจาก Dextrostix หมายถึงการเจาะหาระดับน้ำตาลในเลือดที่ปลายนิ้ว เป็นวิธีการตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด ส่วนค่าของ BS คือค่าของ Blood sugar หมายถึงระดับน้ำตาลในเลือดขณะที่ทำการตรวจ ดังนั้น DTX และ BS มีความแตกต่างกัน สรุปคือ DTX เป็นวิธีที่ใช้ในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ส่วน BS คือระดับน้ำตาลในเลือดที่ได้จากการทำ DTX นั่นเอง  (http://www.dic-rsu.net
      
หมายเลขบันทึก: 393198เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2010 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ยอดเยี่ยมไปเลยค่ะ น้องหวิว ใครว่า ER ทำเรื่อง Humanized , Spiritual ไม่ได้ นี่คือบทพิสูจน์ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนๆเราทำเรื่องเหล่านี้ได้ตลอดเวลา ขอเพียงเรามีใจที่ทำจะก็พอ

จะรอให้รางวัลเรื่องเล่าดีๆต่อไปนะคะ

สวัสดีคะ

แม่ต้อบขอชื่นชมมากๆคะ น่าจะเอามาถอดบทเรียนของการนำมิติจิตใจเข้ามาใช้ได้ดี

ที่จริงงานอุบัติเหตุนี่แหละเป้นจุดที่เราต้องใช้มิติจิตใจมากกว่าที่อื่นๆ เพราะคนไข้มีภาวะสูยเสียสูง และกระทันหัน

คนที่มำงานที่นี่จึงต้อง มีความมั่นคง มีสมาะ และมีจิตใจงามอย่างนี้แหละคะ

ขอบคุณมากๆคะ ที่ทำให้ความงามของ SHA เจิดจรัสขึ้นมา

การนำเสนอทำให้เห็นภาพได้หลายมุม...จากผู้ที่ไม่ใช่วิชาชีพนี้.....ลำดับเรื่องราวให้ให้เห็นที่มาของวิชาชีพว่า ER มีหน้าที่ทำอะไรโดยสังเขป....และลำดับเหตุการณ์ของเรื่องราวที่ได้พบและเกิดความประทับใจ ถึงแม้เหตุการณ์ของผู้ป่วยที่ได้พบอาจเกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง แต่จะมีเหตุการใดที่มีความประทับใจหรือภูมิใจในการทำหน้าที่นั้นได้มาก ดังเช่นครั้งนี้ ซึ่งคงเป็นเหตุการณ์ใกล้เคียงกับผู้เขียนในเรื่องของความเจ็บป่วยของผู้ป่วย และผู้เขียนเข้าใจและรับรู้ความรู้สึกของญาติผู้ป่วยได้ดีนั่นอาจเป็นเพราะเป็นความรู้สึกที่เรา หรืออาจคนส่วนใหญ่มักจะละเลย และต้องการกระทำหากแม้ย้อนเวลากลับไปได้และมีโอกาสได้ทำ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าคุณลุงมีโอกาสที่ดีและดีกว่าบางคนที่ไม่มีโอกาสได้กล่าวอะไรกับผู้ซึ่งกำลังจะจากเราไป ...ขอบคุณที่โลกใบนี้ยังมีคนที่ใจดี ได้ทำอะไรดีๆ ให้กับคนอื่นๆ ได้รู้สึกดีกว่า ถึงแม้มันจะไม่ใช่เรื่องคนส่วนใหญ่ได้รับรู้ แต่เชื่อเถอะค่ะ "คำขอบคุณจากคุณลุง" มันมีคุณค่า และ มีความหมายมาก สำหรับคนทำงานในหน้าที่นี้ และมันจะมีคุณค่ามากสำหรับผู้ที่ได้เข้ามาอ่านและเข้าใจความรู้สึกของคนที่มีโอกาสได้กล่าว "อโหสิกรรม" กับคนที่กำลังจะจากเราไป....ขอบคุณที่ทำให้ได้อ่านสิ่งที่ดีและมีคุณค่าในการทำงาน...ขอบคุณ...

 

ขอบคุณค่ะ พี่ namsha เคสของคุณลุงถือเป็นจุดเปลี่ยนที่พวกเราชาว ER จะได้ทำเรื่อง Spiritual & Humanized ค่ะ ความจริงพวกเราอยากทำทุกราย แต่ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ อาจเป็นข้อจำกัด แต่หวิวก็ภูมิใจและดีใจค่ะที่ได้ทำ และจะทำต่อไป

ขอบคุณค่ะแม่ต้อย

คำชมของแม่ต้อยทำให้พวกหนูมีกำลังใจมากเลยค่ะ

หากจะว่าไปแล้วการทำงานทุกหน้าที่พวกเราต่างก็ใช้มิติจิตใจเข้ามาร่วมทำงานอย่างมาก อยากน้อยก็เป็นการเยียวยากับผู้ให้บริการการเอง หลังจากที่พวกเราได้ทำกับผู้ป่วยและญาติ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณค่ะ คุณ Yupin พวกเราทุกคนในวิชาชีพนี้ล้วนทำงานด้วยหัวใจจริงๆค่ะ แต่ก็อาจมีบ้างที่ความหวังดี  ความปรารถนาดีของพวกเราบางครั้งเหมือนเป็นการต่อว่า หรือดุ หากภายใต้หัวใจอันแท้จริงแล้วพวกเราหวังและปรารถนาดีต่อผู้ป่วยและญาติทุกคนเหมือนเป็นญาติของพวกเราค่ะ

ขอบคุณ คุณYupin ที่เข้ามาให้กำลังใจค่ะ

สวัสดีครับ ชารพ.แก่งคอย เข้ามาเยี่ยมแก่งคอย ไม่เคยผิดหวัง มีแง่คิดดีๆให้แก่การทำงานเสมอ

ขอบที่นำเรื่องดีๆมีมุมของการให้อภัยในวันสุดท้ายของชีวิต

แวะมาทักทาย ตามสไตล์คนบ้านใกล้เรือนเคียง ที่ไม่ได้เข้ามานาน ไม่อยากจะบอกว่าจำ PW ตัวเองไม่ได้แหล่ะ ลองตั้งหลายครั้งกว่าจะเข้าได้ เป็นงั้นไป เดี๋ยวนี้ โกอินเตอร์แล้วเนอะเอาเรื่องเล่ามาลงด้วย หนูเอามาลงบ้างดีกว่า ไม่ได้ลงในโรงพยาบาล ลงในบันทึกของตัวเองก็ได้ แบบว่าขอเป็นเจ๊ดันให้ตัวเอง 555 แล้วจะพยายามเข้ามาดูข้อมูลบ่อยๆ ค้า...

ตามมาเชียร์ SHA ทั้งทีม เยี่ยมมาก

ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่มีให้  ชาวแก่งคอยเสมอมาค่ะ  ทำให้มีกำลังใจในการนำเรื่องเล่ามาแบ่งปันกันค่ะ

ขอบคุณค่ะ  ท่านวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

ดีใจด้วยนะcoronary25" ที่กลับมาฟื้นคืนชีพ  เอ้ย!  กลับมาเขียนบล๊อกต่อ

 

แซบหลายค่ะ  เรื่องที่คุณน้องนำลง Blog เขียนอีกนะ  รอแซบกันต่อ  อิอิ

 

สวัสดีค่ะ  อ.ขจิต ฝอยทอง  ที่คิดถึง

ขอบคุณค่ะที่ยังส่งแรงเชียร์แรงใจถึงกันอยู่

ขอให้อาจารย์มีความสุขมากๆนะคะ

  • มีทั้งความเศร้า เคล้าความสุนทรีย์
  • ขอขอบคุณ ที่บอกเล่าเรื่องราวดีๆ จากชีวิตจริง ..ให้ได้รู้ ให้ทราบครับ

ขอบคุณค่ะ  คุณสามสัก

ทั้งหมดนี้  คือความจริงของชีวิต  ที่พวกเราพบเจอทุกวันค่ะ

สวัสดีครับ ชาวรพ.แก่งคอย

อ่านเรื่องนี้แล้วให้คิดถึงเรื่องใกล้ตัว วันที่คุณแม่จากไป "ถึงมันจะเรื่องเศร้าแต่เมื่อมาระลึกถึงก็ทำให้อบอุ่นอยู่ในใจ"

ขอบคุณครับที่นำแต่เรื่องราวดีๆ

เป็นกำลังในให้นะคะ  คุณต้นสเต็ก

มนุษย์เราล้วนหนีไม่พ้น  เกิดและดับ  การพลัดพรากจากคนที่รักยังความเสียใจให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง  ความผูกพันธ์  ยากแก่การลืมเลือนโดกเฉพาะแม่ผูให้กำเนิดเรามา...การจากไปของคนไข้แม้พวกเราจะเห็นบ่อยจนบางครั้งรู้สึกเฉยชาต่อการจากไปนั้น  แต่สิ่งสุดท้ายที่พวกเราทำได้และอยากทำให้เสมอคือ  การตายอย่างมีศักดิ์ศรี 

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่สูญเสียคนอันเป็นที่รักค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท