ความทุกข์ไม่เปลี่ยนแปลง


การรอคอยของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยนั้นเป็นความทุกข์ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง คงเหมือนกับการรอคอยขบวนรถไฟฟ้าใต้ดินภายใต้เสียงเพลงรักไม่มีเปลี่ยนแปลง ที่ใครหลายคนที่คิดว่าเป็นการรอคอยที่ยาวนานมากแล้ว แต่เมื่อเทียบกับการรอคอยที่จะได้รับเอกสารแสดงตนว่าเป็นบุคคลสัญชาติของคนที่เกิดในประเทศไทยยาวนานมากกว่าหลายเท่า

ความทุกข์ไม่เปลี่ยนแปลง : ความทุกข์ของคนเกิดไทยที่ไม่มีเอกสารเป็นไทย

 

หลายคนโดยเฉพาะคนในอยู่ในเมืองกรุงอาจจะเคยได้ยินเพลง รักไม่มีเปลี่ยนแปลงที่ร้องโดยคุณนิโคล เทริโอ ปานพุ่ม ในระหว่างรอโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน บางคนอาจจะรู้สึกว่าเพลงนี้สั้นและเร็วเกินไป ยังฟังไม่จบเพลงก็ต้องขึ้นรถเพื่อไปสู่จุดหมายแล้ว แต่หลายคนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่อาจจะรู้สึกว่าเพลงนี้ช่างเชื่องช้าและใช้เวลานาน เพราะในใจมัวแต่คิดว่าเมื่อใดรถขบวนที่ต้องการจะมาสักที

ผู้โดยสารที่ยืนรอใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินจะมีทั้งนักศึกษาและคนทำงาน ส่วนใหญ่แล้วทุกคนก็จะรีบเร่งให้ถึงที่ทำงาน หรือถึงมหาวิทยาลัยของตัวเองให้เร็วที่สุด ไม่มีใครสนใจใคร ไม่มีเสียงพูดคุยระหว่างกัน คนส่วนมากก็จะมีสายเส้นเล็กๆเสียบหูอยู่ตลอดเวลา เสมือนหนึ่งว่าในขบวนรถนั้นจะมีเพียงตัวเองและเสียงเพลงที่ออกมาจากเครื่องไฟฟ้าอันเล็กเท่านั้นเอง

แต่กับนักศึกษาและคนทำงานอีกส่วนหนึ่งของสังคมไทย จะพบว่าการรอคอยของพวกเขานั้นยาวนานมากกว่าการรอรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่หลายคนมองว่านานแล้วมากมายหลายเท่า  เขาเหล่านั้นบางคนก็ต้องรอมาเกือบครึ่งชีวิต บางคนก็รอมานานเกือบทั้งชีวิต สิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นเฝ้ารอคือพัฒนาสถานะบุคคลของตนเอง

เขาเหล่านั้นแม้ว่าจะเกิดในประเทศไทย แต่เนื่องจากบิดาและมารดาไม่ได้เกิดในประเทศไทย ทั้งหมดจึงไม่ได้รับสัญชาติโดยอัตโนมัติ เขามีสิทธิเพียงร้องขอมีสัญชาติไทยต่อทางราชการเพื่อให้ได้มีเอกสารและมีชื่อในทะเบียนบ้านของบุคคลสัญชาติไทย

แม้ว่าการไม่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทยก็ตาม โชคดีอยู่บ้างที่ราชการยังให้โอกาสให้เข้าศึกษาในทุกระดับชั้นที่ต้องการเรียน แต่ในระหว่างเรียนนั้นจะไม่ได้รับสิทธิกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา หรือบางครั้งก็ถูกเพื่อนล้อว่า เป็นคนไทยหรือเปล่า ก็ตาม แต่เขาเหล่านั้นก็ยังพยายามเรียนให้เต็มความสามารถ บางคนเรียนเก่งจนเป็นที่ยอมรับจากคนในสถาบัน

หลังจบการศึกษาแล้ว เมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน ก็พบว่าตนเองแม้ว่าจะร่ำเรียนมาสูงขนาดไหน หรือจบในสาขาใดก็ตาม อาชีพที่สามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายกลับมีเพียงอาชีพ กรรมกรเท่านั้น เนื่องจากการที่ยังไม่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทย จะถูกบังคับตามกฎหมายการทำงานของคนต่างด้าว ที่อนุญาตเพียงอาชีพที่ใช้แรงงานเท่านั้น หลายคนก็จำใจที่ต้องไปขอมีใบอนุญาตทำงานกับสำนักงานจัดหางานในอาชีพกรรมกร เพราะกลัวถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและจะนำมาซึ่งความลำบากทั้งตัวเองและนายจ้าง

การพัฒนาสถานะบุคคลของบุคคลที่เกิดในประเทศไทย แต่พ่อกับแม่เกิดนอกไทยนั้น ต้องขอมีสัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติที่อำนาจอนุมัติจะเป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่กระบวนการขั้นตอนเพื่อให้คำร้องเดินทางไปถึงมือท่านรัฐมนตรีเพื่อลงนามนั้น ใช้เวลานานมาก บางคำร้องต้องใช้เวลา 2 3 ปีในการเดินทางจากหมู่บ้านถึงหน้าห้องรัฐมนตรี

คำร้องต้องผ่านการตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์จากเจ้าหน้าที่อำเภอ ต่อจากนั้นก็ส่งเพื่อเข้ารับการพิจารณาและตรวจสอบประวัติโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาให้สัญชาติและสถานะบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายระดับจังหวัด เมื่อผ่านระดับจังหวัดแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะส่งคำร้องพร้อมความเห็นมายังหน่วยงานส่วนกลาง

เมื่อถึงมือของเจ้าหน้าที่ส่วนกลางก็จะแยกออกเป็นสองส่วนคือการตรวจสอบประวัติการทำผิดกฎหมายของผู้ยื่นคำร้องก็จะเป็นหน้าที่ของตำรวจ ส่วนคำร้องก็จะตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่กรมการปกครองที่จะมีคณะกรรมการในส่วนกลางอีกคณะหนึ่ง หลังจากทั้งสองส่วน(ตำรวจ,ปกครอง)เห็นว่าคำร้องและบุคคลที่ยื่นนั้นไม่มีข้อติดขัดประการใด ก็จะส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะเป็นอำนาจของท่านรัฐมนตรีว่าจะเห็นควรอนุมัติหรือไม่ หรือว่าจะลงนามเมื่อใด

แม้ว่าการยื่นคำร้องจะดำเนินการเหมือนกันทุกคนในชุมชน แต่ผู้ที่ถูกกระทบมากที่สุดจะเป็นผู้ที่กำลังศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา รวมทั้งผู้ที่จบแล้วได้รับปริญญา ที่ไม่สามารถทำงานตามสิ่งที่ตนเองเรียนมา หรือที่ตนเองมีความรู้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้บางคนก็ต้องเลี่ยงกฎหมายไปขออนุญาตเป็นกรรมกร หรือบางคนก็ต้องไปเป็นลูกจ้างรายวันที่ไม่ต้องเข้าสู่ระบบการจ้างงานหรือระบบประกันสังคม

การรอคอยของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยนั้นเป็นความทุกข์ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง คงเหมือนกับการรอคอยขบวนรถไฟฟ้าใต้ดินภายใต้เสียงเพลงรักไม่มีเปลี่ยนแปลง ที่ใครหลายคนที่คิดว่าเป็นการรอคอยที่ยาวนานมากแล้ว แต่เมื่อเทียบกับการรอคอยที่จะได้รับเอกสารแสดงตนว่าเป็นบุคคลสัญชาติของคนที่เกิดในประเทศไทยยาวนานมากกว่าหลายเท่า

หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยท่านใหม่ หรือท่านต่อไปจะให้ความกรุณาลงนามอนุมัติให้สัญชาติแก่คนเหล่านี้ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการระดับต่างๆแล้วอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพื่อให้ความทุกข์ของคนเหล่านั้นหมดไป และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์แบบ

 

 

กฤษฎา ยาสมุทร

27 ตุลาคม 2550

หมายเลขบันทึก: 257811เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2009 05:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท