พระพรหมมา-พระภูมิถอย


วันนี้นำบทความของน้องชายมาลงให้อ่านกัน เห็นว่ามีประโยชน์เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่บางครั้งเรื่องที่ใกล้ตัวมากไปก็อาจทำให้มองข้ามเพราะคิดว่ารู้อยู่แล้ว จึงขอให้ลองพิจารณาบทความนี้ดูว่า...สิ่งที่ท่านรู้มันต่างออกไปอย่างไร ฝากงานเขียนของน้องออยด้วยนะค้า ^ ^




เจว็ดนี้มีความหมาย

เจว็ด ตามความหมายในพจนานุกรม คือ รูปเทพารักษ์ที่ประดิษฐานไว้ในศาลพระภูมิหรือศาลเจ้า มักทำเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์และสมุด เจว็ดเป็นแผ่นไม้รูปร่างคล้ายใบเสมาแต่มีลักษณะสูงเพรียวกว่า มักเขียนเป็นรูปเทวดายืนบนแท่น มือข้างหนึ่งถือพระขรรค์ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งนั้นถือสมุด บางกรณีเมื่อเชิญพระภูมิมาสถิตย์หลายองค์ก็สามารถตั้งเจว็ดหลายอันได้ในศาลเดียวกัน ตามคติพราหมณ์เชื่อว่า เทพารักษ์ทำหน้าที่พิทักษ์เหย้าเรือนและเขตที่ตั้งของบ้านผู้เป็นเจ้าของที่ดินตลอดจนผู้อาศัยให้พ้นภัยทั้งปวง คติดังกล่าวน่าจะมาจากคัมภีร์ภาติวัตปุราณะ เล่าเรื่องนารายณ์อวตารในปางวามนาวตารเพื่อปราบท้าวพลีเจ้านครบาดาล พราหมณ์จึงนับถือท้าวพลีโดยตั้งอยู่ในฐานะเจ้าแห่งที่ดิน โดยในบทโองการบูชาเทวดามีเนื้อความตอนหนึ่งกล่าวว่าโอมพระภูมิพระธรณี กรุงพลีเรืองฤทธิ์นอกจากนี้ตำนานพระภูมิเจ้าที่ซึ่งแต่งขึ้นเพิ่มเติมในสมัยหลังระบุว่า ท้าวพลีมีโอรสทั้งหมด 9 องค์ โดยโอรสองค์โตนามพระชัยมงคล มีหน้าที่รักษาเคหะสถานบ้านเรือน ในคัมภีร์ไตรภูมิกล่าวถึงภูมิเทวดาว่าเป็นเทวดาที่อยู่ในภูมิภาคปฐพี สิงสถิตย์อยู่ตามต้นไม้และภูเขา อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตด้วยว่าอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคติจากจีนก็เป็นได้ เนื่องจากตามคติความเชื่อของชาวจีนนั้น ก็มีเจ้าที่หรือภูมิเทวดาเป็นผู้รักษาทะเบียนมนุษย์ในอาณาบริเวณท้องที่ของตน โดยเจ้าที่จะคอยจดบันทึกบุญบาปของมนุษย์ไว้ในสมุด

 


1-2 ลายเส้นรูปเทวดาและนางอัปสรในเจว็ด
3 กุมารในเจว็ดจำหลักไม้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
4 เจว็ดจำหลักไม้ในศาลพระภูมิ ตลาดเก่า จ.สุพรรณบุรี
5 พระภูมิเจ้าที่ (ตี่จู๋เอี๊ย) ตามความเชื่อในคติจีน



 

เจว็ดนั้นต่างกันในแต่ละที่

คติความเชื่อเกี่ยวกับเจว็ดหรือภาพเทพารักษ์เช่นนี้ คงมีขึ้นอย่างช้าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากหลักฐานคำให้การขุนหลวงหาวัดได้ระบุว่า ย่านป่าโทน มีร้านขายทับ โทน เรไร ปี่แก้ว จ้องหน่อง ... ศาลพระภูมิ เจว็ดเขียนเทวรูป เสื่อลำแพน... และความนิยมในการตั้งศาลพระภูมิที่มีเจว็ดอยู่ภายใน ก็ยังคงสืบต่อมายังสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย รูปแบบของเจว็ดในบางแห่งอาจมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งเป็นสำคัญว่าอยู่ในสถานที่ใด เช่น หอแก้วศาลพระภูมิในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยประเพณี ลักษณะของอาคารเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงระดับความสำคัญของศาลพระภูมิประจำพระบรมมหาราชวัง ภายหอแก้วมีเจว็ดทั้งหมด 5 แผ่น เขียนภาพพระอินทร์และภาพท้าวจตุโลกบาล การเขียนภาพในลักษณะเช่นนี้บนเจว็ดดูจะแตกต่างจากเจว็ดทั่วๆ ไป อาจเป็นไปได้ว่าพระบรมมหาราชวังเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญสูงสุด จึงต้องอาศัยเทพชั้นสูงคอยปกป้องคุ้มครอง ซึ่งต่างจากสถานที่อื่นๆ ที่มีความสำคัญน้อยกว่าจึงอาศัยเพียงเทพชั้นรองหรือเทพารักษ์ก็คงจะเพียงพอ หรืออีกนัยหนึ่งก็ชวนให้คิดว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับราชธานีแห่งนี้ซึ่งมีนามว่ากรุงรัตนโกสินทร์ อันแปลว่าเมืองแก้วแห่งพระอินทร์

นอกจากนี้ฝ่ายต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง ก็มีการตั้งศาลเจว็ดขึ้นบูชาต่างหากด้วย โดยเจว็ดที่ประตูอนงคะลิ้นลา อันเป็นประตูทางเข้าพระราชฐานชั้นใน เขียนเป็นภาพนางอัปสรนั่ง เจ้าหน้าที่ผู้เฝ้าประตูระบุว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตย์อยู่ภายในเจว็ดของแต่ละประตูล้วนเรียกกันว่า เจ้าแม่ทั้งสิ้น ประเด็นการเรียกขานนามว่าเจ้าแม่อาจเกี่ยวข้องกับการเป็นเทพรักษาทางเข้าฝ่ายใน ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่ภายในนอกจากกษัตริย์และเด็กชายที่ยังไม่โกนจุกแล้ว นอกนั้นล้วนแต่เป็นสตรีทั้งสิ้น


ศาลพระภูมิจากอาคารบ้านเรือนทั่วๆ ไป แต่เดิมมักตั้งอยู่บริเวณริมรั้วบ้าน ในปัจจุบันศาลพระภูมิไม่ได้จำกัดว่าต้องอยู่เฉพาะที่ริมรั้วบ้านเท่านั้น แต่อาจตั้งอยู่บนชั้นดาดฟ้าของตึกได้ด้วย ลักษณะเช่นนี้อาจอธิบายได้ว่าแต่เดิมที่อยู่อาศัยมีอาณาบริเวณกว้างขว้างพอที่จะตั้งศาลพระภูมิในเขตรั้วบ้านได้ แต่ในปัจจุบันที่อยู่อาศัยมักสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ อีกทั้งยังนิยมอยู่ติดริมถนน จึงทำให้ไม่มีอาณาบริเวณพอสำหรับตั้งศาลพระภูมิ ดังนั้นตำแหน่งที่ตั้งจึงเปลี่ยนไปเป็นดาดฟ้าของอาคารแทน ด้วยเงื่อนไขของการปรับเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลให้คติความเชื่อเรื่องตำแหน่งที่ตั้งต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย



เจว็ดหอแก้วในพระบรมมหาราชวัง (เขตพระราชฐานชั้นใน)
เจว็ดองค์กลางคือภาพพระอินทร์ ส่วนอีกสี่องค์เป็นภาพท้าวจตุโลกบาล


 

ความเชื่อและรูปแบบที่เปลี่ยนแปลง

รูปลักษณ์ของศาลพระภูมิ แม้ว่าจะมีผู้พยายามกำหนดว่าศาลแบบเสาสี่ถึงหกต้นเป็นศาลพระภูมิ และศาลที่มีเสาต้นเดียวจึงเป็นศาลผี แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ แล้วพบว่าศาลพระภูมิและศาลผีมีลักษณะของศาลเป็นแบบเดียวกัน โดยอาจมีทั้งที่เป็นเรือนแบบเสาหนึ่งต้น สี่ต้น หรือหกต้นก็ได้ ดังนั้นในการพิจารณาถึงข้อต่างระหว่างศาลผีกับศาลพระภูมิตามอาคารบ้านเรือน จึงต้องสังเกตจากระดับของศาลที่ตั้งเคียงกัน ซึ่งศาลผีจะตั้งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศาลพระภูมิ ทั้งนี้หากมีการตั้งศาลเพียงศาลเดียวก็จะเป็นการยากที่จะบอกได้ว่าเป็นศาลชนิดใด จึงจำเป็นต้องอาศัยการสังเกตว่ามีเจว็ดอยู่ภายในศาลด้วยหรือไม่ รูปแบบของศาลพระภูมิแต่เดิมมักสร้างเป็นบ้านแบบเรือนไทย การสร้างศาลเลียนแบบที่อยู่อาศัยของมนุษย์เช่นนี้ นักวิชาการท่านหนึ่งได้ให้คำอธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า ผีสางเทวดาที่คนเชื่อความจริงแล้วไม่มีตัวตน เป็นจิตวิญญาณ ที่ทำให้เป็นตัวตนได้นั้นเพราะจินตนาการของมนุษย์ เมื่อจะสร้างศาลที่เปรียบเป็นบ้านที่อาศัยของผีสางเทวดาเหล่านี้ บ้านเรือนที่คนอยู่ปกติจึงถูกจำลองขึ้นแต่ในปัจจุบันรูปแบบของศาลพระภูมิประจำบ้านโดยส่วนมากได้พัฒนารูปแบบไปมากแล้ว ซึ่งรูปแบบที่พบมักเป็นการสร้างเลียนปราสาท อุโบสถ ฯลฯ เป็นต้น  


ศาลพระภูมิซึ่งเคยเป็นแบบบ้านเรือนไทยย่อส่วนจากที่อยู่อาศัยของคนในอดีต ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว และดูเหมือนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะไม่หยุดอยู่แค่เพียงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเท่านั้น แม้แต่เจว็ดซึ่งเป็นตัวแทนของเทพารักษ์ภายในศาลพระภูมิเองก็เปลี่ยนไปด้วย ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อไม่นานนัก โดยน่าจะมีสาเหตุมาจากข่าวเรื่องการสร้างโรงแรมเอราวัณที่แยกราชประสงค์ในระหว่างปี 2494-2499 ซึ่งในระหว่างการสร้างโรงแรมได้เกิดเรื่องราวต่างๆ อันเป็นอุปสรรค์ต่อการดำเนินงานเป็นอย่างมาก จึงทำให้ต้องพึ่งความเชื่อทางไสยศาสตร์และได้ผลสรุปว่า เกิดจากการตั้งชื่อโรงแรมว่า
เอราวัณซึ่งเป็นชื่อช้างทรงของพระอินทร์ หากจะแก้ไขก็ควรขออำนาจท้าวมหาพรหมมาถ่วงดุลให้ความแรงของที่ลดลง และเมื่อสร้างโรงแรมเสร็จแล้วต้องตั้งศาลพระพรหมถวายทันที

ประวัติความเป็นมาของพระพรหมที่โรงแรมเอราวัณ หลวงสุวิชานฯ แพทย์ผู้ที่แนะนำให้สร้างศาลแห่งนี้เชื่อว่าเป็น
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ไปบังเกิดเป็นพระพรหม นามว่าท้าวเกศโร อย่างไรก็ตามนายอภิชาติ ชินะโชติ ซึ่งเป็นนักไสยศาสตร์ได้กล่าวอ้างว่า ตนเป็นผู้สร้างต้นแบบพระพรหมองค์ดังกล่าวจากการเข้ากรรมฐาน จนได้เห็นและจดจำรูปร่างมาให้ช่างสร้างขึ้นตามคำบอกเล่าของตน แต่หลวงสุวิชานฯ แพทย์ได้มาเห็นเข้าพอดีจึงของถอดแบบไปสร้างเป็นพระพรหมที่หน้าโรงแรมเอราวัณ


จากประวัติความเป็นมาในข้างต้น จะเห็นได้ว่าพระพรหมที่หน้าโรงแรมเอราวัณเป็นพระพรหมในศาสนาพุทธ ไม่ใช่พระพรหมในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูที่มีจุดกำเนิดในลักษณะสยัมภู (กำเนิดขึ้นเอง) เนื่องจากแนวคิดในคัมภีร์ไตรภูมิระบุว่า มนุษย์สามารถไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหมได้ อย่างไรก็ตามแม้ตำราไตรภูมิให้รายละเอียดต่างๆ อย่างมากมายเกี่ยวกับพรหมโลก แต่ก็น้อยมากที่จะกล่าวถึงชื่อของพระพรหม อีกทั้งการอ้างว่ารับรู้ได้ว่าใครตายโดยไปเกิดเป็นอะไรนั้น ย่อมเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ดังนั้นพระพรหมที่หน้าโรงแรมเอราวัณจึงควรสร้างขึ้นบนพื้นฐานของศาสนาพุทธ โดยได้รับการปรุงแต่งตามความเชื่อของผู้สร้าง



1 รูปแบบการตั้งศาลพระภูมิร่วมกับศาลผี โดยศาลพระภูมิอยู่ในตำแหน่งสูงกว่าศาลผี
2 ศาลท้าวมหาพรหม หน้าโรงแรมเอราวัณ แยกราชประสงค์
3 ศาลพระคเณศ หน้าเซ็นทรัลเวิลด์



สรุป

เจว็ด คือเทพารักษ์หรือภูมิเทวดาที่คอยปกปักษ์รักษาสถานที่อยู่อาศัย ในเรื่องของเทพารักษ์แม้ว่าอาจจะมีต้นทางจากคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์ แต่เชื่อว่าการสร้างเจว็ดคงได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์ไตรภูมิในเรื่องของภูมิเทวดา ผนวกกับการปรับปรุงตามความเหมาะสมกับสถานที่มากกว่า เนื่องจากประติมานวิทยาของเทวดาบนเจว็ดที่พบมาแต่เดิมโดยส่วนมากมีทั้งเทวดาชั้นสูง เทวดาทั่วไป นางอัปสร และกุมาร เป็นต้น ลักษณะที่พบเช่นนี้ล้วนไม่ตรงกับเนื้อความในตำราพระภูมิเจ้าที่ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยหลัง โดยระบุว่าเทพารักษ์นามชัยมงคล ถือพระขรรค์และถุงทอง


จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง ผนวกกับการขาดความรู้ตามคติเดิมระหว่างคนในอดีตกับคนในปัจจุบัน จึงเป็นช่องทางให้เกิดความนิยมศาลพระพรหมแทนศาลพระภูมิที่มีเจว็ดอยู่ภายใน นอกจากนี้หลักอุปสงค์และอุปทานก็มีส่วนผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางรูปแบบและคติความเชื่อเร็วขึ้นอย่างน่าตกใจ และอาจกล่าวได้ว่าการตั้งศาลพระภูมิที่มีเจว็ดอยู่ภายในกำลังจะตายไปจากสังคมไทยอย่างสิ้นเชิงในอีกไม่นานนัก


ท้ายนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ นอกจากศาลพระพรหมที่ได้รับความนิยมติดอันดับแล้ว เมื่อช่วงเวลาราว 20 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีศาลเทวรูปในศาสนาฮินดูเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ เช่น ศาลลักษมีที่ห้างเซ็นทรัล สาขาลาดพร้าว ศาลพระอิศวรที่ห้างเซ็นทรัล สาขาปิ่นเกล้า ศาลตรีมูรติและศาลพระคเณศที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และศาลพระสุรัสวดีที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฯลฯ เป็นต้น ความนิยมเช่นนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย จึงควรจะมีการศึกษากันต่อไป

 

หนังสืออ้างอิง

จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม 4, กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542.

_______, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม 13, กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542.

ทองทิว สุวรรณทัต, ประสบการณ์ทางวิญญาณ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อรุโณทัย, ม.ป.ป.

ธรรมปรีชา (แก้ว) พระยา, ไตรภูมิโลกวินิจฉัยกถา, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2535.

ประยงค์ อนันทวงศ์, มงคลในการปลูกบ้านเรือน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บำรุงสาสน์, 2531.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2525, พิมพ์ครั้งที่ 6, กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์, 2539.

ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง, เจว็ด รูปเคารพแทนเทพแบบไทย, ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 17 ฉบับที่10 (สิงหาคม, 2539): 104.

_______,สถาปัตยกรรมไทยบนศาลพระภูมิและหอผีศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 17 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม, 2539): 102-103.

สมภพ ภิรมย์, น.อ. นารายณ์สิบปาง, กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2534.

 

บทสัมภาษณ์

ข้าราชการฝ่ายบูรณะราชภัณฑ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง เมื่อวันที่17 สิงหาคม พ.ศ.2547.

ไม่ทราบชื่อ, เจ้าหน้าที่รักษาประตูอนงคะลิ้นลา เขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2547.

หมายเลขบันทึก: 170947เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2008 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

ซูซาน

น้องออยเก่งจัง เรื่อง เจว็ด เพิ่งเคยได้ยิน แก่จนป่านนี้ แต่ก็รู้สึกคุ้นๆคำนี้นะ ดีจังทำให้รู้ว่าพระพรหมที่เอราวัณเป็นของพุทธ เห็นด้วยว่าตอนหลังๆ คนนิยมสักการะศาลเทวรูปในศาสนาฮินดูมากขึ้น ไม่รู้ทำไม ขนาดมีสาวๆ ออฟฟิต มาชวนน้องชายให้ไปไหว้พระตรีมูรติที่หน้าเซนทรัลเวิลดิ์ ก็เลยถามว่านับถือหรือว่าอะไร เค๊าก็เฉลยว่าไปขอเนื้อคู่กัน ตลกดี โอ๋ไม่ยอมไป...5555

เขามีความเชื่อกันว่าให้เอากุหลาบไปไหว้ขอเนื้อคู่แล้วจะสมหวัง แต่พี่โอ๋เรื่องมากท่านอาจจะไม่ยอมช่วยก็ได้นะ อาจจะต้องเอาไปสัก 999 ดอก ^ ^

สวัสดีครับ

  • ค้นคว้ามาเขียนได้น่าอ่านครับ เชียร์ๆ
  • เรื่องความเชื่อเกี่ยวกับเทพนี่หาที่ยุติให้แม่นมั่นลำบาก
  • อย่างซำปอกง เจ้าแม่กวนอิม พระศรีอาริย์ ก็มีความเชื่อแตกต่างกันไป
  • พักหลังตามศูนย์การค้าใหญ่มีเทพเจ้าฮินดูเยอะแยะ เยื้องๆ สุขุมวิท 20 ก็รู้สึกว่ามีเทพเจ้าแต่งเป็นครึ่งหญิงครึ่งชาย จำชื่อไม่ได้แล้ว

 

 

  • อ่านแล้วต้องวิ่งไปดูที่ศาลพระภูมิหน้าบ้านประกอบด้วยค่ะ
  • ข้อมูลน่าสนใจ  อ่านแล้วได้ความรู้ ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

วันนี้พอว่าง อ่านเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกเลย น่าสนใจค่ะ

ที่บ้านไม่มีศาลพระภูมิ มีแต่ที่โรงงานและที่บริษัทอีกแห่งมีค่ะ คือ ถ้าไม่มี ก็ไม่มีเลย แต่ถ้ามีต้องนำเครื่องสักการะไป และทำความสะอาดอย่าให้ขาด ไม่เคยทราบว่าพระพรหมที่ร.ร.เอราวัณเป็นแบบพุทธค่ะ เพิ่งทราบนี่ละ

เรื่องเจ้าที่ ก็ท่าจะจริงนะคะ มีประสบการณ์จากที่ตั้งของโรงงานที่กาญจนบุรี ได้ให้คนนั่งทางในมาดูก่อนสร้าง เขาบอกเจ้าที่เป็นคนสูงอายุ กินหมากพลู เดินไป เดินมาตรวจตราที่ดินผืนนี้อยู่ และแนะนำว่าเราต้องทำอย่างไรบ้าง

สรุปว่าต้องตั้งศาลพระภูมิ ด้านหน้าติดถนนเลยค่ะ และก็มีเหตุการณ์แปลกๆเกิดขึ้นเหมือนกัน แต่ก็เป็นเรื่องดี เช่น นอนพักอยู่ที่บ้านพักริมน้ำ กลางคืนตื่นขึ้นมา มีเสียงคนเดินในบ้าน เข้าห้องโน้น ออกห้องนี้ เหมือนเดินตรวจ ไปเล่าให้คนที่เข้านั่งทางในคนเดิมฟัง เขาบอก ไม่ต้องกลัว ลุงมาตรวจความเรียบร้อยให้เรา

ก็ทำเฉยๆนะคะ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ และก็ไม่กลัวหรอกค่ะ

ฝากบอกน้องออยว่า เขียนได้น่าสนใจและให้ความรู้มากค่ะ ขอบคุณ

P  คุณธวัชชัย

ออยฝากบอกว่าไม่แน่ใจว่าเทพครึ่งหญิงครึ่งชายที่พูดถึงนี่ใช่ "อุมามเหศวร" หรือเปล่า คือเป็นพระอุมากับพระศิวะอย่างละครึ่ง ฝั่งซ้ายกับฝั่งขวา ไม่ใช่ครึ่งบนครึ่งล่าง เพราะฮินดูชอบทำ มีอีกที่เห็นได้คือพระวิษณุ+พระศิวะ= พระหริหระ แต่ถ้ารวมเทพเจ้าทั้งสามองค์เข้าด้วยกัน ได้แก่ พระวิษณุ+พระศิวะ+พระพรหม = พระตรีมูรติ อย่างที่เห็นหน้าเซ็นทรัลเวิลด์

พระตรีมูรติหน้าเซ็นทรัลเวิลด์นี่มีเรื่องความเชื่อนอกเหนือตำรา เป็นเรื่องที่เกิดเมื่อไม่นานมานี่ก็คือเรื่องการเอาดอกกุหลาบไปบูชาเพื่อขอเนื้อคู่ หรือให้สมหวังในความรัก เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงเรื่องหน้าที่ของเทพที่ถูกกำหนดโดยมนุษย์ มีข้อสังเกตุว่าในสมัยโบราณถ้าความเชื่อแบบนี้เป็นที่นิยมแพร่หลาย บรรดาคุรุก็จะตามน้ำ แต่งปุราณะสรรพคัมภีร์อธิบายเล่าเรื่องให้เป็นทางการ เสริมความเชื่อให้เป็นเรื่องจริงจัง จนกลายเป็นหน้าที่อีกอย่างหนึ่งของเทพขึ้นมา

P  คุณ Jaewjingjing

ค่อยๆ เดินดีกว่าค่ะ ระวังหกล้ม ^ ^ แล้วได้ผลว่ายังไงบ้างคะ ได้เห็นเจว็ดในศาลหรือเปล่าคะ

P  พี่ศศินันท์

เรื่องความเชื่อแบบนี้เป็นเรื่องที่อธิบายยากค่ะ การตั้งศาลผีหรือศาลปู่ย่าเป็นสิ่งที่อยู่ในรากเหง้าวัฒนธรรมไทยฝังลึกมานาน ดังจะเห็นได้จากความในศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยสุโขทัย กล่าวถึงการบูชา "พระขพุงผี" ซึ่งเป็นผีประจำเมือง หากไว้บ่ดีพลีบ่ถูกเมืองก็จะสูญ หรือทางอีสานก็บูชา "ผีฟ้าพญาแถน" สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อที่น่าจะสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ เมื่อมีศาสนาอื่นๆ เข้ามาความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้สูญหายไป แต่กลับผนวกรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวอย่างกลมกลืน จนกลายเป็นวัฒนธรรม (แบบไทยๆ) อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ค่ะ



ค่อยๆ เดินดีกว่าค่ะ ระวังหกล้ม ^ ^ แล้วได้ผลว่ายังไงบ้างคะ ได้เห็นเจว็ดในศาลหรือเปล่าคะ

ลืมบอกไปว่าได้เห็นค่ะ  แต่ไม่ทราบมาก่อนว่าเรียกเจว็ต จะเรียกพระภูมิตลอด

P  คุณ Jaewjingjing

เรียกว่าพระภูมิก็ได้ค่ะ เจว็ดนี่เป็นแผ่นไม้อยู่อยู่ด้านในตัวศาล เปรียบเทียบให้ฟังง่ายๆ เหมือนว่าเราเห็นตำรวจ แล้วเราบอกว่านี่เป็นคนก็ได้ ก็เหมือนเราเห็นเจว็ดแล้วบอกว่านี่คือพระภูมิก็ไม่ผิดเช่นกัน

ปัจจุบันจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของเจว็ดกลายเป็นปูนปลาสเตอร์หรือเรซิ่นก็มี ทั้งนี้ก็เพื่องบประมาณที่ถูกลง และสามารถผลิตเป็นอุตสาหกรรมจำนวนมาก ส่วนในศาลผีส่วนใหญ่จะวางพวกตุ๊กตาตายาย ตุ๊กตากุมาร แต่เดิมอาจเป็นเพียงศาลเปล่าๆ ไม่มีตุ๊กตาวางอยู่ภายใน

เพิ่มเติมเรื่องพระภูมิเจ้าที่ให้นะคะ เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น ในคัมภีร์ไตรภูมิระบุว่า เทวดาระดับล่างแบ่งออกเป็น 4 จำพวก ได้แก่
1. ภูมิเทวดา = เทวดาที่สถิตย์อยู่ในพื้นที่ ที่ดิน (คือศาลพระภูมินี่ล่ะ)
2. รุกขเทวดา = เทวดาที่สถิตย์อยู่ในต้นไม้
3. ติณเทวดา = เทวดาที่สถิตย์อยู่ในสัตว์
4. อากาศเทวดา = เทวดาที่สถิตย์อยู่ในอากาศ

ขยายความนิดนึงเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน
- โครงสร้างของแผ่นไม้รูปคล้ายใบเสมาสูงชลูด ที่มีภาพเทวดาปรากฏอยู่คือ เจว็ด (B)
- เฉพาะภาพเทวดา นางอัปสร หรือกุมารที่ปรากฏให้เห็นบนเจว็ดคือ พระภูมิ (A)

หรือ พระภูมิเป็น subset ของเจว็ดนั่นเอง

Euler diagram showing A is a subset of B
 

แต่มีกรณียกเว้น เช่น พระเสื้อเมือง พระสยามเทวาธิราช ที่อาจจะนับเป็นพระภูมิได้เช่นกัน แต่เป็นพระภูมิระดับประเทศ ไม่ใช่ระดับท้องถิ่น เปรียบเหมือนนายอำเภอกับนายกทำนองนั้น ซึ่งรูปประติมากรรมตัวอย่างทั้งสองที่กล่าวถึง ไม่มีเจว็ดเป็นฉากหลัง ดังนั้น การแสดงออกในรูปแบบของพระภูมิจึงไม่เป็นเสมอไปว่าต้องอยู่ในรูปลักษณ์ของเจว็ด อาจเป็นประติมากรรมลอยตัวก็ได้

ส่วนตัวศาลของพระเสื้อเมือง ก็คือศาลหลักเมือง และพระสยามเทวาธิราชก็สถิตย์อยู่ในปราสาทจำลอง ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งเป็นเรือนฐานันดรสูงทั้งคู่ ก็เปรียบเหมือนนายอำเภออยู่ที่ว่าการ พอเป็นนายกก็ต้องอยู่ทำเนียบรัฐบาล เช่นนั้นแหล่ะ

  • เจว็ด
  • อ่านยังไงอ่ะครับ แฮะๆ
  • ขอบคุณสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ
  • เท่าที่มองดูด้วยตาเปล่าเจว็ด(พระภูมิ)ที่บ้านก็ไม่ได้เป็นแผ่นไม้ค่ะ
  • แต่ก็ไม่ใช่ปูนพลาสเตอร์ หรือเรซิ่น แต่มีลักษณะคล้ายโลหะประเภททองเหลืองมากกว่า 
  • แต่ได้แต่สังเกตุด้วยตาเปล่านะคะ  ไม่ได้ไปแตะต้องสัมผัสท่านค่ะ :)
  • ได้ความรู้มากๆ ทั้งที่เป็นของไกล้ตัวและบูชาอยู่แท้ๆ กลับไม่รู้เรื่องราวละเอียดๆ แบบนี้เลย
  • ขอบคุณทั้งน้องออย และน้องซูซานนะคะ เยี่ยมจริงๆ ค่ะ

P  คุณ Suksom

คำนี้อ่านว่า จะ-เหว็ด ค่ะ : )

P  คุณ Jaewjingjing

โลหะก็อาจเป็นไปได้ค่ะ เดี๋ยวนี้การสร้างแบบเป็นระบบอุตสหกรรมมากขึ้น วัสดุก็แล้วแต่ผู้สร้างถนัดและมีเรื่องต้นทุนเป็นส่วนประกอบ แต่ถ้าเป็นโลหะอาจจะอัพราคาได้มากกว่าอย่างอื่นก็ได้ค่ะ น่าจะเป็นโลหะประเภทเดียวกับที่หล่อพระพุทธรูป

P  พี่แหวว

ยินดีค่ะที่ได้นำเรื่องที่มีประโยชน์มาให้ได้อ่านกัน จะพยายามหามาอีกเรื่อยๆ นะคะ

อ่านซะอิ่มไปเลย น้องซูซาน

พี่มีประสบการณ์ "เจ้าที่"

ตอนเด็กๆ คุณพ่อเป็นครูได้งบประมาณมาสร้างอาคารโรงเรียนจากเดิมที่เป็นโรงเรียนวัด ใช้ศาลาวัดเป็นอาคารเรียนแต่ศาลามีอายุมากจึงเอียง และอันตราย

เมื่อจำเป็นต้องสร้างก็ทำเรื่องของบราชการได้มาก็ถางที่ บังเอิญสถานที่นั้นคือป่าช้าเก่า

เมื่อขอใช้สถานที่แล้วก็ลงมือก่อสร้างโดยระดมช่างชาวบ้าช่วยกันทำ แบบลงแขก 

มาถึงตอนที่ต้องตอกเสาเข็ม ก็ทำโครงการตอกเสาเข็ม เอาเครื่องสูบน้ำที่บ้านมาติดตั้งแล้วให้เครื่องดึงสามเกลอขึ้นเสาสูงๆ ปล่อยลงมาให้ตอกเสาเข็ม

เมื่อติดตั้งทุกอย่างเสร็จก็เริ่มทดลองติดเครื่องดึงเสาเข็มขึ้นที่สูง ปรากฏว่าทำอย่างไรเครื่องก็ไม่สามารถดึงสามเกลอขึ้นที่สูงได้

ช่างชาวบ้านจึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำกลับด้านใหม่ เพราะคิดว่าติดตั้งผิดด้านทำให้กำลังการดึงไม่พอ  แต่ก็เหมือนเดิม ดึงสามเกลอขึ้นไม่ได้...ทุกคนหมดปัญญา ปล่อยทิ้งไว้

คืนนั้น วิญญาณหนึ่งไปเข้าฝันพ่อว่า เองไม่ขออนุญาติการก่อสร้าง ขอแต่ใช้สถานที่เฉยๆ จึงไม่ให้ก่อสร้าง  หากจะก่อสร้างต้องจุดธูปขอขมาก่อนแล้วบอกใหม่ว่าขอก่อสร้างอสคสรโรงเรียนด้วย

เช้าขึ้นมาพ่อเอาเรื่องนี้ไปบอกช่างเพื่อนบ้าน เท่านั้นเองทุกคนก็ตกใจว่า "เจ้าที่แรงจัง" จึงทำพิธีจุดธูปดอกเดียว บอกกล่าว แล้วติดตั้งเครื่องใหม่เหมือนครั้งแรก เท่านั้นเอง เครื่องก็ทำงานตามความต้องการ....

นี่คือประสบการณ์ "เจ้าที่"  คนโบราณจึงเคารพนัก ไปต่างถิ่นก็บอกกล่าวเจ้าที่ทุกแห่ง ยามนอนยิ่งต้องบอก คนโบราณเดินผ่านศาลพระภูมิของใครก็แล้วแต่ยังยกมือไหว้  ชาวดงหลวงเข้าป่า จะกินข้าวกลางวันในป่าต้องเอาคำแรกมอบให้เจ้าป่าก่อน

จริงๆ...ไม่เชื่ออย่าลบหลู่..จริงๆ..

P  พี่บางทราย

เรื่องแบบนี้มันพูดยากค่ะ เล่าไปบางคนก็ไม่เก็ตเพราะไม่มีประสบการณ์ตรง หรือบางครั้งก็อาจจะเชื่อยิ่งกว่าคนเล่าก็มีนะคะ

ขอชมน้องออยว่าค้นคว้า เรียบเรียงได้น่าอ่านและอ่านเข้าใจได้ง่าย แล้วน้องซูซานนำงานของน้องออยมาฝากกันอีกนะคะ จะให้ดีที่สุดก็มาเปิดบล็อกซะเลย แฟนๆคงเพียบ เรื่องอย่างเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยที่เขียนในเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์เช่นนี้หาอ่านไม่ได้ง่ายๆค่ะ ขอบคุณน้องซูซานด้วยที่นำมาลงให้อ่าน เป็นสิ่งที่พี่ไม่ค่อยสนใจและไม่มีความรู้มาก่อนเลยค่ะ ได้อ่านแล้วประเทืองปัญญาดีค่ะ

บ้านพี่ก็ไม่มีศาลพระภูมิ แต่เรามีเจดีย์ขนาดใหญ่เท่าของจริง สร้างขึ้นใหม่ อิ อิ ใครมากลัวกันทุกคน ถามว่ามีอะไรในเจดีย์มั้ย เช่นเก็บกระดูกใครไว้หรือเปล่า

  • เห็นด้วยกับพี่นุชค่ะ
  • อิอิชวนน้องออยมาเขียนบล็อกด้วยสิคะ
  • พี่ว่าเรื่องเจ้าที่เจ้าทางก็สำคัญนะคะ
  • เพราะทุกที่ที่เราเหยียบย่างไปล้วนมีคนอยู่มาก่อนแล้วทั้งนั้น
  • หากทำให้ดีให้ถูกต้องก็เป็นการอยู่ร่วมกันที่ดีนะคะ
  • ใช่เลยค่ะคติความเชื่อทางฮินดูได้รับความนิยมจากคนไทยเพิ่มขึ้นมากนะคะ

P  พี่นุช

ผลงานออยที่เขียนไว้ดีๆ มีอีกเยอะ แต่ไม่ยอมสมัครค่ะ เชียร์ไม่ขึ้น แต่นี่พอเอาลงและมีคนอ่านก็ดีใจ เห็นบอกว่าจะเขียนใหม่ให้อีกบทความหนึ่งเกี่ยวกับสีโบราณ เขาทำสีโบราณเก่งทีเดียว กรรมวิธีการทำมันยุ่งยาก ไม่ค่อยมีใครทำกันแล้ว เขาศึกษาตอนเรียนอยู่ที่วิทยาลัยในวังค่ะ และค้นคว้าเพิ่มเติมเองภายหลังอีกเยอะ ทดลองทำจนโกร่งใส่สีเต็มบ้านทีเดียว

อืมม์ มีเจดีย์ในบ้านเลยหรือคะพี่ ถ้าไม่รักแนวนี้จริงคงไม่ทำแน่นอนค่ะ

P  พี่นารี

อย่างที่ตอบพี่นุชไปแล้วว่าเชียร์ไม่ขึ้นค่ะ เอาเป็นว่าให้เขาอาศัยบล็อกหนูไปพลางๆ ก่อนแล้วกัน นึกฮึดขึ้นมาวันไหนคงยอมทำเอง เรื่องเจ้าที่นี่หนูก็ไม่รู้เหมือนกันนะคะ คือเป็นความเชื่อส่วนบุคคลค่ะ แต่เรื่องที่เห็นคนนิยมสักการะเทพฮินดูนี่เห็นเพิ่มมากขึ้นเยอะทีเดียว จะบอกว่ายังไงดีนะ คือคนไทยนิยมลัทธิ Safety First ค่ะ ไหว้ได้หมดไม่มีขาดทุน ไปที่ไหนเจอเทพของชาติใดก็ไหว้ได้ ไม่ว่าจีน ฮินดู ฯลฯ ไม่เกี่ยง เพื่อความปลอดภัยของตนเอง จะรู้จะไม่รู้ไม่สน รู้แต่ว่าเคารพไว้ก่อนเป็นดี เข้าทำนองไม่เชื่ออย่าลบหลู่ค่ะ

ปล. หนูมีหลักฐานสนับสนุนเรื่องที่บอกพี่นะคะ ตัวอย่างที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เคยเห็นผู้ปกครองจุดธูปแล้วเอาพวงมาลัยไปไหว้เซนต์คาเบรียล เหลือเชื่อนะคะ ขนาดเจอแบบคริสต์ก็ยังเอาจนได้ จุดธูปบูชาขอให้ปลอดภัย ลูกเรียนดี สอบได้อะไรทำนองนั้นค่ะ ตลกแต่จริง - - "

สวัสดีจ๊ะน้องซูซาน

ได้ความรู้ใหม่อีกแล้ว เคยได้ยินคำว่าเจว็ดมาบ้างเหมือนกัน แต่ไม่เคยรู้ความหมายเลย เพิ่งมารู้นี่แหละจ๊ะ ต้องขอบคุณน้องออยด้วยนะ ^ ^

ที่บ้านพ่อแม่พี่ก็มีศาลพระภูิิิมิ แต่พี่ก็ไม่เคยสังเกตนะว่ามีเจว็ดอยู่ด้านในหรือเปล่า แต่พ่อทำหน้าที่ไหว้ทุกวัน ส่วนตี่จู่เอี้ยก็ไหว้ตอนเชงเม้ง ไหว้ตอนไหว้บรรพบุรุษ หรือตอนตรุษจีนน่ะ

ของอย่างนี้ก็แล้วแต่ความสบายใจนะ อีกอย่างนึงคือทำให้เรารู้จักเคารพสถานที่ด้วยนะพี่ว่า

P  พี่ตุ๋ย

ผลงานออยเขาล่ะ เดี๋ยวก็คงได้อ่านอีกเพราะรับปากว่าจะเขียนเพิ่มค่ะ หนูเดิมก็ไม่เคยสังเกตุเหมือนกันเพราะเล็ก เลยไม่ได้มองลอดเข้าไปข้างใน แต่พอออยเล่าให้ฟังก็เลยพยายามสังเกตุดู ส่วนตี่จูเอี้ยนั้นเห็นทั่วไปเลยค่ะ เห็นมาตั้งแต่เด็ก บ้านคนจีนมีทั้งนั้น

ทำอะไรแล้วสบายใจก็ทำเถอะค่ะ ถ้าอยู่บนสิทธิของเราแล้วไม่ไปเดือดร้อนใคร เพียงแต่ถ้าเราศึกษาที่มาที่ไปบ้างก็ทำให้มีความเชื่อบนพื้นฐานความรู้ จะได้ถูกทั้งกาละและเทศะในการทำสิ่งต่างๆ บางครั้งการไม่มีความรู้มันอาจจะพลอยทำให้เราทำสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรโดยไม่รู้ตัวค่ะ : )

  • ขอบคุณมาก
  • ที่ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้
  • ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มอีก
  • การเรียนรู้นี้ไม่ที่สิ้นสุดจริงค่ะ

มาเรียนรู้แล้วครับ ขอบคุณครับ

ผมได้ทำเจว็ดลองส่งที่ร้านศาล แต่ได้ความนิยมค่อนข้างน้อย

สู้เทวรูปแบบลอยตัวไม่ได้ แต่ก็ทำไว้ที่บ้านหลายองอยู่เหมือนกัน

เป็นเทวดานพเคราะห์ และ พระสยามเทวาธิราช ไว้บูชาเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท