ฟัง


 

                                                       ฟัง

 

          เมื่อครั้งยังเล็กๆ   ครั้งหนึ่ง   ในชั่วโมงอะไรสักอย่าง  คุณครูตั้งคำถามว่านักเรียนชอบดอกไม้อะไรมากที่สุดและให้บอกเหตุผลมาด้วย  เพื่อนๆต่างเลือกชื่อดอกไม้ที่ชอบมาตอบกันอย่างสนุกสนาน  จนกระทั่งคุณครูเดินมาหยุดตรงหน้าดิฉัน และถามว่า หนูชอบดอกอะไร? 
         ดิฉันตอบครูเสียงดังฟังชัดว่า  "หนูชอบดอกไม้ทะเลค่ะ"

        เพื่อนๆทุกคนนั่งเงียบกริบ      ในขณะที่ดิฉันนั่งก้มหน้า   นึกในใจว่า “ไม่น่าเลยตู”

         คุณครูมองหน้าดิฉัน   แล้วพูดเน้นเสียงเรียบๆว่า      "ไม่ได้ฟังที่ครูพูดหรือ  ไหนบอกครูใหม่ซิคะ  หนูชอบ "ดอกไม้" อะไร?

        สัญชาตญาณบอกดิฉันให้ตอบครูไปว่า        "ชอบดอกมะลิค่ะ"  

        จากนั้นการเรียนการสอนก็ดำเนินต่อไปตามปกติ   ทุกคนต่างสนุกสนานกันต่อไป

        ดิฉันออกจะเสียดายอยู่บ้างที่ไม่ได้เล่าให้ครูและเพื่อนฟังว่าโลกของดอกไม้ใต้น้ำนั้นสวยงามเพียงไหน  ดิฉันอยากเล่าครูให้ครูและเพื่อนๆฟังว่าได้อ่านหนังสือฝรั่งที่มีภาพสวยๆของดอกไม้ทะเล  และปะการังที่สีสวยสดกว่าในห้องสมุด  คนฝรั่งเอามาให้ดู  วันนี้หนูได้คุยกับคนฝรั่งตัวโต  ทำไมคนฝรั่งต้องไว้เคราด้วยก็ไม่รู้.....

        แต่ไม่เป็นไร วันนี้ครูคงยังไม่อยากฟัง....คำตอบที่ครูต้องการฟังวันนี้  คือดอกไม้ “ที่อยู่บนดิน”

        .....บางทีครูอาจอยากฟังเรื่อง ดอกไม้ใต้น้ำ วันหลังก็ได้  ดิฉันปลอบใจตัวเองอย่างนั้น....

         อีกคราวหนึ่งที่คุณครูให้เลือกสีที่ชอบที่สุด  เพื่อจะจัดกลุ่มนักเรียน  คุณครูตั้งถามอย่างรื่นเริง บรรยากาศในห้องเต็มไปด้วยความสนุกสนาน   คุณครูไล่ถามเพื่อนมาทีละคน  จนมาถึงดิฉัน

         ดิฉันลุกขึ้นยืนตอบอย่างตรงกับหัวใจตนเองที่สุดว่า
                                       
                                        "หนูชอบสีรุ้งค่ะ" 

          บ้านดิฉันอยู่ติดภูเขาเขียวชอุ่ม  และฟ้าสีเทาครามนั้นสวยเหลือเกินในวันฝนตกพรำๆ       ภาพรุ้งกินน้ำพาดโค้งฟ้าหลังฝนนั้นสวยงามนัก  ดิฉันกำลังอ้าปากจะเล่าต่อว่าเพราะอะไรดิฉันจึงชอบสีรุ้ง

          คุณครูยิ้มให้อย่างใจดี  และย้ำว่า      "ฟังนะคะ  ครูให้ดูสีในกล่องดินสอสี  และให้หนู  “เลือก”  สีที่ชอบที่สุดมาสีหนึ่ง"

          ดิฉันตั้งใจฟังครู   และตัดสินใจเลือกสีชมพู  เพราะต้องเลือกเท่าที่มีให้เลือกตรงหน้า(ตามที่ครูสั่ง)     ความตั้งใจที่จะเล่าเรื่องรุ้งกินน้ำแสนสวยสองตัวให้ครูฟัง   สลายวูบไปในทันใด 
          แต่ยังไม่เสียกำลังใจ  เพราะเริ่มเข้าใจสถานการณ์ชีวิตของตัวเอง 

         จากวันนั้นเป็นต้นมา   ดิฉันเริ่มปรับตัวได้มากขึ้น   ทุกๆวันที่ไปโรงเรียน   ดิฉันจะนั่งลงอย่างสงบเสงี่ยม  ในกล่องสี่เหลี่ยมที่เรียกว่าห้องเรียน   และเรียนรู้ที่จะ”ฟัง” ครูแต่เพียงอย่างเดียว     เหมือนเพื่อนคนอื่นๆ     อย่างนักเรียนที่ดีพึงทำ

         หากหัวใจเล็กๆของดิฉัน ยังคงเต็มไปด้วยคำถามและความสงสัยเหมือนเดิม  .... กลับมาบ้าน  พ่อกับแม่ก็ทำงานยุ่งนัก  การทำงานที่เดียวกันทำให้เกิดข้อขัดแย้งได้ง่าย  และบางทีก็ติดมาถึงบ้าน  ดิฉันเห็นความรักความอบอุ่นในครอบครัว  ขณะเดียวกันก็เห็นความไม่เข้าใจกันด้วย  เพราะลืมที่จะ “ฟัง” กัน

         ดิฉันเคยสงสัยนักว่า  การที่คนสองคนจะหยุด เพื่อที่จะฟังกันด้วยความรักนั้น  ยากเย็นมากหรือ   ต่อเมื่อโตขึ้นพ่อแม่อธิบายให้ฟัง ดิฉันจึงได้เข้าใจ  การอยู่ร่วมกันของคนสองคนนั้นไม่ง่ายเลย   ให้ดิฉันรับมือกับเด็กดื้อทั้งโรงเรียน  ก็ยังจะง่ายกว่า  เพราะเราไม่มีภาระผูกพัน
        แม่บอกอย่างคนที่ผ่านโลกมา จนถึงวันที่เข้าใจโลกแล้วว่า   " ไว้ถึงวันของลูกแล้วจะรู้เอง..."

        ต่อมาอีกไม่นานนัก เมื่อโตขึ้นมาอีกนิด   ดิฉันก็ได้เห็นคำตอบอะไรบางอย่าง ในอีกมุมมองหนึ่งของการฟัง    เมื่อเพื่อนคนหนึ่งถูกเพื่อนตัวโตโกรธ     เพื่อนที่ตัวโตก็สั่งให้เพื่อนทุกคนเดินเรียงแถวเข้ามาหยิกเพื่อนคนนั้น  ......และเพื่อนคนอื่นๆก็เดินเรียงแถวเข้าไปหยิก 

         ดิฉันสงสัยเพื่อนๆทุกคน  ที่กำลังเดินเรียงแถวเพื่อเข้าไปหยิกเพื่อนที่น่าสงสารคนนั้น  ตามที่เพื่อนอีกคนหนึ่งสั่ง    ดิฉันไม่รู้ว่าเพื่อนคนนั้นผิดอะไร    และคิดว่าการกระทำนี้ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง  เพื่อนตัวโตโกรธคนเดียว  คนอื่นไม่ได้โกรธ  แล้วทำไมคนอื่นต้องไปหยิกเขาด้วย   ดิฉันจึงยืนเฉยไม่ยอมหยิก... 

        เพื่อนตัวโตขู่ว่าถ้าไม่หยิก  เขาจะโกรธดิฉันด้วย  ......ดิฉันยังยืนกระต่ายขาเดียวส่ายหน้าว่าไม่... 

        เพื่อนตัวโตจึงสั่งให้เพื่อนๆเดินเรียงแถวกันมาหยิกดิฉันด้วย
        ดิฉันอยากถามครูเหลือเกิน  แต่ก็ไม่กล้า  เดี๋ยวเพื่อนจะหาว่าฟ้อง  และดิฉันก็จะโดนหยิกอีก ...

         ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ดิฉันรู้สึกสงสัยในตัวเพื่อนมนุษย์  ดิฉันไม่ได้กลัวการหยิก หรือการถูกหยิก   ดิฉันไม่สนใจที่จะตอบโต้ใครด้วยกำลังกาย   และ ณ วันนั้น ดิฉันได้พิจารณาเห็นแล้วว่า แค่หยิกน่าจะยังไม่ถึงที่ตาย  (สัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดของดิฉันออกจะเชื่องช้าอยู่บ้าง)

         แต่ดิฉันกลัวอะไรบางอย่าง….  ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจทำร้ายผู้อื่น  เป็นการตัดสินใจที่ไม่ต้องการฟังเหตุผลใดๆ  นอกจากทำตามๆกันไปอย่างนั้น  

         มนุษย์ตัวเล็กๆที่อยู่ตรงหน้าดิฉัน  กำลังทำร้ายผู้อื่น “ตามๆกันไปอย่างนั้น”

         ดิฉันได้คำตอบชีวิตอย่างสำคัญว่า   บางครั้งมนุษย์ก็ทำร้ายมนุษย์ด้วยกันได้อย่างไม่มีเหตุผล  และจะไม่ฟังเหตุผลใดๆ    เพราะเขาไม่เคยเรียนรู้ที่จะ”ฟัง” 

        และที่น่ากลัวลึกซึ้งกว่านั้น   คือเรียนรู้ที่จะ”เชื่อฟัง” เพียงอย่างเดียว โดยไม่เคยตั้งข้อสงสัย   ไม่เคยตั้งคำถามเอากับ “คนที่เราเชื่อฟัง”  เลย

        การเชื่อตามๆกันมาโดยไม่รู้จักตั้งคำถามนั้น  ทำให้มนุษย์ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมที่จะเปรียบเทียบ  
          
        การตั้งต้นเชื่อเอาด้วยฐานความรู้เพียงชุดเดียว เป็นความไม่รู้ที่น่ากลัวที่สุด    หากเราเชื่อว่าตรงกันว่าในโลกนี้ไม่มีความรู้สมบูรณ์แบบ

         นึกแล้วขำที่พ่อพูดทุกที  พ่อบอกว่ามนุษย์ทุกคนต้องมีความเชื่อ (ดิฉันกำลังอ้าปากจะเถียง) พ่อก็บอกว่า แม้แต่คนที่ไม่เชื่ออะไรเลย  ก็ยังเชื่อว่า ตัวไม่เชื่ออะไรเลย....  ดิฉันก็เลยพูดไม่ออก.. 

         เมื่อครั้งที่อยู่ชั้นประถมปลาย    มีกระแสความเชื่อเรื่องหนึ่งที่นึกแล้วดิฉันยังขำจนบัดนี้  เพราะดิฉันไม่รู้ที่มา  แต่เห็นที่ไป  มันไปทุกที่จนถึงโรงเรียนดิฉัน  ตอนนั้นต่างก็เชื่อกันว่าหากกินไข่ต้ม และแตงโมจะทำให้เกิดโรค  "หด" 

         ความเชื่อนี้ เป็นกระแสที่แรงกล้า   จนแม้แต่หนังสือพิมพ์ยังเอา”ข่าว”มาลง

        คำว่า  “ต่างก็เชื่อ” จะเป็นใครบ้างดิฉันก็สุดรู้  แต่ที่แน่ๆคือเพื่อนดิฉัน ได้เชื่อเข้าไปเต็มที่แล้ว      ทุกวันเพื่อนๆจะพูดกันเรื่องนี้     และจะกระซิบกระซาบจนดูน่ากลัวยิ่งขึ้นเมื่อเดินผ่านรถขายผลไม้      นัยว่าพูดดังๆไม่ได้เดี๋ยวจะมีอาถรรพ์  คนที่พูดกัน อาจ "หด"ได้ 

         ดิฉันคิดสงสัยในใจเงียบๆมานาน  จนเย็นวันหนึ่งก่อนกลับบ้าน พ่อกับแม่มารับช้า ดิฉันหิวจนทนไม่ไหวจึงเดินนิ่งๆไปที่รถขายผลไม้   แล้วสั่งแตงโมแดงสดหวานฉ่ำมาหนึ่งซีก และนั่งลงกินอย่างเอร็ดอร่อยใต้ต้นไม้ใกล้ๆกันนั้น 

                       ....ต่อหน้าเพื่อนๆที่ยืนมองกันอย่างตกตะลึง...

         เพื่อนบางคนทักว่า “เธอกินทำไม  ไม่กลัวหดหรือ”
         บางคนก็กระฟัดกระเฟียดบอกแก่กันว่า "ดูซิเธอ.... ห้ามแล้วก็ยังไม่ฟัง" 

         ดิฉันส่ายหัว  ก้มหน้าก้มตากินแตงโมจนเสร็จ   แล้วลุกขึ้นยืนปัดกระโปรง  ท่ามกลางเสียงซุบซิบของเพื่อนๆ  ที่จ้องมองดูดิฉันอย่างตั้งใจ 

         ดิฉันก็ตั้งใจเหมือนกัน  และตั้งใจเงียบๆมาหลายวันแล้ว  ในความกลัวอยู่บ้างนั้น ดิฉันมีความสงสัยอยู่อย่างแรงกล้า   ตอนนั้นคิดบ้าบิ่นแบบเด็กๆว่า

                                           “หดเป็นหดกันฉิวะ” 

                                            แต่มันก็ไม่ยักกะหด...

         ครั้นเพื่อนๆเห็นประจักษ์แก่ตาว่าดิฉันยังมีทุกอย่างเท่าเดิม ครบถ้วนสมบูรณ์ดี    ก็ออกจะเลื่อมใสในผลการทดลองแบบต่อหน้าต่อตา    ป้าแม่ค้าบอกว่านับแต่วันนั้นแตงโมขายดีขึ้น  เจอดิฉันทีไรป้าแกแถมให้ทุกที

         ดิฉันได้ข้อสรุปเมื่อโตขึ้นอีกนิดว่า   เรื่องบางเรื่องที่สื่อสารด้วยการฟังเขาเล่าต่อๆกันมานั้น  อาจเป็น"ความเชื่อ" มิใช่ความจริง   เราต้องมีวิธีพิสูจน์ความจริง  เพื่อให้เรารู้เท่าทัน

         และการพิสูจน์ความจริง  เพื่อให้เรารู้เท่าทัน      ...บางครั้งเราอาจต้องเอาตัวเข้าแลก….

 

         เมื่อถึงวันดิฉันได้มาเป็นครู     และมีโอกาสมายืนหน้ากล่องสี่เหลี่ยม     ดิฉันจึงพร้อมที่จะทดแทนทุกอย่างที่ดิฉันเคย "ขาด" ไป      บทเรียนจากการ “ฟัง” และ”ไม่ฟัง”  ทำให้ไม่เข้าใจ    หรือไม่รู้เท่าทัน  โดยปริบทต่างกรรมต่างวาระนี้ยังติดอยู่ในใจเสมอ 

         ดิฉันจึงตั้งใจฝึกเด็กๆสุดชีวิต  ด้วยความรักสุดหัวใจ   โตขึ้นเขาจะได้ไม่ฉลาดน้อยเหมือนดิฉัน

         ดิฉันจะบอกพวกเขาทุกครั้งว่า "จงเป็นตัวของตัวเอง..  เพราะครูก็จะเป็นตัวของครูเองเหมือนกัน"

         แล้วดิฉันก็จะ "คุย"  กับพวกเขา  แบบคนธรรมดาหนึ่งคน  กำลังคุยกับคนธรรมดาอีกหนึ่งคน...
  
         พวกเด็กๆดูเหมือนจะเข้าใจ...  แล้วเราก็ ผลัดกัน" คุย"   ผลัดกัน “ฟัง”  อย่างสนุกสนานดี 
 
         ดิฉันได้พบด้วยตนเองว่า   บางครั้ง...  เด็กเล็กๆที่โดดเดี่ยวบางคน  อยากเดินเข้ามาเล่าเรื่องที่เขาไม่มีโอกาสเล่าในห้องเรียน         เรื่องที่เขาเล่าไม่จำเป็นต้องเหมือนที่ดิฉันอยากได้ยิน

         หรือบางที...  เด็กโตๆบางคน    อยากเดินเข้ามาพูดเรื่องที่เขาไม่มีโอกาสพูดที่บ้าน    เรื่องที่เขาพูดไม่จำเป็นต้องเหมือนที่ดิฉันอยากให้พูด

          ดิฉันจะยิ้มให้เขา.....คุยกับเขา   หรือปล่อยให้เขาเล่า..อย่างเป็นตัวของเอง      และเรียนรู้ที่จะ   ..."ฟัง"....  ด้วยความรัก ....

                                              

                                 ...  อย่างตั้งใจ ...

----------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ

เรื่องต่างๆ ที่เล่าไว้บทความนี้ ดิฉันเขียนในใจไว้นานมากแล้ว  และมาเขียนไว้อีกทีเมื่อได้อ่านบันทึกเรื่อง

ฝึกตั้งคำถามต่อแนวคิด และค่านิยมเดิมที่มีอยู่รอบตัวเรา...

ของ อาจารย์ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ   และประทับใจในความเป็นคุณพ่อที่น่ารักของอาจารย์   ดิฉันตามอ่านบันทึกของท่านอย่างมีความสุขทุกบันทึก  แต่ยังไม่มีโอกาสได้โพสต์  จนกระทั่งได้อ่านบันทึกต่างๆ ของ อาจารย์คุณหมอ  Phoenix   และรู้สึกดีใจมากที่ท่านเข้าใจเรื่องการ "ฟัง" ด้วยหัวใจ  อย่างลึกซึ้ง  ชัดเจน  และมีหลักการ  ดังตัวอย่างที่ท่านได้โพสต์ความเห็นไว้ในบันทึกเรื่อง 

สภาการศึกษา G2K : ไวรัสร้ายที่ทุกคนต้องระวัง "ภูมิคุ้มกันชุมชนบกพร่อง"

ของน้องเม้ง  ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจอย่างสำคัญอีกคนหนึ่ง ทีนี้ดิฉันก็คงต้องกล่าวถึง น้องเบิร์ด เป็นการสืบเนื่อง  และพาดพิงไปถึง พี่โอ๋-อโณ  กับ อ.มัทนา    คุณ k-jira  และพี่น้องทั้งหลายใน G2K ที่มิได้เอ่ยนาม  ซึ่งต่างก็เป็นแรงบันดาลใจให้แก่กัน  จนกลายเป็นบันทึกนับร้อยนับพันในแต่ละวัน   อันนี้ก็ต้องพาดพิงเรียนถามท่านอาจารย์ Beeman อีก  

ถ้าจะกล่าวถึงทุกท่านให้ครบ   คงต้องขอเซิร์ฟเวอร์ท่านอาจารย์ธวัชชัยเพิ่มอีกเครื่องอะค่ะ  : )

 

คำสำคัญ (Tags): #สิ่งเล็กๆน้อยๆ
หมายเลขบันทึก: 97845เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (40)

มาเยี่ยม...คุณ ดอกไม้ทะเล

ผมนึกถึงนักปรัชญาชื่อโสคราตีสที่ต้องตายทั้ง ๆที่หนีไปก็ได้... 

 และการพิสูจน์ความจริง  เพื่อให้เรารู้เท่าทัน      ...บางครั้งเราอาจต้องเอาตัวเข้าแลก….

สวัสดีค่ะ อาจารย์ ดร.อุทัย

  • ขอบพระคุณที่อาจารย์แวะมาเยี่ยมค่ะ 
  • จุดสุดท้ายของนักปราญช์ไม่ได้สวยงามทุกคนไปใช่ไหมคะอาจารย์    ดิฉันอ่านประวัติของนักปรัชญา  นักคิด  นักประดิษฐ์ คนสำคัญๆของโลกแล้วก็นึกเห็นใจ  กว่าจะฝ่ากำแพงไปได้  หลายท่านก็ต้องแลกด้วยชีวิต
  • เอ่อ...  ของดิฉันแค่นักเรียนธรรมดา ....
  • คงยังไม่กระไรนักอะค่ะ     : )       : )

อ่านแล้วยิ้ม ตั้งแต่ต้นจนจบเลยค่ะ

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำเรื่องการฟัง และการพูดคุยค่ะ : )

การ ฟัง เป็นการซึมซับ รับรู้ ได้ดี และต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย

เรื่องบางเรื่อง เริ่มต้นจาก ฟังเค้าก่อน

คือไป รับรู้

เมื่อรับไปแล้ว เรื่องเหล่านั้นเป็นอย่างไร อะไร ทำไม

คือ วิเคราะห์

เรื่องเหล่านั้น จริงแท้แค่ไหน

คือ สังเคราะห์

.

ถ้าการไม่ฟัง ก็ยัง ไม่ได้ซึมซับรับรู้

แล้วสิ่งตามมาต่อไป ก็ไม่รู้

.

ผมชอบ นั่งฟังผู้ใหญ่ผู้มีประสบการณ์เล่าเรื่องดีๆ ให้ฟัง ได้แง่คิด กลวิธี เป็นการเรียนลัด แบบหนึ่งของผม

ฟัง ว่าได้อะไรมั้ง เอาไป คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ต่อเอง

.

เวลาสอนหนังสือ ใครจะพูดอะไรผมก็จะฟังเค้าพูด เพราะ ธรรมชาติคน เมื่อพูดแล้วใครตั้งใจฟัง เค้าจะเป็นมิตรกับคนนั้น

เมื่อเป็นมิตรแล้ว ความรู้สึกดีเกิดขึ้น

เมื่อความรู้สึกดีๆเกิดขึ้น การที่จะรับฟังการบรรยาย การตั้งใจเรียน ก็จะมีมากขึ้นด้วย

มันก็เป็นวัฏจักร ในการเรียนที่สดใส ของห้องเรียนทันที

.

ฟังก่อน พูดที่หลัง ได้อะไรเยอะเลย

.

ขอบคุณ บันทึก ในประเด็นนี้ครับ

ต่อมคิด ผมทำงานดีจัง อิอิ

 

 สวัสดีค่ะพี่แอมป์

วันนี้อ่านบันทึกนี้แล้วรู้สึกดีมาก ๆ เลยค่ะ เห็นด้วยทุกประการคนเราไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ๆ ก็ตามต้องฟังให้แจ่มแจ้งก่อนด้วย  โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำ หรือผู้บริหารอะค่ะ หรือแม้แต่ตัวเราเองที่เป็นครู ก็ต้องหัดฟังด้วยเช่นกันค่ะ

ชอบประโยคที่พี่แอมป์บอกว่า  แต่ดิฉันกลัวอะไรบางอย่าง….  ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจทำร้ายผู้อื่น  เป็นการตัดสินใจที่ไม่ต้องการฟังเหตุผลใดๆ  นอกจากทำตามๆกันไปอย่างนั้น  

ดิฉันได้คำตอบชีวิตอย่างสำคัญว่า   บางครั้งมนุษย์ก็ทำร้ายมนุษย์ด้วยกันได้อย่างไม่มีเหตุผล  และจะไม่ฟังเหตุผลใดๆ    เพราะเขาไม่เคยเรียนรู้ที่จะ”ฟัง” 

คุณแอมป์คะ

เอาข้อความดี ๆ มาฝาก ได้รับเมลจากเพื่อนค่ะ

อ่านทีไรสะกิดหัวใจทุกที  เอามาต่อยอดตรงนี้เห็นทีจะชัดขึ้นค่ะ

 

สิ่งมหัศจรรย์ของโลก

คุณครู ให้นักเรียนส่ง list รายการ ว่าอะไรที่ทุกคนคิดว่าคือสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ในปัจจุบันนี้
ถึงแม้จะมี บางอย่างที่ไม่เป็นเอกฉันท์ แต่ก็สามารถสรุปได้ดังนี้

1. ปิรามิดแห่งอียิปต์
2. ทัชมาฮาล
3. แกรนแคนย่อน
4. คลองปานามา
5. ตึกเอ็มไพร์สเตท
6.โบสถ์ (มหาวิหาร)เซ็นต์ปีเตอร์
7. กำแพงเมืองจีน

ขณะที่กำลังรวบรวม vote อยู่ คุณครูก็สังเกตเห็นนักเรียนคนหนึ่งยังตอบไม่เสร็จสักที
คุณครู จึงถามว่ามีปัญหาอะไร หรือเปล่า กับรายชื่อที่ให้ทำ เด็กนักเรียนหญิงคนนั้นตอบว่า
มีนิดหน่อยค่ะ หนูตัดสินใจไม่ถูก เพราะมีมากมายเหลือเกิน
คุณครูเหรอจ๊ะ งั้นหนูลองบอกพวกเราหน่อยสิ ว่าหนูรวบรวมอะไรได้บ้าง เผื่อพวกเราจะช่วยได้

เด็กหญิง : หนูคิดว่า สิ่งมหัศจรรย์ 7 อย่าง ของโลก คือ.....

1. การมองเห็น
2. การได้ยิน
3. การสัมผัส
4. การรู้รส
5. การรู้สึก
6. การหัวเราะ
7. และ..... รัก!

ทั่วทั้งห้องเงียบสงัด
ขนาดว่าสามารถได้ยินแม้แต่เสียงเข็มตกสัมผัสพื้น
สิ่งมหัศจรรย์ที่สุด ที่เรามองข้ามไปนั้น
คือสิ่งที่เรียบง่ายและธรรมดามาก
และเพื่อเป็นการเตือนความทรงจำแบบสุภาพ จึงอาจกล่าวได้ว่า
 สิ่งสำคัญที่สุด ในชีวิตของคนเรานั้น
ไม่สามารถสร้างขึ้นด้วยมือ และซื้อได้โดยมนุษย์

สวัสดีครับ

P
เรื่องราวนี้ช่างมีความหมาย  ขอน้อมคารวะ  

ทดแทนในสิ่งที่ขาด 

  • ดิฉันจึงตั้งใจฝึกเด็กๆสุดชีวิต  ด้วยความรักสุดหัวใจ   โตขึ้นเขาจะได้ไม่ฉลาดน้อยเหมือนดิฉัน

             ดิฉันจะบอกพวกเขาทุกครั้งว่า "จงเป็นตัวของตัวเอง..  เพราะครูก็จะเป็นตัวของครูเองเหมือนกัน"

             แล้วดิฉันก็จะ "คุย"  กับพวกเขา  แบบคนธรรมดาหนึ่งคน  กำลังคุยกับคนธรรมดาอีกหนึ่งคน...
      
             พวกเด็กๆดูเหมือนจะเข้าใจ...  แล้วเราก็ ผลัดกัน" คุย"   ผลักกัน “ฟัง”  อย่างสนุกสนานดี 
     

  • สวัสดีครับพี่สาวที่น่ารัก
  • ขอบคุณมากๆครับ สำหรับบทความดีๆ ชอบๆที่สุดครับ
  • ผมมีเรื่องเล่าในห้องครับ....วิชาภาษาอังกฤษ ป.ห้า ครับ
  • คุณครูกำลังสอนอยู่เรื่องคำศัพท์ มีเด็กกลุ่มหนึ่งคุยกันจัง...เล่นกันจัง....
  • คุณครูเลยถามว่า ดช.เท่ง คุยเก่งเชียวนะค่ะ ไหนลองบอกคำแปลของ What มาซิค่ะ
  • ด.ช. เท่ง กำลังงง อยู่ว่าคุณครูบอกหรือถามหรือคุณครูเรียก เลยถามออกไป ว่า อะไร ครับ
  • คุณครูบอกว่า อืม เก่งมาก.....
  • ด.ช. เท่ง งงมาก เลยนั่งฟังเงียบเลย ถัดจากนั้น เพราะว่ากำลังงง ประกอบกับเพื่อนๆ หัวเราะกัน
  • อิๆๆๆๆ..... เอามุกนี้ไปใช้ได้นะครับ.....
  • ขอบคุณมากกั๊บ

 

P

สวัสดีค่ะ อาจารย์กมลวัลย์

  • ยินดีค่ะที่อาจารย์แวะมาอ่านแล้วยิ้ม
  • ตอนเขียนดิฉันก็เขียนไปยิ้มไปเหมือนกัน เพราะนึกถึงวันวานที่ผ่านมา  นึกแล้วก็ได้คิดอะไรต่อไปเป็นที่สนุกสนานอยู่เงียบๆคนเดียว
  • เพิ่งเปิดเผยเป็นครั้งแรก ก็ที่นี่แหละค่ะ : )
P

สวัสดีค่ะ คุณตาหยู

  • ตอนนี้เราเจอกันบ่อยขึ้นนะคะ  ดีจัง  ดิฉันจะได้มีเพื่อนร่วมบ่น  ด้วยประสบกรรมชุดเดียวกัน  หัวอกครูไทยในยุคโลกาภิวัตน์  ...อิอิ
  • ชอบจังที่คุณตาหยูพูดถึง "วัฏจักร ในการเรียนที่สดใส ของห้องเรียน" ดิฉันชอบความเป็นมิตรที่สุดเลยค่ะ รู้สึกเบิกบานสราญใจอย่างไรไม่ทราบ เมื่อได้เข้าไปยืนหน้าชั้น ในห้องเรียนที่มีบรรยากาศของความเป็นมิตรอบอวลอยู่ในห้อง 
  • และแม้ว่าจะต้องถกเถียง โต้แย้งกันอย่างออกรสออกชาติ ถึงพริกถึงขิงประการใด  เมื่อเถียงกันเสร็จ เราก็ยังกอดคอร่วมวงส้มตำปูกันได้อย่างมีความสุข  ด้วยความเป็นมิตร
  •  ....ดิฉันอยากฝึกเด็กๆให้มีทัศนคติอย่างนี้จังเลย   ดิฉันเคยเจอทีมงานแบบนี้มาและทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขมาก  ก่อนที่จะมาอยู่ราชภัฏ.....
  • เป็นแบบที่คุณตาหยูพูดไว้เปี๊ยบเลยค่ะ "เมื่อเป็นมิตรแล้ว ความรู้สึกดีก็เกิดขึ้น" 
  • ขอบคุณที่แวะมานะคะ  ตุณตาหยูมาทีไร ต่อมคิด ของดิฉันก็ทำงานหนุกหนานมากอะค่ะ  ; )
P

สวัสดีค่ะคุณอึ่งอ๊อบ

  • ยินดีที่แวะมานะคะ กำลังจัดเวลาที่จะแวะไปหาด้วยค่ะ   เพราะเขียนโน้ตตอบไว้แต่ยังไม่ได้โพสต์   เกรงใจ  เดี๋ยวยาวอีก... : )
  • ดิฉันอ่านเรื่องที่คุณอึ่งอ๊อบส่งมาให้ ด้วยความรู้สึกซาบซึ้ง และยิ่งรู้สึกมากขึ้นไปอีก (จากที่รู้สึกอยู่แล้ว)   ว่าในที่สุด สิ่งที่มนุษย์ต้องการคือความรัก  ซึ่งรวมเอา "ความเป็นมนุษย์"เข้าไว้ด้วย 
  • ดิฉันสงสัยเรื่อง "ความเป็นมนุษย์" มาตั้งแต่เล็ก    และยิ่งสงสัยมากขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป  เพราะขั้นบันไดชีวิตที่ต้องไต่เดียะๆขึ้นไปตามค่านิยมนั้น  มันพรากอะไรบางอย่างไปจากหัวใจดิฉัน  และดิฉันก็เฝ้าตามถามหา   ถามตัวเองคนเดียวยังไม่พอ  ยังไปถามในห้องเรียนให้นักศึกษาวิงเวียนตีลังกากันไปทุกรุ่น
  • และ ณ วันนี้ ก็มีคนถามหากันแทบทั้งโลก เพราะได้เห็นแล้วว่า หากขาดเสียซึ่งความเป็นมนุษย์แล้วนั้น  โลกจะวิปริตผิดผันไปอย่างน่าตื่นตระหนกยิ่ง
  • และแม้ว่าจะเพียรพยายามสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เพื่อสร้างความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ให้แก่ใครเพียงบางคน  ....  ก็ต้องแลกด้วยชีวิตมนุษย์อีกนับร้อยนับพัน  หรืออาจจะถึงนับล้านชีวิต ที่สืบเนื่องต่อจากนั้น   ดังบางข้อของสิ่งมหัศจจรย์ของโลกข้างต้น 
  • และสุดท้าย มนุษย์ก็จะมองเห็นด้วยหัวใจตนว่า   

                 "สิ่งมหัศจรรย์ที่สุด ที่เรามองข้ามไปนั้น
                     คือสิ่งที่เรียบง่ายและธรรมดามาก"

                             ... ค ว า ม รั ก ... 

  • ขอบคุณจริงๆนะคะ คุณอึ่งอ๊อบ ที่แวะเอาความงดงาม อย่างน่ารักมาฝาก  ดิฉันก็เขียนตอบจากใจเช่นกัน  เรื่องในอีเมลนี้จะเป็นเรื่องในดวงใจของดิฉันอีกเรื่องหนึ่งเลยค่ะ :)

มาเยี่ยมค่ะ เป็นบันทึกที่สวยงามของความคิดค่ะ

การฟัง ..บางครั้ง  ไม่ได้ฟังในสิ่งที่ได้ยิน

แต่หลายๆครั้งที่ ฟัง เกินสิ่งที่ได้ยิน

และบ่อยๆครั้งที่  ฟังเฉพาะสิ่งที่อยากได้ยิน

การฟังจึงเป็นการรู้ตนที่ดี อีกอันหนึ่ง..จริงไหมคะ

P
 

สวัสดีค่ะคุณสิทธิรักษ์

  • วันนี้ได้จิบชาแล้วหรือยังคะ  : )
  • ดิฉันคงต้องตอบกลับว่า " ท่านผู้อาวุโส ...  ผู้น้อยมิกล้า "  จากนั้นก็ต้องคารวะเล่าฮูสองจอกอะค่ะ 
  • ดีใจจัง คุณสิทธิรักษ์เลือกคำที่อยู่ในใจดิฉันเลย ทดแทนในสิ่งทีขาด  ดิฉันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ  
  • ดิฉันเคยขาดอะไร  ดิฉันก็อยาก(เตรียมตัวเพื่อ)เติมเต็มสิ่งนั้นให้กับเด็กๆ 
  • หากสามารถทำให้เด็กๆที่เคยรู้สึกเหมือนดิฉัน   ยิ้มให้กับชีวิต  ได้บ้าง แม้เพียงเล็กน้อย  ดิฉันก็จะยินดีมาก
  • ชีวิตที่มีรอยยิ้ม..น่าจะเป็นชีวิตที่มองเห็นความสุขนะคะ  : ) 
P

สวัสดีค่ะ น้องเม้ง

  • 55555  พี่ว่าต้องเปลี่ยนจาก ด.ช.เท่ง  เป็น ด.ช.เม้ง    จะเหมาะเหม็งมาก  เพราะเด็กซน ๆ มักจะ "คุยกันจัง เล่นกันจัง"  ..อิอิ..
  • พี่แอมป์ว่าจะเขียนเรื่อง "หัวเราะ"  นี่ซักทีเหมือนกัน  นั่งหัวเราะตามเขามาหลายทีแล้ว  คนก็ช่างเขียน "เลียนเสียง   เทียบเสียง  แทนเสียง" หัวเราะ 
  • เราก็ "อ่าน" เสียงหัวเราะของเขา แล้วจินตนาการออกมาเป็นเสียง    แล้วก็ขำกระจายไปตามจินตนาการอันบรรเจิดของเรา
  • พี่ชอบมากเลยเวลาเม้งหัวเราะ  ห้าๆๆๆๆๆ    อ่านเอ๊ยฟังแล้วขำทุกที    กวนๆดี  คือมีความรู้สึกว่าดังสนั่นหวั่นไหว  สะเทือนเลื่อนลั่น   ..อิอิ...
  • พี่ดูพัฒนาการ  การแทนเสียงหัวเราะ  ในเว็บบอร์ดต่างๆมาพักนึง เห็นออกมาประมาณนี้นะคะ
  • ฮ่าๆๆๆ     อันนี้ต้นแบบดั้งเดิม
  • แล้วก็เป็น 55555  (อันนี้สงสัยเอกคณิตฯ)
  • แล้วก็มาเจอ  ห้าๆๆๆๆ   ของเม้ง  ...พี่พิมพ์ไปยังหัวเราะไปเลยอะ ....
  • ถ้าขำแบบแซวๆ  ก็ต้อง  อิอิ 
  • แซวลึกๆแบบ satire หน่อยๆ ก็ต้อง  หุหุ
  • ขำต่อท้ายก็ต้อง  .....ฮา..... 
  • ล่าสุดมีเสียงแสดงความมันส์ต่อท้ายว่า  
                     แอร๊ย..ย..ย..  ส์  
    อ่านว่าอะไรก็ไม่รู้ละ   แต่ฟังแล้วมันส์ดีพิลึก  ฮิฮิ  ...
P

สวัสดีค่ะ อาจารย์จันทรรัตน์

  • สวัสดีด้วยความระลึกถึงอย่างสูงค่ะอาจารย์ ดิฉันกำลังคิดว่าหลังจากโพสต์ในบล็อก "การรู้เท่าทันการสื่อสาร"  เสร็จไปสักช่วงแล้ว ก็จะได้จัดเวลาไปเยี่ยมเยียนผู้อื่นบ้าง  นั่งพูดเอ๊ยเขียนคนเดียวมาหลายวันแล้ว  โชคดีที่ฝนตก อากาศไม่ใคร่ร้อน  : )
  • อาจารย์สบายดีนะคะ  เปิดเทอมแล้วหรือยังคะ ของดิฉันนับถอยหลังอีก 4 วัน ก็ต้องเริ่มต้นชีวิตยืนบ่นหน้าชั้นอีกแล้ว  ปีนี้สอนทั้งเด็กนิเทศศาสตร์และเด็กครุศาสตร์  น่าสนุกจังเลย
  • ตอนเช้า   สอนเด็กนิเทศฯก็ต้องทำท่าทันสมัย ฉับไว ปรู๊ดปร๊าด   ปาดหน้า (คือแต่งหน้า)สีสดใสให้สมกับเป็นสาวพีอาร์หน้าฟร็อนต์ออฟฟิศ  ถึงแม้จะหน้าแก่ไปเล็กน้อยก็พอคบได้  ประมาณว่าเอ็กเซ็กคิวถีฟ  : ) 
  • ตกบ่ายแดดร้อน  เครื่องสำอางลบหาย กลับมาหน้ามันดำเด่นเห็นแต่ไกล  คืนร่างเดิมเป็นครูเอกไทย  เดินถือถุงพุงป่องน่องทู่ไปสอนเด็กครุศาสตร์เอกไทยเหมือนกัน  ดูบ้านๆกลืนๆกันไปทั้งครูทั้งเด็ก  มีความสุขชะมัด
  • เมื่อไหร่จะได้ย้ายคณะสักทีก็ไม่รู้อะค่ะ  แต่ดิฉันก็จะอดทนรอต่อไป 
  • ขอบพระคุณอาจารย์ที่ "รับฟัง" ดิฉันเสมอนะคะ คำอวยพรของอาจารย์ทำให้ดิฉันมีกำลังใจอย่างต่อเนื่อง  และก็จะมุ่งมั่นต่อไป 
  • ดิฉันชอบจังเลยที่อาจารย์หยิบเอาความลึกซึ้งของการฟังออกมาวางให้ดู  และถ่ายทอดด้วยคำง่ายๆ  ตรงๆ   
  • ขออนุญาตยกมาอีกทีนะคะ

          การฟัง ..บางครั้ง  ไม่ได้ฟังในสิ่งที่ได้ยิน

          แต่หลายๆครั้งที่ ฟัง เกินสิ่งที่ได้ยิน

          และบ่อยๆครั้งที่  ฟังเฉพาะสิ่งที่อยากได้ยิน

  • ดิฉันจะจดแปะที่โต๊ะทำงาน เอาไว้เตือนใจ  ให้"รู้ตน" อยู่เสมอ  : )
  • ขอบพระคุณอาจารย์จันทรรัตน์มากนะคะ
P

สวัสดีค่ะ อาจารย์ราณี : )

  • พี่แอมป์ขอโทษจริงๆจ้า  พี่หมุนสกรอลบาร์ปรู๊ดๆขึ้นๆลง เลยตอบข้ามคิว อ.ราณีไปค่ะ 
  • ขออภัยมณีอย่างสูงเลยนะคะ    (^_^)''
  • ตอนนี้ของ อ.ราณีเปิดเทอมยังคะ  อยู่กรุงเทพฯหรืออยู่พิดโลกคะ
  • พี่แอมป์เห็นด้วยเลยค่ะ  เรื่อง  การฟังให้แจ่มแจ้ง เรื่องนี้เรื่องใหญ่เลย การสื่อสารจะมีประสิทธิภาพได้  การรับสาร(ด้วยการฟัง)ก็ต้องมีคุณภาพด้วย 
  • การฝึกฟังอย่างมีคุณภาพนี่ที่จริงระบบโรงเรียนก็ทำโดยปริยายอยู่แล้ว
  • โดยเอาครูมายืนพูด และเอาเด็กมานั่งฟัง....  เพื่อฝึกทักษะการฟังอย่างสิ้นประสิทธิผล  อิอิ
  • ชั่วโมงพี่สิเจ๋ง    แจ่มแจ้ง  ของจริง    รับรองไม่เกินสิบห้านาที  หาวกันทั้งห้อง  ครบครึ่งชั่วโมงตาปรือกันทั้งห้อง 
  • พอหมดคาบ...ถึงขั้นต้องปลุกกันเลย 
  • คือว่าเธอหลับลึกมากอะค่ะ : )
  • ในบันทึกนี้ อ.ราณี ยกความกลัวลึกๆของพี่แอมป์มา   ถึงตอนนี้ความกลัวก็ปรากฏเป็นรูปธรรมแล้ว อย่างที่เราเห็นๆกันอยู่ 
  • พี่แอมป์เลยบอกตัวเองว่า "ถึงกลัว...ก็ต้องสู้" อะค่ะ
  • คิดถึงนะคะ  รักษาสุขภาพ(กาย)นะคะ  ส่วนสุขภาพใจ ของอ.ราณีดีมาก  พี่แอมป์พิสูจน์แล้ว  อิอิ
  • ขอให้เปิดเทอมอย่างมีความสุขค่ะ  : )

ขออีกเที่ยวครับ

P
เพราะความที่เป็นห่วงเป็นใยไปหมด  สื่งที่แวดล้อมตัวของเราเอง  สิ่งแวดล้อมของลูกๆ  ของคุณแม่  พี่น้อง  ครอบครัว  เพื่อนๆ  คนที่เรารัก  และอื่นๆ   ทำให้เกิดความกังวล  อยากที่จะแก้ปัญหา อยากที่จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปดั่งหวัง   แต่.................

สภาพจิตทุกวันเสื่อมโทรม  สภาพสังคมที่ถดถอยในทุกวันนี้  ทำให้ใฝ่หาทางออก

มาเห็นแนวความคิดของคุณ แอมป์ และหลายๆคนในสังคม g2k  ทำให้มีความหวังขึ้นบ้าง มีหนุ่มสาวที่มีวิธีคิด ที่สร้างสรรค์  พัฒนา

อย่างน้อยในเฉพาะหน้ายังไม่มีผลสะเทือนมากนักแต่แนวทางยังเป็นวิทยาทานให้คนต่อๆไปได้นำไปต่อยอดได้ 

  • แนวทางการกระทำที่มีประโยชน์ต่อสังคม        

จงดำเนินต่อไป        ผมจะคอยให้กำลังใจอยู่อย่างสม่ำเสมอ              

สวัสดีค่ะพี่แอมป์

การฟังอย่างลึกซึ้ง..ฟังเสียงที่เค้าไม่ได้พูด.." ฟังด้วยหัวใจ " และการ " พูดด้วยเมตตา "..เป็นสิ่งที่สังคมขาดไป

อ่านแล้วยิ้มนึกถึงอดีต เพราะตั้งแต่เริ่มเรียนจิต ฯ ก็ถูกเคี่ยวเรื่องนี้ล่ะค่ะ....." Hearing  is  Healing "...สัมผัสด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความรักจากจิตใจของเราเอง....จะช่วยให้คนสามารถเดินออกจากความทุกข์และพัฒนาตนเองได้....เพราะความอบอุ่น  เป็นมิตรทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคง  ปลอดภัย...

เป็นกำลังใจให้กับทุกๆท่านที่ " ฟังด้วยหัวใจ " และ " พูดด้วยเมตตา " นะคะ

P

สวัสดีค่ะ คุณสิทธิรักษ์
   
                 ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงนะคะ สำหรับกำลังใจ ดิฉันก็ได้เห็นจริงๆว่าคุณสิทธิรักษ์ใส่ใจปัญหาต่างๆ ด้วยความห่วงใย   และคอยสื่อสารเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ ใน G2K อย่างผู้มีอารมณ์ดีเสมอ  : )   ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี และเป็นพลังใจในการร่วมกัน คิด สร้าง และลงมือทำต่อไป  ถึงแม้จะอยู่คนละที่  แต่มีเครือข่ายสายใยเชื่อมโยงถึงกัน ก็ทำให้เกิดกำลังใจที่จะทำงานเล็กๆที่ดิฉันรักไปจนกว่าจะเกษียณ  

                 ดิฉันตั้งใจว่าจะทำหน้าที่ครูให้ดีที่สุด  ในพื้นที่ที่ดิฉันอยู่  และแม้จะไม่มีกำลังไปขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้มากนัก   นอกจากเขียนเล่าว่าตั้งใจทำสิ่งใด  (ซึ่งก็เป็นงานปกติที่ครูทั่วไปทำ  เพียงแต่ดิฉันมีโอกาสมาเขียนเล่าให้ฟังนะคะ)                   
                 ผู้น้อยคงต้องน้อมคารวะเล่าฮูอีกสองจอก  ที่ให้เกียรติมาเยือน  ลีลาจิบชาของท่านหาผู้ใดเทียบมิได้    ผู้น้อยขอคารวะเพิ่มเป็นสี่จอก   : )
                  ขอบพระคุณคุณสิทธิรักษ์อย่างสูงอีกครั้งนะคะ 

ปล. ดิฉันอดสงสัยมิได้  เหตุใดจึงเลือกใช้ แพนด้า เป็นโลโก้ประจำตัวคะ   มีเหตุผลพิเศษไหมคะ  : )      :  )

P

สวัสดีจ๊ะ เบิร์ด

         
ตอนปริญญาตรีพี่แอมป์อยากเรียนเอกจิตวิทยามากเลยค่ะ   แต่ไม่กล้าเลือกคณะ  เพราะเรียนศิลป์ฝรั่งเศสมา   เลยได้แต่นั่งชะเง้อมองมองเพื่อนเอกจิตฯด้วยความรู้สึกเสียดายสุดซึ้ง
         แปลกมากเลย ที่เพื่อนๆเอกจิตฯดูอบอุ่น  เป็นมิตร และเต็มใจสื่อสารกับผู้อื่น  พี่นั่งนึกเปรียบเทียบดูแล้วก็เห็นว่าบางทีศาสตร์ก็ หลอม คนได้จริงๆ  
        หนุ่มสาวเอกอังกฤษก็ดูปรู๊ดปร๊าดปราดเปรียว  ในขณะที่สาวหนุ่มเอกไทยก็ดูเนิบนุ่มโรแมนติก  ดูไปๆก็น่ารักดี  ส่วนเคสพี่เป็นเคสยกเว้น  อิอิ   
         ....." Hearing  is  Healing "...  โอชอบมาก  และชอบคำว่า " เคี่ยว"  มากที่สุด  ดูมุ่งมั่นเอาจริงดีชะมัด    เบิร์ดถึงได้เก่งออกอย่างนี้ 
          เบิร์ดมาเติมให้ทีไร   รู้สึก  "เต็ม"  ในใจทุกที  การสื่อสารสองทาง  ทำให้คน "เข้าใจ" กับอย่างแท้จริง   การ.." ฟังด้วยหัวใจ " และการ " พูดด้วยเมตตา "..   จะเติมเต็มให้หัวใจคน 
           ..อยากให้มีอยู่ในทุกครอบครัวเลยนะจ๊ะ ... : ) 

  • สมัยเด็กๆๆเป็นคนที่มีจินตนาการมากครับ
  • แต่โตขึ้นมันหายไปหมด
  • เสียดายจัง
  • พอสอนหนังสือเลยชอบฟังจินตนาการของเด็กๆ
  • ทดแทนจินตนาการที่ขาดหายไปครับผม
  • ขอบคุณครับ

P

สวัสดีค่ะ อาจารย์ขจิต    : )

         ขออภัยอาจารย์ขจิตอย่างสูงที่เข้ามาสื่อสารช้านะคะ   สัปดาห์นี้ดิฉันเปิดเทอมเป็นสัปดาห์แรก  และมีหลายงานประดังเข้ามา หมุนตัวแทบไม่ทันเลยค่ะ  

         ยิ่งเราอายุมากขึ้นเท่าไหร่ จินตนาการก็ยิ่งขาดหายไป เหมือนที่อาจารย์ว่านะคะ  ดิฉันคิดว่ามันถูกแทนที่ด้วย  “ความจริง” ของชีวิตประจำวัน

         แต่เชื่อว่าจินตนาการของอาจารย์ขจิตจะเติมเต็มอยู่ตลอดเวลา  เพราะอาจารย์ได้อยู่ใกล้ชิดกับแหล่งผลิตจินตนาการตัวน้อยๆอยู่เสมอ 

         และยังมีความรักในหัวใจ ปรากฏเป็นรูปธรรม  อยู่อย่างสม่ำเสมออีกด้วย 
        โชคดีจังค่ะ  รู้สึกยินดีกับอาจารย์ด้วยใจจริงนะคะ  : )

  • ตามมาอ่านอีก
  • อาจารย์หายไปนานจังเลยครับ
  • คิดถึง

สวัสดีค่ะ อาจารย์ขจิต

เปิดเทอมนี้ดิฉันมีงานเพิ่มนอกเหนือจากงานสอน 21 คาบต่อสัปดาห์  สนุกสนานเร้าใจมาก  (อิอิ..... )  คิดถึงใจครูมัธยมเลยค่ะ

อาจารย์ขจิต  ใกล้วันเดินทางแล้วใช่ไหมคะ  เชื่อว่าอาจารย์คงได้เตรียมทุกอย่างไว้พร้อมสรรพแล้ว

                        ...เหลือแต่เตรียมหัวใจเท่านั้น...  

จะบอกว่าไม่ต้องห่วงดอกค่ะ  พี่ๆน้องๆ (รวมถึงลุงๆและป้าๆ  : )  ใน G2K โลกแห่งการสื่อสารด้วยมิตรภาพแห่งนี้     น่ารักทุกคนเลย

                           ด้วยความระลึกถึงเช่นกันค่ะ

บันทึกนี้มีค่่ามากเลยค่ะพี่แอมป์ คิดว่าจะเขียน "เรื่องที่เขียนไว้ในใจมานาน" ออกมาเป็นตัวอักษรแต่ก็ยังไม่ตลกผลึกพอซักที

มาอ่านบันทึกพี่แอมป์แล้วพอได้แนว : ) พี่เป็นแรงบันดาลใจของมัทเช่นกันค่ะ

เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ภาษาด้วย ในลีลาการเล่าเรื่องด้วย : )

ประมาณว่านึกหน้าพี่แอมป์ ก้มหน้าพูดกับตัวเองว่า "ไม่น่าเลยตู" ออกเลยค่ะ หัวเราะเอิ๊กเลย : D

รื่องดอกไม้ทะเลนี่คล้ายกับเรื่อง ดญ. เพียงใจ ของพี่คุ่น ปราบดามากค่ะ เป็นเรื่องสั้นของเค้าที่มัทอ่านเป็นเรื่องแรกแล้วจำได้เลยว่าพูดกับตัวเองว่า อีตาคนนี้นี่ ไม่เลวเลย : P

มาอ่านเรื่องของพี่แอมป์แล้วก็คิดว่า พี่คนนี้นี่ ไม่ธรรมดา : )

กลับมาที่ประเด็นการเชื่อแบบต่อๆกันมานี่ มัทก็นึกถึงพ่อเป็นอันดับแรก เพราะพ่อนี่แหละเป็นคนเล่าเรื่องส่องบาตรหลวงตาให้ฟังตอนเด็กๆ เป็นครั้งแรกที่มีคนสอนเรื่องนี้เลย มานึกๆตอนนี้ก็ืทำให้ฉุกคิดได้ว่า อยู่ประถมต้นนี่สอนได้แล้วนะเรื่องนี้ เด็กควรได้รับรู้เรื่องนี้แต่เนิ่นๆ

อันดับที่ 2: เรื่องนี้มันทำให้มัทอดคิดเรื่องผลการตัดสินศาลฯไม่ได้ (แฮะๆ ไม่ไปไกลค่ะ ไม่ต้องกังวล : P) 

พี่แอมป์เขียนไว้ว่าเหตุการณ์เพื่อนทำตามอีกคนสั่ง ทำตามๆกัน คนที่ไม่ตามก็โดนซะ

"ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกในชีวิตเป็นการตัดสินใจที่ไม่ต้องการฟังเหตุผลใดๆ  นอกจากทำตามๆกันไปอย่างนั้น"...ที่ดิฉันรู้สึกสงสัยในตัวเพื่อนมนุษย์ ...กลัวอะไรบางอย่าง….  ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจทำร้ายผู้อื่น 

มัทกำลังนึกถึงเรื่องการมีความเชื่อเป็นของตัวเอง  จากความคิดของตนเองที่กลั่นกรองมาแล้วค่ะ

คือมัทเป็นคนที่ยอมรับความเห็นที่หลากหลายมากเลยนะ  คือคุณจะมีความคิดต่างจากชั้นได้ ไม่ว่ากัน ตราบใดที่คุณมีจุดยืนของคุณ เพราะคุณได้คิดมาแล้วว่าทำไม่ถึงเชื่อแบบนั่นๆ

แต่มัทรับไม่ได้เท่าไหร่ และจะหงุดหงิดมาก (อันนี้คงต้องฝึกเจริญสติเพิ่ม) ถ้าได้คุยกับคนที่ เชื่อมากๆ เถียงคอเป็นเอ็น แต่มีเหตุผลแบบที่ฟังเค้ามา แล้วก็ไม่เข้าใจจริงๆ เชื่อแบบ ก็คนส่วนใหญ่เค้าคิดแบบนี้นี่นา มันต้องถูก แล้วก็เถึยงแบบอ้าง authority อ่ะค่ะ แบบนี้มัทเรียนรู้แล้วว่า เสียเวลาไม่ต้องไปสานต่อ

ล่าสุดนี้ คู่สนทนาของมัทสรุปว่า เนี่ยะ "เค้า"(เค้าไหนไม่รู้)บอกว่าอย่าคุยเรื่องการเมือง เพราะไม่รู้ว่าอีกฝ่ายที่คุยด้วยอยู่ฝ่ายไหน 

ประโยคนี้คงได้ยินกันมามาก แต่มัทแอบเอามาคิดต่อว่า ก็เป็นซะแบบนี้ แล้วเมื่อไหร่ เราจะมี deep listening มีการฟังแบบเปิดใจ รับได้แม้อีกคนอยู่คนละขั้วการเมือง

เล่นมารอหาคนที่คิดเหมือนกันมาคุยอยู่ตลอด มันก็เออออกันไปตลอด ไม่มีอะไรใหม่สิ ก็แบ่งกันไปเป็นฝ่ายๆ เป็นขั้วๆกันไม่มีสิ้นสุด เลือกฝั่งแล้วก็ตามๆกันไป ไม่สงสัยอะไรเลย คิดว่าเลือกเชื่อแล้ว คนที่เราเชื่อจะไม่เคยทำอะไรพลาด หรือผิดเลย

แทนที่จะอยู่ร่วมกันได้แบบมีขันติธรรม มีสันติสุขที่แท้จริง และที่สำคัญคือ การฟังและสนทนาจะได้มีค่ามากขึ้น ทำให้เราได้คิดไปถึงแก่นว่า ทำไมเราเชื่อแบบนี้

แฮะๆวันนี่เพิ่งประชุมใหญเสร็จ คึกค่ะ เขียนซะยาวเลย : ) เอาให้หายคิดถึง 

สวัสดีค่ะ อ.มัท

ดีใจด้วยที่สุดเลยนะคะที่ผ่านไปอีกขั้นอย่างราบรื่น และขอเอาใจช่วยทุกขั้นตอนต่อจากนี้ไปนะคะ.....

ขอบคุณที่ อ.มัท แวะมาบันทึกนี้นะคะ และดีใจจนออกนอกหน้าที่ อ.มัทชอบ  

พี่แอมป์ชอบอ่านงานของคุณวินทร์ คุณประภาส และคุณปราบดา  เพราะทั้งสามท่านนี้ "เฉียบ"กันไปคนละแบบ และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านจำนวนมากรักการอ่าน ........แบบที่ต้องรักการคิดด้วย 

ส่วนของพี่แอมป์เขียนไปตามหัวใจสั่ง    อิอิ  ขอยามาฉีดไล่มดหน่อยอะ 

อ.มัท ใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่นะคะ  น่ารักจัง  นึกไปถึงเรื่องส่องบาตรที่คุณพ่อ อ.มัทเล่าด้วย  คนเราก็ช่างเชื่อไปโดยไม่คิดสงสัยและตั้งคำถามเลย   

 การปลูกฝังตั้งแต่ในครอบครัวนี่เรื่องใหญ่จริงๆ   เรื่องที่พ่อแม่เล่าให้ลูกฟัง   จะช่วยก่อร่างสร้างรูปวิธีคิดให้แก่ลูก  บางครอบครัวโชคดีนักที่มีพ่อแม่ที่เอาใจใส่เรื่อง "การคิด" ของลูก  

แต่บางครอบครัวก็........   อืม...ม.... 
บางทีก็ยากที่จะเพ่งโทษไปที่ใครเป็นการเฉพาะ ...... 

เลยต้องให้ศาลช่วยตัดสิน   ...หว่าย...  ลืมตัว    อิอิ 

ภาระหนักก็เลยมาตกอยู่ที่พวกครูๆเนี่ยแหละ     แม่เตือนแล้วว่าอย่ามาเป็นครู  อยากไม่เชื่อดีนัก  

การสนทนาแบบไม่ใคร่สุนทรีย์นี่เข้าใจเลยอะค่ะ  สนุกเทียว  อิอิ    เวลาสื่อสาร  โดยธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ เราจะพอเข้าใจได้ว่าคู่สนทนามีบุคลิกลักษณะอย่างไร  และมีกระบวนการคิด  ทัศนคติ  วัฒนธรรม  ค่านิยม ภูมิหลัง และกรอบอ้างอิงเบื้องหลังอย่างไร  เท่าที่เขานำเสนอตัวตนที่พ้นน้ำให้เราเห็น   

เราประเมินเขา  เขาก็ประเมินเรา  แฟร์ดี.....

แต่ไม่ใคร่แฟร์ก็ตอนที่ต้องให้เราเห็นด้วยไปทั้งหมดเนี่ยแหละ   เหนื่อยดีชะมัด...  

เรื่องที่คุยแล้วอาจเป็นหัวข้อถกเถียงกันได้นี้  พี่แอมป์ไม่ใคร่ถนัดอะค่ะ  เพราะโดยนิสัยแล้วชอบมาก  (อ้าว..)   คือยิ่งอภิปรายแย้งเหตุผลกันได้อุตลุตยิ่งชอบมาก  แต่หาคนที่จะเถียงกันเสร็จแล้วกอดคอกันไปกินส้มตำปูครกเดียวกันได้ยากมาก   ต้องถกแบบถนอมๆ  เพื่ออดออมมิตรภาพไว้เถียงใหม่วันหน้า   แบบว่าอภิปรายกันอย่างพอเพียง    แต่ได้คำตอบหรือทางออกที่ไม่เคยเพียงพอ   เพราะกลัวการมองต่างมุม ที่ไม่สนุกไปกว่านั้น  คือทนการมองต่างมุมไม่ได้    อันนี้คุยไม่ออกเลย.....

สรุปว่าไม่เถียงดีกว่า   เชิญท่านตามสบาย  อิอิ

เสียดายโอกาสในการ "ถก" กันเพื่อ คิดให้ถึงแก่น  เหมือนที่ อ.มัท ว่า เหมือนกันนะคะ

แต่ถ้าเป็นเด็กๆ  (คือนักศึกษา)  อันนี้พี่แอมป์ไม่ปล่อยมือเป็นอันขาด   เด็กที่เชื่ออะไรทิศทางเดียว น่าเป็นห่วงมาก   จำเป็นต้องฝึก   แต่ต้องค่อยๆ  ไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป  ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า  

กว่าจะ "อ่าน"เขาได้ก็ใช้เวลานาน  และกว่าจะ "สื่อสาร"  ให้เข้าไปจับที่ใจเขาได้นี่  ครูก็แทบหมดแรงส้มตำปูอะค่ะ 

อยากบอกว่านับถือน้ำใจ อ.มัทจริงๆนะคะ  ได้เห็นมาแล้วในการสื่อสารหลายครั้ง  พี่แอมป์ยังทำไม่ได้อย่าง อ.มัท   สื่อสารแบบว่าตรงแต่จริงใจอย่างสุภาพชนเนี่ยชอบมากเลย   คือพูดไม่ค่อยถูกอะ  แต่ชอบ.....

และชอบมากที่ อ.มัท พูดถึง การมีความเชื่อเป็นของตัวเอง  จากความคิดของตนเองที่กลั่นกรองมาแล้ว เชื่อว่าคนที่เป็นเช่นนี้  จะรู้สึกมั่นใจที่จะเชื่อ คิด พูด และทำ   มากขึ้นอีกเยอะ  เมื่อได้กลั่นกรองมาแล้ว

ถ้านักศึกษาสามารถเกิดคุณลักษณะอย่างนี้ได้  คงเกิดการเรียนรู้ที่มีความสุขมาก  เริ่มคิดมุกสอนเด็กออกเป็นชุดๆ อีกแล้ว  

....อ.มัทแวะมาทีไร    พี่แอมป์เป็นต้องได้คิดอะไรยาวๆต่อไปทุกทีเลยอะค่ะ  : ) 

การฟังทำให้เราได้รับรู้ข้อมูลเพิ่มขึ้น แต่เราไม่จำเป็นต้องเชื่อทุกเรื่องในสิ่งที่เราได้ฟัง...

แน่นอนที่สุดการฟังข้อมูลรอบด้าน แล้วผ่านกระบวนการทางความคิดเพื่อวิเคราะห์สิ่งที่ได้ฟังก่อน แล้วค่อยตัดสินที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อน่าจะดีที่สุด...

แต่ก่อนที่จะถึงกระบวนการนั้น แค่ฟังให้มากขึ้นหลายคนยังทำไม่ได้ ในสังคมนี้จึงมีหลายคนที่แย่งกันพูดและก็พูดแต่เรื่องของตัวเองครับ...

งานของคุณประภาส (โดยเฉพาะ ชุด คุยกับประภาส) คุณวินทร์ และคุณปราบดา (โดยเฉพาะจม.ที่คุณวินทร์และคุณปราบดาเขียนหากัน)นี่น่าจะเอาไว้ในห้องสมุดด้วยนะคะ 

พูดถึงเรื่องหนังสือของทั้ง 3 ท่าน เลยนึกมาได้ว่า คุณวินทร์เขียนไว้เล่มนึง ชื่อ "อำ" คือเอาเรื่องจริงที่มีหลักฐานมาแต่งเติมเพิ่ม แล้วให้ผู้อ่านคิดว่าอันไหนจริง อันไหน"อำ"

น่าเอามาสอนนักเรียนเหมือนกันนะคะ : ) 

สวัสดีค่ะ คุณดิเรก

ทำอย่างไรจึงจะสามารถสรุปอะไรได้ "คมและชัด"  แบบนี้บ้างนะ    ดิฉันถามตัวเองอย่างนี้ทุกทีเวลาอ่านที่คุณดิเรกเขียน  (หรือเวลาฟังดีคะ...  ที่จริงรู้สึกเหมือนกำลัง"คุย"กันนะคะ )

เชื่อเวลาในการสนทนาร่วมกัน คุณดิเรกจะเป็นผู้ฟังที่ดีและมีคุณภาพ   เห็นจากที่สรุปได้ตรงเป้าอย่างนี้ 

                " ... การฟังทำให้เราได้รับรู้ข้อมูลเพิ่มขึ้น แต่   เราไม่จำเป็นต้องเชื่อทุกเรื่องในสิ่งที่เราได้ฟัง...

                  แน่นอนที่สุดการฟังข้อมูลรอบด้าน แล้วผ่านกระบวนการทางความคิดเพื่อวิเคราะห์สิ่งที่ได้ฟังก่อน แล้วค่อยตัดสินที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ...น่าจะดีที่สุด...   "

ดิฉันก็นึกแล้วยิ้มชอบใจ  คือธรรมดาดิฉันก็ถนัดเขียนมากกว่าพูด  ...แล้วก็แย่งเพื่อนพูดไม่เคยทัน

ถ้ามีโอกาสได้พบปะสนทนากันจริงๆ  อย่างน้อยๆ ก็คงมีคนนั่งฟังเป็นเพื่อนดิฉันอีกคนอะค่ะ   : )

หวัดดีตอนสายๆค่ะ อ.มัท  : )

แพ็มป์กำลังนึกมุกฝึกเด็กๆให้ "รักการอ่าน เบิกบานกับการคิด"  อยู่พอดีเลย  เอาด้วยๆๆ   เรื่อง "อำ"  เคยอ่านแต่ไม่ทันนึกถึงการเอามาสอนเด็กอะ  ขอบคุณ อ.มัทมากเลยนะคะ  มีหนังสือเล่มไหนน่าตาน่าคบอีกโปรดแนะนำอีกนะคะ     พี่แอมป์ชอบมาก....!...

เทอมนี้สอนวิชา  ความคิดสร้างสรรค์ทางภาษาไทย  ด้วยอะค่ะ   ต้องเรียนเชิญนักเขียนมาร่วมวงไพบูลย์ด้วย  พี่แอมป์พอรู้จักอยู่บ้าง  แต่พอมาสอนทางนิเทศศาสตร์ก็ห่างๆหายๆไป  

แปลกแต่จริงเรื่องนึงนะคะ   ที่โรงเรียน(คือมหาวิทยาลัย)  เด็กที่ชอบอ่านวรรณกรรมร่วมสมัย  อย่างของพี่จิก  คุณวินทร์ คุณปราบดา  ส่วนมากเป็นเอกไทยสายมนุษยศาสตร์    หรือไม่ก็เด็กอาร์ตไปเลย   พวกเด็กศิลปกรรม  นิเทศศิลป์  อะไรทำนองนี้ 

เด็กนิเทศฯจำนวนมากไม่ใคร่อ่าน  หรือพี่แอมป์ตกหล่นอะไรไปก็ไม่ทราบ  คือเขาบอกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง  โดยเฉพาะของคุณวินทร์  เขาบอกว่าต้องคิดมาก  ซับซ้อน  ไม่เข้าใจ     ....วัยรุ่นงง...  : )

ตอนนี้เลยกำลังเช็คความสนใจของเขาอยู่ค่ะ  เผื่อว่าจะค่อยๆช่วยกันหาทางที่เหมาะกับความสนใจของเขา  เขาจะได้มีความสุขกับสิ่งที่เขาเลือกเอง

และแปลกแต่จริงอีกเรื่องหนึ่ง   หนังสือที่เอาไปแนะนำเขาในห้องเรียน   เขาจะไม่ใคร่สนใจ  แต่ถ้าบังเอิญเขาเห็นเราถือติดมือทุกวัน   เดินผ่านมาก็มาเห็นเรานั่งอ่านอย่างเมามันในห้องพักครู   มาทั้งสามวันก็เห็นครูนั่งตะกุยอ่านๆๆๆอยู่ทั้งสามวัน    

.......รุ่งขึ้นเขาวิ่งจู๊ดไปยืมห้องสมุดเลยอะค่ะ....    อิอิ 

ขอให้ อ.มัท มีความสุขกับการพักผ่อนนะคะ  เดินเครื่องเต็มสตีมอีกครั้งเมื่อไหร่  ก็ขอให้วิ่งฉิวไปเลยนะคะ  : )

  • และมาเยี่ยมคุณดอกไม้ทะเลค่ะ
  • สบายดีนะคะ

สวัสดีค่ะ คุณ Bright Lily

  • และแล้วดอกไม้ก็แวะมาคุยกัน...  คุยกันด้วย "ภาษาดอกไม้"     : )
  • How nice .... ! ....
  • ดีใจที่แวะมานะคะ  ไปแวะเพลิดเพลินกับรูปหลานน้อยๆสองสามทีแล้ว แต่ไม่ได้ฝากรอยไว้  (ไม่แปลกใจเลยที่เป็น "ขวัญใจ"  แก้มกลมน่ารักน่ากอดออกอย่างนั้น) 
  •  เด็กเล็กๆ  คือดอกไม้น้อยๆ ที่รื่นเริงเบิกบานอยู่เสมออย่างน่าอัศจรรย์  โลกของเธอมีแต่ความสนุกสนานรื่นรมย์   
  • แล้วเธอก็จะวิ่งจู๊ดๆๆๆๆๆ ไปมา  (คือไม่รู้จะวิ่งไปทำไม   วิ่งได้ทั้งวัน.....)       
  • โดยมีเราวิ่งหอบแฮ่กๆไล่ตามตะครุบอย่างมีความสุข  : )
  • ปล.  สำหรับภาพแสนสวยของใครคนนั้น  : )    ก็ทำให้เพลิดเพลินไปกับความสุขที่สัมผัสได้  จากสายตาและรอยยิ้ม   ดูมีความสุขไม่แพ้กันเลยนะคะ 
  • ขอให้คุณ Bright Lily มีความสุขทั้งในวันทำงานและวันพักผ่อน  กับทุกคนอันเป็นที่รักนะคะ

สวัสดียามดึกค่ะ

ขอแนะนำ ยาแก้สมองผูก ตราฟายบิน

ของคุณวินทร์ เลียววาริณอีกเล่มค่ะ

เล่มนี้อิฉันซื้อไว้เป็นกำลังใจให้ตัวเอง ;)

แบบว่าเห็นชื่อนักเขียนก็หยิบมา

 แล้วค่อยเอนหลังอ่านเอาทีหลัง..

 

ปล. บอกไปไม่รู้จะเชยรึป่าวนะคะเนี่ย

นั่งนึกๆว่าหนังสือเล่มไหนดี  วัยรุ่นถึงไม่งง

แบบนี้อาจจะต้องให้อ่่านเรื่องสั้นๆ หรือ เป็นบทๆก่อน

หรือให้อ่านเพื่อความบันเทิงไปก่อน ให้ชอบการมีหนังสือในมือ หาที่นั่งอ่านเงียบๆ

สมัยเอ๊าะๆเราอ่านงานของ ไปยาลใหญ่ กัน น่าจะใช้ได้ไม๊ค่ะ

เอาเรื่อง หนุ่มนักโบก สาวขี้บ่นไม๊ค่ะ เที่ยวลงใต้ นักศึกษาจะได้ โยงเข้าประสบกาณ์ตัวเองได้ด้วย เล่มนี้สนพ. อัมรินทร์เอามาพิมพ์ใหม่ด้วย

ถ้านักศึกษาไม่ชอบตัวอักษร ชอบรูปเยอะๆก็ให้ลองงานการ์ตูนของ วิศุทธิ์ พรนิมิตร รับรองได้คุยเรื่องลึกๆที่ต้องคิดต่อ

หรืออ่านงานกลอนของอ. เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ ให้อ่านบทเดียวนี่แหละ ให้มันรู้กันไป

หรืองานของคุณ นก นิรมล เมธีฯ  มีภาพสีน้ำสวยๆเย็นๆดีด้วยค่ะ

มีอีกหลายเล่ม แต่มันไกลนิเทศไปทุกที : )

อ่อ! นี่เลย....ใน open online ค่ะ งานของคุณนิ้วกลมทั้งชุดเลย เรื่องจริยธรรมกับการโฆษณา ตัวอย่างนะคะ เรื่อง รูแห่งความจริง

พี่แอมป์เป็นครูที่ดีจริงๆค่ะ คืออ่านเป็นตัวอย่างเลย : )

Nong Mam คะ   ไม่เชยหรอกค่ะ 

เรื่องของคุณวินทร์น่าสนใจมาก  ครูเองก็ยังตามอ่านไม่หมด   และเล่มนี้เข้าท่ามาก  เพื่อนเคยให้ยืมอ่าน  แต่ยังอ่านไม่จบ   แล้วว่าจะซื้อๆอยู่สองสามทีแล้ว  ลืมทุกที   ไปทีไรได้เล่มอื่นมาทุกที 

ครูชอบวิธีผลิตความคิดสร้างสรรค์ของเขาจังค่ะ : )

อ.มัทคะ

ขอบคุณมากๆเลยค่ะ  ที่มาช่วยนั่งนึกเรื่องหนุกๆของ "หนังสือ"  ฝึกปรือความคิดสร้างสรรค์   เพื่อความหนุกหนานในการเรียนรู้ของเด็กๆ

เห็นด้วยกับ อ.มัท เรื่องการฝึกให้เริ่มทีละน้อยนะคะ  กำลังเพียรพยายามอยู่เหมือนกันอะค่ะ    ไม่อยากบังคับเขาเลย  อยากให้เขาเริ่มด้วยใจ

โอ้... แนะนำ  ไปยาลใหญ่  เหรอคะ    โอ้โฮ.....  นี่เราอ่านมาสมัยเอ๊าะใกล้ๆกันปะคะ    อิอิ   

คิดถึงนิตยสารไปยาลใหญ่  แล้วนึกขำกลอนเปล่ากวนๆแหวกแนวในเล่ม     บางบทอ่านแล้วขำกระเด็นกระดอนจริงๆค่ะ    เป็นต้นตำรับ  "กลอนเปล่ากวนๆ" สมัยนั้นเลย

หลังๆพี่แอมป์เลยเขียนเองมั่ง  เอาไว้อ่านเองสนุกเอง    เพื่อนเห็นเข้าก็ยืมลอกไปแปะสมุด  (มีเพื่อนจน  ไม่ชอบลงทุน อิอิ)   ขำเพื่อนเหมือนกันอะค่ะ  กลอนอะไรก็ไม่รู้  ....ดุ่ยๆเชียว    อย่างอันนี้

                               คิดถึงเธอทุกวัน
                               อยากเห็นเธอสักแว่บ
                               เอาแว่บเดียวพอ
                               ไว้คิดถึงต่อ
                               ที่เหลือเกือบหมดแล้ว
                               มาให้คิดถึงต่อที......
  

                                                 คุณนายมีหนวด  

(ทำไมต้องเป็นนามปากกานี้ด้วยก็ไม่รู้อะค่ะ  แต่ชอบ  ดูกวนๆดี)   หรือไม่อีกทีก็อันนี้ 

                                  
                                ฉันไม่แน่ใจ.....
                                ว่าตอนนี้ตัวเองรู้สึกอย่างไร
                                น้อยใจ...เสียดาย...หรือทำใจได้......
                                คือคล้ายๆว่าจะเข้าใจ
                                ว่าเธอไม่ชอบฉันมากอีกต่อไป
                                คือ.....  ไม่รู้ว่าจริงๆเป็นไง
                                 อ้อ.... นึกออกแล้ว
                                 ฉันรู้สึกเจ็บใจ
                                 นั่นปะไร.....    ชัวร์ ! 

                                                       ความรู้สึกช้า

เพื่อนบอกว่าชอบมาก  ....โดนใจสุดขั้ว    ขอเอาไปแปะหัวนอน  (สงสัยอกเดาะมา)

ตอนนั้นพี่แอมป์เขียนกลอนเปล่าเล่นๆทุกวัน  ประดิดประดอยสุดชีวิต   เพื่อนก็ขยันขอไปแปะสมุด  แปะหนังสือ  แปะข้างฝา     .....เกือบๆหลงคิดไปว่าตัวเองเป็นกีวี่ เอ๊ยกวี  อิอิ

เราอ่านหนังสือใกล้เคียงกันมากเลยนะคะ อ.มัท  สงสัยชอบอะไรบางอย่างคล้ายๆกัน  : )  หนังสือที่ อ.มัท ยกมา  น่าอ่านทุกเล่มเลยอะค่ะ   เคยอ่านและติดอกติดใจมาแล้ว    เอาด้วยๆ  อิอิ  

เล่มไหนไม่มีในห้องสมุด  จะลงทุนซื้อเอง  ขอแค่เด็กๆที่เคารพ  หยิบไปอ่านสักหนึ่งทีก็จะเป็นพระคุณยิ่ง

ขอบคุณ อ.มัท มากๆอีกครั้งค่ะ  ขอให้เขียนเดอะสิสอย่างคล่องปรื๋อและเฉียบคม     ตามแบบฉบับของ อ.มัทนะคะ  : ) 
 

                                 

                                               

สวัสดีครับ

ขออนุญาตต่อยอดเรื่องหนังสือ  จาก อ.มัทนา ซึ่งวัยรุ่นอ่านแล้วน่าจะไม่งง และเป็นประโยชน์ต่อพลังทางปัญญาได้บ้าง

ผมขออนุญาตแนะนำหนังสือ "ลิ้นชักนักเดินทาง"  ของศุ  บุญเลี้ยง   เนื่องจากหลายเรื่องเกี่ยวพันกับคนหนุ่มสาว  อ่านง่าย เข้าใจง่ายและการวิพากษ์ของผู้เขียนก็น่าสนใจไม่ย่อย

กรณี   ไปยาลใหญ่  นั้น  ถือเป็นประวัติศาสตร์หนังสือของคนรุ่นใหม่ในยุคหนึ่งที่ผมไม่ทันที่จะได้อ่าน

แต่ตอนนี้นิตยสารที่มาแรงและไม่ถึงกับบันเทิงเสียทั้งหมดจนไม่มีพลังทางปัญญา  ผมว่า Aday  คือนิตยสารที่ครองใจวัยรุ่นในยุคนี้

การอ่าน, จะเป็นสิ่งกล่อมเกลาให้เราฝึกเป็นผู้ฟังด้วยเช่นกัน

 

ขอบพระคุณมากค่ะ คุณแผ่นดิน   นิตยสาร a day ที่คุณแผ่นดิน แนะนำ เป็นนิตยสารที่อยู่ในใจดิฉันเลยค่ะ

 a day โตเร็วมาก ต่างจากไปยาลใหญ่สมัยนู้น   ซึ่งเน้นอารมณ์ขันเป็นหลัก  เนื้อหา a day ตอบสนองความต้องการของผู้อ่านกลุ่มที่ต้องการ "การคิดแหวกแนว"อย่างมีสาระ 

ดิฉันจำไม่ได้จริงว่าเคยมีโอกาสได้อ่านหนังสือ ลิ้นชักนักเดินทาง   ของคุณ ศุ บุญเลี้ยง บ้างหรือเปล่า   น่าสนใจจัง  ต้องบรรจุเป็นอีกเล่มหนึ่งในรายการเลยค่ะ 

ชอบประโยคนี้จังเลย  ทำให้รู้สึกว่าการอ่านมีคุณค่าขึ้นอีกมาก
"
การอ่าน, จะเป็นสิ่งกล่อมเกลาให้เราฝึกเป็นผู้ฟังด้วยเช่นกัน"  

ขอบพระคุณคุณแผ่นดินมากนะคะ    : )

อยากเป็นลูกศิษย์ครูแอมป์ จังเลยยยย

เด็กจะมีจินตนาการ หรือ กล้าแสดงความคิดเห็นแค่ไหน ครูมีส่วนอย่างมากในการสอน และ ให้โอกาส

หุย โชคดี ครูภาษาไทย ตอน ป.5 ให้นร.ทุกคนออกไปแนะนำตัวหน้าห้อง และบอกว่า เมื่อเรียนระดับมัธยมขึ้นไป พวกเธอต้องมีบุคลิกอย่างไรในการแสดงตนต่อหน้าคนเยอะๆ พอเรียนสายศิลป์ ม. 4  ได้ออกหน้าห้อง เลยไม่เกร็งอีกเลย ยิ่งมาทำงานต้องคุยกับคนไม่รู้จัก สารพัดแบบ และ นานาชาติ เลยไม่ค่อยเป็นโรค หด กับฝรั่งค่ะ และก็ชอบกินแตงโมน้ำแดง ด้วยยย อิอิ

คุณหุยโชคดีจังค่ะ เจออาจารย์ที่ฝึกให้กล้าแสดงออกตั้งแต่เล็ก   พอโตขึ้นเลยโกอินเตอร์ได้เร็ว  ทำงานกับคนต่างวัฒนธรรมก็สนุกไปอีกแบบเนอะ  นอกจากต้อง"ฟัง"ดีๆแล้ว ยังต้อง "ดู" ดีๆด้วยว่าเขาสื่อสารมาว่ากระไร  เคยเจอที่เข้าใจไม่ตรงกันอยู่บ้างไหมคะ  

อ่า...   อย่างไรก็ตาม   ขอแสดงความยินดีด้วยจริงๆที่เจอฝรั่งแล้วยังคงสภาพอยู่ได้ตามปกติ    อนุญาตให้รับประทานแตงโมน้ำแดงต่อไปได้ .... อิอิ   : )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท