ร่วมปฏิบัติและเรียนรู้ไปด้วยกัน : ศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู โรงเรียนเพาะช่าง


....แต่อาจารย์ปรารถนาให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้ด้วยกันที่ดี ดังนั้น ทุกเดือนอาจารย์ก็จะต้องเจียดเงินเดือนส่วนหนึ่งไว้ให้นักศึกษาได้ใช้หุงหาข้าวปลาอาหารกินและซื้อหุ่นนิ่งมาฝึกเขียนรูป ..

ผมเป็นนักเรียนศิลปะของโรงเรียนเพาะช่างระหว่างปี ๒๕๒๒-๒๕๒๔ ซึ่งในเวลานั้น การจัดการศึกษาทางด้านศิลปะมีความแพร่หลายพอสมควร ทว่า เมื่อกล่าวถึงสถาบันแม่ทางศิลปะของประเทศ ก็ไม่พ้นที่จะอ้างอิงถึงสองสำนัก คือ มหาวิทยาลัยศิลปากรกับโรงเรียนเพาะช่าง หรือบางครั้งก็จะพูดถึงโรงเรียนช่างศิลป์เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแห่ง แต่ในหมู่คนเรียนศิลปะแล้วก็จะนับว่าโรงเรียนช่างศิลป์เป็นโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากรและจัดการศึกษาเทียบเท่าบางส่วนของเพาะช่าง

ปัจจุบัน สถาบันการศึกษาศิลปะในขั้นสูงมีความแพร่หลาย กระจายออกไปดำเนินการเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาคต่างๆของประเทศ

                            ศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู จะสอนโดยนั่งเขียนรูปไปกับนักศึกษา ระหว่างนั้นก็จะให้เวลา
                            สำหรับการยืนวิพากษ์งานให้นักศึกษาและสะท้อนให้เห็นแนวการพัฒนาตนเองอย่างเป็นรายบุคคลทุกคน
                            จากนั้นก็จะนำผลงานมาคุยและดูพร้อมกันไปเป็นกลุ่ม  ภาพประกอบ : โดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู เป็นครูศิลปะสาขาจิตรกรรมสากล คณะวิชาวิจิตรศิลปกรรม ของโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งปัจจุบันได้ปรับสถานะเป็นวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ซึ่งในวงการศิลปะนั้น หากมองหาจิตรกรสีน้ำ ดรออิ้ง และวาดภาพคนเหมือนแล้วละก็ ชื่อของอาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู จะปรากฏขึ้นมาอยู่แถวหน้าคนหนึ่งทันที

การเขียนสีน้ำ ดรออิ้ง และวาดภาพคนเหมือนนี้จัดว่าเป็นวิชาพื้นฐานสำหรับงานศิลปะและหัตถกรรมในทุกแขนง ดังนั้น หากเจอคนที่เรียนศิลปะผ่านสำนักเพาะช่างไม่ว่าจะคณะใดและสาขาใดในระยะ ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นอันเชื่อได้เลยว่าจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักอาจารย์ปัญญาและผลงานของอาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู

แต่ความประทับใจและความเคารพเทอดทูนอาจารย์ปัญญาในฐานะครูของลูกศิษย์ลูกหารวมทั้งผมนั้น นอกจากการได้วิชาศิลปะหลายอย่างจากอาจารย์แล้ว ก็อยู่ตรงที่วิชาทั้งหลายเหล่านั้น อาจารย์ท่านสืบทอดไว้โดยที่หลักสูตรและการเรียนการสอนไม่มีให้แล้วในเพาะช่าง ซึ่งต้องกล่าวว่า อาจารย์สืบทอดวิชาศิลปะจากครูอาจารย์ที่สะท้อนความเป็นเพาะช่างไว้มาส่งต่อให้ลูกศิษย์หลายรุ่นโดยคุณธรรมและความทุ่มเทของปัจเจก หรือด้วยสำนึกและความเป็นครูของอาจารย์เอง

                                                               สีชอล์คพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง
                                                               ผลงานศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู

อาจารย์ปัญญาเป็นผู้ซึ่งมีผลงานการเขียนภาพคนเหมือนที่โดดเด่นมากที่สุดท่านหนึ่ง งานเขียนภาพคนเหมือนสีชอล์คเป็นผลงานที่ทำให้อาจารย์มีชื่อเสียงมากกว่างานสีน้ำและผลงานในด้านอื่นๆ หากมีโอกาสเข้าไปในห้องโถงอาคารอำนวยการโรงเรียนเพาะช่าง ก็จะเห็นภาพเขียนสีชอล์คผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการ และผู้บริหารของโรงเรียนเพาะช่างทุกพระองค์และทุกคนนับแต่การก่อตั้งเมื่อปี ๒๔๕๖ ซึ่งหลายภาพเขียนโดยอาจารย์ปัญญา รวมทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ พระผู้สถาปนาโรงเรียนเพาะช่างขึ้นตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

                                       สีน้ำทิวทัศน์ทะเล Sea scape ผลงานชิ้นหนึ่งของศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู  

                                   สีน้ำหุ่นนิ่ง ผลงาน ศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู ภาพจากเว็บศิษย์เก่าเพาะช่าง

หลังจากที่รัฐบาลปฏิรูปและกระจายโอกาสการศึกษาไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศนั้น โรงเรียนเพาะช่างก็งดจัดการศึกษาศิลปะในขั้นพื้นฐานต่างๆที่เคยมี วิชาศิลปะที่มีการจัดการศึกษาให้ที่เพาะช่างในสาขาวิจิตรศิลป์ จะต่อยอดเป็นขั้นสูงข้ามพื้นฐานต่างๆไปเลย การเขียนสีน้ำจัดว่าเป็นพื้นฐานทางศิลปะ ดังนั้นจึงไม่มีให้เรียนอีก อยากเก่งก็ต้องไปขวนขวายเอาเอง

                                     สีน้ำหุ่นนิ่ง ผลงาน ศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู ภาพจากเว็บศิษย์เก่าเพาะช่าง

การดรออิ้งและเขียนภาพคนเหมือนก็ถือว่าเป็นพื้นฐาน เพราะมาถึงเพาะช่างแล้ว อย่างต่ำที่สุดเขาก็เขียนฟิกเกอร์ ภาพเปลือย ซึ่งเป็นการเขียนงานระดับบ่มเพาะความเชี่ยวชาญและค้นหาแนวทางที่เป็นตัวของตัวเอง เรียกว่าก่อนจบเพาะช่างเขาก็อาจจะดังและเห็นตัวเห็นตนของตัวเองแล้วว่าตนเองเป็นใคร

แล้วพวกที่ยังหลงเสน่ห์ของสีน้ำกับการทำงานนอกเหนือจากที่มีการเรียนการสอนจะไปหาที่บ่มตนเองที่ไหนเล่า ? .....เกาะกลุ่มเรียนด้วยตนเองที่หน้าห้องอาจารย์ปัญญา เป็นคำตอบครับ

                            กลุ่มนักศึกษาที่เป็นศิษย์ปัจจุบัน เข้ากราบคารวะอาจารย์ ในวันที่ศิษย์เก่าและโรงเรียนเพาะช่างจัดงานเกษียณอายุราชการให้ศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยผลผงานศิลปะ มุมนั่งเขียนรูป และผู้คนจอแจดังที่เห็นในภาพนี้ ไม่ใช่ห้องเรียนหรือที่แสดงงานศิลปะ แต่เป็นหน้าห้องพักอาจารย์ของอาจารย์ปัญญาในอาคารเรียนหลังใหม่ที่สร้างขึ้นแทนอาคารวิจิตรศิลป์หลังเก่า

อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชูท่านใช้พื้นที่เล็กๆหน้าห้องพักของตนเอง เป็นแหล่งรองรับความสนใจและความเอาใจใส่ที่จะเรียนรู้ พัฒนาตนเองของนักศึกษา โดยซื้อวัตถุดิบมาเองแล้วก็ตั้งหุ่นนิ่งทิ้งไว้ให้นักศึกษาทุกชั้นปี และเป็นใครมาจากไหนก็ได้ที่อยากเขียนรูปสีน้ำหรือดรออิ้ง ก็เดินมานั่งเขียนฝึกฝนตนเองอยู่ที่หน้าห้องพักของอาจารย์ ซึ่งข้างๆก็จะมีชมรมดนตรีไทย ของกลุ่มนักศึกษาที่สนใจจากทุกสาขาของเพาะช่างเช่นกันมาเรียนขิม ซอ และจะเข้ จากครูอภัย นาคคง ครูดนตรีเก่าแก่ท่านหนึ่งของวงการดนตรีไทย

อาจารย์ปัญญาท่านมีวิธีสอนที่ทุกคนจะรู้สึกว่าต้องไปเรียนกับอาจารย์ปัญญาซึ่งรวมทั้งผมเองด้วย เพราะอาจารย์จะสอนแบบทำให้ดูหรือทำไปด้วยกัน จากนั้นก็จะเดินดูและคุยแนะนำให้เป็นรายบุคคล สอนจำเพาะที่เขาเป็น แนะนำแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย ทุกคนจึงผูกพันและค้นพบตนเอง  กระทั่งกลายเป็นกลุ่มเรียนรู้กลุ่มย่อยๆซึ่งก็พัฒนาตัวเองในการจัดการโดยคนที่เป็นรุ่นพี่ก็จะคอยช่วยสอนและดูแลคนที่เข้ามาเป็นรุ่นน้อง เมื่อเขียนเสร็จและรวมผลงานของหลายคนได้หลายชิ้นแล้วก็จะทำอย่างเป็นวัฒนธรรมกลุ่มไปโดยอัตโนมัติคือเอางานมาตั้งเรียงแล้วดูไปด้วยกัน อาจารย์และทุกคนก็จะนั่งคุย ถาม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน  

                                การเขียนภาพคลี่คลายเพื่อนำไปทำงานสร้างสรรค์ที่ต่อเนื่องไปสู่งานอื่นๆ เป็นวิชาหนึ่งที่ไม่มีการสอนให้ครอบคลุมทุกกระบวนการเพราะต้องใช้หลายวิชามาประกอบกัน ผมได้วิชานี้จากวิธีครูพักลักจำอาจารย์ปัญญา เพ็ชรชูและอาจารย์สันติ พฤฒิกสิกร ผสมผสานกัน

นอกจากนี้แล้ว อาจารย์ก็จะเป็นผู้รับผิดชอบในการนำนักศึกษาออกไปเขียนรูปนอกสถานที่ ที่ทุกคนจะนึกถึงจนเป็นเอกลักษณ์ในการเรียนรู้กับอาจารย์ก็คือ การดรออิ้งนกกะหรอดหัวจุกในสวนสัตว์เขาดินวนา กับการเขียนทิวทัศน์นอกสถานที่

การดรออิ้งนกกะหรอดหัวจุกที่เขาดินที่เป็นเอกลักษณ์ของอาจารย์ไปด้วยนั้น ก็เนื่องจากเจ้านกกะหรอดนี้นอกจากจะเป็นหุ่นสำหรับฝึกวาดรูปที่ชวนให้ปวดหัวที่สุดเนื่องจากเป็นนกที่จะไม่เกาะอยู่นิ่งเลยแล้ว ทั้งโครงร่างและน้ำหนักสีสันของมันก็สุดยอดจะท้าทายมาก เพราะมีน้ำหนักตั้งแต่สีดำเข้มจนไปถึงเทา น้ำตาล ครีม และขาวอ่อน ในแง่พื้นผิวและลักษณะโครงร่าง ก็มีทั้งผิวมันวาว ฟู เนียนราบเรียบ และขรุขระหยาบกระด้าง เรียกว่าเมื่อสามารถเขียนนกกะหรอดหัวจุกในกรงซึ่งกระโดดและบินอยู่ตลอดเวลาได้โดยจับลีลาและแตกฉานในเรื่องโครงร่าง พื้นผิว และน้ำหนักสารพัดแล้ว ก็มั่นใจได้เลยว่าจะมีสายตาที่แม่นการอ่านแสงเงา รูปทรง และสั่งมือให้ทำอะไรก็ได้

ระหว่างที่ไปเขียนรูปนอกสถานที่เหล่านี้อาจารย์ก็จะนั่งเขียนไปด้วยกับพวกนักศึกษา ทุกคนจะขอมุงดูให้เห็นกะตาในทุกขั้นตอน ทุกคนเห็นงานของอาจารย์แล้วก็แทบจะลืมเขียนงานตนเอง อาจารย์จึงมีผลงานทุกชนิดมากมายและสามารถจัดแสดงนำเสนอสู่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอโดยมิใช่เป็นผลงานที่ทำขึ้นเพื่อเป็นศิลปินแต่ทำเพื่อการสอนนักศึกษา ซึ่งแนวทางอย่างนี้ผมได้ทราบจากหลายท่านว่าเป็นแนวทางที่ถือเป็นหลักปฏิบัติต่อกันมาของครูโรงเรียนเพาะช่าง

                             กลุ่มนักศึกษาใช้ฝีมือทำฉากเวทีเพื่อจัดงานเกษียณและแสดงกตัญญูกตเวทิตาให้อาจารย์หน้าตึกอำนวยการโรงเรียนเพาะช่าง ตึกดังกล่าวนี้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยศาสตราจารย์ประกิต บัวบุศก์ ครูเก่าแก่ท่านหนึ่งของโรงเรียนเพาะช่างและเป็นครูของอาจารย์ปัญญา

กลุ่มนักศึกษาที่ติดตามไปเรียนรู้และฝึกฝนเอาเองกับอาจารย์นั้น ไม่เพียงเพราะเป็นคนรักเรียนวิชาจากอาจารย์ ทว่า บางทีก็เป็นนักศึกษาที่ยากจนที่อาจารย์อยากให้เอาดีให้ได้ด้วยการเคี่ยวกรำตนเองให้เข้มข้น ดังนั้น นอกจากอาจารย์จะเป็นแหล่งที่นักศึกษาอยากไปฝึกฝนแบบครูพักลักจำกับอาจารย์แล้ว เมื่อมีนักศึกษามาคลุกคลีอยู่ด้วยเป็นกลุ่มและไม่ค่อยมีเงิน แต่อาจารย์ปรารถนาให้เด็กๆเหล่านี้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยกันที่ดี ดังนั้น ในทุกๆเดือนอาจารย์ก็จะต้องเจียดเงินเดือนของตนเองส่วนหนึ่งไว้สำหรับให้นึกศึกษาได้ใช้หุงหาข้าวปลาอาหารกินและซื้อหุ่นนิ่งมาฝึกเขียนรูป

กระทั่งถึงทุกวันนี้ เมื่อผมไปเยี่ยมอาจารย์ก็ยังเห็นนักศึกษาและผู้คนไปนั่งเขียนรูปอย่างเอาจริงเอาจังอยู่ที่หน้าห้องพักอาจารย์ ซึ่งใครเห็นก็คงไม่รู้ว่านี่เป็นกลุ่มเรียนรู้ด้วยตนเองและไม่ใช่ห้องเรียนจริงๆ ผมทราบว่าในแต่ละเดือนอาจารย์จะใช้เงินเพื่อกิจกรรมอย่างนี้ให้นักศึกษากว่าหมื่นบาทและเป็นมาอย่างนี้กว่า ๒๐ ปีแล้ว

                            ผลงานชิ้นหนึ่งของผม เขียนในแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ เขียนขึ้นหลังจากฝึกฝนการเขียนสีน้ำกับกลุ่มหน้าห้องอาจารย์ปัญญา  ซึ่ง ๑ ในชุดเดียวกันของ ๓ ภาพที่ผมเขียนขึ้นในแนวนี้ อาจารย์ปัญญาได้ขอเก็บไว้หนึ่งชิ้นเพราะอาจารย์บอกว่าผมเขียนในแนวนี้ดีกว่าแนวเหมือนจริงกับแนวเหนือจริงที่ผมถนัด

มีจิตรกรและคนที่ดำเนินชีวิตด้วยการทำงานศิลปะที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติหลายคนที่มีชื่อเสียงทางสีน้ำและการเขียนภาพคนเหมือน ที่ผ่านไปจากสำนักเพาะช่าง ซึ่งงานหลายแนวที่ผู้นิยมทางศิลปะและสาธารณชนให้การยอมรับชื่นชมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการเขียนสีน้ำและภาพคนเหมือนสีปาสเตลหรือสีชอล์คนั้น คนทั่วไปอาจจะไม่ทราบว่างานศิลปะในแนวนี้ไม่มีการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการในเพาะช่างมากกว่า ๓๐ ปีแล้ว ที่ยังมีศิลปินทำงานให้สังคมได้ชื่นชมอยู่เสมอมานั้น เป็นการเกาะกลุ่มฝึกฝนและเรียนรู้แบบครูพักลักจำกับศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชูที่หน้าห้องพักครูนั่นเองครับ.

 

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ

(๑) เขียนและนำผลงานมาจัดแสดง เพื่อเป็นกตัญญูกตเวทิตาและร่วมรำลึกถึงอาจารย์เนื่องในวาระเกษียณอายุราชการของศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู ๒๕๕๒

(๒) อ่านประวัติและวิธีคิดของอาจารย์ แล้วจะได้แรงบันดาลใจดีๆเยอะเลยครับ

 

หมายเลขบันทึก: 305595เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2009 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (48)

มาอ่านเรื่องราวของ "ครูและศิษย์" ครับ...

ชื่นชม "ครู" ที่เป็นครูด้วยจิตวิญาณนะครับ...

ขอบคุณมากครับผม...

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ดูวิถีการเรียนการสอนของครูศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู แล้วอบอุ่น
  • มีความผูกพันระหว่างครูกับศิษย์เป็นกันเองดี

แวะมาหาความรู้ค่ะ

สวัสดีครับคุณดิเรก หากชอบและอยากหาแรงบันดาลใจจากการชมงานศิลปะบ้างก็แวะไปดูงานต่อได้นะครับ ตอนนี้มีการรวบรวมผลงานทางด้านต่างๆของอาจารย์ จัดแสดงเป็นนิทรรศการเกียรติยศที่หอศิลป์ของวิทยาลัยเพาะช่าง ข้างเชิงสะพานพุทธนะครับ จะแสดงไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ นี้ ผมเองก็จะหาโอกาสแวะไปให้ได้สักวันหนึ่ง

สวัสดีครับอาจารย์

ผมรับรู้เรื่องราวของ อ.ปัญญา เพียงผิวเผินมาก ๆ รู้เพียงท่านเป็นครูของศิลปินหลายท่าน อ่านบันทึกของอาจารย์แล้วทำให้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับท่านมากขึ้นครับ

...

ผมได้รับหนังสือของอาจารย์จากคุณเอกแล้ว

ขอบพระคุณในความเมตาของอาจารย์มากนะครับ

ผมทราบว่ามีการพิมพ์หนังสือเล่มนี้มาก่อนหน้าบ้างแล้ว จะเอ่ยปากขอแต่มิกล้า

วันที่ผมได้รับหนังสือจากมือคุณเอก จึงเหมือนได้รับของขวัญชิ้นใหญ่

ขอบพระคุณอาจารย์อีกคร้ังครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ อาจารย์มีอีกหลายอย่างที่เหมือนกับพระหรือนักพรตครับ วิธีคิดและการปฏิบัติตนทางด้านการดูแลสุขภาพตนเองก็ให้การเรียนรู้และให้วิถีคิดที่ลึกซึ้งครับ ลองแวะไปอ่านประวัติและวิธีคิดของอาจารย์ที่ผมลิ๊งค์ไว้ท้ายบทความได้อีกครับ ได้เห็นแล้วจะมีกำลังใจดีครับ

สวัสดีครับคุณ nana ดีใจเหมือนมีคนแถวบ้านมาเยี่ยมครับ แวะมาอีกนะครับ ผมก็เป็นคนนครสวรรค์ที่คุณ nana ทำงานอยู่คือกันครับ

สวัสดีครับหนานเกียรติ อยากให้เป็นกำลังใจกันนะครับ เอาไว้อ่านพักผ่อนยามว่างครับ  

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • อ่านประวัติและวิธีคิดของอาจารย์ ปัญญา เพ็ชรชู
  • ความทุกข์ยากลำบากแต่เด็กทำให้ท่านมองเห็นชีวิตผู้อื่นแล้วช่วยเหลือ
  • ท่านเป็นคนใจดีมีเมตตามากเลย
  • ทำให้นึกถึง อดีตอนุศาสนาจารย์กองทัพภาคที่ ๓ พิษณุโลก ยศ พ.อ.(ป.ธ.๙) ท่านหนึ่ง
  • ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ปวารณาไว้ว่า ถ้าเจอพระสงฆ์ช่วงก่อนเพลที่ไหนก็แล้วแต่ จะต้องซื้ออาหารถวายเพลทุกครั้ง
  • คนเก่านี่มีอะไรน่าเรียนรู้เยอะแยะ เลยซาบซึ้งใจในจริยาวัตรของท่านไปด้วย

ความเป็นครูและการพาผู้อื่นเรียนรู้โดยทำให้ดู อยู่ให้เห็น และเป็นคนจัดโอกาสให้เกิดประสบการณ์ชีวิตที่ดีด้วยกันจนมีความเติบโต งอกงาม อย่างนี้ เป็นกระบวนการศึกษาเรียนรู้ที่สังคมไทยมีอยู่ในวิถีสังคมมากเลยนะครับ ผู้คนมากมายเป็นครูและนักเรียนของกันและกัน

สวัสดีค่ะอาจารย์

งดงามมากเลยค่ะ

ภาพเขียนทุกภาพ

น้ำใจอาจารย์

จิตใจศิษย์ที่เปี่ยมกตัญญู

_/|\_

สวัสดีครับคุณณัฐรดา ผมเห็นบรรยากาศการศึกษาเรียนรู้แบบอาศรม ในบรรยากาศเก่าๆที่ดำเนินมาอย่างยาวนานของเพาะช่างอย่างนี้แล้ว กลับมาก็นึกภาวนาอยู่ในใจว่า ขอให้การศึกษาและการบริการสิ่งสาธารณะ เช่น บริการสุขภาพและอื่นๆ อย่าได้ทำด้วยรูปแบบการจัดการอย่างเป็นธุรกิจซื้อขายและเปลี่ยนความสัมพันธ์ของครูกับผู้เรียน ผู้บริการสังคมกับประชาชนพลเมืองให้เป็นผู้ขายสินค้าบริการกับผู้บริโภคที่ได้บริการดีด้วยเงินทองและการซื้อขายกันอย่างมากจนขาดการให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อเกื้อหนุนและเป็นกัลยาณมิตรกันของคนเลย เพราะมีหลายอย่างที่การซื้อขายและเงินทอง ตลอดจนผลตอบแทนในทางวัตถุ ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นและเข้ามาทดแทนการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันของคนเราได้

สวัสดีอาจารย์อีกครั้งค่ะ

ได้รับหนังสือเรียบร้อยแล้วค่ะ ขอบพระคุณมาก

เห็นคำนิยมจากกัลยาณมิตรแล้ว ชื่นใจแทนอาจารย์ค่ะ

ขอบพระคุณอีกครั้งนะคะ

ฝีมือการออกแบบหน้าปกและการจัดเล่มทั้งเล่ม การเสาะหาคำนิยม รวมทั้งการวางแนวคิดและเลือกเนื้อหาทั้งหมด เป็นฝีมือของน้องๆ ซึ่งเป็นมิตรรักแฟนบล๊อกของคุณณัฐรดาด้วยนะครับ

ขอร่วมประชาสัมพันธ์หนังสือรำลึก ๖๐ ปีที่ลูกศิษย์ของอาจารย์ทำให้อาจารย์ครับ

                   

ท่านที่สนใจติดต่อและสั่งจองได้ที่ป้ากมลรัตน์นะครับ รายละเอียดและเบอร์โทรดังในแผ่นโปสเตอร์ครับ

ณรัฐ กำพลมาศ..1 ในศิษย์อ.ปัญญาได้รวบรวมผลงานของอาจารย์ปัญญา เพ็ชรชูไว้ที่...

งานจิตรกรรมของอาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู แห่งจิตรกรรมสากลเพาะช่าง

สวัสดีครับครูอ้อยเล็ก แวะเข้าไปดูในลิ๊งค์ที่ครูอ้อยเล็กลิ๊งไปให้แล้วครับ 

                     

รูปนี้ก็สวยครับ ชอบดอกบัวกับเหยือกสังกะสี ดูสบาย จิตนิ่งและเป็นสมาธิที่ต่อเนื่องดีจัง ลูกเล่นอีกอย่างหนึ่งของอาจารย์ปัญญาคือการเขียนอากาศและสิ่งที่อยู่ในเงา ยิ่งเวลายืนดูอาจารย์เขียนด้วยละก็เพลินจริงๆครับ เหมือนคนเต้นจินตลีลาหรือเต้นบัลเล่ย์ที่เห็นสายธารของจิตใจไหลพลิ้วอย่างต่อเนื่องบนเวที 

สวัสดีครับท่านอาจารย์ วิรัตน์

กลับจากภูเก็ตวันนี้ ก็ได้รับของขวัญ เป็นอาหารสมองจากท่านอาจารย์

ซาบซึ้งและขอบคุณ

"วีถีประชาศึกษา" ศึกษาวิถี และจริตประชาชน คนทำงานชุมชนต้องเข้าใจ เข้าให้ถึงและตั้งใจจริง

จะทำความเข้าใจและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูง

อ่านแล้วจะนำมาคุยต่อครับอาจารย์

ด้วยความขอบคุณอีกครั้ง ที่เป็นหนึ่งใน 300 ที่อาจารย์ กรุณาครับ

สวัสดีครับท่านผู้เฒ่าวอญ่า ชอบความหมายวิถีประชาศึกษาของผู้เฒ่าวอญ่านะครับ ง่าย แล้วก็สะท้อนสิ่งที่จะต้องคิดและทำ เมื่อทำงานในแนวประชาคมดีครับ ขอมอบให้ท่านผู้เฒ่าวอญ่าเอาไว้อ่านพักผ่อนหาความคิดดีๆไปลุยงานต่อครับ

เด็กนักเรียนที่สนใจเรียนศิลปะมาฝึกเขียนรูปเพื่อเป็นพื้นฐานในการสอบเข้าเรียนในโรงเรียนเพาะช่าง ผู้ปกครอง พี่ๆและครูศิลปะ รวมทั้งอาจารย์ปัญญา ให้การแนะนำและให้เด็กๆได้นั่งฝึกเขียนด้วยตนเอง ผลงานที่เด็กกำลังเขียนนี้เป็นการฝึกด้วยตนเองมาแล้ว ๑ ปี และมาฝึกเขียนอยู่หน้าห้องพักอาจารย์ได้เพียง ๔ วันเท่านั้น ผลงานเหมือนกับนักเรียนศิลปะที่มีพื้นฐานดีแล้ว

                   

มีผลงานของอาจารย์และบรรยากาศการแสดงผลงานเนื่องใน ๖๐ ปีของอาจารย์ ที่หอศิลป์เพาะช่าง ผลงานที่นำมาจัดแสดงนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น อาจารย์บอกว่าสัก ๑ ใน ๑๐ เท่านั้น

                   

                   

ภาพเขียนสีน้ำ สีชอล์ค ดรออิ้ง หุ่นนิ่งและคนเหมือน

                    

สีชอล์ค สมเด็จพระสังฆราชเกือบทุกพระองค์และพระเกจิอาจารย์ทั่วประเทศ

                    

ภาพนี้เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง เป็นภาพสีน้ำมันที่เขียนด้วยนิ้วมือ แนวคิดคือเป็นการสื่อสะท้อนจากหัวใจโดยไม่ต้องผ่านพู่กันหรือเทคนิคทางเครื่องมืออย่างอื่นเลย แต่ถ่ายทอดผ่านนิ้วมือโดยตรง เป็นงานเขียนและปฏิบัติการระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ และเป็นภาพที่ได้รับการจัดทำเป็นปฏิทินเผยแพร่โดยธนาคารไทยพาณิชย์เมื่อปี ๒๕๕๑

                   

ผมจองสูจิบัตรแสดงผลงาน ๖๐ ปีของอาจารย์มาหลายวัย แต่หมดก่อนถึงตอนเย็นทุกวัน วันนี้เหลือเพียง ๓ เล่มเลยต้องขอให้อาจารย์เซ็นชื่อให้สักหน่อยครับ

                    

อาจารย์เห็นว่าผมไม่ได้ไปร่วมในวันเปิดงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ท่านเลยเมตตาให้เหรียญพระวิษณุกรรมและสูจิบัตรงานแสดงของอาจารย์ครั้งนี้ให้ด้วย แล้วก็ให้น้องนักวิจัย ๒ คนที่ผมชวนไปเพื่ออยากให้ได้รู้จักและได้มีโอกาสคารวะอาจารย์ด้วย

สวัสดีครับอาจารย์ วิรัตน์

มาติดตามด้วยความครุ่นคิดอีกรอบครับ กับผลงานของครูผู้ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นให้จริง ครับ

ศาสตรเมธี : ศาสตรเมธี คือรางวัลที่มูลนิธิศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มอบให้แก่นักปราชญ์สาขาต่างๆที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู ได้รับรางวัลดังกล่าวในปี ๒๕๔๕ ในสาขาศิลปกรรมศาสตร์ ด้านจิตรกรรมสากล และได้เข้ารับประทานรางวัลพร้อมกับผู้ได้รับรางวัลดังกล่าวในสาขาอื่นๆจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๕

สวัสดีครับท่านผู้เฒ่าวอญ่า วันนี้ผมได้ไปแย่งซื้อหนังสือรวมผลงาน ๖๐ ปีชีวิตและผลงานของอาจารย์มาได้เล่มหนึ่งครับ อาจารย์เป็นคนพื้นเพจังหวัดสมุทรสาคร แต่เพิ่งทราบว่าคุณพ่อและคุณแม่ของอาจารย์นั้นพื้นเพท่านทั้งสองเป็นคนใต้ครับ เป็นคนสงขลาทั้งคู่ เลยไม่แปลกใจว่าทำไมอาจารย์จึงได้หน้าคมเข้มเหมือนแขกและคนใต้จัง

สวัสดีค่ะ

แวะมาเยี่ยมอาจารย์

สมัยลูกคนโตส่งภาพเข้าประกวด เวลาไปรับรางวัลสูจิบัตรมักมีไม่พอจำนวนที่ต้องการ ต้องรีบไปงาน พอถึงงานแล้วต้องแจ้นไปขอก่อนเลยค่ะ

ดิฉันเรียนศิลปะผ่านลูกค่ะ เค้าโชคดีได้คำแนะนำจากอาจารย์หลายๆท่าน ดิฉันเลยพลอยได้เรียนรู้ไปด้วย

เคยแซวอาจารย์จรัล คำภารัตน์ ท่านเป็นอาจารย์ของลูก ต่อมาท่านแนะนำให้ลูกไปเรียนต่อกับอาจารย์ชำนิ สุวรรณช่าง ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านอีกที ดิฉันบอกท่านว่าตัวเองเป็นลูกศิษย์ของลูกสาว อาจารย์จรัลจึงเสมือนอาจารย์พ่อ ส่วนอาจารย์ชำนิ ก็เลยได้เป็นอาจารย์ปู่

หัวเราะกันกลิ้งเลยค่ะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดา ผมก็ชอบสะสมสูจิบัตรและหนังสือที่ทำขึ้นเผยแพร่ในงานแสดงทางศิลปะหรืองานอื่นๆที่เราประทับใจครับ เวลาศิลปินและหน่วยงานผู้จัดทำสูจิบัตรถูกใจนี่ก็จะทำให้อิ่มอกอิ่มใจเหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของการได้ดูงานศิลปะเลย

อาจารย์ทั้งสองท่านนี่เป็นรุ่นเก่าของเพาะช่างและเป็นผู้มีชื่อเสียงของประเทศทั้งในแง่ผลงานศิลปะ การสอนศิลปะ และการเขียนหนังสือตำราทางศิลปะเลยนะครับ คุณณัฐรดาเข้าใจเสาะหาครูดีให้ลูกๆ แล้วท่านก็อาวุโสมากด้วยครับ คงเป็นปู่ได้จริงๆเสียด้วย เมื่อก่อนนี้ท่านออกทีวีเขียนรูปเล่าเรื่องไปกับเพลงไทยเหมือนเป็นมนุษย์วิเศษเลย

เข้ามา...กราบสวัสดี อาจารย์ ครับ

บันทึกของ อาจารย์ ....

การ print  เก็บไว้ เป็นสิ่งที่ผมทำเสมอ...เพราะหากวันไหน...ผมคิดถึงคนที่ผมศรัทธา

ผมจะเปิดบันทึก ที่ผมเก็บไว้มาอ่าน...เพราะมีมันค่ามากกว่า บันทึก

ที่ใครสักคน...ควรนำไปใช้เป็นบทเรียนชีวิต

ด้วยความเคารพและระลึกถึง ครับ

 

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดี

อันที่จริงเราต่างเป็นครูชีวิตให้กันและกันนะครับ ในภาษาศิลปะนั้น อย่างคุณแสงแห่งความดีเนี่ย อยู่ในช่วงที่ต้องจัดว่ากำลังมีพลังชีวิตน่ะครับ ในช่วงเวลาอย่างนี้เหมาะสำหรับการทำงานที่มีความสะท้อนและเชื่อมโยงกับความเป็นชีวิตจิตใจ มีพลังสร้างสรรค์และได้ความเป็นหนึ่งกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มากกว่าการใช้ความสามารถของสมอง เป็นงานแบบ Reflection เหมือนเป็นลายแทงชีวิตน่ะครับ เมื่อได้ย้อนกลับมาอ่านแต่ละครั้งก็จะเห็นอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นพลังชีวิตที่เหมือนไม่ใช่มาจากตัวเรา ช่วงเวลาอย่างนี้ หากได้ทำงานก็จะออกมาดี และเมื่อได้นั่งอยู่กับการทำงานเชิงความคิด ก็เหมือนกับมีกำลังสติพอที่จะเป็นครูของตนเองได้ครับ

โครงสร้างชีวิตของคุณแสงแห่งความดีที่กำลังเป็นอยู่ ณ เวลานี้ เมื่อบวกกับวิธีมองโลกที่ถือเอาการใช้ของจริงในชีวิตเป็นมรรควิถีแห่งการเรียนรู้และฝึกอบรมตน และรวมเข้ากับความสามารถของคนชั้นกลางรุ่นใหม่ของสังคมซึ่งมีการศึกษาสูง สามารถทำประสบการณ์ชีวิตให้เป็นวัตถุดิบในการคิด เขียน สร้างความรู้และสร้างงานวรรณกรรมสะท้อนชีวิต เหล่านี้ เป็นความเป็นตัวของตัวเองที่น่าบ่มเพาะครับ

เป็นคนชั้นกลางที่มีโครงสร้างชีวิตเชื่อมโยงถึงภาคการผลิตที่แท้จริง ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่การสร้างสังคมที่ใช้เครื่องมือและวิธีการทางความรู้ของคนชั้นกลางของสังคมไทยที่คนส่วนใหญ่จะยังขาดอยู่มาก เช่น การเข้าถึงพื้นที่สร้างความเคลื่อนไหวทางความรู้ การเข้าถึงสื่อและพื้นที่การสร้างสรรค์ทางปัญญา การเข้าถึงกลไกและองค์กรเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวมสมัยใหม่ ซึ่งลักษณะของคนชั้นกลางอย่างนี้ ผมคิดว่ายังขาดแคลนและเป็นตัวแบบเชิงอุดมคติของคนชั้นกลางอันเป็นที่ต้องการมากของสังคมไทย

โดยทั่วไปนั้น คนชั้นกลางของสังคมไทย พอเริ่มเข้าเรียนตั้งแต่เป็นเด็กตัวเล็กๆจนเข้าสู่ขั้นมหาวิทยาลัยและเข้าไปเป็นกลุ่มสังคมนักวิชาชีพ เจ้าของกิจการ และชนชั้นนำในภาคต่างๆของสังคมนั้น ก็หลุดออกจากความเป็นจริงของสังคมและความเป็นสังคมการผลิต

งานความคิดและการสร้างความรู้เพื่อชี้นำความเป็นไปของสังคมก็จำเป็นต้องสร้างขึ้นจากความรู้ต่อความรู้และความคิดต่อความคิด คิดและนึกเอา ซึ่งบางทีก็อาจไม่ได้มาจากโลกความเป็นจริงเพราะประสบการณ์จากความรู้โดยมากนั้น เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ทางความคิดและผ่านประสบการณ์ของผู้อื่น เมื่อมองในแง่นี้ ก็จะเห็นบางสิ่งที่อยู่ในวิถีของคุณแสงแห่งความดีเหมือนอย่างที่มหาตมคานธีขอเรียนรู้สังคมและตนเองเสียใหม่หลังจบจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และผ่านการใช้ชีวิตจากสังคมยุโรป คือ การตรวจสอบและทดลองกับความจริงแห่งชีวิต ดูออกจะเปรียบกับตัวอย่างที่ใหญ่โตไป แต่ไม่เกินความเป็นจริงน่ะครับ

ส่วนชาวบ้านและชุมชนการผลิตจริงๆทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการผลิตบริการสาขาต่างๆ ก็มักมีวิถีมุ่งสู่เป้าหมายทางวัตถุและสิ่งตอบแทนทางเงินตรา ขาดการเรียนรู้และทำประสบการณ์ให้เป็นทุนทางปัญญา สังคมจึงมักได้แรงงานและคนกินเงินเดือนที่มีความมั่งคั่งทางวัตถุแต่ขาดอุดมคติแห่งชีวิต เป็นวิถีชีวิตที่ขาดความลุ่มลึก ไม่มีกำลังวิจารณาณต่อสังคม และขาดความสำนึกต่อความเป็นส่วนรวมที่ใหญ่กว่าตัวเอง

หากเรียกอย่างเป็นอนุสติให้กับตัวเราเองก็คือ คนส่วนใหญ่เป็นไปตามกระแสหลักที่อยู่กันในสังคมด้วยชีวิตที่เปล่ากลวง งกเงิ่นหาเงินและแสวงหาตำแหน่งแห่งหนทางสังคมอย่างไร้ความหมาย

เลยก็สักแต่ผลิต ปฏิบัติ และดำเนินชีวิตไป แต่ขาดกำลังที่จะเรียนรู้ ยกระดับคุณภาพแห่งชีวิตและเปลี่ยนแปลงตนเองให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ๆของสังคมโลกอยู่เสมอ

สังคมของเราก็เลยมีชนชั้นกลางที่มีทักษะเพียงเป็นแรงงานชั้นดีของกิจการสมัยใหม่และมีความสามารถเพียงเอาตัวรอดได้ก็เก่งแล้ว ส่วนชุมชน เราก็มีความเป็นชุมชนและวิถีการรวมกลุ่มก้อนของปัจเจก ที่ทำหน้าที่ผลิตงกๆและดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงตามยถากรรม ตามพื้นที่ต่างๆของประเทศ

ทั้งสองด้านที่คนส่วนใหญ่ขาดนี้ มีอยู่ในคนจำนวนหนึ่งหลากหลายสาขาซึ่งสำหรับผมแล้วก็ถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวเปลี่นแปลงใหม่ๆของสังคมน่ะครับ ผมเรียกไปก่อนว่าวิถีประชาศึกษา และกำลังมีอยู่ในการดำเนินชีวิตของคุณแสงแห่งความดีน่ะครับ พออ่านงานของคุณแสงแห่งความดีก็เลยได้อรรถรสและได้พลังแห่งชีวิตอย่างที่พยายามกล่าวมานี้เช่นกันครับ ทำ สังเกต ทบทวน และบันทึกถ่ายทอดสะสมไปทีละเล็กละน้อย นอกจากจะได้แบ่งปันกับคนอื่นและสื่อสารเรียนรู้ไปกับสังคมแล้ว ก็จะเป็นวิธีดำเนินชีวิตที่มีการพัฒนาวิถีความรู้ที่น่าสนใจมากเลยครับ เหมือนเป็นการวิจัยจากชีวิตจริงเลยทีเดียว

สวัสดีค่ะ

นำภาพที่ลูกวาดไว้ตอนอยู่ ป. 4 มาฝากค่ะ

แนวเศรษฐกิจพอเพียงค่ะ

ภาพนี้เป็นภาพซ้อม ภาพจริงน่ะ กระทรวงต่างประเทศเค้าเก็บไว้

สวัสดีค่ะ มาชวนไปฟังเพลง แคนลำโขงค่ะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดา ขนาดเป็นงานซ้อม ก็ออกมาดีมากเลยนะครับ การฝึกทำงานเสก๊ตช์ ซ้อม จำลองแบบ ร่างภาพ แยกทำการศึกษาเป็นรายการย่อย เหล่านี้ เป็นระเบียบวิธีเพื่อการศึกษาวิจัยทางศิลปะครับ เวลาพูดว่าขอวิจัยและทำสตั๊ดดี้ก่อน ก็จะเป็นที่เข้าใจว่าทำสิ่งเหล่านี้ การที่ให้เด็กๆได้ทำอย่างนี้และหากได้แนะนำไปด้วย ก็จะทำให้เด็กๆได้พื้นฐานดีและเห็นกระบวนการคิดเชิงระบบไปด้วยอย่างดีครับ

ความเป็นครูของพ่อแม่นี่ติดตามประเมินและดูความก้าวหน้าของเด็กในฐานะผู้เรียนอย่างรอบด้านแล้วก็ต่อเนื่อง มีการประเมินและให้การสะท้อนที่มีความกลมกลืนกับความเป็นจริงของชีวิตมากกว่าการให้คะแนนและการกดดันให้เอาชนะผู้อื่นนะครับ

น่าแปลกว่าเวลาเราพัฒนาระบบการศึกษาของส่วนรวมเรากลับลืมใส่จิตวิญญาณความเป็นพ่อแม่ ทำให้ผู้คนมักคาดหวังในสิ่งที่เมื่อเราทำเองเราจะปฏิบัติไปอีกอย่างหนึ่ง เรียนรู้ความเป็นครูจากความเป็นพ่อแม่นี่ก็จะเห็นว่า เป็นการผสมผสานกันในหลักพรหมวิหารธรรม ๔ ประการที่ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และ อุเบกขา ที่ต้องมีบทบาทความเป็นมิตร-ความเป็นเพื่อน ความเป็นครู ความเป็นบุพการีหรือเป็นผู้ให้ก่อนอย่างไม่มีเงื่อนไข และความเป็นหลักธรรมชีวิต รวมกันอยู่ในคนๆเดียวเลยนะครับ

สวัสดีครับคุณมณีวาจ เมื่อคืนนี้แวะไปอ่านเรื่องกลอน ๕ ของลาวที่จิตร ภูมิศักดิ์แต่งไว้มาแล้วครับ อ่านแล้วอยากกลับไปหยิบงานของจิตร ภูมิศักดิ์มาอ่านอีกนะครับ ได้กลิ่นอายวิธีวิเคราะห์ สร้างความรู้และผลิตวิถีทรรศนะใหม่ๆโดยวิธีการแบบ Critical Theory กับวิธีการแบบ Dialectic  ที่มักเจอจากงานของจิตร ภูมิศักดิ์ เลยนะครับ

ผมชอบวิธีการแบบนี้ ทั้งดูเป็นระบบ มีความเป็นวิทยาศาสตร์สังคม และสะท้อนความเป็นวิถีวิชาการที่จิตใจกว้าง เป็นการสร้างความรู้ขึ้นมาโดยตั้งอยู่บนหลักฐาน ข้อมูล และองค์ประกอบต่างๆที่เราสามารถเข้าถึงได้ในแต่ละยุคสมัย

ในบาทสุดท้ายของกลอน ๕ ที่นำมาคุยกันนั้น มีข้อสังเกตนิดหนึ่งครับ แต่เป็นข้อสังเกตที่ไม่มีความรู้เลย คือ คำว่า อูดอ้าว นั้น ในภาษาลาวก็ใช้คำนี้เป็นคำศัพท์คำเดียวซึ่งหมายถึง ร้อนอบอ้าว ครับ แถวบ้านผมซึ่งชาวบ้านพูดลาวรวมทั้งผมด้วยนั้น เวลาจะบ่นอากาศว่าร้อนอบอ้าว กจะพูดว่า คืออูดอ้าวแท้หนอ อย่างนี้เลยครับ ไม่รู้ว่าในกลอนของจิตร ภูมิศักดิ์ จะหมายถึงคำพูดพื้นๆอย่างนี้หรือเปล่านะครับ

  • "เพาะช่างไม่ได้สอนให้คนเป็นศิลปิน ไม่ได้เน้นว่าจะต้องมีอะไรพิเศษ แต่จะสอนให้คนเป็นช่าง สอนให้ส่วนตัวหลุดออกไป"
  • "เราภูมิใจอยู่อย่างว่าเด็กเรามีงานทำทุกคน แค่นั้นพอใจแล้วมันไม่อดตาย"
  • "ผมตั้งปณิธานว่าถ้าอยู่ที่ไหนแล้วเดิน 5 นาทียังไม่ได้กินโอเลี้ยง ก็จะไม่ไปอยู่ แปลว่ามันห่างไกลชุมชนเกินไปไง...(หัวเราะ)"
  • "คิดว่าอยากจะมีที่กว้างๆ เปิดเป็นร้านกาแฟที่ไม่เก็บตังค์ใคร ใครเข้ามาอยากจะกินก็กินแล้วนั่งดูรูปไป ใครจะมานั่งเขียนรูปก็มาได้ ผมเป็นคนไม่คิดเรื่องเงินหรอก เพราะรายได้เราก็มีเงินเดือนอยู่แล้ว เกษียณก็มีบำนาญแล้วจะเอาไปทำไมอีก"

      วิถีของปัญญา วิถีของครูชาวเพาะช่าง ที่น่าเรียนรู้

  • ชอบภาพศิลปะครับ
  • แต่ชอบภาพคนเหมือน
  • เคยเรียนศิลปะ แต่จินตนาการหายไประหว่างเส้นทางเรียนภาษา
  • ตามมาคารวะ
  • ศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู
  • ด้วยคนครับ

สวัสดีครับ นาย ๙  เห็นด้วยอย่างมากครับที่มองว่าแนวคิดและแนวปฏิบัติของอาจารย์ปัญญานั้นสะท้อนวิถีครูช่างของโรงเรียนเพาะช่างครับ ผมเคยเขียนแนวทางทางศิลปะในไทยไว้ที่เว็บบอร์ดของเพาะช่างด้วยเหมือนกัน ก็สนับสนุนมุมมองอย่างนี้เช่นกันครับ กลุ่มลูกศิษย์ที่ช่วยกันรวบรวมผลงานและความคิดของอาจารย์แล้วพิมพ์หนังสือไว้ในวาระ ๖๐ ปีของอาจารย์นี้ จึงถือว่าเป็นมรดกทางวิชาการศิลปะที่มีคุณค่ามากเลยนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ อาจารย์ชอบภาพคนเหมือนเหมือนอาจารย์ปัญญาครับ อาจารย์ปัญญาแม่นคนเหมือนแล้วก็มีผลงานเขียนคนเหมือนเยอะมากครับ ทั้งสีน้ำ สีชอล์ค สีน้ำมัน ดรอว์อิ้งเกรยอง หากได้ไปเห็นงานของอาจารย์ละเป็นต้องนะจังงังเป็นแน่ พวกผมและพวกเรียนศิลปะที่เป็นศิษย์เก่าของเพาะช่างเองนั้น ทั้งๆที่ทราบดีว่าอาจารย์มีผลงานแนวนี้เยอะ แต่พอไปดูงานของท่านที่ลูกศิษย์รวบรวมมาจัดแสดงให้แล้วก็ตะลึงครับมีผลงานทั้งเยอะแยะและไม่เคยได้เห็นอีกตั้งหลายชิ้น

ผมนั้นชอบสีน้ำของท่านครับ และทั้งหมดที่เห็นนั้น อาจารย์บอกว่าน่าจะเป็นเพียง ๑ ใน ๑๐ ของผลงานที่ได้ทำมาตลอดชีวิต แต่ไม่มีใครสามารถไปรวบรวมมาไหวเพราะอาจารย์เล่นเขียนเสร็จแล้วก็ให้คนโน้นคนนี้ไปเลยอยู่หลายชิ้น

ดีใจที่ได้ส่งหนังสือที่น้องๆและที่ทำงานเดิมของผมเขาทำให้ผมมาให้อาจารย์นะครับ ในนั้นมีรูปวาดให้นั่งดูเพลินๆด้วยนะครับ เอาไว้ดูผ่อนคลายเพื่อให้เกิดความคิดดีๆออกมาสำหรับกลับออกไปทำงานอีกอยู่เรื่อยๆนะครับ

เมื่อคืนเพิ่งได้เห็นว่าในเนชั่นสุดสัปดาห์ทำสกู๊ป ศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู ในคอลัมน์ ชีวิตรื่นรมย์ ของ คุณกนก รัตน์วงศ์สกุล โดยรวมแล้วก็เป็นการช่วยเผยแพร่ เหมือนอย่างที่หลายแหล่งกล่าวถึงอยู่แล้ว แต่บางส่วนคุณกนกก็ร่วมสะท้อนความเป็นอาจารย์ปัญญา เพ็ชรชูจากความประทับใจเมื่อได้สัมภาษณ์และสนทนากัน

รวมทั้งมีรายละเอียดเกี่ยวกับคำนำหน้าเชิดชูเกียรติคุณทางวิชาการ ศาสตรเมธี เพิ่มให้อีกว่าได้รับการพระราชทานมาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ซึ่งในความเห็นที่ ๒๒ ผมได้กล่าวถึงไว้โดยนำมาจากข้อมูลในหนังสือรวมผลงาน ๖๐ ปีของอาจารย์ซึ่งคณะลูกศิษย์ได้ทำขึ้นมาให้ท่านและผมได้ไปขอซื้อมาเป็นที่ระลึกไว้เล่มหนึ่ง ว่าเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติจากมูลนิธิหม่อมหลวงปิ่น มาลากุลและในครั้งนี้ ท่านอาจารย์ปัญญาและผู้ที่ได้รับ ได้รับประทานจากองค์พระสังฆราช หากท่านใดมีความรู้และทราบรายละเอียดดีก็ช่วยเพิ่มเติมและขยายความกระจ่างช่วยกันได้นะครับ

ผมแวะเข้าไปในเว็บของศิษย์เก่าเพาะช่างมา และได้เจอภาพเขียนสีน้ำในบันทึกเก่าๆที่ผมได้เขียนและนำเอางานต่างๆไปเผยแพร่ ถ่ายทอด แบ่งปันไว้ให้คนรุ่นหลังๆที่สนใจได้มีแหล่งไว้สั่งสมประสบการณ์จากการดูงานให้มากๆ เป็นภาพเขียนสีน้ำคนเหมือนฝีมือของท่านอาจารย์ปัญา เพ็ชรชู ซึ่งเป็นภาพสีน้ำพอตเตรทที่ผมคิดว่างดงามและให้จิตวิญญาณของสีน้ำมากที่สุดชิ้นหนึ่ง เลยนำมาวางแสดงไว้ให้ชมในนี้กันอีกครับ

                                  

ภาพนี้ เขียนขึ้นในห้องปฏิบัติการเรียน ของสาขาจิตรกรรมสากล โรงเรียนเพาะช่าง แล้วปรกตินั้น อาจารย์ปัญญาจะสอนและเขียนให้ดูไปด้วยเลย นายแบบในภาพนี้คือ สรยุทธ ประทีปสิต เพื่อนร่วมรุ่นของเพื่อนๆในรุ่นผมเอง ภาพนี้เหมือนทั้งความเหมือนทางกายภาพ และให้อารมณ์ความเป็นสรยุทธชนิดที่ใครที่รู้จักสรยุทธได้เห็นแล้วต้องบอกว่าเหมือนกับได้ยินเสียงสนทนาเบาๆ ท่าทีที่เคร่งขรึม และความสุภาพ ของเขาเลยทีเดียว ในแง่ความเป็นสีน้ำ ก็ให้อารมณ์ความเป็นสีน้ำอย่างที่สุด สบาย ใส ลีลาเคลื่อนไหวต่อเนื่อง

ก่อนมาเรียนเพาะช่าง สรยุทธ เป็นศิษย์เก่าและมือหนึ่งของสาขาศิลปะหัตถกรรม จากวิทยาลัยอาชีวศึกษา ลพบุรี เป็นคนทำงานเข้มข้นทั้งฝีมือและความคิด ค่อนข้างเก็บตัว ไม่คุยเล่นหัว แต่อัธยาศัยเป็นมิตรและนอบน้อมต่อทุกคน ยิ้มละไมอยู่ตลอดในทุกสถานการณ์

ผมมาทราบหลังจากจบจากเพาะช่างไปหลายปีผ่านการได้อ่านงานเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งของ 'ประทีปสิต' จึงได้รู้ว่าสรยุทธเป็นคนเขียนหนังสือตั้งแต่เขาเรียนอยู่เพาะช่าง และต่อมาก็มีผลงานนิยายวิทยาศาสตร์บ้างเล็กน้อยโดย ประทีปสิต เป็นนามปากกาของเขา แต่ว่าผมและเพื่อนๆไม่ได้เจอเขาเลยตั้งแต่จบเพาะช่าง และจะไม่มีโอกาสได้เจออีกแล้ว เพราะเขาได้ถึงแก่กรรมไปกว่า ๑๐ ปีแล้วครับ

ปรกติหากอาจารย์ปัญญา เขียนรูปใครในหมู่พวกเราเสร็จ หากอาจารย์ไม่ให้งานชิ้นนั้นแก่เจ้าตัวไป ก็มักจะต้องโดนลูกเซ้าซี้ของคนเป็นแบบของานของอาจารย์ไปจนได้ แต่แปลกใจที่งานเขียนสรยุทธชิ้นนี้ เมื่อตอนแสดงผลงานย้อนหลังเนื่องใน ๖๐ ปีของท่าน ผมก็เห็นรูปนี้จัดแสดงด้วย จึงเป็นงานที่เขียนขึ้นในลักษณะนี้เพียงไม่กี่ชิ้นที่หลงเหลือให้ได้ชมกัน

สวัสดีครับอาจารย์ สมัยเรียนจิดกำสากลที่เพาะช่าง อ.ปัญญาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาผมอยู่ 2 ปี ทุกๆเช้าผมจะต้องเเวะไปเยี่ยมๆมอง หาอาจารย์ที่หน้าห้องท่านทุกวันก่อนไปเรียนวิชาอื่นๆ...ท่านพบเจอผม ณ ที่ใด ท่านจำศิษย์คนนี้ได้เสมอ จะยกมือทักทายก่อนทุกครั้ง ผมได้เเนวการเขียนภาพเหมือนมาจากอาจารย์ปัญญา ที่สำคัญผมจำบุคลิคอาจารย์ปัญญาแม่นยำมากคือท่าทางตอนยืนตรวจงานนักศึกษา ท่านจะยืนเอียงตัว เอียงหน้าหรี่ตามอง แล้วนิ่งไปสักครู่ พวกเราก็ลุ้นว่าคะเเนนจะออกมาเท่าใด...มีผลงานเพื่อนที่วาดสลัมมาส่งอาจารย์เเล้วใช้สีดิบมากๆฉูดฉาดสุดๆๆ อาจารย์ปัญญาพิจารณาชั่วครู่...เเล้วถามเพื่อนผมว่า...เออ...พระเอกกับตัวโกงจะออกมารบกันตอนไหน...ฮากันตรึมครับ....

สวัสดีครับอาจารย์กู้เกียรติ : ทำให้ผมได้รำลึกถึงไปด้วยเลย เป็นการตรวจและให้คะแนนผลงานที่สนุกมาก ยืนอภิปราย คุย วิพากษ์วิจารณ์ บางทีก็วิจารณ์และช่วยกันอำกันเองเหมือนอย่างอาจารย์กู้เกียรติว่านั่นแหละครับ วิจารณ์ไปอาจารย์ก็จัดผลงานเพื่อให้คะแนนเป็นกลุ่มๆ เลยเห็นกันจะๆว่างานใครจะเลื่อนไปอยู่ในกลุ่มไหน เป็นที่สนุกสนานที่ได้คุยและดูงานไปด้วยกัน

PP...การตรวจผลงานของจิตรกรรมสนุกมาๆนะคะ..แต่ของภาพพิมพ์อาจาย์วัชรี วงศ์วัฒนอนันต์(ในตอนนั้น) จะเป็นผู้ตรวจผลงาน อาจารย์จะดูตามความคิดสร้างสรรค์เป็นอันดับแรก ต่อมาก็เทคนิคการพิมพ์ ความสะอาด คมชัดของการพิมพ์เป็นสำคัญ ดังนั้นคนภาพพิมพ์จะเอะทอะสักเพียงใดแต่งานของคณจะต้องสะอาดเนี๊ยบดังราชาเลยค่ะ....

ชื่อนิทรรศการ " 60 ปี ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู "
เปิดนิทรรศการ ในวันศุกร์ ที่ 9 ตุลาคม 2552 เวลา 17.30 น.
นิทรรศการ จะจัดแสดง ระหว่าง วันที่ 9-31 ตุลาคม 2552 (9.30-17.00 น.ทุกวัน)
นิทรรศการครั้งนี้ เป็นการแสดงผลงานเดี่ยว ครั้งแรกในชีวิต ของ อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู
ผลงานทั้งหมด ได้ถูกรวบรวม มาแสดง ณ หอศิลป์เพาะช่าง โรงเรียนเพาะช่าง
 
และวันพุธที่ 16 ธันวาคม 2552 เวลา18.00น. ณ ห้องนิทรรศการชั้น 4 ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ สี่พระยา กรุงเทพฯ
นิทรรศการจะมีถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2552เวลา 11.00-19.00น. ทุกวัน

ขอเชิญนักเรียน นักศึกษา ผู้สนใจทั่วไป   ตลอดจนศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน ชาวแดง-ดำ ทุกคนเชิญชมตามวันและเวลาดังกล่าวครับ
                                                                                                                                               ขอบคุณเวปพี่อ้อยด้วยครับ
                                                                                                                                                                                           golf จิตรกรรมสากล 83
http://www.watchari.com/board/index.php?topic=2050.msg9618#new

พลาดช่วงแรกยังมีช่วงที่2ให้ชมกันค่ะ...

  • มีแสดงเพิ่มอีกรอบหรือเนี่ย ขอบคุณครูอ้อยเล็กที่นำมาประชาสัมพันธ์ให้ทราบกันนะครับ
  • น่าจะดีมากกว่าเดิมหลายเท่านะครับ ที่ห้องแสดงงานของเพาะช่างมันแคบ ทำให้แออัด งานต้องติดถี่ๆ ดูเฝือ มองในแง่การจัดแสดงทางศิลปะแล้วก็ต้องเรียกว่า Space มันไม่เวิร์ค จัดองค์ประกอบและเล่นจังหวะการจัดวาง ให้งานปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมอย่างพิถีพิถันไม่ได้
  • สถานที่แสดงงานของศูนย์การค้าริเวอร์ซีตี้กว้างขวาง และองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งบอร์ด การควบคุมแสง การจัดวาง Space และสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการอยู่ในบรรยากาศของการดูงานศิลปะ รวมไปจนถึงการจัดการของทางสถานที่ น่าจะช่วยให้ได้อรรถรสได้มากขึ้นนะครับ
  • อันที่จริงมีงานของอาจารย์อีกจำนวนหนึ่ง ที่เมื่อตอนแสดงที่เพาะช่างนั้นมีสถานที่ไม่พอจัดแสดง หากนำมาจัดแสดงเพิ่มขึ้นอีก ก็จะเห็นความหลากหลายมากขึ้น

ผมเพิ่งทราบว่า อาจารย์ของเพื่อนภาพพิมพ์ท่านหนึ่ง ของเพาะช่าง คือ อาจารย์จุฬาฑิตย์ ทองรุ่งโรจน์ ที่เพิ่งเกษียณไปและยังอยู่เป็นอาจารย์พิเศษนั้น เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับอาจารย์ผมหลายคน คือ อาจารย์ปิยะพันธุ์ วงศ์อุดม อดีตอาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วก็อีกสองท่านที่โรงเรียนเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช คือ อาจารย์เสถียร สีสลับ และอาจารย์มาลี สีสลับ ซึ่งก็เกษียณแล้วทั้งสองท่านเช่นกัน ทั้งสามท่านนี้เป็นครูอาจารย์ผม และเมื่อเดือนที่แล้วผมไปเยี่ยมคารวะอาจารย์ปิยะพันธุ์และขอพาอาจารย์ไปทานข้าว(แต่หลังจากทานแล้วอาจารย์ไม่ยอมให้เลี้ยง ซึ่งต้องนับว่าอาจารย์ต้องโชคร้ายไป เพราะได้ตั้งใจว่าจะเลี้ยงอาจารย์ ผมกับภรรยาเลยเล่นทานเสียเต็มที่) อาจารย์เลยคุยเรื่องราวต่างๆให้ฟังมากมาย เลยได้ทราบว่า อาจารย์เองก็เป็นรุ่นพี่จิตรกรรมสากลที่เพาะช่างของผม แล้วก็ร่วมรุ่นกับผู้คนรอบๆข้างผมอีกมากมาย รวมทั้งครูอาจารย์ของคุณครูอ้อยเล็ก เพื่อนๆภาพพิมพ์และอีกหลายๆท่านที่กล่าวถึงมานี่แหละครับ ดูแล้วผู้คนในสังคมที่ดูเหมือนมากมายนี่ ใช่คนอื่นไกลเลยเนาะ ประทับใจ

P..ค่ะพี่อาจารย์ดร.วิรัตน์ ..อาจารย์วัชรี วงศ์วัฒนอนันต์ อาจารย์จุฬาฑิตย์ ทองรุ่งโรจน์และอาจารย์อัศนีย์ ชูอรุณพี่ใหญ่แห่งเอกภาพพิมพ์..มีภาคบ่ายเข็มดำเรียนกับอ.จุฬาฑิตย์ ส่วนอ้อยเล็กภาคเช้าเข็มแดงเรียนอ.วัชรี แต่ก็วิ่งไปยิ้มกับอาจารย์ชายทั้ง2ท่านเป็นประจำ..ท่านก็คงแปลกๆไอ้เด็กหญิงนี่มายิ้มทำไม..แต่จริงๆที่ยิ้มคือ..อ.อัศนีย์ถึงท่านจะไม่ได้สอนอ้อยเล็กแต่ท่านเป็นคนสอบสัมภาษณ์ตอนอ้อยเล็กสอบเข้าค่ะ..ส่วนอ.จุฬาทิตย์ไปยิ้มแบบว่าอุ่นใจค่ะอาจารย์ก็คืออาจารย์ภาพพิมพ์อีกท่านหนึ่งค่ะ...อ้อยเล็กไม่เหงาแย้วประมาณนั้นค่ะ..ส่วนอาจารย์วัชรี อ้อยเล็กมีโอกาสแตะตัวอักษรกระดาษสีแดงบนผลส้มเช้งตอนท่านจะแต่งงานด้วยนะ..จะบอกให้คริๆตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกก้ถามท่านว่าอาจารย์จะเอาส้มนี้ไปทำอะไรคะ..ท่านหน้าแดงบอกว่า ครูจะแต่งงาน...บอกลูกศิษย์ไปหน้ายิ่งแดงแปร๊ดเลย..อ้อยเล็กยังจำได้ดี...

นี่แตะแบบนี้เลยค่ะพี่อาจารย์วิรัตน์...อักษรที่ติดคงเป็นอักษรมงคลของจีนเขาล่ะค่ะ..

เลยขออนุญาตดึงงานของอาจารย์จุฬาฑิตย์ ทองรุ่งโรจน์จากเว็บศิษย์เก่าเพาะช่างมาวางไว้ให้คนได้ชมไปด้วยเสียเลย งานภาพพิมพ์นี่เป็นอย่างที่คุณครูอ้อยเล็ก คนภาพพิมพ์ว่าไว้เลย มันดูเนี๊ยบ สอาด ให้ความสงบ ลึกซึ้ง

                                

                                 Eternity No.8  โดย : จุฬาฑิตย์ ทองรุ่งโรจน์
                                 68 x 82 cm.
                                 Silkscreen

เรื่องเอานิ้วแตะตัวหนังสือสีแดงบนลูกส้มเช้งเพื่อเอาเคล็ดให้ได้แต่งงานนี่เพิ่งเคยได้ยินครับ ผมเองนี่กว่าจะได้ลงจากคานก็เกือบจะถึงวัยคลานแล้ว สงสัยเพราะไม่ได้แตะตัวหนังสือสีแดงบนส้มเช้งนี่เองนะครับ ต้องเอาเรื่องนี้ไปบอกเพื่อนๆน้องๆรอบข้างอีกหลายคนสักหน่อย แต่สงสัยต้องแตะกันเป็นรถเข็นเลย ต้องใช้เยอะน่ะครับ

อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม รุ่นน้องจิตรกรรมสากล วิทยาลัยเพาะช่าง
ในเวทีประชุมเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย UKM-18

เมื่อ ๒-๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ นี้ผมได้ไปร่วมประชุมเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๑๘ หรือ UKM-18 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม : มรภ.จังหวัดมหาสารคาม และได้รู้จักกับอาจารย์ท่านหนึ่งของ มรภ. ซึ่งเมื่อคุยกันไปคุยกันมาก็พบว่าเป็นรุ่นน้องจิตรกรรมสากล จากเพาะช่าง และเป็นศิษย์ก้นกุฏิคนหนึ่งของท่านอาจารย์ปัญญา ทว่า เป็นรุ่นน้องผมสัก ๑๕ ปีแล้ว

                       

                        ภาพที่ ๑ ซ้าย : อาจารย์ประภาพร ศุภตรัยวรพงศ์(อุตมา)(โส) คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ศิษย์เก่าจิตรกรรมสากลเพาะช่าง และริมขวา : คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และผู้ช่วยอธิการบดี ศิษย์เก่าจากคณะนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                        

                        ภาพที่ ๒ อาจารย์ประภาพร ศุภตรัยวรพงศ์ และผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ซึ่งร่วมกันเป็นทีมเจ้าภาพ จัดประชุมเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๑๘ UKM-18

ท่านชื่ออาจารย์ประภาพร ศุภตรัยวรพงศ์(อุตมา) ชื่อเล่นว่า โส เป็นอาจารย์สอนอยู่คณะศิลปกรรม และเป็นคนเขียนรูปสีน้ำแจกเป็นที่ระลึกให้แก่วิทยากรและแขกผู้มีเกียรติของการประชุมเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ คงเป็นเพื่อนพี่น้องและเป็นศิษย์อาจารย์ปัญญาร่วมรุ่นกับหลายท่าน

วันนี้ ๗ มกราคม เป็นวันเกิดเพาะช่าง
ผมขอน้อมบูชาพระวิษณุกรรม เทพและครูแห่งช่าง
ขอกราบคารวะท่านอาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู และครูเพาะช่างทุกท่าน
ขอน้อมรำลึกพี่ๆเพื่อนๆและน้องๆชาวเพาะช่าง และคนทำงานศิลปะทุกคน

ขอยืมภาพไปทำงานส่งอาจารย์หน่อยน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท