พหุปัญญากับสื่อปฏิบัติการสังคมด้วยศิลปะ : ณัฐรดา สุขสุธรรมวงศ์ จิตรกรแม่บ้านกับการสร้างสังคมด้วยศิลปะ


".....เป็น 'อำนาจทางศิลปะ อำนาจทางวรรณกรรม และอำนาจคุณธรรมทางจิตใจ' ซึ่งเป็น 'อำนาจจากความอ่อนโยนของจิตใจ หรือ Solf-Power' และหาได้ไม่ง่ายนัก......"

ผมได้รับหนังสืออีกเล่มหนึ่งจากคุณณัฐรดา สุขสุธรรมวงศ์ ชื่อหนังสือ กุหลาบ...วาดง่ายแต่เนี๊ยบ เป็นผลงานลำดับที่ ๔ ของเธอในระยะ ๔-๕ ปีที่ผ่านมาที่เขียนรูป เขียนบล๊อก เป็นวิทยากรบรรยาย และทำหนังสือเผยแพร่ได้อย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยแล้วปีละ ๑ เล่ม ทุกเล่มผมได้นั่งอ่านและดูผลงานของเธอด้วยความชื่นชมและนับถือพลังการริเริ่มสร้างสรรค์ของคนคนหนึ่ง รวมทั้งได้เห็นความเคลื่อนไหวของสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกหลายมิติที่เชื่อมโยงไปกับวิถีดำเนินชีวิตและการงานของเธอ

                        

เพื่อนในวงสังคมคิด ทำ อ่าน เขียนทางศิลปะ :
Art and Learning Practice Society

ผมรู้จักคุณณัฐรดาผ่านผลงานของเธอเมื่อประมาณ ๔-๕ ปีก่อน ผ่านการแนะนำของเพื่อนซึ่งเป็นนักเขียนและคนทำงานศิลปะ ช่วงนั้นเพื่อนผมได้เริ่มใช้บล๊อก แต่เดิมเลยก็ใช้เพื่อพักผ่อน เนื่องจากเพื่อนเปลี่ยนเส้นทางชีวิตออกไปอยู่ต่างจังหวัดหลังจากอยู่ในกรุงเทพฯมากว่า ๒๐ ปี ซึ่งทำให้ต้องกลับหลังหันและทำอะไรไม่ถูกกับตัวเองอยู่พักหนึ่ง ไม่มีหนังสืออ่าน ไม่มีเพื่อนคุย ไม่มีเวทีเสวนาและเวทีปาฐกถาทางศิลปะวรรณกรรมให้นั่งฟัง ตื่นเช้าขึ้นมาต้องเดินเข้าไร่ทำสวน กรำแดดขุดดิน ตกค่ำก็เขียนหนังสือและทำงานศิลปะอย่างที่ตั้งใจไว้ไม่ออก แต่ก็ยังคงมีจิตใจแน่วแน่ว่าจะอยู่ต่างจังหวัด ก็เลยไปซื้อคอมพิวเตอร์ ต่ออินเตอร์เน็ต แล้วก็โทรมาเล่าให้ผมฟังด้วยความครึกครื้นใจไปกับประสบการณ์แปลกใหม่

เขาเขียนบล๊อกของตนเองในบล๊อกโอเคเนชั่น วาดรูปแล้วก็นำเสนอเผยแพร่ทางบล๊อก ทำให้กลุ่มผู้สนใจเข้ามาอ่านและทำผลงานนำมาแบ่งปันประสบการณ์กันอย่างกว้างขวาง จัดว่าเป็นบล๊อกที่มีคนทำงานศิลปะและกลุ่มผู้สนใจหนาแน่นมากที่สุดหัวข้อหนึ่ง เพื่อนสอนให้ผมทำบล๊อกของตนเองขึ้นบ้าง ผมเลยขอให้น้องทีมวิจัยของผมสอนวิธีทำ ไม่นานผมก็เลยมีบล๊อกของตนเองในโอเคเนชั่น ๒ บล๊อก ต่อมาอีกไม่ถึงสองเดือนก็เลยมีอีก ๑ บล๊อกใน GotoKnow และทำเว็บไซด์ด้านการวิจัยชุมชนขึ้นเองอีกเว็บไซต์หนึ่ง

๒ บล๊อกที่โอเคเนชั่นนั้น เป็นชุมชนบล๊อกเกอร์ของคุณสุทธิชัย หยุ่น บล๊อกหนึ่งผมทำเป็นบล๊อกทางศิลปะกับการเรียนรู้ทางสังคม [๑] และอีกบล๊อกหนึ่งเป็นบล๊อกเพื่อบริการวิชาการเชิงสังคม ย่อยบทเรียนและประสบการณ์การทำงานไปสื่อสารเผยแพร่ เคลื่อนไหวการเรียนรู้ของสังคมในแนวคิดของตนเองควบคู่ไปกับการทำงานวิจัยและงานบริการวิชาการต่างๆ ซึ่งในอีกทางหนึ่งก็เป็นการได้เปิดรับความรู้และได้ความคิดดีๆกลับไปใช้ทำงาน ทำให้แม้ไม่ต้องหลุดจากฐานปฏิบัติไปนั่งเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเอง ก็ได้ตรวจสอบความรู้และได้ความคิดไปใช้ทำงานที่ทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของโลกรอบข้างอยู่เสมอๆ [๒]

ส่วนใน GotoKnow ก็เริ่มจากการทำเป็นแหล่งบันทึกข้อมูลการทำวิจัยและข้อมูลการทำงานที่สามารถเผยแพร่ให้บริการวิชาการแก่สังคมไปด้วยได้ พร้อมกับเป็นช่องทางสอนงานกับน้องๆและเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบริหารงานต่างๆที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ ทำไปก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวที่แตกต่างจากวงสมาคมทั่วไปและมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย รวมทั้งได้เห็นผลงานของผู้ที่ใช้ชื่อว่า ณัฐรดา ซึ่งเพื่อนลิ๊งค์ผลงานมาให้ชม อีกทั้งตั้งข้อสังเกตเหมือนกับจะชวนเชิญให้ผมลองเข้าไปดูให้ได้ว่าบล๊อกเกอร์คนนี้วาดรูปและเขียนหนังสือดี

ณ เวลานั้น ผมดูจากแนวการทำงานของคุณณัฐรดาแล้ว ก็จินตนาการไปว่าเป็นจิตรกรพฤกษศาสตร์ หรือ Botanical-Art Artist บล๊อกและผลงานของคุณณัฐรดาได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางมาก ต่อมาก็ได้ทราบว่าสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งให้ความสนใจรวบรวมผลงานและตีพิมพ์รวมเล่มให้ ซึ่งคุณณัฐรดาก็มีน้ำใจส่งไปให้ผมด้วยนับ ๑๐ เล่ม ทำให้ผมมีหนังสือไปใช้ทำเวิร์คช็อปศิลปะเพื่อการภาวนาที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรม จังหวัดสุพรรณบุรี

ขณะเดียวกัน เมื่อมีหัวข้อบันทึกในบล๊อก GotoKnow ที่เป็นเรื่องศิลปะ ผมก็ลิ๊งก์ผลงานของคุณณัฐรดาในบล๊อกโอเคเนชั่นให้ผู้สนใจได้ใช้เป็นแหล่งดูงานศิลปะและศึกษาเรียนรู้ตามความสนใจของตนเองให้กว้างขวางไปด้วย ซึ่งก็เป็นที่สนใจมากอีกเช่นกัน ผมเลยแนะนำเว๊บบล๊อก GotoKnow ให้กับคุณณัฐรดาเพราะฐานของกลุ่มผู้อ่านและบล๊อกเกอร์ใน GotoKnow เป็นกลุ่มคนทำงานทางการศึกษาและทำงานเชิงสังคมหลากหลายสาขาในทุกระดับทั่วประเทศ งานในแนวของคุณณัฐรดาจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่เครือข่ายคนทำงานที่นอกเหนือจากคนในวงการสื่อและสาธารณชนในบล๊อกโอเคเนชั่นไปด้วย และต่อมาก็ได้เห็นคุณณัฐรดาเปิดบล๊อกของตนเองขึ้นอีกแห่งหนึ่งใน GotoKnow พร้อมกับเห็นความเคลื่อนไหวและพัฒนาการต่างๆของการทำงานในแนวนี้ รวมทั้งการทำสื่อสิ่งตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเล่มที่ ๔ อีกเล่มหนึ่ง กุหลาบ....วาดง่ายแต่เนี๊ยบ

                        

หนังสือ'กุหลาบ....วาดง่ายแต่เนี๊ยบ'

หนังสือ กุหลาบ...วาดง่ายแต่เนี๊ยบ โดย ณัฐรดา สุขสุธรรมวงศ์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สิปประภา บรรณาธิการโดย อนันต์ ประภาโส ซึ่งทั้งสำนักพิมพ์และบรรณาธิการนั้น ในวงการหนังสือศิลปะก็นับว่าอยู่ในมาตรฐานแถวหน้าของประเทศ ขนาดหนังสือ เอ๔ พิเศษ เจียนความยาวให้เป็นรูปเล่มสี่เหลี่ยมจตุรัสซึ่งเป็นรูปเล่มพิมพ์นิยมแบบหนึ่งของหนังสือทางศิลปะที่ต้องการความสวยงามในการจัดแสดงรูปภาพภายในเล่ม พิมพ์ ๔ สี่ตลอดเล่ม ความหนารวมปก ๑๐๐ หน้าพอดี จัดจำหน่ายและเผยแพร่โดยสายส่งสุขภาพใจ ราคาตามปก ๑๖๕ บาท

ในทรรศนะผมเองนั้น หากมองในความเป็นหนังสือศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นหนังสือที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์สิปประภาและมีอนันต์ ประภาโสเป็นบรรณาธิการอำนวยการแล้ว ก็จัดว่าเป็นหนังสือที่ยังไม่ค่อยสวยอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งโดยคุณภาพการพิมพ์ ศิลปะกราฟิค ศิลปะการจัดหน้า และการให้บุคลิกความเป็นหนังสือศิลปะ แต่ก็ดูดีขึ้นมาก มากกว่าอีกสามเล่มก่อนหน้านี้

                          

กระนั้นก็ตาม หนังสือแนวนี้มีคุณค่ามากในความเป็นการบุกเบิกริเริ่มและอยู่ในขั้นต้องการให้การส่งเสริมและพัฒนาไปด้วยกันอย่างเป็นระบบอีกหลายด้าน เนื่องจากการพิมพ์หนังสืองานศิลปะซึ่งเป็นการพิมพ์ ๔ สีทั้งเล่มนั้น มีขั้นตอนทางเทคนิคการพิมพ์รวมทั้งต้องลงทุนเพื่อการผลิตซับซ้อนและสูงกว่าหนังสือทั่วไป ๓-๔ เท่า ในขณะที่ฐานผู้อ่านยังแคบกว่าหนังสือทั่วไปหลายเท่า

โดยทั่วไปแล้วก็เป็นหนังสือและตำราที่มักต้องทำด้วยการจำยอมต้องขาดทุน ไม่เข้มแข็งพอที่จะส่งเสริมให้จิตรกรและคนเขียนหนังสือสามารถเลี้ยงตนเองได้ด้วยการทำหนังสือแนวนี้ สำนักพิมพ์ก็มักต้องเจือจุนด้วยการถัวเฉลี่ยไปกับหนังสือในแนวอื่น

ดังนั้น หากมองอย่างให้ความเป็นธรรม ร่วมรับรู้ความเป็นจริงดังกล่าวของโลกและข้ามข้อจำกัดไปดูด้านที่ดีและมีคุณค่ากว่า เพื่อให้สังคมแห่งการเรียนรู้ได้มีโอกาสริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆในลักษณะดังกล่าวนี้แล้ว หนังสือกุหลาบ..วาดง่ายแต่เนี๊ยบ ก็จัดว่าเป็นหนังสือศิลปะที่มีคุณค่ามากต่อการเปิดโลกทรรศน์ทางศิลปะในอีกมิติหนึ่งให่แก่สังคมในแวดวงบรรณพิภพและสังคมศิลปะของประชาชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเอาศิลปะ สุนทรียภาพ และการเรียนรู้เพื่อพัฒนาโลกด้านใน ให้หวนคืนสู่กิจกรรมชีวิตในบ้านและในมือของปัจเจกอย่างเนี๊ยบเนียนแต่ง่าย ในยุคที่สังคมไทยและโดยทั่วไปในกระแสสังคมโลกที่มั่งคั่งและเจริญก้าวหน้าทางวัตถุมาก แต่ขาดแคลนสิ่งหล่อเลี้ยงทางจิตใจและขาดการกล่อมเกลาทางจิตวิญญาณเพื่ออยู่ในโลกทางวัตถุอย่างสมดุลด้วยคุณภาพทางจิตใจมากกว่าความสุดโต่งไปทางวัตถุอย่างเดียว

โรงเรียนศิลปะ แหล่งฝึกอบรมตนเอง
และเวทีปฏิบัติการสังคมของจิตรกรแม่บ้าน
โดยหนังสือและสื่อศิลปะ 

หลังจากได้รู้จักผ่านผลงาน งานหนังสือ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานต่างๆทางบล๊อกแล้ว จึงได้ทราบว่าคุณณัฐรดาไม่ใช่จิตรกรที่มีพื้นฐานศึกษาเล่าเรียนมาในทางศิลปะโดยตรง ทว่า เป็นผู้ที่จบมาทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหลังจากมีครอบครัวแล้ว ก็ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านให้กับสามีและลูก สามีคุณณัฐรดาเป็นทันตแพทย์อยู่ที่ชลบุรี และปัจจุบันลูกก็กำลังเรียนแพทย์อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดังนั้น เพื่อมีกิจกรรมพัฒนาตนเองไปตามความสนใจไปด้วยโดยไม่กระทบกับภารกิจของชีวิตในการทำหน้าที่ของแม่และแม่บ้าน ในปีหนึ่งเธอจึงมุ่งไปเข้าอบรมการเขียนภาพในแนวพฤษศาสตร์(Botanical Painting) จากนั้น ด้วยการมีพื้นฐานทางวิชาการและการเรียนรู้ด้วยการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองที่ดี จึงทำให้มีแนวทางการนำเอางานศิลปะมาใช้ทำงานต่างๆที่อยู่รอบตัวและในชีวิตประจำวัน ทำสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านให้สวยงามและได้ประโยชน์ใช้สอยตามที่ต้องการ ทำของที่ระลึกให้เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง และผู้เคารพนับถือ กระทั่งค้นพบความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นเป็นลำดับ

เมื่อเผยแพร่ผลงานทางบล๊อกโอเคเนชั่น นอกจากเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทั่วไปมากแล้ว ก็ได้รับความสนใจจากผู้ที่ติดตามผลงานมาก เธอจึงทำบล๊อกให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้การแนะนำและสอนศิลปะ พร้อมกับเป็นวิทยากรให้กับมติชนและหน่วยงานต่างๆทั้งภาคราชการ เอกชน และกิจกรรมของชุมชน กระทั่งปัจจุบัน ณัฐรดา สุขสุธรรมวงศ์ จัดว่าเป็นจิตรกรหญิงคนหนึ่งที่มีอยู่ไม่กี่คนในประเทศที่เป็นทั้งจิตรกรหญิง ๑ ทำงานด้วยเทคนิคการเขียนสีน้ำ ๑ และเขียนภาพแนว Illustration ที่คลี่คลายมาจาก Botanical Painting อีก ๑ ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบที่หาได้ยากในวงการศิลปะทั่วไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเป็น 'จิตรกรแม่บ้าน Housewifery Artist' ซึ่งในอดีตเมื่อ ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่านมานี้จัดว่าเป็นแนวหนึ่งของการทำงานศิลปะสมัครเล่น ทว่า ในปัจจุบัน จัดว่าเป็นสาขาหนึ่งของการทำงานศิลปะที่มีความเฟื่องฟูและเป็นที่น่าสนใจของหลายสังคมทั่วโลก ซึ่งก่อเกิดขึ้นอย่างสะท้อนเชื่อมโยงกับพัฒนาการทางด้านต่างๆของสังคม รวมทั้ง บันทึกจิตวิญญาณและลมหายใจของสังคม ตลอดจนบ่งบอกภาวะความทันสมัยและยุคหลังความทันสมัยอย่างหนึ่งในมิติสังคมประชากรและความเปลี่ยนแปลงของสังคม (Modern Population and Society) จากสังคมชนบทสู่ความเป็นสังคมเมือง โดยเฉพาะในประเทศอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศที่ผ่านยุคอุตสาหกรรมและเลยจุดอิ่มตัวทางด้านวัตถุมาพอสมควรแล้วได้เป็นอย่างดี เป็นงานหนังสืออีกแนวหนึ่งที่นักอ่านและผู้ชอบสะสมงานในขั้นความเป็นศิลปะมักแสวงหาและสะสมเป็นที่ระลึก ซึ่งผมเป็นหนึ่งในจำนวนนั้นเมื่อไปต่างประเทศ แต่ในเมืองไทยยังหาได้น้อยมาก 

บริบททางสังคมวัฒนธรรม

การทำงานฝีมือ ภาษาภาพ และงานศิลปหัตถกรรมนั้น มีบทบาทต่อสังคมมนุษย์ในหลายมิติมาก่อนวัฒนธรรมหนังสือและการอ่าน เป็นกิจกรรมชีวิตและภูมิปัญญาปฏิบัติที่ผสมผสานอยู่ในวิถีทำมาหากิน การทำเครื่องมือการผลิต การทำอาวุธและประดิษฐ์คิดค้นศิลปะของการต่อสู้ การทำเครื่องมือการล่าสัตว์ การทำเกษตร ตลอดจนเทคโนโลยีและเครื่องกลไกในยุคใหม่

นอกจากนี้ ยังมีบทบาทต่อการบันทึกและสืบทอดอารยธรรมของมนุษย์ เช่น รูปเขียนสีโบราณบนผาแต้ม และในแหล่งค้นพบอีกหลายแห่งของโลก ในสังคมชุมชนเกษตรกรรมนั้น การทำงานฝีมือและความมีศิลปะ มีความกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและมีบทบาททั้งในลักษณะเป็นผลผลิตของสังคมชุมชนและเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการกำหนดโครงสร้างหน้าที่ตลอดจนแบ่งงานและจัดสรรบทบาทหน้าที่ในการอยู่ร่วมกันของชุมชน เช่น การทำคันไถอันงดงามอ่อนช้อย การทำกระต่ายขูดมะพร้าวอันสวยงามและกิจกรรมการขูดมะพร้าว เป็นกิจกรรมของชายหนุ่ม การทำอาหารและจัดสำรับเป็นกิจกรรมของหญิงสาวแม่บ้านในงานประเพณีและงานบุญของชุมชน เหล่านี้เป็นต้น

นอกจากเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนทั่วไปแล้ว ความมีศิลปะ ตลอดจนการมีภูมิปัญญาและความสามารถทางฝีมือ ยังนับว่าเป็นศาสตร์ที่จะต้องให้การศึกษาอบรมของคนในวงสังคมชั้นสูง ในสังคมของญี่ปุ่นนั้น ซามูไร นักรบ ปัญญาชนและผู้นำในวงสังคมต่างๆ จะต้องเรียนรู้ศิลปะที่ให้ผลต่อการพัฒนาความละเอียดลึกซึ้งต่อโลกทัศน์และชีวทัศน์เพื่อให้มีความแยบคายต่อการคิดทำสิ่งต่างๆ ต้องฝึกฝนการวาดรูป การเขียนหนังสือด้วยพู่กัน ในสังคมจีน อินเดีย และประเทศต่างๆของยุโรปและอเมริกาก็เช่นเดียวกัน

ในประเทศไทยนั้น การก่อเกิดสถาบันการศึกษาชั้นสูงซึ่งต่อมาพัฒนาการเป็นวิทยาลัยครูและสถาบันอุดมศึกษาในยุคเริ่มแรกของประเทศ อันได้แก่ สวนสุนันทา และสวนดุสิตนั้น ก็ก่อเกิดจากการมีโรงเรียนพัฒนางานศิลปะการจัดดอกไม้ ทำงานฝีมือ ทำอาหาร เพื่อสร้างแม่บ้านแม่เรือนที่ขยายตัวออกมาจากราชสำนักของสยามยุคใหม่นับแต่ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ นั่นเอง

หลังพัฒนาเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมแล้ว สังคมในประเทศต่างๆต่างก็สูญเสียศักยภาพในการเรียนรู้และความสามารถทางด้านนี้ไปเป็นจำนวนมาก โธมัสมอร์ ได้กล่าวในหนังสือ ยูโธเปีย เพื่อให้ภาพของสังคมอังกฤษเมื่อเข้าสู่ยุคสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียและสังคมสมัยใหม่ของโลกในคริสตศตวรรษที่ ๑๘ โดยสรุปได้ว่า "เมื่อค้นพบเข็มทิศและการเดินทะเลด้วยเรือกลไฟแล้ว มนุษย์ก็สูญเสียความสามารถในการดูแผนที่ดวงดาวบนท้องฟ้าและการเดินเรือใบ ด้วยแรงลม"

การขยายตัวของสังคมอุตสาหกรรมและเพิ่มความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมประชากร ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ความเป็นชุมชนลดการปฏิสัมพันธ์แบบพบปะเห็นชีวิตจิตใจกันได้อย่างใกล้ชิดลงไป  ต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและเชื่อมโยงความเป็นกลุ่มก้อนผ่านสื่อกลางต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะผ่านการใช้เงินซื้อหาและรับรู้โลกรอบข้างผ่านสื่อ วงจรชีวิตเคลื่อนย้ายจากชุมชนเกษตรกรรมไปสู่ความเป็นกลุ่มแรงงานและใช้ชีวิตในองค์กรสมัยใหม่ ซึ่งในยุโรปและอเมริกาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่คริศตวรรษที่ ๑๗

ในประเทศไทยนั้น เมื่อเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๐๒-๒๕๐๔ นั้น ประเทศไทยเป็นภาคเกษตรกรรมร้อยละ ๙๐ ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ ๒๕๓๐ ก็ขยายตัวความเป็นเมืองในภาคอุตสาหกรรมและบริการมากกว่าร้อยละ ๓๐ และปัจจุบันก็มีความเป็นสังคมเมืองเกือบครึ่งหนึ่ง ส่วนวิถีดำเนินชีวิตตลอดจนโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมต่างๆนั้น มีสัดส่วนมากกว่าชุมชนในภาคเกษตรกรรมและสังคมชนบทไปแล้ว

ดังนั้น คนส่วนใหญ่ จึงเป็น ‘มนุษย์เงินเดือน’ ซึ่งอยู่ในโลกของสังคมผู้ใช้แรงงานเพื่อกินเงินเดือน จะมีความเป็นตัวของตัวเองและได้อยู่เพื่อดูแลจิตใจตนเองบ้างก็ในวันหยุด ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางสังคมดังกล่าว ทำให้กลุ่มคนที่มีความอิ่มตัวทางวัตถุและให้ความสำคัญต่อสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตมากกว่าการเสียสมดุลของชีวิตไปกับวัตถุเงินทอง หันเข้าหาการพัฒนาตนเองทางด้านจิตใจและความแยบคายต่อชีวิต ซึ่งการเขียนรูปและการเรียนรู้เพื่อทำงานศิลปะต่างๆเป็นคำตอบหนึ่ง ทำให้เกิด ‘จิตรกรสมัครเล่น’ ‘จิตรกรวันหยุด’ รวมทั้ง ‘จิตรกรหลังเกษียณ’ เป็นปรากฏารณ์และความเคลื่อนไหวทางสังคม ที่แพร่หลายและมีบทบาทต่อสังคมอย่างน่าสนใจ เช่น ในบางประเทศของยุโรปดังเช่นประเทศอังกฤษ ได้มีโครงงานปฏิบัติการทางศิลปะและมีหลักสูตรการศึกษาทางศิลปะในมหาวิทยาลัยให้กับกลุ่มพลเมืองหลังเกษียณแต่ยังคงต้องการเรียนรู้ พัฒนาตนเองไปตลอดชีวิต พร้อมกับมีผลงานบริการสังคม ให้ความหมายใหม่ของการเป็นสังคมผู้สูงอายุแทนการเป็นกลุ่มพึ่งพิงทางประชากร สู่การเป็นกลุ่มที่มีผลิตภาพและมีพลังต่อการเคลื่อนไหวของสังคมแห่งอนาคตในเงื่อนไขแวดล้อมที่สังคมในอดีตไม่มีภูมิปัญญาปฏิบัติต่อแง่มุมดังกล่าวนี้มาก่อน

ในบริบทของสังคมไทยนั้น ความมีศิลปะและความสามารถทางการฝีมือของผู้หญิง โดยเฉพาะเกี่ยวกับอาหาร เสื้อผ้า การบ้านการเรือน ตลอดจนการดูแลสมาชิกของครัวเรือนและหมู่ญาติพี่น้อง จัดว่าเป็นคุณสมบัติของความเป็นผู้หญิง ในวงสังคมชั้นสูงก็จัดว่าเป็นเครื่องหมายของกุลสตรี ในวัฒนธรรมของชุมชน ดังเช่น ชุมชนอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์นั้น ความสามารถในการทำปลอกหมอน การทอเสื่อ การเย็บปักถักร้อย ตลอดจนการจัดสำรับอาหาร การดูแลน้ำท่า และสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน เป็นคุณสมบัติหนึ่งของการเลือกคู่ดองของชายหนุ่มซึ่งเป็นกิจกรรมสังคมที่ต้องดูช่วยกันของกลุ่มเครือญาติ ซึ่งก็มีผลต่อลักษณะทางสังคมของชุมชนเป็นอย่างมากไปด้วย เนื่องจากวัฒนธรรมการผูกดองและการดูกันอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาหลายปี ทำให้โอกาสที่ผู้ต้องการมีครอบครัวใหม่จะแสวงหาคู่ดองได้ไกลไปกว่าหมู่คนบ้านใกล้เรือนเคียงในชุมชนเป็นไปได้ยาก ชาวบ้านหนองบัวที่พูดเหน่อและเป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อยกลุ่มต่างๆ จึงมักมีความเป็นเอกภาพอยู่ภายในกลุ่มก้อนเล็กๆ ไม่แพร่กระจายทางวัฒนธรรมไปสู่ชุมชนอื่น

ในชุมชนชาวนาบัวอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมนั้น การจัดใบบัวและกำบัวลงสาแหรก มีบทบาทต่อการแบ่งงานให้เป็นหน้าที่ของแม่บ้าน คนแก่เฒ่า และเด็กๆ เพื่อทำในลานบ้านและใต้ถุนเรือน [๓]

เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป บทบาทของผู้หญิงต่อภูมิปัญญาการจัดวางและเคลื่อนไหวชีวิตจิตใจสังคมในหน่วยพื้นฐานที่สุดของสังคมดังกล่าวนี้ได้สูญหายไปเป็นจำนวนมาก สะท้อนไปสู่การขาดความละเอียดประนีตและขาดรสนิยมในการเสพบริโภคทางวัตถุ สังคมมีความมั่งคั่งและทันสมัยมากขึ้น แต่มีความสุขและทำการงานที่สื่อสะท้อนมิติจิตใจได้น้อยลง

ความเป็น ‘จิตรกรแม่บ้าน’ ของ ณัฐรดา สุขสุธรรมวงศ์ จึงสื่อสะท้อนการเผชิญกับภาวะกดดันของสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อบทบาทสตรีในหน่วยทางสังคมขนาดเล็กระดับครอบครัว ขณะเดียวกันก็บอกเล่าการคลี่คลายตนเองของสังคมในการที่ปัจเจกและหน่วยทางสังคมขนาดเล็กสามารถค้นพบหนทางเชื่อมต่อกับโลกกว้างและเคลื่อนไหวความเป็นชีวิตของสังคมด้วยกิจกรรมจากสองมือและผ่านสื่อกลางในการปฏิสัมพันธ์กับสาธารณะในอีกรูปแบบหนึ่ง

วิธีคิด วิถีปฏิบัติ และวิถีเรียนรู้

ความเป็น ‘จิตรกรแม่บ้าน’ นอกจากจากสามารถบอกเล่าภาวะหลังสมัยใหม่ของสังคมและประชากรดังที่กล่าวมาในข้างต้นได้เป็นอย่างดียิ่งแล้ว ในปัจจุบันนี้ เราก็อาจจะพบว่าทั้งในและต่างประเทศอาจจะมีการจำแนกการทำงานศิลปะของกลุ่มสตรีแม่บ้านในแนวทางที่เรียกว่า ‘จิตรกรแม่บ้าน’ นี้ออกจาก ‘จิตรกรวันหยุด’ กับกลุ่ม ‘จิตรกรสมัครเล่น(Amatuare Artist)

จิตรกรวันหยุด : Holiday Artist โดยมากก็จะเป็นการทำงานศิลปะเพื่อให้สันทนาการและอยู่ในอริยาบทหย่อนใจ เนื้อหาการทำงานมุ่งเน้นการปฏิบัติสร้างความสุขและแสวงหาความรื่นรมย์ใจให้แก่ผู้ที่ต้องการหลุดออกจากวงจรการทำงานในช่วงวันหยุด เช่น การถ่ายภาพและวาดภาพทิวทัศน์ในขณะจัดสรรชีวิตให้ได้ไปท่องเที่ยวกับครอบครัวและวงสมาคมของตน การวาดสิ่งที่สวยงาม หรือการทำงานศิลปะเพื่อเป็นกิจกรรมพัฒนาความพิเศษในตนเองโดยเรียนศิลปะอยู่ในบ้านกับครูพิเศษ เหล่านี้เป็นต้น

ส่วนงานของ ‘จิตรกรสมัครเล่น’ นั้น โดยมากก็จะเป็นผลงานของผู้มีความสามารถแตกฉานทางศิลปะและทำงานศิลปะอย่างมือถึง แต่ไม่ได้ใช้ชีวิตโดยการทำงานศิลปะโดยตรงเลยทีเดียว ดังนั้น เนื้อหาของการทำงานก็จะมีความเป็นอิสรภาพทางศิลปะไม่น้อยไปกว่าผู้ดำเนินชีวิตเป็นจิตรกร อีกทั้งมีการจัดแสดงและเคลื่อนไหวสังคมอย่างมืออาชีพ แต่ไม่ได้มุ่งเพื่อดำเนินชีวิตและอยู่ได้ด้วยศิลปะ ทว่า มุ่งทำงานศิลปะอย่างมือสมัครเล่นเพื่อบรรลุความเป็นตัวของตัวเองที่โลกภายนอกไม่สามารถสนองตอบได้อย่างเพียงพอ

                      

จิตรกรแม่บ้าน’ นั้น เนื้อหาการทำงานศิลปะจะสะท้อนความเป็นแม่และความเป็นแม่บ้าน สร้างงานจากสิ่งของเครื่องใช้ที่อยู่รอบตัว ผสมผสานการทำงานศิลปะกับบทบาทและหน้าที่ต่อสังคมของผู้หญิง มีความละเอียดอ่อน เลือกสรรความสวยงามแบบผู้หญิงที่พิถีพิถันต่องานบ้านและชีวิตความเป็นอยู่ ทำงานศิลปะเพื่อสิ่งใช้สอย กล่อมเกลามิติด้านในของชีวิต พัฒนาความดีงาม เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติธรรม เป็นศิลปะของการดำเนินชีวิตและเป็นวิธีหนึ่งในการอุทิศตนต่อโลกทรรศน์ความดีงาม [๔]

อย่างไรก็ตาม ในงานของคุณณัฐรดา สุขสุธรรมวงศ์นั้น หากกล่าวจากมุมมองของการพัฒนาการรียนรู้ทางสังคมด้วย ก็จะพบในบางแง่มุมที่เป็นการผสมผสานความเป็นจิตรกรแม่บ้านกับพื้นฐานของการเป็นผู้ผ่านการศึกษาอบรมในขั้นสูงของสังคมจากระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นอย่างดี โดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเคลื่อนไหวสังคมที่พึงประสงค์ด้วยตนเองไปด้วยได้อย่างแยบคาย ลึกซึ้ง และมีความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างยิ่ง

                        

ที่สำคัญคือ การเชื่อมโยงไปกับการเรียนรู้ทางศาสนธรรมและระบบคิดต่างๆของสากล การเชื่อมโยงการทำงานศิลปะเข้ากับการพัฒนาเด็กและการพัฒนาปัจเจกด้วยแนวคิดพหุปัญญา การเชื่อมโยงการใช้สีและวัสดุการทำงานศิลปะเข้ากับวิธีคิดต่อสุขภาพและสังคมวิทยาศาสตร์ การเชื่อมโยงวาระสิ่งแวดล้อมและการลดภาวะโลกร้อนให้สะท้อนลงสู่ความสำนึกในการทำกิจกรรมศิลปะ ตลอดจนการเรียนรู้การวาดดอกกุหลาบ...ง่ายแต่เนี๊ยบ

สรุปบทเรียน สะท้อนความบันดาลใจและการเรียนรู้

การเป็นแม่บ้าน ทำงานศิลปะ สร้างเนื้อหาจากประสบการณ์ตรงของชีวิตและประสบการณ์ต่อโลกด้านในอันเข้มข้นในครัวเรือนของสตรีแม่บ้านในสังคมยุคใหม่ กระทั่งขยายผลสู่การมีผลงานหนังสือ เขียนบล๊อก และเคลื่อนไหวสังคมอย่างกว้างขวางด้วยพลังความสร้างสรรค์จากความเป็น ‘จิตรกรแม่บ้าน’ ดังเช่นกรณีของคุณณัฐรดา สุขสุธรรมวงศ์ ทั้งที่เป็นปัจเจกและเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ไม่ได้มีอำนาจอันใหญ่โตและโครงสร้างการใช้อำนาจอันใดอย่างเป็นทางการของสังคมรองรับนี้ นับได้ว่าเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นจาก ความรู้ที่ผสมผสานกับการเรียนรู้ชีวิต ความเป็นศิลปะ ความสามารถในการบอกเล่าและการเขียนถ่ายทอด ความมีจิตใจเอื้ออาทรต่อสังคมในวิถีของความเป็นสตรีแม่บ้าน และปฏิบัติการทางสื่อสมัยใหม่ด้วยตนเอง’

องค์ประกอบเหล่านี้ กล่าวได้ว่าล้วนเป็น 'อำนาจทางศิลปะ อำนาจทางวรรณกรรม และอำนาจคุณธรรมทางจิตใจ' ซึ่งเป็น 'อำนาจจากความอ่อนโยนของจิตใจ หรือ Solf-Power' และหาได้ไม่ง่ายนัก แต่บทเรียนของ ณัฐรดา สุขสุธรรมวงศ์ ก็ให้คำตอบแก่เราในสังคมร่วมสมัยได้อย่างหนึ่งว่า ทางเลือกใหม่ๆเหล่านี้สามารถเรียนรู้และสร้างให้เกิดขึ้นได้ด้วยการค่อยคิด ค่อยทำ ค่อยเรียนรู้อย่างสะสมไปบนเส้นทางการปฏิบัติและใช้ชีวิตอันอบอุ่นที่มีการเรียนรู้อยู่กับบ้าน ครอบครัว เครือญาติ หมู่มิตร และคนรอบข้างใกล้ตัว.

...................................................................................................................................................................

เชิงอรรถ :

[๑] ศิลปะวิถี : เพื่อความรอบรู้ ลุ่มลึก รื่นรมย์ : แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันกันเรื่องศิลปะ | การมองโลก | ความซาบซึ้งและสะท้อนทรรศนะด้วยศิลปะ ใน บล๊อกโอเคเนชั่น :  http://www.oknation.net/blog/silpa
[๒] แมกไม้รายทางชีวิต : ทรรศนะทางสังคม การศึกษากับการพัฒนา l สื่อเรียนรู้ เรื่องราวจากรากหญ้า l บทความ l เวทีคิด-ทำ  ใน บล๊อกโอเคเนชั่น  http://www.oknation.net/blog/moy
[๓] อ่านและชมการเล่าด้วยภาพเขียนชุดวิถีสังคมชาวนาบัว ในหยาดเหงื่อ แรงงาน และผู้คน มีความรักและความงาม : ใน บล๊อกโอเคเนชั่น  http://www.oknation.net/blog/silpa/2009/02/27/entry-3
[๔] การทำงานศิลปะอีกแนวหนึ่งที่มีเนื้อหาการเขียนภาพ รวมทั้งขนบการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ มักสร้างขึ้นจากวิถีชีวิตของชุมชน คล้ายกับงานของจิตรกรแม่บ้านเช่นกัน แต่เป็นการทำงานของกลุ่มจิตรกรและช่างหัตถกรรมในวิถีชนบท ซึ่งในรายละเอียดแล้วจะมีความแตกต่างกันมากพอสมควร จึงเป็นงานแนว จิตรกรรมและศิลปะพื้นบ้าน หรือ โฟล์คอาร์ต : Folk Art เช่น การทำร่มบ่อสร้าง ช่างแต้มของวัฒนธรรมล้านนาและอีสาน หรือในงานสมัยใหม่เช่น งานของแม่ชุมสาย มีสมสืบ แม่ของศักดิ์สิริ มีสมสืบ ส่วนงานที่เขียนเกี่ยวกับสิ่งของและเรื่องราวในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป รวมทั้งมุ่งใช้ภาษาศิลปะที่อยู่ในกระแสนิยมของคนทั่วไปในวิถีสังคมเมือง ก็จะเรียกป๊อปอาร์ต Pop-Art ซึ่งเป็นแนวใกล้ชิดกับคนทั่วไปเหมือนกัน แต่เรื่องราวจะเป็นกิจกรรมชีวิตของคนเมือง ต่างจากศิลปะพื้นบ้านอย่างชุมชนในชนบท

หมายเลขบันทึก: 435387เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2011 20:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

พี่ให้ทุกเล่มที่พี่เขาเขียนด้วยเอ็นดูน้องสาวคนคอนถมด้วยกัน...รู้จักพี่ตุ๊กตาในโอเคเนชั่นด้วยการวาดดอกกุหลาบที่นุ่มสดสวย ละเอียดละออ แตกต่างจากการวาดดอกกุหลาบที่เป็นสีน้ำที่เด็กศิลปะโดยทั่วๆเขียนหุ่นนิ่งกัน..ชอบมากตามพี่เขาไปดูในบล็อกพี่เขา..และได้ทำกิจกรรมรวมกันใน ที่ซานคามินโล บางนา ค่ะ...

 

ขอบคุณดอกไม้จากหนูอ้อยเล็กกับคุณเอกจตุพรนะครับ
สวัสดีปีใหม่ ขอให้มีความสุข ได้ความร่มรื่นและเย็นใจ
ดังหยาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์ครับ

เมื่อสองสามวันก่อนได้เข้าไปดูเว็บไซต์สอนศิลปะแก่ผู้สนใจทั่วไปของหนูคุณครูอ้อยเล็ก

น่าสนใจมากเลยนะครับ ขยัน ริเริ่ม และมีพลังในการทำสิ่งต่างๆได้มากมายดีจริงๆ

สวัสดีค่ะ แวะมาอ่านอย่างตั้งใจ

จบบรรณารักษศาสตร์มาแต่สอบติดรร.ประถมไม่รู้จะสอนอะไรดีเลยต้องสอนศิลปะ

  • แล้วมันยังไงเล่าครับคุณเตี้ยอึด เป็นประโยคบอกเล่าหรือบทรำพึงหน้าเสาธงขณะรอตรวจแถวเด็กนักเรียนล่ะครับเนี่ย
  • ผมเคยไปทำเวิร์คช็อปครูศิลปะของโรงเรียนประถมและมัธยมในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ก็พบว่ามีอยู่เป็นจำนวนมากครับที่ต้องเป็นครูสอนศิลปะโดยไม่ได้จบมาทางศิลปะ
  • หลายแห่งตามภูมิภาคต่างๆของประเทศก็เป็นอย่างนี้เหมือนกันครับ ในต่างประเทศก็เป็น มีลูกศิษย์ผมคนหนึ่งจากประเทศศรีลังกากำลังทำวิจัยวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ในประเทศของเขา แต่ทำในหลายสาขา ไม่ใช่เฉพาะครูทางศิลปะอย่างเดียว ก็เจอสภาพคล้ายกันจนต้องนำมาพิจารณาเพื่อหาวิธีแก้ไขไปตามสภาพความเป็นจริง
  • แต่ครูสอนศิลปะที่ไม่ได้จบมาทางศิลปะเป็นจำนวนมากก็สอนเด็กๆได้ดีมากนะครับ
  • อย่างคุณครูเตี้ยอึด ที่กำลังศึกษาค้นคว้าด้วยความสนใจของตนเองไปด้วยอย่างนี้ ก็เชื่อว่าจะทำไดเป็นอย่างดีในอีกไม่นานนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะที่นำหนังสือเล่มนี้มาถอดบทเรียน เมื่ออ่านประกอบกับวิธีการการถอดบทเรียนที่อาจารย์เคยบันทึกไว้ทำให้เข้าใจ "การถอดบทเรียน" มากขึ้น

ก่อนหน้าที่จะศึกษาพุทธศาสนาอย่างปัจจุบัน ดิฉันทำงาน Decorative Art หรือที่คุ้นเคยในนาม Folk Art มาก่อนค่ะ งานในช่วงแรกๆจึงเป็นการเพ้นท์ตกแต่งวัสดุของใช้ เครื่องแต่งกาย ให้ดูสวยงาม ต่อมาเมื่อได้ทดลองวาดภาพด้วยสีน้ำ และได้ศึกษาศาสนาพุทธมากขึ้น จึงยุติการทำงานแนวตกแต่งไป หันมาทำงานที่มองลึกลงไปในตัวธรรมชาติ หรือก็คือควมจริงตรงหน้า จึงกลายมาเป็นการวาดภาพดอกไม้อย่างในปัจจุบัน

อันที่จริง การวาดภาพสีน้ำนั้น วัตถุประสงค์หลักคือการใช้เป็นภาพประกอบในบล็อค ศิลป์ - ธรรม ค่ะ และเห็นว่าไหนๆก็วาดเป็นภาพสำเร็จแล้ว เพียงเขียนเพิ่มเติมอีกหน่อย ก็ได้เนื้อหาของการเผยแพร่วิธีการทำงานซึ่งช่วยกระตุ้นความรักที่มีต่อธรรมชาติได้ด้วย จึงมีบันทึกวิธีการทำงานตามมา ส่วนที่กลายเป็นหนังสือ ก็เริ่มจากที่ อ. อนันต์ ประภาโส ถามไปว่า ภาพที่นำมาโพสต์นั้น มาจากไหน พอตอบท่านว่าทำขึ้นเอง ท่านจึงบอกว่าลองรวบรวมเสนอไปเป็นเล่ม จึงกลายเป็นหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์กับสิปประภา

ไม่เคยพิจารณางานตัวเองลงไปลึกๆอย่างที่อาจารย์กรุณาพิจารณาให้เลยค่ะ จึงถือเป็นความรู้ใหม่สำหรับตัวเอง ซึ่งได้ควบคุ่ไปกับความรู้ในการถอดบทเรียนค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้งนะคะ

มีภาพ หวายตะมอย มาฝากค่ะ ต้นนี้ได้มานานแล้ว ไม่ทราบใครให้แม่มาค่ะ แต่แม่ไม่ค่อยมีเวลาดูแล สามีเลยขอจากแม่มาเลี้ยงต่อ เพิ่งออกดอกเมื่อปีที่แล้วนี้เองค่ะ ดอกเดียวที่ปลายก้านชู บานอยู่สัก 2 - 3 วัน ก็โรย (ที่ทราบชื่อเพราะนำภาพดอกไปโพสต์ถามในเวบของสวนพฤกษศาสตร์ควีนสิริกิติ์ค่ะ)

มาอีกครั้งค่ะ

เพิ่งนึกได้ค่ะว่า "แต่แม่ไม่ค่อยมีเวลาดูแล" อาจจะกลายเป็นทำให้กลายเป็นว่าท่านปล่อยปละละเลย

ที่จริงเป็นเพราะหลังจากพ่อประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนจนทำให้กลายเป็นคนที่นอนอยู่แต่บนเตียง แม่จึงต้องดูแลพ่อ งานต่างๆที่เคยทำเป็นปกติ ก็กลายเป็นงานที่ต้องเจียดเวลาไปทำ สามีจึงขอกล้วยไม้ไปเพื่อจะได้ลดงานท่านไปหนึ่งอย่างค่ะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ

อย่างที่คุณณัฐดาได้ให้ข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม รวมทั้งกล่าวถึงการได้แง่มุมที่เป็นความรู้ใหม่ๆเหล่านี้ จะเป็นข้อดีและจุดแข็งของการถอดบทเรียนและการสะท้อนการเรียนรู้ให้กันครับ หากเป็นการถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของบุคคล ก็จะทำให้ประสบการณ์ชีวิตมีความหมายต่อการเรียนรู้ขึ้นมา....

  • คนทั่วไปสามารถอ่านและศึกษาประสบการณ์ของคนคนหนึ่ง โดยหลุดออกไปจากความเป็นตัวคนได้
  • เจ้าของบทเรียนและผู้ที่ร่วมประสบการณ์ สามารถตรวจสอบและเพิ่มพูนรายละเอียด ทำให้ได้ร่วมสร้างความรู้ที่ดีช่วยกันมากยิ่งๆขึ้น
  • ส่วนไหนที่เจ้าของบทเรียนมองได้ทั่ว มีประสบการณ์ และมีบทเรียนที่แจ่มขัดให้กับตนเอง เอาไว้พัฒนาชีวิตตนเองได้ดีอยู่แล้ว หากการถอดบทเรียนและสะท้อนการเรียนรู้ให้ มีความสอดคล้องกับประสบการณ์ชุดดังกล่าว ก็จะทำให้เกิดความหนักแน่น เชื่อมั่น และเห็นตำแหน่งแห่งหนของตนต่อเรื่องนั้นกับปทัสถานทางสังคม มีความเข้มแข็งในการนำชีวิตและการปฏิบัติของตนเองได้มากยิ่งๆขึ้น
  • หากส่วนไหนเชื่อมโยงบนฐานความเป็นจริงของตนเอง ทว่า แตกแขนงออกไปในแง่ที่ตนเองไม่คุ้นเคย หรือไม่รู้มาก่อน ก็จะทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ขยายความกว้างขวางของชีวิตขึ้นจากฐานประสบการณ์ตนเอง ทำให้เกิดความงอกงามเติบโตภายในไปกับการมีประสบการณ์ทางการปฏิบัติไปด้วยเรื่อยๆนะครับ

"โดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเคลื่อนไหวสังคมที่พึงประสงค์ด้วยตนเอง"

อาจารย์กล่าวได้ตรงใจมากค่ะ

เพราะอยากเห็นศาสนิก (โดยเฉพาะชาวพุทธ) ศึกษาธรรมของศาสดาเพื่อให้รู้ในสิ่งที่ตนยังไม่รู้ให้มากกว่านี้  ธรรม 84,000 พระธรรมขันธ์ เราใช้เวลาทั้งชีวิต อาจศึกษา และเข้าใจได้ไม่หมด ไม่ลึกซึ้งก็ได้ จึงไม่ต้องพูดถึงการที่ไม่ได้เริ่มเลยค่ะ (อ้าว ติดสำนวนในพระไตรปิฎกมาเสียแล้ว)

และอยากเห็นประชากรพืชที่เพิ่มขึ้น เพียงจำนวนประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นมากก็ส่งผลถึงภาวะโลกร้อนได้แล้ว การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสีเขียว แม้จะช่วยลดภาวะนี้ได้บ้าง ไม่มากนัก แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเสียเลย 

ทั้ง 2 อยากนี้จึงเป็นที่มาของการสร้างบล็อคทั้งหมดที่สร้างมาค่ะ

เป็นอย่างที่อาจารย์บอก การถอดบทเรียน เป็นกระจกสะท้อนที่ดีจริงๆค่ะ ไม่ว่าในด้านใด

ตรงนี้เป็นข้อเด่นอย่างมากในงานของคุณณัฐรดาเลยละครับ
รวมทั้งเป็นการทำไปตามกำลังของตนเอง พอดี พอดี

ขอบคุณค่ะสำหรับการถอดบทเรียนงานศิลป์ที่น่าชื่นชมของ คุณณัฐรดา รวมทั้งพุทธธรรมที่แทรกอยู่ในผลงานเหล่านี้ที่พี่ใหญ่สัมผัสได้ด้วยความประทับใจมากๆเช่นกันค่ะ...อีกทั้งยังได้รับแจกหนังสือและการ์ดรูปดอกกุหลาบสวยงามจากเธอด้วยค่ะ...เป็นแนวที่พี่ใหญ่สนใจมาก..

(ภาพขนาด 21 * 14 ซ.ม.ของคุณนงนาท สนธิสุวรรณ)

http://gotoknow.org/blog/nadrda8/417285

 

 

รูปในนี้สวย สีสดใสมากนะครับ
ในหนังสือสีซีดไปเยอะครับ แต่ก็ดีที่มีรูปให้ชมมากครับ

Ico48..ขอบคุณพี่อาจารย์ที่เข้าเยี่ยมชมเว็บไซด์นะคะ..ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อ้อยเล็กตั้งใจทำเพื่อคืนสู่สังคมการเรียนรู้...โดยมีงานของเรา+เด็กเป็นตัวตั้ง..ร่วมด้วยงานพี่ๆจากเพาะช่าง งานน้องจากเพาะช่าง หรือเครือข่ายอื่นๆที่เข้าร่วมเป็นมิตรกัน..นำมาแลกเปลี่ยนตามประสา..ตามความคิด ตามความสามารถ...ในเว็บมีอาสาสมัครร่วมด้วยช่วยดูแลหลายคนที่เป็นVIPและแอดมินเงาอีก 1 ท่าน ช่างภาพมือ 1เรามี 2 คนค่ะ..คือคุณบุลือ กำมณี ช่างอิเล็กทอรนิกส์ ม.เกษตรศาสตร์บางเขน คุณ สุพจน์ อาชีพอิสระ ครูต๋อม เอื้อเฟื้อภาษาไทย และอีกหลายๆท่านค่ะ...ด้วยน้ำใจของเพื่อนที่ไม่เคยพบเจอตัวจริงกันในชีวิตปัจจุบัน แต่รักในสิ่งที่ทำเหมือนกัน..เว็บwww.watchari.com จึงอยู่มาได้จนปัจจุบันค่ะ..ที่สำคัญอีกทางหนึ่งนั่นคือ คุณเล็ก แห่ง..http://www.ubmthai.com/leksoundsmf3/index.phpที่ให้เช่าพื้นที่น่ค่ะ..แบบเช่าบ้างแถมบ้าง..สนับสนุนให้เผยแพร่ความรู้ด้วยค่ะ...

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวเน๊าะพี่อาจารย์..ดังการทำเว็บไซด์จึงต้องอาศัยมิตรเป็นสำคัญด้วยค่ะ...

แล้วเว็บศิษย์เก่าเพาะช่างหายไปไหนแล้วเนี่ย
หยุดผ่อนลมหายใจกันสักพักหนึ่งใช่ไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท