แม่แพ ถึงแม่กลอง "ความทรงจำจากสายน้ำ"


ความทรงจำจากสายน้ำ

“เสียงโทรศัพท์ดังแต่เช้ามาถึงแล้วนาเกลือเมืองแม่กลอง” ระยะทางพันกว่ากิโลเมตรผ่านภูเขาสูงคดเคี้ยว จาก อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าสู่เมืองสามน้ำ สมุทรสงคราม

 ครูใจดี 7 คน มาพร้อมกับเด็กนักเรียนชาวดอย 2 คน ลัดดา(น้องมุก) ,นันทวัน(น้องไปซี)  จากโรงเรียนแม่แพ เดินทางมาเพื่อเปิดโลกกว้างในมุมมองใหม่ๆ ทั้งด้านวัฒนธรรม วิถีชุมชน และสภาพถิ่นอาศัย มีครูติ๊ก (ผอ.โรงเรียน) เป็นหัวเรือใหญ่ของการเดินทางในครั้งนี้ โดยจัดและเลือกการท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชน ที่จะบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ในชื่อตอนที่ว่า “จาก... แม่แพ ถึง แม่กลอง ความทรงจำแห่งเมืองสามน้ำ”

เช้านี้เริ่มต้นเดินทาง ด้วยการไปตลาดเช้าดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี  ตลาดที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่นิยมชมชอบของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและชาวไทย   เพื่อลงเรือพายเที่ยวชมตลาดที่มีภาพบรรยากาศการค้าขายของ พ่อค้า-แม่ค้าชาวบ้าน ความคึกคักของนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ จำนวนมากที่มานั่งเรือเที่ยวชมตลาดและเลือกซื้อสิ่งของนั้น ทำให้การจาราจรทางน้ำจากการพายเรือติดขัด และได้ความรู้สึกใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของชุมชนชาวตลาดดำเนินสะดวก

"มาถึงแล้วครับ" เสียงโทรศัพท์นัดรับคณะฯ บริเวณท่าเรือ คือจุดนัดพบของผมกับคณะฯในเช้านี้ เมื่อพบปะและทักทายด้วยความยินดีแล้ว จึงขับรถนำทางเพื่อกลับเข้า“ที่พักผ่อนของคนเดินทาง” แม่กลองแคมป์ 

หลังจากที่เดินทางมาไกลกว่า 15 ชม.  ช่วงบ่ายจะเดินทางท่องเที่ยวตามโปรแกรมได้เลือกเป็นพิเศษ เริ่มต้นด้วยการ พาไปกินอาหารที่วัดน้อยแสงจันทร์ เป็นร้านอาหารริมคลองแม่กลอง ท่ามกลางธรรมชาติ คลองสวยและฝูงปลาประจำถิ่นที่แหวกว่ายไปมา เช่น ปลากด ปลาเสือพ่นน้ำ  ที่นี่มีอาหารขึ้นชื่อหลากหลายเมนูครับ เช่น  ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดง ผัดหมี่ ข้าวแกงรสเด็ด และเมนูแนะนำ ที่พลาดไม่ได้ คือ ลวกจิ๋มเครื่องในหมู ขอบอกว่าเด็ดมากจริงๆ  หลังจากอิ่มหน่ำสำราญกับเมนูพื้นบ้านรสเด็ดแล้ว

บ่ายสองโมง รถตู้คันใหญ่ก็เดินทางไปถึงดอนหอยหลอด บริเวณศาลกรมหลวงชุมพรที่นี่มีผู้คนมากมาย มาเที่ยวและเลือกซื้อของโดยเฉพาะอาหารแปรรูปจากสัตว์ในทะเล “ของดี ราคาถูก” มีที่นี่ เช่น ปลาเค็ม กุ้งแห้ง  กะปิ น้ำปลา เมื่อมาถึงแล้วคณะฯ จึงเตรียมตัวลงเรือบริเวณท่าเรือดอนหอยหลอดอย่างรวดเร็วด้วยความตื่นเต้น เสียงประกาศเรียกคนขับเรือที่นัดไว้ดังขึ้น น้าสมศักดิ์หนุ่มใหญ่ เจ้าของเรือนำเรือจอดเข้าท่า คณะฯใช้โอกาสก่อนเดินทางด้วยการเก็บภาพวิว ทะเลดอนหอยหลอด ซึ่งเป็น“สันดอนแห่งอาหาร”ของเมืองแม่กลอง เสียงเครื่องดัง เรือล่องจากทะเล เขตดอนหอยหลอด ผ่านหมู่บ้านชาวประมง ระหว่างทางพบวิถีการทำมาหากิน ผ่านเข้าคลองบางจะเกร็ง ลัดเลาะเข้ากลางหมู่บ้านท่ามกลางวิถีชุมชน และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางธรรมชาติ ปลาตีน ปูแสม ตัวเงินตัวทอง และนกนานาชนิดประจำถิ่นมาอวดโฉมให้เห็นตลอดการเดินทาง

ผ่านเข้าสู่แม่น้ำแม่กลอง สายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนจากต้นน้ำเมืองตาก ถึงปลายทางเมืองแม่กลอง พบการเลี้ยงปลาในกระชัง  และสถานที่ที่สำคัญๆหลายแห่ง เช่น วัดเพชรสมุทรวรมหาวิหาร (หลวงพ่อบ้านแหลม) สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสมุทรสงคราม  เข้าคลองผีหลอกตำนานที่บอกเล่าถึง “ความเงียบสงัดและวังเวงในอดีต” เป็นที่มาของคำว่า “ผีหลอก” แต่ในปัจจุบัน มีบ้านเรือน สถานที่พักปลูกสร้างขึ้นใหม่ ตลอดสองข้างทางแล้ว  จนมาถึงวัดจุฬามณี (วัดเก่าสมัยต้นรัตนโกสินทร์) ชื่อเสียงวัดนี้โด่งดังมากมาจาก “หลวงปู่เนื่อง” อดีตเจ้าอาวาสเกจิอาจารย์แห่งลุ่มน้ำแม่กลอง หลังจากที่ท่านมรณะภาพแล้วศพของท่านไม่เน่าไม่เปื่อย จึงเป็นที่เคารพกราบไหว้และขอพรของชาวบ้าน ที่นี่มีโบสถ์ภาพเขียนสีลงลักปิดทอง สวยงามมากครับ เมื่อไหว้พระทำบุญเสร็จแล้ว ก็ลงเรือเดินทางเข้าสู่คลองอัมพวาเส้นทางสายวัฒนธรรมเป็นที่ตั้งของ “ตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา” สองฝั่งคลองเต็มไปด้วยเรือพายขายของ เรือนักท่องเที่ยว และร้านค้า แพงลอยริมคลอง จำนวนมาก ให้ผู้คนต่างถิ่นได้เดินเลือกซื้อของกิน ของใช้ ของฝาก ควบคู่กับการเรียนรู้วิถีชุมชนที่โครงการมูลนิธิชัยพัฒนา และเก็บถ่ายภาพความประทับใจไว้ตามสมัยนิยม เรือยนต์พาเราล่องตามคลองมาจอดลงบริเวณท่าเรือต้นคลองอัมพวา ให้เดินเที่ยวชมตามอัธยาศัยเพื่อเก็บความทรงจำ เสียงพูดคุยภาษาคำเมือง เปรียบเทียบถิ่นฐานบ้านเกิดและแหล่งที่อยู่อาศัยถึงความแตกต่างของชุมชนกับการจัดการของชาวบ้านถิ่นเดิม และคนต่างถิ่น หลังจากเลือกซื้อของกิน ของฝาก และนั่งชมวิวริมคลองอยู่พักใหญ่ก็ได้เวลาลงเรือเดินทางกลับ เวลาเย็นใกล้ค่ำแล้วเสียงเรือดังด้วยความเร็วอย่างสม่ำเสมอ ท่ามกลางวิวบ้านเก่า ธรรมชาติริมคลอง สายลมเย็นสบาย เสียงร้องเพลงและเสียงหัวเราะผ่อนคลายอารมณ์ ของพ่อพิมพ์-แม่พิมพ์ บนดอย ก็ดังขึ้นอย่างมีความสุข หลังจากที่ใช้เวลาทุ่มเทสั่งสอนเด็กบนดอยมานานแรมปี ช่วงปิดภาคเรียนนี้จึงเป็นโอกาสแห่งการเปิดรับอนูแห่งความสุขจากเมืองแห่งสายน้ำ ช่วงเวลาที่ต้องเก็บเกี่ยวโอกาสด้วยการพักผ่อนเป็นการเติมพลังให้เต็มอิ่มก่อนกลับไปทำหน้าที่ครูผู้ให้จากดอยสูง อีกครั้ง

เด็กๆ ตาตื่น ท่าทางตื่นเต้นตลอดเวลา หันซ้าย แลขวา พร้อมรับและเจอสิ่งแปลกใหม่ที่แตกต่างจากชุมชนบนดอยภูเขาสูง ประสบการณ์จากการเดินทางครั้งนี้คงเป็นความทรงจำจากเมืองสามน้ำ ด้วยการสัมผัสได้ด้วยการ “ชิมรสชาดความแตกต่างของสายน้ำ” ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ต้องนำกลับไปเล่าเรื่องราวสิ่งที่พบเห็นให้ผู้คนรอบข้างจากจินตนาการของเด็กๆ

ตะวันคล้อยต่ำใกล้รับขอบฟ้า ถึงปากอ่าว สันดอนน้ำบริเวณเขตป่าชายเลนดอนหอยหลอด ที่นี่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าของชาวบ้าน เป็นแนวกันชนเชื่อมต่อลมหายใจของคนในชุมชน เป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งกุ้งหอย ปู ปลา เป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมงท้องถิ่น ที่หาอยู่หากิน แบบพอเพียง ให้มีกินมีใช้แบบแบ่งปันในชุมชน เรือยนต์เร่งเครื่องแรงฝืนแรงน้ำ ใบผัดเรือปั่นสันดอนดินกระจุยกระจาย หนุ่มใหญ่ท้ายเรือ แสดงออกด้วยสีหน้าคิ้วขมวดขึ้นตามแรงเครื่องยนต์ ในที่สุดก็ผ่านด่านธรรมชาติมาถึงท่าเรือดอนหอยหลอด เพื่อขึ้นรถเดินทางกลับที่พักด้วยความสุขใจ

อาหารเย็นชุดใหญ่จัดเตรียมรองรับ ด้วยกุ้งแม่น้ำ ปลากระพง ธรรมชาติ น้ำพริกปลาทู (หน้างอคอหัก)ของดีแม่กลอง ผัดผักปลอดสาร ส้มโอพันธุ์ดั้งเดิมขาวใหญ่ ถูกจัดมารองรับผู้มาเยือนจากถิ่นดอยสูง จนอิ่มหน่ำสำราญ

"เสียงต๊อกๆ" ของเครื่องเรืออีปาบ พาหนะที่ใช้เดินทางในคลองแม่กลองดังมาแต่ไกล “เรือมาแล้วครับ” คืนนี้พี่แดงสาวใหญ่ฝีพาย และนักขับเรือยนต์ อดีตเคยใช้เรือลำเก่งบรรทุกมะพร้าว จากสวนผ่านคลองแม่กลอง เพื่อทำมาหากินในถิ่นเกิดมาหลายสิบปี  นำเรือมารอรับคณะฯแล้ว เพื่อนำไป “ห้องเรียนธรรมชาติศึกษาวิชาริมคลอง” โดยมีหิ่งห้อยกับต้นลำพู เป็นครูใหญ่ในคืนนี้ เต็มอิ่มกับการสัมผัสชีวิตที่มีแสงไฟในตัวแล้ว ได้เวลากลับเข้าท่าเรือแม่กลองแคมป์ เพื่อพักผ่อนในบ้านพักริมคลอง กลางป่าลำพู

แต่ครูหมุ่มบนดอยยังหลงบรรยากาศ และเพลิดเพลินกับกิจกรรมยามดึก เพื่อพิสูจน์ความเป็นนักสู่กับการตกปลาในคลอง เวลาเคลื่อนผ่านไปปลากด(ปลารับแขก) ถูกนำขึ้นจากคลองตัวแล้วตัวเล่า ด้วยเหยื่อกุ้งสดทำให้นักสู้จากลุ่มน้ำปิง “ยอมหลับนอนแต่โดยดีมิได้” จึงพากันนั่งจับกลุ่มคุยเรื่องต่างๆนานา จนเวลาผ่านมาถึงเกือบตีสาม คันเบ็ดเริ่มงอ กระดิก เป็นระยะ อีกครั้ง อ.บี (ปฐมพร) หมุ่มผู้มุ่งมั่นกับการล่าปลาแม่น้ำ จับคันเบ็ดตะหวัดขึ้น เสียงน้ำกระจาย เห็นตัวปลาลากสายเบ็ดวิ่งไป-มา นาทีระทึก “การต่อสู่ของปลากับคน” จึงเกิดขึ้น ผ่านมาเกือบ 20 นาทีแล้ว ด้วยความล้าของปลาและคน “ในที่สุดคนก็เป็นผู้ชนะ” นำเจ้าปลาดุกทะเลตัวโตเกือบ 2 กิโลกรัม ขึ้นมาโชโฉมได้สำเร็จ “นี่คงเป็นอาหารมื้อใหญ่เลี้ยงคนได้เป็นสิบ แน่ๆ” ทำให้ราตรีนี้เป็นราตรีที่ไม่หลับไหลของใครบางคน

เช้าวันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ หลังจากพูดคุย“เรื่องราวที่ผ่านมาในวันที่ผ่านไป” กินข้าวเช้าเสร็จ ถึงเวลาร่ำลา คณะครูและเด็กนักเรียนชาวดอย จึงเดินทางกลับด้วยมิตรภาพที่ดีงาม และ “คำสุดท้ายก่อนลาว่า คิดถึงกันบ้างนะ ”  มีเวลาจะไปเยี่ยมยามกันใหม่อีกครั้ง และนี่คือเรื่องราวของ  แม่กลองแคมป์ “ที่พักผ่อนของคนเดินทาง ในตอน “จาก... แม่แพ ถึง แม่กลอง ความทรงจำแห่งเมืองสามน้ำ”

หมายเลขบันทึก: 360816เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2010 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีครับ

แวะมาอ่านบันทึกครับ

น่าส่งข่าวให้ผู้เกี่ยวข้องในบันทึกได้อ่าน ซึมซับความงดงามด้วยนะครับ...

ขอบคุณครับพี่ หนานเกียรติ ไว้ผมส่งมาให้อ่านเล่นเรื่อยๆ นะครับ

สวัสดีค่ะ..

  • เรืออีปาบ..เรือมาต....
  • ได้ความรู้มากเลยค่ะ..คุณพ่อเฌวา(หนานเกียรติ)..กรุณาแนะนำค่ะ
  • เป็นกำลังใจให้กันนะคะ..ได้นำเข้าแพลนเน็ทไว้ค่ะ..เพื่อจะได้ติดตามอ่านบันทึกเรื่องต่อไป(ภาพทะเลตะวันออก)
  • รักษาสุขภาพนะคะ..

 

ขอบคุณครับ ภาพเหมือนตะวันรอนที่ดอนหอยหลอด เลยครับ

แวะมาอ่านบันทึกผ่านประสบการณ์ชีวิตของใครบางคนที่มีคุณค่าชีวิตคะ

เด็กดอย มาแม่กลอง

คงตื่นเต้นกันใหญ่

โชคดีที่มีผู้ใหญ่ใจดี..แนะนำนิ

สวัสดีค่ะ..

คุณปูเขียนบันทึกได้น่าอ่านมาก

เขียนอีกนะค่ะ

ขอบคุณ ครับผม

ผมอยากเก็บมุมมองหลายๆด้านในงานที่ทำครับ คิดว่าชอบ และสนุกกับการทำครับ

มีลีลาในการบันทึกที่ประทับใจคะ

ชอบอ่านคะ

ขอบคุณครับ ที่ชอบบันทึกที่เขียน

สวัสดีค่ะ

ชั่วโมงว่างค่ะ   จึงแวะมาติดตามอ่านและทักทายคนคุ้นเคย  ทำให้นึกย้อนไปเมื่อนานมาแล้วเคยไปดำเนิน  เห็นตัวเงินตัวทองวิ่งว่ายไปมา  มีบางคนไม่เคยเห็นบอกว่า "ลูกจรเข้" ฮา ๆ ๆ ๆ

ทำไมจึงเรียกปลากดว่า "ปลารับแขก" คะ

สวัสดีครับครูคิม

ผมก็นึกแล้วขำๆ อยู่เหมือนกันครับ แต่คิดแล้วก็มีความสุขดี

ที่เรียกว่าปลารับแขก ก็มาจากภาษานักตกปลา เข้าเรียกปลาประจำถิ่นที่มีอยู่มากในแม่น้ำ ลำคลอง ในแต่ละแห่งแล้วมักจะกินเบ็ด ครับ

ส่วนที่คลองแม่กลองหน้าบ้านผมนั้น มีปลากด เป็นปลาประจำถิ่นครับ ตกปลาทีไร ปลากดก็จะกินเบ็ด และได้มาเป็นอาหาร ให้แก่ผู้ที่มาเยือนทุกที " ก็เลยเรียกปลากด ว่า เป็นปลารับแขก หน้าบ้านผมครับ "

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท