เพลงพื้นบ้าน จากการปฏิบัติจริง 6 (เพลงพวงมาลัย)


เป็นเพลงช้า ฝึกหัดร้องได้ไม่ยาก

 
เพลงพื้นบ้าน
 
จากการปฏิบัติจริง 
 
(ตอนที่ 6) เพลงพวงมาลัย
                             

              เพลงพวงมาลัย เป็นเพลงพื้นบ้านแถบภาคกลางมีเล่นกันในฤดูน้ำหลาก หรือในเทศกาลต่าง ๆ ได้แก่ สงกรานต์ ทอดกฐิน ผ้าป่า บวชนาค ตลอดจนงานสำคัญในชุมชน (สมัยก่อน)  ที่เด่นชัดในยุคก่อนคือ  หนุ่มสาวจะล่องเรือ และลอยเรือร้องเพลงเกี้ยวพาราสีกัน   ในเทศกาลลอยกระทง   วันเพ็ญ เดือน 12 หรือบางทีก็ขึ้นจากเรือมาเล่นเพลงพวงมาลัยกันบนบกบ้างก็มี  เพลงพวงมาลัยนิยมเล่นกันแถบจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี  สุพรรณบุรี พิษณุโลก นครปฐม และอีกหลายจังหวัดในภาคกลาง  สถานที่แสดง เพลงพื้นบ้านในยุคก่อน ๆ ไม่พิถีพิถันในเรื่องของการแต่งตัวและสถานที่แสดง จะเล่นเพลงพวงมาลัยกันตามลานกว้าง ๆ เช่น ลานวัด ลานบ้าน ส่วนในปัจจุบันอาจมีการปลูกสร้างเวทีแสดงเพื่อให้น่าดูน่าชมมากยิ่งขึ้น

               ลักษณะของการร้องเพลงพวงมาลัย  ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยได้สนใจผังของคำกลอนมากนัก  แต่ก็พิจารณาบ้าง แต่ครูเพลงของผมคนเก่า ๆ ท่านสั่งสมความรู้มาให้บอกว่า  ร้องตามเพลงที่ชอบไปนาน ๆ คำร้องและสัมผัสมันก็จะฝังอยู่ในความทรงจำ ร้องรำทำได้อย่างอัตโนมัติ ส่วนท่านที่จะฝึกหัดร้องเพลงพวงมาลัย ในฐานะผู้เริ่มต้นก็ลองสืบค้นหาผังคำกลอนที่มีท่านผู้เชี่ยวชาญเขียนเอาไว้มากมาย (บางท่านถึงกับกำหนดคำสัมผัสให้กับกลอนเดิมเสียเองก็ยังมี) ในส่วนตัวผม ผมฝึกเพลงพวงมาลัยมาจากครูเพลงรุ่นเก่า ที่มีอายุปัจจุบันเกือบ 90 ปีแล้ว เป็นต้นฉบับของเพลงพวงมาลัยดั้งเดิมเลย

                           

               ป้าอ้น  จันทร์สว่าง นักเพลงพื้นบ้านแห่งอำเภอดอนเจดีย์ เล่าให้ผมฟังว่า เพลงพวงมาลัยมีร้องกันหลายแบบ เป็นไปตามท้องถิ่น มีเพลงเหนือ เพลงใต้ โดยมากมักจะขึ้นต้นและลงท้ายไม่เหมือนฟัน  แต่จัดอยู่ในรูปแบบของเพลงที่ฟังแล้วจัดอยู่ในประเภทเดียวกันได้ ป้าบอกว่า บางคนเขาก็ขึ้นต้นเพลงพวงมาลัยว่า

              (คำเกริ่นขึ้นต้นเพลงพวงมาลัย)

              - เอ้อละเหย  ลอยมา             ลอยมา  กับพวงมาลัย (ซ้ำ)

              - เออระเหย  ลอยมา              ลอยมา  อย่าลอยไป  (ซ้ำ)

              - โอละหนอ  ลอยมา             ลอยมา  แต่ไกล ๆ  (ซ้ำ)

        ในส่วนของเนื้อร้อง โดยมากจะเป็นเพลงโต้ตอบที่ฟังดูอ่อนหวานนุ่มนวล มิใช่เพลงด่า หรือต่อว่ากัน จะเป็นเพลงปลอบ และบอกเรื่องราวเสียมากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะเพลงพวงมาลัยร้องช้า ไม่มีการให้จังหวะ ใช้เพียงปรบมือเอาก็พอ (ปัจจุบันมีการใช้จังหวะกลอง ฉิ่ง กรับ ฯลฯ ร่วมด้วย) ถ้าเป็นเพลงโต้ตอบ มักจะใช้บทร้องสั้น ๆ ส่วนเพลงเดินเรื่องจะใช้เนื้อหายาว ๆ

                                       

                 พวงมาลัย  ดอกไม้แห้ง                       จะทำแกว่ง  ชายไกว

                 ลอยมาใกล้  ตัวเขา                               แล้วจะลอยไปเข้า  คอใคร

                 หอมมะลิ  ดอกรัก                                ของคนยาก  คนไร้

                 หอมกลิ่น  กรุ่น ๆ                                 มันช่างละมุน  ละไม

                 ขอเป็นเจ้าของ น้องแดง                     ถึงจะเหี่ยวแห้ง  ไม่เป็นไร

                 จะขอเก็บไว้  เป็นตัวแทน                   ถึงจากแดน  ไปไกล

                 พวงเอ๊ย  มาลัย                                     อย่าลอยไปไหน  เจ้าเอย.. (ซ้ำ)  

                          

                  ส่วนคำลงท้ายที่ป้าเล่าให้ฟัง ท่านบอกว่าก็มีหลายแบบสุดแล้วแต่ว่าเป็นเพลงท้องถิ่นไหน เช่น

                   

                  ฝึกหัดมาจากใคร ตอนลงก็ร้องลงตามแบบนั้นถือว่าถูกต้อง เพลงใครเพลงมัน ท้องถิ่นใครก็อย่างนั้น โดยทั่วไปที่พบเห็นกันมาก คือการลงเพลงพวงมาลัย 2 แบบ ได้แก่         

                                                                          

                ร้องลงแบบที่ 1 แบบลงซ้ำ 2 เที่ยว

                                                      

(คำร้องลง)       พวงเอ๊ย  มาลัย                          อย่าลอยไปไหน  เจ้าเอย.. 

(ลูกคู่ร้องรับซ้ำ) พวงเอ๊ย  มาลัย                      อย่าลอยไปไหน  เจ้าเอย.. 

(ร้องซ้ำอีกเที่ยว) พวงเอ๊ย  พวงเอยมาลัย       อย่าลอยไปไหน  เจ้าเอย.. 

ร้องลงแบบที่ 2 แบบร้องลงโดยไม่มีร้องซ้ำหรือซ้ำเที่ยวเดียว ๆ ได้แก่ ร้องลงว่า

พวงเจ้าเอ๊ย  มาลัย                                อย่าลอยไปไหน  เจ้าเอย.. 

พวงเจ้าเอ๊ย  มาลัย                                อย่าลอยไปไหน  เจ้าเอย.. 

                   

               ผมได้ไปหัดเพลงพวงมาลัยกับ ป้าอ้น จันทร์สว่างและลุงหนุน  กรุชวงษ์ ครูเพลงรุ่นเดียวกันกับแม่บัวผัน  จันทร์ศรี  ส่วนใหญ่ผมไปฝึกที่บ้าอ้น และก็มีบางวันไปฝึกที่บ้านลุงหนุน ลุงแกไม่ค่อยมีเวลา (ต้องดูแลโต๊ะสนุ๊กเกอร์ด้วย) ผมยังจำเพลงพวงมาลัยที่ป้าอ้นสอนให้ผมเมื่อ 20 กว่าปีได้เป็นบางกลอน เช่น

                                       

               บทเพลงพวงมาลัย

                            เออระเหย  ลอยมา                      ลอยมา  จากพนมทวน

(ลูกคู่ร้องซ้ำ)   เออระเหย  ลอยมา                      ลอยมา  จากพนมทวน

                มามะ  แม่จะหาเมียให้                  เอาที่นมใหญ่ ๆ  อ้วน ๆ

                           อกราง  หางด้วน                           ลูกตามเป็นพรวน นะหมาเอย

(ลูกคู่ร้องซ้ำ)   ลูกตาม  เป็นพรวน                     นะหมา  เอย...

                                                                                                                                                                                       

 

  

         ผมมีโอกาสได้ร้องเพลงพวงมาลัยหลายครั้ง นับตั้งแต่มีชื่อเสียงจาการชนะเลิศประกวดเพลงพื้นบ้านของจังหวัดสุพรรณ เมื่อ ปี พ.ศ. 2525 ระยะเริ่มต้นเวลาไปแสดงเพลงอีแซว ก็จะนำเสนอเพลงพวงมาลัยด้วย ในส่วนของห้องบรรยายเมื่อไปเป็นวิทยากร หรือบางทีเข้าไปรับการอบรม มีสมาชิกขอให้ร้องเพลงพื้นบ้าน ผมก็นำเอาเพลงพวงมาลัยมาร้อง และล่าสุดผมร้องเพลงพวงมาลัย ในรายการถนนคนเดิน ช่อง 5 บันทึกเทปโทรทัศน์ที่ตลบาดเก่า 100 ปี สามชุก โดยมีคุณ จ๊อป-นิธิ สมุทรโคจร เป็นพิธีกร เมื่อ 25 เมษายน 2550 เพลงพวงมาลัยร้องใช้จังหวะช้า ๆ ง่ายต่อการหาคำมาร้อง น่าที่จะฝึกหัดนักเรียนในโรงเรียนเอาไว้สืบสานศิลปะท้องถิ่นมากครับ

                                                     

                   ตัวอย่างบทเพลงพวงมาลัย ที่ผมร้องกับนักเรียนบนเวทีการแสดง

(ครู)           เออระเหย  ลอยมา                          ลอยมา  เสียดี ๆ (ซ้ำ)

(ครู)        ใครคนเก่ง  เดินนำหน้า                ใครคนกล้า  มาทางนี้

(นักเรียน)    ผมไม่เก่ง  ผมไม่กล้า               ผมไม่ต้องมา  ตามลูกศรชี้

(ครู)        ใครรูปสวย  ใครรูปหล่อ               ให้ลงไปรอ  ตีนหลังเวที

(นักเรียน)    ใครคนแก่  ใครคนเฒ่า             ให้ไปรอหน้าเตา  เย็นนี้

(ครู)        ใครเป็นเด็กฮาร์ด  ยกมือไว้           ประเดี๋ยวจะได้  กินของฟรี

(นักเรียน)    กินอะไร กินอะไร                    ช่วยบอกไว ๆ  เข้าซี

(ครู)        อ๋อ กินข้าวผัด กินโอวันตีน           ตามด้วยอุ้ง  ตีนของหมี

(นักเรียน)    อาจารย์ครับ  คุณครูขา             สาว ๆ มา  หลังเวที

(ครู)        ปล่อยไว้ก่อน  สักครึ่งวัน              คงมาหางาน  เล่นฟรี

(นักเรียน)    อาจารย์ก็น่า  จะมีน้ำใจ           ขนาดเขามาให้  เล่นฟรี ๆ

(ครู)        นี่พวกเอ็ง คิดกับครูยังไง               ระวังตัวไว้  ให้ดี

(นักเรียน)    พวกหนูก็คิด  กันเพียงว่า         คุณครูคงไม่หา  ของฟรี

(ครู)        เรื่องของฟรี  น่ะไม่มีทาง              ถ้าไม่ต้องเสียสตังค์  จะลองดูที

              พวงเอ๋ย  จำปี                                เป็นวาที  วรรณกรรม

              พวงเออเอ๋ย  จำปี                           เป็นวาที  วรรณกรรม  (ซ้ำ)

                                                                        

(ชำเลือง  มณีวงษ์.  เพลงพวงมาลัย.  2550)

                                                                   

หมายเลขบันทึก: 97816เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท