สาเหตุที่ศาสนามามีบทบาทในการต่อสู้ทางการเมือง


 

ห่างหายจากโกทูโนไปเสียนาน  เพราะมีหน้าที่ต้องทำและต้องดำเนินไปเรื่อย ๆ  จนกว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวละครตัวนี้  มีโอกาสได้อ่านบทความของท่านพระอาจารย์ไพศาล  เห็นว่าน่าสนใจเลยอยากให้เพื่อนๆร่วมบล็อกได้อ่านเพื่อความรู้ความเข้าใจลองศึกษากันดูนะครับ

การที่ศาสนาเข้ามามีบทบาทในการแบ่งฝักฝ่ายและต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ มีสาเหตุหลายประการ อาทิเช่น
๑) ความล้มเหลวของรัฐ การพัฒนา สถาบันและอุดมการณ์ทางการเมืองสมัยใหม่ ในการสร้างความผาสุกแก่ประชาชนโดยเฉพาะระดับล่าง. ในอดีตประชาชนเคยฝากความหวังไว้กับรัฐว่าจะนำการพัฒนามาสู่ประชาชน แต่ปรากฏว่าความยากจนกลับแพร่ระบาด ประชาชนพลัดที่นา คาที่อยู่ มาแออัดในเมืองโดยไร้อนาคต และหางานทำแทบไม่ได้ ผู้คนเห็นชัดว่าสถาบัน(และอุดมการณ์)ประชาธิปไตย เช่น รัฐสภาเป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะถูกควบคุมโดยคนส่วนน้อยที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ส่วนสังคมนิยมก็มิใช่คำตอบอีกต่อไป แม้แต่ลัทธิชาตินิยม ในหลายประเทศเช่นในตะวันออกกลาง ประชาชนรู้สึกว่าลัทธิอุดมการณ์นี้ไม่ได้เป็นทางออกของเขาอีกต่อไป

๒) สิ่งเดียวที่ประชาชนระดับล่างจะไขว่คว้าหาที่พึ่งได้ในยามนี้ ก็คือทุนดั้งเดิม ได้แก่ศาสนา และชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ผูกติดมาแต่ดั้งเดิม. ศาสนาได้กลายเป็นเครื่องมือของประชาชน ในการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด และต่อต้านการเอาเปรียบทั้งจากชนชั้นนำและจากต่างประเทศ เมื่อศตวรรษที่แล้ว ลัทธิชาตินิยมก็เคยเป็นเครื่องมือที่ผู้คนในอาณานิคมต่าง ๆ นำมาใช้ในการต่อสู้กับจักรวรรดินิยม แต่มาถึงศตวรรษนี้ชาตินิยมเริ่มแผ่วเบาลง และมักถูกผูกขาดโดยรัฐหรือผู้ปกครอง ประชาชนระดับล่างหรือคนชายขอบจึงหันไปพึ่งศาสนา ในตะวันออกกลาง สุเหร่าเป็นที่เดียวที่จะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเมืองได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำรวจจับ

๓) ประชาชนไม่ได้เข้าหาศาสนาฝ่ายเดียว ศาสนาก็เข้าหาประชาชนด้วย เพราะต้องการประชาชนเป็นกำลังให้แก่ศาสนาในการต่อสู้กับการรุกรานของความคิดแบบโลกย์ (secularism) กับความคิดแบบเสรีนิยม ซึ่งขัดแย้งกับศาสนาในหลายเรื่อง เช่น การเปิดเสรีทางเพศ หรือแม้แต่เสรีในการทำแท้ง ยิ่งกว่านั้นศาสนาในหลายประเทศยังถูกลิดรอนโดยรัฐ และถูกผลักดันให้อยู่ชายขอบ หมดอิทธิพลในสถาบันต่าง ๆ ของสังคม เช่นระบบการศึกษา ทำให้ศาสนารู้สึกว่ากำลังถูกบ่อนทำลาย นับวันจะไม่มีที่ยืนในสังคม จึงจำเป็นต้องลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องตนเอง จึงเกิดลัทธิเคร่งคัมภีร์ หรือ fundamentalism ขึ้นในตะวันออกกลาง อินเดีย ปากีสถาน แม้แต่สหรัฐก็ไม่เว้น ศาสนิกชนที่เคร่งศาสนารวมตัวกันได้มากขึ้นด้วยความรู้สึกดังกล่าว เมื่อผสมกับคนชายขอบที่หันไปหาศาสนาเป็นที่พึ่ง ดังที่กล่าวในข้อ ๒ ได้ทำให้กลุ่มศาสนามีพลังมากขึ้นจนกลายเป็นกลุ่มสำคัญในสังคม

                                  (พระไพศาล   วิสาโล)

หมายเลขบันทึก: 171738เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2008 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

หายไปนานจริงๆ แต่ห่างไปก็มีของดีมาฝาก

สวัสดีครับลุงเอก

สบายดีนะ  ขอบคุณที่แวะเข้ามาทักทายเสมอนะครับผม

ขออนุญาตนำบทความไปรวมใน  รวมตะกอน  ขอบคุณมากครับ

มาเยี่ยม

ชอบใจคำกล่าวนี้ครับผม...

สิ่งเดียวที่ประชาชนระดับล่างจะไขว่คว้าหาที่พึ่งได้ในยามนี้ ก็คือทุนดั้งเดิม ได้แก่ศาสนา และชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ผูกติดมาแต่ดั้งเดิม.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท