ว่าวไทย


ประวัติความเป็นมา

คำว่า”ว่าว”เป็นคำที่คนไทยทุกชนชั้นทุกสมัยคุ้นเคยและสัมผัสมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ข้าราชบริพารและพระมหากษัตริย์ แต่ในที่นี้ จะกล่าวถึงว่าวจุฬา-ปักเป้า ซึ่งเป็นว่าวเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งแสดงถึงศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทย ทั้งยังเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง ในสมัยโบราณที่พระมหากษัตริย์ของไทยในอดีต ทรงโปรดปรานและจัดให้มีการแข่งขันหน้าพระที่นั่งอีกด้วย

    การเล่นว่าวในประเทศไทย มีมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย(พ.ศ.๑๗๘๑-๑๙๘๑) คือสมัยของพ่อกรุงศรีอินทราทิตย์ (หรือพระร่วง) ว่าวที่รู้จักกันมาก ได้แก่ "ว่าวหง่าว" หรือ”ว่าวดุ๋ยดุ่ย” ซึ่งจะใช้ชักขึ้นในพิธี "แคลง" ทุกหนทุกแห่ง เป็นความเชื่อของประชาชนในสมัยนั้นว่าเพื่อเป็นการเรียกลมหรือความโชคดีให้เกิดขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า "ว่าวหง่าว" เป็นว่าวที่เก่าแก่ที่สุดของไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๓๑๐) คำว่า “ว่าวจุฬา" ปรากฏชื่อขึ้นในสมัยนี้ และยังสามารถช่วยในการรบได้ชนะ กล่าวคือ ได้นำว่าวจุฬาขึ้นและผูกหม้อกระสุนดินดำโดยใช้ชนวนถ่วงเวลาและชักให้ข้ามไปในแดนของฝ่ายตรงข้าม ทำให้เกิดระเบิดไฟไหม้ขึ้น ทหารฝ่ายอยุธยาก็เข้าเมืองได้

    สมัยแผ่นดินของพระพุทธเจ้าเสือซึ่งโปรดการชกมวยแล้วยังโปรดการเล่นว่าวและคว้าจุฬาปักเป้ากับ ข้าราชบริพารเสมอๆ คำว่า "ว่าวปักเป้า" จึงเป็นว่าวอีกชนิดหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในสมัยนี้และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายตั้งแต่นั้นมา

    สมัยรัตนโกสินทร์ ในราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดการแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้ามาก จัดการแข่งขันกลางแจ้ง (ท้องสนามหลวงในปัจจุบัน) เป็นที่สนุกสนานเมื่อเวลาที่ว่าวสายใดชนะพระองค์ ก็ทรงโปรดพระราชทานถ้วยรางวัลให้การแข่งขันเริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นต้นมา โดยพระองค์เสด็จเป็นองค์ประธานในการแข่งขันเป็นประจำทุกปี จนสิ้นรัชสมัยของพระองค์ ฉะนั้นจึงจัดได้ว่าว่าวจุฬา-ปักเป้า เป็นว่าวเอกลักษณ์ของชาติไทยชาติเดียวเท่านั้นที่สามารถนำมาเล่นใช้ต่อสู้กันได้

ในปัจจุบันได้จัดการแข่งขันว่าว "จุฬา-ปักเป้า" ขึ้นเป็นประเพณีของกีฬาไทย โดยใช้ชื่อว่า "งานประเพณีกีฬาไทย" ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งจัดการแข่งขันกีฬาของไทย อาทิเช่น ตะกร้อ กระบี่กระบอง หมากรุก และที่สำคัญคือ การแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้า ซึ่งงานนี้จัดโดยสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และยังได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานของภาครัฐบาลและเอกชนอื่นๆ ร่วมกันอีกด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 288840เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2009 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่เคยรู้มาก่อนเรย...

พอได้อ่านแร้วก็มีความรู้เพิ่มขึ้น...

ขอบคุณนะคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท