67. โรงเรียนของหนูๆ : บ้านมอวาคี (ตอนสอง)


ต่อจากตอนแรก...

พาไปดูโรงเรียนของเด็กๆ บ้านมอวาคี ค่ะ

โรงเรียนเล็กๆ ของชุมชนปกากะญอ ที่บ้านมอวาคี

จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2535 แต่จนถึงปัจจุบันโรงเรียนก็ยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐ

เนื่องจากเป็นการจัดตั้งและร่วมมือกันของชาวบ้านกับองค์กรชุมชน

(แต่ยังไม่มีการออกกฎหมายรับรองการจัดตั้งและจัดการโรงเรียนลักษณะนี้)

และกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนตามความต้องการจำเป็นของชุมชน

ผสมผสานไปกับความรู้ตามหลักสูตรแกนกลางของรัฐ

โรงเรียนแห่งนี้แม้จะไม่ได้รับการรับรอง แต่ก็มีนักเรียนจบไปแล้วถึง 10 รุ่น

 

โรงเรียนบ้านมอวาคี เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว แบ่งเป็นห้องๆ ราว 3 ห้อง

ห้องแรก เป็นห้องเรียนของ ป.1 กับ ป.2

ห้องที่สอง เป็นห้องเรียนของ ป.3 กับ ป.4

และแน่นอน ห้องเรียนที่สาม เป็นห้องเรียนของ ป.5 กับ ป.6

ใช่แล้ว...ครูหนึ่งคนจะต้องสอนพร้อมๆ กันสองชั้นเรียนค่ะ (เก่งจริงๆ)

มีเด็กนักเรียนรวมกันๆ ราว 64 คน ต่อครู 4 คน

(มีศูนย์เด็กเล็ก ที่ดูแลเด็กอนุบาล แยกไปอยู่อีกหนึ่งหลังเล็กๆ)

 

ห้องนี้เป็น ป.5 ค่ะ อยู่ฟากหนึ่งของห้อง ครูกำลังสอนอยู่

 

ส่วนฟากนี้ในห้องเดียวกันเป็น ป.6... กำลังนั่งรอครูที่สอนน้องป.5 อยู่

เลยยิ้มหวานให้กล้องไปพลางๆ ก่อน

 

ครูนารีรัตน์ เป็นครูใหญ่ และสอน ป.5+ป.6

...........

ในเมื่อโรงเรียนยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐ

ดังนั้นเมื่อเด็กๆ เรียนแล้ว ก็ต้องสอบตามระบบของ กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน)

เพื่อเทียบเอาวุฒิของกระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับคุณครูที่มีอยู่ 4 คน ก็ยังได้เงินเดือนบ้าง ไม่ได้บ้าง

เพราะอาศัยเงินจากองค์กรอิสระที่ให้การสนับสนุนการศึกษาของชาวไทยภูเขา

และเงินสนับสนุนจากกองทุนต่างๆ ....อยู่กันได้ด้วยใจจริงๆ เลยค่ะ

 

ครูกำลังสอนเด็กๆ เรียน ภาษาปกากะญอ  ทั้งภาษาเขียนและภาษาพูด

ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ภาษาถิ่นของตนเอง เป็นหลักสูตรท้องถิ่น

ช่วยให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้น เพราะเด็กๆ จะเข้าใจ

ได้ง่ายกว่าการเรียนผ่าน "ภาษาไทยราชการ"

อีกทั้งยังเป็นการสืบทอด "ภาษาแม่" ของชาวปกากะญอ ไว้ไม่ให้สูญหายไป

 

 

หนังสือภาษา ปกากะญอ และหนังสือนิทานพื้นบ้านของชาวปกากะญอ ที่เด็กๆ ใช้เรียน

(สภาพหนังสือค่อนข้างเก่า และช้ำมาก เพราะต้องยืมใช้ต่อๆ กันหลายๆ รุ่น)

 

ยายพี เป็นผู้เฒ่าของชุมชน ที่มาช่วยสอนเด็กๆ ผ่านการเล่านิทานพื้นบ้าน 

ซึ่งเด็กๆ จะชอบฟังนิทานที่ยายพีเล่าด้วยภาษาปกากะญอเป็นอย่างมาก

เมื่อเลิกเรียน เด็กๆ มักจะเดินตามยายพีกลับไปที่บ้านด้วย เพื่อฟังยายเล่านิทาน

 

 

เด็กๆ ตั้งใจเรียน ทั้งวิชาสามัญ และวิชาท้องถิ่น

 

เด็กหญิงน้อยๆ ชาวปกากะญอ จะมาโรงเรียนด้วยชุดประจำเผ่า

สำหรับชุดสีขาวยาวเป็นชิ้นเดียวกัน เป็นชุดของผู้หญิงปกากะญอที่ยังไม่แต่งงาน

ถ้าแต่งงานแล้ว ผู้หญิงจะแต่งเสื้อผ้าสีอื่นๆ และแยกเป็นสองท่อน

(ดูชุดที่ครูและยายพีใส่ก็ได้...เป็นชุดของผู้หญิงที่แต่งงานแล้วค่ะ)

 

สองหนุ่มน้อยชาวปกากะญอขี้อายค่ะ....

 

สำหรับห้องนี้ เป็น ศูนย์เด็กเล็กของโรงเรียน ที่ได้รับเงินอุดหนุนบางส่วนจาก อบต.

 

เด็กๆ อนุบาล กำลังหัดฟัง "ภาษาไทย" แล้วทำตามที่ครูบอก

เช่น เดินมาข้างหน้า 2 ก้าว เดินถอยหลัง 3 ก้าว เพื่อให้คุ้นเคย

และฝึกการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ เช่น หัดกินข้าวเอง

 

จบตอนสอง

................

pis.ratana บันทึก

บันทึกที่เกี่ยวข้อง

66. เยือนชุมชนปกากะญอ : บ้านมอวาคี (ตอนแรก)

 

 

หมายเลขบันทึก: 290124เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2009 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาติดตามโรงเรียนน้องหนูต่อค่ะ

เห็นความแตกต่างของการศึกษาในเมือง ชนบท

ยิ่งชนเผ่าไม่ต้องพูดถึง แต่ความขาดเขินก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค เห็นรอยยิ้มเด็กน้อย มีความสุขค่ะ

 

สวัสดีค่ะ คุณปู

  • ความขาดแคลนของชาวเขา ก็ยังถูกละเลยจากรัฐอยู่อีกมาก
  • หวังเพียงว่า กระแสเสียงเล็กๆ จะช่วยส่งไปถึงคนใหญ่คนโตได้บ้าง
  • สักวัน ถ้าฉันทำอะไรได้มากกว่านี้...สองมือนี้จะสร้าง.
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท