สุนทรียสนทนากับบล็อก


โดยเฉพาะนำมาเกี่ยวข้องกับบล็อก ว่าบล็อกนั้นสามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเหล่านี้ได้หรือไม่

เกริ่นนำ

การจัดการความรู้ หรือ KM   นั้นเชื่อว่าหลายๆ ท่านรู้จักกันเป็นอย่างดี

ช่วงที่ผ่านมาพยายามจะศึกษาเรื่องนี้ และยังศึกษาเกี่ยวกับเครื่องมือต่างๆ ที่สามารถก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อย่างเช่น เรื่องเล่าเร้าพลัง AAR สุนทรียสนทนา  CoP และอื่นๆ

โดยเฉพาะนำมาเกี่ยวข้องกับบล็อก ว่าบล็อกนั้นสามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเหล่านี้ได้หรือไม่

ผลการศึกษา

จากการพยายามศึกษาพบว่าจริงๆ แล้วการเขียนบล็อก เขียนอนุทิน ถามตอบและอื่นๆ นั้น สามารถทำให้เนียนเข้ากับเครื่องมือต่างๆ ข้างต้นได้ แต่ต้องประยุกต์กันนิดหน่อย

อธิบายมาสิ

วันนี้จึงอยากจะทบทวนตนเองอีกสักครั้ง เพียงแต่อยากขอความกรุณาจากสมาชิกของ GotoKnow.org ทุกท่าน ช่วยแนะนำ แลกเปลี่ยนว่าสิ่งที่คิดที่เขียนนั้นถูกต้องบ้างหรือไม่ อย่างไร เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป

สุนทรียสนทนา

เริ่มกันที่สุนทรียสนทนาเนื่องจากเหมือนเป็นเครื่องมือหลัก และเครื่องมือชิ้นแรกที่จะสามารถนำไปสู่เครื่องมืออื่นๆ จริงๆ แล้วถ้าให้ดีสุนทรียสนทนาควรที่จะเนียนไปกับทุกๆ อย่างในชีวิตประจำวัน

การสนทนานั้นมีทั้งการสื่อสารผ่านการพูดจากันโดยตรง และ การสื่อสารผ่านการเขียน

หากสุนทรียสนทนา คือ การที่เราฟังอย่างตั้งใจ และพูดจาอย่างสุภาพ สนับสนุนหรือโต้แย้งเรื่องต่างๆ โดยผ่านกระบวนการคิด กลั่นกรอง เรียบเรียงถ้อยคำออกมาให้สละสลวย ปราศจากอคติ อารมณ์ และใช้เหตุผลเป็นที่ตั้งแล้วล่ะก้อ

เราก็น่าจะสามารถนำกระบวนการนี้มาใช้ในบล็อกได้เช่นกัน

เมื่อประยุกต์เขียนในบล็อก

ก่อนอื่นต้องแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อ่านและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ กลุ่มที่เขียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ กลุ่มที่ทั้งอ่านและเขียนรวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้

กลุ่มที่เขียน

  • ต้องตั้งประเด็นชัดเจนในใจว่าวันนี้อยากเขียนเรื่องอะไร
  • ตั้งสติก่อนสตาร์ท
  • เริ่มเขียนบรรยายลงบันทึก จะเป็นลักษณะของเรื่องเล่าเร้าพลัง หรือ AARงาน หรือ บรรยายสิ่งที่รู้ กิจกรรม ความประทับใจ ประสบการณ์ก็ตามแต่ หากแต่ต้องมีสติขณะเขียนด้วย
  • เขียนโดยใช้ถ้อยคำสุภาพ กลั่นกรอง ตีความและร้อยเรียงออกมาจากใจ และพยายามเขียนจากความเข้าใจ 
  • เนื้อหาที่เขียนอาจจะมีส่วนเกริ่นนำเล็กน้อยพอให้คนอ่านเข้าใจว่ากำลังจะอ่านเรื่องอะไร ตามด้วยเนื้อหาหลักๆ และอาจจะสรุปทิ้งท้ายสักเล็กน้อยตามความเข้าใจของตนเอง
  • เมื่อเขียนเสร็จอ่านทบทวนอีกครั้ง ถามตัวเองอีกสักหนว่าที่เขียนไว้เข้าใจหรือไม่ อย่างน้อยถึงใครไม่เข้าใจ ขอให้ตนเองเข้าใจก็ยังดี
  • จากนั้นก็กดบันทึก และหมั่นมาตรวจสอบความคิดเห็นในบันทึกที่เขียนไว้

เป็นอันเรียบร้อย

กลุ่มที่อ่าน

  • ตั้งสติก่อนอ่าน
  • ละทิ้งอคติทั้งมวล บอกตนเองว่าจะอ่านอย่างตั้งใจ จะไม่ตัดสิน หรือ ตีความใดๆ ก่อนอ่านจบ จากนั้นจึงเริ่มอ่าน
  • เมื่ออ่านจบตั้งคำถามกับตัวเองว่าได้อะไรจากเรื่องที่อ่าน คิดเห็นเหมือนหรือแตกต่างจากเจ้าของบันทึก อย่างไร
  • หากเป็นไปได้เขียนสิ่งที่คุณคิด ตีความได้ จากเรื่องที่อ่าน เพื่อแลกเปลี่ยนกับเจ้าของบันทึกและสมาชิกท่านอื่นๆ 

เป็นอันเรียบร้อย

กลุ่มที่ทั้งเขียนและอ่าน

  • ต้องใช้กระบวนการทั้งหมดรวมกัน

เป็นอันเรียบร้อย

เมื่อต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้

สำหรับทุกกลุ่มนั้น กระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้เป็นเรื่องสำคัญ และควรนำสุนทรียสนทนามาใช้ เมื่อจะมีการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นเกิดขึ้น อาจจะมีทั้งสนับสนุนและโต้แย้ง หากแต่ทุกอย่างต้องผ่านการกลั่นกรอง ตีความ เรียบเรียงด้วยการใช้ภาษาสุภาพ ไม่ก้าวร้าว ไม่อวดเบ่งบารมีว่าตนเก่งเหนือใคร และโดยเฉพาะเว้นจากอารมณ์ทั้งหลาย เพราะอาจจะทำให้สูญเสียโอกาสแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีได้

ตัวอย่างเช่น เจ้าของบันทึกเขียนผิด สื่อสารผิด หรือเข้าใจเรื่องราวผิด แต่ด้วยความเกรงใจ อคติจากรักทำให้แลกเปลี่ยนด้วยความชื่มชม มิโต้แย้ง เจ้าของบันทึกย่อมเสียโอกาสแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีและถูกต้อง ทำให้ยังเข้าใจผิดๆ แต่หากผู้อ่าน อ่านด้วยใจอคติด้านลบ ผู้อ่านเองนั่นหละ ที่จะปิดและเสียโอกาสแห่งการเรียนรู้ไป

ผู้อ่านและผู้เขียน

ดังนั้นการสื่อสารผ่านการเขียนนั้นก็เช่นเดียวกับการพูด หากว่าเราคิดแตกต่างก็บอกไป หากเห็นด้วยก็สนับสนุน แต่อย่างที่กล่าว ทุกครั้งควรผ่านกระบวนการคิดก่อน และใช้ภาษาอันสุภาพ มิเช่นนั้นแทนที่จะเป็นสุนทรียสนทนา อาจจะเป็นอย่างอื่นแทนได้

สำหรับเจ้าของบันทึกก็ควรอ่านสิ่งที่ผู้อ่านท่านอื่นๆ แสดงความคิดเห็นไว้ โดยปราศจากอคติเช่นกัน และไตร่ตรองในความคิดเห็นเหล่านั้นอย่างรอบคอบ จึงเขียนตอบไว้ อย่าละเลย เพราะเชื่ออย่างหนึ่งว่าไม่ว่าเราจะเขียนความคิดเห็นไว้ในบันทึกของใครก็ตาม ก็อยากที่กลับไปอ่านอีกสักครั้งว่าอีกฝ่ายตอบว่าอะไร ดังนั้นขั้นตอนนี้ก็จัดว่าเป็นสุนทรียสนทนาเช่นกัน

สุนทรียสนทนาในทุกๆ แห่ง

ไม่เพียงแต่ในบันทึกเท่านั้น หากอีกหลายๆ ที่ก็สามารถนำสุนทรียสนทนาไปใช้ได้เช่นกัน เช่น อนุทิน

หากใครเคยแวะเวียนเยี่ยมเยียนอนุทินกันอยู่บ้างอาจจะเคยเห็นว่าบางครั้งความรู้ต่างๆ ถูกแลกเปลี่ยนไว้ด้วยการใช้สุนทรียสนทนาเช่นกัน

นอกจากนี้ยังสามารถนำออกไปใช้ในชีวิตประจำวันให้เนียนไปกับการดำเนินชีวิตของเราได้

GotoKnow.org

หลายท่านคงบอกว่าไม่เห็นจะมีอะไรแปลกเลยก็ทำอย่างนี้เป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ต้องบอกก็ได้

ใช่ค่ะ  ใน GotoKnow.org ของเรานั้นใช้สุนทรียสนทนาเป็นหลักอยู่แล้ว แต่อยากเรียนว่า ความจริงแล้วโลกไซเบอร์แห่งนี้ยังมีอีกหลายที่ที่สื่อสารกัน โดยไม่ได้ใช้สุนทรียสนทนากันเลย บางครั้งถ้าท่านได้มีโอกาสแวะไปอาจจะสะดุ้งกับการสนทนาเหล่านั้นได้

เพราะฉะนั้นจึงรู้สึกโชคดีที่โลกเสมือนแห่งนี้ ทุกท่านมีสุนทรียสนทนาอยู่ในใจ

สุดท้าย

อยากรบกวนขอคำชี้แนะจากทุกท่าน ว่าสิ่งที่เด็กเริ่มศึกษาคนนี้เขียนไว้นั้นถูกต้องหรือไม่ หรือจริงๆ แล้วกำลังหลงประเด็นอยู่

ขอความกรุณาด้วยค่ะ

อ้างอิง

หนังสือการจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

หนังสือ KM วันละคำ  โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

หนังสือ ผู้บริหารองค์กรอัจฉริยะ ฉบับบนักปฏิบัติ

และเนื้อหาสาระมากมายที่ได้ศึกษาผ่านบล็อกของสมาชิก GotoKnow.org ทุกๆ ท่าน และอ่านเพิ่มเติมได้ที่ สุนทรียสนทนา

ปล.การอ้างอิงอาจจะไม่ถูกหลักต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี่ด้วยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 252083เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2009 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

ดีมากครับ  ผมชอบต้องประเด็น เมื่อต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้

     ที่สำคัญ  แตกต่างกันได้ โดยไม่แตกแยกครับ

            ความแตกต่าง นำมาซึ่งความหลากหลาย

                   ความหลากหลาย นำมาซึ่งความสมบูรณ์ ครับ

                        แตกต่างโดยไม่แตกแยก พูดง่าย ทำยากครับ ในความเป็นจริง

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์

เขียนไปก็แอบกังวลไปว่าที่ศึกษูามานั้น เข้าใจถูกแล้วหรือไม่ค่ะ

เห็นด้วยค่ะว่าเราสามารถเห็นแตกต่าง และโต้แย้งได้ เพราะหลายครั้งความเห็นที่แตกต่างนำมาซึ่งความรู้หรือวิธีการแก้ปัญหาได้

แต่ก็ทำได้ยากจริงนั้นแหละค่ะ ปกติเห็นแตกต่างมักจะนำพาไปสู่การขัดแย้งซะเกือบทุกครั้งไป

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณสี่ซี่ :)

จำได้ว่า เมื่อปีที่แล้ว ผมเคยถามด้วยความไม่เข้าใจเรื่องนี้ลงไปในบันทึกแรกของสมุดเล่มหนึ่ง

Gotoknow เกี่ยวข้องอย่างไรกับ "KM การจัดการความรู้" ?

คำตอบที่ได้ ... ไม่ได้ทำให้ผมมีความเข้าใจมากนัก ส่วนใหญ่ ท่านมันโยนให้ไปอ่านเอง ศึกษาเอง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ผมต้องการการป้อนความรู้ แต่ผมต้องการคำชี้แนะที่ชัดเจนมากกว่า

ผู้ไม่รู้ย่อมไม่ผิด แต่ผู้ไม่รู้ย่อมเป็นที่น่ารำคาญใจของผู้รู้

แบบนี้ ... ต้องไม่ "สุนทรียสนทนา" แน่นอน ครับ :)

แล้วหนึ่งปีต่อมา ผมก็ได้พบบันทึกนี้ที่ตั้งโจทย์ แล้วตอบตามความเข้าใจ ให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น :)

ห้ามถามว่า ผมเข้าใจมากขึ้นใช่ไหม เพราะคำตอบก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม ... คือ ไม่เข้าใจ

หลายคนใช้นิยามศัพท์เฉพาะเป็นภาษาอังกฤษ

ผู้รู้หลายท่านใช้คำภาษาไทยที่แปล หรือ ตั้งชื่อเอง เหมือนอยากให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่ก็ไม่เข้าใจอยู่ดี

แต่ก็อย่ากระนั้นเลย ... คนที่มีความฝันโง่ ๆ ย่อมไม่ชอบกรอบที่น่าอึดอัดกระมัง

แอบมาบ่น แล้วหนีไป

ขอบคุณครับ :) ....

 

ขอบคุณสำหรับสิ่งดีดีที่นำมาต่อเติม

สวัสดีค่ะน้องสี่

  • ทั้งอ่านและเขียนอย่าง..มีสุนทรียสนทนา
  • ขอขอบคุณที่น้องสี่สรุปมาให้อ่านอย่างสั้น ๆและเข้าใจง่าย
  • รวมทั้งความคิดเห็นของท่านอื่น ๆ
  • เป็นกำลังใจให้น้องสี่ค่ะ

เยี่ยมครับ กับแนวคิด

"สุนทรียสนทนาควรที่จะเนียนไปกับทุกๆ อย่างในชีวิตประจำวัน"

หรืออาจมองได้อีกอย่างว่า

"สติ ควรที่จะเนียนไปกับทุกๆ อย่างในชีวิตประจำวัน"

.......

มีสิ่งที่อยากแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมจากประสบการณ์เล็กๆ ก็คือ

หากจะทำสุนทรียสนทนา ผ่านการอ่านและเขียนในโลกออนไลน์  กลุ่มเป้าหมายที่อยากให้เกิด ควรจะต้องผ่านการฝึกทักษะ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เรื่องสุนทรียสนทนามาก่อน  หากทำได้จะง่ายมากเมื่อมาประยุกต์เข้ากับการอ่านและการเขียน 

มีครั้งนึงที่ผมพยายามชวนให้คนที่ทำงานมาทำอะไรคล้ายๆ กับที่คุณสี่ซี่เขียนไว้  แต่ผ่าน webboard  ผลก็ล้มเหลวครับ แต่ก็ทำให้เราเรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือได้เรียนรู้ว่า

ของบางอย่าง เรื่องบางเรื่อง มันมีหลายเหตุหลายปัจจัย  ไม่ควรรีบร้อน  ต้องทำเหตุปัจจัยแต่ละอย่างให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ผลก็จะเกิดขึ้นเอง

ขอบคุณมากครับ กับแนวคิดที่พยายามจะบูรณาการกระบวนการต่างๆ เข้ากับชีวิตใน GotoKnow

สวัสดีค่ะพี่สี่ซี่ ชอบสุนทรียสนทนา เหมือนกันค่ะ แต่บางครั้งก็หลุด ๆ ไปนะคะพี่

สวัสดีครับ

ถ้าเข้ามาอ่าน ผมจะอ่านอย่างตั้งใจ (+จับผิดบ้าง ตามนิสัย อิๆ)

ถ้าเป็นคนรู้จักมักจี่ จะแสดงความคิดเห็นค่อนข้างตรงไปตรงมา

ถ้าคนไม่คุ้น ก็ไม่ค่อยกล้าท้วงติงมากนัก ;)

ถือเป็นแนวทางการใช้งาน gotoknow ที่ชัดเจนและครอบคลุมมากครับ...

ขอบคุณครับผม...

ขอบคุณค่ะอาจารย์ (Wasawat Deemarn )

สี่กำลังพยายามศึกษาเรื่องนี้อยู่ค่ะ แต่จริงอย่างที่อาจารย์กล่าวไว้

เรื่องนี้ยาก นั่งไป ทำความเข้าใจไป ก็ไม่รู้ว่าถูกหรือไม่ จึงเกิดบันทึกนี้ขึ้นมา

เพราะเชื่อว่าสมาชิกทุกๆ ท่านจะสามารถกระตุ้นเตือนเด็กเริ่มศึกษาคนนี้ได้ว่าที่พยายามมาทั้งหมดนั้น จริงๆ แล้วเป็นอย่างไรค่ะ

บันทึกนี้ของหนูก็อาจจะยังตอบโจทย์ที่อาจารย์ถามไว้ไม่ได้ แต่มีอีกหลายบันทึกค่ะ จะตามมา อยากรบกวนให้อาจารย์เข้ามาช่วยท้วงติงค่ะ ^_^

แต่ต้องขอแจ้งล้วงหน้าก่อนว่าเป็นความเข้าใจของหนูนะค่ะ ซึ่งอาจจะหลงประเด็นอยู่ก็ได้ เพราะฉะนั้นคงต้องรบกวนอาจารย์อีกเรื่อยๆ ค่ะ

รบกวนด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

มัดมือชกและจากไป ^_^

ขอบคุณค่ะคุณครูชายแดน

เขียนจากความเข้าใจนะค่ะ ก็ไม่แน่ใจว่าได้สื่อสารอย่างเข้าใจแล้วรึยัง

แต่ก็รู้สึกดีที่ได้เขียนค่ะ

ขอบคุณมากค่ะคุณครูคิม

สี่กำลังพยายามศึกษาอยู่ค่ะ พยายามมาหลายเดือนแล้วได้เท่าๆ ที่เห็นนี่แหละค่ะ

แต่สี่ว่าคุณครูคิมและลูกศิษย์ทุกๆ คน มีสุนทรียสนทนาอยู่แล้วนะค่ะ (แอบอ่านเป็นประจำ)

ขอบคุณจริงๆ ค่ะที่อ่านจนจบ

รักและคิดถึงค่ะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ซวง ณ ชุมแสง

จริงอย่างที่อาจารย์กล่าวค่ะว่าสุนทรียสนทนาแต่ละครั้งต้องมีสติ เพราะเมื่อสติแตก กระเจิง สุนทรียสนทนามักไม่เกิด

ขอบคุณสำหรับประสบการณ์ดีๆ ค่ะ บล็อกอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีให้อาจารย์ทำอย่างที่ตั้งใจก็ได้นะค่ะ จัดอีกไหมค่ะ สี่ร่วมด้วย^_^

เรื่องที่อาจารย์เคยชวนให้ตรวจสอบจิตก็น่าสนใจค่ะ ว่าแต่สามารถนำมารวมกันกับการทำสุนทรียสนทนาได้ไหมค่ะ??

ทิ้งโจทย์ปัญหาไว้แล้วแอบวิ่งไปหลบ รอคำตอบค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะพอลล่า

พี่ว่าบันทึกของพอลล่าเป็นสุนทรียสนทนาที่น่าอ่านมากนะค่ะ ที่สำคัญบางเรื่องเป็นเรื่องเล่าเร้าน้ำตาด้วยค่ะ แอบไปอ่านแต่ละครั้งทั้งยิ้ม บางครั้งน้ำตาตกค่ะ

แต่ไม่ค่อย comment เพราะไม่รู้จะเขียนอย่างไร (ตกสุนทรียสนทนา)

พี่จะคอยเป็นกำลังใจให้เขียนเรื่องดีๆ ต่อไป

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ ธ.วัชชัย

ขอบคุณค่ะ ว่าแต่งานนี้ของสี่เป็นอย่างไรบ้างค่ะ พอไหวรึเปล่าค่ะ

รอด้วยใจระทึก แต่ก็ยอมรับทุกความคิดเห็นค่ะ

อาจารย์วิจารณ์ได้เลยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณมากค่ะพี่ Mr.Direct

พี่เป็นอีกท่านหนึ่งที่สี่ชอบอ่านความคิดเห็น เพราะรู้สึกเสมอว่าทุกครั้งที่พี่เขียนนั้น ได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองทุกครั้ง ถ้อยคำจึงสวยงามทุกครั้ง

ขอบคุณค่ะ

ผมถูก "มัดมือชก แล้วจากไป" แล้วครับ :(....

อย่างกับถูกสลัดรักยังไง ยังงั้นเลย ... รัก ไม่รัก รัก ไม่รัก

ลำบาก ลำบาก

"อสุนทรียสนทนา" ปิดหู ปิดตา ปิดปาก ...

อาจารย์Wasawat Deemarn ค่ะ

กลายเป็นสี่แน่เลยค่ะที่อกหัก หากอาจารย์ "อสุนทรียสนทนา"

ต้องทำอย่างไรจึงจะกลายเป็นสุนทรียสนทนาล่ะค่ะ

ขอบคุณค่ะ

  • ผมเอง พยายามจะนิยาม "บล็อก..กล้วยไม้ ฯ..." ของตนเอง....
  • แต่ทำได้ค่อนข้างยากครับ....
  • เพราะ ...บางครั้ง....ก็เป็นความรู้แบบ "How to...."
  • บางครั้ง ก็เป็น "ข้อมูลนำมาบันทึกไว้ เพื่อรอให้สมบูรณ์..."
  • บางครั้ง ก็เป็น "บทกวี....."
  • ฯลฯ
  • ตรงนี้ บางที จึง "เป็นห่วง และเห็นใจ" ท่านผู้อ่าน...ว่า....
  • ท่านผู้อ่าน จะ "คอยติดตาม" ได้ไม่ราบเนียน(Smooth)
  • เพราะ...พอจะรอเรื่อง "วิธีการปลูก"...ก็เจอ "บทกวีื" ...ซะเนี่ย...
  • ก็ต้องทำใจนะครับ...เมื่อเจอกับ "คนเขียน" แบบนี้......
  • มันเป็นองค์รวม ที่จะจัดแยก(Grouping) ได้ค่อนข้างยาก....
  • เพราะทุกบันทึก....มันก็โยงถึง(Refer to) เจ้า"กล้วยไม้" อยู่ดี....
  • อึดอัดอย่างหนึ่งตรงที่.....
  • ท่านที่ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิก G2K.....
  • แต่ก็เข้ามา Comment เป็นประจำ.....
  • บางทีก็ comment แบบ "ยังไง ๆ" อยู่นา....
  • ต้อง "ลบทิ้ง" ก็ออกบ่อย....
  • สำหรับ "สุนทรีย์" แล้ว...
  • คงต้อง -ดูกันนาน ๆ หน่อย...นะครับ...
  • เหมือนระยะทาง ที่พิสูจน์ม้า...
  • แล้วอาจะ "ให้อภัย"...ที่บางบันทึก(ของผม)....
  • "ตรง..." จนเหมือนจะ "ไม่สุนทรีย์."
  • ...ก็เป็นได้นะครับ.....
  • จริงจัง แต่ จริงใจ .... นะครับ

ชยพร แอคะรัจน์

สวัสดีค่ะอาจารย์ชยพร แอคะรัจน์

  • ขอบคุณค่ะ
  • บันทึกทุกบันทึกนั้นก่อนเขียนนั้น เจ้าของย่อมคิดว่าดีแล้วอย่างแน่นอนค่ะ เพราะฉะนั้นสี่เชื่อว่าย่อมมีสุนทรียสนทนาอยู่ในตนเอง
  • การเขียนบันทึกที่เปิดเผยและมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เช่นนี้ สุนทรียสนทนาเป็นเรื่องที่อาจจะจำที่นำมาใช้ค่ะ
  • ก่อนเขียนผู้เขียนมีสติแล้วจึงเขียน การเขียนประสงค์เจตนาดี บันทึกนั้นจึงมีการสนทนาด้วยดี
  • ผู้อ่าน อ่านด้วยจิตใจอันดีไม่จ้องจับผิด คิดเปิดตา เปิดหู เปิดใจรับฟัง และนำมาคิดไตร่ตรองตีความ
  • หากเห็นเหมาะสมด้วยด้วยประการทั้งปวงและควรมีสิ่งแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม หรือบอกเล่าความรู้สึกก็ควรที่จะบันทึกไว้
  • หากเห็นไม่ตรงกันการบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ด้วยภาษาสุภาพ มิใช่ว่าดุด่าอย่างรุนแรง น่าจะยังเป็นสุนทรียสนทนาได้
  • แต่หากเห็นต่างแล้วปิดเงียบก็ไม่เกิดการเรียนรู้อีกค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

มาชื่นชมกับแนวคิดและความเห็นของสมาชิกทุกๆท่านคะ

สวัสดีค่ะคุณมะลิวัลย์ กรรชัยพร

ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์น้องสี่ซี่

อ่านความคิดเห็นจากหลายๆ ท่าน

ทำให้เห็น "ความหมายใหม่" ของการ "สนทนา" ที่ดี

...

บางที "ฉลาก" หรือ "ยี่ห้อ" มันก็เป็นเพียงเปลือก

เราน่าจะดูที่ "เจตนา" และ "ผลลัพธ์"

ของการสนทนานั้นๆ มากกว่า

การสนทนาควรมีเจตนาบริสุทธิ์ต่อกัน

สนทนาประหนึ่งทุกคนเป็น "กัลยาณมิตร" ต่อกัน

แนะนำ ดุด่า ว่ากล่าวกัน ชื่นชมกัน

เพื่อประคับประคองกันไปสู่ทางที่ดี ที่เจริญ

ทั้งนี้พี่คิดว่า "ดัชนีชี้วัด" อย่างหนึ่งที่ทุกคนควรต้องระลึกไว้เตือนตนเองก็คือ

"เจตนา" ในการสนทนา (ไม่ว่าจะสุนทรีย์หรือไม่ก็ตาม)  ของเราคืออะไร

ชื่นชมเพื่อให้กำลังใจ

หรือชื่นชมป้อยอจนเกินงาม

สร้างสรรค์เพื่อต่อยอด

ติเพื่อก่อ

หรือ ติเพื่อให้คนอื่นจมธรณี แล้วให้ตัวเองโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางฝูงชน

"เจตนา" นี้ถึงไม่บอกใคร

แต่คนที่อ่านคนที่ฟังย่อม "รู้สึก" ได้เสมอ

สวัสดีค่ะ แวะมาทักทายค่ะ

               

สวัสดีค่ะอาจารย์ซวง ณ ชุมแสง

เห็นด้วยกับอาจารย์เลยค่ะ อาจารย์เขียนตรงใจค่ะ

อยู่ที่เจตนาของเรา หากเจตนาบริสุทธิ์เมื่อส่งสารไปย่อมบริสุทธิ์เช่นกัน

แต่เชื่ออยู่อย่างนะค่ะ สมาชิกใน G2K เปิดเผย สง่างาม และมีศักดิ์ศรีมากพอค่ะ เพราะฉะนั้นสำหรับเด็กหัดเรียนรู้อย่างสี่ ทุกท่านคืออาจารย์ หากอาจารย์แนะนำ ไม่ว่าจะดี ชม หรือดุ ย่อมมีค่าเพื่อนำไปเป็นกำลังใจและปรับปรุงเสมอค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณครูตุ๊กตา

สบายดีรึเปล่าค่ะ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท