เงิน & สมการการแลกเปลี่ยน & การเก็งกำไร


“เงินตรานั้นโดยธรรมดา มันเป็นเหมือนทาสที่ทั้งซื่อและโง่ แล้วแต่จะใช้ให้ทำอะไรมันทำทั้งนั้น ใช้ให้ทำดีก็ทำ ใช้ให้ทำชั่วก็ทำ จ้างให้ฆ่าคนก็ไปโดยไม่มีการคัดค้านโต้แย้งใด ๆ เลย เมื่อเงินตรามันเป็นทาสที่ทั้งซื่อและโง่อยู่อย่างนี้ ใครยอมให้ทาสคนนั้นมาเป็นนาย ยอมอยู่ใต้อำนาจของมัน เขาจะโง่สักเพียงใด”

           “เงิน” ในความหมายทางเศรษฐศาสตร์ คือ อะไรก็ได้ที่สังคมยอมรับให้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและมีมูลค่าค่อนข้างที่จะคงที่ หรือ พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เงิน คือ ข้อตกลง ร่วมกันของสังคมที่จะใช้อะไรก็ได้เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ดังนั้นจึงปรากฏในประวัติศาสตร์ของการใช้เงินในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หอย โลหะ ทองแดง ทองคำ และเงิน เป็นต้น และองค์ประกอบสำคัญของเงินทางเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันอีกประการคือ เงิน เป็นสิ่งที่รัฐบาล สร้างขึ้น รัฐบาลมีสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายในการสร้างเงิน แต่ประชาชนไม่สามารถสร้างเงินเองได้

 

            หน้าที่หลักของเงิน (The function of money)

 

            เงินถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจที่มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ซึ่งหน้าที่หลักของเงินในทางเศรษฐกิจมี ๔ ประการคือ

            ประการแรก เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of exchange) หน้าที่หลักของเงินดังกล่าวคือ ต้องเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการของคนในสังคมเป็นไปอย่างคล่องตัว ซึ่งถือได้ว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญลำดับแรกสุดของเงิน

         ประการที่สอง เงินทำหน้าที่เป็นหน่วยวัดมูลค่า (Measure of value or unit of value) คนส่วนใหญ่ในสังคมที่จะทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่อกัน ต้องมีการวัดมูลค่าของสินค้าและบริการต่าง ๆ โดยการเปรียบเทียบค่าของสินค้าและบริการออกมาในรูปของหน่วยเงินตรา เพื่อความสะดวกในการแลกเปลี่ยน

          ประการที่สาม เงินทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการรักษามูลค่า (Store of value) เนื่องจากในระบบเศรษฐกิจมีทรัพย์สินหลายชนิดให้เลือกเก็บเพื่อให้ผู้เก็บได้รับประโยชน์มากที่สุด ซึ่งทรัพย์สินบางอย่างก็คงทนและบางอย่างก็ไม่คงทนหรือยิ่งนานไปมูลค่ายิ่งเสื่อมลง ซึ่งทางเลือกหนึ่งของการจะเก็บรักษาทรัพย์สินเหล่านี้ก็คือ การเปลี่ยนเป็นเงินก่อน ก็จะทำให้มูลค่าที่เก็บรักษาไว้มีความมั่นคง และเงินยังมีอำนาจซื้อสินค้าและบริการอื่นได้อีก การที่รักษามูลค่าทรัพย์สินไว้ในรูปของเงินจึงสะดวกและอาจก่อให้เกิดดอกผลด้วย

            ประการที่สี่ เงินทำหน้าที่เป็นมาตรฐานในการชำระหนี้ภายหน้า (Standard of deferred payment) การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการมีทั้งที่ชำระเป็นเงินสด และชำระในรูปแบบการให้เครดิต หรือในการกู้ยืม ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ถือเป็นการชำระในอนาคต ซึ่งปัจจัยที่นิยมกำหนดให้ใช้จ่ายหรือชำระหนี้คืนในอนาคตก็คือเงินนั่นเอง เนื่องจากเป็นสิ่งทีสะดวกและมีสภาพคล่อง (liquidity) สูง สามารถนำเงินไปซื้อสินค้าและบริการอื่น ๆ ได้ง่ายและคล่องตัว

             จากการที่ระบบเศรษฐกิจมีวิวัฒนาการของการแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้าด้วยกันเองเรื่อยมาจนถึงการใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนนั้น เพื่อทำความเข้าใจพื้นฐานของบทบาทเงินที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ สามารถที่จะทำความเข้าใจได้ง่ายจากสมการการแลกเปลี่ยน (The Equation of Exchange) ของ เออร์วิง ฟิชเชอร์ (Irving Fisher)

 

สมการการแลกเปลี่ยน (The Equation of Exchange)

          สมการการแลกเปลี่ยน เป็นการอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสินค้าและบริการกับการใช้จ่ายในรูปของตัวเงิน โดยที่ มูลค่ารวมของการซื้อสินค้าและบริการทั้งหมด เท่ากับ มูลค่ารวมของการขายสินค้าและบริการทั้งหมด เช่น ถ้าในประเทศไทยมีการใช้จ่ายเงินในการซื้อสินค้าและบริการในปี ๒๕๔๙ ทั้งหมด ๓๐๐ บาท นั่นย่อมแสดงว่า ในปีนั้นมีการขายสินค้าและบริการเป็นมูลค่ารวม ๓๐๐ บาท ด้วยเช่นกัน แสดงได้ดังสมการ

 

                                                    MV    =    PT  

                                       

โดยที่

           M คือ ปริมาณเงินทั้งหมดที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ

           V คือ จำนวนครั้งโดยเฉลี่ยที่เงินแต่ละหน่วยถูกใช้จ่ายออกไปในการแลกเปลี่ยนหรือ อัตราการหมุนเปลี่ยนมือของเงิน (turnover rate of money) เช่น สมมติว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ มีปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ๕๐ บาท โดยมีการซื้อขายสินค้าและบริการทั้งสิ้น ๓๐๐ บาท ดังนั้นจะได้ว่าในปีดังกล่าวเกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนมือของเงินในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ๖ รอบต่อเงิน ๑ บาท

            P คือ ดัชนีราคาของรายการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ

            T คือ ปริมาณของสินค้าและบริการที่เกิดการแลกเปลี่ยน

 

             กำไรในแง่ของทางการบริหารจัดการธุรกิจแล้ว เป็นตัวเร่งและแรงกระตุ้นชั้นยอดในการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อการลงทุนโดยรวมของภาคเอกชน และก็จะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามมา ในทางเศรษฐศาสตร์แล้วการลงทุนที่ก่อให้เกิดผลผลิต (สินค้า) ที่เกิดจากองค์ประกอบของการทำงานร่วมกันของทุนและแรงงาน (Q = f (K, N) ) นั้น เป็นสิ่งที่ระบบเศรษฐกิจพึงปรารถนาเป็นที่สุด เนื่องจาก จะช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวซึ่งก็จะส่งผลดีต่อรายได้ประชาชาติ แต่ การเก็งกำไรโดยการแปรเปลี่ยน เงินเป็นสินค้า อีกรูปแบบหนึ่ง เปรียบเสมือนเป็นสินค้าเทียม (ไม่มีองค์ประกอบของกระบวนการการผลิต) มุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตัวสูงสุดโดยการปั่นราคาเพื่อเพิ่มมูลค่าเกินจริง สิ่งเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมเป็นอย่างมาก

 

  กระบวนการทำความเข้าใจในเบื้องต้นของการเก็งกำไร 

           กระบวนการทำความเข้าใจในเบื้องต้นของการเก็งกำไร โดยการใช้แบบจำลองของสมการการแลกเปลี่ยน (The Equation of Exchange) มาวิเคราะห์และอธิบายขยายความ

 

             สมมติ ว่าระบบเศรษฐกิจมีนายหนึ่ง นายสอง และนายสาม โดยมีนายสองเป็นรัฐบาลดูแลปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ นายหนึ่งเป็นช่างปั้นฝีมือดี และได้ปั้นควายนำไปขายให้กับนายสองในราคาตัวละ ๑๐๐ บาท จะได้ว่า

                                                  MV         =          P   T

                                               ๑๐๐ (๑)     =         ๑๐๐ (๑)

 

             เมื่อนายหนึ่งได้เงินมา ๑๐๐ บาท ก็นำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้ออาหารกิน (เหนื่อยจากการทำงาน) จากนายสอง จะได้ว่า

 

                                              MV            =      P  T    +       P  T

                                            ๑๐๐ (๒)       =     ๑๐๐ (๑)    +      ๑๐๐ (๑)

 

             ถ้าหากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปอย่างนี้เรื่อย ๆ ก็จะเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าหาก มีการเก็งกำไร อย่างบ้าคลั่งเฉกเช่นในปัจจุบันแล้ว ก็จะนำไปสู่ภาวะฟองสบู่และเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตามมาได้ง่าย

      

           สมมติว่านายสามก็เป็นช่างปั้นเหมือนกับนายหนึ่ง แต่นายสามเป็นช่างปั้นนกเอี้ยง โดยนำรูปปั้นนกเอี้ยงไปขายให้กับนายสอง (รัฐบาล) ในราคาตัวละ ๑๐๐ บาท แต่นายสามรู้มาว่านายสองชอบรูปปั้นควายของนายหนึ่งเป็นอย่างมาก นายสามจึงนำเงินที่ได้จากการขายรูปปั้นนกเอี้ยงไปซื้อรูปปั้นควายของนายหนึ่งมากักตุนไว้เพื่อ ปั่นราคา ขายเพิ่มขึ้น โดยนำไปขายให้กับนายสองในราคาตัวละ ๒๐๐ บาท

 

                                                   MV                =              P๓  T

                                                ๒๐๐ (๑)            =             ๒๐๐ (๑)

 

            นายหนึ่งและนายสามจะนำเงินที่ได้จากการขายสินค้าไปซื้ออาหารจากนายสอง แต่ นายสองก็รู้มาว่านายสามมีรายได้เพิ่มขึ้น (รวยขึ้น) จากการ ปั่นราคา จึงเพิ่มราคาอาหารจากเดิมจานละ ๑๐๐ บาท เป็นจานละ ๒๐๐ บาท ซึ่งนายสาม ก็สามารถจ่ายค่าอาหารได้โดยไม่เดือดร้อน แต่นายหนึ่ง เป็นผู้เดือดร้อนเพราะมีเงินเพียง ๑๐๐ บาท ซื้ออาหารได้ครึ่งจาน จะได้ว่า

 

                    MV               =    P  T       +   P  T๒,๑        +  P   T๒,๓     +   P  T      ***

                 ๓๐๐ (๒)           =  ๑๐๐ (๑)      +  ๒๐๐ (๐.๕)       + ๒๐๐ (๑)       + ๒๐๐ (๑)

             

               จะเห็นได้ว่าเมื่อนายสามขายรูปปั้นควาย (ที่ซื้อมาจากนายหนึ่ง) จากการปั่นราคาเพื่อเก็งกำไรได้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น ก็คิดว่าตัวเองรวยขึ้น (มีรายได้เพิ่มขึ้น) ก็จะนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายโดยการซื้อสินค้าอื่น ๆ และหากคนอื่น รู้ว่านายสามมีรายได้ (รวย) เพิ่มขึ้นก็จะปั่นราคาสินค้าของตัวเองที่จะขายให้กับนายสามเพิ่มขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจและระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนจึงเคลื่อนออกจากจุดดุลยภาพเดิมที่ควรจะเป็นจนนำไปสู่ภาวะฟองสบู่และวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด

                การเกิดภาวะฟองสบู่หรือเงินเฟ้อนี้ เรียกว่า เงินเฟ้อที่เกิดจากแรงดึงทางด้านอุปสงค์ (Demand Pull Inflation)  เกิดขึ้นจากระบบเศรษฐกิจมีความต้องการปริมาณสินค้าและบริการมากกว่าที่มีอยู่ในขณะนั้น ๆ จึงดึงให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าและบริการอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงิน การดำเนินนโยบายการคลังของภาครัฐบาล การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในต่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน  ในกรณีนี้ เกิดจากรัฐบาล (นายสอง) เพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมากเกินไป ซึ่งถ้าหากรัฐบาลเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่คำนึงถึงความสมเหตุสมผลระหว่าง ปริมาณเงิน (สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน) กับปริมาณสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะหากเพิ่มปริมาณเงินแล้วเอื้อต่อ การเก็งกำไร ก็จะผลักให้ระบบเศรษฐกิจเผชิญกับภาวะฟองสบู่และวิกฤติเศรษฐกิจในท้ายที่สุด

 

              นี่เป็นเพียงข้อสมมติและตัวอย่างในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแบบง่าย ๆ แต่ ในโลกปัจจุบันที่มี เครื่องมือและกลไก ทางการเงินที่สลับซับซ้อนและเอื้อต่อ การเก็งกำไร (สินค้าเทียม) เป็นอย่างมากและมีหลากหลายช่องทาง โอกาสที่จะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจจึงมีความเป็นไปได้ง่ายและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเรื่อย ๆ จาก เกมอัปยศ (การเก็งกำไร) อย่างบ้าคลั่งของคนส่วนน้อยที่มุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องเป็นที่ตั้ง จนฉีก เส้นแบ่งของคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงามออกจากระบบเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง  

     

                 การเก็งกำไรจากกลุ่มนักค้าเงินเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งความเจ็บปวดของประชาชนในประเทศที่ถูกโจมตีค่าเงินดังบทเรียนที่ประธานาธิบดีมิตเตอรองค์ของฝรั่งเศสได้รับในทศวรรษ ๑๙๘๐ ตามมาด้วยนายกรัฐมนตรีจอห์น เมเจอร์ ของอังกฤษ และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ รัฐบาลประเทศเม็กซิโกในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ วิกฤตการณ์ค่าเงินหรือต้มยำกุ้งที่เริ่มจากประเทศไทยและขยายตัวไปในภูมิภาคทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งเกาหลีใต้ ในปี ค.ศ. ๑๙๙๗ ต่อด้วยวิกฤติค่าเงินของรัสเซียในปี ค.ศ. ๑๙๙๘ ประสบการณ์ราคาแพงที่ประเทศเหล่านี้ต้องจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนและศึกษาให้กับกลุ่มอาจารย์นักเก็งกำไรอย่างมหาศาลนั้นก็ไม่ได้มีใบประกาศการันตีหรือหนังสือพันธะสัญญาระหว่างประเทศเหล่านี้และกลุ่มนักเก็งกำไรว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต

                   เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต เช่น “ภารกิจหรือปฏิบัติการที่ใช้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเพื่อปกป้องค่าเงินที่สำคัญ เกิดขึ้นเมื่อฤดูร้อนปี ค.ศ. ๑๙๙๒ และ ค.ศ. ๑๙๙๓ เมื่อค่าเงินสกุลต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปถูกโจมตีอย่างรุนแรง ธนาคารกลางชาติต่าง ๆ ของยุโรป ใช้เงินทุนสำรองไปถึง ๔๐๐,๐๐๐ ล้านมาร์กเยอรมัน (กว่า ๒๒๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สรอ.) ในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ และอีกจำนวนหนึ่งในปี ค.ศ. ๑๙๙๓ ซึ่งเป็นมูลค่ามหาศาลเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ยังพ่ายแพ้นักเก็งกำไร และอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเทศไทยถูกโจมตีค่าเงินตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. ๑๙๙๖ ต่อเนื่องจนถึงกลางปี ค.ศ. ๑๙๙๗ โดยครั้งนั้นประเทศไทยต้องใช้ทุนสำรองเพื่อปกป้องค่าเงินบาทกว่า ๓๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสรอ. หรือคิดเป็นประมาณกว่าร้อยละ ๘๐ จากเงินทุนสำรองทางการที่มีอยู่ประมาณ ๔๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสรอ. ในการต่อสู้กับศัตรู (นักเก็งกำไรค่าเงิน) ที่ลุกล้ำอธิปไตยทางเศรษฐกิจ แต่ท้ายที่สุดก็ประสบกับความพ่ายแพ้นักเก็งกำไรเหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในยุโรปเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๒”

 

 

ข้อคิดเพิ่มเติม

 

      ในประเด็นแง่คิดเกี่ยวกับ “เงิน” ในทางพระพุทธศาสนาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตรัสเรียกเงินตราว่า “อสรพิษ”

     

       ...ชีวิตเป็นเรื่องยากและสับสน พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ชีวิตเป็นของยาก” ผู้สามารถสางความยุ่งแห่งชีวิตให้เข้าระเบียบได้มีอยู่จำนวนน้อย กล่าวโดยเฉพาะ ชีวิตของมนุษย์ยิ่งยุ่งยากสับสนขึ้นทุกที

              มนุษย์ยอมเป็นทาสของสังคมจนแทบกระดิกกระเดี้ยตัวมิได้เสียแล้ว เมื่อยอมเป็นทาสของสังคม และสังคมนั้นมีแต่ความฟุ้งเฟ้อหรูหรา ความหรูหราเหล่านั้นย่อมได้มาด้วย “เงิน” เขาจึงยอมเป็นทาสของเงินตราอีกด้วย

           

      “เงินตรานั้นโดยธรรมดา มันเป็นเหมือนทาสที่ทั้งซื่อและโง่ แล้วแต่จะใช้ให้ทำอะไรมันทำทั้งนั้น ใช้ให้ทำดีก็ทำ ใช้ให้ทำชั่วก็ทำ จ้างให้ฆ่าคนก็ไปโดยไม่มีการคัดค้านโต้แย้งใด ๆ เลย

           เมื่อเงินตรามันเป็นทาสที่ทั้งซื่อและโง่อยู่อย่างนี้ ใครยอมให้ทาสคนนั้นมาเป็นนาย ยอมอยู่ใต้อำนาจของมัน เขาจะโง่สักเพียงใด

 

            พระตถาคตเจ้าเคยตรัสเรียกเงินตราว่า “อสรพิษ” ดังเรื่องต่อไปนี้

               ท้องฟ้าเริ่มสาง แสงสีขาวสาดทาบเป็นแนวยาวทางบูรพาทิศ อากาศแรกรุ่งอรุณเย็นฉ่ำ พระพายรำเพยแผ่ว หอบเอากลิ่นบุปผชาติในเชตวนารามไปตามกระแสระรวยรื่น 

               เสียงไก่ป่าขันอยู่เจื้อยแจ้วเคล้ามาตามสายลมวิเวกวังเวง น้ำค้างถูกสลัดลงจากใบไม้เมื่อพระพายพัดผ่านกระทบกับใบไม้เหลืองซึ่งหล่นร่วงลงแล้วดังเปาะแปะ ๆ

               เชตวนารามเวลานี้ตื่นตัวอย่างสงบ ประหนึ่งบุรุษผู้มีกำลังตื่นแล้วจากนิทรารมณ์  แต่ยังนอนเฉยอยู่ไม่ไหวกาย

             พระมหาสมณะ เอกอัครบุรุษรัตน์อุดมด้วยปัญญาธิการและมหากรุณาต่อส่ำสัตว์ ประทับหลับพระเนตรนิ่ง ส่งข่ายตือพระญาณให้แผ่ไปทั่วจักรวาลโลกธาตุ ตรวจดูอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์อันพระองค์ทรงพอจะโปรดได้ เช้าวันนั้นชาวนาผู้น่าสงสารได้เข้ามาสู่พระญาณของพระองค์

             พออรุณเบิกฟ้า พระศาสดามีพระพุทธอนุชาอานนท์เป็นปัจฉาสมณะตามเสด็จ ออกจากเชตวนารามด้วยพุทธลีลาอันประเสริฐ บ่ายพระพักตร์สู่บริเวณนาของบุรุษผู้น่าสงสารนั้น

             อีกมุมหนึ่ง กสิกรผู้ยากไร้ตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่ บริโภคอาหาร ซึ่งมีเพียงผักดองและข้าวแดงพอประทังหิว แล้วนำโคคู่ออกจากคอก แบกไถถือหม้อน้ำออกจากบ้านสู่บริเวณนาเช่นเดียวกัน

             พระตถาคตเจ้าหยุดยืน ณ บริเวณใกล้ ๆ ที่เขากำลังไถนาอยู่นั้น เขาเห็นพระศาสดาแล้วพักการไถไว้มาถวายบังคม พระศาสดามิได้ตรัสอะไรกับเขาเลย กลับเหลียวพระพักตร์ไปอีกด้านหนึ่ง ทอดทัศนาการตรงดิ่งไปยังจุด ๆ หนึ่ง แล้ตรัสกับพระอานนท์ว่า

                          “อานนท์ เธอจงดูเถิด นั่นอสรพิษ เธอเห็นไหม ?”

                          “เห็นพระเจ้าข้า”  พระอานนท์ทูล

                         เพียงเท่านั้นแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จต่อไป

             ชาวนาได้ยินพระพุทธดำรัสตรัสกับพระอานนท์แล้ว คิดว่าเราเดินไปมาอยู่บริเวณนี้เสมอ ถ้าอสรพิษมีอยู่มันอาจจะทำอันตรายแก่เรา อย่าปล่อยไว้เลย ฆ่ามันเสียเถิด

            คิดแล้วเขาก็นำปฏักไปเพื่อตีงู แต่กลับมองเห็นถุงเงินเป็นจำนวนมากวางกองรวมกันอยู่ เขาดีใจเหลือเกิน ยกมือขึ้นเหนือเศียรน้อมนมัสการพระพุทธองค์ที่โปรดประทานขุมทรัพย์ให้

                           “นี่หรืออสรพิษ” เขาคิดอยู่ในใจ

                           “พระพุทธองค์ตรัสเป็นปริศนาแบบสมณะเท่านั้นเอง ที่แท้พระองค์คงตั้งพระทัยเสด็จมาโปรดเรา”

            แล้วเขาก็นำถุงเงินนั้นไป เอาฝุ่นกลบไว้แล้วไถนาต่อไปด้วยดวงใจเบิกบาน

            พระศากยมุนี เมื่อคล้อยไปหน่อยหนึ่งแล้วจึงผินพระพักตร์มาตรัสกับพระอานนท์ว่า

                      “อานนท์ เราเรียกถุงเงินนั้นว่าอสรพิษ วันนี้เองมันจะกัดบุรุษผู้นั้นให้มีอาการสาหัสปางตาย ถ้าไม่ได้เราเป็นที่พึ่ง เป็นพยาน เขาจะต้องตายเป็นแน่แท้” ตรัสอย่างนี้แล้วไม่ยอมตรัสอะไรต่อไปอีก

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 394340เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2010 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท