ประชานิยม และ ความสมเหตุสมผลทางนโยบายเศรษฐศาสตร์มหภาค


สิ่งที่ควรระมัดระวังคือ การใช้นโยบายประชานิยมโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ หวังผลทางด้านการเมืองเพียงอย่างเดียวแล้ว จะทำให้กลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจบิดเบือนจากความเป็นจริง และที่สำคัญเมนูนโยบายประชานิยมต้องไม่สร้างความรู้สึกให้กับประชาชนคนไทยว่าได้ “ของเปล่า” ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วประชานิยมก็เปรียบเสมือน “สินค้าฟุ่มเฟือยและด้อยคุณภาพ”

              คนไทยได้ยินคำว่า “ประชานิยม” Populism มากขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังจากรัฐบาลชุดนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศนโยบายชุดใหม่ในด้านการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุนในช่วงเดือนมกราคมปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการต่อยอดมาจากเมนูนโยบายชุดเดิม เช่น กองทุนหมู่บ้าน  ๓๐ บาทรักษาทุกโรค  การพักชำระหนี้เกษตรกร รวมถึงโครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ เป็นต้น โดยถือได้ว่าเป็นเมนูนโยบายที่โดนใจประชาชน (ต่างจังหวัด) มากที่สุด จนทำให้ได้รับฉันทมติความไว้วางใจจากประชาชนโดยส่วนใหญ่ให้ได้รับเลือกตั้งนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน ซึ่งเมนูนโยบายประชานิยมดังกล่าวในขณะนั้น ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงถึงความสมเหตุสมผลของการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มหภาคว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หรือเป็นเพียงการใช้เครื่องมือเพื่อตอบสนองกับเมนูนโยบายประชานิยมที่หาเสียงทางการเมืองเพียงเท่านั้น เพราะแต่ละโครงการต้องใช้เม็ดเงินเป็นจำนวนมาก โดยการใช้นโยบายการคลังผ่านทางการจัดสรรรายจ่ายงบประมาณแผ่นดิน บางโครงการต้องใช้เงินกู้ซึ่งถือว่าเป็นภาระผูกพันของงบประมาณ และในส่วนของนโยบายการเงินโดยการผ่านทางเครื่องมือการปล่อยสินเชื่อจากการจัดหาแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำผ่านทางสถาบันการเงินของภาครัฐ ซึ่งท้ายที่สุดถ้าหากมีปัญหาทางด้านการชำระคืนก็จะกระทบต่อรัฐบาลเพราะถือว่าเป็นหนี้ของภาครัฐ

    

              ประเทศที่นำนโยบายประชานิยมมาใช้แล้วประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ได้แก่ ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งเริ่มต้นจากประธานาธิบดีอิริโกเยน และต่อเนื่องถึงประธานาธิบดีฮวน เปโรน ซึ่งเป็นการใช้นโยบายประชานิยมโดยไม่คำนึงถึงความสมเหตุสมผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นการใช้นโยบายเพื่อผลทางการเมืองเท่านั้น เช่น

                    -  การช่วยเหลือทางด้านเงินทุน การลดอัตราดอกเบี้ย และการให้แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในอัตราพิเศษ

                    -  ตั้งรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นและสนับสนุนให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรและข้าราชการ

                    -  ตั้งองค์กรเพื่อสวัสดิการทางสังคมขึ้น เพื่อแจกเงินและสิ่งของแก่คนจนในนามของภรรยาประธานาธิบดี

                    -  จัดตั้งหน่วยประชาสัมพันธ์ขึ้นพิเศษหรือที่เรียกว่าหน่วยโฆษณาชวนเชื่อเพื่อกระจายข่าวความสำเร็จของรัฐบาลและสร้างภาพลักษณ์ให้กับประธานาธิบดี  

 

               ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวดังเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และเมื่อนำมาใช้ปรากฏว่าเห็นผลทันตา เศรษฐกิจขยายตัวได้ในอัตราต่อเนื่อง จากปัจจัยที่กระตุ้นหลายอย่าง โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงินจำนวนมากของภาครัฐผ่ายทางงบประมาณรายจ่าย การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากการเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกร แรงงานและข้าราชการ นำไปสู่การขาดดุลการค้าในระดับที่สูง เนื่องจากผู้ผลิตต้องนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบเพื่อรองรับการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ และรัฐบาลปิดการขาดดุลนั้นด้วยใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เมื่อตอนประธานาธิบดีฮวน เปโรน เข้ารับตำแหน่งอาร์เจนตินามีเงินสำรองในรูปของเงินตราต่างประเทศสูงถึง ๒.๕ เท่าของการนำเข้าต่อปีในขณะนั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคำนวณว่าเป็นเป็นประมาณร้อยละ ๗๐ ของเงินสำรองของประเทศละตินอเมริกาทั้งหมด เพียงปีกว่า ๆ รัฐบาลของประธานาธิบดีฮวน เปโรน ก็ใช้เงินสำรองระหว่างประเทศไปจำนวนมากจนหมดสิ้น ซึ่งเป็นต้นเหตุของการนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจประเทศ

 

             การใช้นโยบายเศรษฐศาสตร์มหภาคโดยนโยบายการเงินและนโยบายการคลังนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากในฐานะที่เป็นเครื่องมือของภาครัฐในการดำเนินนโยบายให้บรรลุตามเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) และการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (economic stabilization) ซึ่งเป้าหมายทางด้านความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น เป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของภาครัฐที่ต้องพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของสังคมในอันที่จะยกระดับรายได้ต่อหัวให้สูงขึ้น เพื่อรองรับกำลังแรงงานภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เป้าหมายทางด้านการรักษาเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจนั้น ประกอบด้วย การรักษาเสถียรภาพภายใน ได้แก่ การรักษาระดับราคาภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพ ส่วน การรักษาเสถียรภาพภายนอกนั้น ประกอบด้วย การรักษาดุลการค้าและบริการ   ดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลการชำระเงิน ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ท้ายที่สุดรัฐบาลต้องดูถึงความเหมาะสมของการใช้นโยบายเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายทางด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคดังกล่าว โดยคำนึงถึงความสมเหตุสมผลเป็นหลักเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบาย ไม่ดำเนินนโยบายโดยการก่อให้เกิดการบิดเบือนทางเศรษฐกิจเพียงเพื่อผลของทางการเมืองเพื่อนำไปสู่อำนาจเท่านั้น

 

               นโยบายประชานิยม (Populism) ถึงแม้ว่าจะเป็นเมนูนโยบายที่ทำให้เห็นผลบรรลุเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจเป็นรูปธรรมชัดเจนรวดเร็ว ก่อให้เกิดรายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นและเอื้อต่อการกระตุ้นทางอุปสงค์รวมในการบริโภค แต่สิ่งที่ควรระมัดระวังคือ การใช้นโยบายประชานิยมโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ หวังผลทางด้านการเมืองเพียงอย่างเดียวแล้ว จะทำให้กลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจบิดเบือนจากความเป็นจริง และที่สำคัญเมนูนโยบายประชานิยมต้องไม่สร้างความรู้สึกให้กับประชาชนคนไทยว่าได้ “ของเปล่า” ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วประชานิยมก็เปรียบเสมือน “สินค้าฟุ่มเฟือยและด้อยคุณภาพ” ซึ่งจะทำให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคของภาคประชาชนเปลี่ยนไปในทางการเป็นการบริโภคนิยม ซึ่งนำมาสู่ปัญหาการใช้จ่ายเกินตัว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เงินกองทุนของหมู่บ้าน หรือโครงการเงินกู้เอื้ออาทรต่าง ๆ ถือว่าเป็นภาระหนี้สินของประชนชนไม่ใช่สินทรัพย์อย่างที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ

 

หมายเลขบันทึก: 396649เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2010 19:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท