NHSO-PCN
เครือข่าย Palliative Care สปสช. NHSO-PCN

The Departure ความตาย การตาย คนตาย : เราได้อะไรจากภาพยนตร์


ทำไมอาชีพที่เกี่ยวกับความตายนั้นจึงน่าอับอายหรือถูกรังเกียจ อาชีพเก็บศพหรือสัปเหร่อ หรือทำงานในสุสาน อาชีพล้างป่าช้าหรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่นิติเวชทำงานในห้องดับจิตนั้น น่าเกลียดน่ากลัวจริงหรือ?

นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


จำความรู้สึกที่เราได้ดูหนังสนุกๆในโรงภาพยนตร์ครั้งแรกได้ไหมครับว่ามันช่างวิเศษเพียงใด มนต์สะกดจากภาพเคลื่อนไหวและเสียงที่ใส่ประกอบตรงหน้าเราได้สร้างการรับรู้เสมือนสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง เราปลดปล่อยใจให้ล่องลอยไปตามที่เห็นและที่ได้ยินตลอดสองหรือสามชั่วโมง ที่เราเกิดประสบการณ์ โดยไม่ใช่เรื่องจริง เราไปอยู่ที่นั่นที่นี่โดยไม่จำกัดกาลและสถานที่ เราเห็นไดโนเสาร์ ออกนอกอวกาศ ขึ้นสวรรค์ลงนรก หรือไปอยู่ท่ามกลางแก๊งสเตอร์ที่นิวยอร์ค อยู่ในกองเรือของโจโฉ ไปผจญภัยสุดขอบฟ้าที่อียิปต์ ไปอยู่ในงานเลี้ยงสุดหรูบนเรือสำราญไททานิค ฯลฯ  ยิ่งในยุคดิจิตอลนี้แล้ว ภาพยนตร์จะสังเคราะห์ภาพ และเสียงอย่างไรก็ได้ เราเองก็ยินยอมพร้อมใจถูกสะกดจิตไปกับการชมภาพยนตร์นั้น

กล่าวในอีกแง่หนึ่งก็คือ ผู้เสพภาพยนตร์ได้รับประสบการณ์โดยตรงผ่านภาพและเสียงของภาพยนตร์ ทั้งที่ไม่ได้ไปมีประสบการณ์ตรงๆ ณ กาลและเทศะดังภาพยนตร์นั้นจริงๆเลย (ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ หนังโป๊ไงครับ)

ประสบการณ์ที่ว่าก็คือ ประสบการณ์สำเร็จรูปที่พร้อมเสพ เราไม่จำเป็นต้องทุ่มเทสู้เพื่อชาติ เราก็แสนจะภูมิใจไปกับสมเด็จพระนเรศวรได้

เราอาจจะร่วมเศร้าสลดไปกับชะตาของชาวยิวยุคที่ถูกนาซีล้างเผ่าพันธุ์โดยไม่ได้เคยไปยืนตรงคุก Auschwitz ด้วยตัวเอง

อิทธิฤทธิ์ของภาพยนตร์ ที่มันสามารถให้ประสบการณ์ตรงกับเรา โดยที่ไม่ต้องไปทำเองได้นี่ละครับ ที่ทำให้ภาพยนตร์สร้างการเรียนรู้ให้มนุษย์เรา ราวกับเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในชีวิต

ดังเรื่องการตายและความตาย เรื่องสำคัญที่เรียนกันตรงๆแสนลำบาก เพราะในชีวิตจริง เรื่องเหล่านี้นั้นหนักหนาสาหัสเกินกว่าจะหันมาแค่อยากเรียนๆรู้ๆ แล้วกลับมามีจิตใจเป็นปกติสุขเฉยๆได้

เมื่อคนเราดูหนังโป๊แล้วมีอารมณ์ได้ ฉันใด คนเราเมื่อดูภาพยนตร์ที่มีเรื่องเกี่ยวกับความตายก็รู้สึกรู้สาต่างๆได้ราวอยู่ร่วมกับความตายตรงนั้นด้วย ฉันนั้น ผมคิดว่าเรื่องความตายนั้น อาจจะเป็นพลอตทำหนังที่ฮิตรองมาจากเรื่องความรักในอันดับสองหรือสามได้อย่างไม่น่าแปลกใจ เหมือนในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่ภายในจิตสำนึกก็จะมีสมดุลในพลังงานทางจิตที่เป็นบวกอยากสร้างสรรค์ รู้สึกผูกพัน รักใคร่อยากหลอมรวม (Libido) และพลังงานในทางลบคือความตาย ที่จบสิ้น อยากทำลายล้าง ปลีกเร้นไป (Thanatos) เพราะหากถามเหตุผลว่า ทำไมชีวิตเราในทุกวันนี้มันถึงต้องเป็นอย่างนี้ ในทัศนะของฟรอยด์ เหตุนั้นก็ล้วนมาจากพลังงานในจิตไร้สำนึกทั้งสองผลักดันเราไป โดยที่เราไม่ได้ตระหนักรู้อะไรเลย เดี๋ยวก็รักอยากให้อยู่ เดี๋ยวก็เกลียดอยากให้ตายๆไปเสีย และปัญหาจึงเกิดเมื่อความปรารถนาภายในจิตใจเรา ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของโลกภายนอก คนที่เรารักกลับตายจากเราไป คนที่เราเกลียดชังกลับต้องเจอกันทุกวัน ความคับข้องใจและโศกเศร้าจึงเกิดขึ้น แต่มีวิธีแสดงออกต่างกันตามกลไกทางจิตที่แต่ละบุคคลเรียนรู้

ในโลกของภาพยนตร์ ความตายอาจจะมาอย่างคุกคาม เหมือนเรื่อง Final Destination

ภาพยนตร์บางเรื่องก็ใช้บุคลาธิษฐานทำความตายให้เป็นตัวๆ มาเจรจากับตัวละครได้เช่นเรื่อง Meets Joe Black ซึ่งตั้งชื่อได้น่าสนใจ เพราะ Joe คือชื่อโหลๆของสามัญชนฝรั่งทั่วๆไป Black ก็คือสีของความตายอันมืดมิด หากให้เดาตามชื่อเฉยๆ อาจต้องการสื่อว่า ความตายนั้นก็ย่อมเกิดกับทุกคน แม้ว่าจะเป็นมหาเศรษฐีก็ต้องตายเหมือนชาวบ้านชาวช่อง หนังอีกหลายเรื่องเล่นกับแกนเวลา มีการย้อนอดีตว่าใครเป็นยังไงก็จะเอาพวกเขามาตายให้ดู

และหนังบางเรื่องที่มีประเด็นหลักเล่นเรื่องความตาย แต่เล่าผ่านบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ตาย เช่น ซีรีย์ที่โด่งดังเมื่อหลายปีก่อน เรื่อง Six Feet Under (การฝั่งศพของคริสตชน ต้องฝั่งลึกลงไป 6 ฟุต ซึ่งก็ถูกต้องตามหลักอนามัยดี) เล่าเรื่องของครอบครัวหนึ่งที่ทำธุรกิจรับจัดการศพและงานศพ

และตัวอย่างที่งดงามที่สุดอีกเรื่องหนึ่งคือ ภาพยนตร์ญึ่ปุ่นเรื่อง Okuribito หรือชื่อสากลว่า The Departure (2008) ก็เป็นเรื่องของผู้จัดการศพเช่นเดียวกัน หากจะกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่อง The departure ในแง่คุณค่าในเชิงศิลปะภาพยนตร์แล้ว การที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขา Best Foreign Language Film (2009) คงช่วยยืนยันได้ว่าหนังเรื่องนี้มีคุณภาพเพียงใด เรื่องของบท ภาพ เสียง การตัดต่อทุกอย่างอยู่ในมาตรฐานที่สูงที่สุดที่ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งพึงจะลงตัวได้

 

ที่มาภาพ :http://zikipediq.files.wordpress.com/2009/09/okuribito21.jpg

แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือ การถ่ายทอดเนื้อหากับผู้ชมว่า หนังเรื่องนี้ เล่าอะไรสู่เรา เราได้รับ-รู้-เรียน อะไรภายหลังตลอด 130 นาที ที่ภาพยนตร์สะกดเราราวกับไปใช้ชีวิตอยู่กับสัปเหร่อญี่ปุ่นมาเป็นปีได้ (ต่อไปนี้จะเปิดเผยเนื้อหา ถ้าคิดจะดูน่าจะไปดูมาก่อนอ่านนะครับ)

หนังเรื่องนี้ มีบทที่ดัดแปลงจากหนังสืออันเป็นอัตตชีวิตประวัติของคนทำงานแบบนี้จริงๆคนหนึ่งในญี่ปุ่น (ผู้แต่ง คือ Aoki Shinmon มีแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วในชื่อCoffinman: The Journal of a Buddhist Mortician) เล่าถึงพระเอกที่เป็นนักดนตรีคลาสิก เล่นเชลโลอยู่ในเมืองหลวง แล้วต่อมาไม่มีงานทำ เลยต้องกลับบ้านนอก ไปอยู่ในบ้านที่เคยอยู่ สังคมที่เติบโตมา

หนังเล่าความรู้สึกของตัวพระเอกว่าการกลับไปบ้านเกิดนั้น เหมือนเป็นผู้แพ้ ต้องจำยอมกลับไป และดูน่าอับอาย เพราะคนแถวนั้นก็ยังชื่นชมเขาที่ไป “ได้ดิบได้ดี" เล่นดนตรีหรูในเมืองกรุง ต่อมาเขายังต้องทำอาชีพที่น่าอับอายผู้คน (แต่รายได้ดี) คือ เป็นผู้แต่งหน้า แต่งตัวจัดการศพ ก่อนนำใส่โลงไปฌาปนกิจ(เผา) ซึ่งหนังถ่ายทอดความน่าอับอายหรือน่ารังเกียจของอาชีพนี้ว่า พระเอกไม่สามารถบอกแม้แต่เมียตัวเองได้เลยว่าทำอาชีพนี้

ทำไมอาชีพที่เกี่ยวกับความตายนั้น จึงน่าอับอายหรือถูกรังเกียจ อาชีพเก็บศพหรือสัปเหร่อ หรือทำงานในสุสาน อาชีพล้างป่าช้า หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่นิติเวชทำงานในห้องดับจิตนั้น น่าเกลียดน่ากลัวจริงหรือ?

ทั้งที่ล้วนแต่เป็นอาชีพที่สุจริตและจำเป็นที่สุดในสังคมก็ว่าได้ ความรังเกียจของอาชีพนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่ล้วนแต่เชื่อมโยงไปกับความตาย การตาย ร่างกายที่ตายแล้วหรือศพนั้น เป็นที่น่ารังเกียจ (ต่อให้ฉีดฟอร์มาลีนแล้ว ก็ไม่ใช่อะไรที่น่าพิสมัย นอกจากคนจิตวิปริตบางพวก) กลิ่นเน่าของสังขารที่ย่อยสลายตามกระบวนการธรรมชาติ ก็แน่นอนว่าไม่มีใครชอบดม ร่างที่แข็งๆ เย็นๆ ก็ชวนสยองขวัญที่จะจับต้อง

เพราะเหตุใดการรับรู้เหล่านี้จึงนำไปสู่ความรู้สึกขยะแขยงน่ารังเกียจ เพราะมันล้วนแต่เชื่อมโยงไปถึงการตายใช่หรือไม่หนอ เพราะมันกระตุ้นเตือนเราให้รู้ถึงข้อจำกัดของสิ่งมีชีวิตที่อยากลืมข้อจำกัด เสพสุขจนลืมตาย ใช่หรือไม่หนอ

เมื่อภรรยารู้และทนรับไม่ได้ จนต้องหนีเขาไป เจ้าตัวเอกเองก็ทำงานไปเพื่อเงินเท่านั้น

ทำไมเขาไม่เปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น ที่มันเจริญหูเจริญกว่านี้เสีย

พระเอกกลับค่อยๆเรียนรู้ความหมายของอาชีพที่ทำอยู่ ว่าการสร้างความทรงจำสุดท้าย ก่อนที่จะเอาศพเข้าโลง และนำไปเผาเพื่อจากไปอย่างไม่มีวันกลับนั้น มันสำคัญและมีความหมายเพียงใด แม้ว่าผู้ตายก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่การตั้งศพตามธรรมเนียมของญี่ปุ่นตามภาพยนตร์นั้น จัดงานศพที่บ้าน(ที่อยู่ของคนเป็น โลกที่คนเป็นอยู่)

จนเมื่อได้เวลา ก็จะเช็ดเนื้อเช็ดตัว เปลี่ยนชุดแต่งหน้าและนำเข้าไปใส่ในโลง (ที่อยู่ของคนตาย) เพื่อไปเผา (สู่โลกหน้า) จุดเปลี่ยนผ่านที่เป็นเวลาสั้นๆนิดเดียวนี่แหละ ที่เป็นโอกาสทอง ว่าญาติผู้ตายจะจดจำผู้ตายไปอย่างไร และความคั่งค้างคาใจที่มีกับผู้ตายจะได้รับการคลี่คลายเคลียร์กันได้หรือไม่อย่างไร เพราะเมื่อเข้าโลงและเข้าเตาเผาไปแล้ว ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะไปสู่อีกภพภูมิหนึ่ง

 

ซึ่งทั้งหมดในภาพยนตร์นี้ ก็เปรียบเหมือนการเดินทางจากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่งตามชื่อภาพยนตร์ The Departure นั่นเอง ภาพยนตร์ได้ถ่ายทอดกระบวนการนี้ออกมาได้อย่างงดงามและดูสุขสงบ ศักดิ์สิทธิ์และลึกซึ้ง ตามปรัชญาชินโตปนพุทธที่เป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมอันงดงามของประเทศญี่ปุ่นเขา (แต่มีคนญี่ปุ่นเองหลายคน โดยเฉพาะที่อยู่ในเมืองหลวงจะแย้งว่า พิธีอย่างนี้ไม่น่าจะเหลืออยู่จริงๆในปัจจุบันแล้ว)

ผมเองดูแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า ในวาระสุดท้ายคนเราต้องการอะไร เมื่อเราตายไปแล้วก็ไม่สามารถรับรู้อะไรได้ พิธีกรรมอันสวยงามทั้งหมดอาจพูดตามประเพณีว่าทำเพื่อผู้ตาย แต่จริงทำเพื่อญาติที่ยังรับรู้เห็นๆกันอยู่ต่อหน้าต่อนี้มากกว่าหรือเปล่า เพื่อความทรงจำอันงดงาม ไม่ต้องเหลืออะไรติดค้าง และโอกาสสุดท้ายที่จะได้กล่าวลา อย่างไรก็ตามหากแม้ผู้ตายรับรู้ได้ ความสุขของญาติที่ยังอยู่นั้นก็คงเป็นสิ่งที่ผู้ตายปรารถนาเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ความเข้มข้นลึกซึ้งของบทก็อยู่ที่ตัวพระเอกเอง ที่มีปมเกี่ยวความสัมพันธ์กับบิดา เพราะบิดาหนีจากไปแต่วัยเด็ก โดยที่ตัวเขาขณะนั้น ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น พระเอกไม่มีความทรงจำในเรื่องหน้าตาของพ่อเลย ว่าหน้าตาเป็นยังไง หรือตอนนี้พ่อเขาไปอยู่ไหนเป็นอย่างไรบ้างแล้ว พ่อจากไปเฉยๆ เหมือนราวกับ “ตาย” หายไปจากชีวิตเขา อย่างไม่ทันได้รับรู้หรือทำความเข้าใจใดๆ

และในตอนสุดท้ายของภาพยนตร์ พระเอกได้มีโอกาส “ส่ง” การจากไปของพ่อตนเอง หลังจากที่พ่อสร้างปมและได้ “ตายจากจิตใจ” ของเขาไปในวัยเด็ก ได้เกิดกระบวนการยอมรับกับการตายไปจริงๆ ปมต่างๆได้คลี่คลาย เพราะเขาได้มีโอกาสสื่อสารกันผ่านก้อนหิน ที่พระเอกพบในมือของคุณพ่อขณะเสียชีวิต ซึ่งวิธีนี้เป็นการเล่นประจำครอบครัวของเขากับพ่อ

ในตำราเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั่วๆไป อาจพูดถึงประโยคพื้นฐานที่มักได้ยินกันเมื่อคนเรากำลังจะตาย สามประโยคหลักๆ คือ “thank you”  “I love you” และ “good bye” แต่ก้อนหินขาวๆกลมๆ ก้อนเล็กๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ กลับมีความหมายลึกซึ้ง

ซึ่งถ้าเขาไม่กลับมาบ้านเกิด ถ้าเขาไม่เลือกทำอาชีพนี้ และถ้าเขาไม่เลือกที่จะมาดูการตายคุณพ่อ ปมนี้ก็จะไม่มีโอกาสได้คลี่คลายกันเลยตลอดชีวิต เขาคงจะไม่มีวันระลึกถึงหน้าตาคุณพ่ออกเลย จนตายไปก็ยังไม่รู้ชัดว่าพ่อตนเองหน้าตาเป็นอย่างไร

 

 ที่มาภาพ :http://2.bp.blogspot.com/_HBoDIlVM3Kg/SojmifcSh-I/AAAAAAAAAGg/1uxrYO1Ei3o/s320/okuribito.jpg

นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังแสดงให้เห็นถึงด้านต่างๆของชีวิตที่ตรงข้ามกับความตายที่ไร้ชีวิตชีวา คุณสัปเหร่อตัวพ่อ เจ้าของบริษัทของพระเอก กลับเสพสุขต่างๆกับสิ่งมีชีวิตอย่างเต็มที่ สำนักงานบริษัททำศพกลับเต็มไปด้วยชีวิตชีวาเพราะปลูกต้นไม้มากราวกับเป็นเรือนกระจก กินเนื้อย่าง ไก่ทอด จัดเลี้ยงปารตี้ ซึ่งคงช่วยต้านความรู้สึกห่อเหี่ยวจากการที่ต้องข้องเกี่ยวกับการตายได้เป็นอย่างดี ส่วนทางวงการแพทย์ที่ก็เกี่ยวข้องการตาย ความตาย คนตายไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันนั้น ผมไม่แน่ใจเรามีความสุขกับชีวิตกันมากพอ จนมีกำลังใจทำงานและเห็นความหมายและความงามของงานที่เราทำ แม้ว่าก็เกี่ยวๆกับความตาย คนตาย เหมือนงานของพวกเขาเหล่านี้ในภาพยนตร์หรือเปล่า

เรายังเห็นวิถีชีวิตของครอบครัว ของสังคม เคลี่อนผ่านเป็นฉากหลังที่อบอุ่นของภาพยนตร์ไป หนังได้ใส่ประเด็นทางวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศเขาได้อย่างนุ่มนวลไม่ยัดเยียด เป็นหนังที่เรื่อยๆ แต่ลึก ถ่ายทอดเรื่องที่น่าเศร้าและสลดหดหู่ ได้อย่างเพลิดเพลินและกินใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งที่ผมรับชมมาเลยทีเดียว

ผมคงจำภาพการแต่งตัวศพผู้ตายในภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่เหมือนกำลังได้ชมความงามจากศิลปะชั้นสูงแล้ว เกิดความรู้สึกสงบสุขไปอีกนานแสนนาน

ขอแนะนำทุกท่านลองหามาดูครับ

หมายเลขบันทึก: 307673เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2009 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

อาจารย์สกลกับผม กำลังจะใช้เป็น สื่อการสอน ในการอบรมอาจารย์ใหม่เรื่อง ethics และ palliative care พอดีเลย

  • รู้สึกดีกับหนังเรื่องนี้ครับ  ดูไป  น้ำตาจะไหล  ในตอนที่หัวหน้าพระเอกแต่งหน้าให้ผู้หญิงคนหนึ่ง  แต่เวลาแต่งหน้า ก็จะมองรูปภาพผู้ตายและพยายามมองว่าผู้ตายน่าจะมีลักษณะนิสัยอย่างไร  พอแต่งหน้าเสร็จ   ก็ขอลิปสติกแท่งโปรดของผู้ตายมาทาให้
  • งานอะไรก็มีเกียรติ  ถ้าเรามองเห็นคุณค่าจากการทำงานของเราจริงๆ

 

ได้ดูหลายรอบ (เพราะเตรียมสอน)

ร้องไห้มาหลายยก (ร้องจริงๆ ไม่ใช่แค่น้ำตาไหล แต่มีสะอึกสะอื้น หน้าตาบิดเบี้ยวไปเอง จาก emotion ภายใน) เมื่อเราอนุญาตให้หัวใจเปิดรับเรื่องราวที่เห็นและได้ยินเข้ามาในตัวตนของเราเต็มๆ

หลังจาก workshop ผู้เข้าร่วมสะท้อนได้อย่างหลากหลาย ลึกซึ้ง และที่เหมือนกันหมดก็คือชื่นชมและรู้สึกดีๆหลายประการ ทีสำคัญคือต่อวิชาชีพ ต่อสิ่งที่เราทำ ต่อสิ่งที่เราอยากจะเป็น​(และกำลังมีโอกาสจะทำให้มันเกิด)

ถ้าจะเขียนละเอียด สงสัยต้องเป็น standalone article ครับ

แนะนำตัวเองก่อนนะคะ เป็นอ.ภาคสูติ ทำงานอยู่ที่เดียวกับอ.สกลและอ.เต็มศักดิ์ค่ะ

ได้ดูตอนที่อ.สกลเอาไปฉายตอนอบรมอ.ใหม่ ของคณะแพทย์ ดูแค่รอบเดียว ก็น้ำตาซึมๆ ค่ะ

หนังสร้างได้ดีมากๆ เนื้อเรื่อง นักแสดง ฉาก วิว เพลง มุมกล้อง สุดยอด เป็นหนังที่ทำให้เห็นความตายได้สวยสดงดงามและเป็นธรรมชาติมาก

ตอนที่ดูจบแล้วเราให้อ.ใหม่เล่าสะท้อนความรู้สึก มีหลายคนที่สามารถโยงเข้ากับการทำงานในอาชีพแพทย์ได้

เช่น พระเอกเป็นคนที่รักและตั้งใจทำงานมาก แม้จะเป็นงานที่เคยไม่ชอบมาก่อน เป็นงานที่ดูน่ารังเกียจ แต่หลังจากที่เขาได้เห็นอ.ทำให้ดู ได้ลองทำ จนตัวเองซึมซาบและรู้สึกดี เห็นความสำคัญของงานที่ทำ รับรู้ได้ถึงการขอบคุณจากญาติๆ ผู้ตาย ก็ทำให้เขารักงานนี้และเลือกที่จะทำมันต่อไป แม้ว่าจะโดนภรรยาหรือเพื่อนบอกให้เลิก ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับงานของแพทย์ เราก็ค่อยๆเรียนรู้ มาทีละขั้นเช่นเดียวกัน และถ้าเราได้ซึมซับความดี ความงาม ความสำคัญของงานที่เราทำ เราก็จะรักและเห็นคุณค่าของงาน จะไม่เบื่อ ไม่โกรธหรือหงุดหงิดคนไข้ มีอ.ท่านหนึ่งเล่าว่า เห็นพระเอกปฏิบัติต่อศพ ด้วยความเคารพและประณีตมาก ทำให้นึกถึงว่าเวลาที่เราปฏิบัติต่อคนไข้ก็ควรจะทำเช่นเดียวกัน บางครั้ง แม้ไม่ได้ทำงานที่เรารัก ก็จงรักงานที่เราทำค่ะ

  • มีโอกาสเข้าฟังการบรรยายของ อ.สกล ที่ SHA เชียงใหม่ จัดโดย สรพ. เป็นรายการที่ประทับใจที่สุดในชีวิตที่ผ่านมา  น้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้ตัวแต่ก็มีสติบอกตัวเองว่า"เราเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากที่สุดในวันนี้"
  • กราบขอบพระคุณ อ.สกล มาณ.ที่นี้ด้วยค่ะ

ชอบเหมือนกันครับ

ซื้อเก็บเข้า collection แล้ว สนับสนุนคนทำหนังดีๆ

ชอบเหมือนกันครับ

ซื้อเก็บเข้า collection แล้ว สนับสนุนคนทำหนังดีๆ

เป็นหนังดีมากๆ

ผม พูดถึงไว้ ที่ http://www.managerroom.com/forums/forum_posts.asp?TID=8899&PN=1&TPN=1

เป็น การใช้ ปัญญาสามฐาน ไปเรียนรู้จริงๆ

ผมเชื่อว่า แม้นในงาน วิศวกรรม เอง ก็ต้อง มี "หัวใจมนุษย์" มี art ฐานใจ และ ฐานกาย มากๆ

มี รากเหง้าทางสติและปัญญาความคิดด้วยอีกต่างหาก

ผมชอบที่ หมอสกล เคยบอกว่า "ritual ไม่ใช่ Protocol" !!! ใช่เลย จริงๆนะ

ได้รู้จักกับหนังเรื่องนี้ตอนอาจารย์ ไปสอนที่เชียงใหม่ค่ะ ประทับใจมาก

เลยติดตามหาดูทั้งเรื่อง เป็นหนังที่ดีและสามารถให้แง่คิดได้หลายๆแง่มุม

เรื่องนี้เป็นการดูแลครอบครัวของผู้ตาย เคารพความเป็นบุคคลของเขาทั้งที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว

Bereavement care

ส่วนการดูแลระหว่างที่เริมป่วย การบอกความจริงญาติ ในเรื่อง One litre of tears (series drama) ก็ดีมากค่ะ

เป็น Palliative care อีกรูปแบบหนึ่งที่ได้เรียนรู้ค่ะ

แค่ดูบางฉากยังน้ำตาไหล อยากดูเต็มๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท