NHSO-PCN
เครือข่าย Palliative Care สปสช. NHSO-PCN

ถึงสมองเสื่อมแต่รักนี้ไม่เสื่อม


การแสดงความรักของลูกต่อพ่ออันเป็นที่รักยิ่งอาจจะเป็นการช่วยให้แกจากไปโดยไม่ทรมานกับสายและท่อต่างๆ นาๆ ก็ได้นะค่ะ

พญ.ธัญญพัทธ์ สุนทรานุรักษ์

กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลพิจิตร


วันหนึ่งไปเยี่ยมคนไข้สมองเสื่อมที่บ้าน หลังจากที่ไม่ได้พบคนไข้เป็นเวลาหลายเดือน เนื่องจากหมอลาคลอด เมื่อพบลุง ก็พบว่าลุงเปลี่ยนไปมาก จากเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่สุขภาพแข็งแรง แต่คนไข้วันนี้กลับมีร่างกายผอมแห้งนอนอยู่บนเตียง หลับตาไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไร  ทราบประวัติจากพี่พยาบาลว่าลุงมีอาการทรุดลงมาก จนตอนหลังนอนนิ่งไม่ยอมเดิน ไม่ยอมพูด เคยเข้านอนโรงพยาบาลเป็นเดือน หมอ work up ทุกอย่างรวมทั้ง CT brain แต่ไม่พบความผิดปกติใดๆ ลุงยังคงนอนนิ่งไม่พูด ไม่คุย ไม่ขยับตัว  แต่เมื่อได้ยินเสียงคนคนหนึ่ง ลุงจะลืมตามองและหันตาม ซึ่งคนคนนั้น คือ ลูกสาวบุญธรรมของแกนั่นเอง 

 

เท่าที่จำความได้คนไข้คนนี้ เป็นคนไข้รายแรกๆ ของคลินิกจำแจ่ม (คลินิกจำแจ่มเป็นคลินิกดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและปัญหาความจำเสื่อมของโรงพยาบาลพิจิตร) ลูกสาวพามาเพราะความจำไม่แจ่มแล้วนั่นเอง ลุงมาตรวจแต่ละครั้งแกก็จะมานั่งคุยกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล  ถึงแม้คลินิกให้บริการตอนบ่ายแต่แกจะมาตั้งแต่เช้า มาคุยกับคนโน้นคนนี้จนกระทั่งได้เวลาตรวจ เจ้าหน้าที่ยังเดากันว่า สงสัยแก่เหงาเพราะแกอยู่กับลูกแค่ 2 คน พอลูกไปทำงานแกจะต้องอยู่บ้านคนเดียว หมอจะนัดตรวจ 2 เดือน

 

แกก็บอกว่า ไม่เอา อยากมาโรงพยาบาลบ่อยๆ

 

เกือบทุกครั้งที่แกมาตรวจแกจะเล่าเรื่องลูกสาวบุญธรรมให้หมอฟังเสมอ แกเรียกลูกแกว่า ไอ้หนู ทั้งๆที่ลูกแกอายุประมาณ 50 ปีแล้ว 

 

เวลาจะกลับ เจ้าหน้าที่นอกจากจะให้บัตรนัดแล้วก็จะต้องย้ำวันนัดให้แกเพราะอย่างที่บอก แกเป็นสมองเสื่อม ย้ำไปย้ำมาแกก็จำไม่ได้อยู่ดี แต่บอกว่า ไอ้หนูมันรู้เดี๋ยวมันเตือนเอง

 

เราไม่ค่อยได้เจอลูกแกบ่อยนัก เพราะลูกสาวต้องไปทำงาน  แต่บางครั้งที่ต้องการยืนยันอะไรบางอย่างที่ลุงเล่าก็จะต้องเชิญลูกมา (เพราะว่าคนไข้สมองเสื่อมบางครั้งอาจจะพูดสิ่งที่แกคิดแต่อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง จำเป็นต้องได้รับการยืนยันจากญาติบางเรื่อง)  ลูกแกก็จะเล่าให้ฟังว่า พ่อเป็นคนเก่งมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทุกวันนี้ก็ยังปั่นจักรยานออกกำลังกาย รวมทั้งปั่นจักรยานมาโรงพยาบาลด้วย เวลาปั่นพ่อจะปั่นจักรยานเร็ว แล้วก็ชอบปั่นย้อนศร

 

หมอก็กลัวว่ารถจะชนลุงเพราะบ้านลุงอยู่ในเมืองอยู่ติดถนน 4 เลน แต่แกก็บอก ไม่เป็นไร ไม่เคยชนกับใครเลย ถนนนี้เกิดทีหลังแกอีก ทุกอย่างแกจะมีทางแก้ของแกหมด 

 

แต่วันนี้ลุงคนเก่งของเรานอนนิ่งอยู่บนเตียงไม่รับรู้ใดๆ  หมอกับพยาบาลไปเยี่ยมแกก็ไม่ลืมตามองด้วยซ้ำ  คนที่จะทำให้แกพยายามจะลืมตาได้คนเดียวคือ ไอ้หนู ของแกนั่นเอง ตอนนี้ลุงไม่ยอมกินข้าวมาหลายวัน ลูกสาวแกกำลังตัดสินใจเรื่องใส่สายให้อาหาร เราก็ได้แต่ให้ข้อมูลว่าการใส่สายให้อาหารอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรถ้าร่างกายของคนไข้ไม่รับเสียแล้ว 

 

การแสดงความรักของลูกต่อพ่ออันเป็นที่รักยิ่ง อาจจะเป็นการช่วยให้แกจากไปโดยไม่ทรมานกับสายและท่อต่างๆ นาๆ ก็ได้นะค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 315037เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2009 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เห็นด้วยคะ

เพียง กับข้าวที่แกชอบติดปลายช้อนเล็กๆ จาก "ไอ้หนู"ของแก

อาจเป็นสุขกว่า BD ที่ไหลผ่านท่อลงกระเพาะ ก็ได้คะ

ความรักมีหลายรูปแบบจริงๆ นะค่ะ ความรักของตาลอบในนค้นคนและความรักของลุงที่มีต่อลูกในกรณีนี้เป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไขเหมือนความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกแท้ๆ ทั้งที่"ไอ้หนู"ของแกไม่ใช่ลูกแท้ๆ แต่ลุงก็เฝ้าเลี้ยงดูมาจนผูกพันกัน

น้องธัญญพัทธ์ เขียนเล่าเรื่องได้ดีมากและคงมีเรื่องเล่ามากมายจากการทำงานในด้านต่างๆด้วย

อยากแนะนำให้เป็นสมาชิก Gotoknow ไปเลย แล้วเปิด blog ของตนเอง  จะได้บันทึกประสบการณ์ของตนเองไปเรื่อยๆ นะครับ

แล้วผมจะ link ไปที่เว็บไซด์ของเครือข่ายฯให้ครับ

อยากให้ลองพิจารณาดูครับ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ จะลองเข้าไปสมัคร Gotoknow ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท