สถานภาพของจุฬาราชมนตรีกับบทบาทด้านการฟัตวา


จุฬาราชมนตรีมีหลายสถานภาพ ไม่อาจชี้ขาดได้อย่างเด็ดขาดว่า จุฬาราชมนตรีดำรงอยู่ในสภานะใด ทั้งนี้ เนื่องจากมีความไม่ชัดเจนระหว่างจุฬาราชมนตรีในฐานะผู้นำมุสลิม ที่มุสลิมจะต้องมีผู้นำในสถานภาพของจุฬาราชมนตรีในประวัติศาสตร์ หรือการผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 หรือ ประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 และอำนาจเกี่ยวกับการวินิจฉัยบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540อันเป็นอำนาจเกี่ยวกับเรื่องทางวิชาการด้านตุลาการ

ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถานภาพทางประวัติศาสตร์นั้นจุฬาราชมนตรีมีภาพของความเป็นผู้นำประชาคมมุสลิม ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นมุสลิม ฉะนั้น ในบางครั้งจุฬาราชมนตรีทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการในกรมท่าขวา ได้แก่การค้าและการทูตกับชาวต่างชาติด้านฝั่งทะเลตะวันตก เช่น อินเดีย อาหรับ อิหร่าน ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม พระเจ้าปราสาททอง และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ออกพระจุฬาราชมนตรีเจ้ากรมท่าขวา ยังมีส่วนในการประกอบการค้าและการทูตกับชาวต่างชาติด้านฝั่งทะเลตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น จีนและไต้หวันอีกด้วยต่อมารวมถึงชาวตะวันตกที่ค้าขายอยู่ในบริเวณด้านตะวันตกคืออังกฤษเข้าไว้ด้วย

สถานภาพของจุฬาราชมนตรีในประวัติศาสตร์จึงไม่ได้มีลักษณะของมุฟตีย์ตามนิยามในความรับรู้ของคนทั่วไป ภาพของจุฬาราชมนตรีที่เป็นผู้นำมุสลิมทางด้านการเมืองและการบริหาร เมื่อมีการปฏิบัติหน้าที่ด้านการวินิจฉัยบทบัญญัติทางศาสนาจึงไม่ได้รับการยอมรับอย่างสนิทใจ

นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาสถานภาพของจุฬาราชมนตรีในฐานะผู้นำมุสลิม ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540การที่กฎหมายบัญญัติว่าจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย” หมายถึงอิหม่ามหรือผู้นำของมุสลิมทั้งหมด ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะต้องเป็นมุฟตีย์ควบคู่กันไปด้วย แม้ว่าคำว่า ผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ” จะหมายความถึงเป็นผู้นำทั่วไปทุกๆด้าน ซึ่งรวมถึงอำนาจหน้าที่ฟัตวาอยู่ด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำหน้าที่ฟัตวาเหมือนมุฟตีย์ที่มีอำนาจหน้าที่เฉพาะ

ส่วนสถานภาพของจุฬาราชมนตรีในฐานะประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศ ไทย ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ซึ่งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยดังนี้

(1) ให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
(2) ให้คำปรึกษาหรือข้อแนะนำเกี่ยวกับศาสนาอิสลามแก่คณะกรรมการ อิสลามประจำจังหวัด และคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
(3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการกลาง อิสลามแห่งประเทศไทยมอบหมาย
(4) ออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินและการจัดหาผล ประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและมัสยิด
(5) ออกระเบียบวิธีการดำเนินงานและควบคุมดูแลการบริหารงาน ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
(6) ปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในจังหวัด ที่ไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในการนี้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่ง ประเทศไทยจะมอบหมายให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ใกล้เคียงปฏิบัติ หน้าที่แทนก็ได้
(7) พิจารณาวินิจฉัยคำร้องคัดค้านตามมาตรา 41
(8) จัดทำทะเบียนทรัพย์สิน เอกสารและบัญชีรายรับรายจ่ายของ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
(9) ออกประกาศและให้คำรับรองเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม
(10) ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางศาสนา และการศึกษา ศาสนาอิสลาม
(11) ประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในกิจการที่เกี่ยวกับ ศาสนาอิสลาม
(12) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

จะเห็นได้ว่าอำนาจหน้าที่ตามมาตรานี้เป็นอำนาจในด้านบริหารองค์กรศาสนาอิสลามเป็นหลัก ซึ่งเป็นอำนาจที่กว้างขวางมากกว่าอำนาจของมุฟตีย์ในความรับรู้ของคนทั่วไป

ส่วนอำนาจเกี่ยวกับการวินิจฉัยบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540นั้นก็ยังขาดความชัดเจนว่าจุฬาราชมนตรี มีอำนาจในการวินิจฉัยบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม เพราะมาตรา 8 บัญญัติว่าจุฬาราชมนตรีมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม
(2) แต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
(3) ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ตามมาตรา 35 (11)เพื่อกำหนดวันสำคัญ ทางศาสนา

(4) ออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

อนุมาตราต่างๆ ของมาตรานี้ที่เกี่ยวข้องกับการฟัตวาคือ (2)(3)(4) นั้น เป็นการบัญญัติเพียงแค่อำนาจการประกาศเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจในการวินิจฉัย

แต่ในการปฏิบัติจริง จุฬามนตรีทำหน้าที่วินิจฉัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอิสลามด้วย รูปแบบการฟัตวาของจุฬาราชมนตรีจึงเป็นการฟัตวาที่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของผู้นำมุสลิมโดยอ้างอิงบทบัญญัติแห่งกฎหมายอิสลามเป็นหลัก ประกอบมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ซึ่งวิธีการวินิจฉัยนั้นโดยปกติแล้ว จุฬาราชมนตรีจะใช้วิธีการวินิจฉัยแบบองค์คณะ ตามข้อวินิจฉัยของคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรีที่จุฬาราชมนตรีแต่งตั้งตาม มาตรา 8 (2) เพียงแต่รูปแบบการวินิจฉัยแบบองค์คณะนั้นยังขาดความชัดเจนว่าองค์คณะมีอำนาจวินิจฉัย หรือมีอำนาจเพียงแค่ให้คำปรึกษาที่ไม่ผูกพันจุฬาราชมนตรี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของจุฬาราชมนตรีเป็นสำคัญ

ดังนั้น เมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรีที่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำมุสลิม ในll เป็นนักวิชาการและต้องทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารไปพร้อมๆกัน ซึ่งจะแตกต่างจากสถานภาพของมุฟตีย์ของประเทศอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ของนักวิชาการเป็นหลัก ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารด้วย จึงทำให้สถานภาพของจุฬาราชมนตรีที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นมุฟตีย ์ในประเทศไทยยิ่งไม่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ในเมื่อจุฬาราชมนตรีต้องทำหน้าที่ทั้งสามประการควบคู่กันไป ทำให้ภารกิจทั้งสามอย่างไม่เด่นชัดและเป็นไปตามที่คาดหวังจากผู้ที่มีสถานภาพ เป็นมุฟตีย์เท่าที่ควร เพราะผู้นำมุสลิมก็มีลักษณะและรูปแบบที่เฉพาะ งานด้านวิชาการก็ต้องอาศัยคุณสมบัติที่เฉพาะ งานบริหารก็ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะด้านเช่นกัน ฉะนั้น การมอบหมายภารกิจสามด้านนี้ให้แก่จุฬาราชมนตรีในอดีตหลายท่าน ซึ่งมีคุณลักษณะของโต๊ะครู แต่ไม่มีคุณลักษณะของนักบริหาร จึงเป็นอุปสรรคประการหนึ่งในการบริหารบริหารสำนักงานคณะกรรมการอิสลาม แห่งประเทศไทยที่มีขอบเขตอำนาจในการบริหารสำนกงานคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดและมัสยิดทั่วประเทศ เพราะโต๊ะครูมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนวิชาการอิสลาม แต่ก็ด้อยในด้านบริหาร การที่จะหาบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ทั้งสามด้านควบคู่กันไปถึงมีอุปสรรคเป็นอย่างยิ่ง

หมายเลขบันทึก: 363270เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2010 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2015 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น่าสนใจครับ ไม่ทราบเป็นงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ครับ แล้วตอนนี้กำลังดำเนินการไปบทที่เท่าไรแล้วครับ รบกวนนำมาเสนอต่อน่ะครับ ขอบคุณครับ

เป็นวิทยานิพนธ์ รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี และ รศ.ดลมนรรจน์ บากา เป็นที่ปรึกษาครับ

ไม่เห็น อ.อิสมาแอ เล่าให้ฟังเลยครับ งัยถ้ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร เล่าให้ฟังบ้างน่ะครับ

ผมว่าความจริงแล้วท่านจุฬาฯ หรือไม่ก็คนในสำนักจุฬาฯ น่าจะเขียนตำราหรือแปลตำราศาสนาที่น่าสนใจ ออกสู่สายตาของคนภายนอกบ้าง ในนามสำนักจุฬาราชมนตรี เพราะผมไม่เห็นมีตำราใดๆ ที่ออกมาจากสำนักจุฬาฯ เลยนอกจาก วารสารเล็กๆ น้อยๆ ในวันงานเมาลิดฯ แต่หลังจากนั้นมาก็ไม่มีตำราใดเลย...ความจริงสถาบันจุฬาฯ น่าจะมีผลงานด้านตำราศาสนาออกมาบ้าง เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้คนทั้งหลาย เพราะแน่นอนว่า หากมีตำราออกมาจากสถาบันนี้ ต้องได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีแน่นอน เท่าที่ผ่านมาผมเล็งเห้นว่าตรงนี้ คือ หนึ่งในจุดบกพร่องของสำนักจุฬาราชมนตรี..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท