เรื่องจริงของ "ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่" กับ"เทมาเส็ก"


วันที่ 03 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1368


ข่าวในประเทศ

เรื่องจริงของ "ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่" กับ"เทมาเส็ก"

หลังการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า "เทมาเส็ก" จะอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่กว่าเดิม

นอกจากต้องเผชิญกับปัญหา "นอมินี" ที่แก้ไม่ตกแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหา "อำนาจ" ที่เปลี่ยนมือ

"เทมาเส็ก" ขอคำแนะนำจาก "วิชิต สุรพงษ์ชัย" ของแบงก์ไทยพาณิชย์ที่มีส่วนรู้เห็นในการทำ "ดีล" นี้ และ "ชุมพล ณ ลำเลียง" อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทย ที่ปัจจุบันเป็นประธานบอร์ดสิงเทล ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเทมาเส็ก

ทั้งคู่เสนอให้ "เทมาเส็ก" ลดสัดส่วนหุ้นใน "ชินคอร์ป" ลงโดยกระจายหุ้นให้กับนักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน

ในที่สุด "เทมาเส็ก" ก็ตัดสินใจแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นลง

และจากนั้นไม่นาน "เทมาเส็ก" ก็เคลื่อนไหวแก้เกมอีกครั้ง

20 ตุลาคม หนังสือพิมพ์สเตรตไทม์ของสิงคโปร์ ตีพิมพ์ข่าวการตั้งสำนักงานในกรุงเทพมหานครของ "เทมาเส็ก"

โดยมี พล.อ.ต.โก๊ะ ยอง เซียง อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศของสิงคโปร์ เป็นผู้จัดการสำนักงาน

การเลือก "ทหาร" มาเป็นผู้จัดการสำนักงานในเมืองไทย

มองกันไม่ยากว่าเป็นการเดินเกมใช้ "สีเขียว" เชื่อมกับ "สีเขียว"

เปลี่ยนตัวชนตามอำนาจการเมืองที่เปลี่ยนไป

ในข่าวดังกล่าว นอกเหนือจากชื่อ พล.อ.ต.โก๊ะ ยอง เซียง แล้ว ยังมีชื่อ ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ เป็นที่ปรึกษาฝ่ายองค์กรของ "เทมาเส็ก" ด้วย

มีการระบุตำแหน่งของ ม.ร.ว.ทองน้อย เป็นรองราชเลขาธิการ และที่ปรึกษาส่วนพระองค์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ทั้งที่จริง ม.ร.ว.ทองน้อยเป็นอดีตรองราชเลขาธิการ

เกษียณอายุมานาน 6-7 ปีแล้ว

ช่วงนั้น ม.ร.ว.ทองน้อยรับตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ "ดีแทค"

เขาตัดสินใจลาออกจาก "ดีแทค" แบบกะทันหัน

ก่อนมารับตำแหน่งใหญ่ใน "เทมาเส็ก" เพียง 1 วัน

ร่ำลือกันว่าวันที่ลาออก ม.ร.ว.ทองน้อย บอกกับผู้บริหารของ "ดีแทค" ว่า "มีข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้"

แต่จะใช่ตัวเลข 30 ล้านบาทต่อปีหรือไม่ ไม่มีใครกล้ายืนยัน

หลังจากมีข่าวในหนังสือพิมพ์สเตรตไทม์ ก็มีกระแสข่าวลือว่า "ม.ร.ว.ทองน้อย" จะขึ้นมาแทน "บุญคลี ปลั่งศิริ" ประธานบอร์ดชินคอร์ป

แต่เพียงแค่พริบตาเดียวก็เกิดการเปลี่ยนแปลง

26 ตุลาคม "จิมมี่ ฟูน" กรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการลงทุนของ "เทมาเส็ก" ก็ออกแถลงการณ์ว่า ม.ร.ว.ทองน้อย ขอถอนตัวจากตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายองค์กร

และ "จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา" ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการตัดสินใจของ ม.ร.ว.ทองน้อยเลย

แต่เรื่องไม่จบลงเพียงเท่านี้



28 ตุลาคม พลอากาศเอกสถิตย์พงศ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์ ได้มีแถลงการณ์กองกิจการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ระบุว่า ตามสื่อมวลชนบางฉบับ ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับ บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้ง ทาบทาม ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ ให้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายองค์กร สำนักงานเทมาเส็ก ที่จะจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย โดยระบุว่า ม.ร.ว.ท้องน้อย ทองใหญ่ ดำรงตำแหน่งราชเลขานุการ และเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตลอดจนทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ปี 2543 นั้น

กองกิจการในพระองค์ฯ ข้อแจ้งให้ทราบว่า การนำเสนอข่าวดังกล่าวก่อให้เกิดความเข้าใจที่สับสน คลาดเคลื่อนผิดจากความเป็นจริง เป็นการกล่าวอ้างตำแหน่งหน้าที่ซึ่งไม่ถูกต้อง และใช้เป็นช่องทางสร้างอิทธิพลทางธุรกิจเพื่อผลประโยชน์แก่ตนเอง ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย ไม่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น หากแต่ยังสร้างความไม่มั่นคง ไม่น่าเชื่อถือในการลงทุนระหว่างประเทศอีกด้วย

เพราะความจริงแล้ว ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติและความประพฤติส่วนตนไม่เหมาะสม ไม่ได้รับการพิจารณาต่ออายุราชการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองราชเลขานุการ จึงขอรับพระเมตตา สมัครเข้าทำงานในกองกิจการในพระองค์ฯ ซึ่งก็ได้ทรงมีพระกรุณาธิคุณจ้างไว้ เป็นลูกจ้าง "ท้ายที่นั่ง" กองกิจการในพระองค์ฯ ให้ปฎิบัติหน้าที่ตามความชำนาญของตน คืองานแปลและร่างเอกสาร ภาษาอังกฤษ ตลอดจนโปรดเกล้าฯ ให้ทำงานหนังสือบ้างเป็นครั้งคราว

แต่ด้วยความเป็นผู้มีอุปนิสัยส่วนตัวที่มีเล่ห์เหลี่ยม ชอบกล่าวอ้างพระบารมีคุ้มเกล้าฯ ในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เป็นนิจ และดำเนินการต่างๆ อย่างมีเลศนัย ไม่โปร่งใส จึงเป็นที่ไม่พอใจของผู้ได้ร่วมงานทุกระดับ ทั้งยังกระทำการโดยมิได้มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงชุบเลี้ยง และพระราชทานโอกาสให้พิสูจน์ตัวเอง กลับฉวยโอกาสแอบอ้างเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตน โดยการอุปโลกน์ตำแหน่งให้ตนเอง จนได้รับการทาบทามให้เข้าเป็นที่ปรึกษา บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ดังที่มีการนำเสนอข่าว ถือว่าเป็นการอกตัญญู มิได้รู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบัน และประเทศชาติ

กองกิจการในพระองค์ฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของ ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ ดังกล่าวไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และเป็นการแอบอ้างตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อประโยชน์ส่วนตน ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่บุคคลทั่วไป และก่อให้เกิดความเสียหายต่อกองกิจการในพระองค์ฯ สมควรได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน

เป็นการปิดฉากเรื่องราวของ ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ กับ "เทมาเส็ก"

ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์

หมายเลขบันทึก: 57169เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2006 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท