มุมมอง วิธีมอง ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะจากอัลกุรอาน


ความแตกต่างของคนอาจจะเกิดจากความแตกต่างของ

  • มุมมอง การมองสิ่งเดียวกันจากมุมที่ต่างกันย่อมทำให้ผู้มองเห็นสิ่งที่มองต่างออกไป เช่น 

    • ระยะทาง มองใกล้ข้อดีคือเห็นภาพที่มองชัดแต่ไม่เห็นองค์ประกอบทั้งหมดของสิ่งที่เรามอง มองไกลแม้อาจจะเห็นภาพรายละเอียดเบลอไปบ้างแต่มีข้อดีคือเห็นองค์ประกอบหรือโครงสร้างทั้งหมดของสิ่งที่เรามองดู

    • ระยะเวลา เวลาที่ใช้ในการมองต่างกันก็ทำให้เราเห็นต่างไปด้วย การเฝ้ามองโดยใช้เวลามากขึ้นจะทำให้เราเห็นพัฒนาการ และหรือกระบวนการของสิ่งนั้นๆ การมองผาดๆ แว็บเดียวทำให้สิ่งที่เรามองเห็นแคบไป หรือขาดความสมบูรณ์ไป

    • องศาของการมอง  การมองต่างองศาก็ทำให้เราเห็นต่างกัน เช่น มองลงจากตำแหน่ง 12 นาฬิกา มองขึ้นจากตำแหน่ง 6 นาฬิกา มองจากด้านข้าง มองจากด้านหน้า หรือมองจากด้านหลัง

    • ความสามารถในการมองทะลุทะลวง  เช่น เห็นแค่เปลือก หรือเห็นลึกกว่านั้น หรือลึกกว่านั้นอีก เห็นโมเลกุล อะตอม นิวเคลียส หรือเล็กกว่านั้นอีก

  • วิธีอ่านสิ่งที่มองเห็น นอกเหนือจากมุมมองแล้ววิธีในการอ่านสิ่งที่เรามองเห็นในแต่ละคนก็ต่างกันไปด้วย วิธีที่แตกต่างกันในการอ่านทำให้ผู้อ่านได้รับรู้เข้าใจในสารัตถะของสิ่งที่เขาอ่านจากสิ่งที่เห็นนั้นแตกต่างกันด้วย จึงไม่แปลกเลยที่แต่ละคนจะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่มองเห็นแตกต่างกันไป

  • ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะที่ใช้ประกอบการอ่านสิ่งที่มองเห็น และเช่นเดียวกับประเด็นก่อนหน้านี้ ความรู้ที่แตกต่างกันก็ทำให้การมองเห็นมีความลุ่มลึกหรือขอบเขตหรือมิติของการมองแตกต่างกันไปด้วย ระยะเวลา ความเข้มข้น ตลอดจนความคร่ำหวอดของประสบการณ์ก็มีผลต่อการช่วยให้การมองเห็นมีความชัดเจนและใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากกว่าผู้มองที่มีประสบการณ์และชั่วโมงบินที่น้อยกว่า และความแตกต่างของทักษะ ความเชี่ยชาญ หรือความชำนาญของผู้มองก็ทำให้การมองเห็นมีคุณภาพแตกต่างกันด้วย

และนี่คือ เหตุผลที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาเพื่อช่วยให้มนุษย์สามารถมองเห็น รู้ และเข้าใจสิ่งต่างๆที่เกี่ยวกับตัวเขาและบริบทที่เกี่ยวข้องครอบคลุมมิติต่างๆข้างต้นได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ภายใต้กรอบคำแนะนำของอัลกุรอาน ซึ่งจะช่วยให้การคิด ค้นคว้า ศึกษา และการวิจัยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่างน้อยก็ดีกว่าการอยู่ในสภาพที่มืดแปดด้าน

และด้วยความตระหนักในธรรมชาติของมนุษย์ เรื่องสำคัญบางส่วน พระองค์บอกชัดเจน บางเรื่องพระองค์แค่ทรงชี้บอกบางส่วนเท่านั้น บางอย่างทรงบอกวิธีการ บางส่วนทรงบอกเป้าหมาย และหรือบางส่วนทรงบอกครบทั้งกระบวนการและขั้นตอน บางครั้งทรงสะกิดให้คิด และมีหลายๆตอนทรงสาบานด้วยสิ่งนั้นๆ

อัลลอฮฺ ตรัสไว้ความว่า

      "อะลีฟ ลาม มีม นี่คือคัมภีร์ ไม่มีข้อคลางแคลงในนั้นเป็นคำแนะนำ (ทางนำ) สำหรับบรรดาผู้ยำเกรง" (อัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัลบากอเราะฮฺ 2 : 1)

       วัลลอฮฮูอะฮฺลัม

 

หมายเลขบันทึก: 231291เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2008 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท