กำเนิดคัมภีร์วิสุทธิมรรค(จบ)


อธิบาย "ปัญญา"อันเป็นบทตั้งในพระคัมภีร์

จากที่พระพุทธโฆษาจารย์ ท่านได้ยกพระคาถาในสังยุตตนิกายเป็นบทตั้ง และได้อธิบายอย่างพิสดารประกอบ บทตั้งนั้นคือ

นรชน ผู้มีปัญญา เป็นภิกขุ มีความเพียร มีปัญญาเครื่องบริหาร ตั้งตนไว้ในศีลแล้วทำสมาธิจิต และปัญญาให้เจริญอยู่ เธอจะพึงถางรกชัฏอันนี้เสียได้

พระพุทธโฆษาจารย์ท่านได้บรรยายไว้ทีท่อน ทีละคำ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคตามฉบับแปลและเรียบเรียงโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( อาจ อาสภมหาเถร )โดยขอตัดต่อมาเล่าตามลำดับในพระวจนะดังนี้นะคะ

นรชนได้แก่สัตว์

ผู้มีปัญญา คือมีปัญญาในติเหตุกปฏิสนธิอันเกิดแต่กรรม

เป็นภิกขุ ความว่า ผู้ใดเห็นภัยในสงสาร ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกขุ

มีความเพียร คือมีความพยายาม

มีปัญญาเครื่องบริหาร อธิบายว่า ปัญญาท่านเรียกว่า เนปักกะ แปลว่า ปัญญาเครื่องบริหาร, ผู้ประกอบด้วยปัญญาเครื่องบริหารนั้น ก็แหละ ด้วยบท เนปักกะ นี้ ทรงแสดงถึงปาริหาริกปัญญา จริงอยู่ ในปัญหาพยากรณ์นี้ ปัญญามาถึง ๓ วาระ ใน ๓ วาระนั้น วาระแรก ได้แก่สหชาติปัญญา วาระที่ ๒ ได้แก่วิปัสสนาปัญญา วาระที่ ๓ ได้แก่ปาริหาริกปัญญา อันกำหนดนำไปสู่กิจการทั้งปวง

ตั้งตนไว้ในศีลแล้ว คือตั้งอยู่ในศีลแล้ว ในข้อนี้มีอรรถาธิบายว่า โยคีบุคคลผู้บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์เท่านั้น จึงเรียกได้ว่า ผู้ตั้งอยู่ในศีล ณ ที่นี้ เพราะฉะนั้น ที่ว่าตั้งอยู่ในศีล ก็เพราะบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์

ยังสมาธิจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ คือยังสมาธิและวิปัสสนาให้เกิดอยู่ ก็แหละ ณ ที่นี้ สมาธิ ทรงแสดงด้วยหัวข้อว่า จิต ส่วน วิปัสสนา ทรงแสดงโดยชื่อว่าปัญญา

เธอจะพึงถางรกชัฏอันนี้เสียได้อธิบายว่า นรชนนั้นเป็นภิกขุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ คือ ด้วยศีลนี้ ๑ ด้วยสมาธิที่ทรงแสดงด้วยหัวข้อว่าจิตนี้ ๑ ด้วยปัญญา ๓ อย่างนี้ ๑ ด้วยความเพียรนี้ ๑ ยืนอยู่บนแผ่นดินคือศีล ยกขึ้นซึ่งศัสตราคือวิปัสสนาปัญญา ที่ลับแล้วด้วยหินคือสมาธิ ด้วยมือคือปาริหาริกปัญญา ซึ่งมีความเพียรช่วยประคอง แล้วจะพึงถาง, จะพึงตัด, จะพึงทำลาย ซึ่งรกชัฏคือตัณหาอันตกไปในสันดานของตนนั้นเสียได้แม้อย่างสิ้นเชิง เหมือนอย่างบุรุษยืนอยู่บนแผ่นดินแล้วเงื้อง่าศัสตราที่ลับดีแล้วขึ้น จะพึงถางกอไผ่ขนาดใหญ่ได้ ฉะนั้น

อ่านแล้วงงดีจัง โชคดีค่ะพระคุณเจ้าบุญเรือง เจ้าอาวาสวัดบ้านด่าน บุรีรัมย์ เขียนอธิบายไว้ใน http://www.oknation.net/blog/bunruang ขอคัดลอกมาเลยก็แล้วกันค่ะ

ขอให้สังเกตคำว่า ปัญญาในประโยคนี้ให้ดี เพราะทรงใช้คำว่าปัญญาถึง ๓ ครั้ง กล่าวคือ

๑.นรชนผู้มีปัญญา (=สปญฺโญ)

๒.มีปัญญารักษาตน (=นิปโก)

๓.อบรมจิตและปัญญาอยู่ (=ปญฺญญฺจ ภาวยํ)

ภาษาไทย แม้จะแปลว่า ปัญญา เหมือนกันหมดทั้ง ๓ แห่ง แต่พอมาพิจารณาดูความหมาย และศัพท์ที่ใช้ กลับทรงใช้ไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่ที่ทรงใช้ศัพท์เหมือนกัน (สปญฺโญ,ปญฺญํ) ก็ใช้ในความหมายที่ไม่เหมือนกัน จึงยากต่อการทำความเข้าใจ

พระพุทธโฆษาจารย์ มีความประสงค์จะกระทำบาลีพระพุทธพจน์นี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงได้หยิบขึ้นมารจนาขยายความ ได้เป็นคัมภีร์ใหม่เรียกชื่อว่า วิสุทธิมรรค แปลว่า แนวทางแห่งความบริสุทธิ์

ในคัมภีร์นี้ ท่านเริ่มแจกแจงปัญญาในพระพุทธพจน์นี้ทันที โดยท่านแจกแจงเป็นปัญญา ๓ ประเภท คือ

ปัญญาข้อแรก (สปญฺโญ) หมายถึง สชาติกปัญญา

ปัญญาข้อสอง (นิปโก) หมายถึง ปาริหาริกปัญญา

ปัญญาข้อสาม (ปญฺญญฺจ ภาวยํ) หมายถึง วิปัสสนาปัญญา

ประเด็นปัญหาคือ ปัญญา ๓ ประเภทนี้ คืออะไร ทำหน้าที่แตกต่างกันอย่างไรในเชิงปฏิบัติ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่เราต้องกำหนดให้ชัดเจน อย่าเพิ่งนำไปปะปนกับหัวข้อธรรมอื่น ๆ เพราะจะทำให้เกิดความสับสน

สชาติกปัญญา หมายถึง ปัญญาที่เราเคยสะสมมาแล้วในอดีตชาติ ปัญญาประเภทนี้จึงมีมาพร้อมกับปฏิสนธิ หมายถึง จิตที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิ ได้มีปัญญาตัวนี้เข้าไปประกอบแล้ว เราจึงเรียกจิตนี้ว่า จิตที่ประกอบด้วยปัญญา (ญาณสัมปยุต)

ปัญญาประเภทนี้ก็คือ บารมี ที่เราแต่ละคนแต่ละท่านได้สั่งสมมาในอดีตชาติ เหมือนอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดเหล่าอริยสาวกทั้งหลายท่านเคยบำเพ็ญมาแล้วในอดีตชาติ มาเกิดใหม่ในชาตินี้ ก็ไม่จำเป็นต้องอบรมปัญญาประเภทนี้อีก เพราะมีบริบูรณ์แล้ว ปัญญาประเภทนี้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ก็จะทำหน้าที่กระตุ้นเตือน หรือนำพาจิตของผู้นั้นไปสู่การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น

ปาริหาริกปัญญา แปลตามศัพท์ว่า ปัญญาเป็นเครื่องบริหาร ผู้เขียนแปลไว้เบื้องต้นว่า ปัญญาเครื่องรักษาตน ปัญญาประเภทนี้ก็ได้แก่ตัวสติ ซึ่งทำหน้าที่รู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นขณะทำ พูด คิด ปราศจากสติเสียแล้ว ย่อมไม่อาจรักษาตนได้ ปัญญาตัวนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญของผู้ปฏิบัติ และเป็นหัวใจของคำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งหมด

พระพุทธพจน์ที่เป็นปัจฉิมวาจาที่ตรัสเตือนให้พระสงฆ์สาวกอยู่ด้วยความไม่ประมาทก็คือทรงสอนให้อยู่อย่างมีสติ ให้สติตามรักษา ตามคุ้มครอง ซึ่งถ้าจะโยงมาหาพระพุทธพจน์ที่ยกมาอ้างในพระคาถานี้ก็ได้แก่ปาริหาริกปัญญานี่เอง

วิปัสสนาปัญญา หมายถึง ปัญญาที่ทำหน้าที่กำหนดรู้รูป-นามตามความเป็นจริง ปัญญาประเภทนี้ต้องอาศัยการอบรม บาลีท่านจึงใช้คำว่า ปญฺญญฺจ ภาวยํ (อบรมปัญญาอยู่) คือต้องอบรมจึงจะเกิด ไม่ใช่มีมาก่อนเหมือนสชาติกปัญญา

อนึ่งในบาลีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธโฆษาจารย์ยกขึ้นมาขยายความเป็นคัมภีร์วิสุทธิมรรค เมื่อสรุปแล้ว ก็จะได้คุณสมบัติที่เป็นฐานสำคัญสำหรับการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้น ๖ ประการ คือ

๑. ต้องมีศีล (สีเล ปติฏฺฐาย)

๒. ต้องมีความเพียร (อาตาปี)

๓. มองเห็นภัยในวัฏฏะ (ภิกฺขุ)

๔. มีอุปนิสัยที่เคยอบรมมาในชาติปางก่อนช่วยส่งเสริม (สปญฺโญ)

๕. มีปัญญาเครื่องรักษาตนในปัจจุบัน (นิปโก)

๖. มีปัญญาเครื่องกำหนดรู้รูปนามตามความเป็นจริง (จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ)

ใครมีเครื่องมือ ๖ ประการนี้ ผู้นั้นเข้าข่ายเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมทำหน้าที่ถางชัฏคือกิเลสได้ ใครมี แต่ไม่ครบ ก็ต้องสั่งสมกันต่อไป

ต้องขอบพระคุณพระคุณเจ้ามากค่ะที่เขียนอธิบายไว้ ให้เป็นความรู้แก่บุคคลทั่วไป และช่วยเสริมปัญญาแก่ดิฉันด้วยเช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 295642เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2009 07:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2013 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

มาชม

อ่านหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เสริมสร้างสติปัญญาให้แก่ตนเองนะครับ...

สวัสดีค่ะอาจารย์ umi

เพิ่งแอบไปอ่านจริยวัตรท่านพุทธทาสที่บ้านอาจารย์มาค่ะ นำมาเสริมปัญญาด้วยค่ะ

สวัสดีครับ

มาอ่านและขอบคุณธรรมะในตัวคุณณัฐรดา ที่เอื้อเฟื้อแก่พวกเราครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

มารับความรู้และสั่งสมเครื่องมือ 6 ประการค่ะ

๑.   ต้องมีศีล (สีเล ปติฏฺฐาย)

๒.   ต้องมีความเพียร (อาตาปี)

๓.   มองเห็นภัยในวัฏฏะ (ภิกฺขุ)

๔.   มีอุปนิสัยที่เคยอบรมมาในชาติปางก่อนช่วยส่งเสริม (สปญฺโญ)

๕.   มีปัญญาเครื่องรักษาตนในปัจจุบัน (นิปโก)

๖.   มีปัญญาเครื่องกำหนดรู้รูปนามตามความเป็นจริง (จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ)

(^___^)

ขอบคุณคุณบินหลาดงค่ะ ที่แวะมาเยี่ยมกันสม่ำเสมอ

คุณคนไม่มีรากคะ

ดิฉันก็กำลังสั่งสมเครื่องมือทั้ง6 ประการนี้เหมือนกันค่ะ

ศีลถือปฏิบัติปกติมิพลั้งผิด              สมาธิตั้งจิตคิดนิ่งได้

ปัญญาวิปัสสนาพาเข้าใจ                ทั้งสามไซร้ไตรสิกขาปัญญาธรรม

น่าสนใจมากครับ มีหลักการทั้งสามอย่างครบเลย สาธุ สาธุ

พี่ตุ๊ก จ๊า

หนู เข้ามาแล้ว

สมัครแล้วค่ะ

แต่ยัง งง..งง..อยู่ค่ะ

ยังจัดการอะไร ไม่ได้เลยค่ะ

แล้วท่าทางจะสมัครเข้ามาผิดที่ ด้วยมั้งค่ะ

ดันไปสมัครเข้า มันไม่ใช่ blog ค่ะ เป็นไรล่ะ

เดี๋ยวว่างๆ จะตามแก้ไข ค่ะ

วันนี้แวะมาเยี่ยมบ้านหลังใหม่คุณณัฐรดา

ต้องอนุโมทนาที่ช่วยกันเผยแพร่สิ่งดี ๆ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท