รวมธรรมะตามพระราชดำริปรารภสมเด็จย่า - ศาสนาอิสลามสอนอะไร(1)


คำสอนในศาสนาอิสลามในบันทึกนี้ คัดลอกมาจากหนังสือในพระราชดำริสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

คำนำ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชปรารภว่าควรจะมีหนังสือแนะแนวคำสั่งสอนในศาสนาอิสลามสำหรับพระราชทานแก่ประชาชนในจังหวัดภาคใต้ผู้นับถือศาสนาอิสลามและสำหรับผู้ประสงค์จะทราบทั่วไป จึงพระราชทานพระราชดำริและโปรดเกล้าฯ ให้คุณหญิงสมร ภูมิณรงค์ เลขานุการจุฬาราชมนตรีเรียบเรียงเรื่อง ศาสนาอิสลามสอนอะไร ตรวจทานโดยนายต่วนสุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรีแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้จัดพิมพ์

วังสระปทุม

20 มกราคม 2514

ศาสนาอิสลามสอนอะไร

อิสลามเป็นนามของศาสนาหนึ่ง ซึ่งนับถืออัลเลาะห์เป็นพระเจ้า และมีนบีมุฮำมัดเป็นผู้เผยแพร่หลักการศาสนาเป็นศาสดาองค์สุดท้าย การเผยแพร่เป็นไปตามโองการของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งประทานลงมาตามเหตุการณ์ของโลกและโองการต่างๆ นั้นได้รวบรวมเขียนไว้เป็นคัมภีร์ในโอกาสต่อมา ซึ่งเราเรียกว่า พระคัมภีร์อัลกุรอาน

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งจิตใจ ศาสนาแห่งความรู้สึกนึกคิด ศาสนาแห่งการปฏิบัติ ศาสนาอิสลามไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องหมายแทนหรือรูปสักการะ แต่เราปฏิบัติศาสนกิจด้วยการระลึกถึงพระเจ้า ด้วยจิตใจจริงๆ ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเราเรียกว่า มุสลิม หรือ อิสลามิก ชนมุสลิมจะต้องปฏิบัติศาสนกิจเท่าๆ กันทั้งชายและหญิงด้วยหลัก 5 ประการ หรือเรียกว่า มุขยบัญญัติ 5 ประการ คือ

1. การกล่าวปฏิญาณตน หมายถึงผู้ที่จะยอมรับนับถือศาสนาอิสลามนั้นต้องปฏิญาณตน และเชื่อถือโดยเด็ดขาดว่ามีพระผู้เป็นเจ้าสร้างโลก สรรพสิ่งในโลก คือ อัลเลาะห์องค์เดียว คำปฏิญาณนั้นมีความหมายว่า ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าที่เคารพสักการะโดยเที่ยงแท้ นอกจากอัลเลาะห์องค์เดียว และขอปฏิญาณว่านบีมุฮำมัดเป็นทูตของพระองค์อัลเลาะห์

จะเห็นได้ว่าหลักข้อแรกของการปฏิบัตินั้นอยู่ที่จิตใจ เพราะการกล่าวจะเป็นผลได้ ต้องด้วยมีจิตใจมุ่งตรงตามความหมายดังกล่าว และเป็นการกล่าวที่วาจาและใจต้องตรงกัน เพียงกล่าว 2 ประโยคนี้พร้อมกับจิตใจมุ่งตรงก็นับว่าเราได้ยอมรับนับถือศาสนาอิสลามโดยสมบูรณ์ และผู้ที่นับถือ ศาสนาอิสลามอยู่แล้วก็จะต้องกล่าว 2 ประโยคนี้อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาละหมาด 5 เวลา เป็นการเตือนใจให้ระลึกถึงพระเจ้าและศาสดา และขอบคุณอยู่เสมอที่เราได้มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ แม้ใครจะได้ยินคำกล่าวหรือไม่ก็ตาม และหากกล่าวบ่อยๆ ก็จะเป็นกุศล

2. การนมัสการ 5 เวลา การทำนมัสการนี้ไม่ต้องใช้เวลามากนัก เพียง 10 นาทีก็จะเป็นการเพียงพอการทำนมัสการคือการสำรวมจิตใจระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า นับว่าเป็นการฝึกจิต และเพิ่มพูนความสามารถในการตั้งสมาธิโดยหัวใจบริสุทธิ์ เป็นการผ่อนความนึกคิดที่ฟุ้งซ่าน และผ่อนความตึงเครียดในการประกอบการงานได้เป็นอย่างดี การนมัสการ 5 เวลานั้นคือ เช้า บ่าย เย็น ค่ำ และกลางคืน การนมัสการในเวลาบ่ายหรือเย็น ก็ไม่ทำให้เสียเวลาการประกอบการงาน เพราะตรงกับเวลาพักผ่อนของเราพอดี คือประมาณเที่ยงครึ่ง สี่โมงครึ่ง ห้าโมงครึ่ง ถ้าผู้ใดปลีกเวลาทำได้ก็เป็นการดีเสียกว่าจะพักผ่อนเฉยๆ เพราะจะช่วยเพิ่มพูนกำลังทางจิตใจ สงบอารมณ์ หลังจากนั้นก็จะเกิดความสดชื่น เริ่มต้นกิจการใหม่ด้วยดี เกิดผลดีทางการงาน การประกอบพิธีนมัสการทำได้ทุกที่ แม้มิใช่มัสยิด แต่ขอให้มีความสะอาดเท่านั้น

ฉะนั้นถ้าสถานที่ทำงานจะได้จัดห้องเล็กๆ ไว้ ก็จะทำกันได้โดยสะดวกเพราะทำทีละกี่คนก็ได้ ทำเป็นหมู่ก็ได้ โดยผินหน้าไปทางกะอ์บะอ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของมุสลิม ผู้ที่จะประกอบบัญญัติข้อนี้ ต้องเป็นผู้มีความสะอาดในเครื่องแต่งกาย ร่างกาย ต่อจากนั้นก็ต้องทำความสะอาดทางใจคือการสำรวม

มนุษย์เราโดยปกติวิสัย ถ้าได้ทำการตบแต่งร่างกายอยู่เสมอ ก็จะแลดูสะอาดสะอ้าน ฉันใดก็ดี การที่มุสลิมต้องมีภารกิจในการที่ต้องกระทำนมัสการวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง 5 เวลา ก็ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า เราได้ชำระร่างกายของเรา 5 ครั้ง เพราะก่อนจะทำการนมัสการ เราต้องชำระมลทินในตัวของเราก่อน อาทิ ล้างฝ่ามือ ล้างหน้า ล้างมือถึงข้อศอก เช็ดศีรษะ และล้างเท้าถึงตาตุ่ม ความสะอาดก็จะมีขึ้นแก่ตัวเรา ใบหน้าของเราก็จะนวลผ่องอยู่ตลอดเวลา ถูกต้องตามสุขอนามัย

หลักข้อนี้จึงก่อให้เกิดพลังทางจิต เป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากอคติ และเยือกเย็น

3. การบริจาคทรัพย์ตามศาสนบัญญัติ คือ การจัดให้มีระบบการสังคมสงเคราะห์ประการหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือให้ผู้อื่นมีการกินอยู่ดี ด้วยการบริจาคเงินทอง สิ่งเพาะปลูกสินค้า ผลไม้ (อินทผลัม องุ่น) ปศุสัตว์ ที่มีอยู่ในครอบครอง เมื่อครบ 1 ปี ด้วยอัตราที่คิดไว้ตามหลักการทางศาสนา คือร้อยละ 2 ต่อปี แก่บุคคล 8 ประเภท คือ

3.1 คนออนาถา เด็กกำพร้า

3.2 คนขัดสน

3.3 เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับ

3.4 ผู้เลื่อมใสเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามในระยะแรก ๆ

3.5 ไถ่ทาส

3.6 ผู้เป็นหนี้มาเพื่อการกุศล

3.7 คนเดินทางที่ขาดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

3.8 นักรบ

การปฏิบัติดังกล่าวแล้ว ก็คือหลักการสังคมสงเคราะห์ปัจจุบัน คือให้ผู้มีฐานะดีได้มีโอกาสในการอุปถัมภ์ค้ำชูผู้มีฐานะต่ำกว่า หรือใช้ทรัพย์ที่จำเป็นที่ตนจะต้องบริจาคไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ผู้ใดประกอบตามศาสนบัญญัติข้อนี้ก็จะเป็นผู้มีใจเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ผู้ที่บริจาคตามหลักการที่ศาสนาบัญญัติไว้ และเลือกบริจาคกับบุคคลต่างๆ ดังกล่าวนั้นตามที่เห็นสมควร ผู้ใดที่เป็นผู้ที่จะต้องบริจาคก็รู้อยู่กับตนเอง เพราะทุกคนรู้ว่าตนเองนั้นมีทรัพย์สินเท่าใด ควรจะบริจาคเท่าใด และถ้าหากจะไม่บริจาคก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะเป็นบทบัญญัติทางศาสนาไม่มีการลงโทษในโลกนี้ แต่เมื่อเขาเดินทางไปเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าในโลกหน้า เขาก็จะต้องถูกชำระบาปในการปกปิดของเขา และในการบริจาคศาสนาก็ไม่ให้ทำอย่างแบบโอ้อวดในความมั่งมีด้วย การบริจาคข้อนี้ผิดกับการบริจาคทานเพราะการบริจาคทานไม่มีข้อกำหนด แล้วแต่ศรัทธาและทำได้ทุกโอกาส

4. การถือศีลอดในเดือนรอมดอน คือการละเว้นจากการกิน การดื่ม นับตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนกระทั่งพระอาทิตย์ตก ในเดือนที่ 9 ของศักราชอิสลามเป็นเวลาหนึ่งเดือน การถือศีลอดก็มิใช่อดอาหาร อดน้ำเท่านั้น ยังต้องถึงพร้อมด้วยการอดกลั้นต่อกิเลสและความอ่อนแอทั้งหลายอีกด้วย การถือศีลอดที่ทำกันมาก็เนื่องจากความเชื่อมั่นและศรัทธาในเอกองค์อัลเลาะห์ ซึ่งก่อให้เกิดพลังในดวงจิตที่จะต่อสู้กิเลสทั้งหลายและสามารถประกอบกิจการงานได้อย่างปกติสุขเช่นในเดือนอื่น

ในระหว่างการถือศีลอดจะต้องเว้นจากการพูดหยาบคาย ชั่วช้าลามกและอื่นๆ พยายามทำความดีมากเป็นพิเศษเหนือเดือนอื่น แจกจ่ายอาหารแก่ผู้ถือศีลอดและยากจน หมั่นประกอบศาสนกิจบัญญัติข้อนี้เป็นบัญญัติที่มุสลิมทั้งชายและหญิงจะต้องถือปฏิบัติ เว้นแต่ผู้เดินทางไกล ผู้ป่วยที่แพทย์ห้าม หญิงมีครรภ์ หญิงแม่นม หญิงที่มีประจำเดือน ผู้ชราภาพ แต่อย่างไรก็ดีก็ต้องชดใช้ในเวลาอื่นหรือเดือนอื่นตามความสามารถของผู้ที่ขาดการถือศีลอดไว้

โดยธรรมข้อนี้หากผู้ใดปฏิบัติก็จักเป็นผู้รักสงบ มีขันติธรรม มีความเมตตากรุณา มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในความยากลำบากทั้งหลาย รักระเบียบวินัย ปฏิบัติตามแบบแผนของกฎหมายบ้านเมือง มั่นคงในศีลธรรม ซึ่งทุกอย่างเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่จะช่วยกันพัฒนาจิตใจมนุษย์ให้สูงส่ง

การถือศีลอดบางทีก็ดูเหมือนว่าเป็นวิธีการทางศาสนาที่ค่อนข้างยากลำบาก แต่ที่จริงแล้วความยากลำบากนี้หาเป็นการบั่นทอนชีวิตหรือสิ่งประกอบอย่างไรไม่ หากเป็นการลดความสุข ความฟุ้งซ่านอันเกิดขึ้นเพราะจิตใจของเรา เอาแต่ใฝ่หาความฟุ่มเฟือยอย่างไม่รู้จักหยุดรู้จักหย่อน ในด้านสุขภาพก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องบั่นทอนเพราะในระยะหนึ่งเดือนนั้นเรารับประทานเป็นเวลา หยุดเป็นเวลา เป็นการพักผ่อนไปในตัว ไม่ทำให้เกิดท้องเสียหรือมีโรคอื่นแทรกประการใด และสามารถลดความสมบูรณ์เกินไปลงได้ด้วย

การถือศีลอดต้องปฏิบัติทุกคนไม่มีข้อยกเว้นสำหรับคนรวย คนจน ผู้หญิง ผู้ชาย พระศาสดา หรือกษัตริย์ ก็ต้องถือปฏิบัติทุกคน

(ยังมีต่อ)

คำสำคัญ (Tags): #ศาสนาอิสลาม
หมายเลขบันทึก: 299222เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2009 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 10:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

จะสิ้นเดือนรอมฎอณแล้วไช่หรือไม่คะ..

มาชม

รู้ไว้ใชว่านะครับ...

สวัสดีครับพี่ณัฐรดา

แวะมาทบทวนครับ

ผมเป็นคนปัตตานี แต่เป็นไทยพุทธ เคยเห็นวิถีชีวิตของไทยมุสลิมมาตั้งแต่เด็ก

แต่ตอนนี้รู้สึก"หดหู่"ทุกครั้งที่คิดถึงบ้านเกิด

คิดถึงเพื่อนๆ ที่เป็นมุสลิม

มันเป็นกระแส"โลกาภิวัตน์"ที่เจ็บปวดมากเลย

ขอบคุณครับพี่

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท