ปัญญาตัดกิเลสแบบเร่งรัด + ภาพวาดกุหลาบอังกฤษ


ชีวิตที่ดีงามในทางธรรม คือ การที่มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมโดยสันติ พัฒนาความสามารถของตนตามศักยภาพจนถึงจุดสูงสุด จนทำให้พบความสุขที่แท้จริงและถาวร มีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ แม้อาจจะไม่สามารถบรรลุจุดสูงสุด คือสงบเย็น จนเป็นพระอรหันต์ได้ แต่อย่างน้อยก็ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างเป็นสุข ยกระดับวิญญาณ จากปุถุชน เป็นกัลยาณปุถุชน สู่พระอริยะระดับต้น ค่อยๆละกิเลส จนยกระดับจิตสูงขึ้นไป
การจะตัดกิเลสได้ ต้องใช้จิตที่เป็นสมาธิ ที่มีความตั้งมั่น บริสุทธ์ ควรแก่การใช้งาน
จิตที่เป็นสมาธิ อันควรแก่การนำไปใช้พิจารณาธรรมให้เกิดปัญญาตัดกิเลส เกิดได้ 2 ทาง คือโดยธรรมชาติ ซึ่งได้เคยบันทึกถึงแล้ว และโดยเร่งรัดเอาด้วยเทคนิค
คราวนี้ขอบันทึกถึงการเร่งรัดด้วยเทคนิคนะคะ
ในการปฏิบัติ การดำเนินชีวิตต้องกลมเกลียวกันด้วยมรรคมีองค์ 8 เพราะจะทำให้จิตค่อยๆลดทอนการปรุงแต่ง (อันนำไปสู่การเกิดของวงจรปฏิจสมุปบาท )

เหตุที่ดำเนินชีวิตด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วจะไม่ปรุง เพราะมีการมองโลกอย่างถูกต้อง ( สัมมาทิฏฐิ )
และมีดำริที่จะอยู่อย่างไม่ร้อนรนตามอำนาจกิเลส ดำริที่จะออกจากกาม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่พยาบาท ( สัมมาสังกัปปะ )
เมื่อมีสองสัมมาอย่างนี้แล้วจะหยุดการปรุงได้ระดับหนึ่ง
และเมื่อดำริจะไม่เบียดเบียนผู้อื่น ก็จะรักษาศีล ระวังวาจาไม่ให้ก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ( สัมมาวาจา ) เช่น ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดให้เขาแตกกัน ไม่พูดเท็จ พูดแต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์
มีการกระทำทางกายที่ถูกต้อง ( สัมมากัมมันตะ ) เช่น ไม่คร่าชีวิตอื่นไม่ลักขโมย ไม่เป็นชู้กับคู่ของผู้อื่น ไม่ดื่มของมึนเมา
มีการประกอบอาชีพที่ถูกต้อง คือละมิจฉาชีพทั้งปวง ( สัมมาอาชีวะ )
ในแง่สัมมาอาชีวะ ทางกฎหมายก็เช่นไม่ค้ามนุษย์ เป็นต้น แต่ในแง่ศาสนา การประกอบอาชีพที่จัดว่าเบียดเบียนผู้อื่น เป็นถูกห้ามทั้งหมด เช่น การค้าขายสิ่งมีชีวิตที่เขานำไปฆ่า การค้าอาวุธ

เมื่อมีความเห็นถูกต้อง มีการรักษาศีล ย่อมเกิดความถูกต้อง หรือความดีขึ้น และละลดสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือความชั่วลง ควรมีความพากเพียรในสิ่งเหล่านี้ ( สัมมาวายามะ ) คือ เพียรระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำความดีให้เกิดขึ้น และเพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่ และเพิ่มพูนให้ยิ่งๆขึ้นไป
ถัดมาคือพยายามฝึกสติ ( ความรู้ตัว ) อยู่เสมอ อย่าให้ถูกอวิชชาครอบงำ เพราะอายตนะภายในต้องติดต่อกับอายตนะภายนอกอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีสติมาให้ทันเวลา ก่อนที่จะเกิดการปรุงเวทนาขึ้นจนกลายเป็นทุกข์ ( สัมมาสติ )
ดังนั้น การปฏิบัติ จึงเริ่มจากอายตนะ
อายตนะทั้งสองคืออายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ) และอายตนะภายใน ( ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ) ติดต่อกันได้ด้วยวิญญาณ ( การรู้แจ้งทางอายตนะ ) เรียก ผัสสะ ( สัมผัส ) ท่านพุทธทาสแบ่งผัสสะไว้เป็น ๒ ชนิด คือวิชชาผัสสะ และอวิชาผัสสะ ( แต่บางที่ท่านเพิ่มสุญญตาผัสสะขึ้นมาด้วย ) อายตนะทั้งหก หรืออินทรีย์ ๖ นี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มของปฏิจสมุปบาทดังที่ว่า
เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา ( ความรู้สึก )
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิด ตัณหา ( ความทะยานอยาก )
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิด อุปาทาน ( ความยึดถือมั่นว่าเป็นตัวตน
ของตน )
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิด ภพ ( ความมีแห่งความรู้สึกว่าเป็นตัวตน )
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดชาติ ( ความรู้สึกเป็นตัวตนสมบูรณ์ )
และเพราะชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดความเห็นแก่ตัว และความทุกข์ต่างๆ
ตามมา
ถ้าจะเริ่มดับทุกข์ จึงต้องเริ่มที่ผัสสะค่ะ ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่าผัสสะที่ครอบงำจิตใจมนุษย์ได้สูงสุด ก็คือสิ่งที่เป็นอารมณ์จากเพศตรงข้าม
เพราะชีวิตเราต้องกระทบกับโลกภายนอกอยู่ตลอดเวลา จึงมักปรุงแต่งผัสสะไล่เรื่อยไปจนเกิดเป็นทุกข์ได้แทบตลอดเวลา ท่านพุทธทาสกล่าวว่า เมื่อผัสสะเกิดหลง เป็นวิชชาผัสสะไม่ได้ ก็ต้องดับให้ทันในเวทนา ถ้าดับในจุดเวทนานี้ไม่ได้ ก็เกิดวงจรปฏิจจสมุปบาทแล้ว
หากดำเนินชีวิตตามครรลองของสัมมาทั้ง ๗ นี้ จิตย่อมสงบระงับ จึงดำรงจิตได้มั่นคง เนื่องจากไม่มีเรื่องรบกวนทั้งวิถีการเลี้ยงชีวิต ความคิดเบียดเบียนผู้อื่น และความผิดของตนเอง จนทำให้จิตไม่สามารถเกิดสมาธิได้
จากนั้นเราจึงใช้จิตที่มั่นคงนี้ เจริญสมาธิ ( สัมมาสมาธิ ) ปฏิบัติกรรมฐานเพื่อให้เกิดปัญญาระดับญาณ ใช้ตัดกิเลสให้ค่อยๆน้อยลงสืบต่อไป
สมาธิ วิปัสสนาตามธรรมชาติ ใช้สมาธิตามธรรมชาติเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญาตัดกิเลสแบบค่อยเป็นค่อยไป (ไม่อาศัยการทำสมาธิที่ได้จากกรรมฐาน )
แต่สมาธิที่ได้จากสัมมาสมาธินี้ เป็นพื้นฐานการสร้างปัญญาตัดกิเลสแบบเร่งรัด
จึงเป็นทางลัดสำหรับผู้ต้องการหลุดพ้นโดยการปฏิบัติตามอริยมรรค
......................................................................
อ้างอิง
สุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์ หลักพระพุทธศาสนา ธรรมสภา ๑/๔-๕ ถนนบรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ ๑๐๑๗๐
พุทธทาสภิกขุ ความหลุดพ้น ไทยควอลิตี้บุคส์ ( ๒๐๐๖ ) ๔๕/๓๓๑ ถนนนวมินทร์ ซอย ๒๔ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพ ๑๐๒๔๐
หมายเลขบันทึก: 304575เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2009 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

แวะมาอ่านบันทึกดี ๆ ครับ

"ให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง"

อนุโมทนาบุญครับ

เอากุหลาบมาฝากไปเด็ดจากเว็บเพื่อนมาค่ะ...

สวัสดีค่ะ...เข้ามาอ่านหลักสูตรเร่งรัด...เพื่อน้อมนำไปปฏิบัติค่ะ...วันนี้มืดฟ้ามัวดิน ฝนตก พี่ณัฐรดาดูแลสุขภาพด้วยนะคะ ขอบพระคุณมากค่ะ

แวะมาชมกุหลาบตามคำชวนค่ะ....

อ่านแล้วทั้งหลักสูตรโดยธรรมชาติและหลักสูตรเร่งรัด เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้างก็จะค่อยๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ ค่ะ

คงต้องขอความกรุณาผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์อย่างคุณณัฐรดาและพี่นกคอยชี้แนะแนวทางค่ะ

ขอบคุณนะคะ ^-^

Dsc03108

มีความสุขใจเสมอที่เข้ามาอ่านบันทึกที่นี่ ขอบคุณที่แบ่งปันความคิด ตัวตน และภาพวาดที่สวยงามมากเสมอๆ ค่ะ

พี่ครับ

ช่วยส่งที่อยู่ไปที่ อ.เหมียว [email protected] ด่วนครับ พอดีท่าน ดร.วิรัตน์ ท่านจะส่งหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดมาให้ครับผม

 

^
^
ขอบคุณน้องเอกครับ .. กำลังจะเข้ามาขอที่อยู่จากคุณณัฐรดาพอดีเลยค่ะ

  • อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ได้ทำหนังสือ "วิถีประชาศึกษา" เสร็จแล้วค่ะ จึงอยากส่งให้กับกัลยาณมิตรค่ะ
  • ส่งไปตาม e-maiol ที่คุณเอกได้ฝากบอกไว้ได้เลยนะค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

 

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมานะคะ

ขอบคุณคุณจตุพร และ อ.ณัฐพัชรด้วยนะคะ สำหรับเรื่องหนังสือค่ะ

สวัสดีค่ะ ภาพวาดสวยจังเลยค่ะ

นำดอกกรันเกรามาฝากค่ะ ไม้มงคลกลิ่นหอมมากค่ะ

ดอกกุหลาบมาฝากพี่สาวค่ะ...ชอบๆเลยเอามาฝากพี่สาวด้วยค่ะ....

สวัสดีค่ะ

มาน้อมรับธรรมที่ผ่านการเรียบเรียงแล้วจนงดงาม เรียบง่าย

จนทำให้เข้าใจแจ่มแจ้งในเส้นทางทั้งในวิธีธรรมชาติและวิธีลัด

เหมือนท่านผู้เขียนจะรู้ว่าเหล่าผู้มาใหม่ มีความสงสัยในเส้นทางและวิธีการ

ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะสำหรับบันทึกอันทรงคุณทั้งสองบันทึกนี้

ขอให้คุณณัฐรดามีความเจริญ ยิ่งๆขึ้นไป

คุณณัฐรดาเผู้เปี่ยมแล้วซึ่งเมตตาจะนำพาผู้สนใจให้ไปสู่เส้นทางอันงามได้โดยแยบยล ....เป็นธรรมชาติโดยแท้

ขอบพระคุณค่ะ

มาชม

งามดอกกุหลาบสีงาม ๆ งามคำแห่งธรรมะด้วยละ...

ปฏิบัติการเพ้นท์แล้วค่ะพี่ตุ๊กตา...โยคาเว ชยาเต ภูริ ..ปัญญาย่อมเกิดจากการปฏิบัติ...

http://gotoknow.org/blog/watcharee08/304751

http://gotoknow.org/blog/frind08/304965

มาชวนพี่ตุ๊กตาเดินทางไปด้วยกันนะ...

สวัสดีค่ะ

มาน้อมนำใจรับธรรมะ และซึมซับความงามของภาพดอกกุหลาบ...

ขอบคุณมากค่ะ

(^___^)

                                  ภาพงามจับตา

                                  ข้อเขียนลึกซึ้ง

                                    จับใจ ค่ะ

สติจับ

ปัญญาตัด

สัมมาสติเป็นองค์พื้นฐานของอีก 7 องค์ที่เหลือ

หมั่นมีสติโดยรู้สภาวะธรรม แล้วหมั่นเจริญสติเนือง จนเห็นไตรลักษณ์ และค่อยๆสะสมปัญญา

สาธุครับ

ตัดกิเลสแบบเร่งรัด ผมถนัดการ "ดูจิต" ครับ มองจิตให้เห็นว่า "สภาพจิต" เป็นอย่างไร สภาพจิตที่ขุ่นมัว ก็จะเกิดจากการคิดครับ ส่วนใหญ่จะคิดฟุ้งซ่าน ก็เฝ้าดูและติดตามเจ้าความคิดฟุ้งซ่านนั้นไว้ครับ

ก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้างครับ

คุณ small man คะ

จะว่าไปแล้วก็คือมีสัมมาสตินั่นเองค่ะ เพราะกำลังใช้สติกำกับ ดูการกระทบของอายตนะ

อนุโมทนากับการปฏิบัติด้วยค่ะ

แต่ก็ต้องระวังค่ะ อย่าให้กลายเป็นวิปัสสนูปกิเลส คือคอยระวังให้จิตผ่องใสอยู่ตลอดเวลา จนสติ (จิตที่มีชื่อว่าสติ)หมดไปกับการนี้ ไม่ได้ใช้จิตในการพิจารณาธรรม กับระวังว่าจะเป็นวิปัสสนาระดับโลกิยะ คือรู้การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่ไม่ได้ใช้ปัญญาอบรมจิต(ชี้โทษให้จิตเห็น)หลังจากที่เวทนาดับ เพราะการวิปัสสนาแบบนี้ กิเลสจะค่อยๆผอม แต่ไม่ตายค่ะ

คุณ Phornphon คะ

ทั้งหมดเหมือนด้าย 8 เกลี่ยวที่ฟั้นรวมกันเป็นเชือกเส้นเดียวที่ชื่ว่าอริยมรรคค่ะ แต่ถ้าว่าอะไรเริ่มก่อน คงต้องเป็นสัมมาทิฏฐิค่ะ เพราะถ้าไม่มีด้ายเส้นแรกนี้ เส้นอื่นๆก็ไม่ตามมาค่ะ

อิๆๆๆ เพื่อไม่ให้น้อยหน้าพี่อ้อยเล็ก...Vij นำดอกไม้มาให้ นำดอกไม้มาฝาก หากว่าเธอต้องการ ก็เก็บรักษาไว้...อิๆๆๆ...

วาว สวยจังค่ะ กุหลาบสี โอลด์ โรส

ว่างๆต้งอปริ้นท์กุหลาบเหล่านี้มาเป็นนางแบบเสียหน่อยแล้ว

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท