รูปโครงของอานาปานสติ(2)


ขั้นตอนการปฏิบัติ

เพื่อที่จะเพ่งดูสิ่งต่างๆ และรับผลของการเพ่งนั้น จึงมีการปฏิบัติ หรือมนสิการ(4) หรือการกระทำในใจ ตามลำดับขั้นคือ

ส่วนที่เป็นสมถะ(5)

1 การกำหนดลมด้วยการนับ แบ่งเป็นการนับช้า และการนับเร็ว เรียก คณนา

การนับช้ากำกับลมหายใจ สมมุติว่าทางเดินของลมหายใจเข้า-ออกมีลักษณะเป็นทางยาวอยู่ระหว่างจมูกกับสะดือ ให้แบ่งทางเดิน (หรือทางวิ่ง) ของลมหายใจเป็น 3 ช่วงด้วยกัน โดยเริ่มจากปลายจมูก กลางอก และสะดือ เมื่อหายใจเข้า ต้นลมอยู่ปลายจมูก กลางลมอยู่หทัย ปลายลมอยู่สะดดือ เมื่อหายใจออก ต้นลมอยู่สะดือ กลางลมอยู่ที่ใจ ปลายลมอยู่จมูก

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคใช้การนับเป็นคู่กำกับการหายใจเข้า-ออก คือหายใจเข้าครั้งที่หนึ่งให้นับ 1 หายใจออกครั้งที่หนึ่ง ก็นับ 1เช่นกัน

ดังนั้นการหายใจเข้า-ออกครั้ง (คู่) ที่หนึ่ง จึงนับเป็นคู่ 1,1

ครั้นหายใจเข้าครั้งที่สอง ก็นับ 2 หายใจออกครั้งที่สอง ก็นับ 2 ด้วย

การหายใจเข้า-ออกครั้งที่สอง จึงนับเป็นคู่ 2,2

ให้นับอย่างนี้เรื่อยไป โดยการนับคู่ไม่ควรต่ำกว่า 5 ค่อยๆเพิ่มการนับขึ้นไปทีละคู่แต่เพิ่มไม่เกิน 10 คู่ เมื่อนับครบ ก็กลับมาตั้งต้นนับคู่1,1 ใหม่

พอจะเขียนการนับได้ดังนี้ค่ะ

1,1 : 2,2 : 3,3 : 4,4 : 5,5

1,1 : 2,2 : 3,3 : 4,4 : 5,5 : 6,6

1,1 : 2,2 : 3,3: 4,4 : 5,5 : 6,6 : 7,7

1,1 : 2,2 : 3,3 : 4,4 : 5,5 : 6,6 : 7,7 : 8,8

1,1 : 2,2 : 3,3 : 4,4 : 5,5 : 6,6 : 7,7 : 8,8 : 9,9

1,1 :2,2 :3,3 :4,4 :5,5 :6,6 :7,7 :8,8 :9,9 :10,10

1,1 : 2,2 : 3,3 : 4,4 : 5,5

1,1 : 2,2 : 3,3 : 4,4 : 5,5 : 6,6

1,1 : 2,2 : 3,3: 4,4 : 5,5 : 6,6 : 7,7

1,1 : 2,2 : 3,3 : 4,4 : 5,5 : 6,6 : 7,7 : 8,8

1,1 : 2,2 : 3,3 : 4,4 : 5,5 : 6,6 : 7,7 : 8,8 : 9,9

1,1 :2,2 :3,3 :4,4 :5,5 :6,6 :7,7 :8,8 :9,9 :10,10

.....................

.....................

เมื่อนับไปได้สักระยะ ลมหายใจจะเริ่มละเอียด คือเบา และสั้นขึ้น จึงเปลี่ยนจากการนับคู่ช้าๆ มาเป็นการนับเร็ว โดยไม่ต้องแบ่งช่วงทางวิ่งของลมเป็น 3 ช่วง ไม่ต้องคำนึงถึงว่าขณะที่นับอยู่นั้น กำลังหายใจเข้า หรือหายใจออก และเปลี่ยนจากการนับคู่มาเป็นการนับเดี่ยว

เมื่อไม่กำหนดลมที่ทางวิ่ง แล้วจะกำหนดที่ไหนหรือคะ คำตอบคือ ให้กำหนดลมที่ปลายจมูกแทน

ส่วนการนับ เปลี่ยนจากนับทีละคู่เมื่อลมหายใจเข้า-ออก เป็นการนับเดี่ยว โดยนับต่อเนื่องไป ไม่ต้องสนใจว่าขณะที่นับนั้นกำลังหายใจเข้าหรือออก

โดยเริ่มนับ 1 5

เมื่อนับครบ กลับมาเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ แล้วนับเพิ่มขึ้นทีละ 1 (รอบต่อไปจึงเป็น 1 6) เรื่อยไปจนถึง 1 - 10

ดังนั้นการนับจึงเป็นดังนี้ค่ะ

1,2,3,4,5

1,2,3,4,5, 6

1,2,3,4,5,6,7

1,2,3,4,5,6,7,8

1,2,3,4,5,6,7,8,9

1,2,3,4,5,6,7,8,9,10

1,2,3,4,5

1,2,3,4,5,6

1,2,3,4,5,6,7

1,2,3,4,5,6,7,8

1,2,3,4,5,6,7,8,9

1,2,3,4,5,6,7,8,9,10

1,2,3,4,5

............

............

นับวนไปมาอย่างนี้จนกว่าจิตจะเริ่มทรงตัวอยู่ได้จึงเลิกนับ เหตุที่เลิกนับ เพราะถ้ายังนับอยู่อย่างนั้นตลอดไป จิตจะไม่นุ่มนวล ควรแก่งาน

แต่สมัยใหม่ เรามักใช้คำว่า พุทโธ, ยุบหนอ พองหนอ, สัมมาอรหัง แทนค่ะ ส่วนนี้แล้วแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล จะใช้การนับ หรือคำบริกรรมอื่นใดกำกับลมหายใจก็ได้ ไม่ผิดแต่อย่างใด

การปฏิบัติโดยไม่ใช้การนับเลข

ทำได้โดยกำหนดทางวิ่งของลมเป็นช่วงเหมือนเดิมค่ะ เพียงแต่ไม่ใช้การนับเลข แต่ใช้คำบริกรรมตามถนัด เช่น พุทโธ แทน โดยเมื่อหายใจเข้าให้กำกับว่า พุท หายใจออก กำกับว่า โธ เรื่อยไป

ท่านพุทธทาสเรียกการตามลมจากต้นลมถึงปลายลมนี้ว่า การ วิ่งตาม ลมหายใจ

จนเมื่อลมหายใจเริ่มละเอียดขึ้น จึงเปลี่ยนจากการกำหนดลมแบบวิ่งตาม มากำหนดลมที่ปลายจมูก ส่วนคำบริกรรม ยังคงเป็นพุทโธเช่นเดิม

ซึ่งท่านพุทธทาสเรียกการดูลมที่ปลายจมูกนี้ว่าการ เฝ้าดู คือเฝ้าดูปากประตูที่ลมผ่านเข้าออกนั่นเองค่ะ

2 การติดตามลมหายใจแบบไม่ขาดสาย เรียก อนุพันธนา

เมื่อสติกำหนดอยู่เพียงจุดที่ลมผ่านเข้าออก คือปลายจมูก หรือบนริมฝีปากบน ให้ เฝ้าดู อยู่อย่างนั้น ถ้าไม่มีความคิดฟุ้ง จิตจะค่อยๆสงบขึ้น ลมหายใจค่อยๆละเอียดขึ้น

3 พบจุดที่ลมถูกต้องปลายจมูก เมื่อจิตเริ่มตั้งมั่น ลมหายใจจะละเอียดยิ่งขึ้น จะสามารถกำหนดจุดที่ลมถูกต้องตรงปลายจมูกได้ เรียกการปฏิบัติขั้นนี้ว่า ผุสนา

4 สติตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นที่จุดนั้นได้แน่วแน่ เรียก ฐปนา ลมหายใจจะละเอียดและเบาจนไม่สามารถกำหนดได้ จะเกิดมโนภาพเป็นดวง หรือวง อย่างใดอย่างหนึ่งตั้งขึ้น ณ จุดที่กำหนดลมแทน เรียกว่า นิมิตปรากฏ

และต่อไปนี้ ก็กำหนดที่นิมิตนั้นแทนลมหายใจ รูปร่างของนิมิตนี้ ไม่แน่นอน ตามแต่ความเคยชินที่เคยกระทำมาแต่ก่อนค่ะ

จุดที่เกิดรูปเป็นนิมิตแทนลมหายใจ เรียก อุคคหนิมิต

เมื่อควบคุมนิมิตให้คงอยู่ได้แล้ว น้อมจิตให้เปลี่ยนอุคคหนิมิตเปลี่ยนแปลงขนาด สี หรือเคลื่อนที่ไปมาได้ นิมิตที่เปลี่ยนตามความน้อมนึกนี้ เรียกปฏิภาคนิมิต

ผู้ปฏิบัติเมื่อมาถึงขั้นนี้ต้องเลือก และประมาณการรับประทานอาหาร (เช่นพยายามเลี่ยงอาหารที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มความกำหนัด เป็นต้นว่า กระเทียม, กำหนดมื้อ และปริมาณอาหาร เพื่อไม่ให้มากเกินไปจนชวนให้เกียจคร้าน) จัดสภาพแวดล้อมให้ดี (เช่นจัดที่ที่มิดชิดสำหรับทำสมาธิเพื่อตัดความกังวลว่าใครจะมาเห็นในขณะปฏิบัติ หรือบอกกล่าวผู้ใกล้ชิด อย่าให้มาขัดจังหวะการปฏิบัติจนใจคอระส่ำระสาย) เพื่อมิให้มีเหตุมาขัดขวางความก้าวหน้าในการปฏิบัติได้ หรือก็คือเลือกแต่สิ่งที่เป็นสัปปายะ (6) นั่นเองค่ะ

เมื่อนิมิตลงตัว บังคับนิมิตให้เปลี่ยนแปลงจนพอใจแล้ว หน่วงนิมิตสุดท้าย(ที่หยุดนิ่ง)เป็นอารมณ์เรื่อยไปจนครบองค์ฌาน อันประกอบด้วย วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา (ปฐมฌาน) จิตจะเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับอารมณ์นั้น

อาจปฏิบัติจนได้ฌานที่สูงขึ้นไปก็ได้ อย่างไรก็ดี ท่านพุทธทาสได้ให้ความเห็นว่า เมื่อเราฝึกจนถึงขั้นที่เกิดอุคคหนิมิต จิตก็มีความสงบ และมีกำลังพอที่จะนำไปใช้พิจาณาธรรมอื่นๆได้แล้วค่ะ เป็นทางลัดสำหรับผู้ไม่ค่อยมีเวลา อีกทั้งยังไม่นำไปสู่การหลงติดในความสุข ความสงบ ของฌานอีกด้วย

เนื่องจากส่วนนี้เป็นการเพ่งอารมณ์ หรือ อารัมมณูปนิชฌาน (7) ผลที่ได้จึงเป็นสมถะ คือความสงบของจิต

ส่วนที่เป็นวิปัสสนา

5 เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จะคล่องแคล่วต่อการใช้งาน หากฝึกจนสามารถเกิดองค์ฌานได้ บางท่านมักบอกให้ถอยจิตออกจากฌานเล็กน้อยเพื่อนำจิตมาเพ่งลักษณะของธรรมต่างๆ (กาย เวทนา จิต ธรรม) จนเห็นไตรลักษณ์อย่างชัดเจน แต่เราอาจไม่ต้องถอยออกมาก็ได้ค่ะ เพราะฌานต่างๆตั้งแต่ปฐมฌาน ถึงอากิญจัญญายตนะ เป็นสัญญาสมาบัติ (อ้างอิงตามความเห็นที่ 10) สามารถเจริญวิปัสสนาในฌานได้เลย(แต่ถ้าฝึกทางลัด เมื่อเกิดอุคคหนิมิต ก็น้อมจิตพิจารณาธรรมได้เลย) ขั้นนี้เรียก สัลลักขณา

6 เมื่อเห็นไตรลักษณ์ และเฝ้าดูอยู่อย่างนั้น จะเกิดการเบื่อหน่ายคลายความอยาก ความยึดถือมั่น และเห็นทางตัดกิเลสหรือ มรรค เรียก วิวัฏฏนา (บางท่านเรียกว่าหมุนออก)

7 เห็นผลที่เกิดขึ้นคือการไม่มีกิเลส เรียก บริสุทธิ์

8 มองดูผลการปฏิบัติ ตั้งแต่ต้นจนแจ้งว่าจิตอยู่ในสภาพปราศจากกิเลส เรียก ปฏิปัสสนา

เนื่องจากส่วนนี้เป็นการเพ่งลักษณะ หรือลักขณูปนิชฌาน ผลที่ได้จึงเป็นวิปัสสนา

...............................

ส่วนอ้างอิง

(4) วิธีมนสิการ 8 อย่าง

นี้เป็นวิธีมนสิการในอานาปนสติกัมมัฏฐานนั้น คือ

1 คณนา การนับ

2 อนุพันฺธนา การติดตาม

3 ผุสนา การถูกต้อง

4 ฐปนา การตั้งจิตมั่น

5 สลฺลกฺขณา การกำหนดหมายได้ชัด

6 วิวฎฺฎนา การเปลี่ยนแปลง

7 ปาริสุทฺธิ การหมดจด

8 เตสํ ปฏปสฺสนา การย้อนดูวิวัฎฎนา (มรรค) และปาริสุทธิ (ผล) เหล่านั้น

พระพุทธโฆสเถระ คัมภีร์วิสุทธิมรรค (สมเด็จพระพุทฒาจารย์ อาจ อาสภมหาเถร แปลและเรียบเรียง) The Corporate Body of the Buddha Educational Foundation 11F.,55 Hang Chow South Road Sec 1, Taipei, Taiwan, R.O.C. หน้า 459

(5) ...ครั้งแรกเรากำหนดลมอย่างที่เรียกว่าเป็นช่วงๆ เช่น ช่วงเข้าก็กำหนดได้ว่ามันเข้า ตั้งต้นที่ปล่ยจมูก เดินทางไปถึงตรงกลางอกแล้วไปสุดที่สะดือ เมื่อออก กตั้งต้นที่สะดือ เดินทางมาถึงกลางอก แล้วมาสุดอยุ่ที่ปลายจมูก หรือว่าเราจะนับ 1 ถึง 5 หรือ 1 10 ในช่วงหายใจเข้า และช่วงหายใจออก อย่างนี้เรียกว่าเป็นช่วงๆ (คณนา)

ทีนี้เพื่อให้ละละเอียดขึ้นไป ก็ทำอย่างติดตาม(อนุพันธนา) ได้แก่การไม่กำหนดเป็นช่วงๆอย่างนั้น แต่ติดตามลมไปตลอดสาย หรือเราเฝ้ากำหนดอยุ่ที่ปากช่องจมูก ถ้าหากจิตไม่หนีไปได้ ระหว่างที่ลมหายใจเข้าหรือออก ก็เรียกว่าเหมือนกับติดตามอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน

นี้แหละเป็นการกำหนดลมที่ละเอียดยิ่งขึ้นไป แล้วจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า จุดที่ลมต้อง (ผุสนา) คือเราเฝ้าสังเกตแต่จุดที่ลมถูกต้องตรงปลายจมูก

ถ้ากำหนดจุดนั้นได้แน่วแน่ ก็เรียกว่ามีสติตั้งมั่นลงที่ตรงนั้นได้ (ฐปนา) เมื่อกำหนดอยู่นั้น ลมหายใจจะละเอียดจนแปรรูปเป็นวงขาวหรือแดง หรือขุ่นเหมือนหมอก เหมือนปุยฝ้าย หรือเหมือนกับดวงแก้ว แล้วแต่มันจะเห็นอย่างไร ไม่เป็นเรื่องสำคัญ เพียงถือว่าจุดๆนั้นเป็นนิมิตแทนลมหายใจ (อุคคหนิมิต)

เมื่อสามารถควบคุมนิมิตในมโนสภาพอย่างนั้นได้เรียบร้อยแล้ว ลองฝึกให้เก่งไปกว่านั้นอีก คือน้อมจิตไปในทางที่จะให้มโนภาพ (อุคคหนิมิต) นั้นเปลี่ยนแปลงได้ ใหญ่ได้เล็กได้ ร่นออกไปข้างหน้าไกลๆก็ได้ หรือให้ลึกลงไปในคอ ในอกก็ได้ นี่เป็นเรื่องโนภาพทั้งนั้น นิมิตที่เปลี่ยนรูปได้ตามความน้อมนึกอย่างนี้ เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต.....

......ระยะถัดไปก็เป็นส่วนของวิปัสสนา คือเมื่อจิตเป็นสมาธิ สงบ สะอาด และมั่นคงอยู่แล้ว มันจะคล่องแคล่วต่อการงาน ด้วยการที่เราใช้จิตที่มีลักษณะอย่างนี้กำหนดเวทนา หรือกำหนดจิต หรือกำหนดธรรม แปลว่าการกำหนดลักษณะ ไม่ใช่กำหนดอารมณ์

กล่าวคือกำหนดลักษณะในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือสุญญตา อย่างที่ได้อธิบายแล้ว

อาการที่ไม่มีการเกิด การดับของกิเลสนั้น เรียกว่า ขณะแห่งมรรคที่ตัดกิเลส (วิวัฏฏนา)

หลังจากนั้น ก็มีผลที่เกิดขึ้นเพราะการไม่มีกิเลส (บริสุทธิ์)

อันสุดท้าย ก็คือเป็นการมองดูสิ่งที่ทำมาแล้วตั้งแต่ต้นจนปลายว่า บัดนี้อยุ่ในสภาพที่จิตปราศจากกิเลส (ปฏิปัสสนา)

นี่แหละ แนวใหญ่ๆมีอยู่อย่างนี้ ตอนที่เป็นเรื่องของสมาธิก็มีคณนา (กำหนดลมหายใจเป็นช่วงๆ) อนุพันธนา(กำหนดตลอดสาย) ผุสนา (เพ่งอยู่ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง) ฐปนา (ตั้งมั่นอยู่ที่นั่น) นิมิตเปลี่ยนมาตามนั้นจนกระทั่งอยุ่ในรูปที่ทำให้เกิดฌานได้ สิ้นเรื่องของสมาธิ

ส่วนเรื่องของวิปัสสนาก็คือการพิจารณาลักษณะ (สัลลักขณา) พิจารณาเรื่องของมรรค( วิวัฏฏนา) เรื่องของผล (บริสุทธิ์) และเรื่องของการปราศจากกิเลส (ปฏิปัสสนา) เป็นอันว่าตลอดสายของอานาปนสติทั้งหมดนั้นก็มีหลักใหญ่ๆอยู่อย่างนี้

พุทธทาสภิกขุ คู่มือดับทุกข์ ธรรมสภา 1 / 4 5 ถนนบรมราชชนนี แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ 10170 (หน้า 188 -191)

(6) สัปปายะ สิ่ง สถาน หรือบุคคล ซึ่งเป็นที่สบาย เหมาะแก่กัน เกื้อกูล หรือเอื้ออำนวย โดยเฉพาะที่ช่วยเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญ และประคับประคอง รักษาสมาธิ

ท่านแสดงไว้ 7 ข้อ คือ อาวาส (ที่อยู่) โคจร (ที่บิณฑบาต)หรือแหล่งอาหาร) ภัสสะ (เรื่องพูดคุยที่เสริมการปฏิบัติ) บุคคล (ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้วช่วยให้จิตผ่องใส สงบ มั่นคง) โภชนะ (อาหาร) อุตุ (สภาพแวดล้อมและอุณหภูมิ) อิริยาบถ

ทั้ง 7 ข้อนี้ ที่เหมาะกัน เป็นสัปปายะ ที่ไม่สบาย เป็นอสัปปายะ

พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ เขตพระนคร กรุงเทพ พิมพ์ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2546 (หน้า 274)

(7) มีหลักอยู่อย่างหนึ่ว่า ถ้าเพ่งดู หรือตามดูตามเห็นวัตถุ เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน แปลว่าการเพ่งอารมณ์ ได้ผลเป็นสมถะ หรือสมาธิ

คำว่าอารมณ์ ในที่นี้หมายถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น การเพ่งกสิณที่เป็นซากศพ กสินที่เป็นโครงกระดูก หรือการเพ่งดูอาการพองยุบของท้อง เป็นต้น ได้ผลเป็นสมถะ ลมหายใจเข้าออกก็เป็นอารมณ์วัตถุชนิดหนึ่ง ถ้ามีสติตามดูลมหายใจเข้าออก ก็มีผลเป็นสมถะ แม้ว่าเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจที่วิ่งเข้าออก ก็ยังจัดอยู่ในฝ่ายสมถะเหมือนกัน

ดังนั้น ถ้าเพ่งดูหรือตามดูตามเห็นอารมณ์ที่เป็นวัตถุ ได้รับผลเป็นสมถะ หรือสมาธิ

ถ้าเพ่งดูหรือตามดูตามเห็นคุณลักษณะ หมายถึงตามดูสิ่งที่เป็นนามธรรม เรียกว่ ลักขณูปนิชฌาน แปลว่าการเพ่งลักษณะ ได้รับผลเป็นวิปัสสนา หรือปัญญา

เช่น การตามดูตามเห็นการเกิดดับของความคิด หรือดูความรู้สึกดีใจ เสียใจ เป็นต้น ก็จะเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ยกตัวอย่าง มีคนมาตำหนิ เกิดความโกรธ ภาวะของความโกรธเรียกว่าคุณลักษณะ ก็ใช้สติตามดูความโกรธ เห็นว่าความโกรธมีลักษณะเหน็ดเหนื่อย กระวนกระวาย ไม่สงบ เรียกว่าเห็นทุกขัง เมื่อตามดูสักระยะหนึ่

หมายเลขบันทึก: 307655เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2009 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีครับ ความรู้ใหม่วันหยุด 3 วันต้องนำไปทดลองใช้ปฎิบัติแน่นอนครับ ขอบคุณมากครับ

ขอบพระคุณค่ะสำหรับความรู้ในการปฎิบัติสมาธิ

ดาวเคยนอนสมาธิ นับหนึ่งไม่ทันถึงสิบ...รู้สึกตัวอีกทีก็เช้า 555

ตอนนี้เลยต้องนั่ง ใช้วิธีวิ่งตามลมหายใจ แล้วก็เฝ้าดูลมหายใจแทนค่ะ

สวัสดีค่ะ... เข้าทักทายในวันฝนตกค่ะ...Vij นั่งสมาธิแล้วเป็นเหน็บชาทุกทีค่ะ...ไปไม่เคยถึงไหน...เคยให้ลูกศิษย์นั่งสมาธิก่อนไปเรียนวิชาอื่น 15 นาที แต่พอเปิดตาปุ๊บเด็กในห้องก็ต่อยกันปั๊บเลยค่ะ...(เขาทะเลาะกันมาตั้งแต่วิชาที่แล้ว)...เพื่อน ๆ ของเขาเลยบอกว่า อาจารย์ไม่น่าให้เปิดตาเล้ยยยย...เป็นงงเลยค่ะ...

สวัสดีค่ะ

เป็นวิธีการที่น่าสนใจและลองนำไปปฏิบัติค่ะ ปกติจะสวดมนต์นั่งสมาธิก่อนนอนค่ะ

ปกติแล้วจะใช้การกำหนดลมหายใจที่ท้อง พองหนอยุบหนอ ตามแนวของหลวงพ่อจรัลค่ะ... ช่วงปิดภาคเรียนจะไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานประมาณ 7 วัน

แต่วิธีที่คุณณัฐรดา แนะนำนี้จะลองนำไปปฏิบัติดูค่ะ

ขอบคุณเรื่องราวดีๆ  และขอชื่นชม ภาพวาดงดงามมากค่ะ

ระลึกถึงค่ะ

 

สวัสดีครับ

ละเอียดดีมากเลยครับ

อ่านเข้าใจง่ายดีครับ

สวัสดีค่ะทุกท่าน

ขอบคุณนะคะที่แวะมาเยี่ยมกัน

  • มาเรียนรู้ต่อยอด ครับ
  • ขอขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณณัฐรดา..ขอบคุณครับ ที่แวะไป เยี่ยม (ด้วยความเมตตา)..ได้อ่าน อานาปนสติ(1),(2) แล้ว..ด้วยความเคารพ..รู้สึกเหมือนได้ ทิพยโอสถ อันควรค่าแก่ สมองของพุทธศาสนิกชน..ที่จะนำไปพิจารณาประกอบอุปนิสัย(บุญบารมี)ของแต่ละคน..

ขอบคุณค่ะที่แบ่งปัน

"ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้แล สัญญาสมาบัติ (สมาบัติที่ประกอบด้วยสัญญา) มีแค่ใด อัญญาปฏิเธ (การตรัสรู้ หรือการบรรลุอรหัตตผล ก็มีแค่นั้น"

ข้อนี้ หมายความว่า ในฌานตั้งแต่อากิญจัญญายตนะลงไป มีสัญญา (รวมทั้งขันธ์อื่นๆ)ที่ประกอบร่วม) สำหรับให้พิจารณาได้ จึงทำให้วิปัสสนาให้บรรลุอาสวักขัยได้ ในฌานเหล่านั้น ส่วนเนวสัญญานาสัญญายตนะ มีสัญญา (รวมทั้งขันธ์อื่นๆที่ประกอบร่วม)ซึ่งละเอียดเกินไป จนเรียกว่า เนวสัญญานาสัญญา คือ จะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ จึงไม่อยู่ในภาวะที่จะใช้งานในการกำหนดพิจารณาได้ ครั้นถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ ก็ดับสัญญาและเวทนาเสียแล้ว เป็นอันไม่ต้องกล่าวถึง ดังนั้นสมาบัตทั้งสองนี้จึงไม่เรียกว่าสัญญาสมาบัติ

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.องปยุตฺโต) พุทธธรรมฉบับปรับปรุงและขยายความ หน้า 325

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท