บันทึกตอบความเห็น "ควรตั้งใจมั่นไปตักบาตรพระอรหันต์??"


คุณ PSupalak ได้ฝากความเห็นไว้ในบันทึก อันตราย !! อาหารใส่บาตร ว่า

คุณณัฐรดาคะ

ขออนุญาตเรียนถามนะคะ

มีอาจารย์และคุณแม่ชีแนะนำว่าควรตั้งใจมั่นหาโอกาสไปตักบาตรพระอรหันต์

ขอความกรุณาคุณณัฐรดาชี้แนะค่ะ เพราะในห้วงเวลาวันที่ท่านชี้แนะ

บางทีเราก็ติดภารกิจที่ยังปลีกเวลาไม่ได้และหลังจากนั้นท่านก็ติดกิจนิมนต์ต่างจังหวัด

ในส่วนตน ตั้งใจมั่นอยู่แต่ก็รอโอกาสเหมาะสมด้วย จึงคิดว่าจะหาโอกาสในช่วงเวลาอื่น

คุณณัฐรดามีเห็นว่าเช่นไรโปรดชี้แนะด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

ที่คุณนกพูดถึง คงหมายถึงบุญพิเศษมังคะ

ในหนังสือ อธิบายหลักธรรมตามหมวดจากนวโกวาท* ได้ให้ความหมายของบุญพิเศษไว้ดังนี้ค่ะ

การบริจาคทานที่เป็นบุญพิเศษ ต้องสมบูรณ์ด้วยคุณ 4 ประการ คือ

1วัตถุสัมปทา ผู้ที่ตนบริจาคให้นั้น จะต้องเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งสามารถเข้าสมาบัติได้ ได้แก่ พระอนาคามี กับพระอรหันต์

2 ปัจจัยสัมปทา สิ่งที่ตนนำมาบริจาคนั้น จะน้อยหรือมากก็ตาม จะต้องได้มาโดยทางที่ชอบธรรม ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม

3 เจตนาสัมปทา สมบูรณ์ด้วยเจตนา คือความสุขใจ ความตั้งใจ ทั้งก่อนที่จะให้ ทั้งในขณะที่ให้ และหลังจากที่ให้ไปแล้ว ไม่รู้สึกเสียดาย เสียใจในสิ่งที่ตนบริจาคไป

4 คุณดิเรกสัมปทา พระอริยบุคคลท่านนั้น จะต้องออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ แล้วบุคคลผู้นั้นได้ให้ทานแก่ท่านเป็นคนแรก

ถ้าหากว่าสมบูรณ์ด้วยคุณทั้ง 4 ประการนี้ การรับผลอานิสงส์ก็จะได้รับภายในวันนั้น แต่ตามปกติเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะแม้ในสมัยพุทธกาลเอง ก็มีคนได้รับอานิสงส์นี้เพียง 6 ท่านเท่านั้นเอง

หากโอกาสที่จะได้ทำบุญพิเศษนั้น ยากมากค่ะ เพราะพระคุณเจ้าที่เป็นพระอริยะทั้งสองระดับนั้น ท่านก็ไม่โฆษณาตัวท่านเอง เราชาวพุทธจึง "อาจ" รู้ได้ด้วยการศึกษาหาความรู้เพื่อสังเกตุท่านจากวัตรปฏิบัติ และจากคำสั่งสอนของท่าน

แต่มีพระบางรูปค่ะ ลูกศิษย์โฆษณาให้ว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของท่านแล้ว หากพอเรา เห็นท่านโบกแส้ปัดรังควาน (อันเป็นสีลลัพพตปรามาส) เจิมรถทีละ 4 คัน สอนชาวบ้านให้ยึดมั่นในความดี (คือทำความดีแล้วยึดมั่น ว่านั่นเป็นความดีหรือเป็นผลงาน "ของตน" ในเมื่อ "ตน" ทำ ตนต้องได้รับผลตอบแทน ) ก็พอจะพยากรณ์ท่านได้ว่าเป็นพระอริยะหรือไม่

ในเมื่อการบริจาคทานอันเป็นบุญพิเศษยากมากขนาดนั้น เราก็อย่าไปยึดมั่นเลยนะคะ อีกอย่าง ทำบุญ ไม่จำเป็นต้องทำกับพระ (ข้อนี้พระคุณเจ้าไพศาล วิสาโล บอกต่อ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ขณะพูดคุยในรายการของอาจารย์ท่าน) จะทำกับใคร กับพระคุณเจ้ารูปใด หรือกับผู้ตกทุกข์ได้ยากคนไหน ก็ได้ ขอให้เจตนาบริสุทธิ์ และทำด้วยความเคารพ คือให้ทานด้วยกิริยาที่เหมาะสม ไม่ว่าผู้รับจะเป็นใคร

ขอแค่มีเจตนาบริสุทธิ์ในการทำบุญก็พอค่ะ นั่นคือ

1 เจตนาทำนุบำรุงสงฆ์ เพื่อให้ท่านมีกำลังสืบพระศาสนา

2 เจตนาฝึกการละ คลายความตระหนี่ของตน

3 การทำบุญตามบุญกิริยาวัตถุ 10 นั้น ไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ นอกจากเป็นไปเพื่อนิพพาน คือไม่ใช่การทำบุญที่หวังผลตอบแทนอันเป็นเจือด้วยกิเลส เช่น ทำบุญแล้วอธิษฐานขอให้การงานประสบผลสำเร็จ ให้ร่ำรวย หรือขอสวรรค์สมบัติ หรือตัดกรรม (เช่นการนั่งกรรมฐานเพื่อตัดกรรม การฝึกกรรมฐานนั้นได้บุญอยู่แล้วค่ะ แต่ถ้าไม่ใช่ทำเพื่อฝึกจิตให้สงบ หรือเพื่อการใช้ปัญญาพิจารณาธรรมให้หลุดพ้นไป อานิสงส์ที่ได้ย่อมไม่มาก แล้วบุญที่ได้จะเพียงพอที่จะไปตัดกรรมได้อย่างไรกันคะ อีกอย่าง กรรม ถ้าไม่ใช่อโหสิกรรม - กรรมที่ไม่อาจส่งผลเนื่องจากเจ้าตัวสร้างกุศลเพิ่มมากจนอกุศลกรรมตามไม่ทัน -ใช่ว่าจะตัดกันได้ ขนาดพระโมคคัลลานะ อัครสาวก ยังต้องถูกโจรทำร้ายจนนิพพาน เนื่องจากกรรมที่เคยฆ่าบุพการีไว้แต่ปางก่อน)

ซึ่งการทำบุญที่หวังผลตอบแทนเหล่านี้ เรียก อาสวฐานียะคือเป็นการตั้งแห่งกิเลส เป็นการเพิ่มกิเลส เพิ่มความยึดมั่นในตัวตน ของตนค่ะ

สำหรับการทำบุญแล้วอธิษฐานหวังบรรลุนิพพานนั้น เรียกว่า การตั้งจิตมั่นค่ะ ไม่ใช่การทำบุญโดยหวังผลตอบแทน

4 ไม่มีเยื่อใยในบุญนั้น เช่น ถวายอาหารแล้ว ไม่คอยมอง ว่าพระคุณเจ้าจะฉันหรือไม่ เมื่อถวายแล้ว ก็ถวายเลย ไม่เสียใจภายหลัง

เพียงอิ่มใจ ทั้งขณะตั้งใจจะทำ ขณะทำ และหลังทำ ก็มั่นใจว่าได้บุญแล้วค่ะ

ท่านพุทธทาสได้ให้ความหมายของ บุญ ว่าต่างจาก กุศล อย่างไร ไว้อย่างน่าสนใจเชียวค่ะ

พวกหนึ่งทำดี หรือทำบุญเพื่อเอาผลตอบแทนทำนองการค้า และเล็งผลอนุโลมตามกิเลสตัณหาของตัว เป็นการลอยตามกระแส เป็นไปเพื่อเวียนเกิดในภพใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด อย่างนี้อาตมาบัญญัติว่า บุญ

ส่วนอีกพวกหนึ่งตรงกันข้าม ทำดีด้วยการเสียสละ ขูดเกลากิเลส ฝืนตัณหา หรือเผากิเลส เป็นการทวนกระแส เป็นไปเพื่อการดับไม่เหลือ คือพระนิพพาน อย่างนี้อาตมาบัญญัติว่า กุศล**

มองว่าผู้ที่ปรารถนาจะช่วยเหลือผู้ป่วย โดยไม่คำนึงถึงตนเอง พยายามเจริญสติ ถนอมน้ำใจผู้อื่นอยู่เสมอเช่นคุณนก คงปรารถนา กุศล มากกว่า บุญ นะคะ

และขอบคุณคุณนกมากค่ะ ที่เอ่ยถึงเรื่องนี้ขึ้นมา

*** กุศลใดที่เกิดจากการเผยแพร่บันทึกนี้ ขออุทิศแก่คุณนก Pผู้ละโลกนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2552

...........................................

*พระเทพดิลก (ระแบบ จิตญาโณ) อธิบายหลักธรรมตามหมวดจากนวโกวาท ธรรมสภา 1 / 4-5 ถนนบรมราชชนนี แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ

** พุทธทาสภิกขุ พจนานุกรมธรรมของท่านพุทธทาส ธรรมสภา 1 / 4-5 ถนนบรมราชชนนี แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ

หมายเลขบันทึก: 315853เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2009 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

การบรรลุธรรม จนสำเร็จ อรหันต์ ต่างหากครับ

ที่ได้บุญสูงสุด การทำบุญ

หาก ไม่สามารถ ละอัตตา หรือ ลดกิเลส ได้

การทำบุญนั้น ไม่เกิดกุศลครับ

เืกือบลืมครับ ขอชม

เป็นงานเขียน ที่ คมคาย และได้แง่คิดดีมาก

สวัสดีค่ะ...คุณณัฐรดา

ศรัทธาในผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมชอบ

แต่ขาดศรัทธาในผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมมิชอบ

ขอบคุณมากค่ะสำหรับบันทึกศิลป์ - ธรรม ทุกๆบันทึกค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณศุภรักษ์ ศุภเอม

ขอบคุณที่แวะมานะคะ

ขออนุญาตแยกบุญ ออกจากกุศล ได้มั๊ยคะ

จะได้ว่า การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุอรหันต์ เป็นกุศลสูงสุดอย่างที่คุณบอกไว้จริงๆค่ะ ท่านพุทธทาสเรียกการบริจาค ตัวกู ของกู เพื่อลดอัตตา ลดกิเลส ว่าสุญญตาทาน ท่านว่าเป็นการสร้างกุศลที่ได้อานิสงส์สูงสุด

ส่วนการทำบุญที่ได้อานิสงส์สูงสุด คืออภัยทานค่ะ เพราะทำได้ยากมาก

ขอบคุณสำหรับความเห็นด้วยนะคะ

อาตมาว่า การทำบุญด้วยทำกุศลด้วยดีไหม อาจารย์หลายท่านกล่าวว่า การทำบุญเก่ง กับทำบุญเป็นไม่เหมือนกันนะ คุณโยม ฝากท่านทั้งหลายด้วย เจริญพร

สวัสดีค่ะ ครูอิ๊ด

แวะมาแต่เช้าเชียวค่ะ ขอบคุณนะคะ

สวัสดีค่ะ

  • แวะมาอ่านบันทึกที่เป็นการปฏิบัติเพื่อสิริมงคลในชีวิต
  • ได้ข้อคิดทั้งบันทึกและความคิดเห็นของเพื่อน ๆ
  • ขอขอบพระคุณค่ะ

ธรรมะสวัสดีค่ะพี่ตุ๊กตา...อ่านแล้วได้รู้มากๆค่ะ..

ช่อดอกไม้ การจัดดอกไม้ สวยๆ

นมัสการพระคุณเจ้า ปัญญาวโร

กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะที่แวะมาเยี่ยมเยียน

"ทำบุญเก่ง" คงหมายถึงทำบุญคราวละมากๆ และหมั่นทำบุญ กระมังเจ้าคะ

ส่วน "ทำบุญเป็น" คงเป็นการทำบุญตามบุญกิริยาวัตถุ 10

ซึ่งบางกรณี ไม่ต้องใช้เงินเลย เช่น การอนุโมทนากับผู้อื่น เพียงเราชื่นชมไปกับกับผู้ทำบุญ เราก็พลอยได้บุญตามแล้ว

ดิฉันขออนุญาตตั้งข้อสังเกตุไว้เกี่ยวกับการอนุโมทนาว่าทำไมจึงได้บุญตามไปด้วยดังนี้นะเจ้าคะ

เพราะหากเราทำบุญ ทำความดี แต่มีคนมาคอยขัดอยู่เรื่อย เราอาจหวั่นไหวได้ถ้าไม่มั่นคงพอ

แต่พอมีคนเห็นด้วย เราก็มีกำลังใจที่จะทำบุญ หรือความดีนั้นต่อไป

ผู้ที่อนุโมทนา จึงได้บุญในฐานะที่เป็นผู้ส่งเสริมให้มีการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมนั่นเอง

ถูกหรือผิด รบกวนพระคุณเจ้าชี้แนะด้วยนะเจ้าคะ

สวัสดีค่ะครูคิม

แวะไปที่บ้านมาแล้วค่ะ เข้าไปแล้วหายหนาวเลย อนุโมทนากับจิตที่เป็นกุศลนะคะ

สวัสดีค่ะครูอ้อย

คิดฮอดแต้กา

ยินดีนัก ตี้แวะมาหาเปิ้นนาเจ้า

สวัสดีค่ะคุณณัฐรดา

มารับคำตอบ กระจ่างแล้วในดวงจิต

เป้นคำตอบที่ผู้ถามได้รับความสมบูรณ์พร้อม ในถ้อยและความจากคำตอบ

ขอบพระคุณเป็นอย่างมากใน คำชี้แนะครั้งนี้ค่ะ

คุณณัฐรดาทำให้ความกังขาสงสัยทั้งในปัญหาเล็กๆ น้อยๆ หรือปัญหาใหญ่ๆที่ยากต่อการเข้าใจ

ในระหว่างการเดินทางให้กระจ่างได้อย่างสม่ำเสมอ

ขอกุศลที่คุณณัฐรดาบำเพ็ญ ได้อำนวยให้คุณณัฐรดามีความเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณนก

ต้องขอบคุณคุณนกเช่นกันค่ะ ที่ไว้ใจให้ตอบคำถาม

และขอบคุณสำหรับคำพรด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณณัฐรดา

ดาวตามมารับความรู้

และไขความเข้าใจให้กระจ่างแจ้ง.. ว่าที่ตนเองเข้าใจนั้นถูกต้องเพียงไร

ขอบพระคุณค่ะ

มาช้ายังดีกว่าไม่มานะครับ ทำบุญด้วยคนครับ สาธุ สาธุ สาธุ

สวัสดีค่ะหมอดาวสีน้ำเงิน

ขอบคุณที่แวะมาค่ะ

ขอบคุณคุณไกรษรเช่นกันค่ะที่แวะมา

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท