สนทนาภาษาอภิธรรม (3)


บันทึกนี้คัดลอกมาจากบทความเผยแพร่ของพระมหาบุญเรือง เจ้าอาวาสวัดบ้านด่าน บุรีรัมย์
ชัยยัสสุ
ความคิด มุมมอง ทัศนคติ เพื่อความเข้าใจพระพุทธศาสนา ชีวิต และตัวตนของเรา
Permalink : http://www.oknation.net/blog/bunruang
วันพฤหัสบดี ที่ 3 ธันวาคม 2552
ดี-ชั่ว ตัวแค่นี้...(๓)
Posted by chaiyassu , ผู้อ่าน : 59 , 18:54:24 น.
หมวด : ศาสนา

กล่าวถึงเรื่องจิตในภาพรวมแล้ว วันนี้ลองหยิบประเด็นจิตดี-จิตชั่วที่อยู่ในตัวของเรามาพิจารณาเพื่อความเข้าใจให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
อย่างที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า โดยธรรมชาติจิตนั้นเป็นธรรมชาติประภัสสร คือผ่องใส

(บ้านนิทาน ที่อ่านหนังสืออันเป็นต้นแบบของห้องสมุดสำหรับเยาวชนในวัดบ้านด่านภาพจาก http://www.oknation.net/blog/sarattatham/2009/07/11/entry-1)

ความผ่องใส หรือความประภัสสรนี้ ต่างจากจิตที่ผ่องใสเพราะหมดจดจากกิเลส เพราะจิตที่ผ่องใสเพราะหมดกิเลสนั้น แม้จะมีอารมณ์ใด ๆ มากระทบ หรือถูกต้อง มันก็ยังคงสภาพความผ่องใส ไม่มีทางให้เป็นอย่างอื่นไปได้ ไม่ว่าจะในแง่ดีหรือร้าย ขณะที่จิตประภัสสรโดยธรรมชาติ มันประภัสสร หรือผ่องใสเพียงเพราะยังไม่มีอะไรมากระทบ หรือถูกต้องเท่านั้น ต่อเมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากระทบ จิตประภัสสรดังกล่าวก็เปลี่ยนสภาพไปทันที
เปรียบเหมือนแก้วน้ำใส ที่ยังคงความใสอยู่ตราบเท่าที่เรายังไม่เอาอะไรอย่างอื่นใส่เข้าไปเท่านั้น ถ้านำสิ่งอื่นไปเจอปนเมื่อใด น้ำก็จะเปลี่ยนสภาพทันที เช่น ใส่น้ำแข็งลงไป ก็กลายเป็นน้ำเย็น ใส่เกลือลงไปก็กลายเป็นน้ำเค็ม ใส่น้ำตาลลงไปก็กลายเป็นน้ำหวาน เป็นต้น

(ศาลาห้องสมุดบ้านพระธรรมหลังเล็กๆ ในวัดบ้านด่าน อันเป็นที่อ่านหนังสือของเด็กๆ ภาพจาก http://www.oknation.net/blog/konhinsmile/2009/08/11/entry-1)

จิตของคนเราก็ทำนองเดียวกัน
จะดี หรือชั่ว ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราเติมอะไรลงไป
สิ่งที่เราเติมลงไปนี้ เปรียบเสมือนกับหัวเชื้อ อาจจะเรียกว่า เชื้อดี-เชื้อชั่วก็ได้ เชื้อดี-เชื้อชั่วดังกล่าวนี้ แม้จะมีเพียงแค่ ๓ อย่าง แต่เมื่อนำไปผสมกับจิตแล้ว ก็ทำให้ได้คุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไปมากมาย เปรียบได้กับแม่สี แม้จะมีเพียง ๓ สี คือ แดง เขียว น้ำเงิน แต่เมื่อนำไปผสมในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน ก็จะได้คุณสมบัติใหม่อีกมากมาย เช่น นำแดงไปผสมกับเขียว ก็จะได้สีเหลือง แดงผสมกับน้ำเงินกลายเป็นสีม่วง เขียวผสมกับน้ำเงินกลายเป็นสีฟ้า เป็นต้น
ตัวหัวเชื้อ ๓ ประการที่นำไปผสมกับจิตแล้วทำให้จิตเปลี่ยนสภาพเดิม คือจากที่เคยประภัสสร ก็กลายเป็นจิตดี หรือจิตชั่วไปก็ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ (เชื้อชั่ว) อโลภะ อโทสะ อโมหะ (เชื้อดี)

(เด็กๆที่มาถือศีลในวันอุโบสถ ได้อ่านหนังสือตามชอบ)

กล่าวถึงในส่วนจิตชั่วก่อน
เชื้อชั่ว ๓ ประการ เมื่อนำไปผสมกับจิตเดิมแล้ว จะกลายเป็นจิตชั่วไปทันที กลายสภาพจาก ๓ เป็น ๑๒ ทันที นั่นหมายความว่า เราได้คุณสมบัติของจิตเพิ่ม ในจำนวนที่เพิ่มนี้ ได้จากการเติมเชื้อชั่วที่เรียกว่า โลภะ ๘ ดวง จากโทสะ ๒ ดวง และจากโมหะ ๒ ดวง
อนึ่ง จากตัวเลขข้างต้นนี้ ทำให้เราพบความจริงประการหนึ่งว่า โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น ตัวโลภะมีมากกว่ากิเลสตัวอื่น ๆ และเป็นความจริงเช่นกันว่า บางครั้งกิเลสตัวอื่นเกิดขึ้นเพราะอาศัยโลภะเป็นเหตุ เช่น ถูกขัดใจ เพราะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ก่อให้เกิดโทสะตามมา (โลภะทำให้เกิดโทสะ) มุ่งหวังแต่จะได้ ทำให้ไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี (โลภะทำให้เกิดโมหะ) เป็นต้น
ถ้าสังเกตดูให้ดี ลึก ๆ แล้วจะเห็นความจริงอีกประการหนึ่งว่า เชื้่อชั่วทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นเพื่อนรักเพื่อนเกลอที่เกื้อกูลกันดีมาก เรียกว่าได้ว่า ช่วยส่งเสริมกันและกันอย่างแน่นแฟ้น บางครั้งแทบแยกไม่ออก เพราะมีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจนว่า ในแต่ละสถานการณ์นั้น จะให้ใครเป็นแม่ทัพ ใครเป็นกำลังหนุน
นี่ก็เป็นความวิจิตรพิสดารของจิตอีกประการหนึ่งเช่นกัน
ในส่วนของจิตดี ก็จะตรงกันข้าม คือมีเชื้อดี ๓ ประการเข้าไปผสม และเมื่อผสมแล้วก็จะได้คุณสมบัติใหม่ ๒๔ ประการ
ใน ๒๔ ประการนี้ ยกจิตของพระอรหันต์ ๘ ดวงออก (ที่ยกออกเพราะท่านอยู่เหนือดีเหนือชั่วแล้ว) จะเหลือ ๑๖ และใน ๑๖ นี้ เมื่อแยกออกแล้ว จะได้ส่วนที่เป็นเหตุ ๘ และส่วนที่เป็นผล (วิบาก) ๘ คือ ทำเหตุอย่างไร ก็จะได้ผลอย่างนั้น ทั้ง ๑๖ ประการนี้จึงเป็นเรื่องเดียวกัน แต่แยกอกมาเพื่อให้เห็นการวาระจิตที่เกิดก่อน/หลัง
อนึ่ง จิตดี-จิตชั่วดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นเองโดยลำพังก็มี เกิดขึ้นเพราะมีการชักชวนก็มี
เกิดขึ้นเองโดยลำพัง หมายถึง จิตที่มีเชื้อดี หรือเชื้อชั่วเป็นรากฐานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ต้องมีอะไรมาชักชวน ชักนำ มันก็พร้อมที่จะแสดงคุณสมบัติดั้งเดิมของตนออกมา เช่น คนเคยลุกใส่บาตรตอนเช้าเป็นประจำจนเป็นนิสัยแล้ว แม้จะไม่มีใครชวน เขาก็ยังคงตื่นขึ้นมาทำหน้าที่ดังกล่าวนั้น หรือคนที่มีมักโกรธเป็นนิสัย ก็มักจะแสดงอาการโกรธ ไม่พอใจ ด้วยเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง
ส่วนที่เกิดขึ้นเพราะมีการชักชวน ก็หมายถึง จิตดี หรือจิตชั่วที่ไม่ได้เกิดขึ้นเอง หากแต่เกิดขึ้นจากแรงจูงใจบางอย่างกระตุ้นให้เกิดขึ้น ถ้าไม่ได้รับการกระตุ้นก็จะไม่เกิด
ตัวที่กระตุ้นให้เกิดนี้ มีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่
๑. สถานที่อยู่ : อยู่สถานที่ดี ก็ชวนให้เกิดความดีง่าย อยู่ในสถานที่ไม่ดี ก็ชวนให้เกิดความชั่วได้ง่าย
๒. บุคคลที่คบหา : ข้อนี้ตรงกับคำโบราณที่ว่า คบคนอย่างไร ก็เป็นเช่นนั้น หรือคบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล กรณีอย่างนี้มีตัวอย่างให้เห็นมาก เช่น บางคนไม่ได้เป็นคนชั่วโดยสันดาน แต่บางครั้งก็ถูกเพื่อนยุ เพื่อนแหย่กระทั่งกลายเป็นคนชั่วไปก็มี ในทางดีก็เช่นกัน บางคนมีพื้นเพมาไม่ค่อยดี แต่ได้อาศัยกัลยามิตร ก็สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นคนดี จนเป็นที่ยอมรับ
๓. บุคคลที่ตนยอมรับนับถือ : คนเรา เมื่อยอมรับนับถือผู้ใดแล้ว ก็มักจะเชื่อฟัง หรือคล้อยตามบุคคลนั้น ๆ โดยง่าย ไม่ว่าจะในแง่ดี หรือในแง่ชั่ว
๔. การวางตน : การวางตนถูกต้องดีงาม ก็ชวนให้เกิดความดีงามได้ง่าย ขณะเดียวกัน การวางตนผิด วางตนไม่เหมาะสม ก็ชวนให้เกิดความชั่วได้โดยง่าย
เห็นต้นตอของจิตดี และจิตชั่วเช่นนี้แล้ว เราก็หันมาพิจารณาดูตัว ดูสังคมแวดล้อม
ดูตัวเพื่อให้เห็นว่า เราจะให้จิตฝ่ายไหนเกิด ให้จิตฝ่ายไหนเป็นผู้ชักชวน หรือชักนำตัวเรา เราก็จัดการให้ถูกต้องตามเรื่อง
ดูสังคมแวดล้อม เพื่อหาต้นตอของปัญหา แล้วหาทางแก้ไข หรือจัดการให้ถูกต้องตามเรื่อง
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้หลุดพ้นจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่
เรื่องจริง ๆ ของชีวิตก็มีเพียงเท่านี้
หมายเลขบันทึก: 319031เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2009 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ห้องสมุดบ้านพระธรรม เป็นความคิดของบล็อคเกอร์ก้อนหินยิ้มในเวบ oknation ค่ะ ที่อยากให้วัดเป็นที่ที่เยาวชนมาหาความรู้ได้ง่ายๆ จึงขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดบ้านด่าน ให้เป็นต้นแบบ ถ้าประสบความสำเร็จ จะขยายไปยังวัดอื่นๆอีก (น้องก้อนหินยิ้มเธอกำลังหัวฟูค่ะ เพราะเรียนทั้งปริญญาโท และเอก พร้อมๆกันที่ มหาจุฬา)

พระคุณเจ้าจึงใช้วัสดุเก่ามาก่อสร้าง แล้วรับบริจาคหนังสือจากที่ต่างๆ เห็นว่าพระคุณเจ้าได้ก่อสร้างเป็นศาลาหลังเล็กๆดังภาพ ตามบริเวณวัด

มองว่า ที่อ่านหนังสือลักษณะนี้ ทำให้เด็กๆไม่รู้สึกอึดอัดเวลาเข้าไปอ่านหนังสือนะคะ และน่าสนุกกับการค้นคว้าด้วยค่ะ

อนุโมทนาบุญด้วยครับ

สาธุๆๆๆ

ต้องขอบคุณมากค่ะ สำหรับการถ่ายทอดเรื่องราวดีไค่

อย่าปรุงแต่งจิตค่ะ

อนุโมทนาบุญด้วยครับ

สาธุๆๆๆ

พี่ตุ๊กขา ขอบพระคุณนะเจ้าค่ะที่นำเรื่องราวของบ้านพระธรรมมาเผยแผ่ที่นี้ด้วย

ก้อนหินไปครั้งนี้ ยังได้นั่งอ่านหนังสือ"คำวัด" ของพี่ตุ๊ก ที่ส่งขึ้นไปให้น้องๆ ที่ห้องสมุดบ้านพระธรรมด้วยค่ะ

และมีหนังสือของคุณป้ารักษ์ คุณป้าติ่ง และเพื่อนๆ อีกหลายท่าน ที่ช่วยกันส่งขึ้นไปค่ะ

คิดถึงพี่ตุ๊ก มากๆ ค่ะ

และประการสุดท้ายจะบอกว่า..หนูลืมทางเข้าบ้านตัวเอง ลืมรหัสเข้า ที่เข้าweb gotoknow ค่ะ

เลยเข้ามาเขียนไม่ได้..แง..แง..แง

สวัสดีค่ะคุณ Kittipong

ขอบคุณที่มาเยี่ยมนะคะ เสียดายที่บันทึกคุณไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น เลยแวะไปขอบคุณที่บ้านไม่ได้ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ berger0123

สบายดีนะคะ ขอบคุณค่ะที่แวะมา

สวัสดีค่ะน้องก้อนหินยิ้ม

อ้าว เข้าบ้านตัวเองไม่ได้ ลองติดต่อน้องมะปรางเปรี้ยวดูมั๊ยคะ

คิดถึงน้องก้อนหินเช่นกันค่ะ

มาชม

เป็นบ้านนิทานที่มีสาระน่าสนใจนะครับผม...

บันทึกไหนแสดงความเห็นไม่ได้ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท