ปัญหาการบวชภิกษุณีในพุทธศาสนาเถรวาท


สืบเนื่องจากที่เคยบันทึกถึงการคัดค้านการบวชภิกษุณีในนิกายเถรวาท พบว่า ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ จึงขอคัดลอกมาบันทึกไว้ด้วย เพื่อเป็นการบันทึกข้อมูลที่ครบถ้วนขึ้นค่ะ

ปัญหาเรื่องการบวชภิกษุณีในพุทธศาสนาเถรวาท

อีกปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับสตรีในพุทธศาสนาที่ผู้เขียนขอยกมากล่าวโดยย่อก็คือปัญหาเรื่องการอุปสมบทเป็นภิกษุณีในพุทธศาสนาเถรวาท เนื่องจากมีสตรีชาวพุทธจำนวนไม่น้อยต้องการอุปสมบทเป็นภิกษุณีในพุทธศาสนาเถรวาท และพระสงฆ์ลังกาบางวัดหรือบางสำนักก็อนุญาตให้มีการอุปสมบทภิกษุณีในวัดของตนได้ ทำให้สตรีชาวพุทธบางท่านได้เข้าอุปสมบทเป็นภิกษุณีในสำนักของพระสงฆ์ลังกาดังกล่าว

ประเด็นสำคัญของปัญหานี้คือ มีการเรียกร้องให้คณะสงฆ์ไทยยินยอมให้มีการอุปสมบทภิกษุณีในประเทศไทยด้วย ซึ่งนักคิดชาวไทยบางคนก็เห็นด้วยโดยอ้างเหตุผลต่างๆ มาสนับสนุนเกี่ยวกับปัญหานี้ ผู้เขียนจะขอนำเหตุผลบางประการมาอภิปรายเพื่อชี้ให้เห็นว่า การอุปสมบทเป็นภิกษุณีเป็นเรื่องที่ดี หากพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนมชีพอยู่ ก็คงจะทรงอนุญาตให้บวชได้เพราะสภาพสังคมในปัจจุบันต่างจากสภาพสังคมอินเดียในสมัยพุทธกาลมาก

แต่ที่คณะสงฆ์ไทยหรือพุทธศาสนาเถรวาทส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้สตรีอุปสมบทเป็นภิกษุณีนั้นเป็นเพราะเงื่อนไขของพุทธศาสนาเถรวาทที่วางไว้มาแต่เดิม ไม่ใช่เป็นเพราะความเห็นแก่ตัวหรือเป็นเพราะอคติของคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย เพราะฝ่ายสตรีก็มีเจตนาดีในการบวช ฝ่ายภิกษุสงฆ์ก็จะต้องทำตามพระธรรมวินัยและกฎกติกาของนิกาย

(1) เนื่องจากพุทธศาสนาเถรวาทได้มีมติในคราวสังคยานาครั้งที่ 1 ว่าจะไม่มีการเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อย กล่าวอีกอย่างคือจะรักษาพระธรรมวินัยที่ทรงจำกันมาไว้ตามเดิมทุกอย่าง ภายใต้มตินี้ พุทธศาสนาเถรวาทจึงไม่สามารถให้อุปสมบทแก่สตรีได้ เพราะภิกษุณีสงฆ์ที่เป็นเถรวาทแท้ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการอุปสมบทภิกษุณีนั้นไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน การจะนำเอาภิกษุณีฝ่ายมหายานที่ในอดีตได้รับการอุปสมบทจากภิกษุณีเถรวาทมาแทนที่ย่อมเป็นไปไม่ได้ตามหลักพระวินัยของเถรวาทเพราะภิกษุณีมหายานมี สังวาส (ข้อปฏิบัติเพื่ออยู่ร่วมกันในหมู่) ต่างจากภิกษุและภิกษุณีเถรวาท เนื่องจากเป็นภิกษุณีที่บวชโดยภิกษุสงฆ์ของมหายานและมีข้อปฏิบัติที่ต่างจากเถรวาท การทำสังฆกรรมกับสงฆ์ที่มีสังวาสต่างกัน (นานาสังวาส) ตามพระวินัยของเถรวาทถือว่าเป็นสังฆกรรมที่ใช้ไม่ได้ การอุปสมบทด้วยวิธีนี้จึงไม่ถูกต้องตามพระวินัยของเถรวาท ผู้อุปสมบทจึงไม่ใช่ภิกษุณีตามข้อกำหนดของพุทธศาสนาเถรวาท

(2) หากแก้ปัญหาด้วยการแก้พระวินัยดังกล่าวนั้น สิ่งที่ตามมาก็คือผู้อุปสมบทอาจเป็นภิกษุณีใน นิกายเถรวาทใหม่ แต่ไม่ใช่นิกายเถรวาทเดิมที่นับถือกันอยู่ในขณะนี้ เพราะโดยคำนิยามหรือลักษณะเฉพาะของ พุทธศาสนาเถรวาท จะไม่มีการแก้พระวินัยเช่นนั้น นิกายที่แก้พระวินัยจึงไม่ใช่เถรวาทตามความหมายเดิม ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ผู้ต้องการอุปสมบทต้องการเป็นภิกษุณีในนิกายเดิมหรือนิกายใหม่ หากต้องการเป็นภิกษุณีในนิกายใหม่ก็ไม่มีปัญหาอันใด ดังเช่นกรณีของภิกษุณีที่อุปสมบทในสำนักของพระสงฆ์ลังกา แต่ถ้าต้องการเป็นภิกษุณีในนิกายเดิม จะมีปัญหา เพราะไม่สมารถเป็นได้

การแก้พระวินัยเพื่อให้อุปสมบทภิกษุณีได้จึงเป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งในตัวเอง เพราะผู้ต้องการบวชมีความประสงค์อยากเป็นภิกษุณีของพุทธศาสนาเถรวาทที่ถือกันว่าสืบทอดพระธรรมวินัยมาอย่างเคร่งครัดที่สุดเป็นนิกายที่เก่าแก่ที่สุดหรือถือกันว่าเป็นจริงที่สุด แต่การแก้พระธรมวินัยกลับทำให้พุทธศาสนาเถรวาทที่ตนเองต้องการเข้าร่วมด้วยนั้นกลายเป็นไม่ใช่พุทธศาสนาเถรวาทที่ตัวเองต้องการเข้าร่วมด้วย เพราะการแก้พระวินัยทำให้สูญเสียเอกัตลักษณ์ของพุทธศาสนาเถรวาทที่ว่าเก่าแก่ที่ของจริงที่สุดนั้น

( 3 ) นอกจากนั้น ในการแก้พระวินัยดังกล่าว ภิกษุผู้แก่พระวินัยถือได้ว่าเป็นผู้ทำให้พระวินัยของพุทธศาสนาวิปริตคลาดเคลื่อนซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบาปที่ร้ายแรง เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจะกล้าเป็น คนบาป คนนั้นเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าเห็นอกเห็นใจต่อคณะสงฆ์ที่ไม่สามารถให้อุปสมบทได้ ไม่ใช่ ไม่อนุญาต แต่ อนุญาตไม่ได้ เพราะตามหลักการของพุทธศาสนาเถรวาท คณะสงฆ์ ไม่มีสิทธิ ในการปรับแก้พระวินัย แต่ต้องทำตามพระวินัยเท่านั้น เหมือนตำรวจต้องทำหน้าที่ตามกฎหมายโดยไม่มีสิทธิจะแก้กฎหมาย

ดังนั้น แม้นักคิดบางคนจะอ้างว่า พระวินัยที่เกี่ยวกับการอุปสมบทภิกษุณีโดยเฉพาะเรื่องครุธรรม 8 ไม่ใช่พระพุทธพจน์คือเรื่องที่เติมมาในภายหลังก็ดี ( เมตฺตานนฺโท ภิกขฺ 2545, 111 ) พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยก็ดี การไม่อนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุณีเกิดมาจากอคติทางเพศหรือ อคติหญิง ของพระสงฆ์ที่ดูหมิ่นสตรีหรือกลัวสตรีจะเด่นกว่าเป็นต้นก็ดี แต่เหตุผลดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้

เพราะเหตุผลประการแรกไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนพอที่จะทำให้คณะสงฆ์ทั้งหมดยอมรับ อีกทั้งวินัยดังกล่าวก็คือแนวปฏิบัติของพุทธศาสนาเถรวาทที่สืบทอดกันมานาน ( แม้แต่มหายานในจีนก็พยายามทำการอุปสมบทภิกษุณีตามวินัยของเถรวาทนี้โดยการอาราธนาภิกษุณีลังกาไปให้การอุปสมบท ) และการถอน สิกขาบทเล็กน้อยก็ขัดกับหลักการหรือเอกัตลักษณ์ของพุทธศาสนาเถรวาท ( และในความเป็นจริงจะต้องถอนสิกขาบทจำนวนไม่น้อยเพื่อให้การอุปสมบทภิกษุณีเป็นไปได้ซึ่งคงไม่ใช่ถอนสิกขาบท เล็กน้อย )

ส่วนเรื่อง อคติหญิง นั้นก็ไม่เกี่ยวกับเหตุผลของเรื่องนี้โดยตรงเพราะไม่ว่าพระสงฆ์จะมีอคติหรือไม่ก็ตามแต่เมื่อว่าตามหลักการดังกล่าวจะอุปสมบทเป็นภิกษุณีในพุทธศาสนาเถรวาท ที่แท้จริง ย่อมเป็นไม่ไม่ได้อยู่ดี นั่นคือถึงจะอุปสมบทเป็นภิกษุณีก็ไม่ใช่ภิกษุณีในความหมายที่แท้จริงของพุทธศาสนาเถรวาท

ฉะนั้นเมื่อกล่าวโดยยึดหลักการของพุทธศาสนาเถรวาทอย่างเข้มงวดการอุปสมบทเพื่อเป็นภิกษุณีในพุทธศาสนาเถรวาทที่แท้จริงจึงเป็นไปไม่ได้ตามเงื่อนไขเหล่านี้ ทางออกสำหรับปัญหานี้จึงมีอยู่ 3 ทาง คือ

(1) การตั้งพุทธศาสนานิกายใหม่หรือ เถรวาทใหม่ ที่ไม่มีปัญหาเรื่องพระวินัยเกี่ยวกับการอุปสมบทภิกษุณี ซึ่งเป็นทางออกที่ทำได้ยาก เพราะต้องหา ผู้นำ ที่มีศักยภาพและบารมีที่คนยอมรับอีกทั้งกล้าที่จะยอมรับความเป็นเถรวาทใหม่ที่ไม่ใช่ของแท้ดั้งเดิม

(2) การสร้างผลงานของภิกษุณีที่บวชจากที่อื่น เช่น ลังกา ให้สังคมยอมรับจนในที่สุดเมื่อถึงเวลาที่คณะสงฆ์ส่วนใหญ่เปลี่ยนเจตคติและค่านิยมต่อหลักการหรือเอกัตลักษณ์ดังกล่าวของพุทธศาสนาเถรวาท การอุปสมบทเป็นภิกษุณีในพุทธศาสนาเถรวาทโดยเฉพาะในประเทศไทยก็อาจเป็นจริงได้ แต่ทางเลือกนี้ต้องใช้เวลายาวนานและขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ทางสังคมและการเมืองที่จะมาเปลี่ยนแปลงความเชื่อและค่านิยมของคณะสงฆ์ไทย เช่น เดียวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ในจีนและญี่ปุ่น และถ้าคณะสงฆ์เปลี่ยนแปลงเช่นนั้นจริง พุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทยก็ไม่ใช่พุทธศาสนาเถรวาทแบบดั้งเดิมอีกต่อไปแต่เป็น เถรวาทใหม่ นั่นเอง

(3) การสร้างหรือส่งเสริมนักบวชสตรีในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การสร้าง ภิกษุณี แบบใหม่ในรูปแบบของ พรหมจารินี หรือ ทสสีลมาตา หรือส่งเสริมสถานภาพของแม่ชีที่มีอยู่แล้วให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น

สำหรับในปัจจุบัน หากไม่ต้องการหรือไม่สามารถดำเนินการตามแนวทางทั้ง 3 ข้อได้ สตรีผู้ต้องการเป็นภิกษุณีของเถรวาทก็คงต้องเข้ารับการอุปสมบทจากคณะสงฆ์ลังกาที่อนุญาตให้มีการอุปสมบทภิกษุณีในสำนักของตนแล้ว

ซึ่งในทัศนะของผู้เขียน ผู้ที่อุปสมบทเป็นภิกษุณีไม่ว่าจากคณะสงฆ์ฝ่ายมหายานหรือฝ่ายเถรวาทในลังกาก็ถือว่าเป็น ภิกษุณี เป็นนักบวชผู้ทรงศีลที่ควรแก่การสักการบูชาเช่นเดียวกับภิกษุในนิกายทั้งสอง

ผู้เขียนคิดว่า ชาวพุทธไม่ควรมาวิวาทบาดหมางกันจนเสียความสามัคคีในเรื่องนี้ แม้จะยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ก็ควรตั้งใจปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พุทธศาสนาเพื่อประโยชน์ทั้งตนเองและชาวโลกสืบไป เพราะการปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พุทธศาสนาเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนและชาวพุทธทุกคนสามารถทำได้มากน้อยแล้วแต่เงื่อนไขจะกำหนด หากวิวาทจนเกิดความแตกแยก ต่อไปในภายหน้าแม้แต่ตัวพุทธศาสนาเองก็จะไม่เหลือให้ชาวโลกได้นับถืออีกต่อไป ไม่จำต้องกล่าวถึงโอกาสได้บวชเป็นภิกษุหรือภิกษุณี

อ้างอิงเรื่อง

ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ พุทธศาสนาเถรวาท สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถนนท่าพระจันทร์ กรุงเทพ พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552

อ้างอิงรูป

พระภิกษุโพธิ มหาเถระ การรื้อฟื้นการอุปสมบทภิกษุณีในนิกายเถรวาท วัดโพธิญาณ ออสเตรเลีย

................................

หมายเหตุ ท่านใดสนใจปัญหาการบวชภิกษุณี รับหนังสือ "ตอบ ดร.มาร์ติน : พุทธวินัย ถึง ภิกษุณี" ได้ที่วัดญาณเวศกวัน ค่ะ http://gotoknow.org/blog/nadrda/419402

หมายเลขบันทึก: 319221เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2009 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

แวะมาปูเสื่อจองพื้นที่ก่อนค่ะ ^^"

ผู้เขียนคิดว่า ชาวพุทธไม่ควรมาวิวาทบาดหมางกันจนเสียความสามัคคีในเรื่องนี้ แม้จะยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ก็ควรตั้งใจปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พุทธศาสนาเพื่อประโยชน์ทั้งตนเองและชาวโลกสืบไป เพราะการปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พุทธศาสนาเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนและชาวพุทธทุกคนสามารถทำได้มากน้อยแล้วแต่เงื่อนไขจะกำหนด หากวิวาทจนเกิดความแตกแยก ต่อไปในภายหน้าแม้แต่ตัวพุทธศาสนาเองก็จะไม่เหลือให้ชาวโลกได้นับถืออีกต่อไป ไม่จำต้องกล่าวถึงโอกาสได้บวชเป็นภิกษุหรือภิกษุณี”

  • เห็นด้วยค่ะ ...
  • ด้วยที่ไม่มีความรู้ทางด้านนี้มากนัก ขอเข้ามาเก็บเกี่ยวเพื่อเป็นความรู้ใหม่นะค่ะ ^^
  • ขอบคุณค่ะ ..

ขอบคุณสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ผมเคยให้ความเห็นมาบ้างเเล้วเลยตามมาอ่าน

การบวชเป็นสิ่งสมมุตินะครับ สมมุติสภาวะอะไรหลายๆ อย่าง

พระธรรมคือศาสดาครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ณัฐพัชร์

หาเสื่อให้ไม่ทัน เลยส่งดอกไม้ไปให้ที่บ้านแทนค่ะ ^_^

สวัสดีค่ะคุณไกรษร

ขอบคุณค่ะที่แวะมา

ยังตามอ่านเรื่องราวในพระไตรปิฎกที่บันทึกอยู่นะคะ

เอาให้จบนะครับคุณณัฐ ผมกำลังลุ้นอยู่ว่าจะจบแบบไหน

เคยได้ทราบข้อมูลความขัดแย้งเรื่องการบวชภิกษุณีในนิกายเถรวาทค่ะ...เลยตามมาอ่านเก็บข้อมูล

ดาวเองมีความคิดเห็นว่า ไม่ว่าจะบวชหรือไม่ เราก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ค่ะ เพียงแต่การบวชจะเป็นการสร้างกรอบความประพฤติให้เพิ่มมากขึ้นเท่านั้นเอง และก็เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ว่า ชาวพุทธไม่ควรนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นบาดหมางให้แตกความสามัคคี

เพื่อให้ความไร้สาระดำรงอยู่เราจึงพูดว่าอย่าทะเลาะกัน น่าขำจริงๆ

ในความคิดเห็นของผมนั้นมีความเห็นว่าประเทศไทยของเรามีพุทธศาสนานิกายเถรวาทซึ่งถือว่าเป็นนิกายที่เก่าแก่และรักษา

พระธรรมวินัยไว้อย่างเคร่งครัดไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดใดๆ แม้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ดังนั้นในประเด็นที่จะให้มีการ

เปลี่ยนแปลงแก้ไขพระธรรมวินัยแม้เพียงตัวอักขระเดียวก็ไม่เป็นการบังควร และเป็นสิ่งที่ต้องห้ามไม่สามารถที่จะกระทำได้

เพราะว่าถ้าหากทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มันจะมีประโยชน์อันใดในเมื่อพระธรรมวินัยที่เป็นแก่นแท้ที่เป็นมรดกธรรม

ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์แต่โบราณการท่านรักษาไว้ให้เราด้วยความยากลำบาก แล้วพวกเราจะมาทำให้แก่นธรรมที่แท้จริงผิดเพี้ยนไป

อย่างนั้นหรือ หน้าที่ของพวกเราคือรักษามรดกธรรมนี้ไว้ให้ดีที่สุดเหนือชีวิตไม่ความไปยุ่งเกี่ยวหรือไปคิดที่จะทำการแก้ไขขอความ

ใดๆ ในพระธรรมวินัยเป็นอันขาด เพราะนั่นเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ต้องห้ามไม่ให้

ผู้ใดคิดบังอาจไปแต่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอันขาด เพราะเรามีพระธรรมวินัยที่เป็นของแท้และดั้งเดิมอยู่กับตัวเองอยู่แล้ว

ยังไม่รู้คุณค่าแทนที่จะช่วยกันรักษาไว้ด้วยชีวิตแต่กลับจะมาทำลายด้วยเหตุผลที่อยากจะตอบสนองความต้องการของตัวเอง

เท่านั้นเองหรือ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วถ้าไปแตะต้องหรือแก้ไขสิ่งใดๆ ในพระธรรมวินัยแล้วไซร้ คุณก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำลาย

พุทธศาสนานิกายเถรวาทที่เป็นของเก่าแก่ดั้งเดิมด้วยตัวคุณเอง และก็เท่ากับว่าสิ่งที่คุณเรียกร้องนั้นก็ไม่มีความเป็นไปได้ เพราะว่า

มันจะกลายเป็นนิกายใหม่ในทันที เพราะมีทางเดียวที่จะทำการบวชเป็นภิกษุณีหรือสามเณรีในนิกายเถรวาทดั้งเดิมได้ก็คือจะต้องมี

พระภิกษุณีในนิกายเถรวาทดั้งเดิมสืบทอดมาแต่โบราณครั้งพุทธการ ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วก็ขอให้เข้าใจในประเด็นนี้เอาไว้ด้วย และถ้าทำการแก้ไขในประเด็นนี้ก็จะเป็นข้ออ้างให้มีการแก้ไขทำลายพระวินัยดั้งเดิมข้ออื่นๆ ตามมาจนหาแก่นแท้ของพระธรรมวินัยที่แท้จริงไม่เจออีกต่อไป เนื่องจากปกติคนเราก็จะแก้ไขให้เป็นไปตามกิเลสความอยากของตัวเองอยู่แล้ว และก็จะเป็นบ่อ

ให้เกิดนิกายใหม่ขึ้นมาอีไม่รู้จักจบสิ้น เป็นไปตามเจ้าสำนักนั้นๆ จะตั้งหรือกำหนดขึ้นมาเอง และแล้วก็จะถึงจุดจบของพุทธศาสนา

เร็วกว่าเวลาที่ควรจะเป็น

แต่ผมก็ขอเสนอแนะสำหรับผู้ที่มีจิตศรัทธาในการบวชเป็นภิกษุณีหรือสามเณรีด้วยความบริสุทธิใจจริง โดยไม่แอบแฝงไว้ซึ่งเจตนาในการทำลายพระวินัยของพุทธศาสนาเถรวาทที่แท้จริง ก็ขอให้ท่านได้โปรดไปทำการบวชยังสำนักอื่นที่เขาเปิดรับให้บวช

ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีอยู่ แต่ขอร้องว่าอย่ามาเรียกร้องให้ทำการแก้พระธรรมวินัยที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิที่เป็นของเก่าแก่ดั้งเดิมของ

นิกายเถรวาทเลยนะครับ เท่านี้ผมก็ขออนุโมทนาบุญและขอกราบไหว้ด้วยเศียรเกล้าเฉกเช่นกับนิกายเถรวาทดั้งเดิมเช่นเดียวกัน

และก็ขอความกรุณาท่านพุทธศาสนิกชนแท้จริงทุกๆ ท่านได้โปรดช่วยกันทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่เรียกได้ว่า

เป็นของแท้เก่าแก่ดั้งเดิมซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนาที่สืบทอดมาแต่ครั้งสมัยพุทธการโบราณมาซึ่งก็นับวันใกล้สูญพันธุ์เป็น

ที่สุดอยู่แล้ว ให้อยู่ยั้งยืนยงคงอยู่คู่กับพุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดทั้งชาวโลกและทั่วทั้งสากลภิภพจักรวาล และเพื่อที่พวกเรา

จะได้มีพระอริยะสงฆ์ให้กราบไหว้บูชาตลอดไปตราบนานเท่านานเถิดนะครับ..ด้วยความห่วงในจากใจจริง..ขอบคุณครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท