ชาวพุทธนับถือ 2 ศาสนาได้หรือไม่


ระยะนี้มีคำถามเกี่ยวกับการที่ชาวพุทธจะนับถือศาสนาคริสต์เพิ่มขึ้น เป็นการนับถือสองศาสนาไปในเวลาเดียวกันได้หรือไม่

การนับถือศาสนาใดย่อมเกิดจากศรัทธา ซึ่งศรัทธาเกิดได้จากหลายๆสาเหตุ เช่น

1 จากการปฏิบัติตามๆกันมา เช่นบรรพบุรุษมีศรัทธาในศาสนา จึงมีการกระทำที่เอื้อเฟื้อต่อศาสนา การได้เห็น ได้ใกล้ชิด ทำให้เกิดศรัทธาตาม

2 การได้พบตัวอย่างที่ดี เช่น เห็นศาสนิก หรือนักบวชในศาสนามีกิริยา วาจา ดี (พระวินัย มีส่วนช่วยให้ผู้ยังไม่ศรัทธามาศรัทธาได้) มีการกระทำที่เกื้อกูลบุคคลอื่นในสังคม จึงเกิดความศรัทธา อันเป็นจุดเริ่มให้ใคร่ศึกษาหลักธรรมในศาสนา ดังเช่นหลังเหตุการณ์ภัยธรรมชาติสึนามิ คริสต์ศาสนิกชนร่วมกันฟื้นฟูสภาพจิตใจ และสภาพความเป็นอยู่ผู้ประสบเหตุอย่างเต็มกำลัง จนทำให้ผู้ประสบภัยศรัทธาและเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมาก

3 การได้ฟังธรรม เมื่อพิจารณาตาม เกิดความเข้าใจ จึงเกิดศรัทธาขึ้น

4 การได้พบเห็นศิลปะเพื่อศาสนา เช่น ศาสนสถานต่างๆ รูปบูชา ที่ศาสนิกสร้างด้วยความเพียร ความสวยงามที่ได้พบ ความสงบที่ได้สัมผัส ย่อมโน้มน้าวให้เกิดศรัทธาในเบื้องต้นต่อศาสนานั้นๆได้

5 พิธีกรรมในศาสนา ก็มีส่วนในการเรียกความศรัทธา เนื่องจากพิธีกรรมเปรียบได้กับเปลือกที่รักษาแก่นไม้ แม้จะสำคัญน้อยกว่าแก่นมาก แต่แก่นก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากเปลือก

6 การได้นำคำสอนมาปฏิบัติในชีวิต หรือเพื่อแก้ปัญหาชีวิตจนพบความสุข (เป็นได้ทั้งให้เกิดศรัทธา และเป็นศรัทธาที่แก่กล้าขึ้น)

การนับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับศาสนาคริสต์ ในระดับจริยธรรมอาจเป็นไปได้ค่ะ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือการเผยแพร่พุทธศาสนาของหมู่บ้านพลัมในประเทศฝรั่งเศส ที่ไม่มีการประดิษฐานพระพุทธรูปใดๆ เพื่อให้ศาสนิกในศาสนาอื่น ไม่ลำบากใจ ในการเข้าไปศึกษาวิถีความสงบแบบเซน เนื่องจากทุกศาสนาล้วนมีคำสอนให้ทุกคนเป็นคนดี อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในสังคม

แต่หากบุคคลใดต้องการพัฒนาตนให้ถึงจุดหมายสูงสุดของศาสนาพุทธจะพบว่าคำสอนของสองศาสนานั้นขัดกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นคงเป็นเรื่องยากที่สองศาสนานี้จะเดินคู่กันไปในคนคนหนึ่ง

เช่น ศาสนาพุทธสอนว่าทุกสิ่งล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย ที่อาจเกิดแบบ (1) ทยอยหนุนส่งกันไปอย่างต่อเนื่อง หรือ (2) อาจเกิดขึ้นพร้อมๆกัน จนก่อให้เกิดเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา ดังนั้น จึงไม่มีผู้ใดสร้างสิ่งใดขึ้นมา สิ่งใดๆ ก็ล้วนไม่เป็นตัวตนถาวร จึงไม่มีความเชื่อทั้งเรื่องผู้สร้าง และผู้ที่ถูกสร้าง เป็นศาสนาแบบอเทวนิยม

ในขณะที่ศาสนาคริสต์มีความเชื่อว่ามนุษย์ถูกสร้างโดยพระเจ้า และพระเจ้าคือผู้สร้างทุกสิ่ง (เทวนิยม)

หรือพระพุทธองค์สอนให้เชื่อหลังจากที่ได้พิจารณาแล้ว (ตามที่ปรากฏในกาลามสูตร) ไม่ให้เชื่อแม้ว่าผู้นั้นจะเป็นครูตน

แต่ศาสนาคริสต์สอนให้เชื่อในพระเจ้า

หรือการมีศรัทธาในตถาคตโพธิสัทธา คือ เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อในปรีชาญาณของพระพุทธเจ้า ที่ทรงเข้าถึงความดีงามสูงสุดด้วยปัญญาและความเพียร หรือก็คือ มั่นใจในตนเอง

ความมั่นใจในตนเองในที่นี้ มิใช่ความเชื่อตนเองอย่างเห็นแก่ตัว หรืออย่างมีมานะอหังการ แต่หมายถึง ความมั่นใจตนเองในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง หรือความมั่นใจในความเป็นมนุษย์ของมนุษย์นั่นเอง

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธธรรมฉบับปรับปรุงและขยายความ หน้า 425

เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์สามารถพัฒนาจนถึงที่สุดได้ โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก หรือการอ้อนวอนใดๆ

ซึ่งก็ขัดกับธรรมในศาสนาคริสต์อีกเช่นกัน

ดังนี้เป็นต้น

ดังนั้นคงยากจะตอบได้ ว่าชาวพุทธสามารถนับถือศาสนาคริสต์ควบคู่กันไปได้หรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความ(การ) เห็น ส่วนบุคคลของพุทธศาสนิกชนผู้นั้นเอง

"""""""""""""""

30 ต.ค.2553

พบพุทธพจน์ใน พหุธาตุกสูตร มัชฌิมนิกาย ในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย (สุตตันต. 6) ดังนี้

"เป็นไปไม่ได้(๑)ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ(๒) พึงนับถือศาสดาอื่น แต่เป็นไปได้(๓)ที่ปุถุชนพึงนับถือศาดาอื่น"

(๑) เป็นไปไม่ได้หมายถึงปฏิเสธฐานะ (เหตุ) และปฏิเสธโอกาส (ปัจจัย) ที่ให้เป็นไปได้ (ม.อุ.อ. ๓/๑๒๗/๗๔, องฺ. เอกก.อ. ๑/๒๖๘/๔๐๒)

(๒) บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึง พระอริยะบุคคลชั้นโสดาบันขึ้นไป เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือความเห็นชอบ (ม.อุ.อ.๓/๑๒๗/๗๔, องฺ.เอกก.อ. ๑/๒๖๘/๔๐๒)

(๓) เป็นไปได้ ในที่นี้หมายถึงยอมรับฐานะ (เหตุ) ที่ให้เป็นไปได้ (ม.อุ.อ. ๓/๑๒๗/๗๔), องฺ.เอกก.อ. ๑/๒๖๘/๔๐๒)"

หมายเลขบันทึก: 394324เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2010 06:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (31)

ลึกซึ้งมากครับ ผมพยายามใคร่ครวญตาม เป็นไปได้หรือไม่ที่คำว่า พระเจ้า นั้นหมายถึง ความดีอันเป็นนิรันดร์ คนส่วนหนึ่งจึงไม่นับถือศาสนาใดใดหรือถือได้ในหลายๆ ศาสนา เพราะทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี

  • ส่วนตัว ไม่ว่าจะนับถือหรือศรัทธาในศาสนาใดๆ ก็ตาม หากนำมาปฏิบัติแล้วนำไปสู่การหลุดพ้น และความสงบสุข ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด
  • หากตรงข้ามนับถือ แต่ไม่ได้นำมาสู่การปฏิบัติ ก็เป็นเพียงแค่ความเป็นเท่านั้นครับ

 

สวัสดีครับพี่ณัฐรดา

เรื่องของคนพุทธ สามารถนับถือศาสนาคริตส์ได้หรือไม่??

ในความรู้สึกของผมในฐานะคนสามจังหวัดชายแดนใต้ คิดว่ายังไม่สำคัญเท่า ที่ว่าทำอย่างไรให้คนที่นับถือศาสนาต่างกัน สามารถอยู่ร่วมกันฉันพี่น้อง อย่างสันติสุข โดยไม่มีเส้นแบ่งของศาสนาเข้ามาขวางกั้นมากกว่า

อีกทั้งการที่คนคนหนึ่งที่เป็นเพียงแค่ศาสนิก ที่เกิดความเสื่อมใส ศรัทธาในหลักคิด หลักปฏิบัติต่างศาสนา แล้วนำมาปรับใช้เช่นชาวพุทธเราที่นำเอาแนวทางการปฏิบัติของศาสนาพราหม์ มาใช้อยู่ก็เยอะ โดยที่ไม่คิดและหวังไปไกลถึงขั้นลึกซึ้งใดๆ ก็น่าจะเป็นไปได้น่ะครับ

เป็นเพียงเหตุผลและความรู้สึกส่วนตัวที่รู้สึกเท่านั้นนะครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ....

คนเราจะนับถือศาสนาอะไรก็แล้วแต่  ขอให้นับถือและปฏิบัติด้วยใจจริงๆ  ไม่ใช่นับถือแต่ปาก  แต่การกระทำช่างขัดกับคำพูดเหลือเกิน  ตัวอย่างก็มีให้เห็นมากมาย

สังคมเราถึงไม่สงบสุขสักที...

หากเรานับถือศาสนาพุทธ  แต่ข้อปฏิบัติของศาสนาคริสต์บางอย่างที่เห็นว่าดี  เราก็นำมาเป็นแบบอย่างได้ไม่เห็นแปลก

เพราะฉะนั้นในความคิดเห็นแล้ว  เราน่าจะมีการบูรณาการศาสนาเข้าด้วยกันได้นะคะ

ขอบคุณค่ะ..หลานชายนับถือศาสนาคริสต์ตามคุณแม่ของเขามาตั้งแต่เล็ก เข้าโบสถ์คริสต์ทุกวันอาทิตย์..ได้หลักธรรมมาปฏิบัติเรื่องการรักเพื่อนมนุษย์..เดี๋ยวนี้กำลังศึกษาแก่นของพุทธศาสนา ซึ่งเขาเลื่อมใสเรื่องวิถีพุทธเพื่อความพ้นทุกข์จากวัฏสงสาร..เป็นคุณค่าเพิ่มเติมจากวิถีคริสต์..ป้า-หลานกอดกันทุกครั้งอย่างมีความสุข เมื่อเราคุยกันเรื่องการนับถือสองศาสนาค่ะ..

                       

สวัสดีค่ะ Ico32

ขอบคุณค่ะ

ที่มาเยี่ยมและฝากความเห็นไว้

สวัสดีค่ะ Ico32

ขอบคุณค่ะที่แวะมา

ไปชมงานที่บ้านมาแล้ว อนุโมทนากับความตั้งใจทำสิ่งดีๆให้สังคมค่ะ

ในสมองกอไม่มีเลยค่ะความคิดเรื่องการนับถือ 2 ศาสนา

นับถือมันสักศาสนาให้ได้ดี ทำตามคำสอนที่เค้าสอนให้มันได้สักศาสนา

ก็พาตัวรอดจนวันตายแล้วล่ะค่ะ

  • สวัสดียามค่ำๆ ครับ
  • แวะมาเยี่ยมตามคำชวนครับ จริงๆ แล้วคำถาม "ชาวพุทธนับถือ 2 ศาสนาได้หรือไม่" มีคำตอบในบันทึกของณัฐฐดาแล้วล่ะครับ เนื่องจากผมอาจยังไม่ทราบถึงคำสอนที่ลึกซึ้งของศาสนาทั้งสอง(แม้จะเป็นชาวพุทธครับ) จึงไม่กล้าล่วงเข้าไปวิจารณ์ถึงหลักคำสอน แต่ผมขอให้มุมมองกว้างๆ ดังนี้ครับ การที่เรานับถือศาสนา 2 ศาสนา หรืออาจมากกว่านั้น ก็ได้ครับถ้าหลักคำสอนของศาสนา ที่ตนเองนับถือนั้น ไปด้วยกันได้ เพราะจะเป็นการส่งเสริมกัน ให้คนนั้นพบความสุขสงบหรือเป้าหมายของชีวิต หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าตนเองไปนับถือศาสนาที่หลักคำสอนก็ไม่เหมือนกัน เชื่อไปกันละด้าน วิธีปฏิบัติก็ยิ่งต่างกันอีก คนนั้นก็เหมือนเดินทางมาถึงทางสองแพร่งหรือสามแพร่งก็แล้วแต่ครับ คือ ยืนอยู่บนความขัดแย้งกันของแนวทางที่ตนเองศรัทธา คนๆ นั้นก็จะเริ่มมีความขัดแย้งในตนเอง ซึ่งถ้าอยู่ได้ก็เก่งและแปลกพอสมควร แต่จะนับถือต่อไปแม้จะขัดแย้งกันอยู่ก็แล้วแต่เขาครับ หรืออาจจะเลือกทางที่ตัวเองศรัทธาสูงสุดแล้วเดินไปก็จะทำให้ไม่ต้องมากังวลกับสิ่งที่ขัดกัน ดังนั้นการที่คนเราจะนับถือทั้งพุทธ คริสต์ ก็ไม่ได้ว่าอะไร ถ้าคุณรู้สึกไม่ลำบากใจ และไม่ขัดแย้งในตนเอง นับถือไปตลอดชีวิตก็ได้ แต่เมื่อใดที่นับถือไปด้วยกันแล้วเกิดปัญหาไม่สบายใจ ก่อให้เกิดความทุกข์คงต้องกลับมาพิจารณาใหม่แล้วล่ะครับ  คือยังไงก็ได้ครับถ้าก่อให้เกิดความสุขสงบในใจ แต่ส่วนตัวผมนิยมความสุขที่เกิดจากข้างในสู่ข้างใน ไม่ใช่ข้างนอกสู่ข้างในครับ

สวัสดีครับคุณ ณัฐรดา ผมนำรูปคนเก่งไทยรัฐวิทยา ๖๓ มาฝากครับ

เด็กหญิง ชลดา   ธิมาชัย นักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5

นางสาว นิศากร   เหลาทอง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3

สำหรับเนื้อหาในบันทึกนี้ผมจะกลับมาแสดงความคิดเห็นใหม่นะครับ

ผมมีความคิดเห็นคล้ายกับคุณณัฐรดาครับ สิ่งชาวพุทธยังมีการปฏิบัติเกี่ยวกับพราหมณ์ก็ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องเหมือนเรื่องปกติ

ผมยังคิดว่าความศรัทธาคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนนับถือมากกว่า ๒ ศาสนา บางทีสังคมที่แวดล้อมก็หล่อหลอมให้นับถือได้เช่นกันครับ

ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีนะคะ ถ้าจะนับถือสองศาสนาแล้วสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขก็คิดว่าเป็นคำตอบอยู่ในตัวแล้วค่ะ

เคยสนทนากับเพื่อนชาวคริสต์ ซึ่งเคร่งศาสนาแต่ใฝ่รู้ เรียนรู้ อ่านเรื่องของศาสนาพุทธมากกว่าพุทธศาสนิกชนบางคน

คุยแบบแยกแยะว่า ต่าง เหมือน หรือ แต่ละศาสนามีนัยอะไรที่แฝงอยู่ คล้ายกันหรือเปล่า

เห็นคล้าย ๆ กันว่า ศาสนาทุกศาสนา สอนและมีข้อห้ามขึ้นมาก็เพื่ออยากให้ทุกคน ละความไม่ดี แล้วจึงจะมีจิตที่พัฒนาสูงขึ้นไป ทำความดี

จนพัฒนาไปเป็นจิตบริสุทธิ์

 

เพื่อนดิฉัน เขาเชื่อเรื่องพระเจ้า แต่ในนัยว่า พระเจ้าเหมือนเป็น "สิ่งบริสุทธิ์" เป็น "ผู้ให้"

อย่างไรก็ตาม ดิฉันไม่เข้าใจมากนักเพราะ ส่วนตัวไม่ได้ศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ

 

ลูกชายสิคะ อ่าน"ศาสนาเปรียบเทียบ" เล่มที่อาจารย์ท่านหนึ่งแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้เขียน

เขาอ่านเมื่ออายุประมาณใกล้สิบขวบ เขาขอให้พ่อซื้อเพราะ เขาเรียนอยู่โรงเรียนศาสนาคริสต์ มีชั่วโมงเรียน "ศาสนาคริสต์" และมีการกล่าวขอบคุณพระเจ้าก่อนอาหาร มีการอธิษฐานขอ..จากพระเจ้า และในวัยนั้น เขาเชื่อเรื่องพระเจ้า

ในเวลาถัดมาเขาเรียนวิชาพุทธศาสนา เรียนเรื่องพุทธประวัติ

เขาเห็นและไปประกอบกิจทางศาสนากับพ่อแม่

เขาเห็นแม่นั่งสมาธิ(ซึ่งยังได้แค่เพียง สงบ)

เขาจึงอยากรู้เรื่องศาสนาเปรียบเทียบ เขาค้นในวิกิพีเดีย

 

เมื่อได้หนังสือมา เขาอ่านแต่ยังไม่จบ เขาได้พูดคุยกับแม่ไว้ว่า ในความคิดเห็นส่วนตัว เขาเชื่อว่า ศาสนาแต่ละศาสนาคล้าย ๆ กันในเรื่องมี

"คนต้นแบบ"

"เรื่องข้อควรละ-ศีล"

"ข้อควรทำ-ธรรม"

และแม่เติมเมื่อคุยกับเขาว่า ถัดไปจากนั้นคือ พัฒนาจิตใจให้บริสุทธิื

 

ทุกสิ่ง มีจริงหรือไม่จริง แม่คิดตามที่อ่านมาว่า ให้ตามรู้ ตามดู เท่านั้นเอง

เรา(หมายถึงจิตที่สมมุติว่าเป็น-เรา)ไม่สามารถกำหนด หรือ หยุด หรือ บังคับอะไรอะไรได้

ดูเหมือนเราสองคนก็ยังไม่เข้าใจทั้งหมด กำลังค่อย ๆ ศึกษาค่ะ

 

สรุป ความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่า ถ้าตามจารีต หรือทางการ คนเราน่าจะนับถือได้ศาสนาเดียว

แต่ทางปฎิบัติ ข้อดีทุกข้อของทุกศาสนาเรายึดถือเป็นแนวทางและปฎิบัติตามได้ทุกศาสนาค่ะ

ขอบคุณค่ะ

เรียนท่านIco64ที่นับถือ

   คุณยายว่า น่าจะได้นะคะ เพราะทุกศาสนาล้วนสอนให้เราเป็นคนดี จะนับถือกี่ศาสนาก็ไม่เสียหายอะไร

สวัสดีครับ

ความเป็นจริงในเรื่องของการนับถือศาสนาในประเทศไทย ไม่มีการบังคับว่าต้องนับถือศาสนานั้นศาสนานี้ แต่โดยหลักการปฏิบัติที่ถือสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้นำพาให้เราซึ่งเป็นชนรุ่นหลังได้ยึดปฏิบัติ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งเหตุและผลโดยใช้หลักว่า ทุกอย่างเกิดแต่เหตุ พระบรมศาสสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจ๔ ซึ่งเป็นธรรมะอันประเสริฐ แต่การยอมรับและเข้าถึงซึ่งพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงนั้นมีน้อยมากแต่เพราะศรัทธาที่เรามีต่อคำสอนนั้นเองเป็นที่ตั้งทำให้ชาวพุทธในปัจจุบันนี้ยอมรับและถ่ายทอดต่อรุ่นหลังๆ ส่วนศาสนาอื่นนั้นเป็นการยอมรับและมีการนับถือพร้อมกับการเผยแพร่ศาสนาในเชิงรุกจึงทำให้ผู้คนไขว้เขวและไม่รู้ว่าศาสนาไหนให้ความสุขอย่างแท้จริง แต่สำหรับผมแล้วพระพุทธสาสนาเป็นเลิศสูงสุดและสามารถพิสูจน์ได้ถึงผลของมันถ้าเราปฏบัติธรรมอย่างจริงจัง แต่แน่นอครับการอยู่รวมกันในสังคมเราต้องอาศัยซึ่งกันและกันดังนั้นศาสนาไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นปัญหาสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม ขอให้เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดครับ ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ที่หาอ่านยากมาก ขอเป็นสมาชิกติดตามตลอดนะครับ

ขออนุญาต ตามคำเชิญครับ

จริงๆแล้ว เรื่องของศาสนาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ผมมองอย่างนี้ครับว่า หากสมมติว่าเราไม่มีคำว่าศาสนามาแบ่งความเป็นคนหรือเป็นมนุษย์ของเรา ผมคิดเอาเองว่าความจริงก็มีอยู๋สิ่งเดียว ถึงแม้คุณจะนับถือศาสนาอะไร หรือไม่นับถือศาสนาอะไรก็แล้วแต่ ความจริงของธรรมชาติที่ว่าเราทุกคนเกิดมาล้วนต้อง แก่ เจ็บ ตาย หากเรามองชีวิตแบบนี้และมีความเชื่อแบบนี้เป็นเบื้องต้น แล้วแสวงหาวิธีใดวิธีหนึ่งที่จะหนีจากวงจรเหล่านี้ ดังนั้นวิธีการก็อย่างที่เราท่านทราบกันว่ามีวิธีเดินไปได้หลายทาง.....หากเราตัดเรื่องศาสนาออกไป เราทุกคนก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน...ที่จะหลุดวงจรเหล่านี้ได้....วิธีการเดินของเราเป็นไปได้หลายทาง และอาจจะไปเข้ากับหลักของศาสนาต่างๆที่มีคำสอนให้คนได้หลุดพ้นเหมือนกัน..ดังนั้นผมมองว่าเราจะนับถือศาสนาสักกี่ศาสนาไม่สำคัญ...แต่ที่สำคัญผมคิดว่าเราเชื่อหรือมองชีวิตเป็นอย่างไรมากกว่า....(ผมไม่แน่ใจว่า...จะมีคนเข้าใจส่ิงที่ผมพูดหรือเปล่า..)ขอบคุณที่ให้แสดงความคิดเห็น...

สวัสดีค่ะอากาศเย็นๆกับฝนตกค่ะ การนับถือศาสนาก็ตามผู้ใหญ่มาแต่เกิดแล้วก็มารับรู้อีกศาสนาในภายหลังจึงเลื่อมใสก็น่าจะแนวทางเดียวกันแร่ะสอนให้เป็นคนดี ค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ตุ๊กตา

ดาวมีความเห็นคล้ายๆพี่ตุ๊กตาค่ะว่า ถ้าการนับถือศาสนาสองศาสนาในแง่ของจริยธรรมนั้นสามารถทำได้ แต่ถ้าจะลงลึกไปถึงการพัฒนาเพื่อให้ไปถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดนั้นทำได้ยาก

ความจริงแท้ของธรรมชาติมีมาแต่ดั้งเดิม เพียงแต่เส้นทางการเดินทางนั้นแตกต่างกัน บางเส้นทางมีบางส่วนที่ผ่านมาทับซ้อนกัน...เป็นไปได้ยากที่จะเดินทางในบนถนนสองเส้นทางพร้อมๆ กัน...ดาวคิดเช่นนั้นค่ะ

ธรรมฐิตแม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกผู้คนจะมองว่าเป็นสมณะในพุทธศาสนา

แต่ทว่า..ภาวะภายในแท้จริงแล้วหาได้นับถือศาสนาพุทธไม่..

เพราะพุทธศาสนาจริงแท้แล้วหาได้บังเกิดมาเพื่อให้เราท่านนับถือไม่

แต่เพื่อให้เราท่านได้ตระหนักเรียนรู้เพื่อเข้าถึงสภาวะแห่งธรรมชาติที่แท้จริง

ดังนั้นธรรมฐิตเลยเดินเคียงข้างไปได้กับทุกศาสนาขอรับพี่ณัฐรดา

พระเจ้าแห่งศาสนาพุทธแท้จริงแล้วคือ..กฏของธรรมชาติ..นั่นเอง.

ดูอย่างแนวทางการสอนแห่งหมู่บ้านพลัมของหลวงปู่ ติช นัท ฮัน สิ

มีคนหลากหลายเชื้อชาติศาสนาเข้าไปเรียนรู้ก็เรียนรู้อยู่กันได้อย่างงดงาม

สาธุๆๆ

 

คนไทยส่วนมากนับถือ ๒ ศาสนาอยู่แล้ว

๑ คือ ศาสนา(ลัทธิ) ความเชื่อดึกดำบรรพ ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ความเชื่อในสิ่งที่ตนไม่รู้ ซึ่งฝังลึกมากในจิตใจของคนในภูมิภาคนี้

๒ คือ ศาสนาที่พ่อแม่แจ้งแก่เจ้าพนักงานเมื่อตอนเกิด และปรากฎในบัตรประชาชน (สมัยนี้ดูเหมือนบัตรใหม่เขาจะไม่ให้มีศาสนา)

พอโตขึ้นมารู้ความ ได้รับการศึกษา จากโรงเรียน จากเพื่อน จากสื่อสารมวลชน ฯลฯ ทำให้

บางคน ศาสนา๑ จะฝังแน่นยิ่งขึ้น

บางคน ศาสนา๒ มั่นคงขึ้น

บางคน อยากเปลี่ยน ศาสนา๒

บางคน ถอนศาสนา๑ ออก และมั่นคงกับศาสนา๒

สำหรับผม

ผมเชื่อในสิ่งที่สามารถพิสูจน์อธิบายได้ด้วยตัวเราเอง

เราควรเชื่อในสิ่งที่เรารู้

คนไทยมีศาสนานับถือนับว่าดีกว่าไม่มีศาสนา (ในบัตรประจำตัวประชาชนน่าจะให้คนไทยมีศาสนา)

ต้องขอเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจนอีกนิดครับ

คนสมัยนี้ มีมากครับที่จะพูดว่า ไม่นับถือศาสนาอะไร (ไม่ยอมรับศาสดาใดๆ) แต่เชื่อมั่นในตัวเอง

เช่น เชื่อในสิ่งที่สามารถพิสูจน์อธิบายได้ด้วยตนเอง

แต่สำหรับผม ศาสนาลักษณะนี้มีแล้ว มีพระบรมศาสดาได้โปรดสัตว์เผยแผ่ให้ผมได้รู้แล้ว

ผมนับถือศาสนาพุทธครับ

  • เรื่องนี้น่าสนใจ ผมเห็นว่าเราอาจจะชอบคำสอนหรือแนวคิดของอีกศาสนาหนึ่งนั้น มันเป็นเพียงบางส่วน เราอาจจะไม่ชอบทุกส่วน การชอบบางส่วนไม่น่าจะถือว่าเรานับถือศาสนานั้นๆเพิ่มเติมอีก
  • ในส่วนของศาสนาอิสลามนั้นถือว่าการนับถือจะต้องนับถือหรือมีความเชื่อเดียวเท่านั้น
  • เรื่องนี้ในส่วนของศาสนาพุทธนั้นเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก

มันอยู่ที่โครงสร้างของความเชื่อนั้นสอดคล้องกันไปได้หรือไม่

เช่น พุทธ พรามณ์ ผี ก็ไปด้วยกันได้ เพราะมีเรื่องราวของวัฒนธรรมสอดคล้องกัน

ศาสนาเต๋า ขงจื้อ ก็สอดคล้องกันไปได้กับพุทธเช่นกัน หรือแม้แต่ศาสนาเชน มีลักษณะความเชื่อ

ที่คล้าย ๆ กัน ก็น่าจะไปกันได้ ไม่มีศาสนาอะไรที่บริสุทธิ์ ร้อยเปอร์เซ็นต์

ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่ว่าจะระดับไหนก็ไปกันได้ เช่นผี หรือ อำนาจพิเศษของเทพเทวา

ก็เข้าไปกันได้เป็นชั้น ๆ ใน จักรวาลความคิดของมนุษย์

สุดท้ายก็เป็นอาตมา ไม่ได้เข้ามาดูบันทึกของคุณณัฐเสียหลายวัน สวัสดีท่านที่รักทั้งหลายเรื่องนี้เป็นเรื่องลำบากในการแสดงความเห็นโดยเฉพาะพระเดียวหาว่าลำเอียง แต่เท่าที่ดูเม้นหลายเม้นแล้วก็คงพอแล้วที่จะพิจารณาประกอบสำหรับท่านที่จะนับถือหลายๆศาสนา คิดเล่นๆว่า ก็ดีเหมือนกันอาตมายังคิดว่าถ้าเป็นไปได้ให้รวมทุกศาสนาเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งจะได้หมดปัญหา แต่ความเป็นจริงก็คือเป็นไปไม่ได้ คนนี่ครับไม่ใช่สัตว์จะได้ไม่ต้องทะเลาะกันเรื่องศาสนา

จะทำอย่างไรนับถืออะไรก็แล้วแต่ก็ขอให้นึกให้ออกว่า "เพื่ออะไร" เจริญธรรม

น่าสนใจมากๆ ค่ะพี่ณัฐ ... จะนับถือศาสนาใดไม่สำคัญ หากแต่ขอให้ยึดเอาเป้าหมายเพื่อประเทศชาติ มาเป็นก่อนอื่นใด เป็นอันดับหนึ่ง ... ขอบคุณค่ะ   

+ สวัสดีค่ะ...ท่านพี่ณัฐรดา

+ สำหรับอ๋อยแล้ว...มีความเห็นเหมือนคุณหมอภูสุภา Ico32ภูสุภา

สรุป ความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่า ถ้าตามจารีต หรือทางการ คนเราน่าจะนับถือได้ศาสนาเดียว

แต่ทางปฎิบัติ ข้อดีทุกข้อของทุกศาสนาเรายึดถือเป็นแนวทางและปฎิบัติตามได้ทุกศาสนาค่ะ

 

 และมีข้อสังเกตุเหมือนครูหยุยIco32ค่ะ

 เป็นไปได้หรือไม่ที่คำว่า พระเจ้า นั้นหมายถึง ความดีอันเป็นนิรันดร์ คนส่วนหนึ่งจึงไม่นับถือศาสนาใดใดหรือถือได้ในหลายๆ ศาสนา เพราะทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี

+ คือ แบบว่าหนูคิดเช่นนี้เหมือนกับท่านทั้งสองที่กล่าวอ้างค่ะ

  • การยอมรับนับถือ ในสิ่งดีๆ โดยหลักการน่าจะเป็นผลดี มากกว่าผลกระทบข้างเคียง ครับ

สวัสดีค่ะ...

ถ้าสำหรับคนรุ่นใหม่...มองหลาย ๆ มุม น่าได้นะค่ะพี่ณัฐรดา...เพราะเราเปิดใจให้กว้าง และยอมรับ...คนเราจะมองต่างมุมไงค่ะ...อยู่ที่ตัวเราจะนำสิ่งดี ๆ ของทุกศาสนามาประยุกต์และปรับใช้กับชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะการใช้ชีวิต การทำงาน ฯลฯ  เพราะทุก ๆ ศาสนา สอนให้คนเป็นคนดีทั้งนั้น...แต่น้องก็ยังคงนับถือศาสนาพุทธอีกนั่นแหล่ะ...แต่ถ้าเข้าโบสถ์ ก็ได้บ้าง แต่เราเกิดมาในโลกที่เราคุ้นเคยกับศาสนาพุทธตลอด เราก็จะเป็นชาวพุทธค่ะ...ถ้าถึงคราวจำเป็นจริง ๆ ให้เข้าโบสถ์คริสต์ หรือถ้าเราต้องการศึกษา ก็น่าจะได้นะค่ะ...แต่เชื่ออยู่อย่างหนึ่งนะค่ะ คนเราถ้าคุ้นเคยกับสิ่งไหนแล้ว จะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงอะไรหรอกค่ะ...ยกเว้นมีสิ่งหนึ่งที่เข้ามาทำให้เขาคิดว่าดีขึ้นกว่าเดิม... เขาอาจเปลี่ยนได้ค่ะ...

คิดว่าการนับถือ สอง ศาสนาเหมือนการจับปลาสองมือ เหมือนเป็ด เหมือนการทำอะไรที่ไม่ถึงที่สุด อย่าใช้คำว่า "นับถือ" เลย อาจจะศึกษาอยู่ หรือเลือกอยู่ก็พอ เช่นกัน มารดาบิดา มีความสำคัญทั้งสอง ถามว่ามีผู้ให้คาวมรัก เคารพท่านทั้งสองเท่ากันบ้าง

...........ใหม่ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท