การ์ตูนนิทานสำหรับเด็ก "เต่าอยากบิน"


การ์ตูนเด็กที่วาดโดยเด็ก

ยังมีนิทานอีกเรื่องค่ะ ที่ลูกสาววาดไว้ตอนที่ยังเขียน ก.ไก่ ไม่เป็น เก่าเก็บไว้หลายปีแล้วค่ะ

เรื่อง เต่าอยากบิน

เต่ากับนกเป็นเพื่อนกัน เต่าเฝ้ามองนกบินไปมาได้ไกลๆก็เกิดอยากบินได้เหมือนนกบ้าง จึงไปขอให้นกสอนบินให้ นกบอกว่าทำไม่ได้ เพราะเต่าไม่มีปีก เต่าเสียใจ จึงเดินคอตกกลับไป (คือตัวกลางภาพที่หันหลังให้น่ะค่ะ ท่าทางนกก็ดูเหมือนจะเศร้าไปด้วย)

แต่เพราะยังอยากบินอยู่ จึงไปหานกอีก และขอร้องนกถ้านกจะไปไหน ก็ขอให้พาตนบินไปด้วย นกสงสาร จึงคิดหาทางที่จะช่วยเต่า ในที่สุด จึงใช้กรงเล็บจับตัวเต่าไว้ แล้วพาบินไปด้วยกัน

แต่เกิดอุบัติเหตุ เต่าหลุดจากกรงเล็บนก ตกลงสู่พื้นฟาดกับก้อนหินเกิดเสียงดังจนกวางสองตัวแม่ลูกที่นอนหลับอยู่ตกใจตื่น (กวางสองตัวนี้คงยืมมาจากการ์ตูนของ วอลส์ ดิสนีย์ เรื่องแบมบิ)

เต่า เจ็บตัว จึงไม่คิดจะทำอะไรที่เกินความสามารถตนอีก

นิทานเด็กจบแล้ว ค่ะ แต่อยากต่อเรื่องของผู้ใหญ่

พูดถึงนิทานอีสป ดิฉันมองว่าเป็นนิทานที่ควรนำมาอ่านให้เด็กฟังนะคะ เพราะช่วยให้เด็กเกิดจินตนาการไปได้ไกล เนื่องจากแนวของนิทานคือการเล่าเรื่องราวของมนุษย์ในแง่มุมต่างๆทั้งด้านดี และร้าย การใช้ชีวิตในสังคม การปกครอง การเมือง แต่เนื่องจากเนื้อเรื่องสั้น และทิ้งท้ายให้คิดเอง ผู้เล่าอาจต้องกระตุ้นให้เด็กคิดตามค่ะ

ไม่อยากให้จบการเล่านิทานด้วยประโยคที่ว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า......” อย่างที่คนวัยขนาดดิฉันมักได้ยินตอนเด็กๆเลยค่ะ

เราอาจฝึกให้เด็กคิดจากนิทานที่เล่าได้หลายแบบ เช่น

อาจถามเด็กว่า เต่าเจ็บตัว เป็นทุกข์ ลูกคิดว่าอะไรทำให้เต่าทุกข์

หากคิดในแนวสืบสวนต้นเค้า จะเกิดการไล่ย้อน หาความสัมพันธ์ของแต่ละเหตุการณ์ไปถึงต้นเหตุ จะได้ว่า เต่าทุกข์ในตอนจบ เพราะเจ็บตัว เต่าเจ็บตัว เพราะตกสู่พื้น เต่าตกสู่พื้น เพราะนกที่บินไปใช้กรงเล็บจับเต่าพาบินด้วยไป อาจเมื่อยจนทนจับเต่าไว้ไม่ไหว นกพาเต่าบินไป เพราะเต่าร้องขอ เต่าขอร้องเพราะคิดว่านกจะช่วยแก้ไขความทุกข์ให้ได้

เต่าทุกข์เพราะอยากบินได้อย่างนก แต่เพราะไม่มีปีกจึงบินไม่ได้ เมื่อบินไม่ได้ก็เกิดความทุกข์

ต้นเหตุของเรื่องจึงเป็นความทุกข์ที่เกิดจากความอยากมีในสิ่งที่ไม่มี (ภวตัณหา) ของเต่านั่นเอง เพราะทุกข์จากความอยากในตอนต้น จึงต้องทุกข์เพราะอาการเจ็บปวดในตอนจบ

หรือจะลองคิดในแนวแยกองค์ประกอบดูก็ได้ค่ะ เช่น ทำไมเต่าจึงตกลงสู่พื้น อาจได้ว่า เต่าน้ำหนักตัวมากเป็นองค์ประกอบหนึ่ง นกอาจเมื่อย เป็นองค์ประกอบสอง ลมอาจแรง เป็นองค์ประกอบสาม หรือ....อื่นๆ.... แล้วแต่จะสรรคิด

เรามักฝึกเด็กในเรื่องการพูด การฟัง การคิด นิทาน จึงดูจะเป็นผู้ช่วยที่ดีในการฝึกเรื่องเหล่านี้

หมายเลขบันทึก: 374230เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2010 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2015 05:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

น่าทึ่งมากๆ ครับ มีลูกสาวอายุ 6 ขวบครับ จะไปเล่าให้เขาฟังครับ

และขอชื่นชมศิลปะบริสุทธิ์ด้วยคนครับ

แวะมาอ่าน และ แวะมาเรียนรู้เรื่องเต่าอยากบินด้วยคนนะครับ...

ขอบพระคุณครับ

  • รออ่านฉบับเต็มครับพี่
  • สู้ๆๆครับ
  • ชอบดูภาพวาดของพี่ครับ
  • ต่อไปเด็กๆๆจะได้อ่านทั้งเรื่องและดูภาพด้วย
  • เยี่ยมจริงๆครับ

ความไม่ประมาณตน ความมักใหญ่ใฝ่สูง ย่อมนำมาซึ่งความหายนะ

 

ขอบคุณครับที่หานิทานดีๆมาเล่าให้กันฟังครับ

สวัสดี ครับ คุณ ณัฐรดา

ได้อ่านจินตนาการของเด็ก ๆ แล้ว  เป็นความบริสุทธิ์ ภายใต้จิตใจ และห้วงคิดของเค้าจริง ๆ เลย ครับ

ลูกสาว เคยพูดทางโทรศัพท์ กับผม เมื่อไปราชการต่างจังหวัดว่า

พ่อนอนอยู่ตรงไหน?

บนดิน หรือบนสวรรค์

ทำให้ผมเข้าใจ สิ่งที่คุณณัฐรดาพูดถึง

ขอบคุณมาก นะครับ

 

 

 

สวัสดีค่ะ

         พอใจในสิ่งที่ตัวเป็นอยู่ดีที่สุดใช่ไหมค่ะ ขอบคุณนิทาน นะคะ

พี่ดา คิดถึงค่ะเห็นภาพหนังสือที่คุณครูrinda สนใจค่ะเพราะภาพวาดสวยทุกภาพจากที่ได้ชมในบล็อก แอบเก็บไว้ด้วยนะคะ เวลาเห็นกุหลาบมอญก็คิดถึงค่ะ ที่บ้านพึ่งบาน พอใกล้โรยก็นำมาชงชาดื่มหอมค่ะ และได้ประโยชน์ เพราะกลีบของดอกก็ทานไปด้วย

                              

สวัสดีค่ะพี่ณัฐลดา

แวะมาอ่านนิทาน ชื่นชมลูกสาวค่ะ จินตนาการดีมากค่ะทั้งเรื่องและภาพ

ต้องขอบพระคุณพี่อีกครั้งนะค่ะ ที่ส่งคู่มือวาดภาพสีน้ำแนวพฤกษศาสตร์แบบง่ายๆ ดอกไม้ วาดง่ายแต่เนี้ยบ มาให้จำนวนหลายเล่มเป็นประโยชน์มากค่ะ

แวะมานั่งอ่านนิทานอีกคนครับ...

เคยได้ยินคุณครูเล่าให้ฟัง..ลืมไปแหล่ะ

ตอนนี้ความทรงจำ...กลับคืน

ผมเองก็ใช้กระบวนการเหล่านี้กับนิสิตในมหาวิทยาลัย...
ให้โจทย์..ไปศึกษา ให้เขาเล่าเรื่อง-ถอดความรู้ตามมุมมองของเขาผ่านนิทานในแต่ละเรื่อง  โดยไม่วิพากษืว่าที่เล่ามาผิด หรือถูก แต่จะพยายามให้เขาสื่อออกมาว่าพบเจออะไรในนิทาน หรือตำนานเหล่านั้นด้วยตัวของเขาเอง...

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ กับแนวคิดนี้

ไม่อยากให้จบการเล่านิทานด้วยประโยคที่ว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า......”

คุณณัฐรดาครับ ครั้งแรกดูแต่รูปยังงงอยู่ พอได้อ่านตาม เข้าใจมากขึ้น จะรอคอยรวมเล่มนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท