จริงหรือ?? กับความเชื่อเรื่องสมาธิในพุทธศาสนิกชนบางกลุ่ม


ปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนบางท่านมีความเห็นเกี่ยวกับการฝึกสมาธิต่างๆกันไป บ้างเชื่อว่า .....ชาวพุทธไม่ควรฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบ เพราะสมาธิเป็นเรื่องของศาสนาพราหมณ์ หรือดาบส ไม่ใช่ศาสนาพุทธ (ท่านหนึ่งถึงกับเคยสนทนากับพิธีกรเผยแพร่ทางโทรทัศน์ดังนี้มาแล้ว) บ้างก็เชื่อว่า.....สมาธิเป็นเรื่องของพระภิกษุผู้ออกบวช พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ฆราวาสปฏิบัติ

สองความเห็นนี้ ค้านกันอย่างสิ้นเชิงเลยค่ะ ความเห็นแรกไม่ยอมรับการฝึกสมาธิว่ามีอยู่ในพุทธศาสนา การฝึกสมาธิเป็นเรื่องของลัทธิอื่น อีกความเห็นยอมรับว่าการฝึกสมาธิมีอยู่ในพุทธศาสนา แต่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้เฉพาะผู้ออกบวชแล้วเท่านั้นส่วนฆราวาสนั้นไม่ควรฝึกเพราะไม่ได้รับอนุญาต

ขอพิจารณาเรื่องนี้ โดยแยกเป็นสองประเด็นนะคะ คือ

  1. ในพุทธศาสนาไม่มีการฝึกสมาธิ สมาธิเป็นเรื่องของลัทธิอื่น
  2. การฝึกสมาธิเป็นเรื่องของผู้ออกบวชแล้วเท่านั้น ฆราวาสไม่ควรฝึก

ประเด็นการฝึกสมาธิเป็นเรื่องของลัทธิอื่น ไม่มีอยู่ในศาสนาพุทธ

เป็นความเข้าใจที่ถูกเพียงครึ่งเดียวค่ะ สมาธิเป็นเรื่องของดาบสที่มีการฝึกมาก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง พระพุทธองค์เอง ทรงฝึกสมาธิกับอาฬารดาบส และ อุทกดาบส จนบรรลุถึงอรูปฌาน 4แต่ทรงเห็นว่าการสงบอยู่ในสมาธิ ไม่ใช่ทางหลุดพ้น เพราะสงบจนเป็นนิพพานเพียงชั่วคราวด้วยการข่มไว้ (วิกขัมภนนิพพาน) สงบเพราะขณะอยู่ในฌาน กิเลสไม่สามารถรบกวนได้ด้วยอำนาจพลังจิต แต่เมื่อออกจากฌาน ก็กลับไปเป็นคนเดิม เพราะไม่ได้ฝึกให้ลดทอนกิเลสลง เพื่อพบความสงบอย่างถาวรด้วยการตัดขาด (สมุทเฉทนิพพาน)

คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ แบ่งนิโรธ ซึ่งเป็นไวพจน์สำคัญของนิพพานออกเป็น 5 อย่าง หรือ 5 ระดับ

1 วิกขัมภนนิโรธ ได้แก่ผู้เจริญปฐมฌาน ดับนิวรณืด้วยการข่มไว้ (สมาบัติทั้ง 8 คือ รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 เป็นวิกขัมภนนิโรธทั้งหมด เพราะนับแต่เข้าถึงปฐมฌานแล้วเป็นต้นไป อกุศลธรรมทั้งหลายมีนิวรณ์เป็นต้น ย่อมถูกข่มให้ระงับดับเอง แต่ก็ดับชั่วเวลาที่อยู่ในฌานสมาบัติเท่านั้น; พูดง่ายๆว่า ข่มธรรมที่เป็นกิเลสต่างๆ คือ นิวรณ์เป็นต้นด้วยโลกิยสมาธิ เป็นการดับกิเลสแบบเอาหินทับหญ้า

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธธรรมแบบปรับปรุงและขยายความ หน้า 278

จึงทรงลาอาจารย์ ไปค้นหาหนทางด้วยพระองค์เอง ทรงพบว่าจิตที่เป็นสมาธินั้น บริสุทธิ์ มีกำลัง ควรแก่การใช้งาน เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วมีการนำจิตที่เป็นสมาธิในขณะนั้นไปพิจารณาธรรมต่อ จะรู้เห็นได้ตามที่เป็นจริง จึงได้ทรงนำการฝึกสมาธิมาประยุกต์ใช้ รวมอยู่ในมรรคมีองค์ 8 อันเป็นองค์รวมในการปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ (ดังจะเห็นว่ามรรคมีองค์ 8 นั้น ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ, สัมมาวายามะ, สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ)

ด้วยมรรคมีองค์ 8 เมื่อดำเนินชีวิตตามมรรคอย่างกลมกลืน สัมมาทิฏฐิก็จะค่อยๆแก่รอบขึ้น จากสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกิยะ จะพัฒนาเป็นสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกุตตระ จนกลายเป็นญาน ส่วนญาณนั้นก็พัฒนาตามสัมมาทิฏฐิค่ะ จากญาณเป็นโลกิยะ เมื่อ แก่รอบขึ้น ก็จะกลายเป็นญาณที่เป็นโลกุตตระ จนกระทั่งเมื่อญาณพัฒนาเต็มที่ จะเปลี่ยนรูปเป็น วิชชาไปในที่สุด

ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องที่เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในระหว่างการปฏิบัตินั้น เรียกว่า ญาณ มีหลายระดับ ญาณในขั้นสุดท้ายเรียกว่า วิชชา เป็นภาวะตรงข้ามที่กำจัดอวิชชา คือความหลงผิดไม่รู้แจ้งไม่รู้จริงให้หมดไป

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธธรรมฉบับปรับปรุงและขยายความ หน้า 306

แล้วมรรคมีองค์ 8 ก็จะกลายเป็นส่วนของสัมมัตตะ 10 ซึ่ง 8 ข้อต้น เป็นมรรคทั้ง 8 และเพิ่มอีก 2 ข้อ คือ สัมมาญาณะ และสัมวิมุตติ (รวมเป็นสัมมัตตะ 10)

สัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ 8 คือสมาธิที่ควรฝึกเพื่อให้จิตตั้งมั่น มีกำลัง เป็นบาทฐานของปัญญา คือเพื่อนำไปใช้งานทางปัญญาต่อไป และสัมมาสมาธิ ท่านหมายเอา ฌาน 4 คือควรฝึกให้ถึงฌาน 4 เพื่อให้สภาวะจิตเป็นอุเบกขา ที่มีท่าทีเป็นกลางต่อทุกธรรม แล้วจึงใช้จิตที่เป็นกลางนี้ไปพิจารณาธรรมต่อไป (หรือจะใช้ขณะที่ได้ฌาน 1 ก็ได้ แต่ทางที่ดี ควรฝึกให้ได้ถึงฌาน 4 เพื่อสัมผัสความสงบ การมีสติบริสุทธิ์ด้วยอุเบกขา)

จากพระสูตรในพระสุตตันตปิฎกพระสูตรนี้ (สมาธิสูตร) คงจะช่วยในการพิจารณาได้นะคะ ว่าการเจริญสมาธิมีอยู่ในพุทธศาสนาหรือไม่

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด ภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริง

รู้ชัดอะไรเล่าตามความเป็นจริง

คือ ภิกษุรู้ชัดความเกิดและความดับแห่งรูป ความเกิดและความดับแห่งเวทนา ความเกิดและความดับแห่งสัญญา ความเกิดและความดับแห่งสังขาร ความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ

..................

บางท่านเข้าใจว่า จิตขณะอยู่ในฌาน ไม่สามารถพิจารณาธรรมได้ เพราะสงบนิ่งเกินไป ต้องถอยออกมาจากฌานก่อน ขอยกข้อเขียนของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) มาแสดงดังนี้ค่ะ

สำหรับฌานสมาบัติที่ต่ำลงมา คือตั้งแต่อากิญจัญญายตนะถึงปฐมฌาน จะออกจากฌานสมาบัตินั้นๆก่อน แล้วจึงพิจารณาสังขารธรรม คือขันธ์ 5 หรือองค์ฌานเป็นต้นที่มีในฌานสมาบัตินั้นๆทำนองเดียวกับสมาบัติสูงสุดอย่างหลังนี้ก็ได้ แต่เท่าที่ยกหลักฐานข้างต้นมาแสดงก็เพื่อให้เห็นข้อพิเศษว่า ในฌานสมาบัติเหล่านั้นสามารถเจริญวิปัสสนาภายในโดยยังไม่ออกมาก่อนก็ได้ และจะบรรลุอรหันต์โดยใช้ฌานระดับไหนก็ได้ แต่สมาบัติสูงสุดสองอย่างคือ เนวสัญญายตนะ และ สัญญาเวทยิตนิโรธ (นิโรธสมาบัติ) ต้องออกมาก่อน จึงเจริญวิปัสสนาได้

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ หน้า 326

เพียงแต่ไม่ใช่ เมื่ออยู่ในฌานแล้ว ตั้งมั่นอยู่ในฌาน หลงใหลความสุข สงบ ที่ได้จากฌาน จนไม่นำจิตไปพิจารณาเพื่อไถ่ถอนกิเลส ให้สิ่งเศร้าหมองจางคลายไปทีละน้อย ๆ เพื่อให้สุข สงบ ในชีวิตปกติ

นอกจากนี้ การฝึกกรรมฐานตามแนวอานาปานสติ 16 ขั้น ซึ่งรวมทั้งการฝึกสมาธิอันเป็นสมถะ และการใช้ปัญญาอันเป็นวิปัสสนา จะช่วยให้รู้จักเวทนาต่างๆได้มากขึ้นเรื่อยๆ (เพราะมีการนำเวทนาทั้งที่เป็น เวทนาภายใน หรือ เวทนาที่เกิดกับตน และ เวทนาภายนอก หรือเวทนาที่เกิดขึ้นของผู้อื่น มาพิจารณาเพื่อให้รู้จัก เห็นคุณ โทษ และหาทางออกในขณะสติพิจารณาตามฐานเวทนา ฐานจิต และฐานธรรม) หากมีการกำหนดสติมีสัมปชัญญะในชีวิตประจำวันประกอบด้วย เมื่อเผชิญเวทนาเฉพาะหน้าในเวลาปกติ จิตจะไว พอที่จะรู้ได้ทัน จึงรู้ทันเวทนา และดับได้ ก่อนที่จะปรุงแต่งจนเป็นกิเลสต่อไป และหากได้นำเวทนาที่เพิ่งดับไปมาพิจารณาหาเหตุผล เพื่อหาทางสลัดออก ก็จะค่อยๆลดทอนกิเลสลงไปด้วย

หากสมาธิไม่สำคัญ พระพุทธองค์คงไม่ตรัสว่า เมื่ออานาปานสติสมบูรณ์ สติปัฏฐานก็สมบูรณ์ (พอเหมาะได้) เมื่อสติปัฏฐานสมบูรณ์ โพชฌงค์ 7 จึงจะพอเหมาะได้ เมื่อโพชฌงค์ 7 สมบูรณ์ สัมมาญาณะ และสัมมาวิมุตติ จึงจะพอเหมาะได้หรอกค่ะ

สมาธิจึงเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา เราชาวพุทธทุกคนควรฝึก และควรนำจิตเป็นสมาธิไปพิจารณาธรรมต่างๆ เพื่อลดทอนอกุศลธรรม จนถึงการพ้นไป

ประเด็นการฝึกสมาธิเป็นเรื่องของผู้ออกบวชแล้วเท่านั้น ฆราวาสไม่ควรฝึก

ในพระสูตรที่ชื่อ โคทัตตสูตร ท่านพระโคทัตตะซึ่งอยู่ที่อัมพาฏกวัน เขตเมืองมัจฉิกาสัณฑ์ ได้สนทนาธรรมกับจิตตคหบดี ซึงเป็นอุบาสกผู้เป็นยอกธรรมกถึก ท่านถามจิตตคหบดีว่า ธรรมเล่านี้ต่างกันอย่างไร (อัปปนาเจโตวิมุตติ, อกิญจัญญาเจโตวิมุตติ, สุญญตาเจโตวิมุตติ และอนิมิตตาเจโตวิมุตติ) เมื่อจิตตคหบดีตอบหมดทุกข้อแล้ว ท่านโคทัตตะถึงกับออกปากว่า

คหบดี เป็นลาภของท่านแล้ว ท่านได้ดีแล้วที่ปัญญาจักษุของท่านหยั่งลงในพระพุทธพจน์ที่ลึกซึ้ง

และจากพระสูตรในสังยุตตนิกายชื่อ อเจลกัสสปสูตร ในพระสูตรมีเนื้อหาว่า

เมื่ออเจลกัสสปะซึ่งเป็นสหายเก่าของจิตตคหบดีเดินทางไปถึงเมืองมัจฉิกาสัณฑ์ จิตตคหบดีได้ไปเข้าพบ และสนทนาด้วย อเจลกัสสปะได้ถามจิตตคหบดีว่า

คหบดี ท่านเข้าถึงความเป็นอุบาสกมานานเท่าไรแล้ว

"ท่านผู้เจริญ ผมเข้าถึงความเป็นอุบาสกได้ประมาณ 30 ปีแล้ว"

คหบดี ตลอดเวลาประมาณ 30 ปีนี้ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ อันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ เป็นธรรมเครื่องอยู่ผาสุกที่ท่านบรรลุแล้วมีอยู่หรือ

" ท่านผู้เจริญ แม้แต่คฤหัสถ์ก็พึงมีธรรมเช่นนั้นได้ เพราะผมสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ตราบเท่าที่ต้องการ เพราะปีติจางคลายไป ..... ไม่น่าอัศจรรย์เลย ที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ผมว่า จิตตคหบดีประกอบด้วยสังโยชน์ใดพึงกลับมายังโลกนี้อีก สังโยชน์นั้นไม่มี

จากคำพูดของคหบดี แสดงว่าท่านเป็นพระอนาคามีแล้ว

และคงช่วยให้หายสงสัยนะคะ

ว่าพระพุทธองค์เคยสอนสมาธิแก่ฆราวาสหรือไม่

หมายเลขบันทึก: 417957เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2011 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

การฝึกสมาธิเป็นเรื่องที่ดี  ทำให้ใจเราสงบได้ระดับหนึ่ง ขณะที่ใจเรานิ่งเราก็จะมีเวลาคิดพิจารณาถึงเรื่องราวต่างๆ  ทำให้ปลงและวางได้ดีพอสมควร

เอาขนมมาฝากแก้หิวยามสายค่ะ 

                   

สวัสดีครับ

เป็นบันทึกที่เยี่ยมยอดครับ

ทั้งการรวบรวมเนื้อหา และการสอดแทรกความรู้สึกเชิงวิเคราะห์

ชอบมากครับ

ขอบพระคุณสำหรับบันทึกครับ

สวัสดีค่ะคุณครูกุ่ย

ขนมหวานกับน้ำชายามบ่าย เข้ากันดีนะคะ

ขอบคุณค่ะที่แวะมา

สวัสดีค่ะพี่ตุ๊กตา

เพิ่งเคยได้ยินสองความคิดนี้ค่ะ....แปลกดี ไม่คิดว่าเรื่องแบบนี้ก็มีคนถกเถียงกันด้วย

ขอบคุณที่ช่วยเพิ่มรอยหยักในสมองอันน้อยนิดนะคะ ^^

ส่งดอกไม้เล็กๆ ดอกหญ้าดุสิตามาฝากค่ะ

 

พี่ณัฐรดา ที่รัก

  • วันนี้  ✿อุ้มบุญ✿ มารับพร ในวันดีดี นี้  ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังค้นหาคำตอบ  ด้วยตัวเอง  ถือเป็นทางลัด ในการค้นหา
  • บทต่อไปสำหรับตัวเอง คือการฝึก สำหรับปีนี้ ที่ตั้งเป้าสำหรับตัวเองค่ะ
  • อ่านไปด้วยความระมัดระวัง  เพื่อทำความเข้าใจ ให้ลึกซึ้ง
  • ขอบพระคุณยิ่งนะคะสำหรับพรประเสริฐในวันดีนี้
  • สำหรับผู้บันทึก แบ่งปันให้ ณ ที่นี่ ย่อมเป็นที่รัก....

 

"ขอจงมีความสุขทุกวัน  คืน  ชื่นฉ่ำใจ"  

ขอ.......   อาราธนา        คุณพระ        ทั่วหล้า        

จง......มาบันดาลดล       พ้นทุกข์       ลำเค็ญ

มี......แต่ความผ่องแผ้ว   สดใส          ให้เห็น     

ความสุข..... สงบเย็น     นิ่งได้           ในใจ

ทุก.....เช้าวันใหม่          พานพบ       สิ่งดีดี     

วัน.....แจ่มแต้มสี           สันสด          ส่องไสว

คืน....ทวนทบ สิ่งค้าง     สะสาง         สืบไป  

ชื่นฉ่ำใจ.......   สิ่งหวัง   ดั่งปณิธาน......

 

✿อุ้มบุญ✿

 

สมาธิ ไม่ใช่ การเพ่งข่ม แต่เป็นอารมณ์เบาๆ สบายๆ ยิ่งสบายยิ่งมีพลัง ยิ่งเบายิ่งเบิกบาน ควรแก่การนำไปใช้การพิจารณาการทำงานต่างๆ ฝึกมาอย่างนี้ ทำของง่ายให้เป็นของง่ายๆคะ

สวัสดีค่ะคุณทิมดาบ

ขอบคุณที่แวะมานะคะ

สวัสดีปีใหม่ด้วยค่ะ

ไม่คิดว่าจะมีชาวพุทธเข้าใจอย่างนั้น...

คงเป็นลางบอกเหตุ....ดังนั้น พึงเร่งทำความเพียรเถิด

สวัสดีค่ะ

  • อ่านด้วยความตั้งใจ ที่จะพยายามเข้าใจ
  • และก็เข้าใจในเนื้อหาของบันทึกนี้ค่ะ
  • การฝึกสมาธิ เป็นเรื่อง ที่ทุกคนควรฝึก
  • ที่โรงเรียนครูอิง ตอนเช้าก่อนเริ่มเรียนวิชาแรก ให้นักเรียนนั่งสมาธิสิบนาทีค่ะ
  • ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่ก็พยายามให้เขาได้ฝึก ได้รู้จักค่ะ
  • ขอบพระคุณข้อมูลที่นำมาแบ่งปันนะคะ
  • ขอให้มีความสุขเสมอ ๆ นะคะ

เห็นด้วยกับการฝึกสมาธิ สำหรับทุกคนทุกเภทและทุกวัย แต่ควรเลือกวิธีการฝึกสมาธิให้เหมาะกับแต่ละคน แต่ละเภท แต่ละวัย เพราะถ้าหากวิธีการไม่ถูกต้อง และสอดคล้องกับจริตของผู้จะฝึก ความคั้งใจดีอาจทำให้เกิดผลเสียได้ แล้วจะพลอยทำให้เกิดไขว้เขว จากที่เกิดแนวคิดออกมาเป็นสองแบบนั้น ผมมองว่า

1.ผู้ที่มองเขาไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ อาจจะนับถือศาสนาอื่นไม่ว่ากัน

2.ผู้ที่มองเขาอาจจะได้รับการฝึกที่ไม่ตรงกับจริตของตนจนทำให้เกิดอคติขึ้น

นี่แหละครับศาสนาพุทธ เราจะรู้ได้ก็ด้วยปฏิบัติเองครับ

สมาธิมีอยู่แล้วในตัวคนโดยปกติ ไม่ว่าจะเป็นการยืน นั่ง นอน ไม่ใช่การนั่งสมาธิหลับตาอย่างเดียวนะจ๊้ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท