AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

ชาติ ชาตินิยม พหุนิยมและพหุวัฒนธรรมนิยม(3/3)


การตกอยู่ภายใต้กรอบนโยบายการผนวกรวม (assimilation) อันเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างรัฐ-ชาติ ซึ่งในเนื้อแท้ของกระบวนการผนวกรวมนี้ ได้ทำลาย กีดกัน บังคับวัฒนธรรมกลุ่มย่อยลงไปโดยตลอด.....การศึกษาแบบพหุวัฒนธรรม คือ การศึกษาซึ่งให้ค่าแก่ความเป็นพหุนิยมทางวัฒนธรรม.....แนวคิดในด้านความเป็นพหุนี้ ก็คือแนวคิดที่มองในเรื่องความหลากหลาย ทั้งกลุ่มคน และวัฒนธรรม นั้นหมายความว่า ความหลากหลายทางสังคมของชนชั้น อาชีพ ความคิด อุดมคติ วิถีชีวิตที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของช่วงการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความหลากหลายต่าง ๆ ข้างต้นเกิดขึ้นอย่างเด่นชัด และมีความชัดเจนเด่นชัดมากที่สุดในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516

ความเป็นพลเมืองและสิทธิของชนกลุ่มน้อย

ในงานของ T.H. Marshall (1950) เรื่อง Citizenship and Social Class ได้พยายามชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของความเป็นพลเมือง ตามความสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางชนชั้น ที่เกิดขึ้นในช่วงประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ของสังคม

โดยที่ Marshall ถือว่าส่วนประกอบของการเป็นพลเมืองของรัฐ-ชาติใดรัฐ-ชาติหนี่ง ก็คือ สิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิการเมือง และสิทธิทางสังคม และแต่ละสิทธิต่างก็ครอบคลุมถึงในด้านเฉพาะของสิทธินั้น ๆ กล่าวคือ

สิทธิด้านความเป็นพลเมือง ก็คือ การมีเสรีภาพในชีวิต ทรัพย์สิน การพูด การคิด และนับถือศาสนา สิทธิในด้านกระบวนการยุติธรรม การได้สัญชาติ เป็นต้นโดยมีสถาบันสมัยใหม่เป็นผู้ดูแล สิทธิประเภทนี้ก่อเกิดขึ้นในยุโรปและอเมริกามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18

สิทธิทางการเมือง คือ การมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองซึ่งมีมาก่อน (ในบางประเทศได้ขยายสิทธิทางการเมืองนี้สู่กลุ่มผู้บรรลุนิติภาวะทุกคน) และ

สุดท้ายสิทธิทางสังคม ได้แก่ การได้รับการศึกษาอบรม การมีสุขภาวะที่ดีหรือได้รับสวัสดิการที่ดีและเท่าเทียม

สิทธิทั้งสองประการหลังนี้ มีเป็นประเด็นเกี่ยวกับสิทธิที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 20 เพราะเป็นไปตามสถานการณ์โลกาภิวัตน์และสภาพการพัฒนาของทุนนิยมที่ก่อนให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ

รวมทั้งการตกอยู่ภายใต้กรอบนโยบายการผนวกรวม (assimilation) อันเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างรัฐ-ชาติ ซึ่งในเนื้อแท้ของกระบวนการผนวกรวมนี้ ได้ทำลาย กีดกัน บังคับวัฒนธรรมกลุ่มย่อยลงไปโดยตลอด ซึ่งการเสนอแนวคิดเช่นนี้ของ Marshall ได้มีผู้นำไปพัฒนาต่อในแนวทางแก้ไขปัญหา คือ นักปราชญ์ชาวแคนาดา Will Kymlicka (1998) ที่ได้มีงานเขียนที่ทั้งสนับสนุนและโต้แย้งเป็นจำนวนมาก

โดยที่ Kymlicka แบ่งปัญหาคนกลุ่มน้อยหรือพหุวัฒนธรรม (Multiculturalism-อันเป็นแนวคิดที่มองถึงความหลากหลายด้านวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์) ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ  

1.      Multinational คือ ประเทศที่ประกอบด้วยหลายเชื้อชาติมาตั้งแต่ต้น ซึ่งได้แก่ รัฐ-ชาติสมัยใหม่เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่เรียกว่า new world คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรีเลีย นิวซีแลนด์  

2.      Polyethnic คือ รัฐที่มีคนต่างเชื้อชาติอพยพเข้ามาใหม่เป็นจำนวนมาก จนมีฐานะเป็นคนกลุ่มน้อยขึ้นมา เช่น สหรัฐอเมริกามีคนเชื้อชายเม็กซิโก สเปน อพยพเข้าอาศัยอยู่ในประเทศในรุ่นหลัง ในประเทศเยอรมันมีกลุ่มชายตุรกี ประเทศอังกฤษมีอาณานิคมเดิม เช่น อินเดียอพยพเจ้ามามาก เป็นต้น

                Kymlicka เสนอว่าลักษณะทั้งสองนี้ได้สร้างปัญหาความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติ (racial conflict) และการเหยียดผิว (apartheid) ในรูปแบบต่าง ๆ ในส่วนของแรงงานอพยพใหม่ทำให้เกิดลัทธิชาตินิยมใหม่ในหลาย ๆ ประเทศ เกิดความไม่เท่าเทียมกัน การเหยียดผิว การใช้ความรุนแรงที่ระบบยุติธรรมให้ท้าย เช่น ในสหรัฐอเมริกาหรือเยอรมัน (ทั้งในสมัยอดีต ในกรณีการเข้ายึดครองแผ่นดินของกลุ่มผู้อพยพอเมริกาจากกลุ่มชาวอินเดียนแดงซึ่งเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินมาตั้งแต่ต้น และเยอรมันในยุคนาซีที่ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ชาวยิวด้วยสาเหตุการกล่าวอ้างว่ายิวมีส่วนทำให้เยอรมันแพ้สงครามและยิวเป็นผู้กุมบังเหียนเศรษฐกิจของประเทศไว้เกือบทั้งหมด)

ดังนั้นในการแก้ไข Kymlicka เสนอให้ใช้สิทธิของกลุ่ม ออกเป็น 3 แบบคือ 

  1. สิทธิในการปกครองตนเองในระดับต่าง ๆ 
  2. Polyethnic rights อันเกิดจากสหภาพแรงงานอพยสมัยใหม่ Kymlicka ต้องการให้เคารพสิทธิทางวัฒนธรรม ให้พวกเขาเกิดความภาคภูมใจ เพื่อให้เกิดการเข้าร่วมและมีโอกาสได้รับความสำเร็จทางเศรษฐกิจ การเมือง ในสังคมใหญ่ (dominated society) และสุดท้ายให้กลายเป็นสิทธิถาวรเพื่อจะนำพาไปสู่การบูรณาการประสานรวม (integration) เข้าสู่สังคมใหญ่ในที่สุด
  3. สิทธิการมีตัวแทนพิเศษ โดยใช้เหตุผลเดียวกับที่จะเสนอว่า ผู้หญิงควรมีตัวแทนเพิ่มขึ้นในกลไกต่างๆของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมเพราะผู้หญิงถูก underrepresented มาโดยตลอด และเช่นเดียวกัน Kymlicka เป็นนักคิดสายชุมชนนิยมที่เห็นว่าปัจเจกไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ถ้าไม่ผ่านบริบททางวัฒนธรรมมนุษย์ดั้งเดิมของตนเอง และให้ความสำคัญต่อแนวคิดพหุนิยมวัฒนธรรมเป็นที่ตั้ง 

 

พหุวัฒนธรรม (Multiculturalism)

สืบเนื่องจากความหลากหลายในความเป็นพลเมืองก็คือความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมักเกี่ยวข้องกับกระบวนการผสมผสานทางวัฒนธรรม (assimilation) ที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการสร้างชาติ โดยมีความพยายามที่จะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันในวัฒนธรรมเดียว เช่นในประเทศไทยมีความพยายามใช้การสร้างความเป็นไทย (thai-ification) มาโดยตลอด หลังจากมีความล้มเหลวในกระบวนการสร้างชาติให้มีความเป็นหนึ่งเดียวในอดีตจนกลับกลายเป็นการสร้างข้อขัดแย้งที่รุนแรงจนเกิดเป็นปัญหาตาม ก็ต้องหันมายอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น เหตุการณ์ในภาคใต้ ที่มีความขัดแย้งอย่างชัดเจนโดยความพยายามของกลุ่มผู้ก่อการที่ผูกโยงให้เป็นประเด็นด้านความไม่เท่าเทียมทางด้านการเมืองการปกครอง และการเรียกร้องถึงความเป็นเอกภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านศาสนาได้ถูกนำมาเป็นประเด็นที่อ้างได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะ กลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มย่อมมีระบบสังคม การปกครอง ความเชื่อศาสนา และภาษาของตน และเป็นการยากที่จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ ละทิ้งความเป็นตัวตนเดิมของตนมารับเอาซึ่งวัฒนธรรมของผู้มีอำนาจผ่านกระบวนการผสมกลมกลืนนี้ หรือในกาณีภาคเหนือการที่รัฐพยายามเข้าไปส่งเสริมการเรียนรู้หนังสือไทยและการมีโครงการธรรมทายาทเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ก็ล้วนแต่มีวัตถุประสงค์ในการผนึกและต้องการมีอิทธิพลที่เหนือว่าในฐานะเป็นผู้ปกครอง (Dominator)

ดังนั้นในการศึกษาแบบพหุวัฒนธรรม คือ การศึกษาซึ่งให้ค่าแก่ความเป็นพหุนิยมทางวัฒนธรรม และทัศนะที่ว่า โรงเรียนควรจะเป็นหน่วยหลอมละลายความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้นได้รับการปฏิเสธออกไป และเสนอว่า ควรมีความอดทนอดกลั้นต่อพหุนิยมทางวัฒนธรรม และให้ตระหนักว่าความหลายหลายทางวัฒนธรรมนั้นคือความเป็นจริงในสังคมอเมริกัน (ในกรณีก็สามารถนำมาใช้ได้กับสังคมไทยเช่นเดียวกัน-ผู้เขียน) และการศึกษาแบบนี้ก็ยิ่งย้ำว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมนี้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าซึ่งควรจะรักษาไว้ และขยายกว้างออกไป

การรับรองพหุนิยมทางวัฒนธรรมก็คือการรับรองหลักเกณฑ์ว่า ไม่มีต้นแบบแบบอเมริกันเพียงแบบเดียว พหุนิยมทางวัฒนธรรมเป็นมากกว่าการปรับตัวชั่วคราว เพื่อที่จะทำให้ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และเชื้อชาติสงบลง มันเป็นแนวคิดที่มุ่งหมายจะไปสู่ความรู้สึกตระหนักถึงการดำรงอยู่ และความเป็นหนึ่งเดียวกันของสังคมทั้งหมด อันมีรากฐานอยู่บนความเข้มแข็งของทุก ๆ ส่วน จากแนวคิดเช่นนี้ ได้ทำให้เกิดการปรับนโยบายครั้งใหญ่จาก การผนวกรวม (assimilation) เป็น การประสานรวม (integration) ซึ่งถูกนำไปใช้ทั้งในอเมริกาและอังกฤษในลักษณะการยอมรับความแตกต่างภายในเอกภาพเดียวกัน

 

พหุสังคม พหุวัฒนธรรมในสังคมไทย

แนวคิดในด้านความเป็นพหุนี้ ก็คือแนวคิดที่มองในเรื่องความหลากหลาย ทั้งกลุ่มคน และวัฒนธรรม นั้นหมายความว่า ความหลากหลายทางสังคมของชนชั้น อาชีพ ความคิด อุดมคติ วิถีชีวิตที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของช่วงการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความหลากหลายต่าง ๆ ข้างต้นเกิดขึ้นอย่างเด่นชัด และมีความชัดเจนเด่นชัดมากที่สุดในช่วงหลัง 14 ตุลาคม

ช่วงเวลาการเกิดขึ้นของแนวคิดพหุนิยมในแง่มุมต่าง ๆ ของสังคมไทยในช่วงหลังนี้ สามารถสรุปได้คร่าว ๆ ดังนี้  

1.      พหุลักษณ์ (Plurality) ทางความคิด ปรากฏชัดหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา แต่ขยายวงกว้างผ่านการต่อสู้เรียกร้องขององค์ NGOs กลุ่มสิทธิ กลุ่มสตรี กลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อมในช่วงหลังราวปี 2525 เป็นต้นมา จนกระทั่งมาเกิดเป็น พหุนิยม คือ การยอมรับความต่าง การดำรงอยู่ของส่วนที่ต่าง กลับปรากฏในช่วงการปฏิรูปการเมืองในปี 2540 นี้เอง แต่ยังไม่อยู่ในรูปพหุนิยมที่เต็มตัวมากนัก คือ ระดับการรอดกลั้นหรือการให้ความเคารพต่อความแตกต่างระหว่างกันนั้นยังไม่สูงพอ มีการกระทบกระทั่งและขัดแย้งกันอยู่เสมอ

2.      พหุลักษณ์ทางด้านสังคม  ความต่างในกลุ่มคนในท้องถิ่นต่าง ๆ อาชีพ ชนชั้น เมืองต่าง ๆ เริ่มปรากฏอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ต้นสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และขยายตัวมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในภาพลักษณ์อาชีพ (อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) แต่ค่อย ๆ เกิดพหุนิยม คือ การยอมรับในความต่าง และมีความอดทนอดกลั้นต่อความต่าง กระทั่งเกิดความชื่นชมในความต่างทางวัฒนธรรมขึ้น เช่นมีการนำเสนอความแปลกใหม่ตื่นตาตื่นใจ (exoticization) ของด้านอาหาร เช่น อาหารป่า อาหารอีสาน อาหารเหนือ อาหารปักษ์ใต้ และด้านอาหารนี้ในที่สุดก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในรูปแบบการบริโภคอาหารภาคกลาง ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะของพหุวัฒนธรรมด้านอาหารเกิดขึ้น เช่นเดียวกับพหุวัฒนธรรมของอาหารนานาชาติที่เกิดจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ในยุดปัจจุบัน

3.      กระบวนการยอมรับความต่างทางชาติพันธุ์จีน-ไทย ปรากฏขึ้นในช่วงราว 2510 เป็นต้นมา ในแง่ความสำเร็จทางธุรกิจ แต่ยังมีเส้นแบ่งระหว่างความต่างที่เป็นจีน–ไทย อยู่และได้หายไปในเวลาต่อมา ประมาณปี 2525 ซึ่งมีการยอมรับและยกย่องในการเป็น role-model ในด้านการประสบความสำเร็จของกลุ่มนักธุรกิจ ชนชั้นกลาง นักวิชาชีพเชื้อสายไทย-จีน รวมทั้งการยอมรับในความเป็นลูกผสมของเหล่าบรรดานักแสดงชาย-หญิง และปัจจุบันเห็นได้จาการแต่งงานระหว่างราชนิกุลและตระกูลจิราธิวัฒน์ก็เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับความแตกต่างในด้านชาติพันธุ์อย่างชัดเจน

4.      ความต่างในรสนิยม การแต่งตัว วิถีชิวิต เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา ปัญญาชน โดยผ่านวัฒนธรรมด้านดนตรีที่มาจากตะวันตก ได้แก่ ดนตรีร็อกแอนด์โรล และการแต่งกายแบบฮิปปี้ ในทศวรรษที่ 60s และ 70s จนกระทั่งมาขยายตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่มีการใช้คำว่า lifestyle อย่างกว้างขวางในราวปี 2530 ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการยอมรับในลักษณะพหุนิยมในระดับปัจเจกบุคคลด้วย การเปิดเผยตัวของกลุ่มเกย์ เลสเบี้ยน ต่อสังคม อีกทั้งสังคมได้เปิดโอกาสและยอมรับมากกว่าอดีต นอกจากนี้ ยังมีการยอมรับในความเป็นตัวตนของวัยรุ่นที่ได้แนวคิดมาจากตะวันตก การอยู่ก่อนแต่ง การยอมรับความเท่าเทียมของสตรี ฯลฯ ก็ล้วนแต่ชัดเจนและแพร่หลายตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันก็มีระดับของการยอมรับที่มากขึ้นอีกหลายเท่าตัว

 

หนังสืออ้างอิง

ภาษาอังกฤษ

Anderson, Benedict. (1996) Imagined Communities. London: Verso.

Gellner, Ernest. (1984) Nations and Nationalism. Oxford: Basil Blackwell.

Jan Nederveen Pieterse. (2004) “Ethnicities and multiculturalism: politics of boundaries” In Stephen May, Tariq Modood, and Judith Squires. (eds.), Ethnicity, Nationalism, and Minority Rights. Cambridge: Cambridge University Press, pp.36-49.

Kedourie, Elie. (1996) Nationalism. 4th ed. Oxford: Blackwell.

Kymlicka, Will. (1998) “American Multiculturalism in the international arena.” Dissent (Fall): pp. 73-79.

 

ภาษาไทย

ธีรยุทธ บุญมี. พหุนิยม. กรุงเทพฯ: ไทเกอร์ พริ้นติ้ง, 2546.

ธีรยุทธ บุญมี. ชาตินิยมและหลังชาตินิยม. กรุงเทพฯ: สายธาร, 2546.

อมรา พงศาพิชญ์. วัฒนธรรม ศาสนาและชาติพันธุ์: วิเคราะห์สังคมไทยในแนวมานุษยวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541.

อมรา พงศาพิชญ์. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (วิธีวิทยาและบทบาทในประชาสังคม). พิมพ์ครั้งที่  3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545.

 

หมายเลขบันทึก: 56564เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2006 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เป็นบทความที่ดีมากๆ ขอบคุณค่ะ

เป็นบทความที่มีประโยชน์มากครับ ผมสนใจเรื่องการบริหารวิชาการของโรงเรียนประถมศึกษาในสังคมพหุวัฒนธรรมพอดี

ขออนุญาตใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงครับ ขอบคุณครับ

ขอบคุณมากคะ พอดีกำลังศึกษาเกี่ยวกับปรัชญาการเมือง เรื่องชุมชนนคร ในด้านพหุวัฒนธรรม อยู่พอดีทำให้เข้าใจมากขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท