aey
นางสาว สุรางค์รัตน์ พจี

อิทธิบาท 4 หนทางแห่งการเป็นผู้ประกอบการใหม่


เริ่มต้นธุรกิจ

อิทธิบาท 4 หนทางแห่งการเป็นผู้ประกอบการใหม่

ผู้ประกอบการใหม่จะเริ่มต้นธุรกิจอย่างไร?  เป็นคำถามหนึ่งที่พบอยู่เสมอในวงสนทนากับผู้เข้าร่วมอบรมโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC)  คำตอบของคำถามอาจมีหลากหลายทั้งที่เป็นตำราของผู้แต่งชาวต่างชาติและของไทยได้เสนอไว้อย่างมากมาย เช่น ท่านพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ท่านได้มอบองค์ความรู้ในการพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จไว้ในหนังสือหลายเล่ม เช่น กำลังใจ, กำลังความคิด, กุศโลบายสร้างความยิ่งใหญ่, วิธีทำงานและสร้างอนาคต และพุทธานุภาพกับจิตตานุภาพ เป็นต้น ซึ่งหนังสือเหล่านับถึงปัจจุบันก็น่ามีอายุราว 60-70 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีการนำกลับมาตีพิมพ์ซ้ำตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หนทางแห่งความสำเร็จนั้นไม่มีสูตรตายตัวแน่นอน แต่ละตำราแต่ละอาจารย์จะมีองค์ความรู้ที่ชี้แนะให้นำไปปฏิบัติที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เหมือนกันประการหนึ่งที่ผู้รู้ได้เสนอแนะให้ผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตนำไปปฏิบัติ คือ การเข้าใจและค้นพบความเป็นตัวตนที่แท้จริงของตนเอง แล้วสร้างระบบกลไกขับเคลื่อน โดยมีเป็นแรงกระตุ้นภายในเป็นพลังงานในการขับเคลื่อน พร้อมทั้งการคอยตรวจสอบผลงานและแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้  ซึ่งหากนำมาพิจารณาให้ดีจะพบว่าข้อเสนอต่างๆ ข้างต้นมีความสอดคล้องกับพุทธโอวาท เรื่อง อิทธิบาท 4

คำว่า อิทธิบาท แปลว่า หนทางที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งความสำเร็จ หมายถึง การกระทำการงานใดก็ตามหากประสงค์ความสำเร็จในสิ่งนั้น ผู้กระทำพึงปฏิบัติตนให้ครบถ้วนด้วย อิทธิบาท ที่มีองค์ประกอบรวม 4 ประการ คือ

๑. ฉันทะ หมายถึง ความพอใจรักใคร่ การกระทำใดๆ ที่เรามีใจรักเป็นพื้นฐานจะเป็นสิ่งที่เรามีความถนัดและมีความภาคภูมิใจที่ได้สร้างสรรค์สิ่งนั้นขึ้นมา ซึ่งแตกต่างจากการกระทำใดๆที่ มุ่งหวังผลกำไรเป็นพื้นฐานแต่เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่มีใจรัก ในสิ่งนั้น  ความรักความชอบในสิ่งใดจะเป็นตัวกระตุ้นให้เราเกิดความพยายามที่จะต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็คือการมีอิทธิบาทข้อที่ 2 เราจึงต้องค้นหาตัวตนของเราให้พบว่า แท้จริงแล้วเราเป็นคนเช่นใด มีความถนัดและชอบสิ่งใด ค้นหาในสิ่งที่เราเป็น เพราะหากเราค้นหาแต่สิ่งที่เราต้องการจะเป็นซึ่งมิใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา การไปถึงสิ่งที่เราต้องการนั้นจะต้องใช้พลังงานในการขับเคลื่อนค่อนข้างสูง และหากไม่ประสบความสำเร็จก็จะท้อใจและเลิกกลางคัน

๒. วิริยะ หมายถึงความขยันพากเพียรกระทำงานใดๆ โดยไม่ย่อท้อ และกระทำต่อเนื่องไม่ขาดตอนจนประสบความสำเร็จ แม้จะเผชิญปัญหาอุปสรรคต่างๆ ก็มีความพยายามที่จะเอาชนะปัญหาอุปสรรคต่างๆ อย่างอาจหาญจนกว่าจะประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวัง วิริยะ จึงเปรียบเหมือนระบบกลไกภายใน เป็นจักรเฟืองที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการกระทำอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในครั้งแรก

๓. จิตตะ หมายถึงความเอาใจใส่ ในการงานอย่างสม่ำเสมอความไม่ทอดทิ้ง มีจิตจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น หรืออาจเรียกว่ามีสมาธิในการทำงานนั้น  ซึ่งจะทำให้ผลงานที่ได้มีคุณภาพ  การกระทำครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างใจจดใจจ่อด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ทำให้การกระทำถูกบันทึกลงในจิตใต้สำนึก และแปลงกลับมาเป็นพลังงานส่งให้ระบบกลไกภายในทำงานต่อไปอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

๔. วิมังสา หมายถึงความหมั่นดูแล ตรวจสอบผลของการกระทำกับผลที่ได้  ด้วยการใช้สติปัญญาที่แหลมคมในการค้นหาประเด็นปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น และแสวงหาหนทางที่กระจ่างชัดเห็นวิธีแก้ไขปัญหาอุปสรรคดังกล่าวอย่างชัดเจน ลึกในยุทธวิธีในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคนั้น อิทธิบาท 4 นี้ จะเกิดเป็นองค์รวมภายในตัวเรา ขอเราเริ่มต้นในสิ่งที่เรารักเราชอบ การก่อร่างสร้างตัวการเริ่มต้นธุรกิจที่จะเป็นผู้ประกอบการใหม่จะบังเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตามทุกสิ่งในโลกย่อมมี 2 ด้านคู่กัน หากเปรียบอิทธิบาท 4 เป็นด้านสว่าง นิวรณ์ 5 ก็เปรียบเป็นด้านมืด ที่จะคอยมาเหมือนกับเป็นผู้เห็นอกเห็นใจเรา ดูเหมือนกับมิตรผู้อารี แต่แท้จริง นิวรณ์ 5 เป็นผู้หวังดีแต่ประสงค์ร้าย

นิวรณ์ แปลว่า เครื่องห้าม หรือ เครื่องกั้น ในที่นี้หมายถึง เครื่องขวางกั้นมิให้จิตมุ่งไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จ มันเหมือนปีศาจร้ายที่คอยจะมาก่อกวนให้จิตฟุ้งซ่าน เกิดความกลัดกลุ้ม วุ่นวาย ไม่สงบ ปีศาจร้ายในนิวรณ์ 5 นี้ประกอบไปด้วย  

1. กามฉันทะ หมายถึง ความพอใจความหลงใหลในความสุขความสบายจนตามืดมัว  ไม่เห็นแจ้ง ตามที่เป็นจริงว่าการเริ่มต้นธุรกิจต้องการความลำบากยากเย็นในเรื่องต่างๆ มากมาย เช่น หากท่านประสบปัญหาเรื่องระบบบัญชี นิวรณ์ตัวนี้ก็จะมาชี้แนะท่านว่าไม่เป็นไร ธุรกิจอื่นที่ไม่มีระบบบัญชีเขายังอยู่ได้เลย บัญชีไม่จำเป็นต้องทำหรอกยุ่งยากเปล่าเอาเวลาไปหาความสุขกินเหล้ากันดีกว่า หากท่านหลงเชื่อนิวรณ์ตัวนี้ท่านจะไม่มีระบบบัญชีที่ช่วยให้ท่านทราบถึงสถานะทางการเงินของกิจการ เปรียบอุปมาเหมือนกับกิจการไม่มีเครื่องเตือนภัย อาจทำให้ปัญหาเล็กๆ ลุกลามจนไม่สามารถแก้ไขได้ทัน

แก้ไขได้ด้วยการพิจารณาถึงความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของผู้อื่นที่ต้องมีผ่านความยากลำบากมามากเพียงไร หรือการพิจารณาถึงผู้ที่ยังมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากกว่าเรา การคิดดีทำดีของเราในวันนี้ก็ไม่ใช่เพื่อตัวเราเพียงอย่างเดียวแต่เรากำลังวางรากฐานที่ดีสำหรับครอบครัวเรา ครอบครัวของพนักงานเรา ดังเช่นปลาไซม่อนที่มีความเพียรพยายามที่จะกลับขึ้นไปวางไข่ที่ต้นน้ำ เพียงเพื่อให้เผ่าพันธุ์อยู่รอด

2. พยาบาท หมายถึง ความไม่พอใจ โกรธแค้น เกลียดชัง เป็นต้น ซึ่งทำท่านมืดมัว มองไม่เห็นความสวยงามและความดีของผู้อื่น การทำธุรกิจย่อมต้องมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นคู่ธุรกิจหรือคู่แข่ง ก็ตาม แม้กระทั่งภายในธุรกิจของเราเอง ผู้ร่วมงานหรือพนักงานของเรา ก็อาจมีความขัดแย้งกับเราได้ตลอดเวลา นิวรณ์ตนนี้จะเข้ามากระซิบที่ข้างหูว่าเรามีศักดิ์ศรี เราก็คนเก่ง เราอย่ายอมเดี๋ยวศัตรูเราจะได้ใจ เมื่อมีโอกาสเราต้องจัดการพวกเขาในทันที ความพยาบาทจะทำให้เราไม่มีเพื่อนที่จริงใจต่อกัน และส่งผลถึงบุคลิกภาพที่ไม่ดีต่อผู้พบเห็น

แก้ไขได้ด้วยการให้อภัยและมีเมตตาต่อคนรอบข้างที่มีการกระทบกระทั่ง หรือมีความเห็นที่ขัดแย้งกับเรา เราควรพิจารณาให้โอกาสกับคนรอบข้างได้กระทำตามความเห็นของเขา พร้อมทั้งให้ความร่วมมือ และให้อภัยเมื่อมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นพนักงานของเรา หรือคู่ธุรกิจของเรา

3.  ถีนมิทธะ หมายถึง ความหดหู่  ไม่ร่าเริง จิตใจไม่สดชื่นแจ่มใส ทำให้ขาดพลังในการกระทำการงานใดๆ ระบบกลไกภายในคล้ายๆกับเกิดสนิมจับแน่น เคลื่อนไหวได้ไม่ว่องไวตามที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังทำให้พลังความคิดของเราไม่มีสมรรถภาพ ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในธุรกิจของเรา นิวรณ์ตนนี้จะทำให้เราได้รับรู้แต่ด้านลบ คิดแต่ด้านลบ  และคอยพูดกับเราซ้ำๆ ว่าทำไมเรามีแต่โชคร้าย ทำไมเราไม่รวยสักที เราทำไม่ได้หรอก อย่าทำเลยไม่ประสบความสำเร็จหรอก

แก้ไขได้ด้วยการคิดเชิงบวก พูดเชิงบวก คือ คิดและพูดในสิ่งที่ดีๆ และพูดกับตนเองให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เช่น การกระทำใดๆ ก็ตาม เราต้องบอกตัวเอง ว่าเราทำได้ และการแสวงหากัลยาณมิตรที่ช่วยให้ท่านสามารถระบายความไม่สบายใจออกมาให้เขาได้รับรู้

4.  อุทธัจจกุกกุจจะ หมายถึง ความฟุ้งซ่าน รำคาญ กระสับกระส่าย จิตใจไม่อยู่กับร่องกับรอย จิตไม่นิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เกิดความสับสนระบบกลไกภายในไม่ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เกิดความขัดแย้งภายใน คิดทำโครงการธุรกิจก็ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำอะไรดี มีแต่ความฟุ้งซ่านคิดโครงการใหญ่ที่เกิดกำลัง ความเป็นคนขี้รำคาญทำให้ไม่ใส่ใจในรายละเอียดทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย

แก้ไขได้ด้วยการฝึกเจริญสมาธิ ทำในสิ่งที่ตนรักและชอบก็จะเกิดความสุขในการทำงาน คิดอะไรก็ขอให้อยู่กับความจริงในปัจจุบัน มีความประมาณตนว่ามีกำลังที่จะลงทุนทำธุรกิจได้เท่าไร โดยอาจใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกัน  ก็จะช่วยลดความคิดฟุ้งซ่าน และอาการขี้รำคาญได้บ้าง

 5. วิจิกิจฉา หมายถึง ความลังเลสงสัย อาจเป็นเพราะไม่รู้ หรือ รู้ไม่จริง ทำให้ไม่สามารถดำเนินการงานใดๆ เพราะยังลังเลสงสัยว่าทำถูกแล้วแน่หรือ? ดีแล้วแน่หรือ? ถึงแม้บางครั้งได้ลงมือกระทำก็กระทำได้ไม่เต็มกำลัง โอกาสที่จะไม่ประสบความสำเร็จหรือมีข้อผิดพลาดสูง  อาการดังกล่าวเกิดจากความไม่รู้ ขาดความรอบรู้ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่ศรัทธาในความรู้แห่งตน เมื่อเราวางแผนหรือคิดจะทำการใดๆ นิวรณ์ตนนี้จะมาเตือนเราเหมือนกับเพื่อนที่แสนดีอยู่เสมอ และพยายามหาเหตุผลประกอบให้เราเกิดความลังเล ไม่แน่ใจ สุดท้ายเราก็เชื่อและล้มเลิกแผนงานต่างๆ

แก้ไขได้ด้วยการเลือกทำในสิ่งที่เรารู้ มีความชำนาญ และมีความรอบรู้ในเรื่องนั้นๆ และสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง มีความศรัทธานับถือตนเอง ธุรกิจที่เราชอบ เรามีความชำนาญและวางแผนมาแล้วอย่างรอบคอบจะทำให้เราประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน และถ้าหากเกิดความผิดพลาด เราต้องพร้อมให้อภัยตนเอง คิดหาเหตุที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดและหาทางแก้ไข สำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มธุรกิจใหม่ที่ยังไม่มีความชำนาญ สามารถทำได้ด้วยการเรียนรู้ในธุรกิจนั้นก่อน แล้วดูว่าเป็นธุรกิจที่เราชอบไหม พร้อมทั้งหาผู้รอบรู้ในธุรกิจนั้นมาเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะนำ ซึ่งคงต้องเหนื่อยกว่ากรณีแรกอย่างแน่นอน

บทสรุป การเป็นผู้ประกอบการใหม่อาจไม่ใช่เรื่องยากหรือเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่กระทำได้ แท้จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็สามารถกระทำได้ พุทธโอวาทเรื่อง อิทธิบาท 4 ถือว่าเป็นฐานทางเดินที่มั่นคงและเปี่ยมด้วยพลังแห่งความสำเร็จ ในบทความถัดไปจะขอยกกรณีตัวอย่างของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมฝึกอบรมบ่มเพาะโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่(NEC) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ดำเนินการในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2

หมายเลขบันทึก: 148175เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2007 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
km เอาธรรมะ มาใช้ในธุรกิจ ดีมากเลยค่ะ
ไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการเท่านั้น สามารถนำไปใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพเลยค่ะ อ่านแล้วดีมากๆ เลย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท