SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

บันทึกเส้นทาง ตาม‘ลูกพ่อไทย’ กลับเข้าทะเบียนราษฎร (ตอน 1)-ม.7 วรรคสอง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551


ม.7 วรรคสอง พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551- คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีการและค่าธรรมเนียมคำขอพิสูจน์ความเป็นบิดาซึ่งมีสัญชาติไทยของผู้เกิดเพื่อการได้สัญชาติไทยโดยการเกิด พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

บันทึกเส้นทาง ตาม‘ลูกพ่อไทย’ กลับเข้าทะเบียนราษฎร (ตอน 1)

ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT)[i]

7 สิงหาคม 2552 เพิ่มเติม 8 มกราคม 2553

 

มันเป็นระยะทางร่วมหนึ่งชั่วโมงจากอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เรากำลังมุ่งหน้าไปยังบ้านบะไห อำเภอโขงเจียม เพื่อพบกับประสิทธิ์ จำปาขาว หรือชื่อที่เราคุ้นเคยคือ “น้อย บะไห”

 

ข้อมูลเบื้องต้นที่เรามีก็คือ น้อยเกิดจากพ่อ(ที่มีสัญชาติ)ไทยและแม่(สัญชาติ)ลาว ที่บ้านขอนแก่น แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว แต่เอกสารแสดงตนตามกฎหมายที่น้อยมีอยู่เพียงฉบับเดียว คือ ท.ร.38/1 (แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ) ความหมายของมันก็คือ น้อยเป็นคนลาว เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ได้รับการสำรวจบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งทำให้น้อยมีสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 1 ปี (ตามมติคณะรัฐมนตรี 27 เมษายน 2547 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ลว 28 มิถุนายน 2547) แต่น้อยไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงาน  น้อยจึงไม่มีสิทธิทำงานในประเทศไทย และการที่น้อยไม่ได้ขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานในปี 2547 และไม่ไปดำเนินการแสดงตัวเพื่อขออนุญาตทำงานในปี 2548 (มติคณะรัฐมนตรี 19 กรกฎาคม 2548) ทำให้สิทธิอาศัยชั่วคราวของน้อยสิ้นสุดลง

เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคมและมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีนโยบายเปิดให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติคือพม่า ลาวและกัมพูชามาขึ้นทะเบียนต่ออายุบัตรอนุญาตทำงาน (มติคณะรัฐมนตรี 18 ธันวาคม 2550) และเปิดให้แรงงานที่เคยมีบัตรอนุญาตทำงาน แต่ไม่ได้ต่ออายุ หรือไม่เคยมีบัตรอนุญาตมาก่อน สามารถมาขึ้นทะเบียนขอรับบัตรอนุญาตทำงานได้ ภายในเดือนกรกฎาคม (มติคณะรัฐมนตรี 26 พฤษภาคม 2552) โดยแรงงานทุกกลุ่มจะมีสิทธิชั่วคราวที่จะทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย 28 กุมภาพันธ์ 2553 (มติคณะรัฐมนตรี 18 ธันวาคม 2550) ..น้อยกำลังสับสนว่า เขาควรไปขึ้นทะเบียนแรงงานหรือไม่

เพราะหากไม่ไป? เขาอาจตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกจับด้วยข้อสันนิษฐานแห่งกฎหมายที่ว่าเขาเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

แต่ถ้าเขาไป? เขาก็จะยังคงสถานะเป็น “แรงงานสัญชาติลาว” ทั้งๆ ที่เขาเป็นลูกจากพ่อไทย (และแม่ลาว) และนี่คือเหตุผลที่ทำให้เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ มาหาน้อยที่หมู่บ้าน

 

คนไทย-คนลาวคนไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ [ii] ริมฝั่งแม่น้ำโขง

ตามเอกสารทะเบียนราษฎรของประเทศไทย พ่อของน้อยชื่อไสว จำปาขาว เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย (เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 3)

ไสวก็เหมือนกันคนไทยหรือคนลาวริมน้ำโขง ที่แม่น้ำไม่ได้มีความหมายในเชิงเขตพรมแดน เท่ากับสายน้ำของวิถีชีวิต ข้ามไป-มาระหว่าง “ฝั่งไทย” กับ “ฝั่งลาว” หลายคนมีครอบครัวหรือญาติอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ การอพยพโยกย้ายการทำกินหรือการข้ามฝั่งโขงเพื่อไปเยี่ยมญาติ ไปอาศัยอยู่กับญาติ เป็นวิถีชีวิตปกติของคนริมฝั่งโขง ไสวข้ามไปฝั่งลาวเมื่อหลายสิบปีก่อนพร้อมกับภรรยาคนแรก, ลูกชายคือบุญยัง และลูกสาวคือสมใจ ต่อมาภรรยาคนแรกเสียชีวิต ไสวมีภรรยาคนที่สอง คือ สายสมร ซึ่งเป็นคนลาว จนมีลูกสองคนคือน้อยและพี่สาว นางวิชุดา

ครอบครัวจำปาขาว ก็เหมือนครอบครัวคนไทย คนลาวทั่วไป วิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำโขง

ในหมู่บ้านที่ห่างไกลศูนย์กลางความเจริญ การแจ้งเกิดเด็กหรือการมีชื่อในทะเบียนบ้านไม่ใช่สาระของการดำรงชีวิตในแต่ละวัน ลูกทุกคนของพ่อไสว ไม่ว่าจะเป็นบุญยังและสมใจ-พี่ชายและพี่สาวคนละแม่ วิชุดาและน้อย จึงกลายเป็นคนที่ไม่มีเอกสารใดๆ เพื่อแสดงตน (undocumented person) หรือเป็นคนไร้รัฐ (stateless person) แต่เป็นไปได้ว่าบุญยังและสมใจมีสัญชาติไทยตามไสวตามหลักสืบสายโลหิตจากทางพ่อ (มาตรา 7 พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 และตามมาตรา 7 วรรคสอง ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 รวมถึงหากมีความชัดเจนว่าภรรยาคนแรกของไสวเป็นคนไทย บุญยังและสมใจจะได้สัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากทางแม่ด้วย) ส่วนวิชุดาและน้อยจะมีสัญชาติลาวตามแม่ (มาตรา 11 กฎหมายสัญชาติลาว)

ช่วงปี 2517-19 ที่เกิดการปฏิวัติในประเทศลาว คนจำนวนหนึ่งอพยพโยกย้ายข้ามน้ำโขงมายังฝั่งไทย หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็น “คนไทย” รัฐบาลไทยมีนโยบายสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติให้คนกลุ่มนี้ พวกเขาจะได้รับบัตรแสดงตนสีฟ้าขอบน้ำเงิน และระบุว่าเป็น “ลาวอพยพ” สถานะของคนกลุ่มนี้ตามกฎหมายไทยก็คือ คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้การมีสัญชาติลาวหรือไม่ ยังคงเป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศลาว แต่เขาไม่ไร้รัฐแล้ว เพราะมีสถานะเป็น “ราษฎรไทย” ด้วย อย่างไรก็ดี-แน่นอนว่ามีคนจำนวนหนึ่งตกหล่นการสำรวจดังกล่าว ช่วงเวลาดังกล่าวครอบครัวจำปาขาว ยังคงอยู่ที่ลาว

ประมาณปี 2536 ไสวพาครอบครัวอพยพกลับมายังประเทศไทย ปักหลักที่บ้านบะไห ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม ด้วยเพราะที่นี่ ไสวมีน้องชายหนึ่งคนคือ ฉลอง จำปาขาว

ครอบครัวจำปาขาวเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านเกิดเมืองพ่อ ด้วยการที่ไสวพาน้อยไปยื่นคำร้องต่ออำเภอโขงเจียมหลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้น้อยได้รับการยอมรับจากรัฐไทยว่าน้อยเป็น “คนไทย”  พูดเป็นภาพให้เข้าใจง่ายขึ้น สิ่งที่ไสวต้องการก็คือ น้อยจะต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนคนไทย ชื่อของประสิทธิ์ จำปาขาว จะต้องได้รับการบันทึกในทะเบียนบ้านประเภทคนไทย (ท.ร.14) แต่ได้รับคำตอบเดียวที่พ่อ-ลูกคู่นี้ได้รับก็คือ “น้อยไม่สามารถมีสัญชาติไทยได้” น้อยจึงยังคงเป็นคนไร้รัฐและไร้สัญชาติ

ปี 2538 ไสวกับสายสมร มีลูกด้วยกันอีกคนคือ ด.ช.สมคิด แม้ไสวจะแจ้งเกิดสมคิดช้ากว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่สมคิดก็ได้รับเอกสารยืนยันความเป็นคนไทย คือสูติบัตรประเภท ท.ร.2, ได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 2 และได้เพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร

ปี 2547  รัฐบาลไทยได้เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาวและกัมพูชา มาขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตทำงาน โดยมีกระบวนการที่แตกต่างไปจากที่เคยเป็นมาคือ นโยบายกำหนดให้แรงงานต้องมารับการสำรวจและบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลเข้าในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรก่อน โดยจะมีสิทธิอาศัยชั่วคราวในเมืองไทยได้ 1 ปี เอกสารท.ร.38/1 ที่ได้รับ จะทำให้คนไร้รัฐสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกจับ

ชาวบ้านที่บ้านบะไหเล่าว่า เวลานั้นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประกาศให้คนที่ไม่มีเอกสารอะไรเลย (คนไร้รัฐ) ไปรับการสำรวจและรับท.ร.38/1  หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “บัตรใบตองกุง

น้อยก็รู้ข่าวนี้ และอาจด้วยเพราะเบื่อหน่ายกับความกลัวถูกจับ การไร้ตัวตนในสายตาของกฎหมาย น้อย (ถูกผลักให้ต้อง) เลือกที่จะถือท.ร.38/1 กลายเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พร้อมๆ กับชาวบ้านหลายคนของบ้านบะไห พูดได้ว่า ปรากฎการณ์เดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ บริเวณชายแดน พื้นที่ห่างไกลความเจริญ หรือในอีกหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่มีคนไร้รัฐปรากฏตัวอยู่ (ปี 2547 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติระบุว่ามีคนไร้รัฐไร้สัญชาติหรือบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลจำนวนประมาณ 2 ล้านคน)

แต่ถึงแม้น้อยจะถือ ใบตองกุง แต่ไสวก็ไม่เคยลดละความพยายาม แต่ดูเหมือนไสวทำไม่สำเร็จ แม้โดยหลักสืบสายโลหิตน้อยจะเป็นลูกของเขา แต่ความเป็นคนไทยของเขายังไม่ถูกถ่ายทอดไปสู่ลูกชายคนโต จนกระทั่งวันสุดท้ายที่เขาเสียชีวิตและจากโลกนี้ไปในปี 2549

 

น้องชาย-สัญชาติไทย แต่พี่ชาย-ไร้สัญชาติ

มันเป็นเรื่องยากสำหรับน้อยที่จะทำใจให้ยอมรับว่าเขาเป็นคนไร้สัญชาติ ทั้งที่น้องชายซึ่งเกิดจากพ่อและแม่เดียวกันกับเขา มีสัญชาติไทย ความแตกต่างระหว่างน้อยกับสมคิดน้องชาย มีเพียงเรื่องเดียวคือเขาเกิดที่ประเทศลาว ส่วนสมคิดนั้นเกิดที่ประเทศไทย

ตามมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 กำหนดลูกจะมีสัญชาติไทยตามหลักสายโลหิตจากพ่อหรือแม่ อย่างไรก็ดีมีการตีความว่า การได้สัญชาติไทยตามพ่อนั้น จะต้องเป็น ‘พ่อที่ชอบด้วยกฎหมาย’ กล่าวคือ พ่อและแม่ต้องจดทะเบียนสมรสกันก่อนที่ลูกจะเกิด แต่ใครบ้าง ที่จะรู้และเข้าใจถึงกฎหมายข้อนี้-โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านทั่วไป (การตีความดังกล่าวเกิดขึ้นโดยกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อ้างตนว่าเป็นพ่อตามข้อเท็จจริง (de facto) ของเด็ก ศาลจึงตีความว่าบิดาควรเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย (de jure) เพื่อป้องกันการขโมยเด็กและค้ามนุษย์ ดูฎีกาและฎีกาวิเคราะห์ 989/2533)

เรื่องราวของ “น้อย บะไห” ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน (23 พฤศจิกายน 2551) ร่วม 3 เดือนต่อมา จังหวัดอุบลราชธานีได้สั่งการให้อำเภอโขงเจียมตรวจสอบเรื่องราวของน้อย และให้น้อยมายื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อให้ได้มาทะเบียนบ้านคนไทย (ท.ร.14) และบัตรประชาชนคนไทย ซึ่งเป็นเอกสารยืนยันว่าน้อยเป็นคนไทย โดยอำเภอส่งเรื่องขอให้ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นตรวจหมู่เลือดและดีเอนเอของน้อยและสมคิดน้องชาย (หนังสือที่ อบ 1217/111 ลว 13 กุมภาพันธ์ 2552)

1 เมษายน 2552 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ส่งผลการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ กลับมายังอำเภอโขงเจียม ผลการตรวจระบุว่า โอกาสที่น้อยและสมคิด จะเป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกันนั้น มีอยู่ 95.11% และมีความเห็นว่า “เชื่อว่านายประสิทธิ์ จำปาขาว เป็นพี่น้องร่วมบิดาและมารดาของเด็กชายสมคิด จำปาขาว”

ต่อเอกสารชิ้นนี้ จนถึงปัจจุบันอำเภอโขงเจียมก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ

 

ฉบับภาษาอังกฤษ

http://www.ethicsinaction.asia/archive/2009-ethics-in-action/vol.-3-no.-4-august-2009


[i] การลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในกรณี ‘น้อย บะไห’นี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง SWIT กับโครงการบางกอกคลีนิคเพื่อการให้คำปรึกษาด้านสถานะและสิทธิของบุคคล และขอบคุณรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กรุณาช่วยอ่านอย่างละเอียดและให้คำแนะนำ

[ii] คนไร้สัญชาติ (Nationality-less  person)หมายถึง บุคคลที่ไม่มีรัฐใดในโลกเป็นเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) ขณะที่ คนไร้รัฐ (Stateless person) หมายถึงคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ซึ่งหากต่อมารัฐไทยได้ทำการสำรวจและบันทึกรายการส่วนบุคคลของเขาหรือเธอเข้าในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร อาทิจดทะเบียนการเกิด (Birth Registration) การจัดทำแบบพิมพ์ประวัติหรือทะเบียนบ้านคนไม่มีสัญชาติไทย การออกบัตรประจำตัวและกำหนดเลขประจำตัว 13 หลักให้ ฯลฯ ส่งผลให้เขาหรือเธอจะไม่เป็นคนไร้รัฐอีกต่อไป เอกสารต่างๆ ที่มีจะสามารถใช้เป็นหลักฐานหรือเอกสารแสดงตนในการเข้าถึง/ใช้บริการสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างไรก็ดี เขาหรือเธออาจยังไร้สัญชาติอยู่

หมายเลขบันทึก: 325855เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2010 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ในท.ร.๓๘/๑ นั้น ได้ระบุใครเป็นบิดาครับ แล้วตอนไปทำท.ร.๓๘/๑ พ่อได้ไปมีส่วนร่วมในการที่น้อย บะไห ไปทำท.ร.๓๘/๑ หรือไม่อย่างไร เพราะอะไรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท