จบในระบบหรือ ปวช.แล้ว เรียน กศน., ขรก.บรรจุใหม่+พนักงานราชการ ติดแพรแถบย่อเครื่องราชฯ ฯลฯ


บรรณารักษ์โอนเป็นครูกี่ปีจึงทำวิทยฐานะได้, จบในระบบแล้วมาสมัครเรียน กศน.อีกได้หรือไม่, ข้าราชการใหม่+พนักงานราชการ ประดับแพรแถบย่อเครื่องราชฯได้หรือไม่ ฯลฯ

26 - 30  ตุลาคม  2552


         - ไปประชุมปฏิบัติการบรรณาธิการ ( Edit ) เครื่องมือประเมินเทียบระดับการศึกษา มิติความรู้ความคิด ( 26-28 ต.ค.52 ) ณ โรงแรมศรีอู่ทองแกรนด์ จังหวัดสุพรรณบุรี สำหรับนำไปใช้ทดสอบทั่วประเทศในวันที่ 12-13 ธ.ค.52
            ข้าพเจ้าอยู่ในกลุ่มวิทยาศาสตร์ ( ความรู้เรื่องทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และการดำรงชีวิต ) มีสมาชิก 6 คน ( จากศูนย์วิทย์ฯ 3 คน, กลุ่มพัฒนาฯ 2 คน, กศน.อ. 1 คน )

 

         - 29 ต.ค.52 ตรวจสอบความถูกต้องของหลักสูตรวิชาเลือก ( หลักสูตรใหม่ 2551 ) ที่สถานศึกษาในสังกัด สนง.กศน.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น ก่อนที่จะส่งกลุ่มพัฒนา กศน.
            หลักสูตรนี้จัดทำไว้เป็นรูปเล่ม เล่มละ 1 สาระ ข้าพเจ้าตรวจสาระทักษะการเรียนรู้ ซึ่งมีประมาณ 20 รายวิชา พบว่า หลักสูตรที่พวกเราช่วยกันพัฒนาไว้นี้ ทำได้ดี มีจุดที่ต้องแก้ไขน้อย

 

         - สัปดาห์นี้ มีผู้ถามคำถามที่น่าสนใจ เช่น


            1. จากสงขลา ถามว่า บรรณารักษ์ชำนาญการ โอนมาเป็นครูระดับ คศ.2 กี่ปีจึงทำวิทยฐานะชำนาญการได้
                ตอบว่า หลักเกณฑ์ใหม่ยังกำหนดเหมือนเดิม คือถ้าบรรณารักษ์โอนมาลงตำแหน่ง "ครู" เลย ต้องเป็นครูครบ 6 ปีก่อน ( สำหรับผู้ที่วุฒิปริญญาตรี ) แต่ถ้าโอนมาลงตำแหน่งอาจารย์ 2 ก่อน แล้วเปลี่ยนเป็นครูภายหลัง ก็ไม่ต้องคอยถึง 6 ปี
( หลักเกณฑ์เดิมถ้าเคยสอนในระดับที่เทียบได้ไม่ต่ำกว่าอาจารย์ 1 ก็นำมารวมกับตำแหน่งครูให้รวมเป็น 8 ปี ได้   หลักเกณฑ์ใหม่ยังไม่กำหนดการเทียบเท่าให้ชัดเจน )
พิเศษ สำหรับข้าราชการครู 3 จังหวัดชายแดนใต้ ลดอายุการเป็นครูให้ครึ่งหนึ่ง คือวุฒิปริญญาตรี ต้องเป็นครู 3 ปี ส่วนวุฒิปริญญาโท ต้องเป็นครู 2 ปี


            2. อ.อดุลย์ จาก กศน.อ.วังน้อย ถามแทนอำเภออื่นว่า มีผู้นำใบวุฒิการศึกษาผู้ใหญ่ ระดับ 3 มาสมัครเรียน เทียบเท่าระดับใด
                ตอบว่า การศึกษาผู้ใหญ่ระดับ 3 หรือการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ ระดับที่ 3 คือ ระดับประถมศึกษา ( ป.6 )


            3. ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม โทร. มาถามว่า ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานห้องสมุด ตอนนี้เรียนจบปริญญาตรีทางบรรณารักษศาสตร์แล้ว จะขอโอนเป็นตำแหน่งบรรณารักษ์ได้หรือไม่
               ตอบว่า เจ้าพนักงานห้องสมุดอยู่ในกลุ่มทั่วไป ส่วนบรรณารักษ์อยู่ในกลุ่มวิชาการ อยู่คนละแท่งต้องโอนโดยการสอบ คงต้องรอให้มีการเปิดรับสมัครสอบบรรจุเป็นบรรณารักษ์ ถ้าสอบได้ก็จะได้เปลี่ยนตำแหน่งพร้อมโอนเงินเดือน+อายุราชการ ( ที่จริงน่าจะขอโอนเป็นครูเลย ถ้ามีคุณสมบัติครบ มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไม่ต้องสอบ )


            4. อ.อดุลย์ จาก กศน.อ.วังน้อย ถามอีกว่า รายวิชาเลือกหลักสูตรใหม่ ที่เลือกไว้ให้ทุกแห่งเรียนเหมือน ๆ กันในภาคเรียนที่ 2/2552 นั้น มีจำนวนหน่วยกิตไม่ครบจำนวนหน่วยกิตรายวิชาเลือกทั้งหมด จะทำให้คนที่เรียนในระบบเกือบจบแล้วลาออกมาเทียบโอนเรียน กศน. จะไม่สามารถเรียนจบในภาคเรียนเดียว เพราะมีรายวิชาเลือกให้เรียนไม่ครบ
               ตอบว่า ท่านทองอยู่ แก้วไทรฮะ บอกว่า การเทียบโอนไม่ใช่เพื่อให้จบเร็ว แต่เทียบโอนให้ไม่ต้องเรียนซ้ำในรายวิชาที่มีความรู้แล้ว เราไม่ต้องพยายามให้จบเร็ว
               ( แต่ถ้า กศน.อ.วังน้อย เห็นว่าควรให้เรียนจบในภาคเรียนเดียว ก็สามารถให้เรียนรายวิชาเลือกอื่น ๆ นอกเหนือที่กำหนดนี้ด้วยก็ได้ )


            5. อ.อดุลย์ จาก กศน.อ.วังน้อย ถามอีกว่า มีผู้จบในระบบแล้ว จะมาสมัครเรียน กศน. อีกเพื่อเรียนรวมกับแฟน ได้หรือไม่
               ตอบว่า ไม่ได้ เพราะเงินอุดหนุนรายหัวให้ใช้สิทธิ์เรียนฟรีจนจบหลักสูตรได้ครั้งเดียว และถ้าให้เรียนได้จะเป็นตัวอย่างให้มีการนำผู้ที่เรียนจบ กศน. แล้วมาเรียนซ้ำอีกเพื่อให้ครบ 60 คน   อ.อดุลย์ ถามต่อว่า ถ้าไม่ให้เขาสมัครเรียน เขาจะฟ้องร้องได้หรือไม่ ข้าพเจ้าจึงโทร.ไปสอบถามกองพัฒนา กศน. ได้รับคำตอบจาก อ.ชาลินี ว่า เรียนจบแล้วจะเรียน กศ.ขั้นพื้นฐานในระดับเดียวกันอีกไม่ได้ ข้าพเจ้าถามต่อว่า เพราะอะไร เขาจะฟ้องร้องได้หรือไม่ และถ้าเรียนจบ ปวช. จะเรียน กศน.สายสามัญได้หรือไม่   อ.ชาลินี ตอบว่า ถึงจะจบ ปวช. ก็มาเรียน กศน. สายสามัญอีกไม่ได้ เพราะเงินอุดหนุนรายหัวให้ใช้สิทธิ์เรียนฟรีจนจบหลักสูตรได้ครั้งเดียว และถ้าจบ 2 ครั้ง หมายเลขประจำตัวประชาชนจะไปชนกันที่กระทรวง  ถ้าเขาข้องใจให้เขาโทร. ไปถามกองพัฒนาฯ กองพัฒนาฯจะอธิบายให้


            6. สัปดาห์นี้ มีการพูดกันที่เว็บบอร์ด สพร.กศน. ( http://thaimisc.pukpik.com/freewebboard/php/vboard.php?user=kasama ) ถึงเรื่องข้าราชการบรรจุใหม่จะประดับแพรแถบย่อเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่เหนือกระเป๋าเสื้อด้านซ้ายได้หรือไม่ ซึ่งข้าพเจ้าเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย จึงขอนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในที่นี้ด้วย
               ข้าราชการบรรจุใหม่ และ พนักงานราชการ สามารถประดับแพรแถบย่อเหรียญที่ระลึกได้ครับ ( ประดับแพรแถบย่อเครื่องราชฯไม่ได้ แต่แพรแถบย่อเหรียญที่ระลึก ก็ดูเหมือน ๆ กับแพรแถบย่อเครื่องราชฯ เพียงแต่แพรแถบย่อเหรียญที่ระลึกจะไม่มีช้างไม่มีมงกุฎ )

               โดยทั่วไป แต่ละแท่งแนวนอน จะมี 3 ท่อนติดกัน แทน 3 เหรียญ

               สี/ลายของแต่ละท่อน ก็คือสี/ลายของสายห้อยเหรียญ ( ถ้าเป็นชุดเต็มยศ เสื้อขาว กางเกง/กระโปรงดำ จะประดับเหรียญจริงเลย ส่วนแพรแถบย่อนี้ใช้ประดับกับเสื้อสีกากี หรือชุดขาว )

               ใครเกิดทันปีที่ออกเหรียญใด ก็มีสิทธิ์ประดับเหรียญนั้นทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานราชการ หรือข้าราชการบรรจุใหม่

              ตัวอย่าง : ผู้ที่เกิด พ.ศ. 2526 สามารถประดับเหรียญและแพรแถบที่จัดสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีสิทธิ์ประดับได้ 8 เหรียญ (ถ้าหามาได้)
               การประดับเหรียญที่ระลึกสามารถประดับกี่เหรียญก็ได้ตามที่มีสิทธิ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจและความสวยงาม เช่นเดียวกับแพรแถบย่อ สามารถสั่งทำโดยระบุได้ว่าต้องการแบบไหน ผู้ที่แผงอกไม่กว้าง การติดเหรียญเยอะ ๆ หรือแพรแถบย่อที่มากชั้นจนเกินไปก็ทำให้ดูไม่สวยและเทอะทะ
               ในการประดับเหรียญที่ระลึกและแพรแถบย่อจะเรียงลำดับปี พ.ศ. อดีต-ปัจจุบัน จากซ้ายไปขวา และบนลงมาล่าง

               ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rotc-utcc&month=01-11-2008&group=3&gblog=1 


หมายเลขบันทึก: 310038เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2009 00:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)

ขอบคุณอาจารย์เอก ที่นำความรู้มาบอกครับ

เพราะพึ่งรู้ครับว่าแถบที่ติดที่หน้าอก ควรติดอย่างไร

ขอบคุณครับ

เอามานำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจครับ

ขอขอบคุณกับข้อมูลที่ดี ๆทั้งหมดของอาจารย์เอกชัย และขอขอบคุณเป็นอย่างมากที่ให้คำแนะนำการแก้ไขชื่อกับรหัสวิชาในรบ.ที่ไม่ตรงกันเมื่อพิมพ์ใบรบ.จากITตอนนี้แก้ไขได้สำเร็จเรียบร้อยแล้วครับ ถ้ามีปัญหาในเกียวกับงานกศน.จะมาขอปรึกษาใหมนะครับ

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

เรื่องแก้ปัญหาใบ รบ. จากโปรแกรม IT พิมพ์ชื่อวิชากับรหัสวิชาไม่ตรงกันนั้น แก้อย่างไรหรือครับถึงได้สำเร็จ

ถ้ามีข้อสงสัยอีก เชิญถามได้ครับ ถ้าผมมีความรู้ ก็ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้

กรณีนักศึกษาที่เรียนจบ ปวช. แล้ว ไม่สามารถสมัครเรียน ม.ปลายได้อีก ลักษณะเช่นนี้ เคยมีคดีฟ้องศาลปกครองพิษณุโลก คือ มีนักเรียนชายคนหนึ่งเรียนจบ ม.ปลายแล้ว แต่กลับมาสมัครเรียนต่อในชั้น ม.4ใหม่ โรงเรียนไม่รับเข้าเรียน นักเรียนชายท่านนี้ นำเรื่องร้องเรียนศาลปกครองพิษณุโลก ศาลปกครองตัดสินแล้ว ว่าไม่มีสิทธิสมัครเข้าเรียนใหม่ในระดับม.4 ได้ เพราะได้ใช้สิทธิจนเรียนจบ ม. 6 แล้ว และเงินที่รัฐอุดหนุนให้นั้นจัดให้เพียงครั้งเดียว เพราะฉะนั้น การไม่รับเด็ก ปวช.เข้าเรียนม.ปลายกับ กศน. สามารถทำได้ ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะฟ้องร้อง เพราะมีกรณีตัวอย่างแล้วที่ศาลปกครองพิษณุโลก

ขอบใจ อ.ฐิฎา มาก ๆ ช่วยให้ชัดเจน+มั่นใจ
ที่จริงผมได้ข่าวเรื่องคดีฟ้องศาลที่ว่าเหมือนกัน แต่ไม่มั่นใจในตอนจบ ( การตัดสินของศาล )

อาจารย์ครับ

อินทธนู ชุดปกติ สีกากี ของพนักงานราชการเป็นแบบไหนครับ

เครื่องแบบปกติของพนักงานราชการ ให้แต่ละส่วนราชการออกแบบเอง ถ้าเป็นของกรมการปกครอง เสื้อจะเป็นสีขาว ไม่ใช่สีกากี และไม่ติดอินทรธนู ส่วนของเรา ( สป. ศธ. ) ระเบียบเรากำหนดให้เป็นชุดสีกากี เสื้อมีอินทรธนูอ่อน แต่ไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติมใด ๆ ว่าอินทรธนูอ่อนเป็นอย่างไร ( ของส่วนราชการอื่น ๆ ไม่ติดอินทรธนู )
         และถ้าเป็นลูกจ้างประจำของทุกกระทรวง
ลูกจ้างประจำหมวดแรงงานเช่น คนงาน นักการภารโรง จะใส่เครื่องหมายอินทรธนูไม่ได้ครับ ถ้าหมวดฝีมือ เช่น พขร. ที่เงินเดือนถึงขั้นต่ำของข้าราชการระดับ 2 แล้ว จึงจะใส่เครื่องหมายอินทรธนูกับเสื้อสีกากีได้ ซึ่งได้กำหนดลักษณะอินทรธนูไว้ในระเบียบด้วย

         สรุป เมื่อระเบียบ สป. ศธ. ในปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดลักษณะอินทรธนูของพนักงานราชการไว้ จึงยังไม่มีอินทรธนูจะใส่นะครับคุณเล็ก

อยากได้ระเบียบเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ครูอาสาสมัคร กศน. ที่เขาบอกว่าต้องรับผิดชอบนศ.ระดับประถม,ม.ต้น,ม.ปลาย รวม 35 คนและคนไม่รู้หนังสืออีก 20 คนจริงหรือเปล่าคะ เนื่องจากมาเป็นครูอาสาฯใหม่ยังไม่เข้าใจเลยคะ คือคิดว่าทั้งหมดไม่น่าจะเป็น 55 คน และหน้าที่อื่นก็พอจะเข้าใจคะ ขอความกรุณาให้ความกระจ่างด้วยนะคะ

รู้สึกว่ามันจะอยู่ในแบบประเมินผลการปฏิบัติงานครูอาสาสมัครแบบเก่าตั้งแต่ครูอาสาสมัครยังเป็นลูกจ้างชั่วคราว เขากำหนดไว้ว่าถ้ารับผิดชอบนักศึกษาระดับประถม ม.ต้น ม.ปลาย รวม 35 คน เป็นขั้นต่ำที่จะได้ 1 คะแนน
         แต่ตอนหลังเมื่อครูอาสาสมัครเปลี่ยนเป็นพนักงานราชการแล้ว แบบประเมินก็เปลี่ยนไปแล้ว โดยให้แต่ละแห่งกำหนดเป้าเอง ดูแบบประเมินแบบใหม่ได้ที่ chon.nfe.go.th/docDownload/แบบประเมินพนักงานราชการ.doc ( หน้า 4 )

ขอบคุณคะที่ให้ความกระจ่าง

สอบถามเกี่ยวกับเรื่องโปรแกรมที่เก็บข้อมูลของนักเรียนที่ เป็น นักเรียนพื้นที่สูงครับ ไม่ทราบอาจารย์ พอจะมีบ้างไหม ครับ แบบออกเอกสารให้กับนักเรียนได้เลยนะครับ.. ปพ 1

ไม่ทราบว่าคุณอัครเดช สังกัด กศน. หรือเปล่าครับ
ผมเห็นมีที่ให้ดาวน์โหลดโปรแกรม ปพ. หลายที่นะครับ เช่นที่
http://www.nongnueng.ob.tc/
( เขายังไม่ยกเลิก ปพ.1 หรือครับ )

สวัสดีครับ ผมขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ การประดับเครื่องราชฯของครูเอกชนหน่อยครับ เพราะว่ามันงงจริงๆ ถามไปทาง สช. ก็ไม่มีคำตอบกลับมา ผมได้รับพระราชทาน เบญจมาภรณ์ ชั้นที่ ๕ ชื่อว่าเบญจมดิเรกคุณาภรณ์ แต่! อนิจจา ไม่รู้จะเอาไปแต่งกับชุดอะไร เป็นครู โรงเรียนเอกชน สังกัด สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนนะครับ ขึ้นตรงกับสำนักปลัดกระทรวงฯ กระทรวงศึกษาธิการ เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ขอเครื่องราชฯได้ ทำ ชพค. ได้แต่เพราะเขาบอกว่าเป็นครูเอกชน ไม่มีชุดข้าราชการ ถ้าจะเป็นชุดพิธีการต้องเป็นชุดขอเฝ้า ของราษฎรเท่านั้น!! มันน่าน้อยใจมั้ยครับ ขวัญและกำลังใจเกี่ยวกับชุดยังไม่มีเลย เป็นครูยังต้องแบ่งชนชั้นของครูอีก ขอความเห็นหน่อยครับ และเป็นกำลังใจให้ครูเอกชนซึ่งสังกัด สช. หน่อยนะครับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำ การรถไฟ การท่าเรือ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ไปรษณีย์ แม้แต่รถไฟฟ้า ขสมก. เค้ามีชุดสำหรับพิธีการกันหมด แต่ครูเอกชนสิครับ เหมือนอากาศธาตุที่ไม่มีใครมองเห็น ข้ามไปข้ามมาตลอด ช่วยพวกเราด้วยครับ

โดย : คุรุชนคนชั้นสอง ไอพี : 58.9.166.19

ครูโรงเรียนเอกชน มี 2 ประเภท
          1. ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ( ครู ) ทำหน้าที่ครู หรือหัวหน้าครูในโรงเรียนเอกชน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือจังหวัดอื่น ๆ ( ถ้ามี ) แต่งเครื่องแบบข้าราชการครูหรือเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนได้
          2. ครูผู้ทำหน้าที่สอนในสถานศึกษาเอกชน เช่นโรงเรียนเอกชนตามมาตรา 15 ( 1 ) คือโรงเรียนทั่วไป มีสิทธิขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้เมื่อถึงตามที่ระเบียบกำหนด เวลาแต่งกายประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ก็แต่งชุดขาวราชประแตน เช่นเดียวกับข้าราชการโดยทั่วไป แต่ที่ปกคอเสื้อไม่มีเครื่องหมายส่วนราชการ ติดกระดุมสีทอง สามารถประดับแถบเครื่องราชฯที่ได้รับพระราชทานฯที่หน้าอกเหนือกระเป๋าด้าน ซ้าย

         นอกจากนี้ยังสามารถแต่งชุดสากล ( สูท ) หรือชุดไทย ( เสื้อพระราชทาน ) สีพื้น ประดับดุมเสื้อเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้ครับ

เฉลิมชนม์ นิตย์ใหม่

อยากทราบว่าลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการที่กำหนดเครื่องแบบไว้ ให้ใช้เครื่องแบบสีกากี สีเทา สีเขียว ติดป้ายชื่ออย่างเดียว

อย่างนี้สามารถจะประดับแพรแถบย่อได้รึเปล่าครับ ช่วยอธิบาย และรูปภาพประกอบมาให้ด้วยครับ ขอบคุณครับ

ได้ครับ
         ถ้าเป็นแพรแถบย่อ "เหรียญที่ระลึก" แม้แต่ประชาชนทั่วไป พ่อค้าคหบดี ก็ประดับได้
และใช้หลักเกณฑ์เดียวกันด้วย คือ ใครเกิดทันปีที่ออกเหรียญใด ก็มีสิทธิ์ประดับเหรียญนั้นทุกคน
         ถ้าเป็นประชาชนทั่วไป พ่อค้าคหกบดี จะประดับเหรียญที่
ชุดสากล ( สูท ) หรือชุดไทย ( เสื้อพระราชทาน ) สีพื้น  ถ้าเป็นลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการที่สวมเครื่องแบบสีกากี สีเทา สีเขียว ให้ประดับแพรแถบย่อ แทนเหรียญ

เป็นความรู้ที่ดีมากเลยครับ ขอบคุณมากๆ

จาก พนักงานราชการกรมเจ้าท่า

ดีใจที่เป็นประโยชน์ ขอบคุณที่ชม

อยากถามว่า...คุณพ่อเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ(ไฟฟ้า)สามารถติดเหรียญตราใดได้บ้าง(ทำงานมาประมาณ 25 ปี)

รู้แต่อายุการทำงาน ตอบไม่ได้ครับ

         ถ้าหมายถึง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อยู่ดี ๆ จะประดับไม่ได้ หน่วยงานต้องขอพระราชทานให้ก่อน ขอไปตามลำดับ ( ตามเกณฑ์ในบัญชี 14 ) โดยพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องตำแหน่งหัวหน้าแผนกขึ้นไป จึงจะขอพระราชทานได้

         แต่ถ้าหมายถึงเหรียญที่ระลึก ก็ประดับตามปีเกิด ไม่ได้ดูที่อายุการทำงาน ดูในตารางรูปด้านบนนะครับ ถ้าเกิดทันปี พ.ศ. ที่โปรดเกล้าฯเหรียญใดก็ประดับเหรียญนั้นได้
         ผมยกตัวอย่างไว้แล้วไง ว่า

         ตัวอย่าง : ผู้ที่เกิด พ.ศ. 2526 สามารถประดับเหรียญและแพรแถบที่จัดสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีสิทธิ์ประดับได้ 8 เหรียญ

นายธุวานนท์ บัวจันทร์

ครูผู้ช่วย ใช้อินธนูแบบไหนครับ 2 แถบ หรือ 3

  • ขอบคุณครับ อ.เอกชัย
  • สำหรับความรู้ดีๆ ที่ยังไม่เคยรู้

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ Ico48

สมมมติว่าคนเกิดปี 50 เข้ารับราชการ ก็ไม่สามารถติดแพรแถบย่อที่ระลึกได้เลยเพราะเกิดไม่ทัน

ในกรณีที่ ยังไม่มี พระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้ มีเครื่องราชย์ฯ อื่นๆออกมาอีก ถูกต้องไหมครับ

ถูกต้องครับ
( คนเกิดปี 50 ถึงตอนนี้ยังเป็นเด็กอายุ 4 ขวบ ยังเข้ารับราชการไม่ได้ กว่าจะเข้ารับราชการได้ก็คงมีโปรดเกล้าฯออกมาอีก )

อาจารย์ครับผมได้อ่านคำถามของคุรุชนคนชั้นสอง [IP: 58.9.162.73]

01 เมษายน 2553 09:08 ซึ่งตรงใจผมมากๆเหมือนเป็นผมเองเลย(ถูกใจมากๆๆๆๆ)และยิ่งได้รับคำตอบจากอาจารย์แล้ว กระจ่างเลยครับ

ซึ่งทำให้ผมรู้ได้เลยว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจ ในบ้านเมือง ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชนไม่มีใครมีความรู้เรื่องนี้เลยจริงๆหรือไม่ก็ไม่เห็นความสำคัญในเรื่องเครื่องแบบที่ต้องใช้ประดับเครื่องราช เขาบอกว่ามีสิทธิ์ขอ ก็ขอให้ เอามาทำอย่างไรประดับอย่างไรก็ไม่รู้ ถามก็ตอบไม่ได้ จะใส่ก็อายเขา(แต่ที่จริงก็ไม่ต้องอายเพราะไม่มีใครรู้)

ต่อไปนี้เจอใครผมก็จะบอกและแนะนำเกี่ยวกับการแต่งเครื่องแบบพร้อมกับประดับเครื่องราชของครูเอกชนในราชพิธิ หรือพิธีีการ

เวลาร่วมงาานจะได้ไม่รู้สึกอายอายอายอายอายเขาเพราะชุดไม่เหมือนใคร เพราะครูเอกชนด้อยกว่าทุกอย่าง ทั้งสวัสดิการ เงินเดือน เวลาทำงาน เจ้านาย(ไม่มีวิสัยทัศน์)ใช้ไม่รู้ถูกผิดต้องทำ มาสายถูกหักเงิน ดีอย่างเดียวส่วนมากโรงเรียนเอกชนอยูในเมืองไม่ได้อยู่ในป่าอยู่ในเมืองแต่ใจป่า...พอแล้วคับบรรยายยังไงก็ไม่หมด แต่ถ้ามองในส่วนดีคนที่ผ่านโรงเรียนเอกชนหรือทนอยู่โรงเรียนเอกชนได้นี่สุดยอดจริงๆนะครับนับว่าประสบการณ์ที่ทรมานก็ยังผ่านมาหรือทนได้อย่างอื่นก็ชิวๆๆครับ

อ้อเกริ่นเสียนานครับอีกคำถามที่อยากถามอาจารย์ครับ คือเครื่องราชที่ได้มา ชิ้นไหนบ้างที่ประดับกับชุดลูกเสือได้ครับ ขอให้อาจราย์ให้ความกระจ่างหน่อยครับ อยากประดับเครื่องราชเวลาแต่งชุดลูกเสือครับ ขอเน้นๆเลยครับ รูปด้วยก็ดีครับว่าจะประดับแถบแพรหรือ แถบแพรย่อ

กฏกระทรวว่าด้วยเครื่องแบบลูกเสือ ระบุไว้ว่า
         "ข้อ 39 เมื่อแต่งเครื่องแบบลูกเสือให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เข็มแสดงวิทยฐานะ และเครื่องหมายแสดงความสามารถได้ตามกฏหมายและระเบียบแบบแผนว่าด้วยการนั้น"
         ซึ่งหมายความว่า เมื่อแต่งเครื่องแบบลูกเสือแล้ว ก็มีสิทธิที่จะประดับแพรแถบย่อได้ ตามที่มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีออกมารับรอง ( ถ้าเรามีสิทธิ์ประดับเครื่องราชฯหรือเหรีนญที่ระลึกใดใด ก็นำมาประดับกับเครื่องแบบลูกเสือได้ )
         ส่วนที่ว่ากองไหนจะประดับหรือไม่ประดับ ก็เป็นธรนรมเนียมของแต่ละกอง ซึ่งไม่มีกำหนดบังคับไว้ ส่วนใหญ่แล้ว ลูกเสือที่ประดับนั้นก็ถือกันว่าเป็นข้าในพระองค์เช่นกัน ดังที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในข้อบังคับลักษณะการปกครองลูกเสือว่า "ข้อ 3 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ลูกเสือทั่วไป บรรดาผู้ตรวจการ ผู้กำกับ นายหมู่ และลูกเสือทุกๆคน ต้องถือว่าตนเป็นข้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรงทุกคน" ซึ่งเอกสารนี้ เขียนด้วยลายพระราชหัตถ์

         ด้วยเหตุนี้เองการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น ทั้งทางความรู้สึกและระเบียบที่มีอยู่ ก็ทำให้ลูกเสือมีสิทธิที่จะประดับแพรแถบย่อได้ด้วยความภูมิใจ
         สำหรับเหรียญของลูกเสือโดยเฉพาะนั้น มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ซึ่งพระราชทานแก่ลูกเสืออยู่ 3 แบบคือ
         1. เหรียญลูกเสือสรรเสริญ
         2. เหรียญลูกเสือสดุดี
         3. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ
         แพรแถบย่อของเหรียญลูกเสือนี้ สามารถนำมาติดรวมไว้กับแพรแถบย่อเครื่องราชและเหรียญที่ระลึกอื่น ๆ ได้ ( ถ้าหาซื้อแบบที่ติดรวมกันไม่ได้ ก็ต้องตัดต่อหรือสั่งทำเอง )
         ( เครื่องแบบลูกเสือนั้น สามารถประดับเครื่องราชเหรียญจริงที่ไม่ใช่แค่แพรแถบย่อได้เฉพาะในโอกาสร่วมพิธีการทางลูกเสือต่างๆ เช่น วันสถาปนาคณะลูกเสือฯ วันวชิราวุธ หรือร่วมงานชุมนุมต่างๆ )

         ดูรูปผู้แต่งเครื่องแบบลูกเสือประดับแพรแถบย่อ และรูปแพรแถบย่อเหรียญลูกเสือ ได้ที่ http://www.drkeng.ob.tc/crengrach.html )

สอบถามอาจารย์ครับ - การประดับแถบเหรียญที่ระลึก คำว่าติดจากซ้ายไปขวานั้น หมายถึง ติดจากซ้ายไปขวาตอนคนมองเรา หรือจากซ้ายไปขวาของเราครับ

ซ้ายไปขวา ตอนคนมองเราครับ ซ้ายคืออดีต ( เหรียญเก่ากว่าที่มีมาก่อน ) ขวาคือปัจจุบัน ( เหรียญที่ออกในปีหลัง ๆ )
        คือซ้ายขวาของแถบเหรียญด้วยกันนั่นแหละ เวลาเรียงต่อกันอยู่ไม่ว่าจะวางไว้ตรงไหน เมื่อมองดู ด้านขวาก็ยังเป็นด้านขวา ด้านซ้ายก็ยังเป็นด้านซ้ายอยู่เหมือนเดิม
        ( ต่างจากแถบเครื่องราชฯ จะติดไม่เกิน 2 เหรียญสุดท้าย คือช้างกับมงกุฏ แต่เอาเหรียญที่ได้ทีหลังไว้มุมบนด้ายซ้าย )

ใช้แพรแถบย่อเดิม ที่ยังไม่เป็นปัจจุบันได้หรือไม่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท