รายการสายใย กศน. 11, 18, 25 ต.ค., 1, 8 พ.ย. 53


11 ต.ค.53 เรื่อง “เกษตรธรรมชาติกับโครงการพระราชดำริ”, 18 ต.ค.53 เรื่อง “การสร้างอาชีพโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่นวัตกรรมใหม่”, 25 ต.ค.53 เรื่อง “การใช้โปรแกรมออกรหัสรายวิชาเลือก”, 1 พ.ย.53 เรื่อง “สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น แผ่นดินเมืองสุโขทัย”, 8 พ.ย.53 เรื่อง “โรงเรียนดีประจำตำบล”

 

รายการสายใย กศน. วันที่  8  พฤศจิกายน  2553

 

         เรื่อง “โรงเรียนดีประจำตำบล”

         เทป พิธีเปิดงาน "ชาติก้าวไกล โรงเรียนไทยเข้มแข็ง" โครงการโรงเรียนดีประจำตำบล  และการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย  เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553  ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

         นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน โดยมีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารองค์กรหลัก รวมทั้งผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วมงานกว่า 3,000 คน

         รมว.ศธ. กล่าวรายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักในความสำคัญของภารกิจในการจัดและส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติ ให้มีคุณภาพ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคปัจจุบัน   ศธ.ได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยเน้นการพัฒนาเด็กไทยให้มีคุณภาพ เป็นคนเก่งและคนดี จึงส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้เป็นสถานศึกษายุคใหม่ เนื่องจากโรงเรียนเป็นองค์กรทางการศึกษาที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน  ชุดความคิดด้านการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนจึงเป็นความสำคัญสูงสุดในการปฏิบัติงานของ ศธ. โดยเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ได้กำหนดโรงเรียนเป้าหมายการพัฒนาเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ โรงเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานสากล 500 โรงเรียน โรงเรียนดีประจำอำเภอ 2,500 โรงเรียน และโรงเรียนดีประจำตำบล จำนวน 7,000 โรงเรียน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันในครั้งนี้ เพื่อให้โรงเรียนดีประจำตำบลเป็นโรงเรียนที่มีมาตรฐานคุณภาพสำหรับเด็กในท้องถิ่นชนบท ซึ่งถือเป็นผู้ด้อยโอกาสในการรับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในเขตเมือง    จากรายงานของธนาคารโลก พบว่าผลการดำเนินงานพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการขยายโอกาสทางการศึกษา ขณะที่คุณภาพของผู้เรียนมีแนวโน้มลดลง หากให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยมีโรงเรียนเฉพาะที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้นที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเทียบเคียงได้กับค่าคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในสหรัฐอเมริกา แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ที่อยู่ในเขตชนบทยังด้อยคุณภาพ   ทั้งผลการวิจัยพบว่า การทุ่มเททำงานจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพเพื่อพัฒนาเด็กด้อยโอกาสในท้องถิ่นชนบทและส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังลดความเหลื่อมล้ำและปัญหาสังคมส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ ประชากรโดยรวม

         ดังนั้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นชนบทได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และรองรับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองอย่างเป็นรูปธรรมทั้งทางด้านคุณภาพ โอกาส และการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่น ศธ.จึงดำเนินนโยบายโครงการโรงเรียนดีประจำตำบล โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ เพื่อพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นชนบทให้เป็นโรงเรียนคุณภาพ มีความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งทางด้านวิชาการ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน อาชีพ และการพัฒนาสุขภาพอนามัย เป็นศูนย์บริการวิชาการสำหรับโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง และมีกิจกรรมบริการชุมชน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับนักเรียนในท้องถิ่นชนบท เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปสู่ความเข้มแข็งของโรงเรียนและรองรับการกระจายอำนาจ

         การดำเนินโครงการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวถือเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น ศธ.ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้ตามลำพัง ชุนชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นองค์กรสำคัญที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้การปฏิบัติงานสำเร็จได้ อย่างยั่งยืน     การ เปิดโครงการโรงเรียนดีประจำตำบล "ชาติก้าวไกล โรงเรียนไทยเข้มแข็ง" และการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยใน วันนี้ จึงเปรียบเสมือนคำมั่นสัญญาต่อกัน ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา สำหรับลูกหลานของเราให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ศธ.จึงได้เรียนเชิญรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้บริหารระดับสูงของทั้งฝ่าย พร้อมทั้งได้เชิญผู้บริหารโรงเรียน และนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาร่วมเป็นสักขีพยาน จำนวนประมาณ 3,000 ท่าน  ซึ่ง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะส่งผลให้การปฏิบัติงานบรรลุวัตถุประสงค์ในพื้นที่ ทำให้เกิด "โรงเรียนน่าอยู่ ครูดี นักเรียนมีคุณภาพ ชุนชนร่วมใจ ใช้ประโยชน์ร่วมกัน" ต่อไป

         นโยบาย และการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย เป็นการดำเนินงานที่มีความสำคัญอีกด้านหนึ่ง มีเป้าหมายที่จะให้การพัฒนาโรงเรียนมีความพร้อมในการเป็นต้นแบบหรือศูนย์สาธิตการให้บริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นศูนย์รวมหรือเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และเน้นการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน การสร้างเครือข่ายการพัฒนา เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากร ทั้งครู สื่อ วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสให้ท้องถิ่นชนบทได้เข้าถึงบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น   คุณภาพการศึกษาของระบบการศึกษาที่ผ่านมา มีปัญหามากที่สุดในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกล หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีโรงเรียนหลายแห่งที่มีคุณภาพมาตรฐานที่เทียบเคียงได้กับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตที่เจริญแล้ว ในจังหวัด ในตัวเมือง ขณะเดียวกันช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างโรงเรียนเหล่านี้กับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลออกไป อยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง ซึ่งนอกจากจะกระทบคุณภาพของการศึกษาในภาพรวมแล้ว ยังสร้างปัญหาในความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย

         ด้วยเหตุผลนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดในเรื่องการสร้างคุณภาพของโรงเรียนให้กระจายในทุกพื้นที่ของประเทศ โดย ศธ.ได้วางแนวทางในการเริ่มต้นขับเคลื่อนไปในระดับตำบล ดังที่ได้มีการจัดทำโครงการอยู่ในขณะนี้ และได้ตระหนักถึงปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่กระจายอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนในการส่งเสริมและสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเหล่านั้นด้วย    อย่างไรก็ตาม โรงเรียนดีประจำตำบลที่จะได้มีการดำเนินการจากนี้ไป มีขอบเขตที่กว้างขวาง ต้องครอบคลุมทั้งในเรื่องของวิชาการ การพัฒนาผู้เรียน สุขภาพพลานามัย พื้นฐานอาชีพ และสามารถบริการการศึกษาให้แก่นักเรียนอย่างมีคุณภาพ และพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้และบริการชุมชน ซึ่งต้องอาศัยประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และเกิดความความรู้สึกเป็นเจ้าของพร้อมๆ กันไป    ด้วยเหตุผลนี้การดำเนินการให้มีประสิทธิภาพและบรรลุตามเป้าหมายได้ จึงต้องให้กระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ พร้อมให้การส่งเสริมและสนับสนุนในด้านต่างๆ เป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างต่อเนื่องยั่งยืนสืบต่อไป.


 


รายการสายใย กศน. วันที่  1  พฤศจิกายน  2553

 

         เรื่อง “สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น แผ่นดินเมืองสุโขทัย”

         นายอิทธิเดช  สุพงษ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - นายสังวาลย์  ชาญพิชิต  ผอ. สำนักงาน กศน.จังหวัดสุโขทัย
         - นายประทีป  สุขโสภา  ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
         - นายสาธร  โสรัจประสพสันติ  ผู้ก่อตั้งสาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย


         เริ่มรายการด้วยการขับเสภาเกริ่นลำเนา ประกอบการเล่นกรับที่ทำจากไม้ชิงชัง โดยนายประทีป  สุขโสภา  ภูมิปัญญาท้องถิ่นแผ่นดินเมืองสุโขทัย


         สนง.กศน.จ.สุโขทัย ได้จัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นมาโดยตลอด  เนื่องจากสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของประเทศไทย เป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ เป็นเมืองมรดกโลก มีมรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนาธรรมมาก เป็นสีสันเสริมการท่องเที่ยว  เช่น ผ้าซิ่นตีนจก  เพลงพื้นบ้าน  อาหารพื้นบ้าน  ประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ  วัดเก่าเช่นหอไตรวัดระฆัง  เครื่องสังคโลก  ฯลฯ   จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหล่อหลอมให้ชาวสุโขทัยซึมซับสิ่งที่ดีงามนี้ไว้ให้ยาวนานที่สุด
         ปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้ประชาชนลดการเห็นคุณค่าของมรดกทางภูมิปัญญาลง  กศน.จ.สุโขทัยจึงพยายามส่งเสริมให้คนสุโขทัยเห็นคุณค่าของแผ่นดินถิ่นเกิด  โดยหัวใจในการทำงานของ กศน.จ.สุโขทัย คือ การสร้างเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรม


         คุณสาธร  โสรัจประสพสันติ  ( ชาวไทยพวน )  เป็นผู้ก่อตั้ง สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของสุโขทัย  รวบรวมประวัติชาวไทยพวนไว้ด้วย  ( เดิมชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ผ้าเก่าบ้านหาดเสี้ยว ) เปิดให้ชมฟรี 08:00 - 18:00 น.  โดยคุณสาธรบรรยายอยู่ในพิพิธภัณฑ์ตลอด  มีการสอนการทอผ้าบ้านหาดเสี้ยว 9 ลาย


         สุโขทัยเป็นต้นกำเนิดอักษรไทย  ภาษาถิ่นของสุโขทัยจะสลับวรรณยุกต์กับภาษากลาง เช่น เสือ เป็น เสื่อ  แต่ เสื่อ เป็น เสือ   มีทำนองเพลงเทพทอง ( เพลงสุโขทัย ) เป็นเพลงพื้นเมืองในสมัยสุโขทัย   นายประทีป  สุขโสภา  ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านภาษาและเพลงพื้นบ้าน มีห้องใหญ่อยู่ที่บ้านสำหรับถ่ายทอดการเล่นเพลงพื้นบ้านทำนองต่าง ๆ  พัฒนาเนื้อร้องใหม่  เป็นผู้ฟื้นฟูการสอนและเล่นเพลงขอทาน  รับไปสาธิต “การอ่านร้อยกรองและทำนองพื้นบ้าน” โดยไม่เรียกค่าตอบแทน  ( ในรายการสายใย กศน.นี้ นายประทีปได้สาธิตการเล่นเพลงต่าง ๆ ด้วย )
         “ถ้าสนใจใฝ่รู้ ย่อมมีครูทุกหมู่บ้าน”


         แหล่งเรียนรู้ที่ส่งเสริมไว้ เมื่อสิ้นปีจะนำไปแสดงเป็นงานใหญ่ในวันที่ 8 ก.ย. ให้เห็นความก้าวหน้าของการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  เช่นปี 2552 จัดที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ใน Concept “เรียนรู้ถิ่นฐานบ้านเกิด เมืองกำเนิดลายสือไทย”   ปี 2553 นี้ Concept คือ “สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น แผ่นดินเมืองสุโขทัย”  เป็นการจัดงานการศึกษานอกโรงเรียนเป็นฐานเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น ด้านอาชีพ, การแสดง, เครื่องสังคโลก, อาหาร ฯลฯ   มีหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความร่วมมือมาร่วมจัด  ได้รับความสนใจและมีประโยชน์มาก

         กศน.ต้องจัดการศึกษาให้คนรู้คุณค่าของท้องถิ่นตนเอง จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน




รายการสายใย กศน. วันที่  25  ตุลาคม  2553

         ( เทป ซ้ำวันที่ 4 ต.ค.53 เรื่อง “การใช้โปรแกรมออกรหัสรายวิชาเลือก” )

 

 


รายการสายใย กศน. วันที่  18  ตุลาคม  2553

 

         เรื่อง “การสร้างอาชีพโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่นวัตกรรมใหม่”

         อัญชิษฐา  บุญพรวงค์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - นายเกษม  ทาขามป้อม  ผอ.กศน.อ.เมืองชัยภูมิ
         - นายสมาน  คลังจัตุรัส  ภูมิปัญญาด้านศิลปกรรม


         กศน.จ.ชัยภูมิ ได้สำรวจภูมิปัญญาด้านอาชีพทุกหมูบ้าน คัดเลือกที่สำคัญหมู่บ้านละ 1 แห่ง จัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้  และจัดหมวดหมู่ทำเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบตำบลละ 1 แห่ง
         อ.เมืองชัยภูมิ มี 19 ตำบล มีแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาด้านอาชีพต้นแบบ 19 แห่ง  จัดทำเอกสารสื่อแผ่นพับต่าง ๆ เป็นองค์ความรู้ที่ชัดเจน  โดยเข้าไปประสานงานแบบมิตร  และเลือกจากภูมิปัญญาที่เต็มใจถ่ายทอดให้บุคคลทั่วไป ให้ผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้ได้เลย ( ภูมิปัญญาที่ต้องการถ่ายทอดเฉพาะคนในครอบครัวเขา หมู่บ้านเขา ก็ไม่ทำเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ )   ภูมิปัญญาด้านที่โดดเด่นที่สุดคือสาขาศิลปกรรม

         อ.สมาน  คลังจัตุรัส เป็นภูมิปัญญาด้านศิลปกรรม เรียนมาและเชี่ยวชาญด้านศิลปะ  มีหอศิลป์ ( แกะ ปั้น เขียน โดยมีผลงานของผู้ที่มาเรียนรู้จำหน่ายด้วย ) + ห้องสมุด เป็นของตนเอง ให้ชมฟรี  อยากถ่ายทอดให้ผู้อื่นด้วย  เน้นด้านการเขียนภาพ  รับให้การอบรม

         การทำงานศิลปะมี 2 ประเภท
         1. ประเภทที่ต้องฝึกฝน ให้เวลา ทุ่มเท เช่นการวาดภาพระบายสีโดยอิสระ
             หลักการเขียนภาพ มี 3 ขั้นตอน
             1)  เส้น  การสร้างโครง ( ฝึกดรอว์อิ้งก่อน )
             2)  แสงเงา  มิติ รูปทรง  ทำให้เกิดลักษณะ
             3)  สี  บอกอารมณ์
         2. ประเภทที่ทำได้โดยเพียงการเรียนรู้ขั้นตอนวิธีการ เช่นการเพ้นท์ภาพตามแบบ
         สามารถเรียนรู้และทำได้ทุกเพศทุกวัย ( ร้อยละ 99 )
         ทุกอย่างเป็นศิลปะ  เสื้อผ้า ทรงผม ต่างหู แก้ว แว่นตา อาหาร ผ้าไหม แพ็กกิ้งผลิตภัณฑ์  ซึ่งจำเป็นในยุคสมัยนี้ สามารถเพิ่มมูลค่า
         ศิลปะการวาดภาพ สามารถบูรณาการกับ การท่องเที่ยว, วัฒนธรรม โบราณสถาน   สร้างงานเป็นอาชีพได้
         ภูมิปัญญาเก่า ๆ ควรดำเนินควบคู่ไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ศิลปะบางอย่างอาศัยเทคโนโลยี สามารถสร้างงานศิลปะได้สวยงามโดยไม่ต้องมีความชำนาญพื้นฐาน
         ศิลปะ ทำให้มีสมาธิ  คลายเครียด  ใช้บำบัดโรคอัลไซเมอร์  สร้างความเชื่อมั่นได้


         ถ้ามีภูมิปัญญาด้านอาชีพอยู่ทุกตำบล-หมู่บ้าน ทำให้ใกล้ตัว เรียนรู้ได้สะดวก

         ภูมิปัญญาด้านอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น การจักรสาน ( ที่ละเอียดมาก ), การเกษตรผสมผสาน   มีการศึกษาดูงานเพื่อพัฒนารูปแบบชิ้นงานใหม่ ๆ
         วันที่ 8-9 ก.ย.53 ได้นำแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา และชิ้นงาน มาแสดงและจำหน่าย ทำให้ผู้ผลิตเกิดความภาคภูมิใจ


 


รายการสายใย กศน. วันที่  11  ตุลาคม  2553

 

         เรื่อง “เกษตรธรรมชาติกับโครงการพระราชดำริ”

         นายอิทธิเดช  สุพงษ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - กิ่งทอง  ชุ้นสามพราน  ผอ.ศฝก.วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
         - ทิพวรรณ  สิทธิรังสรรค์  ครูเชี่ยาวชาญ ศฝก.วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
         - นายประพันธ์  ทองพราว  ครูชำนาญการ ศฝก.วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


         ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชลบุรี โทร. 038 343608-10  ตั้งเป็นศูนย์อบรมเยาวชน ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2528  อยู่ในพื้นที่เดียวกับวัดญาณสังสรารามฯ ซึ่งเป็นวัดของสมเด็จพระสังฆราชฯ   เน้นเรื่องเกษตรธรรมชาติ ตามแนวคิดมูลนิธิ MOA ประสานกับแนวพระราชดำริฯปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ( เดิมชาวชลบุรีปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือมันสำปะหลัง ทำให้มีปัญหา )   

         จัดตั้งเป็นสถานศึกษาจริง ๆ ในปี 2535  มีบทบาทหลักตามประกาศกระทรวง และตามแนวพระราชดำริฯ ( ให้วัดมีบทบาทแบบเดิม เป็นศูนย์รวมศรัทธาของประชาชน เป็นศูนย์ฝึกอบรมจิตใจ ให้ผู้มาอบรมได้รับการฝึกอบรมทั้งด้านศีลธรรมและอาชีพ )
         - การแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม
         - ทดลองปลูกพืชที่เหมาะสมกับดิน
         - การใช้น้ำอย่างประหยัด ( ในพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ )
         - ติดตามการนำความรู้ไปใช้  ช่วยแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง
         - การจัดการการตลาด
         - ฯลฯ


         ปัญหาสำคัญของเกษตรกรคือ ดินไม่ดี กับ แมลงรบกวน  ทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง  ซึ่งแก้ได้ด้วยเกษตรธรรมชาติ ช่วยให้ดินดีขึ้น ใช้ปุ๋ยน้อยลง การกำจัดโรคและแมลงง่ายขึ้น

         เกษตรธรรมชาติ คือ การเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสิ่งขับถ่ายจากมนุษย์

         เปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยเคมี กับปุ๋ยหมัก พบว่า ให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน แต่ผลผลิตจากการใช้ปุ๋ยหมักมีคุณภาพทางอาหารและรสชาติดีกว่า

         หลักการเกษตรธรรมชาติ
         1. ปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ดีเหมือนดินป่า  โดยใช้ปุ๋ยหมัก ( ปุ๋ยอินทรีย์ ) ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยพืชสด และใช้วัสดุคลุมดิน
         2. ใช้หลักการปลูกพืชหลายชนิด  โดยปลูกพืชหมุนเวียนหรือปลูกพืชแซม
         3. อนุรักษ์แมลงที่มีประโยชน์ เอาไว้กำจัดแมลงศัตรูพืช  โดยไม่ใช้สารเคมี และปลูกไม้ดอกล่อแมลง
         โดยให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และทำด้วยใจรัก ( รักพืช รักดิน )


         ศฝก. มีการทำวิจัยต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาของราษฎรและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกพืชโดยวิธีธรรมชาติเป็นอาชีพ, การปลูกไม้ดอกสีสดในแปลงเกษตร, การปลูกพืชซ้ำที่, การปลูกพืชโดยใช้ปุ๋ยน้อย, การปลูกพืชผักสวนครัว, การปลูกพืชผักผสมผสานตามฤดูกาล, การปลูกพืชโดยใช้เกษตรธรรมชาติอื่น ๆ เช่น องุ่น กุหลาบ สัปปะรด, อิทธิพลของปุ๋ยหมักต่อดาวเรือง
         งานวิจัยที่ได้รางวัลนวัตกรรมดีเด่นระดับภาค ปี 2552 คือ การวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์เกษตรธรรมชาติ พัฒนาเมล็ดพันธุ์แตงไทยผสมแคนตาลูป  ทำพันธุ์ผสมเปิดได้มากกว่า 20 ชนิด เช่น มะละกอ บานชื่น ดาวกระจาย


         มีการรับรองมาตรฐานเกษตรธรรมชาติ  พัฒนามาจากแนวทางของมูลนิธิ MOA ไทย  โดยทำเป็นเกณฑ์รับรองมาตรฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้เกษตรกร ให้สามารถใช้ตรารับรองมาตรฐาน ทำให้จำหน่ายได้ดีมาก
         เกษตรกรที่จะได้รับการรับรองต้องผ่านการอบรมอย่างน้อย 3 วัน และทำเกษตรธรรมชาติครบ 1 ปี มีการตรวจสอบและผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการ จึงจะให้การรับรองครั้งละปีเดียว สามารถใช้ถุงผลิตภัณฑ์ที่มีตรารับรองได้
         ตราเป็นรูปวงกลมสีน้ำเงิน มีชื่อ ศฝก.สีเหลือง  ตรงกลางเป็นรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร
         ได้ประสานกับ ศฝช.ทั่วประเทศ เพื่อให้การรับรองได้ทั่วประเทศ


         การทำงานของ ศฝก. มีหน่วยงานเครือข่ายช่วยดูแลหลายหน่วยงาน มีการขยายผลนำไปสู่ชุมชนโดย
         - การฝึกอบรมระยะสั้นให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไป รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน  มีหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตร 1วัน, 2 วัน 1 คืน, 3 วัน 2 คืน, 5 วัน, 7 วัน, 9 วัน  ตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและการวางแผนร่วมกัน  กลุ่มเป้าหมายมาจากทั่วประเทศ แต่หลัก ๆ อยู่ในพื้นที่และใกล้เคียง

         - การศึกษาดูงานด้านเกษตรธรรมชาติบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  หลักสูตร 1 ชม., 2 ชม., 3 ชม.  ปีนี้มีผู้มาศึกษาดูงาน 51 คณะ รวม 3 พันกว่าคน
           มีการศึกษาดูงานด้วยตนเองด้านเกษตรธรรมชาติ โดยเดินเข้าไปเรียนรู้ด้วยตนเอง, การฝึกอาชีพเกษตรธรรมชาติ เช่นการเพาะเห็ด, การจัดนิทรรศการวันสำคัญต่าง ๆ, การจัดหลักสูตร ปวช. 2 ห้องเรียน ( สาขาวิชาเกษตร เน้นเกษตรธรรมชาติ ), โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านส่งเสริมและเผยแพร่เกษตรธรรมชาติ ร่วมกับมูลนิธิ MOA International  มีการไปฝึกอบรมที่ญี่ปุ่น  มีการฝึกอบรมแกนนำให้แก่ ศฝช. 9 แห่ง ไปขยายผลให้ครอบครัวอื่นปลูกพืชโดยวิธีเกษตรธรรมชาติเป็นตัวอย่างแก่เพื่อนบ้าน
           จัดงานมหกรรมเกษตรธรรมชาติมาแล้ว 12 ปี มีผู้มาชมประมาณปีละ 25,000 คน มีเงินทุนหมุนเวียนให้ผู้นำผลผลิตมาร่วมงาน  ปีหน้าจะจัดวันที่ 10-14 ก.พ.54 ในบริเวณ ศฝก.  มีการประชุมสัมมนาทางวิชาการ การเสนอผลงานวิจัย, ประกวดผลผลิตทางด้านเกษตรธรรมชาติ, ประกวดวาดภาพ, ประกวดร้องเพลง, ผู้ผลิตพบผู้บริโภค ฯลฯ 200 กว่าบูธ

         งานของ ศฝก. ส่งผลให้ตระหนักว่า แนวพระราชดำริฯเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้  ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแน่นอน

 

หมายเลขบันทึก: 402053เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2010 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ขอบคุณมากครับที่มีบล็อกดีๆแบบนี้

ขอบคุณค่ะที่มี Blog เรื่องราวสาระดี ๆ มาให้เรียนรู้กัน

สวัสดีค่ะ อ.เอกชัย ต้องขอรบกวนด้วยนะค่ะ ด้วยมีนักศึกษาที่สมัครเรียน 2/53

เป็นผู้นำชุมชน พอจะรู้มาว่าสามารถเทียบโอนได้ ได้ศึกษาข้อมูลจากกองพัฒนามาบ้าง

แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจ ว่าจะเทียบโอนอะไรได้บ้าง ช่วยตอบคำถามด้วยนะค่ะ

มาเยี่ยม ให้กำลังใจในการทำงานสร้างสรรค์ครับ

ขอบคุณ ท่าน และ มากครับ

         สำหรับการเทียบโอนผู้นำชุมชน ถ้าหมายถึง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ก็ดำเนินการตามรายละเอียดในเอกสารของกลุ่มพัฒนา หน้า 45 ( กลุ่มผู้นำท้องที่ )

         เช่น เทียบโอนระดับ ม.ต้น ต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้นำท้องที่ ตั้งแต่ 1 ปี 6 เดือน ขึ้นไป โดยเทียบโอนได้ในรายวิชาต่อไปนี้
         1. สุขศึกษา พลศึกษา ( 2 นก. )
         2. เศรษฐกิจพอเพียง ( 1 นก. ) โดยต้องนำเสนอด้วยชิ้นงาน/ผลงานในชุมชน ที่ตนดำเนินงานอยู่และให้คณะกรรมการเทียบโอนเป็นผู้พิจารณา
         3. การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ( 1 นก. ) โดยต้องนำผลงานมาแสดงประกอบการพิจารณา
         4. สังคมศึกษา ( 3 นก. )
         5. ศาสนา และหน้าที่พลเมือง ( 2 นก. )
         6. การพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม ( 1 นก. )
         7. ความมั่นคงสงบสุขของชุมชน ( 1 นก. )
         8. การขจัดความขัดแย้ง ( 1 นก. )
         โดยถ้าเป็นรายวิชาเลือก สถานศึกษาแต่ละแห่งต้องกำหนดให้รายวิชาเลือกเหล่านี้ เป็นรายวิชาเลือกของสถานศึกษาตนด้วย ( ดูรหัสรายวิชาได้จากเว็บไซต์กลุ่มงานพัฒนา กศน. ที่
http://203.172.142.230/nfe_reserve/backend/index.php

         ( ถ้ายังสงสัยตรงไหน ก็ถามใหม่เป็นประเด็น ๆ นะครับ )

ขอขอบพระคุณท่าน อ.เอกชัย มากนะค่ะที่ให้คำแนะนำ ในการเทียบโอน กลุ่มผู้นำ และการนี้ขออวยพรให้อ.เอกชัย มีความสูข คิดหวังสิ่งใดขอให้สมความปราถนาทุกประการ สุขสันต์วันคล้ายวันเกิดค่ะ

ขอบคุณอาจารย์เอกชัย  สำหรับรายการสายใยกศน.ค่ะ (กศน.อำเภอสูงเนิน)

นางสาวกชกร แก้วฉวี

ขอบคุณมากนะคะที่มีการสรุปรายการ กศน.เพื่อนเรียนรู้ ย้อนหลังให้ผู้ที่มีความสนใจที่จะศึกษาหาความรู้ เยี่ยมมากนะคะ

ขอขอบคุณอาจารย์มากครับ ที่ให้วิทยาทาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท