รายการสายใย กศน. 28 ก.พ., 7, 14, 21 มี.ค. 54


28 ก.พ.54 เรื่อง “งานวันคล้ายวันสถาปนา กศน. 2554”, 7 มี.ค.54 เรื่อง “ภารกิจวิทยาลัยในวัง”, 14 มี.ค.54 เรื่อง “กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กศน.จังหวัดสมุทรปราการ”, 21 มี.ค.54 เรื่อง “โครงการส่งเสริมการอ่าน กศน.อำเภอธัญบุรี”

รายการสายใย กศน. วันที่  21  มีนาคม  2554


 

         เรื่อง “โครงการส่งเสริมการอ่าน กศน.อำเภอธัญบุรี”

         นายอิทธิเดช  สุพงษ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - นายปรีชา  ชื่นชนกพิบูล  ผอ. กศน. อำเภอธัญบุรี


         หลังจากที่รับนโยบายการส่งเสริมการอ่าน เมื่อปลายปี 2552   กศน.อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ได้จัดกิจกรรม “ส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” 10 ครั้งแล้ว  โดยการจัดกิจกรรม 10 ครั้งนี้  เป็นการปูพื้นให้สนใจอ่านหนังสือ  เป็นกิจกรรมเชิงลุกลงสู่พื้นที่   จัดกิจกรรมแต่ละครั้งแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละแห่ง  ซึ่ง อ.ธัญบุรี มีทั้งพื้นที่ที่เป็นเขตเมือง  เขตกึ่งเมืองกึ่งชนบท และ เขตชนบท ( คลอง 8 ขึ้นไป )   เช่นถ้าจัดกิจกรรมในเขตชนบทจะเน้นด้านการเกษตร ( ปลูกข้าว, ปุ๋ยชีวภาพ )

         ครั้งที่ 1  จัดในเดือน ม.ค.53  เน้นสาระเศรษฐกิจพอเพียง และกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ มีการให้ลงนามถวายพระพรคล้ายที่โรงพยาบาลศิริราช และรวบรวมส่งสำนักงานจังหวัด ผ่าน สนง.ส่งเสริม กศน.จังหวัด

         ครั้งที่ 2  จัดในเดือน ก.พ.53  ในวัด เน้นประเพณีพื้นบ้านทางพระพุทธศาสนา
         ครั้งที่ 3  จัดเมื่อวันที่ 13 มี.ค.53  เน้นเรื่องประวัติศาสตร์ 108 ปี เมืองธัญบุรี  มีวิชาชีพการทำลอดช่องไทย-เทียนอบ, ขนมครกโบราณ
         ครั้งที่ 4  จัดในเดือน เม.ย.53 จำนวน 3 วัน  ในห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี คลองหก ต.รังสิต ( จัดร่วมกับบิ๊กซี และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี )

         ( เดือน พ.ค.53 ไม่ได้จัด เพราะติดภาระเปิดเรียนสายสามัญ )
         ครั้งที่ 5  จัด 7 วัน ตอนปลายเดือน มิ.ย. ถึงต้นเดือน ก.ค.53  จัดในห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ระหว่างเวลา 10:00 - 22:00 น.

         จากการประเมินการจัดกิจกรรมครึ่งปีแรก พบว่าผู้ร่วมกิจกรรมมีความพึงพอใจในระดับค่อนข้างดี

         ในช่วงนี้มีการจัดตั้งห้องสมุดสาขาของห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” ( คลอง 2 ) ใน กศน.ตำบล ครบทุกคลอง  แต่ละแห่งเริ่มที่มีหนังสือ 50 เล่ม

 

         ครั้งที่ 6  จัดเมื่อวันที่ 2 ก.ค.53  ร่วมมือกับท้องถิ่น ( เทศบาลเคลื่อนที่ )  จัดในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  โดย กศน.อ.ธัญบุรี ออกบูธนิทรรศการการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และ 108 อาชีพ, การอ่านกลอน  ใน 3 เต้นท์ ยาว 36 เมตร  ระหว่างเวลา 09:00 - 24:00 น.  มีผู้เข้าบูธ 3 พันคน

         ครั้งที่ 7  จัดเมื่อวันที่ 9 พ.ย.53  ที่บ้านเด็กอ่อนรังสิต ต.รังสิต  เน้นการอบรมผู้ดูแลเด็กเล็ก ให้อ่านหนังสือให้เด็กฟัง

         ครั้งที่ 8  จัดเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.53  บริเวณหน้า กศน.อ.ธัญบุรี ต.บึงยี่โถ  เน้นเรื่องพัดยศ ( เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นเทพ )

         ครั้งที่ 9  จัดเมื่อวันที่ 13 ม.ค.54  ในโรงเรียนธัญรัตน์ ต.รังสิต  เน้นกิจกรรมวัยรุ่น เรื่องการแต่งตัว, เทคโนโลยี ( แชท BB ในเรื่องที่เป็นประโยชน์ ), และโครงการพระราชดำริ

         ครั้งที่ 10  จัดเมื่อวันที่ 16-17 ม.ค.54  จัดที่ เทสโก้โลตัสสาขาเมืองปทุมธานี  เน้นเรื่องวันครู ( กระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับครู )

 

         เมื่อวันที่ 14-20 ก.พ.54  ได้จัดอบรมการทำและการเชิดหุ้นนิ้วมือ ให้บุคลากร  ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งต่อ ๆ ไป จะลดการจัดนิทรรศการ แต่จะเน้นการเชิดหุ่นนิ้วมือในการอ่าน เป็นเรื่อง เช่นเรื่อง การสวมหมวกกันน็อค, สคบ. ( คุ้มครองผู้บริโภค : การซื้อรถยนต์-บ้าน, การใช้โทรศัพท์มือถือ ) มีแผ่นพับ, การขับรถจักรยานยนต์ย้อนศร
         โดยการจัดกิจกรรมในปีที่ 2 นี้ จะเน้นเพิ่มปริมาณการอ่านหนังสือ  ให้บันทึกลงในสมุดบันทึกการอ่านหนังสือของสมเด็จพระเทพฯ

 

         จากประสบการณ์การจัดกิจกรรมที่ผ่านมา พบว่า
         1. ต้องแยกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น กลุ่มเดินห้าง-เดินตลาด, กลุ่มคนสวน, กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่กับบ้าน  ให้เขาเลือกหนังสือที่สนใจอ่านเอง
         2. บุคลากรต้องเต็มที่ บางครั้งต้องจัดกิจกรรมถึง 24:00 น. หรือ 20:00 น. เช่นกิจกรรมถนนคนเดิน

         3. ต้องสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ และรางวัล ให้พร้อม

 

         กิจกรรมที่กำลังดำเนินการคือ การจัดมุมที่อ่าน ของเอกชนเช่นในร้านกาแฟสดริมถนน และของราชการ ( ที่ว่าการอำเภอ )   สร้างนิทรรศการก๊วยเตี๊ยวเรือรังสิต

         เป้าหมาคือ “คนธัญบุรีอ่านหนังสือเดือนละ 1 เล่ม”

         ( เคยไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโครงการ “การบริหารงานห้องสมุดโดยใช้กลยุทธ์การตลาด” ของ กศน.อ.พระนครศรีอยุธยา )

         อยากเห็นคนไทยมีวัฒนธรรมการอ่านเหมือนคนญี่ปุ่น ( อ่านทุกที่ )

 

 


รายการสายใย กศน. วันที่  14  มีนาคม  2554


 

         เรื่อง “กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กศน.จังหวัดสมุทรปราการ”

         นายอิทธิเดช  สุพงษ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - นายนิธิพงศ์  ดวงมุสิก  ผอ. สำนักงาน กศน. จ.สมุทรปราการ


         หลังจากที่ สำนักงาน กศน. จ.สมุทรปราการ รับนโยบาย “ทศวรรษแห่งการอ่าน” ( พ.ศ.2552-2561 ) จากท่านนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ก.ย.52 แล้ว ได้จัดพิมพ์ “สมุดบันทึกการอ่าน” ขึ้น  ให้นักศึกษา กศน.ขั้นพื้นฐาน บันทึกว่า แต่ละวันอ่านหนังสืออะไร ผู้แต่งคือใคร เป็นหนังสือประเภทไหน ทั้งหมดมีกี่หน้า อ่านได้กี่หน้า  มีเนื้อหาสำคัญอย่างไร   เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.53  โดยเก็บสมุดบันทึกคืนเดือนละครั้ง  มีคะแนนเก็บให้  ใครไม่ส่งครูจะติดตาม  ไม่จำกัดประเภทหนังสือที่อ่าน  เมื่ออ่านบ่อย ๆ จะเสพติดเป็นนิสัยที่ดี  ครูทุกคนให้นักศึกษาทุกคน ทุกอำเภอ ทั้งจังหวัดดำเนินการ  เป็นการฝึกการอ่านจับใจความ และย่อความ ที่คนรุ่นใหม่มีปัญหาด้วย  ให้บันทึกด้วยลายมือเพื่อฝึกการเขียนด้วย ( โครงงานต่าง ๆ ก็ให้เขียนด้วยลายมือ )
         - ทุกเดือนครูจะประกาศเกียรติคุณยอดนักอ่าน
         - ทุก 3 เดือน กศน.อำเภอจะประกาศเกียรติคุณยอดนักอ่านระดับอำเภอ
         - จังหวัดก็จะประกาศเกียรติคุณยอดนักอ่านระดับจังหวัด
         อาจารย์นิเทศของจังหวัด ออกไปนิเทศติดตามให้ทุกอำเภอรวบรวมสมุดบันทึกการอ่านส่ง
         ในเดือนแรก ( ม.ค.53 ) รวมการอ่านได้ 700,917 หน้า   ปัจจุบันอ่านได้ 6,297,014 หน้า

 

         กิจกรรมส่งเสริมการอ่านทั่วไป เช่น ห้องสมุดคอนโด ( อาสาสมัคร กศน. นำหนังสือใส่ตะกร้าหรือกระเป๋าไปส่งที่คอนโดฯ )   ในห้องสมุดมีมุมอ่านสบายสไตล์ กศน. ( มีอินเตอร์เน็ต กาแฟ  ดูตัวอย่างได้ที่ กศน.อ.เมืองฯ )   ศรช.เด่น คือ ศรช.ที่ อบต.แพรกกระสาใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่น มีหนังสือทุกหมวดหมู่  
         ขณะนี้ได้รับงบประมาณส่งเสริมการอ่านจากส่วนกลางอำเภอละ 100,000 บาท จะจัดกิจกรรมโครงการต่าง ๆ   และกำลังจะทำที่อ่านหนังสือประจำโรงงาน สถานที่ราชการต่าง ๆ ป้ายรถเมล์ เพื่อประชาชนทั่วไป แต่ยังขาดอาสาสมัครและสื่อ ( หนังสือ )

 

         กลยุทธ์สู่ความสำเร็จของการสงเสริมการอ่าน
         1) ให้ผู้อ่านกำหนดตัวเองว่าจะอ่านให้ได้วันละ 1 เล่ม หรือกี่หน้า
         2) เลือกอ่านหนังสือตามความต้องการ
         3) อ่านมากหรือน้อยไม่บังคับ   แต่ถ้าอ่านมากรู้มาก
         4) จัดกิจกรรมส่งเสริมให้อ่าน
         5) อ่านแล้วให้บันทึก
         6) กระตุ้นด้วยรางวัลเกียรติยศ ( ยอดนักอ่าน, คะแนน )

 

         ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
         1) นักศึกษา ( หลักสูตร กศ.ขั้นพื้นฐาน )

         2) ผู้ประสานงาน ( ครู ศรช., ครูประจำกลุ่ม, อาสาสมัคร กศน. )
         3) เครื่องมือบริหาร ( สมุดบันทึกการอ่าน )
         4) จิตสำนึกในการอ่าน

 

         ปัจจัยเพื่อการบริหาร
         1) บุคลากรต้องเห็นความสำคัญก่อน

         2) บุคลากรและนักศึกษามีส่วนร่วม
         3) ติดตามอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอด้วยความเอาใจใส่ของผู้บริหารทุกระดับ

 


 

รายการสายใย กศน.  วันที่  7  มีนาคม  2554


 

         เรื่อง “ภารกิจวิทยาลัยในวัง”
         ดำเนินรายการโดย นายอิทธิเดช  สุพงษ์
         วิทยากร คือ
         - สุวรรณี  รัตนรอด  รอง ผอ.รักษาการ ผอ.ศูนย์ กศน.กาญจนาภิเษก ( วิทยาลัยในวัง )
         - เสาวณี  รักคง  หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการ
         - เยาวรักษ์  บุญจันทร์  หัวหน้ากลุ่มพัฒนาวิชาการ

         ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก ( วิทยาลัยในวัง ) สังกัด กศน. เป็นสถานศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมไทย ( วิชาชีพช่างสิบหมู่ และ วิชาชีพระยะสั้นเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทยตามวิถีชีวิตของคนไทยในอดีต ในเชิงอนุรักษ์และประกอบอาชีพได้ )   เดิมอยู่ในสำนักพระราชวัง เมื่อมีนักศึกษามากขึ้น สมเด็จพระเทพฯทรงพระกรุณาพระราชทานที่ทรัพย์สินส่วนพระองค์  เลขที่ 301 ม.5 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ สร้างเป็นศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก ( วิทยาลัยในวัง )  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539  มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประสานและส่งเสริมสนับสนุน ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาชีพศิลปะช่างสิบหมู่ให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไป  เพื่อร่วมกับสืบทอดอนุรักษ์งานช่างศิลป์ไทยให้ยั่งยืนตลอดไป    มีการจัดการเรียนการสอนร่วมกับเครือข่าย ภายนอกสถานศึกษาด้วย เช่น เรือนจำ, สถานพินิจ ( ผู้ถูกคุมประพฤติ ), พนักงานธนาคารไทยพาณิชย์, มุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

         เริ่มแรกเป็นการจัดสอนช่างสิบหมู่ ต่อมาเพิ่มหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นอื่น ๆ ( 40, 60 ชั่วโมง ) เกี่ยวกับวิถีชีวิตของหญิงไทยในอดีต เช่น การร้อยมาลัยชาววัง, บายศรีใบตอง บายศรีผ้า, อาหารคาวหวาน อาหารชาววัง ( วิชาอาหารชาววังเป็นวิชาที่โดดเด่นมีผู้สนใจเรียนมาแย่งกันสมัครตั้งแต่ 05:00 น. แต่รับได้ครั้งละ 1 ห้องเรียน 20-30 คน )
         การจัดการศึกษา 2 รูปแบบ
         1. ศิลปะไทยโบราณ ช่างสิบหมู่ ( มีมากกว่า 10 ช่าง ) เช่น ช่างเขียน ( เป็นพื้นฐานของช่างอื่น ๆ ), ช่างรัก ช่างหุ่นหัวโขน ช่างกลึง ช่างบุ ช่างสลัก ช่างปั้น    กลุ่มเป้าหมายมีหลากหลายอายุ หลากหลายชาติพันธุ์ ( ในไทย ) พระภิกษุก็เรียนได้   คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะเรียนคือ ใจรัก + ขยัน  อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี  เรียนฟรีทุกคน  หลักสูตร 800 ชั่วโมง ( 8 เดือน )  จบแล้วจะได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรจากพระองค์ท่าน ซึ่งในวันนั้นจะมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาให้ทอดพระเนตร

         2. วิชาชีพหลักสูตรระยะสั้น ศิลปวัฒนธรรมไทย หลักสูตร 40 ชั่วโมง ( 8 วัน ) หรือ 5 ชั่วโมง ( 09:00-15:00 น. ) เช่น วิชาบรรจุภัณฑ์, อาหาร ( อาหารว่าง, อาหารคาว, ขนมไทย ), ศิลปะการผูกผ้า, เครื่องแขวน, ตกแต่งผลิตภัณฑ์, จัดดอกไม้สด, พับผ้าเช็ดหน้า, ผ้าด้นมือ, ดอกไม้ดินไทยดินญี่ปุ่น

         รวมนักศึกษาเรียนจบไปแล้วประมาณ 12,700 คน

         ผู้สนใจจะเรียน สืบค้นข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของวิทยาลัยในวัง ที่ www.nfe.go.th/0415/   หรือทางโทรศัพท์ 02-4313623-4

 


 

รายการสายใย กศน. วันที่  28  กุมภาพันธ์  2554


 

         เรื่อง “งานวันคล้ายวันสถาปนา กศน. 2554”

         นายอิทธิเดช  สุพงษ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - นายอภิชาต  จีระวุฒิ  เลขาธิการ กศน.


         งานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นงานที่กว้างขวาง กลุ่มเป้าหมายคือคนที่อยู่นอกระบบโรงเรียนทุกคน  ต้องจัดการศึกษาทั้งสายสามัญสายอาชีพและการศึกษาตามอัธยาศัยไปพร้อม ๆ กัน  รัฐบาลมอบหมายให้จัดการศึกษาอีก 3 กลุ่ม คือ
         - เด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน
         - เด็กเร่ร่อน เด็กพิการ ที่ไม่เข้าในระบบ
         - เด็กในวัยเรียนบนพื้นที่สูง 3-4 จังหวัดในภาคเหนือ ที่โรงเรียนในระบบและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทำไม่ได้  ( สอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาภาคบังคับ )


         ประเทศไทยเริ่มงานการศึกษาผู้ใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 กว่า  ถึงวันที่ 22 มี.ค.2522 จึงเป็นกรมการศึกษานอกโรงเรียน  ต่อมาเปลี่ยนเป็นสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน  จนถึงวันที่ 4 มี.ค.2551 ปรับฐานะเป็นสำนักงาน กศน.  ( ยังไม่มีฐานะเป็นกรม แต่เลขาธิการมีฐานะเป็นอธิบดี )   ขณะนี้กำลังจะเสนอกฎหมายยกฐานะขึ้นเป็นกรมเหมือนเมื่อ 22 มี.ค.2522 แต่สังกัด สนง.ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จะเข้าที่ประชุม ครม. หลัง พรบ.เงินเดือนผ่านสภา  ( ตอนนี้กำลังจะมีรองเลขาธิการ 4 คน )


         วันที่ 4 มี.ค. เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงาน กศน.ยุคปัจจุบัน  ขณะนี้ผ่านมา 3 ปี  จะจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นในวันที่ 4 มี.ค.54  ท่าน รมว.ให้ความสำคัญกับงานนี้ ช่วงเช้าจะมอบโล่-เกียรติบัตร 156 ท่าน ที่หอประชุมคุรุสภา,  และเวลา 10:30 น. ทำบุญที่ สนง.กศน.,  เวลา 17:00 น. รับประทานอาหารสังสรรค์กิจกรรมครอบครัว กศน. ที่หน้ากระทรวงฯ

         3 ปีที่ผ่านมา คน กศน. ทุ่มเทการทำงานเกิดประสิทธิผลมาก เกินการลงทุน ได้ผลงานเกินเป้าหมายทุกปี ได้รับการชมเชยจาก ก.พ.ร. และสำนักงบประมาณ  แต่อ่อนด้อยการประชาสัมพันธ์ ในหนังสือพิมพ์มีข่าวประชาสัมพันธ์น้อย  ปีหนึ่งมี 52 สัปดาห์ ควรมี 40 ข่าว/ชิ้น  แต่ปีแรกมี 29 ข่าว ปีที่ 2 มี 30 กว่าข่าว  ปีที่ 3 ลดลง เพราะ รมว.ให้ข่าว กศน.เอง    ข่าวศูนย์วิทย์ฯเป็นรูปธรรมมากกว่า  ข่าว ศฝช.อ่อนด้อยกว่า,   กศน.อ. มีข่าวน้อย   ขอชมเชย กศน.เขตบางกอกน้อยและเขตดุสิต มีข่าวเรื่อย ๆ โดยทำกิจกรรมจริง

         บางหน่วยงาน ข้อมูลในเว็บไซต์ไม่อัพเดท ( กำลังรอดูผลงานนักวิชาการคอมพิวเตอร์ที่บรรจุใหม่ )


         ช่วงต่อไปนี้ ข้าราชการ กศน. จะเกษียณอายุกันมาก   ในวันที่ 1 ต.ค.2560 จะเหลือ 20 % ( อาจเหลือไม่ถึง 1,000 คน )  ต้องสรรหาคนมาเพิ่ม  ( ตอนนี้มีอัตราข้าราชการพลเรือนสามัญว่าง 36 อัตรา จะรับโอนย้ายคนภายใน 12 อัตรา และรับสมัครสรรหา 24 อัตรา )    คนใน กศน. ถูกลดอัตรากำลังมาโดยตลอด เช่นศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาเหลือ 10 กว่าคน   ท่าน รมว. จึงให้ กศน. ทำแผนเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการครู+ข้าราชการพลเรือนสามัญ หนึ่งหมื่นอัตรา ใน 3 ปี  กำลังจะนำแผนฯเข้า ครม.  โดยในปี 2555 จะเพิ่ม 7 พันอัตรา ( บรรจุใหม่ รับสมัครจากพนักงานราชการ กศน. ) ใช้งบประมาณ 1,750 ล้านบาท  เพื่อให้ทำงานที่ได้รับมอบหมายมากต่อไปได้  เช่นงาน กศน.ตำบล 7,409 แห่ง  ซึ่งระยะแรกเป็นอัตราพนักงานราชการ  ถ้าตำบลละ 3 คนจึงจะทำงานได้ดี
         และปีนี้ กศน. ทำโครงการสร้างศูนย์ดาราศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา  จำนวน 4 แห่งใน 4 ภูมิภาค   ภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช ภาคเหนือที่ลำปาง  ภาคอิสานที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา  ภาคกลางที่อยุธยา กำลังเลือกระหว่าง อ.อุทัย กับ อ.พระนครศรีอยุธยา  ( ควรอยู่ใกล้ศูนย์วิทย์ฯ เพราะศูนย์วิทย์ฯเป็นผู้ดูแลบริหาร )  โดยจะมีเครื่องฉายดาว ( ปัจจุบันมีที่ เอกมัย รังสิต และกำลังจะสร้างที่ร้อยเอ็ด   ยังไม่พอบริการ )   ซึ่งก็ต้องใช้อัตรากำลังคน
         การรับสมัครสอบเป็นครูผู้ช่วย มีผู้สมัครรอบแรก 5,800 คน  ขยายเวลารับสมัครในวันที่ 14 โดย กศน.จะทำความตกลงกับ ก.ค.ศ. ให้โอกาสผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แต่มีใบรับรองสิทธิ์ สมัครได้  ( ก.ค.ศ.กำหนดว่า การรับเฉพาะคนภายใน ไม่มีการขึ้นบัญชี )
         นอกจากนี้กำลังมีการสอบคัดเลือก ศน.ส่วนกลาง ประมาณ 10 อัตรา,  ผอ.กศน.อ. ว่าง 94 ตำแหน่ง มีผู้สมัครที่มีคุณสมบัติครบ 100 กว่าคน   และ กศน.จ. กำลังจะได้อัตราข้าราชการพลเรือนอีก  จะรับจากคนภายในตลอด นอกจากสาขาที่คนของเราไม่มี
         สายนายช่าง วุฒิ ปวส. กำลังจะปรับจากนายช่างชำนาญการ เปลี่ยนเป็นนายช่างอาวุโส ( ต้องยุบอัตราบางอัตรา )   ลูกจ้างในส่วนกลางควรไปสมัครสอบที่ต่างจังหวัดให้ได้ก่อน แล้วมาบอก
         ได้รับโทรศัพท์จากครู กศน. ทั่วประเทศ มากกว่ารับจากผู้บริหาร


         ในส่วนของกิจกรรม กศน.  การศึกษาสายสามัญจะยังไม่เปลี่ยนหลักสูตร แต่จะพัฒนาโดย
         1. ประเมินผลโรงเรียนผู้ใหญ่ ( จังหวัดละ 1 แห่ง ) เมื่อนักศึกษาเรียนจบ ( 2 ปี )
         2. การสอบเทียบความรู้หน้าจอ  ใครพร้อมก็สอบได้เลย  ( พัฒนาไปแล้ว 50 % )
         3. บริษัทเอกชนส่งแบบเรียนให้ตรวจและมีจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว 30 บริษัท  ประกอบกับ รมว. ให้ส่วนกลางเป็นผู้กำหนดราคากลาง  ฉะนั้นราคาจะถูกลง  จะใช้วิธีซื้อจากเอกชน หรือจ้างพิมพ์จากแบบเรียนของ กศน. ก็ได้

         4. เพิ่มจุดเทียบระดับความรู้  ถ้าจังหวัดใหญ่เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา จะเพิ่มเป็น 3 จุด ( อาจเป็น ฝาง สีคิ้ว บัวใหญ่ ) เพื่อให้กรรมการไปดูถึงสถานที่ประกอบอาชีพของผู้ที่ขอเทียบระดับได้ ไม่ใช่ดูจากเปเปอร์อย่างเดียว  ( มีการทุจริต ซึ่งผิดทั้งวินัยและอาญา )


         หน่วยงานยังมีการประสานงานในแนวราบน้อย
         งาน Tutor channel คนติดแล้ว ลดการประชาสัมพันธ์ลงได้  ขอบคุณ Tutor ทุกคน และคุณศิริบูรณ์  ณัฐพันธ์ ที่เป็นพิธีกรอย่างเป็นกันเองกับเด็กและเข้ากับท่าน รมว.ได้ดี  ขอบคุณทีมงานศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา
         คาราวานศูนย์วิทย์ฯ ที่สัญจรไปยังที่ต่าง ๆ ได้รับคสามสนใจมาก คุ้ม
         ศฝช. ให้จัดการศึกษาเกษตรธรรมชาติเป็นงานแกนหลัก แบ่งเขตการทำงานกับ กศน.อำเภอ ให้ชัดเจน


         โครงการพิเศษใหม่ สมเด็จพระเทพฯให้ กศน. เข้าไปช่วย ร่วมจัดการศึกษากับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ

         3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนพึงพอใจ กศน. มาก  แต่ยังไม่เพียงพอ โดยรัฐบาลให้ดำเนินการ 30 ล้านคน ภายใน 3 ปี   ครู กศน.ตำบลต้องเดินสำรวจอยู่ในหมู่บ้าน ไม่นั่งรออยู่ใน กศน.ตำบล   ผอ.กศน.อำเภอ ต้องออกนิเทศ กศน.ตำบลมากขึ้น   ปีนี้ได้งบก่อสร้าง กศน.ตำบล 700 แห่ง แต่เริ่มก่อสร้างได้แค่ 100 แห่ง   ปีหน้า รมว.ให้ตั้งงบประมาณก่อสร้างให้ครบทุกตำบล
        

         ช่วงนี้เลขาธิการฯจะไปพบผู้บริหาร (ผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัด ผอ.สถานศึกษาขึ้นตรง รอง ผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัด และ ผอ.กศน.อำเภอ) ในภูมิภาคต่าง ๆ วันที่ 26-27 ก.พ.54 ที่ ภาคเหนือ (โรงแรมอัมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก ),  วันที่ 5-6 มี.ค.54 ภาคกลางภาคตะวันออก ที่กรุงเทพฯ   สัปดาห์ต่อ ๆ ไป คือภาคใต้ที่สุราษฎร์ธานี และภาคอิสานที่ขอนแก่น

         ที่ผ่านมา เลขาธิการ กศน. พูดตามความรู้สึก บางครั้งพูดไม่เพราะ ต้องขอโทษ  หลังวันที่ 4 มี.ค.54 เป็นการทำงานแบบใหม่ ขอ 2 เรื่อง
         1. ความเสียสละ ทำงานเต็มเวลา อย่างน้อย 08:30 - 16:30 น.
         2. ความเต็มใจทุ่มเททำงานราชการ กศน.

         ขอขอบคุณพวกเราทุกคนที่อุทิศเวลา อุทิศกำลังกาย กำลังใจ


หมายเลขบันทึก: 428832เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2011 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

สวัสดีค่ะ อจ.เอกชัย ขอเลื่อยระยะเวลาการส่งผลงานวิจัยหลังสอบ ค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

ยังงงหรือเปล่าค่ะว่ามา  กศน. อำเภอเสนา แล้วลืมอะไรไว้  รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

ขอ "เลื่อย" เวลา ให้มันเหลือสั้นลงหรือครับ
ยังงงอยู่ว่าผมลืมอะไรไว้ ช่วยบอกหน่อยซี
Ico48

ขอบคุณมากค่ะ  ขอนำไปเผยแพร่ต่อนะคะ

ขอบคุณ อ.เอกชัย มากนะคะ ที่สรุปสาระดีๆของรายการสายใย กศน.มาให้รับทราบกัน

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับคุณ modsuperone และ Ico48

ปัญหาที่ กศน. น่าจะเร่งแก้ไข

-หัวหน้า กศน.ต. ยังไม่ลงไปประจำตำบล เกาะอยู่แต่ที่อำเภอ โดยนัดให้ คนในพื้นที่และนักเรียนมาหาที่อำเภอ หากมีเรื่องติดต่อ อ้างว่าต้องทำงานที่อำเภอ ที่ตำบลไม่มีคอม ไม่มีเน็ต ทำงานไม่ได้

-ผอ.ยังใช้งานหัวหน้า กศน.ต. เพราะไม่สามารถใช้ข้าราชการในอำเภอได้ เนื่องจากข้าราชการไม่ชอบผู้บริหาร เลยไม่ทำงานซะงั้น เสียดายเงินภาษีประชาชน

-ครูอาสา ครูศรช. คนเก่าๆ ที่รักองค์กร ทุ่มเท มีฝีมือ มีประสบการณ์เหลืออยู่้น้อยแล้ว คนใหม่ที่รับมาหลายคน ก็ไม่ค่อยจะรักองค์กร และไม่เข้าใจงาน กศน. 

-ครูศรช.เก่งๆ ก็โดนกลั่นแกล้งโดยเด็กนาย

-คนไม่ทำงาน แต่รายงานมั่วๆ ขอไปที ไม่ได้จัดกิจกรรมจริง ก็ยังคงอยู่คู่ กศน. เพราะเป็นเด็กเส้นใหญ่ ผอ.ไม่กล้าทำอะไร

-การนิเทศงานก็มีการแจ้งกันล่วงหน้า ทำให้ได้เห็นแต่  "ผักชี" แล้วจะพบความจริงได้อย่างไร  

ฝากอาจารย์ช่วยผลักดันปัญหาเหล่านี้ให้ผู้ใหญ่ทราบบ้าง  

กศน.จะได้เป็นที่ชื่นชอบจากประชาชน อย่างจริงใจ 

 

โอ.ว..ว... หนักใจครับคุณ "คนวงใน"
ผมก็รู้ปัญหา ผมก็มีปัญหา อ่านข้อความแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจ... ผมไม่มีศักยภาพพอที่จะผลักดันปัญหาเหล่านี้ให้ผู้ใหญ่ทราบหรอกครับ ผู้ใหญ่ก็คิดอีกแบบหนึ่ง
( ผมคิดว่าการมาสะท้อนปัญหาอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน เผื่อจะทำให้มีการคิดแก้ปัญหากันให้ถูกทาง แต่บางคนเขากลับคิดว่าเป็นการประจานให้เสียชื่อ )

สวัสดีค่ะ อจ.เอกชัย ขอเลื่อนออกไปค่ะ ปีนี้เสียใจจังเลยไม่มีวันเกิดเลยต้องรอ ๔ ปีมีหนึ่งครั้ง  ของลืมวันไหน อจ.มาที่ กศน.อำเภอเสนาจะให้ของคืนค่ะ    ขอบคุณมากค่ะที่อนุญาติให้เลื่อนเวลา ..........................    

 

ยี่สิบเก้า กุมภาพันธ์ คือวันเกิด
แฮปปี้เบิร์ท เดย์ ส่งใจให้
ขอมะลิ มีแต่ ความสุขใจ
คิดอะไร ขอให้สม อารมณ์ปอง

( และเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิด ผมขอเลื่อนให้อีก 2 วันเต็มเลยครับ... หึหึ )

เรียน อ.เอกชัย ที่นับถือ

      จากความเห็นของคุณคนวงใน ผมเห็นด้วยมากกว่าไม่เห็นด้วยครับ แต่..อือ..มันยากอย่างที่อาจารย์ว่า...แต่ก็เห็นแนวทางของกศน.ดีใจครับ
      1.เราจะกลับมาเป็นกรมอีกทีนะ(ชื่อ...สำนัก....ยังไงชอบกล ไม่เหมือนกรม ใหญ่ เท่ห์กว่าเยอะ กรมพลศึกษาเขายังกลับมาได้แล้วด้วย..เอ้าลุ้นกันหน่อย)
      2.สเปกสอบครูผู้ช่วย เห็นด้วย รวมกับสอบผอ.อำเภอ เพราะเรา(คนกศน.)โตไม่ทัน

คงทราบกันทุกคนแล้วใช่ไหมครับ Ico48 ว่า เขาเปิดรับสมัครเพิ่ม ทั้งสมัครสอบเป็นครูผู้ช่วย และสมัครสอบเป็น ผอ.กศน.อ. ในวันที่ 14-18 มี.ค.54 โดยให้โอกาสผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯแต่มีใบรับรองสิทธิ์ สมัครได้ด้วย

ครูลักษณ์ กศน.ตำบลเกาะเรียน

       ขอขอบพระคุณอาจารย์เอกมากน่ะค่ะที่นำข่าวสารที่มีประโยชน์มาแจ้งให้ชาว กศน.ได้ทราบกัน

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ ครูลักษณ์

สวัสดีค่ะ อ.เอกชัย สายใย กศน.วันที่ 28 มีนาคม 2554 เรื่อง อะไรค่ะ

วันที่ 28 มีนาคม 2554 ผมไม่ได้ดู เพราะติดประชุมอยู่ต่างจังหวัด จึงไม่รู้ว่าเรื่องอะไร แต่เห็นมีคนบอกว่าเรื่องห้องสมุดนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท