เหมืองฝายล้านนา


การทำเมืองฝายล้านนาผะหญาการจัดระบบน้ำในท้องถิ่น

เหมืองฝายล้านนา  ภูมิปัญญาที่จัดระบบน้ำในธรรมชาติมาใช้ในชีวิตประจำวัน

       ในดินแดนล้านนามีสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นพื้นราบสลับที่สูงเป็นป่าเขา สายน้ำหลั่งไหลไปตามสภาพพื้นที่ผู้คนสมัยก่อนจะขุดร่องน้ำตามกระแสที่ไหลไปตามธรรมชาติ ดังตำราการสร้างเหมือง ฝายคูคลองสมัยพญามังรายมหาราช ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่จะขุดเหมือง พระองค์ได้สั่งให้อำมาตย์ชื่อ   ศรีขุนจุกชาวลัวะ  ให้เฝ้าดูแลสายน้ำหลังฝนตกห่าใหญ่   หากน้ำฝนรวมสายไหลไปทางทิศใดอยู่เสมอๆ บ่อยครั้งจนเป็นร่องน้ำ  พญามังรายทรงสั่งให้ผู้คนขุดเป็นร่องตามสายน้ำนั้นเป็นลำเหมือง   ทำให้สายน้ำไหลเป็นธรรมชาติ  ไม่ท่วมบ้านเมืองเสียหาย

          ต่อมามีการใช้ผะหญาปัญญากั้นแม่น้ำใหญ่เพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้นปล่อยสายน้ำเข้าลำเหมือง   การกั้นแม่น้ำสายใหญ่นี้เองเรียกกันว่าการแป๋งฝาย  หรือการลงฝาย  คือการนำไม้ ก้อนหินมาทำกั้นขวางทางน้ำในแม่น้ำใหญ่แนวไม้แนวหินนี้เองเรียกกันว่า " ฝาย "

          สิ่งสำคัญในการทำฝายคือลูกจั๊กเข้   โดยการนำไม้ไผ่ซาง ไผ่สีสุก มาผ่าทางยาวตลอดเล่มเป็นซี่ๆ แล้วสานให้เป็นรูปจระเข้นำก้อนหินใส่ลงไปแล้วผูกมัดปากให้แน่น  ช่วยกันหามนำลงไปวางที่โคนเสาหลักฝาย  กันน้ำกัดเซาะโคนเสาหล้กฝาย โดยวิธีการนี้ทำให้ฝายแข็งแรง

          สรุปแล้ว  ฝาย คือแนวกั้นแม่น้ำใหญ่เข้าสู่ลำเหมือง

             เมื่อสายน้ำเข้าสู่ลำเหมืองใหญ่ก็ไหลไปตามลำเหมือง  หากที่ใดต้องการให้สายน้ำในลำเหมืองเข้าสู่เหมืองเล็กก็จะทำ  "แต"การทำแตผู้คนจะนำไม้ไผ่ ไม้เสาต่างๆมาปักขวางทางน้ำในลำเหมืองยกระดับผิวน้ำให้เข้าสู่ลำเหมืองเล็ก และมีชื่อเรียกกันไปตาม ผืนนา หรือที่ดินที่แผงแตนั้นอยู่ใกล้ เช่น  แต่ปู่หมื่น  หมายถึงแผงแตที่อยู่ใกล้ผืนนานายหมื่น  เป็นต้น  ทั้งนี้เพื่อใช้เรียกขานให้ผู้คนได้รับทราบสถานที่ให้ชัดเจนจะเป็นประโยชน์ในการซ่อมแซม  เพราะ  แต มักมีหลายๆแห่งในแต่ละลำเหมือง  หากไม่มีชื่อแล้วจะเกิดความสับสน

              เมื่อสายน้ำปะทะแตก็จะยกระดับแล้วล้นท่วมหลังแตไหลต่อไปโดยไม่ขาดสาย  หากที่ใดต้องการน้ำ ผู้คนก็จะสร้างแตกั้นไว้เป็นที่ๆไปตามความต้องการ

    สรุปแนวไม้ที่กั้นลำน้ำในเหมืองใหญ่เรียกว่า  แต 

              เมื่อน้ำจากแตไหลเข้าสู่ลำเหมืองจะเข้าสู่นา   เหมืองที่รับน้ำจากแตนี้เรียกันว่า "เหมืองไส้ไก่"   ซึ่งเป็นลำเหมืองเล็กแยกเป็นสายๆผ่าไปตามผืนนาจุดแยกสายน้ำกั้นในลำเหมืองไส้ไก่เรียกว่า "พุม"อ่านว่า  ปุม

              ปุมคือแนวไม้กั้นน้ำจากเหมืองไส้ไก่เข้าสู่ผืนนาโดยผ่านต๊าง

               ต๊างคือช่องระบายน้ำโดยขุดคันนาเป็นช่องกว้างราว  1ศอกระบบการระบายน้ำเข้านา หรือระบายน้ำออกจากนา เรียกว่า "ข่างน้ำ"การปิดเปิดน้ำที่ต๊างจะใช้ก้อนดินโคลนที่อยู่ใกล้ๆนั่นเอง

                เมื่อน้ำเข้านาเพียงพอแล้วถึงเวลาเกี่ยวข้าวต้องให้ผืนนาหมดน้ำเพื่อจะเดินเกี่ยวข้าวได้สะดวกชาวนาจะทำการ  ยอย  น้ำออกจากนา  หรือบางครั้งมีน้ำในมากเกินความต้องการก็จะยอยหรือทยอยน้ำออกจากนาทีละน้อยๆเพื่อมิให้กระแสน้ำแรงปะทะต้นข้าวเสียหาย

                  หลังจากนั้นจึงทำการเก็บเกี่ยวข้าว หรือทำการเพาะปลูกพืชตามความต้องการ

                    การทำระบบเหมืองฝายเป็นผะหญาภูมิปัญญาล้านนาที่อิงระบบนิเวศน์โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  ขณะเดียวกันผู้คนก็ได้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างคุ้มค่า

                 อย่างไรก็ตามในสมัยพญามังรายมหาราช(สร้างเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.1839) พระองค์ได้ตรากฎหมายเกี่ยวกับระบบเหมืองฝายหรือกฏหมายชลประทานไว้เป็นการป้องกันและบริหารระบบเหมืองฝายให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของพระองค์เรียกกันว่า  มังรายศาสตร์  เช่น  "ผู้ใดใสแพล่อง ถิ้มถูกฝายหลุ(พัง)หื้อมันแปลงแทนหรือมันแปลงบ่ได้  ฝายใหญ่เอาค่า  110 เงิน  ฝายหน้อยเอา 32  เงิน เพราะว่าเหลือกำลังมันนา "  เป็นต้น

                   นอกจากกฏหมายพญามังรายจะรักษาฝายแล้ว ยังมีระบบความเชื่อเกียวกับผีฝาย ผู้คนจะสร้างหอผีฝายใกล้ๆกับปากลำเหมืองใหญ่   เพื่อให้เจ้าที่เจ้าทางผีฝายรักษาฝาย มิให้คนไปทำลาย

                  เมื่อถึงเวลาที่จะร่วมกันทำนา ผู้คนที่ใช้สายน้ำร่วมกันนับเป็นร้อยเป็นพันคนจะมาร่วมเลี้ยงผีฝายเป็นประเพณีใหญ่  มีหมอหรือปู่จารย์เป็นผู้กระทำพิธี  การเลี้ยงผีฝายบางแห่งจะล้ม ควาย วัว เลี้ยงกัน พร้อมกับผู้คนจะซ่อมแซมฝาย ให้ดีกั้นน้ำได้มากตามต้องการ  การป้องกันหอผีฝายกฎหมายพญามังรายกล่าวไว้ เช่น   ผู้ใดสะหาวตีหอบูชาผีฝายท่านเสีย ต้องถือว่าผิดผีฝาย      หื้อมันแปลง(สร้าง)หอบูชาดั่งเก่า  แล้วหิ้อมันแต่งเครื่องบูชาบริกรรมหื้อชอบ  แล้วหื้อมันแปลงฝายไว้ดั่งเก่า "

                 ระบบเหมืองฝายล้านนาเป็นการจัดการน้ำส่งน้ำไปตามที่ๆต้องการ สายน้ำที่ไหลผ่านตามที่ต่างๆจะแทรกซึมไปตามสองข้างลำเหมือง  ดังนั้นบ้านเมืองล้านนาสมัยก่อนเราจะเห็นทิวไม้สวยงามเขียวขจีเป็นทิวแถวตามสายน้ำลำเหมือง  ผู้คนสองข้างลำเหมืองจะใช้น้ำอาบ ดื่มได้อย่างไม่กังขา ไม่รังเกียจ เพราะไม่มีสารพิษแต่อย่างใดเหมืองประวัติศาสตร์ล้านนาเรียกว่า" เหมืองแก้ว" หรือเหมืองวังลาวเป็นเหมืองที่พญามังรายสร้างกลศึกให้อ้ายฟ้าเป็นไส้ศึกอยู่ในเมืองหริภุญไชย(ลำพูน)เกณฑ์ผู้คนเมืองลำพูนมาขุดลำเหมืองจากแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออกเมื่อ  พ.ศ.  1824 ( ปัจจุบันอยู่บ้านป่าไผ่  ต.เหมืองแก้ว  อ.แม่ริม  จ.เชียงใหม่) การทำเหมืองดังกล่าวทำให้ชาวลำพูนได้รับความทุกข์ยากลำยากมากเพราะเป็นหน้าแล้งแผ่นดินแข็ง อ้ายฟ้าอ้างว่าเป็นคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้ผู้คนเกลียดพระเจ้าแผ่นดินเมืองลำพูนขณะนั้น  เมื่อเกิดความแตกแยกในสังคมอ้ายฟ้าส่งสายลับทูลพญามังรายตีเมืองลำพูนจนสำเร็จ  เหมืองดังกล่างจึงเป็นเหมืองประวัติศาสตร์ล้านนา  หากไม่มีเหมืองนี้เมืองล้านนาอาจไม่เกิดขึ้นต่อมาจนปัจจุบัน

                 ปัจจุบันมีระบบชลประทานเข้ามาแทนที่  ระบบเหมืองฝายมีการฉาบซีเมนต์รองสองข้างฝั่งลำเหมืองมิให้น้ำแทรกซึมได้ดังเก่า ต้นไม้เฉาตายเป็นสายๆ  ผู้คนสองฝั่งเหมืองไม่สามารถทดน้ำเข้าที่ตนเองได้เพราะข้างเหมืองเป็นปูนซีเมนต์แข็ง  การปล่อยน้ำจะมีช่องที่ปล่อยเป็นแห่งๆ  ทำให้ระบบชีวิตของผู้คนใกล้เหมืองฝายเปลี่ยนไป



ความเห็น (4)

ผมขออนุญาติ เรียกอาจารย๋นะครับ

ผมเองกำลังทำงานวิจัยกฎหมายอันเกี่ยวกับ

สิทธิชุมชนกับการสร้างฝายต้นน้ำลำธาร

กรณีศึกษา กฎหมายมังรายศาสตร์

ขออนุญาตินำบทความและความรู้ที่ได้จากการ

ศึกษานี้ไปใช้เขียนในงานของผมด้วยนะครับ

และหากจะขอเรียนปรึกษาด้วยนะครับ หากมีข้อสงสัยครับ

ด้วยความเคารพ

ยินดีครับ....คุณคณาภรณ์ที่จะนำเอาข้อมูลไปใช้เป็นประโยชน์ทางการศึกษา...

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน..พรหมมา

พระพิชิต ปญญาวชิโร

พระขอขอบคุณโยมที่ให้ข้อมูลมาทำรายงานเกี่ยวกับเหมืองฝาย

สวัสดีค่ะ คุณลุงหนาน หนูขออนุญาตินำบทความและความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ ในจดหมายข่าวของหน่วยงาน นะคะ หนูเป็นคนเหนือแท้ แต่เรื่องเหมืองฝายยังไม่เข้าใจแท้ หาข้อมูลเรื่องเหมืองฝายล้านนาจากหนังสือ แต่ก็ไม่เจอเพราะเคยอ่านนานมากแล้ว ในอินเตอร์เนตก็พบว่ามีแต่คนภาคอื่นเขียน ซึ่งไม่ใช่อย่างที่หนูเคยสัมผัสได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ๆ จนมาพบบทความของคุณลุงหนาน และสมัครสมาชิกเมื่อครู่ เพื่อเข้ามาขออนุญาตินำข้อมูลของคุณลุงไปใช้ในงาน และหวังว่าจะได้เข้ามาหาความรู้ในนี้บ่อยๆค่ะ

หนูขอขอบพระคุณคุณลุงหนานที่เมตตาถ่ายทอดเรื่องราวผญ๋าล้านนา ให้คนรุ่นหลังได้หาความรู้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท