เรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว


   เวทีคนหนองบัว : เวทีของคนทั่วไปทุกคน   

      เวทีนี้เป็นเวทีเรียนรู้สร้างพลังภาคพลเมืองเพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมและสร้างการมีประสบการณ์ทางสังคมอย่างมีความหมายต่อตนเองสำหรับผู้สนใจทุกคน จิตสาธารณะ ความสำนึกและความตระหนักรู้ของพลเมืองต่อการร่วมทุกข์สุขของผู้คนในสังคม เป็นองค์ประกอบด้านการเรียนรู้ของมนุษย์ที่ต้องมาจากการมีประสบการณ์ทางสังคมทางใดทางหนึ่ง ยิ่งเข้มข้นและเป็นประสบการณ์ตรงจากการได้มีส่วนร่วมทางการปฏิบัติที่มีนัยยะต่อการเรียนรู้ทางสังคมมากเพียงใด รูปการณ์จิตสำนึกก็ยิ่งแจ่มชัด เป็นตัวของตัวเอง และพลังจิตสำนึกสาธารณะก็จะยิ่งมีพลังมากเป็นทวีคูณเพียงนั้น  ซึ่งพลังชีวิตที่ออกมาจากจิตใจของปัจเจกที่โน้มนำด้วยความมีจิตสำนึกสาธารณะ ก็จะทำให้คนและชุมชนเป็นปัจจัยการแก้ปัญหาที่สร้างความสมดุลระหว่างจุดหมายเพื่อส่วนตนของปัจเจกกับความจำเป็นเพื่อส่วนรวมที่ทรงพลังที่สุด ที่สำคัญคือประสบการณ์ทางสังคมเพื่อสร้างเสริมจิตสำนึกพลเมืองในวิถีดังกล่าวนี้เราสามารถเลือกสรรและสร้างได้โดยวิถีแห่งปัญญา เห็นวิกฤติและความจำเป็นในการทำเหตุปัจจัยเพื่อสิ่งดีด้วยความรู้และวิถีแห่งปัญญา โดยไม่ต้องรอให้ปัญหาที่เราสนใจได้เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงค่อยคิดปฏิบัติแบบตั้งรับ ก็ได้

  สร้างสุขภาวะสังคมผ่านสร้างพลังเครือข่ายปัจเจก ครอบครัว ชุมชน กลุ่มประชาคม 

       ส่งเสริมการพัฒนาความมีจิตสาธารณะของพลเมืองให้เป็นการร่วมสร้างสุขภาวะสาธารณะที่สะท้อนอยู่ในการดำเนินชีวิต การงาน และการทำมาหากินของชาวบ้าน สืบทอดทุนทางสังคมของหนองบัวและเป็นฐานความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งของท้องถิ่น สังคมไทย และอนุภูมิภาคอินโดจีน

                         

                         

  แปรวิกฤติชุมชนให้เป็นโอกาสสร้างสรรค์  

        ร่วมกันค้นหา บ่มเพาะ เชื่อมโยงลูกหลานคนหนองบัว ศิษย์เก่าของโรงเรียนประจำอำเภอและสถานศึกษาในท้องถิ่น รวมทั้งคนย้ายถิ่นจากหนองบัวไปทำงานและตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อื่น ให้เป็นพลังสร้างสรรค์ สร้างคนหนองบัวและทุนทางสังคมของอำเภอหนองบัว ให้เป็นโอกาสและทางเลือกที่สำคัญต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของชุมชนอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

       ทั้งนี้ โดยเน้นสิ่งที่ประชาชนและปัจเจกจะสามารถมีส่วนร่วมได้โดยสะท้อนสู่การปฏิบัติ เพื่อเป็นพลเมืองที่ได้ร่วมส่งเสริมสุขภาวะชุมชน พร้อมกับได้เข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ซึ่งทำให้ได้พัฒนาตนเองและมีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตตนเองไปด้วยอยู่เสมอ                      

                

  จุดหมายและเจตนารมย์เวที        

     จุดหมายของเวที มุ่งระดมพลังความมีจิตสาธารณะของประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อเรียนรู้การมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการ สู่โอกาสและทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีสุขภาวะของชุมชนระดับต่างๆอย่างเป็นองค์รวม ของคนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

  • พัฒนาเครือข่ายเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นของชุมชนหนองบัวอย่างผสมผสาน ที่เป็นทุนทางสังคมในทุกด้านของท้องถิ่นที่เอื้อต่อโอกาสและทางเลือกการพัฒนาที่เข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งต่อสภาวการณ์ปัจจุบันและในอนาคต
  • บันทึกประสบการณ์และรายงานบทเรียนจากภาคปฏิบัติ เพื่อสะสมบทเรียนและตกผลึกภูมิปัญญาที่ก่อเกิดจากการปฏิบัติในบริบทของท้องถิ่น ให้สะท้อนทั้งความเป็นท้องถิ่นและความซับซ้อนของสังคมในวงกว้าง
  • สื่อสารเรียนรู้ เผยแพร่ และถ่ายทอดสิ่งดีของชุมชนอำเภอหนองบัว สู่สังคมภายนอก สร้างเครือข่ายสื่อเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งทางความรู้และข้อมูลข่าวสาร ส่งเสริมการพัฒนาการอ่าน การเขียน และการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้สาธารณะ  ขยายผลแหล่งการเรียนรู้ที่ส่งเสริมบทบาทชาวบ้าน ผสมผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้งของท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างเหมาะสม พอเพียง มีคน ครอบครัว ชุมชน และการปฏิรูปตนเองของท้องถิ่น เป็นศูนย์กลาง
  • เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Virtual Learning Community) และ มหาวิทยาลัยเสมือนจริงของชาวบ้าน (Virtual University for Nong-Bua Development Community) พัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองให้สอดคล้องกลมกลืนกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อม  แลกเปลี่ยนถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยีที่เหมาะสมและพอเพียงระหว่างชุมชนกับโลกภายนอก สร้างพลังทางปัญญาและพลังความรู้ของชาวบ้าน สร้างคนและกลุ่มปฏิบัติการเรียนรู้ของประชาชน สร้างความตื่นตัวและพัฒนาภาวะผู้นำของภาคพลเมืองเพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโอกาสและทางเลือกของสังคมที่หลากหลาย
  • เป็นเวทีรองรับนักวิชาการและนักพัฒนาทุกสาขาทั้งในและต่างประเทศที่เป็นศิษย์เก่าและลูกหลานคนหนองบัว เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับคนท้องถิ่นหนองบัวตามความสนใจ ในการวิจัย พัฒนา สื่อสารขยายผล สร้างพลังทางปัญญาและเลือกสรรค์การเปลี่ยนแปลงที่พึงประสงค์กับชุมชน
  • แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเป็นที่ปรึกษาหารือทางวิชาการเพื่อการพัฒนากับชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมด้วยจิตสาธารณะของปัจเจกและการรวมกลุ่มทำงานด้วยจิตอาสาของชาวบ้านเพื่อสร้างสุขภาวะของสาธารณะและพัฒนาตนเองตลอดชีวิต
  • เปิดโอกาสเพื่อร่วมกันสร้างบรรยากาศและความเคลื่อนไหว สู่การเฉลิมฉลอง ๕๐ ปี หรือกึ่งศตวรรษของโรงเรียนหนองบัว ในปี ๒๕๕๓ จากบัดนี้เป็นต้นไป
  • เป็นเวทีสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และติดตามเรื่องราวต่างๆ ของหนองบัวสำหรับชาวหนองบัวที่ย้ายถิ่นไปทำงานทั่วประเทศและในต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องราวความเคลื่อนไหวของคนหนองบัวที่ไกลบ้าน ไปทำงานและตั้งหลักแหล่งที่อื่น ที่อยากบอกกล่าวและสื่อสารให้ญาติพี่น้องและชุมชนได้ทราบข่าวคราว

  รูปแบบเวทีพลเมืองเพื่อเชื่อมโยงกับการวิจัยพัฒนาสังคมในบริบทใหม่ๆ  

      รูปแบบของเวที เป็นเวทีเสวนาความรู้และสร้างการเรียนรู้เพื่อนำการเปลี่ยนแปลงของชาวบ้าน (Civic Forum for Learning and Change) ที่ช่วยกันทำด้วยความมีจิตอาสา ริเริ่มโดยกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เป็นคนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ทำไปตามความพร้อมและตามความสมัครใจ ผสมผสานการเรียนรู้และสร้างความรู้ท้องถิ่นกับการสื่อสารและการจัดการความรู้โดยเครือข่ายความรู้จากทางไกลผ่านเว็บบอร์ด GotoKnow ในระยะแรกเป็นการระดมความสนใจอย่างทั่วไปและในอนาคตอาจพัฒนาสู่รูปแบบเครือข่ายวิจัยและพัฒนาในแนวประชาคม ของชุมชนเสมือนจริงซึ่งเน้นชุมชนฐานรากเป็นตัวตั้ง

 เชิญแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมโยงชุมชนที่สนใจคล้ายกันอย่างไร้พรมแดน 

      คำเชิญชวน ขอเชิญคนหนองบัวทุกท่านทั้งที่อยู่ในหนองบัวและทั่วประเทศ รวมทั้งทุกท่านจากแหล่งต่างๆทั่วประเทศ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นคนหนองบัว ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาวะสาธารณะระดับชุมชน ที่เน้นโอกาสและทางเลือกการพัฒนาทีเข้มแข็งและยั่งยืน ได้ใช้เวทีนี้ให้เป็นหนทางการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกท่านไปตามอัธยาศัย ท่านผู้รู้ที่ถ่ายทอดประสบการณ์และให้ข้อชี้แนะแก่ชุมชนได้ ชาวบ้าน นักวิชาการ นักพัฒนาองค์กรเอกชน และกลุ่มประชาคม ที่มีประสบการณ์แบ่งปันให้แก่คนหนองบัวได้ ก็ขอเรียนเชิญครับ.

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                      บันทึกเพื่อการรำลึกถึงและเป็นหมายเหตุการก่อเกิดเวทีแบบช่วยกันทำตามความสะดวกแห่งนี้                            

  • ชื่อบล๊อก : เวทีพลเมือง : เรียนรู้และสร้างสุขภาวะหนองบัวให้เข้มแข็งและยั่งยืน
  • ที่อยู่ : http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/295169 
  • กลุ่มคนผู้ริเริ่มและเสนอความคิด ซึ่งขอกล่าวถึงให้เป็นการรำลึกถึงและแสดงความเคารพในความคิดริเริ่มกันไว้ คือ พระมหาแล อาสโย(ขำสุข) | คุณเสวก ใยอินทร์ | กลุ่มพริกเกลือซึ่งเป็นการค่อยๆรวมตัวกันของศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองบัว คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ครูอัตราจ้างของโรงเรียนวัดเทพสุทธาวาส อำเภอหนองบัว คุณพีรณัฐ
  • เครือข่ายที่ปรึกษาทางวิชาการเบื้องต้น : คุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประชากรศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล | ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล | รองศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว | อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ อำเภอหนองบัว | อาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงเรียนหนองบัว | คุณครูวัชรี โชติรัตน์ โรงเรียนเทศบาล ๔ (เชาวนปรีชาอุทิศ) นครปฐม | อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ | คุณเริงวิชญ์ นิลโคตร สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล l รองศาสตราจารย์ ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร มหาวิทยาลัยนเรศวร l นายแพทย์สมพงษ์ ยูงทอง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ l ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นคร เหมะ รองอธิการบดี ฝ่ายวิทยาเขต มหาวิทยาลัยมหิดล l ประเวศ รักษพล อัยการศาลปกครอง ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว l พีระ คำศรีจันทร์ นักวิชาการพัฒนาชุมชน ชำนาญการ สพช.อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว l ปริญญารัตน์ แซ่แต้ คนหนองบัว ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว l นิจ เพชรคง วิศวกรโยธา กรมพัฒนาทางหลวงชนบท ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว l อาจารย์ขจิต ฝอยทอง Ph.D.Candidate ทุนพัฒนาอาจารย์สาขาขาดแคลน คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน l ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐพงศ์ พร้อมจิตร Ph.D.Candidate ประธานสภาคณาจารย์ เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน l อาจารย์กู้เกียรติ ญาติเสมอ สถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

                                 ลิ๊งค์และเครือข่ายข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ (คลิ๊กลงไปบนชื่อข้อความได้เลยครับ)                                

                            ห้องย่อยและแนวปฏิบัติเพื่อเสริมความเข้มแข็งของนักวิจัยชาวบ้านและนักเรียนรู้ชุมชน                           

ห้องย่อยนี้ จะรวบรวมความรู้ เทคนิคเครื่องมือ กระบวนการ และวิธีการพัฒนาตนเอง เพื่อเสริมกำลังแก่นักวิจัยชาวบ้าน นักเรียนรู้ชุมชน และคนสร้างความรู้จากการดำเนินชีวิตและจากการมีส่วนร่วมการพัฒนาสุขภาวะในท้องถิ่นตน ท่านพระมหาแล อาสโย ท่านเสนอแนะไว้หลายเรื่องที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนหนองบัว ให้สามารถเรียนรู้และนำไปทำประโยชน์ได้เองของชาวบ้าน เลยนำมารวบรวมไว้นำร่องไปก่อน เพื่อจะได้ช่วยกันรวบรวมมาเก็บไว้ให้สะดวกต่อการที่คนทั่วไปจะนำไปใช้มากๆขึ้นในภายหลังต่อไปครับ.

             เครือข่ายเพื่อเรียนรู้สู่ทางเลือกและความหลากหลายของการพัฒนาเพื่อความเข้มแข็งและความยั่งยืนของชุมชน            

  • โรงเรียนอนุบาลพลอยภูมิ  โรงเรียนวิถีพุทธและการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติเพื่อการพัฒนาอย่างสมบูรณ์พร้อมของมนุษย์
  • โรงเรียนนานาชาติเมธาสคูล META International School โรงเรียนนานาชาติที่มุ่งการบ่มสร้างผู้ประกอบการและผู้นำรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำในอนาคตเพื่อนำการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมสู่ทางเลือกที่ยั่งยืนของสังคมไทยในเวทีนานาชาติ
  • ชมรมชีวเกษม การรวมกลุ่มเรียนรู้สร้างสุขภาพแบบองค์รวม
  • ทุ่งสักอาศรม โรงเรียนและค่ายกวีของครูกานท์ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูติ ตั้งอยู่ที่อำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี เน้นการเรียนรู้อย่างบูรณาการโดยใช้การเรียนอ่าน เขียน คิด ประพันธ์ ใช้ชีวิต ทำกิจกรรม อยู่กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาวนา กลุ่มเป้าหมายเน้นกลุ่มเด็กและเยาวชนชนบท ครูภาษาไทย  ครูและกลุ่มอาสาสมัคร เด็กด้อยโอกาส ชาวเขา นักคิดและนักพัฒนาแนวทางเลือก
  • ไร่คุณมน เป็นแหล่งการรวมกลุ่มเรียนรู้และพัฒนาผลผลิตเพื่อทางเลือกที่ยั่งยืน ของกลุ่มแม่บ้านชาวบ้าน และเกษรตกร นำโดย คุณมนรัตน์ สารภาพ ครูภูมิปัญญาไทย  เน้นกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ การทำผลิตภัณฑ์ซึ่งเน้นการใช้แรงคนและการพึ่งเทคโนโลยีที่พอเพียงสำหรับชาวบ้าน อยู่ที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี

  .       .       .             .       .       .       .           ข่าวประชาสัมพันธ์         .       .       .             .       .       .       .    

                                                    ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวและชาวหนองบัว                                                             

   สู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว   

  • โรงเรียนหนองบัว เริ่มก่อตั้งและจัดการเรียนการสอนเมื่อปี ๒๕๐๓ โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) หรือในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) ในปี ๒๕๕๓ นี้ โรงเรียนหนองบัวจึงก่อตั้งมาได้กึ่งศตวรรษ หรือ ๕๐ ปีแล้ว
  • ต่อมา ในปี ๒๕๐๘ ก็ได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่หนองคอก อันเป็นที่ตั้งในปัจจุบัน

                                    ลูกหลานชาวหนองบัวที่สนใจสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยมหิดลระบบโควตา                                    

                                                                ขอขอบคุณผู้มีอุปการคุณ                                                                 

        การจัดภาพประกอบของบล๊อกและตัวหนังสือกราฟิคคอมพิวเตอร์บนภาพ ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณครูวัชรี โชติรัตน์ โรงเรียนเทศบาล ๔ (เชาวนปรีชาอุทิศ) อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

                   คำหลักเพื่อใช้ค้นหาและช่วยให้มองเห็นเวทีคนหนองบัวนี้ ด้วย google และ search engine ต่างๆ                

 พิมพ์คำเหล่านี้ลงไปครับ : คนหนองบัว | เวทีคนหนองบัว | เวทีพลเมืองหนองบัว | เวทีประชาคมหนองบัว | อำเภอหนองบัว

หมายเลขบันทึก: 295169เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2009 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1,726)

ผมขอยกมือไปร่วมด้วย และขอเรียนรู้ด้วยครับ

งั้นขอใส่ไว้ท้ายบันทึกเลยนะครับ ทางสมาชิกเขาเคยขอให้คุณจตุพรเป็นที่ปรึกษาให้อยู่น่ะครับ เป็นคนชนบทเหมือนกัน รวมทั้งอีกหลายท่านที่ทางชุมชนได้กล่าวถึง คือ อาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง และอาจารย์ณัฐพัชร ทองคำ รวมทั้งท่านอื่นๆด้วยครับ หากเห็นว่าเรียนรู้กับชุมชนและร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมขนได้ ก็ขอเรียนเชิญครับ

http://gotoknow.org/blog/watchareeya/295120

รุ่นน้องเพาะช่างทำงานร่วมกับวัด...เพื่ออนุรักษ์สิลปะไทยลายรดน้ำค่ะ..

แก้ไข ศิลปะไทยลายรดน้ำค่ะ

  • สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก นึกถึงคุณครูอ้อยเล็กอยู่พอดีเลยนะครับ ว่าจะขอสักหน่อยหนึ่ง จะรบกวนไปมากไหมเนี่ย
  • คุณครูอ้อยเล็กว่างตอนไหน ทำตัว Caption ซ้อนลงไปบนภาพ อย่างคุณครูอ้อยทำในของตัวเองได้ไหมเนี่ย
  • ข้อความแบบหัวนั่นเลยครับ เวทีพลเมือง : เรียนรู้และสร้างสุขภาวะหนองบัวให้เข้มแข็งและยั่งยืน
  • หากได้นะก็จะขอเปลี่ยนเป็นรูปของบล๊อกแทนรูปเดมเลยละครับ
    • โอ้วว เวทีนี้คึกคักนะค่ะ ดีใจด้วยค่ะอาจารย์วิรัตน์
    • งั้น คงไม่ต้องการหน้าม้าอย่างเราแล้วหล่ะมั๊ง ฮ่า

                                

     

    ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็ก แทนกลุ่มคนหนองบัวที่ช่วยกันริเริ่มเวทีคุยและเสวนากันนี้ขึ้นมาครับ ที่ช่วยทำตัวหนังสือบนภาพหัวข้อที่ใช้เปิดหัวข้อเวทีพลเมืองนี้ครับ แล้วก็ขออนุญาต เอารูปอื่นๆใน dialogue box ที่ผ่านมา ออกนะครับ

    • ต้องการครับอาจารย์ณัฐพัชร์ อาจารย์ณัฐพัชร์ทำเรื่องชุมชนเยอะ แล้วก็ศึกษาเรื่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นด้วย คงคุยกับคนหนองบัวหลายคนได้ดีครับ

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีแทนชาวอำเภอหนองบัวด้วยที่มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แห่งใหม่เกิดขึ้นมาสำหรับชุมชนคนหนองบัว กับชุมชนอื่น ๆ
    • รู้สึกตื่นเต้นจังเลย(พูดเหมือนผู้เข้าประกวดการแข่งขันความงามอะไรสักอย่างหนึ่งเลยเนาะ)
    • ยินดีต้อนรับและอนุโมทนาขอบคุณที่ปรึกษาทางวิชาการคุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร รองศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ อาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ อาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง อาจารย์ณัฐพัชร ทองคำ
    • คุณเสวก ใยอินทร์ กลุ่มพริกเกลือ คุณครูเอนก คุณพีรณัฐ
    • และโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์  คำศรีจันทร์  ผู้เป็นโต้โหญ่แม่งานในทุก ๆ ด้าน
    • ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กด้วยที่ช่วยจัดตัวหนังสือซ้อนลงภาพได้สวยงามจัง
    • หวังว่าเวทีน้องใหม่นี้จะเป็นที่ขอแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์กับชุมชนอื่น ๆ อย่างกัลยาณมิตรกับทุก ๆท่านแบบพี่แบบน้องต่อไป

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • ดูจากรายชื่อผู้ริเริ่มเวทีนี้แล้ว ดิฉันขอเป็นผู้เข้าร่วมเรียนรู้จากทุกท่านที่มีประสบการณ์อันโชกโชนจะดีกว่าค่ะ
    • อย่างไรขอขอบพระคุณอาจารย์วิรัตน์ และขอแสดงความยินดีกับชาวหนองบัว และเวทีสาธารณะที่ก่อเกิดในวันนี้ค่ะ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • อาตามภาพขออนุโมทนาขอบคุณเพิ่มเติมต่อท่านผู้มีน้ำใจที่มีส่วนช่วยงาน ดังนี้
    • คุณครูวัชรี โชติรัตน์ และคุณเริงวิชญ์ นิลโคตรเป็นอย่างมาก

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • กราบอาราธนาพระคุณเจ้าและทุกท่านเสวนา รวบรวมข้อมูล ถ่ายทอดประสบการณ์ ชวนมอง ร่วมกันสร้างและเขียนความรู้ ไปตามอัธยาศัยครับ
  • อยากให้เป็นเวทีที่สบายๆ ทำงานความคิดและตกผลึกประสบการณ์ให้ได้ความคิดที่แยบคาย ลุ่มลึกไปตามกำลัง เรียนรู้และพัฒนาให้เติบงอกงามไปเรื่อยๆครับ
  • ข้อมูลและการเสวนาบางส่วนในหัวข้อของท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย คุณเสวก ใยอินทร์ และกลุ่มพริกเกลือ ผมได้ลิ๊งค์ไว้แล้วนะครับ ท่านที่สนใจเข้าไปได้ในลิ๊งค์ข้างล่างที่ dialogue box แรกของหัวข้อกระทู้ ในบันทึกนี้เลยครับ
  • อยากจะเชิญแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างความรู้จากประสบการณ์ เน้นจากประสบการณ์และมุมมองของทุกท่านครับ เพราะจากแหล่งอื่นคงหาได้อยู่แล้ว
  • สุขภาวะของชุมชนหนองบัวที่พึงประสงค์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ควรจะเป็นอย่างไร ก่อเกิดขึ้นได้อย่างไร เราชาวบ้าน-ชาวเมือง คนหนองบัว รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ทำอะไรด้วยกันได้บ้าง เราควรจะต้องรู้และสร้างความรู้อะไรกันก่อนไหม ความรู้เรื่องราวต่างๆที่ว่าเป็นอย่างไร ?
  • เริ่มต้นตรงนี้ก่อนก็ได้ครับ แล้วค่อยช่วยกันสกัดประเด็น-หัวข้อคุย ให้สนุกขึ้นมาเรื่อยๆครับ
  • แต่นี่ก็เกริ่นนำร่องเฉยครับ คุยไปเรื่อยๆ ให้จิตใจปล่อยวาง มีความสบายและความโปร่งใจเป็นฐานไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อยหาประเด็น สกัดขึ้นมาทีละนิด จะดีครับ สิ่งที่ตามมามันจะกลายเป็นภาคขยายและรายละเอียดที่อยู่บนฐานของความมีจิตวิญญาณที่ดี  ไม่กวัดแกว่ง ไม่ติดกรอบ และมีความวางใจรอบข้างได้สูงครับ
  • สาธุค่ะพระอาจารย์...มหาแล ขำสุข (อาสโย)

    รูปแบบการตั้งหัวข้อแล้วเขียน-สนทนา

    • รูปแบบการสนทนาและถ่ายทอดข้อมูล-ความรู้เก็บไว้ของพระคุณเจ้าเมื่อตอนต้นๆนั้น ใช้เป็นแนวคุยกันในเวทีนี้ก็เหมาะสมดีมากนะครับ
    • รูปแบบและวิธีการคือ อยากสนทนาและอยากเปิดประเด็นเขียนอะไร ก็ตั้งหัวข้อขึ้น .. เช่น สุขภาวะของชุมชนอยู่ที่เศรษฐกิจพอเพียงของครัวเรือน / การศึกษาเพื่อคนขาดโอกาสของหนองบัว / สื่อและวิทยุชุมชนเพื่อเรียนรู้พัฒนาสุขภาวะหนองบัว / การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนของหนองบัวโดยชาวบ้าน ฯลฯ
    • จากนั้นก็สร้างเนื้อหา ทั้งจากถ่ายทอดคำบอกเล่าของคนท้องถิ่น เรียบเรียงจากเอกสารและหลักฐานเท่าที่เข้าถึงได้ เขียนจากประสบการณ์ ความทรงจำ และคิด-ให้ทรรศนะออกจากตนเอง
    • อีกรูปแบบหนึ่งคือสนทนาสื่อสารและตอบโต้ ถาม-ตอบ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความรู้ต่อเติมข้อมูลกันและกัน
    • อีกรูปแบบหนึ่งคือ วาดรูป ถ่ายรูป แล้วเอารูปภาพหรือสิ่งของที่มีในท้องถิ่นมาแสดง แล้วก็คุยให้ข้อมูลหรือสร้างความรู้ ถ่ายทอดไปตามเรื่องที่เกี่ยกับภาพและสิ่งนั้นๆ
    • อีกรูปแบบคือ ดึงประเด็นของท่านอื่นออกมาแลกเปลี่ยนและเติมประเด็นด้วยทรรศนะและข้อมูลที่เรามี

    รูปดอกบัวฉัตรขาวรูปนี้ของคณครูอ้อยดูอย่างไรก็สวยงามมากนะครับ ได้บรรยากาศของคนหนองบัวเลย เมื่อก่อนนี้ในสระวัดหนองกลับมีบัวหลวงและไหลบัวอยู่มากมายครับ พอน้ำแห้งขอด ชาวบ้านก็จะลงไปขุดก้นบ่อทำน้ำบ่อทราย และขุดราก-เหง้าบัว มาทำอาหาร-ขนม-ยาสมุนไพร

    • อ่ะ แฮ่ม ... ก่อนเริ่มสนทนา ดื่มน้ำชา กาแฟก่อนนะค่ะ
    • แล้วแต่ถนัดค่ะ ต้องการน้ำชา กาแฟรสชาติแบบใด แก้วลักษณะไหน หรือจะถือมาเอง มานั่งร่วมวงสนทนากันก็ได้ค่ะ
    • เชิญ ค่ะเชิญ (ทำตัวเหมือนเจ้าของบ้านเลยแหะ) ^^
    • ((กำลังดื่มกาแฟหลวงพ่อซอน)) ^^"

     

    สวัสดีครับ ยินดีด้วยนะครับสำหรับ รางวัล Best Blog Of the month

    ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ สงสัยกำลังสะสมแนวทำร้านกาแฟของตัวเองด้วยหรือเปล่าครับเนี่ย

    ขอบคุณครับ อาจารย์ ดร.รุจโรจน์ อาจารย์และคณะสบายดีนะครับ

    ความจริงหนองบัวนครสวรรค์ไม่ไกล จากพิษณุโลกเท่าไหร่ ทำอย่างไร คนวัดโบสถ์จะได้ไปเรียนรู้ด้วยครับ

    ชอบอ่านบันทึกของอาจารย์ทุกสำนวนคะ

    ประเทืองปัญญาและได้นิยามศัพท์ใหม่ๆในคลังสมองคะ

    • สวัสดีครับอาจารย์ ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร
    • ยิ่งออกจากหนองบัวแล้วก็ไปพิษณุโลกถิ่นอาจารย์นั้น ยิ่งใกล้มากครับ สภาพสังคมและสภาพแวดล้อมต่างๆของท้องถิ่นหลายอย่างก็ใกล้เคียงกันมากนะครับผมว่า คนทำงานในหนองบัวและนครสวรรค์เป็นจำนวนมากก็ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเนรศวรนั่นแหละครับ อันที่จริง การพัฒนาด้านการศึกษา การวิจัย และสถาบันการศึกษาในขั้นสูงแถวๆภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนนั้น ในบางด้าน มหาวิทยาลัยเนรศวรกับมหาวิทยาลัยมหิดล ควรได้มีโอกาสพัฒนาความร่วมมือแล้วก็ทำสิ่งต่างๆที่สนองตอบต่อการพัฒนาในภูมิภาค แต่นอกจากไม่ควรแข่งและทับซ้อนกันเองแล้ว ก็จะต้องส่งเสริมเกื้อหนุนกันอีกด้วย
    • งั้นเริ่มเล็กๆตรงไหนก็ได้ที่เราเรียนรู้ไปด้วยกันได้เลยนะครับ ว่าแล้วก็ขอเชิญอาจารย์ร่วมช่วยเป็นที่ปรึกษาและเครือข่ายเรียนรู้กับชุมชนในนี้เลยนะครับ คงไม่เป็นภาระมากหรอกครับ ทำกันไปตามความสะดวก และเป็นฐานให้คนในพื้นที่ยืนเองอย่างมั่นใจเสียมากกว่า 
    • สวัสดีครับคุณแอน
    • ขอบคุณครับที่แวะมาเยือน อ่าน และร่วมสะท้อนทรรศนะเสริมกำลังใจกันครับผม
    • ผมเวลาอ่านงานวิชาการ ก็ชอบอ่านวิธีนิยามต่างๆเหมือนกันครับ พออ่านบ่อยๆ เวลาอ่านตำราและหนังสือเล่ม ก็ทำให้ชอบอ่านจากด้านหลังที่เป็น Index แล้วก็ใช้เป็นคำหลักค้นคว้าเข้าไปในเนื้อหาของเล่ม แตกออกไปค้นคว้าในเล่มอื่นๆที่เป็น Theme เดียวกัน ก็สนุกและได้เรื่องราวที่หมดจรดมากกว่าอ่านไปตามปรกติจากสารบัญเนื้อหาครับ
    • พอถึงระดับหนึ่ง เราจะรู้ว่าอ่านเพื่อเข้าใจไม่พอ เราต้องอ่านเพื่อสร้างความคิดและสร้างความรู้ใหม่ๆไปด้วย ในมุมกลับก็หมายความว่า ทำให้ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ความรู้และคำตอบแบบเบ็ดเสร็จครอบจักรวาลไปหมดในทุกกรณีนั้น ยังไม่มี ดังนั้น เราก็ต้องสนใจไปที่นิยามและแนวคิด เพื่อตกลงกันสำหรับปฏิบัติและทำความเข้าใจภายใต้บริบทและเงื่อนไขจำเพาะหนึ่งๆ แล้วก็ให้ผู้อื่นเขาสร้างความรู้และตกผลึกได้สัมมาทรรศนะของเขาเอง พ้นกรอบและค้นพบไปด้วยตัวเขาเอง

    ประชาสัมพันธ์ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวและชาวหนองบัวครับ

    งานแสดงกตเวทิตาและมุฑิตาจิต เกษียณก่อนกำหนด คุณครูโสภณ สารธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว

    • ๒๘ กันยายน ๒๕๕๒ โรงเรียนหนองบัว กรรมการศึกษา คณะครูอาจารย์และศิษย์เก่า จัดงานให้คุณครูที่โรงเรียน
    • ๒๙ กันยายน ๒๕๕๒ ทางอำเภอหนองบัว สมาคมครู กรรมการศึกษาของอำเภอ จัดงานให้พร้อมกันของผู้เกษียณอายุราชการในปี ๒๕๕๒ ที่อำเภอหนองบัว
    • ขอบอกกล่าวและเชิญศิษย์เก่า หาโอกาสไปร่วมงานได้ตามอัธยาศัยครับ

    ผ้าป่าการศึกษาและงาน ๔๙ ปีสู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว

    • ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ โรงเรียนหนองบัว เครือข่ายศิษย์เก่า กรรมการศึกษา และชาวหนองบัว จะจัดผ้าป่าการศึกษาเพื่อสร้างโรงอาหารให้โรงเรียนและลูกหลานคนหนองบัว พร้อมกับเริ่มต้นศักราชกึ่งศตวรรษของโรงเรียนหนองบัว ๔๙ ปีสู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว
    • ขอเชิญศิษย์เก่าและคนหนองบัวมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัว ลูกหลานคนหนองบัว และเด็ก-เยาวชนในท้องถิ่นโดยรอบครับ

    รวมพลังขับเคลื่อน คนหนองบัวมีความกลมเกลียวดีแท้ เยี่ยมครับ

    เริงวิชญ์ นิลโคตร

    ขอบพระคุณครับ ต้องน้อมคารวะด้วยความยินดียิ่งที่เอื้อเฟื้อผู้น้อยให้ร่วมเป็นเครือข่าย "เวทีพลเมือง" มีโอกาสเข้ามาอ่านบล็อคอาจารย์ และเครือข่ายเป็นระยะๆ ตามวาระ และโอกาสอันพึงมีและอำนวยให้ ชื่นชม และประทับใจหลายๆ ท่าน อาทิ พระคุณเจ้าพระอาจารย์อาสโยภิกขุ (พระมหาแล) ว่าที่ Ph.D จตุพร แห่งสำนักประชากรศาสตร์ อาจารย์ณัฐพัชร์ .... บทสนทนาระหว่างอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจั้นทร์ พระคุณเจ้า และเครือข่ายหลายๆ ท่าน ที่ปรากฎผ่านออกมาทางบล็อค ลุ่มลึก และลึกซึ้ง ประเทืองปัญญาให้แก่ผู้อ่านโดยแท้

    • สวัสดีครับคุณภูเขา
    • เป็นการทดลองทำเพื่อเรียนรู้ไปด้วยกันน่ะครับ
    • คุณเริงวิชญ์นี่ก็เป็นคนทำวิจัยแนวชุมชนแล้วก็เป็นลูกหลานคนชนบทเหมือนคนหนองบัวอีกหลายท่านครับ
    • ผมเคยเชิญให้ไปยืนพูด-นั่งพูด ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ชาวบ้านและลูกหลานคนชุมชนบ้านตาลินฟัง คนเฒ่าคนแก่ชอบใจไม่อยากให้เลิกเลยทีเดียว
    • แวะมาคุยและแบ่งปันประสบการณ์กับคนหนองบัวบ้างเป็นระยะๆนะครับ

    เพิ่งเห็นแบบนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต

    มีโอกาสเข้ามาอ่านเจตนารมย์ของการสร้างสังคมเพื่อสุขภาวะ

    และการศึกษาเพื่อคนขาดโอกาส

    รู้สึกทึ่งมากค่ะ

    ขอติดตามเรียนรู้ไปด้วยคนนะคะ

    เผื่อมีโอกาสร่วมกิจกรรมค่ะ

    • เรียนเชิญคุณครู krutoi ในเวทีนี้ด้วยทุกเมื่อเลยครับ
    • คนทำงานทางด้านการศึกษาของท้องถิ่นที่หนองบัว และชาวบ้านคนหนองบัว คงดีใจและมีกำลังใจมากมายหากkrutoi มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์หรือทักทายพอเป็นกำลังใจกัน

    การทำลานด้วยมูลสัตว์ : เทคโนโลยีและภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการผลิต 

    • วิถีของชุมชนการผลิตและการทำมาหากิน โดยเฉพาะการทำนาทำไร่ ที่ทำให้พอเพียงแก่การพึ่งตนเองในการมี ปัจจัย ๔ สำหรับดำเนินชีวิต พร้อมกับมีส่วนร่วมต่อการสร้างสุขสาธารณะของชุมชน และกลมกลืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นทั้งชีวิตจิตใจคนส่วนใหญ่ของคนหนองบัว จึงน่าจะเป็นองค์ประกอบแห่งสุขภาวะที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง
    • การทำมาหากิน ได้กินดี อยู่ดี มีความสุขพอเพียงแก่อัตภาพทั้งกายใจ ทั้งต่อตนเอง คนรอบข้าง และความเป็นสาธารณะที่ตนเองผูกพัน เป็นโอกาสที่นำไปสู่อีกหลายอย่างเพื่อการพัฒนาสุขภาวะของส่วนรวมที่เข้มแข็งและยั่งยืน ผู้คนจะสามารถพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของลูกหลายและตนเอง พัฒนาสุขภาพ สร้างสรรค์สิ่งส่วนรวม มีความโปร่งโล่งใจในชีวิตที่จะทำงานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมบำรุงจิตวิญญาณของสังคม เหล่านี้เป็นต้น
    • ในระยะที่ผ่านมา การทำมาหากิน เป็นเหตุผลที่ใช้คิดตัวบ่งชี้การพันฒาและออกแบบแนวทางการพัฒนาขึ้นมาหลายอย่าง เช่น แนวการพัฒนาความจำเป็นพื้นฐานและการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งผสมผสานการพัฒนาหลยด้านอย่างบูรณาการ ทั้งทางด้านเกษตรกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำมาหากินโดยตรง การศึกษาซึ่งเป็นการสร้างทุนมนุษย์  สุขภาพ กับงานบริหารจัดการชุมชนระดับต่างๆของมหาดไทย แต่ก็ยังไม่เพียงพอและหลายอย่างควรต้องทำให้มากยิ่งๆขึ้นตลอดไป โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมและการลุกขึ้นริเริ่มด้วยตนเองของชุมชน โดยมีการเรียนรู้ สะสมภูมิปัญญในการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม และแก้ปัญหาต่างๆให้บรรลุความจำเป็นที่ตนเองต้องการ พร้อมกับสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างที่พึงประสงค์ของชุมชน
    • แต่การผลิตและการทำมาหากินในระยะที่ผ่านมาของสังคม ได้มีการเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศว่า ต้องมีการพัฒนาโอกาสและทางเลือกใหม่ๆไปด้วย เพราะหลายอย่างกำลังบั่นทอนถิ่นฐานและความเข้มแข็งของตนเอง ทำนาทำไร่ได้ผลน้อยลง ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทรุดโทรมหมดสภาพ และเกิดความยากแค้นสารพัด การเดินตามแนวทางที่ทำตามกันอย่างเข้มข้นจะไม่ทัดเทียมกับความซับซ้อนที่เป็นจริงของสังคมและสภาพแวดล้อม
    • แต่การมองไปยังอนาคตให้เห็นตนเอง และเห็นโอกาสกับทางเลือกในการพัฒนา ที่พอได้มีสุขภาวะอย่างที่ชุมชนในชนบทโดยมากมีอยู่เป็นทุนเดิม พร้อมกับสืบทอดฐานรากของสังคมและเดินออกจากสิ่งที่ตนเองจะสามารถพึ่งตนเองได้ดีในระยะยาม สามารถผสมผสานวิทยาการและสิ่งใหม่ๆของโลกภายนอกได้อย่างเหมาะสม เหล่านี้ คนท้องถิ่นและชุมชน โดยเฉพาะภาคประชาชน ควรพัฒนาการเรียนรู้ตนเอง ด้วยตนเอง ให้มีองค์ความรู้ท้องถิ่นและได้ความลุ่มลึกทางภูมิปัญญา เกิดความเชื่อมัม่นในตนเองเพื่อการคิดแก้ปัญหา สามารถประสานความร่วมมือและระดมพลังการมีส่วนร่วมของผู้คนได้ ความรู้และการเห็นด้านที่เป็นทุนทางสังคมของตนเอง ก็จะทำให้มีฐานยืนเพื่อสนองตอบต่อความจำเป็นต่างๆได้ดีขึ้น
    • การเป็นนักวิจัยแบบชาวบ้าน สร้างความรู้และบันทึกความรู้จากประสบการณ์ชีวิตไว้มากๆอย่างเป็นเรื่องปรกติ พร้อมกับทำให้การคุยและสร้างสังคม มีความหมายต่อการเรียนรู้ทางสังคม และมีนัยยะต่อการคิดถึงส่วนรวมเพื่อทำสิ่งต่างๆให้สังคมด้วยมือเราเองเล็กๆน้อยๆ จึงเป็นหนึ่งในการก้าวเดินให้สามารถยกระดับไปสู่สิ่งที่กล่าวมาในข้างต้นได้ในสักวันหนึ่ง
    • ผมเลยนำเอาตัวอย่างของการเขียนความรู้และบันทึกเรื่อง การทำลานด้วยมูลสัตว์ของชาวบ้านและวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งเขียนและเผยแพร่โดย คุณเสวก ใยอินทร์ กลุ่มพริกเกลือ ซึ่งเป็นคนหนองบัวและเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว ในบล๊อกกลุ่มพริกเกลือมาฝากเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นแรงบันดาลใจครับ คุณเสวกตอนนี้ทราบว่าไปตั้งหลักแหล่งอยู่เก้าเลี้ยวครับ
    • การทำลานและใช้มูลสัตว์(ขี้ควาย) ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ชุมชนสามารถพึ่งตนเองทั้งภูมิปัญญาและทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่ ที่สำคัญกว่านั้น เป็นวิธีการที่กลมกลืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างที่สุด เมื่อทำและใช้เพื่อกระบวนการผลิตในปีหนึ่งๆเสร็จ ก็สลายสู่ความเป็นธรรมชาติ
    • เราไม่ต้องกลับไปเป็นอย่างนั้นครับ แต่การนำมาเรียนรู้และทบทวน หาองค์ประกอบต่างๆภายใต้กระบวนการผลิตอย่างนั้นของชุมชน ให้มากมาย เราก็จะสามารถคิดและพัฒนาตนเองได้ดีกว่าเดิม
    • ลองแวะไปดูวิธีวาดและบันทึกความรู้เกี่ยวกับวิถีผลิตของชุมชนของคุณเสวกดูครับ สนุก ได้ข้อมูลและรายละเอียด รวมทั้งเห็นชีวิตจิตใจของชาวบ้านที่คนภายนอกอาจมองผ่าน เช่น การทำกังหันติดบนยอดไม้เพื่อให้ความเพลิดเพลิน ได้ยินเสียงดนตรีธรรมชาติ วัดทางลมและแรงลมเพื่อฝัดข้าวหรือทำงานเกษตรต่างๆ
    • การเรียนรู้และสร้างความรู้ เป็นมรรควิถี ที่จะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะของชุมชนได้ครับ เฉพาะหน้าเลย คนทำก็มีความสุขและก่อเกิดสุขภาวะ อิ่มปีติจากภายใน ไม่เชื่อไปดูงานของคุณเสวกที่กลุ่มพริกกับเกลือครับ(คุณเสวกจะกรุณาเอารูปมาโพสต์ใส่ไว้ในนี้ด้วยก็จะเก็บรวบรวมไว้ดีขึ้นอีกแหล่งหนึ่งครับ ผมพยายามทำแล้ว แต่ทำไม่เป็น)
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • รู้สึกดีใจภูมิใจและก็ปลื้มใจมากที่เวทีน้องใหม่นี้มีท่านผู้รู้ผู้ทำงานชุมชนเข้ามาเยี่ยมชนให้กำลังใจชาวหนองบัว คนหนองบัวคงจะต้องขออาศัยศึกษาเรียนรู้กับท่านเหล่านั้นไปด้วยความเต็มใจ
    • จะยินดีอย่างยิ่งถ้าท่านผู้รู้ทั้งหลายจะเมตตาถ่ายทอดความรู้ความคิดแนวทางปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่คนหนองบัว ชาวหนองบัวพร้อมที่จะเป็นผู้ศึกษาเรียนรู้ร่วมกันไปด้วยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์แห่งชีวิตจริงสู่การมีสุขภาวะที่ดีอย่างมีความสุขอย่างมั่นคงยั่นยืนต่อไป
    • ดอกบัวคุณครูอ้อยเล็กมองดูแล้วก็งดงามชื่นตาสุขใจ
    • เห็นถ้วยกาแฟของอาจารย์ณัฐพัชร์แล้วนึกอยากจะขออนุญาตมาไว้ใช้ที่กุฏิสักชุดจริง ๆ เลย
    • เห็นคำเชิญชวนของโยมอาจาย์วิรัตน์ให้อาตมาซึ่งเป็นผู้ทั้งขาดโอกาส และด้วยโอกาสมาช่วยขับเคลื่อนองคาพยพชุมชนหนองบัว สู่เวทีแห่งโลกภายนอกแล้ว ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะช่วยอย่างไร เพราะอะไรจึงว่าอย่างนั้นละ ก็เพราะว่าชีวิตนี้ทั้งชีวิตขับเป็นอยู่อย่างเดียวแค่นั้นจริง ๆ คือการขับเกวียนอย่างอื่นขับไม่เป็นหรอก ถ้าขับเคลื่อนด้วยเกวียนนี่อาตามถนัดพอสมควรเลยแหละ
    • ถึงอย่างไรเสียก็จะลองขับเกวียนให้เคลื่อนไปอย่างมีพลังแบบคนเคยมีเกวียนนั่นแหละ ช้าแต่ชัวร์ คล้าย ๆ จักรยานคนจนของพี่แอ๊ว-ยอดรัก สลักใจ ประมาณนั้นเลย
    • ถ้าใครยังไม่เคยก็ลองดูได้ การขับเกวียน มือใหม่หัดขับเกวียนว่างั้นเถอะ
    • ไม่ยากหรอกแค่กระดิกซ้าย กระดิกขวา วัวควายก็พาเกวียนไปฉลุย
    • ไม่แน่นะเดี่ยวจะไหว้วานอาจารย์วิรัตน์หรือลูกศิษย์คนใหม่ของท่านก็ได้ คุณเสวก ใยอินทร์ ขณะนี้กำลังฝึกวาดภาพอย่างตั้งใจมาก ๆ สักวันสองวันนี้คงได้มีผลงานปรากฏออกสู่สายตาท่านผู้ชมแน่นอน.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • การขี่เกวียน และขับเกวียนบรรทุกข้าว อย่างพระคุณเจ้าออกตัวนั้น อาจจะดูเหมือนเรื่องง่าย แต่ไม่ง่ายนะครับ ต้องเรียนรู้ มีฝีมือ มีความรู้หลายอย่างที่อยู่เบื้องหลังการทำได้มากเลยที่เดียว อย่างตอนนี้ให้ผมกองฟ่อนข้าว กับไปทอดแห ก็ทำไม่ได้แล้วครับ ถึงได้รู้ว่าเมื่อก่อนที่ทำได้นั้น มันเป็นเรื่องยากและต้องเรียนรู้มากจริงๆ

     

                          

     

    • อย่างที่เห็นในภาพนี้ การวางฟ่อนข้าวหรือมัดข้าวบรรทุกเกวียน  บรรทุกครั้งหนึ่งก็ ๕๐-๖๐ มัด สูงพอๆกับรถบรรทุก แต่เป็นศิลปะของการวางฟ่อนข้าวที่ไม่ใช้เชือกและสิ่งยิดโยงอย่างใดเลย
    • เรือนเกวียนก็สูงเพียงแค่ศอก กองมัดข้าวมากมายขนาดสูงเกินสองเท่าของคนและเกวียน อยู่ได้เพราะวิธีวางเรียงกันอย่างรู้จังหวะของการยึดตัวเองของฟ่อนข้าวจริงๆ หากใครไม่ฝึกก็มีหวังหล่นกระจุยกระจาย ทั้ังจะเสียหายและไม่มีทางขับขี่เกวียนบรรทุกข้าวได้

     

                             

     

    • การสีข้าวและตำข้าวครกกระเดื่องโดยเครื่องมือและวิธีการของชาวบ้าน ก็ต้องใช้ภูมิปัญญามากครับ แล้วก็เป็นศิลปะอย่างยิ่งสำหรับอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ทุกอย่างคืนสู่ธรรมชาติได้หมดเลย
    • เรียกว่ามีความรู้และมีวิชาเพื่อแก้ปัญหาได้ในเงื่อนไขที่แตกต่างกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็ย่อมเสริมพลังให้ชุมชนเข้มแข็งทางปัญญาได้ครับ ความรู้ของท้องถิ่นและประสบการณ์ของชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้แก้ปัญหาได้และสะท้อนความเป็นเหตุเป็นผลกับวิถีชีวิตและปัจจัยแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

                               ยกหัวคันนา

    • คนหนองบัวส่วนมากทำนาทำไร่ ที่ดินทำนาส่วนใหญ่จะเป็นดินทราย ดินทรายกับเก็บน้ำไว้ได้ไม่นาน นาข้าวที่เป็นดินทรายก็จะไม่งาม ผลผลิตก็ได้น้อยกว่าดินเหนียวเยอะ
    • แต่นาดินทรายก็ทำง่ายไม่เปรอะเปื้อนล้างยากเหมือนดินเหนียว การทำง่ายนี่เอง ทำให้มีวิธีทำยกหัวคันนาขึ้นมา ทำให้คันนามีความสวยงาม การยกหัวคันนาเป็นการทำให้นาดูดีเรียบร้อยสวยงาม บางเจ้าทำหัวคันตรงมาก ๆ ดูแล้วน่าเดินจริง ๆ
    • วิธีขุดดินแล้วเหวี่ยงจอบให้ดินไปโป๊ะเรียงกันซ้อนกันเป็นชั้น ๆ แน่นไม่รื่นไหลลงมา การโยนให้จังหวะจอบต้องแม่นแน่นอนมั่นคง มีผ่อนจังหวะ มีการโยนตัวของจอบอย่างพริ้วไหว คนยกหัวคันเป็นทำเป็นวันก็ไม่เหนื่อย แต่ถ้าทำไม่เป็นแค่ขุดจอบพักเดียวก็หอบลิ้นห้อยได้ง่าย ๆ
    • คนหนองบัวยกหัวคันนาสวยมาก คนรุ่นนั้นใครยกหัวคันนาสวยจะมีชื่อเสียงกันไปหลายหมู่บ้านเลยหนา เป็นที่ร่ำรือกล่าวขานถึงอย่างชื่นชม ถ้ามีลูกสาวด้วยแล้ว เจ้าหนุ่มคนไหนจะมาเป็นลูกเขยเจ้านี้ได้ต้องศึกษากันไม่น้อยต้องฝึกการยกหัวคันนาให้เชี่ยวชาญชำนาญฝีมือ
    • เท่าที่สังเกตเห็นคนหนองบัวจะเป็นละเอียดถี่ถ้วน จอบแต่ละบ้านบ่งบอกถึงความเป็นคนพิถีพิถันด้านฝีมือ คือดูกันที่ด้ามจอบบางคนทำสวยจริง ๆ จับได้เหมาะมือไม่หนักเทอะทะ ฟันหรือขุด จะช่วยให้มีพลังขุดติดดี เรียกว่าจอบขุดกินดินดี บางทีของตัวเองไม่ได้ดั่งใจเหมือนผู้อื่น ก็สามารถหยิบยืมมาใช้ได้ จอบขุดดีนั้นขุดกันจนจอบเหี้ยนแล้วเหี้ยนอีก
    • โยมลุงอาตมาทำจอบสวยขยันยกหัวคันนาและทำได้สวยอย่างมาก นาใครมีหัวคันสวยคนเลี้ยงควายก็เกรง ๆ เหมือกัน เพราะเจ้าของนาอาจะจะมีโมโหได้เลยแหละ เมื่อควายไปขวิดหัวคันเขาพังจึงต้องระวัง
    • ผู้เขียนก็ชอบยกหัวคันนาเหมือนกันเพราะขุดดินทรายนั้นขุดง่ายบางครั้งยกหัวคันนาจนเกือบค่ำค่อยขี่ควายเจ้าแบ้เพื่อนรักกลับบ้านสบายใจเฉิบ(อย่าว่าทรมานสัตว์นะ).

     

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • อ่านแล้วสนุกดีและได้ความรู้มากเลยครับ เป็นประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันในรายละเอียดมากครับ ถึงแม้ผมจะเป็นลูกหลานคนหนองบัวเหมือนกัน แต่แถวบ้านผมนั้นเป็นดินเหนียว
    • พวกจอบ มีด และอุปกรณ์แถวบ้านผมนั้น หากใครเอาไปใช้แถวหนองบัวแล้วละก็เคืองกันตายเลยเพราะเจอดินทรายแล้วมันจะทื่อไปหมด ต้องเปลี่ยนเป็นชุดอื่น เวลาไปทำไร่แถวหนองบัวก็ต้องมีเครื่องมืออีกชุด
    • แต่การแทงพลั่วและโยนจอบจอบนั้น ทำได้เหมือนกันครับแต่แถวบ้านที่อยู่ในแหล่งดินเหนียวจะเก่งกว่า อันนี้แน่ใจครับเพราะผมเคยขุดดินและโยนจอบแถวหนองคอก มันง่ายกว่าแถวบ้านผมสัก ๑๐ เท่าครับ

     

                            

     

    • บางเรื่องที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ คือการยืนตกเบ็ดและล่อปลาด้วยคันเบ็ดยาวๆ ซึ่งคนหนองบัวยืนทำอย่างนั้นได้เป็นวันๆ แต่เวลาทำดูแล้วก็ทำไม่ได้อย่างคนหนองบัวที่อยู่ในตัวเมืองดั้งเดิม

     

                            

                             

    • อย่างการทำคันนานั้น นอกจากใช้ทักษะและความรู้เพื่อการปฏิบัติมากแล้ว ต้องเป็นคนเรียนรู้ผืนดินของตนเองมากครับ หากไปชนบทและสังเกตให้ดี  จะเห็นว่า คันนาตามท้องนานั้นไม่ได้เหมือนกันไปหมดทุกลูก มีคันนาใหญ่ คันนาซอยเล็ก และบางครั้งเป็นแนวตรงยาว บางครั้งเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย บางครั้งมีคันยกสูงขวางแนวตะวันออก บางครั้งเป็นแนวยกสูงล่องลงใต้ เพื่อให้เหมาะกับทางน้ำจะเพาะที่ตรงนั้นกับระดับสูงต่ำไม่เท่ากันของที่ดิน
    • ทั้งหมดนี้ออกแบบเพื่อบริหารจัดการน้ำหลากและน้ำหน้าดิน เป็นลักษณะเฉพาะของเมืองร้อนชื้นอย่างประเทศไทยซึ่งจะมีน้ำในหน้าฝนและสะสมเป็นฤดูน้ำหลาก ความรู้ธรรมชาติในถิ่นฐานของตนเอง รู้จักลักษณะของที่ดินกับการวางแผนใช้น้ำในพื้นที่ตนเองเพื่อการเพาะปลูก เป็นศาสตร์ทำคันนาและแบ่งแปลงนาของชาวนาครับ
    • ต้องเรียนรู้เยอะ แต่ชาวนาและชาวบ้านมักพูดถ่ายทอดความรู้และสกัดความรู้อย่างนี้ออกมาไม่ได้ นอกจากต้องอยู่ด้วยกันเป็นชุมชนแล้วก็เรียนรู้เอาจากการดำเนินชีวิตและการลงมือทำให้ได้ประสบการณ์ตรง
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    สอก : ทางเกวียนสัญจรไปนา

    • ชุมชนหนองบัว นครสวรรค์ บริเวณชุมชนหนองบัว หนองกลับเป็นที่เนิน,โนน โคกดินทราย
    • ทุกหมู่บ้านในชุมชนดังกล่าวมีทางสำหรับสัญจรไปนาไร่ หรือเดินทางไปหมู่บ้านใกล้เคียง
    • ทางดังกล่าวนั้นมีลักษณะเป็นร่องทางน้ำไหลเมื่อฝนตกเป็นที่ระบายน้ำออกสู่ทุ่งนาไปลงครองเรือ ความกว้างของทางก็ประมาณถนนปัจจุบัน ทางที่เป็นสอกนี้มีทั้งในหมู่บ้านและทางไปนาไปไร่ของชาวบ้าน
    • ถ้าสอกอยู่ในหมู่บ้านหน้าน้ำหน้าฝนจะมีน้ำไหลตลอดฤดู น้ำก็สะอาดเพราะเป็นดินทรายมองเห็นปลากระซิว(ปลาซิว) เด็ก ๆ จะชอบนอนเล่นทางน้ำไหล โดยนอนเอาตัวขวางทางน้ำปิดทางน้ำไว้ หรือไม่ก็กอบดินทรายกุยดินทรายให้เป็นคันนากั้นน้ำพอน้ำไหลมาจนจะล้นก็จะคอยลุ้นว่า เขื่อนทรายน้อยจะต้านน้ำไหวไหม
    • ส่วนใหญ่กั้นไม่อยู่หรอก เพราะดินทรายเมื่อน้ำล้นมีทางให้น้ำไหลสักช่องเดียวคราวนี้แหละได้เฮ ทำนบน้อย กะบังน้อยพังไม่เป็นท่าสนุกดีทำเขื่อนทรายน้อนเนี่ย
    • สอกไปนาบางแห่งจะมีทรายเยอะจริง ๆ ควายเดินเหยียบเล็บกีบเท้าควาย-วัวจมดินเลย เดินตัวเปล่าไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าลากเกวียนไปด้วยละก็หนักมาก
    •  แค่เกวียนเปล่ามีแค่ครอบครัวเดียวนั่งอยู่ก็ลากกันตัวโก่งทีเดียว
    • ยิ่งขนหรือเข็นข้าวฟ่อนเต็มตู้เกวียนเหมือนเกวียนอาจารย์วิรัตน์ด้วยแล้ว สงสารวัว-ควายเลยนะ ต้องลากอย่างใช้กำลังสุด ๆ งอแงขึ้นมาก็จะโดนไม้ตะพดของโชว์เฟอร์ที่ขับเกวียนเข้าให้หลังลายเป็นปื้น
    • สอกไปนานี้เจ้าของนาต้องมีรั้วล้อมกันวัวควายกินด้วย ถ้าไม่ล้อมรั้วกันไว้ มีสิทธิ์โดนลูกแอน้อยบ้าง วัวบ้างควายบ้างเอื้อมไปกินได้สบาย
    • ฉะนั้นต้องมีหลักกระทู้ปักที่หัวคันนาระยะห่างประมาณสองเมตรกว่า แล้วมัดด้วยไม้ไผ่บ้าง ไม้ลวกบ้าง มัดเป็นสามแถวสี่แถวกันวัวควายกินข้าว
    • รั้วล้อมตามสอกนี้เป็นเช่นอย่างอื่นคือ บางเจ้าจักตอกสวยมัดก็สวยเรียบร้อยตรงดิ่งงามตา ไม้ไผ่ส่วนมากต้องมีหนามติดมาด้วยจึงจะดีเพราะกันวัวควายได้ดีชะงัด เอื้อมปากไปก็เจอหนามทิ่มก็ต้องถอยดีกว่า
    • หลักกระทู้ถ้าเป็นไม้มีแก่น เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ประดู่ละก็จะทนใช้งานได้หลายปีทีเดียว พอเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้วก็รื้อรั้วไปเก็บไว้ที่บ้าน พอถึงหน้าฝนก็นำไปล้อมรั้วใหม่อีกครั้ง
    • จากสอก ที่ควายเดิน เกวียนเดินสัญจรไปนา ก็มาเป็นถนนแทนไปนาแป๊บเดียวก็ถึง เหมือนการบินไทย แต่ถ้าเกวียนต้องตื่นแต่เช้าก่อนไก่โห่ ไปถึงนาก็ตะวันโผล่ขึ้นแดง ๆ
    • น้ำในทุ่งนากินได้อย่างเอร็ดอร่อยชื่นใจอย่าบอกใครเชียว.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    หลุมละโลก :  ดินพรุในผืนนาสร้างใหม่

    • คนทำนาดินเหนียวอย่างแถวบ้านตาลิน ไม่มีแน่นอนเพราะเคยทำนาแถวห้วยน้อยก็ดินเหนียวเหมือนกัน
    • นาดินทรายไถง่ายดินจะร่วนทรุยจับตัวแบบหลวม ๆ ถ้าดินมับก็ไถยากนิดหนึ่ง
    • การทำนาดำก็ต้องไถตอนมีน้ำ นาที่เคยไถทุกปีเป็นประจำก็จะไถไม่ยากอะไร ขี้หญ้าก็ไม่มากมาย ไม่หนาแน่นเท่าไร ยกเว้นหญ้าแพรกที่นักเรียนนำดอกมาไหว้ครูนั่นแหละแน่นตึบขุดก็ยากไถก็ยากรากยึดดินไว้อย่างมั่นคงเชียว
    • ทุ่งนาแถวหนองบัวหนองกลับบางที่มีลักษณะเป็นเนินป่าละเมาะหรือชาวเรียกว่าโนน ส่วนใหญ่จะเป็นที่สูงทำนาไม่ค่อยได้กินถ้าทำไว้มักขาดน้ำหรือแห้งตายก่อน ไม่เหมือนพื้นนาในที่ราบหรือมาบลุ่ม
    • แต่มีบางปีที่น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ดีบนที่โนนที่ไม่เคยได้ทำก็ต้องลองทำดูบ้าง พื้นที่แบบนี้มักจะมีปุ๋ยตามธรรมชาติเยอะ ถ้าปลูกข้าวได้ละก็จะงดงามรวงโตเชียวแหละ
    • แต่ตอนไถนี่แหละพี่น้องเอ่ยด้วยความเป็นดินใหม่ไม่ได้ไถมาก่อนหรืออาจทำเป็นบางปีเว้นบ้างอะไรบ้าง เมื่อไปไถตอนมีน้ำก็จะเจอดินเป็นหลุมเป็นพรุโดยทั่วไป คนในบ้านเรียกหลุมชนิดนี้ว่า หลุมละโลก
    • เมื่อเจอแบบนี้ทั้งคนทั้งควายทั้งไถเอนเอียงกะเท่เร่บางทีคนก็หงายหลังได้ฮากันตรึมเลยนะ เรียกว่า ตกหลุมละโลก
    • ไถรอบตัวต่อไปควายมักจะขยาดหลุมละโลก ไล่ก็ไม่ค่อยไปเดินหน้ามั่ง ถอยหลังมั่ง เลี้ยวไปทางอื่นมั่ง
    • งานนี้พอจะได้ยินเสียงเจ้าของนาดังขรม เป็นเสียงไล่ควายที่อาจารย์วิรัตน์จำได้จนทุกวันนี้เป็นเสียงคราสสิคจริง ๆ ห้ามเลียนแบบ เลียนแบบก็ไม่เกิดอันตรายอะไรหรอก แต่คนเลียนแบบนั่นเองจะอดกลั้วหัวเราะตัวเองไม่ได้ มันก็ขำนะซิ.

     

     

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • ทั้งสอกและพรุนั้น การทำนาในพื้นที่ที่มีดินเป็นดินเหนียวจะไม่มีเหมือนแหล่งที่เป็นดินทรายหรอกครับ
    • เหตุผลก็จะชัดเจนจากเกร็ดความรู้ที่พระคุณเจ้าบันทึกจากประสบการณ์นั่ยเลยครับ
    • แถวหนองบัว ทางเกวียนและทางควายเดินนั้น จะเดินไปหลากหลายเหมือนอย่างพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวไม่ค่อยได้ เพราะในแหล่งที่เป็นพรุ ก็จะอันตรายต่อวัวควาย เกวียน รวมไปจนถึงคน
    • ร่องเกวียนจึงต้องมีการทำให้เป็นแนวที่แน่นอน ดังนั้น จึงต้องมีสอกครับ ซึ่งเหมือนกับได้รับการตรวจสอบแน่นอนว่าไม่มีพรุ ไม่ว่าจะเป็นหน้าฝนและหน้าน้ำหลาก
    • อันที่จริงลักษณะเกวียน ล้อเลื่อน และล้อลาก ของชาวบ้านหนองบัวในพื้นที่ที่เป็นดินทรายนั้น ก็ต่างจากที่อื่นด้วยครับ การทำกงล้อจะเรียวเล็กและล้อกว้างกว่านาดินเหนียว หน้ากว้างของล้อก็แคบกว่าเกวียนในถิ่นที่เป็นดินเหนียว เพราะเหมาะสำหรับลากในโคลนและฝุ่นที่เป็นทรายครับ 

    ขอแนะนำคนหนองบัวและศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวให้เป็นแหล่งข้อมูลบุคคลไว้นะครับ หากดูในรายนามที่ผมได้ใส่ไว้ในเครือข่ายที่ปรึกษาทางวิชาการนั้น เป็นการทำอย่างไม่เป็นทางการและทำให้พอเป็นแนวพัฒนาในโอกาสต่อไปเท่านั้นครับ แต่คนที่ได้ขอนำเอารายชื่อมาแสดงไว้นั้น เป็นแหล่งวิทยาการและเป็นทุนบุคคลากรที่อาจจะเป็นโอกาสการพัฒนาของหนองบัวได้ครับ เลยอยากถือโอกาสแนะนำย่อๆ

    • นายแพทย์สมพงษ์ ยูงทอง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์นั้น เดิมนั้นเป็นแพทย์ศัลยกรรมสมองที่มีอยู่ไม่กี่คนในประเทศไทย ท่านอยู่ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ แล้วก็เป็นคนทำงานแนวประชาสังคมมาอย่างยาวนานด้วย เคยมาจัดเวทีกับคนหนองบัว หลายคนที่เป็นคนทำงานในท้องถิ่นคงเป็นเครือข่ายการทำงานกันอยู่
    • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นคร เหมะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดลนั้น นอกจากเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ท่านเป็นนักฟิสิกส์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีวิสัยทัศน์ต่อการพัฒนาสังคมและท้องถิ่นด้วย ท่านให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และสนใจงานพัฒนาทางการศึกษา สักวันหนึ่งลูกหลานคนหนองบัวน่าจะมีโอกาสได้ฟังบรรยายจากท่านบ้าง
    • คุณปริญญารัตน์ แซ่แต้ ก็เป็นศิษย์เก่าหนองคอกครับ ตอนนี้ร้านขายของของเธออยู่ในตลาดข้างศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์นั่นเอง เป็นเครือข่ายที่อยู่ในทอ้งถิ่นอีกคนหนึ่งนะครับ
    • อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ของหนองบัวนั้น เป็นคนทำงานทางการเรียนการสอนด้วยและพัฒนาสถานศึกษาแนวที่เชื่อมโยงกับชุมชนและบูรณาการมิติอื่นๆด้วย โดยเฉพาะแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สมุนไพร การสร้างสุขภาพ และการเรียนรู้จากการปฏิบัติของนักเรียน
    • รองศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโตนั้น เป็นลูกหนองบัวและศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองคอกครับ บ้านอยู่ข้างศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์นั่นเอง เป็นนักวิชาการที่ทำวิจัยและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการพัฒนาองค์กรท้องถิ่น ธรรมาภิบาล และการบริหารจัดการองค์กรที่เด่นที่สุดคนหนึ่งในระดับชาติครับ คงจะเป็นทุนทางสังคมให้คนหนองบัวและท้องถิ่นหนองบัวได้อย่างดีครับ
    • คุณนิจ เพชรคงนั้น เป็นคนบ้านหนองบัว วัดเทพสุทธาวาสครับ เป็นวิศวกรโยธาที่ผ่านประสบการณ์ทั้งงานสนาม การบริหาร และการทำงานวิชาการ เป็นศิษย์เก่าหนองคอกครับ
    • คุณประเวศ รักษพล เป็นคนหนองบัวบ้านอยู่ข้างเกาะลอยน่ะครับ ปัจจุบันท่านเป็นอัยการศาลปกครอง แล้วก็เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองคอกเช่นกันครับ
    • คุณพีระ คำศรีจันทร์ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองคอก แล้วก็เป็นคนบ้านตาลิน เคยมาเป็นพัฒนากรของอำเภอหนองบัว ทำงานกับคนท้องถิ่นหนองบัว ปัจจุบันเป็นนักวิชาการพัฒนาชุมชน ชำนาญการ อยู่ที่อุ้มผาง จังหวัดตาก
    • รองศาสตราจารย์ ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร เป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลกนี่เองครับ เป็นคนต่างจังหวัดและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษากับการพัฒนาความเข้มแข็งของภาคสังคมด้วย ที่สำคัญคือท่านสนใจขอเป็นเพื่อนกับชาวหนองบัวในเวทีนี้นะครับ
    • คุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประชากรศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคนเมืองปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นคนต่างจังหวัดและมีประสบการณ์ทำงานชุมชนไปจนถึงงานระดับชาติ เป็นลูกหลานคนชนบทที่จะเป็นเพื่อนคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปกับคนหนองบัวได้อย่างดีแน่ๆครับ

    ในเรื่องการรู้ว่าใครอยู่ที่ไหนทำอะไรนั้นก็ดีเหมือนกันนะครับ ผมลองแนะนำนำร่องให้ครับ ท่านอื่นๆหากแนะนำตนเองหรือแนะนำเพื่อนที่ตนเองรู้จัก เก็บรวบรวมไว้ในนั้ก็ดีนะครับ แนะนำตนเองและหากเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองคอก ก็บอกด้วยว่ารุ่นปีไหนหรือรุ่นเท่าไหร่ มีเพื่อนๆพออ้างถึงได้ใครบ้าง อย่างนี้ก็ดีนะครับ 

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • อาจารย์แนะนำคนหนองบัวฝ่ายคฤหัสถ์แล้ว
    • อาตมาก็จะขอแนะนำคนหนองบัวฝ่ายบรรพชิต(สงฆ์)บ้าง ลองหาดูแล้วก็ยังไม่ทราบรายละเอียดมากนัก
    • วันนีขอนำเสนอสักสองสามท่านก่อน วันหน้าคงได้หามาเพิ่มเติม
    • พระราชปริยัติ(สฤษดิ์ สิริธโร-ประธาตุ ป.ธ.๙,กศม.,พธ.ด.) เจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ รูปปัจจุบัน และผู้อำนายการวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ท่านเจ้าคุณเป็นคนห้วยร่วม ท่านเป็นผู้ที่เรียนหนังสือเก่งมีความจำดี
    • เรียนภาษาบาลีจบเปรียญ ๙  และตอนนี้ท่านก็เรียนจบระดับปริญญาเอกแล้วอีกด้วย
    •  นับว่าเป็นผู้นำผู้บริหารฝ่ายสงฆ์ระดับจังหวัดที่มีไม่กี่รูปในประเทศไทยที่เรียนจบระดับ ป.ธ.๙และปริญญาเอก พระเดชพระคุณเป็นคนหนุ่มเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลเกี่ยวกับการศึกษาสงฆ์ ขณะนี้ได้ขยายสถานที่เรียนจากวัดนครสวรรค์ไปที่บริเวณใกล้ ๆ  โรงพยาบาลแม่และเด็กนครสวรรค์ตรงปากทางแยกไปชุมแสง-หนองบัว
    • พระมหาจิตวิทย์(ทองคำ) ป.ธ ๖ คนบ้านหนองนมวัว จบพุทธศาสตรบัณฑิต เป็นนักกิจกรรมเด่นเมื่อตอนเรียนพุทธศาสตร์ ได้ไปจัดบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนที่วัดหนองกลับหลายปี
    • ขณะนี้ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย รัฐเคด้า ได้เป็นพระครูสัญญาบัตร
    • พระมหาฉลวย กิตฺติปาโล (แสนเหมือน) ป.ธ ๓ คนบ้านเนินขวางใกล้ ๆ วัดเทพสุทธาวาส
    • ท่านนี้ก็เป็นพุทธศาสตรบัณฑิตที่โดดเด่นอีกท่านหนึ่ง ท่านชอบทำกิจกรรมมีอัธยาศัยไมตรีใจคอกว้างขวาง ถนัดงานเผยแผ่
    • ตอนนี้ท่านจำพรรษาอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา สิบกว่าปีแล้ว ทั้งสองท่านนี้ไม่ได้เจอกันสิบกว่าปีแล้ว

    วันหน้าจะได้นำเสอท่านอื่นต่อไป

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

     

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • จะขอกล่าวถึงบุคคลเล็ก ๆ ที่เป็นพลเมืองที่มีจิตสาธราณะ
    • ที่ตนมีความผูกพันกับความศรัทธาความเลื่อมใสต่อสงฆ์ของคนหนองบัวเฉพาะด้านซึ่งมองดูว่าเป็นสิ่งที่อาจมองเห็นเป็นเรื่องพื้น ๆ ธรรมดามากในสายตาของหลาย ๆ คน
    • เพราะไม่เป็นที่กล่าวขานเอ่ยถึงและจดจำของผู้คนและก็อาจจะลืมหรือไม่เคยทราบมาก่อนก็เป็นได้
    • แต่ผู้ทำนั้นแน่นอนว่าต้องเป็นความทรงจำที่ดีและถือว่าเป็นบุญของตนที่ได้ทำสิ่งนี้
    • หลวงพ่ออ๋อยนั้นท่านเป็นที่เคารพนับถือไม่ใช่เฉพาะคนหนองบัวเท่านั้นแต่ท่านยังเป็นที่เคารพนับถือแก่คนทั่วไปอีกด้วย
    • เพราะหลายคนเวลาพูดคุยซักถามถึงท่านก็มักจะเอ่ยชื่อท่าน เช่น วัดก็เรียกว่าวัดหลวงพ่ออ๋อย สระน้ำหลวงพ่ออ๋อย วัวหลวงพ่ออ๋อย ศาลาใหญ่วัดหลวงพ่ออ๋อย
    • ชื่อดังกล่าวเหล่านี้บ่งบอกถึงความรักเคารพนับถือของประชาชนที่มีต่อหลวงพ่ออ๋อย วัดหนองกลับ อำเภอหนองบัวได้เป็นอย่างดี
    • หลวงพ่ออ๋อยจึงถือได้ว่าพระคุณท่านเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของอำเภอหนองบัวคือเมื่อกล่าวถึงหนองบัว ก็ต้องนึกถึงหลวงพ่ออ๋อย เมื่อพูดถึงหลวงพ่ออ๋อยก็คือกล่าวถึงหนองบัวประมาณนั้นเลยทีเดียว
    • บุคคลผู้มีจิตสาธารณะที่เกริ่นไว้ตอนต้นเกี่ยวข้องกับหลวงพ่ออ๋อยอยู่คือท่านมีภาระหน้าที่อย่างหนึ่งโดยทำเดือนละครั้ง
    • ท่านผู้อ่านคงนึกไปได้หลายประการ หรืออาจจะนึกไม่ออกก็เป็นเป็นได้ ว่าเอทำอะไรหนอเดือนละครั้ง
    • อันที่จริงหน้าที่นี้น่าจะเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ในวัดมากกว่า แต่เหตุฉะไฉน พระท่านจึงไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ให้หลวงพ่ออ๋อย
    • เฉลยก็ได้ว่าทำอะไรเดือนละครั้ง ก็คือการปลงผม การปลงผมพระท่านก็ปลง(โกน)เดือนละครั้ง
    • ผู้ที่มาปลงผมให้หลวงพ่ออ๋อยเป็นประจำคือช่างตัดผมในตลาดหนองบัว เรียกว่ามืออาชีพ ท่านเป็นผู้ที่ลูกค้าที่มาใช้บริการกล่าวถึงในด้านการตัดผมว่า มือเบา เป็นช่างมือเบา
    • คือตัดผมโกนผมแล้วไม่เจ็บไม่นั่งตัวเกร็ง เราให้ท่านตัดผมก็นั่งหรือนอนด้วยความสบายใจ เรียกว่าเพลิดเพลินก็ยังได้
    • คือจะมีช่างบางท่านตัดผมดี แต่ตอนโกนท้ายทอยมือจะหนัก บีบขมับ กดมีดโกนเราก็นั่งตัวเกร็งเลยซี กว่าจะตัดเสร็จเสียวท้ายทอยแปล้บ ๆ เลยหนา
    • ช่างโน้ม  เหว่าโต คือช่างตัดผมที่มาปลงผมให้หลวงพ่ออ๋อยทุกเดือน ช่างโน้ม เหว่าโต เป็นลูกทายยกอินทร์ เหว่าโต บ้านเนินตาโพ
    • ร้านตัดผมของท่านอยู่ห้องแถวฝั่งตะวันตกทางแยกไปวัดเทพสุทธาวาสเยื้อง ๆ กับโรงพยาบาลคริสเตียนเก่านั่นเอง
    • นอกจากเป็นช่างตัดผมแล้ว ก็ยังช่วยเป็นพิธีกรโฆษกงานวัด งานอื่น ๆ ด้วย
    • ตัดผมมือเบาลูกค้าติดใจในฝีมือยิ่งใกล้ ๆ งานบุญขนมห่อ(บุญเข้าพรรษา)ด้วยแล้วต้องนั่งรอคิวกันยาวเป็นครึ่งค่อนวัน
    • ช่วงที่รอคิวตัดผม ก็ต้องมีกิจกรรมประจำยอดฮิดสมัยนั้น หมากฮ๊อตเอย หมาแยกเอย
    • บางคนมีฝีมือฉกาจฉกรรฉ์นัก เรียกว่าปราบรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ รุ่นเฒ่าเก่าแก่ ราบราบหมดเพราะอะไร ก็เพราะมาฝึกปรือวิทยายุทธิ์ทุกวัน
    • มาทีไรก็ต้องเห็นเจ้านี้ว่างั้นเถอะ เล่นเพลินติดพันถึงคิดตัวเองแล้วไม่เป็นไร ให้ผู้อื่นลัดคิวไปก่อนก็มี เพราะกำลังมัน(คิดวางหมากอย่างหนักอยู่)
    • ถ้าฮ๊อตละก็ยังจำน้าทิดเชยคนหองกลับได้เลย คมมีฝืมือดีคนนั้น
    • เอพูดถึงหลวงปู่ และพูดถึงช่างตัดผมอยู่ดี ๆ ทำไมจึงมาจบตรงหมากฮ๊อตได้ละเนี่ย นี่ก็ดีนักหนาแล้วที่ไม่ไปจบตรงนางแบบสุดฮ็อต

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ตามมาอ่านต่อครับ

    อ่านบันทึกแลกเปลี่ยนระหว่างท่านอาจารย์และพระอาจารย์

    เหมือนนั่งพระเทศน์สองธรรมมาสน์เลยครับ

    สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์..ได้อ่านบันทึกแล้วชื่นชมและอยากจะร่วมเพื่อความเป็นอยู่ชอบวิถีชีวิตพื้นบ้าน และความมีจิตสาธารณะของผู้คน..อยากให้ทุกคนมีจิตสาธารณะค่ะ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล สวัสดีครับหนานเกียรติ และคุณครูรุจี เฉลิมสุข ครับ

    • พระสงฆ์ที่พระคุณเจ้านำมาบันทึกรวบรวมไว้นี้ มีคุณค่าต่อชุมชนและสังคมทั้งในท้องถิ่นและวงกว้างมากครับ ถือว่าเป็นทุนมนุษย์และทุนทางปัญญาที่สำคัญอย่างยิ่งของชุมชนครับ
    • ร้านตัดผม ช่างตัดผม กับคนนั่งเล่นหมากฮอร์สนี่ ถือว่าเป็นพื้นที่สร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมของชุมชนท้องถิ่น และเป็นที่ทำให้ภาวะผู้นำเป็นกลุ่มของชาวบ้านเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ บางทีการหารือและคิดริเริ่มที่จะทำงานส่วนรวมของชุมชน หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำมาหากิน ก็อาจเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะในความดูแลของปัจเจกในลักษณะนี้แหละครับ
    • บางทีการสำรวจและรวบรวมพื้นที่สาธารณะและแหล่งชุมชนเล็กๆอย่างนี้ ซึ่งในพื้นที่หนึ่งๆ ก็จะมีความจำเพาะแตกต่างกันไปตามลักษณะชุมชน เช่น ร้านตัดผม คิวรถเมล์ ศาลานั่งพักปากทาง ฯลฯ รวบรวมไว้แล้วก็นำมาวิเคราะห์ศักยภาพเสียใหม่เพื่อวางแผนพัฒนาชุมชนของตัวเอง ก็อาจจะกลายเป็นเครือข่ายบริหารจัดการความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่ช่วยชุมชนได้อย่างมากทันทีครับ
    • แหล่งพบปะของกลุ่มคนเหล่านี้เพียง ๒๐-๓๐ แห่งในชุมชนหนึ่ง หากออกแบบเสียใหม่ให้เป็นเครือข่ายจัดการความรู้และจัดการการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ผมเคยทำในลักษณะนี้ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ก็พบว่า หากเราทำสื่อสิ่งพิมพ์ แทนที่จะเผยแพร่โดยส่งไปยังผู้รับเป็นรายบุคคลซึ่งเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส กินแรงกำลังคนและต้องใช้ทรัพยากร-ค่าใช้จ่ายมาก หากทำในระยะยาวก็จะทำไม่ไหว ก็สำรวจและวิเคราะห์ศักยภาพของชุมชนในด้านนี้เสียใหม่ ปรากฏว่า การเผยแพร่สื่อในแหล่งอย่างนี้ ๔๐-๕๐ แห่งเท่านั้น เพียง ๑-๒ วันก็จะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ ๒-๓ พันคน เกือบทั่วอำเภอเลยทีเดียว
    • ความรู้เกี่ยวกับชุมชน เมื่อเขียนด้วยชาวบ้านและคนท้องถิ่น เราจะเห็นความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของสังคมต่างๆครับว่า มีคนตัวเล็กๆชาวบ้านๆที่ไม่มีตัวตนอย่างใดในสังคมเลย เช่น ช่างตัดผม คนปลงผมพระ และอีกมากมาย เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ชุมชนเกิดพัฒนาการ มีความเคลื่อนไหว มีลมหายใจและจิตวิญญาณ งานเขียนความรู้และการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างนี้ จึงเป็นการทำให้ชุมชนเห็นศักยภาพและความเป็นจริงของตนเองที่สมบูรณ์มากขึ้น
    • หนานเกียรติและคุณครูรุจีมีเรื่องราวของชนบททางเหนือหรือเรื่องอื่นๆที่ช่วยขยายโลกทัศน์และชีวทัศน์ ตลอดจนการเรียนรู้สังคมให้ทุกคนได้ ก็เชิญตามอัธยาศัยเลยนะครับ

    มารายงานตัวก่อน แต่ขออนุญาตเตรียมสอบภาค ข สักแป๊บค่ะ

    แล้วจะเข้ามาอ่านรายละเอียด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยค่ะ

    ขอบพระคุณค่ะ

    สวัสดีครับคุณครูจุฑารัตน์  งั้นขอแนะนำให้กับชาวหนองบัวและทุกท่านที่มาร่วมเป็นเครือข่ายเรียนรู้กับคนหนองบัวเลยนะครับ คุณครูจุฑารัตน์ ปัจจุบันเป็นครูอยู่ที่สำนักงานพื้นที่การศึกษา เขต ๒ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นคนหนองบัวและเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว ผมลิ๊งค์ไปยังบล๊อกของเธอไว้แล้ว ตรงหัวข้อ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาการเรียนการสอน เข้าไปเยี่ยม ทักทาย ขอแบ่งปันประสบการณ์ (คุณครูจุฑารัตน์เป็นบล๊อกเกอร์ที่ได้รางวัล Best of the month ของ GotoKnow นี้ด้วย)และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้เลยครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • ขอแนะนำคนหนองบัวฝ่ายบรรพชิต(สงฆ์) เพิ่มเติมจากเมื่อวานนี้
    • พระครูศรีนิภากร(สุธีร์ สุธีโร ฉ่ำน้อย ป.ธ.๖) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์พระอารามหลวง
    • ท่านเป็นคนบ้านเนินตาเกิดติดกับสระน้ำหนองกลับ ศิษย์วัดเทพสุทธาวาสศิษย์หลวงพ่อปาน วัดเทพสุทธาวาส
    • เป็นครูสอนฝ่ายพระปริยัติธรรมแผนกบาลีมานาน
    • ได้เป็นเปรียญตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ถือว่าเป็นลูกหนองบัวที่ได้ช่วยงานพระศาสนาฝ่ายการศึกษาภาษาบาลีตั้งแต่เป็นสามเณรเลยทีเดียว
    • พระมหาภิรมย์ ป.ธ.๙ ศิษย์หลวงพ่อหลุย วัดป่ามะเขือ เป็นคนหนองบัว จำพรรษาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
    • พระมหาชูชาติ  ป.ธ. ๙  คนหนองบัว ปัจจุบันศึกษาและจำพรรษาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
    • ยินดีด้วยที่คุณครูจุฑารัตน์มาเยี่ยมเยือนและจะกลับมาคืนสู่เหย้าบ้านหนองบัว
    • ชาวหนองบัวคงจะได้ศิษย์เก่าที่มีความสามารถมาช่วยขับเคลื่อนพลังแห่งการเรียนรู้และประสบการณ์ตรงจากคุณครูท่านนี้อย่างแน่นอน.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • กราบอนุโมทนาในการรวบรวมคนหนองบัวฝ่ายบรรพชิตแล้วนำมาบันทึกไว้ในนี้ของพระคุณเจ้าครับ
    • ผมเชื่อว่าสักพักหนึ่ง คงจะมีใครดึงออกมารวบรวม แล้วก็จัดหมวดหมู่ให้เป็นระยะๆครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    น้ำฝน-คนเมือง-เรื่องน้ำ(ไม่)เน่า

    คนเมืองโดยทั่วไปไม่ค่อยรักฝน มีทัศนะต่อฝนไม่เป็นไปในเชิงบวกเท่าไร

    แต่คนบ้านนอก ชาวนา ชาวไร่ จะมองอีกแบบหนึ่งเป็นอะไรก็ได้ดังใจปรารถนาคนบ้านนอกอยากได้น้ำฝน(เพราะมีต้นข้าวที่กำลังคอยฝน)เป็นอะไรได้บ้างเชิญชม(อ่าน)

    • น้ำ(ฝน)เป็นสิ่งศักสิทธิ์
    • เป็นชีวิต
    • เป็นเลือด
    • เป็นเนื้อ
    • เป็นมรรค
    • เป็นผล
    • เป็นที่พึ่ง
    • เป็นสรณะ
    • เป็นความหวัง
    • เป็นทุนชีวิต
    • เป็นทั้งหมดของชีวิตของสังคม
    • เป็นหลักประกันความสุขความปลอดภัย
    • เป็นความดี
    •  เป็นความสุข
    • เป็นความก้าวหน้า
    • เป็นความอยู่รอดของชีวิตและสังคม
    •  เป็นหลักชัยแห่งชีวิต
    • เป็นหลักชัยแห่งสังคม
    • เป็นตัวบ่งชี้แห่งความอุดมสมบูรณ์แห่งมนุษยชาติ
    • เป็นสายเลือดแห่งชีวิต
    • เป็นที่สืบต่อเผ่าพันธุ์สรรพชีวิต
    • เป็นความผูกพัน
    • เป็นเยื่อใย
    • เป็นหลักการ
    • เป็นยิ่งกว่าปัจจัยสี่
    • เป็นเส้นทางชีวิต
    • เป็นที่สัญจร(เป็นถนนคนทางน้ำ)
    • เป็นชุมชน
    • เป็นสังคม
    • เป็นวิถีชีวิต
    • เป็นเหตุ-ผล
    • เป็นอิทัปปัจจยตา
    • เป็นพระ
    • เป็นครู
    • เป็นหมอ
    • เป็นพรหม
    • เป็นเทพ
    • เป็นเทวดา
    • เป็นนางฟ้
    • เป็นเทพธิดา
    • เป็นเทพบุตร
    • เป็นยาใจคนจน
    • เป็นปริญญาของชาวนา-ชาวสวน-ชาวไร่
    • เป็นนางงาม
    • เป็นนางเอก
    • เป็นพระเอก
    • เป็นดารา
    • เป็นศิลปิน
    • เป็นผู้ให้
    • เป็นพ่อพระ
    • เป็นแม่พระ
    • เป็นพี่ชายที่แสนดี
    • เป็นลมหายใจ
    • เป็นพ่อ
    • เป็นแม่
    • เป็นธรรมชาติ
    • เป็นธรรมะ
    • เป็นคุณธรรม
    • เป็นศีลธรรม
    • เป็นคุณธรรม
    • เป็นจริยธรรม
    • เป็นความดี
    • เป็นความรัก
    • เป็นความรอด
    • เป็นกัลยาณมิตร
    • เป็นเพื่อนแท้
    • เป็นสวรรค์
    • เป็นเจ้าชาย
    • เป็นเจ้าหญิง
    • เป็นราชา
    • เป็นศาสดา
    • เป็นเจ้า
    • เป็นนาย
    • เป็นประมุข
    • เป็นโลก
    • เป็นจักรวาล
    • เป็นพระจันทร์
    • เป็นพระอาทิตย์
    • เป็นดาวในดวงใจ
    • เป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง
    • เป็นพระเจ้าอย่างแท้จริง
    • เป็น เป็น เป็น........และก็เป็น

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

     

     

                               

    นมัสการพระอาจารย์มหาและ...สวัสดีพี่วิรัตน์ค่ะ..เอาฝนมาฝากค่ะ..ฝน2ภาพล่างนั้นทำเองกับมือเลยค่ะ..มีความสุขในวันหยุดนะคะ..

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขออนุโมทนาขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กเป็นอย่างมาก

    ชื่นใจจังเลยนะคุณครูอ้อยเล็ก

    ชาวนาคงมีความสุขมากเลยที่คุณครูอ้อยเล็กทำฝนส่งมาให้

    ขอบคุณครูอ้อยเล็กแทนพี่น้องชาวหนองบัวด้วย

    เจริญธรรม

    • คุยเรื่องฝนเรื่องน้ำสำหรับคนหนองบัวนั้น เมื่อก่อนนี้ ก็จะมีความกันหมายต่อการทำมาหากินอย่างที่สุด ทุกปีคนหนองบัวจะมีประสบการณ์ในการขาดแคลนน้ำ การมีน้ำดื่มกินให้พออยู่ได้จะต้องอาศัยปัจจัยความเป็นชุมชน ต้องรู้ประมาณการใช้ทรัพยากรที่เป็นแหล่งน้ำร่วมกัน หน้าแล้งก็จะต้องจำกัดการใช้น้ำของตนเองเพื่อให้เพียงพอต่อคนอื่นๆด้วย
    • บางปีนอกจากขาดแคลนอย่างที่สุดแล้ว น้ำที่พอมีก็ขุ่นคลั่ก ต้องแกว่งสารส้มให้ได้น้ำสักครึ่งโอ่งและอีกครึ่งหนึ่งก็เป็นน้ำโคลน แล้วก็ดื่มกินกันอย่างเฝื่อนๆไปทั้งฤดู แต่ก็อยู่กันได้ เมื่อตอนผมเป็นเด็กเรียนอยู่ในตัวอำเภอ ทั้งครู นักเรียน และชาวบ้าน ก็ต้องดื่มกินน้ำแบบเดียวกันทั้งอำเภอ
    • เวลามีฝนตกสำหรับคนหนองบัวแล้ว จึงหมายถึงความหวังและการมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม ผู้คนจะตื่นตัวกุลีกุจอล้างโอ่งและเพื่อเตรียมรองน้ำฝน แถวบ้านผมก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกันครับ

     

                                

     

    • ยิ่งกว่านั้น เมื่อหน้าแล้งที่หญ้าและซังข้าวแห้งนั้น ชาวบ้านก็มักจุดไฟเผาหญ้ากับซังข้าวเพื่อเตรียมดินขั้นหนึ่งก่อนสำหรับการไถดะพลิกหน้าดินรอฤดูการเพาะปลูก หลังจากนั้นแล้วท้องนาก็จะโล่งและดินก็จะแข็งเป๊ก สภาพอย่างนี้ก็ทำให้คนร้อน ห่อเหี่ยว และรอคอย ต้องเล่นสงกรานต์และลูกช่วงไปพลางๆ สภาพแบบนี้ผู้คนจึงต่างก็เฝ้ารอคอยให้ฝนตก

     

                       

     

    • พอมีฝนตกเท่านั้น ทุกอย่างพลันก็จะมีชีวิตชีวา อะไรจะหอมลึกล้ำเข้าไปถึงหัวใจและจิตวิญญาณของคนที่อยู่บ้านนอกได้เท่ากับหอมกลิ่นดินของวันแรกที่ฝนตก กับกลิ่นควันและข้าวใหม่หลังการเก็บเกี่ยว หญ้าอ่อนจะเริ่มงอก ใบไม้ไม้จะผลิใบ ทั้งวัวควายและคนซึ่งกินฟางแห้งๆและเดินกลางทุ่งร้อนแล้งมาหลยเดือนก็จะคึกคัก พลังความมีชีวิตยามนั้นอธิบายไม่ถูกเลยทีเดียว น้ำฝนและฝนตกจึงบอกถึงการเริ่มต้น และวงจรการมีชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข สดใส รื่นรมย์

     

                               

     

    • แต่เด็กๆที่ต้องไปโรงเรียนและพระซึ่งต้องมีวัตรปฏิบัติต่อชุมชนในการต้องไปบิณฑบาตรยามเช้า การมีฝนตกทำให้การสัญจรในท้องถิ่นมีความยากลำบากสำหรับเด็กๆ  และทำให้พระออกบิณฑบาตรไม่ได้ ก็ทำให้ชุมชนต้องนึกถึงการพัฒนาถนนหนทางและการเดินทางในท้องถิ่นที่มีความปลอดภัย
    • ในการดูแลพระและวัด ก็มีวิธีหมุนเวียนกันทำปิ่นโตและสำรับอาหารเพื่อถวายแก่พระ ฝนตกจึงมีความหมายต่อการอดทน ฝ่าฟัน และต่อสู้กับความยากลำบากที่อยู่ในวิถีชีวิต

     

                               

     

    • แต่เดี๋ยวนี้ ฝนตกทีบางปีผิดจังหวะ ผิดฤดูกาล รวมทั้งลักษณะพันธ์ข้าวที่ชาวบ้านปลูกส่วนใหญ่ก็เป็นข้าวสำหรับนาปรังและหมุนเวียนปลูกในแหล่งที่จัดการน้ำเพื่อการเพาะปลูกจากระบบชลประทาน บางทีข้าวเลยไปแก่เอาตอนที่ฝนอาจจะตกลงมา พอฝนตกลงมาอย่างนี้ชาวนาก็น้ำตาตก
    • มีเพลง เหมือนข้าวคอยฝน ก็สื่ออารมณ์เพลงทำนองนี้ละครับ คือ... ฝนเปรียบดังความหวังที่ผู้คนรอคอย แต่ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแรงบันดาลใจของเพลงก็จะบอกต่อไปอีกว่า อย่าอยู่อย่างข้าวคอยฝน หรือรอให้สิ่งที่เป็นความหวังมาหาเรา ซึ่งอาจจะมาหรือไม่มา ก็รอคอยและหวังไปลมๆแล็งๆ แต่ขอให้ลุกขึ้น เพื่อสร้างหนทางและเดินทางไปสู่สิ่งที่หวังนั้นด้วย                          

                                

    • อันที่จริงเรื่องน้ำและการพัฒนาสภาพการดำเนินชีวิตต่างๆของชุมชนของคนหนองบัว สามารถนำมาเป็นหัวข้อการเรียนรู้และทำสิ่งต่างๆได้อีกเยอะครับ แถวบ้านผมเริ่มมีระบบคลองที่จัดการน้ำได้ดีกว่าเดิม ผมว่าสักวันหนึ่งก็จะลองไปเดินสำรวจและประมวลภาพมาให้ดูครับ
    • อ้อ ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กด้วยครับ ที่นำรูปสวยๆมาแบ่งปันกันดู รูปฝนตกดูสดชื่นดีจังเลยนะครับ เลยขอนำมาโพสต์อีก 
    • เมื่อพูดถึงเรื่องฝน ในสมัยก่อนน้ำฝนสะอาดมาก ใช้ดื่มได้ทีเดียว
    • ตอนเป็นเด็กพอฝนตกชอบมากค่ะ รองน้ำฝนไปด้วย ถือโอกาสเล่นน้ำฝนอย่างสนุกสนาน ไม่กลัวเป็นหวัด 
    • หลังคาบ้านที่มุงด้วยสังกะสี  จะทำรางน้ำไว้ทุกบ้าน
    • มีกรวยสังกะสี และต่อท่อกลมๆยาวลงมา ถ้าจำไม่ผิดเคยได้ยินเขาเรียกว่า ใช้บัตกรี มีอุปกรณ์เป็นแท่งตะกั่ว หัวแร้งใช้เผากับเตาถ่าน  
    • เดี๋ยวนี้จะใช้สายยางต่อลงมาจากกรวยแทนค่ะ 
    • รองน้ำเต็มถังแล้วหิ้วไปเทใส่โอ่ง
    • ปากโอ่งวางผ้าข้าวบาง เพื่อใช้สำหรับกรองน้ำให้ใสสะอาด ไม่มีเศษผงเจือปน
    • ถ้ามีโอ่งหลายใบสามารถเก็บน้ำฝน พอดื่มได้ตลอดปีเลยค่ะ 
    • แต่ต้องระวังเรื่องฟ้าด้วยเหมือนกัน
    • พอฝนตกมีอะไรๆเปลี่ยนไปอีกค่ะ
    • อย่างเช่น คอกควาย เขาจะทำให้ต่ำหน่อย ฝนตกน้ำจะขัง เจอขี้ควายบ้าง ดินในคอกบ้าง ทำให้เละเทะกลายเป็นขึ้โคลน ควายก็ชอบนอนคลุกเกลือกกลิ้ง พอกตัวหนาเตอะ ทำให้ป้องกันเหลือบ ริ้น และพวกยุงที่มากัดกินเลือดได้
    • เช้ามืดก็จูงควายไปล้างก่อนออกไปทำงาน
    • บางทีเจ้าสี่ขามีเขา สลัดโคลนใส่เจ้าของด้วย ก็ล้างทั้งคนทั้งควายเลย
    • อิอิ..ที่เรียกว่ากลิ่นโคลนสาบควายเป็นแบบนี้เองค่ะ
    • ตอนนี้อาจห่างหายไปบ้าง
    • ติวเข้มค่ะ เตรียมสอบภาค ข  ผอ.ร.ร.
    • และเมื่อปีที่แล้วกระดูกไหปลาร้าหัก  คุณหมอบอกว่ากระดูกไม่ติด
    • ต้นเดือนตุลาคมต้องผ่าตัดใส่เหล็กค่ะ 
    • ขอบพระคุณพี่ชายที่ให้โอกาสพูดคุย วิถีชีวิตของชาวชนบทบ้านเรา ชาวนครสวรรค์ค่ะ

    หน้าฝนที่หมู่บ้านที่เคยอยู่จะมาคู่กับฤดูน้ำหลากเสมอทุกปีจนถึงเดือน 12 น้ำนองเต็มตลิ่งพอเข้าเดือนตุลาฝนเริ่มซาลมหนาวโชยมาน้ำก็จะแห้งตามไปด้วย หมู่บ้านก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติ.. บ้านทุกหลังในหมู้บ้านเป็นเรือนยกใต้ถุนสูงทั้งสิ้น ทุกบ้านมีเรือใช้กันทุกหลัง เรือเป็นพาหนะสำคัญ ทั้งใช้ไปธุระ หาปลา ไปดูนา หรือแม้กระทั่งพวกเด็กๆอย่างครูอ้อยใช้พายเล่นกัน พายแข่งกัน การเตรียมเรือ พ่อ-แม่ ปู่ย่าตายาย จะเอาเรือคว่ำไว้โดยมีขอนไม้หนุนไว้ ให้แห้งสนิทตลอดฤดูแล้ง พอใกล้ๆน้ำมา ก็เกณฑ์พวกเราเด็กๆ กะเทาะชันที่ยาเรือออก เศษชันนั้นแม่หัดให้เราเก็บไว้ทำเชื้อไฟเวลาหุงข้าวติดดีจังค่ะ..ส่วนผสมของชัน ก็มีตัวชัน น้ำมันยาง ผสมกันนวดให้เหนียว เแล้วนำไปยาปิดรอยรั่วของเรือ หรือตะเข็บรอยต่อของเรือให้สนิท ยาทั้งนอกเรือและในเรือ การยาเรือต้องใช้เวลาเพื่อที่จะให้ชันนั้นแห้งสนิทดีแล้วจึงค่อยยาด้านนอกเรืออีกทีหนึ่ง ขั้นตอนสุดท้ายใช้น้ำมันยางในปริมาณมากชันพอประมาณผสมให้ได้ลักษณะเหมือนน้ำเชื่อมข้นๆอาบเรืออีกทีนึงเป็นการเคลือบผิวเรือค่ะ ขั้นตอนที่สำคัญก่อนหน้าที่จะลงชันนั่นก็คือการทำความสะอาดเรือดังที่ว่าต้องทำให้เกลี้ยงเกลา การลงชันจึงจะไม่เกิดปัญหารอยรั่วตามมาค่ะ..พวกเราจะสนุกมากเวลามีการเตรียมเรือเพราะเราจะนั่งปั้นอะไรต่ออะไรของเราเล่นไปเลยแข่งกับการยาเรือของผู้ใหญ่ นั่นคือเมื่อเราปั้นจะเสร็จหรือไม่เสร็จก็ตามผู้ใหญ่จะรวบชันไปรวมและนวดแล้วยาเรือต่อไป..การเล่นสนุกของพวกเราก็พลอยจบไปพร้อมๆกับเรือที่ลงชันเสร็จแล้ว พอเรือแห้งสนิทน้ำเริ่มมา เหล่าพาหนะของเราก็ลอยละล่องในน้ำพวกเราส่งเสียงดังลั่นทุ่งเมื่อผู้ใหญ่หลับไหลที่บ้าน เพราะเราจะได้เอาเรือออกไปพายแข่งกัน เล่นน้ำ งมหอย จับปลาเก็บผักท้องนา จนได้เวลาเราจะเอาเรือมาคืนและบ้านใครบ้านมันจัดแจงทำอาหารที่ได้จากการเล่นไว้สำหรับมือต่อไป..นี่คือความสุขที่ครูอ้อยเล็กจดจำได้เสมอ..เป็นคนอะไรไม่รู้ชอบจำอดีตจังเลย..แจ่มชั้นดีจังหรือว่าช่วงนั้นเรามีความสุขการทำงานของระบบความจำพัฒนาได้ดีก็ไม่ทราบนะคะ..อิๆๆ

    ขอแสดงความเคารพและสวัสดีผมได้ลองเข้ามาอ่านในเวบนี้เห็นเป็นเวบของการเรียนรู้ประสบการณ์และแลกเปลี่ยนซี่งกันและกันส่วนมากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำเภอหนองบัว เมื่อหลายปีก่อนผมก็เคยไปเที่ยวที่อำเภอหนองบัว และได้ไปเที่ยววัดหนองกลับซึ่งเป็นวัดที่หลวงพ่อเดิมเคยมาช่วยทำการก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่ซี่งถือว่างดงามและสง่างามสมกับเป็นวัดคู่อำเภอหนองบัวและที่จะลืมไม่ได้ก็คือพิพิธภัณฑ์ในวัดที่เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ดีเยี่ยมที่สุดผมชอบใจมากเพราะเป็นการรวบรวมเก็บอนุรักโบราณวัตถุ ขอโทษทีครับผมแพร่มมากไปหน่อย ผมขอชมเชยอาจารย์ ดร.วิรัตน์ ที่ได้สร้างสรรค์เวทีแห่งการเรียนนี้ขึ้นและเป็นผู้จุดประกายไฟแห่งการเรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันในอีกหลายๆ ท่าน

    แต่ในฐานะที่ผมเป็นคนต่างถิ่นคงจะไม่มีความรู้ในเขตพื้นที่อำเภอหนองบัวดีซักเท่าไหร่และผมก็อยากนำเสนอสิ่งใหม่ซึ่งมีอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เหมือนกันที่หนองบัว ผมเป็นคนเมืองชายแดน แคว้นขุนเขา ผมเกิดที่จังหวัดอุตรดิตถ์ซึ่งหมู่บ้านอำเภอของผมมีสภาพเป็นป่าและภูเขามาก จนในอดีตมีคำกล่าวว่า อยู่ไกล ไปยาก และลำบาก คือบ้านโคก ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ ความแตกต่างทางกายภาพ สภาพภูมิศาสตร์ ทำให้ชุมชนของผม ไม่เหมือนชุมชนซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม การคมนาคมสะดวกสบาย ความแตกต่างเหล่านี้เองทำให้ชุมชนของผม จากบ้านห้วย กล้วยป่า มีวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับธรรมชาติมากเพราะว่ามองไปทางใหนก็มีแต่ป่าแต่เขา

    อย่างเช่นที่วัดบ้านเกิดของผม มีต้นมะม่วงอยู่สองต้น อายุหลายร้อนปีแล้ว ถ้าใช้คนโอบก็คงประมาณซัก 10 -12 ได้ มีเรื่องเล่าขานกันว่าในต้นมะม่วงนี้มีเจ้าเทพดา อารักษ์ รักษาอยู่ โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อโช้น แม่โช้น พ่อตู้ แม่ตู้ จะนับถือกันมาก เวลาไปวัดหรือมีงานอะไรที่วัดจะต้องมีการทำพิธีกราบใหว้ และนิยมเอาข้าวเหนียวไปติดที่ต้นมะม่วงนี้ จนขาวเป็นจุด ๆ ไป แต่พวกเด็กจะมีความเกรงกลัวกันมาก

    ผมขอเล่าเพียงแค่นี้ก่อนครับถ้ามีโอกาศเดี่ยวผมจะเข้ามาเล่าสู่กันฟังใหม่ ( หนาน....แสนเหมียง )

    สวัสดีครับคุณครูจุฑารัตน์

    • ขอต้อนรับกลับบ้าน คนหนองบัว ลูกหลานหนองบัว และเพื่อนๆ คงจะดีใจแล้วก็รู้สึกว่าวงเสวนาแคบลงและมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นนะครับ ได้เห็นคนรุ่นใกล้ๆกันและสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนที่ร่วมประสบการณ์กันได้มากขึ้น
    • การได้รองน้ำฝนไว้ดื่มกินและใช้อุปโภคบริโภคให้ได้ตลอดปีนี่เมื่อก่อนก็ต้องถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้แก้ปัญหาสาธารณสุขได้หลายอย่างครับ การทำงานสาธารณสุขชุมชนและงานสาธารณสุขมูลฐานเลยถือว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการสร้างการพึ่งตนเองทางสุขภาพของประชาชน แต่เดี๋ยวนี้น้ำดื่มและน้ำสะอาด นอกจากจะมีราคาที่เริ่มเกินกำลังของคนรายได้น้อยแล้ว ยังหายากอีกด้วย คนยากจน ชาวบ้าน และชุมชน อาจต้องกลับมาฟื้นฟูการรองน้ำฝนและเก็บน้ำไว้ใช้อีกก็ได้ บ้านผมที่บ้านนอกเดี๋ยวนี้ก็ยังต้องรองน้ำฝนไว้ดื่มกินและใช้ในบ้านตลอดปีครับ
    • ขอให้กำลังใจในการสอบขึ้นเป็นผู้บริหารสถานศึกษานะครับ แล้วก็ขอให้สุขภาพดีดังเดิมโดยเร็วครับ

    สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก

    • คุณครูอ้อยเล็กเก็บรายละเอียดช่วงชีวิตในวัยเด็กได้มากมายดีจริงๆ แล้วก็เล่าได้สนุกครับ ประสบการณ์ชีวิตดี๊-ดี ประสบการณ์การทำงานก็ดี เลยลิ๊งค์ให้คนที่สนใจได้มีโอกาสเข้าไปรู้จักคุณครูอ้อยเล็กนะครับ โดยเฉพาะพนักงานองค์กรท้องถิ่นกับคนทำงานภาคการศึกษาขององค์กรปกครองและองค์กรบริหารของท้องถิ่นแบบต่างๆ
    • การได้รำลึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ทำให้เรามีความสุข ก็ให้หลักคิดเราได้อย่างหนึ่งนะครับว่า ทำวันนี้ด้วยหัวจิตหัวใจ รู้อดทนและรอคอย ก็จะทำให้เราได้ความทรงจำ เพื่อการได้นำมารำลึกถึงและมีความสุขอย่างลึกซึ้งขึ้นมาใหม่ๆอีกในอนาคตนะครับ
    • ชาวบ้านแถวบ้านผมเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อน เวลาได้ไปนครปฐมแถวบ้านคุณครูอ้อย ก็มักจะเตรียมตัวอย่างดีและเมื่อกลับมาแล้วก็มักมีเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังอย่างกับได้ไปแสวงบุญที่นอกโลกเลยทีเดียว จะคุยกันถึงการได้ไปกราบนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์และพระร่วงโรจน์ฤทธิ์ การได้ไปเห็นเจดีย์สูงเทียมนกเขาเหิน เรื่องราวของพระยากง พระยาพาน แล้วก็ข้าวหลามของคนเมืองนครปฐม
    • ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ให้กับคนหนองบัวครับ แวะมาอีกบ่อยๆ นะครับ
    • ท่านพระมหาแล คุณเสวก คุณครูเอนก คุณพีรณัฐ กลุ่มพริกเกลือ และคนหนองบัวอีกหลายท่าน สงสัยกำลังไปหาวงกลองยาวมารับแขก เลยปล่อยให้ผมต้อนรับสันถวะแขกและมิตรแก้วของคนหนองบัวอยู่คนเดียวกระมังครับ นิมนต์และเชิญทุกท่านนะครับ รวมทั้งท่านอื่นๆก็เข้ามาคุยได้เลยครับ ทำอย่างสบายๆครับ ได้มีที่ถามไถ่ เห็นข่าวคราวกันในท้องถิ่น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตกัน ก็ดีมากมายแล้วครับ

    สวัสดีหนานแสนเหมียงครับ

    • ขอคารวะหนานแสนเหมียงด้วยเช่นกันครับ
    • เป็นเวทีให้หนองบัวเอาไว้คุยและพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองด้วย แต่ก็หวังให้เป็นเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนทั่วไปที่มุ่งหาแหล่งสำหรับพัฒนาตนเองและมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเรื่องสวนรวมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท้องถิ่นของตนเองหรือเรื่องของหนองบัวก็ได้ครับ
    • การสะท้อนว่าได้ความประทับใจต่อวัดหนองกลับ วัดหลวงพ่อเดิม และพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในวัดหนองกลับ เป็นการสื่อสะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งว่า การส่งเสริมการเดินทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการท่องเที่ยวที่มุ่งให้เกิดการเรียนรู้ทางสังคม-วัฒนธรรม ตลอดจนสภาพบ้านช่องและวิถีชีวิตของผู้คนนั้น เป็นการทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้มีส่วนร่วมต่อการขับเคลื่อนวัฒนธรรมการเรียนรู้และยกระดับรสนิยมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีนะครับ
    • อย่างเรื่องสภาพป่าเขาที่ผูกพันกับคนท้องถิ่นที่ก่อเกิดและอยู่อาศัย รวมทั้งต้นมะม่วงและวัฒนธรรมระบบอาวุโสอย่างที่หนายแสนเหมียงเล่าถ่ายทอดและนำมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่งชุมชนที่ต่างถิ่นกันนี้ หากให้คนอื่นที่เป็นคนภายนอกคุยและเขียนเป็นความรู้เกี่ยวกับชุมชน ก็คงจะถูกมองข้ามและไม่เห็นความสำคัญ ในขณะที่สำหรับชาวบ้านแล้ว กลับเป็นเหมือนชีวิตและจิตวิญญาณของหมู่บ้าน นำมาเล่าและเก็บรวบรวมไว้เถอะครับ
    • เมื่อก่อนคนแถวบ้านผมเวลานึกถึงอุตรดิตถ์แล้วก็มักจะนึกถึงรางสาด เหล็กไหล และเมืองลับแลครับ ผมเองนั้นก็มักจะนึกถึงอุโมงค์รถไฟถ้ำขุนตาลและการแสวงหาเส้นทางสร้างถนนและรถไฟเชื่อมโยงถึงกันของภาคเหนือกับภาคกลาง นึกถึงบ้านของหม่อมคึกฤทธิ์ท่ามกลางดงต้นสนสามใบและลุงแก่ๆที่อยู่ในบ้านไม้ที่คอยเฝ้าอย่างโดดเดี่ยวอยู่กลางขุนเขา แล้วก็นึกถึงเสือสมิงและบรรยากาศล่องป่าอย่างในงานเขียนของพนมเทียนที่เคยอ่านเมื่อตอนเด็กๆ
    • แวะมาเยือนกันอีกนะครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • ก่อนอื่นก็ต้องขอต้อบรับท่านผู้อ่านและท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือนทุกท่านด้วยความยินดี
    • วันนี้เข้าไปในเมืองพิษณุโลก กลับมาเห็นมีแขกมาเยี่ยมเยือนถึงบ้านก็รู้สึกยินดีและขอบคุณมากที่ท่านมาให้กำลังใจชาวหนองบัว
    • ตามธรรมเนียนคนหนองบัวก็ต้องต้อนรับผู้มาเยือนถึงเรือนชานด้วยเมนูเด็ดประจำเมืองหนองบัวแก่ท่านด้วยพริกเกลือท่านละกระปุกสองกระปุกสำหรับมิตรภาพที่ดี
    • ติดต่อวงกลองยาวแล้วไม่ว่าง พอดีมีงานเข้า เพราะว่างมานานแล้ว มือกลองต้องไปรับจ้างขุดมันสำปะหรัง และสับมันที่หน้าโรงงาน
    • ได้อ่านข้อเขียนคุณครูอ้อยเล็กแล้วนึกเห็นภาพอำเภอชุมแสงซึ่งติดกับอำเภอหนองบัวเลย แต่ชุมแสงพื้นที่ต่ำมีน้ำท่วมทุกปีชาวบ้านก็จะมีเรือไว้ใช้หน้าน้ำ ซึ่งผิดกับหนองบัวเป็นที่ดอนโดยเฉพาะบ้านหนองบัวหนองกลับไม่มีเรือและพายเรือก็ไม่เป็นอีกด้วย
    • เคยลองฝึกพายเรือที่คลองห้วยน้อยครั้งหนึ่งแต่เรือมันวน ไม่ยอมเคลื่อนตัวไปข้างหน้า น้ำก็ลึกมากด้วยกลัวตกน้ำเลยต้องล้มเลิก คนบ้านดอนมีประสบการณ์คือการขับเกวียน
    • เวลาไปไหว้องค์พระปฐมเจดีย์ที่นครปฐมแล้ว ได้เห็นพระเณรและแม่ชีท่านนั่งเรียนบาลีที่วิหารคตหรือศาลารายรอบองค์พระแล้วก็นึกถึงบรรยากาสการศึกษาสมัยเก่าก่อน ห้องเรียนมีสภาพเป็นธรรมชาติ จิตใจก็หวนรำลึกถึงอดีตอันไกลโพ้นไปด้วย
    • ขอบคุณคุณหนานแสนเหมียงที่แวะมาเยี่ยมเยือนคนหนองบัว
    • สหรับอุตรดิตถ์แล้วเคยไปที่อำเภอท่าปลา ได้ชมเขื่อนดินที่ท่าปลามีสภาพธรรมที่สวยงามมาก เป็นเมืองที่มีตำนานเรื่องราวน่าสนใจมากมายมีผลไม้ที่มีชื่อเสียงแยะ
    • ขอให้คุณหนานแสนเหมียงนำเรื่องราวในชุมชนอำเภอบ้านโคก มาให้ชาวหนองบัวศึกษาเรียนรู้บ้างในโอกาสต่อไปจะยินดีอย่างมาก
    • คุณครูจุฑารัตน์เล่าเรื่องกลิ่นโคลนสาบควายแล้วเลยรู้สึกอบอุ่นขึ้นมาทันทีเพราะเรามีเพื่อนร่วมประสบการณ์เดียวกันแล้ว ต่อจากนี้คงไม่เหงาอีกต่อไป

    ขอเจริญพร

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล...

    • เวลาไปไหว้องค์พระปฐมเจดีย์ที่นครปฐมแล้ว ได้เห็นพระเณรและแม่ชีท่านนั่งเรียนบาลีที่วิหารคตหรือศาลารายรอบองค์พระแล้วก็นึกถึงบรรยากาสการศึกษาสมัยเก่าก่อน ห้องเรียนมีสภาพเป็นธรรมชาติ จิตใจก็หวนรำลึกถึงอดีตอันไกลโพ้นไปด้วย
    นำภาพระเบียงคตและการเรียนพระปริยัติธรรมของพระและเณรมาฝากค่ะ...ครูอ้อยเล็กชอบไปไหนติดกล้องไปด้วยเสมอ..ด้วยเห็นความสำคัญว่าบางทีเราเก็บความทรงจำไว้ด้วยภาพถ่ายเป็นการดีที่สุด..ตอนนี้เทคโนโลยีก็ก้าวไกลสามารถช่วยเราจดจำเหตุการณ์ต่างๆได้เป็นอย่างดี..ดังที่ว่าภาพเพียง 1 ภาพ เล่าเรื่องราวได้ดีกว่าคำบรรยายหลายๆบรรทัดด้วยซ้ำไปค่ะ....
    ระเบียงคต ทุกครั้งที่ไปนมัสการพระร่วงโรจนฤทธิ์หรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวพันกับองค์พระปฐมเจดีย์ ครูอ้อยเล็กจะนึกถึงช่างสมัยก่อนเป็นที่สุด..ชมชื่นว่าคนสมัยก่อนรุ่นปู่ย่าตายายของเราเก่งจริงๆเลย..สามารถสร้างสิ่งเจดีย์องค์ใหญ่จนเคยได้เป็น 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ได้สัดส่วนแม่นยำไม่มีบิดเบี้ยวเลยค่ะ..
    ด้านในเป็นที่เรียนของพระและเณร..ลมเย็นตลอดเวลาค่ะ..

    สวัสดีค่ะอาจารย์

    อ่านบันทึกแล้ว อาจารย์คงมีงานที่รับผิดชอบมาก และคงยุ่งกับงานอย่างงหนัก

    รักษาสุขภาพนะคะ

    อ้อ อยากขอทราบที่อยู่โดยละเอียด และชื่อผู้รับของโรงเรียนวันครูด้วยน่ะค่ะ เพราะทราบแต่ชื่อ อำเภอ จังหวัดเท่านั้นค่ะ

    ขอบพระคุณค่ะ

    กลองยาว แตรวง และกิจกรรมทางศาสนา กับการสร้างชีวิตความเป็นชุมชน

  • อ่านที่พระคุณเจ้าบอกว่ามือกลองยาวกำลังไปรับจ้างขุดมันสำปะหลังและสับมันอยู่หน้าโรงงานแล้ว ก็ต้องขำครับ
  • ในความเป็นจริงก็จะเป็นอย่างนั้นนะครับ เมื่อก่อนที่ผมอยู่บ้านตาลินและเล่นแตรวงนั้น บางทีก็เกี่ยวข้าวอยู่ครับ แต่จู่ๆก็อาจจะมีความจำเป็นต้องรวมตัวแตรวงไปช่วยงานกันอย่างปัจจุบันทันด่วน เช่น มีคนเสียชีวิตและจัดการงานศพ ก็ต้องไปช่วยงานกัน มีงานวัด กฐิน ผ้าป่า ที่เกิดมีคนมาถึงมืดค่ำและไม่มีอะไรต้อนรับแขกเหรื่อต่างชุมชน ก็ต้องไปเล่นรำวงให้ชาวบ้านอยู่ด้วยกันเพื่อทำบุญด้วยกันในวันรุ่งขึ้น 
  • พอเป็นอย่างนี้ก็ต้องเดินตามกัน บางทีก็กำลังโก้งโค้งเกี่ยวข้าวหรือเลื่อยไม้อยู่กลางทุ่งตัวมันเลื่อมอยู่โน่นแหละครับ บางทีก็ทอดแห ลอยคองมปลากันอยู่ในคลอง บางคนก็โน่นไปหักข้าวโพดและเก็บถั่วเขียวอยู่ในไร่เขามรกตโน่น พอครบวงก็ไปครับ พอล้างโคลนและหมาดเหงื่อก็ต้องทำความไพเราะ ความรื่นรมย์ หรือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมและกิจกรรมให้กับชุมชน
  • พระเณร โฆษกชุมชนและมัคนายกก็เหมือนกันครับ บางทีกำลังมุงกระเบื้องและทำจั่วศาลาอยู่ ก็ต้องลงมาและไปทำหน้าที่ให้กับชุมชน ผมคุ้นเคยกับบรรยากาศและวิถีชีวิตอย่างนี้ดีครับ เพราะเวลาแตรวงไปถึงแล้ว ไม่นานก็จะเป็นพระ และเวลาพระถึงบ้านงาน รวมทั้งหลังจากสวดและเสร็จสิ้นพิธีกรรม แตรวงก็จะมีเพลงเล่นบูชาพระรัตนตรัยและเพลงประกอบพิธีกรรมอย่างเป็นการเฉพาะ คนได้ยินก็จะรู้ว่าจะต้องเตรียมตัวและรู้ลำดับสิ่งที่จะต้องทำไปด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง ชาวบ้านก็อยู่ด้วยกันมาอย่างนี้ เป็นชีวิตจิตใจและลมหายใจเดียวกัน
  •                                        

  • สิ่งต่างๆที่ชาวบ้านประดิษฐ์และสร้างขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่จะทำขึ้นมาเพื่อธำรงความเป็นกลุ่มก้อนและสานความเป็นชีวิตของชุมชน มีความเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและความเป็นเหตุเป็นผลเพื่อขับเคลื่อนสิ่งต่างๆของชุมชนอยู่ การเห็นสิ่งนี้แล้ว จึงควรศึกษา-เรียนรู้ชุมชนให้รอบด้าน มีความเป็นบูรณาการ สะท้อนบริบทชุมชน หากทำอย่างแยกส่วนสิ่งต่างๆก็จะขาดหายไปมากมาย เช่น หากคิดว่าแตรวงและกลองยาว เป็นดนตรีที่มีความไพเราะอยู่ที่ตัวโน๊ด เสียงบรรเลง และทักษะของผู้แสดงออกมา ก็จะได้แต่เพลงบรรเลงและการเล่นที่ดี แต่ไม่ได้พลังของชีวิตที่อยู่ในดนตรีและกลองยาว อย่างนี้เป็นต้น
    • ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กที่นำภาพระเบียงคดและการศึกษาของพระภิกษุสามาเณรมาถ่ายทอดและบันทึกไว้ร่วมกับคนหนองบัวครับ ระเบียงคดขององค์พระปฐมเจดีย์นั้นถือเป็นอัจฉริยภาพทางสถาปัตยกรรมของคนเก่าก่อนมากนะครับ ที่อื่นก็พอมีครับ แต่โดยมากจะทำให้โค้งเพื่อแก้ปัญหาการย่อมุมที่ไม่ลงตัว ที่โค้งและคดโดยออกแบบให้กลมกลืนรอบเจดีย์ เพื่อขับให้องค์เจดีย์เป็นประธาน เหมือนกับจัดวางองค์ประกอบต่างๆให้ไปด้วยกันทั้งอาณาบริเวณนั้น ก็มีที่องค์พระปฐมเจดีย์นี่แหละครับ
    • คุณครูอ้อยเล็กนอกจากถ่ายภาพและบอกเล่าด้วยภาษาภาพถ่ายกับภาษาศิลปะได้ดีมากอย่างยิ่งแล้ว ยังให้ความรอบรู้และเขียนถ่ายทอดได้ดีจริงๆมากด้วยนะครับ เป็นครูและสื่อการเรียนรู้ที่บูรณาการดีจังเลยครับ มีภาพเยอะๆและเกร็ดเรื่องราวอย่างนี้ดีครับ คนที่เป็นครูบ้านนอกและเด็กๆในต่างจังหวัด จะได้มีสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลาย เป็นการช่วยเสริมกำลังกันให้ทำงานได้เข้มแข็งและดีขึ้นในทางอ้อมน่ะครับ
    • ขอบคุณครับคุณณัฐรดา
    • แล้วก็อนุโมทนาในสิ่งที่กำลังทำให้สังคมนะครับ 
    • คงต้องยอมให้คุณณัฐรดาส่งไปบริจาคเองแล้วนะครับ แต่เดิมผมบอกน้องๆว่าผมขอมีส่วนร่วม จะซื้อหนังสือของคุณณัฐรดาไปบริจาคให้ จะได้ไม่เบียดเบียน เกินแรงของคนที่อยากทำเพื่อส่วนรวม และทำอย่างนี้ได้นานๆ
    • ชื่อโรงเรียนและชื่อผู้อำนวยการคงบอกได้นะครับ เพราะเผยแพร่อยู่ทั่วไปและค้นหาทางอินเตอร์เน็ตนี้ก็มีอยู่แล้ว คือ
    • นายประสงค์ เดือนหงาย ผู้อำนวยการ โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) หมู่ ๕ ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ๖๐๑๑๐ ครับ
    • ขออนุโมทนาด้วยครับ ผมจะสานต่อกิจกรรมของคุณณัฐรดาด้วยแน่นอนครับ กำลังเตรียมอยู่ครับ จะให้เด็กเรียนศิลปะโดยวาดรูปวิจัยชุมชน แล้วก็เอาชาวบ้านมานั่งถอดบทเรียนและถ่ายทอดประสบการณ์รวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับชุมชน ตอนนี้ที่เขียนไปก่อนหน้านี้ใน GotoKnow ก็ถือว่าเป็นการซ้อมมือ-ซ้อมวิชาและให้มีตัวอย่างที่จะสื่อกับชาวบ้านและคนที่เกี่ยวข้องต่างๆให้เขาเห็นภาพว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไรและดีต่อชุมชนอย่างไร  ตอนนี้พร้อมพอสมควร รอจังหวะที่จิตว่างๆสักหน่อยเท่านั้นเองครับ

    กราบสวัสดีครับ ท่านอาจารย์ วิรัตน์ และทุกๆท่านที่มาเพิ่มเติมแหล่งความรู้

    • จากวันนั้นจนถึงวันนี้ผมเองยังไม่หายตื่นเต้น กันเวทีแห่งนี้เลยครับ ทุกครั้งที่เปิดเข้ามาผมมีความรู้สึกว่าขนลุกอย่างไรชอบกลถ้าพูดกันแบบชาวบ้านก็คือจับอะไรไม่ถูกเลยทีเดียวแต่ก็ต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์วิรัตน์เป็นอย่างยิ่งด้วยครับเหมือนราวกับว่าเนรมิตรทุกสิ่งให้มาอยู่รวมกันยิ่งกว่า ห้างสรรพสินค้าเสียอีกด้วย เมื่อนักแสวงหาแหล่งความรู้ ย่างก้าวเข้ามาก็จะได้รับความรู้หลากหลายติดมือกลับไปที่สุดนี้คือหากน้องๆนักเรียน ที่ต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนและวัดเพื่อทำรายงานส่งครูก็ไม่ต้องออกเดินไปตามหมู่บ้านเช่นเคยแล้ว และอีกอย่าง ท่านผู้ปกครองก็ไม่ต้องกังวลอีกด้วยครับ
    • พอจะช่วยอะไรอาจารย์ได้บ้างครับ
    • ภาพนี้ที่บ้านผมเรียกว่า หยกปลาช่อนครับ
    • ใช้คันเบ็ดใหญ่ๆหยก ตามทุ่งนา หรือแถวคลองที่น้ำไหล
    • ใช้ลูกเขียดเป็นเหยื่อล่อ
    • ตอนเด็กๆๆผมทำบ่อย
    • พอโตมาไม่เห็นใคร จับปลาด้วยวิธีนี้แล้วครับ
    • รอไปช่วยถอดบทเรียนด้วยได้ไหมครับ

    การเป็นแหล่งทรัพยากรความรู้ ส่งเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ชุมชนและส่งเสริมการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียน

     

    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์

    เห็นด้วยต่อการเล็งเห็นการสร้างความรู้และแหล่งการเรียนรู้ชุมชนไว้หนุนโรงเรียน

    • ประเด็นการเป็นแหล่งสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนอย่างที่คุณเสวกพูดถึงนั้น  ผมเห็นด้วยและขอสนับสนุนอย่างที่สุดเลยครับ ผมเห็นข้อเสนออย่างนี้แล้วก็ทั้งตื้นตันใจและเห็นประโยชน์ที่จะเป็นตัวบอกเราไปในตัวด้วยว่าเราจะร่วมมือกันผ่านการสร้างความรู้ตุนไว้ในนี้อย่างไรบ้าง อย่าว่าแต่โรงเรียนเลย องค์กรท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และกลุ่มคนที่ทำงานในท้องถิ่น ก้สามารถที่จะนำเอาเรื่องราวต่างๆที่พอมีประเด็นและข้อมูลจากท้องถิ่นอยู่บ้าง ไปเป็นข้อมูลในการคิดและพิจารณาเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องของท้องถิ่น ได้นะครับ

    ขึ้นฐานไว้รองรับเครือข่ายการเสริมกำลังกันของบ้าน วัด และโรงเรียน เพื่อสร้างสุขภาวะสาธารณะของชุมชน

    • การมีเครือข่ายจัดการเรียนรู้และพัฒนาการเรียนการสอนร่วมกับชุมชนของสถานศึกษา เป็นเรื่องที่สำคัญและจะช่วยเสริมกำลังความร่วมมือของ บ้าน วัด โรงเรียน ให้ส่งผลดีต่อการพัฒนาเด็ก สร้างคน และพัฒนาตัวปัญญาของชุมชน ผมว่าหลายฝ่ายก็คิดและเห็นความสำคัญ โรงเรียนและสถานศึกษาก็คงคิดมากๆด้วย แต่ให้ทำโดยลำพังก็คงไม่ไหว เราทุกคนก็เคยผ่านโรงเรียนและเคยทำงานส่วนร่วมในชุมชนตามโอกาสต่างๆก็พอจะทราบสภาพความเป้นจริงอยู่ว่า เอาแค่มีกำลังคนให้พอกับการทำงานอย่างในปัจจุบัน สังคมของเราก็ขาดแคลนมากมายครับ  หากไม่มีผู้คนจำนวนหนึ่งในภาคสังคมและภาคประชาชนที่มีจิตสาธารณะลุกขึ้นมาเป็นกำลังจากนอกภาคที่เป็นทางการแล้วละก็ ระบบและองค์กรทั้งหลายก็คงจะพังทลายไปหมดเพราะไม่มีกำลังส่ง พอจะให้ปรับตัวไปสู่สภาพแวดล้อมใหม่ๆได้ การช่วยกันทำอย่างนี้โดยเล็งเห็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อเด็กๆ เลยเป็นการมีส่วนร่วมและร่วมมือกันสร้างสิ่งดีอย่างยิ่งครับ ในระดับครอบครัวและสถานศึกษานั้น การที่เด็กๆมีแหล่งการเรียนรู้และทรัพยากรการเรียนรู้ดีขึ้น คงจัดได้ว่าเป็นสุขภาวะอย่างหนึ่งทั้งของครอบครัว ครู สถานศึกษาและชุมชน ได้กระมังครับ

    เป็นแหล่งความรู้และข้อมูลชุมชนอีกทางหนึ่ง

    • การมีแหล่งความรู้และวัตถุดิบที่เป็นข้อมูลชุมชน ทั้งแหล่งบุคคล หน่วยงาน รูปภาพ ภาพถ่าย ความรู้  ขุมความรู้และเครือข่ายการเรียนรู้-เครือข่ายความรู้มากมายทั้งระดับประเทศและสามารถเชื่อมโยงออกไปได้ทั่วโลกโดยใช้หัวข้อของชุมชนหนองบัวเป็นตัวตั้งอย่างที่ทุกท่านช่วยกันทำนี้ คุณครูในอำเภอหนองบัวพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนและพัฒนาหลักสูตรบูรณาการ ที่สามารถบูรณาการทั้งบริบทท้องถิ่นและโลกาภิวัตน์ได้อย่างดีแน่นอนครับ
    • เวทีชุมชนและการประชุมขององค์กรท้องถิ่นก็สามารถดึงข้อมูลทุกชนิดในนี้เข้าไปเปิดประเด็นหารือเพื่อการทำงานสร้างสุขภาวะหนองบัวได้อย่างดีเช่นกันครับ เรื่องราวต่างๆที่ได้ช่วยกันรวบรวมและสร้างขึ้นนี้ มีแต่เรื่องที่จะเป็นความภาคภูมิใจของคนหนองบัว เป็นด้านที่เป็นศักยภาพและความเข้มแข็งของหนองบัวทั้งสิ้น อีกทั้งมีความเป็นจริงอยู่ในคนหนองบัวรองรับอยู่มากมายครับ เป็นฐานความรู้ที่ทำให้ชาวบ้านยืนขึ้นอย่างสง่างามได้ครับ

     

                              

     

    • ผมเลยเอารูปที่คุณเสวกวาดเพื่อแสดงให้เห็นวิธีการยาลานด้วยขี้ควายและวิถีชีวิตชุมชนการผลิตของชาวหนองบัว มาแสดงไว้ที่นี่ด้วยนะครับ ส่วนใครจะเข้าไปคุยต่อ ก็เลื่อนขึ้นไปข้างบน เข้าไปในลิ๊งค์หัวข้อ กลุ่มพริกเกลือ ได้เลยครับ ที่หัวข้อนั้นก็สนุกครับ
    • ใช่เลยครับอาจารย์ขจิตครับ การหยกปลาอย่างนี้ได้แต่ปลาช่อนอย่างเดียวเลย และแถวหนองบัวก็เรียกว่าหยกปลา ล่อเบ็ด ล่อปลา ที่จะได้ยินบ่อยที่สุดเลยก็คือล่อเบ็ดครับ
    • แถวหนองบัวจะใช้เขียดกับลูกปลาหมอเป็นเหยื่อ
    • อาจารย์ทำได้นี่เก่งมากนะครับ ผมเคยทำ ให้ผมยืนทำอย่างนี้สัก ๑๐ นาทีก็ตะคริวกินทั้งตัวแล้วครับ
    • งั้นขออนุญาตอาจารย์เลยนะครับ ขอเรียนเชิญอาจารย์มาเป็นกำลังวิชาการเวทีนี้อีกท่านหนึ่ง ท่านพระมหาแลและคนหนองบัวเคยเสนอไว้ตั้งนานแล้วครับที่จะเชิญอาจารย์มาเป็นเครือข่ายทางวิชาการด้วย อาจารย์จะแวะเวียนมาบ้างก็ตามสะดวกครับ ไม่อยากให้เป็นภาระ เอาแค่มีปฏิสัมพันธ์เสริมกำลังปัญญาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนอย่างนี้ก็ถือว่ามากแล้วครับ
    • ด้วยความยินดีครับ
    • ดีใจมากๆๆเลยครับที่จะได้ช่วยอาจารย์และชาวหนองบัว ถือโอกาสได้เรียนรู้ด้วย ต่อไปอาจมีชาวหนองขาว ชาวพนมทวน มีการเรียนรู้แบบนี้บ้างครับ
    • ขอบพระคุณมากครับ

    P อาจารย์ดร.ขจิตคะ..แวะหน่อยนะคะ..ตามลิ้งข้างล่างค่ะ..ขอบคุณค่ะ..

    http://gotoknow.org/blog/frind08/296853

    • ขอบคุณและยินดีร่วมกับทุกคนเลยครับอาจารย์
    • ชาวหนองขาวและพนมทวนมีทุนสังคมเรื่องนี้ไปไกลมากแล้วครับ หลายอย่างผมก็ได้ประสบการณ์กับคนหนองขาวครับ ท่านศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ทั้งในนามมูลนิธิเล็ก-ประไพ พิริยะพันธุ์ และในนามมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งลูกศิษย์ลูกหาของท่าน กับกลุ่มนักวิจัยแนวประชาคมจากมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรีกับเครือข่ายกลุ่มต้นน้ำแคว-ประชาคมเมืองกาญจน์ ได้ไปทำงานแนวนี้กัน และชาวบ้านก็สามารถลุกขึ้นมาทำสิ่งต่างๆด้วยตนเองกันได้มากมาย 
    • หากมีอาจารย์ไปสมทบที่นั่นอีกก็ยิ่งเสริมความเข้มแข็งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง อันที่จริงหากมีโอกาส ผมจะชวนเพื่อนๆและคนหนองบัวที่มีความสนใจแนวทางการทำงานชุมชนการเรียนรู้จากการทำจริงๆในวิถีชีวิตของเราเอง ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนหนองขาวและคนพนมทวนก็คงจะดีนะครับ พื้นฐานของชุมชนคล้ายกันมากเลยครับ
    • ขอบคุณมากเลยนะครับที่อาจารย์จุดประกายให้ในทางอ้อม

    คิดให้ได้พลังใจไปกับเพลง

  • คุณครูอ้อยเล็กแวะมาโฉบอาจารย์ขจิต ฝอยทอง ไปฟังเพลง Wind of Change ของวงแมลงป่องแน่ะ
  • เพลงแนวนี้ต้องฟังมาโนช พุฒตาลคุยให้ฟัง ได้ทั้งมิติดนตรี ปูมหลังของแรงบันดาลใจ  dialogue และ discourse เกี่ยวกับสังคม กับการเรียนรู้ทางสังคม
  • ฟังเพลงนี้ทีไร ผมมักนึกถึงอีก ๒ เพลงขึ้นมาด้วยคือ Blowing in the Wind ของ Bob Delan และ Imagine ของวง ๔ เต่าทอง
  • ใน Blowing in the Wind เหมือนเพลงถอนหายใจว่า คำตอบต่อทุกๆอย่าง(ของสังคม) ก็เหมือนกับสายลมที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ซึ่งน่าจะต่างจากมุมมองใน Wind of Change ของวงแมลงป่องนะครับ ...ดูแลความใฝ่ฝันของเรา (ว่าโลกจะไม่ต้องมีทหารและการล้างทำลายกัน โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน) เหมือนบ่มเพาะให้เด็กๆลูกหลานแห่งวันพรุ่งนี้หรือการมีความหวัง-ความฝันใฝ่ของเราเอง ได้เติบโตงอกงามในภายหน้า 
  • ไม่เหมือนอารมณ์เพลงอย่างใน Blowing in the Wind ซึ่งทอดอาลัย ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นดังสายลมที่ผ่านเลย คล้ายๆกับบ่นสู่กันว่าสิ้นหวังเหลือเกินเพื่อนเอ๋ย ทำนองนั้น
  • ใน Imagine ของวง ๔ เต่าทอง ก็เหมือนกับจะบอกว่า ถึงแม้เราจะต้องเผชิญกับสิ่งที่เกินจะเป็นไปได้ในโลกแห่งความเป็นจริงอีกมากมาย แต่ฝันและหวังไปก่อน  เพราะอย่างน้อย ผู้คนแม้แตกต่างกันมากมาย ก็สามารถฝ่าข้ามไปมีความฝันร่วมกันได้
  • คุยเรื่องเพลงก็มีความสุขดีเหมือนกันนิคุณครูอ้อยเล็ก แต่คุยกับอาจารย์ขจิตนี่คุณครูอ้อยเล็กต้องคุยเรื่องเพลงเหย่ยสิเนาะ
  • Pค่ะท่านอาจารย์ขจิตท่านก็ได้ช่วยหาที่เขาแปลมาแล้ว..มาวางไว้ให้เสร็จสรรพแล้วค่ะ..

    วิธีนี้บ้านครูอ้อยเล็กก็เรียกว่า..ล่อปลาเหมือนกัน..ก็จะมีเหยื่อที่มันดิ้นกระดุ๊กกระดิ๊กได้เป็นตัวล่อ..แต่ถ้าเหยื่อทนพิษบาดแผลไม่ไหวตายไป..ก็ใช้วิธียกเหยื่อขึ้นลงอันเป็นคำที่มาของอาการหยกปลาก็ได้นะคะ คือยกขึ้นลงแบบสั้นๆเร็วบ้างช้าบ้างตามแต่สถาณการณ์ละมังคะ..วิธีนี้จะได้ปลาช่อนแน่นอนเพราะปลาช่อนต้องโผล่มาหายใจที่ผิวน้ำเป็นระยะๆ แต่ด้วยว่าแถวบ้านครูอ้อยน้ำมากค่ะ..เบ็ดที่นิยมจึงเป็น..เบ็ดราว..คือเบ็ดที่ขึงระหว่างฝั่งคลอง มีเบ็ดผูกไว้เป็นระยะห่างกันพอควร..จะวางไว้ตอนหัวค่ำ เช้ามือค่อยไปดูผลงานค่ะ..กิจกรรมนี้ครูอ้อยเล็กไม่ได้มีส่วนร่วมเท่าใดเพราะเป็นกิจกรรมของเด็กผู้ชายซะมากกว่า..ส่วนอีกเบ็ดหนึ่ง คือเบ็ดปัก...เป็นเบ็ดที่เหลาไม้ไผ่ที่ไม่แก่เกินไปไม่อ่อนเกินไป เป็นไม้กลม ยาวประมาณคันละ 60 -80 เซนติเมตร งอแล้วนำไปลนไฟให้เซทตัวโค้งพอประมาณ ควั่นปลายไม่ให้เป็นร่อง นำเบ็ดพร้อมตะกั่วที่ผูกไว้เรียบร้อยแล้วผูกติดลงในร่องที่ปลายไม้นั้น ส่วนปลายไม้อีกด้านหนึ่งเหลาให้แหลม เพื่อใช้เป็นส่วนที่ปักลงกับดิน..ทีนี้ก็เป็นขั้นตอนของการหาทำเลที่ปักเบ็ดจะหาชายฝั่งคลองที่มีกิ่งไม้ปกคุมแหวกแล้วปักไว้ด้วยเหยือลูกปลา น่าสงสารลูกปลาวิ่งไปมา..เฮ้อแต่ตอนนั้นเป็นเด็กท้องนาชีวิตทุกชีวิตต้องดิ้นรนอยู่รอด..ก็ไม่ค่อยได้คิดอะไรค่ะ..แม่กับพ่อมักบอกเสมอว่ามันเป็นอาหารค่ะ..

    ข้อมูลที่ไปรวบรวมมาขององค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐมค่ะ..

    http://gotoknow.org/blog/fora1/267858

    อาจารย์ครับ ขอขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่เข้าไปเยี่ยม ผมตอนนี้อาการไม่สู้ดีนักครับ เพราะมีงานค่อนข้างมากและมีเรื่องให้คิดทบทวนตัวเองมากเลย เหมือนจะเบลอๆอย่างไรไม่รู้ครับ ผมยินดีมากครับที่จะเป็นเครือข่ายด้วยนับเป็นเกียรติมากเลยครับ ผมเปิดประตูเข้ามาบ้านอาจารย์ ทึ่งครับ สำหรับลายเส้นที่บรรจงวาดลงไป สวย แม่นยำ มีพลังครับ...

    เบ็ดสำหรับปักในนาข้าว

              "...ส่วนอีกเบ็ดหนึ่ง คือเบ็ดปัก...เป็นเบ็ดที่เหลาไม้ไผ่ที่ไม่แก่เกินไปไม่อ่อนเกินไป เป็นไม้กลม ยาวประมาณคันละ 60 -80 เซนติเมตร งอแล้วนำไปลนไฟให้เซทตัวโค้งพอประมาณ ควั่นปลายไม่ให้เป็นร่อง นำเบ็ดพร้อมตะกั่วที่ผูกไว้เรียบร้อยแล้วผูกติดลงในร่องที่ปลายไม้นั้น ส่วนปลายไม้อีกด้านหนึ่งเหลาให้แหลม เพื่อใช้เป็นส่วนที่ปักลงกับดิน...." วัชรี โชติรัตน์ โรงเรียนเทศบาล ๔ (เชาวนปรัชาอุทิศ) นครปฐม ๒๕๕๒ จาก dialogue box ๗๗

                      

                      เบ็ดปัก เป็นเบ็ดสำหรับปักตามคันนาของนาข้าว ชาวบ้านจะปักเบ็ดโดยใช้เหยื่อในลักษณะต่างๆ คือ ใช้เหยื่อไส้เดือนสำหรับแหล่งที่มีปลาดุก ปลาหมอ และปลาที่ว่ายน้ำหากินตามผิวดิน เช่น ปลาไหล ปลาหลด และปลาขนาดเล็ก โดยเฉพาะในระยะที่น้ำเพิ่งหลากมา การปักเบ็ดในลักษณะนี้จะปักแบบก้มคันเบ็ดเกือยติดผิวน้ำเพื่อให้สายเบ็ดและเหยื่อหย่อนลงไปถึงผิวดิน

                      เหยื่อเขียดและลูกปลาตัวเล็กๆ  จะเป็นเหยื่อที่เหมาะสมสำหรับปักเบ็ดเมื่อน้ำเริ่มทรงแล้ว หรือเป็นระยะที่ปลาเริ่มโต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปลาช่อน ปลาค้าว ปลากด การปักเบ็ดโดยใช้เหยื่อเขียดแบบนี้ จะโหย่งคันเบ็ดให้สูงและให้เขียดและลูกปลาลอยลงไปในน้ำครึ่งตัว การดีดตัวของเขียดบนผิวน้ำ และการวิ่งอยู่บนผิวน้ำของเหยื่อลูกปลา จะทำให้ปลาขนาดใหญ่โผเข้ากินเบ็ด ในทุ่งนาที่มีน้ำลึกและนิ่งมักนิยมปักเบ็ดแบบนี้

    • ขอบคุณทั้งคุณครูอ้อยเล็กและอาจารย์กู้เกียรติเลยนะครับ
    • เลยวาดรูปประกอบบทความของคุณครูอ้อยเล็กไปด้วยเลย เหมือนทำงานร่วมกันกับผู้น้องทั้งสองเพื่อเป็นที่ระลึกนะครับ
    • ขอให้สุขภาพดีนะครับ อาการอย่างนี้เหมือนเป็นการพักผ่อนไม่เพียงพอและทำงานต่อเนื่องจนล้าเกินไปนะครับ หากดื่มกาแฟก็ต้องรีบลดหรือหยุดชั่วครู่ก็จะดีนะครับ
    • หาโอกาสนอนแผ่ แขนวางข้างลำตัวและผายมือออกแบบท่า anatomical position หลับเปลือกตาเบาๆ แล้วหายใจเข้า-ออกลึกๆเหมือนทำอาณาปนสติ(หากทำเป็นก็ยิ่งดีใหญ่เลยครับ) สักวันลำ ๒๐-๓๐ นาที หากทำจิตใจนิ่งไปด้วยได้จะสดและฟื้นตัวได้เร็วมากกว่านอนหลับอีกครับ
    • หากหยุดทำงานลุยๆไม่ได้  ต้องหาเวลาทำสลับกับการทำงานเป็นระยะๆจะดีครับ

    82.

    อ้อยเล็ก
    เมื่อ อ. 15 ก.ย. 2552 @ 17:44
    #1553346 [ ลบ ]

                        

    ถูกต้องแม่นยำค่ะนี่คือวิถีที่ในตอนนั้นไม่มีแม้กล้องจะถ่ายภาพ..แต่อาจารย์สามารถถ่ายทอดตามคำบอกเล่าได้อย่างถูกต้องแม่นยำ..เอครูอ้อยนี่อายุเท่าไหร้หนอ..อิๆถึงได้คุยกะอาจารย์รู้เรื่องน่ะคะ..

     

    • นั่นน่ะสิ ที่สำคัญคือเรื่องพวกนี้เด็กๆผู้หญิงมักจะไม่ค่อยมีประสบการณ์ มันเป็นกิจกรรมชีวิตที่จะต้องไปอยู่กลางทุ่งนา หากเป็นกลางวันก็จะอยู่กลางเปลวแดด ทั้งพ่อแม่และพี่ๆน้องๆก็จะไม่ยอมให้ผู้หญิงไปลำบาก หากเป็นกลางคืนก็จะลำบาก
    • เวลาทำปลา พวกผม พวกผู้ชาย เมื่อถึงเวลาก็จะต้องทำหน้าที่ทำปลาให้แม่และทำแทนน้องๆผู้หญิง ไม่ต้องให้บอก เป็นวิถีปฏิบัติของชาวบ้านครับ
    • ร่วมมือวาดเก็บๆไว้ร่วมกับคุณครูอ้อยเล็ก พระมหาแล คุณเสวก และทุกท่าน ก็สนุกดีเหมือนกันครับ แล้วก็เป็นข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้านไปด้วย เผื่อเด็กๆและคนท้องถิ่นจะได้เอาไปใช้ประโยชน์ครับ
    • ในรูปที่วาดลักษณะเบ็ดและการปักเบ็ด ร่วมกับเนื้อความที่คุณครูอ้อยเล็กเขียนด้วยนั้น อุปกรณ์ทำมาหากินที่เห็นเด็กถืออยู่ในมือขวานั้น เป็นเครื่องสานอย่างหนึ่ง แถวบ้านผมเรียกว่า 'กะล็อก' เป็นเครื่องสานทำด้วยไม้ไผ่แล้วก็เย็บผ้าทำเป็นฝา ใช้ใส่เขียดสำหรับทำเป็นเหยื่อปักเบ็ด
    • แต่เวลาได้ปลา ก็จะใส่ในตะฆ่อง ลักษณะเหมือนกับที่วางอยู่ด้านข้างของเด็กที่อยู่ไกลออกไป เพราะจะสามารถแช่ไว้ในน้ำได้อยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ปลาตาย

    พลังการวิจัยและพัฒนาเป็นกลุ่มประชาคม : สื่อการ์ตูนบูรณาการการเรียนรู้ ส่งเสริมสุขภาวะท้องถิ่นและพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของสถานศึกษา

    ผมมีตัวอย่างสื่อการ์ตูนที่อยากนำมาเผยแพร่ให้ผู้สนใจในเวทีคนหนองบัวครับ เป็นตัวอย่างสื่อการ์ตูนที่เผยแพร่และใช้เพื่อการศึกษาไปแล้ว ผมเหลือไว้ดูอยู่เล่มหนึ่งเลยอยากเผยแพร่ไว้ในแหล่งรวบรวมและบันทึกความรู้นี้ อาจจะช่วยจุดประกายความคิดแก่คนหนองบัว รวมทั้งอาจเป็นแนวคิดสำหรับทำสิ่งที่หลายท่านกล่าวถึงในนี้ โดยเฉพาะการใช้ข้อมูล ความรู้ รูปภาพและสื่อ ไปเสริมกำลังให้กับการพัฒนาการเรียนรู้ทั้งสำหรับคนท้องถิ่น สถานศึกษา และกิจกรรมการเรียนรู้ในครอบครัว

    ข้อมูลเกี่ยวกับสื่อ : เป็นสื่อการ์ตูนประกอบคำกลอน รักษ์คลอง รักถิ่น เนื้อหาโดย จริยา ศรีเพชร  ข้อมูลโดยเครือข่ายประชาคมวิจัยสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นอำเภอพุทธมณฑล  วาดภาพโดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ระบายสี โดย รุจิรา คำศรีจันทร์ ทุนอุดหนุนการวิจัย โดย มหาวิทยาลัยมหิดล ๒๕๔๓

    กระบวนการผลิตและพัฒนา :

    การเรียนรู้และสร้างความรู้ท้องถิ่นเพิ่มพลังการปฏิบัติ : สื่อการ์ตูนนี้เกิดขึ้นโดยกระบวนการต่อยอดการวิจัยเสริมพลังการริเริ่มและปฏิบัติการของกลุ่มคนในท้องถิ่น อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ผู้ทำเนื้อหาและนำไปใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้สำหรับเด็กและชุมชนคือ จริยา ศรีเพชร ซึ่งในขณะที่ทำเมื่อปี ๒๕๔๓ นั้นเป็นครูในโรงเรียนบ้านคลองมหาสวัสดิ์ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ขาดโอกาสการพัฒนาในหลายด้าน กลุ่มเด็กๆส่วนใหญ่มาจากครอบครัวคนท้องถิ่นซึ่งยากจน 

    คุณครูจริยา ศรีเพชร เป็นเครือข่ายของกลุ่มประชาคมวิจัยละปฏิบัติการเชิงสังคมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการในอำเภอพุทธมณฑล ในโครงการวิจัยดังกล่าวใช้วิธีระดมพลังกลุ่มคนในพื้นที่มาช่วยกันวิจัยสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่น ทำให้ได้องค์ความรู้ท้องถิ่นกว่า ๒๕ ด้าน และเกิดเครือข่ายปัจเจกผู้มีจิตสาธารณะที่ได้รับการเสริมศักยภาพในการปฏิบัติการเชิงสังคมกว่า ๒๕๐ คนครอบคลุมหลายสาขา ทำให้มีพลังปฏิบัติการในเรื่องต่างๆอย่างมีพลังและเกิดความเชื่อมโยงผสมผสานมากขึ้นเป็นลำดับ

    แรงบันดาลใจแบบต่อยอดกิจกรรม : คุณครูจริยา ศรีเพชร ผ่านการศึกษามาทางสังคมศึกษา แต่ต้องสอนและทำงานหลายด้านในสภาพที่มีข้อจำกัดหลายประการ หลังจากสร้างองค์ความรู้ ได้ประสบการณ์มากขึ้นเกี่ยวกับชุมชน และได้เครือข่ายจากการวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมในรูปกลุ่มประชาคม คุณครูจริยาจึงสามารถนำเอาความรู้และกลุ่มคนมาร่วมกันจัดกิจกรรมค่ายเรียนรู้สิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการให้แก่เด็กในโรงเรียนต่างๆของอำเภอพุทธมณฑล ดำเนินการ ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มีเพื่อนๆและเครือข่ายช่วยกันทั้งอำเภอ เทศบาลก็ให้งบประมาณสนับสนุน ผมและทีมก็ไปช่วยทั้งเพื่อตามเรียนรู้และทำวิจัยเสริมพลังการดำเนินการ และให้การสนับสนุนทางวิชาการ กิจกรรมค่ายการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการดังกล่าว ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างเด็กอย่างกว้างขวาง เด็กๆจากโรงเรียนในอำเภอเข้าร่วมกว่า ๒๕๐ คน ชาวบ้านและคนในชุมชนได้ร่วมเป็นครูชุมชนให้เด็กๆ รวมทั้งใช้สวน นาบัว นาข้าว และแหล่งการผลิตสิ่งๆต่างในชุมชน เป็นแหล่งการเรียนรู้ เด็กๆมีกิจกรรมการเรียนรู้อย่างบูรณาการ ทั้งเป็นนักวิจัยน้อย การทำกิจกรรมกลุ่ม การระดมสมองและวางแผนนำเสนอเป็นกลุ่ม วาดรูป เล่นเกมส์ และกิจกรรมร้องเพลง

    เมื่อปิดกิจกรรมค่าย คุณครูจากโรงเรียนทุกคนดีใจที่เด็กๆและโรงเรียนของตนได้มีโอกาสทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่นอย่างบูรณาการที่ร่วมแรงร่วมใจกันจัดขึ้น คุณครูจริยาก็ยิ่งดีใจเพราะเด็กๆและโรงเรียนของคุณครูไม่ค่อยมีโอกาส อีกทั้งหากทำเองโดยลำพังก็ไม่มีกำลังพอจะทำได้ จึงแต่งกลอนเพื่ออ่านบนเวทีตอนปิดค่ายกิจกรรม

    ทำการริเริ่มจากการใช้ความรู้ให้เป็นสื่อสำหรับใช้ทำงานต่อเนื่อง : ผมเห็นเป็นข้อมูลที่สืบเนื่องอยู่กับระบวนการเรียนรู้อย่างกว้างขวางของชุมชนและเครือข่ายสถานศึกษา จึงได้นำเอากลอนที่คุณครูแต่งและอ่านสดๆบนเวทีปิดกิจกรรมค่าย มาทำเป็นบทการ์ตูน วาดรูปการ์ตูน และขอให้คุณรุจิรา คำศรีจันทร์ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบายสีและทำเป็นต้นฉบับสื่อการ์ตูน จากนั้นได้ขอการสนับสนุนจากโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ทำเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ให้คุณครู เครือข่ายวิจัย และสถานศึกษาในชุมชนอำเภอพุทธมณฑล นำกลับไปใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของเด็กๆต่อไปอีก

    การวิจัยและเรียนรู้ชุมชนแปรสู่การสร้างทุนทางสังคมให้การศึกษาในพื้นที่ : คุณครูจริยา ศรีเพชร ได้นำไปใช้เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนหลายลักษณะ ทั้งเป็นส่วนเสริมกิจกรรมที่มีอยู่แต่เดิมและเป็นสื่อในกิจกรรมพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ทำให้โรงเรียนได้พัฒนาบางส่วนที่ขาดอยู่ขึ้นอีกหลายด้าน ต่อมาได้เป็นตัวอย่างและเป็นสื่อในชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ีได้รับรางวัลทางด้านการศึกษาระดับประเทศ ตัวคุณครูจริยา ศรีเพชรเองซึ่งเป็นครูในโรงเรียนที่อยู่ชายขอบมากก็ได้พิจารณาให้เป็นครูตัวอย่าง และต่อมาก็เป็นครูผู้เชี่ยวชาญระดับ ๙ ซึ่งมีอยู่คนเดียวของจังหวัดนครปฐม และปัจจุบัน ได้ย้ายมาเป็นครูของโรงเรียนกาญจนาภิเษก(พระตำหนักสวนกุหลาบ) ในอำเภอพุทธมณฑล และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นอย่างบูรณาการ

    เนื้อหาบทกลอนและบทสื่อการ์ตูน 

    บัวกะหนูนาอยู่อาศัยในพุทธมณฑล บัวกะหนูนาจะพาเที่ยวคลองในพุทธมณฑล

    ล่องเรือเลียบคลองมหาสวัสดิ์    เที่ยวเลาะลัดทัศนาถิ่นอาศัย    อู่ต่อเรือ สวนเกษตร สมุนไพร    เรือนเก่าใหม่ วัดคู่บ้าน ย่านชุมชน

    วิถีชีวิตสองฝั่งคลองดูหลากหลาย    บ้างค้าขาย หัตถกรรม ล้ำเลิศผล    ทั้งนาบัว สวนกล้วยไม้ ชวนให้ยล    ชาวชุมชนพาเรียนรู้ชูปัญญา

    ธรรมชาติริมคลองทั้งสองฝั่ง     พืชพรรณยังเขียวชอุ่มพุ่มไม้หนา    นกน้อยน้อยโผผินบินไปมา     พลิ้วใบหญ้า บัวสาย ตามรายทาง

    แสนเสียดายหากคลองต้องเน่าเหม็น    น้ำใสเย็นกลับคล้ำเป็นดำด่าง     สรรพชีวิต ปู ปลา ต้องลาร้าง     ล้วนร่วมสร้างร่วมก่อจากทุกคน

    สังคมดี ธรรมชาติดี ไม่มีขาย      แม้อยากได้ต้องร่วมสร้าง  ทุกแห่งหน     ทั้งคูคลอง ถิ่นฐาน  พุทธมณฑล     จะน่ายลและน่าอยู่  ตลอดไป

    พุทธมณฑล เมืองน่าอยู่ ด้วยทุกคนร่วมกันสร้าง.

     

                               

                               

                               

                               

                                

                               

                               

                               

     

    เอามาฝากเป็นแนวคิดและเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ชุมชน สร้างความรู้ท้องถิ่น และร่วมมือกันเพื่อทำให้คนบางส่วนที่มีความริเริ่ม มีจิตสาธารณะ มีความรู้ มีความสร้างสรรค์ และเอาธุระต่อการพัฒนาสุขภาวะของสังคมด้วยการมีส่วนร่วมของตนเองนอกเหนือจากที่ทำในวิธีการอื่นๆอยู่แล้ว แต่ไม่มีกำลังพอที่จะทำได้อย่างเต็มที่อย่างที่ตนเองทำได้ เพื่อเป็นวัตถุดิบคิดสร้างสรรค์ของคนหนองบัว หรือคุณครูและคนทำงานชุมชนท้องถิ่นจะนำไปใช้เป็นสื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ต่างๆต่อไปครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    • เห็นสื่อชุดนี้แล้วน่าเรียนจริง ๆ
    • สื่อสวยมากเนื่อหาดี
    • มีเรื่องราวให้ได้เรียนรู้วิถีชิวิตชุมชน
    • คนหนองบัวต้องขออนุญาตนำไปเป็นต้นแบบแนวคิดการทำงานสื่อการสอนในชุมชนในสถานศึกษาเสียแล้วอาจารย์
    • หนองบัวก็มีเรื่องสิ่งแวดล้อมหลายอย่างที่ต้องช่วยกันดูแลรักษา
    • คนหนองบัวเราคงต้องช่วยกันทำสื่อแนวนี้ให้เกิดมีขึ้นมาเพื่อเด็กและสังคมชุมชน
    • ที่อื่นก็นำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะกับสภาพท้องถิ่นได้อย่างเหมาะควร
    • เห็นด้วยอย่างยิ่ง(พูดเหมือนเจ้าของผลงานเลยเนี่ย)ขอสนับสนุนให้คุณครูทั้งหลายที่มีสภาพทางกายภาพคล้ายกันนี้นำไปเป็นสื่อการสอนแก่เด็กก็จะเป็นที่น่าอนุโมทนายิ่ง

    ขอเจริญพร

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    และสวัสดีค่ะพี่ชาย อ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    • ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าภาพสื่อที่นำมาเผยแพร่ เพื่อให้เป็นตัวอย่างดีๆที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดความรู้  หรือนำไปปรับให้เข้ากับบริบทของชุมชน ซึ่งในแต่ละถิ่นที่แตกต่างกันไป และใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้กับคุณครูทั้งหลาย  น่าสนใจมากๆค่ะ
    • เนื้อหาของบทร้อยกรองกับภาพประกอบ  ได้ใจความชัดเจนมีชีวิตชีวา เป็นธรรมชาติ เด็กเรียนได้..ผู้ใหญ่เรียนดีค่ะ
    • อย่างน้อยสิ่งที่ได้รับตอบแทน น่าจะช่วยให้ผู้คนในชุมชนมีจิตสำนึกที่ดี ช่วยกันสร้างสรรค์สังคม รักและหวงแหนถิ่นเกิดเมืองนอนของตนเอง
    • คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเริ่มต้นทำกันนะคะ

                       ------------------------------

    • ย้อนไปถึงเรื่อง เบ็ดปัก ที่หาปลาในนาข้าว สมัยเป็นเด็กๆเคยเห็นค่ะ บางทีถ้าเป็นปลาตัวใหญ่ๆ ดิ้นจนได้ยินเสียงน้ำกระจายเลยเหมือนกัน
    • ยังมีอุปกรณ์ที่ใช้หาปลาอีกค่ะ เช่น ไซ ใช้ดักปลาตัวเล็กๆ  ปลาซิว ปลาสร้อย กุ้ง  ลอบ ใช้ดักปลาตัวใหญ่ๆขึ้นมาหน่อย ทำได้เองจากไม้ไผ่เหลากลมๆเรียวยาว แล้วสานให้คล้ายทรงกระบอกมีที่ว่างภายใน มีทางเข้าแต่ออกลำบาก เพราะทางเข้าตรงปลายไม้ จะแหลมขัดกันห่างๆพอปลาดิ้นเข้าไปได้ มัดด้วยลวดหรือหวาย คงทนถาวรใช้ได้นานค่ะ 
    • ในนาข้าวจะมีบางช่วงน้ำลึก เช่น ตรงคันนาที่เปิดน้ำเข้าหากัน น้ำจะไหลแรง ปลาใหญ่ๆจะแวกว่าย ทวนน้ำบ้าง ตามน้ำบ้าง ปูบ้าง แล้วก็ไปรวมกันอยู่ในลอบ วันดีคืนดีแถมด้วยงูปลา แต่ไม่เคยเห็นทำร้ายคนค่ะ
    • ปลาที่จับมาได้ มีทั้งปลาเป็นและปลาตาย ปลาเป็นก็จะขังใส่โอ่งมังกรหรือโอ่งดินไว้กินหลายๆมื้อ   ส่วนปลาตายที่เป็นปลาเกร็ด พวกปลาตะเพียนทำปลาย่าง ปลาเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาดุกจะทำใส่เกลือตากแห้ง   ปลาที่เละใกล้จะเน่าเอามาทำปลาร้า หรือไม่ก็หมักค้างปีไว้ทำน้ำปลาค่ะ
    • ชอบดูเวลาเขาทำปลา นั่งบี้ถุงลมเล่น ถูกตีบ่อยครั้งเพราะทำให้มือสกปรกเหม็นคาว ก็เล่นไปตามประสาเด็กค่ะ ทนอดหลับอดนอนไปกับเขาด้วย
    • สมัยก่อนเขาทำนาดำมากกว่านาหว่าน ในนาข้าวไม่ค่อยมีหญ้า แต่มีพวกผักแว่น  ผักบุ้งต้นอ่อนๆ ที่ยังไม่ทันจะยาวขึ้นมาลอยน้ำ เด็ดจิ้มน้ำพริกน้ำปลาทั้งดิบๆ กรอบอร่อยและไม่มียาฆ่าแมลงด้วยค่ะ 
    • บางทีเตรียมแค่น้ำพริกน้ำปลาใส่ปิ่นโต  ไปหาผักในนานี่แหละ
    • เคยมีเพลงร้องสมัยเด็กๆเดี๋ยวจะเอามาแปะไว้นะคะ
    • ขอบคุณค่ะ

             

     

                       เมืองไทยเรานี้       แสนดีหนักหนา

                    ในน้ำมีปลา              ในนามีข้าว

                    ทำมาหากิน              แผ่นดินของเรา

                    ปลูกเรือนสร้างเหย้า    อยู่ร่วมกันไป

                    เราอยู่เป็นสุข            สนุกสนาน

                    เราตั้งถิ่นฐาน            ไปจนยิ่งใหญ่

                    เมืองไทยเรานี้           แสนดีกระไร

                    เรารักเมืองไทย          ยิ่งชีพเราเอย    

                     

          

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า และท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

    สื่อการ์ตูนที่นำมาฝากกันนี้ ร่วมบรรยากาศช่วยกันรณรงค์ วันแม่น้ำลำคลองแห่งชาติ ในวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายนนี้พอดีครับ สังคมไทยจะได้มีโอกาสรำลึกและหวนกลับมารักษ์คลองและรักถิ่นฐานให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนหนองบัวและนครสวรรค์ ซึ่งมีบึงบรเพ็ดและเป็นแอ่งข้าวปลาอาหารของประเทศ

    • เมื่อก่อนนี้ ผู้คนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ผู้คนจะต้องติดตามการกำหนดราคาข้าวและความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จากท่าข้าวกำนันทรง จังหวัดนครสวรรค์ ทุกเช้า กลางวัน เย็น เลยทีเดียว ทั่วโลกเคยเคลื่อนไหวไปตามจังหวะลมหายใจกับการไถคราดของคนนครสวรค์และคนไทยนะครับ
    • แม่น้ำลำคลอง จึงเป็นหัวใจของชุมชนการผลิตของสังคมไทย สื่อและการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เราสามารถทำเองให้ผสมผสานอยู่ในชีวิตจริงของชุมชนได้ครับ
    • ข้อมูล รูปถ่าย และรูปวาด ในนี้ที่ทุกท่านได้ช่วยกันเขียนและนำมารวบรวมไว้ เชื่อว่าจะเป็นแหล่งวัตถุดิบในการทำสื่อการเรียนรู้ที่ดีอย่างยิ่งเช่นกันครับ
    • ผมเองก็ได้ประเด็นและข้อมูลมากมายสำหรับไปหารายละเอียด รวมทั้งได้ประเด็นเพื่อตามไปเก็บข้อมูล วาดรูปและบันทึกภาพ ซึ่งปรกติผมก็ทำไปตามปรกติของคนที่ชอบ แต่เมื่อมีข้อมูลอย่างนี้ก็จะทำได้ดีขึ้นครับ ทำไปเรื่อยๆ สักระยะหนึ่งก็อาจจะพอสำหรับการบันทึกและเล่าเรื่องหนองบัวด้วหนังสือสารคดีเชิงภาพถ่ายและรูปวาดอย่างที่พระคุณเจ้าและบางท่านได้จุดความสนใจไว้นะครับ

    ผมได้ย้ายหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องหนองบัวกลับไปยังหัวข้อต่างๆตามเดิมของเขาแล้วนะครับ เนื่องจากพอย้ายมาแล้วก็ปรากฏว่ากระทบไปทั้งหมดของสิ่งที่ผมเขียนทั้งในเวทีนี้ ใน GotoKnow รวมทั้งในบล๊อกอื่นๆทั้งของผมและผู้อื่นที่เขาลิ๊งค์และเชื่อมโยงไปเขียนถึง ซึ่งพอย้ายมานิดเดียวก็เป็นเรื่องครับ ทำให้โกลาหลและวุ่นวายกันไปหมดเลย กูเกิ้ลก็หาไม่เจอ หัวข้ออื่นๆทั้งของตัวเองและที่คนอื่นเขากล่าวถึงก็หาไม่เจอ รวนไปหมดอย่างคาดไม่ถึง ต้องขออภัยอย่างยิ่งครับ ต่อไปนี้หากเขียนเรื่องหนองบัวและท้องถิ่นนครสวรรค์ก็จะเริ่มมาเขียนที่นี่ครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

    อาจารย์คะ..พี่จริยา ศรีเพชรเก่งมากๆค่ะ..มีความตั้งใจใฝ่เรียนรู้..พบตัวพี่เขาเป็นๆมาแล้วค่ะ..ยังมีน้ำใจให้ชุดการสอนสังคมมาอีกเล่มใหญ่เลยค่ะ..

    คลังข้อมูลและสื่อสำหรับพัฒนาการศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างเด็กและส่งเสริมสุขภาวะชุมชน

    • สวัสดีครับน้องคุณครูจุฑารัตน์ คุณครูกลุ่มนี้พอได้เจอและทำงานวิจัยสร้างความรู้ท้องถิ่นด้วยกัน ก็ถือเป็นโอกาสเกาะกลุ่มกันได้ ๑๘ คนแต่กระจายอยู่หลายโรงเรียนทั่วอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่ไม่ค่อยมีโอกาสพัฒนาได้มากนัก แต่เพาะมีคุณครูทำอย่างนี้ ก็กลายเป็นทำสิ่งต่างๆอีกหลายอย่างได้มากขึ้น
    • มีเวทีนั่งพูดคุยกัน ช่วยกันพัฒนาวิชาการและพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนทั้งของโรงเรียนและทั้งภาพรวมของอำเภอได้หลายกิจกรรม ทำให้ในกลุ่มเป็นหัวหอกนำการพัฒนาสิ่งต่างๆที่บูรณาการเข้ากับกระบวนการศึกษาเรียนรู้ได้หลายเรื่อง ทั้งของโรงเรียน อำเภอ ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ
    • คุณครูจุฑารัตน์ บันทึกไว้และนำรูปถ่ายมาเก็บไว้ด้วยนี้ยิ่งดีครับ มีเนื้อเพลงเมืองไทยของเราด้วย
    • ผมเคยใช้ข้อมูลของท้องถิ่นที่สร้างขึ้นในลักษณะนี้ ให้เป็นแหล่งตั้งต้นค้นคว้าเพื่อออกไปศึกษาเรียนรู้ชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยของนักศึกษาระดับปริญญาตรีของคณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เด็กๆก็ได้ประสบการณ์ เกิดการเรียนรู้กันและกันของชุมชนกับมหาวิทยาลัย
    • หลายอย่างหาไม่ได้จากหนังสือตำราและห้องเรียน นักศึกษาปี ๓ ปี ๔ บางคนได้สะท้อนประสบการณ์ว่าหากได้เรียนอย่างนี้ตั้งแต่เริ่มเข้ามหาวิทยาลัย เขาจะได้ประสบการณ์และเรียนสนุกมาก การได้ศึกษาค้นค้วาด้วยตนเองและการได้เรียนรู้จากโลกความเป็นจริงของชุมชน ทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้และเติบโตภายในมากครับ
    • อย่างที่เราช่วยกันทำนี้ หากพัฒนากิจกรรมการศึกษาเรียนรู้ให้เด็กเข้ามาศึกษาค้นคว้าบ้าง แล้วก็มีการบ้านหรือมีงานเรียนรู้เป็นกลุ่มจากชุมชนหรือบ้านเพื่อน ก็จะสามารถพัฒนาหลักสูรและกิจกรรมการเรียนรู้ที่บูรณาการเนื้อหาและสาระการเรียนรู้ได้หลายอย่างครับ ที่สำคัญคือ การเรียนรู้ชุมชนและท้องถิ่นตนเอง การเรียนรู้วิธีสร้างความรู้จากของจริง การเรียนรู้จากการศึกษาค้นคว้าทางคอมพิวเตอร์ การมีประสบการณ์ในการค้นพบและนำเสนอด้วยตนเอง การวาดรูปและถ่ายรูปหรือการเก็บข้อมูลด้วยตนเอง  การทำงานเป็นกลุ่มและทักษะการจัดการทางสังคมเป็นกลุ่มอย่างมีส่วนร่วม ได้ทั้งคุณธรรมต่อส่วนรวมและความเป็นพลเมืองที่มีจิตสาธารณะ เอื้ออาทรต่อคนหมู่มาก 
    • หากใครพอมีประสบการณ์จะช่วยต่อเติมให้ไว้เป็นแนวคิดก็จะยิ่งดีครับ เชิญเลยครับ ใครเคยอยู่บ้านนอกจะรู้ว่ามันมีคุณค่ามากครับ ผมเองก็คิดว่าตอนจักิจกรรมที่บ้านเกิด ก็จะใช้เวทีของคนหนองบัวนี้ไปออกแบบเป็นแหล่งกิจกรรมในหน่วยเรียนรู้ให้กับเด็กๆครับ ตอนนี้ผมฝึกใช้ Mobile Unit Internet ได้เป็นอย่างดีพอสมควรแล้วครับ
    • รักษาสุขภาพและขอให้หายเร็วๆครับ
    • สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก คนเก่งๆและมุ่งทำสิ่งสูง ธรรมะย่อมจัดสรรให้เจอกันน่ะสิครับ
    • เก่งและเป็นชาวบ้านดีครับ ดูวิถีการทำงานและความเป็นวิชาการแล้ว ก็เหมือนคุณครูอ้อยเล็กเหมือนกันนะครับ ที่สำคัญคือมีน้ำใจต่อเพื่อนๆพี่ๆน้องๆมากครับ ผมได้ร่วมงานไปก็ได้เรียนรู้หลายอย่างจากเหล่าคุณครู ที่ไม่สามารถเห็นจากภายนอกครับ จนแม้เดี๋ยวนี้ แม้วงการศึกษาและวงการครูจะเสื่อมคลายไปหลายอย่าง แต่เห็นปัญหาและการทำงานของคนเป็นครูแล้ว ผมก็คิดว่าผมกราบความเป็นครูของคุณครูเด็กๆได้อย่างไม่ลังเลครับ
    • คุณครูอ้อยเล็กก็มีน้ำใจแก่คนหนองบัวมากหลายครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • อ.ขจิต ฝอยทอง ชวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนสองชุมชนคิดว่าดีมากเลย
    • บ้านพนมทวน-บ้านหนองขาว ได้ยินชื่อนี้แล้วคุ้น ๆ จากงานเขียนท่านกวีซีไรท์มานมนาน คืออาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูล
    • สำเนียงการพูดก็น่ารักดีเหน่อแบบเมืองกาญจน์มีเหน่ห์ใกล้เคียงสุพรรณบุรี
    • คุณครูอ้อยเล็กนี่เก่งทั้งขีดเขียนและคอมพิวเตอร์เลยทำได้ไงเนี่ยขอยอมแพ้แบบขาดลอย
    • คุณครูจุฑารัตน์ก็จดจำเกร็ดประวัติท้องถิ่นได้ดีสมกับเป็นลูกทุ่งขนาดแท้เลยเนาะ ก็ประทับใจทั้งสามท่านที่กล่าวมานี้ และคงจะได้ชมผลงานของท่านชิ้นต่อไป

    ขอเจริญพร

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล,สวัสดีค่ะอาจารย์พี่วิรัตน์และทุกๆท่านค่ะ..

    ขอนมัสการขอบคุณในคำชมพระอาจารย์ค่ะ..ครูอ้อยเล็กก็แค่ทำได้ค่ะ..แต่ยินดีมอบสิ่งที่ทำได้นี้..ได้ช่วยเหลือสังคมบ้างก็พอค่ะ..

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

    • ตอนนี้มีหลายท่านได้เข้ามาแบ่งปันประสบการณ์และให้ความคิดดีๆไว้กับเวทีของคนหนองบัวด้วยน้ำใจมากๆ อยู่เป็นระยะๆ นะครับ กำลังพอเหมาะครับ เพราะการเขียนลงในบล๊อกอย่างนี้ต้องอาศัยความสะดวก มีเวลา หรืออยากอยู่กับการทำความแยบคายกับตนเองในเรื่องที่กำลังทำ ก็อาจจะเป็นโอกาสได้มาเขียน หรือพอมีความรู้สึกปลอดโปร่ง ดีงาม อย่างแบ่งปันสิ่งดีให้กับผู้อื่นก็แวะมาเขียนฝากไว้
    • ตราบใดที่ยังมี GotoKnow ผมก็คิดว่าก็จะยังคงมีเวทีนี้อยู่ ผมขอยกให้ชาวหนองบัว พระคุณเจ้า และกลุ่มพริกเกลือ เลยนะครับ ยกให้เหมือนเป็นป้ายสาธารณะที่หัวตลาดหรือเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แบบสมัยใหม่อีกแห่งหนึ่งเลย หากใครมีเวลาและอยากทำสิ่งดีๆไว้ให้สังคมผ่านชุมชนอำเภอหนองบัว ก็จะได้มีที่แวะเวียนเข้ามาดูและเขียนรวบรวมสิ่งต่างๆไว้
    • ตอนนี้ผมเริ่มเห็นว่า GotoKnow เขามีวิธีใส่ชื่อผู้เขียนร่วมกันเป็นกลุ่มในแต่ละบล๊อกได้ โดยแต่ละคนใช้รหัสเข้าระบบของตนเอง ก็สามารถเข้ามาเป็นคนเขียนและบริหารจัดการข้อมูลบนบล๊อกได้เหมือนกัน ในอนาคตผมว่าเวทีนี้จะสามารถรองรับการทำงานความรู้เป็นกลุ่มหรือเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ได้ครับ
    • แต่ตอนนี้เวทีนี้ก็เหมือนกับเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและศาลากระจายข่าวของชุมชนหนองบัวแห่งหนึ่งเลยละครับ ความรู้และกิจกรรมก็มีหลากหลายทั้งเรื่องเก่าแก่  ความรู้ใหม่ๆ และรายงานความเคลื่อนไหว การสัญจรและการมีคนแวะเวียนเข้ามาก็คึกคัก มากกว่าห้องสมุดประชาชนหรือหอกระจายข่าวจริงๆอีกนะครับ
    • สักระยะหนึ่งหากได้มีโอกาสสร้างคนเขียนความรู้ท้องถิ่นและช่างเสาะหาข้อมูลท้องถิ่นมาโยนไว้ ก็คงจะเป็นคลังความรู้และคลังข้อมูลที่ใช้งานได้สารพัดของคนหนองบัวได้มากขึ้นเรื่อยๆครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

  • ดูกิจกรรมของเด็กๆและดูผลงานที่ออกมาแล้ว คงจะให้ประสบการณ์ที่น่าประทับใจแก่ผู้เรียนมากเลยนะครับคุณครูอ้อยเล็ก
  • กระบวนการเรียนรู้อย่างนี้จะให้ประสบการณ์เชิงสัมผัสที่มีความเป็นบูรณาการและมีความเข้มข้น ทั้งได้ทำงานความคิด ได้ใช้ความสร้างสรรค์ ได้เรียนรู้ความยืดหยุ่นและรอคอยให้เงื่อนไขที่เราควบคุมไม่ได้ดำเนินไปเอง
  • ได้ลงมือปฏิบัติทั้งทำคนเดียว ทำเป็นกลุ่ม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม ได้เห็นผลงานที่พัฒนาการกระทั่งปรากฏขึ้นมาด้วยมือตนเอง แล้วก็มีคุณครูเป็นพี่เลี้ยง นำทางทั้งทางจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ และพัฒนาคุณธรรมกับภาวะแห่งตนอย่างเป็นองค์รวม
  • ความเข้มข้นอย่างนี้มักให้ความทรงจำฝังแน่นที่ดี จำเพาะหน้าอาจจะเห็นผลสำเร็จเพียงชิ้นงาน
  • แต่ในอนาคต ๓๐-๕๐ ปี เมื่อคนเราต้องพึ่งตนเอง ก็ไม่มีสิ่งใดจะเป็นที่ปรึกษาและเป็นเพื่อนได้ดีไปกว่าประสบการณ์ภายในต่อตนเอง ไม่ว่าจะมาจากศิลปะและการศึกษาอบรมทางจิตใจต่างๆ กระบวนการเรียนรู้อย่างนี้แหละครับจะออกมามีบทบาท
  • แล้วก็จะทำให้ทุกคนรู้ว่า การได้เรียนรู้อย่างนี้กระมังครับ ที่เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาชีวิตให้ดำรงอยู่อย่างมีความหมายได้อย่างดี เหมือนกับคนรุ่นเราที่พอเริ่มแก่และนิ่งพอสมควรแล้ว ก็จะมีโอกาสดึงเรื่องราวต่างๆในความทรงจำออกมาทบทวนให้ได้ความลึกซึ้งแยบคายต่อชีวิตเพื่อปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆได้ดีมากขึ้น
  • เห็นแล้วเลยนำลิ๊งค์จากเว็บเพาะช่างมาฝากคุณครูอ้อยเล็กด้วยครับ http://www.pantown.com/board.php?id=11476&area=4&name=board5&topic=80&action=view เป็นเวทีกิจกรรมของครูศิลปะและครูสาขาอื่นที่ต้องสอนศิลปะ กับองค์กรท้องถิ่นของจังหวัดชลบุรีและศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เขาทำกันที่จังหวัดชลบุรีแต่คนที่เข้าร่วมมาจากภาคตะวันออกหลายจังหวัด กลุ่มคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีทำขึ้นมานั้นเป็นรุ่นพี่ๆของคุณครูอ้อยเล็กเองแหละครับ
  • ลอมฟาง ซุ้มฟาง วงผิงไฟ : การจัดการปัจจัยเพื่ออยู่อาศัยกับธรรมชาติให้กลมกลืนและพื้นที่สร้างความเป็นชุมชนในวิถีประชาสังคม 

    ชุมชนดั้งเดิมของอำเภอหนองบัวเป็นเกษตรกร ทำนา ทำไร่ โดยทรัพยากรและปัจจัยการผลิตต่างๆ เน้นการใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก การจัดการพลังการผลิตและกระบวนการต่างๆ ที่นำไปสู่การสร้างสุขภาวะทั้งของปัจเจก ครอบครัว และความเป็นสาธารณะของชุมชน จะได้จากความเป็นชุมชนและวิถีชีวิตรวมกลุ่มเพื่อจัดการอย่างมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ เช่น การเอาแรง การลงแขก ธรรมเนียมการดองและใช้แรงงานเพื่อเชื่อมโยงความเป็นเครือข่ายเครือญาติผ่านการแต่งงาน รวมไปจนถึงการแห่นาคและบวชนาคหมู่ซึ่งเป็นงานประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของคนหนองบัวที่ต้องมีการเอาแรง การโฮมนาค

    สิ่งที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ขับเคลื่อนความเป็นชุมชนและวิถีการรวมกลุ่มดังกล่าว จึงเป็นทุนทางสังคม(Social capital) และเป็นโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน ที่ขับเคลื่อนพลังความเป็นชุมชนดังกล่าวให้ดำรงอยู่อย่างมีชีวิต ดังนั้น จึงมีความสำคัญและต้องส่งเสริม บำรุงรักษาให้มีความงอกงามหลากหลายยิ่งๆขึ้นในชุมชน

    ลอมฟาง ซุ้มฟาง และวงผิงไฟ เป็นวิถีชีวิตชุมชนแต่ดั้งเดิมที่มีบทบาทต่อความเป็นชุมชนในลักษณะดังกล่าว ในอดีตนั้น หน้าหนาวจะเป็นช่วงเวลาที่หนาวเย็นและตรงกับช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการทำนา ข้าวหนักจะเริ่มแก่ ข้าวเบาก็จะสุกและพร้อมเกี่ยว 

    ก่อนเกี่ยวข้าวก็จะต้องนาบข้าวให้ลู่ราบไปในทางเดียวกันเพื่อให้เหมาะแก่การเกี่ยวด้วยเคียวและการลงแขก เมื่อเกี่ยวข้าวแล้วก็จะต้องนวดข้าวและเก็บข้าวใส่ยุ้งฉาง สิ่งที่ได้ตามมาส่วนหนึ่งก็จะได้แก่ฟาง สำหรับเป็นอาหารวัวควายตลอดหน้าแล้งเป็นหลัก

    ขั้นตอนเหล่านี้จะอยู่ในช่วงฤดูหนาว  ซึ่งในอดีตนั้น ชาวบ้าน คนเฒ่าคนแก่ จะทุกข์ทรมานจากความหนาวเย็น ทั้งโดยความเป็นฤดูหนาวเองและเนื่องจากความขาดแคลน บ้านช่องไม่หนาแน่นพอจะกันลมหนาวโกรกให้เย็นยะเยือก เสื้อผ้าไม่พอใส่ และผ้าห่มก็ไม่พอคุ้มหนาว แต่ชาวบ้านก็มีการเรียนรู้ที่อยู่อย่างเรียบง่ายแต่สร้างสุขภาวะชุมชนได้อย่างบูรณาการ

     

                             

     

    วิธีแก้ไขของชุมชน ชาวบ้านก็จะทำซุ้มฟางและมีวงผิงไฟ ใครอยากนอนอุ่นก็จะทำซุ้มฟางให้เพียงพอ เด็กๆจะชอบมากเพราะเป็นการเล่นที่จริงจังเหมือนกับเล่นสร้างบ้านและสร้างชุมชนขึ้นมาเป็นของตนเอง ให้ประสบการณ์ในการเป็นเจ้าของกลุ่มก้อนและชุมชนโดยตรง เป็นการจัดการความรู้ในวิถีชีวิต เด็กๆและชาวบ้านต้องเลือกทำเลสำหรับทำซุ้มฟางด้วยความรอบรู้หลายอย่าง ทั้งความปลอดภัยจากงูและสัตว์อันตราย ความปลอดภัยจากลมและฟืนไฟ การหลบทิศทางลมหนาวโกรก การทำซุ้มได้ดีจะน่านอน อบอุ่น ได้เฝ้าดูแลบ้านช่องและข้าวให้ทุกคนมีความอบอุ่นทั้งกายใจ

    ก่อนนอนยามมืดค่ำและยามเช้าหลังตื่นนอนลุกจากซุ้มฟาง ก่อนแยกย้ายไปทำการงานเมื่อแดดออก ก็จะล้อมวงผิงไฟข้างลานนวดข้าว ลานบ้าน และข้างซุ้มฟาง บ้างก็นั่งเผาเผือกมัน ปิ้งข้าวเกรียบว่าว เหลาไม้ จักตอก ทำเครื่องจักสานและทำงานฝีมือต่างๆ ก่อให้เกิดวงสังคม ความเป็นกลุ่มก้อน และพัฒนาความเป็นชุมชนเรียนรู้อย่างบูรณาการ (Civility and Learning community) หลายสิ่งจะเกิดขึ้นในวงผิงไฟและพื้นที่ความเป็นชุมชนแห่งการแแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ

    เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเป็นชุมชนและการดำเนินชีวิตอยู่ด้วยกันของชาวบ้าน เป็นกลไกเชิงกระบวนการของสังคม ที่นำไปสู่การจัดการอย่างมีส่วนร่วม ทำให้ชุมชนปรับตัวเข้าหาเงื่อนไขธรรมชาติมากกว่าปรับธรรมชาติให้เป็นไปตามความต้องการ อีกทั้งเป็นแหล่งบ่มเพาะภูมิปัญญาการปฏิบัติต่างๆสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม พอเพียง

    การมีสิ่งเหล่านี้ของชุมชน บ่งบอกถึงการมีพื้นฐานของการมีสุขภาวะของชุมชนได้อย่างหนึ่ง รวมทั้งทำให้มีความมั่นใจตนเองได้ว่าชุมชนในท้องถิ่นต่างๆมีศักยภาพการเรียนรู้ที่ทรงพลังอย่างนี้อยู่ ซึ่งในปัจจุบันสภาพแวดล้อมต่างๆได้เปลี่ยนไป รูปแบบของกิจกรรมภายนอกก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่ความเป็นพื้นที่สร้างความเป็นสาธารณะด้วยกันของชุมชน อาจมีอยู่ในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งจะต้องค้นหาและพัฒนาให้มีความละเอียดอ่อน เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีของชุมชน เหมือนกับเป็นการเพิ่มพูนทุนทางสังคมของชุมชนให้ผู้คนมีโอกาสได้ความอยู่เย็นเป็นสุขจากการอยู่ด้วยกันและมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆกับคนอื่น

    ชุมชนที่มีองค์ประกอบด้านนี้น้อย ก็จะมีความทันสมัยแต่เพียงกายภาพภายนอก แต่มีความอยู่เย็นเป็นสุขน้อย คนหนองบัวจึงควรหมั่นสร้างทุนทางสังคมอย่างนี้เยอะๆในชุมชนของตนเอง.

    ข้อมูลและวาดภาพโดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กันยายน ๒๕๕๒

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ที่ผ่านมาไปธุระที่หนองบัวไปถึงบ้านโยมประมาณตีห้า
    • โยมป้ากำลังก่อไฟอยู่พอดีที่กลางลานบ้านมีญาติผู้พี่และโยมพ่อมานั่งผิงไฟด้วย
    • ทิดสึกใหม่ที่ไปด้วยกันเป็นเด็กหนุ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วยโยมป้าใส่ฟืนสุมไฟอย่างคนเป็นงาน
    • โยมป้าแปลกใจพูดเบา ๆ กับอาตมาว่าเอ๊ะทำไมเด็กหนุ่มในเมืองจึงดูท่าทางคล่องแคล่วสุมไฟก่อไฟก็เป็นด้วย
    • ท่านนึกว่าเป็นเด็กจากในเมือง แสดงว่าคนเฒ่าคนแก่ก็มีวิธีสังเกตและดูเป็นโดยไม่ต้องเป็นหมอดู แถมทายถูกต้องแม่นยำ เพราะแกมาจากอำเภอกาบเชิง วิถีชีวิตก็คล้าย ๆ หนองบัว แกจึงทำเป็น
    • สงสังโยมป้าคงเห็นลูกหลานสมัยนี้ทำอะไรแบบนี้ไม่ค่อยเป็น ไม่มีทักษะการใช้ชีวิตที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ มีแต่ความทันสมัยอาจพึ่งตัวเองไม่ได้และไม่เข้มแข็ง
    • ในหมู่บ้านหนองบัวหนองกลับ บ้านจะยกพื้นสูงมีใต้ถุน สมัยก่อนหนาวกว่านี้
    • และเพื่อความสะดวกโดยไม่ต้องกลัวภัยจากสัตว์หรือโจรขโมย ชาวบ้านจะก่อไฟผิงบนบ้านเลย ใช้กาละมังลูกใหญ่ ๆ ใส่ดินทรายให้เต็มแล้วก่อไฟบนกองดินนั่นเลย
    • เด็ก ๆ ก็ชอบมานอนแอบ ๆ ข้างกองไฟอุ่นดีและได้ฟังผู้ใหญ่พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน บางทีก็ไม่อยากย้ายเข้าไปนอนในที่นอนของตนก็มี.

    เจริญพร

    เห็นคนนั่งผิงไฟสูุบยาก็นีกถึงบ้านห้วยน้ำโจนของหนูุเลยค่ะ

    ครูอ้อยเล็กก็มีลิ้งค์น้องๆมาฝากอาจารย์ด้วยค่ะ...

    http://www.visualizer-club.com/index.php

    วิธีแก้ไขของชุมชน ชาวบ้านก็จะทำซุ้มฟางและมีวงผิงไฟ ใครอยากนอนอุ่นก็จะทำซุ้มฟางให้เพียงพอ เด็กๆจะชอบมากเพราะเป็นการเล่นที่จริงจังเหมือนกับเล่นสร้างบ้านและสร้างชุมชนขึ้นมาเป็นของตนเอง ให้ประสบการณ์ในการเป็นเจ้าของกลุ่มก้อนและชุมชนโดยตรง เป็นการจัดการความรู้ในวิถีชีวิต เด็กๆและชาวบ้านต้องเลือกทำเลสำหรับทำซุ้มฟางด้วยความรอบรู้หลายอย่าง ทั้งความปลอดภัยจากงูและสัตว์อันตราย ความปลอดภัยจากลมและฟืนไฟ การหลบทิศทางลมหนาวโกรก การทำซุ้มได้ดีจะน่านอน อบอุ่น ได้เฝ้าดูแลบ้านช่องและข้าวให้ทุกคนมีความอบอุ่นทั้งกายใจ

    ก่อนนอนยามมืดค่ำและยามเช้าหลังตื่นนอนลุกจากซุ้มฟาง ก่อนแยกย้ายไปทำการงานเมื่อแดดออก ก็จะล้อมวงผิงไฟข้างลานนวดข้าว ลานบ้าน และข้างซุ้มฟาง บ้างก็นั่งเผาเผือกมัน ปิ้งข้าวเกรียบว่าว เหลาไม้ จักตอก ทำเครื่องจักสานและทำงานฝีมือต่างๆ ก่อให้เกิดวงสังคม ความเป็นกลุ่มก้อน และพัฒนาความเป็นชุมชนเรียนรู้อย่างบูรณาการ (Civility and Learning community) หลายสิ่งจะเกิดขึ้นในวงผิงไฟและพื้นที่ความเป็นชุมชนแห่งการแแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ

    เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเป็นชุมชนและการดำเนินชีวิตอยู่ด้วยกันของชาวบ้าน เป็นกลไกเชิงกระบวนการของสังคม ที่นำไปสู่การจัดการอย่างมีส่วนร่วม ทำให้ชุมชนปรับตัวเข้าหาเงื่อนไขธรรมชาติมากกว่าปรับธรรมชาติให้เป็นไปตามความต้องการ อีกทั้งเป็นแหล่งบ่มเพาะภูมิปัญญาการปฏิบัติต่างๆสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม พอเพียง

    วิถีเหมือนกันทุกประการค่ะ...เหมือนลอกกันมาเลยค่ะ...

     

    วันนี้ที่บ้านแม่อยากกินต้มยำหัวปลี..เห็นสุมไฟสุมฟางของอาจารย์พอดี..เลยเอามาฝากค่ะ..เพราะเคล็ดลับของการต้มยำกะทิหัวปลีนี้อยู่ที่แม่จะไปตัดหัวปลีมาแล้วโยนไปหมกไว้ในกองไฟที่พิงอยู่ให้หัวปลีสุกระอุ..แล้วจึงนำหัวปลีมาต้มยำ..เครื่องต้มยำก็เหมือนทั่วไปเพียงแต่ใช้กะทิเป็นตัวน้ำต้มยำลักษณะเหมือนต้มข่า..ผิดกันตรงที่ต้มข่าใส่พริกขี้หนู..แต่ต้มยำหัวปลีต้มน้ำใส่พริกเผา..

    ในตอนนี้ครูอ้อยเล็กไม่มีกองไฟเลยใช้ย่างบนเตาแก๊สเอาค่ะ..ก็ใช้ได้เหมือนกัน...

    ปกติต้มยำกะทิหัวปลีนี้แม่จะต้มกับปลากระทิงที่ย่างไว้แล้ว..แต่ก็วิ๔อีกแหล่ะค่ะที่ครูอ้อยเล็กต้องใช้กุ้งแทน..

    หน้าตาปลากระทิงค่ะ...ที่บ้านครูอ้อยบางทีก็เรียกปลาเนื้อไก่..เพราะคุณภาพของเนื้อปลาเหนียวเหมือนไก่บ้านเลยค่ะ...

    เสร็จแล้วค่ะ..หัวปลีจะดูดำๆแต่รสชาติและความหอมของหัวปลีเผาช่วยชูรสชาติอาหารมากเลยค่ะ...

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลครับ

    • เมื่อก่อนหนาวมากจริงๆนะครับ การมีกาละมังและจุดไฟผิงบนบ้านนั้นแถวบ้านผมก็ทำอย่างนั้นเหมือนกันครับ เป็นวงนั่งคุยและกินหมากด้วยกันไปด้วย
    • เด็กๆลูกหลานต้องหัดตำหมากและทำคำหมากให้คนเฒ่าคนแก่และญาติผู้ใหญ่เป็น หรือไม่ก็ต้องรู้จักก่อไฟ ผ่าฟืน ตักน้ำ ใครทำพวกนี้ไม่ได้นี่ก็ถือว่าเป็นคนไม่รู้ความ
    • ตอนนี้ทางเหนือ-พิษณุโลกคงเริ่มอากาศเย็นแล้วกระมังครับ แต่แถวหนองบัวและบ้านผมยังมีฝนตกอยู่เลยครับ และปีนี่้ชาวบ้านนาล่มเพราะแล้ง พอข้าวที่เหลือเริ่มแก่ก็เจอฝน น้ำตาร่วงกันเป็นแถวแล้วครับ สงสารชาวบ้านและญาติพี่น้องครับ
    • สวัสดีครับหนูดวงเดือน นี่ถ้าหากหนูเป็นนักเรียน เยาวชน หรือชาวบ้านที่จากบ้านไปศึกษาและทำงานต่างถิ่นละก็ ผมดีใจมากเลยนะครับ อยากเห็นเด็กๆและชาวบ้านรู้จักใช้อินเตอร์เน็ตไปในทางเพื่อการศึกษาค้นคว้า โดยเฉพาะเรียนรู้และสร้างความรู้ขึ้นจากท้องถิ่น เยอะๆครับ แวะเข้ามาคุยกันอีกบ่อยๆนะครับ
    • แถวบ้านผมจะเรียกดวงเดือนและพระจันทร์ว่าอีเกิ้งครับ แถวห้วยน้ำโจนนี่เขาเอิ้นว่าจังไสหนอ
    • ก็คงจะเหมือนกันเยอะครับคุณครูอ้อยเล็ก อันที่จริงแถวนี้ก็เพิ่งเปลี่ยนแปลงไปไม่นาน ผมเคยวิจัยชุมชนกับชาวบ้านแถวพุทธมณฑล คนในรุ่นไล่ๆกับผมก็เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนที่เขาเป็นเด็กนั้น บริเวณที่เป็นพุทธมณฑลและมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น เคยเป็นท้องนาและเป็นทุ่งเลี้ยงควายของเด็กๆ ฟังดูกิจกรรมชีวิต่างๆแล้วก็คล้ายกับบ้านผมมาก ยกเว้นเรื่องการทำสวนและกิจกรรมทางแม่น้ำลำคลอง บ้านผมจะไม่ค่อยมีหลายอย่าง
    • สำรับข้าวมือนี้น่ากินจัง เล่นเอาน้ำลายไหลเอื๊อกเลยคุณครูอ้อยเล็ก
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • หลวงน้าเปิดคอมฯตอนเช้าได้เจอหนูดวงเดือนพอดี
    • ก็ขอสวัสดีหนูดวงเดือนคนห้วยน้ำโจน ดีใจมากถึงมากที่สุดเลยแหละ
    • ดีใจที่คนหนองบัวเราเข้ามาอ่าน บ้านห้วยน้ำโจนนี่หลวงน้าก็มีญาติอยู่ด้วย
    • ขอให้เข้ามาอ่านและพูดคุยกันบ่อย ๆ นะ จะดีใจเป็นที่สุด
    • เห็นเมนูอาหารคุณครูอ้อยเล็กแล้วนี่ได้เวลาฉันจังหันพอดีเลย
    • ฉันแล้วจะอนุโมทนาให้พรคุณครูเล็กและผู้อ่านทุกท่านอย่างเต็มที่เลยแหละ ให้พรบทเจริญ ๗ วัตร ๗ อย่าง เตรียมรับพรได้ดังนี้
    • อายุวัฑฒะโก  เจริญด้วยอายุ ขอให้มีอายุยืนยาวเป็นสาวเป็นหนุ่มพันปี
    • ธนวัฑฒะโก    เจริญด้วยทรัพย์สินเงินทอง กินไม่ไหว ใช้ไม่หมด
    • สิริวัฑฒะโก    เจริญด้วยสิริโฉมสวยงาม นามเพราะ
    • ยสวัฑฒะโก   เจริญด้วยลาภยส เกียรติคุณสง่างาม
    • พลวัฑฒะโก   เจริญด้วยกำลังกายกำลังใจ มีสุขภาพดีถ้วนหน้า
    • วัณณะวัฑฒะโก เจริญด้วยผิวพรรณ วรรณะผุดผ่องเป็นยองใย
    • สุขวัฑฒะโก    เจริญด้วยความสุขไม่ทุกข์โศกวิโยคภัยนานา
    •  อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ เทอญ.

    ขอเจริญพร

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ และทุกๆท่านครับ

    กับข้าวครูอ้อยเล็กน่ากินจังเลยครับเห็นหัวปลีเผาแล้วนึกถึง หน่อไม้รวกเผาไฟลอกเปลือกออกให้ดีๆ แล้วบีบมะนาวลงกับพริกเกลือ กินกับข้าวร้อนๆอร่อยน่าดูเลยครับ

    ปลากระทิงผมเคยปักเป็ดได้ที่แม่น้ำเจ้าพระยาเห็นตอนแรกตกใจนึกว่างู ตัวมีนั้นร้ายมากหากใครไม่เป็นเช่นผมต้องโดนมันเอาหลังที่มีหนามคมราวกับเลื่อยมือเป็นแผลแน่ต้องเอาผ้าพันตัวก่อนแล้วแกะออกจากเบ็ด ผมเองรู้จักแค่ปลาตามท้องนา ไม่เคยเห็นปลาแม่น้ำมาก่อนก็งี้แหละครับ

    อ้อเกือบลืมมั่วแต่ห่วงกินต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์วิรัตน์เป็นอย่างสูงเลยครับที่นำรูปภาพการยาลานมาลงใว้และช่วยแนะนำข้อมูลบล็อกพริกเกลือ

    ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้มาอยู่ถึงจุดนี้หากไม่ได้ท่านอาจารย์วิรัตน์และหลวงอามหาแล ขำสุข อาสโย เป็นผู้จุดประกายแนวความคิดไม่อย่างนั้นไม่มีหนทางไปจริงๆครับ

    30สาธุค่ะพระอาจารย์

    Pค่ะคุณเสวก..ปลานี้แรงเยอะค่ะเบ็ดถ้าไม่แข็งแรงพอเอามันไม่อยู่หรอกค่ะ..ด้วยเหตุนี้มังคะเนื้อถึงได้เหนียวเพราะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงนี่เองค่ะ..ครูอ้อยเล็กเด็กท้องนาแท้ๆยังไม่กล้ากินในตอนแรก..ต้องต่อรองกับแม่ว่า..แม่ช่วยเอาหนังมันทิ้งไปได้ไหม..แม่บอกว่าไม่ได้พ่อชอบกิน..แป่วๆๆ..พ่อก็เสียสละค่ะบอกกับแม่ว่าถ้าลูกกลัวก็แยกหนังออกมาไม่ต้องใส่รวมไป..อีกเมนูหนึ่งคือ...หนูนาย่างค่ะ..เหล่าพี่น้องที่เป็นผู้ชายเสาร์-อาทิตย์แกจะมีกิจกรรมทำกันนั่นคือด้วงดักหนู..ทำแล้วทดลองแล้ว..ตกเย็นก็จะไปหาทำเลดักหนูนากัน..เช้ามืดก็จะถือไฟฉายไปเก็บหนูนากันค่ะ..เก็บมาทั้งด้วงนั่นแหล่ะค่ะ..แล้วก็มาแกะที่ลานบ้าน..ก่อกองไฟเอาหนูลงเผาขนให้เตียนเลย..แล้วเรียกแม่มาชำแหละหนูค่ะ..แต่ไม่ได้สิ้นสุดที่แม่..แม่เรียกครูอ้อยเล็กมาสอนๆให้ทำ..จ๊ากๆๆๆตูอีกแล้วหรือนี่..แต่ด้วยความที่เป็นผู้หญิงในหมู่พี่ชายน้องชาย..ครูอ้อยเล็กจะทำแต่ของที่ตายมาแล้วเท่านั้น..ถ้าเป็นๆมาไม่เอาด้วยค่ะ..พอชำแหละแล้วผ่าท้องหนูนาแผ่ออกดามด้วยไม้ไผ่เหมือนไก่ย่างค่ะ..แล้วนำไปย่างให้พอสุกอีกที..สับให้ละเอียดก่อนนำไปผัดเผ็ด หรือผัดกระเพราะตามชอบ..น้องๆเอาไปกินที่โรงเรียน..เพื่อนๆอร่อยมาก..พอบอกว่าหนูนาเท่านนั้นเตรียมจะอาเจียนกันใหญ่..แต่น้องชายบอกว่าใครอาเจียนเจอดีแน่..ของดีๆหามาเหนื่อยแทบตายมาอาเจียนน่าดู..เลยไม่มีใครกล้าอาเจียน..แต่วันหลังๆน้องชายบอกว่าพี่อ้อยๆหนูนาผัดเผ็ดของเราขายดีทุกวันเลยอิๆๆๆ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • ห้วยน้ำโจนนี่สงสัยจะเป็นแถวหนองบัวเสียกระมังครับ
    • ผมไปเข้าใจว่าเป็นแถวเขื่อนน้ำโจนของภาคอีสาน
    • แต่ก็ดีใจที่จะทักทายและต้อนรับหนูดวงเดือนอยู่ดีครับ

    สวัสดีครับคุณเสวก คุณเสวกเล่าถึงเรื่องจับปลากระทิงแล้วโดนแผงบนหลังบาดแล้วก็นึกขำครับ พวกปลาหลดก็เหมือนกันครับ คนเห็นตัวลื่นๆ เหมือนไม่มีอะไร ก็เลยชล่าใจ มักจับหมับเข้าไปอย่างไม่ระวัง หากจับให้แน่นเลยก็จะเอาอยู่ครับ แต่หากจับแบบหลวมๆ ก็จะได้เรื่องครับ เงี่ยงบนหลังเป็นแผงจะกางออกมาตำทั้งมือกระทั่งต้องรีบปล่อยไปในทันที

    ดูจากรูปวาดของคุณเสวกแล้ว จะเห็นว่าเรืองราวของชุมชนและภูมิรู้เกี่ยวกับชีวิตของชาวบ้านนั้นมีรายละเอียดมากมาย เมื่อสามารถวาดรูปและถ่ายทอดออกมาด้วยภาพผสมกับการเขียนถ่ายทอด และการบอกเล่า เพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆได้ เราก็จะเห็นว่าความรู้เกี่ยวกับชีวิตและเรื่องราวของชุมชนที่ชาวบ้านแต่ละคนว่าเก็บไว้กับตนเองนั้น มีอยู่มากมายครับ

    แต่ ณ เวลานี้ คนที่มีประสบการณ์ชีวิตและมีประสบการณ์ต่อชุมชนมากมายในชนบท รวมทั้งหนองบัวของเรา ไม่ค่อยมีวิธีสร้าความรู้ของตัวเองและเก็บรวบรวมไว้ครับ เมื่อคนรุ่นหนึ่งหมดไป คนรุ่นใหม่ก็เหมือนเชื่อต่อไม่ได้กับความเป็นมาของตัวเองครับ อย่างที่ทุกท่านกำลังทำไปตามกำลังนี้ เป็นเรื่องสร้างสรรค์มากๆครับ

    ผมก็ต้องกราบขอบพระคุณพระคุณเจ้า พร้อมกับขอบคุณคุณเสวกและกลุ่มพริกเกลือเช่นกันครับ ที่ช่วยต่อความคิดกันไปมากระทั่งออกมาเป็นเวทีของคนหนองบัวซึ่งดูดีมากเลยครับ แถมมีหัวข้อของพระอาจารย์มหาแล กับของคุณเสวกและกลุ่มพริกเกลือต่างหากอีก

    นอกจากวาดรูปแล้ว คุณเสวกอาจหาวิธีอื่นๆช่วยได้อีกนะครับ เช่นถ่ายรูปเองหรือให้ลูกหลายถ่ายมาให้ บางครั้งแม้จะเป็นรูปวิวทิวทัศน์แถวบ้านนอกของเรา ก็เก็บรวบรวมเอามาโยนเก็บไว้ถอะครับ เดี๋ยวนี้สิ่งต่างๆเปลี่ยนแปลงเร็วมากครับ หลายอย่างที่กำลังเห็นอยู่ในทุกวันนี้ อีกสัก ๕ ปี ๑๐ ปี ก็อาจจะเปลี่ยนสภาพไปอีกแบบแล้วครับ เวลาผมกลับบ้านผมถ่ายรูปเอามาเก็บไว้หมดแหละครับ แต่ออกจะดีหน่อยที่วาดรูปจากประสบการณ์ หรือจากการฟังข้อมูลจากคนอื่นได้ ก็มีวิธีให้เลือกมากขึ้นครับ

    มีความสุขครับผม

     

    • คุณครูอ้อยเล็กนี่รู้จักการดักหนูและทำเป็นอาหารได้ด้วยหรือเนี่ย นับถือ-นับถือ
    • แม่กับน้องสาวผม นอกจากไม่กินหนูและพวกเนื้อวัว-ควายแล้ว หากไปทำใกล้ๆนี่เขาก็จะพากันอ๊วกแข่งกันทั้งวันเลย ทุกอย่างถูกให้เอาไปทิ้งหมดเลย ทั้งกระทะและภาชนะต่างๆ รวมทั้งหากไปทำใกล้สระน้ำ เขาก็จะเปลี่ยนไปตักน้ำจากสระลูกอื่นเป็นหลายวันเลย
    • ผมเองนั้นก็ดักหนูและทำกินเป็นครับ แต่ต้องไปทำตามบ้านเพื่อน ตอนแรกก็ทำกินไม่เป็น รู้สึกกระอักกระอ่วนเหมือนกัน
    • แต่ต้องทำเองครับ เวลาเห็นเขาเสียบไม้และย่างขายตามข้างถนนแถวทางไปสุพรรณบุรี นครปฐม และแถวรังสิต ก็ยังกินไม่เป็น
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • คุณเสวกนี่รู้จักปลาแม่น้ำด้วยนะ หลวงอาไม่รู้จัก ไม่เคยไปที่แม่น้ำน่านหรือเจ้าพระยา ที่ตัวเมืองนครสวรรค์เลยนะตอนเป็นเด็ก
    • คุณครูอ้อยเล็กนี่ก็มีประสบการณ์แบบลูกทุ่งดีจัง
    • การขุดหนูที่คันนาดินทรายจะสนุกเพราะขุดง่ายมาก
    • ตามหัวคันนาที่ตกกล้า(หว่านกล้า)ไว้สำหรับถอนไปปักดำนาเมื่อกล้าโต
    • ตามอันนาบริเวณนี้จะมีหนูมาขุดรูอาศัยอยู่เยอะแยะ
    • ตากล้า(อันนา)บางอัน หนูจะถลุงต้นกล้าขาดกระจุยกระจายเต็มไปหมด และในตะกล้านั้นหนูก็กัดต้นข้าวเป็นทางทั่วไปหมดเลย
    • ฝีมือหนูนาในการขุดทางทำทางสัญจรนี่ จะบอกให้ไม่แพ้วิศกรมือหนึ่งเลยเชียว คล้ายกับถนนวงเวียน วงแหวน ในเมืองหลวง
    • ต้นกล้าสูงหน่อยบางทีหนูออกมากินตอนกลางวัน หมาขับไล่ล่ายังไม่เจอไม่ทันเพราะทางที่หนูทำไว้คตเคี้ยวซิกแซก สามารถหลบหลีกวิ่งเข้ารูหายจ้อย
    • ดินทรายขุดง่ายนี่เอง ทำให้หมาบางตัวขุดเองโดยไม่ต้องให้คนช่วย ใช้ฝีมือหมาล้วน ๆ เลย
    • สักพักจะได้ยินหมาร้องเสียงดังไม่ใช่โดนหนูกัด แต่ขุดเข้าไปใกล้ตัวหนูแล้วหนูก็กลัวหมาร้องขู่ฟอด ๆ หมาก็ทั้งเห่าทั้งขุดคุ้ยดินอย่างไม่เหน็ตเหนื่อย ขุดจนลึกมิดตัวหมาทั้งตัวก็มี
    • เคยไปดักหนูแต่ทำไม่เป็น
    • เคยทำแต่มันรู้สึกจะอาเจียนจะอ๊วกเสียให้ได้ กินนับครั้งได้เลย

    ขอเจริญพร

    นมัสการพระอาจารย์..ครูอ้อยเล็กไม่นึกไม่ฝันว่าอาหารที่เราจำใจกินเพราะจำเป็นจึงต้องกินแต่มันก็อร่อยและสะอาดมากๆนะคะพระอาจารย์ไม่มีสารพิษ สารเร่งเนื้อแดงอะไรเลย หนูนาเป็นหนูที่สะอาด กินข้าว กินหอยโข่ง เรียกว่าอาหารมันนั้นสุดยอดของอาหารเลยล่ะอีกทั้งเห็บหมัดอะไรก็ไม่มี..ไม่เหมือนหนูในตลาด..จ๊ากๆๆๆ...อย่าไปพูดถึงเน๊าะ..บางที่เรา 4 คนพี่น้องยังแปลกใจทำไมเราไม่ค่อยเป็นอะไรเหมือนคนอื่นๆเขา..ย้อนกลับไปดูปูมหลังเรื่องอาหารการกินของพวกเราแต่เยาว์วัยนั้นเราไม่เคยเอาสารพิษไปสะสมไว้ในร่างกายมากเหมือนคนในเมืองน่ะค่ะ..แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงของการเจริญเติบโตที่สำคัญที่สุดของเด็กๆด้วย..คิดว่าอาหารธรรมชาติจากท้องนามีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก..และอาหารที่เราจำเป็นต้องกินนั้นกลับเป็นที่ต้องการของคนโดยทั่วไป มาวางขายให้เกลื่อนซึ่งตะก่อนนั้นไม่มีภาพอย่างนี้ให้เห็นเลยค่ะ..

    อ้อคุณครูอ้อยเล็ก ดูสิว่าจะขอขอบคุณที่ลิ๊งค์เว๊บงานของกลุ่ม Visualizer มาฝาก แล้วก็จะขอพูดชื่นชมถึงสักหน่อย  ขอเอางานของอาจารย์บรรลุ แห่งวิทยาลัยสารพัดช่างพิจิตร และศิษย์เก่าเพาะช่าง มาให้คนที่เข้ามาเยือนเวทีหนองบัวได้ชมไปด้วยเลยนะครับ ขออานุญาตอาจารย์บรรลุด้วยนะครับ

                          

    ผลงานของทุกคนดีมากๆเลยนะครับ ท่านที่สนใจอยากแวะเข้าไปเดินดูงานศิลปะเด็ดๆ เข้าที่นี่เลยครับ ชมรมนัก Visualizer บางทีเด็กๆบ้านนอกหรือเยาวชนหนองบัวอาจจะสนใจวิชาชีพและความเป็นมืออาชีพในสาขานี้ ลองแวะเข้าไปดูนะครับ เป็นสาขาหนึ่งที่คนเรียนศิลปะใฝ่ฝันเพราะมีความเป็นมืออาชีพที่ต้องใช้ความสามารถหลายด้าน ต้องทำงานเป็นทีมกับคนอื่นเป็น ทำงานข้อมูลและย่อยความคิดคนอื่นเพื่อตีโจทย์ต่างๆให้ออกมาเป็นภาพได้ เป็นคนที่ทำงานสำคัญที่ทำให้ความคิดความฝันของคนที่เขามีความคิด ให้สามารถเห็นเป็นภาพก่อนจะนำไปสู่การทำเป็นสิ่งต่างๆ ตามที่ต้องการได้ ทั้งการทำศิลปะสื่อโฆษณา การออกผลิตภัณฑ์ การออกแบบตบแต่ง การเป็นออร์แกไนซ์เซอร์ต่างๆ

    ผมแวะเข้าไปดูแล้วคุณครูอ้อยเล็ก งานที่กำลังแสดงอยู่มีทั้งในและต่างประเทศเลยนะครับ หลายคนเพิ่งทราบนะครับว่าเป็นคนเพาะช่างและเป็นน้องๆคุณครูอ้อยเล็ก ฝากชื่นชมมากนะครับ อย่างอาจารย์บรรลุนี่แต่เดิมผมคิดว่ากลับมาเป็นอาจารย์เพาะช่างเสียอีก ทำงานดีในทุกเทคนิคเลย สายตาแม่น พื้นฐานแน่นปั่ก ความแม่นยำและการตัดสินใจจะแจ้ง แล้วก็กล้าเล่นมาก อยู่มือจนเหมือนกับเขียนอย่างธรรมดาๆก็ไม่พอมือแล้ว เห็นผลงานอยู่บ่อยๆครับ หากทำงานและแสดงงานอย่างต่อเนื่องก็คงไปไกลมากๆ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ แถวเกยไชย ทับกฤช พวกนี้นี่เคยไปบ่อยครับ เวลาไปเป่าแตรงานบวชนาคแถวนั้น พอตกเย็นก็ไปอาบน้ำกันในแม่น้ำ เคยดูเขาหาปลาในแม่น้ำแล้วก็ยืนทึ่งเขาอยู่เหมือนกัน ต้องใช้ทักษะสูงและอุปกรณ์ต่างๆก็ไม่เหมือนอย่างแถวหนองบัวใช้เลยนะครับ

    สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก หนูนานอกจากจะสะอาด กินอาหารดีๆทั้งกินข้าวและศัตรูที่ทำลายข้าวแล้ว หากชาวบ้านนำมาทำอาหารกินเป็นก็ช่วยควบคุมจำนวนหนูนาที่จะไปกัดทำลายข้าวได้อีกด้วย บางปีนั้นเยอะจริงๆ ผมเคยไปที่พิษณุโลก บางชุมชนต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ชาวบ้านแข่งกันนำหนูนาและหอยเชอร์รี่มาทำอาหารกินกันอย่างเป็นเทศกาลชุมชนไปเลย เพราะถ้าหากใช้ฉีดยาและสารเคมีอย่างเดียวก็เป็นพิษสะสมในข้าว พืชผักและน้ำในนาข้าวได้

    ของานศิลปะสวยๆ มาให้คนหนองบัวได้ดูอีกสัก ๒ ชิ้นนะครับ มาจากลิ๊งค์ที่คุณครูอ้อยเธอลิ๊งค์มาให้นั่นแหละครับ แต่ขอดึงออกมาวางในนี้สักสองรูปครับ รูปแรกเป็นของอาจารย์ชูพงษ์ กาลพักษ์ ครูศิลปะของโรงเรียนกรุงเทพวิจิตรศิลป์ เป็นรูปไก่ชนครับ

                           

    นอกจากดูและได้ความสวยงามอย่างที่ชาวบ้านพอจะเข้าถึงได้ง่ายๆแล้ว คนหนองบัวโดยเฉพาะศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว เห็นแล้วก็คงนึกถึงคุณครูที่รักและเคารพยิ่งของเราท่านหนึ่ง คือ คุณครูอุดม โต๊ะปรีชา เป็นครูและคนเก่าแก่ของชาวหนองบัว แต่เดิมนั้นบ้านท่านอยู่เยื้องๆด้านหน้าโรงพยาบาลหนองบัว ซึ่งเมื่อก่อนนั้นออกไปนอกเมืองจนเหมือนอยู่กลางทุ่ง ท่านเป็นคนแรกๆของหนองบัวที่เลี้ยงไก่ชนในหนองบัว ตอนเช้าๆแถวนั้นจะมีเสียงไก่ขันเจื้อยแจ้ว

    อีกรูปหนึ่ง เป็นงานเขียนสีน้ำมันรูปทิวทัศน์ของต่างประเทศ แต่คนวาดเป็นจิตรกรคนไทยครับคือ เสงี่ยม ยารังษี เป็นงานชุดที่เขากับเพื่อนชาวต่างประเทศไปตะรอนๆเขียนจากสภาพจริงของเทือกเขาในประเทศเนปาลแล้วก็นำมาจัดแสดงในประเทศไทย

                      
     
    ความน่าสนใจในงานชุดนี้ของเสงี่ยม ยารังษี จะอยู่ที่ความเป็นงานศิลปะที่สะท้อนออกมาจากการสัมผัสโลกภายนอกด้วยการออกไปเห็น เขียนจากของจริงในสภาพแวดล้อมจริง  ต้องเดินทางด้วยเท้า ปีนเขา ใช้ชีวิตเพื่อซึมซับและเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่นำมาสะท้อนเป็นรูปเขียน จากนั้นค่อยบันทึกและถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาศิลปะ หวังว่าคงมีความสุขและเพลิดเพลินกับการชมภาพนะครับ หากติดใจก็เข้าไปดูต่อตามลิ๊งค์ที่คุณครูอ้อยเล็กท่านลิ๊งค์มาให้โลด

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • ไก่ชนตัวนี้สวยมากเหมือนมีชีวิตเลย
    • อีกภาพหนึ่งเห็นแล้วนึกถึงแดนพุทธภูมิ-เนปาล(สถานที่ประสูติพระพุทธเจ้า-สมัยนั้นเรียกว่าแคว้นสักกะ)
    • แม้ไม่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองคอก
    • แต่ก็นึกถึงคุณครูอุดมได้อยู่
    • ท่านเลี้ยงไว้เยอะ บริเวณบ้านมีสุ่มไก่เพียบ
    • เป็นท้องทุ่งนาชานเมือง ห่างไปอีกนิดหน่อย(ทิศตะวันออก)ก็เป็นป่าเหนือหน้าน้ำก็เลี้ยงควายกันทั้งหนองบัว-หนองกลับ

    ขอเจริญพร

    หมู หมา กา ไก่ เป็นเพื่อนของชาวชนบทไทย

    เมื่อก่อนนี่้ แถวหนองบัวนั้น ช่างฝีมือทำเกวียนหรือช่างวาดเขียน มักชอบวาดรูปแผ่นกระดานปิดเรือนเกวียนด้านหน้าและด้านหลังให้ไม้แผ่นธรรมดาดูสวยงาม และเกวียนก็จะดูเป็นงานศิลปะทั้งเล่ม รูปที่มักนิยมวาดลงไปด้วยอย่างหนึ่งก็คือ รูปไก่ยืนโก่งคอขัน ด้านหลังก็มีดวงตะวันกำลังทอแสงจับขอบฟ้า แล้วก็ดูเหมือนจะมีรายการวิทยุแถวนครสวรรค์หลายรายการ รวมไปจนถึงหนังขายยา จะมีโฆษณายาลูกกลอนตรากาไก่ด้วยครับ แต่ยังนึกรายละเอียดไม่ออก

    ใช่รายการลุงพรหรือเปล่าคะ..เหมือนจะโฆษณายาเป่าคอตรากาไก่ ยาสมานลิ้นตรากาไ่ก่..ครูอ้อยเล็กว่าใช่นะคะ..ลุงจัดรายการวิทยุ..ปากน้ำโพธิ์...นครสวรรค์...ฟังไปพร้อมกับลุงป้าน้าอาเวลาเกี่ยวข้าว..ฟังจากวิทยุทรานซิสเตอร์..ที่จำได้เพราะขัดใจ..ครูอ้อยเล็กติดละครวิทยุค่ะฮาๆแต่ผู้ใหญ่จะฟังข่าวค่ะ ในตอนนั้นก็มี คณะวิเชียรณีริกานนท์ คณะเสนีย์บุษปะเกศ คณะแก้วฟ้า เจียรภาปัญจศีล คณะเกศทิพย์ และสุดท้ายคณะกันตนาคณะนี้ครูอ้อยติดหนังผีสุดๆเลยค่ะ...กลัวผีแต่ติดหนังผี..แปลกดีค่ะ..

    • นิทานลุงพรกับชมรมขายหัวเราะนี่ติดงอมแงมเหมือนกันครับ
    • ยาเป่าคอ-สมานลิ้นตากาไก่นี่คุ้นแต่ไม่แน่ใจเหมือนกันคับ
    • ชมรมเรื่องผีนี่ก็ชอบครับ ถึงเวลาก็นอนคลุมโปงรอบวิทยุแล้วก็ฟังไป-ขนลุกไปด้วยกัน สนุกดี
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    วันนี้มีข่าวประชาสัมพันธ์จากหนองบัวเป็นงานการกุศลเกี่ยวกับการจัดหาทุนสร้างเสาธงให้กับโรงเรียนในหนองบัวโดยคนหนองบัวที่รวมตัวกันสร้างประโยชน์สาธารณะจึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้ช่วยประชาสัมพันธ์บอกกล่าวให้คนหนองบัวทุกท่านไห้ได้มีส่วนร่วมและอนุโมทนาบุญกันตามอัธยาศัยตามวันเวลาดังกล่าว

    เชิญร่วมงาน

    • รวมพลฅนขี่มอไซค์สร้างมิตรภาพครั้งยิ่งใหญ่Classic Bike Thailand 1 th
    • 10-11 ตุลาคม 2552
    • จัดโดย..ชมรม หนองบัว คลาสสิคไรค์เดอร์ ณ. ลานกิจกรรมสี่แยกประเทศไทย อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์
    • วัตถุประสงค์ของการจัดงาน เพื่อสมทบทุนสร้างเสาธงชาติให้กับ โรงเรียนประชาอุปถัมภ์ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2552
    • เวล 12.00 น. รถจักรยานยนต์คลาสสิค & บิ๊กไบค์ ทุกชมรมพร้อมกันที่ ลานกิจกรรมสี่แยกประเทศไทย
    • เวล 13.00 น. เคลื่อนขบวนเข้าสู่ธรรมชาติ ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลา ณ. อ่างเก็บน้ำ (พระครูไกร)
    • เวล 14.00 น. ขบวนรถคลาสสิค & บิ๊กไบค์ เดินทางกลับถึงสถานที่จัดงาน และร่วมลงทะเบียน 100 บาท พร้อมรับของที่ระลึก และพักผ่อนตามอัธยาศัย
    • เวล 15.00 น. ทุกกลุ่มรวมกัน ณ. ลานกิจกรรมเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน - แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนร่วมเล่นเกมส์เชื่อมความสัมพันธ์
    • เวล 16.30 น. ประกวดรถประเภทต่าง ๆ
    • เวล 18.00 น. เริ่มกิจกรรมบนเวที
    • - ประธานจัดงานกล่าวรายงานต่อ ประธานเปิดงาน สจ. ดลฤดี ติยะโสภณจิต และ นายก อบต.หนองกลับ
    • - มอบทุนให้กับ โรงเรียนประชาอุปถัมภ์ ต.ทุ่งทอง อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์
    • เพื่อสมทบทุนสร้างเสาธงชาติของ โรงเรียน
    • - ประกาศชื่อชมรมที่มาร่วมงานและแลกของที่ระลึก
    • - ร่วมสนุกกับวงดนตรีสุดมันส์ พร้อมศิลปินรับเชิญ (สุดยอดความมันส์ จากค่ายแกรมมี่) เป็นเซอร์ไพร์สพิเศษ
    • - มอบรางวัลการประกวดรถประเภทต่าง ๆ
    •  - มอบรางวัลสำหรับกลุ่มที่มาไกล (ขับมาเอง)
    • – มอบรางวัลกลุ่มที่มามาก (นับจำนวนรถที่มาร่วมงาน)
    • - ประกวด Miss ซ้อนท้าย
    • เวลา 24.00 น. แยกย้ายกันพักผ่อนตามอัธยาศัย วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม 2552
    • เวลา 07.30 น. ร่วมรับประธานอาหารเช้าร่วมกัน
    •  เวลา 09.30 น. แต่ละชมรมถ่ายภาพร่วมกัน เพื่อเก็บเป็นที่ระลึก และเดินทางกลับสู่จุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ สอบถามข้อมูล
    • พี่โอ N.B.C. 089 - 9064095 พี่เล็ก N.B.R. 081 - 4098689 ป๋าเล็ก ชุมแสง 081 - 6885147 พี่เกียร N.B.R. 081 - 2807874 ชัย N.B.C. 085 - 8731498 พี่กุ๊ก N.B.R. 086 - 5919751 http://www.thaiscooter.com/forums/archive/index.php/t-320274.html
    ขอเจริญพร
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • คุณโอ N.B.C ,คุณเล็ก N.B.R.,คุณเล็ก ชุมแสง , เกียร N.B.R., ชัย N.B.C.,กุ๊ก N.B.R.
    • มีอะไรจะเพิ่มเติมข่าวสารในงานครั้งนี้ก็ขอเรียนเชิญ
    • หรือจะมีอะไรบอกกล่าวเล่าขานสื่อสารให้คนหนองบัวที่อยู่ไกลบ้านได้ทราบบ้างก็จะดีหาห้อยไม่
    • เพราะคนหนองบัวที่มาทำงานไกลบ้านทั้งหลาย คิดถึงบ้านและก็อยากทราบข่าวสารการเคลื่อนไหวทางบ้านบ้าง
    • ถ้าคนหนองบัวเข้ามาพบปะพูดคุยกันบ้าง และให้กำลังใจคนไกลบ้านเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นคงจะภูมิใจและคงจะมีกำใจไม่น้อยเลย.

    ขอเจริญพร

    • หากจะส่งเสริมกิจกรรมในลักษณะนี้ให้เป็นโอกาสการเรียนรู้ พัฒนาความเป็นส่วนรวมและสร้างสุขภาวะให้กลุ่มคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ความลึกซึ้งและแยบคายในค่านิยมของชีวิตมากขึ้น ก็จะสามารถปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมอย่างนี้ให้สามารถทำสิ่งสร้างสรรค์ดีๆได้อีกมากครับ
    • ไม่ว่าจะการกระตุ้นให้สนุกอย่างขาดสติจากการแข่งขัน การเปิดรับสิ่งบันเทิงที่ได้แต่ความครึกครื้นเมามันแต่ไม่ได้ความลึกซึ้งและขาดความฉุกคิดต่อสังคม ส่วนผู้ให้ ทั้งองค์กรท้องถิ่น กลุ่มผู้จัด กลุ่มผู้นำเสนอดนตรีและสิ่งบันเทิง ก็ได้แต่เพียงชื่อเสียง ขาดโอกาสทำหน้าที่ต่อการสร้างพลังการเรียนรู้แก่ส่วนรวมของตนเอง ส่วนโรงเรียนและชุมชนก็ได้เสาธง แต่หลังจากนั้น ทั้งโรงเรียน พระคุณเจ้า ผม ครอบครัว และชุมชน คงต้องทำงานให้การเรียนรู้และพัฒนาลูกหลานหนักขึ้นที่จะไม่ให้พวกเขาหลงไปในทางวัตถุจนเสียความสมดุลของชีวิต
    • ดังนั้น ควรจะเพิ่มกระบวนการเรียนรู้และการให้วิธีคิดที่ยกระดับขึ้นจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว โดยสอดแทรกสิ่งต่างๆเข้าไป ขณะเดียวกันก็อาจจะลดบางด้านให้เป็นโอกาสได้ทำสิ่งต่างๆอย่างสร้างสรรค์ครับ
    • ตรงกิจกรรมเวที รวมทั้งผู้ที่ทำหน้าที่เป็นโฆษก ควรสอดแทรกการรณรงค์ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องของท้องถิ่นในด้านที่มีคุณค่าทางจิตใจ ให้หลักคิดที่ดีภายใต้ความหรูหราและการแข่งขันประกวดประชันกันทางวัตถุ อยู่เป็นระยะๆ  หากจัดเวลาได้ ก็ควรเปิดพื้นที่ให้กับคนเก่าแก่ของท้องถิ่นและคนที่มีความคิดเรื่องท้องถิ่น นั่งคุยกันให้ผู้คนได้เริ่มมองชุมชนและท้องถิ่นของตนเองให้มีความหมายมากยิ่งๆขึ้น
    • ตรงการประกวด Miss ซ้อนท้าย และความบันเทิงทั้งหลายนั้น ก็ทำให้สร้างสรรค์ได้ครับ
    • เวลาเราฟังข่าวคราวความเป็นไปของสังคม รวมทั้งได้เห็นทุกขภาวะและกระแสความเป็นไปของสังคมน่าเป็นห่วงอย่างไร หากเราพอจะพิจารณาว่าสิ่งเหล่านั้น เกิดจากการทำเรื่องส่วนรวมกันในลักษณะอย่างไร  เมื่อมีโอกาสทำให้กับชุมชนและบ้านของเราเอง เราก็ลองทำให้ดีอย่างที่เราต้องการก็ได้ครับ ไม่จำเป็นต้องทำไปตามแฟชั่นและไม่สะท้อนความเป็นตัวของตัวเองก็ได้กระมังครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

        คารวาลัย คุณครูบุญส่ง ว่องสารกิจ คนหนองบัวและอดีตครูใหญ่โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์  

     

    ชาวบ้านชุมชนบ้านตาลิน คณะครูและลูกศิษย์โรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) รวมทั้งญาติพี่น้องบ้านหนองบัว ขอร่วมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อมรณกรรมท่านคุณครูบุญส่ง ว่องสารกิจ คนหนองบัว และอดีตครูใหญ่ของโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์  

    คุณครูบุญส่งได้ป่วยด้วยโรคมะเร็งและเข้าดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดจากแพทย์และญาติพี่น้องที่โรงพยาบาลศิริราช กระทั่งถึงแก่มรณกรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๒ 

    บุตรภรรยาและญาติพี่น้องจะตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่ศาลาวัดหลวงพ่ออ๋อย หรือวัดหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ และจะฌาปนกิจในวันเสาร์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ นี้ จึงขอประชาสัมพันธ์มายังท่านผู้เคารพนับถือคุณครู รวมทั้งศิษยานุศิษย์ของคุณครูทุกท่าน เพื่อทราบโดยทั่วกัน.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    •  อนุสสรณาลัย แด่ คุณครูบุญส่ง  ว่องสารกิจ คนหนองบัวและอดีตครูใหญ่โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
    • ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวว่องสารกิจ และแสดงความไว้อาลัยต่อการจากไปของคุณครูบุญส่ง ว่องสารกิจ

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ครูที่สานพลังความร่วมมือของโรงเรียนกับชุมชน : ขอรำลึกและคารวะ คุณครูบุญส่ง ว่องสารกิจ

    ผมเคยมีโอกาสได้รู้จักคุณครูบุญส่ง ว่องสารกิจ และได้พบท่านอยู่หลายครั้ง ท่านเป็นครูใหญ่ผู้บริหารโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) คนก่อน คุณครูประสงค์ เดือนหงาย ครูใหญ่ท่านปัจจุบัน หากผมได้กลับบ้านตรงกับวันพระ หรือชุมชนบ้านตาลินกับชุมชนโดยรอบโรงเรียนวันครูมีงานทำบุญและทำกิจกรรมต่างๆของชาวบ้าน ก็มักจะได้เห็นคุณครูไปร่วมงานอยู่กับชาวบ้านอยู่เสมอ

    เวลาปิดเทอมหรือมีวันหยุดและฝนลงพอที่จะปลูกต้นไม้ดอกไม้ได้ ก็เคยเห็นคุณครูมาชวนพ่อผมกับชาวบ้าน ขับรถกระบะของคุณครูเองไปเชียงใหม่เพื่อหาซื้อต้นไม้ดอกไม้ลงมาช่วยกันปลูกให้โรงเรียน

    ชาวบ้านแถวบ้านผม รวมทั้งครอบครัวพ่อแม่ผม เคารพนับถือคุณงามความดีของคุณครู ผูกพันคุณครูและครอบครัวของท่านเหมือนดังญาติคนหนึ่ง 

    กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ หลวงอามหาแล ขำสุข คุณครูอ้อยเล็ก และทุกๆท่านครับ

         วันนี้ผมมาขอต่อเนืองจากการยาลาน ผมว่าท่านอาจารย์วิรัตน์นำเสนอเรื่องราวมาตามลำดับภาพเหตุการณ์ได้ดีมาก ตามฤดูกาล จะเห็นได้ว่าการหาปลา คนนั่งผิงกองไฟหน้าหนาว การทำลานตากข้าว และวันนี้ผมเอาภาพบบรรยากาศกาล่าหนูนามาสานต่อคุณครูอ้อยเล็กครับนี่ก็ใกล้หนาวเข้าไปทุกๆทีผมจะเล่าเรื่องราวเมื่อหลายสิบปีก่อนนานมาแล้วให้ฟังครับ วันนี้เป็นเย็นวันศุกร์แต่ต้องกลับบ้านช้าเป็นพิเศษ เพราะที่โรงเรียนมีกิจกรรมสวดมนต์ในวันสิ้นสุดสัปดาห์ในขณะที่สิ้นสุดเพลงสรรเสริญพระบารมี นักเรียนก็นั่งอยู่ด้วยความสงบนิ่งว่าชั้นไหนจะได้กลับก่อนในขณะนั้นนักเรียนชายหลายคนใจจดจ่อกับการออกล่าหนูนาเพราะว่าวันนี้เป็นวันศุกร์แห่งชาติเลยก็ว่าได้สำหรับเด็กๆเพราะไม่ต้องรีบทำการบ้านรอไว้ทำวันเสาร์เมื่อคุณครูบอกให้แยกย้ายกันกลับบ้านได้ นักเรียนก็พากันเฮด้วยความดีใจรีบวิ่งไปถอยรถBM.ออกจากโรงจดรถด้านหลังอาคารเรียนด้วยความรวดเร็ว…อ้อหมายถึงรถจักรยาน BMX.ครับผม ไปเตรียมอุปกรณ์ดักหนูนากับพ่อครับเพราะวันนี้พ่อจะพาไปล่าหนูนากัน เกี่ยวข้าวแล้วหนูเริ่มออกหาเมล็ดข้าวที่ตกหล่นบนท้องนาอากาศหนาวด้วยเพราะว่าเป็นฤดูหนาว หนูจะอ้วนพลีเพราะอุดมไปด้วยอาหาร เมื่อไปถึงท้องทุ่งนาก็ออกเดินสำรวจค้นหาทางเดินของหนูว่าทางไหนใหม่เก่าเพราะเวลาตอนเย็นจะเห็นได้ง่ายเมื่อวางเจ้ากับดักที่ทำจากไม้ไผ่ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ฟ้าผ่า เจ้าฟ้าผ่าผมเองเคยเห็นใช้กันหลายภาคเหมือนกัน ยิ่งแขกเกี่ยวข้าวที่มาจากเก้าเลี้ยวแล้วละก็ขนกับดักฟ้าผ่ามากันเป็นคันรถเลยทีเดียว มีน้องที่ทำงานด้วยกันกับผมเป็นคนสุพรรณนามสกุลชาวบ้านกร่างกันเกือบทั้งตำบลส่วนมากเลยก็ว่าได้ เค้าเห็นรูปที่ผมวาดก็พูดเป็นสำเนียงสุพรรณว่า นี่เค้าดักหนูนาเหรออออ…อันนี้ใช่กับดักหนู่ที่ทำจากไม้ไผ่ป่าววว..ผมเคยเห่น หนูน่าจะออกได้ดีเมื่ออากาศไม่หนาวจัดแต่ต้องเป็นเวลาที่มืดสนิด พ่อพาเดินไปเลาะกับดักไปเมื่อเห็นหนูวิ่งเพียงดูดปาก ฟูดๆ…ราวคล้ายกับมีหนูมาร้องประกอบกับใช้เท้าเขย่าตอซังข้าวเบาๆเท่านั้นหนูก็วิ่งเข้ามาหาแสงไฟ ว่าก็ว่าราวกับเจ้าเงาะที่สามารถเรียกเนื้อเรียกปลาในเรื่องสังข์ทองอะไรประมาณนั้น แถมยังเคยมีคนเรียกพ่อผมว่าไอ้เงาะเลยก็มี ถ้าหากใครหาไม่ได้แต่อย่างน้อยพ่อผมก็มักจะได้หนูนามาย่างให้กินอยู่เสมอ คืนนี้เดินเกือบทั้งคืนน้ำค้างเริ่มดกซังข้าวเริ่มอ่อนนุ่มเข้าไปทุกทีดาวไถจะตกแล้วเสียงเจ้านกกาเหว่าเริ่มร้องส่งเสียงแว่วเจิดจ้าก้องไปทั่วท้องทุ่งดวงจันทร์เริ่มปรากฏกายออกจากกลุ่มก้อนกลีบเมฆนั่นเป็นสันญาณบอกให้รู้ว่าใกล้สว่างเข้าไปทุกทีอีกไม้นานดวงตะวันก็จะขึ้นมารับขอบฟ้าแทน พ่อต้องเดินเก็บกู้กับดักคนเดียวขณะนั้นผมเองก็ทำการเอาหนูมาเรียงกันแล้วเผาให้ขนไหม้หมดแล้วให้ไม้ขูดขนที่ไหม้เกลียมออกก่อนที่จะทำการลอกหนังเจ้าหนา เช้านี้กับบ้านมีอาหารอันโอชะรออยู่คือหนูนาย่างกับข้าวสวยร้อน แต่สำหรับแม่ใหญ่ทรัพย์ คือยายของผมท่านเป็นคนกลัวหนูมาแต่ไหนแต่ไรรู้ว่าวันนี้มีสิ่งน่ากลัวมาอยู่ในบ้านแม่ผมต้องจัดเตรียมสำรับกับข้าวมาคอยท่าต่างหาก ท่านจะไม่เข้าครัวจนกว่าหนูจะหมดไปท่านเคยเล่าว่าถ้ากลัวปลิงอย่างกลัวหนูไม่ต้องดำนากันหลอก แต่ท่านก็ไม่ได้โกรธเคืองอะไรทีเอาหนูเข้าบ้านเพียงแต่ไม่อยากเห็นก็เท่านั้นเองครับ

     อย่าปล่อยให้ลมหนาวพัดเอาไอดินกลิ่นตอซังผ่านร่างเราโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลยในรอบปี นี่คือความสุขของเด็กบ้านทุ่งคนหนึ่งซึ่งไม่เคยได้นอนเต้นท์ปีนเขาราวกับเด็กสมัยนี้ขอแค่เพียงกระท่อมกองฟางเท่านี้ก็สุขใจ

    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์

    • สุดยอดเลยครับ ทั้งเรื่องและรูปวาด วาดกลางคืนมีเดือนหงายและเมฆบังด้วย ได้บรรยากาศอย่างบ้านนอกของเราเลยจริงๆ
    • ได้ความรู้ใหม่ด้วยครับว่าเขาเรียกกับดักหนูอย่างนี้ว่าเจ้าฟ้าผ่า ผมทำเป็นด้วยเหมือนกันครับ
    • วิธีไปเรียกหนูอย่างที่คุณเสวกเล่ามานั้นก็นึกออกครับ
    • มีปืนหนังสะติ๊กด้วย ชอบภาพประกอบจังเลยครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณเสวกและผู้อ่านทุกท่าน

    • คุณเสวกหายไปหลายวัน พอมาทักทายก็มีผลงานมาโชว์กันเลย ขอชมว่าเข้าท่า ๆ
    • เห็นกับดับหนูแล้วนึกถึงต้นสวองที่นามาบเลยแหละ
    • แถวนามาบเป็นดินทรายจะขุดหนูหน้าดำนา ตอนตกกล้า หนูชอบมากินต้นกล้า
    •  ดักหนูต้องเป็นแถวนาดินเหนียวทุ่งห้วยถั่ว ไดตะโก หนองพันซ่อม
    • วางกับดักเสร็จก็ก่อไฟนอนใต้ต้นไม้ใหญ่มองดูดาวไถ ดาวหาง ดาวจระเข้
    • ครั้งหนึ่งไปดักหนูนอนใต้ต้นมะขามแล้วก่อไฟไว้ใกล้ ๆ ตื่นขึ้นมาไฟเกือบไหม้ที่นอนนึกถึงแล้วเสียวหลังวูบ
    • อย่าหาว่าชมกันเองนะ ชอบสำนวนแบบนี้ มีกลิ่นไอสำเนียงภาษาหนองบัวแว่ว ๆ มาแต่ไกลเลย บรรยายซะเห็นภาพเชียว

    ขอเจริญพร

    สุนทรียภาพและสมดุลแห่งชีวิตชาวนาในวิถีชุมชนการผลิต

    เสวก ใยอินทร์ และวิรัตน์ คำศรีจันทร์  ๓๐ กันยายน ๒๕๕๒

    ชุมชนในอดีตของหนองบัวก็เหมือนกับชุมชนส่วนใหญ่ในชนบทของประเทศซึ่งก่อนทศวรรษ ๒๕๒๐ ส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๐ ยังเป็นชุมชนเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ลักษณะของชุมชนในช่วงเวลาดังกล่าวเมื่อเทียบกับสภาพชุมชนและกลุ่มหมู่บ้านเมื่อทศวรรษ ๒๕๔๐ หรือหลัง ๒๐-๔๐ ปีผ่านไปแล้ว ก็จะกล่าวได้ว่าชุมชนดั้งเดิมมีความเป็นชุมชนการผลิตมากกว่า ในขณะที่หลังอีก ๒๐ ปีต่อมากระทั่งปัจจุบันนั้น ชุมชนส่วนใหญ่มีสภาพเป็นชุมชนแรงงานผลิตเพื่อใช้หนี้ 

    ความเป็นชุมชนการผลิตนั้น ชาวบ้านจะทำอยู่ทำกินและเรียนรู้ที่จะพัฒนาความสุขความซาบซึ้งในสิ่งต่างๆโดยเรียนรู้ที่จะปรับตนเองให้กลมกลืนไปกับเงื่อนไขการผลิต ตลอดจนเงื่อนไขแวดล้อมของธรรมชาติ ชาวบ้านจะสร้างความรู้ขึ้นจากประสบการณ์และใช้ความรู้ดังกล่าวนั้นดำเนินชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียวกับกระบวนการธรรมชาติ เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตที่มีความสมดุล

    "....เกี่ยวข้าวแล้วหนูเริ่มออกหาเมล็ดข้าวที่ตกหล่นบนท้องนาอากาศหนาวด้วยเพราะว่าเป็นฤดูหนาว หนูจะอ้วนพีเพราะอุดมไปด้วยอาหาร...." (เสวก ใยอินทร์ )

                                   

    ในอีกด้านหนึ่ง การคิดทำกินและการสร้างอุปกรณ์เพื่อการดักหนู จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อการดำเนินชีวิต ให้มีความสมดุลกับพื้นฐานการผลิตและปัจจัยแวดล้อมของธรรมชาติ

    สุนทรียภาพ ความสุข ความรื่นรมย์ใจ และแรงบันดาลใจที่ปัจเจกจะได้พลังสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ออกมาจากภาวะภายในตนเอง ก็มีลักษณะสะท้อนการซึมซับสภาพแวดล้อมของการดำเนินชีวิต

    "..คืนนี้เดินเกือบทั้งคืนน้ำค้างเริ่มตก ซังข้าวเริ่มอ่อนนุ่มเข้าไปทุกทีดาวไถจะตกแล้วเสียงเจ้านกกาเหว่าเริ่มร้องส่งเสียงแว่วเจิดจ้าก้องไปทั่วท้องทุ่ง ดวงจันทร์เริ่มปรากฏกายออกจากกลุ่มก้อนกลีบเมฆ..."  (เสวก ใยอินทร์ )

    "...นั่นเป็นสันญาณบอกให้รู้ว่าใกล้สว่างเข้าไปทุกทีอีกไม่นานดวงตะวันก็จะขึ้นมารับขอบฟ้าแทน..."  (เสวก ใยอินทร์ )

    สุนทรียภาพและการได้ความรื่นรมย์ใจในลักษณะดังกล่าว เป็นเสมือนอาหารและสิ่งจรรโลงใจที่เป็นกำลังแห่งความอิ่มปีติในชีวิต ทำให้มีความสุขและได้ความอิสรภาพทางจิตใจโดยไม่ต้องซื้อหาหรือบริโภคจากส่วนเกินภายนอก

    "...เช้านี้กลับบ้านมีอาหารอันโอชะรออยู่คือหนูนาย่างกับข้าวสวยร้อน..."  (เสวก ใยอินทร์ )

    ต่างจากการเป็นชุมชนที่มีความเป็นผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งการผลิตได้กลายเป็นการใช้แรงงานผลิตเพื่อใช้หนี้ด้วยความเหนื่อยยาก เมื่ออยากได้ความสุขและความรื่นรมย์ในชีวิต ก็ต้องใช้เงินค่าจ้างจากการผลิตของตนเองไปซื้อหาความสุขจากการบริโภคในสิ่งที่ตนเองผลิตไม่ได้มากยิ่งๆขึ้น

    จะเห็นว่า การดำเนินชีวิตและการทำอยู่ทำกินในวิถีชุมชน ไม่ได้มีเพียงสิ่งที่ผลิตและขายเป็นรายได้เท่านั้น แต่มีองค์ประกอบของชีวิตสอดแทรกอยู่อย่างลึกซึ้งซึ่งจะซื้อหาหรือจัดให้จากภายนอกชุมชนไม่ได้ ทว่า เป็นสิ่งที่จะได้จากความเป็นชุมชนและเข้าถึงได้ผ่านการดำเนินชีวิต 

                              

    "...ขอแค่เพียงกระท่อมกองฟางเท่านี้ก็สุขใจ.."  (เสวก ใยอินทร์ )  แก่นสำคัญของสุนทรียภาพ ความสุข และความสมดุลของชีวิตแบบชาวบ้าน จึงมิใช่อยู่ที่รูปแบบของกิจกรรมอย่างเดียว ทว่า เชื่อมโยงอยู่กับการเรียนรู้อย่างมีความหมายบนวงจรการผลิตและเป็นหนึ่งอยู่กับการดำเนินชีวิต มีคุณค่าทั้งต่อจิตใจและการก่อให้เกิดความสมดุลของการดำเนินชีวิตไปตามจังหวะของธรรมชาติ.

    ผมได้รับกการแนะนำให้รู้จัก blog นี้ จากพระมหาแล ขำสุข จดหมายของท่านที่เขียนถึง ผมได้รับตั้งแต่วันที่ 22 .09.2552 แต่มีงานติดพันและเดินทางข้ามไป-มาระหว่างไทยกับลาว จึงขออนุญาตพระเดชพระคุณตอบมา ในบล็อคนี้ อ่านดูเน้อหาในบล็อคคร่าว ๆ แล้วรีบตอบ หากมีเวลามาก ๆ จะอ่านอย่างละเอียดในภายหลัง

    เรื่องที่ท่านพระมหาขอมา กระผมอนุญาตด้วยความยินดีครับ หากมีสิ่งหนึ่งประการใดที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อชุมชนคนหนองบัว จะได้นำมาเล่าสู่กันอ่านตามแต่โอกาสจะอำนวย

    สำหรับชื่อ...สมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทองนั้น.....เป็นชื่อที่ใช้ในการเขียนหนังสือ...ถ้อยเสียงสำเนียงลาว ...เพียงอย่างเดียว ขออนุญาตทักทายชาวหนองบัว(เดียวกัน)เพียงแค่นี้ก่อน สวัสดีครับ.

    ยินดีต้อนรับคุณสมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง เป็นอย่างยิ่งครับ ท่านพระมหาแลท่านเป็นตัวตั้งตัวตีที่นำมาสู่การมีบล๊อกหัวข้อนี้สำหรับคนหนองบัวอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่เดิมนั้นท่านคุยกับผมอยู่ในหลายหัวข้อ จำเพาะหัวข้อหนองบัวนี้มีคนเข้ามาดูเป็นพันครั้งในเวลาอันรวดเร็ว

    อีกทั้งพระคุณเจ้าเอง รวมทั้งหลายท่านที่เป็นคนหนองบัวและคนอื่นๆที่มีน้ำใจต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรูู้กับคนหนองบัว ก็นำเอาข้อมูลและคุยเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับหนองบัวมาถ่ายทอดไว้ ซึ่งหลายเรื่องมีคุณค่าทั้งต่อท้องถิ่นและต่อการเรียนรู้ของสาธารณชนมากเป็นอย่างยิ่ง ผมเลยเปิดหัวข้อนี้รองรับการที่จะคิดและทำสิ่งต่างๆดีๆด้วยกันของคนหนองบัว อย่างที่เห็นนี่แหละครับ

    เชิญทำเวทีนี้ให้เป็นทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่างๆที่เห็นว่าเป็นสุขภาวะของชุมชนหนองบัว ที่เราเองจะสามารถมีส่วนร่วมได้ตามความสะดวกและตามกำลังของแต่ละคนครับ แค่เป็นสื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสังคมไทย-ลาวมาสู่คนหนองบัวก็ทำให้เกิดความรอบรู้ เห็นโลกกว้าง และพัฒนาตนเองให้มีความกลมกลืนกับสังคมโลกที่กว้างขึ้นได้แล้วครับ

    ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น นอกจากจะเป็นเหมือนมหามิตรสำหรับสังคมไทยแล้ว ก็กำลังจะเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ กีฬาแห่งปวงชนของโลกในแดนอุษาคเนย์ ซึ่งนอกจากผู้คนคงจะได้เรียนรู้ระหวางสังคมผ่านสื่อมวลชนแล้ว การเป็นสื่อด้วยตัวเราเองก็คงจะน่าสนใจไม่น้อยครับ

    เห็นกระบวนการที่อาจารย์ได้วางเครือข่ายเเล้ว อดรู้สึกชื่นชมกับ จิตสาธารณะของทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง

    หากกระบวนการแบบนี้ ใช้ พื้นที่บ้านเกิด เป็นพื้นที่นำร่อง ผมคิดว่าเหมาะสมเป็นอย่างมากครับ การทำงานกับถิ่นที่รัก ถิ่นที่ผูกพันมีพลังทำให้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ซึ่งผมเองก็คาดหวังแบบนี้กับบ้านเกิดตัวผมเองที่ปายเหมือนกัน

    จะดีเป็นอย่างยิ่งครับ หากฝันเรื่องนี้เป็นจริงเป็นจัง (คาดว่าอีกไม่นานก็จะเป็นจริง) เพราะอาจารย์ได้วางรูปแบบกระบวนการไว้เเล้ว

    วิธีคิดแบบนี้ การวางแผนแบบนี้ จะเป็นตัวอย่าง เป็นบทเรียนที่ดี สำหรับพื้นที่อื่นๆต่อไป

    ---------------------------------------------------

    วันนี้ผมไปทำ MOU ด้วยใจ กับ สรพ.(มหาชน) จะช่วยขับเคลื่อน ความสุข ในวงการสุขภาพ เพื่อทุกคนในสังคม ภายใต้ "HA วิวัฒน์" งานชิ้นนี้เป็นงานใหญ่ ที่ผมมีทีมงานไปสมทบกับ สรพ.กว่า ๕ ท่านที่มากความสามารถ

    วันนี้ผม ไปคุยเรื่อง งานถอดบทเรียนกับ กองทันตฯ กรมอนามัย  งานนี้เพื่อสุขภาวะของสังคม อีกรูปแบบหนึ่ง

    และ ข่าวดีว่า เรื่องราวการถอดบทเรียนที่ผมเขียน มีหน่วยงานแห่งหนึ่งติดต่อ ขอพิมพ์เป็นหนังสือ เพื่อเผยเเพร่สู่สาธารณะครับ...

    :)

    ทั้งหมดเป็นเรื่องราวดีๆ ที่ผมมีความสุข และผมขอแบ่งปันกับอาจารย์ครับ

     

    ยินดีด้วยครับคุณเอก จตุพร ทั้งในเรื่องการเติมความสุขเข้าไปในเครือข่าย รพ ของ สรพ ซึ่งจะได้ทั้งงานและได้ทั้งความดีงามนะครับ มีแนวทางที่จะสร้างเสริมสุขภาวะเข้าไปได้หลายแนวทาง และทำได้ในหลายขอบเขตครับ

    อันที่จริงหาก สรพ ไม่รีบเร่งให้เป็นสูตรสำเร็จ และการถือโอกาส HA วิวัฒน์ ให้เป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องการดูแลรักษาให้ครอบคลุมไปถึงการดูแลองค์ประกอบความเป็นมนุษย์กับความเป็นชุมชนด้วยแล้ว ก็ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปในแต่ละที่ได้เป็นอย่างดีครับ เพราะเรื่องนี้หากทำดีๆก็เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง เชื่อมโยงเข้ากับวิธีคิดเรื่องทุกขสัจจะ อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในหน่วยบริการสุขภาพระดับปฏิบัติได้จริงๆ เป็นอย่างดีครับ

    ยินดีด้วยเรื่องที่สองก็คือการมีหน่วยงานมาช่วยกันสนับสนุนการตีพิมพ์หนังสือถ่ายทอดบทเรียนเรื่องการถอดบทเรียน งานแนวนี้ยังต้องสร้าง Space ทางวิชาการและบุกเบิกงานทางความรู้ที่พอเหมาะ-พอดีอีกเยอะครับ ช่วยกันทำอย่างนี้ต้องเป็นเรื่องที่น่ายินดีจริงๆ คุณเอกขยันและมีผลิตภาพดีจริงๆ เยี่ยมๆ

    เครือข่ายสร้างความรู้และจัดการความรู้อย่างผสมผสาน อย่างที่กำลังก่อรูปในเวทีของคนหนองบัวนี้น่าสนใจและทำให้ผมเห็นโจทย์วิจัยใหม่ๆ รวมทั้งผมเริ่มเห็นเครือข่ายนักวิจัยแนวขับเคลื่อนสังคม ที่ผสมผสานความเป็นโลกาภิวัตน์กับความเป็นท้องถิ่น ที่เปิดความคิดให้เห็นแนวทางใหม่ๆที่ดีๆหลายอย่างครับ 

    แวะมาเยือนคนหนองบัวเป็นระยะๆอย่างนี้นี่ดีครับ ต้องขอบคุณมากๆนะครับ  จะว่าไปแล้วหากคนทำงานแนวนี้จะอาศัยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เหมือนเป็น AcademicNet ที่เรียนรู้และพัฒนาตนเองไปด้วยกันผ่านเวทีหนองบัวนี้ก็ได้นะครับ ในแง่นี้ความเป็นชุมชนหนองบัวก็จะมีฐานะเป็นแหล่งให้บทเรียน ไม่ใช่เรื่องของท้องถิ่นเล็กๆเท่านั้นน่ะครับ

    สรพ. ไม่รีบเร่งครับ วันนี้เราเคลียร์ concept กันเป็นที่เข้าใจว่า การพัฒนารูปแบบนี้เป็นงานประณีต และเป็นไปอย่างช้าๆ ไม่มีตัวชี้วัดเชิงประจักษ์ที่มากวนใจ

    ผลการพูดคุย ระกว่างทีมงานเราก็เห็นถึงความเข้าใจความเป้นมนุษย์ของทีม สรพ. ตรงนี้ เป็นความสุขที่เป็นทุนเริ่มต้นของคนทำงานครับ

    คงต้องเเวะมาเติมพลังจากบันทึกอาจารย์บ่อยๆ

    มี file การถอดบทเรียนของอาจารย์ 2 file หากจำไม่ผิด ไม่ทราบว่าจะนำบางส่วนเข้าประกอบเป็นหนังสือได้ไหมครับ โดย acknowledge  อาจารย์ ครับ

     

     

    ด้วยความยินดีเลย ตรงไหนเอาไปใช้ทำงานและเสริมความเข้าใจให้กับกลุ่มเป้าหมายที่คุณจตุพรทำงานด้วยได้ก็เอาไปโลด 

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

     

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ อาจารย์สมบัติและผู้อ่านทุกท่าน

    ขอแนะนำคนหนองบัว

    วันนี้รู้สึกดีใจและมีกำลังใจที่ได้ต้อนรับอาจารย์สมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง คนหนองบัวนเดียวกันก่อนอื่นก็ขออนุญาตแนะนำให้ท่านทั้งหลายได้รู้จักกับอาจารย์สมบัติแบบย่อ ๆ ตามที่ท่านได้อนุญาตอาตมาไว้แล้ว หวังว่าโอกาสหน้า คงจะได้อ่านข้อเขียนของท่านเกี่ยวกับประเทศลาว จากผู้เชียวชาญ(ท่านเขียนพจนานุกรมลาว-ไทย-อังกฤษ)โดยตรง วันนี้ก็อ่านประวัติของท่านไปก่อนดังต่อไปนี้

    •  สมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง
    • การศึกษา : ปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยราคำแหง
    • ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
    • ที่ทำงานปัจจุบัน : ด่านศุลกากรหนองคาย ถ.มิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
    • ที่ทำงานในอดีต :
    • ๑. กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง
    • ๒. สำนักงานศุลกากรภูมิภาคที่ ๕ (จังหวัดภูเก็ต)
    • ๓. ด่านศุลกากรสตูล ๔. สำนักงานศุลกากรนำเข้าท่าเรือกรุงเทพ ฯ (คลองเตย)
    • ถิ่นเกิด : ต้นน้ำเจ้าพระยาที่อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสรรค์
    • ผลงานเขียนที่เกี่ยวกับลาว :
    • ๑. งานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา เรื่องสถานการณ์การค้าชายแดนไทย-ลาว ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(NIDA) ปี พ.ศ.๒๕๔๘
    • ๒. แปลกฎหมายศุลกากรลาว ปี ค.ศ.๒๐๐๕ (๒๕๔๘)
    • ๓. คำศัพท์สามภาษา : ลาว-ไทย- อังกฤษ (หน้าปกหนังสือเป็นตัวอักษรลาว อ่านว่า ถ้อยเสียงสำเนียงลาว)
    • ความสนใจพิเศษ : ภาษาลาว / คนลาว / ประเทศลาวและอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับลาว
    • เกี่ยวข้องกับลาว : เคยจัดรายการวิทยุภาคภาษาลาว และอัดสปอร์ตโฆษณาสินค้าเป็นภาษาลาว ทางสถานีวิทยุวัดโพธิ์ชัย คลื่น F.M. ๙๗.๗๕ MHz (รายได้ทุกกีบถวายวัด)
    • กองเขลาคณะกรรมการชายแดนไทย-ลาว (จังหวัดหนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์)
    •  ผู้ประสารงานกับกรมพาสี แห่ง สปป.ลาว (Informal)
    •  คุณปู่มีเชื้อสายไทพวนจากเมืองพวน แขวงเซียงขวาง/คุณตามีเชื้อสายไท-ยวน ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามาจากเชียงแสนหรือจากภาคเหนือของลาว(กันแน่)
    • รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ :
    • ได้รับเกียรติบัตรจาก ฯพณฯ นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่น สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในประเทศ สปป.ลาว เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๐๐๖ ณ นครหลวงเวียงจันทน์
    •  ได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากนายชวลิต เศรษฐเมธีกุล อธิบดีกรมศุลกากรให้เป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่ทางราชการ ปี ๒๕๕๐ ผลงานดีเด่นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ(ไทย-สปป.ลาว) เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐ เนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมศุลกากร ครบรอบ ๑๓๓ ปี.

    ขอเจริญพร

    สื่อรณรงค์สุขภาวะชุมชนอย่างบูรณาการ ขยายผลจากเวทีหนองบัวครับ

    ผมเอากระเป๋าที่ทำเป็นสื่อจัดการความรู้ ถ่ายทอดและขยายผลสิ่งดีๆจากเวทีนี้ มาอวดพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล คุณเสวก คนหนองบัว คุณเอก คุณสมบัติ คุณครูจุฑารัตน์และทุกท่าน นะครับ

    ผมดึงเอารูปที่วาดจากสิ่งที่พระมหาแลกับคุณเสวกท่านพูดถึง ไปทำเป็นสื่อที่ใช้สอยได้และเป็นสภาพแวดล้อมที่รณรงค์ให้คนได้เรียนรู้ เกิดแรงบันดาลใจที่ดีๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้เพื่อจะสร้างส่วนรวมด้วยกัน การอยู่เป็นกลุ่ม การไม่แยกส่วน และการเชื่อมโยงกับถิ่นฐาน

                                

    ใต้รูปวาดมีคติให้วิธีคิดการเรียนรู้เพื่อเป็นซึ่งกันและกันของปัจเจกกับผู้อื่นด้วยครับ คือ  " เดินทางร่วมกันเพียง ๗ ก้าว แม้เป็นคนอื่น ก็นับได้ว่าเป็นเพื่อน  กินข้าวด้วยกันเพียง ๑ มื้อ แม้เป็นคนอื่น ก็ให้ความคุ้นเคยกันเสมือนญาติ  นอนแรมทางร่วมกันแม้เพียง ๑ ราตรี แม้เป็นคนอื่น ก็ให้ความวางใจกันเหมือนดังเป็นตัวเอง "  เป็นคติที่ขยายจากพุทธวจนะที่ว่า ความคุ้นเคยกันเป็นญาติอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นวิถีคิดที่ทำให้คนแปลกหน้าสามารถมีความเป็นพี่น้องและเพื่อนร่วมทุกข์สุขกันได้ดังคติพุทธธรรมน่ะครับ

    มีคนที่ช่วยออกแบบและจัดวางรูปแบบกระเป๋าอย่างนี้อยู่ที่ภาคเหนือของประเทศ โดยรับต้นฉบับภาพถ่ายและข้อความไปจากผม จากนั้นคนที่ตบแต่งทำเป็นต้นฉบับ รวมทั้งทำเป็นซิ้ลค์สกรีน ๑๕๐ ใบ อยู่ที่กรุงเทพฯ ใช้เวลาประสานงานกัน ๑ สัปดาห์ พรุ่งนี้เขาจะทำเสร็จและนำไปให้ผมที่มหาวิทยาลัยมหิดล

    กระบวนการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มีคนเกี่ยวข้อง ๒-๓ คนโดยที่เราก็ยังไม่ต้องเจอกันและบางส่วนก็ไม่รู้จักกันมาก่อนเลยครับ ด้านหนึ่งก็ได้ผลการปฏิบัติที่งอกเงยต่อเนืองจากเวทีคนหนองบัวของเรา แต่อีกแง่หนึ่งก็เป็นกระบวนการเรียนรู้วิธีเดินบวกกันตั้งแต่ท้องถิ่นไปจนถึงเครือข่ายที่ไม่จำกัดขอบเขต ให้สามารถทำสิ่งต่างๆด้วยกันที่ดีมากทีเดียวครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

    • ดีใจจริง ๆ ที่คุณจตุพรมาเยี่ยมชาวหนองบัว
    • เป็นคนหนุ่มที่น่ายกย่อง
    • มีความคิดเฉียบคม
    • ขยันคิด ขยันเขียน
    • รอบรู้น่านับถือ
    • นี่เขาเรียกว่าเป็นบัณฑิตชน
    • ขอให้มาเป็นกำลังคนหนองบัวบ่อย ๆ ก็จะดีหาน้อยไม่

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    • ผลิตภัณฑ์จากเวทีคนหนองบัวชุดนี้เห็นแล้วชื่นใจหลาย
    •  ขออนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งต่อทีมงานของอาจารย์วิรัตน์ที่ได้ช่วยสร้างสรรค์เวทีคนหนองบัวให้มีสีสันอย่างน่ารักชวนมอง
    • เป็นรูปที่เขียนขึ้นจากข้อมูลและเรื่องราวที่พระคุณเจ้ากับคุณเสวกพูดถึงน่ะครับ นำเอาหลายเรื่องมาผสมกัน คือมีการย้อนความทรงจำไปถึงห้วยน้อยและการลงแขกเกี่ยวข้าว การลงแขกเกี่ยวข้าวนี้ นอกจากเป็นวิถีชีวิตและเป็นประเพณีการเอาแรงกันของชาวบ้านแล้ว ดูเหมือนว่าอำเภอหนองบัวจะเคยจัดกิจกรรมรำลึกถึงประเพณีดังกล่าวด้วย
    • กระเป๋าผ้าดิบนี้เลยใช้เป็นสื่อเผยแพร่วิถีชีวิตชุมชนหนองบัว รวมทั้งช่วยรณรงค์ให้ท้องถิ่นอื่นๆ ให้รักและหวนคืนไปดูแลรากเหง้าของตนเอง เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างคนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง พอเพียง
    • ผมทำขึ้น ๑๕๐ ใบ จะแจกจ่ายไปยังกลุ่มคณาจารย์ นักวิจัย และคนทำงานในที่ทำงานผมครับ อีกส่วนหนึ่งจะเอาไว้แจกญาติพี่น้องทั้งที่เชียงใหม่และที่บ้านหนองบัว ลองทำเล่นๆดูครับ ดูเหมือนเขาจะคิดค่าทำเบ็ดเสร็จใบละ ๖๐ บาทครับ ผมเคยรับจ้างทำซิ้ลค์สกรีนเสื้อครับ ช่างเหน็ดเหนื่อยและยอดขนาดนี้กับราคาขนาดนี้ หากเป็นผมเองก็คงรับทำไม่ได้แน่ๆ ก็เลยไม่ต่อใดๆทั้งสิ้นเลยครับ

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    • อาจารย์ทำกระป๋าที่มีสัญญลักษณ์หรือโลโก้ชุมชนหนองบัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว
    • ต่อไปอาตมาขอเสนออาจารย์ทำปฏิทิน พ.ศ.๒๕๕๓ เป็นรูปวาด,ลายเส้นจากชุมชนหนองบัว
    • ปฏิทินชุมชนหนองบัว
    • ปฏิทินท้องถิ่นหนองบัว
    • ปฏิทินเวทีคนหนองบัว
    • ปฏิทินชาวบ้านหนองบัว
    • เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ อามตาให้พระที่มีความถนัดคอมพิวเตอร์ช่วยทำปฏิทินใส่รูปถ่ายปู่-ย่า,ตา-ยาย(พ่อใหญ่-แม่ใหญ่,พ่อเฒ่า-แม่เฒ่า) (ทำขนาด A4 เพราะมีทุนน้อย)
    •  ลุง ป้า น้า อา ลูกหลาน เหลน โหลน ชอบใจกันใหญ่ จองกันตรึมเลย ถูกใจกันอย่างมาก
    • เพราะรูปบางรูปเก็บไว้โดยลูกหลานไม่เคยเห็นมาเป็น ๔๐-๕๐ ปี จนรูป เปื่อย ผุ กรอบ หลุดลุ่ย
    • อาตมานำทำปฏิทินแจก ถูกใจผู้รับสุด ๆ
    • ขอลุ้นงานนี้อีกหนึ่งงานส่งท้ายปี ๒๕๕๒ ในเวทีคนหนองบัวนี่แหละ

    ขอเจริญพร

    • ข้อเสนอของพระคุณเจ้าถูกใจจังเลยครับ
    • ผมจะลองเลือกรูปและเรื่องที่ทุกท่านช่วยกันทำนี้ให้ได้สัก ๑๒ เรื่องพร้อมกับรูปที่ผมและคุณเสวกวาดไว้แล้ว หากยังขาดตรงไหนอยู่ก็จะวาดเพิ่มให้อีกครับ แล้วจะลองทำอย่างที่พระคุณเจ้าพูดถึงนี้ดูนะครับ
    • หากทำทันก็จะทำเป็นปฏิทิน แจกไปตามโรงเรียนให้ได้เรียนรู้และภูมิใจตนเอง
    • รวมทั้งจะได้เป็นสื่อเรียนรู้ชุมชน ส่งเสริมให้เด็กๆและคนท้องถิ่นเริ่มเดินเข้าสู่โลกทางความรู้ในระบบ IT นี้ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ชุมชน โดยมีเวทีนี้รองรับก็คงจะดีไม่น้อยครับ เห็นประโยชน์อยู่ครับ
    • แต่ถ้าหากไม่ทันก็จะเตรียมไปเรื่อยๆอยู่ดีนะครับ ผมยังติดใจที่พระคุณเจ้าและกลุ่มพริกเกลือได้พูดถึง หนังสือภาพของชุมชนหนองบัว (Nong-Bua Pictorial) อยากจะทำสะสมและทำขึ้นมาให้ได้ครับ และเนื้อหาอยากระดมเขียนช่วยๆกันในลักษณะนี้แหละครับ  เราคงต้องทำนำไปก่อนให้คนอื่นเขาเห็นและมีคนใช้ประโยชน์ได้ครับ
    • ทุกเรื่องในนี้ผมจะเลือกทำเป็นเนื้อหาเพื่อถ่ายทอดความเป็นหนองบัวด้วยรูปวาดและภาพถ่ายนะครับ อย่างเรื่องของคุณเสวกที่ผมลองยกตัวอย่างเรียบเรียงเชิงวิเคราะห์และทำให้เห็นภาพนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ใช้ได้ครับ หากเห็นภาพแล้วอยากจะเพิ่มเติมข้อมูลตรงไหน ทั้งของตนเองและช่วยเติมรายละเอียดให้คนอื่น ก็สะสมไปทีละเล็กละน้อยไปเรื่อยๆนะครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

    นมัสการพระคุณเจ้า ขอคารวะท่านอาจารย์วิรัตน์และสวัสดีทุกท่าน ขอขอบคุณชุมชนคนหนองบัวที่ช่วยให้ได้ทราบข่าวกรณีท่านอาจารย์บุญส่ง ว่องสาริกิจถึงแก่กรรม ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของท่านด้วยครับ ท่านเป็นเขยบ้านห้วยวารีใต้และเป็นอาจารย์ใหญ่สมัยที่ผมเรียน ป.5 - ป.6 หากไม่มีท่านผมอาจจะไม่ได้เรียนต่อ ม.1 ที่โรงเรียนหนองบัว

    เย็นวันนี้ได้รับการประสานงานทางโทรศัพท์จากคนหนองบัวที่มาประกอบอาชีพขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หนองคาย.....คุณพิชัย(สามี) คนห้วยร่วม .....คุณม่วย(ภรรยา) คนข้างขอบสระวัดหลวงพ่ออ๋อย ว่าท่านอาจารย์โสภณ สารธรรม จะมาชมบั้งไฟพญานาคที่ริมฝั่งโขง จังหวัดหนองคาย ขอให้ไปร่วมกันต้อนรับ(เหมือนเคย) นัดกันไว้ 1 ทุ่มที่ร้านเลอของ ริมแม่น้ำโขงครับ

    พี่น้องชาวหนองบัวที่สนใจเรื่องนี้ ยังพอมีเวลาเดินทางครับ ปีนี้บั้งไฟพญานาคจะขึ้นตั้งแต่ เวลาโพล้เพล้พลบค่ำ - ประมาณ 4 -5ทุ่มในวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2552....ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11....

    การเดินทางจากบ้านเรา.....4 แยกหนองบัว - สะพานมิตรภาพไทย - ลาว ......มาได้หลายทางครับ

    1. หนองบัว - วังทอง - นครไทย - ด่านซ้าย - เลย - เชียงคาน - ปากชม -สังคม - ศรีเชียงใหม่ - ท่าบ่อ - หนองคาย ทางเส้นนี้เลาะเลียบตามริมโขง สวยงามมาก แต่คดเคี้ยวและไกลครับ

    2. หนองบัว - บึงสามพัน - วังชมพู - หล่มเก่า - วังสะพุง - เอราวัณ - นาวัง - นากลาง -บ้านผือ- ท่าบ่อ-หนองคาย ช่วงหล่มเก่า -วังสะพุง เปลี่ยวมาก ไม่ค่อยมีมนุษย์อยู่อาศัยมากนัก หรือจะไปทางหล่มเก่า - น้ำหนาว - ชุมแพก็ได้ครับ

    3. หนองบัว - ชัยภูมิ - ขอนแก่น - อุดรธานี - หนองคาย เส้นทางนี้ผ่านภูเขาน้อยที่สุด ขับรถสบาย ทำเวลาได้ดี

    4. หนองบัว - ภักดีชุมพล - หนองบัวแดง - เกษตรสมบูรณ์ - ภูเขียว - ชุมแพ -หนองบัวลำภู

    ขณะที่กำลังพิมพ์อยู่นี้ ได้รับโทรศัพท์จากทั้งสองสามีภรรยาว่าอาจารย์โสภณและคณะมาถึงแล้ว

    คุณพิชัย คุณม่วย และผม ขออนุญาตไปทำหน้าที่ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวก่อนนะครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรอาจารย์สมบัติคุณพิชัยคุณม่วยด้วยความยินดี

    • ขออนุโมทนาขอบคุณที่ได้ช่วยบอกเส้นทางการเดินทางไปชมงานบั้งไฟพญานาค
    • ขอให้ทุกท่านเที่ยวงานทำบุญออกพรรษา และอิ่มบุญกันทุกถ้วนหน้า
    • เคยไปนั่งริมของที่เชิงสะพานไทย-ลาว ที่หนองคายในยามเย็น นอกจากบรรยากาศดีมากแล้ว ลำของไหลเอื่อยที่ทอดยาวคดเคี้ยว ช่างให้จินตนาการที่แสนกว้างไกลมากอย่างยิ่งนะครับ
    • ขอให้ทั้งคณะ ท่านอาจารย์โสภณ คุณพิชัย-คุณม่วย และคุณสมบัติ ได้ชมบั้งไฟพญานาคและเยือนถิ่นอีสานอย่างมีความสุขในทุกเส้นทางครับ

    มาชมความจริงวันนี้ค่ะ

    • เอ๊ะ "ความจริงวันนี้" นี่ ฟังดูคุ้นๆนะครับ เดี๋ยวนี้เขายังมีรายการนี้อยู่ไหมเนี่ย ไม่ได้ดูทีวีเกือบสองปีแล้ว
    • กระเป๋าผ้านี้ได้แล้วครับ แล้วก็เอาไปแจกเรียบร้อย สวยและเก๋ดีเหมือนกันครับ ในฐานะคนเคยทำซิ้ลค์สกรีนดูแล้วก็รู้สึกจะยังไม่ค่อยคมชัดเท่าไหร่ แต่คนที่เขาเห็นก็บอกว่าชอบครับ

    ความจริงวันนี้ เมื่อวันที่ 3 มากันเป็นแสนทั้งอุดร-หนองคายดูแดงไปหมด สงสัยว่าจะตั้งใจมาดูบั้งไฟพญานาคด้วย

    ครับ ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวทั้งสามคนได้ทำหน้าที่กันเรียบร้อย ท่าอาจารย์โสภณ อาจารย์วันเพ็ญพร้อมคณะ ศิษย์เก่ามศว.บางแสน (รุ่นเดียวกับท่าน) ได้ข้ามไปทานอาหารและเที่ยวในนครหลวงเวียงจันทน์ กลับมาครบทุกท่าน ไม่มีคนตกค้าง ท่านบอกว่ามีนัดต่อที่พิจิตรในวันที่ 5......(ไม่ได้ถามว่านัด เคอิโงะซัง ไว้หรือเปล่า) วันที่ 4 สาย ๆ หน่อยไปส่งท่านกลับที่ โรงแรมนาข่าบุรี จ.อุดรธานี ท่านจึงไม่ได้อยู่ดูบั้งไฟพญานาคด้วย

    ปีนี้บั้งไฟขึ้นน้อยกว่าทุกปีครับ นักท่องเที่ยวหลายหมื่นต่างผิดหวังตาม ๆ กัน แต่จังหวัดยังประชาสัมพันธ์ว่า วันที่ 5 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของลาว บั้งไฟน่าจะขึ้นมากกว่าวันพระไทย ก็ต้องลองพิสูจน์กันดู

    ก่อนกลับท่านอาจารย์ได้มอบหนังสืองานเกษียณของท่านให่เล่มหนึ่ง ได้ความรู้เกี่ยวกับโรงเรียนหนองบัว ชุมชนหนองบัว บุคลากรทางการศึกษาของหนองบัว อย่างชนิดที่ลูกหนองบัวแท้ ก็ไม่เคยรู้มาก่อน ...ที่สำคัญท่านได้มอบหลวงพ่อเดิม และ ใบจองผ้าป่าสร้างโรงอาหารให้กับโรงเรียนเก่าด้วย........ถ้าไม่ติดธุระสำคัญจริง ๆ วันที่ 6 ธันวาคม 2552 คงได้พบกับหลาย ๆ ท่านนะครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • ขออนุโมทนาบุญกับคุณครูอ้อยเล็กด้วย

    เจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • พออาจารย์สมบัติพูดถึงหนังสือแล้วนึกอยากจะได้อ่านขึ้นมาทันทีเลย
    • ยิ่งบอกว่ามีข้อมูลความรู้เกี่ยวโรงเรียนหนองคอก-โรงเรียนแดง บุคลากรทางการศึกษาของหนองบัว และชุมชนหนองบัวด้วยแล้วไม่น่าพลาดใหญ่เลยเชียว
    •  แต่ว่า...ทำไงจะได้อ่านละเนี่ย คงต้องรอไปก่อนนะ....โยม

    เจริญพร

    • ยินดีด้วยกับคุณสมบัตินะครับที่ได้มีส่วนร่วมในห้วงเวลาอันพิเศษสำหรับชีวิตคนทำงานของท่านอาจารย์โสภณและคณะของท่าน ถือว่าเป็นลูกศิษย์ที่โชคดีจังเลย
    • งานทอดผ้าป่าการศึกษาของโรงเรียนในเดือนธันวาคม ๒๕๕๒ นี้ ผมตั้งใจว่าจะไปร่วมด้วยเหมือนกันครับ

    ท่านพระมหาแลให้ทุนตั้งต้น ๒,๐๐๐ บาทเพื่อทำหนังสือและสื่อพัฒนาการเรียนรู้ชุมชนหนองบัว

    • เมื่อวานนี้ (๕ ตุลาคม ๒๕๕๒)  ผมได้รับธนาณัติจากท่านพระมหาแลด้วยความประทับใจ เพราะท่านส่งเงินไปให้ ๒ พันบาทพร้อมกับแสดงเจตจำนงค์ว่าอยากใหเป็นคนริเริ่มทำหนังสือหรือสื่อเพื่อการเรียนรู้ พัฒนาชาวบ้านและชุมชนหนองบัว
    • อีกทั้งเป็นการร่วมคิดและกล่าวปวารนาที่ให้ความสบายใจแก่ผมมากเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำหรือไม่ทำ หรือทำช้าทำเร็วอย่างไรก็แล้วแต่จะคิดทำกันต่อไป
    • ผมประทับใจมากเลยครับ จะลองออกแบบและวางแผนดูว่าจะทำอย่างไร ให้ดีที่สุด แล้วจะแจ้งให้พระคุณเจ้าและทุกท่านได้ทราบต่อไปครับ

    สาธารณรัฐ ประชาธิปไตย ประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว ชื่อนี้เริ่มใชเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 1975 ก่อนหน้านั้นประเทศนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ....ราชอาณาจักรลาว....สมัยนั้นมีเจ้ามหาชีวิตทรงดำรงตำแหน่งประมุขรัฐ

    ผมขออนุญาตเพิ่มเติมท่านอาจารย์วิรัตน์ ในความเห็นที่ 133 ว่า การเป็นเจ้าภาพแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้ เป็นซีเกมส์ครั้งที่ 25 ลาวให้ความสำคัญกับการจัดงานนครั้งนี้มาก เนื่องจากเพิ่งจะมีโอกาสเป็นเจ้าภาพครั้งแรก สนามกีฬาก็สร้างเสร็จไปแล้ว 98% กว่าจะถึงวันแข่งจริง 9 - 18 ธันวาคม 2009 (พิธีเปิด 12 ธันวาคม) ทุกอย่างก็น่าจะเรียบร้อย

    สำหรับบรรยากาศริมแม่น้ำโขง หรือที่คนลาวเรียกว่า...แคมของ....ในความเห็นของอาจารย์วิรัตน์ ข้อ 147 นั้น แม่น้ำโขงแต่ละจุด แต่ละพื้นที่ จะมีลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกัน มีเสน่ห์คนละแบบ กวีหลาย ๆ ท่านต่างก็มีหลายมุมมอง หลากหลายอารมณ์ต่อแม่น้ำโขง ความสวยงามของบรรยากาศริมฝั่งโขง ในฤดูน้ำหลากกับในฤดูน้ำแล้ง/ ในยามหนาว ... หรือยามฝนก็แตกต่างกัน บทกวีอันไพเราะของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็น่าจะยังพอหาอ่านได้ครับ

    ความเห็นที่ 153 ของท่านพระมหาแลฯ กระผมเข้าใจว่าหนังสือของท่านอาจารย์โสภณ น่าจะยังพอเหลืออยู่นะครับ หากพระเดชพระคุณได้กลับบ้าน จะลองไปโปรดท่านอาจารย์พร้อมบอกจุดประสงค์ ท่านคงจะดีใจไม่น้อย......บ้านท่านอยู่ในซอยตรงข้ามโรงเรียนหนองบัวนั่นแหละครับ ผมเองก็เคยไปเยี่ยมท่านถึงบ้าน.....................ถามใครก็รู้จักครับ

    ขอขอบพระคุณท่านพระมหาแลฯ และท่านอาจารย์วิรัตน์ ในความเห็นที่ 153/154 ครับ หากจะได้มีโอกาสต้อนรับท่านทั้งสองเหมือนที่ได้ต้อนรับท่านอาจารย์โสภณฯบ้าง ก็มีความยินดี.............อาจารย์ขุน โอภาษี รวมถึงอาจารย์ท่านอื่น ๆ ก็เคยแวะมาหาที่หนองคาย...... แต่ก็หลายปีแล้วครับ.

    โอ้โฮ แทบจะเรียกได้ว่าแม้จะอยู่ตั้งไกลโพ้น แต่ก็เป็นแหล่งพบปะของครูอาจารย์และศิษย์เก่าของหนองบัวไปเลยนะครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • ออกพรรษาแล้วตั้งใจว่าจะไปหนองบัว
    • แต่ก็ยังไม่ว่างอีกช่วงนี้
    • ขอบคุณอาจารย์สมบัติที่แนะนำให้ไปบ้านท่านอาจารย์โสภณ
    • เป็นคนกลัวครู...คงไม่กล้าไป
    • อีกอย่าง....(ไม่รู้จักท่านด้วย) เดี่ยวท่านตกใจ....
    • นึกว่าพระมาแจกซองผ้าป่าบอกบุญเรี่ยไร...อีกแล้วครับ(พระคุณ)ท่าน

    เจริญพร

    ผมกำลังขอให้น้องๆเขาส่งหนังสือและกระเป๋าผ้าดิบมาถวายพระคุณเจ้าด้วยครับ จะส่งไปตามที่อยู่ในจดหมายและธนาณัติที่พระคุณเจ้าได้ส่งไปถึงผมนะครับ อยากมอบถวายทั้งเพื่อได้เป็นกำลังใจในฐานะที่เป็นผลสืบเนื่องอย่างหนึ่งที่จุดประกายขึ้นมาโดยพระคุณเจ้า และเพื่อร่วมกับพระคุณเจ้าในการเป็นสื่อส่งเสริมให้เกิดสิ่งดีๆโดยชาวบ้านนะครับ

    สวัสดีค่ะอ.วิรัตน์

    มาทักทายด้วยความระลึกถึงและเรียนอาจารย์ว่า

    ขอบคุณที่กรุณาติดตามอ่านอนุทินของคนไม่มีรากค่ะ แต่เนื่องจากปัจจุบันคนไม่มีรากไม่ได้เขียนอนุทินแล้วค่ะ...

    แต่เปิดเป็น อนุทินเปิดส่วนตัว...เพราะคิดว่าจะได้ประโยชน์และเปิดกว้างกว่า...

    หากอาจารย์สนใจ ก็อ่านได้ที่นี่ค่ะ ชื่อ บล็อก เส้นทางระหว่างบรรทัด ค่ะ

    ขอบคุณค่ะ

    ขอบคุณครับคุณคนไม่มีราก เลยขอนำเข้าไปไว้ในแพลนเน็ทของผมเอาไว้ติดตามอ่านนะครับ

    เห็นบัวสวยในอินเตอร์เน็ตเลยเอามาฝากพี่อาจารย์วิรัตน์และชาวชุมชนหนองบัวนะคะ..

    สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก ช่างไปเสาะหาเจอแล้วนำมาแบ่งกันดูเนาะ เป็นรูปดอกบัวที่งามจริงๆ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • เห็นดอกบัวที่คุณครูอ้อยเล็กนำมาฝากชาวชุมชนหนองบัวแล้ว
    • นึกถึงเมื่อตอนเดินทางเข้าเมืองพิษณุโลก เห็นดอกบัวในคลองข้างถนน
    •  รถติดไฟแดง พอดีมองไปเห็น งามเหมือนกับดอกนี้เลยเชีวย คลองในเทศบาลเมืองฯ
    •  สิ่งสวยงามอยู่ที่ไหนก็สวยงาม งดงามทุกที่
    • หรือว่าสวยงามอยู่แล้วแต่เราไม่มองเห็นเอง
    • ทำให้คิดว่า สิ่งที่เห็นทุกวันนี่แหละถ้ามองผ่าน ๆ จะไม่เห็นความงามเลย
    • แต่ถ้ามองแล้วพิจารณาให้ดี ก็สามารถเห็นจุดดี จุดเด่น จุดงดงามของสรรพสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเต็มไปหมด

     

    • บัวหลวงเป็นพืชน้ำที่มหัศจรรย์มากครับ เป็นสื่อการเรียนรู้ชีวิตและสาธิตการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสมดุลกับสรรพสิ่งรอบข้างได้ดีจริงๆครับ
    • หากมีน้ำท่วมหรือหลากมา เพียงไม่กี่วันบัวก็จะแทงยอดและแตกใบขึ้นไปให้พ้นน้ำ เรียกว่าขยายตัวได้อย่างไม่จำกัด
    • พอน้ำแห้งขอด หรือในกระถางที่ขาดน้ำ บัวก็จะหดตนเองลงไปมากกว่าต้นไม้อื่นๆ จากกอบัวหลวงที่ใหญ่โต ก็จะเล็กจนเกือบเท่ากอผักแว่น 
    • ให้วิธีคิดวิธีมองที่ย้อนดูตัวเองได้มากเลยทีเดียวว่า ตัวเรานี้(มนุษย์)เป็นใคร การดำรงอยู่ที่สมดุลและพอเพียงอย่างแท้จริงเป็นอย่างไร
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • วันนี้(๑๕ ตุลาคม๕๒) อาตมาได้รับหนังสือ
    • วิถีประชาศึกษา บันทึกเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ภาคสนาม จากอาจารย์วิรัตน์
    • ขออนุโมทนาขอบคุณอาจารย์ ขอแจ้งเพิ่มเติมว่ามีเฉพาะหนังสือนะอาจารย์ กระเป๋าผ้าดิบไม่มี
    •  เปิดดูผ่าน ๆ แล้ว เห็นบรรณาธิการและทีมงานทำออกมาดีมากเลย
    • ออกแบบ สารบัญแปลกตาดี โดยเฉพาะใช้เลขไทย มีเสน่ห์ไม่น้อย
    • เนื้อหานั้นก็อ่านมาหลายรอบแล้ว แต่เมื่อเป็นหนังสือแล้วก็อ่านง่ายยิ่งขึ้น
    • ที่น่าอ่านอีกส่วนหนึ่งก็คือ คำนิยมจาก
    • กัลยาณมิตร พี่ เพื่อน และน้อง  ๆ 
    • เพราะได้เห็นการแสดงออกจากความรัก ความเรารพ ความชื่นชม  ความนับถือ ความรู้สึกจากใจจริงของเหล่ากัลยาณมิตรที่มีต่อผู้ที่ตนเขียนถึง
    • ทีมที่ทำ เขาทำออกมาดีมากเลยครับ ผมเองก็ประทับใจมากอย่างยิ่งครับ นึกไม่ถึงว่าเขาจะทำกันขนาดนี้ ในสังคมสมัยใหม่และในองค์กรยุคใหม่ ที่กลับมีคนทำอย่างนี้ให้กันนี่ ต้องนับถือครับ เพราะดูเบื้องหลังแล้ว ไม่ใช่คนที่มีพลังภายในจากตนเองแล้วละก็ จะไม่มีทางที่จะได้เนื้อหาและรูปแบบที่แสนจะพิพิถันขนาดนั้น ผมเองก็ทึ่งครับ
    • กระเป็นผ้าดิบนี่ สำหรับพระคุณเจ้ากับคุณเสวกแล้วต้องส่งมาให้สิครับ จะดำเนินการส่งมาให้โดยเร็วครับผม
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • อ่านคำนิยมจาก กัลยาณมิตร พี่ เพื่อน และน้อง ๆ ในหนังสือ
    • วิถีประชาศึกษา บันทึกเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ภาคสนามแล้ว
    • ทำให้นึกถึงพระเทพปริยัติมุนี(หลวงพ่อเข็บ อนงฺคโณ ป.ธ.๙)วัดวิชิตสังฆาราม เมืองภูเก็ต อดีตเจ้าคณะภาค ๑๗ คนร่างเล็กแต่ตำแหน่งแห่งหน หน้าที่รับผิดชอบใหญ่โต
    • ปกครองสงฆ์หลายจังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ทำงานสร้างสรรค์สังคมสร้างลูกศิษย์ลูกหาพระเณรให้ได้รับการศึกษา
    • แม้ออกจากวัดไปดำรงเพศฆราวาส ก็ทำประโยชน์ให้สังคมได้ไม่น้อย
    • ชะรอยให้มองเห็นบุรุษตัวน้อย ๆ อีกท่านหนึ่งแต่ใจใหญ่ใช้ชีวิตสมถะที่มาจากบ้านนอก มาสร้างสรรค์สังคมชุมชนที่ศาลายา เขาผู้นั้นมีคนพูดให้ได้ยินว่า รักษ์ถิ่นเกิดและรักษ์หนองบัวมาก ๆ

    เจริญพร

    การรักษ์ถิ่นเกิดและรักษ์หนองบัวนี้ ก็คงจะสอดคล้องกับแนวทางที่พระคุณเจ้าและพวกเราจำนวนหนึ่งคุยกันแล้วก็มาทำเป็นเวทีเสวนาในโลกไซเบอร์นี้เลยนะครับ เพราะเป็นเวทีคิด เขียน สนทนา และแลกเปลี่ยนทรรศนะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งการทำงานและประสบการณ์ชีวิต เพื่อทำให้สำนึกของเราได้มีโอกาสพัฒนาและยกระดับให้คลายออกจากตัวเองได้มากยิ่งๆขึ้น การรักษ์ถิ่นเกิดเป็นการนำเอาตัวตนของปัจเจกไปรวมเป็นหนึ่งกับสิ่งที่มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง ในแง่การกล่อมเกลาตนเองนั้น ก็น่าจะเป็นปฏิบัติการเรียนรู้เพื่อลดอัตตา  ลดความเห็นแก่ตัวให้แก่ตนเองของเราได้นะครับ

    Pบัวหลวงเป็นพืชน้ำที่มหัศจรรย์มากครับ เป็นสื่อการเรียนรู้ชีวิตและสาธิตการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสมดุลกับสรรพสิ่งรอบข้างได้ดีจริงๆครับ...หาความมหัศจรรย์แห่งบัวมาเพิ่มเติมจากพี่วิรัตน์ค่ะ...

     

     

    บัว สมุนไพรมีคุณค่า 

    เมื่อกล่าวถึงบัวใครๆก็รู้จักดี ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในทางพุทธศาสนา ดอกบัวถูกนำไปใช้ในพิธีการต่างๆ ทางศาสนกิจ พระพุทธเจ้าได้เปรียบมนุษย์เหมือนดอกบัว 4 ประเภท
    บัวนอกจากมีความสำคัญในทางศาสนาพุทธแล้ว นักกวีหรือจิตรกรมักนำเอาบัวไปเป็นวัตถุดิบในการประพันธ์หรือวาดภาพ และที่สำคัญคือ ทุกส่วนของบัวตั้งแต่เหง้า ใย ใบ ดอก รังบัว ล้วนแล้วแต่สามารถนำไปใช้เป็นยาสมุนไพรและนำไปปรุงอาหารได้

    ⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
     Nelumbo nucifera Gaerth วงศ์ Nymphaeaceae 

    ⇒สรรพคุณ
    ใบบัว มีคุณสมบัติเป็นกลาง รสฝาดขม แก้ร้อนใน แก้ปวดหัว เลือดกำเดาออก
    สายบัว มีสรรพคุณ แก้ร้อนใน ท้องเสีย ขับนิ่ว แก้ระดูขาว
    ขั้วใบ คุณสมบัติเป็นกลาง รสขม แก้บิด ท้องเสีย
    เมล็ดบัว คุณสมบัติเป็นกลาง รสฝาด แก้อาการท้องเสีย หรือมักนอนฝันเวลาหลับ ระดูขาวและประจำเดือนมากเกินปกติ
    เยื่อหุ้มเมล็ด รสฝาด สรรพคุณห้ามเลือด
    ดอก มีคุณสมบัติร้อน รสขมหวาน แก้ช้ำใน อาการผื่นคัน ห้ามเลือด
    เหง้าบัว มีคุณสมบัติเย็น รสหวาน แก้ร้อนในกระหายน้ำ อาเจียน โลหิต เลือดกำเดาออก
    รังบัว มีคุณสมบัติร้อน รสขมฝาด แก้ประจำเดือนมากผิดปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด ริดสีดวงมีเลือดออก คันตามผิวหนัง
    เกสรบัว คุณสมบัติเป็นกลาง รสฝาดหวาน แก้ฝันเปียก เลือดกำเดาออก ประจำเดือนมากกว่าปกติ ระดูขาว ท้องเสีย
    * ดีบัว คุณสมบัติเย็น รสขม แก้ร้อนในกระหายน้ำ อาเจียนเป็นเลือด ตาอักเสบ

    ⇒ตำรับยา
    1. บิดเป็นมูกเลือด ใช้ขั้วใบบัวต้มน้ำดื่ม
    2. ท้องเสีย ใช้เมล็ดบัว (เอาดีออก) บดเป็นผงผสมน้ำข้าว กินครั้งละ 1 ช้อนชา
    3. ผื่นคัน ใช้กลีบดอกบัวพอกบริเวณที่คัน
    4. ความดันโลหิตสูง ใช้ดีบัว 2 กรัม ชงดื่มต่างน้ำชา
    5. แก้ร้อนในกระหายน้ำ ใช้ใบบัวสด หั่นเป็นฝอยๆ ชงดื่มต่างน้ำชา หรือต้มดื่มน้ำ
    6. ร้อนในกระหายน้ำ ใช้เหง้าบัวสดคั้นน้ำ ผสมน้ำผึ้งดื่ม จะทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ

    มีรายงานทางการแพทย์ว่า ใช้ใบบัวต้มน้ำให้ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง 47 ราย กินติดต่อกัน 20 วัน ทำให้โคเลสเตอรอลลดลงได้ผลถึง 91.3% โรงงานผลิตยาในจีนได้สกัดอัลคาลอยด์ (Alkaloid) และ Flavon ในใบบัว แล้วผลิตเป็นยาเม็ด เมื่อนำไปใช้ในทางคลินิกสามารถลดโคเลสเตอรอลและลดความอ้วนได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ

    ⇒ผลทางเภสัชวิทยา
    ขั้วใบ พิษของ Roemerine ต่อกบ หนูถีบจักร กระต่ายและสุนัข ทำให้เกิดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง (convulsion) เมื่อฉีดเข้าไปในสุนัขที่ดมยาสลบในปริมาณ 5-7 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จะทำให้ความดันโลหิตลดลง 30-50 มิลลิเมตรปรอท เป็นเวลา 20-30 นาที ถ้าใช้ในปริมาณที่มากกว่านี้จะทำให้มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเป็นระยะๆ แต่ความดันโลหิตไม่ลดลง ถ้าใช้ในปริมาณน้อยจะทำให้หายใจเร็วขึ้น

    ดีบัว  :  มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต ผลึก Liensinine ที่สกัดจากดีบัว มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตชั่วคราว

    * ไส้สีเขียวที่อยู่กลางเมล็ดบัว

    ที่มา.... http://www.doctor.or.th/node/5652

    Photobucket

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กที่นำสาระดี ๆ มาฝากชาวหนองบัว

    • โอ้โฮ ข้อมูลดีๆเยอะเลย มีบางส่วนที่เป็นข้อมูลใหม่ๆ ที่ทำให้รวบรวมได้รอบด้านมากยิ่งๆขึ้นครับ
    • อเมริกากับจีนมีโครงการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องบัวร่วมกัน เมื่อสัก ๑๐ ปีที่แล้วก้าวหน้าไปมากเลยครับ มีการทดสอบสรรพคุณต่างๆจากบัวได้เยอะแยะ ต้องตามดูอีกสักหน่อยว่าไปถึงไหนแล้ว ในมหาวิทยาลัยมหิดลก็มีการวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาพันธุ์บัวประดับและพันธุ์บัวหลวง
    • ส่วนผมก็จะดูเรื่องวิถีสังคม ความเป็นชุมชนการผลิต คนและโครงสร้างการผลิตที่ให้ความเป็นปัจเจกและตัวแปรทางสังคม ประชากร วัฒนธรรม โดยเอาหน่วยการผลิตระดับต่างๆเป็นหน่วยในการศึกษาครับ จะให้บัวสะท้อนความเป็นชุมชนการผลิตและบอกเล่าสังคมไทย เพื่อนำกลับมาจัดการวิถีสุขภาวะสังคมอย่างที่มีตัวปัญญาของตัวเองแบบชาวบ้านๆกำกับน่ะครับ เลยต้องขอบคุณครูอ้อยเล็กมากๆครับ
    • ที่มหาวิทยาลัยเกษตรก็จะมีท่าน ดร.เสริมลาภครับ ท่านศึกษาแนวการพัฒนาพันธุ์และส่งเสริมการเป็นบัวประดับอยู่แถวหน้าของประเทศและในวงการนานาชาติ
    • หากไปเจออีกก็นำมาฝากกันอีกนะครับ ขอบคุณอีกรอบในน้ำใจงามๆต่อคนหนองบัวเด้อ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • วันนี้(๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๒) อาตมาได้รับกระเป๋กผ้าดิบเรียยร้อยแล้ว
    • ขออนุโมทนาขอบคุณอาจารย์วิรัตน์
    • มีคนชมว่าสวยดี และถามต่อว่าเป็นสินค้า OTOP หรือเปล่า
    • ข้อความที่ข้างกระเป๋าก็สื่อความหมายกับภาพวาด"การลงแขก ในวิถีชาวนาไทย"ได้ดีอย่างมาก

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    สวัสดีค่ะพี่อาจารย์วิรัตน์

    ครูอ้อยเล็กเอากระเป๋าผ้าเขียนด้วยมือกันเองเลยมาฝากค่ะ..ครั้งทำกิจกรรมชุมนุมลูกเสือระดับภาคกลาง ของกรมส่งเริมการปกครองท้องถิ่น ระดับภาคกลางค่ะ...

    เสร็จแล้วแลกเปลี่ยนเป็นที่ระลึกกันค่ะ

     

    ส่วนภาพนี้เป็นเครื่องบูชาขวัญข้าวที่ทำจากแป้งขนมปังบูรณาการกับวิชาสังคมศึกษา...สื่อศิลปะคือสอนการปั้นจากแป้งขนมปัง..สื่อสังคมคือนำผลของการเรียนที่ได้จากศิลปะไปใช้ในเรื่องของพิธีกรรมการทำขวัญข้าว..เป็นสื่อจำลองค่ะ..

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

    อันที่จริงสามารถทำเป็น OTOP ได้นะครับ โดยเพิ่มเนื้อหาและรายละเอียดเพื่อทำให้เป็นสื่อเผยแพร่เรื่องราวของชุมชนไปในตัว แล้วก็ขายระดมทุนเอาไว้ทำงานกลุ่มชาวบ้านหรือชุมชนได้  หากชุมชนไหนทำหรือกลุ่มชาวบ้านไหนทำก็ดึงรูปวาดและเนื้อหาออกไปเรียบเรียงแล้วทำได้เลยนะครับ ในส่วนของผมนั้นอนุญาตให้เลย ส่วนเนื้อหาไหนที่พระคุณเจ้า คุณเสวก และท่านอื่นๆเขียนไว้ให้ ก็ขออนุญาตทุกท่านก็คงได้เช่นกันนะครับ

    ข้อความที่ผมพิมพ์ลงไปบนกระเป๋าใต้ภาพการลงแขกเกี่ยวข้าวนั้น มีที่มาจากพุทธวจนะที่ว่า ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่งน่ะครับ

    ขณะเดียวกันการทำสิ่งต่างๆเป็นชุนชนและกลุ่มก้อนเหมือนการลงแขกเกี่ยวข้าวนั้น เป็นตัวตนที่ความเป็นอัตตาของปัเจกลดลงหรือคลายลง แล้วกลายเป็นตัวตนความเป็นส่วนรวมขยายใหญ่ขึ้น ดังนั้น จึงเป็นการปฏิบัติการลดอัตตา หรือเป็นภาคแสดงออกทางการปฏิบัติในสังคมของการเกิดภาวะอนัตตามากยิ่งๆขึ้น ทำให้เราเรียนรู้ทางสังคมและเจริญสติให้ได้ปัญญาที่แยบคายไปด้วยได้เป็นอย่างดีครับ

    ลักษณะการทำอย่างนี้เป็นการเอาความรู้ท้องถิ่นที่เราช่วยกันสร้างขึ้น มาทำเป็นสิ่งใช้สอยให้บูรณาการการเรียนรู้ของชุมชนในสิ่งที่มีดีอยู่แล้วในสังคมนั่นเองครับ

    สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก กระเป๋าที่ทำอย่างนี้ก็ได้ความเป็นแบบฉบับจำเพาะชิ้นมากเลยนะครับ ที่สำคัญคือกระบวนการทำงานศิลปะด้วยตนเองแล้วก็นะมาใช้สอยได้ด้วย มีความสุข ได้การเรียนรู้และได้ประโชน์มากเลยครับ อย่าว่าแต่คนทั่วไปเลย แม้แต่ผมหรือคนเรียนศิลปะมาก่อน ก็คงจะพูดสอดคล้องกันว่าการได้วาดรูปนั้นมีความสุขและเป็นช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตนเองที่ดีมากอย่างยิ่ง 

    dialogue box ๑๗๕  เป็นสื่อที่สร้างสรรค์และแยบคายมากเลยครับ นอกจากใช้ในพิธีทำขวัญข้าวแล้ว ชุดผ้าดิบ ขนมต้มแดง ต้มขาว และสิ่งที่นำมาจากผลผลิตจากแรงกายชาว้บาน อย่างนี้ จะใช้สำหรับเป็นของไหว้ครูและทำพิธีต่างๆที่เป็นเรื่องมงคลด้วยครับ

    ตอนที่ผมไหว้ครูแตรวงก็ทำอย่างนี้แหละครับ แต่มีอย่างอื่นเพิ่มเข้ามาด้วยคือเหล้าขาว ไก่ต้ม และขันธ์ห้า ทั้งหมดนี้พอเสร็จพิธีแล้วก็จะเป็นของส่วนรวม นั่งแบ่งกันกินทั้งชุมชนในที่นั้นๆครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    จากความเห็นที่ ๑๗๔/๑๗๕/๑๗๖

    • กระเป๋าผ้าคุณครูอ้อยเล็กสวยสดใสดี
    • เห็นเครื่องบูชาขวัญข้าวแล้วนึกถึงนานึกถึงข้าวเมื่อนานมาแล้วเลย
    • ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กที่นำสิ่งดี ๆ มาแบ่งปัน
    • อาตมายังนึกในใจเลยว่า กระเป๋าผ้าของอาจารย์นี่น่าทำเป็นสินค้า OTOP เข้าท่าเลยแหละ
    • ชุมชนไหนในหนองบัวสนใจลองทำดูก็ได้เพราะอาจารย์วิรัตน์อนุญาตแล้ว
    • ส่วนเนื้อหาข้อความที่อาตมากับคุณเสวกเขียนไว้ก็อนุญาตนำไปใช้ได้เช่นเดียวกัน

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • คุณครูอ้อยเล็กนี่ ดูปูมชีวิตที่ก่อเกิดและเติบโตมาจากครอบครัวชนบท ดูประสบการณ์ทางการศึกษา ประสบการณ์ทางวิชาการ ประสบการณ์การทำงาน ความสามารถลงมือแปรความคิดมาสู่การปฏิบัติ การหาบทเรียนและปัญญาจากการปฏิบัติ แล้วก็วิธีคิด-วิธีมองสิ่งต่างๆแล้ว ต้องจัดว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าภูมิใจมากเลยนะครับ ตัวเธอเองนี่เป็นสื่อการเรียนรู้ให้เด็กๆและเพื่อนๆได้เป็นอย่างดี
    • โดยเฉพาะการให้ประสบการณ์แก่เด็กอย่างบูรณาการ ผ่านงานศิลปะและกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ มีกุศโลบายดีครับ แวะมาคุยเวทีนี้เป็นระยะๆแบบแวะมาพักผ่อนนะครับ คนหนองบัวและคนที่อาศัวยเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นจะได้ประโยชน์ครับ
    • วิธีถ่ายรูปเก็บข้อมูลมาเล่าและถ่ายทอดเหมือนกับรายงานประสบการณ์การทำงานของตนเองทิ้งๆไว้นี่ก็น่าเรียนรู้ครับ รวมทั้งทักษะทาง IT ด้วย 
    • กระเป๋าผ้าและใช้รูปกับเนื้อหาเพื่อการเรียนรู้ท้องถิ่น ทำเป็นสื่อรณรงค์ได้หลายเรื่องครับ และถ้าหากทำกระบวนการผลิตให้ดีก็จะเกิดกิจกรรมเศรษฐกิจและกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติได้หลายอย่างครับ
    • เป็นต้นว่าไปซื้อผ้าดิบมาเพื่อสื่อและปฏิบัติไปในตัวว่าผ้าดิบไม่ฟอกขาวเป็นงานที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมต่อการปฏิบัติที่สะท้อนสำนึกต่อภาวะโลกร้อน และผู้ประกอบกิจการก็ใช้แรงงานคนเป็นหลัก เป็นผลดีต่อการร่วมทุกข์สุขกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ 
    • จากนั้น หากกระจายแบบไปให้ครัวเรือนไหนที่มีจักรเย็บผ้า ก็ให้ทำไปตามกำลังที่ทำได้โดยให้ค่าแรงสักใบละ  ๑๐-๒๐ บาท ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ไม่มากในแง่รายได้ แต่มีคุณค่าต่อการได้ปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและก่อเกิดกิจกรรมที่ต้องทำด้วยกันกับคนในครอบครัวและรอบๆข้าง
    • หากวาดรูปก็ให้ค่าตอบแทนค่าวาดรูปใบละ ๑๐-๒๐ บาทเช่นกัน ให้เด็กๆทำโดยมีสีส่วนรวมให้ยังได้เลยครับ หรือให้ครอบครัวที่มีลูกหลานต้องเรียนแต่มีรายได้น้อย ที่อยากฝึกทำในบ้าน รับไปทำโดยฝึกให้
    • หรือฝึกให้ชาวบ้าน หรือกลุ่มเยาวชนและกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ได้มีประสบการณ์ติดต่อและจัดการเป็นธรุกิจของชุมชน โดยไปพิมพ์ซิลค์สกรีนทั้งในนครสวรรค์หรือในกรุงเทพฯ แล้วก็คิดค่าใช้จ่ายต้นทุน เสร็จแล้วก็นำมาขายระดมทุนทำงานชุมชนอย่างที่สนใจอยากทำ
    • เสร็จแล้วก็ใช้เป็นสื่อรณรงค์ เช่น ส่งเสริมให้ใช้แทนถุงพลาสติกเมื่อเดินไปซื้อของ ผมลองแจกญาติๆและชาวบ้านโดยทั่วไปแล้วครับ ส่วนใหญ่ชอบใช้ครับเพราะมันดูมีรสนิยมเรียบง่าย ไม่หรูหราให้ดูแปลกแยกกับชาวบ้าน 
    • ผมเคยทำขายทำกิจกรรมนักศึกษาและทำกิจกรรมรณรงค์กับชุมชนก็ได้ผลดีทุกครั้งครับ หากชาวบ้านหรือชุมชนอยากทำเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนก็คงได้ผลดีเช่นกันครับ ผมเองก็คิดว่าจะทำขึ้นอีกชุดครับ ประเดี๋ยวทำแล้วจะนำมาอวด

    เรียนอาจารย์พี่วิรัตน์

    หนังสือวิถีประชาศึกษา "บันทึกเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ภาคสนาม"..น่าอ่านค่ะต้องใช้วิธีอ่านไปเรื่อยๆค่ะ..แอบยิ้มกับปกหลังค่ะ..ขอบคุณในน้ำใจอาจารย์พี่วิรัตน์เช่นกันค่ะ...

    ความยากจนในวัยเยาว์มีค่ายิ่งสำหรับบทเรียนชีวิตบทต่อมาของครูอ้อยเล็กค่ะอาจารย์พี่วิรัตน์..ณ..วันนี้ครูอ้อยเล็กมีความพรั่นพรึงในใจลึกๆของวิถีชีวิตของเด็กไทยที่เปลี่ยนไปอย่างยากที่จะทำใจ..แต่ก็พยามหาข้อดีของเขามาพัฒนาปรับปรุงชักจูงให้รักในการทำงานด้วยวิธีเข้าใจและเข้าถึง..โดยพบและพูดคุยกับผู้ปกครองโดยตรง..ว่าลูกเขามีความสามารถด้านนี้ๆและครูก็มีข้อเสนอแบบนี้ๆขอให้เด็กได้ทำงานที่ตนเองรักโดยมีครูเป็นผู้ควบคุมดูแล..ให้เป็นไปตามความสามารถของเด็กด้วย..ก็ทำได้เท่าที่ผู้ปกครองจะเห็นสมควร..แต่เมื่อทำไปแล้วอยู่กับเราแล้วทำงานศิลปะกับครูหลังเลิกเรียนแล้วไม่มีเรื่องชู้สาว..เราก็สบายใจไปค่ะ..แต่ถ้ามีมาครูก็ต้องประสานกับผู้ปกครองบอกเล่ากันและช่วยกันแก้ปัญหากัน..ก็ผ่านรอดปลอดภัยไปก็หลายรุ่นแล้วค่ะ..

    สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก

    ผมมีชื่อเล่นว่า ม่อย เป็นชื่อเล่นเมื่อตอนเรียนเวชนิทัศน์ศิริราชแล้วคนก็เรียกชื่อนี้มากกว่าชื่ออื่นๆที่เพื่อนๆแต่ละกลุ่มมักขนานนามให้มาจนเดี๋ยวนี้ อาจารย์ผมซึ่งเป็นที่เคารพรักของทุกคนเป็นคนเรียกก่อนเพราะผมนั่งวาดรูปจากกล้องจุลทรรศน์เพลินไปหน่อยเลยนั่งหลับคากล้อง อาจารย์ท่านเลยเรียกแบบระอาใจว่า โธ่ไอ้ม่อย เพื่อนๆเลยใช้เรียกล้อเลียนความเป็นคนชอบหลับ กระทั่งกลายเป็นชื่อเรียกไปเลย

    ตอนทำหนังสือวิถีประชาศึกษาที่ได้ส่งมาให้คุณครูอ้อยเล็กด้วยนี้ น้องๆและเพื่อนร่วมงานเขาแอบทำเซอไพรส์เลยซุ่มเลือกสรรกันเอง เห็นรูปคนนอนหลับในขณะที่มีคนตะโกนเรียกก็ยังหลับอุตุอยู่  พอเห็นหน้ากระดาษเหลือก็เลยเลือกรูปที่คุณครูอ้อยเห็น ใส่ลงไป

                       

    เป็นรูปที่ผมวาดสองสหายอาจารย์กู้เกียรติกับคุณครูอ้อยเล็กเมื่อวัยยุวชนนักศึกษากว่า ๒๕ ปีก่อน แต่คงคิดว่าผมวาดรูปผมเอง เลยนำมาใส่ไว้ในหนังสือให้

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์

    • มีพระชาวสุโขทัยที่รู้จักกันท่านได้ติดตามเรื่องราวในหนองบัวมาตั้งแต่ต้น
    • และเคยพูดคุยแจ้งความประสงค์กับอาตมาว่าถ้าพิมพ์เป็นหนังสือแล้วขอไว้ศึกษาสักเล่ม
    • วันนี้ท่านมาเยี่ยมที่กุฏิวัดศรีโสภณได้เห็นหนังสือวิถีประศึกษาแล้วประทับใจหนังสือวิถีประชาฯมาก
    • ถามอาตมาว่าทำอย่างไรจะได้ไว้ศึกษาเรียนรู้สักเล่ม ตอบไปว่าถ้ามีเหลืออาจารย์วิรัตน์คงส่งมาถวาย
    • อยากจะถวายท่านเหมือนกันแต่ก็มีอยู่เพียงเล่มเดียว
    • ก็เลยขอถามอาจารย์แทนพระคุณเจ้าว่า ยังมีเหลือบ้างไหมหนังสือวิถีประชาศึกษา
    • ท่านบอกอาตมาว่าถ้าขอช้ากลัวหนังสือจะหมดเสียก่อน

    เจริญพร

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    ต้องกราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าเป็นอย่างยิ่งครับที่เหมือนกับช่วยรณรงค์และส่งเสริมทั้งหนังสือและการได้พูดคุยกันอย่างในนี้ไปยังหมู่ผู้ที่ได้มีโอกาสสนทนาปสาทะทั้งพระและฆราวาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนบ้านนอกด้วยกัน

    ผมจะขอน้องๆเขาไว้สักเล่มพร้อมกับกระเป๋านะครับ หากพอเหลือก็จะส่งมาถวายที่พระคุณเจ้าเพื่อผ่านไปยังท่านหรือคนอื่นๆที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไปครับ   


    รากบัว ในน้ำเก๊กฮวย เพื่อสุขภาพ..น่าอร่อยค่ะเลยเอามาฝากค่ะ...

    วิธีทำตามลิ้งค์เลยค่ะ...

    http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=nuoomsin&date=23-09-2009&group=10&gblog=3



    วิธีทำ
    1. นำรากบัวมาปลอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นๆ นะคะ แล้วก็ล้างน้ำให้สะอาดอีกประมาณ 2 รอบ เอายางมันออก

    ขอบคุณครับคุณครูอ้อยเล็ก เหมือนรากบัวหลวงและบัวหิมะของจีนนะครับ แต่ดูรูปร่างที่ป้อมๆ ท่อส่งน้ำที่มีขนาดใหญ่ และสีสันอย่างนี้แล้วน่าจะเป็นบัวหิมะนะครับ รากบัวหิมะเป็นผลผลิตเกษตรส่งออกของจีน

    ของพื้นถิ่นไทยเราจะเป็นรากบัวหลวงกับรากบัวสาย รากบัวหลวงจะมีลักษณะคล้ายรากบัวหิมะนี้แต่ขนาดเพรียวยาวและท่อข้างในจะเล็กกว่านี้ ส่วนรากบัวสายก็จะมีลักษณะเหมือนสายบัวที่ลอกผิวนอกออก รากบัวมีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง หากชงดื่มกินเป็นชา จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตให้ดีขึ้น ทำให้ร่างกายสดชื่นและเกิดผลดีต่อการรักษาโรคหัวใจในทางอ้อม

    รากทำหน้าที่น่าเรียนรู้เพื่อเป็นอนุสติในการดำเนินชีวิตมากครับ หากแล้งจนแหล่งน้ำแห้ง บัวจะหยุดการเจิญเติบโตทั้งหมดจนเหลือแต่รากบัว ยิ่งแล้งก็ค่อยๆย่อยสลายตนเองไปจนเหลือเพียงเหง้า จึงสามารถส่งผ่านตนเองข้ามฤดูกาลเป็นปีๆ บัวจึงมีโอกาสการดำรงอยู่ทั้งโดยรากและเมล็ด

    เมื่อมีน้ำหลากมา ก็ต้องเป็นน้ำขังนานพอที่จะทำให้ดินอ่อน รากบัวจึงจะเริ่มงอกและทำหน้าที่ตรงข้ามไปอีกทางหนึ่งโดยแทนที่จะย่อยสลายตนเองและหดตัวลง ก็จะค่อยๆงอกแผ่ออกไปตามความอ่อนตัวของดิน

    ในกรณีของบัวหลวงนั้น เมื่อได้ระยะและจังหวะที่เหมาะสมก็จะผุดใบและดอกไปพร้อมกัน ๑ คู่ เวลาเห็นบัวหลวงแตกใบขึ้นมา ๑ ใบ ไม่นานก็จะเห็นดอกตูมผุดขึ้นมาด้วย ๑ ดอก หากเป็นระยะแรกๆ ใบบัวยังไม่หนาแน่น โอกาสจะโดนลมตีสูง ใบและดอกบัวหลวงจะปริ่มและแบนราบอยู่กับผิวน้ำ เมื่อหนาแน่นพอสมควรก็จะเหมือนกับร่วมแรงกันกำบังลมไหว จึงจะชูก้านขึ้นเหนือน้ำ 

    ดูแล้วก็เห็นความเป็นชุมชนและเห็นวิถีการพัฒนาอย่างมีความเป็นซึ่งกันและกัน หรือเห็นความเป็นสังคมของพืชได้เหมือนกันครับ  พิจารณาดูให้ดีก็เห็นกระบวนการกลุ่มก้อน  ต่างเป็นปัจจัยสร้างความลงตัวและสร้างความพอดีให้แก่กัน ซึ่งเป็นกระบวนการธรรมชาติที่น่าสนใจและให้สติปัญญาดีจริงๆครับ

                       

    ที่สระหลวงพ่ออ๋อยนั้น ลึกหลายเมตร แต่กลับมีบัวหลวงอยู่เต็ม พอหน้าแล้งสระน้ำแห้งขอด ชาวบ้านหนองบัวก็จะขุดท้องสระให้น้ำซึมบ่อทรายและบางคนก็ขุดรากบัวเอาไปทำขนมขาย ที่ร้านหมอหลุย หรือร้านปานขลิบโอสถข้างสระวัดหลวงพ่ออ๋อย ก็มีรากบัวขายเป็นยาสมุนไพร ยาสูบแก้ริดสีดวงจมูกหมอหลุยบ้างก็กล่าวกันว่ามีใบบัวหลวงเป็นส่วนประกอบ

    หน้าตลาดสดหนองบัวนั้น เมื่อก่อนนี้มีแม่ค้าขนมหวานและบางครั้งก็มีรากบัวเชื่อมขาย ลูกของแม่ค้าขนมและช่วยคุณแม่ขายขนมด้วยนั้นเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวและเรียนจบด้วยคะแนนดีเยี่ยมได้ชื่อขึ้นบอร์ด Hall of fame ของโรงเรียนหนองคอก

    เด็กคนนั้นปัจจุบันเป็นนายทหารเสนาธิการและผู้บัญชาการยศพันเอก ชื่อพันเอกโกศล ประทุมชาติ นามสกุลก็มีความหมายเป็นดอกบัว เป็นคนหนองบัวและเส้นทางชีวิตก็เหมือนการงอกงามเติบโตของบัวจริงๆ เป็นรุ่นพี่ผมหนึ่งปี ดูเหมือนว่าตอนนี้จะประจำอยู่ที่ค่ายกาวิลละ เชียงใหม่

    เหนื่อยนักพักหน่อย กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมเองตั้งใจมาน่านแล้วว่าจะทำตามสัญญา ผมเองได้กลับไปเที่วยวบ้านที่หนองบัวเมื่อวันลอยกระทง ปีนี้ที่วัดหนองบัวหนองกลับมีการจัดงานการแห่กระทงอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีพ่อแม่พี่น้องกลุ่มหมู่บ้านชาวหนองบัวเข้าร่วมขบวนแห่กระทงและเทพีสาวงามนางนพมาศร่วมด้วยทุกชุมชนอย่างหหน่าแน่น แต่ละชุมชนจะมีแตรวงและวงแคลนสร้างความคึกคลื้นในขบวนแห่อย่างสนุกสนาน ตอนกลางคืนมีการประกวดเทพี มีรำวงย้อนยุคอีกด้วยครับปีนี้ ภาพทั้งหมดด่านล่างนี้ผมได้ลงไว้ที่คนหนองบัวกับพริกเกลือแล้วท่านหลวงอามหาแลท่านบอกว่าเห็นหนุ่มน้อยเป่าแตรและวงแคลนเลยทำให้นึกถึงท่านอาจารย์วิรัตน์ด้วยครับ

                 

    หนุ่มน้อยเป่าแตรจากวงโรงเรียนเทพวิทยาคม   ฝึกตั้งแต่เด็กอย่างนี้โตขึ้นรุ่งแน่

                         

    พี่หัวโตก็มาสร้างความฮา เดินมาทักทายน้องหนูร้องไห้เกาะแม่ไม่ยอมห่าง

                 

                

    ชุมชนบ้านเนินขี้เหล็กของผมเองครับ วันนี้แม่บ้านตั้งใจเอาชุดผ้าทอมือของกลุ่มแม่บ้านใส่มาออกงานด้วย

    เทพีนางนพมาศบ้านเนินสานครับ

     

    บ้านเนินตาเกิดสนุกมากรำกันยกหมู่

    อ้าววว...เป่ายาวเลยทิด..กำลังมัน  รอบหน้าขอม้าย่องนะ......

    ดูอย่างมีความสุขเหมือนได้กลับบ้านครับคุณเสวกครับ ต้องขอขอบคุณคุณเสวก ใยอินทร์มากเป็นอย่างยิ่งครับ

    เห็นสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นกับการทำกิจกรรมของคนรุ่นลูกรุ่นหลานแล้ว ช่างต่างกับเมื่อก่อนมากจริงๆนะครับ เดี๋ยวนี้มีความพร้อมกระทั่งสามารถใส่ลูกเล่นได้เลยนะครับ มีชุดคาวบอยและนุ่งยีนส์ อุปกรณ์ต่างๆก็ใหม่เอี่ยมเชียว

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เป็นภาพจากสถานที่จริงในปัจจุบันภาพแรกของอำเภอหนองบัวที่ลงบล๊อคหลังจากพูดเขียนคุยกันมาหลายเรื่องหลายเพลา

    ขออนุโมทนาคุณเสวกที่นำภาพกิจกรรมดีๆชาวหนองบัวบ้านเรามาฝาก ทำให้คิดถึงบ้านเลยเนาะ

    ได้ชมทั้งภาพวาดอาจารย์วิรัตน์และภาพถ่ายปัจจุบันให้อารมณ์คล้ายกันเลยก็คือเหมือนได้กลับบ้านและได้มีส่วนร่วมงานด้วยเลย

    ขบวนแห่กระทงค่ะ..ของโรงเรียนครูอ้อยเล็กค่ะ..

    โคมแขวนประเภทความคิดของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครนครปฐมค่ะ

    เทศบาล ๑ วัดพระงาม (สามัคคีสมัครพลผดุง

    เทศบาล ๔ (เชาวนปรีชาอุทิศ)

    โรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครปฐม

    เทศบาล ๕ (พระปฐมเจดีย์)

    ประเภทสวยงามดอกไม้สดของโรงเรียนเทศบาล ๔ (เชาวนปรีชาอุทิศ)ได้ที่1ค่ะ

    ประเภทความคิดได้ที่ 2 สรุปโรงเรียนเทศบาล ๔ (เชาวนปรีชาอุทิศ)ได้มา 2 รางวัลค่ะ

    ขอหนุนมุมมองพระอาจารย์มหาแลด้วยอีกคนครับ ว่าจะชื่นชมตั้งแต่แรกแล้วว่าคุณเสวกนานๆก็โผล่มาโพสต์ทีหนึ่ง แต่มาคราวนี้มีของติดมือมาฝากเวทีชาวหนองบัวนี้แบบก้าวกระโดดเลย คงไปซุ่มฝึกฝีมือมา เพราะการออกไปถ่ายรูปแล้วก็นำมาจัดไฟล์ข้อมูลกระทั่งโพสต์ขึ้นมาในอินเทอร์เน็ตนี้ เมื่อตอนที่ผมทำนั้นก็มะงุมมะงาหราอยู่เป็นนาน

    คุณเสวกทำอย่างนี้ได้ เวทีคนหนองบัวนี้ก็ได้นักปฏิบัติการสื่อขึ้นมาอีกคนอย่างดีเลยละครับ การมีคนคอยเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งภาพและรายละเอียดของกิจกรรมที่ดีๆในชุมชนท้องถิ่น แล้วก็นำมาถ่ายทอดไว้ในนี้ นอกจากจะช่วยเป็นคนตัวเล็กๆขยายเสียงสิ่งดีช่วยพัฒนาสังคมของชาวบ้านแล้ว ก็เป็นการสะสมเรื่องราวที่เป็นความรู้และสิ่งที่อยู่ประสบการณ์ในวิถีชีวิต ไว้ให้ผู้คนได้ใช้ประโยชน์ต่างๆด้วยครับ

    ตอนนี้ผมพอจะนึกภาพออกบ้างแล้วว่าทำไมตัวเลขในหัวข้อของชุมชนหนองบัว ทั้งของท่านพระมหาแล กลุ่มพริกเกลือ ของผม และที่เวทีที่เปิดขึ้นเฉพาะนี้ ถึงได้มีคนเข้ามาเยอะจริง ตรงหัวข้อของพระคุณเจ้านั้น เกือบจะ ๓ พัน และหัวข้ออื่นๆของคุณเสวกกับผมที่เป็นเรื่องหนองบัวและท้องถิ่นบ้านตาลินกับชุมชนโดยรอบหนองบัว ก็มีคนเข้ามาดูเป็นพันครั้ง ผมลองนึกจินตนาการดูอยู่หลายครั้งเหมือนกันว่าจะเกิดจากอะไรบ้าง

    มาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว น้องผมที่เป็นครูอยู่ที่หนองบัวเช่นกัน ได้เล่าให้ฟังว่า มีเด็กนักเรียนมาถามว่ามีคนคุยเรื่องหนองบัวอยู่ในอินเทอร์เน็ต และมีคนนามสกุลที่เขารู้จักด้วยหลายคน น้องเขาเข้ามาดูแล้วก็ไปตอบนักเรียนว่ากลุ่มคนที่เขียนเป็นคนหนองบัวและผมเองก็เป็นพี่ของเธอ เป็นศิษย์เก่าหนองบัว

    แสดงว่าส่วนหนึ่คงเป็นเพราะเด็กๆเข้ามาดูและเป็นหัวข้อที่จูงใจให้เขาได้มีกิจกรรมฝึกทักษะคอมพิวเตอร์กับการใช้งานที่สร้างสรรค์ คือ การลองค้นหาเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองและท้องถิ่นของตน ซึ่งเหมือนกับท่านพระมหาแลกับผมได้คุยกันและมุ่งหวังว่าอยากให้เกิดขึ้นเมื่อนตั้งใจทำอย่างนี้กันในตอนต้นๆ

    ผมเลยแนะนำน้องซึ่งต้องสอนหนังสือว่า หากมีโอกาสสอนเด็กและให้โครงงานหรือให้กิจกรรมเพื่อเด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นทำเดี่ยวหรือทำเป็นกลุ่ม หรือกลับไปทำกับพ่อแม่ ให้ลองมอบโจทย์เกี่ยวกับการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับหนองบัวแบบต่างๆ ทั้งข้อมูลความรู้ ข้อมูลภาพ ทำเนียบบุคคล เพื่อสร้างความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเองให้ได้ทักษะอย่างบูรณาการดูบ้างสิ เขาก็บอกว่านึกอยากทำอยู่นานแล้วและจะลองดูไปทีละนิด

    นี่ถ้าหากที่ไหนได้ลองทำให้มีประสบการณ์เกิดขึ้นสักนิดหนึ่ง เราก็จะสามารถตามไปถอดบทเรียนและทดลองพัฒนารูปแบบการร่วมมือกันอย่างเป็นเครือข่ายระดับประเทศ แต่สะท้อนสู่การทำสิ่งดีให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นได้ผ่านบทบาทของสถานศึกษาและความเป็นปัจเจกที่มีจิตสาธารณะจำนวนหนึ่งของคุณครู 

    สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก กัลยาณมิตรของคนหนองบัว

    ขอบคุณแทนหมู่เสวนาผ่านเวทีนี้ที่นำกิจกรรมดีๆของคนนครปฐมมารายงานผ่านสื่ออย่างนี้ ให้คนหนองบัวและผู้สนใจได้มีโอกาสสัมผัสกิจกรรมประเพณีของพี่น้องในชุมชนไทยต่างถิ่น

    ดูงดงามไปคนละแบบนะครับ เห็นความดีของความหลากหลาย เพราะมองไปด้านบนของชาวบ้านหนองบัวนั้น เมื่อดูแต่โดยลำพัง ผมว่าก็ดูดี๊-ดี ดีกว่าในคนรุ่นผมอย่างเทียบไม่ได้

    แต่พอคุณครูอ้อยเล็กนำเอารูปกิจกรรมของพี่น้องจากท้องถิ่นในชุมชนเมืองนครปฐมมาฝากให้ชมแล้ว มองของชาวนครปฐมก็เห็นความละเมียดละไม ส่วนของชาวบ้านหนองบัวก็ดูเป็นชาวบ้านๆ โจ๊ะโละและจริงใจ

    อันที่จริงที่นครปฐมนั้นก็มีเพื่อนๆชาวหนองบัวไปอยู่และทำงานที่นั่นครับ เพื่อนๆมักถามไถ่ถึงเสมอ ผมเองก็เคยคุยทางโทรศัพท์แต่ไม่เคยได้เห็นตัวเลยสักทีมากว่า ๓๐ ปีแล้ว เป็นตำรวจนายดาบ ชื่อ นายดาบตำรวจสุขสันต์ พวงสมบัติ เขาบอกเคยมาเป็นพนักงานดูความเรียบร้อยเวลามีงานสำคัญแถวพุทธมณฑลและที่อื่นๆในจังหวัดนครปฐมด้วย ตอนนี้เลยได้คนทางการศึกษาของนครปฐมคือคุณครูอ้อยมาเป็นเพื่อนของชาวหนองบัวแลกกันนะครับ

    กราบสวัสดีครับท่านอาจาร์วิรัตน์ พี่น้องชาวหนองบัว และท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

    ผมเองไม่ได้มีแต่บรรยากาศการลอยกระทงมาฝากอย่างเดียวนะครับ วันนั้นผมได้เดินไปสำรวจวัดหนองบัวหนองกลับเลยเก็บภาพมาให้ชมกันอีกครับ 

    วิหารหลวงพ่อเดิมมาทังทีขอเชิญเข้าไปปิดทองไหว้พระด้วยกันครับ

    เรือใหญ่ทีทางวัดจัดทำเป็นแหล่งสะสมความรู้มีหนังสือให้อ่านมากมาย

    ไถอาสา เครื่องมือไถนาหนุ่มๆสมัยก่อนใช้ไปชวยคู่ดอง(คู่มั่น)ไถนา

    งานนี้โชคดีจริงที่ยังมีเครื่องหีบอ้อยของจริงให้ชมกันเว้นแต่เจ้าแบ้ครับทีไม่มีให้ชมกัน

    เรือขุด หรือรางน้ำสมัยก่อนชาวบ้านนิยมใช้ใส่น้ำไว้ให้วัวควายกินกัน

     

    สีฝัด เครื่องคัดแยกเมล็ข้าวหลังจากการนวดข้าว

    ตะเกียงมากมายจนนับไม่ถ้วน

    เครื่องมือจับสัตว์น้ำจำพวากกุ้งหอยปลาปู

    ชาวหนองบัวเรียกกระแหล่ง ใช้คลองสัตว์เช่นวัวควาย

    ชุดเครื่องแห่นาคมีทั้งเครื่องแต่งกายและคานหาม

     

    เครื่องหันใบยาให้เป็นเส้น

    จากนั้นแวะชมสวนสัตว์วัดหนองบัว เมื่อก่อนบริเวณนี้มีแต่ต้นมะขวิดเต็มไปหมดเมื่อมีหนังกลางแปลงมาฉายต้องคอยนระวังลูกมะขวิหล่นใส่กันเลยทีเดียวครับ

    ขากลับกรุงเทพเห็นสวยดีกำลังบานเลยเก็บมาฝากทั้งทุ่งถ่ายมาจากไร่ทานตะวันที่อำเภอตากฟ้าครับ ถ้าใครออกจากถนนเส้น อินทร์บุรีเข้าตากฟ้า ก่อนถึงอำเภอหนองบัวก่อจะพบกับทุ่งทานตะวันที่กำลังบ้านเต็มไปหมดในช่วงนี้ครับ  นี่ก็เริ่มหนาวแล้วรักษาสุขภาพกันด้วยทุกท่านนะครับ

    คุณเสวก ใยอินทร์ กลับมารอบนี้พัฒนาไปมากจริงๆ ดีใจจังเลยครับ มีเครื่องมือและวิธีการในการเป็นสื่อเรียนรู้และสร้างความรู้จากชีวิตของชุมชนที่ทำได้เองอย่างนี้ จะเป็นทุนทางสังคมและทุนมนุษย์ที่ช่วยส่งเสริมความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของสังคม ที่เข้มแข็งครับ

    อย่างพิพิธภัณฑ์ที่ทำขึ้นในวัดหนองกลับนั้น ผมก็เคยไปดูครับ มีคุณค่ามากมายทั้งต่อชุมชนหนองบัวและต่อสังคมในวงกว้าง แต่ยังสามารถเข้าไปเสริมกำลังในการพัฒนาให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ชุมชนได้อีกหลายอย่างครับ โดยเฉพาะการช่วยกันเขียนเรื่องราวและสร้างความรู้ด้านต่างๆ ที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์และสิ่งของนำไปสู่การเรียนรู้ทางสังคมและมิติอื่นๆอย่างลึกซึ้ง

    หากขาดสิ่งนี้แล้ว ก็จะทำให้สิ่งของมากมายเพียงมีการรวบรวมมาอยู่ด้วยกันเหมือนเก็บครุภัณฑ์และสิ่งของรกๆเท่านั้นครับ คนที่มีความรู้จำเพาะเรื่องเท่านั้นจึงจะเห็นความหมาย แต่เด็กๆและคนทั่วไปคงไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ให้ได้ปัญญาและแรงบันดาลใจชีวิตที่ดีๆ 

    ยิ่งถ้าหากไม่สามารถจัดการให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องด้วยแล้ว ก็จะยิ่งกลายเป็นภาระของทางวัดและผู้ดูแลรักษามากเป็นทวีคูณ  เอาแค่เรื่องฝุ่นที่เกาะเกรอะกรังในแหล่งที่ร้อนแล้งอยู่เสมออย่างชุมชนหนองบัวของเรานั้นก็เล่นเอาแย่แล้วครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    จากความเห็นของอาจารย์ที่ ๑๙๓

    "นี่ถ้าหากที่ไหนได้ลองทำให้มีประสบการณ์เกิดขึ้นสักนิดหนึ่ง เราก็จะสามารถตามไปถอดบทเรียนและทดลองพัฒนารูปแบบการร่วมมือกันอย่างเป็นเครือข่ายระดับประเทศ แต่สะท้อนสู่การทำสิ่งดีให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นได้ผ่านบทบาทของสถานศึกษาและความเป็นปัจเจกที่มีจิตสาธารณะจำนวนหนึ่งของคุณครู"

    อ่านความเคลื่อนไหวบางอย่างจากน้อง ๆ ลูก ๆ หลาน ๆ ผ่านคุณครูน้องสาวอาจารย์วิรัตน์แล้วก็ชื่นใจไม่น้อยเลย ขอบคุณคุณครูที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้ในชุมชนหนองบัวอันเป็นเรื่องใกล้ ๆ ตัวของเขาเอง

    อ้าว นักเรียนท่านใดสนใจเรื่องต่าง ๆ ในหนองบัวแล้วอยากให้คุณลุงวิรัตน์คุณเสวกคุณครูจุฑารัตน์หลวงลุงแลหรือท่านอื่น ๆ เล่า(เขียน)ให้อ่านบ้างก็เชิญเลยนะ หรือถ้านักเรียนมีเรื่องอะไรจะเล่าให้หลวงลุงฟังบ้างก็ยิ่งดีใหญ่เลยแหละ หลวงลุงมีความรู้เขียนได้ก็จะเขียน ไม่มีความรู้เขียนไม่ได้ก็จะเขียน(นักเรียนงงไหมเนี่ย)

    หวังว่าทุกท่านที่คงยินดีให้ความรู้แก่นักเรียนอย่างแน่นอน

    ต้องขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กอย่างมากที่มีน้ำใจแบ่งบันให้ชาวหนองบัวอย่างสม่ำเสมอ ขอบคุณหลาย ๆ

    ทางโรงเรียนขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์อยู่เรื่อยๆให้ด้วย...........

    ผ้าป่าการศึกษาและงาน ๔๙ ปี สู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว

    • ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ โรงเรียนหนองบัว เครือข่ายศิษย์เก่า กรรมการศึกษา และชาวหนองบัว จะจัดผ้าป่าการศึกษาเพื่อสร้างโรงอาหารให้โรงเรียนและลูกหลานคนหนองบัว พร้อมกับเริ่มต้นศักราชกึ่งศตวรรษของโรงเรียนหนองบัว ๔๙ ปีสู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว
    • ขอเชิญศิษย์เก่าและคนหนองบัวมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัว ลูกหลานคนหนองบัว และเด็ก-เยาวชนในท้องถิ่นโดยรอบครับ

    ม.1 รุ่นแรก(ม.1/1 - ม.1/5) โรงเรียนหนองบัว โดยเฉพาะ ม.1/1 ที่มีอาจารย์ประจำชั้นชื่อ อาจารย์เรณู จองกา ลูกสาวกำนันตำบลห้วยถั่วเหนือ /บ้านกระดานหน้าแกล ขอเชิญเข้าร่วมแสดงตัวด้วยครับ

    เลยทำให้คลับคล้ายคลับคราไปด้วยว่าเพื่อนหนองบัวรุ่นผมคนหนึ่งชื่อเรณู แต่นามสกุลเดิมยังนึกไม่ออกในตอนนี้ กลับไปเป็นครูที่หนองคอก เมื่อก่อนนี้เคยได้พบปะกันอยู่ แต่กลับไปหลังๆนี้ไม่ยักเจอ ไม่รู้ว่าจะเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า เพื่อนเรณูนี่ผมจำบุคลิกชอบหัวเราะลูกเดียวได้ เป็นคนเรียบร้อยและชอบหัวเราะหัวเหอแดงไปหมดอยู่เสมอ เลยมักโดนเพื่อนๆแหย่หรือแกล้งทำเรื่องขำๆให้หัวเราะ

    สวัสดีชาวหนองบัวทุกท่าน

    ผม ฉิกครับ ศักดิ์ศรี พิทักษ์อำนวย ปัจจุบันอยู่ กทม.

    ลูกหนองคอก รุ่น 17 ครับ ม.ศ. รุ่นเกือบสุดท้ายครับ (มีต่ออีก 2 รุ่น)

    เพิ่งจะเจอบทความของ พี่วิรัตน์ คำศรีจันทร์ (ขออนุญาตเรียกพี่ละกัน)

    ลองไปค้นหา ชื่อพี่ในกูเกิ้ล โอ้โห เยอะมากเลย ดีครับ

    อ่านเรื่องเกี่ยวกับหนองบัวแล้ว เหมือนได้กลับไปนุ่งขาสั้น อยู่ทีบ้านเลย

    ผู้คนต่างๆที่พี่เล่ามานี่ ก็รู้จักเกือบจะทุกคน ไว้ว่างๆจะมาแจมเพิ่มเติม ให้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับลูกหลานชาวหนองบัว

    จะชวนเพื่อนๆที่รู้จัก เข้ามาที่นี่กัน

    วันที่ 6 ธ.ค. นี้ เจอกันทุกคนนะครับ

    สวัสดีครับคุณศักดิ์ศรีครับ ยินดีต้อนรับเป็นอย่างยิ่งครับ คุณฉิกรุ่น ๑๗ นี่เป็นรุ่นน้องผม ๓ รุ่นเอง ผมรุ่น ๑๔ ครับ เลยค่อยร่วมสมัยกันหน่อย เพิ่งได้เห็นคนแรกนี่แหละครับที่บอกว่ารู้จักผู้คนต่างๆที่ผมพูดถึง ดีใจครับ

    พี่ชายผม (รักษ์ แซ่แต้/พิทักษ์อำนวย) ก็รุ่นเดียวกับพีวิรัตน์

    รุ่นนี้ผมรู้จักอยู่หลายคน เช่น อ.สืบ อ.เสน่ห์ อ.ทูน (ทูนหรือทูลไม่แน่ใจ เพราะได้ยินแต่เค้าเรียกกัน ไม่เคยเห็นว่าสะกดอย่างไร)

    3 คนนี้ จะอยู่ แถวเนินน้ำเย็น (แถวๆบ้านแป๊ะอ้อ-ขุนอ้อ)

    พี่ประเวศ อ.มานิตย์ พี่โอ่ง

    เจ๊เกียง-น้ำเต้าหู้ คนนี้เล่นกีฬาเก่ง

    อ.สุนันท์-ขายหมู

    และอีกหลายๆคน

    พอเอ่ยชื่อขุนอ้อออกมา ก็เลยนึกได้ว่า จริงๆ มีบุคคลสำคัญในหนองบัวอีกเยอะมาก เช่น ผู้กองชม ครูนุช ครูลำดวน ฯลฯ

    พวกกำนันก็หลายคน เช่น กำนันเทิน กำนันเทียน กำนันแหวน กำนันผล ฯลฯ (ผมรู้จักกับลูกสาวกำนัน 3 ท่านแรก โดยเฉพาะ ลูกสาวกำนัน 2 ท่านแรกนั่นซี้ปึ้กเลย)

    ยังมีข้อมูลอีกเยอะนะครับที่น่าจะถูกบันทึกถ่ายทอดออกมาให้ชาวหนองบัวได้ระลึกนึกถึงท่านเหล่านี้

    ไว้ผมจะช่วยพี่เพิ่มเติมข้อมูลในส่วนทีผมรู้ (แต่มันออกจะเป็นสไตล์ของผมนะ - แต่ตอนนี้ยังไม่ค่อยออกมาเท่าไหร่)

    วันสองวันนี้ ผมมีความสุขมาก เหมือนได้นั่ง Time Machine ของโดราเอม่อนกลับไปหนองบัวอีกที

    เมื่อคืนก็ได้ไปงานเลี้ยงที่เทคโนพระจอมเกล้า พระนครเหนือมา ได้เจอเพื่อนฝูงหลายคนที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสเจอกัน เลยเม้าส์กันซะดึก

    ช่วงนี้มีแต่งานเลี้ยงรุ่น

    วันที่ 6 ธ.ค. เจอกันที่หนองคอกครับ

    ยิ่งดีใจและมีความสุขจริงน้องฉิก เรียกว่าได้อารมณ์โคตรดีใจเลยนะนี่

    เมื่อตอนเด็กๆตอนที่เรียนอยู่หนองบัวนั้น ครอบครัวของฉิกหรือครอบครัวรักษ์นั้น ก็เหมือนกับเป็นครอบครัวของพวกเราเพื่อนของรักษ์ไปด้วยเหมือนกัน รักษ์ พี่ของฉิกนั้น นอกจากเป็นที่รักของเพื่อนๆคนอื่นๆแล้ว เขาเป็นเพื่อนจำเพาะกลุ่มของผมเลย 

    เมื่อก่อนนี้ เวลาไปที่ร้านครอบครัวของฉิก ผมและเพื่อนๆก็เดินเข้าไปอย่างกับบ้านตัวเอง หากไปยังไม่เจอรักษ์ ก็เดินหยิบข้าวของช่วยเตี่ยขายให้กับคนที่เข้ามาในร้านเลย แต่พอโตๆและไม่ค่อยได้เจอกัน ก็ท้าวความกันไม่ค่อยออกแล้วครับ  

    พี่ชื่นชมฉิกอีกอย่างหนึ่งนะครับ ฉิกทำให้เห็นวัฒนธรรมชุมชนของเด็กต่างจังหวัด และวัฒนธรรมความเป็นญาติกันของผู้คน แบบสังคมไทยๆ ให้ได้ความประทับใจมากครับ ฉิกรู้จักพวกพี่ๆตั้งเยอะแยะเลย รวมไปจนถึงคนเก่าๆที่คนหนองบัวรู้จักและเคารพรัก โดยเฉพาะคุณครูลำดวนนั้นทั้งเป็นครูประจำชั้นของพี่และเหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ทั้งของพี่และญาติพี่น้องของพี่เลย

    พี่เองก็มักจะต้องใส่ใจกับเพื่อนๆของพี่และน้องๆ เพราะถือว่า เพื่อนของพี่ก็เป็นพี่เรา เพื่อนของน้องก็เป็นน้องเรา ญาติและแขกของเพื่อนก็คือของเราด้วย รวมทั้งพ่อแม่ของเพื่อนก็เคารพนับถืออย่างเป็นพ่อแม่ของเราด้วย (ยกเว้นเมื่อตอนเด็กๆชอบทะลึ่งเรียกชื่อพ่อ-ชื่อเตี่ยเพื่อนแทนชื่อของตัวเพื่อนเองแต่ละคนกัน)

    ชวนเพื่อนๆที่มีความรู้ มีความคิด และมีประสบการณ์ดีๆ มาคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในนี้ได้นะครับ แล้วก็ถ้าหากใครทำลิ๊งค์ไปยังเว็บของโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆในหนองบัวเป็น ก็ทำไปด้วยเลยก็จะดีมากอย่างยิ่งนะครับ ทั้งหนองคอก หนองบัวเทพ วัดเทพ และอื่นๆ ผมเองนั้นก็ลิ๊งค์เว็บของมหาวิทยาลัยมหิดลและคณะสังคมศาสตร์ฯมาเชื่อมต่อให้เด็กๆกับคนหนองบัว ไว้ที่เวทีของคนหนองบัวแล้วนะครับ

    คุยกันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไปเรื่อยๆก่อน หากมีโอกาสพี่จะจัดเวทีพบปะหรือจัดประชุมในหมู่คนที่คิดทำสิ่งต่างๆได้และมีจิตใจที่อยากทำให้กับชุมชนหนองบัวนะครับ เมื่อสามสี่ปีก่อน มีเพื่อนๆน้องๆและหน่วยงานท้องถิ่น อยากคุยกันหลายเรื่องเพื่อทำสิ่งต่างๆดีๆด้วยกันให้หนองบัวแล้วอยากจัดเวทีกัน

    โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาการศึกษา สุขภาพ และการพัฒนาพื้นที่ แล้วบางครั้งก็อยากให้พี่มา Run เวทีและเชื่อมโยงพวกเราให้ แต่พี่ลองชั่งน้ำหนักดูแล้ว พวกเราเป็นคนหนองบัวก็จริง แต่เราไม่ค่อยได้เรียนรู้และไม่ค่อยมีข้อมูลเพื่อที่จะคิดให้แตกต่างไปจากสภาพเดิมกันเท่าไหร่

    อีกทั้งพี่เห็นว่าโดยปรกตินั้น เราก็ใช้วิธีคิดและลงแรงทำกันเป็นกลุ่มและเป็นรุ่นศิษย์เก่ากันอยู่แล้ว เลยก็ยังไม่ชวนกันทำสิ่งใดไปมากกว่าเดิม ซึ่งนัยยะก็คือเป็นการบอกกันทางอ้อมว่าเราควรจะเตรียมตัวเองง่ายๆสักนิดหนึ่งไปก่อนดีกว่าไหม ตามแต่ใครจะถนัดและชอบไปทางไหน

    อย่างการใช้การทำงานข้อมูลจากการคุยกันในนี้ไปเรื่อยๆก็ได้ อย่างน้อยก็เหมือนได้กลับบ้านและสื่อสารถึงคนที่รู้จักคุ้นเคยนะครับ

    สวัสดีครับพี่วิรัตน์

    • ขอแก้ไขข้อมูลหน่อย เรื่องแถวบ้าน อ.สืบ มันต้องเป็นโคกมะตูม ไม่ใช่เนินน้ำเย็น
    • ไอ้เรื่องชื่อหมู่บ้านต่างๆนี่ ผมก็ไม่ค่อยแม่นเท่าไหร่ แต่ได้ยินอยู่บ่อยๆตอนเด็กๆ 
    • เมื่อกลางวันได้คุยกับลูกสาวกำนันเทิน (บอกให้เค้าเข้ามาดูที่นี่แล้ว อีกไม่นานคงจะเข้ามาแจมด้วย) เค้าก็บอกมีเรื่องตลก คือแถวเกาะลอย (อีกชื่อหนึ่งก็คือท้ายหนอง) ตรงบริเวณหลังกุฏิฤาษี แถวนั้นก็จะเรียกบ้านตีนกุฏิ ซึ่งเวลาพูดก็จะออกเสียงเป็นบ้านตีนกุด คนก็จะเรียกสาวๆแถวนั้นว่าสาวตีนกุด ฟังดูแล้วก็ขบขันสำหรับคนอื่น แต่สาวตีนกุดคงจะไม่ขำกะเราเท่าไหร่
    • เมื่อครู่ได้โทรคุยกับ อ.ขุน และก็ได้บอกให้เข้ามาดูที่นี่ รวมทั้งได้ส่ง SMS ไปบอกพรรคพวกให้เข้ามาที่นี่ เพื่อมาช่วยพี่วิรัตน์สร้างชุมชนหนองบัวของเรา ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น  

    สวัสดีครับฉิก

    • พี่ก็เพิ่งเรียนรู้ในรายละเอียดไปด้วยหลายเรื่องเลย เมื่อก่อนนี้แถวบ้านอาจารย์สืบนั้นพี่ก็เคยไปป้วนเปี้ยนกันตั้งแต่อยู่โรงเรียนเทพฯ
    • ตอนนั้นแถวบ้านอาจารย์สืบมีลานกว้าง บ้านหลังใหญ่โต กลางลานมีต้นมะปราง อาจารย์สืบกับพี่และในกลุ่มเพื่อนเป็นนักกิจกรรม พวกพี่เคยทำเสื้อกีฬาสีกันเอง พี่จะเป็นมืออาร์ตเวิร์คให้เพื่อนๆ ตอนจะรวมกลุ่มทำก็มักจะตระเวนไปรวมเพื่อนออกมาจากบ้านทีละคนสองคน
    • บ้านของอาจารย์สืบนี่ไปกันบ่อยเพราะตรงนั้นมีเพื่อนอยู่บ้านติดๆกันตั้งหลายคน คืออาจารย์สืบ จ่าไพฑูรย์(เดี๋ยวนี้แยกบ้านไปอยู่แถวเกาะลอยแล้วกระมัง) และ รศ.ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต เดินออกมาอีกนิดก็เป็นบ้านร้านของฉิกและพี่ของฉิกคือรักษ์ ก็เพิ่งจะทราบนี่แหละว่าเขาเรียกว่าโคกมะตูม
    • อาจารย์ขุนเข้ามาคุยนี่ต้องสร้างบรรยากาศให้คึกคักเลยนะครับ เพราะพี่ขุนนั้นต้องถือว่าเป็นผู้บริหารสถานศึกษาระดับอำเภอท่านหนึ่ง อีกทั้งเป็นนักกีฬาโรงเรียนเก่า เป็นศูนย์กลางของเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่เป็นศิษย์เก่าของหนองบัว แล้วก็ดูเหมือนว่า ลูกของพี่เขาจะเรียนอยู่คณะเภสัชฯ มหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย เชิญเลยนะครับ
    • ลานบ้านอ.สืบนี่ เป็นที่ที่ผมใช้ฝึกวิทยายุทธ์ตะกร้อตั้งแต่เด็ก และติดตัวมาจนปัจจุบัน แม้จะไม่ได้เล่นมานานแล้ว แต่เมื่อใดที่มีโอกาส เห็นพวกเด็กๆเล่นตะกร้อวงกัน ก็เข้าไปเล่นกับเค้าอย่างไม่อายใคร คือเพื่อนผม ไอ้โหม่ง กะไอ้รัก บ้านอยู่ที่เดียวกับ อ.สืบนั่นแหละ 2คนนี้นี่เล่นตะกร้อเก่ง โดยเฉพาะไอ้โหม่งนี่พื้นฐานแน่น นึกถึงตอนกีฬาสีแล้วมีเรื่องประทับใจเยอะมาก จะทยอยมาเล่าให้ฟัง (ขออนุญาตเรียกพวกเพื่อนๆว่า ไอ้ ละกัน มันได้อรรถรสดี)
    • ช่วงนี้กำลังไล่ตามพรรคพวกเพื่อชวนไปงานที่หนองบัววันที่ 6 ธ.ค. เมื่อวาน ได้คุยกับ ดร.สุภา (จริงๆศิษย์เก่าหนองคอกนี่ก็ดอกเตอร์เยอะนะเนี่ย) นี่ก็เรียนกันมาตั้งแต่ประถมที่หนองบัวเทพฯ ถึงม.ศ.3 ที่หนองคอก ไม่ได้เจอกันมาหลายปีดีดัก ตั้งแต่คุณเธอไปเรียนต่อที่อินเดีย (ไม่แนใจว่าโทหรือเอก) ก็เลยไม่ได้ติดต่อกันอีก ไปดูในเวปของ ม.ราชมงคล-ธัญญบุรี โอ้โฮเดี๋ยวนี้เป็นรองคณบดีฝ่ายบริหารฯ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ก็เลยชวนกลับหนองบัววันงาน ต่างก็ดีใจที่ได้คุยกันแม้จะเป็นทางโทรศัพท์ก็ตาม และก็ได้ชวนให้เข้ามาคุยกันในบล็อกนี้ด้วย

    วันที่ 6 ธ.ค. เจอกันที่หนองคอกครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณศักดิ์ศรี พิทักษ์อำนวย

    รู้สึกดีใจมากที่คนหนองบัวบ้านเราเข้ามาช่วยกันเขียนเรื่องราวบอกกล่าวเล่าขาน ร่วมเสวนาพูดคุยร่วมรำลึกถึงบ้านตัวเอง

    คนหนองบัวหลายท่านที่ได้ช่วยกันเขียนเรื่องหนองบัวคงมีความสุขที่เห็นคุณศักดิ์ศรี บอกว่าได้อ่านเรื่องราวในหนองบัวแล้วมีสุขเหมือนได้กลับบ้านเรา

    สำนวนแบบนี้ได้อรรถรสเป็นคนกันเองดี

     เจริญพร

    # 199 .....#....200 เข้าใจว่าจะเป็นคนเดียวกันนะครับ

    ที่ทำให้คิดไปเช่นนั้น เนื่องจากเข้าเค้ากับบุคลิกที่ท่านอาจารย์บอก คือว่า เป็นคนยิ้มเก่ง อารมณ์ดี....และใจดีด้วย

    อาจารย์เรณู จองกา น่าจะเป็นนามสกุลดั้งเดิมของท่านนะครับ เนื่องจากผมเคยเห็นในทะเบียนบ้านของผมเอง มีลายเซ็นและรอยประทับตราประจำตำแหน่งของนายบุญสม จองกา กำนันตำบลห้วยถั่วเหนือ ซึ่งตอนนั้น(ผมอยู่ ป.5) จำได้ว่า บ้านท่านอยู่ข้างโรงเรียนบ้านกระดานหน้าแกล และสิ่งสำคัญซึ่งน่าจะยืนยันว่าอาจารย์เรณู เป็นเพื่อร่วมรุ่นของอาจารย์คือท่านใช้คำนำหน้าชื่อว่า...นางสาว ครับ

    ถึงตอนนี้ ก็ยังระลึกถึงท่านอาจารย์เรณูอยู่ และด้วยความเคารพครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ น้องสมบัติ

    • ขอบคุณสำหรับคำเยินยอ (ต่างจากคำชมอย่างไรหว่า)
    • อ.เรณูนี่ ถ้าจำไม่ผิด เข้ามาสอนที่หนองคอกพร้อมกับอ.ขุน และ...จำไม่ได้แล้วว่ามีใครบ้าง เมื่อตอนที่ผมอยู่ ม.ศ.3 (น้องสมบัติก็ต้องอยู่ม.1) ตอนผมเข้าม.ศ. 1 รุ่นของพี่วิรัตน์ก็ออกจากหนองคอกพอดี เรียกว่ารุ่นผมมาไล่รุ่นพี่ออกไป ฉะนั้นไปไล่ปีดูละกันว่า ใช่รุ่นเดียวกับพี่วิรัตน์รึเปล่า (แต่ผมว่าน่าจะไม่ใช่นา เพราะออกไปแค่ 2 ปีเองก็กลับมาสอนแล้ว พอดีผมไม่รู้เกี่ยวกับหลักสูตร ว.ค ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นราชภัฏแล้ว) อย่างไร ก็ให้เจ้าตัวมาเฉลยซะก็สิ้นเรื่อง (เขียนแหย่ใครบางคนที่เข้ามาอ่านแล้วไม่ยอมจิ้มคีย์บอร์ด)
    • น้องสมบัตินี่ก็รุ่นเดียวกับน้องผม ไอ้น้อย-กวีศักดิ์ ไม่รู้ว่าจำกันได้รึเปล่า (อาจจะแปลกใจ คนนั้นคนนี้ ก็เป็นรุ่นเดียวกับพี่ผมน้องผมหมด ไม่ใช่อะไรหรอก ครอบครัวผมนี่เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ พี่น้อง 12 คน เพราะฉะนั้นโอกาสถูกหวยก็เลยมีเยอะ)
    • วันก่อนที่ชวน อ.ขุนเข้ามาดูที่นี่ พร้อมกับโฟนอินคุยกันด้วย อ.ขุนก็พูดถึงน้องสมบัติ โดยเฉพาะเมื่อตอนที่ต้อนรับคณะอาจารย์เมื่อคราที่ไปเยือนหนองคาย ทานข้าวบนเรือล่องลำโขง (อ.ขุนบอกว่าไม่เคยมีใครต้อนรับอย่างมากมายล้นเหลือคณานับมาก่อนเลยในชีวิต-รายละเอียดให้น้องสมบัติเล่าเองดีกว่า..555)
    • พูดถึงตอนที่มีการแนะนำครูใหม่ พวกเราผู้ชายทะโมนทั้งหลาย ก็จะคอยชะเง้อเฝ้าดูว่า สวยรึเปล่าวะ ถ้าสวยนี่ ก็ลุ้นกันว่าจะได้มาสอนพวกเรารึเปล่า แต่อาจารย์คงจะไม่ได้คิดอะไรเหมือนกับเราหรอกนะ คงจะมองเราว่าเป็นเด็กเป็นน้องเป็นนุ่งคนนึงเท่านั้นเอง ก็เหมือนกับพ่อแม่เราที่ปัจจุบันท่านก็ยังมองว่าเราเป็นเด็กอยู่ร่ำไป และทำนองเดียวกัน เราก็มองลูกเราว่ายังเป็นเด็กอยู่
    • ช่วง 3-4 วันนี้อาจจะหายไปบ้าง มีธุระอื่นอยู่
    • วันนี้อากาศทำท่าจะเย็นๆ อย่างไรก็ฝากดูแลสุขภาพตัวเองกันด้วยนะครับ

    ปล. ไม่รู้จะเป็นการไม่สุภาพรึเปล่า (มันควรจะเป็นหรือไม่) ที่ออกจะเป็นภาษาพูดมากไปหน่อย

    อย่างไรก็ติติงกันได้นะครับ

    เพื่อนๆหลายคนได้บรรจุและทำงานที่บ้านกันดีจังเลยนะครับ เมื่อก่อนนี้แถวกระดานหน้าแกลเป็นชุมชนที่คนแถวบ้านผมคุ้นเคยมากที่สุดรองจากหนองบัวและเกาะแก้ว คนแถวบ้านมักจะไปบวชที่วัดกระดานหน้าแกลพอๆกับไปที่วัดหนองกลับ  เวลาเที่ยวงานประจำปีและงานทอดกฐินก็จะไปที่วัดเกาะแก้ว

    ที่หนองคายมีโรงแรมอยู่ริมโขงและข้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เจ้าของหรือหุ้นส่วนนี่แหละก็เป็นศุลกากร ผมเคยไปพักและนั่งกินข้าวยามเย็นอยู่ที่นั่นครั้งหนึ่งเมื่อตอนร่วมเป็นทีมเก็บข้อมูลทำวิจัยให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แต่หลายปีมากแล้ว กว่าสิบปีแล้วมั๊ง เป็นการสำรวจศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวไทยกับกลุ่มประเทศอินโดจีน ประทับใจบรรยากาศแถวนั้นมากด้วยเหมือนกัน

    P...ดีใจกับพี่อาจารย์ดร.วิรัตน์ด้วยนะคะ..ชุมชนนี้เริ่มคึกคักอบอุ่น..มากขึ้นแล้วนะคะ...

    สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก : คึกคักและมีการพัฒนาให้สิ่งต่างๆที่ดีอยู่แล้ว เกิดความเชื่อมโยงและมีการปฏิสัมพันธ์กันในแง่ของความรู้ การสื่อสาร และการไหลเวียนข่าวสารไปถึงกันที่กว้างขวางและหลากหลายมากขึ้น

    ผมเองก็ประทับใจและกำลังสนใจมากๆด้วยเหมือนกันครับ โดยเฉพาะกำลังเห็นบทบาทของการเป็นเวทีสำหรับได้พูดคุยและหารือกัน เพื่อมุ่งไปสู่การได้ทำสิ่งดีๆด้วยกันทั้งต่อท้องถิ่นและต่อสังคมวงกว้าง

    ในแง่การสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนั้น ผมว่าเวทีนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายหวยออกซึ่งตามต่างจังหวัดมีอยู่เสียอีกครับ

    ยิ่งในแง่ของการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลและการจัดการความรู้แล้วละก็กินขาดเลย

    โดยเฉพาะในเรื่องที่เปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นได้มีโอกาสคิดและหารือกันเพื่อชุมชนท้องถิ่นของตนเองแล้ว ในเวทีนี้หลายเรื่องไม่สามารถทดแทนได้ด้วยเวทีอื่นเลยทีเดียว เช่น การที่ผมได้พูดคุยและชวนกันคิดและทำสิ่งต่างๆกับคุณสมบัติ พระมหาแล คุณเสวก และคุณฉิกนั้น ในโลกภายนอกและในวิถีการทำงานก่อนหน้านี้แล้ว เป็นการยากครับที่จะได้เจอ คุย และทำสิ่งต่างๆให้เชื่อมโยงกัน

    แทบทุกคนมีศักยภาพและมีบทบาททั้งต่อสังคมและต่อชุมชนบ้านเกิด โดยเฉพาะคุณสมบัตินั้น เป็นทั้งแหล่งวิทยาการทั้งของประเทศ ชุมชน และต่อประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งพอได้ทราบว่ากำลังทำงานอะไรและมีเครือข่ายทำกับหน่วยงานและผู้คนอย่างไรบ้างแล้ว ก็เห็นโอกาสและการทำงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอยู่ไม่ไกลกันเลย

    รูปถ่ายของคุณครูอ้อยเล็กสวยและสื่อความหมายดีจัง ขอบคุณที่นำมาฝากและแบ่งปันกันครับ สบายดีและมีความสุขนะครับ เวทีนี้ต้องถือว่าคุณครูอ้อยเล็กเป็นผู้ร่วมบุกเบิกและก่อตั้งให้มีความงดงามนะครับเนี่ย

    สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และทุกๆ ท่าน

    • ได้เห็นภาพของพิพิธภัณฑ์ของวัดหนองกลับ ชุมชนหนองบัว ของคุณ เสวก ใยอินทร์ แล้วทรงคุณค่ามากเลยค่ะ แต่อาจารย์วิรัตน์บอกว่ายังขาดการช่วยกันรวบรวม และนำมาเขียนเรื่องราวและสร้างองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อเสริมกำลังพัฒนาให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ชุมชนและมิติอื่นๆ ได้อีก ซึ่งขอสนับสนุนคำพูดของอาจารย์วิรัตน์ค่ะ

                           

    • อยากจะขอเสริมว่า ผู้ที่จะรู้เรื่องประเพณี วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม ตำนานต่างๆ ในชุมชนถ้าจะให้ถูกต้องแล้วคงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคนในชุมชนนั้นๆ เนื้อหาที่เป็นชีวิตของท้องถิ่นจึงสมควรให้คนในท้องถิ่นทำหน้าที่จัดทำ ริเริ่ม และดูแลกันเอง เพราะถ้าให้คนภายนอกมาจัดการอาจมีข้อมูลที่ผิดเพี้ยน หรือขัดต่อประเพณีวัฒนธรรมดั่งเดิมที่มีมา ..
    • แต่ถ้ามีการผสมผสานของศักยภาพชุมชนของคนใน และความเป็นวิชาการและมืออาชีพของคนภายนอก เมื่อมีความร่วมมือกัน เร่งก่อเกิดสำนึกร่วมของชาวบัานแล้ว พิพิธภัณฑ์หนองกลับของชุมชนหนองบัวจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ตายและมีความยั่งยืนต่อไป ..
    • ขอเป็นกำลังใจให้ชาวหนองบัวค่ะ

    นี่ถ้าหากอาจารย์ณัฐพัชร์แวะไปเยือนและเขียนความรู้สิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดหนองกลับบ้างก็จะยิ่งมีกำลังใจกันใหญ่เลยนะครับ

    หรือไม่ก็หากทางพวกเรามีโอกาสรวมกลุ่มคนที่พอจะเป็นกลุ่มนักวิจัยและเครือข่ายชาวบ้านท้องถิ่น ที่สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นคนร่วมกันสร้างความรู้ท้องถิ่นได้ ก็จะขอแรงอาจารย์ไปช่วยถ่ายทอดวิทยายุทธในการเก็บข้อมูลและวิธีเขียน วิธีทำสื่อนำเสนอที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์สามารถเป็นแหล่งความรู้ได้มากยิ่งๆขึ้นโดยฝีมือชาวบ้านนะครับ หรือไม่ก็ทำในแหล่งอื่นๆของชุมชนก็ได้นะครับ

    กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ ครับ

          ตั้งแต่ผมเองเข้ามารู้จักท่านอาจารย์ตั้งแต่วันแรกจนมาถึงวันนี้ ทำให้เข้าใจถึงคนหนองบัวมากขึ้น ก็จะอะไรเสียอีกล่ะครับ ไม่เพียง จะได้เข้ามาหาความรู้รอบตัวแล้วยังได้เห็นถึงบุคลากรของชาวหนองบัวที่เติบใหญ่ขึ้นมาแล้วได้เป็นครูบาอาจารย์ และอีกหลากหลายอาชีพเป็นที่น่ายกย่องแก่คนรุ่นหลังมากมายเลยทีเดียวครับ   นอกจากนั้นยังได้มารวมตัวกันแจกจ่ายความรู้ให้กับผู้น้อยได้เดินตามแสงสว่างไปสู่โลกกว้างอีกด้วยครับ 

         อาจารย์ณัฐพัชร์ครับ   หากวันนั้นผมเองไม่ได้ท่านแนะนำการนำรูปภาพขึ้นโพสแล้วละก็คงไม่มีรูปภาพมาฝากกันชม ต้องขอขอบพระคุณอย่างยิ่งเลยนะครับ เรื่องการถ่ายภาพที่ได้ก็ถ่ายแบบที่เรียกว่า เห็นอย่างไรก็ถ่ายอย่างนั้นไม่ได้มุ่งเน้นไปถึงมุมกล้องและเงาแสงผมเองคิดว่า อะไรก็แล้วแต่ทีทำมาโดยแบบไม่คำนึงถึงความถูกผิดเมื่อมองดูแล้วอีกมุมนึงก็จะได้รูปที่เป็นธรรมชาติที่สุดครับ

        ผมเองเรื่องราวต่างต่างก็ถ่ายทอดออกมาหรือจะสือให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายนั้นมันก็เป็นเรื่องยาก เรื่องราวต่างๆที่ผ่านมาบางครั้งก็ได้จากความเคยชินการเล่าต่อจากคนเก่าแก่บางครั้งก็บิดเบือนจากความจริงครับ เสียดาอย่างที่ ท่านหลวงอามหาแล ท่านได้เคยพูดไว้ เราต่างก็อยู่จากบ้านมาไกลนานๆจะได้มาเยียมบ้านบ้าง  คำนี้ทำให้ผมคิดว่าถ้าเราได้ใช้ชีวิตประจำวันอยู่ที่บ้านหนองบัวผมว่าน่าจะมีเรื่องราวมาถ่ายทอดหลากหลายเรื่องราวเลยทีเดียวครับ แต่ก็ไม่เป็นไรครับผมเองก็จะพยายามเก็บเล็กผสมน้อยนำมาถ่ายทอดไว้เลื่อยๆครับ

    สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์  และ คุณเสวก ใยอินทร์ ค่ะ

    • อาจารย์วิรัตน์ : ยินดีมากค่ะ ถ้าชาวหนองบัวต้องการแรงงาน จะนำประสบการณ์ที่พอมีอยู่ไปร่วมลงแขกหล่ะค่ะ ^^
    • คุณเสวก : ภาพวาดที่คุณเสวกนำมาเสนอ "เครื่องหีบอ้อย" ดิฉันถือว่าเป็นการเก็บบันทึกประสบการณ์ และนำเสนอเรื่องราวถือว่าไม่ธรรมดาค่ะ เห็นถึงความพยายามอย่างยิ่ง

                                   

                                                        ภาพวาดโดย คุณเสวก ใยอินทร์

    • การเริ่มต้นเก็บข้อมูล และเขียนบันทึกนั้น อาจนำ เครื่องหีบอ้อยโบราณ เป็นประเด็นเริ่มต้นในการสืบค้น ทำให้พบวิถีชีวิตของชาวบ้าน ภูมิปัญญา และประวัติศาสตร์ชุมชน ซึ่งเด็กๆ ในหมู่บ้านจะได้เรียนรู้ปูมบ้านปูมเมืองตัวเองผ่านเครื่องหีบอ้อยโบราณชิ้นนี้ก็เป็นได้ค่ะ
    • ซึ่งคุณเสวก ได้ทำการบันทึกไว้ด้วยทั้งการวาดภาพ และการเขียนบันทึกไว้ได้อย่างน่าสนใจค่ะ ...
    • ((แอบบอกว่า เพราะภาพวาดเครื่องหีบอ้อยของคุณเสวก ทำให้ดิฉันต้องค้นภาพที่เคยถ่ายไว้จากพิพิธภัณฑ์บ้านแพรก ว่ามันคือชนิดเดียวกันหรือไม่ เพราะตอนที่ดิฉันถ่ายภาพไว้นั้นดิฉันไม่รู้จักค่ะ))

                          

                              เครื่องหีบอ้อย จาก พิพิธภัณฑ์บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา

    • ภาพวาดของคุณเสวกมีประโยชน์มากค่ะ ขอบคุณเช่นเดียวกันค่ะ
    • การถ่ายภาพ ดิฉันก็เห็นด้วยกับคุณเสวกนะค่ะ "เห็นอย่างไร ถ่ายอย่างนั้น" จะได้รูปที่มีความเป็นธรรมชาติ ..
    • ลองเพิ่มรายละเอียดลงไปในภาพถ่ายก่อนกดชัดเตอร์ซักนิดสิค่ะว่า ภาพนี้มันจะบอกอะไรเราได้บ้าง เช่น ใคร, ทำอะไร, ที่ไหน, อย่างไร และเมื่อไหร่ ......
    • ดีใจกับชุมชนหนองบัว ที่มีคนเก่งๆ เยอะแยะ ตอนนี้ก็ค่อยๆ เริ่มเปิดเผยตัวออกมาที่ละคน ๒ คนแล้ว ^^

    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์ : ผมก็ได้รู้จักความเป็นหนองบัวเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเรื่องมากเลยครับ รวมทั้งได้เรียนรู้ไปกับคุณเสวกด้วยครับ บันทึกและการเขียนถ่ายทอด-เก็บรวบรวมเรื่องราวเล็กๆน้อยๆของคุณเสวกนั้นมีพัฒนาการไปมากเลยนะครับ ขอชื่นชมและยินดีไปกับคนหนองบัวที่มีคนมีน้ำใจทำสิ่งดีๆไว้ให้คนอื่นๆครับ

    ขอบคุณครับอาจารย์ณัฐพัชร์ แล้วอีกด้านหนึ่งก็เป็นการเรียนรูัจากกันและกัน ต่างเป็นครูให้กันไปด้วยเลยนะครับ

    ขอประชาสัมพันธ์ให้โรงเรียนหนองคอกอีกรอบครับ จะถึงวันงานแล้ว : ผ้าป่าการศึกษาและงาน ๔๙ ปี สู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว

    • ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ โรงเรียนหนองบัว เครือข่ายศิษย์เก่า กรรมการศึกษา และชาวหนองบัว จะจัดผ้าป่าการศึกษาเพื่อสร้างโรงอาหารให้โรงเรียนและลูกหลานคนหนองบัว พร้อมกับเริ่มต้นศักราชกึ่งศตวรรษของโรงเรียนหนองบัว ๔๙ ปีสู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว
    • ขอเชิญศิษย์เก่าและคนหนองบัวมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัว ลูกหลานคนหนองบัว และเด็ก-เยาวชนในท้องถิ่นโดยรอบครับ ในรุ่นหนึ่ง ก็อาจจะรวมกันคนละ ๕๐๐ บาทแล้วก็ตั้งกองผ้าป่ากองละ ๒,๐๐๐ บาท ได้หลายๆกองในรุ่นหนึ่งๆนะครับ
    • อีกวิธีหนึ่งนะครับ หากใครมีลูกหลานเรียนหนองคอกหลายคน ก็สามารถตั้งกองผ้าป่าเป็นครอบครัว กองละ ๒,๐๐๐ บาท จะหนึ่งกองหรือหลายกองก็ตามแต่จะต้องการครับ
    • ติดต่อโรงเรียนกันเอาเอง หรือติดต่อผ่านลูกหลานที่เป็นศิษย์เก่าหรือกำลังเรียนอยู่ ก็น่าจะสะดวกดีครับ

    สวัสดีครับ พี่วิรัตน์ พี่เสวก อ.ณัฐพัชร์ และทุกๆคน

    เงียบหายไปซะหลายวัน จากเริ่มจะหนาวนี่ก็จะหายหนาวแล้ว แค่ 2-3 วันเอง

    จำได้ตอนเด็กอยู่หนองบัว หน้าหนาวนี่ ไปเรียนตอนเช้าต้องออกมาเรียนที่สนามหญ้า เป็น outdoor-class ก็สนุกไปอีกแบบ เปลี่ยนบรรยากาศ มาผึ่งแดดยังไม่หายหนาวเลย แถวบ้านจะมีที่ดินว่างเปล่าอยู่หน้าบ้านคนละฟากถนน ก็จะมาก่อไฟผิงกันที่นี่ แถวๆนั้นจะมีบ้านครูจำลอง ทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ก็จะมีเศษขี้กบที่เกิดจากการไสไม้โดยกบไสไม้ ติดไฟดีกว่าขี้ไต้อีก แต่ไม่นานเท่า และก็มีเศษท่อนไม้รวมทั้งกิ่งไม้แห้งแถวๆนั้นเอามาก่อผิงกัน ผิวหนังแขนขาแตกหมด เมื่อก่อนโลชงโลชั่นไม่มี มีแต่น้ำมันมะกอก ก็เอามาทาแขนขากันแตก และสีผึ้งทาริมฝีปากกัน ไม่รู้ว่าเมื่อก่อนอุณหภูมิเท่าไหร่ ไม่มีเครื่องมือวัด น่าจะหนาวกว่าปัจจุบันอยู่ แต่ยาวนานเป็นเดือนจนหมดหน้าหนาวเลย เสื้อกันหนาวได้ใช้จนคุ้ม

    เรื่องเครื่องไม้เครื่องมือภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่พิพิธภัณฑ์วัดหนองกลับ ก็เห็นมีเยอะอยู่ กลับไปคราวนี้จะลองไปสำรวจดูอีกทีว่ามีอะไรบ้าง เครื่องหีบอ้อยก็เคยเห็น

    อยากจะช่วยพี่วิรัตน์เชิญชวนลูกหลานหนองคอก มาช่วยกันตอบแทนโรงเรียนของเรา สังคมของเรา ใครติดธุระไปไม่ได้ ก็ฝากปัจจัยไปก็ได้ เรื่องครอบครัวกองผ้าป่า ก็เป็นไอเดียที่ดีครับ เดี๋ยวจะไปชวนพี่น้องตั้งกองผ้าป่าขึ้นมา นอกเหนือจากกองผ้าป่าของรุ่นแล้ว

    แล้วเจอกันครับที่หนองบัว 6 ธ.ค. นี้

    สวัสดีครับฉิกและทุกท่านครับ : เมื่อก่อนนี้ รุ่นพวกพี่เวลาหนาวก็จะใช้สีผึ้งทาปากกันปากแตก แล้วโลชงโลชั่นนั่นก็ยังไม่มีและไม่รู้จักกัน ก็ต้องใช้โลชั่นแบบทำเอง คือเอาเม็ดลูกดูก หรือเม็ดมะกอก ตำจนป่น หากเป็นเม็ดลูกดูก(ข้างสนามบอลหน้าโรงเรียนหนองคอกเมื่อตอนที่ยังเป็นทุ่งเลี่ยงวัวควาย จะมีอยู่ต้นหนึ่ง) ก็ตำให้ป่นใส่ใบหญ้าคา บีบๆจนน้ำมันออกแล้วก็ใช้ทาตามแขนขาและหน้า กันผิวแตก

    หากเป็นเม็ดมะกอกก็ตำในกะลาแล้วก็อังไฟให้น้ำมันออก ก็จะได้น้ำมันมะกอกทางตัวได้อีกเหมือนกัน บางทีก็ใช้กากมะพร้าวที่มีกะทิและน้ำมันตกค้างอยู่ กำๆแล้วก็เอามาทาตามตัวได้อีกเหมือนกัน

    ตอนนั้นไม่ได้นึกถึงการประเทองผิวกันหรอก แต่กันผิวแตก เพราะมันหนาวและเนื้อตัวแตกปริจนเลือดซึมเลย มันเจ็บ

    เมื่อวานนี้ได้เจอคนหนองบัวด้วยครับ คืออาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์และคณะคุณครูโรงเรียนบ้านหนองไผ่ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ของเรานี่เอง อาจารย์พนมและคณะไปประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายครูวิจัยเพื่อจัดการเรียนการสอนส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน ได้นั่งคุยกันหลายเรื่อง มีทีมไปด้วยอีก ๓ คนเป็นคนห้วยร่วม ครูนาฏศิลป์ลูกหลานกำนันมา รอดสการคนหนึ่ง ครูคณิตศาสตร์คนบ้านเนินสอาดคนหนึ่ง และอีกคนหนึ่งเป็นคุณครูวิทยาศาสตร์ เป็นคนเพชรบูรณ์ อาจารย์พนมนี้เป็นสามีคุณครูสุนันท์ จันทร์ดิษฐ์ ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนหนองคอก และเป็นเพื่อผมกับเพื่อรักษ์พี่ของฉิกน่ะครับ

    แล้วก็เพิ่งรำลึกได้ว่าคุณครูพนมนี้เคยไปเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนว้นครู(๒๕๐๔) บ้านผมด้วย น้องผมซึ่งเป็นครูอยู่ที่หนองบัวด้วยบอกว่าอาจารย์เก่งมาตั้งนานแล้ว และตอนไปอยู่บ้านตาลินและโรงเรียนวันครู ชาวบ้านก็รัก

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    หนาวมาก ๆ นี่น้ำค้างจะตกโชกจนต้นข้าวนั้นเปียก

    เกี่ยวข้าวเปียกน้ำค้างนี่ปวดมืออย่าบอกใครเชียว

    มือไม่อยากกำข้าวเลยหนา

    กว่าแดดจะร้อนจนน้ำค้างแห้งก็สามโมงเช้าโน่นเลย

    เวลาเดินลุยน้ำค้างบนหัวคันนานี่เย็นไม่อยากก้าวขา เท้าก็แตกเจอน้ำค้างอีกแสบเหมือนเป็นแผล

    พอบ่าย ๆ ปวดหลังมาก ๆ ก็นอนบนซังข้าวนั่นแหละเป็นการเบรคไปในตัว ไม่ใช่อะไรหรอกเพราะมันปวดจะทนไม่ไหวต้องพักบ้าง

    ตอนกินข้างกลางวันนี่อร่อยจริง ๆ ไม่มีอะไรก็แกงผักบุ้ง(พริกเกลือ)ซดน้ำร้อน ๆ ชื่นใจดี อร่อยเพราะหิวที่เขาว่านั่นแหละ

    เสื้อองเสื้ออุ่นผ้านวมอะไรก็ไม่มีกับเขาเสียด้วยซิ

    กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ และทุกท่านที่เข้ามาช่วยกันแจกจ่ายความคิดเห็นครับ

    • ตอนนี้น่าเป็นห่วงพี่น้องชาวหนองบัวเป็นอย่างมากเลยครับ เมื่อสองสามวันก่อนผมโทรไปคุยกับพี่สาวถ่ามข่าวคราวเรื่องข้าวพี่สาวบอกว่าเกี่ยวข้าวกันหมดแล้ว ปีนี้บ้างคนข้าวเสียหายไปบางคนจากที่เคยได้มากก็ขาดไปประมาณคนละ สิบถึงยี่สิบเกวียน เพราะข้าวตายกันจำนวนมาก ชาวหนองบัวเลยขอแก้มือโดยการทำนาปรังกันมากขึ้นกว่าเดิม จากคนไม่เคยทำก็ทำเพราะเห็นว่าทางการได้ขุดลอกคลองสมอใหม่ตอนนี้น้ำเต็มครองก็จริงแต่ถ้ามีคนทำกันมากกลัวแต่ว่าน้ำจะไม่พอกันอีกคงต้องเอาใจช่วยกันต่อไปอีกแล้วครับ
    • หน้าหนาวก็สนุกดีครับเป็นเด็กก็เดินรัดตอซังข้าวเพื่อไปหาวิดน้ำจับปลาตามหนองหรือปลาตกคักตามมุมคันนา เมื่อผิวแห้ก็จะตึงแล้วก็แตก ผมเองก็เด็กทันสมัยขึ้นมาหน่อยมีครีมโลชั่น สปริงซอง หกบาททากันทั้งบ้านเมื่อทาแล้วก็แสบร้อนวูบวาบ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ปีที่ผ่านมาหลานสาวได้ทำนาปรังเป็นครั้งแรกในชีวิต

    ด้วยไม่เคยทำมาก่อนน้ำก็มีไม่มากเท่าไร

    พอข้าวโตฝนก็ไม่ตกน้ำก็เริ่มแห้งเพราะมีเจ้าอื่นสูบไปใช้ก่อนจนน้ำหมดทั้งคลองเลย

    ข้าวขาดน้ำจนเกือบจะแห้งตายอยู่แล้ว นาทีสุดท้ายมีฝนตกลงมาครั้งเดียวข้าวไม่ตายรอดตัวหวุดหวิด

    พี่ป้าน้าอาแซวหลาน ๆ ว่าถ้าฝนไม่ตกหนา ไม่ได้ข้าวแม้สักเม็ด นี่ดีนะที่มันยังได้ทุนคืน

    ตอนนี้กรุงเทพฯหายหนาวเสียแล้วครับ อากาศเย็นอยู่ไม่กี่วันครับ แต่แถวบ้านหนองบัวตอนนี้คงจะยังหนาวกันอยู่

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ พระคุณเจ้าพระมหาแล พี่ฉิกและทุก ๆ ท่านครับ

    หายไปสิบกว่าวัน วันนี้กลับมา พบว่ากระทู้นี้แตกแขนง /จูมดอก / ออกหมาก /เจริญงอกงามดีจังเลยนะครับ

    #212 ....=ใช่แล้วครับ น้อย/กวีศักดิ์ เรียนอยู่ห้องเดี่ยวกันตั้งแต่ ม.1/1 - ม.3/1 ได้ข่าวแว่ว ๆ ว่าเอ็นติดวิศวะ(ตอนนั้น) หัวหน้าชั้นก็เอ็นติดทันตแพทย์ มช. และเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ส่วนใหญ่แล้วคนที่อยู่ในตัวอำเภอจะพบกันบ่อย ส่วนผมนั้นอยู่ห่างจากตัวอำเภอออกไป 12 ก.ม. (ผ่านทางบ้านตาลิน) .... 16 ก.ม. (ผ่านทางห้วยด้วน/น้ำสาดกลาง) กลับบ้านทีไรก็ไม่ค่อยได้เจอเพื่อน ๆ สักเท่าไหร่

    เรื่องที่อาจารย์ขุน โอภาษี เล่าให้ฟังนั้นก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ ต้อนรับท่านและคณะอาจารย์จากโรงเรียนหนองคอก ประมาณ 20คน ด้วยความดีใจน่ะครับที่.....อยู่ไกลถึงสุดชายแดน ท่านยังนึกถึงและแวะมาหา ในจำนวนนั้นก็มีนักเรียนรุ่นน้องหลายคนที่เป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนเดิม ซึ่งการทำงานอยู่ที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย - ลาว ได้มีโอกาสพบปะผู้คนมากมายจากทุกมุมโลก /ได้ต้อนรับแขกที่มีความหลากหลาย การที่ครูบาอาจารย์มาหานี่ มันเป็นอะไรที่วิเศษจริง ๆ ครับ ........ สำหรับคนที่จากบ้านมาไกลแล้ว ..... จะเข้าใจความรู้สึกเหล่านี้ได้ดี

    ตอนกลับบ้าน ผมเคยแวะไปหาอาจารย์ขุน ที่โรงเรียนวังบ่อวิทยาครับ (เมื่อก่อนเป็นโรงเรียนสาขาของหนองคอก) รู้สึกว่าอาจารย์จะบอกว่าพี่ฉิกหรือนักเรียนรุ่นพี่ของผมนี่แหละ รวมตัวและรวมเงินกันจัดซื้อคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์การศึกษาไปมอบให้โรงเรียนวังบ่อหลายสิบเครื่อง โรงเรียนแห่งนี้อยู่เชิงเขา/ชายขอบของนครสวรรค์ / ติดชายแดนเพชรบูรณ์ ผมได้ฟังแล้วยังอดปลื้มใจแทนพวกพี่ๆ ไม่ได้เลย

    #214.....=โรงแรมที่ท่านอาจารย์วิรัตน์ไปพัก ชื่อโรงแรมแม่โขงรอยัลครับ เมื่อก่อน...เมื่อสัก10 ปีก่อนอยู่ในเครือฮอลิเดย์อินน์ เจ้าของผู้เป็นสามีในอดีตเป็นข้าราชการสรรพสามิตครับ ภรรยาเป็นนายกสมาคมวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย ส่วนลูก ๆ ก็ดูแลธุรกิจครอบครัวบ้าง เป็นนักการเมืองท้องถื่นบ้าง สถานที่ตั้งก็อยู่ในมุมที่สวยงามดีครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    ศิษย์เก่าหนองคอกที่ไปเป็นอาจารย์คณะทันตแพทย์ฯ มช.นี่ อาจารย์หมอเกี้ยใช่ไหม เคยทราบมาจากเพื่อนว่ามีน้องจบทันตแพทย์และเป็นอาจารย์อยู่ที่ มช. งั้นต้องเป็นรุ่นหลังๆหลายรุ่นเหมือนกันนะครับ

    ขอร่วมชื่นชมกับน้องๆที่มีการรวมตัวกันแล้วไปช่วยเรื่องโอกาสการพัฒนาการศึกษาและอื่นๆของชุมชนอย่างหนองบัวนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆไปให้ หรือแม้แต่พากันไปทำกิจกรรมกับวัด ชุมชน และชาวบ้าน อย่างที่กลุ่มพริกเกลือเคยช่วยกันทำเมื่อต้นๆปี เหมือนกับเป็นเครือข่ายพี่ช่วยน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน ศิษย์เก่าช่วยศิษย์ปัจจุบัน

    หน่วยงาน สถาบัน องค์กร ที่มีความพร้อมและเข้มแข็งกว่าในเมือง ช่วยหน่วยงานและแหล่งสร้างคน เช่นโรงเรียน หรือแหล่งดูแลสารทุกข์สุขดิบของชาวบ้านในชนบทที่ผู้คนได้รับโอกาสจากการพัฒนาน้อยกว่า อย่างนี้ก็ทำให้มีเครือข่ายการร่วมทุกข์สุขและใช้ทุนศักยภาพที่มีในสังคมเพิ่มโอกาสการพัฒนาตนเองได้ดีมากขึ้นนะครับ จนเงินจนงบประมาณและทรัพยากร แต่รวยและมั่งคั่งทางน้ำใจต่อกันนี่ ก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้สุขภาวะเผื่อแผ่ไปสู่กันได้มากขึ้นครับ เลยคุยแบบช่วยรณรงค์ส่งเสริมไปด้วยเลยน่ะครับ

    โรงแรมแม่โขงรอยัลนั้นคงจะใช่แล้วครับ เจ้าของเป็นอดีตข้าราชการสรรพสามิตอย่างที่คุณสมบัติว่านั่นแหละครับ

    โอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาชีวิตเพื่อพึ่งตนเองได้

    น้องผมเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนหนองคอก เคยออกไปเยี่ยมนักเรียนที่บ้าน ไกลออกไปจากโรงเรียน แต่เดิมก็รู้สึกว่าลูกศิษย์ยากจนและมีสภาพที่ลำบาก แต่พอไปเห็นสภาพแล้วคุณครูที่เป็นน้องผมนี้ก็เล่าให้ฟังว่า สภาพการเป็นอยู่ทั้งลำบากและน่าเวทนาเกินกว่าที่คิดเห็นภาพไว้แต่แรกมากเข้าไปอีกหลายเท่า เป็นเด็กผู้หญิงและอยู่กับแม่ที่ป่วย ดูเหมือนจะเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตด้วย บ้านเป็นเพิงสังกะสีผุพัง การกินอยู่แร้นแค้น ดูแล้วแค่ทนเรียนให้จบมัธยมชีวิตก็คงจะสาหัสทั้งเด็กและแม่ อนาคตก็ไม่ต้องพูดถึงเลย 

    พอคุยกันแล้วก็หารือกันว่าจะหาทางช่วยอย่างไรดี ในที่สุดก็ตกลงกันว่าจะช่วยให้เด็กได้ทำงานไปด้วยให้มีรายได้พอใช้จ่ายเพื่อตนเองและเพื่อดูแลแม่เล็กๆน้อยๆ แล้วก็ให้ได้ทักษะทั้งทักษะชีวิตและทักษะวิชาความรู้ หากเรียนต่อไม่ได้ก็จะได้ประสบการณ์ตรงให้พอมีความมั่นใจในชีวิตพอเลือกทางไปได้ดีกว่าเดิมบ้าง แต่ถ้าหากมีโอกาสเรียนต่อก็จะได้มีคุณครูและเพื่อนๆเป็นพี่เลี้ยงดูแลให้เรียนรู้เพื่อจะทำงานไปด้วยและเรียนไปด้วยเสียตั้งแต่เนิ่นๆ

    คุณครูของเธอที่เป็นน้องผม บอกว่าเด็กเป็นคนเรียนดีและมีฝีมือทางศิลปะ มีความอดทนทำงานดี อัธยาศัยดี ผมเลยไปเดินเลือกซื้อสีและอุปกรณ์ทำงานศิลปะ เป็นชุดสีเขียนแสตมป์อย่างดีชุดใหญ่ซึ่งเป็นสีที่นักเรียนศิลปะ รวมทั้งผมเองด้วย มักใฝ่ฝันอยากได้ใช้ กับสีโปสเตอร์ พู่กัน และกระดาษ แล้วก็มอบให้น้องไปมอบให้นักเรียนคนดังกล่าวนั้น

    พอเด็กได้สีและวัสดุอุปกรณ์สำหรับทำงาน อีกทั้งเพื่อนๆและครูทราบสถานการณ์ ก็มาขอให้เด็กทำงานฝีมือศิลปะให้ เช่น ทำการ์ดแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆแก่คนที่รักนับถือ แล้วก็ให้ค่าตอบแทนคนละเล็กละน้อย 

    ผมเอาผลงานของเธอไปโพสต์เผยแพร่ให้ในเว็บของศิษย์เก่าเพาะช่าง เพื่อให้เธอเห็นผลงานตนเองอยู่ในนั้นและเกิดพลังใจว่าเธออยู่ไม่ไกลเลยกับคนทำงานมีอาชีพในวงการของประเทศและสถาบันศิลปะแถวหน้าของประเทศแห่งหนึ่ง

    ครั้งหนึ่งพวกผมพี่ๆน้องๆในฐานะศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองบัว ก็ขอร่วมกับโรงเรียนให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนสมทบกับศิษย์เก่าและครูอาจารย์อื่นๆ เธอก็ได้รับทุนการศึกษาด้วย

    ผ่านไป ๓-๔ ปีคงจะได้ เมื่ออาทิตย์ก่อน คุณครูของนักเรียนที่เป็นน้องผม บอกว่า เด็กได้เรียนต่ออาชีวศึกษา สาขาศิลปหัตถกรรมที่นครสวรรค์ และบอกว่าเรียนได้ดี อยู่ที่หนึ่งหรืออันดับต้นๆตลอด ได้ทราบแล้วก็พอจะประมาณได้ละครับว่าไปรอดแล้ว ทั้งชีวิตของเด็ก แม่และคนรอบข้าง ซึ่งสภาพย่ำแย่กันทั้งนั้น

    แถวหนองบัวคงยังมีคนขาดโอกาสกันอีกมากนะครับ แต่การช่วยดูแลกันผ่านการได้สร้างคน สร้างโอกาสการศึกษา พัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพให้กับชุมชนเพื่อเป็นทุนชีวิตนี่ ก็เป็นการให้ที่จะก่อเกิดความงอกงามและได้พัฒนาต่อไปให้ยั่งยืนได้มากอย่างหนึ่งเช่นกันครับ การคุยเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวทางข่าวสาร ความรู้ และการรับรู้ตนเองต่างๆอย่างนี้ ก็คงถือว่าเป็นการแบ่งปันเกื้อหนุน และให้ปัญญาความรู้เป็นทาน ที่ดีมากด้วยเหมือนกันครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขออนุโมทนากับอาจารย์ คุณครูและทุกท่านที่ได้ช่วยน้องให้ได้รับโอกาสดี ๆ

    ฟังตอนแรกนึกว่า ยังไม่มีใครหยิบยื่นโอกาสให้เธอเสียแล้ว

    ได้ฟังแล้วก็ชื่นใจแทนน้องไปด้วยเลย

    ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลายที่มีเมตตาต่อผู้ด้อยโอกาสขาดโอกาส

    ให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาการศึกษาพัฒนาตัวเองซึ่งเกือกจะหมดหนทางอยู่แล้ว

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์

    ใช่แล้วครับ....... เพื่อนเกี้ยนั่นเอง

    เรื่องที่ชวนอาจารย์ไปร่วมงานสถานทูตลาวที่กรุงเทพฯนั้น พอเอาเข้าจริง ๆ มีงานเข้าครับ ทั้งสนามบินนานาชาติอุดรธานี/สนามบินนานาชาติขอนแก่น/ร่วมงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวา มหาราช ณ ศูนย์แสดงสินค้า LAO ITECC ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว .........งานรวมศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว 6 ธันวาคม ตามที่นัดหมายกันไว้แต่เดิมนั้น พอถึงเวลาจริง ๆ ชักจะไม่ค่อยมั่นใจแล้วครับ สุดท้ายหากไปไม่ได้จริง ๆ จะฝากเงินไปร่วมทอดผ้าป่าโรงอาหารผ่านหลาน ๆ ที่ยังเรียนที่นั่นครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์ มหาแลครับ

    อย่างที่พระคุณเจ้าบอกว่าได้ทราบแล้วชื่นใจนี่ ต้องนับว่าสื่อและช่องทางการได้รับรู้โลกรอบข้างจากสื่ออย่างอื่นจะไม่สามารถให้ได้อย่างที่ทุกท่านกำลังได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกันในเวทีของชาวหนองบัวนี้เลยนะครับ

    เรามีโอกาสนำเอาเรื่องของชาวบ้านในชุมชนเล็กๆมาคุยถึง แล้วก็เป็นการได้รู้ที่สร้างความชื่นใจ ไม่เหมือนกับข่าวสารทั่วไป ซึ่งถึงแม้จะทำให้ได้รับรู้กว้างขวาง แต่กลับมักทำให้ร้อนใจ

    เรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างนี้เกิดขึ้นเพราะมีการได้ทำสิ่งดีๆกันหลายอย่างให้เป็นเหตุปัจจัยนำมาก่อน พูดอย่างนี้ก็คงได้นะครับ เป็นหลักแห่งอิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุปบาททางสังคมเหมือนกันนะครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติ ฆ้อนทองครับ : เหมือนกันเลยทีเดียวครับ อยากเจอเพื่อนๆก็อยากเจอ ณ เวลานี้ยังตั้งใจอยู่ครับว่าจะแว่บไปให้ได้ อย่างน้อยก็ไปตอนเย็นแล้วก็กลับดึกๆ นั่นเลย แต่ไม่รู้จะวางมือจากงานพอให้คลายกังวลใจไปได้ไหม

    สวัสดีทุกท่านเลยครับ ตกลงผมไม่ได้ไปครับคุณสมบัติและทุกท่านๆครับ จะมีใครเอารูปถ่ายกิจกรรมในวันทอดผ้าป่ามาเผื่อแผ่กันดูไหมครับเนี่ย แต่มีเพื่อนๆคุยถ่ายทอดเรื่องราวให้ทราบตลอดตั้งแต่ก่อนถึงวันงานกระทั่งอยู่ในบรรยากาศของการพบปะสังสันทน์และเสร็จสิ้นงาน

    ทราบว่ามีผู้คนไปร่วมมากมาย รุ่นผมรุ่นที่ ๑๔ ก็มากันร่วม ๔๐ คน ระดมทุนจากกองผ้าป่าทั้งหมดได้กว่าล้านบาท คุณครูโสภณ สารธรรม ผู้อำนวยการ และคุณครูสืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการและเป็นผู้ประสานงานของรุ่น คงมีกำลังใจหายเหน็ดเหนื่อยทีเดียว

    มองย้อนกลับไปในยุคผมนี่ คงมองล่วงหน้ามาถึงวันนี้ไม่ออกเลยครับ เพราะเมื่อก่อนนี้ ตอนอยู่โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) แรกๆก็ใช้ห่อข้าวใส่ใบตองไปกินที่โรงเรียน พอเริ่มมีกล่องข้าว ก็ใช้กล่องข้าว ตั้งแต่เป็นกล่องสังกะสีซึ่งชอบบุบบูบี้ และต้องใช้แบบสืบทอดกันตั้งแต่รุ่นพี่ไปจนถึงรุ่นน้องๆหลายรุ่น ผ่านไปจนจบจากหนองคอกตั้งหลายปีแล้วถึงจะเข้าสู่ยุคกล่องพลาสติก แล้วก็ต่อมาอีกตั้งหลายปีถึงได้มีถุงพลาสติก เริ่มจากถุงเย็นสำหรับใส่นมเย็นกระทั่งเป็นถุงใส่ของร้อนได้

    ตอนไปอยู่หนองคอก พอถึงมื้อกลางวัน ก็เดินเอากล่องข้าวไปนั่งกินด้วยกันตามใต้ต้นไม้ กินๆไปก็โยนให้แย้ออกจากรูมากินไปด้วย

    สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    ระดมทุนได้มากกว่าล้านบาทนี่ทำให้หลายๆ ท่าน หลายๆ ฝ่ายหายเหนื่อยไปเลยนะค่ะ ชื่นใจแทนชาวหนองบัวค่ะ ขออนุโมทนาด้วยค่ะ ^^

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) [IP: 118.172.151.111]
    เมื่อ พฤ. 12 พ.ย. 2552 @ 11:23
    #1670147 [ ลบ ]

    เห็นข้าวห่อใบบัว

    ทำให้นึกถึงข้าวห่อใบตองพลวง(ควง)ที่หนองบัวเลย

    ห่อไปนาไปไร่ไปเลี้ยงควายไปหาหน่อไม้ในป่ากินกับเมนูแกงพริกเกลืออร่อยดี

    ^
    ^

    เห็นอาจารย์พูดถึงข้าวห่อใบตอง เลยนึกถึงพระคุณเจ้าท่านได้โพสข้อความไว้ที่บันทึก ด้วยน้ำมือ : พลังปัจเจกเพื่อสร้างสุขสาธารณะ”  ว่าจะแวะมาถามหลายครั้งแล้วแต่ลืมค่ะ “ข้าวห่อใบตองพลวง(ควง)ที่หนองบัว” มีเฉพาะที่เหรอค่ะ แล้วหน้าตาเป็นอย่างไรหนอใบตองพลวง (ตวง) อ่ะค่ะ หอม อร่อยกว่าการห่อด้วยใบตองทั่วๆ ไปไหมค่ะ?

    ขอบคุณค่ะ

    สวัสดีทุกท่านครับ เพิ่งมาถึงกทม. เมื่อคืนนี้ (20.30 7 ธ.ค.) ออกจากกทม.ประมาณเก้าโมงเช้าวันที่ 6 ธ.ค. ยกโขยงไปกันหมดเลยทั้งครอบครัวเมียและลูกสาวลูกชายอีก รวม 4 ชีวิต จะไปเยี่ยมแม่ด้วย ตอนแรกพี่สาวคนโตที่ฝั่งธนจะไปด้วย ไปเยี่ยมแม่ แต่โทรมาบอกตอนเช้าที่จะออกเดินทางว่าไม่ไปแล้ว ไว้สัปดาห์หน้าจะให้ลูกสาวเค้าขับรถไปให้ พอมีที่ว่างอยู่บ้างก็เลยโทรไปหาแดงเพื่อนกัน (ลูกสาวกำนันเทิน) พอดีเค้าก็ยังทำธุระไม่เสร็จ จะนั่งรถตู้ไปหนองบัวเอง ตัวเราตั้งใจจะไปถึงหนองบัวประมาณเที่ยงๆบ่ายๆ เพื่อไปดูสภาพโรงเรียน และอื่นๆ รวมทั้งจะได้ไปเจอเพื่อนเร็วๆ พอขับรถไปถึงดอนเมืองน้องสาวที่หนองบัวโทรเข้ามาบอกว่า แม่ไม่สบายพี่ชายกับพี่สาวพาไปหาหมอที่ นว.เมือเช้า และหมอบอกว่าอาการไม่ค่อยดี ให้อยู่ ICU ก็เลยต้องบึ่งเข้าไปดูอาการแม่ที่ รพ.ศรีสวรรค์แทน ไปถึงก็เกือบบ่ายแล้ว แม่นอนอยู่บนเตียงไม่รู้สึกตัว หมอให้อ๊อกซิเจนอยู่ ใจคอไม่ค่อยดีเหมือนกัน พี่สาวที่ฝั่งธนที่กะจะไปเยี่ยมแม่สัปดาห์หน้าก็เลยชวนพี่ชาย-รักษ์ ตามมาที่ รพ.ด้วย เค้ามาถึงเอาก็บ่ายแก่ๆ ก็รอจนตอนเย็นได้เจอคุณหมอ ซักถามอาการ หมอบอกว่า เป็นเพราะร่างกายได้รับอ๊อกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้มีคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ในเลือดค่อนข้างสูง แต่ตอนนี้ดีขึ้นแล้วปริมาณ Co2 ลดลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว และแม่ก็เริ่มรู้สึกตัวบ้าง ถามตอบพอได้ โดยการผงกหัวหรือส่ายหัว ก็เลยสบายใจไปได้เยอะ

     

    คือแม่เนี่ย ปอดไม่ค่อยดี เคยเป็นวัณโรคเมื่อกว่า 30ปีมาแล้ว แต่ก็รักษาจนหายไปนานแล้วเหมือนกัน แต่ก็ทำให้ปอดเสียหายไปเยอะ และช่วง2-3ปีมานี่ เริ่มไม่ค่อยมีแรง เดินจากบ้านไปตลาด ซึ่งห่างกันประมาณ 100เมตรก็ไม่ค่อยจะไหว ปกติแกจะไปจ่ายตลาดทุกเช้า ยังจำได้ตอนเด็กๆ จะรอแม่กลับจากตลาด ซึ่งแม่จะมีขนมมาให้เด็กๆได้กินก่อนมื้อเช้าอาทิเช่น ขนมครก ขนมถ้วย ขนมข้าวโปง(เดี๋ยวนี้หากินยากแล้ว) และอีกหลายๆอย่าง แต่ไม่ได้ซื้อมาเยอะนะ แค่พอให้แย่งกันกิน แต่ไม่ซ้ำกันจะเปลี่ยนไปแต่ละวัน แต่ที่ไม่ชอบให้แม่ซื้อมาคือถั่วงอก เพราะเราจะต้องมาเด็ดรากออก โอ๊ยกว่าจะเสร็จเรารู้สึกว่ามันใช้เวลานานมาก แต่แม่ก็ชอบซื้อมาจัง คงเพราะมันถูกตังค์และได้จำนวนเยอะด้วย เอามาผัดกินหรือไม่ก็เอามาทำแกงจืดกับหมูบะช่อ (คนจีนจะเรียกว่าทึง) ...รู้สึกว่าได้เล่าเรื่องสมัยเด็กๆแล้วมันมีความสุขอย่างไรก็ไม่รู้

     

    กลับมาเรื่องอาการของแม่อีกที ช่วงครึ่งเดือนที่ผ่านมานี่ น้องสาวที่อยู่กับแม่ที่หนองบัวก็บอกว่า แม่ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง แม้แต่จะลุกไปห้องน้ำหลังบ้านก็ยังไม่ค่อยไหว เอาแต่นอนอย่างเดียว เตี่ยก็จะบ่นว่าแม่อยู่บ่อยๆ (เตี่ยอายุ 88 แม่อายุ 85) แต่เห็นน้องบอกว่าเตี่ยก็เป็นห่วงแม่มาก กังวลทำให้นอนไม่ค่อยหลับ กลายเป็นว่าอีกคนก็เอาแต่นอน อีกคนก็นอนไม่ค่อยหลับ กรรมมาตกเอาที่น้องสาวนี่แหละที่ต้องมาดูแลคนแก่ 2 คน ด้วยสาเหตุของปอดนี่แหละที่ทำให้มี Co2 ค่อยๆสะสมอยู่ในเลือดเพิ่มขึ้นๆ เลยมีอาการเซื่องซึม ไม่มีแรง นั่งหลับคอตกเหมือนสมัยเราเรียนหนังสือในห้องเลย จนแม่เกือบจะน็อคไปแล้ว ก่อนกลับเข้ากทม. เมื่อวานออกจากหนองบัวก็ได้แวะไปเยี่ยมแม่อีกที แม่ลืมตาได้แล้ว มีอาการดีขึ้นมากเลยจนคลายความกังวลใจไปได้เยอะมาก ตอนนี้นอกจากหายใจเองทางจมูกแล้ว ก็ยังต้องให้อ๊อกซิเจนต่อท่อเข้าทางปากอีกที แกก็พยายามจะพูดนะ แต่ยังพูดไม่ได้ ยังติดที่มีท่อหลอดอยู่ในปากอยู่

     

    วันนั้นกว่าจะออกจาก รพ.เพื่อไปหนองบัวก็ทุ่มครึ่งได้ แล้วแวะส่งพี่สาวและกินข้าวเย็นที่ชุมแสงอีก ไปถึง บ้านที่นบ.ก็ 3 ทุ่มกว่าๆ อาบน้ำเสร็จเข้าไปที่งาน รร.หนองคอกก็เกือบ 4 ทุ่ม บางคนก็ทยอยกลับกันบ้างแล้ว แต่เพื่อนๆทุกคนยังรอเราอยู่ในงาน ขอบคุณเพื่อนๆทุกคนที่เป็นห่วงอาการแม่ คนมาร่วมงานเยอะมาก รุ่นผม (17) ก็เกือบ 40 คน เสียดายไม่ได้ถ่ายรูปในงานมาให้คนที่ไม่มีโอกาสได้ไปร่วมงานได้ดู แต่ผมก็ได้กลับเข้าไปที่ รร.อีกทีตอนเช้าก่อนกลับ เพื่อไปร่วมทำบุญผ้าป่าครั้งนี้ด้วย รวมทั้งของเพื่อนบางคนที่ฝากมากับผม เนื่องจากเมื่อคืนเพื่อนได้รวบรวมและส่งให้ รร.เรียบร้อยแล้ว เมื่อคืนไปในงานไม่ได้ควักตังค์ซักบาท เห็นรุ่น14 พี่วิรัตน์ได้กว่าล้านบาทแล้ว รุ่นผมนี่เด็กๆเลย แต่ก็รวบรวมได้ 7 ล้านกว่า(กีบ) คิดเป็นเงินไทยก็ 3 หมื่นกว่าบาท แต่ไม่ว่าใคร-รุ่นอะไรจะได้เท่าไหร่ ก็ถือว่าได้มีส่วนร่วมในการตอบแทน รร.เก่าของเราที่ทำให้เราเป็นอยู่ในตอนนี้ อย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้

     

    ตอนเช้าวันรุ่งขึ้นได้เข้าไป รร. ได้ไปเจออาจารย์ลี (ที่เห็นนั่งมอเตอร์ไซด์หน้าโรงอาหาร)เป็นรุ่นพี่ 1 ปี (รุ่น16) อาจารย์ลีได้พาไปดูบริวเวณอาคารเก่า ตอนผมเข้าไปเรียนม.ศ.1 นี่มีอยู่ 2 หลัง เป็นอาคารไม้ 2ชั้น ถ้าจำไม่ผิดน่าจะมีชั้นละ2ห้องเรียน ซึ่งได้ถูกรื้อออกไปแล้ว และได้สร้างองค์พระไว้ มีบันได2-3ขั้นขึ้นไปกราบไหว้องค์พระ ซึ่งตรงกับบริเวณบันไดขึ้นอาคารเดิม ตอนเรียน ม.ศ. 1 จะได้เรียนอาคารนี้ ด้านหน้าจะเป็นเสาธง มาเข้าแถวเคารพธงชาติทุกเช้า ด้านหลังอาคารจะมีต้นไม้ใหญ่อยู่ต้นหนึ่งจำไม่ได้ว่าต้นอะไร (ไม่ได้จำด้วยสมัยเรียน) ซึ่งจะบังโรงอาหารเล็กๆที่อยู่ถัดเลยออกไปอีก เป็นโถงหลังคาสังกะสีไว้กันแดดกันฝน พื้นเป็นดิน มีแม่ค้าอยู่รายเดียว ป้ารวย อาหารก็มีให้เลือกอยู่ 2 อย่างคือเลือกจะกินหรือไม่กิน สมัยนั้นพวกเราจะนิยมเอาข้าวพร้อมกับข้าวใส่ตลับอลูมิเนียมไปนั่งกินกันใต้ร่มไม้แถวชายป่า จับกลุ่มกันกิน นานๆผมจึงจะได้ใช้บริการโรงอาหารซักที ฉะนั้นผมกับโรงอาหารก็เลยไม่ค่อยได้ผูกพันกันซักเท่าไหร่ ถัดจากอาคารไม้ไปก็จะเป็นอาคารปูน 2 ชั้น ที่นี่ผมได้มาเรียนตอนม.ศ.2 อยู่ชั้นล่างห้องริมในสุด ด้านหลังจะเป็นแท้งค์น้ำทำด้วยปูนทรงกระบอกสูงเลยชั้นล่างขึ้นไป น่าจะมีซัก 6 แท้งค์ได้ หนองบัวก็อย่างที่รู้ๆ น้ำท่านี่ขาดแคลนหนักโดยเฉพาะหน้าแล้ง อ.ลีบอกว่าอาคารนี้ได้มีการต่อเติมขยายยาวออกไปอีก พอดีไม่มีเวลาพิจารณาเท่าไหร่ เลยไม่ได้ขึ้นไปสำรวจ อีกอาคารเป็นอาคารใหม่ 2 ชั้น แต่ชั้นล่างจะยกสูงเป็นที่จอดจักรยาน และใช้เป็นที่สวดมนต์ของนักเรียนตอนเย็นวันศุกร์ อาคารหลังนี้เสร็จใช้ครั้งแรกตอนผมอยู่ ม.ศ.3 พอดี สรุปผมเรียนที่นี่ 3 ปี ได้ใช้ 3 อาคารเรียนเลย ปัจจุบันมีอาคารอีกหลายอาคารก็ขยายตัวตามจำนวนนักเรียน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,800 คน ม.1-ม.6

     

    สำหรับโรงอาหารใหม่ ถ้าสมัยก่อนจะมีประตูเล็กซึ่งเป็นประตูหลักที่ผมใช้ประจำ ถ้ามาจากหลังอำเภอก็จะขนานไปกับถนนใหญ่เป็นทางเล็กๆ (แต่ก็กว้างพอประมาณถ้าเทียบกับจักรยานพาหนะหลักที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่) ถ้าเข้าประตูนี้เข้ามาขวามือจะเป็นบ้านพักครู และมีสระน้ำเล็กๆ น้ำใสแจ๋ว (พูดให้เห็นภาพแบบประชด) ไปคราวนี้ลืมสังเกตสระน้ำนี้ น่าจะเป็นบริเวณนี้นะที่จะใช้สร้างโรงอาหารแห่งใหม่ ส่วนโรงอาหารปัจจุบัน ก็คือโรงอาหารที่เคยใช้มาแต่เดิม และโครงเดิมก็ยังอยู่เป็นศูนย์กลาง แต่ได้ขยายออกไปทุกทิศทางทั้ง 4 ทิศ จนขยายออกไปไม่ได้แล้ว ผมได้ถ่ายรูปมาให้ดู จะเห็นหลังคามีแสงรอดออกมาเยอะแยะ ถ้าฝนตกลูกหลานเราน่าจะกินข้าวอร่อยน่าดูเลย อ.ลีได้ชี้ให้ดูภายในโรงอาหารซึ่งได้ติดตั้งทีวีไว้ให้นักเรียนได้ดูภาพอย่างเดียว ส่วนเรื่องเสียงนี่ให้ฟังเสียงพัดลมระบายอากาศเอา ก็หวังว่าโรงอาหารหลังใหม่เสร็จแล้ว นักเรียนคงจะได้มีสถานที่ทานอาหารที่ดีกว่าเดิม และก็ได้งบจากจังหวัดมาสร้างอาคารคู่กันอีก 1 หลัง

    ป.ล. ไม่เคยเอารูปขึ้นที่นี่ ยังงงๆอยู่ 

    โล่งอก คิดว่าจะเอารูปขึ้นไม่ได้ซะแล้ว

    อีกอย่าง ข้อความมันค่อนข้างยาว เลยไปทำไว้ในเวิร์ดแล้วก๊อปมา ตอนเอามาไว้ที่นี่ตัวมันเล็ก ยังเสียวๆว่าผู้อาวุโสแบบเราจะมองเห็นรึปล่าว แต่พอเอาขึ้นไปแล้ว โอ้โฮตัวใหญ่กว่าคนอื่นเลย

    ใบตองพลวงนี่เดี๋ยวนี้หายากแล้วนะ เมื่อก่อนที่บ้านจะมีคนเอามาขาย ซื้อเอาไว้ห่อผ้าที่มีคนเค้าเอามาให้ที่บ้านย้อม

    ลักษณะก็คล้ายๆใบสักแหละ อธิบายไม่ค่อยจะถูก รอผู้รู้จริงมาอธิบายละกัน

    สวัสดีครับฉิก

    • ก่อนอื่นฝากความเคารพถึงเตี่ยและแม่ด้วยนะครับ ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงได้อำนวยพรให้แม่ได้สุขภาพดี มีความสุขใจ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรและเป็นหลักใจให้ลูกหลานเหลนไปนานๆ รวมทั้งขอกราบคารวะเตี่ย ฝากรำลึกถึงรักษ์และหลานแฝดที่น่ารัก น่าภูมิใจ ทั้งสอง ด้วยนะครับ
    • พี่เขียนติดกันพรึ่ดไปหน่อยเลยทำให้สื่อความเข้าใจผิดว่ารุ่น ๑๔ คือรุ่นพี่ระดมทุนได้ตั้งล้านกว่าบาท
    • คือ..พยายามบอกให้เพื่อนๆได้รับทราบไปในตัวว่า รุ่น ๑๔ นั้นมากันได้ถึง ๔๐ คน ก็ถือว่าพอใช้ได้ครับ
    • แต่ที่ได้ล้านกว่านั้น หมายถึงรวมยอดจากกองผ้าป่าทั้งหมดน่ะ พยายามนำมาสื่อสารให้พรรคพวกเราที่ไม่ได้ไปพอได้ติดตามข่าวคราวของกิจกรรมจากบล๊อกนี้น่ะครับ ขออภัยครับ
    • ขอชมว่าฉิกเป็นสื่อให้กับชาวหนองบัวและเป็นสื่อรายงานกิจกรรมได้ดีจริงๆ มีรูปถ่ายมาให้ดูด้วย สักพักก็คงทำได้อย่างใจมากขึ้นเรื่อยๆนะครับ
    • เรื่องมีน้ำในสระหรือในบ่อใสแจ๋ว เพื่อทำเป็นประชดตนเองและให้เป็นเรื่องอำกันให้ขำๆของคนหนองบัว โดยเฉพาะแถวหนองคอกนี่ ก็เป็นเรื่องที่เล่นกันมานานครับ อย่าว่าแต่พวกเราที่เรียนหนองบัวเลย พวกชาวบ้านและญาติพี่น้องผมเวลาเขาได้ไปเห็นน้ำตามแหล่งต่างๆของโรงเรียนและหนองคอก ก็มักจะพูดอำกันเล่น ๒ อย่างคือ น้ำใสแหนวเลย หรือไม่ก็บอกว่า น้ำสระโอวัลติน
    • แต่รุ่นผมนี่ก็เริ่มมีแท๊งค์น้ำซีเมนต์แล้วครับ และต่อมาก็เริ่มมีหลายๆแท๊งค์ กระทั่งมีน้ำประปา(ที่เดินท่อมาจากพิจิตร ?)

    ที่ คห.๒๓๓ ผมได้คุยถึง : โอกาสการพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง แล้วก็ยกตัวอย่างของนักเรียนของโรงเรียนหนองบัวซึ่งยากจน และทำท่าว่าจะหมดโอกาสได้เรียนหนังสือ แต่ครูและเพื่อนๆได้ช่วยให้ได้ใช้ทำงานศิลปะหารายได้พอได้ดูแลตนเอง และต่อมาได้เรียนต่อสาขาศิลปหัตถกรรม ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา นครสวรรค์ เป็นคนเรียนเก่ง

                                       

    เมื่อสักครู่ผมลองแวะไปเยือนเว็บศิษย์เก่าของโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งผมเป็นศิษย์เก่าของที่นั่น ดูไปดูมาก็ได้เจอผลงานของน้องเขาที่ผมเอาไปเผยแพร่ให้ในเว๊บนั้น เลยขอเอามาโพสต์ไว้ให้ดู เธอชื่อ ศรีสมร เร่งสูงเนิน ครับ คงจะเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ หรือเป็นญาติพี่น้องของใครบ้างกระมังครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณศักดิ์ศรี

    ขอให้คุณแม่หายไว ๆ และมีสุขภาพดีร่างกายแข็งแรงเป็นพระในบ้านของลูกหลานอันยาวนานต่อไป

    อนุโมทนาต่อผู้มีจิตศรัทธาที่ได้สละทุนทรัพย์เพื่อการศึกษาสำหรับเยาวชนหนองบัวเราด้วย

    ขอบคุณคุณศักดิ์ศรีที่ได้นำข่าวสารกิจกรรมอันเป็นกุศลครั้งนี้จากหนองบัวมาให้ได้รับรู้กัน

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    จากความเห็นที่ ๒๓๙

    ขอตอบอาจารย์ณัฐพัชร์ที่ถามเรื่องข้าวใบตองพลวง(ควง)

    หน้าตาต้นพลวงน่าจะหาได้ในอินเตอร์เน็ตนะอาจารย์-คล้ายใบเหียง(แต่ใบเหียงนั้นมีขนที่ใบและเมื่อจับจะคายและคัน)

    ลักษณะใบเป็นรูปไข่ กว้างประมาณ ๑๕.๒๘ ซม. ยาวประมาณ ๑๕.๔๐ ซม. ปลายใบสอบทู่

    ใบตองพลวงใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง

    ทางอีสานใช้ห่อข้าวเหนียว

    ใช้ห่อยาสูบ

    ทำห่อหมก

    สานทำฝาบ้าน

    มุงหลังคา

    เคยทำเป็นหลังมุงเกวียนประทุน(คนรุ่นหลังไม่รู้จักแน่)

    ที่คุณศักดิ์ศรีว่าคล้ายใบสัก ใช้ห่อผ้าที่นำมาย้อมก็ถูกต้อง

    คนหนองบัว-หนองกลับ ใช้ทำประโยชน์เยอะ แต่ที่เห็นเด่นชัดคือใช้ห่อข้าวไปนาไปไร่

    เมื่อก่อนชาวบ้านทำขนมจีกกินเอง ก็ใช้ใบตองควงปูที่ตะแกรงไว้รองเส้นขนมจีนแทนผ้าขาว

    เก็บไว้ใช้ได้นาน ๆ โดยชาวบ้านจะนำใบตองควงมาตากแดดให้แห้งแล้วเก็บไว้ในครัวร้อยเป็นพวงด้วยตอก

    ใช้ได้ทั้งใบสดและใบแห้ง(ใบแห้งจะกรอบหักง่าย คนห่อต้องมืออาชีพ)

    ใบสดอังไฟให้อ่อนตัวจะมีกลิ่มหอมห่อข้าวสะดวกไม่ฉีกขาดง่าย(ถ้าห่อไม่เป็นก็ขาดทำให้ใช้หลายใบซ้อนกันสิ้นเปลืองอีก)

    ใบบัว -ใบตองกล้วยฉีดขาดง่ายกว่าใบตองควง

    ปัจจุบันหาได้ยากซะแล้ว

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เห็นรูปการ์ตูนที่วาดโดยน้องศรีสมร เร่งสูงเนิน สวยมากไม่แพ้มืออาชีพเลย

    ก็ขออนุโมทนากับอาจารย์วิรัตน์ที่นำมาเผยแพร่ให้ชาวหนองบัวได้เห็นผลงานของเธอ น้องศรีสมรจะมาแนะนำตัวเองบ้างก็ได้นะ ถือว่าเวทีนี้เป็นเวทีคนบ้านเรากันเอง

     อาจารย์และหลายท่านที่สนับสนุนให้โอกาสหนูคงจะดีใจไม่น้อยเลยหนา

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข (อาสโย) และสวัสดีคุณศักดิ์ศรี-ฉิก ค่ะ

    • ขอบพระคุณพระคุณเจ้า และคุณฉิกที่มาให้ความกระจ่างเรื่องของใบตองพลวงค่ะ
    • ก็ได้ลอง search หาจากใน Internet มาบ้างแล้วค่ะ แถมยังได้เกร็ดความรู้เรื่องของใบตองพลวง ที่นอกเหนือจาก การนำไปห่อข้าว มุงหลังคา ทำฝาบ้าน หรือสานเป็นฝาเพื่อนำไปปิดถังน้ำ ป้องกันน้ำหกเวลาเคลื่อนย้ายด้วยหล่ะค่ะ
    • เช่น ใบตองพลวง ทางภาคเหนือจะเรียกว่า ใบตองตึง
    • ใช้จับนกเขา  เค้าบอกว่าให้นำข้าวเปลือกไปโรยใส่ใบตองพลวง (กุง) แล้วนำไปวางไว้ในที่นกเขาชุกชุมในตอนเช้า แล้วนกเขาจะลงมากินข้าวเปลือก ใบตองเมื่อถูกแดดเผาก็จะห่อเอานกเขาไว้ข้างใน เราก็ไปเก็บนกเขาได้ค่ะ
    • การเจริญเติบโตของสมุนไพรจากธรรมชาติ เห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ ในภาษาถิ่นทางภาคเหนือ จะขึ้นได้ดีเมื่อใบตองพลวงร่วงลงพื้น สะสมจนเป็นเชื้อชั้นดี อุดมสมบูรณ์ เห็ดถอบก็จะเจริญได้ดีค่ะ
    • ฯลฯ ค่ะ ^^
    • คุณฉิกค่ะ สุขภาพของคุณแม่เป็นอย่างไรบ้างค่ะ ขอให้ท่านสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง โดยเร็ววันนะค่ะ

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล  อาจารย์ณัฐพัชร์ และทุกท่านครับ

    • แถวหนองบัวแต่เดิมนั้นเต็มไปด้วยป่าตองพลวงครับ ทางเหนือก็มีและเรียกใบตองตึง
    • ที่หนองบัวนั้นผมเคยเห็น แต่ไม่เคยใช้อห่อของเอง บ้านของชาวบ้านแถวหมู่บ้านคนเผาถ่าน ริมทางจากตลาดไปโรงเรียนหนองคอกแต่เดิมนั้น ก็เคยเห็นว่ามุงด้วยไปตองพลวง
    • ตามต้นและตามป่าของต้นใบตองพลวง มักเต็มไปด้วยพลวงไปทำรังตามโคนต้น ขี้พลวงหรือรังของพลวงใช้ทำก้อนถ่วงหน้ากลอง กลองยาว กลองตะโพน หรือทำก้อนถ่วงใบสนูสำหรับเล่นกับว่าวจุฬา แต่เวลาไปเอานั้นน่ารำคาญครับ มันไม่ต่อยให้เจ็บแบบผึ้งหรือมิ้ม แต่จะตอมและเข้าไปในหู จมูก ปาก ตา จนแทบจะทนไม่ไหว

    สวัสดีทุก ๆ ท่านครับ

    ขอบคุณพี่ฉิกครับสำหรับภาพโรงเรียนหนองบัว อีกไม่นานคิดว่า คงจะมีภาพกิจกรรมการจัดงานเข้ามาให้ได้ชมกันนะครับ

    ผมเองถึงแม้จะไม่ได้ไป แต่ก็ได้ฝากให้หลานชายสำรองจ่ายไปก่อนแล้วจะส่งใบเสร็จรับเงินมาให้ภายหลัง

    ที่ไปร่วมงานไม่ได้เพราะมีงานติดพันกับ สปป.ลาวหลายเรื่อง วันชาติลาว........ไปอวยพรวันชาติลาว วันพ่อแห่งชาติ....รับการอวยพรจากเจ้าหน้าที่ฝั่งลาว และไปร่วมงาน 5 ธันวา มหาราช ซึ่งสถานทูตไทยที่จัดขึ้นในเวียงจันทน์

    เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ที่สนามกีฬาแห่งชาติลาว มีนายกฯหลายประเทศมาร่วมงาน....คงเห็นภาพจากสื่อมวลชนกันไปบ้างแล้วนะครับ นี่เดี๋ยวอีกสักพัก มีการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษระหว่างไทย - มาเลเซียในเวียงจันทน์ กลับมาจะนำบรรยากาศสนก ๆ มาเล่าสู่กันฟังครับ

    การไปต่างประเทศแต่ละครั้งดูเหมือนว่าจะต้องมีการเตรียมการหลายอย่าง แต่ที่นี่...หนองคาย ต่างประเทศที่ว่า คือนครหลวงเวียงจันทน์ ห่างจากหนองคายเพียง 20 ก.ม.เองครับ การเดินทางไป - มา จึงมีความสะดวกมากกว่าการเดินทางไปในอีกหลาย ๆ ประเทศครับ

    ท่านที่ติดตามการถ่ายทอดสดทางทีวี คงทราบผลการแข่งขันฟุตบอลระหว่างไทย - มาเลเซียแล้วนะครับ

    ท่านใดพลาดการชม ขอรายงานผล...(แม้จะช้าไปนิดเมื่อเทียบกับสื่อต่าง ๆ)....... ไทยแพ้มาเลเซีย 1 : 2 ครับ แต่ไม่เป็นไรครับ ไทยยังมีโอกาสและพละกำลังโกยเหรียญที่รอการชิงอีกเป็นจำนวนมาก

    • ผมก็ไม่ได้ไปครับ เลยต้องใช้การมีส่วนร่วมระยะไกลเอา บ้านผมพี่น้องทุกคน ๗ คน เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองคอกหมด อีกทั้งน้องสาวก็กลับไปเป็นครูอยู่ที่นั่นอีกคนหนึ่ง อาจารย์ใหญ่ของเรา คือ คุณครูโสภณ สารธรรมนี่ เป็นครูพวกผมตั้งแต่พี่ชายคนแรกกระทั่งคนสุดท้อง เลยรวมกับแม่อีกคนหนึ่ง ตั้งกองผ้าป่าด้วยกันกองละ ๒ คนได้ ๔ กอง แต่พี่ชายเขาแจกจ่ายซองตั้งได้อีกกอง กับน้องที่เป็นครูเขาอยากตั้งให้กับโรงเรียนเอง ๑ กอง เลยได้ ๖ กอง สมทบกับคนที่เขาใส่ซองมาร่วมอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากสมทบทุนร่วมพัฒนาการศึกษาให้แก่เด็กๆแล้ว ก็เป็นการมีส่วนร่วมเล็กๆเพื่อเป็นกำลังใจกับคุณครูโสภณ คณะครู กรรมการศึกษาของโรงเรียน และพี่ๆน้องๆที่ช่วยกันริเริ่มกิจกรรมอย่างนี้ให้พวกเราได้มีส่วนร่วมน่ะครับ
    • แต่ก็ประทับใจจากเพื่อนๆมากครับ พรรคพวกที่ไปนั้น เมื่อเขามีความสุขที่ได้เจอกัน ก็ไม่ลืมที่จะโทรคุยให้ผมได้ร่วมอยู่ในบรรยากาศต่างๆกับเพื่อนๆไปด้วยแทบจะตลอดเวลาตั้งแต่ก่อนเริ่มงานตอนเช้าจนถึงงานเลี้ยงสังสันทน์ตอนเย็น ก็นึกเสียดายโอกาสนี้มากครับ แต่งานอยู่ในมือหลายอย่าง มิหนำซ้ำ โทรคุยกับแม่ ก็ได้ทราบว่าแม่ที่บ้านหนองบัวหกล้มและไม่สบายซ้ำเข้าไปอีก ก็แทบจะอยู่ทำงานไม่ติดเลย
    • เห็นภาพพิธีเปิดกีฬาซีเกมส์ ภาพของ สปป.ลาว เปลี่ยนไปมากเลยครับ มองในทางสร้างสรรค์ก็ให้บรรยากาศที่ดีมากที่สุดเท่าที่ได้เคยเห็นเลยครับ รวมไปจนถึงข่าวคราวที่เกี่ยวกับการทะเลาะและเล่นการเมืองแรงๆกันระหว่างไทยกับกัมพูชา มองอย่างไรผมก็ว่าในภาพรวมของภูมิภาคอินโดจีนกับประเทศไทยแล้ว อย่างไรก็ดีและมีภาพให้เราได้สัมผัสอย่างแตกต่างกว่าเมื่อก่อนนี้ชนิดคนละเรื่องเลย ก่อนหน้านี้เรามักเห็นแต่ข่าวสงคราม คนกระเสือกกระสนหนีตาย มีแต่ภาพของความโหดร้าย ความยากแค้น
    • แต่ครั้งนี้ ทำให้เห็นภาพของชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมอันหลากหลาย เห็นรอยยิ้มและธรรมชาติที่อยากแสดงออกถึงความมีความสุขความรื่นรมย์ใจแลกเปลี่ยนกันบ้าง การเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้ของลาวนั้น ไม่เพียงส่งให้ลาวได้จัดวางตนเองในอีกบรรยากาศหนึ่งในประชาคมระหว่างประเทศเท่านั้นเลยนะครับ แต่เหมือนกับทำให้ความเป็นสังคมในภูมิภาคอาเซียนกับอินโดจีน เห็นความเป็นตัวตนร่วมกันในอีกด้านหนึ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยทีเดียว
    • หรือแม้แต่การตอบโต้กันระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น มองดูให้ดีแล้วก็ไม่ได้มีอะไรร้ายแรงไปกว่าในอดีต ตรงกันข้าม กลับเห็นบรรยากาศของความเสมอภาคและทัดเทียมกันมากขึ้น มีการสื่อสารและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมากขึ้น กระทั่งคิดว่า ผู้มีบทบาทสำคัญแทนที่จะเป็นคู่กรณีทางการเมือง ก็กลับจะเป็นสื่อมวลชนต่างๆเสียอีกนะครับ สื่อจะคิดว่าเป็นสื่อที่เล่นเอามัน เล่นเอาใจ เล่นให้ถูกใจและขายได้แต่ผู้บริโภคสื่อภายในสังคมของตนเองไม่ได้อีกแล้ว ต้องเป็นสื่อที่มีสปิริตใหญ่กว่าเดิม
    • ผมเพิ่งได้ฟังรายงานการแข่งขันฟุตบอลไทย-มาเลเซียทางวิทยุ คนรายงานข่าวเล่ามันจริงๆ
    • ขอชื่นชมคุณสมบัติและสมาคมมิตรภาพไทย-ลาวมากเลยครับ โดยเฉพาะคุณสมบัติน่ะครับ เป็นคนทำหน้าที่สื่อสารและรายงานอยู่เบื้องหลังอย่างแข็งขัน น่านับถือบทบาทที่ทำเหมือนปิดทองหลังพระเพื่อให้สังคมส่วนรวมเกิดสิ่งดีๆ มากเลยครับ ยิ่งเป็นคนหนองบัวบ้านนอกด้วยนี่ ต้องถือว่าได้ทำหน้าที่ชีวิตที่มีความหมายและมีคุณค่ามากอย่างยิ่งเลยนะครับ

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์

    ก่อนมาทำงานที่ชายแดนลาว (ไม่เคยมาภาคอีสานมาก่อน) ผมไม่เคยเปิดพจนากุกรมดูมาก่อนเลยว่า นิยามศัพท์ของคำว่า....ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ....มีความหมายว่าอย่างไร.....พิธีการทูต.....เป็นอย่างไร เมื่อมาทำงานได้ระยะหนึ่ง ก็ได้รับหนังสือจากสถานทูตไทยในเวียงจันทน์ให้ไปรับใบประกาศเกียรติคุณ..... บุคคลที่มีผลงานดีเด่น สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ราชอาณาจักรไทย - สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว).... ตอนนั้นยังงง ๆ อยู่ว่าไม่ได้เสนอผลงานอะไรไป หรือได้รับการบอกกล่าวจากสถานทูตมาก่อน เหตุใดจึงได้รับการพิจารณา...แต่ลึก ๆ ก็แอบดีใจครับ

    ผมได้รับการบอกกล่าวภายหลังว่า คณะกรรมการฯ ที่สถานทูตแต่งตั้งขึ้นได้มีมติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทุกประการ

    เมื่อนำเหตุการณ์ปัจจุบัน คือการตอบโต้กันระหว่างไทย-กัมพูชา ที่อาจารย์พูดถึงมาพิจารณา ผมเห็นรัฐประศาสโนบายด้านการต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพฯ ที่มีต่อประเทศ สปป.ลาวนั้น สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดีครับ ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐบาลส่วนกลาง ระดับกระทรวง ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น หรือแม้แต่ข้าราชการหรือประชาชนตามแนวชายแดนทั่วไป ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างครับ และไม่ต้องหวังผล เมื่อทำความดี ผลดีจะออกมาเองโดยธรรมชาติ

    การทำลายสิ่งที่ร่วมสร้างกันมานั้นง่ายครับ แต่การสร้างสรร/สร้างความสัมพันธ์/สร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันนั้น ไม่ง่ายเลยครับ นอกจากจะไม่ง่ายแล้ว....ยากยิ่งนักและต้องใช้เวลานานมากครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    • ขอร่วมชื่นชมและขอแสดงความยินดีด้วยครับ 
    • ในทรรศนะผมนั้น ผมว่าก็เหมาะสมมากนะครับ เพราะผมเองมักเห็นคุณสมบัติเป็นปากเสียงสื่อสารสิ่งดีๆทั้งให้สังคมลาวกับคนไทยที่เกี่ยวข้องอยู่มิได้ขาด ผมเองยังได้ความรู้และมีความรู้สึกดีๆเกิดขึ้นมากมายต่อการได้เรียนรู้สังคมของเพื่อนบ้าน
    • เป็นการแสดงออกด้วยว่าเขาเห็นความสำคัญของคนที่มีส่วนร่วมด้วยตนเองต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เขาเห็นโอกาสอยู่ในวิถีชีวิตและการงานของเขาแล้วก็ทำออกมาด้วยสปิริตของตนเอง เหมือนกับเห็นความสำคัญของเครือข่ายปัจเจกที่มีส่วนร่วมในการเป็นเครือข่ายการฑูตภาคประชาชน และสื่อ สานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภาคประชาชน (เรียกเองครับ ดูขึงขังดี)
    • เลยก็เห็นด้วยอีกด้านหนึ่งครับว่าทุกฝ่ายร่วมกันสร้างสิ่งดีๆ และร่วมรักษาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีกับที่กำลังสีไม่ค่อยดี(ขอติดภาษาหนองบัวสักหน่อย) ไม่ให้แย่ไปกว่าเดิม
    • ระดมพลังความมีจิตสาธารณะของประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อเรียนรู้การมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการ
    • ประเด็นนี้...เยียมยอดครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณครูอ้อยเล็กกัลยาณมิตรชาวหนองบัว

    อนุโมทนาขอบคุณแทนชาวหนองบัวด้วยที่คุณครูอ้อยเล็กอวยพรปีใหม่แก่ชาวหนองบัว

    ขอให้คุณครูอ้อยเล็กมีความสุขสวัสดีในปีใหม่ ๒๕๕๓ และตลอดไป

    อนุโมทนา สาธุ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรอาจารย์ ดร.จรูญ(atozorama)

    อนุโมทนาขอบคุณที่อาจารย์ให้เกียรติมาเยี่ยมเยียนชาวหนองบัว

    ร่วมขอบคุณกับท่านพระอาจารย์มหาแล ขอบคุณการสวัสดีปีใหม่แก่ชาวหนองบัวของคุณครูอ้อยเล็ก และขอขอบคุณท่าน ดร.จรูญ ด้วยครับที่แวะเข้ามาทักทายเวทีนี้พร้อมกับให้ข้อสังเกตหนุนเสริมกำลังใจแก่คนหนองบัวและผู้ที่เข้ามาคุยกันในเวทีบล๊อกนี้ อาจารย์แวะเวียนมาแบ่งปันเรื่องราวต่างๆกับคนหนองบัวและเวทีนี้บ้างนะครับ คนหนองบัวและผู้ที่เข้ามาอ่านคงจะได้สิ่งๆดีๆกลับไปใช้ในชีวิตและการทำงานด้วยมากมายครับ 

    พรใดที่ประเสริฐ

    ขอจงเป็นของพี่น้องชาวหนองบัวและชาวบล๊อกนี้ทุกท่าน....และขอให้มีสุขภาพดีตลอดปี 2553 ครับ

                             ขอร่วมบรรยากาศความสุขในเทศกาลปีใหม่กับทุกท่านด้วยครับ

                                ชุมชนเกษตร ชุมชนเมือง นาข้าว  นาบัว  เฉลว

    ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก และสิ่งอันเป็นที่เคารพนับถือของชาวหนองบัว หลวงพ่อเดิม หลวงพ่ออ๋อย เจ้าพ่อเจ้าแม่ฤาษีณารายน์ รวมทั้งการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยกายวาจาใจทั้งหลาย จงร่วมอำนวยพรและเป็นพลวัตรปัจจัย ให้ชาวหนองบัวและทุกท่านในบล๊อกนี้ มีความสุข มีกำลังกาย กำลังใจ สุขภาพดี ดำเนินชีวิตและทำการงานให้ได้ทั้งความสำเร็จ ได้ความงอกงาม ได้ความสบายกายสบายใจ เบิกบานแจ่มใส ตลอดปีใหม่ ๒๕๕๓ ที่กำลังจะมาถึงนี้ เทอญฯ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    วันนี้ลองกลับมาอ่านเวทีคนหนองบัวแล้วรู้สึกดีใจภูมิใจอย่างมากจริง ๆ คนอื่นจะเคยเป็นเหมือนอาตมาบ้างหรือเปล่าไม่ทราบ เวลาเอ่ยถึงพูดถึงหนองบัวกับใครทีไรคู่สนทนามักจะถามกลับมาว่าหนองบัวไหน หนองบัวลำภูหรือหนองบัวระเหวหรือหนองบัวแดงหรืออะไรประมาณนี้แหละ เราก็คนบ้านนอกชื่อที่เขารู้จักและพูดถึงนั้นเรากลับไม่รู้จักเลย แต่เมื่อได้อ่านหนังสือศึกษาชื่อบ้านนามเมืองต่าง ๆ จึงได้รู้ว่าชื่อเหล่าอยู่ที่ไหนบ้าง

    วันนี้ชุมชนอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์คงเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปบ้างไม่มากก็น้อย แต่ในฐานะคนหนองบัวคนหนึ่งรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นบ้านเรา ทั้งหลายทั้งปวงนี้ต้องขอขอบคุณอาจารย์วิรัตน์ที่ทุ่มเทจิตใจเสียสละเพื่อคนหนองบัวผู้เป็นปฐมชนคนต้นเรื่องที่นำชุมชนหนองบัวออกเผยแพร่สู่สาธารณชน

    ขอบคุณคนหนองบัวที่ได้เสียสละเวลาร่วมกันสร้างสรรค์และแบ่งปันความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนหนองบัวบ้านเรา

    โยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ คุณเสวก ใยอินทร์ และกลุ่มพริกเกลือ คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ คุณพีรณัฐ คุณภูเขา คุณครูจุฑารัตน์ อาจารย์สมบัติ ฆ้อนทอง คุณศักดิ์ศรี-ฉิก คุณครูวิกานดา คุณไพฑูรย์ ศรสุรินทร์ คุณโชคชัย มากน้อย คุณจรัญ คุณเจนณรงค์ เหว่าโต คุณn.b.clup คุณแป๊ะ แก็ส  คุณอ้อย นุชเฉย

    ขอบคุณกัลยาณมิตรที่แบ่งปันความรู้ให้กับคนหนองบัว

    คุณครูอ้อยเล็ก(คุณครูวัชรี โชติรัตน์) คุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร อาจารย์ดร.ขจิต ฝอยทอง อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ คุณเริงวิชญ์ นิลโคตร คุณครูkrutoiting คุณแอน

    อ.หนึ่ง คุณหนานเกียรติ คุณrinda คุณณัฐรดา คุณคนไม่มีราก อาจารย์ ดร.จรูญ(atozorama) อาจารย์กู้เกียรติ  คุณnana งาน พสว.ศอ.8 

    คุณสุ-มหาวิทยาลัยชีวิต ที่ไม่มีวันปิดทำการ คุณครูคิม คุณหมอkmsabai อาจารย์โต คุณครูอ้อย แซ่เฮ  คุณกวิน อาจารย์ชยพร แอคะรัจน์ คุณครูธนิตย์ สุวรรณเจริญ คุณนครพังคา คุณโก๊ะจิจัง แซ่เฮ~natadee ที่สุดในแก๊ง ที่ปรึกษาเวทีคนหนองบัวทุกท่านและพี่น้องชาวหนองบัวทุกท่านที่ไม่ได้ออกนามตลอดทั้งท่านที่แบ่งปันความรู้ท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย(เวทีคนหนองบัวนี้ดูจำนวนผู้อ่านแล้วมากมายล้นหลามถ้าเป็นรายการทีวีต้องถือว่าเรตติ้งกระฉูด)

    ใกล้จะถึงปีใหม่แล้วก็เลยขอถือโอกาสสวัสดีปีใหม่ พ.ศ.๒๕๕๓ กับทุกท่านขอคุณพระศรีรัตนตรัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หลวงพ่อเดิมหลวงพ่ออ๋อย เจ้าพ่อเจ้าแม่ฤาษีณารายน์ จงอภิบาลปกปักรักษาคุ้มครองให้ชาวหนองบัวและทุกท่านประสบแต่ความสุขความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมตลอดกาลนานเทอญ.

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล คนหนองบัว และเครือข่ายกัลยาณมิตรทุกท่านครับ

    • ร่วมแสดงความยินดีกับพระคุณเจ้าด้วยครับ ผมก็รู้สึกดีใจอย่างที่พระคุณเจ้าสะท้อนออกมาครับ
    • แล้วก็เห็นด้วยอย่างมากครับว่ารู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับพระคุณเจ้าและทุกท่าน ทำเวทีคนหนองบัวในบล๊อก GotoKnow อย่างนี้ขึ้นมา ซึ่งริเริ่มกันด้วยความมีจิตใหญ่ ทว่า ทำกันไปตามกำลัง แต่คิดว่ามีส่วนทำให้ความเป็นชุมชนหนองบัวในโลกของความรู้และยุคข้อมูลความสาร สามารถมีอัตลักษณ์ เห็นการดำรงอยู่ เห็นความมีอยู่  มองเห็นและสัมผัสได้ทั้งจากคนหนองบัวเองและจากโลกภายนอก จากที่แต่เดิมชุมชนหนองบัวเราดูเป็นบ้านนาป่าดง ห่างไกลจากความรับรู้ของผู้คนทั่วไปมากๆ

      เป็นเอกลักษณ์และหนึ่งเดียวของประเทศ 

    • โดยเฉพาะนอกเหนือจากแหล่งข้อมูลที่ราชการทำขึ้นมาแล้ว เมื่อหาความเป็นชุมชนอำเภอที่เป็นความเคลื่อนไหวของประชาชน เวทีคนของชุมชน หรือเวทีพลเมืองแล้ว ลองสำรวจดู ก็จะเห็นมีเวทีที่ช่วยกันทำอย่างนี้ก็แต่เวทีนี้แห่งเดียวในประเทศก็ได้กระมังครับ ชุมชนบ้านนอกกว่าเพื่อนก็อาจทำบางสิ่งที่นำหน้าชุมชนอื่นๆได้นาครับจะว่าไป 

      ที่สุดของประเทศ 

    • รวมไปจนถึงชุมชนเล็กๆอย่างบ้านตาลินและโรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) ซึ่งนำร่องให้เป็นภาพเชิงลึกของชุมชนอำเภอหนองบัวนั้น ผมกล้าพูดได้ว่า ในจำนวนชุมชนของโรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) ในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ๕ แห่งนั้น เรื่องราว ความเป็นวันครูและโรงเรียนวันครูกับความสำคัญต่อพัฒนาการศึกษาของสังคมไทย รวมทั้ง โรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) กับ วัด ผู้นำชุมชน และชุมชนโดยรอบ ที่บ้านตาลิน ของอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ของเรา ณ วันนี้ รอบด้านที่สุดในประเทศครับ ลองคลิ๊กไปดูได้ตามลิ๊งค์ตัวสีแดงข้างบนทั้ง ๒ ลิ๊งค์ครับ 

     มองเห็นและสัมผัสได้อย่างไร้พรมแดน

    • หากใส่คำค้น แล้วค้นหาด้วยกูเกิ้ล ด้วยคำว่า เวทีพลเมือง / เวทีคนหนองบัว คนหนองบัว / อำเภอหนองบัว / โรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) / บ้านตาลิน เหล่านี้ ก็จะเห็นตัวตนของคนหนองบัวได้ทันทีจากโลกไซเบอร์ครับ แล้วไม่ใช่เห็นแค่ข้อมูลแข็งๆครับ แต่เห็นมิติของชีวิตจิตใจ เรื่องราวของอำเภอ เรื่องราวของผู้คน องค์ความรู้ชุมชนท้องถิ่น แล้วก็มีข้อมูลและวัตถุดิบเพื่อนำไปจัดการความรู้พัตนาสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆได้อีกมากมายครับ

     หลายอย่างเป็นต้นเรื่อง

    • บางเรื่องเป็นประเด็นที่ก้าวล้ำยิ่งกว่าเรื่องทั่วไปที่สังคมคุยกันจากข่าวสารประจำวันเสียอีกครับ เช่น เรื่องคุยแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างความรู้ และสร้างสัมมาทรรศนะต่อประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว และตัวตนของชุมชนด้วยความรู้จากประสบการณ์ชีวิตของบุคคล อย่างเช่นของคุณสมบัติ ฆ้อนทอง พระคุณเจ้า และคุณเสวก ใยอินทร์ ซึ่งทั้งความเป็นเรื่องสร้างสรรค์และความที่ผู้นำเรื่องเหล่านี้มาคุย เป็นคนท้องถิ่นหนองบัว ทว่า มีบทบาทต่องานภาคสาธารณะของประเทศโดยตรงด้วย
    • เรียกว่าเป็นเวทีคนหนองบัวซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นก็จริง แต่บางเรื่อง กลับเป็นเรื่องที่คนหนองบัวได้ความเป็นต้นฉบับและจากคนต้นเรื่องของประเทศ-นานาชาติ 

     วิถีเรียนรู้แบบปฏิบัติธรรม

    • หลายเรื่องก็เป็นความริเริ่มกันเอง อย่างที่พระคุณเจ้าประมวลข้อมูลให้เห็นภาพรวมของคนที่เข้ามาเสวนากันในเวทีนี้ ตรง คห ๒๖๑ ซึ่งทำให้เห็นกลุ่มคนตั้งหลายคน ก็เป็นการทำไปก็เรียนรู้และสร้างความรู้เกี่ยวกับตนเองไปอย่างง่ายๆแต่มีความพอเหมาะ พอเพียง พอดี มีความหมาย และเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดความเคารพผู้คน
    • อันที่จริงต้องยกให้เป็นคุณูปการของพระคุณเจ้าครับ เพราะเริ่มต้นมาจากพระคุณเจ้า จนเวทีแรกทะลุไปเกือบ ๕,๐๐๐ คน/ครั้งแล้วครับ ผมเห็นเวทีแรกที่เปิดขึ้นเพื่อรองรับจำเพาะของพระคุณเจ้าซึ่งมีข้อมูลมากและมีคนเข้ามาดูเยอะจนเห็นจะต้องช่วยกันดูแล เลยแตกออกมาเป็นเวทีสาขาแห่งนี้ แล้วก็มีคนเข้ามาดูกว่า ๔,๐๐๐ คน/ครั้งเช่นกันแล้วครับ

                                

                                

                                 คุณครูจุฑารัตน์ คนพยุหะคีรี จาก สพท กำแพงเพชร และกัลยาณมิตรของคนหนองบัว และเพื่อร่วมทีม ไปดูงานนิทรรศการรูปเขียน และนั่งคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกัน ที่หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งต้องถือว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการนำเอาข้อมูลจากเวทีคนหนองบัว ไปจัดกิจกรรมต่อไปอีก จึงทำให้ได้เจอคนเก่งๆที่ทำงานเพื่อเด็กๆและเป็นคนท้องถิ่นนครสวรรค์ (ต้องขออภัยที่แต่เดิมผมเข้าใจว่าเป็นคนหนองบัว แต่เป็นเพื่อนน้องผมและเป็นคนพยุหะคีรี แต่ก็ถือว่าใช่คนอื่นคนไกลครับ)

     จัดการความรู้สู่ความสร้างสรรค์ต่อเนื่องที่เกิดผลดีทั้งต่อท้องถิ่นและต่อสังคม

    • นอกจากเป็นที่สนใจและมีความเคลื่อนไหวดีมากพอสมควรแล้ว ก็ทำให้เกิดกิจกรรมที่ออกไปในทางสร้างสรรค์การเรียนรู้ของสังคม เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามมาอีกหลายอย่างครับ เป็นต้นว่า ผมได้รวบรวมรูปเขียน ที่ดึงข้อมูลจากเวทีนี้มาเขียนนำเสนอเป็นรูปวาด แล้วก็รวบรวมสมทบกับรูปเขียนอื่นๆของผมจากงานวิจัยชุมชนอื่นๆ รวมแล้วได้กว่า ๖๐ รูป แล้วก็จัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่อำเภอพุทธมณฑล หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ซึ่งตอนนี้ตกลงกันว่าจะขยายการแสดงให้คนเข้าชมไปจนถึงกลางเดือนมกราคม ปีหน้า ๒๕๕๓

     สร้างชุมชนและเครือข่ายคนหนองบัวอีกมิติหนึ่งให้เข้มแข็งขึ้น

    • จากเวทีนี้ คนหนองบัว และศิษย์เก่าของสถานศึกษาในหนองบัว ก็มีแหล่งได้คุยกันและได้ริเริ่มทำสิ่งดีๆด้วยกันอีกหลายอย่าง หลายคนเคยแต่เชื่อมโยงกับญาติพี่น้องและถิ่นเกิดด้วยการกลับไปเยี่ยมญาติอย่างเดียว ก็มีเวทีนี้เพิ่มโอกาสให้สามารถทำสิ่งต่างๆด้วยกันอีกตั้งหลายเรื่อง 

    เพียงที่กล่าวถึงเหล่านี้ ก็ต้องถือว่าเวทีนี้ได้ทำสิ่งสร้างสรรค์มากพอดูหลายเรื่องทีเดียวครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข (อาสโย) และสวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์, ชาวหนองบัว และกัลยาณมิตรของชาวหนองบัวค่ะ

    • แวะมาเยี่ยมชาวหนองบัวคราวนี้ บล๊อคมีสีสรรแปลกตาไป ดูสดใสขึ้น ต้อนรับปีใหม่ ๒๕๕๓ เหรอค่ะ ^^
    • จากคห.ที่ ๒๖๑ และ ๒๖๒ ของพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข (อาสโย) กับอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ เหมือนจะกำลังถอดบทเรียน หรือ AAR เวทีสุขภาวะชาวหนองบัวเพื่อส่งท้ายปี ๒๕๕๒ แล้วน่ะค่ะ
    • เพียง ๓ เดือนกับ ๔ พันกว่าคลิ๊ก ของเวทีสุขภาวะคนหนองบัว ก่อเกิดสิ่งดีๆ เกิดการเรียนรู้ขึ้นมากมายนะค่ะ ความงดงามของความคิดเห็นทุกความคิดเห็น .. เมื่อดูจากจุดหมายและเจตนารมย์ของเวทีชาวหนองบัวบนวิถีไซเบอร์นี้ คิดว่าดำเนินตามเจตนารมย์ได้อย่างครบถ้วนขบวนความ แต่ก็ยังรอการขยายผลในวงกว้างต่อไปนะค่ะ
    • ถึงน้องๆ หนูๆ ชาวหนองบัวที่เผอิญ หรือตั้งใจค้นหาข้อมูลของชุมชนแล้วได้เข้ามาในบล๊อคนี้นะค่ะ อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นบล๊อคที่คนแก่มานั่งพูดคุยถึงเรื่องเก่าๆ กัน บันทึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของบันทึกประสบการณ์ของผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว สะสมสิ่งล้ำค่าอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนหนองบัวเรา ไม่ว่าจะประเพณี วัฒนธรรม ภาษา บุคคล สถานที่ ตำนานต่างๆ ไว้ให้น้องๆ ได้ศึกษาจากต้นทุนอันเป็นประโยชน์ของคุณอา คุณลุง คุณครูหลายๆ ท่านในนี้ค่ะ ...
    • เวทีหนองบัว go inter แล้วนะค่ะ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามประเทศ แม้จะเป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ก็ตาม ..
    • นอกจากแวะมาเยี่ยมยามชาวหนองบัวแล้ว ขอแวะมารับพรจากพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข (อาสโย) ด้วยค่ะ กราบ(๓ ครั้ง)ขอบพระคุณค่ะ
    • และถือโอกาสนี้กล่าวคำ สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๓  แด่กัลยาณมิตรทุกท่านด้วยนะค่ะ ขอให้มีความสุขกาย สบายใจตลอดไปค่ะ ...

     

    สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

    • การ์ด สคส ๒๕๕๓ เก๋ไก๋ดีจังเลยนะครับ
    • จริงด้วยครับ เหมือนกับการถอดบทเรียนเวทีเลย เริ่มช่วยกันดูให้เห็นบางด้านว่าก่อเกิดอะไรขึ้นบ้าง
    • เมื่อคืนยังนั่งนึกอยู่นะครับว่าจะสังเคราะห์เชิงกระบวนการและนั่งดูว่ามีบทเรียนที่สำคัญอะไรบ้าง 

    สวัสดีปีใหม่ คิดสิ่งดีใดๆ ขอให้สมปรารถนาทุกประการ

  • ขอถือโอกาสนี้ สวัสดีปีใหม่ทุกๆท่านเลยนะครับ เห็นรูปที่แต่ละท่านตั้งใจทำเป็นการ์ด สคส แล้วต้องขอบคุณจากใจจริง นอกจากจะสวยงามแล้ว ยังมีจิตวิญญาณอยู่ในภาพนั้นๆด้วย ตัวเรานั้นก็อ่อนด้อยเรื่องขีดเขียนรูปภาพ ถ้าเรื่องถ่ายรูปก็ยังพอไปวัดไปวากับเขาได้บ้าง
  • ก่อนหน้านี้ รู้สึกว่าข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับ อ.หนองบัวบ้านเราในเน็ตนั้นมีน้อยมาก ด้วยเป็นอำเภอที่น่าจะเรียกได้ว่าห่างไกลจากเทคโนโลยี ต้องขอบคุณพี่วิรัตน์ไว้อย่างสูงเลย ถือเป็นผู้ให้กำเนิดและเป็นผู้จุดประกายให้กับหลายๆคน รวมทั้งทุกๆท่านที่ได้เข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความรู้อย่างเหนียวแน่น ก็หวังว่าในภายภาคหน้า จะมีผู้คนได้เข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์กันมากขึ้น
  • เคยคิดเหมือนกันว่า วันหนึ่งถ้ามีผู้คนมากหน้าหลายตา เข้ามาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างขัดแย้งกัน บรรยากาศที่มีอยู่แบบปัจจุบันจะเป็นอย่างไร แต่ก็คิดว่าคงไม่น่าจะมีบรรยากาศแห่งความขัดแย้งที่รุนแรงเกิดขึ้นในนี้ ด้วยทุกคนที่เข้ามาออกความคิดเห็น ล้วนแต่มีวุฒิภาวะและจิตสาธารณะเป็นที่ตั้ง
  • พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรอาจารย์ณัฐพัชร์

    อาจารย์มีของมาฝากด้วยคล้ายเป็นปฏิทินชุมชนหนองบัวเหมือเคยได้ยินอาจารย์วิรัตน์บอกอยากจะทำปฏิทินภาพหนองบัวสิบสองเดือนชนิดมีรายละเอียดเรื่องราวในชุมชนประกอบภาพต่าง ๆ

    พูดให้ดูเท่ ๆ หน่อยก็ได้ว่าปฏิทินชุมชนหนองบัวที่ยังไม่ได้ทำชุดนี้เป็นของคนหนองบัวเพื่อคนหนองบัวโดยคนหนองบัว(พูดเหมือนขายไอเดียตอนเลือกตั้งยังงัยไม่รู้)

    ขออนุโมทนาขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ที่มาช่วยให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอแก่ชาวหนองบัวพร้อมมีข้อสังเกตอีกทั้งได้ให้แง่คิดแก่น้อง ๆ เยาวชนลูกหลานคนหนองบัวที่เข้ามาอ่านบล๊อกนี้ด้วย คิดว่าหลายท่านได้กำลังใจจากอาจารย์ณัฐพัชร์กัลยาณมิตรผู้มีน้ำใจ

    สวัสดีครับฉิก

    • ฉิกหายไปเป็นครู่เลยนะครับ คุณแม่ออกจากโรงพยาบาลแล้วใช่ไหม
    • ขอชมหน่อยนะครับ คิดว่าคงไม่ทำให้เกร็งหรืออึดอัดนะ อยากเป็นภาพสะท้อนให้
    • ฉิกเขียนหนังสือดีน่ะครับ เขียนเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆได้น่าอ่านมากเลย เขียนเหมือนการสนทนาพูดคุย วิธีมอง การสื่อความคิด ข้อสังเกตและการสะท้อนทรรศนะ ก็ดี
    • พี่ก็ว่าดีมากทีเดียวครับ นอกจากเป็นข้อมูลและแหล่งการทำความรู้จักอำเภอหนองบัว ทั้งของคนหนองบัวและคนที่เขาสนใจ ทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะคนที่จะมาทำงานหรือทำมาหากินที่หนองบัว ก็คิดว่าจะมีแหล่งให้ศึกษาและเตรียมตัวเองได้อย่างดี
    • ดีกว่าอย่างเมื่อก่อนนี้ ที่เมื่อมองเข้ามาแล้ว นอกจากจะไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าหนองบัวเป็นอย่างไรแล้ว ก็แทบไม่เห็นร่องรอยของชุมชนด้านที่เป็นวิถีชีวิต เรื่องราวของท้องถิ่น และศูนย์กลางทางจิตใจของผู้คนเลย
    • อย่างเมื่อเร็วๆนี้ ก่อนถึงงานผ้าป่าของโรงเรียน คุณครูลัดดา พูลสวัสดิ์ และคุณครูสุนทร สันคามินทร์ อดีตครูเก่าแก่ของโรงเรียนหนองบัวซึ่งเดี๋ยวนี้เกษียณและกลับไปอยู่บ้านท่านที่จังหวัดนนทบุรีแล้ว ท่านได้เล่าให้ทราบว่า ทั้งสองท่านก็มาลงบรรจุเป็นครูที่หนองบัว เพราะเห็นชื่อว่าหนองบัว พอมาถึงแล้วก็ผิดไปจากคิดไว้แต่เดิมไปหมดเลย ต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่ในสภาพที่กันดาร และห่างไกลจากสภาพที่ท่านคุ้นเคยอย่างที่สุด
    • แต่เดี๋ยวนี้ผมว่าคนจะสามารถทำความรู้จักหนองบัวได้อย่างกว้างขวางกว่าเดิม รวมทั้งคนหนองบัวเอง ก็มีหลายคนที่เคยเข้ามาคุยก็ยังบอกว่าทำให้รู้สึกคิดถึงบ้านและมีความสุขที่เห็นเรื่องราวถิ่นฐานบ้านช่อง ของตนเอง
    • ยิ่งถ้าหากมองว่าหนองบัวเราเป็นชุมชนที่ห่างไกลวิทยาการและเทคโนโลยีมากด้วยแล้ว ก็แทบจะเป็นเหมือนกับที่อื่นๆของประเทศและของอีกหลายประเทศ ที่หลายอย่างก็คงจะต้องตามหลังของที่อื่นเขา แต่กรณีนี้ ก็จะกลายเป็นว่า ชุมชนหนองบัวเล็กๆของเรา มีข้อมูลและแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองมากกว่าของชุมชนต่างๆของประเทศอีกหลายแห่ง สิ่งเหล่านี้เป็นทุนตั้งต้น เหมือนกับได้ก่อเกิดโครงสร้างพื้นฐานสำหรับให้ใครก็ได้เข้ามาค่อยๆต่อเติมคนละเล็กละน้อย เรื่อยๆ สบายๆ ก็จะยิ่งเพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้น 
    • ข้อกังวลของฉิกก็คงไม่เป็นปัญหาหรอกครับ ในบล๊อกทุกบล๊อกนั้น เราสามารถทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการได้ครับ ฉิกจะเห็นตัวหนังสือเล็กๆ แจ้งลบ สำหรับคนที่เข้ามาคุย และ ลบ สำหรับคนที่เปิดบล๊อก ซึ่งในกรณีนี้คือพี่เองครับ เพราะฉนั้น เราจะสามารถกำกับได้มากทีเดียวครับ อะไรที่ไม่เหมาะสม มีการป่วน ทำผิดเงื่อนไขกฏเกณฑ์ เหล่านี้ เราสามารถป้องกันและแก้ไขได้ครับ ส่วนท่านที่เข้ามาคุยก็จะสามารถแจ้งให้ลบออกได้ครับ
    • โดยปรกติ หากสังเกตก็จะเห็นว่าผมทำหน้าที่นี้อยู่เป็นระยะๆครับ เช่น การโพสต์ผิดแล้วแจ้งให้ผมลบออก รวมทั้งบางครั้งก็เป็นการไม่เหมาะสม เช่น การนำเอาผลงานของผู้อื่นมาลง ทั้งข้อมูลภาพและงานเขียน การนำเอางานที่มีลิขสิทธิ์และกฏหมายระบุไว้ว่าห้ามละเมิด เช่น การนำเอาเพลง และผลงานที่เขาทำเชิงธุรกิจ มาโพสต์หรือมาแขวนไว้ ซึ่งหลายที่ก็เห็นมีอยู่ แต่ถ้าหากนำมาเผยแพร่ในบล๊อกของเราผมก็จะขออนุญาตลบออกไปเลยนะครับ หลายท่านผมจะแจ้งให้ทราบก่อนเพื่อจะได้ไม่เสียกำลังใจ เพราะเชื่อว่าคงไม่ทราบและไม่ได้ตั้งใจ
    • หรือบางครั้ง นำเอาภาพที่ดูแล้ว อยากนำเอาด้านที่เป็นความสวยงามมาแบ่งปันกัน ทว่า ในภาพนั้น มีตราสินค้าหรือข้อความในเชิงโฆษณาแฝง ผมก็จะแจ้งให้ทราบก่อน แล้วก็รีบลบออกไปให้โดยเร็วครับ
    • บางคนนำเอาเบอร์โทรศัพท์ของตนเองหรือของผู้อื่น มาโพสต์ ผมก็จะรีบลบออกให้ทันที อย่างนี้เป็นต้นนะครับ 
    • นอกจากนี้ ข้อมูลหลายอย่าง ถึงแม้ว่าผมและหลายท่านจะเขียนขึ้นมาเป็นข้อมูลชั้นต้นและเป็นต้นฉบับ ทว่า หากเราต้องการขอตรวจสอบให้ดีก่อน หรืออาจมีบางแง่มุมที่อาจกระทบต่อผู้อื่น เราก็สามารถให้อ่านและศึกษาเรียนรู้ได้ ทว่า อาจระบุว่าในการนำไปใช้ เราจะอนุญาตหรือไม่ และหากอนุญาต จะอนุญาตให้ระดับไหน ก็ได้ครับ
    • เพราะฉะนั้นก็เป็นอันไม่ต้องกังวลครับ อย่างไรก็ตาม แม้อาจจะมีข้อที่ทำให้กังวลและไม่สบายใจได้บ้าง แต่หากเราอยากบุกเบิกให้คนรุ่นหลังๆ ได้เดินไกลกว่าเรา หรือเหยียบไหล่เราขึ้นไปเพื่อให้สังคมเราเองดีขึ้นอย่างริเริ่ม ต่อเติม เสริมต่อกันไป แล้วละก็ ก็คงต้องช่วยๆกันเป็นคนนำปฏิบัติและนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นไปก่อนน่ะครับ
    • เหมือนกับทุกหน้าเกี่ยวข้าวเสร็จของคนบ้านนอกอย่างเราชาวหนองบัวในทุกๆปีน่ะครับ ที่พอจะเริ่มขนข้าว เมื่อเอาเกวียนและรถเข็นข้าวออกไปนาครั้งแรกหลังฤดูเก็บเกี่ยว ในสภาพที่ยังไม่มีทางเกวียนเลยนั้น มันทั้งเสี่ยง เหน็ดเหนื่อย เกวียนอาจติดหล่ม และต้องขุดคันนากับต่อยก้อนดิน นำร่องให้วัวควายและเกวียนลงรอยแรกเข้าสู่ผืนนาสะเปะสะปะ แต่หลังจากนั้น เมื่อคนอื่นๆได้แนว ทางเกวียนก็เกิดขึ้นตามมา ให้รถและผู้คนทั้งหมู่บ้านเดินทางได้อย่างสะดวก

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาและครับ

    • เมื่อคืนพวกเราเพิ่งคุยกันถึงเรื่องปฏิทินของชาวหนองบัว และข้อที่เคยปรารภกับพระคุณเจ้าว่าเราอยากจะทำกันอยู่เลยครับ พอดีเหมาะเหมงดีจริงๆครับ
    • ต้องกราบอภัยที่ไม่ได้เรียนให้พระคุณเจ้าได้ทราบครับ เพราะผมและน้องๆไปหาข้อมูลที่จะทำปฏิทินมานานแล้วครับ
    • ในทางเทคนิคแล้วทำได้อย่างที่ต้องการ แล้วก็สวยงามด้วยครับ ทว่า ต้นทุนต่อชิ้นแพงมากพอสมควรครับ ทำเพื่อตั้งโต๊ะดูสักชิ้นสองชิ้นนั้นพอไหว แต่ประเมินแล้วจะทำหลายชิ้นไม่ได้ครับ ผมและคณะอยากทำให้พอเผยแพร่ในหนองบัวได้บ้าง เลยต้องหารูปแบบและวิธีอย่างอื่นดูก่อนครับ ยังไม่หยุดความคิดครับ
    • เลยก็นึกขึ้นได้ต่อเนื่องกันอีกครับว่า พระคุณเจ้าได้ธนาณัติไปสมทบเพื่อร่วมทำกิจกรรมด้วยสองพันบาท แล้วก็เป็นจังหวะที่ผมย้ายที่ทำงาน ขนข้าวของย้ายจากสำนักงานไปไว้บ้าน จนลืมไปเลยครับว่าได้ไปขึ้นธนาณัติและแลกเป็นเงินออกมาแล้วหรือยัง แต่ก็รำลึกไว้อยู่เสมอครับว่าหากไปจัดกิจกรรมที่โรงเรียนกับชุมชนที่บ้านหรือที่ชุมชนใด ก็จะมีส่วนที่เป็นการสมทบทุนของพระคุณเจ้าอยู่ด้วย ตรงนี้ไม่ลืมครับ

     

    P
    พี่ชาย อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์
    • หลังจากที่ได้ไปเยี่ยมชมงานศิลปะแล้ว ได้ข้อคิด ทำให้มีพลังและอยากกลับมาทำหน้าที่ของตัวเองและเพื่อเด็กๆอีกมากค่ะ
    • ตอนนี้ให้เด็กๆที่โรงเรียนปลูกผักสวนครัวค่ะ พอดีกำลังยุ่งกับงานวิชาการของเขตฯและผักยังไม่โต  จะเปิดบันทึกและนำภาพมาให้ชมทีหลังนะคะ
    • อยากให้เด็กๆในชนบท   ปลูกข้าว ทำไร่ทำนาเป็นค่ะ เด็กบางคนจบชั้น ม.3 ก็ไม่ได้เรียนต่อแล้วค่ะ เพราะฐานะค่อนข้างยากจน  ถ้าทำไร่ทำนาเป็นจะได้มีอาชีพ ไม่ต้องไปรับจ้างอยู่ในเมืองค่ะ  สุดท้ายก็ไปไม่รอด หอบลูกกลับมาด้วย ต้องเป็นภาระของพ่อแม่อีก
    • อีกหน่อย ถ้าคนไทยรุ่นหลังๆทำนาไม่เป็น เราคงต้องซื้อข้าว กิน  หรือไม่ก็ให้คนต่างชาติเข้ามาทำนาแทน แล้วขายข้าวให้คนไทย คิดแล้วน่าเป็นห่วงค่ะ

    --------------

                ใกล้วันส่งท้ายปีเก่า  ต้อนรับปีใหม่ 2553 แล้วค่ะ

                น้องขออวยพรให้พี่และครอบครัวมีความสุขมากๆนะคะ

     

                                   

    สวัสดีค่ะ...อ.วิรัตน์คะ เห็นหัวข้อเวทีเรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว

    ในฐานะที่อยู่นครสวรรค์ก็ต้องให้ความสนใจ และยินดีกับคนหนองบัว ที่ได้รับโอกาสดี ๆ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆคน

    • แม่ออกจาก รพ.ได้หลายวันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 19 ไปอยู่กับพี่สาวที่ชุมแสง แต่เมื่อเช้านี้ก็ทรุดลงอีก พี่สาวก็เลยพาส่งรพ.ที่นว. ได้โทรคุยกับพี่สาวเมื่อตอนหัวค่ำ อาการดีขึ้นเยอะแล้ว พรุ่งนี้หมอจะให้ออกจากห้อง ICU มาพักห้องธรรมดา ดูแล้วคงจะห่างหมอได้ไม่นาน อาการก็เหมือนเมื่อคราวที่เข้า รพ.ครั้งแรก ปอดทำงานได้ไม่ดี ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ค่อยๆสะสมในเลือดสูงขึ้นๆ ถึงแม้มาอยู่บ้านจะมีถังอ๊อกซิเจนให้อยู่บ่อยๆก็ตาม ขอบคุณนะครับที่ทุกคนเฝ้าเป็นห่วง

     

    • เรื่องปฏิทินนี่ ผมก็มีความคิดจะทำเหมือนกัน ตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นรูปของครอบครัว ตั้งใจให้ลูกๆเค้าเป็นคนทำ โดยที่เราคอยแนะนำ แต่ก็ยังไม่ได้ทำเป็นชิ้นเป็นอันซักเท่าไหร่ เห็นที่ท่านพระอาจารย์มหาแล ได้เสนอปฏิทินชุมชนหนองบัว ก็เลยรีบย้อนไปดูรูปที่พี่วิรัตน์วาดและนำเสนอในนี้ และถือวิสาสะ ไปก๊อปมาแล้วเอาเข้าโปรแกรมโฟโต้ช็อป ทำให้ดูเป็นตัวอย่างคร่าวๆ ในเวลาที่จำกัด ลองดูละกันนะครับ
      โอ้โห ทำไมรูปมันออกใหญ่โตล้นจอเลย สงสัยต้องไปเปลี่ยนเป็นจอแบบแอ๊ดเทวดาซะแล้ว
    • ได้อ่านที่พี่วิรัตน์เขียนไว้ เรื่องที่ผมกังวลล่วงหน้า เกี่ยวกับการที่จะมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นที่ส่อไปทางจะทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งแล้วต้องปรบมือให้พี่วิรัตน์ดังๆ ที่ชี้แจงได้ชัดเจน ขนาดตอนจบก็ยังสามารถเอาวิถีชีวิตชาวบ้านมาเปรียบเปรยได้อย่างเห็นภาพเลย
    • เรื่องทำปฏิทิน ถ้าจะมีอะไรให้ผมพอช่วยได้ก็ยินดีนะครับ มิต้องเกรงใจ เรียกใช้ได้เต็มที่ (นี่อีกไม่กี่วันก็จะปีใหม่แล้ว-จะได้ทันใช้หรือเปล่าหนอ)
    • ตอนเด็กๆ(เรียนชั้นประถม) จะได้ยินพวกพี่ๆและเพื่อนๆของพี่ พูดถึงคุณครูที่หนองคอก(มัธยม) โดยเฉพาะมักจะได้ยินเสียงบ่นเรื่องการบ้านเยอะมาก พอถึงเวลาที่ตัวเองได้ไปเรียนต่อมัธยม คุณครูเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็จะย้ายไปสอนที่อื่นกันเกือบหมดแล้ว จะมีที่ยังคงอยู่บ้างก็เช่น อ.โสภณ อ.ฤดีวรรณ อ.เทิน และมีคุณครูเข้ามาใหม่หมุนเวียนมากหน้าหลายตาในแต่ละปี ก็เป็นที่เข้าใจของพวกเราชาวหนองบัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขอบพระคุณคุณครูทุกท่านที่ได้ทนลำบากมาสั่งสอนพวกเรา
    • สวยดีครับ หากทำไว้ดูเล่นสักชิ้นสองชิ้น ก็คงต้องทำอย่างนี้แหละครับ
    • หากทำแผ่นเดียว แล้วก็มีเดือนและวันที่ทั้งปี ๑๒ เดือนเลย ก็จะพอทำได้ครับ แต่จะได้รูปภาพไม่หลากหลาย
    • แต่ถ้าหากทำแผ่นภาพละ ๓ เดือน ปีหนึ่งก็มี ๔ แผ่น หรือลดเหลือ ๓ แผ่น แผ่นละภาพและมีแผ่นละ ๔ เดือน ขนาดแผ่นหนึ่งก็ไม่ต้องใหญ่มากสักเท่ากระดาษ เอ๓ เมื่อเข้าสันแล้ว ชุดหนึ่งก็พันกว่าบาทแน่ะ
    • เคยลองทำโดยใช้การถ่ายด้วยเครื่องถ่ายพิมพ์เขียวหรือถ่ายแบบ ได้ภาพลายเส้นสีเดียว ขาว-ดำ แต่คมชัดและดูเก๋อีกแบบ กระดาษเป็นกระดาษถ่ายเอกสาร หน้ากว้าง ๘๐ เซ็นติเมตรและยาวตั้ง ๒๔๐ เซ็นติเมตร แผ่นละ ๘๐ บาท กำลังหาวิธีดัดแปลงดูครับว่าจะใช้ทำอะไรได้บ้าง หากไม่เหมาะกับทำปฏิทิน ก็น่าจะทำเป็นสื่อแผ่นปิดตามผนังหรือบอร์ดก็คงจะเข้าท่าดีครับ

    สวัสดีครับน้องคุณครูจุฑารัตน์ :

    • สคส ๒๕๕๓ สวยมากเลยครับ ขอร่วมขอบคุณกับชาวหนองบัวและทุกท่านที่เข้ามาคุยกันในเวทีคนหนองบัวครับ
    • เพิ่งโพสต์รูปคุณครูจุธารัตน์กับเพื่อนไปในกล่อง dialogue ก่อนหน้าที่น้องจะเข้ามานิดเดียวเอง

    สวัสดีครับ คุณ nana คนนครสวรรค์ครับ

    • ว่างๆก็เชิญคุณ nana แวะมาเยือนและเขียนแบ่งปันประสบการณ์ หรือสร้างความรู้ร่วมกับคนหนองบัว นครสวรรค์บ้านเราด้วยนะครับ ทุกคนยินดีเสมอครับ
    • ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยหากมองจากความคุ้นเคยของคนที่อยู่ในตัวเมืองนะครับ แต่หากมองจากชาวบ้าน-คนหนองบัวแล้วละก็ ความรู้สึกเมื่อคิดถึงปากน้ำโพหรือคนที่อยู่ในตัวเมืองนครสวรรค์นั้น ก็ยังรู้สึกเหมือนนึกถึงกรุงเทพฯ หรือเมืองไกลๆ เลยทีเดียวครับ
    • หลายอย่างที่ดูเหมือนธรรมดา พื้นๆ ของคนในเมืองนั้น ยังมีความหมายกันชาวบ้านรอบนอก คนหนองบัว และอีกหลายๆแห่งครับ
    • เชิญเลยนะครับ

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    พูดถึงยังไม่ทันข้ามวันเลยนะเนี่ยปฏิทินชุมชนหนองบัวก็ได้แบบจอผ่าโลกโผล่พลวดพลาดมาให้เห็นอย่างทันใจ สวยดี ขอบคุณคุณศักดิ์ศรี-ฉิก (ที่จัดให้)ถวายพระถวายเจ้าได้อย่างน่าอนุโมทนาขอบคุณหลาย ถ้าแพงมากสงสัยจะต้องดูต้นฉบับในคอมฯนี่แหละประหยัดดีด้วย

    ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง : ปรากฎการณ์ความงามของสุขภาวะกลุ่มก้อนแห่งชุมชนคนหนองบัว

    นมัสการ พระอาจารย์มหาแล อาสโย  และเรียน อ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ครับ

    • ย้อนกลับมาอ่านบันทึกการ "ถอดบทเรียน" และ "สรุปบทเรียน" แล้วต้องเรียนว่าบังเกิด “ปีติสุข” ร่วมไปกับพระอาจารย์ อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และกัลยาณมิตรชุมชนชาวหนองบัวด้วยครับ
    • หลังอ่านบทสนทนา พลันนึกถึงคำของครูอาจารย์ท่านอนุศาสน์ไว้ “ไม่ใช่ชาติ ไม่ใช่เชื้อ แต่หากมีความเอื้อเฟื้อ ก็เหมือนเนื้ออาตมา” เป็นปราฎการณ์ชุมชนสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลทางความรู้ ถ้อยทีวลีเสวนาดุจดังเครือญาติที่คุ้นชิน ปรากฏการณ์นี้หาได้ยากยิ่งครับ 
    • ก่อเกิดและสร้างแรงบันดาลใจให้ผมเกิด "ฉันทะ" จะริเริ่มที่ชุมชน และโรงเรียนเดิมของตนเองบ้าง   และคิดว่ากัลยาณมิตรหลายๆ ท่านก็คงเช่นเดียวกัน
    • คุณูปการอันเป็นผลสืบเนื่องนี้ต้องขอบพระคุณพระอาจารย์มหาแล อาสโย อ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และเครือข่ายกัลยาณมิตร
    • อยากเห็นเวที “รวมพลคนหนองบัว” ในรูปของเสวนาเพื่อการเฉลิมฉลองสักคราวคงจะดีนะครับ..... (อาจเริ่มที่ “บ้านตาลิน” ก็ดีนะครับ)

    เวทีการสานปัญญาผ่านพื้นที่ออนไลน์อย่างที่อาจารย์ได้พยายามสร้างความรู้ใหม่ๆนี้ เป็นพลังความรู้ที่ค่อยๆถอด ความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคลออกมาเเบบเป็นธรรมชาติและสุนทรียะ

    ถือว่าเป็นต้นแบบที่ดีมากครับ สำหรับการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยมี จุดรวมศรัทธาของคน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

    สิ่งที่เราศรัทธาจะยึดโยงคนเข้าหากัน สร้างสุข สร้างปัญญาร่วมกัน เช่นเดียวกับ "ลานปัญญาของคนหนองบัว" ที่นี่ครับ

    ให้กำลังใจทุกท่านครับหากมีการเฉลิมฉลอง (งานปอย) ไม่ว่าเมื่อไหร่ ขอร่วมด้วยช่วยกัน ด้วยคนครับ

    ท่านพระมหาแลท่านให้กำลังใจและร่วมอนุโมทนาคุณฉิกอย่างนี้ ได้ทั้งความรู้สึกดีงามและความเป็นมงคล จากสิ่งที่สร้างสรรค์ด้วยฝีมือ ความรู้ความชำนาญทางคอมพิวเตอร์กราฟิค และความมีน้ำใจเลยนะครับ ต้องโชคดี มีความสุข เติบโตงอกงามมากยิ่งๆขึ้น ทั้งตัวเองและลูกหลาน สถานเดียวครับ

    ข้อสังเกตและการร่วมสะท้อนทรรศนะของคุณช้างน้อยมอมแมม น่าสนใจมากครับ

    รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อการลองจัดเวทีรวมพลคนหนองบัวในท้องถิ่นขึ้น ล้วนจะเป็นวิธีทำให้เกิดการยกระดับและพัฒนาเวทีของคนหนองบัวให้ดีขึ้นเรื่อยๆนะครับ

    ผมเลยขอต่อยอดแนวคิดเปิดบันทึกอีกหัวข้อหนึ่งเพื่อเป็นหมายเหตุข้อเสนอแนะดีๆของคุณช้างน้อยมอมแมมนี้ไว้นะครับ เป็นเวทีรองรับการถอดบทเรียน หรือเป็นเวทีพัฒนาแนวคิดและความรู้เชิงวิชาการแบบชาวบ้านขึ้นมาอีกเวที รวมทั้งจะเป็นเวทีวิชาการของนักวิชาการแนวนี้ที่ใช้เวทีคนหนองบัวเป็นแหล่งเปิดประเด็นพัฒนาเชิงวิชาการให้เชื่อมต่อกับคนในชุมชนท้องถิ่น อีกแหล่งหนึ่งนะครับ 

    เดิมชื่อ เวทีถอดบทเรียนและสังเคราะห์ความรู้'เวทีคนหนองบัว' แต่ตอนนี้จะใช้ชื่อว่า   ลานปัญญาของคนหนองบัว   ครับ ขอนำเอาการเรียกของคุณจตุพรมาตั้งให้เป็นที่รำลึกถึงกันของคนหนองบัวกับคนเมืองปายและมือบล๊อกเกอร์ของ GotoKnow ในฐานะที่เป็นเคือข่ายวิชาการและร่วมสานความคิดกับคนหนองบัวครับ 

    เลยจะขอใช้ชื่อ ลานปัญญาของคนหนองบัว ที่คุณจตุพรให้นิยามและความหมาย มาเป็นชื่อเวทีสำหรับเอาไว้ถอดบทเรียนและสังเคราะห์ความรู้จากประบการณ์ต่างๆของคนหนองบัวในครั้งนี้นะครับ ถือว่าเป็นที่ระลึกถึงความปรารถนาดีและความเป็นนักวิชาการที่ส่งเสริมการพัฒนาคนและชุมชนนะครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขอบคุณคุณช้างน้อมมอมแมมที่แวะมาเติมกำลังใจแก่เวทีนี้พร้อมทั้งให้มุมมองที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์

    และรู้สึกดีใจยิ่งขึ้นที่คุณช้างน้อยมอมแมมกล่าวว่าเวทีนี้มีส่วนช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะกลับไปทำงานชุมชนโรงเรียนที่บ้านเกิดของตนอันนี้น่าอนุโมทนาจริง ๆ และก็หวังว่าคงจะได้เห็นคนมีคุณภาพได้ทำสิ่งสร้างสรรค์ในเร็ววัน

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    คุณจตุพรเข้ามาเยี่ยมสังเกตการณ์เวทีนี้และเรียกขานเวทีคนหนองบัวเหมือนการสร้างความรู้เพิ่มพูนปัญญาในชุมชนก็เลยให้ชื่อว่าลานปัญญาของคนหนองบัวเห็นชื่อนี้แต่เมื่อวานนี้ก็นึกชอบฟังดูดีให้ความรู้สึกทางสร้างสรรค์ เลยก็สอดคล้องกับเวทีคนหนองบัวน้องใหม่(นบ.-๒)พอดี เหมาะสมแล้วที่อาจารย์วิรัตน์นำชื่อนี้ไปใช้ในเวทีแห่งใหม่ต้องขอขอบคุณคุณจตุพรด้วยที่มีส่วนช่วยทำให้เกิดสิ่งดี ๆ อย่าลืมแวะมาแบ่งปันความรู้เสริมพลังปัญญาแก่คนหนองบัวและในเวทีใหม่ด้วยนะ ขออนุโมทนา

    คุณช้างน้อยมอมแมมนี่ผมผมรู้จักครับ และผมเคยไปบ้านของญาติพี่น้องของเขาบนทางผ่านเมื่อเวลาออกสนามไปทำงานวิจัย ผู้คนและญาติพี่น้อง รวมทั้งถิ่นฐานบ้านเกิดในชนบทของคุณช้างน้อยมอมแมมนั้น เป็นทุนมนุษย์และทุนทางปัญญาหลายด้านของสังคมมากมายครับ รวมทั้งความเป็นนักวิชาการและภาวะผู้นำของคุณช้างน้อยมอมแมมเอง ก็รู้สึกได้ครับว่าเขาเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวาง เรียกว่ามีปัญญาบารมีและความดีงามอันเป็นที่ยอมรับของชาวบ้านและญาติพี่น้อง รวมไปจนถึงผู้หลักผู้ใหญ่ เกินความเป็นคนหนุ่มคนสาวธรรมดาๆครับ หากกลับไปทำสิ่งต่างๆในชนบทที่บ้านเกิดด้วยฉันทะ อย่างที่กล่าวนี้ แน่ใจได้ว่าจะก่อเกิดสิ่งดีๆมากมายจากพลังความร่วมไม้ร่วมมือของชาวบ้านที่นำไปสู่การสร้างสุขภาวะสังคมที่อาศัยทุนมนุษย์และทุนศักยภาพชุมชนเป็นหลัก ได้อย่างดีแน่นอนครับ ร่วมขอให้กำลังใจและแรงหนุนครับ ถือเวทีคนหนองบัวเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันนะครับ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องสร้างสรรค์และดีงามครับ

    คุณเอก จตุพร ที่ให้ชื่อว่า ลานปัญญาของคนหนองบัวนั้น ช่างบังเอิญเหลือเกินว่าไม่เพียงมีความหมายที่สะท้อนลักษณะของเวทีอย่างเดียว ทว่า ทำให้ต้องนึกถึงความเป็นวัดหนองกลับ และโรงเรียนอนุบาลหนองบัวหรือชื่อเดิมโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ที่ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ หลวงพ่ออ๋อย ผู้นำทางจิตใจและผู้นำทางสังคมของท้องถิ่นที่ร่วมสมัยกัน ได้สร้างขึ้นบนพื้นที่ติดกันกับลานวัด เลยทีเดียว ลานวัดหนองกลับบนผืนดินที่เชื่อมโยงกับสนามโรงเรียนแต่เดิมนั้น เป็นพื้นที่ใช้สอยเอนกประสงค์ ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่บนลานกว้างนั้น ก็จะเป็นกิจกรรมวัฒนธรรมทางปัญญาและกิจกรรมทางศาสนา ทั้งของวัด โรงเรียน และชุมชน พอเรียกว่า   ลานปัญญาของคนหนองบัว    นี่ นอกจากสื่อความหมายแล้ว จึงให้ความรู้สึกราวกับว่าใช่เลยในความเป็นชื่อที่สะท้อนวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมของคนหนองบัว ผมเลยให้สีสัน  ชมพูฟ้า  สีประจำของโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) ซึ่งทั้งเป็นหน่วยทางปัญญาและความรู้ของชุมชน อีกทั้งก่อเกิดขึ้นมาบนลานวัด ศูนย์กลางจิตใจของชุมชนหนองบัวนับแต่อดีตอีกด้วย

    พอเข้ามาอยู่ในโลกไซเบอร์แล้วใช้ชื่อว่า ลานปัญญาของคนหนองบัว จึงนอกจากได้ชื่อเวทีที่สอดคล้องกับลักษณะกิจกรรมแล้ว ก็เลยสื่อถึงความเป็นมาที่สืบนื่องกับชุมชนด้วยเลยทีเดียวนะครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล สวัสดีพี่วิรัตน์ และเพื่อนพ้องน้องพี่ ทุกๆคน

    • กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าอย่างสูงที่ได้ให้กำลังใจเกี่ยวกับปฏิทิน ที่ได้ลองทำไว้เป็นตัวอย่าง ว่างๆจะพยายามทำให้ครบทั้ง 12 เดือน
    • รู้สึกภูมิใจแทนพี่วิรัตน์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้หลายต่อหลายคนอยากจะทำงานให้ชุมชนบ้านเกิด
    • เมื่อวานนี้เป็นวันคริสมาสต์ ตั้งใจจะพูดถึงศาสนาคริสต์ในหนองบัวเท่าที่ได้เคยเห็นในวัยเด็ก ต้องถือว่ากิจกรรมทางศาสนาที่หนองบัวนั้น นอกจากศาสนาพุทธแล้วนี่ มีน้อยมากและมีผู้คนที่ไม่ได้เป็นชาวพุทธนี่แทบจะนับหัวได้ แม้จนปัจจุบัน เมื่อก่อนนี้หนองบัวยังไม่มีรพ.ประจำอำเภอ มีแต่อนามัย ซึ่งผู้คนจะเรียกว่า สุขศาลาอยู่ในบริเวณที่ว่าการอำเภอ โดยมีหมอหนิมเป็นอนามัยประจำอำเภออยู่ และมีรพ.คริสเตียน เป็นห้องแถวอยู่ตรงหัวตลาด ซึ่งมีมิชชันนารีชาวตะวันตกทำงานอยู่ ให้บริการด้านสุขอนามัยแก่ชาวหนองบัว ถ้าเป็นเคสคนไข้หนักๆ หรือคลอดลูก นอกจากหมอตำแยแล้วก็จะมาใช้บริการที่รพ.คริสเตียน ส่วนพวกปวดหัวตัวร้อนไข้หวัดก็ใช้บริการที่สุขศาลา พวกหมอและมิชชันนารี 4-5 คน พอวันอาทิตย์ตอนบ่าย ก็จะขี่จักรยานไปสอนศาสนาคริสต์ที่เกาะลอย ซึ่งจะมีอาคารมีหลังคาเป็นเวที พวกเราเด็กๆก็จะไปนั่งเรียน ร้องเพลงเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ เล่นเกมส์ และสุดท้ายก็มีขนมแจก เป็นที่สนุกสนานเฮฮาของเด็กๆ ผมยังพอจำบทร้องเพลงสรรเสริญพระเยซูได้บ้างนิดหน่อย เช่น พระเยซูอยู่ในบ้านฉัน บ้านฉันมีความสุข รวมทั้งบทร้องล้อเลียนที่มาร้องเล่นกันเองในหมู่เด็กๆ คงไม่เหมาะที่จะนำมากล่าวถึง นี่คือกิจกรรมทางศาสนาคริสต์ที่ได้รับรู้ในวัยเด็กที่หนองบัว
    • เมื่อเช้านี้คุยกับพี่สาว เห็นว่าแม่อาการไม่ค่อยดี ไม่กินข้าวและหลับตลอด แต่ยังขยับแข้งขาได้ ตอนนี้พี่สาวคนโตกับพี่รักษ์กำลังเดินทางไปเยี่ยมที่ นว. เดี๋ยวตอนบ่ายผมกับแฟนก็จะตามไป

    ลืมไปครับว่าจะถวายปฏิทินให้พระคุณเจ้า พระมหาแลอีก อันนี้ทำเสร็จไว้พร้อมกับคราวที่แล้ว ยังไม่ได้ทำเดือนที่เหลือเลย 

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณศศักดิ์ศรี-ฉิก

    ขอให้คุณแม่หายป่วยไว ๆ มีสุขภาพแข็งแรง

    อนุโมทนาที่มีน้ำใจจะถวายปฏิทิน

    คุณแม่ไม่สบายแต่ก็ยังมีน้ำใจแบ่งปันเรื่องราว

    สุขศาลาหมอหนิมคือสถานพยาบาลเบื้องต้นระดับชุมชน(ปัจจุบันสถานีอนามัยตำบล)

    แต่บ้านเราเทียบเท่าโรงพยาบาลอำเภอเลยนะเพราะบริการทั้งอำเภอ

    อันที่จริงต้องขอบคุณโรงพยาบาลคริสเตียนคุณหมอและมิชชนารีที่มาให้บริการด้านสุขภาพก่อนรพ.รัฐจะมาถึงหนองบัว

    กรานมัสการพระอาจารย์มหาแล และสวัสดีครับฉิก

    • ฉิกพูดถึงเพลง ที่พวกเด็กๆนำมาร้องล้อเลียนกันนี่ ทำให้พี่ต้องนั่งยิ้ม พอจะนึกออกครับ คงจะเป็นเพลงเดียวกันที่ผมและคนรุ่นผมก็ร้อง เดี๋ยวนี้ก็ยังจำติดปาก แต่ไม่กล้าร้องแล้วครับ
    • ในสังคมของชุมชนหนองบัวนั้น พวกเราชอบร้องเพลงล้อพระเจ้า และเพื่อนที่นับถือพระเจ้ากับอย่างอื่นที่นอกเหนือจากพุทธศาสนา ก็ทำล้อเลียนพระ แล้วพวกเราก็ผสมผเสไปด้วย ทั้งสนุกและขบขันกันอย่างจริงๆจังๆ
    • มันไม่ใช่ดูหมิ่น ไม่เคารพนับถือ หรือเห็นเป็นคนละพวก แล้วทำความรุนแรงต่อกันทางวัฒนธรรมและความเชื่อ แต่มันเป็นการแสงออกถึงความเป็นคนร่วมสังคมด้วยกันจนคุ้นเคยย่ำปึ่กถึงกับเล่นกันเองในสิ่งที่เป็นความลึกซึ้งส่วนตนได้อย่างไม่สะเทือนให้แบ่งเขาแบ่งเรา
    • เหมือนกับการล้อพ่อล้อแม่กันของเด็กๆ พี่ของฉิกคือรักษ์ ก็เคยเรียกชื่อพ่อผมแทนผม และพี่เองก็เคยเรียกพี่ของฉิกโดยใช้ชื่อเตี่ยแทน (แต่ตอนนี้ลืมหมดแล้วครับ ตอนนี้จำชื่อพ่อแม่เพื่อนได้ไม่กี่คนแล้ว) แต่ไม่ได้มีนัยยะถึงความไม่เป็นการเคารพเลยแม้แต่น้อย มันสนุกและเป็นการเล่น การร้องเพลงล้อเลียนสิ่งที่เคารพนับถือกัน ก็ทำนองเดียวกันกับอย่างนี้เหมือนกัน
    • แล้วก็มองออกไปยังสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ทุกวันนี้เลย รู้สึกเหมือนสังคมของผู้คน นับถือความเป็นเพื่อนมนุษย์ต่อกันน้อยลง 
    • ดูฝีมือ และความเป็นคนต่อความคิด แล้วก็ใส่ Creative ลงไปได้อย่างชำนาญของฉิกแล้วนี่ ทำกราฟฟิคเฮ้าส์ที่หนองบัวได้สบายเลย สอนให้ลูกๆหลานๆ ทำในหนองบัวได้เลยนะครับ หนองบัวขาดแคลนเรื่องพวกนี้ ต้องไปหาทำที่ชุมแสง ปากน้ำโพ และตะพานหินโน่น
    • ดูแล้วก็มีความสุขและชื่นชมไปด้วยครับ
    • ฝากกราบเยี่ยมแม่และเตี่ยด้วยครับ ฝากทักทายเจ้ารักษ์และหลานคู่แฝดด้วยครับ ปีนี้ยังไม่ได้เจอกันเลย

    ขอร่วมกับท่านพระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) | คุณเสวก ใยอินทร์ |คุณสมบัติ ฆ้อนทอง | คุณฉิก | คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ | และคนหนองบัวทุกคน | สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๓ คนหนองบัว เครือข่ายกัลยาณมิตร และผู้อ่านทุกท่านนะครับ

     ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย พระบารมีปกเกล้าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล รวมทั้งสิ่งที่ทุกท่านเคารพนับถือ จงร่วมเป็นขวัญและกำลังชีวิตสำหรับทุกท่าน ให้ทุกขณะและทุกอริยาทบทในชีวิตของทุกท่านจงได้กอปรด้วยพลังแห่งความเป็นสัมมา กร้าแกร่งในพลังปัญญาและปรีชาญาณในการแก้ปัญหาต่างๆ มีพลังแห่งสติ พลังแห่งความตั้งมั่น ตบะ บากบั่น อดทน พลังแห่งความริเริ่มสร้างสรรค์

    มุ่งสู่ความสุขและความศานติ สงบเย็นทั้งกายใจ เจริญงอกงามในการปฏิบัติธรรมแห่งชีวิตทั้งเพื่อผู้อื่นและตนเอง มีความงอกงามก้าวหน้าในการเรียนรู้ในทุกสถาน พึ่งตนเอง พอเพียง มีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาวะสังคม และสามารถเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีของหมู่มิตร เพื่อนร่วมงาน ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ให้ได้ปฏิบัติและเรียนรู้สิ่งดีไปด้วยกันอยู่เสมอ

    จำเพาะเวทีของคนหนองบัวนี้ ก็ขอให้เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ เป็นแหล่งพัฒนาบทบาทของทุกท่านที่เข้ามาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆด้วยกัน ให้ได้ประสบการณ์ชีวิตที่ดีสำหรับนำกลับไปทำการงานและดำเนินชีวิตเหมือนได้หมู่มิตรและที่ปรึกษาหารือให้ชีวิตกอปรด้วยความมีสติปัญญาและการใช้เหตุผลที่พอดี พอเพียง และเหมาะสมแก่เหตุปัจจัยแห่งชีวิตตนอยู่เสมอ ได้ความรอบด้าน มีความรู้ และมีสายตาที่เท่าทันโลกรอบข้าง

    หากเป็นพ่อแม่ เป็นผู้นำของครอบครัว ก็ขอให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายผู้คนผู้มีน้ำใจแห่งมิตร มีความรู้ มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ และมีความดีงามอยู่ในตนเองอย่างหลากหลายทั่วประเทศในเวทีนี้ และได้เวทีนี้เป็นแหล่งบ่มเพาะศักยภาพความเป็นครอบครัวของพ่อแม่ เพื่อสามารถเป็นที่ปรึกษาอันเท่าทันโลกแก่ลูก เป็นครูและเป็นผู้นำประสบการณ์ที่ดีมาสู่การเรียนรู้ของลูก เป็นกลุ่มสังคมและเป็นสถาบันอันดับแรกที่สร้างความมั่นคงเข้มแข็งของสังคมอย่างมีพลัง

    หากเป็นเด็กและเยาวชนคนหนองบัว รวมทั้งในท้องถิ่นต่างๆที่ได้เข้ามาเป็นเพื่อนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนหนองบัว ก็มีความองอาจสง่างาม รอบรู้ทางสังคม มองไกลสู่โลกกว้าง มีปัญญาและความฉลาดต่อการเข้าถึงวิทยาการและเทคโนโลยีที่เห็นประโยชน์สุขของคน ชุมชน และสังคม เป็นฐาน เรียนรู้ความกว้างขวางของโลกรอบข้างอย่างนอบน้อม เคารพผู้อื่น และเห็นภาวะผู้นำของตนเอง มีความเชื่อมั่น แจ่มแจ้ง และชัดเจนในสิ่งที่สังคมของตนมี สามารถแบ่งปัน นำเสนอความแตกต่างให้กับผู้อื่น และสามารถนำการปฏิบัติให้แก่ผู้อื่นด้วยหนทางที่แตกต่างหลากหลายยิ่งขึ้น จากความเป็นตัวของตัวเองได้เสมอ

    หากเป็นคนทำงานท้องถิ่นและคนของราชการ ก็เป็นคนบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ มีภูมิปัญญาพอเพียงแก่การทำการงานสังคมให้รอบคอบ เชื่อมโยงความเป็นท้องถิ่น ความเป็นสาธารณะของสังคมไทย และความเป็นสากลของโลก เป็นความอุ่นใจของประชาชน เป็นกำลังทางวิชาการเพื่อการสร้างสุขภาวะของชุมชนทุกระดับขึ้นจากฐานชุมชนให้งอกงามและเป็นตัวของตัวเอง ได้มีโอกาสฟื้นฟูและส่งเสริมการเรียนรู้ตนเองของชุมชนให้ยิ่งงอกงาม สนุก ประสบความสำเร็จทีละเล็กละน้อยในการได้สร้างและสะสมพลังความรู้อย่างในเวทีคนหนองบัวช่วยกันให้มากยิ่งๆขึ้น ทำให้ผู้คนเห็นคุณค่าแห่งชีวิตและมีโอกาสพัฒนาตนเองเพื่อมีส่วนร่วมต่อการสร้างสรรค์ในสิ่งที่ต้องการทำเพื่อผู้อยู่ร่วมกันกับอื่น

    คนหนองบัวทุกท่านที่เข้ามาพัฒนาเวทีคนหนองบัวด้วยกันในทุกเวทีย่อยๆ ก็ขอจงได้ประสบทุกสิ่งในข้างต้น และขอให้ได้ประสบการณ์ที่ดี สามารถร่วมสร้างสรรค์ และทำให้เวทีคนหนองบัวมีความคึกคัก ได้ความเป็นชุมชนและเครือข่ายของคนที่คิดดี ทำดี มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาทั้งเพื่อกลุ่มก้อนของตนเองและเพื่อความเป็นสาธารณะในทุกขอบเขตที่ทุกท่านสามารถนำตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมได้

     ด้วยพลังความสร้างสรรค์สิ่งดี จากการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติของเราทุกท่านดังกล่าว ก็ขอให้เป็นเหตุปัจจัยส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้างให้มีแต่ความสุข มีสุขภาวะสาธารณะ และทุกท่านก็ประสบแต่สิ่งดี ตลอดปี ๒๕๕๓ และตลอดไป ทุกท่าน เทอญฯ.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • พวกเราทั้งหมดที่ได้ร่วมกันขีดเขียนบันทึกเรื่องราวในชุมชนหนองบัวขอเป็นตัวแทนส่งความสุขปีใหม่โดยมีอาจารย์วิรัตน์ผู้ลิขิตคำพรทั้งปวงถือเป็นพรที่ส่งเสริมกำลังใจมอบความปรารถนาดีก็ขอให้ทุกท่านมีความสุขตามอัตภาพ
    • เมื่อรับพรแล้วก็อยากฝากข้อคิดก่อนสิ้นปีเก่าให้ทุกท่านนำไปพิจารณาสักเล็กน้อย
    • ด้วยว่าเทศกาลปีใหม่หลายปีที่ผ่านมามีการสูญเสียเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินในสังคมไทยเราอย่างมากมายมหาศาลสุดคณานับทีเดียว
    • การสูญเสียดังกล่าวเกิดจากปัจจัยหลายประการซึ่งปัจจัยเหล่านั้นส่วนมากจะป้องกันได้ แต่ก็สายไปสำหรับชีวิตของบางท่านหรือบางท่านก็ทุพพลภาพพิการไปทั้งชีวิตในชั่วพริบตา-วินาทีเดียว
    • เทศกาลที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไรกันแน่ตรงนี้แหละที่เราต้องกลับไปพิจารณาย้อนไปดูวิถีเก่า ๆ วิถีดั้งเดิมว่าบุรพชนของเราท่านทำอะไรอย่างไรเกี่ยวกับงานชนิดนี้
    • ทุกฝ่ายก็ช่วยกันอย่างแข็งขันที่จะป้องกันเหตุเภทภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในเทศกาลต่าง ๆ ของเมืองไทย
    • รณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้คนในสังคมตระหนักถึงการสูญเสียอันเนื่องมาจากเทศกาลงานต่าง ๆ ใช้ทั้งสื่อพิมพ์สื่อบุคคลที่เป็นเหยื่อแห่งความประมาทสื่อทางเสียงทางภาพสารพัดชนิดที่คิดว่าจะช่วยลดการสูญเสีย
    • แต่เหมือนกับคนฟังแล้วไม่ได้ยิน ไม่ใช่ไม่ฟัง ฟังเหมือนกัน แต่ก็ไม่ค่อยได้ยินแปลกจริง
    • พระสงฆ์ก็เป็นห่วงมีพระที่รู้จักกันทำงานร่วมกับ สสส. ท่านนำเด็กนักเรียนไปช่วยรณรงค์แจกแผ่นพับสิ่งพิมพ์กันบนถนนหลวงสายหลักของประเทศเลยทีเดียว
    • บางปีเกือบเป็นลมเพราะจังหวัดที่ท่านไปช่วยรณรงค์นั้นมีอุบัติเหตุการสูญเสียสูงติดท็อปเท็นแต่ก็ไม่ย่อท้อทำต่อไป
    • ได้เห็นตามถนนสายหลักสายรองมีเจ้าหน้านำเต้นท์ไปกางข้างถนนบริการประชาชนที่เป็นจุดสำคัญที่มียวดยานสัญจารไปมามาก ๆ
    • ชนิดปูพรมเต็มพื้นที่เหน็ดเหนื่อยก็ต้องทำเพราะห่วงความปลอดภัยของประชาชน
    • ปัจจุบันอะไร ๆ ก็ดูเหมือนจะมีปัญหาไปเสียเกือบจะทุกอย่าง โลกก็ร้อน ก็เลยขอเรียกร้องความเย็นคืนมาให้โลกบ้าง
    • อากาศก็ไม่บริสุทธิ์จนต้องหาทางเอากาศบริสุทธิ์คืนมา
    • น้ำก็เน่าเสีย ต้องรณรงค์อย่าทิ้งขยะลงแม่น้าคูคลอง เอาน้ำดี ๆ คืนกลับมาหน่อย
    • ดินก็เสื่อมสภาพทำอยู่ทำกินกันไม่ค่อยได้ผลเหมือนเก่า ก็เรียกร้องเอาดินธรรมชาติปุ๋ยธรรมชาติให้หวนคืนกลับมา
    • รวมว่าธาตุ ๔ มีปัญหา(ทุกข์) จนทั่วโลกกำลังเรียกร้องหาวิถีเดิม ๆ ของผู้คนได้คืนมาบ้างไม่ได้บ้างเพราะมนุษย์ยังเห็นแก่ตัวอยู่
    • พระก็ขอร่วมเรียกร้องบ้างว่า เอาความดีคืนมา ความคิดดีคืนมา ความทำดีคืนมาเอาคนดีคืนมา เอาความรัก ความสามัคคีคืนมา สู่สังคมชุมชนให้ได้ทั่วทั้งแผ่นดิน

    เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้แหละคุณโยม.

    พลังความรัก ความดี ความสามัคคี เพื่อทำปีใหม่ ๒๕๕๓ ให้เป็นโอกาสสร้างสิ่งดีเป็นของขวัญแก่ตนเองและสังคม : ขอร่วมเสริมกำลังใจผู้อ่านและคนหนองบัวอีกคนครับ ที่จะร่วมกันรณรงค์ทำให้ปีใหม่ การกลับบ้าน และการได้มีโอกาสทำสิ่งต่างๆในห้วงเทศกาลนี้ นำมาซึ่งสิ่งดีๆ สิ่งสร้างสรรค์ อย่างที่พระคุณเจ้าได้ฝากข้อคิดเล็กๆน้อยๆ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับลูกหลานคนหนองบัว

    ตั้งแต่ปีใหม่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา เห็นว่าหัวข้อนี้ยังเงียบเหงาอยู่

    ขอทักทายสบายดีท่านอาจารย์วิรัตน์/ท่านพระมหาแลฯและพี่น้องชาวหนองบัวทุกท่านครับ

    ปีใหม่ หลาย ๆ อย่างยังคงดำเนินไปตามปกติ ท้ายปีเก่าผมกลับไปบ้านมา มีอย่างหนึ่งที่เป็นของใหม่และขอนำเสนอในที่นี้คือ มีถนนลาดยางสายใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จ... ระยะทางประมาณ 5 ก.ม. เชื่อมต่อระหว่างถนนสายหนองบัว - ท่าตะโก (1119) กับถนนสายหนองบัว - ชุมแสง (225) ซึ่งผ่านบ้านห้วยวารีเหนือน่ะครับ ถนนใหม่นี้ ช่วยให้พี่น้องที่เดินทางระหว่างหนองบัว - นครสวรรค์ และหนองบัว - กรุงเทพฯย่นระยะทางได้มากทีเดียวครับ ที่สำคัญไปกว่านั้น...ทำให้สุขภวะและสิ่งแวดล้อมของชุมชนตลอดเส้นทางกลายเป็นถนนไร้ฝุ่นไปแล้ว....ไชโย !....... ต้นไม่ใบหญ้าที่เคยเต็มไปด้วยฝุ่นลูกรังสีแดง ได้กลายมาเป็นสีเขียวตามธรรมชาติของมันเสียที

    การเดินทางจากหนองบัว เข้ากรุงเทพฯ เป็นที่รู้กันว่าพึงหลีกเลี่ยงเส้นทางหนองบัว - ตากฟ้า (11) ให้ไกล ๆ ได้เท่าไหร่ยิ่งเป็นการดี ส่วนจะเนื่องด้วยเหตุผลใดนั้น ในเวบไซต์ของโรงเรียนหนองบัวก็ได้บอกไว้เหมือนกันครับ.

    สวัสดีครับคุณสมบัติ ฆ้อนทองครับ : ผมได้กลับไปทำบุญที่บ้าน บ้านตาลิน หนองบัวบ้านเรา แล้วก็ได้รับหนังสือของคุณสมบัติแล้ว ผมแนะนำหนังสือถ้อยเสียงสำเนียงลาวของคุณสมบัติ ให้น้องๆและญาติๆผมได้ทราบ พร้อมทั้งสาธยายเกี่ยวกับคุณสมบัติในฐานะผู้แต่งให้เป็นที่รู้จักในความเป็นคนบ้านนอกแต่ข้ามทุ่งไปได้การศึกษาขั้นสูงของประเทศ ไปทำการงานให้กับสังคมแล้วยังไม่พอ ยังทำชีวิตและการงานให้เป็นการเรียนรู้พร้อมกับถ่ายทอดออกมาเป็นงานที่สร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่งให้แก่สังคมอย่างหนังสือ ถ้อยเสียงสำเนียงลาว อย่างที่เห็นอีกด้วย ทุกคนประทับใจและแย่งกันอ่านหนังสือครับ

    ผมเองนั้นก็อ่าน โดยเฉพาะบทบันทึกเกี่ยวกับแรงจูงใจและความเป็นมาของการคิดเขียน กระทั่งทำออกมาเป็นหนังสือ เมื่อได้ทราบแล้วก็ประทับใจมากครับ ดูแล้วไม่ใช่เพียงการการเรียนรู้ภาษาของเพื่อนบ้านเท่านั้น ทว่า เป็นวิธีเขียนการเรียนรู้ภาษาให้เป็นการเรียนรู้ทางสังคมที่ให้ทรรศนะการมองโลกอย่างสร้างสรรค์และให้ความรอบรู้เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในวิถีชาวบ้านกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคอินโดจีน นี่แค่เพิ่งเริ่มอ่านเป็นบางส่วนเท่านั้นครับ

    งานในแนวของคุณสมบัติ ทำให้ผมนึกถึงงานเขียนของท่านฑูตวิษณุ จันวิทัน และประภัสสร เสวิกุลเลย เป็นงานหนังสือที่ได้วัตถุดิบอันมั่งคั่งจากประสบการณ์การทำงานและการเรียนรู้ทางสังคมของนานาประเทศ เป็นการทำโอกาสในชีวิตให้เป็นงานสร้างสรรค์ทางปัญญาแก่สังคมได้ดีจริงๆ ขอบคุณและขอแสดงความชื่นชมมากครับ

    ขอถือโอกาสกล่าวสวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๓ ด้วย สคส จากฝีมือการทำกันเองนะครับ ถือว่าเป็น สคส ที่คนหนองบัวและคุณสมบัติก็มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นะครับ   

                            

    รูปวาดทั้งชุดนี้ เป็นผลพวงจากเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเดินบวกความสร้างสรรค์ให้กันในเวทีคนหนองบัว และตอนนี้กำลังจัดเป็นนิทรรศการอยู่ที่ร้านหนังสือเบิกม่าน หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม แสดงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ จนถึงกลางเดือนมกราคม ๒๕๕๓ ครับ อาจารย์ณัฐพัชร์ท่านกรุณารวบรวมทำเป็นการ์ดเหมือนกับปฏิทินตามการเสนอความคิดของท่านพระอาจารย์มหาแล ซึ่งเป็นท่านหนึ่งที่ร่วมเสวนาและเป็นที่มาของการวาดรูปชุดดังกล่าวนี้ด้วย

    ขอส่งความสุขและน้ำใจแห่งมิตรมายังทุกท่านครับ ด้วยจิตคาระวะจากทีมวิจัยสร้างสุขภาวะชุมชน สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชมรมชีวเกษมและเครือข่ายชุมชน : ปรีชา ก้อนทอง | ศราวุธ ปรีชาเดช | สนั่น ไชยเสน | เริงวิชญ์ นิลโคตร | กานต์ จันทวงษ์ | อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ | ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ครับ

    ขอบพระคุณท่านอาจารย์และญาติพี่น้องที่บ้านตาลินเป็นอย่างสูงครับ ที่ให้ความสนใจต่อหนังสือที่ผมเขียน อันที่จริงแล้วหนังสือเล่มนี้เป็นหน้งสือเล่มแรกที่ผมเขียนครับ ผมเคยฝากไปให้นักวิจารณ์หนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ช่วยวิจารณ์ ปรากฏว่ามีเรื่องที่ควรจะต้องแก้ไขอีกพอสมควรครับ เป็นต้นว่า ตัวหนังสือเล็กไปสำหรับผู้อ่านที่สูงอายุ (ประมาณ 50 ปี ขึ้นไป) การใช้อักษรภาษาลาวเป็นชื่อหนังสือ อาจมีปัญหาพอสมควรสำหรับการลงรายการของห้องสมุด และอื่น ๆ นับว่าเป็นข้อแนะนำและข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์มาก สำหรับคนที่จะเข้าสู่วงการหนังสือและคิดจะเขียนหนังสือให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

    ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งครับว่า งานเขียนของสมเด็จพระเทพฯ (ขออนุญาตใช้ภาษาสามัญนะครับ) /ของท่านพิษณุ จันทร์วิทัน รวมถึงท่านอื่น ๆ มีส่วนทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้ ซึ่งแต่ละท่านล้วนมีประสบการณ์ตรงจากการได้เข้าไปสัมผัสหรือใช้ชีวิตระยะหนึ่งอยู่ใน สปป.ลาว.......ส่วนผมเองนั้น ส่วนใหญ่อยู่ตรงตะเข็บชายแดนซะมากกว่า

    สำหรับท่านพิษณุ จันทร์วิทัน(เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงฮานอย) นั้น สมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนกับหนังสือของท่านเล่มหนึ่งชื่อ..ใต้ฟ้าปากีฯ.....ครับ

    เมื่อสัปดาห์ก่อนมีคนอำเภอแก่งคอย/มีธุรกิจอยู่ในลาว มาพบผมที่ทำงานบอกว่าอยู่บ้านเดียวกับท่านทูตพิษณุฯ รู้ว่ามีหนังสือเล่มนี้แต่หาซื้อตามร้านหนังสือทั่วไปไม่ได้ จึงแวะมาคุยด้วย/ขอซื้อหนังสือพร้อมขอให้เซ็นต์ให้ด้วย

    การมีหนังสือของตัวเองสักเล่มหนึ่งก็ดีเหมือนกันครับ นอกจากงานตามภารกิจแล้ว ยังได้พบปะ พูดคุยและรู้จักกับคนในวงกว้างที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน...ก็มีชีวิตชีวาไปอีกแบบครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    • ผมก็มีข้อสังเกตให้ด้วยเหมือนกันครับ เรื่องแรกคือ วิธีการยกตัวอย่างประโยคและวิธีการใช้ศัพท์และคำนั้นๆ ซึ่งคล้ายกับวิธีของ ส.เศรษฐบุตร กับของ Webster Dictionary แต่ก็มีแง่มุมที่ผมคิดว่าดีกว่าก็คือ วิธีของเว็บเตอร์ก็ออกจะมากไป เกือบเหมือนของวิธีทำสารานุกรมเพื่อการค้นคว้าไปตามคำศัพท์ของบริเตนิก้าซึ่งคนทั่วไปนอกจากจะอ่านยากแล้วก็อาจจะจับประเด็นที่ไม่ได้สาระสำคัญที่ดี ส่วนของ ส.เศรษฐบุตร ก็จะดีในแง่การเห็นตัวอย่างการใช้ในโครงสร้างประโยคและสถานการณ์ที่ถูกต้อง ทว่า ของคุณสมบัตินั้น ทั้งสั้น ง่าย และที่เป็นจุดเด่นก็คือตัวอย่างที่ยกเป็นสถานการณ์ให้ดูการใช้ถ้อยเสียงสำเนียงลาวนั้น มันเป็นให้การเรียนรู้ชีวิตจิตใจของเจ้าของภาษาไปด้วย อ่านแล้วได้รู้จักสังคม ได้ความรู้รอบตัวไปพร้อมกับการเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้านนะครับ คงไม่เป็นการยกตัวอย่างเทียบเคียงที่ใหญ่เกินไปนะครับ เป็นการเทียบเคียงเพื่อการพัฒนาผลงานของเรา ไม่ใช่เทียบชั้นในทางลำดับความสำคัญและความเป็นที่ยอมรับ
    • เรื่องที่สองก็คือ ตัวหนังสือลาวนั้นสวยจังเลยครับ ผมเคยไปดูและเลือกซื้อสื่อสิ่งพิมพ์ของลาวในประเทศลาวเองมาไว้เป็นที่ระลึก ได้ความเป็นต้นฉบับบแต่ก็คิดว่าไม่สวยและคุณภาพการพิมพ์ไม่ดี ทำไมในหนังสือของคุณสมบัติมันออกมาสวยและมีความลงตัวดีในแง่ของ Visual Art มากเลยละครับ เป็นไปได้อย่างไรที่จะทำได้สวยกว่าเจ้าของภาษาเขา หรือว่ามันมีฟ้อนต์และรูปแบบการจัดหน้าหนังสือที่ดีอยู่แล้วแต่คุณภาพการพิมพ์ของลาวเขายังทำออกมาไม่ดีเอง
    • อันที่จริงการไปมีประสบการณ์ในสังคมที่แตกต่างแล้วมีการเรียนรู้ บันทึก เขียนหนังสือ เขียนรูป ถ่ายรูป รวมทั้งเก็บเอาเรื่องราวต่างๆติดตัวไปจัดเวทีนั่งคุยถ่ายทอดให้ประชาชนในประเทศของตนได้ฟังนั้น เป็นวัฒนธรรมทางปัญญาที่น่าส่งเสริมมากนะครับ
    • การทำหนังสือถ่ายทอดประสบการณ์อย่างคุณสมบัตินั้น เป็นการใช้โอกาสของชีวิตให้เป็นสื่อสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสังคมได้ดีจริงๆ เป็นการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ที่ควรส่งเสริม กระตุ้น และพัฒนาผู้คนให้แสดงออกในลักษณะนี้มากๆนะครับ ที่ทำงานผมนั้น ทั้งโดยการปฏิบัติของผมเอง และการต้องเป็นหัวหน้าคนอื่นเขาในบางภารกิจนั้น ผมจะขอไว้อย่างหนึ่งเลยว่า ไปไหนมาไหนทั้งในและต่างประเทศ ช่วยถ่ายรูป วาดรูป เขียนบันทึก แล้วทำสื่อเผยแพร่และจัดเวทีนั่งคุยให้เพื่อนๆได้ฟังกันหน่อย

    กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับอาจารย์ สำหรับข้อสังเกต

    เรื่องการจัดหน้า ลีลาและความสวยงามของตัวอักษรลาวนั้น ต้องยกความดีให้โรงพิมพ์เขาครับ .....โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์ออฟเส็ท จังหวัดขอนแก่น..... เดี๋ยวนี้หนังสือของลาวเองหลาย ๆ สำนักพิมพ์ก็ทำได้สวงงามดีครับ มีพัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ และได้มาตรฐานโดยเฉพาะในส่วนของภาคเอกชน เช่น มะหาซน (มหาชน) UP DATE วารสารการบินลาว เป็นต้น

    ภาพประกอบหนังสือส่วนมาก เป็นภาพกิจกรรมที่ไปประชุมร่วมกับทางการลาวครับ เป็นทางการบ้าง กึ่งทางการบ้าง รวมทั้งการเดินทางผ่านลาวไปจีน หรือผ่านลาวไปจีนโดยผ่านเวียดนามอีกประเทศหนึ่งก่อน ซึ่งแต่ละปีจะมีงบประมาณสำหรับการเดินทางไปสำรวจและศึกษาเส้นทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) และพบปะ/ประชุมร่วมกับศุลกากรของประเทศเหล่านี้ ผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือ ภาษาและวัฒนธรรมที่อุดมสมบูรณ์ครับ อย่างเช่นกลุ่มประชากรตรงบริเวณชายแดนลาว - จีน/ลาว - เวียดนามหรือแม้แต่เวียดนาม - จีน ผมสามารถใช้ภาษาของคนห้วยปลาเน่า - บ้านตาลิน พูดคุยกับเขาได้และรู้เรื่องกันดีครับ คณะที่เดินทางร่วมกันไปก็งงและสงสัยว่าผมไปพูดกับจาเขารู้เรื่องได้อย่างไร

    สำหรับทัศนะของอาจารย์ในข้อสุดท้าย ถ้าทุกคนทำได้ตามนั้นจะเกิดประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์การเรียนรู้สังคมได้มากทีเดียวครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ : เห็นมุมมองที่นำมาสู่การกล่าวว่า 'ภาษาและวัฒนธรรมที่อุดมสมบูรณ์' จากคุณสมบัติ ซึ่งทำงานด้านศุลกากรและมีความใกล้ชิดกับกิจกรรมด้านการค้า เศรษฐกิจ และแนวการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจแล้วประทับใจจริงๆนะครับ โดยปรกติเมื่อมีคนพูดในกรอบกิจกรรมที่สัมพันธ์กับเรื่องเศรษฐกิจและการค้าขาย โดยเฉพาะในระดับที่เป็นความสัมพันธ์ของประเทศไทยกับประเทศในอนุภูมิภาคอินโดจีน, ลุ่มน้ำโขง-แหลมทอง CLMVT : Cambodia, Loas PDR, Mynmar,Vietnam and Thailand และอาเซียนแล้ว เรามักได้ยินคนพูดแต่เรื่องโอกาสในการทำความร่ำรวย การเอาเปรียบกัน การกอบโกยเอาสิ่งที่มีอยู่ในสังคมประเทศเหล่านี้ออกไปขาย ให้น้ำหนักการหาความมั่งคั่งร่ำรวยทางเศรษฐกิจเงินตรา มากกว่ามองเห็นด้านอื่นที่ทีความหมายและมีความสำคัญมากเช่นกัน

    พอเห็นมุมมองที่เห็น 'ความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องที่เป็นทุนทางสังคมวัฒนธรรม' อย่างนี้ นอกจากรู้สึกว่าเหมาะสมมากจริงๆที่กล่าวโดยคุณสมบัติซึ่งกล่าวสะท้อนออกมาจากความซาบซึ้งและเป็นชีวิตจิตใจอย่างแท้จริงแล้ว ก็เป็นทรรศนะจากคนที่มีบทบาทต่อเรื่องการค้าและสังคมเศรษฐกิจระหว่างไทย-ลาว รวมทั้งตามแนวชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ นับตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับนโยบายและระดับที่เข้าถึงกลไกระดับนำของประเทศ อีกทั้งเป็นการรู้เรื่องดีด้วยมีวิชาจากประสบการณ์และอยู่ใกล้ชิดกับความเป็นจริงในฐานะคนทำงาน อย่างมากอีกด้วย

    ทำให้ผมรู้สึกมีความสุขไปด้วยนะครับว่า เมื่อใดที่คุณสมบัติมีโอกาสให้ความรู้และนำเสนอแนวคิด หรือให้ข้อเสนอแนะทั้งในเชิงนโยบายและต่อการแก้ปัญหาระดับปฏิบัติ ก็ย่อมสามารถสะท้อนกระบวนทัศน์ต่อ 'ความอุดมสมบูรณ์ของสังคม' ที่ลึกซึ้ง แยบคาย และครอบคลุมความเป็นองค์รวมของสังคมที่กว้างขวางรอบด้านมากกว่าแนวคิดและแนวทางของสังคมอย่างทั่วไปแน่นอน ดีใจจริงๆครับ หากมีโอกาสจะขอเชิญไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนของมหิดลที่สนใจบ้างนะครับ

    สวัสดีครับ พี่วิรัตน์ น้องสมบัติ และทุกๆท่าน

    เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่คนหนองบัวได้จัดทำหนังสือเกี่ยวกับภาษาลาวซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วมันก็คือสำเนียงเสียงภาษาอีสานบ้าเฮานี่เอง ถ้าเป็นหนองบัวลำภูก็คงจะไม่เท่าไหร่ แต่นี่หนองบัว นครสวรรค์ มันก็เลยออกจะแปลกๆ

    จริงภาษาบ้านเรามันก็ออกจะเหน่อๆทั้งนครสวรรค์เลย ออกไปทางไหนดีล่ะ ผมว่าออกไปทางสุพรรณนะ แต่ไม่จัดเท่า

    เพิ่งจะรู้ว่ามีถนนลาดยางเส้นใหม่ ไว้วันไหนกลับหนองบัวจะไปสำรวจดู

    ไม่ทราบว่ามีนิทรรศการที่ร้านหนังสือเบิกม่าน หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อีกไม่กี่วันก็จะหมดงานแล้ว ไม่รู้จะมีเวลาไปหรือเปล่า ก่อนหน้านี้ก็ผ่านๆแถวๆนั้นอยู่บ้าง ถ้ารู้ก็จะได้แวะไปดูโดยเฉพาะรูปวาดของพี่วิรัตน์

    เมื่อวานเป็นวันเด็ก สมัยที่ยังเป็นเด็กมัธยมที่หนองคอก จำได้ว่าวันนี้ที่รร. จะให้พวกเรานักเรียนทำซุ้ม แล้วแต่ว่าห้องไหนจะทำกิจกรรมเกี่ยวกับอะไร ส่วนใหญ่ก็จะเป็นซุ้มขายอาหาร ก็สนุกดี ที่พวกเราได้ร่วมทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้กิจกรรมเกี่ยวกับวันเด็กที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง

    เพิ่มเติมนิด เกี่ยวกับเว็ปไซต์ของรร. ผมว่าค่อนข้างเงียบไป ไม่ค่อยปรับปรุงข้อมูล อย่างเรื่องงานทำบุญผ้าป่าและพบปะศิษย์เก่าเมื่อ 6 ธ.ค. 52 ก็ยังไม่มีสรุปให้ทราบถึงยอดเงินที่ได้รับบริจาค ฝากไปยัง อ.ประทวน อ.สมัคร อ.สืบศักดิ์ อ.เสรี และท่านอื่นๆที่เกี่ยวข้องพิจารณาด้วยครับ (อาจารย์ที่เอ่ยชื่อไปเพราะรู้จักสนิทเป็นการส่วนตัว)

    แจ้งเพิ่มเติมเรื่องอาการของแม่ เมื่อวานนี้หมดได้ทำการเจาะคอใส่ท่อไว้ เพราะปัญหาเสมหะที่ไม่สามารถขับออกมาได้ด้วยตัวเอง ตอนนี้อาการก็ดีขึ้น เดี๋ยวจะต้องออกจากบ้านที่กทม.ไปเยี่ยมแม่ที่นว.ตอนนี้แล้วครับ เลยไม่มีเวลาจัดหน้าจัดตัวหนังสือ

    ขอบคุณครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณฉิก

    • คนที่เห็นหนังสือถ้อยเสียงสำเนียงลาวที่อาตมาซื้อมา ๒ เล่ม ทั้งชาวพิษณุโลกและอุตรดิตถ์เขาก็แปลใจอย่างมาก
    • ว่าทำไมคนหนองบัวจึงเขียนพจนานุกรมภาษาลาวได้ เขาคงคิดว่าไม่น่าจะมีคนลาวในหนองบัวเพราะเขาเคยไปมาแล้ว
    • ได้ความรู้จากพจนานุกรมนี้อีกว่า มีพี่น้องลาว เช่น ลาวโซ่ง ลาวใต้ ลาวพวน ลาวเวียง ลาวแง้ว อยู่ในจังหวัดใดบ้าง หนองบัว-ชุมแสง นครสวรรค์ มีไทยทรงดำ(โซ่ง)
    • อาตมาเห็นหนังสือนี้ที่มน.(ม.นเรศวร) พิษณุโลก หยิบดูด้วยความสนใจพลิกด้านหลังมีประวัติผู้เขียน
    • หัวข้อถิ่นเกิด ระบุไว้ว่า ต้นน้ำเจ้าพระยาที่อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อเห็นคนหนองบัวเขียนก็ตัดสินใจซื้อได้โดยง่ายทันที
    • อีกอย่างก็กำลังมองหาหนังสือที่มีเรื่องราวในหนองบัวอยู่แล้ว ทั้งคนเขียนหรือหนังสือคิดว่าถ้าเป็นหนองบัวทำขึ้น จะหาเก็บไว้ศึกษา
    • อ่านที่อื่นมามากแล้วเมื่อมาเห็นคนบ้านเราเขียนก็เลยดีใจ และก็เพราะหนังสือถ้อยเสียงสำเนียงลาวเล่มนี้นี่แหละที่เวทีคนหนองบัวได้พบเจ้าของผลงานตัวจริงเสียงจริง คนห้วยปลาเน่า(ห้วยวารี)มาปรากฏตัวให้ได้ชมกัน
    • และก็ทั้งคนหนองบัวและคนทั่วไปเลยได้ทราบการทำงานของเจ้าของหนังสือนี้อย่างมากมายและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องทั้งสองประเทศอย่างน่าชื่นใจ
    • คนตัวเล็กแต่ก็มีส่วนทำงานในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศได้ดีไม่น้อย
    • ได้เข้าไปดูเว็บไซต์โรงเรียนหนองคอกแล้วเห็นนำรูปกิจกรรมในงานทอดผ้าป่าการศึกษาเมื่อ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ มาลงไว้เยอะเชียว
    • ขอให้คุณแม่หายป่วยไข้มีสุขภาพแข็งแรง

    สวัสดีครับฉิก ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัยอำนวยพรให้แม่หายวันหายคืนนะครับ แล้วก็ขอให้ฉิก พี่ๆน้องๆ และลูกหลานของแม่ ได้ของขวัญ มีความสุข และความเจริญงอกงามที่ได้ปฏิบัติดูแลแม่ในยามแก่เฒ่าอย่างนี้นะครับ ขออนุโมทนาครับ

    ภาพกิจกรรมงานทอดผ้าป่าการศึกษาและ ๔๙ ปีโรงเรียนหนองคอก : คุณสมบัติเคยบอกไว้อยู่นะครับว่าเว็บของโรงเรียนหนองคอกได้นำเอาภาพ(ภาพนิ่งและวิดีโอ) งานทอดผ้าป่า งานพบปะศิษย์เก่าและงาน ๔๙ ปีของโรงเรียนหนองบัว มาแขวนไว้ในเว็บของโรงเรียนแล้ว พี่เข้าไปดูแล้วครับแต่ไม่สำเร็จ ไฟล์มีอยู่ ๓ ไฟล์แต่ข้อมูลคงจะมหึมามากหรืออย่างไรก็ไม่รู้เพราะไฟล์แรกบอกข้อมูลเวลาเราคลิ๊กลงไปว่าความยาว ๔ ชั่วโมง ไฟล์ที่ ๒ สองชั่วโมงกว่า และไฟล์ที่ ๓ ก็ชั่วโมงกว่า พอลองโหลดดูแล้วก็แทบจะลิงหลับไปเลย ลองเลือกไฟล์ ๓ ที่สั้นที่สุดแต่ก็โหลดไปกว่าครึ่งชั่วโมงก็ยังโหลดไม่หมด เลยหมดความเพียรและทดไว้ก่อน รอให้มีใครเขาแนะนำวิธีดูให้ได้ว่าจะต้องทำอย่างไรก่อนดีกว่า

    การทำข้อมูลภาพและข้อมูลชีวิตชุมชนหนองบัว : นิทรรศการรูปวาดของพี่ที่จัดแสดงที่ร้านหนังสือเบิกม่าน หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายานั้น จะแสดงถึงกลางเดือนมกราคม ๒๕๕๓ นี้ครับ คงจะเก็บรูปประมาณเย็นวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๓ ที่บอกว่าประมาณก็เนื่องจากมีพี่ๆและพรรคพวกในท้องถิ่นขอให้ติดตั้งทิ้งไว้ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์เพราะอยากจะให้หลายคนว่างแล้วมานั่งพบปะพูดคุยกัน แต่พี่คิดว่าคงจะเก็บตามกำหนดการเดิม

    แต่หลังจากนั้นแล้ว ก็จะไปจัดแสดงและทำเป็นเวทีนั่งสนทนากันกับคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งในปี ๒๕๕๓-ต้นปี ๒๕๕๔ ได้หารือกันว่าจะจัด ๔ ครั้ง เพื่อเป็นการเผยแพร่และสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคมในการสร้างความสุข สร้างการงานและสร้างชีวิตอันเกษม มีความเบิกบ่าน แจ่มใส ด้วยศิลปะและการพัฒนาสุนทรียภาพทางจิตใจและการเจริญสติภาวนา พร้อมกันนั้น ระหว่างตระเวนไปที่ไหนก็จะเก็บรวบรวมข้อมูลมาเขียนหนังสือ ถ่ายรูป และวาดรูป สะสมเป็นงานอื่นๆ สำหรับขยายผลให้เกิดพลังสิ่งดีในสังคมต่อไปอีก

    แรกเลยก็คิดว่าจะไปจัดร่วมกับฝ่ายกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำงานของพี่เอง ท่านรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาท่านมาชวนไปทำให้กับนักศึกษา ซึ่งพี่ก็ว่าจะทำ จากนั้นก็จะไปจัดร่วมกับคนราชบุรี ซึ่งคาดว่าจะเป็นโรงพยาบาลราชบุรีและองค์กรท้องถิ่นราชบุรี จากนั้นก็ว่าจะไปจัดและนอนคุยกันเล่นกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิวกานท์  ปทุมสูติ ที่ทุ่งสักอาศรม เมืองสุพรรณบุรี

    แล้วก็พอปลายปี ๒๕๕๓ หรือปลายปี ๒๕๕๔ ก็คิดว่าหากโรงเรียนหนองบัวและชาวหนองบัว จัดงาน ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว ผมก็จะขอพื้นที่สักหน่อยหนึ่งมาจัดแสดงนิทรรศการและเวทีนั่งคุยกันของชาวบ้านท้องถิ่น ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย ซึ่งก็คงจะเป็นช่วงปลายปี ๒๕๕๓ หรือไม่ก็ถือโอกาสเอาตอนงานงิ้วต้นปี ๒๕๕๔ ไปเลย แต่ถึงแม้จะไม่มีหน่วยงานและกลุ่มใดจัด พี่ก็จะจัดเองครับและจะใช้ข้อความสื่อสารสร้างความตื่นตัวให้มีสีสันและมีชีวิตชีวากันสักหน่อยว่า ๕๐ ปี กึ่งศตวรรษของการพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัว

    พี่หารือกับทีมเป็นเบื้องต้นว่า ชุดที่จะจัดแสดงที่หนองบัวนั้น จะไปถ่ายสำเนาต้นฉบับรูปเขียนและทำงานเพิ่มขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่ง พอแสดงเสร็จ ชุดที่จัดแสดงพี่จะยกให้หนองบัวบ้านเราทั้งหมดเลย ส่วนต้นฉบับนั้น พี่จะนำไปติดตั้งไว้ในหอศิลป์ส่วนตัวเล็กๆที่บ้านสันป่าตองเชียงใหม่ เปิดให้คนไปเยี่ยมเยียนและเข้าชมได้ตลอดต่อไป ในรายละเอียดอาจมีปรับเปลี่ยนไปบ้าง

    ซึ่งดูแนวโน้มแล้วก็คงจะเป็นการเพิ่มรายละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม เพราะมีเพื่อนๆและน้องๆหลายคนแสดงความสนใจและบอกว่า หากจะทำข้อมูลเป็นสื่อสวยๆและทำเป็นคำบรรยายสิ่งจัดแสดงต่างๆให้เป็นเรื่องราวของท้องถิ่นให้น่าสนใจ ทำไปตามกำลังของเราให้นำร่องที่คนอื่นจะมาสานต่อ เขาก็ยินดีจะมาร่วมลงแรงด้วย ก็เลยจะคิดกันดูก่อน เพราะทำกันไปเรื่อยๆไม่ต้องรีบดีกว่า

    ๕๐ ปี กึ่งศตวรรษ การพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัวและชนบทไทย

    อีกทั้งปี ๒๕๕๔ ถัดไปนั้น ก็จะเป็นวาระ ๕๐ ปีของโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) พอดีอีก พี่คิดว่าจะมีเวลาลงแรงตนเองและระดมคนที่สนใจด้วยกัน มาทำงานข้อมูลและจุดประกายให้คนมีกำลังใจในการริเริ่มสิ่งดีๆไปตามแต่จะทำกันได้หลายอย่าง ก็คงจะทำงานสร้างความเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องให้ดีได้พอสมควร แล้วก็คิดว่าควรจะทำให้มีความหมายต่อการพัฒนาการศึกษาเพื่อชนบทของสังคมไทยด้วย เพราะอำเภอหนองบัวและโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔)นั้น มีนัยะของการก่อตั้งที่สะท้อนความเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศเป็นอย่างมาก ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งในท้องถิ่นและจากส่วนกลางและหน่วยงานที่เคยเกี่ยวข้อง ก็จะได้มีกำลังใจ อยากให้เป็นการเรียนรู้ความเป็นชุมชนที่ทำให้เกิดความเคารพตนเองและให้การจดจำต่อคนที่ได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆไว้ให้กับผู้คน ใช้โรงเรียนและชุมชนหนองบัวของเราเป็นแกนนี่แหละ เป็นรูปธรรมที่สื่อสะท้อนให้จับต้องกันได้ดี

    เลยบอกกล่าวไว้ก่อนเผื่อฉิก รวมทั้งทุกท่านในเวทีคนหนองบัว โดยเฉพาะพระคุณเจ้าพระมหาแล คุณเสวก และคนอื่นๆ จะได้มีเวลาบ่มความคิด หากไม่ได้ทำอะไรกันเลยก็เสมอตัว แต่หากมีโอกาสทำไปตามกำลังและเงื่อนไขของเรา ก็มีคนค่อยๆลุกขึ้นมาทำงานพัฒนาสุขภาวะหนองบัวไปด้วยกันเสมอๆ นะครับ อย่างที่คุยและทำอย่างนี้กันไปเรื่อยๆนี่ พี่ว่าก็ดีมากเลยทีเดียว เพราะในหนองบัวนั้น มีพวกเราแทบทุกรุ่นที่ได้ทำสิ่งต่างๆ อยู่แล้ว เหลือตรงได้สื่อสารและมีเวทีชวนกันคุย ปรึกษาหารือ และทำข้อมูลความรู้ที่ให้มีวิธีคิดดีๆ เท่านั้นเอง

    ต้องขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเฉลิมฉลองให้กับตนเองและเวทีคนหนองบัวเวทีนี้ ที่ตอนนี้มียอดคนคลิ๊กเข้ามาเยือนเกิน ๕,๐๐๐ คนครั้งแล้วครับ แล้วการเข้ามาสนทนากันก็น่าสนใจมากครับคือ ๓๐๐ กว่ากระทู้แล้ว 

                            

    เวทีนี้ท่านพระอาจารย์มหาแลและผมช่วยกันริเริ่ม แล้วก็ดูแลกันไปตามอัตภาพ ทำเพื่อเป็นสะพานและอิฐก้อนแรกๆให้กับคนหนองบัวน่ะครับ แต่ไปๆมาๆก็ทำท่าคึกคักดีเหมือนกัน ตอนนี้มีฉิก คุณสมบัติ ฆ้อนทอง และอีกหลายท่านที่เป็นมือดีๆเข้ามาเสริม ซึ่งดูแล้วมีพลังความสด เป็นวิชาการ และมีน้ำใจต่อถิ่นฐานบ้านเกิดมาก อยากให้กำลังใจเพื่อเป็นคนช่วยกันดูแลสบายๆ มีเวลาว่าก็เข้ามาชวนคุย และไปไหนมาไหนก็เป็นสื่อเรียนรู้ ทำให้เห็นโลกรอบข้าง เก็บข้อมูลมาถ่ายทอดและบันทึกเก็บไว้นะครับ หากมีความคิดและความบันดาลใจดีๆ ก็นำมาโยนสะสมไว้ในนี้นะครับ

    ความประเทืองปัญญา ให้วิถีทรรศนะที่เปิดกว้าง และความมีเสน่ห์
    ในหนังสือ ถ้อยเสียงสำเนียงลาว
    ของ คุณสมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล | ฉิก |คุณสมบัติ | และทุกท่านครับ

    ผมก็ทึ่งและประทับใจทั้งผลงานหนังสือและความเป็นคนจากชุมชนรอบนอกหนองบัวของคุณสมบัติอย่างที่ฉิกกล่าวเหมือนกันนะครับ 

    หนังสือถ้อยเสียงสำเนียงลาวของคุณสมบัติ อ่านแล้วทั้งสนุก ได้ความรู้ ได้อารมณ์ขัน อีกทั้งเรื่องราวต่างๆที่นำมาเสนอในหนังสือก็สะท้อนรสนิยมและทรรศนะที่สร้างสรรค์มากครับ ยิ่งภาคผนวกและเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆที่อยู่ท้ายเล่มนั้น ก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าเนื้อหาหลักของหนังสือ ผมเลยเอารูปมาฝากให้เห็นเป็นตัวอย่างครับ

                            

    รูปแรกเป็นประกาศลงโฆษณาเพื่อแจ้งหมาหาย ซึ่งคำลาวพูดว่า แจ้งหมาเสีย เห็นแล้วก็นึกถึงรายการ จส ๑๐๐ และรายการสดทางวิทยุที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้านโทรศัพท์เข้ารายการได้ของบ้านเรา ที่มักจะมีคนแจ้งหมาหาย แมวขึ้นต้นไม้ไม่ยอมลง งูเหลือมเข้าบ้าน ตุ๊กแกมาเกาะปากประตูเข้าบ้านไม่ได้ แร้งพลัดหลงมาจากต่างประเทศและโดนพายุฝนตีตก นกแสกโดนกาวดักหนู ซึ่งให้อารมณ์ขันและน่ารักดีครับ เพราะมีการแจ้งข้อมูลที่เป็นสาเหตุด้วยว่า ที่หมาเสียหรือหมาหายนั้นเพราะตกใจตื่นหมากกระโพก !!!! ลองจินตนาการและเดาสักหน่อยกันไหมครับว่าอะไร ปะทัดครับ ปะทัด เจ้าหมาน้อยตัวนี้หายไปเพราะหนีเตลิดเปิดเปิงจากการตกใจเสียงปะทัด เจ้าของลงแจ้งความว่าอย่างนั้น

    เป็นการให้การเรียนรู้ภาษาผ่านอริยาบทของสังคม ที่ผสมผสานเรื่องราวหลายมิติดีจริงๆครับ นอกจากได้เห็นโลกกว้างและน่ารื่นรมย์ผ่านมุมมองของคนเขียนแล้ว ก็ได้ความรู้ และได้อารมณ์ขันดีจริงๆ

    แรกเลยก็ขันเจ้าของและคนลงแจ้งความตรงที่ว่า มาบอกทำไมล่ะว่าหายไปเพราะตกใจหมากกระโพก มันช่วยเป็นข้อมูลให้คนช่วยหาได้เสียที่ไหนกันล่ะเนี่ย พื้นที่โฆษณาก็มีนิดเดียวและคงจะแพงทีเดียวในการลงโฆษณาในสื่อ ทำไมเขาไม่ให้รายละเอียดอย่างอื่นที่ช่วยเพิ่มโอกาสที่คนจะได้เจอหมาของเขาให้มากที่สุด เช่น หายจากที่ไหน น่าจะพลัดไปอยู่แถวไหน หากคนเห็นและเข้าไปจับจะกัดไหม  ดันมาบอกว่าหายไปเพราะตกใจหมากกระโพก แหม๊..!!! อย่างนี้แหละครับ ช่างให้ความเพลิดเพลิน ได้ความรอบรู้ และน่าสนุกไหมครับ

    ผมเองนั้นยิ่งขำครับ เพราะผมก็มีหมาอย่างนี้ตัวหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมันเป็นพันธุ์ขี้ตื่นและมักประสาทแดกอย่างเดียวกันอย่างนี้ก็ได้ เนื่องจากเจ้าหมาน้อยของผมนั้น ปรกติก็จะดี เห่าส่งเสียงกระดี๊กระด๊า แต่ช่วงเทศกาลเมื่อไหร่ที่มีการจุดปะทัด ตะไล พลุ ทั้งตอนวันเฉลิม ปีใหม่ ตรุษจีน หรือแม้แต่เวลามีงานฌาปนกิจศพตามสุสานแถวบ้านซึ่งเขาจะจุดพลุตูมตาม เหล่านี้นั้น ก็จะน่าสงสารมากครับ เจ้าหมาน้อยผมที่ว่านี้ก็จะวิ่งกระเจิง หัวซุกหัวซุน หายไปจากบ้านสองสามวัน 

    พอกลับมาก็จะกระเซอะกระเซิง หัวเหอและทั้งตัวเต็มไปด้วยโคลน มอมแมมมล่อกมแล่ก ซึ่งเห็นแล้วก็พอจะนึกภาพออกว่าหมอคงแถกหนีไปตามพงหญ้าแล้วก็ซุกหลบอย่างสุดชีวิต เขาจุดปะทัดกี่วัน มันก็หายไปนานเท่านั้น แรกๆก็สงสารมากครับ แต่เห็นเขาเป็นของเขาอย่างนี้ทุกครั้งก็ต้องละวางละครับ มันคงจะเป็นหมาพันธุ์ตื่นหมากกระโพกเหมือนกัน !!!!

    บางส่วนก็เป็นข้อมูลและให้การเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมลาวทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น ถือเป็นคู่มือท่องเที่ยวลาวและเหน็บไปอ่านศึกษาค้นค้วาไปด้วย ก็จะทำให้การท่องสังคมเพื่อนบ้านได้ความสุขและได้สาระของชีวิตมากมายอย่างมหาศาลนะครับ

    อีก ๒ กรอบแต่ผมนำมาให้ดูกรอบเดียว เป็นรายงานข่าวทางวิชาการจากการศึกษาค้นคว้าเล็กๆ เกี่ยวกับภาษาอันเป็นอัตลักษณ์ของสังคมและวัฒนธรรมลาว ความว่าอักษรลาวนั้นเกิดก่อนอักษรไทย ๓๐๔ ปี ซึ่งเป็นหลักฐานจากศิลาจารึกที่พระธาตุหลวง เมืองเวียงจันทร์ และอีกกรอบหนึ่ง เป็นข้อมูลจากศิลาจารึกวัดวิชุนนะราช ก็บอกว่าอักษรลาวเกิดก่อนอักษรไทย ๑๑๓ ปี จึงนำมาเผยแพร่ให้เป็นความภูมิใจ

    อันที่จริงนั้น นอกจากจะเก่าแก่มากแล้ว มรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของลาวหลายอย่างก็มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างยิ่ง เช่น แนวคิดเรื่องการกำเนิดโลก จักรวาล และสรรพสิ่ง อย่างเรื่องพระยาแถน พระยาคางคาก รวมไปจนถึงเรื่องการก่อเกิดของมนุษย์และอารยธรรมมนุษย์จากลูกน้ำเต้า และต้นตระกูลของมนุษย์คู่แรกหลังไฟประลัยกัลป์ล้างโลกอันได้แก่ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งของไทยนั้นส่วนใหญ่นั้นมักเป็นการเปิดรับจากสังคมอื่น โดยเฉพาะอินเดีย แล้วก็ปรับปรุงมาเป็นของตน 

    ถ้าหากมีการเรียนรู้ทางสังคมกันและกันด้วยท่าทีอย่างนี้มากๆ แต่ละสังคมก็คงต่างจะลดอหังการ์และตัวตนอันคับแคบ สามารถเคารพกันและกัน ติดต่อสมาคมกันอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกันมากยิ่งๆขึ้นเลยนะครับ จึงขอร่วมชื่นชมอีกและให้กำลังใจแก่ความสร้างสรรค์มากๆอีกครับ.

    วันนี้ไปทำหุ่นฟางในการจัดเต้นท์นิทรรศการทางวิชาการที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อนครูเทศบาลหัวหินเต็นท์ใกล้กันโรงเรียนน้องเค้ามีดอกบัวเป็นดอกไม้ประจำโรงเรียน ชอบใจหุ่นฟางและโคมแขวน ส่วนครูอ้อยเล็กก็ชอบใจดอกบัวของน้องเค้า เลยคุยไปคุยมาน้องบุญญิสา สว่างโคกกรวด เลยมีน้ำใจเอาบัวมาติดให้กอหนึ่ง เลยเอามาฝากชุมชนคนหนองบัวด้วยค่ะ..

    กราบนมัสการท่านอาจารย์พระมหาแลฯ สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ พี่ฉิกและทุก ๆ ท่านครับ

    เสียงสะท้อนที่ได้รับกลับมาจากการทำหนังสือเล่มนี้ ดีพอสมควรครับ...ทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว ผู้ใหญ่ในเมืองลาวหลายท่านก็ถามถึงแรงบันดาลใจว่า คิดอย่างไรจึงทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา และหน้งสือเล่มนี้ก็ได้รับเผยแพร่อยู่ในเมืองลาว (โดยฉพาะตามด่านศุลกากรลาวที่อยู่ติดชายแดนประเทศต่าง ๆ) ประมาณ 1 ใน 3 ของยอดพิมพ์ทั้งหมด คุณคำรณ หว่างหวังศรีที่เคยมาสัมภาษณ์และนำไปออกรายการช่อง 7 จนทุกวันนี้ก็สนิทสนมกันดี มาหนองคายคราวใดก็เป็นต้องแวะมาหา สนุกสนานเฮฮาดีครับ

    สำหรับเรื่องการไปร่วมกิจกรรมกับทางมหิดลที่อาจารย์วิรัตน์ให้เกียรติเชิญนั้น ด้วยความยินดีครับ แต่ขอดูเรื่องเวลานิดนึง ส่วนมากแล้วที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ นั้น เป็นเพราะหน่วยงานและท่านต่าง ๆ เหล่านั้นเดินทางมาศึกษาดูงานนอกสถานที่กันและที่หนองคาย หรือไม่เช่นนั้นก็เวียงจันทน์ครับ จะว่าไปแล้วผมเป็นนักเลงชายแดนมากกว่าครับ เข้าเมืองหลวงไม่ค่อยจะถูก ถ้าจะให้ชำนาญทางจริง ๆ ประเภทขับรถชิดขวา - แซงซ้ายแล้วก็ ต้องเป็นเมืองหลวงของลาวครับ

    ต้องยอมรับว่าจารย์ทำให้หัวข้อ เวทีคนหนองบัว คึกคักดีจริง ๆ ครับ

    ในหัวข้อนี้และอีกหลาย ๆ หัวข้อที่มีคนโพสต์เข้ามา พบคำว่า...ถอดบทเรียน...อยู่หลายครั้ง

    ภาษาลาวก็มีครับ พบอยู่บ่อย ๆ เป็นคำคล้าย ๆ กัน ที่นั่นเขาใช้คำว่า...ถอดถอนบดเฮียน.....ซึ่งหมายความว่าประชุมหรือสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน บางครั้งก็ใช้คำว่า...ส่องแสงครับ

    สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็กและคณะ :น่าสนใจมากทุกอย่างเลยนะครับ เป็นการผสมผสานกระบวนการเรียนรู้ และทางด้านศิลปะหัตถกรรม ก็เป็นการบูรณาการศิลปะและมิติสุนทรียภาพ มาเป็นแนวคิดทำสิ่งของเพื่อการใช้สอย ให้ทั้งความสวยงาม อีกทั้งสื่อสะท้อนการนำเอาการเรียนรู้และความเอื้ออาทรที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสืบทอดวิถีชุมชนและมรดกทางภูมิปัญญาของชาวบ้าน กล้าเล่นและทุ่มเทดีครับ ผมเคยทำกันอย่างนี้เหมือนกัน จึงซาบซึ้งดีครับว่าเบื้องหลังนั้นมันทั้งเหนื่อยและยุ่งยาก หากไม่มีจิตใจรักที่จะให้แก่เด็กและชุมชน รวมทั้งพัฒนาการศึกษาให้เกิดสิ่งดีในทรรศนะของเราแก่ส่วนรวมแล้วละก็ นอกจะคุยและนำเสนอความคิดกันในห้องประชุมหรือโต๊ะวางแผน แล้วละก็ ไม่มีใครอยากทำจริงๆหรอกครับ จึงขอให้ความสำเร็จเล็กๆอย่างนี้จากน้ำมือตนเอง ได้เป็นกำลังให้ความชื่นชูใจคุณครูอ้อยเล็กและคณะ แล้วก็....อยู่ในบรรยากาศเดือนมกราคม ทั้งเริ่มปีใหม่และเป็นเดือนวันครูด้วย ก็เลยขอให้ 'เป็นครู' ก็แล้วกันนะครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติ :

    ชอบการนิยามความเป็นตัวตนของตนเองว่า'นักเลงชายแดน'ของคุณสมบัติมากเลยนะครับ

    รวมทั้งคำว่า 'ถอดบทเฮียน' กับความหมายว่า 'ส่องแสง' ก็ทั้งมีความหมายที่สะท้อนความเป็นกระบวนการเสริมพลังกลุ่มคนโดยทำให้ข้อมูลประสบการณ์ได้แปรเป็นองค์ความรู้เพื่อสร้างความลุ่มลึกและชี้นำการปฏิบัติในโอกาสต่อไปอย่างที่เรียกว่า 'ถอดบทเรียน' แล้วก็มีความไพเราะ กระชับ ในแง่ของนามบัญญัติที่มีนัยะการเป็นนิยามของสิ่งที่ถูกอ้างอิงถึงพร้อมกับทำให้เกิดความเข้าใจและเห็นภาพไปด้วยได้อย่างดีมากเลยนะครับ ฟังดูง่ายและงามมากทีเดียว

    กล้าเล่นและทุ่มเทดีครับ  กล้าเล่นเพราะมีเด็กเล่นด้วย มีจิตใจเหมือนกัน และที่สำคัญ

    พ่อ-แม่ครูอ้อยเล็กสนับสนุนด้วยค่ะเด็กๆมาทำโครงงานนี้ได้อย่างเหมือนลูกเหมือนหลานคนหนึ่งกันเลย กินข้าว นอนหลับทุกอย่างที่จะสนับสนุนได้ท่านสนับสนุนค่ะ ชิ้นงานโคมแขวนท่านก็ปลาบปลื้มและยอมรับในความพยายามของลูกสาวและลูกศิษย์ของลูกสาวเป็นกำลังเลยค่ะ พ่อ-แม่เข้าใจว่าลูกกำลังทำอะไร เงินทองบางทีก็ไม่ได้ให้ความสุขกับลูกได้เท่ากับการให้ความรักและกำลังใจแก่ลูกสาวยามก้าวเดินในทางที่ชอบมีความสุขและเป็นประโยชน์ ครูอ้อยเล็กโชคดีที่มี่พ่อ-แม่ที่เข้าใจลูกมากๆเลยค่ะ..

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    วันนี้อ่านหนังสือพิมพ์ภาษต่างประเทศ(ลาว) มีคำน่ารัก ๆ มาฝากครับ

    กมปูกฝังครับ..... กรม ๆ นี้สังกัดกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ บ้านเราไม่รู้ว่าจะเป็นกรมอะไรดี

    ลดไฟตำกัน ......รถไฟ 2 ขบวนชนกันนั่นเอง เวลามีการดื่มฉลองในงานเลี้ยงต่าง ๆ เขาก็ใช้คำว่า... ตำจอก... เหมือนกัน

    กองปะซุมวงแคบ.....เป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ(ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เวียดนามเมื่อวานนี้น่ะครับ)

    กองปะซุมโต๊ะมน.....คงเดาออกนะครับว่าเป็นการประชุมโต๊ะกลม

    ในเนื้อข่าวยังมีอีกว่า แผนกศึกษา 4 แขวงภาคเหนือ.....จัดกองปะซุมถอดถอนบดเฮียน เมื่อวันที่ 14 มังกอน 2010...... ที่แขวงสะหวันนะเขด

    สุดท้ายครับเป็นข่าวกีฬาครับ... นางคริสติน่า สิงห์ดารา (แปลเป็นไทยสำเร็จรูปแล้ว) อายุ 17 ปี ลวงสูง 172 ซังติเม็ด ลูกซอดสาวลาว - ลัดเซีย ได้เหลียนคำจากการแข่งขันกีลาดำน้ำตีนเป็ดเดี่ยว (ซีเกมส์ครั้งที่ 25) สำหรับคำว่า...นาง...นี้ในประเทศลาวใช้กับผู้หญิงทุกคน/ทุกวัย/ทุกชนชั้นครับ ประเทศนี้ไม่มีคำว่าเด็กหญิง นางสาว คุณหญิง คุณนาย ท่านผู้หญิง ฯลฯ ตั้งแต่อุแว้ออกมาก็เป็นนางแล้วครับและใช้ติดตัวไปจนกระทั่งเสียชีวิต แต่ถ้าสามีเสียชีวิต ก็จะเปลี่ยนเป็น...นางหม้ายครับ.

    สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก : เป็นทั้งการสอนหนังสือ เป็นครูให้ได้หลักใจและหลักชัยของชีวิตในช่วงพัฒนาการค้นให้พบตนเอง กล่อมเกลาทางสังคม บ่มสร้างการใช้ชีวิต เหมือนลูกเหมือนหลาน ให้ประสบการณ์และความทรงจำในชีวิต เป็นทุนชีวิตและจิตวิญญาณเพื่อเกิดพลังใจสำหรับเผชิญปัญหาด้วยตนเองในอนาคต เลยนะครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ : เห็นแล้วอยากอ่านภาษาลาวออกเลยนะครับ เคยได้ยินน้องมาจากอีสาน ดูเหมือนจะเป็นอุบลราชธานี ดูรายการมวยจากทีวี เขาบอกว่า "ดูมวยตีกัน" บางครั้งก็บอกว่า "มันตำกันดุเดือด"

    สวัสดีครับ

    • เห็นครูอ้อยเล็กทุ่มเทประดิษฐ์ประดอยแล้วน่าปลื้มใจแทนคนรอบๆตัวเลย ทั้งพ่อแม่ ลูกศิษย์ลูกหา
    • พูดถึงภาษาลาวแล้วมีหลายคำมากที่เราคนไทยได้เห็นได้ยินแล้วก็จะรู้สึกขำๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้ไปค้นหาในเน็ตก็จะมีเยอะมาก ยิ่งตอนที่มีแข่งซีเกมส์ก็จะได้ยินอยู่ จะขอยกตัวอย่างมาให้ดูบ้างเช่น
      • ร้านถ่ายรูป = ฮ้านแหกตา
      • เข้าที่ = เข้าซ่อง
      • กระดาษทิชชู่ = ผ้าอนามัย
      • กระทรวงต่างประเทศ = กระทรวงพัวพัน (กระทรวงนี่ทางลาวเรียกว่าอะไรมิทราบ)
      อยากรู้เหมือนกันว่า มีคำไหนของไทยบ้างที่คนลาวได้ยินแล้วก็รู้สึกขำๆแบบที่เรารู้สึกน่ะ
    • ๕๐ ปี กึ่งศตวรรษ การพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัวและชนบทไทย งานนี้น่าสนใจดี ผมยินดีช่วยเต็มที่ อยากให้ผมช่วยอะไรก็บอกได้เลยครับ

    สวัสดีครับฉิกและทุกท่านครับ

    การนำเอาวาระ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองคอก มาเป็นประเด็นสร้างจุดสนใจเพื่อเคลื่อนไหวให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกัน คงจะดีในแง่ที่ทำให้ใครก็ได้ พอจะสามารถทำสิ่งต่างๆแบบแยกย้ายกันทำไปตามเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ ตามแต่ใครพอจะริเริ่มทำกันได้ แล้วใช้ระยะเวลาที่มีพอสมควรนี้ ค่อยๆคุยปรึกษาหารือก็คงจะประมาณกำลังกันได้มากยิ่งๆขึ้นนะครับว่าพอจะทำอะไรกันได้บ้าง

    พี่เองก็จะพยายามพัฒนางานและเชื่อมโยงงานให้ลงมาทำได้ในหนองบัว ควบคู่กับแหล่งอื่นๆของประเทศที่ทำอยู่ไปด้วย จะได้ช่วยรวบรวมข้อมูล ความรู้ และถักทอผู้คนเตรียมความพร้อมไว้ให้ แนวคิดและเรื่องที่น่าทำนั้นก็เห็นพอสมควรครับ แต่กำลังกะขนาดให้พอเอาอยู่ในมือได้

    เอารูปพวกเราหนองคอกรุ่น ๑๔ กลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งมาฝากนะครับ มีพี่ของฉิกด้วยครับ แต่ถ่ายรูปหลานสองหน่อไม่ได้ กำลังน่ารักมาก อีวิ่งไม่หยุดเลย  

                             

    ครอบครัวของศิริจิตต์ เชาวน์ไกลวงศ์และลูกสาวสองคน คนหนึ่งกำลังศึกษาทันตแพทย์ปีสุดท้าย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอีกคนหนึ่งกำลังศึกษามัธยมปลาย น้องชายคนหนึ่งของศิริจิตต์ คือ หมอเกี้ย เพื่อนร่วมรุ่นหนองคอกของฉิก ก็เป็นอาจารย์ทันตแพทย์อยู่ที่คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครอบครัวศิริจิตต์อยู่ข้างตลาดสดหนองบัว เป็นนักกีฬาบาสเกตบอลของโรงเรียน และตอนนี้ทำธุรกิจส่วนตัวเพื่อดูแลการศึกษาให้ลูกๆอยู่ที่กรุงเทพฯ

                            

    ครอบครัวของนิจ เพ็ชรคง ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักทางหลวงชนบท ที่ ๒ สระบุรี และภรรยา จุฬาลักษณ์ เพ็ชรคง ศูนย์สงเคราะห์คนชรา จังหวัดปทุมธานี กับลูกสาว ลูกน้ำ : ชลากร เพ็ชรคง กำลังศึกษา ม. ๔ อยู่ที่สวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต นิจ เพ็ชรคงนี้เป็นคนจากวัดเทพสุทธาวาส 

                             

    รองศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กับภรรยา นารีรัตน์ จุ้ยโต และลูกชาย เกล้า : สยุมภู จุ้ยโต กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน กับลูกสาว ลูกไม้ : สโรชา จุ้ยโต กำลังศึกษาอยู่ที่สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี

                            

    ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว รุ่นที่ ๑๔ แถวหน้าจากซ้าย : ทันตแพทย์อมรเทพ วีระนิติเวชสาร ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ | ศิริจิตต์ เชาวน์ไกลวงศ์ ทำธุรกิจส่วนตัว | อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถวยืนหลัง : รักษ์ พิทักษ์อำนวย วิศวกรการไฟฟ้าฝ่ายผลิต บางกรวย | รองศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต สาขาวิทยาการจัดการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช | ประเวศ รักษพล ตุลาการศาลปกครองกลาง | นิจ เพ็ชรคง ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานทางหลวงชนบทที่ ๒ (สระบุรี)                         

    งานนี้ไปเจอกันในงานแต่งงานลูกสาวท่านตุลาการประเวศ รักษพล ศาลปกครองกลาง ซึ่งนอกจากจะดีใจที่ได้เจอเพื่อนและลูกหลานแล้ว ก็เป็นงานแรกที่ส่งนัยให้รับรู้ได้ว่าชีวิตได้เปลี่ยนผ่านไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว เพราะนี่เป็นงานแต่งงานลูกของเพื่อนคนแรก ก่อนหน้านี้มีแต่เรื่องงานบวชลูกหลานและการพบปะกันที่เกี่ยวเนื่องไปกับการศึกษาเล่าเรียนของรุ่นลูกๆเพื่อน ทว่า ต่อไปนี้กำลังเป็นตาและปู่ ก้าวสู่คนรุ่นหลานเหลนกันแล้วนะครับ เร็วจัง

    เลยเอามาฝากเพื่อนๆพี่ๆน้องๆและญาติพี่น้องหนองบัวจะได้เยี่ยมเยียนกันผ่านเวทีนี้กันไปด้วยเลยอีกโอกาสหนึ่งนะครับ

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    ผมไปประเทศลาว 4 วัน เพิ่งกลับมา ได้เห็นภาพของรุ่นพี่ ๆ ที่อาจารย์นำมาลงไว้ รวมทั้งได้กล่าวถึงลูก ๆของท่านเหล่านั้นแล้ว น่าภูมิใจกับพี่น้อง ลูกหลาน/ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวจริง ๆ ครับ

    หากน้อง ๆ รุ่นหลัง ๆ ได้เข้ามาและเห็นสิ่งดี ๆ มีประโยชน์ในบล็อคนี้แล้วก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญให้เขามึความมุ /มานะในการขยันเรียนหนังสือ

    เห็นความสำเร็จของแต่ละท่านแล้ว.....ผมว่าการศึกษาเท่านั้นครับ ที่จะสามารถยกระดับ/ความก้าวหน้าให้แก่ตนเอง/สังคมและมนุษยชาติได้

    สำหรับภาษาลาวที่พี่ฉิกทราบมานั้น ผมขออนุญาตปรับแก้นิดนึงนะครับ

    กระทรวงการต่างประเทศ ลาวก็เรียกเหมือนเราครับ กระดาษทิชชู่นั้น..ลาวเรียกว่า เจี้ยเซ็ดสบ....เจี้ย/กระดาษ สบ/ปาก ส่วนผ้าอนามัยนั้น เขาใช้เรียนผ้าเย็น (สำหรับเช็ดหน้า) ธรมมดา ๆ นี่เองครับ ...การทำความสะอาดตามถนนหนทาง เขาจะใช้คำว่า อนามัยแคมทาง

    ส่วนคำอื่น ๆ นั้น คนไทยที่ไปเที่ยวเมืองลาว อาจจะได้ยินจากไกด์ลาวบางคนที่...ค่อนข้างจะทะลึ่ง...อยากจะพูดหรือสร้างบรรยากาศให้ตลกโดยไม่รู้กาละเทศะ แล้วคนไทยคนนั้นนำมาเขียนเผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ แต่ถ้าคนของรัฐบาลลาวได้ยินแล้ว ไกด์พวกนี้เดือดร้อนแน่ รัฐบาลเขาไม่ตลกด้วยหรอกครับ โดยเฉพาะองค์การท่องเที่ยวแห่งชาติและกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • เมื่อสองเดือนที่แล้วหลาน(ลูกเพื่อนที่บวชพร้อมกัน)ได้ขอให้หลวงลุงตั้งชื่อให้ลูกเขา
    • เมื่อก่อนก็เป็นหลวงลุง ตั้งชื่อให้หลาน ตอนนี้ก็เป็นหลวงปู่บ้าง หลวงตาบ้างถึ่ขึ้นเรื่อย ๆ
    • เรามักมองตัวเองไม่ค่อยเห็นนะเรื่องวัย เรื่องสังขารเนี่ย แต่พอมองเพื่อนทีไรเห็นชัดทุกที
    • คือเห็นเป็นสว.กันมากหน้าหลายตา คำพูดนี้(ท่านพระครูเลขาฯ เจ้าคณะอำเภอหนองบัวเคยพูดให้ฟัง) พิจารณาแล้วก็เป็นจริงตามนั้นชัดเจน
    • ได้เห็นศิษย์เก่าหนองคอกรุ่นที่ ๑๔ แล้วก็น่าภูมิใจ แม้อาจารย์จะกล่าวถึงกลุ่ม-รุ่นอย่างถ่อมตนว่าเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ก็ตาม แต่เมื่อดูการงานและหน้าที่ของแต่ละท่านแล็ว แม้เพียงรุ่นเดียวก็ยังได้เห็นถึงบทบาทการสร้างสรรค์ การทำประโยชน์ให้ก่อเกิดในวงกว้างได้อย่างมากมาย.

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ : น่าม่วนใจแทนคุณสมบัติจริงๆ ไปลาวเป็นว่าเล่น ๔-๕ ปีมานี้ผมวางแผนจะไปต่างบ้านต่างเมืองแทบจะทุกปีกับภรรยา ว่าจะไปลาว เวียดนามเขมร ฟิลิปปินส์ อินเดีย จีน ไปถ่ายรูป เขียนรูป ดูงาน ถือโอกาสไปนำเสนอผลงานวิชาการ แต่ก็เหลวทุกปีได้เหมือนกัน ปีนี้ก็ว่าจะไปจีน ตกลงใจกันใหม่เมื่อวานนี้เองว่าจะไม่ไปแล้ว เพราะอยากได้โรงเตี๊ยมขายข้าว ทำที่นั่งอ่านหนังสือ และขายกาแฟ หน้าบ้าน กับจะเอาเงินไปทำกิจกรรมให้เด็กๆที่บ้านเกิด

    แต่จะว่าไปแล้ว ก็ไม่เหลวไปเสียทั้งหมด เพราะเวลาตั้งโปรแกรมไว้นั้น ผมกับภรรยาก็จะเก็บเงิน แต่เมื่อมันจะล้มเลิกก็คือ พอเก็บเงินได้พอ แล้วก็ตั้งท่าจะไปนั้น เมื่อหันมานึกถึงความที่ต้องกระเหม็ดกระแหม่และเสียสละโอกาสที่จะใช้จ่ายตามใจตนเองมากมายแล้ว ก็รู้สึกว่ามันต้องเหนื่อยยากเป็นปี พอจะเอาไปใช้จ่ายให้หายวูบไปในอาทิตย์เดียวก็คิดหนักทุกที เมื่อคิดแล้วก็กลับเอามาทำบ้าน ดูแลพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ทำกิจกรรมที่เป็นการลงทุนทางศิลปะ ความรู้ และงานที่สะสมแล้วทั้งเราเองและคนอื่นก็จะยิ่งได้ประโยชน์มากยิ่งๆขึ้นไปด้วยทั้งในปัจจุบันและอนาคต แล้วก็หาโอกาสเที่ยวในประเทศของเราไปตามโอกาสต่างๆไปก่อน เลยก็กลายเป็นกุศโลบายให้ตนเองได้สิ่งต่างๆแทนการได้ไปเที่ยว 

    เห็นเหล่าหลานๆที่เป็นลูกของเพื่อนแล้ว ก็รู้สึกและได้วิธีคิดแบบเดียวกับคุณสมบัติเช่นกันครับ พวกเขาไม่เหมือนคนรุ่นเราแล้ว แตกต่างกันอย่างมากมาย ทว่า มีความเป็นมาที่สืบเนื่องและยกระดับอย่างเป็นเหตุเป็นผล

    คุณสมบัติเองนั้น ก็เป็นลูกชาวบ้านที่ห้วยวารี ญาติพี่น้องและคนรอบข้างก็เป็นตาสีตาสาที่ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมหมู่บ้าน ได้ประสบการณ์ชีวิตจากท้องไร่ท้องนา แต่ลูกๆของคุณสมบัติเป็นลูกครอบครัวของคนมีการศึกษาสูงและทำงานระหว่างประเทศ แวดวงสังคมก็ไม่ใช่อย่างที่เราเจอ

    รุ่นพวกเราแค่คุยกันเรื่องจบหนองคอกแล้วจะไปนครสวรรค์ เชียงใหม่ หรือไปกุรงเทพฯ อย่างไรกันดี หรือจะออกไปทำไร่แถวเขาเหล็ก-เขาสูง แค่นี้ก็ไม่มีปัญญาจะคิดออกและไม่รู้จะหาใครในหมู่บ้านมาคุยด้วยแล้ว แต่ลูกหลานของคุณสมบัติซึ่งถัดมาจากรุ่นของพวกเราอีกไม่กี่ปีกลับไปอยู่ถึงอเมริกา พักร้อนทีก็ไม่ใช่แค่ไปเที่ยวบ้านปู่ย่าตายายเหมือนอย่างเรา แต่บินข้ามฟ้ากลับมายังแผ่นดินมาตุภูมิแล้วก็ตระเวนเที่ยวทั่วประเทศ

    นิจนั้นก็ลูกชาวนาวัดเทพสุทธาวาส บ้านนอกมากๆ พ่อแม่จบประถม ๔ และญาติพี่น้องหลายคนก็เป็นชาวนา เติบโตในชุมชนรอบๆวัด ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ลูกของเขา เป็นลูกของพ่อซึ่งเป็นวิศวกรแม่เป็นนักวิชาการสังคมสงเคราะห์ อยู่บ้านหรูในเมืองกรุง เพื่อนๆของพ่อซึ่งก็เหมือนญาติพี่น้องและสังคมรอบข้างของเขาก็เป็นหมอ ตุลาการ วิศวกร อาจารย์มหาวิทยาลัย เจ้าของกิจการ

    รักษ์ ศิริจิตต์ ประเวศ และอมรเทพนั้น ก็เป็นลูกหลานของคนค้าขายกิจการเล็กๆในตลาดหนองบัว เมื่อตอนเด็กๆก็วิ่งเล่นบนลานและถนนดินแดงปนทรายตัวมอมแมม แต่ลูกๆของเขาเป็นลูกของวิศวกร ลูกหมอ ลูกตุลาการ ลูกคนเมืองกรุง ลูกของ ดร.เสน่ห์นั้น ก็ไม่ใช่ลูกผู้ใหญ่บ้านหนองบัวอย่างเด็กชายเสน่ห์เมื่อครั้งอยู่หนองบัว แต่เป็นลูกของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีคนรู้จักทั่วประเทศและมีลูกศิษย์มากมาย แม่ก็จบมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ประถม ๔ อย่างพ่อแม่ของพวกเรา

    อย่างหลาน หรือลูกของตุลาการประเวศและลูกเขยนั้น พอแต่งงานกันแล้ว ก็บอกกล่าวแก่แขกเหรื่อซึ่งก็เป็นญาติมิตรของทั้งสองฝ่ายนั่นเองว่า ขอกราบลาไปประเทศญี่ปุ่นแล้วก็จะไปทำกิจการต่อจากครอบครัว จากนั้นก็จะศึกษาต่อในต่างประเทศที่ประเทศญี่ปุ่นนั่นเลย ญาติพี่น้องของพวกเขาทั้งห้องนั้น ก็เป็นคนอีกชั้นหนึ่งของสังคมทั้งของไทยและต่างประเทศ คนละเรื่องกับพวกเราเลยนะครับ รุ่นของตุลาการประเวศ รักษ์ ศิริจิตต์ และหมออมรเทพนั้น เมื่อจัดงานก็ต้องลากรถเข็นไปเข็นน้ำที่สระวัดหลวงพ่ออ๋อยกันตัวมันมะเมื่อม

    หากไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางความเป็นญาติและเครือข่ายทางสังคมแล้วละก็ คนรุ่นเรากับลูกหลานของเราที่เห็นนี้ต้องจัดว่าเป็นคนละกลุ่มทางสังคมเลยทีเดียว พวกเขามีบทบาทต่อสังคมมากกว่าจุดเริ่มต้นของเรา นั่งดูแล้วก็ประทับใจและเห็นความงอกงามเติบโต ผ่านกระบวนการทางการศึกษา แล้วก็ได้สะดุดคิดในหลายเรื่อง อันที่จริงในการพัฒนาการศึกษา การพัฒนาสังคม และการพัฒนาชุมชนระดับต่างๆของประเทศผ่านการให้กระบวนการศึกษาสร้างคนนั้น อย่างนี้ไม่ใช่หรือที่เราต้องการ ให้ผู้คนได้พัฒนาตนเองและจัดวางตนเองให้ทำหน้าที่ต่อสังคมอย่างเหมาะสมไปตามกำลังและอัตภาพของตัวสืบต่อจากคนรุ่นก่อนที่ทำไว้ให้แก่ตัว ทุกคนต้องได้เข้าถึงหลักชัยไปตามกำลังแห่งตน

    แต่โดยมากแล้วเรากลับมักผลักดันการศึกษาแบบแพ้คัดออกในมาตรฐานเดียวกันของคนส่วนน้อย แข่งกันเอาตัวรอด บำบัดความล้มเหลวทั้งระบบโดยเลือกให้เพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งเป็นผู้แสดงความสำเร็จไปตามจินตนาการแทนคนส่วนใหญ่ที่ล้มเหลวและไปไม่รอด นั่งคิดและได้เห็นความเป็นจริงอย่างต่อเนื่องมากเลยทีเดียวครับ

    งานนี้มีความประทับใจอีกอย่างหนึ่ง คือ เจ้าภาพทั้งสองฝ่ายและแขกเหรื่อ รวมทั้งสถานที่จัดงานนั้น จัดว่าเป็นงานที่มีระดับมากๆในสังคมไทยเลยทีเดียว ทั้งโรงแรมนั้นปิดเพื่อจัดงานนี้งานเดียว แต่เป็นการจัดเลี้ยงที่ไม่มีสุราเลยครับ แถมมีคณะตลกมาแสดงเสียอีก แต่เป็นตลกคณะของยาว อยุธยา ซึ่งเป็นญาติของฝ่ายเจ้าบ่าว แถมแสดงเสร็จก็แจกจ่าย VCD เพื่อบอกบุญระดมทุนไปช่วยคนตกยากอีก เลยดูงดงามดีจากความผสมผสานกันอย่างที่อยากคิดและทำก็ทำไปเลยอย่างจริงใจ

    เห็นคุณสมบัติกับฉิกคุยกันแล้วก็นึกได้ว่า เจี้ยและเกี้ยนั้น ในภาษาลาวที่พูดคุยกันตามปรกติก็จะหมายถึงเยื่อไม้ไผ่และเยื่อบางๆ เช่น เยื่อไผ่จากกระบอกข้าวหลามที่ติดกับข้าวเหนียว ก็จะเรียกว่า เจี้ยข่าวหลาม หรือเกี้ยข่าวหลาม 

    ลอกเกี้ยหอม ลอกเจี้ยหอม ก็หมายถึงการดึงเอาผิวของเปลือกหัวหอมออกมา เจี้ยขลุ่ยผิว ก็หมายถึงเยื่อไผ่ที่ทำเสียง Vibration ให้กับขลุ่ยโดยการนำไปปิดตรงรูที่ระบายลมใต้ลิ้นขลุ่ย ทำให้ได้เสียงขุล่ยในอารมณ์ขลุ่ยผิวของดนตรีจีน

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ : เมื่อสอง-สามอาทิตย์ที่แล้วผมรื้อข้าวของหาธนาณัติของพระคุณเจ้าจนเจอแล้วครับ ยังไม่ได้เอาไปขึ้นเงินเลยจริงๆด้วยครับ แต่ได้มีโอกาสถามไปรษณีย์แล้ว เขาบอกว่าขึ้นเงินได้ในระยะ ๔ เดือน ผมจะดำเนินการไปตามเจตนารมณ์ของพระคุณเจ้าที่ขอมีส่วนร่วมในการนำไปทำกิจกรรมให้กับเด็กๆและชุมชนบ้านตาลินกับชุมชนโรงเรียนวันครูนะครับ

    สวัสดี ครับ อาจารย์

    เข้ามาเจอ อาจารย์พอดี ครับ ผมขออนุญาต นำต้นแบบในชีวิตของผมมาใส่ไว้ที่นี่ นะครับ

    http://gotoknow.org/blog/sangsri/329442

    กราบขอบพระคุณมาก ครับ

                               

     

    สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ : ผมชอบเข้าไปอ่านเรื่องราวของผู้คนในภาคใต้จากงานของคุณแสงแห่งความดีอยู่เป็นระยะๆนะครับ รูปนี้ก็ดูมีชีวิต อบอุ่น และให้ความทรงจำได้ดีมากเลยนะครับ

    สวัสดีครับพี่ฉิกและท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    ที่ผมไปเมืองลาวมาก็ไปในหลายงานครับ ทั้งงานมวลชนเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพี่น้องชาวลาวที่ทำงาน/เคยเรียนหนังสือมาด้วยกัน งานที่ว่าก็อย่างเช่น ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ อยู่กำแอน้อย(ทารก)เกิดใหม่ บายสีสู่ขวัญส่งญาติพี่น้องที่จะกลับอเมริกา/กานาด้า/อ๊ดส่ะต่าลี่ (ออสเตรเลีย) ซึ่งบางท่านเป็น 7 ปีหรือเกือบ 20 ปีถึงได้กลับเมืองลาวสักครั้งนึง เด็ก ๆ ที่เกิดในแต่ละประเทศนั้นก็พูดลาว/ฟังภาษาลาวไม่ค่อยจะรู้เรื่องแล้วละครับ

    นอกจากนั้นก็ไปทำงานด้านวิชาการ งานที่ว่าคือเป็นวิทยากรให้แก่... การเสวนาทางวิชาการเรื่อง... SMEs หลังกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25...มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเข้าร่วมเสวนาหลายหน่วยงานครับ อย่างเช่น ....สถานทูตไทย ณ เวียงจันทน์ สภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว สภาธุรกิจไทย - ลาว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สนง.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จังหวัดหนองคายและด่านศุลกากรหนองคาย (โดยมีผมเป็นตัวแทน) ทีมงานที่ดำเินินการและรับผิดชอบเรื่องนี้คือ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยครับ

    การไปลาวของผมครั้งนี้ ทั้งขาไปและขากลับไปรถบัสปรับอากาศคันใหญ่ ขาไปผมก็ถือไมค์พูดไปเรื่อย ๆ ตอบปัญหา/ข้อซักถามต่าง ๆให้แก่คณะผู้ร่วมเดินทาง แต่ขากลับให้ไกด์สาวลาวรับหน้าที่ ...และตรงนี้แหละครับที่มีเรื่องสนุก ๆ มาเล่า(ต่อ)ให้พี่ฉิก อาจารย์วิรัตน์รวมถึงท่านอื่น ๆ ได้ฟังกัน คืออย่างนี้ครับ

    มี 3 เกลอ (ไม่ทราบว่าหัวแข็งหรือเปล่า ?) ลาว เวียดและจีนเป็นเพื่อนสนิทกัน ยืนคุยกันอยู่ที่ริมแม่น้ำ และแล้วก็เริ่มคุยโวข่มกัน

    เพื่อนจีน........ควักโทรศัพท์มือถือจากกระเป๋ากางเกง ทันใดนั้นก็ขว้างลงแม่น้ำพร้อมกับ พูดขึ้นว่า....โทรศัพท์มือถือที่บ้านกูผลิตได้เยอะแยะ แค่นี้กูไม่เสียดายหรอก

    เพื่อนเวียด.....จูงจักรยานมาด้วยและผลักจักรยานคันนั้นตกลงไปในแม่น้ำ แล้วพูดขึ้นว่า ......รถจักรยานบ้านกูก็เยอะแยะเหมือนกัน ราคาก็ไม่แพง

    เื่พื่อนลาวครุ่นคิดอยู่นิดนึง.....กระโดดถีบเพื่อนทั้ง 2 คนตกลงไปในแม่น้ำ แล้วไม่พูดว่ากระไร....ทั้งเพื่อนจีนและเพื่อนเวียดซึ่งลอยคออยู่ในแม่น้ำตะโกนถามขึ้นมาพร้อมกันว่า....มึงถีบกูทำไม?

    สวัสดีครับ

    มีเรื่องแจ้งให้ทราบว่า คุณแม่ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อตอนประมาณ 20.30น.วันนี้ (22 ม.ค.) ที่ รพ.สวรรค์ประชารักษ์

    พรุ่งนี้แต่เช้ามืดต้องไปรับแม่ที่นว. เพื่อไปประกอบพิธีที่วัดหนองกลับ

    สวัสดีครับพี่ฉิกครับ

    ขอแสดงความเสียใจด้วย และฝากบอกน้อย/กวีศักดิ์ แซ่แต้ ด้วยนะครับ

    ท่านไปดีแล้ว...ไปสงบแล้ว ขอดวงวิญญาณของท่านจงไปสู่สุคติด้วยเทอญ สาธุ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณฉิก

    อนุสสวนาลัยแด่คุณแม่

    ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวคุณแม่และลูกหลานของคุณแม่ด้วย

    พระมหาแล อาสโย

    นมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
    สวัสดีครับคุณสมบัติ ฉิก และทุกท่านครับ

    ก่อนอื่น ต้องขอแสดงความเสียใจกับคุณแม่ของฉิกด้วยนะครับ ขอให้ดวงวิญญาณของคุณแม่ได้สู่สุขคติในสรวงสวรรค์

    ดูกิจกรรมที่คุณสมบัติได้มีโอกาสไปทำกับพี่น้องลาวนั้น ได้ความน่าสนใจไปด้วยมากมายเลยนะครับ คุณสมบัติได้ทำหน้าที่ทั้งต่อการงานและต่อสังคมได้มากมายดีจริงๆนะครับ ประสบการณ์ที่ได้ไปด้วย ก็เป็นประสบการณ์และวัตถุดิบสำหรับเขียนหนังสือได้ดีจริงๆ

    คุณสมบัติเล่าให้ทราบเรื่องที่กำลังทำนั้น ผมเลยลองมองดูรอบๆตัวว่าจะมีอะไรบ้างที่พอจะเห็นโอกาสพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือและให้การสนับสนุนทางวิชาการหรือคิดริเริ่มที่จะเกิดการทำงานให้เชื่อมโยงกัน ก็พอจะเห็นอยู่หลายเรื่องเหมือนกัน อันที่จริงผมเคยร่วมจัดอบรมและพัฒนาเครือข่ายผู้นำการพัฒนาของลาวในสาขาต่างๆอยู่หลายโครงการเหมือนกัน เช่น พัฒนาเครือข่ายครูเพื่อพัฒนาหลักสูตรกับการสอนประชากรศึกษาของลาว ให้กับครูและนักวิชาการของหน่วยงานทางการศึกษา ในช่วงที่โรคเอดส์เริ่มเป็นปัญหาอย่างกว้างขวางและลาวต้องการดำเนินโครงการพัฒนาทางประชากรผ่านการให้การศึกษาเยาวชนพลเมือง

    ในเรื่องการพัฒนาคนเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจและสู่แนวโน้มการพัฒนาตามความจำเป็นใหม่ๆทั้งของสังคมท้องถิ่น สังคมภูมิภาค และของสังคมโลกนั้น ก็พอจะมีอยู่หลายด้านเหมือนกันครับ ผมขอคุยให้ข้อมูลไปเรื่อยเปื่อยไปก่อนก็แล้วกันนะครับ แต่ถ้าระหว่างที่ทำงานไปนั้น มีโอกาสได้เห็นความจำเป็นหรือได้ความคิดที่สอดคล้องกับสิ่งที่ได้คุยกันก็อาจจะได้ระดมความร่วมมือริเริ่มทำสิ่งต่างๆให้บรรลุจุดหมายได้อย่างดีที่สุดอย่างที่เราพอจะทำได้นะครับ

    ในเรื่องการสนับสนุนการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กลุ่มอินโดจีน แหลมทอง และกลุ่มอาเซียนนั้น ในขอบเขตที่ทำเหมือนเป็นโครงการเล็กๆนั้น หากจะยกระดับให้มีความหมายต่อนโยบายสำคัญของระหว่างประเทศ รวมทั้งให้มีแง่มุมที่สะท้อนนัยสำคัญต่อวิถีการพัฒนาในแนวคิดใหม่ๆ เพื่อมุ่งสู่สุขภาวะของประชาชาติที่ต่างออกไปจากกระแสการพัฒนาอย่างในอดีตแล้วละก็ ก็คงจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ที่สถาบันวิชาการจะมีส่วนร่วมและในส่วนของผม ก็อาจจะช่วยส่งลูกและประสานงานเป็นแรงหนุนให้ได้นะครับ เช่น........

    • การส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจในแนวทางใหม่ๆ หากต้องการใช้บทเรียนของประเทศไทยเป็นฐาน ทั้งเพื่อจะได้ทำให้ดีกว่าที่สังคมไทยได้ผ่านมาแล้ว และเพื่อจะได้ร่วมมือกันขยายผลความริเริ่มสิ่งที่เป็นความสร้างสรรค์ของสังคม ทว่า อยู่นอกกระแสหลักของการพัฒนา จึงต้องการกระบวนการหลายอย่างที่จะช่วยขยายผลและยกระดับให้เป็นทางเลือกการพัฒนาที่หลากหลายมากยิ่งๆขึ้น  การสร้างคนที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มต่างๆในแนวทางใหม่ๆด้วยจึงมีความจำเป็น นับแต่กลุ่มเด็ก เยาวชน กระทั่งกลุ่มที่อยู่ในภาคการผลิตและบริการต่างๆที่จะเข้าไปมีส่วนขับเคลื่อนระบบสังคมในชุมชนระดับต่างๆ ซึ่งจะทำให้การพัฒนางานเชิงนโยบายเหล่านั้น ประสบความสำเร็จผ่านการลงทุนสร้างคน แล้วก็ก่อให้เกิดทางเลือกการพัฒนาในแนวทางใหม่ๆที่เป็นผลดีทั้งต่อท้องถิ่นและสังคมประเทศในภูมิภาค ในแง่มุมนี้  หากนึกถึงการพัฒนาศักยภาพครู นักวางแผน กลุ่มผู้บริหารสถานศึกษาซึ่งเป็นฐานการสร้างกำลังคนสู่ภาคการผลิตในวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมที่ต้องการทางเลือกใหม่ๆ นักพัฒนาประชากรศึกษาชุมชน การจัดการชุมชนและเครือข่ายกิจการวิสาหกิจชุมชนที่เน้นทุนทางสังคม ทุนมนุษย์ ทุนสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของท้องถิ่น วิสาหกิจเพื่อการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนทางสังคมวัฒนธรรมที่ส่งเสริมบทบาทการจัดการของประชาชน
    • การพัฒนาการบริหารจัดการของภาครัฐผ่านการจัดการการพัฒนาเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ในความจำเป็นของท้องถิ่นและในแนวโน้มการพัฒนาของสังคมโลกนั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นอนาคตเพื่อการพัฒนาก็คือ...| การบริหารจัดการและสร้างการมีส่วนร่วมของพลเมือง | การพัฒนาองค์กรท้องถิ่นและเครือข่ายชุมชน | การพัฒนาองค์กรการรวมตัวของประชาชนในชนบทโดยกลวิธีที่หลากหลายเพื่อระดมการมีส่วนร่วมในการจัดการความเป็นสาธารณะให้สอดคล้องกับความจำเป็นซึ่งดูแล้วจำเป็นมากสำหรับสังคมลาว | การประสานความร่วมมือการพัฒนาบทบาทของกลุ่มสตรี เด็ก เยาวชน และกลุ่มการรวมตัวของปัจเจก
    • การพัฒนาศักยภาพและอำนาจการริเริ่มตัดสินใจของประชาชน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาของรัฐบาลมีความยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต เช่น ... การพัฒนาบทบาทของภาคศิลปะและวัฒนธรรมต่อกระบวนการเรียนรู้และนำการเปลี่ยนแปลงแก่ภาคสาธารณะ | การสื่อสารและพัฒนาการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง | การวิเคราะห์และดำเนินโครงการประชากรศึกษาชุมชนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์
    • การพัฒนาเวทีสาธารณะ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการเชิงนโยบายตามแนวชายแดนและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทางสังคม โดยเฉพาะสำหรับแรงงานและชนกลุ่มย่อยชาวลาวที่อยู่ในประเทศไทยในรูปแบบต่างๆ หากจะดมนักวิจัย งานข้อมูล นักวิชาการ และจัดประชุมระดับนโยบาย รวมไปจนถึงการประชุมแบบซัมมิทในขอบเขตต่างๆ(ที่ผมประสานงานได้)

    เรื่องพวกนี้ นอกเหนือจากหลายเรื่องที่หลายแห่งเขาก็ทำดีๆกันอยู่แล้วนั้น ก็พอจะสะท้อนอยู่ในแวดวงการทำงานผมอยู่บ้างครับ หากสามารถคิด-ทำ ก็จะได้ครอบคลุมความจำเป็นหลากหลายเพิ่มขึ้นกระมังครับ คุยพอให้เห็นโอกาสการทำงานให้เกื้อหนุนส่งเสริมกันไปนะครับ หากมีจังหวะก็อาจจะเชื่อมโยงและหาความร่วมมือกันได้โดยจะได้พอมีเค้าโครงความคิดเป็นตัวตั้งต้นอยู่บ้าง และบางส่วนอาจจะมีนครสวรรค์และหนองบัวเป็นฐานการทำได้อีกด้วย ผมจะทดเรื่องราวพวกนี้ไว้ในใจระหว่างทำงานต่างๆไปด้วยนะครับ

    เรื่องสนุกแก้ง่วงระหว่างเดินทาง ที่ไกด์สาวเล่าบนรถนั้น ผมอ่านแล้วก็ยิ้มเพราะพอจะนึกออกว่าสามารถเล่นมุขต่อได้อย่างไรบ้าง แต่อย่างนี้ต้องเล่นในหมู่ที่มีคนลาวปนอยู่ด้วยให้มีบรรยากาศและท้องเรื่องที่จะรับมุขต่อ คือ...พอคนเล่า เล่ามาถึง ๒ คนที่ถูกถีบลงไปลอยคอในแม่น้ำ แล้วก็ถามว่า...มึงถีบกูทำไม? คนเล่าก็หยุด คนฟังก็งง ยิ่งคนที่คิดแบบคนพูดๆฟังลาวไม่ถึงอารมณ์ก็จะยิ่งง พอคนฟังเริ่มอยากรู้ คราวนี้เราก็จะมีโอกาสเล่นมุขได้อย่างแน่นอนใน ๒ แง่

    หากมีใคร คนใดคนหนึ่ง มีส่วนร่วมในการตอบ คนเล่าหรือสมาชิกกลุ่มผู้ฟัง ก็จะสามารถอำและสวนกลับเข้าให้ว่า มึงเป็นลาวหรือ งั้นต้องเอาคืน..!!!!

    หากไม่มีคนพยายามตอบ แต่ถามกลับ ทำนองว่า หมายความว่าอย่างไรวะ ไม่เห็นรู้เรื่อง !!! หรือ แล้วคนลาวที่ถีบตอบว่าอย่างไร ? คนเล่า ซึ่งหากเป็นลาวอย่างผมหรือคุณสมบัติ หรือพี่น้องลาวจริงๆ ก็จะยิ่งได้อารมณ์ขัน โดยเล่นมุขกลับไปว่า ไม่รุ...กูไม่ใช่ลาว หรือ กูบ่แม่นคนถีบ

    อย่างนี้หรือเปล่าครับ เดาเอา เพราะเคยเล่นกันคล้ายๆอย่างนี้ 

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    การไปลาวครั้งล่าสุด ลิมไปครับยังมีอีกงาน...งานวันยุทธหัตถีสมเด็จพระนเศวร มหาราช สถานทูตไทย(ผู้ช่วยทูตทหาร) จัดขึ้นที่โรงแรมลาวพลาซ่า มีทูตทหารหลายสิบประเทศแต่งเครื่องแบบเต็มยศมาร่วมงาน ดูพรึ่บพรั่บ ตระการตา สวยงามดีจริง ๆ ครับ แต่ไม่ทราบว่างานนี้สถานทูตไทยในพม่าจัดหรือเปล่า

    สำหรับเรื่องที่ไกด์สาวลาว ชื่อน้องตุ้ยเล่า แล้วผมนำมาเล่าต่อนั้น ท่านที่อ่านกระทู้นี้คงจะงง ... อย่างที่ผมคิดไว้จริง ๆ แหละครับ

    คนที่อยู่ในรถบัสบางคนก็งงครับ แต่ส่วนใหญ่ฟังแล้วก็ยิ้มไปจนถึงหัวเราะ

    เรื่องนี้จะสังเกตเห็นว่า ประเด็นที่เล่า เขาเน้นเรื่อง...ปริมาณหรือจำนวน...ครับ ในแต่ละประเทศที่กล่าวถึงนั้น ของที่แต่ละคนขว้างลงน้ำหรือผลักลงแม่น้ำนั้น ในประเทศตัวเองมีมากจริง ๆ ท่านที่เคยไป 2 ประเทศนี้จะทราบดี ทั้งจักรยานและโทรศัพท์มือถือ

    แล้วในประเทศลาวนั้น อะไรล่ะครับที่มาก.....คนจีน กับ คนเวียดนามครับ มากมายจริง ๆ

    แค่มาสร้างสนามกีฬาซีเกมส์ให้ลาว ก็มีครอบครัวคนจีนเข้ามาอยู่ในเวียงจันทน์แล้ว 50,000 คน .. (คุณนิติภูมิก็เขียนถึงเรื่องนี้ลงในไทยรัฐเมื่อไม่กี่วันมานี้เมื่อคราวไปประชุมที่ลาวกับ รมช.พาณิชย์ แต่นั่นที่แขวงบ่อแก้ว)....ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ คนจีนเป็นเจ้าของและคนจีนเป็นคนขาย มีคนลาวจากชายแดนจีนหรือชายแดนเวียดนามเป็นลูกจ้างและเป็นล่ามไปในตัว ตามบ้านอกคอกนา ชนบทห่างไกล/ทุรกันดารแค่ไหน ก็มีคนจีน/คนเวียดนามขี่จักรยาน / ขี่มอเตอร์ไซค์/หาบหามเข้าไปขายแบบบริการถึงที่ ของกินของใช้มีครบทุกอย่างให้เลือกซื้อ....เหมือนบ้านเราที่หนองบัวสมัยเมื่อตอนที่ผมยังเป็นเด็ก ๆ เลย แต่คนจีนบ้านเรามีร้านเป็นหลักแหล่ง ไม่ค่อยมีบริการถึงที่เหมือนที่เป็นอยู่ในเมืองลาว.. เมื่อตอนเด็ก ๆ นาน ๆ จะได้สตางค์สักที ได้มาแล้วก็จะไปแต่บ้านเจ๊ก...เจ๊กตี๋ เจ็กกุ่ย เจ๊กยิ้น เจ๊กใบ เจ๊กสูง..

    ส่วนใหญ่เป็นสินค้าราคาถูก ไปกันได้กับรายได้และค่าครองชีพของพี่น้องชาวลาว

    เรื่องพวกนี้คนส่วนใหญ่บนรถบัสก็พอจะทราบกันมาบ้าง เพราะอยู่ในแวดวงการทำธุรกิจ/ค้าขายกับลาวมาก่อน ก่อนที่เวียดและจีนจะมาแรงแซงโค้งในระยะเมื่อไม่กี่ปีมานี้

    แต่เรื่องที่ไกด์สาวชาวลาวเล่านี้ ยังจับสีหน้า/แววตาได้ไม่ถนัดนักว่า เล่าด้วยความสนุกสนานหรือว่าเล่าด้วยความขมขื่น

    ขอแสดงความเสียใจกับคุณศักดิ์ศรี-ฉิก และครอบครัวของคุณแม่ด้วยค่ะ ขอให้ดวงวิญญาณของคุณแม่ของคุณฉิกสู่สุขคติสัมปรายภพชั้นสูงสุดด้วยค่ะ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    อ่านแล้วสนุกได้ความรู้ได้เห็นความเคลื่อนไหวในเมืองลาวดีจริง ๆ ได้เห็นทั้งการค้าขายการพัฒนาบ้านเมืองการดำเนินชีวิต

    แค่ได้เห็นเพียงตัวหนังสือก็นึกตามไปได้มาก ถ้ายิ่งมีภาพถ่ายวปัจจุบันของเมืองลาวด้วยแล้วจะยิ่งมีความสดใหม่ ชนิดวันต่อวันทันสมัยทันเหตุการร์ยิ่งกว่าข่าวประจำวันที่แข่งขันนำเสนอความเป็นหนึ่งความเป็นเสือปืนไวตั้งมากมายเสียอีก อยากเห็น อยากเห็น เพราะว่าไม่ได้ไป

    อาจารย์สมบัติเล่าถึงการดำเนินชีวิตของคนลาว มีเจ๊กหาบของขายตามหมู่บ้านแล้วก็นึกเห็นภาพตามไปด้วยเลยทีเดียว

    ยิ่งเมื่อนำมาเปรียบกับหนองบัวเมื่อสามสิบสี่สิบปีที่แล้ว ก็ยิ่งเห็นภาพเหล่านั้นแจ่มชัดขึ้นทันที

    เจ๊กหนองบัวจะมีร้านขายอยู่ในตลาดก็จริง แต่ก็มีเหลายท่านที่เดินหาบสิ่งของเครื่องใช้ของกินไปแลกข้าวเปลือกข้าวสารตามหมู่บ้าน

    สิ่งของที่หาบไปนั้นก็มีจำนวนมาก ทั้งหนักทั้งหาบยากเพราะไม้คานดูใหญ่แข็งทื่อ ๆ ไม่อ่อนตัวเอาเสียเลยน่าเจ็บบ่าไม่น้อย

    อีกทั้งหมาก็ดุด้วย แต่เจ๊กไม่กลัวหมาเลย ไปหมู่บ้านไหน หมาก็จะเห่าเดินตามเป็นพรวน แค่เดินแกว่งไม้ไล่หมาไป-มา ไม่รู้ไม่ชี้สบายใจเฉิบ เห็นแล้วทึ่งมาก ๆ

    ญาติ ๆ เราเวลามาเยื่ยมเยือนกันสักครั้งก็จะตะโกนเรียเจ้าของบ้านให้ดูหมาไล่หมาให้ สามารถได้ยินเสียงตะโกนข้ามหมู่บ้านเลยหนา เพราะกลัวหมากัด ยิ่งคนเฒ่าคนแก่หลายท่านโดยเฉพาะคุณป้า ย่า ยาย ชาวหนองบัว-หนองกลับด้วยแล้วละก็ โคตรกลัวเลยหมาเนี่ย.

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    เรื่องเล่าของไกด์สาวเลยเป็นทั้งเรื่องสร้างบรรยากาศระหว่างการเดินทาง แล้วก็เป็นการระบายความกระทบกระเทือนใจให้แปรไปเป็นการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมของสังคมไปเลยนะครับ มองในแง่ความเป็นศิลปะที่ช่วยลดแรงกดดันทางสังคม ให้ไปเป็นการแสดงออกทางกิจกรรมที่ไม่เป็นการใช้ความรุนแรงอย่างปราศจากเหตุผล อย่างนี้ ในสังคมต่างๆก็มีเยอะในทุกยุคทุกสมัยเลยนะครับ มองในระดับที่เป็นความสบายใจ ได้ความรื่นรมย์ใจ ก็ได้ มองให้เห็นการเสียดสีเหน็บแนม ให้รู้ว่า ภายใต้สถานการณ์ต่างๆดังเช่นอยู่ในบ้านเมืองของตนเองแต่ก็กลับมีต่างชาติมาอยู่(ในสถานะที่ดีกว่าคนทั่วไปของพื้นถิ่น)อย่างมากมาย เมื่อคิดอย่างเอาความเป็นตัวกูของกูที่ยังมีความคับแคบเป็นธรรมดาของคนทั่วไปเป็นตัวตั้ง ก็ย่อมรู้สึกเคืองๆละครับ จะเก็บไว้ในอกอย่างไม่รู้สึกรู้สาเลยก็เหมือนจะไม่มีหัวใจ แต่ครั้นจะแสดงออกทางการกระทำแบบปะทะก็คงไม่ถูกเรื่อง ก็แปรไปสู่การแสดงออกอย่างนี้ละกระมัง

    เหมือนอย่างนิทานลุงพรจากรายวิทยุในอดีต ที่คนนครสวรรค์และอีกหลายแห่งของประเทศก็ชอบฟังเหมือนกันนะครับ เช่น พ่อตากับลูกเขย สามเณรกับหลวงตา คนมีปัญญากับนักเลงหรือเสือร้าย ซึ่งในโลกความเป็นจริงแล้ว ลูกเขย เณร และคนมีปัญญา ก็มักจะไม่กล้าหือกับพ่อตา หลวงตา นักเลงและเสือร้าย ก็ต้องทำให้น่าแปลกใจทำนองเดียวกับในนิทานอย่างที่คุณสมบัติเล่านี้เหมือนกัน โดยทำให้เป็นไปอีกทางหนึ่ง เป็นต้นว่า ลูกเขยหลอกให้พ่อตากินเปลือกมันเพราะเวลาย่างปลาดุกแล้วหนังปลาจะอร่อย พอกินเปลือกเผือกมันเผาจนเกลี้ยง ก็แอบภูมิใจ ส่วนลูกเขยก็เอาเนื้อเผือกมันเผาไปกินสบายใจเฉิบ 

    หากคิดด้วยจิตใจที่ละเอียดอ่อน ก็จะเห็นว่าภายใต้เรื่องเล่า เราก็สามารถมองเห็นชีวิตจิตใจของคนต่างบ้านต่างเมืองได้มากเหมือนกันนะครับ ใจเขาใจเรานะครับ เหมือนเมื่อตอนเด็กๆที่อยู่หนองบัวก็เหมือนกันครับ พวกเพื่อนๆที่อยู่ในตัวตลาดที่เป็นลูกหลานเจ๊กและคนท้องถิ่นหนองบัวที่พูดเหน่อๆ พวกผมเด็กๆที่อยู่ชุมชนรอบนอก ก็มักจะล้อเลียนเสียดสีว่า เป็นลูกเจ๊กและพูดเหน่อ ในขณะที่เพื่อนๆผมและคนที่อยู่ตัวตลาด ก็จะแกล้งพูดลาวแบบไม่ชัด ล้อเลียนและเสียดสีพวกผมเช่นกัน ความภูมิใจตนเอง และบางครั้งก็อาจจะเผลอไปเอาอัตตาของเราเองไปเข่นคนอื่นนั้น คงจะเป็นเรื่องที่มีอยู่ทั่วไปราวกับเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของสังคมมนุษย์ แล้วก็สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้นะครับผมว่า

    ขอสวัสดีอาจารย์ณัฐพัชร์ และกราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลด้วยครับ

    อนุกูล วิมูลศักดิ์

    เรียน อ. วิรัตน์ และผู้อ่านทุกท่านครับ

    ต้องขออภัยอย่างมากที่หายไปนานมาก เพราะตอนนี้วุ่น ๆ อยู่กับการเตรียมการสอน เลยทำให้ไม่ได้เข้ามาเยี่ยมเลย แต่ก็ยังนึกถึงอยู่เสมอครับ

    นอกเหนือจากหน้าที่หลักด้านการสอนแล้ว ก็มีหลายอย่างซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ต้องดูแล ไม่ว่าจะเป็น

    * นำเสนอข้อมูลโปรแกรมภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ชานเมืองของกรุงเทพ ฯ และปริมณฑล ในเว็บ "เพื่อนคนรักหนัง" [http://www.thaicine.com ที่ผมเคยนำเสนอเรื่อง "โรงภาพยนตร์ใน อ. หนองบัว" นั่นแหละครับ] ทางเจ้าของสายหนังที่ซื้อ - เช่าฟิล์ม เพื่อเข้าฉายโรงเหล่านี้ จะโทรมาแจ้งหรือส่งอีเมล์ในช่วงวันพุธ หรือพฤหัสบดี เพื่อให้ผมได้จัดการเปลี่ยนโปรแกรมภาพยนตร์ที่เข้าฉาย ก่อนที่จะ UPDATE ในวันศุกร์

    * ตอนนี้ผมรับทำสปอตโฆษณาเพื่อออกอากาศทางสถานีวิทยุชุมชน (คงเคยได้ยินมาบ้าง) และรถแห่โฆษณา จริง ๆ แล้วเคยทำก่อนหน้ามาแล้ว เมื่อปีก่อน แต่ไม่ได้บอกกล่าว วันนี้ก็เลยนำคลิปสปอตมาฝาก เป็นงานประจำปีวัดหนองกลับที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 17 - 21 กุมภาพันธ์นี้ครับ ที่http://www.youtube.com/watch?v=aAZbolB7ddM

    * ตอนนี้ผมได้เปิดเว็บไซต์ (เพิ่งตั้งไข่) ในชื่อ "บ้านหนังครูนุ" ซึ่งจะเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาษาอังกฤษเผื่อสำหรับคนที่สนใจ หรือศิษย์เก่าที่เคยเรียนกับผมมาก่อน ซึ่งมีหลายโรงเรียนครับ แล้วก็ยังมีเรื่องภาพยนตร์ด้วย ขณะนี้เพิ่งจะมีเพียงไม่กี่กระทู้ครับ นอกจากนี้ยังมีห้อง CHAT สำหรับโพสต์ข้อความได้โดยตรงกับผม (แล้วแต่จังหวะว่าจะเจอกันหรือไม่) และยังมี hi 5 ด้วยครับ คนที่เล่น hi 5 อยุ่ก่อนแล้ว หรือไม่ได้เล่น hi 5 ก็สามารถเข้าไปชมรูปภาพ (หรือคอมเมนต์ สำหรับคนที่เล่น) ได้ครับ

    บ้านหนังครูนุ http://ban-krunufilm.pantown.com/

    ไฮไฟว์ http://anukoolv.hi5.com

    * ได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศลาวแล้ว มีหลายอย่างที่น่าสนใจครับ ผมเองก็ตั้งใจว่าจะไปเที่ยวนครหลวงเวียงจันทน์ให้ได้ครับ

    สวัสดีครับคุณครูอนุกูล

     ผมแวะเข้าไปฟังสป็อตประชาสัมพันธ์งานวัดหนองกลับในยูทิวต์ของครูนุแล้วละครับ ได้บรรยากาศงานวัดดี เดี๋ยวนี้การทำสื่อเผยแพร่และภาวะผู้นำในการสื่อสารกับสาธารณะผ่านช่องทางสื่อต่างๆนี่จำเป็นสำหรับท้องถิ่นมากนะครับ

     

    นมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลฯ และสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปร่วมพิธีทางศาสนา 2 งานครับ งานแรก เป็นพิธีเปิดห้องว่าการพาสี (ศุลกากร) เขต 5 (นครหลวงเวียงจันทน์และแขวงเวียงจันทน์) งานที่ 2 เป็นงานฌาปนกิจศพ (คนลาวเรียกว่า...ส่งสะกาน) ที่วัดโสกบ่าหลวง ถนนมิตรภาพลาว - ไทย ทั้งสองงานก็ให้นึกถึงพระอาจารย์มหาแลฯ และอาจารย์วิรัตน์ในเวลาพระท่านสวดมนต์เป็นภาษาลาว

    ผู้ที่เสียชีวิตนี้มีประวัติที่น่าสนใจครับ ท่านเกิดที่แขวงหลวงพระบาง เป็นพ่อตาของอดีตอธิบดีกรมพาสีลาว(ที่ผมประสานการทำงานด้วยตลอดมา) มีอาชีพเป็นแพทย์ทำงานในโรงพยาบาลฝรั่ง สมัยฝรั่งเศสยังปกครองราชอาณาจักรลาว หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองท่านก็ไปทำงานอยู่ที่ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ หลังเกษียณท่านอยู่ที่สวิสจนอายุ 80 ปีก็กลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายในเวียงจันทน์จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว สิริรวมอายุ 87 ปีครับ ตอนท่านป่วยผมเคยไปเยี่ยม ท่านได้พูดถึงสมเด็จย่าและเอารูปมาให้ดูด้วยครับ

    ซึ่งทั้งงานก่อน ๆ และสองงานหลัง ผมจะนำภาพมาลงให้ได้ชมกันตามที่ท่านพระอาจารย์ได้บิณฑบาตไว้ในกระทู้ที่ 328 เมื่อวันที่ 23 /01/2553 เร็ว ๆ นี้ครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • เคยไปเมืองแพร่งานสัมมนาที่วิทยาเขตแพร่(มจร.)
    • มีพิธีแบบล้านนาสวยงามอลังการดี ดูแล้วมีพลังและให้คุณค่าทางจิตใจดีมาก
    • ตอนพระเถระเจริญพระพุทธมนต์ พระท่านสวดมนต์เร็วและแต่ละองค์ต่างก็สวดโดยไม่ต้องรอกันเลย
    • พระหนุ่ม ๆ จากภาคกลางที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเห็นนั่งอมยิ้มอยู่หลายท่าน
    • อย่างภาคใต้เวลาพูดมักพูดเร็วแต่เวลาสวดมนต์จะสวดทำนองช้า ๆ คล้ายภาคกลาง
    • พระสงฆ์ลาวสวดมนต์หรือสวดเป็นทำนองลาวอย่างที่อาจารย์สมบัติว่านั้นยังไม่มีประสบการณ์ได้สัมผัสพบเจอ
    • อาตมาเคยไปร่วมงานกับพระสงฆ์รามัญ(มอญ) เมื่อทำภัตกิจเสร็จให้พรบทบาลีสั้น ๆ พระไทยท่องไม่จบบท ว่าตามท่านไม่ได้เลย นั่งฟังท่านสวดเหมือนกับญาติโยมเลย
    • โยมอาจจะนึกว่าทำไมพระองค์นั้นองค์นี้สวดไม่ได้เลย ที่จริงสวดได้นั่นแหละ แต่ออกเสียงสวดตามท่านไม่ได้ จำได้จนทุกวันนี้ ทั้งที่ผ่านมาสิบห้าสิบหกปีแล้วก็ตาม
    • ก็เป็นเรื่องความแตกต่างของสำเนียงภาษา แต่ละชาติแต่ละภาษาก็ไม่เหมือนกัน 
    • แต่พระสงฆ์ของแต่ละประเทศท่านก็สวดมนต์หรือสาธยายมนต์บทต่าง ๆ ด้วยภาษาบาลีเหมือนกัน บทเดียวกัน คำเดียวกันนั่นแหละ ต่างแต่สำเนียงของภาษาเท่านั้นเอง
    • นึกถึงตอนรวบรวมพระธรรมวินัยสมัยพุทธกาลท่านได้จารึกพุทธพจน์คำสอนต่าง ๆเป็นภาษามธค(บาลี)
    • ในทางภาษาศาสตร์ถือว่าภาษาบาลีนั้นเป็นภาษาที่ตายแล้ว คือไม่มีคนใช้พูดกันแล้ว แต่ก็ยังมีพระสงฆ์หลายชาติหลายประเทศ ที่ยังใช้ภาษาบาลีสื่อสารกันอยู่บ้าง.

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ แล้วก็สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    • คุณสมบัติมีท่าทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสังคมที่มีความเคารพนอบนอบต่อกันอย่างสุดซึ้งเหมือนมีความเป็นญาติ เป็นพี่เป็นน้อง รวมทั้งเรียนรู้เพื่อเคารพยกย่องความดีงามกันของมนุษย์
    • ส่วนพระคุณเจ้า ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงที่เราดำรงอยู่ในสังคมของความแตกต่างหลากหลาย แม้ความเชื่อและความศรัทธา อีกทั้งต้นเรื่องเป็นภาษาเดียวกัน แต่ผู้คนต่างสังคม ภาษา และวัฒนธรรม ก็ทำให้ผลออกมาไม่เหมือนกัน เมื่อทำด้วยกันหรือทำพร้อมกัน ก็ทำอย่างเดียวกันไม่ได้ แม้จะเป็นสิ่งเดียวกัน
    • ทำให้ผมอยากเสริมความคิดว่า การเรียนรู้เพื่อความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะคนต่างสังคม ต่างวัฒนธรรม และต่างวิถีปฏิบัตกันนั้น ช่างมีความสำคัญและจำเป็นมากอย่างยิ่งครับ
    • อย่างเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมก็ได้เจอกับสิ่งที่ช่วยย้ำเรื่องนี้ด้วยเหมือนกันครับ คือ ผมร่วมกับคณะอาจารย์ที่ดูแลหลักสูตรนักศึกษาปริญญาโทนานาชาติด้วยกัน พานักศึกษาออกไปฝึกภาคปฏิบัติและดูงานจากของจริงของประเทศไทยด้านบริหารการศึกษา พอตอนกลางวันดูงานเสร็จผมก็จัดเวิร์คช็อปวิเคราะห์บทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ปรากฏว่าระหว่างที่กิจกรรมต่างๆก็ไปได้ราบรื่นดีนั้น จู่ๆก็เกิดการปีนเกลียวกันขึ้นในเรื่องชาตินิยมของนักศึกษา ๒ ประเทศในภูมิภาคเอเชียของเรานี่เอง
    • ผมตะลึงและทำอะไรไม่ถูกเลย แม้ว่าจะเคยเจออย่างนี้มาด้วยเหมือนกัน มีอาจารย์สุภาพสตรีท่านหนึ่งพยายามเข้ายุติ เพราะนี่มันเป็นเวทีวิชาการของนักศึกษา และไม่ว่าคุณจะมาจากประเทศอะไร ก็ขอให้เอาการศึกษาเรียนรู้ด้วยกันเข้ามาในห้อง อย่าแบกตัวตนอย่างอื่นเข้ามา แต่ก็ถูกคู่กรณีฝ่ายหนึ่งก้าวร้าวเลยเถิดใส่เข้าให้อีก เรื่องนี้หากเป็นนักศึกษาไทยก็คงต้องถูกเชิญให้ออกจากห้องไปแล้ว  เพราะแทบไม่ต้องนำมาพิจารณาเลยว่าการสู้กันในเรื่องชาตินิยมอย่างนั้น ฝ่ายใดถูกหรือผิด เพราะในห้องเรียนขั้นปริญญาโท อีกทั้งมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ภาษา และศาสนานั้น การต้องมีวิจารณญาณและมีวุฒิภาวะด้วยว่า เรื่องอย่างนี้อย่าเอามาเป็นเหตุขัดแย้งกัน เป็นสิ่งที่เขาจะต้องมีเสียก่อน แต่ในสถานการณ์อย่างนั้น หากพูดอย่างนี้ก็คงจะเหมือนกับราดน้ำมันใส่กลองเพลิง เลยต้องยืนดูและคิดอยู่ภายในตนเองอย่างหดหู่ใจ สิ่งที่หดหู่ใจนั้น ผมนึกไปถึงการสร้างความรู้และการเรียนรู้เกี่ยวตนเอง และการเรียนรู้ระหว่างกัน โดยเฉพาะประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมของสังคมต่างๆนั้น เป็นสิ่งที่กลับมาทำร้ายตัวเองของกันและกันของผู้คนเมื่ออยู่ในสังคมที่กว้างขึ้นได้เหมือนกันครับ
    • พอวันรุ่งขึ้น เขามีเวลาคิดและอยู่กับตนเองไปหนึ่งคืน ก็คงสงบใจ มีสติ และรู้เหตุผลที่ดี ดีขึ้น ก็กลายเป็นอีกคนหนึ่งเลย คือเดินขอโทษเพื่อน และท้ายที่สุดก็เดินขอโทษอาจารย์ทุกคน ผมจับมือเขาและไม่รู้จะพูดอะไร นอกจากบีบแน่นๆ หลังจากนั้น เพื่อนฝูงก็เข้าไปห้อมล้อมเขา เขาอยู่ท่ามกลางเสียงหัวเราะและยิ้มแย้มด้วยความเป็นมิตร แล้วก็ถ่ายรูปด้วยกัน ผมเองตอนนั้นรู้สึกแปลกๆ รู้สึกตื้นตันใจไปกับเขาและมีความสุขอยู่ลึกๆ
    • ผมเลยอยากเสริมว่าการเรียนรู้อย่างที่คุณสมบัติและพระคุณเจ้ากล่าวถึงมานี้ แม้นเล็กน้อยแต่ก็สำคัญจริงๆนะครับ
    • เพิ่มนิดหนึ่งครับ มีคนที่ช่วยทำให้คู่กรณีในเรื่องนี้ปรับอารมณ์และการแสดงออกแบบนี้ได้ด้วยเหมือนกันครับ และคนที่ทำหน้าที่เป็นแกนให้กับเพื่อนๆในครั้งนี้ เป็นนักศึกษาจากอีกประเทศหนึ่งและเป็นมุสลิมคนเดียวในห้อง ทว่า มีความอาวุโส สุภาพ พูดคุยมีเหตุผล และมักมีส่วนร่วมในสิ่งที่สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ของเพื่อนๆ เขาเป็นคนที่ช่วยคุยทำให้บรรยากาศยังคงเป็นการสนทนากัน และพอเลิกทำงาน ก็พาเพื่อนของเขาที่เกิดทะเลาะกับเพื่อนเพราะการติดยึดกับความรู้เรื่องชาตินิยมของตนเป็นพิษ ไปเดินและคุยกัน เข้าใจว่าตรงนี้ทำให้เพื่อนเขาได้คิด
    • เรื่องนี้ไม่รู้ว่าคนอื่นจะเห็นว่าสำคัญมากไหม แต่ผมคิดว่าสำคัญมากครับ อาจจะต้องเรียนรู้ให้ได้ความคิดใหม่ๆเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ทางสังคมและปรับการศึกษาเรียนรู้ที่ผิดพลาดตรงโอกาสที่เราต่างก็ทำกันได้ โดยเฉพาะอนาคตของการสร้างประชาคมอาเซียน ประชาคมอนุภูมิภาคอินโดจีน หรือการสร้างสำนึกและจิตวิญญาณเอเชีย เหล่านี้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลยถ้าเรื่องอย่างนี้ไม่นำมาทบทวนและร่วมมือกันวางทรรศนะเสียใหม่ ดูกรณีของเขาพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา กรณีอย่างภาคใต้ และการแตกเป็นขั้วแบ่งสีแบ่งข้างของสังคมไทย ฝ่ายที่หนุนและสกัดอองซานทั้งในและนอกประเทศเมียนมาร์ เหล่านี้แหละครับ
    • อย่างเวลาไปต่างประเทศและเป็นกลุ่มที่มีผู้คนต่างสังคมอยู่ด้วยกันนั้น บางเรื่อง ณ เวลานี้ ผมว่าก็ไม่เหมาะสมที่จะคุย เช่น เราคนไทยมักอวดความเป็นชาตินิยมหน่อยๆว่าเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร(อย่างเป็นทางการ) ดูเหมือนกับคุยเรื่องตนเองอย่างเดียวละครับ แต่ในกลุ่มเมื่อมีหลายๆชาติ มันก็จะกลายเป็นการข่มน้ำใจคนอื่นไปในที แล้วก็กลายเป็นอุปสรรคในการสร้างความเป็นส่วนรวมที่ไม่ติดพรมแดนประเทศกันได้
    • เรื่องอย่างนี้นำมาคุยและสื่อสารกันเยอะๆก็ดีครับ เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ของสาธารณะด้วยครับ 

    นมัสการท่านอาจารย์พระมหาแลฯ และสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ นี่เป็นภาพเพียงบางส่วนที่เก็บมาจากเมืองลาวครับ

                    

                  

            

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • ขอบคุณมากเลยอาจารย์สมบัติที่นำรูปบรรยากาศทางฝั่งลาวมาให้ได้ดูกัน
    • เห็นในภาพนี้มีทหารหลายท่านคิดเอาว่าคงเป็นงานประชุทูตทหารระหว่างเทศใช่ไหมเพราะแปลภาษาอังกฤษไม่ออก
    • แต่ภาษาลาวน่าจะอ่านว่าห้องเกียรติยศ คงจะไม่ผิด ชื่อนี้ก็สื่อความหมายได้ดี
    • แต่คนไทยเราก็จะเรียกทับศัพท์โดยตรงว่า ห้องวีไอพี(v.i.p.) หรือห้องรับรองพิเศษ
    • ภาพสุดท้ายคิดว่าเป็นวัด เพราะเห็นเมรุที่อยู่ในป่าไกล ๆ วัดนี้ร่มรื่นดีมาก ต้นไม้ใหญ่ ๆ เยอะแยะเลย คงเป็นงานศพที่เคยกล่าวถึงในกระทู้ที่ ๓๓๓ ที่ผ่านเมื่อหลายวันก่อน

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล และสวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    งานแกรนด์เลยนะครับนั่น พอสัมผัสได้ครับว่าเป็นภาษาการให้เกียรติกันอย่างเต็มที่ทั้งสองฝ่าย ดูเพลินและงดงามดีครับ

    กราบสวัสท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    วันนี้ผมเอาคลิป งานวัดหนองบัวหนองกลับ และงานงิ้ว ส่งเป็น e-mail ให้กับพักพวกชาวหนองบัวที่ทำงานอยู่ต่างถิ่นได้ชมกัน

    พักเดียวเองครับหลายคนส่งสัยเลยถามกลับมาว่า เดี๋ยวนี้หนองบัวเค้าพัฒนาไปถึงนี้แล้วหรือนี่ จะว่าท่านอาจารย์อนุกูล วิมูลศักดิ์ ก็ไม่เบาเลยครับ

    http://www.youtube.com/watch?v=aAZbolB7ddM

    http://www.youtube.com/watch?v=T1vdGs2lrY8

    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์ครับ

    เงียบกันไปเสียนานเลยนะครับ ผมเพิ่งเอารูปถ่ายคันไถของชาวหนองบัวของคุณเสวก ไปให้ท่านอื่นได้ชมที่หัวข้อ เกษตร-ศิลปะ ของโรงเรียนปิยชาติพัฒนา ที่นี่ครับ http://gotoknow.org/blog/civil-learning/337768 

    ถึงเทศกาลงานงิ้ว-งานเจ้าพ่อเจ้าแม่หนองบัวแล้วหรือนี่ เอารูปวาดสภาพตลาดหนองบัวกับคนหนองบัวมาฝากให้ได้รำลึกถึง หากกลับบ้านในช่วงนี้ ก็จะยิ่งได้ความประทับใจและอยากกลับไปทำสิ่งต่างๆให้ยิงมีความหมายไว้เป็นความสุขเมื่อรำลึกถึงในอนาคตอีก

    Pebulls Playingground2 

    ภาพ ๑ บนซ้ายนี้  เป็นด้านหน้าของตลาดสดเจริญผล หนองบัว เดินตามถนนอย่างเห็นตามแนวสายไฟนั้นก็จะเป็นเกาะลอย ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่หนองบัว ศาลหลวงปู่ฤาษีณารายน์ และบริเวณที่จัดงานงิ้ว หน้าตลาดสดก็จะเป็นแยกออกจากด้านหน้าตลาดตรงไปวัดหนองกลับและหัวมุมของร้านปานขลิบโอสถของหมอหลุยพอดี โดยปรกติแล้วขบวนแห่มังกร กระตั้วแทงเสือ รวมทั้งวงดุริยางเด็กๆ วงดนตรีจีน และขบวนสาวงาม ก็จะหยุดเล่นโชว์ตรงนี้อยู่สักพักหนึ่ง ในภาพนี้เป็นรูปไอ้เป๋หนองบัวและวัวหลวงพ่ออ๋อย ส่วนภาพ ๒ บนขวา  สนามฟุตบอลของโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) หรือ โรงเรียนอนุบาลหนองบัว จะเป็นที่ตั้งขบวนของวงดุริยางค์ที่จะมาช่วยแห่ที่มาจากโรงเรียนชายนครสวรรค์บ้าง บางทีก็เป็นวงดุริยางค์ของทหารจากค่ายจิระประวัติบ้าง เวลามาตั้งขบวนและซ้อมกำกับจังหวะกันที่สนามโรงเรียน ผู้คนก็จะแตกตื่นมาห้อมล้อม ดูระลานตา พร้อมเพรียง สวยงาม และน่าอัศจรรย์มาก

    Nongbuamarket Electricitygeneratornb 

    ภาพ ๓ บนซ้ายนี้ หัวตลาด ในยุคแรกก่อนจะมีศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์นั้น ตรงนี้จะเป็นท่ารถเมล์หนองบัว-ชุมแสง บางครั้งก็เป็นที่เล่นกลเร่ขายยา-ขายของ อีกคูหาหนึ่งที่เป็นหัวตลาดเหมือนกันนี้ก็เป็นร้านตาต๋า พอขบวนแห่มาถึงตรงนี้ ก็จะหยุดโชว์กันอีก ภาพ ๔ บนขวา เป็นบริเวณเกาะลอย แต่เดิมนั้น ตรงกลางเกาะลอยก็จะมีเวทีไหว้เจ้าหรือแสดงลิเก อาคารสองหลังเล็กๆเยื้องบนซ้ายจากห้องแถวนั้น เป็นโรงปั่นไฟฟ้าเมื่อแรกมีของหนองบัว เยื้องขึ้นไปอีกนิดก็เป็นศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ฤาษีหรือที่เรียกกันว่าตีนกุด บริเวณนี้ พอถึงงานงิ้วก็มักจะเป็นที่ตั้งโรงงิ้ว ที่ไหว้เจ้า ที่ประมูลของบริจาคและระดมทุน รวมทั้งเป็นที่ตั้งเวทีรำวง ฉายหนัง และเอกลักษณ์ของงานงิ้วในยุคก่อนคือ มอเตอร์ไซค์ไต่ถังของตาเปรื่อง เรืองเดช

    ขอให้ชาวหนองบัวและชุมชนใกล้เคียงเที่ยวงานงิ้วให้สนุกครับ ใครที่กลับบ้านก็ขอให้ได้พบปะเพื่อนฝูง เพื่อนพ้องน้องพี่ และได้กำลังใจกลับไปดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความสุขครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • เห็นภาพข้างบน คห.๓๔๒ นี้แล้วคิดถึงบ้านคิดถึงบรรยากาศงานงิ้วและเกาะลอยจริง ๆ ๓๐ ปีผ่านไปไวเหลือเกิน ที่ไม่ได้ดูงานงิ้ว
    • คือตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ ปีนี้ ๒๕๕๓ ก็สามทศวรรษ พอดี
    • งานงิ้วตอนเป็นเด็กนั้น ไปเที่ยวงานกันไปทั้งกลางวันและกลางคืน เดินจากบ้านเนินตาโพไปถึงเกาะลอยก็ประมาณ ๑ กิโลเมตรกว่า ๆ เอง
    • กลางวันมียี่เก,ลิเก รถต่ายถัง ชิงช้าสวรรค์ งิ้วก็แสดงกลางวันด้วย มีร้านขายเสื้อผ้า แต่ของที่ขายดีสำหรับแม่บ้านเห็นจะเป็นพวก ถ้วย จาน กาละมัง ขันน้ำ ช้อน หม้อ กะทะ พริก หอม กระเทียม และของกินอื่น ๆ พริก หอม กระเทียม หมาก เป็นสินค้าที่ขายดีก็เพราะที่หนองบัวนั้นหายาก คนทั้งอำเภอหนองบัวต้องรอซื้อสินค้าประเภทนี้ตอนงานงิ้ว-งานคัดเลือกทหารที่วัดใหญ่บ้างวัดเทพฯบ้างซึ่งหลังจากงานงิ้วประมาณหนึ่งเดือน ฉะนั้นสองงานนี้ชาวบ้านจ่ายกันชนิดต้องขายข้าวในยุ้งเป็นเล่นเกวียนเลยแหละ
    • พูดถึงลิเกมีคนฝากคำถามเรื่องโรงลิเก,โรงยี่เก ก็เลยนำคำถามดังกล่าวมาถามอาจารย์ในที่นี้ด้วยเลย
    • คนรุ่นใหม่เขาถามว่าทำไมภาคกลางเกือบทุกวัดเลย มีโรงลิเกประจำวัด ลิเกมีความสำคัญอย่างไรต่อชาวบ้าน ต่อชุมชน มำไมความบันเทิงชนิดนี้จึงเข้าถึงชาวบ้านและมีอิทธิพลมาก คล้ายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนของหมู่บ้าน
    • ถ้าจำไม่ผิดที่หนองบัวตลาดอาเขตมีลิเกเล่นตองกลางวันน่าจะเล่นเป็นเดือน ๆ ไม่แน่ใจว่างานอะไร นึกไม่ออกจริง ๆ จะเป็นงานเปิดตลาดแห่งใหม่หรือไร ข้อมูลตรงนี้ลืมเลือนไปแล้ว.
    • เจริญพร

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    ขอร่วมอนุโมทนาบุญกับพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าได้แผ่เมตตาและอนุโมนาในทาน-กุศลกรรมต่อการร่วมสร้างความเป็นสาธารณะร่วมกับสาธุชน : ดังที่ได้กราบนมัสการพระคุณเจ้า แจ้งให้ทราบว่า ผมจะขอนำเอาเงินที่พระคุณเจ้าส่งไปร่วมสมทบทำหนังสือหรือทำกิจกรรมที่ผมและคณะจะพากันมาทำกับชุมชนหนองบัวตามแต่จะทำกิจกรรมอย่างไรกันได้ก็ได้จำนวน ๒ พันบาทนั้น มาแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน แล้วก็นำ ๑ พันไปสมทบกับอีกหลายท่าน ตั้งกองทุนผ้าป่า ไปร่วมทอดผ้าป่าให้กับศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรม ที่อำเภอด่านช้าง สุพรรณบุรี ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ นี้แล้วครับ

    พระคุณเจ้าให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาคนและการพัฒนาสุขภาวะของชุมชนมาก อีกทั้งเป็นพระชาวบ้านจากชนบทที่ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่สามารถเรียนรู้ เปลี่ยนแปลง และพัฒนาตนเองได้ เลยก็อยากจะทำให้บรรลุสิ่งดีทั้งสองด้าน คือ อยากให้เป็นการปฏิบัติสิ่งดีๆต่อสาธารณะขนาดเล็กๆในครั้งนี้ ให้พระคุณเจ้าได้มีกำลังใจ และอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นการระดมพลังความดีงามให้เป็นกำลังส่งเสริมสิ่งดี ที่ท่านผู้ริเริ่มสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรม ได้ทำขึ้น ทำให้สิ่งดีที่กระจายกันอยู่เล็กๆน้อยๆ ให้เชื่อมโยงเป็นพลังความดีด้วยกันน่ะครับ

    ผมได้มอบให้คณะที่ไปร่วมงานแล้วครับ แต่เดิมนั้น ผมเองก็ตั้งใจจะไป และทางผู้จัดก็อยากให้นั่งบรรยายนำการสนทนาให้กับหมู่คณะที่ไปด้วย แต่ผมกำลังทำงานเขียนหนังสือเพื่อใช้ในการทำงานร่วมกับคนอื่นๆอยู่และไม่ค่อยมีวันหยุดอย่างนี้เลย ก็เลยยังไม่ได้ไปครับ คิดว่ากิจกรรมในแนวนี้และศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรมนี้ผมเองจะได้ไปบ่อยอยู่ตลอดไป เลยขอทดครั้งนี้ไว้ก่อน

    โรงลิเกในวัด : จริงอย่างที่พระคุณเจ้าว่าครับ ในยุคก่อนนั้น ทุกวัด จะต้องสร้างโรงลิเกทิ้งไว้ เหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของวัดเลย รวมทั้งวัดหนองกลับด้วย โรงลิเกหลักก็อยู่ข้างเมรุและข้างต้นมะสังข์ เมื่อถึงหน้าเทศกาล หลังการเก็บเกี่ยว นวดข้าว งานส่วนรวมอย่างหนึ่งของชาวบ้านในชุมชนก็คือ ไปซ่อมศาลาวัด ซ่อมโรงลิเก ดายหญ้าและปรับลานดินตะปุ่มตะป่ำของลานวัดให้เรียบ พอถึงหน้างานวัดประจำปี ก็ใช้เป็นโรงมโหรสพ เวลาได้ยินคนเขาตอกตะปูโป๊กเปก ใครที่ไม่คว้าขวาน ฆ้อน เดินไปทำงานลงแรงให้แก่วัด ก็จะต้องรู้สึกละอายใจ อยู่ไม่ได้ ต้องไปทำอะไรสักอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่ไปนั่งคุยและอยู่ด้วยกันให้เป็นการอุ่นใจพร้อมหน้าพร้อมตาในชุมชน

    ที่ตลาดอาเขตหนองบัวนี่ หมายถึงตลาดใหม่ที่ศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์หรือเปล่าครับ หากใช่ก็เคยมีโรงลิเกและล้อมรั้วสังกะสี สำหรับจัดมโหรสพเก็บตังค์หลายอย่าง ทั้งชกมวย ดนตรี และแสดงลิเก ผมเคยร่วมเป็นสมาชกวงดนตรีของโรงเรียนหนองคอก เล่นก่อนเวลารอวงดนตรีและคณะตลกล้อต๊อกด้วยครั้งหนึ่ง ที่เวทีนี้แหละครับ

    ลูกของเพื่อนโรงเรียนหนองคอกแต่งงานเป็นคนที่ ๒
    งานแต่งลูกสาวแมว ลูกตาต๋า หัวตลาด

    ผมเป็นเพื่อนร่วมรุ่นหนองคอกรุ่นที่ ๑๔ ซึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมาก็เริ่มมีบรรยากาศใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อนและเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นความงอกงามของชีวิตทั้งของตนเองและเพื่อนๆว่า กำลังเปลี่ยนผ่านในชีวิตอีกขั้นหนึ่งแล้ว สิ่งที่บอกให้ทราบก็คือ ลูกของเพื่อนร่วมรุ่นแต่งงาน เพราะก่อนหน้านี้ เรามักมีแต่ข่าวคราวถึงกันเรื่องงานรับปริญญาของตนเอง ต่อมาก็งานบวชงานแต่งของตนเอง ต่อมาก็มักโทรบอกถึงกันว่าไปโน่นนี่ไม่ได้เพราะต้องพาลูกไปโรงเรียน สักพักก็ข่าวคราวลูกจบมหาวิทยาลัย ทำงาน บวช มาเมื่อเดือนที่แล้วของปีนี้ ประเวศ รักษพล อัยการศาลปกครองกลาง ก็ประเดิมด้วยการบอกข่าวใหม่ของชีวิต คือ แต่งงานลูก นับว่าเป็นคนแรกสำหรับผมและเพื่อนๆครับ

    คราวนี้เป็นลูกของเจ้าแมวครับ แมวเป็นคนใจใหญ่ใจนักเลงสำหรับเพื่อนๆ เวลากลับบ้านไปเจอกัน ก็มักเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการประสานงานให้กับเพื่อนๆ ไม่มีที่นั่งคุยกันและไม่อยากแยกกัลบบ้านกัน ก็คุยกันแล้วก็ไปนอนบ้านแมวตรงหัวตลาดนั่นละ เลยขอบอกกล่าวประชาสัมพันธ์มายังเพื่อนๆ รวมทั้งคนรู้จักเคารพนับถือกันในหนองบัวไปด้วยอีกแรงหนึ่งเลยนะครับ

    แต่ง ลักษิกา ชัยสุกัญญาสันต์ กับ กันตพัฒน์ กาญจนกูลกิจ คู่บ่าวสาว

    จงกล ชัยสุกัญญาสันต์ และนายซุ่ยฮวด-นางละออ กาญจนกูลกิจ เป็นเจ้าภาพ จัดเลี้ยงและร่วมแสดงความยินดีที่ ห้องบุณยะจินดา ๓ สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี-รังสิต เสาร์นี้ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เวลา ๑๘.๐๐ น.(จัดเลี้ยงโต๊ะจีน)

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • ขอขอบคุณอาจารย์ที่แจ้งข่าวบุญให้ทราบ เลยขอร่วมอนุโมทนาบุญกับญาติโยมทุกท่านที่ได้จัดทอดผ้าป่าร่วมกันสร้างสำนักปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรมในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นวันมาฆบูชาพอดี(๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓)
    • ตลาดอาเขตหนองบัว ก็คือศูนย์การค้าธารบัวสรรค์ที่อาจารย์กล่าวถึงนี่แหละ

    เลยขอลิงก์ มาฆะบูชา : การบูชาในเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ หรือเดือน มาฆะ มาฝากทุกท่านครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า และสวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆคน

    หายหน้าหายตาไปนานเลย ตั้งแต่งานศพแม่เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

    ขอบคุณทุกท่านที่แสดงความอาลัยต่อคุณแม่ด้วย

    เห็นรูปวาดบรรยากาศเก่าๆของชุมชนหนองบัวแล้ว ทำให้หวนนึกถึงวัยเด็กนุ่งขาสั้นวิ่งเล่นในหนองบัว

    ทั้งรูปไอ้เป๋ (ของแท้ต้องเรียกว่า ไอ้เป๋ ไม่ว่าเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ ทุกคนจะเรียกแบบนี้หมด ไม่เคยได้ยินใครพูดว่า คุณเป๋ พี่เป๋ ลุงเป๋ ตาเป๋ เลย) พี่วิรัตน์วาดได้เหมือนมากโดยเฉพาะมือที่บิดพลิกไปด้านหลัง และอีกมือคอยจับรั้งขอบกางเกงไว้

    รูปโรงเรียนก็ทำให้นึกถึงอาคารหลังยาวของชั้นป.1-2 ด้านหน้าที่ขนานไปกับถนนใหญ่ ด้านหน้าโรงเรียน ปัจจุบันถูกรื้อออกไปแล้ว

    รูปห้วตลาด และเกาะลอยอีก เอาไว้สัปดาห์หน้าผมจะมาเพิ่มเติมข้อมูลเท่าที่จะนึกได้ พอดีจะต้องไปหนองบัวอีกแล้ว ในอีก 1 ชั่วโมงข้างหน้านี้ ไปงานศพพ่อของทนายสะอาด เพื่อนที่ห้วยด้วน เพื่อนคนนี้ก็จบหนองคอกมาเหมือนกัน เป็นทนายความอยู่

    มีโอกาสได้ไปเวียนเทียนที่หนองบัวอีกครั้ง แต่ยังไม่รู้เลยว่าจะเป็นที่วัดหนองกลับ หรือที่ห้วยด้วน

    ช่วงนี้ผมมีแต่งานศพครับพี่วิรัตน์ ช่วง 2 เดือนมานี่ 5 งานแล้วครับ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการเสียชิวิตของพ่อแม่เพื่อนๆ (รวมงานแม่ของตัวเองด้วย)

    กลับมาแล้วจะมาต่อครับ

    สวัสดีครับฉิก : หลายท่านที่เข้ามาคุยในเวทีของเรา นอกจากช่วยกันทำหน้าที่เหมือนกับถ่ายทอดเรื่องราวและจดบันทึกความเป็นชุมชนหนองบัวไว้แล้ว ก็เปรียบเสมือนเป็นวิทยากร คุยให้ความคิด สร้างความรู้ความเข้าใจ และทำให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันขึ้น ทั้งพระอาจารย์มหาแล คุณสมบัติ ฆ้อนทอง ฉิก คุณเสวก ใยอินทร์ คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ และอีกหลายท่าน ซึ่งก็มักจะหมุนเวียนสลับกันมาอย่างนี้แหละครับ ผมว่าดีนะครับ ดูสบายๆดี

    ผมเคยสังเกตตนเองอย่างที่ฉิกเล่าห้วงชีวิตยามนี้ของตนเองเหมือนกันว่า เมื่อถึงช่วงวารวัยหนึ่ง กิจกรรมชีวิตและงานสังคมของเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปและนำความเข้าใจชีวิตมาให้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนอีกด้วย เมื่อก่อนนี้ เวลามีงานศพและเกิดความสูญเสียคนรอบข้าง ก็จะรู้สึกได้รับผลกระทบที่รุนแรงและลึกซึ้งต่อชีวิตของเราเองมากจริงๆ ทว่า ต่อมาก็เกิดขึ้นอย่างหนาแน่นจนแทบจะเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมชีวิต

    การถามไถ่ถึงผู้คนรอบข้างและการทบทวนตนเองเกี่ยวกับชีวิต ก็จะเปลี่ยนจากการถามว่า ทำงานที่ไหน แต่งงานมีครอบครัวแล้วหรือยัง มีลูกกี่คน พ่อแม่เป็นอย่างไรบ้าง....ก็จะกลายเป็นว่า  ไอ้นั่น...มันยังอยู่หรือเปล่าวะ พ่อแม่ยังอยู่และแข็งแรงดีอยู่ไหม แล้วเดี๋ยวนี้เวลาไปเจอกันในงานศพต่างๆ ก็เป็นโอกาสการคุย ทบทวน รำลึกถึงความผูกพัน ความดีงาม รวมไปจนถึงการได้คุยกันอย่างเป็นธรรมดา ไม่ทุกข์เหมือนอย่างเมื่อก่อน ได้บทสรุปอย่างหนึ่งว่า คำว่า...ชีวิตเป็นการเรียนรู้นั้น ช่างลึกซึ้งนัก

    ที่เคยคิดและจินตนากรไว้ล่วงหน้านั้น ทำให้รู้ว่า ความเป็นจริงของชีวิตหลายอย่าง คิดและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ผู้อื่น รวมทั้งจากแหล่งความรู้ทางอื่นนั้น ไม่ได้

    เวลามีงานศพ ทำบุญ หรือมีงานพิธีกรรมต่างๆที่ทำให้ผู้คน ญาติสนิท มิตรสหาย มารวมตัวกันนั้น ผมจึงมักอดไม่ได้ที่จะถือโอกาสทำให้มีกระบวนการพูดคุย สืบทอด และเรียนรู้เรื่องราวต่างๆที่จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตด้วย โดยเฉพาะการทำหนังสือและทำสื่อเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ การทำให้ได้นั่งคุยกัน การลดสิ่งอึกกระทึกซึ่งทำให้จิตใจไม่นิ่งและไม่เป็นบรรยากาศที่เอื้อต่อการได้คุยกัน เพราะการได้เห็นชีวิตและทำให้เกิดการเรียนรู้ ได้ความลุ่มลึกต่อชีวิตนั้น เป็นเพื่อนเดินทางในชีวิตและทำให้เรามีสุขภาวะของชีวิตที่แข็งแรงดีที่สุด ชนิดที่เรียกว่า เงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ สิ่งผูกพันภายนอกทั้งหลายนั้น แทบจะไม่มีความหมายใดได้เท่าเลย

    ขอให้สุขภาพดีเด้อ มีรูปถ่ายงานงิ้ว และเจอผู้คนมาอย่างไร ก็อย่าลืมนำมาเล่าเผื่อแผ่แบ่งปันกันบ้างนะครับ

    กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ หลวงอามหาแล และทุกท่านเลยครับ

    ผมเองเพิ่งรู้เองว่า เค้าเรียกว่าตลาดอาเขต รุ่นหลังผมได้ยินแต่เค้าพูดกันว่า ตลาดสามเขต ตามที่เข้าใจจะอยู่ตรงหน้าร้านโกลก ตรงนั้นเมื่อก่อนเดินทะลุได้ถึงศุนย์จะมีลิเกมาปิดวิกตีสังกะสีล้อมและเล่นอย่างนั้นเรื่อยมาแต่ตอนนี้รู้สึกว่าจะเป็นที่จอดรถว่างๆ ไอ้ลิเกที่ว่านั้นมีมากมายจริงครับแหมพอพูดอย่างนี้ก็นึกถึงลิเกตาแหวงขึ้นมาเลยแกร้องจนแก่ ชาวบ้านขนาดนอนนาเกี่ยวข้าวกันยังเดินลัดทุ่งมาดูกันพอกันกับเขาทรายต่อย ยังเคยมีหลายคนมาพูดล้อกันเมื่อเวลาคนที่ร้องเพลงแล้วขุดเอาเพลงเก่าๆมาร้อง เค้าก็จะมักพูดกันว่า นี่ถ้าเป็นลิเกก็ตาแหวงเลยนะเนี่ย

    ร้านโกลก !!!! ร้านโกลกนี่เป็นแหล่งอ้างอิงที่ดั้งเดิมมากเลยนะครับ คนหนองบัวเมื่อก่อนนี้แทบทุกคนต้องรู้จักร้านโกลก ชาวบ้านรอบนอกแถวบ้านผมก็รู้จักกันทั้งนั้นครับ ลิเกตาแหวงก็เหมือนกัน   

    ตลาดสามเขต จำได้ว่าสร้างขึ้นตอนที่ผมยังเรียนอยู่ประถมต้น ตอนกำลังก่อสร้างมีกองดินมาเทไว้สูงประมาณ 5-10 เมตร หลายกอง กลายเป็นสนามให้เด็กๆอย่างพวกเราเล่นปีนขึ้นไปแล้วลื่นลงมา หรือเล่นยิงกันแบบในหนังโดยมีกองดินเป็นฉากประกอบ ตอนที่มีการเปิดตลาด มีลิเกคณะชายน้อยมาเล่นทั้งกลางวันกลางคืนเป็นเวลาหลายวัน มีแม่ยกติดกันเกรียวกราว เดี๋ยวนี้แม่ยก ก็คงเป็นย่าเป็นยายกันไปหมดแล้ว รายละเอียดพี่ประเวศน่าจะมีข้อมูลมากกว่าผม เพราะอยู่หลังบ้านพี่เค้าพอดี

    บ้านผมก็ย้ายจากขอบสระหลวงพ่ออ๋อยด้านทิศใต้มาอยู่ที่ตลาดสามเขต เมื่อมีนาคม 2522 ที่จำได้แม่นเพราะช่วงที่ย้ายบ้านผมจบ ม.ศ.3 พอดี เข้ามาสอบเรียนต่อที่กทม. เลยไม่ได้อยู่ช่วยย้ายบ้าน ตอนที่ย้ายมานี่ตลาดสามเขตเงียบๆแล้ว มียายไล้ขายกาแฟอยู่เจ้าเดียว และรอบๆตลาดก็จะเป็นห้องแถวให้คนเช่าอยู่ ซึ่งปัจจุบันเจ้าของตลาดคือสามเขตร์เป็นคนชุมแสง (เสียชีวิตไปแล้ว)ก็ได้รื้อถอนออกไปหมดแล้ว เพื่อจะขายที่แต่ยังขายไม่ได้ (บ้านผมก็เลยมีที่สำหรับปลูกต้นไม้ต่างๆอยู่หลังบ้านฟรีๆ)

    อย่างที่คุณเสวกบอกไว้ ปัจจุบันเป็นที่ว่างเปล่า คนทางใต้เช่นห้วยด้วนเวลาขับรถมาตลาดก็จะมาจอดรถไว้ที่นี่ ตลาดสามเขตไม่ได้รับความนิยมเท่าตลาดโกลก (ก็คือตลาดสดในปัจจุบันนี้แหละ) ส่วนร้านโกลก ก็อยู่ตรงหัวมุมตรงข้ามตลาดสามเขต ปัจจุบันลูกชาย (เฮียครก) ดำเนินกิจการแทน ส่วนโกลกกับยายผลเมียโกลก ก็ไปอยู่บ้าน 2คนตายายอยู่หลังตลาดซึ่งทะลุออกไปที่ศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์ได้

    พูดถึงร้านโกลกแล้ว เมื่อก่อนนี้จะเปิดอีกด้านหนึ่ง ที่หันหน้าเข้าบ้านหมอหลุย ตรงนั้นจะเป็นสี่แยก ถ้าเริ่มจากบ้านโกลก และวนไปตามเข็มนาฬิกา ถัดไปก็จะเป็นบ้านหมอหลุย วนถัดไปก็จะเป็นสระน้ำหลวงพ่ออ๋อย และวนกลับมาอีกทีเป็นบ้านสำราญ ถนนสายนี้เป็นถนนเศรษฐกิจของหนองบัวในยุคนั้น จากบ้านสำราญลงมาทางใต้ตรงข้ามกับสระน้ำหลวงพ่ออ๋อยก็จะเป็นห้องแถว หลังห้องแถวนี้ก็จะเป็นตลาดเก่า (ก่อนที่จะมีตลาดโกลก) และจากสี่แยกหมอหลุยขึ้นไปทางเหนือ จนสุดที่โรงแรมบัวสวรรค์ จะเป็นห้องแถว 2 ชั้นขายของต่างๆ เป็นย่านธุรกิจของหนองบัวในสมัยนั้นจริงๆ ปัจจุบันร้านรวงแถวนั้นปิดกันไปเกือบหมดแล้ว เป็นเพียงบ้านพักอาศัย ห้องแถวที่ว่านี้ เป็นที่ของวัดหนองกลับทั้งนั้นเลย ทุกบ้านต้องจ่ายค่าเช่าให้วัด

    พูดถึงลิเก เมื่อก่อนถิ่นลิเกของหนองบัวก็ต้องที่หน้า รร.อนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) แต่ผมไม่ค่อยมีข้อมูลมากนัก ไว้มีเวลาจะลองถามพรรคพวกที่อยู่แถวนั้นดู ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว

    เมื่อเดือน-สองเดือนก่อนผมได้กลับบ้าน และน้องสาวได้พาไปหาคุณครูพนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ กับคุณครูสุนันท์ จันทร์ดิษฐ์ หัวหน้าหมวดคณิตศาสตร์ โรงเรียนหนองคอก ซึ่งบ้านของแกอยู่หลังตลาดศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์ ใกล้ๆกับบ้านพ่อแม่-ญาติพี่น้อง ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต ของ มสธ. กับบ้าน ผช.สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ โรงเรียนหนองคอก นั่งรถมองสองข้างทางตลอดก็รู้สึกว่าแทบจะไม่เหลือสภาพเดิมของชุมชนชาวบ้านหนองบัวอย่างในอดีตแล้วครับ หนาแน่นและเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากจริงๆ

    เหลือร่องรอยเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นหนองบัวอยู่บ้างเหมือนกันครับ โดยเฉพาะลักษณะบ้านเรือนที่อยู่กันแบบครอบครัวขยาย หลังคาติดกันแบบไก่บินไม่ตกฟากและบันไดขึ้นทางเดียว พื้นยกสูงและหลังคามุมป้าน ทาสีสันจัดจ้าน หากไม่ทาสีก็จะเปลือยเนื้อไม้ไปเลย เมื่อก่อนนี้หากนั่งหลับและไปตื่นในหมู่บ้านคนหนองบัวแล้วละก็ ผมจำได้แน่นอน แต่เดี๋ยวนี้คงจะหลง-จำไม่ได้ นึกไม่ออกแน่นอนเหมือนกัน เหมือนชุมชนเมืองทั่วไปแล้ว

    สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    ผมได้ติดตามผลงานของอาจารย์อยู่เสมอครับ แม้ว่าจะไม่ค่อยได้เข้ามาพูดคุย/ทักทายก็ตาม

    สัปดาห์ก่อนเข้าไปที่กรมฯ ได้เรียกให้หลานชายซึ่งเป็นตำรวจอยูที่ยะลาและมาศึกษาต่อที่สถาบัน A.I.T. มาพบพร้อมแนะนำให้รู้จักผลงานทาง online ของอาจารย์ เจ้าหมอนี่ก็ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวครับ แต่ไม่จบ ม.6....สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้ก่อน

    ที่ว่าเข้ากรมฯ ก็ไม่พ้นที่จะมีเรื่องเกี่ยวข้องกับเมืองลาวครับ ถูกมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน จะเชิญใครมาสอนหรือจะสอนเองทางกรมฯ (สถาบันวิทยาการศุลกากร) ก็ไม่เกี่ยง จัดสรรงบประมาณมาให้แล้วทางกรมฯจะลงมาประเมินผลภายหลัง ลูกค้าก็เป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรด้วยกันเองที่ทำงานตลอดชายแดนไทย-ลาวนี่แหละครับ ไม่ใช่อื่นไกล.....ชายแดนด้านพม่า กัมพูชา มาเลเซียก็มีหลักสูตนี้เหมือนกันครับ เป็นหลักสูตรที่กรมศุลกากรไม่เคยจัดขึ้นมาก่อน(หน้านี้) ประกอบกับช่วงนี้กำลังทำผลงานชำนาญการพิเศษและมีภารกิจที่ต้องไปลาวอยู่เนือง ๆ ที่เข้ามาแทรกงานประจำ...พรุ่งนี้ท่านประธานคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาครัฐพร้อมคณะมาก็ต้องไปกับท่าน ช่วงนี้อาจจะดูห่างเหินไปบ้างก็ต้องขออภัยด้วยนะครับ.

    อนุกูล วิมูลศักดิ์

    เรียน อ. วิรัตน์, คุณเสวก ใยอินทร์ และผู้อ่านทุึกท่านครับ

    ขอสละเวลาช่วงวุ่นวายของการสอบปลายภาคของเด็ก ๆ มาตอบคำถามครับ

    * สำหรับสปอตที่ปรากฏบนคลิปในเว็บ Youtube นั้น ตัวแรกที่เป็นงานประจำปีวัดหนองกลับนั้น เป็นเสียงของผมเองครับ เพื่อออกอากาศทางสถานีวิทยุึชุมชน F.M. 90 MHz ส่วนงานงิ้วนั้นเป็นของเจ้าอื่นครับ แต่ผมนำมาเลือกเพื่อทำเป็นคลิป เนื่องจากสปอตชุดนี้ ทำออกมาหลายแบบ เลยเลือกฉบับสั้น ๆ ครับ

    * ส่วนตัวผมนั้น ที่บ้านรับบันทึกเสียงสปอตโฆษณา สำหรับสถานีวิทยุ และรถแห่ รวมถึงงานบันทึกเสียงเพื่อใช้งานเฉพาะ เช่น กิจกรรม, การแสดง หรืองานพรีเซ็นต์เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เรื่อยมา (มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมต้องพักงานนี้ชั่วคราว เนื่องจากไปสอนอยู่ที่ อ. บางมูลนาก จ. พิจิตร) ราคาไม่แพงครับ ติดต่อได้ที่ บ้านหนังครูนุ (คนโพสต์ข้อความนั่นแหละครับ) สำหรับสปอตวิทยุที่เป็นงานหรือกิจกรรมของชาวหนองบัว จะโพสต์ลงเว็บ Youtube เพื่อให้คนหนองบัวที่อยู่ต่างจังหวัดที่คลื่นเอฟเอ็มของวิทยุชุมชนไปไม่ถึง และมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ได้รับทราบถึงกิจกรรมที่จะมีขึ้นครับ

    * สำหรับงานประจำปีเจ้าพ่อ เจ้าแม่ และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ผมก็มีส่วนเกี่ยวข้องในงาน ดังนี้ครับ

    - ในส่วนของภาพยนตร์กลางแปลง นำเสนอโดย ศรีสมบูรณ์ภาพยนตร์ (ศันสนีย์ภัณฑ์ มินิมาร์ท) ครับ ในครั้งนี้่ผมนำภาพยนตร์ "โป๊ยเซียน" ซึ่งเป็นภาพยนตร์สั้นที่ฉายในงานศาลเจ้า ไปฉายถวายทุกคึน ร่วมกับหนังตัวอย่างใหม่ ๆ ขณะเดียวกันทางศรีสมบูรณ์ ฯ ก็จะนำเครื่องฉายภาพยนตร์ ขนาดฟิล์ม 16 มม. พร้อมฟิล์มบางส่วนไปฉายด้วย ส่วนผมก็จะนำฟิล์มภาพยนตร์ข่าวที่หลงเหลือจากโรงภาพยนตร์ศรีประทุม ความยาว 10 นาที และฟิล์มภาพยนตร์บันทึกกิจกรรมของธนาคารศรีนคร (ม้วนนี้ผมซื้อมาจากกรุงเทพ ฯ ตามแผงแบกะดินที่ขายของเก่า) ไปฉายครับ แต่ยังไม่สามารถระบุได้่ว่าจะเป็นคืนไหน

    จริง ๆ แล้วผมยังมีฟิล์ม 16 มม. ที่เป็นหนังเรื่อง นั่นคือ "ดรรชนีนาง" ซึ่งเป็นหนังไทย ปี พ.ศ. 2504 แต่สภาพฟิล์มชำรุดมาก เลยไม่นำมาฉายครับ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องหานักพากย์มาพากย์กันสด ๆ ครับ แม้ว่าจะยังมีบทพากย์เหลืออยู่ก็ตาม

    - วันแห่้ (20 มีนาคม) ผมต้องออกไปถ่ายภาพกิจกรรมการแสดงของนักเรียน แต่ก็จะมีภาพอื่น ๆ ด้วย ภาพกิจกรรมดังกล่าว สามารถติดตามที่เว็บ "เพื่อนคนรักหนัง" http://www.thaicine.com เดี๋ยวจะแจ้งให้ทราบในภายหลังครับ

    * ขณะนี้ "บ้านหนังครูนุ" ได้จัดทำเว็บไซต์ในชื่อ http://ban-krunufilm.pantown.com/ ซึ่งเว็บนี้จะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับหนัง รวมทั้งให้นักเรียนหรือศิษย์เก่าที่เคยเรียนกับผม ได้ทักทายกัน ตอนนี้เพิ่งทำข้อมูลได้นิดหน่อย ๆ เพราะต้องหาเวลาว่างจากการสอนเข้ามาทำข้อมูลครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • เมื่อไม่กี่วันได้พูดคุยกับอาจารย์วิรัตน์ว่า เราและเพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน ไม่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากนัก
    • ทั้ง ๆ ที่หลายอย่างมีพื้นฐานความคิดความเชื่อวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเราบางประเทศที่มีวิถีชีวิตหรือแม้แต่ภาษาก็สามารถสื่อสารกันได้เกือบจะเป็นภาษาเดียวกันด้วยซ้ำไป
    • ครั้งนี้ได้เห็นบทบาทอาจารย์สมบัติชัดเจนในระดับนานาชาติที่ได้มีส่วนรับผิดชอบสร้างหลักสูตรด้านภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน นี่ก็แสดงให้เห็นถึงบทบาทผลงานความรู้ความสามารถความมีศักยภาพและประสบการณ์ของอาจารย์สมบัติ จนนำมาซึ่งความไว้วางใจให้ทำงานอันสำคัญนี้
    • ขอให้ประสบความสำเร็จและมีพลังในการสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมต่อส่วนรวม.

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ : คุณสมบัติหายไปเป็นครู่นี่ หากพูดเป็นภาษาบ้านนอก ก็ต้องบอกว่าผมและทุกท่านมองทางทุกวันเลยนะครับ แต่ก็ทราบอยู่ครับว่าคงติดพันกับการงานอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีนะครับ ทำให้มันยืดหยุ่นไปกับความเป็นจริงของการงานและชีวิต จะได้ทั้งเป็นตัวเสริมกำลังกัน แล้วก็ทำให้มีความสบายๆ

    ยิ่งอย่างคุณสมบัตินี่ สามารถปลีกตัวมาถ่ายทอดแบ่งปัน ทำให้เวทีอย่างนี้ของคนหนองบัว ซึ่งก็เป็นเวทีเปิดของเครือข่ายผู้สนใจเหมือนกันทั่วไปด้วย มีเรื่องราวดีๆให้ได้รู้และหลายเรื่องก็สามารถนำไปใช้ ทำให้ชีวิตกว้างขวางมากขึ้นนั้น ก็นับว่าดีมากมายแล้วครับ

    การที่คุณสมบัติได้รับความเชื่อมือและมอบหมายจากกรมให้ทำหลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านให้กับบุคลากรของกรมศุลกากรนี่เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมากเลยนะครับ ขอให้กำลังใจครับ ทำไปสักระยะหนึ่งแล้วก็คงจะมีเรื่องราวมากมายมาบอกกล่าว เผยแพร่ ให้คนในเวทีคนหนองบัวและผมได้ยิ่งหูตากว้าง แล้วก็คงจะเป็นประสบการณ์จริงที่เปิดหัวข้อให้ผู้คนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำเอาสิ่งดีๆกลับไปพัฒนาสังคมด้วยตนเองได้อย่างมากมายเลยนะครับ

    สวัสดีครับคุณครูอนุกูลครับ : งานและกิจกรรมชีวิตที่ครูอนุกูลทำไปด้วยคู่กับการสอนเด็กนี่ดูเหมือนจะเป็นงานหนักแต่ก็สนุกมากเลยนะครับ ตัวงานสื่อทางวัฒนธรรมและสื่อให้สันทนาการชีวิตอย่างนี้มีด้านที่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัวเอง เลยก็จะเป็นอาหารและความอิ่มเอิบใจที่หล่อเลี้ยงคนทำให้มีพลังชีวิตและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยได้

    ยิ่งมองความมีบทบาทต่อสังคมท้องถิ่น พวกสื่อและการจัดการกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรมที่ดูพื้นๆง่ายๆอย่างนี้สำหรับคนในเมืองใหญ่ ก็ยังนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการทำให้ชีวิตสังคมท้องถิ่นได้เคลื่อนไหว มีความเป็นพลวัตรที่จะพัฒนาตนเองไปได้ คนของท้องถิ่นหรือคนที่รักที่จะใช้ชีวิตอยู่กับชุมชนท้องถิ่นที่พอจะทำงานความคิดและแปรประสบการณ์ความรู้ ความนึกคิดดีๆที่มีต่อสังคมส่วนรวม ให้ออกมาเป็นการริเริ่มและทำได้ในลักษณะนี้ ต้องส่งเสริมให้มีเยอะๆและหลากหลายนะครับ มันเป็นเหมือนกับตัวเสริมกำลังสังคม ตัวเพิ่มภูมิพลังสังคม ให้สามารถบรรลุจุดหมายที่ต้องการได้ดีขึ้น

    ยิ่งถ้าหากสะสมประสบการณ์ ทำความลึกซึ้ง แยบคาย ไม่ตามตลาดและตามกระแสสังคมอย่างลวกๆ ก็จะสามารถทำให้เป็นงานสร้างสรรค์สื่อและการตลาดเชิงสังคม ให้สะดุดความคิด สร้างแรงบันดาลใจใฝ่รู้ใฝ่ทำสิ่งดี และให้การเรียนรู้ทางสังคมด้วยทรรศนะใหม่ๆที่ดีๆไปด้วยได้เป็นอย่างดีเลยนะครับ น่าสนุกและท้าทายการเรียนรู้ดีครับ

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ  : ขอร่วมอนุโมทนากับพระคุณเจ้า ต่อโอกาสได้ทำงานดีๆต่อสังคมและต่อประเทศเพื่อนบ้านในครั้งนี้ของคุณสมบัติด้วยเช่นกันครับ ที่สำคัญอีกสองอย่างคือได้ใช้ความสามารถของตนมาสร้างคนและถ่ายทอดฝากไว้ให้กับสังคม ซึ่งเป็นการสร้างทุนมนุษย์และทุนทางสังคม ที่จะช่วยโอกาสการทำสิ่งดีต่างๆได้เองอีกเยอะเลยนะครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • เห็นงานคุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ ในคห. ๓๕๖ แล้วนึถึงพระที่รู้จักกันที่ท่านทำงานเพื่อสังคมเพื่อชุมชน
    • ท่านทำอย่างสนุกชนิดไม่ได้หลับได้นอนได้พักผ่อน งานเขียนป้าย วาดภาพ สกรีนผ้า ช่วยวางแผนทำงาน เป็นประธาน คิดงาน ทำงาน วางแผน ลงมือปฏิบัติ
    • พลังแรงงานที่ทำเพื่อสังคมนั้น เป็นแรงหนุนให้ท่านทำอย่างทุ่มเทโดยไม่มีผลตอบแทนเป็นลผประโยชน์ใดๆ มีแต่ผลที่เกิดขึ้นทางใจอันเป็นความสุขความร่วมมือความสามัคคีความปรองดองกันของคนในชุมชน แม้จะเป็นเพียงสังคมเล็กๆ ก็ตาม
    • ได้ดูการทำงานและแนวคิดของคุณครูอนุกูลแล้วก็ดูเป็นผู้ที่ทำงานเพื่อชุมชนเพื่อท้องถ่น มีน้ำใจและสร้างสรรค์สิ่งดีๆขึ้นเยอะ อีกทั้งเป็นผู้ที่นำความเคลื่อนไหวในพื้นที่หนองบัว มารายงานให้ชาวหนองบัวที่อยู่ไกลบ้านได้รับรู้กัน ขอบคุณแทนคนไกลบ้านด้วยก็แล้วกัน
    • เจริญพร
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เรื่องเล่า ชาวสารขันฑ์

    อตีเต กาเล กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีประเทศหนึ่งชื่อว่าประเทศสารขันฑ์ ประเทศนี้เป็นประเทศเกษตรกรรมมีประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทำนา ทำไร่ ทำสวน ผลผลิตทางการเกษตรดังกล่าว เคยเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศมายาวนาน และสินค้าเกษตรดังกล่าวก็เป็นสินค้าที่ส่งออกมากที่สุดในโลกอีกด้วย

    ในการประกอบอาชีพทางการเกษตรดังกล่าวนั้น ก็มีคนทำนา ทำไร่ ทำสวน โดยสวนผลไม้ก็มีมากมายแต่ที่ขึ้นก็มีอยู่ ๒ ชนิดด้วยกันคือ แตงโม กับ ขนุน เพราะชาวสารขันฑ์มองเห็นลู่ทางการตลาดว่าสินค้าตัวนี้มีแนวโน้มในทิศทางการตลาดที่สดใส และผลก็เป็นไปตามที่คาดการณ์อย่างดี

    ทำให้สาวสวนแตง(โม) กับ หนุ่มชาวสวนทำไร่ขนุน ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน บ้านใกล้กัน ชุมชนเดียวกัน มีความรักใคร่กลมเกลียว สมัครสมานสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างดีตลอดมา ไม่แบ่งแยก ไม่ขัดแย้งรุนแรง ถึงจะมีความเห็นแตกต่างกันบ้าง แต่ไม่ถึงกับแบ่งฝ่ายกันเลย

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าพวกตนเป็นชาวสวนที่ผลิตสินค้าเกษตรคนละชนิด ไม่มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่แล้ว ลูกค้าก็เป็นคนละกลุ่ม ฉะนั้นก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องแย่งลูกค้ากัน

    กาลต่อมา ชาวสารขันฑ์ถูกระบบทุนนิยม เสรีนิยม บริโภคนิยม มาทำการกำหนดทิศทางการค้าหรือมาครอบงำผูกขาดระบบเก่า จนระบบเก่าไม่สามารถยืนอยู่ได้ ก็ถึงกาลล่มสลายลง ต้องขอยอมแพ้และไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้อีกเลย

    เมื่อระบบเก่าที่อยู่ได้ด้วยอาศัยการพึ่งพา เอื้อเฟื้อ อาทรซึ่งกันและกัน หมดคุณค่าลงไป ชาวสารขันฑ์ก็เริ่มปรับตัวปรับแนวคิด อุดมการณ์ใหม่เพื่อให้อยู่รอดในระบบใหม่

    จากระบบที่เคยพึ่งพากันก็มาเป็นระบบแข่งขัน เอารัด เอาเปรียบ แก่งแย่ง ชิงทรัพยากร กอบโกย ทำให้คนส่วนใหญ่ขาดโอกาสเข้าถึงและใช้สอยทรัพยากร คนเพียงส่วนน้อยนิดในสังคมสารขันฑ์เท่านั้นที่มีสิทธิครอบครองทรัพยากร นี่คือความรู้สึกของชาวสารขันฑ์

    ประเทศสารขันฑ์ซึ่งแต่เดิมประกอบอาชีพเกษตร และลูกหลานส่วนใหญ่ก็หลงลืมทอดทิ้งอาชีพเก่าแก่ที่สุดในโลกนี้เกือบจะสิ้นเชิง อยู่ ๆ ก็หันกลับมานิยมทำอาชีพชาวสวนกันมากขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้น่าจะทำให้พ่อแม่ยินดีและสุขใจที่ลูกหลานกลับมาหารากเดิม แต่กลับเป็นตรงกันข้าม ลูกกลับมาครั้งนี้ ได้นำพาความรู้แนวคิด อุดมการณ์ที่ตนเองยึดมั่นมาด้วยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ซึ่งอุดการณ์ดังกล่าวก็แตกต่างจากอุดมการณ์คนรุ่นพ่อแม่อย่างสิ้นเชิง

    ชาวสารขันฑ์รุ่นใหม่นิยมบริโภคผลไม้ตามความชอบของแต่ละคน บางคนก็นิยมบริโภคแตงโม บางคนก็นิยมบริโภคขนุน ก็ว่ากันไป บางครั้งก็มีเหมือนกันที่ตนเองชอบขนุนแต่เพื่อนชอบแตงโม ยอมรับกันได้ก็ไม่เป็นปัญหาที่เป็นปัญหาคือต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับผลไม้ที่คนอื่นกิน กลายเป็นแย่งชิงลูกค้า ชิงส่วนแบ่งการตลาด เมื่อแย่งชิงลูกค้าก็เกิดเป็นความขัดแย้งในหมู่พี่น้องชาวสารขันฑ์อย่างมาก

    บางทีชาวสารขันฑ์ก็กล่าววาทกรรมชิงมวลชนกันก็มี เช่น ท๊ะหารแตงโม ท๊ะหารขนุน และอีกหลายอย่างจนจำไม่ได้แล้วเพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานนมกาเลเหลือเกินแล้ว แต่ที่ตลกไม่ออกก็คือประเทศสารขันฑ์มีคนพูดกันว่านักบวชแตงโม เป็นนักพรตแตงโม เป็นนักบวชขนุน เป็นนักพรตขนุน
    ก็ได้แต่ขอภาวนาว่า อย่าได้เป็นเช่นนั้นเลย อามิตตาพุทธ!!!

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแล และสวัสดีชาวหนองบัวทุกท่านค่ะ

    แวะมาแสดงความยินดีกับชาวหนองบัวค่ะ ด้วยมหาวิทยาลัยมหิดลได้มอบรางวัลข้าราชการดีเด่นให้กับ อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ชาวหนองบัวขนานแท้แน่นอนคนนี้ ด้วยความที่อาจารย์มีความดี และเด่นในการครองตน ปกครองคน และองค์กร จึงได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่น ของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ ... ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะอาจารย์ =)

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ  

    • หน้านี้ ทั้งร้อนและแล้ง นั่งคิดทำให้ชีวิตได้อารมณ์ขันจากสถานการณ์ที่น่าปวดหัวอย่างที่พระคุณเจ้าเล่าเรื่องประเทศสารขันฑ์นี่ ก็ดีเหมือนกันนะครับ คิดให้ได้ความผ่อนคลายก็ได้ คิดแบบหาความเข้าใจความเป็นจริงของสังคมก็ดีครับ

    ชาวสารขันฑ์รุ่นใหม่นิยมบริโภคผลไม้ตามความชอบของแต่ละคน บางคนก็นิยมบริโภคแตงโม บางคนก็นิยมบริโภคขนุน ก็ว่ากันไป บางครั้งก็มีเหมือนกันที่ตนเองชอบขนุนแต่เพื่อนชอบแตงโม ยอมรับกันได้ก็ไม่เป็นปัญหาที่เป็นปัญหาคือต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับผลไม้ที่คนอื่นกิน กลายเป็นแย่งชิงลูกค้า ชิงส่วนแบ่งการตลาด เมื่อแย่งชิงลูกค้าก็เกิดเป็นความขัดแย้งในหมู่พี่น้องชาวสารขันฑ์อย่างมาก

    • ให้อนุสติดีครับ เลยไม่รู้ว่าจะเป็นขำขันหรือขำขื่นดีนะครับ
    • กำลังเขียนอะไรต่อมิอะไรอยู่ เหลือบไปเห็นคุณครูณัฐพัชร์นำข่าวดีมาบอกกล่าว เลยต้องเบรคไอ้ที่กำลังเขียนอยู่ไว้ก่อน
    • ขอแสดงความยินดีกับพี่วิรัตน์ด้วยครับ
    • อย่างนี้ต้องมีฉลองกันแล้ว
    • พอดีเพิ่งไปถ่ายพลุมาเมื่อเร็วๆนี้ ก็ขออนุญาตจุดพลุฉลองให้พี่เลยละกัน

      สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ 

    • ขอบคุณชาวสถาบันสุขภาพอาเซียนและชาวมหิดลด้วยเช่นกันครับ เป็นการให้สิ่งที่ผมจะได้เก็บไว้เป็นความรำลึกถึงกันด้วยความประทับใจมากครับ เพราะผมได้รับเมื่อผมมาเป็นสมาชิกของคณะสังคมฯแล้ว แล้วก็เป็นการมอบให้จากสถาบันสุขภาพอาเซียนในวาระที่ก็ทราบว่าผมจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันฯโดยตรงต่อไปแล้ว   
    • เมื่อมองอย่างนี้ เลยไม่ค่อยสำคัญเท่ากับกระบวนการที่กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในการพิจารณา พิจารณามอบให้ผมนะครับ ผมไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง แต่ขอน้อมรับเพื่อเป็นรางวัลในความเป็นผู้ให้อย่างไม่หวังผลของทุกท่านนะครับ ประทับใจครับ-ประทับใจ แปลกและสร้างสรรค์ดีครับ
    • กราบนมัสการพระคุณเจ้า และสวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆคน
    • ได้อ่านเรื่องเล่าชาวสารขัณฑ์แล้ว ก็จะมีย่อหน้าสุดท้ายนี่แหละ ที่พระคุณเจ้าสรุปได้แยบยล เผอิญเรื่องนี้มันเกิดขึ้นมานานนมกาเลแล้ว เลยไม่รู้ว่าสมัยนั้น แตงโมสีแดงหวานฉ่ำ หรือว่าขนุนลูกใหญ่เนื้อเหลืองหวานหอมเหมือนสมัยนี้หรือเปล่า ถามไปอย่างนั้นแหละ ไม่ต้องการคำตอบหรอกครับ
    • จำได้ว่าพระคุณเจ้าเคยมีอีเมล์มาหาผมตอนก่อนที่แม่จะเสีย ได้อ่านแว้บๆแต่ไม่มีเวลาจะตอบ และจำเนื้อหาไม่ได้แล้ว อีกทั้งหาอีเมล์นั้นไม่เจอแล้วด้วย อยากจะรบกวนอีกทีครับ
    • วันที่ 20 นี้ก็จะได้กลับหนองบัวอีกครา ไปร่วมแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่และฤาษีนารายณ์ ในฐานะที่เป็นลูกเจ้าพ่อเจ้าแม่คนหนึ่ง ตอนที่ยังเรียนหนังสืออยู่หนองบัว ได้เป่าขลุ่ยจีนอยู่ในคณะล่อโก๊ว เป็นคณะเด็กรุ่นแรก (ก่อนหน้านี้จะเป็นคนวัยหนุ่มวัยสาวกัน) ก็ใช้เวลามาฝึกเอาตอนค่ำหลังมื้อเย็นแล้ว ปีแรกก็ใช้เวลาฝึกอยู่หลายเดือนเหมือนกัน ก็จะเป็นพวกเด็กๆในตลาดนั่นแหละ รุ่นนี้ที่อาวุโสสุดก็รุ่นหมอตี๋ (คุณหมอวีรวัฒน์ ปัจจุบันอยู่ที่รพ.สวรรค์ประชารักษ์) รองมาก็รุ่นผม และไล่ลงไปอีก3-4รุ่น เล็กสุดก็น่าจะเป็นหมอเกี้ยมั้ง ได้อยู่รับใช้เจ้าพ่อเจ้าแม่ประมาณ3-4ปี พอจบจากหนองคอกแล้วก็ไม่ได้จับขลุ่ยอีกเลย เดี๋ยวนี้นอกจากคณะล่อโก๊วแล้วก็ยังมีคณะสิงโต มังกรทอง และเอ็งกออีก ทำให้ขบวนแห่ดูคึกคัก ตื่นตาตื่นใจ ทุกปีก็จะนัดเพื่อนๆมาเจอกันตอนงานงิ้วนี่แหละ
    • หวังว่างานงิ้วคงได้เจอครูนุนะครับ แล้วจะแวะไปดูหนังกลางแปลง
    • ฝากรูปงานงิ้วเมื่อปี 2552 ถ่ายทีหน้าบ้านผมครับ (ตลาดสามเขต)
    • น้องสมบัติ วันไหนเข้าเมืองหลวงไทย นัดกันหม่ำข้าวก็น่าจะดีนะ จะได้รู้จักหน้าค่าตากันไว้ กับพี่วิรัตน์ผมก็ยังไม่เคยเจอเลย ไว้มีโอกาสแล้วมาว่ากันใหม่ ถามจริงว่าน้องสมบัติเข้าเมืองหลวงไทยหรือลาวมากกว่ากัน
    • อะฮ้า มีจุดพลุเฉลิมฉลองด้วยหรือนี่ฉิก 
    • ผมเพิ่งทราบเมื่อวันพระราชทานนามของมหาวิทยาลัยนั่นแหละครับ เลยไม่ได้ไปรับครับ แต่ก็ได้ไปร่วมงานของมหาวิทยาลัยนิดหนึ่งครับ เดินไปเพื่อไปฟังปาฐกถาโดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติสิรินทร์ ในเรื่อง ประเด็นสุขภาพในอนาคตของโลก แต่ไปถึงท่านก็เริ่มบรรยายแล้วครับ จะเดินเข้าไปก็เกรงจะเป็นการทำลายสมาธิและหันเหความสนใจผู้ฟัง เลยรีบเดินกลับและเปิด IPTV ทีวีออนไลน์ของมหาวิทยาลัย แล้วก็นั่งฟังปาฐกถาไปพร้อมกับทุกท่านเหมือนกันครับ

    เอ่อ .. ว่าจะมาเขียนรายละเอียดต่อจากไดอาล๊อคที่ ๓๖๒ แต่เนทกลับหลุด กว่าจะต่อกลับเข้ามาได้ และเลยไปทำงานในหน้าเวิร์ดด้วยเลยมาช้าไปนิด เห็นอาจารย์เขียนตอบพระอาจารย์มหาแลไปแล้วด้วย แต่คงไม่เป็นกระไรกระมังค่ะ ถ้างั้นขอเพิ่มรายละเอียดไว้สักนิดให้กับเวทีชาวหนองบัวล่ะกันนะค่ะ .....

    อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ อดีตอาจารย์ประจำ และรองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่น ในโอกาสครบรอบ ๔๑ ปี ของวันคล้ายวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ค่ะ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันอาจารย์ ดร.วิรัตน์ จะได้ย้ายไปเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะสังคมศาสตร์ฯ แล้วก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ในรั้วของมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ดี ก็ต้องขอแสดงความยินดีด้วยมากๆ ค่ะ =)

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรอาจารย์ณัฐพัชร์ อาจารย์วิรัตน์ คุณฉิกและพี่น้องชาวหนองบัวทุกทาน

    ต้องขอขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์เป็นอย่างมากที่แจ้งข่าวอันน่ายินดีนี้ให้ชาวหนองบัวได้รับทราบกัน อาตมาภาพในฐานะคนหนองกลับ ด้วยความยินดีเลยขออนุญาตเป็นตัวแทนพี่น้องชาวหนองบัวแสดงมุทิตาจิตและยินดีกับอาจารย์วิรัตน์ที่ได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่นของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้ด้วย

    ขอให้อาจารย์วิรัตน์และครอบครัวจงประสบแต่สิ่งที่ดีงามสิ่งที่เป็นมงคลแก่ชีวิตตลอดไป

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ดูบรรยากาศงานงิ้วที่คุณฉิกนำมมาฝากในคห.๓๖๖ นี้แล้วก็คงทำให้คนหนองบัวหลายท่านที่อยู่ไกลบ้านได้คิดถึงบ้านกันอีกครั้ง

    คุณฉิกนี่ดูแล้วยังมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมในท้องถิ่นบ้านเกิดที่หนองบัวดีอยู่บ่อยๆ เนาะ แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่มีน้ำใจและให้โอกาสตัวเองได้กลับไปร่วมงานที่บ้านอย่างไม่ขาดตอน ก็ขอให้มีความสุขในการช่วยเหลือส่วนรวมชุมชนหนองบัว ขออนุโมทนา

    อ้อเรื่องเมล์ที่คุณฉิกพูดถึงนั้นก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชุมชนหนองบัวนี่แหละ เป็นกิจกรรมเพื่อท้องถิ่นในรูปแบบหนึ่ง ได้ส่งไปให้แล้ว

    • กราบขอบพระคุณพระอาจารย์มหาแลอย่างยิ่งครับ คำอำนวยอวยพรของพระคุณเจ้านี้ถือว่าเป็นมงคลและเป็นกำลังใจอย่างยิ่งครับ
    • ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ด้วยอีกรอบครับ ฉิกด้วยอีกครั้งครับ
    • เพิ่งได้ทราบว่าฉิกก็เป็นคณะดนตรีขบวนแห่งานงิ้วด้วย น่าจะมีส่วนที่ทำให้ฉิกมีสำนึกผูกพันและมีความเป็นเจ้าของของชุมชนหนองบัวมากด้วยนะครับ 
    • ขอให้ฉิกและชาวหนองบัวทุกคนอยู่ในบรรยากาศแห่งความสุขความรื่นเริง ในงานงิ้วชาวหนองบัวครับ
    อนุกูล วิมูลศักดิ์

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า, เรียน อ. วิรัตน์ และผู้อ่านทุกท่าน

    * เมื่อวานนี้ (11 มี.ค.) ผมได้รับเมล์จากพระคุณเจ้าเกี่ยวกับการจัดทำหนังสือแล้วครับ เมื่อช่วงก่อนโรงเรียนเลิก พอดีผมก็รู้สึกไม่สบายด้วย เลยได้แต่ก็อปข้อความมาแปะใส่เวิร์ดเก็บไว้ วันนี้ก็เช่นกันยังมีอาการไม่สบายอยู่ ขอให้อาการทุเลาก่อน และจัดการเรื่องคะแนนสอบของเด็กให้เรียบร้อย ก่อนที่จะอ่านในภายหลังครับ

    * สำหรับคุณฉิก เกี่ยวกับงานงิ้ว ก็เจอผมได้ที่ที่ตั้งเครื่องฉายหนังครับ ขณะที่โพสต์ตอนนี้ก็ยังไม่ทราบว่าเค้าจะตั้งกันตรงไหน เดี่ยวไปสอบถามก่อนแล้วค่อยกลับมาตอบในภายหลังครับ

      สวัสดีครับคุณครูอนุกูล 

     

    • หายเร็วๆครับ ขอให้สุขภาพดีกลับคืนมาในเร็ววัน
    • งานเทศกาลชุมชนเดี๋ยวนี้ อย่างของหนองบัวนี่จะเป็นอย่างไรบ้างนะครับ หากไม่เป็นการเบียดเบียนกัน ก็อย่าลืมเก็บภาพมาเล่าแบ่งปันกันบ้างนะครับ
    • ยิ่งคุณครูไปร่วมฉายหนังด้วยนี่ คงได้สัมผัสกับความเป็นชีวิตและความเคลื่อนไหวของสังคมไปด้วยหลายแง่มุม
    • ผมเคยไปเดินดูงานวัด มีหนังกางแปลง สวนสนุก เวทีแสดง...แทบทุกอย่างช่างเหงาวังเวงครับ เห็นแล้วใจหายเลย มันไม่คึกคักและได้ความรื่นเริงเหมือนเมื่อก่อน เบื้องหลังแล้วคนทำคงเหน็ดเหนื่อยน่าดู
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณครูอนุกูล อาจารย์วิรัตน์และทุกๆท่าน

    ขอให้หายป่วยไวๆ มีสุขภาพแข็งแรง
    อินเตอร์เน็ตหลุดไปวันสองวัน กลับมาอีกทีก็มีบรรยากาศงานวัด หนังกลางแปลงของอาจารย์วิรัตน์ให้ได้ดูชมกันพอดี
    ช่วงนี้ไปงานผูกพัทธสีมาตามวัดต่างๆ บางแห่งบางวัดมีร้านค้าขายของน้อยกว่าร้านค้าตลาดนัดเสียอีก
    แม่ค้าเล่าให้ฟังว่า คนเที่ยวงานไม่ค่อยได้มาซื้อสินค้า ซื้อของเลย ยิ่งเจ้าที่อยู่ท้ายๆวัดห่างจุดผู้คนสัญจรด้วยแล้วแย่เลยเขาว่างั้น
    สรุปได้ว่าก็ไม่ต่างจากภาพที่อาจารย์นำมาฝากนี้มากนัก เห็นแล้วก็ใจหาย เงียบเหงา หรือบางทีก็ถึงขั้นวังเวงเลยทีเดียว.

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ 

     

    งานวัดห้วยส้ม บ้านห้วยส้ม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ข้างบ้านผมเอง : การจัดงานเทศกาลในอดีต เป็นการจัดการทางสังคมเพื่อดูแลความเป็นส่วนรวมและระดมทุน ระดมความร่วมมือเพื่อทำนุบำรุงสิ่งของสาธารณะไปด้วย แต่เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมชุมชนอย่างนี้กำลังหายและเปลี่ยนแปลงไป หากชุมชนต่างๆ รวมทั้งกลุ่มคนที่มีจิตสาธารณะ กลุ่มผู้นำชุมชน และชาวบ้านที่อยู่อาศัยด้วยกัน มีวิธีเรียนรู้และจัดการความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสมบ้างก็จะสร้างสุขภาวะของชุมชนได้อย่างกลมกลืนไปกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้บ้าง

    • เมื่อวานก่อนผมนุ่งกางเกงที่เพิ่งซื้อจากแผงลอยตลาดนัดมาตัวหนึ่ง ราคาร้อยกว่าบาทครับ ไปถึงที่มหาวิทยาลัย ระหว่างนั่งประชุมกับทีมอาจารย์ด้วยกันก็ลุกไปเข้าห้องน้ำ พอกลับไปนั่ง ตอนนั่งลงก็ได้ยินเสียงดังแคว่กครับ ก้มมองดูก็เรียบร้อยครับ เป้าขาดครับ หมดสภาพเลย โชคดีที่ผมใส่เสื้อผ้าม่อฮ่อม เวลาลุกขึ้นเดินชายเสื้อก็จะคลุมไม่ให้อุจาดได้ แต่วันนั้นผมก็ต้องนั่งอยู่กับโต๊ะทำงานเสียเป็นส่วนใหญ่
    • นึกดูแล้วก็ขำครับ เพราะผมมักชอบซื้อของตามตลาดนัด ส่วนใหญ่แล้วก็ซื้อเหมือนกับช่วยซื้อ-ช่วยใช้ เพื่อให้กำลังใจในการอยู่ด้วยกัน ไม่คาดหวังว่าจะได้ของดีอยู่แล้ว นอกจากขำในใจแล้ว นึกถึงบรรยากาศคนนั่งขายของ กับกลุ่มคนที่ไปเดินจับจ่าย กระจัดกระจาย ก็นึกสงสารครับ เหมือนมีคนอีกจำนวนหนึ่งในสังคม ที่การทำกินทำอยู่นั้น เหมือนต้องการเพียงมีที่ยืนและอยู่รอดเท่านั้น เห็นแล้วก็เหงาจับใจ
    • แต่การค้าขายให้พอมีรายได้นั้น บางทีก็ไม่ได้อยู่ที่การขายให้ได้กำไรมากๆอย่างเดียว ทว่า ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ วิธีคิด วิธีการไปด้วย เป็นต้นว่า อาจจะอยู่ที่ลดค่าใช้จ่าย สิ่งฟุ่มเฟือย และการตลาดเพื่อจูงใจแบบเก่าๆที่ไม่จำเป็น ก็ได้นะครับ ผมเคยร่วมทำงานกับเครือข่ายประชาสังคมตามจังหวัดต่างๆ บางส่วนที่เขาทำตลาดทางเลือก ร้านค้าแบกะดิน ถนนคนเดิน ก็เห็นได้ครับว่าพอมีอนาคต-คนชอบ แต่ต้องปรับรูปแบบเยอะเหมือนกัน
    • มีกิจกรรม ห้างแบกะดิน หรือ ถนนคนเดิน มาฝากคนหนองบัวและผู้สนใจท่านอื่นๆด้วยครับ ออกจะเงื่อนไขต่างจากหนองบัวมากไปหน่อยเพราะเป็นของเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีศักยภาพสูงในหลายเรื่องอยู่ในตนเอง แต่ก็ดูพอเป็นแนวคิดได้ครับ ฉิกและหลายท่านเคยคุยถึงอยากชวนคนหนองบัวคุยกันเรื่องนี้ ผมเลยนำมาให้ดูอีกครับ
    • งานงิ้วหนองบัวก็อาจนำมาคิดเพื่อทำบางอย่างใหม่ๆได้เช่นกันครับ หากได้ฟังบทเรียนและมุมมองของคุณครูอนุกูล ก็คงได้มุมมองที่ดีหลายอย่างนะครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    กระแสร้อน ๆ จ้า

    สงบ สันติ อหิงสา ไม่มีอาวุธ ปราศจากน้ำตาล : วิถีแห่งสุขภาพดีที่ยั่งยืน

    • โดยปรกติการชุมนุมต่อสู้กันไม่ว่าในทางใดก็ตาม การเมือง การช่วงอำนาจ ทาง
      อุดมการณ์ ทางความคิด ทางชนชั้น สีผิว ลัทธิความเชื่อ หรือจะเรียกร้องอะไรก็ล้วนแต่ไม่เคยก้าวข้าวความสูญเสียไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสอยฝ่าย มากน้อยแล้วแต่กรณี เป็นมาอย่างนี้ตลอดประวัติศาสตร์ก็ว่าได้
    • แต่มีการต่อสู้อย่างหนึ่งที่ไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม ต่อการเดินทาง ต่อเส้นทางการจราจร ไม่ทำให้คนในสังคมเกิดความเครียด วิตก กังวล หวาดผวา ถึงกับปิดบ้าน ปิดถนน หรือสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
    • ถึงอย่างไรก็ตามการชุมนุมนั้นก็ยากเหลือเกินที่จะไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ เลือดตกยางออก ฉะนั้นการต่อสู้เข้าโลมรันในเวทีที่มีเดิมพันค่อนข้างสูงจึงต้องมีผู้กล้าหาญ ผู้เสียสละ และก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เสียด้วย
    • การต่อสู้ในแนวทางแรกนั้นสามารถหลีกเลี่ยงความสูญเสียได้ถ้าคู่ต่อสู้หรือฝ่ายตรงข้ามคำนึงถึงส่วนรวมความสงบสุขในสังคม หรือเดินกันคนละครึ่งทางโดยไม่มีใครเสียหน้าถอยกันคนละก้าว เกมที่ต่อสู้ช่วงชิงกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านและห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตายก็จบได้โดยง่ายเหลือเกิน เพราะมีคนเสียสละ หรือต่างฝ่ายต่างยอมเสียสละกันบ้างนั่นเอง
    • ส่วนการต่อสู้ในแนวทางที่สองนั้นทุกคนต้องยอมเสียสละและต้องไม่กลัวการเสียหน้าเสียฟอร์มเพราะถ้ากลัวเสียฟอร์มหรือไม่ยอมเสียสละ ก็จะทำให้สุขภาพอ่อนแอ มีโรคภัยเบียดเบียน การดำเนินชีวิตก็ลำบาก เกิดทุขภาวะต่อร่างกายและอาจทำให้อายุสั้นได้
    • การต่อสู้แบบที่ว่านี้จึงต้องสละเลือดเนื้อกันเลยทีเดียว เพื่อจะให้มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย ต้องอาศัยความกล้าหาญ เพราะถ้ากลัวอาวุธคือเข็มฉีดยาแล้ว ก็จะไม่รู้ว่าจะนำเลือดไปตรวจหาเชื้อโรคได้อย่างไร เลือดบวกหรือเปล่า หรือมีเชื้อเอสไอวีหรือไม่ หลายโรคต้องตรวจเลือดจึงจะทราบว่ามีโรคหรือไม่
    • ฉะนั้นถ้าอยากจะมีสุขภาวะที่ดีปราศจากโรคภัย มีชีวิตยืนยาว ก็มีความจำเป็นต้องเสียเลือดเพื่อแลกกับการมีสุขภาพดีและร่างกายแข็งแรงดังกล่าว นี่คือวิถีสุขภาพที่ยั่งยืน และก็ไม่มีใครเสียหน้าแม้แต่นิดเดียว ใครอยากมีสุขภาพดีก็เชิญยอมเสียสละเลือดได้ตามอัธยาศัย
    • ถ้าสังคมหรือบุคคลใด มีความสงบ สันติ อหิงสา ไม่มีอาวุธ ปราศจากน้ำตาลแล้วละก็ ก็รับประกันได้ชัวร์เลยว่า เกิดความสงบสุขแก่สังคมบุคคลและมีสุขภาพดีกันอย่างถ้วนหน้าแน่นอนที่สุด

    พุทโธ ธัมโม สังโฆ.

       กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ 

    • เกาะติดสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วดีจังเลยนะครับ
    • เปรียบเทียบกับเรื่องสุขภาพได้อย่างน่าตื่นเต้นที่ทุกคนสามารถสร้างวิธีคิดและมีส่วนร่วมในการทำให้กับตนเองโดยไม่ยากนัก
    • อีกส่วนหนึ่ง ผมเองก็ได้วิธีคิดจากการกรณีอย่างนี้ว่า อะไรที่มันเกินพอดี มันก็อาจจะไม่เป็นสิ่งดีเสมอไป
    • การจำกัดกับยุคสมัยและการอิงอยู่กับประโยชน์ของมนุษย์ในเงื่อนไขแวดล้อมอย่างหนึ่งและในยุคหนึ่งๆเป็นเกณฑ์ พอผ่านไปสู่อีกสถานการณ์หนึ่งก็อาจกลายเป็นตรงกันข้าม กระบวนการเรียนรู้ยกระดับการตกลงใจไปด้วยกันอยู่เสมอและการได้ทำเหตุปัจจัยของปัจจุบันให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ จึงเป็นวิธีที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยชอบ ผมเองก็คนหนึ่งละครับ การเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันของผู้คนนี่เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองไปด้วยอยู่เสมอเลยนะครับ
    • วิธีคิดต่อ 'ความถูกแก่กาละ - เทศะ' 'หรือการสงเคราะห์กันด้วยเหตุปัจจัย' อย่างที่ชาวบ้านทั่วไปมักถือเป็นแนวปฏิบัติตน บางทีก็นำมาใช้ได้ดีเหมือนกันนะครับ
    • อย่างเรื่อง 'น้ำตาล' นั้น หลายแห่งของชาวบ้านในชนบทคงต้องอ้าปากค้างเลยทีเดียว เมื่อคนในเมืองและผู้คนที่เกินพอดีแล้วของอีกหลายแห่งในโลกบอกแก่พวกเขาว่าอย่ากินได้เป็นดี และหากกินก็อย่ากินเยอะ เพราะมันไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เป็นปัจจัยแก่โรคอ้วน
    • เรียกว่าบางเรื่องที่เป็นสภาพการเป็นอยู่ที่เหลื่อมล้ำกันมากในสังคม คนที่ต้องอยู่กับความขาดแคลน ยากไร้ มองด้านหนึ่ง หากรู้จักตนเองและมีวิธีคิดที่เห็นศักยภาพตนเอง เห็นบริบทและเงื่อนไขแวดล้อมสุขภาวะในชีวิตแห่งตน ก็จะตระหนักรู้ว่า เรื่องราวจำนวนมากนั้นอยู่นอกเงื่อนไขชีวิตของตน ขณะเดียวกัน มองอีกด้านหนึ่ง การไม่ไหลไปกับความเป็นไปของสังคมและต้องอยู่กับสภาพตามฐานะแห่งตน วันดีคืนดีก็กลับเป็นความดีงาม อย่างการไม่มีน้ำตาลกินและความไม่มีอีกหลายอย่างน่ะครับ วันดีคืนดีก็กลายเป็นเรื่องดีไปได้โดยที่คนอีกจำนวนมากก็ไม่ได้ทำอะไร
    • ชาวบ้านตามบ้านนอกนั้น กว่าจะได้มีโอกาสกินน้ำตาลและมีน้ำตาลที่หวานถึงพอจะทำขนมและของกินได้นั้น ต้องอดทน กระเหม็ดกระแหม่ รอจนถึงวันพระ ๑๕ ค่ำ หรือไม่อย่างนั้นก็ถึงเทศกาลสารท และเข้า-ออกพรรษา โน่นแหละครับ ถึงจะดึงเอาสตางค์และของที่เตรียมแลกสินค้าจากตลาดท้องถิ่น ไปซื้อหาน้ำตาลมาได้ ๑-๒ กิโล
    • พอถึงยุคที่พอจะมีกำลังเข้าถึงและหากินได้สักหน่อย ก็กลายเป็นว่าเขาให้เลิกกินกันแล้ว และไลฟ์สไตล์อย่างใหม่ เป็นต้นว่า การไม่กินหวาน ที่เป็นที่นิยมกันใหม่ของกลุ่มสังคมที่เกินพอดีแล้วนั้น ชาวบ้านที่เป็นคนส่วนใหญ่ก็มีทุนเริ่มต้นในสภาพที่ยากไร้เหมือนเมื่อตอนอยากกินน้ำตาลก็ไม่มีให้กิน อย่างเดิมอีก บางทีนั้น หลายเรื่องก็คล้ายกับจะเป็นอย่างนี้เลยนะครับ คือ อย่างเดิมก็ไม่ทันจะได้เข้าถึง และอย่างใหม่ก็ต้องสะสมทุนตั้งต้นกันใหม่อีกไปเรื่อยๆ
    • บางทีนั้นคนส่วนน้อยที่กำหนดทางไปให้คนส่วนใหญ่จากตรงจุดที่ตนเองยืนอยู่นี่ ตนเองก็จะตั้งหลักได้ก่อนและไปได้ดีอยู่เสมอ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ก็เสียโอกาสไปอยู่เสมอเช่นเดียวกัน
    • ดังนั้น ผมจึงว่าเหนือขึ้นไปอีกในการให้ความร่วมมือต่อเรื่องต่างๆนั้น ชาวบ้านต้องรู้จักเรียนรู้ 'ความพอดี' 'ความถูกแก่กาละ-เทศะแห่งตน' ในบริบทและเงื่อนไขแวดล้อมของตนไปด้วยครับ อย่างเวทีเรียนรู้นี้แหละครับ
    • นี่บางวันผมก็รู้สึกเหมือนเรากำลังทำเครือข่าย มหาวิทยาลัยบนปลายนิ้วมือ ของทั้งคนหนองบัวและทุกคนที่เข้ามาในเวทีคนหนองบัวนี้เลยละครับ

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล สวัสดีคุณสมบัติ คุณฉิก คุณครูอนุกูล คุณเสวก และหมู่มิตรของเวทีเสวนาออนไลน์ของชาวหนองบัวทุกท่านครับ

    • อาจารย์ณัฐพัชร์เธอสอนวิธีใส่ Hit Counter ให้ตามหัวข้อต่างๆ ผมเลยทดลองเริ่มทำดูในเวทีคนหนองบัว พอทำเสร็จก็ยังคุยกันว่านอกจากจะขึ้นจำนวนผู้อ่านและธงประเทศไทยแล้ว จะต้องขึ้นธงนานาชาติโดยเริ่มที่ประเทศลาวก่อนแน่เลย เพราะคุณสมบัติเดินทางไปลางอยู่บ่อยๆน่าจะคิดถึงเวทีคนหนองบัวและแวะเข้ามาเยี่ยมบ้าง แล้วผมก็มีลูกศิษย์ในลาวหลายคน
    • แต่ที่ไหนได้ มีธงสหรัฐขึ้นมาประเดิมก่อนเลยครับ นี่คนละซีกโลกเลยนะครับ
    • ผมเดาเอาว่าอาจจะเป็นคนคอยดูแล Free service ของ Hit Counter ที่ผมได้เข้าไปขอใช้บริการซึ่งคงจะอยู่ที่อเมริกา
    • แต่ถ้าหากไม่ใช่ แต่เป็นผู้อ่านและผู้เข้าชมที่แวะเข้ามาเยือนเวทีคนหนองบัว ก็ต้องขอทักทายด้วยความยินดีอย่างยิ่งนะครับ ที่จริงต้องให้คุณสมบัติเธอออกมาต้อนรับและทักทายสักหน่อยนะครับ หรือว่าเป็นญาติ-หลานของคุณสมบัติที่เรียนอยู่ต่างประเทศเสียก็ไม่รู้นะครับ
    • We are people of Nong-Bua community,a small rural community located in Nakorn Sawan Province,Thailand.Very welcome to our special guest, a great friend from far USA, to this our Nong-Bua Forum.
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    โอ้โฮเวทีคนหนองบัวเราไปไกลถึง USA.เลยหรือนี่ ถ้าไปถึงได้ก็ยินดี แต่ถ้าไปไม่ถึงสหรัฐ ก็น่าจะถึง LA.(ร้อยเอ็ด)แล้วแหละ
    เวทีคนหนองบัวแห่งนี้ยินต้อนรับทุกท่านจากแดนใกล้แดนไกลด้วยมิตรไมตรี
    นี่ก็คือโลกไซเบอร์ที่สามารถย่อโลกทั้งโลกให้มาอยู่ร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกันติดต่อสัมพันธ์กันได้ชนิดแค่เพียงลมหายใจได้เลย แค่กระพริบตาก็สื่อสารส่งถึงกันได้ทั้งเสียงทั้งภาพโดยที่ตัวอยู่กันคนละที่คนละแห่งในทุกมุมโลก

    แต่ที่เวทีนี้ไปถึงแน่นอนแล้วและยังได้เคยสื่อสารติดต่อกันข้ามประเทศก็มีอยู่บ้าง นั่นก็คือประเทศลาวเพื่อนบ้านเรานี่เอง
    ชาวหนองบัวยินดีขอเชิญชวนทุกท่านเข้ามาทักทายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ในเวทีแห่งนี้ทุกโอกาส

    การเป็นเพื่อน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเป็นมิตรต่อกัน เป็นทางหนึ่งของการทำให้สังคมและโลกกว้างน่าอยู่น่ารื่นรมย์ในชีวิต เลยถือเป็นสิ่งดีงามสำหรับเวทีคนหนองบัวและหมู่มิตรของเรานะครับ 

                               

                                 เด็กหนุ่มชาวต่างประเทศ    แสดงกลกลางถนนคนเดินเมืองเชียงใหม่ เป็นที่สนใจของเด็กๆและครอบครัวที่เดินออกมาสัมผัสชีวิตและลมหายใจของวิถีชีวิตสังคมเมืองในอีกอริยาทบทหนึ่งใน ถนนคนเดิน จังหวัดเชียงใหม่ ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์  | อ้างอิงภาพและบทความ : ศิลปะวิถี : รอบรู้ ลุ่มลึก รื่นรมย์ โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ในชุมชนบล๊อกเกอร์ โอเคเนชั่น ของคุณสุทธิชัย หยุ่น

      บางการเรียนรู้จากญี่ปุ่น   : กลุ่มสังคมเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต 

    เห็นธงชาติแสดงการเข้ามาเยือนเวทีคนหนองบัวจากประเทศญี่ปุ่นอีกประเทศหนึ่ง เลยขอแสดงการต้อนรับและนำประสบการณ์การศึกษาดูงานและฝึกอบรมที่ประเทศญี่ปุ่นครั้งหนึ่งของผมเมื่อปี ๒๕๒๙ มาคุยถึงทั้งเพื่อการเรียนรู้แบ่งปันเพื่อการรำลึกถึงไปด้วยเสียเลยนะครับ                         

      ญี่ปุ่นด้านที่อยู่กับความสามัญของชีวิต :
     ชุมชนเรียนรู้สร้างสุขภาพแบบองค์รวม
       

    การไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น ๒ เดือนครึ่งเมื่อปี ๒๕๒๙ ผมขอจัดโปรแกรมด้วยการให้คำปรึกษาอย่างดีของทีมผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น ผมอยากได้ไปดูกิจกรรมให้การศึกษาเรียนรู้ทางสุขภาพและบทบาทของสื่อกับการฝึกอบรม ที่เน้นเรื่องสุขภาพชุมชนและศูนย์สุขภาพที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพื่อพึ่งตนเองในการดูแลสุขภาพ ช่วงหนึ่งทางญี่ปุ่นก็เลยจัดให้ไปชุมชนที่สภาพชุมชนเมืองกับชนบทยังผสมผสานกลมกลืนอยู่ด้วยกัน ที่เมืองคานากาวา ไปดูศูนย์สุขภาพครอบครัว ศูนย์สุขภาพสำหรับผู้สูงวัยซึ่งเป็นแหล่งติดตามและให้การปรึกษากลุ่มผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาสุขภาพจากโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดัน และความเสื่อถอยตามวัยต่างๆ และการทำงานสื่อรณรงค์ด้านสุขภาพชุมชนของศูนย์สาธารณสุขอำเภอของคานากาวา 

                               

      หัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชนในคานากาวาและทีม   พาผมไปดูกิจกรรมติดตามให้การปรึกษาครอบครัว ดูแลสุขภาพของแม่ลูกอ่อนและเรียนรู้บันทึกพัฒนาการของลูกเป็นกลุ่ม ดูแลสุขภาพกลุ่มผู้สูงวัย นั่งสนทนาแล้วก็แก้ผ้าลงไปอาบน้ำร้อนด้วยกันเป็นกลุ่ม  จากนั้นก็พากันเดินเท้าไปตามถนน ผ่านทุ่งนาและสภาพแวดล้อมชนบท ขึ้นไปยังเนินเขาเตี้ยๆ แล้วก็นั่งล้อมวงกินข้าว-จับเข่าคุยกัน อาหารเป็นกล่องข้าวสุขภาพที่ทุกคนเตรียมมาด้วยตนเอง นั่งสนทนากันอย่างสบายๆไม่มีรูปแบบที่ตายตัว เมื่อมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและพอจะให้การปรึกษาและแนะนำกันได้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งไปด้วยกันเป็นทีมและมีความรู้หลายด้านก็จะช่วยกันคุย เป็นการให้การศึกษาเรียนรู้ทางสุขภาพหรือสุขศึกษาชุมชน ผ่านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Community-Based Health Education) มีชายผู้สูงอายุท่านหนึ่งในกลุ่มเดินมาขอจับตัวผมแล้วก็แนะนำตนเองว่าเขาเคยเป็นทหารเกณฑ์ไปรบที่เมืองกาญจนบุรีในยุคสงครามโลก ยุติสงครามแล้วเขาก็ไม่เคยไปประเทศไทยและที่ไหนในโลกอีกเลย แต่เขาประทับใจคนไทยและรำลึกถึงอยู่เสมอเลยขอเดินมาจับตัวผม ขอทักทาย ภาพขวาบน : เป็นอาจารย์แพทย์ที่สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติซึ่งพาผมไปดูงานและพบกับศาสตราจารย์คาเนนากะ ผู้อำนวยการ  ภาพขวาล่าง : ผู้ประสานงาน JICA และเป็นล่าม รวมทั้งเป็นคู่หูให้กับผมทุกอย่าง ระหว่างพาผมไปชมปราสาทเมืองฮาโกเน ผมได้ประสบการณ์และได้การเรียนรู้นำกลับมาทำงานได้มากมายเพราะ Coordinator ท่านนี้ซึ่งทำหน้าที่ของท่านเหมือนกับเป็นเพื่อนเรียนรู้ทุกอย่างไปด้วยกันเลยทีเดียว

                                Cheewakasemcm

    ภาพบน : จะโดยประทับใจอย่างฝังลึกอยู่ในใจหรือเป็นความบังเอิญอย่างไรก็แล้วแต่ ต่อมาผมกับเครือข่ายชุมชนและกลุ่มคนที่สนใจทำวิจัย-กิจกรรมสร้างสุขภาพและเรียนรู้ที่จะดูแลการพัฒนาตนเองไปด้วย ก็มีกลุ่มทำกิจกรรม ชมรมชีวเกษม ด้วยกันที่อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม แล้วก็พัฒนาการสู่การทำกิจกรรมอีกหลายอย่างตามมากระทั่งปัจจุบัน ในกิจกรรมที่ทำกันนั้น ส่วนหนึ่งก็มีกิจกรรมล้อมวงกินข้าว-จับเข่าคุยกัน ทำให้เห็นวิถีสุขภาพชุมชนที่มีลักษณะร่วมกันบางประการในวิถีชาวบ้าน-วิถีพลเมือง

     

    ภาพซ้าย : ดร.เคน ฮาเซกาวา นักสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญขององค์การ JICA ในสภาพที่เป็นไข้หวัดงอมแงม แต่พอทราบว่าผมไปญี่ปุ่นและพักอยู่ในโตเกียว ก็ใช้วันหยุดมาเป็นไกด์นำผมไปเที่ยวหลายแห่งในโตเกียว ไปหอศิลปะสมัยใหม่ ไปสวนสาธารณะเอวโน ไปพิพิธภัณฑ์ ไปเดินดูหนังสือ ทั้งโดยวัยวุฒิ คุณวุฒิ และทุกอย่างนั้น ผมนับถือ ดร.ฮาเซกาวา เหมือนกับเป็นพี่ชาย ในภาพ นั่งถ่ายภาพด้วยกันหน้างานประติมากรรมต้นฉบับชิ้นหนึ่งของโรแดง ญี่ปุ่นลงทุนซื้องานศิลปะชิ้นเยี่ยมของศิลปินระดับโลกหลายชิ้นไปให้พลเมืองเขาได้เข้าถึงที่ประเทศเขาเลย

    ภาพขวา : คุณเทเรดะ ช่างกล้องและผู้กำกับการผลิตรายการทีวีเพื่อการศึกษาของสถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่นและครอบครัว หลังจากเป็นครูให้ผมได้ฝึกประสบการณ์ทำสื่อหลายอย่างแล้ว ชวนผมไปทำอาหารกินและนั่งดื่มสาเกด้วยกันที่บ้านของท่าน การดูแลชาวต่างประเทศอย่างนี้ ทาง JICA เข้าไปดูแลให้ด้วยเพราะถือว่าร่วมทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของโปแกรมการศึกษาดูงาน ซึ่งเป็นวิธีบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมที่ฉลาดและน่าประทับใจอย่างยิ่ง เพราะทำให้ได้ทั้งงานของราชการ การสร้างความประทับใจ และต่างเป็นแหล่งประสบการณ์ให้การเรียนรู้กันและกัน เป็นโอกาสสร้างพลเมืองของเขาไปด้วย

    ขอรำลึกถึงญี่ปุ่นและนอกจากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเวทีหนองบัวนี้แล้ว ก็ขอเชิญมาเยือนประเทศไทยและชุมชนหนองบัวบ้างนะครับ.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    บอกไม่ถูกเหมือนกันว่ามีความรู้สึกอย่างไร แต่มันเกิดเป็นความตื้นตันใจภูมิใจสุขใจที่ชุมชนเล็กๆในหนองบัวเกิดขึ้นในโลกในไซเบอร์ในช่วงแรก และต่อมาหลายท่านก็ได้ช่วยกันสร้างสรรค์ต่อเติมทีละเล็กทีละน้อยจากคนหนองบัวที่มีใจสำนึกบ้านเกิดและช่วยกันทำอย่างสมัครใจเต็มใจ และก็มีเครือข่ายกัลยาณมิตรอีกหลายท่านที่ได้เข้ามาแบ่งปันให้การเรียนรู้กับคนหนองบัวเป็นลำดับเรื่อยมา

    จนมาถึง ณ เวลานี้เวทีคนหนองบัวได้ขยายสู่เวทีเพื่อนบ้านในทวีปเอเซีย และยังไปถึงแดนไกลถึงทวีปอเมริกาอีกด้วย ขอเชิญชวนญาติมิตรจากแดนไกลได้เข้ามาเยี่ยมเวทีคนหนองบัวกันบ้างขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดี

    เห็นรูปอาจารย์เมื่อปี ๒๕๒๙ แล้วดูดีมากเลย เท่ไม่เบาเชียว ดูเป็นทางการมากกว่าสมัยปัจจุบันจริงๆ และขอขอบคุณอาจารย์ด้วยที่นำข้อมูลเรื่องราวจากการเรียนรู้ที่ประเทศญี่ปุ่นมาฝากให้ชาวหนองบัว ถึงแม้เรื่องนี้จะเนิ่นนานแล้วก็ตาม แต่ข้อมูลและเรื่องราวด้านสุขภาพนั้นยังทันสมัยและสังคมไทยก็กำลังเรียนรู้เรื่องนี้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นเขาตื่นตัวและให้ความสำคัญทางด้านสุขภาพกับพลเมืองประชาชนของเขามา ๓๐ กว่าปีแล้ว เดินนำหน้าเราถึงสามทศวรรษหรือมากกว่านั้นอีก ที่เราได้ยินผู้รู้มักพูดว่าประเทศนั้นนำหน้าประเทศนี้ ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง ก็เลยเห็นภาพได้จากกรณีที่อาจารย์นำข้อมูลดังกล่าวมาให้ได้เรียนรู้กันนี้อย่างมองเห็นภาพได้ชัดเจนเลยทีเดียว.

     

       กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ  

                               

    • ผมก็เลยรู้สึกประทับใจและตื่นเต้นไปด้วยอย่างที่พระคุณเจ้าสะท้อนทรรศนะครับ ใครที่เคยสัมผัสความเป็นชุมชนหนองบัวกับสังคมโลกภายนอก ก็พอจะนึกออกว่ามันเป็นเรื่องที่ให้ความรู้สึกที่พิเศษมาก คล้ายกับเมื่อปี ๒๕๑๑ เลยทีเดียว
    • วันหนึ่งที่เขามีการถ่ายทอดโทรทัศน์ยานอพอลโลของสหรัฐอเมริกาลงจอดบนดวงจันทร์ เมื่อปี ๒๕๑๑ นั้น ชาวบ้านหนองบัว รวมไปจนถึงจากชุมชนวัดเทพสุทธาวาส ก็ไปรวมกันที่ร้านค้าซึ่งมีโทรทัศน์ขาวดำอยู่เครื่องเดียวที่หัวตลาดร้านเดียวกันกับในภาพนี้แหละครับ เสียดายผมนึกชื่อเจ้าของร้านไม่ออกในตอนนี้ ทั้งครูและนักเรียนของโรงเรียนในอำเภอพากันหยุดแล้วก็มานั่งดูโทรทัศน์ ทำนองเดียวกับเฮลิคอปเตอร์ไปจอดที่ทุ่งเลี้ยงวัวหน้าอำเภอ พวกเด็กๆ ครู และชาวบ้านทั้งอำเภอ ก็พากันวิ่งตับแลบไปยืนล้อมดูเฮลิปคอปเตอร์
    • แต่ในเวทีคนหนองบัวในวันนี้ เรากำลังเห็นเพื่อนร่วมโลกอันห่างไกลที่อเมริกาและที่ญี่ปุ่นที่เข้ามาเยือนเวทีคนหนองบัวเองโดยตรง ดูใกล้ชิดและเจาะจงกว่าเมื่อตอนเราไปมุงดูทีวีขาวดำที่ร้านหัวตลาดอีกนะครับ และตอนนี้มีเพื่อนบ้านจากอเมริกา ๒ คนแล้วครับ
    • ในแง่เป็นประสบการณ์เรียนรู้ให้กับลูกหลานและคนหนองบัว เวทีนี้ก็เป็นสื่อของจริง ที่สาธิตและแสดงให้เห็นได้โดยตรงเลยนะครับว่าความเป็นชุมชนความรู้ของหมู่บ้านโลกนั้นเป็นอย่างไร คนทั่วไปอาจจะแค่เคยแต่ได้ยินเขาเล่าสืบต่อกันมา แต่ในเวทีคนหนองบัวนี้ ก็เกิดให้เห็นจริงๆจากเวทีเรื่องของท้องถิ่นเองให้เห็นเลยนะครับ
    • ต้องขออนุโมทนาไปกับพระคุณเจ้าด้วยนะครับ ความเป็นมาของเวทีคนหนองบัวกระทั่งมาถึงวันนี้นั้น ที่มาเกิดขึ้นจากพระคุณเจ้า แล้วก็ค่อยๆเติมต่อความคิดแล้วก็ปรับปรุงกันมาเรื่อย ดูท่าตอนนี้จะเป็นเรื่องเป็นราว เป็นทั้งแหล่งความรู้และเป็นสื่อท้องถิ่นหนองบัวกับโลกกว้างที่ดูแล้วจะมีพลังมากกว่าหนังสือพิมพ์รายหวยออก ๑๕ วันครั้งของจังหวัด ซึ่งครั้งหนึ่งก็จะกระจายไปถึงหนองบัวไม่ถึง ๑๐ ฉบับ อีกทั้งน้อยครั้งมากที่จะมีข่าวคราวและความรู้ของหนองบัวในสื่ออย่างที่มีอยู่
    • แต่ในสื่อออนไลน์นี้ เราเผยแพร่ความรู้และข้อมูลข่าวสารของชุมชนหนองบัวได้อย่างไม่จำกัด มองอย่างอนุโมทนากับพระคุณเจ้าอย่างมากด้วยก็คือ พระคุณเจ้าได้แสดงความกตัญญูในฐานะศิษย์ของหลวงพ่ออ๋อย เผยแพร่เกียรติคุณของครูอาจารย์และคนท้องถิ่นหนองบัวให้เป็นที่แพร่หลายด้วยมือและน้ำใจของพระคุณเจ้า แล้วก็ชักชวนให้ผมกับอีกหลายคนมาช่วยกัน แล้วก็ทำกันอย่างสบายๆไปตามกำลัง แต่ดูแล้วก็ได้ผลที่สร้างสรรค์ตามมาหลายอย่างนะครับ ต้องขออนุโมทนาครับ

         สื่อสารแนะนำ  

    ขออาราธนาพระคุณเจ้า และขอเชิญคนหนองบัวและทุกท่าน เขียนแบ่งปันแนวคิด ให้สติ ให้ความรู้ ให้การเสนอแนะ แสดงทรรศนะ

      ตอนนี้  เป็นหน้าแล้งซึ่งเป็นความทุกข์ร้อนของคนทำไร่และคนทำนาปรัง เมื่อฤดูทำนาที่ผ่านมาของปีนี้ ข้าวปลาก็เสียหายล่มจมกันไปหลายรายตั้งแต่ฝนแล้งและข้าวตายแล้งไปรอบหนึ่ง พอเหลือเล็ดรอดออกรวงกำลังจะแก่ ก็กลับเจอฝนตกน้ำท่วมผิดฤดู เสียหายไปอีกรอบ พอถึงหน้าแล้งนี้ ก็ได้ข่าวว่าจะต้องหยุดทำไร่และหยุดทำนาปรังไปด้วย

      ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงที่โรงเรียนปิดเทอมใหญ่ ลูกหลานที่เรียนประถมศึกษาก็จบการศึกษา จะต้องออกนอกหมู่บ้านเพื่อไปเรียนต่อประถมปลายในอำเภอหนองบัว ชุมแสง หรือแหล่งไกลออกไป ส่วนคนที่จบมัธยมศึกษา ๖ ก็ถึงคราที่ชีวิตจะถึงจุดเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ต้องเริ่มไกลบ้านไปเรียนมหาวิทยาลัยและระดับที่สูงขึ้น

      พ่อแม่ ก็กำลังทุกข์ใจที่จะต้องขวนขวายหาเงินทอง ครอบครัวชาวนาและเกษตรกรก็กำลังจะเป็นหนี้ครั้งใหญ่อีกยาวนาน ขณะเดียวกันก็มีกำลังใจที่ได้ทำหน้าที่ส่งลูกหลานไปข้างหน้า

    เราเตรียมพร้อมและได้หลักคิดที่ดีเพื่อการเตรียมตัว เรียนรู้เข้าสู่ความเปลี่ยนแปลง และจัดการความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดได้อย่างไร ก็ขออาราธนาพระคุณเจ้าและขอเชิญทุกท่านว่าอย่าลืมที่จะแตะๆหัวข้อเรื่องพวกนี้สอดแแทรกไปด้วยนะครับ.

      ผมลิงก์รูปวาดดอกกล้วยไม้คัทลียา  มาฝากคนหนองบัวด้วยครับ 

                                            

    รูปวาดลายเส้นดอกคัทลียา ฝีมือคุณณัฐรดา เห็นแล้วเลยนึกถึงคุณครูนุช เจริญสุข คุณครูคนเก่าคนแก่ของคนหนองบัวและเป็นมัคนายกของวัดหลวงพ่ออ๋อย ท่านเป็นปู่ของคุณแคทลียา อิงลิช

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    คนหนองบัวขอต้อนรับแขกจากแดนไกลชาวออสเตรเลียด้วยความยินดี

    เห็นธงชาติประเทศออสเตรเลียที่อาจารย์วิรัตน์นำมาฝากในเวทีคนหนองบัวพร้อมทั้งข้อมูลและเรื่องราวประเทศออสเตรเลียแล้ว ก็เลยได้ทั้งความรู้และประวัติศาสตร์ของออสเตรเลียอีกมากมาย

    ออสเตรเลียนอกจากจะมีจิงโจ้และนกกีวีแล้ว ก็ยังมีชนเผ่าที่โด่งดังมากๆอีกชนเผ่าหนึ่งนั่นก็คือชนเผ่าเจ้าถิ่นที่อยู่มาก่อนที่คนทั่วโลกรู้จักดีคือเผ่าอะบอริจิ้นนั่นเอง ถ้าไม่เป็นการรบกวนอาจารย์มากไป อยากให้อาจารย์นำภาพและเรื่องราวเผ่าอะบอริจิ้นมาฝากในเวทีคนหนองบัวให้ชาวหนองบัวได้เรียนรู้เพิ่มเติมอีก คงจะทำให้เวทีนี้มีสีสันและเกิดความคึกคักน่าทึ่งตะลึงใจเป็นอย่างมากทีเดียว. เจริญพร

      ขอต้อนรับแขกผู้มาเยือนเวทีคนหนองบัว  จากออสเตรเลีย 

    วันนี้เวทีคนหนองบัวมีแขกมาเยือนจากต่างประเทศเพิ่มอีก ๑ ประเทศจากออสเตรเลีย ส่วนคนไทยนั้นผ่านไปไม่กี่วันก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเข้าไปอ่านหลายหน้ามากทีเดียว

                                 

                               

                                ภาพบน : ธงชาติออสเตรเลีย ภาพล่าง : ประเทศออสเตรเลีย และภูมิภาคไทย-ออสเตรีเลย

      ประเทศออสเตรเลีย  อยู่ในกลุ่มประเทศโอเชียเนียที่บางครั้งก็เรียกกันว่าดินแดนหมู่เกาะทะเลใต้ซึ่งมีอยู่ ๑๗ ประเทศ เป็นประเทศเดียวในโลกที่ทั้งทวีปมีประเทศเดียวและชื่อประเทศกับชื่อทวีปเป็นชื่อเดียวกัน สัตว์สัญลักษณ์ของประเทศคือ จิงโจ้และนกกีวี พลเมืองมีอยู่ประมาณ ๒๑ ล้านคน การกระจายตัวของประชากรโดยเฉลี่ยเพียง ๓ คนต่อตารางกิโลเมตรของพื้นที่ทั้งประเทศ แต่ถึงแม้จะมีจำนวนประชากรและพลเมืองน้อยมากเมื่อเทียบสัดส่วนของพื้นที่อันกว้างใหญ่มหาศาลนั้น ความภูมิใจของออสเตรเลียมากอย่างหนึ่งก็คือออสเตรเลียเป็นสังคมที่มีความเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุด มีเอกลักษณ์ของสังคมวัฒนธรรมที่เป็นส่วนผสมของยุโรป อเมริกา เอเชีย และคนพื้นเมือง ที่สอดคล้องกลมกลืนไปด้วยกันมากที่สุด เป็นประเทศหนึ่งที่มีวัฒนธรรมความเป็นมิตรต่อความแตกต่างหลากหลายกันของมนุษยชาติมากที่สุด จนกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีกลุ่มสีผิว กลุ่มศาสนา กลุ่มวัฒนธรรม หรือกลุ่มชาติพันธุ์ใดที่จะสามารถอ้างได้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ตนเองมีความเป็นออสเตรเลียมากที่สุด เป็นประเทศหนึ่งที่มีการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไทยที่ดีที่สุดในโลก

     ความสัมพันธ์ กับประเทศไทยนั้น ออสเตรเลียมีสัดส่วนการผลิตภาคเกษตรกรรมเพียงร้อยละ ๒ ของการผลิตทั้งหมดแต่เป็นประเทศแรกที่ร่วมกันทำสัญญาการค้าเสรีกับประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๔๘ และเป็นประเทศที่ใช้บริการสัญญาณดาวเทียมไทยคมของประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนระบบอินเทอร์เน็ตคุณภาพสูงและการส่งสัญญาณโทรทัศน์จากดาวเทียมตรงสู่บ้าน (DTH : Direct to Home) ทั่วประเทศ ในกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่สร้างความสัมพันธ์ในกรอบต่างๆกับกลุ่มประเทศอินโดจีน ประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกนั้น ประเทศออสเตรเลียรับฟังและให้ความสำคัญที่จะต้องรักษาดุลยภาพต่อกันกับประเทศไทยมากที่สุด

    ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมส่งออกทางการศึกษาและวัฒนธรรม ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สัญญาณดาวเทียมจากสตาร์ทีวีของออสเตรเลียมีอิทธิพลที่สุดต่อวงการเพลง ภาพยนต์ ดารา ดนตรี และอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง อุตสาหกรรมการศึกษาของออสเตรเลียกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่มีบทบาทมากที่สุดของประเทศ เวทีแสดงโอเปร่ารูปเปลือกหอยเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่ในความทรงจำของคนทั่วโลก ทำให้กล่าวได้ว่าออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางวัฒนธรรม การสื่อสาร และการศึกษา โดยเฉพาะต่อกลุ่มเอเชียแปซิฟิก อินโดจีน หมู่เกาะทะเลใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ใต้หวัน สิงคโปร์ และบางส่วนของสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน

    ขอร่วมคารวะและต้อนรับด้วยความยินดียิ่งต่อเพื่อนของเวทีคนหนองบัวจากออสเตรเลียครับ

    กำลังนึกถึงชนเผ่าอะบอริจิ้นอยู่พอดีครับ กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลครับที่ทำให้นึกออก ผมมีอาจารย์ของมหิดลที่เป็นกัลยาณมิตรทางปัญญาผมด้วย ๒ ท่านที่ท่านจบจากออสเตรเลียและมักคุยเรื่องพื้นถิ่น-ชนบทของออสเตรเลียให้ผมฟังอย่างน่าสนใจ ผมจะลองนั่งทบทวนและหาข้อมูลมาคุยให้ฟังนะครับ แต่ก็เชิญทุกท่านที่มีเกร็ดความรู้อยู่มาถ่ายทอดแบ่งปันกันนะครับ

    ตัวแคร่คีย์บอร์ดผมมีนชอบพิมพ์ตกๆหล่นๆ พอกำลังปรับแก้และโพสต์ขึ้นอีกครั้ง ก็คงจะชนกับพระคุณเจ้าพอดี และพอลบอันเก่าออกข้อเขียนอันใหม่เลยขึ้นตามหลังของพระอาจารย์มหาแล ต้องกราบอภัยพระคุณเจ้านะครับ แต่อ่านดูแล้วก็คงไม่ทำให้ความเข้าใจในเนื้อหาต่างๆเสียไปนะครับ หมายเหตุให้คนที่เข้ามาอ่านได้ทราบไว้เท่านั้นน่ะครับ ผมกำลังดูว่าในกล่องสนทนากันหลายแห่ง เนื้อหาการเรียนรู้ดีมากจริงๆ ในอนาคตหากผมและหลายท่านมีเวลา อาจจะดึงออกไปประมวลเนื้อหาและเขียนเรียบเรียงย่อยเป็นหัวข้อจำเพาะทีละเรื่องใน ลานปัญญาของคนหนองบัว ก็เลยทำบันทึกหมายเหตุไปด้วยครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแล สวัสดีอาจารย์วิรัตน์ และชาวหนองบัวค่ะ

    • เข้าใจว่า  ชาวหนองบัว  เตรียมตัว  Go  Inter  เต็มเหนี่ยวเลยนะค่ะ
    • เพียง ๓ วันที่เริ่มใส่ Counter ซึ่งเป็นโปรแกรมนับจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมบล๊อคของชาวหนองบัว แสดงให้เห็นว่ามีผู้สนใจเข้ามา มากกว่า ๕๐๐ คลิ๊กแล้วนะค่ะเนี่ยะ และที่สำคัญมีกัลยาณมิตรจากต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชาวหนองบัว ทำให้ชาวหนองบัว และไม่ใช่ชาวหนองบัวอย่างดิฉันพลอยตื่นเต้นไปด้วยค่ะ ..
    • ช่วงนี้เด็กๆ  นักเรียนเริ่มปิดเทอม  เด็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้องๆ จากหนองบัว คงได้เข้ามาเรียนรู้จากบันทึกนี้ได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น นอกเหนือจากรู้เรื่องของหนองบัวแล้ว ยังได้เรียนรู้จากข้อมูลหลายๆ ชุดที่อาจารย์วิรัตน์นำเสนอ ไม่ว่าจะข้อมูลพื้นฐานของแต่ละประเทศ ยังได้รับความรู้จากสิ่งที่อาจารย์ถ่ายทอดบทเรียน และความประทับใจจากการได้ไปร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่นได้น่าสนใจมากๆ ค่ะ ..
    • เวทีหนองบัวแห่งนี้เป็นเวที/ชุมชนแห่งการเรียนรู้จริงๆ ค่ะ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ในคห.๓๘๔ อาจารย์กล่าวถึงคุณครูนุช เจริญสุข คนเก่าคนแก่ในหนองบัวว่า เป็นปู่ของศิลปินดารานักร้องคนดังคือคุณแคทลิยา ลิงลิช ด้วยนั้น เลยขอแจ้งอาจารย์และขอแก้ไขข้อมูลให้ทราบเข้าใจตรงกันว่า คุณครูนุช เจริญสุขนั้นท่านเป็นตาของคุณแคทลิยา อิงลิช และคุณแคทลิยา อิงลิชนั้นเธอก็มีส่วนได้ช่วยชุมชนหนองบัวไม่น้อย บริจาคช่วยโรงพยาบาลหนองบัว โรงเรียน ชุมชนในหนองบัวและกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย

    ครูนุชท่านจะภูมิใจในหลานสาวคนนี้ของท่านเป็นอย่างมาก ลูกหลานคุณครูนุชที่มีสายเลือดนักแสดงสายเลือดศิลปินมากและชัดเจนก็คือคุณแคทลิยา อิงลิชนี่เอง โดยที่คุณครูนุชท่านเป็นศิลปินและมีความสามารถหลายอย่าง เป็นนักแหล่ นักพูด พิธีกร โฆษก นักขับเสภา นักแต่งกลอน นักเขียน เป็นผู้นำชุมชน

    ฉะนั้นเมื่อพูดถึงหลานสาวคนดังทีไรก็มักจะพูดถึงอย่างชื่นชนและภูมิใจ พูดเป็นทำนองคล้ายกับอวดใครต่อใครได้ว่าหลานสาวฉันนั้นเก่งมีสายเลือดคุณตาและสายเลือดศิลปินตาของเขาเต็มตัวเลยแหละ.

    • ต้องขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ด้วยเช่นกันนะครับที่นำ Hit counter มาแนะนำและสาธิตใส่ให้
    • ผมสังเกตเห็นอย่างที่อาจารย์ณัฐพัชร์ว่าเหมือนกันครับว่า ช่วงนี้มีคนเข้ามาในหัวข้อเวทีคนหนองบัวเยอะกว่าปรกติ เลยคิดว่าน่าจะเป็นเพราะปิดเทอม ทำให้เด็กๆ ครู คนทำงาน คนที่ใช้เวลาปิดเทอมเรียนพิเศษทางคอมพิวเอตร์ และคนที่จบการศึกษาแล้วต้องหาข้อมูลไปเรียนต่อ เหล่านี้ มีโอกาสเข้ามาใช้อินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น
    • บล๊อกของอาจารย์ณัฐพัชร์เป็นอินเตอร์มากกว่าเวทีของเราอีกนะครับ  P ณัฐพัชร์ 
       
    • กราบขอบพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลอย่างยิ่งครับ คุณแคทลียา อิงลิช เป็นหลานตาของคุณครูนุช เจริญสุข นะครับ ไม่ใช่หลานปู่
    • ผมเคยเห็นตอนงานชุมนุมศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองคอกอยู่ปีหนึ่งเหมือนกันว่าขึ้นป้ายชื่อของน้องเขาอยู่บนเวที ถึงได้รู้ว่าเธอเป็นลูกหลานคนหนองบัว
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรอาจารย์ณัฐพัชร์

    อาจารย์ณัฐพัชร์เข้ามาในเวทีคนหนองบัวนี้ทีไรก็ทำให้คนหนองบัวหลายท่านมีกำลังใจขึ้น ขอขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์อย่างมากที่ได้ช่วยตั้งข้อสังเกตและเชิญชวนโดยเฉพาะเด็กๆนักเรียนคนรุ่นใหม่ในหนองบัวให้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมที่เวทีนี้ซึ่งมีข้อมูลเรื่องราวของหนองบัวอย่างมากมายแล้ว ตอนนี้เวทีคนหนองบัวยังได้ก้าวขึ้นสู่เวทีสากล(Go Inter-ขอคุยสักหน่อยเหอะ หนองบัวเขาปั๊ดตะนาแล้วเด้อ)อย่างน่าชื่นใจและสร้างความตื่นเต้นแก่พี่น้องชาวหนองบัวได้อย่างดีอีกด้วย

    ได้ทราบว่ามีเด็กนักเรียนที่จบม.๖ ปีนี้ จากโรงเรียนหนองคอก(หนองบัว)ได้เข้ามาอ่านบล๊อกอาจารย์วิรัตน์เพราะมีญาติ น้า-ป้า-ลุงแนะนำให้รู้จักบล๊อกชุมชนหนองบัว ก็คงจะสอดคล้องกับสังเกตของอาจารย์วิรัตน์ที่ว่าช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม เด็กๆลูกหลานในหนองบัวคงมีเวลาว่างเลยเข้ามาอ่านกันมากกว่าปกติ

    ยินต้อนรับกัลยาณมิตรทุกท่านจากทั่วโลกเลย ถ้าเป็นคนหนองบัวแล้วละก็ไม่ต้องเกรงใจกันเนาะแสดงตัวแนะนำตัวให้ได้รู้จักกันบ้างก็ได้ ไม่ผิดกติกาแต่ประการใดเลยพี่น้อง.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    "....ทำนองเดียวกับเฮลิคอปเตอร์ไปจอดที่ทุ่งเลี้ยงวัวหน้าอำเภอ พวกเด็กๆ ครู และชาวบ้านทั้งอำเภอ ก็พากันวิ่งตับแลบไปยืนล้อมดูเฮลิปคอปเตอร์"
    นึกเปรียบเทียบเหตุการณ์ในปีนั้นเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว คงเทียบได้กับสมัยนี้น่าจะเป็นวันเด็กประจำปีเลยทีเดียว ที่วันเด็กสมัยนี้แต่ละปีตามค่ายทหารต่างๆทั่วประเทศได้เปิดค่ายให้เด็กเข้าไปดูเครื่องบินนั่งขับเครื่องบินได้เรียนรู้ระบบการทำงานของเครื่องบินโดยทหารสร้างความตื่นเต้นไม่น้อยให้กับเด็ก

    เหตุการณ์ระทึกใจขนาดนี้มีไม่กี่ครั้งหรอกสำหรับคนหนองบัว เฮลิคอปเตอร์ลงที่หนองบัวในปีนั้น ก็เป็นหนึ่งในเหตุการณ์นั้นด้วยที่หลายๆคนยังจำได้อยู่ ผู้คนทั้งทั้งอำเภอแตกตื่น ตื่นเต้นกันอย่างมากทุกคนตั้งท่ารอคอยจะได้ดูระบินเฮลิคอปเตอร์ที่จะมาลงที่หน้าอำเภอ เหมือนดูหนังเลยนะนี่ที่ในหนังนั้นจะมีหมู่บ้านที่อยู่ในป่าเขาลำเขาไพร ห่างไกลปืนเที่ยง นาปีสีตชาติไม่ได้พบได้เห็นระบินอย่างใกล้ชิดสักที พอเครื่องบินลง ก็วิ่งกรูเข้าไปมุงดูกันให้แน่นขนัด ตื่นเต้นกันเหลือเกิน
    ที่หนองบัวก็เหมือนกันพอเครื่องบินลงเท่านั้นแหละผู้คนวิ่งเข้าใส่เหมือนกับจะไปแย่งชิงเงินชิงทองสมบัติพัสถานยังไง ยังงั้น แต่เพราะเป็นหน้าแล้งดินแห้งแตกระแหง แรงลมจากใบพัดเครื่องบินทำให้ฝุ่นฝุ้งตลบกลบไปทั่วบริเวณ แต่ก็ไม่กลัวฝุ่นกันเลยวิ่งหน้าตั้งเข้าไปหุ้มห่อห้อมล้อมมุงดูระบินกันอย่างเป็นของแปลดประหลาด ดุจมนุษย์ต่างดาวเลย นึกถึงทีไรแล้วก็อดขำไม่ได้นะเนี่ย.

     ผมนี้ก็จำได้แม่นครับ และเวลาเลี้ยงควายไถนา ก็จะมีเครื่องบินจากสนามบินตาคลี ขึ้นลงจนคุ้นตา ยุคนั้นยังเป็นยุคกรุ่นสงครามเวียดนามและสงครามในภูมิภาคอินโดจีน รวมทั้งแถวหนองบัวเชื่อมกับรอยต่อเพชรบูรณ์ก็ยังเป็นพื้นที่สีแดงกับพื้นที่สีชมพู มีรถถังและรถยีเอ็มซีบรรทุกทหารไปรบกับคอมมิวนิสต์ในป่า

                                

     ที่คุ้นตาอีกอย่างหนึ่ง ก็คือรถบรรทุกข์ไม้ ยุคนั้นหนองบัวมีป่าไม้และเหมืองแร่ยิบซั่ม รถบรรทุกไม้ รถบรรทุกแร่ยิบซั่ม กับรถถังและรถยีเอ็มซี คุ้นเคยกับชาวบ้านก่อนมีรถประจำทางเสียอีก ในจำนวนรถเหล่านี้ รถบรรทุกไม้เป็นรถที่ผู้คนกลัวที่สุด มักเรื่องเล่าเรื่องนางไม้และสาง วิญญาณของเสือสมิงที่โหดร้าย กินคนมากจนสามารถแปลงร่างเป็นคน เชื่อมโยงกับรถบรรทุกไม้ซุง พอเห็นรถบรรทุกไม้ คนก็จะกลัวผีผลักท่อนซุงใส่และดึงโซ่ขาด หรือไม่ก็เวลาเห็นคนต่างถิ่นมาพร้อมกับรถบรรทุกซุง หากหน้าตาน่ากลัวก็จะกลัวกันไปด้วยว่าจะเป็นเสือสมิงแปลงร่างเป็นคนมาหากินคน

                               

     ยุคนั้นนี่ ที่หัวตลาดก็มักจะมีคนเร่เล่นกลขายยา ยาถ่าย ว่านกันเสือและงูกัด แต่ระหว่างที่เล่น หากมีเฮลิปคอปเตอร์มาลงหนองบัวหรือใกล้ๆ ทั้งวงเล่นกล ตลาด และคนขายของ ก็แทบจะวางมือวิ่งกันไปดูเฮลิปคอปเตอร์เสียหมด

      ขอคารวะและต้อนรับเพื่อนเวทีคนหนองบัว  จากสหรัฐอเมริกา 

    มีเพื่อนเวทีคนหนองบัวจากอเมริกาถึง ๒ คน แต่เรื่องราวของอเมริกานั้น ผมไม่รู้จะหาแง่มุมไหนมาคุยแสดงสันถวะเพื่อนของเราและให้เป็นที่ได้เรียนรู้ขยายโลกทรรศน์แก่ท่านผู้อ่านชาวหนองบัวไปด้วยที่แปลกใหม่ไปกว่าที่คนทั่วไปก็ทราบ เพราะในบรรดาเรื่องราวของต่างประเทศนั้น สำหรับคนไทยทั่วไปแล้ว ประเทศสหรัฐอเมริกาคงจะเป็นประเทศที่เราได้รับรู้ มีความเกี่ยวข้องผูกพันกันมากที่สุดในโลกแทบจะทุกมิติก็คงจะได้

     

      แต่จะว่าไปแล้ว   ชุมชนหนองบัวก็มีเรื่องราวที่ร่วมเนื้อหากับสังคมอเมริกันอยู่เหมือนกัน โดยในอดีตนั้น เมื่อปี ๒๕๑๑ ที่ร้านค้าหัวตลาดดังภาพบนซ้าย เป็นร้านค้าร้านแรกของหนองบัวหรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจนะครับที่มีโทรทัศน์ขาว-ดำเป็นเครื่องแรก ในวันที่อเมริกาส่งยานอวกาศอพอลโล ๑๑ ขึ้นไปดวงจันทร์และมีมนุษย์ขึ้นไปด้วยและถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ด้วยนั้น โรงเรียน หน่วยงาน และร้านรวงแทบทั้งหมดในหนองบัวก็แทบจะปิดหมด แล้วก็มานั่งดูยานอพอลโลลงดวงจันทร์จากรายการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ปัจจุบันนี้ ร้านค้าหัวตลาดดังในภาพนี้ไม่มีแล้ว แต่คูหาตรงกันข้ามซึ่งเป็นของเถ้าแก่อ๋าและแมวลูกเถ้าแก่อ๋า เพื่อนรักคนหนึ่งของผม ยังคงอนุรักษ์ไว้อยู่ ลักษณะเป็นอาคารไม้สองชั้นแบบเดียวกัน

                                         

                        ตราแผ่นดิน และธงชาติประเทศสหรัฐอเมริกา อ้างอิงภาพ : ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
                        ดวงดาวบนพื้นน้ำเงิน ๕๐ ดวงเป็นเครื่องหมายมลรัฐจำนวน ๕๐ รัฐ
                        ซึ่งรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐและปกครองบริหารด้วยระบอบประธานาธิบดี
                        ปัจจุบัน บาราค โอบามา ลูกครึ่งเอเชียอินโดนีเชีย-อเมริกันอาฟริกัน เป็นประธานาธิบดี

      สหรัฐอเมริกา  ตั้งอยู่ในทวีอเมริกาเหนือ มีพลเมืองกว่า ๓๐๔ ล้านคนซึ่งมากเป็นอันสามของโลกรองจากจีนกับอินเดีย และมากกว่าอินโดนีเซียซึ่งมีพลเมืองมากเป็นลำดับ ๔ ของโลก เป็นประเทศที่ประกาศอิสรภาพจากเครือจักรภพอังกฤษในยุคจักรวรรดินิยมได้เป็นประเทศแรก แต่ก็มีพัฒนาการด้านต่างๆอย่างรวดเร็วและในปัจจุบัน หลังการสลายตัวของสหภาพโซเวียตรัสเซีย อเมริกาก็จัดว่าเป็นขั้วมหาอำนาจเดี่ยวของโลก

    ผมขอนำเอาด้านที่คนทั่วไปไม่ค่อยทราบมาคุยให้รู้จักอเมริกากับสังคมไทยดีกว่านะครับ อยากเล่าผ่านเรื่องราวของศาสตราจารย์กมล ทัศนาญชลี ศิลปินไทยที่เชื่อมสังคมไทยและสังคมอเมริกาด้วยงานศิลปะและวัฒนธรรม และเป็นผู้ที่เดินไปในนามประเทศไทยและคนเอเชียคนเดียวที่ไปร่วมเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ศิลปะของโลก

     

    อธิบายภาพ : ซ้าย : ผลงานศิลปะของกมล ทัศนาญชลี หนังใหญ่-อเมริกา นำเอาความเป็นสังคมไทยยุคใหม่กับยุคดั้งเดิมผสมผสานเข้ากับความเป็นสังคมอเมริกันแล้วสื่อสะท้อนด้วยศิลปะจัดวางองค์ประกอบ(Composition Art) ขวา : กมล ทัศนาญชลี และ ดร.อุไรวรรณ เทียนทอง ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และคณะ ขณะไปศึกษาดูงานและพัฒนาความร่วมมือทางด้านวิชาการและศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศอเมริกากับประเทศไทย

    กมล ทัศนาญชลี เป็นนักเรียนศิลปะจากโรงเรียนเพาะช่างประเทศไทย แต่เป็นผู้ที่ก่อเกิดและเติบโตขึ้นมาในท่ามกลางตระกูลของช่างสิบหมู่ หมื่นช่างชำนาญกิจ ชาวฝั่งธน จากนั้นก็เข้าเรียนศิลปะสมัยใหม่ที่ผสมผสานกับวิถีช่างดั้งเดิมของไทยที่โรงเรียนเพาะช่าง ต่อด้วยวิทยาลัยการศึกษาประสานมิตร และได้รับการอุปถัมภ์จากครอบครัวชาวอเมริกันให้ได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา กระทั่งใช้ชีวิตทำงานศิลปะทั้งในอเมริกา  ประเทศไทย และทั่วโลก

    มองในแง่ของการศึกษาและการสืบทอดวิถีแห่งช่างในขนบการศึกษาอบรมแบบดั้งเดิมของสังคมไทยนั้น ในทรรศนะผมแล้ว ศาสตราจารย์กมล ทัศนาญชลี จัดว่าเป็นศิลปินที่ได้รับการศึกษาและฝึกฝนในแนวช่างไทยที่เรียนรู้และใช้ชีวิตรับใช้ครูแบบสำนักอาศรมจากสำนักครูช่างโดยตรงและรอบด้านที่สุดก่อนผสมผสานเข้ากับศิลปะสมัยใหม่ของโลกคนเดียวที่ยังเหลืออยู่ เป็นเพาะช่างรุ่นเดียวกับ สุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องอมตะแผ่นเสียงทองคำและเป็นผู้นำทางการเมืองอีกหลายฐานะทั้ง สส.หัวหน้าพรรคการเมือง วุฒิสมาชิก

    ด้วยพื้นฐานดังกล่าว ทำให้กมล ทัศนาญชลี ทำงานได้หลายแนวและสะท้อนทรรศนะต่อสรรพสิ่งได้อย่างกว้างขวาง เป็นพลเมืองของสังคมที่ไร้กรอบไร้พรมแดนที่สะท้อนความสอดคล้องกลมกลืน ผสมผสาน ลงสู่การทำงานศิลปะที่มีสตูดิโออยู่ในอเมริกา และเดินทางทำงานศิลปะไปทั่วโลก ทำให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศไทย อเมริกา และทั่วโลก โดยเฉพาะทางด้านศิลปะของประเทศไทยนั้น ก็ทำให้เกิดศูนย์ศิลปกรรมไทยและสภาศิลปกรรมไทยในอเมริกา มีบทบาทหลายด้าน ทั้งต่อการเผยแพร่งานศิลปกรรมของประเทศไทยในอเมริกา ก่อให้เกิดโครงการแลกเปลี่ยนทางศิลปะวัฒนธรรม สร้างคนรุ่นใหม่ทั้งโดยการศึกษาดูงานและการศึกษาต่อในต่างประเทศทางศิลปะ รวมทั้งมีบทบาทต่อการร่วมริเริ่มและก่อตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศไทยหลายแห่ง

    นอกจากนี้ กมล ทัศนาญชลี จัดว่าเป็นศิลปินไทยและจากกลุ่มประเทศในเอเชียที่นอกเหนือจากศิลปินอเมริกาและยุโรปเพียงคนเดียว ที่ได้รับคัดเลือกเป็น ๑ ในศิลปินทุกยุคสมัย ๓๐,๐๐๐ คน เพื่อบันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะของโลก 

    มองผ่านบทบาทของคนตัวเล็กๆและความริเริ่มสร้างสรรค์จากศิลปะซึ่งเป็นภาษาที่สามารถข้ามพรมแดนและข้อจำกัดทางสังคมวัฒนธรรมนั้น นอกจากเห็นความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์สุข ร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามด้วยกันมากมายโดยความริเริ่มของพลเมืองเองแล้ว ก็เห็นอีกมิติหนึ่งที่กล่าวได้ว่า แม้นเป็นมิตรประเทศที่อยู่ห่างไกลกันนั้น ก็แทบจะกล่าวได้ว่าเรามีจิตวิญญาณและลมหายใจเดียวกันเลยทีเดียว

    จึงขอคารวะและร่วมต้อนรับเพื่อนเวทีคนหนองบัวจากอเมริกาทั้ง ๒ ท่าน ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ.

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรกัลยาณมิตรจากอเมริกกาด้วยความยินดี

    อีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญและเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเกือบ ๔๐ ปีที่ผ่านมา คือเกิดขึ้นหลังจากยานอวกาศอพอลโล ๑๑ ของอเมริกาขึ้นจอดบนดวงจันทร์ ๔ ปี นั่นก็คือในปี ๒๕๑๔ ได้มีการสร้างวัดไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้น โดยวัดดังกล่าวนับเป็นวัดไทยแห่งแรกที่ถือกำเนินขึ้นในอเมริกา ณ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย 

    แนวคิดการสร้างวัดไทยในอเมริกาเกิดขึ้นหลังจากที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระพิมลธรรม(ชอบ อนุจารีเถระ) ราชบัณฑิตเดินทางไปเยี่ยมญาติโยมที่อเมริกา พระเดชพระคุณหลวงพ่อชอบนั้นถือได้ว่าท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีบทบาทสำคัญในวงการพุทธจักรอย่างมากเป็นนักคิดนักเขียนนักปกครอง เป็นนักประพันธ์ที่ผลงานทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนาจำนวนมากถ้าเป็นปัจจุบันพูดได้ว่าท่านเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ เป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต และเป็นผู้ที่เสนอให้มีการจัดงานวันอาสาฬหบูชาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

    การกำเนิดวัดไทยที่อเมริกาเริ่มขึ้นในปี ๒๕๑๔ เมื่อหลวงพ่อเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศยุโรปได้ไปพำนักที่วัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้วเดินทางต่อไปยังอเมริกา ซึ่งในขณะนั้นมี ฯพณฯสุนทร หงส์ลดารมย์ เป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี  เวลานั้นมีคนไทยผู้ใจบุญจำนวนมาก ทั้งพ่อค้า ประชาชน  ข้าราชการ นักศึกษาที่อยู่ในเมริกาตามเมืองต่างๆ ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมต่างๆ เมื่อได้พบหลวงพ่อจึงได้รวมตัวกัน ปรึกษาหารือแล้วเสนอให้มีการสร้างวัด เพราะการมีวัดจะทำให้มีพระสงฆ์มาจำพรรษาปฏิบัติศาสนกิจ เป็นที่พึ่งทางใจ แก่พี่น้องคนไทย และคนอเมริกา ทำให้มีศูนย์รวมจิตใจของคนไทยในต่างแดนได้ต่อไป

    และวัดไทยในอเมริกาก็ทำหน้าที่หลายอย่างด้วยกัน พระท่านช่วยภาษาไทยวัฒนธรรมไทยให้กับลูกคนไทยที่เกิดเติบโตในอเมริกา สอนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สอนกรรมฐานแก่คนไทยคนท้องถิ่น ตอนหลังก็มีคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาในเมืองไทยไปสอนดนตรีไทย รำไทย ให้เยาวชนอเมริกันเชื้อสายไทย จนเดี๋ยวนี้วัดไทยได้จัดกิจกรรมเหมือนกับเมืองไทย มีงานสงกรานต์ งานลอยกระทง ทอดกฐิน แห่เทียนพรรษา ด้วยมีคนไทยมากและวัดก็มีมากด้วยตอนนี้วัดไทยจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจพี่น้องชาวไทย ลาว เวียดนามและคนท้องถิ่น ในระดับประเทศนั้นอเมริกาประเทศเดียวมีวัดไทยมากที่สุดในปัจจุบัน.

     

    นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแลฯ ท่านอาจารย์วิรัตน์ พี่ฉิกและทุก ๆ ท่านครับ

    ผมเพิ่งลงเครื่องที่สนามบินอุดร / กลับจากเมืองหลวงของประเทศไทยครับ พอถึงที่ทำงาน ลองเข้ามาที่ชุมชนของเรา โอ้โฮ....เวทีคนหนองบัวบ้านเราเจริญงอกงามดีเหลือเกิน เห็นคำเชื้อเชิญของพี่ฉิก ผมเองก็ว่าดีเหมือนกันนะครับลอง ๆ ทาบทามท่านอาจารย์วิรัตน์ดูก่อนว่าเวลาจะตรงกันหรือไม่

    เมื่อวันอาทิตย์ (21)ผม / หลานชาย(AIT)/พี่ชายที่มาจากออสเตรเลียเมื่อวันที่ 18 มี.ค.นี้ ขับรถไปกาญจนบุรีกัน ผ่านมหาวิทยาลัยมหิดลก็ยังแว๊บ ๆ นึกถึงอาจารย์ ได้เล่าเรื่องของอาจารย์วิรัตน์ให้ผู้ร่วมเดินทางฟังด้วย อ้อ ! ...เพื่อไม่ให้ตกขบวน ขอแสดงความยินดีกับการได้รับรางวัล...ข้าราชการดีเด่น....ของอาจารย์ ดร.วิรัตน์ด้วย(อีกคน)ครับ

    เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2552 ผมเองก็ได้รับรางวัลเดียวกับอาจารย์ครับ แล้วก็เป็นเรื่องที่แปลกเหมือนกัน คือ มีการจัดงานใหญ่โต ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายเป็นประธาน เชิญแขกทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวมาเป็นเกียรติในงาน ผมได้ช่วยจัดเตรียมงานต่าง ๆ อาทิ เชิญแขก ฯลฯ โดยไม่ทราบมาก่อนว่าจะได้รับรางวัลนี้ (ไม่มีใครบอก --- เข้าใจว่าจะทำเซอร์ไพรส์) พอถึงวันงานก็บังเอิญต้องพาลูกสาวที่มาจาก สหรัฐฯไปทำพาสปอร์ตเล่มใหม่ที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากเล่มเก่าจะหมดอายุภายในไม่เกิน 1 เดือน จึงไม่ได้อยู่ร่วมงานและขึ้นรับ.......ถ้าทราบล่วงหน้าสักนิด คงจะเป็นการดีไม่น้อยที่ลูกสาวจะได้อยู่ร่วมในพิธีและทราบเรื่องราวของพ่อบ้าง แล้ววันทำพาสปอร์ตก็อาจเลื่อนไปอีกสักวัน -สองวันก็ได้

    ช่างบังเอิญเหลือเกินครับ ที่รางวัลของผมกับรางวัลของอาจารย์ เป็นรางวัลเดียวกัน แล้วก็เกิดเหตุการณ์แปลกประหลาด เหมือนกันอีก

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขอแสดงมุทิตาและยินดีด้วยกับรางวัลข้าราชดีเด่นที่อาจารย์สมบัติ ฆ้อนทองได้รับในคราวครั้งนี้ เวทีคนหนองบัวแห่งนี้จึงมีความยินดีและขอร่วมฉลองกับรางวัลนี้ด้วย
    ถ้าพูดให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันก็พูดได้ว่า ทั้งอาจารย์วิรัตน์และอาจารย์สมบัตินั้นได้เป็นอำมาตย์(ข้าราชการทุกระดับเป็นอำมาตย์)ดีเด่นด้วยกันทั้งคู่ ขอให้ท่านอำมาตย์ทั้งสองมีความสุขตลอดไป.

    • ได้ความรู้ความเป็นมาของการสร้างวัดไทยในอเมริกาแห่งแรกในแคลิฟอร์เนียให้เป็นความงอกเงยของการรู้โลกกว้างไปด้วยเลยครับ
    • เห็นท่านพระอาจารย์มหาแลเรียกผมกับคุณสมบัติเป็นท่านอำมาตย์ทั้งสองแล้ว ถึงกับหัวเราะคนเดียวกับมุขนี้เลยนะครับ ทันสมัย-ทันเหตุการณ์จริงๆ
    • แต่ตอนนี้ผมไม่ได้เป็นอำมาตย์แล้วครับลาออกไปได้ปีนี้ก็ย่างเข้าไปที่สามแล้วครับ

      สวัสดีครับคุณสมบัติครับ 

    • ขอแสดงความยินดีกับคุณสมบัติด้วยเช่นกันครับ
    • ขอให้มีกำลังใจครับ คุณสมบัติได้ทำงานสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับสังคมมากนะครับ ต้องถือว่าเป็นเกียรติยศของข้าราชการและเป็นความน่าชื่นชม-ภาคภูมิใจของลูกหลานชาวบ้านหนองบัว
    • ผมเองนั้นแม้เป็นรางวัลเล็กๆน้อยๆ แต่ความเป็นข้าราชการนั้นผมก็ภูมิใจในชีวิตมากแต่เมื่อก่อนไม่ได้พูดถึงแง่มุมนี้ทั้งที่ผมก็ได้รางวัลอย่างนี้จากหน่วยงานและมหาวิทยาลัยมาแล้ว ๓ ครั้ง เพราะยังอยู่ในสถานะการพูดให้ตนเองดูดีและได้ประโยชน์ไปด้วย แต่ตอนนี้ผมลาออกจากราชการไปแล้ว จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการพูดให้เป็นความดีอีกแล้ว แต่อยากให้เป็นกำลังใจแก่คนข้างหลัง
    • คนทำงานราชการนั้นเก่งและจะต้องเก่งให้มากๆขึ้นอีกครับ เงินเดือนของข้าราชทุกประเภทนั้นต่ำ แต่การทำงานของข้าราชการเป็นงานที่ต้องทำด้วยสำนึกคุณธรรมต่อความเป็นส่วนรวมและมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องทำด้วยจิตใจเหมือนการทำความดีงามอยู่ข้างหลัง ทว่า มุ่งให้ผลแห่งการปฏิบัติงอกงามขึ้นในสังคมและผู้อื่น
    • ผมไม่กล้าใช้คำพูดว่า เป็นการงานที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมแห่งชีวิต  มากครับ 
    • เคยมีคนหนองบัวชักชวนกันพบปะและกินข้าวด้วยกัน แล้วก็เชิญคุณครูเก่าแก่ของโรงเรียนหนองคอกไปเป็นขวัญกำลังใจด้วยคือ คุณครูสุนทร สันคามิน และ คุณครูลัดดา พูลสวัสดิ์ ประสานงานกันแบบขลุกๆขลักๆเพราะต่างก็ไม่ค่อยมีข้อมูลอยู่ในมือ ใช้บอกต่อๆกัน ปรากฏว่ามีคนไปอย่างกับเป็นงานขนาดใหญ่ เห็นแล้วก็ต้องตื่นตาตื่นใจว่ามีศิษย์เก่าคนหนองบัวไปทำการงานอยู่ในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงอยู่มากมาย
    • พอพูดถึงการหาโอกาสเจอกันแล้ว ก็เลยขอพูดเพื่อขออภัยเพื่อนๆสักหน่อยเรื่องหนึ่งนะครับ เผื่อพรรคพวกได้เข้ามาอ่าน
    • เมื่ออาทิตย์ก่อน แมวลูกเถ้าแก่อ๋าหัวตลาดได้จัดงานแต่งงานลูกสาว บอกกล่าวแก่ผมและเพื่อนๆซึ่งผมก็ตั้งใจดิบดีว่าจะไปร่วมงานและดีใจที่จะได้เจอเพื่อนๆคนหนองบัวโดยไม่ต้องกลับบ้าน
    • ผมนั่งทำงานกระทั่งก่อนถึงเวลาว่าจะเดินทางไปร่วมงาน ก็วางมือ แต่ก่อนจะไปอาบน้ำท่าและแต่งตัว ก็นอนแผ่ให้หายเมื่อยหลังกับหลับตาให้หายตาลาย-เจ็บลูกตา ผลก็คือดันหลับผล็อยไปราวกับหมดสติ ตื่นขึ้นอีกทีก็เป็นเวลางานที่เขาจัดงานที่สโมสรนายตำรวจที่บางเขนไปแล้ว วันต่อมา ผมจะไปร่วมฟังปาฐกถาพิเศษงานหนึ่งซึ่งน่าสนใจมากแล้วก็เป็นโอกาสจะได้เจอครูบาอาจารย์ด้วย ก็ดันเป็นอย่างนั้นอีก เลยต้องขออภัยเพื่อนๆด้วยครับที่ไม่ได้ไปเจอกัน

    เห็นกิจกรรมความเคลื่อนไหวของคนหนองบัว รวมทั้งเห็นฉิก คุณครูอนุกูล และคุณสมบัติ บอกกล่าวเรื่องราวที่รับทราบจากคนรอบข้าง พร้อมกับบอกต่อๆกันให้ได้ทราบ ผมเลยได้ความคิดทำสื่อให้อีกชิ้นหนึ่งดีไหมครับ เป็นสื่อที่เอาไว้ใช้สำหรับบอกข่าวคราวและคุยถึงกันเป็นข่าวสังคมของคนหนองบัว รวมทั้งเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ เหมือนกับเป็นแผ่นพับหรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ที่ทำเป็นสื่อออนไลน์แต่มีเรื่องราวความเคลื่อนไหวให้เข้ามาติดตามได้เป็นระยะๆ เหมือนกับมีร้านปากซอยและแผ่นป้ายโปสเตอร์ตามแยกต่างๆของหนองบัว...........

    •   เวทีเรียนรู้สร้างสุขภาวะของคนหนองบัว   ก็เอาไว้คุยเชิงเสวนา อภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนทรรศนะต่อความเป็นส่วนรวม โดยถือเอาท้องถิ่นหนองบัวและการได้สร้างพลังความสำนึกต่อสุขภาวะของหนองบัวเป็นตัวตั้ง รวมทั้งใช้เป็นแหล่งเก็บรวบรวมข้อมูล แบบสบายๆ คนที่เข้ามาอ่านก็ได้ประโยชน์และได้ความบันดาลใจ คนเข้ามาคุยก็มีที่ตกผลึกความคิดพร้อมกับได้แบ่งปันประสบการณ์ออกไปให้เป็นประโยชน์ ได้มีแหล่งบ่มเพาะการทำเรื่องดีๆให้กับบ้านเกิด ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่การงานอย่างไม่จำกัดว่าทำอยู่ที่ไหน และเมื่อมีโอกาสก็จะได้เป็นกำลังพัฒนาชุมชนหนองบัวร่วมกันให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
    •   ลานปัญญาของคนหนองบัว   ก็เอาไว้เป็นที่รวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูล สะสมเอาไว้เป็นความรู้ของหนองบัว คนที่เข้ามาอ่านก็จะมีแหล่งได้เรียนรู้สังคมท้องถิ่นของหนองบัวเพิ่มขึ้น ครูอาจารย์ ผู้นำชุมชน และหน่วยงานในท้องถิ่น ก็จะได้มีแหล่งนั่งเรียนรู้ คิดทบทวน เพื่อวางแผน ปฏิบัติการ และริเริ่มสิ่งดีๆด้วยความจำกัดในการทำงานอย่างที่มีอยู่ ทว่า ด้วยกำลังความคิด กำลังจินตนาการสร้างสรรค์ และกำลังข้อมูลที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
    •   สังคมหนองบัวออนไลน์   สองหัวข้อข้างบนนั้นมีแล้ว แต่หัวข้อหลังนี้คือที่กำลังกล่าวถึงและยังไม่มีครับ น่าจะเป็นสื่อบอกกล่าวประชาสัมพันธ์และคุยกันง่ายๆสั้นๆเหมือนกับเอิ้นถามกันหรือตะโกนบอกกล่าวถามไถ่กัน ดีไหมครับ เหมือนกับมีแผ่นพับหรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น แต่ทำเป็นออนไลน์ในนี้ ผมเพิ่งแค่คิดเฉยๆนะครับ ยังไม่รู้ว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านไหม และถ้าหากทำอีกหัวข้อ ก็จะชื่ออย่างนี้หรือใช้ชื่ออย่างไรดีถึงจะฟังดูง่ายแต่สื่อให้เข้าใจได้ดี
    • ลองทำในนี้ไปก่อนดีไหมครับ เพราะในโปแกรมอื่นๆเริ่มมีโปแกรมที่สามารถออนไลน์และรองรับเครือข่ายที่จำกัดความเป็นท้องถิ่นจำเพาะกลุ่มได้ หากทำในนี้ได้ผลดีแต่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั่วไป เราก็อาจจะย้ายไปใช้งานในโปรแกรมอย่างนั้นได้ครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขอสนับสนุนแนวคิดของอาจารย์ที่จะเปิดเวที สังคมหนองบัวออนไลน์ว่าน่าทำมากๆ
    อาตมานึกถึงรายการเพลงทั้งลูกทุ่งลูกกรุงสตริงเพลงเพื่อชีวิตทางวิทยุเอฟเอ็มทันทีเลย
    รายการดังกล่าวจะมีดีเจที่มีผู้ฟังเป็นแฟนคลับ เป็นแฟนขาประจำของดีเจแต่ละคนที่คอยติดตามฟังอยู่เป็นจำนวนมาก ดีเจสามารถสร้างบรรยากาศให้ผู้ฟังเข้าตัวถึงดีเจได้ด้วยการโทร.มาพูดคุยและขอเพลงอย่างเป็นกันเอง เรียกกันว่าหน้าไมค์ ผู้ฟังบางท่านก็ใช้นามจริง บางท่านก็ใช้นามแฝงหรือใช้ชื่อหมู่บ้าน มีทั้งขอเพลงที่ฟังเองและขอมอบใฟ้ผู้อื่นที่รู้จักกัน

    หนองบัวออนไลน์ก็คล้ายกันกับรายการหน้าไมค์ทางวิทยุคือเป็นการสื่อสารพูดคุยประชาสัมพันธ์ติดต่อกัน บอกกล่าวเรื่องราวความเคลื่อนไหวทั้งท้องถิ่นและคนไกลบ้าน ใครสะดวกที่จะใช้ชื่อจริงก็ได้ ถ้าไม่สะดวกในการใช้ชื่อจริงก็ไม่เป็นไร ใช้นามแฝงหรือใช้หมู่บ้านเราในหนองบัวก็ได้

    ถ้าให้คาดเดาผู้ที่เข้ามาอ่านในบล๊อกหนองบัวเวลานี้ น่าจะเป็นคนหนองบัวไม่ใช่น้อยเลย แต่ก็เป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น เพราะท่านผู้อ่านทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแต่เป็นคนหลังไมค์ทั้งหมด พูดแบบวัยรุ่นตามรายการวิทยุก็ต้องบอกว่าคนหน้าไมค์มีแต่เจ้าเก่าเจ้าเดิมเจ้าประจำ อันที่จริงรายการวิทยุผู้ฟังส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนหลังไมค์อยู่ดีนั่นแหละก็ขอให้เวทีคนหนองบัวบ้านเรานี้ จงเป็นครอบครัวคนหน้าไมค์ร่วมกัน.

    • ที่ท่านพระคุณเจ้าตั้งข้อสังเกตว่าคนที่ที่เข้ามาอ่าน-เข้ามาดูนั้นไม่น้อยเลย แต่คนหน้าไมค์หรือคนที่ชวนคุย-ชงลูก เสาะหาเรื่องราวต่างๆมาคุยกันนั้นมีขาประจำเจ้าเดิมๆอยู่ไม่กี่คน
    • ดูจำเพาะตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๓ ถึงวันนี้ก็ ๖ วันเท่านั้น ก็มีคนเข้ามาดูรวมแล้วก็ ๗๕๙ คลิ๊กของ ๑๓๗ IPคน-เครื่อง เฉลี่ยแล้วก็ ที่ IPคน-เครื่องหนึ่งก็เข้ามาอ่านประมาณ IPคน-เครื่อง ละ ๕.๕ ครั้ง
    • โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเป็นการซื้อสินค้าและการใช้บริการสาธารณะต่างๆนั้น หากภายใน ๑ สัปดาห์มีการใช้บริการซ้ำมากกว่า ๓ ครั้งนี่ถือว่าให้ความนิยมสูงมากนะครับ ก็ถือว่าเป็นอัตราที่ใช้ได้มากเลยทีเดียวครับ
    • แต่เจ้าประจำหรือคนหน้าไมค์ที่เขียนนั้น แม้มีอยู่ไม่กี่คนแต่ก็มีผู้คนแวะเวียนมาคุยกันหลากหลายอยู่พอสมควร ซึ่งก็ต้องยอมรับมากเลยครับ โดยทั่วไปแล้วก็มักเป็นอย่างนี้และขาดแคลนมากกว่านี้อีกครับ
    • ผมยังมองว่าการที่พวกเราได้ทำทิ้งไว้ให้ชุมชนหนองบัวได้อย่างนี้ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเหมือนกันครับ เพราะความที่โดยทั่วไปแล้ว ก็มักขาดแคลนคนเข้ามาใช้เครื่องมืออย่างนี้สร้างความรู้ สร้างแหล่งข้อมูล ทำเป็นสื่อ สื่อสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะในระดับชุมชนตามพื้นที่ต่างๆของประเทศ แต่หนองบัวเรากลับมี และมีมากกว่าหลายแห่งของประเทศ
    • ในอนาคตอันใกล้นี้ เวทีอย่างเวทีคนหนองบัวนี้ก็จะยิ่งเป็นพื้นฐานที่สามารถสร้างความแตกต่างได้มากยิ่งๆขึ้น ผมมองว่าอย่างนั้น เพราะพัฒนาการของเทคโนโลยีด้านข่าวสาร สารสนเทศ และสื่อมัลติมีเดียทั้งหลายนั้น เขาก็มุ่งสนองตอบกับสภาพโดยทั่วไปที่คนประพฤติปฏิบัติ เมื่อคนไม่ชอบอ่าน-คิด-เขียน พวกสื่อต่างๆก็กำลังจะกระโดดข้ามอุปสรรคพวกนี้ไป โดยเน้นการพูดแบบได้ยินเสียง เห็นหน้าตา เก็บรวบรวมเป็นคลังข้อมูลและส่งผ่านข้อมูลเป็นภาพเคลื่อนไหว สังคมทั่วไปกำลังจะเคลื่อนและเปลี่ยนผ่านไปทางนั้น เพราะฉนั้น อย่างเวทีคนหนองบัวนี้ จะเป็นสิ่งที่ยิ่งเกิดขึ้นได้ยากในชุมชนอื่นๆครับ
    • อย่างที่พระคุณเจ้าชวนเชิญให้คนเข้ามาเขียน โดยยังไม่ต้องเกร็งมาก แค่เข้ามาสัมผัสและหาความคุ้นเคย หาความวางใจ รู้จักใช้แบบลองผิดลองถูก หรือถ้าหากยังกลัวๆอยู่ก็เข้ามาลองใช้ดูก่อนก็ได้นั้น เป็นวิธีหนึ่งที่ผมเห็นว่าเหมาะสมดีครับ ชาวบ้านและเด็กๆโดยทั่วไปนั้น แค่เสียบและถอดปลั๊กไฟก็ปอดแหกแล้วครับ
    • ด้านหนึ่งของเวทีนี้ ก็เลยเป็นเหมือนแหล่งให้ประสบการณ์เพื่อพัฒนาพลเมืองยุคใหม่ให้แก่คนของเราในสังคมไปด้วยเลยนะครับ เป็นการเรียนรู้และศึกษาเทคโนโลยีความรู้ เพื่อจะได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคมน่ะครับ ถือว่าทำให้ชาวบ้านและทำให้ลูกหลานของเราได้อย่างหนึ่งเหมือนกัน
    • แล้วผมจะเปิดอีกหัวข้อให้เป็นสื่อสังคมคนหนองบัวอย่างที่หารือพระคุณเจ้าและทุกท่านนะครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • อันที่จริงต้องขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านซึ่งเป็นเจ้าเก่าเจ้าประจำเจ้าเดิมหรือเจ้าใหม่แม้จะอยู่หลังไมค์ก็ตาม ขอให้ได้รับความขอบคุณจากใจผู้ที่ร่วมเขียนข้อมูลในชุมชนหนองบัว ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเจ้าเก่าเจ้าประจำเจ้าเดิมเหมือนกับผู้อ่านนั่นเอง
    • อาตมาในฐานะผู้ร่วมเขียนด้วยคนหนึ่ง ไม่ได้มาเชียร์มายกย่องผู้ที่ช่วยกันขีดเขียนให้ความรู้ในชุมชนบ้านเรา ซึ่งผู้ให้ข้อมูลความรู้นั้นก็เป็นเจ้าเก่าที่สลับหมุนเวียนกันมาแสดงความคิดเห็นบ้าง ช่วยเพิ่มเติมข้อมูลความรู้ในบางแง่บางมุมที่อาจตกหล่นไปในเรื่องนั้นๆให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นบ้าง ถึงอย่างไรก็ต้องขอขอบคุณนักเขียนเจ้าเดิมแม้มีอยู่น้อย แต่ก็มากด้วยคุณภาพ(ไม่ได้ค่าโฆษณาแต่ประการใด)ล้วนมีน้ำใจและปรารถนาดีต่อคนบ้านเราอย่างเต็มใจและจริงใจอย่างมากด้วย
    • และขอขอบคุณผู้อ่านที่เสียสละเวลาและมีน้ำใจต่อชุมชนหนองบัวทุกท่าน จงได้ความรู้ ความเบิกบานใจในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ เวทีคนหนองบัวแห่งนี้ทุกเมื่อ

    ขอร่วมชื่นชมทุกท่านกับพระคุณเจ้า รวมทั้งขออนุโมทนากับพระคุณเจ้าด้วยครับ

    นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแลฯ และสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับที่ได้แสดงมุทิตาจิตและให้กำลังใจ

    ผมเห็นด้วยกับความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องทั้งที่ได้ทำมาแล้วและที่กำลังจะทำต่อไปในอนาคตเพื่อชุมชนของเรา

    ขอชื่นชมกับทั้งสองท่านเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทุ่มเทอย่างชนิดเอาการเอางานแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตลอดมา ผมเองนั้นได้ความรู้จากการแสดงความเห็น การวิเคราะห์วินิจฉัยปัญหา การแสดงออกทางปัญญาอย่างจริงใจและซื่อตรงของท่านทั้งสองเรื่อยมาตั้งแต่รู้จักชุมชนนี้...คิดว่าท่านอื่น ๆ ที่เข้ามาก็คงมีความรู้สึกไม่แตกต่างกัน

    สัปดาห์ที่แล้วมีเรื่องที่ต้องทำอยู่หลายเรื่อง มีเรื่องหนึ่งแม้มิใช่เนื้อหาของงานในหน้าที่โดยตรง แต่ก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติภารกิจตามแนวชายแดน....หลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน...ที่ผมเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้น่ะครับ

    สัปดาห์ที่แล้วมีวิทยากรสองคน เป็นคนนครสวรรค์ทั้งคู่คือ อาจารย์สิทธิพร ณ นครพนม นายอำเภอโพธิ์ตาก ท่านเป็นคนในตลาดปากน้ำโพครับ อีกคนใช่ใครอื่น..ผมเองครับ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับวันนี้ /เมื่อวาน /พรุ่งนี้ ท่านรองศาสตราจารย์ นู ไซญะสิทธิวงศ์ จากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ สปป.ลาว นับเป็นความภาคภูมิใจจริง ๆ ครับที่ได้ผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นเจ้าของภาษาแท้ ๆ มาถ่ายทอดให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากร (แตกต่างจากผมซึ่งเป็นลาวครึ่ง ๆ กลาง ๆหรือไม่ก็มีเสี้ยวหนึ่งของความเป็นลาว)

    เอาไว้มีโอกาส จะนำบรรยากาศในชั้นเรียนมาเล่าสู่กันอ่านครับ.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    อนุโมทนาขอบคุณอาจารย์สมบัติถือเป็นกำลังใจที่ดีอีกอย่างหนึ่งที่ได้ช่วยส่งเสียงให้ได้ยิน อาตมานึกถึงเมื่อตอนเป็นเด็กยุคนั้นชาวบ้านนอกอย่างเรา การจะเข้าถึงความทันสมัยได้นั้นดูห่างไกลเหลือเกิน จะมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นที่เข้าถึงได้นั่นก็คือสถานีวิทยุเอเอ็ม

    ได้รู้จักเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างก็แต่ทางเสียงเท่านั้น ถึงจะรู้จักกันแต่เพียงทางเสียงโดยที่ไม่เห็นหน้าค่าตาเลยก็เถอะ แต่มีความสนิทสนมเป็นกันเองระหว่างผู้จัดรายการกับผู้ฟังเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันคล้ายเป็นญาติยังไง ยังงั้น ไม่ว่าจะเป็นรายการเพลงลูกทุ่ง นิทาน ละครคณะนกฮูก(เสนอเรื่องผีตอนกลางคืน)ละครยอดฮิตคณะนีลิกานนท์(วิเชียร นีลิกานนท์) ลิเก ข่าวชาวบ้าน โฆษกหรือนักจัดรายการทางวิทยุดังกล่าวล้วนแต่มีแฟนคลับแฟนประจำขาประจำด้วยกันทั้งนั้น ใครชอบรายการอะไรก็จะจำตารางเวลาที่รายการนั้นออกอากาศในแต่ละวันได้แม่นยำเหมือนบันทึกไดอารี่เลยเชียว ทั้งหมดนี้มีเพียงศิลปินลิเกและนักร้องลูกทุ่งเท่านั้นที่ชาวบ้านจะได้เห็นตัวจริงบ้างในหน้าแล้งตามงานวัด งานงิ้วหนองบัว งานประจำปี

    มีครั้งหนึ่งที่น้องสาวได้รับรางวัลจากรายการเพลงถ้าจำไม่ผิดคือสถานีวิทยุ วปถ.๙ นครสวรรค์ ด้วยการส่งชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วไปชิงโชคที่สถานีวิทยุได้เสื้อกระเป๋า เครื่องสำอาง น้องสาวได้เดินทางเข้าตัวเมืองนครสวรรค์กับโยมแม่ในครั้งกระโน้นยังจดจำได้ดีถึงทุกวันนี้แม้เพียงแค่นี้ก็ทำให้ภูมิใจได้

    ถ้าจะเปรียบเทียบบริษัทที่เป็นสปอนเซอร์สนับสนุนรายการวิทยุและนักจัดรายการต่างๆ แล้ว ผู้ที่เป็นกำลังใจและทำให้รายการนั้นๆอยู่ได้ก็คือผู้ฟังชาวบ้านทั้งหลายที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท เรียกว่าชาวบ้านนั้นเป็นทั้งกำลังใจและเป็นผู้มีอุปการคุณต่อดีเจและบริษัทนั่นเอง

    คนสมัยนี้เข้าถึงความรู้ข้อมูลข่าวสารและสิ่งบันเทิงต่างๆได้สะดวกรวดเร็วและง่ายมากเพียงเข้าไปในตลาดหนองบัวไม่กี่นาทีก็สามารถได้เห็นได้รับรู้โลกอย่างกว้างไกล ถ้าเป็นเมื่อก่อนการเขียนจดหมายส่งไปตามรายการเพลงที่สถานีวิทยุในเมืองนครสวรรค์ต้องใช้เวลาหลายวัน และเมื่อได้ยินโฆษกอ่านจดหมายของตัวออกอากาศทางวิทยุกำลังดำนา หรือเกี่ยวข้าวอยู่รู้สึกหายเหนื่อยเลยแหละ

    แม้แต่โทรทัศน์หลายคนก็ยังจำได้ รายการข่าวภาคค่ำประจำวันทางโทรทัศน์เมื่อก่อนผู้อ่านข่าวไม่ได้ปรากฏตัวหน้าจอโทรทัศน์เหมือนสมัยนี้ ผู้ชมทางบ้านก็จะได้ยินแต่เสียงผู้อ่านข่าวเท่านั้นเหมือนข่าวทางวิทยุเลย ก็เลยดีใจที่เห็นอาจารย์วิรัตน์จะทำสื่อออนไลท์สำหรับคนท้องถิ่นหนองบัวเรา ให้พี่น้องชาวหนองบัวได้พบปะพูดคุยสื่อสารบอกกล่าวข่าวสารถึงกัน และคงจะได้เห็นบรรยากาศความเคลื่อนไหวทั้งในพื้นที่หนองบัวและที่ไปทำงานไปเรียนหนังสือตามภูมิภาคต่างจังหวัด ขอให้ทุกท่านได้ฝากร่องรอยไว้ในเวลาที่ท่านเดินทางผ่านเข้ามาในเวทีคนหนองบัวแห่งนี้ได้ตามสะดวก.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ชุมชนหนองบัว-หนองกลับเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ก่อตั้งเป็นหมู่บ้านกันมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีผู้รู้ท่านได้สันนิษฐานไว้ว่า ชุมชนหนองบัว-หนองกลับที่เก่าแก่ดั้งเดิมในยุคแรกๆนั้นมีบางส่วนได้โยกย้ายลงมาจากเมืองสุโขทัย โดยไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าชาวหนองบัวที่ย้ายมาจากสุโขทัยชุดแรกนั้นย้ายลงมาปีใดแน่

    ข้อสันนิษฐานนี้ได้ตอบโจทย์ในใจผู้เขียน(คนเดียว)ที่มีความสงสัยมาอย่างยาวนานที่มีอยู่ว่า ทำไมสำเนียงภาษาพูดของชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่โดยเฉพาะคนในหมู่บ้านหนองบัว-หนองกลับแท้ๆนั้นจึงมีสำเนียงภาษาพูดที่คล้ายภาษาพูดของคนสุโขทัยอย่างมาก(เหน่อสุดๆในหนองบัวนั้น-ใกล้เคียงกับเหน่อสุโขทัยมาก)แม้ภาษาจะกร่อนหรือเพี้ยนไปบ้าง ตามยุคสมัยก็ตาม แต่ก็ยังมีคำพูดที่เหน่อคล้ายกันอยู่ไม่น้อย

    พระเณรชาวภูเก็ตที่รู้จักกันเคยมาหนองบัว ญาติอาตมาที่มีอายุมากๆพูดเหน่อสุดๆ ท่านต้องเงี่ยหูฟังบางคำฟังไม่ออก เราต้องรับหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาเหน่อหนองบัวให้ท่านฟังอีกต่อหนึ่งจึงเข้าใจกัน แปลกดี ผู้อ่านหลายท่านที่เคยได้ยินคนสุโขทัยพูดสำเนียงเหน่อๆ หรือเหน่อสุพรรณฯก็ตาม แล้วก็จะนึกชอบความเหน่อนั้น และก็มักจะกล่าวถึงสำเนียงที่เหน่อๆนั้นว่า เพราะดีเนาะ มีเสน่ห์ น่ารัก น่าฟัง จริงใจดี

    พระสุโขทัยมาเยี่ยมที่วัดครั้งใดท่านก็จะพูดสำเนียงเหน่อๆพื้นบ้านของท่าน เมื่อท่านพูดสำเนียงดั้งเดิม หลายท่านได้ที่ยินแล้วมีทั้งหลวงตาพระหนุ่มเณรน้อยก็อยากจะพูดแบบนั้นบ้าง แต่ก็พูดได้ไม่เหมือน หรือเหน่อไม่เท่าต้นฉบับ ก็กลายเป็นพูดล้อเลียนท่านไป แต่การล้อเลียนนั้นก็ทำให้เกิดบรรยากาศที่สนุกสนาน เป็นกันเอง ได้หัวเราะกัน

    นี่ละมั้งที่เราบอกว่าภาษาที่เหน่อๆนั้น เป็นภาษาที่มีเสน่ห์อยู่ในตัว ฟังแล้วได้ความจิรงใจดี พูดง่ายๆก็คือภาษาพื้นบ้านหรือคำพูดเหน่อๆนั้น เป็นภาษาที่บ่งบอกหรือสื่อความหมายได้ตรงกับคำพูดที่ผู้พูดประสงค์จะสื่อไปยังผู้ฟัง เป็นภาษาที่ไม่มีเลศนัยแฝงเล้นในคำพูดนั้น ฟังแล้วเข้าใจได้ทันทีเลย ไม่ต้องตีความให้ยุ่งยากปวดหัวว่าที่พูดนี่หมายถึงอะไรกันแน่

    คำพูดชาวบ้านนิยามง่ายๆได้ว่า "ปากกับใจตรงกัน" นั่นเอง ผู้อ่านท่านใดสนใจ(ภาษาถิ่นหรือคำศัพท์เฉพาะคนหนองบัว)ก็ขอให้เข้าไปอ่านในหัวข้อ"ทุนสังคมของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์" ได้ตามอัธยาศัยเลยพี่น้อง วันนี้ขอยุติไว้แค่นี้ก่อน เอวัง.

     

    สวัสดีทุกๆท่านครับ ยังไม่มีเวลามาเขียนอะไรเลย ได้แต่อ่านผ่านๆ ไว้มีเวลาก่อนครับ สวัสดี

    นมัสการพระคุณเจ้า น้อมคารวะท่านอำมาตย์วิรัตน์ อำมาตย์สมบัติ และชุมชนหนองบัว ....

    • ห่างหายไปหลายสัปดาห์กลับมาอีกคราว ชักจะหวั่นใจ จะวางตัวเช่นไรดี ... ??? ช้างน้อยมอมแมมเป็นเครือข่ายอำมาตย์โดยไม่รู้ตัว แต่อำมาตย์ผู้ทรงอิทธิพลทาง "ภูมิรู้" และ "จิตใหญ่" เฉกเช่น อำมาตย์วิรัตน์ อำมาตย์สมบัติแล้วน่าคบหาครับ...
    • อดทึ่งกับ "สาระ" จากกับ "บทสนทนา" และ "ถ่ายทอด" สู่สาธารณะ ระหว่างพระคุณเจ้า อาจารย์วิรัตน์ และชุมชน โดยเฉพาะพระคุณเจ้านอกจากเนื้อหาแล้ว "สำนวน" พื้นถิ่นบางคำนั่งอ่านไปแล้วนึกขันไปในที "วิ่งตับแลบไปยืนล้อมดูเฮลิปคอปเตอร์" ...!!! ประสาคนบ้านนอกเช่นช้างน้อยมอมแมมอ่านแล้วเหมือนได้ร่วมกลับไปสู่เหตุการณ์นั้นและร่วม "เป็นสุข" ไปด้วย พระคุณเจ้าเป็น "นักประวัติศาสตร์ชุมชน" โดยแท้
    • อ่านไปจินตนาการไปถึงภาพที่ "ท่านอำมาตย์วิรัตน์" จะไปจัด "เวทีเสวนา" เยือนถิ่นเกิดดังที่เคยดำริและเล่าสู่ฟังครับ อยากให้เกิดเร็วๆ ครับ
    • และจินตนาการไปถึงอยากจะเห็น"หนังสือ"สักเล่ม เนื้อในประกอบด้วยการประมวล "ภูมิรู้" อันเป็น "บทเรียน" และ "ประสบการณ์" จากบล๊อกชุมชนหนองบัวนี้ เอาเป็นว่าแค่ "ที่มา" ก็น่าสนใจแล้วล่ะ และจากสถิติผู้ชมจะเรือนหมื่นแล้ว ติต่างว่าท่าทางจะมีผู้สนใจไม่น้อยครับ....
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เมื่อมหาอำมาตย์สมานฉันท์ ยอมเจรจาชาวประชาก็หน้าใส

    เจริญพรท่านอำมาตย์"ช้างน้อยมอมแมม"

    กำลังคิดถึงอำมาตย์ช้างน้องมอมแมมอยู่พอดีเชียว อนุโมทนาขอบคุณที่คุณช้างน้องมอมแมมได้มาเยี่ยมชาวหนองบัว เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ สถานการณ์ฮอตๆ อาตมาเลยขออนุญาตนำ เรื่องกรณีความขัดแย้งของมหาอำมาตย์สมัยพุทธกาลมาเสนอเผยแพร่ในเวทีคนหนองบัวแห่งนี้ให้ได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว อาจจะเป็นประโยชน์และให้บทเรียนแก่คนยุคเราได้บ้าง ก็ขอเชิญทุกท่านโปรดสดับได้ ดังต่อไปนี้

    พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันทรงปรารภการผูกเวรของคนมีเวร ตรัสพระธรรมเทศนานี้
    ได้ยินว่า มหาอํามาตย์สองคนเป็นหัวหน้าทหารเป็นเสวกของพระเจ้าโกศล เห็นกันและกันเข้าก็ทะเลาะกัน. การจองเวรของเขาทั้งสองเป็นที่รู้กันทั่วนคร. พระราชา ญาติและ มิตรไม่สามารถจะทำให้เขาทั้งสองสามัคคีกันได้.
    อยู่มาวันหนึ่ง ในเวลาใกล้รุ่งพระศาสดาทรงตรวจดูเผ่าพันธุ์สัตว์ที่ควรแนะนำให้ตรัสรู้ ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคของเขาทั้งสอง วันรุ่งขึ้นเสด็จสู่กรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต พระองค์เดียวเท่านั้น ประทับยืนที่ประตูเรือนของคนหนึ่ง. เขาออกมารับบาตรแล้วนิมนต์พระศาสดาให้เสด็จเข้าไปภายในเรือน ปูอาสนะให้ประทับนั่ง. พระศาสดาประทับนั่งแล้ว ตรัสอานิสงส์แห่งการเจริญเมตตาแก่เขา ทรงทราบว่ามีจิตอ่อนแล้ว จึงทรงประกาคอริยสัจ. เมื่อจบอริยสัจ เขาตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
    พระศาสดาทรงทราบว่าเขาบรรลุโสดาแล้ว ให้เขาถือบาตรทรงพาไปประตูเรือนของอีกคนหนึ่ง. อำมาตย์นั้นก็ออกมาถวาย บังคมพระศาสดากราบทูลว่า ขอเชิญเสด็จเข้าไปเถิดพระเจ้าข้า แล้วทูลเสด็จเข้าไปยังเรือนอัญเชิญให้ประทับนั่ง. อำมาตย์ที่ตามเสด็จก็ถือบาตรตามเสด็จพระศาสดาเข้าไปพร้อมกับพระศาสดา.
    พระศาสดาตรัสพรรณนาอานิสงส์เมตตา ๑๑ ประการ ทรงทราบว่าเขามีจิตสมควรแล้ว จึงทรงประกาศสัจธรรม. เมื่อจบแล้ว อำมาตย์นั้นก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. อำมาตย์ทั้งสอง บรรลุโสดาบันแล้ว ก็แสดงโทษขอขมากันและกัน(ยินยอมที่จะเจรจากัน หันหน้าเข้าหากัน ปรองดอง สมานฉันท์ –ผู้เขียน) มีความสมัครสมานบันเทิงใจ มีอัธยาศัยร่วมกันด้วยประการฉะนี้.
    วันนั้นเองเขาทั้งสองบริโภคร่วมกัน เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระศาสดาเสวยภัตตาหารเสร็จแล้วได้เสด็จกลับพระวิหาร. อำมาตย์สองคนนั้นก็ถือดอกไม้ของหอมเครื่องลูบไล้ และเนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น ออกไปพร้อมกับพระศาสดา. เมื่อหมู่ภิกษุแสดงวัตรแล้ว พระศาสดาทรงประทานสุคโตวาท แล้วเสด็จเข้าพระคันธกุฏี

    ที่มา(อรรถกถาอุรคชาดก ที่ ๔ หน้าที่ ๒๒-๒๓)

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริพรคุณฉิก

    ช่วงนี้งานงิ้วหนองบัวคงจบไปแล้ว ไม่ทราบว่าบรรยากาศของงานเป็นอย่าไรบ้าง
    ว่างๆก็อยากจะขอร้องให้คุณฉิกลองเขียนถึงบรรยากาศงานงิ้นในสมัยปัจจุนให้คนไกลบ้านอย่างอาตมาได้อ่านบ้าง เพื่อจะได้รำลึกถึงงานงิ้วเปรียบเทียบบรรยากาศของงานในยุคก่อนโน้น ยุคที่ยังมีเกาะลอย และในหมู่บ้านหนองบัวยังไม่มีไฟฟ้า(ชอบฟังเรื่องเก่า-โดยไม่กลัวใครว่า เป็นคนแก่หรอก)
    ถ้าเป็นไปได้มีภาพถ่าย ก็มาโพสต์ลงไว้ให้ได้ชมกันบ้างจะยิ่งดีใหญ่เลยแหละ อย่าลืมเด้อ.

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ในคห.๔๑๑ ของคุณช้างน้อยมอมแมมที่บอกว่าอยากเห็นการทำหนังสือเรื่องราวในชุมชนหนองบัวนั้น อาตมาขอยกสองมือเลยเอ้า เห็นด้วยอย่างยิ่ง และเรื่องนี้ก็เคยได้ปรารภกับท่านอำมาตย์วิรัตน์ไปบ้างพอสมควรแล้ว แต่ก็เงียบๆไป

    ว่าจะเดินทางไปหนองบัวเพื่อหาแนวร่วมในเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ไปสักที นานแล้วไม่ได้ไปหนองบัว น้องๆถามว่าเมื่อไหร่จะมาเยี่ยมญาติ มาเที่ยวบ้านบ้าง เอาเป็นว่าไปแล้วจะมาแจ้งให้ทราบ ตั้งใจไว้แต่แรกแล้วเรื่องทำหนังสือและยังไม่ลืมความตั้งใจอันนี้แน่นอน

    หวังว่าความปรารถนาของคุณช้างน้อยมอมแมมน่าจะอยู่ไม่ไกลมากนักหรอก(เพราะตัวเองทำไม่เป็น-ต้องอาศัยอาจารย์วิรัตน์ไม่ทราบว่าท่านผู้ทำมีเวลาว่างบ้างไหม)

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    อาตมาเหลียวหน้า-แลหลังไปรอบๆตัวแล้วเห็นหลายท่านเป็นอำมาตย์กันหมดแล้วนะเนี่ย ทำไงดีท่านอำมาตย์ช้างน้อยมอมแมม เวทีคนหนองบัวนี้เป็นเวทีอำมาตย์ไปแล้วหรือไร
    ถ้าเป็นไปได้อย่างนั้น ก็เหลือแต่อาตมาคนเดียวน่ะซิที่เป็นไพร่ ถึงอาตมาจะเป็นไพร่ก็ขอเป็นไพร่ที่ไม่มีวัน โค่นอำมาตย์ แน่นอน ขอเอาเกียรติลูกผู้ชายไพร่ๆนี่แหละเป็นประกัน ขอให้อำมาตย์ทุกท่านสบายใจได้ ขอยืนยันๆ

     

    นมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย

    • คร่ำเคร่งกับการงานที่ประหนึ่งจะบีบคั้น  เบียดเบียนตน  และต่อเติม "ทุกขภาวะ" แก่ตนเองขึ้นทุกวัน พอเข้ามาเวทีชุมชนคนหนองบัว โดยเฉพาะบทสนทนาของ "พระอาจารย์มหาแล อาสโย" แล้ว ดุจดังการเข้ามาเสริมเติมพลังอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว บ่อยครั้งครับโยมอดที่จะ "ยิ้ม" ตอบรับให้กับหน้อจอคอมพิวเตอร์โดยไม่รู้ ช่วยให้ดึง "สติ" และ "การรำลึกรู้สึกตัว" กลับมาในบัดดล ...
    • ต้องน้อมรับ และเปล่ง "สาธุการ" ดังๆ สัก 3 ครา  เพื่อน้อมรับ "คติธรรม" จากชาดกว่าด้วย "กรณีขัดแย้งมหาอำมาตย์" ครั้งพุทธกาลที่พระคุณเจ้านำมาเพื่อเป็น "อนุสสติ" เตือนสติให้กับสังคมไทยครับ  แหม่... !!! อ่านแล้ว ต้องนมัสการกราบเรียนด้วยจิตคารวะว่าซาบซึ้งยิ่งนัก  โยมหน่ะอยากจะอาราธนาพระอาจารย์มาตั้งธรรมาสน์ ณ ท้องสนามหลวง สักกัณฑ์นะขอรับ .... สังคมไทยจะได้หายจากภาวะ "คับข้องและวุ่นวาย" จาก "โมหะภูมิ" ดังที่ปรากฎให้เห็นในเวลานี้.... (ปัจจัยติดกัณฑ์เทศน์รวบรวมมาตั้งกองทุนพิมพ์หนังสือชาวหนองบัวครับ...... คิดแบองค์รวมครับ..)
    • โยมว่านะครับ... แม้นพระอาจารย์จักถ่อมตนเปรียบเปรยดุจไพร่ (ซึ่งแท้จริงก็หาใช่ไม่)  แต่หากเปรียบแล้ว  โยมว่าชาวอำมาตย์ทั้งหลายหากได้เสวนากับ "ไพร่" ผู้คอยให้สติสังคม และเป็นผู้ทรงภูมิรู้กอรปด้วยสติปัญญาดุจบัณฑิตแห่ง "เขาโงลังกั๋ง" ในพงศาวดารสามก๊กแล้ว อย่าว่าแต่เหล่า "เสนา" และ "อำมาตย์" ทั้งแผ่นดินเลยครับ แม้แต่ "จักรพรรดิ์ทั่วสากลโลก" ต้องสยบยอม และ "น้อมเศียร" คำนับงามๆ เป็นร้อยครั้งพันครั้งให้กับ "ไพร่" ผู้มีสติปัญญาและเป็นมหาปราชญ์แห่งแผ่นดินขอรับ.....

    เรียนอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ครับ...

    อ้างอิงความคิดที่ 402

    ผมเลยได้ความคิดทำสื่อให้อีกชิ้นหนึ่งดีไหมครับ เป็นสื่อที่เอาไว้ใช้สำหรับบอกข่าวคราวและคุยถึงกันเป็นข่าวสังคมของคนหนองบัว รวมทั้งเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ เหมือนกับเป็นแผ่นพับหรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ที่ทำเป็นสื่อออนไลน์แต่มีเรื่องราวความเคลื่อนไหวให้เข้ามาติดตามได้เป็นระยะๆ เหมือนกับมีร้านปากซอยและแผ่นป้ายโปสเตอร์ตามแยกต่างๆของหนองบัว ....

    ขอสนับสนุนความคิดนี้ขอรับ.. และขอร่วมวงเรียนรู้กับปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากสื่อที่จะสร้างขึ้นด้วยคนครับพ๊ม

    กราบนมัสการ พระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) สวัสดีค่ะ คุณสมบัติ ฆ้อนทอง, คุณศักดิ์ศรี-ฉิก, คุณช้างน้อยมอมแมม และชาวหนองบัวทุกๆ ท่านค่ะ

    • ก่อนอื่นขอน้อมคารวะแด่ท่านอำมาตย์น้ำดีทุกๆ ท่านค่ะ
    • และขอแสดงความยินดีกับคุณสมบัติ ฆ้อนทอง ชาวหนองบัว ที่ได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่นเช่นกันค่ะ
    •  วันนี้เข้ามาทักทาย  เผื่อไปยังท่านอำมาตย์อาจารย์ ดร.วิรัตน์ ด้วยค่ะ อาจารย์ได้เดินทางไปเวิร์คช๊อปที่จังหวัดสระแก้ว พร้อมกับคณาจารย์จากภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ฯ เป็นเวลา ๓ วัน ค่ะ แต่อาจารย์ท่านลืมมือถือสำหรับต่ออินเตอร์เนทไปด้วยค่ะ ท่านอำมาตย์อาจารย์วิรัตน์เลยไม่สามารถเข้ามาคุยได้ในขณะนี้ค่ะ ..
    •  ท่านพระอาจารย์พระมหาแลค่ะ  เรื่องของหนังสือได้พูดคุยกับท่านอาจารย์วิรัตน์ และคุณช้างน้อยฯ ไว้ว่าจะทำการสังเคราะห์ข้อมูล ประสบการณ์ บทเรียนจากเวทีหนองบัว รวมไปถึงทุกความคิดเห็นที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันด้วยค่ะ ทรงคุณค่ามากๆ ค่ะ ซึ่งถ้าจะรวบรวมออกมาจริงๆ คงแยกได้หลายเล่มเลยหล่ะค่ะ แต่คงต้ออดใจรอกันอีกสักหน่อยนะค่ะ ...
    • ส่วนเรื่องของ  เวทีหนองบัวออนไลน์  ... ทำให้นึกถึงการมาตั้งวงโสเหร่กัน จิบน้ำชากาแฟกันไป อยากบอกข่าวคราวอะไรก็มาโพส มาแปะฝากข่าวกันได้ โดยอาจไม่ต้องเกร็งกันว่าจะต้องเป็นเชิงวิชาการเสียอย่างเดียวหน่ะค่ะ หนองบัวโสเหร่ หรือจะเรียกว่าอะไรดีค่ะ? เหมือนๆ อสม. ตามแต่ละหมู่บ้านบอกข่าวผ่านวิทยุชุมชนเลยนะค่ะ ...
    • พรุ่งนี้ท่านอาจารย์พร้อมด้วยคณาจารย์ก็จะกลับมาแล้วค่ะ คงได้เข้ามาแลกเปลี่ยนพูดคุยกับทุกท่านค่ะ ..

    ถึงอาตมาจะเป็นไพร่ก็ขอเป็นไพร่ที่ไม่มีวัน โค่นอำมาตย์ แน่นอน ขอเอาเกียรติลูกผู้ชายไพร่ๆนี่แหละเป็นประกัน ขอให้อำมาตย์ทุกท่านสบายใจได้ ขอยืนยันๆ

    • สาธุ สาธุ สาธุ

    โยมว่านะครับ... แม้นพระอาจารย์จักถ่อมตนเปรียบเปรยดุจไพร่ (ซึ่งแท้จริงก็หาใช่ไม่)  แต่หากเปรียบแล้ว  โยมว่าชาวอำมาตย์ทั้งหลายหากได้เสวนากับ "ไพร่" ผู้คอยให้สติสังคม และเป็นผู้ทรงภูมิรู้กอรปด้วยสติปัญญาดุจบัณฑิตแห่ง "เขาโงลังกั๋ง" ในพงศาวดารสามก๊กแล้ว อย่าว่าแต่เหล่า "เสนา" และ "อำมาตย์" ทั้งแผ่นดินเลยครับ แม้แต่ "จักรพรรดิ์ทั่วสากลโลก" ต้องสยบยอม และ "น้อมเศียร" คำนับงามๆ เป็นร้อยครั้งพันครั้งให้กับ "ไพร่" ผู้มีสติปัญญาและเป็นมหาปราชญ์แห่งแผ่นดินขอรับ.....

    • ขอขอบคุณอำมาตย์ช้างน้อยฯ ค่ะ

    ขอเอาใจช่วยคนไทยทุกคน ให้อยู่เย็นเป็นสุขศรี

    • กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล และขอสวัสดีทุกท่านเลยนะครับ คุณสมบัติ คุณฉิก คุณไกสร โดยเฉพาะกัลยามิตรเวทีคนหนองบัว อาจารย์ณัฐพัชร์และคุณช้างน้อยมอมแมม รวมทั้งท่านผู้อ่านและชาวหนองบัวทุกท่านครับ
    • ผมไปประชุมต่างจังหวัดมาครับ ๓ วันเต็มๆ ไปโน่นครับ...อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ประทับใจมากหลายอย่างครับ ทั้งการประชุม การศึกษาดูงานรายทาง การไปเที่ยวตลาดโรงเกลือในตอนเย็นหลังเลิกประชุม และผู้คนที่นั่น โดยเฉพาะคนท้องถิ่น ชาวไทย-เขมร

                               

                               ภาพที่ ๑ การประชุมพัฒนาภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๓ ผู้เข้าร่วมประมาณ ๔๐ คน ประกอบด้วยคณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการศึกษา กลุ่มบริหารวิชาการและงานสนับสนุนวิชาการ สาขาประชากรศึกษา สาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา สาขาการจัดการกีฬา และสาขา Educational Management(International Programme)

                               

                               ภาพที่ ๒ การประชุมระดมสมองของสาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา ในสาขานี้มี ดร.วีร์ ระวัง (ผู้ชายเสื้อสีเขียวขี้ม้า กำลังยืนมองบอร์ด) และเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำวิจัยพัฒนาการสอน-การเรียนรู้ภาษาอังกฤษสำหรับคนไทย เคยทำค่ายพัฒนาการสอนและการเรียนภาษาอังกฤษให้เครือข่ายครูและนักเรียนในนครสวรรค์-หนองบัวหลายแห่ง 

                              

                               ภาพที่ ๓ การประชุมระดมสมองของสาขาประชากรศึกษา

                               

                               ภาพที่ ๔ การประชุมระดมสมองของสาขา Educational Management (International Programme)

                              

                               ภาพที่ ๕ การประชุมระดมสมองของสาขาการจัดการกีฬา ในสาขานี้มีนักกีฬาทีมชาติ อาจารย์เสาวลี แก้วช่วย นักวิ่งทีมชาติขวัญใจคนไทยคนหนึ่งเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตร จึงมักจะพร้อมกับคณาจารย์ในหลักสูตร คือผู้ช่วยศาสตราจารย์วิฑูรย์ ยุตตานนท์ และ ดร.เรืองฤทธิ์ อุปละนาละ จัดกิจกรรมฟื้นฟูความตื่นตัว ทำให้การประชุมเป็นการสร้างสุขภาพใจ-สุขภาพกาย (Healthy and Empowerment Meeting) ได้ความสุขอยู่ตลอดเวลาไปด้วยเสมอ

                              

                               ภาพที่ ๖ เรียนรู้ พัฒนาคุณภาพและการบริหารจัดการทางวิชาการ เช่น Research Ethics การพัฒนาตัวชี้วัดและ Performance agreement นวัตกรรมการบริหารจัดการโดยการกระจายอำนาจและสร้างการมีส่วนร่วมทุกระดับอย่างเป็นระบบ การเตรียมกำลังคนเพื่อการพัฒนาในระยะยาว การพัฒนานวัตกรรมด้านศึกษาศาสตร์ของประเทศเพื่อนำการเปลี่ยนแปลงในบริบทใหม่ๆของประเทศและภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งมีประเด็นของคนหนองบัวและนครสวรรค์เข้าไปหารือกันผ่านประเด็นของการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์

                              

                               ภาพที่ ๗ การประชุมระดมสมองกลุ่มย่อยของกลุ่มสนับสนุนวิชาการและกลุ่มบริหารจัดการทางวิชาการ สำนักงานภาควิชาศึกษาศาสตร์

                              

                              

                              

                               ภาพที่ ๘,๙,๑๐ : ตลาดโรงเกลือ ตลาดชายแดนไทย-เขมรที่คลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เลิกประชุมและเดินทางจากที่ประชุม โรงแรมอินโดจีนในตัวเมืองอรัญประเทศ ประมาณ ๓๐ นาทีก็ถึง เนื่องจากไม่ใช่วันหยุดผู้คนเลยไม่มาก สภาพเหมือนกับตลาดของชุมชนในชนบท ผู้คนมีอัธยาศัย เหมือนกับชุมชนอยู่ด้วยกันและทำมาหากินด้วยกัน ไม่เหมือนกับภาพจากการรับรู้ทางสื่อหรือจินตนาการเอา

    •  ผมลืมเอาโทรศัพท์ที่ต่อสัญญาณ Wireless Internet ได้ ไปด้วย ก็เลยหายเงียบไปเลยครับ ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์มากเลยครับที่กรุณาบอกกล่าวให้ทุกท่านได้ทราบ
    • แต่จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่ลืมเสียทั้งหมด ผมเดินออกจากที่พักนิดเดียวก็นึกขึ้นได้ แต่นึกดูแล้วก็คิดว่าดีเหมือนกัน จะได้อยู่กับตัวเอง นั่งทำงานและนั่งคุยกับคนที่ไปประชุมด้วยกัน ได้อย่างเต็มที่ เพราะหลายปีมานี้ผมไม่ค่อยได้ไปไปประชุมในลักษณะนี้มากกว่า ๒ วันเลย จัดเวลาให้ได้อยู่ตัวเองเสียบ้างก็คงจะดี ซึ่งก็ไม่ผิดหวังครับ
    • ที่ประทับใจมากเข้าไปอีกก็เมื่อเข้ามาในนี้อีกและพบ ๓ เรื่องที่น่าประทับใจครับ คือ (๑) เวทีคนหนองบัวคึกคักเป็นอย่างยิ่งครับ พระคุณเจ้า คุณสมบัติ คุณฉิก รวมทั้งอาจารย์ณัฐพัชร์และคุณช้างน้อยมอมแมม เสวนากันได้ม่วนและลึกซึ้งแท้ (๒) มีเพื่อนๆคนหนองบัวจากอเมริกาเข้ามาเยือนถึง ๕ คนแน่ะครับ (๓) คนเข้ามาในระยะนี้เป็นพันกว่าคลิ๊กเลยทีเดียว

      การได้ทำมาหากิน-ทำมาค้าขาย  ติดต่อสร้างสังคมด้วยกัน เป็นสุขภาวะและเป็นโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต ยกระดับให้ดีขึ้นกว่าเดิมหลายอย่าง เมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อนผมเคยไปขายของตามแนวชายแดนเขมรก่อนเกิดสงครามครั้งสุดท้ายและในที่สุดเขมรก็แตก ณ เวลานั้น ได้เห็นสภาพผู้คนที่อพยพหนีสงครามและเห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่อยู่สภาพยากแค้น กระเสือกกระสน เทียบกับในวันนี้แล้วก็ต่างกันมากอย่างยิ่ง ในวันนี้ผู้คนมีอัธยาศัย ได้คุย ได้สมาคมกัน ไม่เหมือนกับเมื่อก่อนที่แววตาตื่นตระหนก หวาดกลัว ไม่มีความเป็นชีวิต แววตาไร้ความหวัง                    

                              

                               ภาพที่ ๑ ศูนย์สุขภาพชุมชน หน่วยสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care Unit) ที่ตลาดโรงเกลือ คลองลึก

                               

                               ภาพที่ ๒ เด็กหญิงนั่งเล่นอยู่บนลานกว้างคนเดียว บางครั้งก็วิ่งไปเกาะผู้คนที่มาซื้อของในตลาดโรงเกลือ ในขณะที่พ่อแม่ขายของอยู่ข้างๆ ความรู้สึกปลอดภัยของเด็กและความวางใจของพ่อแม่ที่สามารถให้เด็กวิ่งเล่นได้อย่างอิสระ เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าชุมชนผสมข้ามวัฒนธรรมบนแนวชายแดน (Borderless and Cross-Cultural Community) แห่งนี้มีความสงบสุขร่มเย็นเพียงพอสำหรับทำอยู่ทำกินไปด้วยกัน 

                              

                               ภาพที่ ๓ ชาวบ้านในชุมชนรอบข้าง บางส่วนเป็นชาวไทยพื้นถิ่น และบางส่วนเป็นชาวกัมพูชาทั้งจากพนมเปญและจากชุมชนใกล้แนวชายแดน เดินเท้าผ่านแดนเข้ามาขายของและเดินกลับในยามเย็น

     ฉาย  : เครื่องมือสางฟางข้าวของชาวนาชุมชนหนองบัวและท้องถิ่นภาคกลาง 

    ก่อนไปประชุมต่างจังหวัด ผมได้รับติดต่อขอสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากผู้ซึ่งแนะนำตนเองว่าเป็นผู้ช่วยนักวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่านหนึ่งที่กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับการถอดรหัสเพื่อประมวลองค์ความรู้การทำเกษตรนาจากบันทึกของพรเพ็ชร เหมือนศรี ชาวนาหนองบัวที่ประท้วงรัฐบาลอย่างมาราธอนและถูกฆาตกรใจอำมะหิตทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตอย่างหาร่องรอยไม่ได้กระทั่งปัจจุบันนี้ เธออ่านให้ฟังหลายอย่างที่หาข้อมูลและหาคนที่พอจะรู้จักคุยให้ฟังไม่ได้ รวมทั้งฉาย

    ผมนั้น คุยไปก็ลังเลไปว่าวิธีศึกษาเรื่องอย่างนี้จะคุยแล้วจินตนาการเอาจากการเล่าพรรรณาได้อย่างไร หากเป็นลูกศิษย์ผมเองแล้วคงจะต้องโดยดุและให้กลับไปหาวิธีศึกษาใหม่ แต่สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกันแล้วผมกลัวเด็กเสียความมั่นใจในชีวิตที่เขาจะทำสิ่งต่างๆดีๆในอนาคตได้อีกเยอะมากกว่ากลัวเสียเวลาไปกับงานที่ผมเองก็ไม่เห็นความหมายที่จะทำออกมาเลย เลยก็คุยพรรณาไปกระทั่งจนที่สุดก็ค่อยๆบอกว่าพอเหอะ กลับไปทำการบ้าน-ค้นคว้าต่อเอาเองเถอะ

    พอไปต่างจังหวัดผมก็เลยร่างภาพไว้แล้วก็กลับมาลงหมึกให้เป็นรูปวาดลายเส้น เลยนำมาถ่ายทอดแลเผยแพร่ไว้นะครับ

                               

     ฉาย เป็นเครื่องมือสำหรับการนวดข้าวของชาวนา ทำจากไม้ไผ่ที่มีกิ่ง ลักษณะของลำไผ่จะต้องเลือกสรรจำเพาะลำไผ่ที่ไม่มีรูกลวงในปล้อง ขนาดพอมือ สูงประมาณเสมอหน้าผาก และต้องมีกิ่งที่แข็งแรงพอที่จะทำเป็นตะขอ เหลาปล้องและผิวให้กลมนุ่มมือ หากลำไผ่คดมากแต่ความยาวและความแข็งแรงใช้ได้ ก็จะตัดตบแต่งแล้วใช้ไม้ดัดทิ้งไว้ก่อน ๒-๓ วัน จากนั้น ก็จะนำมารมไฟให้อ่อนและดัดให้ตรง ดัดและตบแต่งกิ่งให้เป็นตะขอแล้วนำไปตากให้แห้งสนิท

    ฉายเป็นอุปกรณ์แยกฟางข้าวออกจากเม็ดข้าวเปลือกในขั้นตอนการนวดข้าว การนวดข้าวนั้น ชาวนาจะนำเอามัดข้าวมาตั้งกอง แล้วใช้ฟางข้าววางปิดไว้ชั้นหนึ่งสำหรับให้ควายเหยียบหรือใช้รถบดลงไปโดยไม่ทำให้เมล็ดข้าวเสียหาย เมื่อนวดไปได้ระยะหนึ่งเมล็ดข้าวจะหล่นไปกองอยู่ด้านล่างของฟาง ชาวนาก็จะใช้ฉายกรีดแยกเอาฟางออกทีละชั้น ฟางจะติดขึ้นมากับตะขอฉายและเมล็ดข้าวก็จะหล่นกลับลงไป เมื่อสางแยกฟางออกจากเล็ดข้าวหมดแล้ว ก็จะกองมัดข้าวลงไปอีก แล้วก็นวดอีกหลายรอบ กระทั่งหมดทั้งลอมข้าว จึงจะฝัดข้าวเปลือกด้วยสีฝัดข้าวต่อไป

     ฉายซึ่งทำด้วยไม้ไผ่นั้น  มีความแข็งแรงและทนทานต่อการใช้สางฟางข้าวบนข้าวเปลือกมากกว่ามากกว่าใช้เหล็กทำ เพราะเปลือกข้าวเปลือกและละอองฝุ่นจากข้าวเปลือกนั้นแข็ง ทำให้มีด เคียว ตะขอ อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆที่ทำด้วยเล็ก นอกจากจะทื่อและหมดสภาพการใช้งานอย่างรวดเร็วแล้ว ก็จะถูกกร่อนและเสียหายไปอย่างรวดเร็วมากกว่าอุปกรณ์ที่ทำด้วยไม้และไม้ไผ่.

    (ข้อมูลอย่างนี้จะขออนุญาตแยกไปทำเป็นหัวย่อยและเพิ่มรายละเอียดไว้เป็นต่างหากอีกนะครับ)

    • ไม่ได้เข้ามานานเลย คคห (ความคิดเห็น) ที่แต่ละคนเข้ามาแบ่งปันไปเร็วมากเลย จนไม่รู้จะเริ่มจากอะไรก่อนดี
    • ก่อนอื่นต้องแสดงความยินดีกับน้องสมบัติด้วยกับรางวัล อำมาตย์ดีเด่น
    • เรื่องสังคมหนองบัวออนไลน์ ก็เป็นความคิดที่ดีครับ อะไรที่เป็นเรื่องราวที่มีสาระ อยากจะแบ่งปันกัน ก็มาอยู่ที่นี่ ส่วนอะไรที่ไม่ได้เป็นสาระเท่าไหร่ หรืออยากจะฝากข่าวคราวอะไรไว้ ก็ไปที่ออนไลน์
    • อ.ณัชพัชร์ครับ ไอ้วงโสเหร่นี่ผมไม่เคยได้ยินเลย ย่านไหนเขาพูดกันครับ คงจะเหมือนกับสภากาแฟหรือเปล่า
    • พูดถึงการกล่าวทักทายกัน คนหนองบัวนี่เวลาเจอกันมักจะถามว่า ไปไหน่มาล่าว (ไปไหนมาเล่า และคำว่าเล่านี่ต้องลากเสียงยาวๆๆๆ) อีกฝ่ายก็จะตอบว่า เปล่า..ไปตลาด (คำว่าตลาดก็ออกเสียงตรี และไม่รู้ว่าทำไมจะต้องบอกว่าเปล่าไว้ก่อน ทั้งที่ที่ไปตลาดมา)
    • งานงิ้วปีนี้ที่เพิ่งผ่านมา วันนั้นผมไปถึงหนองบัวเอาก็บ่ายสองกว่าๆแล้ว ขบวนต่างๆที่แห่รอบตลาดนั้น ก็กลับไปที่งานที่เกาะลอยเกือบหมดแล้ว เลยไม่ได้ถ่ายรูปอะไรมาเลย แต่ยังได้ไปช่วยแบก เจ้าพ่อเจ้าแม่ หลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ซึ่งเป็นขบวนสุดท้ายที่ให้ชาวหนองบัวได้กราบไหว้ แต่ก็จะติดต่อคณะกรรมการจัดงานขอรูปถ่ายเพื่อเอามาลงให้พวกเราได้ดูกัน
    • กับอ.นุ ก็ไม่มีโอกาสได้เจอ ผมแวะไปที่บริเวณฉายหนังกลางแปลงตอนเกือบหกโมงเย็น ซึ่งอยู่ใกล้ๆโรงฆ่าสัตว์ ด้านหลังเกาะลอย เจอแต่เด็กเฝ้าจออยู่ 2 คน พอช่วงหัวค่ำต้องพาเตี่ยนั่งรถเข็นมาที่งานเลี้ยงบริเวณงานที่มีการประมูลของกัน และอยู่คุยกับเพื่อนฝูงอีกยาวเลย ฝากขอโทษ อ.นุด้วยนะครับ
    • เรื่องคนหน้าไมค์หลังไมค์นี่ก็อยากจะให้มีคนหน้าไมค์เพิ่มเข้ามาอีก มาช่วยกันรวบรวมข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับหนองบัว เพื่อทำให้ข้อมูลถูกต้องครบถ้วน
  • ใครมีลูกหลานที่กำลังอยากฝึกให้ใช้คอมพิวเตอร์สำหรับพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ ก็ลองโยนการบ้านให้ฝึกวิธีสร้างความรู้ง่ายๆเกี่ยวกับเรื่องท้องถิ่นและชุมชนหนองบัว มาเผยแพร่ไว้ในนี้ก็ดีนะครับ
  • จะได้พัฒนาตนเองให้เป็นสื่อชุมชนด้วย อาจเริ่มต้นจากรอบๆตัว หรือเอาเรื่องพ่อแม่ญาติพี่น้องของตนเองก่อน ฝึกถ่ายรูป วาดรูป เก็บรวบรวมข้อมูลเรื่องราวที่น่าสนใจแต่ไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลาย มาเผยแพร่ให้เป็นเรื่องราวของชุมชนหนองบัว สักวันหนองบัวจะเป็นชุมชนที่มีข้อมูลและองค์ความรู้ท้องถิ่นของตนเองที่ดีจากการช่วยกันทำขึ้นมาอย่างสะสม
  • กลุ่มคนอื่นๆที่เป็นเครือข่ายผู้นำชุมชนก็น่าจะเป็นกลุ่มที่เข้ามาเป็นคนหน้าไมค์ได้อย่างดีนะครับ โดยเฉพาะ อสม. คนทำงานท้องถิ่น และกลุ่มลูกหลานของชุมชนที่ได้ศึกษาเล่าเรียน
  • แค่ค่อยๆมีชุมชนละหนึ่งคนเพิ่มไปเรื่อยๆทีละเล็กละน้อย ก็จะทำให้มีเครือข่ายของคนที่สามารถสร้างความรู้แบบชาวบ้าน ที่ค่อยพัฒนาตนเองไปตามกำลังความสนใจ สักพักก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่มีบทเรียนตรง ทั้งทำด้วยตนเองและสอนลูกหลาน-สอนคนรอบข้างกันเองได้อย่างดี 
  • การบสวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์ พี่น้องชาวหนองบัว และทุกท่านครับ

    ผมเองก็ไม่ได้กลับบ้านช่วงงานงิ้วเลยไม่ได้ชมบรรยากาศแบบหนองบัวเลยครับ เพิ่งไปงานบวชหลานชายมาก่อนหน้านี้เองครับ ประเภณีงานบวชก็ยังคงเดิมอาจผิดต่างไปบ้างแต่ก็ยังคงรักษ์ของเดิมอยู่ วันเมื่อสองสามวันอากาศร้อนมาก ผมไปนังหาหนังสือพิมอ่านที่สวน กทม.ห้องสมุดเขตลาดกระบัง.ห้องสมุดเป็นตึกกระจกล้อมรอบสามารถมองทะลุผ่านชมต้นไม่ด้านนอกได้บังเอิญ ผมมองผ่านไปตรงสระวายน้ำ มีน้องๆหนูๆมาเรียนว่ายน้ำกันก็นั่งมองอยู่พักหนึ่ง ก็นึกถึงตอนเรียนชั้นประถมขึ้นมาเลย ว่าเคยเสียเพื่อนร่วมชั้นเรียนไป ช่วงงานงิ้วพอดี เพราะแอบไปเล่นน้ำที่ไดเจ็กห้า แล้วจมน้ำเสียชีวิต

    เด็กต่างจังหวัดมักเสียชีวิตเพราะแอบหนีพ่อแม่ไปเล่นน้ำตามที่ต่าง ไกลหูไกลตาผู้ใหญ่แล้วน้ำที่เล่นกันบางที่ยังมีควายเคยลงไปด้วย ทั้งขี้ควาย ปลิง ต่างๆนานามากมาไปหมดเพราะความซน ว่าแล้วก็อิจฉาเด็กในเมืองขึ้นมาเลยครับ

    อย่างไรก็ตามขอฝากเวทีนี้ถึงท่านผู้ปกครองทุกท่านช่วยคอยดูแลบุตรหลานท่านอย่าให้ไปเล่นน้ำกันตามลำพังนะครับ

    นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแลฯ ท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คุณช้างน้อยมอมแม คุณณัฐพัชร์ พี่ฉิกและทุก ๆ ท่านครับ

    หลังจากการบรรยายของ รศ.นู ไซญะสิทธิวงศ์ จากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (วิทยาเขตดงโดก) จบลง ผมมีศัพท์ 2 คำมาฝากพี่น้องชาวหนองบัวครับ นั่นคือคำว่า...... ปลาแดกนอกไห กับคำว่า...ลาวข้าวเจ้าครับ

    ปลาแดกนอกไห.... เป็นคำเรียกผู้ที่มีเชื้อสายลาว ที่อยู่นอกประเทศลาว.....ไทย ฝรั่งเศส สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย ฯลฯ

    ลาวข้าวเจ้า........... เป็นคำเรียกผู้ที่มีเชื้อสายลาว ที่อยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางรอบ ๆ กรุงเทพมหานคร

    สำหรับเรื่องของรถถัง (ลาวเรียกว่า ลดตัง) รถยีเอ็มซี เฮลิคอปเตอร์ (ลาวเรียกแอลิกอบแต) ต้องยอมรับว่าผมไม่ทันจริง ๆ ครับ อาจเป็นไปได้ว่าบ้านอยู่ห่างจากถนนสาย 225 มาก(ในสมัยนั้น)

    เห็นภาพในหัวข้อที่ 421 ของท่านอาจารย์ดร.วิรัตน์แล้วให้นึกถึง ตอนที่ผมไป SUNDAY MARKET BRISBANE AUS.เมื่อปลายปีที่แล้ว ไปเดินเลือกซื้อผัก พอคนขายรู้ว่าผมเป็นคนไทยและมาจากชายแดนไทย-ลาว เขาแสดงความยินดีอย่างออกนอกหน้า แถมผักให้อีกพะเรอเกวียน แม่ค้าชาวลาวคนนั้นเล่าว่า เขาหนีภัยสงครามข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ในศูนย์อพยพ ที่อำเภอปากชม จังหวัดเลย (ซึ่งอยู่ติดกับอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ...ที่นายกฯอภิสิทธิ์นั่งเครื่องบินไปตรวจภัยแล้งแม่น้ำโขงด้วยความรวดเร็ว เมื่อไม่กี่วันมานี้) แม่ค้าคนนั้นได้ชี้ไปยังเด็กหนุ่มผิวขาวเหลือง รูปร่างสูงใหญ่ไม่แพ้ฝรั่ง ซึ่งยืนจัดเตรียมของอยู่ในร้านให้มาทำความรู้จักแล้วกล่าวว่า ลูกชายคนนี้เป็นวิศวกรเกิดที่ประเทศไทย เกิดในค่ายอพยพอำเภอปากชม UNHCR เป็นผู้ออกเอกสารการเกิดให้และทุกวันนี้ก็ยังเก็บรักษาไอย่างดี ส่วนลูกสาวอีกคนที่ยืนอยู่ข้าง ๆ นั้นมาเกิดที่ออสเตรเลีย

    ตั้งแต่จากแผ่นดินลาวมาไม่เคยกลับไปประเทศลาวและประเทศไทยอีกเลย เอาไว้มีโอกาสที่เหมาะสมจะพาครอบครัวทั้งหมดกลับไปเที่ยวลาว และจะขอให้ผมพาไปดูจุดที่เขาคลอดลูกเพราะลูกชายอยากเห็นมากซึ่งผมก็ยังรอการติดต่อจากครอบครัวชาวลาวม้งครอบครัวนี้อยู่ครับ

    และก่อนที่ครอบครัวนี้จะมาพบ ผมได้ขับรถลัดเลาะไปตามความคดเคี้ยวของแม่น้ำโขงยามแล้งดู พบว่าบริเวณนั้นเป็นเนินเขา ลาดลงแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นไร่ข้าวโพดของชาวบ้านไปแล้วครับ.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    เห็นภาพวาดตะเกียงเจ้าพายุ(กะเตียงโคม)ห้อย-แขวนกิ่งไม้ข้างลานนวดข้าวตอนกลางคืนพร้อมมีคนสงฟาง รุข้าว ส่งฟางขึ้นลอมฟางของอาจารย์วิรัตน์(ในคห.๔๒๒)แล้วนึกถึงบรรยากาศหนองบัวอันเก่าก่อนที่จะมีรถเกี่ยวข้าวโน่นเลย ช่วยดึงอารมณ์หวนย้อนกลับไปไกล

    บรรยากาศแบบนี้ส่วนมากก็มีแถวภาคกลางเพราะโดยทั่วไปบริเวณภาคกลางของไทยนั้นลักษณะเป็นที่ลุ่มส่วนใหญ่ก็ทำนาเป็นหลัก แต่ละบ้านจะทำนากันด้วยปริมาณมากแต่ละเจ้ามีนานับสิบไร่ถึงร้อยไร่เลยทีเดียว

    การนวดข้าว รุข้าวที่แต่ละบ้านมีลอมข้าวฟ่อนขนาดใหญ่มากๆ ปริมาณข้าวฟ่อนเป็นพันสองพันฟ่อนนั้นทำครอบครัวเดียวสามสี่คนนั้นหมดแรงเลยทีเดียว เมื่อก่อนใช้ควายนวดทั้งคนและควายเหนื่อยหอบตามๆกัน ควายนวดข้าวหลายๆวันเข้าเมื่อยมากๆถึงกับนอนคาตกข้าวในกองฟางเลยหนา เดินมากจนเล็บควายที่เหยียบฟ่อนข้าวฟางข้าวหลายวันนั้นเล็บเลื่อมเป็นมัน เล็บคมเพราะเสียดสีฟางข้าว

    ควายชอบกินเมล็ดข้าวเปลือกเวลาหยุดพักเอาฟางลอยออก ฟางลอยคือฟางที่เมล็ดข้าวร่วงแล้ว เมื่อสง(เขี่ย)ฟางด้านบนออกนอกลาน ควายแต่ละตัวก็จะบุ๋นฟางจนถึงเมล็ดข้าวกินอย่างสบายโดยเจ้าของก็จะถือว่าเป็นรางวัลค่าตอบแทนการนวดข้าว แต่ถ้ามูมมามกินมากเกินไปก็จะถูกเตือนเล็กๆน้อยๆย้ายที่ซะ ควายบางตัวกินข้าวเปลือกมากเราจะสังเกตได้เวลาถ่ายมูล(ขี้)จะเหลวสีเหลืองเหมือนข้าวเปลือกเลย

    วิธีที่ที่จะช่วยให้เราเหนื่อยน้อยหน่อยในการนวดข้าวก็คือการเอาแรงกัน ขึ้นแรงกัน เรียกว่าเอาแรงรุข้าว เพราะข้าวแต่ละตก(จำนวนฟ่อนข้าวที่นำมานวดแต่ละครั้ง)นั้น ตกน้อยก็เป็นร้อยสองร้อยฟ่อน ถ้าลานใหญ่ก็ตกใหญ่หลายร้อยฟ่อน ตอนรุข้าวนี่แหละเล่นเอาลิ้นห้อยเลย ต้องงัดข้าวฟ่อนที่ยังไม่ได้ตัดตอก ทุบ ตี ฟาด เขย่าฟ่างฟ่อนข้าวให้เมล็ดข้าวที่ร่วงไม่หมดให้ร่วงหล่น เมื่อยจนแขนจะหลุด ทั้งคายทั้งคันทั้งร้อนทั้งฝุ่นลองข้าว นี่แหละรสชาตินวดข้าวละ

    ฉะนั้นการเอาแรงกันขึ้นแรงกันนวดข้าวในหมู่ญาติเพื่อนบ้านจะสนุก ได้พูดคุยเสวนาหัวเราะกันในขณะรุข้าวนี่เลย ไม่มีซีเรียด ไม่เคร่งเครียด เรียกว่าเหนื่อยแต่ก็สนุก

    การนวดข้าวรุข้าวมีทั้งเหมือนและแตกต่างจากชุมนุมสมัยนี้แลยแหละ เหมือนอย่างไรละ ที่เหมือนก็คือมันคึกคักเพราะช่วยกันรุข้าวหลายคนนั่นเอง ที่ต่างก็เห็นจะเป็นเรื่องสีรุข้าวส่วนมากสีเขียว สีดำ สีน้ำเงิน กางเกงจีนสีดำ(ม่อฮ่อม)

    พี่น้องเรามาชุมนุมที่ท้องถนนเรียกร้องสิทธิพื้นฐานอันชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยมีสิทธิทำได้ อันนี้ดูให้ดีคล้ายเอาแรงกัน หรือการขึ้นแรงกันเลยเชียว เป็นการเอาแรงขึ้นแรงกัน เพราะอะไร เพราะผลัดกันชุมนุมทีละฝ่าย ทีละสี บางฝ่ายบางสีก็ใช้ทำเนียบเป็นที่ชุมนุม เป็นฐานที่มั่น ข่าวทางใน(ในห้อง)รายงานว่าเป็นม็อบมีเส้น ม็อบมีสี บางฝ่ายไม่มีเส้นก็ชุมนุมในที่สาธารณะเพราะพื้นที่สาธารณะนั้นสร้างด้วยภาษีของพี่น้องประชาชนทุกคน เขาก็ควรมีสิทธิใช้พื้นที่ดังกล่าวชุมนุมได้ เออน่าจะจริงแฮะ(โดยไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น)

    เอ... พูดถึงเรื่องคันฉาย เรื่องนวดข้าว รุข้าวที่หนองบัวโน่น ทำไมมาลงที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน ท้องสนามหลวง หน้าทำเนียบรัฐบาลในพระนครเมืองหลวงของเทวดา(กรุงเทพฯ)ได้ละเนี่ยพี่น้อง ขอจบก่อนเด้อ ไปก่อนละ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณเสวก ใยอินทร์

    ไดเจ็กห้า หรือไดอื่นๆ รวมทั้งกะบังทั้งหลายในหนองบัวนั้นถือว่าเป็นสระว่ายน้ำเทียบได้กับสระว่ายน้ำตามโรงแรมห้าดาวโรงแรมหรูของไฮโซก็ว่าได้เลยแหละ
    หนองบัวบ้านเราหาน้ำหาท่าได้ยากยิ่ง การจะได้เล่นน้ำโดดน้ำอย่างสนุกสานานตามประสาเด็กน้อยนั้น ต้องรอให้ถึงหน้าน้ำ หน้าฝนโน่น

    ฉะนั้นลูกบ้านดอน บ้านนอก บ้านป่าอย่างหนองบัวเรา ยากที่จะว่ายน้ำได้เก่งเหมือนลูกคนแม่น้ำอย่างชาวชุมแสง ชาวปากน้ำโผล่-ปากน้ำโพทั้งหลาย คนตกน้ำตายที่หลวงอายังจำได้ที่คนเก่าเล่าให้ฟังก็มี สระตาเจ้น(บ้านเนินตาเกิด)ต.หนองกลับอยู่ติดกับสระน้ำหนองกลับ ปัจจุบันคงถมไปแล้ว ตาเจ้นตกสระน้ำตายหรือมีข่าวบางกระแสว่าถูกฆาตกรรมโยนสระน้ำ ข้อมูลอาจคลาดเคลื่อน จะได้ตรวจสอบอีกที

    อีกที่หนึ่งคือสระน้ำวัดใหญ่-หนองกลับ ตรงข้างเมรุวัดหนองกลับใกล้กับต้นมะขวิดต้นมะสังข์ มีสระน้ำเล็กๆอยู่ ต่อมาก็ถมไปเรียบร้อยแล้วสระน้ำนี้ลูกพระของพ่อเฒ่ารถ-แม่เฒ่าเย็น ซึ่งเป็นลูกพี่ของโยมแม่หลวงอาท่านบวชพรรษาแรกและตกน้ำมรณภาพที่นี่

     เมื่อหลายปีก่อนนี้ก็มีข่าวสะเทือนใจคนหนองบัวเราที่ท่านเจ้าอาวาวัดหนึ่งสมรณภาพในรถยนต์ โดยรถตกน้ำในลำคลองข้างถนนท่านเปิดกระจกออกไม่ได้ ทั้งพระและชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์หมดปัญญาที่จะช่วยนำรถและตัวท่านให้ขึ้นจากน้ำได้ จนท่านต้องเสียชีวิตในรถ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขอบคุณอาจารย์สมบัติที่ได้แบ่งปันความรู้เรื่องศัพท์แสงภาษาลาวคำใหม่อีกสองคำ ปลาแดกนอกไห ลาวข้าวเจ้า ถ้าไม่มีคำแปลมาให้ด้วย อาจจะเดาไม่ถูกก็ได้

    เรื่องไทยมุง หนองบัวมุงเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ลงหน้าอำเภอนั้น สนุกและตื่นเต้นระลึกใจอย่างมากจริงๆ ห้วยปลาเน่านั้นอยู่ไกลอำเภอไม่น้อยตั้งเกือบสิบกิโลเมตรแนะ คนที่วิ่งกันลิ้นห้อยไปดูระบินเฮลิคอปเตอร์ก็คือคนแถวหนองบัว-หนองกลับนี่เลยเพราะใกล้ความเจริญหน่อย ว่ากันอย่างงั้นเถอะ(ขอคุยซะหน่อย)

    มีนักศึกษาอยู่ที่กุฏีอาตมาจากสองภาค เลยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเรื่องนวดข้าว และเมื่อสักครู่ได้ลองถามเด็กหนุ่มชาวสกลนครและอุตรดิตถ์โดยให้ดูภาพวาดคันฉายของอาจารย์วิรัตน์ใน(คห.๔๒๒)ทั้งสองคนตอบว่าไม่รู้จักและยังไม่เคยเห็นคันฉาย เพราะที่บ้านของเขาไม่ได้ใช้ควายนวดข้าว และใช้คันฉาย

    ลูกชาวนาหนองบัวรุ่นใหม่ที่เป็นนักเรียนนักศึกษาปัญญาชนทั้งหลายจะรู้จักคันฉายกันบ้างไหมหนอ? คันฉายนี้เป็นอุปกรณ์ประจำตัวของแต่ละคนเวลานวดข้าว ใครใช้คันไหนก็จะถนัดมือคันนั้น จับอย่างจำหนับมือเหมาะแก่ใช้งานใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว ถ้าเปลี่ยนคันกันแล้วละก็ ก็จะมีความรู้สึกว่าเหมือนมีความไม่คุ้นเคย แปลกๆมือ ใช้งานได้ไม่เต็มที่

    ตอนเป็นเด็ก ผมก็มีคันฉายประจำตัวเหมือนกันครับ มีการจุดตะเกียงเจ้าพายุ ใช้ควาย (วน ๆ ) นวดข้าวเหมือนกัน เหมือนในภาพของท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์เปี๊ยบเลยครับ

    ที่บ้านออกเสียง...คันฉาย.....ได้กันทุกคน เพราะมีพ่อเป็นคนไทย/พูดภาษาไทยกับลูก ๆ ตลอด แต่ญาติพี่น้องที่มีพ่อแม่เป็นลาว เป็นพวน เป็นยวน เป็นแง้ว เป็นโซ่ง ออกเสียงเป็น....คันสาย.....กันทั้งนั้น

    แต่ที่สำคัญ พวกแม่ครัวก็จะช่วยกันเตรียมอาหารไว้เลี้ยงแขกที่มาช่วยนวดข้าว ซื้อน้ำแข็งเป็นมือ ๆ มาแช่ในถังน้ำขาดใหญ่ไว้ให้แขกได้ดื่มกินยามเหน็ดเหนื่อย ส่วนใหญ่บ้านใหนก็บ้านนั้นครับ อาหารหลัก ๆ มักจะเป็นแกงไก่ใส่หน่อไม้เปรี้ยว/ใส่ฟักทอง/ใส่ฟักแฟง น้ำพริกปลาร้า/ผักต้ม ประเภทผักบุ้ง/ผักตำลึง/สะเดา ส่วนอาหารหวานนั้นก็พื้น ๆ ครับเป็นจำพวกข้าวเหนียวเปียกใส่แห้ว/มะพร้าว/ลำใยแห้ง/เผือก

    ความหวังของเด็ก ๆ อย่างพวกผมซึ่งตอนนั้นเป็นลูกหล้าด้วย (ลูกคนสุดท้อง) เป็นที่รู้กันว่า ตับไก่ทุกตัวที่ถูกปลิดวิญญาณ จะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของเราเพียงคนเดียว.....ประเภทที่ว่า..... ตับของข้า ใครอย่าแตะ........

    เข้าใจว่าจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหรือเปล่าครับ ที่ว่า... ตับไก่...... จะต้องสงวนไว้เป็นพิเศษสำหรับใครบางคน โดยเฉพาะคนที่ตัวเล็กที่สุดในบ้านหลังนั้น ส่วนไตไก่นั้น เด็ก ๆ อย่างผม..หมดสิทธิ์ครับ เห็นผู้ใหญ่เขาบอกว่า เด็กกินแล้วจะปัญญาทึบ เป็นงั้นไป.

    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์ครับ นานๆแวะมาคุยนี่ต้องรีบปัดกวาดที่นั่งและตักน้ำท่าต้อนรับขับสู้เพื่อจะได้นั่งคุยกับคุณฉิก พระอาจารย์มหาแล คุณสมบัติ ฆ้อนทอง คุณช้างน้อยมอมแมม อาจารย์ณัฐพัชร์ และอีกหลายๆท่าน อย่างเต็มที่สักหน่อยนะครับ

    รู้จักไดเจ๊กห้าด้วยหรือครับ มิหนำซ้ำบอกว่าเคยไปเล่นน้ำที่ไดเจ๊กห้าอีกด้วย เป็นคนรอบรู้กว้างขวางมากเลยนะครับ หากรู้จักบ้านป่ารัง บ้านรังย้อย หรือห้วยปลาเน่า แหล่งหลักๆเหล่านี้ ก็จะไม่แปลกใจครับ แต่รู้จักไดเจ๊กห้านี้ ต้องเป็นคนรอบรู้หรือไม่ก็เก่าแก่ดั้งเดิมมาก หรือไม่ก็ต้องมีเพื่อนอยู่แถวนั้น

    แต่ก็ไม่แน่นะครับ เดี๋ยวนี้แถวไดเจ๊กห้าดูเหมือนจะมีโรงสีหรือกิจการขนาดใหญ่พอสมควรไปลงแถวนั้นแล้ว เลยอาจจะเป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไปได้ดีขึ้น ผมเลยวาดรูปไดเจ๊กห้าและบรรยากาศเก่าก่อนมาให้รู้จักด้วยครับ รายละเอียดเหมือนกับที่คุณเสวกพูดถึงเลยทีเดียว

                                

     ไดเจ๊กห้า  : ได้เจ๊กห้าเป็นกลุ่มบ้านเรือนอยู่ตรงกลางระหว่างบ้านตาลินกับบ้านป่ารัง อำเภอหนองบัวจังหวัดนครสวรรค์ ประมาณหลักกิโลเมตรที่ ๒๕ ของถนนจากชุมแสง-หนองบัว แต่เดิมนั้น บริเวณได้เจ๊กห้าเป็นทางน้ำหลากจากเหนือล่องไปจบกับห้วยปลาเน่าและห้วยวารี ในหน้าน้ำหลากกระทั่งน้ำทรงในเดือนสิบสองถึงเดือนยี่-เดือนอ้าย ก็จะเป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุมมาก ชาวบ้านจะมารวมตัวกันจับปลาในบริเวณไดเจ๊กห้านี้เมื่อน้ำแห้ง ก้นคลองและดินโคลนตามลำห้วยแตกระแหง ก็จะเต็มไปด้วยเขียด ก็จะมาจับเขียดกันอีก

    เมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อนนั้นไดเจ๊กห้าเป็นทุ่งนาไม่มีบ้านเรือนชาวบ้าน ในหน้าทำนา ชาวนาหนองบัวและกลุ่มชาวบ้านจากชุมชนโดยรอบที่มุ่งมาหาปลา ก็มักจะมาทำห้างและตั้งเรือนพักชั่วคราว ต่อมาก็มี พ่อใหญ่เรือง : ครูเรือง พินสีดา ไปลงหลักปักฐานอยู่อาศัยที่ไดเจ๊กห้าอย่างเป็นการถาวรกระทั่งปัจจุบัน บ้านพ่อใหญ่เรืองกับไดเจ๊กห้าจึงเป็นแหล่งอ้างอิงกันและกัน

    ครูพ่อใหญ่เรืองนี้ เป็นคนร่วมรุ่นกับครูเสริญบ้านป่ารัง ครูเสริญเป็นครูสอนและดูแลโรงเรียนบ้านป่ารัง ส่วนครูพ่อใหญ่เรืองนี้เป็นครูที่ร่วมกับนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ และคนรุ่นบุกเบิกของบ้านตาลิน บ้านป่ารัง รังย้อย ห้วยถั่วใต้ และห้วยถั่วเหนือ ขอให้กองทุนวันครูของครูทั่วประเทศไทยในปี ๒๕๐๔ เอาทุนที่จะสร้างโรงเรียนให้เด็กๆ ลงไปสร้างโรงเรียนที่บ้านตาลิน ทำให้มีโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) อยู่ที่บ้านตาลินตราบจนทุกวันนี้ ซึ่งในปีนั้นการระดมทุนของเหล่าคุณครูทั่วประเทศ สามารถสร้างโรงเรียนเนื่องในวันครูปี ๒๕๐๔ ในจังหวัดต่างๆของประเทศได้เพียง ๕ แห่งเท่านั้น โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ของอำเภอหนองบัวเป็นเพียง ๑ ใน ๕ โรงเรียนดังกล่าวนั้นและในปี ๒๕๕๔ นี้ก็จะก่อตั้งมาได้ครึ่งศตวรรษครับ ส่วนโรงเรียนบ้านป่ารังและโรงเรียนห้วยถั่วใต้ ต่อมาก็ได้ยุบให้เด็กๆไปเรียนที่โรงเรียนวันครู 

    ครูพ่อใหญ่เรืองนี้ หากอยู่ในยุคปัจจุบันนี้ก็เชื่อว่าจะเป็นครูต้นแบบของการดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงท่านหนึ่งแน่นอน เพราะครูพ่อใหญ่เรืองท่านขอลาออกจากราชการก่อนเกษียณ แล้วก็แปรผืนดินที่ไดเจ๊กห้าทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ด้วยวิธีคิดที่ล้ำยุคเกินใครจะคาดคิด โดยท่านขุดสระขนาดใหญ่ ๒ ลูกเชื่อมต่อกันและสามารถจัดการน้ำถ่ายเทถึงกันได้ รอบคันสระก็ปลูกพืชสวนผสม ในสระก็เลี้ยงปลา ที่ขอบสระด้านหนึ่งก็ทำคอกไก่และเลี้ยงไก่ให้ไก่ขี้ลงไปในสระให้เกิดไรเป็นอาหารปลา รอบสระเต็มไปด้วยแปลงผัก และที่สุดจะก้าวหน้ามากก็คือท่านล้อมตาข่ายเลี้ยงกบและแมงดานา ซึ่งเมื่อกว่า ๓๐-๔๐ ปีก่อนโน้นไม่มีใครคิดได้ทันอย่างที่ครูพ่อใหญ่เรืองทดลองทำด้วยตนเองอย่างนี้เลย

    เวลาถึงวันพระหรือมีกิจกรรมประเพณีต่างๆ ครูพ่อใหญ่เรืองจะเป็นศูนย์กลางของการตีวงเข้ามานั่งคุยและศึกษาหัวข้อธรรมต่างๆด้วยกันของชาวบ้าน ปัจจุบันท่านถึงแก่กรรมไปหลายปีแล้ว แต่ลูกหลานและภรรยาของท่านคือแม่ใหญ่คูณก็ยังคงอยู่ที่ได้เจ๊กห้า กระทั่งทุกวันนี้.

    วาดรูปตามคำบอกเล่าของคุณเสวกเพื่อให้เห็นภาพอีกอย่างหนึ่งคือ อุบัติเหตุการจมน้ำและเสียชีวิตของเด็กๆ ดูสภาพแหล่งที่เด็กๆชอบเล่นน้ำแล้วก็คงจะนึกออกนะครับว่าทำไมเด็กๆจึงมักเสียชีวิตจากการเล่นน้ำและจมน้ำ หน้าน้ำนั้นน้ำจะไหลแรงมาก 

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ : อ่านการถ่ายทอดประสบการณ์รอบโลกของคุณสมบัติแล้วได้ความรู้และความรอบรู้ใหม่ๆงอกขึ้นมาทุกที ที่สำคัญคือมักเป็นความรู้สำหรับเห็นความงดงามของผู้อื่น เกิดความเคารพและเป็นมิตรกับผู้อื่น อย่างปลาแดกนอกไห หรือลาวข้าวเจ้า เป็นบทสรุปไปในตัวให้เห็นอัตลักษณ์-ความเป็นตัวตนที่สะท้อนสังคมและสภาพแวดล้อมไปด้วยอย่างดีเลยนะครับ การคิดคำพูดขึ้นได้อย่างนี้นี่ช่างสะท้อนการเรียนรู้และการตกผลึกบทเรียนเชิงระบบในชีวิตได้ดีมากจริงๆเลยนะครับ

    คุณสมบัติพูดถึงการซื้อน้ำแข็งเป็นมือๆเพื่อไปทำน้ำเย็นเลี้ยงดูกันของชาวบ้านเวลาลงแขกนวดข้าวด้วยแล้ว ก็ต้องนึกถึงน้ำยาอุทัยหมอมีด้วยเลยนะครับ และน้ำแข็งนี่ก็ต้องมาจากโรงน้ำแข็งกับโรงไอติมข้างสระหลวงพ่ออ๋อย

    ส่วนตับไก่กับกึ๋นไก่นี่ นึกถึงแล้วก็ขำไปด้วยเช่นกันครับ อันที่จริงพวกเด็กๆไม่ชอบกินตับไก่เพราะมันขม แต่พวกผมนี่ชอบแย่งกันที่หัวไก่ เพราะเชื่อกันว่าไก่ตื่นเช้า ต้องแย่งกินหัวไก่เพราะอยากตื่นแต่เช้าก่อนตะวันขึ้น กึ๋นไก่นั้นไม่อยากกินเพราะกลัวปัญญาทึบ ตับหรือก็ขมเลยก็ไม่กินอีก ขาและตีนไก่ยิ่งไม่กินใหญ่เพราะกลัวลายมือยุ่งเป็นไก่เขี่ย ตกลงก็เหลือแต่ของอร่อยๆให้ผู้ใหญ่กิน ส่วนผมก็จ้องกินหัวไก่นั่นละ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหน ก็นึกถึงคลอเลสเตอรอลไว้ก่อนละครับเพราะกำลังใกล้จะเดินหลังงุ้มเป็นไก่แล้วสิ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • พระคุณเจ้าพรรณาเรื่องการนวดข้าวได้ดีจังเลยครับ ผมจะหาเวลาดึงออกไปทำเป็นเนื้อหาหัวข้อย่อยและเขียนรูปประกอบไว้ให้นะครับ
    • ข้อเขียนในส่วนนี้ทั้งของคุณฉิก คุณเสวก พระอาจารย์มหาแล และคุณสมบัติ ดีมากจริงๆเลยนะครับ หากเมื่อก่อนนี้มีใครมาทำไว้ให้พวกเราอย่างนี้ เด็กหนองบัวก็คงจะมีแหล่งค้นคว้าและอ่านเรื่องราวชุมชนของตนเองให้เกิดความรอบรู้กันได้เป็นอย่างดีเลยนะครับ 

     การนวดข้าว  : บรรยากาศอย่างที่พระอาจารย์มหาแล และคุณสมบัติเล่าถ่ายทอดไว้ครับ

                                

                                                                                                        วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    ภาพการนวดข้าวในหัวข้อที่ 435 ผมขอแสดงความชื่นชมและชื่นชอบอย่างเป็นที่สุดเลยครับ ในเรื่องของการให้บรรยากาศและรายละเอียดอย่างครบถ้วน/สมบูรณ์ ไม่ละเลยแม้แต่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทรงคุณค่า โดยเฉพาะของเด็ก ๆ

    ตอนเป็นเด็กที่อยู่ตามบ้านนอกนั้น ของเล่นที่เด็กในเมืองเขาเล่นกันนั้น มีน้อยนักและ หายากเต็มที

    สิ่งที่นิยมเล่นกัน...... ผมเห็นปรากฏอยู่ในภาพของอาจารย์ครับ นั่นคือการเล่นกับเงาของตัวเอง เต้นลิงเต้นค่าง อยู่ตรงกลาง ระหว่างตะเกียงเจ้าพายุกับฝาบ้านหรือพื้นผนังอะไรซักอย่าง

    สมัยนั้น....เพียงได้เล่นแค่นี้ก็สนุกสนานมากพอแล้วครับ......สมัยนี้ เมื่อได้พบ/ได้เห็นกับภาพแบบนี้ มันได้ช่วยเตือนความทรงจำในอดีตได้ดีมาก ถึงดีสุด ๆ

    ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงและขอบคุณจริง ๆ ครับ สำหรับภาพนี้.

      สวัสดีครับคุณสมบัติครับ   

    • ผมขออนุญาตแยกเอาเนื้อหาที่คุณสมบัติกับท่านพระอาจารย์มหาแลเขียน ไปทำเป็นหัวข้อต่างหากอีกหัวข้อหนึ่งเรื่อง การนวดข้าวด้วยควายเหยีบของชาวหนองบัว นะครับ เนื้อหาและข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อคนเข้ามาอ่าน จะได้ค้นหาสะดวกมากขึ้นครับ แล้วก็วาดรูปประกอบให้ด้วยแล้ว เป็นรูปที่นำมาโพสต์ไว้ที่นี่ด้วยแหละครับ
    • การเล่นของเด็กๆในชนบทอย่างที่คุณสมบัติชอบใจนั้น มันช่างสนุกจริงๆนะครับ ความสามารถที่จะสนุกกับวิธีเล่นอย่างไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกมากมายนักนั้น มองในแง่หนึ่งมันก็เป็นการพัฒนาพลังจินตนาการและความสร้างสรรค์ได้ดีมากเลยนะครับ  
    • ใครได้ดูแล้วรำลึกถึงความสนุกอย่างง่ายๆอย่างนี้นี่คงจะเริ่มคิดถึงบ้านไปด้วยเลยนะครับ 

    สวัสดีครับท่านอาจารย์ครับ

    ยินดีและเห็นด้วยครับ ผมตามไปดูมาแล้ว รู้สึกว่าส่วนใหญ่ที่เข้ามาแลกเปลี่ยน/แสดงความคิดเห็นนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรงทั้งสิ้น ดีใจด้วยครับ.

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าฯ สวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆท่านทั้งอยู่หน้าไมค์และหลังไมค์  ไม่ค่อยได้เข้ามาพูดคุยด้วย รู้สึกว่ามีเรื่องราวต่างๆมากมายเหลือเกิน ทั้งเฮลิคอปเตอร์เอย ครูนุชเอย การนวดข้าวลงแขกอีก คงต้องเข้ามาคุยบ่อยๆแล้วแหละ จะได้ไม่หลุดวงโคจรไป คราวนี้มาแจมเรื่องไดเจ๊กห้าก่อนละกัน

    • ผมเองเพิ่งเคยได้ยิน ไดเจ๊กห้าก็จากพระคุณเจ้าคราวนี้แหละ และจากข้อมูลที่พี่วิรัตน์ว่ามา ไดเจ๊กห้า น่าจะหมายถึง แถวๆห้วยใหญ่ หรือเปล่า ซึ่งตรงนั้นจะมีโรงสีอยู่ 1 โรง
    • ก่อนหน้านี้ผมก็รู้จักแต่ไดนาโม ที่หมายถึงเครื่องปั่นไฟ (เครื่องแปลงพลังงานกลเป็นพลังงานไฟฟ้า ตรงข้ามกับมอเตอร์ที่แปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกลจากการหมุนของมอเตอร์) หรือชาวเลจะมีเรือไดหมึก ซึ่งก็คือเรือประมงที่มีเครื่องปั่นไฟ จ่ายไฟฟ้าให้หลอดไฟเพื่อใช้แสงไฟล่อปลาหมึกมาเล่นไฟใกล้เรือเพื่อจะได้จับได้ง่าย (พูดถึงทะเลแล้ว มีเรื่องตื่นเต้นตอนที่จะได้เห็นทะเลเป็นครั้งแรกในชีวิต ไว้มีโอกาสจะเล่าให้ฟัง)
    • สมัยที่เรียนชั้นประถม เพื่อนๆจะมีบ้านอยู่ที่ตลาดหรืออกไปรอบนอกไม่ไกลนัก หรือไม่ก็เป็นลูกครูลูกตำรวจข้าราชการอำเภอ จึงไม่ค่อยได้รู้จักสถานที่ต่างๆที่ออกไปรอบนอกไกลๆมากนัก จนมาเรียนมัธยมจึงมีเพื่อนจากรอบนอกที่เข้ามาเรียนต่อที่หนองคอก (ก็ทั้งอำเภอมีรร.มัธยมแค่โรงเดียว) ทำให้รู้จักสถานที่รอบนอกมากขึ้น บางที่ก็ไม่เคยได้ยินเช่น ไดลึก ไดรัง วังแรด เป็นต้น จึงเริ่มจะรู้จักชื่อได ซึ่งก็เดาเอาว่าน่าจะเป็นที่ลุ่มน้ำเพราะอยู่เลยห้วยร่วมออกไปอีก (ไม่แน่ใจว่าอยู่เขตพิจิตร หรือว่าเขตหนองบัว) อย่างถนนสาย11 (อินทร์บุรี-เขาทราย) ตรงสี่แยกท่าตะโก-ไพศาลี ก็มีชื่อเรียกว่าสี่แยกไดตาล พอมาขับรถมาถึงตรงนี้ทีไรก็จะบอกกับตัวเองว่าเดี๋ยวกลับกทม.จะไปเปิดพจนานุกรมดูทีว่า ได หมายถึงอะไร แต่ก็ลืมทุกคราไป เพิ่งจะได้มาเปิดเอาเมื่อวานนี้เอง ซึ่งก็ไม่มีกล่าวถึงที่เกี่ยวข้องกับสถานที่เลย
    • เรื่องการจมน้ำตายนั้น พี่ชายผมก็จมน้ำเสียชีวิตที่เกาะลอย(ท้ายหนอง) ตั้งแต่ที่ผมยังเล็กมาก ไม่ประสีประสาอะไร เลยไม่ได้รับรู้เรื่องราวในขณะนั้น พอเริ่มโตขึ้นแม่ก็จะห้ามไม่ให้ไปเล่นน้ำ แต่ผมก็แอบหนีไปเล่นกับเพื่อนๆที่เกาะลอย และก็ว่ายน้ำเป็นที่เกาะลอยนี่แหละ สมัยนั้นโดดน้ำจากราวสะพานลงน้ำ ตู้ม ตู้ม สนุกมาก มีตาเปรื่องเป็นคนดูแลเกาะลอย แกมักจะคอยมาไล่ไม่ให้เล่นน้ำ ด้วยกลัวว่าจะเกิดการจมน้ำขึ้น เวลาเล่นน้ำต้องคอยดูตลอด ถ้าเห็นแกขี่จักรยานมาก็จะรีบขึ้นจากน้ำ คว้าเสื้อผ้าหนีไปตั้งหลักแล้วค่อยใส่เสื้อผ้ากัน บางคนหนีไม่ทันโดนแกยึดเสื้อผ้า เนื้อตัวล่อนจ้อนหรือถ้าเด็กโตหน่อยก็เหลือกกน.ตัวเดียวที่ใส่เล่นน้ำ ต้องให้เพื่อนๆไปขอเสื้อผ้าคืนจากแก ก็จะโดนแกดุแกว่าเอา

      สวัสดีครับคุณสมบัติและคุณฉิกครับ

    • วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๓ นี้ ทางมหาวิทยาลัยมหิดลกับจังหวัดนครสวรรค์ และมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ จะจัดสัมมนาและการระดมสมอง เรื่อง วิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัย - มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดและอาจารย์หมอประเวศ วะสี จะไปบรรยายให้วิธีคิดและผุดประเด็นการระดมสมองกันด้วย หากมีโอกาสผ่านไปในเมือง ก็อยากชวนแวะไปร่วมเวทีนะครับ ที่ห้องเรียนรวม ชั้น ๓ อาคารเรียนรวม ทั้งวันเลย ผมเองก็ว่าจะไปร่วมเวทีด้วยครับ จะไปประชุมเครือข่ายวิจัยที่พิจิตรในวันที่ ๘ เมษ.ย.แล้วก็จะอยู่แถวนั้นเพื่อร่วมประชุมต่อในวันรุ่งขึ้นเลย
    • ท่านอื่นๆด้วยก็ขอบอกกล่าวประชาสัมพันธ์ให้ไปร่วมได้นะครับ สำหรับคนหนองบัวนั้น หากมีใครที่พอจะสามารถไปฟังแล้วได้แนวคิดมาจัดเวทีพูดคุยกันของคนหนองบัวต่อ ก็คิดว่าจะสามารถทำสิ่งต่างๆไปได้ทีละเล็กละน้อยได้อีกหลายอย่าง หากผ่านไปก็แวะนะครับ
    • หากได้ไปร่วมผมก็จะรวบรวมประเด็นมาเล่าถ่ายทอดให้ฟังครับ

    วันที่ 9 เม.ย. นี้ คงไม่ได้ไปร่วมฟังบรรยายครับ อย่างไรพี่วิรัตน์ช่วยสรุปให้ฟังด้วยละกัน เอ..ที่นว.เรา มีม.มหิดลหรือยังครับ คล้ายๆว่า ใกล้ๆ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จะมีอยู่หรือเปล่า ไม่แน่ใจ

    จำได้ว่าที่ นบ. บ้านเราก็เคยมีป้ายมาปักว่าจะสร้าง วิทยาเขต แต่น่าจะเป็นราชภัฏฯ นะ แล้วเรื่องก็เงียบหายไปแล้ว

    พรุ่งนี้ (วันศุกร์) ไปธุระแม่สอดครับ เย็นวันเสาร์เข้าหนองบัว บ่ายวันอาทิตย์กลับเข้ากทม.

  • ที่นครสวรรค์มีมหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์แล้วครับ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์เป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาไปเป็นแหล่งจัดการเรียนการสอนทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ
  • เคยทราบอยู่บ้างเหมือนกันครับว่าทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์จะพัฒนาวิทยาเขตไปหนองบัว มีการรวบรวมที่ดินไปได้พันกว่าไร่และมีการระดมทุนไว้จัดประชุมและริเริ่มประสานงานในขั้นต้นอยู่เล็กน้อย แต่ก็คงจะยังทำอะไรต่อไปได้ไม่มากนัก ทำที่ลองถามดูก็ดูเหมือนว่ายังต้องสร้างความพร้อมและระดมการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นให้มากกว่าเท่าที่มีอยู่ครับ ไม่อย่างนั้นก็คิดและทำอะไรต่อไม่ไหว ซึ่งเข้าใจได้ครับ
  • ที่มหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์ก็ยังทำไปได้เป็นบางส่วนเพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณ รวมทั้งแนวทางที่เน้นสำหรับการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์ จะเน้นการมีส่วนร่วมและพัฒนาขึ้นจากท้องถิ่นแล้วให้มหาวิทยาลัยมหิดลสนับสนุนทางวิชาการ มากกว่าจะเป็นการพัฒนาเพื่อขยายความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีอยู่ในส่วนกลางออกไปสร้างขึ้นอีกในนครสวรรค์อย่างเดียว
  • ทางผู้นำในท้องถิ่น คนจากอำเภอ และพวกเราที่เป็นศิษย์เก่าหนองคอกและคนหนองบัวที่อยากให้มีสถาบันการศึกษาสูงกว่ามัธยม เคยอยากรวมตัวกันหารือเรื่องนี้และชวนผมไปนั่งคุยกันด้วยอยู่เหมือนกันครับ แต่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการการเรียนรู้ที่ดีก่อนมากเหมือนกัน
  • นี่ก็เป็นแรงดลใจอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ต้องมานั่งเขียนและชวนฉิกกับทุกท่านคุยกันอยู่ในนี้แหละครับ ผมอาจจะช่วยเสริมเข้าไปอีกทางหนึ่ง แต่อยากให้เรามีเวทีคุยทำความคิดให้ดีๆ มีข้อมูลและได้ปรึกษาหารือกัน หากทำงานวิจัยได้หรือเห็นประเด็นทบทวนข้อมูลต่างๆได้ ก็อาจจะได้ประเด็นที่เชื่อมโยงออกจากเรื่องราวต่างๆที่มีคนได้คุย คิด และแลกเปลี่ยนเรียนรู้สักจำนวนหนึ่ง แล้วก็คิดว่าคนหนองบัวน่าจะมีเวทีคุยกันเรื่องพัฒนาท้องถิ่นและพัฒนาการศึกษาเพื่อพัฒนาอนาคตของตนเองด้วย แต่เรื่องอื่นๆนั้นก็คงมีคนช่วยกันทำบ้างพอสมควรครับ
  • อย่างปีนี้ไปจนถึงปี ๒๕๕๔ ผมอยากร่วมกับทุกท่านให้คนหนองบัวตื่นตัวว่าเป็น ๕๐ ปีหรือกึ่งศตวรรษของการศึกษากับการพัฒนาท้องถิ่นหนองบัวครับ เพราะโรงเรียนหนองคอกนั้นก่อตั้งในปี ๒๕๐๓ ครบรอบก่อตั้ง ๕๐ ปีในปีนี้ และหนองบัวมีโรงเรียนวันครู ๒๕๐๔ ซึ่งทั่วประเทศมีอยู่เพียง ๕ แห่งและปีหน้าก็ครบรอบก่อตั้ง ๕๐ ปีเช่นกัน เราคุยหาความรู้-หาประเด็นในนี้กันสักระยะหนึ่งผมคิดว่าจะพยายามจัดสัมมนาเรื่องการศึกษากับการพัฒนาหนองบัว หรืออาจจะยกเป็นกรณีศึกษา เพื่อคุยวิเคราะห์ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องของสังคมไทยก็เชื่อว่าจะเหมาะสมดี แล้วก็หาทางทำสิ่งต่างๆไปข้างหน้า
  • แต่คิดว่าจะทำเฉยๆนะครับ ตอนนี้ทำไปตามสภาพ ทำเวทีคนหนองบัวนี้ให้เป็นสื่อการแลกเปลี่ยนสื่อสารและรวบรวมข้อมูลไปสบายๆกันก่อน และตอนนี้ก็ดึงเรื่องที่ผมเขียนเรื่องแม่ 'ดังลมหายใจ' ออกมาทำต้นฉบับหนังสืออยู่ ๑ เล่มครับ แล้วก็พอหนังสือเสร็จก็จะลงมาจัดกิจกรรมกับโรงเรียนวันครูและชาวบ้านที่บ้านผมครับ จะพาเด็กๆ อสม.และลูกหลานในชุมชน เรียนรู้ชุมชน ฝึกเป็นนักวิจัยชุมชนและสร้างความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นตนเอง คิดว่าสักเดือน-สองเดือนนี้หนังสือคงเสร็จครับ
  • ไปร่วมเวทีมหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์มาแล้ว จะนำมาถ่ายทอดสู่กันฟังนะครับ
  • สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์และพี่น้องชาวหนองบัวครับ

    เมื่อสักครู่ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่า ที่วัดน้ำสาดกลาง ต.ธารทหาร อ.หนองบัวบ้านเรา มีงานใหญ่ครับ คือว่ามีพี่น้องไทดำและพี่น้องไทเพชร จากจังหวัดเพชรบุรี มาทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคีกันเป็นจำนวนมาก

    มาเป็นรถบัส รถตู้ รถปิคอัพและรถส่วนตัว เกือบ 20 คัน มีแขกผู้มาเยือนจากจังหวัดเพชรบุรี กว่า 200 คน ว่ากันว่าเป็นครั้งแรกที่จัดงานใหญ่ขนาดนี้ เป็นการจัดงานเพื่อการประสานงาน/เชื่อมโยง/ผูกสัมพันธ์กันระหว่างชาวไทดำ/ไทยเพชรในอำเภอหนองบัว กับชาวไทดำ/ไทยเพชรจากจังหวัดเพชรบุรีครับ

    ที่บ้านน้ำสาดกลางและหมู่บ้านใกล้เคียงนั้น มีพี่น้องชาวไทดำและชาวไทยเพชร อพยพเข้ามาหักร้างถางพงอยู่อาศัยกันเป็นจำนวนมาก อพยพมาทางรถไฟเมื่อประมาณ 70 - 80 ปีก่อน.....จากเพชรบุรีมาลงรถไฟที่สถานีอำเภอชุมแสง แล้วพายเรือเข้ามาจับจองที่ดินในแถบนี้และอยู่กันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จนเป็นชุมชนขนาดใหญ่และกระจัดกระจายไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง

    เจ้าภาพได้ต้อนรับขับสู้กันเต็มที่ มีหมอลำ / หมอแคน และการละเล่นอื่น ๆ เลี้ยงฉลองต้อนรับกันคึกครื้น

    ท่านใดที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ยังสามารถไปร่วมงานได้ทันครับ...... เพียงแค่การได้เห็นการแสดง/การแต่งตัวและได้ยินภาษาพูดของพี่น้องชาวไทดำหรือลาวโซ่ง ผมก็ว่าคุ้มค่าแล้วครับ.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขนาดอยู่ที่พิษณุโลกยังรู้สึกตื่นเต้นไปกับชาวบ้านน้ำสาดกลางที่ได้มีโอกาสต้อนรับพี่น้องไทยดำ-ไทยทรงดำ(ลาวโซ่ง)จากเพชรบุรีด้วยเลย เมื่อก่อนบ้านโยมป้าอยู่หน้าวัด ตอนหลังย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านเวฬุวันติดกับบ้านวังข่อย รับรู้อยู่ว่าพี่น้องบ้านน้ำสาดกลางนั้นเป็นคนลาวแต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นคนโซ่งเลยจริงๆ เมื่อได้อ่านพจนานุกรมสามภาษาของอาจารย์สมบัติจึงได้รู้ว่าที่หนองบัวมีลาวโซ่งด้วย

    ที่อำเภอบางระกำ พิษณุโลก จะมีงานทำบุญทอดผ้าป่าและรวมญาติเชื่อมความสัมพันธ์พบปะสังสรรค์เครือข่ายพี่น้องไทยทรงดำ(ลาวโซ่ง)ทั่วประเทศขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ณ ที่วัดยางแขวนอู่(วัดคุยพยอม) พระที่รู้จักกันท่านเล่าว่าเป็นงานใหญ่มากๆของพี่น้องไทยทรงดำบ้านยางแขวนอู่ และเป็นความภูมิใจของชาวบ้านด้วยที่ได้ต้อนรับญาติซึ่งมาจากเขาย้อย เพรชรบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และจังหวัดอื่นๆอีกมากมาย

    ฟังข่าวที่ส่งมาและบรรยากาศงานใหญ่ที่วัดน้ำสาดกลางในวันนี้ที่มีพี่น้องไทยทรงดำจากเพชรบุรีมาเชื่อมความสัมพันธ์กับพี่น้องชาวบ้านน้ำสาดกลางมากขนาดนี้แล้ว ก็ไม่แตกต่างจากที่อำเภอบางระกำพิษณุโลกเลย ถ้าพี่น้องชาวหนองบัวได้เห็นเอกลักษณ์การแต่งกาย ภาษาพูด รวมทั้งประเพณีการแสดงของไทยทรงดำที่หาชมได้ยากแค่นี้ก็สุดประทับใจแล้ว

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ และสวัสดีครับคุณสมบัติครับ  

    • เมื่อก่อนเวลาได้ยินบ้านน้ำสาดนี่ จะรู้สึกว่ามันไกลมากจริงๆนะครับ นานทีปีหนถึงจะสามารถไปได้ถึงบ้านน้ำสาด อย่างผมนั้นปีหนึ่งๆก็อาจจะได้ๆไปหนสองหนเพราะไปเป่าแตรงานบวชนาค
    • แต่เดี๋ยวนี้ บางทีนั่งรถตู้กลับบ้านหนองบัว เขาก็อาจพาแวะเข้าไปในบ้านน้ำสาดและธารทหาร เวลาผ่านแล้วก็รู้สึกว่ามันใกล้หนองบัวนิดเดียว อดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมเมื่อก่อนนี้รู้สึกว่ามันไกลมากจริงๆ
    • การเดินทางไปทอดผ้าป่าอย่างนี้ เป็นการนับญาติและเยี่ยมยามกันอย่างหนึ่งของชาวบ้าน หากเป็นเมื่อก่อนนี้ก็จะต้องมีการฟังเทศน์ กินขนมจีนและรำวงกันสัก ๑ คืน แต่เดี๋ยวนี้การเดินทางสะดวก พอทอดผ้าป่าเสร็จก็สามารถเดินทางกลับและถือโอกาสแวะเที่ยวไปตามแหล่งต่างๆ
    • งานอย่างนี้ ครูหรือมัคนายก หรือคนที่เป็นโฆษกชุมชนเป็น จะสามารถเป็นคนที่ช่วยทำให้มีความหมาย ได้ความประทับใจ ได้ความเป็นญาติ และได้ประสบการณ์ชีวิตที่ดี แต่ต้องปรับปรุงรูปแบบให้เหมาะแก่สภาพเงื่อนไขหลายอย่างที่เปลี่ยนไป เช่น ทำหน้าที่เป็นสื่อการเรียนรู้ชุมชน คุยเรื่องราวให้คนได้รู้จักกันและกัน เหมือนอย่างในกรณีนี้ก็สามารถเล่าให้ฟังเรื่องไทยทรงดำ ลาวโซ่ง และคนไทย-ลาวตามท้องถิ่นต่างๆ ก็จะทำให้เป็นโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางสังคม ไม่ได้สนุกอย่างเดียว เวลากลับบ้านและเมื่อมีงานอย่างนี้ ผมกับพระและมัคนายกของชุมชนที่บ้าน ก็มักจะช่วยกันทำอย่างนี้แหละครับ 
    • ดีใจและอบอุ่นใจไปกับคนบ้านน้ำสาดกลางครับ และขอบคุณคุณสมบัติครับที่ช่วยเป็นสื่อท้องถิ่นให้ทุกคนครับ 
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ในความเห็นที่๔๓๙(คห.๔๓๙)คุณฉิกได้กล่าวถึงเรื่องชื่อได และความหมายของคำว่าไดโดยบอกว่าไม่พบว่ามีการอธิธายและให้ความหมายคำนี้ไว้ด้วย เรื่องนี้อาจารย์วิรัตน์ได้ตอบโดยตรงไว้ที่หัวข้อ ได้เจ๊กห้า : แหล่งบุกเบิกเกษตรผสมผสานและเศรษฐกิจพอเพียงของหนองบัว ที่คุณครูคิดได้ถามข้อสงสัยเรื่องได คอมเม้นต์ที่ ๗ วันที่๓๐มีนาคม๒๕๕๓ ขออนุญาตนำมาฝากคุณฉิกและทุกท่าน ดังต่อไปนี้

    "....ผมไม่รู้ว่าถิ่นอื่นๆใช้คำนี้บ้างหรือเปล่านะครับ แต่แถวบ้านนั้น หากพื้นที่ลุ่มตรงไหนลุ่มเป็นแอ่งน้ำขังเล็กกว่าบึง และไม่ลึกอย่างคลอง บ่อ หรือสระ ลักษณะเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ราบโดยรอบจนแทบจะแยกให้เห็นขอบเขตฝั่งไม่ออก กระทั่งลุ่มลงไปเป็นแอ่ง แล้วก็มีปลาชุกชุม มีพืชพรรณอุดมสมบูรณ์ ลักษณะอย่างนี้ก็มักจะเห็นเรียกกันว่า ได น่ะครับ"

    สำหรับอาตมาพอเข้าใจเรื่องไดและลัษณะพื้นที่ดังกล่าวได้ แต่ที่สงสัยอยู่นิดเดียวก็ตรงชื่อไดเจ๊กห้าและที่มา ยังเดาไม่ถูดว่ามีที่มาอย่างไร ไดเจ๊กห้า มีเจ๊กห้าคนมาทำอะไรที่นี่หรือเปล่า จะว่ามาหาปลา-ขายปลาหรืออย่างไรก็ไม่แน่ใจ และว่าโดยชื่อแล้วก็ทำให้คนเข้าใจได้ว่าน่าจะหมายถึงเจ๊กมาทำอะไรที่นี่แน่ๆ ชื่อนี้คนรุ่นเก่ารู้จักกันดี แต่ก็ยังกังขา สงสัยที่มาอยู่นั่นเอง

    อยากรู้ด้วยคนครับ ใครรู้ที่มาที่ไปเรื่องชื่อ ไดเจ๊กห้า มากเล่าถ่ายทอดไว้หน่อยนะครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เคยมีการพูคุยกับคนรุ่นใหม่ลูกหลานคนหนองบัวที่ไปศึกษายังต่างจังหวัดจนจบการศึกษาระดับปริญญาและอื่นๆโดยมีงานมีการทำอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งเขาเหล่านั้นล้วนเป็นลูกชาวนาชาวไร่ด้วยกันทั้งสิ้น มีบ้างที่ไม่ใช่เป็นลูกหลานชาวนาชาวไร่ เพราะหนองบัวก็เหมือนท้องถิ่นอื่นๆ คนในท้องถิ่นหนองบัวก็มีหลากหลายอาชีพมีทั้งชาวนา ชาวไร่ พ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ รับจ้างฯลฯ

    สิ่งที่พูดคุยนั้นหลายสิ่งหลายอย่างก็มาตรงกับหัวข้อในเวทีคนหนองบัวนี้เลย เช่น หนองบัวบ้านเราเป็นบ้านนอก บ้านดอน บ้านป่า เป็นสถานที่ไกลปืนเที่ยง ห่างไกลจากตัวจังหวัด ห่างไกลความเจริญ อยู่ชายขอบของจังหวัดนครสวรรค์ การจะเข้าตัวเมืองนครสวรรค์แต่ละครั้งแต่ละคราเหมือนกับจะต้องเดินทางไปเชียงใหม่ ไปกรุงเทพฯ ไปเมืองหลวง หรือไปพระนครเลยทีเดียว

    การไปศึกษาต่อของรุ่นพี่ของคนหนองบัวในยุคก่อนที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความยากลำบากนานาประการ ยากทั้งการเดินทางออกจากหนองบัว น้องๆที่จบม.๖ปีนี้นึกภาพออกไหม ว่าทำไมการเดินทางไปศึกษายังต่างจังหวัดของรุ่นพี่รุ่นน้ารุ่นลุงของเราจึงยากนักยากหนา ที่ยากก็เพราะสมัยโน้นมีแต่เกวียน มีแต่ล้อกันทั้งบ้านทั้งเมือง ใครมีรถยนต์ใช้ก็จะเป็นรถประเภทที่ใช้เกี่ยวกับการเกษตรทั้งนั้น เช่น รถบรรทุกไม้ รถบรรทุกข้าวเปลือก รถไถนา คนในเมืองหนองบัว และชาวบ้านต่างก็มีเครื่องมือที่ใช้ทางการเกษตรทั้งนั้น มีรถก็เป็นเครื่องมือทำมาหากิน รถส่วนตัวชนิดที่ต้องอวดฐานะความมั่งมีอวดรวยนั้นไม่มีให้เห็นเลย

    เห็นมีอยู่บ้างก็รถของสส.บ้าง ผู้สมัครสส.บ้าง จากในตัวเมืองนครสวรรค์โน่นแหละที่มาหาเสียงตามศาลาวัด แต่ก็ไม่ได้เห็นบ่อยนัก จะได้เห็นบ้างก็ตอนมีผู้สมัครมากราบนมัสการหลวงปู่อ๋อยที่วัดใหญ่และพบปะพูดคุยกับพี่น้องบนศาลานั่นแหละ

    ฉะนั้นการเดินทางไปเรียนของรุ่นพี่เราจึงไม่ง่ายเลย ยากลำบากจนคนยุคเรานี้คิดคาดไม่ถึงว่าเป็นได้ยังไง น้องๆอาจคิดว่าเป็นไปได้ขนาดนั้นเชียวหรือ เป็นนิทานมากกว่าซะละมั้ง ยกตัวอย่างให้เห็นจะจะเลยก็ได้ โรงเรียนหนองบัว โรงเรียนหนองคอก(ชาวบ้านเรียกโรงเรียนแดง) โรงพยาบาลหนองบัว หรือสี่แยกต้นอีซึก(สี่แยกไฟแดงหนองบัวปัจจุบัน) เมื่อก่อนนี้น้องๆรู้ไหม บริเวณแถบนี้เป็นป่า เป็นชายแดนหนองบัว เป็นบ้านนอกของบ้านหนองบัวอีกทีหนึ่งคือมันไกลมากเลยทีเดียว ไกลชนิดที่ที่ดินบริเวณนี้หาคนมาจับจองเป็นที่ทำกินได้ยาก ใครก็ไม่อยากมาจับจองที่ดินที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ซึ่งทำกินก็อะไรก็ไม่ได้ สู้ทุ่งนาในบริเวณอื่นที่เป็นที่ราบ-ลุ่มทำกินได้สะดวกกว่าเยอะ แต่ปัจจุบันถือว่าเป็นเมืองหรือชานเมืองหนองบัวไปแล้ว

    การไปเรียนต่อเมื่อก่อนไม่ต้องพูดไปเรียนต่างอำเภอต่างจังหวัดหรือในตัวเมืองนครสวรรค์หรอก เอาแค่ต่างหมู่บ้านก็ไป-มายากมากแล้ว แต่สมัยนี้เราสามารถไปเรียนได้ถึงต่างจังหวัดไปเช้า-กลับเย็นก็ยังได้ผู้เขียนนั่งนึกว่ามันไม่น่าเป็นได้ได้เลยจริงๆ ถ้าย้อนไกลไปถึงปู่ ย่า-ตา ยาย ก็จะยิ่งนึกไม่ออกไปกันใหญ่ เพราะชีวิตท่านเกิดที่หนองบัว โตที่หนองบัวและจากไปโดยที่ท่านไม่ได้ไปไหนไกลจากหนองบัวเลยซึ่งมีอยู่หลายท่าน

    สถานที่พักอยู่อาศัยสำหรับการเรียนหนังสือก็ไม่ใช่หาได้ง่ายสะดวกอีกเหมือนกัน เพราะฐานะยากจนหนึ่ง เพราะไม่ญาติไม่มีพรรคพวกอยู่ในเมืองหนึ่ง จะเห็นได้ว่าอยู่หนองบัวก็ลำบากอยู่แล้ว เมื่อออกไปจากหนองบัวแล้วก็ต้องไปเผชิญกับความยากลำบากยิ่งกว่าอยู่ที่บ้านอีกมากโข

    เมื่อเป็นดั่งนี้ อารามบอยก็เกิดขึ้นกับคนบ้านนอกทุกภาคคือเป็นเด็กวัดที่มาอาศัยวัดในเมืองในกรุงเทพฯกันอย่างถ้วนหน้า น้องๆอยากรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยบ้างไหม ที่บางช่วงที่ผ่านมามีเด็กวัดบางท่านได้เป็นผู้บริหารบ้านเมืองในตำแหน่งสูงสุดฝ่ายบริหาร(นายกรัฐฯ)อยากรู้ว่าเป็นใครก็ให้ลองไปค้นคว้าหาจากแหล่งต่างๆได้โดยไม่ยาก แม้เด็กหนองบัวเราหลายท่านก็เป็นเด็กวัดและปัจจุบันท่านเหล่านั้นก็มีตัวตนและมีความเจริญก้าวหน้ากันมากมายให้เราได้รู้จักให้เราได้ศึกษาชีวิตของท่าน สามารถนำมาเป็นบทเรียนให้เราเอาเป็นตัวอย่างได้และก็ก้าวเดินตามท่านไปให้ได้อย่างไม่เคอะเขิน เรียกให้ทันสมัยว่าท่านเหล่านั้นเป็นอำมาตย์ที่ดีสร้างสรรค์ประโยชน์แก่บ้านเมืองได้แม้เป็นคนบ้านนอกก็ตาม

    ยุคนี้อะไรๆก็ดูเหมือนจะสะดวกสบายไปเสียทุกอย่างแต่การสะดวกสบายนั้นหากพิจารณาให้ดีแล้วอยู่บนฐานความจริงมากน้อยเพียงใด ความสะดวกสบายที่ว่านั้นตั้งอยู่บนฐานอะไรบ้าง ตั้งอยู่บนฐานหนี้สินล้นพ้นตัวไหม เพราะบางอย่างเรายอมหรือจำนนต่อการได้มาซึ่งความสะดวกสบายเพียงผิวเผินหรือเพียงให้ตัวเองมีสิ่งนี้บ้างโดยเพื่อให้ตัวเทียมเท่ากับคนอื่นบ้าง แต่กำลังฐานะของเราจริงๆอาจไม่เอื้อให้สร้างได้เท่าผู้อื่น

    กระแสความนิยมทางวัตถุเปลือกนอกโดยทิ้งคุณค่าที่แท้จริงอันเป็นแก่นสารมีมาก มองกันเพียงรูปแบบภายนอก สังคมมักวัดกันด้วยฐานะทรัพย์สินเงินทองมีมากขึ้น ค่านิยมติดยึดอำนาจและอวดโก้ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นกับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ให้ความสำคัญเรื่องที่โก้หรูนั้นมีความจำเป็นน้อยกว่าเรื่องปากท้อง แต่ค่านิยมอันนี้มักเกิดกับลูกๆที่มักเอาแต่เสพสุขบริโภคความสะดวกสบายที่เกิดจากหยาดเหงื่อหยาดน้ำตาของผู้ปกครองที่ทั้งชีวิตนั้นมอบให้คุณลูกทั้งหลายได้ตลอดเวลา แม้จะมีหนี้สินท่วมหัวก็ทำได้ คุณพ่อคุณแม่เหน็ดเหนื่อยจนสายตาแทบกระเด็น ก็เพื่อความสุขความเจริญความก้าวหน้าและความสำเร็จแห่งชีวิตของลูกซึ่งเป็นสิ่งที่ปรารถนาอย่างสูงสุดโดยประการเดียวเท่านั้นนั่นเอง.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    อย่าเทือกมาก ๆ

    เทือกนี้ไม่เกี่ยวกับบุคคลหรือการเมืองแต่ประการใด แต่มันคือการทำนาดำ การทำเทือกนี้ทำได้เฉพาะนาดำเท่านั้นเป็นการไถดินเตรียมหน้าดินในระยะการไถแปรไถนาครั้งสองเพื่อตีหน้าดินที่ได้ไถดะไว้ก่อนหน้านั้นเป็นการทิ้งระยะเวลาประมาณสักอาทิตย์สองอาทิตย์ ด้วยจำนวนวันเวลาประมาณนี้พอที่จะให้หญ้าวัชพืชต่างๆเน่าๆสลายกลายเป็นปุ๋ยและหน้าดินนั้นก็จะก่อเกิดเป็นขมุยไส้เดือน โดยไส้เดือนช่วยทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้นคือทำการชอนไชทำให้ดินร่วนซุย ทำให้การระบายน้ำและอากาศไปสู่ดินได้อย่างดี การชอนไชของไส้เดือนเป็นการไถพรวนทางธรรมชาติที่ดีที่สุด และไส้เดือนยังช่วยทำให้ดินสมบูรณ์โดยการช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุที่เป็นอาหารแก่ดินอีกด้วย นอกจากนั้นไส้เดือนยังเป็นตัวบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์บอกถึงการปนเปื้อนของสารเคมีในดินได้อีกโสตหนึ่ง

    หนองบัวมีดินเหนียวดินทรายดินร่วน การทำนาที่หนองบัวที่เป็นดินเหนียว การทำเทือกไม่ยากเพราะดินเหนียวมีสภาพโครงสร้างของดินที่มีปุ๋ยมากกว่าดินทราย เมื่อทำเทือกแล้วดินเหนียวก็สามารถรักษาความอ่อนตัวของหน้าดินได้หลายวันโดยที่ไม่เกิดเป็นดินมับ(หน้าดินแข็งตัว) ดินเหนียวจึงทำเทือกไว้ได้หลายวัน และสามารถจ้างคนดำนาได้จำนวนมากด้วยเทือกที่ทำไว้นั้นจะรอแขกที่จะมาดำนาได้ไม่จำกัดวันนั่นเอง

    ส่วนดินทรายดินร่วนนั้นเข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบันได้อย่างดีคืออย่าเทือกมากโปรดฟังอีกครั้ง นี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะพี่น้อง แต่มันคือการทำนาดำ การทำเทือกไถดินไว้ดำนาต่างหาก นาดินทรายดินร่วนนี้ข้าวไม่ค่อยงอกงาม เพราะดินมีปุ๋ยอินทรีย์สารอยู่น้อยดินจะมีสีแดงบ้างสีขาวบ้างแม้แต่หญ้าวัชพืชอื่นๆก็ไม่เจริญเติบโตงอกงามเพราะขาดปุ๋ยดังกล่าวแล้ว

    ฉะนั้นการทำเทือกในนาดินทรายจึงทำได้ในปริมาณจำกัด เพราะดินทรายนั้นถ้าทำเทือกไถหน้าดินไว้นานๆแล้วหน้าดินมักจะแข็งตัวเร็ว(ดินมับ)เมื่อดินมับการดำนาทำได้ยากมาก เพราะไม่สามารถจะปักต้นกล้าลงดินได้ง่ายๆ ปักได้ก็ต้องใช้แรงกดของนิ้วมืออย่างมาก ถ้าดินมับดำกล้าได้สักครึ่งกำก็เก่งแล้ว มันจะเจ็บปวดนิ้วมือ เล็บอาจฉีกได้ คนทำนาดินทรายจะมีปรัชญาประจำตัวอย่างเหนียวแน่นเลยทีเดียวว่า อย่าเทือกมาก

    ขอฝากข้อคิดให้พ่อแม่รุ่นใหม่สำหรับคนหนองบัวที่นิยมส่งลูกไปเรียนหนังสือว่าควรให้ลูกเราได้ไปนาไปไร่ไปเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้ปกครองของตนบ้าง ไม่ใช่จะเอาใจตามใจด้วยกลัวลูกจะเหน็ดเหนื่อยลำบาก ทำให้เขาไม่ได้สัมผัสความจริงของพ่อแม่อาจมีส่วนทำให้เขาเป็นคนอ่อนแอ อ่อนต่อโลกและชีวิตอันจะมีผลต่อชีวิตของเขาในภายหน้า ขอให้การเรียนรู้ของเขาในท้องนาท้องไร่ที่เป็นจริงนี้ จะส่งผลโดยตรงและทำให้พวกเขานั้นมีความแกร่งกล้า สูชีวิตสู้สิ่งยากและสำเร็จสมความประสงค์ของเราได้อย่างสมภาคภูมิ

    ปัจจุบันชาวนาหนองบัวก็ทันสมัย-ทันเหตุการณ์อย่างมากคือไม่นิยมเทือกแล้วเพราะทำนาหว่ากันหมดนั่นเอง

    เอวัง

    • เนื้อหาเรื่องการทำเทือกนี้ดีจังเลยครับ แล้วผมจะดึงออกไปทำรูปภาพประกอบและทำเป็นหัวข้อเรื่องต่างหากให้อีกครั้งนะครับ
    • วิธีเขียนอย่างนี้ก็ดีมากเลยนะครับ มันมี ๓ มิติที่ทำให้ได้หลายอย่างไปด้วยกัน คือ(๑) การบันทึกและเรียนรู้ความเป็นชุมชน (๒) การให้ความรู้เทคนิควิธีการทำนาของชาวนาในขั้นการทำเทือก และ (๓) วิธีคิดกับการตกผลึกบทเรียนของชีวิตที่สะท้อนว่ามีที่มาที่ไปจากการเรียนรู้-ได้ความบันดาลใจจากวิถีทำกิน
    • โครงสร้างการดำเนินชีวิตที่มีมิติการเรียนรู้และตกผลึกหาความแยบคายในชีวิตจากอริยาบทต่างๆของชีวิตอย่างนี้ ทำให้ชาวบ้านมีการเรียนรู้และเป็นคนที่ลุ่มลึกตามตามความมีประสบการณ์ชีวิตได้อย่างดีเลยนะครับ ผู้มีวิถีอย่างนี้คงเทียบได้กับมรรควิถีของผู้รัตตัญญู ใช่หรือเปล่าครับ เป็นผู้มีประสบการณ์และเรียนรู้งอกงามไปกับประสบการณ์ชีวิต ไม่ใช่เพียงมีชีวิตที่แก่นานยืนยาวไปตามวันเวลาเท่านั้น

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล

    สวัสดีพี่อาจารย์ดร.วิรัตน์

    เมื่อวันที่ 2-4 เม.ย.ไปสัมมนาเข้มชุดวิชาสัมมนาการวิจัยทางการศึกษาและสื่อสารการศึกษาที่มสธ....เปิดบล็อกพี่วิรัตน์ดูการเรียนแบบผสมผสาน..น้องอำภา แสงสว่าง เห็นสนใจแกถามว่าใครน่ะพี่..เลยแนะนำว่าเป็นรุ่นพี่จ้า เอ้าแล้วเกี่ยวอะไรกับชุมชนหนองบัว หนองบัวนครสวรรค์ใช่ไหมพี่..บอกว่าใช่จ้า..เอ้าแล้วรุ่นพี่พี่อ้อยเกี่ยวอะไร ก็บอกว่าอ้อ..รุ่นพี่เป็นคนหนองบัว แล้วไปเป็นอาจารย์ที่มหิดล..น้องดีใจใหญ่บอกว่า เย้ๆคนหนองบัวได้เป็นถึงดร.ด้วยดีใจจัง..ก็เลยรู้ว่าน้องเขาเป็นคนหนองบัว..ก็เลยบอกว่าว่างๆภาเข้ามาเยี่ยมชุมชนคนหนองบัวบ้างนะ.น้องก็รับปาก..แต่ไม่รู้น้องจะหาบล็อกเจอหรือเปล่านะคะ...

    น้องภา..ตากลม คนหนองบัวค่ะ

    เราอยู่กลุ่มเดียวกันคือศูนย์กรุงเทพกลุ่ม 3 ซึ่งเราได้ทำงานร่วมกันจนประสบผลสำเร็จ

    ผลสำเร็จของศูนย์กรุงเทพฯ กลุ่ม 3

     

    ..คาดว่าในอนาคตข้างหน้าคนหนองบัวจะมีมหาบัณฑิตเพิ่มขึ้นอีก 1 คนค่ะ...

    เจริญพรคุณครูอ้อยเล็กคุณอำภาชาวหนองบัวทุกท่าน

    ขอบคุณครูอ้อยเล็กด้วยที่ได้แนะนำใหได้รู้จักชาวหนองบัวและได้บอกความรู้สึกว่า คุณอำภา แสงสว่าง มีอาการดีใจที่ได้รับทราบมีคนหนองบัวเป็นดร. เธอคงแปลกใจว่าเป็นไปได้อย่างไร 
    อาตมานึกถึงอารมณ์ความรู้สึกของน้องเขาได้ทันทีเลยว่า น้องอำภาเธอต้องนึกว่าบ้านหนองบัวเราแสนจะบ้านนอกนั้น คาดไม่ถึงเลยจริงๆว่าจะมีคนจบดร. จบแพทย์ จบการศึกษาระดังสูงได้ถึงขนาดนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นพี่คุณครูอ้อยเล็กด้วยแล้ว น้องคงนึกว่ายุคนั้นมีแต่ทำนา ทำไร่ เลี้ยงงัว-ควายเต็มไปหมดไม่น่าจะมีใครเล็ดรอดไปได้ถึงดร. น้องคงทึ่งและอัศจรรย์ใจอย่างมากซิเนาะ

    ไม่ใช่เฉพาะน้องภาเท่านั้นหรอกที่คิดอย่างนี้ แม้อาตมาเองก็ยังเคยคิดอย่างนี้ด้วย ยิ่งรุ่นพี่อาตมาด้วยแล้วนับจำนวนคนได้เลยว่า ในอำเภอมีลูกใครบ้างทั้งในตลาดหนองบัวในหมู่บ้านที่ได้ไปเรียนหนังสือในเมือง ในกรุเทพฯ คือเหมือนกับว่าคนในอำเภอหนองบัวมีลูกเต้าเหล่าใครบ้างที่ออกนอกพื้นที่ไปเรียน ไปทำงาน ไปทำกิจการค้าขาย ไปชนิดที่ตามตัวได้ไม่ยากนัก เพราะจะรับรู้กันไปหมดว่าใครไปอยู่ที่ไหน ไปเรียนที่ไหน อยู่ตรงไหน สามารถไปพบไปพี่งพาอาศัยเมื่อคราจำเป็นได้จริงๆ ดูเป็นชุมชนเล็กมากเลยใช่ไหม อำเภอก็คล้ายหมู่บ้านนั่นเอง

    ชาวบ้านเขาจะรู้ว่าลูกใครเป็นตำรวจ เป็นนายร้อย เป็นครู เป็นทหาร เป็นพ่อค้าแม่ค้า เป็นนักมวย เป็นกระเป๋ารถเมล์ เป็นคนขับรถสส. เป็นอะไรทุกอย่างรู้กันทั่วไปหมด ไม่ใช่ญาติกันอยู่กันคนละหมู่บ้านแต่รู้จักกันด้วยการนับญาติไล่เรียงกันตั้งแต่ปู่-ย่า ตา-ยาย พ่อแม่ ไล่เรียงจนถึงทวดโน่นแหละ นับไปนับมาอ้าวไม่ใช่ใครอื่นนี่หว่า เรานี่มันญาติกันแท้ๆ อย่างนี้ก็มี

    ก็เลยดีใจอย่างมากเลยที่คุณครูอ้อยเล็กเจอน้องอำภาคนหนองบัวและแนะนำให้รู้จักชุมแห่งนี้ หวังว่าคุณอำภาคงได้เป็นญาติกันอีกคนนะ ยินดีและดีใจจริงๆ ดีใจไม่แพ้น้องเขาเหมือนกัน ชุมชนหนองบัวออนไลน์ขอต้อนรับว่าที่มหาบัณฑิตบ้านนอกจากหนองบัวที่มีคุณภาพอีกหนึ่งท่าน

    นมัสการพระอาจารย์ ท่านมหาแลฯ และสวัสดีท่านดร.วิรัตน์ครับ

    กรณีเกี่ยวเนื่องกับ ไทดำเมืองเพชรมาเยี่ยมเยือนลาวโซ่งที่น้ำสาดกลางครับ เวลามีเพื่อนฝูงหรือญาติทางไกลมาเยี่ยมบ้านเราที่หนองบัวนี่ ผมคิดอยู่เสมอว่าเราไม่ค่อยมีอะไรให้เขาดู/เขาเที่ยวสักเท่าไหร่

    พอทอดผ้าป่าเสร็จ คณะที่มาทั้งหมดก็กระจายตัวไปอาบน้ำ/นอน ตามบ้านของพี่น้องชาวน้ำสาดกลาง แล้วแต่ใครจะสะดวก หลังละ 7 - 10 คน ไม่ต้องเสียค่าโรงแรม...และโรงแรมก็ไม่มีให้เช่าด้วย

    รูปแบบการต้อนรับแบบนี้ผมคิดว่าก็ดีเหมือนกันนะครับได้ความสนิทสนมกลมกลืน /เป็นกันเอง บรรยากาศแบบนี้ผมเคยสัมผัสเมื่อคราวไปร่วมงานไทพวนที่ อ.ศรีสัชนาลัยเมื่อหลายปีก่อนครับ...

    วันรุ่งขึ้น ได้รับรายงานว่าพี่น้องชาวเพชรบุรีได้เดินทางเป็นคาราวานไปเที่ยวชมบึงบรเพ็ด แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะพบแต่ความแห้งแล้ง...น้ำไม่มี

    หนองบัวบ้านเรา ผมเห็นว่ามีศักยภาพอยู่แห่งหนึ่งครับ คือ บริเวณอ่างเก็บน้ำเขาพระ ถ้าพัฒนาดี ๆ ก็น่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอได้ ระยะทางก็ไม่ไกลจนเกินไป หรือท่านใดเห็นว่ายังมีแหล่งอื่น ๆ จะลองเสนอมาบ้างก็ได้นะครับ ถือว่าช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองของเราครับ

      สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก 

    • ดีใจครับ เลยก็ขอร่วมแสดงความยินดีพร้อมไปกับพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลด้วยครับ
    • การมีเวทีเสวนาพูดคุยกันก็ดีอย่างนี้เลยนะครับ ได้สร้างความรู้จักมักคุ้นและคุ้ยเคยกันดังญาติมิตร ซึ่งไปๆมาๆก็เชื่อมโยงเหมือนมีความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์สุขในสังคมเดียวกัน เป็นพี่เป็นน้อง รู้สึกเห็นโลกกว้างขวางมากยิ่งๆขึ้นอยู่ตลอดเวลา
    • ได้เห็นรูปของคุณอำภาแล้ว ก็ต้องยิ้มและอุทานเลยละครับว่า หน้าตาและบุคลิกอย่างนี้นั้น หนองบั๊ว-หนองบัวเลยละครับ เหมือนคนท้องถิ่นหนองบัวพันธุ์แท้เลยครับ แต่นามสกุลนี่ผมไม่คุ้นเลย แต่ก็ไม่แปลกใจแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้คนหนองบัวมีมากขึ้น เมื่อก่อนลูกหลานคนหนองบัวแทบจะทั้งหมดต้องเรียนโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) และโรงเรียนหนองคอก นามสกุลใคร-ญาติพี่น้องใคร อยู่บ้านไหนนี่แทบจะรู้จักและจำกันได้หมดครับ ตกรถที่ไหนพอบอกลูกเต้าเหล่าใครก็พาไปส่งกันได้แล้วครับ

     กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลครับ  : เมื่อก่อนนี้ลูกหลานชาวหนองบัวที่เรียนหนองคอก เพียงได้ไปแข่งกีฬาแถวโรงเรียนชุมแสงชนูทิศ โรงเรียนโพธิสาร หรือโรงเรียนชายนครสวรรค์ ก็ตื่นเต้นและนอนไม่หลับเหมือนกับได้ไปต่างประเทศเลยละครับ แรกๆนั้นเวลาไปแข่งก็แพ้หลุดลุ่ยตลอดเพราะเราเคยวิ่งแต่ในสนามที่ใช้เลี้ยงวัวควาย ลูกฟุตบอลมันกระดอนไปทางโน้นทางนี้

    บางทีก็เตะบอลแต่ก็ฟาดไปโดยขุยดินจนเล็บและหลังนิ้วเท้าเปิดเลือดกระจาย แต่ก็วิ่งเล่นกันต่อหน้าตาเฉย นี้เป็นเรื่องปรกติ เรียกว่าเรื่องอึดละก็ใช้ได้ แต่พอไปแข่งในเมือง สนามเขาเรียบกริบ นอกจากประหม่าและตื่นสนามมากทั้งนักกีฬาและกองเชียร์แล้ว ก็วิ่งทางราบไม่ค่อยจะทันครับ นึกถึงแล้วก็สนุกดีครับ เดี๋ยวนี้คนหนองบัวได้ออกไปเรียนต่อ ไปทำงานและไปใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างๆเยอะเลย

      สวัสดีครับคุณสมบัติครับ   ผมเคยออกไปทางถนนที่แยกออกไปทางชัยภูมิ เลยไปนิดเดียวก็เห็นพื้นที่ดูสลับกับแนวป่าและที่ราบลดหลั่น สวยดีเหมือนกันครับ วิธีต้อนรับแบบช่วยๆกันแล้วก็กระจายไปตามบ้านเป็นกลุ่มเล็กๆนั้นน่าประทับใจดีและเจ้าบ้านก็รวมกลุ่มกันย่อยๆได้ความสนิทสนมและได้ประสบการณ์ที่ดีมากด้วยนะครับ 

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    สวัสดีพี่วิรัตน์อีกครั้งหนึ่งค่ะ...ขอแก้ไขนามสกุลน้องเขาก่อนนะคะ

    ..น้องภาชื่อจริงว่า...อำภา นามสกุล อ่อนสำอางค์ค่ะ..น้องบอกว่าพี่อ้อยจำนามสกุลน้องผิด ฮาๆเลย...เป็นคนในตลาด ตำบลที่น้องอยู่นั้น ชื่อตำบลหนองกลับค่ะ...

     

    • ขอชื่นชมน้องอำภาด้วยนะครับ น้องคุณครูอ้อยเล็กชวนเชิญเข้ามาเขียนในเวทีคนหนองบัวนี้บ้างนะครับ
    • ยินดีกับน้องคุณครูอ้อยเล็กกับเพื่อนๆด้วยนะครับ เกือบถึงเส้นชัยกันแล้วนะครับ

    ก็ขอขอบคุณครูอ้อยเล็กด้วยที่ช่วยแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับนามสกุลของคุณอำภา แสงสว่างขอแก้ไขให้ถูกต้องตามที่แจ้งมา เป็นอ่อนสำอางค์

    ข้อปุจฉาของคุณอำภาที่ว่าหนองบัวก็มีดร.ด้วย? ขอวิสัชนาว่าอันที่จริงลูกชาวนาชาวไร่ชาวบ้านชาวตลาดหนองบัว-หนองกลับนั้น ได้รับการศึกษาเป็นบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิตแต่อดีตเรื่อยมาถึงปัจจุบันมีจำนวนมากมาย จบแพทย์ จบโรงเรียนนายร้อยปจร.นายร้อยสามพรานก็มีหลายท่าน มีดร.บ้านอยู่ในตลาดหนองกลับใกล้ๆกับบ้านคุณอำภาที่ตอนนี้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชก็เป็นคนบ้านอยู่ห้องแถวในตลาดวัดใหญ่(หนองกลับ)นี่เอง

    พูดแบบชาวบ้านก็อาจจะพูดได้ว่ามีดร.จากหนองบัวบางท่านที่เคยทำนาทำไร่เลี้ยงงัวเลี้ยงควาย ขับเกวียน ดำนา เกี่ยวข้าว ปลูกมัน ปลูกถั่ว หาหน่อไม้ไผ่ตงที่เขาพระเขาสูงเขามรกตตั้งแต่คนรุ่นคุณอำภายังไม่เกิดโน่นแนะ ฟังดูโบราณมากไหม

    จากท้องทุ่งนา ป่าเขา ขี่หลังควาย หาของป่าที่หนองบัว สู่เส้นทางการศึกษาจนจบถึงระดับสูงสุดมีทั้งฝ่ายบรรพชิต(พระ)คือจบเปรียญธรรม ๙ ประโยค ฝ่ายฆราวาสก็จบปริญญาเอก(ดร.) ชีวิตท่านเหล่านี้ผ่านอุปสรรคความเหนื่อยยากนานาประการมากมาย เพราะพ่อแม่ยากจนทำนาทำไร่ ตั้งแต่เกิดกว่าจะได้เข้าเมืองนครสวรรค์ก็แสนยากเต็มที บางท่านอายุเกือบยี่สิบปีจึงได้เห็นปากน้ำโพ แม่น้ำเจ้าพระยา

    เปรียบเทียบกับคนรุ่นคุณอำภาแล้วช่างแตกต่างกันเหลือคณานับจริงๆ คนรุ่นหลวงน้านั้นแต่ละปีกว่าจะได้ของใช้แต่ละอย่างต้องรอให้เกี่ยวข้าวขายข้าวก่อนจึงจะได้สมใจ เสื้อผ้าสักตัว กางเกงสักตัวหนึ่ง ต้องรอให้ข้ามปีเลยแหละ ถ้าปีไหนฝนแล้งเหมือนกับหนองบัวปีนี้ละก็ ก็อดซื้อได้ของใหม่ใช้ แต่จะมีของแถมพ่วงมาด้วยเลยก็คือหนี้สินจากธนาคารที่พ่อแม่ไปกู้มาลงทุนทำนา ทำไร่ กู้นอกระบบก็เยอะ ข้าวก็ไม่ได้หนี้สินก็รกรุงรัง ดอกเบี้ยขึ้นอย่างงอกงาม

    กู้นอกระบบไม่กี่พันบาท เจอภาวะภัยแล้ง ฝนแล้งซ้ำซ้อนสักปีสองปีดอกเบี้ยบานตะเกียงเลย หลายเจ้าก็ถูกยึดนา ยึดที่ดินเพราะไม่มีเงินใช้หนี้เถ้าแก่ ทั้งต้นทั้งดอกเบี้ยทบกันแล้วมีราคาเท่ากับราคาที่ดิน(นา) หมดปัญญาหาเงินมาใช้หนี้ ก็ต้องถูกยึดนาไปตามระเบียบ

    คนรุ่นปัจจุบันอยากได้อะไรก็ได้ แต่พ่อแม่นั้นก็เป็นหนึ้สินเหมือนเดิม คือหนี้ธกส. กู้มาทำนา ทำไร่ ทำสวน ซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ซื้อรถบ้าง โทรศัพท์บ้าง เฟอร์นิเจอร์บ้าง เครื่องใช้ไม้สอยจำเป็นเยอะเหลือเกินคนสมัยนี้ ไม่ใช่หนี้สินทำนาอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน แต่เพิ่มเติมมาอีกหลายอย่าง ภาระหนักสุดก็ประเด็นเรื่องลูกเรียนหนังสือ พ่อแม่ก็เหนื่อยยากคือเก่า ส่วนลูกก็สบายมากเพราะแบมือขอตังค์จากพ่อแม่ทีไร ท่านก็ต้องหามาให้เพราะเป็นลูกบังเกิดเกล้า พ่อแม่เป็นธนาคารของคุณลูก เบิกได้ตลอดเวลา หลับก็เบิกได้ เสาร์-อาทิตย์ก็เบิกได้ เบิกได้ไม่มีวันหยุด สบายจริงหนอลูกน้อยกลอยใจ

    ใครจะรู้ถึงหัวอกพ่อแม่ที่ทุกข์ระทมขมไหม้บ้างไหมหนอ แต่ด้วยอานุภาพแห่งความรักที่มีต่อลูกถึงจะทุกข์ยากเพียงใดพ่อแม่ก็ยอม ขอบูชาชาวนาชาวไร่รากหญ้าชาวไพร่ที่มีหัวใจกล้าแกร่งและทำเพื่อลูกอันเป็นที่รักปานดวงใจทุกท่าน

    • ที่บ้านห้วยร่วม ชายขอบของหนองบัวติดกับบางมูลนากและชุมแสง ก็มีหลายคนครับ คนหนึ่งเป็นดอกเตอร์ทางชลประทาน อีกคนหนึ่งเป็นหลานกำนันมา รอดสการ บ้านห้วยร่วมและเป็นเพื่อนรุ่นน้องผม ไปจบปริญญาโทคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนนี้เป็นผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพภาคประชาชนอยู่นครสวรรค์ พื้นที่ดูแลของเขาก็ครอบคลุมหนองบัวกับภาคกลางตอนบนไปจนถึงภาคเหนือ มีเครือข่ายทำงานวิชาการชุมชนเก่งครับ
    • อีกคนหนึ่งเป็นรุ่นพี่ที่ผมเคารพและนับถือในแทบทุกด้านคือ คุณสยาม เอี่ยมพิชัยฤทธิ์ เป็นมืออาชีพทางการถ่ายภาพ เทคโนโลยีการถ่ายภาพ และศิลปะของการนำเสนอ เรียกได้ว่าอยู่แถวหน้าในวงการของประเทศ พื้นเพเป็นคนห้วยร่วมและเป็นญาติๆของหมอวีรวัฒน์ พานทองดีลูกเจ๊กต่าย ผมได้รู้จักกันในงาน เชิญไปเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาการประชุมอบรมวิชาการมากมายกระทั่งได้คุยและรู้ต่อมาว่าเป็นคนห้วยร่วม
    • สภาพของหนองบัวแต่ก่อนนั้น คนหนองบัวน้อยคนมากที่จะได้มีโอกาสเดินออกไปสู่โลกภายนอก แต่ด้วยการศึกษาเรียนรู้ก็ทำให้ค่อยๆมีโอกาสแล้วก็หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาทางการศึกษาเรียนรู้ จึงเพิ่มโอกาสการพัฒนาได้มากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับชาวบ้าน ชาวนา ชาวไร่ ซึ่งคงจะเป็นคนส่วนใหญ่ของอำเภอหนองบัว
    • ตอนนี้เรามีเพื่อนบ้านจากอเมริกา ๕ คน จากออสเตรเลียก็ ๓ คน และจากญี่ปุ่น ๒ คน ต้องนับว่าทุกท่านได้ช่วยกันเผยแพร่สิ่งดีๆทั้งของท้องถิ่นหนองบัวและของสังคมไทยให้กับเพื่อนนานาชาติ ซึ่งด้วยหัวใจและตามกำลังสองมือของทุกท่าน  ที่เป็นสื่อเรียนรู้และทำออกมาได้ขนาดนี้นี่ นอกจากได้เรียนรู้และเกิดการพัฒนาที่ได้แก่ตัวเองแล้ว ก็เป็นการสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับสังคมมากเลยนะครับ

                                

                                 ปลาบู่มหิดล mahidolia mystacina valenciennes  พบเป็นครั้งแรกของโลก ที่ชายฝั่งทะเลอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เมื่อ ดร.ฮิว แคคอร์มิค สมิธ ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกัน เป็นเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำคนแรก ประมาณปี ๒๔๖๙
                                 ภาพโดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ใน
    http://gotoknow.org/file/wiratkmsr/thumbnail/65/Mahidolia.JPG

    เลยขอสันถาวะหมู่มิตรและผู้มาเยือนเวทีคนหนองบัวด้วยรูปวาด ปลาบู่มหิดล ปลาหายาก พบครั้งแรกในประเทศไทยในทะเลชายฝั่งจันทบุรี ระนอง ภูเก็ต เมื่อ ปี ๒๔๖๙ ในยุคที่ ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ ชาวอเมริกัน เป็นเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำคนแรก และก่อนหน้านั้นประมาณ ๓ ทศวรรษ คณะมิชชั่นนารีอเมริกันเช่นกันก็ได้ตั้ง โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ที่มณฑลพายัพ เชียงใหม่

    ภาพวาดปลาบู่มหิดลของอาจารย์สวยดี ดูมีชีวิตอย่างมากเลย ดูกลมกลืนกับธรรมชาติอยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยกันและกันช่วยเหลือกันดีมาก พูดให้เท่ๆหน่อยดูเป็นชุมชนสังคมมาก แม้ต่างกันโดยชนิดอีกข้างหนึ่งเป็นปลา อีกฝั่งเป็นกุ้ง แต่ไม่มีปัญหาอยู่ร่วมกัน พึ่งกันได้อย่างสบาย

    ลักษณะปลาบู่ที่เห็นนี้รู้สึกคุ้นตามากเลย เหมือนจะเคยเห็นตามท้องนาที่หนองบัว ไม่ทราบจะใช่หรือเปล่า

    ถ้าเป็นนิทานก็สามารถสอนเด็กและเตือนสติสังคมได้ว่า แม้ต่างความคิด ต่างความเห็น คิดต่างขั้ว เชื่อต่างขั้ว รักชอบต่างขั้ว แต่อยู่กันได้ รวมตัวกันได้ คือต่างก็เคารพความเห็นต่าง ความเชื่อต่าง โดยไม่ไปตัดสินความเห็น ความเชื่อที่ต่างจากตนว่าเป็นความผิด ความคิดเห็นต่างก็เหมือนดอกไม้หลากสี ซึ่งมีแต่ความสวยงาม สวยอย่างตระการตา เป็นความงามอันอลังการงดงามน่าชื่นชมเสียนี่กระไร

    ในสภาพการณ์เช่นนี้ ร้อนระอุไปทั้งเมือง ย่อมมีความเห็น ความคิดต่างกันได้ จะด้วยการรับรู้ข่าวสารได้ไม่ทั่วถึง ได้รับข้อมูลข่าวสารต่างกันก็ได้ หรือมีความเชื่อหลักเกณฑ์การตัดสินความดีต่างกันก็เป็นได้ จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ เราไม่ควรไปตัดสินผู้เห็นแย้งกับเราว่าเป็นคนเลว คงเป็นเช่นนั้นไม่ได้แน่นอน

    ทุกคนเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติมิตร อย่ามองผู้อยู่ตรงข้ามกับเราเป็นศัตรู ทุกความเห็นทุกความคิดที่ต่างกันมีจุดร่วมอันเดียวคือทุกฝ่ายก็รักชาติ รักบ้านเมืองเหมือนกันหมด

    ควรแผ่เมตตาให้ผู้มีความคิดเห็นต่าง อย่าโกรธ อย่าเกลียด อย่าอาฆาตมาดร้าย จองเวรซึ่งกันและกันเสียจนมองหน้ากันไม่ติด ชนิดไม่เผาผีกันเลยถึงขึ้นนี้ถือว่ามากไป ความขัดแย้งทางการเมืองไม่นานก็จบ สงบ ราบเรียบ เป็ปรกติ

    ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นเอาเป็นเอาตายกันอย่างเดียว ก็จะไม่เกิดความสุข ความสงบ ความสันติได้ ทุกฝ่ายคือคนบ้านเดียวกัน ใยจะต้องฆ่า ห้ำหั่น ประจัญบานทำลายกัน อย่าเป็นเหยื่อกิเลสตัวเอง อย่าตกเป็นเครื่องมือใครเขา อย่าให้ความเกลียด ชัง โกรธ แค้น มาเผาลนจิตใจให้เล่าร้อนมากกว่านี้อีกเลย

    อามิตตาพุทธ

    ทฤษฎีมดแดง(ทั้งแผ่นดิน)

    ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวบ้านหนองบัวเคยเล่าให้ฟังว่า อตีเต กาเล ในกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีสัตว์สองจำพวก ฝ่ายหนึ่งมีขนาดใหญ่มากแต่มีจำนวนน้อยนั่นคือช้าง อีกฝ่ายตัวเล็กนิดเดียวแต่มีปริมาณมากก็คือมดแดง ช้างซึ่งตัวใหญ่ได้แสดงอำนาจเหนือคนอื่นเหมือนเป็นเจ้าป่าตลอดมา

    วันหนึ่ง ได้ใช้งวง งาฟาดเข้าใส่กิ่งไม้ที่มีรังมดแดง มดแดงจำนวนมากที่กำลังชุมนุมปรึกษาหารือเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของมดแดงทั้งแผ่นดินอยู่ ถึงกับรังแตกกระจายเหมือนกับโดแก๊สน้ำเลยเชียว ต่างก็วิ่งหนีเอาตัวรอดเพราะคิดว่าถึงอย่างไรก็สู้ช้างไม่ได้แน่ แต่ก็มีตัวที่ฉลาดฉุกคิด และคิดสู้โดยวางแผนกับเพื่อนมดแดงทั้งแผ่นดินว่า เรานี่แดงกันทั้งแผ่นดินจะไปกลัวอะไรกับอำมาตย์ เอ๊ยไม่ใช่ ช้างแค่ตัวเดียว ตัวที่กลัวก็กล่าวว่า ช้างมันตัวใหญ่นะ เราตัวนิดเดียวจะไปสู้อะไรได้ ตัวที่กล้าหน่อยกล่าวว่า ถ้าเรารวมพลังกันทำไมจะสู้ไม่ได้ แล้วก็วางแผนให้เพื่อนลงมือปฏิบัติ ฟังนะเพื่อน ให้พวกเราเข้าโจมตีจุดอ่อนของช้างให้ได้ ช้างมีจุดอ่อนด้วยหรือเพื่อนขี้สงสัยถามขึ้น มีซิ จุดอ่อนของช้างจะอยู่บริเวณที่เนื้ออ่อนๆตามตัว แต่ไม่ใช่งาแน่นอน อาทิ ตา หู ปาก รูก้น อวัยวะเพศ เมื่อทุกท่านเข้าใจแล้วก็ลงมือทันที

    กลุ่มแรกเข้าโจมตีที่ตาก่อน ด้วยความเจ็บปวดช้างล้มทั้งยืน มดที่เหลือก็โจมตีจุดอ่อนที่เหลือ ในที่สุดช้างก็ตาย ตั้งแต่นั้นมา ช้างก็ไม่ฟาดงวงไปที่รังมดแดงอีกเลย

    ปัญหา อุปสรรค หรือศัตรู สามารถพิชิตได้ความพลังอานุภาพแห่งความสามามัคคี

    กราบนมัสการมหาแล

    ยามนี้..กลุ่มนั้นกำลังท้าทายคำสอนของพ่อ...ที่ให้คนไทยรู้รักสามัคคี..ไม่มีประโยชน์บนซากปรักหักพังของบ้านเมือง...

    เขาก็อาจใช้ทฤษฎีมดแดง..สนองความต้องการของเขา..โดยลืมไปว่าในธรรมชาตินั้น มดแดงไม่ได้มีอยู่รังเดียว และความต้องการของมดแดงรังอื่นๆก็ไม่ได้มีความต้องการเหมือนเขา...

    ก็กราบเรียนพระอาจารย์มหาแลว่ามดแดงที่อาศัยทำรังอยู่บนต้นไม้ของพ่อ..คงมีรังมดแดงที่เหลืออยู่อีกหลายล้านตัว..ได้ปกป้องต้นไม้ของพ่อ..ให้เป็นที่อยู่อาศัยของมดแดงรังอื่นๆตัวอื่นๆต่อไปค่ะ...

    สถานการณ์บ้านเมืองและบรรยากาศทางการเมืองในระยะนี้ มานึก ๆ ดูแล้วก็น่าขำดีนะครับ

    เมื่อได้ยินคำว่า....มดแดงแล้ว ก็ให้อดคิดถึง......มดเหลืองไม่ได้

    นอกจากนั้นยังมี......มดชมพู.......มดแดงเทียม/แดงปลอม....มดน้ำเงิน....มดสารพัดสี ฯลฯ

    เมื่อไม่กี่วันมานี้ ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่าคนแถวบ้านผม ถูกหน่วยงานท้องถิ่นบางแห่งจ้างไปกรุงเทพฯ วันละ 500 บาท/คน เกณฑ์ไปได้ 5 คน ตอนนี้กลับมาถึงบ้านโดยปลอดภัยแล้วครับ อวัยวะยังอยู่ครบถ้วนเหมือนตอนก่อนไป

    เหตุเกิดที่กรุงเทพฯแท้ ๆ เลย แต่คนบ้านนอกอย่างพวกเรายังอดเกี่ยวข้องด้วยไม่ได้

    กลับมาในหัวข้อของหนองบัวบ้านเราดีกว่า

    .....คำว่า เทือก......ตามความเห็นในข้อ 449-450 นั้น ที่บ้านผมออกเสียงว่า คี้เตื้อก ครับ ถ้าภาษาไทยคงเป็นคำว่า ขี้เทือก

    ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็ก อาตมาอ่านข้อเขียนครูอ้อยเล็กแล้วอดขำไม่ได้ เพราะนิทานเรื่องนี้โดยเนื้อหาแล้วก็ไม่มีอะไรจะโยงให้มาสู่เหตุการณ์ปัจจุบันได้ จะมีก็แต่ชื่อเรื่องเท่านั้นที่ดูคล้าย พ้องโดยชื่อกับสถานการณ์ปัจจุบัน สาระหลักใจความของนิทานเรื่องนี้ก็พูดถึงความสามัคคีเป็นหลัก มดแดงสามัคคีดีเลยแก้ปัญหาสำเร็จลุล่วงไปได้

    ส่วนข้อคิดของครูอ้อยเล็กที่สื่อโยงไปถึงเหตุการณ์ในขณะนี้ก็ได้แง่คิดสอนใจอย่างดี ก็ขอให้เหตุการณ์ที่ระอุอยู่ในขณะนี้จบลงได้ด้วยความรัก ความสามัคคี ปรองดองเข้าใจกันและกันยุติด้วยความสงบ สันติด้วยกันทุกฝ่าย  เจริญพร

    30กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล

    ...เขาเรียกว่านิทานธรรมะเนี่ยไม่ตกยุคค่ะพระอาจารย์...

    พลังมด...

    • คึกคักมากเลยนะครับ
    • ท่านพระอาจารย์มหาแลให้คติเรื่องความสามัคคีอย่างมดแดงสู้กับช้าง ส่วนคุณครูอ้อยเล็กก็รณรงค์สำนึกรู้บุญคุณของฝูงมดและสำนึกคุ้มครองดูแลเพื่อเหล่ามดที่อ่อนแอกว่า ส่วนคุณสมบัติก็มาแนวมดหลากสีกับแนวมดรับจ้างชั่วคราว
    • แล้วก็กลับมาเรื่องขี้เทือก หลากรสดีครับ
    • วกมาเรื่องทำเทือกและขี้เทือกนี่ ก็ต้องนึกถึงพวกมดตะนอยนะครับ แปลกมากเลย มดตะนอยกับหน้าทำขี้เทือกนี่เป็นของคู่กัน เวลาตีครุบทำเทือกแล้วคราดเอาหญ้าออก เตรียมเทือกสำหรับดำกล้าข้าว ตามกองหญ้าที่คราดไปกองก็มักจะกลายเป็นแหล่งจับจองของฝูงมดตะนอยไปทันที เด็กๆไม่ระวังละเป็นเจอดี
    • นึกถึงแล้วอยากวาดรูปครับ การทำเทือกนี่ก็เป็นศิลปะและสะท้อนภูมิปัญญาของชาวนามากครับ

    มดตะนอยต่อยต้นพริก คนไหนดุกดิก คนนั้นต้องตดดังปั๋ง เสียงดังดังโป้ง....

    คริๆ...พวกครูอ้อยเล็กท่องแบบนี้..เวลาหาต้นเหตุของกลิ่นไม่เจอค่ะ...ฮาๆ....

    เวลาท่องก็ไล่ไปๆดังโป้งตรงคนไหน..คนนั้นแหล่ะ..คนที่ไม่ใช่แต่โดนชี้ก็จะโวยวายไปตามระเบียบ....ค่ะคริๆๆ

    กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ หลวงอามหาแล อาจารย์สมบัติ ฆ้อนทอง คุณครูอ้อยเล็ก คุณอาฉิก และทุกๆท่านครับ

    ผมขอหยิบยกเสนอแนวคิดของท่าน หลวงอามะหาแล ดังต่อไปนี้ครับ

    นาแล้งสอนน้อง ขออาราธนาพระคุณเจ้า และขอเชิญคนหนองบัวและทุกท่าน เขียนแบ่งปันแนวคิด ให้สติ ให้ความรู้ ให้การเสนอแนะ แสดงทรรศนะ ตอนนี้ เป็นหน้าแล้งซึ่งเป็นความทุกข์ร้อนของคนทำไร่และคนทำนาปรัง เมื่อฤดูทำนาที่ผ่านมาของปีนี้ ข้าวปลาก็เสียหายล่มจมกันไปหลายรายตั้งแต่ฝนแล้งและข้าวตายแล้งไปรอบหนึ่ง พอเหลือเล็ดรอดออกรวงกำลังจะแก่ ก็กลับเจอฝนตกน้ำท่วมผิดฤดู เสียหายไปอีกรอบ พอถึงหน้าแล้งนี้ ก็ได้ข่าวว่าจะต้องหยุดทำไร่และหยุดทำนาปรังไปด้วย ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงที่โรงเรียนปิดเทอมใหญ่ ลูกหลานที่เรียนประถมศึกษาก็จบการศึกษา จะต้องออกนอกหมู่บ้านเพื่อไปเรียนต่อประถมปลายในอำเภอหนองบัว ชุมแสง หรือแหล่งไกลออกไป ส่วนคนที่จบมัธยมศึกษา ๖ ก็ถึงคราที่ชีวิตจะถึงจุดเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ต้องเริ่มไกลบ้านไปเรียนมหาวิทยาลัยและระดับที่สูงขึ้น พ่อแม่ ก็กำลังทุกข์ใจที่จะต้องขวนขวายหาเงินทอง ครอบครัวชาวนาและเกษตรกรก็กำลังจะเป็นหนี้ครั้งใหญ่อีกยาวนาน ขณะเดียวกันก็มีกำลังใจที่ได้ทำหน้าที่ส่งลูกหลานไปข้างหน้า เราเตรียมพร้อมและได้หลักคิดที่ดีเพื่อการเตรียมตัว เรียนรู้เข้าสู่ความเปลี่ยนแปลง และจัดการความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดได้อย่างไร ก็ขออาราธนาพระคุณเจ้าและขอเชิญทุกท่านว่าอย่าลืมที่จะแตะๆหัวข้อเรื่องพวกนี้สอดแแทรกไปด้วยนะครับ.

    ผมเองก็เป็นลูกชาวนามาโดยกำเหนิดตังแต่เกิดมาถ้ามองโดยรวมก็จะเห็นภาพอะไรหลายอย่างที่ผ่านมา ความลำบากซึ่งคนเป็นพ่อและแม่ที่ไม่อยากต้องให้ลูกต้องมาตากแดดขุดตออย่างตนเอง ทุกครั้งเป็นวันหยุดเรียนไม่ว่าจะไปไหนก็จะพาลูกไปด้วยอยากให้เห็นความเนื่อย อยากให้ลูกได้เรียนสูงๆเพื่อที่มีความก้าวหน้าเท่าเทียมกับยุคเทคโนโลยี พ่อจบ ป.4ส่งลูกเรียนป.ตรีจบแล้วได้มีอาชีพเป็นคนดีในสังคมนี่แหละคนเป็นพ่อเป็นแม่ทุกคนต้องการทั้งนั้นแม้แต่ตอนเข้าโรงเรียนชั้นเตรียมครั้งแรก แม่กับป้าช่วยกันปีนยุ้งข้าวปลูกตักใส่กระสอบ2ถังเพื่อไปขายเอาเงินไปซื้อของเข้าเรียนภาพนั้นติดตามากเกือบ30ปีแล้วยังจำได้ดีเพราะตอนนั้นที่บ้านยังขัดสนมาก ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ต้องผิดหวังกับลูกหลานซึ่งพ่อแม่ตั้งใจหาเงินทองส่งเสียแต่กับรำเรียนไม่จบมีอีกมากมาย นอกจากการทำนาแล้วเมื่อน่าแล้งอย่างนี้ชาวบ้านหนองบัวส่วนใหญ่ยังมีกิจกรรมเสริมรายได้นอกจากการทำนาอีกคือการทำไรมันสัมปะหรังซึ่งตอนนีกำลังได้ราคาดีมากเนื่องจากปัจจุบันมีการผลิตพลังงานทดแทนดังนั้นยังเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมากชาวบ้านจึงมีรายได้เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าหน้านี้เป็นหน้าแล้งชาวนาถึงร้อนขหนาดไหนก็ต้องทำกันอย่างไม่มีวันหยุดพักร้อน

    ไร่มันสำปะหรังนี้สร้างคนหนองบัวเป็นบัณฑิต เป็นปัญญาชน เป็นดร.มาแล้วมากมาย แต่กว่าจะเป็นได้ถึงวันนี้ ก็ต้องผ่านความเหนื่อยยากของพ่อแม่มาอย่างลำบากที่สุดในชีวิตของท่าน ซึ่งก็เพื่อลูกนั่นเอง

    วันนี้ผมมีภาพมาประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน อดีตประทานนักเรียนโรงเรียนหนองบัวซึ่งปัจจุบันได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นนักวิชาการประมง จังหวัดตราดเป็นนักวิจัยถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรเพาะเลี้ยงกุ้ง ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่กลับบ้านไปก็จะไปช่วยพ่อแม่ไถไรนำนาถึงแม้ว่าจะทำงานระดับนักวิจัยก็ตาม

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน / ต้นกล้าตัดเป็นท่อนพร้อมปักชำ

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน / ไถไปปักไปดินจะได้ไม่แห้งเร็ว

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน /หลายคนช่วยแรงกัน

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน / อีกไม่นานใบอ่อนก็ผลิมารับฝน

    นอกจากนี้เขาสูงเมื่อก่อนนี้จะเป็นป่าทึบมากแต่ก็ยังขาดแหล่งเก็บกักน้ำธรรมชาติไว้ใช้กัน ต่อมาพระครูไกร(พระนิภากรโสภณ -ไกร ฐานิสสโร ศรสุรินทร์) ได้สร้างอ่างเก็บกักน้ำเขาสูงไว้ใช้หน้าแล้งทั้งยังเป็นแหล่งที่หาอาหารจำพวกสัตว์น้ำเช่น กุ้ง หอย ปลา ปู ซึ่งชาวบ้านสามารถไปหามากินกันได้ทั้งปีผิดจากแต่ก่อนเมื่อหน้าแล้งก็จะแล้งเลยไม่มีทีเก็บกักน้ำส่วนประวัติกราสร้างนั้นผมเองยังไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงครับ

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน

    ภาพประกอบ ส่งมาจาก คุณสถิต ภู่สอน

    นอกจากนั้นเมื่อช่วงเปิดอ่างตอนแรกๆมีคนมาเที่ยวมากมาย มีทั้งห่วงยาง เรือถีบ และของขายมากมายแต่มาภายหลังขาดการปรับปรุงด้านความปลอยภัยด้านต่างเพราะห่างไกลน่าเสียดายไม่มีภาพให้ชมกันครับ

    1 คืนที่เขาพระ-เขาสูง หนองบัว

    • ตอนเด็กๆก็มีเล่นอย่างที่แถวบ้านน้องคุณครูอ้อยเล็กเล่นเหมือนกัน
    • บางที่นั่งจับกลุ่มเป็นวงกันอยู่ กำลังนั่งคุยกันหรือกำลังคร่ำเคร่ง เจ้าเพื่อนทะเล้นสักคนก็จะเดินเตร่มาเหนือลมแล้วก็มาหันก้นตดแบบเผาขนใส่วง ก็จะหงายหลังวิ่งฟาดกันไป บ้างก็หัวเราะ บ้างก็โวยวาย แล้วก็อุบไว้รอคิกมุขเอาคืน
    • ความเป็นเพื่อนกันของมนุษย์นี่เป็นประดิษฐกรรมทางสังคมที่น่าอัศจรรย์มากนะครับ เป็นพื้นฐานการจัดความสัมพันธ์ที่ทำให้ทำอะไรก็สนุกและต่อความคิดสร้างสรรค์กันให้มีพลังได้อยู่เสมอ
    • คุณเสวกโผล่มาทีนี่ตุนมาโพสต์คับจอเลยนะครับ ด้วยความคิดถึง และขอบคุณที่นำมาแบ่งปันกันนะครับ
    • รูปแบบการทำเกษตรแบบนี้ เป็นการทำเกษตรเชิงเดี่ยว หรือ Mono-crop เมื่อก่อนก็จะได้ผลดีครับเพราะระบบธรรมชาติและคุณภาพดินพอจะจัดการตนเองได้ แต่เดี๋ยวนี้พอทำไม่กี่ Crop ก็จะมีปัญหามากครับ ทั้งดินและสภาพแวดล้อมจะทรุดโทรมทำให้เกษตรกรต้องเพิ่มการลงทุนมากยิ่งขึ้นไปอีก
    • ผมเคยเจอชาวนาและชาวสวนแถวนครปฐมและสมุทรสงครามเปรยเรื่องสุขภาพให้ฟังระหว่างคุยกันเรื่องทำมาหากิน มีหลายคนที่บอกว่าเคยหน้ามืดและหมดสติอยู่ในสวนและแปลงนา ทั้งที่ตนเองเป็นคนแข็งแรงและไม่เคยเจ็บป่วยมาก่อน เพราะฉีดยาโดยไม่มีหน้ากากปิดหน้าและสัมผัสกับสารเคมีสะสมต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา พอถึงระดับหนึ่งก็น็อคเลยครับ บางคนเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง บางคนเป็นแผลนิดหน่อยแค่หนามต้นส้มโอตำแต่ก็กลายเป็นอักเสบและกลายเป็นเจ็บป่วยรุนแรง
    • เดี๋ยวนี้ก็เลยมีคนพัฒนาวิธีทำการเกษตรในแนวทางต่างๆที่ต่างหลากหลายไปจากเดิม หลายแห่งในหนองบัวก็ทำในแนวเศรษฐกิจพอเพียง
    • กิจการขนาดใหญ่เดี๋ยวนี้ก็เลือกทำในแนวทางอื่นๆมากยิ่งๆขึ้นนะครับ

    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์ครับ

    ผมติดตามงานของคุณเสวกเรื่อยมา...จากบล็อคนี้แหละครับ

    แต่คราวนี้ เห็นภาพที่นำมาลง.....ผมรู้สึกคุ้นตามากเลยครับ ถ้าเดาไม่ผิด น่าจะเป็นเชิงเขาตรงโค้งหักศอก ระหว่างสี่แยกต้นอีซึกกับบ้านร่องดู่ ใกล้ ๆ กับสำนักสงฆ์เขาลานวัว/สำนักงาน อบต.หนองบัว

    แล้วอีก 2- 3 ภาพก็น่าจะเป็นอ่างกักเก็บน้ำเขาพระ...หรือเปล่า ?

    หรือว่า....ใกล้สงกรานต์แล้ว คิดถึงบ้าน ผมจินตนาการไปเองครับ

    คนที่จบการศึกษาชั้นสูงแล้วกลับไปช่วยพ่อแม่ทำไร่ไถนานี่ น่านับถือน้ำใจจริง ๆ นะครับ

    เด็กข้างบ้านผมก็มีครับ จบวิศวะ ทำงานกับบริษัทต่างชาติ/เงินเดือนสูง มีรถประจำตำแหน่ง ทำหน้าที่ดูแลระบบของตู้ ATM ของธนาคารหลายแห่ง ตอนที่อยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่ค่อยมีเวลากลับบ้าน ตอนนี้ย้ายมารับผิดชอบเขตนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก พอมีเวลาพักก็มักกลับบ้านมาช่วยพ่อแม่ทำนา......ส่วน้องสาวอีกคนจบปริญญาตรีเหมือนกันเพิ่งทำงานในตัวเมืองนครสวรรค์ เมื่อมีเวลาก็กลับมาช่วยพ่อแม่ทำนาเหมือนกันครับ

    เด็กทั้งสองคนนี้ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวทั้งคู่ครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆท่าน

    เนื้อหาในเวทีคนหนองบัวเคลื่อนไปเร็วจริงช่วงนี้ นี่ขนาดยังไม่มีคนหน้าไมค์หน้าใหม่เข้ามาเลย จะว่าไปทีละเรื่องละกัน เอาจากล่าสุดย้อนขึ้นไป
    • เห็นรูปที่คุณสถิตฝากมาให้คุณเสวกลงมาให้พวกเราดูแล้วรู้สึกร้อนจริงๆ ขนาดมีอ่างเก็บน้ำมาให้ดูก็ไม่ช่วยให้รู้สึกเย็นลงสักเท่าไหร่ มันดูโล่งๆไร้ร่มเงาไม้ เห็นเงาเมฆ แล้วอยากจะเหาะไปอยู่ตรงนั้นจังเลย นี่แหละสภาพหนองบัวบ้านเราในยามหน้าแล้ง ยิ่งปีนี้น่าเป็นห่วงมากถึงสภาวะภัยแล้ง
    • กลับหนองบัวล่าสุดเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ผ่านไปแถวเขาพระ ชาวบ้านกำลังเตรียมที่ เตรียมดินเพื่อลงมันสำปะหลังกันทั้งทุ่งเลย สภาพดินแถวหนองบัวโดยเฉพาะแถวๆ เขาพระนั้นเป็นดินปนทราย อย่างที่เห็นในภาพนั่นแหละ (บางที่เป็นทรายล้วนๆเลย เคยไปช่วยเจ๊กมุ้ยที่ทำไอติมขาย เอารถจิ๊ปไปขนมาขายเพื่อใช้ผสมปูนซีเมนต์ก่อสร้าง) จะปลูกพืชไร่อื่นก็คงจะไม่เหมาะ ยิ่งทำไร่แบบ Mono-crop แบบที่พี่วิรัตน์บอก ก็จะทำให้สภาพดินแย่ลงๆและเพลี้ยศัตรูพืชต่างๆจะมากขึ้นๆ
    • เมื่อ30ปีย้อนหลังไป แถบนี้ยังมีสภาพเป็นป่าอยู่เลย ถึงเป็นป่าก็เป็นป่าโปร่ง หน้าแล้งนี่ร้อนตับแลบ ลักษณะตามที่เห็นในภาพนั่นแหละ เคยเดินป่าจากหนองคอกมาเขาพระตอนเด็ก แย้เยอะมาก วิ่งตัดหน้าตลอดการเดินทาง เลย แต่ขับรถผ่านไร่มันแถวตีนเขาพระครั้งนี้ไม่เห็นแย้สักตัว แต่ยังได้เห็นงูเหลือมขนาดย่อมเลื้อยผ่านหน้ารถไป และมีกระแตปีนเล่นบนต้นไม้
    • ภาพปลาบู่ของพี่วิรัตน์ ดูแล้วคล้ายปลาบินมากเลย ตอนเรียนวิชาวิทย์ชั้นป.ต้นในหนังสือเคยมีภาพปลาบินกับปลาตีน ดูแล้วก็ฉงนสงสัยว่าปลามันจะบินจะเดินได้อย่างไร จนเมื่อโตขึ้น ได้รับรู้โลกภายนอกมากขึ้น รวมทั้งได้เห็นปลาตีนของจริงที่บางปู และปลาบินในทะเลอันดามัน นั่นแล โอ้โฮเวลามันโผล่ขึ้นมาบินบนอากาศนี่ได้ระยะทางไกลโขอยู่นะ ประมาณร้อยเมตรได้ อยู่บนอากาศได้นานประมาณ 30 วินาที ตื่นตาตื่นใจดีจัง
    • ตอนเด็กเห็นปลาบู่ในสระหลวงพ่ออ๋อยอยู่บ่อยๆนะ แถวหนองบัวไม่เคยเห็นใครกินปลาบู่เลย จับได้ก็จะเอาไปปล่อยที่สระ คงเป็นเพราะสงสารเอื้อยในปลาบู่ทองเป็นแน่ ผมเองได้ลิ้มรสปลาบู่เอาก็ตอนเรียนจบมาทำงานแล้ว เอาไปนึ่งซีอิ๊วนี่รสชาติเยี่ยมเลย
    • เรื่องผมลาย-ผายลม นี่ ตอนเด็กๆจะมีเพลงร้องเพื่อหาคนตด โดยร้องไปชี้ไปพยางค์ละคน วนไป พยางค์สุดท้ายไปตกที่ใครก็ให้ถือว่าเป็นคนตด เนื้อร้องก็จะมีดังนี้

      "ใครตดไม่บอก ดากเน่าดากหนอน พระอินทร์ถือศร ขี่ม้าไล่ฟัน ดวงจันทร์ลั่นป้อ ย่อปั๋งดังปุ๋ง"

    ต้องทำหมายเหตุไว้สักหน่อย ตอนนี้เวลา ๑๔.๐๗ นาที เวทีคนหนองบัวมีคนคลิ๊กเข้ามาคน/ครั้งที่ ๗๙๙๙ และ กล่อมคอมเม้นต์ที่ ๔๗๗ หากท่านที่เข้ามาเวลาหลังจากนี้ ท่านก็เป็นคนที่ทำให้ครบแปดพันและแปดพันขึ้นไปแล้วครับ เป็นการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่สงกรานต์พอดีครับ

       สวัสดีครับคุณสมบัติครับ  

    • ขอสวัสดีปีใหม่สงกรานต์นะครับ
    • แถวเขาพระเดี๋ยวนี้เขาไปขนาดนี้แล้วหรือครับ ผมนึกภาพไม่ออกเลยละครับ
    • เมื่อก่อนมีแต่ป่า มองพ้นยอดไม้ก็มีแต่ภูเขา หากเป็นหน้าฝนก็เขียวครึ้มด้วยป่าไผ่ไม้รวก ป่าพลวง และต้นรัง หน้าแล้ง ก็จะเห็นแต่ป่าไผ่สีน้ำตาลและป่าต้นปรง
    • ยินดีต้อนรับน้องภา-ตากลม ที่จะได้เป็นมหาบัณฑิตในเร็ววันนี้ ถ้ามีเวลาก็ออกมาอยู่หน้าไมค์กับพวกเราได้เลยนะ ไม่มีหน้าใหม่มาออกไมค์นานแล้ว (ผมเป็นคนสุดท้ายรึเปล่าเอ่ย)
    • พูดถึงความสำเร็จด้านการศึกษา ลูกหลานหนองบัว-หนองคอกนี่ก็ไม่น้อยหน้าใครนะ ผมว่าปัจจุบันนี่นับกันไม่หวาดไม่ไหว แต่ถ้าย้อนไปสมัยผมยังเรียนอยู่หนองคอกนี่ อาจารย์มักจะพูดถึง พ.อ.โกศล ประทุมชาติ (ยศปัจจุบัน นบ.รุ่น13) ที่สอบเข้าเตรียม ทหารได้ หรือหมอวีระวัฒน์ (นบ.รุ่น16)ที่ได้ที่1ของประเทศ (ความจริงหมอวีรวัฒน์นี่เรียนป.1รุ่นเดียวกันผมนะ แต่พอขึ้นป.2 หมอขอพาสชั้นไปเรียนป.3เพราะละแวกบ้านมีแต่คนเรียนอยู่รุ่นนั้น อีกอย่างแกหัวไบรท์ด้วยไม่งั้นไม่ได้ที่1ของประเทศหรอก
    • นบ.รุ่น14 (รุ่นพี่วิรัตน์) ก็จบ ดร.อย่างน้อยก็ 2 คน คือพี่วิรัตน์กับพี่เสน่ห์
    •  รุ่นผม(17) ก็มีดร. 2 คนคือ อ.ดร.สุภา อยู่ราชมงคลธัญญบุรี และคนห้วยด้วน อ.ดร.สิทธิชัย (อ.ง้วง) คณะเกษตร มช.
    • หรือรุ่นน้องก็อย่างหมอน้อยรุ่น19 และหมอเกี้ยรุ่น20 (รุ่นคุณสมบัติ)
    • ไม่รู้ว่าตอนผมจบหนองคอกออกมาแล้ว พวกครูอาจารย์ได้พูดถึงผมและเพื่อนๆให้รุ่นน้องฟังไว้อย่างไรบ้าง
    • หนองบัวในยุคนั้น ย้อนหลังไปไม่น้อยกว่า 30 ปี ตอนที่ยังไม่มีถนนสาย 11 อินทร์บุรี-เขาทราย นั้น มีทางเลือกด้านการศึกษาน้อยมาก จบม.ต้นแล้วถ้าได้เรียนต่อก็ต่อม.ปลายที่ชุมแสง หรือ ตัวเมือง หรือกทม. บ้างก็เรียนสายอาชีพ สายครู-ตำรวจ-ทหาร ดังที่พี่วิรัตน์กล่าวไว้นั่นแล
    • คนหนองบัวที่ไปใช้ชีวิตอยู่ตปท.นั้น ยุคแรกเลยที่ผมรู้จักก็คือลูกสาวโกลก(พี่อรวรรณ)ไปอยู่ออสเตรเลียนานมากแล้ว พี่เค้าจะกลับมาหนองบัวอยู่เรื่อยๆนะ 1-2 ปีมาที จะสนิทกับพี่สาวคนโตผมมากด้วยเรียนหนองบัวรุ่นใช้กระดานชนวนรุ่นเดียวกัน ไม่รู้ว่าเพื่อนบ้านเราจากออสเตรเลียจะใช่พี่เขาหรือเปล่า
    • แย้ กระรอก กระแต อึ่ง เหล่านี้นี่ในหนองบัวเมื่อก่อนเยอะจริงๆ ตามบ้านชาวบ้านก็มี ที่ลานวัดหนองกลับมีต้นมะม่วงป่าก็เยอะ หรือในป่าหลังโรงเรียนหนองคอกนี่ เดินออกมาวิ่งอย่างกับเป็นเพื่อนคน
    • อ่านเรื่องฉิกตื่นเต้นได้เห็นปลาตีนและปลาบินแล้วก็ต้องยิ้มอีก
    • ผมเห็นทะเลครั้งแรกเมื่อเรียน รด.ปี ๓ และอายุถึงเกณฑ์ได้ทำบัตรประชาชนแล้ว ปี ๒๕๑๘ ครูพาไปเขียนรูปทะเลที่หาดวรรณกร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตอนที่นั่งรถไฟไปพอเริ่มเห็นทะเลแต่ไกลจากหน้าต่างรถไฟ ผมก็ไม่เป็นอันทำอะไรแล้ว
    • ตอนทีเรียนวาดเขียน เวลาวาดรูปทิวทัศน์ก็มักจินตนาการใส่รูปทะเลและมีเรือใบ ในใจก็คิดว่าทะเลมันก็คงจะคล้ายๆบึงบรเพ็ดที่นครสวรรรค์ หรือแม่น้ำวังตอนน้ำขึ้นสูงที่หลังตลาดชุมแสงนั่นแหละ หรืออย่างมากก็คงจะเหมือนทุ่งนาตอนน้ำหลาก
    • แต่พอเห็นจริงๆแต่ไกล...อุแม่เจ้า !!! มันโคตรกว้างใหญ่พอๆกับท้องฟ้าเลย มันเกินกว่าที่ผมเคยจินตนาการได้ พอไปถึงที่พักก็มืดค่ำ มองไม่เห็นอะไรแล้ว คืนนั้นทั้งคืนผมนอนไม่หลับ อยากไปดูให้เห็นทะเลจะๆ แล้วก็จะต้องไปวักน้ำขึ้นมากินดูว่ามันเค็มอย่างที่ครูสอนและหนังสือว่าไว้ไหม
    • ถึงตอนเช้าผมทนรอคอยให้สว่างไม่ไหว เดินไปชายหาดตั้งแต่ก่อนสว่าง แต่ฟ้าก็เริ่มเปิดแล้ว พอไปถึงชายหาด ผมไม่รอช้า วิ่งลงไปแล้วก้มลงวักน้ำทะเลใส่ปาก แล้วก็ต้องพ่นออกจากปากพรวดอย่างไม่ต้องฉุกคิด เพราะมันเค็มแสนเค็มเกินกว่าที่คิดอีกเช่นกัน 
    • ตอนที่ได้เห็นปลาตีนก็เหมือนกัน ผมได้ไปบ้านเพื่อนที่เขามีสวนอยู่แถวบางคณฑี-แม่กลอง นั่งๆอยู่ก็มองลอดไปยังใต้ถุนเห็นปลาตีนเดินเดาะแดะขึ้นมาเล่นกันเต็มไปหมด  พระเจ้า....มันมีตีนและขา เดินขึ้นมาบนบกได้จริงๆ ชูหัวสลอนเหมือนกบ ผมนั่งมองดูจนหมดความสนใจที่จะทำอย่างอื่น เพื่อนๆที่เขาเคยเห็นและเป็นคนท้องถิ่นก็คงนึกไม่ออกหรอกว่าเรากำลังเกิดการปฏิวัติในความคุ้นเคยกับโลกรอบข้างอย่างขนานใหญ่
    • ก็ตอนที่อยู่แถวบ้านหนองบัวนั้น แค่เห็นปลาหมอและปลาดุกแถกไปบนบกจากแอ่งน้ำแห่งหนึ่ง ข้ามถนนหรือสนามหญ้าไปอีกแอ่งน้ำแห่งหนึ่ง มันก็เป็นเรื่องอัศจรรย์มากแล้ว แต่นี่มันพากันเดินและวิ่งเล่นอย่างกับแย้ ดูไปใจก็คิดไปว่า(กู)เชื่อแล้วว่าปลาตีนมีจริง มันมีตีนและเดินได้จริงๆ !!!!!
    • กลับไปบ้านผมก็คุยให้ญาติพี่น้องฟังเป็นคุ้งเป็นแคว เพราะญาติพี่น้องผมก็ไม่มีใครเคยเห็นหรอก ทั้งทะเลและปลาตีน อย่างมากก็เห็นแต่หอยแครงกับปลาทูเค็ม !!!เวลาถ่ายรูปก็ไปยืนหน้าฉากที่มีรูปทะเลกับสถานีรถไฟหัวหิน แค่นั้นแหละ....ต้องผมนี่ ผมไปเห็นมาแล้ว !!!! คิดทำนองนั้น ขำดีจริงๆ

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    พี่อาจารย์วิรัตน์ คุณเสวก คุณสมบัติ และชาวหนองบัวทุกท่าน ได้อ่านคอมเม้นท์ที่478ของพี่อาจารย์แล้วครูอ้อยเล็กยิ้มกับจอคอมฯกว๊างกว้างแบบไม่เกรงใจเลยอิๆๆๆ...ดีใจด้วยค่ะ..ที่คนต่างถิ่นคนนี้ได้เดินพลัดหลงตามพี่ชายชาวเพาะช่างมาสนทนากับชาวหนองบัวด้วยความอยากรู้ความเป็นไปของชุมชนอื่นๆว่าเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง และด้วยความเป็นลูกทุ่งแต่ก่อนมาอย่างอบอุ่นค่ะ..ณ วันนี้ได้ฉลอง 8000 แปดพัน ถึงจะไม่ใช่แปดหมื่นพระธรรมขันธ์ ก็เป็นการฉลองแบบ8พันฆราวาสก็แล้วกันนะคะพี่อาจารย์...ไชโยๆ

    • ฝากไปเลี้ยงเฉลิมฉลองอย่างเป็นกรณีพิเศษสำหรับน้องคุณครูอ้อยเล็กหน่อย ให้น้องอำภาเป็นเจ้าภาพในนามของชาวหนองบัวและผมไปก่อนสักครั้งหนึ่งนะครับ
    • น้องคุณครูอ้อยเล็กนี่ ต้องแนะนำน้องอำภาให้ทราบว่า รูปหน้าจอหน้าแรกของเวทีแรกที่เป็นเรื่องเป็นราวของชาวหนองบัวนี้ เป็นฝีมือคอมพิวเตอร์กราฟิคของน้องคุณครูอ้อยเล็กเพื่อนของน้องอำภาและเพื่อนของคนหนองบัวนี่เอง แล้วก็ประสานงานทำให้กันผ่านทางเว็บบล๊อกนี้แหละ
    • ความงอกงามเล็กๆในเวทีนี้ของชาวหนองบัว จึงเป็นส่วนหนึ่งจากน้ำใจสร้างสรรค์ของน้องคุณครูอ้อยเล็กไปด้วย

    พูดถึงเรื่องมงเรื่องมดในคห.๔๖๕ ขออนุญาตฮาเล็กๆซะหน่อยนึง เลยทำให้นึกถึงเรื่องมดเอ็ก มดแดงกาตูร์นญี่ปุ่นทันที ชวงที่กำลังดังออกอากาศทางโทรทัศน์นั้น วันเสาร์-อาทิตย์ พวกเด็กผู้ชายในหมู่บ้านหนองบัว-หนองกลับ เมื่อกินข้าวเช้าแล้วก็ออกจากบ้านเดินเข้าแถวไปตามหัวคันนาไปดูโทรทัศน์ในตลาดหนองบัว ที่ร้านกาแฟ ร้านของขายชำเหมือนโรงหนังย่อยๆเลย เวลาเช้าก็มีกาตูร์น บ่ายก็มีรายการมวยไทย มวยตู้ เป็นช่วงเวลาของคนโตในหมู่บ้านทั้งร้านแกฟ ร้านตัดผม ก็จะมีแฟนมวยตู้เยอะจริงๆเสียงเชียร์มวยดังเชียว 

    นี่ก็คือเหตุการณ์ที่ในหมู่บ้านหนองบัวหนองกลับยังไม่มีไฟฟ้านั่นเอง(สามสิบกว่าปีมาแล้วแค่นั้นแหละ)

    ขี้เทือก-มดตะนอย

    ไม่ใช่เทพเทือกและก็ไม่ใช่วันนี้คุณเทือกแล้วรียังอีกด้วยนะจะบอกให้ แต่เป็นขี้เทือก คี้เตี้อก ต่างหากละ นึกว่าจะไม่มีใครรู้จักขี้เทือกซะแล้วพี่น้อง ที่ไหนได้มีอำมาตย์ที่มาจากชาวนาตัวจริง ตัวเป็นๆชาวนามืออาชีพอยู่หลายท่านไม่น้อยเลย

    ตีครุบทำเทือกตีหน้าดินให้เละ และไล่น้ำให้ขึ้นไปในมุมอันนาที่เป็นที่โคก-สูงพื้นนาไม่สม่ำเสมอกัน ถ้าโคกมากหน่อยต้องใช้ะซ้อมาช่วยกันวิดน้ำสาดหน้าดินที่น้ำขึ้นไม่ถึงเพื่อให้ดินอ่อนตัว การตีครุบทำเทือกก็เพื่อจะให้หน้าดินเละเละ ขี้หญ้าก็จะจมลงน้ำเน่าเป็นปุ๋ย

    ส่วนหญ้าที่ผุดโผล่น้ำขึ้นมานั้นก็จะเป็นที่อาศัยทำรังของมดตะนอยเป็นกลุ่มๆ คนที่แพ้มดตะนอยนี่ก็จะต้องระวังตัวแจเชียว และถ้าโดนต่อยแล้วก็จะน่าสงสาร แต่เมื่อดำนาไปเรื่อยๆก็อดที่จะพลาดท่าเจ้ามดตะนอยต่อยปวดไปไม่ได้ เมื่อใครโดนมดตะตอยต่อย มีสองอารมณ์ที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น คือเห็นใจและอดขำไม่ได้ คนที่ขำนี่ต้องกลั้นเสียงหัวเราะไม่ให้คนที่ถูกมดตะนอยต่อยได้ยิน เพราะจะเสียมารยาทจึงได้แต่อมยิ้มและแสดงอาการกลบเกลื่อนให้พ้นไป

    อดีตกาลดำนาในขี้เทือกจะถูกมดดำมดตะนอยต่อย ปัจจุบันมดแดงกำลังต่อยเทือก(ฮา)

    นึกถึงตอนดำนาแล้วก็อดฮาอดขำไม่ได้ทุกที

    ๘ พันฆราวาส แปดพันโยม แปดพันคลิ๊ก/คน/ครั้ง
    ได้อ่านสำนวนนี้ของคุณครูอ้อยเล็กแล้ว ฮาเลย เข้าใจคิดจังเลยเนาะ คุณครูอ้อยเล็กนี่นอกจากจะเก่งคอมพิวเตอร์แล้วยังเก่งการประพันธ์อีกด้วย และแล้วเวทีคนหนองบัวก็เดินทางมาถึงก้าวย่างที่ ๘ พันคลิ๊กในวันนี้

    ทั้งข้อมูลสาระความรู้เรื่องราวในชุมชนก็นับว่ามากพอสมควร ในฐานะผู้มีหุ้นส่วนเล็กๆน้อยๆในชุมชนด้วนคนหนึ่ง ก็รู้สึกดีใจภูมิใจในปรากฏการณ์นี้

    ขอขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กที่มีส่วนช่วยให้บ้านหลังนี้เป็นครอบครัวที่อบอุ่นและเจริญงอกงามทางปัญญาได้ดีมากๆตลอดมา

     

    คห.๔๗๑คุณเสวกนำภาพถ่ายไร่มันสำปะหลัง อ่างเก็บน้ำพระครูไกร(พระนิภากรโสภณ-ฐานิสฺสโร,ศรสุรินทร์)เจ้าคณะอำเภอหนองบัวรูปปัจจุบัน ชาวบ้านเรียกอ่างเก็บน้ำหลวงพ่อไกรอยู่ใกล้เขาพระ

    เมื่อ๔๐ปีที่แล้วชาวหนองบัวเรียกรวมๆบริเวณพื้นที่ตั้งแต่สี่แยกต้นอีซึก(สี่แยกไฟแดงหนองบัว) เขาพระ เขาสูง เขามรกต คลองสมอ เขาบ่อผักไห่ เขาเหล็ก คลองลานฯลฯนี้ว่าป่าเหนือ นอกจากแย้ กระรอก กระแต อึ่งแล้วยังมีบึ้ง(แมงมุมยักษ์)อีกด้วย ซึ่งบึ้งนี้จะหากินโดยการขุดรูอยู่ตามพื้นดิน สัตว์เหล่านี้เมื่อก่อนชุกชมในป่าแถบนี้ ปัจจุบันคงเหลือไม่มากนักแล้ว แต่บึ้งน่าจะสูญพันธ์ไปแล้ว

    นึกไม่ถึงเหมือนกันว่าป่าเหนือที่อาตมาเคยเลี้ยงควายในหน้าฝนนั้นจะมีสภาพดังภาพถ่ายนี้ ตอนนั้นเป็นป่าไม้เมื่อมาเลี้ยงควายหรือมาหาหน่อไม้บนเขาสูงพอตะวันบ่ายต้องรีบหาทางกลับบ้านแล้ว เพราะอะไรเพราะมันไกลจากบ้านไม่น้อยโดยใช้เวลาเดินทางนานกว่าจะถึงบ้าน พาหนะคือเกวียน หรือไม่ก็เดินเท้า ไกลไม่ไกลก็ลองคิดดูว่าการมาหาผักป่า หรือมาหาหน่อไม้ที่อ่างเก็บน้ำนี้ จะมาได้วันละเที่ยวเท่านั้นเอง

    ปัจจุบันได้พาปู่ย่าตายายคนเฒ่าคนแก่ไปเที่ยวชม ณ สถานที่ที่ท่านเคยไปหาผักหาหน่อไม้ในยุคที่ท่านยังหนุ่มยังสาวเพื่อรำลึกถึงอดีตที่ยังอยู่ในความทรงจำ ท่านนึกในใจแล้วพูดขึ้นว่าโอเมื่อก่อนกูเดินและขับเกวียนมาแถบนี้วันละครั้งก็แย่แล้ว แต่ปัจจุบันนั่งรถ ๕ นาทีเอง ช่างต่างกันเหลือหลายแท้หนอ 

    ผมจำไม่ได้เลยนะครับ นึกภาพอย่างเมื่อก่อนไม่ออกเลย เมื่อก่อนนี้ หากเดินทางเข้าไปทำไร่ ก็จะใช้เกวียนเดินทางออกจากบ้านไปยังไร่แถวนี้ได้ขาไปหรือขากลับได้เที่ยวเดียวเท่านั้น ตอนหน้าแล้ง เมื่อจะต้องไปหาหน่อไม้ กลอย ฟืน และไม้ทำบ้าน ทำศาลา ก็จะต้องขี่เกวียนเดินทางออกจากบ้านกันตั้งแต่ไก่ขันครั้งแรกซึ่งจะประมาณตี ๓ อ้อมออกด้านนอกของบ้านหนองบัวซึ่งก็จะไปสว่างเมื่อเข้าแนวป่าแล้ว พอหาหน่อไม้ เลื่อยไม้ เก็บฟืนจากไม้แห้ง ผัก กลอย ไม้ไผ่รวก จนถึงประมาณบ่าย ๒-บ่าย ๓ ก็เริ่มเดินทางกลับ ไปถึงบ้านก็มืดค่ำอีกสักทุ่ม-สองทุ่ม เลยรู้สึกว่ามันไกลมาก แล้วก็เต็มไปด้วยป่าเขา

    อาจารย์รำลึกถึงเขาพระและบอกว่าจำไม่ได้เลยนั้นทำให้อาตมานึกถึงข้อเขียนของคุณเสวกที่ได้เคยเขียนเรื่องทำนองนี้ไว้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่สี่แยกต้นอีซึก(สี่แยกไฟแดงหนองบัว) อ่านทีไรก็อดอมยิ้มไม่ได้ สั้นๆเรื่องมีอยู่ว่า....

    "...สี่แยกต้นอีซึก ชื่อนี้เด็กสมัยใหม่คงจะไม่รู้จักแต่ผมทันครับ และผมมีเรื่องเล่าครับ ครั้งหนึ่งมีลุงแก้วคนแถวๆบ้านผมเองนี่แหละครับแกไปอยู่ต่างจังหวัดมาหลายปี ไม่ได้มาหนองบัวว่างั้นเถอะ แกจำได้ว่าหนองบัวมีต้นอีซึก(สี่แยกไฟแดง)แต่พอมาถึงกระเป๋าบอกว่าหนองบัวแกก็มองดูไม่พบต้นอีซึก จนไปถึงเขาทรายจึงรู้ว่าเลยบ้านแล้วครับ..."

    ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นกับโยป้า(พี่สาวโยมพ่อ)ท่านมีบ้านอยู่ที่หมู่บ้านห้วยถั่วเหนือ(ทางเข้าบ้านป่ารัง) ต่อมาประมาณหลังพ.ศ.๒๕๑๐ ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านแม่วงก์(ตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ-อำเภอลาดยาว) จังหวัดนครสวรร์ ต่อมาเป็นกิ่งอำเภอ และปัจจุบัน อำเภอแม่วงก์อยู่ทิศตะวันตกตัวจังหวัดห่างประมาณ ๘๐ กิโลเมตร เขตติดต่อกำแพงเพชร อุทัยธานี

    ช่วงนั้นบ้านแม่เล่ย์แม่วงก์แม่เปินมีสภาพเป็นป่าเขาลำเนาไพร น้ำตก การคมนาคมลำบากมากไม่มีถนนหนทาง เป็นป่ายิ่งกว่าที่อำเภอหนองบัวในยุคเดียวกัน เมื่อย้ายไปแล้วการจะได้ติดต่อกับพี่น้องที่หนองบัวนั้นไม่ต้องพูดถึง เหมือนไปแล้วไปเลยทีเดียว ๕ ปี ๑๐ ปี จะได้มาบ้านเดิมที่หนองบัวสักครั้งหนึ่ง

    จะด้วยบุคลิกป้า หรือการที่ป้าได้ไปอยู่บ้านห้วยถั่วเหนือซึ่งเป็นหมู่บ้านพี่น้องชาวลาวเลยทำให้บุคลิกป้าดูกลมกลืนเป็นคนลาวไปด้วย จุดนี้เองพวกหลานๆที่หนองบัวมักแซวโยมป้าด้วยอารมณ์ขันๆว่า ป้านั้นเหมือนคนลาว มากกว่าจะเหมือนคนหนองบัว ได้ยินหลานแซวแล้วก็จะได้ยินเสียงตอบจากป้าแทนคำพูดดังมาเบาๆว่า อือๆๆ

    ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตโยมป้าได้มาเยี่ยมญาติพี่น้องลูกหลานที่หนองบัวด้วยวัยชรามากแล้ว นั่งรถโดยสารจากอำเภอแม่วงก์มาเพียงคนเดียวเมื่อลงรถเมล์ที่ตลาดหนองบัว แล้วก็เดินไปบ้านพี่ชาย(ทายกว่อน ขำสุข)และบ้านน้องชาย(โยมพ่อ) เดินเลยซอยบ้านญาติหาทางเข้าบ้านไม่ถูก เมื่อมาถึงบ้านหลานๆแล้วป้าก็พูดว่าเออ..กูหลงไปบ้านใครไม่รุ หาบ้านพวกมึงไม่เจอว่ะ

    • เรื่องทะเลกับคนหนองบัวนี่ช่างห่างไกลกันเหลือเกิน เมื่อก่อนนี้ชาวตลาดมักจะจัดทัวร์เที่ยวกัน สถานที่ยอดนิยมอันดับหนึ่งก็คือทะเลนี่แหละ เด็กๆใครที่เคยเห็นเคยสัมผัสทะเลนี่ถือว่าเป็นคนที่มีโชควาสนาเหนือคนอื่น ตอนเรียนวิชาวาดเขียน/ศิลปะนี่ เวลาครูให้วาดวิว ภาพทะเลในจินตนาการผมจะนึกถึงภาพโฆษณาเหล้าแม่โขงภาพนี้ ทะเล เรือใบ ต้นมะพร้าว ก้อนเมฆ ดวงตะวัน นกบิน
    • ทะเลครั้งแรกของผมก็ตอนเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯแล้ว ไปเยี่ยมไอ้นุลูกเจ๊กแจง เพื่อนหนองบัวที่ไปทำงานที่พัทยา เขียนจดหมายนัดแนะวัน-เวลากัน นั่งรถบขส.ไป คนเดียวเลือกที่นั่งด้านขวามือด้วยคาดว่าจะได้เห็นทะเลที่น่าจะอยู่ด้านขวาได้ชัดเจน ผ่านหนองมน บางแสน ก็เริ่มชะเง้อมองไปทางหน้าต่าง ทะเลที่ว่ากว้างใหญ่สุดลูกหู ลูกตานี่มันจะขนาดไหนหนอ เค็มขนาดน้ำปลาเลยรึเปล่า จะโดนฉลามมันมางาบไป มั้ย สารพัดคำถามมันผุดขึ้นมามากมาย จนได้เห็นทะเลครั้งแรกบนรถบขส.เมื่อใกล้จะ ถึงพัทยานั่นแหละ อารมณ์ที่ได้สัมผัสทะเลครั้งแรกก็คงไม่ต่างจากพี่วิรัตน์เลย สงกรานต์นี้ก็มีโปรแกรมหนีร้อนไปชะอำอีกแล้ว
    • เพิ่มเติมเรื่องสัตว์เล็กสัตว์น้อยในป่าหนองบัว นอกจากแย้-กระรอก-กระแต-กบอึ่ง- บึ้ง-นก-หนู-งู ที่ว่ามาแล้วก็ยังมีตัวตุ่น-อ้นอีกที่ชาวบ้านมักจะจับมากินกันอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้พวกผลไม้ป่าก็มีไข่เน่า เป้ง ทับเยี่ยว มะขามป้อม ที่เดี๋ยวนี้หาไม่เจอแล้ว

    ร่วมฉลอง 8,000 คน/ครั้ง/คลิกด้วยครับ (เป็นพลุที่ไปถ่ายมาเมื่อต้นเดือนมี.ค. ที่ใต้สะพานแขวนฝั่งตรงข้ามตึก ธ.กสิกรไทย)

    สวัสดีครับพี่ฉิกครับ เวทีหนองบัวของเราคลื่นไหวเร็วจริง ๆ ด้วย

    แม้จะอยู่ในตลาด แต่พี่ฉิกก็เข้าถึงความเป็นท้องถิ่นได้สะใจจริง ๆ อึ่งอ่าง/ผักหวานเนี่ยเป็นของคู่กับวิถีชีวิตของคนหนองบัวอย่างปฏิเสธไม่ได้ ส่วนแย้นั้น เดี๋ยวนี้หาได้ยากแล้วครับ

    สวัสดีปีใหม่สงกรานต์เช่นเดียวกันครับ อาจารย์ดร.วิรัตน์ครับ

    1 มกราคม ลาวเรียกว่าปีใหม่สากลครับ..... 13 เมษายนที่จะถึงนี้ พี่น้องประเทศเพื่อนบ้านเราเขาเรียกว่า ปีใหม่ลาว

    ปีใหม่ลาวปีนี้สถานเอกอัครรัฐทูต สปป.ลาว ณ บางกอก จัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน ทางสถานทูตส่งบัตรเชิญมาแจ้งว่าสมเด็จพระเทพฯเสด็จด้วย ผมได้แจ้งหนังสือตอบรับไปแล้วว่าสามารถเดินทางไปร่วมงานด้วยได้ครับ

    หลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้านที่ผมรับผิดชอบ การบรรยายในชั้นเรียนและการซ้อมเต้นรำจังหวะบั๊ดสะลบ ได้จบลงแล้ว วันนี้บ่าย ๆ จะพาลูกศิษย์ออกสำรวจและทดสอบหลักสูตรในพื้นที่จริง

    บางคนเพิ่งย้ายมารับราชการใหม่ ๆ ยังไม่เคยไปเวียงจันทน์ก็มี บรรยากาศทั่วไปดูน้อง ๆ แต่ละคนตื่นเต้นกันน่าดูเลยครับที่จะได้ทดลองใช้ภาษาลาวกับคนลาวในประเทศลาว

    ขอชื่นชมและประทับใจคุณฉิกอย่างมากเลย
    อย่างคุณฉิกนี่ต้องถือว่าเป็นคนเมือง คนในตลาดจุดใจกลางหนองบัวเลยแหละ แต่สามารถรู้จักและจดจำพืชผักผลไม้ต่างๆในป่าเหนือได้ขนาดนี้ต้องถือหนองบัวขนาดแท้เลยเชียว ในป่าเหนือนั้น ยังมีพืชผัก ผลไม้ต่างๆที่กินได้อีก เช่น ผักอีนูน(นางนูน) ดองกับน้ำซาวข้าวกินอร่อยดี สมอ ไม้มะรื่น(กะบก) มะเลื่อม ลูกไม้ลายใช้ยิงไม้อีโบ๊ะ(ไม้อีทบ)และกินได้ด้วย

    P...สวัสดีวันสุดสัปดาห์ค่พี่อาจารย์..น้องภาและพวกครูอ้อยเล็กจะสอบวันที่ 24-25 เมษายนนี้ค่ะ..ซึ่งน้องพาและเพื่อนจะต้องสอบ 2 ชุดวิชา คือสัมมนาวิจัยกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ค่ะ..ซึ่งค่อนข้างหนักค่ะ..เลยเงียบๆอยู่ก่อนค่ะ...

    ส่วนอ้อยเล็กรีเกรดสัมมนาค่ะคริๆ..เรียนซ้ำมันอยู่นั่นแหล่ะค่ะ ล้วนแต่วิจัยทั้งคู่ รีเกรดตอนยังไม่ทราบชะตาว่าจะไม่จบ 1 ตัว คือการวิจัยเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มาตัวที่กำลังรีเกรดนี่ก็วิจัยอีก แต่เป็นสัมมนาวิจัยทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เอาเข้าไปๆรีกันให้แจ่มไปเลยเน๊าะพี่อาจารย์เน๊าะ...

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ ครูอ้อยเล็กและทุกๆท่าน

    • ช่วงนี้จะไม่ได้อยู่หน้าจอหลายวัน ฝากความคิดถึงทุกๆท่านด้วยนะครับ กลับมาอีกทีก็อาจจะปลายๆสัปดาห์ (ไม่ได้ไปไหนไกล แค่ชะอำ-หัวหินนี่เอง) ที่หนองบัวนี่ชาวบ้านร้านตลาด กับชาวบ้านที่ทำไร่ทำนาจริงๆ ผมว่าใกล้กันมากนะ ชีวิตต้องสัมผัสพึ่งพากันแบบใกล้ชิดตลอดเวลา ถึงแม้ผมจะไม่ได้ใส่งอบออกไปไถนา เกี่ยวข้าว แต่ตลอดชีวิตในวัยเด็ก หรือแม้แต่ปัจจุบัน ก็ยังต้องจับจอบจับเสียมอยู่บ่อยๆ รายละเอียดเรื่องชีวิตชาวนาชาวไร่อาจจะไม่ลึกซึ้งเท่ากับพระคุณเจ้า พี่วิรัตน์ น้องสมบัติ คุณเสวก หรืออีกหลายๆท่าน แต่ก็ได้สัมผัสรับรู้วิถีชิวิตของพวกเขาได้ดี
    • อีโบ๊ะนี่ไม่รู้ว่าปัจจุบันแถบรอบนอกหนองบัวยังมีเล่นกันอยู่รึเปล่า แต่แถวตลาดนี่ไม่เห็นนานมากแล้ว ( เดี๋ยวนี้เค้าไปเล่น บีบีกัน กันหมดแล้ว) ตอนเด็กๆรร.ปิดเทอมนี่ได้เล่นกันประจำ บางทีก็ใช้กระดาษสมุดมาแช่น้ำ แล้วฉีกขยำเป็นก้อนกลมขนาดพอที่จะยัดเข้ารูอีโบ๊ะเป็นลูกกระสุนแทนลูกไม้ลายได้
      - เคยมีอุบัติเหตุบางคนถึงกับสูญเสียตาเพราะโดนลูกอีโบ๊ะเข้าตาพอดี
      - อีกอย่างที่ไม่เห็นเล่นกันเลยคืออีหึ่ม เกริ่นนำไว้เผื่อใครจะมาขยายต่อก็เชิญนะครับ พอดีตอนนี้ไม่มีเวลาแล้ว จะต้องเตรียมตัวเดินทาง รวมทั้งเรื่องไม้อีโบ๊ะด้วยที่ไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก
    • เอาใจช่วยครูอ้อยเล็ก(ชื่อเหมือนผบ.ทบ.ผมเลยครับ แต่ของผมนี่ไม่มีเล็กนะ) กับน้องภา ให้สอบผ่านฉลุย
      - เรื่องการเรียนระดับปริญญาบัตรกับผมนี่จบกันตั้งแต่เมือปี 2538-2541 แล้วครับ หลังจบป.โท MBA ที่มธ.นี่ผมบอกไม่เอาแล้ว เหนื่อยมาก ทั้งทำงาน เลี้ยงลูก(ตอนนั้นคนโต 3 ขวบส่วนคนเล็กเพิ่งอุแว๊ๆ)
    สงกรานต์สร้างสรรค์
    ยึดมั่นประเพณี
    ปลอดภัยทุกชีวี
    สามัคคีทั่วไทย

    ปล. เกือบจะห้าร้อยคคห. (ความคิดเห็น) แล้วนะพ่อแม่พี่น้อง

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล และสวัสดีทุกท่านเลยครับ 

    • ผมมีภารกิจต้องไปเป็นวิทยากรการวิจัยที่จังหวัดพิจิตรเมื่อวันพฤหัส. ๘ เมษา. เสร็จแล้วรุ่งขึ้นก็ไปร่วมเวทีระดมสมองมหาวิทยาลัยนครสวรรค์เพื่อท้องถิ่น แล้วก็กลับบ้าน เสร็จแล้วก็เลยไปเชียงใหม่ ได้แต่แวะเข้ามาดูผ่านๆ แต่เพิ่งจะได้มานั่งอ่านที่ทุกท่านเขียนพูดคุยในวันนี้นี่เองครับ คึกคักและมีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย ช้าไปไม่กี่วันก็เกือบตามไม่ทันเลยครับ ดีใจด้วยจังเลยครับ
    • นี่เป็นตัวบอกให้ทราบได้อย่างดีเลยนะครับว่า ในโลกแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตนั้น นอกจากเป็นโลกที่ไม่หยุดนิ่งแล้ว ยังเป็นสังคมและชุมชนที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเร็วมากจริงๆ
    • ก็คงจะเป็นประสบการณ์เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับคุณป้าของพระอาจารย์มหาแลเลยนะครับ ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา บางทีก็ตามไม่ทัน
    • อย่างเมื่อวานก่อนนี้ ผมกลับมาจากพิจิตร อยากแวะนอนกับแม่ที่บ้านตาลินเพื่อวันรุ่งขึ้นก็จะไปประชุมที่มหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์ ทีมที่มาด้วยเขากรุณาไปแวะส่งที่บ้านตาลิน ผมก็เลยจะเลี้ยงข้าวเย็นฝีมือชาวหนองบัวแก่เขาสักมื้อหนึ่ง ตระเวนรอบตลาดหนองบัว ทะลุออกเกาะลอย ย้อนไปดูตามซอกซอยก็แทบจะหาไปเจอ ไปได้ร้านนอกตัวเมือง แต่ก็ได้แต่คุ้นหน้า ถามถึงญาติพี่น้องกันก็จำไม่ได่้เสียแล้ว
    • รูปโฆษณาแม่โขงที่ฉิกเอามาย้อนรำลึกความทรงจำกันนี่ เป็นสื่อศิลปะเพื่อการโฆษณาที่พี่ประทับใจที่สุดเลย เพราะเป็นเรื่องไอเดีย อารมณ์ขัน และทรรศนะเชิงบวกที่จวบจนวันนี้ก็ไม่มีใครทำได้ คือ..เป็นรูปวาดการ์ตูนโฆษณาเหล้าซึ่งโดยทั่วไปทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจะใช้วิธีเชื่อมโยงกับรูปผู้หญิงและสิ่งที่แสดงความเป็นเพศชาย
    • ขอแสดงความยินดีกับการทดสอบนำร่อง โครงการอบรมหลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้าน ของคุณสมบัติ มากเลยครับ ถือว่าทั้งเป็นโครงการนวัตกรรมและสะท้อนจิตวิญญาณใหม่อีกด้านหนึ่งของสังคมในภูมิภาคเลยนะครับ
    • ขอให้กำลังใจน้องคุณครูอ้อยเล็กกับน้องอำภาในการทำงานเรียนนะครับ อย่างนี้แหละครับ คนที่ผ่านเข้าสู่ความเป็นมหาบัณฑิตด้วยกระบวนการที่ดีเลยจะไม่ใช่ความเป็นวิชาการเข้มแข็งอย่างเดียว แต่เต็มด้วยความอดทน มุ่งมั่น หนักแน่น เปรื่องปราดทำงานให้ต่อเนื่องอย่างไม่เสียมาตรฐานตนเองแม้ในภาวะกดดันที่สุด เรียกว่าจบโทแล้วไถนาทำไร่ได้เลย แข็งแกร่งมาก  มีกำลังใจทั้งสองท่านนะครับ
    • ยินดีกับฉิก น้องคุณครูอ้อยเล็กและคนหนองบัวด้วยครับ นี่เลยแปดพันคลิ๊กและกว่า ๕๐๐ ความเห็นแล้ว น่าสนใจและน่าประทับใจมากจริงๆนะครับ

    อ้อยเล็กเป็นคน 500 พี่อาจารย์เป็นลีวาย 501

       การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ยาก  
    มหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์
    กับคนนครสวรรค์และคนหนองบัว
    ศุกร์ที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๓ ณ อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยมหิดล บึงเสนาถ

                               

                               

     ความเป็นมา  มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาไปอย่างช้าๆ แต่ก็มีความพยายามที่ต่อเนื่อง ในด้านที่มีความพร้อมที่จะพัฒนาไปได้ก่อน ก็สามารถริเริ่มและดำเนินการไปได้ในบางด้าน เช่น ศูนย์วิจัยและการจัดการเรียนการสอนคณะวิชาในบางคณะ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการริเริ่มในบางด้านของสาขาทางวิทยาศาสตร์ เกษตร ประมงน้ำจืด การจัดการทรัพยากร การแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ แต่ในด้านที่เชื่อมโยงและสะท้อนความเป็นมหาวิทยาลัยที่ขยายตัวสู่พื้นถิ่นนั้น คนในท้องถิ่น ทั้งองค์กรท้องถิ่น ภาคการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับชาติจากท้องถิ่น ตลอดจนภาคธุรกิจเอกชน ชาวบ้าน กลุ่มประชาคม และภาคประชาสังคม ควรเข้ามาริเริ่มและมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลและดำเนินการต่อไปให้เจริญก้าวหน้าสู่อนาคต เวทีระดมสมองและพัฒนายุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยจากพลังของท้องถิ่นจึงดำเนินการขึ้นเป็นระยะๆ เวทีสัมมนาและระดมสมองในครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง โดยคาดหวัง ๒ เรื่องที่สำคัญ คือ...
    (๑) แนวคิดและข้อเสนอแนะการดำเนินการของมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อท้องถิ่น : การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ยาก
    (๒) แนวการพัฒนาหลักสูตรเพื่อดำเนินงานมหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์ในบางสาขา

     กระบวนการ

    • บรรยายพิเศษ โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี เรื่อง การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ กับมหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์เพื่อท้องถิ่น
    • แบ่งกลุ่มย่อยระดมสมองตามประเด็นความสนใจ
    • นำเสนอผลการระดมสมอง อภิปราย
    • วิพากษ์และสะท้อนทรรศนะ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย หัวหน้าภาควิชาศึกษาศาสตร์และหัวหน้าทีิมถอดบทเรียนเครือข่ายจัดการความรู้โรงเรียนชาวนา รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.ทิพวัลย์ สีจันทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม โรงเรียนรุ่งอรุณ และสถาบันอาศรมศิลป์
    • สรุปผลการสัมมนาและระดมสมอง

      รายงานภาพกิจกรรม 

                               

                               

                               

    บรรยายพิเศษ โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี เรื่อง การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ยาก กับมหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์เพื่อท้องถิ่น อาจารย์นำเสนอสภาวการณ์ปัญหาทั้งของท้องถิ่นและของโลกที่สะท้อนถึงความจำเป็นต่อการจัดการศึกษาให้สามารถก่อรูปจิตสำนึกใหม่ จากนั้น ให้แนวการพิจารณาวิธีคิดที่ผสมผสานความรู้ของฟ้าและดิน หรือความรู้ในแนวดิ่ง ของสากลและความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ กับความรู้แนวราบและความรู้ที่อยู่ในประสบการณ์ของตัวคน การริเริ่มและพัฒนาตนเองเหมือนการสร้างเจดีย์ เน้นความเข้มแข็งของภูมิปัญญที่เป็นรากฐาน

    อาจารย์ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างกันของฐานปัญญาทางวิทยาศาสตร์กับฐานปัญญาทางวัฒนธรรมชุมชนว่า ความรู้แบบสากลและความรู้ของผู้เชี่ยวชาญเป็นฐานวิทยาศาสตร์ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญส่วนน้อยสามารถเข้าถึงแต่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีศักดิ์ศรี แต่ความรู้บนฐานวัฒนธรรมชุมชนจะทำให้ชาวบ้านและคนส่วนใหญ่มีศักดิ์ศรี มีภูมิปัญญาเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้น ทางออกเพื่อให้การศึกษาและกระบวนการเรียนรู้สามารถแก้ปัญหาความทุกข์ยากของคนส่วนใหญ่ได้ จึงต้องลดการถือเอาวิชาและความรู้แบบแยกส่วนเป็นตัวตั้ง แต่ให้มุ่งถือเอาพื้นที่ การทำสัมมาชีพ และการแก้ปัญหาในชีวิตจริงที่พอเพียงและยั่งยืน เป็นตัวตั้ง อาจารย์ได้ชี้ให้เห็นทุนทางสังคมและจุดเด่นของนครสวรรค์หลายอย่าง รวมทั้งการมีเครือข่ายภาคประชาชนและประชาคมนครสวรรค์ที่เข้มแข็ง สามารถเชื่อมโยงบทบาทให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์

    อาจารย์ให้งานเขียนมาพิมพ์เป็นหนังสือและสื่อความคิดประกอบการสัมมนาด้วย ผมขอคณะผู้จัดมาต่างหากอีก ๓ เล่มแล้วก็นึกถึง ๒-๓ ท่านอย่างฉับพลันในตอนนั้นว่าอยากเอามาฝากอาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ อาจารย์สุนันท์ จันทร์ดิษฐ์ หัวหน้าหมวดคณิตศาสตร์ โรงเรียนหนองบัว แล้วก็ไปฝากน้องสาวผม ครูวิกานดา บุญเอก ซึ่งเป็นครูของโรงเรียนหนองบัวและเคยทำโครงการบัญชีชีวิตขับเคลื่อนนวัตกรรมการจัดการโครงการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนให้ อดีต ผอ.โสภณ สารธรรม

      การประชุมระดมสมองกลุ่มย่อย 

                                

                               

                               

    หลังฟังบรรยายและได้แนวคิดจากแหล่งต่างๆ ทั้งหนังสือและนิทรรศการ ก็แบ่งกลุ่มประชุมระดมสมองกลุ่มย่อย กระบวนการดังกล่าวทำให้กลุ่มผู้ร่วมเวทีต่างสร้างโอกาสให้กันและกัน ทางด้านมหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์ก็จะได้ข้อมูลและข้อเสนอแนะจากกลุ่มนักวิชาการและเครือข่ายประชาคมนครสวรรค์

    ส่วนกลุ่มประชาชนพลเมืองนครสวรรค์ และกลุ่มประชาคมนครสวรรค์ฟอรั่ม ก็ถือเอาประเด็นส่วนรวมที่สำคัญทั้งสำหรับคนนครสวรรค์และต่อประเทศไทยมาเป็นเวทีเรียนรู้พัฒนาความเข้มแข็งในการจัดการเรื่องส่วนรวม ยกระดับการสร้างประสบการณ์ทางสังคมในวิถีประชาธิปไตยและวิถีแห่งปัญญาของภาคประชาชน

                                

    ในเวทีประชุมกลุ่มย่อยได้พบกับคนหนองบัวและคนท้องถิ่นที่รู้จักผลงานมานาน คือ คุณไพศาล เจียนศิริจินดา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพภาคประชาชน คนห้วยร่วม คนเสื้อสีฟ้าที่กำลังดำเนินการประชุมกลุ่มย่อย และภาพล่าง อาจารย์ประกอบ อินชูพงษ์ จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพยุหะและสถาบันปฏิปัน

      การวิพากษ์และสะท้อนทรรศนะจากกลุ่มผู้ร่วมสังเกตการณ์ 

                               

    หลังนำเสนอประชุมระดมสมองกลุ่มย่อย  ก็เป็นการวิพากษ์และสะท้อนทรรศนะ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อยหัวหน้าภาควิชาศึกษาศาสตร์ และหัวหน้าทีมถอดบทเรียนเครือข่ายจัดการความรู้โรงเรียนชาวนา (ริมซ้าย) รองศาสตราจารย์ ดร.ทิพวัลย์ สีจันทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน (ที่สองจากซ้าย)  รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม โรงเรียนรุ่งอรุณ และสถาบันอาศรมศิลป์ (ที่สามจากซ้าย) รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล(ริมขวา)

    ดร.เนาวรัตน์ สะท้อนทรรศนะว่าการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์ ควรเริ่มจากการระดมความชัดเจนในความต้องการของคนนครสวรรค์ว่าต้องการนำสังคมนครสวรรค์รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงและประเทศไทยไปสู่สภาวะอย่างไร จากนั้น จึงออกแบบและพัฒนามหาวิทยาลัยให้สนองตอบต่อจุดหมายร่วมกันดังกล่าวโดยเน้นความเป็นเจ้าของของท้องถิ่น ดร.ทิพวัลย์ สะท้อนทรรศนะว่า มหาวิทยาลัยต้องมีทางออกที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิม ทั้งหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ ควรมุ่งบูรณาการและตอบโจทย์ที่สำคัญของประเทศ เน้นบัณฑิตและวิถีวิชาการที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม และความรู้ รองศาสตราจารย์ประภาภัทร สะท้อนทรรศนะต่อกระบวนการเรียนรู้เรียนรู้ที่มีความเป็นอิสรภาพทางปัญญาและการทำได้จริงในสังคมเป็นตัวตั้ง ดร.อนุชาติ สะท้อนทรรศนะต่อการพัฒนาหลักสูตร ว่านอกจากควรหาทางออกจากกระแสหลักของสังคมไทยและสังคมโลกแล้ว ต้องสวนกระแสและวางหนังสือตำราเป็นตัวตั้งก่อน ถือเอาของจริง การทำจริงในสังคม และมีอยู่จริง เป็นตัวนำ

                                

    ผมเสียดายไม่ได้ชวนเพื่อนๆหลายคนและชาวบ้านหนองบัวไปร่วมเวทีด้วย แต่เดิมนั้นเข้าใจว่าคนในพื้นที่ย่อมใกล้ชิดเรื่องนี้กว่าผมคงจะไปกันเองอยู่แล้ว เลยไม่ได้ช่วยใครไป แต่เมื่อไปแล้วก็ไม่มีเลยครับ มีน้องคนหนึ่งเป็นปลัด อบต.จากห้วยวารีบ้านของคุณสมบัติ ไปแทนนายก อบต. นอกนั้นก็ไม่เห็นว่าจะมีใคร มีอยู่ท่านหนึ่งคุ้นมากเลยว่าจะเป็นหลานของหมอหลุย ปานขลิบโอสถ ใส่ชุดนักวิชาการสาธารณสุข แลเห็นอยู่ไกลๆแต่ก็คุ้นหน้ามากครับ

    แต่ก็ได้ทราบจากคุณหมอสมพงษ์ ยูงทอง รองอธิการบดีโครงการมหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์ว่า มีเครือข่ายทำงานกับคนหนองบัว และจะพิจารณาพัฒนาความร่วมมือกับคนหนองบัวเพื่อให้หนองบัวเป็นพื้นที่การทำงานพื้นที่หนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์ต่อไปด้วยนะครับ ใครทำงานกันอยู่และอยากพัฒนาเครือข่ายด้านการพัฒนาทางการศึกษาสามารถเชื่อมต่อและหาโอกาสไปหารือกันต่อไปนะครับ.

      สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็กครับ   ขอแสดงความยินดีกับอันดับที่ ๕๐๐ นะครับ Jean นี่ผมก็ชอบเหมือนกันครับ แต่ที่ชอบและถูกโฉลกกับตัวเองกว่าคิดว่าเป็นม่อฮ่อมย้อมครามน่ะครับ เป็น Jean แบบไทยๆน่ะครับ

     Nong-Bua Pictorial 2010  : ความเป็นเมืองและสภาพชนบทของชุมชนหนองบัว

                               

                               

    อธิบายภาพ :  สภาพท้องนาและไร่ เชื่อมต่อกับเขาพระ เขาหินสีชมพู เขาสูง เขามรกต เขาเหล็ก และเขาพัง เลยทางแยกหนองบัวขชัยภูมิ

                               

    อธิบายภาพ : ทางแยกต้นอีซึก หรือทางแยกหนองบัวชัยภูมิ

                               

    อธิบายภาพ : ย่านร้านค้าริมทางจากเกาะลอยออกไปสระวัดหนองกลับ หากเลี้ยวซ้ายไปตามมอเตอร์ไซค์ที่มองเห็นในภาพก็จะเป็นตลาดสดเจริญผล ตลาดเก่าแก่ที่สุดของหนองบัว หากตรงไปก็จะเป็นมุมสระวัดหนองกลับหรือสระวัดหลวงพ่ออ๋อยและร้านขายยาปานขลิบโอสถของหมอหลุยส์ร้านดั้งเดิม ด้านขวาเลยตู้ไปรษณีย์เป็นร้านบัดกรีและช่างสังกะสีเคยมีบทบาทสำคัญต่อการทำปี๊บหน่อไม้อัดและปี๊บสำหรับการใช้รถสาลี่เข็นน้ำของคนหนองบัว ทางสัญจรภายในตัวตลาดหนองบัวในปัจจุบันมีความแออัดและคับแคบมากสำหรับเดินรถ ๔ ล้อขึ้นไป แต่เหมาะสำหรับการเดินเท้า อาคารร้านค้าเชื่อมต่อกันกินอาณาบริเวณกว้างทั้งตัวเมือง

                               

                               

                               

    อธิบายภาพ : ตัวเมืองตลาดหนองบัวยามเย็น สัมผัสได้ถึงความสงบเงียบ และยังคงเคลื่อนไหวด้วยวิถีชีวิตชาวบ้านท้องถิ่น

     คิบบุชต์   กลุ่มก้อนและชุมชนบนฐานคุณธรรมการผลิตเกษตรกับคุณค่าทางจิตใจ 
    ขอร่วมต้อนรับและร่วมเรียนรู้สังคมของแขกผู้มาเยือนเวทีคนหนองบัวจากอิสราเอล

                                              
                                                     ธงชาติอิสราเอล                                          

    มีแขกผู้มาเยือนเวทีคนหนองบัวที่มาจากต่างประเทศเพิ่มอีกประเทศหนึ่งจาก อิสราเอล (Israel State) ประเทศซึ่งอยู่คร่อมบนรอยต่อของ ๓ ทวีป คือ อาฟริกา ยุโรป และเอเชีย พื้นที่โดยรอบติดกับเลบานอน ซีเรีย แม่น้ำจอร์แดนและ Dead Sea ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลแดง และคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ พื้นที่ของประเทศ ๒๐,๗๗๐ ตารางกิโลเมตร มีพลเมืองประชากรประมาณ ๗.๓ ล้านคน นับถือศาสนายูดาย คริสต์ มุสลิม และอื่นๆ ร้อยละ ๗๖,๑๖,๒.๑ และ ๕.๕ ตามลำดับ 

     อิสราเอล มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและบริหารจัดการภาคสาธารณะระดับรัฐแบบรัฐสภา เมืองหลวงคือ กรุงเทลอาวีฟ ใช้ภาษาฮิบบรูและอาราบิคเป็นภาษาราชการ แต่คนทั่วไปใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี มีความสัมพันธ์ทางการฑูตกับประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ ๒๔๙๗

    โดยพื้นฐานแล้วอิสราเอลมีข้อจำกัดในการพัฒนาตนเองหลายด้าน ทั้งความเป็นพื้นที่แห้งแล้งกันดารเต็มไปด้วยทะเลทรายและความเป็นพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้งเต็มไปด้วยสงครามต่อเนื่องยาวนานจนแม้กระทั่งปัจจุบัน แต่ก็สามารถพัฒนาตนเองและมีความก้าวหน้าในทุกด้านมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

     อิสราเอล  มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ สาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งสิ่งที่เสียเปรียบประเทศต่างๆมากที่สุดในโลกแต่ก็กลับทำได้ก้าวหน้าที่สุดในโลก โดยได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ทำให้ทะเลทรายกลายเป็นแหล่งทำเกษตรกรรมที่ก้าวหน้า ผสมผสานทั้งวิทยาการและเทคโนโลยีขั้นสูงกับวิถีชุมชน

    ประเทศอิสราเอลมีแรงงานจากประเทศไทยกว่า ๒๖,๐๐๐ คนอยู่ในภาคการผลิตทางเกษตรกรรมเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ ๙๐ ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนมากที่สุดของแรงงานต่างประเทศจากทั่วโลก

    ปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาฝ่าความทุกข์ยากและเอาชนะข้อจำกัดมากมายของอิสราเอลก็คือ คุณภาพคน ทุนวัฒนธรรมการรวมกลุ่มเพื่อทำสิ่งส่วนรวมด้วยกัน และ การพัฒนาทุนทางปัญญา ทั้งจากความเชี่ยวชาญของปัจเจกและภูมิปัญญจากความเป็นกลุ่มก้อนของชาวบ้าน

    กล่าวกันว่า คุณภาพคนและทุนความเป็นชุมชนของอิสราเอลนั้น หากเทียบคนอิสราเอลหนึ่งต่อหนึ่งกับผู้อื่น คนยิวหรือคนอิสราเอลก็จะทำได้ดีกว่าแทบทุกด้าน และเมื่อเทียบกับความเป็นกลุ่มก้อนและความเป็นชุมชน คนอิสราเอลก็จะมีความเป็นปึกแผ่น สามัคคี มีวัฒนธรรมการทำงานเป็นกลุ่มก้อนกับผู้อื่นเหมือนฝังอยู่ในสายเลือด บุคคลสำคัญของโลกที่เป็นชาวยิวมักมีความโดดเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางปัญญา เช่น อัลเบิร์ต ไอสไตน์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบทฤษฎีพื้นฐานที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านยุควิทยาศาสตร์สู่ปัจจุบัน และนอม ชอมสกี นักทฤษฎีภาษาศาสตร์ ซึ่งจัดว่าเป็นผู้ปฏิวัติทฤษฎีภาษาศาสตร์ของโลกในยุคปัจจุบันและเป็นผู้เชื่อมั่นในทรรศนะว่าความหลากหลายเป็นหลักพื้นฐานของธรรมชาติและสังคมนุษย์

     คิบบุชต์ เป็นวิถีชุมชนและวัฒนธรรมความเป็นชุมชนของชาวอิสราเอลที่ผสมผสานการจัดการแบบสหกรณ์กับความเป็นชุมชนแห่งศรัทธาเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน กลุ่มพลเมืองและชาวบ้านที่รวมกันอยู่เป็นคิบบุชต์โดยส่วนใหญ่เป็นชุมชนเกษตรกรรม มีกิจกรรมที่เป็นกระบวนการศึกษาอบรมสอดแทรกอยู่ในสิ่งที่เป็นกิจกรรมชุมชนและกิจกรรมที่เป็นการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะการเรียนรู้ความมีอุดมคติต่อชีวิต ความอุทิศตนต่อสิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคมในทรรศนะของตน

    ภายในชุมชนแบบคิบบุชต์จะพึ่งพาปัจจัยการผลิตและทรัพยากรต่างๆด้วยกัน รวมทั้งแบ่งปันและช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยระบบคุณค่าทางจิตใจ มีงานศึกษาและการตั้งข้อสังเกตทางวิชาการกันว่า การที่คนอิสราเอลและการพัฒนาอิสราเอลมีความสามารถพึ่งตนเองได้เป็นอย่างสูงนั้น ตัวอธิบายได้อย่างหนึ่งน่าจะมาจากเพราะมีจิตวิญญาณการรวมตัวที่เพาะบ่มอยู่ในวิถีชีวิตชุมชนแบบคิบบุชต์นั่นเอง พิจารณาดูหลักคิดและบทบาทต่อการจัดการสังคมแล้วก็คล้ายกับชุมชนสหกรณ์หนองโพธิ์ ชุมชนสันติอโศก หรือบางด้านของชุมชนหนองบัวและชุมชนชาวนาในสังคมไทย 

    ผมเคยสนใจมิตินี้มากและหลังจากจบปริญญาเอกแล้วก็เคยขอทุนไปทำวิจัยชุมชนที่อิสราเอลผมทบทวนความรู้กับวิธีคิดแล้วน่าจะคล้ายกับเงื่อนไขสังคมไทยมาก และต่อมาก็ได้รู้จักโปรเฟสเซอร์ทางสังคมวิทยาท่านหนึ่งจากอิสราเอลซึ่งคุยสะท้อนทรรศนะต่างๆที่ผมประทับใจมาก

    ชาวหนองบัวน่าจะมีพื้นฐานผูกพันธ์กับชาวยิว เพราะในอดีตนั้น หนองบัวมี โรงพยาบาลคริสเตียน ตั้งอยู่ตรง ๔ แยกหัวตลาดและมีหมอฝรั่งชื่อ หมออรุณ เป็นหมอแม่พระของคนหนองบัวและชุมชนโดยรอบ ซึ่งต่อมาโรงพยาบาลคริสเตียนก็ย้ายไปอยู่นอกตัวเมืองและยกให้เป็นโรงพยาบาลของรัฐพร้อมกับเปลี่ยนชื่อและยกระดับเป็นโรงพยาบาลอำเภอหนองบัวดังปัจจุบัน หมออรุณ นั้นเป็นแพทย์อาสาสมัครชาวยิวที่อพยพไปอยู่อเมริกาและเป็นอาสาสมัครมิชชันนารีอเมริกันมาทำงานอาสาเผยแผ่ศาสนาและเป็นแพทย์สมัยใหม่อยู่ที่หนองบัว.

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    สวัสดีพี่อาจารย์และชาวหนองบัวทุกๆท่านค่ะ...สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ...

    สวัสดีปีใหม่สงกรานต์น้องคุณครูอ้อยเล็กครับ ขอให้มีความสุข ใสเย็นเหมือนน้ำ มีความสำเร็จเป็นที่รำลึกถึงของคนรอบข้างเหมือนดอกมะลิและน้ำอบหอมชื่นใจทวนลมนะครับ

     กราบนมัสการ พระคุณเจ้าพระมหาแล  สวัสดีปีใหม่ไทย แด่ชาวหนองบัว และกัลยาณมิตรของชาวหนองบัวทุกท่านค่ะ

                          

     ภาพองค์พระธานของพุทธมณฑล  พระพุทธรูปปางลีลา  พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ออกแบบโดย ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี  พระพุทธรูปนี้สร้างเสร็จและฉลอง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ คราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี  บนเนื้อที่ ๒,๕๐๐ ไร่ ที่สร้างขึ้นเพื่อฉลองวาระกึ่งพุทธกาล เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ค่ะ (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

     ภาพการ์ตูนภาพนี้เป็นส่วนหนึ่ง  จากหนังสือการ์ตูนประกอบคำกลอน "รักษ์คลอง-รักถิ่น" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยและพัฒนาสื่อเพื่อสร้างสำนึกสาธารณะและโลกทัศน์ทางสังคมสำหรับเด็ก โดย อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ซึ่งสนับสนุนโดย โครงการวิจัยและพัฒนาประชาคมพุทธมณฑล ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนโดย มหาวิทยาลัยมหิดล ปีงบประมาณ ๒๕๓๔ ค่ะ ..

    • คมชัด สีสันก็อิ่มและชัดเจนยิ่งกว่าต้นฉบับนะครับ อาจารย์ณัฐพัชร์ทำอย่างไรเนี่ย
    • หนังสือการ์ตูนนี้ เป็นงานต่อเนื่องจาก ๒-๓ เรื่อง คือ (๑) การมีการระดมสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นพุทธมณฑล ของกลุ่มประชาคมพุทธมณฑล (๒) การจัดค่ายสิ่งแวดล้อมของเครือข่ายครูและโรงเรียนในพุทธมณฑลกับกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งทำเครือข่ายวิจัยสร้างพลังเครือข่ายอนุรักษ์คูคลองและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น และ (๓) การเขียนกลอนของคุณครูจริยา ศรีเพชร จากโรงเรียนบ้านคลองมหาสวัสดิ์ สะท้อนความประทับใจและแสดงความขอบคุณแทนโรงเรียนและเด็กๆที่ผู้คนทำกิจกรรมค่ายสิ่งแวดล้อมดีๆให้
    • คุณครูจริยา ศรีเพชร เป็นเครือข่ายวิจัยของเรา ผมร่วมเป็นนักวิจัยและเป็นทีมประสานงาน ระดมเครือข่ายช่วยกันสร้างความรู้ท้องถิ่น ซึ่ง ณ เวลานั้น เมื่อกว่า ๑๐ ปีมาแล้ว เป็นรูปแบบการวิจัยที่เราภูมิใจว่าทำให้พุทธมณฑลเป็นชุมชนระดับอำเภอที่มีองค์ความรู้ท้องถิ่นจากการร่วมกันสร้างของคนในพื้นที่ ที่รอบด้านที่สุดของประเทศ และทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในการพัฒนาหลายอย่างของพืนที่ตามมา
    • ผมเห็นพลังที่ออกมาจากจิตวิญญาณของคนเป็นครู อีกทั้งบอกเล่า บันทึกกิจกรรม และสะท้อนการได้เรียนรู้ผ่านการสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นพุทธมณฑลไว้อย่างหมดจรดอยู่ในบทกลอน จึงต่อยอดงานสร้างสรรค์ด้วยการทำเป็นบทการ์ตูนและขอการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล ทำเป็นสื่อการเรียนรู้ของท้องถิ่นและสื่อการศึกษาสำหรับเด็กๆในพุทธมณฑล แล้วก็เผยแพร่กลับไปให้เด็กๆ ถึงแม้จะมีจำนวนเพียงเล็กน้อย แต่ก็แจกจ่ายได้ทั่วทุกโรงเรียนในพุทธมณฑล
    • ในระยะปี-สองปีนี้ สื่อและการสร้างความรู้ท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนพลังการเรียนรู้ของท้องถิ่นนี้ คิดว่าจะเป็นกรณีศึกษากรณีหนึ่งของการเขียนบทเรียนคนพุทธมณฑลทางด้านต่างๆครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแล สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ และชาวหนองบัว

     ขอแสดงความยินดี  กับอาจารย์ ดร.วิรัตน์ ที่ผลงานหนังสือ  Blog to book  ดังลมหายใจ  (เมษายน ๒๕๕๓) ได้เผยโฉมออกมาอีกเล่มแล้วค่ะ

                          

    ต่อจากหนังสือ  Blog to book   วิถีประชาศึกษา  (ตุลาคม ๒๕๕๒)                     

                          

     ๖ เดือน  มีผลงานออกมา ๒ เล่ม เยี่ยมเลยค่ะอาจารย์ รอผลงานเล่มต่อๆ ไปนะค่ะ ..

    ร่วมแสดงความยินดีกับพี่วิรัตน์ด้วยครับ

    - Blog to Book อยากอ่านจัง มีวางขายที่ไหนบ้าง ซีเอ็ด B2S หรือร้านมหาย้อยที่หนองบัวมีเปล่าครับ (เดี๋ยวนี้ที่นบ. มีร้านหนังสืออยู่ตรงไหนนะนึกไม่ออก นึกออกแต่ร้านขายนสพ.)

    - บล็อกที่พี่วิรัตน์เขียนไว้นี่เยอะมาก ขอบคุณคุณณัชพัชร์และหลายๆท่านที่แจ้งข่าว แค่ตามอ่านก็ไม่ค่อยจะทัน เลยไม่ค่อยมีเวลามาแสดงความคิดเห็นเท่าไหร่

    - ได้ข่าวว่าสงกรานต์ปีนี้ที่หนองบัวคนถูกหวยกันเยอะมาก เพราะออกตรงกับรถที่แห่หลวงพ่อเดิม หลวงพ่อเงิน หลวงพ่ออ๋อย ที่นำออกมาให้ชาวหนองบัวได้สรงน้ำกัน (หวยนี่ ถือเป็นสุขภาวะหรือเปล่าครับ)

    ขอบคุณครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

    • มีผู้อ่านท่านหนึ่งถามผมว่าควรจะชื่อ ดังลมหายใจ หรือว่า ดั่งลมหายใจ ผมก็งงอยู่เป็นนาน
    • เลยก็ทำให้นึกถึงคุณสมบัติไปด้วยว่าหากคิดด้วยถ้อยเสียงสำเนียงลาวก็ยิ่งสนุกกันได้ต่อไปอีก
    • เพราะในถ้อยเสียงสำเนียงลาว ดัง ในความหมายหนึ่งแปลได้ว่า จมูก
    • และ ดัง อีกความหมายหนึ่ง ก็แปลได้ว่า การเอามือไปบังเพื่อสัมผัส(กับลมหายใจ) เช่น เอามือดังไฟ ก็แปลว่า นำมือไปสัมผัสกับความร้อนเพื่อดูว่าร้อนหรือไม่ หรือเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น
    • เป็นความขันจากความร่ำรวยทางภาษาของชุมชนได้อย่างหนึ่งเหมือนกันน่ะครับ

      สวัสดีครับฉิกครับ 

    • ฉิก ท่านพระอาจารย์มหาแล คุณสมบัติ และคนหนองบัวในเวทีคนหนองบัวนี่ต้องหาวิธีนำมามอบให้ให้ได้นะครับ แต่กำลังดูว่าจะมีจังหวะเหมาะๆอย่างไร อาจจะเป็นตอนที่จัดเวทีสัมมนาของคนหนองบัวให้เป็นเวทีเรียนรู้สนุกๆ
    • เมื่อตอนสงกรานต์ผมก็ได้แวะไปเที่ยวบ้านหนองบัวและพยายามต้อนรับแขกที่เขาอุตส่าห์นั่งรถไปส่งที่บ้านด้วยการเลี้ยงข้าวฝีมือคนหนองบัว เลยตระเวนเสียรอบตลาด แต่ก็ไปได้นั่งกินที่ร้านข้างนอกเกือบเลยไปรษณีย์โน่นแน่ะ

                                

                                 Electricitygeneratornb 

                                 Nongbuamarket 

    • ระหว่างที่ตระเวนเข้าไปในซอกซอยต่างๆนั้น ก็เพิ่งได้เห็นว่า หนองบัวเปลี่ยนไปมากอย่างยิ่งนะครับ ชุมชนเดิมในตลาดนั้น เริ่มแออัดมากจริงๆ เสียดายไม่ได้มีโอกาสเดิน และบริเวณเกาะลอยนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ยังนึกดีใจที่พวกเราวาดรูปสภาพชุมชนเก่าๆและทำบันทึกไว้ในนี้ เพราะเดี๋ยวนี้หลายที่คนจะนึกภาพไม่ออกแล้ว
    • เมื่อก่อนเวลาไอ้เป๋ยืนรับแดดและทำท่าอ้าแขนรับแสงตะวัน ทำมือทำไม้ฉวัดเฉวียน คนก็จะตามไปยืนดูและช่วยกันตีเลขหวยครับ นานๆก็จะถูกสักทีหนึ่ง

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆท่าน พระคุณเจ้าไม่ได้เข้ามาเล่าอะไรให้พวกเราฟังหลายวันแล้ว ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์อีก อดคิดถึงและเป็นห่วงไม่ได้ หรือว่าคอมมีปัญหา หวังว่าจะกลับเข้ามาเร็วๆนะครับ

    • เรื่องรูปเกาะลอยนี่ว่าจะท้วงพี่วิรัตน์หลายครั้งแล้วว่า มันขาดสะพานไม้ที่เชื่อมไปที่ เกาะอีกสะพาน อยู่ด้านตรงข้ามกัน ขนาดความกว้างทั้ง 2 สะพานก็พอให้จักรยาน 2 คันสวนกันได้แบบต้องใช้ฝีมือพอสมควร ถ้าพลาดก็อาจจะเกี่ยวกัน หรือไม่ก็ไปเกี่ยว ราวสะพานได้ จริงๆแล้วมันยังมีเกาะเล็กๆอีกเกาะอยู่หลังเกาะใหญ่มีต้นไผ่อยู่ ไม่ใคร่มีใครได้ไปเยี่ยมเยียนเกาะนี้มากนัก ส่วนที่เกาะลอยนี่จะมีต้นนกยูงฝรั่งอยู่รอบเกาะ พอหน้าร้อนประมาณช่วงนี้แหละ จะออกดอกสีส้มแดงสวยงามมาก พวกเรามัก จะหยิบเอาฝักแก่มาเล่นแทนมีดดาบฟันกันแบบลิเก นึกแล้วเสียดายที่ปัจจุบันไม่มีเกาะลอยแล้ว
      - ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นนายอำเภออรุณ เป็นผู้สร้างเกาะลอยขึ้นมา คนรุ่นเก่าๆนี่จะรู้จักนายอำเภอท่านนี้เป็นอย่างดี รุ่นผมนี่ไม่ทันหรอกครับ ได้ยินแต่คนรุ่นก่อนเล่าขานให้ฟัง ถือเป็นนายอำเภอนักพัฒนาอย่างแท้จริง
      - พูดถึงเกาะลอยแล้วก็ขอลงรายละเอียดเลยละกัน เท่าที่จำได้หนองน้ำแห่งนี้จะอุดมไปด้วยสัตว์น้ำเยอะมาก เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติแหล่งใหญ่ที่สุดของชาวหนองบัวเลยก็ว่าได้ จะมีผู้คนมายกยอจับกุ้งจับปลา ลงเบ็ด ทอดแหกันเยอะมาก รวมทั้งเลี้ยงเป็ดเลี้ยงห่านกันรอบหนองน้ำนี้ เพราะมีแหนและกุ้งหอยอันเป็นอาหารเป็ดอยู่สมบูรณ์ พวกพืชน้ำอย่างผักบุ้งผักกระเฉดก็มีอยู่เยอะ พอผมโตขึ้นมาพอที่จะแอบที่บ้านไปเล่นน้ำที่นี่ ภาพอย่างนี้ก็ไม่ค่อยจะมีแล้ว เป็นหนองน้ำที่น้ำเน่าเขียวตะไคร่ โดยเฉพาะ บริเวณที่ไม่มีใครไปเล่นน้ำกัน ที่ตัวเกาะก็ร่มรื่นและสวยงาม นอกจากมีต้นนกยูงฝรั่งที่อยู่รอบเกาะแล้ว ยังมีสวนหย่อมและสนามหญ้าอยู่ตรงกลาง ตัดแต่งสวยงาม วิ่งเล่นไล่จับ หกคะเมนตีลังกาได้เต็มที่เลย

    • รูปถ่ายนี่ใช่ถ่ายจากหน้าบ้านพี่ประเวศ อัยการศาลปกครองหรือเปล่าครับ จากรูปที่มอเตอร์ไซค์กำลังเลี้ยวซ้ายไปนี่ก็จะผ่านตลาดสามเขตร์ที่สภาพตอนนี้เป็นที่ว่างเปล่าด้านซ้ายมือ จากนั้นก็จะเห็นตึก3ชั้น นั่นแหละครับ..บ้านเตี่ยผม ถ้าวิ่งต่อไปอีกนิด(ไม่เกิน100ม.) ก็จะเป็นตลาดสดด้านซ้ายมือแล้วครับ

    • หนองบัวเปลี่ยนไป ตลาดแออัด ผมเห็นด้วยแต่ไม่ทั้งหมดครับ สภาพตลาดหนองบัว ผมว่าเปลี่ยนไปไม่มากนะ เดิมเลยสภาพการค้าการขายที่คึกคักจะเป็นตึกแถวเส้น หน้าโรงแรมบัวสวรรค์ยาวไปถึงบ้านหมอหลุย เลยต่อไปอีกซ้ายมือเป็นขอบสระวัด ขวามือเป็นห้องแถว หลังห้องแถวนี้ก็จะเป็นตลาดสด ต่อมามีตลาดแห่งใหม่คือตลาดสดเจริญผล หรือตลาดโกลก ก็คือตลาดสดปัจจุบันนี้แหละ ซึ่งอยู่ที่ถนนอีกเส้นหนึ่ง ขนานกับเส้นเดิม การค้าก็เริ่มมาคึกคักด้านนี้ ตลาดเก่าก็ปิดตัวลง ส่วนห้องแถวเดิมก็ค่อยๆเงียบลง จากร้านค้าก็เริ่มกลายสภาพเป็นบ้านพักอาศัยเสียเป็นส่วนใหญ่ นี่คือ สภาพเมื่อ 20-30ปีย้อนไป
      - ต่อมาก็มีตลาดสามเขตร์ ก็คึกคักไม่กี่ปีนักแต่ก็ไม่เท่าตลาดเจริญผล แล้วต่อมาอีกก็มี ศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์ ซึ่งอยู่ด้านหลังตลาด เป็นท่ารถโดยสาร มีรถเมล์หนองบัว-ชุมแสง และหนองบัว-ท่าตะโก รวมทั้งสองแถวจากตลาดหนองบัวไปยังตำบลหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงเป็นท่ารถอยู่
      - แต่ที่เปลี่ยนไปมากผมว่าเป็นแนวถนนสาย 225 ชุมแสง-หนองบัว-สี่แยกตัดกับสาย11 ที่มีตึกรามบ้าน ธนาคารและร้านค้าต่างๆมากมายตลอดสาย รวมทั้งบ้านจัดสรร จากเดิมแถบนี้เป็นป่าช้า (บริเวณ ธ.กสิกรไทยปัจจุบัน) และมีชุมชนคนลิเกบ้างแถวหน้าโรงเรียนอนุบาลหนองบัว แล้วก็เป็นโรงหนังไทยประเสริฐ ถัดไปหน้าอำเภอก็มีบ้านครูนุช และมีบ้านเรือนประปราย ส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินเปล่าจนไปถึงหน้ารพ. ถัดจากนั้นไปก็ไม่มีอะไรแล้ว มาเริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการตัดถนนสาย 11 จากอินทร์บุรี ขึ้นเหนือ ถนนเส้นนี้ทำให้หนองบัวที่เป็นอำเภอปิด คือจะขึ้นเหนือลงใต้ทุกคนต้องไปชุมแสงก่อน หรือถ้ามีรถส่วนตัวก็ต้องออกไปทางท่าตะโก สามารถจะเดินทางเข้า กทม.ได้สะดวกขึ้นมากเลย รวมทั้งถนนสาย 225 นครสวรรค์-ชัยภูมิที่ออกเพชรบูรณ์ และอีสานได้ง่ายขึ้น ในช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ผมเข้ามาเรียนต่อที่กทม.แล้ว

       ขอคารวะและขอต้อนรับ   แขกผู้มาเยือนเวทีคนหนองบัวจากอีก ๒ ประเทศ คือ ประเทศการ์ตา QA และสหรัฐอาหรับเอมิเรต หรือ UAE ทั้งสองประเทศเป็นประเทศจากตะวันออกกลาง อยู่ในกลุ่มมหาอำนาจน้ำมัน หรือ OPEC ประเทศการ์ตานั้น ได้ชื่อว่าเป็นประเทศมุสลิมที่ร่ำรวยน้ำมันมากที่สุดของโลก

    ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตซึ่งมีดูไบเป็นเมืองมหัศจรรย์และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดนั้น ก็ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่กำลังสร้างสิ่งมหัศจรรย์และความเป็นที่สุดของโลกหลายอย่าง เช่น
    (๑) กำลังสร้างตึก โรงแรม ที่พัก และอาคารสำนักงาน ที่สูงและทันสมัยที่สุดในโลก
    (๒) สนามบินที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดของโลก โดยคาดหวังว่าในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางการบินของทั่วโลก
    (๓) สนามบินสำหรับการจอดยานอวกาศและการเดินทางระหว่างโลกกับดาวดวงอื่นที่ทันสมัยและรองรับคนทั่วไปแห่งแรกของโลก
    (๔) โรงแรมและที่พักที่สร้างลึกลงไปในทะเลมากที่สุดในโลก
    (๕) เกาะต้นปาล์ม และหมู่เกาะที่สร้างเป็นแผนที่ทวีปต่างๆของโลก สร้างในทะเล และเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นยุคใหม่ที่มองเห็นได้จากนอกโลก

    แต่เดิมนั้น รายได้และเศรษฐกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตจะมาจากก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ทว่า ในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา รายได้และเศรษฐกิจที่ขยายตัวและเติบโตขึ้นจนกลายเป็นรายได้ประชาชาติที่มากกว่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั้นกลายเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การเงินการธนาคาร การก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรมและบริการอย่างอื่น

    ในอดีต ก่อนที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต จะเป็นสองขั้วอำนาจที่มีบทบาทต่อการกำหนดความเป็นไปของโลก และต่อมาจนถึงปัจจุบันก็เป็นสหรัฐอเมริกาซึ่งเกือบจะเป็นขั้วอำนาจเดี่ยวนั้น ในยุคอุตสาหกรรมเฟื่องฟูซึ่งทำให้เกิดการบริโภคพลังงานน้ำมันเป็นอย่างมากในสังคมโลกนั้น กลุ่มประเทศโอเปคจัดว่าเป็นกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลต่อสังคมโลกมาก เกิดการขยายตัวในภาคการพัฒนาอุตสาหกรรมการก่อสร้าง การขยายความเป็นเมืองและการพัฒนาความทันสมัย เป็นอย่างสูง ทำให้เป็นตลาดแรงงาน ซึ่งแรงงานจากประเทศไทยเป็นจำนวนมากต่างก็มุ่งไปทำงานหาเงินในตะวันออกกลาง

    โดยพัฒนาการและความเป็นมาแล้ว ประเทศไทยกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านจากตะวันออกกลางจึงมีความสัมพันธ์กันทางด้านต่างๆอย่างใกล้ชิดมาก แต่คนทั่วไปก็ไม่ค่อยได้เรียนรู้เพื่อทำความรู้จักกับมิตรประเทศในภูมิภาคนี้ของเรา เวทีคนหนองบัวจึงขอคารวะและขอต้อนรับเพื่อนผู้มาเยือนจากประเทศทั้งสองด้วยความยินดียิ่งครับ ไม่แน่นะครับว่าอาจะเป็นคนไทยหรือคนหนองบัวนั่นเองที่เข้ามาเยี่ยมบ้านจากการ์ตาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตก็ได้

       ขอสวัสดีและขอต้อนรับด้วยความยินดียิ่งครับ  

      สวัสดีปีใหม่สงกรานต์ครับฉิกครับ 

    • นั่นสิครับ ทั้งผมและมิตรรักแฟนบล๊อกเฝ้ามองทางพระอาจารย์มหาแล ด้วยความคิดถึงเลยละครับ ผมนึกถึงอยู่หลายวัน แต่ก็คะเนเอาว่าในช่วงเทศกาลอย่างนี้ท่านคงจะมีกิจนิมนต์รวมทั้งมีกิจต่อญาติโยมมาก แถวบ้านตาลินบ้านผมนั้น ถึงกับพระไม่พอสำหรับจัดงานของชาวบ้านและชุมชน ต้องยุบเลิกจัดงานแล้วไปจัดรวมกัน บ้านผมเองก็ต้องทำอย่างนั้นเลยเชียว
    • ฉิกเพิ่มเติมรายละเอียดไว้ดีจังเลยนะครับ เห็นบรรยากาศและเห็นรายละเอียดเพิ่มขึ้นมาอีกเยอะเลย อันที่จริงผมเคยไปอยู่หลังเกาะลอยอยู่พักหนึ่งตอนเรียนหนองบัวเทพฯ เช้าเย็นก็เดินอยู่บนถนนอีกฟากหนึ่งของเกาะลอย แต่ก็ไม่ได้ออกมาเล่นเหมือนคนอยู่ในพื้นที่เหมือนบรรยากาศอย่างที่ฉิกเล่าเลยละครับ
    • ตรงที่ถ่ายรูปนี่เป็นบริเวณที่เคยเป็นบ้านเก่าของอัยการประเวศเลยทีเดียว แล้วก็เคยมีต้นมะขามเก่าแก่ของหนองบัวอยู่ตรงนี้ด้วย แต่ตอนนี้ไม่ยักเห็นมีแล้วครับ แล้วตรงที่เคยเป็นบ้านของอัยการประเวศก็ไม่มี เมื่อก่อนเป็นที่หนึ่งที่พวกเราคุ้นเคย แต่ร้านบัดกรีที่เคยซ่อมพวกรถสาลี่ลุนน้ำและทำปี๊บหน่อไม้อัดให้ชาวบ้านนี่ยังมีอยู่ เห็นปร๊าดแล้วก็แทบจะอยู่ในสภาพเดิม แต่ไม่รู้ว่าเจ้าของจะเป็นเจ้าเดิมหรือเปล่า
    • อาคารไม้สองอาคารที่เห็นอย่างในรูปที่ผมวาดข้างบนนั้น  รถที่นั่งไปเขาพาวนออกไปเลยได้อาศัยดู เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแล้วครับ มีข้อมูลเอาไว้เปรียบเทียบให้เห็นภสพบ้านเรือนเก่าๆและเปรียบเทียบให้เห็นรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงเพื่อเรียนรู้ชุมชนบ้านเกิดอย่างนี้ก็ดีนะครับ ทำให้เห็นความเป็นมาเป็นไปที่ต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ข้ามรุ่นอายุคนได้
    • นายอำเภออรุณ วิไลรัตน์นั้น เป็นนายอำเภอคนแรกหลังจากที่อำเภอหนองบัวได้ยกระดับเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พศ.๒๔๙๑ และเป็นอำเภอเมื่อปี พศ. ๒๔๙๙ ไม่รู้ว่าเกาะลอยนี่ท่านเป็นผู้นำในการเอารถแทรกเตอร์มาขุดหรือเปล่า แต่สระน้ำขนาดใหญ่ข้างอำเภอนั้น ครูพ่อใหญ่เรือง พินสีดา บ้านไดเจ๊กห้า เคยเล่าให้ผมฟังว่าเป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นโดยนายอำเภออรุณ ซึ่งต่อมาน้องชายผมเป็นพัฒนากรและได้มาประจำอยู่ที่อำเภอหนองบัวระยะหนึ่งก็ได้เล่าให้ฟังว่าชาวบ้านและคนเก่าแก่ของหนองบัวเกิดรำลึกถึงท่าน เลยช่วยกันไปตามหารถแทรกเตอร์ที่ขุดสระดังกล่าวจนพบแล้วก็ขอนำมาตั้งอยู่บนแท่นหน้าอำเภอเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงท่าน ผมเคยเห็นเหมือนกัน แต่ตอนนี้ไม่ได้แวะเข้าไปดูเลย ไม่รู้ว่ายังมีอยู่หรือเปล่า

    ช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขอประดับธงชาติเป็นเกียรติแด่แขกผู้มาเยือนเวทีคนหนองบัวจากประเทศต่างๆ รวมทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง คารวะ ต้อนรับ หมู่มิตรนานาชาติของเวทีคนท้องถิ่นหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ประเทศไทย

                          

                               

    จากซ้ายไปขวาและจากบนลงล่าง : สหรัฐอาหรับเอมิเรต   การ์ตา   อิสราเอล   ญี่ปุ่น  ออสเตรเลีย  และสหรัฐอเมริกา
    ทุกภาพคลิ๊กลงไปบนธงจะเป็นลิ๊งก์ไปศึกษาข้อมูลของแต่ละประเทศได้ครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขอเจริญพรสวัสดีปีใหม่ไทย-สงกรานต์เดือนห้าย้อนหลังแก่ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    หยุดไปหลายวันเนื่องด้วยอินเตอร์เน็ตใช้ไม่ได้ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์หลายวัน เจอวันหยุดยาวหลายวัน รวมแล้วครึ่งเดือนพอดีกว่าช่างจากTOTจะมาเช็คเน็ตให้ ตรวจแล้วมอเด็มเสีย ต้องซื้อใหม่

    เทศกาลบุญใหญ่ประจำปีอย่างนี้ ญาติโยมทำบุญกันมาก ทั้งที่วัด ที่บ้าน เรียกว่าทั้งอาทิตย์พระมีงานเข้าเพียบเลยแหละ นิมนต์ ๙ รูป ได้ ๕ รูปบ้าง ๗ รูปบ้าง ก็แบ่งกันไปให้ได้ทั่วถึง ยุบงานบุญรวมกันบ้างเพื่อความสามัคคีโดยไม่ต้องยุบสภากาแฟ !!!

    ขอขอบคุณคุณฉิกอาจารย์วิรัตน์ที่แสดงความเป็นห่วงและยังระลึกนึกถึงกันอยู่ สบายดีตามอัตภาพ ภาษาพระท่านว่ายังพอเป็นไปได้ เมื่อคืนวานซืน(๒๓ เม.ย.๒๕๕๓)ฝนตกหนักมากเลย ช่วยดับร้อนผ่อนอุณภูมิที่ร้อนลงไปได้มาก ร้อนเล่นเอาหมาน้อยหมาใหญ่นอนหอบลิ้นห้อยไปตามๆกัน

    คุยกับหลวงตาว่าถ้าเป็นสมัยก่อนนี้ หลังสงกรานต์และฝนฟ้าตกแรงขนาดนี้เป็นได้จับอึ่งที่เขาพระกันแน่ และได้เวลาดะนาแล้วแหละ พร้อมกันนั้นคนเฒ่าคนแก่แม่บ้านทั้งหลายก็เตรียมดินบริเวณข้างบ้านรอไว้ปลูกพืชผักสวนครัว พอฝนตกปุ๊บก็หยอดเมล็ดพันธ์พืชผักต่างๆทันที อาทิพริกบ้าง บวบบ้าง ฟักทองบ้าง ข้าวโพดบ้าง ฯลฯ ใกล้เข้าพรรษาก็เก็บผลผลิตมาบริโภคได้อย่างสบายใจไม่กลัวสารพิษอีกด้วย

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณครูอ้อยเล็กและอาจารย์ณัฐพัชร์

    อาตมาห่างหายไปแค่ครึ่งเดือนเอง เวทีหนองบัวมีอะไรมากำนัลแด่พี่น้องมากมายจริงๆเลย ทั้งภาพและข้อมูลเรื่องราวต่างๆ เป็นรายงานสดจากพื้นที่จริงในหนองบัวเห็นแล้วก็คิดถึงบ้านเลยซิ

    ขอขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ที่นำเสอนผลงานชิ้นที่สองจากบล๊อกทูบุ๊ค ดังลมหายใจ ให้ได้ชมกันในวเทีนี้ ภาพวาดนี้คนเก่าๆชาวหนองบัวแค่เห็นเพียงปร๊าดเดียวก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆได้อีกมาก และก็นำไปพูดคุยหาความรู้เพิ่มเติมได้อย่างแม่นยำทีเดียวเพราะทุกเรื่องนั้นมันเป็นเรื่องของตัวท่านเอง

    ขอนุโมทนากับอาจารย์วิรัตน์ด้วยที่ช่วยให้ชาวบ้านมีความสุขเกิดกำลังใจและภาคภูมิใจในตนเองมากยิ่งขึ้น

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ 

    • พระคุณเจ้าห่างหายไปนี่เวทีคนหนองบัวหงอยเหงาไปถนัดใจเลยละครับ นี่ฉิกเขาคาดการณ์ได้ถูกเลยนะครับว่าอาจจะเป็นเพราะคอมฯของพระคุณเจ้ามีปัญหา
    • แต่ก็เป็นปรกติครับ อีกทั้งได้ความเป็นตัวของตัวเองดีครับ ทำอย่างนี้จะได้ไม่เป็นภาระเบียดเบียนตนเองจนเกินไปและจะทำให้ทำได้อย่างต่อเนื่อง หยุดหาวัตถุดิบและหายไปบ้างเพื่อเปลี่ยนอริยาบท
    • แต่ในกรณีของพระคุณเจ้านั้น อาจจะทำให้สมาชิกมองทางล่อกแล่กอยู่สักหน่อย เพราะเป็นโต้โผหลัก เลยก็อดถามหากันไม่ได้ละสิครับ
    • ตอนนี้คุณครูอ้อยเล็กเธอมีความเปลี่ยนแปลงในชีวิตในทางที่ก้าวหน้าตามประสบการณ์และความทรงคุณวุฒิ โดยย้ายไปเป็นบุคลากรของโรงเรียนกีฬา ของเทศบาลนครปฐม หน้าเพจของเวทีคนหนองบัวนี้เธอเป็นคนทำให้แก่ชาวหนองบัวแล้วก็ทำช่วยกันผ่านทางอินเอทร์เน็ตโดยที่เรายังไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันเลยละครับ อีกทั้งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกำลังเรียนปริญญาโทด้วยกันกับคุณอำภา คนตลาดหนองบัว ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ต้องขอแจ้งข่าวและร่วมแสดงความยินดีไปด้วยเลยละครับ
    • ส่วนอีกสองท่านที่เป็นมิตรและเครือข่ายวิชาการให้กับเวทีคนหนองบัวอยู่เสมอ คือ อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ และคุณเริงเวิชญ์ นิลโคตร ก็กำลังไปสอบทำปริญญาเอกต่อในสาขาพัฒนาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผ่านไปแผล๊บเดียวก็มีความเคลื่อนไหวอยู่รายรอบไปด้วยหลายอย่างเลยละครับ

    คุณฉิกกล่าวไว้ที่คหห.๔๙๘ว่า"...ที่หนองบัวนี่ชาวบ้านร้านตลาด กับชาวบ้านที่ทำไร่ทำนาจริงๆ ผมว่าใกล้กันมากนะ ชีวิตต้องสัมผัสพึ่งพากันแบบใกล้ชิดตลอดเวลา ถึงแม้ผมจะไม่ได้ใส่งอบออกไปไถนา เกี่ยวข้าว แต่ตลอดชีวิตในวัยเด็ก หรือแม้แต่ปัจจุบัน ก็ยังต้องจับจอบจับเสียมอยู่บ่อยๆ รายละเอียดเรื่องชีวิตชาวนาชาวไร่อาจจะไม่ลึกซึ้งเท่ากั.....หลายๆท่าน แต่ก็ได้สัมผัสรับรู้วิถีชิวิตของพวกเขาได้ดี..."

    ได้อ่านข้อเขียนคุณฉิกตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงตอนนี้ทำให้ทราบได้ว่าคุณฉิกแม้จะเป็นคนในตลาดหนองบัวก็ตาม แต่มีความรู้รายละเอียดเกี่ยวกับชุมชนได้ดีมากคนหนึ่งอีกทั้งรู้เกี่ยวกับป่าไม้เขาพระเขาสูงพืชพันธ์ไม้ต่างๆและสัตว์ป่าหนองบัวอีกด้วย สำนวนสมัยนี้ต้องบอกว่าเป็นคนติดดิน

    อันที่จริงคนรุ่นคุณฉิกนี่ในหนองบัวเรานั้นมีแหล่งให้ได้ท่องเที่ยวกันน้อยเหลือเกิน หน้าแล้งนี้ หนุ่มสาวมีแหล่งนัดพบกันที่ยอดฮิตที่สุดคือที่สระน้ำ มีโอกาสพบกันตอนเย็นๆไม่กี่ชั่วโมง สระน้ำวัดใหญ่(หนองกลับ) สระกำนันแหวน สระกำนันเทอญ สระเกาะลอย สระน้ำวัดเทพสุทธาวาส สระน้ำหนองกลับ ฯลฯ คนบ้านเรามีแหล่งให้พบปะกันได้ไม่กี่แห่ง ฉะนั้นคนหนองบัว-หนองกลับ และคนในตลาดหนองบัวจึงมีโอกาสได้สร้างความสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมงานประเพณีต่างๆงานบวช งานแต่ง งานงิ้ว งานประจำปี และงานบุญอื่นๆอีกมากมาย และต่างก็จะรู้จักกันเป็นอย่างดี อย่างเจ๊กขด(ตาแป๊ะขด)เจ้าของโรงสีแห่งแรกของหนองบัวคือโรงสีย่งฮงหมง อาตมาก็ยังทันได้รู้จักเห็นแกมาตั้งแต่เด็ก คนหนองบัวรุ่นเก่าไม่มีใครที่ไม่รู้จักเจ๊กขด

    เคยเห็นเจ๊กขดออกไปตามทุ่งนาตามลานนวดข้าว แกมีรถจี๊บคันเล็กๆไปขนข้าวในทุ่งนา พอเข้าหน้าทำนาชาวบ้านก็สามารถเข้าถึงบ้านแกได้ เรียกว่าเป็นเถ้าแก่รุ่นเก่าที่ไม่มีฟอร์มถือตัวอะไร เป็นกันเอง ดูเป็นชาวบ้านมากกว่า ไม่มีหุ่นที่จะเป็นนายทุนเลยว่างั้นเถอะ เราเป็นเด็กเวลาฟังแกพูดไทย แล้วออกเสียงไม่ชัดก็จะอดขำไม่ได้

     มีอีกเรื่องหนี่ง เอไม่ทราบว่าคุณฉิกจะทราบข้อมูลตรงนี้หรือเปล่า คำว่าบ้านนอก บ้านใน

    บ้านอก บ้านในนั้นถือเอาถนนสายหนองบัว-ชุมแสงเป็นเขตแดนแบ่งหมู่บ้านทั้งสองนี้ แต่ตลาดหนองบัวบ้านคุณฉิกนี่ยกเว้นไม่เรียกว่าบ้านใน ถ้าไม่เป็นตลาดถือว่าเป็นบ้านในได้เลย เพราะอะไร เพราะคนหนองกลับเรียกหมู่บ้านตั้งแต่พื้นที่โรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม(อนุบาลหนองบัว)ไปจนถึงโรงเรียนหนองคอก สระกำนันแหวน บ้านเนินน้ำเย็นสระกำนันเทอญ เกาะลอย บ้านตีนกุด(กุฏีฤาษีนารายณ์) เรื่อยไปถึงโคกมะตูมที่ทำการไปรษณีย์โน่นแหละ ทั้งหมดนี้เรียกรวมๆว่าบ้านใน

    ส่วนบ้านนอกนั้น ก็ตั้งแต่วิกไทยประเสริฐ โรงหนังหนองบัวราม่า ตะวันออกถึงโรงพยาบาลหนองบัว มาบ้านโคกมะกอก บ้านอาตมา(บ้านเนินตาโพ หมู่ที่ ๑ ต.หนองกลับ)วัดเทพสุทธาวาส ทั้งหมดที่อยู่ฝั่งซ้ายถนนหนองบัว-ชุมแสง คนบ้านในก็จะเรียกว่าบ้านนอก เช่น คนบ้านอาตามจะพูดว่า เมื่อคืนมีหนุ่มบ้านในมาเล่นตรุษสงกรานต์ มาจีบสาวบ้านนอก(เนินตาโพ) และหนุ่มบ้านนอกก็ชอบไปจีบสาว เล่นตรุษสงกรานต์ที่บ้านในเช่นเดียวกัน ประโยคนี้หลายคนยังจำได้ดี เช้าวันหนึ่งหน้าตรุษสงกรานต์หนุ่มบ้านนอกไปเลี้ยงควายที่ทุ่งนาซับข้าว พอเจอหน้ากันก็จะถามว่าเมื่อคืนมึงไปเล่นกุด(ตรุษ)วงไหน อีกฝ่ายก็จะตอบว่า กูไปเล่นวงบ้านสาวตีนกุด

     

      ผักอีซึก    ชื่อทางแยกต้นอีซึก อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ 

                            

                            

    ผมขอให้ข้อมูลต้นผักอีซึกไว้ในนี้อีกครับ ผมหาไม่เจอแต่จำได้ว่ามีการพูดกันถึงแยกต้นอีซึกและต้นผักอีซึกอยู่ที่ในหัวข้อไหนสักแห่ง รวมทั้งอาจารย์ณัฐพัชร์ได้นำภาพถ่ายมาให้ชมประกอบไปด้วย แต่ผมดูแล้วก็คิดว่าเป็นใบดอกแคเพราะสีมันเข้มเหมือนใบดอกแค เมื่อมีโอกาสกลับบ้านก็กลับไปดูรวมทั้งถามแม่ผมเองด้วย ก็พบว่าเป็นยอดผักอีซึกจริงๆครับ เลยถ่ายรูปมาให้ดูอีกรอบ ต้องขออภัยอาจารย์ณัฐพัชร์และทุกท่านที่ในรูปเดิมนั้นผมบอกว่าไม่ใช่ผักอีซึก

    เวลามองดูเป็นกองรวมๆในถ้วยชามแล้ว ยอดผักอีซึกดูเหมือนยอดดอกแคมากเลยนะครับ แต่พอแยกมาถือดู ถึงจะเห็นลักษณะเฉพาะทั้งสีสันและรูปใบ ยอดดอกแคอ่อนจะไม่มีสีเขียวอ่อนอย่างนี้ แต่จะเป็นสีเขียวเข้มตลอด

    ดอกอุ้มน้อง-ผักพื้นบ้านหนองบัว

    เห็นทีแรกนึกว่าเป็นใบดอกแคจริงๆ เพราะในจานมีดอกแคอยู่ด้วย แต่เมื่อแยกดูต่างหากก็จะเห็นชัดเจนเลยว่าเป็นผักอีกซึก

    อาจารย์พูดถึงผักอีซึกแล้ว ก็ทำให้นึกถึงผักพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของหนองบัวขึ้นมาอีกชนิดหนึ่งทันทีเลย นั่นก็คือ ต้นอุ้มน้อง ชาวบ้านหนองบัวเรียกดอกอุ้มน้อง ในโรงเรียนหนองคอกเมื่อสมัยอาจารย์ก็น่าจะมีเยอะอยู่ ไม่ทราบอาจารย์ยังจำได้หรือเปล่า ดอกอุ้มน้องจะออกดอกในฤดูฝน ๒-๓ เดือน หน้าฝนนี้ป่าเหนือเขามรกต เขาพระ ก็เป็นที่เลี้ยงควายของคนหนองบัว-หนองกลับ อาหารยอดฮิตในป่าหน้านี้ก็คือดอกอุ้มน้องนี่เอง อาหารกลางวันในป่าเลี้ยงควายหมกดอกอุ้มน้องนี่ถือว่าเมนูชั้นหนึ่งแล้ว ดอกอุ้มน้องหมกพริกเกลือมีผักอีซึกมีปลามีเนื้อหมูผสมด้วยอร่อยจัง วิธีหมกดอกอุ้มน้องต้องใช้วัสดุที่เข้ากันได้ดีเลยก็คือใบตองควง(พลวง)นี่เลย มีความรู้สึกกันว่าหมกกินในป่าอร่อยกว่านำมาหมกที่บ้าน

    จากของหากินง่ายขายได้ ก็กลายมาเป็นผักพื้นบ้านที่ควรอนุรักษ์เสียแล้ว สงสัยใกล้สูญพันธ์เต็มที

    ไปเที่ยวเล่นในเว็ปโรงเรียนหนองบัวมาเห็นคุยกันเรื่องดอกอุ้มน้องเลยแอบขอยืมรูปมาลง โรงเรียนหนองบัวเรานี้ก็มีการจัดอนุรักษ์ไว้สำหรับเรียนรู้แก่ชนหลังได้ศึกษากัน

    ตอนนี้หน้าแล้งมันแห้งมากอุ้มน้องยังไม่ขึ้น ช่วงนี้พืชผักตามฤดูกาลก็มีแต่ ผักซึกที่ยังพอมีหาได้ อีนูนก็เริ่มหายากแล้ว ช่วงนี้ถ้าฝนตกลงมาชุ่มฉ่ำผักหวานก็คงเขียวเต็มท้องตลาดเช่นกัน เอาเป็นว่ารอให้ถึงหน้าแล้วกันนะได้มีของตามฤดูการมาฝากกันครับ

    ขอบคุณคุณเสวกที่นำภาพดอกอุ้มน้องมาฝาก

    ดอกอุ้มน้องมีมากจนชาวบ้านเก็บมาขายเลยหรือ แสดงว่าเป็นพืชผักเศรษฐกิจประจำฤดูกาลอีกด้วย ดูจากภาพนี้แล้วโรงเรียนหนองคอกก็ยังเป็นป่าอยู่บ้างเล็กน้อย ต้องแสดงความยินดีและสนับสนุนแนวคิดดีๆอันนี้กับทางโรงเรียนที่ได้ช่วยกันอนุรักษ์ผักพื้นบ้านของหนองบัวคือดอกอุ้มน้องนี้ ให้นักเรียนคนรุ่นหลังในชุมชนได้ศึกษาเรียนรู้ รู้จากสิ่งที่มีอยู่ใกล้ๆตัวเรานี่แหละ และเมื่อเด็กเห็นคุณค่าแล้ว ก็คงหวังได้ว่าสิ่งนี้จะยังคงไม่หมดไปหรือสูญหายไปในเร็ววันอย่างแน่นอน

     กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ 

    บ้านนอก - บ้านใน ในบ้าน, เมืองนอก, เมืองกาย :
    ภูมิศาสตร์ ความเป็นชุมชน บริบทและบันทึกประสบการณ์ทางสังคม
    ในความหมายของการพูดสื่อสารของชาวบ้าน

    • การบอกเล่าและข้อสังเกตทั้งของพระคุณเจ้ากับคุณฉิกดีจังเลยครับ เรื่อง บ้านนอก - บ้านใน น่ะครับ
    • แถวบ้านผม ก็ใช้ถนนกับความเป็นชุมชนเป็นแกนอ้างอิง แล้วก็เรียกทำเลที่ตั้งกับชุมชนต่างๆในลักษณะนี้เหมือนกันครับ คือ ในบ้าน และ บ้านนอก ในบ้าน ก็จะหมายถึงชุมชนที่ชาวบ้านมีบ้านเรือนตนเองกับเครือญาติอยู่รวมกันต่อเนื่องกันไป เมื่อมีถนนแบ่งชุมชนออก ชุมชนที่ไกลออกไปอีกฟากถนนหนึ่งซึ่งยังคงนับความเป็นญาติพี่น้องกันได้อยู่ ก็จะเรียกว่า บ้านนอก
    • แถวบ้านผมมีการเรียก สระบุรี เมืองลพบุรี และอยุธยา ว่า บ้านล่าง ซึ่งหมายถึงเมืองที่อยู่ทางใต้
    • เรียกเพชรบูรณ์ โคราช ขอนแก่น รวมทั้งแถวสมอทอดเมื่อก่อนนี้ว่า เมืองนอก ซึ่งสำนึกทางสังคมบนความรับรู้ของผมเมื่อก่อนในวัยเด็กก็คือ เป็นเมืองที่ไม่สามารถไปถึงได้ด้วยการเดินทางภายในวันสองวัน
    • เมื่อช่วงสงกรานต์ ผมไปเชียงใหม่และภรรยาผมขับรถพานั่งไปตามแหล่งต่างๆ ซึ่งช่วงหนึ่งผ่านไปแถวสารภีและผ่านชื่อชุมชนกับวัดแห่งหนึ่ง ชื่อ เมืองกาย และ วัดเมืองกาย ผมเห็นแล้วก็คุยกับภรรยาไปเรื่อยเปื่อยกับภรรยาว่า หากเป็นแถวบ้านผม เวลาพูดหรือเอิ้นบอกกันว่า "ถ้ากายมาทางพี้อีก ก่แวะมาเมื่อ-มายามกันแนเด้อ" ซึ่งถ้าพูดเป็นภาษาไทยกลางก็คงจะเป็นว่า (แหม คิดถึงคุณสมบัติขึ้นมาทีเดียวเชียว ป่านนี้แกคงวุ่นอยู่กับอบรมเจ้าหน้าที่ศุลกากรเรื่องภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านลาวจนหามรุ่งหามค่ำนะครับ ขอเอาใจช่วยนะครับ) "หากเดินทางผ่านมาทางนี้อีก ก็อย่าลืมแวะมาหากันอีกนะ" ,  "อย่ากายไป่ฮั่น มันฮ้อน" (อย่าเดินผ่านไปทางนั้น มันร้อน)  "กายเพิ่น ก่ะฮู้จักย่องกะค้อมหัวลงแหน่"(เดินผ่านคนอื่นที่เป็นแขกและผู้หลักผู้ใหญ่ก็ให้รู้จักเดินเบาเท้าลงและน้อมศีรษะน้อมกายของเราลงหน่อย)
    • พอผมพูดเสร็จภรรยาผมก็ยืนยันว่าทางเหนือก็พูดว่า กาย ในความหมายอย่างนี้เหมือนกัน ทำนองเดียวกับ ไดเจ๊กห้า เป็นชื่อบ้านนามชุมชนที่บอกเหตุการณ์และความทรงจำของชุมชนไปด้วย

    ในสังคมและวิถีชุมชนที่ภูมิปัญญาและประสบการณ์ทางสังคมมีการสืบทอดกันด้วยการท่องจำ จดจำ สะสมไปบนประสบการณ์ชีวิต แล้วก็บอกเล่าถ่ายทอดสู่กันไปผ่านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือที่เราเรียกกันว่า มุขปาฐะ นั้น การสร้างความรู้และการให้ความหมายต่อสิ่งต่างๆมีความผสมกลมกลืนและสะท้อนความเป็นชีวิตชุมชนท้องถิ่นมากเลยนะครับ น่าสนใจมากเลยครับ

       สวัสดีครับ คุณเสวก ใยอินทร์  

    • ขอต้อนรับและขอแสดงความยินดีที่มีบล๊อกของคนรักหนองบัว เพิ่มขึ้นมาอีกนะครับ
    • เข้าไปในบล๊อกคนรักหนองบัวของคุณเสวกคราวนี้ เห็นความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการมากมายครับ ดูอย่างรูปและเรื่องราวที่คุณเสวกนำมาแบ่งปันในนี้ก็เหมือนกันครับ เป็นมืออาชีพไปแล้วครับ คุณเสวกมาเยือนทุกครั้งก็เห็นลูกเล่นที่บ่งบอกว่ามีการฝึกฝน-ฝึกปรือตนเอง ควบคู่ไปกับการเข้ามาคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพวกเรา อยู่ตลอดเวลาเลยนะครับ ขอชื่นชมและขอให้กำลังใจในความเป็นผู้มีการเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอครับ
    • เรื่อง ผักอุ้มน้อง กับ โครงการอนุรักษ์พันธุ์พืช ของโรงเรียนหนองบัว เป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าประทับใจ น่าช่วยกันเรียนรู้และขยายผลไปสู่การพัฒนาชุมชนหนองบัวและชื่อมโยงไปสู่เรื่องอื่นๆ มากเลยนะครับ ขอบคุณที่นำมาถ่ายทอดและแบ่งปันกันนะครับ ผมไม่เคยได้ยินเลยครับ แต่ไม่รู้ว่าเคยได้กินหรือเปล่า ดอกพลวงที่พระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลพูดถึงอยู่บ่อยๆ ก็เหมือนกันครับ เคยแต่ใช้ใบพลวงห่อของ ต้นก็เผาถ่าน ตอผุๆก็เก็บเห็ด แต่จำไม่ได้ว่ายอด-ดอกพลวง สามารถกินได้
    • ผมลิ๊งก์ไว้เพื่อร่วมเผยแพร่ไปด้วยเลยนะครับ  ผักอุ้มน้อง กับ โครงการอนุรักษ์พันธุ์พืช ของโรงเรียนหนองบัว [Click Here]  http://www.nongbua.ac.th/srt.html [Click Here]

    เห็นชื่อหมู่บ้านร่องดู่ในภาพถ่ายที่คุณเสวกนำมาจากเว็บไซต์โรงเรียนหนองคอกในความเห็นที่ ๕๒๗ แล้วทำให้นึกถึงเหตุการณ์เมื่อกว่า ๓๐ ที่ผ่านมา

    เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๒๑ ปีนี้เป็นปีที่อำเภอหนองบัวประสบกับภาวะภัยแล้งอย่างหนักที่สุดเท่าที่อาตมาจำได้ นาของพ่อ ๓๐ไร่ ได้ข้าวไม่ถึงหนึ่งเกวียน เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วก็ไปเผาถ่านที่บ้านเขานางต่วม ตำบลวังบ่อ โดยปลูกห้างพักชั่วคราวในที่ดินของลุงที่ได้ย้ายจากหนองบัวมาตั้งหลักปักฐานก่อนหน้านี้ ช่วงนี้ที่บ้านเขานางต่วมนับว่ายังมีป่าไม้ค่อนข้างสมบูรณ์มากทีเดียว ขับเกวียนออกจากหมู่บ้านไปไม่กี่ร้อยเมตรก็เข้าเขตป่าแล้ว

    ชาวบ้านรวมกลุ่มกันไปขุดดินทำเตาถ่าน(เตาอบ-เตาดิน)ในป่าลึกห่างหมู่บ้านประมาณสองสามกิโลเมตร ไม้มีมากสามารถเลือกตัดไม้ขนาดใหญ่ที่ยกขึ้นเกวียนไม่ไหวก็มี ยกไม่ไหวก็ต้องใช้ชะแลงงัดที่ปลายไม้ซึ่งเป็นส่วนที่เบาแล้วใช้ไม้หนุนให้ขึ้นทีละน้อยจนปลายไม้สูง(ชะเง้อ)พ้นหมอนเกวียน จากนั้นก็ใช้ปลายชะแลงงัดไม้ให้เคลื่อนย้าย จนปลายไม้นั้นพาดแอก เมื่อคำนวณน้ำหนักไม้ให้พอดีระหว่างช่วงแอกกับตัวหมอนเกวียนแล้วการใช้แรงรากก็จะสะดวก แอกก็ไม่ทับคองัว-ควายมากนัก ถ้าช่วงหน้าเบามากแอกจะลอยรากไม่ไหวอีก

    วันหนึ่งเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจขึ้น วันนั้นเป็นวันพักหยุดเผาถ่าน ผู้เขียนพร้อมทั้งเพื่อนบ้านนับสิบคนนำงัว-ควายของตัวเอง และคุณป้าได้ฝากควายสองตัวให้ผู้เขียนนำไปเลี้ยงด้วย วันนั้นไปเลี้ยงกันที่ใกล้หมู่บ้านร่องดู่ บ้านร่องดู่เป็นหมู่บ้านที่น้ำท่าอุดมสมบูรณ์มีคลองขนาดใหญ่แม้ปีนี้แล้งมาก แต่ที่นี่ยังมีน้ำมากอยู่ ฉะนั้นคนจากหลายหมู่บ้านก็นำวัว-ควายมาเลี้ยงกันที่นี่เต็มทุ่งนาไปหมด สองฝังคลองจะมีต้นไม้มากรกเหมือนป่า น้ำลึกมาก  เกือบบ่ายสามโมงควายก็บ่ายหน้าไปลงน้ำคลองสักพักเจ้าของก็ตามไปดู ปรากฏว่ามีควายตัวหนึ่งหาตัวไม่พบและควายตัวนั้นก็คือควายของป้านั่นเอง ควายตัวนี้ชื่อไอ้คูณ ชาวบ้านจะพูดกันว่าควายตัวนี้สวยมากคืออ้วนหุ่นดี เขาสวยงาม ตัวใหญ่ ใครเห็นใครก็ชอบ ตอนแรกผู้เขียนคิดในทางดีคือไอ้คูณคงติดควายตัวเมียฝูงใดฝูงหนึ่งในบริเวณนั้น แต่เมื่อทั้งตนเองและเพื่อนช่วยกันค้นหาจนทั่วก็ไม่เจอ เริ่มใจเสีย กังวลใจมาก ว้าวุ่นใจที่สุด วิ่งไปจนถึงหมู่บ้าน เจอใครก็ถามไปทั่ว วิ่งไปร้องไห้ไปด้วย ถึงตอนนี้ก็สรุปได้ด้วยตนเองว่า ไอ้คูณควายของป้าถูกโขมยไปแน่นอนแล้ว รีบกลับมาบ้านแจ้งข่าวให้ผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน คนทั้งหมู่บ้านก็ช่วยออกตามควายกันจ้าละหวั่น จนมืดจนค่ำก็ไม่เจอ หมดโอกาสที่จะได้ควายคืน

    ต่อมาก็ไม่ได้ข่าวคราวว่าคนหมู่บ้านไหนคือโขมย ประสบกับภาวะภัยแล้งไม่ได้ข้าวพอกินแล้วยังไม่พอ ยังต้องมาเจอโจรภัยเข้าให้อีก สามสิบกว่าปีแล้ว ยังจำไม่เคยลืมเลือน โอหนอมนุษย์ ช่างโหดร้าย ทำกันได้ลงคอ

     

    ขอแก้ข่าว แก้ไข เรื่องดอกพลวงสักเล็กน้อยในความเห็นที่ ๕๓๐

    อันที่จริงอาจารย์เข้าใจถูกแล้วแหละว่าไม้พลวงนั้นใช้ประโยชน์ได้จากใบ ต้น ส่วนดอกพลวงนี่แหละอาจเข้าใจผิดในข้อมูลบางประการ ที่ถูกต้องที่สุดก็คือคนหนองบัวนั้นจะไม่มีใครกินยอด ดอกพลวงแน่นอน(คือกินไม่ได้ด้วย) คิดไวๆอย่างเข้าข้างตัวเองก็คือ ยังนึกไม่ออกว่าได้เขียนดอกพลวงไว้ที่ไหนบ้าง เท่าที่นึกได้ก็จะเขียนว่าใบตองควงนั้นใช้ห่อของ ห่อข้าวไปนา ใช้ห่อหมกดอกอุ้มน้อง ใช้รองกระด้งวางขนมจีน ใช้มุงหลังคาเกวียนประทุน ประมาณนี้แหละ

    ส่วนอีกข้ออาตมาเข้าใจผิดถนัดเลย เรื่องดอกอุ้มน้องนึกว่าอาจารย์รู้จักดีเสียอีก ไม่เป็นไรเดี๋ยวเดือนแปดใกล้เข้าพรรษาชวนคุณเสวกมาหนองบัว ให้ทำหน้าที่เป็นพ่อครัวหมกดอกอุ้มน้องใส่พริกเกลือเลี้ยงกันซักมื้อหนึ่งที่อ่างเก็บน้ำเขาพระก็ได้

     

                              

    • อ่านเรื่องควายหายของพระคุณเจ้าแล้วสะเทือนใจมากเลยนะครับ การเลี้ยงควายของชาวบ้านนั้น มันไม่ใช่เป็นแรงงานการผลิตอย่างเดียว แต่เป็นชีวิตจิตใจและเป็นสมาชิกของครอบครัวไปด้วย เด็กๆเวลาเลี้ยงควาย มันก็เป็นของเล่นคู่ตัว เป็นเพื่อน เป็นพี่-เป็นน้อง เวลามันแก่ก็รู้สึกเหมือนกับเป็นสมาชิกอาวุโสเลยทีเดียว
    • เมื่อก่อนนี้ โจรขโมยและปล้นควายเยอะจริงๆเลยนะครับ บางครั้งก็เพียงขโมยและบางครั้งก็ปล้น มีที่โน่นบ้างที่นี่บ้างแทบทุกปี ตอนหลังๆก็เป็นขโมยข้าว บางครั้งก็แสนจะโหดเหี้ยม ทั้งปล้นและเผาบ้าน
    • ผมต้องกราบอภัยพระคุณเจ้าด้วยครับ สงสัยผมไปจำปนกันไปเอง พอพระคุณเจ้าทักท้วงขึ้นมาผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าอยู่ที่ไหน สงสัยดึงเอาแยกผักอีซึกกับป่าพลวงที่หนองคอกมาปนกัน เพราะเวลาที่พูดและนึกถึงแยกผักอีซึกทีไร ผมก็จะนึกถึงป่าพลวงแถวนั้นไปด้วยทุกที เลยก็สงสัยไปดึงเอาใบพลวงให้ไปแทนที่ยอดผักอีซึกซึ่งกินได้ แล้วก็จำปนกันไปเลย 
    • ดอกอุ้มน้องนี่อาจจะไม่รู้จักชื่อก็ได้ครับ เพราะพวกของป่าแถวท้องถิ่นหนองบัวนั้น คนแต่เก่าก่อนก็มักจะพากันทำอยู่ทำกินให้ได้รู้จัก หรือไม่ก็อาจจะลืมๆไปก็ได้ครับ

    ดังไฟ อังไฟ

    ใน(ความคิดเห็นที่๕๑๕)ดูที่อาจารย์ให้ความหมายคำว่า ดังไฟแล้ว คิดว่าตรงกันกับคำว่า อังไฟ เคยได้ยินและใช้แต่อังไฟ ส่วนดังไฟนั้นเพิ่งจะได้ยินวันนี้ ถ้าไม่แปลให้ด้วย จะเข้าใจว่า เปรียบเหมือนไฟหรือดุจไฟ คล้ายเป็นคำอุปมาทำนองนั้น

    อัง คือ นำไปใกล้ๆไฟเพื่อให้ร้อนหรือบรรเทาความหนาว 

    เช่น เวลาตัวร้อนไม่สบายพ่อแม่จะเอามือมาอังที่หน้าผากดูว่าร้อนหรือไม่
    หน้าหนาว ก็ก่อไฟผิง นั่งล้อมวง เกิดความอบอุ่นแต่มือยังเย็นอยู่ เราก็จะยื่นมือไปอังไฟเพื่อให้บรรเทาความหนาว ใบตองกล้วย-ใบตองควง ก่อนจะห่อของ ห่อข้าว ถ้าอังไฟให้อ่อนตัวเสียก่อนแล้ว ก็จะห่อข้าวได้ง่ายสะดวก ไม่หัก ไม่กรอบ ไม่แตก ฉีกขาด ปิ้งปลาหรือเผามันเทศ มันสำปะหลังไว้ตั้งแต่เมื่อเย็นวาน จะกินตอนเช้าก็นำไปอังไฟซะหน่อยก่อน จะทำให้ปลา-มันเทศนั้นอ่อนนุ่มเคี้ยวง่ายอร่อยดี

    แต่ก่อนไม่มีไฟฟ้า เสื้อผ้าชุดนักเรียน(มีชุดเดียว)สกปรก แม่ซักให้ตอนก่อนนอน เช้าจะใส่ไปไรงเรียนเกิดแห้งไม่ทัน ก็ต้องนำชุดนักเรียนไปอังไฟให้แห้งแล้วนุ่งได้สบาย นี่ก็อธิบายแบบมั่วๆไม่ทราบว่าพอจะทำให้ผู้อ่านนั้น อัง อุ่น(ใจ)(เข้าใจ)ได้ดีขึ้น หรือว่างงสับสนมากกว่าเดิมก็ไม่รู้นะเนี่ย

  • ในสำเนียงลาวมีอีกความหมายหนึ่งครับ ดังไฟ แปลว่า ก่อไฟ สุมไฟ
  • "ดังไฟแล้วหุงข้าวไว้รอได้เลย เดี๋ยวไปเก็บผักอีซึกมาให้กินกับน้ำพริก" ดังไฟในบริบทนี้ก็แปลว่า ก่อไฟหุงข้าว
  • "เอาควายเข้าคอกแล้ว ก็ดังควนไฟไล่เหลือบญุง จนเจ้าของแสบฮูดังไปหมด เลยต้องไปนอนอยู่โพนกองเฟืองโพ้น" (เอาควายเข้าคอกแล้ว ก็สุมไฟไล่เหลือบยุง จนเจ้าของแสบจมูกไปหมด เลยต้องไปนอนที่จอมปลวกกองฟางโน่น) ดังในบริบทแรกก็กลายเป็นแปลว่าสุมไฟ ส่วนในบริบทที่สองก็กลับแปลว่ารูจมูก
  • เพิ่งสังเกตครับ นี่เกือบลืมเลยละครับ แต่ตอนที่ผมเขียนหนังสือ ดังลมหายใจ นั้นก็ไม่ได้คิดได้ลึกซึ้งหลายมิติขนาดนั้นหรอกครับ ผมใช้ในความหมายอย่างที่พระคุณเจ้าแจกแจงนั่นแหละครับ คือ เปรียบเหมือนลมหายใจ / อุปมาเหมือนลมหายใจ แต่ก็ได้ทบทวนภาษาลาวเก่าๆไปด้วยเลยครับ
    • ลุงใหม่กฤช อสม. และบุคคลต้นแบบ ในเครือข่ายของโรงพยาบาลพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เล่าประสบการณ์ในการทำงานอาสา เดินพูดคุยในหมู่บ้านถึงโทษภัย เพื่อให้คนในชุมชน ลด ละ เลิก ยาสูบ ..
    • ลุงใหม่กฤชเล่าว่า "เจอเด็กอายุ ๑๒ ปี ทดลอง เอากิ่งไม้มา ดังไฟ เลียนแบบการสูบของผู้ใหญ่"
    • ดังไฟ ในบริบทนี้หมายถึง จุดไฟ ใช่ไหมค่ะ?
    • เดาเอาว่า ดังไฟ ไม่ได้หมายถึงอาการของไฟขนาดใหญ่หรือเยอะเท่านั้น (สุม, ก่อ) อาการขนาดเล็กๆ ของไฟ อย่างเช่น การจุดให้เกิดไฟ ก็คือ ดังไฟ เช่นกัน ... (เข้าใจถูกหรือผิดค่ะเนี่ยะ)
    • เหลือบไปเห็น Visitor Information เพื่อนับจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมบล๊อคชาวหนองบัวแล้ว ไม่ธรรมดา เลยนะค่ะ มากกว่า ๖ พัน pageviews แล้วค่ะ เพียง ๑ เดือนกว่าๆ เท่านั้นเอง 
    • ๗ ประเทศ ๓ ทวีป ทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกา และทวีปออสเตรเลีย (มาจากแถบตะวันออกกลางซะ ๓ ประเทศแล้ว)

                                               

    • แอบไปดูอีกบล๊อคของอาจารย์ที่ได้ใส่ Flag Counter ไว้เช่นกันอย่าง สื่อและศิลปะเพื่อการพัฒนา แล้วก็ไม่น้อยหน้า มีกัลยาณมิตรนานาชาติเข้ามาเยี่ยมเยือนถึง ๗ ประเทศ ๔ ทวีป ทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย และทวีปยุโรป

                                                

    • กัลยาณมิตรต่างประเทศที่เพิ่มมา คือ ประเทศกรีซ ประเทศอังกฤษ และประเทศอินเดีย ..
    • ทราบว่าอาจารย์เคยไปศึกษาดูงานที่ประเทศอินเดียด้วย อาจารย์อาจมีเรื่องอะไรสนุปๆ และเป็นประโยชน์มาเล่า หรือประสบการณ์ดีๆ ให้ชาวหนองบัว และเด็กๆ ได้อ่านก่อนจะเปิดเทอมที่บล๊อคนี้บ้างก็ดีนะค่ะ ..

    สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์

    • ดังไฟ ในตัวอย่างที่อาจารย์เล่ามานี่หมายถึง รมไฟ ครับ
    • ข้อสรุปอย่างอาจารย์ว่าไว้นี่ก็เข้าท่าดีนะครับ คล้ายกับจะกุมความหมายได้ทั่วถึงดี
    • พูดรวมๆอีกทางหนึ่ง น่าจะเป็นลักษณะของการจุด ก่อ เติมเชื้อเพลงสุมเข้าไป รมหรือยื่นเข้าไปในเปลวไฟ 
    • ได้รับฝากสารมาจาก เป้ สีน้ำ หลังจากที่ได้รับหนังสือ ดังลมหายใจ ของอาจารย์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ...
    • เป้ สีน้ำ ถามพี่ผู้ถือหนังสือ ดังลมหายใจ ไปฝากว่า "ใครเป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้?" พี่ท่านนั้นตอบว่า "แฟนของอาจารย์เป็นบรรณาธิการให้" เป้ สีน้ำ ตอบกลับมาว่า "ถ้าผมเป็นบรรณาธิการ ผมจะแก้ไข ดังลมหายใจ โดยจะเติมไม้เอกที่ ดัง ให้ชื่อหนังสือเป็น ดั่งลมหายใจ"

    ขอแจมร่วมกับอาจารย์ณัฐพัชร์ด้วยคน

    ตอนที่อาจารย์เขียนเรื่องนี้ใหม่ๆ เคยสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมไม่ใช้คำว่า ดั่งลมหายใจแต่ไม่ได้แสดงความเห็นไว้ ก็ไม่รู้ว่าทำไมจึงติดตาหรือชอบใจถูกใจคำว่าดั่ง มากกว่าคำว่าดัง มองในแง่ภาษาการประพันธ์คงจะให้อรรถรสทางภาษาและได้ความหมายทางเสียงและรสคำทางภาษาหนังสือมากกว่าอะไรประมาณนั้น นี่ก็พูดแบบคนที่ไม่มีความรู้อะไรในเรื่องนี้เลย แต่ก็พูดไปแล้ว เป็นงั้นไป

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ คุณณัชพัชร์และทุกๆท่าน ดีใจครับที่ได้เห็นพระคุณเจ้ามาอยู่หน้าไมค์อีกที

    ปกติผมจะใช้พจนานุกรมออนไลน์ช่วยในเรื่องของภาษาไทย คิดว่าหลายๆคนคงใช้เวปนี้อ้างอิง
    http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp
    ฝากไว้เผื่อใครยังไม่รู้จัก ถ้าใครรู้แล้วก็ถือเสียว่าผมเอามะพร้าวน้ำหอมมาขายสวนละกัน

    ดัง ๑ น. สันจมูก, ใช้ว่า ดั้ง ก็มี.
    ดัง ๒ ว. บังเกิดเสียงขึ้นหรือทําให้เสียงบังเกิดขึ้นอย่างแรง เช่น กลองดัง พูดดัง เสียงดัง.
    ดัง ๓, ดั่ง ว. เช่น, อย่าง, ราวกับ, คล้าย, เหมือน.

    ดังลมหายใจ / ดั่งลมหายใจ ก็เหมือนกันครับ เพียงแต่คำว่าดังมันมีความหมายเป็นอย่างอื่นไปได้อีก บางคนอาจจะเข้าใจเป็นว่า ลมหายใจดัง
    อีกอย่างคำว่า ดั่ง ฟังดูอาจจะคลาสสิคกว่ารึเปล่า ผมก็ไม่ค่อยล้ำลึกกับภาษาไทยสักเท่าไหร่ แค่พอเอาตัวรอดได้
    ถ้าเป็นสมัยเรียนหนังสือ คุณครูก็จะให้คะแนน 3 ระดับ คือ ดีมาก ดี พอใช้ ผมจะได้แค่พอใช้ (ไม่เคยเห็น เหลือใช้ กับ ไม่พอใช้เลย)

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ สวัสดีครับฉิก และท่านผู้อ่านทุกท่าน 

    • ตอนที่มีผู้อ่านตั้งข้อสังเกตครั้งแรกนั้น เขาก็บอกอย่างที่เป้ สีน้ำ และทั้งพระคุณเจ้า กับฉิก สะท้อนทรรศนะเลยละครับ คือ เขาบอกว่า น่าจะใช้ว่า ดั่ง ฟังดูเพราะสละสลวยกว่าว่างั้น
    • ตอนที่ผมเลือกใช้ชื่อหัวข้อนี้ ก็เลือกหาคำที่เหมาะๆอยู่เหมือนกันครับ แรกเลยก็นึกถึงทำอย่างไรมันถึงจะเป็นชื่อสั้นๆแต่สะท้อนความคิดที่เป็นแก่นของเรื่องได้หมด เพราะผมตั้งหัวข้อสั้นๆไม่ค่อยเป็น อย่างที่สอง ก็นึกถึงแง่มุมที่ให้ความสำคัญต่อคุณค่าจิตใจและวิธีคิด วิธีมอง วิถีทรรศนะต่อสิ่งที่อยู่ในชุมชน มากกว่าแง่มุมที่เป็นปัจจัยและองค์ประกอบภายนอก เพื่อเป็นประสบกาารณ์จากการอ่านให้ชาวบ้านและผู้อ่านที่สัมผัสอยู่กับสิ่งเดิมๆ ทว่า ได้ความลึกซึ้งและเห็นความสูงส่ง งดงามกว่าเดิมๆ
    • เรื่องของเรื่องก็เนื่องจากความที่เป็นลูกบ้านนอก อีกทั้งตระหนักดีว่าเราเป็นสังคมที่กำลังพัฒนาและมีความฉาบฉวยที่จะไล่ตามความทันสมัยของโลกมากพอสมควรแล้ว แทนที่จะไปเพิ่มกำลังให้กำลังการทะเยอทะยานออกไปค้นหาสิ่งที่อยู่ภายนอกมาบำรุงความเป็นชีวิตและสร้างสรรค์สังคม ก็ควรจะมีโอกาสกลับบ้านและเดินเข้าไปค้นหาศักยภาพภายในทั้งของชุมชนและของปัจเจกบ้าง อย่างที่สาม ผมนั้น เวลาฝึกอยู่กับตัวเองแต่ไหนแต่ไร นับแต่รุ่นๆ ก็มักใช้วิธีอาณาปนสติ กำหนดรู้ลมหายใจ อยู่กับลมหายใจ และที่สุดก็เป็น'ดังลมหายใจ' ที่สลายเป็นหนึ่งกับโลกรอบข้าง ซึ่งก็บอกไม่ถูกละครับ รู้แต่ว่าเวลาอยากนั่งดูลมหายใจอย่างนั้นทีไร ก็เนื่องจากอยากเข้าไปอยู่ในภาวะอย่างนั้นนั่นเอง เลยได้ความหมายจากการรู้สึกต่อภาวะอย่างนั้นว่า ดังลมหายใจ นั้น เป็นทั้งหมด ทุกสิ่งอย่างอย่างที่เรารู้และรวมทั้งเป็นตัวเราเอง
    • จะว่าไปแล้ว ก็คือสติ การตื่นรู้ต่อสิ่งนั้น เและ การเจริญสติภาวนา เพื่อบ่มเพาะความงดงามต่อสิ่งนั้น ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ มองฝ่าเข้าไปเพื่อเห็นศักยภาพ ทุนทางสังคม ความดี ความจริง และความงดงาม ของชนบทและวิถีชาวบ้าน เพื่อกำหนดตนเองและจัดความสัมพันธ์ตนเองกับโลกความเปลี่ยนแปลงภายนอก ด้วยวิธีที่ลุ่มลึกแยบคายมากยิ่งๆขึ้น 
    • เลยลืมมองความเป็นภาษาการประพันธ์และความคลาสสิคอย่างที่เป้ สีน้ำ พระคุณเจ้าและฉิกว่ามาน่ะครับ เป้ สีน้ำนี่เชื่อในความมี Sense of mass ของเขาครับ เขามีผลงานเป็นที่แพร่หลายทั้งงานเพลง หนังสือ บทกวี ตั้งแต่กำลังเริ่มโต ตอนนี้กำลังมาทุ่มเททำงานศิลปะและสื่อสารเรียนรู้ชุมชนลุ่มน้ำผ่านเวิร์คชอพและปฏิบัติการทางศิลปะ ลูกบ้าเหลือเฟือครับ ผมเคยไปนั่งนอนเล่น ณ ที่พำนักของเขา เขาพาผมลงเรือเอี้ยมจุ๊นซึ่งเขาไปซื้อจากอัมพวาแล้วก็ขับมาไว้ที่บ้านพักริมแม่น้ำนครชัยศรี แล้วก็ขับเรือพาผมกับพรรคพวกและลูกศิษย์ของเขาไปนั่งกินก๊วยเตี๋ยวที่ตลาดน้ำลำพญา อำเภอบางเลน นครปฐม "มันต้องให้ประสบการณ์จากของจริง ได้เห็นธรรมชาติ แม่น้ำ ทิวทัศน์สองฝั่งของแม่น้ำ ถึงจะเป็นแรงบันดาลใจการเขียนรูปที่สะท้อนการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง" เขาว่าอย่างนั้น
    • ชอบมุขนี้ของฉิกจริงๆ เหลือใช้ ไม่พอใช้ เนี่ย มุขนี้จะขอยืมไปเล่นเมื่อมีโอกาสสักหน่อยนะครับ ขำดี

    ในความเห็นที่๕๐๕ อาจารย์ได้พูดถึงเวทีระดมสมอง มหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ กับคนนครสวรรค์และคนหนองบัว ว่าไม่มีคนท้องถิ่นนักการศึกษาชาวบ้านหนองบัวเข้ามาร่วมเสวนารับฟังในครั้งนี้เลย ทั้งๆหัวข้อเสวนานั้นก็เกี่ยวกับคนนครสวรรค์คนหองบัวคนท้องถิ่นโดยตรง ก็ต้องนับว่าน่าเสียดายโอกาสที่ดีนี้แทนชาวหนองบัวด้วย อยากจะเห็นการตื่นตัวของคนในท้องถิ่นที่มีใจใฝ่แสวงหาโอกาสการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทั้งในระดับชุมชนและสูงขึ้นไปมากกว่านี้

    คนหนองบัวนั้นเคยมีพลังสร้างสรรค์ชุมชนอันมหาศาลในการจัดการเรื่องต่างๆของชุมชนอันน่าภาคภูมิมาแล้วอย่างมากมายทั้งการสร้างโรงเรียนแห่งแรกในหนองบัวการสร้างวัดและสาธารณะอื่นๆสำเร็จได้ด้วยพลังอันเข้มแข็งพลังสามัคคีในชุมชน โดยที่มีผู้นำทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายสงฆ์เป็นตัวเชื่อมตัวดึงพลังของชุมชนเหล่านั้นให้มาสร้างประโยชน์แก่สังคมจนสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมาแล้วมากมาย

    อีกอย่างที่อยากจะเห็นก็คือการมีส่วนร่วมของฝ่ายสงฆ์ด้วย ไม่อยากให้ถูกผลักออกไปอยู่นอกวงอยู่ร่ำไป จะขอพูดสั้นๆในท้องถิ่นจริงๆโดยเฉพาะหนองบัวเรานี่แหละ ขุมพลังปัญญาในชุมชนหนองบัวที่มีตัวอยู่จับตัองได้ในตอนนี้เลย มีสองท่านคือ

    ๑.พระเทพปริยัติเมธี (สฤษดิ์  สิริธโร  ป.ธ.๙,  กศ.ม.,  พธ.ด.)
    เจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ (พระอารามหลวง)ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์
    เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ พระเดชพระคุณท่านเป็นคนห้วยร่วมเป็นศิษย์หลวงพ่อสวาสดิ์วัดห้วยร่วมซึ่งหลวงพ่อสวาสดิ์นั้นเป็นพระเถระที่มีผู้คนรู้จักเคารพนับถือกราบไหว้กันทั้งอำเภอและประชาชนโดยทั่วไปอย่างมากรูปหนึ่งของชุมชนหนองบัว ทางด้านการศึกษาไม่ต้องสาธยายมากเพราะท่านจบ ป.ธ. ๙ และปริญญาเอก อีกทั้งท่านก็เป็นผู้บริหารการศึกษาฝ่ายสงฆ์อยู่ด้วยเช่นกันเป็นผอ.วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์

    ๒.พระนิภากรโสภณ(ไกร ฐานิสฺสโร ศรสุรินทร์)เจ้าอาวาสวัดหนองกลับ เจ้าคณะอำเภอหนองบัว พระเดชพระคุณเป็นนักพัฒนาชุมชนตัวจริงเสียงจริงของจังหวัดนครสวรรค์ ถนนในหมู่บ้านหนองกลับหลายสายมีชื่อของท่านเป็นชื่อถนนคือ ถนนวาปีฯลฯ อ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ เป็นพระนักอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารเขาพระ เขาสูง ท่านส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรม-มรดกไทย ได้รับปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ จากสถาบันราชภัฏนครสวรรค์ ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาการพัฒนาชุมชน)

    ย่อๆเท่านี้ก่อน พระเดชพระคุณทั้งสองรูปท่านเป็นพระนักพัฒนาและมีบารมีทุ่มเทแรงกายแรงปัญญาอย่างหนักเพื่อช่วยชุมชนสังคมตลอดมา ขอให้สังคมชุมชนอย่าลืมท่านก็แล้วกัน อย่างไรเสียก็คิดว่ามหาวิทยาลัยมหิดนครสวรรค์คงไม่ลืมคนท้องถิ่นแท้ๆแน่นอน

                                           

        ประเทศอินเดีย   
    ปลาอานนท์ของโลก ประเทศที่ค้ำจุนโลกโดยวิถีแห่งปัญญาและแบ่งปันสิ่งหล่อเลี้ยงทางจิตวิญญาณแก่มนุษยชาติได้มากที่สุดของโลก

    • ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ครับที่ชวนคุยเรื่องอินเดียกับกลุ่มแขกผู้มาเยือนในบล๊อกอีกบล๊อกหนึ่งของผม

                            

                             อธิบายภาพ : อาจารย์กรุณา กุศลาศัย เป็นคนนครสวรรค์ เกิดในเรือ ในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นปราชญ์และผู้รู้เรื่องอินเดียที่เลือกสรรแปลงานวรรณกรรมอินเดียสู่ประเทศไทย และเป็นผู้สานความสัมพันธ์ไทยอินเดียที่มีบทบาทด้านผลงานทางวัฒนธรรมและงานสร้างสรรค์ทางปัญญามากที่สุดท่านหนึ่ง ท่านได้มรณกรรมเมื่อปี ๒๕๕๒ และได้มีการจัดกิจกรรมรำลึก ๑๐๐ วันเนื่องในวันมรณกรรมแก่ท่านโดยการเสวนาวิชาการ ที่ตึกเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งผมได้มีโอกาสไปร่วมรับฟังด้วย ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้เดินเท้าจากเชียงใหม่ไปยังถิ่นเกิดที่นครศรีธรรมราชแล้วนำเอาประสบการณ์การค้นพบต้นเองมาเขียน คุณชมัยพร แสงกระจ่าง นายกสมาคมภาษาและหนังสือ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศษสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และมีปาฐกถาพิเศษโดย ท่าน ว.วชิรเมธี

                            

                             อธิบายภาพ : ลูกสาวของอาจารย์กรุณา เป็นอาจารย์ทันตแพทย์ อ่านบทประพันธ์ซึ่งประพันธ์มอบแด่อาจารย์กรุณา กุศลาศัย โดยคุณชมัยพร แสงกระจ่าง

    • มีแง่มุมที่น่าสนใจหลายอย่างครับ แต่นอกจากจะน่าสนใจสำหรับคนทั่วไปแล้ว เรื่องอินเดียนั้น หากมองผ่านบทบาทของอาจารย์กรุณา-เรืองอุไร กุศลาศัย ลูกชาวเรือจากปากน้ำโพ ที่เป็นปราชญ์และผู้รู้เรื่องอินเดีย รวมทั้งมีบทบาทต่อการสร้างความสัมพันธ์ของไทยกับอินเดียมากที่สุดท่านหนึ่งเหล่านี้แล้ว ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสำหรับนำมาแบ่งปันกับคนหนองบัวและคนนครสวรรค์มากเลยครับ
    • ผมเคยไปดูงานและเก็บข้อมูลทำวิจัยสุขภาพชุมชน ที่ประเทศอินเดียอยู่ครั้งหนึ่งครับ ประมาณปี ๒๕๓๗ คนอินเดียเป็นมิตรกับคนไทยอย่างเป็นพิเศษ คนขายของที่ผมไปพักซึ่งเป็นโรงแรมระดับ ๕ ดาวในนิวกรุงเดลลี ไม่รู้ว่าเขาพูดเอาใจหรือเปล่าว่า เวลาเจอคนไทยเขาบอกว่า เขาจะรู้สึกเหมือนเจอญาติและคนกันเอง จะไม่เกรงใจและจะปฏิบัติต่อกันด้วยท่าทีอีกชุดหนึ่งต่างจากคนชาติอื่นๆ
    • เขาบอกว่า ตื๊อขายของให้คนไทยแล้วก็มักจะขายได้ ผมถามเขาว่า หากไปเมืองไทยหรือมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมาจากเมืองไทยแล้วละก็ อยากได้ของฝากเป็นอะไร เขาบอกว่า เสื้อผ้ากับยาหม่องตราเสือ
    • เขาบอกว่าเสื้อผ้าของไทย ถูก ดี สวยงาม ซึ่งก็คงต้องเชื่อครับ เพราะเพื่อนๆชาวอินเดียหรือคนที่มาทางเอเชีย-แปซิฟิกนี่ มักชอบให้ผมพาไปเดินเลือกซื้อเสื้อผ้า ซื้อชนิดเป็นบ้าเป็นหลัง แทบจะเอาไปฝากกันทั้งหมู่บ้านอย่างนั้นเลย ซึ่งเมื่อก่อนโน้น ผมก็มักจะพาไปแถวบางลำพู ประตูน้ำ และพาหุรัด แต่ตอนนี้คงไปไม่เป็นเรื่องแล้วครับ
    • ส่วนยาหม่องตราเสือนั้น เขาบอกว่าคนอินเดียชอบยาหม่องไทย (แต่เมื่อกลับมาแล้ว ผมดูข้างขวดยาหม่องตราเสือ เป็นของชาวไต้หวันน่ะครับ) ซึ่งเข้าใจได้ครับ เพราะตอนที่ผมอยู่บ้านนอกนั้น ซื้อหมาก สีเสียด ยาหม่อง ฝากกันนี่ ถือว่าให้ของวิเศษเลยเชียว ยาหม่องเป็นยาที่ชาวบ้านใช้สารพัด เป็นลมก็ใช้ดม ปวดหัวก็ทาขมับ ปวดท้องก็ทาท้อง ปวดมากก็ละลายน้ำกินแก้ปวดท้อง มีดบาดมือก็เอามาทาสมานแผล
    • นครสวรรค์ เป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของผู้ซึ่งเป็นที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ในหลายด้านของสังคมไทย โดยเฉพาะทางด้านวรรณกรรมอินเดีย ภาษาอินเดีย และเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับอินเดีย คือ ท่านอาจารย์กรุณา กุศลาศัย
    • อาจารย์กรุณา กุศลาศัย เป็นลูกชาวเรือ เกิดในเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพ เมื่อวัยเด็ก อายุเพียง ๑๐ กว่าขวบ ก็ฉายแววความเป็นผู้มีอุดมคติแกร่งกร้าและความเป็นผู้ใฝ่การเรียนรู้ โดยในห้วงเวลานั้น ซึ่งย้อนหลังไปกว่า ๘๐ ปีในยุคที่การเดินทางโดยเรือจากปากน้ำโพลงไปยังกรุงเทพฯใช้เวลา ๑ เดือน และเดินทางไปยังเชียงใหม่ใช้เวลา ๓ เดือน ได้มีพระโลกนาถ พระภิกษุในพุทธศาสนาชาวอิตาลี ซึ่งเชื่อว่าสังคมโลกกำลังแย่และไม่มีทางแก้อื่นใด นอกจากต้องสร้างความศานติและความสุขสงบที่แท้จากการพัฒนามนุษย์
    • ท่านเชื่อว่า พุทธศาสนาเท่านั้นจะมีพลังพอ แต่ท่านต้องการคนจริงที่จะเป็นเครือข่ายผู้นำแนวร่วมเผยแผ่พุทธศาสนาไปทั่วโลกเพื่อสร้างตั้งแต่เป็นสามเณร และจะต้องเข้าถึงภาวะสูงสุดของตนเองด้วยการเดินเท้าไปยังแดนพุทธภูมิ คืออินเดีย ท่านเดินเท้าผ่านมาทางพม่าและเข้ามาในไทย ผ่านทางไปแสดงธรรมที่ปากน้้ำโพ และท่านอาจารย์กรุณา กุศลาศัย ซึ่งตอนนั้นยังป็นเด็กชายวัยไม่ถึง ๑๕ ปี ก็สมัครเป็นศิษย์ บวชเป็นเณร และร่วมเดินทางด้วยเท้า มุ่งสู่อินเดีย และเป็นสามเณรคนเดียวในหมู่คนที่ร่วมเดินทางไปกับพระโลกนาถ ที่สามารถเดินเท้าจากประเทศไทยไปถึงอินเดีย
    • อาจารย์กรุณามีกำลังแห่งปัญญาและกำลังแห่งความมุ่งมั่นแก่กร้า แตกฉานในการศึกษา โดยเฉพาะทางภาษาและวรรณกรรม ท่านเขียนและพูดภาษาฮินดีได้ดีกว่าเจ้าของภาษาเสียอีกกระทั่งยวาหรลาล เนรูห์ ผู้นำของอินเดียอยากรู้จักตัวและกลายเป็นมิตรผู้สนับสนุนทางปัญญากันในเวลาต่อมาอีกหลายวาระ ในเวลาต่อมา ท่านเป็นผู้ที่เลือกสรรแปลงานวรรณกรรมชั้นยอดของโลกที่เป็นผลงานของปัญญาชนอินเดีย เข้าสู่สังคมไทยมากที่สุดและอย่างต่อเนื่องมากที่สุด
    • ในวงวิชาการและคนอ่านหนังสือ ตลอดจนวงการศึกษาในพระศาสนา ยกย่องท่านเป็นปราชญ์และครูอาจารย์ อินเดียกับคนหนองบัวและคนนครสวรรค์ จึงมีเรื่องราวนี้เป็นที่น่าภาคภูมิใจและน่าเจริญรอยตามเรื่องหนึ่งครับ
    • อินเดียมีประชากรกว่า ๑,๐๐๐ พันล้านคน มากเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งมีกว่า ๑.๓ พันล้านคน เป็นสังคมประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดของโลก
    • จำนวนประชากรขนาดมหึมาและหลากหลายมาก แต่เชื่อไหมครับว่าอัตราการเกิดอาชญากรรมที่รุนแรงต่ำกว่าประเทศไทย เมื่อตอนที่ผมไปอินเดียนั้น เห็นฝูงชนตามที่ต่างๆวุ่นวายและหน้าตาน่ากลัวมาก ทว่า เมื่อเดินเข้าไปปะปน ขึ้นรถเมล์ เดินตลาดยามกลางค่ำกลางคืน ก็ไม่มีใครที่จะมากระทบกระทั่งและรบกวนเราแม้แต่น้อย ผมเดินเที่ยวามตรอกซอกซอยในเมืองหลวงใหม่ของอินเดียอย่างมีความสุขและได้ความอัศจรรรย์ใจมากมายจากสังคมอินเดีย ทุกสิ่งที่เป็นที่สุด ของโลกชนิดสุดขั้วสุดๆแต่ก็อยู่รวมกันที่นั่นได้ด้วยดี
    • สังคมอินเดีย เป็นประเทศเดียวของโลกที่เป็นแหล่งก่อเกิดศาสตร์ทางจิตวิญญาณและด้านในของมนุษย์ หรือ ศาสนา ที่สำคัญของโลกมากกว่า ๓ ศาสนา คือ พุทธ ฮินดู(พราหมณ์) ซิกซ์ ซึ่งมีบทบาทต่อการสร้างสังคมโลกมาก่อนยุควิทยาศาสตร์กระทั่งปัจจุบันมากกว่า ๔,๐๐๐ ปี และในปัจจุบันก็มีศาสนาแยกย่อยอีกนับร้อยศาสนา
    • การก่อเกิดภูมิปัญญาและการค้นพบอย่างเป็นแบบฉบับและเป็นต้นธาร มากมายอย่างนี้ เป็นตัวบ่งชี้ถึงความมีเสรีภาพในความเป็นมนุษย์อย่างยิ่งของสังคมอินเดีย ซึ่งก็สอดคล้องกับความเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดของโลก
    • สังคมอินเดีย มีภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันภายในประเทศมากที่สุดในโลก ภาษาที่สำคัญมากกว่า ๑๐๐ ภาษา และภาษาท้องถิ่นในกลุ่มวัฒนธรรมย่อยๆอีกกว่า ๔๐๐ ภาษา
    • รพินทรนาถ ฐากูร นักเขียนและปัญญาชนชาวอินเดีย เป็นคนแรกของเอเชียที่ได้รางวัลโนเบลของโลกและเป็นคนเดียวที่ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม มหาตม คานธี ก็เป็นตัวแบบของวิถีต่อสู้ด้วยอหิงสา 
    • กล่าวได้ว่า นับแต่ยุคโบราณมากระทั่งปัจจุบันนั้น สังคมอินเดียเป็นแหล่งสร้างสรรค์งานทางปัญญาและสร้างคนของโลก ที่ไม่ใช่การใช้อำนาจแบบแข็งและสร้างการคุกคามเข่นฆ่า แต่สังคมต่างๆทั่วโลกรับไปเอง เช่น สังคมไทย รับศาสนาพราหมณ์และต่อมาก็พุทธศาสนา มาเป็นศาสนาหลักของตน กระทั่งเป็นสังคมพุทธศาสนาใหญ่ที่สุดของโลกที่กลายเป็นผู้นำเอาพุทธศาสนาคืนไปสู่สังคมอินเดียในภายหลังได้อีกเหมือนหนูช่วยราชสีห์เลยทีเดียว
    • อินเดียมีงานสร้างสรรค์ด้วยน้ำมือของมนุษย์ที่เป็นสิ่งอัศจรรย์ของโลกและเป็นมรดกทางอารยธรรมของโลกมากมาย แต่ผมชอบทางด้านงานวรรณกรรม ภูมิปัญญาทางศาสนธรรม ศิลปะ นาฏศิลป์ ดนตรี งานวิชาการชุมชน และงานทางความคิด
    • งานสถาปัตยกรรม เช่น ทัชมาฮาลและสิ่งอลังการทางศาสนาที่บูชาพระเจ้านั้น เมื่อก่อนนั้นผมชอบ แต่พอได้ศึกษาเรียนรู้แล้วไม่ชอบและไม่ประทับใจเลยครับ มันเป็นงานทางความคิดของผู้นำที่ใช้อำนาจไม่กี่คน แต่จารึกความทุกข์ยากล้มตายของผู้คนนับแสนนับล้าน ที่ต้องทำงานที่คนดูว่างดงามนั้น ด้วยน้ำตา สายเลือด และการสูญเสียความเป็นมนุษย์ของเขาไปทั้งหมด
    • อันที่จริง ผลผลิตที่สร้างสรรค์จากสังคมอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นศาสนาที่สำคัญหลายศาสนาคือ พุทธ พราห์ม ฮินดู ซิกซ์ ภาษา ภาพยนต์และสื่อบันเทิง เมื่อรวมกันทั่วโลกแล้ว ก็นับว่ามีผู้คนได้นำไปใช้มากที่สุดของโลก ทั้งด้วยจำนวนประเทศและจำนวนพลเมือง ทว่า โดยมากแล้วเป็นพลังอำนาจทางสติปัญญาและเป็นสิ่งค้ำจุนหล่อเลี้ยงกลุ่มพลเมืองระดับฐานรากของสังคมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ให้เข้าถึงคุณภาพชีวิตของตนเองด้วยการพึ่งตนเองได้มากที่สุด จึงไม่เป็นที่โดดเด่นในความเป็นประเทศมหาอำนาจอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะกระแสโลกเน้นความเป็นผู้แข่งขันและเอาเปรียบกันเพื่อได้แก่ตนเอง แต่สิ่งประดิษฐ์ทางปัญญาของสังคมอินเดียนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นสิ่งที่ผู้อื่นนำเอาไปใช้เองอย่างทั่วโลก
    • ผมจึงให้บทสรุป เรียกอินเดียว่า ปลาอานนท์ของโลก ประเทศที่ค้ำจุนโลกโดยวิถีแห่งปัญญาและแบ่งปันสิ่งหล่อเลี้ยงทางจิตวิญญาณแก่มนุษยชาติได้มากที่สุดของโลก
    • ขอคารวะและรู้จักแขกผู้มาเยือนของเราอีกแง่มุมหนึ่งครับ

    ต้องกราบอภัยพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • ผมดึงข้อความออกมาจัดเว้นวรรคใหม่แล้วโพสต์กลับ เลยกลายเป็นอยู่ทีหลังของพระคุณเจ้าเลย แต่ก็คงไม่เป็นอะไรใช่ไหมครับ
    • เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่คนทั่วไปรู้สึกว่ามันไกลตัวกระมังครับ บ้านเรานั้น ชาวบ้านต้องคุยกันและค่อยๆคุยเชื่อมโยงไปหานักการเมืองท้องถิ่นให้ได้ หรือไม่ก็คุยหารือกันจนนักการเมืองท้องถิ่นรับได้แล้วช่วยกันทำ ไม่อย่างนั้น ก็จะมีแต่ด้านที่ไหลไปตามกระแสสังคมอย่างเดียว ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่ดีนะครับ แต่มันขาดด้านที่ควรจะสะท้อนความริเริ่มขึ้นจากท้องถิ่นต่างๆ
    • แต่อันที่จริงนั้น ก็เข้าใจพวกเราชาวหนองบัวมากเลยครับ ตอนที่อยู่บ้านหนองบัวนั้น ผมและคนหนองบัวเมื่อคุยกัน เอาแค่เรื่องในตัวเมืองนครสวรรค์แค่นั้น ก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ไกลตัวมากเลยครับ ยิ่งเป็นเรื่องมหาวิทยาลัยอีกด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้คนรู้สึกตัวเล็ก

     

                                                        

      คุยแบ่งปันประสบการณ์กันต่ออีก  เพื่อเป็นการให้เกียรติหมู่มิตรที่เข้ามาเยือนระยะไกลจากต่างประเทศด้วย และการเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านโดยดึงเอาด้านที่เป็นความเข้มแข็ง ดีงาม ของสังคมหนองบัวและของสังคมไทย ไปส่องดูในสังคมของประเทศต่างๆไปด้วย เพื่อมองโลกจากสายตาของเราน่ะครับ มุมมองอย่างนี้ จะเสริมต่อความรู้และให้ทรรศนะที่อยู่บนฐานที่ดีสำหรับชาวบ้านและลูกหลานของเราเอง

    จากภาพที่อาจารย์ณัฐพัชร์ดึงมานั้น US=United State สหรัฐอเมริกา | AU=Australia ออสเตรเลีย | IN=India อินเดีย | GR=Greece กรีซ | GB=Great Britain บริเตนใหญ่ | JP=Japan ญี่ปุ่น

    มองด้านความเป็นศูนย์กลางความเป็นแอ่งอารยธรรมและความเป็นศูนย์กลางของพลังโลกาภิวัตน์ พอจะแบ่งได้ ๓ กลุ่มครับ
    (๑) ศูนย์กลางอารยธรรมเก่าแก่ของยุโรปหรือโลกตะวันตก คือ กรีซ และศูนย์กลางอารยธรรมเก่าแก่ของเอเชียหรือโลกตะวันออก คือ อินเดีย กรีซนั้นเวลาเรียนศิลปะนักเรียนศิลปะและผู้เรียนประวัติศาสตร์ศิลป์หรือโบราณคดี ก็คงจะนึกถึงวิหารพาเทนอน และจอมกษัตริย์ อเลกซานเดอร์มหาราช กษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์เพียงพระชนมายุ ๓๓ ปีแต่ก็นำกองทัพรบแผ่ขยายราชอาณาจักรไปถึง ๓ ทวีปลงมาจนถึงอินเดียของทวีปเอเชีย
    (๒) กลุ่มสังคมที่เป็นศูนย์กลางของโลกใหม่ คือ อังกฤษ และศูนย์กลางของโลกใหม่ที่แตกตัวมาจากยุโรป คือ อเมริกา จากสงครามศาสนา และออสเตรเลีย จากการปล่อยนักโทษให้อพยพไปอยู่เกาะและกลายเป็นตั้งรกรากเจริญรุ่งเรืองเป็นประเทศใหม่ที่ครอบคลุมทั้งทวีป
    (๓) กลุ่มสังคมที่เป็นศูนย์กลางของโลกยุคใหม่ของเอเชียและโลกตะวันออก คือญี่ปุ่น

    มองในแง่ความเป็นศูนย์กลางของโลกยุคใหม่ในปัจจุบันและเป็นประเทศที่ก่อเกิดใหม่ มีความเป็นมาไม่ยาวนานนักเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่เห็นในกลุ่มนี้ คือ อเมริกา ซึ่งประกาศอิสรภาพเมื่อ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๑๙ หรือ ๙ ปี หลังการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ทว่า จากกลุ่มผู้ศรัทธาศาสนาที่อพยพไปก่อตั้งประเทศขึ้นใหม่ อเมริกาก็กลายเป็นประเทศที่ก้าวหน้า กระทั่งแทบจะเป็นขั้วอำนาจเดี่ยวของโลกในปัจจุบัน

    มองในแง่ของความรุ่งเรืองและเสื่อมถอยที่น่าเรียนรู้มากสำหรับประเทศไทยก็คือ อินเดีย กรีซ และอังกฤษ
      (๑) อินเดีย 
     มีความรุ่งเรืองมากทางศาสนา อารยธรรม และวัฒนธรรมของโลก แต่สิ่งที่ทำให้เสื่อมถอย ทรุดโทรม และล่มสลายในความเป็นแอ่งอารยธรรมจากยุคโบราณก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ชนชั้นผู้นำและวิถีปฏิบัติทางศาสนามุ่งไปสู่ความฟุ่มเฟือยและทุ่มเททรัพยากรไปในทางวัตถุอลังการ พิธีกรรม แต่ปล่อยให้ผู้คนทุกข์ยาก และต่อมาก็มุ่งลงทุนทางด้านอาวุธ นิวเคลียร์ การสร้างกองทัพ
      (๒) กรีซ  มีความรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางในทุกด้านของโลกตะวันตก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการผสมผสานความเป็นโลกตะวันตกและโลกตะวันออก เป็นตัวแบบของระบอบประชาธิปไตยของโลก เป็นต้นธารของการเมืองและการบริหารภาคสาธารณะของกลุ่มผู้นำชนชั้นกลาง ความเข้มแข็งที่แผ่ไปทั่วโลกกระทั่งปัจจุบันคือ ศิลปกรรมและศิลปะวิทยาแขนงต่างๆ รวมทั้งกองทัพที่เก่งกาจเกรียงไกร แต่ก็เป็นจุดอ่อนเมื่อถึงยุคหนึ่ง  กลุ่มชนชั้นนำและกลุ่มผู้นำทางศาสนา ก็มุ่งระดมทรัพยากรไปสร้างปราสาท ราชวัง ศาสนสถาน  และเมื่อเกิดความยากแค้น ทุกข์ยากในสังคม นักปราชญ์ นักคิด นักวิชาการ ก็เอาแต่นั่งถกปรัชญาหาความสำราญกับงานทางความคิดที่ไกลออกไปจากปัญหาของสังคม กระทั่งเกิดสงครามและล่มสลายความเป็นศูนย์กลางของด้านต่างๆ แต่การรวมตัวกันของกลุ่มนักคิดและปัญญาชนอีกด้วยเช่นกัน ที่ทำให้ยุติสงครามและสถาปนาการปกครองขึ้นใหม่ได้ในระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ก็สิ้นสุดบทบาทความเป็นประเทศผู้นำอย่างในอดีต
      (๓) อังกฤษ   เป็นศูนย์กลางของโลกในยุคอาณานิคม เป็นประเทศแม่แบบประชาธิปไตย มีความรุ่งเรืองทางศิลปวิทยา และอีกหลายด้าน รวมทั้งความเป็นเจ้าอาณานิคม แต่ความเสื่อถอยและล่มสลายในความเป็นศูนย์กลางอาณานิคมอย่างในอดีต ก็เกิดจากการทำสงครามและการต้องใช้ทรัพยากรสร้างความเป็นตัวตนในความเป็นเจ้าอาณานิคม ความแตกแยกฟุ้งเฟ้อในราชสำนักและความชิงดีชิงเด่นของชนชั้นผู้นำ ความอยุติธรรมในสังคม การเล่นพรรคเล่นพวกของเหล่าอำมาตย์และเสนาบดี จนทำให้เกิดความอ่อนแอในสังคม

      ช่วงเปลี่ยนผ่าน  ในยุคที่สังคมเสื่อมถอย เสื่อมโทรม จนถึงกับเกิดสงครามกลางเมืองอย่างกรณีของอังกฤษ และสงครามหลายทางทั้งในประเทศกับต่างประเทศอย่างกรณีของกรีซและอินเดียนั้น จะเกิดการสู้รบและใช้กำลังทหารสู้รบ รวมทั้งการรวมตัวทำสงครามกันอย่างเข้มข้น แต่ในที่สุด กลุ่มการรวมตัวของคนที่นำประเทศไปสู่ทางออก ก็คือกลุ่มนักวิชาการและกลุ่มปัญญาชน แม้อินเดียจะออกไปในทางปัจเจก คือ มหาตมคานธี แต่เบื้องหลังก็เป็นการรวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้นำของปัญญาชนกับกลุ่มนักวิชาการเช่นกัน เป็นอย่างนี้ทั้ง ๓ ประเทศ.

     ที่ dialogue box ๕๔๔   ในคำบรรยายภาพ ที่กล่าวถึงงาน ๑๐๐ วันแห่งมรณกรรมของท่านอาจารย์กรุณา กุศลาศัยนั้น ในภาพนี้ขอแก้ไขข้อมูลเป็นงาน ๕๐ วันครับ หลังจากนั้น ก็มีการจัดรำลึก ๑๐๐ วันมรณกรรมของอาจารย์อีกเช่นกัน แต่ไม่ใช่ในภาพที่ผมได้ไปในครั้งนี้ครับ

    สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์

    • ๒-๓ dialogues ด้านบนของอาจารย์ ข้อมูลผ่านประสบการณ์พรั่งพรูมากๆ เลยนะค่ะ โดยเฉพาะข้อมูลของประเทศอินเดียและข้อมูลของอาจารย์กรุณา แน่นและน่าทึ่งมากมายเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ ..
    • เลยนำ visitors information จากบันทึก แกะรอยณัฐพัชร์ มาฝากอาจารย์ เผื่อมีข้อมูลแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมค่ะ (ที่จริงนำมาอวดมั่งค่ะ) ^^"

                                   

    US=United State of America สหรัฐอเมริกา | NO = Norway  นอร์เวย์| AU=Australia ออสเตรเลีย | CN = China จีน | KR = Korea เกาหลี | GB=Great Britain บริเตนใหญ่ 

                                    

    US=United State of America สหรัฐอเมริกา | NO = Norway  นอร์เวย์| AU=Australia ออสเตรเลีย | KR = Korea เกาหลี | HK = Hong Kong ฮ่องกง 

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆท่าน
    อ้างถึง คคห.ที่ 516,517และ519
    บ้านของอัยการประเวศที่ผมจำได้คือต้นนุ่นที่อยู่หลังบ้าน เคยไปเก็บลูกนุ่นแก่ที่ร่วง หล่นลงพื้นเอามาให้แม่ทำหมอน (เดี๋ยวนี้หมอเค้าไม่แนะนำให้เอามาใช้แล้ว เพราะจะก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้)
    ส่วนร้านบัดกรีนั้นคือร้านยืนยง ยังอยู่ครับตามชื่อร้าน เมื่อก่อนนี้ปี๊บใส่น้ำ หม้อขันกาละมัง ภาชนะที่ทำด้วยเหล็กและอลูมิเนียมรั่ว ก็ต้องมาบัดกรีตะกั่วที่นี่ แต่ปัจจุบันไม่มีงานบัดกรีแล้ว ทุกบ้านใช้แต่ขันกาละมังพลาสติค แล้วก็เรื่องของสุขอนามัยสารพิษตะกั่ว เช่นเดียวกับภูมิแพ้ปุยนุ่น
    กิจการร้านยืนยงปัจจุบันเน้นตีเคียวตีมีดตีเหล็กเป็นหลัก เจ้าของกิจการ ตาหวง(อ่านว่า ว๋ง)ยังอยู่ แต่คู่ชีวิตคือยายใหญ่ได้เสียชีวิตไปได้ 4-5 ปีแล้ว ภาพที่2คนคู่นี้กรึ๊บสุราที่ตลาดหลังเสร็จจากงานแล้วเดินกลับบ้านด้วยกันนี่ คนทั้งตลาดต้องช่วยกันลุ้นว่าจะกลับถึงบ้านได้รึเปล่า เพราะ2คนผัวเมียจะเดินกอดคอกัน เดินไปข้างหน้า 2 ก้าว ก็ถอยหลังไป 3 ก้าว กว่าจะกลับถึงบ้านซึ่งมีระยะทางไม่เกิน 300 เมตร ใช้เวลานานโขอยู่
    ตอนนี้ลูกชายคนโตไอ้โหนก กับคนกลางไอ้หว่าง(นี่ก็เพื่อนรุ่นเดียวกัน) สืบทอดกิจการและการใช้ชีวิตต่อ (คนเล็ก ไอ้เหว่งจมน้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์เมื่อหลายปีก่อน)
    เจอเพื่อนเก่าที่หนองบัวคราวก่อน คุยสนุกๆกับเพื่อนว่า 7-11 ที่เปิดร้าน 24 ชม.นี่ก็เอาวิธีการมาจากร้านยืนยงนี้แหละ เพราะหลายครั้งที่ร้านนี้เปิด 24 ชม. (แต่เปิดทำอะไรเป็นที่รู้กัน)
    เรื่องภาษาไทยนี่ ไม่รู้จะเขียนอย่างไรให้คนอ่านว่า หวง(ว๋ง) ได้นะ (อ่านเหมือนกับ หลง) เปิดในเวปราชบัณฑิตยสถานก็ไม่มี คงต้องวานให้กูรูภาษาไทยช่วยแจงด้วย ขนาดคนไทยด้วยกันบางครั้งก็ไปไม่เป็น หลายครั้งที่เรามักจะบอกว่าภาษาอื่นนั้นยาก คนชาติอื่นที่เขาต้องการเรียนรู้ภาษาไทยก็คงจะบ่นเหมือนกับที่พวกเราคนไทยบ่นเหมือนกันละมั้ง

      สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ 

    • กลุ่มผู้มาเยือนบล๊อกอาจารย์ณัฐพัชร์ดูแปลกตาไปอีกแบบนะครับ
    • แต่อาจารย์เล่าให้คนหนองบัวฟังดีกว่าไหมครับ อาจารย์เคยไปแล้วก็มีหมู่มิตรต่างประเทศเยอะ แต่ผมยังไม่เคยไปแถวนี้เลย

      สวัสดีครับฉิก   อ่านที่ฉิกพรรณาตาหวงกับเมียเดินกอดคอกันกลับบ้านหลังกรึ๊บเหล้าจนได้ที่แล้วก็ขำดีครับ

    ประวัติบุคคลสำคัญของอำเภอหนองบัว

    วันนี้ขออนุญาตนำเสนอบุคคลสำคัญในอดีตที่มีบทบาทสำคัญต่อการศึษาพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและด้านอื่นๆที่เกิดขึ้นในชุมชนของเรา เพื่อให้ชาวหนองบัวและลูกหลานเยาวชนรุ่นหลังในชุมชนของเรานี้ได้รู้จักและระลึกถึงคุณความดีตลอดถึงการเห็นคุณค่าการสร้างสรรค์ประโยชน์ที่ท่านได้กระทำไว้ ดังนี้

    พระเทพสิทธินายก(ห้อง ชาตสิริ ท้วมเทศ ป.ธ.๖ ๒๔๓๘-๒๔๙๙) อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ พระเดชพระคุณท่านถือกำเนิดที่บ้านเนินพลวง หมู่ที่ ๔ ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นลูกชาวนาบ้านป่าดงดอนเมื่อกว่าศตวรรษที่ผ่านมาหรือร้อยกว่าปีมาแล้ว ยุคสมัยที่ท่านเกิดนั้นบ้านหนองบัวขึ้นกับการปกครองสองจังหวัดด้วยกัน บางส่วนขึ้นกับอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ บางส่วนก็แยกไปขึ้นกับอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ท่านเป็นคนบ้านเนินพลวงที่ตอนนั้นขึ้นกับอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ท่านมีคุณูปการต่อชุมชนหนองบัวและพระศาสนาอย่างมากมาย ขอสรุย่อ ๆ ได้ดังนี้

    ๑.เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม(อนุบาลหนองบัว)
    ๒.เป็นผู้ให้กำเนิดก่อสร้างวัดเทพสุทธาวาส
    ๓.เป็นคนหนองบัวคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดทางการบริหารของคณะสงฆ์ในระดับจังหวัด
    ๔.เป็นคนหนองบัวคนแรกที่ทรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ(ที่ชาวบ้านรู้จักและเรียกกันว่าเจ้าคุณ พ.ศ.๒๔๗๙)
    ๕.เป็นพระราชาคณะรูปที่สองของจังหวัด รูปแรกคือหลวงพ่อพระธรรมไตรโลกาจารย์(ยอด อกฺกวํโส ป.ธ. ๖) วัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี จ.นครสวรรค์
    ๖.เป็นมหาเปรียญรูปแรกของอำเภอหนองบัว
    ๗.เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์รูปที่ ๕
    ๘.เป็นศิษย์หลวงพ่อคล้าย จนฺทโชโต(พระนิพันธ์ธรรมาจารย์) วัดเขาพนมรอก อำเภอท่าตะโก ซึ่งท่านบวชเณรให้ หลวงพ่อคล้ายเป็นพระมหาเถระที่คู่บารมี หลวงพ่อเดิม ได้มีโอกาสสร้างโบสถ์วัดพนมรอกร่วมกับหลวงพ่อเดิม ท่านถือได้ว่าเป็นศิษย์องค์สำคัญในลำดับที่หนึ่งของหลวงพ่อคล้ายจากบรรดาศิษย์ที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย
    ๙.ท่านไม่ใช่เป็นเพียงคนแรกในหลาย ๆ ด้านของอำเภอหนองบัวเท่านั้น แต่ท่านยังเป็นบุคคลในลำดับต้นๆ ที่มีวุฒิทางการศึกษาสูงของเมืองนครสวรรค์อีกด้วย(ท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ที่เป็นมหาเปรียญรูปที่ ๒)
    ๑๐.เป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต(เฮง เขมจารี ป.ธ.๙)ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่มีบทบาทในการจัดการศึกษาสงฆ์และการศึกษาสำหรับกุลบุตรฝ่ายบ้านเมืองสมัยรัชการที่๕

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆท่าน

    มาส่งใบลาครับ กลับมาอีกทีก็กลางๆสัปดาห์หน้า

    พระเทพสิทธินายก(ห้อง ชาตสิริ ท้วมเทศ ป.ธ.๖ ๒๔๓๘-๒๔๙๙) ผมยังไม่เกิดเลย เห็นนามสกุลนี่เดาได้เลยว่าต้องอยู่หนองกลับแน่ๆ (ต้องเกี่ยวข้องอะไรกับกำนันเทียน ท้วมเทศ)

    เจริญพรคุณฉิก

    ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก(ห้อง ชาตสิริ ท้วมเทศ ป.ธ.๖) อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ท่านเป็นคนหนองกลับหมู่๔บ้านเนินพลวง กำนันเทียน ท้วมเทศนั้นเกี่ยวเนื่องโดยตรงเลยคือเป็นหลานแท้ๆของหลวงพ่อเจ้าคุณเทพฯนั่นเอง

    ก็ขออนุญาตเพิ่มเติมข้อมูลประวัติศาสตร์บางส่วนให้คุณฉิกได้ทราบเลยว่า ท่านเป็นคนหนองบัวที่ได้ดำริริเริ่มวางรากฐานการศึกษาให้แก่คนหนองบัวมาตั้งแต่ต้น
    คือปีพ.ศ.๒๔๖๖ท่านได้เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม(อนุบาลหนองบัว) และชื่อโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคมที่พวกเราหลายคนเรียนชั้นประถมศึกษานั้นก็ได้มาจากราชทินนามของหลวงพ่อ ชื่อของท่านคือพระเทพสิทธินายก-ชื่อโรงเรียนคือโรงเรียนเทพวิทยาคม

    อีกชื่อหนึ่งที่ได้มาจากชื่อสมณศักดิ์หรือราชทินนามของหลวงพ่อโดยเฉพาะก็คือวัดเทพสุทธาวาส ตอนเริ่มสร้างวัดนั้น ท่านเจ้าคุณเทพฯได้ตั้งชื่อวัดมา ๓ ชื่อเพื่อให้ชาวบ้านเลือก ปรากฏว่าชาวบ้านเลือกชื่อวัดเทพสุทธาวาสซึ่งเป็นชื่อสมณศักดิ์ของท่านนั่นเอง และวัดเทพสุทธาวาสนี้เอง ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของชาวหนองบัวได้เลย นั่นคือปี
    พ.ศ.๒๔๙๙ มีการก่อสร้างวัดขึ้นที่หมู่บ้านหนองกลับได้มีพี่น้องประชาชนชาย-หญิงทั้งหนองบัว-หนองกลับรวมสองตำบลร่วมแรงร่วมใจกันมาสร้างเสนาสนะอย่างพร้อมเพรียงได้สร้าง กุฏิ ๔ หลัง ศาลา ๑ หลัง หอสวดมนต์ ๑ หลัง รวมเป็น ๖ หลัง ทำเสร็จภายในวันเดียว โดยการนำของท่านเจ้าคุณเทพสิทธินายกและหลวงพ่ออ๋อยวัดหนองกลับ เรื่องนี้ตรงกับคำขวัญประจำอำเภอหนองบัวในวรรคสองที่ว่า ลื่อเลื่องความสามัคคี

    อ่านการส่งข่าวรายงานเรื่องใบลากิจของคุณฉิกแล้ว ให้ความรู้สึกผ่อนคลายดีจัง เหมือนคนบ้านเดียวกัน คนคุ้นเคยกัน บ้านใกล้กันจะไปกิจธุระแล้วฝากบ้านไว้กับเพื่อนให้ดูแลแทน ดูเป็นบ้านน้อก บ้านนอกดีเนาะ เป็นกันเองและอบอุ่นดีด้วย เป็นการสื่อสารบอกกล่าวที่ดีและแสดงออกถึงการมีส่วนร่วม

    เวทีคนหนองบัวนี้เป็นของทุกคนอยู่แล้ว ก็ขอเชิญชวนใครมีข่าวสารกิจกรรมงานส่วนรวมจากชุมชนหนองบัวจะแจ้งให้พี่น้องไกลบ้านได้รับรู้บ้างก็สามารถใช้ช่องทางนี้เป็นสื่อกลางบอกกล่าวแจ้งข่าวสารต่างๆผานเวทีนี้ได้ตลอดเวลา

    ข้อมูลเรื่องท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกที่พระคุณเจ้าและฉิก สนทนาและถ่ายทอดกันไว้นี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับคนหนองบัวและคนทั่วไปที่สนใจศึกษาความเป็นมาทางด้านต่างๆของชุมชนหนองบัว เลยดึงไปรวมไว้ที่ลานปัญญาของคนหนองบัวด้วยนะครับ

    สืบเนื่องจากที่คุณฉิกกล่าวไว้ในความเห็นที่ ๕๕๓ ว่าผมยังไม่เกิดเลย ซึ่งก็คงหมายถึงปีพ.ศ.๒๔๙๙ และก็เป็นปีที่ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินากยกมรณภาพด้วย โดยในปีพ.ศ.๒๔๙๙ นี้นั้นไม่เพียงแต่คุณฉิกหรอกนะที่ยังไม่เกิด อาตมาก็ยังไม่เกิดเหมือนกัน

    บ้านหนองกลับซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านเจ้าคุณเทพฯนั้นคนรุ่นหลังหรือแม้รุ่นอาตมาเองก็ไม่ได้ทันเห็นท่าน แต่เท่าที่จำได้ติดตามาจนถึงทุกวันนี้เลยก็คือที่บ้านอาตมาและบ้านญาติพี่น้องตลอดถึงบ้านคนอื่นๆ อีกมากในหนองกลับนั้นจะมีรูปถ่ายของท่านใส่กรอบไม้ติดไว้ที่ฝาบ้านหลายบ้าน เห็นจนชินตาตั้งแต่เด็ก ซึ่งพวกเราเด็กๆก็ไม่รู้อะไรไปกว่า ว่าหลวงพ่อองค์ห่มจีวรเหลืองเข้มในรูปนี้คือใคร รู้แต่เพียงตามคำบอกเล่าของพ่อแม่คนเฒ่าคนแก่ว่า นี่แหละท่านเจ้าคุณห้องละ เด็กๆก็รู้แค่นี้แหละ ที่รู้ก็เพราะรูปถ่ายท่านอยู่ที่บ้านเรานั่นเอง

    พระเดชพระคุณหลวงพ่อเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม(๒๔๖๖)พยายามนึกอยู่ว่าในห้องเรียนที่เรียนอยู่ ๔ ปีนั้นมีรูปถ่ายของท่านติดไว้บ้างหรือไม่ ก็นึกไม่ออก หรือจะมีอยู่แต่อาตมาอาจหลงลืมไปเสียก็ไม่รู้

    แต่บัดนี้ได้ทราบว่าท่านพระครูนิมิตศีลาภรณ์(สม ฐิตสีโล-ฉ่ำน้อย)เจ้าอาวาสวัดเทพสุทธาวาสรูปปัจจุบัน ได้ให้ช่างวาดภาพหลวงพ่อเทพฯและบุคคลสำคัญในชุมชนวัดเทพฯไว้ที่ศาลาการเปรียญ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล และสวัสดีทุกท่านครับ

    หากใครมีข้อมูลรูปถ่ายเก่าๆ ที่เกี่ยวกับหลวงพ่อ คนเก่าคนแก่ รวมทั้งการก่อสร้างโรงเรียนและวัด มารวบรวมไว้ให้คนที่สนใจได้ดู ได้ศึกษา ก็ยิ่งดีใหญ่เลยนะครับ

       พึ่งตนเอง ให้ความอุ่นใจและเป็นหลักใจให้คนรอบข้าง   
    ๓ อย่างเพื่อดูแลตนเองและมีส่วนร่วมดูแลสังคมให้เดินไปข้างหน้าด้วยดี แด่คนหนองบัวและผู้มาเยือนเวทีคนหนองบัว

    ในสถานการณ์ที่วุ่นวายสับสนของสังคมในปัจจุบัน หลายฝ่ายต่างยังมีความหวังที่จะช่วยกันหาทางแก้ไข เสนอแนะ เรียกร้องความร่วมมือ ความสมานฉันท์ ความสามัคคี ความปรองดอง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแนวคิดและแนวทางใด ต่างก็เป็นสิ่งที่สื่อสะท้อนให้เห็นได้ว่า ผู้คนที่ทุกข์ร้อนต่อสังคมแต่ไม่ยอมอับจนที่จะหาทางมีส่วนร่วมแก้ไขให้ดีที่สุดนั้นมีอยู่เสมอ

    สถานการณ์อย่างนี้ มองในแง่การเรียนรู้ทางสังคมก็จะพบว่าเป็นสภาพที่เกิดขึ้นทั้งในสังคมไทยและหลายแห่งในสังคมโลก เป็นผลสืบเนื่องของความหลากหลาย ซับซ้อน ของสังคม ที่ขยายตัวขึ้นในทุกด้าน ก่อให้เกิดความแตกต่างและรับรู้ไม่เท่ากันในหลายด้าน ความเคลื่อนไหวเพื่อหาทางออกไปสู่สภาวการณ์อย่างใหม่ที่ดีกว่าเดิม มีความสมดุล และให้ความลงตัวแก่กลุ่มผู้เกี่ยวข้องทุกคนได้ดีกว่าเดิม จึงก่อให้เกิดความขัดแย้ง ปะทะ ต่อสู้ และมีความต่างกันทั้งท่าที ความคิด และวิถีปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆที่ต้องมาเผชิญในสถานการณ์เดียวกันและในวาระเดียวกัน ทว่า ต้องไม่นำไปสู่ความรุนแรง สร้างความบอบช้ำ และเป็นบทเรียนที่สาปสังคมให้ติดอยู่ในวงจรแห่งความหวาดระแวง ล้างแค้น ชิงไหวชิงพริบ ทีใครทีมัน พัฒนาการของสังคมไทยมีความสืบเนื่อง เข้มแข็ง และมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่หลายด้าน อีกทั้งสังคมโลกก็มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพียงอยู่เฉยก็ล้าหลัง และเมื่อบั่นทอน ซ้ำเติมตนเอง ก็เสี่ยงต่อความล่มสลาย

    สถานการณ์อย่างนี้ ความรู้ การเรียนรู้ และวิถีแห่งการใช้สติปัญญาช่วยอะไรได้บ้าง ควรให้ความสำคัญกับความรู้ชนิดไหน ควรสร้างขึ้นอย่างไร วางท่าทีและจัดการให้ได้มรรคผลทางการปฏิบัติแก่ตัวเราเองและคนรอบข้างได้อย่างไร ขอแบ่งปันเพื่อเป็นการช่วยกันคุยและให้ความคิดความบันดาลใจกัน สักหน่อยนะครับ

     ๑. จิตใจ  : มีสติ มั่นคง ซื่อตรง หนักแน่นในคุณธรรมความดี

    ท่ามกลางความวุ่นวาย หลากหลาย สับสน อย่างนี้ ผู้คน รวมทั้งตัวเราเองย่อมอยู่ในภาวะตระหนก แตกตื่น โกลาหล เต็มไปด้วยความหวาดกลัว เอาตัวรอด ทอดทิ้งความใส่ใจผู้อื่นและสิ่งอื่นโดยรอบ ยิ่งเราตกใจและพยายามดิ้นรน สภาพโดยรอบก็จะยิ่งวุ่นวายโกลาหลเพิ่มขึ้นไปอีก หากเรียกร้องการพึ่งพิงให้คนอื่นแก้ไขอย่างเดียว คนอื่นก็เป็นอย่างเราเหมือนกัน ทั้งสังคมก็จะเต็มไปด้วยความดูดาย เพิ่มกำลังของปัญหา

    ดังนั้น ทางหนึ่งที่สามารถเริ่มขึ้นได้ด้วยตัวเราเองคือ ดูแลตนเองและเห็นตนเองก่อน เหมือนกับการยืนและหยุดให้นิ่ง มั่นคง ซึ่งนอกจากจะพึ่งตนเองและดูแลตนเองให้ดีที่สุดให้ได้ก่อนแล้ว ก็จะเป็นหลักใจและแหล่งสัมผัสโลกรอบข้าง เป็นสิ่งแวดล้อมของคนรอบข้างที่ทำให้คนรอบข้างและในชุมชนใกล้ตัวของเราเกิดความอุ่นใจ มีโอกาสเรียนรู้และบ่มเพาะความไว้วางใจสังคม เชื่อใจได้ สามารถได้สติ มีความมั่นคง คุณธรรมและสติปัญญากลับมาทำงานได้ในภาวะที่ดีกว่าเดิมอีกครั้ง ทำให้มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมให้เกิดสุขภาวะและมีความเข้มแข็งขึ้นจากองค์ประกอบเล็กๆที่มีตัวเราอยู่ เมื่อสังคมมีกำลัง ฟื้นไข้ ก็จะมีพลังเยียวยาตนเองได้ดียิ่งๆขึ้น ตัวเราและชุมชนของเราก็นับว่ามีส่วนร่วมต่อการดุแลสังคม


     ๒. ความรู้ ความคิด  :  เรียนรู้ใคร่ครวญ ฟังข้อมูลข่าวสารหลายด้าน อย่างเป็นตัวของตัวเอง

    สภาพสังคมยามนี้ โน้มไปในทางการเป็นภาวะความขัดแย้งและต่อสู้บนฐานการเอาชนะคะคานกัน ต่อสู้เชิงความคิด จัดวางตีตรากันและกัน ซึ่งต่างก็มีทุกอย่างที่มีพลังและมีประสิทธิภาพไม่อ่อนด้อยไปกว่ากัน ทั้งการมีคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญสูง มีกำลังและฐานสนับสนุนอยู่ข้างหลัง การมีเครือข่ายเหนียวแน่นทั้งในและต่างประเทศ มีสื่อที่เก่งและมีศักยภาพทุกระดับ หากเปิดรับข้อมูลและการรับรู้ด้านใดด้านหนึ่งช่องทางเดียว ทุกอย่างก็ย่อมดีและน่าเชื่อถือได้ทั้งสิ้น แต่ไม่เพียงพอสำหรับหาทางออกที่พ้นจากความขัดแย้งและการปะทะกันได้ เพราะวางอยู่บนฐานคิดเพื่อการต่อสู้เอาชนะและขจัดอีกฝ่ายออกไปจากวิธีคิดของตนเอง

    ดังนั้น จึงควรเปิดรับข้อมูลข่าวสารให้รอบด้านและไม่ไหลไปตามกระแสข่าวสารที่ท่วมท้น คิด กลั่นกรอง ใคร่ครวญ เห็นตนเอง และมีความเป็นตัวของตัวเอง สร้างความคิดและเข้าใจความรู้เพื่อใช้แก้ปัญหาได้ด้วยตัวเราเอง หากรับรู้สิ่งใดได้เพียงแต่ทำให้ว้าวุ่นใจ ร้อนใจ ฟุ้งซ่าน ก็ควรรู้ตน ดูแลสติ และทำจิตใจให้หนักแน่น แยบคาย


     ๓. การปฏิบัติเชิงสังคม  : ทำทุกอย่างให้มีความหมาย สะท้อนความเข้าใจ ทรรศนะเปิดกว้าง ร่วมทุกข์สุข

    ปฏิบัติต่อตนเองและคนรอบข้างด้วยคุณธรรมที่ออกจากจิตใจ มีความจริงใจ เปิดกว้าง ร่วมทุกข์สุข คำนึงถึงใจเขาใจเรา ใช้เหตุผลบนฐานคุณธรรม รู้ความพอประมาณ อย่าตัดสินและติดยึดเพียงความเชื่อของตนเอง ให้ความเมตตา นึกถึงบทแผ่เมตตาให้มากที่สุดว่า แท้จริงแล้ว ผู้คนและสรรพชีวิตล้วนร่วมชะตากรรมด้วยกัน เป็นเพื่อนร่วมทุกข์สุขกันและกัน ใช้ลมหายใจเข้าออกเดียวกัน เป็นองค์ประกอบของ ดิน น้ำ ไฟ ลม หรือเป็นส่วนเสี้ยวของธรรมชาติเดียวกัน

    มองโลกรอบข้างอย่างมีความหวัง เห็นศักยภาพและทุนทางสังคมที่ยังมีสิ่งดีๆรอการสร้างสรรค์อยู่อีกมากมาย เห็นโอกาสและสิ่งที่ควรสืบสานทำให้งอกงามมากขึ้นในชุมชน ครอบครัว และท้องถิ่นหนองบัว รวมทั้งในสังคมวงกว้างออกไป และที่สำคัญ คนหนองบัวมีทุนทางสังคมในด้านความสามัคคีสร้างสรรค์ความเป็นชุมชนมากมายหลายกรณี คุณธรรมความเป็นส่วนรวมดังกล่าวนี้ นำเอามาถ่ายทอดแบ่งปันให้แก่สังคมโดยทั่วไปได้เป็นอย่างดี.

    นมัสการท่านพระมหาแลฯ สวัสดีครับท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คุณอ้อยเล็ก พี่ฉิก คุณเสวก และพี่น้องชาวหนองบัวทุก ๆ ท่านครับ

    เกือบเดือนเต็ม ๆ ครับที่หายไป ตอนนี้เสร็จสิ้นภารกิจน้อยใหญ่ทั้งหลายแล้ว ทั้งที่หนองคาย - นครสวรรค์ - เวียงจันทน์ - กรุงเทพฯ

    ตั้งใจไว้แต่เดิมว่าชีพจรคงจะยังไม่มาลงเท้าง่าย ๆ ที่ไหนได้วันศุกร์นี้ต้องเดินทางอีกแล้วครับ สายการบินนกแอร์....อุดร - เชียงใหม่ -อุดร เดี๋ยวต้องกลับไปค้นดูหน่อยว่าเส้นทางที่จะไปอำเภอเวียงแหงนั้น เฉี่ยว ๆ หรือผ่านบ้านท่านอาจารย์วิรัตน์บ้างหรือเปล่า ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นบ้านห้วยส้มใช่ไหมครับ พอจะไปทางนั้นก็ให้นึกถึงคนที่เคยรู้จัก เช่น หมอเกี้ย พรรคพวกศุลกากรหลายคนที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปอยู่สนามบิน - นิคมฯลำพูน - ท่าเรือ - ชายแดนเขตนั้น

    เมื่อถึงเวลาจริง ๆ คิดว่าน่าจะไม่ได้แวะหาใครเลยเพราะทำธุระเสร็จก็ต้องรีบเดินทางกลับ

    มายืนยันและแสดงตัวครับ เพื่อกันข้อสงสัยเหมือนกรณีดร.ทักษิณ อ้าว.....นี่ก็เจียงใหม่อีกแล้ว

    ขอลาไปก่อนและสวัสดีครับ.

    สถานการณ์แบบนี้ จะเลือกสีไหนดี...

    ปรากฏการณ์ของสังคมในขณะนี้ผู้คนมีความคิดความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แบ่งฝ่าย แบ่งข้าง แบ่งขั้ว จากเดิมที่แต่ละฝ่ายใช้สีใดสีหนึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มของตนซึ่งเป็นสีที่เห็นชัดเจนสังเกตง่าย ก็เปลี่ยนมาเป็นสีผสม เป็นหลากสี บางคนให้เหตุผลในการเปลี่ยนสีว่าเพื่อความปลอดภัย ถ้าเหตุผลนี้ใช้ได้ก็น่าสนับสนุนอย่างยิ่งเลย เพราะเมื่อเลือกใดสีหนึ่งแล้วมีอันตราย ก็ไม่สมควรใช้อีกต่อไป ขอให้การเปลี่ยนสีนี้เป็นทางมาแห่งความรัก ความเมตตา ความเข้าใจ ซึ่งกันและกัน

    ถึงอย่างไรก็ไม่วายที่จะตั้งคำถามให้ผู้อ่านเลือกสีอยู่ดี แต่เพื่อเป็นการคลายเครียดสักเล็กน้อย จึงขอตั้งเป็นคำถามปัญหาเชาว์ซะเลย(สถานการณ์นี้เลือกสีอะไรดี?) ยังไม่เฉลยตอนนี้ เอาไว้อ่านจบก่อน แล้วค่อยเฉลยตอนท้าย ผู้เขียนขออนุญาตนำบทกลอน ๒ บท บทแรกประพันธ์โดยหลวงลุง(สามัคคี)ซึ่งผู้เขียนรู้จักท่านเป็นการส่วนตัวได้จดกลอนของท่านบทนี้เมื่อปี ๒๕๔๔ ส่วนอีกบทหนึ่ง(ตากับตีน)เป็นบทกลอนที่แพร่หลายแต่ไม่ทราบผู้ประพันธ์ เนื้อหาใจความทั้งสองบทนี้จะเป็นคำตอบปัญหาเชาว์ด้วย

    หลวงลุง(พระครูโสภณคุณาภรณ์ วรปุญฺโญ-กลมละม้าย ป.ธ.๕ M.A.) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระบาทมิ่งเมือง พระอารามหลวง จ.แพร่ ปัจจุบันท่านได้กลับไปจำพรรษาภูมิลำเนาเดิมของท่านที่วัดอัมพวันเจติยาราม อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

    สามัคคี  โดยหลวงลุง
    อยู่ด้วยกัน     สามัคคี         ต้องมีไว้
    เหมือนกอไผ่  ร่วมแรง         ดูแข็งขัน
    ใครจะหัก      ใครจะพราก   ไม่จากกัน
    สารพัน         ภัยมีมา          กล้าผจญ
    หรืออย่างเช่น นกกระจาบ     ทราบกันว่า
    ถูกพรานป่า    ขึงตาข่าย      หมายถอนขน
    แต่ว่านก        สามัคคี         มีในตน
    ยกข่ายพ้น     จากตาย        สบายตัว
    อยู่ด้วยกัน     ต้องเป็นมิตร   อย่าริษยา
    มีเมตตา        ต่อกันไว้        อย่าใฝ่ชั่ว
    ทำความดี     ทุกเวลา         อย่าเมามัว
    จงเกรงกลัว   บาปกรรม        เรื่องช้ำใจ
    อย่าหูเบา     ใจเบา            ให้เขาแหย่
    ฟังให้แน่      ดูให้เห็น         ประเด็นใหญ่
    ใช้ปัญญา     ค่อยคิด          พินิจไป
    อย่าให้ใคร    จูงเราเล่น       ไม่เป็นการ
    มีตักเตือน     กันบ้าง          อย่างพี่น้อง
    อย่าจองหอง  ใจดำ            ทำห้าวหาญ
    อย่าดูหมิ่น     ลดเลี้ยว        เที่ยวประจาน
    อภัยทาน       มีไว้บ้าง        สร้างไมตรี
    อยู่ด้วยกัน     สามัคคี         มีความรัก
    ผูกสมัคร       กายใจ          ไว้เป็นศรี
    ร่วมกันทำ     ร่วมกันสร้าง    ในทางดี
    แล้วจะมี       ความสุขสันต์  ทุกวันคืนฯ

    ตากับตีน
    ตีนกับตาอยู่กันมาแสนผาสุข
    จะนั่งลุกยืนเดินเพลินหนักหนา
    วันหนึ่งตีนทะลึ่งเอ่ยปรัชญา
    ว่าตีนมีคุณต่อตาเสียจริงจริง
    ตีนพาตาไปในที่ต่างต่าง
    ตาจึงได้ชมนางและสรรพสิ่ง
    เพราะฉะนั้นดวงตาจงประวิง
    ว่าตีนนี้เป็นสิ่งควรบูชา
    ตาได้ฟังตีนคุยโม้ก็หมั่นใส้
    จึงร้องบอกออกไปด้วยโทสา
    ว่าที่ตีนไปไหนมาไหนได้ก็เพราะตา
    ดูบรรดาเศษแก้วไม่ตำตีน
    เพราะฉะนั้นตาจึงสำคัญกว่า
    ขอตีนอย่าได้มาคิดดูหมิ่น
    สรุปแล้วตามีค่าสูงกว่าตีน
    ทั่วธานินทร์ตีนไปใด้ก็เพราะตา
    ตีนใด้ฟังก็คลั่งแค้นแสนจะโกรธ
    ก็พิโรธกระโดดไปใกล้หน้าผา
    เพราะอวดดีคุยเบ่งเก่งกว่าตา
    ดวงชีวาจะดับไปไม่รู้เลย
    ตาเห็นตีนทำเก่งเร่งกระโดด
    ก็พิโรธแกล้งระงับหลับตาเฉย
    ตีนพาตาถลาล้มทั้งก้มเงย
    ตกแล้วเหวยตายห่าทั้งตาตีน.
    อยู่สัมคมเดียวกันก็ควรรักกันเมตตากันไว้แหละดี "ความดี"ของแต่ละคนไม่ต่างกัน แต่"หน้าที่" ต่างหากที่ต่างกัน

    เฉลยปัญญาเชาว์ สีอะไรดี? ปัญหาเชาว์นี่ไม่มีอะไรมาก แค่ผวนคำว่าสามัคคีเท่านั้นแหละก็จะได้คำตอบแล้ว ลองผวนดูว่าสีอะไรดีดังนี้ สีมัคคา-สามัคคี
    เหมือนโฆษณาสีทาบ้านที่บอกว่าสีของเค้าดีจริงๆ ถ้าไม่เชื่อว่าสีมัคคาดีจริง จะลองนำไปใช้ดูก็ไม่ว่ากระไร

    จากความเห็นที่ ๕๖๐ หายไปซะนานเลยเนาะ มาอีกทีก็มาสูง(บิน)เลยหนอ เห็นแว๊บๆไม่ชัดเจนเท่าไหร่ นึกว่าคนดูไบ(อดีตนายกรัฐฯ)ซะแล้ว อย่างไรเสียก็ขอให้มารายตัวบ่อยๆ เด้อ อย่าได้หายไปนานเหมือนคนดูไบนะ เอาแต่โฟนอินเข้ามาอย่างเดียวคิดถึงแย่เลย(แค่หายไปไม่กี่วันเองอาจารย์วิรัตน์ก็บ่นหาแล้ว)

    ขอร่วมสวัสดีทักทายคุณสมบัตินะครับ  เหมือนหายไปเป็นนานเลยนะครับ ทั้งที่เป็นแค่เดือนเดียว โครงการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะภาษาวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านให้กับคนของศุลกากร คงจะประสบความสำเร็จด้วยดีให้หายเหน็ดเหนื่อยนะครับ ขอแสดงความยินดีด้วยนะครับ

     กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • บทกลอน สีมัคคา และ ตากับตีน ที่พระคุณเจ้านำมาถ่ายทอดสู่กันอีกครั้งในนี้นั้น ไม่เพียงให้ความคิดและเป็นอนุสติแก่สังคมในสถานการณ์ยามนี้ของสังคมได้เป็นอย่างดีเท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้ได้อย่างทั่วไปด้วยนะครับ
    • ยิ่งในแง่ความไพเราะทางการประพันธ์ ก็ดีมากจริงๆครับ

                                    

    •  ตอนนี้  เวทีคนหนองบัว มีหมู่มิตรจากนานาประเทศมาเยือนเพิ่มขึ้นอีกจาก เกาหลี เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน รวมเป็น ๙ ประเทศแล้วนะครับ และกลุ่มผู้สนใจที่เข้ามาอ่านก็เหลืออีก ๖ คนก็จะเข้าสู่ ๑ พันสุดท้ายของหลักหมื่นแล้วละครับ น่าประทับใจมากจริงๆครับ
    • วันนี้ผมไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมสอบจบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นกรรมการสอบด้วยบอกว่าท่านได้เข้ามาอ่านเรื่องราวต่างๆในเวทีคนหนองบัวนี้ และบอกว่าชอบมาก ในอนาคตจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ท่านสะท้อนให้เป็นแนวคิดสำหรับทำต่อไปอีกหลายอย่างครับ

    ขอแสดงความยินดีกับเวทีคนหนองบัและขอต้อนรับแขกผู้มาเยือนเวทีฯนี้ทุกท่าน ทั้งในท้องถิ่นหนองบัวและผู้อ่านทุกท่านตลอดถึงกัลยาณมิตรจากนานาชาติด้วย อาตมาเข้ามาวันนี้เป็นครั้งที่ ๙,๐๐๔ ในเวลา ๐๙.๔๔ นาที เป็นสถิติที่น่าภูมิใจและประทับใจเป็นอย่างมากด้วย

    Nong-Bua Model

    ระยะนี้มีการพูดถึงโมเดลกันมากเลย และโมเดลเรื่องนี้ก็ลุกลามไปหลายจังหวัด เป็นการเอาอย่างกัน ลอกเลียนแบบกันไป ได้ยินว่าที่พิษณุโลกก็มีกรณีนี้ด้วย แต่ก็ไม่ได้ตามรายละเอียดว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง สื่อรายงานว่าพิษณุโลกโมเดล กรณีเช่นนี้ก็ไม่ทราบว่าทำตามชาวเมืองบึงแก่นนครหรือเปล่า ที่นั่นรู้สึกจะเป็นต้นเรื่อง เป็นโมเดลแรก ๆ ของเมืองไทย เรียกว่าเป็นขอนแก่นโมเดลอันลือลั่นสะท้านยุทธจักรนั่นเอง

    มีผู้วิเคราะห์ให้ได้รับรู้ว่าสังคมไทยชอบเลียนแบบ นิยมลัทธิเอาอย่าง และก็ชอบเอาอย่างในทางที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์ คือมักเอาอย่างหรือทำตามโมเดลที่เป็นไปในทางลบเสียด้วย นี่คือข้อมูลที่ได้รับรู้มาเท็จจริงประการใด ก็อยู่ที่ข้อมูลดังกล่าวนั่นแหละ ในทำนองใกล้เคียงกันนั้นก็มีคนให้ทรรศนะว่า ทำไมเราไม่เอาอย่างโมเดลดีๆบ้างละ และก็ยกตัวอย่างประเทศหนึ่งที่จะมีการเลือกตั้งช่วงนี้ เช่น อังกฤษโมเดล เพราะที่นั่นเขาจะมีเลือกตั้งใหม่ แต่ก็ไม่แน่นะเห็นว่าเราก็จะมีการเลือกตั้งอย่างเขาในไม่ช้านี้ แต่ว่ายังไม่ยุบ...แค่นั้นเอง ก็คนละโมเดลกันกับของอังกฤษ ของเขายุบก่อนแล้วเลือกตั้งส่วนของเรานั้นกำหนดวันเลือกตั้งก่อน แต่วันยุบ...ค่อยลุ้นกันอีกที

    พูดมาเสียยืดยาวไม่เห็นเกี่ยวกับหนองบัวโมเดลเลย จะพยายามจะให้เกี่ยวให้ได้แหละ ที่จริงก็ไม่มีอะไรมากหรอก อยากพูดถึงเวทีคนหนองบัวซะหน่อย เลยขออนุญาตพูดเข้าข้างตัวเองและขอพูดแทนคนหน้าไมค์ทุกท่านด้วยว่า เวทีนี้ขอเป็นเวทีบ้านนอกโมเดล หนองบัวโมเดล(Nong-Bua Model) คือมีความประสงค์ขอเป็นโมเดลเล็ก ๆ ของชุมชนในทางสร้างสรรค์และนำเสนอสิ่งต่างๆที่ดีงามจากชุมชนหนองบัว และให้ Nong-Bua Model นี้แสดงตัวออกสู่โลกภายนอกทั้งเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกด้วย เวที Nong-Bua Model นี้มีทั้ง Blog to book, Nong-Bua Pictorial 2010 และ Nong-Bua Pictorial ย้อนยุค(ภาพวาดวิถีชีวิตชุมชนหนองบัว) ยุคอพอลโล 11(1969)ของอาจารย์วิรัตน์ งานการสร้างสรรค์ ข้อมูลความรู้ชุมชนทั้งหลายทั้งปวงนี้ขอมอบให้แก่ผู้อ่านทุกท่านด้วยก็แล้วกัน.
    เจริญพร

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล และทุกท่าน 
    ที่ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสวนาเพื่อสร้างสุขภาวะทางปัญญา
    สำหรับพัฒนาสังคมและชุมชนนะครับ

    เป็นหัวข้อที่น่าสนใจและยกระดับการเสวนาปรึกษาหารือ รวมทั้งใช้เวทีออนไลน์เป็นหนทางร่วมมือกัน ช่วยพัฒนาความรู้ความเข้าใจกันเองในหมู่อธิการบดี คณบดี ยันภารโรง !!!! ของเวทีเรียนรู้หนองบัวอออนไลน์นี้ ขึ้นมาอีกก้าวใหญ่ๆก้าวหนึ่งเลยทีเดียวครับ

    อันที่จริงผมก็ได้ค่อยๆวิเคราะห์และสังเคราะห์หาบทเรียนของเวทีคนหนองบัว แล้วก็เตรียมที่จะไปเล่าแบ่งปันพร้อมกับถ่ายทอดประสบการณ์ในเวที GotoKnow Forum ที่สงขลา ให้กับเครือข่ายบล๊อกเกอร์ : นักเขียนสร้างความรู้และจัดการความรู้ของ GotoKnow ที่เพิ่งยกเลิกไปนะครับ

    แนวการสังเคราะห์บทเรียน ก็จัดว่าเป็นการสังเคราะห์ให้เห็นตัวแบบหรือ โมเดล สำหรับเป็นกรณีศึกษาให้กลุ่มนักวิชาการและบล๊อกเกอร์จิตอาสาใน GotoKnow ได้ใช้พัฒนาความคิดและสร้างการเรียนรู้กันให้กว้างขวาง เพื่อกลับไปสะท้อนสู่การปฏิบัติ หรือนำกลับไปใช้ในแวดวงของตนเองตามความสนใจต่อไป

      ในเวทีคนหนองบัวนี้  ผมเห็นบทเรียนที่เกิดขึ้นที่น่าจะเป็นตัวอย่างดีๆหลายอย่างครับ โดยเฉพาะในแง่ของการร่วมมือกันในการสร้างและสะสมข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และสารสนเทศ โดยมีความเป็นชุมชนในท้องถิ่น เป็นตัวตั้ง

    จากแง่มุมของผมในฐานะผู้หนึ่งที่ร่วมสร้างเวทีด้วยกันนั้น สิ่งที่ได้แก่ตนเองสำหรับผมมากอย่างยิ่งก็คือ

    • วิธีเรียนรู้เป็นกลุ่มสังคมออนไลน์ วิธีสนทนา ตั้งคำถาม สะท้อนความรู้เพื่อต่อยอดและถักทอประสบการณ์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กับโลกความเป็นจริงของท้องถิ่น
    • บทบาทของพระและคนที่มีการศึกษาของชาวบ้านเพื่อการเป็นผู้นำทางปัญญาในเงื่อนไขที่จำเป็นใหม่ๆของสังคม
    • วิธีดัดแปลงเครื่องมือและวิธีการ ตลอดจนวิทยาการและเทคโนโลยีที่ผสมผสานทั้งความเป็นสมัยใหม่และพื้นบ้านให้เหมาะสมกับชุมชนอย่างไร้ขีดจำกัด
    • วิธีวิเคราะห์และเขียนความรู้ที่พอดี บูรณาการวิทยาศาสตร์ชาวบ้านและวิถีปัญญาของชาวบ้านกับความรู้สมัยใหม่ของโลก
    • การสร้างความรู้ที่ทำให้ประชาชนและชุมชน ได้ร่วมสร้างความหมายและสร้างคุณค่าความรู้เพื่อสุขภาวะสังคม ให้หลากหลายและเพิ่มทางเลือกที่เอื้อต่อคนบ้านนอกและคนไร้โอกาสจากกระแสหลักของการพัฒนา ได้มากยิ่งๆขึ้น
    • ได้พัฒนาวถีวิชาการที่เชื่อมโยงกับศักยภาพของชาวบ้านโดยเฉพาะการนำเอาการเขียน การวาดรูป การถ่ายรูป เรื่องเล่า และหลักฐานตัวคนที่มีอยู่จริงในชุมชน มาเป็นวิธีสร้างความรู้และจัดการความรู้แบบสาธารณะ ซึ่งในแง่นี้นั้น ผมได้ปัญญาและบรรลุธรรมแก่ตนเองหลายอย่างมากอย่างยิ่งครับ

    ผมพอจะสะท้อนบทเรียนบางส่วนได้สั้นๆไว้ก่อนตรงนี้ว่า พระคุณเจ้า คุณสมบัติ คุณเสวก ฉิก คุณครูอนุกูล ผม คนท้องถิ่นหนองบัว และผู้คนอีกจากหลากหลายแห่งในสังคมไทย สามารถพัฒนาวิธีเรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆเพื่อความเป็นส่วนรวมของสังคมโดยเริ่มต้นจากการลงมือทำตามความสนใจของพลเมืองทุกคนได้

    บทเรียนของคนที่ช่วยกันสร้างเวทีคนหนองบัว พอจะเป็นตัวแบบให้เห็นและจับต้องได้ว่า...เราสร้างชาวบ้านให้เป็นนักวิจัยและถ่ายทอดประสบการณ์อันมากมายในชีวิตตนเองที่ติดอยู่กับสังคมท้องถิ่น ให้ออกมาอย่างเป็นระบบและเป็นองค์ความรู้ท้องถิ่น ใช้สร้างพลังสังคมและเป็นทรัพยากรความรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนให้กับตนเองได้

    สิ่งที่เหมาะสมมากจากกรณีของหนองบัวโมเดลในด้านนี้ก็คือ การสร้างความสามัคคีและความร่วมมือกันบันทึก เขียนความรู้ สร้างความรู้ และจัดการความรู้เพื่อเสริมพลังปัญญาให้กับชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งทำให้สังคมวงกว้างเห็นความงดงามในรายละเอียดที่อยู่ภายในท้องถิ่นต่างๆของตนได้มากยิ่งขึ้น

    ดูองค์ประกอบ ความเป็นมา และเงื่อนไขต่างๆแล้ว หากสังคมภายนอกได้เห็นความห่างไกลโอกาสการพัฒนาอีกหลายอย่างของชุมชนหนองบัว ซึ่งก็จะเหมือนกับชุมชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยอีกหลายแห่งแล้ว ก็จะเกิดความมั่นใจได้ในทันทีเลยว่า หากกระบวนการอย่างนี้คนหนองบัวทำได้แล้วละก็ เชื่อได้เลยว่า ชุมชนทุกแห่งของประเทศจะสามารถทำได้ และอาจจะดีกว่าอีกด้วย

    ชุมชนในท้องถิ่นต่างๆของประเทศเกือบทั้งหมดแทบจะเป็นสุญญากาศและราวกับไร้ตัวตนในโลกความรู้สมัยใหม่โดยเฉพาะในสังคมความรู้ออนไลน์ หากได้รับการจุดประกาย กระตุ้น และเสริมพลังให้มีกลุ่มประชาคมที่ทำงานขับเคลื่อนพลังการเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่น ที่เกิดจากความอาสาตนเองและใช้ความสามารถของตนเองเท่าที่มีผสมผสานกัน ทำไปแล้วก็ค่อยๆต่อเติมกันไปให้งอกงามได้อย่างกรณีของเวทีคนหนองบัวนี้สัก๕๐ เปอร์เซ็นเท่านั้น ก็เชื่อได้ว่าสังคมไทยจะเห็นความมั่งคั่งทางปัญญาเพิ่มขึ้นอีกมากมายจากวิถีชุมชนและการใช้ชีวิตของชาวบ้านตามท้องถิ่นต่างๆ และเชื่อได้ว่าจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงกับอีกหลายมิติ

    ผมจะหาโอกาสคุยและต่อยอดประเด็นนี้ให้เวทีต่อไปอีกครับ.

    สงสัยวันนี้ จะเป็นวันที่เวทีคนหนองบัวจะมีคนคลิ๊กเข้ามาครบ ๑๐,๐๐๐ ครั้ง บางทีอาจจะเลย ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ก่อนถึงเที่ยงคืนของวันนี้ด้วยนะครับ พระคุณเจ้าเข้ามาคุยและผุดประเด็นนี้ไว้นั้น นอกจากสำคัญแล้วก็เหมือนเป็นการทำหมายเหตุไปในตัวด้วยเลยนะครับ หากเป็นไปได้ ก็ขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมเขียนสะท้อนทรรศนะ สะท้อนบทเรียน และเขียนสิ่งต่างๆเล็กๆน้อยๆเก็บไว้แบ่งปันกันในโอกาสต่อๆไปเลยนะครับ โดยเฉพาะคุณสมบัติ คุณเสวก ใยอินทร์ คุณฉิก คุณครูอนุกูล คุณครูจุฑารัตน์ คุณครูอ้อยเล็ก อาจารย์ณัฐพัชร์ คุณเริงวิชญ์ คุณครูน้อง : วิกานดา อาจารย์ ดร.ขจิต คุณใบไม้ย้อนแสง คุณแสงแห่งความดี คุณณัฐรดา คุณสุ-มหาวิทยาลัยชีวิตไม่มีวันปิดทำการ คุณพี่นงนาท คุณเอก จตุพร วิศิษฐ์โชติอังกูร อาจารย์หนึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร อาจารย์กู้เกียรติ ญาติเสมอ และอีกหลายท่านซึ่งนึกตอนนี้ไม่ทันครับ เอ..เยอะเหมือนกันนะครับเนี่ย

    สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ครับ

    แหม.....กำลังสนุกอยู่กับ NONGBUA MODEL ดี ๆ ยังไม่ทันได้ร่วมด้วยช่วยกันเลย อีกไม่กี่นาทีข้างหน้าเห็นจะต้องลาไปเจียงใหม่ก่อนละครับ อันว่าเจียงใหม่บ้านแห่งที่ 2 ...ที่ 3....ของอาจารย์ ดร.วิรัตน์นี้ ผมเพิ่งจะไปครั้งนี้เป็นครั้งที่สองเองครับ ครั้งแรกไปส่งหลานเรียนที่แม่โจ้เมื่อ 4 ปีก่อน แล้วจุดที่จะไป 2 - 3แห่งในวันนี้/วันพรุ่งนี้ เท่าที่ทราบในขณะนี้ก็เป็นสถานที่ซึ่งยังไม่เคยไปมาก่อน เป็นต้นว่า ท่าอากาศยานเจียงใหม่ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว ภัตตาคารข้าวเม่า - ข้าวฟ่าง และ อ.เวียงแหง เป็นต้น

    คิดไว้ว่าน่าจะพบแต่สิ่งที่ดี ๆ และเป็นบุญเป็นกุศลที่เจียงใหม่ แล้วจะนำมาเล่าสู่กันอ่านครับ.

      สวัสดีครับคุณสมบัติ 
    นานๆโผล่มาทีนี่รู้สึกดีใจมากเลยนะครับ คิดถึงครับคิดถึง

    • จริงหรือครับที่เพิ่งเคยไปเชียงใหม่เพียงครั้งสองครั้งเอง ตอนนี้สนามบินของเขาปรับปรุงใหม่ คงจะดีและมีความเป็นสนามบินนานาชาติมากกว่าเดิมขึ้นไปอีกเยอะเลยนะครับ
    • แต่ตอนนี้เชียงใหม่คงจะร้อนอบอ้าวกว่ากรุงเทพฯ กรุงเทพฯเริ่มมีฝนตกแล้ว
    • ขอให้แอ่วเชียงใหม่ให้ม่วนใจนะครับ เก็บเกี่ยวเรื่องราวต่างๆมาฝากเวทีคนหนองบัวบ้างนะครับ คุณสมบัติมีมุมมองการเรียนรู้ทางสังคมที่ลึกซึ้งดีครับ
    • เวลาผมพาญาติพี่น้อง คนเฒ่าคนแก่ ไปแอ่วเชียงใหม่ ก็จะพาไปที่อื่นๆตามแต่จะไปถึง โดยเฉพาะรีสอร์ตที่ปลูกดอกไม้-ต้นไม้ที่จะหาดูได้ยากจากที่อื่น เสร็จแล้วก็จะไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพกับวัดพระสิงห์ ชาวบ้านชอบครับ

     

     

    พระเทพสิทธินายก  (ห้อง  ชาตสิริ-ท้วมเทศ ป.ธ.๖, ๒๔๓๘ - ๒๔๙๙)  
     วัดนครสวรรค์  อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์(ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตรวจการ  ภาค ๖) ท่านเป็นชาวอำเภอหนองบัว เกิดที่บ้านเนินพลวง หมู่ที่ ๔  ตำบลหนองกลับ  อำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์

    พระเดชพระคุณหลวงพ่อเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม(ปัจจุบัน-อนุบาลหนองบัว)  และเป็นผู้ให้กำเนิดก่อสร้างวัดเทพสุทธาวาส

    เป็นคนหนองบัวคนแรกทีได้เดินทางไปศึกษาเรียนต่อถึงเมืองหลวง-กรุงเทพมหานคร(เข้าเมืองกรุง พ.ศ.๒๔๕๘) เป็นนักบริหารเป็นนักการศึกษา เป็นปัญญาชนรุ่นแรกในชุมชนเมืองหนองบัวที่ได้ สร้างสรรค์คุณประโยชน์ไว้อย่างอเนกอนันต์อันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจต่อชาวหนองบัว พระเดชพระคุณท่านมีคุณูปการต่อชุมชนเมืองหนองบัวและพระศาสนาอย่างมากมาย  

     

    อ้างอิงภาพ จากเว็บไซต์(ทำเนียบเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์) http://nsn.onab.go.th/index.php/2010-01-16-05-03-23

    กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ และท่านที่เคารพทุกท่าน

    ผมมาช้าไปหรือป่าวครับวันนี้นำรูปของท่าน พระเทพสิทธินายก (ห้อง ชาตสิริ-ท้วมเทศ ป.ธ.๖ มาฝาก ตามที่หลวงอามะหาแล และท่านอาจารย์จิรัตน์ได้เอ่ยไว้ก่อนข้างต้นนั้นครับ

    รายงานตัวครับ แต่ยังไม่ค่อยมีเวลาเลยครับ

    พรุ่งนี้น่าจะพอมีเวลาว่าง แค่นี้ก่อนครับ สวัสดี

      ประวัติท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก (ห้อง ชาตสิริ ท้วมเทศ ป.ธ.๖
    อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์ คุณเสวก และชาวหนองบัวทุกท่าน

    วันนี้รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่เห็นคุณเสวกนำรูปหลวงพ่อเจ้าคุณเทพฯมาลงที่เวทีคนหนองบัว ตั้งตารอคอยวันนี้มาประมาณครึ่งปีพอดีเลย เมื่ออาทิตย์ที่แล้วได้เข้าไปดูเว็บไซต์ของคณะสงฆ์นครสวรรค์ ได้มีผู้จัดทำเรื่องคณะสงฆ์อยู่พอดี ได้ทำประวัติผู้บริหารคณะสงฆ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นทำเนียบเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์มีรูปหลวงพ่อเทพฯอยู่ด้วยก็เลยไดฝากให้คุณเสวกนำมาลงไว้ ก็เพื่อให้ชาวหนองบัวและทุกท่านที่ยังไม่มีโอกาสได้ทราบประวัติของหลวงพ่อเทพฯมาก่อน ก็จะได้ทราบกันในวันนี้เลย จึงได้นำประวัติย่อๆ ของท่านมาลงไว้ด้วย ข้อมูลชุดนี้จากหนังสือทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็นของวัดเทพฯซึ่งจัดทำโดยท่านพระครูสม(พระครูนิมิตศีลาภรณ์) เจ้าอาวาสวัดเทพสุทธาวาสรูปปัจจุบัน ขอขอบพระคุณท่านพระครูสมเป็นอย่างสูง

      ประวัติเจ้าคุณเทพสิทธินายก (ห้อง ชาตสิริ ท้วมเทศ ป.ธ. ๖)  
    อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์

    โดย พระครูนิมิตศีลาภรณ์(สม ฐิตสีโล- ฉ่ำน้อย)
    เจ้าอาวาสวัดเทพสุทธาวาส เจ้าคณะตำบล ห้วยร่วม เขต ๒


      ชาติภูมิ  
    พระเดชพระคุณ เจ้าคุณเทพสิทธินายก นามเดิมชื่อ ห้อง นามสกุล ท้วมเทศ เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ ตรงกับขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะแม เวลา ๒๓.๐๐ น. ณ บ้านเนินพลวง หมู่ที่ ๔ ต.หนองกลับ อ. หนองบัว จ. นครสวรรค์ บิดาของท่านชื่อ นายท้วม มารดาของท่าน ชื่อ นางเขียว (นามสกุลเดิม อินทชิต) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๘ คน คือ
    ๑. นายอินทร์ ท้วมเทศ ๒. นางสร้อย ท้วมเทศ ๓. นายคำ ท้วมเทศ  ๔. นายหัด ท้วมเทศ  ๕. นายทิม ท้วมเทศ ๖.นายเพ็ชร ท้วมเทศ  ๗. นายพัด ท้วมเทศ  ๘. พระเทพสิทธินายก (ห้อง ชาตสิริ ท้วมเทศ ป.ธ. ๖)

      การศึกษาเบื้องต้น  
    เมื่ออายุได้ ๘ ปี ไปศึกษาภาไทย กับ พระหัด ท้วมเทศ ผู้เป็นพี่ชาย ที่วัดหนองกลับ แล้วไปเรียนภาษาขอมและภาษาบาลี กับพระเหม ที่วัดห้วยร่วม
    ครั้นอายุได้ ๑๑ ปี ได้ไปศึกษาภาษาไทยและเขลคณิต กับพระอาจารย์ปลัดห่วง และ เจ้าคุณพระนิพันธ์ธรรมาจารย์(พระครูคล้าย) ที่วัดเขาพนมรอก อ. ท่าตะโก จ. นครสวรรค์
    พออายุได้ ๑๓ ปี บิดานำไปฝากกับหลวงพ่อพระครูสด วัดชุมแสง อ.ชุมแสง จ. นครสวรรค์ เรียนภาษาบาลีกับพระอาจารย์โชติ พระอาจารย์เครื่อง และพระอาจารย์คลึง แล้วย้ายไปอยู่วัดนครสวรรค์ กับพระอาจารย์โชติ เพื่อเรียนภาษาบาลีต่อ มีพระหมาพุฒิ และพระอาจารย์ผ่อง เป็นอาจารย์
    ครั้นอายุได้ ๑๕ ปี ได้ย้ายไปเรียนบาลีที่วัดพิชัย อ. เมือง จ. อุทัยธานี 

      บรรพชา  
    พออายุได้ ๑๖ ปี ได้กลับมาอยู่วัดนครสวรรค์ อ. เมือง จ. นครสวรรค์ และได้บรรพชาเป็นสามเณรกับ(หลวงพ่อคล้าย วัดเขาพนมรอก อ.ท่าตะโก) อยู่วัดนครสวรรค์ เป็นลำดับมา
    ครั้นอายุย่างเข้าได้ ๒๐ ปี ย้ายไปอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปรัยัติธรรมในสำนักเรียนวัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ 

      อุปสมบท  
    เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ได้อุปสมบท ณ พัมธสีมาวัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๔ กรกฏคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปี เถาะ โดยมีสมเด็จพระวันรัต(ฑิตย์) เป็นพระอุปัฌชาย์ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เวลานั้นดำรงสมณศักดิ์เป็นราชสุธี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระประสิทธิ์สีลคุณ (จ้อย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้สมณฉายว่า ชาตสิริ

      การศึกษาพระปริยัติธรรม  
    ในศกนี้(พ.ศ. ๒๔๕๘) ได้เข้าสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวง สอบได้นักธรรมชั้นตรี 
    ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เข้าสอบปริยัติธรรมเป็นเปรียญ ๓ ประโยค 
    ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เข้าสอบปริยัติธรรมเป็นนักธรรมชั้นโท 
    ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เข้าสอบปริยัติธรรมเป็นเปรียญ ๔ ประโยค 
    ปี พ.ศ ๒๔๖๔ เข้าสอบปริยัติธรรมเป็นเปรียญ ๕ ประโยค 
    ปี พ.ศ ๒๔๖๕ เข้าสอบปริยัติธรรมเป็นเปรียญ ๖ ประโยค

      หน้าที่การงาน  
    ได้เป็นครูสอนทั้งธรรมและบาลีในสำนักเรียนวัดมหาธาตุฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ถึง
    พ. ศ. ๒๔๗๗
    • พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นกรรมการตรวจนักธรรมตรีและบุรพภาค ป.ธ. ตรี ในสนามหลวง
    • พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นโทและบุรพภาค ป.ธ. ตรี ในสนามหลวง
    • พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นกรรมการตรวจ ป.ธ. ๓, ป.ธ. ๔
    • พ.ศ. ๒๔๖๘ นำปัญหาธรรมวินัยไปเปิดสอบที่จังหวัดอุทัยธานี มณฑลนครสวรรค์
    • พ.ศ. ๒๔๖๙ นำปัญหาธรรมวินัยไปเปิดสอบที่จังหวัดกำแพงเพชร มณฑลนครสวรรค์
    • พ.ศ. ๒๔๗๑ นำปัญหาธรรมวินัยไปเปิดสอบที่จังหวัดกำแพงเพชร มณฑลนครสวรรค์และเป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นตรีในสนามมณฑลนี้
    • พ.ศ. ๒๔๗๒ นำปัญหาธรรมวินัยไปเปิดสอบที่จังหวัดตาก มณฑลนครสวรรค์และเป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นโทในสนามมณฑลนี้
    • พ.ศ. ๒๔๗๓ เป็นอนุศาสนาจารย์ เที่ยวจาริกสอนประชาชนในจังหวัดกำแพงเพชร
    • พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๗๖ ได้เป็นเลขาฯ ในการตรวจการคณะสงฆ์ของรองเจ้าคณะมณฑลอยุธยา
    •พ.ศ. ๒๔๗๗ สมเด็จพระวันรัต(เฮง เขมจารี) ครั้นเป็นพระพิมลธรรมเจ้าคณะมณฑลอยุธยา ได้ส่งให้มาอยู่วัดนครสวรรค์ อ. เมือง จ. นครสวรรค์ เพื่อจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม

      สมณศักดิ์  
    พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระเทพสิทธินายก
    •พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้เลื่อนสมณศักด์เป็นพระราชาคณะเสมอชั้นราชในนามเดิม
    •พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้เลื่อนสมณศักด์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพเป็นพระเทพสิทธินายก ปาพจนาธิปก ตรีปิฏกภูษิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี ตำแหน่งพระคณะธิการ
    •พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นพระคณะจารย์โท ฝ่ายคันถธุระ
    •พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์
    •พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นอุปัชฌาย์ในเขตจังหวัดนครสวรรค์
    •พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลอยุธยา
    •พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นหัวหน้าคณะวินัยธรชั้นต้น
    •พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค ๒
    •พ.ศ ๒๔๙๒ เป็นเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค ๔
    •พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค ๖

      หน้าที่พิเศษ  
    เป็นผู้จัดการศึกษาและการบริหาร ของสำนักเรียนและวัดนครสวรรค์ ตลอดสมัยที่ท่านมาอยู่วัดนครสวรรค์
    •ช่วยสมเด็จพระวันรัต(เฮง เขมจารี) ครั้งเป้นพระธรรมไตรโลกาจารย์ ตรวจชำระพระไตรปิฏกสยามรัฐ(บาลี) เป็นผู้จัดการสร้างเสนาสนะและกำแพงวัดนครสวรรค์ เป็นผู้จัดการสร้างโรงเรียนปริยัติธรรมขึ้นในวัดนครสวรรค์หนึ่งหลัง เป็นตึก ๓ ชั้น ก่ออิฐเทคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาเทคอนกรีตเป็นดาดฟ้า ยาว ๑๓ วา กว้าง ๔ วา ออกมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
    •เพื่อจุดประสงค์ ๔ ประการคือ
    ๑. เพื่อเหมาะและสะดวกแก่การศึกษา การสอบ และการตรวจข้อสอบ
    ๒. เพื่อความก้าวหน้าแห่งการศึกษาของพระภิกษุสามเณร
    ๓. เพื่อเป็นที่เก็บสรรพหนังสือ มีหนังสือพระไตรปิฏกเป็นต้น
    ๔. เพื่อความเจริญแห่งพระพุทธศาสนา

    ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นผู้นำและผู้ก่อตั้งโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม(อนุบาลหนองบัว) 
    พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นผู้อำนวยการสร้างวัดใหม่ที่หมู่บ้านหนองกลับ(คือวัดเทพสุทธาวาส) อ.หนองบัว จ. นครสวรรค์ ซึ่งเป็นชาติภูมิของท่าน โดยสร้างกุฏิขึ้น ๒ หลัง และใน พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้สร้างกุฏิขึ้นอีก ๔ หลัง หอสวดมนต์ ๑ หลัง หอระฆัง ๑ หลัง รวมเป็น ๖ หลัง ทำเสร็จเพียงวันเดียวเท่านั้นด้วยความพร้อมเพรียงของประชาชน ภายใต้การนำของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกนั่นเอง
    พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก ถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เวลา ๑๓. ๐๘ น. ด้วยโรคโลหิตเป็นพิษ คำนวณอายุได้ ๖๐ ปี ๖ เดือน ๒๘ วัน ๑๔ ชั่วโมง ๘ นาที รวมพรรษา ๔๑ พรรษา
    “คณะสงฆ์ต้องสูญเสียพระดีที่จากไป…”

       หมายเหตุ :

    ข้อมูลพระเทพสิทธินายกนี้ พระมหาแล อาสโย(ขำสุข) นำมาจากข้อมูลซึ่งรวบรวมไว้โดย พระครูนิมิตศีลาภรณ์(สม ฐิตสีโล- ฉ่ำน้อย) เจ้าอาวาสวัดเทพสุทธาวาส เจ้าคณะตำบลห้วยร่วม เขต ๒ เพื่อนำมาเรียบเรียงและรวบรวมไว้ในเว็บบล๊อกเวทีคนหนองบัว ท่านได้บันทึกเผยแพร่ไว้เมื่อ วันจันทร์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ และมีข้อความที่ต้องแก้ไขเล็กน้อย จึงขอให้ผมแก้ไขนำมาบันทึกไว้อีกครั้งพร้อมกับลบบันทึกเดิมออกไปโดยรายละเอียดยังคงเหมือนเดิมทุกประการ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข)
    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์ และฉิกครับ

    • เห็นรูปที่คุณเสวก ใยอินทร์ไปช่วยกันเสาะหามาแล้วก็นำมารวบรวมไว้ในนี้แล้วก็แสนจะดีใจครับ ดูมันมีความเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นทีละเล็กละน้อยเพราะเราได้ช่วยกันตามแต่ท่านใดจะมีโอกาสเข้าถึงแล้วก็นำมาบันทึกถ่ายทอดไว้ไปตามความสะดวก ขอร่วมอนุโมทนาและขอบคุณแทนเด็กๆกับพี่น้องชาวหนองบัว รวมไปจนถึงสาธารณชนทั่วไปมากเลยทีเดียวครับ
    • ข้อมูลที่พระคุณเจ้า คุณเสวก และทุกท่าน ได้นำมาผสมผสานกันไว้ จะเป็นมรดกทางความรู้และสืบทอดความทรงจำเกี่ยวกับชุมชนของตนเองของคนหนองบัวต่อไปครับ ผมนำมาปะติดปะต่อได้เป็นเรื่องราวที่เห็นภาพหลายด้านมากขึ้นเป็นลำดับ เลยบันทึกไว้ที่นี่แล้วครับ http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/357848 [คลิ๊กที่นี่]
    • การลบและปรับแก้บันทึกของพระคุณเจ้า ผมได้ดำเนินการตามที่พระคุณเจ้าต้องการแล้วครับ แต่โปรแกรมนี้เข้าไปแก้ในส่วนของผู้อื่นเขียนเป็นบางส่วนไม่ได้ จะทำอย่างนั้นได้จำเพาะของผมซึ่งเป็นผู้เขียนเองอย่างเดียวเท่านั้น ผมเลยต้องดึงข้อมูลของพระคุณเจ้าออกมาแล้วปรับแก้ให้ แล้วโพสต์กลับไปใหม่แล้วครับ
    • ฉิกมาวูบวาบแบบอัศวินสายฟ้าเลยนะครับ เข้ามาทักทายกันนี่ก็ถือว่ามีน้ำใจต่อกันมากมายแล้วครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข)
    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์ คุณฉิก และทุกท่านครับ

    • ตอนนี้มีแขกที่เข้ามาเยือนเวทีคนหนองบัวถึง ๑๑ ประเทศแล้วละครับ
    • มีสมาชิกในกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่เพียง ๓ ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เวียดนาม และไทยเอง
    • ส่วนที่เหลือนั้น นอกจากเป็นประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านของประเทศไทยแล้ว ก็เป็นกลุ่มประเทศที่รวมตัวกันเป็นชุมชนและประชาคมในหลายกรอบ เช่น กลุ่ม โอเปค กลุ่ม OPEC เอเปค APEC อาฟตา AFTA รวมทั้งสมาชิกจากกลุ่มประเทศผู้นำทางอุตสาหกรรม หรือ G8
    • น่าสนใจมากครับว่า จากอเมริกานั้นมีถึง ๑๑ คน จากญี่ปุ่นมีถึง ๕ คน และจากออสเตรเลียมีถึง ๔ คนแล้ว เป็นได้หลายกรณีครับ เช่น เป็นชาวต่างประเทศที่เรียนรู้ภาษาไทยและศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทย เดี๋ยวนี้ชาวต่างประเทศเก่งครับ สามารถศึกษา เขียนและอ่านภาษาไทยได้โดยศึกษากันในประเทศของเขาเอง อีกกรณีหนึ่งก็อาจจะเป็นคนไทยที่ไปอยู่ในต่างประเทศทั้งแบบชั่วคราวและถาวร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ก็ล้วนเป็นเพื่อนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเวทีคนหนองบัวและของสังคมไทย และเวทีคนหนองบัวได้มีโอกาสเผยแพร่ความเป็นสังคมท้องถิ่นไทย ร่วมกับแหล่งอื่นๆด้วย
    • มีธงชาติลาว ซึ่งแสนจะดีใจครับ หากไม่ใช่พี่น้องลาวก็อาจจะเป็นคุณสมบัติหรือเครือข่ายลูกศิษย์ลูกหาของคุณสมบัติก็เป็นได้
    • มีอีก ๑ ประเทศที่ไม่สามารถระบุประเทศได้แต่ระบุว่าอยู่ในพื้นที่ภูมิศาสตร์ Asia-Pacific ได้ซึ่งก็น่าสนใจมากทีเดียวครับว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น อาจจะเป็นประเทศหรือรัฐเอกราชที่เพิ่งสถาปนาขึ้นใหม่
    • คึกคักดีครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ก็รู้สึกยินดีคล้ายๆอาจารย์ที่มีผู้มาเยือนเวทีคนหนองบัวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งแขกผู้มาก่อนหน้านั้นก็เพิ่มด้วยโดยเฉพาะอเมริกาเลยสิบคนไปแล้ว
    ถ้าเป็นอย่างที่อาจารย์กล่าวคือคนต่างประเทศอ่านเขียนภาษาไทยได้โดยไม่ได้มาศึกษาที่เมืองไทย และสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้แบบนี้ก็ต้องนับว่าเก่งมาก หรือจะเป็นพี่น้องคนไทยที่อยู่ต่างแดนก็ตาม 
    ขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดี

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) และทุกท่านครับ

    เชื่อว่าจะต้องมีเข้ามาเพิ่มอีกครับ แต่ตอนนี้จำนวนประเทศที่ตั้งไว้แต่เดิมเต็ม ๑๒ ประเทศเสียแล้ว หากตั้งใหม่ก็จะต้องเริ่มต้นนับใหม่และข้อมูล Flag Counter เก่าก็จะหายไป ตอนที่ตั้งไว้ ๑๒ ประเทศแต่เดิมนั้น ไม่คิดว่าจะมีกลุ่มผู้เข้ามาเยือนจากต่างประเทศเกิน ๕ ประเทศแต่ก็ตั้งเผื่อไว้เสีย ๑๒ ประเทศ

    อาจจะลองเก็บข้อมูลนี้ไว้เป็นพัฒนาการของเวทีโดย Funtion ถ่ายภาพหน้าจอ Print Sreen แล้วก็ตั้ง Flag Counter ใหม่ ก็คงจะได้นะครับ จะลองปรึกษาน้องๆที่เขาทำเก่งๆดูว่ามีวิธีอื่นที่ดีกว่าไหม

    น่ายินดีกับตัวเลขแขกผู้มาเยือนเวทีหนองบัวของพวกเราที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ผมได้จับหน้าจอ Flag Counter ไว้เมื่อเช้านี้มาให้แล้วครับ

    แต่ตัวเลขจากศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน กทม.หรือศูนย์เอราวัณที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ได้ยินได้เห็นแล้วก็สลดหดหู่เหลือเกิน ได้แต่ภาวนาให้ประเทศไทยก้าวผ่านเหตุการณ์นี้ไปโดยไว และสูญเสียน้อยที่สุดโดยเฉพาะชีวิตผู้คน

      สวัสดีครับฉิก 

    • มือคอมพิวเตอร์กับไอทีของเวทีคนหนองบัวอยู่นี่เอง
    • แล้วจะหาวิธีใส่เงื่อนไขใหม่เข้าไปนะครับ
    • แต่ตอนนี้มีธงจากประเทศมาเลเซียเพิ่มขึ้นมาอีก ๑ คลิ๊กแล้วครับ ตอนนี้เลยนึกไม่ออกเสียแล้วว่าตอนที่ลองทำในแต่ละหัวข้อนั้น หัวข้อไหนตั้งจำนวนประเทศไว้เท่าไหร่ อาจจะลองให้อันเก่านี้นับจำนวนให้ไปก่อนก็แล้วกันนะครับ
    • ผมต้องหยุดดูทีวี และตอนนี้ก็เริ่มหยุดดูหนังสือพิมพ์ได้บ้างแล้ว ใช้วิธีดูสรุปเป็นรอบๆจากหนังสือพิมพ์สุดสัปดาห์ แล้วก็ให้เพื่อนๆน้องๆ กับภรรยา เล่าเรื่องให้ฟังรวมๆ ไม่อย่างนั้นก็ต้องทุกข์ใจ หดหู่ใจ และไม่เป็นอันทำงานแน่เลย
    • แต่บ้านเมืองของเราเป็นอย่างที่เห็นอยู่นี้ ผมเลยก็ยิ่งเห็นความหมายของเวทีคนหนองบัวมากยิ่งๆขึ้น 
    • การสร้างวัฒนธรรมการพูดและฟังกันด้วยเหตุและผลอย่างเปิดกว้างในะระดับสังคมนั้น จะเกิดขึ้นได้ยากหากไม่มีเวทีพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่ให้สำนึกทางสังคมใหม่ๆและช่วยกันสร้างวิถีสังคมอย่างนี้ในระดับชุมชนที่เป็นฐานรากของสังคม
    • เวทีคนหนองบัว หรืออย่างที่ท่านพระอาจารย์มหาแลท่านเรียกให้โก้ๆว่า หนองบัวโมเดล อาจจะเป็นเวทีหนึ่งที่ดีในการทำให้คนสร้างประสบการณ์ต่อสังคมส่วนรวมในแนวทางที่ให้สำนึกที่ดี ให้ปัญญา สร้างความรู้ ค่อยคิด-ค่อยทำ หากสังคมให้ความสนใจที่จะลงทุนสร้างพลเมืองและพัฒนาสังคมให้มีวิถีปฏิบัติอย่างนี้ต่อเรื่องต่างๆในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ คนรุ่นเราก็ไม่พาตนเองมาตกอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้กระมังนะครับ

    ผมเขียนบันทึกความรู้เหมือนกับเป็นหมายเหตุภูมิปัญญาท้องถิ่นของหนองบัวนำร่อง สะสมไว้ไปด้วยเรื่อยๆนะครับ เพื่อว่าจะได้เป็นแรงบันดาลใจให้คนหนองบัวและในชุมชนอื่นๆ ได้อดทนเขียนความรู้เรื่องของตนเองสะสมไว้ให้มากๆ

    ในหนองบัวนั้น หากแต่ละหมู่บ้านและแต่ละตำบลค่อยๆแปรประสบการณ์ทั้งที่เป็นของชุมชน ครอบครัว และในตัวบุคคล ให้ออกมาเป็นความรู้และความ ทรงจำของชุมชน ผมเชื่อว่าจะเป็นพลังก่อให้เกิดสติปัญญาในการนำการพัฒนาที่ดีๆหลายอย่างให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ก็เลยเขียนไปเรื่อยๆนะครับ แวะเข้าไปอ่าน เสริมรายละเอียด ผุดประเด็นและเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ได้ตามความสะดวกกันบ้างนะครับ...

    ตอนนี้ ชุมชนหนองบัวเห็นความเป็นเอกลักษณ์ที่เวทีคนหนองบัวค่อยๆช่วยกันเจียรนัยออกมาได้มากยิ่งๆขึ้น เป็นชุมชนที่มีเนื้อหา มีเรื่องราว เปนการบวกกันคนละนิดละหน่อย แต่ก็เกิดสิ่งดีๆเป็นเรื่องเป็นราวเยอะขึ้นเรื่อยๆนะครับ

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    ไปเจียงใหม่วันที่ 7 แวะเข้ามาอีกทีวันที่ 17 ห่างไปหลายวัน ติดตามอ่านเรื่องราว/ความเป็นไปของเวทีคนหนองบัวได้ความรู้ใหม่ ๆหลายแขนงครับ

    โอ้โฮ....ยิ่งใหญ่ อลังการ สมคำเล่าลือจริง ๆ ครับ....จั๋งหวั๋ดเจียงใหม่...จะว่าเป็นการเห็นเจียงใหม่เป็นครั้วแรกก็ว่าได้ เพราะว่าการไปเมื่อ 4 ปีก่อนนั้นเป็นการผ่านไปแบบเฉี่ยว ๆ เท่านั้นเองและไม่ได้ค้างคืน ผมให้คนขับรถตู้(ขอบคุณคุณวัลลภ เจ้าของโรงแรม FAMILY ที่ให้คนไปรับถึงสนามบิน) พาวนไปดูความยิ่งใหญ่ กว้างขวางของตัวเมือง โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลียบเลาะไปตามคณะโน้น โผล่คณะนี้ มิน่าล่ะครับ อาจารย์ และเพื่อนผมหลาย ๆ คนถึงได้หลงใหล/ลงหลักปักฐานอยู่ที่นั่น แล้วก็...ภาษายวนห้วยปลาเน่าบ้านผมนี่ ใช้อู้กับคนเจียงใหม่ได้อย่างสบาย ๆ เลยครับ

    แต่ที่สำคัญ ทางไปอำเภอเวียงแหงนั้น สุดยอดจริง ๆ ครับ

    คนที่นั่นบอกว่าก่อนหน้านี้สัก 4 - 5 ปีการเดินทางไปอำเภอนี้ลำบากกว่านี้มากครับแล้วก็อันตรายมากด้วย ทั้งจากสภาพของถนนหนทางและโจรผู้ร้ายชุกชุม

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    คุณฉิกมาช่วยบันทึกขั้นรายการก็ทำมองให้เห็นตัวเลขผู้มาเยือนเวทีคนหนองบัวชัดเจนขึ้น ขออนุโมทนา

    น่าสนใจมากเรื่องคนยิวหรือชาวอิสราเอลที่สร้างชุมชนพัฒนาบ้านเมืองแบบพึ่งตนเองก่อน จนสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตน และเป็นแบบอย่างให้ชุมชนทั่วโลกหันมามองว่ายิวทำได้อย่างไร ทั้งๆที่มีข้อจำกัดอย่างมาก

    ก็เลยได้ทราบข้อมูลจากอาจารย์ว่าหมออรุณหมอฝรั่งชื่อไทยหรือหมอใหญ่ที่ชาวบ้านหนองบัวเรียกขานกันนั้น เป็นคนอิสราเอลและเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อสาธารณะส่วนรวม แง่มุมนี้ทำให้นึกถึงการรวมกลุ่ม การมีส่วนร่วมของคนยิว ที่มาคล้ายวิถีคนหนองบัวบางด้านคือความสามัคคีทำงานเป็นกลุ่มก้อน พึ่งพาอาศัยกัน

    ก็คิดต่อไปว่าองค์กรต้นสังกัดหมออรุณชาวยิวท่านนี้ ได้ส่งแพทย์อาสาสมัครผู้ใจดีผู้มีสายเลือดยิวเข้าไปทำงานในชุมชนหนองบัวซึ่งก็เป็นบ้านนอก บ้านป่านาดอนอยู่มาก อัตคัดขาดแคลนดุจอิสราเอลก็ไม่ปาน แต่หนองบัวก็มีทุนทางสังคมที่งดงามหลายอย่าง

    ถ้าคิดแทนคนยิวหรือหมออรุณก็จะได้ประมาณว่า หนองบัวในยุคที่ท่านได้มาทำงานอยู่นั้นไม่ได้ลำบากอะไรมาก เมื่อเทียบกับประเทศอิสราเอล เพราะคนยิวอยู่ในทะเลทรายลำบากกว่าหนองบัวเยอะ หนองบัวยุคนั้นมีทั้งป่าไม้ แร่ธาตุ ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทุกอย่าง

    สิ่งที่บ่งบอกถึงความสมบูรณ์มากๆก็คือบ้านห้วยปลาเน่า ด้วยมีปลาชุกชุมมาก กินกันไม่หมดจนปลาตายเน่าเต็มห้วยเต็มคลอง คนจึงเรียกชื่อหมู่บ้านดังกล่าวว่า บ้านห้วยปลาเน่ามาจนทุกวันนี้

      สวัสดีครับคุณสมบ้ติ 

    • มิตรรักแฟนบล๊อกเวทีคนหนองบัวคิดถึงเลยนะครับ
    • คุณสมบัติสังเกตไหมครับว่ามีแขกผู้มาเยือนจากลาวด้วยครับ วิธีนับแบบ Flag Counter นี้ก็ดีเหมือนกันนะครับ มันทำให้เห็นได้ชัดเจนดีว่าความเป็นชุมชนหนองบัวนั้น ไม่ได้เป็นหน่วยทางสังคมที่อยู่ในโลกอย่างเอกเทศ คงจะให้ความสำนึกใหม่ที่กว้างขวางและเชื่อมโยงองค์ประกอบความเป็นชุมชนในแง่มุมใหม่ๆที่ต่างจากความเป็นชุมชนอย่างในอดีตมากเลยทีเดียว
    • ขอแสดงความยินดีกับความสุขและความประทับใจของการได้ไปแอ่วเจียงใหม่ของคุณสมบัติด้วยนะครับ ผมชอบความเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเจียงใหม่และดินแดนล้านนาไทย โดยเฉพาะงานศิลปหัตถกรรม เป็นท้องถิ่นที่เห็นความมั่งคั่งในกิจกรรมสร้างสรรค์ของมนุษย์ดีจริงๆนะครับ

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) ครับ 

    • เรื่องราวและความรู้เกี่ยวกับชุมชนตรงนี้ นอกจากจะทำให้เห็นพัฒนาการของอำเภอหนองบัวแล้ว ก็เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เราเคารพผู้คนด้วยนะครับ ผมเชื่อว่าคนหนองบัวหลายคน รวมทั้งผม ที่มีชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้ มีสุขภาพดี และมีโอกาสได้ทำการงานให้สังคมได้บ้างพอสมควรนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะหมออรุณหรือหมอฝรั่งกับระบบสุขภาพที่ผสมผสานการพึ่งตนเองของยุคนั้น แต่ผมก็จำติดตัวมาอย่างนั้นนะครับว่าท่านเป็นคนยิวอเมริกัน เลยก็บันทึกไว้ก่อนเพื่อคนอื่นๆพอมีเค้าเงื่อนต่อเติมและสอบทานข้อมูลช่วยๆกัน
    • การทำงานเพื่อสังคมและเพื่อมนุษยชาติโดยอุทิศให้กับอุดมคติทางศาสนานั้น เป็นการงานที่มีพลังครับ ในสังคมไทยก็มีอยู่เยอะครับ เป็นการทุ่มเทการทำงานเพื่อพัฒนาตนเองและยกระดับจิตวิญญาณของตนเอง
    • แต่ในทรรศนะผมแล้ว เห็นความแตกต่างกันมากพอสมควรครับระหว่างการอุทิศตนเพื่อทำการงานแห่งชีวิตให้เป็นการอุทิศตนต่อชีวิตทางศาสนา กับการทำงานบริการสาธารณะเพื่อเป็นเงื่อนไขและโอกาสเผยแผ่ศาสนาและสิ่งที่ตนเองเชื่อศรัทธา
    • อาสาสมัครทางศาสนาในยุคก่อนๆไม่ว่าจะในพุทธศาสนาและในศาสนาอื่นๆนั้นมักจะเป็นแบบแรกครับ แต่ในยุคที่สังคมซับซ้อนและรีบเร่งกันมากขึ้นจนผู้คนต่างก็ไม่ค่อยต้องการความลึกซึ้งกันเท่าไหร่นักนั้น มักจะเป็นแบบหลัง ทั้งสองแบบนี้ผมว่ามีพลังการปฏิบัติต่างกันมากเหมือนกันครับ
    • ผมเองนั้นก็ชอบแบบแรกครับ หลายเรื่องผมก็ทำการงานเพื่อดำเนินชีวิตทางศาสนา แต่ทำเพื่อศึกษาและอบรมตนเอง อาจจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นได้บ้างเพื่อสร้างโลกทัศน์ในการอยู่ร่วมกันที่กว้างแต่ก็ไม่ต้องการโน้มน้าวหรือให้ใครมาเชื่อตามไม่ว่าจะคนในศาสนาเดียวกันหรือต่างศาสนา ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตและทำการงานที่ไม่ได้มุ่งที่ผลตอบแทนแต่เพียงอย่างเดียว ทว่า ได้ทำเพื่อเป็นโอกาสได้สร้างสิ่งดีให้ตนเองไปด้วย คนที่มีวิธีคิดในการทำงานอย่างนี้ก็เยอะเหมือนกันนะครับ
    • นอกจากหมอฝรั่งแล้ว ผมเพิ่งทราบว่า ตอนนี้หมอหนิม[Clickhere] ยังมีชีวิตอยู่และยังดูแลชาวบ้านได้อยู่ ผมได้ขอให้น้องผมแวะไปถ่ายรูปและไปสัมภาษณ์เก็บข้อมูลมาไว้ให้สักหน่อย หมอหนิม[Clickhere] นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาการด้านสุขภาพและการสาธารณสุขของหนองบัวเราที่สำคัญมากด้วยเหมือนกันนะครับ

    สวัสดีทุกท่านครับ

    ตั้งใจว่าจะสนทนาเรื่องทั่ว ๆ ไปกับพี่น้องชาวหนองบัว

    เมื่อติดตามสถานการณ์ของประเทศไทยตอนนี้ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ กทม. และบางจังหวัดทางภาคอีสาน ทำให้สมองไม่ค่อยแล่น/เขียนไม่ออกเหมือนกันครับ

    ได้แต่ภาวนาให้บ้านเมืองเกิดสันติสุข และมีความเป็นธรรมแก่คนทุกกลุ่ม/ทุกผู้ทุกนาม ในแผ่นดินครับ.

    บ้านเมืองถูกเผาด้วยเปลวไฟ
    จิตใจก็ถูกเผาด้วยเปลวเพลิง-โกรธ-เกลียด-ชัง
    ขอให้บ้านเมืองของเราอย่าได้สูญเสียไปมากกว่านี้อีกเลย
    ขอให้กลับคืนสู่สันติสุขโดยเร็ว

    โอ้กรุงเทพเมืองฟ้าอมร

    สมเป็นนครมหาธานี

    สวยงามหนักหนายามราตรี

    งามเหลือเกินเพลิดเพลินฤดี

    ช่างงามเหลือที่จะพรรณนา

    เหตุการณ์ในกรุงเทพฯเมื่อวานนี้ (19 พ.ค. 2553) พูดไม่ออกบอกไม่ถูกจริงๆ

    เศร้าครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เยียวยาประเทศด้วยเมตตาธรรม

    โลโกปตฺถมฺภิกา  เมตฺตา
    เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก(ว.ว.)
    เพราะเมตตาการุณย์ค้ำจุนโลก        กำจัดโศกความทุกข์เป็นสุขี
    ทุกทั่วถ้วนมวลสัตว์สวัสดี                ต่างเปรมปรีดิ์ปราโมทย์โชตนา
    ไร้เบียดเบียนเฆี่ยนตีปรานีรัก          มีแต่จักสร้างสรรค์ต่างหรรษา
    โลกธาตุขาดธรรมคือเมตตา            ทั่วโลกาฉับพลันอันตราย.
    (พระพิพัฒน์ปริยัตยานุกูล)

     

    ขอให้ท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ พี่ฉิก และพี่น้องชาวหนองบัวทุกท่านที่อยู่ในกรุงเทพฯ บางจังหวัดทางภาคเหนือและภาคอีสาน ระมัดระวังตัวและปลอดภัยครับ.

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขะสุข(อาสโย)
    สวัสดีครับฉิก คุณสมบัติ และท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

    • ตอนนี้ไม่ว่าจะไปทางไหน ก็รู้สึกได้ถึงความเครียดและการมีความรู้สึกไม่สบายใจต่อความเป็นไปของสังคมเลยนะครับ มีผลต่อผู้คนมากจริงๆ ราวกับทุกแห่งอยู่ในสถานการณ์ความเคลื่อนไหวไปด้วยกันเลยนะครับ
    • เลยยิ่งเห็นความหมายของเวทีคนหนองบัวต่อการเรียนรู้และสื่อสารเรื่องราวความเป็นส่วนรวมของตนเองในฐานะประชาชนของทุกคนเลยนะครับ อย่างน้อยก็เป็นช่องทางเล็กๆให้คนหนองบัวและสาธารณชนได้เห็นภาพอีกหลายด้านของสังคมจากการสื่อสะท้อนขึ้นมาโดยคนท้องถิ่นว่ายังมีโอกาสสร้างสรรค์และบอกให้รู้ว่ามีเรื่องราวดีๆอยู่ในสังคมอีกมากมาย
    • ขอให้ทุกท่านมีความปลอดภัย มีกำลังใจในการดำเนินชีวิตและทำการงานครับผม

    สวัสดีครับท่านอาจารย์ครับ

    ไม่เฉพาะคนไทยด้วยกันเท่านั้นนะครับที่เป็นห่วงเป็นใยกัน

    ผมอยู่ชายแดนลาว นอกจากรัฐบาลเขาจะเตือนประชาชนของเขาให้ระมัดระวัง (หากจำเป็นต้องมา) และงดการเดินทางมาประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯและภาคอีสานของไทยแล้ว เขายังแสดงความกังวลและเป็นห่วงเป็นใยเราด้วยเหมือนกันครับ

    โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว ได้ออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ของบ้านเรา ขณะที่พวกเรากำลังหน้ามืดตามัว ฆ่าและทำร้ายกันเอง ดังนี้ครับ

    ..........(แปลแล้ว)......ในระยะหลัง ๆ มานี้ สภาพความขัดแย้งทางการเมืองในราชอาณาจักรไทย ได้เพิ่มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนถึงกับมีการปะทะกันด้วยอาวุธ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนหลวงหลาย

    สปป.ลาว ได้ติดตามสภาพที่กำลังเป็นอยู่ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ในฐานะที่เป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง

    สปป.ลาว มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างยิ่ง และหวังว่าฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะพยายามใช้ความอดทน อดกลั้นและแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยสันติวิธี เพื่อให้สภาพการณ์กลับคืนสู่ความเป็นปกติโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนไทย ซึ่งหมายรวมถึง สันติภาพ เสถียรภาพ และความร่วมมือกันพัฒนาภูมิภาคนี้.

    สวัสดีครับคุณสมบัติ ฆ้อนทองครับ

    • พี่น้องลาวคงงงมากเลยนะครับ
    • ลาวและเพื่อนบ้านในภูมิภาคอินโดจีน เพิ่งพอจะฟื้นตัวได้จากสงครามและเมื่อเริ่มเปิดประเทศ-พัฒนาประเทศ ก็ชื่นชมประเทศไทยแทบทุกด้าน พอเห็นการเข่นฆ่ากันและเผาทำลายบ้านเมืองตนเองราวกับเป็นสงครามอย่างนี้ เขาต้องงมากจริงๆ
    • ขอบคุณคุณสมบัติที่นำเอาเรื่องราวของโลกภายนอกสังคมไทยมาแบ่งปันกันนะครับ
    • เวทีคนหนองบัวของเรานี้ดีอย่างหนึ่งนะครับ หากเรามีเวทีสำหรับสื่อสารให้เห็นเรื่องราวตนเองที่เป็นโอกาสพัฒนาความสร้างสรรค์ได้อย่างหลากหลาย ชุมชนและพลเมืองทุกผู้ทุกนามสามารถมีส่วนร่วมในการเป็นผู้ริเริ่มในฐานะเจ้าของสังคม ในสิ่งที่อยู่ในการงานและการดำเนินชีวิต นอกจากคงจะช่วยให้มีกำลังความรู้ เห็นโลกกว้าง และทำให้แรงกดดันมากมายหลายอย่างของการดำเนินชีวิตมลายไปแล้ว ก็ได้ทำสิ่งต่างๆขึ้นมาในฐานะเป็นผู้ให้สิ่งดีแก่สังคมตามกำลังของตน ความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่ตลอดเวลาและความต้องการมีส่วนร่วมต่อการสร้างสรรค์ความเป็นส่วนรวมที่ดีสำหรับทุกคนอยู่เสมอ ก็คงจะมีแนวทางที่ดีกว่านี้นะครับ

    เข้าไปเจอกระทู้นี้ในพันทิพ ที่หลายคนได้แสดงความเห็นถึงทางออกประเทศไทย ที่ตรงใจผมมากที่สุดhttp://www.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X9273453/X9273453.html

    (ผมยังอ่านไม่ถึง 100 กระทู้เลย รีบเอามาฝากให้พวกเราได้อ่านกัน)

    สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์และพี่ฉิกครับ

    ผมได้ตามไปดู ตามคำแนะนำของพี่ฉิกแล้ว เห็นว่าเป็นกระทู้ที่มีคุณค่า มีประโยชน์และสร้างสรรค์มาก....สำหรับนาทีนี้ ที่คนไทยกำลังเลือกข้าง / แบ่งกันเป็นฝักเป็นฝ่ายจนถึงกับเข่นฆ่ากันเอง

    .....กำลังฝุ่นตลบเชียว.............

    โดยเฉพาะความเห็นที่ 73 79 99 109 177 เป็นความเห็นที่โดนใจ.....รวมถึงความเห็นอื่น ๆ ....ล่าสุดจนถึงกระทู้ที่ 444 ที่พิเศษ...ผู้ตั้งกระทู้ครับ

    ขอบคุณพี่ฉิก สำหรับการมอบสิ่งดี ๆ ให้แก่ชุมชนของเราครับ.

    สวัสดีครับคุณฉิกและคุณสมบัติครับ

    • เข้าไปดูแล้วเช่นกันครับ เข้มข้น คึกคัก เอาใจใส่ในการแลกเปลี่ยนและสนทนากันจริงจังนะครับ
    • นักเขียนบล๊อกและกลุ่มคนที่สนทนากันในพันทิพในแนวเรื่องอย่างที่คุณฉิกเอามาฝากกันนี้ ต้องถือว่าเป็นกลุ่มคนเรียนรู้และกระตือรือล้นที่จะแสดงออกต่อเรื่องส่วนรวมด้วยการคิด อ่าน เขียน พัฒนาการใช้ความเป็นเหตุเป็นผล ทั้งพัฒนาการเปิดรับคนอื่นและมีอิสรภาพในความเป็นตัวของตัวเอง
    • คุณฉิกลิ๊งก์มาฝากกันนี่ผมว่าเหมาะมากเลยทีเดียว จะได้เป็นบันไดอีกขั้น ที่คนหนองบัวได้มีเวทียกระดับทั้งการพัฒนาความเป็นพลเมืองของตนเองและยกระดับการช่วยกันถักทอท้องถิ่นให้เชื่อมโยงอย่างเหมาะสมกับโลกกว้าง จากที่ไม่มีตัวตนในโลกความรู้ของสาธารณะเลย ก็มีหลายอย่างมากมายที่เป็นความดีงามและความงดงาม เห็นตนเองที่สะท้อนโลก และนำเสนอสิ่งดีของตนเองให้สังคมเห็นตัวตนในรายละเอียดของตนเอง เวทีคนหนองบัวเดินเข้าสู่ความเป็นส่วนรวมด้วยประเด็นการเรียนรู้ตนเองจากท้องถิ่นก็จริง แต่ก็มีวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่เข้มข้นเป็นเวทีพันทิพแนวท้องถิ่นเหมือนกันนะครับ

    ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของวัดหนองกลับนั้น ถ้านับเป็นยุคโดยเอายุคหลวงพ่อเดิมสร้างเมืองหนองบัวมาเป็นยุคแรกแล้ว ปัจจุบันก็เป็นยุคที่สามหรือคนรุ่นที่สาม และรุ่นที่ถือว่าใกล้ชิดในฐานะเป็นศิษย์มีชีวิตร่วมสมัยกับหลวงพ่อเดิมอีกทั้งได้มีส่วนร่วมช่วยสร้างเมืองมาด้วยกันแล้วละก็ นั่นนับเป็นยุคที่สองนั่นเอง โดยยุคที่สองนี้มีหลวงพ่ออ๋อยเป็นผู้นำและพระเดชพระคุณท่านก็ได้สืบสาน รักษา อนุรักษ์ เสนาสนะ(โบสถ์ ศาลาการเปรียญ กฺฏิ)ที่หลวงพ่อเดิมสร้าง-บูรณะไว้ และประเพณีบวชนาคหมู่ที่ริ่เริ่มโดยหลวงพ่อเดิม จนต่อมาประเพณีดังกล่าวได้กลายมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในกาลต่อมาของอำเภอหนองบัว

    วัดหนองกลับตามประวัติแล้วเป็นวัดที่มีบทบาทต่อชุมชนหนองบัวมาตั้งแต่เริ่มแรกเลย การสร้างวัดก็เกิดจากการรวมตัวกันของคนในชุมชนทั้งสองหมู่บ้าน โดยถือเอาเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคนั้นเป็นจุดรวมใจ รวมคนระดมพลังมวลชนเป็นการเตรียมพร้อมในการสร้างบ้านสร้างเมืองและเป็นการป้องกันตัวเองจากภัยสงครามด้วย เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่ประเทศมีสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน(ทัพเวียงจันทน์) อีกทั้งมีภัยจากโรคระบาดที่คร่าชีวิตพระสงฆ์จากวัดใน(วัดสระมะนาว)ก็มีส่วนทำให้คนในชุมชนตื่นตัวกลัวภัยดังกล่าวด้วย

    เนื่องด้วยแต่เดิมในชุมชนมีวัดอยู่ ๒วัด คือวัดหนองม่วง(วัดนอก-วัดหนองกลับ) กับวัดสระมะนาว(วัดใน) เมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่หนองบัวนี้ผู้คนคงจะมีไม่มากมายนัก เมื่อมีภัยสงครามเกิดขึ้นจึงได้รวมตัวกันตั้งค่ายประจำหมู่บ้านที่บริเวณวัดหนองกลับและเพื่อให้การรวมตัวกันมีกำลังเข้มแข็งจึงต้องอาศัยกำลังพลทั้งชุมชน เมื่อประชาชนมารวมตัวกันอยู่ที่ค่ายจึงต้องย้ายทั้งสองวัดมารวมกันด้วย ต่อมาก็เหลือวัดเดียว

    กล่าวได้ว่าวัดหนองกลับเป็นวัดสำคัญของชุมชนเป็นศูนย์รวมจิตใจเมืองหนองบัว เป็นแหล่งให้การศึกษาพัฒนาบ่มเพาะผู้คนมาอย่างยาวนาน ทำหน้าที่สร้างคนทั้งเมืองหนองบัวให้ไปรับใช้สังคมรุ่นแล้วรุ่นเร่า ทำหน้าที่บริการสังคมมาหลายร้อยปีจวบจนปัจจุบัน

                        

     หาไม้และหาอาหารจากป่า  : ขบวนเกวียนของชาวบ้าน บ้านตาลิน อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ไปหาไม้และหาอาหารจากของป่า ในป่าเขาสูง เขาเหล็ก เขาพระ เขามรกต อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์  ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓

    เนเธอร์แลนด์ : ขอร่วมต้อนรับแขกผู้มาเยือนเวทีคนหนองบัวจากเนเธอร์แลนด์ ตอนนี้เวทีคนหนองบัวมีเพื่อนบ้านเข้ามาเยือนจากแดนไกล ๑๔ ประเทศจากเกือบทุกภูมิภาคของโลกเลยทีเดียว จากอเมริกานั้นมีเข้ามา ๑๖ users ญี่ปุ่น ๖ users และออสเตรเลีย ๔ users  ในภูมิภาคเอเชียมีมากกว่าเพื่อน คือ ๖ ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม และเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ไม่สามารถระบุประเทศได้ ๑ user

    หากเป็นคนไทยในต่างประเทศ สื่อความเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านอำเภอหนองบัวและชุมชนในชนบทของประเทศไทย จากเวทีคนหนองบัวของเรา ก็คงช่วยให้ทุกท่านได้คลายความคิดถึงบ้าน หากเป็นเด็กเยาวชนและนักเรียนนักศึกษาชาวไทยที่ไปเรียนยังต่างประเทศ ก็คงรู้สึกว่าได้อยู่ใกล้ชิดบ้านเกิดเมืองนอน เห็นวิถีรากเหง้าและเห็นความเป็นตัวตนในอีดด้านหนึ่งของตนเองที่น่าภูมิใจนะครับ

    หากเป็นเพื่อนชาวต่างประเทศที่สนใจเรียนรู้สังคมไทยและวิถีชีวิตของชาวบ้านในชนบท ก็คงจะได้ความสุขจากความแปลกตาและได้สัมผัสโลกกว้างในแง่มุมที่ให้ประสบการณ์แปลกใหม่ของสังคมไทย จากเวทีคนหนองบัวของเรานะครับ.

    แหม... เห็นภาพวาดของอาจารย์ภาพนี้แล้ว
    อาตมาได้ยินเสียงล้อเกวียนกระทบก้อนหินทั้งบนถนนและในป่าเลย มีเสียงคนคุยกัน ตะโกนเรียกกันเสียงดังก้องป่า เป็นฤดูหลังเก็บเกี่ยวไม้เริ่มผลัดใบ คนที่เดินก็เหยียบใบไม้แห้งเสียงดังกรอบแกรบ บางทีแย้ตกใจคนก็วิ่งเหยียบใบไม้เสียงดังจนเราได้ยินเสียงและเห็นตัวด้วย นึกตามแล้วเหมือนได้เดินกลับไปที่ป่าเหนือนี้อีกครั้ง
    คาราวานเกวียนแบบนี้เดินทางผ่านสี่แยกหอนาฬิกา(สี่แยกตลาดหนองบัว)เมื่อ ๔๐ ปีที่แล้วถือว่าเป็นเรื่องปรกติธรรมดามากๆ

    คนหนองบัวรุ่นเก่าๆ เห็นแล้วต้องนึกภาพออกเลยนะครับ

    นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแล ขำสุขและท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ครับ

    ต้องชมละครับว่า...ภาพการเดินทางเข้าดง... ได้บรรยากาศจริง ๆ และคงไม่มีให้เห็นอีกแล้วในยุคนี้

    เมื่อวานได้รับโทรศัพท์จากทางบ้าน เรื่องที่มีพระและศาสนิกชาย-หญิงชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวม 8 ท่าน มาเยี่ยมและนอนค้างที่บ้านห้วยปลาเน่า แล้วให้นึกถึงพระคุณท่านทั้งสองครับ คือ....ท่านหนึ่งเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาอยู่ที่พิษณุโลก แล้วอีกท่านหนึ่งทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ใกล้ ๆ กับพุทธมณฑล

    คณะทั้งหมดมาพักผ่อนหลังจากที่งาน วันวิสาขบูชาโลก ปี 2553 เสร็จสิ้นลง พี่ชายผม (ในนามชาวพุทธออกเตรเลีย) เป็นคนเชิญมา มาเที่ยวนครสวรรค์เป็นของแถม เห็นบอกว่าตื่นเต้น ดีใจกันมากที่มาเห็นท้องทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา ขนาดท่านเจ้าคุณพระอมรเมธี รองเจ้าคณะอำเภอตากฟ้า ซึ่งเป็นคนอำเภอตาคลี ก็ยังไม่เคยมาแถว ๆ นั้นเลย

    ตาคลี ตากฟ้า เป็นพื้นที่ราบสูงสลับภูเขาเตี้ย ๆ ใต้หนองบัวลงมาตั้งแต่บ้านตาลิน ห้วยปลาเน่ายันบึงบรเพ็ดเป็นที่นาล้วน ๆ สภาพภูมิประเทศแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ก็ดีนะครับ ได้เห็นความแตกต่าง.....ไม่จำเจ.

    กราบนมัสการรพะอาจารย์มหาแล
    สวัสดีครับคุณสมบัติ คุณฉิก คุณเสวก และทุกท่านครับ

    • ที่กล่องความเห็น ๖๐๐ ท่านพระอาจารย์มหาแลท่านช่วยเสริมจนแว่วบรรยากาศบ้านนาป่าดงขึ้นมาเลยนะครับ นึกตามแล้วให้ครึ้มอกครึมใจอยากฮัมเพลงคาวบอยไทยของเพชร พนมรุ้ง หรือเพลงชมทุ่ง ของเพลิน พรมแดน ขึ้นมาเลยทีเดียวนะครับ
    • ผมเลยเอารูปเขียนแนววิถีชีวิตชนบทมาฝากนะครับ เป็นศิลปะโฟล์คอาร์ต ถ่ายทอดวิถีชีวิตชนบท ผลงานคนนครสวรรค์คือแม่ชุมสาย มีสมสืบ คุณแม่ของศักดิ์สิริ มีสมสืบ นักเขียนรางวัลซีไรต์ คนชุมแสง แต่ตอนนี้ไปทำโรงเรียนอยู่ที่ไพสาลี ท่านเขียนภาพชุดนี้ขึ้นมาชุดหนึ่งแล้วก็ไปแสดงเดี่ยวที่กรุงเทพฯ ผมได้ไปดูและประทับใจมากครับ เป็นการทำงานของจิตรกรชาวบ้านที่หาดูได้ยาก ผมเลยนำมารวบรวมเผยแพร่ไว้ให้คนได้ชื่นชมไปด้วยที่เว็บของเพาะช่าง [Click here] เข้าไปดูได้นะครับ

                         

    • อย่างที่คุณสมบัติพรรณาไว้.........

                          ....ตาคลี ตากฟ้า เป็นพื้นที่ราบสูงสลับภูเขาเตี้ย ๆ ใต้หนองบัวลงมาตั้งแต่บ้านตาลิน ห้วยปลาเน่ายันบึงบรเพ็ดเป็นที่นาล้วน ๆ สภาพภูมิประเทศแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง.......สมบัติ ฆ้อนทอง dialogue box ๖๐๒

           สภาพตามท้องถิ่นอย่างนี้ มีส่วนมากเลยนะครับต่อกิจกรรมการทำมาหากิน เช่น แถวตากฟ้า ตาคลี และบางส่วนของไพสาลี ก็จะเห็นว่ามีไร่อ้อย ไร่ข้าวสาลี ไร่ข้าวฟ่าง ไร่งา และไร่ฝ้าย พอไปถึงหนองบัว การทำนาทำไร่ก็ต่างออกไป กลายเป็นไร่มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด และเริ่มมีสวนต้นสัก ทั้งด้วยสภาพพื้นที่และทักษะของชาวบ้าน 

    แถวบ้านผมนั้น เมื่อตอนผมเป็นเด็กกระทั่งเริ่มโต เรื่องทำไร่งา สวนแตงไทย แตงโม แตงกวา ไร่ถั่วลิสง กระทั่งแบ่งพื้นที่บางส่วนทำเป็นไร่ฝ้าย เหล่านี้ เป็นทักษะทั่วไปที่ชาวบ้านจะทำสลับกับทำนาข้าว แต่พอขาดน้ำท่าและสภาพแวดล้อมหลายอย่างเปลี่ยนไป ก็กลายเป็นไม่ได้ทำจนเหมือนกับจะทำไม่เป็นกันแล้ว

            การเลื่อยไม้ ถากไม้และทำเสาจากต้นไม้ทั้งต้น และการสุมไฟทำครก 

                        

    การเลื่อยไม้ ถากไม้และทำเสาจากต้นไม้ทั้งต้น และการสุมไฟทำครก วิธีดังกล่าวนี้ เป็นงานช่างที่ชาวบ้านหนองบัวในอดีตจะต้องเรียนรู้เพื่อทำได้ เป็นวิชาชีวิตที่ผู้ชายทุกคนต้องทำได้ และบางครั้งผู้หญิงก็อาจเรียนรู้ที่จะทำช่วยกันในครอบครัว การทำบ้าน ทำศาสนสถาน รวมทั้งการทำศาลาวัดหนองกลับในยุคหลวงพ่อเดิมและหลวงพ่ออ๋อย ก็ต้องทำในลักษณะนี้ คนรุ่นหลังอาจจะไม่เคยเห็นแล้ว จึงอาจจะจินตนาการไม่ถูกว่าเสากลมจากต้นไม้ทั้งต้นนับเป็น ๑๐๐ ต้น และกระดานไม้ขนาดใหญ่ ที่นำมาทำศาลาวัดหนองกลับนั้น ชาวบ้านในอดีตทำกันอย่างไร เห็นความยากลำบากที่กว่าจะได้กระดานแต่ละแผ่นและเสาแต่ละต้นแล้ว คนหนองบัวจะต้องยิ่งภาคภูมิใจและหวงแหนสิ่งสาธารณะที่คนเก่าแก่ได้สร้างไว้  วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓

    กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ ครับ

    ผมเห็นภาพวาดนี้แล้วชอบมากเลยครับ การทำเสาบ้านนั้นไม่ว่าจะกลมหรือเหลี่ยมนั้นจะใช้ขวานถากเอา พ่อใหญ่น้อยเคยเล่าให้ฟังว่า

    กระดานที่แผ่นใหญ่และหนาก็ถากเอาเช่นกัน แล้วส่วนที่เป็นพื้นบ้าน แผ่นจะบางมากและบางบ้านจะแผ่นไม่โต ผมเคยสงสัยว่าทำไมแต่ก่อนไม้ไร่ก็มีตั้งมากมาย สาเหตุที่ให้ต้องเช่นนั้น การที่จะเอาแผ่นใหญ่ๆมานั้นการขนรากจูงค่อนข้างลำบาก ไม้ใหญ่ๆก็เชือดลงเตาเผาถ่าน แต่ก่อนคนไม่ค่อยพกไม้บรรทัด ก็เอากล่องไม้ขีดทาบระยะความหนาเอาแบบง่ายๆ ตอนผมเองยังเด็ก ผมชอบคอยหยอดน้ำเวลาเค้าเลื่อยไม้กัน แล้วจะไปหาถ่านไฟฉายเก่ามาุทุบใส่กระลาผสมน้ำไว้คอยตีเส้น การเลื่อยนั้นไม่ใช่ใครก็ทำได้ หากรักษาจังหวะไม่ได้ไม้ก็จะเป็นคลื่น การเลื่อยไม้นั้นคนหนองบัวต้องยกมือให้ตาแป้นบ้านป่ารัง เลื่อยมาตั้งแต่ยังไม่มีเลื่อยเครื่อง

    การเลื่อยนั้นแต่ก่อนจะนับเป็นกี่ยก กี่คลอง แล้วแต่ความยาวว่าจะกี่ศอก

    • สวัสดีครับคุณเสวกครับ
    • ผมเลยขอโค้ดบันทึกประสบการณ์ของคุณเสวกไปไว้ในเรื่อง การเลื่อยกระดาน การทำเสาจากไม้ทั้งต้น และการสุมไฟไม้ทำครก [Click here] ที่ผมเขียนรวบรวมไว้ให้อีกหัวข้อหนึ่งต่างหากนะครับ
    • เข้าไปเยือนเวทีของกลุ่มพริกเกลือ [Click here] ก็เป็นเวทีที่คึกคักมากเลยนะครับ
    • เห็นกำลังนัดพบปะกันในหมู่เพื่อนๆพี่ๆน้องๆกลุ่มพริกเกลือกับกลุ่มคนหนองบัวที่ไปทำการงานที่ระยองอีกด้วย
    • เดือนหน้า มิถุนายน ๒๕๕๓ นี้ ผมจะได้ไปแถวนั้นด้วยครับ จะไปจัดประชุมเครือข่ายคนทำงานสุขภาพชุมชนในภาคตะวันออกที่จังหวัดระยองแน่ะครับ ต้องหาข้อมูลกลุ่มคนหนองบัว สมาชิกกลุ่มพริกเกลือ ไปด้วยสักหน่อยละครับ เผื่อได้ผ่านไปในย่านที่มีคนบ้านเดียวกันอยู่แถวนั้นจะได้หาพวกกินข้าวสักหน่อย

    เศรษฐกิจชาวบ้านและการติดต่อกับโลกภายนอกในระยะแรกของชาวบ้านหนองบัว
    การเดินทางไปแลกข้าวเปลือกกับสินค้าที่ต้องการที่ตลาดชุมแสง

                            

                             อธิบายภาพ : ชาวบ้านหนองบัวและโดยรอบ ใช้เกวียนและการเดินเท้าขนข้าวเปลือกไปแลกอาหารและสิ่งของที่ต้องการที่ตลาดชุมแสง วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    มีรูปและเรื่องราวการเรียนรู้สังคมในอดีตมาฝากครับ เป็นรูปและเรื่องราวที่เป็นพื้นฐานที่ดีซึ่งมีส่วนในความเป็นสังคมหนองบัวในปัจจุบัน ชาวบ้านขนข้าวเปลือกไปแลกสิ่งของที่ต้องการที่ตลาดชุมแสง จะเห็นความยากลำบากในการเดินทางติดต่อโลกภายนอก และเห็นความเข้มแข็ง ฟันฝ่า พากเพียร ของผู้นำของคนหนองบัวในอดีต เช่น ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก คนหนองบัว อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์และนำชาวบ้านสร้างวัดเทพสุทธาวาสและโรงเรียน อันเป็นที่มาของโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) อ่านต่อได้ที่นี่ครับ [Click here]

    สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    ภาพที่อาจารย์วาดนั้น ต้องยอมรับว่ารุ่นผมไม่ทันจริง ๆ ครับ เคยมีแต่เรื่องที่พ่อเล่าให้ฟัง...

    พ่อเล่าว่า หน้าแล้งต้องหาบเป็ดหาบไก่ไปขายถึงชุมแสง ขากลับก็ซื้อสินค้าหายากมาขายบ้าง กินเอง/ใช้เองบ้าง พอถึงฤดูน้ำหลากก็ต้องพายเรือไป

    ตอนผมเด็ก ๆ ที่ห้วยปลาเน่ามีเรือกันทุกหลังคาเรือน.... ถนนยังไม่มี ไปทำบุญที่วัด/ไปเกี่ยวหญ้าให้ควายก็จำเป็นต้องใช้เรือ หน้าแล้งก็ใช้วิธีเดินไปตามทางเกวียนเอา

    ถ้าจะเทียบก็คงเหมือนมีมอเตอร์ไซค์สมัยนี้กระมังครับ

    สมัยนั้น ชุมแสงนี่ช่างเป็นเมืองที่ใคร ๆ ก็อยากไปเห็น โดยเฉพาะเด็ก ๆ

    ผมไปเห็นครั้งแรกน่าจะอายุประมาณ 5 - 6 ขวบ พ่อพาไปเยี่ยมลุงที่บ้านหมี่ ลพบุรี ครั้งต่อ ๆ มาแม่พาไปเยี่ยมป้าที่หนองโน สระบุรี จำได้ว่าแม่พาลงที่สถานีรถไฟป๊อกแป๊ก คนยวนที่นั่นออกเสียงว่า...โปกเป๊ก

    ความทรงจำเกี่ยวกับอำเภอชุมแสงสมัยนั้น มักวนเวียนอยู่กับภาพของ รถแร่(ที่มาจากหนองบัวบ้านเรา) / กองแร่สูงเท่าภูเขาเลากาอยู่ซ้ายมือก่อนถึงตัวอำเภอ / รถไฟ /สถานีรถไฟ / ตลาด / แม่น้ำน่านหลังตลาด/น้ำตาลสดเกยชัย/ฝักบัวที่มีคนเดินมาเร่ขายตามสถานี

    ผมเคยเห็นโฉนดที่ดินโบราณของพ่อ ระบุชัดเจนว่าบ้านห้วยปลาเน่า ขึ้นกับตำบลห้วยใหญ่ ซึ่งยังสังกัดอำเภอชุมแสงอยู่เลย

    ต่อมาทราบว่าหนองบัวซึ่งเป็นบ้านป่าขาดง/ติดต่อกับโลกภายนอกไม่ได้ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอหนองบัว และเป็นอำเภอหนองบัว/เทศบาลตำบลหนองบัวในปัจจุบัน สามารถเชื่อมโยงกับโลกภายนอกได้รอบทิศทาง เศรษฐกิจดีขึ้นและน่าจะคึกคักพอ ๆ หรือมากกว่าชุมแสงซึ่งมีฐานะเป็นเทศบาลเมืองด้วยซ้ำ.

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    • ผมเองก็จำได้เลือนลางเต็มทีครับ พอจะนึกภาพออกก็แต่เพียงพร่าๆเลือนๆทั้งที่จอดเรือของหนองบัวกับที่จอดเรือเมื่อชาวบ้านไปชุมแสง แต่พอรู้ว่ามี เอาไว้หาคุยกับคนเฒ่าคนแก่พอลำดับเรื่องราวได้กจะนำมาวาดเป็นข้อมูลเก็บไว้ให้ในนี้นะครับ
    • เมื่อก่อน หากได้ไปตลาดชุมแสงกับผู้ใหญ่ ผมก็จะขอเดินตามไปในตลาดด้วยเพื่อโผล่ทะลุตลาดไปยืนดูแม่น้ำด้วยความอัศจรรย์ใจว่ามันทั้งใหญ่โตและไหลลิ่วน่าหวั่นเกรง 
    • พอโตขึ้นมาหน่อย ผมเล่นแตรวง ก็ได้ไปเล่นแตรวงบวชลูกหลานให้กับชาวบ้านแถวเกยไชย ตกเย็นตอนอาบน้ำกัน ก็ขอเล่นน้ำในแม่น้ำเสียฉ่ำใจ
    • เวลาพ่อแม่และผู้ใหญ่เขาเอาข้าวเปลือกไปแลกของกินของใช้ที่ชุมแสงนั้น สิ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือหอยแครง ซึ่งเมื่อตอนเด็กๆนั้น พวกผมจะกินไม่เป็นเพราะมันมีเลือดและน่ากลัว แต่ชอบเปลือก เด็กๆจะเก็บเอาเปลือกไปนั่งดูว่ามันเป็นหอยได้อย่างไร ประหลาดดีแท้ แล้วก็จะเก็บเอามาคิดการละเล่นหมากเก็บผสมกับหมากหลุม
    • ทั้งปลาหมึก ปลาทู และหอยแครง เป็นของประหลาด แทนสิ่งที่พวกเราไม่เคยเห็นและเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลจากประสบการณ์ของเรา ทำให้ชวนคิดฝันและจินตนาการได้ดี เหมือนกับเมืองชุมแสง อย่างที่คุณสมบัติว่านั่นเลยนะครับ
    • เมื่อก่อนใครไปชุมแสงหรือไปไกลถึงบ้านหมี่อย่างที่พ่อพาคุณสมบัติไปนี่ เวลาเขากลับไปเล่าให้ฟังที่บ้านก็เหมือนกับเป็นเรื่องนอกโลกเลย
    • เดี๋ยวนี้หนองบัวไปมาสะดวก เป็นทำเลและเป็นศูนย์กลางที่ติดต่อกับโลกภายนอกได้ดีขึ้นมากจริงๆ

    สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ครับ

    เมื่อสักครู่เพิ่งกลับจากเวียงจันทน์ นักบริหารระดับกลางของกระทรวงการคลังเขามาศึกษาดูงานกัน เป็นนักศึกษา 60 คน มีอาจารย์จาก มสธ. เป็นผู้ดูแลหลักสูตร 4 - 5 ท่าน

    นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นข้าราชการวัยกลางคน มาจากหลายจังหวัดและจากทุกกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง บางคนไม่เคยเห็นประเทศลาวมาก่อน ดูจะตื่นเต้นพอควร แย่งขอถ่ายรูปกับข้ารัฐการลาวกันใหญ่ คงเห็นว่าเครื่องแบบเขาแปลกตาดี ข้ารัฐการลาวก็ใจดียอมเป็นนายแบบ/นางแบบถ่ายด้วย

    อาจารย์พูดถึงเรื่อง...หอยแครง...ที่หนองบัวสมัยเมื่อ 30 -50 ปีก่อน

    ก็คงเหมือนหอยแครงกับคนลาวสมัยนี้ คงเข้าใจกันได้ดีว่า ประเทศลาวไม่มีพื้นที่ส่วนใดติดทะเล เรื่องอาหารทะเลสด ๆ นั้นหายากเต็มที แล้วอาหารทะเลสุดยอดของพี่น้องชาวลาว ก็คือหอยแครงนี่เองครับ โดยเฉพาะการนำมาลวกเป็นกับแกล้ม

    ไปเมืองลาว ถ้ารู้ใจกัน ต้องหิ้วหอยแครงไปฝากครับ.....ถึงจะถือว่ารักกันจริง

    บางวันผมเคยลวกหอยแครงไปถวายเพลพระที่วัดในเวียงจันทน์ ท่านยิ้มน้อยยิ้มใหญ่.....ว่ากันว่าได้กุศลแรง

    แต่เดี๋ยวนี้ หนองบัวกับลาวไม่ต่างกันแล้วครับ เพราะอาหารทะเลเข้าเมืองลาวได้หลายทิศทาง

    จากเวียดนาม 100- 200 ก.ม.รถห้องเย็นเดินทางคืนเดียวก็ถึงแล้ว

    ส่วนทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาวนั้นเล่า ก็มีรถห้องเย็นจากสมุทรสงคราม/สมุทรปราการออกไปทุกวัน

    หอยแครงรวมทั้งอาหารทะเลประเภทกุ้ง หอย ปู ปลานี่ ตามชายแดนถือเป็นอาหารมิตรภาพเชียวครับ

    ใครมีโอกาสมาทำงานชายแดน พึงทราบไว้ก็จะเป็นการดีไม่น้อย บางคนเป็นเพื่อนรัก/เป็นเสี่ยวฮักเสี่ยวแพงกันก็เพราะหอยแครงนี่เอง.

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    • คณะศึกษาดูงานได้คุณสมบัติเป็นคนนำศึกษาดูงานให้ ก็คงได้ทั้งประสบการณ์และได้สร้างมิตรภาพระหว่างกันของเพื่อนบ้านไทย-ลาว อย่างดีไปด้วยเลยนะครับ
    • เป็นภารกิจที่น่าชื่นชมมากทีเดียวครับ
    • คนที่สามารถทำให้สังคมที่มีความแตกต่างกัน ได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วเกิดความเคารพซึ่งกันและกันนั้น หาได้ยากนะครับ คุณสมบัติมีความเหมาะสมมากคนหนึ่งเลยเชียว
    • เรื่องหอยแครงนั้น ขอสนับสนุนและยืนยันด้วยอีกคนหนึ่งเลยครับ เพื่อนผมที่ได้เจอกันในเวทีประชุมและลูกศิษย์ที่เป็นชาวลาวนั้น เขาก็เคยบอกอย่างนี้เหมือนกันครับว่า ทั้งตัวเขาและญาติพี่น้อง เมื่อมาประเทศไทยก็อยากไปทะเลและกินหอยแครง เมื่อกลับบ้านและซื้อของฝากก็อยากซื้อหอยแครงไปฝากกัน
    • แต่เดี๋ยวนี้ที่ลาวคงได้กินหอยแครงและอาหารทะเลที่สดและดีกว่าในบ้านเราเสียอีก

    สวัสดีคะชาวหนองบัวทุกท่าน

    • แวะมาส่งข่าวอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ในวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล ครบรอบ ๔๑ ปี ท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ ได้รับรางวัลข้าราชดีเด่น ของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ซึ่งชาวหนองบัวได้ร่วมแสดงความยินดีให้กับอาจารย์วิรัตน์แล้วนั้น ..
    • มาวันนี้จะขอบอกบ่าวชาวหนองบัวเพื่อร่วมแสดงความยินดีให้กับ ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ อีกครั้งคะ หลังจากรอมานานร่วม ๔ ปี ด้วยเหตุผลที่ทางมหาวิทยาลัยมหิดลพยายามหาผู้เชี่ยวชาญในสายสังคมฯ แต่มีผลงานวิชาการทางด้านสาธารณสุขมาอ่านงานให้อาจารย์นั้นมิใช่เรื่องง่าย แต่มาบัดนี้ก็เป็นที่ประจักษณ์แล้วคะ สำหรับ ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ว่าท่านมีความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่น และได้รับตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในปีเดียวกัน ..

                                    researchmahidol1.jpg picture by waweeme

    • สำหรับงานแรกในการเปิดตัว ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ อย่างเป็นทางการในงานมหาวิทยาลัยมหิดล เวทีจัดการความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพ "แนวทางการพัฒนางานวิจัยชุมชนเพื่อปัญญาของแผ่นดิน" โดยมีท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้บรรยายพิเศษในวันนี้คะ (๓๑ พฤษภาคม ๕๓)

                                    researchmahidol2.jpg

    • ผลงาน ภาพลายเส้น หนังสือ วิถีประชาศึกษา และหนังสือ ดังลมหายใจ ได้รับความสนใจ ให้การตอบรับจากหมู่มิตรของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหิดล อย่างมากมายคะ ..
    • ขอแสดงความยินดีอีกครั้งคะ ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์
    • ขอแสดงความยินดีดับอาจารย์ด้วยคนครับ เย้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
    • แต่เสียดายพลาดงานนี้
    • สำหรับงานแรกในการเปิดตัว ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ อย่างเป็นทางการในงานมหาวิทยาลัยมหิดล เวทีจัดการความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพ "แนวทางการพัฒนางานวิจัยชุมชนเพื่อปัญญาของแผ่นดิน" โดยมีท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้บรรยายพิเศษในวันนี้คะ (๓๑ พฤษภาคม ๕๓)

      สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

    • อ่านแล้วต้องยิ้มไปกับวิธีแสดงความยินดีด้วยของอาจารย์นะครับ อย่างกับกองเชียร์เลย พอมาบวกกับเย้ๆๆๆๆ ของอาจารย์ ดร.ขจิต ก็รู้สึกเหมือนเห็นกองเชียร์จริงๆ ขำดีครับ แต่ก็ประทับใจและซาบซึ้งใจดีครับ แต่อ่านวิธีอธิบายและเล่ากระบวนการแล้ว ก็แจกแจงอย่างกับเป็นคนรู้กระบวนการต่างๆเป็นอย่างดีเลยทีเดียว หรือว่าเป็นทีมของกรรมการล่ะเนี่ย พอดีผมดันไประบุว่าไม่ต้องการทราบกรรมการทุกท่านที่จะเป็น Reviewers ว่าเป็นใครและมาจากไหน เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นโอกาสให้อยากบุกเบิกและสร้างมาตรฐานให้กับตัวเอง(เผื่อเรียนรู้ให้เป็นบทเรียนเอาไว้ใช้ทำงานให้กับมหาวิทยาลัยไปด้วยครับ) ก็ปรากฏว่าได้เจอกับความยุ่งยากอย่างใจเลยเชียวครับ
    • แต่ก็ประทับใจกับพี่ๆน้องๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ และชาวมหิดล ที่ทำให้ประทับใจให้ผมได้ทราบในวันที่เราจัดเวทีจัดการความรู้กันอย่างที่อาจารย์กล่าวถึงนั่นแหละครับ
    • เป็นศิลปะของการเยียวยาและให้กำลังใจกันได้เท่ดีจริงๆครับ เนื่องจากผมปล่อยไปเรื่อยๆเพราะก็อยากเรียนรู้ให้กับตนเองไปด้วย เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เราเป็นฝ่ายได้รับแต่ผู้เดียว แต่มันเป็นภารกิจเพื่อมหาวิทยาลัยและสังคมวิชาการที่จะต้องช่วยกันทำด้วย มันมีผลต่อการสอนและคุมวิทยานิพนธ์ให้นักศึกษา ยิ่งกรณีผมเองนั้น ผมขอในช่วงที่เป็นทีมบริหารหน่วยงานที่มีหลักสูตรต้องดูแล ทำให้ต้องนึกถึงมากกว่าเป็นเรื่องของตัวเอง
    • แต่พอทราบและได้รับการสัมผัสเหมือนลูบหลังให้ ก็รู้สึกดีใจเหมือนกัน ตอนที่ผมได้ทราบนั้น ใจผมแว๊บเหมือนกับมีครูและหมู่กัลยาณมิตรกำลังสอนให้ได้ความซาบซึ้งและเห็นคุณค่าของการได้มาในสิ่งที่ยากๆ กระทบกับตัวตน ความเป็นตัวกูของกู กดดัน ท้าทาย มันเลยทำให้เรื่องง่ายๆสำหรับคนอื่น มีความหมายต่อตนเองได้อย่างประหลาด
    • ส่วนใหญ่คนอาจจะบอกว่าเป็นขั้นการเริ่มต้นเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการก้าวแรก ไม่ยาก แต่ผมเองนั้นก็ต้องการให้มันสะท้อนมิติอื่นๆที่กำลังทำไปด้วยหลายเรื่อง ซึ่งก็อาจจะไม่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาอย่างที่เขาวางกฏระเบียบกันไว้ ที่เขาว่ายากเราก็มองว่ามันง่ายและไม่อยากทำ เรื่องที่เขาวางไว้ง่ายๆ ผมก็ไปทำให้มันยากเองเพราะอยากเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองให้ได้การเรียนรู้แก้ปัญหาไปด้วย เลยลึกๆแล้ว ผมก็ยินดีและได้แก่ตนเองเยอะครับ เยอะมากจริงๆ
    • อาจารย์ณัฐพัชร์เป็นทั้งน้องและเพื่อนร่วมงานที่ใส่ใจกับทีมมากจริงๆ ขอบคุณมากอย่างยิ่งครับ เวลาที่ผมปฏิบัติอย่างนี้กับคนอื่นนั้น ก็เป็นการได้แก่ตนเองด้วย การแสดงความยินดีกับผู้อื่น เป็นสิ่งสะท้อนความงดงามและความดีงามที่เกิดขึ้นในใจของผู้ที่ได้อนุโมทนาและแสดงความยินดี เป็นการเรียนรู้ที่ถ่อมตนเองลงให้อยู่ในฐานะเชิดชูผู้อื่น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับคนติดตัวตน อาจารย์ย์ณัฐพัชร์มักแสดงความยินดีกับผู้อื่นอยู่เสมอเหมือนกับที่ผมได้รับในครั้งนี้ ก็ขอให้สิ่งดีงามในจิตใจอย่างนี้งอกงามและเป็นกำลังก่อเกิดสิ่งดีๆแก่อาจารย์มากยิ่งๆขึ้นอยู่เสมอนะครับ
    • มองอีกด้านหนึ่ง มันก็เป็นภาระและความหนัก ความเป็นทุกขลาภ ที่ต้องแบกตัวตนทางวิชาการเพิ่มขึ้นไปอีก
    • ผมพอจะรู้สึกได้ถึงนัยยะที่อาจารย์นำเอามากล่าวถึงอย่างพิถีพิถันเชียว อาจารย์คงเห็นสภาพแวดล้อมพื้นฐานของผมแล้ว ทั้งจากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพวกเราในเวทีคนหนองบัวและจากหนังสือดังลมหายใจ ก็คงเห็นว่า เรื่องที่อาจจะง่ายๆและเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับผู้อื่นนั้น เป็นการเดินทางไกลอย่างยิ่งสำหรับผมและคนอีกจำนวนมากในหนองบัวหรือชุมชนชนบท เลยต้องขอขอบคุณในการเสริมกำลังใจให้เห็นคุณค่าและความหมาย จากย่างก้าวของเราเองนะครับ.

      สวัสดีครับอาจารย์ ดร.ขจิตครับ 

    • เชื่อว่าเวทีในลักษณะนี้ ในอนาคต คงจะเชื่อมต่องานไปเป็นเครือข่ายกับงานที่อาจารย์กำลังทำอยู่ในหลายๆบทบาทแน่เลยครับ
    • มีหลายท่านเป็นทีมของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นคนหนุ่มคนสาวที่เก่งเป็นเลิศที่กำลังมุ่งทำงานวิจัยชุมชนด้วย Approach ใหม่ๆที่มีโอกาสไปเชื่อมโยงกับพื้นที่และคนต่างสถาบัน ต่างสาขา
    • รวมทั้งงานที่เจอจากการปฏิบัติ เชื่อว่าคงมีหลายอย่างที่สักวันก็คงต้องเรียนรู้จากอาจารย์กันละครับ
    • ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์อีกเรื่องหนึ่งในเวทีนี้ ในฐานะ บก.หนังสือ และผู้ดูแลโครงการวิจัยเรื่องรณรงค์บุหรี่ และอื่นๆที่พวกเรากำลังทำ
    • อาจารย์นำเอางานไปจัดบอร์ดและหนังสือไปเผยแพร่นั้น นอกจากทำให้ได้รับความสนใจและได้เพื่อนที่มีความสนใจคล้ายๆกันมากมายแล้ว วันที่จัดเวทีก็เป็นวันรณรงค์การงดสูบบุหรี่โลก ก็เลยเป็นการช่วยนำเอาบทเรียนของคนในพื้นที่จากทั่วประเทศ ไปเผยแพร่ช่วยกันด้วย
    • รวมทั้งได้เป็นแนวร่วมกับกองสุขศึกษา ของกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อควบคุมการบริโภคบุหรี่และยาสูบ และองค์การอนามัยโลก เคลื่อนไหวเรื่องที่เกี่ยวข้องช่วยกันในเวทีของเราเอง แม้จะเป็นกิจกรรมเล็กๆก็ตาม
    • ที่ต้องขอบคุณมากก็คือ ที่ผมเตรียมจะไปนำเสนอบนเวทีนั้น โครงการอื่นๆนำเสนอจนเหลือเวลาไม่พอที่ผมจะนำเสนอ อีกทั้งผู้ที่จะพูดต่อก็เป็นท่านอธิการบดี ซึ่งก็โดนกินเวลาจนเกือบหมดไปด้วยเช่นกัน ผมเลยบอกว่าผมไม่นำเสนอแล้ว ให้ผู้เข้าประชุมไปอ่านเอาจากบอร์ดดีกว่า
    • ที่อาจารย์และพวกเราไปจัดบอร์ดเลยกลายเป็นทำให้เราไม่หลุดไปจากวัตถุประสงค์ที่ต้องการมีส่วนร่วมเผยแพร่บทเรียนการวิจัยชุมชน ให้เวทีมีข้อมูลทำงานระดมความคิดมากๆ ต้องขอขอบคุณมากครับ ไม่อย่างนั้นผมในฐานะผู้ร่วมจัดเวทีก็กลับจะไม่ได้นำเสนอเลยเชียว.

     วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชนบท  : การเก็บข้าวตก

                         

    หลังฤดูเก็บเกี่ยวและนวดข้าว ลูกหลานชาวนาและเด็กๆในชนบท จะมีของเล่นด้วยกันอีกอย่างหนึ่งคือ พากันเดินออกไปตามท้องนาที่เขาเกี่ยวข้าวแล้วเพื่อเดินเก็บข้าวตก ซึ่งเป็นรวงข้าวที่เล็ดรอกคมเคียว หรือเป็นรวงข้าวที่อาจร่วงหล่นไปจากการรวบมัดข้าว กว่าจะเก็บได้ทีละรวงก็อาจจะเดินเป็นร้อยๆก้าวและครึ่งค่อนไร่นา เมื่อได้กำหนึ่งก็จะนำมารวมกันและตีให้เม็ดหลุดออกจากฟาง เดือนหนึ่งหรือสองสามเดือน จึงจะสามารถได้ข้าวเปลือกสัก ๑ ถังซึ่งบางครั้งพ่อแม่และผู้ใหญ่เห็นความขยันตั้งอกตั้งใจ ก็อาจจะนำข้าวเปลือกที่นวดแล้วมาเติมให้ เด็กๆก็จะได้ข้าวเปลือกจากแรงงานและความทุ่มเทของตนเอง เมื่อนำไปขายก็แล้วแต่จะนำเงินไปใช้ บางคนก็มอบให้พ่อแม่เป็นเครื่องกราบนอบน้อมรำลึกพระคุณพ่อแม่ให้เป็นกำลังใจพ่อแม่ บางคนก็หยอดกระปุกออมสิน บางคนก็นำไปซื้อขนมกิน บางคนก็นำไปซื้อหนังสือ ชุดนักเรียน บ้างก็เก็บไว้เที่ยวงานประจำปี

    เอารูปมาสะสมไว้ในเวทีนี้ไปด้วยนะครับ แล้วผมจะเขียนแยกหัวเรื่องนี้ไว้อีกแห่งหนึ่งในบล๊อกเวทีคนหนองบัวนี้ด้วย เผื่อคุณครู นักเรียน หรือประชาชนที่เป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต จะได้เป็นแหล่งสำหรับนำไปเป็นข้อมูลหรือทำสื่อ ใช้ทำงานพัฒนาตัวเราเองและชุมชน ทั้งของหนองบัวและทุกแห่งตามความสนใจนะครับ.

    สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    ผมอ่านความเห็นที่ 612 - 616 แล้วจะพูดเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากคำว่า...ปลื้มใจ...และขอแสดงความยินดีด้วย ครับ

    เห็นภาพในความเห็นที่ 617 แล้ว ในภาพรวม ๆ เป็นวิถีของคนบ้านนาซึ่งสมัยปัจจุบันคงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว อย่างไรก็ตาม การใช้รถเกี่ยวทุกวันนี้ การตกหล่นของรวงข้าวน่าจะยังพอมีอยู่บ้าง แต่ไม่ทราบว่ายังมีการ...เก็บข้าวตกอยู่อีกหรือไม่

    ......แต่ภาพตรงที่มีหนังกะติ๊กขัดเอว ให้นึกถึงอาวุธสงครามของผู้ที่ถูกเรียกว่า...ผู้ก่อการร้ายแถว ๆ สะพานผ่านฟ้าฯและแยกราชประสงค์ ซึ่งมีการนำมาแสดงในสภาฯเมื่อคืนนี้ครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    • ด้วยความขอบคุณยิ่งครับ
    • ผมทำไปก็นึกดีใจที่พวกเราช่วยกันคุยจนผมก็ได้แรงบันดาลใจร่วมทำเป็นข้อมูลภาพมารวบรวมไว้เพราะวิถีชีวิตกับความเป็นชุมชนอย่างนี้คงไม่มีอีกแล้ว
    • หากจะมีแต่ภาพวาด แต่ไม่ได้เป็นองค์ประกอบของเวทีคุยกันอย่างนี้ มันก็ไม่ได้จิตวิญญาณการเรียนรู้ให้ซาบซึ้งความเป็นสังคมของตนเอง ของคนที่เป็นเจ้าของประสบการณ์ในชนบทได้ดีอย่างนี้
    • นาข้าวที่ใช้รถเกี่ยวข้าวเปลือกร่วงเยอะครับ เยอะกว่าเกี่ยวด้วยมือ พอฝนตกก็งอกออกมาเขียวพรึ่ดอย่างกับนาหว่าน แต่มันไม่ร่วงเป็นรวงๆ ร่วงเป็นเมล็ดปนไปกับดิน เลยเก็บข้าวตกไม่ได้ครับ
    • นึกถึงตอนที่เด็กๆหัดยิงหนังสะติ๊กกันใหม่ๆ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ก็น่าขันนะครับ มักจะจับหนังรองกระสุนกับง้างด้ามหนังสะติ๊ก พอยางยืดเต็มที่ แทนที่จะปล่อยมือด้านที่เป็นหนังรองกระสุน ก็ดันไปปล่อยมือด้านที่จับด้ามหนังสะติ๊ก เสียงหนังยางจะดึงง่ามหนังสะติ๊กมาฟาดหน้าอกดังปั่ก นกแตกกระจายแล้วก็บินไปเกาะต้นไม้ต้นอื่นอย่างสบายๆ แต่คนยิงหนังสะติ๊กนอนจุกชักดิ้นชักงอ

    อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และพี่น้องเวทีชุมชนคนหนองบัว

    ตอนที่ผมได้ทราบนั้น ใจผมแว๊บเหมือนกับมีครูและหมู่กัลยาณมิตรกำลังสอนให้ได้ความซาบซึ้งและเห็นคุณค่าของการได้มาในสิ่งที่ยากๆ กระทบกับตัวตน ความเป็นตัวกูของกู กดดัน ท้าทาย มันเลยทำให้เรื่องง่ายๆสำหรับคนอื่น มีความหมายต่อตนเองได้อย่างประหลาด .... (ความเห็น 614)

    • แวะมา น้อมคารวะ "มุทิตาจิต" ครับ
    • และ...ขอร่วม "ภาคภูมิใจ" ด้วย เป็นอย่างยิ่งงงงงงงงงง ...............................

    มีหัวข้อแยกย่อยเยอะไปหมด ไม่รู้จะไปแจมตรงไหนดี เอาตรงนี้ที่คุ้นเคยละกัน ยังมีกลุ่มพริกเกลือที่ผมยังไม่เคยไปเยี่ยมเยียนเลย

    ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับพี่วิรัตน์อีกครากับรางวัลจากการทำงานให้สังคม

    ไม่ได้เข้ามาพูดคุยซะนานเลย ไม่รู้จะเริ่มเรืองไหนก่อนดี เอาเรื่องของหนองบัว-ชุมแสงนี่แหละใกล้ตัวดี

    เปลี่ยนใจ ผมเอาเรื่องประสบการณ์เกี่ยวกับชุมแสงของผม ไปไว้ที่ตลาดแลกข้าวฯที่ชุมแสงแล้วนะครับ ตามไปอ่านที่โน่นละกัน

    มีข้อเสนอนิดครับ อยากจะให้หัวข้อย่อยนี้ (เวทีเรียนรู้สุขภาวะคนหนองบัว) เป็นหัวข้อแรกที่อยู่ที่หน้าที่ 1 เพราะมันคือเวทีหลักของพวกเราไปแล้ว

    สวัสดีครับท่านอธิการบดีช้างน้อยมอมแมม

    • ขอบคุณครับ
    • ขอแสดงความยินดีกับว่าที่ดอกเตอร์คนเก่งด้วยเช่นกันครับ

       สวัสดีครับฉิก   

    • ขอบคุณครับ
    • เห็นด้วยกับฉิกครับที่จะให้หัวข้อนี้เป็นหัวข้อแรกและเป็นหัวข้อหลักของเวทีคนหนองบัว หากไปเขียนหัวข้ออื่นเพื่อให้เป็นหมวดหมู่ หาง่ายสำหรับคนอื่นๆ ผมเองก็จะต้องดึงเอาสาระสำคัญของเรื่องที่เขียนนั้นมาเก็บรวบรวมไว้ที่นี่ด้วย
    • เพราะดูแล้วเหมือนว่าหัวข้อนี้จะมีบรรยากาศของการเป็นแหล่งคุยสร้างแนวคิด แลกเปลี่ยนข้อมูล ถกและหารือให้เกิดวิธีคิดดีๆ ซึ่งทำให้มีคลังข้อมูลมากมาย
    • เลยรวบรวมไว้ที่นี่ก็จะเป็นการดี หากจะลงรายละเอียดเฉพาะเรื่องก็สามารถแตกออกไปจากที่นี่ได้
    • เข้าไปอ่านที่ฉิกบันทึกแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับชุมแสงและวิถีชีวิตผู้คนหนองบัวและชุมแสง ไว้ที่ ตลาดแลกข้าวเปลือกกับสินค้าที่ชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ แล้วสนุกมากจริงๆ ฉิกเป็นคนใช้ชีวิตและมีเรื่องราวบนประสบการณ์ชีวิตมากมายนะครับ แล้วก็เล่าสนุกดีจริงๆ

    สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์และพี่ฉิกครับ

    ระยะหลาย ๆ วันมานี้สังเกตไหมครับว่าท่านอาจารย์พระมหาแลฯเงียบหายไป บรรดาญาติโยมหลายคนคงคิดถึงนะครับ

    ที่ต้องเอ่ยถึงท่าน ณ ที่นี้คืออย่างนี้ครับ ผมเพิ่งได้รับโทรศัพท์จากพระครูประยูรฯ เจ้าอาวาสวัดสีหไกรสร (คนเขาล้อ-ดอนคา ท่าตะโก) ผู้ที่ท่านพระมหาแลฯเคยกล่าวถึงว่าชอบสนับสนุนให้พระจากชนบทเข้าศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ

    แต่คราวนี้ ไม่ใช่อย่างนั้นแล้วครับ แต่...ไปไกลกว่านั้น

    มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระภิกษุสงฆ์ไทย-ลาว พระพุทธศาสนาและความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาว...แบบเงียบเชียบ ครับ

    ....... คือว่า พรุ่งนี้ตี 5 จะมีรถตู้ 1 คันเดินทางจาก 4 แยกพรานนกมาหนองคายแล้วข้ามไปเวียงจันทน์

    การเดินทางมาครั้งนี้แม้จะมิใช่เรื่องใหญ่โต แต่เป็นความปลาบปลื้มใจของคน 2 ฝั่งโขง

    ใครที่ไม่มีพาสปอร์ตผมทำบัตรผ่านแดนไว้รอแล้วครับ

    ฝั่งขวา...เป็นความปลื้มใจของเจ้าอาวาสผู้ให้ที่พำนัก/ทุนการศึกษาแก่พระนิสิตชาวลาว ที่ได้ศึกษาร่ำเรียนมาตั้งแต่ปริญญาตรีจนจบปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ....เป็นความปลื้มใจของโยมอุปัฏฐากชาวไทยหลายท่าน ส่วนหนึ่งร่วมขบวนมาครั้งนี้ด้วย

    ฝั้งซ้าย...เป็นความปลาบปลื้มใจของโยมพ่อ/โยมแม่และคนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากของพระนิสิตชาวลาวทั้งสองรูป

    น่าจะถึงหนองคายประมาณ บ่าย 2 โมง แล้วข้ามโขงเลย

    งานนี้ผมขอร่วมทำบุญด้วย(แม้จะมีส่วนเพียงน้อยนิด)ด้วยการดูแลเรื่องการเข้า-ออกเมืองในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่นับถือศาสนสพุทธ

    ขอพี่น้องชาวหนองบัว ได้มีส่วนร่วมในการอนุโมทนาบุญและแสดงมุทิตาจิตในครั้งนี้ด้วยกันครับ.

    อินเตอร์เน็ตที่วัดหลุดไปหลายวัน มาอีกทีมีเรื่องราวน่าสนใจเพิ่มขึ้น เรื่องอินเตอร์เน็ตพระในวัดทำใจกันได้เยอะ คือไม่ค่อยกล้าเปิด เพราะเปิดครั้งใดก็ไม่ติด เลยทำอย่างอื่นไปก่อน หลุดแล้วโทร.ไป TOT ช่างมาดูใช้ได้ พอช่างออกจากวัดไปสักพักเดียวก็หลุดอีก หลุดบ่อยๆเข้า เล่นเอาจนวัดผู้บริโภครับภาระจ่ายตังค์เกิดเกรงใจองค์การโทรศัพท์ ไม่อยากโทร.ไปรบกวนจึงปล่อยไปบ้าง เว้นบ้าง เป็นซะงั้น (ผู้บริโภคใจดีหรือรำคาญไม่อยากโทร.ไปแจ้งองค์การฯก็ไม่ทราบ)

    นึกถึงตอนทำนา ปีที่ใดแล้งมากๆข้าวกำลังเหี่ยวแห้งจะตายคานา เจ้าของก็เทียวไปดูบ่อยๆเมื่อเห็นข้าวจะตายไปต่อหน้าต่อตาก็ทำใจลำบาก จากไปดูทุกวันก็เว้นบ้าง เมื่อมีน้ำหลากนองมาถึงนาก็ดีใจตะโกนคุยกันลั่นทุ่ง คัดน้ำเข้านา แขวะน้ำเข้านากันยกใหญ่ ชื่นใจ กูรอดตายแน่ละปีนี้ อย่างนี้ไม่ต้องแห่นางแมว

    นี่ทำให้นึกถึงคุณเสวก ใยอินทร์ถ้าอยู่ใกล้ๆกันจะชวนมาแห่นางแมวที่วัดสักวัน แกจำเพลงและร้องเพลงแห่นางแมวได้ดีอย่าบอกใครเชียว มาช่วยแห่นางแมวเพื่อเตือนให้อินเตอร์เน็ตมาดีๆสะดวกๆอย่าอืดนัก อย่าหลุดบ่อย ถ้าไม่หลุดอีกเดี๋ยวสักพักได้กลับมาพูดคุยกันต่อไป(จนกว่าเน็ตเขาจะมา) ไปก่อนละ ต้องรีบไปๆ

      สวัสดีครับคุณสมบัติครับ 

    • ขอร่วมอนุโมทนาอย่างยิ่งครับ ทั้งภาคราชการที่เกี่ยวข้องของทั้งไทยและลาว ทั้งพ่อแม่ญาติโยม ทั้งของพระทั้งสองรูป และญาติโยมผู้ศรัทธาฝ่ายไทยที่เป็นผู้อุปฐาก รวมทั้งกลุ่มผู้ส่งเสริมทั้งโดยตรงและโดยความศรัทธาปสาทะของตนอย่างคุณสมบัติและผู้ร่วมอำนวยความสะดวกแด่พระคุณเจ้าที่สำเร็จการศึกษา เป็นกลุ่มคนผู้ปิดทองหลังพระที่เชื่อว่าจะทำให้พระศาสนาได้เผยแผ่ไปสู่กลุ่มชาวบ้านคนส่วนใหญ่ได้มีโอกาสเข้าถึงความสุขและอิสรภาพในชีวิตที่ยั่งยืนกว่าทางอื่น
    • ผมเคยไปที่หลวงพระบาง ได้ไปร่วมทำบุญกับพี่น้องลาวที่วัดเก่าแก่ ๒ แห่งที่หลวงพระบาง วัดแห่งหนึ่งอยู่บนภูเขา มีพระที่ได้ขึ้นไปกราบท่านได้เคยมาศึกษาปฏิบัติกับครูอาจารย์ในเมืองไทยอยู่ด้วย ท่านพูดถึงพระผู้ใหญ่ในประเทศไทยที่เป็นที่รู้จักกันดีหลายรูปที่ท่านเคารพนับถือและได้ไปศึกษาปฏิบัติด้วย ด้วยความเคารพนอบน้อมเหมือนเราพูดถึงครูอาจารย์ของเราเช่นกัน
    • เป็นการสร้างความร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งดี ที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่งครับ ดีใจและขออนุโมทนาที่คุณสมบัติคนหนองบัวได้มีส่วนร่วมในวาระที่สำคัญและมีความหมายมากอย่างนี้

       กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลครับ  

    • ผมโดยผู้คนรอบข้างหลายคนถามไถ่ถึงพระคุณเจ้าว่าหายไปไหนหลายวัน ผมก็บอกว่าคงจะเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวิสาขบูชา ก็เลยได้ทราบว่าเกิดจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตติดขัดด้วย
    • ตอนนี้ในเวทีนี้คงจะมีพระคุณเจ้า คุณสมบัติ คุณฉิก คุณเสวก ในยอินทร์ และผม เป็นเหมือนกองบก.หรือทีมรักษาความเคลื่อนไหวของข้อมูลเวทีไปแล้ว หากคนใดคนหนึ่งหายไปนานก็จะมีคนถามไถ่ถึง
    • เวทีกลุ่มพริกเกลือที่คุณเสวกเปิดไว้รองรับกลุ่มคนที่อาจรวมตัวกันเป็นกลุ่มความสนใจเดียวกันหรือกลุ่มคอเดียวกันก็คึกคักไม่หยอกนะครับ
    • มองในแง่กระบวนการเรียนรู้และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ก็จะเห็นความเป็นคลื่นระลอกแรกที่พยายามเข้ามาเรียนรู้และบรรจงเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ท้องถิ่นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มคนที่ทำหน้าที่สร้างสรรค์สิ่งดีให้กับส่วนรวม สร้างความรู้และข้อมูลท้องถิ่นเพื่อสื่อสารกับโลกภายนอก รวมทั้งเก็บบันทึกให้เป็นข้อมูลของท้องถิ่น
    • มองอย่างคนสื่อสารความรู้และคนที่ต้องมีหน้าที่สร้างความรู้ สอนหนังสือ และทำสื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับสังคมแล้วละก็ ผมก็ต้องตระหนักและเห็นพัฒนาการเวทีคนหนองบัวที่น่าประทับใจว่า กลุ่มคนเล็กๆจำนวนหนึ่ง ได้ใช้เป็นช่องทางช่วยกันสร้างความรู้และจัดการความรู้บนสื่ออินเทอร์เน็ต เผยแพร่เรื่องราวชุมชนได้ทั้งในประเทศไทยและกรจายไปหลายภูมิภาคของโลก นี่ถ้าหากทำเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหรือแผ่นพับเผยแพร่อำเภอหนองบัวไปสู่โลกภายนอก ก็คงไม่ได้อย่างที่ปรากฏในสื่ออินเทอร์เน็ตนี้แม้สักเสี้ยวหนึ่ง แค่เผยแพร่ให้ทั่วทุกชุมชนในอำเภอหนองบัว ก็คงได้เนื้อหานิดเดียวและคงหมดเงินเป็นหมื่นเป็นแสน ทว่า นี่เรากำลังได้ข้อมูลของอำเภอมากมาย อีกทั้งสะสมไว้ให้ผู้คนใช้ได้ต่อไปอีก และเผยแพร่ไปได้อย่างกว้างขวางทั่วโลกไปแล้ว น่าประทับใจมากจริงๆละครับ

     กระยาสารท : ความเป็มชุมชนบนอาหาร สุขภาวะจิตวิญญาณ และอีกพื้นฐานความสามัคคีคนหนองบัว คลิกตามลิงก์นี้ครับ [Click here please]

    มีรูปแสดงการทำกระยาสารท มาสะสมไว้ในเวทีนี้อีกรูปและอีกเรื่องหนึ่งครับ เป็นการทำให้กิจกรรมชีวิตและวิถีชุมชนเป็นจำนวนมากที่เหมือนกับความว่างเปล่า ให้เป็นข้อมูลและความรู้ที่อยู่ในประสบการณ์และวิถีชีวิตผู้คนในชุมชน รวมทั้งผมจะพาถอดรหัสนัย อ่านสังคม และเห็นมิติต่างๆของสังคม สิ่งแวดล้อม ความเป็นท้องถิ่น และภาพสะท้อนระบบสังคมอันซับซ้อน จากอาหารการกินและกิจกรรมต่างๆที่อยู่ในชุมชนคนหนองบัว

    เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่นอกจากจะทำให้ทุกคนได้วิธีเรียนรู้ชุมชนให้เกิดความภูมิใจ และเห็นรากเหง้าและความมาของสภาพการณ์ปัจจุบันแล้ว ก็เชื่อว่าจะได้วิธีวิเคราะห์และวิจัยสภาวการณ์ชุมชนจากชีวิตประจำวัน ด้วยวิธีที่เรียบง่ายแต่ได้ความแยบคายและลึกซึ้ง เช่น ผู้นำชุมชน หรือท่านพระอาจารย์มหาแล ก็สามารถเป็นนักวิจัยชุมชนและเก็บรวบรวมข้อมูลชุมชน  ผ่านการพิจารณาการใส่บาตรและการทำกระยาสารทของชาวบ้านถวายแก่พระ เหล่านี้เป็นต้น

                           

    อธิบายภาพ : ชาวบ้าน บ้านตาลิน และชาวบ้านอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ รวมตัวกันทำกระยาสารท ซึ่งเป็นเทศกาลการทำอาหารอย่างหนึ่งที่มีมิติความเป็นชุมชนและกระบวนการเชิงวัฒนธรรม ซึ่งก่อเกิดกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมและสร้างสุขภาวะทางจิตวิญญาณของชุมชนขึ้นอย่างลึกซึ้ง  วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ : แวะมาแสดงความยินดีให้กับ เวทีคนหนองบัว-เวทีเรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว ที่มีกัลยาณมิตรแวะเวียนกันเข้ามาพูดคุยครบ ๑ หมื่นคลิ๊กคะ ยินดีด้วยคะ ..

    • ยินดีด้วยกับทุกท่านเช่นกันครับ น่าประทับใจและเป็นความเคลื่อนไหวของเวทีเรียนรู้ออนไลน์ที่น่าสนใจมากเลยครับ
    • เป็นความรู้ชุมชนท้องถิ่นและวิธีจัดการความรู้ทางสื่อออนไลน์ที่เชื่อมโยงสังคมท้องถิ่นกับโลกกว้างได้อย่างกลมกลืนผสมผสานมากเลยครับ
    • ยินดีและอนุโมทนาการจุดประกายและทำให้เกิดการริเริ่มเวทีนี้ขึ้นของท่านพระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • ร่วมยินดีกับความร่วมแรงแบ่งปันสร้างสรรค์สิ่งดีเล็กๆน้อยสะสมช่วยกันทั้งของคนหนองบัวและเครือข่ายบล๊อกเกอร์เขียนความรู้และจัดการความรู้ ใน Gotoknow นี้ครับ
    • ดีใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งครับ
    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    จากก้าวแรก แล้วก็มาถึง ๑ หมื่นคลิ๊ก
    ยินดีกับทุกท่านที่มีส่วนทำให้เวทีคนหนองบัวได้เติบโต ก้าวไปข้างหน้า

    เก็บตก ย้อนรอยถอยหลังไปที่ dialogue box ๖๐๒ (๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓) มีการกล่าวถึงอำเภอตากฟ้า ก่อนบวชซักประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๐ กว่าๆ ไปงานปิดทองฝังลูกนิมิตที่อำเภอตากฟ้า กับหมู่ญาติพี่น้องคนหนองบัวจำได้ว่า บ้านตากฟ้านี่เมื่อก่อนเป็นบ้านนอกสุดๆ เราคิดว่าที่หนองบัวนั้นบ้านนอกแล้ว ไปเจออำเภอตากฟ้ายิ่งบ้านนอกมากขึ้นไปอีก จำไม่ได้เสียแล้วว่าวัดที่ไปปิดทองครานั้นอยู่ใกล้วัดท่านเจ้าคุณอมรเมธี รองเจ้าคณะอำเภอตากฟ้าหรือเปล่า

    ถนนที่เข้าไปยังวัดที่มีงานเป็นถนนลูกรังและถนนที่เป็นดินฝุ่นหนาๆ รถวิ่งก็จะมีฝุ่นตลบฟุ้งกระจายตามหลังรถ เหลียวหลังมองทางที่รถวิ่งมา เห็นแต่ฝุ่นเหมือนมีเมฆลอยเป็นลำยาวตามถนนอยู่บนกลางอากาศ แม้ถนนหนทางจะลำบากแต่ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับนักแสวงบุญทั้งหลาย แค่ปิดทองนี่ถึงไกลก็ไป ข้ามอำเภอก็ไป สิ่สิบปีที่แล้วข้ามอำเภอไปถึงตากฟ้านี่ถือว่าไกลโขทีเดียว

    อีกอย่างที่จำได้ดีก็คือห้องน้ำ ห้องส้วมในวัด เป็นส้วมหลุม(บ๊อก)ขนาดใหญ่อยู่ไม่ห่างงานมากนัก มีผ้าล้อม ส้วมหลุมนี่ถ้าใช้บ่อยๆจนคุ้นเคย ก็ไม่คิดรู้สึกแปลกอะไร แต่เมื่อใช้ของบ้านอื่นที่อื่นที่ไม่เคยชินนั้น มันรู้สึกลำบากอึดอัดอยู่บ้าง งานใหญ่ขนาดงานฝังลูกนิมิตนี่ คนก็เยอะ คิดดูว่าสภาพเป็นยังไง

    คนสมัยนี้เดินทางทีก็คำนึงถึงความสะอาดของห้องน้ำมาเป็นอันดับแรก และใช้เป็นเหตุผลที่เลือกใช้ปั้มน้ำมันอีกด้วย ปั้นไหนห้องน้ำ ห้องส้วมสะอาดสามารถเรียกลูกค้าได้เป็นกอบเป็นกำ รวยเละจากห้องส้วมสะอาดนี่แหละพี่น้อง

    แต่เมื่อก่อนป่าเยอะ ทุ่งนา ป่าเขา ลำห้วย ลำธาร ใครก็สามารถเลือกใช้บริการเป็นสถานที่ถ่ายทุกข์ได้ตลอดเวลา และอย่างสบายใจด้วย

    ได้ยินเขาเล่าว่า เพราะไม่เคยไป ที่เมืองจีนเมื่อไม่นานมานี้พี่น้องชาวจีนแผ่นดินใหญ่ยังนิยมถ่ายทุกข์ตามทุ่งนา ยังมีส้วมหลุมอยู่เลย เหตุผลฟังมาว่า ที่เมืองจีนโน่น การใช้มูลสัตว์ทำปุ๋ยก็เหมือนประเทศอื่นทั่วไป แต่เมืองจีนมีพิเศษกว่าใครเพื่อนก็คือ เขานำอุจจาระของคนไปทำปุ๋ยใส่ผัก ที่ปลูกไว้บริโภคเองด้วย และน่าจะขายด้วย เขาว่าขายดี ผู้คนนิยม และปลอดสารพิษ(คิดให้ได้ว่ามันก็เป็นเรื่องธรรมชาติอย่างหนึ่ง)

    ขอแสดงมุทิตาและยินดีกับผู้ช่วยศาสตราจารย์คนใหม่ด้วย

    จาก dialogue box ๖๐๒ (๔ มิถุนายน ๒๕๕๓) ขอแสดงความยินดีกับพระสงฆ์ลาวทั้งสองรูปด้วยที่จบป.โท มจร. ทราบข่าวมาบ้างว่า ป.โท มจร.นี่จบยากจัง เขาว่ากันมาอย่างนั้น หลวงพี่สองรูปนี้ที่จบแล้วก็คงได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคมชุมชนในวงกว้างต่อไป ได้เป็นกำลังของพระศาสนา พระศาสนได้มีบุคลากรที่สำคัญเพิ่มขึ้นอีก ขออนุโมทนา

    เพิ่งทราบว่า คุณศักดิ์สิริ มีสมสืบ นักเขียนซีไรต์ เป็นคนชุมแสง เคยเห็นงานเขียนผ่านตาบ้าง ผลงานเกี่ยวกับบทกวี

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล อาสโย และสวัสดี ชาวชุมชนคนหนองบัวทุกท่าน..

    ขอร่วมแสดงความยินดีกับก้าวย่าง "หมื่นคลิก" ณ ลานปัญญาแห่งนี้ครับ

      กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลครับ 

    • กราบขอบพระคุณครับ
    • พระคุณเจ้าเล่าย้อนรำลึกเรื่องส้วมหลุมและวิถีชีวิตในอดีตของชนบท ทั้งงดงามและนึกถึงแล้วก็ให้ลำบากอึดอัดอย่างที่ว่าเลยนะครับ หากเป็นนั่งคุยกัน พอคุยและชวนกันนึกถึงภาพตรงนี้ก็ต้องร้องยึยยยยยในใจ เล่าได้จั๊กจี้ดีแท้ครับ
    • ศักดิ์สิริ มีสมสืบได้รางวัลซีไรต์จากงานกวีเมื่อปี ๒๕๓๕ ในผลงานกวีร่วมเล่มชุด มือนั้นสีขาว พื้นเพศักดิ์สิริ มีสมสืบเป็นคนชัยนาท ศึกษาเล่าเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนไพศาลี ศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง คุรุศาสตรบัณฑิตที่วิทยาลัยครูพระนคร ทำงานศิลปะ ศึกษาและพัฒนางานทางความคิดกับกวีจ่าง แซ่ตั้ง และในช่วงชีวิตหนึ่งก็เป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนชุมแสงชนูทิศ อำเภอชุมแสง นครสวรรค์
    • แต่นอกจากการศึกษา การเป็นนักอ่าน เขียน และเคี่ยวกรำกับชีวิตอย่างเข้มข้นมากแล้ว เขาเกิดในครอบครัวของศิลปิน พ่อ พี่และญาติพี่น้องมีวงดนตรีไทย ลิเก แตรวง ทำให้เขาสร้างสรรค์งานศิลปะในทุกแขนงได้อย่างคนที่เข้าถึง
    • ศักดิ์สิริมีผลงานที่โดดเด่นหลายแขนง นอกจากรางวัลกวีซีไรต์แล้ว จึงได้รับการเชิดชูให้ได้รับรางวัลในผลงานอีกหลายรางวัลคือ รางวัลพระพิฆเนศวร์ , รางวัลปราศราหุล , และล่าสุดคือรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
    • สวัสดีครับช้างน้อยมอมแมม
    • คุณช้างน้อยมอมแมมก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมสร้างเวทีคนหนองบัวนะครับ

    ผมมีหนังสือ มือนั้นสีขาว อยู่เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่2 หลังจากที่ได้รางวัลซ๊ไรท์แล้ว มีคำประกาศเกียรติคุณ และประวัติของ อ.ศักดิ์ศิริ ด้วย

    ช่วงนี้ค่อนข้างยุ่งๆหน่อย เลยไม่ค่อยมีเวลาเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูล แต่ก็โฉบเข้ามาอ่านอยู่เรื่อยๆ ไปละครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เกวียน-เจ้าถนนในอดีต(ที่ชุมชนหนองบัว)

    สมัยนี้ที่หนองบัวเจ้าถนนก็คือรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถอีตุ๊ก รถอีแต๋น รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์มีที่ใช้ส่วนตัว และรับจ้างอยู่ที่สี่แยกต้นอีซึก(สี่แยกหนองบัว-ชัยภูมิ) ส่วนสามล้อถีบที่เคยบริการรับจ้างรับ-ส่งคนจากตลาดหนองบัวไปโรงพยาบาลหนองบัว เลิกไปหลายปีแล้ว โดยมีรถสองแถววิ่งรับส่งผู้โดยสารและนักเรียนจากตลาดหนองบัว-โรงพยาบาลหนองบัว-โรงเรียนหนองบัวมาแทน สามล้อถีบ

    เมื่อร้อยที่แล้วในกรุงเทพฯมีรถเจ๊ก หรือรถลาก ประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าคัน ในมณฑลต่าง ๆ รวมกันแล้วมีรถเจ๊กน้อยกว่าที่กรุงเทพฯ แห่งเดียว ตัวอย่าง ที่มณฑลนครสวรรค์ มีรถลาก(รถเจ๊ก)แค่ ๒ คัน มณฑลพิษณุโลกมีรถลากมากหน่อย ๔๐๐ กว่าคัน กล่าวได้เลยว่า กรุงเทพฯ ในอดีตแค่เพียงร้อยปีที่แล้วนั้น เจ้าถนนก็คือรถลากหรือรถเจ๊กนั่นเอง รถลากหรือรถเจ๊ก ทำไมถึงเรียกว่ารถเจ๊ก ก็เพราะเจ๊กหรือคนจีนเป็นคนลาก คนลากรถมีแต่คนจีนล้วน ๆ ไม่มีคนไทยที่ลากรถเลย

    แต่เมื่อสัก ๓๐ ปีมานี้เอง ที่หนองบัว เจ้าถนนตัวจริงก็คือเกวียน ถนนสายหนองบัว-ชุมแสง สายหนองบัว-ท่าตะโก ทาง-ถนนไปเขามรกต เขาพระ เหล่านี้ล้วนเป็นถนนที่มีเกวียนสัญจรไปมาอยู่มากมาย เกวียนเดินบนถนนลูกรังจะเกิดเสียงดัง ได้ยินไปไกล กว่าเสียงรถยนต์อีก อีกทั้งมีเสียงคนขับเกวียนไล่วัว-ควาย ก็ดังไม่น้อย และคนขับเกวียนนี่ก็สามารถพูดคุยกับคนที่บ้านอยู่ข้างทางได้ด้วย ถามไถ่โต้ตอบกันรู้เรื่อง เกวียนสวนทางกันก็ทักทายปราศรัยกันได้โดยไม่ต้องจอดเกวียนให้เสียเวลา ความปลอดภัยในการขี่เกวียนถือว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างมาก การเกิดอุบัติเหตุมีน้อยมาก ถ้าไปป่าไปเขาก็ไปกันหลายเจ้าไปกันเป็นคาราวาน การจะถูกปล้นถูกจี้เหมือนรถยนต์สมัยนี้ก็เป็นไปได้น้อย และการไปหลายเจ้าก็มักจะมีหน่วยคุ้มกันอย่างแน่นหนาเสียด้วย ฉะนั้นการไปไหนมาไหนด้วยเกวียนจึงมีความปลอดภัย

    แต่ถ้าขับเกวียนไปคนเดียวตอนเช้ามืดหรือตอนค่ำ ผ่านป่าช้าหรือบริเวณที่มีคนยิงกันตายอยู่ใกล้ทางเกวียนแม้จะนานมาแล้ว เมื่อถึงบริเวณนั้นก็ทำให้ขนลุก เสียวหลังวูบได้เหมือนกัน

    เจริญพรคุณช้างน้อยมอมแมม
    อนุโมทนาขอบคุณ คุณช้างน้อยมอมแมมที่ได้แวะเวียนมาเยี่ยมให้กำลังใจเวทีคนหนองบัวเป็นระยะ ๆ

    วันนี้ ขอนำคำชื่นชมจากพระคุณเจ้าที่รู้จักกัน มาฝากอาจารย์วิรัตน์ ท่านได้เห็นเรื่องราวในชุมชนหนองบัวมากมาย แล้วท่านได้กล่าวชมอาจารย์วิรัตน์ว่าวาดภาพได้งดงามสื่อได้ถึงแก่นของชุมชน ท่านกล่าวว่าถ้าเป็นคุณครูในหนองบัวก็สามารถนำสื่อชุดนี้ไปเป็นสื่อการเรียนการสอน เรียนรู้ชุมชนได้อย่างยอดเยี่ยมอย่างไม่ที่ติ สมบูรณ์ครบถ้วนจริง ๆ

    ท่านอยู่พิษณุโลก บ้านท่านเป็นอำเภอที่ดังมากและเป็นที่รู้จักกันดีของคนทั้งประเทศเพราะเรื่องราวต่าง ๆ ในชุมชนบ้านของท่านนั้น ได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์สองสามครั้งแล้ว สร้างทีไรดังทุกที และมีบางเรื่องในชุมชนที่มีตำนานอันโด่งดัง ก็ได้มีครูเพลง(ครูพยงค์ มุกดา) นำไปแต่งเป็นบทเพลงให้นักร้องลูกทุ่ง"ขวัญใจคนเดิม"ตลอดกาล พี่เป้า-สายัณห์ สัญญา ขับร้อง จนเพลงดังกล่าวนั้นดังเป็นอย่างมาก

    ท่านบอกว่าบ้านท่านมีเรื่องราวมากมายแต่จะหาคนที่เป็นผู้นำ พาทำ ชวนคิด ชวนทำ นำเรื่องดีงามต่าง ๆ มาบันทึกไว้ หรือจะหาผู้บุกเบิก นำร่อง ศึกษา ค้นคว้า ร่องรอยประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ของชุมชน เหมือนอาจารย์วิรัตน์ที่ได้ทำไว้นั้น แสนจะหายากเต็มที

    ท่านให้ข้อสังเกตว่าส่วนมากแล้วมีแต่ประเภท รู้มาก เชี่ยวชาญ เก่งกาจ ปราดเปรื่อง กระเดื่องเดช ทั่วเขตคาม(รู้ทั่วโลก-รู้ไปหมดทุกเรื่อง) ยกเว้นเรื่องราวที่บ้านตนเอง เรื่องท้องถิ่นตัวเอง ท่านว่างั้น

    มาแสดงตนก่อนครับ ตอนนี้ผมมีปัญหาการเข้าระบบ

    สวัสดีครับฉิก

    • ในแง่หนึ่ง พื้นเพฉิกเป็นคนชุมแสงนี่เนาะ เป็นท้องถิ่นเดียวกันกับศักดิ์สิริ มีสมสืบ
    • ศักดิ์สิริ มีสมสืบเคยเป็นครูที่โรงเรียนชุมแสงชนูทิศและใช้ชีวิตอยู่ที่ชุมแสง
    • ดูเหมือนผมจะเคยได้ยินพี่เขาบอกกับผมว่าภรรยาแกเป็นคนบ้านห้วยร่วมด้วยครับ
    • ผมประทับใจทั้งผลงานและตัวตนของพี่เขา เป็นคนสาธารณะที่มีผลงานระดับประเทศแต่มีความเป็นชาวบ้านมากครับ
    • เมื่อก่อนเวลาฟังเพลงนำรายการทีวี ..ไม่แน่ใจว่าเป็นรายการ ทุ่งแสงตะวัน หรือเกี่ยวกับสารคดีชีวิตนี่แหละ ของ คุณนิรมล เมธีสุวกุล จะมีเพลงที่แต่ง เล่น และร้องโดยศักดิ์สิริ มีสมสืบที่ผมชอบฟังมากอยู่ด้วย เพราะจะเห็นการผสมผสานกันของลายเกากีตาร์ที่อิสระและสบาย ภาษากวี น้ำเสียงแบบคอลูกทุ่งกับนักเชียร์รำวงเก่า และลูกคอกับการเอื้อนแบบพระเอกลิเกเก่าของแก

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลที่เคารพครับ
    สวัสดดีคุณเสวก ใยอินทร์ และทุกๆท่านครับ

    • ภาพวิถีชีวิตและพัฒนาของชุมชนหนองบัวอย่างที่พระคุณเจ้าถ่ายทอดไว้ภาพนี้ หากมีโอกาสผมจะไม่ลืมที่จะกลับมาดึงไปเขียนเป็นรูปไว้นะครับ นึกภาพออกครับ
    • คนรุ่นที่อยู่ในบรรยากาศที่พระคุณเจ้าเล่าไว้นี้เชื่อว่าต้องหลายรุ่นทีเดียว 
    • ตั้งแต่อายุ ๔๐ ขึ้นไปจนถึง ๘๐-๙๐ ปีนี่ ผมว่าร่วมสมัยกับบรรยากาศนี้หมดครับ
    • คุณเสวกสุขสบายดีนะครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆท่าน

    ได้อ่าน เกวียน-เจ้าถนนในอดีต ของพระคุณเจ้า ในห้วงเวลาเดียวกับที่พวกเราก็ได้ พูดถึง อ.ศักดิ์สิริ มีสมสืบ เลยได้มีโอกาสเอาหนังสือ มือนั้นสีขาว มาปัดฝุ่นอ่านอีกครั้ง ก็เลยก็อปปี้บทกวี หมานำเกวียน ในหนังสือเล่มดังกล่าวมาให้พวกเราได้อ่านกัน และทำให้เห็นภาพในตอนนั้นได้ว่ามีเกวียนต้องมีหมานำ

    เจริญพรคุณฉิก

    ต้องขอบคุณคุณฉิกอย่างมากเลยที่ได้นำบทกวีมาช่วยเสริมเรื่องราว ทำให้มองเห็นบรรยากาศช่วงนั้นแจ่มชัดยิ่งขึ้นไปอีก ทบกวีบทนี้ของนักเขียนกวีซีไรท์-ศักดิ์สิริ มีสมสืบทั้งไพเราะและมีความหมาย อ่านไปก็เห็นภาพและเรื่องราววิถีชีวิตในชนบทมาก มากจนได้ยินเสียงเกวียนและการพูดคุยกันระหว่างลุงกับครูแว่วมาแต่ไกลเลย (นี่ถ้าได้ภาพวาดลายเส้นจากอาจารย์วิรัตน์ประกอบเรื่องด้วยแล้วจะยิ่งได้อารมณ์ขนาดไหน)

    การมีหมานำเกวียนนั้น ช่วยให้เจ้าของเกวียนได้รับรู้การเคลื่อนไหวสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งจากคนและสัตว์ร้ายต่าง ๆ ในระยะไกล-ใกล้ได้อย่างดีด้วย เมื่อหมาเจอคนหรือสัตว์ต่าง ๆ เช่น งู เต่า ลิง หรือแม่แต่หนู ก็จะเห่า และการเห่าก็บอกได้เลยเหมือนกันว่า สิ่งที่หมาเห่านั้นเป็นคน หรือสัตว์

    เคยได้ยินหรือที่เห็นมามีแต่หมาวิ่งจนลิ้นห้อย หรือวิ่งตับแลบ แต่ร้อยหมาเยี่ยวและห้าสิบหมายิ้มนี่ เป็นสำนวนที่กวีซีไรท์เปรียบเทียบที่ยังไม่คุ้นชินนัก แต่ก็ได้อรรถรสและมองเห็นภาพได้อย่างดีเยี่ยม

    • ขอแก้ไขคำผิด จาก คห.ที่ ๖๔๗ บรรทัดแรก ทบกวี แก้เป็นบทกวี และบรรทัดที่แปดห้าสิบหมายิ้ม แก้เป็น สิบห้าหมายิ้ม
    • บทกวี หมานำเกวียน กล่าวถึงครูไปสอนหนังสือยังที่กันดารด้วยความลำบากแล้ว ทำให้นึกถึงเมื่อแรกมีถนนสายบ้านป่าเรไร ไปบ้านห้วยน้อย แยกจากถนนสายหนองบัว-ท่าตะโก ห่างจากวัดป่าเรไรด้านทิศตะวันตกสักห้าร้อยเมตร
    • ถนนที่ทำใหม่นี้ส่วนใหญ่จะทำไปตามเส้นเขตแดนนาของเจ้าของนาสองเจ้า โดยแต่ละเจ้าจะแบ่งที่ดินให้ทำถนนคนละครึ่ง ถนนก็เลยคดเคี้ยวไปตามเขตแดนนาของชาวบ้านด้วย
    • แต่ก่อนถึงวัดห้วยน้อยจะผ่านที่นาของพ่อซึ่งเป็นแนวตรงไปยังวัดห้วยน้อย ช่วงนี้เป็นช่วงที่ถนนผ่านนาพ่อเจ้าเดียวเต็ม ๆ เป็นระยะด้านยาวของนาพอดี กินเนื้อที่ไปมาก แต่พ่อก็ยินดีสละที่ดินให้ทำถนนเป็นเส้นตรงโดยไม่ต้องคดเคี้ยวไปตามเขตแดนนาเจ้าที่ติดกัน
    • ฉะนั้นนาของพ่อจึงมีถนนผ่ากลางนาเลย ทำนาคร่อมถนนทั้งสองด้าน ทั้งทิศตะวันตก-ตะวันออก
    • ถนนสายนี้เป็นถนนดินเหนียว เมื่อฝนตก การเดินทางจะลำบากเพราะดินเหนียวจะติดเท้าเป็นแบะ เดินไปก็สลัดดินจากเท้าไปตลอด ถ้าเป็นเกวียนดินเหนียวยิ่งติดล้อหนาปึ๊ก ทำให้ควายที่ลากเกวียน ก็ต้องออกแรงลากไปอย่างมาก และดินก็ติดตีนควายมากด้วย แค่ดินเหนียวติดล้อกับติดตีนควายก็หนักเหมือนบรรทุกข้าวฟ่อนสักครึ่งเรือนเกวียน(ตู้)ได้
    • โรงเรียนวัดห้วยน้อยจะมีครูจากตลาดหนองบัวอย่างน้อยสองสามคนไปสอน ว้นไหนฝนตก ก็เลยได้เห็นคุณครูเดินบนถนนดินเหนียวนี้ เดินถือรองเท้า-กางร่มด้วย ซึ่งดูการเดินทางแล้ว คงจะลำบากไม่น้อยทีเดียว ด้วยเป็นคนเมือง ที่ไม่ชินกับสภาพชีวิตท้องนา เลยไม่คล่องตัวเหมือนชาวบ้าน ยิ่งหน้านำหลากน้ำท่วมยิ่งลำบากมาก ครูต้องนอนพักที่บ้านคหบดีใกล้ ๆ วัด ต้องเดินลุยน้ำลึกเลยหัวเข่าไปโรงเรียน หรือก็ไม่ก็พายเรือไป
    • ครูที่ขี่เกวียไปสอนหนังสือในบทกวี หมานำเกวียน คิดเป็นระยะทางได้ถึงร้อยหมาเยี่ยว สิบหมายิ้ม แต่หนองบัว-วัดห้วยน้อย ระยะทางไม่ไกลนัก ไม่ทราบว่าจะเทียบได้กี่หมาเยี่ยว หมายิ้ม กันละหนอคุณลุง(โชว์เฟอร์คนขับเกวียน)

    กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตรน์และทุกๆท่านครับ

    วันนนี้ผมขอนำรูปวันงานรวมตัวกลุ่มพริกเกลือมาฝากลงที่นี้ด้วยครับ

    กิจกรรมสายสัมพันธ์พี่น้อง ชมรม พริกเกลือคลับครั้งที่1   ได้จัดขึ้นมาอย่างเป็นท่างการแล้ว ในวันงานมีการเสนอแนวทาง และลงทะเบียนพร้อมเปิดตัวเหล่าสมาชิก

    เนื่องจากว่าเราต่างมาอยู่ร่วมกันก็จริงพราะมีตั้งแต่รุ่นใหญ่และรุ่น เล็กก็ต้องมีการนัดรวมตัวกัน พร้อมทั้งมีการร่วมวงกินกินข้าว โดยที่ขาดไม่ได้คือเมนูนี้มีแกงพริกเกลือหม้อใหญ่จาก น้าพร อดีตประทานแม่บ้านหมู่ 12 หนองกลับ แห่งบ้านเนินขี้เหล็กขอทางร้านอาสาเข้าครัวเอง

    งานนี้พี่น้องๆพุงกางตามๆกันครับ

    ตอนนี้เพลพอดี เห็นแกงพริกเกลือที่คุณเสวกนำมาฝากแล้ว หิวข้าวขึ้นมาเลยหนา ทำให้หลวงอานึกไปถึงตอนโน้นได้เลยทีเดียว แกงพริกเกลือในป่าเหนือ(หาของป่า,ตัดไม้เผาถ่าน,เลี้ยงควายหน้าน้ำ,ปลูกอ้อย หีบอ้อย) หรือไปนาก็แกงพริกเกลือซดน้ำแกงร้อนๆ มือกลางวันนี่อร่อยมาก

    เห็นพี่น้องชาวหนองบัวแกงพริกเกลือกินข้าวร่วมกันในบรรยากาศนี้แล้ว ช่างแตกต่างกันกับยุคหลวงอาเสี่ยนี่กระไร(เมื่อก่อนกินตามใต้ร่มไม้-ห้างนา แดดร้อนเปรี้ยงๆ) ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ขอสนับสนุนชมรมพริกเกลือที่ได้รวมตัวกันทำกิจกรรมดี ๆ ได้พบปะพูดคุยกันอย่างคนบ้านเดียวกัน ไม่ได้บอกสถานที่ว่าจัดที่ไหน คงเป็นที่จังหวัดระยองใช่ไหมเนี่ย

    ฟังคุณเสวกรายงานมาดูขึงขังดีจังเนาะ มีการเปิดตัวสมาชิก(คล้ายกับการเปิดตัว-หาเสียงพรรคการเมืองเลย)บอกว่าได้จัดอย่างเป็นอย่างการแล้วนะ มีการลงทะเบียน คิดรูปแบบแนวทางการทำงานของกลุ่มด้วย

     เห็นแล้วบอกได้คำเดียวว่าดีจริงๆ และที่ดีมากๆเลยก็คือได้เห็นคนหนองบัว พูดกันได้อย่างเต็มปากเต็มคำอย่างมั่นใจในสถานที่ที่นอกพื้นที่บ้านหนองบัวว่า บ้านฉันนี่มีแกงพริกเกลือ อาหารพื้นบ้านตัวจริง อยากจะบอกต่อว่าใครไปหนองบัวแล้ว ไม่ได้กินแกงพริกเกลือนี่ต้องถือว่ายังไม่ถึงหนองบัวนะ...จะบอกให้

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
    สวัสดีทุกท่านครับคุณฉิก คุณเสวกใยอินทร์

    • ตอนนี้เปิดเทอมแรกของนักศึกษารุ่นใหม่ รวมทั้งมีงานต่อเนื่องกันหลายวันเลยครับ
    • ได้แต่เข้ามาอาศัยติดตามอ่านและดูรูปที่ทุกท่านนำมาแบ่งปันกันและรวบรวมไว้ในนี้
    • สอง-สามวันนี้ก็มาอยู่แถวๆบ้านเรานี่เองครับ มาเป็นวิทยากรอบรมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเครือข่าย อสม ต้นแบบจากทั่วประเทศ ให้เขามีวิชาครูเสริมศักยภาพให้กับความที่เขาเป็นครูอยู่แล้ว ให้เป็นผู้นำการพัฒนาได้ดีมากยิ่งๆขึ้นที่ศูนย์สุขภาพภาคประชาชน อยู่ที่ข้างเขาขาด นครสวรรค์นี่เองครับ
    • แต่เลิกงานกันครึ่งค่อนคืนทุกวัน แล้วก็ต้องเตรียมการบรรยายกันอีก เลยได้แต่เข้ามาดูครับ
    • มีคนนครสวรรค์ จากท่าตะโกด้วยครับ แถมเคยเป็นเด็กวัดหลวงพ่ออ๋อยเสียอีก ทักทายกันและผมให้ดูรูปเล่าเรื่องเวทีคนหนองบัวให้ฟังบ้างแล้วครับ
    • ขอแวะเข้ามาชมและทักทายกันไว้กันนะครับ

    การทำนาตามวิถีกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม

    ชาวนาแท้ ๆ เมื่อให้มาลำดับขั้นตอนวิธีกระบวนการทำนาแบบวิถีเก่าดูแล้ว ก็ชักจะไม่แน่ใจเสียแล้วซิ แต่ก็พอจะมีเหตุให้อ้างได้ว่า ว่างเว้นจากวิถีดังกล่าวมาก็กว่า ๓๐ ปีแล้ว เป็นการคิดทบทวนเหตุการณ์ย้อนหลังไปสามทศวรรษ คิดคนเดียวพอจะจำได้บ้าง แต่อาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

    ๑. การไถ(การดะนา) การไถแปร
    ๒. การคราด-การตีคลุบ-การทำเทือก
    ๓. การหว่านกล้า-การตกล้า
    ๔. การปักดำ
     ๕. พิธีทำขวัญข้าวตอนข้าวตั้งท้อง
    ๖. การเกี่ยวข้าว
    ๗. การหอบข้าว
    ๘. การทำลาน-การยาลาน
    ๙. พิธีรับขวัญข้าวจากนามาลานนวดข้าว
    ๑๐. การนวดข้าว
     ๑๑. การรุข้าว-กองข้าว(ใช้พลั่วตักเมล็ดข้าวมากองรวมกัน)
    ๑๒. การฝัดข้าว
    ๑๓. นำเครื่องเซ่นทั้งหมดจากทุ่งนามาเข้ายุ้งฉาง

    กลับมาดูอีกทีที่(คห.๖๕๒) ปรากฏว่ากระบวนการผลิตการทำนาตามแบบวิถึดั้งเดิมขาดหายไปสามขั้นตอน เป็นขั้นตอนที่สำคัญเสียด้วย และก็เคยเขียนไว้บ้างแล้วนั่นก็คือ การขน-การเข็นข้าวฟ่อน การตวงข้าว และการทำลอมข้าว นึกไปก็ขำๆ ว่าเอ๊ะ เราทำมากับมือแท้ๆทำไมลืมได้

    ลอมข้าวนี่ยังเหลือไว้แต่ในเป็นความทรงจำอย่างเดียวโดยแท้ จะหาภาพถ่ายคงไม่มีให้ดูแน่นอน ในเวทีคนหนองบัวนี้ทุกขั้นตอนในการทำนาคิดว่าอาจารย์วิรัตน์ได้ถ่ายทอดเรื่องราวไว้เกือบจะครบแล้ว มีทั้งภาพวาดเรื่องราวรายละเอียดทุกอย่าง ถ้าได้เห็นภาพวาดลอมข้าวในอดีตอันงดงาม การตวงข้าวอีกสักภาพ จะยิ่งมองเห็นการทำนาในวิถีการผลิตแบบดั้งเดิมสมบูรณ์ครบถ้วน

    สวัสดีครับฉิก มาขอสวัสดีและนั่งคุยกันอีกรอบนะครับ

    • ผมเคยอ่านและได้เป็นเจ้าของผลงานของศักดิ์สิริ มีสมสืบอยู่หลายเล่มอยู่เหมือนกัน รวมทั้งรวมผลงานบทกวี มือนั้นสีขาว ตั้งแต่ก่อนจะทราบว่าเขาเป็นคนชัยนาท ชุมแสง ไพศาลี และเป็นคนเรียนมาทางศิลปะที่เพาะช่างด้วย แต่เดิมนั้นผมเข้าใจว่าพี่เขาเรียนมหาวิทยาลัยอื่นที่ไหนสักแห่งแล้วก็เป็นลูกศิษย์ของจ่าง แซ่ตั้ง
    • ต่อมาถึงได้ทราบว่าเป็นรุ่นพี่เพาะช่างนี่เองอีกด้วย แล้วก็ได้ไปทำกิจกรรมด้วยกันเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง พอได้สัมผัสตัวตนจริงๆด้วยแล้ว เลยยิ่งรู้สึกว่าชีวิตตัวพี่เขาเองนั้นก็เป็นงานศิลปะที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าการสะท้อนออกมาในผลงานเสียอีก
    • แม้นเจอเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ห่างจากห้วงเวลาของงานมือนั้นสีขาวหลายปีมากแล้ว อีกทั้ง ณ เวลานี้ พี่เขาก็มีความอาวุโสในทุกด้านมากกว่าเดิมแล้ว แต่ก็รับรู้ได้ว่าศักดิ์สิริ มีสมสืบ มีความเป็นครูและเป็นคนมีทรรศนะทางการศึกษาเรียนรู้อยู่ในทุกอย่างที่คิดและทำอยู่เสมอ เข้าใจว่าคงสืบเนื่องไปถึงในยุคที่ทำงานในระยะแรกๆอย่างที่ปรากฏในบทกวีหมานำเกวียนด้วยเช่นกัน ซึ่งตอนนั้นจิตวิญญาณความเป็นครูยังกรุ่นอยู่ในประสบการณ์ชีวิต อีกทั้งอยู่ในยุคที่นักคิด นักเขียน และคนทำงานศิลปะ มักมุ่งเป็นเสียงสะท้อนและเป็นกำลังสติปัญญาให้กับภาคสังคมที่อยู่ในชนบท
    • เวลาผมอ่านบทกวีบทนี้ ผมก็ได้อารมณ์และวิธีคิดในทางเสริมกำลังการคิดและการปฏิบัติตนเองไปด้วยเหมือนกันครับ แนวการทำให้ผู้อ่านได้ร้สึกกับสถานการณ์โดยรอบก่อน จากนั้นจึงจัดวางเงื่อนไขให้ผู้อ่านหยั่งเข้าไปเรียนรู้ภาวะภายในที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง อย่างเป็นของใครของมันอย่างนี้ ทำความเข้าใจและสร้างความรู้จักในวิธีสร้างประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของกวีต่อผู้คนในสังคมได้หลายแง่ครับ
    • ให้ทรรศนะวิพากษ์ในทางพุทธธรรม : วิธีสร้างประสบการณ์อันลึกซึ้งให้ได้ปัญญาและการเจริญสติในระดับจิตวิญญาณทางสังคมภายในปัจเจกภาวะอย่างนี้ กวีทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร และสถานการณ์ที่สร้างขึ้นจากบทกวีทำหน้าที่เหมือนเงื่อนไขแวดล้อม หรือ ปรโตโฆษะ ที่มุ่งให้สัปปายะต่อการก่อเกิดประสบการณ์และการเรียนรู้ภายในตนเองของเรา เมื่อได้ใช้กระบวนการทางปัญญาทำความแยบคายแก่ตนเองซึ่งเป็นวิธีโยนิโสมนสิการ เราก็สามารถได้ความซาบซึ้งบางอย่างเกิดขึ้นแก่ตัวเราเอง
    • กระบวนการอย่างนี้ เป็นวิธีการที่เด่นในวิธีของเซนและเต๋า ซึ่งศักดิ์สิริ มีสมสืบเป็นนักเขียน กวี และคนทำงานศิลปะคนหนึ่งที่ศึกษาและพัฒนาตนเองมามากในแนวทางนี้
    • ดังนั้น มองในแง่นี้ ก็จะเห็นว่าในบทกวีมีวิธีผูกปมและสร้างเงื่อนไข ๒ จังหวะ คือ แรกเลยก็นำทางให้ผู้อ่านเห็นสถานการณ์แวดล้อม จากนั้นจึงเป็นจังหวะและเงื่อนไขที่ ๒ ที้งปริศนาธรรมและเงื่อนไขเหมือนเป็นการตั้งประเต็นชวนคิด ให้คนหันกลับเข้าสู่การใคร่ครวญตนเอง จะก่อเกิดการเรียนรู้และได้สิ่งใด ก็เป็นเรื่องของผู้อ่าน ซึ่งก็อาจจะมีบางส่วนที่ร่วมอยู่ในโลกทรรศน์ของกวีอยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วบทกวีและงานศิลปะก็ไม่ได้มุ่งให้คนได้ความเป็นตัวของตัวเองโดยเดินตามกันไปในลักษณะที่เหมือนกันไปหมดอย่างนั้น
    • เมื่อมองในแง่นี้ ผมเองก็จะเห็นการให้กำลังใจตนเองและการให้อนุสติแก่ตนเองในวิธีการของกวี จำเพาะในสถานการณ์นี้ ก็เป็นเรื่องของการทำงานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆว่ามีความยากลำบากมาก แต่ประเทศและสังคมของเราโดยเฉพาะในชนบทก็ต้องการครูและคนที่มุ่งมั่นต่อสู้กับความยากลำบาก การคิดให้ตนเองมีกำลังใจเรียนรู้สู้สิ่งยากอย่างนี้ ก็สามารถนำไปใช้ในชีวิตและการทำงานต่างๆได้อยู่เสมอนะครับ

    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์ครับ

    • ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับกิจกรรมสายสัมพันธ์พี่น้อง ชมรม พริกเกลือคลับ ครั้งที่ ๑ นะครับ เป็นความริเริ่มและสร้างสรรค์มากเลยครับ
    • บรรยายภาพกิจกรรมเหมือนไม่ได้จัดที่หนองบัว เป็นการจัดกิจกรรมนี้กันอยู่ที่อื่นกระมังครับ
    • คงเป็นที่ระยอง ชุมชนคนทำงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอย่างนั้นใช่หรือเปล่าครับ
    • เอามาโพสต์เผยแพร่ไว้อยู่เสมอๆนะครับ นอกเหนือจากในเวทีของกลุ่มพริกเกลือของคุณเสวกและเพื่อนๆแล้ว ก็ลิงก์ไว้เหรือนำมาโพสต์ไว้ในนี้ด้วยนะครับ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และคนอื่นๆ จะได้มีสื่อทราบความเคลื่อนไหวและสารทุกข์สุขดิบกันและกันครับ
    • เราช่วยกันทำให้เวทีนี้เป็นสื่อสานวิถีชีวิตของสังคมชาวบ้าน-ชาวเมืองกันให้ได้มากยิ่งๆขึ้นนะครับ ทำจากเวทีคนหนองบัวใกล้ๆตัวของเราเองนี้เลย

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • เห็นโครงเรื่องในการประมวลภาพและข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชุมชนชาวนาในอดีตเลยนะครับ
    • หากมีโอกาสผมจะพยายามเขียนภาพให้ครบทุกกระบวนการของการทำนาเลยนะครับ มีประโยชน์ทั้งต่อทางวิชาการและการสร้างความรู้ให้หลากหลายมั่งคั่งเก็บไว้ให้สังคมเลยครับ
    • ช่วยกันนำกลับมาเขียนเรียบเรียงและจัดหมวดหมู่ สร้างเรื่องราวในหัวข้อใหม่ๆจากวัตถุดิบและข้อมูลที่ช่วยกันเทกองไว้ไปด้วยก็จะยิ่งวิเศษใหญ่เลยนะครับ ผมเองก็จะทำไปด้วยเสมอๆนะครับ
    • เมื่อวานนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมกับผมท่านหนึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านของภาคตะวันออก เดินมาบอกว่าจะขอนำเอารูปวาดมิติชุมชนและการเรียนรู้ความเป็นสังคมชาวบ้านในการทำขนมกระยาสารท ไปเป็นสื่อเรียนรู้ชีวิตชุมชนของท่านด้วย ท่านบอกว่ามันเป็นเรื่องราวของชาวบ้านในชนบททั่วไปที่คนอีกจำนวนมากในชุมชนของท่านก็ยังจำได้ เลยจะนำไปใช้เป็นสื่อเรียนรู้ พัฒนาความเป็นชุมชนเรียนรู้ของชาวบ้านในชุมชนของท่านด้วย ผมเลยทั้งอนุญาตและปวารณาซ้ำไปด้วยแทนคนในเวทีคนหนองบัวอีกหลายท่านเลยครับว่า หากเป็นเรื่องที่ก่อประโยชน์ต่อสังคมทั้งในท้องถิ่นของสังคมไทยหรือที่ใดๆแล้วละก็ ขอให้เอาไปใช้ได้ตามสะดวกเลย
    • การเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ได้ส่งเสริมชาวบ้านทั่วไป ให้มีความเป็นพลเมืองที่เก่งขึ้นและพัฒนาการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างสุขภาวะสังคมตามโอกาสและเงื่อนไขแห่งตนได้มากขึ้น ย่อมเป็นคุณค่าและความดีงามจากแรงใจแรงกายของทุกท่านครับ

    สวัสดีครับทุก ๆ ท่านครับ

    ผมหายไปหลายวันทีเดียว กลับมาอีกที่ได้ความรู้ที่หลากหลาย โดยเฉพาะท่านพระมหาแลฯ รักษาแนวพื้นบ้านผสมแนวป่า ๆ ไว้ได้อย่างเหนียวแน่นและน่าติดตาม ขออนุโมทนาครับ

    การห่างหายจากริมฝั่งแม่น้ำโขงไปนาน ทำเอามิตรสหายชาวลาวหลายท่านเป็นห่วง เขาพูดแซวเล่นว่า...นึกว่าไปรวมอยู่กับเสื้อแดงตาม พรก.ฉุกเฉินซะแล้ว โทรหา (เบอร์ลาว) ทั้งอาทิตย์ก็ไม่ติด...ก็ต้องขอบคุณมิตรสหายต่างชาติที่เป็นห่วงเป็นใยครับ

    สำหรับความเห็นที่ 602 +634 ผมต้องขออภัยที่ให้ข้อมูลเพี้ยนไป เนื่องจากรับข้อมูลมาทางโทรศัพท์ไม่ครบถ้วน

    อันที่จริงพระภิกษุสงฆ์ชาวลาว 2 รูปนั้น รูปหนึ่งกำลังเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ส่วนรูปที่สำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับประเทศนั้น จากการสนทนาขณะผมขับรถไปส่งที่วัดเพียวัด ริมแม่น้ำโขงฝั่งตรงข้ามอำเภอศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ทราบว่าจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาจุฬาฯ ส่วนปริญญาโทนั้นจบด้าน I.T. จากมหาวิทยาลัยสยาม ก็แปลกดีเหมือนกันครับ.

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ สบายดีนะครับ

    สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    สบายดีครับ ช่วงนี้กำลังเตรียมเขียนผลงาน รอลุ้นบางสิ่งบางอย่างเพื่อความก้าวหน้าเหมือนกับคนทั่ว ๆ ไปน่ะครับ อาจจะห่าง ๆ จากเวทีนี้ไปบ้าง อาจารย์คงเข้าใจภาวะของคนที่อยู่ในช่วงนี้ได้ดีนะครับ

    เมื่อวานมีโทรศัพท์จากหมายเลข 056...... มาจากอำเภอหนองบัว สอบถามทราบว่าโทรมาจากร้านขายยา...ช้างทอง ใจกลางตลาดหนองบัว ท่านไปเห็นเห็นหนังสือที่ผมเขียน เล่าว่าชอบเมืองลาว สะสมหนังสือเกี่ยวกับเมืองลาว นับตั้งแต่ผลงานของสมเด็จพระเทพฯ ท่านทูตพิษณุ จันทร์วิทัน ......ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้จักกัน ท่านพูดคุยเหมือนกับคุ้นเคยกันมาหลายปี สนใจสอบถามเกี่ยวกับเมืองลาวหลายเรื่อง ที่บ้านท่านชมรายการทีวีลาวได้หลายช่อง

    ผมดีใจและรู้สึกเป็นเกี่ยรติที่ได้รับโทรศัพท์สายนี้

    ร้านช้างทองนี่ น่าจะเป็นร้านขายยาร้านแรก ๆ ของอำเภอหนองบัว ท่านบอกว่าเปิดร้านมาตั้งแต่ปี 2515 เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 1 ตอนเด็ก ๆ พ่อแม่ก็พาไปซื้อยาร้านนี้.....จำได้อย่างแม่นยำ

    ถ้าเป็นคนหนองบัวแท้ ๆ แล้ว น่าจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักร้านขายยาร้านนี้นะครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    • หนังสือของคุณสมบัติและตัวคุณสมบัตินี่ดังครับ มีเพื่อนและคนรู้จักผม ๒-๓ คนที่บ้านหนองบัวเขารู้จักครับ
    • คนหนึ่งเป็นเพื่อนรักกันมากชื่อคุณครูประสิทธิ์ รอดนิล ก็บอกว่าอยู่บ้านเดียวกับคุณสมบัติอีกด้วยและสิ่งอ้างอิงเมื่อกล่าวขยายความถึงคุณสมบัติก็คือพจนานุกรมภาษาไทย-ลาวของคุณสมบัตินั่นแหละครับ
    • ร้านช้างทองเภสัชนี่เป็นร้านขายยาแผนปัจจุบันร้านแรกและผมเคยบันทึกไว้ว่าเป็นร้านที่มีโทรทัศน์สีเครื่องแรกของหนองบัวครับ[Click here]
    • แต่หากนับเอาร้านหมอหลุยหรือร้านปานขลิบโอสถด้วยก็จะเป็นร้านที่ ๒ แต่ร้านหมอหลุยนั้นเป็นร้านยาไทยและยาแผนโบราณมาก่อน หากมองอย่างนี้ ร้านช้างทองเภสัชก็เป็นร้านขายยาแผนปัจจุบันร้านแรกเลยครับ(ร้านหมอหลุย [Click here1ในเรื่องทุนสังคมของอำเภอหนองบัว] [Click here 2 ในเรื่อง ตลาดแลกข้าวชุมแสง])
    • แต่ว่าแต่เดิมก่อนที่จะย้ายไปตั้งร้านใหม่อยู่ในศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์นั้น ร้านเขาตั้งขึ้นครั้งแรกอยู่ข้างตลาดสดเลย ผมจำได้เพราะในยุคนั้นแถวร้านช้างทองโอสถยังเป็นทางเดินมีคูน้ำไปกระทั่งถึงโรงสีข้าว ยังเป็นสภาพชนบทอยู่เลย และแถวๆนั้นก็เป็นร้านพ่อแม่ของเพื่อนๆผมแทบทั้งนั้น(คงจะเพื่อนๆของคุณสมบัติด้วยแหละครับ)
    • เพื่อนคนหนึ่งของผมจบหนองคอกแล้วก็ทำร้านขายข้าวและผลผลิตเกษตรนาไร่อยู่เยื้องๆร้านช้างทองเภสัชเดิมนั่นเลย แต่ต่อมาก็ไปเปิดร้านรับซื้อและขายข้าวอยู่ในนครสวรรค์หน้าอุทยานสวรรค์ เป็นเถ้าแก่ใหญ่ของนครสวรรค์และภาคเหนือไปแล้ว แต่ตอนนี้ผมผ่านไปผมก็หาร้านของเขาไม่เจอสักที อาคารบ้านเรือนของหนองบัวและนครสวรรค์ขยายตัวเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากจริงๆ 

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์

    วันนี้มาแจ้งข่าวให้อาจารย์ทราบ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว(๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๓)พระคุณเจ้าที่รู้จักกันรูปหนึ่งคือพระอธิการโชคชัย ชยวุฑโฒ วัดพรหมพิราม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ท่านเรียน(รป.ม.)กำลังจะทำวิทยานิพนธ์ ท่านสนใจเรื่องวิถีชุมชนหนองบัว ได้ถามปรึกษาอาจารย์เรื่องอัตลักษณ์วิถีชุมชนหนองบัว โดยได้เข้าไปถามไว้ที่ “บล็อกประชาสังคมศึกษา-ประชากรศึกษา” ในหัวข้อที่ (๔๘. การคุยและฟังเสียงหัวใจ กับการปรึกษาวิชาการและวิทยานิพนธ์)
    ท่านเกรงว่า คำถามนั้นคงจะเล็ดลอดผ่านสายตาไปโดยอาจารย์ไม่ทันสังเกต ท่านจึงได้ขอร้องให้อาตมาช่วยแจ้งในเวทีนี้แทน

    ตะครัว

    เมื่อก่อนนี้ ที่บ้านแม่ผู้เขียน บ้านเนินตาโพ หมู่ที่ ๑ ต.หนองกลับ มีห้องครัว/เรือนครัว/ครัวไฟขนาดใหญ่อยู่ติดกับตัวบ้าน โดยตะครัวอยู่ด้านหน้าตัวบ้านต่อจากนอกชาน ตะครัวจะมีประตู หน้าต่าง เหมือนมีเรือนย่อม ๆ อีกหลังหนึ่งอยู่ในบ้านหลังใหญ่เลย(ห้องครัวนี้ คนหนองบัว-หนองกลับ จะมีศัพท์ที่ใช้เรียกเฉพาะในหมู่บ้านว่า ตะครัว-เรียกไม่เหมือนใครอีกแล้วบ้านเรา เป็นตัวของตัวเองดี เท่ไม่หยอก)

    เครื่องใช้ภายในตะครัว ได้แก่ ตู้กับข้าว เตาไฟหุงข้าว เขียง ครก สาก มีด ทัพพี กระทะ ถาดใส่กับข้าว อ่างน้ำข้าว โอ่งปลาร้า ไหใส่ปลาร้า โอ่งหน่อไม้ดอง ปี๊บหน่อไม้อัด กระต่ายขูดมะพร้าว หินโม่แป้ง กระเช้า กระซ่า ตระแกรง เครื่องจักสานที่สานเสร็จใหม่ๆมักจะนำมาแขวนไว้ใกล้ๆเตาไฟ ชามใส่ขี้เถ้า ขอแขวนกันมด ที่เก็บถ้วยชาม ไม้ขีด เสี้ยนไฟ-เสี้ยนจุดไฟ กระบุงหรือกระแป๋งใส่เสี้ยนไฟ(เสี้ยนไฟจะนิยมเศษไม้ต่าง ๆ ที่ผ่าง่าย ติดไฟง่าย ยิ่งเป็นเศษไม้สักด้วยแล้วใช้ดีที่สุด) กระบุงใส่ถ่าน โอ่งใส่ถ่านที่ใช้แล้ว(ทำครัวเสร็จแล้ว ถ่านที่เหลือยังไม่มอด ก็เก็บไว้ใช้ได้ต่อไป โดยใช้เหล็กคีบถ่าน คีบถ่านกำลังร้อน ๆ ใส่โอ่งแล้วปิดฝา ถ่านเย็นตัวลง โดยไม่ต้องใช้น้ำดับถ่าน-ถ้าใช้น้ำดับถ่านในเตา จะทำให้เตาและชั้นเตา(รังแตน) แตก พัง เสียหายเร็ว)

    หน้าทำนาเป็นฤดูตาลสุก เมื่อแม่ทำขนมตาล อยากกินขนมตาลก็มาดูแม่ทำ ช่วยเป็นลูกมือบ้าง ก็จะได้กินขนมตาลก่อนใครอีกด้วย หน้าหนาวเด็กๆชอบเข้ามาในตะครัวเพราะได้ผิงไฟเตา อบอุ่นดีจริงๆ

    ด้านบนและข้างฝาบริเวณใกล้เตาไฟ จะมีที่แขวน ใบตองควง(พลวง) ที่วาง ตอกมัดกล้า ตอกมัดข้าวฟ่อน(กันมอดกิน) หอม กระเทียม (น่าจะยังมีอะไรอีกเยอะ แต่ตอนนี้นึกไม่ออกเสียแล้ว)แม่บ้านทั้งหลายเอย มาช่วยกันเก็บรายละเอียด หากินของกินของใช้มาใส่ให้เต็มตะครัวของอาตมาหน่อยเถอะ ตะครัวบ้านนี้จะได้ดูดีขึ้นไง
    สาธุ อนุโมทนามิ.

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • ผมกลับไปดูได้ไม่ทั่วถึงจริงๆด้วยครับ เคยเข้ามาดูและเห็นผ่านตาไปแล้ว แต่เนื่องจากยังไม่ทันได้มีเวลาพอที่จะเข้ามาคุย เลยเก็บไว้ก่อน พอเข้ามาอีกทีก็ดูไม่ทั่วครับ แต่จำได้อยู่ครับ
    • อยากแนะนำเบื้องต้นว่านั่งอ่านจากข้อมูลในเวทีคนหนองบัวแล้วพัฒนาเป็นประเด็นความสนใจ จากนั้นจึงค่อยพัฒนากรอบศึกษาข้อมูลเบื้องต้นสำหรับตั้งโจทย์วิจัยให้ตรงกับความสนใจ น่าจะดีกว่าครับ 
    • ข้อมูลและเรื่องราวเรื่องตะครัวนี้เห็นวิถีชีวิตของชุมชนดีจังเลยครับ
    • หากมีรูปถ่ายประกอบด้วยก็จะยิ่งเป็นหัวข้อบันทึกอย่างดีเพิ่มมาอีกเรื่องหนึ่ง หากมีโอกาสผมจะหาข้อมูลเพิ่มมาวาดบันทึกเป็นรูปไว้ด้วยครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอธิการโชคชัยครับ
    นำมาโพสต์ไว้ตรงนี้อีกนะครับจะได้มีโอกาสเข้ามาอ่านได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเผื่อคนอื่นจะได้อ่าน ผมและเวทีคนหนองบัวก็ได้มีโอกาสนำเสนอประเด็นให้เกิดการนำไปสู่การวิจัยซึ่งเชื่อว่าจะได้ประโยชน์ทั้งต่อสาธารณะและชุมชนหนองบัวด้วย....
    area กว้างๆเหล่านี้พอจะเป็นแนวพัฒนาประเด็นความสนใจได้บ้างไหมครับ

    • ความสามัคคี คุณธรรมเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวม กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมในระดับต่างๆ ที่สำคัญคือ ในบ้าน ในวัฒนธรรมการรวมกลุ่มของชุมชน ในโรงเรียน วัด ชุมชน และกิจกรรมสาธารณะ โครงสร้างในวิถีชีวิตชุมชนที่ส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นให้กับสังคม จากร่องรอยในอดีต สภาวการณ์และเงื่อนไขแวดล้อมของการเปลี่ยนแปลงสู่ปัจจุบัน แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคต พิจารณาจากความจำเป็นของสังคมซึ่งเกิดวิกฤติต่างๆในเชิงโครงสร้างและกระบวนการทางการปฏิบัติอย่างมากมายซึ่งจะทำให้เห็นได้ว่า ความสามัคคี เป็นคุณธรรมเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวมที่จำเป็นต้องสร้างความรู้ขึ้นมาทำงานในเงื่อนไขแวดล้อมของสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้เกี่ยวข้อทางด้านการศึกษา การพัฒนาการเรียนรู้ วัฒนธรรม การปกครอง การพัฒนาความร่วมมือ การระดมพลังชุมชน และการบริหารความมีส่วนร่วมของชุมชน จากนั้น จึงเลือกศึกษาเชิงลึกเป็นกรณีศึกษาของอำเภอหนองบัว เพราะมีวิสัยทัศน์ชุมชนสะท้อนเป็นคำขวัญของอำเภอและมีสิ่งสาธารณะหลายอย่างเป็นสิ่งแสดงและหลักฐานของความสามัคคี
    • แนวทางการศึกษาอย่างนี้ก็พอจะไปกันได้กับการศึกษาในแนวค้นหาอัตลักษณ์อยู่บ้างนะครับ ที่ใช้คำว่าอยู่บ้างนั้น ก็เนื่องจากในระยะก่อเกิดสิ่งต่างๆที่เป็นความเป็นชุมชนและเป็นภาพสะท้อนความสามัคคีของชุมชนนั้น พอจะนิยามได้ว่าเป็นการก่อเกิดอัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชน ที่มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างและระบบสังคมท้องถิ่นอย่างใกล้ชิก ทว่า ต่อมาก็เป็นการทำให้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหนองบัว ซึ่งจะว่าไปแล้วก็มีร่องรอยอธิบายความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนอยู่บ้าง แต่หากวิเคราะห์อย่างจริงจังแล้ว ก็เหมาะที่จะอธิบายด้วยวิธีการสร้างตราสัญลักษณ์ หรือ Branding กับ Symbolics Information Management ก็น่าลองดูเหมือนกันนะครับ เป็นการหยิบยืมวิธีการของการตลาดมาศึกษาให้เข้าใจภาคสาธารณะของสังคมในอีกบริบทหนึ่ง
    • การสร้างความรู้และพัฒนาการเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาวะสาธารณะของสังคมท้องถิ่น ซึ่งผสมผสานทั้งชุมชนเสมือนจริงและชุมชนท้องถิ่นชนบท / กลุ่มปัจเจกสหสาขา ท้องถิ่น นักวิชาการประชาสังคม ชุมชนความสนใจ และระบบ IT จัดการความรู้ใน Gotoknow : เครือข่ายเรียนรู้อย่างบูรณาการและโครงสร้างที่พัฒนาการขึ้นด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างพื้นที่ความเป็นสาธารณะทางความรู้และข่าวสารเคลื่อนไหวสุขภาวะของชุมชนท้องถิ่นในชนบท จากนั้นจึงเลือกกรณีศึกษาชุมชนระดับอำเภอหนองบัวและเวทีคนหนองบัว
    • ชุมชนชนบทกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ระบบและวิธีบริหารจัดการความเป็นสาธารณะอย่างผสมผสานทั้งความเป็นชุมชนท้องถิ่นกับสังคมโลกที่ก้าวหน้า : การบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ การสร้างความรู้ และการพัฒนาบทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศบนฐานความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่สอดคล้องกลมกลืนกับสภาพสังคมชนบทไทย แล้วจึงเลือกกรณีศึกษาอำเภอหนองบัว
    • การสร้างทรัพยากรความรู้สาธารณะด้วยการมีส่วนร่วม : บทบาทของพระ กลุ่มปัจเจกในท้องถิ่น เครือข่ายสำนึกรักบ้านเกิดของคนท้องถิ่นย้ายถิ่น ในการสร้างความรู้และจัดการความรู้อย่างเหมาะสมเพื่อพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้ส่งเสริมการสร้างสุขภาวะของสังคมผ่านระบบจัดการความรู้ Gotoknow ในประเทศไทย
    • วิธีวิทยาการสร้างความรู้วิถีชาวบ้านและการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้อย่างบูรณาการ : บทบาทของพระ ชุมชน ภาคประชาชน นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสนับสนุนของเครือข่ายวิชาการสหสาขาต่อการสร้างความสำนึกสาธารณะและพัฒนาการมีส่วนร่วมในวิถีแห่งการเรียนรู้ ผ่านการเรียนรู้และสร้างความรู้จากประสบการณ์ชีวิต
    • พลังความสำนึกรักท้องถิ่นที่กลมกลืนกับความเป็นสากล แล้วจึงเลือกกรณีศึกษาเวทีคนหนองบัวโดยเน้นศึกษาเชิงลึกต่อไปถึงกลุ่มคนที่ออกไปทำงานและทำหน้าที่ต่อสังคมซึ่งเชื่อมโยงกับการสร้างสรรค์ความเป็นท้องถิ่นด้วย ซึ่งมีความสำคัญต่อสังคมในปัจจุบันและในอนาคตมาก

    คงพอจะได้แนวคิดบ้างนะครับ คุยหาความคิดและพัฒนาความสนใจให้ชัดขึ้นไปเรื่อยๆได้ครับ
    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

    ประชาสังคมบ้านทุ่ง

    หวีเสนียด : อุปกรณ์ที่จำเป็นของลูกผู้หญิง(ยุคก่อน)ดุจดังโทรศัพท์มือถือของชาวบ้านทุ่ง

    หวีเสนียดถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับสุภาพสตรีสูงวัยของชาวบ้านทุ่ง เมื่อผู้เขียนยังเป็นเด็กมักพบเห็นคุณป้า-น้า คุณย่า-ยาย พกพาหวีเสนียดติดตัวอยู่เป็นประจำเลยทีเดียว มีอยู่ทุกบ้าน ทุกหลังคาเรือน ยกเว้นบ้านที่ไม่มีผู้หญิง(ไม่มีหรอกนะที่ครอบครัวใดจะมีแต่ผู้ชายทั้งบ้าน-สมัยนี้ไม่แน่เสียแล้วซิ ทั้งบ้านมีแต่ชายล้วนก็มี)

    ชาวบ้านทุ่งเมื่อก่อนนี้โดยเฉพาะสุภาพสตรีมักประสบปัญหาเรื่องสุขภาวะอย่างหนึ่งคือการมีเหา ถ้าเด็กผู้หญิงที่มีนินัยชอบลุยๆหน่อยไปนาเลี้ยงงัวเลี้ยงควายไม่ค่อยมีเวลาดูแลเส้นผม นิยมเล่นสนุกสนานไปบ้างไม่ได้หมั่นเอาใจใส่ดูแลสุขภาพผมให้ดูมันเป็นเงางามเหมือนนางแบบโฆษณาในโทรทัศน์แล้วละก็ เธอก็จะมีเหาแน่นอน ผู้ใหญ่พี่ๆ ญาติๆ ก็มีภารกิจงานยุ่งไม่มีเวลามาช่วยดูแลเส้นผมลูกหลานเหมือนนางแบบในทีวีอีกด้วย เลยทำให้ลูกหลานหญิงมีเหากันไม่น้อย บางทีมีไข่เหาเกาะเส้นผมเป็นกระจุก

    ฉะนั้นสุภาพสตรีผู้สูงวัยชาวบ้านทุ่ง ไปไหนก็จะนำหวีเสนียดใส่ถุงหมากไปด้วยเสมอ เวลานั่งสนทนากันกินหมากไปด้วย หาเหาให้ลูกหลานไปด้วย ใช้หวีเสนียดสางเหาไข่เหาให้ลูกหลาน จับทั้งเหาไข่เหาบี้เสียงดัง “เป๊ะ เป๊ะ”

    เป็นบันทึกวิถีสังคมชาวบ้านที่ดีจังเลยครับ นำมาพิจารณาให้เห็นความเป็นชุมชน ความเป็นสังคมวัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์กันของชาวบ้าน โดยเฉพาะของคนระหว่างรุ่น ที่อยู่ในสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆท่าน

    เรื่องร้านขายยาในหนองบัวนี่ ร้านแรกก็น่าจะใช่ร้านหมอหลุย/ร้านปานขลิบโอสถ ตามที่พี่วิรัตน์ได้บอกไว้ ซึ่งก็มียาแผนปัจจุบันขายด้วย ตอนเด็กๆผมไปใช้บริการอยู่บ่อยๆ ส่วนร้านช้างทองเภสัชนี่ผมว่าไม่น่าจะเก่าแก่อันดับ 2 นะ เพราะมีร้าน หมอชวง/แสงศิริเภสัช ที่อยู่หน้าตลาดโกลกเลย ร้านหมอดวน/สมบูรณ์โอสถ ข้างตลาดโกลก หรืออีกร้านที่หัวตลาดเยื้องโรงแรมบัวสวรรค์ก็มีร้านหมอติ่ง/สมานเภสัช ร้านเหล่านี้ผมว่าน่าจะเปิดขายมาก่อนร้านช้างทองนะครับ (ชื่อร้านไม่มั่นใจว่าเรียกถูกหรือเปล่า โอสถ-เภสัช-ฟาร์มาซี)
    สำหรับเฮียช้างเจ้าของร้านช้างทองนั้น ผมก็รู้จักสนิทสนมกันดี พื้นเพเป็นคนห้วยร่วม พี่ชายผมมาเปิดร้านขายอะหลั่ยรถที่ศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์ก็ติดกับร้านเฮียช้าง ที่น่าจะเปิดขายพร้อมกับศูนย์ฯ
    ผมเคยเจอเฮียช้างโดยบังเอิญที่กทมเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ในงานวิ่งมาราธอนที่สวนสยาม (ผมกะเฮียช้างวิ่งแค่ 10 กม.เอง แต่ตอนนี้ไม่ได้วิ่งแล้ว ตีกอล์ฟอย่างเดียว) เวลากลับหนองบัวก็มักจะเจอกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะตอนเช้าที่รอบเกาะลอย (ที่เดี๋ยวนี้ไม่มีเกาะกลางบึงแล้ว) เฮียช้างไปวิ่งออกกำลังกายรอบเกาะ ส่วนผมเดินชมนกชมไม้รอบบึงหรือรอบเกาะนั่นแหละ

    พอเห็นคำว่า หวีเสนียด ของพระคุณเจ้า ภาพของแม่ผุดขึ้นมาทันที หวีเสนียดจะติดอยู่บนหัวแม่ตลอดเวลาเลยตั้งแต่เช้ายันค่ำ แต่ช่วงหลังนี่ก็ไม่เห็นแล้ว และไม่ได้สังเกตว่าแกเลิกใช้ไปตั้งแต่เมื่อไร และเดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยได้เห็นหวีเสนียดแล้ว เลยเอารูปหวีเสนียดมาให้ดูกัน

    เห็น คคห. ข้างบนของพี่วิรัตน์ เป็น คคห.ที่ 666 แล้ว นับว่าเรื่องราวของชาวหนองบัว ชุมชนเล็กๆของพวกเรานี่ ก็มีอะไรต่อมิอะไรให้เล่าขานเยอะแยะเหมือนกันนะ จริงๆแล้วยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่จะผุดออกมาเป็นระยะ แม้จะเป็นของเล็กๆน้อยๆอย่าง หวีเสนียด ต้องขอบคุณพระคุณเจ้าที่มักจะจั่วหัวนำก่อน พี่วิรัตน์ที่สรุปได้ดีมากคอยคัดท้าย ส่วนพวกเราอย่างน้องสมบัติ คุณเสวก ครูณุ คุณณัชพัชร์ ครูอ้อยเล็ก และอีกหลายๆคน ก็ช่วยกันพายช่วยกันแจวคนละไม้คนละมือ สนุกดี แต่เรือลำนี้ยังมีที่ว่างอีกเยอะนะครับ เชิญชวนลูกหลานชาวหนองบัว มาลงเรือลำนี้ด้วยกัน ช่วยกันพายช่วยกันแจว ให้เรือลำน้อยนี้แล่นไปข้างหน้าต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด โดดลงเรือมาเลย หรือถ้ายืนดูเรือลำนี้อยู่ริมฝั่ง ก็ช่วยส่งเสียงเป็นกำลังใจให้กับพวกเราที่อยู๋ในเรือลำนี้ด้วย (เป็นงัยมางัย มาอยู่ในเรือได้วะนี่ตัวเรา)

    ร้านต่างๆที่ฉิกกล่าวถึงนี่แทบจะนึกไม่ออกเลยครับ ตลาดโกลกและโกลกนี่พอจำได้ นึกภาพร้านและบุคลิกของแกได้อย่างลางเลือน แต่ร้านอื่นๆนี่คุ้นๆอยู่บ้างแต่หากฉิกไม่พูดให้ทราบก็นึกไม่ออกเลยละครับ ร้านใหม่ของพี่ชายฉิกและครอบครัวนั้นแต่เดิมนั้นผมและเพื่อนๆคุ้นเคยเป็นอย่างดีครับ เมื่อก่อนนี้แถวนั้นยังไม่มีอะไรมากนัก

    เห็นรูปหวีเสนียดแล้วรู้สึกคันหัวขึ้นมาเลยครับ เมื่อตอนเด็กๆและเริ่มโตนั้น เด็กผู้หญิงก็ชอบเป็นเหาและเด็กๆผู้ชายซึ่งต่อมไขมันใต้ผิวหนังเริ่มทำงานก็จะมีขี้รังแคคันหัวยุ่บยั่บ เวลาคันหัวนั้น หากจะสางขี้รังแคแล้วละก็อะไรก็ไม่สะใจเท่าหวีเสนียดเลยละครับ เวลาหวีนี่แทบจะน้ำลายหยดติ๋งๆเลยเชียว มันน่ะซีครับ

    ผมเคยทำงานวิจัยในพื้นที่ก็พบว่าเด็กๆในชุมชนเขตเมืองปริมณฑลกรุงเทพฯของเราก็เป็นเหากันครับ หลายโรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆกรุงเทพฯบางครั้งขาดโอกาสการพัฒนาตนเองมากกว่าในชนบทเสียอีก เป็นเหมือนพื้นที่ไหล่เขาน่ะครับ ฝนมักตกไม่ถึงและอยู่ใต้พยับแดดของไหล่เขา ทุกอย่างก็ผ่านเลยไปหมด จึงมีประสบการณ์หลายอย่างเหมือนกับคนชนบทเลยนะครับ หวีเสนียดนี้ก็คงจะเป็นที่รู้จักอย่างดีเช่นกัน

    พระอธิการโชคชัย ชยวุฑโฒ

    เจริญพรอาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    ขออนุญาตมาตอบและขอบคุณอาจารย์ที่เวทีคนหนองบัวนี้

    อาตมาภาพต้องขอบคุณโยมอาจารย์ ที่กรุณาช่วยแตกประเด็นตามความสนใจและกรอบแนวคิด ที่หายเงียบไปเพราะไปจัดกิจกรรมค่ายธรรมะ อบรมคุณธรรม จริยธรรม ให้กับโรงเรียนบ้านวังเป็ด จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นการกู้วิกฤตที่โรงเรียนกำลังจะถูกยุบให้ฟื้นคืนมาได้ด้วยอาศัยหลักการ(บวร.) บ้าน วัด และโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ร่วมกัน (อาตมาทำงานด้านนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓)

    อาตมาอ่านประเด็นที่โยมอาจารย์ช่วยแนะนำมาแล้ว รู้สึกชอบ และมีความสนใจประเด็น “ชุมชนชนบทกับนวัตกรรมและเทศโนโลยี ระบบวิธีบริหารจัดการ ความเป็นสาธารณะอย่างผสมผสานทั้งความเป็นชุมชนท้องถิ่นกับสังคมโลกที่ก้าวหน้า” เพราะความเป็นสมมุติสงฆ์นี่แหละจึงอยู่กับชุมชน(สังคมชนบทไทย) จึงชอบฐานความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้(เด็กบ้านนอก/ลูกชาวนาเหมือนกัน)

    หลวงพ่อครูบาอาจารย์ท่านก็สอนให้เรียนรู้ และทำงาน ประชาสังคม(ประชาคม) มาตั้งแต่บวชเรียนใหม่ๆ แต่เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง คือ learning by doing ยังขาดความรู้และความเข้าใจในหลักการและทฤษฏีอย่างมาก จนถึงได้มาเรียนต่อ สาขานโยบายสาธารณะ ที่มน./ ตอนนี้ยังไม่ได้หัวข้อวิจัย(ขณะนี้อยู่ปี ๔ แล้ว ใช้เวลาคุ้มค่าเลย ค่อนข้างจะวิกฤตแล้ว มัวแต่ยุ่งงานในฐานะเจ้าอาวาส บริหารจัดการวัด และงานสอน)

    กระผมต้องขอขอบพระคุณพระอาจารย์มหาแล อาสโย ที่แนะนำให้อาตมาได้รู้จักโยมอาจารย์ และได้อ่านงานเขียนของโยมอาจารย์ (ประชากรศึกษาและในบล็อก Gotoknow) และสนใจที่จะศึกษาวิถีชุมชนอำเภอหนองบัว ในประเด็นชุมชนชนบทกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีฯ

    ประเด็นความสนใจนี้ น่าจะเป็นไปได้หรือไม่ และอาตมาภาพจะเริ่มต้นอย่างไร เพื่อที่จะทำในบทที่ ๑-๓ (ตอนนี้อาตมาอ่านงานในบล็อกเวทีคนหนองบัวอยู่) อาตมาภาพต้องขอรบกวนโยมอาจารย์ กรุณาช่วยแนะนำ ในกรอบแนวคิด/ประเด็นดังกล่าวด้วย พอจะเป็นไปได้ไหม 

    ขอเจริญพร พระอธิการโชคชัย ชยวุฑโฒ

    กราบสวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์ หลวงอามหาแล คุณอาฉิก และทุกท่านครับ

    เมื่อสองสามวัน คุณณรงค์ อินทะชิต ได้เดินทางไปเที่ยวบ้านเพื่อนทางจังหวัด อุดรธานี ตอนนี้ฝนกำลังตกเลยพอมีน้ำดำนากันบ้างเลยเก็บภาพมาฝากกันชมว่าเห็นแล้วก็คิดถึงบ้านเราเช่นกัน   ผมเองก็ไม่ได้เห็นภาพการหาบกร้า ดำนามานานแล้วว่าเคยคิดว่าจะรบกวนท่านอาจารย์วิรัตน์และหลวงอามหาแล ช่วยกันเราเรื่องการลงแขกถอนกร้าดำนาให้ฟังบ้างครับน่าสนุกดี

     

    กราบนมัสการพระอธิการโชคชัยด้วยความเคารพครับ

    • กรอบแนวคิดนี่สะท้อนประเด็นความสนใจและแนวคิดของนักวิจัยเลยละครับ พระคุณเจ้าลองพิจารณาจากความเข้าใจก่อนจะดีกว่าครับเพราะถ้าหากได้กรอบแนวคิดก็เหมือนกับได้แนวที่จะตรวจสอบด้วยการวิจัยแล้วละครับ จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาขั้นต่อไปน่ะครับ
    • อาจจะเริ่มต้นเป็นชั้นๆก่อนก็ได้ครับ ตั้งแต่ตัวปรากฏการณ์ที่สนใจ จากนั้นก็พิจารณาปัจจัยเชิงระบบและโครงสร้างที่เกี่ยวข้องที่ซับซ้อนในขอบเขตที่เราต้องการ
    • เช่น สมมุติว่าสนใจแง่มุมเกี่ยวกับ 'การสร้างความรู้อย่างมีส่วนร่วมในเวทีคนหนองบัวและผลต่อการพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้เพื่อสร้างสำนึกรักท้องถิ่น.....' สมมุติว่าเป็นประเด็นนี้นะครับ.....
    • ชั้นแรกอาจจะเริ่มจาก บทบาทของพระ ประชาชนในท้องถิ่น สถานศึกษาและหน่วยงานราชการในท้องถิ่น แทนโครงสร้าง บ้าน วัด และโรงเรียน ว่ามีบทบาทและปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร ร่วมสร้างความรู้และก่อเกิดอะไรบ้าง และได้อะไรที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาสังคมในแนวทางใหม่ๆที่พระคุณเจ้าสนใจ โดยเฉพาะความสำนึกรักท้องถิ่นและความสำนึกต่อส่วนรวมซึ่งเรียนรู้จากการรักท้องถิ่น
    • ชั้นต่อไปก็น่าจะครอบคลุมไปถึงบทบาทของเครือข่ายเว็บบล๊อก Gotoknow ทั้งในเชิงระบบและเจาะจงกลุ่มผู้มีส่วนร่วมเข้ามาคุยกันในเวทีคนหนองบัว
    • ชั้นต่อไปก็เป็นเครือข่ายคนหนองบัวที่ย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น ที่มาบตาพุด ระยอง และผมในมิติหนึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบนี้
    • อีกองค์ประกอบหนึ่งก็คือกลุ่มนักวิชาชีพ คนทำงานความรู้ และนักวิชาการมหาวิทยาลัย เช่น คุณสมบัติ คุณฉิก ผม อาจารย์ณัฐพัชร์ คุณครูอ้อยเล็ก คุณครูคิม คุณครูจุฑารัตน์
    • เมื่อโยงเข้าด้วยกันทั้งหมดก็จะเห็นว่า ความเป็นเวทีคนหนองบัวนั้น เป็นแหล่งสร้างความรู้ท้องถิ่นผสมผสานบทบาทกันของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับคนในท้องถิ่นในชุมชนทางกายภาพไปจนถึงชุมชนในโลกไซเบอร์และระบบเครือข่ายจัดการความรู้ที่สำคัญของประเทศ 
    • ความสำคัญของเรื่องนี้ก็ คือ องค์ความรู้ที่จะช่วยอธิบายและชี้นำการพัฒนาในอนาคตว่าคนในชุมชนบ้านนอกและชนบทจะเริ่มเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อให้โอกาสการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เอื้อประโยชน์ต่อคนท้องถิ่น โดยเฉพาะทางด้านพัฒนาการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาการมีส่วนร่วมต่อเรื่องส่วนรวมของท้องถิ่น ได้อย่างไร?  ใครที่มีศักยภาพและทุนทางสังคมที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้? มีประเด็นความสนใจและเรื่องราวสนทนากันอย่างไร? สร้างความรู้และเก็บรวบรวมข้อมูลลักษณะใด? ก่อเกิดปฏิสัมพันธ์กับท้องถิ่นและภาคีต่างๆอย่างไร? ผลกระทบและผลสืบเนื่องในเชิงสร้างสรรค์และการขับเคลื่อนที่นำไปสู่การปฏิบัติและก่อเกิดผลดีต่อสังคมในวงกว้างต่อไปเป็นอย่างไร? ผลกระทบเชิงลบเป็นอย่างไร? .....เรื่องพวกนี้ล้วนเป็นความรู้ที่ยังขาดแคลนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยมากครับ
    • ลองตั้งกรอบขึ้นเองดีกว่าครับ ใช้แนวทฤษฎีที่ชอบและคิดว่ามีพลังในการอธิบายเรื่องที่สนใจเป็นตัวตั้ง แล้วก็พัฒนากรอบแนวคิดขึ้นเป็นของตนเอง จากนั้นถึงจะคุยกันในรายละเอียดต่างๆต่อไปได้ครับ

    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์ครับ

    • ขอร่วมขอบคุณที่นำเอาบรรยากาศการทำนาในชนบทมาฝากกันนะครับ
    • อย่างกรณีของคุณเสวก ใยอินทร์นี้ สำหรับท่านพระอธิการโชคชัย ก็สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาได้ครับ
    • เป็นรูปธรรมดีครับว่าชาวบ้านทั่วไปสามารถเรียนรู้ที่จะลุกขึ้นมาเป็นนายเทคโนโลยีและไม่เพียงใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองอย่างเดียว ทว่า สามารถช่วยเชื่อมโยงตนเองให้ทำหน้าที่พลเมืองต่อการสร้างสรรค์ส่วนรวมได้อีกด้วยนะครับ
    • หากผมสรุปบทเรียนจากคุณเสวก ใยอินทร์ ก็คงจะสะท้อนบทสรุปได้ว่า...การก่อเกิดความสนใจ รักความรู้ เรียนรู้ตนเอง และสร้างความรู้จากประสบการณ์ชีวิตตนเองได้ ทำให้คนเข้าถึงและเป็นนายเทคโนโลยีได้อย่างมั่งคงและเข้มแข็งมากกว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีเพียงทำให้ทันสมัยเพียงรูปแบบภายนอก...ทำนองนี้แหละครับ ความรู้และบทสรุปจากการปฏิบัติอย่างนี้ใช้ทำงานพัฒนาสังคมได้แน่ๆครับ

    สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็กครับ

    • เมื่อเดือนก่อนมีคนชมเว็บศิลปะของน้องคุณครูอ้อยเล็กให้ทราบ
    • เลยแวะเข้าไปด้วยความตื่นตาตื่นใจ ชื่นชมมาก
    • รวมๆแล้วพี่ก็สบายดีครับ แต่ตอนนี้เป็นไข้หวัดนิดหน่อย หัวกลวงๆและมึนทึบชอบกล

    น้องโชคหรือเปล่าคะ...ที่แนะนำไป...ขอพี่อาจารย์หายไวๆนะคะ...

    • ไม่ใช่หรอกครับ เป็นคนมือดีอยู่ในวงการแหละ 
    • รูปเขียนสีน้ำนี้สวย ได้ความร่มรื่นดีนะครับ
    • ไปซุ่มเขียนมาตั้งแต่เมื่อไหร่เนี่ย

    ไม่ใช่อ้อยเขียนค่ะพี่อาจารย์ เป็นน้องชื่อพัลลภ อนุสนธิ์พรเพิ่ม...ทำงานอยู่มหิดลแหล่ะค่ะ...น้องมาโพสต์งานไว้อย่างน่าชม....งานโรคผิหนังก็ทำได้เหมือนจริงมากๆคะพี่อาจารย์น้องอยู่ในมหิดลนั่นหล่ะค่ะ อยู่ในโอเคเนชั่น น้องใช้ชื่อบอกว่ารอเทอเสมอ นามแฝงว่าจามจุรีผู้น่ารัก

    http://www.watchari.com/board/index.php?topic=1588.0

                                      

                                      

    • เป็นคนเดียวกับน้องคนหนึ่งที่อยู่บัณฑิตวิทยาลัยหรือเปล่า ฝีมือเขาดีทุกทาง ทั้งสีน้ำมัน ดรออิ้ง โดยเฉพาะพอตเตรท แม่นยำมาก 
    • สองรูปนี้ฝีมือของเขาน่ะครับ แต่ไม่เคยเห็นเขาเขียนสีน้ำ
    • เป็นรุ่นน้องเวชนิทัศน์ของพี่
    • แต่ในมหิดลก็กว้างมากเลยนะครับ คนเก่งๆเยอะครับ

    น้องพัลลภ อนุสนธิ์พรเพิ่ม

  • อ้าว ถ้าอย่างนั้นเป็นคนละคนแล้วละครับ น้องอีกคนที่ผมนึกถึงนั้นหน้าตาคมเข้มมากกว่านี้ ผิวเข้มกว่านี้ แต่คงจะเป็นรุ่นเดียวกัน
  • แต่เป็นยอดฝีมือเหมือนกันครับ ยินดีที่ได้รู้จักและได้ชมผลงานครับ
  • กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)
    และสวัสดีทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ๑๘-๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ ผมได้มาเป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเครือข่ายอสม.และนักวิชาการสาธารณสุขจากภาคต่างๆในโครงการพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนอสม.เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน ที่ศูนย์ฝักอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน ภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ ในบริเวณเดียวกันกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ ที่เขาขาด ริมถนนขึ้นเหนือนครสวรรค์-กำแพงเพชร

    นอกจากรู้สึกหมือนได้กลับมาทำงานให้บ้านแล้วก็ได้พบกับอสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งเป็นทีมจากท่าตะโกด้วยครับ

    ทั้งสองท่านเป็นคนทำงานจนชุมชนเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของคนภายนอกอย่างแพร่หลาย ไปร่วมเวทีเพียง ๒ คนซึ่งน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆเพราะทราบว่าในทีมติดภารกิจต้องจัดการศึกษาดูงานให้แก่หน่วยงานภายนอก แต่ก็เป็นที่ประทับใจและได้รับความชื่นชมจากเวทีมากในความเก่งและมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนแบ่งปันกับผู้อื่นอย่างมีสปิริต

                        

                        

                        

    ทั้งสองท่านได้คุยกับผมอย่างคนบ้านเดียวกัน พี่ผู้ชายเสื้อเหลืองนี้เป็นผู้นำชุมชน เป็นอสม.และบอกว่าเป็นกลุ่มศรัทธาของวัดหลวงพ่ออ๋อยมาตั้งแต่เด็กกระทั่งปัจจุบัน คุ้นเคยกับหนองบัวและวัดหลวงพ่ออ๋อยเป็นอย่างดีเพราะบ้านอยู่ค่อนไปทางหนองบัว

    เลยนำเอากิจกรรมของเวทีพัฒนาเครือข่ายครูอสม.ของการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มาฝากเวทีคนหนองบัวด้วยครับ ชุมชน ผู้นำชุมชน พี่น้องอสม.ของหนองบัว รวมทั้งเครือข่ายคนทำงานที่สนใจจะได้ศึกษา เห็นความเคลื่อนไหว และอาจพัฒนางานให้เชื่อมโยงกันเองตามความสนใจครับ

     คลิ๊กลงไปบนชื่อเรื่อง  เพื่ออ่านเนื้อหาทั้งหมด ๑๒ ตอน

    ตอนที่ ๑    ขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียน อสม.               ตอนที่ ๒   จิตวิญญาณความเป็นครูโรงเรียน อสม.
    ตอนที่ ๓    ความเป็นครูโรงเรียน อสม.                        ตอนที่ ๔   ร่วมกันสร้างกรอบตัวแบบค้นหาครูโรงเรียน อสม.
    ตอนที่ ๕    มิติทักษะความเป็นครูของอสม                   ตอนที่ ๖   วิธีค้นหาครูขับเคลื่อนโรงเรียนอสม.ของชุมชน
    ตอนที่ ๗    ฐานชีวิตของครูโรงเรียนอสม.                     ตอนที่ ๘   เงื่อนไขสังคมของครูโรงเรียนอสม.
    ตอนที่ ๙    การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ครูโรงเรียนอสม.   ตอนที่ ๑๐ เครื่องมือ สื่อ เทคโนโลยี สิ่งสนับสนุนครูโรงเรียนอสม.
    ตอนที่ ๑๑  การนำเสนอแผนการสอนและสาธิตกระบวนการเรียนรู้ของครูโรงเรียนอสม. 
    ตอนที่ ๑๒  เพิ่มลูกเล่นและใส่ศิลปะเพื่อเรียนรู้การนำเสนอให้สร้างสรรค์

    คุณเสวกที่(คห.๖๗๐)นำภาพคนหาบกล้ามาฝากได้บรรยากาศหน้าทำนาพอดีเลย ตอนแรกที่เห็นยังไม่ทราบว่าที่ไหน ก็นึกไปถึงหนองบัว บรรยากาศอย่างในภาพนี้นานเต็มทีแล้วที่ไม่ได้พบเจอที่บ้านเรา เพราะส่วนมากตอนนี้แถวหนองบัวจะทำนาหว่านกันซะมากกว่า
    เห็นแตงไทยในทุ่งนานี้แล้ว ทำให้นึกถึงไร่แตงไร่ข้าวโพดแถวดงยางเมื่อยุคแรกๆที่แผ้วถางป่าไผ่เพื่อทำไร่ ช่วงนั้นไม่ต้องใส่ปุ๋ยเลย เปลี่ยนจากดงป่าไผ่มาเป็นไร่ พืชไร่ทุกชนิดจะงามมาก

    และอีกที่หนึ่งก็คือไร่แตงในท้องนาแถวๆ สะพานหนึ่ง สะพานห้วยน้อย จนถึงบ้านป่ารัง บริเวณนี้ไร่แตงมีเยอะ เมื่อก่อนในทุ่งนาปลูกอะไรก็งาม ไม่ต้องพึ่งยา พึ่งปุ๋ยมากมาย เป็นไปตามธรรมชาติ พึ่งตนเองซะเป็นส่วนใหญ่ ถ้าฝนไม่ตกก็ต้องหาบน้ำจากคลองหนองไปรดแตง รดต้นพริก ผักที่ปลูกไว้

    เห็นเวที(การอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเครือข่ายอสม.และนักวิชาการสาธารณสุขจากภาคต่างๆในโครงการพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนอสม.เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน ที่ศูนย์ฝักอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน ภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ ๑๘-๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๓)นี้แล้ว และได้ตามไปดูบรรยากาศในการอบรมที่อาจารย์เป็ยวิทยากรดูเป็นบรรยากาศเรียนรู้ที่ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียดวิชาการมากนัก ผู้เรียน(อสม.)มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เป็นเวทีนำคนทำงานมาสาธิต แสดงผลงาน แลกเปลี่ยนรู้กับคนอื่นก็ทำได้ดีเพราะท่านเหล่านั้นก็เป็นผู้ปฏิบัติทำเองอยู่ในพื้นที่จริงอยู่แล้ว เมื่อได้เรียนรู้เพิ่มเติมก็ยิ่งมั่นใจและทำได้ดี

    ข้อสังเกตอสม.อำเภอท่าตะโก คนรุ่นก่อนหรือรุ่นอสม.นี้ส่วนใหญ่มักผูกพันหรือรู้จักและจดจำบุคคล สถานที่สำคัญๆ ในละแวกใกล้เคียงได้ เช่น วัด พระสงฆ์ ผู้นำท้องถิ่น อยู่ท่าตะโก แต่ก็รู้จักหลวงพ่ออ๋อยวัดหนองกลับอำเภอหนองบัวเป็นอย่างดี ทั้งๆที่เมื่อก่อนนี้การเดินทาง การสื่อสารไม่สะดวกรวดเร็วอะไรเลย ลำบากด้วยซ้ำไป ชีวิตก็ไม่ได้ศึกษาเรียนรู้อะไรมากอีกต่างหาก แต่กลับเรียนรู้ได้เองแบบชาวบ้าน แล้วก็มักได้มาสัมผัสกับตนเอง เรียนรู้จดจำได้ด้วยตนเอง

    ลูกหลานอสม.ที่ยุคนี้มีแต่ความสะดวกสบาย ไปไหน มาไหน ก็แสนจะรวดเร็ว ไปได้ทุกที่ทุกแห่งภายในวันเดียวทั่วทั้งจังหวัด อำเภอ สะดวกแต่การเดินทาง แต่การเรียนรู้ไม่แน่ใจว่าได้มีติดตัวกันมากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะเรื่องในชุมชนตัวเอง บ้านตัวเอง

    อสม.อยู่ท่าตะโกรู้จักหลวงพ่ออ๋อย เลยทำให้นึกถึงคนเก่าๆในหนองบัวที่นานทีปีหนหรือหลายปีจะได้ไปปากน้ำโพสักครั้ง หรือไปวัดท่านเจ้าคุณเทพสิทธินายก(วัดหัวเมือง-วัดนครสวรรค์) และการจะได้ไปก็ต้องเป็นกิจสำคัญด้วย เช่น นำบุตรหลานไปบวชกับท่านเจ้าคุณห้องท้วมเทศบ้าง นำญาติไปโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์บ้าง นอกเหนือจากนี้ไม่ได้ไปเลย

    การได้ไปในเมืองนครสวรรค์เป็นการเรียนรู้ของชาวบ้านได้ดีเหลือเกิน ได้พบได้เห็นอะไรบ้าง กลับมาเล่าให้ลูกหลานฟังได้เป็นดิบเป็นดี ไม่มีลืมเลือน เล่าได้แม่นยำเหมือนบันทึกไว้ เป็นบันทึกไว้ในความทรงจำที่นึกทีไรก็แจ่มแจ้งทุกที เรายุคนี้เสียอีกที่เรียนกันมากเดินทางกันมากเหลือเกินแต่จำอะไรกันไม่ค่อยได้ ผู้เขียนก็เข้าข่ายข้อหลังนี้เลยเพราะไม่ค่อยได้จดจำอะไรกับเขาด้วยเหมือนกัน.

  • การถอนกล้าแล้วฟาดเข้ากับเท้าเพื่อให้ดินที่เกาะตามรากต้นกล้าหลุดไปนั้น เป็นภาพที่สวยงามและมีเสียงดังเชี้๊ยะๆเป็นจังหวะที่ไพเราะมากเลยนะครับ
  • คุณเสวกเล่าด้วยภาพอย่างได้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณมากเลยทีเดียวครับ
  • มีกระติกน้ำและวิทยุทรานซิสเตอร์ตั้งอยู่ข้างๆ ฟังเพลงลูกทุ่งและละครคณะแก้วฟ้าลั่นทุ่ง เป็นสุขภาวะสาธารณะ ฟังด้วยกันและมีความสุข ได้ความเพลิดเพลินรื่นรมย์ใจไปด้วยกันไปทั้งท้องทุ่งนา
  • มีแตงและผักจิ้มน้ำพริกขึ้นตามปลวก ทุ่งนา ริมรั้ว และรอบห้างนา สำรับข้าวมีน้ำพริกยืนพื้น
  • มีโอกาสก็จะลองวาดเป็นรูปบันทึกความทรงจำให้คุณเสวกนะครับ
  • ดูๆแล้ว ทั้งข้อมูลภาพ การถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต และเรื่องราวต่างๆที่ช่วยกันบันทึกไว้นี้ ก็เหมือนกับเป็นสารานุกรมฉบับชาวบ้านของชุมชนหนองบัวเลยนะครับ
  • ผมเองก็ประทับใจครับที่ได้ต่อเติมกันไปมาจนเป็นเรื่องเป็นราวดีๆ
  • การลงแขกถอนกล้านี่สนุก การถอนกล้าในตะกล้าอันเดียวกันหลายคนนั้นต้องระวังอย่างหนึ่งคือเวลาฟาด บางทีลืมนึกถึงคนที่อยู่ตรงข้ามกับเรานะซิ พอรวบกล้าได้เต็มมือก็ฟาดอย่างสุดแรงเกิด ทีนะละพี่น้องเอ๋ยทั้งน้ำทั้งดินวิ่งด้วยความเร็วจี๋ เข้าโจมตีฝ่ายตรงข้าม(ผู้ที่กำลังถอนกล้าอยู่) โดนเต็มๆ เลย คนที่ถูกลูกหลงครึ่งบกครึ่งน้ำแบบนี้ทนได้หรือ ก็ร้องจนเสียงหลงดังลั่นทุ่งไปเท่านั้นเอง

    หรือเหนื่อยๆปวดหลังมากๆก็อดแกล้งกันไม่ได้ แกล้งพอให้เพื่อนได้เปื้อนขี้โคลนบ้างก็ผ่อนคลายได้หัวเราะกันบ้างก็ยังดี เป็นวิธีแก้ปวดเมื่อยปวดหลังในท้องทุ่งนา

    เด็กๆมักชอบเวลาผู้ใหญ่ถอนกล้า ก็จะไปยืนข้างหลังคอยลุ้นรับขี้ดินโคลนจากการฟาดกล้า เป็นการฝึกทักษะการหลบหลีกดินโคลนที่วิ่งปรูมาเหมือนห่าฝน โดนบ้างไม่โดนบ้าง ด้วยความสนุกสนานดี เปื้อนโคลนก็ไม่กลัวเพราะน้ำในนามีมาก โดดตูมเดียวสะอาดเหมือนเดิม

    ผู้ใหญ่ที่ชำนาญในการถอนกล้านั้นไม่มีดินโคลนเปื้อนตามเนื้อตัวแข็งขา ฟาดก็ไม่ต้องใช้แรงมากนัก แต่ผู้ที่เป็นมือใหม่หัดถอน พวกวัยรุ่นทั้งหลายนี่แหละ เวลาดึงต้นกล้าก็ตั้งท่าดึงเสียเต็มที่เลย บางทีต้นกล้าขาดเบรกไม่อยู่ก็หงายหลังผึ่งน้ำบานกระจายได้ฮากันตรึม มือใหม่นี้ฟาดกล้วแล้วดินโคลนเต็มตัวไปหมด เปียกโชกทั้งตัวเหมือนนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติที่ฝึกซ้อมในสระว่ายน้ำเลยนะ 

    การจะถอนกล้าให้ได้ง่ายสะดวกไม่เหนื่อยนัก อยู่ที่ปริมาณน้ำในตะกล้าถ้ามากถึงครึ่งหน้าแข้งละก็เหนื่อย ฟาดก็ลำบากจะต้องยกเท้าให้สูงพ้นน้ำ แรงจะฟาดก็ไม่ค่อยมีอีกทั้งยืนขาเดียวก็ไม่มั่นคง ทรงตัวไม่ดีเซง่าย จะให้ดีต้องมีน้ำสักแค่ท้วมหลังเท้า-ตีนก็พอ ยืนทรงตัวได้ดี ยกเท้านิดเดียวก็ฟาดได้สะดวก หรือจะถอนกล้าแบบแห้งแบบฝุ่น(คล้ายก๋วยเตี๋ยว-อาหารตามสั่ง)ก็สะดวกดีเลือกได้ตามอัธยาศัย

       Lotuscreativepnt2                                      

    วันนี้เป็นวันไหว้ครูของมหาวิทยาลัยครับ เลยเป็นโอกาสรำลึกและคารวะหมู่กัลยาณมิตรทุกท่านในฐานะเป็นครูและเป็นปัจจัยแวดล้อมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ทั้งแก่ผมและทุกคนในเวทีคนหนองบัวมากมาย

    ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) ขอคารวะคุณสมบัติ ฆ้อนทอง คุณเสวก ใยอินทร์ คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ คุณฉิก : ศักดิ์ศิริ พิทักษ์อำนวย และทุกท่านในเวทีคนหนองบัว

    ขอน้อมคารวะคุณครูของผมทุกท่านนับแต่โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) โรงเรียนหนองคอก : หนองบัว ด้วยความเคารพและน้อมบูชาจากใจครับ

    ชีวิตบ้านทุ่ง

    กระได :  กระบวนการสร้าง การใช้สอยมีความสัมพันธ์ทางความรู้ความเชื่อคติชีวิตระหว่างผู้คนกับข้าวของเครื่องใช้

    ตามชนบทบ้านนอกสมัยก่อนโดยทั่วไป บ้านมักจะปลูกยกพื้นสูง ใต้ถุนบ้านใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เก็บข้าวของเครื่องใช้ เครื่องมือทางการเกษตร มีเกวียน ไถ คราด ขลุบ จอบ เสียม ยุ้งถ่าน เล้าไก่ เล้าเป็ด คอกควาย ฯลฯ

    เมื่อก่อนนี้ตามหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่มีรั้วบ้าน บ่งบอกอาณาเขต รั้วบ้าน หรือเขตที่ดินคนบ้านติดกัน อาจเป็นต้นไม้ พืชผักสวนครัว รั้วกินได้ต่าง

    กระไดบ้านมี ๒ แบบ คือแบบถาวรอยู่กับที่ ยก เคลื่อนย้ายไม่ได้ และแบบยก เคลื่อนย้ายได้ กระไดที่ยกย้ายได้นี้ ทำด้วยไม้ไผ่ หรือไม้เนื้อแข้ง-ไม้จริง ถ้าบ้านใดมีการเก็บกระได การยกกระไดขึ้นบ้านนั่นหมายถึงว่าบ้านนั้นไม่มีคนอยู่ หรืออยู่บ้าน แต่เจ้าบ้านอยากมีเวลาเป็นส่วนตัวบ้าง ก็ยกกระไดขึ้นบ้านเสีย เพื่อนบ้านเห็นแล้วก็คาดเดายากเหมือนกัน ไม่เหมือนบ้านที่มีประตูเมื่อบ้านปิดประตูใส่กุญแจ ก็แสดงว่าเจ้าบ้านไม่อยู่

    กระไดนั้นมีจำนวนขั้นเป็นเลขคี่ เช่น ๓  ๕  ๗  ๙  ๑๑  ๑๓ เป็นอาทิ กระไดพาดบ้านมักจะชัน เวลาปีน-ขึ้นกระได ลำบากบ้าง จะไม่สะดวกเหมือนบันได เพราะขั้นที่เหยียบมีขนาดเล็ก เมื่อก้าวขึ้นจึงต้องใช้มือจับไต่นำเท้า

    ส่วนต่างๆของกระได ก็มี แม่กระได พ่อกระได หัวกระได ลูกกระได(ขั้นกระได) ตีนกระได คนเก่าๆสอนว่าเวลาขึ้นกระได เดินผ่านกระไดให้ก้มหัว เพื่อแสดงความเคารพแม่-พ่อ(กระได) การก้มศีรษะก็มีประโยชน์เพราะศีรษะจะได้ไม่โดนชายคา ซึ่งมักจะทำไว้ต่ำๆเพื่อป้องกันลม ฝน และการก้มศีรษะก็ช่วยให้ทรงตัวดี ไม่หงายหลังง่ายๆ เด็กๆที่เดินไม่ก้มหัวนั้นมักจะโดนชายคา จนหัวโนหัวปูด กันอยู่บ่อยๆ

    หัวกระไดสูงต่ำไม่เสมอกัน การสูงต่ำไม่เท่ากันมีประโยชน์คือเวลาขึ้นลงมือข้างหนึ่งเกาะหัวกระไดที่สูงไม่เท่ากันได้พอดี คนที่เคยหาบน้ำขึ้นกระไดก็จะรู้ว่าถ้าหัวกระไดยาวสั้นเท่ากัน จะเกะกะลำบากในการเอียงลำตัวให้ถังน้ำเข้าช่องระหว่างกลางกระไดทีละข้าง

    พูดกันว่า “หัวกระไดไม่แห้ง” แสดงว่าเจ้าบ้านมีเพื่อนเยอะ มีคนมาเยี่ยมเยียนเสมอ หัวกระไดอยู่ด้านบนน่าจะแห้งเร็ว กลับไม่แห้งเสียนี่ ตีนกระไดอยู่ติดกับพื้นดินน่าจะเปียก กลับไม่เปียก ที่จริงถ้ากระไดเปียก ด้านบนน่าจะแห้งก่อน

    "หัวกระไดไม่แห้ง" เพราะมีชายหนุ่มมาจีบลูกสาวบ้านนี้ พ่อหนุ่มตื่นเต้นมากไปนิด เหงื่อกาฬแตกท่วมตัว เพระอะไรเพราะอยู่ในสายตาว่าที่พ่อตา แม่ยานะซิ  หัวกระเลยไม่แห้งเปียกชุ่มโชกด้วยเหงื่อพ่อหนุ่ม

    หรือบ้านนั้นมีลูกสาวสวยหน้าตาดี นิสัยดี ก็เลยมีหนุ่มมารุมจีบสม่ำเสมอ

    กระไดอย่างเดียว ไม่ใช่เพียงแค่ใช้งานเท่านั้น แต่ยังทำให้เราได้รู้เรียนชีวิต เข้าใจชีวิต วิธีคิด ความเชื่อของผู้คนอีกมากมาย การให้ความหมายของซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็ไม่มีถูกมีผิด.

       สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาชุมชน   :
    Community Sociology and Humanity
    ดยสามัญสำนึกและวิถีความรู้จากประสบการณ์ชีวิต

    ผมขอเรียกและทำหมายเหตุเก็บไว้ก่อนนะครับ น่าสนใจมากเลยครับ เป็นวิธีพิจารณา วิเคราะห์ สร้างหลักการและวิธีอธิบายสังคม มนุษย์ วิถีประพฤติปฏิบัติ และวิธีจัดความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆของมนุษย์ เลยขอตั้งหัวข้อไว้ก่อนครับว่าเป็นสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาชุมชนที่สร้างขึ้นโดยวิธีการที่ทุกคนมีอยู่เป็นพื้นฐาน คือ ความมีสามัญสำนึกและการมีประสบการณ์ต่อสังคมผ่านการดำเนินชีวิต การทำมาหากิน และการใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชน ของชุมชนระดับต่างๆ

    กระบวนการเรียนรู้ชุมชนและเข้าถึงอัตลักษณ์แห่งตน ผ่านวิธีใคร่ครวญตนเองของชาวบ้านและชุมชนที่เป็นสมาชิกของชุมชน ให้ความถ่องแท้ ซาบซึ้ง ให้คุณค่าและความหมายจากความเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตตนเองอย่างนี้ เป็นวิธีสร้างและสะสมภูมิปัญญาอีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญมากเลยครับ

    ในอดีต ก่อนเข้าสู่สังคมสมัยใหม่นั้น วิธีการอย่างนี้สังคมไทยมีวิธีการจัดการตนเองเพื่อสร้างและสะสมภูมิปัญญาแบบนี้ขึ้นไว้ใช้ในสังคมผ่านการเล่าและการแสดงที่สื่อสะท้อนโลก เรียกว่าเป็นวิธีการแบบมุขปาฐะ ซึ่งโดยทั่วไปมักหมายถึงการสืบทอดด้วยการจดจำและเรื่องเล่า ทว่า หากให้ครอบคุลมแล้ว ก็รวมไปถึงการการแสดงและศิลปะการสร้างสรรค์เพื่อสะท้อนโลก สะท้อนความบันดาลใจ และสะท้อนประสบการณ์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ด้วย เช่น เพลงแหล่ หมอลำ ลิเก นิทานปรัมปรา นิทานชาวบ้าน  รูปแบบกิจกรรมประเพณี ความเชื่อ การประดิษฐ์ศิลปะการร่ายรำ เหล่านี้ ในอดีตนั้น เป็นการสะท้อนภูมิปัญญา จดบันทึก สืบทอด และเผยแพร่ ไว้ในสังคมอย่างหนึ่ง

    แต่ปัจุบันนนี้ มีวัฒนธรรมความรู้แบบตัวหนังสือและการบันทึกเป็นหลักฐานแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้ามาแทน วิธีการอย่างที่กล่าวถึงข้างต้นนี้จึงนอกจากจะหมดบทบาทลงไปมากแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ก็สูญเสียความสามารถพื้นฐานของชีวิตอย่างนี้ไปเกือบหมดสิ้น หากนับการมีศิลาจารึกเป็นหมุดหมายของวัฒนธรรมตัวหนังสือ ในสังคมไทยก็เกิดขึ้นเมื่อ ๔-๕ ร้อยกว่าปีเท่านั้น ดังนั้น วิธีการสมัยใหม่สำหรับสังคมไทยแล้ว ก็เพิ่งจะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างในสังคมที่มีโอกาสขัดเกลาหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมตัวหนังสือและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ จึงยังไม่ค่อยแข็งแรงและเป็นหลักเป็นฐานถึงขั้นที่จะเรียกว่าเป็นสามัญลักษณะที่เห็นได้ทั่วไปในสังคมไม่ ทว่า ในด้านที่เป็นพื้นฐานเดิมนั้น กลับสูญเสียไปรวดเร็วมาก อุบัติการอย่างนี้ไม่ได้เกิดแต่ในสังคมไทยเท่านั้น หลายแห่งในสังคมโลกก็เป็นอย่างนี้ด้วยเหมือนกัน ในงาน ยูโทเปีย ของโทมัส มอร์ ซึ่งเป็นวรรณกรรมประชดและเสียดสียุคสมัยของความเสื่อมในสังคมอัศวิน ยุคล่าอาณานิคม และราชสำนักอังกฤษ พูดเปรียบเปรยทำนองว่า เมื่อมีเข็มทิศแล้ว มนุษย์ก็สูญเสียความสามารถในการอ่านท้องฟ้า ดวงดาว และการดูร่องน้ำเดินเรือ

    ชาวบ้านส่วนใหญ่ในสังคมไทย ไม่ได้มีโอกาสอยู่ในสังคมความรู้และสังคมข้อมูลข่าวสารที่ดีจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกัน ก็นอกจากจะสูญเสียความสามารถในการอ่านกระได รหัสความรู้ และรหัสภูมิปัญญในการดำเนินชีวิตอย่างนี้ไปมากแล้ว ก็ขาดการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพความรู้และภูมิปัญญาชนิดนี้ให้แข็งแรง เราจะเห็นว่า เรื่องเล่าและการสื่อแสดงอย่างเช่น เพลงลูกทุ่ง ละครซึ่งเคลื่อนจากวิถีชุมชนไปอยู่ในทีวี วิทยุ และอินเทอร์เน็ต เหล่านี้ ก็ไม่ค่อยเป็นเรื่องแสดงออกทางปัญญาและการมุ่งสะท้อนโลก ทำหน้าที่เคลื่อนไหวชีวิตและสังคมอย่างในอดีตแล้ว ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงและชิงมวลชนเข้าไปบริโภคสินค้าแบบแข่งขันเอากำไรเสียมากกว่า

    วิธีการอย่างที่พระคุณเจ้าพัฒนาการนำเสนอและถ่ายทอดอย่างนี้เลยขอสนับสนุนครับ หากชาวบ้านที่อ่านชีวิตและชุมชนของตนเองออก พร้อมกับเรียนรู้เพื่อจะพัฒนาตนเองในการสื่อแสดง บันทึกและสืบทอดได้ในลักษณะนี้ สังคมไทยจะสามารถเป็นสังคม Learning Literacy ขึ้นจากความพิถีพิถันต่อการดำเนินชีวิตให้เป็นวิถีชุมชนแห่งการเรียนรู้และแสดงความสร้างสรรค์ให้ปรากฏในชีวิตประจำวัน ได้ในวิถีของตนเอง

    ขอเป็นกำลังใจครับ เป็นวิธีพัฒนาการเรียนรู้จากการลงมือของเราเองเพื่อใช้โลกไอทีให้มีความสร้างสรรค์ต่อสังคมได้อย่างหนึ่งครับ.

     ทำนาทำสวน-ทำชีวิตเกษตรกร  ให้เป็นครูของสังคมและผู้คน   :
    คุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่
    เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร

    เมื่อวันศุกร์ที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ ผมมีเหตุปัจจัยให้ได้ไปเยือนโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ของคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด ที่ริมถนนเลียบคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร เป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะก่อนที่จะได้ไปในครั้งที่กล่าวถึงนี้ ผมเคยผ่านและสะดุดความสนใจ กระทั่งไปยืนเกาะรั้วดูบ้านและแปลงเกษตรแห่งนี้ถึง ๒ ครั้งในสองเย็นหลังเลิกงาน คิดไว้อยู่เสมอว่าจะหาข้อมูลและไปเยือนในเวลาปรกติให้ได้สักวันหนึ่ง

    มาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มาป่วยเป็นไข้หวัด ไม่มากนักแต่ก็ทำให้คิดว่าไม่ควรไปสอนหรือไปทำงาน เพราะพออ้าปากพูดก็ไอแทบตาถลน จาม น้ำมูก น้ำหูน้ำตาไหล ดูแล้วก็คงจะไปแพร่ระบาดเอาไข้หวัดไปติดลูกศิษย์หรือคนในสำนักงาน ซึ่งไข้หวัดเดี๋ยวนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวด้วยเหมือนกัน ก็เลยจะนั่งทำงานที่พอทำได้ที่บ้านพักหรือข้างนอกไกลๆจากผู้คน ก็เป็นเหตุปัจัยหนึ่ง

    นอกจากนี้แล้ว หลานลูกของพี่ชาย ก็ชนะเลิศผลงานศิลปะของ ปตท.ได้รางวัลยอดเยี่ยมและจะได้ไปรับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ผมก็ไปร่วมประสบการณ์ความทรงจำในชีวิตครั้งสำคัญนี้ของหลานมาก เพราะในแวดวงศิลปะนั้น การได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปากรหรือเพาะช่างนั้น เป็นความใฝ่ฝันของชีวิต ซึ่งน้อยคนนักที่จะไปได้ถึง แต่หลานผมได้ไปอยู่ตรงนั้นตั้งแต่เป็นเด็กตัวน้อย อีกทั้งในสภาพ be the front seat อีกต่างหาก ผมก็อยากไป แต่ดูแล้วก็คงไปไม่ไหวอีก เลยต้องงด นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุปัจจัย

    กระนั้นก็ตาม ในตอนบ่ายของวันศุกร์ ผมและอาจารย์วีรบูรณ์ วิสารทกุล นักวิชาการแนวประชาสังคมและอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีนัดกับทีมงานของกลุ่มคนหนุ่มคนสาว ผู้ประสานงานและเป็นทีมวิชาการอิสระของบางกอกฟอรั่ม Bangkok Forum เพื่อหารือและให้การปรึกษาโครงการสร้างสุขภาวะชุมชนกรุงเทพฯ ซึ่งผมและอาจารย์วีรบูรณ์เป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาให้แก่โครงการนี้ แต่ด้วยสภาพที่เป็นไข้และคุยโดยไม่ไอไม่ค่อยได้โดยเฉพาะในห้องปรับอากาศ ผมเลยขอนัดกับทุกท่านใกล้ๆบ้านพัก ซึ่งเขาก็นัดให้ผมไปนั่งคุยกันที่ห้องประชุมของโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยที่ผมก็ไม่เคยทราบว่าเป็นทั้งที่ทางของกลุ่มคนทำงานที่ได้ทำงานเชื่อมโยงอยู่กับผม ๑๐ กว่าปีกลุ่มนี้ และเป็นที่เดียวกันกับที่ผมเคยสนใจและไปยืนเกาะรั้วดู ๒ ครั้งมาแล้ว นี่ก็เป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่ง

    ทั้งหมดนี้ ทำให้ผมได้ไปเยือนโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ แหล่งดำเนินชีวิตด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ราวกับมีเหตุให้ต้องได้ไป เมื่อได้ไปเยือนแล้ว นอกจากได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับงานกันแล้ว ก็ถือโอกาสกราบคารวะคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาดเจ้าของที่และผู้ก่อตั้งโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่แห่งนี้พร้อมกับขอเดินเยี่ยมชมและศึกษาแนวคิดของท่าน ได้ปัญญาและประสบการณ์ที่ดีมากมายและเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่คนหนองบัว รวมทั้งผู้สนใจทั่วไปมากอ่างยิ่ง

    ตอนที่ ๑     โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่  ของคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด   
    และชมรมรักษ์คลอง-รักษ์ถิ่น ชุมชนคลองทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร

                       

                                     ภาพที่ ๑ คุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด ข้าราชการบำนาญ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ และชมรมรักคลอง-รักษ์ถิ่น ชุมชนริมคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ค้นคว้าและพัฒนานวัตกรรมการทำนาและการทำเกษตรกรรมหลายอย่างที่นำมาใช้ดำเนินชีวิตบนผืนดิน ๒๕ ไร่ รวมทั้งพัฒนาฐานชีวิตให้เป็นแหล่งการศึกษาเรียนรู้ เป็นครูของสังคม ทั้งจากในกรุงเพทมหานครและต่างจังหวัด ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ในขณะที่ที่ดินในบริเวณดังกล่าว หากขายด้วยราคาประเมินในปัจจุบันจะราคามากกว่าไร่ละ ๑๐ ล้านบาท

                       

                                         ภาพที่ ๒ ผู้เขียนกำลังนั่งสนทนากับคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด และ คุณณัฐพล ของสิริวัฒนกุล ประมงอาสา รองประธานกลุ่มเกษตรปลอดภัยจากสารพิษเขตทวีวัฒนาและร่วมเป็นวิทยากรและครูอาสาให้กับโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ของคุณครูวรินทร์ด้วย

    คุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด เป็นอดีตครูที่เกิดและเป็นครูอยู่ที่แถวบ้านเกิดเขตทวีวัฒนานี้นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นับแต่แถวคลองทวีวัฒนายังเป็นเขตชนบทอยู่ในจังหวัดธนบุรีและยังใช้น้ำมันก๊าดจุดตะเกียง บ้านของคุณครูทำนาและอยู่กับพี่น้องในครอบครัวขยายบนที่นารวมกันแล้วมากกว่า ๑๐๐ ไร่ ต่อมาพ่อแม่ก็แบ่งที่ให้ลูกหลานได้แยกบ้านและทำนาทำสวน คุณครูและครอบครัวได้ ๒๕ ไร่และได้ทำนาด้วยตนเองมาโดยตลอด

    แม้เกษียณออกจากชีวิตความเป็นครูแล้ว คุณครูวรินทร์ก็ยังคงทำนาและปลูกบ้าน พาลูกหลานดำเนินชีวิตในวิถีดั้งเดิมอย่างหนักแน่น ทว่า คุณครูก็ต้องตระหนักว่าชีวิตเกษตรกรที่เลี้ยงชีพด้วยการทำนาทำสวนนั้น ก็แรงกดดันรอบด้านให้ดำรงอยู่ได้ยากขึ้นทุกขณะ ทั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผืนดินเสื่อมโทรม ผลผลิตถดถอยทั้งปริมาณและคุณภาพ เกษตรกรและคนดั้งเดิมที่เป็นเจ้าของที่ดินรอบข้างต่างล้มละลายกับการทำนาทำสวน ต้องขายที่ดินและพลิกผันชีวิตเป็นเศรษฐีใหม่ แต่คุณครูและครอบครัวก็ยังคงยืนหยัดไม่ยอมขายที่ดินของพ่อแม่และยังคงทำนาด้วยตนเองอยู่ต่อไป

    ประมาณปี ๒๕๔๗ คุณครูก็ได้แรงบันดาลใจจากแนวเกษตรทฤษฎีใหม่และแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยความที่เป็นครู มีกำลังทางวิชาการ การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง รวมทั้งมุ่งมั่นในวิถีเกษตรกร คุณครูจึงสะท้อนสู่การเริ่มต้นทดลองกับชีวิตจริงของตนเองด้วยหลักคิดซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ  ๓ อรรถประโยชน์ คุณค่า และความหมายแห่งชีวิต ๓ องค์ประกอบการบริหารจัดการ และ ๓ ขั้นตอนของการเติบโตอย่างเหมาะสมพอเพียง

      ๓ อรรถประโยชน์ คุณค่า และความหมายแห่งชีวิต 

    • การลดหนี้สินและพึ่งตนเองให้พออยู่พอกิน
    • สร้างภูมิคุ้มกันแก่ตนเองและครอบครัว สร้างสวัสดิภาพ และเพิ่มโอกาสการพัฒนาด้วยการพึ่งตนเองเป็นเบื้องต้น
    • การแบ่งปัน ร่วมสร้างสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ร่วมสร้างชุมชน พัฒนาระบบการจัดการตนเองของส่วนรวมให้เข้มแข็งและทัดเทียมความจำเป็นในเงื่อนไขแวดล้อมทั้งปัจจุบันและในอนาคต

      ๓ องค์ประกอบการบริหารจัดการบนฐานชีวิตเกษตรกรและผสมผสานวิทยาการที่เหมาะสม 

    • มีการจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนชัดเจนเพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร
    • มีการคำนวณปริมาณน้ำกักเก็บให้เพียงพอในการเพาะปลูกตลอดปี
    • มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบ โดยมี ๓ ขั้นตอนของทฤษฎีใหม่ขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นที่สาม

      ๓ ขั้นตอนของการเติบโตอย่างเหมาะสมพอเพียง 

    •   ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น  

           หลักปรัชญาและแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
           " การผลิตเป็นการผลิตให้พึ่งตนเองได้ด้วยวิธีง่ายๆ ค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังพอมีพอกินไม่อดอยาก "
                                                                พระราชดำรัส เมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๗

            แปรไปสู่การปฏิบัติและประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตเกษตรกร โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๔ ส่วนเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรและฐานชีวิตเกษตรกรเสียใหม่ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและความจำเป็นในการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับโลกความเป็นจริง ดังนี้
                   ส่วนที่ ๑ ร้อยละ ๓๐ ของที่ดินทั้งหมด ขุดเป็นสระกักเก็บน้ำเพื่อเพาะปลูกและใช้สอย
                   ส่วนที่ ๒ ร้อยละ ๓๐ ของที่ดินทั้งหมด เป็นพื้นที่ทำนาข้าว
                   ส่วนที่ ๓ ร้อยละ ๓๐ ของที่ดินทั้งหมด ปลูกผลไม้หลากหลายชนิด
                   ส่วนที่ ๔ ร้อยละ ๑๐ ของที่ดินทั้งหมด ทำเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ใช้สอยที่จำเป็นอื่นๆ

    •   ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง  

           หลักปรัชญาและแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
           " ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปของกลุ่ม หรือสหกรณ์ ร่วมแรงในการผลิต การตลาด การเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและสิ่งศรัทธา เพื่อให้พอมีพอกิน มีใช้ ช่วยให้สังคมดีขึ้นพร้อมๆกัน ไม่รวยคนเดียว "
                                                                พระราชดำรัส เมื่อ ๑๒ มีนาคม ๒๕๓๗

    •   ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม 

           หลักปรัชญาและแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
           " เมื่อดำเนินการขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ ร่วมมือกับแหล่งเงินและแหล่งพลังงาน ตั้งและบริการโรงสี ตั้งและบริการร้านสหกรณ์ ช่วยกันลงทุน ช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทซึ่งไม่ได้ทำอาชีพเกษตรกรอย่างเดียว"
                                                             พระราชดำรัส เมื่อ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘

    ด้วยพื้นฐานชีวิตของท่านและแนวทางดังกล่าวอันได้มาจากแนวปรัชญาและพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด ก็ได้เรียนรู้ ริเริ่ม และทำสิ่งต่างๆขึ้นมากมายในชีวิตการทำนาบนผืนดินของตนเอง กระทั่งปัจจุบัน ได้ก่อตั้งเป็นโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งมีสิ่งที่น่าเรียนรู้และน่าสนใจมากมายทั้งสำหรับเกษตรกรและชสวบ้านทั่วไป.

    ตอนที่ ๒ พืชผักผลไม้สวนผสม  
      ความร่มรื่นและธรรมชาติความหลากหลาย 

        โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่  ของคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด   
    และชมรมรักษ์คลอง-รักษ์ถิ่น ชุมชนคลองทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร

    ทั่วอาณาบริเวณของผืนดิน ๒๕ ไร่ที่แบ่งออกเป็น ๔ ส่วนของคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด ส่วนที่แบ่งเป็นพื้นที่อาศัย ทำเป็นบ้านเพื่ออยู่อาศัยทั้งของคุณครูเองและของลูกหลาน เชื่อมต่อกับบ้านญาติพี่น้องคนอื่นๆซึ่งทำอาณาบริเวณเหมือนกับลักษณะบ้านเรือนของชุมชนเกษตรในอดีต คือ ไม่มีรั้วกั้นและใช้สอยลานบ้าน ตลอดจนเก็บผักผลไม้กินด้วยกันอย่างคนที่อยู่ร่วมกัน และอีกส่วนหนึ่งที่แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกผักผลไม้ รวมทั้งไม้ยืนต้นเพื่อให้ความร่มรื่นหลากหลาย ก็ประกอบไปด้วยพืชผักสวนผสม

                          

                           ภาพที่ ๑ คุณครูวินทร์ เขียวสะอาดกับหลานปู่ นำแขกผู้มาเยือน : ทีมงานของบางกอกฟอรั่ม เป็นคนหนุ่มสาวจบการศึกษาปริญญาโทและปริญญาตรี ซึ่งมุ่งวิถีวิชาการอิสระและเป็นเครือข่ายวิชาการแนวประชาสังคมจากหลายมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เยี่ยมชมการทำนาและโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ แนวโล่งที่เห็นผ่านแนวต้นไม้นั้น เป็นพื้นที่ติดกับถนนเลียบคลองทวีวัฒนา ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเมื่อกว่า ๑๐ กว่าปีมาแล้วก็เป็นแหล่งซึ่งที่ดินมีราคาประเมินมากกว่าไร่ละ ๑๐ ล้านบาท แต่คุณครูก็ยังคงใช้เป็นฐานชีวิตในการทำนาและทำสิ่งที่สะท้อนจิตวิญญาณความเป็นครูของท่านคือทำโรงเรียนสร้างคนจากทั่วประเทศและผลิตประสบการณ์ถ่ายทอดภูมิปัญญาสร้างสรรค์มากมายให้แก่สังคม

                          

                           ภาพที่ ๒ ผลผลิตหลากหลาย ผักผลไม้ รวมไปจนถึงไม้ดอกไม้ประดับ ปลูกและงอกงามอยู่ทั่วอาณาบริเวณ ออกดอกและให้ผลสลับกันไปตลอดทุกฤดูกาล มีกินและมีขายไม่ได้ขาด

                          

                           ภาพที่ ๓ สวนกล้วย : หลักประกันและภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและอาหาร ส่วนหนึ่งที่แบ่งเป็นที่ทำนาข้าวและทำสวน ได้ทำเป็นสวนกล้วยและปล่อยให้เติบโตออกดอกออกผลเอง ๔-๕ ปีมาแล้วจนคุณครูบอกว่าถึงรอบที่โคนลอยแล้ว อีกไม่นานก็อาจจะปรับปรุงและปลูกใหม่ กล้วยในสวนนี้ออกผลและทุกส่วนของกล้วยจะมีผู้เข้ามาซื้ออยู่ตลอดเวลา ทำให้มีรายได้จุนเจือเป็นภูมิคุ้มกันและหลักประกันแห่งชีวิตอีกทางหนึ่งที่ทำให้สามารถบำรุงครอบครัวและทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมได้อย่างเพียงพอ

    ในส่วนที่ทำนาข้าวนั้น คุณครูใช้วิธีทำนาซึ่งต่อมาได้กลายเป็นนวัตกรรมและเผยแพร่ประสบการณ์ให้แก่เกษตรกรตลอดจนผู้สนใจอื่นได้อย่างกว้างขวางคือการทำนาแบบโยนกล้า โดยเตรียมผืนนาเหมือนกับการทำนาน้ำตมทุกประการ แต่การเตรียมกล้านั้น ไม่ได้หว่านกล้าในนาอย่างในอดีต ทว่า ดัดแปลงเอาแผ่นพลาสติกซึ่งมีหลุมเล็กๆเหมือนหลุ่มใส่ไข่ไก่และเคยเห็นผู้อื่นใช้เพาะเมล็ดพันธุ์กล้าไม้อย่างอื่น มาเป็นเครื่องมือสำหรับเตรียมกล้าซึ่งทำให้เตรียมดินแต่น้อยและดูแลได้ง่าย เมื่อได้ต้นกล้าตามที่ต้องการและเตรียมนาเหมือนกับการเตรียมสำหรับดำนาเหมือนกับการทำนาของชาวหนองบัวทั่วไปแล้ว ก็เดินถือเอาต้นกล้าโยนและขว้างกระจายไปให้ทั่วที่นา

    วิธีทำนาโดยวิธีโยนกล้าอย่างที่คุณครูทดลองทำและค้นพบเป็นนวัตกรรมการทำนานี้ ก่อให้เกิดผลดีหลายประการ ทั้งใช้แรงงานแต่น้อย ไม่ต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการเตรียมต้นกล้า ต้นข้าวแตกกอ แข็งแรง ไม่มีวัชพืชรบกวนเหมือนวิธีดำและหว่าน ลดต้นทุนไปมากกว่าไร่ละเกือบ ๒ พันบาทเมื่อเทียบกับวิธีดำและหว่านของการทำนาแบบทั่วไป.

    ตอนที่ ๓ สร้างเด็ก สร้างคน และสร้างภูมิปัญญาอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่สังคม  

        โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่  ของคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด   
    และชมรมรักษ์คลอง-รักษ์ถิ่น ชุมชนคลองทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร

    การทำนาและการดำเนินชีวิตของท่าน รวมทั้งการยกระดับเข้าสู่ขั้นที่ ๓ ของการดำเนินตามแนวทฤษฎีเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำให้ท่านรวมตัวกับหมู่ญาติและผู้สนใจในแนวทางเดียวกัน ทำโรงเรียนให้บริการแบ่งปันความรู้และให้การเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ให้ชื่อองค์กรและการรวมกลุ่มบริหารจัดการการศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างคนในแนวทางดังกล่าวว่า โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ จัดกิจกรรมให้การศึกษาเรียนรู้ทั้งจากแนวคิดทฤษฎีประสบการณ์และจากการมีแหล่งประสบการณ์ให้ทำจริงจากการทำนาทำสวน

                          

                           ภาพที่ ๑ คุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด ในห้องประชุมเอนกประสงค์โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ในอาณาบริเวณบ้านและที่ดินทำกินของท่านซึ่งนำมาออกแบบและบริหารจัดการปรับฐานชีวิตใหม่ด้วยแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สถานศึกษา  คุณครูและเด็กๆจากโรงเรียนในเขตทวีวัฒนาที่ท่านเคยเป็นครูด้วยมาตลอดชีวิต ก็ยังคงได้มาศึกษาเรียนรู้โลกนอกห้องเรียนจากท่านและมากกว่าในช่วงที่ท่านเป็นครูเสียอีก

                          

                          ภาพที่ ๒ ร่วมขยายผลและส่งเป็นทางเลือกที่หลากหลายเพิ่มขึ้นแก่สังคมโดยสื่อและเครือข่ายทางเลือก สื่อมวลชนและรายการสร้างการเรียนรู้แก่สังคมทางสื่อในแนวทางเลือก ร่วมขยายผลให้แก่ความริเริ่มสร้างสรรค์ของคุณครูวรินทร์และโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่โดยการถอดบทเรียนและนำไปสื่อสารสร้างการเรียนรู้แก่สาธารณะ ขณะเดียวกันก็ทำเป็นสื่อการเรียนการสอน ช่วยการให้ข้อมูลและการบรรยายแก่คุณครูและคณะเมื่อมีกลุ่มผู้มาเยือนกลุ่มต่างๆ นับว่าเป็นความร่วมมือกันเพื่อเพิ่มพูนพลังสิ่งดี

                          

                           ภาพที่ ๓ ความเป็นหนึ่งเดียวกันและการผสานกลมกลืนของวิถีดั้งเดิมกับโลกยุคใหม่อันหลากหลายซับซ้อน ทีมทำงานของบางกอกฟอรั่ม, อาจารย์วีรบูรณ์ วิสารทกุล จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผม(ผู้เขียนซึ่งกำลังผู้ถ่ายภาพ) ร่วมสนทนาและเรียนรู้กับคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาดก่อนที่ท่านและคุณณัฐพล ของสิริวัฒนกุลจะนำพวกเราเดินชมทั่วบริเวณไปจนถึงนาข้าวโดยวิธีโยนกล้า

                          

                           ภาพที่ ๔ อยู่กับธรรมชาติและพลังชีวิตจากผืนดิน เดินผ่านสวนกล้วย สวนผัก บ่อเก็บกักน้ำเลี้ยงปลา และสวนผลไม้ ผ่านออกไปสู่แปลงนาเพื่อดูการทำนาแบบโยนกล้า ทั่วทุกแห่งเต็มไปด้วยความร่มรื่นอุดมสมบูรณ์

                          

                           ภาพที่ ๕ ห้องประชุมสำหรับต้อนรับและพบปะเพื่อการศึกษาเรียนรู้ก่อนดูของจริง ห้องประชุมเอนกประสงค์ท่ามกลางสวนผัก สวนผลไม้ ไม้ดอกและไม้ประดับ ขนาดกำลังพอเหมาะประมาณ ๕ x ๑๕ เมตร พรั่งพร้อมด้วยวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการประชุมและเรียนรู้ไม่น้อยไปกว้าห้องเรียนชั้นดีในมหาวิทยาลัย ทว่า มีความเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ พอเพียงในการดูแลและพึ่งตนเอง

                          

                           ภาพที่ ๖ คุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด หลานปู่ และคุณณัฐพล ของสิริวัฒนกุล กับทีมงานบางกอกฟอรั่มหลังการเยี่ยมชมนาข้าวแบบโยนกล้า

    นอกจากเป็นโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่แล้ว บ้านของคุณครูและโรงเรียนที่ตั้งขึ้นก็เป็นแหล่งพบปะของกลุ่มคนที่สนใจศึกษาและพัฒนาชีวิตในแนวทางเลือก โดยรวมกลุ่มตั้งเป็นชมรมรักษ์คลองและรักษ์ถิ่นชุมชนริมคลองทวีวัฒนา.

                                                                                                                  วิรัตน์ คำศรีจันทร์ บันทึกและแบ่งปัน
                                                                                                                  กรกฎาคม ๒๕๕๓

    น่าชื่นชม..มีโอกาสจะไปเที่ยวชมกะเขามั่ง...ได้เวลาจะได้เป็นอิสระกวิทยานิพนธ์แล้ววววววววววววค่ะพี่อาจารย์...15 ก.ค.นี้สอบ...ไอ้อ้อยจะเป็นไทยแล้ววววววววโยๆๆๆๆๆๆ

    • เย้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆเย้ ฉลองๆๆๆๆๆๆๆๆ อย่างนี้มันต้องเฉลิมฉลองกันหน่อยแล้วมั๊ง
    • ขอแสดงความยินดีด้วยล่วงหน้าครับ จะบอกหมู่มิตรและแฟนบล๊อกน้องคุณครูอ้อยเล็กนะครับ
    • อย่างนี้มันต้องปิดลานองค์พระแล้วฉลองข้าวหมูแดงสักจาน ตบท้ายด้วยของหวานไอสครีมลอยฟ้า ๑ ถ้วย กับข้าวหลาม ๑ กระบอก เย้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

    เรียนมาครบ..ทศวรรษ....10 ปี พอดีเลยค่ะ..เป็นนักศึกษาปี44 เขารับปริญญากันไปหมดแล้ว....ค่ะพี่อาจารย์....แต่ยังไงก็จบนะ...แม้เส้นทางที่เดินมาจะยากลำบากด้วยใจของเราเอง...ก็ถือว่าอึดสุดๆแล้วค่ะ(อิๆให้กำลังใจตัวเอง) เป็นนักศึษาใหม่ปี52ผ่องอำไพ..เธอจากมสธ.ไปไกลๆเลย...จบยากจริงๆยายคนนี้....อิๆๆอาจารย์ท่านเบื่อแย่แล้ว.....

    • ได้ยินเสียงของอาจารย์ ดร.วิรัตน์ ดัง เย้ๆๆๆ เยๆๆๆๆ ทะลุมอนิเตอร์มาเลยคะ ทำให้ต้องแวะมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น =o)
    •  ขอแสดงความยินดีล่วงหน้าคะ พี่ครูอ้อยเล็ก
    • ใช้เวลานานกว่าเพื่อนคนอื่น วิชาการแน่นเปรี่ยะคะ =)
    • เอ่อ รอฉลองข้าวหมู กะของหวานโตยยยย คะ ^^"

                                            

    P....ยินดีเจ้า...งิๆๆๆๆตรงนี้เรียบร้อยแล้ว..จะไปฉลองกับพี่อาจารย์ น้องณัชพัชร์ด้วยน๊าและอีกหลายๆคน..เพราะพี่อาจารย์ท่านก็มีข่าวดีด้วยเช่นกันนิ...

    ขอแสดงความยินดีกับคุณครูอ้อยเล็กด้วยคน

    โรงเรียนนี้ "โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ ของคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด และชมรมรักษ์คลอง-รักษ์ถิ่น ชุมชนคลองทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร" น่าสนใจมากๆ ขอบคุณอาจารย์ที่นำสิ่งดีๆมาแบ่งปันให้คนหนองบัวได้เรียนรู้ ดูจากการประเมินราคาที่ดินแล้ว ถ้าคุณครูวรินทร์ไม่ใช่คนที่รักการทำเกษตรจริงๆ เห็นท่าจะแปลงที่(ดิน)ให้เป็นทุน-เป็นเศรษฐีไปแล้วแน่เลย

    น้องคุณครูอ้อยเล็ก

    • ประสบการณ์ ความทรงคุณวุฒิ ผลงานที่ความริเริ่มและความสำเร็จที่แพร่หลายทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ การพัฒนาศิลปศึกษาของประเทศ เหล่านี้ พี่ว่าน้องคุณครูอ้อยเล็กเข้าถึงความเป็นผู้รู้จริงและทำได้จริงเลยปริญญาโทไปแล้วละครับ
    • เข้าใจว่าอาจารย์ที่ปรึกษาและทุกคนก็คงทราบ อยากส่งเสริมให้ครูและคนทำงานอย่างนี้ได้เพิ่มพูนความทรงคุณวุฒิทางวิชาการอย่างเต็มที่ คงรอเวลาทำงานตามเงื่อนไขของโปรแกรมให้ครบสมบูรณ์เท่านั้น
    • แต่พี่ดูเส้นทางการทำงาน ความมีบทบาท ความมีสปิริตที่ให้ลำดับความสำคัญแก่งานส่วนรวมและงานของคนอื่นก่อนตนเองแล้ว ก็นึกภาพออกเลยครับว่าอะไรทำให้ใช้เวลาไปถึง ๑ ทศวรรษ

     

    อาจารย์ณัฐพัชร์รอฉลองข้าวหมู !!!

    • งั้นผมขอกินแต่รำกับผักบุ้งหั่นฝอยๆต้มเปื่อยๆนะครับ ฟันไม่ค่อยดีแล้วน่ะครับ ฮ่าาา
    • ที่หน้าองค์พระ ริมคลองเจดีย์บูชา ถิ่นโรงเรียนเทศบาลนคร นครปฐมของน้องคุณครูอ้อยเล็กนี่เขามีร้านข้าวหมูแดง ลูกชิ้นหมู และหมูแผ่นที่ขึ้นชื่อมากครับ
    • แต่ลองกินข้าวหมูก็แปลกดีครับ 

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • ไปเห็นแล้วก็คิดถึงเวทีคนหนองบัวโดยพลันเลยทีเดียวครับ
    • เลยต้องรีบเอามาฝากครับ
    • แต่จะขออนุญาตชาวหนองบัวไว้ด้วยนะครับว่าผมจะขอนำไปเรียบเรียงเผยแพร่ไว้เป็นหัวข้อย่อยจำเพาะอีกครับ
    • อยากร่วมเผยแพร่การพัฒนาการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้อย่างนี้ให้มากยิ่งๆขึ้นด้วยครับ
    • ความรู้ที่ย่อยและสร้างความเข้าใจในเรื่องที่อยู่ในโลกประสบการณ์อย่างนี้ คนหนองบัวและชาวบ้านทั่วไปนำไปใช้เป็นแนวการดำเนินชีวิตได้ง่ายครับ 

    ปลดแอก-บิดแอก-สลัดแอก : บทพิสูจน์เบื้องต้นเมื่อควายต้องการอิสระ(ควายก็มีหัวใจนะ)

    ปลดแอก บิดแอก สลัดแอก หนึ่งในสามคำนี้ถ้าใช้ในทางรัฐศาสตร์จะมีนัยในความหมายที่ไม่สู้ดีนัก บ่งบอกได้ว่าบ้านนั้นเมืองนั้น รัฐนั้นมีการปกครองที่ไม่ให้เสรีภาพแก่บุคคล กดขี่ ควบคุมเข้มงวด  ขาดอิสรภาพทางความคิด ไม่เปิดโอกาสให้คนได้แสดงออก ปิดกั้นความคิด

    ขบวนการปลดแอก คำนี้เมื่อสักสามสี่สิบปีที่ผ่านมา ถูกใช้เรียกกลุ่มบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายแห่งรัฐ บางรัฐ มีทั้งรัฐไทย และอีกหลายรัฐในต่างประเทศ ทั้งหมดนั้น ต้องการอิสระ ต้องการความหลุดพ้นจากการขดขี่ เสรีชนทั้งหลายก็ชื่นชนยินดีเมื่อรัฐต่างๆที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและสามารถปลดแอกตัวเองออกมาสู่โลกเสรี  จนเกิดเป็นประเทศใหม่ๆ ในปัจจุบันมากมายดังที่เห็นๆ กัน แต่ก็โลกก็ยังมีประเทศที่ปลดแอกตัวไม่หลุด พอมีหลงเหลืออยู่บ้างในตอนนี้

    ถ้านำคำสามคำนี้มาใช้ในวิถีคนบ้านนอก คนบ้านทุ่งก็จะมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง  กระบวนการฝึกหัดวัว-ควายของชาวบ้าน เมื่อวัว-ควายเริ่มเป็นวัยรุ่น โตพอจะใช้แรงงานได้ ประมาณว่าเป็นวัว-ควายตะกอ(เริ่มเป็นหนุ่ม เป็นสาว )ตัวผู้สังเกตได้จากพฤติกรรมที่ตอนยังเล็กๆอยู่จะติดแม่ ติดพี่น้อง เพื่อนฝูง แต่เมื่อเริ่มเป็นหนุ่มตะกอๆ ก็เริ่มสนใจเพศตรงข้าม เริ่มแยกตัวออกจากฝูง ไปหาเพื่อนต่างเพศ ถ้าเจอตัวเมียที่เป็นช่วงเป็นสัตว์ ก็จะลืมพรรคพวก หญ้าเย่อชักไม่สนแล้ว  เมื่อก่อนอาจทำตัวเรียบร้อยน่ารัก ก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นควายที่ดุ ดื้อ ไม่กลัวคน หรือเจ้าของด้วย ฉะนั้นควายตะกอเป็นหนุ่มแล้ว คนก็จะรู้และระวังตัว ไม่เข้าไปใกล้ อันตราย ส่วนควายตัวเมียก็สังเกตได้จากการเป็นสัตว์

    การฝึกก็เริ่มขึ้นในช่วงนี้หรือก่อนหน้านี้เล็กน้อยก็ได้ ฝึกไถนา ฝึกเทียมเกวียน ฝึกคราดนา ตีขลุบ วัว-ควาย ฝึกยาก ฝึกง่าย อยู่ที่พฤติกรรมนิสัยเดิมของเขานั่นเอง พูดแบบชาวบ้านว่า วัว-ควายบางตัวนั้นพูดรู้เรื่อง ไม่ดื้อ ไม่รั้น ไม่โกง ฝึกง่าย ไม่กี่วันก็สามารถใช้งานได้อย่างสบายใจ คล่องแคล่ว ไม่ต้องกังวล  แต่บางตัวนี่ไม่ง่ายเลย กว่าจะฝึกสำเร็จจนใช้งานได้วางมือได้ ต้องเหน็ดเหนื่อย เล่นเอาเหงื่อตกไปตามๆกัน เช่น วัว-ควายที่ดื้อๆ เวลาฝึกเทียมเกวียน ทั้งคนที่จูงเดินนำหน้า นำทาง คนขี่-ขับเกวียน ต้องระวังอุบัติเหตุอย่างสูง ผิดพลาดเกิดอันตรายขึ้นได้ ถ้าเขามีนิสัยดื้อ การฝึกก็ยากตั้งแต่เบื้องตนมาเลย คือวัว-ควายบางตัวนั้นกว่าจะยอมให้แทงดั้งจมูกที่เรียกว่าสนตะพายได้ ก็ทำเอาเจ้าของต้องออกแรงอย่างมาก

    ต่อมาก็ฝึกเทียมเกวียน ทั้งที่มีตะพายแล้วก็น่าจะง่ายในการจูงไปเทียมเกวียน แต่กลับไม่เป็นอย่างนั้นจูงก็ยาก ไม่อยากเดินเข้าไปเทียมแอก คอยตะแบงออกด้านข้าง ต้องมีคนคอยช่วยดันตูดให้เดินกันเลยละ เมื่อเทียมเกวียนแล้วก็ไม่ยอมอีก ตอนนี้แหละที่เรียกว่าบิดแอก บิดแอกตั้งแต่ยังไม่ออกเดินทาง ลูกแอกที่ทำจากไม้ไผ่หรือไม้จริง ไม้เนื้อแข็ง อย่างแข็งแรงนั้น เอาไม่อยู่หักได้ง่ายๆ บางตัวก็ไม่ยอมเดินอีก เทียมเสร็จก็วิ่งแน็บโกยอ้าว คนจูงเกือบหลบไม่ทัน ถ้ามีกรณีเช่นนี้  ควบคุมยากมาก ทางเกวียนมีอยู่แล้วแต่เจ้าวัว-ควายมือใหม่นี้ ไม่สนหรอก วิ่งลัดทุ่ง ปีนหัวคันนา วิ่งไม่ทิศทาง ด้วยพลังของความเป็นควายหนุ่มกำลังดี ทำเอาเจ้าตัวที่เป็นงานเป็นหลักที่นำมาเทียมคู่กันเพื่อให้คอยประคับประคองกันไปนั้นต้องวิ่งตามด้วย เพราะถูกลากจากตัวฝึกใหม่ เหนื่อยทั้งควายตัวที่เป็นงานแล้ว และคนฝึก บางครั้งถึงกับทวก(ธูป)เกวียนหัก ลูกแอกหัก ทามขาด สลักหัก แบบนี้ทั้งเหนื่อยทั้งโมโห ต้องมีอีกหลายยก หลายคาบ หลายชั่วโมงกว่าจะเป็นงานสำเร็จหลักสูตร

    บางตัวก็เคยเจอชนิดที่เทียมเกวียนเสร็จแล้วนอนเลย ไม่ยอมลุก นอนคาแอกเกวียน ขี้โกงแบบนี้ ต้องค่อยปะเหลาะ พูดจาดีๆ อย่าตีให้เจ็บตัวเจ็บใจเป็นอันขาด

    ฝึกไถนา การฝึกควายไถนานี่ต้องใช้ครูฝึกหนึ่งคน คนจับไถเดินตามหนึ่งคน คนเดียวไม่ได้แน่นอน คนหนึ่งเดินนำหน้า นำทาง เพราะควายฝึกใหม่ๆนี้ ถ้าไม่มีครูฝึกเดินนำ แล้วแกจะเดินมั่วไปหมดหาร่องหารอยไถไม่พบไม่เจอ รอยไถมีอยู่แต่เขาไม่รู้ว่าจะต้องเดินไปตามนั้น คนเดินนำก็ต้องระวังตัวบ้าง เพราะเขาจะเดินเร็วอาจเหยียบส้นเท้าครูฝึกได้ถ้าเผลอ หรือไม่ก็จะโดนควายหัวชนก้นได้เหมือนกัน กว่าเขาจะจำร่องรอยไถ แล้วเดินปล่อยหน้าได้ก็หลายวันทีเดียว

    วันหนึ่งต้องไถนาหลายชั่วโมง เริ่มไถตั้งแต่เช้าก่อนตะวันขึ้น ก่อนกินข้าวงาย จนไปถึงใกล้เพล แดดร้อนมากควายเหนื่อยจนหอบ น้ำลายฟูมปาก หายใจฟืดๆ คนก็เหนื่อย ทั้งคนทั้งควายก็อยากหยุดพักเที่ยงเหมือนคนทำงานทั่วไปบ้าง เมื่อปลดแอก ปลดคอม ออกแล้ว คนและควายก็มีอิสระ ชาวบ้านจึงเรียกว่าปลดแอก

    วัว-ควายฝึกใหม่มักจะตกใจ ตื่นกลัวเหตุการณ์ที่ตนประสบ จึงคอยจะวิ่งและใช้แรงมาก ก็เลยเหนื่อยเร็วเหนื่อยมาก หอบจนลิ้นห้อย(ขี้แตกขี้แตน-ขี้เรี่ยขี้ราด)ก็มี

    จริงๆแล้ว วัว-ควายนั้นส่วนใหญ่เลยจะนิสัยดี เลี้ยงง่าย พูดจารู้เรื่อง ใช้งานได้อย่างสบายใจ เป็นที่รักของเจ้าของ ชาวนาจึงมีความผูกพันรักใคร่วัว-ควายเหมือนลูกเหมือนหลานตัวเองอย่างไง อย่างงั้น ที่มีดื้อบ้างก็ถือว่าเป็นส่วนน้อยมากๆ

    ชีวิตบ้านทุ่งหนองบัว เมื่อปลดแอกแล้ว ก็สบาย มีอิสระ การดำเนินชีวิตถ้าไม่ติดแอก ติดหล่ม  ติดโลกมากจนเกินไป  ชีวิตก็จะเบาปลอดโปร่ง มีสุขได้ตามอัตภาพ ด้วยประการฉะนี้ เอวัง.

    เลยขอนำเอาภาพควายปลดแอกแล้วมาร่วมประกอบเรื่องราวด้วยครับ ไปกันได้พอดีอย่างยิ่งเลยทีเดียว

                                Buffalo 

                                                                                                    ชื่อภาพ : ควายตัวสุดท้ายของสาคลี
                                                                                                    เทคนิค :
    สีน้ำบนกระดาษ
                                                                                                    ผลงาน :  วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ๒๕๓๙

    ภาพนี้เป็นภาพควายที่ปลดแอกแล้วเหมือนที่พระคุณเจ้าบันทึกถ่ายทอดไว้ในหัวข้อ ปลดแอก-บิดแอก-สลัดแอก : บทพิสูจน์เบื้องต้นเมื่อควายต้องการอิสระ(ควายก็มีหัวใจนะ) แต่ตอนนั้นผมนึกไม่ออกว่าควรจะเรียกว่าอย่างไร จะเรียกว่าปลดระวางก็ดูเหมือนกับเป็นเรือหรืออะไรสักอย่างที่เลิกใช้งานแล้ว เมื่อได้เห็นก็ทำให้ตระหนักว่าชุมชนเกษตรกรรมตามแแหล่งต่างๆของประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ที่เหลืออยู่ก็ไม่ได้ใช้ควายและการผลิตในวิถีชุมชนที่จะสามารถพึ่งตนเองได้เหมือนอย่างเดิม ต่อไปควายหรือวิถีชีวิตที่มีความเป็นตัวของตัวเองของชุมชนไทยก็จะพบเห็นได้ยากมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เลยให้ชื่อไว้ว่า : ควายตัวสุดท้ายของสาคลี[Click here] พอเห็นเรียกควายปลดแอกนี่ก็เป็นสภาพเดียวกันเลยครับ แต่เป็นมุมมองคนละด้าน เพราะปลดแอกอย่างที่พระคุณเจ้านำมาแบ่งปันนี้เป็นควายที่เพิ่งหัดงาน ส่วนปลดแอกในรูปเขียนนี้เป็นการปลดแอกเมื่อหมดภาระงาน ทั้งสภาพสังคมเปลี่ยนไปและเจ้าของเขาให้ความเป็นอิสรภาพ ปลดแอก ปลดเชือกสนตะพาย

    เจริญพรอาจารย์ดร.วิรัตน์  คำศรีจันทร์

    ขออนุญาตปรึกษาอาจารย์ที่เวทีคนหนองบัว ก่อนอื่นที่หยุดเงียบหายไป ไม่ได้ท้อแท้หรือล้มเลิกที่จะลงมือทำงานหรอกโยมอาจารย์ อาตมาภาพไปปฏิบัติภารกิจทำกระบวนการเวทีส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม สำหรับนักเรียนโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล จังหวัดพิษณุโลก เล่นเอาพระวิทยากรบรรยาย แบบเมื่อยมือไปเลย เพราะนักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กพิเศษ พิเศษจริง ๆ (ทั้งพิการ หูหนวก เป็นใบ้ และออทิสติก) แต่ก็สนุกดี เป็นกระบวนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนทั้งคณะครู นักเรียน และพระวิทยากร

    อาตมาใช้กระบวนการเวที จัดแบบ ผังมโนทัศน์ หรือ mind mapping แบบทดลองดู(แผนภาพยังโหลดส่งไม่ได้ เพราะยังไม่ได้เป็น member)

    อาตมาภาพพิจารณากรอบแนวคิดและความเข้าใจตามประเด็นดังกล่าว ไม่ทราบว่า อาตมาภาพเข้าใจถูกหรือไม่

    การวิจัยแบบมีส่วนร่วม คือเป็นกระบวนการเรียนรู้ และแสดงหาคำตอบอย่างเป็นระบบ และมีเหตุผลที่สามารถพิสูจน์วัดและอธิบายได้อย่างมีเหตุผล

    การมีส่วนร่วม (participation) เครือข่ายทางสังคม(social network) เครือข่ายการเรียนรู้  (network of learning)กระบวนการเรียนรู้ทางสังคม(social learning)

    สามารถเป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยอธิบาย พัฒนาขั้นต่อไปได้หรือไม่ โยมอาจารย์ กรุณาช่วยชี้แนะด้วย

    ขอเจริญพร
    พระอธิการโชคชัย ชยวุฑฺโฒ

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอธิการโชคชัยครับ

    • หัวข้อเรื่องที่กล่าวมานั้น หากพระคุณเจ้าสนใจศึกษาก็สามารถค้นหาศึกษาได้จากคุณครูกูเกิ้ลได้หมดละครับ
    • แต่ยังไม่เห็นว่าจะเชื่อมไปยังประเด็นการวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้อย่างไรเลยนะครับ
    • ลองว่าไปเรื่อยๆก็ดีครับ อย่างน้อยก็ได้ทบทวนและทำงานความคิดไปด้วย
    • ใช้ปรัชญาคนอินเดียครับที่ว่า ชกและปล่อยหมัดเยอะก็มีโอกาสถูกเยอะ
    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    เตาสามเส้า :  วิถีการทำกินและกรรมวิธีการประกอบอาหารด้วยเตาไฟของชาวบ้านทุ่ง

    เตาสามเส้า เป็นเตาฟืนในสมัยก่อนโน้น ด้วยการนำก้อนหิน ก้อนดินที่ปั้นจากดินเหนียวที่มีรูปร่างปลายแหลมคล้ายเขาควาย จำนวน ๓ ก้อน มาวางบนพื้นดินให้ได้ระยะห่าง ที่พอดีกับก้นหม้อ /ปี๊บ /กระทะ เป็นมุมสามมุม ทั้งสามด้านโล่ง ทำให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกรอบทิศทาง

    การใช้งาน  นอกจากเตาอั้งโล่ที่ใช้เป็นประจำอยู่แล้ว ก็ยังมีการใช้เตาสามเส้าประกอบอาหารในการดำเนินชีวิตประจำวัน และใช้ในงานประเพณี งานตามฤดูกาลของชาวบ้านหนองบัวอีกด้วย เช่น ใช้เตาสามเส้า ตั้งปี๊บต้มข้าวหมู(ไม่รู้จักหัวอาหารสัตว์แบบสำเร็จรูป /อาหารหมูพื้นบ้านเมื่อก่อนมีหยวกกล้วย,ผักบุ้ง,ผักโขม-ปลายข้าว,รำข้าว)

    ถ้าทำอาหารกินตามท้องนา ท้องไร่ ตามป่าเขา นิยมนำก้อนดินก้อนหินมาทำเตาสามเส้า เพราะสะดวก หาง่ายไม่ยุ่งยาก หรือตามห้างนาชาวบ้านหนองบัวจะนำก้อนหินจากเขาพระ เขามรกตมาทำเตาสามเส้าไว้ใต้ถุนห้างแบบถาวรเลย  อีกงานหนึ่งที่ใช้ประจำคือเลี้ยงควาย บางแห่งหาก้อนดิน ก้อนหินไม่ได้ ก็จะนำไม้มาทำเตาสามเส้าแทน คือหากิ่งไม้สด ๆ ขนาดกำรอบ/เท่าด้ามมีดยาวคืบกว่า ๆ มาปักลงดินเป็นสามมุมระยะห่างพอดีกับก้นหม้อ ร้อยเปอร์เซ็นต์อาหารมื้อเที่ยงนี้ก็จะเป็นแกงพริกเกลือนั่นเอง

    งานประเพณีต่าง ๆ ของชาวหนองบัวที่ใช้เตาสามเส้า ทั้งงานบวชนาค ทำขนมจีน งานแต่งงาน ทำขนมนางเล็ด  ขนมนางว่าว  ทำข้าวเกรียบ คั่วพริก คั่วข้าวคั่ว งานบุญขหน่มห่อ(บุญเข้าพรรษา) งานบุญข้าวเม่า(ทำกระยาสารท) คั่วข้าวเม่า คั่วข้าวตอก งานเหล่านี้ทำของกินเป็นจำนวนมาก จึงต้องอาศัยใช้แรงงานคนช่วยกันทำเป็นกลุ่มก้อนร่วมแรงร่วมใจกันตั้งแต่ต้นจนจบสิ้นกระบวนการ

    เตาสามเส้า เป็นของใช้ในครัวเรือนกับชีวิตคนบ้านนอก ที่มีความสำคัญ และได้แสดงบทบาทรับใช้ชาวบ้านทุ่งอย่างดีเสมอมา.

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) ครับ

                          

    • เตา ๓ เส้าที่ทำจากก้อนดิน พอใช้เสร็จหลังหน้าทำนา ก็สลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของดินอยู่ตามปลวกหรือห้างนาเลยนะครับ เป็นการดัดแปลงวัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ชั่วคราวเท่านั้น
    • เลยเอารูปวาดเตาหลุมและต้องก่อ ๓ เส้าที่ปากเตา มาเป็นภาพประกอบด้วยนะครับ เตาแบบนี้ต้องขุดหลุมดินแล้วจึงตั้ง ๓ เส้าไปด้วย ใช้กับกะทะใบบัว สำหรับทำขนมจีน กระยาสารท และกวนเข้าทิพย์

    ที่บ้านไร่พนมทวนผมยังมีครกและสาก แต่กะทะใบบัวหายไปเสียดายมากกกกก

    • เพิ่งเหลือบไปเห็นครับ
    • นี่บล๊อกของเวทีคนหนองบัว มีคนคลิ๊กเข้าชม ผ่านหลักพันแรกของหมื่นคลิ๊กที่สองแล้วนะครับ
    • สวัสดีครับอาจารย์ ดร.ขจิตครับ
    • แถวบ้านผมก็พอจะเหลืออยู่ครบครับ
    • แต่ก็แทบไม่ได้ใช้กันอย่างทั่วไปเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้วครับ

    ผ่าหมาก : ทักษะและความชำนาญเฉพาะทางของคุณยาย-คุณตาชาวบ้านทุ่ง

    ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวบ้านทุ่งทั้งหลายไปไหนมาไหนก็แล้วแต่ มักจะมีห่อหมาก,ถุงหมาก,กระทายหมาก,เชี่ยนหมากติดตัวไปด้วยเสมอ ๆ ถ้าวันไหนเกิดลืมขึ้นมา ไม่ได้นำหมากไปด้วย หรือหมากหมด เป็นเรื่องแน่เลย จะทำงานอะไรต่าง ๆ ดูขาดความกระชุ่มกระชวย

    ผู้สูงอายุที่กินหมากเป็นประจำ ชนิดหมากขาดปากไม่ได้  ถ้าไม่ได้กิน ก็จะเกิดอาการหงุดหงิด เมื่อหิวหมากมาก ๆ มักจะได้เสียงหาวว๊อด ๆ ซึ่งเป็นเสียงของผู้ขาดหมากหรืออดหมาก หรือหิวหมากนั่นเอง

    ที่หนองบัวคนกินหมากมักเป็นผู้สูงอายุ หนุ่มสาวไม่นิยมกินหมาก จะเริ่มกินก็หลังจากแต่งงาน มีลูก และมีอายุมากขึ้น

    ผลของหมากหรือลูกหมากนั้นมีผิวเกลี้ยง ลูกหมากสด ๆ ผ่าง่าย ส่วนลูกหมากแห้งผ่ายาก เมื่อจะกินเนื้อใน ก็ต้องผ่าโดยใช้ตะไกรหนีบเพื่อเอาเนื้อใน หากหนีบหรือผ่าไม่ตรงกึ่งกลางลูกหมาก หมากก็จะลื่นหลุด วิธีที่ได้ผลดีคือหนีบหรือผ่ากึ่งกลางลูก ด้วยกรรมวิธีอย่างนี้เลยเรียกว่า ผ่าหมาก

    เด็ก ๆ หรือคนที่กินหมากไม่เป็น เมื่อเห็นผู้ใหญ่หนีบหมากอย่างชำนาญ คล่องแคล่ว กินหมากไปคุยกันไป ผ่าหมากไปด้วย ก็จะนึกว่าทำง่าย ๆ จึงลองทำตามผู้ใหญ่ดูบ้าง  ตะไกรหนีบหมากมีคมด้านเดียว อีกด้านสำหรับวางลูกหมาก เมื่อมีคนไม่เคยทำ จะลองทำดูคนโตก็จะสังเกตการจับลูกหมาก จับตะไกร ถ้าเห็นว่าพอจะทำได้ก็แค่เตือนว่าให้ระวังตะไกรหนีบมือ แต่ถ้าเห็นบางคนจับตะไกรแล้วน่าจะเกิดอันตรายขึ้น ก็จะห้ามไม่ให้ทำ เพราะถ้าทำมักไม่พลาดคือตะไกรหนีบมือเลือดพล่านทุกราย นี่ก็เป็นของใช้ประจำวันของชาวบ้านทุ่งอีกอย่าง ที่ผู้ใช้มีทักษะอย่างมาก

    จำได้ว่าที่หนองบัว ตอนเป็นเด็กผู้เขียนไม่เคยเห็นลูกหมากสดเลย เห็นมีแต่ลูกหมากแห้ง และหมากที่ผ่าแล้วเป็นแว่นๆ(ไม่ทราบเรียกแว่นหรือเปล่า-กินไม่เป็นด้วย)

    ผ่าหมาก ถ้าใช้ในความหมายทั่วไปก็จะไม่เกี่ยวกับคนกินหมากเลย เช่น นักแสดงชาย แสดงละคร ในบทก็จะมีคิวเตะต่อยด้วย ฉากที่ซ้อมกับดาราหญิง ถึงตอนเตะต่อยเพื่อความสมจริงเธอก็เตะต่อยอย่างสมบทบาท เกิดผิดคิวขึ้นมา ไปเตะผ่าหมากพระเอกเข้า เล่นเอาพระเอกของเรา ตัวงอ  หน้าเขียว เสียวสันหลัง จุก หมดแรงไปหลายนาที.

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    สวัสดีพี่อาจารย์และเหล่าพี่น้องชุมชนคนหนองบัว....

    การสอบปกป้องวิทยานิพนธ์คณะกรรมการให้ผ่านแบบมีเงื่อนไข..ค่ะ..ก็ต้องดำเนินการอย่างรีบเร่งค่ะ...ขอบคุณทุกกำลังใจนะคะ...เอาภาพพิมพ์บัวของอ.วัชรี วงศ์วัฒนอนันต์อาจารย์สอนภาพพิมพ์ของครูวัชรี ค่ะ...

     

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    ในรูปการทำกระยาสารทมุมบนซ้ายของภาพผมก็มีรูปตั้งวงผ่าหมากและปาร์ตี้หมากกันของกลุ่มคนรุ่นปู่ย่าตายายที่มานั่งเป็นขวัญกำลังใจแก่ลูกหลานกันด้วยนะครับ การปลูกหมากพลู การตำและทำคำหมาก การม้วนยาฉุนและขี้โย หรืออย่างน้อยที่สุดการต้องหมั่นดูแลสีเสียด การเอากาบกล้วยหมักยาฉุนให้ฉุนได้ที่และไม่แตกร่วนเป็นฝุ่นผง และการดูน้ำในปูนกินหมากไม่ให้แห้ง เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เด็กๆและลูกหลานต้องหัดปฏิบัติดูแล เป็นการน้อมคารวะและแสดงออกถึงความเคารพ รู้สำนึกกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้ใหญ่และบุพการี

    เมื่อก่อนเวลาผมกลับบ้าน ซื้อของกราบพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่อย่างไรก็ไม่ถูกใจเท่ากับผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า หมาก ทั้งหมากสดเป็นทลายและหมากแห้ง เมี่ยงและขี้โย พอไปถึงบ้าน ที่ชานบ้านก็จะกลายเป็นเวทีรวมญาติไปเลย การกินหมากและสูบยาในอดีตเป็นสื่อสานความผูกพันของสังคมชาวบ้านที่ต้องอยู่ร่วมทุกข์สุขกันอย่างหนึ่งเหมือนกันเลยนะครับ.

       สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก  

    • ในที่สุด หลังจากผ่านความเหนื่อยยากมานาน ก็มาถึงเส้นชัยอย่างงดงามนะครับ รู้สึกยินดีและดีใจไปด้วยมากเลยนะครับ
    • ภาพพิมพ์ของอาจารย์วัชรี อาจารย์ของคุณครูวัชรี-คุณครูอ้อยเล็กของเราภาพนี้นี่ ช่างงามและให้ความเป็นสมาธิ-ความสงบ ดีจริงๆเลยนะครับ
    • เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีงานสัปดาห์หนังสือ พี่ไปเตร็ดเตร่ดูความเคลื่อนไหวของงานสร้างสรรค์และงานความรู้ที่สะท้อนอยู่ในหนังสือจากทั่วโลก แล้วก็ไปเจอหนังสือดีๆหลายเล่ม เอามาอวดน้องคุณครูอ้อยเล็ก คุณณัฐรดา คอศิลปะและคอหนังสือให้ตาร้อนผ่าวก่อนสักเล่มสองเล่ม แล้วจะค่อยๆย่อยมาคุยให้ฟังนะครับ
    • ทั้งสองเล่ม ในทรรศนะของพี่แล้ว จัดว่าเป็นงานแนวบูรณาการพหุปัญญา Integration and Multi-Intellectualistic และ Transformative Learning งานแนวนี้ เป็นงานแนวข้ามโหมด ส่องทางกัน และสะท้อนซึ่งกันและกันข้ามกรอบ ข้ามพรมแดนความแตกต่าง มีอยู่เยอะเหมือนกัน ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ปรากฏให้เห็นในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมาน้อยมาก แต่ครั้งนี้เห็นหลายเล่ม ทำให้ตื่นเต้นมากครับ เลยหมดไปกว่าครึ่งหมื่น
    • วิถีพหุปัญญาบนงานศิลปะแนวนี้ จะเห็นวิธีชมงานศิลปะอย่างเข้าถึงความซาบซึ้งและสุนทรียภาพของมนุษย์ ขณะเดียวกันก็อ่านภาษาศิลปะ ข้ามโหมดงานสร้างสรรค์ทางปัญญา ให้วิธีมอง วิธีวิเคราะห์ พิจารณา หยิบยืมวิธีการกันและกันไปมาเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจต่อโลกของสรรพสิ่งอย่างหลากมิติและรอบด้าน
    • ดูสีสันและภาษาองค์ประกอบของศิลปะ ------> แล้วเชื่อมโยงไปอธิบายสังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ พัฒนาการทางเทคโนโลยี และสารพัดที่เป็น Transformative Learning ในอีกแนวทางหนึ่ง
    • เหมือนกับฟังเพลง----->แล้วเขียนถ่ายทอดเป็นรูป ดูรูป----->แล้วเขียนสะท้อนความคิดเป็นบทกวี อ่านบทกวี----->แล้วได้วิธีคิดแก้ปัญหาสังคมเชิงบวก เหล่านี้เป็นต้น
    • เป็นความรู้และวิถีปัญญาที่สามารถกระโดดข้ามโหมดทั้งวิธีการ ลักษณะข้อมูล ชนิดของประสบการณ์ เหมือนกับเป็นโรคปวดหัวแล้วหาวิธีเปลี่ยนขนาดรองเท้าเลยทำให้หายปวดหัว อย่างนั้นเลยทีเดียว

                            

    • เล่มแรก   Art Practice as Research : Inquiry in Visual Arts   การเขียนรูปและกระบวนการทางศิลปะเพื่อเป็น Entry-Point เข้าสู่พรมแดนความรู้และงานทางปัญญาในมิติอื่นๆ รวมทั้งการใช้วิธีทำงานศิลปะและกระบวนการศิลปะเพื่อวิจัยและสร้างความรู้ที่ลึกซึ้ง
    • เมื่อประมาณปี ๒๕๔๙ พี่และกลุ่มนักวิชาการสหสาขาของมหิดล เคยไปนั่งเวิร์คช็อปกันโดยผสมผสานความเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และศิลปะ เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เดียวกัน ต่อมาก็บันทึกแนวคิดและวิธีการ การพัฒนาการคิดคลี่คลายโดยวิธีการทางศิลปะ[*][คลิ๊กเข้าไปชมและอ่านรายละเอียดที่นี่] ทำหมายเหตุขึ้นกรอบและแนวคิดทดไว้ก่อน แล้วก็หาหนังสือและงานวิจัยอ่านเพื่อมาสนับสนุนแนวคิดกับวิธีการอย่างนี้ แต่ก็หาไม่ได้อย่างใจสักที เมื่อกว่า ๑๕ ปีก่อน เคยอ่านบทความและงานเขียนของต่างประเทศพอได้สะดุดความคิดที่สอดคล้องกับสิ่งที่กรุ่นอยู่ในใจได้บ้าง แต่ตอนนั้นก็เป็นงานเขียนที่เขาพยายามมองจากทรรศนะนักวิทยาศาสตร์สังคม ซึ่งก็มีข้อจำกัดด้วยขาดจุดยืนของคนทำงานศิลปะ
    • เล่มนี้เป็นอีกฟากหนึ่ง มีข้อจำกัดต่อทรรศนะจากมิติอื่น เนื่องจากเป็นการเดินออกจากกรอบตนเองของนักวิชาการศิลปะ มีข้อจำกัดต่อกรอบทรรศนะสาขาอื่นที่มองเข้ามายังศิลปะ
    • กระนั้นก็ตาม ถึงแม้จะยังขาดการมองเข้ามาจากทรรศนะของคนนอกความเป็นศิลปะ แต่ก็นับว่าเป็นการสร้างมิติใหม่ของการเดินเข้าหาความเป็นเอกภาพความต่างกันของปัจเจกและสังคม ศิลปะไม่ใช่เรื่องศิลปะมิติเดียว ทว่า เป็น Entry-Point เพื่อสร้างความรู้อย่างเป็นระบบ เดินเชื่อมโยงไปหาทรรศนะและศาสตร์สาขาอื่น พร้อมกับในทรรศนะการเข้าใจและจัดความสัมพันธ์ในกรอบใหม่ๆที่งดงามและเติมเต็มแก่กันได้มากยิ่งๆขึ้น

                             

                            

                            

    • อีกเล่ม  Art : The Definitive Visual Guide  คอหนังสือและคอศิลปะเห็นแล้วต้องนั่งครางฮือๆเลยทีเดียว
    • โดยเนื้อหาแล้ว ควรจะเป็น Encyclopedia ทางศิลปะของโลกที่แยกเล่มได้สัก ๔๐ เล่ม ของ ๔-๕ ยุคสมัย ยุคละสัก ๑๐ เล่มย่อยๆ นับแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ยุคโบราณ ยุคศิลปะสมัยใหม่ กระทั่งความเคลื่อนไหวที่เป็นความก้าวหน้าทางศิลปะของทั่วโลก แล้วก็ผนวกตำราว่าด้วยหลักทฤษฎีทางศิลปะ กับการวิเคราะห์ทางศิลปะด้วยหลากหลายกรอบ
    • มีผลงานของศิลปินและจิตรกรทั้งหมดที่เราเคยรู้จักและไม่เคยรู้จัก รวมทั้งงานสร้างสรรค์ทางศิลปะที่เป็นลายมือและจิตวิญญาณของสังคมต่างๆ ซึ่งรวมถึงของประเทศไทย กลุ่มประเทศอาเซียน และทุกอารยธรรมของโลก
    • ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในหนังสือหนาเตอะเล่มเดียว ความหนา ๖๑๑ หน้า ขนาดกระดาษ A3 เจียนขอบย่อมกว่าหนังสือมติชนสุดสัปดาห์นิดหน่อยเท่านั้น ภาพประกอบ ๔ สีบนกระดาษอาร์ตด้าน ๘๐ แกรม
    • เห็นขนาดนี้แล้วเลยได้แต่นั่งดู เปิดชม แล้วก็ลูบๆคลำๆอยู่เป็นนาน ไม่คิดว่าจะซื้อ และมั่นใจว่าไม่มีกำลังซื้อแน่นอนครับ เพราะเมื่อก่อนนี้ หนังสืออย่างที่พรรณามานี้ ควรจะเล่มละหมื่นกว่าบาท
    • แต่เจ้าของและพนักงานขายมาบอกว่า เล่มละ ๑,๙๐๐ บาท !!!! โดดใส่เลยสิครับ เหลืออยู่เล่มเดียวด้วย แล้วก็สั่งเข้าห้องสมุดให้ด้วย
    • เป็นงานเขียนที่ระดมนักวิชาการแนวนี้มาศึกษาค้นคว้า วิจัย และเขียนร่วมกัน ๑๒ คน Andrew Graham-Dixon เป็นบรรณาธิการที่ปรึกษา และมีบรรณาธิการร่วม ๔ คน เป็นหนังสือออกเมื่อปี ๒๐๐๘ หรือ ๒๕๕๑ เมื่อปีกว่ามานี้เอง
    • เปิดพรมแดนต่างศาสตร์ สรรพวิชา และมิติใหม่ๆของศิลปะ ความงาม ความดี ความจริง และสุนทรียภาพ ที่ต่างสะท้อนกันและกันในความสร้างสรรค์ของมนุษย์ ของสังคมต่างๆทั่วโลก ข้ามยุคสมัยครอบคลุมกรอบเวลากว่า ๕,๐๐๐ ปี แทบจะข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงของโลกจนเป็นของสากลที่ไม่ปรากฏเชื้อชาติและขอบเขตประเทศอย่างเจาะจงเลยทีเดียว
    • กระนั้นก็ตาม เป็นวิธีศึกษาและประมวลอารยธรรมและคลังปัญญาของโลกโดยใช้กรอบการพิจารณาอิงอยู่กับศิลปะยุโรป อเมริกา และสังคมโลกตะวันตก รวมทั้งวิธีวิเคราะห์โดยใช้ภาพรวมในภูมิภาคต่างๆของโลก เป็นแนวในการพิจารณา ซึ่งก็จะมีข้อจำกัดในการเห็นความหลากหลายในแง่มุมที่ต่างออกไป โดยเฉพาะศิลปะและงานสร้างสรรค์ที่สะท้อนวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ในการดำรงอยู่ของสังคมต่างๆ
    • แล้วจะค่อยๆย่อยมาแบ่งปันให้ฟังนะครับ คอศิลปะและคนทำงานแนวบูรณาการต้องชอบแน่นอน
    พระอธิการโชคชัย ชยวุฑฺโฒ

    เจริญพรอาจารย์ดร.วิรัตน์

    อาตมาภาพจะขอปรึกษาอาจารย์เกี่ยวกับการใช้ทฤษฏีและแนวคิดวาทกรรม อำนาจ ความรู้ และการวิเคราะห์วาทกรรม ชองมิเชล ฟูโกต์  มาใช้เป็นกรอบแนวคิด

    กรณีศึกษา : เวทีคนหนองบัวผ่านระบบจัดการความรู้เว็บไซต์โกทูโน

    กรอบแนวคิดของอาตมาภาพ ประเด็นเหล่านี้เป็นไปได้หรือไม่ ในการศึกษาเวทีคนหนองบัว

    เรื่อง : วาทกรรมการสร้างความรู้ อย่างมีส่วนร่วมในเวทีคนหนองบัวและผลต่อการพัฒนา สื่อการเรียนรู้ เพื่อสร้างสำนึกรักท้องถิ่น

    ประเด็นหลักของงานศึกษา “วาทกรรมการสร้างความรู้ สึกนึกรักท้องถิ่น” นี้มีความหมายที่จะวิเคราะห์ให้เห็นว่า กระบวนการสร้างความรู้อย่างมีส่วนร่วมในเวทีคนหนองบัวและผลต่อการพัฒนาสื่อสาร เพื่อสร้างสำนึกรักท้องถิ่นนั้น แท้ที่จริงแล้วคือ รูปแบหนึ่งของการใช้อำนาจ โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ แฝงเร้นอย่างแยบยลในนามของ “ความรู้” ของศาสตร์แขนงต่าง ๆ ซึ่งถูกนำไปใช้เพื่อสร้าง/ยืนยันความชอบธรรม/เผยแพร่/ตอกย้ำ สิ่งที่ได้รับการเลือกสรรให้เป็นตัวแทน “เอกลักษณ์” ของ “สำนึกรักท้องถิ่น” อาทิ การใช้ความรู้ ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี คติชนวิทยา เพื่อยืนยันความจริงที่ว่าชุมชน แห่งนี้มีอดีตอันยาวนาน ชาวบ้านมีความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติของตนเอง

    วัฒนธรรมที่ดีงามต่าง ๆ ยังคงได้รับการศึกษาสืบสานมาอย่างต่อเนื่อง ด้วย “ทุนเดิม” ทั้ง “ทุนทางวัฒนธรรม” และ “ทุนทางสังคม” ที่ชุมชนมีอยู่ เพื่อได้รับการบริหารจัดการทรัพยากรความรู้

    ผู้ศึกษาใช้แนวความคิดเรื่อง “วาทกรรม อำนาจ ความรู้ และการวิเคราะห์วาทกรรม” ของมิเชล ฟูโกต์ เพื่อเผยให้เห็นว่า กระบวนการสร้างความรู้รักท้องถิ่นอันประกอบด้วยองค์ความรู้ที่จะช่วยอธิบายและชี้นำการพัฒนาในอนาคตว่า คนในชุมชนบ้านนอก และชนบทจะเริ่มเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อให้โอกาสพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี่ที่ก้าวหน้า เอื้อประโยชน์ต่อคนท้องถิ่น
    ขอเจริญพร
    พระอธิการโชคชัย   ชยวุฑฺโฒ

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอธิการโชคชัยครับ

    • นี่ต้องถือว่าคืบหน้าไปหลายก้าวเลยนะครับ
    • วิธีการวิเคราะห์วาทกรรมนั้น โดยฐานคิดแล้ว เป็นแนวทฤษฎีการต่อสู้กันโดยวิถีที่สันติผ่านการรื้อและประกอบสร้างชุดความหมาย เพื่อให้ชุดใหม่เข้าไปทดแทนชุดเก่า
    • มองอย่างพระคุณเจ้ากล่าวว่าเป็นการต่อสู้เชิงอำนาจ ก็ต้องเรียกว่าต่อสู้กันด้วยวิถีทางความรู้และงานทางปัญญา ซึ่งเป็นการใช้อำนาจและวิธีการต่อสู้ ปะทะกัน ที่ไม่ใช้ความรุนแรงแบบแข็ง (หมายความว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน)
    • เป็นแนวทางที่ดีสำหรับหลายเรื่องครับที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในพรมแดนต่างๆ ในบ้านเราก็มีคนใช้ศึกษาเรื่องต่างๆเยอะพอสมควรครับ
    • หากถามผมว่าจะใช้แนวการวิเคราะห์วาทกรรม ของมิเชล ฟูโกต์ กับเรื่อง วาทกรรมการสร้างความรู้ สึกนึกรักท้องถิ่น จากกรณีเวทีคนหนองบัว ว่าดีไหมหรือไม่นั้น ก็ไม่ควรจะตอบได้นะครับ เพราะในความเป็นจริงแล้ว นักวิจัยสนใจเรื่องอะไรก็ย่อมพัฒนาไปตามความสนใจนั้น ให้คนอื่นสะท้อนข้อเสนอแนะในแง่นี้ก็จะไม่เหมาะครับ หากชอบก็ต้องเดินต่อประมาณนี้เลยครับ.....

                (๑) ประเด็นการวิจัย วาทกรรมการสร้างความรู้สำนึกรักท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม กระบวนการก่อเกิด พัฒนาการ การดำรงอยู่ และความเปลี่ยนแปลง กรณีการจัดการความรู้เวทีคนหนองบัวผ่านเว็บบล๊อก gotoknow .....หรือจะอย่างไรก็ว่าไปครับ
                (๒) เหตุผล ความสำคัญ และความเป็นมา เป็นอย่างไร ?
                (๓) วัตถุประสงค์การวิจัยคืออะไร ? ๑ / ๒ / ๓ .......
                (๔) คำถามการวิจัย คืออะไร ......
                (๕) ระเบียบวิธีที่สนใจคือ การวิเคราะห์วาทกรรมนั้น Source of power อยู่ในรูปใดบ้าง กลุ่ม Power Play ในแนวคิดที่สนใจเป็นอย่างไรและมีอย่างไรบ้าง จะออกแบบ เลือกกลุ่มตัวแทน และกำหนดขั้นตอนสำคัญๆอย่างไร
                (๖) ทำแล้วจะก่อเกิดมรรคผลอะไรขึ้นมาบ้าง หรือผลที่คาดหวังคืออะไร
                      .....คิดและดึงออกมาแค่นี้ก่อนก็ได้ครับ

    • แต่ถ้าหากให้ผมสะท้อนไปตามแนวคิดผม จำเพาะในเรื่องการสร้างความรู้และการจัดการความรู้ รวมทั้งวาทกรรมเกี่ยวกับการสร้างความรู้ ในบริบทสังคมไทยนั้น ผมจะตอบอย่างฟันธงเลยละครับว่าไม่เหมาะครับ
    • เหตุผลแรกคือ วิธีวิเคราะห์วาทกรรม โดยเฉพาะในแนวทางของฟูโกต์นั้น ก่อเกิดและพัฒนาขึ้นในสังคมยุโรป ซึ่งความรู้ สื่อ การแสดงปาฐกถาตามเวทีสาธารณะ การไฮปาร์คในแหล่งสาธารณะ เขาแพร่หลาย ปฏิบัติกันในทุกกลุ่มสังคม รวมทั้งในปัจเจก คนชั้นกลาง เรียกว่าเป็นวิถีชีวิตที่อยู่กับวาทกรรม ความรู้ ข่าวสาร และชุดความหมายที่หลั่งไหลท่วมท้นไปกับข่าวสารและพื้นที่ความรู้มากมาย
    • มี Stake holder หรือผู้เล่นกับอำนาจผ่านความรู้หลายขั้วความคิด หลายชุดความหมาย หลายช่องทางของการสื่อสาร หลายบริบท หลายคุณค่า หลายวิธีคิด หลายกรอบ และต่างก็มีพลังในการเคลื่อนไหวสังคม มีระบบและโครงสร้างปฏิบัติการต่อความเป็นสาธารณะที่เกื้อหนุนส่งเสริมพรักพร้อม การวิเคราะห์และสร้างวาทกรรมเพื่อให้ได้มิติความหมายที่ดีมากยิ่งๆขึ้นสำหรับรองรับความดำรงอยู่ของอีกชุดความหมายหนึ่งๆบนโครงสร้างเชิงอำนาจที่เสมอภาค เท่าเทียม ยุติธรรม เหมาะสม สมดุล จึงมีความสำคัญ
    • ทว่า ในสังคมไทยนั้น โดยเฉพาะในชนบทและชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร อย่าว่าแต่จะมีความรู้และวิธีคิดหลากหลายมาต่อสู้ให้ทัดเทียมกันเลยครับ สร้างขึ้นมาให้เป็นความรู้เกี่ยวกับตนเองสักชุดเดียวในแต่ละชุมชนของประเทศ ก็แทบจะไม่มีแล้วครับ ยังไม่ทันจะสร้างให้พอมีความรู้และพอได้วาทกรรมที่เป็นความหมายเกี่ยวกับตนเองสักชุดสองชุดเลย ภาษาการวิจัยก็เรียกว่า ไม่มีความซับซ้อนหลากหลายพอที่จะให้ทำวิจัยได้ ดังนั้น แนวการวิเคราะห์ความสัมพันเชิงอำนาจโดยวิธีการแบบฟูโกต์จึงไม่เหมาะครับ แต่ผมก็เห็นการนำมาใช้ศึกษาในสังคมไทยอยู่บ้างพอสมควรนะครับ
    • เหตุผลที่สอง การวิเคราะห์วาทกรรมในทรรศนะผมนั้น ต้องมีแนวการสร้างความรู้เชิงวิเคราะห์และวิพากษ์อย่างเข้มข้น ต้องใช้วิธีคิดและกรอบทฤษฎีในการมองเป็นฐานการวิเคราะห์หลากหลายกรอบ ซึ่งบางเรื่อง โดยเฉพาะ การจัดการความรู้ นั้น แทบจะเป็นวิธีคิดที่อยู่นอกกระบวนระบบและวิธีคิดคิดดั้งเดิมของสังคมไทย ดังนั้น ก็จำเป็นต้องใช้ฐานทฤษฎีของต่างประเทศเป็นหลักมาวิเคราะห์วาทกรรม ซึ่งการศึกษาเรื่องที่เป็นตัวเองมากที่สุดด้วยสายตาของต่างประเทศ ก็บอกได้อยู่ในตัวเองแล้วละครับว่าคงจะไม่เหมาะสมเพียงพอแน่ๆ 
    • หากจะพิจารณาว่า ความรู้ กระบวนการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ เป็นอำนาจและการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่อกันของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องบนโครงสร้างเชิงอำนาจต่างๆ แล้วต้องการศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการต่ออำนาจดังกล่าวนั้นแล้วละก็ ในทรรศนะผมสำหรับประเทศไทยแล้ว แนวคิดที่ทำให้เห็นตนเองและเห็นความสามารถพึ่งตนเอง พึ่งความรู้และได้ความหมายใหม่ๆแก่ตนเอง แล้วสามารถเรียนรู้ สร้างความเข้มแข็งบนความเป็นตัวของตัวเองได้มากยิ่งๆขึ้น ซึ่งก็เป็นพลังอำนาจอีกแบบหนึ่ง จะเหมาะสมกว่าครับ แนวนี้อาจจะออกไปทางการศึกษากระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม และการบริหารจัดการการมีส่วนร่วม
    • หากจะประยุกต์ใช้วิธีวิเคราะห์วาทกรรม ก็อาจจะนำมาวิเคราะห์ให้เห็นสำนึกและความรู้เกี่ยวกับตนเองที่พอมี ให้มีความหนักแน่นและเป็นระบบมากขึ้น เห็นสถานะของความหมายและการดำรงอยู่ รวมทั้งเห็นระบบและโครงสร้างเชิงอำนาจในการผลิต-ขับเคลื่อนสังคม ให้มีพลังเพียงพอต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงในขอบเขตต่างๆได้ แต่วิธีการนี้ ศึกษาโดยการวิจัยเพื่อสร้างทฤษฎีจากฐานประสบการณ์ชุมชน (Grounded Theory Research) และการวิจัยถอดบทเรียนชุมชน (Community-Based Research) ดูจะเหมาะกว่าครับ ได้สร้างทั้งความรู้ เรียนรู้ชุมชน สร้างชาวบ้าน และสร้างคนของชุมชน แต่ก็แล้วแต่ความสนใจนะครับ
    • คงพอได้แนวคิดนะครับ 

    หัวปลวก

    หนองบัวเมื่อก่อนนี้(สามสิบปีที่ผ่านมา) ตามหัวไร่ปลายนา จะมีหัวปลวกอยู่มากมายจริง ๆ โดยเฉพาะท้องทุ่งนาที่เป็นนาดินเหนียวมีมากเหลือเกิน ส่วนนาดินทรายนั้นเกือบจะหาหัวปลวกเอาไว้เป็นที่นั่งกินข้าวในฤดูทำนาไม่ได้เลย ในทุ่งนาดินทรายจึงมีห้างนาทุกเจ้า บางเจ้ากว่าจะสร้างห้างนาได้ต้องขุดดินมาถมให้สูงพ้นน้ำ 

    หัวปลวกมีทั้งเล็กและที่ใหญ่มากๆ อันนาบางอันถูกหัวปลวกกินพื้นที่การปลูกข้าวไปอย่างมาก เพราะอันนาอันเดียวมีหัวปลวกจำนวนมาก เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ทำประโยชน์  จะมีบ้างที่หัวปลวกจะเป็นที่ที่ทำประโยชน์ได้ สำหรับปลูกผัก พืชประจำฤดูกาล เช่น หน้าฝน ก็จะปลูกพริก มะเขือ ฟักทอง ข้าวโพด แตงไทย แตงกวา กระเจี้ยบ ถั่วฝักยาว งา มันแกว มันเทศ และตามหัวปลวกก็จะมีพืช ผัก ที่ไม่ได้ปลูก แต่ขึ้นเองก็มี ตำลึงมากที่สุด ผักไห่ ผักหวาน บุก หน่อเอื้อง ไผ่ ไม้ใหญ่ต่างๆ สะเดา กุ่ม พุทรา ตะโก มะขาม มะขามเทศ(เจ้าของนาปลูก)ยอดรักนก  ต้นโทงเทง  ชงโค ต้นคูณ(คนสูงอายุได้อาศัยถากเปลือกคูณมาเก็บไว้กินกับหมากได้ตลอดปี)    

    ตอนจ้างรถไถนา(ดะนาหรือไถแปร) นาใครที่มีหัวปลวกมาก ตอนวัดนา(พื้นที่นา)ต้องวัดคร่อมหัวปลวกทั้งหมด คิดเป็นพื้นที่นาด้วย (ถ้านำพื้นที่หัวปลวกของนาทั้งแปลง บางเจ้านั้นน่าจะได้พื้นที่หลายไร่-แต่รถที่รับจ้างไถนาคิดเป็นพื้นที่นา-เจ้าของนาต้องจ่ายค่าแรงหรือค่าหัวปลวกด้วยนั่นเอง)

    หน้าน้ำนอง น้ำท่วม น้ำหลาก พวกสัตว์จะหนีน้ำมาอาศัยอยู่ตามหัวปลวก เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง มด แมลงต่างๆที่มีพิษ และหัวปลวกในหน้าน้ำนี้ก็ใช้ประโยชน์ได้ด้วย เป็นที่ล่ามวัว ล่ามควาย บางครั้งน้ำท่วมมากๆก็ใช้หัวปลวกเป็นคอกควายด้วยเลย เพราะคอกควายเดิมน้ำท่วม

    หัวปลวกใหญ่ๆรกมาก แล้วก็มีต้นไม้ใหญ่ๆขึ้นเต็มไปหมด จะดูน่ากลัวน่าเกรงขามไม่น้อย บางทีเดินผ่านไปใกล้ ๆ มีนกฮูก นกเค้าแมว ตกใจ กระพือปีกเสียงดังพึบพับ ทำเอาสะดุ้งใจหายวาบเลยแหละ หัวปลวกรกๆ ใช้เป็นที่ซ่อนเครื่องมือทำนาได้ เช่น ไถ คราด คอม ขลุบ ฯลฯ

    หน้าทำนา ดำนาแช่น้ำนานๆ จนมือเท้าซีด เมื่อได้ขึ้นมานั่งพักเหนื่อยบนหัวปลวก เป็นการพักเอาแรง แม่ได้กินหมากสักคำ พ่อสูบยาหมดมวน เพียงเบรคน้อยๆแค่นี้ก็มีแรงดำนาได้ใหม่สบายๆ ถ้าน้ำน้อย ต้องวิดน้ำสาดน้ำขึ้นให้ถึงตีนหัวปลวกที่อยู่ไกลน้ำ เพื่อจะให้ดินเปียกจนดำนาได้ อย่างนี้ต้องวิดน้ำกันเหนื่อยหน่อย เหนื่อยจนซี่โครงบานเชียวแหละ

    เมื่อถึงตอนเกี่ยวข้าว มันแกวที่ปลูกไว้บนหัวปลวกก็ลงหัวแก่กินได้พอดี ขุดมากินสดๆก็ชื่นใจดี  เวลาจ้างแขกเกี่ยวข้าว จะวัดเฉพาะพื้นที่นาที่มีข้าวเท่านั้น จะไม่วัดคร่อมหัวปลวกเป็นอันขาด ฉะนั้นตามหัวปลวกจึงมีเศษ พื้นที่เหลือจากการวัด เพราะต้องวัดให้เป็นเส้นตรง จะได้คิดพื้นที่ที่เกี่ยวข้าวจริงๆ ที่เหลือจึงเป็นมุมเป็นเศษ เจ้าของนาต้องตามไปเกี่ยวเอง

    ชาวนาเมื่อก่อนได้อาศัยหัวปลวกปลูกผักไว้กินเอง ไม่ต้องซื้อหากับข้าว เมื่อไปนา ผักเหล่านั้นก็ไม่ได้ใช้สารเคมี เป็นผักปลอดสารพิษอีกต่างหาก ผู้บริโภคๆได้อย่างปลอดภัย เป็นวิถีง่ายๆตามธรรมชาติ พึ่งตนเองได้ เรียกว่าได้ทั้งเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีและลดภาระรายจ่ายในครอบครัวด้านเศรษฐกิจด้วย

    ต่อมาหัวปลวกถูกไถทิ้งหมด ที่นาไม่มีที่ปลูกผัก ไปนาจึงต้องซื้อผักจากตลาด กินผักที่มีสารพิษ สุขภาพก็แย่หน่อย อีกทั้งต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเดินทางไปนา(น้ำมันรถ-เมื่อก่อนขี่เกวียน ขี่ควาย เดิน)และค่าอาหารประจำวัน

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • เป็นสารานุกรมชายทุ่งเลยนะครับ
    • ตอนนี้ เขียนรวบรวมไว้อย่างนี้ไปก่อน เขียนไปตามความสะดวกตามอัธยาศัย ให้เป็นความสำเร็จเล็กๆ สะสมไว้
    • เมื่อมีโอกาสผมจะมาวาดรูปใส่ในแต่ละหัวข้อและเสริมการเรียนรู้สังคมและสิ่งแวดล้อมในด้านที่ผมต่อเติมเข้าไปได้ให้อีกครับ
    • ก่อนที่จะแยกไปรวบรวมไว้ให้เป็นสัดส่วน ก็เขียนลงในนี้ไว้ก่อนอย่างที่คุณฉิกเคยเสนอแนะไว้ก็ดีครับ ที่หัวข้อนี้จะได้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ เมื่อจะแยกหมวดก็ดึงออกไปจากที่นี่แล้วไปทำเป็นหัวข้อย่อย วาดรูปใส่  ซึ่งอาจจะอยู่ในหัวข้อเฉพาะ
    • ความรู้พวกนี้ เมื่อรวบรวมให้รอบด้านและทำให้เป็นระบบ มีภาพประกอบให้สวยงาม ก็จะเป็นสารานุกรมและแผนที่ความรู้เกี่ยวกับชุมชนและท้องนา ทั้งปัจจุบันและในอนาคตก็จะเป็นโลกแห่งการเรียนรู้ที่มีความหมายมากต่อการเรียนรู้ของลูกหลานคนรุ่นใหม่ครับ ความรู้ด้านอื่นก็มีความจำเป็น ซึ่งก็มีคนช่วยกันเขียนได้เยอะครับ แต่ความรู้เพื่อการรู้จักตนเองและผืนดินที่ตนเองได้ก่อเกิดเติบใหญ่นั้น ใครจะเขียนและจูงมือลูกหลานไปซาบซึ้งได้ดีเท่าชาวนาและคนของชุมชนเอง
    • เด็กๆและคนทั่วไปเห็นท้องนาก็คงรู้จักเพียงคันนาและต้นข้าว หรือภาพรวมๆ คงไม่รู้ว่าหากมีแผนที่ความรู้มากมายให้รู้จักโลกกว้างในผืนนา ปลวก ห้างนา รูปู รูหนู หนองน้ำ สระน้ำ .....ความรู้ที่เหมือนกับสารานุกรมประกอบภาพอย่างนี้ หากโรงเรียน พ่อแม่ หรือกลุ่มที่ทำกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆหรือคนในสังคมเมืองที่ออกไปสัมผัสโลกกว้างในชนบท อยากทำให้ท้องนาเป็นห้องเรียนของนักสำรวจและนักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองของเด็กๆ ข้อมูลและความรู้แบบนี้ ก็จะเป็นทรัพยากรความรู้ให้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างนั้นได้เป็นอย่างดีเลยละครับ

    ตอนนี้ กล่องนับจำนวนประเทศของผู้ที่เข้ามาอ่านและชมบล๊อกเวทีคนหนองบัวเต็ม ๒๐ ประเทศไปหลายสัปดาห์แล้ว เชื่อว่าระหว่างนี้คงจะมีผู้เข้ามาอ่านและชมนอกเหนือจาก ๒๐ ประเทศนี้อีก อาจารย์ณัฐพัชร์ มิตรทางวิชาการท่านหนึ่งของเวทีคนหนองบัว เลยกรุณาทำ Flag counter ให้เวทีคนหนองบัวใหม่ให้มากกว่า ๒๐ ประเทศ แต่พอติดตั้งใหม่ ข้อมูลและสถิติอันเก่าก็จะหายไป ผมเลยเสียดาย ตอนนี้กำลังศึกษาดูก่อนนะครับว่าใส่เข้าไปอย่างไรสถิติเก่าจึงจะไม่หาย และสามารถนับจำนวนต่อเนื่องไปได้เลย

    อาจารย์ครับ รู้สึกมหัศจรรย์กับบันทึกมากๆ คนมาอ่านทั่วโลกเลย ผมเคยติด Flag counter ปรากฏว่าทางจีน เวียดนาม เอามาอ่านมาก มีนักศึกษาจีนส่งจดหมายมาด้วย แต่เขียนเป็นภาษาไทย ช่วงหลังได้หลายภูมิภาคแล้ว แต่มันมีไวรัสเลยเอาออกครับ ส่วนใหญ่จีน เวียดนามและคนอื่นๆเข้ามาอ่าน สำนวนไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นยังมีโครงงานภาษาอังกฤษครับ แบบนี้ครับ

    http://gotoknow.org/blog/yahoo/16301

    สำนวนไทยและอังกฤษ

    http://gotoknow.org/blog/yahoo/46786

    เกม เพลงภาษาอังกฤษด้วยครับ

    http://gotoknow.org/blog/yahoo/28058

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอธิการโชคชัย
    ขอถวายข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อยนะครับ

    • ผมเคยซื้อหนังสือของฟูโกต์มาอ่านและศึกษา ทั้งที่เขาพิมพ์เผยแพร่ในต่างประเทศ ก็ที่แปลและตีพิมพ์เผยแพร่ในภาษาไทยอยู่บ้าง ก็พอจะเข้าใจได้อย่างหนึ่งว่า วิธีวิเคราะห์วาทกรรมนั้น อาจใช้ไม่เพียงจำกัดอยู่ในแนว Power Relation Approach เพื่อนำไปสู่การหักล้างโครงสร้างเชิงอำนาจที่ไม่ยุติธรรมและไม่ถูกต้อง แล้วนำเสนอวาทกรรมชุดใหม่เข้าไปแทนที่ก็ได้นะครับ
    • แนวที่ไม่เน้นการรื้อและประกอบสร้างวาทกรรมชุดใหม่ ก็จะต้องมุ่งวิเคราะห์วิธีคิด ระบบคุณค่า ความหมาย และนัยสำคัญต่อการกระทำทางสังคม (Social practice Social action) รวมไปจนถึงการวิเคราะห์ระบบและโครงสร้างที่เป็นกลไกผลิตซ้ำความคิดและความหมายในชุดวาทกรรมดังกล่าว ซึ่งการศึกษาในแนวนี้ก็จะเรียกว่าเป็น Soft-Culture Structure
    • วิธีคิดของการศึกษาความคิด ระบบคุณค่า ความหมาย และการกระทำที่ให้ความหมายดังกล่าวมีผลทางการปฏิบัติ ของการศึกษาวาทกรรมในแนวนี้นั้น ก็เข้าใจได้ง่ายครับ คือ วางอยู่บนทรรศนะและความเชื่อพื้นฐานที่ว่า ความรู้และข้อมูลข่าวสารต่างๆนั้น ความหมายและความสำคัญของมันไม่ได้อยู่แค่ระดับตัวภาษาและถ้อยคำ แต่มาจากบริบททางสังคม กลุ่มกระทำปรากฏการณ์ทางสังคม ระบบ โครงสร้าง การปฏิสัมพันธ์ ความขัดแย้ง การต่อสู้ ซึ่งทำให้การวิเคราะห์วาทกรรมชุดหนึ่งๆ สามารถเข้าใจสังคม หน่วยทางสังคม และโครงสร้างความมีปฏิสัมพันธ์ที่ประกอบสร้างความหมาย ให้มุ่งไปสู่จุดหมายตามวิถีต่างๆในชุดของวาทกรรมนั้นๆ
    • หากจะวางแนวศึกษาในลักษณะนี้ ก็น่าจะได้นะครับ แต่จะต้องใช้วิธีการเชิงวิพากษ์และใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์มาสนับสนุนมาก

    สวัสดีครับท่านอาจารย์ขจิตครับ

    • ผมเองก็รู้สึกอัศจรรย์ใจมากครับ เปิดการรับรู้ให้แก่ตนเองหลายอย่าง
    • ตอนนี้ผมนึกถึงชุมชนทางความรู้และความมีจินตนาการร่วมกันผ่านข้อมูลและการเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนอำเภอหนองบัว ๔ กลุ่มครับ (๑) คนไทยที่ไปอยู่ต่างประเทศแล้วต้องการรักษาความใกล้ชิดและการติดต่อกับบ้านเกิด เมื่อเข้าถึงข้อมูลด้วย Search engine ก็มองเห็นเวทีคนหนองบัว (๒) ชาวต่างประเทศในต่างประเทศที่อยากเรียนรู้ประเทศไทยและคิดถึงประเทศไทย (๓) ชาวต่างประเทศในประเทศไทยซึ่งมีที่อยู่อินเทอร์เน็ตของตนเองอยู่ที่บ้านเกิดในต่างประเทศ (๔) ชาวต่างประเทศที่เป็นนักศึกษาโปรแกรมที่เกี่ยวกับประเทศไทยและสังคมไทย
    • แต่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน ต่างก็ทำให้เป็นช่องทางหนึ่งที่คนหนองบัวและเวทีคนหนองบัวได้ร่วมทำหน้าที่เปิดสังคมไทยให้เชื่อมโยงผูกพันกับเพื่อนทั่วโลก การได้รู้จักประเทศไทยและลมหายใจของสังคมไทยในด้านที่เป็นเพื่อนร่วมโลกเดียวกันกับทุกคนจากทุกประเทศนั้น มีเรื่องราวของชุมชนหนองบัวเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปร่วมสร้างและสานความรู้จักกันไว้ ซึ่งถ้าหากมองเพียงด้านการทำสื่อเพื่อให้ได้วัตถุประสงค์อย่างนี้แล้วละก็ คงต้องทุ่มทรัพยากรและลงแรงทำมากมายกว่าจะได้อย่างนี้ เวทีคนหนองบัวทำกันไปโดนไม่ได้วางจุดหมายไว้อย่างนี้ ทว่า ก็ก่อเกิดผลดีในลักษณะนี้ ก็นับว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ใจมากครับ
    • ตามเข้าไปดูในลิ๊งก์ของอาจารย์แล้วครับ ทั้งน่าประทับใจและน่าอัศจรรย์ใจมากยิ่งขึ้นไปอีกนะครับ

    เจริญพรคุณครูอ้อยเล็กและอาจารย์ขจิต

    ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กและอาจารย์ขจิตที่ได้มาเยี่ยมเวทีคนหนองบัว
    คุณครูอ้อยเล็กนำสิ่งดีๆมาฝากเวทีแห่งนี้โดยตลอด
    อาตมาตามไปดูกิจกรรมของอาจารย์ขจิตแล้ว ดูเหมือนว่าท่านจะไม่มีวันหยุดเลย ช่างมีพลังสร้างสรรค์มากจริง ๆ
    ขออนุโมทนา

       Healthy Literacy Nong-Bua   

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
    และสวัสดีทุกท่านในเวทีคนหนองบัวนะครับ

    เมื่อวานผมไปช่วยดำเนินรายการสนทนาสร้างความสุขและสุขภาวะของผู้สูงอายุ เนื่องในครบรอบ ๒๘ ปีของที่ทำงานก่อนหน้านี้ของผม คือ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล มีกลุ่มผู้สูงอายุมานั่งคุยกันเรื่องเรียนรู้และปฏิบัติตนเพื่อดูแลตนเองทั้งในเรื่องสุขภาพ คุณภาพชีวิต และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาต่างๆตามความสนใจ ว่ากำลังทำในชุมชน ได้แนวคิด และบทเรียนต่างๆกันอย่างไร มีความสุขและได้ความงอกงามต่างๆเกิดขึ้นในส่วนที่เกิดจากการดูแลตนเองนี้อย่างไร

    มีผู้สนทนาเพื่อนำการเสวนาแลกเปลี่ยนทรรศนะต่างๆกัน ๒ คน คือ พล.ร.ต.สัมพันธ์ ภู่ไพบูลย์ อดีตนายทหารราชนาวี ซึ่งเป็นประธานชมรมผู้สูงอายุพุทธมณฑล และ ดร.สุทธิลักษณ์ สมิตตะสิริ จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำโครงการรณรงค์สร้างสุขภาวะชุมชนด้วยเรื่องอาหารและการสร้างความเชื่อมโยงกันของกลุ่มพลเมืองสองวัย คือ กลุ่มผู้สูงอายุกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ผมเป็นผู้ดำเนินรายการ แต่วิทยากรอีกท่านหนึ่งมาไม่ทัน อีกทั้งผมเองก็พอได้ทำกิจกรรมกับชาวบ้านพุทธมณฑลมาโดยตลอด รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ เขาก็เลยให้ทั้งดำเนินรายการและร่วมอภิปรายนำการสนทนาไปด้วย

    มีตัวแทนของชมรมผู้สูงอายุจากดอนแฝก อำเภอนครชัยศรี และสมาชิกกลุ่มชาวบ้านคลองโยง ซึ่งเป็นตำบลอยู่ชายขอบอำเภอพุทธมณฑล มาร่วมด้วย ประเมินด้วยสายตาแล้วก็น่าจะมากกว่า ๕๐-๖๐ คน สถาบันเปิดห้องประชุมบอร์ด ต้อนรับและให้กลุ่มผู้สูงอายุได้นั่งสนทนากัน

    เวทีได้คุยกันเรื่องความสุขของการเป็นผู้ให้ และการให้ก็ทำให้ผู้ให้กลายเป็นผู้ได้รับความสุขอย่างมากมายกลับมาด้วย คุยกันเรื่องความหมายของบ้านและความสุขที่กว้างออกไปสู่ชุมชนและผู้คนในอำเภอ วิธีเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุเพื่อให้ความรักความเมตตาแก่เด็กๆและคนรุ่นลูกรุ่นหลานในโอกาสต่างๆ การอาสาตนเองเป็นเครือข่ายอาสาป้านง สัญลักษณ์ผู้สูงอายุใจดีของอำเภอพุทธมณฑลซึ่งเป็นโครงการวิจัยและปฏิบัติการรณรงค์โภชนาการศึกษา โดย ดร.สุทธิลักษณ์ สถาบันวิจัยโภชนาการ และเครือข่ายชุมชน การสนทนาดำเนินไปอย่างอบอุ่น อวลด้วยความสุขและได้ความชื่นชมยินดีในทุกสิ่งต่อกัน เสร็จแล้วก็รับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน

    ได้สัมผัสบรรยากาศเวทีดังกล่าวนี้แล้ว ก็เลยเห็นพลังของกระบวนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนสิ่งดีให้กันที่ก่อให้เกิดความสุข ความงดงาม ทำให้ผู้คนได้มีที่นั่งคิด คุยกัน หาความลึกซึ้งและแยบคายในชีวิตด้วยกัน เพื่อเดินกลับออกไปดำเนินชีวิตและทำการงานให้ดีที่สุด ซึ่งเป็นบรรยากาศที่สอดคล้องกับพัฒนาการที่กำลังปรากฏขึ้นในเวทีคนหนองบัว

    ในเวทีคนหนองบัวนี้ โดยเฉพาะการได้มีเครือข่ายสื่อสารเรียนรู้ด้วยกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งมุ่งสร้างสุขภาวะและสร้างสิ่งดีให้แก่สังคม ซึ่งถ้าหากคิดจะทำให้ได้ผลอย่างนี้โดยการทำสื่อแจกจ่ายและทำโครงการเผยแพร่สื่อสาร สร้างการเรียนรู้แก่สังคม เพื่อให้รองรับความสนใจของคนท้องถิ่นและช่วยส่งเสริมการเปิดออกปสู่โลกกว้างของชุมชนเล็กๆในชนบท แม้นไม่มากนัก แต่ก็เป็นเครือข่ายเรียนรู้ที่แผ่ออกไปทั่วโลกได้อย่างนี้ ก็เชื่อว่าจะต้องใช้เงินและทรัพยากรอย่างมหาศาล อีกทั้งเชื่อว่าจะไม่สามารถทำได้อย่างที่ปรากฏในเวทีเล็กๆของคนหนองบัวนี้เป็นแน่ เลยขอนำมาเป็นชื่อหัวข้อนี้ของเวทีคนหนองบัว ให้สื่อสะท้อนลักษณะการพูดคุยกันในนี้ว่า Healthy Literacy Nong-Bua : เรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว นะครับ

    สวัสดีครับทุกๆคน

    ไม่มีเวลาเข้ามาพูดคุยด้วยเลย

    แต่ก็แอบเข้ามาฟังเค้าคุยกันอยู่ในนี้เรื่อยๆ

    ช่วงนี้งานเข้าทั้งเรื่องการงาน และเรื่องของเตี่ยที่ล้มหัวน็อคพื้น ต้องเข้ารพ.ที่นครสวรรค์ผ่าเอาเลือดคั่งที่หัวออก

    แต่ตอนนี้ออกมาอยู่บ้านที่หนองบัวแล้ว

    เลยต้องวิ่งขึ้นๆลงๆกรุงเทพ-หนองบัว/นว.อยู่บ่อยๆ อีกไม่เกิน 1ชม.จากนี้ก็ต้องออกเดินทางไปหนองบัวอีกแล้วครับ

    แค่นี้ก่อนครับ

     

    ประวัติบุคคลสำคัญของชุมชนเมืองหนองบัว(๒)

     

    พระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงปู่อ๋อย สุวณฺโณ /พรมบุญ พ.ศ.๒๔๔๒-๒๕๒๙)

    ต่อจากท่านแรกคือท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก(ห้อง ชาตสิริ ท้วมเทศ ป.ธ.๖ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์-๒๔๓๘-๒๔๙๙) 

     

    พระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงปู่อ๋อย สุวณฺโณ /พรมบุญ พ.ศ.๒๔๔๒-๒๕๒๙)

    อดีตเจ้าคณะอำเภอหนองบัวรูปแรก(๒๔๙๙-๒๕๑๖)เป็นชาวหนองบัว เกิดที่บ้านใหญ่ หมู่ที่ ๒ ตำบลหนองกลับ เป็นศิษย์หลวงพ่อคล้าย วัดพนมรอก อำเภอท่าตะโก โดยหลวงพ่อคล้ายบวชให้ และก็เป็นศิษย์หลวงพ่อเดิมด้วย เป็นผู้นำชุมชนเมืองหนองบัวรุ่นแรก ๆ ที่ได้นำกลุ่มศรัทธาชาวหนองบัว-หนองกลับ ช่วยกันสร้างสรรค์ประโยชน์ให้ชุมชนไว้อย่างมากมาย เช่น เมื่อท่านเป็นเจ้าอาวาสได้กราบนิมนต์หลวงพ่อเดิม  วัดหนองโพ ให้มาเป็นประธานในการสร้างศาลาการเปรียญ สร้างกุฏิ บูรณะอุโบสถ วัดหนองกลับ

    โดยเฉพาะศาลานั้นเป็นศาลาไม้ขนาดใหญ่เสาร้อยกว่าต้น เสาศาลาใหญ่ ขนาดโอบคนเดียวไม่รอบ การสร้างศาลาหลังนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อชุมชน ด้วยเป็นศาสนสถานที่มั่นคงและเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจยุคแรกในหนองบัว  การระดมรวมพลังคนสร้างเสนาสนะครั้งนี้ โดยใช้แรงศรัทธาคนทั้งเมืองร่วมกันทำ เลยต้องถือว่าเท่ากับเป็นการสร้างเมืองหนองบัวนั่นเอง

    พระเดชพระคุณหลวงปู่เป็นที่รู้จักและเคารพศรัทธาเลื่อมใสแก่คนในชุมชนและจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบจำนวนมาก จนคนทั่วไปนำชื่อของท่านไปเรียกเป็นชื่อวัดก็มี เช่น วัดหนองกลับ ก็เรียกว่าวัดหลวงพ่ออ๋อยเป็นต้น สิ่งที่หลวงปู่ท่านสร้างไว้ล้วนเป็นร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ของชุมชน เป็นที่มาแห่งความสามัคคีของคนหนองบัว

    ประเพณีบวชนาคหมู่ท่านก็มีส่วนในการริเริ่มจัดขึ้นร่วมกับหลวงพ่อเดิม และประเพณีบวชนาคหมู่ที่ริเริ่มโดยหลวงพ่อเดิมนั้น ต่อมาหลวงปู่ท่านก็ได้สืบสานงานชิ้นนี้อย่างเข็มแข็งและต่อเนื่อง จนกระทั่งการบวชนาคหมู่ได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์ประจำอำเภอในที่สุด

    ท่านเป็นผู้มีอายุยืนยาว ดำรงอยู่ในสมณเพศเกือบ ๗๐ ปี ถึงแม้จะเป็นพระสงฆ์ก็ตาม แต่ท่านก็ถือคตินิยมแบบโบราณในการสร้างสรรค์ความดีตามยุคสมัยของสังคม โดยท่านได้บริจาคที่ดินของวัดให้สร้างสถานศึกษาซึ่งเป็นสถานศึกษาแห่งแรกของอำเภอหนองบัวอีกด้วย นั่นก็คือโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม(อนุบาลหนองบัว) ทางด้านสาธารณูปโภคก็มีสระน้ำหลวงพ่ออ๋อยซึ่งมีจำนวน ๒ สระนั้น ก็กินพื้นที่ถึงเกือบยี่สิบไร่แล้ว  และสระน้ำแห่งนี้ก็เป็นแหล่งน้ำสำคัญของอำเภอหนองบัวที่คนทั้งอำเภอได้ใช้อุปโภคบริโภคกันตลอดมา

    ศาสนสถานวัดวาอารามในอำเภอหนองบัวท่านก็ได้สร้างขึ้นใหม่และบูรณะของเดิมไว้หลายแห่งด้วยกัน การที่หลวงปู่ท่านเป็นที่เคารพนับถือของคนจำนวนมาก ทำให้การเป็นอุปัชฌาย์ของท่านนั้นมีบทบาทต่อกุลบุตรอย่างมากทั้งในหนองบัวและจังหวัดใกล้เคียง โดยแต่ละปีจะมีผู้มาสมัครขอบพรรบชาอุปสมบทอย่างมากมาย เฉลี่ยเป็นรายปีไม่น้อยกว่าปีละ ๓๐๐ คน คนหนองบัวหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงรุ่นหลานต้องผ่านการบรรพชาอุปสมจากท่านด้วยกันทั้งนั้น

    แม้แต่ช่วงที่ท่านชราภาพแล้ว ทั้งสุขภาพไม่ค่อยดี มีปัญหาทางด้านสายตาด้วย ก็ยังมีผู้คนทั้งอำเภอมาบวชกับท่านเป็นประจำ โดยเฉพาะคนรอบนอกอำเภอ จะนิยมมาบวชตอนเช้ามืด นาคต้องเตรียมตัวออกเดินทางจากบ้านกลางดึก ตีหนึ่ง ตีสอง ถึงวัดหนองกลับ ตีสี่ ตีห้า บวชเสร็จแล้วยังไม่สว่างเลย เหตุการณ์อย่างนี้(บวชเช้ามืด) ผู้เขียนยังไม่ได้ยินว่าที่อื่น ๆ จะมีเช่นนี้

     กรณีเช่นนี้นับเป็นความมีเมตตาธรรมและความเสียสละของพระเดชพระคุณหลวงปู่อย่างมาก ที่ท่านได้ทำหน้าที่ของสงฆ์อย่างองอาจ อาจหาญ อดทน ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่ออนุเคราะห์สงเคราะห์ชุมชน ประชาชน สังคม ฉลองศรัทธาปสาทะ อย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิต แม้แต่เมื่อสู่วัยชรา อีกทั้งมีปัญหาสุขภาพก็ตาม

    หลวงปู่อ๋อยท่านมีชีวิตเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์และทำสิ่งดีงามทั้งหลายไว้ในชุมชนเมืองหนองบัวมากมาย  โดยเฉพาะสิ่งที่ท่านสร้างไว้ที่เป็นวัตถุสิ่งของที่นับจำนวนได้ก็ต้องถือว่าท่านเป็นผู้นำชุมชนในยุคแรกที่ได้พัฒนาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ มากกว่าผู้ใดทั้งสิ้นในหนองบัว(ในช่วงชีวิตของท่าน) 

    เราทั้งหลายซึ่งเป็นคนรุ่นหลัง เมื่อได้เรียนรู้ เห็นคุณค่า คุณประโยชน์และเกิดความซาบซึ้งในความดีงามเหล่านั้นแล้ว ก็จะยิ่งเพิ่มความเคารพนับถือศรัทธาในองค์ท่านมากยิ่ง ๆ ขึ้น

     

    หมายเหตุ รูปหลวงปู่อ๋อยรูปนี้ถ่ายเมื่ออายุ ๖๓ ปี (๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕) ในงานทำบุญครบรอบ  ๖๓ ปี

     

    พระมหาแล  อาสโย(ขำสุข) 

    วัดศรีโสภณ  ตำบลวังทอ 

    อำเภอวังทอง  จังหวัดพิษณุโลก

    ๑๔  กรกฏาคม  ๒๕๕๓ ผู้จัดเตรียมข้อมูล

     

     

    กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    ผมได้นำข้อมูลของท่านหลวงปู่อ๋อยที่ท่าน หลวงอามหาแล ขำสุข อาสโย ได้ค้นหาข้อมูลมา ก็เลยถึงเอาเป็นของฝากวันเข้าพรรษานะครับ เข้าพรรษานี้ คนหนองบัวก็คงเตรียมจับจ่ายซื้อของมาทำขนมห่อ เพื่อแจกจ่ายให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ เป็นการลำลึกถึงพี่น้องอีกอย่างหนึ่ง สมัยก่อนถ้ากินไม่หมดก็จะนำมาตากแดดเพื่อไว้ทอดกินตอนนอนดำนา หากใครได้กลับบ้านหนองบัวอย่าลืมเอามาฝากกันบ้างนะครับ

    เจริญพรคุณฉิก

    ไม่ได้เข้าอ่านมาสองสามวัน เนื่องเพราะระบบอินเทอร์เน็ตมีปัญหานิดหน่อย
    วันนี้อินเทอร์เน็ตใช้ได้ เข้ามาเห็นคุณฉิกพอดี นึกว่าไปธุระที่ไหนเสียแล้ว เห็นหายเงียบไปหลายวัน
    ขอบคุณที่แจ้งข่าวเรื่องเตี่ยที่ไม่สบายให้ได้รับรู้กัน
    ขอให้เตี่ยให้หายไวๆมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

     

     

    เจริญพรคุณเสวก ใยอินทร์

    หลวงอาขอขอบคุณคุณเสวกด้วย ที่ได้ช่วยนำภาพหลวงปู่อ๋อย สุวณฺโณ/พรมบุญ มาโพสต์ไว้ที่เวทีคนหนองบัวนี้ นี่นับเป็นภาพถ่ายบุคคลสำคัญในชุมชนเมืองหนองบัว ท่านที่สองที่ได้นำมาลงไว้ในเวทีแห่งนี้ ท่านแรกที่ได้นำมาลงไว้ก่อนหน้านี้คือท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก(ห้อง ท้วมเทศ-อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์)

    พูดถึงขหน่มห่อ(ขนมห่อ)หรือบุญขนมห่อของคนหนองบัวก็คือบุญเข้าพรรษานั่นเอง คุณเสวกบอกว่าทำขนมห่อเยอะๆกินไม่หมด นำไปตากแดด แล้วเอามาทอดกินในตอนดำนาเวลาไปเลี้ยงควายนั้น นึกตามแล้วเห็นภาพชัดเจนเลยแหละ นับไปนับมาเป็นเวลาสักสามสิบปีแล้วเหมือนกัน ที่หลวงอาไม่ได้กินขมห่อหนองบัว
    บุญขนมห่อนี้เป็นกิจกรรมงานบุญใหญ่ของชาวหนองบัว-หนองกลับเลยทีเดียว
    คุณเสวกและหลวงอาเคยเขียนถึงเรื่องบุญขนมห่อมาบ้างแล้ว ในเวทีคนหนองบัว ท่านใดสนใจก็ลองตามไปอ่านกันได้

    ขนมห่อ

    กราบนมัสการหลวงอามหาแล ขำสุขอาสโย สวัสดีท่า่นอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และทุกท่านครับ

    เข้าพรรษานี้ผมเองไม่ได้กลับบ้านหนองบัว พอดีน้าเอาขนมห่อมาฝากที่กรุงเทพ เลยนำมาฝากที่เวทีนี้ให้ทุกๆท่านเลยนะครับ

    อันที่จริงนี้อย่าว่าแต่หนองบัวเรานั้นที่ทำขนมห่อ ยังมีบ้านใกล้เคียงกับหนองบัว แถวๆออกไปทางวังตระกรู สำนักขุนเณร ห้วยพุก ก็ทำอย่างในช่วงเข้าพรรษาเช่นเดียวกับบ้านเราถ้าสืบสาวเหล่าเครือญาติก็ใช่อื่นไกลกันที่ไหน แต่ที่ทำกันมากก็เห็นจะเป็นหนองบัวนี่แหละครับ

    ขหนมห่อนี้จะทำคลายกับขนมใส่ใส้ทุกอย่างเพียงแต่ ไม่นิยมใส่เตี่ยวใบตอง และจะไม่ใส่หน้ากระทิครับ

    นมัสการ พระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล อาสโย และชาวชุมชนหนองบัวทุกท่าน

    • พร้อมกายกรรม วิจีกรรม และมโนกรรมอันเป็นกุศล ขอน้อมกราบนมัสการพระคุณเจ้าเนื่องพรรษากาลด้วยครับ
    • อ้างอิงกุศลกรรมทั้งมวลส่งความดีงามสู่ลานเวทีชุมชนหนองบัวครับ...

    นมัสการ พระคุณเจ้า พระอธิการโชคชัย และ สวัสดี ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ครับ..

    หากจะประยุกต์ใช้วิธีวิเคราะห์วาทกรรม ก็อาจจะนำมาวิเคราะห์ให้เห็นสำนึกและความรู้เกี่ยวกับตนเองที่พอมี ให้มีความหนักแน่นและเป็นระบบมากขึ้น เห็นสถานะของความหมายและการดำรงอยู่ รวมทั้งเห็นระบบและโครงสร้างเชิงอำนาจในการผลิต-ขับเคลื่อนสังคม ให้มีพลังเพียงพอต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงในขอบเขตต่างๆได้ แต่วิธีการนี้ ศึกษาโดยการวิจัยเพื่อสร้างทฤษฎีจากฐานประสบการณ์ชุมชน (Grounded Theory Research) และการวิจัยถอดบทเรียนชุมชน (Community-Based Research) ดูจะเหมาะกว่าครับ ได้สร้างทั้งความรู้ เรียนรู้ชุมชน สร้างชาวบ้าน และสร้างคนของชุมชน แต่ก็แล้วแต่ความสนใจนะครับ

    อ้างอิง ความเห็ฯ 715

    • นับเป็นนิมิตหมายอันดีครับ  "เวทีหนองบัว" กำลังก้าวสู่ "กระบวนการวิจัย" ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการความรู้ และกระบวนการวิเคราะห์ที่ระบบ
    • กรอบทฤษฎี สนับสนุนแนว Grounded Theory Research ครับ... สด ดีครับ...

    เจริญพรคุณเสวก

    ขอบคุณคุณเสวกที่ให้ข้อมูลรายละเอียดความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับบุญขนมห่อ ทั้งข้อมูลชุมชนและบอกสูตรขนมห่อด้วย เลยทำให้นึกถึงบ้านห้วยร่วมอีกที่หนึ่ง คนห้วยร่วมส่วนหนึ่งก็โยกย้ายไปจากหนองบัว-หนองกลับ
    บุญขนมห่อนี้เกี่ยวเนื่องผูกพันไปถึงกิจกรรมในการมีคู่ดอง(คู่หมั้น)ด้วย โดยปรกติเทศกาลบุญนี้ลูกๆหลานๆ ลูกสะใภ้หรือหญิงสาวที่มีคู่ดองที่เป็นชาวบ้านหนองบัว-หนองกลับ จะนำขนมห่อที่ทำขึ้นเองไปให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ปู่-ย่า ตา-ยาย พ่อแม่สามี ถวายพระสงฆ์ และคู่ดอง
    ฉะนั้นชายหนุ่มที่มีคู่ดองเมื่อถึงบุญขนมห่อคราใด ก็จะได้กินขนมห่อคู่ดองของตน แม้แต่คู่ดองบวชเป็นพระ เป็นหลวงพี่อยู่ที่วัดแล้วก็ตาม ก็ไม่พลาดที่จะได้ฉันขนมห่อจากคู่ดองนี้ด้วยเช่นกัน

    เมื่อก่อนไม่มียวดยานพาหนะอะไร รถยนต์ก็ไม่มี การนำขนมห่อไปให้ญาติๆ ถวายพระ ให้คู่ดอง จึงมีวิธีเดียวเท่านั้นคือเดินหาบกระเช้าขนมห่อบ้าง หิ้วกระเช้าขนมห่อบ้าง ใครมีบ้านญาติอยู่ไกลๆก็เหนื่อยหน่อย เพราะต้องเดินหาบของไปไกล

    วันสองวันก่อนทำบุญเข้าพรรษา จะได้เห็นคนหาบกระเช้าขนมห่อ หิ้วกระเช้าขนมห่อ ตามสอก ถนน หนทางในทุกหมู่บ้านเลยทีเดียว

     

    ขนมห่อของคุณเสวก...น่าทานจัง...

    เจริญพรคุณช้างน้อยมอมแมม

    ขอบคุณคุณช้างน้อยฯอย่างมาก ที่แวะมาเยี่ยมเวทีคนหนองบัวในเทศกาลงานบุญสำคัญเช่นนี้ ขอให้คุณช้างน้อยฯมีพลังใจในการสร้างสรรค์ ประสบแต่สิ่งที่งดงามในช่วงพรรษากาลและตลอดไป
    ขออนุโมทนา

    วันนี้ที่พิษณุโลกฝนตกแรงมาก พื้นดินชุ่มฉ่ำ อากาศสดชื่น เป็นบรรยากาศแห่งฤดูกาลเข้าพรรษา ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้พี่น้องชาวนาของเรามีความสุข จิตใจเบิกบาน สุขทั้งได้ทำบุญ สุขทั้งได้มีน้ำทำนา(สุขใจได้ทั้งนาบุญ และนาข้าว) 
    ยิ่งเมื่อได้เห็นขนมห่อที่คุณเสวกเอามาฝากและคุณครูอ้อยเล็กได้นำมาโพสต์อีกด้วยแล้วมันให้อารมณ์เป็นช่วงฤดูหน้าดำนายิ่งนักเลยแหละ ทำให้นึกถึงท้องนาท้องไร่ นอนห้างกลางทุ่งนา ฟังเสียงฝนตกโปรยปรายฟ้าร้องครืนๆแสนเพลินใจ

    พระอธิการโชคชัย ชยวุฑโฒ

    เจริญพรโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และคุณโยมช้างน้อยมอมแมม

    ขออนุโมทนาบุญที่คุณโยมได้ถวายความรู้ และมีข้อเสนอแนะอย่างเป็นกัลยาณมิตร เปรียบได้กับคำพุทธพจน์ที่ว่า “สัพพะทานัง ธัมมะทานัง  ชินาติ” คือให้ความรู้เป็นทาน ชนะการให้ทานทุกอย่าง

    สำหรับคุณโยมทั้งสองที่ได้สนับสนุนและมีข้อเสนแนะที่ดีให้กับอาตมาภาพมาตลอด ซึ่งเป็นประโยชน์มากในการศึกษาด้วยตนเอง เรียกว่าเอาแบบปรัชญาคนอินเดียที่โยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ แนะนำไว้ว่า ชกและปล่อยหมัดเยอะๆ

    ขออนุญาตให้โยมอาจารย์วิรัตน์ช่วยบรรยายกรอบ/แนวคิด วิธีการศึกษาโดยการวิจัยเพื่อสร้างทฤษฏีจากฐานประสบการณ์ชุมชน(Grounded Theory Research) และการวิจัยถอดบทเรียนชุมชน (Community-Based Research) ที่ต้องใช้วิธีการเชิงวิพากษ์ว่าเป็นอย่างไร และเราจะอธิบายให้ผู้อื่นรู้ได้อย่างไร

    เพราะว่าทุนความรู้ด้านนี้ยังมีน้อย จึงขอให้โยมอาจารย์ช่วยสะท้อนข้อเสนอแนะ
    และขออนุโมทนาบุญ ในการให้ความรู้ ของคุณโยมอาจารย์และโยมช้างน้อยมอมแมม
    ขอให้สุขภาพพลานามัยแข็งแรง อย่าจน อย่าเจ็บ ด้วยเทอญ....เจริญพร
    พระอธิการโชคชัย  ชยวุฑฺโฒ

     

    คึกคักมากเลยครับ ขอกราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล และขอร่วมสวัสดีทุกท่านครับ คุณช้างน้อยมอมแมม น้องคุณครูอ้อยเล็ก และคุณเสวก ใยอินทร์

  • มีการเข้ามาสนทนาของผู้ใช้นามว่าภูเขา สนทนากับคุณเสวกด้วยครับ
  • ทักทายกันเป็นภาษาถิ่นอย่างคนกันเองมาก แต่ไม่รู้ว่าคุณคนภูเขาไปได้ยินชาวบ้านในชุมชนแล้วนำมาพูดต่ออีกทีหนึ่งโดยเข้าใจว่าเป็นการทักทายที่แสดงความเป็นกันเองดีหรือเปล่านะครับ
  • คือ ในนั้นมันมีคำที่อาจจะไม่เหมาะสมน่ะครับ พูดกับคนกันเองและต้องสนิทกันมากๆพอได้ครับ แต่พูดทั่วไปโดยเฉพาะในสื่อสาธารณะอย่างนี้คงไม่เหมาะครับ เลยขออนุญาตลบออกไปนะครับ ไม่เสียหายอะไรหรอกครับ หากไม่คิดมากก็ออกจะเป็นเรื่องขำๆด้วยซ้ำ เหมือนกับฝรั่งถูกสอนให้พูดว่า 'ขอบคุณฉิบหายเลย' แล้วก็นำไปกล่าวขอบคุณในโอกาสต่างๆ โดยเข้าใจว่าเป็นการขอบคุณเฉยๆ ทำนองนั้นแหละครับ ต้องขออภัยคุณภูเขามา ณ ที่นี้ด้วยเช่นกันนะครับ เข้ามาคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกเรื่อยๆนะครับ
  • ขอร่วมแสดงความทุกข์ใจกับฉิก ต่อการเจ็บไข้ของเตี่ยด้วยนะครับ รวมทั้งร่วมแสดงความทุกข์ใจกับรักษ์ พี่ชายของฉิก และพี่ๆด้วยครับ
  • ขอแสดงความยินดีกับพระคุณเจ้าพระอธิการโชคชัยด้วยครับที่สะท้อนว่าได้ประโยชน์สำหรับนำไปศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองต่อไป เป็นการสะท้อนให้เป็นกำลังใจแก่การพูดคุยและแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆในนี้ด้วยกันของเวทีน่ะครับ
  • อยากแนะนำให้สนทนากับคุณช้างน้อยมอมแมมต่อได้เลยครับ เข้าไปในบล๊อกของท่านโดยตรงได้เลยครับ เป็นมือวิจัยชุมชนแนวมานุษยวิทยาวัฒนธรรมชุมชนตัวจริงท่านหนึ่งเลยครับ
  • แต่ว่าพระคุณเจ้าต้องขึ้นประเด็นที่เจาะจงและสะท้อนการเกิดประเด็นความสนใจจากการอ่านทบทวนทางวรรณกรรมเพิ่มขึ้นอีกครับ หากคำถามใหญ่ๆว่า วิธีการเชิงวิพากษ์ | การสร้างทฤษฎีจากฐานประสบการณ์ หรือ การวิจัยถอดบทเรียน ก็จะทำให้คุยกันได้ลำบากมากครับ จะกว้างและเยอะจนเหมือนกับการเรียนกันทั้งคอร์ส ซึ่งพื้นฐานลักษณะอย่างนี้ศึกษาเอาจากเอกสารหรือสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตก่อน แล้วจึงค่อยตั้งประเด็น หรือทบทวนข้อมูล ความรู้ความเข้าใจ ความสนใจ และทรรศนะที่เรามีก่อนในเรื่องต่างๆ จากนั้นก็ผุดประเด็นและหยิบยกคำถามขึ้นมา เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน จึงจะเหมาะสำหรับหารือกันในสื่อนี้ครับ
  • ขอให้ได้ความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆอยู่เสมอๆครับ
  • นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    สวัสดีค่ะพี่อาจารย์วิรัตน์และสมาชิกชุมชนชาวหนองบัว

    วันนี้31-10สิงหาคมโรงเรียนกีฬาไปแข่งขันกีฬาระหว่างโรงเรียนกีฬา โดยปีนี้จังหวัดนครสวรรค์เป็นเจ้าภาพจัดงาน..นักกีฬา โค้ต และแม่ครัวเดินทางกันในวันนี้ โดยพักที่โรงเรียน เทศบาล 2 ค่ะครูอ้อยเล็กจะตามไปในวันที่ 2 มีโอกาสอาจแวะกราบนมัสการท่านอาจารย์นะคะ..

    ชมรมเพาะช่างนครสวรรค์ก็เป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมการรวมตัวกันอยู่เหมือนกันนะครับ เป็นกลุ่มนักธุรกิจ ครูอาจารย์ทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์และสถานศึกษาในจังหวัด และคนทำงานสาขาต่างๆ มีกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมและการทำสาธารณประโยชน์ให้กับสังคมท้องถิ่น ให้เป็นโอกาสสร้างการมีส่วนร่วมต่อการสร้างสรรค์ชีวิตสังคมท้องถิ่นบ้างเหมือนกันครับ

    เจริญพรคุณครูอ้อยเล็ก

    ต้องขอขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กที่แสดงความมีน้ำใจที่จะมาเยี่ยมเยียนอาตมาภาพ ถ้าจำพรรษาที่อำเภอหนองบัวคงมีโอกาสได้พบเจอกันได้ง่าย เพราะอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองนครสวรรค์มากนัก(ประมาณ ๗๐ กม.) 

    แต่ว่าตอนนี้อาตมาจำพรรษาอยู่ที่พิษณุโลก ซึ่งห่างจากนครสวรรค์ก็ร้อยสามสิบสี่สิบกิโลเมตรได้
    ชาวปากน้ำโพขอต้อนรับคณะนักฬาและทุกท่านด้วยความยินดี
    ขออนุโมทนากับคุณครูอ้อยเล็กด้วย

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    กราบนมัสการงามอีกครั้งค่ะในการกล่าวต้อนรับคณะนักกีฬาโรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครปฐม ตอนนี้โทรศัพท์ไปหาน้องที่อยู่ครัว บอกเหตุการณ์เรียบร้อยดี พี่อ้อยไม่ต้องเป็นห่วง...

    วันนี้ตอนเที่ยงวัน ท่านเจ้าอาวาสวัดโคกสะอาด ตำบลวังบ่อ อำเภอหนองบัวมาเยี่ยมถึงที่วัด มีเวลาพูดคุยไม่นานนัก พอดีได้ปริ้นบทความในเวทีคนหนองบัวไว้หลายเรื่องด้วยกัน ก็เลยได้ถวายท่านไป และฝากถวายท่านเจ้าคณะตำบลวังบ่อด้วยหนึ่งชุด  
    บ้านโคกสะอาดนี้ห่างจากตัวอำเภอประมาณสิบห้ากิโลเมตร เด็กหนุ่มที่ขับรถมาด้วยกัน อายุแค่ยี่สิบกว่าปี คนวัยนี้หลายเรื่องก็ยังจำได้ ส่วนที่จำได้แม่นยำเลยก็คือไอ้เป๋หนองบัว เขาบอกว่ายังนึกถึงรายละเอียดที่อาจารย์วิรัตน์เล่าไว้ได้ดีอีกด้วย

    ที่บ้านโคกสะอาดติดอินเตอร์เน็ตแล้ว แต่ไม่เคยได้ทราบเรื่องราวเวทีคนหนองบัวเลย ไหนๆที่บ้านโคกสะอาดก็มีอินเตอร์เน็ตแล้ว ก็เลยบอกว่ากลับไปบ้านจะลองไปเปิดอ่านเรื่องราวชุมชนหนองบัวดูบ้างก็ได้ หรือมีอะไรจะพูดคุยสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลชุมชนก็สามารถเข้ามาเขียนได้ตามสะดวก

     ส่วนท่านสมภารยังหนุ่มอายุสามสิบกว่าปี แต่ก็ยังสามารถระลึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในภาพวาดได้เกือบทั้งหมด มีวงเวียนหอนาฬิกาสี่แยกตลาดหนองบัว แห่นาคหมู่ โรงไฟฟ้าเกาะลอย ท่านบอกว่าเกิดไม่ทัน

    สองท่านี้นับเป็นคนหนองบัวชุดแรกที่ได้อ่านข้อมูลชุมชนชุดนี้ ได้เห็นคนในท้องถิ่นเจ้าของเรื่องราวต่างๆที่มาเยี่ยมมีความสนใจ ก็รู้สึกดีใจไม่น้อยเหมือนกัน

    ตั้งใจว่าจะนำข้อมูลที่เขียนนี้ไปให้ญาติๆและพระผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ที่หนองบัวได้อ่านกันบ้าง ก็ยังไม่ได้นำไปให้สักที

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    ขอกราบอนุโมทนาไปกับพระคุณเจ้าและชาวบ้านทั้งที่บ้านโนนสะอาดและคนทั่วไปของชุมชนหนองบัวเลยละครับ พระคุณเจ้ากำลังเป็นทั้งครูทางด้านจิตวิญญาณ และเป็นครูของชุมชนในการรณรงค์ให้คนหันมาเรียนรู้ตนเอง ใกล้ชิดกับการอ่านและการเรียนรู้ และหาหัวข้อคุยกันเพื่อสร้างความรู้ ช่วยกันทำอย่างนี้ให้หลากหลายมากขึ้น ผมว่าก็จะมีส่วนที่จะเป็นสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาการเรียนรู้ให้มากยิ่งๆขึ้นของชาวบ้านอย่างไม่เคอะเขิน

    หากจะติดอินเตอร์เน็ตในชุมชน ไม่วาจะที่บ้านโนนสะอาดหรือในที่ไหน อย่างน้อยก็ในชุมชนหนองบัว ก็จะยิ่งมีตัวอย่างให้ก้าวเดินต่อยอดขึ้นไป ไม่ใช่มีแต่ระบบอินเทอร์เน็ตที่ว่างเปล่า ไม่กี่เดือนก็ล้าสมัยและไม่มีเงินมารักษาระบบ เข้าถึงความรู้และข้อมูลต่างๆได้รวดเร็วกว้างขวางทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะไม่มีเรื่องของตนเองเลยแล้ว ก็ยิ่งพาปัญญาและการเรียนรู้ให้ห่างไกลออกจากชุมชนตนเองมากยิ่งๆขึ้น ซึ่งในเวทีหนองบัวได้ช่วยกันทำให้ชุมชนอำเภอของเราพ้นจากสภาพดังกล่าวนี้ไปแล้ว จึงขอร่วมอนุโมทนาในความบุกเบิกริเริ่มของพระคุณเจ้าและทุกท่านเป็นอย่งยิ่งครับ

    ตอนนี้ผมไปประชุมอยู่ที่จังหวัดมหาสารคามครับ เป็นการประชุมเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ชาวบ้านได้ช่วยกันจัดประสบการณ์ชุมชนของตนให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ของคนมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศด้วยครับ

    ทำให้ผมนึกถึงเวทีคนหนองบัวของเราครับ แลกเปลี่ยนสื่อสารและสร้างการเรียนรู้กับผู้คนได้อย่างกว้างขวางไม่น้อย แต่มีองค์ประกอบของการสร้างความรู้และการจัดการความรู้ที่น่าจะเป็นบทเรียนที่มีลักษณะหลายอย่างต่างออกไปจากประสบการณ์ของชุมชนอื่นๆ ซึ่งสักระยะหนึ่งคงจะสามารถหาวิธีสรุปบทเรียนดีๆออกมาเผยแพร่กันได้นะครับ

    พริกเกลือ : อาหารชุมชนอีกความมั่นใจหนึ่งของชุมชนเมืองหนองบัว

    พริกเกลือถือเป็นอาหารหลัก อาหารท้องถิ่นอาหารคู่ครัวไทยของ(คนหนองบัว-หนองกลับ)โดยเฉพาะเลยทีเดียว ที่ต้องกล่าวอย่างนี้ก็เพราะถ้าเรียกพริกเกลือแล้ว คนต่างถิ่นทั่วไปไม่รู้จักว่าคืออะไร แม้คนในท้องถิ่นอำเภอหนองบัวที่อยู่รอบนอกหมู่บ้านหนองบัวเองก็ตาม อาจยังมีที่ไม่รู้จักพริกเกลือ แต่คงรู้จักในชื่ออื่นๆ(เมื่อก่อนนี้)

    คนหนองบัว-หนองกลับใช้พริกเกลือปรุงอาหารในหลายรูปแบบ เช่น เป็นเครื่องแกงก็ได้ ขยำข้าวกินก็ได้ ใช้จิ้มผักแทนน้ำพริกก็ดี ใช้ประกอบอาหารประเภทหมกก็ได้เรียกว่า หมกพริกเกลือ การหมกพริกเกลือให้ได้รสชาติอร่อย ๆ ต้องมีบรรยากาศแบบลูกทุ่ง ๆ และต้องใช้ใบตองควงห่อด้วยจึงจะเข้ากันดี บรรยากาศลูกทุ่ง ๆ ดังกล่าว ก็คือนิยมทำกินกันในป่า เมื่อออกหาของป่า หาหน่อไม้ ตัดไม้เผาถ่าน เลี้ยงควายหน้าน้ำหลังฤดูทำนา หรือทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด ทำไร่ถั่วลิสง ตามเขามรกต เขาพระ เขาสูงฯลฯ

    คนหนองบัว-หนองกลับเมื่อไปนา ไปไร่ ไปป่า ไปเขา เลี้ยงงัวเลี้ยงควาย หรืออยู่ตามท้องทุ่งนาก็ตาม ต้องทำงานหนักใช้แรงงานมากเหน็ดเหนื่อย พักเที่ยงถึงกับหมดเรี่ยวหมดแรงกันเลย เมื่อเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาก ๆ  ฉะนั้นอาหารมื้อกลางวันจึงจำเป็นอย่างยิ่งของคนในท้องทุ่งบ้านนา

    คนทำงานหนักต้องกินข้าวกลางวันให้อร่อยจึงจะมีเรี่ยวแรงทำงานภาคบ่าย พริกเกลือจึงถูกนำมาปรุงเป็นอาหารมื้อเที่ยงนี้อย่างเต็มที่และคนบ้านทุ่งหนองบัวก็ถือว่าเมนูนี้อร่อยสุดๆ โดยวิธีแกงพริกเกลือร้อนๆนั่นเอง ข้าวเย็นไม่เป็นไรแต่แกงร้อนนับว่าเข้ากันได้อย่างดี การได้ซดน้ำแกงร้อน ๆ มันชื่นใจและมีแรงทำงานต่อได้ตลอดถึงเย็นเลยเชียว

    พริกเกลือนี้คนหนองบัว-หนองกลับ นิยมอย่างมากสามารถบอกได้เลยว่าขาดไม่ได้ก็แล้วกัน แต่ก็แปลกมาก ที่อาหารสำคัญชนิดนี้ชาวบ้านหนองบัว-หนองกลับมักไม่กล้าพอที่จะนำเสนอหรือบอกกล่าวให้คนต่างที่ต่างถิ่นได้รู้จัก เหมือนจะอายเมื่อต้องพูดถึงพริกเกลือกับคนบ้านอื่น

    ความรู้สึกอายของคนหนองบัว-หนองกลับในเรื่องเกี่ยวกับอาหรพื้นบ้าน(พริกเกลือ)นี้ เป็นมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบันก็ว่าได้ คนต่างถิ่นหลายคนที่มาหนองบัวใหม่ ๆ แล้วไม่กล้ากินพริกเกลือ แต่เมื่ออยู่นานไปก็ได้ลองกินพริกเกลือ แล้วก็มีไม่น้อยเลยที่กินพริกเกลือแล้วติดอกติดใจ ถึงกับเมื่อออกจากหนองบัวไปแล้วคิดถึงคนหนองบัวและพริกเกลือก็ต้องกลับมาเยี่ยมและกินพริกเกลืออีกครั้ง

    แม้แต่คนรุ่นใหม่อย่างคุณเสวก ใยอินทร์ เจ้าของบทความเรื่องคนหนองบัวกับพริกเกลือนี้เองก็ตามเถอะ กว่าจะกล้าเขียนลงบล็อกโกทูโน(GotoKnow)นี้ได้ก็ต้องรวบรวมพลังความกล้าหาญอย่างมาก อาตมาต้องคอยลุ้นคอยเชียร์ให้กำลังใจ สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง อธิบายเหตุผลและความจำเป็นต่าง ๆ ให้ฟังอยู่สักพักใหญ่ ๆ เธอจึงตัดสินใจเขียนลงไว้ในอินเทอร์เน็ต และตอนนี้เรื่องคนหนองบัวกับพริกเกลือของคุณเสวก ใยอินทร์ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งในชุมชนเมืองหนองบัวที่มีคนเข้าไปอ่านกันเป็นจำนวนมาก

    ปัจจุบันคำว่าพริกเกลือในโลกไซเบอร์ ถ้าใช้คำพูดของคนในวงการนักร้องนักแสดงต้องถือว่าได้แจ้งเกิดเรียบร้อยแล้วแหละ และด้วยความสำนึกรักท้องถิ่นรักบ้านเกิดของคนหนองบัวที่ไปทำงานอยู่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะที่จังหวัดระยองตอนนี้ถึงกับรวมตัวกันตั้งเป็นชมรมพริกเกลือคลับขึ้นมาได้ นี่ถือเป็นกลุ่มพริกเกลือกลุ่มแรกที่อยู่นอกหนองบัว

    ในท้องถิ่นหนองบัวเองตอนนี้พริกเกลือได้เป็นสินค้าโอท็อปไปหลายปีแล้ว ทั้งคนท้องถิ่น คนต่างถิ่น ต่างก็รู้จักพริกเกลือหนองบัวกันเป็นอย่างดี ในตลาดหนองบัวนั้นจะมีพริกเกลือขายตลอดวัน หาซื้อมาบริโภคได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นสินค้าที่ขาดตลาด

    พริกเกลือมีความสำคัญอย่างไรกับคนหนองบัวบ้างนั้น อาตมาขอมายืนยันสั้นๆด้วยคำกล่าวที่ว่า ถ้าใครไปหนองบัวแล้วไม่ได้กินแกงพริกเกลือ ถือว่ายังไปไม่ถึงหนองบัวก็แล้วกัน.

     

     

     

    • ได้อีกเรื่องแล้วละครับ หากผมเขียนรูปแล้วจะดึงหัวข้อนี้แยกไว้ต่างหากอีกหนึ่งหัวข้อเพื่อจะได้เป็นฐานสำหรับรวบรวมเรื่องที่น่าสนใจอื่นๆต่อไปได้อีกนะครับ เช่น วัตถุดิบและสูตรการปรุงที่อาจจะมีเคล็ดจวักแตกต่างกัน
    • การมีพริกเกลืออยู่ในวัฒนธรรมอาหารการกินของคนหนองบัวและใกล้เคียงนั้น ใครเป็นลูกหลานคนในชุมชนหนองบัว ก็ย่อมเห็นภาพได้ว่า พริกเกลือนี้ ในแง่ของ Functional หรือความมีบทบาทหน้าที่ในความเป็นห่วงโซ่อาหารทางสังคมและเศรษฐกิจ กับการย่อยสลายในระบบนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติแล้ว เป็นเงื่อนไขของการทำเกษตรผสมผสาน ไร่พริก หอมกระเทียม ข่า ซึ่งทำให้การทำนาไร่และการทำผลผลิตในสวนครัว สามารถดำรงอยู่ได้
    • ขณะเดียวกัน การที่จะต้องกินกับผักและสามารถเป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการแกงและใช้พืชผักมาทำอาหารเมนูต่างๆต่อไปอีก นอกจากจะทำให้ระบบการผลิตแบบเกษตรกรสามารถอยู่ได้หลายอย่างแล้ว ก็กระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการกินและสร้างเศรษฐกิจชุมชนในสิ่งที่ตนเองผลิตได้ ชุมชนและครัวเรื่อนจะเข้มแข้ง พึ่งตนเองได้ และเกิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อตั้งหลักพัฒนาตนเองออกจากฐานที่เข้มแข็งกว่าเดิมได้ดีขึ้นได้
    • คงต้องหาโอกาสไปเขียนต่อในบล๊อกของคุณเสวกแล้วละครับ จะได้เป็นกำลังใจแก่กลุ่มพริกเกลือด้วยครับ

    นา : แหล่งรวมความหลากหลายความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ

    ช่วงที่ผู้เขียนทำนาอยู่  เมื่อสามสิบปีทีแล้วนั้น สภาพท้องทุ่งนามีความสมบูรณ์ตามธรรมชาติอย่างครบถ้วน เพราะอะไร  เพราะในทุ่งนานั่นเองมีทั้งสัตว์และพืชผักอยู่เต็มไปหมด สัตว์มีกุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด หนู นก กระรอก กระแต พังพอน ฯลฯ พืชผักที่มีอยู่ตามธรรมชาติก็มากด้วย เช่น หน่อไม้ กุ่ม สะเดา ผักหวาน มะยม ผักอีซึก แค มะขาม  มะรื่น มะม่วงป่า มะค่าแต้ บุก ตำลึง ผักบุ้ง ฯลฯ ผลไม้บางชนิด พุทรา ตะโกนา ยอ ไข่เน่า มะดูก ขี้อ้าย ฯลฯ แม้แต่หญ้าที่งอกงามก็ไม่ต้องกำจัด หรือทำลายด้วยวิธีที่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แต่หญ้านั้นเองกลับมีประโยชน์แก่วัว-ควายเสียอีก

    จะเห็นได้ว่าในทุ่งนามีของกินอยู่มาก เป็นแหล่งเรียนรู้ ทำมาหากินได้เกือบจะทั้งปี  ดังนั้นท้องนาจึงไม่เงียบเหงา ว่างเปล่า เวิ้งว้าง ไร้ชีวิตชีวา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว บนหัวเปลือก ที่โนนที่สูงก็มีพืชผัก น้ำในท้องนาก็ดื่มกินได้อย่างปลอดภัย ความอุดมสมบูรณ์ของท้องนานั้นดูๆไปก็จะคล้าย ๆ ตลาดเลย มีของกินที่ปลอดภัยให้พ่อแม่นำกลับมาบ้าน มีปลาบ้าง ผักบ้าง และวันไหนพ่อแม่มีผลไม้จากท้องนามาฝากลูกๆหลานๆ วันนั้นก็จะทำให้เด็กๆ ได้กินของอร่อย เหมือนได้กินของจากห้างสรรพสินค้าก็ไม่ปาน

    ชาวนาทุกคนจึงต้องเป็นผู้ทำกินเป็น คือถ้าผู้ชายไปนาคนเดียวก็ต้องสามารถปรุงอาหารเป็น พึ่งตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งอาหารถุง อาหารสำเร็จรูป บางครั้งการไปนาก็จะนำข้าวสุกไปอย่างเดียว ส่วนอาหารไปหาเอาที่นาแล้วทำกินเอง  แกง หมก ปิ้ง ฯลฯ

    กาลต่อมาท้องนาไม่มีสภาพดังกล่าวแล้ว กลายเป็นทุ่งนาที่เงียบเหงา  อาหารตามธรรมชาติหมดไป สัตว์น้ำก็หายไป น้ำก็กินไม่ได้ ไปนาก็ต้องซื้อกับข้าวจากตลาด นา ที่เคยมีของกินได้มากมาย ก็เหลือข้าวเพียงอย่างเดียว  ด้วยประการฉะนี้ แหละโยม เอวัง

    นมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์และพี่ๆน้องๆทุกๆท่าน

    ช่วงนี้ขับรถออกตจว. ได้เห็นทุ่งนาเขียวๆสุดลูกหูลูกตาแล้วชื่นใจจริงๆ

    ตอนมาเรียนหนังสือที่เมืองกรุง บอกกับเพื่อนว่า ที่บ้านเราก็มีห้างด้วย ถึงไม่ได้ติดแอร์แต่ก็เย็นสบายยามลมพัดเอื่อยๆ

    เวลาเห็นห้างตามนาแล้วอยากจะจอดรถลงไปนอนเล่นสักงีบ

    ขอตัวก่อนนะครับ ไม่ค่อยมีเวลามาเขียนอะไรให้อ่านกัน แต่ก็แอบอ่านอยู่เรื่อยๆ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณฉิก

    ขอบคุณที่เข้ามารายงานความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ เวทีคนหนองบัวของเรานี้ก็ตามสะดวกของแต่ละท่านอยู่แล้ว มีเวลาว่างช่วงไหน ที่พอจะเขียนแบ่งปันความรู้กันได้บ้างก็ค่อยเขียนตอนนั้นก็แล้วกัน

    นาสมัยใหม่ ยุคนี้เคยได้ยินมาว่า คนเฒ่า คนแก่ไม่อยากไปนากันแล้ว เพราะสภาพท้องทุ่งนาได้เปลี่ยนสภาพไปอย่างไม่เหลือเค้าเดิมอีกเลย คือในทุ่งนามีสภาพคล้ายโรงงานผลิตสารเคมีเข้าไปทุกที คนแก่ คนเฒ่าไม่เคยชินกับกลิ่นยาฆ่าแมลง บางครั้งกลิ่นยาเหล่านั้นเล่นเอาท่านชาวนารุ่นเก่าของเราจะเป็นลมล้มพับในนาตัวเองซะให้ได้

    ชาวนารุ่นใหม่หลายคนสุขภาพร่างกายอ่อนแอ เป็นโรคภัยไข้เจ็บกันมาก ใช้สารเคมีทุกปีจนสะสมไว้ในร่างกายทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบภายในอันเนื่องมาจากสารพิษต่างๆสภาพอย่างนี้ทำให้คนเก่าๆเข็ดหลาบไม่อยากไปนา ไปเนอแล้วหละ

    สุขภาพเตี๋ยเป็นอย่างไรบ้าง คงหายป่วยแล้วนะ ขอให้หายโรคหายภัยมีสุขภาพแข็งแรง

    กราบนมัสการหลวงอามหาแล และกราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ ครับ

    ผมเองถ้าไม่มีแรงบันดาลใจจากท่านอาจารย์วิรัตน์ และหลวงอามะหาแลแล้วก็คงไปไม่เป็นเช่นกัน ครั้งหนึ่งผมอยากรู้ว่า ไอ้คำว่า กะแหล่งง่ามปู จะมีใครรู้แล้วพูดเหมือนคนหนองบัว แต่แล้วก็ไม่มี แต่ไม่เป็นไร ลองพิมหาใหม่ ว่า โมบายก้ามปู แล้วก้อเจอ ว่าได้ยินเสียงโมบายก้ามปูดัง แล้วมีหนองบัวต่อ.......... เท่านั้นแหละครับผมเองก็เข้าไปเพลิดเพลนจนถึงทุกวันนี้ ต้องขอขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงเลยครับ

    แม่ฉัน เลี้ยงฉันบนห้าง

    ห้างฉันอยู่กลางนา กลางทุ่ง กลางโลกกว้าง อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ สายลม แสงแดด สายฝน อากาศบริสุทธิ์ ห้างนามักปลูกสร้างในบริเวณที่เป็นจุดตรงกลางพื้นที่นา ที่ต้องปลูกตรงกลางก็เพื่อให้ระยะการเดินไปห้างจากหัวนา ปลายนามีระยะทางเท่าๆ กัน

    ห้างนา
    เป็นที่พักชั่วคราวระหว่างไปนา ขนาดของห้างขึ้นอยู่กับจำนวนปริมาณคนในครอบครัว ถ้าครอบครัวใหญ่มีหลายคนทั้งลูกเขยยังไม่แยกครัว ก็จะปลูกห้างใหญ่หน่อย ครอบครัวเล็กๆ พ่อแม่ลูกสามสี่คนก็เป็นห้างเล็ก

    ประโยชน์ใช้สอยของห้างหลักๆ เลยก็คือเป็นเหมือนตะครัวของบ้าน เป็นร้านอาหารย่อมๆ ของครอบครัวประมาณนั้นก็ได้ เป็นที่หลับนอนเอาแรงสักงีบ เมื่อต้องทำงานอย่างหนักในท้องนา

    หน้าน้ำนองเมื่อไปหาปลา ปักเบ็ด ดักข่าย ดักรอบ ดักไซ ดักโต่ง ห้างนานี่แหละเป็นที่นอนค้างคืนอันแสนสบายอบอุ่นจริงๆ

    ในท้องนามีสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติล้วนๆให้ดูชมมากมาย ทั้งพืชผักและสัตว์ ไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นมาเทียมๆ ไร้ชีวิตชีวา

    สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะพึ่งพาอาศัยซึ่งและกัน เคารพความมีอยู่ อยู่อย่างไม่คิดทำลาย หรืออยากจะกอบโดยเอามาเป็นของตัวแต่เพียงผู้เดียว

    ทุกคนร่วมกันใช้ร่วมกันรักษาปกป้องดูแล ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เป็นพิษ เน่าเสีย หรือปล่อยปละละเลยทอดทิ้งอย่างไม่รู้คุณค่า

    ครอบครัวเล็กๆที่มีลูกคนแรกคนที่สองมักจะไม่มีคนเลี้ยงเด็ก พ่อแม่ต้องทำงานทำนา เลยต้องนำลูกน้อยไปนาด้วย เพราะถ้าแม่หยุดเลี้ยงลูกน้อยอยู่บ้าน งานนาก็จะขาดแรงงานไปหนึ่งแรง ฉะนั้นเพื่อให้การทำนาให้แล้วเสร็จเร็ว จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงงานคนในครอบครัวทั้งหมดช่วยกัน แม้ครอบครัวนั้นจะมีลูกอ่อนก็ตาม

    แม่ไม่มีโอกาสลาคลอด ลาหยุดงานนาเลย เท่าที่เห็นแม่เลี้ยงลูกมาสามสี่คน ทุกคนเติบโตในท้องนา นอนอู่บนห้างนาบ้าง บางครั้งก็ได้นอนอู่ใต้ต้นไม้ก็มี นอนอู่ใต้ถุนเกวียน-ท้ายเกวียนก็มี เด็กบ้านทุ่งเนี่ยสุขภาพร่างกายแข็งแรงไม่ค่อยเป็นโรคไข้เจ็บอะไรมากนัก ไม่อ่อนแอ การเลี้ยงดูเป็นไปตามธรรมชาติให้ต่อสู้กับสิ่งรอบตัวด้วยความเป็นจริง ไม่ค่อยได้พะเน้าพะนออะไรมาก อะไรที่เป็นไปตามธรรมชาติมักเข้มแข็งเอาตัวรอดได้ ตรงข้ามกับการเป็นอยู่ที่หลีกเลี่ยงธรรมชาติอาศัยสิ่งที่ปรุงแต่งมากๆ มักอ่อนแอ

    ฉันนอนอู่ที่ผูกไว้บนห้าง ฉันยังเห็นนกเอี้ยงมาเลี้ยงควายของแม่อยู่ทุกวัน ข้างๆห้างก็เป็นอันนามีน้ำขัง ฉันอยากเห็นปลา ฉันก็จะนำข้าวสุกซักหยิบมือน้อยๆ มาโปรยลงน้ำ สักครู่ก็จะมีปลาว่ายมากิน บางทีก็มีปู มีกุ้ง

    ห้างของฉันไม่ได้ติดแอร์ ไม่มีห้องใต้ดิน ไม่มีลานจอดรถ มีแต่เกวียนของแม่จอดอยู่ แต่ฉันก็รู้สึกว่าห้างนาของแม่ฉันนี้เย็นสบายมากๆ สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้รอบทิศทาง มองเห็นได้ระยะไกลๆ และในท้องทุ่งนาอันกว้างใหญ่ที่มองเห็นจนสุดลูกหูลูกตานั้น จะมีห้างนาอยู่เรียงรายตามท้องทุ่งทั้งใกล้ไกล

    แม้ห้างของฉันจะหลังเล็กๆแคบๆ แต่ก็เป็นห้างของเรา แม่ฉันทำขึ้นมาใช้เอง ชำรุดผุพังเสียหายก็ซ่อมแซมเองได้ ทรัพย์สินที่มีอยู่ในห้างทั้งหมดก็เป็นของเรา เราเป็นเจ้าของ 

    แม่ฉันทำงานหนัก ทำนาที่ต้องใช้แรงงานอย่างผู้ชายได้ทุกอย่างเหมือนอย่างพ่อ เป็นแม่บ้านต้องตื่นแต่เช้ามืด ตื่นก่อนคนในบ้าน ลุกมาหุงข้าว ทำอาหาร อาหารที่แม่ทำตอนเช้ามืดนั้น ต้องแบ่งเป็นหลายส่วนด้วยกัน สำหรับให้พ่อเฒ่า แม่เฒ่าได้ใส่บาตรตอนเช้า ใสปิ่นโตให้ลูกๆนำไปกินที่โรงเรียน ให้พ่อนำไปกินที่นา ทำให้ผู้อื่นได้กินก่อนแล้วตนเองจึงจะได้กิน

    ตอนเย็นกลับจากนาแม่ก็ต้องเข้าครัวอีก กว่าจะเสร็จภาระงานครัว งานบ้าน ก็ตกดึก แม่จึงนอนทีหลัง ตลอดชีวิตของแม่ฉันนั้น แม่มีห้างหลายห้าง(นาแต่ละแปลงก็จะมีห้างนาอยู่หนึ่งหลัง-สองแปลงก็สองหลัง)

    แม่ฉันไม่เคยเข้าห้าง ไม่เคยเดินห้าง ไม่รู้จักห้าง
    แต่แม่ของฉันก็มีห้าง และเป็นเจ้าของห้างอีกด้วย.

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย
    สวัสดีครับฉิก สวัสดีครับคุณเสวก
    คึกคัก รื่นรมย์เหมือนอยู่กลางทุ่งเลยนะเนี่ย

    • เรื่องกะแหล่งก้ามปูหรือโมบายก้ามปูนี่ต้องขอเอาไปทำอีกหัวข้อหนึ่งละครับ เป็นงานศิลปะพื้นบ้านและเสียงดนตรีจากธรรมชาติ ที่ให้จิตวิญญาณของชุมชนชาวบ้านมากเลยละครับ
    • เรื่องโพน จอมปลวก และห้างนาของพระคุณเจ้าก็เช่นกันครับ สนุกครับ-สนุก
    • ฉิกมีกำลังใจนะครับ พวกเราชาวเวทีคนหนองบัวและเวทีของกลุ่มพริกกับเกลือห่วงไยและเป็นกำลังใจกันเสมอนะครับ

     พ่อแม่ : พระดี พระแท้แท้ประจำบ้านของทุกคน

    พระพุทธองค์ตรัสว่า “พ่อแม่เป็นพรหม เป็นเทวดาองค์แรก เป็นอาจารย์คนแรก เป็นผู้ควรบูชาของบุตร”
    หลายคนต้องการและแสวงหาพระดี พระแท้ ที่อยู่นอกบ้าน เลยต้องใช้เวลาและทรัพย์ไปเป็นจำนวนมากเพื่อจะให้ได้พระแท้ที่ตนต้องการมากราบไหว้บูชา
    แสวงหาพระนอกบ้านก็หาไป แต่อย่าลืมแสวงหาพระประจำบ้าน พระประจำครอบครัวก็แล้วกัน
    พระในบ้าน มีอยู่รุ่นเดียวและเป็นพระแท้อีกด้วย
    พระนอกบ้านมีทั้งแท้และเก๊
    แต่พระในบ้านนั้น เป็นพระแท้อย่างเดียว
    บูชากราบไหว้พระแท้สององค์ที่บ้าน เป็นอุดมมงคลแก่ชีวิตตลอดไป.

     

    สปาบ้านทุ่ง : สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ลูกผ่านกิจกรรมการเหยียบหลัง

    • สปาบ้านทุ่ง ในความหมายง่ายๆของคนบ้านทุ่งก็คือของใช้ เครื่องใช้ และของเล่นของคนรุ่นเก่า
    • การเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ หลายเรื่องเป็นการทำความเข้าใจปู่ ย่า ตา ยาย ของเรา ที่ท่านได้ถ่ายทอดผ่านข้าวของเครื่องใช้ที่มีอยู่ตามบ้าน บางอย่างก็ยังมีอยู่ หลายอย่างก็สูญหายไปหมดแล้ว เพราะไม่มีผู้เก็บรวมรวมไว้
    • วิธีรักษาผิว ประเทืองผิว ของหนุ่มสาวบ้านนาก็นี่เลยใช้ขมิ้นชันบ้าง มะกรูดบ้าง มะขามบ้าง ทั้งขัด ทั้งพอก แค่นี้ก็ทำให้ผิวเนียนได้แล้ว
    • น้ำประปาไม่ต้องพูดถึงหรอก เพราะไม่รู้จัก ไม่มีให้ใช้เลย แต่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ น้ำคลอง น้ำหนอง และที่ขุดสร้างขึ้นใช้เอง  สระบ้าง บ่อบ้าง  น้ำแร่ น้ำนมไม่เคยได้ยินชื่อ ได้แช่น้ำคลอง น้ำหนอง ก็แสนสุขใจนักหนา
    • เด็กๆ ปวดเมื่อยก็มีวิธีรักษาสุขภาวะตนเองอย่างง่าย ๆ เดินข่าหยั่ง เดินกะลา เป็นการนวดฝ่าเท้าไปในตัว เมื่อยคอยมีหมอนกะลามะพร้าว  นี่ถือเป็นหมอนสุขภาพอย่างหนึ่ง 
    • พ่อแม่ ต้องทำงานหนัก ไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว อยู่กลางแสงแดด สายฝนตลอดทั้งวัน เมื่อเลิกงานแล้วก็ถึงกับนอนแผ่ หมดเรี่ยว หมดแรงเลยทีเดียว วิธีทำให้ร่างกายหายปวดเมื่อย กลับมามีเรี่ยวแรงดังเดิม ก็ใช้สปาบ้านทุ่ง นั่นก็คือการนวดนั่นเอง ผู้ใช้แรงงานทุกคนหมดทั้งบ้านต่างก็หมดแรงไปตาม ๆ กันแล้ว จะเหลือก็แต่สปาตัวน้อยๆในบ้านนี่แหละ ลูกสปาน้อยบ้านทุ่งนี้พึ่งได้อย่างดีมากๆ ทำให้พ่อแม่ไม่ต้องไปใช้บริการอาบน้ำแร่ แช่น้ำนม ที่เขาเปิดบริการในเมือง
    • สปาบ้านทุ่งนี้ประหยัดรายจ่าย ประหยัดเวลา สร้างความรักความกลมเกลียวในครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นมั่นคง
    • การเหยียบหลังพ่อแม่ เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นกับทุกครอบครัว เด็กๆจะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ แต่ก็จะหลีกเลี่ยงได้ยาก บางครั้งพ่อแม่ให้เหยียบนานมาก เราเหยียบไปจนท่านผ่อนคลายหายเมื่อยถึงกับหลับก็มีอยู่บ่อยๆ เหยียบไปนานๆ เด็กก็จะมีอาการเบื่อ ที่รู้สึกเบื่อไม่ใช่เหนื่อยหรือไม่อยากเหยียบให้ท่านหรอก แต่มันอยากไปวิ่งเล่นกับเพื่อนต่างหาก ใจมันไม่อยู่กับการเหยียบแล้ว
    • เด็กๆ หลายคนเหยียบหลังให้พ่อแม่จนชำนาญ คือสามารถเหยียบได้โดยไม่ต้องใช้มือจับเสา หรือฝาบ้าน เรียกว่าเหยียบจนสามารถทรงตัวยืนได้ และก็เดินต่ายหลังตั้งแต่ปลายเท้า ถึงต้นคอ แต่กว่าจะมีทักษะได้ขนาดนี้ ต้องผ่านการเรียนรู้จากภาคปฏิบัติมาหลายคาบไม่น้อยเหมือนกัน
    • ฝึกครั้งแรกๆ ต้องอาศัยจับเสา หรือไม้ช่วยพยุงการทรงตัวไม่ให้ตก ถ้าเด็กน้ำหนักตัวไม่มาก เหยียบเต็มๆฝ่าเท้าคนถูกเหยียบเหมือนจะไม่ผ่อนคลายเลย พ่อแม่ก็จะชี้จุดให้เหยียบโดยให้ปักส้นเท้าลงแล้วกดให้น้ำหนักมารวมที่เดียว วิธีนี้จะได้ผลดี หลังจากเหยียบหลังแล้วก็เหยียบหน้าท้องต่อ ดัดหลัง บีบแขน บีบขา  ขณะเหยียบหลัง บางทีอาจมีนิทาน เรื่องเล่า จากผู้ใหญ่ให้ฟังด้วย ผู้ใหญ่ได้ความสบายเนื้อสบายตัว เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อขา ตลอดถึงมีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ช่วยผู้ใหญ่ในบ้าน
    • นี่แหละคือสปาบ้านทุ่งหนองบัวของเรา

    เจ้าทุย : เพื่อนแท้เพื่อนร่วมวิชาชีพของฉันที่มีบทบาทต่อสังมคไทยอันยาวนาน

    ฉันได้อ่านข่าวทางโลกไซเบอร์ว่า เพื่อน ๆ ไถนาไม่เป็นกันแล้วนะ อ่านข่าวแล้วมีความรู้สึกสองประการ (๑) เพื่อนสบายแล้วที่ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ไม่ต้องลากไถ ลากเกวียน นวดข้าว ลากคราด ลากครุบ ลากเลื่อน ย่ำลานอีกต่อไป ส่วนฉันเองนั้นก็หยุดทำนามานานมากแล้ว จะเรียกว่าปลดเกษียณหรือเออรี่ประมาณนั้นก็ได้ (๒) เมื่อไถนาไม่เป็นแล้วก็ไม่ทราบว่าจะมีชีวิตอยู่ดีมีสุขประการใดบ้าง อีกความรู้สึกหนึ่งที่ฉันเห็นแล้วทำใจลำบากจริง ๆ คือฉันเห็นเขานำเจ้าทุยใส่รถวิ่งไปตามท้องถนนทีละหลาย ๆ ตัว ใจฉันนั้นนึกว่าเจ้าทุยลำบากมากว่าตอนไถนาเป็นไหน ๆ ถ้าเขานำไปเทียมเกวียน ไถนา งานเบากว่านี้เยอะ แต่นี่เขานำเจ้ามาขึ้นรถเดินทางไกล เมื่อฉันเห็นฉันก็นึกภาวนาว่าขอให้เขานำเจ้าทุยกลับไปไถนาเถอะนะ ฉันขอร้องในใจ ฉันไม่อยากนึกถึงภาพต่อจากนั้นเลย

    ถึงอย่างไรเสีย  การไถนาเป็น การลากเกวียนเป็นนั้น เป็นการทำงาน สร้างาน ทำประโยชน์สร้างคุณค่าให้แก่ส่วนรวมทั้งชาวนาและสังคมอย่างใหญ่หลวงนัก เจ้าทุยไทยนั้นเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งโลกก็ว่าได้ เพราะประเทศนี้เคยเป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตรส่งออกไปขายยังทั่วโลก โดยในยุคนั้นได้อาศัยแรงงานจากเจ้าทุยนี่แหละเป็นหลัก คิดแล้วทุกคนก็ภูมิใจในผลงานอันสำคัญนี้ คนไทยจะลืมบทบาทอันสำคัญนี้ไม่ได้ บทบาทอันยิ่งใหญ่นี้ใครจะกล้าปฏิเสธ

    เท่าที่ฉันจำได้ฉันเติบโตมาในท้องทุ่งนา นอกจากเพื่อนบ้านญาติพี่น้องผู้ร่วมอาชีพเดียวกันแล้ว ก็ยังมีเพื่อนดีเพื่อนที่มีบุญคุณคือเจ้าทุยนี่เลย  โดยเฉพาะวิถีชีวิตฉันในช่วงที่ทำนาอยู่นั้น มีแต่เจ้าทุยอย่างเดียวที่เป็นเพื่อนร่วมงาน ร่วมกันสร้างชีวิตฉันและครอบครัว

    สวรรค์ชาวนาคือบรรยากาศที่เขาสร้างขึ้นเป็นหนัง ละคร นิยาย บทเพลงต่างๆมากมาย จะเห็นได้ว่าเรื่องราวในท้องทุ่งนาที่มีเจ้าทุยปรากฏตัว มักจะเต็มไปด้วยความสนุกสนานผู้ฟังผู้เสพเมื่อได้เห็นหรือฟังก็เคลิบเคลิ้มตามไปด้วย

    การอยู่ร่วมกัน ฉันเองนั้นควรจะเป็นผู้ใช้เหตุผลให้ได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ก็มีบางครั้งที่ขาดเหตุผล ใช้อารมณ์กับเพื่อนซึ่งย่อมเกิดขึ้นได้แต่ก็ยืนยันได้ว่าไม่บ่อย

    ชาวนานั้นเกี่ยวข้องกับเจ้าทุยตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจรชดค่ำ  หน้าทำนาต้องตื่นแต่เช้า ก่อนแจ้ง พวกเราชาวนา ก็พากันแบกไถ จูงเจ้าทุย ออกสู่ท้องนา การได้ขี่หลังเจ้าทุยเป็นความอบอุ่นและผูกพันระหว่างกันอย่างแน่นแฟ้น คนที่รักเจ้าทุยมากๆถึงขนาดกล่าวกับคนรักว่าทิ้งฉันได้แต่อย่าทิ้งเจ้าทุย อย่างที่เพลงคนดังลืมหลังควายของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่ว่า...นึกไว้ทุกนาทีถ้าเข้าไปได้ดีแล้วคงไม่มาขี่ควาย เขานั้นคงแหนงหน่าย เบื่อนั่งหลังควายเบื่อเคียวเกี่ยวหญ้า...  

    บางคนก็บอกว่าเหม็นกลิ่นโคลนสาบควาย  แต่สำหรับฉันแล้วละก็ ต้องบอกว่าฉันรักกลิ่นโคลนสาบควาย ดังรุ่งเพชร แหลมสิงห์ ร้องเพลงไอดินกลิ่นสาว ....กลิ่นโคลนสาบควายมันติดหัวใจพี่นัก ทั้งกลิ่นฟางข้าวสาวรัก เมื่อคิดแล้วอยากหวนคืนยังถิ่น...

    ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสัตว์ต่างสายพันธ์คือคนกับเจ้าทุย สิ่งนี้ฉันลืมไม่ได้และไม่มีวันลืมโดยเด็ดขาด

     

     

    เจ้าทุย : สินสอดอันทรงคุณค่าและสร้างความภูมิใจแก่เจ้าบ่าวชาวบ้านหนองบัว

    สังคมไทยเป็นเกษตรกรรมมาแต่โบราณ การทำนาถือเป็นอาชีพหลัก ทำไร่ ทำสวน ก็รองๆลงมา ระบบการผลิตแบบดั้งเดิมของพี่น้องชาวนาของเรานั้น ต้องอาศัยแรงงานจากสัตว์ใหญ่ไม่ว่าช้าง ม้า วัว ควาย

    นับว่าสัตว์ดังกล่าวได้มีบทบาทต่อการประกอบอาชีพเกษตรอย่างสูง พูดง่ายๆว่าในอดีตนั้นการเกษตรขาดแรงงานจากสัตว์ไม่ได้เลย คนไทยจึงมีความผูกพันกับสัตว์ โดยเฉพาะวัว-ควายอย่างมาก ถึงกับยกให้เจ้าทุยเป็นสัตว์มีบุญคุณ

    นาห้าไร่ สิบไร่ ยี่สิบไร่หรือมากกว่านั้น ดูเหมือนไม่มากมายอะไรนัก แต่เมื่อทำจริงๆแล้วจะรู้ว่าโหดเลยแหละ เจ้าทุยของเราไถนากว่าจะได้แต่ละไร่ เหนื่อยมาก หอบลิ้นห้อยทีเดียว คนก็หอบไม่แพ้กัน เหนื่อยหอบตับแลบ

    ด้วยความสำคัญดังกล่าว เจ้าทุยไม่ใช่สัตว์เลี้ยง สัตว์เศรษฐกิจ ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงโชว์ ไม่ใช่สัตว์สวยงาม ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงประดับบารมีเกียรติยศ ไม่ใช่สัตว์ที่เลี้ยงไว้ในสวนสัตว์  แต่สัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นสมาชิกในบ้านที่มีความสำคัญมากกว่าความเป็นสัตว์ ทำนองว่า ขาดฉัน(เจ้าทุย)แล้วเธอจะรู้สึก(อดข้าวแน่)

    สินสอดงานแต่งงานของคนหนองบัว-หนองกลับ นอกจากเรือนหอหลังใหม่ เงิน ทอง ที่เป็นสินสอดแล้ว ก็ยังจะมีเจ้าทุยและวัวด้วย วัวก็หนึ่งคู่ ใช้เทียมเกวียนเล่มใหม่เอี่ยม ถ้าเป็นรถยนต์ก็ออกใหม่ชนิดไม่ต้องดาวน์ เป็นเกวียนมือหนึ่งอย่างเดียวเท่านั้น เจ้าทุยที่เป็นสินสอดงานแต่งงานนี้ก็ขึ้นอยู่กับฐานะเจ้าบ่าว ถ้าเจ้าบ่าวมีพี่น้องหลายคน น้องๆยังมีความจำเป็นต้องใช้เจ้าทุยไถนาอีกหลายปี กรณีนี้การนำเจ้าทุยไปเพียงตัวเดียวก็พอ  เพราะกว่าจะได้บ้านเรือนหอแต่งงาน เกวียน วัวหนึ่งคู่ เจ้าทุย ๑-๒  ตัวนั้น ไม่ใช่จะหาได้ง่ายๆเพียงสองปี พ่อแม่ต้องตระเตรียมสิ่งเหล่านี้ให้ลูกแต่ละคนด้วยเวลาหลายปีทีเดียว ลูกชายแต่ละคนกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ต้องผ่านงานสักสองสามงาน งานหมั้น(งานดอง) งานบวช  คัดเลือกทหาร

    ส่วนบ้านหรือเรือนหอนั้น ส่วนใหญ่ก็ทำขึ้นใหม่ ถ้าในกรณีลูกสาวคนเล็ก ส่วนมากพ่อแม่จะยกบ้านของท่านให้เป็นเรือนหอ  ไม่ต้องทำเรือนหอก็เรียกว่าแต่งบ้านเก่า  ภาษาท้องถิ่นจะมีคำพูดว่าแต่งบ้านใหม่ แต่งบ้านเก่า –แต่งเรือนใหม่ แต่งเรือนเก่า

    เจ้าทุยและวัวบ้านหนองบัว-หนองกลับ จะถูกแยกออกจากบ้านเดิมไปอยู่เรือนหลังใหม่กับเจ้าบ่าวในวันนี้ทั้งเจ้าทุยและวัวจะดูดีกว่าทุกวัน  จะมีคนคอยดูแลทำความสะอาด เช็ดถูเนื้อตัวให้ดูดี เขาก็ทาน้ำมันเลื่อมเป็นเงาดำเมื่อม

    ทั้งวัวและเจ้าทุยที่นำมาเป็นสินสอดวันแต่งงานนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นสมบัติของเจ้าบ่าวมาก่อนหน้านี้แล้วสองสามปี  คือถูกเลือกใช้หรือพ่อแม่เตรียมยกให้ลูกชายตั้งแต่ยังไม่บวชโน่นแล้ว และเจ้าบ่าวนั้นก็เคยนำไปช่วยงานคู่ดองไถนาบ้าง เข็นข้าวฟ่อนบ้าง นวดข้าวบ้าง ตั้งแต่ดองกัน ก่อนบวช และต่อมาจนกระทั่งถึงวันแต่ง

    นี่ก็คือบทบาทของเจ้าทุยหนองบัวที่พิเศษกว่าในท้องถิ่นอื่น ๆ

    วัว-ควายคู่ห่อ : ผู้ร่วมสร้างพื้นฐานสำหรับการเริ่มต้นชีวิตคู่ของชาวบ้านหนองบัว

    คำว่า วัว-ควายคู่ห่อนี้ สำหรับคนนอกพื้นที่ชุมชนอำเภอหนองบัว เห็นแล้วคงจะคาดเดาและตีความไปต่าง ๆ นาน ๆ ตามความเข้าใจของตน หรืออาจจะนึกว่ามันคืออะไร ถ้าอย่างนั้นเรามาทำความเข้าใจกันถึงศัพท์นี้ก่อนดีกว่า คู่ห่อ คืออะไร คู่ห่อ ก็คือ คู่หอ นั่นเอง  คงมีบางท่านสงสัยต่อไปอีกว่าเอ  ...แล้วคู่หอนี่คืออะหยังหนอ   เฉลยดีกว่าเดี่ยวยิ่งอ่านจะยิ่งงงไปกันใหญ่

    คำๆนี้คนหนองบัว-หนองกลับ นำมาพูดย่อๆ โดยละไว้ในฐานที่(ไม่)เข้าใจ คนเก่าๆเวลาพูดถึงคำว่าหอ มักจะออกเสียงว่าห่อ  ฉะนั้นคู่ห่อในที่นี้ก็คือคู่เรือนหอ  คนหนองบัว-หนองกลับเมื่อลูกจะแต่งงานมีครอบครัว นิยมสร้างเรือนหอให้ลูก กิจกรรมนี้เป็นงานใหญ่ที่พ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายต้องทำต้องจัดให้ลูกตน จนเป็นประเพณีของชุมชนอย่างหนึ่งทีเดียว

    ภารกิจนี้คนหนองบัวไม่ปล่อยให้ลูกของตนแต่งงานแล้วค่อยทำบ้าน ซึ่งต่างจากชุมชนอื่นๆ ที่สร้างบ้านหลังแต่งงาน ถ้าผู้อ่านที่ไม่เคยไปหนองบัว และไม่เคยเห็นเรือนหอ คงจะนึกว่าแค่เรือนหอหลังเล็กๆ อยู่กันสองคน น่าจะทำหลังแต่งงานก็ได้อะไรประมาณนั้น ถ้าบ้านหลังเล็กๆ จริงดังที่กล่าวมานั้นก็ทำไม่ยากหรอก  แต่นี่เป็นเรือนหอคนหนองบัว-หนองกลับ เป็นบ้านหลังใหญ่มาก ใหญ่จริงๆ ถ้าปล่อยลูกเราสองคนทำกันเองคงใช้เวลาหลายปีเป็นแน่

    คนจากชุมชนอื่นที่มาเป็นเขยหนองบัว ส่วนมากจะสู้ค่าสินสอดเป็นเงิน เป็นทอง มากกว่าที่จะสร้างบ้านขึ้นใหม่  นี่ถือเป็นตัวชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่าการสร้างบ้านหรือเรือนหอนั้นงานช้างเลยแหละ การทำบ้านต้องใช้แรงงานจากญาติพี่น้องทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันทำเป็นเดือน เป็นการขึ้นแรงกันบ้าง เอาแรงกันบ้าง

    บางครั้งทั้งสองฝ่ายขาดความพร้อมที่จะทำคราวเดียวให้เสร็จ เพราะเศรษฐกิจฝืดเคือง การเงินไม่คล่อง นาแล้ง น้ำท่วม ก็จะเลื่อนไปเป็นปีหน้าต่อไป โดยปีนี้แค่ยกบ้านไว้ก่อนก็มี รุ่งขึ้นอีกปีขายข้าวได้แล้วค่อยมาทำบ้านต่อให้เสร็จแล้วจึงแต่งงาน

    ปลูกเรือนหอแค่นั้นยังไม่พอ ต้องมีของอย่างอื่นประกอบด้วย อะไรบ้าง เกวียน ๑ เล่ม วัว ๑  คู่  ควาย  ๑  ตัว สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อการทำอยู่ ทำกิน สร้างฐานะสร้างตัวเริ่มต้นชีวิตคู่ ถ้าได้อย่างนี้  ถือว่าได้มาตรฐาน เกณฑ์ทั่วๆไปก็ประมาณนี้ จะเห็นได้ว่าการเริ่มต้นชีวิตคู่ของชาวบ้านหนองบัวค่อนข้างสมบูรณ์ทีเดียว มีเรือนหอหลังใหม่ และมีสิ่งที่คู่กับเรือนหออย่างพร้อมสรรพอีกด้วย มีเกวียน วัว ควาย ไถ ตู้ ชั้ว และเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ

    พอจะกล่าวได้ว่า นี่ก็คือสวรรค์บ้านนาของชาวบ้านทุ่งของเราได้กระมัง

     

    • เห็นพระคุณเจ้าเขียนบันทึกประสบการณ์และข้อมูลชุมชนในแง่มุมวิถีชีวิตชาวบ้านแล้วก็ให้รู้สึกอยากเก็บเอาไปวาดรูปรวบรวมไว้มากเลยนะครับ
    • แต่ตอนนี้ขออ่านไปก่อนครับ ขอเขียนงานสักพักหนึ่งครับ

    ย่อภาพวิถีบ้านทุ่ง : สีสันชีวิตจริงของชาวบ้านนามีความงดงามจริงใจโดยไม่ต้องโปรโมทหรือสร้างภาพ

    การดำเนินชีวิตของชาวบ้านนาป่าดงอย่างเรานั้น ไม่มีความกังวลเรื่องบุคลิกภาพ  หน้าตา เพราะวันๆ อยู่กับสายลม แสงแดด กลิ่นโคลนสาบควาย เหยียบย่ำลุยโคลนตมทั้งวัน เรื่องการดูแลสุขภาพแบบหนุ่ม-สาวบ้านนา สปาบ้านทุ่งก็พอใช้ได้แล้ว คุณน้าคุณป้าและผู้ใหญ่กินหมากปากแดง โดยไม่ต้องใช้ลิปติก ขี้ผึ้งสีปากก็พอ สุขภาพฟันดีไม่เคยไปคลีนิคหมอฟันเลย หนุ่มสาวบ้านนาใช้เครื่องสำอางบ้างนิดหน่อย กวนอิมทาหน้า หน้าหนาวก็ใช้โลชั่นทากันผิวแตก ไม่ต้องทาครีมกันแดด ดำนาเกี่ยวข้าวใช้ผ้าพันหน้าก็ป้องกันแดดได้  เพียงแค่นี้ก็ดูดี มีคลาส เน้นแนวธรรมชาติ เป็นวิถีธรรมชาติบำบัดประมาณนั้น

    สีสันในท้องนา เป็นวิถีที่มีชีวิตชีวา ไม่แห้งแล้ง ห่อเหี่ยว เพราะอะไร เพราะสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วย สิ่งที่มีเอง เกิดเอง ตามธรรมชาติอยู่มากมาย การดำเนินชีวิตก็เริ่มขึ้นตั้งแต่ตีสี่ตีห้าทุกวัน(ตื่นสายเหมือนชาวนาสมัยนี้ไม่ได้เป็นเด็ดขาด เพราะนาอยู่ไกลบ้าน ถ้าตื่นสายเหมือนขาดงานไปครึ่งวันเชียวนะ)

    การเดินทางไปนาก็ใช้เวลาพอสมควร ขึ้นอยู่กับระยะความใกล้ ไกล ไถนาอยู่ก็จะมีสมาชิกตัวน้อย ๆ มาร่วมทำมาหากินเดินตามหลังต้อย ๆ คือนกเอี้ยงดำ นกเอี้ยงแดง นกเอี้ยงโคลง ในรอยไถมีอาหารเพียบให้เลือกสรร แมลงต่างๆ กระโดดไปมา ไส้เดือน นอกจากนกแล้ว ก็จะมีบุคคลในครอบครัวโดยเฉพาะเด็กๆ จะชอบเดินตามพ่อแม่เวลาไถนา เดินตามรอยไถ เหยียบขี้ไถ เล่นน้ำ จับปลา ปู หอย สนุกสนาน ไม่แพ้การเล่นเกมตามร้านเกมที่ตลาดเลยแหละ

    นาที่มีน้ำมาก ขี้หญ้าจะขึ้นเยอะงอกงาม  ไถนาไปควายก็จะและเล็มหญ้าไปด้วยตลอด น้ำลึกหน่อยควายก็กินหญ้าได้ โดยกลั้นหายใจแล้วก็มุดน้ำไปกินหญ้า ทำนาแต่ละวันนั้นจะกำหนดกะละกี่คาบดีนะ ก็กำหนดง่าย ๆ เป็นวันละสองกะก็พอ  ไม่ต้องถึงขนาดทำโอ กะแรกก็ตั้งแต่ตะวันขึ้นหรือก่อนรุ่งก่อนแจ้ง ไปจนถึงประมาณเคารพธงชาติ ก็หยุดพักกินข้าวงาย(เช้า) กินบนห้าง ใต้ต้นไม้-แบกะดิน บนเกวียน ได้บรรยากาศดีกว่านั่งภัตตาคาร อาหารเช้านี้ใช้เวลาไม่มากสักยี่สิบนาทีก็พอ อิ่มข้าวแล้วก็ทำต่อ จนถึงน้องเพล ใกล้เพล ใกล้เที่ยง ทำไงดีนะ นาฬิกาก็ไม่มี  ก็ต้องคอยฟังหลวงพี่ที่วัดตีกลองเพล ถ้าหลวงพี่ลืมตีกลองก็ดูตะวันแทน อาหารมื้อเที่ยงมื้อกลางวันนี้  คนงานและควายก็จะได้พักเหนื่อยนานหน่อย นานพอๆ กับเด็กนักเรียนหยุดพักเที่ยงกินข้าวกลางวัน

    อาหารย่อยแล้วก็ได้เวลาทำนากะที่สองต่อไป กะบ่ายนี้ถ้าไถนา ก็จะไถได้ไม่มากนัก เพราะจะต้องเหลือเวลาให้เจ้าทุยเพื่อนของเรา ได้หยุดพักกินหญ้าบ้าง ไม่งั้นเดี่ยวหมดแรง ถึงตอนกลางคืนจะไม่มีหญ้าให้เคี้ยวเอื้อง เจ้าทุยนี่ก็แสนรู้ไม่เบา เมื่อตะวันบ่ายคล้อยใกล้ค่ำ ทุกตัวจะพากันเดินและเล็มหญ้าบ่ายหน้ากลับบ้าน(คอก)อย่างรู้เวลา

    เครื่องมือทำนา(ไถ คราด ครุบ จอบ เสียม)ไม่ต้องนำกลับบ้านทุกวัน ซ่อนไว้ใต้น้ำลึกบ้าง จมดินบ้าง ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่มีใครมาลักหรอก

    ชุดเครื่องแบบปฏิบัติการทำนายอดฮิต ยอดนิยม ทั้งหญิงและชายก็คือเสื้อผ้าเน้นสีคราม ชุดเลี้ยงควาย ชุดทำนาของผู้ชายจะเป็นกางเกงขาก๊วย(คนที่บ้านฉันเรียกกางเกงจีน) เสื้อก็เป็นผ้าดิบสีคราม ผู้หญิงใส่ผ้าถุง เสื้อก็เป็นผ้าดิบสีคราเหมือนกัน วิถีย่อ ๆ เช่นนี้ไม่จำเป็นต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือสร้างภาพให้ดูดีมีคลาสแต่ประการใด แต่ก็ดูดีมีคุณภาพแบบบ้านน้อกบ้านนอก

    วิถีบ้านทุ่งหนองบัวโดยย่อดังว่ามานี้ก็ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ -๒๕๒๓  หลังจากนี้ไม่นานก็จะไม่มีแรงงานเจ้าทุยอีกเลย

    สวัสดีครับท่านอาจารย์ วิรัตน์

    สองวันมานี้ได้ร่วมงานกับทีมวิถีประชา ของศาลายา ในการถอดบทเรียนของกรมมนามัย มีความสุขมากครับท่าน ที่ได้ร่วมงานกับทีมคุณจตุพร

    กราบนมัสการรพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ หัวข้อ แม่ฉัน เลี้ยงฉันบนห้าง ของพระคุณเจ้า ผมได้ดึงทำให้เป็นหัวข้อต่างหากเก็บสะสมไว้ พร้อมกับจัดภาพประกอบให้อีกด้วย คนสนใจและเข้ามาอ่านมากมายครับ พระคุณเจ้าอาจหาโอกาสแวะเข้าไปสนทนากับผู้ได้เลยครับ ที่นี่ครับ แม่ฉัน เลี้ยงฉันบนห้าง  : http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/385674 และอีกเรื่อง นา : แหล่งรวมความหลากหลายและความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/385666

    • สวัสดีครับลุงวอญ่ผู้เฒ่าครับ
    • ทำงานเหน็ดเหนื่อยแต่มีความสุขนี่ ต้องนับว่าเป็นผู้ให้ใจกับงานอย่างแท้จริงเลยนะครับ
    • คุณเอก ดิเรก ปุ๋ม เกียง....มาช่วยกันทำให้ใช่ไหมครับ
    • สปิตริตและความเป็นวิชาการแนวเชื่อมโยงกับภาคประชาชนสำหรับทีมนี้แล้วละก็ ต้องนับว่าเยี่ยมครับ

    หญ้าคา : วัชพืชศัตรูในนาข้าวและวิธีแก้ปัญหาของเกษตรกรแบบดั้งเดิมด้วยแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    • จริง ๆ แล้วหญ้าคาเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์มาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านสมุนไพร แต่ในที่นี้ฉันจะขอกล่าวถึงหญ้าคาในด้านที่เคยสัมผัสเกี่ยวข้องมาบ้าง ถึงจะไม่มากมายนักก็ตาม  
    • หญ้าคาจัดเป็นวัชพืชหรือศัตรูอย่างหนึ่งของชาวนา  หน้าฝนก็จะขึ้นเขียวระบัดแตกใบอ่อน ตอนยังเป็นใบอ่อนนี้วัวควายชอบกิน แต่เมื่อโตเต็มที่แล้วใบจะคมมาก วัวควายไม่อยากกิน เพราะถ้าไปและเล็มใบแก่ที่คมๆนั้น ก็จะเจอดีใบบาดปากเอาได้  หญ้าคาสูงกว่าต้นข้าวนิดหน่อย(ประมาณ ๒ เมตร) ใบของมันเวลาบาดจะแสบ ๆ คัน ๆ
    • ช่วงที่แตกหน่ออ่อน หน่อก็จะแหลมเปี้ยบ ถ้าไม่ใส่รองเท้าอย่าเดินผ่าเข้าไปในบริเวณกลุ่มที่หญ้าคาขึ้นอย่างหนาแน่นเป็นอันขาด หน่ออ่อนก็จริงแต่ทิ่มฝ่าเท้าแล้วละก็ถึงเลือดได้ ฤดูแล้งหญ้าคาก็จะเหี่ยวแห้งตาย  ตายจากความร้อน ไฟป่า(รากใต้ดินไม่ตาย) พอถึงฤดูฝนก็แตกหน่อขึ้นมาใหม่
    • ด้วยความทนทานตายยากนี่แหละ เมื่อถึงหน้าทำนา ทำให้ชาวนาหนักใจที่จะต้องเหน็ดเหนื่อยในการกำจัด ไถดะพลิกหน้าดินก็จะเป็นเหมือนขุดรากหญ้าคาขึ้นมาตากแดด แต่การกำจัดด้วยวิธีไถก็ยังไม่ค่อยได้ผลนัก เพราะการไถก็ไถได้ระดับความลึกไม่มาก ด้วยรากหญ้าคานั้นทั้งแน่นทั้งลึก ถ้าจะให้ดีต้องลงแรงขุดซ้ำอีกครั้ง ขุดชนิดถึงรากถึงโคน
    • มีจำนวนน้อยๆ ก็พอรับมือไหว ถ้ามากๆ สักครึ่งงานแค่นั้น ก็เล่นเอาเราท้อเลยเหมือนกัน ขุดหญ้าคาเหมือนใช้แรงสองเท่า คือขุดดินก็หนักอยู่แล้วนี่มีหญ้าคาที่รากแน่นมากๆเพิ่มขึ้นอีก เหนื่อยเลยงานนี้
    • ทั้งไถทั้งขุดรากขึ้นมาแค่นี้ จะถือว่าหมดภาระแล้วยังไม่ได้นะ  เพราะหญ้าคายังอยู่เช่นเดิม ยังไม่ตาย ต้องถึงเผาไฟโน่นแหละถึงจะวางใจได้ ก่อนจะที่เผาไฟ ก็ต้องนำรากมาตากแดดให้แห้งดีเสียก่อน
    • บริเวณไหนมีหญ้าคา ข้าวก็จะไม่งาม เพราะหญ้าคาจะข่ม-แย่งอาหาร จนข้าวไม่โตหรือต้นข้าวจะเหลือน้อย เหลือบางๆ
    • ที่กล่าวมาเหมือนหญ้าคาจะดูไร้ประโยชน์สิ้นดี  แต่อย่างไรก็ตามหญ้าคานั้น ก็ยังมีคุณค่าอยู่ไม่น้อยใช้มุงหลังคาบ้าน มุงเล้าไก่ เล้าเป็ด คอกหมู มุงหลังคากระท่อม มุงหลังคายุ้งข้าว มุงหลังคาห้างนา เมื่อก่อนนี้จะมีบ้านมุงแฝก บ้านหลังคามุงหญ้าด้วย
    • หลังฤดูเก็บเกี่ยว  ฉันกับพ่อก็จะไปหาเกี่ยวหญ้าคากันละ ตามท้องนาไม่มีก็ต้องไปหาตามชายป่า ริมทุ่ง ตามโนน ตามหัวปลวก ถ้าเป็นตามโนน ตามชายป่าก็ไม่ใช่มีเฉพาะหญ้าคาอย่างเดียว แต่จะมีหญ้าแฝกด้วย บางทีก็จะพูดกันว่าไปเกี่ยวแฝกเกี่ยวคา
    • เกี่ยวแฝกเกี่ยวคาก็เกี่ยวเหมือนกันกับเกี่ยวข้าว แต่เกี่ยวแฝกเกี่ยวคาต้องเกี่ยวทั้งต้นเลย เพื่อให้ได้ลำต้นยาวๆ แล้วมัดเป็นกำๆ โดยขนาดมือกำรอบ เมื่อได้ปริมาณเต็มตู้(เรือน)เกวียน (แค่นี้ก็พอเพราะที่บ้านจะใช้ไม่มากมีมุงห้างนาและคอกหมู ยุ้งถ่าน) บางปีก็ไม่ต้องลุหลังคาห้างนาคือไม่เปลี่ยนหลังคาใหม่ ก็เข็นกลับบ้าน ตากแดดให้แห้ง  แล้วพ่อแม่ฉันจะช่วยกันสางต้นที่หักและเศษหญ้าออกทีละกำมือ สางได้หลายๆกำมือ แล้วนำมารวมกันเป็นมัดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางสัก ๒๐ เซนติเมตร(ขนาดประมาณต้นกล้วย)เพื่อเตรียมกอง(ไพ-ถักทอ)เป็นตับแฝก ตับคาต่อไป
    • กิจกรรมกรรมกองแฝก-กองคา(คนบ้านฉันเรียกกองแฝก)จะเกิดขึ้นประมาณเดือนสี่เดือนห้า(มีนาคม-เมษายน) งานหน้าแล้งที่มีสีสันของชาวบ้านที่เห็นเด่นชัดสำหรับแม่บ้านและสาวๆก็คือการกองแฝกนี่เอง เพราะทุกบ้านก็มีความจำเป็นจะต้องใช้เหมือนกัน ไปบ้านไหนก็จะพบเห็นคนนั่งกองแฝกตามใต้ถุนบ้านบ้าง ใต้ร่มไม้บ้าง
    • วิธีการกองแฝก อุปกรณ์ คือไม้ไผ่ไม้ลวกผ่าซีกแบนๆ ยาว ๒ เมตร กว้างสัก ๑ นิ้ว(ขนาดเท่าหน้ากว้างไม้บรรทัด) ไม้ตอก,ปอกระเจา,ต้น-เครือย่านาง,ปอกล้วย,ปอแก้ว,เชือกฟาง,ใบจากกับหญ้าคา-หญ้าแฝก นำหญ้าคามาวางเรียงไว้ด้านหน้า ไม้ตับคาวางข้างตัวด้านซ้าย ปอจากธรรมชาติดังกล่าวก่อนจะนำมาใช้ ต้องแช่น้ำให้อ่อนตัว จะทำให้ปอนั้นเหนียว และไม่หักเวลานำมาผูกมัด
    • ผู้นำนาญการในเรื่องกองแฝก จะหยิบจับหญ้าคา-หญ้าแฝก มาพาดไม้ซีก(ไม้ตับ) พับ หัก ให้ก้านหญ้าอยู่ด้านเดียวกัน ส่วนใบจะอยู่ตรงข้าม ใช้ปอผูกมัดทีละเปลาะ จนสุดปลายไม้ แล้วก็เปลี่ยนไม้อันใหม่ต่อไป  คนที่ทำจนคล่องแคล่วแล้วนั้น ขณะทำก็เคี้ยวหมากไปพูดคุยกันไปด้วย ไม่มีผิดพลาด ไม่ผิดคิว เสียหาย ทำได้เร็วดูเพลินดี  แต่ผู้ฝึกใหม่ๆ ต้องค่อยๆทำไปอย่างช้าๆ
    • หญ้าคาที่สำเร็จรูปเป็นตับแล้ว ก็จะนำไปตากแดดให้ปอที่มัดนั้นแห้ง แล้วก็จะนำไปเก็บไว้ที่เพิงเก็บแฝกข้างยุ้งข้าว
    • เวลาเปลี่ยนหลังคาใหม่แต่ละครั้ง นอนกลางคืนจะหอมกลิ่นหญ้าคาโชยมาตามสายลม ปลายหญ้าคาจะถูกมัดเป็นจุก เพื่อรองน้ำฝน พอฝนตก น้ำฝนก็จะไหลจากหลังคาทั้งหมดมารวมที่ปลายจุก เพียงแต่เอาถังหรือโอ่งน้ำไปรองน้ำฝนมาไว้กินได้ตลอดปี ถ้าจะให้ดีแล้วละก็ ก่อนรองน้ำฝน ควรให้น้ำฝนชะล้างหลังคาสักสองสามครั้ง แล้วเราก็จะได้น้ำฝนบริโภคที่ปลอดภัย  
    • จากวัชพืชที่มองเห็นเป็นศัตรูร้ายไม่มีคุณค่า ก็กลับกลายมาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ใช้งานได้อย่างดี
    • จะเห็นได้ว่าการกำจัดวัชพืชด้วยแรงงานของคนและสัตว์(ไถ)นั้นเป็นวิธีทางธรรมชาติง่ายๆที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก พูดให้ทันสมัยเท่ ๆ หน่อยก็คือทำอยู่ ทำกินทุกอย่างล้วนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
    • โดยปรกติบ้านหลังคามุงแฝก จะเย็นกว่าบ้านมุงหลังคาสังกะสี
    • วันฝนตกก็จะได้ยินเสียงเม็ดฝนตกใส่หลังคาแฝก มีเสียงเบา ๆ ฟังเพลิน ๆ ไม่น่ารำคาญเหมือนหลังคาสังกะสี เป็นบรรยากาศที่อบอุ่น นอนหลับสนิทท่ามกลางเสียงกบเขียดที่ร้องดังระงมในท้องทุ่งนา
    • ผมได้แยกเรื่องนี้ไปทำเป็นหัวข้อเรื่องจำเพาะอีกหัวข้อหนึ่ง เรื่อง : หญ้าคา : วัชพืชศัตรูในนาข้าวและวิธีแก้ปัญหาของเกษตรกรแบบดั้งเดิมด้วยแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่  http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/387235 นะครับ
    • แต่ก็ลิงก์กลับมารวบรวมไว้ที่นี่ด้วยตามแนวคิดของคุณฉิกนะครับ
    • เมื่อสัปดาห์ก่อน ในช่วงวันแม่ผมได้กลับมาเป็นเพื่อนแม่ไปร่วมงานกลุ่มผู้สูงอายุและสมาคมแม่ดีเด่นแห่งชาติของจังหวัดนครสวรรค์ ขากลับก็ได้อาศัยรถของรุ่นพี่ที่หนองคอกกลับกรุงเทพฯ เลยได้แวะทักทายคนหนองบัวที่เป็นศิษย์เก่าหนองคอก รวมทั้งได้ทราบความเคลื่อนไหวของคนรอบข้างไปด้วยครับ
    • ได้ทราบว่า คุณพ่อของคุณครูพนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ หนองบัว เพื่อนผมและสามีเพื่อนของผมกับอีกหลายคนในหนองบัว ได้ถึงแก่กรรมและจัดงานฌาปนกิจที่บ้านจังหวัดชัยนาท ขอบอกกล่าวและขอแสดงความเสียใจกับคุณครูพนม ญาติมิตร และลูกศิษย์ลูกหาอย่างยิ่งด้วยครับ
    • และในช่วงวันหยุดเดียวกัน ที่วัดหนองกลับก็มีงานฌาปนกิจของคุณครูละออง คุณครูเก่าแก่ของคนหนองบัว มีผู้คนมาร่วมงานกันทั้งอำเภอ รวมทั้งลูกศิษย์ของคุณครู เสธ.เล็ก พี่โกศล หรือ พันเอกโกศล ประทุมชาติ อดีตเด็กบ้านนอกลูกแม่ค้าที่ช่วยคุณแม่หาบขนมขายอยู่หน้าตลาดสดหนองบัวที่กลายมาเป็นนายทหารเสนาธิการของกองทัพ ที่ชาวหนองคอกและคนหนองบัวแสนจะภูมิใจ ก็เดินทางมาจากค่ายกาวิลละ จังหวัดทหารบกเชียงใหม่ มาเป็นเจ้าภาพพร้อมทั้งเป็นแกนรวมพี่น้องศิษย์เก่าทั้งหนองบัวและหนองคอกให้ได้มาเจอกันมากมาย
    • ขอกราบน้อมคารวะดวงวิญญาณของคุณครูละออง และขอคารวะความกตัญญูกตเวทิตาของลูกศิษย์ลูกหาชาวหนองบัวของท่าน
    • ได้แวะไปที่วัดป่ามะเขือของหลวงพ่อหมอหลุยส์ ได้กราบพระ และได้เจอหนุ่มน้อยท่านหนึ่งแนะนำตนเองว่าเป็นครู ได้ยินรุ่นพี่แนะนำผมแก่พระว่าชื่อวิรัตน์ ก็เลยมาถามผมว่าใช่อาจารย์วิรัตน์ที่เขียนเรื่องหนองบัวในอินเทอร์เน็ตไหม พอบอกว่าใช่ก็เลยได้เพื่อนเพิ่มอีกครับ เพราะน้องเขาแนะนำตนเองว่าเขาเป็นเพื่อนของคุณฉิกและเป็นน้องของเพื่อนร่วมห้องเรียนของผมอีกคนหนึ่งชื่อกาหลง
    • ได้นั่งคุยกับรุ่นพี่ๆและเพื่อนๆชาวหนองคอกและหนองบัว ก็ให้ได้ตระหนักว่า เวทีคนหนองบัวเป็นสื่อที่ดีมากสำหรับสื่อสารและสร้างความตื่นตัวที่จะนำเรื่องราวต่างๆมาพูดคุย รวบรวมข้อมูลให้กัน ได้ดีมากครับ
    • ผมได้เจอพัฒนากร ๒ ท่านเป็นรุ่นพี่ที่ไปอยู่ชัยภูมิ เคยอยู่หนองบัวและเป็นคนนำชาวบ้านไปหารถแทรคเตอร์ที่นายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ใช้ขุดสระข้างอำเภอ มาติดตั้งเป็นอนุสรณ์หน้าอำเภอทุกวันนี้ และพี่เขาเคยเป็นนักร้องวง Yellow Brown ของหนองบัวที่ผมเป็นนักดนตรด้วย เลยคุยกันสนุกสนาน หลายคนบอกว่าลูกหลานอ่านเจอเวทีคนหนองบัวแล้วนำมาถาม พูดคุย
    • ทำให้เห็นภาพอย่างที่ทุกท่าน รวมทั้งผมอยากเห็น คือ เป็นสื่อที่ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนสื่อสารและเรียนรู้ ทั้งในครอบครัวและชุมชน ดูคึกคักและมีความหวังดีครับ
    • ขอบคุณอาจารย์ที่ได้รายงานข่าวสดๆจากพื้นที่หนองบัวให้ทราบว่ามีอะไรเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง
    • ต้องแสดงความยินดีกับเวทีคนหนองบัวแห่งนี้ที่ช่วยให้ลูกหลานคนหนองบัวได้เข้าถึง เข้ามาอ่าน และได้นำความรู้ข้อมูลจากที่นี่ไปสอบถามพูดคุยสนทนากับพ่อแม่ผู้ใหญ่ที่บ้าน
    • แค่ได้ทราบว่ามีลูกหลานชาวหนองบัวเข้ามาอ่านก็ชื่นใจแล้ว แม้จะไม่ปรากฏตัว ฝากร่องรอยไว้เลยก็ตาม

    มะพร้าว : หมอนรปภ.และคนทำงานนักเรียนนักศึกษา

    • หมอนมะพร้าวมี ๒ อย่าง คือ(๑)แบบบากเปลือกด้านข้างสองด้านใช้ทั้งลูก(๒)แบบผ่ามะพร้าวออกเป็นสองซีก ทำเป็นหมอนได้สองลูก มะพร้าวที่จะใช้ทำหมอนได้ต้องเป็นมะพร้าวแก่เท่านั้น
    • แบบแรกหนุนได้สบายหน่อยเพราะรอยบากจะพอดีกับศีรษะ รอยบากด้านล่างเป็นฐานตั้งติดกับพื้นช่วยให้ลูกมะพร้าวไม่กลิ้ง
    • ส่วนแบบที่สองนั้น เมื่อผ่าด้านขวางของลูกมะพร้าวแบ่งเป็นสองซีกแล้ว  ใช้รอยผ่าเป็นฐานตั้ง ส่วนจุกมะพร้าวที่มีความแหลมพอสมควร ใช้เป็นที่หนุนหัวนอน 
    • อีกซีกหนึ่งที่ใช้ทำหมอนก็จะเป็นซีกที่เป็นส่วนที่มีก้นหรือชาวบ้านเรียกตูดมะพร้าวนั่นเอง เป็นส่วนที่มีความแหลมอยู่ด้วย รอยผ่าเป็นฐานตั้งใช้ด้านที่เป็นก้นของมะพร้าวหนุนหัวนอน
    • ที่ลานบ้านฉันมีต้นมะม่วงกะล่อนหลายต้น ใต้ต้นมะม่วงกำปั้น จะมีเพิงหมาแหงนหลังเล็กๆของพ่อเฒ่าอยู่หนึ่งหลัง เพิงหลังนี้อยู่กลางลานบ้าน ถ้านั่งหรือนอนบนนั้น ใครไปใครมา เดินผ่านหน้าบ้านหรือเข้ามาในบ้าน ก็จะเห็นแต่ไกล  คนที่นอนหนุนหมอนมะพร้าวเป็นประจำเลยก็คือพ่อเฒ่าและแม่เฒ่าของฉัน
    • หมอนมะพร้าวปลายแหมนี้ผู้นอนจะนอนตะแคงหรือนอนหงายก็ตาม เมื่อเผลอหลับเพียงนิดเดียวเท่านั้น ก็ต้องสะดุ้งตื่น เพราะเสี้ยนแทงคอและคอเคล็ด ผู้เฒ่าผู้แก่อยู่บ้านมักจะมีผ้าขาวม้าติดตัวอยู่เสมอๆ พ่อเฒ่าก็เหมือนกันจะมีผ้าขาวม้าห้อยบ่าประจำ ใช้ปูนอนก็ได้ ใช้หนุนหัวนอนก็ได้ ใช้ปัดพื้นแทนไม้กวาดก็ได้ ใช้ไล่แมลงวัน ยุง ฯลฯ ถ้าใครอยากจะหลับนานๆหน่อยก็ใช้ผ้าปูบนหมอนมะพร้าว
    • พวกเราเด็กๆเมื่อพ่อเฒ่าไม่อยู่ ก็จะขึ้นไปเล่นกัน และมักจะลองนอนหนุนหมอนมะพร้าวนี้ด้วย หนุนได้แป๊บเดียวก็เลิกหรือลุกขึ้นทันทีเพราะเจ็บหัวมากๆ
    • มะพร้าวผ่าซีกนี้ทำเป็นแปลงถูบ้านก็ได้  บ้านแม่เฒ่าตรงบริเวณที่นอนที่นั่งของท่านกระดานพื้นบ้านจะสะอาดและเงาเป็นมันเลย  เพราะท่านทั้งสองนั่งตรงไหนก็จะถูด้วยแปลงลูกมะพร้าวนี่แหละ ยิ่งที่ที่นั่งประจำ ใกล้ๆกระทายหมากด้วยแล้วกระดานจะเป็นมันเห็นได้ชัด
    • หมอนมะพร้าวนี้เหมาะสำหรับคนที่เฝ้าเวรยาม เหมาะสำหรับเป็นหมอนหรือนาฬิกา รปภ. คนทำงานหนักๆที่ต้องการพักเหนื่อยสักงีบเล็กๆ และนักเรียนนักศึกษาที่ดูหนังสือหนักๆในช่วงใกล้สอบ
    • กรณีตัวอย่าง พระเณรนักศึกษา ในสมัยโบราณที่ท่านเล่าเรียนภาษาบาลี แต่ละวันต้องท่องแบบ(ไวยากรณ์,คำศัพท์ภาษาบาลี) กันตลอดวัน และกลางคืน ท่านก็ใช้หมอนมะพร้าวนี้เป็นเครื่องมือสร้างความเพียรกันอย่างหนักหน่วง เอาจริง เอาจังกันอย่างมาก
    • คนหนองบัวล่ำลือ เล่าต่อๆกันมาว่า ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก(ห้อง ท้วมเทศ) ตอนท่านศึกษาเรียนภาษาบาลีทั้งที่นครสวรรค์ และที่กรุงเทพฯนั้น ท่านได้ใช้หมอนมะพร้าวนี่แหละเป็นอุปกรณ์ช่วยให้ท่านได้ต่อสู้พากเพียร จนเรียนบาลีสำเร็จถึงขั้นเป็นเปรียญขั้นสูง
    • อาจกล่าวได้ว่าหมอนมะพร้าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ได้สร้างคนหนองบัวให้ได้เป็นมหาเปรียญขึ้นเป็นคนแรกของชุมชนหนองบัวเรา และต่อมาพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณเทพฯก็ได้เป็นพระสังฆาธิการบริหารกิจการพระศาสนาในระดับจังหวัดคือเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์
    • และชาวหนองบัวก็ถือว่าท่านเจ้าคุณเทพฯเป็นบุคคลสำคัญในลำดับต้นๆของชุมชนหนองบัวอีกด้วย

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

    ....สงสัยว่าผมต้องหาหมอนมะพร้าวมาใช้สักลูกล่ะครับ

    แวะเวียนมาเยี่ยมชุมชนคนหนองบัวค่ะ..จิกรูบล็อกอ.ขจิตมาฝากค่ะ...

    ค้นพบหนองบัวอีก1 แห่ง ที่จ.กาญจนบุรี บ้านอ.ขจิต แต่หนุ่มเอมเป็นคนบันทึกค่ะพี่อาจารย์.....

    http://gotoknow.org/blog/noomaim/389493

     หนุ่มเอม

    เรียนท่านอธิการโชคชัยครับ

    • ขอบคุณนะครับที่แวะมาเยี่ยมให้กำลังใจเวทีคนหนองบัว
    • ผมนึกว่าจะไม่มีคนรู้จักหมอนมะพร้าวซะแล้วนะครับ ผมเขียนไปผมก็นึกถึงพ่อเฒ่า แม่เฒ่าไปด้วยเลยแหละครับ
    • ผมคิดไม่ถึงนะว่าหมอนมะพร้าวของใช้ของคนบ้านนอกนี้  จะเหมาะกับนิสิตปริญญาโทและเอกในสมัยปัจจุบัน
    • ผมมีประสบการณ์เมื่อเป็นเด็กครับ ครั้งหนึ่งไปไหว้พระพุทธบาทจังหวัดสระบุรีหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เป็นงานประจำปีวัดพระพุทธบาทงานเดือนสาม กับญาติๆ โดยเดินทางอ้อมโลกเลยนะครับ คือช่วงนั้นถนนเส้นจากสิงห์บุรี ตากฟ้า ผ่านหนองบัวยังไม่มี
    • คนหนองบัวจะไปเหนือไปใต้หรือกรุงเทพฯ จะต้องไปขึ้นรถไฟที่อำเภอชุมแสง ครั้งนั้นผมกับญาติๆก็มาขึ้นรถไฟที่ชุมแสง ไปลงที่สถานีรถไฟลพบุรี ต่อรถเมล์จากลพบุรีไปสระบุรีพระพุทธบาท
    • ตกกลางคืนก็ไม่ต้องไปตอนโรงแรมหรอก เพราะทางวัดมีศาลาหลายหลังให้ผู้มาไหว้พระได้พักในวัดอย่างสะดวกสบายมาก นอนรวมๆกัน อย่างอื่นก็พร้อมดีทุกกประการสำหรับคนทำบุญ
    • แต่มีอย่างหนึ่งครับที่คนไปไหว้พระแล้วต้องจดจำได้ไม่ลืมเลยคือหมอนครับ
    • หมอนวัดพระพุทธบาทยุคนั้น เป็นหมอนหินนะซิ เราเคยแต่นอนหนุนหมอนกะลามะพร้าวมาบ้าง ก็ถือว่าแข็งและเจ็บศีรษะมากแล้ว และก็ไม่ได้หนุนนอนจริงจังอะไร แค่หนุนนอนเล่น ๆ ตามประสาเด็กๆ ซึ่งก็เจ็บหัวอย่างมากจนเกือบทนไม่ได้
    • แต่นี่มาเจอหมอนหินแข็งๆเข้าให้ ถึงเราจะใช้ผ้ารองหมอนก็จริงอยู่ ก็ไม่ได้ช่วยให้เรานอนสบายขึ้นแม้แต่น้อย ก็จำใจนอน ตัวแข็งทื่อ กว่าจะหลับลงได้ เมื่อยคนแทบแย่

     

    • ขอแก้คำผิดในความเห็นที่๗๗๐
    • คำว่าตอนโรงแรม แก้เป็นนอนโรงแรม เมื่อยคนแทบแย่ แก้เป็นเมื่อยคอแทบแย่

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล พระอธิการโชคชัย
    สวัสดีน้องคุณครูอ้อยเล็กและทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    • หมอนมะพร้าวที่ท่านพระอาจารย์มหาแลเล่าบันทึกไว้นี่ดีจังเลยนะครับ
    • ขอแสดงความยินดีกับท่านพระอธิการโชคชัยที่ทำบล๊อกขึ้นใช้เองได้แล้วนะครับ
    • บ้านหนองบัวที่จังหวัดกาญจนบุรีที่คุณครูอ้อยเล็กพูดถึงนี่ดูเหมือนว่าผมก็เคยเห็นนะครับ อยู่ข้างๆมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี เวลานั่งรถไปแล้วก็จะผ่าน เป็นที่เดียวกันหรือเปล่านะครับ
    • บล๊อกของหนุ่มเอมผมเคยเข้าไปอ่านครับ ทำเรื่องสื่อชุมชนและฝึกให้เด็กๆทำสื่อ น่าสนใจมากครับ

                            

                           

                            

                           

    • เอารูปอาจารย์ขจิตและน้องคุณครูอ้อยเล็กแวะไปเยือนและกินข้าวเย็นด้วยกันที่พุทธมณฑลมาแถมให้อีกครับ
    • อาจารย์ขจิตได้นำหนังสือไปฝากเล่มหนึ่งด้วยครับ เป็นหนังสือ ไผเป็นไผ เล่ม ๒ ที่ครูบาสุทธินันท์และกองบรรณาธิการของท่านร่วมกันดึงเรื่องราวจากบล๊อกเกอร์หลายคนใน GotoKnow  มาทำเป็นรวมเล่มและรวมผลงานของนักเขียนหลายคน
    • ทั้งสองท่านเป็นคนรุ่นใหม่ที่เก่ง เป็นน้องที่น่ารัก น่าภูมิใจ ทำงานให้กับสังคมได้อีกเยอะครับ อุตส่าห์มีน้ำใจ วางมือจากงานที่โรงเรียนกีฬา เทศบาลนคร นครปฐมแล้วก็พากันนั่งรถตะรอนๆไปหากัน
    • นอกจากในภาพแล้ว ก็มี ผอ.สมชาย รัตนอารี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดประชานาถ อำเภอนครชัยศรี ร่วมพบปะด้วยอีกคนหนึ่งครับ แต่ท่านติดภารกิจ เลยต้องกลับไปก่อน
    • อาจารย์ขจิตบอกว่ากำลังเตรียมตัวจัดเวิร์คช็อปให้กับเด็กๆหนองบัวด้วยนะครับ
    • ขออภัยครับ
    • ชื่อหนังสือไม่ใช่ ไผเป็นไผ ครับ แต่ชื่อ เจ้าเป็นไผ ครับ

    เรียนท่านพระมหาแล เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

    ...โยมอาจารย์วิรัตน์ อาตมภาพเขียนงานโครงร่างThesis ฝากอยู่ในE-mailของโยมไม่ทราบว่าได้รับหรือเปล่าครับ และรบกวนโยมอาจารย์กรุณาช่วยให้ข้อคิดเห็น เสนอแนะตามประเด็นดังกล่าวด้วยครับ

    ...ท่านพระมหาแลครับ ขอบพระคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ จุดประกายนักประดิษฐ์อีกแล้วครับท่าน แถวๆบ้านผม ตำบลวงฆ้อง อำเภอพรหมพิราม มีต้นมะพร้าวเป็นดงเลยครับ

    E-mail : [email protected]

    หลงตะเข็บ : ร่องรอยการสร้างตัวของชาวบ้านที่ตั้งอยู่บนฐานความพอเพียง

    •  หนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพของคนเรา ก็คือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
    • ชาวบ้านโดยทั่วไปจะมีชุดทำงาน(นา-ไร่)เลี้ยงงัว เลี้ยงควาย กันคนละประมาณ ๒ ชุด เสื้อผ้าชุดนี้ จะมีอายุการใช้งานได้หลายปี  วันไหนทำงานกลางแดดร้อนๆ กลางทุ่งนา จะมีเหงื่อขี้เกลือขึ้นเต็มหลังเป็นแผนที่เลยแหละ คราบเหงื่อที่แห้งกรังจนขึ้นขาวเป็นวงที่หลังเสื้อจะเห็นได้ชัด ใช้กันจนเก่า มีสภาพเปื่อย ขาด เมื่อขาดแล้วจะเย็บ ปะ ชุนด้วยมือตนเอง เพราะจักรเย็บผ้าไม่มีใช้หรอก เย็บเสร็จแล้ว ใช้ได้ต่อไป เสื้อผ้าเก่ามากๆ นี่ ซักแต่ละครั้งต้องค่อยๆขยี้ เผลอไปขยี้แรงๆ จะได้ยินเสียงผ้าขาดดังแคว้กๆ
    • ผู้ที่ใช้ได้คุ้มค่าได้ถึงขนาดนี้ ส่วนมากก็จะเป็นผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย  เห็นผู้ใหญ่ใส่เสื้อผ้าขาด มีรอยเย็บ รอยปะทั้งตัว ก็อดขำไม่ได้ และในใจก็นึกชื่นชมผู้ใส่ไม่น้อย
    • ผู้ที่ใช้เสื้อผ้าที่เย็บทั้งตัวแบบนี้ ลูกๆหรือภรรยามักจะโดนผู้สูงอายุวัยเดียวกันแซวว่า  ทำไมจึงปล่อยให้พ่อหรือฝาละมีเป็นคนอนาถา ใส่เสื้อผ้าขาดโชว์ชาวบ้านเขาอยู่ได้  ควรจะไปหาซื้อเสื้อผ้าตัวใหม่ที่บ้านเจ๊กสักชุดมาเปลี่ยนได้แล้ว  กูเห็นพ่อมึงใส่ชุดนี้มานานเต็มที นำไปทำผ้าขี้ริ้วได้แล้วมั้ง
    • คนที่ถูกแซว ก็จะให้เหตุผลในทำนองว่า ก็พ่อบอกว่าชอบชุดนี้  อีกอย่างในเมื่อยังใช้ได้ ก็ขอใช้ไปก่อนก็แล้วกัน
    • ก็มีเหมือนกันที่แม่บ้านหรือลูกสาวของท่านจะรู้สึกอายชาวบ้านแทนพ่อ โดยที่ผู้สวมใส่นั้นไม่มีความรู้สึกอายแต่ประการใด
    • นี่คือกรณีที่เกิดขึ้นกับคนส่วนมาก
    • แต่ที่เป็นที่พูดถึงกันของชาวบ้านที่ได้สังเกตเห็นและมีเสียงสะท้อนให้ได้ยินก็คือคนมีฐานะ คนมีอันจะกิน หลายคนใส่เสื้อผ้าเก่าๆ และเย็บปะทั้งตัวยิ่งกว่าชาวบ้านเสียอีก ทั้งๆที่ในสายตาของชาวบ้าน เขาประเมินว่า คนมีฐานะเหล่านั้น ไม่เห็นจำเป็นต้องใส่ผ้าเก่าหรือขาดมากขนาดนั้นก็ได้ ทำนองนั้น(คงเห็นใจคนมีอะไรประมาณนั้น)
    • และด้วยความเป็นจริงที่เห็นกันอยู่ ก็มักเป็นเช่นที่ชาวบ้านกล่าวถึงนั่นแหละ คือคนที่ชาวบ้านเรียกว่าคนมีนั้น มักจะใส่เสื้อผ้าเก่า ๆ ขาดๆ จริงเสียด้วยนะซิ อย่างนี้ชาวบ้านจะพูดกันว่าเป็นคนขี้ตระหนี่
    • ด้วยความเป็นผู้มีฐานะประกอบด้วยมีมัจฉริยะคือความตระหนี่นี่เอง ทำให้ต้องนุ่งผ้าเก่าดังว่า  เก่าเย็บทั้งตัวจนหาร่องรอยตะเข็บเดิมไม่พบ คนมีนี่ใช้คุ้มเกินคุ้มจริงๆ ถ้าจะนำไปให้ช่างตัดเสื้อมืออาชีพซ่อมให้ ช่างเห็นแล้ว คงหลงตะเข็บแน่เลยเชียว

     

    ต่อหนังสือ : เทคนิควิธีสร้างสติให้ตื่นตัวต่อการศึกษาเรียนรู้แบบมุขปาฐะ

    • การสอนพิเศษเรียนต่อตัวที่คนปัจจุบันนิยมเรียนกันนั้น ที่จริงมีมานานมากแล้ว ตั้งแต่สมัยโบราณกาลนานมา  การเรียนพิเศษยุคก่อนเขาเรียก   ว่า ต่อหนังสือ คือการเรียนด้วยการให้ผู้เรียนท่องจำ เช่น ท่องแบบบาลีไวยากรณ์ บทสวดมนต์  คาถา ตำรา ความรู้ วิชาการต่าง ๆ เพราะว่าสมัยนั้นไม่มีสมุดจดบันทึก อีกทั้งหนังสือ หรือตำราเรียน มีจำนวนจำกัด คือผู้สอนเท่านั้นที่มีหนังสือไว้อ่าน ท่อง ศึกษา เรียนรู้
    • ส่วนผู้เรียนไม่มีตำราเรียน เมื่อจะเรียนรู้อะไร จะต้องไปเรียนกับครูอาจารย์ โดยการเรียนสมัยนั้นก็จะเน้นการท่องจำเป็นหลัก การท่องครูก็จะให้ท่องวันละไม่มากนัก เมื่อใครท่องจำได้แล้ว ก็จะไปหาครูอาจารย์เพื่อให้ครูเพิ่มบทเรียนใหม่ต่อไป หรือถ้าบทสวดยาวมากก็จะให้ท่องครั้งละครึ่งบท เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เรียกว่าไปต่อหนังสือ เรียนต่อจากบทเก่า หรือไปต่อความรู้เพิ่มเติมเรื่องใหม่จากครูอาจารย์
    • การเรียนด้วยวิธีนี้ผู้เรียนต้องจำความรู้เดิมที่ครูให้มาก่อน เมื่อจำได้แล้วก็ไปท่องให้ครูฟัง แล้วครูจึงจะเริ่มให้เรียนบทใหม่ต่อไปได้ เรียกว่าท่องแบบส่งครูอาจารย์(บทสวดมนต์,แบบ-บาลีไวยากรณ์,คาถา,บทมนต์ต่างๆ)

    หลวงพ่อประทวน  ปิยธมฺโม(ยิ้มอยู่) : ผู้ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการท่องบทสวดมนต์เจ็ดตำนานแบบมุขปาฐะด้วยวิธีจุดธูป

    • ปีนี้(๒๕๕๓)ท่านมีอายุ ๗๔ ปี บวชได้ ๒๑ พรรษา จำพรรษาที่วัดศรีโสภณ
    • เมื่อท่านบวชครั้งแรก อายุ ๒๒ ปี ที่วัดวังทองฯ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก (๒๕๐๑)
    • เนื่องจากท่านมีโอกาสได้เรียนหนังสือแค่เพียงป. ๑ เท่านั้น ทำให้อ่านหนังสือไม่ออก ก่อนบวช ผู้บวชจำเป็นต้องท่องคำขอบวชให้ได้ก่อน เมื่อเป็นดังนั้น การท่องขานนาคจึงต้องอาศัยให้ผู้อื่นท่องให้ฟัง(หลวงพ่อประพันธ์-เจ้าคณะอำเภอวังทอง) แล้วจึงท่องตามทีละเล็กทีละน้อย  จนท่องได้หมด โดยใช้เวลาท่องเพียง ๑๐ เท่านั้น
    • เมื่อบวชแล้ว  เรื่องท่องมนต์เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากของพระบวชใหม่ การท่องหนังสือไม่ได้นั้นหมายถึงความล้มเหลมแห่งการบรรพชาอุปสมบท เพราะยุคนั้นจะนิยมบวชกันนานๆอย่างน้อยก็หนึ่งพรรษาขึ้นไป
    • การบวชนานขนาดนี้ ถ้าผู้บวชไม่วางแผนเรื่องการสวดมนต์ไว้ล่วงหน้า เมื่อออกกิจนิมนต์ สวดมนต์ไม่ได้ หรือได้ไม่กี่บท ยิ่งบวชหลายเดือนด้วยแล้ว  ถ้าสวดมนต์ไม่คล่อง ไปนั่งมิ(สวดไม่ได้) ต่อหน้าญาติโยม รู้ไปถึงไหนอายไปถึงนั่น ถ้าญาติโยมรู้จักว่าพระใหม่องค์นี้เป็นลูกใครด้วยแล้ว
    • ก็จะทำให้ข่าวสารนี้กระจายรู้ไปถึงบ้าน พระก็ไม่สบายใจและโยมพ่อโยมแม่ก็จะอายเขาอีกด้วย
    • หลวงพ่อประทวนท่านเล่าว่าการบวชครั้งนั้น ท่านต้องใช้ความเพียรมากกว่าพระที่บวชพร้อมกันหลายเท่าตัว  เพราะส่วนมากท่านเหล่านั้นอ่านหนังสือออก ตัวเองอ่านไม่ออกจึงต้องอาศัยจำบทสวดจากพระรูปอื่นๆ(หลวงพ่อม้วน,หลวงพ่อวาว ซึ่งท่านทั้งสองรูปนี้ต่อมาก็ได้เป็นเจ้าคณะอำเภอวังทอง และเจ้าคณะตำบลวังทอง)ที่สวดให้ฟัง
    • ด้วยท่านเป็นผู้ที่มีความเป็นจำดี  จดจำได้เร็ว ท่องต่อจากพระพี่เลี้ยงพระอาจารย์ได้สองสามบรรทัด เพียงครึ่งชั่วโมงจำได้แล้ว  ฉะนั้นวันหนึ่งจึงท่องได้มาก อย่างเช่น บทกรณีฯ ซึ่งเป็นบทที่สวดยากและเป็นบทที่มีความยาวมากด้วย ท่านสวดคืนเดียวได้ ซึ่งพระที่อ่านหนังสือออกทั้งวัดไม่มีรูปใดสวดได้ภายในวันเดียวเลย  มีท่านรูปเดียวที่สวดได้ ท่านจึงเป็นที่รักของอุปัชฌาย์และคู่สวด
    •  วิธีที่ท่านใช้ในการท่องบ่นบทสวดมนต์ในเวลากลางคืน คือท่านจำมากท่านเจ้าคุณพิษณุฯ เจ้าอาวาสวัดใหญ่(วัดพระพุทธชินราช)เจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก โดยท่านแนะนำพระบวชใหม่ว่า การท่องหนังสือตอนกลางวันมักมีเสียงลบกวน ทำให้ไม่ค่อยมีสมาธิในการท่อง
    • ถ้าจะให้จำดี ต้องท่องกลางคืน จะทำให้จำได้เร็ว เมื่อง่วงนอนให้จุดธูป แล้วนำธูปที่จุดนั้นมาเหน็บไว้ที่ระหว่างนิ้วเท้า ไม่อยากหลับนานก็ให้หักก้านธูปออกครี่งหนึ่ง  เมื่อไฟไหม้ธูปจนมาถึงนิ้วเท้าก็จะสะดุ้งตื่นแล้วท่องหนังสือต่อได้
    • ท่านบอกว่าท่านใช้วิธีนี้ทั้งขี้ธูปและไฟจากก้านธูปล่วงใส่นิ้วเท้า หลังเท้า จนหลังเท้าและนิ้วเท้าบวมทั้งสองข้าง

     

    กราบนมัสการรพะคุณเจ้า ท่านพระอาจารย์มหาแล พระอธิการโชคชัย
    และขอสวัสดีทุกท่านของเวทีคนหนองบัวครับ

                            

                             

                            

                            

    ผมได้พานักศึกษาไปดูงานที่สิงคโปร์มาครับ สิงคโปร์มีเพื่อนชาวหนองบัวที่เข้ามาอ่านและชมเวทีคนหนองบัวด้วยครับ เลยนำรูปมาฝากกันก่อนครับ ได้รูปสวยๆและแลแปลกตาดีครับ

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์

    •  มีคนถามหาอาจารย์อยู่เหมือกันว่า อาจารย์วิรัตน์คงไม่อยู่แน่เลย เพราะเงียบหายไป
    • ขอบคุณอาจารย์ที่นำภาพจากการทัศนศึกษาดินแดนลอดช่อง(สิงคโปร์)มาฝากเวทีคนหนองบัว
    • ขอต้อนรับเพื่อนใหม่จากประเทศสิงคโปร์ด้วยความยินดี
    • และขอถามอาจารย์เป็นความรู้ ด้วยความไม่รู้จริงๆว่า ประเทศสิงคโปร์ เขาทำนากันบ้างไหมหนอ

     

    เจริญพรโยมอาจารย์

    ขอบคุณอาจารย์ที่นำภาพจากการทัศนศึกษาดินแดนลอดช่อง(สิงคโปร์)มาฝากเวทีคนหนองบัว น่าอิจฉานักศึกษาจัง... ตอนเรียนวิชาภูมิภาคศึกษามีโปรแกรมที่จะไปดูงานที่สิงคโปร์เหมื่อนกัน อุตสาเก็บเงินเก็บทองแทบแย่จะได้ไปต่างประเทศ..บทสรุปไปได้แค่เขาค้อ เพชรบูรณ์เองครับ...แมเสียดายจังๆๆ

    โยมอาจารย์สบายน่ะครับ เจริญพร

    ทุ่งรวงทอง : ความสัมพันธ์อันชื่นมื่นระหว่างคนกับควายในฐานะคู่ทุกข์คู่ยากด้วยกิจกรรมการทำงาน

    • ทุ่งรวงทอง ท้องนาของฉัน อุดมสมบูรณ์ ทั้งพืชผักที่ปลูกกินเอง พืชผักของป่านานาชนิดที่กินได้ มีอยู่ทั่วไป หากินได้ตามฤดูกาล นอกจากพืชผักแล้วในท้องทุ่งนา ก็ยังมีสัตว์ กุ้ง หอย ปู ปลา นก หนู อีกมากมาย
    • การดำเนินชีวิตเช่นนี้ เป็นการพึ่งพิงธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ อาศัยธรรมชาติเป็นหลัก เป็นการเรียนรู้ที่อยู่กับความเป็นจริง ของที่มีอยู่จริง ใกล้ชิดธรรมชาติ
    • ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องไม้เครื่องมือ ส่วนใหญ่ทำขึ้นเอง วัสดุมีอยู่ตามท้องไร่ปลายนาหาได้ไม่ยาก สิ่งที่ทำเองนี้ เมื่อผุพังเสียหาย จะซ่อมแซมบำรุงรักษาหรือสร้างทำขึ้นใหม่ก็ทำด้วยตัวเราเองอีกนั่นแหละ พึ่งตนเองสูง ไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ เพราะเมื่อไปยืมจมูกคนอื่นเขาหายใจแล้ว ถ้าเขาไม่ให้ขึ้นมา ก็จะทำให้เราไม่มีลมหายใจ ก็เท่านั้นเอง(หมดลมนะซิ)
    • เพราะฉะนั้น คนที่อยู่ในทุ่งรวงทองนี้ ต้องเป็นคนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาให้เป็นด้วย นี่คือปรัชญาชาวนานะเนี่ย
    • คอกควายอยู่ใต้ถุนบ้าน เช้ามืดหน้าทำนาจะได้ยินเสียงการเปิดคอกควายของบ้านที่อยู่ใกล้ๆกัน เสียงตอกลิ่มกลอนประตูดังโป๊กๆเป๊กๆ  ตกตอนเย็น งัว ควายเข้าคอกแล้ว ก็จะได้ยินเสียงนี้อีกครั้งทุกวี่วัน
    • ในท้องทุ่งนา ตั้งแต่เช้าจรดเย็น จึงเต็มไปด้วย งัว ควาย เสียงร้องของงัวเปลี่ยว ดังระงมเซ็งแซ่ มีเสียงคนไล่ควายทั้งจากคนไถนา ตีครุบ คราดนา ดังข้ามท้องนารอบ ๆ ตัวเราทุกทิศทาง เพลินใจดี อีกทั้งเสียงวิทยุทรานซิสเตอร์ ที่วางอยู่ตามหัวคันนา ก็ดังก้องทุ่งนาเลยเชียว เสียงที่ได้ยินนั้น ก็ตามรสนิยมของผู้ฟังแต่ละเจ้า มีทั้งลิเก นิยาย ละคอน เพลงลูกทุ่งยอดฮิต รายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งจะเยอะนิดนึง
    • อีกภาพหนึ่ง เหมือนขบวนพาเหรดกลางท้องทุ่งเลย ก็คือการเดินทางไปนา ทั้งขาไป ขากลับ ที่ต่างคนต่างไปก็จริงอยู่ แต่เมื่อไปรวมกันอยู่บนท้องถนนหรือในสอกแล้ว เกวียนจำนวนมากๆ ที่ทะยอยตามกันไปนั้น  จะต่างจากรถบ้างก็คือรถนั้นแซงกันได้ไม่ยาก ใครมีธุระรีบด่วนก็ไปก่อนได้ แต่เกวียนนี่ ยากมากที่จะแซงคิวกัน นอกจากงัวคู่นั้นจะมีฝีเท้าระดับฉกาจ ชนิดเร่งได้อย่างใจเจ้าของ ถ้าฝีเท้าขนาดนี้ก็มีโอกาสแซงหน้าคนอื่นได้อยู่ นี่เป็นภาพที่สวยงามภาพหนึ่ง
    • งัว ควายในฐานะคู่ทุกข์คู่ยากของชาวนา ส่วนใหญ่เรื่องความสัมพันธ์กับเจ้าของแล้ว บอกได้คำเดียวว่า สามารถสื่อสารกันได้อย่างดี เขาจำเสียงเจ้าของได้ ไม่ว่าจะให้สัญญาณถอย เดินหน้า เลี้ยวซ้าย-ขวา หยุด เจ้าทุยสามารถแยกคำสั่งดังกล่าวได้โดยไมมีผิดคิว
    • ความสัมพันธ์ระหว่างควายที่กินหญ้ากับควายที่กินน้ำมันนั้นต่างกันอย่างมาก
    • ควายมีความสัมพันธ์กับคนแบบมีจิตวิญญาณ มีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีความรู้สึก สุข ทุกข์ ทั้งหมดเป็นไปด้วยกันรับรู้กันได้
    • แต่ควายที่กินน้ำมันนั้น เป็นควายที่ไร้วิญญาณ ไร้ชีวิตจิตใจ กินแต่น้ำมันเท่านั้นก็หาไม่ แต่กินทุกอย่างที่ขวางหน้า ผลผลิตรายได้ทั้งหมดควายตัวนี้กินเรียบ กินทั้งต้นทุน ทั้งดอกเบี้ย กินจนพี่น้องชาวนากระดูกสันหลังของชาติชักอยากจะขายนาหนีควายตัวนี้กันหมดแล้ว

     

    นมัสการท่านพระมหาแลฯ และสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    ผมไม่ได้เข้ามาพูดคุยกับหลาย ๆ ท่าน นานพอ ๆ กับที่ไม่ได้กลับไปบ้านที่หนองบัว

    มีแต่สอบถามทางโทรศัพท์ ก่อนหน้านี้อาทิตย์นึงที่บ้านเราแล้งจัด น้ำประปาในบ่อแห้งขอด ข้าวบางส่วนยืนตายแล้ง

    อาทิตย์นี้กลับตาลปัตร ปรากฏว่าน้ำเหนือไหลบ่าล้นคลองมาจากทางห้วยถั่วเหนือ จนข้าวในนา ช็อค.....ตั้งตัวไม่ทัน นึก ๆ ไปก็น่าสงสารชาวนา

    การควบคุมน้ำให้มีปริมาณพอดีไม่ได้นี่ ทำให้ชาวนาแย่ ลืมตาอ้าปากไม่ได้สักที

    เจริญพรอาจารย์สมบัติ

    • อาจารย์หายเงียบไปซะตั้งนานเลย
    • ทางหนองคายเป็นอย่างไรบ้าง ก่อนหน้านี้ได้ยินข่าวว่าแม่น้ำโขงแห้งแก๊ก
    • ปีที่แล้วที่หนองบัว ข้าวดี แต่เจอทั้งแล้ง ทั้งเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เลยงอมพระรามไปตามๆกัน(ติดหนี้)
    • ปีนี้ก็อีกแล้ว แล้งมาก่อน ตอนนี้ก็ท่วมอีกแล้ว
    • เคยได้ยินนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ศรคีรี ศรีประจวบ ตอนยังไม่บวชสามสิบปีที่แล้ว ร้องเพลง ชื่อเพลงน้ำท่วม เพลงนี้ดังมาก หน้าน้ำท่วมก็ดัง หน้าแล้งก็ดัง
      .....น้ำท่วม น้องว่า ดีกว่าฝนแล้ง
      พี่ว่าน้ำแห้ง ให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า......
      .....น้องอยู่บ้านดอน ช่างไม่อาทรถึงพี่สักครา
      ไม่มาช่วยพี่ซับน้ำตา ไม่มามองพี่บ้างเลย.
      จำได้แค่นี้แหละ
      อาจารย์สมบัติคงสบายดีเนาะ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล และพระอธิการโชคชัย
    สวัสดีครับคุณสมบัติ และทุกท่านนะครับ

    • คุณสมบัติหายไปนานเลยนะครับ
    • เมื่อเดือนที่ผ่านมาในช่วงวันแม่ ผมได้กลับบ้านและนั่งรถตู้ผ่านเข้าไปบ้านน้ำสาดและธารทหาร ก็พยายามมองละแวกบ้านสองข้างทางแถวนั้นและยังนึกถึงคุณสมบัติกับเพื่อนๆที่อยู่บ้านแถวนั้น
    • ที่นึกถึงก็เนื่องจากรู้สึกว่ามันไกลจากหนองบัวเอาเรื่องเหมือนกัน ทำให้นึกถึงเมื่อก่อนนี้ว่าพวกเพื่อนๆที่อยู่แถวบ้านนั้น ต้องเดินทางไปเรียนหนองคอกด้วยความลำบากมากทีเดียว

    นมัสการพระคุณเจ้าฯ และสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ฯ ครับ

    เมื่อเช้าอ่านพบใน Intranet ซึ่งเป็นระบบการสื่อสารภายในกรมฯ พบว่ามีประกาศบิดาข้าราชการเสียชีวิต นามสกุลคุ้น ๆ เหมือนเคยอ่านพบใน blog ของท่านอาจารย์วิรัตน์ฯ หรืออย่างไรนี่แหละ

    นามสกุล...พานทองดี.....น่ะครับ

    กำหนดสวดพระอภิธรรม 3 - 8 กันยายน 2553 ณ วัดเทพสทุธาวาส ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัวบ้านเรา พระราชทานเพลิงศพ วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายนนี้ เผื่อว่าพี่น้องท่านใดที่เป็นญาติ หรือใครที่รู้จัก ก็ขอบอกต่อครับ อ้อ....ผู้เสียชีวิตชื่อนายอำนาจครับ ส่วนข้าราชการคนดังกล่าวชื่อนางสาวสุชาดา

    เห็นชื่อนี้ผ่าน ๆ ตา แต่ไม่รู้มาก่อนว่าเป็นชาวอำเภอหนองบัว

    ขอบคุณอาจารย์สมบัติที่ได้ช่วยแจ้งข่าวนี้
    ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวพานทองดีและลูกๆด้วยที่ได้สูญเสียคุณพ่อไปในครั้งนี้
    และก็ขอประชาสัมพันธ์ต่อให้ญาติพี่น้องหรือคนที่รู้จักกับผู้วายชนม์(คุณอำนาจ พานทองดี)ได้ทราบว่าพรุ่งนี้(๙ กันยายน ๒๕๕๓) มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเทพสุทธาวาส

    ครอบครัวนามสกุลพานทองดีนี่ ผมรู้จักอยู่แต่ในตลาดฝั่งวัดหนองกลับครับ ไปจัดงานอยู่ฝั่งวัดเทพสุทธาวาสนี่ ไม่แน่ใจว่าจะเป็นญาติของเพื่อนหรือเปล่านะครับ หากใช่ประเดี๋ยวเพื่อนๆก็คงบอกกล่าวถึงกัน แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ต้องขอแสดงความเสียใจและขอคารวะผู้วายชนม์ด้วยครับ

    กราบนมัสการพระคุณอาจารญืมหาแล และพระอธิการโชคชัย และสวัสดีพี่วิรัตน์ฯ น้องสมบัติ และทุกๆท่านครับ

    ผมเองก็เงียบหายไปนาน พอๆกับน้องสมบัติเลย

    แต่ว่าก็เข้ามาอ่านอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ค่อยมีเวลามาเขียนอะไรต่ออะไรมากนัก

    อีกหน่อยคงต้องเข้ามาตอกบัตรให้รู้ว่าเข้ามาแล้วนะ

    วันนี้จะไปหนองบัว ก็จะไปงานศพเตี่ยเพื่อนที่วัดเทพสุทธาวาสนี่แหละ

    ตั้งใจว่าจะออกจากบ้านเที่ยงตรง คงต้องล่าช้าออกไปครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงแน่ๆ

    เพราะมีปัญหาเครื่องซักผ้า เพิ่งซื้อเครื่องใหม่มาเมื่อวาน เครื่องเก่ามันเสียไปเมื่อหลายวันก่อน เมื่อคืนแม่บ้านได้ทดลองซักโดยเครื่องใหม่ครั้งแรก ตอนเช้าเราก็ไปเอาผ้าที่ซักแล้วไปเข้าเครื่องอบ (ช่วงนี้แดดไม่ค่อยมี เครื่องอบได้ทำหน้าที่เยอะหน่อย) ก็รู้สึกว่ามันมีกลิ่นอยู่นะ เดี๋ยวเข้าเครื่องอบกลิ่นคงจะหาย ส่วนแม่บ้านก็มาจัดการเสื้อผ้าอีกกองเข้าเครื่องซัก แล้วก็ลองเปิดตู้อบเพื่อดูผ้าที่ซักไว้เมื่อคืนว่าผลงานเป็นอย่างไรบ้าง แล้วก็รีบโทรเข้ามือถือเราตอนที่กำลังขับรถไปส่งลูกไปโรงเรียน ว่ากลิ่นเหม็นอย่างนี้เอาเข้าอบได้อย่างไร มันก็เลยทำให้มีผ้า 2 กองที่ต้องมาซักตอนเช้า ตอนนี้กองแรกอาไปตากแล้ว ก็ยังมีกลิ่นตุๆอยู่ ระหว่างกำลังรอกองสุดท้ายซักเสร็จก็รีบเข้ามาคุยกับพวกเรานี่แหละ เสร็จธุระที่บ้านก็จะรีบไปหนองบัวแล้ว

    อาเจ็กยู้ที่เสียชีวิตไปนี่ น่าจะเป็นลูกฮั้งคีมนะ เมื่อ20-30ปีก่อนเคยทำฟาร์มไก่ที่หนองบัว ตอนหลังไปอยู่กับลูกที่กรุงเทพฯที่จรัญฯซ.13

    ลูกสาวคนโตนี่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับผม ชื่อสุรีย์พร ทำชุดชั้นในจินตนาอยู่ที่จรัญฯ13 นั่นแหละ

    พูดถึงฮั้งคีม คนเก่าๆในหนองบัวต้องรู้จัก รถเมล์หนองบัว-ชุมแสงยุคแรกๆนี่ก็เป็นของฮั้งคีม

    พี่น้องของฮั้งคีม ก็จะมีชื่อขึ้นต้นด้วยฮั้ง เช่น ฮั้งลั้ง เจ้าของโรงสี , ฮั้งชอในตลาดหนองบัว เป็นต้น

    แค่นี้ก่อนครับ ต้องรีบไป กลับจากหนองบัว เจอะเจออะไรจะมาเล่าให้ฟังครับ (ไม่มีเวลามาจัดรูปแบบตัวหนังสือ ไม่รู้ว่าจะติดเป็นพืดไปเลยรึเปล่า)

    • สวัสดีครับฉิกครับ
    • ฮั้งคีมนี่เป็นเจ้าของรถเมล์แดงใช่ไหมครับ รถเมล์ของหนองบัว-ชุมแสง มีรถเมล์แดงและเมล์เขียว
    • ลูกโรงสีฮั้งลั้งนี่ เป็นรุ่นพี่ผมที่หนองคอกคนหนึ่ง 

    เมื่อตอนกลางวัน เพื่อนที่ปากน้ำโทรมาบอกว่า เมื่อวานนี้ได้เห็นสคริปต์โฆษณารายการทุ่งแสงตะวันที่จะออกอากาศช่อง3 วันพรุ่งนี้ (เสาร์ที่ 11 ก.ย.) เวลา 06.25 เค้าโปรยไว้ว่า "อุ้มน้องคืออะไร ไปรู้จักดอกไม้ที่ชาวบ้านและเด็กๆ อ.หนองบัว นครสวรรค์ รอคอย" อยากจะฝากให้พวกเราเฝ้าจอช่วงวัน-เวลาดังกล่าวครับ

    แต่ถ้าไม่ว่างในช่วงเวลาดังกล่าว ก็สามารถดูรายการย้อนหลังได้ทางอินเตอร์เน็ตนี่แหละ ก่อนที่ผมจะมาบอกกล่าว ผมก็ต้องไปย้อนดูรายการเมื่อวานหาโฆษณาที่ว่านี้ เพื่อจะได้ยืนยันข้อมูลตามที่เพื่อนบอกมา

    เมื่อวานไปงานพระราชทานเพลิงศพที่หนองบัว ได้อยู่ที่หนองบัวไม่ถึง 3 ชม.ก็ต้องกลับกทม. ไว้มีเวลาจะมาเล่าให้ฟังว่าไปเจอะเจออะไรมาบ้า ง แค่นี้ก่อนครับ

    เจริญพรคุณฉิก

    • ดีจังเลย ที่คุณฉิกได้ช่วยส่งข่าวบอกกล่าวความเคลื่อนไหวในหนองบัว
    • ถ้าคนหนองบัวอยู่ที่บ้าน เข้ามาอ่านตอนนี้ คงได้บอกกล่าวข่าวนี้กันเกลียวกราว แบบคนบ้านนอกเลยแหละ คือใช้วิธีกระจายข่าวง่ายๆบอกกันชนิดถึงตัวถึงบ้าน
    • เดี่ยวผู้เขียนดูแล้ว(ถ้าไม่ลืม) คงจะได้นำมาบอกเล่าให้พี่น้องชาวหนองบัวที่ไม่ได้ชมกันบ้าง
    • ดอกอุ้มน้องนี้เป็นผักป่า ผักพื้นบ้านของหนองบัว ที่ชาวบ้านรู้จักกันดี ถือเป็นของป่าที่ชาวบ้านได้นำมาบริโภคกันทุกปีตามฤดูกาล
    • ได้ทราบจากเว็บไซต์โรงเรียนหนองบัว(หนองคอก)ว่า ดอกอุ้มน้องเป็นพืชหายาก ถึงขั้นต้องอนุรักษ์กันเลยทีเดียว
    • ก็น่ายินดีกับเด็กๆและชาวบ้านหนองบัวอย่างมาก ที่ได้ช่วยกันอนุรักษ์ดอกอุ้มน้อง พืชเศรษฐกิจหนองบัวและนำมาเผยแพร่ให้ได้รู้จักกันในวงกว้าง

    เสริมต่อจากคุณอาฉิกครับ

    (2010-09-11) -อุ้มน้อง ทุ่งแสงตะวัน เด็กๆ บ้านร่องดู่ ต.หนองบัว อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ชวนเข้าป่าหน้าฝน พาไปรู้จักกับดอกไม้พื้นถิ่นกินได้ สีเหลืองสะดุดตา เด็กๆ มีวิธีนำดอกไม้ป่าออกมาอย่างไร โดยไม่เป็นการทำลายธรรมชาติ ต้องติดตามในทุ่งแสงตะวัน เสาร์นี้

    ภาพจากรายการทุ่งแสงตะวัน

    เสาอากาศทีวี : นวัตกรรมอันมหัศจรรย์บนหลังคาบ้าน

    • ไม่ว่ายุคสมัยใดก็ตาม เรื่องข่าวสารข้อมูลนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญเสมอมา ชาวบ้านตามชนบทนั้นยากเหลือเกินที่จะได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
    • ความรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ชาวบ้านรับรู้ได้ง่ายที่สุดก็คงหนีไม่พ้นวิทยุ และวิทยุนั้นก็ใช่จะมีกันได้ทุกบ้านก็หาไม่ รายการข่าวชาวบ้านจะออกอากาศเวลาเช้า กลางวัน และกลางคืนจนถึงช่วงดึก
    • ส่วนรายการข่าวที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ จะออกช่วงเดียว คือภาคค่ำ เป็นการนำเสนอข่าวแบบจืด ๆ ชืด ๆ เชย ๆ ไม่ได้เน้นการนำเสนอแบบที่หวืหวา ตื่นเต้น แข่งขันช่วงชิงกันนำเสนอชนิดดุเดือดเป็นรายชั่วโมงตลอดวันตลอดคืนเหมือนยุคนี้แต่ประการใด
    • รายการข่าวเมื่อยุคก่อนหน้านี้ ผู้ชมทางบ้านได้ชมแต่ภาพข่าวอย่างเดียว ไม่มีโอกาศได้เห็นผู้อ่านข่าวเลย ได้ยินแต่เสียง เหมือนฟังข่าวจากทางวิทยุ ยังไง ยังงั้น ไม่แตกต่างกัน
    • ทีนี้มาพูดถึงนวัตกรรมมอันหัศจรรย์บนหลังคาบ้านกันดูบ้างว่าจะเป็นเช่นไร นวัตกรรมที่ว่านั้นก็คือเสาอากาศทีวี เสาโทรทัศน์นั่นเอง
    • การติดตั้งเสาอากาศฯ ตามต่างจังหวัดหรือตามบ้านนอกนั้น ก็แสนจะน่าทึ่งเสียเหลือเกิน เพราะค่าติดตั้งเสามันจะแพงกว่าตัวโทรทัศน์นะซิ
    • เสาอากาศทีวีนี้สูงเสียดฟ้าเลยทีเดียว สูงปานเสาโทรเลขนั่นแหละ เคยนั่นรถไฟผ่านตลาดอำเภอตะพานหิน อำเภอบางมูลนาก จ.พิจิตร ตลาดอำเภอชุมแสง ตลาดปากน้ำโพ ตลาดเมืองนครสวรรค์ ในตลาดดังกล่าวมีสิ่งมหัศจรรย์อันหนึ่งนั่นก็คือเสาอากาศโทรทัศน์ที่สูงเทียมฟ้าเรียงกันเป็นตับ ยิ่งมีบ้านช่องหนาแน่นมากๆ ก็จะดูแปลกตาดีแท้ๆ โดยปลายเสาแต่ละเสาจะมีก้านแยกย้ายกันออกไปดักจับคลื่นในอากาศ
    • สำหรับที่ตลาดหนองบัวนั้น ก็มีเสาทีวีเยอะไม่แพ้ที่อื่น โดยเพฉาะเมื่อมองจากชั้นสองของกุฏิพระวัดหนองกลับด้วยแล้ว จะมองเห็นนวัตกรรมนี้เมือบ(เยอะแยะ)มากมายทั้งตลาด
    • เสาสูงมากขนาดนี้เมื่อถูกลมกระทบแรงๆเสามักเคลื่อนตัวทำให้ภาพทีวีไม่ชัด ทั้งเสียง และภาพ การจะขึ้นไปขยับเสาอากาศบนหลังคาบ้านเพื่อปรับสัญญาณ ต้องอาศัยคนใจกล้า ใจถึงหน่อย คนอยู่ข้างบนขยับเสาไปมา แล้วก็จะตะโกนถามคนข้างล่างว่า
      “ แจ่มยังล้าว.....”
      ทางข้างล่างที่จ้องหน้าจอ สังเกตการณ์ภาพที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป แล้วก็รายงานผลขึ้นไปว่า
      “ยัง ๆ ภาพยังลายอยู่ ภาพยังซ้อนอยู่เลย”
      ช่างประจำบ้านที่อยู่ข้างบนก็ขยับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะลงตัว ประมาณนั้น
    • บนเสาสูงนี้ยังมีปัจจัยหรือองค์ประกอบอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นกันจนชินตาเป็นที่นิยมกันโดยทั่วไปของชาวบ้านเลยก็คือ กาละมังสังกะสีขนาดย่อมใบหนึ่งใช้สำหรับปรับภาพทีวี
    • ไม่แน่นะ ชาวบ้านใช้นวัตกรรมกาละมังสังกะสี และนวัตกรรมนี้อาจเป็นที่มาของเทคโนโลยี่ยุคไอทีก็ได้ คือจากกาละมังฯ กลายมาเป็นจานดาวเทียม

     

     

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
    สวัสดีครับฉิกและคุณเสวกครับ

    รู้สึกได้ถึงความสุขและความภาคภูมิใจของทุกท่านเลยนะครับที่เห็นเรื่องราวจากท้องถิ่นหนองบัว ได้เป็นสื่อการเรียนรู้ของสังคมและสิ่งแวดล้อมของสาธารณะ

    รายการทุ่งแสงตะวัน ของคุณนิรมล เมธีสุวกุลนี่ ทำให้ผมนึกถึงสื่อพัฒนาการเรียนรู้ของสังคมที่สร้าง Mass Culture ที่ในยุคหนึ่งๆก็จะมี หล่อหลอมและให้ประสบการณ์ร่วมกัน สร้างบุคลิกของคนแต่ละรุ่นในสังคม เช่น ยุคลุงล้วน ควันธรรม ต่อมาก็ยุคสโมสรผึ้งน้อย แล้วก็มาถึงยุคทุ่งแสงตะวัน  เป็นความงดงามและเป็นชีวิตที่ยิ่งใหญ่ดีนะครับ

    • เมื่อวาน(๑๑ กันยายน ๒๕๕๓)ตั้งใจว่าจะดูรายการทุ่งแสงตะวันที่นำเสนอเรื่องดอกอุ้มน้อง ผักป่าจากหนองบัวบ้านเรา แต่ดูไม่ทัน
    • อินเตอร์เน็ตก็ช้ามากๆ จะเข้าไปดูย้อนหลังจากทีวีก็คงไม่สะดวก(เน็ตอืด)
    • คงต้องรอจากผู้ได้ชม(คุณฉิก)หรือท่านใดที่ได้ดูแล้ว จะช่วยนำมาเล่าให้ฟัง ก็น่าจะทำให้ได้ข้อมูลความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีก
    • ขอเจริญพร

    พระอธิการโชคชัย ชยวุฑโฒ (เอี่ยมยัง) เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 12 กันยายน 2553

    เรียนท่านพระมหาแล อาสโย เจริญพรอาจารย์ ดร. วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    • เสียงสะท้อน การคุยและฟังเสียงหัวใจของพระนิสิตนักศึกษา กับการปรึกษาวิชาการและวิทยานิพนธ์ การให้การศึกษาอบรมและการวิจัยวิทยานิพนธ์ของนักศึกษานั้น ต้องจัดความสำคัญใหม่ให้เป็นการเรียนรู้และทำวิจัยด้วยกัน มากกว่าจะคิดว่านักศึกษาและผู้เรียนเป็นผู้ที่ยังไม่รู้และได้ความรู้ความเชี่ยวชาญไปจากอาจารย์ผู้สอน.... เราต้องมองว่า การศึกษาและการทำวิจัยของนักศึกษานั้น ไม่ควรมองว่าเป็นนักเรียนและนักศึกษา แต่เป็นการมาทำงานด้วยกันกับอาจารย์และทีมวิชาการในสภาพแวดล้อมที่จะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนทางวิชาการให้เขาได้ทำงานได้เป็นอย่างดีและอย่างมีอุดมคติ เป็นเวทีที่นำเอาปัญหาจากความเป็นจริงมาเรียนรู้และทำงานทางวิชาการ โดยมุ่งประสบการณ์หาความสำเร็จในวิถีวิชาการที่ทำงานเพื่อสังคม ทั้งของท้องถิ่นและของโลก

    • แล้วกระบวนการทำวิจัยก็จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน อีกทั้งหลายเรื่องก็กลายเป็นการได้ทำงานด้วยกันที่สามารถเป็นโอกาสแสดงออกทางวิชาการในเชิงอุดมคติ กล่อมเกลาและพัฒนาสภาวะตัวตนไปด้วยกันมากกว่าจะเป็นการทำงานให้เป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดให้ต้องแบบแกนๆของเขา (วิรัตน์ คำศีรจันทร์, วิถีประชาศึกษา, หน้า205-206)

    • “ ...กระบวนการเรียนรู้ คือการพาคนอื่นพัฒนาความรู้และสร้างศักยภาพเพื่อนำไปปฏิบัติต่างๆนั้น หากไม่ให้สังคมภายนอกเขานึกถึงและพึ่งพาคนมหาวิทยาลัยแล้วละก็ คนเขาจะไปพึ่งใครและสังคมเขาจะสร้างมหาวิทยาลัยมาทำไม??? ...... “ (การใช้บล็อกช่วยเพิ่มขีดความสามารถคนทำงานความรู้/สอนและบริการวิชาการฯลฯ)

    • โยมอาจารย์วิรัตน์ครับจากที่อาตมาอ้างมาในเบื้องต้นนั้น ทำให้การศึกษาวิจัยเวทีคนหนองบัวดูจะเข้มข้นมีรสชาติ และสืบเนื่องจากที่อาตมาไม่ได้พูดคุยถึงความคืบหน้างานวิจัยกับอาจารย์วิรัตน์มานานพอสมควรปัญหาเกิดจากการติดตั้งอินเตอร์เน็ตยังไม่สมบูรณ์ แต่ได้นำประเด็นการศึกษาวิจัยไปเสนออาจารย์ที่คณะ มีคำถามที่ถามอาตมาเกิดขึ้นมากมาย พอจะพูดคุยแลกเปลี่ยนให้อาจารย์ทราบและรบกวนอาจารย์วิรัตน์ช่วยตอบด้วยครับ

    • ประเด็นหรือหัวข้อเรื่องที่นำไปเสนอคือ การใช้เครือข่ายทางสังคม(Social Networks)เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะท้องถิ่น กรณีศึกษาเวทีคนหนองบัวผ่านเว็บบล๊อกGotoknow

    • หมายเหตุ: อาตมาใช้คำว่า เครือข่ายทางสังคม (Social Networks) แทนคำว่า สื่อสารเทคโนโลยีสารสนเทศและอินเตอร์เน็ต/ นวัตกรรมและเทคโนโลยี

    โดยมีวัตถุประสงค์/กรอบแนวคิด คือ

    1. เพื่อศึกษาการใช้เครือข่ายทางสังคม ( Social networks ) เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะท้องถิ่นของเวทีคนหนองบัว

    - ศึกษาประวัติความเป็นมาในอดีต

    - ศึกษาการดำเนินงานในปัจจุบัน

    2. เพื่อศึกษาแนวคิด วิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการใช้เครือข่ายทางสังคม ( Social networks ) เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะท้องถิ่นของเวทีคนหนองบัว

    - ศึกษาแนวคิด/ทฤษฎี

    - ศึกษาวิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือรูปแบบ

    - ศึกษาเนื้อหา/ประเด็น ที่เป็นนโยบายสาธารณะท้องถิ่น/สำนึกรักท้องถิ่น

    3. เพื่อศึกษาผลของใช้เครือข่ายทางสังคม ( Social networks ) เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะท้องถิ่นของเวทีคนหนองบัว

    - ศึกษาผลทางชุมชนท้องถิ่น ( ในพื้นที่ชุนชนหนองบัว )

    - ศึกษาผลชุมชน Online

    - วิธีคิดและวิธีปฏิบัติ

    • จากวัตถุประสงค์ดังกล่าว ถูกตั้งคำถามมากมาย แต่ในการถามถ้าถามแล้วทำให้เกิดการเรียนรู้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถามและผู้ตอบ (ปุจฉา-วิสัชนา ปริศนาวิถีวิทยา) เป็นคำถามที่สร้างสรรค์ ชวนให้คิด เกิดจินตนาการในการอยากที่จะเรียนรู้ และตอบได้โดยอัตโนมัติก็จะเป็นสิ่งที่ดี เช่น การศึกษาวิจัย เราจะศึกษาอะไร ศึกษาเพื่ออะไร ศึกษาทำไม ซึ้งเป็นคำถามที่ตั้งขึ้นมาแล้วหาคำตอบ/ตอบโจทย์ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย ก็พอจะรับได้ตอบได้

    • แต่มีคำถามที่ผู้ศึกษาวิจัยถูกถามแบบไม่ทันตั้งตัว(เหมือนถูกชกโดนน็อกล้มลงกลางเวที)

    • ถาม: เวทีคนหนองบัวในเว็บบล็อกโกทูโนก่อเกิดขึ้นมาเมื่อไร? เป็นเวทีที่ประสบความสำเร็จแล้วใช่ไม? มีใครบ้างยอมรับ เคยได้รับรางวัลอะไรมาบ้างหรือว่าประสบความล้มเหลว? แล้วทำไมจึงศึกษาเวทีคนหนองบัว ข้อดี/ข้อเสีย ? มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจ เวทีอื่น/เว็บอื่นก็มีเกิดขึ้นมากมาย ทำลักษณะนี้ก็มีเยอะแยะ คนเขียนเว็บบล็อกเป็นคนทำวิจัยเองหรือเปล่า หรือเป็นการสร้างกระแส เชียร์เว็บตัวเองเพื่อดูให้น่าสนใจ แล้วจำนวนคนที่เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อ่านบทความมีจำนวนสถิติเท่าไรจึงถือว่าประสบผลสำเร็จ คนบางคนเข้ามาครั้งเดียวก็หายเงียบไปก็มีเยอะ คนๆเดี่ยวกันใช่ชื่อหลายชื่อก็มี และที่สำคัญเวทีคนหนองบัวมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นนโยบายสาธารณะได้อย่างไร/มีประเด็นอะไรน่าสนใจ?

    • อาตมภาพต้องขอรบกวนอาจารย์วิรัตน์ และท่านผู้รู้ ช่วยอธิบาย ให้ความเห็นตอบคำถามเหล่านี้ตามความเหมาะสม เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาวิจัยต่อไป

    • เจริญพร ขอบพระคุณ ณ โอกาสนี้

    เปิดเข้าไปในพันทิปและเวปอื่น ๆ มีแต่คำชมว่า......ดอกอุ้มน้อง......เป็นคำที่น่ารักมาก รูปร่างสีสันดูสวยงามดี

    ผมเองก็เคยได้ยินญาติ ๆ ที่ร่องดู่และหนองขามพูดถึงเหมือนกัน แต่นานมาแล้ว เพิ่งมาเห็นภาพจากสื่อเมื่อไม่กี่วันมานี้เองครับ

    • ดอกอุ้มน้องของหนองบัวเราดังใหญ่แล้วตอนนี้ เห็นสื่อต่างๆนำมไปเผยแพร่กันหลายแห่ง
    • ดอกอุ้มน้องเมื่อก่อนเยอะมากๆ มีตั้งแต่ป่าบริเวณใก้ล้ๆโรงเรียนหนองคอกขึ้นไปจนถึงเขาพระ เขามรกต เทือกเขาต่างๆ ของอำเภอหนองบัวมีหมด
    • คนหนองบัวนำไปทำเป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น หมกกับพริกเกลือ(ใส่เนื้อ),ต้ม, ผัด,ดิบๆจิ้มพริกเกลือ
    • ที่อร่อยมากและขึ้นชื่อเลยก็คือหมกดอกอุ้มน้อง(หมกพริกเกลือ) ถ้าให้ได้บรรยากาศแบบเที่ยวไป กินไปแล้วละก็ ต้องหมกกินกันในป่า หมกด้วยใบตองควง(พลวง)ร้อนๆ นั่งล้อมวงกินใต้ต้นไม้ บนห้างนาจะอร่อยไม่รู้ลืม
    • ช่วงนี้ในตลาดหนองบัวก็มีขาย หาซื้อกินได้
    • อาตมานั้นไม่ได้กินหมกดอกอุ้มน้อง สักยี่สิบ-สามสิบปีได้แล้วละ

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าฯ ในนสพ.ข่าวสดวันที่ 10 ก.ย. ก็ได้ถ่ายทอดเรื่องราวในทุ่งแสงตะวันมาเป็นตัวหนังสือ แต่จริงๆอยากให้ดูในทีวีมากกว่า

     http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNVEV3TURrMU13PT0=&sectionid=TURNeE1RPT0=&day=TWpBeE1DMHdPUzB4TUE9PQ==

    ไปดูลูกหลานของเรานำเสนอรายการว่าน่าสนใจแค่ไหน การถ่ายทำจากทีมงานมืออาชีพที่ได้เนื้อหาสาระและมุมมองหนองบัวที่สวยงาม เสียงบรรยายที่น่าฟังของคุณนิรมล รวมทั้งเพลงประกอบที่ไพเราะและสวยงาม ขนาดแม่บ้านผมตื่นลงมาข้างล่างตอนที่เพลงนี้กำลังร้องพอดี ยังเอ่ยปากชมเลยว่าเพลงเพราะจัง ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าเป็นเรื่องราวอะไร

    เนื้อเพลงอุ้มน้องที่ทางทีมงานทุ่งแสงตะวันแต่งเพื่อใช้ประกอบรายการ
    อุ้มน้อง
    ป่าอุ้มฝน ฝนอุ้มน้ำ น้ำอุ้มป่า
    คลองอุ้มปลา ฟ้าอุ้มเมฆ หมอกอุ้มภู
    ดินอุ้มไม้ ไม้อุ้มรัง-รวงนกอยู่
    คนอุ้มรัก รักอุ้มชู โลกชื่นบาน
    โอ้เจ้าดอกอุ้มน้อง  อุ้มน้องอุ้มนาน
    อุ้มดอกสวย อุ้มดอกหวาน อุ้มดอกไหว
    อุ้มโอบด้วยรัก ฟูมฟักด้วยใจ
    ฟ้าหว่านฝน คนหว่านฝัน อุ้มน้องดอกไม้

    เจริญพรคุณฉิก

    • อนุโมทนาขอบคุณคุณฉิก ที่ตามข่าวนี้และได้นำบทความเรื่องดอกอุ้มน้องจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด มาให้ชาวหนองบัวได้อ่านกันในที่นี้
    • แค่เห็นเพียงเนื้อเพลง ยังไม่ได้ยินเสียงคนร้องเลย ก็ได้เนื้อหาใจความเรื่องราวของดอกอุ้มน้องอย่างดี
    • ได้ตามไปอ่านบทความแล้ว ครบถ้วนดีมาก ยังไม่ได้ดูทางทีวีเลย
    • ขอบคุณรายการทุ่งแสงตะวัน คุณนิรมล เมธีสุวกุล,หนังสือพิมพ์ข่าวสด

       ดอกอุ้มน้องกับทุ่งแสงตะวัน   
    สื่อพัฒนาเด็กและการเรียนรู้สร้างภูมิปัญญาทางสังคม
    เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มั่นคงและยั่งยืน

    คึกคัก ได้บรรยากาศทั้งความภูมิอกภูมิใจและได้ขยายการเรียนรู้ในสิ่งที่อยู่ใกล้ๆนี่เองแต่เรายังไม่ได้เข้าไปเรียนรู้ ไม่ได้เข้าไปเห็นความน่าชื่นชมซาบซึ้ง อีกทั้งเป็นโอกาสสร้างสรรค์สิ่งที่มีอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะหนองบัว ถิ่นฐานของดอกอุ้มน้องและคนหนองบัว เลยต้องขยับเท้าก้าวเข้ามาร่วมเสวนาบนลานปัญญาของคนหนองบัวด้วยนะครับ แต่จะเสริมมุมมองให้เพิ่มความหลากหลายและได้แนวคิดเอาไว้ทำงานไปด้วยนะครับ

    ดอกอุ้มน้องกับพริกเกลือของคนหนองบัว  เป็นสองสิ่งที่บ่งชี้สองระบบของความเป็นชุมชนหนองบัวที่สำคัญมากเลยครับ คือ .. ดอกอุ้มน้อง เป็นสิ่งบ่งชี้ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ของหนองบัว และพริกเกลือ ก็เป็นสิ่งสะท้อนวัฒนธรรมการเป็นอยู่ที่เชื่อมโยงอยู่กับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น

    การได้เรียนรู้และทำให้ดอกอุ้มน้องกับพริกเกลือ ยังคงมีบทบาทความสำคัญ กลมกลืนอยู่กับวิถีชีวิตของคนหนองบัว รวมทั้งคนหนองบัวได้เรียนรู้และปฏิบัติต่อดอกอุ้มน้องกับพริกเกลือด้วยความสำนึกผูกพันกับสังคมและสิ่งแวดล้อม และด้วยการมีความรู้ความเข้าใจของการดำรงอยู่ของดอกอุ้มน้องกับพริกเกลือ ก็จะทำให้วิถีการกิน วัฒนธรรมอาหาร ไลฟ์สไตล์ ของทุกคน มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีความสมดุลและยั่งยืนอยู่ได้ เป็นการกินอยู่ ในสิ่งที่ผลิตและมีอยู่ในชุมชน ทำให้มีพลังการพึ่งตนเองและมีความพอเพียงอยู่ในตนเองในระดับหนึ่ง

    นอกจากนี้ การที่ยังคงมีดอกอุ้มน้องงอกงามและสามารถทำมาหากินได้ตามฤดูกาลนั้น ย่อมบ่งบอกถึงความสมดุลของหลายปัจจัยที่ยังคงรักษาไว้ได้ดีอยู่โดยชุมชนและคนหนองบัว หากได้เรียนรู้ระบบและความเชื่อมโยงของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติดอกอุ้มน้อง ก็จะทำให้คนหนองบัวรู้ว่า การที่เราได้รักษาท้องถิ่น วิถีชีวิตชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนกันและกันนั้น นับว่าเป็นการรักษาและสืบทอดภาวะความพออยู่พอกินไว้กับชุมชน ซึ่งทำให้ยังคงมีดอกอุ้มน้อง ให้เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจอีกด้วย 

    ส่วนพริกเกลือนั้น ส่วนประกอบของพริกเกลือ ก็ล้วนมาจากวัตถุดิบที่มีอยู่กับชุมชนและวิถีการทำมาหากินของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ปราร้า กระเทียม หอม พริก มะกรูด มะนาว ข้าวคั่ว มะขาม ซึ่งเป็นผลผลิตจากการทำนาทำไร่ และการปลูกพืชผักตามปลวกโพน ที่รกร้างและคันนา

    ดังนั้น การกินพริกเกลือและหวงแหนวิถีวัฒนธรรมอาหาร ให้มีชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบัน จึงทำให้เกิดพลังการบริโภคและความมีคุณค่าอยู่ในสังคมเศรษฐกิจในปัจจุบัน คนทำนาทำไร่จึงสามารถทำผลผลิตที่ผู้คนและชุมชนยังคงบริโภคและใช้สอย ทำให้สามารถมีกำลังพัฒนาการดำเนินชีวิตอยู่กับที่ดิน และสร้างความเป็นชุมชน มีสุขภาวะด้วยความพึ่งพิงอิงกันในระบบชีวิตของชุมชน

    รูปแบบรายการของทุ่งแสงตะวันนั้น ก็ให้ปัญญาและเป็นแบบอย่างของความริเริ่ม ทำความแตกต่างและเพิ่มความหลากหลายให้กับสังคมมากเลยนะครับ โดยเนื้อหาแล้ว ก็เป็นการสื่อสารและสร้างการเรียนรู้สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำได้ยาก และมีสื่อแนวนี้อยู่รอดได้ยาก

    การที่รายการทุ่งแสงตะวันสามารถทำได้และยังคงเป็นรายการที่เป็นกัลยาณมติรต่อการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งเป็นสื่อแบบสร้างปฏิสัมพันธ์ให้กับครอบครัวและชุมชนได้นั้น จึงให้วิธีคิดสำหรับการริเริ่มทำสิ่งดีๆได้อีกหลายอย่างครับ

    ทุ่งแสงตะวัน เป็นการสร้างความรู้ขึ้นจากท้องถิ่นและจากชุมชนในแหล่งต่างๆของประเทศ ซึ่งโดยรายการนั้น นอกจากจะขยายผลสิ่งดีจากพื้นถิ่นต่างๆไปสู่การสร้างการเรียนรู้และเสริมพลังความรอบรู้เกี่ยวกับตนเองของสังคมในวงกว้างแล้ว ก็เป็นสื่อที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ตนเองและทำให้ชาวบ้านได้เข้าไปอยู่ในสื่อเพื่อถ่ายทอดความมีภูมิปัญญาเกี่ยวกับตนเองออกไปผ่านสื่อ ไม่ใช่รูปแบบที่มุ่งให้คนอื่นที่มีความรู้หรือมีความเป็นที่นิยมของผู้ชม มาเป็นตัวดึงดูด ทำรายการ และรายงานผ่านสื่อให้คนท้องถิ่นได้รู้จักและเรียนรู้ตนเองเหมือนรายการสื่อทั่วๆไปเท่านั้น

    ที่สำคัญคือ เป็นรายการที่สร้างให้กลุ่มเด็กๆ ซึ่งมีธรรมชาติเป็นสื่อเกี่ยวกับสิ่งดีๆ สิ่งๆที่เป็นเรื่องอนาคตและความยั่งยืน ความใสบริสุทธิ์ ความมีธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ ที่ทรงพลัง มาเป็นผู้นำเสนอ เดินเรื่องราว และถ่ายทอด ให้ผู้ชมได้เข้าไปสัมผัสโลกและสิ่งแวดล้อมที่โอบอุ้มความเป็นเด็กๆ นอกจากการสื่อสารจากบทสนทนาต่างๆแล้ว ความเป็นชีวิตและการแสดงออกของกลุ่มเด็กๆ ที่คุณนิรมลเธอเป็นเหมือนพี่เลี้ยงเดินจูงมือและส่งเสริมการพูดคุยของเด็กๆ พาผู้ชมเดินท่องเข้าไปมีประสบการณ์ต่อสิ่งงดงามผ่านสายตาของเด็กๆ ก็มีพลังในการสื่อสะท้อน สร้างการเข้าถึงสิ่งต่างๆได้อย่างลึกซึ้ง

    การเรียนรู้ชุมชน การสืบทอดรักษาภูมิปัญญา และการมีความผูกพันต่อสิ่งต่างๆของชุมชน ตลอดจนการนำเอาความรู้และภูมิรู้เกี่ยวกับตนเองมาชี้นำการดำเนินชีวิต จึงมีส่วนที่ทำให้เรื่องราวชีวิตชุมชนตามท้องถิ่นต่างๆ ดังเช่น เรื่องดอกอุ้มน้อง ของคนหนองบัว เป็นความน่ารื่นรมย์ น่าเรียนรู้ อีกทั้งมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์การเรียนรู้ทางสังคมทางสื่อ ทำให้สังคมได้เห็นสิ่งดีงามและมีพลังความรู้สำหรับพัฒนาตนเองที่มั่นคงและยั่งยืน จัดการตนเองได้เพียงพอกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ได้อยู่เสมอ

    กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ

    • เวทีนี้คงจะไม่เหมาะสำหรับคุยกันในเชิงอธิบายเทคนิคการวิจัยเสียกระมังครับ เกรงว่าจะเป็นเรื่องจำเพาะสำหรับบางกลุ่มจนเกินไป ทำให้ผู้อื่นเข้ามาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยกันได้ยากน่ะครับ
    • แต่ก็อย่าเสียกำลังใจนะครับ แนวคิดและความสนใจหลายอย่างของพระคุณเจ้านั้น เป็นเรื่องสร้างสรรค์และน่าสนใจมากครับ เรื่องอื่นๆที่ดูยังไม่ลงตัวนั้น เป็นเรื่องปรกติครับ เรียนรู้กันได้ อีกทั้งอยู่ในระหว่างพัฒนาความรู้ความเข้าใจก็ย่อมเป็นอย่างนี้แหละครับ ไม่อย่างนั้นเราก็คงไม่ต้องมาศึกษาเรียนรู้กันนะครับ
    • อีกอย่างหนึ่ง ต้องกราบขอความเห็นใจนะครับ ผมก็ไม่มีความสามารถทำอย่างนั้นได้หรอกครับ หรือหากแม้นทำได้ โดยมารยาทและจรรยาบรรณทางวิชาการ ก็ไม่ควรทำครับ ท่านควรให้ความสำคัญต่อการปะทะสังสรรค์ทางวิชาการกับ Class ที่ท่านเรียนและ Academic advisor , Thesis advisor น่ะครับ ไม่อย่างนั้นก็จะไม่เป็นกระบวนการทางการศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรที่ท่านศึกษานะครับ จะยุ่งกันไปใหญ่ครับ
    • แต่หากต้องการเข้ามาคุยเพื่อหาโจทย์การวิจัยในนี้และใช้ช่องทางอย่างนี้เป็นวิธีหาความคิด ค้นหาประเด็นความสนใจ พร้อมกับแบ่งปันให้คนอื่นได้รู้ไปด้วย  จากนั้นก็ออกไปอ่านเอง มากกว่ามุ่งหาคำตอบเบ็ดเสร็จ อย่างนี้ก็จะพอได้ครับ หากพอๆกับต้องคุยเหมือนเป็นเนื้อหาตำราและงานวิจัยอย่างนี้ คงเป็นไปไม่ได้ทั้งคนอ่านและคนเขียนนะครับ 
    • อย่างคำถาม ที่พระคุณเจ้าถูกตั้งคำถามกลับนั้น ในความเป็นจริงแล้ว สามารถนำมาทำให้เป็นคำถามการวิจัยของพระคุณเจ้าได้เลยนะครับ ไม่ใช่คำถามทำให้ถูกน็อคหรอกครับ
    • อันที่จริงควรเข้าใจอย่างหนึ่งนะครับว่า การศึกษาในขั้นบัณฑิตศึกษานั้น  อาจารย์และ Facilitator เขาไม่สอนหรอกครับ เพราะต้องใช้ความรู้ ทฤษฎี และข้อมูลจำนวนมากจนเกินกว่าจะสอนเพียงให้จำความรู้ แต่ต้องเรียนรู้วิธีทำงานข้อมูล และใช้ความรู้แก้ปัญหา ในระดับวางแผนและเป็นผู้นำคนอื่นเขาได้ จึงต้องตั้งคำถาม สร้างความรู้ ทำวิจัย และจัดการความรู้เป็น 
    • ดังนั้น บทบาทหน้าที่อย่างหนึ่งของอาจารย์ของท่าน เขาก็ต้องทำอย่างนั้นแหละครับ คือ ตั้งคำถาม และทำให้นักศึกษามีความสามารถตั้งคำถามเพื่อแสวงหาความรู้ที่ดีอย่างเป็นระบบต่อไป อย่ามองว่าเป็นการถูกถามที่ไม่ตรงกับความคาดหวังของตนนะครับ
    • แต่บางคำถาม ก็เป็นคำถามที่ต้องตั้งคำถามใหม่ ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ได้ประเด็นการวิจัย อีกทั้งเป็นการตั้งคำถามที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์และปรากฏการณ์ที่กำลังสนใจ
    • โดยเฉพาะคำถามที่เกี่ยวข้องกับวิธีดำเนินการ กระบวนการ และผลทางเทคนิคปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกิดผลสำเร็จแล้วใช่ไหม ล้มเหลวอย่างไรหรือเปล่า ได้รางวัลอะไรบ้างไหม คนเขียนบล๊อกเป็นคนทำวิจัยและสร้างกระแสเองหรือเปล่า สถิติคนเข้ามาอ่านและเขียนเป็นอย่างไร เหล่านี้ จะเหมาะสำหรับการทำวิจัยปฏิบัติการหรือการวิจัยดำเนินการ (Implementation  Program Evaluation and  Research) ซึ่งคงจะไม่เป็นคำถามที่ดีที่เหมาะกับลักษณะการก่อเกิดเว็บบล๊อก และก็คงไม่สะท้อนความเป็นการวิจัยทาง Public administration ที่ดีนะครับ  
    • หากสนใจการทำกรณีศึกษาอย่างนี้ ต้องมองไปที่วิธี approach เชิงกระบวนระบบและความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่างๆภายใต้ปรากฏการณ์ที่สนใจ เพื่อตั้งคำถามเชิงระบบ นโยบาย และทำวิจัยเพื่อให้คำตอบ รวมทั้งได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องที่สำคัญใหม่ๆที่มีกรณีตวอย่างทางการปฏิบัติให้ตรวจสอบความเป็นจริงทางการปฏิบัติ ต้องมองอย่างนี้นะครับ
    • เช่น ในทรรศนะผมนั้น เวทีคนหนองบัว ก่อเกิดและสร้างขึ้นได้ด้วยเครือข่ายการร่วมคิดและร่วมแสดงออกทางการปฏิบัติ ของเครือข่ายคนหลายฝ่าย จะมีตัวตนจริงอย่างที่นำเสนอทางเว็บหรือไม่ หรือคนเดียวกันลงชื่อหลายคนเพื่อเขียนเชียร์กันเองหรือไม่ก็ไม่เป็นปัญหาและไม่เป็นประเด็นหรอกครับ  เพราะตัวผลที่เกิดคือข้อมูล ความรู้ การนำไปใช้ และการเกิดการแลกเปลี่ยนสื่อสาร ได้เกิดขึ้นจริงซึ่งเห็น จับต้องได้ และมีข้อมูลเป็นข้อเท็จจริงให้เห็น สามารถตรวจสอบได้อยู่พอสมควร ดังนั้น คำถามหนึ่งที่น่าหาความรู้และวิจัยค้นหาข้อเท็จริงมาแสดงก็คือว่า การทำให้เกิดอย่างนี้ขึ้นได้ ต้องอาศัยเครือข่ายของกลุ่มคนและปัจเจกที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ใครต้องทำอย่างไร ต้องพัฒนาตนเองอย่างไร ต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในลักษณะไหน ส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างไร พัฒนาวิธีเก็บข้อมูลมาเขียนและพัฒนาวิธีเขียนของตนเองอย่างไร มีปัญหาและอุปสรรคอย่างไร ทรัพยากรพื้นฐาน เช่น คอมพิวเตอร์ และปัจจัยสนับสนุนอื่นๆต้องเป็นอย่างไร ผลกระทบและผลสืบเนื่องเป็นอย่างไร การเชื่อมโยงไปสู่การนำไปใช้ในแง่ต่างๆ ทั้งพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของชุมชน การสร้างหัวข้อสื่อสารและปรึกษาหารือกันของชุมชนและกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง......เหล่านี้ เป็นอย่างไร
    • คำถามเหล่านี้ หากทำวิจัย หาคำตอบ อธิบาย และอ้างอิงกรณีตัวอย่างที่นำมาศึกษาให้สามารถเข้าใจได้ ก็จะสามารถพัฒนานโยบายและข้อเสนอแนะได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ดีได้ตั้งหลายอย่างครับ เช่น จะสามารถมีแนวนโยบายให้กับชุมชนและองค์กรท้องถิ่นได้ว่า หากต้องการพัฒนาระบบ IT เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ท้องถิ่นนั้น นอกจากนำเอาเครื่องมือลงไปติดตั้ง ซึ่งมักจะล้มเหลวมาตลอดทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆนั้น ในความเป็นจริงแล้วต้องทำอย่างเป็นระบบอย่างไรบ้าง หากจะพัฒนาคนก่อน จะต้องพัฒนาคนกลุ่มแต่ละกลุ่มอย่างไร คนของท้องถิ่นต้องเตรียมอย่างไร ส่งเสริมการเรียนรู้ของภาคประชาชนอย่างไร พัฒนาทักษะอะไรบ้าง ทำเป็นสื่อและวิธีจัดการความรู้เพื่อพลังการบิรหารการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง บทบาทของพระสงฆ์มีส่วนเกื้อหนุนและส่งเสริมได้อย่างไร ทำและไม่สามารถทำอย่างไรได้บ้าง ทำไม มีส่วนในการพัฒนาบทบาทใหม่ๆของสถาบันพระสงฆ์และวัด ต่องานสร้างความรู้และการพัฒนาทางปัญญาท้องถิ่น ให้บูรณาการกับความก้าวหน้าของวิทยาการและเทคโนโลยีของโลก ที่เหมาะสมได้อย่างไร มีนัยะต่อการพัฒนาพลเมืองและการบริหารจัดการภาคสาธารณะของภาคประชาสังคมที่สำคัญอย่างไร
    • การสร้างข้อมูลและความรู้ของท้องถิ่น ที่หลายแห่ง หลายหน่วยงาน หลายชุมชน ไม่สามารถทำได้ หากทำก็ทำเพียงได้ผลงานแต่ไม่ต้องสนใจว่าหลังจากนั้นเป็นอย่างไร อินเตอร์เน็ตและฐานข้อมูลมีแต่ความว่างเปล่าและรอให้คอมพิวเตอร์หมดอายุเพื่อทิ้งไปอย่างสูญเปล่าภายในไม่ถึงปี
    • ทว่า เวทีคนหนองบัวกลับทำได้นั้น เห็นได้อย่างแน่นอนว่าความรู้จากการปฏิบัติในแง่มุมต่างๆต้องมีอยู่ในคนหลายคน อย่างน้อยก็เป็นไปได้จริงและสะท้อนบริบทของสังคมไทยได้ดีกว่าอ่านสูตรสำเร็จมาจากตำรา คิดบนโต๊ะ หรือคาดคะเนเอาลอยๆอย่างปราศจากบทเรียนจากภาคปฏิบัติ
    • รวมทั้งน่าตั้งคำถามหาความรู้ภาคปฏิบัติเพื่อนำมาดำเนินการใหม่ให้ได้ว่าต้องมีวิธีช่วยกันสร้างอย่างไร เรื่องอะไรที่ชาวบ้านและคนทั่วไปจะสามารถร่วมทำแล้วค่อยๆพัฒนาขึ้นไปได้ เหล่านี้เป็นต้น หากเห็นว่ามีข้อมูลพอให้ตั้งคำถามและทำวิจัยได้ก็ทำได้ครับ ให้คนอื่นคิดและมองแทนคงไม่ได้ครับ มันไม่สามารถเบ็ดเสร็จได้อย่างนั้น ลองมองและหาวิธีตั้งคำถามใหม่ดูสิครับ 
    • อย่างไรก็แล้วแต่ พระคุณเจ้ามีแง่มุมเขียนคุยได้หลากลายและเป็นงานความคิดที่ลึกขึ้นเรื่อยๆนะครับ แสดงว่ามีความคล่องความคิด คล่องมือ และเห็นแนวทำงานได้คืบหน้ามากกว่าเดิม ขออนุโมทนาในความคืบหน้าที่เกิดขึ้นนะครับ
    • เรื่อง เครือข่ายทางสังคม นั้น ในทางสังคมวิทยาจัดว่าเป็นแนวคิดกว้างๆของระบบสังคมในหน่วยทางสังคมแบบต่างๆน่ะครับ หากจะทำวิจัย ก็ต้องระบุชนิดและกล่าวถึงเครือข่ายดังกล่าวอย่างเจาะจงลงไปครับ เช่น เครือญาติ เป็นเครือข่ายทางสังคมอย่างหนึ่ง กลุ่มประชาคม เป็นรูปแบบชุมชนและเครือข่ายทางสังคมของปัจเจกอย่างหนึ่ง  กลุ่มเพื่อน เป็นเครือข่ายทางสังคมอย่างหนึ่งของปัจเจก กลุ่มผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นเครือข่ายทางสังคมอย่างหนึ่ง การผลิตพริกเกลือ  การกระจายจ่ายแจก และการบริโภค เป็นเครือข่ายเศรษฐกิจสังคมอย่างหนึ่งของของสังคมและชุมชนที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบบนความเป็นพริกเกลือ การสร้าง อ่าน และใช้เว็บล๊อก เวทีคนหนองบัว ก็เป็นเครือข่ายทางสังคมอีกอย่างหนึ่ง ที่ผสมผสาน Social Reality กับ Virtual Reality เหล่านี้เป็นต้น ต้องอ่าน ทบทวน และมีประเด็นคุยได้อย่างเจาะจงที่สื่อถึงความสนใจได้มากขึ้นอีกครับ
    • ผมพยายามคุยเพื่อเป็นตัวแทนคนหนองบัว ให้ข้อมูลและความบันดาลใจ เพื่อพระคุณเจ้าจะได้เป็นเครือข่ายวิชาการเรียนรู้กับท้องถิ่น เป็นกำลังความรู้และเป็นกำลังทางปัญญาของท้องถิ่น ทั้งต่อการพัฒนาจิตใจและพัฒนาความรู้ให้กับชาวบ้านน่ะครับ

    เรียนท่านพระมหาแล อาสโย เจริญพร อาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศีรจันทร์

    • ขอเจริญพรขอบคุณโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ที่กรุณาช่วยตอบคำถาม และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยในครั้งนี้เป็นอย่างมาก

    • และอาตมาภาพต้องขออภัยในคำถามบางประเด็นที่ถามแล้วอาจดูไม่เหมาะสม

    • แนวคิด กระบวนการ วิถีวิทยาที่โยมอาจารย์สะท้อนให้มาอาตมาขอน้อมนำมาทบทวนข้อมูลในการศึกษาวิจัยสืบต่อไป

    • ในวันจันทร์ที่ 20 กันยายน 53 นี้อาตมภาพมีกระบวนการเวทีบรรยายพิเศษเรื่อง “จริยธรรมสำหรับนักพัฒนา” เพื่อสร้างเครือข่ายเรียนรู้กับท้องถิ่น ที่ อบต. ท่ามะเฟือง อ.พิชัย จ. อุตรดิตถิ์ ขออนุญาตโยมอาจารย์และท่านมหาแล ใช้ขอมูลเรื่อง กระยาสารท ข้าวหลาม ขนมจีน : อาหารชุมชน (วิถีประชาศึกษา) ไปเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมและการพัฒนาความรู้ให้กับชาวบ้านน่ะครับท่าน

    • เจริญพรมาด้วยความเคารพ

    • ได้ลองพยายามเข้าไปดูรายการทุ่งแสงตะวัน(๑๑ ก.ย.๒๕๕๓)อยู่หลายวัน แต่ดูไม่ได้สักครั้ง เพราะเน็ตอืดมาก
    • เมื่อสักครู่ได้ดูจนจบ กว่าจะจบได้ ก็ทนรออย่างกระท่อนกระแท่นเต็มที ดูได้นิดก็สะดุดหยุดไป สักพักสัญญาณเน็ตแรงก็ดูต่ออีก
    • ได้ฟังเพลง เจ้าดอกอุ้มน้อง โดย : พจนาถ พจนาพิทักษ์
    • เห็นเด็กๆโรงเรียนบ้านหนองไผ่-บ้านร่องดู่นำดอกอุ้มน้องมาทำอาหารแล้ว ทำให้นึกถึงหนองบัวเลยดีเทียว วันนี้แค่ดูทีวีย้อนหลังเพียงสี่ห้าวันเท่านั้น ถือว่าไม่นาน ยังใหม่สดๆอยู่
    • แต่เมื่อเห็นเด็กๆหมกดอกอุ้มน้องกับพริกเกลือ แล้วเด็กบอกว่าหมกนี้อร่อยสุดเสียด้วย เลยทำให้ตัวเองนึกย้อนหลังไปตอนที่หมกดอกอุ้มน้องกินในป่า(เลี้ยงควายป่าเหนือ-ช่วงนี้พอดี) ย้อนหลังไปไม่ไกลเท่าไหร่หรอกนะ แค่สามสิบปีที่แล้วนี่เองแหละ
    • น่ายินดีที่ชาวบ้านร่องดู่และเด็กๆได้ช่วยกันปลูกและอนุรักษ์พืชผักป่าของกินท้องถิ่นหนองบัว ผักรูปงามนามเพราะ ที่ชื่อว่าดอกอุ้มน้อง
       

    กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยที่เคารพครับ

    • ด้วยความยินดีและกราบอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งครับ 
    • เรื่องอาหารชุมชน วิถีการทำอยู่ทำกิจของชาวบ้านชุมชนต่างๆนั้น หากนำมาเป็นสื่อเรื่องราว เพื่อขยายความเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้ให้กับชาวบ้านแล้วละก็ เชื่อว่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านทั่วไปได้สามารถนำเอาประสบการณ์ทางสังคมมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันและเชื่อมโยงตนเองกับโลกกว้างบนฐานความเป็นตัวของตัวเองได้มากขึ้น
    • โดยเฉพาะเมื่อสามารถเชื่อมโยงเข้าสู่หัวข้อธรรม ไม่ว่าจะเป็นความสามัคคี ความกตัญญูต่อธรรมชาติ ถิ่นฐาน ชุมชน บุพการี หากทำโดยพระสงฆ์และผู้นำทางจิตใจ ก็จะทำให้ชาวบ้านเข้าถึงการทำบุญและการพัฒนาชีวิตในแง่มุมที่สอดคล้องกลมกลืนไปกับความเป็นจริงในสังคมได้มากยิ่งๆขึ้น ทำให้ชาวบ้านเห็นธรรมะอยู่ในวิถีการงาน การดำเนินชีวิต และการกินการอยู่
    • จึงเป็นทั้งหลักใจ-หลักเจริญสติปัญญาให้ชาวบ้าน เสริมกำลังทางสังคมในการจรรโลงศาสนธรรมเข้าสู่การดำเนินชีวิตแบบชาวบ้าน และพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคมในท่ามกลางโลกความเปลี่ยนแปลง
    • ขอกราบอนุโมทนาให้พระคุณเจ้าและคณะได้กำลังใจและทำกิจครั้งนี้ให้บรรลุความสำเร็จอย่างงดงามทุกประการครับ

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลที่เคารพครับ

    • เนื้อหาของเพลงไพเราะทั้งภาษา ความหมาย การถ่ายทอดเรื่องราว และจังหวะของการใช้คำ มากเลยนะครับ
    • โดยเฉพาะวิธีถักทอความต่อเนื่อง ความเป็นเหตุผลของกันและกัน ก็สามารถสื่อสะท้อนนัยความเชื่อมโยงกันของระบบนิเวศและสรรพชีวิต ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม มนุษย์ และคนหนองบัว เป็นการนำเสนอความคิดเชิงระบบที่งดงามสมกับความเป็นดอกอุ้มน้องที่บ่งชี้ความเป็นท้องถิ่นหลายมิติ
    • เป็นวิธีใช้ปรากฏการณ์สังคมและปรากฏการณ์ธรรมชาติมาเป็นสาระการเรียนรู้ทางสังคมอย่างมีความหมายและมีความแยบคายลึกซึ้งอย่างยิ่งเลยนะครับ
    • หนองบัวคงมีเรื่องราวให้สามารถสื่อสารให้การเรียนรู้แก่สังคม รวมทั้งให้การเรียนรู้เพื่อทวีคูณพลังสร้างสรรค์ของตนเองได้ดีๆอย่างนี้อีกหลายอย่างของประชาชน 
    • นมัสการกราบเรียนท่านพระอาจารย์มหาแลและท่านพระอธิการโชคชัยนะครับ
    • อย่างตอนนี้นะครับ dialogue box ของพระคุณเจ้ากับคนอื่นๆที่ไม่ได้เข้าผ่านการลงทะเบียนและแสดง IP address แทนนั้น  มีรูป ชื่อ และข้อมูลเป็นของคนอื่นขึ้นมาแทนหมดเลยละครับ แต่บางครั้งก็หายไปโดยที่ข้อความต่างๆยังคงอยู่ครบถ้วนเหมือนเดิม เข้าใจว่าเป็นความผิดปรกติของระบบครับ

    นมัสการท่านพระมหาแลฯ และสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    วันอังคารที่จะถึงนี้ ผมมีธุระกลับบ้านหลังจากไม่ได้กลับมาเกือบครึ่งปีแล้ว พอดีผ่านทางหนองไผ่/ร่องดู่ ตั้งใจว่าจะแวะเข้าไปดู/ชมหน้าตาของ...เจ้าดอกอุ้มน้อง...ที่บ้านอาซักหน่อย(ใกล้ ๆ กับวัดร่องดู่) เกิดมาอายุจนปูนนี้แล้ว ถ้าไม่เคยเห็นดอกอุ้มน้อง..........

    มีความรู้สึกว่าจะเป็นคนหนองบัวไม่เต็มร้อย ทั้ง ๆ ที่คนที่อยู่ห่างไกลต่างก็รู้ว่าที่หนองบัวมี ประกอบกับตัวเองก็วนเวียนเดินทางเข้า - ออกไปทำไร่มาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ร่องดู่ -หนองไผ่- เขาสูง- เขาดิน- ซับย้อย ปลายฤดูฝนอย่างนี้คงยังพอมีให้ดู

    คิดว่าอาจจะเคยเห็นนะครับ แต่ขณะนั้น ไม่สนใจหรือไม่รู้ว่าเขาเรียกว่าดอกอะไรเท่านั้นเอง.

    เจริญพรอาจารย์สมบัติ

    • ถ้าอาจารย์สมบัติติดต่อญาติที่หนองบัว(บ้านร่องดู่)ได้น่าจะลองให้ญาติช่วยหมกดอกอุ้มน้องเลี้ยงคนหนองบัวที่จากบ้านมานานๆสักมื้อ เมื่อเชลชวนชิมแล้วรสชาติเป็นอย่างไรก็นำมาบอกกล่าวกันในเวทีนี้อีกครั้ง
    • อยากจะบอกเหมือนกับที่เคยเขียนไว้ตั้งแต่ปีกลายนี้ ข้อเขียนนั้นคงอยู่ที่ไหนสักแห่งหนึ่งในเวทีหนองบัวนี่แหละว่า ดอกอุ้มน้องหมกพริกเกลือนั้น คนหนองบัวถือเป็นเมนูเด็ดของพืชป่าชนิดนี้เลยเทียว อร่อยมากๆ
    • ตอนนี้กระแสดอกอุ้มน้องหนองบัวบ้านเราแรงจริงเชียว ที่จริงแรงมานานแล้วแหละจะบอกให้
    • เมื่อวันก่อนได้พูดคุยกับคนหนองบัวหัวข้อนี้พอดี ท่านมีแนวคิดว่าอยากจะขอเชิญชวนชาวหนองบัว มาช่วยกันคิดกิจกรรม ส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมการทำหากิน การกินอยู่ วัฒนธรรมอาหารพื้นบ้าน กิจกรรมที่มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ผักป่าดอกอุ้มน้องนี้สักงานหนึ่งจะดีไหม ท่านว่าอย่างนั้น
    • คุยกันสองคนสรุปได้ความว่าน่าจะจัดกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับอาหารพื้นบ้านหนองบัวเราสักงานหนึ่งขึ้น พอดีมาช่วงนี้มีกระแสดอกอุ้มน้องออกเผยแพร่สู่สาธารณะในวงกว้าง ที่ทำให้หลายคนหันมาสนใจศึกษาเรียนรู้เรื่องนี้ยู่ด้วย ก็เลยลงมติเป็นเอกฉันท์ด้วยเสียงส่วนใหญ่มีอยู่สองเสียงคิดเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มหรือเกินร้อยด้วยซ้ำว่า น่าจะเป็นงาน "แกงพริกเกลือ-หมกดอกอุ้มน้อง" อะไรประมาณนี้แหละเพราะสองสิ่งนี้เป็นอาหารพื้นบ้านดั้งเดิมของหนองบัว โดยเฉพาะพริกเกลือด้วยแล้วคืออาหารวัฒนธรรมประจำถิ่นโดยแท้
    • คิดกันสองคนได้ข้อสรุปดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนก็เลยนำมาบอกกล่าวเชิญชวนชาวหนองบัวในที่นี้อีกต่อหนึ่ง
    • ท่านอื่นๆจะมีข้อเสนอแนะอะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ก็เชิญได้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบคนกันเอง สบายๆ
    • นี่ก็เป็นแนวคิด ถือว่าเป็นการชวนคิด ชวนคุยไปพลางๆก่อนก็แล้วกัน

     

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล
    และสวัสดีคุณสมบัติครับ

    • ผมเองก็เหมือนกับคุณสมบัติเลยละครับ ไม่รู้ว่าเคยเห็นและเคยรู้จักดอกอุ้มน้องหรือเปล่า แต่ดอกกะเจียวนั้นเคยเห็นและเคยเก็บกินมากมายในท้องถิ่นหนองบัว ผมเคยถามแม่และชาวบ้านแถวบ้านผม สวนใหญ่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ารู้จักในชื่อนี้ไหม แต่เวลาเข้าป่าและไปทำไร่นั้น ก็มีโอกาสเก็บมากินโดยไม่รู้ชื่อเรียกกันจำเพาะก็ได้นะครับ
    • พริกเกลือก็เช่นกันครับ ก็คล้ายกับแจ่วบองของชาวอีสาน และแถวบ้านผมก็เรียกปลาร้าสับทรงเครื่องบ้าง แจ่วบองบ้างเช่นกัน
    • แนวคิดอย่างที่ท่านพระอาจารย์มหาแลเสนอและชวนเชิญผู้สนใจมานี้ ก็น่าสนใจมากเลยนะครับ ผมเองก็อยากหาโอกาสมาจัดเวทีชาวบ้าน นั่งเสวนา รวบรวมข้อมูลและบันทึกเรื่องราวคนหนองบัวเก็บไว้เรื่อยๆ ตอนนี้ก็กำลังเตรียมข้อมูลสำหรับมาจัดกิจกรรมเวทีเรียนรู้ที่หนองบัวเช่นกันครับ
    • จะบอกกล่าวชวนเชิญไปด้วยเรื่อยๆเช่นกันครับ

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล ท่านอาจารย์วิรัตน์ และสวัสดีท่านอาจารย์สมบัติครับ

    ผมเองทราบข่าวว่าท่านอาจารย์สมบัติจะเดินทางไปหนองบัว และจะแวะเยี่ยมชมชมดอกอุ้มน้องที่บ้านร่องดู่ผมรู้สึกตื่นเต้นมากเลยครับ ผมเองคิดว่าท่านอาจารย์สมบัติคงจะมีภาพที่น่าประทับใจมาฝากให้ชมกันอย่างเต็มอิ่ม หมกดอกอุ้มน้องพริกเกลือ แกงพริกเกลือดอกอุ้มน้อง แบบวิถีของชาวหนองบัว ไม่มีที่ใดสุขใจเท่า ผมเองก็ยังไม่ได้กลับเช่นเดียวกัน ถ้าพูดแบบตามประสาคนหนองบัว คิดว่ากว่าจะได้ไปดอกอุ้มคงหมดรุ่นวายหมดแล้วครับดอกอุ้มน้องไม่เพียงแต่บ้านร่องดู่หลอกครับที่นำมาปลูกกันแถวหนองบัวหนองกลับชาวบ้านก็ปลูกกันตามสวนหลังบ้านกันก็หลายบ้านเลยทีเดียว แม้แต่ที่บ้านผมเองก็นำมาปลูกบางทีเราตั้งใจเข้าไปหาตามป่าเดี๋ยวนี้ไม่ต้องไปหรอกครับจะไม่ทันคนที่เค้าไปหาก่อน ปลูกที่บ้านมีมากก็ขายตามตลาดนัดบ้าง แจกเพื่อนบ้านกันบ้างพี่น้องใครอยากกินก็มาเก็บเอาแบ่งกันไป

    อีกไม่กี่วันก็จะถึงบุญข้าวเม่า หรือสารทไทยแล้วบุุญนี้ชาวหนองบัวก็จะกวนข้าวเม่า เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ญาติผู้ใหญ่ที่นับถือเช่นเดียวกับบุญขนมห่อ ยิ่งใกล้ออกพรรษาคนเท่าคนแก่ทายกวัดยิ่งคึกคักกัน ช่วยกันนั่งล้อมวงจักเหล่าตอกสานตกแต่งธรรมมาศทำกระพ้อมชะลอมไว้ใส่เครื่องพืชพันธุ์ผลหมากรากไม้ให้สวยงาม

    การจัดเวทีอย่างที่ท่านอาจารย์วิรัตน์บอกผมเห็นดีด้วยอย่างยิ่งครับเรานั่งล้อมวงกับชาวบ้านในช่วงงานบุญจะทำให้มีพลังในการขับเคลื่อนเป็นอย่างดีเลยครับ

    นมัสการท่านพระมหาแลฯ สวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์และคุณเสวก ครับ

    ก่อนเข้ามาในนี้ 1 นาทีและก่อนที่จะได้รับคำแนะนำดี ๆ จากคุณเสวก ผมโทรไปหาน้อง (ลูกอา) ที่บ้านร่องดู่ ถามเรื่องดอกอุ้มน้อง ทราบว่า....เขารู้ล่วงหน้าว่ารายการ...ทุ่งแสงตะวัน...จะออกรายการช่องไหน/วันไหน จึงติดตามชมกันทุกครัวเรือน ตอนถ่ายทำรายการก็ไปมุงดูกัน เป็นไทยมุงไปเลย

    น้องเขาบอกอีกว่า ดอกอุ้มน้องมักขึ้นรวมอยู่กับดอกกกระเจียว ตามคันนาก็ขึ้น แต่จะมีสีและกลิ่นที่แตกต่างกัน ชอบขึ้นอยู่ตามที่ดินร่วนปนทรายเช่นในป่าแถวบ้านร่องดู่/ร่องเข้ แต่ตามบริเวณเขาสูง/เขาดินไม่ค่อยมีให้เห็น

    เดี๋ยวนี้ชาวบ้านนิยมนำมาปลูกกันตามบริเวณบ้านแล้วส่งไปขายที่ตลาดหนองบัว ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนำไปวางขายตรงมุมร้านขายยา ระหว่างตลาดสดกับวัดหลวงพ่ออ๋อย

    จึงขอร้องแกมบังคับน้องเขาว่า วันที่ 27 นี้จะเดินทางออกจากหนองคายสาย ๆ หน่อย ถึงร่องดู่คงประมาณบ่ายสามโมง (ระยะทางประมาณ 450 ก.ม.) อาหารสำเร็จรูปจาก...ดอกอุ้มน้อง...2 - 3 อย่างคงตกถึงท้อง เป็นอาหารเที่ยง....กำลังหิวพอดี.... ทำความตกลงและสัญญากันทางโทรศัพท์ไว้อย่างนี้ครับ แต่พอถึงเวลาจริง ๆ ไม่รู้ว่าจะเป็นไปตามแผนหรือไม่.

    ดอกอุ้มน้อง : งานประชุมพระวัดใหญ่

    • พูดถึงดอกอุ้มน้อง ก็ทำให้นึกงานในวัดใหญ่งานหนึ่งในช่วงฤดูฝนนี้ขึ้นมาได้ คือเวลามีงานประชุมพระสังฆาธิการทุกระดับในอำเภอมี(เจ้าอาวาส,รองเจ้าอาวาส,ผู้ช่วยเจ้าอาวาส,เลขานุการ)ขึ้นที่วัดใหญ่(วัดหนองกลับ) ในฤดูที่มีดอกอุ้มน้อง ทางวัดโดยพระเดชพระคุณท่านเจ้าคณะอำเภอหนองบัว(พระนิภากรโสภณ-ไกร ฐานิสฺสโร ศรสุรินทร์) ท่านก็จะบอกบุญชาวบ้าน ตามหมู่บ้านต่างๆ ในหนองบัว-หนองกลับ ให้มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพ เลี้ยงเพลพระ เป็นข้าวหม้อ แกงหม้อ ส่วนใหญ่แล้วอาหารจากญาติโยมก็ไม่มีขาดแคลน พอขบฉัน
    • ส่วนทางวัดก็จะมีอาหารอีกส่วนหนึ่งที่ทำเพิ่ม เมนูที่ทำเสริมขึ้นนี้ เป็นที่รู้กันทั้งพระคุณเจ้าและญาติโยม คือเมนูเด็ดจากดอกอุ้มน้องนี่เอง ชาวบ้าน ทายก ทายิกา (ส่วนมาเป็นสว.ผู้สูงวัย) ที่มาช่วยงานวัดนั้น ส่วนมากมีประสบการณ์ตรงและเชี่ยวชาญในเรื่องทำอาหารป่าโดยเพฉาะ ยิ่งหมกดอกอุ้มน้องด้วยแล้ว ทำกินกันได้ทุกคนเมื่อออกป่า
    • ภัตตาอาหารเพลที่ผู้มาร่วมประชุมและผู้มาทำบุญรอคอยนั้นก็คือ หมกดอกอุ้มน้องนั่นเอง การหมกในวันนี้ต้องใช้พริกเกลือและดอกอุ้มน้องในปริมาณมากหน่อย มากพอให้ได้กินกันโดยทั่วถึงทุกคน แม้จะนำมาหมกในเมือง(ในวัด) แต่รสชาติไม่ด้อยกว่าหมกกินในป่าเลยแหละ
    • นี่ก็เขียนจากความทรงจำเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๐ กว่าๆ แต่ก็ยังพอนึกถึงร่องรอยบรรยากาศดังกล่าวได้พอสมควร

     

    • อ่านความเห็นที่ ๘๑๑ แล้ว ยิ่งทำให้มีอาการคิดถึงบ้านมากขึ้น คิดถึงดอกอุ้มน้อง และถ้าต้องกลับไปหนองบัว ก็จะต้องรีบไปให้ทันได้กินดอกอุ้มน้อง เพราะถ้าหลังจากนี้ไป ก็จะหมดฤดูกาล ต้องรอถึงปีหน้า ถึงจะได้กิน
    • อ่านคำบรรยายแล้วมองเห็นภาพ ที่ชาวบ้านชาวร่องดู่ กระตือรือร้น รอคอย จะได้ชมเรื่องราวใกล้ๆตัวจากบ้านตัวเอง รอดูลูกหลานจะได้ออกโทรทัศน์ อาตมาได้ตามไปดูแล้ว ก็ต้องขอชื่นชมเด็กๆโรงเรียนบ้านหนองไผ่-ชาวบ้านร่องดู่ โดยเฉพาะเด็กๆสามคมนั้น นำเสนอได้ดีมาก พูดจากคล่องแคล่ว ไม่มีตื่นกล้อง ไม่มีแบบว่าเห็นกล้องแล้ววิ่งหนีหายแน็บ อีกอย่างที่เห็นเด็กๆมีความรู้เกี่ยวกับดอกอุ้มน้องอย่างดีด้วย บรรยายได้สาระความรู้ครบถ้วน ต้องเรียกว่ารู้จริง
    • ขอให้อาจารย์สมบัติได้ชิมอาหารจากดอกอุ้มน้องให้ครบสองสามอย่าง อย่างที่ญาติๆตั้งใจทำไว้ต้อนรับ
    • เป็นหัวข้อสนทนาอีกแนวหนึ่ง ที่ชวนน้ำลายไหลอย่างยิ่งละครับ
    • อาหารอย่างนี้เป็นอาหารที่คละเคล้าจิตวิญญาณของชุมชนและถิ่นฐานบ้านเกิดมากเลยนะครับ คนที่อยู่ไกลบ้านและมีโอกาสกลับบ้าน เมื่อได้กินอาหารอย่างนี้ ก็เหมือนได้หวนคืนสู่ความเป็นหนึ่งกับรากเหง้าตนเองอยู่เสมอ
    • การได้กินอย่างที่ชุมชนมี เป็นการสร้างพลังความมีชีวิตของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกด้วยนะครับ

    กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ

    • ขออนุโมทนาในความสำเร็จครับ ได้ผสมผสานหลายอย่างเข้าไปในกิจกรรมเดียวกัน แล้วก็เป็นโอกาสในการให้การศึกษาอบรม เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้ชุมชน ได้มากเลยนะครับ
    • ชุมชน ชาวบ้าน และวัด ได้เสริมกำลังทางปัญญาและกำลังความเป็นชีวิตให้กัน แล้วก็ใช้วิธีเผยแพร่กิจกรรมนี้ เชื่อมโยงให้ชุมชนได้เริ่มมีพื้นฐานสำหรับติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก
    • สร้างความคืบหน้าเล็กๆน้อยๆอย่างนี้ ก็เป็นการเรียนรู้ที่พอเพียงดีครับ

    เรียนท่านอธิการโชคชัยครับ

    • ขออนุโมทนาขอบคุณกับท่านอธิการด้วยนะครับ ที่ได้นำเรื่องกระยาสารทจากเวทีคนหนองบัวไปนำเสนอแก่ชุมชนท่ามะเฟือง และก็ดีใจด้วยที่นำเสนอแล้วมีความสุขทั้งองค์ปาฐกและผู้ฟัง
    • น่าชื่นชมคนท่ามะเฟืองจังเลยนะครับที่เกิดการเรียนรู้เรื่องชุมชนของตัวเอง ถึงขนาดเกิดแนวคิดที่จะไปหามะเฟืองมาปลูกเลยหรือครับ สงสัยว่าปัจจุบันบ้านท่ามะเฟืองเริ่มจะหามะเฟืองกินไม่ได้แล้วละมั้งเนี่ย ขอสนับท่านอธิการที่ได้จุดประกายให้คนท่ามะเฟือง"ตามรอยมะเฟืองกลับบ้าน"
    • เรื่องดอกอุ้มน้องนี่ ผมมีประสบการณ์อยู่บ้างนะครับ ขอเล่าย่อๆ ว่าคนรุ่นผมนั้นคงไม่ได้คิดจะนำต้นดอกอุ้มน้องมาปลูกที่บ้านกันเลยครับ ยืนยันว่าไม่มีแน่แนวคิดนี้แน่ๆ เพราะอะไร ก็เพราะว่ายุคนั้น(สามสิบปีที่แล้ว) ดอกอุ้มน้องมีมากมาย หากินได้ไม่ยากเลยครับ
    • ประสบการณ์ที่ผมพอจะจำได้นี้ อยู่ในช่วงที่อำเภอหนองบัวยังไม่มีถนนสายอินทร์บุรี-วังทอง ถนนสายหนองบัว-ชัยภูมิ สี่แยกต้นอีซึกยังไม่เกิดเลยครับ โรงพยาบาลหนองบัวก็ไม่มี มีแต่โรงพยาบาลคริสเตียนอยู่ที่สี่แยกตลาดหนองบัวใกล้ๆวัดใหญ่ มีสุขศาลาตั้งอยู่ข้างๆที่ว่าการอำเภอหนองบัว
    • เรื่องการปลูกดอกอุ้มน้องนั้น ผมยังไม่เคยปลูกเลย แต่อาทิตย์ที่แล้วผมดูรายการทุ่งแสงตะวัน เด็กๆบ้านร่องดูเขาแนะนำวิธีการปลูกด้วยครับ คือการนำหน่อมาปลูกและการเพาะเมล็ด ถ้าสนใจจะนำดอกอุ้มน้องไปปลูกที่พรหมพิราม พิษณุโลก จริงๆ ไม่ยากหรอกนะ เดี๋ยวจะฝากบอกให้ญาติๆที่หนองบัวจัดให้ครับ

     

    กราบนมัสการ พระอาจารย์มหาแล ขำสุข (อาสโย) ท่านพระอธิการโชคชัย
    สวัสดี อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คุณฉิก คุณสมบัติ คุณเสวก กลุ่มพริกเกลือ และกัลยาณมิตรของชาวหนองบัวทุกท่านคะ

              1stanniversarynongbuablog.jpg picture by waweeme

    • ขอแสดงความยินดีกับ เวทีหนองบัว ที่ ครบรอบ ๑ ปี แล้วหล่ะค่ะ ..
    • มากกว่า ๒๐ ประเทศ ค่อนโลกที่แวะมาเยี่ยมเยือนชาวหนองบัว ..
    • มากกว่าหมื่นกัลยาณมิตร ..
    • การแสดงความคิดเห็นอีกร่วมพัน ใน ๒๘ หน้า ..
    • ทุกความคิดเห็นเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่ามากๆ ..
    • เวทีหนองบัว เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ออนไลน์ที่ดีไม่แพ้ใคร เลยต้องแวะมาชื่นชมอยู่บ่อยๆ ..
    • ขอแสดงความยินดีอีกครั้งค่ะ =)

    เจริญพรคุณโยมอาจารย์ณัฐพัชร์

    • อาตมาขอร่วมอนุโมทนาแสดงความยินดีกับ เวทีหนองบัว ที่ ครบรอบ ๑ ปี ด้วยอีกรูปหนึ่ง
    • และขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ร่วมด้วยช่วยกันอีกแรงหนึ่งด้วยน่ะ
    • ขอความเจริญสุข สวัสดีจงมีแด่เวทีคนหนองบัวทุกๆท่าน...สาธุ

    เจริญพรอาจราย์ณัฐพัชร

    • ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชรที่แวะมาเยี่ยมและบอกกล่าวให้ทราบว่า เวทีหนองบัวครบรอบปีแล้ว
    • ไม่ค่อยได้ดูวันเวลาที่เริ่มเขียน ก็ทำให้ลืมวันเวลาไปเลย (ไม่ได้นับวันเวลา เลยดูเหมือนผ่านไปเร็วจัง)
    • หนึ่งปีผ่านไป เวทีฯแห่งนี้ได้ก่อเกิดคุณค่าความรู้ข้อมูลท้องถิ่นและสิ่งดีๆจากชุมชนหนองบัวมากพอสมควร
    • ทุกท่านได้เขียนตามคำแนะนำที่คุณฉิกได้เคยเสนอไว้ว่า อยากให้เวทีนี้เป็นที่รวบรวมข้อมูลความรู้ท้องถิ่น ประมาณว่าจะสะดวกแก่ผู้เข้ามาอ่าน ใครเข้ามาที่นี่แห่งเดียวก็จะเห็นความเคลื่อนไหวทั้งจากหนองบัวและคนไกลบ้านได้อย่างทั่วถึง
    • เจริญพร

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย เจริญพรอาจารย์ ดร. วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    • ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งสองที่สนับสนุนและค่อยให้กำลังใจในการทำบทบาทหน้าที่ของผู้นำทางจิตวิญญาน ความดีทั้งหลายขอมอบแด่ครูบาอาจารย์ครับ

    • อาจารย์ ดร. วิรัตน์ครับรูปภาพของอาตมาจากเวทีท่ามะเฟือง ขึ้นเวทีคนหนองบัวขนาดมันเต็มจอมากไปหน่อยครับ กำลังหาวิธีแก้ไขอยู่

    • ขอร่วมอนุโมทนาในความเป็นเวทีคนหนองบัว  เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ออนไลน์ที่ดีไม่แพ้ใครและยังมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองอีกด้วย...ถ้าใครไม่เชื่อก็ลองเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันดู...
    • เจริญพร
    • ขอพูดต่อจากประเด็นอาจารย์ณัฐพัชรอีกสักเล็กน้อย ความเห็นที่(๘๑๘)
    • อาตมาได้ลองแยกเรื่องอย่างคร่าวๆจากเวทีคนหนองบัว พอสังเขปเพื่อสะดวกสำหรับผู้อ่าน โดยอาตมาได้ปริ้นเป็นเอกสารเย็บเล่ม(A๔) ดังนี้
    • วิถีชุมชนคนเมืองหนองบัว : ภาพวาด ของอาจารย์วิรัตน์และคุณเสวก(มีคำบรรยายย่อๆประกอบ) สี่สิบกว่าหน้า
    • โรงหนังในอดีต : อำภอหนองบัว บทความของอาจารย์วิรัตน์ และคุณครูอนุกูล สามสิบกว่าหน้า
    • บุคคลสำคัญ : ชุมชนหนองบัว สามสิบกว่าหน้า(มีสองท่านคือ ๑ ท่านเจ้าคุณห้อง ท้วมเทศ ๒ หลวงปู่อ๋อย พรมบุญ)
    • เจ้าทุยเพื่อนรัก ข้อเขียนของอาตมา สามสิบกว่าหน้า
    • ๔ แยกต้นอีซึก : ๔ แยกหนองบัว สิบหกหน้า
    • ภาษาถิ่นหนองบัว : คุณเสวก ใยอินทร์ และอาตมา สิบกว่าหน้า
    • เมื่อเวทีคนหนองบัว : ก้าวสู่เวทีโลก โดยอาจารย์วิรัตน์ สามสิบสองหน้า
    • ประเพณีกินดอง : หนองบัว โดย คุณสุภาเพ็ญ(อ้อย) นุชเฉย
    • ดอกอุ้มน้อง : พืชผักท้องถิ่นหนองบัว สามสิบกว่าหน้า
    • ชื่อเรื่องเหล่านี้อาตมาตั้งขึ้นเอง เพื่อเก็บเอาไว้อ่านและนำไปให้ผู้อื่นอ่านด้วยบ้าง
    • คิดว่าคงมีอีกหลายเรื่องราวที่สามารถแยกออกมาเป็นหัวเฉพาะเรื่องได้ต่างหาก
    • แต่ตัวเองความรู้ไม่ถึงที่จะจัดหมวดหมู่ให้เป็นแบบวิชาการได้ คงต้องรอให้อาจารย์และท่านอื่นๆมาช่วยอีกแรง

    ขอแก้ไขให้และนำมาโพสต์ไว้ที่นี่เสียใหม่เลยนะครับ
    ภาพขนาดใหญ่เกินไปทำให้เครื่องโหลดช้าและทำให้ดูรายละเอียดไม่สะดวกครับ......

    Ico32
    พระอธิการโชคชัย
    เมื่อ 26 กันยายน 2553 20:20
    #2193223 [ ลบ ]

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย เจริญพรอาจารย์ ดร. วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    • ขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแล และอาจารย์ดร.วิรัตน์ ที่กรุณาให้ข้อมูลเวทีคนหนองบัว เป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งผู้บรรยายและผู้ฟังเลยครับ
    • กระบวนการสร้างความรู้และได้องค์ความรู้จาก กระยาสารท ข้าวหลาม ขนมจีน : สู้ความเป็นชุมชนบนอาหาร สุขภาวะ วิญญาณ และอีกพื้นฐานความสามัคคีของชุมชน ที่ผมได้เรียนรู้จากเวทีคนหนองบัว เป็นประเด็นความรู้ที่สามารถเปลี่ยนถ่ายสู้ชุมชนต่อชุมชนได้จริงๆครับ(ไม่ได้เชียร์นะ รู้ได้เฉพะตนช่น)
    • กลับมาอ่านความเห็นของโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 53 เวลา 08.25น. ทำให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าวิถีการทำอยู่ทำกินของชาวบ้านเรื่องอาหารชุมชนมีความเชื่อมโยงสู้การเรียนรู้ร่วมกันได้ เช่น ตอนนี้ญาติโยมกำลังจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ครก สาก กันมาเต็มวัดเลยครับโยมอาจารย์ ( ฮิฮิ..)
    • สามารถเชื่อมโยงเข้าสู้หัวข้อธรรมได้ดีมากและไม่ต้องพูดมากแต่เข้าใจยาก..นอกจากจะเป็นความกตัญญูต่อธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการสร้างความรัก ความสามัคคีและการสร้างระเบียบวินัยให้กับชุมชน ป้องกันความเสื่อมสลายของชุมชน สามารถดำรงความเป็นชุมชน รักษาหลักการหรือเป้าหมายของชุมชนไว้ได้ สร้างความเป็นปึกแผ่น(เหมือนกระยาสารท) และเป็นไปเพื่อความเจริญของชุมชน ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสกับชาววัชชีว่า... “ ...ดูกรลิจลวีทั้งหลาย อปริหานิยธรรม 7 ประการเป็นไฉน...” หรือหลักธรรมนั้นคือที่เรียกว่า “ อปริหานิยธรรม 7 “ นั้นแล...
    • ขอบพระคุณท่านอาจารย์มหาแลที่ให้คำสำคัญ (Key word)เช่น ความรู้มันไม่ได้อยู่ใน ม. คือ มหาวิทยาลัย เพียงอย่างเดียว ม. ในที่นี้หมายถึง หมู่บ้าน หมู่ 1 หมู่ 2 เป็นแนวที่ดีมากครับ
    • ตอนนี้ อบต.ท่ามะเฟือง เกิดความรู้สำนึกรักท้องถิ่น เกิดกิจกรรม/โครงการ มะเฟืองคืนถิ่น(ตามรอยต้นมะเฟืองกลับบ้าน)

                            

                            

                              

    • นำความคืบหน้ามาฝาก แค่นี้ก่อนนะครับท่าน
    • สนใจอยากปลูกต้นดอกอุ้มน้อง จัดว่าเป็นไม้แปลกดีจะหาหน่อพันธ์ได้อย่างไรครับท่านพม.แล
    • เจริญพรขอบคุณโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์อีกครั้งครับ
    • การสรุปของอาจารย์ณัฐพัชร์และท่านพระอาจารย์มหาแล ทำให้เห็นความเป็นเรื่องเป็นราวของเวทีคนหนองบัวมากเลยนะครับ
    • อาจารย์ณัฐพัชร์ช่วยทบทวนและย้ำเตือนให้เห็นความต่อเนื่องที่ดำเนินมาถึง ๑ ปี ก็คงจะยิ่งเสริมกำลังใจให้กับทุกท่านเลยนะครับ รวมทั้งผมด้วย
    • เมื่อสอง-สามวันก่อน เพื่อนซึ่งเป็นผู้บริหารของสถานศึกษาในหนองบัวเล่าให้ฟังว่าตอนนี้ทางเขตพื้นที่การศึกษาและทางอำเภอ มีนโยบายที่มุ่งให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นต่อการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น จึงเชื่อว่าเครือข่ายสถานศึกษาของอำเภอหนอ งบัว รวมทั้งเครือข่ายสถานศึกษาใกล้เคียง ในจังหวัดนครสวรรค์ของเราจะสามารถริเริ่มและพัฒนาความเป็นผู้นำในหลายด้านเกี่ยวกับหลักสูตรท้องถิ่นและความมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน ตลอดจนสถาบันทางจิตใจดังเช่นวัดในศาสนาต่างๆ เขาบอกว่าทราบถึงเรื่องราวต่างๆในเวทีคนหนองบัวอยู่นะครับ แต่สะท้อนให้ทราบว่าคนทั่วไปยังเข้ามาดูไม่เป็น
    • สภาพอย่างนี้แหละครับ ผมจึงได้เห็นความสำคัญมากอย่างยิ่งต่อการที่มีคนมีประสบการณ์และค่อยเรียนรู้ ค่อยคิดและทำ ให้ก้าวหน้าทีละเล็กละน้อยอย่างเป็นลำดับในเวทีคนหนองบัวเกิดขึ้น แม้นเป็นกลุ่มคนเพียงเล็กน้อย แต่ต่างก็มั่นใจได้ว่ามีประสบการณ์ด้วยตนเองโดยตรงที่จะยกตัวอย่างและถ่ายทอดบทเรียนได้ว่าการเริ่มต้นตั้งแต่ไม่เป็นอะไรเลย กระทั่งคุ้นมือและพอจะสามารถนำเอาเทคโนโลยีที่ดีอย่างนี้มารองรับความเป็นนายตนเองของปัจเจกและชุมชน แทนที่จะกลายเป็นคนตามกระแสความกดดันของวิทยาการและเทคโนโลยีจนต้องเรียนรู้เรื่องราวต่างๆให้ยิ่งไกลออกจากตนเองมาก พร้อมกับยิ่งไม่รู้เรื่องราวของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆนั้น ต้องมีวิธีคิดและมีวิธีทำกันอย่างไร เรียนรู้อย่างชาวบ้าน-ชาวบ้าน อย่างเราๆนั้น ต้องทำอย่างไร เหล่านี้เป็นต้น
    • เชื่อว่า เวทีคนหนองบัวจะเป็นทุนทางสังคมอย่างหนึ่งสำหรับการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของลูกหลานและชุมชนคนหนองบัวของเรา และทุกท่านก็จะเป็นแหล่งวิทยาการของท้องถิ่น ในการผสมผสานโอกาสต่างๆของวิทยาการและเทคโนโลยี เพื่อจัดวางลงไปได้อย่างสมดุล เหมาะสม กับเงื่อนไขแวดล้อมของท้องถิ่น ได้เป็นอย่างดี
    • ที่สำคัญคือ เวทีคนหนองบัวจะทำให้ชุมชนคนหนองบัวไม่ต้องเริ่มต้นที่ศูนย์นะครับ ต้องกราบคารวะแรงศรัทธา ความมุ่งมั่น ความทุ่มเทกายใจหลายอย่างของหลายท่านนะครับ โดยเฉพาะท่านพระอาจารย์มหาแล ได้ทราบอย่างที่พระคุณเจ้าถ่ายทอดให้ทราบว่าปริ๊นต์เอ๊าออกมา พร้อมกับนำออกมาเผยแพร่ และรณรงค์ส่งเสริมด้วยตนเองทุกวิถีทางแล้ว ก็ต้องขอกราบนมัสการแรงงานแห่งปัญญาความพากเพียร พระสงฆ์...พระบ้านนอก มีบทบาททั้งความเป็นครูทางจิตวิญญาณของสังคม และเป็นผู้นำในการพัฒนาการศึกษาของสังคมไทย มาแต่ไหนแต่ไรแล้วครับ โดยเฉพาะสำหรับคนในชนบท ผมดีใจที่ได้มีส่วนร่วมครับ

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล  อาสโย  เจริญพรโยมอาจารย์ ดร. วิรัตน์  คำศรีจันทร์

    • · ต่อจากความเห็นคราวที่แล้วเวทีคนท่ามะเฟือง อาตมาลืมบอกกับโยมอาจารย์ไปว่าตอนที่เดินทางไปบรรยายที่ อบต.ท่ามะเฟือง มีคุณครูสองท่านอาสาขับรถไปส่งที่ อบต.ท่ามะเฟือง(โรงเรียนของครูทั้งสองไปทางเดียวกัน โรงเรียนบ้านบุ่ง ต.ศรีภิรมณ์ อ.พรหมพิราม นี่ละครับ ) ระหว่างนั่งรถอาตมาก็คุยเรื่องกระยาสารท  คือข้อมูลที่จะพูดวันนั้น ก็เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กันและอาตมาให้ครูดูภาพวาดการทำกระยาสารทของโยมอาจารย์วิรัตน์ (พอดีมีเอกสารข้อมูลติดไปด้วย)และครูก็ขอไปถ่ายเอกสารเพื่อจะนำไปเป็นสื่อในการสอน วันนั้น (20 ก.ย. 53) ครูให้เด็กนักเรียนเขียนเรียงความเรื่องกระยาสารท แล้วนำประเด็นไปคุยกับผู้ปกครองที่บ้าน  ผู้ปกครองถามเด็กนักเรียนว่ารู้เรื่องการทำกระยาสารทมาจากไหน? เด็กนักเรียนตอบว่าคุณครูที่โรงเรียนสอน   (สมมุติว่า: อาตมาถามต่อว่าครูรู้เรื่องมาจากไหน.. จากพระอธิการโชคชัยเล่าให้ฟัง... แล้วพระอธิการโชคชัยรู้เรื่องมาจากไหน..จากภาพวาดการทำกระยาสารท  วาดโดยอาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ในเวทีคนหนองบัว  เว็บบล๊อกโกทูโน) สรุปว่า นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และพระสงฆ์ ได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน จากกระยาสารทซึ้งเป็นวิถีชีวิตชุมชนบนอาหาร  จัดว่าเป็นการเรียนรู้แบบเครือข่ายทางสังคม(Social Networks) ได้หรือไม่ครับโยมอาจารย์

    รูปกระยาสารท

    • · ทุกวันศุกร์อาตมามีสอนธรรมศึกษาชั้นตรี-ชั้นเอก ที่ทัณฑสถานหญิงจังหวัดพิษณุโลกก็นำเรืองกระยาสารทไปเป็นสื่อในการสอนด้วย  โดยใช้ภาพวาดกระยาสารทของโยมอาจารย์เป็นสื่อและให้นักศึกษาเขียนเรียงความ (เหมือนเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม) โดยใช้คำถามว่า: มองภาพกระยาสารทแล้วท่านเห็นอะไรบ้าง? แล้วสรุปเข้ากับหัวข้อหลักธรรมใดบ้าง?
    • · ตัวอย่างการเขียนของผู้ต้องขัง(นามสมมุติว่าชื่อบี )

    การทำกระยาสารท  ซึ่งเป็นอาหารประเภทขนมพื้นบ้านไทยสืบเนื่องต่อกันมานานวันสารทไทยในพุทธศาสนา คือ วันแรม 15 ค่ำเดือน 10

    ในการทำกระยาสารทนี้มีกระบวนการที่จะทำมากมายหลายขั้นตอน ต้องอาศัยทั้งกำลังกาย และกำลังทรัพย์ (ของแต่ล่ะคนที่มี) ที่นำมารวมกันเพื่อทำขึ้นมาโดยอาศัยความมีจิตใจเป็นธรรม ขยันขันแข็งไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ซึ่งเป็นบ่อเกิดความสามัคคีขึ้นในท้องถิ่นนั้นๆ ต้องอาศัยความอดทนและความเหนื่อยยากในการทำจนกว่าจะเสร็จ

    ขั้นตอนการทำมีพออธิบายได้ดังนี้

    อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมมาเพื่อใช้  คือ กระทะ ครก พาย สาก เตา กระดานแบบ ขวด มีด ฟืน.

                ส่วนผสม   มี ข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่ว งา น้ำตาล กะทิ  แบะแซ

                วิธีการทำ  -นำข้าวเม่ามาลางให้เหลืองกรอบ (คั่วให้สุก)>(เลือกกากออก)

                               -นำถั่วลิสงมาคั่วให้เหลืองสุก

                               -นำงาที่ล้างสะอาดมาคั่วให้สุก

                               -นำข้าวเหนียว(ข้าวเปลือกที่แห้ง)มาลางให้เป็นข้าวตอกแล้วก็เลือกเม็ดข้าวเปลือกที่ติดออกให้เลือกให้สะอาด(เลือกกากออก)

                               -นำกะทิใส่ในกะทะเคี่ยวให้เดือดแล้วใส่น้ำตาลและแบะแซลงไปรอจนน้ำตาลได้ที่แล้วก็ใส่ข้าวเม่าลงไปรวมทั้งข้าวตอกถั่วงา ลงไป พอเข้ากันดีแล้วก็นำกระยาสารทที่ผสมแล้วลงไปในแบบที่เตรียมไว้ ในแบบที่เตรียมไว้ก็โรยถั่วงาไว้ก่อนก็ตักกระยาสารทลงไปใช้ขวดทุบให้แน่นๆ แล้วก็ตัดเป็นชิ้นๆพอสวยงามตามชอบเสร็จ แล้วก็จัดสรรแบ่งปันกันตามความเหมาะสม

    สรุปในการทำกระยาสารท.   ทุกคนที่ทำต้องมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันไม่เอารัดเอาเปรียบไม่รังเกียจว่าใครมีของมากของน้อย บางคนอาจมีแต่กำลังกาย บางคนมีแต่กำลังทรัพย์ ช่วยกันทำ

    อาตมาสรุปความว่า: มีความสุขทั้งผู้รับและผู้ให้  แถมยังอิ่มท้องด้วยการกินกระยาสารทกับกล้วยไข่อีกด้วยครับโยมอาจารย์

    กราบนมัสการพระอธิการโชคชัยครับ

    • พรหมพิรามนี่ผมเคยไปครับ เคยไปศึกษาเครือข่ายการรวมกลุ่มของชาวบ้านเมื่อหลายปีมาแล้วครับ ประทับใจในความริเริ่มของชุมชนที่นั่นหลายอย่างครับ
    • แนวการจัดการเรียนการสอนที่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองต่อเนื่องไปอีกที่พระคุณเจ้ายกตัวอย่างของคุณครูที่ได้รู้จักนั้น มีกุศโลบายการบูรณาการหลายอย่างเข้าไปที่น่าประทับใจมากเลยละครับ
    • ตัวอย่างที่พระคุณเจ้าหยิบยกมาเปิดหัวข้อถกอภิปรายนั้น บางแง่มุมที่เป็นความเชื่อมโยงกันในทางสังคม ก็พอจะเรียกรวมๆได้ว่าเป็นการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายทางสังคม เพื่ออธิบายถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ทางสังคมอย่างหนึ่งที่ดำเนินไปตามโอกาสที่เกิดขึ้นจากความที่กลุ่มคนจำนวนหนึ่ง มีพื้นฐานบางอย่างมารองรับให้ติดต่อสื่อสารและทำกิจกรรมจำเพาะในสถานการณ์นี้ได้ ซึ่งหมายความว่า หากเปลี่ยนกิจกรรมและประเด็นความริเริ่มปฏิสัมพันธ์กันเป็นอย่างอื่น ก็อาจจะไม่สามารถทำกับกลุ่มคนดังกล่าวนี้ได้
    • พระสงฆ์ อยู่ในวงสังคมหนึ่ง เป็นวงสังคมผู้นำทางจิตใจ (Spiritual Leaderships Society) ครูอยู่ในวงสังคมทางการศึกษา (Education Leadership Society) เด็กๆและครอบครัวพ่อแม่ อยู่ในวงสังคมเครือญาติ (Kinship)
    • แต่จากกรณีตัวอย่างที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงนี้ มีกิจกรรมบางอย่างได้กระตุ้นให้สมาชิกบางส่วนของกลุ่มสังคมต่างๆดังในข้างต้น เกิดการแลกเปลี่ยนบทบาทและมีการปฏิสัมพันธ์กัน โอกาสและช่องทางการเกิดปฏิสัมพันธ์กันได้ดังกล่าวนี้ เรียกรวมๆว่าเครือข่ายทางสังคม แต่เป็นกลุ่มและเครือข่ายปฏิบัติจำเพาะในชุดปรากฏการณ์ทางสังคมที่เรียกว่า การเรียนรู้เรื่องกระยาสารท เพราะฉนั้น หากระบุให้เจาะจงเพื่อทำการศึกษา ก็ต้องบอกว่า เครือข่ายของกลุ่มสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องกระยาสารท กรณีศึกษาของบ้านมะเฟือง ซึ่งหมายถึงการศึกษาเครือข่ายการปฏิสัมพันธ์และการเกิดการรวมกลุ่มทางสังคมอย่างหนึ่ง
    • ในกรณีนี้ ตัวปรากฏการณ์ ก็ได้แก่ กระบวนการเรียนรู้เรื่องกระยาสารท กลุ่มผู้กระทำปรากฏการณ์ทางสังคม (Social Actors) ครั้งนี้ ก็ได้แก่พระสงฆ์ ครู เด็ก ครอบครัวพ่อแม่ ตัวบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อมคือ บ้านมะเฟือง และปัจจัยเกื้อหนุนและปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการจัดวางทางสังคมในครั้งนี้ก็คือ บล๊อกโกทูโน และทรัพยากรความรู้ สื่อจากภาพวาด รวมทั้งผมและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง
    • ในตัวอย่างนี้  สื่อและข้อมูลความรู้เรื่องกระยาสารท จัดว่าเป็นตัวกระตุ้นและจุดประกาย หรือ Catalyst  พระคุณเจ้า ซึ่งในปรากฏการณ์จำเพาะนี้ จัดว่าเป็นกลไกเชื่อมแหล่งความรู้และชุมชนคนเขียนบล๊อกในโลกไซเบอร์ ดังนั้น จึงเป็นผู้จัดทรัพยากรและสิ่งสนับสนุนทางความรู้ซึ่งทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อีกหลายขั้นตอนตามมาอย่างไม่เจาะจงและวางรูปแบบตายตัวไว้ก่อน เรียกในบริบทการจัดการความรู้ ก็คงต้องนับว่าพระคุณเจ้าเป็นคุณเอื้อกระมังครับ
    • คุณครูมีบทบาทในการจัดการเรียนการสอนซึ่งโดยปรกติก็จะสามารถทำอยู่ในระบบเรียน ทว่า ในครั้งนี้สามารถทำกิจกรรมการศึกษาเรียนรู้ได้กว้างขวางมากกว่าดังที่ทำได้ตามปรกติ ก็เนื่องจากได้รับปัจจัยเสริมพลังจากพระคุณเจ้า ปัจจัยต่างๆจะไม่นำไปสู่กระบวนการเรียนรู้และเกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ตามมาอีกหลายอย่างก็ได้ แต่ที่เกิดดังที่เห็นนี้ได้ก็เนื่องจากคุณครูมีแนวคิดและใช้ความรู้มาทำให้ปัจจัยทั้งหลายมาเป็นองค์ประกอบ ทำให้กระบวนการเรียนรู้ในกรณีตัวอย่างนี้เกิดขึ้น คุณครูจึงมีฐานะเป็น Facilitator ที่ีทำให้เด็กและครอบครัวพ่อแม่ ตลอดจนกลุ่มผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เกิดเงื่อนไขการเรียนรู้จากกระบวนการทางสังคม บทบาทนี้ในบริบทของการจัดการความรู้ก็คงจะเรียกว่าคุณกิจ หรือกลุ่มผู้ปฏิบัติ แต่เป็นการปฏิบัติผ่านการจัดกระบวนการ
    • นอกจากนี้ การเรียนรู้และมีกิจกรรมติดต่อสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์และเกิดประสบการณ์ทางสังคมร่วมกันครั้งนี้ ก็ถือว่าทำให้เกิดกลุ่มสังคมที่มีความรู้จากประสบการณ์ชุดเดียวกันเกิดขึ้นไปด้วย เครือข่ายทางสังคมที่เกิดขึ้นและที่อาจจะใช้เรียกวงสังคมกลุ่มนี้ ก็คือ เครือข่ายเรียนรู้ความเป็นชุมชน (ผ่านเรื่องกระยาสารท) ซึ่งถ้าหากบางส่วนของกลุ่มคนกลุ่มนี้ไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ไปทำงานออกแบบอุตสาหกรรมทอผ้าในชุมชน ก็จะมีเครือข่ายทางสังคมเกิดขึ้นอีกเหมือนกัน แต่จะไม่ใช่เครือข่ายเรียนรู้ความเป็นชุมชนอย่างที่เกิดขึ้นภายใต้ปรากฏการณ์เรียนรู้เรื่องกระยาสารท อาจจะเป็น 'เครือข่ายผู้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ : Society and Community of Packaging Design' ซึ่งจะเห็นว่าเป็นเครือข่ายทางสังคมและเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง อย่างนี้ก็ได้
    • จะเห็นว่า เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ก็จะทำให้เห็นขอบเขต การระบุกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง บทบาท รวมทั้งปัจจัยส่งเสริม สนับสนุน และสิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขาวง ได้อย่างจำเพาะเจาะจง สามารถทบทวนและหาความรู้เข้ามาเสริมได้อย่างเหมาะสม

    เจริญพรโยมอาจารย์ ดร. วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ก่อนอื่นอาตมภาพต้องขอขอบพระคุณโยมอาจารย์วิรัตน์เป็นอย่างสูงที่กรุณาสละเวลาอันมีค่าของท่านที่ช่วยตอบคำถามและให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างมาก ต่อตัวอาตมาเองและชุมชนรอบวัด มีความรู้สึกว่าเกรงใจโยมอาจารย์เวลามีปัญหาที่อยากจะถามความเห็น ไม่รู้ว่ารบกวนโยมอาจารย์มากไปหรือเปล่าครับ... อย่างเมื่อเช้านี้อาตมารีบเปิดคอมฯทิ้งไว้(กลัวว่าวันเสาร์วันอาทิตย์สัญญาณเน็ตไม่ค่อยดี)กะว่าจะไปทำภารกิจส่วนตัวเสร็จแล้วค่อยมาดูเวทีคนหนองบัวพอเปิดเน็ตติดก็พบบันทึกความเห็นของโยมอาจารย์ อาตมาดีใจจนลืมฉันข้าวเช้าเลยครับพออ่านแล้วเข้าใจว่าการเป็นนักวิชาการและนักปฏิบัติเป็นอย่างไร(องค์ความรู้และการจัดการความรู้ ลักษณะนี้ซึ้งหาไม่ได้จากที่อื่นจริงๆ) และอาตมาต้องทำการบ้านต่ออีกแล้วครับ....เพราะว่ามีงานเข้า

    • ขอเรียนปรึกษาโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ ต่อนะครับเรื่องการทำกระบวนการเวทีอบรมเยาวชนท่ามะเฟือง

    • ครั้งนี้เป็นเวทีต่อยอดจากเวทีอบรมสมาชิก อบต.ท่ามะเฟือง อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

    • เป็นโครงการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กในองค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะเฟือง จุดประสงค์เพื่อลดความรุ่นแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชน เชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 6-7 ต.ค. 53 (2วัน1คืน) มาใช้สถานที่ที่วัดพรหมพิราม(วัดอาตมาที่เป็นเจ้าอาวาสอยู่) เยาวชนอายุระหว่าง 18-25 จำนวน 100 คน (เป็นเยาวชนภายในหมู่บ้านท่ามะเฟืองที่มักมีประวัติที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก ส่วนใหญ่เรียน กศน.)

    • อาตมาจะใช้กระบวนการเวทีการมีส่วนร่วมอย่างไรดีครับ เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวและเป็นการสร้างความรู้ จัดการความรู้ ปลุกจิตสำนึกรักท้องถิ่นพร้อมทั้งเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมนำชีวิต จากการทำค่ายอบรมที่ผ่านมาก็จะเป็นค่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ค่ายผู้นำในสถานศึกษา ค่ายปฏิบัติธรรม ค่ายเยาวชนอาสา ฯลฯ เป็นการใช้สื่อ แสง สี เสียง ผสมเข้ากับหลักธรรม ปลุกจิตสำนึกใน 5 ป. คือ เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นลูกศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน เป็นศาสนิกชนที่ดี และเป็นพลเมืองที่ดี แต่สำหรับเด็กเยาวชนที่เคยผ่านการอบรมแล้วก็จะรู้สึกไม่ค่อยตื้นเต้น ยิ่งค่ายหน้านี้เป็นเด็กเยาวชนที่เคยมาเข้าค่ายเมื่อปีที่แล้ว อาตมาอยากคิดใหม่ทำใหม่ครับ เอาแบบสดๆไปเลยถ่ายทอดสดจากเวทีคนหนองบัวสู่เวทีคนท่ามะเฟือง..... ได้ใช่ไมครับ โยมอาจารย์

    • ที่อาตมาคิดไว้ว่าจะเป็น กระบวนการจัดค่ายชุมชนบ้านท่ามะเฟือง หรือ กระบวนการถอดบทเรียนเวทีคนท่ามะเฟือง (คิดนอกกรอบ) ดีหรือไม่ดี ต้องขอความเห็นจากโยมอาจารย์

    • ประเด็น/กิจกรรม; เวทีคนท่ามะเฟือง / ประวัติศาสตร์ชุมชน / บุคคลสำคัญ / อาชีพ / องค์กร / วัฒนธรรม / สถานที่สำคัญ / เทศกาล / ประเพณี / พิธีกรรม / ป่าชุมชน / ผลิตภัณฑ์ / ฯลฯ เราต้องวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ออกมาใช่ไมครับโยมอาจารย์สรุปด้วยการทำ mind map ในแต่ละประเด็นแล้ว

    • เราจะตั้งคำถามอย่างไรดีครับ

    • การนำเสนอ

    • การเก็บข้อมูลตามคำถาม

    • การเรียบเรียงข้อมูล

    • กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดหรือองค์ความรู้ที่ได้มาเราจะจัดการมันอย่างไร

    • สื่อและข้อมูลความรู้ที่จะใช้ อาตมาเห็นภาพวาด งานเทศมหาชาติวัดกลาง วัดชุมชนดั้งเดิม ที่โยมอาจารย์วาดก็ดีนะครับเหมาะกับช่วงนี้พอดี

    • เขียนบันทึกมาถึงตรงนี้ อาตมาว่าจะถามแลกเปลียนแต่พอเพียงแต่แล้วก็ยาวจนได้

    • เจริญพรขอบพระคุณครับ

    • ผมรอติดตามอ่านผลการทำกิจกรรมจากพระคุณเจ้าดีกว่ากระมังครับ ดูแล้วน่าสนใจดีนะครับ
    • วัดพรหมพิรามนี่ผมเคยไปจัดเวทีชุมชนกับกลุ่มชาวบ้านที่ลานวัดและใต้ต้นไทรข้างศาลาวัดด้วยนะครับ ที่ตำบลศรีภิรมย์ก็เช่นกันครับ กำนันตำบลศรีภิรมย์นั้นผมเคยชวนท่านไปเป็นวิทยากรให้กับการประชุมประจำปีที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาอีกด้วยครับ
    • เมื่อก่อนนี้พรหมพิรามมีทุนทางสังคมเยอะนะครับ พระคุณเจ้าทำงานชุมชนในแนวสร้างความรู้และให้การเรียนรู้ชุมชน ผสมผสานกับการพัฒนาจิตใจให้กลมกลืนไปกับการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดีแน่นอนเลยนะครับ

    เมื่อครู่เพื่อนที่หนองบัวโทรมาแจ้งว่า อาจารย์อุดม โต๊ะปรีชา ได้เสียชีวิตแล้ว

    และจะมีพิธีรดน้ำศพเย็นนี้ (5 ต.ค.53) ที่วัดหนองกลับ

    รายละเอียดเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบอีกที

    ขอให้ดวงวิญญาณของอาจารย์ สู่สุขคติในสรวงสวรรค์

    กำหนดการฌาปนกิจ อ.อุดม วันอาทิตย์ที่ 10 ต.ค. เวลายังไม่ได้กำหนด

  • ขอบคุณคุณฉิกมากครับที่นำมาบอกกล่าวให้ทุกท่านได้ทราบ
  • ผมได้ทำบันทึกสำหรับเรื่องของคุณครูด้วยนะครับ คลิ๊กเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ดังนี้ :  มูลนิธิหนองบัว : มรดกชีวิตจิตวิญญาณของคุณครูอุดม โต๊ะปรีชา เพื่อพัฒนาการศึกษาและสังคม
  • คุณอมรรัตน์ โต๊ะปรีชาก็ได้นำมาบอกข่าวประชาสัมพันธ์ให้แก่ทุกท่านด้วยที่แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๓) : โรงเรียนประจำอำเภอ วงดนตรีและดุริยางค์โรงเรียน สนามบาสมาตรฐาน
  • ขอคุณพี่ฉิกที่แจ้งข่าวครับ

    ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของท่านอาจารย์อุดมด้วยครับ ผมกลับบ้านเมื่อเย็นวันที่ 28 กันยา หลังแวะรับประทานอาหารเย็นซึ่งปรุงจาก....ดอกอุ้มน้อง.....ที่บ้านร่องดู่ ขณะขับรถผ่านหน้าโรงพยาบาลหนองบัวยังนึกออกว่าบ้านท่านอาจารย์อุดมอยู่เยื้อง ๆ คนละฟากถนนกับโรงพยาบาล ผ่านตรงนั้นหลายครั้งแต่ไม่ได้สังเกตว่า บ้านท่านยังเป็นหลังเดิม หลังเดียวกับตอนที่ผมเช่าบ้าน/เรียนหนังสือ ที่หน้าโรงพยาบาลหรือไม่

    คุณอมรรัตน์ โต๊ะปรีชานี่ ลูกสาวอาจารย์อุดมแน่นอน แต่ไม่มั่นใจว่าเป็นคนเดียวกับพี่ตุ๊กหรือเปล่า

    นึกถึงและยังจำบุคลิกของอาจารย์ได้ดี แม้ว่าวิชาศิลปะของผม จำทำคะแนนได้ไม่ค่อยดีก็ตาม

    ขอให้ดวงวิญญาณของท่านอาจารย์ไปสู่สุคติครับ

    สวัสดีน้องสมบัติ

    • เรื่องราวของคุณครูอุดม คุณครูผู้ยิ่งใหญ่ใจดี พี่วิรัตน์ได้เขียนไว้ใน มูลนิธิหนองบัว : มรดกชีวิตจิตวิญญาณของคุณครูอุดม โต๊ะปรีชา เพื่อพัฒนาการศึกษาและสังคม เข้าไปต่อเติมเพื่อให้เรื่องราวสมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ครับ 
    • คุณอมรรัตน์ เข้าใจว่าน่าจะเป็นพี่จิ๋ม ลูกสาวคนโตนะอยู่ต่างประเทศ (น่าจะเป็นอเมริกา) ส่วนตุ๊กชื่อพัฒนา เป็นลูกสาวคนกลางอยู่ปัจจุบันมีกิจการขายอุปกรณ์การเรียนแถวๆวัดโพธิ์นครสวรรค์ และคนเล็กชื่อหนุ่มทำไร่ตะไคร์แถวนนทบุรี ไว้กลับหนองบัววันอาทิตย์นี้จะถามให้

    เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา (7 ต.ค.) ผมพานักธุรกิจไทยจากกรุงเทพฯ 3 ท่านไปศึกษาลู่ทางการทำธุกิจในลาว

    โดยท่านหนึ่งเป็นศิย์เก่าโรงเรียนหนองบัว เป็นการพบกันครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกพบกันเมื่อวันพฤหัสฯ (30 ก.ย.) ที่กรุงเทพฯก่อนท่านจะมาเวียงจันทน์ 1 สัปดาห์ ทั้ง ๆ ที่เป็นคนหมู่บ้านเดียวกันแท้ ๆ คือผมเป็นคนบ้านเหนือ ท่านเป็นคนบ้านใต้ แต่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

    ......พาไปพบทูตพาณิชย์ไทยประจำสปป.ลาว และพบปะนักธุรกิจลาว

    เมื่อสักครู่โทรศัพท์ไปหา ปรากฎว่าท่านอยู่ที่ แขวงหลวงพระบาง

    ถามท่านว่า รู้จักอาจารย์อุดม โต๊ะปรีชาหรือไม่ ท่านตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า รู้จักสิ รู้จักดีด้วย ยามท่านโกรธในเวลาที่นักเรียนซน/ไม่สนใจการเรียน ท่านจะทำจมูกฟุดฟิด ๆ นักเรียนหลาย ๆ รุ่นจึงตั้งฉายาให้ท่านว่า......อาจารย์ฉุน.....

    ท่านถามว่ามีอะไรเหรอ จึงเรียนท่านไปว่าท่านอาจารย์ได้เสียชีวิตลงแล้ว

    ท่านจึงได้ส่งจิตขอให้ดวงวิญญาณของท่านอาจารย์อุดมฯ ไปสู่สุคติ ณ บริเวณน้ำตกตาดกวางสี แขวงหลวงพระบาง

    ท่านผู้นี้ชื่อ คุณสุมาตร ภู่ภักดี (ธรรมศาสตร์ 16) บ้านอยู่ใกล้ ๆ และเป็นญาติกับครูสี โรงเรียนห้วยวารีหรือห้วยปลาเน่าใต้นั่นเอง คนรุ่นใกล้เคียงกันน่าจะพอจำได้นะครับ

    สวัสดีครับฉิกและคุณสมบัติ

    • คุณสมบัติต้องเดินทางตลอดเลยนะครับ ดูมีความเคลื่อนไหวหลากหลายในชีวิตดีครับ คนหนองบัวเก่งๆและได้ทำงานให้กับสังคม มีบทบาทในแวดวงวิชาชีพของตนหลากหลายสาขา เยอะเลยนะครับ 
    • ดูแล้วแถวห้วยวารีและห้วยปลาเน่าก็มีคนออกไปเรียนและทำการงานเยอะนะครับ

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล  อาสโย  เจริญพรโยมอาจารย์ ดร. วิรัตน์  คำศรีจันทร์และญาติโยมทุกท่านในเวทีคนหนองบัว

    • ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปผลการทำกิจกรรมค่ายอบรมเยาวชนตำบลท่ามะเฟือง เมื่อวันที่ 6-7 ตุลาคม 53 ณ. วัดพรหมพิราม  ตำบลพรหมพิราม  อำเภอพรหมพิราม  จังหวัดพิษณุโลก ครับท่าน
    • วัดพรหมพิรามในยุคปัจจุบันที่โยมอาจารย์เคยไปและต้นไทรข้างศาลาหลังเก่า
    • อำเภอพรหมพิรามมีวัดอยู่สองแห่งที่ชื่อคล้ายๆกัน  แห่งแรกชื่อวัดใหม่พรหมพิรามสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2505 และวัดพรหมพิราม สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2546 ระยะห่างกันสองกิโลเมตรครับ
    • สื่อและข้อมูลความรู้เรื่องกระยาสารท จัดว่าเป็นตัวกระตุ้นและจุดประกาย หรือ Catalyst  พระคุณเจ้า ซึ่งในปรากฏการณ์จำเพาะนี้ จัดว่าเป็นกลไกเชื่อมแหล่งความรู้และชุมชนคนเขียนบล๊อกในโลกไซเบอร์ ดังนั้น จึงเป็นผู้จัดทรัพยากรและสิ่งสนับสนุนทางความรู้ซึ่งทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อีกหลายขั้นตอนตามมาอย่างไม่เจาะจงและวางรูปแบบตายตัวไว้ก่อน เรียกในบริบทการจัดการความรู้   ( อ้างในความเห็นที่ 825   เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 53 ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์)
    • นอกจากสื่อและข้อมูลความรู้เรื่องกระยาสารทแล้ว  สื่อและข้อมูลความรู้เรื่องดอกอุ้มน้อง:พืชท้องถิ่นหนองบัวที่ควรอนุรักษ์  อีกทั้งเพลงดอกอุ้มน้อง:โดย พจนาถ พจนาพิทักษ์ จากรายการทุ่งแสงตะวันทางช่อง3 และกระบวนการจัดค่ายชุมชน:โดย หนานเกียรติ จัดว่าเป็นสื่อและข้อมูลที่เป็นตัวกระตุ้น จุดประกายความคิดและสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างดีเยี่ยมเลยครับท่านอาจารย์ทั้งสอง
    •    

          

          

         เครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเป็นชุมชนภายใต้ปรากฏการณ์เรียนรู้  เรื่องกระยาสารท(กระบวนการเวทีเรียนรู้ชุมชนคนหลายวัย)

    • กระบวนการจัดค่ายเยาวชนตำบลท่ามะเฟืองผ่านการเรียนรู้เรืองกระยาสารท
    • ขั้นที่1 ปัจจัยนำเข้า(Input) ของค่ายเยาวชนตำบลท่ามะเฟืองคือ ความเป็นมาและแนวความคิดของโครงการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กในองค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะเฟือง  ความเป็นมาของกลุ่มเยาวชน(10หมู่บ้าน) มุมมองทางสังคมคือ(ปัญหาเด็กและเยาวชน ความรุนแรง/ความขัดแย้ง ค่านิยมการบริโภคสื่อแบบผิดๆ) กลุ่มผู้กระทำปรากฏการณ์ทางสังคม (Social Actors) ครั้งนี้ได้แก่ บทบาทพระสงฆ์นักพัฒนา หมออนามัย สมาชิกอบต. คนเฒ่าคนแก่ และผู้นำชุมชน  ปัจจัยเกื้อหนุนและส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายทางสังคม คือ ความภาคภูมิใจในชุมชน สื่อกลางการสร้างความรักความสามัคคี ความคาดหวัง แรงจูงใจ และเวทีคนหนองบัวในบล็อกโกทูโน สื่อจากภาพวาดกระยาสารท  ดอกอุ้มน้อง กลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง
    • ขั้นที่2  กระบวนการ(Process)เรียนรู้แลกเปลี่ยนบทบาทผ่านเครือข่ายทางสังคม คือ การปรับทัศนคติใหม่ในการอบรม/พัฒนาการทางความคิดโดยการใช้สื่อและข้อมูลความรู้เรื่องกระยาสารท,ดอกอุ้มน้อง/เพลงดอกอุ้มน้องกลยุทธ์ในการใช้สื่อเรียนรู้แล้วเกิดความภาคภูมิใจ,สร้างมิติใหม่ให้กับเยาวชนเกิดการยอมรับความเป็นชุมชนคนท่ามะเฟือง
    • ขั้นที่3  ผลลัพธ์(Output)/ผลการเปลี่ยนแปลง คือ เกิดเครือข่ายของกลุ่มเยาวชนการเรียนรู้ความเป็นชุมชนผ่านเรื่องกระยาสารท(สภาเยาวชนตำบลท่ามะเฟือง) อบต.ท่ามะเฟืองพาลูกหลานกลับบ้าน(มะเฟืองคืนถิ่น)
    • ขั้นที่4  ผลสืบเนื่อง ได้แก่

                   1. ผลย้อนกลับ (Effect) ของสภาเยาวชนตำบลท่ามะเฟือง

                   2. ผลกระทบ (Impact)  ของชุมชนตำบลท่ามะเฟือง และสังคมโดยรวม

              

                 ประธานสภาและคณะกรรมการสภาเยาวชนตำบลท่ามะเฟือง

    • จากกระบวนการจัดค่ายเยาวชนตามที่กล่าวมาข้างต้น กระผมต้องขอกราบขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย และเจริญพรขอบคุณโยมอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  ขออนุโมทนาบุญกุศลที่ท่านทั้งสองได้เมตตาในการทำกิจกรรมในครั้งนี้ด้วยเทอญ.......สาธุ
    • ค่ายหน้าอาตมาขออาสาจัด “ค่ายดอกอุ้มน้องบาน...ณ บ้านตาลิน ’’ บ้างนะครับโยมอาจารย์

     

     

    เรียนท่านอธิการโชคชัยครับ

    • เห็นค่ายอบรมเยาวชนท่ามะเฟืองที่วัดพรมพิรามที่มีผูเฒ่าผู้แก่มาร่วมเป็นวิทยากรชุมชนให้ความรู้เรื่องกระยาสารทแก่ลูกๆหลานๆแล้ว ต้องขออนุโมทนาทีมงานของพระคุณเจ้าและผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้มีกิจกรรมนี้ครับ
    • ท่านอธิการพูดถึงเรื่องดอกอุ้มน้องบาน ทำให้ผมนึกถึงญาติดอกอุ้มน้องที่มี่ชื่อเสียงมากๆ ชนิดหนึ่งคือดอกกระเจียวเลยครับ พอถึงฤดูกระเจียวมีดอก เขาก็จัดงานดอกกระเจียวบาน คนก็ไปเที่ยวงานกันมาก แค่ไปดูดอกไม้บานอย่างเดียวนี่แหละ คนก็นิยมไปเที่ยวชมกันอย่างมากมาย
    • สมมุติว่ามีงานดอกอุ้มน้องที่หนองบัวนะครับ งานดอกอุ้มน้องจะเป็นได้มากกว่างานดอกไม้บานทั่วไปครับ คืองานดอกไม้บานโดยทั่วไปนั้น กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวต้องการก็คือการได้ดูดอกไม้แล้วก็ถ่ายรูป
    • แต่ถ้าเป็นงานดอกอุ้มน้องแล้วละก็ ได้หลายอย่างครับ ทั้งได้ดูดอกอุ้มน้องบาน  ทั้งได้ศึกษาเรียนรู้ ทั้งได้ชิมเมนูอาหารจากดอกอุ้มน้องอีกอย่างน้อยสามสี่อย่าง กล่าวอย่างสั้นๆเลยก็คือได้ดูดอกอุ้มน้องแล้วได้กินดอกอุ้มน้องอีกด้วยนั่นแหละครับ
    • งานชื่อว่า(แกงพริกเกลือ-หมกดอกอุ้มน้อง)นี้ผมเคยเสนอแนวคิดเชิญชวนคนหนองบัว ให้จัดงานวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านหนองบัวมาแล้วครั้งหนึ่ง งานนี้ก็เกี่ยวข้องกับพืชผักท้องถิ่นหนองบัว และอาหารชุมชนที่มาคู่กันขาดไม่ได้เลยสำหรับดอกอุ้มน้องนั่นก็คือพริกเกลือครับ
    • คนต่างถิ่นพูดถึงดอกอุ้มน้องหนองบัวและพริกเกลืออาหารชุมชน และชื่นชมเรื่องนี้อยู่พอดี จึงทำให้ผมในฐานะคนหนองบัวก็เลยคิดต่อยอด และขอเชิญชวนคนหนองบัว เจ้าบ้านตัวจริง เจ้าถิ่น ให้ช่วยกันเป็นเจ้าภาพขยายผลต่อได้ไหมหนอ
    • ขอบคุณท่านอธิการแทนคนหนองบัวด้วยนะครับ ที่พระคุณเจ้าแสดงความมีน้ำใจจะมาจัดงานค่ายดอกอุ้มน้องให้เด็กชาวหนองบัว
    • ขอบคุณครับ

    สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    แม้ว่าเราจะออกไปเรียนและทำงานไกล ๆ นอกหมู่บ้าน หาโอกาสกลับบ้านทุกครั้งเท่าที่มีเวลาด้วยความผูกพัน ซึ่งการกลับบ้านแต่ละครั้งก็อยู่ได้ไม่นาน ทำให้เรากลายเป็นคนแปลกหน้าของคนอีกรุ่นหนึ่ง

    ตอนเด็ก ๆ เวลาไปทำบุญวันพระใหญ่ ผมเคยเห็นคนต่างถิ่นที่ไม่เคยรู้จัก แต่งตัวดี อยู่ในวัยกลางคน มาร่วมทำบุญที่วัดในหมู่บ้านก็เคยถามพ่อแม่เหมือนกันว่า.....เขาเป็นใคร.....ก็ได้รับคำตอบว่าเมื่อก่อนเขาก็เคยอยู่ในหมู่บ้านนี้ แต่ย้ายออกไปอยู่กรุงเทพฯ หรือ ไปทำมาหากินที่อื่นแล้ว

    ตอนนี้เวลาผมกลับบ้าน เด็ก ๆ รุ่นใหม่ คงสงสัยเหมือนตอนที่เราเป็นเด็ก ๆ เหมือนกัน เรียกว่า... เป็นกงกรรมมกงเวียน....และคงเป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้

    คิดว่าเวลาอาจารย์หรือท่านอื่น ๆ กลับบ้าน คงได้รับประสบการณ์เช่นนี้เหมือนกันนะครับ

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล  อาสโย  เจริญพรโยมอาจารย์ ดร. วิรัตน์  คำศรีจันทร์และญาติโยมทุกท่านในเวทีคนหนองบัว

    • ขอแก้ไขข้อมูลความเห็นที่ 835 อำเภอพรหมพิรามมีวัดอยู่สองแห่งที่ชื่อคล้ายๆกัน  แห่งแรกชื่อวัดใหม่พรหมพิราม  เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2471 โดยหลวงสมประสาท อดีตนายอำเภอ และพระยาอินทุภูติภักดี เป็นผู้บริจาคที่ดิน ครับ 

     

  • จากความเห็นที่๘๓๗ มีบางท่านบ้านอยู่ใกล้กันรุ่นราวคราวเดียวกัน เขาเรียนหนังสือ เมื่อจบจากหนองบัวแล้ว ไปเรียนต่อต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ แล้วก็ทำงานในที่ต่างๆไม่ได้กลับหนองบัว ตั้งแต่นั้นมา จนถึงตอนนี้ มีหลายอยู่ท่าน กว่าสามสิบปีแล้ว ยังไม่ได้พบกันเลย
  • บางคนได้ข่าวว่าเป็นนายตำรวจยศพันก็มี บางท่านคุณพ่อเขาบอกอาตมาว่าตอนนี้ลูกได้เป็นผอ.แล้ว ได้เป็นปลัดอำเภอก็มี ฯลฯ
  • เด็กๆก็จะรู้จักดี แต่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตาเลยก็มี เป็นการรู้จักแค่ชื่อของท่านเหล่านั้นเท่านั้น คือจะได้ยินพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พูดให้ฟัง ขออนุญาตใช้สำนวนชาวบ้านตามแบบของท่าน เมื่อเอ่ยถึงบุคคบที่เราไม่รู้จักท่านก็จะพูดว่า... อ๋อไอ้..คนนั้นมันเป็นคนบ้านเรานี่แหละ ชื่ออะไรเป็นลูกของใคร หลานของใครสาธยายให้เราฟังได้อย่างครบถ้วนละเอียดยิบ แล้วรู้ต่อไปอีกว่าตอนนี้คนนั้นทำงานที่นั่นที่นี่
  • ชาวบ้านนั้นมีวิธีจดจำเรื่องราวต่างๆได้ดี ที่เป็นอย่างนี้เพราะพ่อแม่ผู้เฒ่าผู้แก่เวลาเจอกันตามเทศกาลงานบุญต่างๆ ซึ่งก็พอจะมีเวลาให้ได้เสวนาพูดคุยกัน ด้วยความเป็นคนบ้านเดียวกันหรือต่างหมู่บ้าตกันก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ทางสังคมของคนรุ่นนี้ยังเหนียวแน่นมั่นคง เหตุที่รู้จักคุ้นเคยกันอยู่ก่อนแล้ว ก็ทำให้มีหัวข้อสนทนากันเยอะแยะไปหมด และก็จะมีเรื่องให้พูดคุยถึงลูกๆหลานๆไปด้วย เลยทำให้รู้ว่าลูกหลานของใครทำอะไรยู่ที่ไหน
  • บางท่านออกจากหนองบัว ไปทำงานมีครอบครัวอยู่ต่างจังหวัด ทำงานจนเกษียณ แล้วกลับมาอยู่ใกล้ๆพี่น้องที่หนองบัว เหตุการณ์ก็คล้ายกับเมื่อสามสิบสี่สิบปีแล้วเลย คือตอนนั้นจากหนองบัวไปคนเดียว ตอนนี้ก็กลับมาอยู่หนองบัวก็มาคนเดียว เพราะลูกๆอยู่ที่เดิมไม่ตามพ่อแม่มาด้วย
  • อาตามาเวลากลับไปวัดใหญ่:วัดหนองกลับ ไปกราบนมัสการพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระนิภากรโสภณ(ไกร ศรสุรินทร์) ก็มักจะถูกท่านชักชวนให้กลับหนองบัวอยู่บ่อยๆ ท่านจะพูดว่ามหาแล เมื่อไหร่จะกลับบ้านเราละ ลูกหลานชาวหนองบัวไม่รู้จักแล้วนะ

  • นมัสการ พระเดชพระคุณท่านพระมหาแลฯ ครับ

    เท่าที่ทราบมาหลาย ๆ ท่าน ที่จากบ้านไปไกล ยังพอมีพ่อ/แม่ มีญาติ/ มีที่ทางทำกินอยู่ในหมู่บ้านเกิด คือยังมีปัจจัยทางวัตถุพอหลงเหลือให้คิดถึง/กลับไปดูแลอยู่บ้าง แต่คนที่ผมเคยรับรู้มาตอนเด็ก ๆ นั้น ถึงกับถอนเสาเรือน (ขายบ้าน) ขายที่ไร่ที่นาหายไปเลยด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน จนช่วงเวลามันขาดตอน ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเขาอีก จนเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่มีใครรู้จัก

    ผมมีความชื่นชมนะครับ(ภายหลังที่โตและรู้ความแล้ว) ว่าท่านเหล่านี้ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน...ใกล้/ไกล......ทำมาหากินอะไร ก็ยังมีความรักในถิ่นเกิด (ซึ่งด้อยความเจริญเต็มที)

    เข้าใจว่าคงเป็นเรื่องทางจิตใจนะครับ.

        กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ  

    • กราบอนุโมทนาในความสำเร็จเสร็จสิ้นของกิจกรรมค่ายเยาวชนตำบลท่ามะเฟืองของพระคุณเจ้า เด็กๆ และกลุ่มชาวบ้านในชุมชน ในครั้งนี้อีกครังหนึ่งด้วยครับ
    • ขอร่วมตกผลึกแง่คิดและหาความรู้จากกิจกรรมที่ทำขึ้นในครั้งนี้ไปด้วยกับพระคุณเจ้าสักเล็กน้อยนะครับ
    • คุยอย่างคนบ้านนอกด้วยกันนะครับ... การที่พระคุณเจ้ารวบรวมความมั่นใจ เดินหน้าระดมพลังความร่วมมือ เหลียวซ้ายแลขวาขอการปรึกษาจากรอบข้างสารพัดวิธีการที่จะคิดและพอมองเห็นเป็นโอกาส....และอีกหลายอย่าง กระทั่งสามารถจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้นั้น  ก็ถือว่าคิดดีแล้ว ได้ทำ ก็นับว่าได้ความสำเร็จไปตามเหตุปัจจัยของมันอย่างงดงามแล้วละนะครับ
    • ที่สำคัญคือ ในชุมชนต่างจังหวัดและบ้านนอกอย่างเราๆนั้น การทำกิจกรรมในลักษณะอย่างนี้ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีอีกหลายอย่างที่จะต้องทำให้ดีขึ้น ทว่า จะเล็งผลเลิศให้ได้ทุกอย่างในครั้งเดียวไปหมดนั้น เพียงแค่คิดก็หมดแรงที่จะทำแล้ว ดังนั้น ในโอกาสอย่างนี้ เพียงมองเห็น ๒-๓ เรื่องที่ได้ต่อไปนี้ ก็ถือว่างดงามแล้วละครับ คือ........
      ๑. ได้ต้นทุนประสบการณ์ที่ทำให้แก่ตนเอง เป็นความมั่นใจที่จะพึ่งการปฏิบัติของตนเองต่อไปในอนาคต สำคัญและมีความหมายมากอย่างยิ่งนะครับ สิ่งนี้ไม่มีทางเลยที่จะมีใครสร้างให้ได้ จะเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยก็ไม่มีทางได้ความรู้และปัญญาปฏิบัติชนิดนี้ บทเรียนและประสบการณ์อันได้แก่ตนเองอย่างนี้เป็นด่านแรกของความสำเร็จ ซึ่งสิ่งทั้งหลายที่จะตามมาอีก ก็จะเป็นภาคขยายให้เด่นชัดต่อไปอีก
      ๒.ได้ให้ประสบการณ์ตรงแก่ชุมชน ต่อไปนี้ก็จะเป็นหลักอ้างอิงให้แก่ความริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพิ่มพูนขึ้นจากประสบการณ์ที่มีคนพาคิดพาทำในครั้งนี้
      ๓.ได้เป็นสื่อและเสียงของชุมชน การทำด้วยตนเอง ได้เนื้อหาประสบการณ์แล้วนำมาเผยแพร่สื่อสาร ก็เหมือนกับได้ช่วยเปิดเส้นทางของเลือดลมของสังคม ให้เกิดความไหลเวียนหล่อเลี้ยงพลังความเป็นชีวิต
      ๔.ได้คำตอบ คำถาม ความท้าทายความริเริ่มที่จะดี ลุ่มลึก และแยบคายกว่าเดิม มวลประสบการณ์ที่ได้เป็นของตนเองชุดหนึ่งจากกิจกรรมที่จัดขึ้นนี้ จะช่วยให้พระคุณเจ้าได้เครื่องมือทางวิชาการปฏิบัติที่สำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะได้บทเรียนตรงๆที่ช่วยให้เห็นแจ้งแก่ตนเองมากยิ่งๆขึ้นว่า ความรู้และงานวิชาการเท่าที่ได้รู้นั้น สิ่งไหนใช้ได้จริงในสังคมและสิ่งใดไม่สอดคล้องกับโลกความเป็นจริง มีเงื่อนไขและเหตุปัจจัยใดมาเกี่ยวข้องบ้าง มีวัตถุดิบสำหรับตรวจสอบตนเองและทำความลึกซึ้งแยบคายให้แก่ตนเอง ซึ่งเมื่อถึงระดับหนึ่ง ก็จะเห็นอีกหลายสิ่งที่เราจะต้องกำหนดรู้ด้วยปัญญาและความรู้บางชนิด ซึ่งการแลกเปลี่ยนสื่อสารและการศึกษาเรียนรู้ย่างทั่วไปจะไม่สามารถนำเสนอให้เข้าถึงได้
    • นอกเหนือจากนี้แล้ว ก็จะสามารถค่อยๆเติมลูกเล่น เสริมความพิถีพิถัน ค่อยคิดค่อยทำ ไปตามกำลังและเงื่อนไขที่เอื้อให้ทำได้ 
    • อันที่จริงหากสามารถริเริ่มและพัฒนาออกไปอย่างผสมผสานพร้อมกับรักษาแนวทางที่เป็นตัวของตัวเองไปด้วยของโลกฝ่ายจิตวิญญาณนั้น กิจกรรมที่สร้างการเรียนรู้เป็นกลุ่มชนอย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องทำเป็นกิจกรรมค่ายอย่างตามๆกันไปก็ได้ครับ อาจจะพัฒนารูปแบบผสมผสานและทดลองค้นพบให้ลงตัวและพอดีกับการนำปฏิบัติโดยพระสงฆ์ เช่น ในเมื่อเน้นการเรียนรู้เป็นกลุ่มก้อน เน้นความสามัคคี และสร้างการเรียนรู้บูรณาการ เชื่อมโยงกับความเป็นชุมชนอย่างลึกซึ้งซึ่งในวิถีคิดในพุทธธรรม ก็มีการจัดการชุมชนในลักษณะนี้ที่เรียกว่า สังฆะ ขณะเดียวกัน ก็มีปัจเจกที่มุ่งความเป็นชุมชนโดยริเริ่มออกมาจากมือตนเอง อันได้แก่ มฆมานพ ดังนั้น เมื่อเราได้ทำกับเด็กๆและเยาวชน ก็อาจจะกลายเป็น : เวทีเรียนรู้ชุมชนเพื่อสร้างยุวมฆมานพแก่สังคมไทย ซึ่งก็จะได้ทั้งพัฒนาสังคมและการสืบสานพระศาสนาให้ผสมกลมกลืนอย่างเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตชุมชน
    • หรืออาจจะเรียกว่า เวทีมหรสพทางปัญญาของเยาวชน อย่างนี้ก็เหมาะอีกเหมือนกันนะครับ โดยเน้นไปในด้านกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองให้กับสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจำเป็นมากในอนาคตนะครับ
    • บทเรียนที่พระคุณเจ้าระดมทรัพยากรจากชุมชน รวมทั้งจัดการความรู้และผสมผสานทรัพยากรสื่อ ทรัพยาการความรู้ มาดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ หากสะสมและนำมาคิดทบทวน หาความรู้และหาความคิดดีไปด้วยอยู่เสมอ ก็จะเป็นการวิเคราะห์วิจัยเครื่องมือและวิธีทำงานแนวนี้ที่น่าสนใจมากเลยนะครับ สักระยะหนึ่งจึงค่อยนำกลับมาศึกษาและถอดบทเรียนอย่างเป็นระบบครับ

      สวัสดีครับคุณสมบัติครับ  

    • เป็นความจริงอย่างยิ่งเลยนะครับ
    • แต่แถวบ้านผมนั้น ยังพอจะใช้วิถีชาวบ้าน เดินถามไถ่นับญาติ ไล่เรียงเพื่อหาความรู้จักคุ้นเคยกันยังพอไหวครับ

       กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลครับ  

    • คงกำลังมีโครงการกลับไปเยี่ยมเยือนหนองบัวกันใช่ไหมครับ
    • แต่คิดและหาจังหวะไปตามเหตุปัจจัย แม้นไม่ได้ไปสักที ก็ยังนับว่าได้เตรียมตนเองให้ขวนขวายได้กลับไปบ้านหนองบัวอยู่เสมอนะครับ
    • นี่ผมก็ไม่ได้ไปหลายเดือนแล้วละครับ ๒-๓ เดือนแล้ว

     

    เจริญพรโยมอาจารย์ ดร.วิรัตน์ ครับ

    • ขอบพระคุณโยมอาจารย์ที่กรุณา  สะท้อนงาน/กิจกรรมให้กับอาตมาและทีมงาน
    • มีกำลังใจที่จะทำหน้าที่  และบทบาทอีกเยอะเลยครับ...  พอจะมองเห็นธงแล้วครับ
    • สื่อและข้อมูลในเวที่คนหนองบัว อีกหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการทำกระบวนการเวทีอบรม  ถ้ามีเวทีต่อไปอีกจะแจ้งข่าวให้ทราบครับ
    • ตอนนี้อาตมาต้องปั่นงานThesis อย่างหนักเลยครับ จะหมดเวลาอีกเทอมแล้ว
    • รบกวนโยมอาจารย์เข้ามา@ ในบล็อกของอาตมาบ้างนะครับ
    • เจริญพรมาด้วยความเคารพ 

    Intersectoral Collaboration for Change at Local Community Level
    by Community-Based and Web-Blog Combination Implementation Programe

    กราบมัสการพระอธิการโชคชัยครับ

    • ผมลองจั่วหัวข้อเพื่อให้เห็นแนวคิดสำคัญ ที่สะท้อนอยู่ในงานชุมชนของพระคุณเจ้า
    • มีหลายแง่มุมที่สามารถนำเอาประสบการณ์ที่ได้มาใคร่ครวญ สำรวจตรวจตรา สร้างความรู้ และสรุปเป็นบทเรียน การเลือกมุมมอง เห็นด้านที่มีความหมายและมีนัยสำคัญต่อประเด็นส่วนรวมต่างๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการได้บทเรียนและข้อสรุปที่มีคุณค่าและมีความหมาย หากทำไปอย่างนี้เรื่อยๆ ยิ่งมีประสบการณ์มาก ก็จะได้ภูมิปัญญาจากการปฏิบัติมาก ความเป็นผู้ รัตตัญญู ก็ก่อเกิดขึ้นโดยนัยอย่างนี้ได้นะครับ
    • ในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าจะไม่นาน ก็จะเป็นวิถีความรู้และการทำงานอีกแนวทางหนึ่งที่มีบทบาทมากครับ เพราะสังคมจะโหยหาการได้มีประสบการณ์ตรงในชีวิตและการงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสังคมเสมือน (Virtual Reality) ขยายตัวมากขึ้น และการเข้าถึงประสบการณ์ต่อสิ่งต่างๆผ่านสิ่งที่มีความเป็น 'สื่อกลาง' มีความแพร่หลายมากขึ้น ผู้คนก็จะหวนกลับมาให้คุณค่าต่อการได้ ลงมือทำด้วยตนเอง และการได้เกิดประสบการณ์ตรง ในชีวิตของตนเองมากขึ้น
    • ตัวอย่างเช่น การได้ร้องเพลงคาราโอเกะ : ความสำคัญของเพลงและดนตรีไม่ใช่เพียงแค่มีคนมาร้องและแสดงให้ชมเท่านั้น แต่ธรรมชาติของมนุษย์ต้องการความรื่นรมย์และการพักผ่อนหย่อนใจด้วย การให้ผู้อื่นทำให้ก็นับว่าดี แต่การได้เกิดประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง ก็ทำให้ผู้คนเข้าถึงได้อย่างซาบซึ้งกว่า
    • การท่องเที่ยวและพักอาศัยตามบ้านแบบโฮมเสตย์ : ผู้คนอิ่มตัวกับการได้รับบริการจากผู้อื่น ได้ความสะดวก ได้กินและอยู่อาศัย ผ่านสิ่งอำนวยความสะดวกและมีผู้อื่นทำให้ มากพอแล้ว ก็เกิดความเคลื่อนไหวขึ้นอีกมิติหนึ่งทั่วโลกที่ผู้คนจะหวนคืนสู่ความสามัญและเรียบง่าย อยากอยู่กับความเป็นธรรมชาติ ได้ประสบกับความลำบากและประสบการณ์แปลกใหม่ของชีวิต 
    • สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยๆที่ทำให้เห็นว่า ความรู้และภูมิปัญญาที่สั่งสมขึ้นจากวิถีปฏิบัติ อีกทั้งเป็นการปฏิบัติและภาวนาอย่างเป็นกลุ่มก้อน-เป็นชุมชน อย่างที่พระคุณเจ้ากับชาวบ้านตำบลบ้านมะเฟืองกำลังช่วยกันทำนั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและจะมีความหมายต่อชุมชนมากยิ่งๆขึ้นครับ 

    กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    ได้ข่าวจากครูนก ทางบ้านน้ำท่วมส่งมาให้ชมกันครับ ผมเห็นแล้วตกใจเลยโทรไปถามทางบ้าน พ่อเล่าให้ฟังว่า ฝนตกมาสองสามวันหนักมาก อ่างเก็บน้ำคลองสมอแตกรับน้ำไม่ไหวไหลเข้าท่วมบ้านเรือน ร้านค้าตลาด ออกไปทางป่ารังก็ท่วมเช่นกัน ผู้ที่ต้องเดินทางผ่านหนองบัวต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูงครับ นานหลายปีแล้วหนองบัวไม่เคยเจอน้ำท่วมหนักอย่างนี้ครับ

    สีแยกหนองบัว

    ทางหน้าบ้านผมเองครับ

    • ขอบคุณคุณเสวกที่นำข่าวและนำภาพถ่ายน้ำท่วมหนองบัวมาแจ้งให้ทราบ
    • เมื่อสักครู่หลวงอาได้โทร.ไปบ้านน้องชายที่บ้านสะพานหนึ่ง บ้านเขาอยู่ฝั่งตะวันตกถนนสายหนองบัว-บ้านห้วยด้วน บ้านกลุ่มนี้น้ำยังไม่ท้วม
    • แต่ฝั่งตะวันออกถนนน้ำท่วมเยอะแล้ว ถ้าฝนตกอีกน้ำคงจะท่วมถนนแน่
    • ส่วนที่บ้านโยมบ้านเนินตาโพ น้ำท่วมเล็กน้อย น้องบอกว่าในตลาดน้ำท่วมมาก รถราวิ่งกันไม่ได้
    • ข่าวจากบ้านเนินตาโพบอกว่าน้ำที่ท่วมมากนี้ ไม่ใช่เกิดจากอ่างเก็บน้ำคลองสมอแตก แต่เป็นปริมาณน้ำที่ล้นอ่าง แล้วไหลบ่าท่วม จนเมืองหนองบัว(ตลาดหนองบัว)จมน้ำอย่างที่เห็นในภาพ
    • สี่แยกต้นอีซึก สี่แยกหนองบัวซึ่งเป็นสูงที่ดอน แต่ดูจากภาพถ่าย น้ำเยอะเหลือเกินเป็นปรกฏการณ์ครั้งแรกก็ว่าได้ ที่หนองบัวน้ำท่วมมากขนาดนี้
    • คุยกับน้องๆ เขาเข้าใจว่าหลวงอาจะกลับหนองบัว เขารีบบอกว่าหลวงพี่อย่าพึ่งกลับนะ รอสักสองสามวันก่อน ให้น้ำยุบก่อนแล้วค่อยมาว่างั้น

     

    สวัสดีครับคุณสเวกครับ

    • ขอสันถวะหน่อย คุณเสวกสบายดีนะครับ
    • เมื่อก่อนนี้ ตรงแยกหนองบัวกับโรงเรียนหนองคอก ยากครับที่น้ำจะท่วมถึง
    • หากท่วมอย่างนี้ ในสมัยที่ผมเป็นเด็ก ก็จะสามารถใช้เรือเดินทางจากหนองบัวไปชุมแสงได้เลย และแถวบ้านป่ารัง บ้านตาลิน เรื่อยไปจนถึงชุมแสงก็ไม่ต้องห่วงเลยละครับ ต้องท่วมไปเกือบถึงพื้นบ้านเรือนเลย
    • น้ำหลากอย่างนี้ หากเป็นเมื่อก่อนก็จะส่งผลดีหลายอย่างนะครับ.....
      (๑) ปลาเยอะ พอน้ำลด ปลาที่โตจากแม่น้ำและแหล่งเก็บน้ำทางเหนือก็จะมาตามน้ำ หาปูหาปลาสนุก
      (๒) กระตุ้นต้นข้าวให้โตเร็วกว่าหญ้าและพืชนิดอื่น พอน้ำลดก็ตั้งกอและคลุมดินได้ทั้งหมดทำให้งอกงามเติบโตโดยกระบวนการธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
      (๓) ชะล้างพื้นดินให้สะอาด เมื่อน้ำลด ก็กลับสู่วงจรเหมือนทุกอย่างได้รับการบุกเบิกและเริ่มมีความเป็นชีวิตชีวาอีกรอบ
    • แต่เดี๋ยวนี้ การตั้งถิ่นฐาน การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย รวมทั้งการทำถนนและโครงสร้างพื้นฐานบนดิน ที่ทำอย่างแยกส่วน ต่างคนต่างไป ก็กลายเป็นปัจจัยสะสมที่บวกกันและกำลังแปรให้หลายอย่างที่น่าจะเป็นปัจจัยบวกของสังคมไทยกลายเป็นปัจจัยลบ ก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ
    • โครงข่ายถนน ที่มีเป็นจำนวนมาก แต่ท่อ คลอง และสะพาน สำหรับเปิดทางน้ำมีไม่เพียงพอ รวมทั้งการขยายตัวของชุมชนเมืองที่จะตามมาด้วย Man-made Erosion หรือการพังทลายและล่มสลายของหน้าดินที่เกิดจากมือคนทำ ขุดที่ดอนให้กลายเป็นที่ลุ่มและน้ำท่วมขัง แต่ไปถมที่ลุ่มและแหล่งความอุดมสมบูรณ์ให้กลายเป็นที่ดอน หมดศักยภาพในการเพาะปลูก เหล่านี้ ก็กลายเป็นสิ่งที่จะทำให้น้ำท่วมและน้ำหลาก กลายเป็นภัยพิบัติมากมายมากขึ้นเรื่อยๆ
    • ทุกปี ประเทศไทยจะต้องสิ้นงบประมาณและทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาไม่ให้น้ำท่วมอย่างที่ควรจะเป็นในหลายแหล่งอย่างเปล่าประโยชน์ หลายพันหลายหมื่นล้าน กระทั่งกลายเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ที่จะต้องมีทุกปี เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
    • ก่อให้เกิดน้ำท่วมขัง เพาะเชื้อโรค และก่อให้เกิดโรคระบาดในแบบแผนใหม่ๆ
    • ผมว่าคุณเสวกช่วยกันเป็นสื่อแบบชาวบ้าน-ชาวบ้าน รายงานสภาพที่เกิดขึ้น และรวบรวมสิ่งที่เป็นผลสืบเนื่องตามมาเล็กๆน้อยๆ สื่อสารบอกกล่าวกันไปอย่างนี้ก็เป็นการสร้างการเรียนรู้ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีมากเลยนะครับ เมื่อคนเข้าใจและตื่นตัวกันเยอะๆ ปัญหาอย่างนี้จึงจะสามารถแก้ไขด้วยกันได้ครับ

    สวัสดีคะ อาจารย์วิรัตน์

    • ขอนำภาพของเมืองลพบุรี บ้านใกล้เรือนเคียงกับชาวนครสวรรค์ ที่กำลังประสบชะตากรรมไม่ต่างกันคะ ชุ่มฉ่ำที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี

                                          Large_floodingthepsatri

    • อาจารย์พี่สาวได้โทรฯ มาบอกเป็นระยะตั้งแต่วันก่อนว่าฝนตกแทบจะตลอดทั้งวันทั้งคืนมาหลายวัน และน้ำเริ่มท่วมใต้ถุนบ้านพักอาจารย์แล้วจนรถยนต์ไม่สามารถจอดได้ต้องนำขึ้นมาจอดบนถนน ซึ่งก็เริ่มท่วมแล้วเช่นกัน จนประมาณ ๔ โมงเย็นของวันนี้ อาจารย์พี่ได้ชักชวนพี่เจ้าหน้าที่การเงินเดินสำรวจบริเวณโดยรอบของ มรภ.เทพสตรี(๒) ลพบุรี ถนนซอยเข้าบ้านพักอาจารย์  และถนนในเมือง (ถนนมุ่งสู่วงเวียนอนุสาวรีย์สมเด็นพระนารายณ์) ซึ่งน้ำจากแม่น้ำป่าสัก และจากเขื่อนที่จำเป็นต้องปล่อยออกมา ได้ไหลบ่าเข้ามาจนเกือบถึงหัวเข่า บ้านหลังเล็กๆ ริมทาง(ภาพบนซ้าย)น้ำท่วมถึงเอวแล้วคะ และยังบอกอีกว่า ฝนยังทำท่าจะตกอีกแล้ว พรุ่งนี้คงได้พายเรือไปสอนหนังสือแน่ๆ
    • ฟ้าฝนตกถี่ขนาดนี้ เค้าคงต้องการชะล้างสิ่งต่างๆ ให้หมดจรดก่อนจะเริ่มหนาวใหม่สินะคะ ..

    สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์และทุก ๆ ท่านครับ

    ปีนี้ได้รับแจ้งจากทางบ้านว่า...ห้วยปลาเน่า....นาข้าวเสียหายกันยับเยิน มากกว่าปีไหน ๆ ย้อนหลังไปเป็น 40 - 50 ปี เนื่องจากถูกถนน 2 สาย คือสายหนองบัว- บ้านตาลิน/เตาอิฐ-ห้วยวารีใต้ และสายหนองบัว - ห้วยวารีใต้ บีบรัด/กระชับพื้นที่เข้ามาและบรรจบกันที่ห้วยปลาเน่าเหนือ ที่บ้านผมจึงเป็นที่รองรับน้ำทั้งที่มาจากเพชรบูรณ์ พิจิตร และทุ่งหนองบัว เห็นว่านาครูสี ขนาดอยู่ด้านใต้ถนนก็เสียหายมากเช่นกัน

    รถยนต์/รถไถนา/ข้าวของเครื่องใช้เสียหายมาก เนื่องจากขนหนีน้ำไม่ทัน...น้ำขึ้นเร็วมาก ต้องอพยพทั้งคน/ของ/สัตว์เลี้ยงขึ้นไปอาศัยอยู่ 2 ข้างถนน

    หลังสุดนี้ทราบมาว่า น้ำได้ท่วมหลังถนนอีกแล้ว

    แถวบ้านเรา ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้ หลังน้ำลด หรือเมื่อเกิดความแห้งแล้ง โขมย - ขโจร ชุกชุมเหมือนยุง

    ลำบากกันอยู่แล้วยังต้องมาระวังพวกโจรลักวัว ลักควาย ลักเครื่องมือทางการเกษตรอีก

    ขอส่งแรงใจไปช่วยพี่น้องที่หนองบัว และทุกที่ทั่วไทยที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม

    • เพื่อนที่หนองบัวโทรมาบอกตั้งแต่เช้าวันเสาร์ที่เกิดเหตุแล้ว (16 ต.ค.53) น้ำมาเร็วและเยอะมาก ทั้งจากทางเหนือแถววัดเทพ และทางตะวันออกจากคลองสมอ-เขาพระ 
    • เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของหนองบัวเลยทีเดียว ได้ข่าวมาว่าแถวสี่แยกตลาด ลานหน้าโรงสีบุ่งกวง (หน้า7-11) ระดับน้ำถึงเอวเลย ตอนนี้ (18 ต.ค.) ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่หน้าร้าน7-11 และหัวตลาดแถวสมาคมจีน (กู่หลักโป๋ว) สนามฟุตบอลใน รร.อนุบาลหนองบัว (เทพฯ) กลายเป็นบึงไปแล้ว เมื่อวานตอนเย็นโทรคุยกับเพื่อนที่หนองบัว ก็บอกว่าฝนกำลังตกอยู่ค่อนข้างหนักด้วย ไม่รู้ว่าจะมาเติมอีกมากน้อยแค่ไหน 
    • จากตลาดหนองบัวเส้นทางที่น้ำจะลงต่อไปทางชุมแสง แถวบ้านพี่วิรัตน์และน้องสมบัติก็ไม่สามารถจะหลบเลี่ยงได้ 
    • ขอบคุณคุณเสวกมากครับที่เอารูปประวัติศาสตร์หนองบัวมาให้ดู น่าจะเป็นครั้งแรกนะที่สี่แยกหนองบัวกลายเป็นสี่แยกหนองน้ำ

     

    สวัสดีครับอาจารย์พัชร์ครับ
    เมื่อเช้าได้ฟังรายงานสภาวการณ์น้ำและฝนตกทั่วประเทศ
    ลพบุรีน้ำหลากเพิ่มขึ้นและท่วมสูงมากกว่าเดิมอีกแล้วนะครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ
    ข้อสังเกตจากประสบการณ์ชีวิตชุมชนของคุณสมบัตินี่
    ถือว่าเป็นวิชาชีวิตของชาวบ้านแถวหนองบัวและคงจะเป็นในหมู่ชาวชนบทไปด้วยเลยนะครับ
    เมื่อก่อนนี้ก็ต้องถือหลักอย่างที่คุณสมบัติว่ามานี่เลย
    คือ ปีไหนน้ำท่วมและเกิดความแห้งแล้งแล้วละก็
    ปีนั้นเตรียมฝึกการนอนยามและวางคนเดินยามตามละแวกบ้านได้เลย โจร-โขมยจะเยอะ

    สวัสดีครับฉิกครับ

    เพิ่งทราบข่าวเหมือนกันครับว่าน้ำท่วมตลาดหนองบัว นานมากแล้วครับ นานจนลืมไปเลยว่า ตั้งแต่พี่จำความได้จนถึงกว่า ๔๐ ปีแล้วนี้ เคยมีน้ำท่วมถึงบริเวณตลาดหรือเปล่า เคยเห็นแต่ปริ่มๆและเจิ่งเข้าไปในสนามโรงเรียนหนองบัวเทพฯ หน้าอำเภอ และแถวทุ่งนาชุมชนคนเผาถ่าน แต่หากคราวนี้ถึงกับท่วมเข้าไปถึงตลาดได้ ก็นับว่าเป็นความลำบากที่คนหนองบัวไม่เคยเจอเลยละครับ

    น้ำท่วมและน้ำขังในปัจจุบันนี้ น่ากลัวโรคระบาดและมลพิษที่ปนเปื้อนมากับน้ำด้วยนะครับ เมื่อสอง-สามปีก่อน แม่พี่เดินลุยน้ำในหน้าน้ำอย่างนี้ แล้วเท้าไปเตะเอาหนามจากกิ่งไม้นิดเดียว ซึ่งโดยปรกติแล้วก็เป็นเรื่องขี้ไก่ครับ ชาวบ้านไม่รู้สึกว่าเรื่องอย่างนี้จะมาเป็นปัญหาหรอก ไถนา-ดำนา เนื้อตัวต้องโดนเรียวไม้-ใบหญ้าถลอกปอกเปิกอยู่ตลอดเวลา ทว่า ที่ไหนได้ หลังจากนั้นไม่กี่วัน ทั้งเท้าและขาแม่พี่ก็แดงและบวมฉึ่งอย่างกับขาช้าง เดินก็ไม่ได้อีกต่างหาก ต้องไปหาหมอและรักษาอยู่เป็นนาน

    พี่เล่าอย่างนี้ให้น้องๆและเพื่อนๆที่ร่วมงานฟัง เขาเป็นคนอีสาน ก็เล่ายืนยันให้ฟังด้วยว่า แถวบ้านนอกของเขาก็มีลักษณะอย่างนี้ แต่แรงกว่านี้ คืออย่างน้อยก็มีญาติๆเป็นถึงกับเสียชีวิตตามมา ๓ คน อาการคล้ายกันคือไปโดยหนามตำ บวม แล้วก็ตัวลอกเหมือนดักแด้ ระบบประสาทเสีย แล้วก็เสียชีวิต

    การใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการทำนา เลี้ยงปลา และปลูกพืชน้ำ มากจนเกินพอดี รวมทั้งสะสมเพิ่มมากยิ่งๆขึ้นจนปนเปื้อนทั้งในดิน น้ำ และต้นไม่ใบหญ้า พอน้ำหลากมาที ก็นำเอาสิ่งปนเปื้อนเหล่านั้นติดมาด้วยอย่างเข้มข้นกว่าเดิม บางแห่งอาจสามารถเป็นอันตรายต่อสุขภาพของชาวบ้านได้นะครับ ต้องคอยดูเด็กๆและคนที่มีบาดแผลก่อนจะไปโดนน้ำด้วยนะครับ

    เอาข่าวน้ำท่วมที่เกี่ยวกับหนองบัวมาบันทึกไว้ในนี้

    จากมติชนออนไลน์  

    วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เวลา 15:10:00 น. มติชนออนไลน์

    "นครสวรรค์"ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว หลังน้ำท่วมหลายอำเภอ

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่ได้เกิดฝนตกตลอดเวลา และน้ำป่าไหลหลากในเขตหลายอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ได้ทำให้เกือบทุกอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ได้เกิดน้ำท่วมแล้ว และจังหวัดนครสวรรค์ได้ออกประกาศให้พื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ทั้ง 15 อำเภอเป็นเขตภัยพิบัติแล้ว เวลานี้ในเขตพื้นที่อำเภอท่าตะโก ที่เป็นพื้นที่รับน้ำจากจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ไหลมาและผ่านไปยังบึงบอระเพ็ด ปรากฏว่าน้ำที่ไหลมาในช่วงกลางดึก ถึงรุ่งเช้าปรากฏว่าน้ำได้ไหลบ่าท่วมตัวตลาด เขตชุมชนอำเภอท่าตะโก สูงถึงเอว สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่นอย่างหนัก เพราะน้ำที่ไหลบ่ามากลางดึก ทำให้ร้านค้าทั้งหลายไม่ได้เตรียมตัว น้ำจึงไหลบ่าเข้าท่วมระดับน้ำถึงบั้นเอว สร้างความโกลาหลและความเดือดร้อนอย่างหนักให้กับประชาชน

    นายมานพ ศรีผึ้ง นายก อบจ.นครสวรรค์ เปิดเผยว่า ตกใจมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเท่าอายุตนที่เกิดมา ไม่เคยพบเห็นน้ำท่วมเท่าปีนี้ และตนได้ระดมช่วยเหลือเบื้องต้นในการแจกถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้งและเวชภัณฑ์โดยมีนายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ออกเยี่ยมเยียนและดำเนินการสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือแล้ว ล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 1 รายเป็นชายอยู่ที่หมู่ 4 ต.ท่าตะโก เห็นน้ำป่าไหลบ่ามาท่วมพื้นที่ จึงออกลงข่ายจับปลาและประสบเหตุจมน้ำเสียชีวิตด้วย สำหรับพื้นที่อำเภออื่นๆ ไม่ว่า อ.หนองบัว อ.ไพศาลี อ.ตากฟ้า อ.ตาคลี อ.บรรพตพิสัย อ.ลาดยาว อ.ชุมตาบงและอำเภออื่นๆ อบจ.นครสวรรค์จะระดมสรรพกำลังและงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขต่อไป

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสภาพน้ำท่วมในขณะที่หลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกลงมาเป็นระยะๆ อำเภอหนองบัว อ.ไพศาลี ที่ถือว่าเป็นพื้นที่ดอนหรือเป็นแผ่นดินอีสานของจังหวัดนครสวรรค์ ก็ได้ถูกน้ำท่วมอย่างหนักในปีนี้ โดยเฉพาะ อ.หนองบัว ที่มีโรงสีข้าวขนาดใหญ่จำนวนร่วม 10 แห่ง ได้รับความเสียหายอย่างหนัก เพราะน้ำได้ไหลบ่าในตอนกลางคืนเข้าท่วมข้าวเปลือกในโรงสีที่แต่ละแห่งมีข้าวเปลือกอย่างน้อยที่สุดระหว่างโรงละกว่า 100 เกวียนถึงนับพันเกวียนที่ได้ซื้อตุนไว้ และบริษัทประกันความเสียหาย รับประกันเพียง5% แต่ละโรงถูกน้ำท่วมกองข้าวเปลือกอย่างมากมาย ความเสียหายไม่น้อยกว่า100ล้านบาทในขณะนี้

    คคห. ข้างบน #855 เป็นของผมเองครับ ลืมล็อกอินเข้ามา เลยไม่แสดงชื่อ เดี๋ยวจะงงว่าเป็นใครกัน

    • เมื่อตอนหัวค่ำได้คุยกับพี่สาวที่ขายอะหลั่ยที่หนองบัว ปรากฎว่าร้านค้าในตลาดหนองบัวรวมทั้งของพี่สาวด้วย โดนน้ำท่วม ข้าวของเสียหายกันถ้วนหน้า วันนี้น้ำเพิ่งแห้ง ยกเว้นบางจุดแถวหัวตลาด กู่หลักโป๋ว ที่ยังคงมีน้ำขังอยู่บ้าง ส่วนแถวห้วยร่วมยังอ่วมอยู่เลยทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยเจอกับเหตุการณ์รุนแรงแบบนนี้มาก่อน
    • เมื่อก่อนคนหนองบัวมักจะพูดว่า "ถ้าหนองบัวน้ำท่วม ชุมแสงจะไปเหลืออะไร" แต่ครั้งนี้ชุมแสงรอด แถมระดับน้ำในแม่น้ำน่านที่ชุมแสงยังไม่น่าเป็นห่วงด้วย

    รายงานความคืบหน้าให้ทราบจากการโทรคุยกับคนในพื้นที่และจินตนาการเอาเอง (อยากให้คนในพื้นที่ได้รายงานให้ทราบด้วยตัวเองด้วย)

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)
    • อินเตอร์เน็ตใช้ไม่ได้ ๓-๔ วัน วันนี้เข้ามาดู มีข้อมูลต่อเนื่องเรื่องน้ำท่วมหนองบัวมากมายเลย ขอบคุณทุกท่านที่ได้ช่วยเป็นสื่อ ดูไปก็คล้ายเป็นหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านบ้านเลยนะเนี่ย แต่แตกต่างจากสื่อประจำหมู่บ้านนิดหนึ่ง ก็ตรงที่เวทีคนหนองบัวนี้ คนเล่าข่าวเป็นคนไกลบ้าน รายงานจากนอกพื้นที่
    • คนในพื้นที่รายงานข่าวหลังไมค์ให้ฟังว่าพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมมากที่สุดคือในเมืองในตลาด แต่นาข้าวส่วนใหญ่ยังปลอดภัยดีอยู่ ไม่เสียหาย ที่ไม่เสียหาย ก็เพราะต้นข้าวโตแล้ว อีกอย่างพื้นที่ฝั่งหนองบัวด้านตะวันออกเป็นที่ดอนที่สูง น้ำที่หลากมา แม้จะมีมากก็จริง ไม่ใช่น้ำท่วมขัง น้ำที่หลากมาจึงไหลผ่านไปค่อนข้างเร็ว น้ำที่มากมายนี้จึงไม่มีผลกระทบต่อที่นาบริเวณดังกล่าว ส่วนแถวห้วยปลาเน่า ห้วยร่วมและพื้นที่ลุ่มอีกหลายแห่งคงมีผลกระทบบ้าง
    • ถ้าจำไม่ผิด เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี่เอง ทางการแจ้งให้พี่น้องชาวนาที่ทำนาปรัง หยุดทำนา รัฐขอร้องให้เกษตรกรทำนาปีละครั้ง เพราะขาดน้ำ หลายจังหวัดประสบกับภาวะภัยแล้ง ไม่มีน้ำทำนา ไม่มีน้ำบริโภค
    • พี่น้องชาวนาของเราเจอภาวะภัยแล้งผ่านพ้นไปไม่นานนัก ก็ต้องมาเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมใหญ่ครั้งรุนแรงซ้ำอีก จนสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมายอยู่ในขณะนี้

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
    และสวัสดีครับฉิก

    ตัวเลขเข้ามาดูสองสามวันที่ผ่านมานี้พุ่งขึ้นเยอะเลย สงสัยคนเข้ามาดูข่าวคราวทางบ้านกัน แต่ก็ยังไม่มีใครอาสาเป็นสื่อชาวบ้านจากพื้นที่อย่างที่ฉิกเสนอเลยนะครับ 

    แม่ผมบอกว่าเมื่อตอนที่ท่วมตลาดหนองบัวนั้น น้องผมถึงกับเข้าไปสอนโรงเรียนหนองคอกไม่ได้ ผมนั้นนึกภาพไม่ออกเลยนะครับว่าแล้วที่อื่นๆแถวตัวเมืองหนองบัวจะไปอยู่กันอย่างไร

    แถวบ้านตาลินนั้น บริเวณที่ใกล้ถนนน้ำลดแล้วครับ ก่อนหน้านี้ ๒-๓ วันน้ำเอ่อท่วมกันอย่างทั่วหน้า บ้านผมนั้น ถึงแม้น้ำจะท่วมไม่ถึง แต่ก็ปริ่มไปจนเกือบถึงตัวบ้าน พอสองสามวันก็ลด แต่กว่าจะลด แม่และน้องก็บอกว่าดินมันก็ขยายตัว ผลก็คือประตงประตูบิดเบี้ยวเปิดออกได้แต่ปิดไม่ได้เหมือนเดิมไปหมดเลย

    แต่เขาบอกว่าปลาเยอะมากครับ ยืนเอาสวิงช้อนเล่นๆอยู่ไม่นานก็ได้ปลาเป็นกระสอบปุ๋ยเลย ตอนนี้หลานๆผมได้ยินว่าน้ำท่วมและปลาเยอะเขาก็พากันตีปีกเดินทางปร๋อกลับไปหนองบัวแล้วครับ

    ที่เห็นทีจะแย่คือญาติพี่น้องและชาวบ้านที่อยู่กลางทุ่ง ไกลออกไปจากถนนครับ น้ำท่วมและไหลเชี่ยว ติดต่อกับโลกภายนอกไม่ได้เลย ๕-๕ วันมาแล้ว ชาวบ้านไม่ได้ใช้เรือมาหลายปีดีดักแล้ว พอน้ำท่วมคราวนี้เลยหมดหนทางที่จะออกมาจากบ้านที่น้ำท่วม คงต้องรอให้น้ำยุบและพอจะเดินลอยคอมาตามถนน

    อันที่จริง.....สภาพอย่างนี้คือความปรกติที่เคยมีมาแต่ก่อนเก่า หลังจากนี้ก็จะกลับยิ่งดีเพราะเมื่อหน้าน้ำหลากผ่านไปแล้ว ผืนดิน ลานบ้าน ใต้ถุนบ้านจะถูกชะล้าง แต่เดี๋ยวนี้สงสัยจะตามมาด้วยปัญหาอีกระรอกหนึ่งตอนน้ำลด เพราะคงจะเต็มไปด้วยน้ำท่วมขัง เน่าเสีย และเป็นแหล่งเกิดยุง

    ขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องชาวหนองบัวที่ต้องประสบความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งนี้นะครับ ตอนนี้ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นมีกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาที่เป็นคนนครสวรรค์ รวมตัวกันรณรงค์ระดมความช่วยเหลือเฉพาะหน้าโดยรับบริจาคสิ่งของต่างๆเพื่อรวบรวมไปช่วยคนนครสวรรค์และที่อื่นๆด้วยครับ

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์
    วันนี้อาตมาภาพมีข่าวน้ำท่วมหนองบัวมาฝากอาจารย์และคนหนองบัว

    เนื่องจากพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) ได้อ่านข่าวน้ำท่วมหนองบัวจากเว็บไซต์ครอบครัวข่าว ๓( ช่อง ๓)(krobkruakao.com)เมื่อหลายวันก่อน วันนี้ท่านจึงฝากให้อาตมานำข่าวดังกล่าว มาลงในเวทีคนหนองบัวนี้ เพื่อให้ชาวหนองบัวได้อ่านกันอีกครั้งหนึ่ง  ดังนี้
    http://www.krobkruakao.com

    นครสวรรค์-น้ำป่าท่วม รพ.หนองบัว ต้องย้ายคนไข้

    15/10/2553

    ฝนถล่มหนักหลายชั่วโมงที่จังหวัดนครสวรรค์ เป็นเหตุให้น้ำป่าจากเทือกเขาพระ เขาสูง และเขาแม่แก่ ไหลบ่าเข้าท่วมวัด และ รพ.หนองบัว หนักที่สุดในรอบ 20 ปี จนต้องย้ายคนไข้ 
            หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันไม่กี่ชั่วโมง ก็ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ทำให้น้ำป่าไหลทะลักจากเทือกเข้าท่วมโรงพยาบาลหนองบัว ทำให้ รพ. ต้องเร่งขนย้ายคนใข้หนีน้ำ ส่วนคลังยาของโรงพยาบาลเสียหายหลายกล่อง ต้องระดมคนงานมาช่วยขนหนีน้ำ
            นอกจากนี้น้ำป่ายังเข้าท่วมวัดหนองกลับ หรือวัดหลวงพ่อเดิม(วัดพระครูไกล) เข้าท่วมกุฎฎิ จำนวน 4 หลัง และห้องน้ำสาธารณะ 8 ห้อง จนพระไม่มีห้องน้ำใช้ หลวงพ่อต้องฉันอาหารเพลบนโต๊ะท่ามกลางสายน้ำป่าที่ทลักเข้าท่วม และมากที่สุดในรอบ 20 ปี 

     

    สภาพภายในโรงพยาบาล (ตุลาคม ๒๕๕๓)

     

     ๔ แยกต้นอีซึก : ๔  แยกหนองบัว(ตุลาคม ๒๕๕๓)


    ภาพตำรวจจราจรและรถตุ๊กๆนี้ อาตมายังมองไม่ออกว่าอยู่ตรงไหน
    หน้าสถานีตำรวจ หน้าที่ว่าการอำเภอ ?


    โรงพยาบาลหนองบัว(ตุลาคม  ๒๕๕๓)

    วัดใหญ่:วัดหนองกลับ ( ตุลาคม 2553 )

    เรียนท่านอธิการโชคชัยครับ

    • ขอขอบพระคุณท่านอธิการเป็นอย่างมากเลยนะครับที่ได้ช่วยเป็นสื่อ ส่งข่าวสารท้องถิ่นนอกพื้นที่ จากพิษณุโลกซึ่งห่างจากหนองบัวตั้งร้อยกว่าโล ส่งถึงคนหนองบัวโดยตรง ส่งให้ถึงบ้านเลยเชียว ขอบคุณในความมีน้ำใจ

     

    ขอบพระตุณทุกท่านครับที่ช่วยเป็นสื่อ / นำข้อมูลข่าวสารและภาพน้ำท่วมทางบ้านมาลงให้ได้ดูกัน

    บ้านผมน้ำก็ลดแล้วเช่นกันครับ

    วันนี้ถ้าเป็นเมื่อปีก่อน ท่านอาจารย์โสภณ สารธรรม และคณะอยู่ที่หนองคาย/อุดรธานี

    ขณะนี้วิทยุท้องถิ่นในจังหวัดหนองคายรายงานตรงกันว่า เมื่อเวลา 18.52 น.บั้งไฟพญานาคชุดแรกชึ้น 11 ลูกที่อำเภอรัตนวาปี เวลาถัด ๆ มาชึ้นที่อำเภอสังคม 5 ลูก อำเภอปากคาด(ซึ่งอนาคตจะไปขึ้นอยู่กับจังหวัดบึงกาฬ) ขึ้น 2 ลูก ส่วนอำเภออื่น ๆ ยังไม่มีรายงานครับ.

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล พระอธิการโชคชัย และสวัสดีคุณสมบัติครับ

    • เมื่อก่อนนี้เวลาน้ำหลากเอ่อท่วมแถวนั้น ที่ถนนดินทรายคู่ขนานกับถนนสายหลักที่ผ่านหน้าโรงพยาบาลหนองบัวนี้ แต่เป็นถนนต่อจากขอบสระวัดหนองกลับ ลัดเลาะออกด้านหลังอำเภอ ผ่านหมู่บ้านเผาถ่านแล้วก็ตรงไปโรงเรียนหนองคอก ก็จะขาดเป็นระยะๆ ปลาชอบแถกขึ้นมาบนถนน
    • แต่น้ำจะหลากอยู่ไม่นาน ไม่พอที่จะเรียกว่าท่วมหนองบัวได้ เพราะพอหลากได้ไม่กี่วันก็จะไหลลงทางใต้ได้หมด จะไปเจิ่งนองแถวนอกตัวเมือง แถวห้วยน้อย ห้วยปลาเน่า สะพานหนึ่งนอกตัวตลาดหนองบัว ก็จะมีชาวบ้านทั้งจากหนองบัวและรอบข้างไปทำห้างวางข่าย ลงเบ็ด ดักอวน วางไซ จับปลา

                                             Farmersolidarity 

    • การที่เกิดน้ำเอ่อและท่วมขังในตัวเมือง นอกจากเป็นความเสียหายและก่อความทุกข์ร้อนมากแล้ว มองในแง่ระบบนิเวศน์ของชุมชนท้องถิ่น ก็เป็นตัวส่งสัญญาณจากธรรมชาติให้ทราบได้อย่างหนึ่งได้เหมือนกันหรือไม่นะครับว่าช่องทางการไหลผ่านและระบบการถ่ายเทระบายน้ำที่พอมีอยู่แต่เดิมนั้นเริ่มชักจะไม่สอดคล้องกับการขยายตัวของตัวเมืองในปัจจุบันแล้ว

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์

    หมู่บ้านเผาถ่าน มีคนหมู่บ้านผมย้ายไปอยู่ 1 ครอบครัว เห็นเขาบอกว่าไปเผาถ่านที่...บ้านหนองคอก

    สมัยผมเรียนมัธยมเคยเดินผ่าน(รถเมล์ไม่ไปส่ง) จากท่ารถตลาดหนองบัว - สระหลวงพ่ออ๋อย - หลังแฟลตตำรวจ - โรงเรียนหนองบัว ยังเห็นเขาเผาถ่านอยู่เลยครับ

    สมัยนั้น ถ้าเป็นช่วงนี้ ผมเคยแบกข้าสาร/อาหารแห้งเดินตั้งแต่ห้วยปลาเน่า - ป่าเรไร - น้ำสาดกลาง - บ้านน้อย - ห้วยด้วน - หน้าโรงพยาบาลหนองบัว ประมาณ 20 กิโล. ไปเช่าห้องติดร้านขายข้าวแกงป้าไพ่ / ร้านขายของชำป้ามี/ข้าง ๆ บ้านอาจารย์อุดม...จำเป็นต้องเช่าครับเพราะน้ำท่วม/ถนนขาดตลอดทาง ไม่งั้นไปโรงเรียนไม่ได้

    พรรคพวกที่อยู่ในดง (เขตทรัพย์สวรรค์ คลองกำลัง เหมืองแร่ หนองดู่ วังแรด...) ก็มาเช่าห้อง หรือไม่ก็ไปอยู่ตามบ้านญาติที่อยู่ใกล้โรงเรียนพอที่จะเดินหรือขี่จักรยานไปเรียนหนังสือกันได้

    สถานการณ์น้ำที่ห้วยปลาเน่าขณะนี้ดีขึ้นแล้วครับ น้ำลด/ปลามาก ลงข่าย ดักลอบ ลงซ่อน ได้ปลาตัวใหญ่ ๆ กันทั้งนั้น คนที่อยู่บนโคกแถววัดป่าเรไร/น้ำสาดกลางก็พาเหรดมากางเต๊นท์ ตั้งแคมป์หาปลากัน 2 ฟากคลองห้วยปลาเน่า ข้าวปลาอาหารหากินกันตรงนั้นเลย

    ตามที่ผมสังเกตดูนะครับ.... ปลาร้าบ้านผมกับปาแดกทางภาคอีสาน/ลาว หน้าตาไม่ค่อยเหมือนกันครับเท่าไหร่

    ทางอีสานกับลาวนั้น ปลาแดกจะตัวเล็ก ๆ เขาทำปลาแดกเพื่อจะเอาน้ำ มาใส่ตำหมากหุ่ง ใส่ต้มใส่แกง/ประกอบอาหารมากกว่าอย่างอื่น แต่ที่บ้านผมนั้น ปลาตัวเล็ก ๆ ขนาดนั้น จะโยนทิ้งให้เป็ดกิน เพราะปลามีเยอะจึงคัดเอาแต่ตัวใหญ่ ๆ เท่าแขน เท่าฝ่ามือมาทำปลาร้า

    การประกอบอาหารส่วนมาก นิยมนำมาทอดให้สุก หรือทำปลาร้าสับ/ปลาร้าทรงเครื่อง...หรือพริกเกลือของพี่น้องชาวหนองบัวนั่นเอง

    คนที่อยู่ในดง/ในตลาดหนองบัว ไพศาลี ท่าตะโก นิยมมาหาซื้ปลาร้าที่บ้านผมกันมาก เนื่องจากเชื่อกันว่าบ้านห้วยปลาเน่า ผลิตปลาร้าคุณภาพดีและสะอาด

    ช่วงนี้ ชาวบ้านถือเอาวิกฤฤต เป็นโอกาสกันแล้วครับ.

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    • หมู่บ้านเผาถ่านนี่เป็นย่านเลยนะครับ แต่เดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่ายังมีอยู่หรือเปล่า ผมเคยนั่งคุยกับแท๊กซี่คนหนึ่งวัยอาวุโสมากแล้ว คุยไปคุยมาแกบอกว่าในวัยหนุ่มแกเป็นคนไปหาฟืนให้กับรถไฟในยุคที่ใช้หัวรถจักรไอน้ำ แกจะต้องไปอยู่ห้างค้างแรมที่ป่าหนองบัว แล้วก็ตัดฟืนจากป่าหนองบัว แกเล่าว่าหนองบัวมีป่าไม้ทำฟืนเยอะ แล้วก็มีปลาตามแหล่งน้ำต่างๆเยอะ รวมทั้งมีปลิง-ปลิงควาย เยอะอีกด้วย แกจะขนฟืนไปส่งสถานีรถจักรที่สถานีหนองปลิงที่เป็นสถานีนครสวรรค์ในปัจจุบันนี้ หนองบัวจึงมีบทบาทต่อการผลิตเชื้อเพลิงจากถ่านและไม้ทำฟืนมายาวนานพอสมควร มากกว่าการผลิตขึ้นใช้ในชุมชนท้องถิ่น ผมเคยบันทึกไว้บ้างที่นี่ครับ :  ๓๒. ไอ้เป๋หนองบัวกับวัวหลวงพ่ออ๋อย...ธรรมชาติการดูแลกันของชุมชน
    • ผมเคยนั่งรถผ่านแถวบ้านห้วยปลาเน่าและบ้านน้ำสาดเหมือนกัน ก็รู้สึกว่ามันไกลมากทีเดียว ยังนึกถึงเพื่อนๆรวมทั้งคุณสมบัติอยู่นะครับว่าเมื่อตอนเรียนหนองคอกกันนั้นคงจะลำบากไม่น้อย
    • พอคุณสมบัติเล่าช่วงชีวิตตอนเรียนแล้วก็นึกภาพออกเลย เมื่อก่อนพวกเราก็ต้องกระเสือกกระสนกันอย่างนั้น บางช่วงที่ไปกลับบ้านลำบากและต้องไปนอนหนองบัว ก็ต้องแบกกระสอบปุ๋ยใส่ข้าวสารอาทิตย์ละ ๒๐ ทะนานกับอาหารแห้ง ปลาร้า น้ำพริก ไข่เป็ด ปลาเค็ม เพื่อไปอยู่หนองบัวและเรียนหนังสือ แต่บ้านผมเดินใกล้กว่าบ้านคุณสมบัติแน่ะ คุณสมบัติเป็นลูกบ้านนอกที่น่าภูมิใจนะครับ
    • แถวบ้านผมชาวบ้านก็สนุกกับการหาปลาครับ หลานๆผมที่อยู่กรุงเทพฯก็แห่กันกลับบ้าน ไปสัมผัสน้ำ หาปลามาทำอยู่ทำกิน

    สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    วันนี้โทร.คุยกับหลาน ๆ ที่กลับบ้านไปทำบุญวันออกพรรษา แต่เขาไม่ได้ทำบุญ.... ไม่ใช่เหม็นกลิ่นปลาเน่าหรืออะไรหรอกครับ แต่เพราะน้ำท่วมศาลาวัด ขนาดพระและชาวบ้านที่รู้ล่วงหน้าว่าน้ำป่าจะมา นำรถกระบะ อีแต๋น ไปไว้บนศาลาวัด ก็ยังไม่วายถูกน้ำท่วมถ้วนหน้ากัน

    เมื่อเป็นดังนี้ พระทั้งวัดต้องอพยพไปทำบุญที่วัดป่าเรไร...ขอให้ชาวบ้านตามไปทำบุญ แต่ก็ไม่มีชาวบ้านคนไหนตามไป

    ปีนี้เป็นปีแรกที่คนห้วยปลาเน่าไม่มีการทำบุญออกพรรษา

    เมื่อตอนเป็นเด็ก ๆ ยังไม่มีถนน /หน้าน้ำหลากอย่างนี้ ชาวบ้านต่างพายเรือไปทำบุญกันสนุกสนาน ...น้ำก็ไม่เคยท่วมศาลาวัด

    ท่านเจ้าอาวาส(พระครูนิมิตธรรมคุณ/เจ้าคณะตำบลห้วยใหญ่ เขต 2) บวชมาตั้งแต่อายุครบบวช ปัจจุบันอายุท่านเกือบ 80 ปีแล้ว ก็ไม่เคยประสบกับเหตุการณ์ทำนองนี้

    ช่วงนี้ดู T.V.แต่ละช่อง นอกจากเห็นชาวบ้านเดือดร้อนแล้ว ยังได้เห็นพระ/เณร เดือดร้อนด้วยเช่นกัน ไม่ต่างจากที่บ้านผมเลยครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    • แถวบ้านผมในส่วนที่เป็นหมู่บ้านไกลออกไปจากถนน ก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันอย่างชาวบ้าน บ้านห้วยปลาเน่ากำลังประสบเลยละครับ
    • น้ำท่วมและกำลังไหลแรง ชาวบ้านเลยออกไปไหนไม่ได้ ทุกบ้านไม่มีเรือใช้กันแล้วละครับ
    • แต่ปลาเยอะครับ น้องๆบอกปลาเยอะมากจริงๆ เขาคุยให้ฟังจนผมอยากกลับไปดูแล้วละครับ

    คนไทยกับน้ำ : เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ

    ในบ้านเมืองชุมชนไทย ที่ประสบชะตากรรมน้ำท่วมหนักในตอนนี้ มีข้อสังเกตให้ได้คิดว่า ทั้งๆที่แต่โบราณนานมา สถานที่เหล่านั้นไม่เคยมีน้ำท่วมมาก่อนเลย  ทำไม่คนไทยยุคก่อนจึงเอาตัวรอดปลอดภัยจากเรื่องนี้มาได้อย่างดีตลอดมา อย่างน้อยท่านจะต้องเรียนรู้เข้าใจสิ่งรอบตัวได้ชัดเจนว่า(๑)ทางเดินน้ำตามธรรมชาติมีมากมาย ทางระบายน้ำจำนวนมากนั้นก็ไม่ถูกถม หรือปิดกั้น(๒)การออกแบบบ้านของคนโบราณ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ปลูกบ้านใต้ถุนสูง ๒-๓  เมตร(๓)น้ำนอง น้ำหลาก น้ำท่วม ไม่ได้มองว่เป็นภัยธรรมชาติ(๔)จะมีน้ำน้อย น้ำมาก หรือประสบกับภาวะภัยแล้ง ก็ไม่ประมาท แต่เตรียมพร้อมรับมือกับน้ำทุกปี (๕)สังเกต มด แมว เป็นตัวช่วยคอยพยากรณ์แทนกรมอุตุฯ ก็สามารถช่วยได้(๖)ปีใดไม่มีน้ำหลาก น้ำนอง น้ำท่วมนา ปีนั้นจะถือว่าขาดความอุดสมบูรณ์เสียด้วยซ้ำไป(๗)คนไทยอยู่กับน้ำ เรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำตลอดมา คอยแค่สังเกตธรรมชาติรอบตัว แล้วเกิดการเรียนรู้ ปรับตัวตาม แค่นี้ก็อยู่ได้อย่างสบาย ๆ ไม่มีปัญหาเลย.

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • อยู่ในบรรยากาศของน้ำท่วม และแปรวิกฤติมาเป็นโอกาสทบทวน ครุ่นคิด เรียนรู้สังคม สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาและวิถีชุมชน เสริมกำลังให้ซาบซึ้งเหมาะสมแก่วาระมากอย่างยิ่งนะครับ
    • ผมก็เลยดึงไปทำเป็นบันทึกหัวข้อหนึ่งต่างหากไว้ให้นะครับในชื่อหัวข้อเดิม ที่นี่ครับ คนไทยกับน้ำ : เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ : http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/404972#2228969
    • มีผู้อ่านหลายคนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงความห่วงใยและทุกข์ไปกับคนหนองบัว
    • นมัสการกราบเรียนเชิญท่านพระมหาแลและคนหนองบัวไปร่วมสนทนาตามอัธยาศัยครับ
    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์

    • ขอบคุณอาจารย์ที่แจ้งให้ทราบ เดี๋ยวจะตามไปที่บันทึกดังกล่าว
    • สัปดาห์นี้ได้รับรู้เรื่องราวในหนองบัวและบ้านห้วยปลาเน่าช่วงน้ำท่วมอย่างมากมาย จากผู้มีจิตอาสาหลายท่าน ที่ได้ช่วยกันถ่ายทอดบรรยากาศเหตุการณ์ในพื้นที่ ให้คนไกลบ้านได้รับทราบ เป็นเหมือนรายงานสดเลย เรื่องนี้(น้ำท่วม)สดจริงๆ
    • ต้องขอบคุณสื่อออนไลน์ในที่นี้ด้วย ที่ได้แสดงบทบาทเป็นตัวเชื่อมโลกย่อโลกให้ก่อเกิดและมองเห็นกันได้อย่างใกล้ชิด นับเป็นการแบ่งปันสิ่งดีๆให้กันและกันได้ แม้ในยามวิกฤต.
    • ชื่นใจในกิจกรรมสร้างสรรค์ด้วยคนค่ะท่านอาจารย์

    สถานการณ์น้ำหลาย ๆ แห่งยังคงต้องตั้งรับและสู้กันต่อ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง...และภาคอีสานตอนล่าง

    แต่ที่หนองคาย ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังอยู่ในระดับต่ำกว่าตลิ่งมาก สามารถรองรับน้ำจากแม่น้ำชี - แม่น้ำมูลได้เป็นอย่างดี

    สอง-สามวันมานี้ อากาศหนาวลงเรื่อย ๆ เมื่อคืนนี้ที่หนองคายประมาณ 15 องศา กลางวันท้องฟ้าไม่มีแดด ลมพัดเบา ๆ

    ทางกรุงเทพฯ หนองบัว พิษณุโลก วังทอง ฯลฯ เป็นไงบ้างครับ....เข้าใจว่าอุณหภูมิคงจะเริ่มลดลงแล้วหมือนกัน

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล
    สวัสดีคุณอุ้มบุญ และคุณสมบัติครับ

    • การได้อาศัยช่องทางนี้สื่อสารเรียนรู้ทั้งกับโลกกว้างกับถิ่นฐานบ้านเกิด เป็นข้อดีที่เด่นชัดมากเลยนะครับ ก่อนหน้านี้ สื่อท้องถิ่นอย่างมากก็สามารถมีได้แค่หนังสือพิมพ์รายวันหวยออก อีกทั้งอาจจะไม่มีเรื่องราวของหนองบัวและชุมชนเล็กๆเลยก็ได้ 
    • ร่วมขอบคุณและร่วมสันถวะคุณอุ้มบุญที่แวะมาเยือนเวทีคนหนองบัวเลยนะครับด้วยคนครับ
    • ฟังรายงานจากชุมชนแนวชายแดนและแบ่งปันเรื่องราวในชีวิตของคุณสมบัติแล้ว  ที่บอกว่าอุณหภูมิของท้องถิ่นหนองคาย ๑๕ องศาเซลเซียสนี่ คงหนาวเย็นมากเหมือนกันนะครับ
    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)
    • ที่วังทอง พิษณุโลก ช่วงนี้ในหนึ่งวันมีถึง ๓ ฤดูด้วยกัน กลางวันร้อน กลางคืนหนาว แต่ก็ยังมีฝนตกอยู่ด้วย
    • พูดถึงน้ำท่วม ทุกปีภาคเหนือตอนล่างหลายจังหวัดรวมทั้งพิษณุโลกนครสวรรค์บางส่วน(อำเภอชุมแสง) จะเจอกับภาวะอุทกภัยน้ำท่วม แต่ปีนี้ แถบนี้ไม่มีน้ำท่วมเลย เพราะเคยท่วมมาตลอดอยู่แล้ว ปีนี้เลยเปลี่ยนโซนเปลี่ยนพื้นที่ ไปท่วมที่อื่นแทนเช่น ที่หนองบัวเป็นต้น ทำนองนี้แหละ

    นมัสการท่านพระมหาแลฯ และสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ตอนเช้า ๆ ครับ

    ที่หนองคายอากาศกำลังดีครับ เมื่อเช้าเวลาประมาณ 7 โมง ออกไปดูเทอร์โมมิเตอร์หลังบ้าน 18.2 องศาครับ

    เมื่อวานก็ประมาณนี้ที่บอกว่า 15 องศานั้นจิ้มแป้นต่ำไปหน่อยครับตัวเลขเลยคลาดเคลื่อนไปถึง 3 จุด ต้องขออภัยด้วยครับ

    ดูข่าวจากทีวืแล้ว บ้านเราที่ว่าแย่เพราะถูกน้ำท่วมนั้น แตที่อินโดนีเซียดูเหมือนจะหนักหนาสาหัสกว่าบ้านเรามาก

    ประชาชนของประเทศที่ตั้งอยู่ในแนวนี้มักเจอกับภัยธรรมชาติในลักษณะนี้แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นที่มักจะรู้ตัวก่อนและอพยพผู้คนได้ทันอยู่เสมอ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
    และสวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    • หน้าหนาวสำหรับเด็กๆในครอบครัวบ้านนอกนี่ เป็นโอกาสได้ผ้าห่มและเสื้อผ้ากันหนาวใหม่ หรือไม่อย่างนั้นก็ดึงผ้าห่มและเสื้อผ้าที่พับเก็บไว้ในตู้อย่างดีออกมาใช้นะครับ
    • หอม แล้วก็เป็นของแปลก ใส่อวดกัน ผ้าห่มก็หอมและห่มอุ่นกว่าปรกติ
    • แต่เด็กรุ่นๆและคนหนุ่ม-คนสาว ผู้ใหญ่มักปลูกฝังไม่ให้รู้จักความหนาว-ร้อน-ไม่ให้กลัวเปียกฝน
    • เมื่อก่อกองไฟก็จะรู้กันว่าก่อสำหรับผิงของคนแก่เฒ่ากับเด็กเล็ก ส่วนคนที่เริ่มโตและคนหนุ่มคนสาว ต้องทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้เหงื่อ
    • บางทีหนาวเย็นจนขนลุกเกรียวเป็นตุ่ม ก็ต้องทำไปอีกทางหนึ่งเหมือนสู้กับการติดความสบายและความอ่อนแอภายในตนเอง โดยถอดเสื้อผ้าออกแล้วก็เดินให้ลมโกรกลงไปในคลองแล้วก็ยามข่าย แกะปลาออกจากข่าย ตะโกนคุยกันลั่นคลองจนลืมหนาว
    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    จราจรย้อนยุค : จราจรน้ำ

    • วันนี้มีกิจนิมนต์ฉันเช้า ทำบุญครบ ๑๐๐ วันลูกชายของโยมที่รู้จักกันท่านหนึ่ง  ในหมู่บ้านหลังวัดศรีโสภณ ด้วยสภาพพื้นที่บ้าน เป็นที่ดอนที่สูง ชื่อบ้านดอนม่วง หมู่บ้านนี้ห่างจากเขาสมอแคลงด้านทิศตะวันกประมาณสามกิโลเมตรกว่าๆ พื้นที่ก็เป็นที่ลาดเชิงเขาลงมา จนเกือบถึงบึงขนาดใหญ่ของพิษณุโลก นั่นก็คือบึงราชนก
    • ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจากราชบุรี เมื่อ๖๐-๗๐ ปีที่แล้ว ด้วยสภาพพื้นที่ดังที่กล่าวมา ในหมู่บ้านนี้ไม่เคยเจอกับภาวะน้ำท่วมแม้แต่ครั้งเดียว
    • หลังจากมีถนนใหญ่ตัดผ่านหมู่บ้าน เป็นเหตุให้หมู่บ้านนี้ถูกน้ำท่วมหนักเมื่อสิบปีที่แล้ว น้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นสร้างความขัดแย้งในชุมชนขึ้น เพราะหมู่บ้านฝั่งใต้ถนน ปิดกั้นทางน้ำไม่ยอมให้น้ำไหลเข้าหมู่บ้าน น้ำจึงท่วมทั้งนาข้าวและหมู่บ้านอีกฝั่งอย่างมาก
    • เมื่อน้ำแห้งบ้านโยมที่ทำบุญในเช้าวันนี้  ซึ่งสูงสองเมตรกว่าได้ถมดินถึงหน้าต่างพอดี ถมดินโดยไม่ได้ดีดบ้าน ตอนนี้ขอบหน้าต่าง กับประตูบ้านจึงสูงระดับเดียวกัน  ปิดหน้าต่างก็เหมือนปิดประตูบ้าน
    • เรื่องทำนองนี้คิดว่าเกิดขึ้นในทุกชุมชนเมื่อสัก ๑๐-๒๐ปีมานี้เอง ที่ผ่านมาเรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยเป็นปัญหา เพราะชาวบ้านเรียนรู้และก็แก้ปัญหามาได้ตลอด
    • แต่ปัญหาสมัยนี้ที่คนในยุคโน้นแก้ได้เรียบร้อยแล้ว กลับมาสร้างความหนักใจให้ท่านในบั้นปลายชีวิตของท่านเองในตอนนี้อีก
    • ถามว่าในเมื่อทางน้ำถูกปิดกั้นหมด  ถูกถมหมดแล้ว ทางจราจรก็ตีบตันหมด น้ำจะไปไหน หมดทางไป ไม่มีที่จะไป ถึงจะมีทางไปก็ไปได้น้อยเต็มที ระบายออกน้อย ที่เหลือก็ท่วมขัง แถมใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้อีกด้วย เป็นน้ำเสีย น้ำเน่า เป็นที่เพาะเชื้อโรค ส่งผลกระทบตามมาอีกหลายอย่าง
    • จราจรทางบก เพียงแค่ถนนถูกปิดกั้นชั่วครู่ชั่วคราว หรือรถติดสัญญาณไฟแดงแค่สามสี่นาทีก็อึดอัด ขัดใจ หงุดหงิด บ่นกันพึมพำ นอกจากนั้นปัญหาจราจรก็ยังสร้างความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ มลภาวะ จิตใจ อย่างมาก แต่ปัญหาดังกล่าว ก็เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองใหญ่ๆเท่านั้น
    • ส่วนปัญหาจราจรน้ำนี้ กำลังเป็นปัญหาใหญ่กว่า เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่ทุกชุมชนในเมืองไทย

    นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแลฯ และสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    บรรยากาศ การยามข่าย/ยามลอบ ตอนเช้ามืดในฤดูหนาว.....นุ่งผ้าขาวม้าหรือกางเกงในตัวเดียว โดยเปลือยกายท่อนบน แล้วตะโกนพูดคุย/ถามไถ่กัน........ ใครได้ปลาอะไร/มากน้อยแค่ไหน..... ที่อาจารย์กล่าวถึงนั้น ผมได้ยินจนคุ้นหูครับ เพราะบ้านอยู่ริมคลอง บางครั้งก็เคยตามผู้ใหญ่ไปเก็บปลา (ใจจริงแล้วไมอยากลุกเอาเสียเลย)

    คิดอยู่เหมือนกันครับว่า หนาวขนาดนั้นเขาทนได้อย่างไร

    มันเป็นวิถีชีวิตของคนชนบทจริง ๆ เลยนะครับ

    เมื่อเช้าที่หนองคาย 6 โมง อุณหภูมิ 16.00 องศา

    หนาวลงเรื่อย ๆ หนองบัวบ้านเราคงอุ่นกว่านี้นิดหน่อยนะครับ

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์อาจารย์สมบัติและชาวหนองบัวทุกท่าน

    • เมื่อก่อนเพลวันนี้(๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๓)  ชาวพิษณุโลกที่รู้จักกันมีภาระกิจเดินทางไปอำเภอวิเชียรบุรี ผ่านไปทางอำเภอหนองบัว เลยได้ฝากเอกสารข้อมูลชุมชนหนองบัวที่ปริ้นเอ๊าไว้ ไปให้ญาติๆพี่น้องที่หนองบัวบ้านเนินตาโพหลายเรื่องด้วยกัน
    • เมื่อสักครู่น้องๆที่หนองบัวโทรศัพท์มารายงานให้ฟังว่า ญาติๆได้มาดูภาพวาดชุมชนของอาจารย์ ดูแล้วหัวเราะชอบใจกันใหญ่ แค่ดูภาพผ่านๆไปก่อน ก็ถูกใจกันอย่างมากแล้ว ถ้าได้อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมคงได้อารมณ์สุขใจมากกว่านี้แน่นอน
    • เขาบอกให้ฟังอีกว่า หลานสะใภ้ที่เป็นครูเห็นข้อมูลชุดนี้แล้ว คุณครูเธอก็ขอนำไปถ่ายเอกสาร เพื่อจะนำไปเป็นสื่อสอนเด็กนักเรียนอีกด้วย อันที่จริงอาตมาตั้งใจจะนำไปให้เธอเพื่อใช้เป็นสื่อสอนเด็กนักเรียนอยู่ก่อนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีเวลาว่างได้ไป
    • ขอรายงานความดีและดีใจกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในเวทีคนหนองบัวแห่งนี้ให้ทุกท่านได้ทราบโดยทั่วกัน

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • เมื่อมองผ่านระยะ ๒๐-๓๐ ปีที่ผ่านมาถึงเดี๋ยวนี้นี่ ปัญหาเรื่องน้ำของหนองบัวกลับตาลปัดเป็นคนละทางไปเลยนะครับ เมื่อก่อนนี้กลัวอย่างซ้ำซากต่อความแล้ง เดี๋ยวนี้ต้องมาเจอกับน้ำท่วม
    • เมื่อก่อนนี้เวลาถึงหน้าน้ำหลากนั้น ชาวบ้านก็จะบอกกันปากต่อปากว่าน้ำมาถึงไหนแล้ว ส่วนใหญ่พอถึงแถววังทอง พิษณุโลก หรือบางมูลนาก พิจิตร ชาวบ้านก็จะบอกถึงกันได้วันต่อวันแล้ว หากมีน้ำมากก็ต้องเตรียมเก็บไม้และสิ่งของขึ้นร้านยกพื้น
    • หากน้ำน้อย ก็มักจะต้องรวมกลุ่มกันถือจอบเดินขึ้นเหนือเพื่อไปเฝ้าเปิดทางน้ำช่วยคนที่อยู่เหนือขึ้นไปเพราะน้ำอาจไม่มากพอที่จะบ่าท่วมทุ่ง-คันนาไปถึงนาของคนที่อยู่ต่ำกว่า ต้องไปนั่งเฝ้า พอคนอื่นไขน้ำเข้านาพอแล้ว ก็จะได้ช่วยกันเปิดทางน้ำช่วยกันให้ไหลไปสู่ที่อื่นบ้าง ทำไปก็สร้างความคุ้นเคย ผูกพันกันดั่งญาติมิตรตลอดเส้นทางน้ำ
    • ดูความมุ่งมั่นของพระคุณเจ้าในการผลิตเอกสารและหนังสือทำเอง แจกจ่ายไปให้ลูกหลานหนองบัวแล้ว ต้องขอกราบอนุโมทนาเลยละครับ เป็นทุนทางสังคมที่ขับเคลื่อนการศึกษาเรียนรู้ของชุมชนชนบทที่แข็งขันดีจังเลยครับ ผมก็พลอยได้ดีใจไปด้วยที่ได้มีส่วนร่วมในทางอ้อมครับ
    • เวทีคนหนองบัวได้เป็นสื่อให้ชุมชนคนหนองบัวมากทีเดียวเลยละครับ คนเข้ามากว่าหมื่นห้าครั้ง-คน และเข้าไปดู-อ่านจำเพาะเริ่มจากเดือนมีนาคมปีนี้ ถึงตอนนี้ก็ตั้ง ๓ หมื่นกว้าหน้า
    • ดูผู้เข้ามาอ่านจากต่างประเทศก็ยิ่งน่าประทับใจมากเลยครับ กลุ่มใหญ่เลยก็อเมริกากับญี่ปุ่น และผมเข้าใจว่าจำนวนประเทศจริงๆนั้นคงจะมากกว่า ๒๐ ประเทศอย่างที่เห็น ที่เป็น ๒๐ ประเทศนั้นก็เพราะผมตั้งยอดให้แสดงจำนวนผู้เข้าชมจากต่างประเทศด้วย Flag Counter ที่จำนวน ๒๐ ประเทศเพราะไม่คิดว่าจะมีคนจากต่างประเทศสนใจเรื่องท้องถิ่นมากอย่างนี้ แต่ก็ผิดคาดครับ ตอนนี้น้องๆพยายามจะทำให้ใหม่แต่ตอนนี้ยังหาวิธีทดสอบดูไม่ได้ว่าพอใส่ที่นับจำนวนใหม่แล้ว สถิติเก่าๆจะหายไปไหม หรือว่าทำอย่างไรจึงจะเก็บสถิติเก่าๆไว้ด้วยได้

    สวัสดีครับท่านสมบัติครับ

    • ตอนนี้ที่กรุงเทพฯก็เริ่มเย็นๆนิดหน่อยแล้วครับ
    • อากาศเย็นๆกับท้องฟ้าใสๆของหน้าหนาวนี่ มีบรรยากาศเฉพาะจริงๆเลยนะครับ
    • ดูมีชีวิตชีวาไปอีกแบบ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าฯ สวัสดีพี่วิรัตน์ น้องสมบัติ และทุกๆท่านครับ

    • ได้ข่าวว่าที่หนองบัวรอบนอกตามที่ลุ่มต่างๆน้ำก็ยังคงท่วมขังอยู่ ตอนนี้ท่วมทุกทิศ...ทั่วไทยแล้ว 
    • ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก น้ำยังไม่ทันแห้งเลย ลมหนาวมาแล้ว มาเร็ว มาแรงและน่าจะอยู่นานด้วย 
    • มนุษย์เราพยายามเอาจะชนะธรรมชาติเท่าไร ก็ดูเหมือนจะโดนธรรมชาติตอบโต้เอาหนักขึ้นๆทุกวัน ตอนนี้ผมเริ่มเชื่อแล้วว่า จะมีหิมะตกในเมืองไทย 
    • เห็นพี่น้องประสพเคราะห์กรรมแล้วสงสาร แม้แต่คนแถวหนองบัวเอง อยากจะหาโอกาสคุยกับพี่วิรัตน์ถึงการสร้างสมาคมคนหนองบัว ให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ เพราะเท่าที่ผ่านมาปีกว่า ในบล็อกนี้ก็ไม่ค่อยมีคนหน้าฉากเข้ามาเพิ่มเติมเลย แต่คงจะต้องผ่านเดือนพฤศจิกายนไปก่อน

    สวัสดีครับฉิกครับ

    • สมาคมคนหนองบัว กับสมาคมศิษย์เก่า เห็นเพื่อนๆพี่ๆที่อยู่ทางหนองบัวพูดถึงอยู่เสมอๆ พี่เอามาสื่อสารช่วยอีกทางหนึ่งน่ะครับ
    • กลุ่มคนที่จะเป็นตัวหลักได้ก็น่าจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในตลาดตัวเมืองหนองบัวหรือเปล่านะครับ
    • เห็นมีรุ่นพี่พูดถึงฉิกอยู่นะครับว่าเป็นคนประสานที่ขันแข็งในรุ่น ลองคุยกับกลุ่มที่อยู่ในหนองบัวก็ได้ครับ อาจจะพากันดีใจด้วยที่ได้คนช่วยเอาธุระเพิ่มขึ้นอีก
    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • ช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้ ทุกท่านได้รับข่าวสารเรื่องอุทภัยน้ำท่วมติดต่อกันมาทางสื่อต่างๆไม่น้อยกว่าสองสามอาทิตย์แล้ว พี่น้องที่ประสบอุทกภัยครั้งนี้ จำนวนมากได้รับความเดือดร้อน เสียชีวิตทั่วประเทศร้อยกว่า พืชผลทางการเกษตรเสียหายอย่างหนัก เป็นอุบัติภัยของประเทศเราในรอบหลายปีเลยทีเดียว
    • ส่วนผู้ที่ไม่เดือดร้อน ก็แสดงความมีน้ำใจด้วยการช่วยเหลือตามช่องทางที่จะสามารถช่วยได้ บางคนก็ลงไปช่วยในพื้นที่น้ำท่วมด้วยตนเอง บางคนก็บริจาคเงินบริจากสิ่งของ ทุกฝ่ายทุกภาคส่วนก็ได้ระดมสรรพกำลังกันอย่างเต็มที่ 
    • เมื่อสักสองสามวันที่แล้ว อาตมาภาพได้ไปพบข้อความเรื่องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของคุณครูอ้อยเล็ก โดยคุณครูได้นำข้อความนี้ไปเชิญชวนเพื่อนๆชาวบล๊อกเกอร์ อาตมาเห็นว่านี่ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่เราสามารถช่วยกันได้ ก็เลยนำมาฝากชาวหนองบัว
    • ขอเชิญชวนทุกท่านใช้บริการได้ตามอัธยาศัย โดยอาตมาได้ใช้ช่องทางนี้ไปแล้วเมื่อหลายวันก่อน ฉะนั้น วันนี้จึงขอก็อปข้อความดังกล่าวมาฝากเวทีคนหนองบัว ดังต่อไปนี้ "ร่วมกันบริจาคช่วยเหลือผู้ประสพภัยน้ำท่วม ผ่านทางโทรศัพท์มือถือเครือข่าย DTAC , AIS และ TRUEMOVE  สามารถ ร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือพี่น้องที่ประสพภัยได้ โดยการพิมพ์คำว่า Namjaithai หรือ น้ำใจไทย ...... แล้วส่งไปที่หมายเลข 4567899 ข้อความละ 10 บาท..ไม่หักค่าใช้จ่ายจ้า.."
    • ขอเจริญพร

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลและทุกท่านครับ

    • ตั้งแต่เมื่อกลางเดือนตุลาคม ถึงวันนี้ยังไม่ถึงเดือน สังคมไทยและสังคมโลกมีอุบัติภัยทั้งจากธรรมชาติและจากการสร้างสะสมไว้ในระบบสังคมของมนุษย์ ก่อเกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่พัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน รุนแรง เห็นความไม่แน่นอน เห็นความเป็นโลกภิวัตน์ของภัยพิบัติและเห็นความมีชะตากรรมร่วมเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์โศก โรค ภัย ต่อกัน อย่างที่เรามักกล่าวในบทแผ่เมตตา อย่างชัดเจนมากยิ่งๆขึ้น
    • นับแต่เริ่มมีข่าวคราวพายุเข้า ฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก กระทั่งเริ่มน้ำท่วมโคราช นครสวรรค์ หนองบัว ซึ่งก็สร้างความตระหนกชนิดที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นได้ คนโคราชไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน ไม่เคยมีปรากฏการณ์น้ำท่วมมาก่อน จึงคาดไม่ถึงว่าในชีวิตจะได้เจอกับน้ำท่วมและเสียหายมากมาย
    • คนหนองบัวเกิดมาหลายรุ่น ไม่เคยเห็นน้ำเอ่อขึ้นถึงที่ดอนอันเป็นที่ตั้งของตลาดและตัวเมืองหนองบัว เคยเห็นแต่การขาดแคลนน้ำน้ำเพาะปลูกและน้ำอุปโภคบริโภคประสาเป็นที่ดอนและดินทราย แต่ก็ต้องประสบกับน้ำบ่าทะลักทั้งจากแนวเขาข้างตัวเมืองและจากน้ำเหนือ ไหลเข้าท่วมร้านค้า ที่อาศัย วัด และโรงพยาบาล
    • จากนั้นก็ต่อเนื่องด้วยน้ำท่วมภาคใต้และหนักสุดที่ตัวเมืองหาดใหญ่

                            

    ร่องรอยของการสั่งสมสิ่งบั่นทอนระบบสังคม ระบบธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้อ่อนแอ เข้าสู่ภาวะเสี่ยงต่ออุบัติภัยและสามารถเกิดภัยพิบัติต่างๆที่คาดไม่ถึงได้อยู่เสมอมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ

                            

    ทีมงานที่กำลังเตรียมไปดูแลระบบสุขภาพให้กับคนอื่นในภาคใต้ ก็กลับมาต้องประสบทุกขภาวะและเรียนรู้เพื่อช่วยตนเองเช่นเดียวกับทุกคน ที่เห็นในภาพนี้คือทันตแพทย์ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ สงขลา เข้าไปช่วยเหลือทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลที่พากันไปช่วยถอดบทเรียนและจะพัฒนาเครือข่ายระบบโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพระดับตำบลของภาคใต้ แต่ต้องยกเลิกการประชุมและติดอยู่ในโรงแรมตลาดกิมหยง ๓ วัน กำลังหาทางเดินออกจากแหล่งน้ำท่วม (ขอบคุณภาพจากอาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ)

    • ผลกระทบและผลสืบเนื่องต่อสังคมไทยโดยรวมเกิดขึ้นทันที นับแต่แผนงบประมาณที่จะมุ่งสู่ภาคการผลิต บริการ และการพัฒนาหลายสาขา ต้องนำกลับมาทบทวน เบื้องต้นก็ต้องระดมงบประมาณและทรัพยากรเข้ากอบกู้ความเสียหายจากน้ำท่วมในปีนี้ทั่วประเทศหลายหมื่นล้านบาท หน่วยงานต่างๆต้องนำเอาแผนงานและแผนงบประมาณต่อเนื่องกลับมาทบทวน และมีแนวโน้มว่าปีหน้า ๒๕๕๔ ที่จะถึงนี้หลายอย่างจะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่คาดหวังไว้ก่อนหน้านั้น
    • มองออกไปนอกสังคมไทยและทั่วโลก ที่อินโดนีเซียก็เผชิญกับแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามี นอกจากเสียหายอย่างใหญ่หลวงแล้ว ก็มีคนบาดเจ็บล้มตายหลายร้อยคน
    • ที่สหรัฐอเมริกา ก็ต้องประสบกับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างหนัก ภาวะคนตกงานสูงสุดและระบบต่างๆกำลังประสบปัญหา รัฐบาลต้องทุ่มเงินเข้ากอบกู้วิกฤติอย่างต่อเนื่องครั้งนี้คิดเป็นเงินไทยถึงประมาณ ๑๗ ล้านล้านบาท
    • มีแนวโน้มว่าวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา จะส่งผลกระทบและก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกรอบขึ้นทั่วโลก
    • อุบัติภัยและวิกฤติการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นหลายทิศทางและทั้งจากธรรมชาติและจากวิกฤติสั่งสมในระบบสังคมระดับต่างๆ

    ชั่วเวลาไม่ถึง ๑ เดือนที่ผ่านมานี้ โลกได้หมุนไปด้วยแรงอุบัติภัยหลายระดับและหลายอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

    การเรียนรู้และพัฒนาสิ่งที่สั่งสมไว้เป็นทักษะชีวิต ทุนศักยภาพสะสมในตัวเอง และทักษะในการเผชิญปัญหา ตลอดจนความสามารถในการเผชิญภาวะวิกฤติต่างๆด้วยการพึ่งตนเอง สามารถแก้ปัญหาและแปรวิกฤติต่างๆให้เป็นโอกาสที่ดีได้อยู่เสมอ เป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนาอย่างสั่งสมเหมือนกับการออมทุน-ออมทุนชีวิต ออมทุนทางสังคม เพื่อเป็นทุนต่อทุนและใช้เพื่อการพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคงอยู่เสมอ

    อีกทั้งในบางสถานการณ์ ดังเช่นในท่ามกลางวิกฤติมากมายทั่วโลก ณ เวลานี้ ก็จะเห็นได้ว่าสามารถให้ความมั่นคงทั้งแก่ปัจเจก ชุมชน และสังคม ได้มากกว่าทุนทางวัตถุเงินตราและความล้นเกินทางด้านอื่นๆเสียอีก.

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล
    สวัสดีครับฉิก คุณสมบัติ คุณเสวก ชาวหนองบัว และท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

    • ผมได้นำเอาข้อสนทนา คห.๘๘๔ ไปทำเป็นบันทึกไว้อีกหัวข้อในเวทีคนหนองบัวด้วยแล้วนะครับ ที่นี่ครับ : ท้องถิ่นในโลกความเชื่อมโยงที่อ่อนไหวและเต็มไปด้วยภัยพิบัติ...ควรวางทางเลือกอย่างไร
    • และได้บันทึกสถิติพร้อมกับประมวลบทเรียนเวทีคนหนองบัวให้ชาวหนองบัวในเวทีคนหนองบัวนี้ทุกท่านด้วยครับ ที่นี่ครับ : สถิติเวทีคนหนองบัว : ความเป็นสากลและนานาชาติด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ท้องถิ่น 
    • มีแง่มุมหลายอย่างทั้งน่าภูมิใจและน่าสนใจมากครับ
    • ทางทีมงาน GotoKnow ของอาจารย์ ดร.จันทรวรรณ ปิยะวัฒน์ ได้ชวนผมไปนั่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมประจำปีการจัดการความรู้แห่งชาติ ในวันที่ ๒๒-๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ที่โรงแรมมิราเคิล กรุงเทพฯนี้ด้วยครับ ทางคุณมะปรางเปรี้ยวเธอหารือว่าผมจะไปพูดแนวไหน ...ผมเลยลองขายไอเดียกับนักศึกษาและน้องๆรอบข้างว่าผมควรจะไปแลกเปลี่ยนบทเรียนกับเวทีเขาแง่มุมไหนดี ..ทางชุมชนที่ปรึกษาของผมล้วนเสนอแนะตรงกันว่าผมควรจะนำเอาบทเรียนของเครือข่ายเวทีคนหนองบัวไปแบ่งปันและจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เข้าร่วมเวทีทั้งหลาย
    • ก็เลยทำให้ต้องมานั่งวิเคราะห์และถอดบทเรียนเวทีคนหนองบัวดูนี่แหละครับ พอเห็นในรายละเอียดแล้วก็ต้องร้องโอ้โฮครับ เห็นแง่มุมต่างๆที่น่าสนใจมากเลยครับ เลยบันทึกให้ทุกท่านได้อ่านเป็นบันทึกของตนเองไปด้วยเลยนะครับ
    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)
    • ก่อนที่อาจารย์จะมาแจ้งข่าวดี ตอนสายๆเมื่อวาน(๙ พ.ย.๒๕๕๓) อาตมาได้ปริ้นเอ๊า บันทึก "สถิติเวทีคนหนองบัว : ความเป็นสากลและนานาชาติด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ท้องถิ่น"นี้ ไปถวายท่านอธิการโชคชัยหนึ่งชุด
    • ท่านอธิการรับเอกสารปริ้นเอ๊าแล้วอุทานว่า แหมท่าน(ท่าน-หมายถึงเวทีคนหนองบัว)นี้ เคลื่อนไหวเร็วเหลือเกิน อัพเดทจนผมตามไม่ทันเลยนะ
    • ก็เป็น ๑ ขวบปีของเวทีคนหนองบัว ที่น่าชื่นใจมากๆ เห็นข้อมูลสถิติอย่างละเอียดแล้วคนทำงาน(นักเขียนหนองบัวทุกท่าน) คงหายเหนื่อยเลยแหละ และก็ขอบอกต่อสำหรับคนหน้าไมค์ทุกท่านว่า น่าจะไปฝากร่องรอยให้ปรากฏในบันทึกดังกล่าวให้ถ้วนทั่วกันทุกผู้ทุกนาม(ชมตัวเอง หรือชมกันเองบ้างก็ได้นะ)ไม่ผิดกติกาแต่ประกาใด ขอบอก.
    • เจริญพร

     

    • พระคุณเจ้าเป็นนักส่งเสริมการเรียนรู้และเป็นมือกระตุ้นเครือข่ายเวทีคนหนองบัวมากจริงๆเลยละครับ วิธีทำคนละนิดคนละหน่อยช่วยกัน แต่เชื่อมโยงและรับลูก ส่งเสริมเติมต่อกันอย่างนี้ นอกจากจะดีมากแล้วก็มีพลังมากเลยนะครับ แต่ละคนนอกจากไม่ต้องทำอะไรที่เกินตัวแล้ว ก็กลับเบามือและได้แง่มุมที่แตกต่างเพิ่มขึ้นไปอีก
    • อย่างผมนี้ก็ได้แก่ตนเองมากเลยละครับ เพราะการเดินบวกประเด็นกับพระคุณเจ้าและผู้อ่าน-ผู้ช่วยกันเขียนท่านอื่นๆนั้น มันเบามากกว่าการสอนและบรรยายให้กับกลุ่มคนต่างๆแต่ละครั้งอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่กลับเข้าถึงกลุ่มผู้สนใจได้อย่างกว้างขวางและไม่จำกัดเวลาเสียอีก ทั้งไม่เหนื่อยและกลับให้กำลังชีวิตไปด้วยตรงที่ได้ย่อยประสบการณ์และความรู้ประดามี มาแปรเป็นแหล่งวิทยาการเพื่อได้ทำหน้าที่หนุนกำลังการเรียนรู้ตนเองของสังคมอย่างที่ผมเองก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ขณะเดียวกัน ก็เป็นแรงสะท้อนกลับช่วยเสริมการทำงานที่ทำอยู่แล้วให้ยิ่งดีขึ้น ผมมีตัวอย่างมากมายเอาไว้สอนหนังสือและบรรยาย อีกทั้งรู้สึกว่าได้ทำสิ่งดีๆต่อสาธารณะและชุมชนบ้านเกิด
    • ในแง่เดินเสริมกำลังเจตนารมย์ของพระคุณเจ้า รวมไปจนถึงท่านพระอธิการโชคชัยและผู้ซึ่งพระคุณเจ้าอย่างส่งเสริม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเช่นกันครับที่ผมได้แก่ตนเอง ไม่ใช่เพียงในแง่ความเป็นตัวบุคคลในฐานะที่พระคุณเจ้าและผมเป็นคนหนองบัวและเป็นลูกบ้านนอกด้วยกัน คุยกันและรับลูกกันได้รู้เรื่องเท่านั้น ทว่า ในแง่ที่พระคุณเจ้าเป็นพระสงฆ์ที่มุ่งเรียนรู้สร้างสิ่งดีให้แก่สังคมโดยเริ่มจากเรื่องใกล้ๆตัวด้วยประสบการณ์ต่อถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองน่ะครับ
    • ผมเป็นเด็กวัดมาก่อนครับ การได้มีโอกาสทำหน้าที่เหมือนกับตอบแทนข้าวก้นบาตรของพระและของชาวบ้านอย่างนี้ จึงย่อมเป็นการได้สร้างบุญกุศลและเป็นกำไรชีวิตสถานเดียวของผม
    • วิทยาการและเทคโนโลยี รวมทั้งสภาพความทันสมัยที่ห้อมล้อมผู้คนและชุมชนดังเช่นอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ระบบจัดการความรู้และสื่อสารสนเทศ อย่างนี้ มันเป็นพลังการเคลื่อนไหวในทุกระบบของสังคมโลกและสังคมท้องถิ่น เราไม่สามารถหลีกเร้นได้ เว้นเสียแต่จะเอาตัวรอดอย่างเอกเทศไม่รับรู้ความเป็นส่วนรวมรอบตัว แต่เราสามารถเรียนรู้และเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ชีวิต ไม่ต้องไหลตามและถูกกลืนอย่างสิ่งไร้ชีวิต อีกทั้งสามารถนำการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม เป็นด่านหน้าให้กับชุมชน เพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลงบนความเป็นตัวของตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ผมจึงได้เห็นความสำคัญและเห็นความหมายมากที่จะต้องร่วมมือและสนับสนุนสิ่งที่พระคุณเจ้ากำลังให้ความสนใจและทำไปตามกำลังน่ะครับ ในชนบทนั้น พระนอกจากเป็นผู้นำทำกิจกรรมศาสนาแล้ว ก็ยังต้องเป็นครูชีวิตและเป็นทรัพยากรทางปัญญา นำคิด นำทำ และนำการเรียนรู้ให้กับชาวบ้านและลูกหลานชุมชน ที่มีบทบาทมากอยู่นะครับ ก็เลยดีใจที่ได้ค่อยๆคิดค่อยๆทำเวทีคนหนองบัวไปกับพระคุณเจ้านะครับ แต่อย่าหักโหมและทุ่มทุนสร้างมากนะครับ เห็นพระคุณเจ้าบอกว่าออกไปตะรอนๆถ่ายเอกสารแจกจ่ายชาวบ้านและคนโน้นคนนี้อยู่เรื่อย ก็นึกเป็นห่วงนะครับ ทำสบายๆดีกว่าครับ
    • ในหัวข้อสถิติเวทีคนหนองบัวและสรุปบทเรียนนั้น ท่านพระอธิการโชคชัยคงจะได้ประโยชน์และได้แนวคิดมากมายนะครับ ผมตั้งข้อสังเกตหลายแง่มุมที่จะสามารถใช้เป็นประเด็นสร้างความเชื่อมโยงและสะท้อนกันและกันกับพุทธธรรมและความเป็นชุมชนกับสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมชาวบ้านและวิถีชนบทในสภาพแวดล้อมปัจจุบันของสังคมโลก ก็เชื่อว่าจะช่วยให้พัฒนาแนวคิดบูรณาการเข้ากับบทบาทของโลกฝ่ายจิตวิญญาณต่อสังคมได้ดีขึ้นนะครับ ควรทำการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้และได้บทเรียนนำการพัฒนาบทบาทของพระสงฆ์และศาสนธรรม ให้เข้าไปบูรณาการกับการทำงานชุมชนในวิถีทางใหม่ๆ ดีกว่าวางแนวศึกษาไปตามความรู้ของโลกภายนอกแต่ละทิ้งหรือบูรณาการกับฐานชีวิตชุมชนตนเองไม่ได้นะครับ

    เรียนท่านพระอาจารย์มหา อาสโย เจริญพรท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    • ก่อนอื่นต้อง"ขอความกรุณาท่านได้ว่ากล่าวตักเตือนข้าพเจ้าด้วยเถิด"ที่ทิ้งเว็บไปดูแลวัด
    • วัดกับเว็บ เสมือนฝ่ายอาณาจักรกับฝ่ายพุทธจักร ที่ต้องดำเนินควบคู่กันไปใช่ไมครับ... ที่หายไปก็เพราะว่าติดวัดแล้วลืมเว็บ  แต่นำบุญกุศลมาฝากกันทั้งเว็บเลยครับ ทั้งงานบุญทอดผ้าป่า ทอดกฐิน และงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย นำท่วมมากันเพียบเลย ขออนุโมทนาที่ทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกันครับ
    • กลับมาที่เว็บแต่อยู่ที่วัด อ่านความเห็นอาจารย์ดร.วิรัตน์ และพระมหาแล.. เล่นเอาคุณกิจ.. ติดตามไม่ทัน ต้องเกาะติดสถานการณ์ข่าวร้อนอ่านความเห็นตลอด 24 ชั่วโมง แบบเจาะกระแสโลกกับเวทีคนหนองบัว
    • ขออนุญาตยกมือหมดวัดไประดมความคิด เวทีมหิดล-คนหนองบัว
    • ขอเสนอตัวและขอเป็นผู้ประสานงานนิมนต์เครือข่ายพระสงฆ์ที่ทำงานด้านการอบรมเผยแพร่และด้านชุมชน เอาแค่ 9 จังหวัด ภาคเหนือตอนล่างก่อนได้ไมครับ แบบธรรมดา ธรรมชาติ ดี (พระชอบ รอเวทีแบบนี้มาตั้งนานแล้ว)
    •  พระคุณเจ้าจะได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนสร้างสิ่งดีๆให้แก่สังคมโดยเริ่มจากเรื่องใกล้ๆตัว แบบเวทีคนหนองบัว
    • ขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งสองที่เปิดโอกาสให้พระสงฆ์มีบทบาทที่ทำงานรับใช้สังคมสืบไป
    • ขอบพระคุณครับ

    กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ

    • แนวคิดเรื่องเครือข่ายพระสงฆ์ทำงานด้านอบรม เผยแพร่ และด้านชุมชนของพระคุณเจ้าเพื่อทำในเขตภาคเหนือตอนล่างนั้น น่าส่งเสริมนะครับ ผมจะแยกหัวข้อเพื่อเอาไว้เป็นที่ตกผลึกความคิดและรวบรวมข้อมูลเอาไว้ทำงานให้เป็นหัวข้อต่างหากอีกทีนะครับ
    • อาจใช้เวทีหนองบัวให้เป็นเวทีหนึ่งสำหรับประชุมหารือและทำความคิดให้ลงตัวไปเรื่อยๆก็เหมาะสมดีนะครับ แต่ก็ทำงานผ่านอินเตอร์เน็ตนี้ไปเลยก็ยังได้นะครับ แล้วก็หาโอกาสได้ประชุมหรือปรึกษาหารือกันเมื่อมีโอกาส

          

    • ผมทำหมายเหตุความคิดและเล่าไว้ด้วยภาพตรงนี้สักนิดหนึ่งก่อนนะครับ แล้วจะคุยในหัวข้อต่างหากเพิ่มเติมรายละเอียดอีกทีหนึ่งครับ
    • บทบาทที่น่าสนใจของเครือข่ายพระสงฆ์อย่างที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงนี้ จำเพาะที่เคลื่อนไหวผ่านเครือข่ายจัดการความรู้นี้ ผมก็คิดว่าสิ่งที่น่าจะเป็นบทบาทสำคัญมากก็คือ การพัฒนาการเรียนรู้พุทธธรรมและการสร้างวัฒนธรรมทางปัญญาผ่านการทำทานทางปัญญา ที่บูรณาการกับชีวิตชุมชน เข้าถึงการทำงานและการดำเนินชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
    • ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือพัฒนาการเรียนรู้เพื่อยกระดับความสำนึกต่อสุขภาวะสาธารณะ สร้างความมีจิตใหญ่ใจกว้าง ยกระดับปัญญาให้สมดุลกับความศรัทธา สร้างความเข้าใจและเคารพความแตกต่าง สร้างความเป็นญาติและความเป็นพี่น้องกันกันของเพื่อนมนุษย์ที่แตกต่างทั้งทางฐานะทางสังคม ศาสนาวัฒนธรรม  รวมทั้งเรียนรู้เพื่อปรับความสมดุลแห่งชีวิตจากภายใน เพื่อจัดการความขัดแย้งและเผชิญแรงกดดันจากสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยความแยบคาย
    • บทบาทที่จะเป็นการปรับตัวและเป็นบทบาทเฉพาะของเครือข่ายพระสงฆ์ในทรรศนะผมก็คือ การสร้างความเข้มแข็งในการเป็นครูทางจิตวิญญาณของชุมชน แหล่งสะสม บันทึก ถ่ายทอดทางภูมิปัญญาในชีวิต แหล่งสะสมและสร้างเสริมศิลปวิทยาชาวบ้านให้ผสมผสานกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาของสังคมโลก ความเป็นกระบวนกรสร้างเสริมเครือข่ายมฆมานพไซเบอร์ที่พอดี-พอดี

    กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ

    • ผมได้ลองทบทวนหาบทเรียนจากเวทีคนหนองบัว โดยเฉพาะจากด้านบทบาทของพระสงฆ์ ผู้นำด้านความศรัทธา และผู้นำทางจิตวิญญาณ ผ่านประสบการณ์ของท่านพระอาจารย์มหาแล รวมทั้งจากพระคุณเจ้าด้วย แล้วก็ลองถอดบทเรียนดูเพื่อใช้เป็นฐานในการทำงานแนวนี้ที่วางอยู่บนสิ่งที่ได้ทดลองทำดูและสามารถที่พอจะทำได้จริง เสร็จแล้วก็บันทึกไว้ที่นี่แล้วนะครับ บทบาทพระสงฆ์กับเทคโนโลยีและการเรียนรู้อย่างบูรณาการบนฐานชุมชน : เรียนรู้จากประสบการณ์กับพระมหาแล เชื่อว่าพอจะเป็นประโยชน์และได้แง่มุมสำหรับคิดดำเนินการตามความสนใจต่างๆต่อไปได้บ้างนะครับ
    • หากมีโอกาสได้จัดเวทีเครือข่ายอย่างที่พระคุณเจ้ามีแนวคิด ในเวทีมหิดลคนหนองบัว ประสบการณ์ที่ลองถอดบทเรียนออกมาจากเวทีคนหนองบัว ก็อาจจะทำให้เห็นภาพลางๆของภารกิจและกิจกรรมที่เครือข่ายพระสงฆ์จะสามารถสะท้อนไปสู่การพัฒนาบทบาทการดำเนินงานต่างๆสอดแทรกและเสริมไปกับสิ่งที่ทำมาอย่างต่อเนื่องแต่เดิม ให้ยกระดับสู่การมีนัยะต่อประเด็นความเป็นส่วนรวมมากยิ่งๆขึ้น จะทำให้คิดกว้าง คิดรอบด้าน ทำความแยบคายอย่างดี แล้วก็ทำไปบนสิ่งที่เครือข่ายคิดและทำได้ ก็จะเป็นแนวที่น่าสนใจมากแนวหนึ่งครับ
    • ก็เลยนำเรื่องราวต่างๆมาฝากให้ด้วยนะครับ เผื่อจะได้ความคิดดีๆสำหรับทำงานต่างๆตามความสนใจครับ สาระศึกษาจากเวทีคนหนองบัว : http://gotoknow.org/blog/nongbua-community
    • การยกระดับทำให้กิจกรรมการปฏิบัติ เป็นปฏิบัติการเรียนรู้และวิจัยปฏิบัติการสังคม : http://gotoknow.org/blog/healthycom

    ขอบคุณสำหรับความรู้ในเรื่องของ บัว ค่ะ

    • ด้วยความยินดียิ่งครับ
    • อยากเรียบเรียงและเขียนขึ้นใหม่อีกนะครับ 
    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)
    • ห่างหายไปอาทิตย์กว่าๆ เน็ตมีปัญหาใช้ไม่ได้
    • กลับเข้ามาวันนี้ พอดีมีบรรยากาศมหกรรมกีฬาชาวเอเชีย"กวางโจวเกมส์"ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่๑๖
    • ได้เห็นชาติยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียอย่างจีน ทำงานแล้วดูมีความพร้อมสมกับการเป็นเจ้าเหรียญทองจริงๆ
    • เลยได้ข้อมูลความรู้ว่า งานใหญ่อย่างเอเชี่ยนเกมส์นี้ ในอดีตไม่ใช่จะจัดกันได้ง่ายๆเลย ใครเป็นเจ้าภาพต้องมีความพร้อมหลายด้าน ประเทศที่มีความพร้อมและจัดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์มากที่สุดในเอเชีย ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนหรอกคือประเทศไทยเรานี่เอง จัดมาแล้วสี่ครั้ง ศักยภาพความสามารถของไทยนั้น เคยจัดเอเชี่ยนเกมส์แทนประเทศเกาหลีใต้มาแล้วด้วย ไทยเป็นเจ้าภาพสองครั้ง จัดแทนประเทศอื่นอีกสองครั้ง
    • ในด้านกีฬาไทยเราก็ยังจัดอยู่ในลำดับต้นๆของเอเชีย อย่างน้อยก็น่าจะหนึ่งในสิบจากจำนวนประเทศที่เข้าแข่งขันสี่สิบกว่าประเทศ
    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)
    • เห็นภาพ"เครือข่ายมฆมาณพไซเบอร์"ในคห.(๘๘๙)ของอาจารย์แล้ว น่าสนใจมาก
    • ภาพนี้ทำให้อาตมานึกถึงการกระจาย การกระจุกในสังคมไทย ที่กำลังจะจุกกันไปทั่วหน้าในตอนนี้
    • กระจายอย่างอื่นกันมามากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระจายอำนาจเอย กระจายทุนเอย กระจายการปกครองเอย กระจายไปกระจายมา กลายเป็นกระจายความขัดแย้ง กระจากความแตกแยก ทุกๆกระจาย เป็นกระจายปัญหาสู่สังคมชุมชนอย่างเต็มพื้นที่ประเทศไทย
    • เปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนกระแสการกระจายใหม่ก็น่าจะดี เปลี่ยนเป็นกระจายความรู้ กระจายปัญญา กระจายความคิด เพราะสามสิ่งนี้เชื่อว่าเป็นพลัง เป็นอำนาจ เป็นทางรอดที่ยั่งยืนของสังคมได้

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • คราวนี้มาแนวกราวกีฬาเลยนะครับ ผมได้ดูแต่รูปจากหนังสือพิมพ์กับฟังจากวิทยุเป็นระยะๆครับ ไม่ได้ดูทีวีมา ๖ ปีแล้วครับ
    • หายไปเป็นพักเลยนะครับ ท่านอื่นๆก็หายเงียบไปเลย สงสัยเรื่องน้ำท่วมต่อเนื่องกันเป็นเดือนทำเอาคนจิตใจหงอยเหงา
    • แต่ก็ดีครับ หายเป็นพักๆอย่างนี้ก็เหมือนกับเป็นการจัดเวลาให้ได้นั่งย่อยประสบการณ์ ชาร์จแบต เหมือนนั่งหอบแดดให้ลมเป่าหมาดเหงื่อเย็นๆ แล้วก็ลุกขึ้นเดินอย่างกะปรี้กะเปร่าอีก
    • ผมไปนำเสนอบทเรียนเรื่องการหนุนเครือข่ายคนสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นผ่านทางเว็บบล๊อกมาแล้วนะครับ ได้ใช้กรณีเวทีคนหนองบัวเป็นตัวอย่างด้วยครับ บันทึกถ่ายทอดไว้ที่นี่แล้วนะครับ : เวทีจัดการความรู้แห่งชาติ NKM5 กับเวที'ยิ่งให้ยิ่งได้รับ'ของ GotoKnow : วิธีเชิงรุกของวัฒนธรรมความรู้สู่ Life Style คนเมือง
    • อันที่จริงไทยนอกจากมีศักยภาพจัดเอเชียนเกมส์แล้ว ก็ยังเป็นสมาชิกบุกเบิกตั้งสมาคมอาเซียนและจัดซีเกมส์อีกด้วย หากซีเกมส์ทำอย่างจริงจังและทำให้เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมวัฒนธรรม รวมทั้งพัฒนาหมุดหมายทางภูมิศาสตร์สังคมของโลกแล้วละก็ เชื่อว่าจะน่าตื่นตื่นใจไม่น้อยไปกว่าจีนจัดอีกนะครับ ในอาเซียนมีความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมมากที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก หากใช้กีฬาเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การจัดประชุม การศึกษาเรียนรู้ในแหล่งวัฒนธรรม วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ แล้วละก็ จะมีความเป็นเสน่ห์ของโลกตะวันออกที่ทั่วโลกไม่ค่อยจะได้เห็นมากเหมือนกันนะครับ
    • เดือนนี้เวทีคนหนองบัวมีเพื่อจากต่างประเทศเข้ามาอ่านเพิ่มขึ้นอีก ๒ ประเทศ จากสิงคโปร์และฮังการี
    • หากคลิ๊กเข้าไปที่เครื่องนับสถิติและแสดงรูปธงของประเทศปลายทาง แล้วคลิ๊กลงไปบนธงของประเทศนั้นๆ ก็จะมีข้อมูลและสามารถเข้าไปรู้จักประเทศต่างๆได้ต่อไปอีก

    เมื่อวานผมไปคุยเรื่องนี้บนเวทีเทือกเขาปันปันของ GotoKnow เลยละครับ คือ ยิ่งให้ยิ่งได้รับ เป็นเวทีคุยกันเรื่องพัฒนาการเรียนรู้ของสังคมสู่การเรียนรู้การให้น่ะครับ

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)
    • งานมหกรรม การจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ ๕(NKM 5) ที่ผ่านมาเมื่อ(๒๒-๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓) มีศัพท์ใหม่คำหนึ่งคือ "เทือกเขาปันปัน"
    • สืบเนื่องจากอาตมาภาพไม่ได้เข้ามาใช้เน็ตหลายวัน ตกข่าวไปเป็นอาทิตย์ พอมาเห็นคำนี้เลยยังงงๆอยู่ เข้าใจเอาเองว่าคงหมายถึงการให้ การแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ไม่ทราบเข้าใจถูกหรือเปล่า
    • ทราบว่าอาจารย์วิรัตน์ไปงานนี้มาแล้ว เลยขอรบกวนอาจารย์ช่วยอรรถาธิบายที่มาความหมายศัพท์นี้สักเล็กน้อย  เจริญพร

    ดูจากชื่อสถานที่จัดงาน เขาก็ขึ้นชื่อสถานที่ทั้งหมดว่า Learning Land : ผืนแผ่นดินแห่งการเรียนรู้ และพอเขาเล่นละครแนะนำบนเวทีหลังพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เขาก็พูดให้แนวคิดผ่านผู้แสดงว่าภายในผืนแผ่นดินนี้เต็มไปด้วยบทเรียนและสิ่งที่น่าเรียนรู้มากมาย กระจายอยู่หลายเต็มผืนดินเหมือนเป็นภูมิศาสตร์ความรู้และภูมิปัญญาบนแผ่นดิน

    เขาไม่ได้ให้รายละเอียดตรงๆมากนักครับ แต่ให้ข้อแนะนำว่า หากร่วมกิจกรรมแล้วคิดเองหรือพูดกับคนอื่นๆว่าไม่เห็นมีอะไรเลย หรือพูดว่ามาเรียนรู้แล้วก็เท่านั้นแหละ กลับไปก็ไปทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำ....เหล่านี้ เขาบอกว่าให้กลับเข้าไปดูใหม่และเลิกเน้นแต่ถ่ายรูปไปในทางหาความเพลิดเพลิน

    ส่วนที่เทือกเขาปันปันนั้น ก็เห็นเขาบอกแนวคิดอย่างที่พระคุณเจ้าเข้าใจน่ะครับว่าเป็นที่ซึ่งนำเอาประสบการณ์มาแบ่งปันกัน แต่ก็ไม่ทราบว่าจะมีความหมายเป็นอย่างอื่นหรือเปล่าก็ไม่ทราบหรอกนะครับ ผมก็เพิ่งได้เข้าไปร่วมเวทีครั้งนี้แหละครับ

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    วิถี ”บวร” เพื่อความเข้มแข็งของขุมชน

    • ได้ลองปริ้นเอ๊าภาพวาดแผนภาพชุมชนของอาจารย์ในคห.๘๘๙  ออกมาดู ได้เห็นรายละเอียดเรื่องราวต่างๆเพิ่มเติมอีกเยอะ
    • เป็นแผนภาพชุมชนที่เห็นแล้ว อยากจะตั้งชื่อสั้นๆให้ดูเท่ๆสักหน่อยว่า  วิถี “บวร”รักษ์บ้านเกิด
    • คำว่า “บวร” เป็นคำย่อ ที่นำเอาพยัญชนะต้นของแต่ละคำมาสร้างเป็นคำใหม่
      บ.ย่อมาจาก บ้านเกิด(สถาบันครอบครัว,สถาบันชุมชน,สถาบันการปกครอง)
      ว.ย่อมาจาก วัด(สถาบันศาสนา/องค์กรทางศาสนา) และ เว็บไซต์(สื่อออนไลน์,สื่อไอที IT) ร.ย่อมาจาก โรงเรียน(สถาบันการศึกษา) และ รักษ์บ้านเกิด
    • สังคมไทยมีสามสถาบันหลักคือ”บวร”นี้ในทุกชุมชนอยู่แล้ว  จึงน่าจะลองนำเอารูปแบบและแนวคิด การพัฒนาแบบบวรนี้มาเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาชุมชนดูบ้าง

     

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    เหมือนจะง่าย แต่ไม่ง่าย

    • ได้ลองชวนคิดชวนคุยกับผู้นำชุมชนผู้นำท้องถิ่นคนมีการศึกษาที่รู้จักกันในที่ต่างๆ ให้ลองบันทึกชุมชนทำเรื่องง่ายๆใกล้ๆตัว รูปแบบคล้ายๆเวทีคนหนองบัว หรือบางทีก็นำเอกสารบันทึกชุมชนไปให้อ่านดูเป็นตัวอย่างก็มี
    • เราก็คิดเอาเองว่า ยุคนี้ความพร้อมมีมากกว่าสมัยก่อนมาก เครื่องมือก็พร้อม แถมมีเยอะอีกต่างหาก คนที่มีความรู้ก็พร้อม เรื่องความสะดวกไม่ต้องพูดถึง การเก็บข้อมูล สืบค้นทำได้ง่ายๆสะดวกโยธิน รวมความว่าทุกอย่างพร้อม
    •  ทุกอย่างดูน่าจะเป็นเรื่องง่ายเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว และในชุมชนต่างๆคนส่วนใหญ่ก็ยังจำเหตุการณ์ในชุมชนของตัวเองได้ หรือสืบเสาะสอบถามจากคนเก่าๆได้
    • แต่ไม่เป็นอย่างนั้นเลย กลับเป็นเรื่องที่ไปไม่เป็นเลย เริ่มต้นไม่ได้ ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร คนที่คุ้นเคยกันก็ได้ลองกระตุ้นเชิญชวนให้ทำดู
    • คำตอบแรกที่ได้คือให้ไปดูข้อมูลประวัติชุมชนที่ป้ายศาลากลางบ้านบ้าง ที่ศาลาการเปรียญบ้าง เหล่านี้ เป็นอาทิ ต่อมาก็จะบอกกันโดยอ้างอิงไปถึงบุคคลอื่นในชุมชนว่าเรื่องอย่างนี้ต้องไปถามคนๆนั้น เพราะเป็นคนจดจำได้เยอะ หรือไม่ก็กล่าวไปถึงผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้เรื่องเก่าๆอย่างภาคภูมิใจมากๆเลย แต่ตอนนี้ท่านเหล่านั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว เรื่องราวต่างๆก็ตามท่านไปเกือบหมดอีกด้วย
    • สภาพปัญหาอย่างนี้ทุกชุมชนก็เป็นไปคล้ายๆกัน คือความรู้ชุมชนข้อมูลชุมชน ไม่มีผู้บันทึกไว้ ไม่มีใครเก็บรวบรวมไว้ในรูปหนังสือเลย หรือจะมีอยู่บ้างก็น้อยมากๆ
    • หนองบัวเรา ที่หลายๆท่านได้ช่วยกันเขียนบันทึกความรู้ข้อมูลชุมชนจำนวนมาก มาเก็บรวบรวมไว้ในโลกไซเบอร์นี้ จนทำให้คนภายนอกหนองบัวเข้าถึงความเป็นหนองบัวได้ มองเห็นและรู้จักตัวตนคหนองบัวได้อย่างง่ายๆ สิ่งต่างๆเหล่านี้ ถ้าพอจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่นๆที่คิดอยากจะทำให้กับชุมชนตัวเองบ้าง แม้เพียงสักเล็กน้อย ก็น่าชื่นใจหาน้อยไม่

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • ตัวแบบอย่างที่พระคุณเจ้านำเอาแนวคิด บวร มาใช้เรียกนั้น ก็สื่อความหมายดีนะครับ อันที่จริงก็เป็นตัวแบบจากวิธีการของพระคุณเจ้าเองที่ผมลองดึงออกมาให้เป็นระบบแนวคิดดูนั่นแหละครับ
    • ผมลองนำเอากระบวนการที่ทำให้มีเวทีคนหนองบัวอย่างที่เห็นนี้มาลองพิจารณาดู เพื่อเอาไว้ยกตัวอย่างตอนที่นั่งเสวนาในเวทีการจัดการความรู้แห่งชาติ เวทีย่อยของ GotoKnow เขาปีนี้น่ะครับ
    • ผมได้ยกตัวอย่างได้บ้างนิดหน่อยครับ แต่สื่อต่างๆที่เตรียมไว้แม้ไม่ได้ใช้เพราะดูบรรยากาศแล้วจะไปเบียดเวลาคนอื่นเขามากไป ผมก็เลยออนไลน์เผยแพร่ไปด้วยแล้วนะครับ พระคุณเจ้าสามารถนำไปดัดแปลงและปรับแต่งไปตามที่มีจะช่วยอธิบายประสบการณ์และแสดงบทเรียนของการได้ทำจริงๆออกมาให้เป็นระบบมากที่สุดตามใจชอบได้เลยครับ
    • ตัวแบบอย่างนี้ในอนาคตจะเป็นประโยชน์สำหรับพระคุณเจ้าครับ หากมีโอกาสได้วางแผนหรือเป็นที่ปรึกษาชุมชน องค์กรท้องถิ่น หรือโรงเรียน หรือทางวัดและการรวมกลุ่มของพระสงฆ์หรือฆารวาสที่จะสร้างคน สร้างประสบการณ์ให้ลูกหลานให้รู้จักเลือกการเปลี่ยนแปลงของโลกรอบข้างมิให้หลุดจากการเสริมฐานชีวิตและฐานความรู้ในวิถีชีวิตตนเองไปด้วย ก็จะใช้เป็นกรอบในการพัฒนาฐานการเรียนรู้ หรือทำเป็นโครงการพัฒนาการเรียนรู้ ฝึกอบรม และทำกิจกรรมค่ายการเรียนรู้ได้ครับ

                              

    • ตอนนี้ เวทีคนหนองบัวมีกลุ่มคนที่เข้ามาอ่านกว่าหนึ่งหมื่นหกพันคนแน่ะครับ ในจำนวนนี้ แต่จากสถิติที่เครื่องนับที่เพิ่งนับเขารายงานให้ทราบ ก็พบว่ามีการเข้าไปอ่านเนื้อหากว่าสามหมื่นแปดพันหน้า
    • เฉลี่ยแล้ว คนที่เข้ามาอ่านบล๊อกเวทีคนหนองบัวจะอ่านและชมรายละเอียดต่างๆด้วยคนละ ๓ หน้ากว่า เป็นสถิติที่ไม่เลวเลยละครับ
    • ที่พระคุณเจ้าเล่าประสบการณ์ เหมือนจะง่าย แต่ไม่ง่ายนั้น เป็นความจริงอย่างยิ่งครับ ไม่ใช่เฉพาะที่หนองบัวครับ ที่อื่นๆก็เป็นอย่างนี้ สิ่งที่พอทำกันไปได้ในเวทีหนองบัวนี้ จึงมีคุณค่ามากครับ ไม่ใช่เพียงสำหรับของคนหนองบัว ทว่า สามารถทำและหาการเรียนรู้เพื่อพัฒนาถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับสาธารณะให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางได้ทั่วไปครับ คนอื่นที่ทำยากๆก็จะได้มีตัวอย่างให้ดู พอได้เป็นแนวคิดและส่งเสริมกันทำสิ่งสร้างสรรค์ทางอ้อมน่ะครับ 
    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    เมื่อการเล่นของเด็กไทย เล่นตี่จับ : สู่เอเชี่ยนเกมส์

    • เอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่๑๖ที่เมืองกวางโจวประเทศจีน มีกีฬาพื้นบ้านของไทยชนิดหนึ่งใน ฟังจากสื่อต่างๆรายงานคล้ายๆกันว่าเป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่คนไทยอาจจะไม่รู้จัก หรือให้ความสนใจมากนัก แต่ผลงานกลับดีเยี่ยมได้เหรียญเงินติดมือกลับบ้านด้วยนั่นคือ:กาบัดดี้ 
    • กีฬากาบัดดี้นิยมเล่นกันในแถบเอเชียใต้ มีหลายชื่อด้วยกัน แต่ละประเทศก็เีรียกแตกต่างกันไป เช่น มาเลเซียเรียก ชิดูกูดู,เนปาลเรียก โดโด,ศรีลังกาเรียก กูดู,บังคลาเทศ เรียกฮาดูดู,อินเดียและปากีสถาน เรียก กาบัดดี้ หรือที่ไทยเราเรียกว่า เล่นตี่จับ นี่่เอง
    • ถ้าฟังแต่ชื่อชนิดกีฬา หรือดูจากสื่อภาพนิ่งอย่างเดียว คงจะนึกไม่ออกว่าเป็นกีฬาอะไรกันแน่เชียว ผู้่เขียนได้มีโอกาสดูทางทีวี บอกตามตรงว่าดูแว็บแรกก็นึกสงสัยแล้วว่า เอทำไมกีฬาชนิดนี้ดูคุ้นๆจัง เราน่าจะเล่นเป็นนะ เพราะดูลักษณะการเล่นแล้วคุ้นมากเลย(ทั้งๆที่ผ่านมาตั้ง๓๐-๔๐ปี)
    • สงสัยอยู่นิดเดียวที่เขารายงานทางสื่อว่าเป็นกีฬาที่คนไทยอาจจะไม่รู้จักไม่คุ้นเคย
    • เมื่อคนไทยลืมกีฬาพื้นบ้าน"เล่นตี่จับ" กันไปเยอะแล้ว ก็เลยไปค้นข้อมูลนำมาฝากเวทีคนหนองบัว ดังนี้

    การเล่นของเด็กไทย เล่นตี่จับ

    วิธีเล่น

    • เล่นตี่จับ ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น
    • แบ่งเป็น 2 ฝ่ายเท่าๆกัน และจับไม้สั้นไม้ยาวว่าใครจะเริ่มตี่ก่อน ฝ่ายที่ตี่ก่อน เริ่มเล่นโดยเลือกพวกของตนคนหนึ่งเป็นคนเข้าไปตี่ คนตี่จะออกเสียง "ตี่" หรือ "หึ่ม" เข้าไปในแดนฝ่ายตรงข้าม ในขณะเดียวกันฝ่ายตรงข้ามต้องคอยยึดตัวไม่ให้กลับเข้าแดนของตนได้ จนกว่าจะขาดเสียงผู้นั้นต้องมาเป็นเชลยของฝ่ายตรงข้าม แต่ถ้าสามารถหนีกลับเข้าแดนตนได้ คนที่ถูกแตะจะกี่คนก็ตามต้องไปเป็นเชลยสลับกัน เมื่อมีฝ่ายของตนเป็นเชลย ผู้ที่ตี่คนต่อไปต้องพยายามช่วยพวกของตนกลับมาให้ได้ ฝ่ายตรงข้ามต้องคอยกันไม่ให้แตะกันได้ ถ้าแตะกันได้เชลยจะได้กลับแดนของตน เล่นกันเช่นนี้จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหมดตัวผู้เล่นก่อน ฝ่ายชนะมีสิทธ์จะให้ฝ่ายแพ้ทำอะไรก็ได้
      ขอบคุณข้อมูลจาก...(http://www.patongbeachthailand.com/thai/21_13/679.shtml) สืบค้น ๒๖ พ.ย.๒๕๕๓

    มานั่งย้อนไปนึกถึงดูเมื่อครั้งได้เล่นกันเมื่อตอนเด็กๆนี่ ต้องนับว่าเป็นการเล่นที่ทั้งสนุก ได้ออกกำลังกาย และทำให้เด็กๆได้พัฒนาหลายอย่างนะครับ

                             

    ผมได้นำเอาข้อมูลและข้อสังเกตของพระคุณเจ้า ไปทำเป็นหัวข้องบันทึกต่างหากไว้ให้เวทีคนหนองบัวอีก ๑ เรื่องนะครับ ที่นี่ครับ การเล่นของเด็กไทย : เล่นตี่จับ พร้อมกับวาดรูปให้ด้วยครับ เผื่อเด็กๆจะได้ใช้เป็นข้อมูลสำหรับค้นคว้าทำรายงาน หรือคุณครูจะได้ใช้เป็นข้อมูลสำหรับดัดแปลงไปทำสื่อการเรียนการสอน

                                       

                                                                ขอขอบคุณภาพธงและข้อมูลจาก flag counter

    วันนี้ เวทีคนหนองบัวมีผู้อ่านเข้ามาเยือนจากประเทศอินเดียและนับเป็นประเทศที่ ๓๓ แล้ว คลิกเข้าไปอ่านทำความรู้จักกับอินเดียมหามิตรของประเทศไทยและของเวทีคนหนองบัวได้โดยคลิ๊กลงไปบนรูปธงครับ

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)
    • ขอบคุณอาจารย์ที่วาดรูปการละเล่นของเด็กไทย : เล่นตี่จับ ดูจากภาพแล้วน่าสนุกไม่น้อยเลย
    • วันนี้(๑ ธันวาคม ๒๕๕๓  เวลา  ๑๕.๐๐ น.)เข้าไปดูมิตรต่างแดนที่เข้าเยือนเวทีคนหนองบัว ที่มีกว่าสามสิบประเทศ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ในวันนี้ได้ ๒ เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ ๒๑๕ คน/ครั้ง (เฉพาะคนไทย ๑๐,๕๗๕ เท่ากับ ๙๘ เปอร์เซ็นต์)
    • โดยเฉพาะอเมริกาประเทศเดียว มี ๑๔  รัฐ ดังนี้  แคลิฟอร์เนีย(California) ๓๙ ครั้ง/คน, นิวยอร์ก (New York) ๕  ครั้ง/คน,  เท็กซัส (Texas) ๒  ครั้ง/คน,  มิชิแกน(Michigan) ๒  ครั้ง/คน, ไวโอมิง(Wyoming) ๒  ครั้ง/คน, อิลลินอยส์(Illinois) ๒  ครั้ง/คน, ออริกอน(Oregon) ๑ ครั้ง/คน, อินดีแอนา(Indiana) ๑  ครั้ง/คน, วอชิงตัน(Washington) ๑  ครั้ง/คน, ฟลอริดา(Florida) ๑  ครั้ง/คน, เมน(Maine) ๑  ครั้ง/คน, เวอร์จิเนีย(Virginia) ๑  ครั้ง/คน, โอโฮโอ(Ohio) ๑  ครั้ง/คน, โคโลราโด(Colorado) ๑  ครั้ง/คน, ไม่ทราบรัฐอีก ๒  ครั้ง/คน
    • คนที่เข้ามาอ่านมากที่สุด(๓๙ ครั้ง)อยู่ในเมืองลอสแอนเจลิส(Los Angeles) หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ แอลเอ(L.A.) เมืองนี้น่าจะมีคนไทยอยู่มาก เพราะจะได้ยินคนกล่าวถึงการทำกิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมไทยเรื่อยมา เช่น การจัดงานสงกรานต์ในแอลเอ  งานลอยกระทงในแอลเอ เหล่านี้  เป็นต้น

    คราวนี้ท่านพระอาจารย์มหาแลก้าวกระโดดไปหลายขุมเลยนะครับ
    เข้าไปดูตรงไหนละครับเนี่ย ต้องแบ่งปันให้ผมสักหน่อยเสียแล้วละครับ
    การวิเคราะห์แจกแจงออกมาของพระคุณเจ้า ทำให้ยิ่งเห็นบทบาทของเวทีหนองบัวในการสื่อสาร ให้การเรียนรู้ และสร้างความรับรู้แก่คนที่อยู่ไกลๆอย่างสุดจินตนาการได้เป็นอย่างดีมากเลยนะครับ

    ไม่รู้ว่าจะมีความสัมพันธ์กันด้วยหรือเปล่ากับความเป็นแหล่งที่คนไทยไปทำงานและอยู่อาศัยมากด้วย หากมีส่วนเกี่ยวข้องกันด้วย ก็คงจะมีส่วนอยู่ไม่น้อยในการเป็นสื่อให้ทั้งคนไทย และชาวต่างประเทศที่เขาประทับใจคนไทยที่ไกลบ้านแล้วอยากทำความรู้จักมากขึ้น ให้ได้เห็นเรื่องราวจากชุมชนเล็กๆจากประเทศไทย ทำให้คนไทยไกลบ้านพอได้มีความสุขและคลายความโดดเดี่ยวหงอยเหงา และหมู่มิตรชาวต่างประเทศก็ได้เห็นสิ่งที่ต่างไปจากประสบการณ์ชีวิตของเขาในอีกมิติหนึ่ง

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)
    • อาจารย์คลิกที่คำ FLAG  Counter เมื่อเข้าไปที่หน้าFLAG Countet แล้วให้คลิกต่อที่คำว่า COUNTRIES หน้านี้ก็จะมีธงชาติและชื่อประเทศต่างๆ จำนวนผู้อ่านขอองแต่ละประเทศ ที่เข้ามาเยือนเวทีคนหนองบัวปรากฏอยู่  เรียงลำดับประเทศจากจำนวนผู้อ่าน จากมากไปหาน้อย คือประเทศไทย,สหรัฐฯ,ญี่ปุ่น,ไต้หวัน,เกาหลี ฯลฯ
    • จากนั้นก็ให้คลิกที่กรอบสี่เหลี่ยมที่มีเครื่องหมายกากบาท ที่อยู่คู่กับธงชาติอเมริกา เมื่อคลิกเข้าไปก็จะเห็นชื่อรัฐต่างๆ จำนวนผู้อ่าน
    • วันนี้(๒ ธันวาคม ๒๕๕๓)มีเพื่อนจากอเมริกาเข้ามาเยือนเวทีคนหนองบัว  ๒  ท่าน/ครั้ง  จากรัฐแคลิฟอร์เนียหนึ่ง  และมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งท่าน  คือชาวอลาสก้า(Alaska) นับเป็นรัฐที่ ๑๕ (เมื่อวานระบุชื่อได้  ๑๔ รัฐ)
    • ขอเชิญผู้อ่านทุกท่านเข้าไปดูชมเพื่อนบ้านจากแดนไกลของเราได้ตามสะดวก
    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

     

    • มาเพิ่มเติมข้อมูลและขอแนะนำทุกท่านให้ได้รู้จักเพื่อนต่างแดนที่เข้ามาเยือนชุมชนหนองบัว อันเป็นเรื่องราวน่ารู้น่าสนใจในความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ละรัฐของอเมริกา(๕๐ รัฐ)
    • ตัวอย่าง เช่น รัฐฟลอริดา(Florida) เป็น"มลรัฐแห่งตะวัน"(Sunshine State)เพราะเป็นมลรัฐที่มีลักษณะเป็นแหลมยื่นลงไปในทะเล มีแสงแดดอบอุ่นตลอดทั้งปี มีแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกคือ Disney World และชายหาด Miami อันสวยงาม รัฐเท็กซัส(Taxas) เป็น"มลรัฐแห่งดวงดาว"(Lone Star State)เพราะมลรัฐนี้มีธงประจำรัฐเป็นรูปดาวดวงเดียวโดดเด่น เอกลักษณ์อีกอย่างของมลรัฐนี้คือ การขี่ม้าผาดโผนที่เรียกว่า Rodeo cowboy เมืองสำคัญคือ Houston ซึ่งเป็นฐานปล่อยจรวดและศูนย์ฝึกมนุษย์อวกาศ
    • เมื่อวานเห็นธงของแต่ละรัฐแล้ว นึกสงสัยว่าเขามีธงชาติประจำรัฐด้วยหรือ แต่มาเห็นข้อมูลตรงนี้แล้วก็เลยหายสงสัย เพราะเขาเรียกธงประจำรัฐนี่เอง ส่วนข้อมูลที่เหลือกอีก๔๘รัฐ ว่ามีอะไรบ้างก็คลิกเข้าไปอ่านตามเว็บที่นำมาฝากนี้ได้เลย
      ขอขอบคุณข้อมูลจาก..
      (http://writer.dek-d.com/missindependent/writer/viewlongc.php?id=578131&chapter=34) (สืบค้น ๒ ธันวาคม ๒๕๕๓)

    ลองคลิ๊กเข้าไปดูแล้วครับ เยี่ยมไปเลยครับ
    กราบขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับ ได้ความรู้อีกเยอะเลยครับ

                             

    ขอจงทรงพระเจริญ
    ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
    ข้าพระพุทธเจ้า เวทีคนหนองบัว

    เอาการ์ดร่วมเทิดพระเกียรติและน้อมเกล้าถวายพระพรในหลวง
    มามอบแด่ชาวหนองบัวและทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแลฯ และสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    ผมยังอยู่เป็นปกติครับ วนอยู่ในหลายจังหวัดทางภาคอีสานและประเทศลาวในช่วงคาบเกี่ยวของฤดูกาลออกพรรษา เพียงแต่ว่าอยู่ห่างคอมพิวเตอร์ไปนิดนึง

    เมื่อคืนก็ได้ไปร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ ท่านเอกอัครราชทูตนำร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงสดุดีมหาราชาและเพลงภูมิแผ่นดินดังกระหึ่มกลางกรุงเวียงจันทน์

    มีบุคคลสำคัญของทั้งสองประเทศ คนไทยในเวียงจันทน์ รวมทั้งอดีตนักศึกษาลาวในไทยไปร่วมงานกันเยอะครับ อากาศก็เย็นสบายดี มีลมพัดแผ่ว ๆ จนถึงกับหนาว

    ศิลปินไทยเท่าที่เห็นและจำได้ก็มีหลายท่านครับ อาทิ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คุณสุนทรี เวชานนท์ (โชว์เพลงสาวเจียงใหม่) คุณประจวบ ไชยสาส์น(คนนี้ไม่ใช่ศิลปินครับ แต่เป็นนักการเมืองที่คุ้นเคยกับผู้หลักผู้ใหญ่ของลาวดี)

    ได้ยินพี่น้องชาวลาวรำพึงเบา ๆ ว่า คุณสุนทรีน่าจะพาลูกสาวมาด้วย ....ผมก็จำชื่อเธอไม่ค่อยได้แล้ว ได้ยินว่านามสกุลคัมมินส์ ๆ อะไรนี่แหละครับ

                            

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ
    ปลายปีอย่างนี้นี่งานคงจะยุ่งและติดพันมากมายหลายงานเลยนะครับ ที่ลาวคงจะหนาวน่าดูเลยนะครับ อยากหาโอกาสไปเยือนอีกสักรอบจัง แถวๆลาว เขมร และเวียดนาม หารือกับภรรยาและเพื่อนๆอยู่เป็นประจำ แต่พอเก็บเงินได้ก็ให้มีอันต้องไปทำอย่างอื่นทุกที

    ต้นปีนี้ แรกเลยก็กะว่าหากจะไปต่างประเทศกัน ก็จะไปเวียดนามเป็นอันดับแรก แล้วก็ลาว และกัมพูชา แต่ปรากฏว่ากำลังจะไปโน่นครับมาเลเซียกับสิงคโปร์ เพราะจะได้ไปศึกษาดูงานกัน รวมทั้งไปกับอาจารย์ หมู่มิตร น้องๆและเหล่าลูกศิษย์ด้วย เลยอยากไปด้วยกันเพื่อเป็นหมายเหตุชีวิตและได้ประสบการณ์ที่หากไปเองก็คงจะไม่มีโอกาสได้ไปอย่างนี้

    อยู่ในบรรยากาศวันเฉลิมพระชนมพรรษา ก็เลยร่วมเทิดพระเกียรติกับคุณสมบัติและสมาชิกเวทีคนหนองบัวด้วยนะครับ ตอนนี้เวทีคนหนองบัวมีเครือข่ายไปทั่วโลกแล้วละครับ ท่านพระมหาแลท่านคงขับเคลื่อนผ่านเครือข่ายของท่านไปหลายทาง เป็นวิธีพัฒนาวิธีส่งเสริมเครือข่ายการเรียนรู้และพัฒนาวิธีทำภารกิจดีๆในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆของโลกที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    เช้า ๆ ช่วงนี้อุณหภูมิที่หนองคาย-เวียงจันทน์ประมาณ 16-18 องศาครับ ถือว่าอากาศเย็นสบายกำลังดี

    วันหยุด 3 วันคนข้ามไปเที่ยวลาวกันเยอะครับ ดูทะเบียนรถแล้วมาจากหลายจังหวัด เชียงใหม่ก็มี

    เก็บตกจากเวียงจันทน์ครับ.....เรื่องน้ำท่วมหลาย ๆ ภาคในเมืองไทย

    เรื่องน้ำท่วมจนสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยในหลาย ๆ จังหวัด....รวมถึงหนองบัวบ้านเราด้วยนั้น เมื่อวันที่ 3 ธันวาที่สถานทูตไทย ได้พูดคุยกับคนลาว เขาก็แสดงความเห็นใจคนไทยครับ รัฐบาลลาวได้ส่งเงินมาช่วยเหลือเป็นการแสดงน้ำใจจำนวนหนึ่ง แต่ผมได้ฟังเรื่องที่ค่อนข้างแปลกอยู่เรื่องหนึ่ง...... คือเรื่องพระแก้วมรกตร้องไห้จนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในเมืองไทย เนื่องจากไม่ได้กลับมาเฉลิมฉลองการสถาปนาเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงครบรอบ 450 ปี

    ....ได้ยินแล้วคิดต่อไปไม่เป็นเลยครับ

    อืมมมม  ทั้งไปไม่เป็นและไม่รู้จะคิดต่อไปด้วยอย่างไรเลยเหมือนกันนะครับเนี่ย
    คิดได้เหมือนกันครับ แต่เรื่องอย่างนี้คิดและคุยกันในแง่มุมแตกต่างหลากหลายออกไปในกลุ่มเล็กๆ ก็คงเป็นเรื่องปรกติ แต่ถ้าหากคุยทั่วไปอย่างหลุดออกจากบริบทของสถานการณ์ในการคุยจำเพาะกลุ่ม จำเพาะสถานการณ์ ก็คงจะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและคงจะไม่นำไปสู่ความริเริ่มดีๆอย่างที่ควรจะเป็นน่ะครับ ในสังคมต่างๆก็มีการคุยและการแสดงออกต่อการมีความรู้สึก การมีความเป็นชาตินิยมแบบคิดบนความรู้สึกและใช้ความรู้ไม่รอบด้าน ในลักษณะนี้ มีเป็นธรรมดาอยู่ทั่วไปกระมังนะครับ

    จะขออนุญาตคุณสมบัติและท่านอื่นๆไว้ด้วยนะครับว่า หากมีโอกาสนั้น เรื่องหนึ่งที่อยากเขียนบันทึกไว้เป็นข้อมูลในเวทีคนหนองบัว รวมทั้งเป็นการเรียนรู้สังคมชุมชนหนองบัวผ่านเรื่องราวของบุคคลด้วยก็คือ จะหาโอกาสเขียนเรื่องของ คนหนองบัว เก็บสะสมไว้นะครับ ผมจะเน้นด้านการพัฒนาการเรียนรู้ รสนิยมในการอ่านและการเรียนรู้จากประสบการณ์ วิธีคิดและวิธีปฏิบัติที่สร้างสรรค์ต่อสังคม การเป็นคนสร้างมาตรฐานวิถีปฏิบัติของตนเองในแนวที่ไม่เป็นไปตามกระแสสังคมอย่างสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และความเป็นแหล่งวิทยาการ ที่ชาวบ้าน หน่วยงาน หรือชุมชน จะสามารถไหว้วานหรือขอเป็นกำลังสนับสนุนทางความรู้ในโอกาสต่างๆได้ รวมทั้งจะได้ทำให้ลูกหลานและคนท้องถิ่นได้มีโอกาสทำความรู้จักเรียนรู้กันและกันไปด้วยน่ะครับ

    ขออนุญาตไว้ด้วยนะครับ และนอกจากจะขออนุญาตแล้ว ก็อยากจะขอให้ช่วยแนะนำหรือช่วยเขียนข้อมูลรวบรวมไว้ช่วยกันได้เลยนะครับ แต่ทำไปตามความสะดวกนะครับ 

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)
    • การ์ดภาพวาดออนไลน์ใน(คห.๙๑๑,๙๑๓)ชุดนี้งดงามมากๆ
    • เมื่อวาน(๖ ธันวาคม ๒๕๕๓)อาตมาได้ถวายพระพรออนไลน์ อยู่ในลำดับที่ ๒,๑๗๗,๒๙๔
    • โครงการถวายพระพรออนไลน์นี้เริ่มตั้งแต่ ๒๗ พฤศจิกาย๒๕๕๓-๗ ธันวาคม๒๕๕๓ วันนี้(๗ ธ.ค.๒๕๕๓)เป็นวันสุดท้าย
    • ได้ปริ้นการ์ดถวายพระพรภาพสี เป็นภาพที่สวยงาม นำไปเข้าอัลบั้มเก็บไว้ ได้แนะนำพระในวัดมีหลายรูปปริ้นเก็บไว้ด้วย และพระได้นำชื่อโยมพ่อโยมแม่ของท่านเข้าไปถวายพระพรออนไลน์ แล้วปริ้นไปให้ด้วย ญาติโยมบอกจะนำการ์ดไปเคลือบติดไว้ที่หน้ารถ
    • ถ้าท่านใดยังไม่ได้ลงนามถวายพระพรออนไลน์ ก็ยังมีเวลาอีกครึ่งวัน

     

    ภาพที่ คห.๙๑๓ นั้น เนื่องจากเป็นเรื่องของชาวบ้านชนบทกำลังน้อมเกล้าถวายดอกบัวและมีเกร็ดความรู้ที่งดงามหลายอย่าง
    ผมเลยได้ดึงไปทำเป็นหัวข้อต่างหากอีกหัวข้อหนึ่งที่นี่ครับ : ดอกบัวที่งามที่สุดในโลก : เทิดพระเกียรติในหลวงพระชนมวาร ๘๔ พรรษา ๒๕๕๓

              

    • กราบนมัสการพระคุณเจ้า และขอสวัสดีชาวหนองบัวทุกท่านค่ะ
    • G2K ปรับโฉมใหม่ ทำเอาหาบันทึกของหลายๆ ท่านไม่ค่อยเจอเลยค่ะ หรือเค้าปรับมาดีแล้วแต่หาไม่เจอเองก็ไม่แน่ใจค่ะ ช่วงนี้ยิ่งมึนๆ งงๆ อยู่ด้วย ^^"
    • นำการ์ดสวัสดีปีใหม่ (ปีกระต่าย) ๒๕๕๔ มามอบแด่ชาวหนองบัวทุกท่านค่ะ เป็นภาพในงานวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ลานพระราชวังดุสิต ชุด ข้างบ้านพ่อ เมื่อไม่นานมานี่เองค่ะ ..
    • ขอให้ชาวหนองบัวทุกท่านมีความสุขในปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ และมีความสุขกับทุกๆ วันนะค่ะ =)

    ภาพประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำของเมืองหนองบัว : วันรวมพลคนหนองบัว

               

     อธิบายภาพ: การก่อสร้างวัดเทพสุทธาวาส เมื่อ ๑๕  มีนาคม  ๒๔๙๙ โดยการนำของหลวงพ่อพระเทพสิทธินายก(ห้อง ท้วมเทศ)และภาพมุมบนซ้ายสุดที่มีพระสงฆ์นั่ง ๒ รูปนั้น รูปนั่งด้านซ้ายคือหลวงพ่ออ๋อย(พระครูนิกรปทุมรักษ์ สุวณฺโณ-พรมบุญ) รูปนั่งด้านขวาคือหลวงพ่อพระเทพสิทธินายก(ห้อง ท้วมเทศ)

    ภาพเหตุการณ์ การก่อสร้างวัดเทพสุทธาวาส  ตำบลหนองกลับ  อำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์
    การก่อสร้างวัดในครั้งนี้  มีผู้นำประธานก่อสร้างคือท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก(ห้อง ป.ธ.๖ ชาตสิริ - ท้วมเทศ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ หลวงพ่ออ๋อย(พระครูนิกรปทุมรักษ์- สุวณฺโณ-พรมบุญ) เจ้าอาวาสวัดใหญ่ : วัดหนองกลับ ทายกทายิกา ผู้นำชุมชนและชาวบ้านหนองบัว หนองกลับ รวมกันสองตำบล(ตำบลหนองกลับ  ตำบลหนองบัว) เหตุการณ์วันนั้นคนอายุวัย ๗๐ กว่าปี ทั้งหญิง-ชาย ยังจดจำเล่าขานกันอย่างไม่รู้ลืม และทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มีความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งงดงามขึ้นในชุมชนในครั้งนั้น 

    สอบถามจากคนเก่า ๆ ถึงเหตุการณ์วันนั้น ท่านรำลึกย้อนหลัง เล่าให้ฟังว่า ทุกคนช่วยกันทำอย่างสนุกสนานท่านว่าอย่างนั้น  เพราะอะไร เพราะมีวิธีให้เกิดความสุนทรีย์รื่นเริงเบิกบานมีความสุขในการงานในการสร้างกุศลอันเปี่ยมด้วยใจศรัทธาต่อพระศาสนาต่อผู้นำสงฆ์ อีกทั้งพื้นฐานของชุมขนคนเมืองหนองบัวก็มีอยู่เดิมแล้วด้วย นั่นก็คือความสามัคคี ที่ปู่ย่า ตายาย เล่าว่าสนุกก็คือการทำกุฏิ ๑ หลัง ต้องรวมคนกันสองสามหมู่บ้านทุกคนเป็นช่างทำไปพร้อมกันทุกส่วน  เมื่อเริ่มลงมือทำเพื่อให้เกิดการตื่นตัวขมีขมันขมักเขม่น เป้าหมายต้องทำให้เสร็จภายใน  ๑ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์จึงต้องรีบเร่งแข่งกับเวลา จึงมีการท้าทายกันสนุกๆ เพื่อให้งานเดินหน้าสำเร็จลุล่วงด้วยดี ว่ากลุ่มใดหมู่บ้านไหน จะทำเสร็จก่อนกัน เมื่อทราบกติกาข้อตกลงกันแล้ว ทุกคนจึงร่วมแรงร่วมใจกันสุดๆ ว่างั้นเถอะ ปรากฏว่าการสร้างวัดเทพสุทธาวาสในวันนั้น สร้างเสร็จภายในวันเดียวเท่านั้น โดยมีสิ่งก่อสร้าง รวมกันถึง ๖ หลัง คือ กุฏิ ๔ หลัง หอสวดมนต์  ๑  หลัง  หอระฆัง  ๑ หลัง แหละนี่คือวันรวมพลคนหนองบัวโดยแท้จริง เมื่อ ๕๔ ปีที่แล้ว
            ลูก หลาน เหลน โหลน คนหนองบัว ขอระลึกถึงคลื่นลูกเก่า คลื่นแห่งการให้ คลื่นแห่งการแบ่งปัน คลื่นจิตอาสา คลื่นแห่งบุคคลผู้มีจิตสาธารณะ คลื่นที่หล่อเลี้ยงน้ำใจอันงดงามเสียสละเช่นนี้ของบรรพบุรุษ ด้วยความซาบซึ้งใจมิรู้จางคลาย

    เอื้อเฟื้อภาพโดย : พระครูนิมิตศีลาภรณ์(จากหนังสือ สวดมนต์ ทำวัตรเข้า-ทำวัตรเย็น วัดเทพสุทธาวาส ตำบลหนองกลับ  อำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์)
    ขอขอบพระคุณท่านพระครูนิมิตศีลาภรณ์(สม  ฐิตสีโล-ฉ่ำน้อย)เจ้าอาวาสวัดเทพสุทธาวาส เจ้าคณะตำบลห้วยร่วมเขต ๒
    ภาพชุดนี้อาตมาภาพถ่ายจากหนังสือสวดมนต์ วัดเทพสุทธาวาส วันนี้(๒๙  ธันวาคม  ๒๕๕๓)
    ขอมอบภาพอันทรงคุณค่านี้ แทนการอวยพรปีใหม่(๒๕๕๔)แก่อาจารย์วิรัตน์ ชาวหนองบัว และผู้อ่านทุกท่าน
    บันทึกโดย : พระมหาแล  อาสโย(ขำสุข) 
    หมายเหตุ ขอบคุณท่านอธิการโชคชัย ที่ให้ใช้ระหัสล็อกอินไฟล์ภาพ 

     

    เป้าหมายต้องทำให้เสร็จภายใน ๑
    แก้เป็นเป้าหมายต้องทำให้เสร็จภายใน ๑ วัน

    • ร่วมสวัสดีปีใหม่และขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ในนามเวทีคนหนองบัวด้วยคนครับ
    • หน้าตาบล๊อกของ GotoKnow ทำเอาแปลกตาไปเหมือนกันครับ
    • ไม่มีเครื่องมือบรรณาธิกรของเจ้าของบล๊อกให้เหมือนเดิมอีกด้วย 

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลและท่านพระอธิการโชคชัยที่เคารพยิ่งครับ
    เก็บเนื้อเก็บตัวหายไปนานเลยนะครับ ท่านอื่นๆด้วยเนี่ย คุณสมบัติ คุณฉิก คุณครูสุวัฒน์ ฉิมโห้ ฯ ตอนนี้คงจะภารกิจนุงนังเลยนะครับ

    ผมเองก็เอาเรื่องเหมือนกันครับ แถมตอนนี้ก็มาเป็นไข้หวัดอีก ต้องซมมัวซัวอยู่หลายวันแล้วละครับ ช่วงปีใหม่นี้ผมจะได้กลับบ้านหนองบัว กะว่าจะมีโอกาสได้ไปหารือกับพรรคพวกและคนในพื้นที่เท่าที่จะพบปะและเตรียมการทำเรื่องต่างๆด้วยกันได้นะครับ

    เรื่องเกี่ยวกับการก่อสร้างวัดเทพสุทธาวาสนี่ หากถ่ายรูปเจาะทีละรูปแล้วนำมารวบรวมออนไลน์ไว้ก็จะยิ่งสวยนะครับ เด็กๆและชาวบ้านจะได้มีโอกาสเรียนรู้ให้แพร่หลายยิ่งๆขึ้นครับ

     ประวัติบ้านเนินตาโพ : บ้านไร่โพทอง

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์
    อาตมาไปหนองบัวมา ได้ข้อมูลชุมชนสองสามเรื่องมาฝากเวทีคนหนองบัว เนื่องด้วยเป็นคนไม่มีบล๊อก ไม่มีบ้าน เลยต้องหยิบยืมของคนอื่นใช้ไปพลางๆก่อน คงขออนุญาตใช้รหัสสมาชิกของท่านอธิการโชคชัย ใช้ไปสักพักเพราะมีรูปจากพื้นที่หนองบัวที่จะนำมาลงอีก

     
    ผู้ให้ข้อมูลประวัติชุมชนบ้านเนินตาโพ : บ้านไร่โพทอง หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
    รูปซ้าย: ยายหริ อินทชิต(พินแหลม) อายุ ๘๕ ปี, รูปขวา: ยายกุหลาบ จิตรชนะ(พินแหลม)อายุ ๘๓ ปี ทั้งสองท่านอยู่บ้านเนินตาโพ หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ถ่ายถาพ: วันที่ ๒๘ ธันวาคม  ๒๕๕๓

    คุณยายทั้งสองได้เล่าถึงความเป็นมาของบ้านตาโพให้ฟังว่า พ่อแม่ของคุณยายทั้งสองคือ(พ่อเฒ่าไล้- แม่เฒ่าก้อน พินแหลม(ดำชม) ดั้งเดิม อยู่บ้านใหญ่ หมู่ที่ ๒ ตำบลหนองกลับ ขณะนั้นเมื่อ ๗๐ กว่าปีที่แล้วชุมชนบ้านใหญ่มีสภาพความหนาแน่น แออัดของบ้านเรือนอย่างมาก จนคนที่มีลูกมากไม่สามารถจะหาพื้นที่ขยายบ้านเรือนให้ลูกหลานได้ มีความจำเป็นต้องย้ายออกไปหาที่ปลูกบ้านที่ใหม่

    พ่อเฒ่าไล้ -แม่เฒ่าก้อนได้ย้ายจากบ้านใหญ่ มาจับจองที่สร้างบ้านใหม่ที่ป่ารกร้างว่างเปล่าข้างสระหนองกลับ คือเนินตาโพ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑-๘๒ วิธีจำอย่างง่ายๆของคนเก่าๆในชุมชนก็คือใช้วิธีจำอายุลูกชายคนเล็กของพ่อเฒ่าไล้-แม่เฒ่าก้อน ซึ่งก็คือน้องชายของคุณยายทั้งสองนั่นเอง พ่อเฒ่าไล้ แม่เฒ่าก้อนมีลูก ๘ คน ลูก ๗ คนเกิดที่บ้านใหญ่ มี ๑ คน ที่เกิดที่บ้านเนินตาโพเป็นคนสุดท้องคือนายเชิด พินแหลม เกิดปี พ.ศ. ๒๔๘๓ 

    ในตอนนั้นเนินตาโพมีสภาพเป็นป่าละเมาะ มีป่าไม้คันทาจำนวนมาก ต้นมะรื่นขนาดใหญ่หลายต้น ช่วงย้ายออกมาจากบ้านใหญ่ มีหลายครอบครัวที่ย้ายมาอยู่พร้อม ๆ กันเช่น เฒ่าเหลี่ยม –เฒ่าเต็มพ่อแม่ยายเผียร(เฒ่าเหลี่ยมเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพ่อเฒ่าไล้ พินแหลม) เฒ่าแคล้ว –เฒ่านวล(พ่อ-แม่ ยายบะ ต่อมายายบะย้ายไปอยู่บ้านเขานางต่วม  ตำบลวังบ่อ  เฒ่าดี–เฒ่าสั้น(พ่อ-แม่ ยายโต/พัน ต่อมายายโต ย้ายไปอยู่เขานางต่วมเช่นกัน)

    ส่วนผู้ที่ย้ายมาทีหลังพ่อเฒ่าไล้-แม่เฒ่าก้อน คือพ่อเฒ่ารถ-แม่เฒ่าเย็น พินแหลม(พี่ชาย-พี่สะใภ้ เฒ่าไล้ พินแหลม) เฒ่าอิน เหว่าโต

    ที่มาของคำว่าเนินตาโพ (ผู้บันทึก)ถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ ก็ไม่มีข้อมูลเรื่องชื่อบ้านในคำบอกเล่า ความทรงจำของคนในชุมชน เลยสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากชื่อของบุคคลที่มาจับจองสร้างบ้านเรือนอยู่ก่อน เหตุที่ให้สันนิษฐานอย่างนี้ ก็เพราะมีหมู่บ้านที่ใกล้เคียงกันสองหมู่บ้านที่ชื่อหมู่บ้านเป็นชื่อบุคคล คือบ้านโนนนายายแรม(บ้านจันทร์แรม) บ้านเนินยายปู(ติดกับปั้มสามทหารใกล้สี่แยกตลาดหนองบัวปัจจุบัน)ทั้งสามชื่อของชุมชน ก็ยังหาข้อมูลไม่ได้

    บ้านเนินตาโพทิศเหนือติดกับสระน้ำหนองกลับ สระน้ำธารณะขนาดใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ ๓๐ ไร่ สระน้ำสระนี้มีความเก่าแก่คู่กันมากับสระหนองบัว(เกาะลอย)เป็นสระน้ำที่มีประชากรหลายหมู่บ้านของตำบลหนองกลับใช้สอยร่วมกันมาแต่โบราณกาล ทิศตะวันออกติดกับหมู่บ้าน บ้านเนินไร่เทศบาลหนองบัว ทิศใต้ติดกับถนนสายหนองบัว-ชุมแสงและตลาดเทศบาลหนองบัว ทิศตะวันตกติดกับทุ่งนาและห่างออกไปไม่ถึง ๑ กิโลเมตร คือหมู่บ้าน บ้านโนนนายายแรม

    ต่อมา จึงได้รวมหมู่บ้านสองหมู่บ้านคือบ้านเนินไร่และบ้านเนินตาโพเข้าด้วยกันโดยนำชื่อคำแรกของสองหมู่บ้านมาตั้งเป็นชื่อใหม่ในชื่อว่าบ้านไร่โพทองดังปัจจุบัน
    หมู่บ้านเนินตาโพ ตั้งแต่มีการตั้งบ้านเรือนเกิดขึ้นครั้งแรก จนถึงปัจจุบัน(๒๕๕๓)จึงมีอายุได้ประมาณ ๗๐- ๘๐ ปี
    ขอบคุณผู้ให้ข้อมูล: โยมป้าหริ อินทชิต(พินแหลม),โยมป้ากุหลาบ  จิตรชนะ(พิแหลม),ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ ตำบลหนองกลับ(ข้อมูลสระหนองกลับ)
    เอื้อเฟื้อคอมพิวเตอร์สำหรับพิมพ์บันทึกข้อมูลโดย : คุณครูอาภรณ์  อินทศร
    สัมภาษณ์บันทึกข้อมูลชุมชนโดย : พระมหาแล อาสโย(ขำสุข) ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๓

    มีดคนหนองบัว : อีกสิ่งหนึ่งของความเป็นหนองบัว

     
    มีดช่างว่อน  ขำสุข(มีอักษรย่อ ว.ที่ตัวมีด)

     
    รูปซ้าย : มีดช่างจำเนียร สิริบุตร บ้านเนินตาโพ หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ฝักและด้าม : ไม้ประดู่ลาย รูปขวา : มีดช่างวิมล  สุขสุ่ม บ้านเนินสาน หมู่ที่ ๑๓ ต. หนองกลับ  อำเภอหนองบัว
    อายุ ๖๙ ปี (ทำมีดมานาน ๗ ปี)ฝักและด้าม : ไม้ชิงชัน,ไม้พยุง(สีดำ)

     
    รูปซ้าย : มีดช่างวิมล  สุขสุ่ม  รูปขวา : มีดช่างวิมล  สุขสุ่ม ฝักและด้าม :ไม้มะเกลือ

     
    รูปซ้าย : มีดช่างวิมล  สุขสุ่ม(ช่างวิมล ทำฝักมีด,ด้ามและแหม) รูปขวา : มีดช่างจำเนียร  สิริบุตร

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์
    วันนี้ มีงานฝีมือแฮนเมดชิ้นหนึ่งจากชาวบ้านหนองบัวมาฝาก

    อาทิตย์ที่แล้ว อาตมาเดินทางไปหนองบัวร่วมงานศพญาติของอาตมาที่เสียชีวิตคือโยมป้าเทียว ขำสุข หลังจากทำบุญอุทิศให้ป้าแล้ว ก็ไปพักค้างที่บ้านโยมเพราะว่าน้องๆมีความประสงค์จะทำภัตตาหารถวายได้สะดวกๆ ก็เลยถือโอกาสฉลองศรัทธาหมู่ญาติไปในตัวอีกโสตหนึ่ง

    นานๆได้กลับบ้านที่หนองบัว ได้พบปะญาติๆ ก็สนทนาพูดคุยกันหลายเรื่องมีเรื่องหนึ่งที่สนใจอยู่พอดีคือเรื่องมีดเหน็บ เรื่องเครื่องจักสาน คุยไปคุยมาก็มีญาติผู้พี่ท่านหนึ่งอาสาไปนำมีดจากบ้านช่างทำมีด มาให้ดูถึงที่บ้าน ก็เลยได้ถ่ายรูปมีดมาให้ดูชมกันอย่างเดียว เพราะอาตมาไม่ได้ไปที่บ้านช่าง ถ้าไปคงได้สัมภาษณ์พูดคุยมีข้อมูลเยอะกว่านี้แน่ แต่ก็ไม่เป็นไร แค่ได้ดูรูปอย่างเดียว ก็น่าจะคุ้มเกินคุ้ม

    ขอบอกก่อนว่ามีดที่เห็นนี้ ไม่ใช่มีดหมอ หรือมีดพระอาจารย์หลวงพ่อที่ไหนนะ เป็นมีดของชาวนา ชาวไร่ ชาวบ้านหนองบัว มีดใช้งานทั่วๆไปนี่แหละ  บางท่านเห็นแล้ว บอกว่าไม่กล้าใช้ เพราะสวยงามเกินไป

    และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆปัจจุบันมีดหนองบัว มีคนต่างถิ่นนิยมมาซื้อกันมาก ส่วนใหญ่ที่ซื้อไป ไม่ใช่ชาวนาหรอก เป็นคนในเมือง ซื้อไปเก็บไว้ดู สะสมเป็นเครื่องประดับ โชว์ตามบ้านก็เยอะ แต่คนหนองบัวทำใช้งาน ไม่ได้ทำไว้โชว์

    สำหรับช่างว่อน ขำสุข บ้านเนินตาโพ หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองกลับ ช่างตีมีด มำมีด ทำเคียว ทำฝักมีด ถักแหมใส่ฝักพร้อม โยมลุงว่อนเป็นผู้ที่มีบทบาทต่อชุมชนเกษตรกรรมอาชีพชาวนา ชาวไร่มาอย่างยาวนาน ด้วยการสร้างสรรค์ผลงาน คือการทำเครื่องมือทางการเกษตร ทำมีด ทำเคียวเกี่ยวข้าวมานานหลายสิบหลายปี ตั้งแต่ในยุคที่หนองบัวยังไม่มีรถเกี่ยวข้าว  ชาวหนองบัวมักพูดกันว่ามีดช่างว่อนนี่ เป็นมีดที่ตีได้บาง น้ำหนักเบา ใช้ดีทนทาน ขอใช้สำนวนชาวหนองบัวที่กล่าวถึงมีดช่างว่อนอย่างติดปากว่ามีดตาว่อนนั้น ฟันไปเฮอะ ไม่มีบิด เบี้ยว บู้บี้ ยุบ อ่อนตัวง่าย ๆ

    ส่วนช่างทำมีดอีกสองท่าน(ช่างวิมล,ช่างจำเนียร)ไม่ใช่ช่างตีมีดเหมือนกับช่างว่อน แต่เป็นช่างทำฝักมีด ถักแหมมีด และการเข้าด้ามมีด มีดด้ามหนึ่งที่เห็นในภาพนั้น ต้องอาศัยฝีมือช่างถึงสองช่างด้วยกัน(ช่างตีมีด, ช่างทำมีด)

    ในอดีตที่ผ่านมา สมัยที่หนองบัวยังนิยมมีคู่ดองกันอยู่นั้น นอกจากไถอาสาที่ฝ่ายชายนำไปไถนาช่วยคู่ดองทำนาแล้ว ก็มีมีดนี่แหละที่เป็นสิ่งคู่กัน สอองสิ่ง(ไถอาสา,มีดเหน็บ)นี้จะเป็นตัวบ่งบอกความรู้เชิงช่างของฝ่ายชาย ว่าที่ลูกเขยที่มาช่วยทำนาว่ามีฝีมือมากน้อยเพียงใด ถ้าสองสิ่งนี้ทำได้สวยงามก็จะเป็นที่ภาคภูมิใจทั้งคนทำและฝ่ายหญิง(คู่ดอง)รวมทั้งว่าที่พ่อตาแม่ยายด้วย เรียกว่าเข้าตากรรมการว่างั้นเถอะ(ว่าที่พ่อตาแม่ยาย)

    นอกจากความสามัคคีของคนหนองบัวแล้ว ความสามารถทางช่างของชาวบ้านนี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งของความเป็นหนองบัวขนานแท้ และนี่ก็เป็นที่มาของคำชื่นชมของหลวงพ่อเดิมที่มีต่อคนหนองบัว ในคราวที่หลวงพ่ออ๋อยนิมนต์ท่านมาจำพรรษาเป็นประธานสร้างศาลาและเสนาสนะที่วัดใหญ่ : วัดหนองกลับ ท่านได้เห็นคนหนองบัวมีความสามัคคีกันดีและมีความสามารถทางช่างหลายอย่าง จนท่านกล่าวคำชื่นชม คำชมนี้สร้างกำลังใจเป็นดั่งพรของหลวงพ่อ อันก่อให้เกิดความภูมิใจแก่คนหนองบัวตลอดมา

     

     

    เจริญพรอาจารย์ณัฐพัชร์

    ขอบคุณอาจารย์ที่นำกระต่ายทองมามอบให้แด่เวทีคนหนองบัวต้อนรับศักราชใหม่(๒๕๕๔)

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลและพระอธิการโชคชัย
    และสวัสดี พี่วิรัตน์ อาจารย์ณัฐพัชร์ คุณสมบัติ และทุกๆท่าน

    ขอโทษด้วยที่หายหน้าหายตาไปซะนานเลย จนอาจจะมีบางคนคิดว่าจมหายไปกับน้ำท่วมแล้ว พอดีช่วงที่ผ่านมาคอมพิวเตอร์มีปัญหา ก็เลยต้องลงโปรแกรมใหม่หมด และหาโปรแกรมใหม่ๆมาลง แล้วก็ลองโน่นลองนี่จนเพลินไปเลย
    ปีหน้า (2554) จะเข้ามาเขียนอะไรๆในหนองบัวให้ถี่ขึ้นกว่าเดิม

    ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์กับส.ค.ส.ที่ส่งให้ชาวหนองบัว ขอให้อาจารย์มีความสุขตลอดปีใหม่และตลอดไปเช่นกันครับ

    หายไปนาน กลับมาเขียนใหม่นี่ก็เคอะเขินเหมือนกัน เนินตาโพ แรกๆที่พระคุณเจ้าบอกว่าเป็นคนเนินตาโพนี่ ผมก็ยังสงสัยอยู่ว่าเนินตาโพนี่อยู่ตรงไหน จนได้มีโอกาสถามเพื่อนที่อยู่หนองกลับจึงได้รู้ว่าอยู่แถวสระน้ำบ้านเจ๊กแหบนั่นเอง
    รูปถ่ายการสร้างวัดเทพฯนั้น ผมเห็นอยู่บนศาลาวัดเยอะเหมือนกัน ว่าจะไปถ่ายเอามาลงไว้ในนี้เหมือนกัน

    สั้นๆแค่นี้ก่อนครับ พรุ่งนี้จะไปเที่ยวเกาะกูด จ.ตราดกับครอบครัว ขอให้ทุกท่านมีความสุข สมหวังทุกประการตลอดปีใหม่และตลอดไป
    วันที่ 11 ม.ค.มีธุระไปหนองบัวครับ

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    ข่าวสมาชิกกลุ่มพริกเกลือบวชที่วัดหนองกลับ

    เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ อาตมาเดินทางจากพิษณุโลก ไปงานฌาปนกิจศพคุณป้าเทียว ขำสุข ที่วัดใหญ่:วัดหนองกลับ อำเภอหนองบัว
    ตอนใกล้จะกลับไปบ้านโยม มีชายหนุ่มคนหนึ่งมาทักทายแนะนำตัวเองว่า ตนเองทำงานอยู่ที่จ.ระยอง และเป็นสมาชิกกลุ่มพริกเกลือด้วย ก็ถามว่าทำไมจึงรู้จักอาตมา บอกว่าถามพ่อแล้วว่าเป็นอาตมาแน่ไม่ผิดตัว เลยก็เข้ามาพูดคุยด้วย อาตมาไม่รู้จักมาก่อน พอเขาบอกชื่อพ่อแม่ ก็เลยรู้จัก(รู้จักกันทางโลกไซเบอร์ เข้ามาเขียนที่บล๊อกคุณเสวกหลายครั้ง นี่ก็เป็นอานิสงส์ของโลกอินเตอร์อย่างหนึ่งเหมือนกัน) 

    เล่าให้อาตมาฟังว่าเรียนจบทำงานมาหลายปีแล้ว นี่ถ้าไม่ได้เรียนหนังสือ ก็คงเลยเกณฑ์บวชพอสมควรแล้วแหละ

    ก็เลยขออนุญาตแจ้งข่าวให้กลุ่มพริกเกลือและเพื่อนๆทราบ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งว่าคุณณรงค์ อินทชิต บ้านไร่โพทอง หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองกลับจะอุปสมบทที่วัดหนองกลับ วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๔

    หลวงอาขออนุโมทนาบุญแห่งการบรรพชาของคุณณรงค์ อินทชิต ในครั้งนี้ด้วย

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    เจริญพรคุณธนกฤต(อำนาจ) รอดแสวง

    ยินดีต้อนรับคุณอำนาจคนบ้านเดียวกัน ในวาระขึ้นพ.ศ.ใหม่ ๒๕๕๔ นี้  รู้สึกดีใจมากๆที่คนหมู่ ๑ บ้านไร่โพธิ์ทอง ต.หนองกลับ ได้เข้ามาพูดคุยเป็นคนแรกในปี ๒๕๕๔ และนับเป็นคนกแรกของคนบ้านเนินตาโพอีกด้วยที่เข้ามาเวทีคนหนองบัวแห่งนี้

    ด้วยว่าเราเป็นคนบ้านเดียวกัน บุคคลที่คุณธนกฤตแนะนำมาทั้งหมดนั้น หลวงพี่ก็รู้จักทุกท่านเลย คนบ้านเราต้องแนะนำตำกันด้วยวิธีนี้แหละ ดูเป็นกันเองแบบบ้านน้อก บ้านนอกดีจริงๆ ให้ความรู้สึกทางความเป็นญาติกันดี ดูไม่เป็นคนอื่น ดูจริงใจ เปิดเผย การแนะนำตัวแบบนี้ถึงเป็นคนอื่นไกล แต่ก็เหมือนเป็นเครือญาติกันอย่างไรอย่างนั้นเชียว อย่างคนเฒ่าคนแก่นั้น ท่านมักจะลำดับญาติ นับญาติให้เราฟัง นับไปนับมา ไล่เรียงไปมา ก็บอกเราว่าคนนั้นคนนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่นด้อก...เป็นญาติกันแหน่... 

    ก็ขอเชิญคุณธนกฤตเข้ามาพูดคุยร่วมคิดร่วมเขียนที่นี่ได้ตามสะดวก ตลอดเวลา

     

           

                   เจริญพรอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

            

             
            วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๔ ช่วงสายๆอาตมาได้ไปเยี่ยมและสัมภาษณ์ป้าหนิม:หมอหนิมของคนหนองบัว(ถนิม อ่วมวงษ์)อายุ ๘๓ ปีที่บ้านของท่านหลังว่าที่การอำเภอหนองบัว คุณป้าเป็นพยาบาลผดุงครรภ์ วชิระพยาบาล พ.ศ.๒๔๙๑ บ้านของท่านนี้ได้ทำเป็นคลีนิครักษาโรคให้แก่ชาวหนองบัวด้วย(สุทธินีคลีนิคการพยาบาลและผดุงครรภ์) ในขณะพูดคุยสนทนากับคุณป้านั้นก็มีผู้ปกครองพาบุตรหลานมาทำการรักษาหลายราย

    ก่อนที่จะนำบันทึกข้อเขียนของท่านมาเผยแพร่ในที่นี้ อาตมาขออนุญาตผู้อ่านนำข้อสนทนากับคุณป้าเมื่อวานนี้มาถ่ายทอดให้อ่านกันก่อน ส่วนบันทึกของท่านจะได้นำมาลงให้อ่านกันอย่างครบถ้วนในวันต่อไป

    ท่านเริ่มเล่าให้อาตมาฟังว่าลูกหลานของท่านและชาวบ้านมาบอกท่านให้ทราบว่ามีคนเขียนบันทึกข้อมูลเรื่องราวของอำเภอหนองบัวไว้ในอินเตอร์เน็ตและก็มีเรื่องของป้าหนิมอยู่ด้วย ลูกหลานบอกด้วยว่าใครเป็นผู้เขียน แต่ไม่รู้เพราะอะไร คุณป้าจำชื่อพระมหาแลได้คนเดียว พอคุณป้าเห็นอาตมา ก็กล่าวคำนมัสการและถามว่าพระมหาแลใช่ไหม

    จริงๆแล้วคุณป้าไม่รู้จักอาตมาเป็นการส่วนตัว แต่อาตมานั้นรู้จักท่านมาตั้งแต่เป็นเด็ก เหตุที่ท่านจำชื่ออาตมาได้ ก็เพราะลูกหลานเข้ามาอ่านที่เวทีคนหนองบัว และเคยบอกให้คุณป้าเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ แต่คุณป้าบอกว่าเราก็แก่ป่านนี้แล้ว ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนอย่างไร ยังไม่เคยเข้าไปอ่านเลย

    เมื่อมีผู้แนะนำท่านก็พยายามหาข้อมูลและกำลังหาบันทึกชุมชหนองบัวมาอ่านอยู่ด้วย เลยถามไถ่ชาวบ้านบ้าง พระสงฆ์ที่มารับบิณฑบาตที่บ้านท่านบ้างว่ารู้จักพระมหาแลไหม ก่อนที่อาตมาจะมาพบท่านหนึ่งวัน ท่านบอกว่าเมื่อคืนยังพูดถึงพระมหาแลอยู่เลย ตกตอนเช้าท่านก็มาบ้านโยมป้าพอดี วันนี้เตรียมเอกสารเรื่องที่อาจารย์วิรัตน์เขียนไว้หลายเรื่องไปด้วย ก็เลยมอบให้คุณป้าไว้

    คุณป้าเป็นผู้สูงวัยแล้ว แต่คุณป้ายังดูกระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว สุขภาพร่างกายแข็งแรง ความจำยังดีมากๆ แม้แต่ทำคลอดให้คนอำเภอหนองบัวคนแรกยังจำได้เลย พื้นเพคุณป้าเป็นคนอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ บุคลิกคุณป้าดูทะมัดทะแมง มีความเป็นผู้นำสูง พูดจาฉะฉาน เรียกว่ามีบุคลิกสองสไตล์ในคนเดียวกันคือได้ทั้งสไตล์ลูกุทุ่ง และสไตล์วิชาการ

    ท่านได้บันทึกชีวิตการงานตั้งแต่เรียนหนังสือที่บ้านเกิดอำเภอท่าตะโก ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯและมาอยู่หนองบัวค่อนข้างละเอียด ทำไว้ที่นำมาให้ดูมี ๒ เล่ม ท่านบอกว่าเคยมีอดีตนายอำเภอหนองบัวมาขอแต่ไม่ได้ให้ไป วันนี้ท่านถวายอาตมาหนึ่งเล่มก็เหลือเพียงเล่มเดียว อีกเรื่องเป็นประวัติโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัว เรื่องราวคุณหมออรุณ(Ursuls Loewenthal) หมอสอนศาสนาผู้มีเชื้อสายยิวที่มาประจำอยู่โรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัวถึง ๒๐ ปี (ขออนุญาตใช้รหัสท่านอธิการโชคชัยส่งไฟล์ภาพเช่นเดิม)

            

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    คุณหมออรุณ(Ursuls Loewenthal) แก้เป็น Ursula Loewenthal

    สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๔ ปีกระต่ายทอง ชาวเวทีคนหนองบัว ทุกๆท่าน .... 

    ด้วยความปรารถนาดีจาก: เครือข่ายเยาวชนอาสาช่วยรณรงค์ลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๔ โดยพระอธิการโชคชัย ชยวุฑโฒ 

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล ,ท่านพระอธิการโชคชัย ,สวัสดีท่าน อ.วิรัตน์ และทุกๆท่านครับ

    พูดถึงหมอถนิม แล้วได้นึกถึงตอนเด็ก แม่เล่าให้ฟังว่าหมอถนิมเป็นคนทำคลอดผมตอนเกิด ชีวิตผมจะวนเวียนกับหมอถนิม

    มาโดยตลอด แม่บอกว่าตอนเด็กผมจะชื่อปรางค์ ใช้ชื่อนี้มาประมาณ 1-2 ขวบเห็นจะได้ แม่บอกว่าผมจะร้องให้งอแงมากเลี้ยงก็

    ยาก หมอถนิม จึงบอกว่างั้นลองเปลี่ยนชื่อดูมั้ยเผื่อจะหาย หมอจึงตั้งชื่อให้ใหม่เป็น อำนาจ เนื่องจากพ่อชื่ออำนวย จะได้สอด

    คล้องกัน เป็นสิ่งที่เหลือเชื่อมากหลังจากเปลี่ยนชื่อแล้วก็ไม่ร้องให้งอแง อีกเลย แม่บอกว่าเลี้ยงลูก 3 คน เวลาไม่สบายก็จะไปหา

    หมอถนิมนี่แหละครับ ผมจะเป็นโรคประจำตัวอย่างคือโรคผิวหนัง ตอนเด็กมักจะมีเม็ดขึ้นและมีอาการคัน พอไปหา ท่านจะให้ยา

    เป็นตลับอย่างเดียว ทา 2-3 วันก็จะหาย แต่ถ้าคันมากจะให้ยาเป็นเม็ดมากินด้วย แม้กระทั่งทุกวันนี้อายุ 40 ปีแล้ว ก็ยังมียาทาของ

    ท่าน ติดตู้เย็นไว้เลยครับ เพราะมีอยู่ครั้งตอนอายุซัก 30 กว่าๆ มีอาการคัน แปลกมากไปหาหมอที่อื่นก็ให้ยามาทาเหมือนกันแต่

    ความรู้ซึกว่าทำไมหายช้าจัง จึงคิดเลยว่ากลับไปหนองบัวทีหลังต้องซื้อมาตุนไว้แล้วจะได้ไม่ต้องไปวิ่งหา(แต่เดี่ยวนี้ไม่ค่อยเป็น

    แล้ว แต่ลูกชายจะมีบ้าง) จากที่ผมเห็นมา หมอถนิม ท่านเป็นคนมีคุณธรรม, มีจรรยาบรรณในวิชาชีพดีมากๆ, ขายยาก็ไม่แพง ตัว

    ยาก็ดี ,เป็นกันเองกับทุก ๆ คน และในด้านการดำเนินชีวิต ท่านจะใช้ชีวิตแบบพอเพียง ไม่คิดว่างานที่ทำอยู่มันเป็นธุรกิจแต่อย่าง

    ใด ด้วยจิตใจที่ดีงามของท่าน จึงทำให้มีคนศรัทธาท่านมาก บางครอบครัวรักษาตั้งแต่ชั้นแม่ ชั้นลูก มาจนถึงชั้นหลาน ชั้นเหลน

    เลย เนื่องจากเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้ทำประโยชน์ให้กับสังคมและกับคนหนองบัว จึงขอให้บุญกุศลที่ท่านทำไว้นั้น ส่งผลให้

    ท่านมีสุขภาพแข็งแรง และอยู่คู่กับคนหนองบัวไปนานๆ นะครับ

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    เรียนท่านอธิการโชคชัย

    ขอบพระคุณมากนะครับท่านอธิการโชคชัย เครือข่ายเยาวชนอาสาช่วยรณรงค์ลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๕๔ ในปีผ่านๆมาผมเห็นพระคุณเจ้าพาเยาวชนร่วมกันรณรงค์ในช่วงเทศกาลสำคัญๆแล้วก็นึกชื่นชมความมีน้ำใจเสียสละของพระคุณเจ้า กลุ่มเด็กๆที่มีจิตอาสาเหล่านั้น คงมีประสบการณ์ดีๆมากมาย ที่ได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ความดีงามเพื่อให้ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะเกิดการตระหนักถึงความปลอดภัยในท้องถนน เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดอุบัติเหตุ ความสูญเสียลง แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆก็นับว่าได้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์อันประเมินค่ามิได้

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    เจริญพรคุณธนกฤต รอดแสวง

    อาตมาอ่านข้อเขียนเรื่องที่แม่คุณธนกฤตเล่าความทรงจำของท่านถึงเหตุการณ์เมื่อบุตรชายตอนเป็นวัยเด็กที่มีความเกี่ยวข้องกับป้าหมอถนิมแล้ว เหมือนได้ฟังคนหนองบัวหลายรุ่นเล่าให้ฟังเลย

    นี่ถ้าเป็นไปได้อาตมาอยากจะเชิญชวนพวกเราคนหนองบัว เข้ามาร่วมกันเขียนบันทึกความทรงจำ คนละเล็กคนละน้อย เขียนให้ป้าหมอถนิม ตอนนี้ท่านกำลังอ่านบันทึกชุมชนหนองบัวอยู่ เป็นการทำปฏิการะ ระลึกถึงคุณ ตอบแทนน้ำใจต่อท่านที่มีคุณูปการต่อสุขภาพคนหนองบัวมาอย่างยาวนานร่วม ๗๐ ปี อีกทั้งจะเครื่องชื่นชูใจแก่คุณป้าด้วย เพราะว่าหมอถนิมนั้นมีบทบาทด้านสาธารณสุขต่อชุมชนหนองบัว ตั้งแต่หนองบัวยังเป็นกิ่งอำเภอเลยทีเดียว

    ขอบคุณคุณธนกฤตที่ริเริ่มแนวคิดดีๆนี้ด้วย

    และอาตมาจะขออาสาดึงเอาบทความชุดนี้ไปมอบให้ท่าน

     

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    อีกทั้งจะเครื่องชื่นชูใจ แก้เป็นอีกทั้งจะเป็นเครื่องชื่นชูใจ

    บันทึกนี้คนเม้นท์จะเหยียบหลักพันแล้วครับ ;)...

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    เจริญพรอาจารย์Wasawat Deemarn

    ขอบคุณอาจารย์ที่มาเยี่ยมให้กำลังใจเวทีคนหนองบัว

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย (ขำสุข) และพระคุณเจ้า พระอธิการโชคชัย
    ขอสวัสดีทุกท่านครับ คุณฉิก-ศักดิ์ศรี พิทักษ์ อำนวย คุณสมบัติ ฆ้อนทอง คุณเสวก ใยอินทร์ คุณครูสุวัฒน์ ฉิมโห้ โรงเรียนอนุบาลหนองบัว (เทพวิทยาคม) คุณครูนุกูล วิมูลศักดิ์ โรงเรียนวัดเทพสุทธาวาส คุณครูพนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ รวมทั้งสมาชิกกลุ่มพริกเกลือ หนองบัว และท่านอื่นๆที่เป็นสมาชิกเวทีคนหนองบัวครับ

    ช่วงเทศกาลปีใหม่นี่ เวทีคนหนองบัวของเราคึกคักน่าดูเลยนะครับ เห็นแล้วก็ต้องตื่นเต้นอย่างที่ท่านอาจารย์ Wasawat Deemarn แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ท่านตั้งข้อสังเกตว่ามีคนเข้ามาให้ความเห็นและสนทนากันตั้งเกือบ ๑ พันความคิดเห็นแล้ว จำได้ว่าเมื่อตอนคุยกันแรกๆนั้น คุณฉิกกับคุณสมบัติเสนอให้ใช้บันทึกหัวข้อนี้เป็นหน้าแรกและเป็นหน้ารวมของเวทีคนหนองบัว มีใครผ่านไปมาในเวทีคนหนองบัว ก็จะได้แวะมาทิ้งข่าวสารบอกกล่าวและทักทายรวมๆกันไว้ที่นี่ มาจนถึงวันนี้ของปีใหม่ ๒๕๕๔ ก็คงเป็นไปตามเจตนารมย์เลยนะครับ คือ คนเข้ามาดูจะเกือบ ๒ หมื่นครั้งแล้ว และมีความเห็นเกือบ ๑ พันความเห็น แต่ได้รับใช้คนที่เข้ามาอ่านและเปิดดูข้อมูลต่างๆ จำเพาะที่นับยอดเพียงครึ่งระยะเวลาที่ช่วยกันทำ ก็ตั้งเกือบ ๕ หมื่นหน้า และมีผู้อ่านจากต่างประเทศ ๓๔ ประเทศจากทุกภูมิภาคของโลก ก็ถือว่าเป็นทั้งแหล่งสะสมรวบรวมข้อมูล เรื่องราว และเป็นสื่อให้กับหนองบัวอีกทางหนึ่งที่เกิดจากการช่วยกันทำคนละไม้ละมือ แต่ก็ต้องยกให้เป็นคุณูปการและความริเริ่มของท่านพระอาจารย์มหาแลนะครับ ที่ทำให้เวทีคนหนองบัวมีพัฒนาการอย่างที่เห็นในวันนี้ มองอย่างไม่ได้เข้าข้างคนหนองบัวกันเองแล้วละก็ ถือว่าใช้ได้มากทีเดียวครับ

    ที่น่าตื่นเต้นมากเข้าไปอีกก็เห็นจะเป็น ๔-๕ เรื่อง คือ

    • เรื่องราวช่างว่อน ช่างตีมีดและคนทำเครื่องมือเกษตรในยุคอดีต ของอำเภอหนองบัว
    • เนินตาโพกับพื้นฐานความเป็นชุมชนหนองบัว ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่
    • หมอหนิมและหมออรุณ ประวัติศาสตร์พัฒนาการสุขภาพชุมชนที่ยังมีลมหายใจ ของอำเภอหนองบัว
    • การเรียนรู้ทางสังคมและวิธีสะสมข้อมูลผ่านการเยี่ยมเยือนตามวิถีชาวบ้าน ของท่านพระอาจารย์มหาแลและคุณธนกฤต
    • การเข้ามาเป็นคนช่วยกันเขียนของคุณธนกฤต รอดแสวง คนบ้านเนินตาโพ หนองบัว

    ผมจะนำเอาข้อมูลใหม่ๆเหล่านี้ไปรวมกับข้อมูลที่มีอยู่แต่เดิมและทำบันทึกเป็นหัวข้อเฉพาะให้อีกต่อไปนะครับ ข้อมูลที่ได้เพิ่มขึ้นจากป้าหมอหนิมที่ท่านพระมหาแลได้รับมอบจากท่านมา ๑ เล่มนั้น คงจะเป็นเรื่องราวที่มีประโยชน์มากในการเรียนรู้สังคมท้องถิ่นของหนองบัวเราต่อไปนะครับ ผมลองเข้าไปหาดูในอินเทอร์เน็ตด้วยอีกทางหนึ่งบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นร่องรอยของหมออรุณ หมอฝรั่งของคนหนองบัว พอจะเริ่มเห็นชื่อและนามสกุลที่เหมือนกันอยู่บ้างที่มลรัฐเท๊กซัส ซึ่งมีมิสเตอร์เออซูลา ลีเวนธัล (Ursula Loewenthal) อายุ ๗๕ ปี-๘๒ ปี และยังมีชีวิตอยู่ อยู่หลายคน แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่พอจะมีเค้าว่าเป็นคุณหมออรุณของเราเลยครับ ในปีใหม่ ๒๕๕๔ นี้ การช่วยกันค้นหาหมออรุณของเรา จึงน่าจะเป็นหัวข้อหนึ่งที่ทุกท่านที่ทราบอาจจะเก็บไว้ในใจและหากได้พบเจอข้อมูลทีละเล็กละน้อยก็นำมาปะติดปะต่อ สะสมรวบรวมกันไว้ได้เรื่อยๆนะครับ

    ส่วนเรื่องช่างและประวัติเนินตาโพกับพัฒนาการของชุมชนหนองบัวในประสบการณ์ชีวิตของชาวบ้านก็เช่นกันครับ จะนำไปทำเป็นบันทึกอีกหัวข้อหนึ่งนะครับ โดยเฉพาะเรื่องราวของป้าหมอหนิมนั้น นอกจากผมจะทำบันทึกไว้อีก ๑ เรื่องแล้ว หากมีโอกาส คุณธนกฤตและพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ก็สามารถนำไปเขียนเป็นหมายเหตุทางสังคมในเรื่องสุขภาพและการสาธารณสุขในยุคอดีตของหนองบัวไว้ต่างหากได้อีกนะครับ เป็นเรื่องที่ทำให้เห็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องของชุมชนและเป็นความรู้เกี่ยวกับชุมชนที่รู้แล้วจะยิ่งเกิดความเคารพผู้คน รักท้องถิ่น และรักสังคมส่วนรวมมากยิ่งๆขึ้นครับ

    ปีใหม่นี้ผมได้กลับไปทำบุญที่บ้านเกิดบ้านตาลิน หนองบัว ด้วยครับ ว่าจะอาศัยไปแวะหาเพื่อนๆและคนในพื้นที่เพื่อไปคุยและเตรียมทำกิจกรรมต่างๆด้วยกัน แต่ดูบรรยากาศ รวมทั้งระยะเวลาที่จอแจไม่กี่วันแล้ว ก็เห็นจะไม่ถูกกาละเทศะเป็นแน่ เลยให้เป็นเวลาได้อยู่กับผู้คนและญาติพี่น้องกันดีกว่า อากาศหนองบัวกำลังสบายดีมากๆเลยนะครับ

                             

    ในวาระขึ้นปีใหม่ ๒๕๕๔ นี้ กระผมขอน้อมอาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย อีกทั้งธรรมบารมี และกิจแห่งชีวิตทั้งหลายที่ได้ปฏิบัติชอบแล้ว จงร่วมเป็นพลวัตรปัจจัย เกื้อหนุนส่งเสริมให้พระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล พระอธิการโชคชัย ตลอดจนทุกท่าน คุณฉิก-ศักดิ์ศรี พิทักษ์ อำนวย คุณสมบัติ ฆ้อนทอง คุณเสวก ใยอินทร์ คุณครูสุวัฒน์ ฉิมโห้ โรงเรียนอนุบาลหนองบัว (เทพวิทยาคม) คุณครูนุกูล วิมูลศักดิ์ โรงเรียนวัดเทพสุทธาวาส คุณครูพนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ รวมทั้งสมาชิกกลุ่มพริกเกลือ หนองบัว อาจารย์ Wasawat Deemarn และท่านอื่นๆที่เป็นสมาชิกเวทีคนหนองบัว ได้ถึงซึ่งความเจริญงอกงามมากยิ่งๆขึ้น พรั่งพร้อมด้วยจตุรพิธพรชัย อายุ วรรณะ สุขะ พละ มีสติปัญญาอันแก่กร้า เข้าถึงธรรมที่ปราถนาและได้เจริญสติภาวนา เป็นกำลังให้ได้ประสบความสำเร็จ มีความศานติ ตื่นรู้ และเป็นที่พึ่งแห่งตนอย่างมั่นคงยั่งยืน ตลอดไปเทอญฯ


    ด้วยจิตคารวะทุกท่านครับ
    วิรัตน์ คำศรีจันทร์
    มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
    ปีใหม่ ๒๕๕๔

                                     หมออรุณ : Ursula  Loewenthal

                             

                              
                              หมายเหตุ : ภาพบนอาตมาถ่ายจากปกเอกสารที่ป้าหนิม : หมอถนิมถวายมาเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๔ ภาพล่าง : ภาพสี(ใส่เสื้อสีเหลือง)อาตมานำมาจากเฟซบุ๊ค(FB)ภาพในเฟซบุ๊คเป็นภาพเล็กมาก ขยายมากกว่านี้ก็จะเบลอไม่ชัด ที่นำมาคู่กันเพื่อเปรียบเทียบกับภาพขาวดำว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ อาตมามีความมั่นใจว่าภาพในเฟซบุ๊คเป็นภาพหมออรุณแน่ เลยถือวิสาสะนำมาลงไว้ ถ้าไม่ใช่ ก็ต้องขออภัยต่อคุณหมออรุณอย่างแรง

    ตอนนี้คุณหมออรุณท่านยังมีชีวิตอยู่ อายุ ๘๓ ปี ป้าหนิมบอกอาตมาว่าเมื่อปีที่แล้วคุณหมออรุณท่านมาเยี่ยมชาวหนองบัวด้วย เมื่อคริสต์มาส(๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๓)ที่ผ่านมาป้าหนิมบอกว่ายังโทรศัพท์คุยกับหมออรุณอยู่เลย

    หมออรุณประทับใจและระลึกถึงคหนองบัว

    หมออรุณ(URSULA  LOWENTHAL)

          ...หมายเหตุ บทความชิ้นได้มาจากวันไปเยี่ยมและสัมภาษณ์โยมป้าหนิม : หมอถนิม   อ่วมวงษ์ (กุลสวัสดิ์) วันที่ ๒ มกราคม  ๒๕๕๔  ที่บ้านของท่านหลังว่าที่การอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ที่มาของเอกสาร หมออรุณ(URSULA  LOEWENTHAL) PUBLIC HEALTH OFFICE  IN NONG BUA: HISTORY OF MY  LIFE  AND  SERVICE. TUE 19 AUG 2008 21:33:45+0100   สมหมาย  ฉัตรทอง  : แปลเรียบเรียงเรื่อง

    ชาวไทยโดยเฉพาะชาวหนองบัวรู้จักฉันในชื่อว่า หมออรุณ ฉันมีชื่อจริงว่า URSULA  LOWENTHAL เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๐  คุณพ่อและคุณแม่เป็นยิว เกิด ณ เมือง BRIEG  รัฐ SILESIA  ในสมัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมัน  ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘(๑๙๔๕) หลังสงครามโลกครั้งที่  ๒  กลายเป็นส่วหนึ่งของประเทศโปแลนด์  ครอบครัวฉันหนีสงครามล้างเผ่าพันธ์ของเผด็จการฮิตเลอร์ไปอยู่ประเทศอังกษฤ  ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑(๑๙๓๘)

    ฉันเรียนหนังสือที่ประเทศอังกฤษ  เมื่อจบไฮสคูลแล้วเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ (๑๙๔๕)  ศึกษาภาษาฝรั่งเศสในกรุงลอนดอน  ระหว่างศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยปีที่ ๑ มีความรู้สึกเรียกร้องให้ฉันเรียนหมอเพื่อจะออกไปทำงานกับมิชชั่นนารี  หลังจากนั้นฉันจึงศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ที่วิทยาลัยเทคนิค (TECHNICAL COLLEGE) และไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล  จนกระทั่งจบการศึกษาเป็นแพทย์ในเดือนมิถุนายน ๒๔๙๖ (JUNE, ๑๙๕๓) ได้ปริญญา M.B, Ch. B.

    ต่อมาในเดือนตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๙๘ (๑๙๕๕) เดินทางจากประเทศอังกฤษในฐานะสมาชิกของสมาคมมิชชั่นนารีโพ้นทะเล  ซึ่งมิชชั่นนารีคณะนี้ มาถึงครั้งแรก ณ สำนักงานใหญ่ ที่ประเทษสิงค์โปร์  หัวหน้ามิชชั่นนารีเป็นผู้ตัดสินใจว่า ฉันควรไปประเทศใดและตัดสินให้ฉันมาประเทศไทย

     ฉันเริ่มศึกษาภาษาไทยที่นั่น จากนั้นจึงเดินทางมาถึงประเทศไทยในวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๙(APRIL  ๑๕ ๑๙๕๖) อยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ ๑ เดือน และอีก ๒ เดือนที่จังหวัดอุทัยธานี ก่อนสอบเพื่อรับในประกอบโรคศิลปะที่กระทรวงสาธารณสุข  สอบได้ใบประกอบโรคศิลปะ ว. ๑๙๕๘  ลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๙(AUGUST ๑๙๕๖)

    ปี  พ.ศ. ๒๔๙๙ (ค.ศ. ๑๙๕๖) จนถึงสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๐๑  (ค.ศ. ๑๙๕๘ ) ฉันได้ย้ายไปปฏิบัติงานที่คลีนิคคริสเตียน อำเภอวิเศษชัยชาญ  จังหวัดอ่างทอง แต่ต้องไปช่วยปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลคริสเตียนมโนรมย์ และคลีนิคคริสเตียนที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรีเป็นครั้งคราวด้วย

    ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ (December ๑๙๕๘) ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ (May ๑๙๖๐) ได้ย้ายไปอยู่ภาคใต้ของประเทศลาวเพื่อไปดูแลชนกลุ่มน้อยที่นั่น  แล้วเดินทางกลับประเทศอังกฤษ  เพื่อรายงานผลต่อศาสนจักร ระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๔(May ๑๙๖๐- May  ๑๙๖๑) ในระยะนั้นคอมมิวนิสต์จากประเทศเวียตนามเริ่มรุกรานประเทศลาว ฉันใช้เวลาในกรุงเทพฯ  เพื่อขอวีซ่าไปประเทศลาว  ดังนั้น จึงใช้เวลาหลายสัปดาห์ช่วยงานแพทย์ที่โรงพยาบาลคริสเตียนมโนรมย์  ก่อนที่จะกลับไปประเทศลาว  ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ (August  ๑๙๖๑) และในเดือนมีนาคม  พ.ศ. ๒๕๐๕ (March, ๑๙๖๒) ถูกเรียกตัวกลับมาโรงพยาบาลคริสเตียนมโนรมย์  ทำหน้าที่ในคณะรักษาพยาบาลในช่วงโรงพยาบาลขาดแคลนแพทย์และตัดสินใจที่จะอยู่ในประเทศไทยตลอดไป

    ในห้วงเวลานี้คณะมิชชั่นนารีมีนโยบายที่จะเปิดคลีนิก  เพื่อขยายเป็นโรงพยาบาลที่หนองบัว จังหวัดนครสวรรค์  และได้เปิดคลีนิคอย่างเป็นทางการ  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๖(FEBURARY ๑๙๖๓) โดยเช่าห้องแถว ๕  ห้องที่สี่แยกริมถนนในตลาดหนองบัว  จนกระทั่งสร้างโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัว  บนที่ดินที่มีผู้อุทิศให้  ๗  รายแล้วเสร็จ  ตั้งอยู่ห่างจากตลาดไปทางทิศตะวันออกประมาณ  ๑,๕๐๐ เมตร  จึงได้ย้ายไปดำเนินการในสถานที่ใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๑

    ในระยะแรกหมอจอห์น  ตูป(DR. JOHN TOOP)  มีหน้าที่รับผิดชอบ และฉันเป็นผู้ร่วมงานด้วย หลังจากนั้นสองสามสัปดาห์ต่อมาคุณหมอจอห์น  ตูป  ย้ายไปอยู่โรงพยาบาลสายบุรี จังหวัดปัตตานี  ฉันจึงอยู่รับผิดชอบคนเดียว  ตั้งแต่เดือนมิถุนายน  พ.ศ  ๒๕๐๖ (JUNE ๑๙๖๒) เป็นต้นมา

    พ.ศ. ๒๕๐๘  ถึงธันวาค พ.ศ. ๒๕๐๙(DECEMBER ๑๙๖๕-DECEMBER ๑๙๖๖) ฉันกลับไปประเทศอังกฤษอีก มีคุณหมอ ๒ คน คือ คุณหมอจอห์น และคุณหมอแอนนี่ ทาวน์เซ่น(DR. JOHN AND DR. ANNE  TOWSEND) มาปฏิบัติงานแทนในห้วงเวลานั้น

    ปี พ.ศ. ๒๕๑๐  (ค.ศ.๑๙๖๗) มีการก่อสร้างอาคารสถานใหม่ของโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัว ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๑๐  คุณหมอ RACHEL  HILLIER  มาช่วยปฏิบัติงานในฐานะหมอคนที่สอง  และเปิดใช้เป็นโรงพยาบาลใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๑(FEBRUARY ๑๙๖๘) (ฉันคิดว่าพิธีเปิดน่าจะเป็นวันที่  ๑๔ กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๑๑)

    ในปี  พ.ศ. ๒๕๑๒  (ค.ศ. ๑๙๖๙) หมอฮิลเลอร์และครอบครัวเดินทางกลับอังกฤษ ในเดือนเมษายน  พ.ศ. ๒๕๑๔ (APRIL ๑๙๗๑)  ฉันก็กลับประเทศอังกฤษ  ต่อมาอีก  ๑  ปี O.M.F. ส่งหมอสองคนมาปฏิบัติงานต่อ ชื่อคุณหมอ ASHTON  และคุณหมอ GURTLER

    ฉันครบกำหนดกลับมาเมืองไทยในเดือนเมษายน  พ.ศ. ๒๕๑๕(APRIL ๑๙๗๒) ต้องการที่จะกลับมาหนองบัว  แต่  O.M.F.  ต้องการให้ฉันอยู่ที่โรงพยาบาลมโนรมย์ฉันจึงปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลมโนรมย์แล้วไปอยู่โรงพยาบาลสายบุรี  อำเภอสายบุรี  จังหวัดปัตตานี  ระหว่างกรกฏาคม  พ.ศ. ๒๕๑๕ (JULY  ๑๙๗๒) ถึงเดือนพฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๑๖  (NOWEMBER  ๑๙๗๓)

    ต่อมา  O.M.F.  ตัดสินใจให้ฉันปฏิบัติงานที่หนองบัว  และส่งคุณหมอ GRAHAM  ROBERTS  มาเป็นคุณแพทย์ ร่วมคนที่  ๒ ระหว่าง  ๙-๑๐ ปีต่อมา  ฉันเดินทางกลับไปอังกฤษอีกเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เช่น เป็นเวลา ๓  เดือน  ในกลางปี พ.ศ. ๒๕๑๙(ค.ศ. ๑๙๗๖) และในปี พ.ศ. ๒๕๒๓  (ค.ศ. ๑๙๘๐)

    ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๕ (ค.ศ. ๑๙๘๒) หัวหน้า O.M.F.  มองเห็นปัญหาของผู้ปฏิบัติงานโรงพยาบาลซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ลำบากยิ่งขึ้นสำหรับคณะมิชชั่นนารีเกี่ยวกับการตรวจสอบของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่พอใจเกี่ยวกับการให้พยาบาลต่างชาติมีสิทธสอบ ให้สามารถทำงานในประเทศไทย ทางคณะของผู้นำจึงตัดสินปัญหา โดยยกโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัวให้รัฐบาลไทย และจัดการให้มีคณะปฏิบัติงานเป็นคนไทยที่โรงพยาบาลมโนรมย์มากขึ้น

     โรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัว  จึงปิดลงในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ (JUNE  ๑๙๘๓) ในโอกาสเดียวกัน โรงพยาบาลรัฐประเภท  ๑๐  เตียงได้เปิดดำเนินการในบริเวณใกล้เคียงกับศูนย์ราชการอำเภอหนองบัว  ในฐานะที่ทำงานอยู่กับพี่น้องชาวหนองบัวและพี่น้องในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเวลาถึง  ๒๐  ปี  ฉันเสียใจกับการปิดโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัว  จึงยื่นใบลาออกจาก O.M.F.

    เฝ้ารอเวลาอนุมัติใบลา  ๖  เดือน  เมื่อมีผลแล้วฉันก็กลับไปประเทศอังกฤษในเดือนกันยายน  พ.ศ. ๒๕๒๖ (SEPTEMBER  ๑๙๘๓)  ได้ใช้เวลาศึกษาหาความรู้ด้านการศาสนาที่เริ่มต้นไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ (๑๙๗๑) จนจบหลักสูตร

    กลับมาประเทศไทยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗(ค.ศ. ๑๙๘๔) ฉันได้รับเชิญไปทำงานกับหมอคริสเตียนชาวไทย ซึ่งมีโรงพยาบาลส่วนตัวที่จังหวัดกาฬสินธุ์  แต่ฉันไม่สนุกกับการทำงานในตัวเมืองเช่นตัวจังหวัด  ซึ่งมีโรงพยาบาลรัฐดี ๆ แต่เรียกค่ารักษาพยาบาลแพงกว่า  จึงลาออกจากโรงพยาบาลแห่งนี้  เป้าประสงค์คือต้องการช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วยผู้ต้องการความช่วยเหลือมาก ๆ  ฉันจึงทำงานที่จังหวัดกาฬสินธุ์เพียง  ๑๓  เดือน และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย(WVFT) ต้องการได้ฉันไปทำงานในโครงการพิเศษกับชนกลุ่มน้อยในภาคเหนือของประเทศไทย  และยังมีความต้องการเช่นนั้นตลอดมา

    ดังนั้น  ในบั้นปลายเดือนกันยายน  พ.ศ.  ๒๕๒๘(ค.ศ. ๑๙๘๕) ฉันเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่  ทำงานกับ WVFT  ร่วมมือกับองค์กรหลากหลายและโครงการของในหลวง  เราให้ความรู้แก่ชาวเขา  (TRIBAL  VILLAGERS) และโดยเฉพาะพวกหัวหน้าเกี่ยวกับการป้องกันโรคและการดูแลสุขภาพพื้นฐาน  ซึ่งอันจะนำพาไปสู่ปัญหายาเสพติด  ในเวลานั้นคือฝิ่น และเฮโรอีน ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยและโครงการในชื่อต่าง ๆ เรามี ๒๗ แคมพ์ เพื่อให้คำแนะนำการเลิกยาเสพติดในหมู่บ้านต่าง ๆ  เวลาเดียวกันในแต่ละแคมพ์ WVFT  จัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่และเครื่องมือให้รัฐบาลไทยสนับสนุนผู้พยาบาลและหน่วยป้งอกันให้  เราทำหน้าที่แบบไม่ใช้เป็นเครื่องชักจูงเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา แต่ปัญหาต่าง ๆ ก็เกิดขึ้น เช่น  การหละหลวมในระบบความปลอดภัย ติดตามด้วยความขาดแคลนสิ่งต่าง ๆ ผลลัพธ์จึงไม่เป็นที่พอใจแก่คณะทำงาน

    ขณะเดียวกันฉันได้รับเชื้อเชิญร่วมงานกับคณะผู้สอนศาสนาที่จังหวัดพะเยา (PHAYAO  BIBLE  TRAINING  CENTER)  ชื่อนี้ได้เปลี่ยนเป็น PHAYAO  BIBLE  COLLEGE ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ (ค.ศ. ๑๙๙๕) และเป็น  PHAYAO  BIBLE  SEMINARY ๒๐๐๘)  และฉันมีคุณสมบัติทางด้านนี้ที่ได้ศึกษามาเพิ่มเติมเมื่อครั้งปิดโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัวแล้วกลับประเทศอังกฤษเมื่อปี  พ.ศ. ๒๕๒๖ (ค.ศ. ๑๙๘๓)

    สุดท้ายได้ตอบรับเชิญกับคณะผู้สอนศาสนาจังหวัดพะเยา  ฉันใช้เวลา  ๑  ปี ที่ยื่นใบลาออกจาก  WVFT  และในเดือนพฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๓๔ (ค.ศ. ๑๙๙๑)ได้ย้ายไปอยู่จังหวัดพะเยา สำหรับ ๑๗  ปีสุดท้ายแห่งชีวิต  ฉันได้สอนนักศึกษาที่นั่น เมื่อพวกเขาจบจากการฝึกอบรมที่นี่จะออกไปเป็นผู้นำโบสถ์  และทำงานให้แก่ศาสนาคริสเตียน

     ฉันยังมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการบัญชีและการเงิน และใน ๖  ปีสุดท้ายฉันได้รับตำแหน่งอธิการของโรงเรียน ในเดือนเมษายน  พ.ศ. ๒๕๕๑ (APRIL ๒๐๐๘)  ฉันได้เกษียณอายุตนเองในวัย  ๘๐ ปี  กลับสู่ประเทศอังกฤษ ประเทศที่ฉันอาศัยอยู่อย่างสงบในบั้นปลายชีวิต

    สิ่งที่ประทับใจในความทรงจำที่มาอยู่หนองบัว

    สิ่งที่ประทับใจฉัน  คือหัวหน้าคณะสำรวจพื้นที่อำเภอต่าง ๆ สำรวจดูว่าอำเภอในขาดแคลนโรงพยาบาล ทางชาวอำเภอหนองบัว  ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเชื้อเชิญให้มาตั้งสถานพยาบาล โดยมีเจ้ของที่ดิน  ๗  รายรวมกันถวายที่ดินประมาณ  ๓๙  ไร่  สำหรับสร้างโรงพยาบาลในอนาคต และจัดเตรียมอาคารบริเวณสี่แยกในตลาดเป็นห้องแถวของเฒ่าแก่ย่งเตี๊ยะ  แซ่จึง  ให้เช่าและใช้เปิดเป็นคลีนิคก่อน  โดยทำการดัดแปลงบ้างให้เหมาะกับความต้องการ ขอให้ตั้งหอถังน้ำสูงพร้อมปั๊มน้ำให้สูบน้ำจากสระกลางตลาด(คงเป็นสระวัดหลวงพ่ออ๋อย-ผู้พิมพ์)คิดว่าเป็นแห่งเดียวที่สูบน้ำเช่นนี้ได้  และสถานพยาบาลมีสิทธิ์ขอให้เปิดไฟฟ้าถ้ามีเหตุฉุกเฉินกลางคืน(สมัยนั้นการไฟฟ้าภูมิภาคมีโรงปั่นไฟฟ้าใช้ได้แค่หัวค่ำและเช้ามืด)

    อนึ่งคุณหมอถนิม  ผดุงครรภ์อนามัยซึ่งเป็นขวัญใจชาวหนองบัวให้ความร่วมมืออย่างดีโดยตลอด  ปีแรกใน พ.ศ  ๒๕๐๖ (ค.ศ. ๑๙๖๓) ทางคมนาคมลำบากมากจำได้ว่าอาจารย์ประจำอำเภอชุมแสง นำยาและอุปกรณ์มาให้ที่อำเภอหนองบัว จากสถานีรถไฟในเดือนสิงหาคม ต้องใช้เวลาเดินทางเกือบทั้งวัน  อาศัยรถจี๊ป  ๒  ตอน  เรือ  ๒  ตอน และเกวียนบ้าง  แม้ในฤดูร้อนรถจี๊ปซึ่งเป็นรถโดยสารปกติต้องลงจากถนนขับไปตามริมนาเป็นบางแห่ง 

    ส่วนอุปกรณ์ทางแพทย์เตรียมไว้แต่แรกนอกจาก x-ray  ปีแรกใช้อันเล็ก(คือ ๑๒  MILLIAMP เท่านั้น) แล้วไม่ได้มา จนเดือนธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๐๖ (ค.ศ. ๑๙๖๓) ได้มาพอดี  หลังจากการผ่าตัดกะโหลกหญิงคนหนึ่งซึ่งได้ถูกปืน ขณะ x-ray  ได้พบว่ามีเม็ดกระสุนเหลือบ้างก็สามารถเอาออกได้อีก ปีแรกนั้นไม่มีเตียงแบบโรงพยาบาล  มีแต่แบบธรรมดา จึงจำเป็นต้องประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ขณะรับชายถูกปืนซึ่งกระดูกขาบนหักเกือบ  ๒ วันก่อน

    การไม่เข้าใจการรักษาพยาบาลที่ทันสมัยขึ้น  จำได้ว่าญาติของคนถูกปืนนั้นถามว่า “ต้องดึงขาเช่นนั้นนานเท่าไร”  และไม่ค่อยยอมรับคำอธิบายว่า “อย่างน้อย ๓  เดือน”  แท้จริงชาวบ้าน(รวมข้าราชการคนหนึ่งซึ่งลูกสาวแขนหัก) ไม่เข้าใจการเข้าเฝือกให้กระดูกมีโอกาสติดกัน

    จำได้ว่ามีชายคนหนึ่งมีฝีผิวหนังตรงข้อมือ น่าจะเจาะให้หนองออก แต่เขาไม่ยอม  และไม่ยอมฉีดยารักษาด้วย(คิดว่าเป็นญาติกำนันเสียด้วย) สาเหตุคือพวกเขากลัวว่าเป็น “ฝีมะลำมะลอก” (คงหมายถึง ANTHRAX)  เขาคิดว่าถ้าฉีดยาแล้วจะตายแน่  คิดเช่นนั้นเพราะในอดีตอาจมีคนถูกฉีดยารักษากับหมอบ้านนอกแล้วแพ้ยาเพนนิซิลินตาย  แท้จริงยานี้ตรงกับโรคเพียงต้องพร้อมจัดการถ้าแพ้ยา  สุดท้ายยายคนแก่ ๆ ชักชวนให้คนนั้นยอมรับการรักษา ซึ่งฝีนั้นเป็นฝีธรรมดา

     ทางคมนาคมลำบากมาก  จำเป็นต้องผ่าตัดใน  ๕  ปีแรกนั้น  ไม่มีห้องผ่าตัดเฉพาะ  จึงจำเป็นทำในห้องฉีดยา เพราะจะส่งคนไข้ต่อไปไม่ได้  เช่น  ภรรยาข้าราชการตั้งครรภ์นอกมดลูก

    โลหิตออกในช่องท้อง  เด็กหญิงใกล้ตลาดอายุประมาณ  ๑๒ ปี  เป็นไทฟอยด์ และรักษากับคนซึ่งไม่ใช่แพทย์จริง ๒ อาทิตย์กว่า  ญาติพามาหาเพราะลิตออกลำไส้ วันต่อมาแผลลำไส้ทะลุจึงต้องผ่า ฤดูฝนมีชาวบ้านนำหญิงป่วยมา  ซึ่งอาการแสดงว่าต้องผ่ารังไข่อย่างด่วน โดยเอาคนป่วยห่อแหเป็นแปลหามมา มีคนเอาทารกมา(คิดว่ามาจากห้วยร่วม)  ทารกหนัก  ๒.๑  กิโลกรัม  พวกเขาใส่กระบุงหาบมา เพราะมันไม่มีรูทวารหนัก

    หวังว่านี่พอเป็นคำตอบ  กำลังมีปัญหาคอมพิวเตอร์ในการพิมพ์ไม้เอกทับตัวสระบางตัว มันออกเป็นจุดดำ ๆ

     

                                                              ด้วยความยินดีจากอังกฤษ

                                                               USULA   LOEWENTHAL

                                               MONDAY, SEPTEMBER 08,2008 5:27:49 P.M.

     

     

     

     

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    บทความหมออรุณ(คห.๙๔๐) อาตมาพิมพ์เสร็จก็ตรวจทานดูว่าไม่มีคำผิด แต่ก็ยังมีผิดอีกจนได้
    อำเภอในขาดแคลน แก้เป็น อำเอภใดขาดแคลน เจ้ของที่ดิน แก้เป็น เจ้าของที่ดิน เพราะลิต แก้เป็น เพราะโลหิต เอาคนป่วยห่อแหแปลหามมา แก้เป็น เอาคนป่วยห่อแหเป็นเปลหามมา

    น่าตื่นเต้นดีจริงๆครับ นอกจากเป็นการประมวลภาพให้เห็นพัฒนาการของอำเภอหนองบัวที่มีความสมบูรณ์มากยิ่งๆขึ้น อีกทั้งให้ข้อมูลพัฒนาการเทคโนโลยีของการแพทย์การสาธารณสุขและระบบการบริหารจัดการสุขภาพในภาคกลางของประเทศในยุคนั้นก่อนมาถึงปัจจุบันแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ดีและงดงามมากอย่างยิ่งเรื่องหนึ่งเลยนะครับ แรกเลยก็เป็นการรวบรวมเรื่องราวที่คนหนองบัวเป็นจำนวนไม่น้อยได้ทราบแล้วก็จะได้รำลึกถึงด้วยกตัญญูกตเวทิตาและทำมนสิการให้เป็นความดีงามแก่ตน อีกแง่หนึ่ง ก็เป็นความงดงามอย่างที่สุด ซึ่งไม่เพียงเป็นเรื่องที่ชวนให้เกิดการหลอมรวมใจของผู้คนได้มากอย่างยิ่งเท่านั้นนะครับ

    ทว่า เรื่องนี้ได้ผ่านมาทางป้าหมอหนิม คนเก่าแก่ของงานสุขภาพและสาธารณสุขในท้องถิ่นหนองบัว จากนั้นก็เป็นการนำมาเผยแพร่ช่วยกันโดยพระคุณเจ้าซึ่งเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ส่วนเรื่องราวที่เผยแพร่ก็เป็นบทบาทของศาสนิกชาวคริสเตียนที่ศรัทธาในอีกศาสนาหนึ่ง ทว่า ต่างมีความมุ่งหมายเดียวกันคือเพื่อหมู่ชนผู้ทุกข์ยากและเพื่อสุขภาวะที่ดีของการอยู่ร่วมกันในสังคม ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงหนึ่งในชีวิตของป้าหมออรุณ ก็ได้ไปอยู่ที่สายบุรี จังหวัดปัตตานี รวมทั้งอีกหลายแห่งในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย กระทั่งปัจจุบันได้กลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่อังกฤษ แต่ก็ยังคงมีความทรงจำให้ไว้แก่ชาวหนองบัวอย่างแนบแน่น

    ทำให้ต้องนึกไปถึงหลักคิดหนึ่งของเจ้าประคุณพุทธทาสภิกขุ ที่กล่าวว่า การส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนา และส่งเสริมให้ศาสนิกของแต่ละศาสนาได้ขวนขวายศึกษาให้ถ่องแท้ในการปฏิบัติศาสนาของตน จะเป็นทางหนึ่งของการสร้างสันติภาพและนำมนุษย์ให้ออกจากความเป็นวัตถุนิยมที่ดีได้ อีกทั้งเห็นอีกมิติหนึ่งของความเป็นเครือข่ายโยงใย เป็นพี่น้องกันและเป็นผู้ร่วมทุกข์สุขกัน ของผู้คนที่เหมือนกับว่าแตกต่างกันทั้งเชื้อชาติศาสนา เลยนะครับ

                           

    ผมเลยเอารูปวาดที่เคยคุยกับทุกท่านในเวทีคนหนองบัวมาให้ชมประกอบกับบันทึกของป้าหมออรุณไปด้วยเลยนะครับ สี่แยกตลาดหนองบัวและโรงพยาบาลคริสเตียนในห้องแถวที่สี่แยกตลาดหนองบัวแห่งแรก ก่อนที่จะย้ายไปตรงที่ตั้งของโรงพยาบาลหนองบัวในปัจจุบันที่ท่านกล่าวถึงนั้น ผมพอจะจำได้ดังในภาพนี้แหละครับ เลยยิ่งได้ข้อมูลในรายละเอียดเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีกเพราะเถ้าแก่ย่งเตี๊ยะ แซ่จึงนั้น ลูกหลานที่เป็นแซ่จึงนี้ เป็นเพื่อนๆที่เรียนด้วยกันหลายคนเลยละครับ ทั้งโรงเรียนหนองบัวเทพและโรงเรียนหนองคอก

    นี่เป็นข้อมูลที่ท่านเพิ่งบันทึกถ่ายทอดไว้เมื่อปี ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ๒-๓ ปีนี่เองนะครับ หากติดต่อขออนุญาตผู้แปลได้คือ คุณสมหมาย ฉัตรทอง เพื่อนำมาเผยแพร่ ก็จะยิ่งดีครับ จะได้ขออนุญาตทำเป็นบันทึกและเรียบเรียงให้ใหม่ต่างหากอีกหัวข้อหนึ่งเลยนะครับ 

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์

    เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๔ พอได้หนังสือบทความหมออรุณมาจากป้าหนิม:หมอหนิมแล้ว ก็ได้ให้ญาติๆ ดูภาพถ่ายหมออรุณ บางท่านเห็นแล้วร้องอ๋อ พร้อมกับกล่าวต่อว่า นี่แหละใช่เลย ใช่หมออรุณจัดเลยซิวา...

    น้องสาวอาตมาเล่าว่า น้องชายคนสุดท้อง คลอดที่โรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัว แม่เคยบอกให้ฟังว่าหมออรุณทำคลอดให้(๒๕๒๔)

    เรื่องของหมออรุณที่พระคุณเจ้าอุตส่าห์ไปเสาะหามาเผยแพร่ได้ทีละนิดนี้
    คงจะเป็นแกนเชื่อมต่อและถักทอภาพของสังคมและชีวิตสุขภาพของผู้คนในอดีตได้เป็นอย่างดีอีกแง่มุมหนึ่งเลยนะครับ ดูๆแล้วก็อาจจะไม่ใช่เพียงเรื่องราวของชุมชนหนองบัวเท่านั้น แต่อาจจะสะท้อนภาพกว้างในยุคนั้นของสังคมไทยได้อีกด้วยครับ ดูอย่างบันทึกของคุณธนกฤตเป็นตัวอย่าง ก็พอจะเห็นลางๆว่า คงจะมีประวัติศาสตร์พัฒนาการของสังคมสุขภาพและประวัติศาสตร์ชุมชนจากประสบการณ์ชีวิตของคนท้องถิ่น กระจัดกระจายอยู่ในผู้คนอีกจำนวนหนึ่งที่รวมสมัยและยังมีชีวิตอยู่ เวทีคนหนองบัวคงจะเป็นช่องทางหนึ่งให้ผู้คนได้อ่านและช่วยกันนำประสบการณ์เหล่านั้นมาเทกองสะสมกันไว้ให้ลูกหลาน

    ทำอย่างคุณธนกฤต รอดแสวงนี่ก็เป็นเรื่องสบายๆนะครับ หรือถ้าหากพอจะมีใครที่มีกำลังความรู้และมีบารมี รวมทั้งมีความเสียสละทุ่มเทอย่างพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล แล้วก็ทำแบบเก็บเล็กผสมน้อยอย่างท่านไปด้วย ก็คงยิ่งได้รวบรวมและสร้างความรู้บางแง่มุมของท้องถิ่น ที่ไม่สามารถหาได้จากแหล่งอื่นมากมายเลยนะครับ

    เมื่อครู่ได้คุยโทรศัพท์กับอดีตนายอำเภอหนองบัว คุณสมหมาย ฉัตรทอง

    ได้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับหมออรุณ ที่พระคุณเจ้าฯ ไปเสาะแสวงหามา โดยอ้างถึงผู้เรียบเรียงคือ ท่านสมหมาย ฉัตรทอง ซึ่งเป็นนายอำเภอหนองบัวในช่วงที่ผมยังเรียนอยู่ที่หนองบัว ก็เลยให้อากู๋ (google) ค้นหาข้อมูลของท่าน พอได้ข้อมูลแบบไม่ปะติดปะต่อว่า เป็น นอภ.ราศีไศล/ศรีสะเกษ 2521-2524, ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ 2535-2536, รอง ผวจ.อุบลราชธานี 2539-2541 และเคยเป็นกกต.ที่กำแพงเพชร ก็เลยติดต่อไปที่กกต.กำแพงเพชร ได้เบอร์โทรของท่านมา โทรเข้าไปแนะนำตัว เพื่อจะขอเข้าพบเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม ท่านก็ดีใจมาก และท่านกำลังจัดทำหนังสื่อ 66 ปี อำเภอหนองบัว ที่ท่านได้รวบรวมไว้ในระหว่างที่เป็นนายอำเภอหนองบัวอยู่ ซึ่งหนังสือก็เกือบจะเสร็จแล้ว

    อยากจะนัดพี่วิรัตน์ ไปพบกับท่านสมหมาย ซึ่งบ้านท่านอยู่แถวตลาดสี่มุมเมือง / ดอนเมือง ไม่ทราบว่าพี่วิรัตน์พอจะสะดวกวันเวลาไหนบ้าง เพื่อจะได้นัดกับท่านอีกทีหนึ่ง

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    วันนี้ขออนุญาตนำประวัติป้าหมอหนิมที่ท่านบันทึกไว้ในหนังสือประวัติของท่าน มาลงเผยแพร่ ณ ที่แห่งนี้ เพราะเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้อย่างมาก อีกทั้งท่านทำไว้เพียงไม่กี่เล่มเท่านั้น คิดว่ายังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก วันนี้นำมาเฉพาะตอนที่ท่านศึกษาและเดินทางมาทำงานที่หนองบัว และก็ขอใช้ระหัสของท่านอธิการโชคชัยส่งไฟล์รูปเช่นเคย เรื่องของป้าหมอหนิมนี้ อาจารย์วิรัตน์กรุณาช่วยแยกเป็นอีกบันทึกหนึ่ง ก็จะเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เนื้อหาคงไว้ตามต้นฉบับเดิมของท่าน

    เลี้ยงส่งปลัดสืบศักดิ์  สุขไทย  เลี้ยงรับปลัดบรรจบ  ศรีเจริญ
    ปลัดกิ่งคนที่สอง และปลัดกิ่งคนที่สามของกิ่งอำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์
    นั่งจากซาย : ครูบังอร บูรณพันธ์(ภรรยาสาธารณสุขอำเภอ) น.ส.ถนิม  กุลสวัสดิ์  คุณจรรยา สุขไทย  คุณกรองทอง  ศรีเจริญ คุณขนิษฐา สุขโกษา(ภรรยาเสมียนตรา) น.ส. พะยอม จุฑามาศ(ลูกสาวปลัดจ้อย) ยืน : นายสกล ชโยชน์(ศึกษากิ่งอำเภอ) นายสืบศักดิ์  สุขไทย  นายบรรจบ  ศรีเจริญ

                        ทานเลี้ยง รับ-ส่ง จัดบนศาลาวัดหนองกลับ

                 
                  ถ่ายภาพนอกชานศาลาวัด(หนองกลับ)ด้านหลัง พ.ศ. ๒๔๙๓  ซึ่งในขณะนั้นศาลาหลังนี้ใช้เป็นที่ทำการกิ่งอำเภอหนองบัว

    หมายเหตุ..ภาพถ่ายนี้ถ่ายจากหนังสือ : ประวัติการเรียนและการปฏิบัติงานของถนิม อ่วมวงษ์(กุลสวัสดิ์) จาก โรงเรียนผดุงครรภ์ วชิระพยาบาล รุ่นที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๑

    ประวัติของนางสาวถนิม กุลสวัสดิ์ (ป้าถนิม อ่วมวงษ์) ก่อนไปเรียนผดุงครรภ์ชั้น ๒ ที่โรงเรียนผดุงครรภ์ วชิระพยาบาล

          จบการศึกษาชั้น ป. ๔ ที่โรงเรียนท่าตะโกพิทยาคม อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ เรียนต่อที่โรงเรียนสตรีนครสวรรค์ จบมัธยม ๓ ออกมาอยู่บ้านเรียน ม.๖ ด้วยตนเองบ้าง ไปเรียนที่สตรีนครสวรรค์บ้าง กับเพื่อน ๆ เก่า พออายุครบ ๑๕ ปีสมัครเป็นครูประชาบาลได้บรรจุเป็นครูที่โรงเรียนวัดเขาน้อย ตำบลเขาน้อย อำเภอท่าตะโก ได้เงินเดือน ๆ ละ ๑๔ บาท

    ต่อมาได้ไปอบรมวิชาครูเปิดอบรมที่โรงเรียนชาย(เก่า) สอบได้เงินเดือนขึ้นเป็น ๒๐ บาท ได้สอบไปเรียนผดุงครรภ์ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ สอบได้ไปเรียนที่โรงเรียนผดุงครรภ์ชั้น ๒ วชิระพยาบาล กรุงเพทฯ

    การเดินทางออกจาบ้านพักอำเภอท่าตะโกมี ๒ วิธี การคมนาคมลำบากมากถนนหนทางยังไม่มี

    วิธีที่ ๑  ต้องเดินทางด้วยเกวียน อำเภอท่าตะโกจากบ้านพักไปถึงบ้านปลายรางแล้ว จะต้องขึ้นรถรางหรือรถงานเป็นรถไฟสำหรับขนฟืน สมัยนั้นรถไฟใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงมีตู้มีหลังคา ๒ ตู้ สำหรับคนงานรถไฟ เราก็ขอโดยสารไปด้วย  เวลาขึ้นรถต้องคอยระวังปัดลูกไฟ ที่ลอยตามลมมาจากหัวรถจักร ตู้ไม่มีประตูปิด ถ้าเผลอไฟไหม้ผม เสื้อผ้าหมด ตู้รถบรรจุคนได้ ๒๐ คน ส่วนตู้ที่ไม่มีหลังคาจะบรรทุกฟืนเต็มประมาณ ๕- ๖ ตู้ สุดทางถึงสถานีรถไฟหัวหวายเราต้องต่อรถไฟจากหัวหวาย ไปกรุงเทพฯ

    วิธีที่ ๒  ฤดูน้ำขึ้น จะขึ้นเรือเมย์ หรือเรือไอ มีหลังคาบรรจุผู้โดยสารได้ประมาณ ๒๐ คน ออกจากท่าเรือลำคลองหน้าตลาดท่าตะโก ล่องไปตามลำคลอง จนถึงบ้านวังมหากร ออกสู่บึงบอระเพ็ด บึงจะกว้างมาก กลางบึงแต่ก่อนมองไม่เห็นฝั่งข้ามไปจนถึงปากน้ำโพ  จังหวัดนครสวรรค์       

    ตอนที่ป้าเรียนอยู่โรงเรียนสตรีนครสวรรค์ เมื่อโรงเรียนปิดจะกลับบ้าน ถ้าฤดูฝนก็ต้องมาทางเรือ น้าท่วม ผ่านบึงบอระเพ็ด นายท้ายเรือจะต้องเริ่มออกเรือก่อนบ่าย ถ้าตอนบ่ายมักจะพบลมฟ้าลมฝน ถ้าเจอลมฝน ลมจะแรงมากลูกคลื่นจะสูง ๒-๓ เมตร กลัวเรือล่ม นายท้ายเรือต้องขับเรือเรียบฝั่งเข้าจอดที่กอสนุ่นก่อน  จนลมสงบจึงออกเรือต่อ

    ลำบากบางครั้งกว่าจะออกจากบึงถึงบ้านก็ดึก  ตอนเช้าถ้าจากท่าตะโกชอบอากาศดี ลมเย็น เรือแล่นผ่านบึงบอระเพ็ดตามกอสนุ่น  จะเห็นลูกจอระเข้ บางครั้งก็ตัวโต ๆ ขึ้นมานอนบนกอสนุ่นตากแดดอุ่นเป็นแถว

    ป้าไปเรียนต้องเลือกเดินทางวิธีที่ ๑ เพราะเป็นปลายเดือนมิถุนายน ๒๔๙๐ ฤดูสเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ป้า-พ่อขึ้นรถไฟจากสถานีหัวหวายไปลงที่สถานีหัวลำโพง กรุงเพทฯ ได้รับความกรุณาจากนายใหญ่ สวิทชาติ ซึ่งเป็น ส.ส. นครสวรรค์ เคยเป็นนายอำเภอท่าตะโก รู้จักกันมารับที่สถานีรถไฟไปพักที่บ้านท่าน ๑ คืน เช้าพ่อพาป้าขึ้นรถรางมาที่โรงเรียนผดุงครรภ์วชิระพยาบาล เข้ามอบตัวกับแม่บ้านผอบ  จสุรัตน์ ให้พักเรือนนอนที่ ๑ รุ่งเช้าเข้าเรียน จนกระทั้งเรียนจบหลักสูตรสอบได้ที่ ๒ ของนักเรียนทั้งหมด  ๑๑๔  คน  

    รับใบประกาศแล้วกลับบ้านอำเภอท่าตะโก เมื่อเรียนจบก็ต้องไปรายงานตัวที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  แต่ก่อนแผนกสาธารณสุขอยู่ที่ศาลากลางจังหวัด จังหวัดให้ทำงานอยู่ที่แผนกก่อนประมาณครึ่งเดือน วันที่ ๑ กรกฎาคม  ๒๔๙๑  ได้รับคำสั่งให้ไปประจำสุขศาลาชั้น  ๒ กิ่งอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์  ซึ่งขึ้นกับอำเภอชุมแสง

    การเดินทางไปกิ่งอำเภอหนองบัว

    ๖  โมงเช้าออกเดินทางจากบ้านพักอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์  โดยพาหนะช้าง พ่อไป

    ส่งขนของไปด้วยเครื่องนอน เครื่องครัวใส่ในอานช้าง ป้าและพ่อนั่งบนอาน  พาหนะอื่นใช้ไม่ได้นอกจากม้า เกวียนก็ไม่มี ทางเกวียน ทางเป็นป่าดงไม้ใหญ่ทึบ  หญ้าแฝกสูงท่วมหลังช้าง มุ่นป่าไป ลัดไป เพราะบางครั้งจะพบป่าไผ่  ขึ้นหนาทึบ ลอดไปไม่ได้ต้องอ้อมไป ระหว่างทางจะพบสัตว์ป่าเยอะ มีเก้ง เลียงผา ตะกวด กระต่าย กระรอก กระแต ข้าง ๆ หนองน้ำจะมีลอยเท้าสัตว์มากินน้ำ ชายน้ำข้าง ๆ หนองจะพบปูป่าตัวสวยจะเป็นสีน้ำเงิน-แดง ดุมากจะยกกร้ามชู ตาโต ขู่เข้าใส่เวลาวิ่งหนีจะเร็วมาก

    ตลอดทางไม่เคยพบคนเลย  ทะลุป่ามาจะพบหมู่บ้านชื่อบ้านหนองปลาไหล มีประมาณ ๗-๘  หลังคาเรือน มีทางเกวียนเก่า ๆ ออกจาหมู่บ้าน ไปบ้านห้วยด้วน เดินทางเข้าเขตบ้านห้วยด้วน ตำบลธารทหาร ควานช้างเก่งมาก เขาพาเดินทางไม่หลงทางเลย เขาบอกว่าป่า เขาชำนาญทางเพราะเขาเป็นพรานป่าชอบมาล่าสัตว์เป็นประจำ

    เมื่อมาถึงบ้านห้วยด้วน ก็แวะไปเคารพกำนันผล  แสงสว่าง ซึ่งเป็นกำนันตำบลธารทหารเป็นเพื่อนกับพ่อป้า คุ้นเคยกันดี  เมื่อพักหายเหนื่อยก็ออกเดินทางเข้าหนองบัว ทะลุหมู่บ้านเนินน้ำเย็น ต่อไปเข้าบ้านโคกมะตูม ซึ่งเป็นบ้านของนายไข่-นางปลั่ง  บ้านอยู่หน้าบ้านท่านขุนอ้อ(เจ็กอ้อ) ซึ่งเป็นมัคกะทายกวัดหนองกลับ ป้าปลั่งเป็นน้องสาวของกำนันมาก กำนันเก่าเป็นเพื่อนรักกับพ่อ ป้าต้องเรียกว่าพ่อ ฝากให้ป้ามาอยู่บ้านน้องสาว เพราะมีลูกสาวหลายคนจะได้มีเพื่อน เมื่อถึงบ้านพักเรียบร้อยพอดีมืดพักผ่อน

    สภาพของที่ทำงาน

    เช้าป้าก็ไปพบสาธารณสุขอำเภอ จ้าวนายคนแรกของเราที่บ้านมะขามหวาน ชื่อนายสุวิทย์  บูรณพันธ์ สาย ๆ คุณสุวิทย์ก็พาป้าพร้อมทั้งใบคำสั่งแต่งตั้งให้รับราชการ ไปพบหัวหน้ากิ่งอำเภอหนองบัว ชื่อ ร.ต.ต.ประทวน  สิทธิธูรย์

    ป้าเห็นที่ทำงานกิ่งอำเภอแล้วเข่าอ่อนเลย  มีสภาพเหมือนเล้าไก่  ใช้ไม้ลวกขัดทำฝาล้อมเป็นห้องใต้ถุนกุฏิ พระใบฏีกาโปน ข้าราชการนั่งทำงาน ป้าก็รายงานตัว ปลัดกิ่งอนุญาตให้มาเซ็นต์ชื่อเวลาทำงาน แล้วกลับไปทำงานที่บ้านได้

    ส่วนสถานีตำรวจอยู่ไปทางทิศตะวันออก สถานีตำรวจสภาพดีกว่าที่ทำการกิ่งอำเภอ แข็งแรงเป็นกุฏิพระหลังโตหน่อย เป็นกุฏิของอาจารย์เก่ง(เต่า) เลี้ยงเต่าไว้เยอะ บนกุฏิต้องแข็งแรงเพราะทำห้องขังผู้ต้องหาด้วย มีลูกกรงเหล็ก หัวหน้าสถานีตำรวจชื่อจ่าแก้ว มีลูกน้องชื่อจ่าสังเวียน แก้วผกา และตำรวจ ๓-๔ นาย วัดนี้เป็นวัดใหญ่มาก มีหลวงพ่ออ๋อยเป็นเจ้าอาวาส วัดนี้หลวงพ่อเดิมเป็นผู้สร้างเก่าแก่ เสาศาลาใหญ่มาก คนโอบไม่รอบ

    หลวงพ่อเดิมจะมาหนองบัวเป็นประจำ  ท่านจำวัดอยู่ที่วัดหนองโพธิ์ อำเภอตาคลี เวลาท่านมาจะขี่ช้างมา ช้างประจำของหลวงพ่อคือช้างตาเขียวอยู่บ้านหนองพุ่งซ่อม

    ถ้า(หลวงพ่อเดิม)มาป้ามีหน้าที่หาบกระเช้าและสำรับมาส่งจังหันและส่งเพล เพราะป้าอยู่บ้านมัคกะทายก หลวงพ่อจะเป็นคนสั่งป้าว่าอีหนูบอกอีปลั่งด้วยทำหมากมาหลาย ๆ คำ วันนี้ยำหน่อเอื้อง แล้วแต่จะสั่ง หลวงพ่อเดิมชอบมาก ยำเปราะ เลียงผักหวาน ห่อหมกหน่อไม้ใช้ส้มกบห่อ

    หลวงพ่อให้ของป้าไว้เยอะ มีดด้ามงา แหวน ชานหมาก ป้าทำหายหมด เพราะตอนนั้นไม่อยากได้ มีเหลืออยู่อย่างเดียวคือเป่ากระหม่อม มาหนองบัวจะต้องเรียกป้าทุกครั้ง ให้เล่าเรื่องการทำงาน  สภาพต่าง ๆ หนองบัวเป็นไง อยู่สบายดีไหมอยากได้อะไร ป้าไม่เอา มาบ่อย ๆ ป้าคอยหนี ไม่อยากคุยกับคนแก่  เดี๋ยวนี้เสียดาย

    ป้าทำงานโดยเซ็นต์ชื่อมาทำงานที่ทำการกิ่งตามเวลาราชการ แล้วกลับไปทำงานร่วมกับสาธารณสุขที่บ้านพักใช้เป็นที่ทำงานอยู่ประมาณ ๓-๔ เดือน หลวงพ่ออ๋อยเป็นผู้นำราษฏรได้ช่วยกันหาวัสดุต่าง ๆ มาปลูกสร้างกิ่งชั่วคราว ให้อยู่บริเวณตะวันออกศาลาวัดหนองกลับ กิ่งทำด้วยปีกไม้ทั้งหลัง พื้นสูงจากพื้นดินประมาณ  ๖๐  เซนติเมตร มีประตูทางเข้า ๑ ช่อง ตรงกลางหน้าต่าง  ๔  ช่อง  บานหน้าต่างครั้งแรก เวลาเปิดใช้ไม้ค้ำ ต่อมาจึงใช้บานพับ ด้านหน้าเป็นนอกชานต่ำกว่าพื้นประมาณ ๓๐ เซนติเมตร กว้างประมาณ  ๑  เมตร เวลาขึ้นกิ่งจะไม่มีบันไดขึ้นโดยก้าวขึ้นนอกชานเพราะไม่สูง  หลังคามุงด้วยหญ้าแฝก

    นอกชานจะมีต้นไม้ติดอยู่ ๑ ต้น หลังต้นโพธิ์จะมีต้นมะสังข์ ๓-๔ ต้น  เหนือกิ่งจะมีทาง ทางเกวียน ฟากทางเกวียนขวามือจะเป็นบ้านราษฏร บ้านแป๊ะตึ๋ง-ป้าทาบ ซ้ายมือจะเป็นป่าช้า มีเมนเผาศพสร้างด้วยก่ออิฐ  ๒ ข้าง  สำหรับวางโลงศพไม่มีหลังคา ต่อมาทำหลังคาสูง  ๔  เสา เหนือขึ้นไปจะเป็นที่ฝังศพตลอดไป จนถึงโรงสีย่งเตี๊ยะปัจจุบัน

    ที่ฝังศพตลาดเหนือเป็นที่ฝังศพเป็นป่าช้ารก ต้นไม้ใหญ่เล็ก มีต้นไม้ใหญ่อยู่  ๑  ต้นสูง เล่าว่าเป็นที่ฝังศพนางสายตายทั้งกลม ชาวบ้านกลัวกันนัก ทางเดินผ่านไปหนองกลับกลางคืนเป็นทางเดินต้องผ่านป่าช้า ป้าเดินผ่านบ่อยไปทำคลอด คนมารับชอบเกี่ยงกันเดินหน้าเดินหลัง เมื่อไปอยู่ใหม่ ๆ ตะเกียงไม่มี  ใช้ขี้ไต้ทำจากกระบอกไม้ไผ่ถือนำหน้านาน ๆ ก็ชินไปไม่มีน่ากลัว

    เหนือศาลาวัดหนองกลับมีศาลาปกสำหรับวางศพก่อนไปเผา ยกพื้นสูงจาเดิม และข้างยกพื้นให้พระนั่งสวดก่อนเผาศพ  ใต้พื้นยกพื้นที่นั่งพระจะมีแต่โกฐ  หม้อเล็ก ๆ ใส่กระดูกวางเป็นแถว   

    กลางคืนผ่านไป ยิ่งน่ากลัว ป้าจะต้องผ่านเป็นประจำ อะไรไม่ลำบากเท่าหน้าฝน ร่มเขาไม่มีใช้  เขาใช้ใบราน เหมือนใบตาลคลี่ออกกันฝน ใบรานจะกางใหญ่ เดินไปกางแขนไป กลางคืนลำบากมากเพราะไต้ถูกฝน ก็จะดับ บางครั้งจุดไต้ไม่ติด เพราะถูกฝนต้องใช้แสงฟ้าแลบ

     

    สวัสดีครับฉิกครับ

    • สนุกและตื่นเต้นใหญ่เลยครานี้ เจอมือปฏิบัติการรวดเร็วจริงๆ
    • สมหมาย ฉัตรทองนี่ท่านเป็นอดีตนายอำเภอหนองบัวหรอกหรือ เลยยิ่งกลายเป็นได้คนต้นเรื่องที่ดีกันไปใหญ่เลยนะครับ
    • อีกทั้งท่านกำลังทำหนังสือ ๖๖ ปีของอำเภอหนองบัวด้วย ช่างปะเหมาะพอดีมากเลยนะครับที่เวทีคนหนองบัวเราก็กำลังจะทำกิจกรรมร่วมเฉลิมฉลอง ๖๐ ปีอำเภอหนองบัว ๕๐ ปีโรงเรียนหนองบัว และ ๕๐ ปี โรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) ของอำเภอหนองบัว ให้เป็นโอกาสสร้างการเรียนรู้ทางสังคมและเคลื่อนไหวสร้างพลังหลอมรวมใจของชุมชนเพื่อทำสิ่งต่างๆที่คิดว่าดีและมีกำลังพอที่จะคิดและทำกันเอง
    • หากได้หนังสือของท่านมาเป็นส่วนหนึ่งสำหรับแจกจ่ายและเป็นหมายเหตุของสังคมท้องถิ่น ก็จะยิ่งมีความหมายมากเป็นอย่างยิ่ง คงต้องขอต้นฉบับของท่านมาทำเป็น e-book เพื่อออนไลน์ให้เป็นข้อมูลและความรู้สาธารณะไปด้วยในเวทีคนหนองบัวเลยนะครับ
    • ผมว่าถือโอกาสไปเยี่ยมคารวะและนำความรำลึกความทรงจำของท่านกับชุมชนหนองบัว มาบันทึกถ่ายทอดไว้ด้วยเช่นกันก็จะยิ่งดีเลยนะครับ ประเดี๋ยวขอหาจังหวะดีๆหน่อยนะครับ สักตอนเย็น ๑๕ มค.นี่ ช้าไปไหมครับ หากเกรงว่าจะรบกวนวันหยุดของท่าน ก็เป็นตอนเย็นวัน ๑๙, ๒๑ มค. เลยก็ได้ครับ 

    สวัสดีปีใหม่ครับ ขอให้ทุกท่านมีความสุข เวทีแห่งนี้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ขยายกว้างไปไกลภายพริบตา และขอเป็นกำลังใจให้ท่านอาจารย์ วิรัตน์ และทุกท่านตลอดไปครับ

    สวัสดีปีใหม่ครับคุณเสวก ใยอินทร์ครับ
    คุณเสวกแวะมานี่ คงได้ดีใจและมีความสุขในปีใหม่ไปด้วยเลยนะครับ
    ท่านพระอาจารย์มหาแลท่านไปเสาะหาเรื่องราวของหนองบัว
    โดยเฉพาะเรื่องหมอหนิมและหมออรุณ มากำนัลแด่ชาวหนองบัว
    และหลายเรื่องก็เสริมต่อข้อมูลและรูปวาดที่เวทีคนหนองบัวของเราค่อยๆคุยสะสมมาเรื่อยๆอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย สนุกและน่าประทับใจดีจริงๆครับ
    เป็นข้อมูลและเรื่องราวที่คนหนองบัวเองอย่างผมก็ไม่เคยได้รู้มาก่อนเยอะแยะเลยครับ

    ผมเป็นคนหนึ่งที่โตมาที่อ.หนองบัว มาเรียนรุ่นเดียวกับ ดร.วิรัตน์ สมัยตอนเรียนมัธยม ท่านเป่าแตรเก่งมาก ผมขอย้อนอดีตสมัยเด็กๆ ผมจำ

    ใด้ว่าโรงหมอฝรั่งจะอยู่ติดกับบ้านช่างกลีบเดิมซึ่งตอนนี้เป็นมูลนิธิของคนจีนขอย้อนอีกหน่อยสมัยก่อนตลาดหนองบัวจะมีสองฝั่งและยาวจากบ้านหมอหลุย

    ฝ่านสี่แยกลงไปถึงห้องแถวตัดขวาง สมัยนั้นมีสองห้องผมเห็นมีคนเข้าไปท่องเกี่ยวกับพระเยซู และจะได้ของขวัญกลับมาเช่น รูปภาพเล็กๆ มีหมอเสมา

    หมอมากเรตหมออรุณ ทำการอยู่ แล้วจึงย้ายไปอยู่ที่บ้านเถ้าแก่เส็งปัจจุบันที่สี่แยกตลาดหนองบัวตรงข้านกับบ้านตาต๋า ไม่ใช่ร้านบีเฮียงนะครับแล้วจึงย้าย

    ไปที่โรงพยาบาลหนองบัวปัจจุบัน เรียกโรงพยาบาลคริสเตียน ที่รู้แถวบ้านเรามี 2 แห่ง ที่อ.หนองบัว และ ที่อ.มโนรมณ์ ทั้งสองที่ผมไปรักษามาหมดครับ  

    สวัสดีเบิ้ม ประทับใจและดีใจมากเลยนะเนี่ยที่เห็นนายเข้ามาคุยในนี้
    นับว่าเป็นปีใหม่ที่เพิ่มมิติใหม่ๆและหลากหลายมากยิ่งขึ้นหลายอย่างให้กับเวทีคนหนองบัวเลยนะนี่ ทั้งการได้ข้อมูลของป้าหมออรุณ ป้าหมอหนิม การเข้ามาช่วยกันเขียนของคุณธนกฤต รอดแสวง และก็นี่...การเข้ามาเสริมกำลังกันอีกของเบิ้ม

    เชิญเบิ้ม เพื่อนๆ พี่ๆน้องๆ คนหนองบัว และลูกหลานเหลนคนหนองบัว ค่อยๆเข้ามาช่วยกันทำให้เป็นสื่อสร้างความรู้ หรือใช้เป็นสื่อสร้างการไหลเวียทางความรู้และข้อมูลข่าวสารต่างของคนหนองบัวและของหนองบัวกับโลกภายนอกตามสบายเลยนะครับ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นงานวิชาการที่ทำราชการ เป็นครู และเป็นนักเรียนนิสิตนักศึกษา ช่วยๆกันทำอย่างนี้นี่ไม่นานจะก่อให้เกิดผลดีหลายอย่างทั้งต่อหนองบัวและต่อสังคมวงกว้างครับ โดยเฉพาะจะเป็นวัตถุดิบทางความรู้และวัตถุดิบทางข้อมูลอย่างดีสำหรับการวางแผนและริเริ่มกิจกรรมสร้างสรรค์สุขภาวะต่างๆของชุมชน พวกที่เป็นครูและสถานศึกษาก็จะสามารถคิดและพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น อีกทั้งมีสื่อและทรัพยากรการเรียนรู้เพื่อลูกหลานของเราดีขึ้นโดยสามารถใช้กำลังคนเท่าที่มีอยู่และอาจจะใช้ทรัพยากรทั้งหลายน้อยมากกว่าเดิมเพราะมีผู้คนระดมพลังช่วยกันอย่างไม่เป็นภาระผ่านเวทีคนหนองบัวอย่างนี้

    พวกผู้นำชุมชน หน่วนงานราชการท้องถิ่น และองค์การบริหารจัดการความเป็นส่วนรวมในท้องถิ่น ก็จะมีช่องทางพัฒนาสุขภาวะของชุมชนที่อ้างอิงอยู่กับความรู้และภูมิปัญญาเกี่ยวกับท้องถิ่น ซึ่งก็จะทำให้การแก้ปัญหาและความริเริ่มต่างๆสนองตอบต่อท้องถิ่นได้มากยิ่งๆขึ้น มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ใช้ประสบการณ์ชีวิตและความรู้จากการปฏิบัติมาชี้นำการทำงานต่างๆได้ดีมากยิ่งๆขึ้น

    เชิญตามสบายเลยนะครับ ตอนนี้ผมกับท่านพระอาจารย์มหาแลและอีกสามสี่ท่าน ช่วยกันยืนชกหลังพิงเชือกรออยู่นา ไม่ได้บอกว่าหากมีใครมาช่วยกันเขียนแล้วจะแว่บไปไหนหรอกนะครับ แต่จะได้มีความหลากหลาย ได้บรรยากาศชุมชนแห่งความรู้และชุมชนแห่งการเรียนรู้มากยิ่งๆขึ้นน่ะครับ มาช่วยกันเขียนหน่อยเร็ว มัวแต่หาเงินนั่นแหละ รวยพอแล้วน่า !!!!! บอกพรรคพวกและสอนลูกๆหลานให้มาทำกันเองด้วยก็ยิ่งดีนะครับ

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลและท่านพระอธิการโชคชัยครับ
    เรื่องจากบันทึกอัตชีวิตของป้าหมอหนิมน่าสนุก ให้ข้อมูลสภาพสังคมในยุคนั้นดีมากจริงๆเลยนะครับ
    หากมีจังหวะผมจะเรียบเรียงและวาดภาพประกอบให้ครับ ดูน่าตื่นเต้นและน่าสนใจใคร่รู้มากเลยะครับ

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลและท่านพระอธิการโชคชัยครับ
    เรื่องจากบันทึกอัตชีวิตของป้าหมอหนิมน่าสนุก ให้ข้อมูลสภาพสังคมในยุคนั้นดีมากจริงๆเลยนะครับ
    หากมีจังหวะผมจะเรียบเรียงและวาดภาพประกอบให้ครับ ดูน่าตื่นเต้นและน่าสนใจใคร่รู้มากเลยนะครับ

    เรียนท่านพระมหาแล เจริญพรโยมอาจารย์ ดร.วิรัตน์

    • ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีกับท่านพระมหาแล ที่สามารถสมัครสมาชิกได้แล้ว...(สงสัยท่านนึกอยากโชว์ตัวบ้างแล้ว ลูกหลานคนหนองบัวจะได้เห็นหน้า..หลวงลุง/หลวงอา ซะที..ฮาๆๆๆๆๆ)
    • เจริญพรโยมอาจารย์ ดร.วิรัตน์ ปีใหม่นี้ ปี 54 เวทีคนหนองบัว ยังคึกคักเหมื่อนเดิมนะครับ
    • อาตมาในฐานะ ผู้ติดตามอ่านบล็อกเวทีคนหนองบัวเห็นแล้วรู้สึกดีใจแทนคนอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ (คนพิษโลกยังทำไม่ได้อย่างนี้เลยครับ..แต่จะขออนุญาตนำไปเป็นโมเดลครับ)
    • ขออนุญาตพูดถึงงานศึกษาวิจัยเวทีคนหนองบัวของอาตมาสักเล็กน้อยครับ...
    • สรุปว่า : อาจารย์ที่ปรึกษาให้ทำเป็น KM เวทีคนหนองบัว/เจาะประเด็นเรื่องประวัติชุมชนครับ ชื่อเรื่อง "การพัฒนารูปแบบองค์ความรู้ ผ่านระบบการจัดการความรู้ด้านประวัติศาสตร์ชุมชน ผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเวทีคนหนองบัว กรณีศึกษาอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ "  
    • อาตมาขอเรียนปรึกษาและขอคำแนะนำด้วยครับ (หมายเหตุ: ชกมา 4 ยก/เรื่อง) แต่ยังขยันออกหมัดอยู่...นะครับ
    • ปีใหม่นี้อาตมาภาพไม่มีสิ่งอื่นประการใดที่จะตอบแทนคุณ..."จึงขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย บุญบารมีหลวงพ่อพระพุทธชินราช องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จงดลบรรดาลให้โยมอาจารย์ดร.วิรัตน์และครอบครัว ปราศจากทุกข์โศกโรคภัย อุปสรรคอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ขอจงเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ พร้อมทั้งปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ตลอดกาลเป็นนิตย์...เทอญ."
    • เจริญพรมาด้วยความเคารพ

       บันทึกสภาพบริบทชุมชนบ้านหนองบัวก่อนเป็นอำเภอหนองบัวของหมอหนิม  อ่วมวงษ์ : ข้าราชการหญิงคนแรกฝ่ายสาธารณสุขและคนที่ ๒ ของอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

                 
                 
    อธิบายภาพ : ศาลาวัดหนองกลับ : วัดหลวงพ่ออ๋อย ก่อนที่อำเภอหนองบัวจะมีที่ทำการ ทางราชการได้ใช้ศาลาหลังนี้เป็นที่ทำการกิ่งอำเภอหนองบัวเกือบสิบปี ภาพนี้ถ่ายที่นอกชานด้านหลังศาลาวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓(ภาพจากหนังสือ ประวัติการเรียนและการปฏิบัติงานของถนิม อ่วมวงษ์(กุลสวัสดิ์) จากโรงเรียนผดุงครรภ์ วชิระพยาบาล รู่นที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๙)

                     
               
    ภาพนี้ คือภาพที่ป้าหมอหนิม :ถนิม อ่วมวงษ์ ท่านได้รับโล่ "นพรัตน์วชิระเกียรติคุณ" ศิษย์เก่าดีเด่น จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระพยาบาล เมื่อวันที่  ๕  มิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๕๑

    วันนี้ขออนุญาตนำบทความของป้าหมอหนิม ตอนที่ ๒ มาเผยแพร่ ณ ที่แห่งนี้ เขียนมาหลายเพลายังไม่ได้เป็นสมาชิกกับเขา พอดีช่วงกลางวัน วันนี้พระที่วัดท่านว่างเลยขอให้ท่านช่วยสมัครให้ ต่อไปก็เชิญทุกท่านอ่านบันทึกของป้าหมอหนิมต่อจากตอนที่แล้วดังนี้   

    ข้าราชการกิ่งอำเภอหนองบัวมีดังนี้

    (๑) ร.ต.ต. ประทวน  สิทธิธูรญ์  ปลัดกิ่งอำเภอหนองบัว  พักอยู่บ้านโคกมะตูมบ้านนายวาน – นางโน้ม  นวลละออง(๒) นายจ้อย  จุฑามาศ  ปลัดอำเภอ พักอยู่บ้านอดีตผู้ใหญ่หมู่ ๓  หนองบัว ผู้ใหญ่พล(๓) นายบุญ  อมรบุตร  ปลัดอำเภอ พักอยู่กุฏิพระ(๔)นายสุวิทย์  สุวรรณมนตรี  เสมียนมหาดไทย  พักอยู่บ้านป้าแป้น  บ้านอยู่กุฏฤาษี(๕)นายฟื้น สุขโกษา  เสมียนตราอำเภอ  พักอยู่บ้านพี่หนอม  บ้านคลองมะรื่น(๖)นายชาญ  สุวรรณเทพ สัสดีอำเภอ  พักอยู่บ้านโคกมะตูม  บ้านแป๊ะเซีย-ป้าสิน บ้านบิดา-มารดา(๗)นายสุวิทย์  บูรณพันธ์ สาธารณสุขอำเภอ พักอยู่บ้านมะขามหวาน บ้านลูกสาวพี่ต่อม(๘)นางสาวถนิม  กุลสวัสดิ์  ผดุงครรภ์ ชั้น ๒ พักอยู่บ้านนายไข่-นางปลั่ง บ้านโคกมะตูม

    ทั้งกิ่งอำเภอมีโต๊ะทำงานอยู่ ๗ ตัว ป้าต้องใช้โต๊ะทำงานร่วมกับสาธารณสุข ป้าไม่มีโต๊ะทำงาน ป้าเป็นข้าราชการหญิงคนที่ ๒ ของกิ่งอำเภอ  คนแรกคือพี่บังอร  บูรณพันธ์  ภรรยาสาธารณสุขอำเภอ คือคุณสุวิทย์  บูรณพันธ์ ย้ายมาพร้อมกับสามีเป็นครูโรงเรียนวัดหนองกลับ ป้าอยู่หมู่ที่ ๘ หนองบัว ผู้ใหญ่บ้านชื่อ นายโอ๊ด  ศรสุรินทร์  กำนันตำบลหนองบัว ชื่อนายเชิญ  นวนละออง กำนันตำบลหนองกลับ ชื่อนายเขียน  พวงจำปา ทุกคนเสียชีวิตหมดแล้ว  เหลือป้าคนเดียว

    ๖ เดือนแรกที่ปฏิบัติราชการไม่มีใครตามทำคลอด  ชาวบ้านไม่เชื่อฝีมือ ว่าเป็นเด็ก ทำคลอดรายแรก ตื่นเต้นเพราะทุกอย่างไม่เหมือนที่เราเรียน เริ่มไปในห้องคนไข้(คลอดที่บ้าน) จะพบคนไข้นั่งจับเชือกโหน เชือกจะผูกที่ขื่อบ้าน นั่งเหยียดขาทั้งสอง ส้นเท้ายันสากตำข้าว วางตามยาวชิดข้างฝา หลังคนไข้จะมีหีบเหล็ก สำหรับใส่เสื้อผ้า

    สมัยนั้นไม่มีตู้ จะมีคนขึ้นไปนั่งบนหีบ ห้อยขาลงให้คนไข้นั่งพิง เวลาเบ่งก็โหนเชือก คนที่นั่งก็จะช่วยข่มท้องดันยอดท้อง เราว่าไม่ต้องเด็กจะคอหัก เขาก็ไม่เชื่อ ให้นอนลาบก็ไม่เชื่อ ตกลงตามใจ เราจะตรวจปากมดลูกเขาไม่ยอมให้ตรวจอาย รอจนคนไข้เบ่งเราก็คอยรับหัวเด็กเชปกลัวฝีเย็บจะขาดมาก เขาจะให้ใช้กะเบื้องกรีด เราจัดการเอง เพราะดูแล้วไม่มีปัญหาคลอดออกมาเป็นชาย 

    พอคลอดพ้นท้อง เราก็ตกใจเขากระทืบพื้นอย่างแรง เด็กแทบหลุดมือ ถามว่าทำไมต้องกระทืบ เขาบอกว่าให้เด็กตกใจจะได้ร้องออก เมื่อเราเอารกออก เราก็หาผ้าห่อเด็ก เขามีผ้าโจงกะเบนที่เก่า ๆ เก็บไว้ในกะบุงต้องมาสลัดเอา ถามว่าทำไมไม่เตียมเบาะไว้ เขาบอกว่าเตรียมอะไรไม่ได้ ผีจะมาเอาเดี๋ยวเด็กตาย เมื่อเราตัดสายสะดือเด็ก ห่อเด็กเรียบร้อยก็มาจัดการเอารกออกกับแม่ แม่ต้องอยู่ไฟ เขาเอาเตาไฟซึ่งใช้ไม้กระดานทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้างยาวประมาณ ๑  เมตร ทำเหมือนกล่องกระดาษ ด้านบนไม่มีฝา  เอาขี้ดินใส่ให้แน่นทุบให้เรียบร้อยสำหรับวางดุ้นฟืนยาวประมาณ ๑ ศอก วางเรียงบนเตาประมาณ ๓-๔ ดุ้น

    ฟืนก็ต้องสามีเป็นคนไปตัดเอง เตรียมตัดตากแดดตั้งแต่ท้อง ๗-๘ เดือน แม่จะมีกระดาน ๑ แผ่น ไม่ให้กว้างมาก นอนพอตัวหนุนหัว-ท้าย ให้สูงระดับเตาไฟเพื่อให้ไฟลนที่ท้องและสะดือ แม่จะต้องนุ่งผ้าเตี่ยวผืนเล็ก ๆ ปิดเฉพาะของลับ ท้องน้อย และสะดือ ต้องไม่บิดตัว ต้องนอนตะแคงเข้าหากองไฟ หน้าอกใช้ผ้าสไบคาดไว้ผืนเล็ก ๆ จะมีคนดับพิษไฟ ขณะที่เขาช่วยกันยกแม่ขึ้นกระดานไฟ เราก็มาจัดการกับเด็ก จะอาบน้ำมีปัญหาอีกแล้ว จับอะไรไม่ได้เลย เขาว่าเหม็นคาวเลือดสกปรกไปหมด  

    สมัยก่อนไม่มีกะละมังจะใช้อาบ ต้องใช้อ่างดินแบ ๆ ที่เขาทำขนมจีนผสมน้ำ ขันเขาใข้ขันโออะลูมิเนียมไม่มี มีก็ขันลองหิน เขาก็ไม่ให้ใช้เกลียด เขาใช้กะลามะพร้าวเตรียมขูดขนเอี่ยมเขาเรียกกะโหลกใช้ไว้อาบน้ำเด็กมีรูที่ก้น

    อ่างก็ไม่ให้ใช้ ตกลงเราก็ใช้แบบหมอตำแยสอนเรา นั่งเหยียดขาสองข้าง เอาเด็กนอนหว่างเขาเอาหัวไปทางปลายเท้า เอากะลาตักน้ำล้างสบู่ก็ไม่มี เขาใช้น้ำขี้เถ้าต่างสบู่ เราก็ไม่กล้าใช้กับเด็กอ่อน เขาบอกไม่เป็นไร เราเปลี่ยนเป็นขอน้ำมันมะพร้าวทา แล้วอาบด้วยน้ำอุ่นเช็ดให้สะอาดก็ขอผ้าเขาปู จะเอาเด็กวาง เขาก็เอากะด้งสำหรับฝัดข้าวมาวาง เอาผ้าปูให้เราเอาเด็กวาง เขาบอกให้ป้าอีหนูล่อนด้วย

    เขาสอนให้เรายกกะด้งล่อนไปสามรอบ แล้วให้พูดว่า ลูกใคร ๆ มารับเอา ให้เราทิ้งกะด้งแรง ๆ มีคนรับเอาผู้หญิงแก่มารับลูกข้าเอง เขาจะเอาด้ายดิบสีขาวผูกข้อมือ แล้วก็พูดไปว่าให้เลี้ยงง่าย โตวันโตคืนไม่ให้มีโรคมีภัย โตขึ้นจะได้บวชได้เรียน จนเป็นสมภารเจ้าวัด เรียบร้อยก็จะมีคนแก่ ๆ ผู้ชายเอาเหล้า เอามือลูบหัวปิดหน้าเด็ก ไม่ให้เหล้าที่พ่นเข้าตาท่องคาถา ๓ จบ พ่น(เรียกพ่นตะพร้าน)เรียบร้อยยกกะด้งเด็กขึ้นวางบนหลังหีบ ทำกะโจมโดยผ้านุ่งโจงกะเบนพอจีบแล้วผูกเชือกโยงบนขื่อบ้าน คือกะโจมครอบกะด้งเด็กเก็บเสร็จ ทีนี้รกเราต้องเอาใส่หม้อดิน เอาเกลือเม็ดใส่ไม่ให้เหม็นเน่า รอจนแม่ออกไฟ แล้วเอาไปฝัง แล้วแต่ถ้าให้อยู่บ้านไม่เที่ยวก็ฝังใต้บันไดบ้าน

    อยู่ไฟประมาณ ๗-๑๐ วันอย่างน้อย คือว่าอยู่ไฟได้จะแข็งแรง ไม่มีโรคมีภัย ถ้าไม่แข็งแรง เขาจะบอกว่ามันอยู่ไฟไม่ได้ผอมแห้งแรงน้อย

    อีก ๒-๓ วันได้ทำคลอดอีก ๑ ท้องเป็นเพศหญิง รู้สึกว่าชาวบ้านชักจะเชื่อถือแล้วว่า เราทำคลอดได้ ต่อมาอีกไม่กี่วันได้ถูกตามคลอด ซึ่งเป็นรายที่ตื่นเต้นเพราะเมื่อไปถึงบ้านคนไข้ ทราบจากหมอตำแยบอกว่า ปวดมาสามวันแล้ว ถามคนไข้ว่าเด็กไม่ดิ้น เราก็ฟังหัวใจเด็กไม่พบตรวจปากมดลูกเปิด ๒ เซนติเมตร คนไข้ท้องสาวปวดมาก เมื่อป้ารู้ว่าจะต้องทำคลอดที่ตายคาท้อง ก็ตื่นเต้นมาก เพราะตอนเรียนมาอาจารย์คอยดูเราก็ไม่กลัว

    พอมาทำลำพังก็รู้สึกใจไม่ดี กลัวจะทำไม่ได้ นั่งเฝ้าอยู่หลายชั่วโมง บรรดาหมอเป่าทั้งหลายเปลี่ยนกันมาเป่าจะให้คลอด เราก็ห้ามเขาไม่ได้ จนสุดท้ายเราตรวจปากมดลูกว่าเปิดหมด เราก็ขอให้คนไข้นอนลาบ สอนให้คนไข้เบ่งให้กำลังใจ ฝ่ายหมอตำแย ก็จะข่มให้ออก เราต้องคอยพูดเดี่ยวป้าอย่าข่ม(ต้องโกหกว่าเด็กยังหันหัวไม่ตรง) ผลสุดท้ายก็คลอดออกมาได้ ป้าดีใจสุดขีด ที่ทำสำเร็จแต่เด็กตาย พอเด็กพ้นท้องตัดสายสะดือเอาเด็กออกไปพ้นแม่จะเอารกออก ปรากฏว่าเขาเอาแหที่ทอดปลามาคุมทั้งป้าและคนไข้ไว้ บอกว่าไม่ให้ลูกที่ตายมาเอาแม่ไป

    เมื่อทำคลอดเรียบร้อยออกมาข้างนอก จึงพบว่าบรรดาพี่น้องช่วยกันเอาเชือกหนังควาย ที่เขาทำเป็นเส้นเกลียวไว้ เมื่อเวลาตายเขามาล้อมรอบบ้านกันผีเข้ามาทั้งยังเสกข้าว  ข้าวสารซัดรอบบ้านและบนหลังคา ส่วนทารกที่ตายหมอผี ก็เอาใส่หม้อดินลูกใหญ่ ผูกสายสิญณ์เอาไปฝังป่าช้า จากนั้นมาดีขึ้นเรื่อย ๆ ทำคลอดเพิ่มขึ้น แต่การทำคลอดจะไม่นิยมมาคลอดที่สุขศาลา ต้องไปทำคลอดให้ที่บ้าน

    ต่อมามีคนไข้บ้านห้วยปลาเน่า ตำบลธารทหาร กรณีพิเศษคลอดไม่ได้ คนไข้ท้องที่  ๑๓ ปวดมา ๑ วัน ๑ คืน ไม่คลอด มาตามเอาม้ามารับ ป้าขอเดิน เข็ดตกม้า เจ็บกว่าตกช้างอีก ต้องเดินลุยน้ำลุยโคลนบนหัวคันนาไป จนถึงบ้านคนไข้ เราก็เตรียมตัวทำคลอด เมื่อตรวจเรียบร้อยหัวใจเด็กยังเต้น พบท่าขวาง ท่าแขน ตรวจปากมดลูกเปิดแล้ว  ป้าบอกว่าทำไม่ได้ จะต้องเอาไปสุขศาลาชั้น ๑ ชุมแสง คนไข้ไม่ยอมไป ไปก็ไม่รอด  เพราะต้องหามเดินทางไกลด้วยยอมตายดีกว่า ตกลงป้าก็ให้เอาม้าจดหมายไปรับคุณป้าละมูล พยาบาลผดุงครรภ์ชั้น ๑ ของสุขศาลาชุมแสงมา คุณป้าเตรียมเครื่องมือ แล้วก็ลงมือทำคลอด ป้ามีหน้าที่ส่งเครื่องมือให้พร้อมคุณป้าก็สอน เราไม่มีสิทธิทำคลอดท่าผิดปกติ แต่เพื่อชีวิตของผู้ป่วยเราจะตัดสินใจเอาเราก็ต้องเสี่ยง

    แต่ก่อนจะทำต้องตกลงกับญาติผู้ป่วยว่าจะยอมให้เราทำหรือไม่ เพราะเรารับรองชีวิตผู้ป่วยไม่ได้ ถ้าเกิดผิดพลาดจะโทษเราไม่ได้ เมื่อตกลงยินยอมเราก็ทำให้ คุณป้าทำไปสักพักเรียกป้ามาให้ช่วย คุณป้าเป็นคนอ้วนใหญ่โต มือก็โต ลงมือตัดแขนเด็ก แล้วล้วงไม่ได้ ต้องให้ป้าเป็นคนทำ แต่คุณป้าบอกให้ทำทุกขั้นตอน ผลที่สุดป้าทำสำเร็จเรียบร้อย เอาเด็กออกมาหมด แม่ปลอดภัยแข็งแรง ป้าดีใจสุด ๆ ทำได้และจะทำให้ได้ –ท่าแขน เมื่อคุณป้าเกษียณราชการ ได้มอบเครื่องมือทำคลอดผิดปกติให้ป้า

    ต่อมาป้ก็ทำคลอดมากขึ้น ทั้งปกติและผิดปกติ ท่าก้น ท่าแขน หัวโต หัวบาต เพราะต้องรับผิดชอบทุกตำบลในเขตกิ่งอำเภอหนองบัว มีอยู่ ๑ รายที่น่าขันคือนางใบ-นายเกิด ปวดท้องมีแขนเด็กออกมา แต่ก่อนอยู่บ้านเนินน้ำเย็น เดี๋ยวนี้ย้ายไปอยู่ตะกรุดแรต  ป้าบอกเขาว่าทำอะไรไม่ได้ ต้องเช้าแจ้งก่อน มืด ๆ ทำไม่เห็นรุ่ง(ไม่มีตะเกียงใช้ ใช้ขี้ไต้จุดและน้ำมันมะพร้าวใช้ด้ายดิบพาดบากชามจุดไฟ) ถ้าอยากออกให้ได้ ก็หามกันไปขึ้นรถไฟที่สถานีชุมแสง แล้วต่อไปโรงพยาบาลนครสวรรค์ 

    ตกลงเช้าเขามาตามป้าอีกครั้ง ป้าก็ไปบ้านสาธารณสุขกิ่งอำเภอ คุณณรงค์ อยู่ณรินทร์(คุณสุวิทย์ เสียชีวิตแล้ว) บอกว่าไปช่วยเราหน่อย หมอณรงค์ก็บอกว่าเราทำไม่เป็น ป้าก็ว่าไม่เป็นไรไปเป็นเพื่อนกัน

    ป้าไปถึงบ้านคนไข้ ก็พบหมอเป่าทั้งหลายเยอะหมด หมอตำแยก็บอกว่าปั่นไม่ขึ้น แขนเด็กห้อยอยู่ มีชามใส่กล้วยน้ำว้า ๑ หวี เรียกให้เด็กมากินกล้วย ป้าไปถึงทำความสะอาดเรียบร้อย ถามญาติยินยอมให้ทำ ก็ลงมือตัดแขน ตัดของต่าง ๆ ที่จะตัดได้ เพราะเครื่องมือเรามีใบมีดผ่าตัด กับกรรไกรเท่านั้น พอเอาอวัยวะออกมากอง เสียงล้มตึ้ง ญาติคนไข้เรียกป้าให้ช่วยเหลียวไปดู พบหมอณรงค์นอนหงายหน้าซีดเป็นลม เราก็กำลังยุ่ง ดันมาเป็นลม ต้องละมือมาปฐมพยาบาลอีก พอฟื้นลืมตาขึ้นมา บอกเลยทีนี้เขาไม่มากับตัวอีกแล้ว ป้าก็เลยบอกว่าเออทีนี้เขาก็ไม่เอาตัวมาด้วยหรอก ใจปลากะซิว(น่าขำ) ตกลงป้าก็ทำคลอดสำเร็จเรียบร้อย แม่ปลอดภัยแข็งแรงยังอยู่ทุกวันนี้

    การทำคลอดของป้ามีผู้ที่นิยมมากขึ้นแต่เราต้องไปทำให้ที่บ้าน เริ่มจากข้าราชการ ครู ตำรวจ พ่อค้า คนจีน ลูกหลัง ๆ นี้ป้าทำคอลดเกือบหมด ชาวบ้านก็เพิ่มเยอะไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน เพราะทั้งอำเภอมีป้าคนเดียว ค่าทำคลอดไม่ต้องพูดถึง หมอตำแยยังมีขันข้าว ๖ สลึง ป้าก็ได้ค่าทำคลอดรายละ ๑๐ บาท บางรายก็ไม่ได้ให้ 

    คนจีนเขามีอั่งเปาให้พิเศษ จะเอาอะไรนักหนา ๑๐ บาท ก็อย่างแพงแล้ว ป้าบรรจุครั้งแรกเงินเดือน ๓๐ บาทเท่านั้น ระยะหลังทำคลอดเดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๒๐-๓๐ ท้องขึ้นไป เพิ่งจะลดเมื่อมีผดุงครรภ์โบราณมาช่วย พอคุณสมจิตต์ –เจิมตรี  ภรรยาสาธารณสุขอำเภอเข้ามาป้าวางมือ พอดีมีสถานีอนามัยเกิดขึ้นหลายแห่ง โรงพยาบาลคริสเตียนมาอยู่ก็สบายขึ้น ยุ่งแต่งานบริการด้านอื่น

    ประวัติการทำงานของป้าเป็นบุคคที่ขยันขันแข็งรับผิดชอบงาน มีผลงานดีเด่นในจังหวัด และระดับประเทศ จนได้รับหนังสือรับรองและชมเชยจากกระทรวงสาธารณสุข ๑๙ พฤศจิกายน  ๒๕๒๔  โดยนายแพทย์เสม  พริ้งพวงแก้ว  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ป้าเป็นคนโอบอ้อมอารี เข้ากับข้าราชการและประชาชนได้ดี จึงทำงานมาด้วยดีเป็นที่รักของคนรอบข้าง จนเกษียณอายุราชการ ณ วันนี้ป้าอายุย่างเข้า ๗๙ ปี มา ๕ เดือนแล้ว คงจะได้รับรู้ข่าวสารของสาธารณสุขไปจนหมดอายุป้า

    ข้าราชการกิ่งอำเภอหนองบัวรุ่นแรกมี ๘ มีคน ถึงแก่กรรมหมด ๗ คน เหลือป้าถนิมคนเดียว

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล ,ท่านพระอธิการโชคชัย ,สวัสดีท่าน อ.วิรัตน์ และทุกๆท่านครับ

    เพื่อให้ งานสร้างสื่อความรู้ หรือใช้เป็นสื่อสร้างการไหลเวียนทางความรู้และข้อมูลข่าวสารต่างๆของคนหนองบัว

    และของหนองบัว กับโลกภายนอก การกระจายองค์ความรู้เหล่านี้ รวมถึงการช่วยสรรสร้างบันทึกเรื่องราวต่างๆ จากคนหนองบัว

    ที่อยู่ต่างถิ่น ให้มีเรื่องราวหลากหลายมากยิ่งขึ้น ผมจึงได้รวบรวม e-mail เพื่อนฝูง พี่ ๆ น้อง ๆ ที่พอจะหาได้แจ้ง Link ไปให้

    ทุกคนทราบ เผื่อใครจะมีบันทึกเรื่องราว ในแต่ละเรื่อง ในอดีต จะได้มีความหลากหลายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอธิการโชคชัยครับ

    • ขอร่วมชื่นชมยินดีกับท่านพระอาจารย์มหาแลด้วยเช่นกันครับ
    • เวทีคนหนองบัวเปิดศักราช ๒๕๕๔ งดงามมากอย่างก้าวกระโดดแทบจะทุกมิติเลย ทั้งทางด้านการเพิ่มสมาชิกผู้ร่วมริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งๆดีๆช่วยกัน การได้ร่วมเป็นแหล่งข้อมูลและวัตถุดิบให้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขได้นำเอาภาพไปทำสื่อและบันทึกสำหรับเผยแพร่แก่เครือข่ายผู้นำ อสม.ในวาระปีใหม่ การได้เป็นกรณีตัวอย่างไปนั่งแบ่งปันประสบการณ์ในเวทีจัดการความรู้แห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา การได้ข้อมูลป้าหมออรุณและป้าหมอหนิมมากำนัลแด่เวทีคนหนองบัวและสาธารณชนผู้สนใจ รวมทั้งการเปิดบล๊อกของท่านพระอาจารย์มหาแล เรียกว่าเป็นการเริ่มเถลิงศกที่ชวนให้คึกคักฮึกเหิมและได้กำลังใจกันน่าดูเลยนะครับ
    • หัวข้อนำเสนอโครงร่างวิทยานิพนธ์ของท่าน เรื่อง "การพัฒนารูปแบบ องค์ความรู้ ผ่านระบบการจัดการความรู้ด้านประวัติศาสตร์ชุมชน ผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเวทีคนหนองบัว กรณีศึกษาอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ "  ก็พอจะมีประเด็นความสนใจที่เจาะจงและกรณีศึกษาที่จะเลือกก็พอจะมีแง่มุมสำหรับทำการศึกษาในแง่นี้ได้นะครับ ก็น่าสนใจดีนะครับ ขอแสดงความยินดีและร่วมอนุโมทนาในความยังมุมานะพัฒนาอยู่เรื่อยๆในสิ่งที่สนใจนะครับ
    • ในมุมมองผมนั้น ประเด็นที่น่าจะเน้น น่าจะอยู่ที่ รูปแบบและกระบวนการสร้างองค์ความรู้ชุมชนในชนบทโดยการมีส่วนร่วมและความริเริ่มจากชุมชนในท้องถิ่นผสมผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนจะเป็นความรู้ทางด้านใดบ้างที่สามารถสร้างขึ้นได้อย่างเหมาะสมกับวิธีการดังกล่าวนี้ของกรณีศึกษาที่เลือกนั้น น่าจะเป็นการหาคำตอบจากการวิจัยไปด้วยนะครับ ไม่น่าจะไปเจาะจงจำเพาะเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน เพราะทั้งจะทำให้ลดความสำคัญด้านเนื้อหาของการวิจัยและเกิดประเด็นซ้อนขึ้นมากับเรื่องรูปแบบและกระบวนการสร้างความรู้
    • ขณะเดียวกัน หากผมจะเสนอแนะเพิ่ม ก็จะเสนอแนะว่าหากจะดูประวัติศาสตร์ชุมชน และเนื้อหาทั้งหลายที่เหมาะสมแก่การสร้างขึ้นได้ด้วยวิธีการอย่างนี้แล้ว ก็น่าจะครอบคลุมไปถึงประเด็นเนื้อหาที่พระคุณเจ้าจะสามารถนำเอาไปใช้ทำงานหรือนำไปพัฒนาบทบาทของพระสงฆ์ รวมทั้งพัฒนาปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัดกับบ้านได้ด้วยก็จะยิ่งน่าสนใจนะครับ โดยเฉพาะการวิเคราะห์และศึกษาดูเนื้อหาที่เกี่ยวกับทุนทางสังคมด้านศาสนาและวัฒนธรรมทางจิตใจ ซึ่งจะทำให้เห็นโอกาสที่จะสร้างความรู้และส่งเสริมการเชื่อมโยงกันของชุมชนกับบทบาทของวัด ได้อย่างเหมาะสมในบริบทใหม่ๆของโลกมากยิ่งๆขึ้นน่ะครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    ผมต้องขอร่วมอนุโมทนาและชื่นชมยินดีไปกับพระคุณเจ้าหลายอย่างเลยนะครับ
    ยิ่งได้อ่านเรื่องของป้าหมอหนิมนี่ต้องถือว่าเป็นข้อมูลสังคมสุขภาพและประวัติศาสตร์พัฒนาการของชุมชน รวมทั้งระบบสุขภาพในระดับชุมชนเชิงพื้นที่แห่งหนึ่งของประเทศที่น่าสนใจและน่าประทับใจอย่างที่สุดเลยละครับ ผมจะหาวิธีร่วมเรียบเรียงและประมวลเป็นองค์ความรู้ทางแง่ต่างๆ ต่อไปให้อีกนะครับ

    โดยเฉพาะภาพของสังคมและวิถีชีวิตของผู้คนที่สะท้อนอยู่ในเรื่องที่ป้าหมอหนิมบันทึกถ่ายทอดไว้ ประเดี๋ยวจะหาวิธีวาดภาพ ทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ของชุมชนหนองบัวให้นะครับ

    เราเริ่มมีข้อมูลและวัตถุดิบที่ดีมากจริงๆครับ น่าสนุกและมีคุณค่ามากจริงๆครับ ไม่ใช่เฉพาะของหนองบัวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องราวเชื่อมโยงออกไปจากชุมชนบ้านนอกเล็กๆ แต่สะท้อนภาพของประเทศหลายเรื่องและเชื่อมโยงกว้างขวางไปสู่มิตินานาชาติอีกด้วยครับ

    สวัสดีครับคุณธนกฤตครับ
    เห็นด้วยอย่างยิ่งในความคิดของคุณธนกฤตเลยละครับ เป็นความริเริ่มที่จะยิ่งเชื่อมโยงให้เวทีคนหนองบัว สามารถเข้าถึงได้ง่ายและกว้างขวางมากยิ่งๆขึ้นของคนหนองบัวนะครับ

              ประวัติการสร้างสุขศาลาชั้น ๒ : กิ่งอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

    วันนี้ขอเสนอบันทึกของป้าหมอหนิม อ่วมวงษ์ ต่อจากตอนที่แล้ว ดังนี้

                  
                  (ภาพที่๑)สุขศาลาชั้น ๒ กิ่งอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๖

    วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๑ เป็นวันที่มีกิ่งอำเภอหนองบัวขึ้นอยู่กับอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสรรค์ สาธารณสุขอำเภอได้แก่นายสุวทิย์ บูรณพันธ์ มาปฏิบัติงานพร้อมกับข้าราชการกิ่ง ส่วนป้ายังไม่ได้มา ตั้งกิ่งได้ ๕ เดือน วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๑ ป้ามาถึง ป้ามาอยู่แล้วประมาณ ๑-๒ ปีก็เริ่มสร้าง

                  
                (ภาพที่๒)สุขศาลาชั้น ๒ กิ่งอำเภอหนองบัว ต่อมาในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๓ เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีอนามัยอำเภอหนองบัว

    ป้ามาอยู่ก่อนสร้างกิ่งมีการวัดที่แบ่งกัน เพราะยังไม่รู้เขตตรงไหนเป็นตรงไหน คุณสุวิทย์ก็ไม่อยู่ ตกลงป้าก็ไปแทนใส่งอบคนละ ๑ ใบ ยืมชาวบ้านมา ๓ คนคือ (๑)ปลัดกิ่ง ร.ต.ต.ประทวน  สิทธิธูรย์ (๒)หัวหน้าสถานีตำรวจ จ่าแก้ว (๓)สาธารณสุขกิ่งอำเภอ ป้าไปแทน

                
                 (ภาพที่๓) สถานีอนามัยตำบลหนองกลับ:สถานีอนามัยประจำอำเภอหนองบัว พ.ศ. ๒๕๒๒ 

    ขณะนั้นยังรกด้วยหญ้าแฝก ต้นสาบเสือต้นไม้ใหญ่ มีต้นพลวง ต้นเต็ง ต้นรัง ช่วยกันถือเชือกมะลิลา แบ่งเป็นกิ่งอยู่ทางตะวันตก สุขศาลาอยู่กลาง ตะวันออกสถานีตำรวจของกิ่งมากหน่อย ของสุขศาลากับสถานี ตำรวจเท่ากัน ป้าบอกว่าต้องเอาไว้กว้าง ๆ เดี๋ยวจะต้องมีโรงพยาบาล ไม่อย่างนั้นเขาก็ให้เราน้อย ตอนหลังที่ด้านตะวันออกหดไปเยอะ  หลวงพ่ออ๋อยให้เขาไปเพราะที่ทั้งหมดนี้ไม่มีใบจับจองไม่มี น.ส. ๓ เป็นที่สาธารณะ

                 
                  (ภาพที่๔)อาคารกิ่งอำเภอหนองบัว พ.ศ.๒๔๙๕ ภาพนี้ถ่ายวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕

    กำหนดสร้างกิ่ง ประมูลเรียบร้อย ๓ หลัง

    (๑)กิ่งอำเภอหนองบัว เรือนไม้ ๒ ชั้น หลังคามุงกระเบื้อง(๒)ศาลาประชาคม เรือนไม้ ๒ ชั้น หลังคามุงกระเบื้อง(๓)สุขศาลาชั้น ๒ กิ่งอำเภอหนองบัว เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวได้ถุนสูงหลังคามุงกระเบื้อง

    ไม้ที่ใช้เลื่อยเองใช้คนงานก่อสร้างเลื่อยปื้นละ ๒ คน ขณะนั้นไม้เยอะมาก การประมูลสร้าง ได้แก่ นายแม้น คำประกอบ พี่ชายนายสวัสดิ์  คำประกอบ ส.ส.นครสรรค์ ลงมือสร้าง กระเบื้องที่มุงหลังคาจะทำเอง โดยช่างจะหล่อแบบเป็นแผ่นตรงมุมจะมีตุ่มสำหรับเกาะไม้ระแนงเป็นชั้น ๆ

    สุขศาลาชั้น ๒  กิ่งอำเภอหนองบัวเปิดดำเนินการ  เมื่อวันที่ ๑  มีนาคม  ๒๔๙๕ และวันที่ ๘  มีนาคม  ๒๔๙๕  ป้าแต่งงานกับนายจำลอง  อ่วมวงษ์  ปลัดอำเภอขาณุวรลักษณ์บุรี จังหวัดกำแพงเพชร  ป้าเป็น ป้าถนิม  อ่วมวงษ์  พ.ศ. ๒๔๙๗  ได้งบประมาณสร้างบ้านพักสาธารณสุขกิ่งอำเภอหนองบัว พ.ศ. ๒๕๑๖  พายุลมฟ้าลมฝน มาหอบเอากระเบื้องหลังคา และไม้เครื่องบนไปหมดก็ต้องซ่อมใหม่ เปลี่ยนหลังคาเป็นสังกะสี พ.ศ. ๒๕๐๒  โดนพายุอีกหอบสังกะสีไปถมตัวอาคารทรุดต้องซ่อมใหญ่  ตัดเสาให้ต่ำลงหล่อปูนที่ก้นเสาทุกต้น

    ทุกครั้งสุขศาลาพังอำเภอหลังคาปลิวเหมือนกันต้องซ่อม  พายุครั้งหลังยกหลังคาด้านหลังบ้านนายอำเภอยกไปตกอยู่ที่ข้างรั้วบ้านป้าทั้งแบะ รวมทั้งไม้ด้วย ๖ มิถุนายน  ๒๔๙๙  กิ่งอำเภอหนองบัวได้เป็นอำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสรรค์

    ๑  มกราคม  ๒๕๐๓  สุขศาลาชั้น ๒ อำเภอหนองบัวเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีอนามัยอำเภอหนองบัว พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้เปลี่ยนสถานีอนามัยหนองกลับ รับผิดชอบเฉพาะตำบลหนองกลับ ทั้งอำเภอหนองบัวมีสถานีอนามัยทั้งหมด ๙ แห่ง มีโรงพยาบาลเอกชน  ๑  แห่ง

    ป้าเป็นหัวหน้าสถานีนามัยหนองกลับมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ๔ คน (๑)ป้าถนิม อ่วมวงษ์ ผดุงครรภ์ชั้น ๒ หัวหน้าสถานีอนามัย (๒)พยาบาลผดุงครรภ์ชั้น ๑ (๓)ผดุงครรภ์ชั้น ๒ (๔)พนักงานอนามัย

    ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้งบประมาณสร้างโรงพยาบาลชุมชน ๑๐ เตียง มีผู้บริจาคที่ดินให้สร้างโรงพยาบาลคือกำนันแหวน บุญบาง บริจาคที่ดินให้ ๒๕ ไร่ ที่ใกล้กับวัดป่าหนองบัว(วัดป่ามเขือ) คณะกรรมการกระทรวงสาธารณสุขมาดูลงมติว่าไม่เหมาะสมมีความเห็นว่า ที่ของสถานีอนามัยหนองกลับเหมาะสมกว่า ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ จึงได้ดำเนินการสร้าง  ๒๘ มกราคม ๒๕๒๕ สร้างเสร็จลมฝนฉลองเลย กระเบื้องปลิว เขาไม่มาดูกัน จะมาให้ป้าเซ็นต์รับ ป้าเป็นกรรมการด้วย ป้าไม่เซ็นต์ ต้องมาซ่อมให้เรียบร้อยถึงจะเซ็นต์ พอโรงพยาบาลเสร็จ ป้าก็โอนเข้าโรงพยาบาล สถานีอนามัยยุบโดยปริยาย เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว ที่สถานีอนามัยหนองกลับของป้าโดยมีเจาหน้าที่ ดังนี้ (๑)นายแพทย์เชิดพงษ์  สันตติ ผู้อำนวยการโรพยาบาล(๒)คุณคชาภรณ์ เจียรนิวัติ พยาบาลผดุงครรภชั้น ๑ (๓)ป้าถนิม อ่วมวงษ์ ผดุงครรภชั้น ๒ (๔)คุณเตือนใจ แช่มชมพู ผดุงครรภ์ชั้น ๒ (๕)คุณวิรัตน์ ปานศิลา พนักงานอนามัย

    มีคนงาน ๗ คนต่อมาก็ได้พยาบาลมาอีก ๓ คน ป้าตำแหน่งส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลหนองบัว แต่งานที่ทำไม่ใช่เลย ป้าต้องเที่ยวไปดูงานตามโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่ง โดยผู้อำนวยการพาไปดูงาน คิดดูนะเราไม่เคยเรียน การเงินการธุรการ สถานีอนามัยก็มีแต่มันเล็กนี่  โรงพยาบาลงานก็ต้องใหญ่ เจ้าหน้าที่ไม่มีส่งมาเลย ธุรการออกหนังสือโต้ตอบ  การเงินออกใบเสร็จวางฏีกาเงินเดือน-จ่ายเงินเดือน  พิมพ์ดีดก็ไม่เป็นต้องเรียกลูกจ้างประจำมาเป็นผู้พิมพ์หนังสือให้ จนเดือนมิถุนายน ๒๕๒๕ ทางการส่งเจ้าหน้าที่ธุรการมาให้ดีใจมาก พอวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๖ ป้าทั้งคณะย้ายขึ้นไปทำงานบนโรงพยาบาลชุมชน ๑๐ เตียง ทำพิธีเปิดโรงพยาบาลหนองบัว โดยคุณมีชัย  ฤชุพันธ์  ทำบุญเปิดป้ายเรียบร้อย ไปรับมอบโรงพยาบาลคริสเตียนที่ยกให้กระทรวงสาธารณสุข อยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลหนองบัว ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลหนองบัว ๖ เดือน ขนย้ายไปอยู่โรงพยาบาลคริสเตียน ที่มอบให้เพราะสถานที่กว้างขวางเหมาะที่จะได้ขยายเป็น ๓๐-๖๐ เตียง ป้าทำงานอยู่ห้องธุรการ ทำพัสดุดูแลทั่วไปจนครบอายุราชการ.

                                ตำบลหนองบัวแต่ก่อนขึ้นกับอำเภอท่าตะโก

                      
                   (ภาพที่๑)ป้าหมอหนิม อ่วมวงษ์ : รับโล่ห์เงินรูปราชสีห์คู่เกาะพานรัฐธรรมนูญที่ระลึกในการจัดการหาเงินบริจาคสมทบทุนขุดซ่อมสระน้ำวัดหนองกลับ ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว โดยได้รับจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ. ๒๔๙๓  สระวัดลูกนี้เพิ่งขุดเป็นครั้งแรก เดิมเป็นหนองน้ำ 

           ป้ามีความรู้สึกตั้งแต่อายุ ๘-๑๐ ขวบ จะรู้จักบ้านหนองบัวอยู่ในสมอง พ่อป้าเป็นครูโรงเรียนท่าตะโกพิทยาคม  แต่ก่อนก็เรียกว่าโรงเรียนประชาบาลท่าตะโก ต่อมาได้ถูกเรียกตัวให้ไปเป็นผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอท่าตะโก พ่อจะต้องออกท้องที่ไปตรวจตามโรงเรียนต่าง ๆ รวมทั้งโรงเรียนหนองบัว ซึ่งอยู่บนศาลาวัดหนองกลับ  เวลาสอบไล่พ่อจะต้องมาเป็นกรรมการคุมสอบภาคปลายปี เคยมาหนองบัวเป็นไข้อีสุกอีไสอย่างแรง  มาพักอยู่บ้านกำนันวัน  อินสุธา กำนันเก่าเป็นเพื่อนกับพ่อ พี่ออน-พี่ปิ่น ใจคำ  ซึ่งเป็นลูกสาวและลูกเขย เล่าให้ฟังว่าเป็นอย่างแรงเหมือนฝีดาษต้องนอนตอง(ตองกล้วย)นอนที่นอนไม่ได้ติดผ้าหมด  ไข้สูงมากประมาณ  ๗ วันค่อยดี

    คนหนองบัวก็หาวันไปส่งให้พ่อขึ้นหลังม้าพาไปส่ง เดินจูงม้าเดินตามไป พวกหนองบัวจะไปพักบ้านป้าเป็นประจำ เพราะเวลาไปเสียค่าธรรมเนียมอะไรต่าง ๆ กลับไม่ทันต้องนอนค้าง  อาก็น้องชายคนเล็กพ่อ ป้าสำเร็จโรงเรียนฝึกหัดครูนครสวรรค์ ก็ขอมาอยู่ที่โรงเรียนวัดหนองบัว ชื่อครูเชื้อ  กุลสวัสดิ์ คนรุ่นเก่าจะรู้จักดี อาก็ป้าจะกินบอระเพ็ดวันละ  ๒ องคุลี  กินทุกวัน อยู่หนองบัว ๔-๕ ปี ถึงขอย้ายกลับไปอำเภอท่าตะโก  ครูใหญ่ครูแก้ว  อินทรจันทร์สุข  ครูนิคม ปัญญาพร เป็นเพื่อนกับพ่อป้า พ่อป้ามีความผูกพันกับคนหนองบัวมาก พอป้าสำเร็จ(การศึกษา)จึงให้ป้ามาอยู่หนองบัว ไม่ให้ไปอยู่ที่อื่น

    ที่ป้าแน่ใจอย่างมากว่าหนองบัวขึ้นกับอำเภอท่าตะโก ไม่ใช่ขึ้นกับชุมแสงเพราะเมื่อป้าอายุ ๑๐ ขวบ บ้านป้าใกล้กับบ้านนายอำเภอท่าตะโก เพราะนายอำเภอท่าตะโกคือคุณลุงขุนอนุกูลประชากร(พยัควิเชียร) เป็นลุงของคุณปรียา พยัควิเชียร มาประจำสำนักงานผดุงครรภ์บ้านห้วยด้วนคนแรก  ได้เป็นผู้สร้างบ้าน โดยราษฎรมาช่วยกันปลูกบ้านให้พ่อป้า  และจากบ้านป้าถึงตัวที่ว่าการอำเภอท่าตะโกห่างกันประมาณ ๓๐ วา ที่หลังอำเภอมีต้นฝรั่ง ๒ ต้นติดกับระเบียงหลังอำเภอมีลูกกรงยื่นออกมานอกหลังคา เวลาโรงเรียนเลิกป้ากับเพื่อนเคยไปกับเพื่อน ไปเก็บลูกฝรั่งกัน วันนั้นไปกัน ๓ คน ได้กลิ่นเหม็นเน่าก็บ่นกันว่าอะไรเน่ามัวแต่แหงนดูลูกฝรั่ง  จนอีกคนแหงนขึ้นไปดูเป็นขาศพมีเท้ามีขา ๑ ขามีเชือกผูกหัวเท้าห้อยอยู่ชายคาต๋องแต๋ง ร้องกันคับบ้านเลยผี ๆ อีกคนอยู่บนต้นฝรั่ง ตกลงมาวิ่งตามกันเป็นแถว ตอนหลังจึงรู้ว่าเป็นขาของศพที่ไฟไหม้บ้านครั้งใหญ่ 

    บ้านกุฏฤษี-โคกมะตูมไหม้หมดมีคนตาย ๑ คน กำนันก็เอาศพที่เหลือขาเดียวไปส่งอำเภอท่าตะโก  ป้าจึงว่าแต่ก่อน ตำบลหนองบัว ขึ้นกับอำเภอท่าตะโก  ไม่ใช่ขึ้นกับอำเภอชุมแสง ตำบลอื่นละก็ใช่เรียนหนังสือบนศาลา  จึงมีฟากหนึ่งขึ้นกับท่าตะโก อีกฟากขึ้นกับอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร

    การคมนาคมอำเภอหนองบัว : เดินทางด้วยยานพาหนะ ช้าง ม้า เกวียน เดินเท้า

          ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ป้ามาอยู่กิ่งอำเภอหนองบัว ขึ้นกับอำเภอชุมแสง การคมนาคมลำบากมาก ยังไม่มีถนนเวลาจะออกไปจังหวัด ต้องผ่านอำเภอชุมแสงทางเดียวที่จะต้องไปฤดูแล้งใช้พาหนะ ช้าง ม้า เกวียน เดินด้วยเท้า  ไม่มีถนนจะเป็นทางในนาข้าวที่ชาวบ้านเขาทำนา  ถ้าเดินก็ได้ไต่หัวคันนา สลับทางเกวียนรก ๆ

    ม้าสะดวกกว่า แต่ม้า ๑  ตัวขึ้นได้คนเดียว ถ้าไปเกวียนก็ต้องนอนค้างตามทาง  ๑  คืน  เพราะวัวเดินไม่ถึง ต้องให้วัวพัก รุ่งขึ้นจึงจะไปอีกครึ่งวันถึง  ระยะทางจากหนองบัวถึงชุมแสงประมาณ  ๓๐  กิโลเมตร แต่จริง ๆ แล้วจะ ๓๕ กิโลเมตร  เพราะไปตรงไม่ได้ ส่วนมากข้าราชการจะใช้เดินด้วยเท้า เวลาไปซื้อของตอนที่ป้าไปอยู่ เกวียนยังไม่ค่อยมี พ่อค้าจะใช้วิธีหาบของเอา ไปซื้อจากตลาดชุมแสงมาขายหนองบัว

                                  
                                 
    ไดเจ๊กห้า : เป็นกลุ่มบ้านเรือนอยู่ตรงกลางระหว่างบ้านตาลินกับบ้านป่ารัง อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ประมาณหลักกิโลเมตรที่ ๒๕  ของถนนจากชุมแสง-หนองบัว แต่เดิมนั้น บริเวณไดเจ๊กห้าเป็นทางน้ำหลากมาจากเหนือล่องไปจรดกับห้วยปลาเน่าและห้วยวารี แล้วก็ไหลเทไปยังบึงบรเพ็ด(วาดภาพโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์)
    จนมีประวัติไดเจ๊กห้า เจ๊กห้าหาบเกลือมาขาย มาตายตรงนั้น จึงเรียกตรงนั้นว่าไดเจ๊กห้า  ระยะหลังนี้มีเกวียนเป็นคาระวานเลย หลายเล่มมีป้ากลีบเป็นหัวหน้า เจ๊กเฮี๊ยะ-เฮียตี๋  พี่หล่ำและพวกพี่น้องร่วม ๑๐ เล่ม พ่อค้าในตลาดจ้างไปเข็นของชุมแสงมาหนองบัว ถ้าจะไปราชการจังหวัด ก็ต้องขึ้นรถไฟ ที่สถานีรถไฟชุมแสง ไปลงที่สถานีปากน้ำโพ  แล้วลงเรือจ้าง เรือแจว ไปขึ้นที่ท่าน้ำ หน้าตลาดปากน้ำโพขึ้นรถ

    สมัยก่อนไม่มีรถเมล์  มีแต่สามล้อถีบ  สามล้อถีบไปส่งศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์  ตอนเรียนโรงเรียนสตรีนครสวรรค์(เก่า) บ้านพักป้าติดกับจวนข้าหลวง บ้านพักป้าไปอยู่กับอาก็ชั้น ซึ่งเป็นครูใหญ่ แต่ก่อนเรียกว่าโรงเรียนช่างไม้ เดี่ยวนี้เป็นโรงเรียนเทคนิคนครสวรรค์ ป้าผูกสามล้อประจำรับส่งไปโรงเรียนกลับบ้านเดือนละ ๕ บาท 

    พ.ศ. ๒๔๙๔ ปลัดกิ่ง นายสืบศักดิ์  สุขไทย พร้อมด้วยปลัดจ้อย  สาธารณสุขอำเภอ  นายสุวิทย์  เสมียนมหาดไทย  คุณนายปลัดกิ่ง  พร้อมด้วยป้า  น้ำท่วม  ปลัดกิ่งชอบไปดูเส้นทางตามลำคลอง ออกจากเส้นใหญ่ท้ายบ้าน ไปเข้าลำคลอง เด็กบ้าง ผู้ใหญ่บ้าง พอไปได้ โดยใช้เรือพาย ๒ ลำ แต่ประมาณไม่ถึงเดือน น้ำท่วมจะลด พวกป้าเข้าคลองไปสายห้วยร่วม น้ำเยอะกว่า สะดวกกว่า ไปถึงบ้านกำนันบุญมาก  รอดสการ 

    พักค้างคืน ๒ คืนถึงลากลับ  กำนันบุญมากเป็นผู้ที่ข้าราชการตำรวจทุกคนบันถือมาก ส่วนมากจะเรียกพ่อกำนัน  อัธยาศัยดี ใจคอโอบอ้อมอารีต่อลูกบ้าน และทุกคนไม่เป็นนักเลง ไม่ใช้อิทธิพล ใช้ความดีผูกมัดใจ ต่อมาทางกิ่ง ได้จัดการให้ชาวบ้านช่วยกันตัดกิ่งไม้ ตามทาง ลำคลอง ให้ใช้สะดวกแต่ถนนยังไม่มี 

    พ.ศ. ๒๔๙๕ ป้าแต่งงานกับลุง เวลาลุงมาเยี่ยมครั้งแรก ๆ ก็เดินมาระยะหลังน่าแล้ง ใช้จักรยานถีบมา เพราะจะมีทางบ้าง ยังไม่มีถนน  พ.ศ. ๒๔๙๔ มีรถเข็นไม้เข้ามา รถจากชุมแสง และรถของนายแม้น ที่ก่อสร้างกิ่งอำเภอหนองบัว ถนนยังไม่มี บุกกลางทุ่งนามีรถบรรทุกซุงมีสารี่พ่วง เพราะป้าเคยขึ้นไปทำคลอด ที่กระดานหน้าแกล หลานสาวกำนันพาบ  สะเทือนจัง แต่ก็ยังดีกว่าเดินไป ส่วนมากป้าไปทำคลอดตามตำบล ก็จะต้องเดินไป ไต่หัวคันนา ตรงไหนมีน้ำ ก็วิ่งหนีปลิงน้ำบาน

    ระยะหลัง กลางคืนมีตะเกียงรั้วใช้ค่อยดี คนนำหน้าถือตะเกียงป้าตาม  มีคนมาตามอีก ๒-๓ คน นึกภาพเอาสมัยนั้น ป้านุ่งผ้าถุง ใส่รองเท้าผ้าใบ กางเกงยังไม่มี ชาวบ้านเขาเดินเท้าเปล่า หรือไม่ก็ใช้รองเท้าหนังวัว หนังควาย  ร้อยเป็นหูคีบ เหมือนรองเท้าหูหนีบ เหมือนเดี๋ยวนี้

    พ.ศ. ๒๔๙๘ ก็ยังไม่มีถนน ป้าท้องแก่ เดินจากหนองบัว ลุงมารับ ออกแต่เช้ามืด ห่อข้าวไปกินตามทาง ไปกับพวกที่เขาไปชุมแสงกัน  พวกเขาออกหน้าไปหมดแล้ว  ลุงยังเดินเปาะแปะอยู่ ป้าก็บอกว่าอย่าลงนั่งนะ  ถ้าลงนั่งเดี๋ยวไปไม่ไหว  ลงนั่งป้าต้องฉุดลุก ป้าบอกว่าไม่เป็นไรให้ถึงชุมแสงค้างเสีย  ๑  คืน  แล้วไปต่อ พอดีถึงชุมแสง รถไฟขบวน เขาเรียกหวานเย็นมาจอดขึ้นเลย  ไปเสียค่าปรับเอาบนรถ  ลุงเป็นปลัดอำเภอ อยู่อำเภอโกรกพระ ป้าตั้งใจว่า จะคลอดที่นครสวรรค์ พอดีป้าไปตรวจ หมอบอกว่ายังไม่ออก  กำหนดคลอดอีก ๗ วัน ป้าค้างปากน้ำโพ ๑ คืน

    รุ่งขึ้น ขึ้นเรือเมล์แดงไปโกรกพระ  ก่อนนั้นยังไม่มีรถวิ่ง  ไม่ได้เอาอะไรไปกะว่าไปอยู่  ๒  วันก็กลับที่ไหนได้ปวดท้องคืนนั้นเลย  พี่สะอิ้ง ผดุงครรภ์สุขศาลาชั้น ๒ ภรรยาสาธารณสุขอำเภอ  คุณจรัญ ปัญญาฤทธิ์ เคยเป็นสาธารณสุขอำเภอหนองบัว  คลอดแล้ว ๓ เดือน พอดีฤดูน้ำพอดี ลงรถไฟจากสถานีชุมแสง ก็ขึ้นเรือพายบ้าง ถ่อบ้าง ถึงบ้านหนองบัวมืดพอดี อุ้มลูกเดินจากท้ายเนินใหญ่ มาบ้านพักที่ตลาดหนองบัว

    หนองบัวมีถนนและรถโดยสารคันแรกสายหนองบัว-ชุมแสง

    พ.ศ. ๒๔๙๙  นายอำเภอสืบศักดิ์  สุขไทย  ย้ายเข้ามาอีกครั้ง สานต่อขอที่ดินชาวบ้าน ทำทางไปชุมแสงได้มีปัญหาบ้างเล็กน้อย  บางคนก็ไม่ยอม จะให้อ้อมไป มันก็โค้งไป ผลที่สุดก็สำเร็จได้ถนนลูกรังเละ ๆ รก  ก็เดินติดหล่มลำบาก  พ.ศ. ๒๕๐๑ มีรถจิ๊ปเล็กรับจ้างคันแรก นายบุญธรรม-นางปัง มีรถจิ๊ปสีแดงของนายบุ๊ง(ลูกชายฮั้งคิม)ของคุณชาญ แสนศิริ(ร้านขายยาชาญศิริเภสัช) นางเคี้ยง(ลูกฮั้งลั้ง) ลุงพุฒ รวม  ๕  คัน ฤดูฝนเข้าก็ไปไม่ได้ ต้น ๆ พอได้  พอมีน้ำมากเข้าจิ๊ปเล็กไปไม่ได้ ก็มีรถหกล้อใหญ่ของฮั้งลั้งออกวิ่งแทน  พอติดหล่มก็ใช้ลวดสริงผูกกับต้นไม้ข้างทาง ช่วยดึงรถขึ้นจากหล่ม                   

                               
                              
    อธิบายภาพ :

    • ถนนหนองบัวชุมแสงแต่เดิมเป็นดินโคลน รถบรรทุกไม้ต้องใช้โซ่พันรอบล้อทุกล้อให้เกาะถนน พร้อมกับมีลวดสลิงด้านหน้าเพื่อยึดกับต้นไม้และฉุดให้รถบรรทุกวิ่งไปบนถนนดินโคลนตลอดทาง
    • รถบรรทุกไม้จากป่าหนองบัว บรรทุกซุงจากไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไปยังชุมแสง เพื่อล่องซุงไปแปรรูปและส่งไปตามเมืองต่างๆโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร
    • รถขนไม้และท่อนซุง ทำให้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีสาง นางพญาตานี นางไม้  รุกขเทวา รวมทั้งเรื่องลึกลับต่างๆเกี่ยวกับป่าและวิญญาณแห่งป่า บุคลิกของรถบรรทุกไม้และคนขับรถขนไม้จึงดูเป็นเรื่องขรึม ขลัง ลึกลับ น่ายำเกรง  เด็กๆและผู้หญิงมักถูกบอกห้ามเข้าใกล้ พร้อมกับมีเรื่องเล่าเรื่องผีผลักและทำให้โซ่ล่ามซุงขาด
      ภาพวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  ๒๕๕๒  ภาพจากบันทึก..โรงเรียนวันครู และบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์  โดยดร.วิรัตน์  คำศรีจันทร์ (๒๕๕๒)

    ป้าเป็นลูกเสือชาวบ้านรุ่นที่ ๒  ของอำเภอหนองบัว ไปรับธงพระราชทานจากในหลวง และสมเด็จพระราชินี พระเทพ ฟ้าหญิงองค์เล็กมาครบเว้นฟ้าชาย  ป้าเป็นคนเชิญพระบรมรูป ส.จ.เชิญธงไปลำบากรถ  ๖  ล้อติดหล่มต้องไปค้างนครสวรรค์  ๑  คืน กลางคืนฝนตกหนัก ที่ทำหลังคาไว้ให้ลูกเสือพังหมด ตากแดดตั้งแต่ ๙  โมงเช้า  จนบ่าย ๒  โมง  ถึงได้เสด็จป้าแต่งตัวธรรมดา นุ่งผ้าถุงใส่เสื้อแขนยาวสีขาวตัดในกลางคืนรุ่งเช้าใส่ยังไม่ได้ซักดินสอยังติดแดงทั้ง ๔  พระองค์หยุดยืนรับสั่งกับป้าตั้งนาน เข้าใจว่าป้าเป็นชาวนา ป้าก็ตอบแบบชาวบ้าน ถามมาลำบากไหม ป้าก็บอกว่าลำบาก ได้ข้าวมากไหม ก็บอกได้พอสมควร ทุกอำเภอเขาแต่งชุดไทยกันสวย ๆ กระโปรงสวย ๆ ก็ไม่หยุดนับว่าป้าโชคดีในชีวิต ทรงรับสั่งทุกพระองค์คุยอยู่นาน

                               

                               
                              
    รูปปั้นนายอำเภออรุณและรถแทรกเตอร์หน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัว : นายอรุณ วิไรรัตน์ อดีตนายอำเภอหนองบัว(๒๕๐๒-๒๕๐๘)นายอำเภอนักพัฒนายุคแรก ๆ สมัยที่หนองบัวยังมีสภาพความขาดแคลนโดยเฉพาะแหล่งน้ำอุปโคภบริโภค ซึ่งนับเป็นปัญหาพื้นฐานของชุมชนหนองบัวตลอดมา จนถึงปัจจุบัน เมื่อท่านมาริเริ่มบุกเบิกพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆให้กับชุมชน ชาวหนองบัวจึงระลึกถึงคุณูปการของท่าน ฉะนั้น นายอำเภออรุณและรถแทรกเตอร์จึงเป็นสัญญลักษณ์แห่งความรักความสามัคคีความร่วมมือร่วมใจอย่างหนึ่งของชาวอำเภอหนองบัว(ถ่ายภาพ ๒ มกราคม ๒๕๕๔ มายด์ : วัฒน์ชนิน อินทศร)

    พอนายอำเภออรุณ วิไรรัตน์ เข้ามาสานต่อทางดีขึ้น พอดีได้แทกเตอร์มาเป็นอันดับแรก วันรถมาแตกตื่นแห่กันไปรับรถแทกเตอร์  ไม่เคยเห็นโค่นต้นไม้ทำเป็นทางเลย

                                 
                                 
    (ภาพ)สี่แยกหนองบัว-ชัยภูมิ ถ่ายภาพโดยดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์(๒๕๕๓)

    พ.ศ. ๒๕๒๖ – ๒๕๒๘  ทางสายท่าตะโก-หนองบัว หนองบัว-ชุมแสง สะดวกเป็นทางลาดยาง ต่อมาได้ทางสายใหญ่ สายอินทร์บุรี-เขาทราย และมีสายอื่นอีกทางไปภาคเหนือ เชียงใหม่ ภาคอีสาน ขอนแก่น ชัยภูมิ กรุงเทพฯ ระยอง ศูนย์รวมจากท่ารถสี่แยก ถึงหน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัว ๒ กิโลเมตร ปัจจุบันสะดวกมาก.

     หมายเหตุ..นี่คือบันทึกของป้าหมอหนิม อ่วมวงษ์

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • ยิ่งได้เห็นเรื่องราวต่างๆ หลายมิติมากยิ่งขึ้น ก็อยากจะเรียกว่า ป้าหมอหนิม เป็นท่านหนึ่ง ที่เปรียบเสมือนอนุสาวรีย์หมออนามัยและเป็นประวัติศาสตร์มีชีวิตของการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ที่เป็นทั้งส่วนหนึ่งในพัฒนาการของอำเภอหนองบัวและเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการสังคมวัฒนธรรมสุขภาพ ที่ให้ภาพสะท้อนวิถีดั้งเดิมของสังคมไทยกับการแพทย์และสาธารณสุขสมัยใหม่ โดยเฉพาะทางด้านพยาบาลผดุงครรภ์ อนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และโรคระบาดในท้องถิ่นที่แบ่งเป็นด้านๆอย่างในเวลาต่อมากระทั่งปัจจุบัน
    • ดูเหมือนว่า หากถอดบทเรียนและเรียนรู้บทเรียนจากประสบการณ์ชีวิตที่เชื่อมโยงปะติดปะต่อกัน อย่างพิพิถัน ทั้งด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง กอปรด้วยทรรศนะวิพากษ์ แยบคาย ละเอียดลึกซึ้ง แล้วละก็ เราจะสามารถเห็นบทบาทของหมออนามัยและการสาธารณสุขชุมชนที่บูรณาการและมีความสำคัญต่อการนำการเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลง ที่เข้มข้น จริงจัง และกว้างขวางมากกว่าทรรศนะทางสุขภาพและการสาธารณสุขในปัจจุบันนี้หลายอย่าง อีกทั้งได้เห็นว่าหลายเรื่อง อาจจะถูกละทิ้ง มองข้าม และทำหลุดหายไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นในโลกความเป็นจริงของสังคมสุขภาพ
    • ผมกำลังอ่านเรื่องราวที่พระคุณเจ้านำมาสื่อสารถ่ายทอดและเผยแพร่ให้เป็นการรับรู้และได้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวางของคนหนองบัวและสาธารณชนด้วยความตื่นเต้นและตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก เป็นชุดความรู้ชุดเล็กๆจากท้องถิ่นของคนทำงานตัวเล็กๆคนหนึ่งของประเทศไทยและของ(อเมริกา อังกฤษ ยิว-เยอรมัน หรือ Hybridge and Mixed-Socio-Cultural Population)ของป้าหมอหนิม ที่ให้พลังทางจิตวิญญาณและให้ความรับรู้ต่อโลกกว้างไปอีกแบบ ต่างจากทั่วๆไปมากจริงๆครับ
    • กรณีของหนองบัวนี้ สงสัยจะไม่ใช่แค่เรื่องของท้องถิ่นแล้วละครับ แต่เป็นมรดกทางสังคมสุขภาพ ที่มีคุณค่ามากจริงๆครับ ผมจะพยายามดูและกำลังคิดหาวิธีเหมาะๆว่าจะทำอย่างไรดี ตอนนี้เลยก็ยิ่งรู้สึกว่าที่เสนอให้ปีนี้ เป็นปีเรียนรู้เพื่อรำลึกหลายเรื่องของอำเภอหนองบัวนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องยิ่งทำ และอาจจะต้องทำเวทีวิชาการที่ใช้กรณีของอำเภอหนองบัวเปิดวาระสำคัญๆของสังคมประเทศ เพื่อระดมกำลังปัญญาและกำลังทางวิชาการที่ดีๆมาช่วยกันทำเรื่องกรณีเล็กๆแต่บรรจุเรื่องราวใหญ่ๆหลายเรื่องไว้ดีเหลือเกินนี้ ให้ได้พื้นฐานการคิดและทำสิ่งดีๆต่อไปในอนาคต ก็คงจะเกิดสิ่งดีๆใหม่ๆหลายเรื่องเลยละครับ เห็นๆหลายเรื่องเลย
    • ผมก็เลยได้ทบทวนชีวิตและรำลึกสิ่งต่างๆไปด้วยได้หลายเรื่องครับ ปลัดจำลองนี่ผมทันและจำท่าทางในยุคเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีโน้นได้ครับ
    • ที่ตื่นเต้นมากเข้าไปอีกก็คือ คุณวิรัตน์ ปานศิลา พนักงานอนามัยที่ป้าหมอหนิมบันทึกไว้ด้วยนั้น ผมรู้จักและเป็นทีมร่วมทำงานวิจัยกันมาด้วยอยู่ช่วงหนึ่งครับ ปัจจุบันท่านคือ ดร.วิรัตน์ ปานศิลา แห่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผมเพิ่งจะได้ทราบเมื่อปลายปีที่ผ่านมาจากรุ่นพี่หนองคอกซึ่งเป็นพัฒนากรและเป็นเพื่อนพันเอกโกศล ประทุมชาติ รองผู้บัญชาการกองพัน ๓๓ ค่ายกาวินละ เชียงใหม่ ซึ่งก็เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองคอกเช่นกัน เมื่อช่วงวันงานศพของอาจารย์อุดม โต๊ะปรีชาเมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า ท่านเป็นเขยของคนหนองบัว ซึ่งก็ให้ประหลาดใจและตื่นเต้นมากจนแทบจะต้องอุทานว่าหาใช่ใครอื่น ยังเคยคิดอยู่ว่าทำไมมักคุยรับมุขกันได้ดีจัง ซึ่งนั่นก็นับว่ามากพอแล้วละครับ แต่นี่ก็กลับได้ทราบอีกจากบันทึกป้าหมอหนิมว่าท่านเคยเป็นพนักงานอนามัยและใช้ชีวิตทำงานอยู่ที่หนองบัวร่วมสมัยกับป้าหมอหนิมอีกด้วย ไปๆมาๆเวทีคนหนองบัวจะมีทุนทางสังคม ที่คงจะคิดและทำอะไรกันดีๆได้มากเลยละครับ สนุกครับ สนุก

    แก้ไขจาก : ผมกำลังอ่านเรื่องราวที่พระคุณเจ้านำมาสื่อสารถ่ายทอดและเผยแพร่ให้เป็นการรับรู้และได้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวางของคนหนองบัวและสาธารณชนด้วยความตื่นเต้นและตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก เป็นชุดความรู้ชุดเล็กๆจากท้องถิ่นของคนทำงานตัวเล็กๆคนหนึ่งของประเทศไทยและของ(อเมริกา อังกฤษ ยิว-เยอรมัน หรือ Hybridge and Mixed-Socio-Cultural Population)ของป้าหมอหนิม ที่ให้พลังทางจิตวิญญาณและให้ความรับรู้ต่อโลกกว้างไปอีกแบบ ต่างจากทั่วๆไปมากจริงๆครับ

    แก้ไขเป็น : ผมกำลังอ่านเรื่องราวที่พระคุณเจ้านำมาสื่อสารถ่ายทอดและเผยแพร่ให้เป็นการรับรู้และได้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวางของคนหนองบัวและสาธารณชนด้วยความตื่นเต้นและตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก เป็นชุดความรู้ชุดเล็กๆจากท้องถิ่นของคนทำงานตัวเล็กๆคนหนึ่งของประเทศไทยและของ(อเมริกา อังกฤษ ยิว-เยอรมัน หรือ Hybridge and Mixed-Socio-Cultural Population)ของป้าหมอหนิมและป้าหมออรุณ ที่ให้พลังทางจิตวิญญาณและให้ความรับรู้ต่อโลกกว้างไปอีกแบบ ต่างจากทั่วๆไปมากจริงๆครับ

    บทบาทหน้าที่ที่ต้องดูแลด้านสุขภาพและสารทุกข์สุขดิบต่อสังคมชุมชนของหมออนามัยยุคบุกเบิกในหนองบัว

                      

     หัวข้อเดิมในบันทึกของป้าหมอหนิมคืองานที่ต้องปฏิบัติ โดยท่านได้บันทึกไว้ ดังนี้
                      
    งานที่ต้องปฏิบัติประจำได้แก่(๑)งานอนามัยแม่และเด็ก(๒)งานรักษาพยาบาล(๓)งานป้องกันโรค(๔)งานอื่น ๆ
    ๑.งานอนามัยแม่และเด็ก การดูแลก่อนคลอด หลังคลอดต้องออกเยี่ยมบ้านเพื่อนดูแลให้คำแนะนำให้รู้จักปฏิบัติตนให้ถูกหลักอนามัย
    ๒. งานรักษาพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขได้มีงบประมาณจ่ายเวชภัณฑ์ให้กับสุขศาลาทั่วไปใช้ในการรักษาประชาชน เราก็ใช้เวชภัณฑ์นั้นรักษาพยาบาลในรายที่เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่าที่เราจะทำได้
    ๓.งานป้องกันโรค ลำดับแรกมาถึงต้องเร่งระดมปลูกฝี ป้องกันโรคไข้ทรพิษ(ฝีดาษ)
    ๔.งานอื่น ๆ (ผู้เขียนขอสรุปสั้น ๆ) คือการริเริ่มในการพัฒนาสระน้ำวัดหนองกลับ โดยการจัดหาทุนสมทบ จนได้รับโล่ห์จากกระทรวงมหาดไทย เสียสละเพื่อหน้าที่และส่วนรวม อุทิศเวลาส่วนตัวให้แก่ทางราชการ บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมชุมชนและงานสาธารณกุศลอื่นๆอีกมากมายครอบคลุมทั้งอำเภอ

    ก่อนป้ามาประจำ ๕ ปี ฝีดาษระบาดที่บ้านหนองบัว หนองกลับ อย่างหนักขนาดตายไม่มีที่ฝัง ที่เผา เป็นหมดทั้งเด็กผู้ใหญ่ พระก็เป็น เผาศพพระยังไม่มี พระหนีไปอยู่ที่อื่น ป้ามาจะพบร่องรอยผู้ที่เป็นฝีดาษเป็นแผลหน้าตาเนื้อตัวเป็นแผลเป็นทั้งหมู่ แล้วแต่คนไหนออกมากออกน้อย ตาบอดก็หลายคน

    หนองฝีครั้งแรกจะเป็นหนองสดหลอดแก้วเล็ก ๆ ยาวประมาณ ๕ นิ้วมีน้ำหนองสีเขียวออกน้ำเงิน เวลาปลูกฝีใช้แอลกอฮอล์เช็ดที่ต้นแขนซ้าย หักหลอดหนองฝีค่อยๆ หยดที่ตรงบริเวณที่เช็ดไว้ใช้ใบมีดผ่าตัด ใช้ปลายมีดขีดตรงหนองเวลาขีดปลายมีด ระวังอย่าให้ลึกพอหนังขาดเลือดออกซิบ ๆ อย่าให้ยาว ถ้าแรงหรือยาวแผลจะไม่สวย ถ้าลึกแผลจะเน่า แต่ก่อนไม่มีตู้เย็นหลอดหนองฝีเบิกมาต้องเอามาใส่ไว้ในกอกล้วย ให้เย็นต้องรีบปลูกให้หมดเร็ว ๆ เดี๋ยวเสีย

                    

    ต่อมาหนองฝีผลิตใหม่ เป็นชนิดแห้งเวลาจะใช้ผสมเป็นหลอดเหมือนกัน อยู่ในกล่องกระดาษ กล่องละชุด จะบอกวันทำและวันหมดอายุ กล่องสีเขียวของป้าเก็บไว้ ๑ อัน เอาไว้ดูป้าได้ให้พิพิธภัณฑ์นพรัตน์วชิระไปเสียแล้ว พ.ศ. ๒๕๑๙ ทางกระทรวงได้มอบตู้เย็น ๔ คิว ตู้น้ำมันก๊าดเป็นตู้เย็นหลังแรกในอำเภอหนองบัว เอาไว้ใช้แช่วัคซีนต่าง ๆ มีวัคซีนป้องกันอหิวาต์ ป้าและอนามัยอำเภอต้องช่วยกันออกฉีดทั้งในหมู่บ้าน และบนสถานีอนามัย

    ไปทำอนามัยโรงเรียนต้องไปฉีดให้นักเรียน เวลาคัดเลือกทหารป้าต้องไปฉีดวัคซีนให้พวกตรวจคัดเลือกทหารทุกคน  ต่อมามีวัคซีนไทยฟอยด์เข้ามา ก็ต้องฉีดวัคซีน ๒ ตัวนี้ ประชาชนท้อมาก เพราะแพ้มากปวดแขน  และคนแพ้มาก ๆ จับไข้ตาม ๆ กัน

     ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ ได้รับเครื่องมือโครงการควบคุมคุดทะราดจากยูนิเซฟ เจ้าหน้าที่โรคติดต่อมาจากจังหวัดมา ป้าก็ต้องช่วยฉีดยาทุกครั้งจนโรคหมดไป เด็กเกิดใหม่เราต้องฉีดวัคซีน ป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ทำอนามัยโรงเรียน ก็ต้องตามไปฉีด เด็กเข้าเรียนตามกำหนด.

    สวัสดี สมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกๆ ท่าน

                    ผมเป็นคนหนองบัวคนหนึ่ง เกิดในบ้านใหญ่ หมู่ ๒ ต.หนองกลับ ติดกับสระหนองกลับ ปัจจุบันก็คืออู่เจือบริการ แต่บ้านพ่อแม่ได้ย้ายไปอยู่ข้างวัดเทพฯ เมื่อ ๕ ปีที่ผ่านมา โดยเครือญาติแล้วก็นามสกุล “จุ้ยโต” เหมือนท่าน ดร. เสน่ย์ จุ้ยโต ท่านคงไม่รู้จักผมหรอก แต่ผมรู้จักท่าน ส่วนลุงผมนั้น ชื่อ บัว จุ้ยโต ไม่ทราบว่าจะเป็นที่รู้จักหรือเปล่า เห็นว่าสมัยหนุ่มๆ ท่านเคยบวชเรียน รุ่นๆ เดียวกับ พระครูไกร และ หลวงลุงหงวน ท่านเคยเล่าให้ฟัง ว่าสมัยนั้นมีเด็กวัดที่เคยอยู่กับท่าน และตอนนี้ก็ได้ดิบได้ดีกันหลายคน ตอนเรียนประถมก็อยู่วัดเทพสุทธาวาส ถ้าจะนับรุ่นหนองคอก ก็ ม. ๖ รุ่นแรก (เริ่มประมาณปี ๒๕๓๐) ขอเกริ่นไว้แค่นี้ เพื่อให้พอรู้ตัวตนของผม เดี๋ยวจะน่าเบื่อเสียก่อน

                    ขอบคุณคุณธนกฤษ (อำนาจ รอดแสวง ก็เครือญาติเดียวกันแหละ) ที่ได้แนะนำ Blog เวทีคนหนองบัว นี้ ส่งเป็น mail link มาให้ตั้งแต่ ๖ มกราคม ๕๔ ก็ได้ลองเข้ามาอ่านดู เห็นเนื้อเรื่องแล้วน่าสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องที่เราก็รู้จัก หรือบางเรื่องก็แค่ผ่านๆ หูเท่านั้น พอได้อ่านก็พอมองออก หรือว่าเรื่องราวข่าวคราวของบุคคลที่รู้จัก เช่น อ.อุดม โต๊ะปรีชา ตอนผมจบ ม.๖ ท่านกำลังจะเกษียร เอกลักษณ์การ"จกพุง"ของท่าน ผมก็เคยโดนมาเหมือนกัน ทั้งเจ็บและก็จั๊กจี๋ดี เพิ่งได้ข่าวการจากไปของท่านใน Blog นี้  ส่วน อ.บุญส่ง ท่านเคยสอนผม สมัยผมเรียนวัดเทพฯ ตอนนั้นบ้านท่านอยู่ติดกับโบสถ์คริสเตียน  แถวๆ บ้านใหญ่ต่อกับบ่ออีโหมน (ไม่แน่ใจว่าใช่หรือเปล่า) เพราะเคยไปช่วยท่านขนของ ก็เพิ่งได้ข่าวการจากไปของท่านใน Blog นี้เหมือนกัน พอดีไม่ค่อยได้กลับบ้าน ช่วงน้ำท่วมหนองบัว ก็ได้เห็นภาพ ใน Blog นี้ ไม่น่าเชื่อว่าหนองบัวจะน้ำท่วม

                    คงขอแนะนำตัวตน ของผมไว้เท่านี้ก่อน หวังว่าจะได้เข้ามา post ต่ออีกในโอกาสต่อไป

    บุญเลิศ ทรงทอง (DekThape ชาวหนองบัวอีกคน)

    เห็นบันทึกพัฒนาการของเทคโนโลยีและนวัตกรรมสุขภาพ รวมทั้งงานสาธารณสุขชุมชนที่บูรณาการกับมิติสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การทำนุบำรุงศาสนธรรมและศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆของท้องถิ่นและภาคราชการในท้องถิ่นที่ดีมากเลยนะครับ

    ลักษณะการปลูกฝีที่ใช้มีดผ่าตัดกรีดอย่างที่ป้าหมอหนิมบันทึกถ่ายทอดไว้นั้นรุ่นผมนี่ทันและยังจำได้ครับ ช่วงไหนโรงเรียนบอกว่าหมอหนิมจะไปปลูกฝีนี่ เด็กๆหงอยและถูกกุมสภาพหมดไปทั้งหมู่บ้านเลย ไม่รู้จะหนีไปไหนพ้น พอถึงเวลาก็เดินเข้าแถวต่อๆกันไปเหมือนทหารกำลังก้าวเข้าสู่สนามรบ พ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่ ต้องเป็นกองเชียร์และปลุกใจให้ฮึกเหิม หากมีคนไหนร้องจ๊าก ก็ต้องปลุกระดมกันอีกเป็นระลอกๆ พอผ่านไป ๓-๔ วัน ฝีเริ่มเป็นตุ่ม ก็มักจะอดแกล้งกันไม่ได้ด้วยการทำท่าจะบีบแขน บางคนก็หงอยเหมือนจะเป็นไข้ไปเลย

    ผมพอจะนึกภาพได้อีกลางๆว่า พ่อก็เป็นครูที่ทางราชการ รวมทั้งด้วยความจำเป็นของชาวบ้านเองบังคับ ให้ต้องไปฝึกหัดฉีดยาและรับเป็นคนร่วมดูแลสุขภาพให้กับชาวบ้านเหมือนบทบาทของ อสม.ในปัจจุบัน ที่มาก็คงจะเป็นสภาพอย่างที่ป้าหมอหนิมบันทึกไว้ว่าพนักงานอนามัยไม่กี่คนต้องดูแลผู้คนที่กระจายในพื้นที่ซึ่งเดินทางไปมาหาสู่กันลำบากมาก เมื่อต้องฉีดยาต่อเนื่องและต้องพบหมอหลายครั้ง จึงเป็นความลำบากทั้งสองฝ่าย หากมีใครช่วยดูแลในระดับพื้นฐานได้บ้างและสื่อสารส่งต่อไปให้หมอตามที่จำเป็นในบางครั้งก็จะมีประสิทธิภาพและได้คุณภาพของการดูแลรักษาสุขภาพกันดีขึ้น

    ที่บ้านผมนั้น พ่อมีตู้ยา ทั้งยาสามัญประจำบ้านและเวชภัณฑ์เล็กๆน้อยที่ทำปฐมพยาบาลให้ชาวบ้านได้ เช่น ล้างแผล หยอดตา ทำแผล รวมทั้งฉีดยาในกรณีที่หมอให้ยาติดมือผู้ป่วยและญาติๆนำกลับมาฉีดต่ออีกหลายครั้ง ณ เวลานั้น แถวบ้านผมต้องเดินทางเข้าหนองบัวด้วยการเดินเท้า เกวียน เรือ ช้าง และม้า อย่างสภาพที่ป้าหมอเล่า การดูแลสุขภาพที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องบางส่วนชาวบ้านจึงต้องเรียนรู้ที่จะผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในการดูแลตนเองไปด้วย และเดินทางไปหาหมอที่หนองบัวในกรณีที่จำเป็น

    พ่อมีกระติกสำหรับตัดหยวกกล้วยทำความเย็นแช่วัคซีนและยาอย่างที่ป้าหมอเล่า รวมทั้งแนะนำให้ชาวบ้านทำเองด้วย หากไม่มีกระติกก็ให้เอามาฝากไว้ที่บ้านผม ผมกับแม่และพี่ๆน้องๆมีประสบการณ์ด้วยอยู่เสมอในการต้มไซริงซ์และเครื่องมือทุกอย่างสำหรับทำแผล ฉีดยา ปฐมพยาบาลให้เด็กๆ ญาติพี่น้อง และชาวบ้าน ช่วยพ่อ ที่เรือนชานบ้านผมนั้น เป็นที่นั่งทำแผลและฉีดยาให้กับคนเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ รวมทั้งหมอเป่า หมอน้ำมนต์ และหมอนวดน้ำมัน หมอสมุนไพรต่างๆ ก็มักจะนัดกับผู้ป่วยกันที่บ้านผม ทั้งโดยความเคยชิน ความสะดวกในการผสมผสานทำเรื่องต่างๆไปด้วยกัน กระทั่งเป็นที่เยี่ยมเยือนนั่งพบปะพูดคุยกันไปในตัว

    เลยทำให้ผมพอจะนึกภาพปะติดปะต่อออก ว่าสภาวการณ์ของท้องถิ่นตอนนั้นเป็นอย่างไรและทำไมต้องทำหลายๆอย่างอย่างนั้น รวมทั้งทำให้นึกภาพขึ้นได้ว่าสภาพการทำงานและดำเนินชีวิตของครูบ้านนอกในอดีตนั้นหลายอย่างจะมีบทบาทมากต่อชุมชนมากกว่าเรื่องการสอนเด็กๆอีกหลายเท่า และบทบาทหนึ่งก็คือการเป็นเครือข่ายสร้างความเข้มแข็งในการดูแลสุขภาพตนเองของชุมชน รวมทั้งเป็นอาสาสมัครสุขภาพ ดูและและให้ความรู้ผสมผสานกับประชาชนและช่วยหมออนามัย ป้าหมอหนิม ป้าหมออรุณ และสถานบริการสุขภาพต่างๆ อย่างที่ผมเคยเห็นพ่อผมทำนี่เอง

    สวัสดีครับคุณเด็กเทพ : คุณบุญเลิศ ทรงทองครับ

    แสดงว่าแนวคิดและวิธีของคุณธนกฤตนี่ใช้ได้ดีเลยทีเดียวนะครับ เป็นปฏิบัติการเคลื่อนไหวข้อมูลข่าวสารของสังคมทางสื่อออนไลน์ที่เข้ากับสภาพความจำเป็นได้ดีมากเลย เพราะมีคนสองสามคนแล้วที่บอกว่าได้รับอีเมล์ที่เผยแพร่บล๊อกเวทีคนหนองบัวนี้ไปให้โดยคุณธนกฤต

    ท่านพระอาจารย์มหาแลคงจะดีใจและมีกำลังใจขึ้นมากเลยนะครับ เพราะท่านเองก็เดินบอกกล่าวและทำทุกวิถีทางที่จะให้เวทีคนหนองบัวเป็นสื่อเชื่อมโยงไปถึงชาวบ้าน เมื่อคืนพวกผมยังได้นั่งคุยและทุกคนชื่นชมและคารวะต่อวัตรปฏิบัติดังกล่าวขอท่านมากเป็นอย่างยิ่งว่า ยากที่ใครจะทำอย่างทุ่มเทกายใจและทำได้อย่างท่าน เพราะทั้งใช้วิธีโทรศัพท์ เดินไปหา ถ่ายเอกสารติดมือไปฝาก สอนวิธีเข้าถึงและเสริมกำลังใจให้มีความกล้าที่จะริเริ่มเรียนรู้

    อาจารย์บุญส่งนี่ผมได้รู้จักท่านและทั้งครอบครัว อีกทั้งเคารพรักเหมือนเป็นญาติพี่น้องครับ แม้ท่านและพ่อผมได้ล่วงลับไปแล้ว แม่ผมและพี่ๆน้องๆก็ยังคงถามไถ่ถึงและบอกกล่าวถึงกันอยู่เสมอครับ

    เข้ามาคุยหรือนำเอาเรื่องราวต่างๆมาถ่ายทอดสื่อสารหรือบันทึกรวบรวมไว้ในนี้นะครับ คุณบุญเลิศเขียนหนังสือเหมือนพูดคุยสนทนา น่าอ่านมากเลยครับ อาจจะใช้วัตถุดิบรอบตัว ทั้งจากผู้คนและกิจกรรมต่างๆที่พานพบ ก็เหมาะสมดีมากเลยนะครับ ช่วยกันสะสมต่อเติมทีละเล็กละน้อย เผลอแผลบเดียว ประเดี๋ยวก็ได้เรื่องราวเยอะแยะเลยครับ พอด้านใดและเรื่องไหนมีข้อมูลประมวลเป็นเรื่องราวย่อยๆได้ เราก็ค่อยๆช่วยกันเขียนแยกหัวข้อคู่ขานไปเรื่อยๆ แต่ตรงนี้ก็ใช้เป็นเหมือนลานนั่งคุยกันสะสมข้อมูล

    ใครไปได้อะไรมาก็นำมาโยนเทกอง รวบรวมไว้ก่อนโดยยังไม่เป็นระบบก็ได้ครับ เพราะอย่างไรเสียก็เริ่มมีวิธีบันทึกจัดเก็บไว้ ดีกว่าสูญหายไปเปล่าเหมือนหลายอย่างของหนองบัวและสังคมส่วนใหญ่ของไทย ทำแบบสบายๆน่ะครับ

                       

    ภาพของผู้ชายริมขวาสุดของภาพนี้ คล้ายกับท่านรองศาสตราจารย์ ดร.วิรัตน์ ปานศิลา มากเลยละครับ ป้าหมอหนิมบันทึกไว้ว่าท่านเคยมีพนักงานอนามัยมาร่วมเป็นลูกน้องด้วยคนหนึ่งชื่อวิรัตน์ ปานศิลา ผมรู้จักและเคยร่วมงานกันครับ แต่ไม่เคยทราบมาก่อนว่าท่านมีพื้นฐานทำงานที่หนองบัว เพิ่งมาทราบเพิ่มขึ้นอีกเมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่าภรรยาของท่านเป็นคนหนองบัวและท่านเป็นเขยของหนองบัว ต่อมาท่านได้ศึกษาต่อและหลังจบปริญญาเอกแล้วก็เป็นอาจารย์สอนหนังสือ ปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายการวิจัยสุขภาพในชุมชนทั้งภาคอีสานและอีกหลายแห่งของประเทศ

                    
                    อธิบายภาพ : กลุ่มบ้านขวามือในภาพคือกลุ่มบ้าน บ้านใหญ่ หมู่ที่ ๒ ตำบลหองกลับ(ถ่ายภาพโดย สม:ประเสริฐ  อินทศร  ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๓)

    เจริญพรคุณDekThape : คุณบุญเลิศ ทรงทอง

    ขอต้อนรับคุณบุญเลิศ ด้วยภาพถ่ายสระหนองกลับ บ้านเดิมคุณบุญเลิศมองไกลๆก็เห็นกลุ่มบ้านใหญ่ทางขวามือ เกือบจะเห็นอู่ทิดเจือเลยนะ ขณะนี้กำลังทำการขุดลอกสระหนองกลับพอดี จึงให้ญาติไปถ่ายรูป ก็เลยได้ภาพนี้มา

    ขึ้นต้นศักราชใหม่(๒๕๕๔)ด้วยความคัดคึก คึกคักที่คนหนองบัวเข้ามาร่วมด้วยช่วยเขียน คุณบุญเลิศนี่เป็นหลานน้าทิดบัว จุ้ยโต กลุ่มบ้านคุณบุญเลิศนี่(เรา)เป็นญาติกันเลยนะ น้าบัวท่านเป็นนักบวชเก่ารุ่นราวคราวเดียวกันกับเจ้าคณะอำเภอหนองบัว(ท่านเจ้าคุณไกร)ท่านพระครูสงวน สำหรับน้าบัวแล้ว ชาวบ้านรู้จักท่านดีเลยแหละ กับอาตมาก็รู้จักกัน ช่างเจือ:ทิดเจือก็รู้จักกันดี วัยใกล้เคียงกันหน่อย ช่วงนี้กำลังหาจังหวะเวลาไปเยี่ยมเยียนน้าบัวท่านพอดี ไปคงได้ข้อมูลเรื่องราวเก่าๆที่วัดใหญ่เยอะ:วัดหนองกลับ เพราะท่านใกล้ชิดหลวงปู่อ๋อย

    อนุโมทนา ขอบคุณคุณบุญเลิศที่เข้ามาเยี่ยมเวทีแห่งนี้

     

    ขนบธรรมเนียนประเพณีของกิ่งอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ. ๒๔๙๑

                           
                           อธิบายภาพ : ป้าหมอหนิม ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ เนื่องในงาน : งานสงกรานต์ข้าวห่อ จังหวัดนครสวรรค์ ครั้งที่ ๘ เพื่อเชิดชูเกียรติคุณ และแสดงความกตัญญู แด่ นางถนิม  อ่วมวงษ์ ผู้อาวุโสบุคคลตัวอย่าง ณ โรงเรียนเทคโนโลยีภาคเหนือ
    วันที่  ๑๕ เมษายน  ๒๕๓๗

    อ่านบันทึกของป้าหมอหนิมเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยมาหลายตอนแล้ว ต่อไปนี้จะเป็นเรื่องเกียวกับขนบธรรมเนียนประเพณีของกิ่งอำเภอหนองบัว วันี้ขอเสนอตอนแรก เชิญอ่านบันทึกของท่านได้ ณ บัดนี้

    บ้านเรือนจะเป็นบ้านไม้ไต้ถุนสูงหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา และกระเบื้องปูนซีเมนต์หล่อเอง ฝาบ้านจะทำเป็นกรอบลูกฟักเข้าเป็นแผ่นยกออกเป็นแบะ ๆ ต่อกัน จะไม่มีตะปูหรือน๊อต เขาใช้ไม้ทำเป็นเดือยตอกสนิท บานประตูจะเป็น ๒ บานเวลาปิดเขาไม่ใช้กลอน เขาใช้ไม้ทำเป็นเหมือนที่จับทั้ง ๒ ข้าง ด้านในใช้ไม้หนาพอประมาณยาว ๑ ฟุต หน้ากว้าง ๒-๓  นิ้ว ทำเป็นคานขัดข้างใน ส่วนเวลาจะไปไหน เขาใช้โซ่ล่ามเจาะรูบานประตูร้อยทั้ง ๒ ข้าง ผูกแล้วใช้กุญแจหอยโขงแบบโบราณ บังตาจะแกะลวดลายให้สวยงาม

    บ้านจะปลูกเป็นกลุ่มลูกสาวจะแต่งเข้าอยู่กับพ่อ-แม่ ลูกชายจะแต่งออก มีลูกสาวกี่คน แต่งแล้วปลูกเรือนติดกันหมด นอกชานเล่นถึงกันหมด มี ๕ คนก็  ๕ หลัง เรียกว่า “ไก่บินไม่ตก” ถ้าคนฐานะไม่ดีก็ปลูกตามสภาพหลังคาแฝก ข้างฝาไม้ขี้ฟาก เอาไม้ไผ่ลำใหญ่ ๆ มาแบะผูกด้วยหวายด้วยตอก จะดูได้ว่าบ้านใครรวย บ้านใครพอมีพอกิน บ้านคนจน

    เวลาไปปลูกเรือนหอต้องไปปลูกบ้านจ้าวสาว ฝ่ายชายจะต้องไปป่าตัดเสาไม้เครื่องบนไม้พื้น ตัดเลื่อยเรียบร้อย ก็จะใช้เกวียนขนมาจากป่า มาบ้าน

    จ้าวสาวพอรู้ว่าไม้จ้าวบ่าว ขบวนเกวียนจะมาถึงบ้าน จะมีผู้ใหญ่ฝ่ายจ้าวสาวไปรอรับเข้าบ้าน ฝ่ายจ้าวสาวจะเป็นฝ่ายเลี้ยงอาหารตลอดจนเรือนหอเสร็จ หลังคาแล้วแต่จะตกลงใครจะออกบางครั้งก็ช่วยกัน ส่วนบันไดจ้าวบ่าวต้องเอามา ช่างปลูกบ้านจะช่วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ก็เหมือน ๆ กัน แต่แบบโบราณมีขนมกง นางเล็ด นางว่าว มีที่แปลกสมัยนั้นไม่มีตู้ใช้ ผู้ชายเอาหีบเหล็ก ๑ ใบ ควายหรือวัว ๑-๒ ตัว ถ้ามีเกวียนก็เอามาด้วย ฝ่ายหญิงก็มีนาให้ ทำบุญซัดน้ำผูกข้อมือปกติ.

     

     

    สวัสดีค่ะปีใหม่ค่ะ ชาวสมาชิกเวทีหนองบัวทุกท่าน

    ได้รับ ลิงค์นี้มาจาก บุญเลิศ (DekThepe) เมื่อวันที่ ๗ มค. ค่ะ ดิฉันกะบุญเลิศ เรียนหนังสือมาด้วยกันห้องเดียวกันตั้งแต่ ป.๑โรงเรียนวัดเทพสุทธาวาส จน ถึง ม.๖ โรงเรียนหนองบัวค่ะ

    ดิฉันได้เปิดอ่าน กระทู้ จากหน้า๑ ถึง หน้า ๓๓ ครบทุกหน้า แต่อาจจะไม่ได้ละเอียดทุกตัวอักษร ก่อนอื่นต้องขอออกตัวว่าชอบอ่านมากกว่าชอบเขียนค่ะ

    ดิฉันเกิดที่ หมู่ ๔ ต.หนองกลับ ใกล้ๆ กับบ้านกำนันเทียน ท้วมเทศ พ่อของดิฉันเป็นลูกพี่ลูกน้องกับป้าบุญ เมียของลุงเทียนค่ะ

    จากที่เปิดดูทั้งหมด ๓๓ หน้า ทุกๆคนที่มาโพตส์ เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับวิธีชีวติ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ อาหารการกิน และ ชื่อบุคคล ต่างๆ ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่ดิฉันได้สัมผัส คุ้นเคย หรือเคยได้ยินผ่านหูมาตั้งแต่เด็กๆ

    จากบุคคลที่ถูกกล่าวถึงในกระทู้

    บุคคลแรกที่ท่านพระอาจารย์มหาแล พูดถึง คือ หลวงพี่เฉลียว แสนเหมือน เป็น ลูกพี่ลูกน้องกับดิฉันเองค่ะ ตอนนี้ท่านจำพรรษา อยู่ วันแทมป้า ฟลอริด้าอเมริกาค่ะ

    หาก พระอาจารย์ ต้องการติดต่อกับหลวงพี่ ตามเวปไซด์นี่เลยค่ะ

    หลวงพี่มีทั้งอีเมลล์ และ สกายค่ะ

    http://www.wattampa.com/

    และดิฉันได้รับอีเมลล์ จากท่าน ล่าสุดค่ะ เรื่อง เปลี่ยนโทรศัพท์ใหม่แล้ว เบอร์เก่า 813 622-7743 จะยกเลิกสิ้นปีนี้จ้า

    เบอร์ใหม่

    พระมหาณันท์มนัส กิตฺติปาโล

    กุฏิ 850 226-5313

    มือถือ 850 225-8016

    ส่วนอีกท่านที่ อ.วิรัตน์ กล่าวถึง คือ น้านิจ ค่ะ น้านิจเป็นน้าชายของเพื่อนสนิทดิฉันเองค่ะ

    อ.สืบ อีกท่าน เป็นอาจารย์สอนพละที่น่ารัก และใจดี ค่ะ

    ขอแสดงความเสียใจกับการจากไป ของ อ.อุดมและ อ.บุญส่ง ด้วยค่ะ

    จากกระทู้ ดิฉันไม่เจอ “พริกเกลือใบแมงลัก” ไม่ทราบว่ามีใครเคยกินบ้างหรือเปล่าค่ะ ดิฉันชอบมากกกกกกกกกกกกก เวลากลับเมืองไทยจะต้องให้แม่ตำเอากลับมากินที่สวีเดน เมื่อหน้าร้อนที่ผ่าน ปลูกเองค่ะ ทั้งเมล็ดจากเมืองไทยและเมล็ดจากประเทศสวีเดน แล้วตำไว้กิน

    ส่วนผสม คือ ใบแมงลัก เกลือ พริก และหอมแดง กระเทียมนิดหน่อย โขลกให้เข้ากัน แล้วคลุกข้าวร้อน อร่อยมาก เคยกินตอนเด็กๆ ตามสูตรจริงๆที่พ่อตำจะไม่ผัด แต่แม่เค้าดัดแปลงโขลกเสร็จแล้วก็ผัด เพื่อที่จะให้ดิฉันเก็บไว้กินได้นานๆ

    เอาเป็นว่าจบเรื่อง พริกเกลือใบแมงลักไว้ก่อน

    ต้องไปจัดการลูกๆ ก่อน แล้วจะมาเล่าเรื่อง ปลาร้าและพริกเกลือที่สวีเดนค่ะ

    อัญชัน แสนเหมือน

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • สระหนองกลับตรงนี้นี่ผมยังนึกภาพไม่ออกเลยครับว่าอยู่ตรงไหน ที่ออกไปตรงทางลงจากขอบสระวัดหลวงพ่ออ๋อยแล้วทะลุออกไปทางด้านใต้ ตรงที่เคยมีโรงสีอยู่แห่งหนึ่งนั่นหรือเปล่านะครับ หากเลี้ยวขวาก็จะทะลุออกวัดป่ามะเขือได้น่ะครับ
    • ไปๆมาๆเลยก็เชื่อมโยงถึงกันได้หมดจริงๆเลยนะครับ ใช่ใครอื่นไกลกันเลย
    • บันทึกของป้าหมอหนิมให้ภาพหลายมิติของหนองบัวในรายละเอียด ที่อ่านแล้วเพลินแล้วก็นึกภาพออกได้หมดเลยนะครับ บ่งบอกถึงความเป็นคนทำงานที่มากกว่าการทำงาน แต่เป็นการใช้ชีวิตและเรียนรู้สังคมหนองบัวอย่างลึกซึ้ง เก็บเกี่ยวรายละเอียดต่างๆมาถ่ายทอดได้อย่างน่าทึ่งมากเลยละครับ

    สวัสดีครับคุณหลาน BlueFlower14 ครับ

    • หากเรียกและนับตามศักดิ์กับ ผอ.นิจ เพ็ชรคง ว่า คุณ BlueFlower14 เป็นหลานน้าและเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ ผช.สืบ อีกด้วยแล้วละก็ คุณ BlueFlower14 ก็จัดเป็นรุ่นหลานน้าผมน่ะครับ
    • ผมเป็นหนองคอกรุ่นเดียวกับทั้งน้านิจ อาจารย์สืบ และ ดร.เสน่ห์ ญาติของคุณบุญเลิศและพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลน่ะครับ รวมทั้งพี่ชายของคุณฉิกของเราด้วยคือรักษ์

                          Large_wiratfriends 

    ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวหรือโรงเรียนหนองคอก รุ่นที่ ๑๔ แถวหน้าจากซ้าย : ทันตแพทย์อมรเทพ วีระนิติเวชสาร ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ | ศิริจิตร์ เชาวน์ไกลวงค์ ทำธุรกิจส่วนตัว | ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถวยืนหลัง : รักษ์ พิทักษ์อำนวย วิศวกร การไฟฟ้าฝ่ายผลิต บางกรวย | รองศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต สาขาวิทยาการจัดการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช | ประเวศ รักษพล อัยการศาลปกครองกลาง | นิจ เพ็ชรคง ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานทางหลวงชนบทที่ ๒ (จังหวัดระนอง) ในงานแต่งของลูกเพื่อนคนแรกคืองานแต่งของลูกสาวอัยการประเวศ รักษพล เมื่อต้นปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา

    • เลยได้ลองแวะเข้าไปดูเว็บของวัดแทมป้าที่ฟลอริด้าด้วยแล้วละครับ น่าตื่นตาตื่นใจแทบทุกเรื่องทั้งผู้คน กิจกรรม และการทำสื่อเผยแพร่ผ่านเว็บไปได้อย่างกว้างขวางทั่วโลกในหลายเรื่องราวและหลายเนื้อหาสาระ
    • อ่านเรื่องอาหารและพริกเกลือของคุณ BlueFlower14 ปิดท้ายด้วยอาการน้ำลายไหลและท้องร้องจ๊อกแจ่กเลยเชียวครับ

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์และคุณBlueFlower14

    สระหนองกลับอยู่หน้าบ้านแป๊ะแหบทำโอ่ง ฝั่งตำบลหนองกลับ ส่วนที่อาจารย์กล่าวถึงนั้น อยู่อีกฝั่งหนึ่งเลยคือฝั่งตำบลหนองบัว

    ขอบคุณคุณBlueFlower14 อย่างมากเลยที่ให้ข้อมูลที่อยู่ท่านมหาเฉลียว กิตติปาโล(แสนเหมือน) ปีที่แล้วเคยสอบถามพระที่วัดเทพสุทธาวาส ท่านก็ไม่ใครทราบรายละเอียด ทราบแต่เพียงว่าอยู่อเมริกา

    ตามเข้าไปดูเว็บไซต์วัดแทมป้าแล้ว ทำสื่อได้ดีมาก ถือว่าเหมาะสมกับบทบาทหน้าที่พระธรรมทูตสายต่างประเทศเลย เดี่ยวคงได้นิมนต์ท่านมหาเฉลียวกลับมาเยี่ยมบ้านหนองกลับ(บ้านเนินขวาง) เวทีคนหนองบัวเราสักหน่อยแล้ว

    พริกเกลือใบแมงลัก : พริกตะเกลือ ไม่ได้ฉันนานแล้วซิ สูตรของบางท่านจะใส่มะขามเปียกด้วย พอตำเสร็จจะออกเหนียวๆขยำข้าวอร่อยดี

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ,ท่าน อ.วิรัตน์ และเวทีคนหนองบัวทุกท่าน

    ได้มีเวลานั่งอ่านบันทึกของป้าหมอหนิม อ่วมวงษ์ ได้เห็นภาพงานด้านสาธารณะสุข รวมถึงด้านการคมนาคม ของหนองบัว

    ที่อ่านแล้วเพลิดเพลินดีครับ และยังได้ทราบถึงรายละเอียดต่างๆที่ยังไม่ทราบมาก่อนได้ค่อนข้างครบ ซึ่งได้เห็นถึงความพยายาม

    ของพระอาจารย์มหาแล เป็นอย่างยิ่ง เห็นภาพวาด ของท่าน อ.วิรัตน์ แล้วประทับทุกภาพเลยครับ เป็นภาพสบาย ๆ แต่สื่อออกมาให้เห็นแต่ละมิติได้ชัดเจนมากครับ

    ตามที่ได้มีศิษย์เก่าหนองคอก ซึ่งเป็นคนหนองบัว มี บุญเลิศ ทรงทอง อยู่กรุงเทพฯ และ อัญชัน แสนเหมือน อยู่สวีเดน

    ได้เข้ามาร่วมบนเวทีคนหนองบัว ซึ่งดูแล้วหากนับญาติกันแล้ว ก็ไม่ใช่ใครอื่นจริงๆ ครับ

    การดองกันก่อนแต่งงาน

    ขอนำบันทึกเกี่ยวกับนบธรรมเนียมประเพณีของอำเภอหนองบัว ที่บันทึกโดยป้าหมอหนิม มาลงต่อจากคราวที่แล้ว ป้าหมอหนิมนั้นท่านไม่ใช่คนหนองบัวโดยกำเนิด แต่ท่านอยู่หนองบัวมานานแล้ว คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๑ เลยทำให้ท่านจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ในหนองบัวได้อย่างดี เช่นเรื่องการกินดองนี้ ถึงแม้ท่านจะบันทึกไว้เพียงสั้น ๆ แต่ก็เป็นบันทึกข้อมูลชุมชนที่ให้ความรู้ประวัติศาสตร์หนองบัวอย่างหลากหลายได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ 

         บ้านใครมีอันจะกินลูกสาวจะมีคนดองหมดเร็ว  ฝ่ายชายจะมาดองตั้งแต่เด็กทั้งหญิงและชายอายุ ๘-๙  ขวบก็ดองกันแล้ว  ของดองเมื่อป้าไปอยู่ใหม่ ๆ ก็ไม่มีอะไร มีน้ำอ้อย ๑ ขัน(เคี่ยวเป็นน้ำตาลแห้ง) ขี้ไต้ ๑ ลูก เม็ดเมล็ดถั่ว มะพร้าว ๑ ลูก ใส่กระเช้า(เหมือนกระบุงเล็ก) ไปดองจับจองไว้  โตบวชเป็นพระศึกออกมา แต่งกัน เขาก็ยอมกันทั้งสองฝ่าย โตก็แต่งกัน

           
            อธิบายภาพ : กระเช้า:กระบุงหาบ งานฝืมือภูมิปัญญาท้องถิ่นพื้นบ้าน บ้านหนองบัว หนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ กระเช้านี้ ชาวหนองบัวถือว่าเป็นเครื่องใช้ประจำบ้านที่ทุกครัวเรือนต้องมีไว้ใช้อย่างน้อยครัวละ ๑ คู่(หาบ)เป็นนวัตกรรมที่สร้างความภูมิใจทั้งผู้ทำ(ช่าง)และผู้ใช้ แล้วก็เป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ยังเหลืออยู่อีกหนึงอย่างของคนหนองบัวในปัจจุบัน งานชิ้นนี้สามารถบ่งบอกได้ถึงความเป็นหนองบัวในด้านงานหัตถกรรมได้เลยทีเดียว กระเช้าใช้ได้ทุกงาน งานบุญ งานบวช งานแต่ง งานศพ งานดอง งานหมั้น งานเทศกาลบุญต่าง ๆ ปัจจุบันคน(ช่าง)ที่ทำกระเช้าได้ เหลือน้อยมากแล้ว ส่วนใหญ่อายุ ๗๐ ปีปลาย ๆ ถึง ๘๐ ปีขึ้นไป วัยปูนนี้หมดแรงจักตอก เหลาไม้แล้ว ขอบคุณเจ้าของกระเช้า : นายคลี-นางรอง บัวกลม บ้านเนินตาโพ หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัวและนายบุญ-นางเลี้ยง เพ็งพรม บ้านเนินตาโพ หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว

    สมัยนี้ไม่ยอมแล้ว  ตอนหลัง ๆ ดองกันก็ต้องมีทองเหมือนหมั้นหมายไว้  ผู้ชายไม่มาแต่งฝ่ายหญิง ก็ยึดทอง ฝ่ายหญิงจากก็เอาทองไปคืน ระหว่างที่ดองกันฝ่ายหญิงตัวเล็ก ต้องไปบ้านฝ่ายชายทุกครั้งที่มีงานเทศกาล เอากระเช้าใส่ของกิน ของใช้ไปให้แม่ผัว ฝ่ายแม่ผัว ก็ต้องถ่ายกระเช้า ส่วนมากก็เป็นกล้วย อ้อย ผักหญ้าต่าง ๆ ที่มีเส้นหมี่ เส้นแกงร้อนใส่กระเช้าแทน.

                                  

            
           
    อธิบายภาพ : กระเช้าของนายบุญ-นางเลี้ยง เพ็งพรม บ้านเนินตาโพ หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว(ถ่ายภาพ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๓ โดยพระมหาแล ขำสุข)

    การแต่งกาย

    คนแก่ผู้ชาย นุ่งโจงกระเบน ผ้าขาวม้าห้อยคอไม่ใส่เสื้อ ผู้หญิงนุ่งโจงกระเบนใช้ผ้าห่ออก(ตะเบงมาน) ถ้าจะไปไหน ก็ใช้สไบห้อยคอไปอีกผืน ใส่ตุ้มหูเป็นพวง บางคนก็เรียกพวงเต่าลั้ง ใส่สายสร้อย สะพายแล่ง จะมีตะกรุดร้อยคั่นกับลูกเงิน หรือทองทำเป็นรูปปลารูปสัตว์ต่าง ๆ คนรวยใช้ทอง ใช้นาค คนจนใช้เงิน กินหมากทั้งผู้หญิงผู้ชาย สูบยาน้อย ใช้ยาเส้นมวนด้วยใบตองกล้วยแห้งสูบ บางคนกินหมากสูบยาด้วย

    ผู้ชาย พอกิ่ง(อำเภอหนองบัว)เจริญก็ดีขึ้น แต่ยังใส่เสื้อคอกลมสีน้ำเงินเข้ม มีกระดุมแขนแค่ศอก นุ่งกางเกงขาก๊วย(แต่เขาเรียกว่ากางเกงเสื้อตราควาย)
    ผู้หญิง พอกิ่งเจริญก็ดีขึ้น แต่ยังใส่เสื้อ ๕ ตะเข็บมีกระดุมข้าง แต่ก่อนไม่ใส่ ใช้แต่ผ้าแถบเคียนอกกับห่ออก ปัจจุบันคนแก่รุ่นป้า ก็ยังนุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้อธรรมดาเสื้อในหรืออยู่กับบ้านก็ยังใส่เสื้อ ๕ ตะเข็บบ่าใหญ่ตัวเดียว ผมทรงดอกกระทุ่มมีจอนทัดที่หู

    คนสาวคนหนุ่ม

    คนหนุ่มผู้ชาย  จะนุ่งผ้าโจงกระเบน ชอบผ้าสีเขียว เวลาไปเที่ยวมีงานเทศกาลจะใส่สร้อยคอ ใส่ตุ้มหูข้างเดียว ผัดแป้งนิดหน่อย(แป้งเม็ด)ใช้แป้งใส่ฝ่ามือเอาน้ำใส่ละเลงแป้งให้เปียก ๆ เอาหวีที่หวีผมลงไปสับ ๆ ที่แป้งแล้วมาสับที่หน้า จะมีรอยจุดขาว ๆ บนหน้าเขาถือว่าสวยดี ไม่ได้ใส่เสื้อมีแต่ผ้าคล้องคอ เอาชายไว้ข้างหลัง 

    คนสาว นุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้อ ๕ ตะเข็บบ่าใหญ่มีกระดุมที่สีข้าง ใส่กำไลข้อเท้าเป็นบางคน แต่ต้องกินหมากทุกคน ถ้าไม่กินเขาจะบังคับให้กินว่าไม่กินปากจะซีด ฟันจะเป็นแมง ปากไม่แดงไม่สวย

    ป้าเขายังให้กิน ป้ากินไม่ได้ปูนกัดปากเป็นแผลหมด 

    คนรุ่นป้าที่ยังอยู่กินหมากทุกคน เวลาเอาของไปบ้านคู่ดอง จะหิ้วกระเช้าไป จะต้องมีผ้าสไบห้อยคออีก ๑ ผืน เวลาเทศกาลจะแต่งเต็มที่มีทองจะเอามาใส่หมด หูก็ใส่เขาเรียกว่าด๊อก จะเป็นด๊อกรังแตนมีพลอยสีแดง ๆ ก้านค้องรูที่เจาะติ่งหูไว้ ให้ด๊อกแกว่งไปแกว่งมา บางคนก็มีเป็นพวงทองแบน ๆ ทำเป็นสายเล็ก ๆ เป็นพวงห้อยตุ้งติ้ง

    หน้าสาว ๆ เขาจะกันไรผมให้เป็นวงกลมตามรูปหน้า เขาจะใช้เขม่าไต้จุดไฟ เอาควันไต้ลนที่ปลายไม้แหลมเหมือนดินสอ พอติดดำก็มาวาดตามวงหน้าผากเรียกว่า”จับเขม่ากันไร”

    เทศกาลก็จะมี ตรุษสงกรานต์  เข้าพรรษา  ออกพรรษา วันสงกรานต์  ก่อพระทราย เก็บดอกไม้เสี่ยงทาย มีการละเล่นตามประเพณีเยอะ

    การบวชนาค หรือบวชเป็นพระเป็นอีกงานหนึ่งหนองบัวถือว่าการที่ได้บวชลูกชายจะได้บุญอย่างมาก ผู้ชายทุกคนจะต้องได้บวชทดแทนบุญคุณบิดา-มารดา งานจึงยิ่งใหญ่มีพิธีใหญ่โต.

     

     

     

    สวัสดีครับคุณธนกฤตครับ

    • วิธีของคุณธนกฤตนี่ใช้ได้เลยนะครับ ทำให้คนหนองบัวที่ไกลบ้านไกลเมืองได้เข้ามาในเวทีคนหนองบัว ได้ใกล้ชิดกับญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองด้วย ขณะเดียวกันก็ทำให้คนหนองบัวมีเครือข่ายเรียนรู้ เปิดออกสู่โลกกว้าง ได้เห็นสิ่งต่างๆที่มีญาติพี่น้องและคนของเราเลือกสรรนำมาแบ่งปันให้
    • นอกจากคนอื่นๆก็ดูแล้วก็ใช่คนอื่นไกลแล้ว นามสกุล รอดแสวง ของคุณธนกฤตนี่ผมก็รู้จัก และหากไปถามญาติพี่น้องดูก็คงจะรู้จักมักคุ้นกันทั้งนั้นนะครับ
    • แถววัดเทพสุทธวาสนั้น ผมเคยไปเป่าแตรให้หนุ่มสาวรำวงและพานาคเข้าโบสถ์บวชพระกันหลายคนครับ ไปเป่าแตรให้ชาวบ้านบ่อยยิ่งกว่าไปเที่ยวบ้าน ผอ.นิจ  เพ็ชรคง และ ผอ.ทองสุข อยู่ศรี  ผอ.สปป เขต ๒ จังหวัดกำแพงเพชรวัดเทพสุทธาวาสและเป็นรุ่นผมกับ ผอ.นิจเสียอีก
    • นั่งอ่านเรื่องราวที่ท่านพระอาจารย์มหาแลท่านนำมาถ่ายทอดและบันทึกรวบรวมไว้นี้ ให้ภาพท้องถิ่นหนองบัวและเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจใคร่รู้มากไปหมดจริงๆเลยนะครับ สนุกและน่าสนใจมากครับ

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล
    ขอสวัสดีสมาชิกเวทีคนหนองบัวและท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

    • ฝีมือจักตอกและสานกะต้าชุดนี้งามมากจริงๆเลยนะครับ ความละเอียดอย่างนี้คงจะเป็นกระจ่า-กระบุง-กระเช้า ที่แทบจะตักน้ำได้เลยโดยไม่รั่วทิ้งไปหมดนะครับ
    • ป้าหมอหนิมเล่าเรื่องและบันทึกข้อมูลชุมชนและวิถีชีวิตคนหนองบัวได้ครอบคลุมหลายมิติจริงๆครับ
    • ผมสังเกตว่าคุณธนกฤตและคุณ BlueFlower14 จากสวีเดนเข้ามาคุย รวมทั้งที่ท่านพระอาจารย์มหาแลท่านเปิดบล๊อกรณรงค์หลายอย่างไปในรอบปีใหม่นี้ ในช่วงสัปดาห์ท่าผ่านมานี้ คนเข้ามาอ่านเพิ่มจำนวนการเข้ามาคลิ๊กเป็นร้อยต่อวันหนึ่งๆเลยครับ
    • ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มเครือข่ายผู้อ่านที่มาจากสวีเดนในสองวันมานี้เป็นสองเท่าเลย จากแต่เดิม ๕ คนเมื่อวานก่อน ก็กลายเป็น ๑๐ คน จากที่เคยอยู่อันดับหลังก็กลายเป็นอันดับก่อนของเดนมาร์ค ออสเตรเลีย อังกฤษ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เนปาล และฝรั่งเศส ไปแล้ว

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล, อ.วิรัตน์ และ เวทีคนหนองบัวทุกท่าน

    จำได้แล้วค่ะ พระคุณเจ้า "พริกตะเกลือ" แหม..หากพระคุณเจ้าเล่น Facebook และ โพตส์ คำว่า "พริกตะเกลือ" ดิฉันจะกด Like ให้สักร้อยครั้ง

    พริกตะเกลือ นี้ แม่ดิฉันได้ย้ายไปอยู่ชลบุรี ๒๐ กว่าปีแล้ว ก็ยังนำสูตร พริกตะเกลือ ของเราชาวหนองบัวไปด้วย แล้วไปตำให้เพื่อนบ้าน ชิม โอย..........บอกเป็นเสียงเดียวกัน น้ำพริกอะไรเนี่ย ไม่เคยกินมาก่อนเลย คนหลายๆ รุ่น ตั้งแต่เด็กๆ ยันรุ่นยาย บอกว่า อร่อยมากกกกกกกกกกกกกกกกกกก

    ตัวดิฉันเองก็ได้นำ พริกตะเกลือ ไปสวีเดนเช่นกัน ให้เพื่อนคนไทยที่รู้จักกันจากจังหวัดชิม โอ้โห....เค้าบอกว่าน้ำพริกอะไรเนี่ยไม่เคยกินมาก่อนเลย ทำไมมันอร่อยแบบนี้ เค้ายังแซวว่าให้แม่ดิฉันทำขาย แล้วจดลิขสิทธิ์ ค่ะ แม่ดิฉันเป็นคนพิจิตรค่ะ แม่บอกว่าตอนเด็กๆ ก็ไม่เคยกิน พอมาแต่งงานกับพ่อ เป็นสะใภ้หนองบัวนี่แหละพ่อทำให้กิน แม่บอกว่าทำกินด้วยความยากจน แต่ดิฉันว่ามันเป็นภูมิปัญหา เพราะ ไม่ว่า ใบแมงลัก หรือ พริก เราปลูกไว้เอง

    อ.วิรัตน์ค่ะ เราจะนับกันเป็นน้าหลานก็ได้ค่ะ น้าแดง (นิจ เพชรคง) ดิฉันก็รู้จักมาตั้งแต่สมัยเรียนประถม จริงๆ จะว่าไปแล้วในหนองกลับนี่ เกี่ยวกันไปหมด เป็นญาติแบบใกล้ชิดหรือห่างๆ

    แม่เคยเล่าให้ดิฉันฟังว่ามีน้องชายของปู่ นามสกุลเดียวกับดิฉัน คือ "แสนเหมือน" ย้ายไปอยู่ห้วยร่วมเช่นกัน แต่ไม่เคยต่อกัน มาเจอกันตอนคัดเลือกทหาร มีชื่อและนามสกุลเหมือนกัน

    ดิฉันได้เข้าไปอ่าน เรื่องราวต่างๆ ที่ทั้งพระคุณเจ้าและอาจารย์ ได้บันทึกให้เราชาวเวทีคนหนองบัวได้อ่านในเวปนี้ ไม่ว่าจะเป็น รูปภาพต่างๆ บันทึกของหมอถนิม หมออรุณ วัฒนธรรมพื้นบ้าน การทำนา อาหารการกิน วิธีชีวิต ประเพณี ต่างๆ ของเราชาวหนองบัวนับวันจะเลือนหายไป เด็กๆ รุ่นหลังอาจจะจำไม่ได้ หรือไม่เคยรับรู้ หาก คนรุ่นเก่าๆ อย่างเราๆ ได้ล้มหายตายจากไป

    ดิฉันอยากถามพระคุณเจ้าและ อ.วิรัตน์ว่า มีโครงการจะพิมพ์หนังสือ เกี่ยวกับบันทึกทึ่ พระคุณเจ้าและอาจารย์ได้นำมาเผยแพร่ให้ คนหนองบัวได้อ่าน ดิฉันว่ามันมีคุณค่ามากทีเดียว

    เรามีเมล็ดพันธ์จากลูกหลานชาวหนองบัวมากมายที่ไปอยู่ในที่ต่างๆ หากเรารวมตัวกัน เราอาจจะได้ช่วยกันพิมพ์บันทึกเหล่านี้ให้เป็นรูปเล่ม มอบให้ วัด โรงเรียน ชุมชน หรือหากใครอยากเป็นเจ้าของก็ซื้อได้

    เพราะเมืองที่ดิฉันอยู่ที่สวีเดนเค้าก็มีหนังสือรวบรวมเรื่องราวต่างๆ ของเมืองเค้าไว้ค่ะ

    หากมีอะไรให้ดิฉันช่วยเหลือ เต็มใจค่ะ

    อัญชัน

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ,ท่าน อ.วิรัตน์ และเวทีคนหนองบัวทุกท่าน

    * งานดองกันก่อนแต่งงานหรือรูปแบบคลุมถุงชน ถือเป็นเอกลักษณ์ของคนหนองบัว-หนองกลับเลยก็ว่าได้ จับจองกันไว้ตั้งแต่ยังเล็กๆ หลังจากดองแล้วพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายจะไปมาหาสู่กันตลอด ช่วยเหลือกันทุกอย่างเฉกเช่นกับเป็นครอบครัวเดียวกัน เมื่อถึงฤดูทำนา จนถึงฤดูเก็บเกี่ยว คู่ดองกันก็จะช่วยเหลือกันจนกว่าจะเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จหรือ "แล้วนา" ทำนาเสร็จก็จะเป็นช่วงประมาณปลายปี สมัยก่อนการทำนาจะทำปีละหนึ่งครั้ง หลังจากแล้วนา คู่ดองที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงได้ออกโรงเรียนแล้วหรือเรียนจบชั้นประถม ได้ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา ฝ่ายชายก็จะเริ่มไปหาคู่ดองด้วยตนเองที่บ้าน ด้วยการชวนเพื่อนสนิทไปด้วยกันซัก 2-3 คน หรือเรียกอีกอย่างว่า 'เอาไก่ไปแกง" ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่ม-สาวได้คุยกันมากขึ้นก่อนจะออกเรือน ถึงช่วงประมาณเดือนเมษายน จะมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาว ได้เจอกันอีกกิจกรรม คือการเล่นสุด (หากเขียนผิดต้องขออภัย) การเล่นสุด จะเป็นการเล่นกิจกรรมต่างๆของหนุ่มสาวร่วมกันอาทิ โยนลูกช่วง ,มอญซ่อนผ้า,ตาเขย่ง ,การร้องเพลงเกี้ยวพาราสี เป็นต้น ฝ่ายสาวๆ ที่ยังไม่แต่งงานที่จะเล่นสุด จะรวบรวมเพื่อนๆ 4-5 คนต่อกลุ่ม จะทำสัญลักษณ์ไว้หน้าบ้านโดยการติดดวงไฟ100wหรือไปกลมๆ เป็นสัญลักษณ์ว่าบ้านนี้เล่นสุด ครั้นฝ่ายชายเห็นก็เข้ามารอคิว เพื่อเล่นสุดกับพวกสาวๆ กลุ่มไหนที่มีสาวสวยๆ ก็จะมีหนุ่มมาต่อคิวเพื่อรอมากเป็นพิเศษ หนุ่มๆที่เที่ยวเล่นสุด จะไปกันเป็นกลุ่มสมัยก่อนจะไปโดยการเดิน พัฒนามาเป็นจักรยาน จนถึงมอเตอร์ไซด์ หรือรถตุ๊กๆ จะเวียนกันเข้าไปเล่น ในหนึ่งคืนหนุ่มๆจะเวียนเข้าไปเล่นสุดประมาณ 2-3 ที่แล้วแต่เวลาจะมี เวลาในการเล่นแต่ละกลุ่มจะไม่เท่ากัน ในกลุ่มชายและหญิงที่เป็นดองกันก็อาจะใช้เวลานานหน่อยในการเล่น เมื่อเติบใหญ่อายุครบบวช ก็จะจัดงานบวช งานบวชก็จะจัดกันใหญ่มาก ใช้เวลา 3-4 วัน กว่าจะบวชเป็นพระ ฝ่ายคู่ดองของนาคก็ต้องมาช่วยจัดงานกันฝ่ายผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะมานอนกันที่บ้าน พวกบรรดาชายฉกรรจ์หรือบรรดาพวกทิด รวมถึงพวกหนุ่มๆ จะมาช่วยกันล้มหมู หรือล้มวัว หรือเชือดไก่ ส่วนบรรดาสาวๆ ก็จะมาช่วยกันทำกับข้าวไว้เลี้ยงแขกในงาน ครั้นหลังจากบวชสึกออกมาแล้ว ก็จะต้องมาเตรียมคัดเลือกทหาร หรือจับใบดำใบแดง คืนก่อนจับใบดำใบแดงฝ่ายคู่ดองที่เป็นฝ่ายหญิงก็จะมาให้กำลังใจ คู่ดองฝ่ายชายก็จะจัดหาอาหารต้อนรับ ผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งสองฝ่ายจะมานั่งคุยกัน บางก็เรียกขวัญให้ ใครมีพระดีก็จะส่งมอบให้ถือไว้ ส่วนใหญ่จะให้ถือพระรอดเชื่อว่าให้รอดพ้นจากการเกณฑ์ทหารได้ พอถึงเช้ามือหรือประมาณตี 4-5 ผู้ที่จะเกณฑ์ทหารก็จะไปทำการลอดใต้ถุนศาลาวัดหนองกลับ(หลังเก่า) ตามความเชื่อว่าถ้าผู้ใดรอด ก็จะรอดจากการเป็นทหาร ภายหลังจากจับแล้วได้ใบดำหรือการรอดจากการเป็นทหาร ฝ่ายคู่ดองก็จะมาฉลองกันที่บ้านเป็นกำลังใจให้กัน หลังจากนั้นไม่นานทั้งคู่ก็จะเข้าพิธีแต่งงานกันตามประเพณี ส่วนใหญ่ก็จะอยู่กันจนมีลูก หลาน เหลน หรือโหลน กันเลยทีเดียว

    สมัยนี้รูปแบบการดองในแบบเก่าๆ ของ หนองบัว-หนองกลับ ปัจจุบันเริ่มจะเลือนหายไปตามสมัยนิยม แล้วละครับ

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล
    สวัสดีครับคุณหลาน BlueFlower14 
    สวัสดีสมาชิกและผู้อ่านเวทีคนหนองบัวทุกท่านครับ

    • นี่ผมและพวกเราหนองคอกกับหนองบัวเทพฯไม่เคยรู้มาก่อนเลยนะครับว่า น้าแดง(นิจ เพ็ชรคง)ของหลาน BlueFlower14 นี่ มีชื่อเล่นว่าแดง เคยเรียกกันอยู่สองชื่อเท่านั้นคือนิดน้อย เพราะมีนิดอีกคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนในกลุ่มเดียวกันแต่ตัวโตกว่าซึ่งพวกเราจะเรียกว่านิดเฉยๆ นิจ เลยได้ชื่อเล่นว่า นิดน้อย สำหรับเรียกขานในหมู่พวกเรา
    • อีกชื่อหนึ่งก็ ผิ....เรียกชื่อพ่อเป็นชื่อเล่นของเพื่อนไปเลย พอๆกับผม ซึ่งน้าแดงของหลาน BlueFlower14 และเพื่อนๆ ก็จะเรียกชื่อเล่นผมว่า ไ.อ้.ฟื้น (ชื่อพ่อผม) บางทีพ่อพาผมไปเดินซื้อหนังสือหรือตัดผมในตลาด กำลังเดินๆอยู่ เพื่อนๆจากหนองกลับ หนองบัว และในตลาด ที่ถีบจักรยานผ่าน ด้วยความคุ้นเคยและโดยไม่ต้องจอดรถคุยกัน เขาก็ตะโกนลงมาจากอานจักรยานจากอีกฟากถนนหนึ่งก่อนจะผ่านวืดไปว่า ไ..อ้...ฟื้นนนน ซึ่งผมก็จะหันไปพยักเพยิดเพราะเป็นที่รู้กันว่าเขาเรียกผม ไม่ได้ตั้งใจเรียกพ่อ แต่พ่อๆของพวกเราก็จะเลิ่กลั่ก ว่าทำไมเพื่อนพ่อที่ตะโกนทักทายและพ่อก็มองไม่ค่อยทันนั้น ทำไมมันเสียงเด็กจัง!!!! ส่วนใหญ่เลยมักจะรู้จักแต่ชื่อเพื่อนกับชื่อพ่อและฉายาที่เพื่อนๆตั้งให้
    • แนวคิดและโครงการจัดพิมพ์ข้อมูลกับองค์ความรู้ของเราเวทีคนหนองบัว เพื่อแจกจ่ายออกไปให้กว้างขวางทั่วหนองบัวและสู่แหล่งต่างๆนั้น น่าสนใจมากเลยครับ ขอถือเป็นเรื่องหนึ่งที่จะร่วมคิดและพยายามหาทางทำด้วยอยู่เสมอครับ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์มากมายทั้งต่อชาวบ้าน ชุมชน องค์กรท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆครับ
    • ปีนี้ ผมกับหลายท่านจะพยายามประมวลผลและทำเป็นส่วนหนึ่งของการจัดเวทีคนหนองบัว รวมทั้งอยากจะประสานงานมหาวิทยาและสถาบันวิชาการต่างๆมาจัดประชุมวิชาการที่หนองบัวของเราบ้างสักครั้งหนึ่งนะครับ

    เยี่ยมจริงๆเลยครับคุณธนกฤต

    • ช่างจดจำรายละเอียดมาทบทวนให้รำลึกกันได้เยอะแยะเลยนะครับ
    • การเฝ้าไปลอดใต้ศาลาวัดหลวงพ่ออ๋อย เพื่อให้รอดพ้นจากการติดเกณฑ์ทหารและสิ่งต่างๆที่ไม่ต้องการนี่ ทั้งได้ยินการบอกต่อๆกันและได้เห็นคนเขาทำกันจริงๆนะครับ


                        
                        นำหน้าตาเอกสารที่ปริ้นเอ๊าข้อมูลจากเวทีคนหนองบัวไปฝากญาติ ๆ ที่หนองบัว มาอวดคุณBlueFower14

    เจริญพรคุณBlueFlower14

    ดีใจด้วยจังเลยที่พริกตะเกลือจากหนองบัวได้โกอินเตอร์ ไปถึงสเวเดนโน่นแนะ ตามหลังพริกเกลือไปติดๆเลยเนี่ย หลังจากที่พริกเกลือได้โกอินเตอร์นำหน้าไปก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องด้วยเขาเป็นญาติกันอย่างใกล้ชิดด้วยเนาะ ระหว่างพริกเกลือกับพริกตะเกลือเนี่ย ทำให้อาตมานึกถึงคุณเสวก ใยอินทร์ เจ้าของบล๊อกคนหนองบัวกับพริกเกลือทันทีเลยซิ

    ชักนึกอยากจะให้คุณBlueFlower14 เขียนพริกตะเกลือเป็นบันทึกหนึ่งต่างหากอีกสักเรื่องเสียแล้วละ เพื่อให้มีเรื่องอาหารหนองบัวพริกตะเกลือนี้คู่กันกับพริกเกลือที่มีอยู่แล้ว ไม่ทราบคุณBlueFlower14 ได้ลองเข้าไปเยี่ยมบล๊อกพริกเกลือของคุณเสวกบ้างหรือยัง

    คุณBlueFlower14นี่เขียนหนังสือดีจัง อ่านเพลินเลย

    อาตมาเคยปรารภเรื่องการจัดพิมพ์หนังสือหนองบัวเมื่อปีกลายนี้กับอาจารย์วิรัตน์เหมือนกัน แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้ทำเลย ได้แต่รอคนหนองบัวว่าเมื่อไหร่หนอ จะมีคนมีแนวคิดเดียวกันนี้บ้าง ความหวังที่ตั้งไว้ วันนี้ก็ได้มาถึงแล้ว จึงรู้สึกดีใจสุดๆเลยที่คุณBlueFlower14มีความประสงค์จะพิมพ์ข้อมูลชุมชนหนองบัวให้คนหนองบัวที่เข้าไม่ถึงข้อมูลความรู้ชุดนี้ได้อ่านศึกษาเรียนรู้

    ได้ลองทำคนเดียวนำร่องไปก่อนนิดหน่อย เป็นนิดหน่อยที่หนักอึ้งเลยแหละ พูดตรงๆเลยก็คือทำไม่ไหวหรอก(คนจน)ในเมื่อคุณBloeFlowerเห็นประโยชน์ตรงนี้ ก็เลยขออนุญาตนำตัวอย่างที่จัดทำเล็กๆดังกล่าวนั้น มาโชว์ให้ดูสักนิดนึง นี่คือคำนำเรื่องประวัติบุคคลสำคัญ : ชุมชนเมืองหนองบัว จะหาว่าเว่อ ก็ยอมรับโดยดุษฏีไม่มีเถียง ดังนี้

                                                     คำนำ 

           การรวบรวมประวัติบุคคลสำคัญของชุมชนเมืองหนองบัวในครั้งนี้ทำเพื่อบูชาคุณ : พระเทพสิทธินายก ห้อง ชาตสิริ-ท้วมเทศ (๒๔๓๘-๒๔๙๙)และพระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงปู่อ๋อย สุวณฺโณ-พรมบุญ/๒๔๔๒-๒๕๒๙) ซึ่งพระเดชพระคุณทั้งสองท่านนี้ถือเป็นบุคคลสำคัญของชุมชนเมืองหนองบัวอย่างมาก เมื่อพูดถึงเมืองหนองบัว ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องกล่าวถึงประวัติท่านเจ้าคุณห้อง อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์และหลวงปู่อ๋อยวัดหนองกลับ

    การจัดทำเอกสารชุดนี้ได้แยกออกมาเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากชุดเย็บเล่มที่รวมเรื่องราวในหนองบัวซึ่งมีข้อมูลอย่างหลากหลาย และก็เพื่อให้เป็นข้อมูลประวัติบุคคลโดยเฉพาะ อีกทั้งก็จะสะดวกแก่การสืบค้นด้วย เนื้อหาส่วนใหญ่ได้รวบรวมจากหนังสือทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็นของวัดเทพสุทธาวาสที่จัดทำโดยท่านพระครูนิมิตศีลาภรณ์(สม ฐิตสีโล- ฉ่ำน้อย) และอีกส่วนหนึ่งที่เพิ่มเติมมาก็คือจากอินเตอร์เน็ต จำนวน ๓ เว็บไซต์ ดังนี้(๑)http://www.nongbua.ac.th/tour.html  ข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนในปัจจุบัน(โรงเรียนหนองคอก) ที่กล่าวถึงความเป็นมาของอำเภอหนองบัว ว่าก่อตั้งมาเป็นร้อยปีแล้วโดยการนำของท่านเจ้าคุณห้อง ผู้ใดสนใจเข้าไปอ่านที่เว็บไซต์ดังกล่าวได้(๒)เว็บไซต์โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)  http://anbnb.net/ ได้ระบุถึงหลวงพ่อพระเทพสิทธินายกว่า  “โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) ก่อตั้งโดย ท่านเจ้าคุณเทพสิทธินายก เจ้าคณะจังหวัดพระนครสวรรค์   เมื่อวันที่ ๑๕พฤษภาคม ๒๔๖๖” (๓)เว็บนี้(http://www.jarun.org/B-LP-Derm.htm)หลวงพ่อจรัญ เล่าเรื่องหลวงพ่อเดิม เรื่อง เมื่ออาตมาไปเล่าเรียนวิชากับ ”หลวงพ่อเดิม” ตอนจบ นี่คือบันทึกของหลวงพ่อจรัญ(พระธรรมสิงหบุราจารย์)วัดอัมพวัน สิงห์บุรีที่เป็นบันทึกการพูดคุยสนทนากันระหว่างท่านเจ้าคุณเทพสิทธินายกกับหลวงพ่อจรัญ โดยในตอนนั้นหลวงพ่อจรัญบวชได้ไม่นานนัก(บวชได้ ๔ พรรษา)  ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ หลวงพ่อจรัญได้เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิชาคชศาสตร์กับหลวงพ่อเดิม ที่วัดหนองโพและในปีนั้นเองหลวงพ่อเดิมก็ได้มรณภาพลงท่านอยู่ช่วยงานศพและได้พบกับหลวงพ่อเทพสิทธินายก ซึ่งมาเป็นประธานงานศพหลวงพ่อเดิมด้วย

    ส่วนประวัติลวงปู่อ๋อยนั้นได้มาจากหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่อ๋อย ที่เขียนโดยพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระนิภากรโสภณ(ไกร ฐานิสฺสโร-ศรสุรินทร์)ในขณะนั้นท่านดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูวาปีปทุมรักษ์ และอีกส่วนหนึ่งอาตมาได้เขียนขึ้นมาใหม่ ส่วนรูปถ่ายของหลวงปู่นั้นได้นำมาจากเว็บไซต์พระเครื่องเมืองสี่แคว ซึ่งเป็นภาพเดียวกับภาพในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพของท่าน โดยในหนังสือดังกล่าวระบุว่าเป็นภาพถ่ายในงานทำบุญอายุครบ ๖๓ ปี ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๕๐๕

    เรื่องราวแง่มุมต่าง ๆ ของบุคคลสำคัญในหนองบัวนั้นยังมีอีกมากมายที่น่าจะหาได้จากความทรงจำของลูกหลานบ้าง ศิษย์ของท่านบ้าง และจากคนเก่าคนแก่ในหนองบัว-หนองกลับบ้าง ซึ่งยังไม่มีใครได้เก็บรวมรวมไว้  ฉะนั้นข้อมูลเรื่องราวชีวิตของท่านโดยเฉพาะหลวงพ่อเทพฯหลวงปู่อ๋อยจึงยังกระจัดกระจายอยู่มาก จึงขอฝากและวิงวอนให้ท่านที่มีข้อมูล ลูกหลานหลวงพ่อเทพฯลูกหลานหลวงปู่อ๋อย ผู้รู้ทั้งหลายได้ช่วยกันบันทึกเก็บรวมรวมไว้ เมื่อมีข้อมูลสมบูรณ์ครบถ้วนแล้วคงได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ในวงกว้างต่อไป

    หมายเหตุ  ฉบับย่อนี้ มิได้นำเนื้อหารายละเอียดประวัติเจ้าคุณเทพฯหลวงปู่อ๋อยซึ่งเขียนโดยพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระนิภากรโสณ(ไกร ฐานิสฺสโร –ศรสุรินทร์)และพระครูนิมิตศีลาภรณ์(สม ฐิตสีโล-ฉ่ำน้อย)มาลงไว้

    พระมหาแล  อาสโย(ขำสุข)
    วัดศรีโสภณ : วัดเสือลากหาง ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก  วันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

     

    นมัสการพระมหาแล สวัสดี อ.วิรัตน์

                    ก่อนอื่นขอขอบคุณที่รับชาวหนองบัวคนนี้ เข้าเป็นสมาชิก เวทีคนหนองบัว อีกคน ถ้าจะนับตั้งแต่เริ่มมี Blog นี้ น่าจะ ๒ ปี ผ่านมา ผมเพิ่งเข้ามา ๒-๓ วัน คงจะไม่สายเกินไป ปกติก็จะเล่น Social Network อยู่บ้าง ก็แค่คุยกับเพื่อน post รูปครอบครัวให้เพื่อนๆ ดู ก็แค่นั้น ยังไม่เห็นที่ไหนที่จะนำเรื่องราวบ้านเรามาเล่าสู่กัน หลังจากได้อ่าน กระทู้ ทั้งหมดแบบคร่าวๆ ก็คิดอยากจะนำเสนอเรื่องราวบ้าง แต่ตอนนี้คงต้องหาข้อมูลก่อน เพราะดูแล้วผมคงจะเด็กกว่า คนต้นเรื่องที่ผ่านๆ มา อยู่มาก

                    สำหรับกลุ่มพริกเกลือ ผมเคยได้ยินเพื่อนจากระยองพูดถึงเหมือนกัน ไม่ทราบว่าจะใช่กลุ่มเดียวกับที่ผมรู้จักหรือเปล่า ตอนที่เรียนอยู่ปากน้ำโพ ก็มีรุ่นเดียวกันจากหนองบัวไปเรียน ๗ คน โดยพักอยู่ที่วัดหัวเมือง(นครสวรรค์) คณะ ๑ อยู่กับท่าน พระมหาสุธีย์ ก็ได้ข้าวก้นบาตรจากท่าน ทำให้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ได้อย่างมาก ตอนนี้เพื่อนทุกคนก็ไปทำงานที่ระยองกันส่วนใหญ่ เช่น สุทิว, สุทัศ, พิเชษฐ์, แสวง มีผมคนเดียวที่อยู่กรุงเทพ แต่ไม่ทราบว่าคุณเสวก ใยอินทร์ เจ้าของกระทู้คนหนองบัวกับพริกเกลือ จะรุ่นพี่หรือรุ่นน้องผม เผื่อมีโอกาสได้ไประยองถ้ารู้จักชื่อเพื่อนที่ผมกล่าว และอยู่ใกล้ๆ กัน  คงจะได้กินแกงพริกเกลือด้วยกัน

    ขอบคุณครับ

    บุญเลิศ ทรงทอง (DekThape ชาวหนองบัวอีกคน)

    สวัสดี สมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกๆ ท่าน

                    ขอเสริมกระทู้ของคุณธนกฤษ เรื่อง ตรุษสงกรานต์ (ถ้าบ้านเราจะออกเสียง “สุดสงกรานต์”) ซึ่งจะเริ่มเล่นกันช่วงประมาณเดือนเมษา ตอนกลางคืน คนเฒ่าคนแก่จะเล่นนางลอบนางไทร ประมาณว่าเข้าองค์ทรงเจ้าทุกวันนี้ (ขอผู้รู้ช่วยให้รายละเอียดเพิ่มเติม) ส่วนหนุ่มสาวก็จะเล่น”สุด”กัน  วิธีการเล่น ก็จะเป็นจำพวก ลูกสะบ้า, ลูกช่วง หนุ่มสาวคู่ไหนรักชอบพอกัน ก็จะโยนลูกสะบ้า หรือลูกช่วง ให้กัน เมื่อใครตกไปเป็นเชลยก็จะถือโอกาสเกี้ยวพาราสีกัน เข้าใจว่าการละเล่นนี้มีมานาน สมัยพ่อแม่ก็เคยเล่าให้ฟัง ว่าจีบกันอย่างไร หนุ่มบ้านไหนมาจีบบ้าง  เคยไปจีบสาวบ้านไหนบ้าง ก็ถือว่าเป็นวิธีการเลือกคู่ของหนุ่มสาววิธีการหนึ่ง ซึ่งจะอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ตลอด ฝ่ายหญิงก็รักนวลสงวนตัว ไม่ชิงสุกก่อนห่าม และเมื่อหนุ่มสาวเกิดการรักชอบพอกัน ก็จะจัดหาผู้ใหญ่มาสู่ขอตามประเพณีต่อไป สินสอดก็ประมาณ พร้าขัดเอว วัวคู่ เกรียนเล่ม หนุ่มเมื่ออายุ ๒๐ ปีครบบวช จะต้องหาสีกามาถือหมอน ก็จะใช้วิธีนี้ จะมีบ้างที่มีการคลุมถุงชน สมัยรุ่นผมก็เคยไปเล่น ยังได้รู้จักกับสาวโคกมะตูมเลย  แถวบ้านผมถือว่าสาวโคกมะตูม ขึ้นชื่อเรื่องความสวยเลยล่ะ

    ขอบคุณครับ

    บุญเลิศ ทรงทอง (DekThape ชาวหนองบัวอีกคน)

    • อ่านเรื่องการคิดถึงพริกเกลือและพริกตะเกลือที่หลาน BlueFlower14 และท่านอื่นๆพูดถึงกันไปมาเลยจนนึกอยากกินน้ำพริกแล้วละครับ เมื่อคืนก่อนเลยอดไม่ได้ที่จะเอาข้าวมาคลุกพริกป่นกิน พอได้ครับ พอได้
    • ท่านพระอาจารย์มหาแลเป็นมือจัดการความรู้และนักปฏิบัติการเคลื่อนไหวสังคมที่มีพลังมากเลยนะครับ ผมเห็นแล้วก็พลอยคึกคักและฮึกเหิมไปด้วย
    • บางทีเรื่องดีๆและมีความสร้างสรรค์ต่อสังคมส่วนรวมมากๆนั้น ก็เกิดจากความเข้มแข็งและคิดได้ก็ทำไปตามกำลังอย่างชาวบ้านและคนตัวเล็กๆอย่างนี้แหละนะครับ

    หลาน BlueFlower14 เธอจุดประกายการนำเอาเนื้อหาเรื่องราวต่างๆในเวทีคนหนองบัวมาทำเป็นหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ และลองร่วมนำเสนอแนวคิดการนำไปขยายผลต่อไปหรอกนะครับ

    อันที่จริงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมและทีมก็อยากเสนอขอรับการพิจารณาสนับสนุนจาก GotoKnow และ สสส มากเลยครับที่จะดึงเอาเนื้อหาของเสทีคนหนองบัวนี้ออกมาทำหนังสือและทำเป็นสิ่งตีพิมพ์เพื่อจัดเวทีคนหนองบัวและจแกจ่ายให้แพร่หลายทั้งสำหรับวิทยากร ผู้เข้าร่วมประชุม สื่อมวลชน ผู้นำชุมชน โรงเรียนทั้งหนองบัว หน่วยงาน เครือข่ายผู้นำชุมชนและ อปท ทั้งอำเภอหนองบัว แต่ตอนนั้นข้อมูลและองค์ความรู้ในเวทีคนหนองบัวของเรายังไม่มากมายและคึกคักมากอย่างนี้ อีกทั้งส่วนใหญ่ก็เป็นการทำช่วยกันของท่านพระอาจารย์มหาแลกับผม จึงเกรงว่าหากจะประมวลผลและสังเคราะห์ขึ้นเป็นความรู้ให้เพียงพอสำหรับทำเป็นหนังสือและเอกสารจัดเวทีคนหนองบัว นอกจากจะกลายเป็นหนังสือที่ยังมีคนมีส่วนร่วมทำน้อยไปแล้ว ก็จะหนักเกินไป เพราะหลังจากนั้นแล้วก็จะต้องเป็นคนกลุ่มเดิมๆเพียงกระจิบเดียวนั่นเองที่จะต้องทำกระบวนการช่วยกันต่อไปอีก

    ก็เลยยังไม่ได้คัดสรรและขอรับการสนับสนุน แต่เลือกเอาเนื้อหาบางส่วนที่เป็นเครื่องมือและกระบวนการทำงานเชิงพื้นที่ ที่พอจะเป็นตัวอย่างและพอจะเป็นตัวป้อน ให้จัดเวทีมหิดล-คนหนองบัว ในปีนี้ได้ โดยคาดหวังว่า เมื่อคนเห็นตัวอย่างความสำเร็จเล็กๆน้อยๆแล้ว ก็จะมีกำลังใจและปรึกษาหารือเพื่อทำให้ดีกว่าเดิมอีกทั้งงานสร้างความรู้และการเคลื่อนไหวสังคมแห่งการเรียนรู้ของท้องถิ่นหนองบัว ซึ่งดูเนื้อหา ณ เวลานี้แล้ว ก็ออกมาอย่างที่คาดหมายไว้แล้วละครับ แต่ที่มากกว่านั้นก็คือ เริ่มมีคนมองเห็นดังเช่นหลาน BlueFlower14 ซึ่งก็จะจุดประกายได้ดีมากแน่ๆสำหรับจังหวะก้าวต่อไปของปีนี้ อีกทั้งจะดูงามมากอีกด้วยครับ เพราะหากผมและท่านพระอาจารย์มหาแลนำเสนอบ่อยๆ ก็จะดูว่าคิดเองทำเองกันไปหมด

    อย่างไรก็แล้วแต่ครับ สำหรับคนที่รักหนังสือและวัฒนธรรมการอ่านเขียน รวมทั้งรักการสร้างความเป็นส่วนรวม ทั้งเพื่อสังคมและเพื่อคนอื่น เพื่อลูกหลาน เพื่อชุมชนบ้านเกิดเมืองนอน โดยไม่ต้องหวังว่าจะเกิดอะไรและได้อะไรกลับมา เพียงแต่คิดว่าดีแล้วก็ทำ อีกทั้งทำเพราะเมื่อทีของเรานั้น พ่อแม่ปู้ย่าตายายและคนอื่นๆเขาก็ยังทำไว้ให้เรา เราก็ต้องมีภารกิจชีวิตที่จะต้งทำอย่างนั้นเช่นกัน เหล่านี้ ก็อาจจะคิดทำเองในโอกาสต่างๆที่เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีได้ แต่ว่าต้องใช้เงินและยุ่งเหมือนกันครับ อย่างที่ผมทำหนังสือให้แม่และถือโอกาสแจกจ่ายในชุมชนและเผยแพร่แก่คนที่สนใจในแนวทางเหมือนๆกันนั้น คิดๆดูแล้วก็ใช้เงินเกือบ ๓ หมื่นเลยครับ ต้องเก็บเงินอยู่นานเลยเหมือนกัน

    ใครที่ชอบและมีกำลังทำก็อาจจะใช้แนวอย่างนี้ทำก็ได้ครับ เช่น ทำแจกจ่ายงานบุญงานเทศกาลที่ตนเองมีส่วนร่วม ทำให้พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่เพื่อเป็นเครื่องแสดงกตัญญูกตเวทิตา ทำบุญด้วยความรู้และให้ปัญญาเป็นทาน ทำบุญให้โรงเรียนที่เคยเรียน ทำเพื่อจัดงานแสดงกตเวทิตาครูอุปัชฌาจารย์ ทำเพื่อเป็นหนังสืออ่านเรื่องวชุมชนให้พระเณรและผู้นำชุมชนโดยเขียนเนื้อหาขึนเองเพิ่มขึ้นมาอีก ทำเพื่อเป็นหนังสือแจกจ่ายงานศพ งานบุญ งานมงคลต่างๆ สร้างวัฒนธรรมให้หนองบัวของเราให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ทีละเล็กละน้อย ใครทำก็ดึงเอาเพียงข้อมูลมาเรียบเรียงให้ได้แง่มุมที่ชุมชนและตนเองสนใจใคร่เน้น ขณะเดียวกันก็นำกลับมาโยนรวบรวมไว้ในนี้ด้วย อย่างนี้ก็ได้ครับ

    แต่นอกเหนือจากนี้ ก็เชื่อว่าจะมีคนเริ่มเห็นว่าจะนำไปทำสื่อ แหล่งข้อมูล และสิ่งตีพิมพ์ เพื่อเสริมกำลฃังการทำงานสร้างสิ่งดีๆนชุมชนต่อไปได้อย่างไรบ้างแล้วละครับ อย่างท่านพระอธิการโชคชัยนั้น มีแนวโน้มว่าท่านจะมุ่งมาเลือกหนองบัวเป็นกรณีศึกษาทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่ท่านกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งก็นับว่าไม่เลวนะครับที่เริ่มมีการทำวิจัยในสิ่งที่เวทีคนหนองบัวค่อยๆริเริ่มขึ้นมาช้าๆ ผมเองนั้นก็กำลังให้น้องๆและทีมวิจัยของผมเริ่มพิจารณาข้อมูลเพื่อสกัดและสร้างความรู้ให้ตกผลึกมากยิ่งๆขึ้น ทั้งเพื่อเสริมกำลังของเวทีคนหนองบัว และดึงเอาบทเรียนไปใช้ทำงานในวงกว้างมากยิงๆขึ้น สักพักหนึ่งก็คงจะเห็นหนังสือดีที่หลายท่านก็อยากให้มี ลองช่วยกันทำไปสนุกๆนะครับ

    คุณบุญเลิศ : เด็กเทพ เป็นคนมีรายละเอียดดีจังเลยนะครับ เขียนหนังสือก็ดี
    เขียนบันทึกในลักษณะทำเป็นหมายเหตุสังคมและหมายเหตุความทรงจำสั้นๆอย่างนี้นอกจากอ่านง่ายแล้ว ก็ให้สารสนเทศสำหรับนำไปเขียนเรียบเรียงเป็นองค์ความรู้ช่วยกันต่อไปได้อีกเป็นอย่างดีเลยละครับ

    พี่วิรัตน์ครับ เรื่องนัดพบกับท่านสมหมาย เมื่อวานนี้(9ม.ค.) ผมได้โทรนัดแล้วนะครับ เป็นวันเสาร์ที่ 16 นี้เวลา 5 โมงเย็น อาจจะมี ผอ.ขุน โอภาษีด้วย พอดีผอ.ขุน จะเข้ามากทม.ช่วงนั้นพอดี เพื่อมาดูแล อจ.สำอาง คู่ชีวิตที่เข้ารับการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ ที่ผ่านไปด้วยดีตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (เมื่อวานผมกับภรรยาก็ได้ไปเยี่ยมอจ.ที่สถาบันมะเร็งฯ ติดรพ.รามาฯ ตอนนี้ อจ.สบายดี เผื่อลูกศิษย์ลูกหาอจ.ที่เข้ามาอ่านเจอจะได้ทราบว่าไม่มีอาการอะไรที่น่าเป็นห่วง )

    เรื่องจัดทำหนังสือและการจัดงานสัญจรที่หนองบัวในเดือนมีนาคมนี้ อยากจะถือโอกาสที่จะได้เจอะเจอกับพี่ในวันเสาร์นี้คุยรายละเอียดด้วย (พวกเราคือ พระอาจารย์มหาแล, พี่วิรัตน์, ตัวผมเอง และน้องสมบัติ ได้พูดคุยกันอยู่ในนี้ได้ปีกว่าแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสได้เจอหน้ากันเลย น่าแปลกมาก)

    สวัสดีครับพี่เบิ้ม (รัชทนงค์ โพธิ์พรหม) เห็นนามสกุลแล้วก็ว่าคุ้นๆ ต้องเป็นอะไรกับช่างกลีบพ่อพี่เดชแน่เลย พอพี่วิรัตน์มากล่าวต้อนรับ ก็ไม่ผิดจากที่คิดไว้ เมื่อก่อนตอนเป็นวัยรุ่นผมเล่นฟุตบอลและกินเหล้ากับพี่เดชที่หนองบัวบ่อย สบายดีนะครับพี่ ผมน้องชายรักษ์/ร้านทองขอบสระ (ตอนนี้ย้ายมาตลาดสามเขตรแล้ว) ตอนนี้พี่เบิ้มอยู่ที่ไหน เคยได้ข่าวว่าอยู่ตาคลี แล้วพี่เดชกับไก่เป็นอย่างไรบ้าง ไม่เจอะเจอกันเลยหลายปีมาก เรื่องข้อมูลรพ.คริสเตียน ตอนที่อยู่หัวตลาดนี่ ต้องยกให้พี่เบิ้มแล้วแหละ เพราะบ้านอยู่ตรงนั้นพอดีเลย มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมก็เอามาแชร์กันนะครับ ช่างกลีบนี่ก็สุดยอดฝีมือช่างในหนองบัวคนหนึ่ง ถ้ามีเวลาเอามาเล่าให้พวกเราฟังบ้างก็ดีนะ

    สวัสดีน้องธนกฤต รอดแสวง ที่ทึกทักเอาว่าเป็นน้องนั้นก็เพราะน้องบอกว่าจบม.3 หนองคอก ส่วนตัวพี่เองจบม.ศ.รุ่นเกือบสุดท้าย (ยังมีอีก 2 รุ่น) เห็นนามสกุลแล้วนึกถึงเพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่ รร.วัดกระดานหน้าแกล อ.สวิง รอดแสวง น่าจะเกี่ยวข้องเป็นพี่เป็นน้องหรือเป็นญาติกับน้องธนกฤตนะ เพราะบ้านของอ.สวิง ก็อยู่หนองกลับ แถววัดเทพฯ มีเพื่อนที่หนองบัว 2 คน ที่ลูกเขากำลังเรียนอยู่ที่ลาดกระบัง คนหนึ่งเรียนปี3 อีกคนเรียนปี4 เห็นประวัติการศึกษาของน้องธนกฤตแล้ว ช่างคล้ายกับตัวพี่เองมาก พี่จบป.1-7 ที่รร.หนองบัว (เทพวิทยาคม) แล้วไปต่อม.ศ.1-3 ที่รร.หนองบัว จากนั้นก็เข้ากรุงมาเรียนปวช.ไฟฟ้าที่ช่างกลปทุมวัน จบวิศวะที่พระจอมเกล้า พระนครเหนือ จากนั้นทำงานและแต่งงานมีลูกแล้ว จึงไปเรียนต่อ MBA ภาคค่ำที่ธรรมศาสตร์ ที่นี่มาจุดไต้ตำตอ ได้เจอกับ เจลูกชายเฮียเคี้ยง(ลูกคนโตของฮั้งลั้ง ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นศิษย์เก่าหนองคอกรุ่นแรก) ที่อายุต่างกันกว่าสิบปีโดยบังเอิญ มารู้ว่าเป็นคนหนองบัวเหมือนกันก็เรียนเทอม2แล้ว ไปได้ยินเจเค้าคุยกับเพื่อนในห้องสมุดว่าเป็นคนนครสวรรค์ ก็เลยเข้าไปถามว่าอยู่อำเภออะไร เจเค้าบอกว่าที่บ้านทำโรงสีที่หนองบัว ปัจจุบันเจได้เข้ามาดูแลกิจการโรงสีที่หนองบัว ส่วนตัวพี่ทำธุรกิจส่วนตัวที่กทม.อยู่

    สวัสดีน้อง Blue Flower14 และน้อง DekThape

    ยินดีต้อนรับคนบ้านเดียวกัน มาช่วยกันแบ่งปันข้อมูลต่างๆกันในนี้ ที่นี่จะมีพระอาจารย์มหาแลและพี่วิรัตน์ 2 ท่านนี่แหละที่เป็นกำลังสำคัญ คอยเฝ้าบ้านต้อนรับแขกเหรื่ออยู่ ที่เหลือคือตัวพี่เองและน้องสมบัติ และคนอื่นๆที่นานๆก็จะโผล่หน้าเข้ามาทักทายบ้าง แต่ก็ตั้งใจว่าปีนี้จะพยายามเข้ามาช่วยพี่ท่านทั้ง2 เฝ้าบ้านให้บ่อยขึ้น อยากจะให้ชวนพวกเพื่อนๆเข้ามาแบ่งปันกัน พี่ก็ชวนเพื่อนพี่กันอยู่หลายคนนะ แต่อย่างว่า คนรุ่นนี้หาน้อยที่จะใช้คอมพิวเตอร์ได้ ที่พอใช้ได้ก็ไม่ค่อยคล่อง เลยดูเหมือนมีแต่คนหน้าเดิมๆเข้ามาพูดคุยกันในนี้

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล
    สวัสดีพี่วิรัตน์ และสมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกท่าน

    ได้อ่านเรื่องราวชีวิตของป้าหมออรุณและป้าหมอหนิมแล้ว ต้องถือเป็นแม่พระของชาวหนองบัวเลย ตลอดชีวิตของท่านทั้งสอง ได้อุทิศตนให้กับชาวหนองบัวอย่างแท้จริง ถึงแม้ท่านทั้งสอง จะสามารถเลือกไปใช้ชีวิตที่อื่นที่ลำบากน้อยกว่าที่หนองบัว (สมันนั้นเมืองไทยคงหาที่สะดวกสบายได้น้อยมาก)แต่ท่านทั้งสองก็เลือกที่จะอุทิศชีวิตให้กับพ่อแม่ปู่ย่าตายายพวกเรา งานสาธารณสุขสมัยนั้น ต้องบอกว่าคนที่เป็นหมอที่ต้องไปสัมผัสคนป่วยที่เป็นโรค โดยเฉพาะโรคติดเชื้อร้ายแรง มีความเสี่ยงสูงมากที่จะติดเชื้อติดไข้มากกว่าคนทั่วไปเสียอีก รวมทั้งการที่ต้องไปเปลี่ยนความเชื่อในการดูแลสุขภาพแบบเดิมๆที่ชาวบ้านยึดถือกันมายาวนาน แต่ด้วยจิตสาธารณะของท่านทั้งสอง (ขอยืมคำขวัญวันเด็กปีนี้มาใช้หน่อย) กอปรกับความอดทนไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคนานา ทำให้ในเวลาต่อมาท่านทั้งสองเข้าไปอยู่ในใจและเป็นที่รักใคร่ของของชาวหนองบัวทั้งอำเภอ

    อ่านบันทึกของป้าหมอหนิมนี่ มองเห็นภาพที่แม่และพี่สาวเคยเล่าให้ฟังถึงความทุรกันดารและความลำบากยากแค้นของหนองบัวชัดเจนมากขึ้น

    อยากจะขออนุญาตจัดทำบันทึกของป้าหมอหนิมขึ้นมาใหม่ เพื่อความสมบูรณ์ของภาษา และจะแก้ไขเนื้อหานิดหน่อยบางช่วงบางตอนเช่น ตอนที่ป้าหมอหนิมทำงานร่วมกับป้าละมูล ผดุงครรภ์ชุมแสง ซึ่งในบันทึกใช้คำว่า "ป้า" แทนตัวป้าหมอหนิมและป้าละมูล ซึ่งถ้าไม่ตั้งใจอ่านให้ละเอียด อาจจะสับสนว่า ป้าไหนคือป้าหมอหนิมและป้าไหนคือป้าละมูล อีกอย่างถ้ามีเวลา อยากจะรวบรวมบันทึกทั้งของป้าหมออรุณและป้าหมอหนิม เรียงลำดับเนื้อหาตามวันเวลา เพื่อจะได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของหนองบัวตามลำดับของวันเวลา

    เจริญพรคุณฉิกชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    บันทึกของป้าหมอหนิม ยังเหลืออีกหนึ่งตอน เดี่ยวจะนำมาลงวันนี้เลย ต้นฉบับที่ท่านมอบให้อาตมาในวันที่ไปเยี่ยมพบปะพูดคุยกับท่านเมื่อ ๒ มกราคม ๒๕๕๔ นั้นเป็นเอกสารกระดาษA4เย็บด้วยแล็กซีน เล่มบาง ๆ เนื้อหาในหนังสือที่เป็นบันทึกของท่านประมาณ ๒๐ หน้า มีรูปภาพประกอบหลายภาพด้วยกัน การนำรูปภาพมาแทรกไว้แต่ละเรื่อง ก็ใช้วิธีนำรูปถ่ายมาติดกาวแปะกระดาษไว้ เหมือนเอกสารรายงานของนักเรียนเลยแหละ

    ข้อความในบันทึก อาตมาเข้าใจว่าคุณป้าน่าจะเขียนบันทึก แล้วคงให้ลูกๆหลานๆพิมพ์ให้ ข้อความส่วนมาก จะเหมือนภาษาพูดมากเลย อาตมาพิมพ์แล้วต้องอ่านหลายรอบหน่อย จากนั้นจึงค่อยแยกวรรคตอนออกเป็นประโยคเพื่อให้เข้าใจง่าย

    ภาษาเขียนของป้าหมอหนิม แม้จะเหมือนภาษาพูด แต่เนื้อหาใจความทั้งหมดให้อรรถรสในการอ่านได้น่าติดตาม ตื่นเต้น มีมุขขำๆบ้าง สนุกดีด้วย แม้แค่อ่านตัวอักษรก็เหมือนกับได้ไปนั่งฟังท่านเล่าให้ฟังเลย

    อนุโมทนายินดีอย่างมาก ถ้าคุณฉิกจะกรุณาเรียบเรียงจากบันทึกของท่านขึ้นมาใหม่

    ข้อความ(คห.๙๙๗)นั้นเป็นความเห็นของอาตมาเอง ที่ไม่ปรากฏนามเพราะลืมเข้าระบบ

    ชีวิตประจำวันของคนหนองบัวเมื่อก่อน

          อาชีพของคนหนองบัวเป็นอาชีพหลักมีไร่บ้างเล็กน้อย ฤดูทำนา-เกี่ยวข้าวเสร็จ จะทำไร่ฝ้าย ปลูกถั่ว ปลูกงา ปลูกมันเทศไว้กิน ไว้แลกข้าว แต่ก่อนเขาไม่ขาย ใช้แลกข้าวเปลือก มีขายอย่างเดียวข้าวเปลือก ทำนาแล้วปลูกอ้อยไว้กิน เกี่ยวข้าวแล้ว ก็หีบอ้อยเคี่ยวเป็นน้ำอ้อยใส่ปี๊ป ใส่ไหแทนน้ำตาล น้ำตาลไม่มีขาย

                

               อธิบายภาพ : เครื่องหีบอ้อย วาดภาพโดย เสวก ใยอินทร์
    เครื่องหีบอ้อย กับคนหนองบัว-หนองกลับ 
    ชาวบ้านหนองบัวหนองกลับไม่เพียงแต่จะทำนาทำไร่เป็นอย่างเดียว แต่การคิดค้นทำสิ่งประดิษฐ์ทางภูมิปัญญาต้องยกนิ้วให้ การทำเครื่องมือแปรสภาพของผลผลิตทางการเกษตร เช่น เครื่องหีบอ้อย มักจะทำโดยการนำท่อนไม้ขนาดใหญ่ สามท่อน โดยการทำแบบเฟืองขบกันโดยใช้ควายเป็นต้นกำลังในการลากจูงให้เครื่องทำงาน ด้านล่าง จะขุดชักร่องไว้สำหรับตักน้ำอ้อยได้ โดยมี ภาชนะที่ทำจากกะลามะพร้าวต่อด้วยด้ามไม้ 
         น้ำอ้อยที่ได้ชาวบ้านมักเรียกว่าน้ำเยี่ยววัว มีลักษณะคล้ายปัสสาวะของวัวนั่นเอง พื้นที่ที่มีการหีบอ้อย ได้แก่ คลองสมอ นาโศกจั่น บ้านหนองขาม มักทำควบคู่ไปกับการเผาถ่าน : จากบันทึกคนหนองบัวกับพริกเกลือของคุณเสวก ใยอินทร์ คลิกเข้าไปอ่านได้ที่นี่(pknongbur / 281711)

    ทุกบ้านจึงมีน้ำอ้อยเก็บไว้กิน เครื่องหีบอ้อยจะมีไว้ใช้กัน แต่ไม่ทุกบ้าน เวลาใช้เขาก็ช่วยกันหีบ เอาแรงกัน เวลาว่างนา ทำสวน ทำไร่ แล้วผู้ชายต้องเข้าป่าตัดฟืน เตรียมไว้ลงนา ตัดไม้ ทำห้างนา ทำบ้าน เลื่อยไม้ ปลูกบ้าน

                   
                    อธิบายภาพ : การระดมแรงงานและระดมทรัพยากรชุมชน : การลงแขกและระดมแรงงานช่างชาวบ้านในการเลื่อยกระดาน ทำเสาจากต้นไม้ทั้งต้น และการสุมไฟทำครก วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์  ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓
    จากบันทึกของดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ คลิกเข้าไปอ่านได้ที่นี่(nongbua-community / 361959)

    ตัดหลัดกระทู้ ล้อมคอกวัว-ควาย ตัดไม้โกรนคันไถไว้มาทำหางไถที่บ้าน เพื่อเป็นคันไถไถนา ตัดไม้ไผ่จักตอกชะเน็ดไว้มัดฟ่อนข้าวเวลาเกี่ยวข้าว และจักตอกสำหรับไว้มัดกำกล้าเวลาดำนา

    ผู้หญิงอยู่บ้าน ก็ทอผ้าใช้เอง ทุกบ้านต้องมีกี่กระตุกไว้ทอผ้า เขาปลูกฝ้ายไว้เก็บปุยฝ้ายมาดีดให้ฟูปั่นเป็นเส้นด้าย ทอผ้ามุ้งห่มมุ้งกาง ผ้าขาวม้า

    กลางวันจะมีสีข้าวด้วยสีมือ ทำข้าวกล้องไว้ เวลากลางคืนสาว ๆ จะตำข้าวเป็นกลุ่ม ๆ จะตำข้าวด้วยครกไม้ จะมีหนุ่ม ๆ มาเที่ยวและช่วยซ้อมข้าว จะตำไล่สากตะลุมพุก ๒-๓ สาก ไล่กัน ที่เราเรียกว่าข้าวซ้อมมือ

    อาหารการกิน

    พ.ศ. ๒๔๙๑ ป้ามาอยู่อาหารของชาวบ้านหนองบัวที่ทำอาหารประจำมีแกงทุกชนิดไม่ใส่กะทิ ไม่ใส่น้ำมัน แกงจะใช้พริก หอม กระเทียม อย่างธรรมดา แต่น้ำพริกแกงจะต้องใส่ข้าวเบือ(ข้าวสารแช่น้ำ)ตำใส่น้ำพริกแกงจะขุ่น ๆ จะไม่มีแกงส้ม แกงเผ็ด แกงอย่างเดียวหมด ไก่ หมู ปลา ใส่มะเขืออ่อนหรือหน่อไม้ดอง

    ถ้าหน่อไม้สด จะต้องหน่อไม้ใส่ใบหญ้านางโขลกเอาน้าต้มกับหน่อไม้ เขาบอกว่าจะทำให้หน่อไม้หวาน

    แกงทุกอย่างต้องใส่ปลาร้า อาหารหลักคือพริกเกลือปลาร้า จะขาดสำรับกับข้าวไม่ได้ สำหรับใช้จิ้มผักต่าง ๆ พริกเกลือปลาร้า ทำจากปลาร้า(สับให้ละเอียด) ตำน้ำพริกก่อนโดยเผาหอม กระเทียม ปิ้งพริกแห้งให้กรอบตำพร้อมหอม กระเทียม หั่นใบมะกรูดใส่ ตำให้ละเอียด เอาปลาร้าสับให้ละเอียด ตำพร้อมกับเครื่องทั้งหมด เรียกพริกเกลือ เป็นอาหารสำคัญเวลาไปทำนา ก็ต้องมีพริกเกลือไปสำหรับจิ้มผัก แล้วยังใช้แทนน้ำพริกแกง ใช้แกงเหมือนน้ำพริกแกงใส่ปลาใส่ผักไปไหนไกล ๆ ก็ต้องเอาไป เก็บไว้ได้นานไม่เสีย

    น้ำปลาไม่มีขาย ป้าไปอยู่มีน้ำปลาปากไห ทำเหมือนน้ำปลาเรา แต่เขาตั้งตากดายตากแดด ช้อนเอาน้ำใส ๆ มาใช้เป็นน้ำปลา พริกคั่วป่นใส่จิ้มผักต่าง ๆ ทุกบ้านจะเลี้ยงหมูไว้ให้กินเศษอาหาร โตขึ้นเวลาทำนา เกี่ยวข้าว แต่งงานลูกสาว บวชลูกชาย เขาจะฆ่าหมูเนื้อจะหั่นเป็นชิ้น ๒-๓ นิ้ว ขยำเกลือเม็ดใส่ไหไว้สำหรับทำอาหารเก็บไว้ได้นาน 

    ส่วนมันหมูจะหั่นเจียวทั้งกาก และน้ำมันใส่ไหไว้กินได้นาน จำพวกขา หรือเนื้อชิ้นที่เป็นเศษเขาจะหั่นต้มเรียกว่าต้มเจ่า เหมือนต้มจืดและใส่เครื่องมี ใบมะกรูด ข่า กระชาย ตะไคร้ และต้องใส่ปลาร้าด้วย

    อาหารหวาน

    มะพร้าวขูดเขาจะไม่คั้นกะทิ เขาทำขนมทั้งกาก เช่น ลอดช่องน้ำกะทิ ก็ใส่ทั้งกาก ขนมถาด ก็ใช้มะพร้าวทั้งกากผสมแป้งน้ำอ้อยละลายนึ่ง ขนมเบื้องไม่ใช่อย่างที่เรารับประทานกัน เขาใช้แป้งละลายน้ำอ้อย หรือถ้ามีลูกตาลก็เอาเนื้อลูกตาลใส่ละลายน้ำเอาน้ำมันทากระทะ เอาแป้งใส่เหมือนทอดไข่เป็นแผ่น เวลาลงแขกเกี่ยวข้าว ทำนาจะมีการนึ่งข้าวเหนียวเป็นกระบุง ๆ ใส่มะพร้าวขูดเรียกข้าวเหนียวหัวหงอก ถ้านึ่งใส่เม็ดถั่วก็ไม่ใส่มะพร้าว ข้าวเหนียวจะใช้กินเป็นอาหารหวานกินกับน้ำอ้อย

                                                      การขับถ่าย

                          

                          อธิบายภาพ : ภาพส้วมที่ดีที่สุดในยุคแรกของชุนบ้านตาลิน : ส้วมหลังเดิมของโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของโรงเรียน ก่อนที่จะมีวัดใหม่(นิกร ปทุมรักษ์) ด้านหลังของส้วมแต่เดิมนั้นเป็นที่นาของ ตาไหล พูลสวัสด์ บ้านเตาอิฐ และ พ่อใหญ่อิ้ม คนรังย้อย เป็นส้วมหลุม ใช้ไม้แก้งก้น ปะโดยรอบด้วยสังกะสี แต่ก็นับว่าเป็นส้วมหลุมที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในยุคแรกของชุมชนบ้านตาลิน  ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ จากบันทึก : สุขาภิบาลและสาธารณสุขชุมชนบ้านตาลินคลิกเข้าไปอ่านได้ที่นี่(civil-learning / 238004)

    อุจจาระไม่มีส้วม เขาเรียกไปทุ่ง(คือทุ่งนา)จะมีจอบหรือเสียมไปขุดหลุมถ่าย ไม่มีส้วมทุกบ้าน มีแต่ฐานพระแห่งเดียว ก็ไม่ใช้ส้วม ปลูกห้องสูง ๆ ไม่มีประตูพระขึ้นไปนั่งถ่าย มีร่องถ่ายลงมานึกภาพเอาเอง มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่เราไม่เคยได้เห็นประเพณีของเขาโบราณจริง ๆ

    ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายจากบันทึกของป้าหมอหนิม จากหนังสือ : ประวัติการเรียนและการปฏิบัติงานของถนิม อ่วมวงษ์(กุลสวัสดิ์) จาก โรงเรียนผดุงครรภ์ วชิระพยาบาล รุ่นที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๑

    ขอบคุณเจ้าของบันทึก : คุณป้าหมอหนิม อ่วมวงษ์ อย่างมากที่กรุณามอบบันทึกเล่มนี้ให้อาตมานำมาเผยแพร่สู่สาธารณะ คิดว่าข้อเขียนของท่านชุดนี้คงเป็นประโยชน์แก่การศึกษาเรียนรู้ ให้แง่คิดความรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนหนองบัวและสังคมไทยอีกหลายมิติ.
    ผู้นำบันทึกมาเผยแพร่ : พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ,ท่าน อ.วิรัตน์ และเวทีคนหนองบัวทุกท่าน

     ขอเล่าความทรงจำประสบการณ์ ตอนเด็กๆ ประมาณ 12-14 ขวบ  กิจกรรมช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ จะพาเพื่อน ๆ จะไปประมาณ  3-7 คน ต่อครั้ง แต่ละครั้งจะมีน้าเขยไปด้วย

    ช่วงฤดูฝน  ไปหาปลาโดยการ โดยใช้เหยื่อเป็นไส้เดือน หรือบางครั้งก็เป็นเขียดตัว เล็กๆ  จะใช้เบ็ดสั้น คนละประมาณ 10-20 คัน  ในแต่ละครั้ง ปักไว้บริเวณรอบๆ นาข้าว หลังจากปักไว้แล้วจะไปนั้งรออยู่ที่ห้างนา จะเดินไปดูทุกๆ 1 ชม.  หากปลากินเบ็ดแล้วก็จะปักเบ็ดใหม่อีกครั้ง  ใน 1 วันจะได้ปลามาประกอบอาหาร 1 คนประมาณ 5-10 ตัว ใส่ภาชนะที่เรียกว่า กระม่อง สะพายกลับไปฝากแม่  เป็นความภูมิใจอย่างยิ่ง

    ช่วงฤดูแล้ง  จะพากันไปหาปลาหรด โดยแต่ละคนจะมีเครื่องมือหาปลาหรด รูปร่างจะเหมือนสระโอ ที่ทำโดยช่างว่อนตีเหล็ก (แต่ผมเรียกว่าตาว่อน) ตาว่อนจะทำให้คนละอันจะดูขนาดความสูงของแต่ละคนเป็นหลัก   จะขี่จักรยานออกไปขีดตามคลองที่ไม่ลึกมาก จะมีน้าซึ่งเป็นผู้ใหญ่ไปด้วย 1 คน  การขีดปลาหรดจะต้องตีวงเป็นวงกลมรอบตัวเองและขยับเดือนออกไปเรื่อย หากได้ปลาหรดแล้ว จะใช้ลวดร้อยปลาหรดเรื่องกันไป  วันหนึ่งจะใช้เวลาขีดประมาณ 2-3 ชม. จะได้ปลาหรด คนละประมาณ 10-30ตัว  ตอนกลางวันจะนำปลาหรดบางส่วนมาแกงกับพริก เกลือ รสชาติ ร้อนๆ เผ็ดๆ อร่อยจัดเลยซิหวา.  ส่วนปลาหรดที่เหลือ จะนำไปฝากแม่ที่บ้านเพื่อประกอบอาหารในมื้อต่อไป

    ช่วงฤดูแล้ง  จะมีกิจกรรมอีกอย่างเป็นการเข้าไปในป่าเพื่อหาแย้  จะใช้เครื่องมือที่ทำจากไม้ไผ่เป็นวงกลมพอดีกับรูแย้วงกลมจะยึดติดกับไม้โค้งคล้ายคันเบ็ด เครื่องมือนี้จะเรียกว่า ด้วง  จะเอาไปดักที่ปากรูแย้ หากมันวิ่งขึ้นมากชนกระเดื่องแย้จะถูกเชือกรัดไว้   และในแต่ละคนจะมีเครื่องมืออีกอย่างคือ หนังสติ๊ก เอาไว้ยิง จะใช้กระสุนเป็นก้อนหินหรือ ใช้ดินเหนียวปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วตากให้แห้ง สามารถนำมาเป็นกระสุนได้(จะปั้นไว้ในยามว่าง)  วันหนึ่งๆ จะได้แย้คนละเป็น  5- 10 ตัว   การนำแย้มาประกอบอาหารต้องลอกหนังแย้ออกการแล้วนำไปสับให้ละเอียด แกงกับพริกเกลือ อร่อย ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ,ท่าน ดร.วิรัตน์

    กรุณาช่วยหาประวัติ บ้านกระดานหน้าแกล มันแปลว่าอะไรและมีประวัติเป็นมาอย่างไรครับไม่ทราบจริงๆ

    ยุพิน รอดประพันธ์

    ขออนุญาตแสดงความยินดีที่ได้รู้จักกับพี่ ๆทุกท่านนะคะ อยากบอกว่าดีใจจังค่ะที่หนองบัวยังเป็นที่เดิมที่ทุกคนยังถามหาและคิดถึงกันอยู่ เพราะหนูเองศิษย์เก่าหนองบัวเหมือนกันค่ะ และอยู่หนองบัวตลอดจนปัจจุบัน เมื่องานศพท่านอาจารย์อุดม หนูยังแอบปลื้มกับครูเลยที่มีลูกศิษย์มากันเยอะมากตั้งแต่รุ่น 1 จนรุ่น 26 และรุ่นหลัง ๆอีก แสดงว่าคนหนองบัวไม่เคยลืมบ้านเรา และบางท่านก็คงจะเป็นพ่อหนูได้เลยมั้งค่ะเนี่ย แต่ไม่เป็นไรค่ะ หนูจะเป็นกำลังใจให้ทุก ๆท่านประสบความสำเร็จทุกประการและจะเดินตามรอยท่าน ดร. หลายท่านที่เป็นศิษย์เก่าหนองบัวนะคะ ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ และจะแวะมาคุยค่ะ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล

    สวัสดดีไปใหม่ชาวหนองบัวทุกท่านนะครับ

    ผมเรียนอยู่ที่หนองบัวพิทยาคมแค่ ป.3

    แต่ก็กลับมาเรียนมัธยมที่หนองคอก(หนองบัว)จนจบ ม.6 รุ่น 1 นะครับ

    พ่อแม่ของผมก็ยังอยู่ที่หมู่บ้านบัวหลวง ใกล้สี่แยกหนองบัวนะครับ

    ตอนนี้ผมอยู่ที่ อ.หนองไผ่ จว.เพชรบูรณ์

    ปัจจุบันก็ยังรักหนองบัวตลอดไป

    ถ้าท่านใดผ่านมาก็แวะทักทายกันบ้างนะครับที่ 081-9717346

    ขอให้มีความสุขตลอดไปทุกท่านนะครับ

    สวัสดีครับ พี่ศักดิ์ศรี-ฉิก และสมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกๆ ท่าน

                    ตามที่พี่ศักดิ์ศรี-ฉิก ได้กล่าวถึง อ.สวิง รอดแสวง มานั้น นับว่าใกล้ชิดกับผมมากเลย สมัยอยู่บ้านเก่าข้างสระหนองกลับ บ้านพี่เขาอยู่ติดกับบ้านผม และแกมีน้องสาวคนสุดท้อง ก็เกิดวันเดียวกับผมเลยไม่น่าเชื่อ ชื่อ แจ่ม รอดแสวง ผมกับพี่หวี (สวิง) รู้จักกันดี ปีที่แล้วก็มีโอกาสได้เจอกันงานบวชหลานแถวบ้านเก่า

                    ดีใจครับที่เห็นเพื่อนใหม่เข้ามาทักทายกัน  ครูยุพิน รอดประพันธ์, ตำรวจกิตติ ป้อมเสน  ทั้ง ๒ คนนี้เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันกับผม หนองคอก ม. ๖ รุ่นแรก ไม่ได้ติดต่อกันมานานแล้ว ครูยุพิน เห็นว่าตอนนี้กำลังต่อ ดร. อยู่ จบเมื่อไหร่ก็ส่งข่าวบอกเพื่อนๆ บ้าง หวังว่าจะได้เห็นเพื่อนคนอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมมากขึ้นครับ

    ขอบคุณครับ

    บุญเลิศ ทรงทอง (DekThape ชาวหนองบัวอีกคน)

    สวัสดีครับ อ. วิรัตน์ และสมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกๆ ท่าน

                    ขอบคุณ อ. วิรัตน์ ที่กล่าวชมข้อความของผม อาจจะเป็นเพราะคนรุ่นเก่าๆ อย่างรุ่น อ. วิรัตน์ และ รุ่นผม การสื่อสารยังไม่ทันสมัยเหมือนทุกวันนี้ จะติดต่อกันที ตอนนั้นก็ต้องใช้การเขียนจดหมายเอา แต่ถ้าเป็นสมัยนี้ไม่ค่อยใช้กันแล้ว คิดถึงกันก็โทรคุยกันได้เลย  การใช้ Blog นี้ก็คล้ายกัน สมาชิกทุกท่านมีเวลาว่างไม่ตรงกัน เมื่อเข้ามาเห็นกระทู้ได้อ่านแล้ว เมื่อต้องการจะให้ข้อมูลเพิ่มเติม ก็สามารถทำได้ ถ้าต่างคนต่างให้ข้อมูล และคุยในเรื่องที่คล้ายๆ กัน ถ้ามีการเก็บรวบรวมเป็นเรื่องๆ ไว้ อย่างที่ อ. วิรัตน์ ได้ทำไว้ ในส่วนของ เวทีคนหนองบัว ก็ ๔๐ เรื่องด้วยกัน เมื่อนานวันไปก็คงจะสามารถรวมเล่ม เป็นหนังสือ ได้ต่อไป

                    เป็นกำลังใจให้สำหรับ ผู้ริเริ่มและ คนต้นเรื่อง ทุกๆ ท่าน

    ขอบคุณครับ

    บุญเลิศ ทรงทอง (DekThape ชาวหนองบัวอีกคน)

    สวัสดี ยุพิน รอดประพันธ์, กิตติ ป้อมเสน

    ดีใจมากที่ได้ติดต่อเพื่อนอีกครั้งหลังจากไม่ได้ติดต่อกันเป็นเวลากว่า 20 ปี นับเป็นเพื่อนเก่า ร.ร.หนองบัว อีก 2 คนที่เข้ามาบนเวทีคนหนองบัว ซึ่งก่อนหน้านี้จะมี บุญเลิศ และ อัญชัน เข้ามา ซึ่งสร้างสีสัน กับการเล่าเรื่องราวไม่น้อยเลยทีเดียว

    เวทีคนหนองบัวนี้จะมีท่านพระอาจารย์มหาแล และท่านอ.วิรัตน์ 2 ท่าน จะเป็นกำลังหลักกับการขับเคลื่อนระดมพลังความมีจิตสาธารณะของประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อเรียนรู้การมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการ สู่โอกาสและทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีสุขภาวะของชุมชนระดับต่างๆอย่างเป็นองค์รวม ของคนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

    เจริญพรคุณบุญเลิศและผู้อ่านทุกท่าน

    อาตมาเห็นคุณบุญเลิศกล่าวถึงเรื่องคนต้นเรื่อง เรื่องแรกมีในหนองบัว และเรื่องราวร่วมสมัยยุคก่อนหลายเรื่อง ซึ่งไม่ได้อยู่ในหน้าเดียวกันกับเวทีคนหนองบัวนี้ อาตมาก็เลยขอเป็นไกด์จำเป็น นำลิงก์เรื่องดังกล่าวนั้น มาไว้ที่นี่เพื่อให้ทุกท่านเข้าไปอ่านได้โดยตรง ซึ่งหลายท่านก็ทราบดีอยู่แล้ว แต่ก็มีบางท่านที่เข้ามาใหม่ อาจจะยังหาไม่พบหลายเรื่อง ก็จะได้เป็นความสะดวกในการเข้าไปอ่าน ถ้าหากคุณบุญเลิศและท่านอื่นๆมีความสนใจในเรื่องราวเหล่านั้นให้คลิกลงไปบนตัวอักษรสีแดงได้เลย

    (๑)ทุนสังคมของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 219761)
    (๒)ไอ้เป๋หนองบัวกับวัวหลวงพ่ออ๋อย...ธรรมชาติการดูแลกันของชุมชน (คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 220541 )
    (๓)แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๑) : โรงหนัง โรงไฟฟ้า ถ่ายรูป วงเวียน ไอติม(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 232492)
    (๔)แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๒) : โทรทัศน์สี ร้านหนังสือ น้ำบ่อทราย ห้วยปลาเน่า เรือโดยสาร ป่าช้าวัดหนองกลับ สามล้อถีบ(คลิกที่นี่ home / blog / civil-learning / 232582 )
    (๕)แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๓) : โรงเรียนประจำอำเภอ วงดนตรีและดุริยางค์โรงเรียน สนามบาสมาตรฐาน(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 232669) (๖)โรงเรียนวันครู และบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 233623)
    (๗)สุขาภิบาลและสาธารณสุขชุมชนบ้านตาลิน(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 238004)
    (๘)ทุนสังคมวัฒนธรรม อ.หนองบัว : ข้อมูล | เรียนรู้ชุมชน..พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 273652)
    (๙)แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๔) : น้ำบ่อทรายและสระวัดหนองกลับ(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 284011)
    (๑๐)การลงแขกฝัดข้าว : กลุ่มก้อนและทุนมนุษย์ในวิถีการผลิตชุมชน(คลิกที่นี่ home / blog / civil-learning / 321493)
    (๑๑)นบ-๑๑. คุณครูศุภฤกษ์ ฟูเผ่า โรงเรียนหนองบัว(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 214768)
    (๑๒)บวชนาคหมู่ เอกลักษณ์ของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ : เบ้าหลอมชุมชน(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 321506)
    (๑๓)สร้างพลังเครือข่ายครูวิจัยส่งเสริมเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 316462)
    (๑๔)ดังลมหายใจ (16 บันทึก) (คลิกที่นีhome / blog / wirat-kamsrichan)
    (๑๕)คนหนองบัวกับพริกเกลือ(คลิกที่นี่home / blog / pknongbur / 281711)

    ขอบคุณคุณรัชทนงค์ คุณยุพิน คุณกิตติ คุณบุญเลิศ คุณอัญชัน และคุณธนกฤต

    ปีใหม่(๒๕๕๔)มาไม่กี่วันเท่านั้น เวทีคนหนองบัวของเราเริ่มมีสีสันขึ้นมาอย่างมากเลยเชียว คึกคักไปด้วยคนรุ่นใหม่สมาชิกใหม่ และมีคนในพื้นที่(หนองบัว)ด้วยที่เข้ามาใหม่ ถ้าจำไม่ผิด คุณยุพินนี้อาจจะเป็นสุภาพสตรีจากหนองบัวท่านแรกๆก็ได้ที่รายงานตรงมาจากพื้นที่จริง เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเขียนจากคนไกลบ้านทั้งนั้นเลย นอกจากจะเขียนนอกพื้นที่ไกลบ้านแล้ว แต่ละท่านที่เขียนมา ก็เป็นไปตามข้อสังเกตของคุณฉิกเลยคือยังไม่มีท่านใดได้พบกันเลยแม้แต่คนเดียว

    คำถามของคุณรัชทนงค์นั้น สำหรับอาตมายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย(ประวัติบ้านกระดานหน้าแกล)ถึงจะยังไม่มีคำตอบตอนนี้ แต่คิดว่าเป็นคำถามที่ช่วยให้คนในพื้นที่ที่เข้ามาอ่านหรือใครที่มีข้อมูลชุมชนเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็นำมาแบ่งปันได้เลย เพราะเวทีคนหนองบัวแห่งนี้ ต้องการให้ทุกพื้นทุกชุมชนของหนองบัวนำข้อมูลที่บันทึกไว้รวบรวมไว้ แล้วทุกท่านก็ช่วยกันนำมาเผแพร่ได้ เก็บรวบรวมไว้ที่นี่ หรือท่านจะเขียนขึ้นใหม่ก็ได้ เวทีฯนี้เป็นเหมือนห้องสมุดชุมชน ยินดีอย่างยิ่งที่ทุกท่านจะมาช่วยกันบันทึกเรื่องราวชุมชนเก็บไว้ ณ เวทีฯแห่งนี้.

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล, สวัสดีอาจารย์วิรัตน์, พี่ฉิก และ เพื่อนๆ ชาวเวทีหนองบัวทุกท่าน

    ดิฉันไม่ได้เข้ามาเสียหลายวัน เพราะติดภาระกิจ ลูกชาย เอ็ดวิน ณปภณ เค้าเริ่มไปโรงเรียนค่ะ เลยต้องไปอยู่กับเค้าที่โรงเรียนเค้ายังไม่ ๓ ขวบเลยค่ะ

    หากเรื่องโรงเรียนของลูกชายลงตัวแล้ว ตัวดิฉันเอง คงต้องไปโรงเรียนสอนขับรถและต้องอ่านตำรา (หนา ๓๖๐ หน้า) เกี่ยวกับการสอบใบขับขี่ค่ะ หินมาก กะว่าจะสอบใบขับขี่ให้ก่อนกลับเมืองไทย ปีนี้ค่ะ

    ไม่ได้เข้ามาหลายวัน ได้เห็นสมาชิกใหม่เพิ่มหลายคน ก็เพื่อน ม.๖ โรงเรียนหนองบัวเพิ่มเข้ามา

    และ ยินดีที่ได้รู้จัก พี่ฉิกค่ะ เราอาจจะไม่เคยเจอกันโดยส่วนตัว แต่เราเป็นชาวหนองบัวด้วยกัน มีจิตอาสา และรักบ้านเกิดเหมือนกันยินดีที่ได้รู้จักค่ะ

    ได้อ่านๆ หลายๆ ความเห็นช่วงที่ไม่ได้เข้ามา ขอสานต่อนะคะ

    อย่างที่พระอาจารย์ และ อาจารย์วิรัตน์ ได้ บอกว่าเห็นด้วยในการจัดพิมพ์ เรื่องราว ประเพณี วัฒนธรรมพื้นบ้านของเราชาวหนองบัว เป็นรูปเล่ม ว่า เป็นเพียง คนกลุ่มน้อย เท่านั้นที่ คิด จะทำ แต่ปัญหาติดที่ทุนหนักอึ้งเลย

    อย่างที่ อ.วิรัตน์ แน่นำก็ดีและเห็นด้วยค่ะ พิมพ์ในบางโอกาส หากใครต้องการจะเผยแพร่

    มีอีกทาง คือการจัดเป็นเป็นเวปไซด์ ขี้นมา จัดระบบ ระเบียบ หมวดหมู่ มีกระทู้ จะได้อ่านง่าย และเด็กๆ รุ่นใหม่ ก็จะได้เข้าถึงหรือใครจะได้เข้ามาหาความรู้ก็จะได้ง่าย ทำเป็นเวปไซด์ ขี้นมาก่อน หากเรารวบรวมกำลังความสามารถได้พร้อม ค่อยจัดทำเป็นรูปเล่มทีหลัง ข้อมูลต่างๆ ก็จะยังไม่สูญหาย

    อย่างที่พี่ฉิกบอก คน รุ่นเราเราๆ เลขสี่ต้นๆ หาคนที่จะเก่งหรือเชี่ยวชาญทางคอมพิวเตอร์ ก็น้อย แต่ คนดีเวทีหนองบัว เราคงหาเจอ หากเครือข่าวเรากว้าง มากขี้นทุกวัน

    ดิฉันต้องขอตัวไปจัดการงานบ้านก่อนค่ะ นี่ตื่นมาใช้คอมฯ ก่อนเด็กๆ จะตื่นค่ะ

    แล้วจะเข้ามาเยี่ยมบ่อยๆ ค่ะ

    อัญชัน

    เจริญพรคุณอัญชัน  แสนเหมือน

    อนุโมทนาขอบคุณคุณอัญชันที่มีความประสงค์จะเผยแพร่บันทึกชุมชนหนองบัวบ้านเรา เพื่อให้คนในชุมชนบ้านเราที่เข้าไม่ถึงโลกไซเบอร์ อินเตอร์เน็ทได้อ่าน

    ขอชี้แจงข้อสงสัยและข้อเสนะแนะของคุณอัญชันแทนอาจารย์วิรัตน์สักเล็กน้อย คือบล็อกของอาจารย์วิรัตน์มีทั้งหมด ๑๐ กว่าบล็อก บล็อกที่เขียนเกี่ยวกับบันทึกข้อมูลชุมชนหนองบัว มี ๓ บล็อกด้วยกันคือบล็อประชากรและประชาสังคมศึกษา(๘๘ บันทึก)บล็อกดังลมหายใจ(๑๖ บันทึก) และบล็อกเวทีคนหนองบัว( ๔๐ บันทึก มีกระทู้ ๑,๐๐๐ กว่า)

    จะเห็นได้ว่าแต่ละบล็อกแต่ละบันทึกได้แยกประเภท หมวดหมู่เอาไว้แล้ว มีอยู่บล็อกเดียวคือเวทีคนหนองบัวนี้เท่านั้นที่ยังเขียนรวมเรื่องราวหลากหลายคละปนกันอยู่ที่นี่ เนื่องด้วยเพราะสมาชิกเคยขอไว้ และยังบอกอีกว่าอาจารย์วิรัตน์เขียนเยอะเหลือเกินตามอ่านไม่ทัน อ่านไม่ทั่วถึง อาจเพราะมีเวลาน้อย เลยไม่สะดวกติดตามอ่านตลอด ฉะนั้นหลายท่านก็จึงใช้เวทีคนหนองบัวนี้ เป็นที่รวมรวมสะสมข้อมูล ก็เลยดูรวมๆเยอะไปหมดเลยใช่ไหม

    จากหลายเรื่องหลายราวมีแค่บันทึกเดียว มาถึงตอนนี้เวทีคนหนองบัวแยกเรื่องได้ถึง ๔๐ เรื่อง ๔๐ บันทึกแล้ว เพื่อให้คุณอัญชันมองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น อาตมาเลยขออนุญาตนำบันทึกชุมชนหนองบัวที่เคยแนะนำกับคุณบุญเลิศไว้คราวก่อน มาลงไว้อีกครั้งพร้อมทั้งมีรายละเอียดทั้งชื่อบล็อก ชื่อบันทึก จำนวนกระทู้สนทนาพูดคุยในแต่ละบันทึกด้วย หากว่าคุณอัญชันสะดวกและพอมีเวลาบ้างก็เข้าไปอ่านตามหัวข้อของแต่ละเรื่องได้โดยตรงเลย และสามารถพูดคุยเขียนกระทู้เพิ่มเติมข้อมูลได้อีกเยอะแยะเชียวแหละ

    ๑.บล็อกประชากรและประชาสังคมศึกษา (88 บันทึก มีหัวข้อเรื่องชุมชนหนองบัว ๑๓ เรื่อง คือตั้งแต่หมายเลข ๑-๑๓) ดังนี้

    (๑)ทุนสังคมของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ ๑๔๓ กระทู้(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 219761)
    (๒)ไอ้เป๋หนองบัวกับวัวหลวงพ่ออ๋อย...ธรรมชาติการดูแลกันของชุมชน ๗๘ กระทู้(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 220541 )
    (๓)แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๑) : โรงหนัง โรงไฟฟ้า ถ่ายรูป วงเวียน ไอติม๔๙ กระทู้(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 232492)
    (๔)แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๒) : โทรทัศน์สี ร้านหนังสือ น้ำบ่อทราย ห้วยปลาเน่า เรือโดยสาร ป่าช้าวัดหนองกลับ สามล้อถีบ ๒๖ กระทู้(คลิกที่นี่ home / blog / civil-learning / 232582 )
    (๕)แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๓) : โรงเรียนประจำอำเภอ วงดนตรีและดุริยางค์โรงเรียน สนามบาสมาตรฐาน ๒๙ กระทู้(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 232669) (๖)โรงเรียนวันครู และบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว ๓๕ กระทู้(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 233623)
    (๗)สุขาภิบาลและสาธารณสุขชุมชนบ้านตาลิน กระทู้(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 238004)
    (๘)ทุนสังคมวัฒนธรรม อ.หนองบัว : ข้อมูล | เรียนรู้ชุมชน..พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)๒๖๓ กระทู้(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 273652)
    (๙)แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๔) : น้ำบ่อทรายและสระวัดหนองกลับ ๑๘กระทู้(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 284011)
    (๑๐)การลงแขกฝัดข้าว : กลุ่มก้อนและทุนมนุษย์ในวิถีการผลิตชุมชน กระทู้(คลิกที่นี่ home / blog / civil-learning / 321493)
    (๑๑)นบ-๑๑. คุณครูศุภฤกษ์ ฟูเผ่า โรงเรียนหนองบัว กระทู้(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 214768)
    (๑๒)บวชนาคหมู่ เอกลักษณ์ของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ : เบ้าหลอมชุมชน ๑๔กระทู้(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 321506)
    (๑๓)สร้างพลังเครือข่ายครูวิจัยส่งเสริมเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน ๑๖ กระทู้(คลิกที่นี่home / blog / civil-learning / 316462)

    ๒.บล็อกดังลมหายใจ โดยอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ มี ๑๖ บันทึก
    (๑๔)ดังลมหายใจ (16 บันทึก) (คลิกที่นีhome / blog / wirat-kamsrichan)
    ๑. แม่ : มือแห่งเมตตาธรรม(มี ๘ กระทู้)
    ๒. ลูกๆคือเพื่อนและความอุ่นใจในชีวิตของแม่(มี ๙ กระทู้)
    ๓. เป็นหอยสังข์และเทพผู้คุ้มครองพ่อแม่ : อำนาจวรรณกรรมและการอ่าน(มี ๑๖ กระทู้)
    ๔. ผัดไทยแม่ : ผืนดิน ชีวิต และจิตวิญญาณของสังคม(มี ๒๔ กระทู้)
    ๕. ขอทานและตลาดแลกเปลี่ยนสิ่งของในวิถีชาวบ้าน(มี ๑๒ กระทู้)
    ๖. ฤดูกาลชีวิต : พลังความพอเพียงต่อธรรมชาติ(มี ๒๔ กระทู้)
    ๗. การศึกษาเรียนรู้บนสองขาและอานรถถีบ(มี ๑๓ กระทู้)
    ๘. กาแฟหมา : แม่และพ่อ นักโภชนาการและนักเศรษฐศาสตร์ในบ้าน(มี ๔๓ กระทู้)
    ๙. สุขภาวะในองค์รวมแห่งชีวิต(มี ๒๒ กระทู้)
    ๑๐. ทำกินทำอยู่ เรียนรู้พอเพียง(มี ๓๗ กระทู้)
    ๑๑. ฤดีกาล : เทศน์คาถาพัน ใส่บาตรพันก้อนกับแม่(มี ๑๙ กระทู้)
    ๑๒. สตรีแม่บ้าน : กองหลังสร้างส่วนรวมชุมชน (มี ๑๖ กระทู้)
    ๑๓.ลิงทะโมนกับหมาบ้าบนยอดไม้(มี ๒๑ กระทู้)
    ๑๔. การน้อมตนสู่ความเป็นญาติพี่น้องกัน(มี ๔๐ กระทู้)
    ๑๕. กลับบ้านสู่ครรภ์มารดาอันกว้างใหญ่(มี ๗๕ กระทู้)
    ๑๖.ดังลมหายใจ : Blog to Book แปลงทุนชีวิตครอบครัวให้เป็นการเรียนรู้ชุมชนและสังคม(มี ๕๔ กระทู้)

    ๓.บล็อกคนหนองบัวกับพริกเกลือ โดยคุณเสวก ใยอินทร์ มี ๑ บันทึก
    (๑๕)คนหนองบัวกับพริกเกลือ ๒๒๔ กระทู้(คลิกที่นี่home / blog / pknongbur / 281711)

                
                 อธิบายภาพ : พจนานุกรมภาษาไท-ใหญ่ หนังสือที่รวบรวมคำศัพท์ภาษาไท-ใหญ่(ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้พูดกันในรัฐฉาน-SHAN ประเทศพม่า) หนังสือปกแข็งหนาประมาณ ๔๐๐ กว่าหน้า(ราคา ๕๐๐ บาท) ฉบับนี้พิมพ์เป็นฉบับเฉลิมพระเกียรติ ๖๐๐ ปีพระญาติโลกราช ๘๕ ปีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดย สถาบันภาษา ศิลปะวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๒

     

    คนหนองบัวมาจากไหน เป็นคำถามจากญาติที่ถามขึ้นในช่วงที่ไปหนองบัว โดยวันหนึ่งได้สนทนากันกับญาติผู้พี่ท่านหนึ่งที่บ้านโยมพ่อเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๓ เขาเล่าให้ฟังว่าเมื่อตอนไปทำงานที่กรุงเทพฯ เมื่อหลายปีก่อน มีคนที่ทำงานด้วยกันสงสัยเรื่องสำเนียงภาษาพูดที่คนหนองบัวพูดคุยกัน เขาสงสัยว่าทำไมคนหนองบัวจึงพูดสำเนียงเหน่อๆ เขาให้ความเห็นว่าสำเนียงแบบนี้ จะว่าสำเนียงสุพรรณบุรีก็ไม่ใช่ สำเนียงสุโขทัยก็ไม่เชิง เขาก็เลยสรุปว่าน่าจะเป็นลาวมากกว่าอย่างอื่น คนหนองบัวได้ยินคำนี้ครั้งใด ก็ต้องรีบปฏิเสธอย่างทันท่วงทีทุกครั้งไป 

    เมื่อถูกปฏิเสธ ผู้สงสัยก็ถามต่อว่าแล้วถ้าอย่างนั้นคนหนองบัวมาจากไหนละ ผู้ที่ถูกถาม คำถามนี้ ก็ตอบไปตามประสบการณ์ของตนอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งญาติท่านนี้เป็นคนพูดภาษาหนองบัวได้ชัดเจนมาก ๆ ได้ยินคราใดก็ต้องร้องอ๋อว่านี่แหละคนหนองบัวขนานแท้ ดั้งเดิม ร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาเล่าต่อว่าได้ตอบผู้สงสัยท่านนั้นด้วยภาษาพ่อขุนรามอย่างหนักแน่นไปว่า กูไม่รู้ และกูก็ไม่ได้มาจากไหนด้วย กูเกิดมากูก็ได้ยินพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย คนหนองบัวเขาพูดกันอย่างนี้กันทั้งนั้นแหละ

    ด้วยเหตุเดียวกันนี้ คืออาตมาเองก็เคยสงสัยเรื่องนี้เหมือนกัน เมื่อปีที่แล้ว(๒๕๕๓)จึงได้หาข้อมูลความเป็นมาของคนหนองบัว ภาษาหนองบัว ได้เจอร่องรอยที่มาแห่งประวัติศาสตร์ชุมชนหนองบัวสองทางด้วยกันที่น่าจะเป็นที่มาของภาษาหนองบัวได้ ทางหนึ่งสันนิษฐานว่าชุมชนหนองบัวบางส่วนได้ย้ายมาจากสุโขทัย(มีคนเห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานนี้ไม่น้อย)อีกทางหนึ่งอาตมาได้เจอบทความของอาจารย์วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ทางอินเตอร์เน็ท ท่านนิษฐานว่าคนหนองบัวบางส่วนมีเชื้อสายไทใหญ่ โดยมีร่องรอยที่หลงเหลืออยู่คือภาษาที่แปร่ง ๆ ท่านที่สนใจก็เข้าไปอ่านได้ที่เว็บไซต์ชุมชนคนรักมีด เหล็กโบราณนี้(http://www.konrakmeed.com/webboard/upload/lofiversion/index.php?t5496.html)

    เจอข้อสันนิษฐานนี้ของอาจารย์วลัยลักษณ์ ทรงศิริ จึงได้หาซื้อตำราภาษาไท-ใหญ่ หาตามร้านหนังสือตั้งนานก็ไม่เจอ วันหนึ่งไปเจอที่เว็บไซต์และได้ติดต่อกับอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ซึ่งท่านก็เป็นผู้มีส่วนทำพจนานุกรมด้วยพอดี ติดต่อท่านทางเมลล์สักพักก็ได้สั่งซื้อ ได้มาแล้วก็ตั้งใจอ่านใหญ่เลย อ่านไปเท่าไรๆ ก็ไม่พบคำศัพท์ที่ใกล้เคียงกับสำเนียงหนองบัเลยแม้แต่น้อย(พจนานุกรมภาษาไท-ใหญ่นี้ มี ๒ ภาษาคือภาษาที่เป็นอักษรไทใหญ่ และภาษาไทย) ส่วนหน้าตาภาษาไทใหญ่เป็นอย่างไร ดูได้ที่วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

    กราบเรียนท่านพระอาจารย์มหาแล
    และสวัสดีทุกท่านเลยครับ

    ขอสื่อสารถึงคุณฉิกก่อนเลยทีเดียวครับ เกรงว่าจะกังวลใจ ผมไปสิงคโปร์ ๓-๔ วันและเพิ่งจะกลับมาครับ กำลังเมื่อยล้าอย่างที่สุด แต่เกรงว่าพรุ่งนี้เช้าจะตื่นสายเลยขอติดต่อกับคุณฉิกและท่านอื่นๆก่อนเรื่องเย็นวันเสาร์ ๑๕ นี้ที่จะไปคารวะและรับประทานอาหารกับท่านอดีตนายอำเภอหนองบัวน่ะครับ หากมีอะไรเปลี่ยนแปลงก็โทรบอกได้นะครับคิดว่าจะไปร่วมได้ครับ ๐๘๖-๖๗๐-๒๙๗๒ สำหรับคืนนี้ขอนอนก่อนนะครับ

    สวัสดีครับฉิกกับกับธนกฤต

    เลยไม่แปลกใจแล้วว่าทำไมทั้งฉิกและธนกฤตคิดและเขียนหนังสือดี ทั้งวิธีคิด ความเป็นผู้ริเริ่มและมีความรอบด้าน การถ่ายทอด และการสะท้อนทรรศนะต่างๆ พอได้ทราบว่าทั้งสองท่านเป็นมหาบัณฑิตในสาขาการบริหารจัดการอีกด้วย ก็เลยยิ่งดีใจแทนเวทีคนหนองบัวอีกหลายอย่างตามมาที่สองบล๊อกเกอร์นี้ได้เผื่อแผ่น้ำใจแวะมาเขียนเรื่องราวต่างๆให้กับเวทีคนหนองบัวด้วย ทำหนองบัวให้เป็นมหาวิทยาลัยสำหรับการพัฒนาคนและพัฒนาสังคมเลยนะครับ เอาโลด-เอาโลด

    เริ่มจากเวทีคนหนองบัวและ Issues แบบบ้านๆใกล้ๆตัว-ใกล้ๆประสบการณ์ของเราอย่างนี้นี่แหละครับ ทำแบบสบายๆไปเรื่อยๆแต่ให้เป็นการจัดวางพื้นฐานสำหรับคนอื่นๆที่จะมาคิดสร้างสรรค์ต่อไปเอาเองอย่างนี้แหละครับมีพลังดี เป็นการแปรความสำนึกเกี่ยวกับตนเอง ความผูกพันกับถิ่นฐานบ้านเกิด ความผูกพันกับเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง ครูอาจารย์ และสังคมที่ได้ก่อเกิดเติบโต ให้เป็นพลังขับเคลื่อนสิ่งที่มีความหมายต่อสังคมและคนรอบข้างไปด้วยเสมอตลอดการดำเนินชีวิต ยิ่งเป็นคนรุ่นใหม่ๆ ยิ่งจะเป็นกำลังทำสิ่งต่างๆต่อไปได้อีกมากมายครับ

    สวัสดีเบิ้ม

    เออ จริงด้วย ทำไมถึงชื่ออย่างนั้นนะ กระดานหน้าแกล อันที่จริงเบิ้มก็มีโอกาสไปเสาะหาเรื่องนี้มาแบ่งปันให้เวทีคนหนองบัวได้มากคนหนึ่งเลยแหละเพราะเป็นคนรอบรู้และกว้างขวางในหมู่คนท้องถิ่นทั้งในหนองบัวและรอบนอกเลย ที่สำคัญคือช่างเจรจา เข้าใจชวนพูดคุย เรื่องราวอย่างนี้ยิ่งรวบรวมไว้ได้เยอะๆก็ยิ่งทำให้เกิดการเรียนรู้และได้พื้นฐานที่เป็นภูมิปัญญาเกี่ยวกับท้องถิ่นให้สังคมได้รู้จักตนเองและเดินไปข้างหน้าอย่างเข้าใจความเป็นตัวของตัวเอง

    ขอร่วมทักทายคุณยุพิน รอดประพันธ์และคุณกิตติ ป้อมเสนด้วยคนกับท่านพระอาจารย์มหาแลและท่านอื่นด้วยความดีใจด้วยนะครับ คุณยุพินหาโอกาสแวะนำเรื่องราวต่างๆในประสบการณ์การทำงานและการดำเนินชีวิตมาแบ่งปันให้คนรุ่นหลังๆไว้เป็นระยะๆนะครับ

    คุณกิตติก็อยู่เพชรบูรณ์เหมือนกับต่างไปจากถิ่นเกิด แต่จะว่าไปแล้วก็แทบจะเป็นชุมชนเดียวกันเลยทีเดียว ทำเวทีคนหนองบัวให้เป็นสื่อสำหรับแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างพลังการทำสิ่งต่างๆเหมือนเป็นการระดมความคิดไปด้วยกันอย่างกับเป็นลานบ้านเลยนะครับ

    สวัสดีครับคุณเด็กเทพ : คุณบุญเลิศ รอดแสวง

    พอได้อ่านสนทนาของคุณบุญเลิศอีกทีในกล่องสนทนาลำดับถัดมา เลยได้ทราบว่าคุณยุพิน รอดประพันธ์ของเราเป็นคุณครู และคุณกิตติ ป้อมเสนเป็นตำรวจ ทั้งสองท่านเป็นศิษย์เก่าหนองบัวและเป็นลูกหลานคนหนองบัว ยิ่งไปกว่านั้น ก็เลยได้ทราบว่าทุกท่านเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกัน คือ คุณบุญเลิศ คุณอัญชัน คุณกิตติ และคุณธนกฤต นี้ยิ่งต้องชื่นชมกันไปใหญ่ รุ่นของผมนี่ตอนนี้ก็มีสองคนแล้วละครับคือผมกับเบิ้มนี่แหละ แต่เวลามีการงานทั้งของโรงเรียนและของท้องถิ่นหนองบัว รุ่นผมก็เป็นรุ่นหนึ่งที่ติดต่อสื่อสารและมีความพรักพร้อมกันดีมากที่สุดรุ่นหนึ่ง แต่ในเวทีคนหนองบัวหรือในชุมชนออนไลน์นี้ตอนนี้ต้องเป็นรุ่นของคุณธนฤต คุณบุญเลิศ คุณอัญชัน และคุณกิตติ นี่แหละครับ

    แนวคิดที่เน้นย้ำของคุณบุญเลิศในการทำเวทีคนหนองบัวให้เป็นแหล่งสะสมความรู้ไปเรื่อยๆและเมื่อมีมากพอก็นำมาทำหนังสืออย่างที่คุณอัญชัญก็เพิ่งเปิดประเด็นให้อีกนั้น น่าจะเป็นจุดแข็งและเหมาะสมมากที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับสื่อและเวทีระดมพังสร้างสรรค์อย่างนี้ของเวทีคนหนองบัวเลยนะครับ เป็นเครือข่ายการสื่อสารและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเป็นหน่วยปฏิบัติการทางความรู้ สร้างความรู้และผลิตสื่อความรู้ต่างๆ ทั้งเกี่ยวกับท้องถิ่น กลุ่มก้อนผู้คน รวมไปจนถึงระดับสังคมและบนเครือข่ายการเรียนรู้อย่างกว้างขวางที่กระจายไปทั่วโลก

    ผมกำลังเห็นหน้าตาใหม่ๆของความเป็นมหาวิทยาลัยและหน่วยปฏิบัติการสาธารณะ ที่สะท้อนบริบทของสังคมไทยและสังคมโลกได้อย่างดีที่สุดแห่งหนึ่งในเวทีคนหนองบัวนี่แหละครับ ได้มีส่วนร่วมทำเวทีคนหนองบัวนี้ให้เป็นสื่อที่ทรงพลังมากยิ่งๆขึ้น พร้อมกับได้เรียนรู้และเกิดความคิดสำหรับสะท้อนไปสู่การทำงานและจัดวางการดำเนินตนเองไปด้วยดีๆอยู่ตลอดเวลาเลยละครับ

    สวัสดีคุณหลาน BlueBird14 นะครับ

    สงสัยหลานอัญชันจะมีส่วนมากเลยในการทำให้มีคนเข้ามาในเวทีหนองบัว ที่มาจากปลายทางที่สวีเดน เพิ่มสูงขึ้นอย่างพรวดพราด สังเกตไหมครับว่าผู้อ่านและผู้ชมที่มาจากสวีเดนนั้นได้เพิ่มขึ้นไปเป็น ๑๖ คนแล้ว จากแต่เดิมเมื่อเดือนที่แล้วมี ๓ คน แล้วเพิ่มเป็น ๖ คนก่อนผมไปต่างประเทศเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมานี้เอง เวทีคนหนองบัวคงเป็นสื่อให้คนที่คิดถึงบ้าน หรือชาวต่างประเทศที่มีความประทับใจต่อคนไทยและสังคมไทยทั้งในสวีเดนและทั่วโลก ผ่านการได้รู้จักคนหนองบัว ได้ใช้เป็นแหล่งได้สัมผัสและเข้าถึงชีวิตจิตใจแบบไทยๆและชาวบ้านๆ ที่ดีอีกแหล่งหนึ่ง แม้จะเล็กๆน้อยๆแต่ก็แตกต่างซึ่งหาจากที่ไหนไม่ได้ในโลก นอกจากต้องมาได้รู้จักกับคนหนองบัวและเข้ามาท่องประสบการณ์กับเวทีคนหนองบัวซึ่งเริ่มมีสิ่งต่างๆมากมายนะครับ

    ขอให้มีพลังใจ มีความสุข ลูกๆเติบโตและให้ความงอกงามเป็นของขวัญชีวิตที่ดีที่สุดของคนเป็นแม่-พ่อนะครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    ตอนนี้เวทีคนหนองบัว ๒๕๕๔ นี่ คึกคักมากเลยนะครับ ประเดี๋ยวผมจะหาจังหวะเหมาะๆย่อยหลายๆเรื่องให้กับเวทีอีกครับ มีหลายเรื่องที่เชื่อว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับหนองบัวที่เชื่อว่าไม่เป็นที่ทราบกันมาก่อนในวงกว้าง และอีกหลายเรื่องก็เชื่อว่าจะเป็นภาพสะท้อนพัฒนการของสังคมไทยที่ดีๆ โดยเฉพาะการพัฒนาความเป็นชุมชน พัฒนาการของระบบสุขภาพ การผสมผสานและบูรณาการการจัดการตนเองของสังคมผ่านการพัฒนาการเรียนรู้ของคนรุ่นก่อน เครือข่ายการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสังคมไทยและสังคมโลกผ่านเครือข่ายอาสมัครที่ทำงานสุขภาพและอุทิศตนต่อระบบคุณค่าทางจิตวิญญาณ การพัฒนานวัตกรรมและเทศโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข บทบาทกลุ่มก้อนผู้นำชุมชนและภาคประชาสังคมต่อการพัฒนาความเป็นส่วนรวมอย่างพึ่งตนเองนับแต่อดีตกระทั่งปัจจุบันของหน่วยทางสังคมแห่งหนึ่งดังเช่นหนองบัว

    น่าสนุกและเป็นข้อมูลที่มีคุณค่ามากครับ

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล
    สวัสดีคุณฉิกและทุกท่านของเวทีคนหนองบัวนะครับ

    เมื่อเย็นวานนี้ ผมและคุณฉิกกับภรรยา ได้ไปเยี่ยมคารวะท่านอดีตยายอำเภอหนองบัว สมหมาย ฉัตรทอง ที่บ้านพักขอท่านมาแล้วนะครับ ทั้งสองท่านให้ความเมตตาแก่พวกเรามาก นั่งพูดคุยและนำเอาเรื่องราวต่างๆมาให้ชม-ได้ทราบ ที่เป็นงานเขียนของท่านตลอดเส้นทางการเป็นนักปกครองหลายแหง่ในประเทศของท่าน แต่ที่ท่านกล่าวให้ทราบเองว่าเป็นแหล่งที่ท่านอยู่นานที่สุดและผูกพันมากที่สุดก็คืออำเภอหนองบัวนี่เอง ซึ่งตอนนี้ ท่านได้เขียนขึ้นเป็นหนังสือจากประสบการณ์ชีวิตตนเองเกี่ยวกับหนองบัวและกำลังจะจัดพิมพ์เผยแพร่ต่อไปอีกด้วย

    ผมกับฉิกได้พยายามใช้ระยะเวลาอันย่นย่อเล่าให้ท่านและภรรยาซึ่งเคยมาเป็นครูที่โรงเรียนหนองบัวเทฯในช่วงที่ท่านมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอที่หนองบัวได้ฟังและได้ทราบไปด้วยว่าคนหนองบัวโดยเฉพาะในเวทีคนหนองบัวกำลังคิดและทำอะไรกันไปได้บ้างแล้ว ท่านบอกว่าดีใจมาก และบอกว่ายินดีที่จะได้ติดตามรับทราบ และร่วมกิจกรรมต่างๆผ่านการนำเอางานเขียนที่ท่านได้ทำเผยแพร่แล้วไปร่วมเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อไปได้ รวมทั้งอนุญาตไว้ให้ด้วยว่ายินดีที่จะนั่งคุยเรื่องราวต่างๆให้ฟังหากคนหนองบัวไปเยี่ยมและคุยกับท่าน

    คุณนายของท่านและท่านทำน้ำอัญชันกับน้ำใบย่านองให้ผมกับฉิกและภรรยาได้ชิมด้วย ก่อนอำลาท่าน ท่านก็มอบหนังสือเกี่ยวกับหนองบัวและในแนวที่ท่านบันทึกเกี่ยวกับชุมชนในพื้นที่ต่างๆที่ท่านเคยผ่านไปเป็นนายอำเภอและรองผู้ว่าราชการจังหวัดให้ผมนำกลับมาอ่านเพื่อจะได้แนวทางนำกลับไปคิดและเรียนปรึกษาหารือกับทานต่อไปอีก หากทำสิ่งต่างๆด้วยกันได้ต่อไปก็จะได้มองเห็นความคิดและแนวทางต่างๆด้วยกันต่อไป

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์คุณฉิกและผู้อ่านทุกท่าน

    ขอนำภาพอดีตนายอำเภอหนองบัว : สมหมาย ฉัตรทอง มาฝากเวทีคนหนองบัว หลังทศวรรษ ๒๕๒๐ ชาวอำเภอหนองบัวจำชื่อนายสมหมาย ฉัตรทอง นายอำเภอนักพัฒนาท่านหนึ่งได้ดีจนทุกวันนี้ เพราะยุคนั้นท่านคือผู้นำฝ่ายรัฐที่ได้ร่วมมือกับผู้นำฝ่ายสงฆ์ที่เด่นชัดที่สุดคือเจ้าคณะอำเภอหนองบัว-พระครูไกร(พระครูวาปีปทุมรักษ์-พระนิภากรโสภณ/ไกร ฐานิสฺสโร ศรสุรินทร์)

    ถือเป็นปรากฏการณ์ของอำเภอหนองบัวยุคหนึ่งที่น่าศึกษาอย่างมากคือเป็นยุคที่ผู้นำชุมชนทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายสงฆ์ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างแข็งขัน ระดมพลังชุมชนชาวบ้านช่วยกันสร้างสรรค์พัฒนาชุมชนอำเภอหนองบัว จนมีหลายสิ่งหลายอย่างเป็นอนุสรณ์แห่งการพัฒนาโดยการนำนามสมณศักดิ์ของท่านพระครูไกรและชื่อสกุลของท่านนายอำเภอสมหมาย ฉัตรทอง ไปเป็นชื่อโครงการถาวรวัตถุทางด้านสาธารณประโยชน์หลายแห่งของอำเภอหนองบัวในปัจจุบัน เช่น ถนนวาปีฯ ศาลาฉัตรทอง อ่างเก็บน้ำหลวงพ่อไกร เหล่านี้เป็นต้น

                  
                   อธิบายภาพ : ศาลาฉัตรทอง ภาพถ่ายชุดนี้นำมาจากเอกสารบันทึกประวัติการเรียนและการปฏิบัติงานของป้าหมอหนิม : ถนิม อ่วมวงษ์(กุลสวัสดิ์)ในเอกสารฉบับนี้ไม่ได้ระบุปีที่จัดพิมพ์ ในภาพนี้ก็ไม่มีข้อมูลรายละเอียดใดๆ แต่ดูจากชื่อศาลาแล้วก็คือชื่อสกุลของท่านนายอำเภอหนองบัวนั่นเอง(นายสมหมาย ฉัตรทอง) อาตมาไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับศาลาฉัตรทองหลังนี้เลย ว่าสร้างสมัยที่ท่านเป็นนายอำเภอหนองบัว หรือว่าสร้างหลังจากท่านได้ย้ายออกจากอำเภอหนองบัวไปแล้ว

                          
                           อธิบายภาพ : ศาลาประชาคมหลังใหม่อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ นั่งแถวหน้าที่สองจากซ้าย : นายสมหมาย ฉัตรทอง คือนายอำเภอหนองบัวในขณะนั้น

                           
                           อธิบายภาพ : ศาลาประชาคมหลังเก่าอำเภอหนองบัว สโมสรข้าราชการอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ในเอกสารไม่มีบันทึกรายละเอียดไว้

    นายสมหมาย ฉัตรทอง อดีตนายอำเภอหนองบัว ภูมิใจช่วงชีวิตที่ได้มาเป็นนายอำเภอหนองบัว
    ดีใจที่เริ่มได้ทราบเกี่ยวกับเวทีคนหนองบัวและเป็นบุญที่มีความสนใจทำสิ่งต่างๆแก่หนองบัวตรงกัน

    เมื่อตอนสายๆของวันนี้ ท่านอดีตนายอำเภอหนองบัวนายสมหมาย ฉัตรทอง ได้กรุณาโทรศัพท์เล่าเรื่องหนองบัวให้ผมได้ทราบอีกด้วยความประทับใจหลายอย่าง ท่านบอกว่าได้อ่านหนังสือที่ผมทำและนำติดมือไปเยี่ยมคารวะท่าน ๒ เล่มคือวิถีประชาศึกษา กับ ดังลมหายใจ โดยอ่าน ดังลมหายใจ จบไปแล้ว และกำลังอ่าน วิถีประชาศึกษา แต่ก็ได้สะท้อนให้ผมดีใจก่อนว่า ท่านบอกว่าได้เรียนรู้เรื่องหนองบัวและความเชื่อมโยงกับสังคมอีกหลายเรื่องที่ท่านไม่เคยทราบ

    ท่านเลยใช้คำว่า เป็นบุญจริงๆที่ได้มาเจอกัน เพราะท่านไม่เคยคิดว่าจะมีใครสนใจทำเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับหนองบัวเก็บไว้อย่างนี้ ซึ่งสอดคล้องกันอย่างมิได้นัดหมายและกลับยิ่งเติมเต็มให้กันเพราะช่วยกันมองคนละด้าน ท่านบอกว่าท่านสามารถมองได้ในทางรัฐศาสตร์ แต่ด้านอื่นท่านไม่ค่อยถนัด พอได้แลกหนังสือกันอ่าน ท่านก็เลยดีใจที่เหมือนกับได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำในสิ่งที่สอดคล้องต้องกัน

    ผมก็เลยเรียนให้ท่านได้ทราบไปด้วยเช่นกันว่าผมก็อ่านหนังสือของท่านไปหมดแล้วด้วยความดีใจตั้งแต่เมื่อคืนนี้หลังจากไปคารวะท่าน และแยกจากคุณฉิกกลับถึงบ้าน ทั้งเล่มใหญ่ๆ ๑ เล่ม และอีกเล่มเล็กๆ ๕ เล่มที่ท่านเขียนเกี่ยวกับหนองบัวและอีกหลายชุมชนในพื้นที่ซึ่งท่านได้เคยไปเป็นนายอำเภอและรองผู้ว่าราชการจังหวัด

    จากนั้น ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันด้วยความประทับใจ ท่านออกปากไว้ให้ว่ายินดีที่จะได้พบปะกันและนั่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันกับคนหนองบัวอยู่เสมอ

    ข้อมูลภาพรูปวาดเวทีคนหนองบัว ได้ใช้ทำปกหนังสือความรู้และบทเรียนจากชุมชน
    สนับสนุนการประชุมวิชาการประจำปี ๒๕๕๔ ของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน
    มหาวิทยาลัยมหิดล

                           

                            

    สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดประชุมสัมมนาวิชาการประจำปี ๒๕๕๔ หัวข้อ ครอบครัวและชุมชนเข้มแข็งกับการจัดการสุขภาพชุมชน ที่โรงแรมมิราเคิล กรุงเทพมหานครเมื่อ ๑๓-๑๔ มกราคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ทางทีมวิชาการของการประชุมได้ขอรูปสำหรับทำปกเอกสารความรู้กับหนังสือสำหรับเผยแพร่และสนับสนุนการประชุมครั้งนี้ ๒ รูป ผมเลยเลือกรูปให้สอดคล้องกับทุนทางสังคมและทุนศักยภาพชุมชนที่เป็นรากฐานความเข้มแข็งในวิถีชีวิตชุมชนของสังคมไทยได้ ๒ รูปจากเวทีคนหนองบัว คือรูปที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมและกระบวนการบริหารจัดการตนเองอย่างเป็นองค์รวมของชุมชนในวัฒนธรรมและประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว กับการระดมทำกระยาสารทและขนมทำบุญ ซึ่งเป็นรูปที่วาดขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวของชุมชนหนองบัวในเวทีคนหนองบัว

    อนุโมทนาพลอยดีใจที่อาจารย์วิรัตน์กับคุณฉิกได้ไปเยี่ยมพบปะพูดคุยกับอดีตนายอำเภอหนองบัวคุณสมหมาย ฉัตรทอง นอกจากจะได้ทราบความเคลื่อนไหวที่ท่านกำลังจัดทำหนังสือที่เกี่ยวกับหนองบัวแล้ว ท่านก็ยังได้สะท้อนความรู้สึกถึงเรื่องราวชุมชนหนองบัวจากการอ่านหนังสือดังลมหายใจของอาจารย์อีกด้วย

    อดดีใจแทนคนหนองบัวไม่ได้ที่ระยะนี้ได้รับทราบความรู้สึก จากคนที่เคยอยู่หนองบัวมานาน และมีความผูกพันกับคนหนองบัว ทั้งสองท่านนั้นกล่าวถึงชาวหนองบัวอย่างที่เราได้ทราบกันไปแล้วจากข้อเขียนของคุณป้าหมออรุณที่ได้นำมาเผยแพร่ก่อนหน้านี้ และความรู้สึกของคุณสมหมาย จากอาจารย์วิรัตน์ที่นำมากล่าวถึงนี้

    เวทีคนหนองบัวได้ทราบข้อมูลความรู้หลายเรื่องของชุมชนหนองบัวในอดีตจากบันทึกของคุณป้าหมออรุณ : หมอURSULA  LOWENTHAL โดยผ่านทางตัวหนังสือ ส่วนอดีตนายอำเภอสมหมาย ฉัตรทองนั้นเราจะได้รับทราบเรื่องราวต่างๆจากความทรงจำของท่านที่มีต่อชาวหนองบัวทั้งโดยตรงจากตัวท่านเองและจากข้อเขียนของท่านที่กำลังจะนำออกเผยแพร่ นี่นับเป็นโอกาสดีและถือเป็นบุญจริงๆดังที่ท่านกล่าวไว้เลย

    ประวัติศาสตร์พัฒนาการของชุมชนหนองบัว
    กับความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสังคมในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่ร่วมยุคสมัยเดียวกัน

                            

                            

    เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสผ่านไปทางมะละกาและชายแดนของมาเลเซียกับสิงคโปร์ ก็ได้เห็นพิพิธภัณฑ์และห้องแสดงงานศิลปะ ซึ่งอดีตเคยเป็นโบสถ์และคริสตจักรที่แผ่เข้ามาจากยุโรปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ต่อมาในช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐ ( คศ. ๑๙๕๗ ) หลังจากที่มาเลเซียและสิงคโปร์ได้รับเอกราช รวมทั้งในช่วงเข้าสู่ทศวรรษ ๒๕๓๐ (คศ.๑๙๖๕) ที่สิงคโปร์ได้แยกเป็นนครรัฐอิสระออกจากประเทศมาเลเซียดังปัจจุบัน บทบาทของโบสถ์และคริสตจักรดังกล่าวก็มีบทบาทต่อคนท้องถิ่นน้อยลง ในที่สุดก็หยุดดำเนินกิจการและดัดแปลงสถานที่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์และหอศิลปะ พัฒนาการดังกล่าวมีความร่วมยุคสมัยกันกับความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ทว่า มีบริบทและพัฒนาการหลังช่วงเปลี่ยนผ่านแตกต่างกันมากพอสมควร

    ประวัติศาสตร์พัฒนาการจากภาครัฐของอำเภอหนองบัว
    กับพลังทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม และองค์ความรู้หลากหลายของอำเภอหนองบัว

                           

                           

                           

                           

    ท่านสมหมาย ฉัตรทอง อดีตนายอำเภอหนองบัวในช่วง ๒๕๒๔-๒๕๒๘ ได้ให้ผมยืมหนังสือที่ท่านเขียนขึ้นหลายเล่มไปอ่านและเล่มหนึ่งเป็นเล่มที่ท่านได้เขียนเรียบเรียงเป็นต้นฉบับเกือบจะเรียบร้อยแล้วนั้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอำเภอหนองบัว โดยเฉพาะข้อมูลพื้นฐาน การก่อตั้งจากเป็นกิ่งอำเภอและเป็นอำเภอ รวมทั้งพัฒนาการในด้านที่ดำเนินการโดยบทบาทของภาครัฐและภาคเอกชนที่สำคัญในบางด้าน ท่านต้องการทำเพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงหนองบัวซึ่งท่านกล่าวว่าเป็นช่วงชีวิตที่ท่านประทับใจมากที่สุดช่วงหนึ่ง

    ต้นฉบับหนังสือของคนหนองบัวที่ท่านเขียนและตั้งใจไว้ว่าจะมอบให้แก่คนหนองบัวนี้ คะเนจากต้นฉบับขนาดกระดาษเอ ๔ พิมพ์หน้าเดียวกว่า ๒๐๐ แผ่นนี้ เมื่อจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มและภาพประกอบต่างๆให้สวยงามแล้วก็คงจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับอำเภอหนองบัวอีกเล่มหนึ่งที่หนากว่า ๑๐๐ หน้า ข้อมูลและเรื่องราวหลายอย่างในเล่มเป็นสิ่งที่จะทำให้คนหนองบัวยิ่งเห็นความเป็นมา ความเป็นเอกลักษณ์ และสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของคนหนองบัว ที่ได้มีคนช่วยกันทำให้เป็นเอกสารหลักฐานและสร้างความรู้ท้องถิ่นให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เกี่ยวกับตนเองให้แพร่หลายต่อไปในอนาคต

    ภาพบน นายสมหมาย ฉัตรทอง ขณะดำรงตำแหน่งนายอำเภอหนองบัว กับกำนันเทียน ท้วมเทศน์ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านหนองบัว ได้ร่วมกันสร้างอนุสรณ์สถานรำลึกแด่นายอรุณ วิไลรัตน์ อดีตนายอำเภอหนองบัวคนแรกและเป็นผู้ระดมทรัพยากรกับแรงงานชาวบ้าน ซื้อรถแทรกเตอร์และร่วมกันขุดสระน้ำหลายแห่งเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในอำเภอหนองบัว

    วันนี้ ท่านอดีตนายอำเภอ ได้เล่าให้ผมฟังทางโทรศัพท์ต่ออีกหลายเรื่อง ขณะเดียวกัน ท่านก็บอกว่าเริ่มได้ความสนุกและได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับหนองบัวอย่างกว้างขวางมากยิ่งๆขึ้น เลยมีความคิดที่เห็นด้วยในการทำกิจกรรมต่างๆกัน

    รวมทั้งท่านได้ร่วมนำเสนอวิธีระดมความมีส่วนร่วมจากภาวะผู้นำของกลุ่มคนที่เป็นลูกหลานชาวหนองบัวให้บางประการว่า วิธีหนึ่งที่น่าจะทำก็คือ การทำอย่างเป็นเครือข่ายในหลายๆขอบเขต แต่ก่อนที่จะทำอย่างนั้น ท่านเสนอแนะว่าควรจะช่วยกันหาวิธีเข้าถึงและรวบรวมคนดีคนเก่งของหนองบัวทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ (ท่านใช้คำว่า 'คนดีศรีหนองบัว') ซึ่งท่านก็ได้ยกตัวอย่างให้ฟังและให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ท่านรู้จักและเป็นคนหนองบัวหลายท่าน เพื่อนำมาชื่นชมได้เป็นกำลังใจกันของคนหนองบัว รวมทั้งป้าหมออรุณและป้าหมอหนิมด้วย ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับที่ผมและท่านพระอาจารย์มหาแล รวมทั้งทุกท่านของเวทีคนหนองบัวได้ช่วยกันทำอย่างเก็บเล็กผสมน้อยมาอยู่เรื่อยๆพอดี

    ผมจึงเรียนให้ท่านทราบว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องหนึ่งเราจะทำให้เวทีคนหนองบัวเป็นแหล่งรวบรวมศักยภาพและทุนทางสังคมที่อยู่ในตัวคนหนองบัวดังกล่าวนี้ ให้เพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้น รวมทั้งจะทำให้เป็นกระบวนการเรียนรู้บทบาทใหม่ๆของพลเมืองและประชากรไปด้วย โดยจะเน้นการถอดบทเรียนประสบการณ์ชีวิตจากผู้คนทั้งระดับปัจเจกและกลุ่มก้อนที่รวมตัวกันในแบบต่างๆ เพื่อให้เห็นได้อยางแท้จริงว่า พลเมืองทุกคนมีความหมายและมีคุณค่าในชีวิต สามารถเป็นปัจจัยแห่งความสร้างสรรค์และส่งเสริมให้มีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาหนองบัวให้เข้มแข็งและยั่งยืนได้เป็นอย่างดี

    ตอนนี้เวทีคนหนองบัวเลยยิ่งมีสีสันและมีทุนประสบการณ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะเป็นทุนทางสังคมที่จะสามารถเชื่อมโยงเข้ากับบทบาทของภาครัฐและราชการในภูมิภาค ตลอดจนชุมชนท้องถิ่น ได้ดีมากยิ่งๆขึ้นนะครับ

    ลืมกราบเรียนให้ท่านพระอาจารย์มหาแลทราบอีกเรื่องหนึ่งว่า วันนี้ท่านอดีตนายอำเภอสมหมาย ฉัตรทอง ได้โทรศัพท์คุยและเล่าเรื่องราวต่างๆให้ผมฟัง รวมทั้งท่านได้อ่านหนังสือที่ผมนำไปฝากท่านด้วยสองเล่ม ท่านก็ให้ผมเล่าให้ฟังด้วยอย่างสนุกสนาน ท่านให้ผมเล่ามุมมองของการใช้ตัวคนในท้องถิ่นเป็นตัวตั้งแล้วเดินเรื่องแผ่ขยายไปสู่สังคมที่ซับซ้อนเป็นวงกว้างที่นอกเหนือจากทรรศนะของนักรัฐศาสตร์ว่าเขามีแนวคิดและวิธีมองกันอย่างไรเพราะท่านก็เริ่มสนใจวิธีการอย่างนี้ ผมก็เลยลองเล่าเรื่องไอ้เป๋หนองบัวกับวัวหลวงพ่ออ๋อยให้ท่านฟัง ว่าภายใต้เรื่องราวเหล่านี้นั้น สามารถบ่งชี้และสื่อสะท้อนสิ่งต่างๆต่อสังคมอย่างไรได้บ้าง เช่น หากไม่มีหลวงพ่ออ๋อยและผู้คนไม่มีความเมตตากรุณาต่อผู้ที่ตกยากหรืออ่นแอ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ รวมทั้งหากวัฒนธรรมของการไม่ฆ่าและไม่กินสัตว์ที่มีบุญคุณต่อเราของชุมชนไม่เข้มแข็ง เหล่านี้ ก็จะไม่มีไอ้เป๋หนองบัวและวัวหลวงพ่ออ๋อย ให้เป็นประสบการณ์ร่วมกันของผู้คนหลายรุ่นในหนองบัว เหล่านี้เป็นต้น

    การมีสิ่งหนึ่ง จึงบ่งบอกบริบทและชุดของเหตุปัจจัยที่เหมาะสมและพอดีกันอีกอย่างลึกซึ้งและสลับซับซ้อน การศึกษาชีวิตและเรื่องราวของชุมชนอย่างลึกซึ้งแยบคายอย่างนี้ ก็จะทำให้ผู้คนทุกคนในสังคมชนบทเห็นความสำคัญต่อประสบการณ์ชีวิตและเห็นความหมายที่ว่าชีวิตเป็นการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เห็นและจับต้องได้มากยิ่งขึ้นอย่างเป็นลำดับว่า การเรียนรู้เพื่อแสดงความเป็นพลเมืองและการพัฒนาประชากรทุกคนในอนาคตนั้น ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่บนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของตนเองได้จริงๆอย่างที่มักกล่าวถึงกันอยู่เสมอๆนั่นเอง

    นอกจากนี้ท่านได้กล่าวถึงพระคุณเจ้าด้วยครับ ท่านเล่าให้ฟังว่าเพิ่มจะได้โทรศัพท์ไปคุยกับคนหนองบัวและพระครูไกร รวมทั้งนมัสการเล่ากราบเรียนเพื่อช่วยสื่อสารบอกกล่าวกันไปด้วยว่าได้คุยกับผมและคุณฉิกด้วย ท่านพระครูไกรก็ได้เล่าเรื่องต่างๆให้ฟังอีกรวมทั้งเรื่องพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล ท่านอดีตนายอำเภอสมหมายบอกว่าท่านพระครูไกรบอกว่าท่านรู้จักพระอาจารย์มหาแลและจดจำได้เป็นอย่างดีว่าเป็นคนหนองบัวและเคยบวชเรียนที่วัดหนองกลับด้วย ฟังดูท่านดีใจมากที่ไปๆมาๆพวกเราหลายคนได้ทำให้ท่านได้มีความใกล้ชิดกับเรื่องราวของหนองบัวมากขึ้นอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนี่ต้องยกให้เป็นความเอาเป็นธุระของคุณฉิกก็แล้วกันนะครับ

    ขอบอกอาจารย์วิรัตน์ตามตรงว่าได้เห็นหน้าตาหนังสือจากหนองบัว ๓ เล่มที่อาจารย์เอามาแนะนำบอกกล่าวแล้ว รู้สึกปลื้มใจจังเลย ถึงแม้เนื้อหาหลายเรื่องในหนังสือดังกล่าวอาจจะเป็นเรื่องที่รู้มาบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ยังอยากสัมผัสใคร่รู้ และปราถนาที่จะอ่านอยู่ดี

    ที่ภูมิใจมากๆเลยก็คือเรื่องราวต่างๆในหนองบัวที่ได้รับรู้มาจากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่แต่อดีตไม่สูญหายไปกับกาลเวลาแน่นอน ดีใจที่ความรู้ของชาวบ้าน ได้เปลี่ยนรูปแบบ จากรูปแบบความรู้ที่เคยอยู่ในตัวคน อยู่ในความทรงจำ ก็มาอยู่ในรูปบันทึกเป็นหนังสือ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไปอีกนานเท่านาน

    ขอช่วยอาจารย์เพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับอดีตผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ดังนี้ นายอำเภอหนองบัวคนแรกคือนายสืบศักดิ์ สุขไทย (๑๗ ก.ค.๒๔๙๙ - ๑๗ เม.ย. ๒๕๐๒) ส่วนนายอรุณ วิไลรัตน์ คือนายอำเภอหนองบัวคนที่สอง (๑๗ เม.ย. ๒๕๐๒ - ๒๐ ต.ค.๒๕๐๘)

    ดีจังเลยครับ กราบขอบพระคุณครับ ทั้งได้รวบรวมและได้สอบทานข้อมูลกันไปด้วยเรื่อยๆ
    ข้อมูลในรายละเอียดหลายอย่างโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอำเภอนั้น ในหนังสือที่อดีตนายอำเภอสมหมาย ฉัตรทองกำลังเขียนและจะทำขึ้นนั้น ได้รวบรวมไว้รอบด้านมากทีเดียวครับ รวมทั้งรายนามนายอำเภอและหัวหน้ากิ่งอำเภอ แต่ตอนนี้ท่านยังไม่ได้ตีพิมพ์เป็นรูปเล่มที่ผ่านการแก้ไขปรับปรุงให้เป็นที่เรียบร้อย อีกทั้งผมและเวทีคนหนองบัวก็ยังไม่ได้ขออนุญาตจากท่านอย่างเป็นทางการ หากท่านไม่ต้องการให้นำมาเผยแพร่ช่วยกันได้ ก็ไม่ควรนำมาเผยแพร่ก่อนท่าน แต่หลายอย่างก็เป็นข้อมูลทั่วไปที่กระจัดกระจายอยู่ในแหล่งต่างๆอยู่แล้วเหมือนกันครับ

    วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

    search หาข้อมูล จนมาพบกับบล็อคนี้และเห็นว่ามีการอ้างถึงเรื่องที่หนองบัวจากบทความในจม.ข่าวของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์เมื่อหลายปีมาแล้ว

    ขอแจ้งขอมูลเพิ่มเติมค่ะ ว่าเรื่องสืบมาจากคนไทใหญ่หรือคนไตนี้ เป็นข้อมูลบอกเล่าที่สัมภาษณ์คุณลุงท่านหนึ่งที่วัดหนองบัวหนองกลับเมื่อนานมาแล้ว ท่ายัยงเล่าเรื่องตำนานส่งส่วยเหล็กหางกุ้งแล้วก็เรื่องสำเนียงแบบคนกุลาที่เข้ามาอยู่แถบนี้ ท่าน็เห็นแบบนั้น

    ตอนสัมภาษณ์ท่านอายุมากแล้ว บันทึกชื่อไว้แต่ก็นานจนลืม

    หากมีข้อมูลใหม่ที่ชัดเจนกว่าก็วิเคราะห์ต่อเลยค่ะ อย่าเพิ่งสรุปว่าเนื้อหาในบทความที่บันทึกไว้นั้นจะใช้ได้หรือใช่เสียทั้งหมด

    มีอะไรอยากคุยก็คุยได้เลยค่ะ ยังทำงานอยู่ที่มูลนิธิฯ

    วลัยลักษณ์

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วลัยลักษณ์ครับ
    ทั้งเกิดความประทับใจและซาบซึ้งใจอย่างยิ่งครับอาจารย์ ประทับใจก็เนื่องจากหลายท่านในเวทีคนหนองบัวได้กล่าวถึงอาจารย์และงานที่อาจารย์ริเริ่มศึกษาไว้ชาวหนองบัวอยู่หลายครั้ง และซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่งก็คือการกล่าวให้อนุญาตไว้ล่วงหน้าหากจะมีการนำมาเผยแพร่ รวมทั้งนำมาเป็นข้อมูลวิเคราะห์ ศึกษาค้นคว้ากันต่อไป วิธีอย่างที่กำลังปรากฏขึ้นในเวทีคนหนองบัวนี้ล้วนอยู่ในระยะแรกๆของกระบวนการเรียนรู้ไปด้วยกัน หากมีการสนับสนุนและสร้างโอกาสให้คนในพื้นที่ หรือกลุ่มชนที่อยู่ในวิถีชาวบ้าน ได้เดินเข้ามาคิดและเรียนรู้ที่จะได้ค่อยๆสร้างความรู้ขึ้นจากประสบการณ์ชีวิต จากชุมชนที่ยังไม่ค่อยมีเรื่องราวและความรู้ต่างๆเกี่ยวกับตนเอง ก็จะสามารถสะสมรวบรวมขึ้นมาให้ผู้คนได้พอเห็นแนวทางและยิ่งก่อเกิดกำลังใจที่จะทำช่วยกัน ซึ่งต่อไปก็เชื่อว่าจะเป็นประสบการณ์พื้นฐานให้ยิ่งสามารถเชื่อมโยงกับการวิจัยที่เพิ่มพูนความหนักแน่นเข้มแข็งได้มากยิ่งๆขึ้น พร้อมกับได้มีโอกาสสร้างคนในชุมชนและที่เป็นเครือข่ายของชุมชนไปด้วย ในอนาคตก็จะร่วมเป็นกำลังความรู้และกำลังการปฏิบัติให้สามารถคิดและทำสิ่งต่างๆของตนเองได้ดีขึ้น ส่งเสริมและเติมเต็มข้อจำกัดในบทบาทของภาคส่วนอื่นๆของสังคมที่ดำเนินการสิ่งต่างๆอยู่แล้ว ให้ความเป็นส่วนร่วมมีความสมบูรณ์ เข้มแข็ง และก่อเกิดสุขภาวะที่ครอบคลุมทั่วถึงมิติต่างๆได้ดียิ่งๆขึ้น จึงต้องขอคารวะและขอบพระคุณอาจารย์อย่างยิ่งมา ณ ที่นี้ครับ

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล
    และสวัสดีทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    นอกเหนือจากข้อมูล ความรู้ และเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์และการบอกเล่าของชุมชน จากหลายแหล่งที่อดีตนายอำเภอสมหมาย ฉัตรทอง ท่านอาจารย์วลัยลักษณ์ ทรงศิริ และท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัด ตลอดจนจากการรวบรวมของวัดหนองกลับและวัดเทพสุธาวาสแล้ว ท่านอดีตนายอำเภอสมหมาย ฉัตรทองก็ได้ให้ข้อสังเกตและสะท้อนความประทับใจให้ว่าท่านได้รู้และเกิดความคิดขึ้นอีกหลายอย่างที่ไม่เคยทราบในด้านอื่นๆมาก่อนของหนองบัวจากการอ่านหนังสือที่ผมนำไปมอบเพื่อเยี่ยมคารวะท่านด้วย ท่านแสดงความสนใจว่าช่วยกันทำในลักษณะนี้ก็จะยิ่งทำให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับหนองบัวครอบคลุมเรื่องราวและมิติที่หลากหลาย เวทีคนหนองบัวจึงมีส่วนที่สำคัญในการเชื่อมโยง รวบรวม สื่อสารเผยแพร่ และสานความคิดริเริ่มต่างๆ ให้เกิดความงอกเงยสิ่งดีๆได้มากยิ่งๆขึ้น โดยเฉพาะความรู้และสิ่งที่สะสมรวบรวมขึ้นจากวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งนอกจากจะเติมเต็มความรู้จากแหล่งต่างๆให้ดีมากยิ่งขึ้นแล้ว ก็จะเป็นความรู้และเรื่องราวที่จะหาจากแหล่งอื่นและให้คนอื่นสร้างให้ไม่ได้อีกด้วย

    สิ่งเหล่านี้กำลังก่อเกิดและพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆในเวทีคนหนองบัว โดยเฉพาะการมีลูกหลานคนหนองบัว ทั้งที่อยู่และมีประสบการณ์มากมายในหนองบัว และที่ได้ออกไปศึกษาเล่าเรียนและทำงานทั้งในและต่างประเทศ ได้เริ่มเข้ามาเขียนถ่ายทอดและพูดคุยสื่อสารเรื่องราวต่างๆด้วยกัน ต่อไปก็คงจะเป็นกำลังทางความรู้และกำลังในการริเริ่มสิ่งต่างๆ โดยมีข้อมูลและความรู้ที่ดีขึ้นเรื่อยๆมาช่วยเป็นเครื่องชี้นำการปฏิบัติให้กับเวทีคนหนองบัว นะครับ

                                
                                 อธิบายภาพ : ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก(ห้อง ชาตสิริ-ท้วมเทศ /๒๔๓๘-๒๔๙๙) คนหนองบัว อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ วัดนครสวรรค์ ผู้นำชุมชนในยุคแรกของหนองบัว ผู้ก่อตั้งโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม-ปัจจุบันอนุบาลหนองบัว) ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งแรกของอำเภอหนองบัว เว็บไซต์(http://anbnb.net/) รร.อนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)ผู้ให้กำเนิดวัดเทพสุทธาวาส ท่านถือเป็นบุคคลสำคัญของชุมชนหนองบัวที่สร้างสรรค์พัฒนาทำคุณประโยชน์ไว้หลายด้านแก่ชุมชนหนองบัว

                                   
                                   อธิบายภาพ : พระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงปู่อ๋อย สุวณฺโณ/พรมบุญ -๒๔๔๒-๒๕๒๙)อดีตเจ้าคณะอำเภอหนองบัว วัดใหญ่: วัดหนองกลับ ผู้นำชุมชนศิษย์หลวงพ่อเดิมและได้ร่วมกับหลวงพ่อเดิมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในหนองบัว กล่าวได้ว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการเป็นผู้นำสร้างเมืองหนองบัว

                                 
                                  อธิบายภาพ :
    พระครูนิมิตศีลาภรณ์(สม ฐิตสีโล-ฉ่ำน้อย)เจ้าอาวาสวัดเทพสุทธาวาส รูปปัจจุบัน เจ้าคณะตำบลห้วยร่วม เขต ๒ เมื่อสองปีที่ผ่านมาท่านพระครูกับกำนันเทียน ท้วมเทศ(กำนันท่านเป็นหลานเจ้าคุณห้อง) ได้ร่วมกันค้นคว้าหาข้อมูลประวัติเจ้าคุณเทพสิทธินายก(ห้อง ท้วมเทศ)รวบรวมพิมพ์ออกเผยแพร่ ครั้งแรกพิมพ์ไม่มากนัก ต่อมาลูกหลานคนหนองกลับจำนวนมากต้องการหนังสือเล่มนี้ไปศึกษา ท่านพระครูบอกว่าตอนนี้(๒๕๕๔)พิมพ์ครั้งที่สามที่สี่แล้ว

    ทั้งสามภาพข้างบนนี้ถ่ายจากหนังสือทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น ของวัดเทพสุทธาวาส
    ในทรรศนะของอาตมาภาพ ขอยกพระเทพสิทธินายก(ห้อง ท้วมเทศ)และพระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงพ่ออ๋อย พรมบุญ)ทั้งสองท่านนี้เป็นบุคคลสำคัญของเมืองหนองบัวและก็เป็นคนดีศรีหนองบัวด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความประสงค์ที่อดีตนายอำเภอสมหมาย ฉัตรทอง อยากให้เครือข่ายลูกหลานคนหนองบัว ช่วยกันรวบรวมหาข้อมูลบุคคลในชุมชนที่เป็นคนดีคนเก่งนำมาเผยแพร่ให้ปรากฏต่อสาธารณะ

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล

    สวัสดี อ.วิรัตน์ และชาวเวทีคนหนองบัวค่ะ

    ต้องขอบอกพระอาจารย์มหาแล ว่าไม่ได้รบกวนเลยที่พระคุณเจ้าส่งอีเมลล์หาดิฉัน ในทางตรงกันข้าม ยินดีเป็นอย่างที่ได้มีส่วนช่วยเหลือ และมีส่วนร่วมในเวทีคนหนองบัว ค่ะ

    ดีใจเป็นอย่างยิ่งที่เห็นชุมชุนคนหนองบัว ได้อยู่ในโลกไซเบอร์ ดิฉันเองถึงแม้จะย้ายถิ่นฐานจากหนองบัวไปนานแล้ว แต่ยังรักและภูมิใจที่ได้เกิดที่หนองบัวเป็นชาวหนองบัวค่ะ

    ดิฉันได้ส่งลิงค์ เวทีคนหนองบัวให้หลวงพี่ไปตั้งแต่ดิฉันได้เข้มามาเวทีหนองบัวเมื่อตอนต้นเดือน และได้ส่งอีเมลล์ไปหาหลวงพี่อีกครั้งแล้วในวันนี้ค่ะ คงต้องรอให้หลวงพี่ตอบกลับมา หลวงพี่ท่านคงงานเยอะ หากท่านยังไม่ตอบกลับมา ดิฉันคงจะต้องโทรไปหาท่านค่ะ

    ขอบคุณอาจารย์วิรัตน์นะคะ สำหรับคำอวยพรเรื่องลูกๆ ค่ะ ตอนนี้เริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว ดิฉันคงต้องกลับไปอ่านหนังสืออย่างหนัก แต่จะพยายามเข้ามาเยี่ยมบ่อยๆ ค่ะ

    วันนี้ได้กลับมาเวทีหนองบัว ได้เจอรูป คุณลุงกำนันเทียน ท้วมเทศ ดิฉันได้เจอท่านล่าสุด เมื่อ เดือนกันยายน ปี ๒๕๔๒ ตอนที่ดิฉันกลับไปเยี่ยมบ้านที่หมู่ ๔ ต.หนองกลับ ก็แวะไปสวัสดีท่านค่ะ

    หากมีอะไรให้ดิฉันได้ช่วยเหลือ ส่งอีเมลล์ตรงหาดิฉันได้เลยนะค่ะ ไม่ถือว่าเป็นการรบกวน ยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมค่ะ

    อัญชัน

    เจริญพรคุณอัญชัน

    อาตมาขอขอบคุณคุณอัญชันเป็นอย่างมากที่รับอาสาด้วยจิตใจที่เสียสละ เลยยิ่งต้องขอชื่นชมในความมีน้ำใจของคุณอัญชันไว้ ณ ที่นี้อย่างมากๆ ถึงแม้คุณอัญชันจะดูมีภาระกิจงานอยู่มากมาย แต่ด้วยความเป็นผู้มีจิตสาธารณะจึงเห็นความเอาใจใส่ต่อส่วนรวมได้อย่างแข็งขัน ความเคลื่อนไหวจากปลายทางประเทศสวีเดนที่คุณอัญชันอาศัยอยู่คึกคักไม่น้อย เพราะตอนนี้มีคนจากสวีเดนเข้ามาที่เวทีคนหนองบัวนี้ถึง ๒๐ คนแล้วภายในไม่กี่วัน ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้มีเพียงสามสี่ท่านเท่านั้น

    งานสร้างความรู้แบบนี้ ทำไม่ง่ายนักหรอก จะเห็นว่าทุกท่านทำไปตามความสะดวก ตามความสมัครใจและก็ไม่ค่อยได้เชิญชวนใครอีกด้วย ถ้าจะเชิญชวนผู้ที่มีข้อมูลให้นำมาเผยแพร่บ้างบางครั้ง ก็จะชวนรวมๆกันไป ไม่ได้ระบุตัวบุคคลโดยตรง เพราะรู้สึกเกรงใจ กลัวจะไปรบกวนเวลาของท่าน แม้มีอยู่บ้างบางท่านที่เคยเชิญชวนท่านมาร่วมเขียนด้วยกัน และก็ไม่ผิดหวังเลย ตั้งแต่นั้นมา เวทีคนหนองบัวแห่งนี้ก็ได้ความรู้ข้อมูลชุมชนเพิ่มขึ้นอีกอย่างมากมายหลายเรื่องจากท่านจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

    เหตุที่สื่อสารไปถึงคุณอัญชันก็เนื่องจากเมื่อวันแรกๆที่คุณอัญชันเข้ามาที่นี่ ได้กล่าวถึงบางท่านและแนะนำที่อยู่ของท่านให้ด้วย โดยให้ทั้งเว็บไซต์เมลล์และสกาย เว็บไซต์เมลล์พอเข้าใจอยู่ แต่สกายนั้น คืออะไร ยังงงอยู่เลย คนบ้านนอกก็อย่างนี้แหละ เข้าใจอะไรได้ยากจริงๆ และที่สื่อสารไปถึงคุณอัญชันเมื่อวานนี้นั้นก็ไม่ได้ถามเรื่องนี้อีก

    ก็อยากจะบอกคุณอัญชันว่าให้คิดและทำไปตามโอกาส จังหวะเวลาที่เอื้ออำนวยให้ทำไปอย่างสบายๆสนุกๆก็แล้วกันว่างั้นเถอะ
    ขอเจริญพร

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
    และสวัสดีทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    ริเริ่มรวบรวมรายชื่อไว้ก่อนไปเรื่อยๆอย่างนี้ก็ดีมากเลยนะครับ มีการเริ่มต้นก็ถือว่าได้มีการก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ ๑ ก้าวแล้ว อย่างที่ท่านพระอาจารย์มหาแลท่านนำไปก่อนอย่างนี้ก็เป็นการพากันคิดพากันทำนะครับ ท่านเริ่มจากพระสงฆ์เก่าแก่กระทั่งรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ซึ่งอยู่ในแวดวงใกล้ชิดกับประสบการณ์และพื้นฐานของท่านมากที่สุดก่อน

    ดังนั้น คนหนองบัวไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน กลุ่มคนทำงานในองค์กรท้องถิ่น หากจะช่วยกันมองหาคนที่เรารู้จักรอบข้างมารวบรวมไว้ก่อน ต่อไปก็จะสามารถใช้เป็นหัวข้อและทำหมวดหมู่สำหรับรวบรวมข้อมูล รวมทั้งช่วยกันตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง ความเหมาะสม ปรับปรุงแก้ไข แล้วก็ใช้วิเคราะห์เขียนเป็นความรู้ต่างๆของหนองบัวสะสมไว้ให้เป็นเรื่องราวสำหรับศึกษาค้นคว้าและสร้างการเรียนรู้ต่างๆต่อไปของสาธารณะและคนหนองบัว

    ในมุมมองของผมที่ขอร่วมคิดไปด้วยกัน ก็จะมองว่า การรวบรวมและนำเสนอขึ้นมานั้น คนดีศรีหนองบัว ไม่จำเป็นต้องได้ชื่อว่าเป็นคนใหญ่โตหรือเป็นคนมีหน้ามีตาอยู่แล้วในสังคมซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ต้องกล่าวถึงในเวทีคนหนองบัวก็จะเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วก็ได้นะครับ แต่มีแนวคิดพื้นฐานสำหรับการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลไว้ก่อนว่าคนหนองบัวทุกคนเป็นคนดีของหนองบัวและเป็นคนดีทั้งของสังคมไทยและอื่นๆด้วยทุกคน ดังนั้น จึงเป็นการมองความดีและโอกาสความสร้างสรรค์ที่อยู่ในตัวคนหลากหลายทุกคน ตามแต่จะมีโอกาสเข้าถึงกัน

    และเมื่อใครสามารถเข้าถึงใคร ก็จะต้องมุ่งเข้าถึงด้วยการน้อมตนไปเรียนรู้ความดี สิ่งดี ความงดงามของการงานและการดำเนินชีวิต ความน่ารักน่าเคารพ ความเป็นสังคมและสภาพแวดล้อมที่ให้ความบันดาลใจแก่ผู้คน ซึ่งเป็นวิถีการเรียนรู้เพื่อเคารพผู้คน เรียนรู้เพื่อสร้างความเป็นส่วนรวม เรียนรู้เพื่อลดความอหังการ์ของความเป็นตัวกูของกูไปสู่การนอบน้อมและยกย่องความดีงามของผู้อื่นชีวิตอื่น ซึ่งในวิถีดังกล่าวนี้ ผู้คนที่ดูเหมือนถูกมองข้ามและไม่มีหัวโขนในสังคม ก็อาจจะเป็นคนที่มีความดีงามและเป็นความงดงามของหนองบัว ที่ไม่มีเสมอเหมือนจากคนอื่นเลยก็ได้

    ในการกล่าวถึงผู้คนเพื่อสื่อสะท้อนถึงความเป็นคนดีศรีหนองบัวนั้น ควรมุ่งวิถีการสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต รวมทั้งเรียนรู้สังคม สภาพแวดล้อม พัฒนาการในทุกด้านของสังคม ตลอดจนเห็นโลกกว้าง ผ่านการใช้ตัวบุคคลเป็นหัวข้อและเป็นผู้เชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างเป็นระบบ พึงหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงในแง่ความเป็นตัวบุคคล แต่ใช้ข้อมูลและรายละเอียดของตัวบุคคลเพียงเพื่อให้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับเข้าใจเรื่องราวและวิธีคิดที่เนื้อหาซึ่งเป็นสิ่งที่นำมาเรียนรู้อาจจะไม่สามารถถ่ายทอดให้เข้าถึงได้ด้วยตัวหนังสือ ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นข้อดีในการให้คุณค่าต่อเรื่องที่นำมาบันทึกถ่ายทอด เพราะหากเน้นความเป็นตัวบุคคล ผู้อ่านที่ไม่ชอบและไม่รู้จักก็จะมองข้ามเรื่องราวที่น่าสนใจ

    ขณะเดียวกัน การเน้นแง่มุมความเป็นตัวบุคคลให้เด่นจนบดบังและเกินสาระสำคัญของประสบการณ์ชีวิตและคุณค่าของสิ่งที่อยูู่ในวิถีชีวิตการงานของบุคคลนั้นๆ นอกจากจะลดคุณค่าของเนื้อหาเพื่อการเรียนรู้และสร้างพลังทางปัญญาแก่สังคมแล้ว ผู้ที่ไม่ชอบและผู้อ่านทั่วไปที่ไม่รู้จัก ก็อาจจะยิ่งลดการให้คุณค่าต่อผู้บันทึกและนำเสนอซึ่งได้ใช้ความพยายามและความตั้งใจทุ่มเทไปมากมาย อีกด้วย ผมจะหาโอกาสเขียนหัวข้อนี้ให้เป็นแนวคิดและวิธีเขียนด้วยตัวเราเองไว้ให้อีกต่างหากนะครับ

    แต่อย่างไรก็แล้วแต่ เรื่องราวอย่างนี้สำหรับหนองบัวและสังคมชนบททั้งในประเทศไทยและในอีกหลายสังคมนั้น ต้องให้โอกาสในการเป็นกระบวนการเรียนรู้ในอันที่จะได้ช่วยกันลุกขึ้นมาสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้แก่สังคมด้วยกันเพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้นจนเป็นวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ที่แพร่หลาย ดังนั้น จึงขอเชิญชวนมาร่วมแรงแข็งขันกันไปตามความถนัดดังที่ท่านพระมหาแลท่านได้ลองนำร่องไปแล้วนะครับ เป็นรูปธรรมของการทำให้ชุมชนและสังคมหนองบัวที่อีกหลายๆด้านเป็นเหมือนสุญญากาศในโลกแห่งความรู้ ได้ปรากฏขึ้นมาอย่างงดงามมากยิ่งขึ้นอยู่เรื่อยๆนะครับ

    สวัสดีครับคุณหลานอัญชันครับ

    คุณหลานอัญชัน คุณธนกฤต กับเพื่อนร่วมรุ่นหนองคอกและหนองบัวเทพ น่าจะมีส่วนมากในการทำให้คนอ่านเวทีคนหนองบัวจากสวีเดนเข้ามาในเวทีคนหนองบัวตั้ง ๒๑ คนแล้ว หากถือเอาอังกฤษเป็นแกนโลก ก็ต้องถือว่าตอนนี้แซงขึ้นมาจนกลายเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มาจากกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออกแล้วละครับ

    มองในแง่การจัดการความรู้ที่ช่วยพัฒนาบทบาทความเป็นสื่อและช่องทางในการติดต่อกันอย่างผสมผสานทั้งในความเป็นท้องถิ่นกับข้ามประเทศแบบข้ามพรมแดนที่มีพัฒนาการที่ดีอย่างนี้ ก็นับว่ากำลังเกิดบทเรียนที่น่าสนใจมากเลยนะครับ สักพักหนึ่งก็ร่วมกันถ่ายทอดเป็นบทเรียนและพัฒนาให้เป็นสื่อดีๆในบริบทใหม่ๆของโลก ก็คงจะเป็นประโชน์ร่วมกันมากเลยนะครับ เวทีคนหนองบัวทำให้ความรักและความภาคภูมิใจต่อบ้านเกิดเมืองนอนมีความหมายที่กว้างขวางมากขึ้น

    รวมทั้งเข้าใจว่า นอกจากได้ร่วมเป็นสิ่งที่ทำให้ได้เกิดความรัก ความภูมิใจ และมีความเชื่อมั่นในความเป็นตัวของตัวเองของเรามากยิ่งๆขึ้นแล้ว ก็เชื่อว่าทำให้ได้ใช้ชีวิตที่ห่างไกลบ้าน-ไกลญาติพี่น้อง ได้ดำเนินไปอย่างมีความสุขและก่อเกิดคุณภาพชีวิตทุกด้านดียิ่งๆขึ้น ได้สร้างความใกล้ชิดกับรากเหง้าและมีกำลังใจทำสิ่งดีๆมากยิ่งขึ้นไปอีกในทุกแห่งที่ดำเนินชีวิตและทำการ-ทำงานนะครับ

    เพิ่งสังเกตบล็อกเวทีคนหนองบัวของเว็บไซต์GotoKnowมีปุ่มถูกใจด้วย เลยลองกดคลิ๊กที่ปุ่มถูกใจไปหลายครั้ง ปรากฏว่ายังใช้ไม่ได้

    ที่ใช้ได้คือปุ่มถูกใจในFacebook จึงขออนุญาตใช้บริการเป็นท่านแรก คงไม่ว่ากัน

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล
    รวมทั้งสวัสดีทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    ประมาณเย็นวันจันทร์หรือวันอังคาร ผมจะไปหาท่านสมหมาย ฉัตรทอง อดีตนายอำเภอหนองบัวเพื่อนำหนังสือไปคืนท่านและจะขอถือโอกาสนั่งคุย รวมทั้งขอคำแนะนำดีๆเพื่อการเรียนรู้และทำการงานของคนมีประสบการณ์ชีวิตมากมายอย่างท่านไปด้วย

    หนังสือที่ท่านทุ่มเทเขียนและหมายมั่นว่าจะทำไว้ให้แก่คนหนองบัว รวมทั้งฝากไว้เป็นมรดกแผ่นดินของคนตัวเล็กๆจากเรื่องราวของชุมชนเล็กๆนั้น ท่านได้ใช้เวลาและความทุ่มเทมาก อีกทั้งมีหลายคนทั้งที่เป็นอดีตลูกน้องและผู้เคารพนับถือกันได้ร่วมเขียนกับท่านด้วย หากทำออกมาและเผยแพร่แล้วก็เชื่อว่าจะเป็นหนังสือที่มีคุณค่ามาก แต่ท่านมีความพิถีพิถัน ต้องการดูเพื่อปรับปรุงแก้ไขหลายรอบ จึงเห็นว่ายังไม่พร้อมที่จะจัดพิมพ์และเผยแพร่

    ตอนนี้ นอกจากท่านแล้วก็คงมีผมและผู้ที่ท่านไหว้วานให้ช่วยดูและตรวจทานต้นฉบับให้อีก ๑ คนเท่านั้นที่ได้อ่านต้นฉบับทั้งทั้งหมด เมื่อท่านได้รับข้อสังเกตแลข้อเสนอแนะใดๆ ก็อยากจะปรับปรุงให้ดีที่สุด นับว่าท่านมีมาตรฐานของตนเองและให้วิจารณญาณอย่างรอบด้าน มีวัฒนธรรมของคนทำงานความรู้และเป็นนักรัฐศาสตร์ที่มีความเป็นนักวิชาการท้องถิ่นไปด้วยซึ่งหาได้ไม่ง่าย น่าประทับใจมากครับ

    ผมก็เรียกท่านอดีตนายอำเภอตามหลายท่านในเวทีคนหนองบัวที่กล่าวถึงท่านสมหมาย ฉัตรทอง เลยอาจจะต้องขอเรียกเสียใหม่ให้เหมาะสม เพราะอันที่จริงแล้ว ท่านเป็นอดีตนายอำเภอหนองบัวเพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น ทว่า หลังจากนั้น เส้นทางชีวิตของท่านก็เติบโตไปเป็นนายอำเภออีกหลายแห่งของประเทศ

    จากนั้น ก็ไปดำรงตำแหน่งเป็นปลัดจังหวัดศรีษะเกษ ปลัดจังหวัดลพบุรี ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง รองผู้ว่าราชการอีกสองจังหวัดก่อนเกษียณอายุราชการคืออุบลราชธานีและกำแพงเพชร

    การที่ท่านผูกพันกับหนองบัวนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมากทีเดียว แต่ตำแหน่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นตำแหน่งและยศติดตัว อีกทั้งท่านก็กล่าวแนะนำผมในลักษณะอย่างนี้เองด้วยพร้อมกับอนุญาตไว้ว่าให้เรียกชื่อเลย เรียกลุง หรือเรียกการนับความอาวุโสกันอย่างอื่นที่เห็นว่าเหมาะสมไปเลยก็ได้

    เมื่อวานนี้(วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๔)มีชาวออสเตรียจากกลุ่มประเทศยุโรปกลาง(Central Europe)ได้แก่ประเทศออสเตรียคือกัลยาณมิตรล่าสุดที่มาเยี่ยมเวทีคนหนองบัว ขอต้อนรับแขกผู้มาเยือนจากแดนไกลด้วยความยินดี

           นี่คือธงชาติประเทศออสเตรีย เข้าไปเยี่ยมชมได้โดยคลิ๊กที่ธงชาติ

    ที่มาวิกิพีเดียสารานุกรมเสรีhttp://th.wikipedia.org/wiki/ประเทศออสเตรีย

    มาไกลและมักไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยของคนทั่วไปเลยนะครับ ออสเตรียเป็นเมืองของปัญญาชนและคนทำงานสร้างสรรค์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทางด้านดนตรี คีตกวีชาวออสเตรียที่คนไทยคุ้นเคยและเป็นที่รู้จักแพร่หลายของโลกเป็นร้อยปีมาแล้วก็คือ โมสาร์ต

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล

    เมื่อหลายวันก่อน ดิฉันได้ติดต่อกับหลวงพี่เฉลียวโดยการคุยผ่าน MSN และได้รับข้อมูลเพิ่มเติม ของเวปไซด์วัดปัจจุบันที่ท่านจำพรรษาอยุ่ค่ะ

    http://www.mongkoltemple.com/

    หลวงพี่บอกว่าเคยเจอพระคุณเจ้าที่วัดนครสวรรค์นานมากแล้ว แต่ก็ยังจำกันได้ค่ะ

    เวปไซด์ก่อนหน้าที่ให้พระคุณเจ้าไป เป็นเวปที่หลวงพี่จำพรรษาแรกๆ ตอนไปอยู่อเมริกาค่ะ

    ตอนนี้ หลวงพี่ได้ย้ายมาอยู่ ที่ วัดมงคลรัตนาราม ฟอร์ท วัลตัน บีช ได้ ๔ ปีแล้ว ซึ่งเป็นสามขา ของวัดมงคลรัตนาราม แทมป้าค่ะ

    อีเมลล์ของหลวงพี่ [email protected]

    มาเรื่องที่พระคุณเจ้าถามเรื่อง สกาย Skype ค่ะ โปรแกรมนี้ ก็เป็นฟรีโปรแกรม เหมือนกับ Hotmail หรือ Yahoo ไว้ใช้ในการสื่อสารกัน ซึ่งจำเป็นมากสำหรับคนไกลบ้าน ไกลเมืองไทยอย่างดิฉัน ต้อง ดาวน์โลดเอาไว้ใช้ค่ะ

    โปรแกรมสกายที่ดิฉันได้ใช้คุยกับหลวงพี่คือการโทรหากันผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งคอมพิวเตอร์จะต้องมีกล้องและไมโครโฟน พูด ง่ายๆเหมือนเราโทรคุยกัน แต่ สามารถเห็นหน้ากันได้ด้วยค่ะ สะดวกและไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ

    www.skype.com

    พระคุณเจ้ามีอะไรให้ดิฉันช่วงเหลือ หรือต้องการข้อมูลอะไร เพิ่มเติม บอกได้เลยค่ะ ยินดีอย่างยิ่งค่ะ

    อัญชัน

    เจริญพรคุณอัญชัน

    ได้เข้าไปดูเว็บไซต์วัดมงคลรัตนาราม ฟอร์ท วัลตัน บีช(รัฐฟรอริดา อเมริกา) ตามที่คุณอัญชันแนะนำแล้ว เห็นแล้วต้องอุทานออกมาดังๆ เลยจริงๆ เชียว กิจกรรมเยอะจริงๆ วันหน้าคงได้เข้าที่เว็บวันนี้ไปอีก คราวที่แล้วก็ได้ตามไปดูเว็บวัดแทมป้า ได้เห็นกิจกรรมของวัดมากมาย ยังนึกเลยว่าภาพกิจกรรมวัดไทยในอเมริกาที่เห็นนั้น ถ้าไม่บอกว่ามาจากประเทศอเมริกา ก็ให้นึกคิดไปได้ว่าบรรยากาศแบบนั้นมันคงต้องบ้านเรานี่เอง งานทุกงานในวัดไทยที่เห็นคล้ายจำลองเมืองไทย หรือยกเมืองไทยไปแสดงแน่ๆเลย วันนั้นอาตมาพยายามคลิ๊กดูทั้งหมด ก็ไม่พบท่านมหาเฉลียว กิตฺติปาโลเลยสักภาพ แม้ท่านจะเปลี่ยนชื่อแล้วก็ตาม ยังนึกสงสัยอยู่ว่าทำไมท่านมหาเฉลียว จึงเป็นคนหลังไมค์ คนหลังกล้อง คนอยู่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จได้แนบเนียนขนาดนั้น(คล้ายแมวมอง:ผู้สร้างฝันปั้นดินให้เป็นดาวทำนองนั้น)

    ยิ่งวันนี้ได้เห็นภาพกิจกรรมในวัดที่ท่านมหาเฉลียวจำพรรษา และท่านเป็นประธานสงฆ์อยู่ด้วย ก็ยิ่งเห็นความน่าทึ่งมากจริงๆยิ่งขึ้นไปอีก นี่ไม่ใช่ยอหรือชมคนบ้านเดียวกันอย่างเกินความเป็นจริงแต่ประการใด เมื่อสักครู่อาตมาดูกิจกรรมไม่กี่ภาพก็รีบมาเขียนเลย เพราะได้เจอท่านมหาเฉลียวตัวจริง ตัวเป็นๆแล้วนั่นเอง คราวที่แล้วไม่เห็นท่านก็เลยไม่รู้จะรายงานสื่อสารให้คุณอัญชันทราบได้อย่างไร

    ขอกระซิบเบาๆกับคุณอัญชันว่าหลวงพี่เรานั้นไปอยู่อเมริกานานหลายปีแล้ว และก็ไม่ได้เจอกันตั้งแต่ท่านไป เมื่อเจอท่านในเว็บไซต์เมื่อสักครู่นี้ ต้องบอกตามตรงเลยว่ายิ้มคนเดียวเลยแหละ เพราะท่านเปลี่ยนไปเยอะมากๆ โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงด้านสรีระ(body) อันนี้เปลี่ยนแปลงและเห็นได้ชัดเจน ชัดมากถึงขนาดเห็นแล้วยังนึกว่าเอ๊ะนี่ใช่ท่านมหาเฉลียวไหมหนอ ท่านสมบูรณ์จริงๆ(ไม่ใช่อ้วนนะ ขอบอก!!!) เรื่องสกายยังเล่นไม่เป็น

    ขอขอบคุณคุณอัญชันคนไกลบ้าน(สวีเดน)อย่างมากเลย ที่มีน้ำใจเสียสละเป็นธุระดำเนินการให้อย่างแข็งขันตั้งแต่ต้นเรื่อยมา อนุโมทนา

    ได้นำเว็บไซต์วัดมงคลรัตนาราม ฟอร์ท วัลตัน บีช มาลิงก์ไว้ด้วย เชิญทุกท่านเข้าไปชมได้ตามสะดวก http://www.mongkoltemple.com/

    สวัสดีครับพี่วิรัตน์

    เรื่องที่พี่นัดพบท่านสมหมายนั้น ถ้าเป็นเย็นวันอังคารผมขอติดสอยห้อยตามพี่ไปด้วยครับ มีเรื่องราวบางอย่างอยากจะคุยกับท่านด้วย

    แต่ถ้าเป็นวันจันทร์ก็ไม่สามารถครับ ติดธุระ

    แล้วเดี๋ยวจะโทรหาพี่นะครับ

    ว่างๆจะเข้ามาพูดคุยกับพวกเราในนี้ด้วยครับ

    สวัสดีครับฉิกครับ

    นึกอยากจะชวนอยู่เหมือนกัน โอกาสอย่างนี้มันต้องนั่งคุยกันสักสองสามคน แต่ดูเห็นว่าฉิกคงจะมีภาระรับส่งลูกและแม่บ้าน อีกทั้งเชื่อว่าเราคงมีโอกาสแวะไปหาท่านอีกรอบ ตอนนี้ท่านคงเกิดความคิดดีๆเลยอยากทำงานต่อเนื่อง พี่ก็เลยกะว่าไปหาท่านก่อนดีกว่า แต่ถ้าหากได้ไปด้วยกันก็ดีเหมือนกันครับ การเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ในฐานะที่เราเป็นคนของชุมชนที่ท่านเคยผูกพันด้วยคนหนึ่งที่จดจำความดีงามของกันและกันนั้นเป็นเรื่องดีทั้งนั้นแหละครับ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ชีวิตมีความเคลื่อนไหวและมีชีวิตชีวา เป็นยาชื่นชูกำลังความสดในในชีวิตให้กัน อีกทั้งได้แสดงกตเวทิตาต่อคนรุ่นอาวุโสกว่าในทางอ้อม เลยก็เป็นเรื่องดีแก่ตัวเราเองด้วย

    พี่มองว่าการที่เราได้มีโอกาสได้ไปคารวะท่านสมหมาย ฉัตรทองและปวารนาตัวเป็นสื่อ รวมทั้งเป็นคนที่ขอร่วมสานต่อความสร้างสรรค์เรื่องดีๆที่จะมีประโยชน์ทั้งต่อชุมชนหนองบัวและต่อสังคมภายนอกนั้น เป็นก้าวเล็กๆให้เราได้มีประสบการณ์ที่ดีด้วย เพราะเชื่อว่ามีคนหนองบัว กลุ่มคน และหน่วยงาน ที่มีเรื่องราวดีๆมากมายเกี่ยวกับหนองบัวที่ยังไม่มีใครไปทำให้ปรากฏและรวบรวมไว้ให้เป็นระบบที่ดีมากกว่าที่เป็นอยู่ พี่จึงว่าฉิก พี่ ท่านพระอาจารย์มหาแล คุณเสวก คุณหลานอัญชัน คุณธนกฤต คุณบุญเลิศ เบิ้ม : รัชทนง โดยเฉพาะลูกหลานคนหนองบัวและคนที่เรียนโรงเรียนหนองบัวเทพฯ หนองคอก ตลอดจนสถานศึกษาต่างๆในตำบลและหมู่บ้านต่างๆของหนองบัว รวมไปจนถึงคนที่บวชเรียนจากวัดหลวงพ่อเดิม ซึ่งพอจะมีความคุ้นเคยกับงานข้อมูล บันทึกขีดเขียน เข้าถึงความเป็นจริงในประสบการณ์ชาวบ้านและนำมาสื่อสารถ่ายทอดเป็น เหล่านี้ จะเป็นชุมชนผู้สามารถสร้างสรรค์ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่ดีๆให้กับหนองบัวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผ่านการทำงานความรู้ การพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้อย่างกว้างขวาง การช่วยเป็นเครือข่ายขยายกำลังความริเริ่มสร้างสรรค์ดีๆเล็กๆ เพื่อหนุนส่งให้เป็นพลังความดีที่สามารถสานความคิดและพลังการปฏิบัติของผู้คน ให้ทำสิ่งต่างๆที่ดีทั้งแก่ตนเอง คนรอบข้าง แผ่ขยายออกไปจนถึงชุมชนและสังคมส่วนรวม ตามกำลังของตน การเริ่มไปค้นหาคนและนั่งคุยรวบรวมข้อมูล อย่างที่เรากำลังไปหาท่านสมหมาย ฉัตรทองนี้ จึงเป็นโอกาสในการริเริ่มก้าวแรกของการทำด้วยกันอย่างผสมผสาน

    มีอีกเรื่องที่ก็น่าทำมากนะครับฉิก พี่จำไม่ได้ว่าท่านใดในเวทีคนหนองบัวนี้เป็นคนเปิดประเด็นไว้ ดูเหมือนว่าท่านหนึ่งก็คือคุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ ครูโรงเรียนวัดเทพสุทธาวาส ซึ่งท่านมุ่งศึกษาเรื่องราวของโรงหนังหนองบัวและสะสมเครื่องฉายหนัง เป็นเรื่องเป็นราว จนตอนนี้ท่านปลีกตัวออกไปเป็นเครือข่ายความสนใจเฉพาะทางของคนศึกษาและอนุรักษ์โรงหนังระดับประเทศไปแล้ว ท่านไปซื้อเครื่องฉายหนังเก่าๆของหมอหลุยส์และของโรงหนังหนองบัวรามาในอดีต รวมทั้งศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องไว้อย่างเป็นระบบมากขึ้นเรื่อยๆ เลยมีคนเกิดความคิดซึ่งรวมทั้งพี่ด้วย ที่จะทำอย่างนี้กับร้านค้าและสถานที่เก่าๆอีกหลายแห่งที่กระจายอยู่ทั่วตลาดหนองบัวและตัวเมืองหนองบัว

    ยิ่งพอมีคนเห็นพี่วาดรูปเมืองหนองบัวและถ่ายรูปสะสมแง่มุมต่างๆไว้ หลายคนก็ดูจะเกิดความคิดและเห็นภาพแจ่มชัดมากขึ้นเรื่อยๆว่า หากคนหนองบัวมีกำลังทำจิตวิญญาณของเมืองหนองบัวให้ถักทอออกมาเป็นเรื่องราว นำไปติดตั้ง จัดวาง และจัดองค์ประกอบของร้านค้าและสิ่งต่างๆที่มีความเป็นหนองบัวมายาวนาน เหล่านี้ ก็จะค่อยๆทำให้ทั้งตลาดและตัวเมืองหนองบัว กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่มีชีวิตและยังมีกิจกรรมเศรษฐกิจสังคม

    ที่สำคัญก็คือ จะเป็นเครือข่ายจัดการระบบสังคม เศรษฐกิจท้องถิ่น และมิติอื่นๆของหนองบัว ให้ถูกกระตุ้นและเคลื่อนไหวไปในทางที่ส่งเสริมเกื้อหนุนกันและกัน ชุมชนก็จะมีโอกาสพัฒนาตัวเองและคุณภาพแห่งชีวิตต่างๆก็จะมีทางไปที่ดียิ่งๆขึ้น แนวคิดที่จะทำอย่างนี้ได้นั้น ก็จะต้องมีคนที่รู้ดีและพอทำได้ ที่เป็นลูกหลานของคนที่อยู่ในตลาดนั่นเอง ซึ่งฉิกนั้นมีอยู่ในตัวเองอย่างเต็มที่ พี่เองนั้นนอกจากจะร่วมเป็นแรงหนุนเต็มที่แน่นอนแล้ว ก็จะทำที่ชุมชนบ้านตาลินบ้านเกิดพี่ซึ่งก็ยังขาดโอกาสต่างๆมากกว่านอกบัวอีกเยอะทั้งนำร่องให้ด้วยและสมทบเป็นมิติหนึ่งของหนองบัว

    แต่ระยะแรกๆนี้ ปีสองปีนี้ พี่เห็นว่าเราควรเน้นทำงานความรู้ สร้างคน สร้างทักษะการทำงานเป็นเครือข่ายผสมผสานอย่างกว้างขวางในแนวทางใหม่ๆที่เชื่อมโยงคนหนองบัวที่ความริเริ่มดีๆได้อย่างกว้างขวาง สร้างการเรียนรู้ของสังคมหนองบัวเสียใหม่ พัฒนาสื่อ สิ่งตีพิมพ์ที่ค้นพบความเป็นหนองบัวและทำเรื่องราวของหนองบัวที่ไม่เคยมีมาก่อนให้เป็นระบบดีขึ้น เวทีกิจกรรมต่างๆก็พยายามทำไปตามกำลังและทำให้มีความหมายดีๆ สะสมเรื่องราวดีไปทีละเล็กละน้อย อย่างนี้ก็คงจะดีนะครับ.

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล

    ดีด้วยนะนะคะ พระคุณเจ้าทีได้เจอเพื่อนเก่าคือ หลวงพี่เฉลียว คิดว่าตอนนี้คงติดต่อกันได้แล้วนะคะ

    ตั้งแต่หลวงพี่บวชเป็นพระและได้ข่าวว่าย้ายไปอยู่อเมริกาก็ไม่เจอท่านเลย จนกระทั่งงานศพของหลวงพ่อปานที่วัดเทพสุทธาวาส ได้เจอกันหลวงพี่และก็ติดต่อกันเรื่อยมา ก่อนดิฉันย้ายไปสวีเดน เวลาหลวงพี่ กลับไทยก็ได้เจอกันตลอด

    แต่หลังจากดิฉันย้ายไปสวีเดนก็ไม่เจอหลวงพี่อีกเลย แต่มีแผนจะเดินทางพาลูกๆ ไปเจอหลวงพี่ที่วัดที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่อเมริกาค่ะ แต่นั่นคงอีกหลายปี เพราะ จะให้เอ็ดวิน ลูกชายบวชภาคฤดูร้อนที่วัดของท่านเลยค่ะ

    อัญชัน

    สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์ พี่ฉิก และ เพื่อนๆ ชาวเวทีหนองบัวทุกท่านค่ะ

    แวะเข้ามาเยี่ยมค่ะ และมาสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวในเวทีคนหนองบัวค่ะ

    เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ ที่จะรวบรวม ข้อมูล เรื่องราวๆ ต่างๆ ของเราชาวหนองบัวให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น

    ดิฉันจะกลับเมืองไทยประมาณ กลางเดือน สิงหาคม ปีนี้ค่ะ เป็นเวลา ๑ เดือน หากมีอะไรให้ดิฉันได้ช่วยเหลือ คงมีโอกาสได้เจอกันและพูดคุยกันในช่วงที่จะกลับเมืองไทยค่ะ

    ยินดีอย่างยิ่งในการมีส่วนร่วมค่ะ

    อัญชัน

    เจริญพรคุณอัญชัน

    แหมคุณอัญชันนี่ เป็นคนไกลบ้านไกลจากหนองบัวซึ่งอยู่กันคนละทวีปจากสวีเดนโน่น แต่มาเร็วจังเลย อย่างนี้เข้าทำนองที่เขาเรียกว่าแม้ตัวอยู่ไกล แต่ใจอยู่ใกล้อย่างนั้นเลยเชียวใช่ไหม บุคลิกลักษณะอย่างนี้สัมผัสได้ถึงความรักความผูกพันที่มีต่อถิ่นฐานบ้านเกิดอย่างมากมายของคุณอัญชัน เรียกว่าเลือดหนองบัวเข้มข้นจริงๆ

    เมื่อตอนบ่ายได้ส่งเมลล์ไปหาท่านมหาเฉลียวแล้ว อาตมาได้ดูกิจกรรมวัดไทยในอเมริกาหลายแห่งแล้ว ทำให้นึกถึงสภาพบรรยากาศสังคมไทยในอดีตจังเลย คือเห็นบทบาทของวัดไทยในต่างแดนเป็นศูนย์รวมจิตใจ ศูนย์กลางชุมชน ซึ่งสิ่งนี้เคยมีอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เห็นจากกิจกรรมแล้วทั้งพระและญาติโยมมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นดูอบอุ่นและใกล้ชิดกันดี และคิดว่าที่ประเทศสวีเดนบทบาทวัดไทยก็คงจะคล้ายๆที่อเมริกาใช่ไหม

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล,ท่าน อ.วิรัตน์ ,พี่ฉิก,อัญชัน และพี่น้องชาวเวทีหนองบัวทุกท่าน

    ช่วงนี้เดินทางบ่อย ภาคตะวันออกบ้าง กรุงเทพบ้าง เหนือล่างบ้าง แต่ก็จะพยายามหาเวลาเข้ามาพูดคุยครับ

    เห็นพระอาจารย์มหาแลนำภาพเก่าๆมาให้ดู เห็นแล้วก็รู้สึกนึกถึงหนองบัวมากขึ้นครับ สำหรับการใช้ Program ต่างๆ เช่น Skype หรือ MSN ที่สามารถพูดคุยกันได้เลยตามที่อัญชัน แนะนำนั้น หากจะให้ทางผมช่วยเหลืออย่างไรก็ยินดีนะครับ หากมีเวลาก็อยากจะแวะเวียนไปหาหลวงพี่อยู่เหมือนกันครับ

    พูดถึงนายอำเภอสมหมาย ฉัตรทอง ตอนผมเรียนอยู่เข้า ป.5- ป.6 ที่โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ได้มีโอกาสได้เรียนหนังสือห้องเดียวกับลูกสาวท่านนายอำเภอสมหมาย ฉัตรทอง ด้วยครับ ถ้าจำไม่ผิดจะชื่อ ร่มฉัตร ฉัตรทอง และหลังจากจบ ป.6 ก็ไม่ได้

    เจอกันอีกเลย หากท่านอ.วิรัตน์และพี่ฉิกเจอท่านนายอำเภอสมหมาย ฝากถามข่าวคราวลูกสาวท่านให้ด้วยนะครับ ไม่ได้เจอกันก็ประมาณซัก 28 ปี เห็นจะได้ครับ

    สวัสดีคุณอัญชันครับ

    หากใช้วิธีคิดอย่างที่เขามักพูดกันว่าชีวิตเป็นการเรียนรู้ หรือใช้วิธีคิดแบบเนชั่นแนลจีโอกราฟิคที่ท้าทายการเรียนรู้ภูมิศาสตร์โลกและภูมิศาสตร์สังคมวัฒนธรรมโลกเพื่อให้ผู้คนเคารพและสามารถสร้างความเป็นญาติ-ความเป็นพี่น้องกัน โดยมีตัวของเราเองผ่านการใช้ประสบการณ์ชีวิตทางการเรียนรู้เป็นเครื่องมือ และการออกไปเผชิญโลกกว้าง การเดินทาง การงาน การดำเนินชีวิต ผู้คน และสภาพแวดล้อม เป็นวิธีการแล้วละก็ คุณอัญชันกำลังนำเอาสิ่งเหล่านี้มาเติมเต็มให้กับเวทีคนหนองบัวเลยละครับ

    และแน่นอน คนทั่วไปย่อมได้ประโยชน์ มีโอกาสพัฒนาการเรียนรู้ พัฒนารสนิยมชีวิต สร้างโลกทัศน์และชีวทัศน์สำหรับดำเนินชีวิตให้มีความสุขที่ดีขึ้นเสมอๆไปด้วยครับ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นแหล่งได้นั่งทำความคิดให้ลึกซึ้ง ตั้งหลักและบ่มพลังการพึ่งตนเองให้แข็งแกร่งเพื่อได้สร้างโอกาสที่ดีให้กับตนเอง ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และคนรอบข้าง

    หากแง่มุมนี้มีความสำคัญและมีบทบาทต่อการใช้ชีวิตไกลบ้าน รวมทั้งสามารถแปรประสบการณ์ชีวิตของเราและโอกาสที่จะได้พบเห็นสิ่งต่างๆให้เป็นการเรียนรู้โลกกว้างดีๆแล้วละก็ คุณอัญชันและคนหนองบัว-คนไทยไกลบ้านทั้งในสวีเดนและอื่นๆ สามารถนำเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าถ่ายทอดไว้ในเวทีคนหนองบัว รวมทั้งเมื่อกลับบ้าน ก็สามารถรวบรวมประสบการณ์ ถ่ายรูป และสะสมวัตถุดิบดีๆ เพื่อนำกับไปเล่าให้ลูกหลานและญาติพี่น้องในโอกาสที่ได้พบปะสมาคมกันอย่างดีเลยละครับ เรื่องเหล่านี้อาจจะยุ่งยากและทำให้ชีวิตเรามากเรื่องไปเปล่าๆ แต่ถ้าหากถือเป็นหน้าที่ของชีวิตที่จะต้องทำให้คนอื่นๆที่ไม่ได้มีโอกาสอย่างเรา ก็ต้องหาโอกาสทำและทำอย่างไม่ต้องหวังผลเลยว่าทำแล้วได้อะไรบ้าง

    หากให้ผมสะท้อนความสนใจ ผมก็ว่าเรื่องเหล่านี้ หากมีโอกาสพานพบก็น่าเอามาถ่ายทอดและแบ่งปันกันน่ะครับ เช่น แหล่งการทำกิจกรรมและใช้ชีวิตนอกบ้านด้วยกันของคนที่อยู่อาศัยในท้องถิ่นเดียวกันที่ไม่ต้องใช้เงินมากนักแต่มีรสนิยมและความสร้างสรรค์ที่ดี น่าสนใจดี เป็นอย่างไรบ้าง ผมเคยไปที่สวนสาธารณะเอโนะ ของโตเกียว ผู้คนเขาพาเพื่อนฝูง ครอบครัว ทำกล่องข้าวไปนั่งกินและนั่งคุยกันในสวนสาธารณะ และกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มสุขภาพที่ผมได้ไปร่วมด้วย เขาพาผมกับชาวบ้าน ห่อข้าว เดินด้วยเท้า แล้วไปนั่งคุยกันพร้อมกับกินข้าวมื้อเที่ยงด้วยกันบนยอดเขา ที่กรุงเทพฯผมก็เคยสัมผัสครับ มีกลุ่มคนทำงานและชาวบ้านสารพัดรูปแบบชีวิตแต่ชอบแนวเดียวกัน ชอบเกาะกลุ่มไปนั่งคุยและทำกิจกรรม Recreation ด้วยกันในสวนสาธารณะในวันหยุด นักดนตรีและนักร้องแนวอินดี้ก็ไปเล่น ผมเองก็เคยเอารูปเขียนและงานศิลปะไปแสดงใต้ร่มไม้ร่วมกบกิจกรรมในลักษณะนี้ รูปแบบอย่างนี้เป็นวิถีชีวิตที่หวนคืนสู่ความเรียบง่ายและเป็นการเดินเข้าหาผู้คน สร้างความเป็นญาติและผู้คุ้นเคยกันของคนที่ต่างที่มาของคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ ที่บ้านเมืองอื่นเขาพัฒนาการตนเองไปอย่างไร น่าสนใจดีเหมือนกันนะครับ

    แหล่งการเรียนรู้ที่ทำให้สามารถเข้าถึงชีวิตและจิตวิญญาณด้านในของผู้คนก็น่าสนใจครับ เช่น หอศิลปะในชุมชน พิพิธภัณฑ์ เวทีปาฐกถาสาธารณะ ร้านขายหนังสือ สื่อสำหรับเด็กๆ งานความคิด วรรณกรรม แหล่งเปิดเพื่อคิดและแสดงความสร้างสรรค์ให้กับประชาชนพลเมืองที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายๆ รูปแบบการจัดกิจกรรมสมาคมที่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะในหมู่คนไทยและชาวต่างประเทศที่อยู่รวมกัน

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ ผมก็ได้เข้าไปดูด้วยครับ ดูมีสีสัน คึกคัก และน่าอบอุ่นดีมากเลยนะครับ

    สวัสดีครับคุณธนกฤตครับ

    วิธีของคุณธนกฤต คุณอัญชัน และเพื่อนๆในรุ่นเดียวกันนี่ท่าทางจะเวิร์คมากเลยนะครับ เวทีคนหนองบัวไม่เพียงคึกคักขึ้นมาโดยพลันเท่านั้น แต่เครือข่ายกว้างไกลของคุณอัญชันหรือย่างไรก็ไม่ทราบนะครับ เพิ่มพรวดพราดขึ้นมามากมาย ตอนนี้คนอ่านที่สวีเดนเพิ่มเป็น ๒๓ คนไปแล้ว

    หากให้ลองหาบทเรียนดูก็เห็นแง่มุมเล็กๆน้อยๆที่สะท้อนอยู่ในแต่ละกลุ่มคนในเวทีคนหนองบัวได้เหมือนกันนะครับ เช่น กลุ่มที่เป็นรุ่นของคุณธนกฤตและเพื่อนๆนี่ อาจจะเป็นเพราะมีมือ IT วิศวกร และคนที่คุ้นเคยกับการติดต่อสื่อสารกันทางสื่ออย่างนี้ 

    คุณฉิกและรุ่นเดียวกันนี่ ก็มีเหมือนกัน แต่ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง โดยมีคนเป็นหลักคือคุณฉิกแต่ใช้ตนเองเป็นสื่อบอกกล่าวทั้งในรุ่นเดียวกันกับระหว่างรุ่น ในเวทีคนหนองบัวนั้นก็ดูเหมือนจะเห็นแต่คุณฉิก แต่ข้างนอกนี่คุณฉิกเขาเป็นคนสานสัมพันธ์ให้กับคนหลายกลุ่มและหลายรุ่น เป็นแนวคล้ายกับท่านพระมหาแลอย่างนั้นเลยละครับ

    รุ่นเก่าๆนี่โดยมากแล้วก็อ่านและพูดคุยบอกกล่าวกันเมื่อได้พบปะเห็นหน้า แต่ให้เขียนนี่นานๆก็จะมีโอกาสสักที อย่างเบิ้มรุ่นผม เป็นต้น ก็พอจะเริ่มมีความหลากหลายดีเรื่อยๆนะครับ

    การสื่อสารด้วย Skype รวมทั้ง facebook ดูน่าสนใจและช่วยให้ทำสิ่งต่างๆได้ดีขึ้นมากเลยนะครับ แต่ก็อย่าลืมใช้วิธีบันทึกนี้คู่ไปด้วยนะครับ ออกจะลำบากและใช้เวลามากไปหน่อย ทว่า คนส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีโอกาสอีกมากจะได้ประโยชน์ในอนาคตครับ โดยเฉพาะลูกหลานคนหนองบัว แม้จะค่อยๆทำอย่างนี้จะดูว่าช้า แต่หากไม่ทำอย่างนี้ในตอนนี้ ในอนาคตก็จะช้าเกินไปอีกหลายเรื่องครับ ตอนนี้ผมว่าหนองบัวโดยเวทีคนหนองบัวของเรา มีหลายอย่างเกิดขึ้นที่ดีกว่าอีกหลายแห่งของประเทศเลย

    เรียนท่านอาจารย์วิรัตน์ ครับ

    เห็นด้วยกับแนวคิดของท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่งครับ ประเด็นการบันทึกบอกเล่าเรื่องราวเก็บไว้เป็นลายลักษณ์อักษรน่าจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับคนรุ่นหลังต่อไปในอนาคต ซึ่งหากเราค่อยๆ กันบันทึกเรื่องราวถึงจะช้าหน่อย แต่ในระยะยาวจะมีคุณค่ากับสังคมและคนรุ่นหลังเป็นอย่างมากครับ จากการที่เป็นคนที่อยู่ในวงการ IT ซึ่งเป็นผู้สร้างและขยายงานโครงข่ายการให้บริการ Internet แต่ในมุมมองส่วนตัวเห็นว่าเราไม่ควรลืมใช้วิธีรูปแบบบันทึก หากเวลาผ่านไปโดยที่ไม่เริ่มเก็บการบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ตอนนี้ ก็จะเสียโอกาสต่อไปในอนาคต ครับ

    สวัสดีครับ ดร.วัรัตน์

          ผมพยายามจะส่งรูปต่างๆมาให้ดูแต่ลงรูปยากมากๆๆๆๆๆๆผมจะลองดูน๊ะครับ

    น้ำท่วมหนองบัวใครจะเชื่อ วันที่ 15 ตุลาคม 2553 วันที่เกิดน้ำท่วม

    น้ำท่วมคลองสมอ

    น้ำท่วมโรงเรียนเทคนิคพานิช ทางไปเขาทราย

    น้ำท่วมสี่แยกประเทศไทย

    น้ำท่วมหน้าโรงเรียนหนองคอก

    น้ำท่วมหน้าโรงพยาบาลหนองบัว

    น้ำท่วมทางเข้าบ้านเก่าผมที่สี่แยกตลาดหนองบัว

    น้ำท่วมทางเข้าศูนย์ท่ารถ น้ำท่วมประมาณ 2-3วันก็ลดลงสู่ปรกติ ครับ

                                   รายงานโดย เบิ้มหนองบัวครับ ถ้ามีรูปดีๆจะส่งมาให้ดูใหม่ครับผม

    สวัสดีครับคุณธนกฤตและทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    เข้ามาอีกทีคราวนี้เวทีคนหนองบัวมีคนเข้ามาดูและอ่านเป็นสองหมื่นและก้าวเข้าสู่รอบ ๑ หมื่นที่สามแล้วในเที่ยงของวันนี้นี่เองนะครับ เป็นสถิติที่ไม่เลวเลยทีเดียว ขอร่วมยินดีกับทุกท่านครับ

    สวัสดีท่านรอง ผจก.เบิ้ม รูปชุดนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์เลยนะ ถ่ายไว้ได้หลายจุดดี
    สี่แยกประเทศไทยนี่อยู่ตรงไหนนะ ที่ท่านพระมหาแลและหลายๆท่านเรียกว่าสี่แยกต้นอีซึก หรือที่ผมและอีกหลายคนเรียกว่าแยกหนองบัว-ชัยภูมิหรือเปล่า เพื่อนเบิ้มสบายดีนะเว๊ย

    สวัสดีครับ ดร.วัรัตน์

    สี่แยกประเทศไทยก็แยกหนองบัว-ชัยภูมิ นั่นแหละครับผมก็อยู่มาหลายปีก็ได้เห็นนี่แหละครับ ถ้าคิดให้ดีตามหลักภูมิศาสตร์ ผมได้ไปดูอันนี้ความคิดผมเอง คนมาสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลเช่นบ้านพักต่างๆน้ำจึงเปลี่ยนทิศทางการไหลใหม่เลยเข้ามาบริเวณ สี่แยก แล้วน้ำ ปลายทางระบายสู่คลองเรือ ปัจจุบัน ตื้นหมดแล้ว บริเวณหน้าไปรษณีหนองบัวไม่ทัน น้ำจึงท่วมหนองบัว และประจวบกับฝนปีนี้แรงมากแต่ท่วมไม่นานพอระบายออกหมดก็แห้งเหมือนเดิม ครับ

     

    สวัสดีครับ ดร.วัรัตน์

      ผมมีรูปเก่าสมัยเรียนอยู่จะให้ดูครับ

    ซ้าย อ.สมัคร รอดเขียน ต่อมา มานะ พรมอ่อน(ปัจจุบัน เสียชีวิต) ต่อมาอ.ศุถฤกษ์ ฟูเฝ่า ต่อมา ผมเอง รัชทนงค์ โพธิ์พรหม ยังมีชีวิตอยู่

      ด้าล่างสองพี่น้อง จากซ้าย บุญยงค์ ร้อยโทสาย  ต่อมา สมพงษ์  ร้อยโทสาย น่าจะปี 2518-19นี่แหละ ครับ

    ส่วนรูปนี้ผมคนหนึ่งที่เป็นศิษย์หลวงพ่ออ๋อยเพราะเป็นพระอุปชา ผมเองครับ

        รูปนี้บวชตอนปี 2524ครับ สวัสดีครับ

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล

    เมื่อเช้าได้ออนไลน์ Skype ค่ะ และโทรคุยกับหลวงพี่เฉลียว เวลาที่สวีเดนก็ประมาณ ๖ โมงเช้า ที่อเมริกาก็ประมาณ เที่ยงคืน ส่วนที่เมืองไทยก็เที่ยงวัน ค่ะ

    หลวงพี่บอกว่าช่วงนี้กำลังปรับปรุงเวปไซด์ของวัดค่ะ

    และฝาก ลิงค์ กิจกรรมของวัด ผ่าน YouTupe มาให้ได้ดูกันค่ะ

    http://www.youtube.com/mongkolthai#g/u

    ดิฉันก็เลยบอกว่าพระคุณเจ้า ได้เขียนเมลล์ถึง หลวงพี่ก็คงได้เช้าไปเช็คเมลล์แล้วค่ะ

    สำหรับประเทศสวีเดนก็มีวัดไทยหลายแห่งค่ะ

    แต่ว่าดิฉันยังไม่เคยได้ไปวัดไทยในสวีเดน แต่ก็ได้ติดตามอ่านข่าวความเคลื่อนไหวเกียวกับวัดไทยในสวีเดนอยู่บ้างค่ะ

    ไว้มีรายละเอียดหรือได้ไปวัดไทยที่เมืองไหนในสวีเดนจะเก็บรายละเอียดและรูปมาแบ่งปันนะคะ

    อัญชัน

    สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์

    ค่ะ เห็นด้วยค่ะ สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์จากการทำงานหรือจาก ชุมชนถิ่นที่อยู่อาศัยที่เราได้ไปอาศัยอยู่ ตามที่อาจารย์ได้พูดถึง ผ่านทางเครื่องมือสื่อสารทางทางโลกไร้พรมแดน

    ตัวดิฉันเองได้เข้าไปอ่านบทความต่างๆ ที่ อาจารย์และพระอาจารย์มหาแลได้เขียนไว้เกียวหนองบัว หลายเรื่องราว ก็เป็นเรื่องที่ดิฉันคุ้นเคยและสัมผัสมาแล้ว

    และดิฉันได้คลิก ถูกใจ เพื่อลิงค์ ไปทางหน้า Facebook ของดิฉันเพื่อแบ่งปันให้เพื่อนชาวออนไลน์ได้เข้ามาอ่านและเรียนรู้เกียวกับชุมชน ชาวหนองบัวของเรา

    ซึ่งอาจารย์เห็นว่าชีวิตในต่างแดน ของดิฉันและชาวหนองบัวที่อยู่ต่างต่างแดนพอจะมีประโยชน์ในการแบ่งปัน ประสบการณ์ ซึ่งกัน และกัน ดิฉันก็เห็นด้วยค่ะ

    ค่ะ การเขียนอาจจะต้องใช้เวลา รวบรวม แต่หากเห็นว่ามีประโยชน์ต่อชุมชนของเราในแง่การเรียนรู้แบ่งปัน เราก็คงต้องจัดสรรเวลาทำ เพราะสิ่งที่เราทำไป มันเป็นการตอบแทนแผ่นดินเกิดของเรา เรามีต้นทุนและใช้ชีวิตอยู่ได้ในสังคมทุกวันนี้ ก็เพราะ ต้นทุนสังคมหยิบยื่นให้เรา

    หากเราได้มีโอกาสได้ทำงานดีๆ และได้ยืนอยู่ในที่ดีๆ ของของสังคม หากเรามีโอกาสก็ควรจะตอบแทนสังคม ในทางใดทางหนึ่งก็ได้ โดยไม่หวังผลตอบแทนค่ะ

    ดิฉันเอง เขียนไม่เก่ง คงต้องใช้เวลาค่ะ ขอออกตัวไว้ก่อนว่าเขียนไม่เก่งจริงๆ

    จากเมื่อปี ๒๕๕๒ ดิฉันได้พาครอบครัวกลับไปเยี่ยมญาติๆที่ หนองบัว โดยได้อาศัยนั่งรถของบุญเลิศกลับไป ซึ่งเค้าจะกลับไปเยี่ยมบ้านพอดี ก็เลยมีโอกาสได้คุย กัน

    บุญเลิศคือบุคคลตัวอย่างที่ดิฉันได้สัมผัสว่าเค้าได้ตอบแทนคุณของแผ่นดินเกิด บุญเลิศได้มีโอกาสทำงานดีๆ และ เค้าบอกว่าเมื่อบริษัทมีโครงการจะให้คอมพิวเตอร์กับโรงเรียน เค้าก็ได้เสนอ ชื่อ โรงเรียน วัดเทพฯ และ โรงเรียนหนองบัวเทพฯ เพื่อจะได้เอาคอมพิวเตอร์มาให้น้องๆ ได้ใช้กัน และเค้าเองก็เป็นคนนำคอมพิวเตอร์มาให้ที่โรงเรียนและช่วยติดตั้งระบบให้

    นี่คือ ๑ คนตัวอย่างที่ดิฉันได้สัมผัสค่ะ

    ปีนี้ ดิฉันจะกลับเมืองไทย คงมีโอกาสได้พบอาจารย์ นะคะ

    อัญชัน

    ปล. เลิศ เรื่องที่เล่าให้อาจารย์ฟัง ช่วยเติมให้ด้วยนะ หากเราเล่าขาดตกไป

    เจริญพรคุณธนกฤต รอดแสวง

    ขอบคุณที่แสดงความประสงค์ด้วยเจตนาจะเอื้อเฟื้อสงเคราะห์ด้านเครื่องมือสื่อสาร พูดถึงเรื่องนี้แล้ว ทำให้นึกถึงคำกล่าวอดีตเด็กวัด ลูกมรรคนายก(ทายกวัด)ต่อมาจบปริญญาเอก ตำแหน่งหลังสุดก่อนเกษียณราชการ ได้เป็นผู้บริหารสูงสุดของสถาบันอุดมศึกษาแถวภาคเหนือตอนล่าง ท่านเล่าว่าท่านเป็นเด็กวัดและเป็นกลุ่มบุคคลแรกๆของจังหวัดที่จบปริญญาสายวิทยาศาสตร์ เป็นนักวิทยาศาสตร์คนต้นๆของจังหวัดท่านเล่าให้ฟังอย่างนั้น

    ด้วยที่ท่านจบวิทยาศาสตร์เป็นคนที่ก้าวหน้าที่สุดในยุคท่านซึ่งน่าจะเป็นคนที่ใช้คอมฯใช้เน็ตได้ดี แต่ปรากฏว่าท่านใช้ไม่เป็น ท่านบอกว่าผมขอยอมแพ้IT เมื่อจะใช้สื่อไปสอนนักศึกษา บรรยายตามที่ต่างๆ ท่านต้องขอร้องให้ลูกสาวทำให้

    ที่เล่ามาให้คุณธนกฤตฟังเสียยืดยาวนี้ ก็ไม่มีอะไรหรอก เพียงแต่อยากจะบอกว่าอาตมานั้นเรียนรู้เรื่องดังกล่าว(IT)ได้ค่อนข้างยากเย็นเสียนี่กระไร ว่าไปทำไมมี คงจัดอยู่ในกลุ่มประเภทพัฒนาก้าวหน้าได้ช้าประมาณนั้นแหละ เขาเรียกคนไม่มีแววทางนี้ใช่ไหม

    สวัสดีครับเบิ้ม ทำไมต้องหมายเหตุต่อท้ายว่ายังมีชีวิตอยู่หลังชื่อนายด้วยวุ๊ย มีดวงวิญญาณอีกหลายดวงที่สามารถเข้ามาช่วยเขียนอินเตอร์เน็ตนี้ด้วยเร๊อะ ดูรูปแล้วยังเห็นความสดใสอย่างกับเมื่อไม่นานนี่เองเลยนะ

    เจริญพรคุณอัญชัน

    ตามไปดูที่YouTube (http://www.youtube.com/mongkolthai) ได้เจอคลิปวีดีโอสั้นๆของท่านมหาเฉลียวแล้ว จึงรู้ว่า(ตอนนี้ท่านเปลี่ยนชื่อใหม่แล้วเป็นณันท์มนัส กิตฺติปาโล)ขอบคุณคุณอัญชันอย่างมากเลยที่สละเวลาเป็นธุระจัดการให้อย่างดียิ่ง

    สวัสดีครับคุณอัญชันครับ รุ่นคุณอัญชันนี่มีเพื่อนๆที่เก่งๆและทำสิ่งดีๆให้กับหนองบัวได้เยอะเลยนะครับ ขอเป็นกำลังใจครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ
    ตอนนี้เวทีหนองบัวทั้งคึกคักและมีเครือข่ายที่เป็นระบบดีๆมากขึ้นเรื่อยๆเลยนะครับ

    กลับมาบอกคุณอัญชันว่าตามไปดูกิจกรรมเต็มๆอีกครั้งของวัดมงคลรัตนาราม ฟอร์ท วัลตัน บีช รัฐฟรอริดา อเมริกาที่ในYouTube (http://www.youtube.com/mongkolthai) ที่บอกว่ามีคลิปวีดีโอสั้นๆนั้นไม่ใช่เสียแล้ว มีหลายงานหลายกิจกรรมของวัดเยอะแยะไปหมด เชิญตามไปชมกิจกรรมของวัดที่คุณอัญชันนำลิงก์มาฝากนี้ได้เลย

    กราบนมัสการพระอาจารมหาแล ,ท่านอ.วิรัตน์ ,อัญชัน,พี่รัชทนงค์ และพี่น้องเวทีหนองบัวทุกๆท่าน

    ก่อนอื่นขอแนะนำตัวอีกนิดว่าผมกับบุญเลิศทำงานองค์กรเดียวกันบุญเลิศจะทำงานในส่วน UBC ส่วนผมจะอยู่ในส่วน Internetพอที่จะมีข้อมูลอยู่บ้าง ขอเสริมอัญชัน ในเรื่องจิดอันเป็นกุศลของบุญเลิศที่นำสิ่งดีๆมามอบให้กับโรงเรียนบ้านเรา ซึ่งโครงการของ True จะมีออกมาเป็นระยะๆ ตามแต่โอกาส ช่วงที่มีโครงการออกมาใหม่ๆ จะใช้เวลาในการประกาศค่อนข้างน้อยบุญเลิศยังเคยแจ้งให้ผมทราบเลยว่าจะลองส่งชื่อโรงเรียนวัดเทพฯ ไปให้คณะกรรมพิจารณาดู ก็ยังคิดเลยว่าจะได้หรือไม่เนื่องจากน่าจะมีโรงเรียนที่ถูกเสนอชื่อค่อนข้างมาก หลังจากนั้นก็ไม่ได้ติดตามเลยมาว่าได้หรือไม่ได้ เรื่องน่าจะส่งตรงถึงบุญเลิศ ก็เพิ่งจะทราบจากอัญชันว่าได้ ก็ต้องยกความดีให้บุญเลิศด้วยครับ ที่สามารถผลักดันและติดตามเรื่องได้ จนเป็นผลสำเร็จ และต้องขอยินดีกับน้องๆ ด้วยครับ

    ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่ารุ่นพี่ๆ ที่จบไปแล้ว วันหนึ่งถ้ามีโอกาส ก็จะกลับมาตอบแทนบุญคุณ ร.ร.บ้านเกิด อันเป็นที่ชุบชีวิตหล่อหลอมให้เป็นคนดี จนสามารถประกอบสัมมาชีพได้ทุกวันนี้ ก็เกิดจากจุดเริ่มต้นเหล่านี่ละครับ

    เจริญพรคุณธนกฤต

    ทราบว่าคุณธนกฤตกำลังหาข้อมูลท่านมหาทองคำอยู่ วันนี้เลยได้searchหาในเน็ตไปเจอที่โอเคเนชั่นพอดี ซึ่งเว็บนี้อาตมาพบตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ติดต่อท่านไม่ได้ เมื่อพบแล้วก็ขอถือวิสาสะนำภาพท่านมาลง ท่านมหาทองคำ(จิตวิทย์)เป็นชาวอำเภอหนองบัวและตอนนี้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ประเทศมาเลเซีย เท่าที่อาตมาทราบมีอยู่สองท่าน อีกท่านหนึ่งคือพระมหาเฉลียว(ณันท์มนัส) กิตฺติปาโล เจ้าอาวาสวัดมงคลรัตนาราม ฟอร์ท วัลตัน บีช รัฐฟรอริดา ประเทศอเมริกา ที่มาของภาพเว็บไซต์นี้             http://www.oknation.net/blog/print.php?id=326459

                           
                                อธิภาย : พระมหาจิตวิทย์(ทองคำ) ญาณรังสี(ป.ธ.๖ พธ.บ.):พระครูศรีโพธิวิเทศ เจ้าอาวาสวัดโพธิเจติยาราม หรือวัดทุ่งควาย ตำบลปะดังเกอเบา อำเภอเปิ้ลดัง รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย

    สวัสดี สมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกๆ ท่าน

    หายหน้าไปเสียนาน เข้ามาดูอีกทีเห็นเพื่อนๆ คุณอัญชัน. คุณธนกฤต ให้ความดีความชอบกันใหญ่เลย แต่ต้องแก้ข่าวก่อน ก่อนที่ผมจะสมัครเป็นพี่เลี้ยงจิตรอาสาของโครงการทรูปลูกปัญญานั้น โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพฯ) ได้ถูกคัดเลือกเข้าโครงการอยู่แล้ว ประมาณปี ๒๕๕๑ และปีต่อไปผมได้แนะนำ โรงเรียนวัดเทพสุทธาวาส แต่ไม่ได้รับเลือกเพราะเอกสารไม่ครบ และ โรงเรียนบ้านทับลุ่มพัฒนา ที่คุณยุพิน เป็นคุณครูอยู่ และได้คัดเลือกเข้าร่วมโครงการ และเมื่อปี ๒๕๕๓ โรงเรียนหนองดู่, โรงเรียนเขามะเกลือ ก็ได้เข้าร่วมโครงการ โดยคุณครูสมัครเข้ามาเอง

    ไม่เป็นไรสำหรับโรงเรียนวัดเทพฯ ปีนี้ผมจะประสานงานกับคุณครูสมบัติ ให้สมัครเข้าร่วมโครงการอีกครั้ง และท่านใดมีคนรู้จักที่เป็นครูประถม ที่มีคุณสมบัติตามด้านล่างนี้ สามารถแนะนำกันได้

    1. เป็นโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และสังกัดกรุงเทพมหานคร

    2. เป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา)

    3. เป็นโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 61 - 500 คน

    4. เป็นโรงเรียนที่ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน

    5. ผู้บริหารโรงเรียนมีวิสัยทัศน์ พร้อมให้การสนับสนุนและร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับโครงการทรูปลูกปัญญา

    6. ผู้บริหารและครูมีความกระตือรือร้นและรับผิดชอบต่อการนำสื่ออุปกรณ์และสื่อเสริมการเรียนรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

    7. ผู้บริหารและครูพร้อมที่จะบันทึกการใช้งานชุดอุปกรณ์และสื่อดิจิตอลเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ในการประเมินผลการพัฒนาทักษะการเรียนการสอน

    8. ทางโรงเรียนต้องมีการมอบหมายผู้ดูและรับผิดชอบชุดอุปกรณ์ ทรูปลูกปัญญา และกรณีที่อุปกรณ์เกิดการเสียหายหรือชำรุด ผู้รับผิดชอบจะต้องประสานงานมาที่เจ้าหน้าที่ของทรูปลูกปัญญา

    9. ถ้าโรงเรียนสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อการติดต่อสื่อสารกับโครงการและศึกษาหาความรู้จะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างยิ่ง

    กำหนดการรับสมัคร ช่วงประมาณ เมษายน ถึง พฤษภาคม ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และผมจะได้แจ้งให้ทราบที่แน่ชัดอีกทีหนึ่ง หรือจะติดต่อข่าวจาก เว็บไซต์ www.trueplookpanya.com ได้ตลอด

    ขอบคุณครับ

    สวัสดี สมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกๆ ท่าน

                    ขอเพิ่มเติมรายละเอียดของโครงการทรูปลูกปัญญา อีกสักเล็กน้อย คือ บริษัทในเครือทรูได้คัดเลือกโรงเรียนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้ามา ซึ่งโรงเรียนที่ได้คัดเลือกจะได้ ติดตั้งทรู วิชันส์  ๑ ชุด ประกอบด้วย ทีวี ๒๙ นิ้ว ๑ เครื่องพร้อม Knowledge packet, และสื่อการเรียนการสอน multimedia ๒ License โรงเรียนจะต้องมี Computer ใช้เอง จากที่ได้ไปติดตั้งให้โรงเรียนอนุบาลหนองบัว (เทพฯ) กับคุณครูนิฤมล โปรแกรมตัวนี้มีประโยชน์มาก เด็กสามารถเรียนด้วยตัวเองได้ตามแต่ละชั้น และแต่ละวิชา อยากได้ให้ลูกเหมือนกันแต่ไม่สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด copy มาใช้ก็ไม่ได้ เพราะจะต้องติดต่อเข้าโครงการเพื่อ Register ก่อนการใช้งาน

                    ทั้งนี้ไม่มีข้อผูกมัดอะไรใดๆ แต่จะดีมากถ้าโรงเรียนร่วมทำกิจกรรมกับโครงการอยู่เป็นประจำ เช่น บันทึกการใช้สื่อที่โครงการจัดให้ โดยสรุปเป็นช่วงๆ ส่งกลับโครงการ, ประกวดโรงเรียนต้นแบบ คือ ทางโครงการจะคัดเลือกโรงเรียนที่มีการใช้สื่อต่างๆ กับนักเรียนอย่างเกิดประโยชน์เป็นประจำ หรือ ประกวดครูตัวอย่าง คือ ให้ครูจัดทำแผนการใช้สื่อต่างๆ ประกอบการเรียนการสอนของนักเรียน เป็นต้น

                    ประโยชน์ที่จะได้รับถ้าชนะเลิศ โรงเรียนต้นแบบ ทางโครงการจะติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดให้ทุกห้องเรียน ติดตั้ง LAN และ Computer, คุณครูจะได้ Note Book ใช้งาน เป็นต้น

                    จากที่ได้ร่วมสมัครเข้าเป็นพี่เลี้ยงจิตรอาสา ที่ผ่านมาจะไม่ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนเท่าที่ควร ไม่ทราบว่าเพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะไม่มีเวลา หรือว่าเห็นไม่มีประโยชน์ก็ไม่ทราบ แต่จากที่ได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ของโครงการเกี่ยวกับโรงเรียนที่ชนะเลิศ นักเรียนได้อะไรมากกว่าที่คิด เช่น นักเรียนมีโทรทัศน์วงจรปิดใช้ เสริมให้เด็กกล้าแสดง ฝึกเป็นผู้ประกาศข่าว ยกตัวอย่าง โรงเรียนสวนผึ้ง ราชบุรี ที่จริงก็อยากให้โรงเรียนในหนองบัวเราได้กับเขาบ้าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับโรงเรียนแหละว่าจะให้ความสำคัญหรือไม่ หวังว่าจะได้เห็นในโอกาสต่อไป จะช่วยเท่าที่จะทำได้

    ขอบคุณครับ

    สวัสดี ดร.วิรัตน์ และ สมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกๆ ท่าน

          พอดีเมื่อคืนนี้ได้ไปฟังพระสวดศพ พ่อทำ ศรสุรินทร์ พ่อของ อ.ไพทูรย์  ศรสุรินทร์

    ที่เป็นเพื่อนหนองคอกรุ่น 14 ซึ่งเป็น อ.สอนอยู่ที่วัดเทพสุธาวาส ซึ่งรุ่น 14 เป็นเจ้าภาพ

    โดยมีประธาน ซุ่งล้ำ กับ รองสืบศักดิ์ นำทีมไปฟังพระสวดศพ ไปกันหลายคนครับ

     เอาละครับพอดีผมได้ไปทำธุระที่ ที่ดินอำเภอหนองบัวได้ไปเห็นใบขอแสดงกรรมสิทธิ์

    ที่ดินที่ติดประกาศด้านหน้าที่ดินซึ่งระบุว่า ที่ดินอยู่ ทุ่งนาหนองกลับ ตำบลหนองกลับ

    อำเภอภูมิ์ แขวงเมืองพิจิตร์ มณฑลพิศณุโลก ลองอ่านรายละเอียดดูน๊ะครับและช่วยกัน

    แสดงความคิดเห็นหน่อยครับ

    เอาขยายให้ใหญ่หน่อยครับ

      เบิ้มหนองบัว รายงานครับ

    สวัสดี ดร.วิรัตน์ และ สมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกๆ ท่าน

    ที่ให้อ่านรายละเอียดไม่ไช่เรื่องคดีความน๊ะครับให้ดูว่าแต่เดิมอำเภอหนองบัวใช่เดิมชื่ออำเภอภูมิ์จริงหรือเปล่าครับ

    ขอผู้รู้ช่วยกันให้ข้อมูลหน่อยครับ สวัสดี

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล ครับ

    ต้องขอกราบขอบพระคุณหลวงพี่ในความพยายามนำภาพท่านพระมหาจิตวิทย์(ทองคำ) มาบันทึกในครั้งนี้ครับ

    ไม่ได้พบท่านเป็นเวลา 18 ปีแล้ว ประวัติท่านน่าสนใจมากท่านเป็นคน อำเภอหนองบัว บ้านเดิมอยู่แถวทุ่งทอง ชีวิตวัยเด็ก

    ท่านจะเป็นเด็กที่รักเรียนมาก หลังจากเรียนจบชั้นปฐมศึกษา ท่านจึงตัดสินใจ บวชเป็นสามเณรเพื่อศึกษาเล่าเรียน เพื่อจะ

    ได้ช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ ท่านไปบวชเรียนอยู่ที่วัดนครสวรรค์ สอบได้นักธรรมเอกและได้เรียนเปรียญธรรมจนจบ ปธ.6

    ที่วัดมหาธาตุ (ท่าพระจันทร์) จากนั้นศึกษาต่อที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย จนจบปริญญาตรีวุฒิ พธ.บ จากนั้นได้ไปเผย

    แผ่ศาสนา ที่เรียกว่าพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 3 ท่านเลือกไปที่ประเทศมาเลเซีย หลังจากทำหน้าที่จนจบตามสัญญา

    แล้ว ด้วยท่านเป็นผู้ที่มีเอกลักษณ์ที่มีจิตใจอันเป็นกุศลทำให้ญาติโยมเลื่อมใสท่านมาก จึงนิมนต์ให้ท่านอยู่ที่มาเลเซียต่อจน

    ปัจจุบันท่านเป็นถึงเจ้าอาวาส และได้เลื่อนสมณศักดิ์ใหม่เป็น พระครูศรีโพธิวิเทศน์

    ช่วงที่ท่านกำลังศึกษาอยู่ ท่านมีโครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนที่วัดหนองบัว-วัดเทพฯ หลายครั้ง ชาวบ้านชื่นชมใน

    เทคนิคการสอนและกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้สามเณรตัวเล็กๆ รู้สึกสนุก แต่ถูกแฝงไปด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเด็ก ซึ่งจะเป็น

    ภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ที่จะต้องเป็นผู้ใหญ่ต่อไปในอนาคต ชื่อของท่านจึงเป็นที่รู้จัก และถูกกล่าวถึงในเรื่องการจัดกิจกรรม

    บวชเณรภาคฤดูร้อน เป็นอย่างมากครับ

    ถ้าอย่างไรผมจะพยายามติดต่อท่าน อาจจะเป็นทางจดหมาย เนื่องจากทางวัดท่านไม่มี web site และไม่สามารถหา

    Email ของท่านได้ หากติดต่อได้แล้วจะพยายามแนะนำท่านเข้ามาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ น่าจะเป็นอีกมุมมองหนึ่ง

    ที่เติมสีสรรค์ ให้กับเวทีคนหนองบัวได้ครับ

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล ,ท่านอ.วิรัตน์ และพี่น้องเวทีคนหนองบัวทุกๆท่าน

               ขอบันทึกเรื่องราวของ  นายว่อน  ขำสุข  หรือที่หลายท่านเรียกท่านว่าทายกว่อนบ้าง , ว่อนตีเหล็กบ้าง ,หมอว่อนบ้างตามแต่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหน  ส่วนตัวผมเรียกท่านว่า ตาว่อน เนื่องจากท่านเป็นน้องเขยของยาย ผม ที่ชื่อยายเผียน นาคสุทธิ์      ตาว่อน ขำสข  เกิดเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2472  แต่งงานกับ นางเทียว ขำสุข บ้านอยู่ ม.1 ต.หนองกลับ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์   มีบุตรด้วยกัน 3 คน ชาย 2 คน หญิง 1 คน  มีอาชีพทำนา, ทำไร่   ยามว่างจากการทำไร่ทำนา จะรับจ้างตีเหล็กอาทิ ทำจอบ, เคียวเกี่ยวข้าว, เสียม, มีด , ฉมวก, เหล็กขีดปลาหรด และอี่นๆ ตามแต่จะให้ทำ  โดยใช้สัญลักษณ์เป็นรูป  ว.  เป็นที่รู้กันของชาวหนองบัว  ว่าเป็นมีดของช่างว่อน  ชาวบ้านจะนิยมมาทำกับท่านมาก เนื่องจากท่านจะคิดราคาไม่แพง และงานที่ท่านทำออกมาแต่ละชิ้นจะค่อนข้างมีคุณภาพ ทนทาน   สมัยตอนผมเด็กๆ ผมจะชอบไปวิ่งเล่นแถวบ้านท่านก็จะได้เห็นวิธีการทำงานของท่านตั้งแต่การเผาเหล็กให้แดง และนำขึ้นมาตีให้เป็นรูปตามที่ต้องการ  ผมจะได้ยินเสียงเคาะมีดของช่างว่อนเป็นอาจินต์เนื่องจากบ้านจะอยู่รั้วติดกัน  ตาว่อนบอกว่าการตีเหล็กก็มีครูเหมือนกัน ต้องมีการไหว้ครูทุกปี โดยจะนำเครื่องมือทุกชิ้นมาทำพิธี   ไหว้เพื่อรำลึกถึงครูบาอาจารย์ที่ท่านรับวิชานี้มา

               นอกจากการตีเหล็กแล้ว อีกบทบาทของตาว่อนคือ จะสามารถทำขวัญนาค , ทำขวัญงานแต่งงาน ที่ผมกล้าพูดได้เลยว่าคนสมัยรุ่นก่อนหน้าผม คงจะได้รู้จักกับตาว่อนในบทบาทหมอทำขวัญ  ที่มีเอกลักษณ์พิเศษในเรื่องของน้ำเสียง การเอื้อน ท่วงทำนองต่างๆ ที่น่าจะเป็นภาพที่ชินตาและน้ำเสียงที่ชินหูกับคนหนองบัว- หนองกลับไปแล้ว  ครับ

             อีกบทบาทหนึ่งคือการเป็นมรรคทายก หรือทายกว่อน ที่จะประจำอยู่ศาลาวัดหนองบัว(หนองหลับ) ในทุกๆวันพระและ งานทำบุญในเทศกาลต่างๆ    เป็นระยะเวลาอันยาวนาน

             ยังมีสิ่งที่ท่านสามารถทำได้อีกคือการรักษาอาการแบบสมัยเก่าที่เรียกว่า เสกคาถาแล้ว พ่น  รักษาอาทิ ลมพิษ, อาการ คันต่างๆ  เป็นต้น     

              ตอนเด็กผมชอบนั่งคุยกับท่าน   ท่านจะคอยให้แง่คิดว่าจะทำอะไรก็ต้องตั้งใจ ให้รู้จักเขียมๆ(คือการประหยัด) แล้วต่อไป จะตั้งตัวได้  เท่าที่จับใจความได้ก็คือการใช้ชีวิตแบบพอเพียงนั่นเองครับ  ซึ่งท่านก็ได้ทำให้กับลูกกับหลานทุก ๆ คนได้ดูเป็นแบบอย่าง แล้วตลอดการดำรงชีวิตอยู่ ท่านเสียชีวิตเมื่อ 19 ก.ย.2552 รวมอายุได้ 80 ปี  ชีวประวัติการดำเนินชีวิตของท่านถือเป็นแบบอย่างที่ดี ที่น่าจะจารึกไว้บนเวทีคนหนองบัว ว่าเมื่อครั้งหนึ่งก็มีบุคคล  ที่เป็นทั้งช่างตีเหล็ก,หมอทำขวัญ,มรรคทายก  ที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับชาวหนองบัว ตลอดทั้งชีวิตอีกคนหนึ่งครับ

    เจริญพรคุณอัญชัน

    ไปอ่านเจอความเห็นคุณอัญชันอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆกันนี้แหละ ถูกใจ เลยขออนุญาตนำข้อความส่วนหนึ่งมาเสวนาตรงนี้อีกครั้ง ดังนี้

    "...มาร่วมแบ่งปัน รื้อฟื้น ความทรงจำให้วัยเด็ก เกี่ยวกับเจ้าทุย
    ทุกๆ วัน สอนลูกๆ อ่าน ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก
    ลูกชาย พุดอยู่เสมอว่า อยากขี่ ค.ควายเข้านา คือดิฉันจะเล่าให้ลูกๆ ฟัง เกี่ยวกับบ้านเกิด ความเป็นอยู่ และดิฉันโตมาอย่างไรในหนองบัวให้ลูกๆ ฟังเสมอค่ะ เล่าเรื่องควายให้เค้าฟังด้วย เค้าเลย อยากไป ขี่ ค.ควาย เมื่อเค้าได้รู้จัก ควายจาก การอ่าน แบบเรียน ก.ไก่ค่ะ
    อัญชัน"

    ข้อความข้างบนนี้เป็นข้อเขียนของคุณอัญชันเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๔ มาจากบันทึกนี้(dialogue box 6 ของเวทีคนหนองบัว ในหัวข้อ เจ้าทุย: เพื่อนแท้ร่วมวิชาชีพของฉันที่มีบทบาทต่อสังคมไทยอันยาวนาน)

    อ่านกระบวนวิธีการสอนลูกด้วยศิลปะที่ยอดเยี่ยมมากๆนี้ของคุณอัญชันแล้ว อาตมาอยากจะบอกว่า ถ้ามีปุ่มถูกใจให้คลิ๊กได้ในที่นี้แล้วละก็ จะคลิ๊กให้สักพันครั้งเลยเชียว

    ประทับใจและน่ารักมากๆที่คุณอัญชันสอนลูกให้รู้พื้นเพเดิมรากเหง้าของแม่ของเขา คุณอัญชันนั้นอยู่ห่างไกลหนองบัวมาก อยู่ไกลถึงประเทศสวีเดน คนละทวีปเลย อีกทั้งเจ้าตัวน้อยก็แสนน่ารักสามารถซึมซับคำสอนของแม่ได้อย่างดียิ่ง สอนจนเขาจินตนาการอยากจะขี่ควายไปนาเลยหรือ เยี่ยมๆ

    ขอกระซิบเบาๆให้คุณอัญชันฟังว่า พ่อแม่จำนวนไม่น้อย ไม่อยากให้ลูกไปนา ไปไร่ ไม่อยากให้ลูกรับรู้สัมผัสชีวิตจริงของพ่อแม่ เสียดายโอกาสทองที่หลุดลอยหายไปในวัยเด็ก ขอบอกด้วยเกียรติลูกชาวนาเลยว่า เด็กๆส่วนใหญ่อยากไปนา ไปไร่ อยากรับรู้ชีวิตท้องทุ่งซึ่งเป็นโลกกว้างน่าเรียนรู้อย่างมาก พ่อแม่หลายคนปิดโอกาสปิดช่องทางที่สดใสแสนงามนี้ไป ไม่อยากจะบอกว่าพ่อแม่รังแกฉัน ดังที่เขาพูดๆกัน.

    เจริญพรคุณรัชทนงค์  โพธิ์พรหม

    วันนี้รู้สึกตื่นเต้นมากจริงๆที่ได้เห็นชื่ออำเภอภูมิ์ แขวงเมืองพิจิตร์ มณฑลพิศณุโลก และบ้านหนองบัว หนองกลับของเรา ก็ขึ้นกับอำเภอภูมิ์นี้อีกด้วย เลยทำให้ยิ่งประหลาดใจเพิ่มขึ้น ตามประสาคนรู้น้อยก็อย่างนี้แหละ แต่เดิมก็ทราบเพียงว่าหนองบัวนั้น ขึ้นกับอำเภอท่าตะโกจังหวัดนครสวรค์ก็มี ขึ้นกับอำเภอบางมูลนากจังหวัดพิจิตรก็มี

    เมื่อเจอโจทย์ข้อนี้ของคุณรัชทนงค์ทำให้มึนไปครึ่งวันเลยนะ ตั้งหลักได้หายมึนก็อาศัยคุณครูกูเกิ้ลเป็นตัวช่วย search ไปเจองานวิจัยประมาณ๕๐หน้าอ่านสองรอบพบข้อความสั้นๆว่า"พ.ศ. 2454 เดือนกรกฎาคม เมืองพิจิตร อำเภอบางคลานได้ส่งข้าวไปขายมณฑลนครวรรค์ 500 เกวียน อำเภอภูมิได้ขายข้าวไปกรุงเทพฯและปากน้ำโพ 600 เกวียน"

    ข้อความเพียงแค่สองบรรทัดนี้ ตันเลยไปไม่เป็นว่างั้นเถอะ หาต่อไปอีก คราวนี้ค้นหาด้วยกูเกิ้ลโดยพิมพ์คำว่าเมืองภูมิเข้าไป คลิ๊กปั๊ป เว็บหน้าแรกมีคำว่าภาคเหนือขึ้นมาเป็นบรรทัดแรก คลิ๊กที่นี่ พบเมืองภูมิ เจอพระธรรมยาเจ้าเมืองภูมิ คนหนองบัวบ้านเรา เป็นเจ้าเมืองคนแรก

    ด้วยความดีใจจึงขอนำบทความมาลงไว้ที่นี่ให้คนหนองบัวได้อ่านกัน และลิงก์เว็บดังกล่าวให้ด้วยเพื่อให้ท่านที่สนใจตามไปอ่านที่ต้นทาง และมีเว็บของทางการอีกแห่งหนึ่งที่กล่าวถึงเมืองภูมิด้วยคือเว็บอำเภอเมือง(พิจิตร)โดยนายอำเภอเมืองพิจิตรเว็บนี้http://province.m-culture.go.th/phichit/amphur/muang.php

    ต้องขอขอบคุณคุณรัชทนงค์อย่างมากที่ฝากการบ้านให้ทำ ตอนนี้ทำการบ้านเสร็จแล้วเชิญชมและให้คะแนนได้เลย

           
            อธิบายภาพ : รูปปั้นพระธรรมยา เจ้าเมืองภูมิ เมืองภูมิคืออำเภอบางมูลนากในปัจจุบันของจังหวัดพิจิตร(นายยา เกิดที่บ้านหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์) พระธรรมยาเป็นเจ้าเมืองภูมิ : อำเภอบางมูลนาก คนแรก ที่มาของรูปภาพและบทความคือเว็บนี้http://tarachai.tripod.com/03seethaitumnan/north/pichit003.htm เมื่อคลิ๊กเข้าไปที่เว็บนี้แล้ว ให้คลิ๊กต่อที่คำว่าภาคเหนือ

    พระธรรมยาเป็นเจ้าเมืองภูมิ (อำเภอบางมูลนาก) คนแรก เดิมชื่อ ยา เกิดที่บ้านหนองบัว (อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์) นายยาเป็นคนมีวิชาความรู้ทางไสยศาสตร์และทางว่านยา ประกอบอาชีพพรานล่าสัตว์ ในสมัยหนึ่งกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่งได้ออกไปคล้องช้างเพื่อไว้ใช้ในสงคราม ได้ติดตาม ช้างเผือกงาเนียมตัวหนึ่งไปจนเข้าเขตเมืองพิจิตร แต่พระองค์กับทหารไม่ชำนาญป่าจึงได้อาศัยพรานยาอาสา พาพวกติดตามช้างไป ชาวบ้านที่อยู่ในป่าแถวนั้นเรียกช้างตัวนั้นว่า อ้ายโพธิ์หางกร่าง เพราะมีลักษณะพิเศษคือ ปลายหางเป็นขนยาวแข็งรูปใบโพธิ์ เวลาเดินเข้าป่าจะแกว่งหางไปถูกใบไม้เสียงดังแกรกกร่าง

    ต่อ มาบ้านแถวนั้นจึงได้ชื่อว่า บ้านวังกร่าง บริเวณที่ตั้งซุ้มและโรงช้างเรียกว่า บ้านโรงช้าง ปัจจุบันอยู่ที่บ้านสายห้วย ในเขตตำบลวังสำโรง อำเภอบางมูลนาก การติดตามช้างสำคัญครั้งนั้นพรานยาได้พาคณะติดตามช้าง พักแรมอยู่ ณ บริเวณที่แห่งหนึ่งซึ่งมีหนองน้ำที่มีเต่านาชุกชุม ได้จับเต่ามาแกงเป็นอาหาร ซึ่งอาหารมื้อนั้นอร่อยมาก กษัตริย์ที่ร่วมเสวย ตรัสชมว่า แกงเต่าที่นี่ทั้งอร่อยทั้งเผ็ด ภายหลังบ้านนี้จึงได้ชื่อว่า บ้านหนองเต่า
    เมื่อจับช้างเผือกเชือกนั้นได้ก็นำช้างมาลงแพที่ท่าน้ำเพื่อล่องไปส่งยังกรุงศรีอยุธยา บ้านนั้นได้ชื่อว่า บ้านท่าช้าง มาจนทุกวันนี้ ความดีความชอบของพรานยา ทำให้พระมหากษัตริย์โปรดปรานจึงตั้งให้เป็นพระธรรมยา ปกครองบริเวณที่นายยาอยู่มาก่อน พระราชทานชื่อเมืองว่า เมืองภูมิพระราชทาน และให้ยกเว้นการเก็บภาษีส่วนอากรต่าง ๆ เพราะเป็นเมืองที่พระราชทานให้เป็นพิเศษ

    พระธรรมยาปกครองเมืองภูมิได้ระยะหนึ่ง จึงเดินทางไปเมืองหลวงเพราะคิดถึง พระมหากษัตริย์ ได้นำมีดโต้ที่ตีตามตำรับไสยศาสตร์เล่มหนึ่ง เพื่อนำไปถวายด้วย แต่เมื่อไปถึงกรุง ศรีอยุธยากษัตริย์ไม่ทรงรับด้วย นึกว่าเป็นมีดโต้ธรรมดา ทำให้พระธรรมยาน้อยใจใช้ผ้าคาดเอาผูกด้ามมีดลากไปกับถนนหน้าวังลงไปท่าน้ำ อภินิหารของมีดโต้กายสิทธิ์กรีดถนนแยกเป็นทางอย่างน่าอัศจรรย์ พระธรรมยาได้ทิ้งมีดลงแม่น้ำและถอยเรือ ออกจากท่าเดินทางกลับ มีคำเล่าลือกันว่าที่แม่น้ำตรงที่มีดจมลงนั้นกลายเป็นน้ำวน มีทหารจำนวนหนึ่งดำน้ำเพื่องมมีดขึ้นมา ก็ถูกมีดตัดแขนขาขาดจนถึงแก่ชีวิต ต่อมาช่างตีดาบนิยมนำน้ำวนตรงนั้นมาชุบมีดทำให้มีคุณภาพ

    ประวัติพระธรรมยา ได้หายสาบสูญในเวลาต่อมา เมืองภูมิที่ปกครองภายหลังก็ไม่มี ผู้ครองราชย์สืบต่อเพราะพระธรรมยาเป็นโสดไม่มีทายาท ทำให้เมืองภูมิถูกละทิ้งให้เป็นเมืองร้าง เพราะผู้คนอพยพมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ตั้งเมืองขึ้นใหม่เรียกว่า บางขี้นาก ภายหลังเป็น บางมูลนาก เมืองภูมิจึงมีฐานะเป็นเพียงตำบลภูมิของอำเภอบางมูลนากสืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้.

    ขอเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับเมืองภูมิอีกสักเล็กน้อยเพื่อให้ทราบที่มาที่ไปได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ข้อมูลชุดนี้เป็นข้อมูลประวัติอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ซึ่งเกี่ยวข้องกับเมืองภูมิโดยตรง ถ้าท่านสนใจก็หาอ่านได้จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

    อำเภอบางมูลนากในอดีตเคยเป็นเมืองภูมิมาก่อน โดยมีที่ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเต่า ตำบลภูมิจากคำบอกเล่าต่อๆ กันมาแต่โบราณได้ความว่า เมืองภูมินี้มีพระธรรมยาเป็นเจ้าเมืองแต่ไม่ปรากฏว่าเป็นเจ้าเมืองมาตั้งแต่สมัยใดอาจเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือสมัยอยุธยาก็ได้ ปัจจุบันมีผู้สร้างศาลพระธรรมยาขึ้นที่วัดหนองเต่าตำบลภูมิ ชาวบ้านนับถือกันมากหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเมืองภูมิก็คือ ใบบอกเมืองพิจิตรศักราช 1251 (พ.ศ. 2532) ในสมัยรัชกาลที่ 5 และราชกิจจานุเบกษา เล่ม 10 แผ่นที่ 12 วันที่ 18 มิถุนายน ร.ศ. 112 (พ.ศ. 4236) ได้ความต้องตรงกันว่าเมืองภูมิเป็นเมืองขึ้นของเมืองพิจิตรและผู้ว่าราชการเมืองชื่อพระณรงค์เรืองนาชร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446) เมืองพิจิตรแบ่งเป็น 3 อำเภอคือ อำเภอเมือง ฯ บางคลานและเมืองภูมิ สันนิษฐานว่าที่ว่าการอำเภอเมืองภูมินี้ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเต่า ตำบลภูมิ ต่อมา พ.ศ. 2450ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งใหม่ที่ริมแม่น้ำน่านด้านตะวันตกเหนือวัดบางมูลนาก แต่ยังคงใช้ชื่ออำเภอภูมิอย่างเดิมมิได้เปลี่ยนเป็นอำเภอบางมูลนาก จนกระทั่งวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2459กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีประกาศใช้ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งว่าการอำเภอ ที่ว่าอำเภอเมืองภูมิตั้งอยู่ที่ ตำบลบางมูลนากจึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางมูลนากมาตั้งใหม่ ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านจวบจนกระทั่งปัจจุบันสำหรับชื่อ "บางมูลนาก" นี้ เดิมเรียกว่า "บางขี้นาก" เพราะเดิมที่คลองบุษบง (เหนือตลาดบางมูลนาก)มีนากชุกชุมและได้ถ่าย (ขี้) ไว้เกลื่อนกลาดทั่งบริเวณนั้น จึงเรียกว่า "บางขี้นาก" ต่อมาจึงเปลี่ยนมาเป็น"บางมูลนาก"

    นมัสการท่านอาจารย์พระมหาแลฯ สวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์และพี่น้องชาวหนองบัวทุกท่านครับ

    พอคลิกเข้ามา ได้เห็นอะไรที่แปลกใหม่และน่าสนใจหลายอย่าง อย่างน้อยก็ได้เห็นภาพสีของท่านพระมหาแลฯ ได้ทราบบทบาทของตัวละครที่เพิ่มขึ้นและมีความหลากหลาย ได้รู้จักอดีดเมืองภูมิ์ ได้เห็นนามสกุลที่คุ้น ๆ ว่าเป็นนามสกุลเดียวกับเพื่อนเราบางคน

    สมัยที่เรียน

    เมื่อวันพฤหัสฯ กลับไปทำธุระด่วนที่บ้าน พอลงเขา ถึงเขตติดต่อระหว่างชัยภูมิกับเพชรบูรณ์ - ถึงหนองบัวบ้านเราตอนค่ำ ๆ หน่อย ปรากฏว่ามีรถอีแต๋นบรรทุกหัวมันสำปะหลัง บรรทุกอ้อยเยอะเหลือเกิน ซึ่งต่างกับภาคอีสานและประเทศลาว ที่ไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก

    ขับรถผ่านบ้านอาจารย์วิรัตน์ตอนโพล้เเล้ว ยังคิดอยู่ในใจว่าไม่ได้เข้ามาเยี่ยม...เวทีคนหนองบัว...เสียนาน กลับไปนี่ต้องเข้าไปดูเสียหน่อย ในใจยังนึกว่าผู้ที่แสดงความเห็นจะมีเพียงคนเดิม ๆ ....อาจารย์วิรัตน์/พระมหาแล/พี่ฉิก

    ที่ไหนได้ ผิดคาดจริง ๆ ขอแสดงความยินดีกับ เวทีคนหนองบัวและทุกท่านจริง ๆ ครับ ที่ได้ช่วยกันสร้างสรรค์ความรู้ต่าง ๆ ขึ้นมา

    กราบนมัสการ พระอาจารย์มหาแลค่ะ และสวัสดี อ.วิรัตน์ และ ชาวเวทีหนองบัวทุกท่าน

    ขอบคุณค่ะ ที่พระคุณเจ้านำเอาความเห็นเกี่ยวกับเจ้าทุย ในเรื่องการสอนลูกๆ ของดิฉัน มาให้เวทีชาวหนองบัวอ่านกันค่ะ

    ตัวดิฉันเอง และสามี (ชาวสวีเดน) ตั้งใจไว้ตั้งแต่ก่อนลูกจะเกิดว่า ลูกๆ ของเราตัองพูดภาไทยได้และเมื่อเค้าโตขี้น ก็ต้องอ่านเขียนภาษาไทยได้ด้วย

    เรื่องการสอนลูกๆ ของดิฉัน ยึดหลักธรรมชาติค่ะ คือพูดเรื่องราว ในวัยเด็ก บ้านเกิด ญาติพี่น้อง ของตัวดิฉันเอง และ เรื่องราวๆ ต่างๆ เกียวกับ แผ่นดินแม่ และสอนให้รักในหลวง ที่บ้านมีรูปในหลวง และดิฉันมักจะดูข่าวในพระราชสำนัก เด็กๆ เห็นก็จะเห็นท่าน ก็จะเรียก ในหลวงๆๆๆๆ

    เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับตัวดิฉันเอง มันเป็นเรื่องจริงๆ ที่เราผ่านมาแล้ว ไม่ต้องไปปรุงแต่ง ลูกก็เข้าใจง่ายด้วย ค่ะ

    ตอนนี้ ลูกๆ ของดิฉัน ลูกชาย ๓ ขวบ ลูกสาว ๕ ขวบ ทั้งสองพูดฟังภาษาไทยได้เหมือนกับภาษาของพ่อเค้า และแถมมาอีก ๑ ภาษาโดยไม่ได้ตั้งใจสอน เพราะ ดิฉันกับสามี ใช้ ภาษาอังกฤษสื่อสารกัน

    เรายึดหลัก เรื่องภาษา คือ ตัวพ่อ พูดกับลูกภาษาสวีเดน ตัวแม่ พูดภาษาไทย ตัวดิฉันเองไม่ค่อยเก่งภาษาสวีเดน เลยใช้ ภาษากลาง(อังกฤษ)สื่อสารกัน ลูกเลยได้ไปโดยปริยายค่ะ

    เมื่อวันพฤหัสที่ผ่าน ได้รับเอกสารจาก โรงเรียนของลูกสาว เรื่อง “เด็ก สองภาษาหรือหลายภาษา?” เป็นเอกสารแนะนำสำหรับ ครอบครัวหลายภาษา ทั้งหมด ๓๒ หน้า ซึ่งดิฉันได้อ่านทั้งหมด แล้ว คำแนะนำต่างๆ ดีมาก ซึ่งตัวดิฉันเองและสามี ได้ทำมา ๕ ปี เกียวกับเรื่องภาษา ของลูก ทำตามธรรมชาติ เพราะเห็นความสำคัญในภาษาไทยเรียกว่าภาษาที่สอง

    เอกสาร เขียนไว้ดีมาก ซึ่ง หน่วยงานของประเทศสวีเดน ได้เห็นความสำคัญและให้ความสำคัญของ ภาษาแม่หรือภาษาพ่อ ที่ไม่ใช่ ชาว สวีเดน ว่า พ่อแม่ต้องร่วมมือกันในการ พูดเพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ภาษาของตัวแม่หรือพ่อเอง

    ซึ่งตรงกับเจตนารมณ์ของครอบครัวดิฉันว่าลูกต้องพูด อ่านเขียน ภาษาไทยได้

    เหตุ ที่ได้เอกสารนี้มา เพราะว่า ทางรัฐบาล ได้ให้สิทธ์ เด็กที่พ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อแม่ไม่ใช่ ชาวสวีเดน มีสิทธ์รวมตัวกัน ๕ คนขึ้นไป ขอครูสอนภาษาของพ่อหรือแม่

    ดิฉันได้ทำเรื่องขอไปแล้ว แต่ ตีกลับมาว่า ไม่มีครูสอนภาษาไทยค่ะ (เพราเมืองที่อยู่เป็นเมืองเล็กๆ ค่ะ) มีหรือไม่มี ตัวดิฉันเองก็จะสอนลูกๆ ให้อ่าน เขียนภาษาไทยด้วยตัวเองให้ได้

    แล้วจะเผื่อแผ่ไปถึง ลูกครี่งไทย ในเมือง และ เด็กไทยแท้ที่ติดตามแม่หรือพ่อมาอยู่สวีเดนด้วย หากเค้าสนใจจะมาเรียนกับลูกๆ ดิฉันนะคะ

    น่าแปลกนะคะ พระคุณเจ้า เด็กไทยแท้ๆ ที่ติดตามแม่ไปอยู่ต่างประเทศ แม่ลืมสอนภาษาไทยให้ พูดไม่ได้ เด็กๆ ลูกครึ่งไทยเองก็ตามที่ดิฉันได้เจอที่เมืองที่ดิฉันอยู่ แม่กลับไม่สอนภาษาไทยให้ หาได้น้อยมากจริงๆ ที่จะพูดภาษาไทย

    จากการที่ดิฉันสอบแถมแม่ของเด็กๆ เค้าบอกว่า สอนภาษาไทยให้ลูก ยากมาก

    ดิฉันถามว่ายากตรงไหนหรือ ภาษาของเราเอง เค้าบอกว่าหากเค้าพูดภาษาไทยกับลูก พ่อ ของเด็กฟังไม่เข้าใจ หรือไม่เค้ากลัวว่า หากเค้าพูดภาษาไทยกับลูก เค้าจะพูดภาษาสวีเดนไม่ได้

    แต่ในทางตรงกันข้าม เด็กๆ เหล่านี่เสียโอกาสในอนาคตอย่างมากที่พูดได้เพียงภาษาเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กไทยแท้ๆ ที่ติดตามพ่อและแม่ไป

    ดิฉันเองได้ติดตามข่าวจากระทรวงต่างประเทศและสถานทูต จะมีคำแนะตลอดเวลา ให้พูดภาษาไทยกับลูก หากสอน อ่านเขียนไม่ได้ ให้ส่งไปที่วัดไทย ในประเทศที่ตนอาศัยอยู่ วัดไทยในต่างประเทศนอกจากจะทำกิจกรรมเกียวกับศาสนาแล้ว ยังมีหน้าที่สอนหนังสือให้เด็กไทยแท้ๆ และเด็กลูกครึ่งด้วยค่ะ

    มีเรืองเล่าค่ะ...เมื่อหน้าร้อนปีที่แล้ว แม่ของดิฉันไปเยี่ยม ที่สวีเดน จริงๆ แล้ว แม่ไปเยี่ยม ดิฉันทุกๆ ที่สวีเดน ปีละ ๓ เดือน ช่วงหน้าร้อน เพราะ เห็นความสำคัญว่า หลานๆ ต้องได้ใกล้ชิดและมีความผูกพันธ์ ทั้งทางย่า และ ยาย

    ปกติเวลา “ยาย” อยู่ด้วยกันพร้อมหน้า ในครอบครัว หากสามีดิฉันพูดอะไร ดิฉันจะเป็นคนแปลให้แม่ ฟัง

    วันหนึ่ง ดิฉันและสามีไม่อยู่บ้าน ต้องวาน ย่า ให้มา ช่วยดูแล ลูกๆ กับ ยาย ซี่งทั้ง ย่า และ ยาย พูดภาษาอังกฤษ ไมได้ เลย แม้สัก คำเดียว แต่เค้าก็คุย กัน โดยให้ นาตาลี (ลูกสาวดิฉัน) เป็นคนแปลให้

    พอดิฉันกลับ มา ทั้งย่าและ ยาย บอกว่าเราคุยกันสนุกมาก โดยมีนาตาลีเป็นคนช่วยแปล .......แปลกใจมาก ไม่คิดว่า เค้าจะทำได้ทุกอย่างที่เค้าแปล ทั้งย่าและยายต่างเล่าให้ดิฉันและสามีฟัง ถูกหมดเลย ว่าเค้าคุยอะไร กัน

    ที่แปลกใจ เพราะ เวลาดิฉันอยู่ เค้าไม่เคยแปลอะไร เลยเวลา พ่อเค้าถามยาย หรือยายถาม .....พ่อเค้าภูมิใจมาก

    เป็นตัวอย่างที่ดิฉันมักจะบอก หญิงไทยที่มีลูกครึ่ง ว่า สอนให้ลูกพูดภาษาไทยน่ะ ไม่ยาก มันเหนื่อยหน่อย เพราะ อาจจะเรียกได้ว่า 99.99% คนรอบๆ ตัวของลูก พูดภาษาสวีเดนกัน มีแต่แม่คนเดียวเท่านั้นที่พูดภาษาไทย กับ ลูก เหนื่อย หน่อย ที่ต้องพูดซ้ำๆ เหนื่อยหน่อยที่ต้องอธิบาย แต่ผลที่ได้ มันคุ้มค่า เกินคุ้ม ไม่ต้องรอถึงอนาคต แค่ พาลูกกลับเมืองไทย แล้วลูกๆ สื่อสาร กับ ตา ยาย ญาติพี่น้องของ แม่ได้ ก็ เกินจะคุ้มแล้ว

    ที่พูดมาทั้งหมดเสียยืดยาวขนาด นี้ อยากฝากไว้ หากมี พี่น้องเรา ชาวหนองบัว ได้ ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ ขอให้พูดภาษาไทยกับลูก อย่าลืมรากเง้าของตัวเราเอง

    อัญชัน

    สวัสดีชาวเวทีคนหนองบัว ผมแอบอ่านเรื่องราวในอดีตกับความรู้สึกดีๆของหลายๆท่าน ส่วนตัวเองก็นึกได้ว่า ตอนเด็กๆเคยวิ่งตามเกวียน โดดเกาะเกวียน และในช่วงหน้าน้ำเราก็มีทางเกวียนเป็นร่องน้ำให้ได้เล่นน้ำ ซึ่งปัจจุบันเหลือแค่ความทรงจำ ในปัจจุบันนี้เวลาน้ำหลากกลายเป็นเหมึอนเขื่อนแตก สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินและจิตใจ พอเข้าหน้าแล้งก็แล้งแสนสาหัส ผมกลัวว่าคนหนองบัวจะลืมความเดือดร้อนช่วงนั้นเพราะคนไทยมีนิสัยลืมง่ายจึงอยากขออณุญาติสมาชิกเวทีหนองบัวเปิดเวทีร่วมกันป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติซึ่งเราไม่มีสิทธิรู้เลยว่าจะเกิดกับเราอีกเมื่อไร ขอให้เพื่อนๆที่อ่านเรื่องราวในเวทีหนองบัวที่เป็นผู้รู้ช่วยลงมาแสดงความคิดเห็นกันเยอะๆ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ
    สวัสดีทุกท่านในเวทีคนหนองบัวเลยละครับ

    • ตอนนี้ผมออกต่างจังหวัดครับ แต่ก็ได้เข้ามาดูอยู่เสมอ มีเรื่องราวดีๆมากมายเลยนะครับ
    • เรื่องราวของผู้คนและสิ่งดีๆที่มีอยู่ในชุมชน อย่างเช่นเรื่องของช่างว่อน เรื่องของปัญญาชนชาวบ้าน เรื่องของคนเฒ่าคนแก่ เรื่องความสร้างสรรค์และพัฒนาการทางด้านต่างๆของชุมชน การเสาะหาความเป็นมาและปูมประวัติศาสตร์ชุมชนในแง่มุมใหม่ๆ ที่ค่อยๆช่วยกันเขียนสะสมไว้อย่างนี้ ก็จะเป็นคลังข้อมูลและองค์ความรู้ท้องถิ่นที่มีคุณค่ามากทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเลยนะครับ
    • การบอกกล่าวกันว่ามีใครทำอะไรกันบ้าง โดยเฉพาะการทำเพื่อการศึกษา การพัฒนาระบบและทรัพยากรการเรียนรู้ของท้องถิ่น สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การพัฒนาคนและสังคม เหล่านี้ นอกจากได้ทำให้ความดีงามเล็กๆของผู้คนได้เป็นที่รับรู้ ให้ต่างได้มีกำลังใจกันมากยิ่งๆขึ้นแล้ว ก็จะเป็นแหล่งข้อมูลให้ชุมชนและท้องถิ่นมีช่องทางเข้าถึงโอกาสได้พัฒนาด้วยการพึ่งตนเองได้ดียิ่งๆขึ้นนะครับ
    • การนำเอาประสบการณ์การเลี้ยงลูกและใช้ชีวิตในต่างสังคมวัฒนธรรม แต่ได้การเรียนรู้และพัฒนาชีวิตให้งอกงาม สมดุล พร้อมไปกับสื่อถ่ายทอดเรื่องราวจากแดนไกลกว้างขวางให้ผู้คนได้รับรู้และใกล้ชิดกันทางสำนึกและจิตใจอย่างคุณอัญชันและครอบครัว ก็เป็นวิธีให้การเรียนรู้แก่สังคมที่ดีมากเลยนะครับ เป็นบทเรียนที่ผ่านการได้ลองทำในชีวิต เรื่องเหล่านี้มีประโยชน์กว้างขวาง
    • การหยิบยกประเด็นสังคมและสิ่งที่น่าห่วงใยมากกล่าวถึงและชวนพูดคุยสนทนากันไปด้วยก็เช่นกันครับ ทำให้เวทีคนหนองบัวเป็นแหล่งพบปะ ปรึกษาหารือ แบ่งปันประสบการณ์ สื่อสารสร้างสรรค์โอกาสดีๆให้สังคม แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ และสะสมความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่คนหนองบัวและสาธารณะ
    • ดีจังเลยละครับ ขอกล่าวสวัสดีทักทายคุณสมบัติ ฆ้อนทองด้วยนะครับ หายไปนานเชียว ตอนนี้หมู่พวกมาร่วมคิดเขียนกันคึกคักเลย

    สวัสดี สมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกๆ ท่าน

                    ได้อ่านกระทู้จาก สมาชิกเวทีคนหนองบัว มานานแล้ว ก็พยายามย้อนความจำสมัยเด็กๆ ว่าจะมีเรื่องอะไรบ้างที่จะนำเสนอได้บ้าง  ก็มีอยู่เรื่องหนึ่งอยากจะขยายเพิ่มเติม “ประเพณีการจัดงานเลี้ยง” ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานแต่ง คนบ้านเราจะใช้เวลาในการเตรียมงานค่อนข้างนาน นับจากวันกำหนดฤกษ์ เจ้าของงานก็จะต้องตระเวนบอกกล่าวเชื้อเชิญ ญาติสนิท บ้านใกล้เรือนเคียงให้รู้กันทั่วหน้า โดยเป็นการกำหนดวันคร่าวๆ ให้รู้กัน ว่าวันไหนจะทำอะไร เช่น วิดปลา, ตำข้าวเบือ, ทำขนม, ทำบุญ, โกนหัว ฯลฯ ก็จะบอกกันเป็นขึ้นกี่ค่ำ แรมกี่ค่ำ เป็นต้น เป็นที่เข้าใจกัน

    ขอขยายแต่ละวิธีพอสังเขป

    เตรียมเครื่องแกง(ข้าวเบือ) จะเป็นงานของผู้หญิง แกะหอม กระเทียม ข่า กระชาย ตระไคร้ ใบมะกูด หลังจากเตรียมไว้พร้อมแล้ว ก็ลงมือโขลกกันเลย โดยใช้ครกโขลกด้วยมือ เสียงดังสนั่นลั่นบ้านกันไปเลย บ้างก็ขูดมะพร้าวด้วยกระต่าย คุยกันเสียงดังเป็นที่สนุกสนาน

    ทำขนมจีน(หนมจีน) แต่ก่อนบ้านงานจะต้องทำขนมจีนกินกันเอง ไม่ได้หาซื้อตามท้องตลาดเหมือนทุกวันนี้ วิธีการทำ ก็นำข้าวสารมาแช่น้ำไว้ แล้วนำมาโม่ด้วยมือ จะได้น้ำแป้งมาแล้วนำไปใส่ไว้ในถุงผ้าเพื่อให้เสร็จน้ำ หลังจากนั้นจะได้ลูกแป้งแล้วก็นำไปนึ่งในซึ้งให้สุก ก็นำไปโขลก (ขอขยายความ การโขลกสมัยก่อน หนุ่มๆ สาวๆ จะช่วยกัน  โดยยืนรอบๆ ครก ๓-๔ คน พลัดกันโขลก จนได้ที่ ก็นำไปปีบเป็นเส้นในน้ำร้อน แล้วจับเป็นหัวๆ ต่อไป

         

       

    รูปภาพ หามาจาก Web site บรรยากาศคล้ายบ้านเรา เพื่อประกอบการบรรยาย

    ขนมหวาน ถ้าเป็นงานแต่งก็จะเป็น นางเล็ด นางว่าว ขนมกง สามเกลอ ข้าวเหนียวแดง  ไม่ทราบว่าสมัยนี้จะมีบ้านไหนทำกันหรือเปล่า เพราะค่อนข้างจะยุ่งยาก

    จัดสถานที่ เช่น การตัดกระดาษ ผูกริ้วกระดาษ สมัยก่อนคนเฒ่าคนแก่จะทำกันเอง โดยการนำกระดาษแก้วมาพับๆแล้วก็ตัด ผลที่ได้ออกมาไม่น่าเชื่อ พอคลี่กระดาษออกมา จะเป็นรูปสวยงาม ตอนนี้ไม่ทราบว่ามีคนทำได้หรือเปล่า น่าจะอนุรักษ์ไว้

    งานเลี้ยง อาหารยอดนิยมสมัยก่อน ก็น่าจะเป็นพวก แกงบอน, แกงหน่อไม้ดองใส่ฝักทอง, ต้มฝัก, แกงส้ม ฯลฯ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เป็นไปในทางโต๊ะจีนกันหมดแล้ว ส่วนขนมก็จะเป็น ลอดช่องไทยใบเตย ซึ่งก็ทำกันเอง

    เหล้า ผมไม่แน่ใจว่าสมัยเก่าๆ เลยนี้ จะหมักกินกันเองหรือเปล่า เพราะบางบ้านก็เห็นมีการหมักแป้งข้าวหมากเหมือนกัน แต่ที่แน่ๆ นี่คงจะไม่พ้น เหล้าขาว ๔๐ ดีกรี

                    เมื่อกาลเวลาผ่านไป เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็เข้ามาในชีวิตคนหนองบัวเรามากขึ้น ทำให้จะทำอะไรก็ต้องทำอย่างเร่งด่วน แข่งกับเวลา ไม่เว้นแม้แต่ การจัดงานเลี้ยงก็ต้องเร่งด่วนด้วย ทำให้ต้องใช้เงินเข้าไปซื้อหา แทนการทำกินทำใช้เอง ปัจจุบันนี้จัดเลี้ยงกันทีต้องมีเงินเป็นแสนๆ ถึงจะจัดงานกันได้ ก็ไม่ทราบว่าทุกวันนี้ประเพณีอย่างบวชนาคหมู่บ้านเรา มีจริงหรือเปล่า ถ้าผมนับปีไม่ผิด ๒๕๓๐ ตอนที่พี่ชายผมบวช (ตอนนี้อายุ ๔๕) ตอนนั้นไม่ทราบว่าใช่สมัย ท่านนายอำเภอสมหมาย หรือเปล่า มีการห้ามจัดงานเลี้ยงตามแต่ละบ้านกันเลย โดยให้ไปรวมจัดงานที่วัดใหญ่ที่เดียว และห้ามเลี้ยงเหล้าด้วย รู้สึกว่าเป็นการประหยัดอย่างมาก ถ้าทุกวันนี้ทำได้ ชาวหนองบัวเราคงไม่เป็นหนี้เป็นสิน ที่เกิดจากการจัดงานกัน

    ขอบคุณครับ

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล ,อ.วิรัตน์ และพี่น้องเวทีคนหนองบัวทุกท่าน

         ขอร่วมอาลัย"หลวงตามหาบัว"เกจิดังอีสานละสังขาร และขอร่วมส่งดวงวิญญาณของท่านหลวงตามหาบัวไปสู่สวรรค์ชั้นเทพ นิพพานด้วยครับ

     

    เวทีคนหนองบัวขอร่วมอาลัยแด่...
    หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนหรือพระธรรมวิสุทธิมงคล(อายุ ๙๘ ปี)

                                
                                อธิบายภาพ : (ขวา)สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ซ้าย)พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน(ถ่ายเมื่อ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี)ที่มา"รวมภาพหลวงตามหาบัว กับพ่อแม่พระเถรานุเถระ"http://www.watkoh.com/forum/index.php?topic=868.0

    ท่ามกลางบรรยากาศของการสูญเสียและอากาศที่หนาวเย็นทางภาคอีสาน

    ผมมีชิ้นข่าวเล็ก ๆ ที่น่าสนใจอยู่ชิ้นหนึ่งมาฝากครับ ........หลวงตามหาบัวแห่งวัดป่าบ้านตาด แขวงอุดรธานี ประเทศไทย ได้บริจาคเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ข้าวสาร/อาหารแห้งจำนวนหนึ่ง มูลค่า กว่า 5 ล้านบาท บรรทุกรถยนต์ 10 ล้อ 4 คัน รถกระบะ 5 คัน มอบให้แก่ ศูนย์ปิ้นปัวและฮักษาสุขภาพตา นครหลวงเวียงจันทน์และมูลนิธิซ่วยเหลือคนทุกข์ญากแห่ง สปป.ลาว ตัวแทนผู้รับมอบฝ่ายลาว ได้แก่ ฯพณฯ ดร.ปอนเมฆ ดาราลอย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข.

    ขอกราบคาวระแด่พระมหาเถระผู้มีสัลเลขธรรม

    พระเดชพระคุณพระธรรมวิสุทธิมงคล หรืออีกชื่อหนึ่งที่คนทั่วไปรู้จักกันดีคือหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระกรรมฐานผู้ลือนามแห่งแดนอีสาน กิตติศัพท์ของหลวงตาที่บรรดาศิษยานุศิษย์มักกล่าวขานถึงและรับรู้กันโดยทั่วไปคือความทุ่มเทฝึกหัดขัดเกลา ฝึกฝนพัฒนาตนอย่างอุกฤษฏิ์ ทำอะไรทำจริง มุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง ยิ่งการปฏิบัติธรรมภาวนาด้วยแล้ว สู้ชนิดเอาชีวิตเข้าแรก

    ในทางธรรมท่านถือว่าผู้ใดที่มีคุณสมบัติเช่นที่ว่านี้ ท่านเรียกว่าผู้มีสัลเลขธรรม มีสัลเลขปฏิบัติ หมายความว่าผู้ที่มุ่งมั่นฝึกฝนตนเอง ใส่ใจต่อการฝึกหัดขัดเกลาพัฒนาตน ฟาดฟันประหัตประหารต่อกิเลสอกุศลธรรมทั้งหลาย เรียกได้ว่าคือผู้กล้าหรือนักรบที่ต่อสู้กับอำนาจกิเลสต่างๆอันเป็นข้าศึกใหญ่หลวงของชีวิตมนุษย์ อย่างไม่มีท้อถอยเลย

    ด้วยบุคลิกจริงจัง ตรงไปตรงมา อาจหาญ จริงใจ แสดงเหตุผลไปตามธรรม บางครั้งในธรรมเทศนาของท่านย่อมมีบางท่านขัดเคืองใจบ้าง หลวงตานั้นไม่เพียงแต่ขัดเกลาตนเองเท่านั้น ท่านยังมีเมตตาเผื่อแผ่ขัดเกลาผู้อื่นด้วย แต่ด้วยท่าทีที่ขึงขังดุดันโผงผาง อาจมีคนมองว่าท่านขาดเมตตา ที่จริงไม่ใช่หรอก ที่ถูกคือท่านเป็นกัลยาณมิตรที่คอยตักเตือนเราอย่างห่วงใย และหวังดีต่างหาก

    ท่านบำเพ็ญประโยชน์ฝากไว้แก่โลกมากมาย มีคุณูปการต่อประเทศชาติพระศาสนาอย่างใหญ่หลวง จากนี้ไปก็จะเหลือแต่คุณงามความดี ให้ชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงอีกตราบนานเท่านาน

    ขอคาวระแด่ดวงวิญญาณหลวงตามหาบัวสัตตปุริเสยโย

                              
                                อธิบายภาพ : หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน(๒๔๕๖-๒๕๕๔)
                                วัดป่าบ้านตาด 
    อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

    ที่มาของภาพเว็บไซต์วัดป่าบ้านตาด http://www.moohin.com/054/054k003.shtml

    ขอทักทายคุณบุญเลิศ'เด็กเทพสักหน่อยนะครับ

    ขอแสดงความชื่นชมและเป็นกำลังใจนะครับในความเอาธุระหลายๆเรื่อง ทั้งสำหรับทั่วๆไปและสำหรับหนองบัว รวมจนถึงเวทีคนหนองบัวนี้ด้วย การเจียดความสนใจส่วนหนึ่งเชื่อมโยงให้โรงเรียนประถมศึกษาในหนองบัวได้มีโอกาสพัฒนาโครงการแล้วนำเสนอเข้ารับการพิจารณาให้การสนับสนุนของทรู กระทั่งหลายโรงเรียนได้มีระบบอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศ-สื่อสารการศึกษาเรียนรู้ไว้ใช้เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนนั้น ต้องนับว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยกย่องนะครับ

    หากมีโอกาสอีกในอนาคต และครู กลุ่มผู้ปกครอง รวมทั้งเครือข่ายผู้นำชุมชนของสถานศึกษาใดต้องการทำให้ 'กระบวนการให้และวิธีให้' มีความหมายต่อการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ด้วย ฝ่ายพัฒนาโครงการ CSR ของทรูในนามของ บ.ทรู, ท้องถิ่น, สถานศึกษา, เครือข่ายศิษย์เก่าและคนหนองบัว, เครือข่ายผู้นำด้านจิตใจ เครือข่ายคนหนองบัวและคนไทยในต่างแดน และเวทีคนหนองบัว อาจทดลองหาบทเรียนในการสร้าความร่วมมือกัน ในอันที่จะทำให้โรงเรียน การวมกลุ่มกันของเด็กๆและครู ได้พัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาระบบบริหารจัดการตนเองบนฐานของการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ก่อน จากนั้นจึงค่อยพัฒนาวิธีคิดและพัฒนาโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุน โดยวิธีอย่างนี้ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้การให้ความช่วยเหลือทอ้งถิ่น มีความหมายต่อการเรียนรู้ความเป็นเจ้าของและพัฒนาให้เกิดการรักความรู้ก่อนที่จะได้เทคโนโลยีทางความรู้ไปใช้ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสสร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นตามอีกหลายอย่าง แต่ที่ทำอยู่นั้นก็ดีมากแล้วครับ สิ่งที่ช่วยกันมองนี้เป็นเพียงหาทางทำให้ดียิ่งๆขึ้นเมื่อมีโอกาสเท่านั้น

    การช่วยกันรวบรวมข้อมูลและความรู้ด้านต่างๆจากประสบการณ์ชีวิตที่ได้อยู่ในชุมชนอย่างที่คุณบุญเลิศเริ่มลงแขกช่วยกันด้วยดีเป็นวิธีหนึ่งในการช่วยกันทำให้สังคมคนหนองบัวได้พัฒนาความเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และเห็นความสำคัญของการบูรณาการการเรียนรู้ชุมชนของตนเองเข้ากับการพัฒนาระบบบริหารจัดการที่พอเพียงกับเงื่อนไขของโลกาภิวัตน์และความเป็นท้องถิ่น ผมขอส่งเสริมแง่มุมนี้ของคุณบุญเลิศนะครับ ด้านหนึ่งก็ในความเป็นคนหนองบัวที่เอาธุระกับการนำความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เข้าไปถึงบ้านนอกคอกนาอย่างหนองบัวบ้านเกิดของเราด้วย และอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังเรียนรู้จากการทำจริงๆในการเป็น Social Marketting ผ่านโครงการ CSR ขององค์กรธุรกิจเอกชน โดยใช้วิธีการสร้างความรู้ท้องถิ่น บทเรียนอย่างนี้เป็นที่ต้องการมากสำหรับการพัฒนาบทบาทใหม่ๆขององค์กรธุรกิจเอกชนกับการพัฒนาอนาคตนที่ดีของสังคมและสิ่งแวดล้อมครับ สักวันหนึ่งเชื่อว่าจะได้เห็นคนหนองบัวไปถ่ายทอดบทเรียนที่ดีๆอย่างนี้ให้กับสาธารณะ

    ขอร่วมกับชาวหนองบัว
    กราบนมัสการกายธรรมและน้อมคารวะต่อการละสังขารของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ด้วยถึงพร้อมในความงดงามทุกประการฯ

    ต้องทำหมายเหตุไว้สักหน่อย น่าประทับใจดี

                                free counters

                                เริ่มนับจำนวนผู้อ่าน เมื่อ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๓

    นี่กลุ่มผู้อ่านและผู้ชมจากปลายทางที่สวีเดนของเวทีคนหนองบัว พวดพราดขึ้นมาเป็นอันดับที่ ๓ ด้วยจำนวน ๔๐ IP แซงจากญี่ปุ่นและตามไต้หวันไปแล้วนะครับ เลื่อนมาจากอันดับที่ ๙-๑๐ ของเมื่อเดือนที่ผ่านมานี่เอง

    เจริญพรอาจารย์สมบัติ

    วันนี้ได้รับจดหมายจากอาจารย์สมบัติ ฆ้อนทอง ที่อุตส่าห์มีน้ำใจส่งปฏิทินลาวไปมอบถวายอาตมาหนึ่งชุด เป็นปฏิทินที่สวยงาม ทันยุคทันสมัยมาก ได้ดูแล้วถูกใจหลายๆ ดูคนเดียวไม่พอ เลยขอนำภาพมาอวดเวทีคนหนองบัวด้วย ขออนุโมทนา เชิญชมได้เลยพี่น้อง

                      
                       อธิบายภาพ : ซองจดหมายที่ได้รับวันนี้(๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔)ส่งมาจากจังหวัดหนองคาย ภายในซองบรรจุปฏิทินตั้งโต๊ะขนาดเล็กคือปฏิทินลาว : สะบายดีปีใหม่ ๒๐๑๑(๒๕๕๔)จาก...อาจารย์สัมบัติ ฆ้อนทอง ข้อความภาษาลาวที่อยู่หน้าซองด้านล่าง อ่านแบบไทยได้ว่า"บริษัทประกันภัยแห่งประเทศลาว" ถ้าเขียนและสะกดออกเสียงแบบลาวน่าจะเขียนได้ประมาณนี้ "บอลิสัด ปะกันไพ แห่ง ปะเทดลาว"

          
           อธิบายภาพ : หน้าปกปฏิทินตั้งโต๊ะประเทศลาว ๒๕๕๔(สะบายดีปีใหม่ ๒๐๑๑)

          
           อธิบายภาพ : นางแบบ นายแบบปฏิทินตั้งโต๊ะประเทศลาว ๒๕๕๔(สะบายดีปีใหม่ ๒๐๑๑)

                              
                               อธิบายภาพ : ซองจดหมาย ลายเซ็นต์ลายมืออาจารย์สมบัติ ฆ้อนทอง นางแบบปฏิทินลาว ๒๕๕๔(สะบายดีปีใหม่ ๒๐๑๑)

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า  พระมหาแลฯ  ที่เคารพ

    ปฏิทินชุดเดียวกันนี้ผมได้ส่งไปพร้อมกับที่ส่งให้ท่านอาจารย์วิรัตน์ฯ และนายกฯอบต.ห้วยใหญ่  อำเภอหนองบัวบ้านเรา  ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ด้วยความอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่สปป.ลาวท่านหนึ่งคือ ท่านหรดี  วรราช  รองผู้อำนวยการใหญ่บริษัทประกันภัยแห่งประเทศลาว (อดีตปลัดกระทรวงการเงิน) จึงขอขอบพระคุณท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ.

    เรียนรู้ภาษาลาวจากปฏิทินลาว(สะบายดีปีใหม่ ๒๐๑๑/๒๕๕๔)

    เมื่อวาน(๒กุมภาพันธ์๒๕๕๔)ได้รับปฏิทินมาแล้วก็ดูว่ามีอะไรบ้าง เนื่องจากปฏิทินดังกล่าวจัดทำโดยบริษัทประกันภัยแห่งประเทศลาว ซึ่งบริษัทก็มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งประเทศลาวนั้นแบ่งการปกครองออกเป็น ๑๖ แขวง(จังหวัด)ชื่อแขวงต่างๆของลาวในปฏิทินก็เป็นภาษาลาว จึงได้ทดสอบอ่านและสะกดไปทีละคำ ก็พออ่านได้บ้าง ด้วยก่อนหน้านี้ก็ได้อ่านมาบ้างเล็กน้อย ชื่อทั้ง ๑๖ แขวงที่คัดลอกมานี้ไม่น่าคลาดเคลื่อน

    ขอบคุณผู้ส่งปฏิทินไปให้ด้วย ที่ทำให้ได้เรียนรู้ภาษาลาวในคราวนี้

                     
                      อธิบายภาพ : ข้อความลายมือที่เห็นอยู่ อาตมาภาพได้ทดลองฝึกเขียนภาษาลาวในชื่อแขวงต่างๆของประเทศลาวซึ่งมี ๑๖ แขวง(จังหวัด)ที่มีอยู่ในปฏิทินลาว(สะบายดีปีใหม่ ๒๐๑๑) ข้อความอาจจะอ่านยากไปบ้าง(เพราะเป็นมือใหม่หัดเขียน) แต่ก็ได้เขียนคำไทยไว้ในวงเล็บ ซึ่งเป็นเหมือนคำอ่านนั่นเอง

    เพื่อให้การเรียนรู้ร่วมกันชัดเจนดียิ่งขึ้น เลยขอนำชื่อแขวง ๑๖ แขวงของลาวมาลงไว้ด้วย ขอบคุณข้อมูลวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ๑. แขวงอัดตะปือ ๒. แขวงบ่อแก้ว ๓. แขวงบอลิคำไซ ๔. แขวงจำปาสัก ๕. แขวงหัวพัน ๖. แขวงคำม่วน ๗. แขวงหลวงน้ำทา ๘. แขวงหลวงพระบาง ๙. แขวงอุดมไซ ๑๐. แขวงพงสาลี ๑๑. แขวงสาละวัน ๑๒. แขวงสะหวันนะเขด ๑๓. แขวงเวียงจันทน์ ๑๔. แขวงไซยะบูลี ๑๕. แขวงเซกอง ๑๖. แขวงเชียงขวาง

    ขอแก้ไขคำในวงเล็บ คำว่าแขวงไซยะลี แก้เป็นแขวงไซยะบูลี

    วันนี้(๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔)มีผู้อ่านรายล่าสุดจากแดนไกลไพ้นคือประเทศแคนาดา มาเยี่ยมเวทีคนหนองบัวของเรา ขอต้อนรับมิตรต่างแดนด้วยความยินดี


    Canada

    เรียนภาษาลาวจากปฏิทินลาว(สะบายดีปีใหม่ ๒๐๑๑)

    วันนี้ขอเรียนรู้คำตามปฏิทิน เรียนแบบผู้ใหญ่สามารถนำไปใช้ได้เลย เพราะอักษรลาวส่วนใหญ่ก็คล้ายกับของไทยเราอยู่แล้ว อย่างวันทั้ง ๗ ที่นำมาเรียนรู้วันนี้ อาตมาเขียนเสร็จ ก่อนพิมพ์เผยแพร่ได้ทดสอบแบบเรียนนี้แล้ว โดยให้หลวงตาวัย๗๐ ปลายๆอ่าน ปรากฏท่านอ่านได้เกือบครบทุกคำ มีคำอังคารกับคำว่าพุธที่เขียนด้วยภาษาลาวเท่านั้นที่ท่านอ่านไม่มีเค้าความเดิมเหลือให้เห็นเลย อังคารท่านอ่านว่า ถาม,พุธ ท่านอ่าน ว่าพูด ถ้าเกรงจะสับสนก็ลองท่องวันทั้ง๗ในใจ แล้วอ่านเรียงไปตามลำดับ(เหมือนเด็กๆท่องจำวันต่างๆในหนึ่งสัปดาห์ ตั้งแต่วันอาทิตย์-วันเสาร์) ไม่ทราบว่าเรื่องนี้จะมีประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้บ้างไหม(ส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีบ้าง)

                        
                         อธิบายภาพ : วันทั้ง๗(อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์)นี้เขียนตามปฏิทินลาว(สะบายดีปีใหม่ ๒๐๑๑)ลาวใช้วิธีเขียนคำศัพท์ตามเสียงที่พูด ดูแล้วง่ายและตรงตัวดีด้วย เช่น ปฏิทิน ก็เขียนว่าปะติทิน วันจันทร์ ก็เขียนว่า วันจัน วันพฤหัสบดี ก็เขียนว่าวันพะหัด ฯลฯ

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล ที่เคารพ

       ได้อ่านภาษาลาวของวันทั้ง 7 แล้ว เห็นความต่าง 4 ประเด็นคือ

    1. ตัวสะกดแม่ กน  จะเขียนแทนด้วย  ม

    2. ตัวสะกดแม่ กก  จะเขียนแทนด้วย  ภ

    3. พยัญชนะ ถ  จะออกเสียงเป็น  ค

    4. การเขียน ง  จะลากลงยาวมากกว่าปกติ

    ไม่เข้าใจทำไมวันเสา ต้องเขียน เสิา ทำไมต้องมีสระ อิ

    ส่วนวันพฤหัสบดี  เคยได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่เขาก็เรียกกันมาว่า  วันพะหัด เหมือนภาษาลาวเลยนะครับ

         

    เจริญพรคุณธนกฤต

    ขอบคุณที่ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับภาษาลาว อาตมาเพิ่งอ่านไม่กี่วันเอง แต่ก็จะพยายามอธิบายตามความเข้าใจของตัวเองซึ่งมีอยู่เพียงน้อย เพื่อให้มีความเข้าใจถูกต้องตรงกัน เลยจะขอชี้แจงเบื้องต้นไว้ก่อนสักเล็กน้อย ในฐานะที่ไม่มีความรู้ภาษาลาวเลยนะ เพียงแค่ฝึกอ่านและยังอ่านไม่ออกอีกเยอะด้วย ส่วนข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องภาษาลาวนั้นคงต้องอาศัยผู้เขียนพจนานุกรมภาษาลาว ซึ่งท่านก็เป็นผู้รู้ในเรื่องนี้โดยตรงมาให้ข้อมูลความรู้อีกครั้ง คิดว่าคงสนุกและได้ความรู้อีกมากมาย โปรดรอสักครู่

    ข้อสังเกต ๔ ประเด็นของคุณธนกฤตคือ (๑)ตัวสะกดแม่กน จะเขียนแทนด้วย ม(๒)ตัวสะกดแม่กก จะเขียนแทนด้วย ภ(๓)พยัญชนะ ถ จะออกเสยงเป็น ค(๔)การเขียน ง จะลากลงยาวมากกว่าปกติ

    พยัญชนะ ม(ของลาว)ที่คุณธนกฤตตั้งข้อสังเกตนั้น คล้ายพยัญชนะ ม ของไทยมาก ซึ่งหลายท่านก็เข้าใจอย่างนั้นด้วย แต่ภาษาลาวถือว่าอักษรตัว(ม)นี้เป็น น ไม่ใช่ ม ถ้าจะบอกว่าแม่กนสะกดด้วย ม นั้น ต้องบอกว่า ม ของไทยคือ น ของลาว ก็ถูกต้อง ตัวอย่าง เวียงจันทน์(เขียนไทย) เขียนลาว เป็นเวียงจัม ถ้าไม่ทราบมาก่อนเราก็จะอ่านว่า เวียงจัม ตามความเข้าใจของคนไทย

    ตัวสะกดในแม่กก จะเขียนแทน ภ นี่ก็ไม่ใช่พอสำเพา(ภ)ตามความเข้าใจของเรา แต่พยัญชนะตัวนี้(ภ)ของลาว คือ กอ ไก่ ของไทย เช่น คำลาว วันสุภ อ่านว่าวันสุก ไม่ใช่วันสุภหรือวันสุบ คำนี้ตรงกับคำไทยว่า วันศุกร์นั่นเอง

    พยัญชนะ ถ ของลาวคือ(ค ควายของไทย) อักษรลาวตัวนี้(ถ)คล้ายพยัญชนะ ถอ ถุง ของไทย ตัวอย่าง คำลาว ทะมาถาน อ่านแบบไทยคงจะงงๆ แต่คำนี้คนไทยคุ้นเคยและรู้จักดีมากที่สุดในยุคนี้ ทะมาถานของลาวก็คือธนาคารนี่เอง(Bank) ง ของลาวจะลากลงยาวกว่าปกตินั้น เป็นการเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว อักษรตัวนี้(ง)ของลาวน่าจะสังเกตได้ง่ายและจำไม่ยาก

    เท่าที่สังเกตแบบคร่าวๆ ภาษาลาวคำที่สะกดด้วยแม่กก แม่กน แม่กม แม่กด แม่กง สระโ-ะ ,อั-ะ, อั-ว, เอา(เ-า) จะมีสระตัวหนึ่งคล้ายไม้หันอากาศ แต่อยู่ในลักษณะคว่ำอยู่บนพยัญชนะตัวต้นหรือคว่ำที่ตัวอักษร เช่น ตก คน คม วง อง หัว บัว พัว ยม สม ดม ลม ซง กม ค้น ถนน ชน ผล หมด เจ้า เซิ้ง ฯลฯ(เท่าที่มีข้อมูลอยู่ตอนนี้ หาคำศัพท์ได้ประมาณนี้แหละ) คนเฒ่าคนแก่หนองบัวเรียกวันฤหัสบดีว่าวันพะหัดทั้งนั้นเลย ขอผู้รู้มาช่วยอรรถาธิบายต่อหน่อยเด้อ        
    อธิบายภาพ : พยัญชนะลาว ๒๖ ตัวที่นำมาแสดงให้ดูนี้คือข้อมูลจากหนังสือถ้อยเสียงสำเนียงลาว คำศัพท์ ๓ ภาษา : ลาว-ไทย-อังกฤษ เขียนโดย สมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง(คนห้วยปลาเน่า-ห้วยวารี อำเภอหอนงบัว จังหวัดนครสวรรค์บ้านเรานี่เอง)

     

    เจริญพรคุณธนกฤต

    เรียนรู้ภาษาลาววันละเล็กวันละน้อยก็สนุกดีเหมือนกัน(เผื่อว่ามีเด็กๆนักเรียนนักศึกษาเดินหลงทางเข้ามาอ่าน อาจมีประโยชน์อานิสงส์แก่เขาบ้างสักนิด ก็ยังดี) วันนี้ขอนำอักษรลาวมาฝากคุณธนกฤตให้ดูเต็มๆเลย ต้นฉบับตัวเล็ก ลองถ่ายรูปจากต้นฉบับแล้วมองไม่เห็นตัวหนังสือ จึงใช้เครื่องปริ้นที่สแกนได้แทน เมื่อสแกนออกมาแล้วก็ชัดพอสมควรพออ่านได้


    อธิบายภาพ : ตารางเปรียบเทียบอักษร ลาว-ไทย จำนวน ๒๖ ตัว จากหนังสือถ้อยเสียงสำเนียงลาว คำศัพท์ ๓ ภาษา : ลาว-ไทย-อังกฤษ โดย สมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง(พ.ศ.๒๕๕๑)

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    นานๆแวะมาเยือนกันทีก็มักมีเรื่องราวจาก สปป.ลาว มาฝากกันให้ได้เห็นโลกรอบข้างไปด้วยเสมอๆเลยนะครับ พอได้ทราบผมก็กำลังรอมองทางอยู่ละครับว่าจะส่งถึงผมแล้วหรือยัง ดูจากในรูปแล้ว พูดแบบภาษาศิลปะ ก็ต้องบอกว่าบุคลิก อารมณ์ เรื่องราว และคุณภาพการทำสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งสะท้อนความเป็นเศรษฐกิจสังคมของ สปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้านของเราได้เหมือนกันนั้น เปลี่ยนไปมากจากเมื่อระยะ ๔-๕ ปีที่ผ่านมานี้นะครับ

    ผมเคยไปติดตามผล นักศึกษาและศิษย์เก่าที่จบการศึกษาจากมหิดลในสาขาสาธารณสุขมูลฐานของที่ทำงานเดิมของผมสักเมื่อ ๔-๕ ปีก่อน แล้วก็หาโอกาสดูงานที่เกี่ยวกับความสร้างสรรค์กับสื่อสิ่งตีพิมพ์ สื่อบันเทิง และสื่อต่างๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางความรู้และเป็นระบบจัดการวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์ของสังคม ก็รู้สึกและเห็นได้เลยครับว่าขาดแคลน ไม่หลากหลาย และคงจะขาดคนที่มีความสามารถที่จะขับเคลื่อนวงการทางด้านนี้มาก พอเห็นจากปฏิทินตั้งโต๊ะนี้แล้วก็พอจะเห็นว่าหลายอย่างได้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ก็อาจจะเป็นการผสมผสานกันของงานความคิดและการกุมสาระสำคัญ คงจะเป็นทีมของ สปป.ลาว ส่วนงานเชิงเทคนิค รวมทั้งการทำสื่อออกมาจริงๆ อาจจะทำในไทยนี่เอง

    อันที่จริง เดี๋ยวนี้ซอล์ฟแวร์สำหรับทำงานศิลปะสื่อนั้นก้าวหน้าและสามารถรองรับความสร้างสรรค์และการพึ่งตนเองในการทำสื่อได้ด้วยตนเองของคนทำงานสาขาต่างๆ รวมทั้งคนทั่วไปที่ีสนใจ ได้เป็นอย่างดีมากเลยทีเดียว อีกทั้งงานความคิดและการทำงานสร้างสรรค์ทางสื่อนั้น ของลาวก็เก่งและมีความเป็นตัวของตัวเองดีมากเลยละครับ ผมเคยไปเดินซื้อหนังสือและสื่อทางวรรณกรรมที่เขาทำให้แก่เด็ก กับสื่อเชิงสารคดีที่ให้การเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเป็นสังคมลาวมาสะสมไว้ชื่นชมเป็นส่วนตัวก็รู้สึกว่างาน Creative Idea กับงานเชิงอุดมคตินั้นงามดีครับ หากมีแหล่งประสบการณ์และแหล่งจัดแสดงให้เห็นผลงาน สะสมประสบการณ์ในการเห็นที่หลากหลายเพื่อช่วยเป็นกำลังดึงความคิดความสร้างสรรค์ออกมาใช้ ก็จะทำให้งานสื่อ ศิลปะ และพลังความสร้างสรรค์เหล่านี้มีบทบาทต่อสังคมมาก แต่ดูจากองค์ประกอบต่างๆในปฏิทินนี่ ก็ต่างจากเมื่อไม่นานมานี้มากทีเดียวนะครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
    สวัสดีคุณธนกฤตและทุกท่านในเวทีคนหนองบัวนะครับ

    วันนี้ผมปรับปรุงหน้าแรกของเวทีคนหนองบัวให้นะครับ เอาแผนที่และภาพถ่ายระยะไกลจากดาวเทียม แสดงที่ตั้งของอำเภอ และตัวเมืองอำเภอหนองบัวของเรา มาใส่ให้อีกอย่างหนึ่งครับ ดึงออกมาจาก wikimapia โดย google แล้วก็ใส่ข้อมูลระบุตำแหน่งกับรายละเอียดแสดงสถานที่สำคัญๆที่เป็นความเป็นหนองบัวไว้รวมๆ

    เห็นธงชาติแคนาดาที่แสดงถึงมีเพื่อนจากแคนาดามาเยือนเวทีคนหนองบัวแล้วทำให้คิดถึงเพื่อนชาวแคนาดาที่เคยไปเวิร์คช็อปการวิจัยชุมชนด้วยกันที่ไทยและที่ฟิลิปปินส์ ๒-๓ คนเลยทีเดียวครับ มีอยู่คนหนึ่งได้มีประสบการณ์ติดอยู่ในสนามบินของกรุงมะนิลาด้วยกันเป็นวันเพราะเขาเกิดการประท้วงและหยุดงานกัน ธงของแคนาดาสวย สะดุดตา และดูเรียบง่ายดีนะครับ

    การเรียนภาษาลาวอย่างในพจนานุกรม ลาว-ไทย-อังกฤษ ของคุณสมบัตินั้น เป็นการเรียนรู้สังคมและภูมิปัญญาอันลึกซึ้งของสังคมหนึ่งๆที่ลึกซึ้งแยบคายมากเลยนะครับ ใช้ภาษาเป็นหัวข้อเข้าไปรู้จักมิติต่างๆของสังคมได้อย่างบูรณาการรอบด้านมาก ขณะเดียวกัน ก็เรียนรู้ภาษาเอาไว้ใช้สื่อสารพูดคุย อ่านสื่อต่างๆ ไปด้วย ได้ดีมากอย่างยิ่งเลยครับ

    นมัสการพระมหาแล และสวัสดี ชาวเวทีหนองบัวทุกท่าน

    แวะ มาเยี่ยมค่ะ แวะมาหยิบเอาความรู้ต่างๆ ไปเป็นอาหารสมองค่ะ

    ตอนนี้ที่สวีเดน อากาศเริ่มอุ่น +5 หิมะเริ่มละลายนิดหน่อย แต่หิมะยังอยู่อีกเยอะก็ยังไม่หมดหน้าหนาวค่ะ ยังคงหนาวอีกหลายเดือน

    อัญชัน 

    เจริญพรคุณอัญชัน

    ขอบคุณคุณอัญชันที่แวะเยี่ยมบ้าน เห็นข้อมูลที่บอกว่าอากาศที่ประเทศสวีเดน+๕องศาเริ่มอุ่นหิมะเริ่มละลายแล้ว คนที่อยู่เมืองไทยฟังข่าวนี้แล้วหนาว....ตับเลยนะ นึกถึงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ช่วงหน้าหนาวได้นำเสื้อผ้าไปแจกชาวบ้านบนดอยสูงที่เชียงราย ถึงยอดดอยกลางดึก พักที่อาศรมสถานที่จำพรรษาของพระบัณฑิตอาสานิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นอนฟังเสียงน้ำค้างตก ยังนึกว่าเป็นเสียงฝนตกเสียอีก พื้นอาศรมซึ่งเป็นฟากไม้ไผ่นั้น เย็นแทบนอนไม่หลับ ตื่นเช้าไม่อยากล้างหน้าเลยแหละ

    ปีนี้ที่เมืองไทยหนาวกว่าหลายปีที่ผ่านมา และหนาวยาวนานกว่าด้วย อย่างนี้คงสมใจใครหลายคนที่เป็นคนเมือง ซึ่งไม่เคยสัมผัสหน้าหนาว เมื่อโหยหาความหนาว จึงต้องเดินทางออกจากบ้านไปตามหาความหนาวยังต่างจังหวัดเพื่อหาประสบการณ์ เมื่อได้เจอและสัมผัสความหนาวจึงรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย ดีอกดีใจ แต่คนที่อยู่บนดอยและขาดแคลนเครื่องอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตแทบทุกด้าน ช่างหนาวแสนหนาว ไม่อยากให้ถึงหน้าหนาวเลย

    ขอบคุณอาจารย์วิรัตน์ที่นำแผนที่เมืองหนองบัวมาใส่ไว้ในหน้าแรกเวทีคนหนองบัว ได้เห็นสถานที่สำคัญๆของชุมชนหลายแห่ง ดูแล้วก็ทำให้คนไกลบ้าน คิดถึงบ้าน แต่ก็ดีเหมือนกันทำให้รู้สึกว่าบ้านนั้นอยู่ใกล้แค่เอื้อมเอง

    คนหนองบัวกับการบันทึกความรู้จากประสบการณ์และแลกเปลี่ยนแบ่งปันกับทั่วไป

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล
    และสวัสดีทุกท่านในเวทีหนองบัวครับ

    ผมขอนมัสการกราบเรียนท่านพระอาจารย์มหาแล และขอถือโอกาสเรียนทุกท่านในเวทีคนหนองบัวบางประการนะครับ คือ ผมเห็นประสบการณ์ของทุกท่าน ทั้งจากการทำหน้าที่การงาน การใช้ชีวิต รวมทั้งความมีน้ำใจต่อการเจียดเวลาทำสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆดังเช่นเข้ามาบันทึก ถ่ายทอด สนทนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน โดยเฉพาะผ่านเวทีคนหนองบัวนี้แล้ว ก็เลยมีข้อสังเกตว่า ทุกท่านมีประสบการณ์ดีมากเลยละครับ รวมทั้งหลายท่านก็มีบทบาทการทำงานสำคัญๆทั้งในระดับประเทศและกว้างขวางไปถึงนานาชาติ เลยอยากเป็นกำลังใจและขอเสนอแนะสักเล็กน้อยนะครับว่า ไม่ต้องเขียนเฉพาะในเวทีคนหนองบัวนี้ แต่ออกไปเขียนเรื่องราวต่างๆแบ่งปันกับสาธารณะก็คงจะให้คุณูปการแก่สังคมวงกว้างอยู่ไม่น้อยนะครับ

    จำเพาะเวทีคนหนองบัวนี้ ลักษณะเวทีจะมีความเป็นพื้นที่ของเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะคนหนองบัวเรา อาจจะมีผู้สนใจจากทั่วไปบ้างที่มีความสนใจทั้งต่อชุมชนหนองบัวและต่อรูปแบบการใช้สื่ออย่างนี้แลกเปลี่ยนสื่อสารและทำความริเริ่มต่างๆด้วยกันได้อย่างกว้างขวางและมีแง่มุมที่ดีๆมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีความเป็นชุมชนจำเพาะมาก เลยนึกเสียดายว่าคนหนองบัวเก่งๆหลายคนจะลืมมองการเขียนแบบทั่วไปน่ะครับ จำเพาะที่ต้องการเขียนให้กับหนองบัวจึงค่อยมาร่วมกันเขียนในเวทีคนหนองบัวนี้ และทำให้เวทีหนองบัวเป็นแหล่งให้ประสบการณ์จริงของตนเองในการทำให้เป็นแหล่งความรู้และช่องทางการทำสิ่งดีๆแก่ส่วนรวมด้วยตัวเราเองไปตามกำลัง

    แต่ก็เป็นข้อสังเกตหรอกนะครับ เพราะการเขียนบล๊อกนี้ก็ใช้เวลา ความมีสมาธิ และความต้องทุ่มเทใจให้อยู่มากทีเดียว เกรงว่าทุกท่านที่มีประสบการณ์ดีๆและกว้างขวางจะจำกัดความสนใจตนเองลงแต่เพียงต่อเวทีคนหนองบัว เพราะผมเองแง่หนึ่งก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกันครับว่าเมื่อต้องการคุยเรื่องชุมชนและอยากยกตัวอย่างจากหนองบัวแล้ว หากไปเขียนในแบบทั่วๆไปก็ชักจะรู้สึกว่ามันบ่คือ ก็ต้องลงมาเขียนที่เวทีคนหนองบัวแล้วค่อยดึงออกไปเผยแพร่อย่างทั่วไปอีกทีหนึ่ง

    แต่กรณีผมนั้นอาจจะมีข้อที่เอื้อให้ทำกันไปอย่างคู่ขนานไปได้อยู่เรื่อยๆ แต่สำหรับหลายท่านที่เป็นคนหนองบัวที่เริ่มจากเวทีคนหนองบัวนี้แล้ว เลยได้ 'ความเป็นท้องถิ่นในชุมชนเล็กๆ' และเป็นบล๊อกเกอร์เฉพาะกลุ่ม ในขณะที่ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถกว้างขวางดีมาก เป็นข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆน่ะครับ 

    อย่างของคุณหลาน BlueFlower14 หรือ คุณอัญชัน น่ะครับ ประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกที่ต้องให้เขาได้บุคลิกและอุปนิสัยที่ผสมผสานได้ทั้งสังคมวัฒนธรรมของพ่อและแม่นั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจแก่ทั่วไปทั้งในปัจจุบันและอนาคตมากเลยครับ กรณีของคุณสมบัติ ฆ้อนทองนี่ไม่ต้องพูดถึงอีกเลย มีบทบาทในการทำงานกว้างขวางและสำคัญมาก แต่ก็อุตส่าห์เจียดเวลามาเขียนให้กับเวทีคนหนองบัวเป็นระยะๆ

    คุณเสวก ใยอินทร์และกลุ่มพริกเกลือนี่ก็เช่นกันครับ ประสบการณ์และแนวคิดดีมากเลยละครับ แต่พอจำกัดชื่อเวทีเป็นเฉพาะของคนหนองบัว คนทั่วไปที่สนใจและอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยก็อาจจะเดินเข้ามาไม่ถนัดครับ ท่านอื่นๆก็คล้ายกันครับ

    ในส่วนของเวทีคนหนองบัวนั้น ผมกำลังเห็นด้านที่เป็นโอกาสในการพัฒนาให้เป็นสื่อและเครือข่ายการทำงานด้วยกันในด้านที่ทำได้ผ่านสื่ออย่างนี้หลายเรื่องที่อยากจะร่วมพัฒนาให้เข้ามาเสริมเวทีนะครับ โดยเฉพาะการทำให้เป็นแหล่งสะสมความรู้ สื่อ และกลไกในการติดต่อประสานงานกัน ซึ่งต่อไปอาจจะสามารถออนไลน์กันได้เป็นอย่างดีมากยิ่งๆขึ้นอีกด้วย ที่สำคัญคือ พื้นฐานของการเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆที่ปรากฏในเวทีคนหนองบัวนี้ ในทรรศนะผมแล้วก็นับว่าเป็นพื้นฐานที่ดีมากอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการเครือข่ายบูรณาการที่มุ่งปฏิสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับสังคมได้อย่างทั่วถึงนับแต่ชุมชนเล็กๆในพื้นที่ไปจนถึงทั่วโลก โดยมุ่งประเด็นความสนใจที่เป็นประเด็นใหม่ๆและรูปแบบการเคลื่อนไหวด้วยกันในรูปแบบอื่นมีข้อจำกัด หรือแม้จะเป็นรูปแบบที่ผสมผสานกับวิทยาการจัดการความรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างนี้ ก็หาได้ยากที่จะมีพื้นฐานที่ดีอย่างเวทีคนหนองบัวของเรานี้

    แง่มุมนี้น่าสนใจมากและมีบทเรียนที่ดีที่เป็นประสบการณ์ตรงอยู่ในทุกท่าน สักระยะหนึ่งก็อยากถอดบท เรียนให้นะครับ

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล
    และขอสวัสดีทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

                            

    ผมนำเอาภาพถ่ายระยะไกลจากดาวเทียม ภาพถ่าย ภาพวาด และแผนที่ซ้อนบนภาพถ่ายระยะไกลจากดาวเทียมของอำเภอหนองบัวมาฝากทุกท่านที่นี่ครับ แผนที่ ภาพถ่าย และภาพถ่ายทางดาวเทียมอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ แสดงที่ตั้ง ภูมิประเทศโดยรอบ และตัวเมืองหนองบัว เป็นภาพที่แสดงที่ตั้งอำเภอหนองบัว ภูมิประเทศ และพื้นที่โดยรอบของอำเภอหนองบัวและจังหวัดนครสวรรค์ รวมทั้งมีภาพระยะใกล้เห็นรายละเอียดของศูนย์กลางชุมชนหนองบัวและแหล่งที่สำคัญหลายแห่ง เมื่อรวมเข้ากับข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆที่ช่วยกันสะสมรวบรวมไว้ในเวทีคนหนองบัวนี้ ก็จะเห็นว่า อำเภอหนองบัวจะมีข้อมูลที่รอบด้านทั้งมิติกายภาพ สังคม วัฒนธรรม  ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ และกิจกรรมของสังคมในพื้นที่อันหลากหลาย มากขึ้นเรื่อยๆครับ เชิญแวะไปชมครับ คุณหลาน BlueBird14 และทุกท่านที่อยู่สวีเดนกับต่างประเทศ ก็จะได้ดูให้คลายความคิดถึงบ้านได้บ้างนะครับ

    โจทย์สำหรับทำการกลับบ้านในช่วง กุมภาพันธ์-เมษายน ให้เป็นโอกาสบันทึกเรื่องราวดีๆ
    เทศกาลปีใหม่จีน เทศกาลงานประจำปีหนองบัว และปีใหม่ไทย

    ในช่วงกุมภาพันธ์-เมษายน นี้ เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่คนหนองบัวจะถือโอกาสกลับบ้านหนองบัว ไปเยี่ยมเยือนบ้านเกิด ไปหาพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ไปหาครูบาอาจารย์ ไปพบปะเพื่อฝูง ซึ่งก็เป็นช่วงที่หนองบัวจะมีเทศกาลต่อเนื่อง คร่อมงานประจำปีเกาะลอย ผมเลยเตรียมหัวข้อเรื่องที่ท่านที่กลับบ้าน รวมทั้งลูกหลานและคนหนองบัวที่อยู่บ้านอยู่แล้ว ที่เห็นโอกาสทำกิจกรรมดีๆไปด้วย จะได้ใช้เป็นแนวเก็บบันทึกและรวบรวมข้อมูลไปด้วยกัน เข้าไปดูรายละเอียดที่นี่ครับ โจทย์วิจัยสำหรับนักวิจัยอาสาเพื่อช่วยกันสะสมข้อมูล สร้างความรู้ และบันทึกความเป็นหนองบัวในช่วงเทศกาลงานประจำปีหนองบัว ๒๕๕๔ 

    แนวการหามุมมองและเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ นอกจากจะเป็นการค่อยๆช่วยกันทำให้หนองบัวมีสื่อและแแหล่งข้อมูลที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งก็ได้ทำด้วยแนวคิดที่แตกต่างหลากหลายกันไปแล้ว ก็จะเป็นการเตรียมความรู้และความคิดที่จะต้องใช้ รวมทั้งได้ซักซ้อมให้คนหนองบัวได้มีโอกาสซักซ้อมและศึกษาทบทวนเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆของหนองบัวด้วยตนเองได้ดีขึ้น เพื่อที่เมื่อจัดเวทีคนหนองบัวในเรื่องต่างๆที่ได้มีผู้สนใจและเสนอไว้ต่อไปแล้ว ก็จะได้พอมีคนที่จะสามารถเข้ามาช่วยกันคิดและเพิ่มโอกาสการริเริ่มสิ่งดีๆที่ต้องการได้มากยิ่งๆขึ้นครับ

    เมื่อวาน(๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔)มีเพื่อนต่างแดนรายล่าสุดจากอเมริกาใต้คือชาวบราซิลมาเยี่ยมชมเวทีคนหนองบัวของเรา ประเทศบราซิลมีประชากรกว่าร้อยเก้าสิบล้านคน(๑๙๑ ล้านคน ข้อมูล ๒๕๕๒)ผู้มาเยี่ยมเมื่อวานถือเป็นท่านแรก


    Brazil
    Brazil (Last Visited February 6,2011)
    บราซิลหรือชื่อทางการสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ และใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ ๕ ของโลก

     

    สวัสดีครับทุกท่านครับ

    ขณะนี้ผมอยู่ที่โรงแรมอนุพาราไดส์  นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาวครับครับ  คิดถึงชาวหนองบัวจึงเข้ามาเวบนี้  เมื่อวันพฤหัสฯผมบินจากอุดรเข้ากรุงเทพฯ - ไปเชียงใหม่-จากเชียใหม่กลับกรุงเทพฯ-อุดรฯ-หนองคาย เข้ามาประชุมทีเวียงจันทน์เมื่อเช้านี้เอง  ตอนอยู่เชียงใหม่ให้นึกถึงท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ  เคยผ่านตาว่าท่านอาจารย์วิรัตน์มีบ้านอยู่ที่เชียงใหม่ด้วย  ผมไปพักแถว ๆ โลตัส อำเภอหางดงครับ

    ตอนบินอยู่เหนือสะพานเดชาติวงศ์  ก็นึกถึงหนองบัวบ้านเรา  แต่ด้วยความสูง 9 - 10 กิโลเมตรพยายามมองไปทางหนองบัวก็เห็นแต่เมฆกับหมอก

    ขณะอยู่เหนือน่านฟ้า  ในสมองย้อนนึกถึงสมัยเด็ก ๆ เลี้ยงควายอยู่ที่ห้วยปลาเน่า/ทำไร่อยู่ที่เขาดิน  เคยมองไปบนท้องฟ้าเห็นเครื่องบินบินอยู่เหนือหัวยังคิดว่ามันบินได้อย่างไร  เส้นทางนั้นน่าจะเป็นเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลกนะครับ เพราะเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ไม่ผ่านหนองบัวบ้านเราเลย

    วันนี้ประชุมทั้งวัน  พรุ่งนี้มีประชุมต่อ  ขออนุญาตเพียงเท่านี้ก่อน  สวัสดัครับ

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล
    และสวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    ตอนนี้ที่ สปป.ลาวคงหนาวน่าดูเลยกระมังครับ วันนี้ได้รับปฏิทินจาก สปป.ลาวที่คุณสมบัติกรุณาส่งไปให้เป็นที่ระลึกแล้วด้วยความขอบคุณยิ่งครับ ได้ความแปลกตาและให้จินตนาการกว้างขวางดีครับ

                            

                              

                             

     

    บ้านผมอยู่ไม่ไกลจากโลตัสหางดงหรอกครับ อยู่บนเส้นทางผ่านอีกด้วยครับ เพิ่งจะทำบุญขึ้นบ้านใหม่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เองครับ ขอให้มีความสุขและประสบความสำเร็จในภารกิจการไปประชุมอย่างดีทุกประการครับ

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล,อ.วิรัตน์,พี่สมบัติ และทุกท่าน ครับ

           สมัยตอนเป็นเด็กที่หนองบัวจะมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย  สามารถดำเนินชีวิตแค่เพียงปัจจัย 4 ก็อยู่ได้อย่างมีความสุข   แต่พอเติบใหญ่เข้าสู่สังคมอีกรูปแบบ จนเข้าสู่วัยทำงาน รูปแบบการใช้ชีวิตก็จะเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของสังคมนั้นๆ  ตอนผมเริ่มทำงานใหม่

     เริ่มมีเงินเดือนเป็นของตัวเองก็จะเริ่มใช้ชีวิตตามกระแสของสังคม แต่พอทำงานผ่านไปกว่าสิบปี  นึกย้อนกลับไปถึงชีวิตตอนเด็กๆ ที่หนองบัว ซึ่งเป็นชีวิตที่เรียบง่ายทำไมเราถึงมีความสุขได้   เริ่มน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง  มาปรับใช้กับชีวิตตนเอง ก็พบว่าปรัชญาดังกล่าวสามารถปรับใช้กับทุกสังคมจริงๆ ครับ   

           ภาพถ่ายบ้าน อ.วิรัตน์ ดูบรรยากาศ สงบ ร่มรื่นดีครับ

           

    สวัสดีครับคุณธนกฤตครับ

    แง่มุมอย่างที่คุณธนกฤตพูดถึงนี้ หากได้จัดเวทีนั่งเสวนากันที่หนองบัว ผมอยากให้เป็นหัวข้อหนึ่งที่ให้คนหนองบัวที่มีประสบการณ์ชีวิตและมีบทเรียนดีๆ ได้นั่งเสวนา ถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนทรรศนะ และให้วิธีคิดแก่คนหนองบัว ทั้งที่อยู่กับหนองบัวและที่อาจจะมีโอกาสเดินทางออกจากหนองบัวไปทำมาหากินหรือศึกษาต่อ เพื่อที่จะได้เป็นการออกไปเผชิญโลกกว้างอย่างคนที่มีแนวคิดและได้เตรียมตัวเตรียมใจเลือกสรรการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งทำชีวิตให้เป็นโอกาสที่ดีและเหมาะสมกับเงื่อนไขของเราเองให้มากที่สุด น่าจะดีนะครับ ได้พบปะพูดคุย ชวนกันคิดและชวนกันมอง คนฟังก็ได้ประโยชน์

    สวัสดีทุกทุกๆ ท่านค่ะ

    แวะมาทักทายก่อนเข้านอน ตอนนี้ที่สวีเดน เกือบเที่ยงคืนครึ่งแล้วค่ะ วันนี้นอนดึกกว่าปกติเพราะยังติดค้างเรื่องอ่านหนังสือใบขับขี่ไม่เข้าใจเลย ต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างก่อนจะหลับตานอนได้

    พี่สมบัติคะ จินตนาการเหมือนดิฉันเลยว่า สมัยอยู่หนองบัว เวลาเครื่องบิน บินบนฟ้า มันบินได้อย่างไรนะ แล้วก็วิ่งตาม ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้ขึ้นเครื่องบิน เมื่อดิฉันได้ขึ้นเครื่องบินแล้ว เลยได้พาแม่ขี้นเครื่องบินด้วยบินไปภูเก็ต แล้วเค้าจับฉลากชื่อแม่ได้นั่ง ชั้นธุรกิจ โอย..เจ้านายดิฉันยังแซวว่า แหม..แม่ได้นั่งเครื่องครั้งแรกก็ได้ที่หรูเชียว ไปเที่ยวกับบริษัท ตอนทำงานน่ะคะ

    อ.วิรัตน์ ค่ะ บ้านที่เชียงใหม่น่าอยู่จัง ดิฉันชอบที่มีสระบัวค่ะ

    ธนกฤษ..เราเห็นด้วยนะ สมัยเราเด็กๆ อยู่หนองบัว บ้านเราเรียบง่ายมากกกกกกกกกกกกก ไม่ว่าเรื่องอาหาร การทำนา เวลากลับหนองบัวทีไร อดนึกถึงบรรยากาศเรียบง่าย แบบตอนเด็กๆ มาก ยังถามพวกป้าๆ และ ญาติๆ ว่า ทำไมเดี๋ยวนี้ เวลาไปทำบุญทีวัด ทำไม ขนม หรือ กับข้าว ซ้ำๆ กันไปหมด ไม่เห็นทำกันเอง เหมือนเมื่อตอนเราเด็กๆ เลย ป้า บอกว่า ซื้อง่ายดี สะดวกดี เฮ่อ...พระเลยฉันแต่ของที่มีขายตามตลาดเท่านั้น ไม่ได้ฉันฝีมือชาวบ้านแต่ละบ้านเลย

    ราตรีสวัสดิ์ จากสวีเดนค่ะ

    อัญชัน

     

    สวัสดีครับคุณอัญชันครับ

    แสดงว่าตอนนี้ที่เมืองไทยหกโมงเย็น ที่สวีเดนก็กำลังจะสว่างละสิครับ เหมือนเป็นการสนทนากันทะลุมิติเลยนะครับ พอเขียนทิ้งไว้แล้ว คุณอัญชันก็เพิ่งจะตื่นนอนและลุกขึ้นมาอ่านเมื่อตอนพรรคพวกที่อยู่เมืองไทยอาจจะกำลังนอนหลับ จังหวะชีวิตอยู่คนละวงจรเลย แปลกแต่ก็น่าประทับใจดีนะครับ ตอนนี้ผู้อ่านเวทีคนหนองบัวจากสวีเดนเกิน ๕๐ IP ไปแล้วละครับ หากเป็นคนไทยที่อยู่ที่สวีเดนก็สงสัยว่ากำลังคิดถึงบ้านและเข้ามาเยือนเวทีคนหนองบัวเพื่อได้เห็นชีวิตและความเคลื่อนไหวในสื่อชุมชนออนไลน์ของเวทีคนหนองบัว ขอร่วมดีใจที่สื่อนี้ได้ช่วยให้ผู้คนห่างไกลได้พบปะสื่อสารและนำสิ่งต่างๆมาแบ่งปันกันครับ

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    ช่วงนี้อุณหภูมิที่เชียงใหม่-หนองคาย-เวียงจันทน์น่าจะใกล้เคียงกันนะครับคือเช้า ๆ ประมาณ 14-16 องศา  ตอนอยู่ที่เชียงใหม่หากทราบว่าบ้านอาจารย์อยู่ใกล้แค่นั้นจะเข้าไปนั้งพักและขอน้ำดื่มสักแก้ว  ดูในภาพแล้วบรรยากาศร่มรื่นและเป็นธรรมชาติดีจัง

    ขณะนั่งประชุมที่ลาว  ในใจก็นึกถึงคนไทยเชื้อสายจีนโดยเฉพาะคนจีนในตลาดหนองบัว/ชุมแสงบ้านเราน่ะครับ  คือ อีก4 ปีข้างหน้ารถไฟสายคุนหมิง - เวียงจันทน์  จะเริ่มเปิดให้บริการได้โดยจะเริ่มลงมือก่อสร้างปลายเดือนเมษายนที่จะถึงนี้  ด้วยการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลลาว-จีน ใช้กรรมกรชาวจีนประมาณ 20.000 คน ระยะทางจากชายแดนจีน-ลาว ถึงชายแดนไทย-ลาวที่หนองคาย 441 ก.ม.  ความเร็วรถ 200 ก.ม.ต่อชั่วโมง  คราวนี้คนไทยเชื้อสายจีนก็จะสามาถกลับไปเยี่ยมถิ่นฐานบรรพบุรุษที่เมืองจีนได้ง่าย/เร็วและประหยัดกว่าในอดีตมาก

    กรรมกรจีนนี้ทรหดอดทน  ขยันขันแข็งดีจริง ๆ ครับ ผมเคยเห็นช่วงที่เดินทางจากชายแดนลาว -เข้าเเชียงรุ้ง - ต่อไปคุนหมิง เขาทำงานตากแดดตากฝน  หามรุ่งหามค่ำ นุ่งกางเกงขาก๊วย/เสื้อไม่ใส่ ทำงานทุบหิน/ระเบิดหิน  ทำตอม่อ  เจาะอุโมงค์ทะลุทะลวง  ดูเหมือนเป็นงานง่าย ๆ เมื่อนึกย้อนกลับไปในอดีตและได้ไปปีนกำแพงเมืองจีนแล้ว  ทำให้หายสงสัยเลยว่าทำไมคนจีนถึงได้สร้างกำแพงเมืองจีนขึ้นมาให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกได้

    สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

    แจ้งเรื่องเวลานิดหนึ่งค่ะ ยุโรปจะมีช่วงเวลาที่ต้องเปลี่ยนเลื่อนเข้าและออกสองช่วงคือช่วงหน้าร้อนกับหน้าหนาวค่ะ ก็คล้ายกับอเมริกาเวลาต่างกันกับเมืองไทย ต่างกันในแต่ละรัฐด้วยค่ะ

    ตอนนี้ สวีเดน (ยุโรป)ใช้เวลาช่วงหน้าหนาวค่ะ (ปลายเดือนตุลาคมถึงปลายเดือนมีนาคม) จะช้ากว่าไทย ๖ ชม. ค่ะ

    จากนั้น จะเปลี่ยนเป็นเวลาหน้าร้อนค่ะ จากช่วงปลายเดือน มีนาคม จนถึง ปลายเดือน ตุลาคม จะหมุนเข็มนาฬิกาเดินหน้าไปอีก ๑ ชม. ทำให้ ช้าจากเมืองไทย ๕ ชั่วโมงค่ะ

    ช่วงเวลาหน้าร้อนที่สวีเดน (ยุโรป) จะมีช่วงเวลากลางคืนทีน้อยมาก กว่าจะมืดหรือสิ้นแสงพระอาทิตย์ก็ ๓ทุ่มหรือ๔ทุ่มค่ะ ส่วนตอนเช้าแสงสว่างก็จะมาตี ๓ หรือ ตี ๔ เรียกได้ว่า ช่วงหน้าร้อน มืดจริงๆ สัก ๕ หรือ ๖ ชั่วโมง

    ๒ทุ่มนี่ยังมีแสงแดดเหมือนกับ ๔ โมงเย็นบ้าน หากเป็นทางเหนือสุดของสวีเดน หรือ ประเทศนอร์เวย์ จะมีพระอาทิตย์ถึงเที่ยงคืนค่ะ ที่เค้าบอกว่าไปดูพระอาทิตย์เที่ยงคืนน่ะค่ะ

    ส่วนช่วงหน้าหนาวก็จะสลับกับหน้าร้อนค่ะ คือ แสงสว่างจะน้อย มืดเร็วสว่างช้าค่ะ

    ตอนนี้เช้าของสวีเดนค่ะ เวลาประมาณ 08.15 นาฬิกา และบ้านเราก็เป็นช่วงบ่ายแก่ คือ14.15 นาฬิกา ค่ะ

    ดิฉันต้องขอตัวไปจัดการอาหารเช้าให้ลูกๆ ก่อนค่ะ

    อรุณสวัสดิ์ จากสวีเดนค่ะ

    อัญชัน

     

    วันนี้ได้เข้าไปดูเว็บไซต์วิกิพีเดีย เห็นข้อมูลอำเภอต่างๆทั้ง๑๕อำเภอในจังหวัดนครสวรรค์ ประมาณสิบกว่าอำเภอยังไม่มีข้อมูลเลย ยังเป็นสุญญากาศ หาความเป็นมาเรื่องราวต่างๆในชุมชนไม่ได้ แม้แต่อำเภอเมืองครสวรรค์ก็มีข้อมูลน้อยมาก อำเภอที่พอจะมีข้อมูลเรื่องราวความเป็นมาให้ค้นคว้าศึกษาหาความรู้ได้บ้าง มีอยู่ ๓ อำเภอคืออำเภอตาคลี อำเภอโกรกพระ และอำเภอหนองบัว

    พูดอย่างไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไปแล้วละก็ ข้อมูลประวัติอำเภอทั้งสิบห้าอำเภอเฉพาะในวิกิพีเดียแห่งเดียวเท่านั้น หนองบัวบ้านเราดูจะมีข้อมูลเยอะกว่าทุกอำเภอเลย ถือว่าน่าพอใจไม่น้อย

                                           
                                            อธิบายภาพ : บ้านคนหนองบัว -นหองกลับ เป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง สร้างเชื่อมต่อกันหลายหลังเป็นครอบครัวใหญ่(สำนวนป้าหมอหนิม : "ไก่บินไม่ตก" คือครอบครัวใดมีลูกสาวกี่คนก็ปลูกบ้านเรือนติดกันหมด นอกชานเล่นถึงกันหมด มีลูกสาว ๕ คน ก็ปลูกเรือน ๕ หลัง) ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

                                           
                                            อธิบายภาพ : รถตุ๊กตุ๊ก(ด้านหน้า)ลวดลายแสดงให้เห็นความเป็นช่างศิลป์หนองบัว ภาพจากวิกิพีเดียว สารานุกรมเสรี

    พิสูจน์อักษรคำผิด คำนหองกลับ แก้เป็นหนองกลับ คำวิกิพิเดียว แก้เป็นวิกิพีเดีย

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    การเดินทางและทำกิจกรรมเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมรวมทั้งได้เห็นวิถีชีวิต ผู้คน ความต่างบ้านต่างเมืองของกันและกัน คงจะทำให้สังคมในภูมิภาคนี้มีความเคลื่อนไหวและพัฒนาตัวเองไปอย่างรวดเร็วและชาวบ้าน ชุมชน ก็สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงบนสิ่งที่อยู่ในวิถีวิตของตนเองด้วยกันมากขึ้นนะครับ พัฒนาความร่วมมือกันอย่างนี้ดีกว่าต่อสู้ ขัดแย้ง และทำสงครามกันอีกนะครับ ในอนาคตคงจะเป็นเส้นทางหนึ่งที่น่าเดินทางมากเลย

    สวัสดีครับคุณหลานอัญชันครับ
    รวมทั้งขอสวัสดีคนไทยในสวีเดนและครอบครัวไปด้วยเลยครับ
    มีภาพงามๆมาฝากเป็นกำนัล เป็นสิริมงคล และเพื่อเป็นกำลังใจครับ

                             

    ภาพนี้ได้จากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันเสาร์ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ หรือฉบับประจำวันนี้ของประเทศไทย เป็นภาพข่าวรายงานเนื่องในพระบรมราชวโรกาสที่พระราชธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเจริญพระราชสันถวะไมตรี ระหว่างที่องค์พระประมุขและสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์และทรงเยี่ยมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อกลางวันผมเดินไปทานข้าวและได้เห็นภาพนี้จากหนังสือพิมพ์ก็เลยนึกถึงคุณอัญชันกับคนไทยและผู้อ่านเวทีคนหนองบัวจากสวีเดน เลยตั้งใจที่จะเอามาฝากน่ะครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลครับ
    นอกจากในวิกิพีเดียแล้ว ในแหล่งที่จัดเก็บและรวบรวมให้เข้าถึงได้ โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์นี้ หนองบัวก็มีข้อมูล ความรู้ และเรื่องราวที่บันทึกรวบรวมไว้ให้คนเข้าถึงได้ดีกว่าแทบจะทุกอำเภอเลยนะครับ ฝีมือทำรถอีแต๋นของช่างชาวบ้านนี่ สวยงามและสร้างสีสันชีวิตเกษตรกรชนบทให้มีชีวิตชีวาดีจริงๆมากเลยนะครับ ดูแล้วเห็นความเป็นชีวิตจิตใจและน่ารื่นรมย์ใจดีเหมือนกันนะครับ

    สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์

    ขอบคุณค่ะ สำหรับภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์

    ดิฉันได้ดูข่าวนี้จาก สดข่าวพระราชสำนัก จากโทรทัศน์ผ่านดาวเทียวของ ททบ.๕ เช่นกัน ค่ะ ยังเรียกสามีมาดูด้วยกัน

    ดิฉันชอบให้ลูกๆ ดูข่าว พระราชสำนัก และสอนให้เค้ารักในหลวงค่ะ

    ช่วงนี้สวีเดนกลับมาหนาวอีกค่ะ หิมะตก และอากาศ ติดลบ ถึง -16 องศา ค่ะ

    หนาวแบบนี้ คิดถึงอากาศร้อนๆ บ้านเรานะคะ

    อัญชัน

     

    สวัสดีครับคุณหลานอัญชันครับ
    จริงด้วยนะครับ ในอีกสังคมหนึ่งที่หนาวจะแย่
    ก็รู้สึกคิดถึงแสงแดดและอากาศร้อนๆ

    "...ทำไมเดี๋ยวนี้ เวลาไปทำบุญที่วัด ทำไม ขนม หรือ กับข้าว ซ้ำๆ กันไปหมด ไม่เห็นทำกันเอง เหมือนเมื่อตอนเราเด็กๆ เลย ป้าบอกว่า ซื้อง่ายดี สะดวกดี เฮ่อ...พระเลยฉันแต่ของที่มีขายตามตลาดเท่านั้น ไม่ได้ฉันฝีมือชาวบ้านแต่ละบ้านเลย..."
    คุณอัญชันได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องวัตถุสิ่งของทำบุญ(สังฆทาน-ภัตตาหาร)ไว้เมื่อ(๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔)ที่ผ่านมานี้เอง ขอร่วมแลกเปลี่ยนและตั้งข้อสังเกตประเด็นนี้ด้วยคน ในทัศนะผู้เขียนแล้วปรากฏการณ์นี้เป็นพัฒนาการทางสังคมอย่างหนึ่ง แล้วก็อาจจะสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ด้วยเหมือนกัน

    เช่น สมัยก่อน ชุมชนโดยทั่วไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ หรือระดับตำบลก็ตามน้อยมากที่จะมีร้านขายข้าวแกง ถึงแม้จะมีอยู่บ้าง ก็คงไม่มีชาวบ้านคนใดที่จะมาซื้ออาหารคาวหวานไปถวายพระ หรือซื้อไปทำบุญ เพราะชาวบ้านยุคก่อนนั้นนิยมทำเอง ทำเป็นกันทุกบ้าน ทุกครัวเรือน

    หญิงไทยมีความโดดเด่นหลายด้าน ด้านหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง และถือเป็นความดีของสตรีไทยด้วย ซึ่งความดีนี้เป็นเสน่ห์มัดใจชายมาแต่โบราณ แต่ต่อมาอาจจืดจางไปบ้าง นั่นก็คือเสน่ห์ปลายจวัก หมายถึงความสามารถทางด้านการดูแลเรื่องอาหารการกิน การทำกับข้าว กับปลาได้รสชาติอันเลิศถูกปากยิ่งนัก แถมด้วยการบ้านการเรือนไม่บกพร่อง ทำนองนี้แหละเรียกว่าเสน่ห์ปลายจวัก

    อย่างวัดที่อาตมาอยู่นี้มีพระประมาณยี่สิบรูป สายบิณฑบาตห้าหกสาย รายรอบวัดหลายหมู่บ้าน ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาหารบิณฑบาตคงจะมีอย่างหลากหลาย ไม่มีซ้ำ ถึงจะเป็นอย่างเดียวกัน แต่ก็คนละบ้าน แต่บัดนี้ ก็เป็นเหมือนคุณอัญชันว่าไว้เลย คืออาหารคาวหวานส่วนใหญ่เหมือนกัน อย่างเดียวกันเลย เมื่อทราบความจริงแล้ว จึงหายสงกา อาหารทุกสายรอบวัดก็คืออาหารจากร้านค้าในตลาดนั่นเอง เดี่ยวนี้ไม่ใช่เฉพาะผู้ทำงานในเมืองหรือมนุษย์เงินเดือนเท่านั้นที่ใช้บริการร้านอาหาร ชาวบ้านชาวนา ชาวไร่ ก็นิยมใช้บริการแบบนี้เช่นกัน เพราะสะดวกดีอย่างว่า

    คนรุ่นเก่าหรือรุ่นกลางเก่ากลางใหม่จำนวนมาก ก็ยังทำกินเป็น ยังแสดงบทบาทในความเป็นแม่บ้านแม่เรือนเก่งอยู่โดยเฉพาะคนชนบท แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าคนรุ่นใหม่สาวยุคใหม่ผู้มีความมั่นใจในตนเองสูง จะยังมีความภูมิใจในบทบาทนี้อยู่มากน้อยเพียงใด(ถามสายลมและแสงแดด).

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    จริงเจ้าค่ะ พระคุณเจ้าเดี๋ยวนี้ ใครๆ ก็พึ่งร้านขายข้าวแกงกัน

    ตอนสมัยที่ดิฉันยังเด็กๆ อาศัยอยู่หนองบัวไม่เคยรู้จักเลยค่ะ แกงถุง แม่ทำกับข้าวเองตลอด นานๆๆๆๆๆๆๆๆ จะได้กินก๋วยเตี๋ยวสักที มีร้านขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ร้านเดียวในละแวกหมู่บ้านของดิฉัน คือร้านขายก๋วยเตี๋ยว รวมถึงร้านขายของชำ ของ "ป้าลองและลุงบก" อยู่ตรงหมู่บ้านบ่อสะเดา ใกล้ๆ กับสระน้ำค่ะ ดิฉันจำชื่อไม่ได้แล้ว (บ้านดิฉันอยู่หนองกลับหมู่ กำนันเทียน) ซึ่งป้าลองแกจะเป็นคนใจดี ก๋วยเตี๋ยวถุงละ ๕ บาทกินกันได้ทั้งครอบ เวลาซื้อก๋วยเตี๋ยวมาที ก็จะเอามากินกันทั้งครอบครัว แบบว่า กินกับข้าวด้วย โอย..นึกแล้วก็แสนจะอร่อย เรื่องนี้ก็ผ่านมา ๓๐ ปีได้แล้วค่ะ

    เสน่ห์ปลายจวัก คำนี้ เห็นด้วยค่ะ เพราะทุกวันนี้ แม่ดิฉันยังไม่พึ่งแกงถุงเลยค่ะ ทำเองตลอด

    ส่วนตัวดิฉันเอง ตอนอยู่หนองบัวก็ดูแม่ทำตามประสาเด็กๆ พอจบ ม.๖ เข้ากรุงเทพฯ ก็ไม่พ้นร้านข้าวแกงค่ะ เนื่องจากสะดวกประหยัด อยู่หอพักไม่มีครัว

    พอได้ย้ายมาอยู่สวีเดน ถึงได้เริ่มเรียนทำอาหารใหม่อีกครั้ง ในความโชคร้ายกลายเป็นโชคดี เมืองที่ดิฉันอยู่เล็กมากๆ คนอาศัยอยู่น้อย ไม่มีร้านอาหารไทย แต่ยังดีที่มี เครื่องปรุงจากไทยมาขาย

    ดิฉันหัดทำกับข้าวเองแทบทุกอย่างจาก ง่ายๆ ไปจนถึงยากๆ  แม่มาเยี่ยม ทุกปี แม่ยังแปลกใจและชม เพราะอาหารบางอย่างแม่ยังไม่เคยกินเลย

    ทุกปี เวลาแม่มาเยี่ยม สั่งได้เหมือนร้านอาหารตามสั่งไปจนถึงภัตาคารค่ะ รวมถึงการถสนอาหาร แปรรูปอาหารสารพัด

    ไม่ได้เข้าข้างตัวเองนะคะ แต่จะบอกว่า การทำอาหารมันเป็นศิลปะ อย่างหนึ่งค่ะ ไม่ว่าเราอยู่ที่ไหนก็ตามหากเรารักและใส่ใจในการทำอาหาร มันก็เป็นกิจกรรมของครอบครัว เราทำเองก็ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ ทำให้เรารู้ว่า เราใส่อะไรลงไป สะอาดแค่ไหน เราไม่ได้ต่อว่าแม่ค้าข้าวแกงว่าเค้าทำไม่สะอาดหรือไม่ดีนะคะ แต่ของขายเค้าก็ต้องทำให้สมราคาค่ะ

    อัญชัน

    เจริญพรคุณอัญชัน

    ขอบคุณที่เล่าขานแบ่งปันประสบการณ์อันน่าประทับใจให้ได้เรียนรู้ ตอนแรกที่เจอปัญหาดูเหมือนสถานการณ์นั้นจะเป็นวิกฤติใช่ไหม เมื่อพ้นจากจุดวิกฤติมาได้ วิกฤตินั้นจึงกลายเป็นโอกาสไปเลย เข้าทำนองที่ว่าปัญหาสร้างปัญญา ปัญหาสร้างทางออกนั่นเชียว

    วันนี้มีภาพจริงมาฝากคุณอัญชัน เมื่อประมาณปลายปี๒๕๕๓มีเด็กมัธยมฯ(ม.๔)บ้านอยู่ในเมืองพิษณุโลกมาเยี่ยมเยียน ช่วงนั้นมีศิษย์เก่ามจร.มาพักค้างที่กุฏิอาตมาพอดี อดีตเปรียญท่านนี้ทำกับข้าวกับปลาเก่งหลาย ไม่รู้อย่างไรวันนั้นนึกถึงการหุงข้าวเช็ดน้ำขึ้นมา เนื่องจากอาตมาไม่ได้หุงข้าวเตาถ่านมาหลายสิบปีแล้ว เกือบลืมไปแล้วเหมือนกัน แต่ยังพอทำได้ เลยใช้จังหวะนั้นชักชวนวัยรุ่นหุงข้าวซะเลย สอบถามเขาบอกว่ายังไม่เคยหุงข้าวเตาถ่านมาก่อน

    วันนั้นต้องไปยืมอุปกรณ์ทุกอย่างจากหลวงตามีเตาอั้งโล่พร้อมถ่าน หม้อหุงข้าว ไม่มีไม้ขัดหม้อ ต้องทำไม้ขัดหม้อให้เขาด้วย เมื่ออุปกรณ์พร้อม ก็ลงมือปฏิบัติการที่บริเวณหน้ากุฏี ทุกขั้นตอนอาตมาต้องคอยแนะตลอด วันนั้นหุงข้าวกล้องจากสังฆทานที่ญาติโยมถวายมา หุงเสร็จแล้วนำไปถวายหลวงตา ท่านชมว่าหุงเก่งนี่ ใช้ได้ๆ ไม่ได้ฉันน้ำข้าวมาน้านนาน พอฉันแล้วทำให้นึกถึงบรรยากาศตอนไปนอนนาตะหงิดๆเลย หน้าตาเป็นอย่างไรเชิญชมได้

                          

                             
                              หุงข้าวเช็ดน้ำ : ในภาพเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ทดลองฝึกประสบการณ์หุงข้าวเช็ดน้ำ เมื่อปลายปี ๒๕๕๓ ที่กุฏิอาตมา วัดศรีโสภณ ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
                     

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    ขอบคุณค่ะ ที่นำภาพการหุงข้าวแบบเช็ดน้ำด้วยเตาถ่านมาฝาก

    ซึ่งดิฉันคุ้นเคยดี เมื่อสัก เกือบ ๓๐ ปีที่แล้ว

    ขอแก้คำผิดค่ะจากความเห็นเมื่อวาน คือ "ถนอมอาหาร"

    ซึ่งที่นี่ หากฝรั่งบ้างบ้านเค้าจะกินข้าว เค้าก็ใช้หม้อธรรมดาหุง เพราะเค้านานๆ จะกินข้าวกันสักทีเลยไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า อาหารหลักของเค้าก็มันฝรั่ง พวกเส้นพาสต้าต่างๆ

    ส่วนบ้านดิฉันเอง มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้าสะดวกดีค่ะ เพราะ กินข้าวกันแทบทุกวัน แถมใช้หุงข้าวเหนียวอีกค่ะ

    อัญชัน

    ปล.สมัยเด็กๆ ดิฉันไปเยี่ยมตายาย ที่หมู่บ้าน ต.ดินทอง อ.วังทอง ช่วงปิดเทอม คิดว่าวัดที่พระคุณเจ้าอยู่คงไม่ไกลกันกับหมู่บ้านที่ดิฉันเคยไปค่ะ

     

    ร้านขายของชำของ"ป้าลองลุกบก"ที่คุณอัญชันกล่าวถึงนี้ อาตมาจำได้ ร้านค้านี้อยู่ข้างสระน้ำชื่อสระควง(พลวง)และมีบ่อน้ำซึมหน้าบ้านท่านคือบ่อยายโหมนในปัจจุบัน(ชื่อเดิมชาวบ้านเรียกว่าบ่ออีโหมน)

    ที่บอกว่าจำได้นั้น ก็เพราะว่าเมื่อก่อนทางเดินหรือถนนหนทางในปัจจุบันนี้ เมื่อก่อนเป็นสอกทางเกวียนทั้งหมด สอกหรือทางเกวียนนี้คนรุ่นคุณอัญชันต้องจำได้แน่เลย และสอกในบ้านเรานี้เองที่เป็นทางระบายน้ำอย่างดีที่สุด น้ำมากเพียงใดก็ไม่เคยท่วมหนองบัวเป็นอันขาดจะบอกให้ ฤดูน้ำหลากน้ำท่วม น้ำไหลแรงมาก แรงถึงขนาดเด็กๆไม่สามารถยืนต้านได้ แต่เด็กๆก็ชอบเล่นน้ำด้วยการลอยคอในสอกนี้กันอย่างสนุกสนานมากด้วยแหละ

    กิจกรรมของผู้ใหญ่หน้าน้ำหลากที่เห็นอยู่ประจำในสอกตามหมู่บ้านต่างๆนี้ก็คือการสู้กระซิว(ปลาซิว)ยังจำได้ไหมหนอสู้ปลากระซิวเนี่ย ที่จำได้ดีอย่างหนึ่งก็คือหน้าน้ำนี่แหละ ทุกวันต้องขี่ควายผ่านหน้าบ้านท่านเพื่อนำไปเลี้ยงที่ป่าเหนือเขาพระเขามรกต.

      ศิลปะแห่งชีวิตและการให้ประสบการณ์ตรงแก่ชีวิต  

    ได้อ่านการถ่ายทอดชีวิตการเป็นอยู่ เรื่องราวความทรงจำ และการได้ถ่ายทอดสิ่งที่สะท้อนพื้นฐานความดีงามในชีวิตอย่างเช่นการทำอยู่ทำกินและการเลือกสรรเพื่อปฏิบัติสิ่งต่างๆให้สะท้อนรสนิยมและคติชีวิตที่ดีอยู่เสมออย่างที่คุณหลานอัญชันเล่าถ่ายทอดให้ฟัง รวมทั้งที่ท่านพระอาจารย์มหาแลท่านร่วมแบ่งปันสนทนาๆไปด้วยแล้ว นอกจากจะได้ความคิดดีๆหลายเรื่องเกิดขึ้นแล้ว ก็กำลังได้เห็นบรรยากาศการปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่กำลังก่อรูปเล็กๆน้อยๆขึ้นในเวทีคนหนองบัวที่ให้ความเป็นหมู่บ้านโลก หรือ Global Village ที่น่าประทับใจดีครับ

    เห็นด้วยที่คุณหลานอัญชันบอกว่าการทำอาหารเป็นศิลปะอย่างหนึ่งมากเลยนะครับ อีกทั้งเป็นศิลปะที่ขับเคลื่อนชีวิตและวิถีชุมชนต่อเนื่องไปอีกหลายอย่างเลยทีเดียว ทำให้เกิดคันไทยที่งดงามของชาวหนองบัวที่ใช้เป็นเครื่องดองของลูกหลานคนหนุ่มคนสาวด้วย ทำให้เกิดการทำเกวียนที่ฝีมือดี ทำให้เกิดกระต่ายขูดมะพร้าวที่สวยงาม ทำให้เกิดสาแหรกและกระต้า รวมทั้งไม้คาน ที่สวยงามและสอดคล้องต่อการใช้สอยในวิถีชีวิต เป็นศิลปะที่สื่อสะท้อนชีวิต จิตใจ และการจารึกความเป็นจิตวิญญาณชีวิตชุมชนอย่างยิ่งเลยนะครับ

    เวลาไปต่างที่ต่างถิ่น ต่างสังคมวัฒนธรรมนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมเองก็ต้องหาโอกาสทำให้แก่ตนเองไปด้วยให้ได้คือการหาอาหารท้องถิ่นกินและลองลิ้มรสชาติดู มันเหมือนกับได้มุ่งเข้าไปผูกพันและเป็นชีวิตจิตใจเดียวกันของผู้คน

    กิจกรรมเล็กๆน้อยๆอย่างที่พระคุณเจ้าได้ให้เห็นความสำคัญอย่างการได้ลองหุงข้าวกินเองของเด็กที่มาวัดนั้นก็เลยจะมีความหมายมากเลยนะครับสำหรับการได้เรียนรู้ชีวิตและทำความทรงจำให้กับตนเองจากการมีประสบการณ์ตรงที่ทำด้วยตนเอง เลยทั้งได้กินข้าวและก็คงจะเป็นประสบการณ์ต่อโลกและชีวิตที่ให้ความงดงามและดีงาม เป็นทุนชีวิตสำหรับการได้นำมาเป็นพลังทำสิ่งดีๆเมื่อต้องพึ่งตนเองในอนาคต อย่างที่คนรุ่นเราก็กำลังนำเรื่องราวก่อนเก่าที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายและคนรุ่นเก่าๆได้พาทำและทำไว้ให้ซึ่งเมื่อก่อนก็คงไม่มีกำลังปัญญาที่จะเห็นคุณค่าและความหมาย แต่เมื่อผ่านไปก็กลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและให้ความผูกพันในชีวิต เป็นพื้นฐานจิตใจที่ดีงามและทำให้ได้ความสำนึกกตัญญูต่อสังคมที่ได้ก่อเกิดและอยู่อาศัย การพาเด็กๆและผู้คนที่อยู่ด้วยกันให้ทำประสบการณ์ดีๆในชีวิตสะสมเป็นทุนชีวิตด้วยกัน รวมทั้งการทำอาหารและการอยู่การกิน จึงเป็นศิลปะแห่งชีวิตและเป็นศิลปะการเรียนรู้เพื่อเติบโตและงอกงามในชีวิตมากจริงๆเลยนะครับ

    ระหว่างที่ได้อ่านและเกิดความคิดดีๆอย่างมากไปด้วยแล้ว ผมเองก็กำลังได้เห็นเวทีคนหนองบัวเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่สร้างการเรียนรู้ให้กันด้วยเรื่องราวของความเป็นท้องถิ่นและเรื่องราวที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา แต่เชื่อมโยงกันกว้างขวางครอบคลุมการรับรู้ได้กว้างขวางในระดับโลก ที่สำคัญคือเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นให้แก่ตนเองของคนหนองบัว เป็นประสบการณ์ตรงที่ทำกับมือตนเองได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดูแล้วช่างน่าประทับใจและสร้างความอัศจรรย์ใจได้ดีจริงๆครับ 

      ถึงเบิ้มและเพื่อนๆหนองคอกนะครับ 

    วันนี้ซุ่งล้ำบอกไว้ว่าจะจัดงานบวชลูกชายคนเล็กและเข้าโสถ์อุปสมบทพรุ่งนี้ แต่เดิมนั้นผมว่าจะถือโอกาสได้กลับไปหนองบัวและได้เจอเพื่อนๆ ได้นั่งคุย ได้นั่งฟังเพลงจากพิมทิพย์และนักร้องเสียงดีจากเพื่อนๆหลายคน แต่ไม่ได้ไปแล้วนะครับเพราะต้องนั่งเขียนงานที่จะต้องให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้านี้อยู่ชิ้นสองชิ้นครับ ฝากรำลึกถึงทุกคนและขอให้มีความสุขทุกคนเน้อ

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล , สวัสดีท่านอ.วิรัตน์ ,เพื่อนอัญชัญ และเวทีคนหนองบัวทุกท่าน

           เห็นภาพของบ้านใต้ถุนสูงตัวเรือนติดกัน  ภาพรถตุ๊กๆ    ภาพหุงข้าวเช็ดน้ำด้วยเตาถ่าน รวมถึงเรื่องราวการทำอาหารคาวหวานของชุมชนคนหนองบัวในอดีต ซึ่งน่าจะเป็นภาพในความทรงจำของอีกหลายๆคนที่เคยผ่านชีวิต ช่วงเวลาหนึ่งในอดีตที่หนองบัว เลยละครับ

      ปล.ช่วงนี้ภาระกิจมากเหลือเกินถึงกลางปี แต่ก็จะหาเวลาเข้ามาแสดงความคิดเห็นครับ

    สวัสดีท่านอ.วิรัตน์

               เมื่องานบวชลูกชายคนเล็กประธานซุ่งล้ำนึกว่าเพื่อนจะมาพอเปิดดูที่ข้อความ

    เห็นมีงานยุ่งมากไม่เป็นไรงานนี้พลาด ยังมีอีกงานคืองานบวชลูกชายรองสืบศักดิ์

    กินเลี้ยงวันที่ 26 ก.พ.บวชวันที่ 27 ก.พ.ตอนเช้า ถ้ามาได้ก็มาน้ะครับคิดถึงอยาก

    คุยด้วยครับผม

                                                                               เบิ้ม หนองบัวรายงาน

    ขอนำอักษรลาวที่มีรูปพยัญชนะต่างจากอักษรไทยและอ่านค่อนข้างยากมาฝากคุณธนกฤต ๕ ตัว โดยอักษร ๕ ตัวนี้ถ้าไม่เคยอ่านมาก่อนเลย อาจจะสะกดผิด หรืออาจจะอ่านไม่ออกก็เป็นได้ ได้ลองพิจารณาดูแล้วแค่อ่านไม่กี่ตัวบางทีก็ยังเดาผิดเดาถูก(ถ้าคำศัพท์ใช้อักษรลาวคงสนุกไม่น้อย-คำศัพท์ในหนังสือเป็นภาษาลาวแต่เขียนด้วยอักษรไทย แต่ดีตรงที่ได้ฝึกสะกดออกเสียงตามรูปวรรณยุกต์)

    เห็นความยากในการทำงานชิ้นนี้แล้วเลยทำให้นึกถึงความตั้งใจความเพียรพยายามของผู้เขียน ในแง่มุมทางการศึกษาแล้วถือว่ามีคุณค่าและเป็นประโยชน์ในวงกว้างอย่างมาก

                          
                           หน้าปกหนังสือ : ถ้อยเสียงสำเนียงลาว คำศัพท์ ๓ ภาษา
                           (ลาว-ไทย- อังกฤษ)โดย สมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง

                             
                               อักษรลาว ๕ ตัว : ตัวแรกซ้ายบน อ่านว่า ง.งัว(งอ งัว -ลาว) ง.งู(ไทย) ขวาบน ด.เด็ก ตัวซ้ายล่าง น.นก(นอ นก -ลาว) น.หนู(ไทย) ล่างกลาง ผ.เผิ้ง(ผอ เผิ้ง -ลาว) ผ.ผึ้ง(ไทย) ตัวขวาล่าง ฝ.ฝน(ฝอ ฝน -ลาว) ฝ.ฝา(ไทย)

     

    สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์วิรัตน์

                  แหววเป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นศิษย์เก่าหนองบัว และตอนนี้กำลังลาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ดีใจที่ได้รู้จักคนหนองบัวที่มีชื่อเสียง และตอนนี้ก็อยู่หนองบัว เป็นครูสายผู้สอน เป็นลูกศิษย์ของท่านรองสืบศักดิ์ค่ะ ยินดีที่ได้เข้ามาเวปนี้ที่มีคนหนองบัวยังอยากเห็นหนองบัวเจริญค่ะ เพราะเดี๋ยวนี้หนองบัวไม่เหมือนเมื่อก่อน ความเจริญเข้ามามากมาย จนบางครั้งแหววยังกลัวว่าจะทำให้เด็กรุ่นหลังลืมความเป็นหนองบัว และไม่น่ารัก แหววรุ่นเดียวกันกับอัญชัญและก็ติดต่อกับอัญชัญตลอด แหววจะเข้ามาคุยด้วยนะคะ เพราะอยากเป็นนักวิชาการเหมือนอาจารย์ค่ะ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
    สวัสดีคุณธนกฤต เพื่อนเบิ้ม และว่าที่ดอกเตอร์แหววครับ

    การเรียนรู้เรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้านนี่ดูงดงามดีนะครับ อย่างผลงานถ้อยเสียงสำเนียงลาวของคุณสมบัติเล่มนี้ ทำให้ได้ความรอบรู้ทางวัฒนธรรมและงานทางปัญญาของ สปป.ลาวมากมายเลยนะครับ เป็นหนึ่งในการเรียนรู้ที่จะเคารพกัน รูปคมชัดและสวยงามมากเลยนะครับ

    ขอต้อนรับคุณครูแหวว : คุณครูยุพิน รอดประพันธ์ สู่เวทีหนองบัวของเราด้วยความยินดีมากเลยนะครับ รวมทั้งรู้สึกดีใจ-ร่วมภูมิใจมากไปด้วยหลายเรื่อง โดยเฉพาะที่ได้ทราบว่าคุณครูแหววเป็นศิษย์เก่าของหนองบัวและกำลังทำปริญญาเอก อีกทั้งเป็นเพื่อนของคุณอัญชันด้วย รู้สึกถึงความเป็นแหล่งพูดคุย ปรึกษาหารือ แบ่งปันประสบการณ์ และนำสิ่งดีๆมามาคิดและทำ ทั้งเพื่อหนองบัวและเพื่อสังคมวงกว้าง ที่ให้บรรยากาศดีมากเลยนะครับ เข้ามาคุยและถือเป็นเจ้าภาพที่จะสามารถนำเอาเรื่องราวต่างๆที่อยากสะสมไว้เป็นวัตถุดิบหรือเรื่องราวความรู้ สำหรับใช้ทำสิ่งต่างๆได้ต่อไป ตามความสะดวกเลยนะครับ

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล และสวัสดี อ.วิรัตน์และชาวเวทีหนองบัวทุกท่านค่ะ

    จำได้เจ้าค่ะพระคุณเจ้า หน้าบ้านดิฉันเป็นสอก เวลาเดินในสอกดิฉันชอบเก็บเม็ดตระกร่ำ เม็ดสีดำส้ม สวยมาก หากเม็ดอ่อนๆ ก็จะมาร้อยเป็นสร้อย เดี๋ยวนี้ไม่เคยเห็นแล้ว และ อีกอย่างมีลูกเล็บเหยี่ยว(ไม่ทราบเรียกถูกหรือเปล่าค่ะ)ที่กินได้ด้วย

    เวลาหน้าน้ำก็มีปลาซิว (การสู้กระซิว(ปลาซิว)ยังจำได้ไหมหนอสู้ปลากระซิวเนี่ย)จำได้ค่ะ 

    นี่เพิ่งได้กินปลาซิวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาค่ะ เพื่อนคนไทยเค้ากลับบ้านที่เมืองไทยบ้านเค้าอยู่อยุธยา น้ำท่วมบ้านเค้าค่ะ เค้าเลยสู้กระซิว ใส่เกลือเอามาฝาก กินกับแกงส้มค่ะ

    ค่ะ อ.วิรัตน์ การทำอาหารเป็นศิลปะอย่างหนึ่งและยังเป็นกิจกรรมที่ดีนำหรับคนในครอบครัวด้วยค่ะ

    แถบประเทศสวีเดนที่ดิฉันอาศัยอยู่ วันหยุดเสาร์อาทิตย์ เค้าจะนิยมอยู่กันแต่ในบ้าน กินข้าวด้วยกัน ทำกับข้าวกันเอง

    เพราะส่วนมาก เสาร์อาทิตย์พวกร้านขายของต่างๆ จะปิดค่ะ ไม่ค่อยเปิดหรือหากเปิดก็แค่ครึ่งวันค่ะ

    เร็วจังเลยนะคะ ลูกชายคนเล็ก อ.สืบศักดิ์ จะบวชแล้ว ฝากอนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

    ยินดีต้อนรับแหววนะจ้ะ และขอให้เรียนจบเร็วๆ

    อัญชัน

    ตากล่ำ - เล็บเหยี่ยว

    วันนี้ขอนำภาพเมล็ดตากล่ำ ลูกเล็บเหยี่ยวมาฝากคุณอัญชัน ที่คุณอัญชันกล่าวว่าไม่ได้เจอต้นไม้เหล่านี้มานานแล้วนั้นก็พอจะเข้าใจได้ เพราะไม่ได้อยู่ในเมืองไทย ส่วนคนที่อยู่ในเมืองไทยอย่างอาตมาเอง ก็ไม่ได้พบเห็นมานานหลายสิบปีแล้วเช่นกัน ตากล่ำมีหลายชื่อ เช่น มะกล่ำตาหนู,มะกล่ำเครือ,กล่ำตาไก่,มะกล่ำแดง,ตากล่ำ,กล่ำเคือ,ตาดำตาแดง ส่วนเล็บเหยี่ยวก็มีหลายชื่อเหมือนกัน เช่น เล็บแมว หนามเล็บเหยี่ยว มะตันขอ หมากหนาม(เหนือ) บักเล็บแมว(อีสาน)

    พอจะนึกออกตามที่คุณอัญชันพูดถึงเก็บเมล็ดตระกร่ำที่ขึ้นอยู่ตามกอไผ่สีสุกในสอก นอกจากจะนำเมล็ดอ่อนมาร้อยเป็นสร้อยแล้ว เมล็ดที่แก่จัดๆจะแข็งมากด้วย เหมาะสำหรับกิจกรรมอย่างหนึ่งที่พวกเด็กผู้ชายจนถึงวัยรุ่นและผู้ใหญ่สมัยนั้นนิยมเล่นกันในหน้าแล้งโดยนำเมล็ดตากล่ำมาเป็นอุปกรณ์ในการเล่น เดี่ยววันหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่ากิจกรรมที่ว่านั้นคืออะไร 

    ภาพนี้คุณอัญชันเห็นแล้ว คิดว่าต้องคิดถึงบ้านที่หนองบัวแน่เลย                              

                                           
                                           ภาพแรก : ตากล่ำ

                               
           
            ภาพที่ ๒,๓ : ตากล่ำฝักอ่อนสีเขียวและเมล็ดตากล่ำเมื่อแก่จะมีสีแดง
                               
                              
    ภาพที่ ๔ : เล็บเหยี่ยวผลอ่อนสีเขียว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อแก่หรือสุกจะสีดำ กินได้รสหวานอมเปรี้ยว

    ขอบคุณข้อมูลภาพจากเว็บ
    http://gotoknow.org/blog/jomduang/411079(เพชรน้ำหนึ่ง-อนุรักษ์"ผักพื้นบ้าน"-"บะตันขอ")
    http://www.pompernpong.net/board/index.php?topic=366.0
    http://www.saiyathai.com/herb/745000.htm


    กราบนมัสการพระอาจารย์ สวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ และสวัสดีทุกท่านชาวเวทีหนองบัวค่ะ

                   อาทิตย์นี้แหววคงต้องไปงานของครูซะหน่อย เพราะครูท่านอุตส่าห์ให้ไปเฝ้าตั้งแต่วันที่ครูผู้หญิงไปคลอดน้องน่ะค่ะ ดีใจนะคะที่มีเวทีคนหนองบัว เพราะอย่างน้อยแหววเองยังอยากเป็นตัวอย่างเพื่อให้เด็กรุ่นหลัง มองเห็นว่าชุมชนของเราน่าอยู่ และเราสามารถที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ในชุมชนของเราได้โดยไม่ต้องอายใคร รวมทั้งอยากให้เด็ก ๆมองเห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เลยต้องไปเรียนเพื่อให้เป็นตัวอย่างกับเด็กน่ะค่ะ แต่ก็ดีใจนะคะที่ได้แวะเข้าทักทายกับทุกท่านค่ะ แล้วแหววจะแวะเข้ามาเรื่อย ๆค่ะ

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล
    สวัสดีคุณหลายอัญชัน ว่าที่ดอกเตอร์คุณครูแหวว
    และทุกท่านครับ

    ต้นเล็บเหยี่ยวนี่เมื่อก่อนนี้เยอะจริงๆเลยนะครับ เหมือนขนมและของกินเล่นสำหรับเด็กๆเวลาออกไปเลี้ยงควาย แถวบ้านผมที่บ้านตาลินก็เยอะครับ ยิ่งแถวป่าหนองคอกนั้นก็ยิ่งเยอะ เก็บกินไม่หวาดไม่ไหว

    ฝากคุณครูแหววแสดงความดีใจและอนุโมทนากับ ผช.สืบศักดิ์ด้วยนะครับ เสาร์-อาทิตย์นี้คงจะยังไม่ได้มาหนองบัวแล้วก็คงไม่ได้ไปร่วมบวชหลาน ช่วงนี้นักศึกษากำลังเขียนวิทยานิพนธ์และเกือบปิดภาคทฤษฎีแล้ว เลยพอมีเวลานั่งเขียนงานให้ต่อเนื่องหน่อย

    แต่วันนี้ก็จะได้เจอเพื่อนๆหนองคอกหลายคนที่เป็นเพื่อนๆของอาจารย์สืบศักดิ์ด้วยน่ะครับ อัยการประเวศ รักษพล ศาลปกครองกลาง อาจารย์ทองสุข อยู่ศรี ผู้อำนวยการสำนักงานการประถมศึกษา เขตพื้นที่ ๒ จังหวัดกำแพงเพชร คนชุมชนวัดเทพสุทธาวาสเหมือนคุณหลานอัญชัน หมอออมรเทพ วีรนิติเวชสาร โรงพยาบาลกลาง กรุงเทพมหานคร แล้วก็รักษ์ พี่ชายของคุณฉิก  และรองศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต จาก มสธ. พรรคพวกชักชวนกันเพื่อได้พบปะและกินข้าวด้วยกันกับอาจารย์ทองสุขที่ไปประชุมที่กรุงเทพฯเสร็จแล้ว ผมนี่อยากเจออาจารย์ทองสุขมากเลย เพราะตั้งแต่จบจากหนองคอกกันแล้วกว่า ๓๐ ปี ก็ไม่เคยเจอกันเลย

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล และ สวัสดีอาจารย์วิรัตน์ และสวัสดีชาวเวทีหนองบัวทุกท่าน

    ขอบพระคุณพระอาจารย์พี่นำภาพ ของเมล็ดตระกร่ำมาฝากค่ะ

    แหม...เห็นภาพลูกเล็บเหยี่ยว แล้วอยากกินขึ้นมาทันที น้ำลายไหลเลยค่ะ นานเลยวสิบปีแล้วตั้งแต่เค้าเปลี่ยนสอกเป็นถนนก็ไม่เคยได้กินอีกเลย

    เห็นภาพพวกนนี้คิดถึงหนองบัวจริงๆ คิดถึง วัฒนธรรม, อาหาร ของพื้นบ้านต่างๆ ซึ่งทุกวันนี้นับวันจะจางหายไป

    ดีใจกับเพื่อนๆ ที่ยังคงได้กลับมาทำงานหนองบัวบ้านเกิด เช่น ครูแหวว

    อัญชัน

     

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล
    และสวัสดีทุกท่านครับ

    รูปและข้อมูลความเป็นท้องถิ่น ทางด้านสิ่งแวดล้อมและพืชพรรณอย่างนี้ ถ่ายเก็บไว้แล้วก็รวบรวมข้อมูลที่เป็นความรู้ท้องถิ่นนำมาเผยแพร่สะสมไปด้วยกันเรื่อยๆก็คงจะดีไม่น้อยเลยนะครับ เวลาผมได้กลับบ้านหรือไปไหนก็อดไม่ได้ที่มักจะนำกล้องติดมือไปด้วยแล้วก็ถ่ายรูปเก็บไว้ก่อน เดี๋ยวนี้สภาพแวดล้อมต่างๆเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากเลยนะครับ หลายอย่างเหลือไว้ให้ดูได้แต่ในรูปถ่าย 

    เมื่อวานนี้(๒๖ กุมภาพันธ์๒๕๕๔)เดินทางไปงานศพที่วัดใหญ่: วัดหนองกลับ อำเภอหนองบัว ผู้วายชนม์เป็นอดีตนักบวชจำพรรษาอยู่วัดใหญ่ บวชมาเกือบสิบปี ศึกษาจบได้ไปเป็นครูกศน. เมื่อ๓-๔ปีที่ผ่านมานี้เอง เช้ามืดวันพฤหัสบดี(๒๔ ก.พ.๕๔)ได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนตร์

    เป็นคนหนุ่มวัยเพียง๓๗ ปี แต่เธอทำงานด้านจิตอาสาในช่วงระยะที่เป็นพระครอบคลุมทั้งอำเภอ ทำให้งานศพของเขาเมื่อวานนี้ จึงได้ยินเฒ่าคนแก่พูดกันว่าคนมืดฟ้ามัวดิน คนรุ่นใหม่ก็พูดในทำนองว่านี่คงเป็นความดีของแกที่ทำมาเป็นเวลาหลายปี

    กระแสอารมณ์ความรู้สึกบ่งบอกและสะท้อนถึงความดีที่ผู้วายชนม์ได้สร้างไว้เป็นอย่งดี

    ได้เจอญาติที่บ้านเนินตาโพ บอกกล่าวให้ทราบว่าเธอไปพบหมอป้าหนิมที่บ้านของท่าน ท่านสอบถามว่ารู้จักพระมหาแลไหม เมื่อทราบว่าบ้านอยู่ใกล้กัน ท่านก็เลยฝากบอกความประสงค์มากับญาติถึงอาตมาว่า สนใจหนังสือประวัติหนองบัว ถ้ายังมีอยู่จะขอไปอ่านสักหัว(เล่ม)

    ได้ทราบว่าคุณป้าหมออยากได้หนังสือประวัติหนองบัวแล้ว รู้สึกตื่นเต้นระคนดีใจและมีกำลังใจอย่างมากเชียว

    พักที่บ้านโยม เช้ามืดได้ยินเครื่องไฟทางหมู่บ้านโคกมะตูมมีเสียงแตรวงเหมือนงานบวชนาค ถามญาติๆว่าใครบวช ญาติบอกว่าลูกคุณสืบ ปฏิสนธิ์

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    ขอไว้อาลัยในความดี ของบุคคลที่พระคุณเจ้าพูดถึง และ ขอแสดงความเสียใจใจการจากไปของเค้าด้วยค่ะ

    อัญชัน

    สวัสดีครับท่านพระมหาแลฯ ท่านอ.วิรัตน์ คุณอัญชัน คุณธนกฤต...และทุก ๆ ท่านครับ

    ก่อนเข้าสู่เนื้อหา  ขอแก้ไขข้อมูลครั้งก่อนเล็กน้อย  ระยทางรถไฟจากชายแดนลาวจีนที่แขวงหลวงน้ำทา - ชายแดนลาวไทยที่จังหวัดหนองคาย  แก้จาก 441 ก.ม.เป็น421 ก.ม.ครับ

    IP จากประเทศลาวที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการที่ผมไปเข้าเวบไซต์แนะนำท่านเจ้าของปฏิทินที่ส่งไปให้ท่านอาจารย์และพระมหาแลฯที่สนง.ของท่านในเวียงจันทน์น่ะครับ

    ผมไปต่างประเทศเสียหลายวันครับ  วันที่เกิดแผ่นดินไหวในลาว 5.7 ริคเตอร์ก็ยังอยู่ที่นั่นไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่ 

    การเกิดแผ่นดินไหวสร้างความเสียหายแก่ตึก/อาคารหลายจังหวัดของประเทศไทย  เท่าที่ติดตามข่าวก็มีจังหวัดน่าน หนองบัวลำภู เป็นต้น  แต่กลับมิได้สร้างความเสียหายใด ๆ ในลาว เนื่องจากศูนย์กลางของการเกิดอยู่ในพื้นที่ภูเขาที่ชนบทห่างไกลและทุรกันดาร  ไม่มีผู้คนอาศัย  ซึ่งแตกต่างจากนิวซีแลนด์ที่เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก  โชคดีที่หลานสาว (ลูกพี่ชาย) ซึ่งเรียนจบและทำงานอยู่ที่เกาะเหนือใกล้ ๆ กับเมือง AUCKLAND ปลอดภัยดี แต่สองวันแรกที่เกิดเหตุก็ไม่สามารถติดต่อได้พ่อแม่ญาติพี่น้องใจคอไม่ค่อยดีเหมือนกันเนื่องจากระบบโทรคมนาคมเสียหายมากแต่ก็ได้รับการแก้ไขในเวลาอันรวดเร็ว

     

    ขอแก้ไขตัวเลขจาก 5.7 ริคเตอร์เป็น 4.7 ริคเตอร์ครับ

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
    เสียดายคนจังเลยนะครับ ดูปูมชีวิตที่พระคุณเจ้าเล่าบอกกล่าวกันให้ทราบแล้ว ก็น่าจะเป็นลูกบ้านนอกที่ได้บวชเรียนและอบรมกล่อมเกลามาอย่างดี แล้วก็ได้กลับไปทำงานเพื่อสร้างคนให้กับกลุ่มที่ขาดโอกาสในชีวิตอีกหลายอย่าง ซึ่งย่อมเข้าใจชีวิตจิตใจของชาวบ้านและคนบ้านนอกได้เป็นอย่างดี มีความร่วมทุกข์ร่วมสุข อีกทั้งอยู่ที่หนองบัวด้วย เสียดายมากเลยนะครับ

    ขอคุณงามความดีและคุณพระรัตนตรัยได้เป็นพลวัตรปัจจัยให้ดวงวิญญาณสู่สุคติในสัมปรายภพ มีผู้สืบทอดคุณความดีของท่านช่วยกันต่อๆไปทั้งเพื่อหนองบัวและแก่สังคมส่วนรวม 

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    ตอนนี้ผู้อ่านจาก IP สปป.ลาวเพิ่มขึ้นมาเยอะเลยนะครับ เมื่อ ๒-๓ ปีก่อนลูกศิษย์ผมที่ลาวบอกว่าการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตในลาวยังมีอยู่อย่างจำกัด ยังไม่แพร่หลายและไม่อยู่ในความจำเป็นของการทำงานและดำเนินชีวิตโดยทั่วไปมากนัก เพราะฉนั้น การเข้ามาอ่านและสื่อสารถึงกันได้มากกว่าอีกหลายแห่งอย่างนี้ก็ถือว่ามากใช้ได้ทีเดียวนะครับ

    เจริญพรคุณอัญชัน
    อาจารย์วิรัตน์
    อาจารย์สมบัติ

    ก่อนลาสิกขาทำงานให้วัดเต็มตัว เธอนับเป็นบุคลากรสำคัญของวัดใหญ่และคณะสงฆ์ทั้งอำเภอ เป็นคนทำงานต่อมาพระเดชพระคุณเจ้าคณะอำเภอหนองบัวเมตตาตั้งเป็นพระฐานานุกรมของเจ้าคณะอำเภอหนองบัวที่พระสมุห์ นอกจากนั้นงานชุมชนก็เสียสละทำให้ตลอดมา ชาวบ้านพูดให้ได้ยินว่าเสียดายเนาะ

    ตอนเป็นพระไปเยี่ยมอาตมาที่วัดศรีโสภณ อำเภอวังทอง ขณะนั้นทางวัดกำลังหาคนเขียนรายชื่อผู้บริจาคสร้างกำแพงวัดอยู่พอดี เธออาสาเขียนให้กลางวันแดดร้อนๆ ร้อนขนาดหลวงตาในวัดตัองกลางสัปทนบังแดดให้ งานฝีมือเขียนป้ายนี้เป็นงานที่เธอสละเวลาทำให้ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนในชุมชนเสมอมา

    ในฐานะส่วนตัวที่รู้จักกัน ก็รู้สึกใจหายและเสียดายอย่างมากด้วย

    ไปหนองบัวคราวนี้ มีของฝากจากญาติติดตัวกลับวัดมาด้วยหนึ่งอย่างคือวีซีดีเพลงโคราช ญาติบอกด้วยว่าเป็นคณะเพลงโคราชที่คนหนองบัวนิยมมากในตอนนี้ เมื่อวานเวลาประมาณ๐๗.๐๐ น.กว่าๆได้เปิดดู หลังจากนั้นสักพักมีหลวงตาคนตำบลท่าหมื่นรามอำเภอวังทองมาที่กุฏิเลยดูด้วยกัน ท่านดูรวดเดียวจนจบ ซึ่งใช้เวลาสามชั่วโมงกว่า เป็นอันว่าพ้นเวลาฉันเช้าไปเลย

    ได้สอบถามท่านจึงได้ข้อมูลว่าคนบ้านท่าหมื่นรามก็ชอบเพลงโคราชด้วย(เมื่อก่อนมีให้ดูบ่อย) แต่เดี่ยวนี้ท่านไม่แน่ใจว่ายังมีคนหามาเล่นหรือไม่(สู้หนองบัวไม่ได้ เพราะมีให้ดูทุกปี)ท่านบอกอีกว่าที่ท่าหมื่นรามมีกลุ่มบ้านไทยโคราชอยู่มากด้วย

    รวมสองวัน เปิดให้ท่านดูสองสามรอบแล้ว

    เรียนท่านพระมหาแล เจริญพรโยม อาจารย์ดร.วิรัตน์ และญาติเวทีคนหนองบัว

    ขอร่วมแสดงความเสียใจ กับการจากไปของคนดีที่เสียสละ ตามที่ท่านกล่าวมา

    และกราบขออภัยท่านมหาและโยมอาจารย์ ที่ช่วงนี้ผมไม่ได้เข้ามาสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีคนหนองบัว สาเหตุเพราะว่ามีปัญหาสุขภาพ(ขนาดต้องใช้วิธีมรณานุสติพิจารณาถึงความตายอยู่เนืองๆ)  แต่ยังทำงานวิจัยเวทีคนหนองบัวอยู่อย่างสมำ่เสมอและจะทำให้ดีที่สุด 

    ตอนนี้ผมได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพรหมพิรามอย่างเป็นทางการแล้ว อนุมัติเมื่อวันที่ 1 มี.ค 54 นี้ แต่จะยังทำงานเพื่อชุมชนและสังคมต่อไป ถ้าเราจะทำงานไม่จำเป็นต้องสวมหมวกหลายใบก็ได้...จริงมัยครับท่านอาจารย์ทั้งสอง

    งานสัมมนาเวทีคนหนองบัว-มหิดล วัน เวลา มีการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่าครับ

    เรียนมาด้วยความเคารพ/เจริญพร

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล
    และท่านพระอธิการโชคชัยครับ

    ท่านพระอธิการโชคชัยหายไปเป็นครู่ พอกลับมาก็ลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสวัดพรหมพิรามไปเสียแล้ว
    ผมก็เพิ่งจะทราบว่าท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาสของวัดพรหมพิรามด้วยจากในนี้แหละครับ

    งานของหนองบัวมีเปลี่ยนแปลงนิดหน่อยครับ แต่เดิมที่กะว่าจะจัดเวทีเป็นเรื่องเป็นราวให้ตรงกับงานงิ้วนั้น พรรคพวกที่หนองบัวท้วงว่าอากาศมันร้อน จะไม่สะดวกสำหรับคนอื่นจากภายนอกที่เขาอยากไปร่วมเวทีด้วย ผมก็เลยเห็นด้วย เลยอาจจะเลื่อนไปช่วงหน้าหนาวสักเดือนตุลา-ธันวา ของปีนี้ ซึ่งก็ดีเหมือนกันเพราะผมอยากทำหนังสือและสื่อเอาไว้แจกจ่ายในงานไปด้วย

    ก่อนที่จะถึงเวที-สัมมนาที่จะจัดขึ้นนั้น ก็เลยจะมีการลงไปทำข้อมูลและเตีียมทำเรื่องต่างๆด้วยกันก่อนเป็นระยะๆ รวมทั้งในช่วงงานงิ้วที่เลื่อนการสัมมนาออกไป แต่ก็ยังคิดว่าจะมีการร่วมกันทำกำกิจกรรมย่อยๆไปด้วยครับ

    ในเรื่องของการทำข้อมูล เตรียมติดต่อประสานงานคน ก็ทำกันไปตามความสะดวกอยู่เสมอครับ เช่น คุณฉิกได้นัดหมายให้ผมได้มีโอกาสไปคุยกับอดีตนายอำเภอหนองบัวท่านหนึ่งคือท่านสมหมาย ฉัตรทอง ซึ่งต่อมาท่านเป็นอดีตรองผู้ว่าราชการและผู้ตรวจราชการของกระทรวงมหาดไทยเกษียณ ปรากฏว่าท่านก็กำลังเขียนหนังสือเรื่องหนองบัวและดีใจมากที่ทราบว่าเรากำลังทำอะไรกัน พร้อมกับจะร่วมด้วย ในส่วนของหนังสือท่านก็ต้องการปรับปรุงและทำต้นฉบับให้เหมาะสม

    นอกจากนี้ ก็ได้มีโอกาสได้คุยกับท่านผู้อำนวยการงานศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯนครสวรรค์ที่กำลังสร้าง ซึ่งเป็นคนห้วยร่วมและเป็นศิษย์เก่าหนองบัวอีกด้วย ท่านก็ออกไปว้ว่ายินดีสนับสนุนสถานที่ประชุมและจัดกิจกรรมวิชาการหากจะไปจัดในตัวเมืองนครสวรรค์ แต่ถึงแม้จะทำกันที่หนองบัวท่านก็ยินดีสนับสนุน คุยกันไปคุยกันมาปรากฏว่าท่านเป็นเพื่อนของคุณครูที่เคารพรักของผมหลายคน รวมทั้งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาพ่อของผมอีกต่างหาก

    ผมได้คุยกับท่านอาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว และอาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ของเรา โรงเรียนหนองบัวก็กำลังเคลื่อนไหวที่จะพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น และโรงเรียนบ้านหนองไผ่ก็มีประสบการณ์ในการทำโครงการเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนกับชุมชน ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ผมจะหาโอกาสลงไปนั่งถอดบทเรีบนและรวบรวมข้อมูลมาทำเอกสารและสื่อสำหรับจัดเวที เพื่อเคลื่อนไหวมิติการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ในแนวปฏิรูปน่ะครับ

    ในช่วงงานงิ้วจะมีใครพอที่จะรู้บ้างไหมครับว่าผมจะต้องติดต่อประสานกับใคร เพื่อจะได้ตั้งเต๊นท์สัก ๒ หลัง เพื่อไปจัดบอร์ดนิทรรศการและนำสื่อกับหนังสือไปเผยแพร่ เนื้อหาจะเน้นเรื่องราวที่มีอยู่ในเวทีคนหนองบัว โดยดึงหัวข้อต่างๆที่คนจะไปยืนอ่านและสร้างสีสันให้กับงานงิ้วของอำเภอเราได้ หัวข้อและประเด็นการจุดประกายในนิทรรศการ จะเป็นเรื่องชวนคนหนองบัวทำงานประจำปีของเราต่อไปนี้ ให้เห็นความเป็นเทศกาลเรียนรู้ความหลากหลายทางสังคมและศิลปวัฒนธรรม ผมจะขนเอารูปวาดที่วาดในบล๊อกเรื่องของหนองบัวไปติดด้วย เรื่องราวดีๆ ที่ถอดบทเรียนได้จากแหล่งต่างๆ ก็นำไปจัดแสดงได้

    ร่วมกิจกรรมกับสิ่งที่มีอยู่แล้วอย่างนี้จะทำให้เราไม่ต้องเตรียมการต่างๆอย่างแยกส่วน อีกทั้งจะมีความหมายที่ดีต่อการสร้างความรู้สึกร่วมกันในโอกาสต่อไปได้ดีอีกด้วย

    รวมความแล้วก็สลับจังหวะการจัดกิจกรรม โดยควรมีกิจกรรมย่อยๆ เพื่อเตรยมการต่างๆก่อนแล้วค่อยจัดในช่วงที่คนหนองบัวจะช่วยกันทำเวทีและต้อนรับคนภายนอกช่วยกันได้ดีขึ้นน่ะครับ

    เรียนท่านอธิการโชคชัย
    ได้ข่าวมาพอสมควรแล้วว่าจะลาออกจากเจ้าอาวาส และก็ได้ทราบต่อไปอีกว่าเจ้าคณะผู้ปกครองท่านได้ยับยั้งหลายครั้งแล้วด้วย ผู้ปกครองสงฆ์นั้นกว่าจะหาศาสนทายาทมาเป็นผู้นำวัดได้แต่ละวัดก็แสนยากเหลือเกิน เมื่อได้คนเป็นงานทำงานคล่องอีกทั้งเป็นหลักของชุมชนก็อุ่นใจและหวังให้เป็นผู้บริหารวัดไปนานๆ
    ถึงจะลาออกแล้ว แต่ก็ยังมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานชุมชนต่อไป
    ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ

    เห็นด้วยที่อาจารย์จะนำสื่อชุมชนหนองบัวไปจัดนิทรรศการและเผยแพร่ในงานงิ้ว ส่วนบุคคลที่จะประสานงานเรื่องนี้ได้ดีมากๆน่าจะเป็นคุณฉิกเหมาะสมที่สุด ด้วยเป็นผู้ที่มีจิตอาสาเพื่อชุมชนด้วยดีตลอดมา

    อย่างงานงิ้วในปีที่ผ่านมา(๒๕๕๓)ก็คือคุณฉิกนี่เองที่เป็นผู้นำข่าวสารและภาพงานงิ้วหนองบัว มาเสนอในเวทีคนหนองบัวด้วย

    ฉะนั้นงานงิ้วปี๒๕๕๔นี้ก็เลยขออนุญาตชักชวนคนกันเองและเสนอคุณฉิกให้เป็นโต้โผงานนี้ด้วยความเต็มใจ  ขอเจริญพร

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    เป็นการคุยตั้งหัวข้อไว้เผื่อใครจะช่วยกันปรับแต่งและต่อความคิดกันเหมือนอย่างพระคุณเจ้านี่แหละครับ อย่างน้อยก็คุยเหมือนหาจังหวะทำสิ่งต่างๆให้ผสมผสานกันได้ดียิ่งๆขึ้น หากยังไม่ได้ ผู้คนต่างๆ ก็คงต่างก็คิดและทำไปตามเงื่อนไขของตนเองไปอยู่เสมอ แต่อย่างน้อยก็พอได้เกิดประเด็น ให้ได้ค่อยๆคิดค่อยๆทำในสิ่งที่เราทำได้ ให้สะท้อนและเชื่อมโยงกัน ก่อเกิดความสร้างสรรค์ดีๆไปด้วยกันเรื่อยๆ

    ฉิกและท่านอื่นๆก็คงงานยุ่งและต้องทำธุระในแต่ละวันเยอะ ต้องรับส่งลูกและแม่บ้านอีก ผมเห็นแล้วก็ยังนึกชื่นชมในใจว่า เมื่อมีโอกาสก็อุตส่าห์เป็นตัวตั้งตัวตีริเริ่มสิ่งต่างๆไปตามกำลังตั้งหลายอย่าง แต่หากกะเกณฑ์ว่าจะต้องทำอะไรบ้างอย่างตายตัว ก็คงจะลำบากและยุ่งยากมาก เช่นเดียวกับท่านอื่นๆ วิธีหารือและทำสิ่งต่างๆไปตามความสนใจสบายๆอย่างนี้ จึงต้องมีวิธีที่ต่างออกไปจากการทำให้เป็นงาน ต้องแล้วแต่ใครจะมีจังหวะทำอะไรกันได้ ทำแล้วก็อาจนำมาแบ่งปันประสบการณ์กัน รวมทั้งคนอื่นๆที่อาจผ่านมาเจอเข้า ก็อาจสนใจและทำสิ่งเล็กๆน้อยไปด้วยกันให้ได้อีก อย่างนี้ก็จะเป็นวิธีที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงครับ

    ผมนั่งดูปฏิทินจาก สปป.ลาว ที่คุณสมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง กรุณานึกถึงและส่งไปให้ รวมทั้งนั่งดูเรื่องราวที่พระคุณเจ้าและทุกท่านมาคุยฝากสิ่งต่างๆถึงกันไว้ ด้วยความรู้สึกมีความสุขใจเลยละครับ ยิ่งมองดูสถิติต่างๆในเวทีคนหนองบัวแล้ว ก็รู้สึกว่าเราได้ทำสิ่งต่างๆด้วยกันที่ดีๆเยอะเลยนะครับ

    สถิติในแง่ความเป็นสื่อออนไลน์ของเวทีคนหนองบัวนั้นน่าจะดีกว่าสื่อมวลชนในระดับท้องถิ่นของจังหวัดและของภูมิภาคเยอะกว่าหลายแห่งของประเทศเลยนะครับ ในต่างจังหวัดนั้น อย่างมากก็มีสื่อรายหวยออก ถึงครึ่งเดือนก็มีหนังสือพิมพ์และสื่อท้องถิ่นออกมาได้สักครั้งหนึ่ง ซึ่งก็มักจะมีเนื้อหาได้ไม่หลากหลาย ชาวบ้านก็จะเอาไปห่อกล้วยทอดและมวนยาสูบเสียมากกว่า อีกทั้งเผยแพร่เรื่องราวของสังคมท้องถิ่นไปได้ไม่กว้างไกลมากเท่าไหร่ ยิ่งมองหาสื่อที่มีเรื่องราวที่เป็นองค์ความรู้และสร้างการเรียนรู้ให้เกิดความซาบซึ้ง-ภาคภูมิใจทั้งในชุมชนของตนเองและได้ความกว้างขวางรอบรู้ในชีวิตอย่างที่มีในเวทีคนหนองบัวนั้น ก็คงหาได้ไม่ง่าย นั่งดูแล้วก็รู้สึกได้ความคิดดีๆไปด้วยหลายอย่างที่ได้มีส่วนทำขึ้นมากับพระคุณเจ้าและทุกท่านครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล และ สวัสดีอ.วิรัตน์ค่ะ

    เข้ามาสังเกตุความเคลื่อนไหวค่ะ เผื่อมีอะไรจะพอช่วยเหลือได้ เพราะดิฉันอยู่ไกล และ ไม่ได้กลับเมืองไทยบ่อยนัก

    แต่ปีนี้จะกลับ ช่วงปลายๆ เดือนสิงหาคมค่ะ อยู่เมืองไทย ประมาณ ๑ เดือน หากมีอะไรพอจะช่วยเป็นกำลังขับเคลื่อนได้ ก็ยินดีค่ะ

    อากาศที่สวีเดนตอนนี้ไม่ค่อยหนาวแล้วค่ะ ประมาณ ลบ๐ ลบ๑ หิมะกำลังจะเริ่มละลายหวังว่าหิมะคงละลายหมดเร็วๆ นี้ค่ะ

    อัญชัน

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล และท่านอธิการโชคชัย

    สวัสดีพี่วิรัตน์ พี่เบิ้ม น้องสมบัติ น้องธนกฤต น้องอัญชัญ และสมาชิกเวทีคนหนองบัว ทุกๆท่าน

     

    เห็นด้วยครับพี่วิรัตน์ที่จะไปตั้งเต็นท์เพื่อเผยแพร่กิจกรรมเวทีคนบ. เดี๋ยวจะลองถามที่หนองบัวดูว่าจะติดต่อใครได้บ้าง อย่างไรพี่บอกมาในนี้ก็ได้ว่าจะเอาอย่างไร หลังวันที่ 12 มี.คไปแล้วแหละครับผมถึงจะมาช่วยพี่ได้เต็มที่

    ยุพิน รอดประพันธ์

    กราบเรียนพระอาจารย์ พระอธิการ และสวัสดีท่านอาจารย์ดร.วิรัตน์ และสมาชิกเวทีหนองบัวทุกท่านนะคะ

                ถ้าอาจารย์ไม่สะดวกในเรื่องของการติดต่อ อาจารย์จะทำอะไร ติดต่อมาที่แหววก็ได้ค่ะ เพราะแหววเข้าไปหาครูสืบศักดิ์ พ่อประทวน บุญจิตร และอีกหลาย ๆท่านที่เป็นกรรมการร่วมในการจัดงานงิ้วที่หนองบัวได้ เนื่องจากช่วงนี้แหววอยู่หนองบัวพอดี แต่ถ้าอาจารย์อยากติดต่อโดยตรง แหววก็จะประสานงานให้ สำหรับเรื่องงานต่าง ๆถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเอกสารต่าง ๆหรืองานพิมพ์ แหววอาจจะพอช่วยได้ ถ้าอยากให้แหววช่วย อาจารย์ติดต่อมาที่เบอร์โทรแหววก็ได้นะคะ 0807898886 เพราะบางครั้งแหววไม่ค่อยได้เข้ามาอ่านในเวทีหนองบัว ส่วนใหญ่จะเปิดเมล์ เพราะเข้ายาก สำหรับน้องที่เสียไปนั้น เป็นรุ่นน้องแหวว 1 ปี เป็นเด็กหนองบัว ชื่อ สุชิน  บัวคำ ถ้าอัญชัญได้อ่าน ก็คงจะรู้จักดี เพราะรุ่นไม่ห่างกัน และเค้าเป็นคนน่ารัก นิสัยดี กับพี่ ๆเพื่อน ๆด้วยกัน เรียกว่าคบได้ แหววเองได้ยินข่าวก็ยังใจหายเลยค่ะ..เมื่อต้นเดือนแหววไปเที่ยวลาวใต้มา ไม่ทราบว่าอาจารย์สมบัติ ท่านอยู่แถวนั้น และเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศลาว ไม่งั้นจะแวะเอาของฝากหน่องบัวไปให้ค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักหลาย ๆท่านค่ะ..แหวว

    เห็นคุณอัญชันบอกว่าอยู่สวีเดน อากาศ ๐-๑ องศา เท่านั้นแล้วนึกถึงเมื่อก่อนกว่า ๔๐ ปีเมื่อยังเป็นเด็กที่หนองบัว ตอนนั้นที่หนองบัวยังต้องไปเอาน้ำแข็งที่ชุมแสง เขาจะใส่รถบรรทุกมาโดยเอาน้ำแข็งเป็นก้อนขนาดใหญ่ซุกอยู่ในกองแกลบ ต่อมาก็มีโรงทำน้ำแข็งกับทำไอติมอยู่ที่ข้างสระหลวงพ่ออ๋อยริมถนนดินทรายผ่านหน้าร้านปานขลิบโอสถของหมอหลุยส์ด้านที่ทะลุออกไปเกาะลอย

    ณ เวลานั้น การได้กินน้ำแข็ง ไอติมหวานเย็น และน้ำแข็งไสใส่น้ำเฮลส์บลูบอยราดด้วยนมข้น เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ในและเหมือนได้ลิ้มรสของวิเศษ กินไปก็ประหลาดใจไปในความเป็นก้อนน้ำแข็ง ตอนนั้น ผมและพวกเด็กๆเมื่อเห็นรูปบ้านเมืองต่างประเทศมีหิมะขาวโพลนเหมือนน้ำแข็งใสฟูๆกองเกลื่อนกล่นไปทั่ว ก็ให้อิจฉาเด็กๆเมืองนอก เลยนึกไปตามประสบการณ์ของการอยู่หนองบัวซึ่งหาน้ำแข็งสุดแสนอร่อยกินได้ยากว่า พวกเด็กๆเมืองหิมะคงจะพกขวดน้ำหวานเฮลส์บลูบอย เดินหยอดกินน้ำแข็งอัดไปได้ทั่ว เหมือนเราเดินเก็บมะม่วงหล่นตามลานบ้านกิน

    สวัสดีครับฉิกและอาจารย์แหวว
    และทุกท่านครับ

    เห็นคนช่วยกันโยนไอเดียแล้ว แม้ในช่วงแรกๆนี้ จะยังประมาณไม่ถูก ไม่รู้ว่าเราจะทำอะไรกันได้แค่ไหน แต่ก็ให้รู้สึกคึกคักฮึกเหิม น่าจะหาโอกาสทำอะไรได้บ้างสักหน่อยนะครับ ประเดี๋ยวจะลองนึกๆดู แล้วตอนเย็นจะมาคุยต่ออีกครับ ท่านพระอาจารย์มหาแลกับท่านอื่นๆ รวมทั้งท่านพระอธิการโชคชัย คงจะช่วยกันคุยไปด้วยก่อนนะครับ 

    ขอคิดด้วยคนสักเล็กน้อย อาตมาไม่ทราบความเคลื่อนไหวเรื่องงานงิ้นมาสามสิบปีพอดี
    จากประสบการณ์ตรง งานงิ้วคืองานประจำปีที่ถือว่าใหญ่มากๆของหนองบัว โดยหลังเก็บเกี่ยวทุกคนทั้งอำเภอตั้งตารอคอยจะได้เที่ยวงานนี้กัน ผู้มีอายุแม่บ้านก็จะได้ซื้อของกินของใช้ที่เก็บไว้กินใช้ได้ทั้งปี เช่น พริกแห้ง หอม กระเทียม ภาชนะประจำครัว กระทะ หม้อ ชาม จาน กาละมัง เสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ เด็กๆได้เที่ยวดูมหรสพต่างๆ หนัง ลิเก รถต่ายถัง มวย งิ้ว ฯลฯ

    ถ้าจะใช้โอกาสงานงิ้วนี้แสดงผลิตภัณฑ์ชุมชน ของดีท้องถิ่น งานฝีมือภูมิปัญญาชาวบ้านทุกชุมชนเลยนั้น ถือว่าเป็นจังหวะและช่วงเวลาที่ดีมากๆอย่างยิ่ง อาตมาไม่ทราบจริงๆ ว่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของดีประจำตำบล ผลิตภัณฑ์กลุ่มแม่บ้านทุกหมู่บ้านในอำเภอของเรา เคยมีการรวมตัวกันแล้วนำมาจัดแสดงในงานประเพณีต่างๆให้คนในชุมชนได้รู้จักบ้างหรือยัง ไม่มีข้อมูลส่วนนี้เลย ใครมีข้อมูลช่วยส่งข่าวบอกกล่าวในที่นี้ด้วยก็จะดี

    ถ้าเป็นไปอย่างที่คิดๆกันในที่ตรงนี้คือการนำเรื่องราวต่างๆในชุมชนออกมาแสดงเปิดตัวในงานอย่างนี้ คิดแล้วน่าทำจริงๆ เพราะตามประสบการณ์มีแต่เราจะจับจ่ายใช้สอยของจากที่อื่น จากชุมชนอื่น ไม่เคยมีเรื่องราวจากชุมชนบ้านเรามาแสดงในงานอย่างนี้มาก่อน ก็ขอสนับสนุนแนวคิดนี้ ที่จะนำของดีๆจากชุมชนทั้งอดีตและปัจจุบันมาแสดงในงาน สมมุติปีนี้เวทีคนหนองบัวขอพื้นที่ได้สักเต้นท์สองเต้นท์ก็นับว่าพอเหมาะพอเพียง ถือเป็นมิติใหม่ที่สร้างสรรค์อย่างมาก

     

     








    เจดีย์ยอดด้วนตั้งอยู่บนยอดเขาสมอแคลง ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

    บนเขาสมอแคลงบริเวณใกล้ๆเจดีย์ยอดด้วนมีต้นไม้มากมาย แต่รู้จักมีไม่กี่ชนิด หนึ่งในไม่กี่อย่างนั้นคือเล็บเหยี่ยว คนพื้นที่แถววังทองเรียกหนามขอ

    วันนี้ไปธุระที่ไปรษณีย์วังทอง ขากลับแวะขึ้นไปเยี่ยมชนเจดีย์ยอดด้วน บนยอดเขาสมอแคลงอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

    เพิ่มเติมสำหรับนักท่องเที่ยว บนยอดเขาสมอแคลงบริเวณเจดีย์ยอดด้วนนี้เป็นป่ารก เงียบสงบมาก ไม่มีผู้คนเฝ้าอยู่เลย ถ้าไปเที่ยวชมนมัสการควรไปกันหลายๆคน เพราะเป็นสถานที่ที่ค่อนข้างเปลี่ยวห่างไกลชุมชน ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวอีกสองแห่งที่อยู่บนเขาสมอแคลงจะมีคนเฝ้าและมีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมไม่ขาด

    ไปมาแล้วก็เลยขอนำมาฝากเวทีคนหนองบัวและทุกท่าน

    ร่างเต๊นท์นิทรรศการคนรักหนองบัว : ๖๐ ปีหนองบัวบ้านเรา
    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
    และทุกท่านครับ

                            

    ขอต่อแนวคิดของฉิก ท่านพระอาจารย์มหาแล อาจารย์แหวว และทุกท่านต่ออีกนะครับ  ผมลองร่างภาพเต๊นท์รณรงค์เผยแพร่เรื่องราวของหนองบัวและการทำให้เทศกาลงานประจำปีของหนองบัว เป็นวาระการเยือนหนองบัวและทำให้เมืองหนองบัวเป็นเมืองพิพิธภัณฑ์มีชีวิตทางด้านความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม ชุมชนมีตลาดเก่า แหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต และเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรม หากจะลองใช้แง่มุมนี้เป็นตัวชูโรง ทำไปพร้อมกับช่วงที่มีเทศกาลประจำปีละก็พอจะใช้ได้ไหมครับ

    หากจะยกระดับให้หนองบัวและสิ่งดีๆต่างๆที่หนองบัวมี ได้เริ่มเชื่อมโยงกันเป็นเรื่องราว ก็น่าจะช่วยกันทำได้โดยทำสื่อ ความรู้ และเคลื่อนไหวการเรียนรู้ไปกับงานเทศกาลโดยจัดนิทรรศกาลสักเต๊นท์สองเต๊นท์ จะได้ไม่หนักเกินกำลังดี

    • ตั้งเต๊นท์สัก ๒-๓ วันแล้วก็ดึงเอาเรื่องราวต่างๆที่พอมีอยู่ในบล๊อกเวทีคนหนองบัวนี้ มาทำเป็นชุดนิทรรศการ พิมพ์ ๔ สีอย่างสวยงามด้วยแผ่นไวนีลซึ่งจะถูกและทำได้ง่ายดี ผมอาจจะทำแล้วส่งให้ใครที่อยู่ทางบ้านหนองบัวไปติดตามแบบร่างคร่าวๆ
    • ใครพอจะหาเรื่องราวดีๆและไปติดต่อร้านทำแผ่นไวนีลได้ อยากเอาเรื่องราวต่างๆมาสมทบช่วยกันก็ว่ากันไปตามสบาย แผ่นขนาดใหญ่ๆนี่แผ่นละไม่กี่บาทหรอกครับ
    • ผมจะเอารูปวาดเกี่ยวกับเรื่องราวดีๆของหนองบัว มาร่วมจัดแสดงด้วย 
    • หากใครมีโน๊ตบุ๊คและเครื่องฉาย LCD ก็สามารถหิ้วมาฉายได้ อย่างเรื่องดอกอุ้มน้องที่รายการทุ่งแสงตะวันเขามาทำให้คนหนองบัว ก็น่าเอามาฉายเวียนให้ดูเป็นความภาคภูมิใจ
    • มีโต๊ะและเก้าอี้ แจกสื่อ หนังสือ (หากมี) หรือวางหนังสือโชว์ และเอาไว้นั่งคุย พบปะกัน เชื่อว่าจะเป็นเต๊นท์ที่เป็นแหล่งแวะเวียนมาหากันแล้วก็นั่งคุยกัน
    • เรื่องหนองบัว ๖๐ ปีแล้ว | กับโรงเรียนหนองคอก ๕๐ ปี | โรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) ของหนองบัว เป็นอนุสรณ์สถาบันครูเพื่อสังคมไทยอันน่าภาคภูมิใจของหนองบัวที่มีอยู่เพียง ๕ แห่งของประเทศ กองทุนเพื่อพัฒนาหนองบัวของครูอุดม โต๊ะปรีชา แล้วก็ความเป็นมาของวัดหนองกลับและชื่อ เทพวิทยาคม หลังชื่อโรงเรียนอนุบาลหนองบัว เหล่านี้ ต้องเป็นเนื้อหาหนึ่งที่เอามาจัดแสดงได้อย่างน่าสนใจแน่ๆ
    • ผมอาจจะทำเสื้อยืดรูปวาดรณรงค์ความเป็นหนองบัว แผ่นภาพโปสเตอร์ที่ระลึก และกระเป้าผ้าอย่างที่เคยทำ เพื่อเป็นของที่ระลึกหนองบัวและเป็นสื่อรณรงค์รักหนองบัวแล้วก็ขยายยกรายได้ให้เป็นกองทุนเอาไว้ให้คนรุ่นหลังๆได้ทำกิจกรรมไปตามความถนัด
    • แต่คนนั่งเฝ้าเต๊นท์ คอยนั่งคุยทักทายคนนี่ สงสัยต้องอาศัยบารมีอาจารย์แหววหรืออาจารย์สืบเสียกระมังครับ ให้นักเรียนและลูกหลานคนในตลาด ผลัดกันมานั่งเป็นไกด์ความรู้ไปตามสบายๆ
    • ผมอาสาออกค่าเช่าเต๊นท์ให้ได้ครับ ขอสมทบทุนกับทุนของท่านอาจารย์พระมหาแล ท่านเคยบริจาคเป็นกองทุนตั้งต้นไว้สำหรับทำอะไรกันเล่นของหนองบัว ๒ พันบาท แต่การหาและไปเลือกมุมตั้งนี่ คงต้องอาศัยคนที่อยู่หนองบัวนะครับ
    • ตอนนี้นึกถึงอาจารย์สืบและเบิ้มน่ะครับเพราะบารมีเยอะดี รวมทั้งฉิกด้วยครับ ฉิกรู้จักคนเยอะ มีวิธีคิดและรู้จักคุยดี อาจออกปากให้กับพวกเราที่อยู่ทางหนองบัวช่วยกันจัดการให้หน่อยก็ได้นะครับ
    • แผ่นหนึ่งจะแนะนำบล๊อกของเวทีคนหนองบัวด้วยนะครับ รวมทั้งข้อมูลการสนับสนุนโครงการทางการศึกษาอย่างที่ธนฤตเคยเผยแพร่ไว้ให้เหล่านี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่หนองบัวมากนะครับ อีกทั้งแนะนำหนังสือเรียนรู้ภาษาวัฒนธรรมลาวของคุณสมบัติด้วย ใครมีอะไรดีๆและคิดว่าอยากทำเพื่อบ้านเกิดตนเอง หากไม่หนักหนาเกินแรงนักก็นำมาวางและจัดด้วยกัน แรกๆนี้มันอาจจะไม่ลงตัวนัก แต่ก็จะเป็นการทำให้ได้บทเรียนสำหรับไปคิดต่อและหากมีโอกาสกันอีกก็ปรับปรุงกันเองต่อไป
    • โอกาสการส่งเสริมการเคลื่อนไหวสังคมและการทำมาค้าขายของชาวบ้านอย่างที่ท่านพระอาจารย์มหาแลเสนอนี่ก็น่าจะมีสักบอร์ดหนึ่งเพื่อจุดประกายไว้
    • ใครติดต่อบอกกล่าวกลุ่มคนที่เราควรประสานงานและเชื่อมโยงกันไปด้วยได้ก็ช่วยกันบอกต่อๆกันนะครับ จะได้ดูดีและให้ความเคารพคนที่เขาอยู่ ไม่ข้ามหน้าข้ามตา ทั้งเทศบาล อบต คณะกรรมการจัดงานประจำปี ครูเก่าแก่ ทางโรงเรียน ตลาด เราในฐานะคนหนองบัว ลูกหลานหนองบัว จะมาร่วมเสริมกำลังการคิดและทำสิ่งต่างๆให้ พวกเรานำร่องไปก่อน หากเห็นว่าดีก็พอจะเป็นบทเรียนและตัวอย่างอ้าวอิง ให้สามารถจัดเวทีริเริ่มทำสิ่งต่างๆได้อย่างดีอีกต่อไป

    มีวัตถุดิบเยอะดีเหมือนกันนะครับ ตั้งต้นเรื่องสำหรับโยนความคิดและคุยถึงกันไปพลางๆน่ะครับ

    ดูข้อมูลและการบันทึกภาพของท่านพระอาจารย์มหาแลชุดนี้แล้ว ผมเริ่มเห็นบทบาทความเป็นสื่อความรู้ชุมชน การบันทึกและรายงานข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน การเก็บรวบรวมภาพและข้อมูลพืชพันธุ์ท้องถิ่นที่กำลังหายากและสังคมสมัยใหม่เริ่มทำความรู้และภูมิปัญญาหลุดหายไปจนแทบจะไม่รู้จักแล้ว แต่ภูมิรู้ที่ติดอยู่กับตัวคนในชุมชน อันได้แก่พระคุณเจ้าซึ่งเป็นคนเก่าก่อนยังรู้จัก ซึ่งเป็นโอกาสที่เอื้อเฟื้อต่อกันได้เป็นอย่างดีในความเป็นแหล่งสร้างภูมิปัญญาของชุมชนในชนบทของพระสงฆ์เลยครับ กราบนมัสการชื่นชมด้วยครับ

    คนปรุงแผ่นดิน

    เรียนอาจารย์ วิรัตน์ และสมาชิกเวทีคนหนองบัว ประธานจัดงานงิ้วปีนี้ชื่อ นพดล หมายเลขโทรศัพท์ 081-8877117 หากพวกเราคิดว่าจะจัดนิทรรศการ ลองโทรประสานดู ค่าพื้นที่และเต้นท์คงฟรี เพราะเป็นงานสาธารณะ

    สวัสดีครับคุณคนปรุงแผ่นดินครับ

    ดีใจจังเลยครับที่คุณคนปรุงแผ่นดินร่วมแสดงน้ำใจและกรุณาให้แนวทางติดต่อประสานงานประธานจัดงานงิ้วของปีนี้ ผมได้จดหมายเลขโทรมือถือของท่านที่คุณปรุงแผ่นดินได้บอกให้ในนี้แล้วครับ ผมจะหาโอกาสติดต่อท่านทั้งทางโทรศัพท์และหากได้ลงไปหนองบัวก็จะขอไปคุยประสานงานให้ทุกท่านได้บ้างนะครับ

    แต่เนื่องจากเบอร์โทรมือถือนั้นเป็นความเป็นส่วนตัวของท่าน ที่อาจจะเผยแพร่เพื่อติดต่อกันได้ทั่วไปในหนองบัวอย่างเป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารกันธรรมดาๆ ทว่า สำหรับในนี้แล้วก็เกรงว่าจะไม่เหมาะสม ผมเลยย้ายเอามาไว้ในนี้โดยลบเบอร์โทรมือถือออกให้นะครับ

    ยุพิน รอดประพันธ์

    กราบนมัสการพระมหาแล พระอธิการโชคชัย และสวัสดีอาจารย์ดร. และสมาชิกคนเวทีหนองบัวทุกท่านค่ะ

               แหววเองเคยไปเที่ยวงานOTOP ของแต่ละตำบลในหนองบัว ก็จะมีผลิตภัณฑ์ของแต่ละตำบลมาวางขาย และมีแม่บ้านแต่ละตำบลมานั่งขาย แต่งานงิ้วของทุกปีที่ผ่านมา จะไม่ค่อยมีงานที่เป็นผลิตภัณฑ์ของแต่ละตำบลมาขาย เพราะเนื่องจากเทศบาลจะจัดงานOTOP ให้ในแต่ละปี ซึ่งแหววไม่แน่ใจว่าปีนี้จะจัดประมาณเดือนสิงหาคมหรือไม่ เพราะปีที่ผ่านมาประมาณเดือนสิงหาคม ซึ่งแหววเองพาแม่ไปเที่ยวงานเกือบทุกครั้ง ถ้าเป็นอย่างที่อาจารย์ต้องการ แหววจะติดต่อเข้าไปหาครูสืบศักดิ์ค่ะ แล้วแหววจะคุยกับครูท่านอีกทีหนึ่ง เห็นอาจารย์พูดเรื่องกองทุนของครูอุดม โต๊ะปรีชา แหววเองคงเป็นอีกคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ไปกราบครูท่านเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ครูจะเสีย เพราะครูท่านให้พระ และบอกว่าเก็บไว้นะ เพราะครูจะไม่อยู่แล้ว แหววเองยังไม่คิดว่าท่านจะบอกจริง เมื่อวันงานเผาศพท่าน แหววไปงาน แหววยังปลื้มใจแทนท่านเลย และตั้งใจจะเป็นครูที่เป็นเหมือนท่าน เพราะที่่ผ่านมาแหววไม่เคยเห็นมีลูกศิษย์ใครมางานมากเท่านี้ มาตั้งแต่หนองบัวรุ่น 1 จนรุ่นปัจจุบัน คนที่เป็นตัวแทนขึ้นทอดผ้าก็ตั้งแต่รุ่น 1 ยันรุ่น 23 แล้วแหววเองหลังกว่านั้นอีก แหววเองเป็นรุ่นหลานเลยค่ะ เพราะแต่ละคนที่มาในงานจับกลุ่มคุยกันในแต่ละรุ่น น่าประทับใจมาก และดูทุกคนมีความสุขที่ได้มาส่งครูในวันสุดท้าย แหววเองเป็นคนหนึ่งที่เป็นนักเรียนทุนของครู ถ้ามีส่วนช่วยได้ก็อยากเป็นกำลังหนึ่งในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ค่ะ

    เจริญพรคุณครูยุพิน

    ขอบคุณที่แจ้งข้อมูลกิจกรรมงานชุมชนในหนองบัวให้ได้ทราบ ขอบอกตามตรงว่าสามทศวรรษที่ผ่าน ไม่ทราบความเคลื่อนไหวจากหนองบัวเลยก็ว่าได้ เป็นคนไกลบ้านจริงๆด้วยซิ

    ขออนุญาตแจ้งข้อมูลบันทึกชุมชนหนองบัวอีกครั้ง อาตมาได้ดึงข้อมูลชุมชนหนองบัวบ้านเรา ข้อมูลคร่าวๆบันทึกทั้งหมดที่แยกเป็นเรื่องๆได้ประมาณ ๔๐ เรื่อง จำนวนหน้ากระดาษ A4 ประมาณ ๑,๖๐๐ กว่าหน้า(ไม่รวมบันทึกเรื่องสั้น ดังลมหายใจ)

    ด้วยจำนวนเรื่องราวและจำนวนข้อมูลเกือบ๒,๐๐๐ หน้ากระดาษนั้น ถือว่าไม่น้อยเลยแหละ ได้ปริ้นเอ๊าออกมาทั้งหมดแล้ว ถ้าคนไม่นิยมอ่านหนังสือ เห็นแล้วต้องตกใจแน่นอน คงอุทานว่าทำไมมันเยอะแยะขนาดนั้น

    ปรกติชาวบ้านที่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ แต่เมื่อนำข้อมูลชุมชนชุดนี้ไปให้ปรากฏว่าหลายคนได้ให้ความสนใจในการอ่านมากขึ้น บอกว่าอ่านเพลินดี คนในดง(ในดง เป็นคำพูดของคนหนองบัวที่หมายถึงพื้นที่บริเวณเทือกเขาพระ เขาสูง คลองลาน คลองกำลัง ปากดง ทรัพย์ย้อย หนองไผ่ ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือในดง)

    ญาติอาตมาได้นำหนังสือไปให้คนในดง(เดิมอยู่หนองบัว)แถวคลองลานดู ท่านเห็นภาพวาดชุมชนหนองบัวในอดีตของอาจารย์วิรัตน์แล้ว บอกว่าจำได้ดีทุกภาพเลย โดยเฉพาะภาพสี่แยกวงเวียนหนองบัวนั้นชัดเจนมาก และท่านก็ฝากชมคนวาดภาพว่าเข้าใจวาดเข้าใจเขียนเนาะ เข้าท่าๆดีจัง

    เห็นเต๊นท์นิทรรศการคนรักหนองบัว : ๖๐ ปีหนองบัวบ้านเราแล้ว รู้สึกคึกคัก มองเห็นกลิ่นไอบรรยากาศงานงิ้นขึ้นมาเลย ยังนึกต่อไปเลยว่าด้านข้างเต๊นท์นั้นเป็นเกาะลอย

    มีญาติอยู่ท่านหนึ่งที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับอาตมา เป็นรุ่นพี่แค่เพียงสามปีเท่านั้น แต่ความรู้เรื่องราวเก่าๆในหนองบัวดีมากๆ คนรุ่นเดียวกันรุ่นพี่ รุ่นน้องต่างยอมรับว่าคนนี้จดจำเรื่องเก่าๆได้เยอะจริงๆ

    อย่างภาพวงเวียนหนองบัว คนปีเดียวกันยอมรับว่าจำหอนาฬิกาไม่ได้ แต่เขายืนยันกับเพื่อนว่าโอ้ทำไมจะจำไม่ได้ล๊าวๆๆๆ...หอนาฬิกา นาฬิกาสีขาวเหมือนภาพวาดเปี๊ยบเลย ถ้ายกภาพวาดนี้ไปตั้งตรงที่เดิมมันคืออันนี้เลย

    เดี่ยวอาตมาจะติดต่อให้มานั่งประจำที่เต๊นท์สักเพลาในวันที่ท่านสะดวก มาช่วยเป็นไกด์บรรยายความรู้ชุมชน ขอรับรองว่าแจ่มชัดลึกในเรื่องความรู้ มีความแม่นยำในข้อมูล เป็นครูชุมชนได้สบายๆ

    เมื่อวานได้คุยพูดคุยกับ นะ/บ๊อบ เป็นคณะกรรมการจัดงานงิ้วปีนี้ ได้บอกจุดประสงค์ไปแล้ว  ซึ่งนะบอกว่าจะมีการประชุมกก.วันพฤหัสนี้เรื่องการจัดการพื้นที่ ผมได้ฝากเรื่องเต็นท์กิจกรรมเวทีคนบ.ให้พิจารณาด้วย ไว้เดี๋ยวผมจะคุยกับหนุ่ย/นพดล ประธานฯอีกทีหนึ่ง

    คืบหน้าอย่างไรจะแจ้งให้ทราบอีกที 

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล
    สวัสดีอาจารย์แหวว คุณฉิก คุณอัญชัน คุณธนกฤต คุณบุญเลิศ
    คุณเสวก ใยอินทร์ เบิ้ม รัชทนงค์ คุณคนปรุงแผ่นดิน และทุกท่านครับ

                             

    กองทุนพัฒนาหนองบัวของคุณครูอุดม โต๊ะปรีชานี่ มีความหมายทั้งต่อคนหนองบัว ลูกศิษย์โรงเรียนหนอบัว และต่อวิถีทรรศนะต่อการพัฒนาชีวิตในสังคมวงกว้างมากทีเดียวครับ จำเพาะเงินกองทุน ๓-๔ แสนบาทนั้นก็นับว่ามากอย่างยิ่งสำหรับชุมชนบ้านนอกเราอย่างหนองบัว แต่ที่มีคุณค่าอย่างมากกว่านั้นอย่างเทียบไม่ได้ก็คือคุณค่าทางจิตใจที่อาจารย์อุทิศให้ลูกหลานและสังคมหนองบัว น่าจะมีสักแผ่นหนึ่งที่กล่าวถึงในแง่กองทุนนี้เป็นเวทีสานต่อปณิธานของคนเป็นครู เชื่อมต่อกิจกรรมทางสังคมเข้ากับการพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อที่ในอนาคตจะได้เป็นประเด็นรองรับการเข้ามาทำสิ่งต่างๆของเด็กๆและคุณครูจากโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งรองรับลูกหลานหนองบัวที่ออกไปอยู่ที่อื่นแล้วแต่ยังผูกพันและอยากนำสิ่งดีๆมาเชื่อมต่อกับสังคมหนองบัว ก็จะได้มีหัวข้อและวาระทางด้านการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้แก่สังคมหนองบัว เป็นหัวข้อให้นึกถึง นี้รวมถึงเนื้อหาอื่นๆที่มีอยู่มากพอสมควรแล้ว ก็น่าจะนำมาทำเป็นสื่อจัดแสดงเผยแพร่ได้เป็นอย่างดีนะครับ

    เวทีคนหนองบัวน่าจะเน้นออกไปทางนี้แหละนะครับ ผมว่าดี คือ เป็นเวทีระดมพลังความรู้ พลังสติปัญญา พลังวิชาการ ของคนหนองบัวและลูกหลานหนองบัว รวมทั้งจากแหล่งอื่นๆของสังคมทั้งในประเทศและนานาชาติ เพื่อเสริมเข้าไปกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว ให้มีคุณค่าและยกระดับการมีความหมายต่อการสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง สิ่งที่พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย คนเก่าก่อน ได้ริเริ่มไว้ให้ จะได้มีการสืบทอดให้ยิ่งมีความสืบเนื่อง เจริญงอกงาม รวมทั้งคนที่เขาดำเนินชีวิตอยู่ในหนองบัว ทั้งคนในตัวเมืองที่ทำมาค้าขาย และชุมชนรอบนอกที่ต้องทำนาทำไร่ ทำงานฝีมือ ทำผลิตภัฑ์และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ก็จะได้มีกำลังเข้าไปเสริม ผสมผสานกันให้สังคมมีเครือข่ายร่วมแรงร่วมใจในการเรียนรู้และจัดการตนเอง

    มองในแง่ทำให้สิ่งที่หนองบัวมีอยู่แล้ว อย่างเช่นเทศกาลงานประจำปี ไม่ให้หงอยเหงาเหมือนกับสิ่งที่เพียงแต่ได้อนุรักษ์ไว้ แต่ขาดความสัมพันธ์กับชีวิตและความเคลื่อนไหวของระบบต่างๆในสังคม ให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมชุมชน ซึ่งสามารถช่วยให้เห็นเรื่องราวและสิ่งที่มีความหมายต่อการได้เยี่ยมเยือน สิ่งที่มีคุณค่าและความหมายต่อการได้ไปสัมผัสและการได้มีประสบการณ์ชีวิตกับคนหนองบัว กิจกรรมอย่างนี้ของเวทีคนหนองบัวก็จะช่วยได้มากเลยนะครับ คนที่ทำสิ่งต่างๆอยู่แล้ว นอกจากจะไม่เป็นภาระบีบคั้นให้สิ่งที่ทำจนแทบจะไปไม่รอดกันอยู่แล้วในสภาวการณ์สังคมแวดล้อมปัจจุบัน ก็กลับจะได้กำลังใจ ได้พลังการเสริมแรง โดยเฉพาะทำให้ความเป็นหนองบัวและเทศกาลทางสังคมวัฒนธรรมของหนองบัวมีความหมายทั้งต่อท้องถิ่น และต่อการสื่อสารเรียนรู้กับสังคมวงกว้างมากยิ่งๆขึ้น

    ส่วนเวทีคนหนองบัว ก็จะเป็นวิธีทำให้ผู้คนมีประสบการณ์ทางสังคมและได้มีวิธีร่วมกันจัดการความริเริ่มสร้างสรรค์ทางสังคม ซึ่งต่อๆไป ผู้คนก็คงจะเห็นโอกาสทำเรื่องต่างๆต่อไปได้อีกมาก แต่จำเพาะหน้าที่กำลังก่อเกิดและเห็นได้ชัดเจนมากเลยก็คือเป็นแหล่งค่อยๆ สร้างการร่วมคิดร่วมทำ รวบรวมข้อมูล สร้างความรู้ สื่อสารเรียนรู้ เชื่อมโยงพลังน้ำใจ พลังความรู้ที่อยู่ในตัวลูกหลานคนหนองบัวหลายสาขาทั่วประเทศ(และอีกจากหลายภูมิภาคของโลก) ให้หนองบัวทั้งชุมชน มีข้อมูล ความรู้ และสกัดภูมิปัญญาต่างๆออกมาเก็บรวบรวมและสั่งสมไว้ได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในอนาคตก็เชื่อว่าจะเป็นสมบัติสาธารณะและเป็นวัตถุดิบการคิดทำงานสร้างสุขภาวะชุมชนให้กับทุกหน่วยงานและทุกฝ่ายที่อยู่หนองบัว อย่างที่ท่านพระมหาแลบอกว่าได้ลองพิมพ์ออกมาดูแล้ว ตอนนี้ได้ถึง ๑,๖๐๐ หน้านี่ ต้องเรียกว่าไม่เบาเลยนะครับ การเริ่มต้นและจัดวางตำแหน่งแห่งหนของการทำงานพัฒนากระบวนการทางความคิดของสังคมให้ลึกซึ้งแยบคายด้วยการเรียนรู้ตนเองที่ดี และงานสร้างความรู้ สื่อสารเรียนรู้ ของเวทีคนหนองบัว ให้เกิดบทบาทจำเพาะ พร้อมกับมีความเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆที่เป็นทุนเดิมของชุมชนอยู่แล้วอย่างนี้ จะเป็นกำลังทางความรู้และกำลังสติปัญญาของชุมชนได้เป็นอย่างดีครับ ด้านอื่นๆหนองบัวอาจจะขาดโอกาสอีกหลายอย่าง แต่ทางด้านนี้หนองบัวกำลังริเริ่มและสร้างขึ้นได้อย่างมากมายดีจริงๆนะครับ

    ในการตั้งเต็นท์นั้น หากตั้งอยู่ในบริเวณงานที่เกาะลอยก็ดีครับ หรือจะไปจัดตามแหล่งสัญจร เช่น ที่หัวตลาดสี่แยกหนองบัว หรือในศูนย์การค้าธารบัวสรรค์ หรือในย่านเดินซื้อข้าวของ เพื่อให้เป็นสารบัญของการรู้จักหนองบัวและรู้จักอีกมิติหนึ่งของงานเทศกาลประจำปีหนองบัว อย่างนี้ก็ได้ แล้วก็เหมาะสมทั้งนะครับ คือ ตอนแรกๆนี้ผมว่าทำให้พอทำได้ ทำชิมลางเพื่อให้ได้ประสบการณ์จริงสำหรับประเมินขีดจำกัดของการทำงานอย่างนี้และด้วยวิธีนี้ของเรา แค่นี้ก็นับว่ามากแล้วละครับ

    หากเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ฉิก คุณคนปรุงแผ่นดิน และอาจารย์แหวว ช่วยกันประสานงานและเชื่อมโยงให้คณะกรรมการจัดงาน รวมทั้งหน่วยงานและกลุ่มคนอื่นๆของหนองบัวที่จะต้องทำงานและจัดการเรื่องต่างๆกันอยู่แล้ว ได้รับทราบ รวมทั้งรับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานที่สามารถทำผสมผสานกันไป ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่งดงามเลยละครับ ในอนาคตจะได้เป็นต้นเรื่องให้ใครก็ได้สามารถคิดริเริ่มและประสานความร่วมมือกันได้ ทำอย่างนี้สักปีหนึ่ง ปลายปีนี้หรือปีหน้า ก็เชื่อว่าจะสามารถหาข้อมูลและประสบการณ์จากความเป็นจริง มาจัดวาระทำเวทีสัมมนาสาธารณะที่น่าสนใจมากที่สุดเลยละครับ ปีต่อๆไปในอนาคต ก็จะได้เป็นแบบอย่างไว้ โรงเรียน สถานศึกษา ชุมชนรอบนอก ศิษย์เก่าและชาวบ้านคนหนองบัว จะได้มีช่องทางเพิ่มมากยิ่งๆขึ้นในอันที่จะสร้างความร่วมแรงร่วมใจ เป็นการมีส่วนร่วมช่วยกันพัฒนาสังคมหนองบัวในทางอ้อมได้เป็นอย่างดี ในอนาคตนั้น อาจารย์แหวว ลูกศิษย์ และเพื่อนๆ รวมทั้งฉิกและคนรู้จักในตัวตลาด ก็คงจะเป็นหัวหอกทำให้เป็นวัฒนธรรมเพื่อส่วนรวมของชุมชนหนองบัวต่อไปได้ดีขึ้น เด็กๆและชาวบ้านจะมีแหล่งออกมาเรียนรู้เพื่อสร้างประสบการณ์ต่อสังคมได้เป็นอย่างดี

    ผมก็กำลังคิดเหมอนอย่างที่ท่านพระอาจารย์มหาแลท่านคิดอยู่พอดีครับ ผมก็จะลองชวนน้าผมคนหนึ่งที่แกเป็นชาวบ้านที่พอจะพูดคุยกับผู้คนและมีความสามารถในการพูดถ่ายทอดสนทนาเรื่องราวต่างๆได้ดี ให้มาหมุนเวียนหรือร่วมนั่งอยู่กับคนอื่นๆในเต๊นท์นิทรรศการ แต่ว่าตอนนี้เรายังไม่ทราบเลยนะครับว่างานงิ้วปีนี้เขาจัดกันเมื่อไหร่

    เมื่อคืนท่านอาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในบล๊อกของท่านและแสดงเจตนาว่ายินดีที่จะมาร่วมเวทีสัมมนาของคนหนองบัวหากจัดขึ้นและมาร่วมจัดค่ายภาษาอังกฤษแก่เด็กๆแบ่งปันประสบการณ์แก่คนหนองบัว ท่านโทรมาถามผมว่าจะยังจัดสัมมนาที่หนองบัวในช่วงงานงิ้วตามกำหนดการเดิมอยู่หรือไม่เพราะมีคนแสดงความสนใจจากหลายแห่งของประเทศอยากมาร่วมเวทีด้วย แต่กำลังติดสอบเด็กๆ เลยอยากทราบวันเวลาที่จะจัด จะได้จัดสรรเวลาถูก ผมเลยเรียนให้อาจารย์ทราบว่า ตอนนี้ยังเตรียมการต่างๆไปเรื่อยๆและในช่วงงานงิ้วกับระยะแรกๆนี้ จะเป็นการเตรียมการต่างๆก่อน ที่สำคัญคือการเตรียมข้อมูล หนังสือ และสื่อสารสร้างความเชื่อมโยงกับเรื่องราวดีๆต่างๆของหนองบัวก่อน แล้วจึงจะจัดสัมมนาสักเดือนตุลา-พฤศจิกา.ของปีนี้ เพราะอากาศจะได้ไม่ร้อน

    • ตามมาต่อเติมครับ
    • จะได้แจ้งสมาชิก เดือนตุลาคม ถึงพฤศจิกายนก็ดีครับ
    • อากาศไม่ร้อน
    • ขอบคุณมากครับ

    ขอบพระคุณครับท่านอาจารย์ขจิตครับ
    หากได้จัดเดือนตุลา-พฤศจิกา.จริงๆจะชวนชาวบ้านเผาข้าวหลาม
    ให้อาจารย์และเพื่อนๆได้ชิมข้าวหลามหนองบัวนะครับ
    พอจะมีเวลาให้อาจารย์และบล๊อกเกอร์ทุกท่านที่พอมีงานหนังสือ
    ได้ทำงานเขียนและผมขออาสาวางเผยแพร่ให้ในงานสัมมนานะครับ

    เมื่อวาน(๗ มีนาคม๒๕๕๔)ไปเก็บข้อมูลชุมชนใกล้ๆวัด เดินหาดูไม้ท้องถิ่นไทย ทราบจากชาวบ้านว่าพืชพันธ์ไม้ท้องถิ่นที่เคยมีมากมายในหมู่บ้าน ท้องไร่ปลายนา ตอนนี้ไม่มีเหลือแล้ว บางชนิดต้องไปหาซื้อมาปลูกไว้ดู อย่างเช่นต้นที่นำมาให้ดูวันนี้ ก็เป็นไม้หายากเสียแล้ว

    ต้นมะดูกที่เห็นนี้อายุประมาณ ๑๐ ปี

    เมื่อก่อนตามท้องนา ท้องไร่มีอยู่เยอะแยะ โดยเฉพาะตามจอมปลวกจะพบมากที่สุด ผลสุกจะมีสีเหลือง ไปเลี้ยงควายหาของป่าเมื่อเจอมะดูกกำลังสุก ซึ่งส่วนใหญ่ต้นจะสูงพอสมควร วิธีจะได้กินง่ายๆไวๆก็คือการขว้าง ที่ใช้วิธีนี้เพราะต้นไม้ที่ผลกินได้มักมีมดแดง การขว้างจึงเป็นการหลีกเลี่ยงมดแดงได้ดีที่สุดและไม่เจ็บตัวด้วย





    ต้นมะดูก : ผู้ที่ยินดีเป็นนายแบบคือคนปลูกต้นมะดูกและเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๙ ต.วังทอง อ. วังทอง จ. พิษณุโลก ปลูกไว้ที่ประปาหมู่บ้านบ้านศรีชนูทิศ อายุประมาณ ๑๐ ปี ถ่ายภาพโดย อาสโย ภิกฺขุ  ๗ มีนาคม ๒๕๕๔

    แก้ไข...ข้อมูลเก่าคือหมู่ที่ ๙ 
    เพราะว่าไม่นานมานี้แยกหมู่บ้านใหม่แล้วเป็นบ้านศรีชนูทิศหมู่ที่ ๑๕ ฉะนั้น ผู้ใหญ่บ้านคนใหม่คือผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๕ ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก

    การทำเองในบ้านของตนเองของชาวบ้านอย่างนี้
    บางทีก็ทำให้เก็บรักษาหลายอย่างไว้ได้เป็นอย่างดีนะครับ 

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
    และสวัสดีทุกท่านครับ

    ผมลองถามพรรคพวกที่หนองบัวแล้ว ดูเหมือนงานงิ้วจะเริ่มมีวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔ ถึง ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๔ (ทำไมสั้นจัง) ก็เลยต้องเผื่อใจกันไว้ก่อนนะครับหากประสานงานกันเพื่อไปร่วมจัดเต๊นท์นิทรรศการไม่ทันอย่างที่ลองขยับๆกันดู

    แต่อาทิตย์หน้า ๑๔-๑๕ มีนาคม ๒๕๕๔ ก่อนถึงช่วงจัดงานสัปดาห์หนึ่ง ผมจะไปเป็นวิทยากรพัฒนาการวิจัยสุขภาพชุมชนเพื่องานผู้สูงอายุที่ในตัวเมืองนครสวรรค์ พอเสร็จงาน ก่อนกลับกรุงเทพฯ หากเสร็จแต่วันก็กะว่าจะกลับไปทางหนองบัว อาจจะลองติดต่อถามไถ่ดูความเป็นไปได้อีกทีนะครับ

    อันที่จริงนั้น ผม ท่านพระอาจารย์มหาแล และทุกท่าน ช่วยกันเขียนเรื่องราวต่างๆในนี้ ก็เหมือนกับเป็นการจัดนิทรรศการออนไลน์เหมือนกันนะครับ ปีนี้ก็เข้าใจว่าคงจะมีคนได้ไปถ่ายรูปและโยนเข้ามารวบรวมไว้ให้ผู้คนได้ชมมากยิ่งๆขึ้นอีกนะครับ

    ท่านพระอาจารย์มหาแลท่านได้ส่งหนังสือแบบทำมือไปให้ผม ผมได้รับแล้วครับ เป็นหนังสือทำมือที่ท่านดึงเรื่องราวต่างๆพิมพ์ออกมาแล้วก็เย็บเป็นเล่มย่อยๆ ดูแล้วงดงามด้วยร่องรอยของความตั้งอกตั้งใจและการตบแต่งด้วยฝีมือแบบทำเอง ผมจะนำไปเข้าเล่มและทำปกให้สวยงามเลยนะครับ หากประสานงานกับทางหนองบัวและกรรมการจัดงานเพื่อมีเต๊นท์ทำนิทรรศการได้ทัน ก็จะได้เอาไปวางอวดสายตาในงานเทศกาลประจำปีของคนหนองบัวละครับ

    ในส่วนของผมนั้น การเตรียมสื่อและสิ่งของที่จะร่วมจัดแสดง ก็จะทำไปด้วยเรื่อยๆนะครับ เพราะถึงแม้จะไม่ได้ไปจัดกันในครั้งนี้ ก็จะได้สะสมเอาไว้หาโอกาสเผยแพร่ได้อีกต่อๆไปในหลายโอกาสอยู่ดี

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า

    สวัสดีพี่วิรัตน์และทุกท่าน

    ดูเหมือนว่างานของพวกเราที่จะเอาไปแสดงในงานงิ้วนั้น คงไม่สามารถถอยหลังได้แล้ว ต้องเดินหน้าลูกเดียว

    เมื่อครู่ทางคณะกรรมการจัดงาน ได้โทรคุยกับผมเพื่อจะจัดสรรพื้นที่ให้เรา ซึ่งผมก็ขอทำเลเด่นๆหน่อย ไม่ใช่อยู่ในมุมอับ เพื่อจะได้ให้ชาวหนองบัวได้เห็นถึงกิจกรรมที่จะเอาไปแสดง และที่สำคัญขอฟรีด้วยเนื่องจากเวทีคนหนองบัว ยังไม่มีเงินเลยสักบาท แล้วจะโทรคุยกับพี่เพื่อจะนัดคุยรายละเอียดงานเร็วๆนี้

     

     

    สวัสดีครับฉิกและทุกท่านครับ

    เอาอย่างนั้นหรือครับ งั้นก็เอาไงเอากัน ดีใจไปด้วยกับฉิกนะครับที่ได้ทราบว่าคณะกรรมการจัดงานได้ให้การสนับสนุนและเอื้อเฟื้อสถานที่กับเต๊นท์ให้ นี่เป็นการเริ่มต้นที่ดีอย่างบอกไม่ถูกเลยละครับ ผมเคยทำงานในลักษณะนี้ในเวทีทั้งระดับท้องถิ่นและเวทีระดับประเทศมาบ้างพอสมควร สัญญาณแบบนี้ถือว่าหาได้ยากครับ เป็นพลังจิตวิญญาณของสังคมหนองบัวที่ดีแน่นอนครับ หลวงพ่ออ๋อย หลวงพ่อเดิม เจ้าคุณพระเทพสิทธินายก เจ้าพ่อเจ้าแม่หนองบัวและหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ต้องเป็นกำลังดีๆแก่เราแน่ๆนะครับ

    ถึงแม้งานไม่รู้จะออกมาอย่างไร เพราะเหมือนกับเป็นเวทีที่หลายท่านช่วยกันริเริ่มบุกเบิก ก็อาจจะมีหลายอย่างที่ไม่ได้อย่างใจ และอีกหลายอย่างก็คงได้มากกว่าที่คิด หรืออย่างไรก็ตาม ก็ช่วยกันถือเอาการริเริ่มให้ได้ก่อนและเน้นรักษาน้ำใจคน รักษาความเคารพและสมานสามัคคีกันของคนที่จะต้องเกี่ยวข้องซึ่งจะต้องยุ่งและเหนื่อยอยู่เบื้องหลัง พอให้มีเนื้อประสบการณ์เอาไว้เป็นตัวตั้งต้นเพื่อคิดริเริ่มกันใหม่ให้ดีกว่าเก่าในโอกาสต่อๆไป คิดทำนองนี้ก็คงจะดีนะครับ

    ทำเพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆของสังคมหนองบัว เพื่อเป็นพลังบวกกับสิ่งที่มีดีๆอยู่แล้ว ให้สามารถสืบสานและมีกำลังงอกงามดียิ่งๆขึ้น เล่นด้วย-เล่นด้วยครับ หากพอทำกันได้และหลังจากผ่านไป เชื่อว่าเราจะเก็บรวบรวมข้อมูลหนองบัวและมีบทเรียนทำหนังสือเป็นหมายเหตุคนหนองบัวได้ดีๆเล่มหนึ่งครับ

    เวทีคนหนองบัวจะมีบทบาทจากของจริงในการเป็นเวทีเคลื่อนไหวกระบวนการเรียนรู้ของสาธารณะ พัฒนาความรู้ พัฒนาภูมิปัญญาปฏิบัติของสังคม ประกบกับของจริงและวิถีชีวิตจริงของสังคม โดยมีชุมชนหนองบัวเป็นครูและแหล่งให้ประสบการณ์ สนุกและท้าทายมากครับ

    ผมขออนุญาตนำเสนอแนวคิดบางประการ
    ต่อกรรมการจัดงาน ผู้นำชุมชน องค์กรท้องถิ่น

    รวมทั้งคนในตลาดและคนหนองบัวที่สนใจสักเรื่องหนึ่งนะครับ

    งานในครั้งนี้ ทุกท่านสามารถือเป็นโอกาสทำเพื่อเป็นประสบการณ์ให้ได้ความคิด ได้ข้อมูลจากการทดลองลงมือปฏิบัติสิ่งต่างๆในวิธีคิดและเงื่อนไขใหม่ๆ หลังจากนั้นแล้ว ผมจะหาโอกาสชวนคนมือวิชาการและคนจัดกระบวนการดีๆมาช่วยกันจัดเวทีถอดบทเรียนให้ครับ ถึงตอนนั้นแล้วหากอยากจะจัดเวทีเรียนรู้และพัฒนาวิสัยทัศน์ใหม่ๆต่อการริเริ่มและทำสิ่งต่างๆในหนองบัว ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูวิถีชีวิต การพัฒนาเศรษฐกิจและการทำมาหากิน การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ สุขภาพ การพัฒนาท้องถิ่น ที่สามารถระดมความคิดให้เชื่อมโยงกันของผู้คนหลายฝ่าย รวมทั้งการจับมือกันกับคนในตลาดและกรรมการจัดเทศกาลประจำปีหนองบัว เคลื่อนไหวฟื้นฟูชีวิตตลาดหนองบัวเสียใหม่ เหล่านี้ ก็จะทำได้เป็นอย่างดีนะครับ

    เป็นวิธีเตรียมความคิด เตรียมคน เตรียมประสบการณ์อย่างง่ายๆผ่านการทำสิ่งที่ต้องทำกันอยู่แล้ว จะดีกว่าจู่ๆก็ไปรณรรงค์ให้ช่วยกันทำซึ่งนอกจากจะไม่ได้ผลแน่ๆแล้ว ผู้คนที่อาจจะเชื่อมโยงให้มาคิดริเริ่มสิ่งต่างๆด้วยกันได้ก็จะมีความเห็นและความคิดไม่ลึกซึ้งแยบคายได้เท่ากับการค่อยๆทำด้วยการเตรียมการต่างๆดีๆกันไปก่อน โดยเฉพาะการสร้างความรู้ สร้างข้อมูล พัฒนาวิธีคิด และพัฒนาการเรียนรู้ตนเองเสียใหม่ให้มากที่สุดของคนหนองบัว ซึ่งเท่าที่เริ่มปรากฏในเวทีคนหนองบัวนี้ ก็จะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นได้ว่าหนองบัวเรามีรากเหง้าดีๆเยอะเลยละครับ หลายเรื่องน่าจะเป็นเรื่องดีมากๆของสังคมไทยอีกด้วยนะครับ

    อย่างเรื่องงานงิ้วนี้ก็เช่นกัน ผมว่าพวกเราและลูกหลานคนหนองบัวสามารถช่วยกันดึงออกมาให้เห็นได้เป็นอย่างดีแน่ๆครับ เป็นเครือข่ายส่งเสริมด้วยการสร้างความรู้ สื่อสาร จัดเวทีทำให้สิ่งที่มีอยู่แล้วก่อให้เกิดการเรียนรู้ และช่วยเคลื่อนไหวกระเพื่อมสังคมด้วยความรู้และวิธีเห็นตนเองในแง่มุมที่เป็นโอกาสใหม่ๆ เหล่านี้ คนที่อยู่ในท้องถิ่นและต้องทำอะไรกันอยู่แล้วก็จะมีพลังทางสังคมหนุนเสริมได้เป็นอย่างดี

    เห็นความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของคุณฉิกแล้ว ดูมีพลังอย่างมาก
    ถ้าจำไม่ผิดที่ผ่านมาคุณฉิกเคยเสอนแนวคิดในที่นี้ครั้งหนึ่งในทำนองว่าเรา(เวทีคนหนองบัว)น่าจะทำอะไรให้เป็นรูปธรรมสักอย่าง อีกทั้งเป็นผู้อาสานำกิจกรรมจากหนองบัวมาเผยแพร่ที่นี่ก็หลายครั้งแล้ว

    ขอบคุณคุณฉิกคุณที่แสดงน้ำใจและสละเวลาช่วยทำสิ่งต่างๆอย่างทุ่มเทจนเห็นเป็นรูปเป็นร่าง และก็เชื่อแน่ว่าต่อไปก็คงจะยิ่งก่อเกิดสิ่งดีๆตามมาอีกมาก

    โอ้โฮ ขออภัยด้วย ทำไมความเห็นนี้ จึงมีหน้าตาเป็นอย่างนี้ละเนี่ย พื้นที่มันว่างเยอะเหลือเกิน ไม่เข้าใจเลยพี่น้อย

    เจริญพรอาจารย์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    วันนี้อาตมาได้รับบทความทางเมลล์จากคุณวิฑูรย์ ขำสุข ซึ่งคุณวิฑูรย์นี้ก็เป็นบุตรของทายกว่อนหรือช่างว่อน ขำสุข ช่างทำมีดและอีกหลายสถานะหลายบทบาทที่คนหนองบัวรู้จักกันดี บันทึกนี้นับเป็นบันทึกที่มีความสมบูรณ์เกี่ยวกับการทำมีดทุกขั้นตอนเลย ที่บันทึกได้ละเอียดมากอย่างนี้ ก็เพราะผู้บันทึกนี้เคยเป็นลูกมือช่วยพ่อของเขาทำมาระยะหนึ่งนั่นเอง

    เหตุที่ได้นำเรื่องนี้มาเผยแพร่ ก็เพราะอาตมาเคยขอร้องผู้บันทึกให้ช่วยบันทึกความรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการทำมีดและอื่นๆที่พ่อของเขาทำมาตลอดและตัวเขาก็มีส่วนได้ช่วยทำบ้างในระหว่างที่ว่างจากการเรียน

    จึงรู้สึกภูมิใจและมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้อ่านบทความชิ้นนี้ และขอขอบคุณคุณวิฑูรย์ ขำสุขอย่างมากที่มอบเรื่องราวดีๆเช่นนี้มาให้เผยแพร่ คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อชุมชนหนองบัวอย่างมากเรื่องหนึ่งทีเดียว

                                      

                                            พ่อว่อน  ขำสุข (๒๔๗๒ - ๒๕๕๒)

                                                  โดย : วิฑูรย์   ขำสุข 

    จะขอกล่าวเล่าขานตำนานมี            เสียงวจีอันไพเราะเสนาะหู 
    ยามเอื้อนเอ่ยบทความตามฤดู         น่าเชิดชู ชื่นชม สมฤทัย
    ทั้งงานบุญงานมงคลทุกหมู่บ้าน       เสียงกังวานชวนคิดสะกิดใจ
    ทั้งข้อคิด คติธรรม นำมาให้            ทุกผู้ใช้ ล้วนแล้ว สุขร่มเย็น 

    อีกทั้งงาน ฝีมือ ชื่อลือเลื่อง             ช่างปราดเปรื่อง ทุกแขนง ที่ได้เห็น
    มีทั้งมีด จอบเสียม ของจำเป็น         ยังไม่เว้น เช่นอุปกรณ์ ใช้หาปลา
    ขอสรรเสริญ คุณความดี ที่พ่อสร้าง  เป็นแบบอย่าง ให้ลูกเห็น เป็นแนวทาง
    มัธยัสถ์ กตัญญูรู้คุณ มิควรจาง        ลูกจะสร้างความดีสืบต่อไป    

    รวบรวมประวัติการทำมีดของช่าง ” แห่งอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

          “ ว่อน  ขำสุข ” ชื่อนี้ถ้าพูดถึงกันแล้ว ว่าคนหนองบัวหรือบริเวณใกล้เคียง น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก (ยกเว้นคนรุ่น หลาน ,เหลน)ด้วยอัธยาศัยไม่ตรีที่น่าชื่นชมแล้ว  ว่อน  ขำสุข ท่านยังเป็นผู้ที่มากไปด้วยความสามารถหลากหลายแขนง ด้วยกัน เป็นต้นว่า

           เป็นหมอ ทำขวัญบ่าวสาว เมื่อมีงาน มงคลสมรส (คนหนองบัวส่วนใหญ่แล้ว จะได้รับการเข้าพิธีทำขวัญ บ่าวสาว จากท่าน ในพิธี ท่านก็ได้ให้ข้อคิดในการครองเรือน ตลอดจนถึงการประพฤติปฏิบัติตนต่อ บิดา และมารดา ) 

    ท่านก็ยังเป็นทายก วัดหนองบัว(หนองกลับ) อีกด้วย เพราะน้ำเสียงที่เปล่งออกมา เมื่อผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ต่างก็ชื่นชมไปตาม ๆ กันว่า มีความไพเราะและเสียงกังวาน ที่เป็นเอกลักษณ์นชมแล้ว นองบัวหรือบริเวณใกล้เคียง น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ( ยกเว้นคนรุ่น หลาน , เหลน)ของท่าน 

    ความสามารถทางด้านดนตรี ท่านมีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีไทย และเครื่องดนตรีสากล ได้หลากหลายชนิดอีกเช่นกัน เป็นต้นว่า ขลุ่ย  ซอด้วง ซออู้ จะเข้ ปี่ แซคโซโฟน ทรัมเป็ต

    ความสามารถในด้านการร้องเพลง ท่านเอง ก็เป็นผู้ที่ร้องเพลงพื้นบ้านได้หลายเพลง ส่วนเพลงที่ใช้ตอนแห่นางแมว ผมเองเคยเห็นท่านได้จดเนื้อเพลงที่ถูกต้อง ไว้ให้กับพี่สาวของผมเอง ครั้งเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่

    ความสามารถทางด้านจักสาน ท่านเองก็เป็นผู้ที่สามารถทำงานด้านนี้ได้เป็นอย่างดี และงานออกมาค่อนข้างละเอียดมาก อย่างเช่น การสานตะแกรงสำหรับหาปลา ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ การสาน กระม่องใส่ปลา กระด้ง กระบุง ฯลฯ

    ความสามารถทางด้านการเย็บ , ถัก  ท่านสามารถเย็บแห (ถี่ ,ห่าง) ไว้ใช้เอง และจำหน่ายด้วย ซึ่งท่านจะใช้เวลาหลังจากเสร็จงานในตอนกลางวันแล้ว หลังจากทานอาหารเย็นเรียบร้อยแล้ว ท่านก็จะใช้เวลาหลังจากนั้นเย็บแห จนถึง สี่ทุ่ม หรือห้าทุ่ม ท่านก็จะเข้านอน  ท่านก็ยังถักตาข่ายสำหรับเอาไว้ดักนกคุ่ม ในป่าด้วย (ในสมัยผมยังเด็กอยู่) การนำก้านและใบเป้ง นำมามัดและถักเป็นไม้กวาดสำหรับกวาดพื้น

    ความสามารถทางด้านงานไม้  ท่านเองก็มีฝีมือในการทำบ้าน วงกบ ประตู หน้าต่าง ทำกังหันขนาดใหญ่ เมื่อมีลมพัดมาในคราใด ก็จะได้ยินเสียงของใบพัดของกังหันดังลั่นเลยทีเดียว  และท่านก็ยังได้นำไม้มาทำเปล ไว้แกว่งไกวให้เด็กเล็กเวลาจะนอน ( ซึ่งเปลนี้ปัจจุบันก็ยังอยู่ ซึ่งถูกใช้มาตั้งแต่พี่ชายคนโต พี่สาว ตัวผมเอง และจนถึงลูกของผมเองก็ยังได้ใช้เปลอันนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งนับรวมอายุของเปลแล้วก็เกือบจะหกสิบปีแล้วนะครับเนี่ย )

    ความสามารถในงานฝีมืออีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อและเป็นที่เรื่องลือไปไกลก็คือ

    การตีมีด และเครื่องมือใช้งานต่าง ๆ มีด และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในสมัยก่อนนี้ ถึงแม้จะมีขายตามท้องตลาดมากมายก็ตาม  แต่ผู้คนในอำเภอหนองบัวหรือเขตใกล้เคียง ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ใช้งานได้ไม่คงทน บิ่นง่าย ต่างก็เสาะแสวงหาว่า มีช่างตีมีดที่ไหนบ้างหนอ ที่ทำมีดแล้วมีคุณภาพดี  ซึ่งในสมัยนั้น ช่างตีมีดในอำเภอหนองบัว มีอยู่ด้วยกัน ประมาณ 3 -4 คนด้วยกัน ก็คือ ช่างหริ  ช่างสวง ช่างกลิ้ง  และ ช่างว่อน

           ซึ่งมีด และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ช่างว่อน ได้ทำออกมาและจำหน่ายออกไปนั้น ต่างก็มีเสียงตอบรับออกมาค่อนข้างดีและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเดิมทีก่อนที่จะมีการตีมีดนั้น ช่างว่อน ได้เคยตีเหล็กเป็นวงกลมขนาดเท่ากับล้อเกวียน โดยเหล็กที่ทำออกมาแล้วจะเรียกว่า เหล็กรัดล้อเกวียน

    ซึ่งจะช่วยให้ล้อเกวียนคงทนไม่แตกหักได้ง่ายในขณะใช้งาน (เริ่มทำเมื่อปี พ.ศ. 2507)

          หลังจากทำเหล็กรัดล้อเกวียนได้สักระยะหนึ่ง เมื่อมีการใช้รถแทนเกวียนเกิดขึ้น พ่อว่อน ก็เลยศึกษาวิธีการทำมีดกับ ปู่บุญ  บุญบาง ซึ่งปู่บุญท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความชำนาญในการตีมีด เท่าที่ผมจำได้ พ่อว่อนเคยเล่าให้ฟังว่า ปู่บุญท่านนี้เอง ที่เป็นคนตีมีดทำมีดด้ามงาให้กับหลวงปู่เดิมในสมัยนั้น เมื่อพ่อมีความสนใจในการทำมีดเป็นอย่างมาก เพราะพ่อว่อนเคยพูดบอกกับลูก ๆ ว่า พ่อได้มองถึงในอนาคตต่อไปข้างหน้าว่า เครื่องมือ เครื่องใช้ ภายในครัวเรือน ของชาวบ้านเรา ทั่วไปทุก ๆ บ้านก็มีมีดไว้ใช้งานกันทุกบ้านอยู่แล้ว ท่านจึงตัดสินใจขอเป็นลูกศิษย์ ของปู่บุญ และเริ่มทำมีดเรื่อยมา(เริ่มตีมีประมาณปี 2520 ) จนเกิดความผิดปกติกับร่างกายของพ่อว่อน คือ ผิวหนังของมือและเท้า เกิดการลอกออกเป็นแผ่น ๆ  ซึ่งสาเหตุเกิดจากการไม่ได้ยกครูเหล็ก ดังนั้น เมื่อทราบสาเหตุที่ชัดเจนแล้ว จึงได้ไปหาปู่บุญและได้เล่าอาการให้ฟัง ปู่บุญก็ได้ทำพิธีครอบครูเหล็กให้กับพ่อว่อน ขำสุข ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอาการต่าง ๆ ก็ได้หายไปจนเป็นปรกติ พ่อว่อนก็ประกอบอาชีพเป็น ช่างตีเหล็กมาโดยตลอด จวบจนท่านอายุได้ 77 ปี บรรดาลูก ๆ ต้องการให้พ่อว่อน ได้เลิกตีมีด เนื่องจากวัยของท่านสมควรที่จะได้พักผ่อนได้แล้ว ซึ่งต่างจากคนรุ่นเดียวกัน พ่อว่อน เป็นคนแข็งแรง ไม่เคยมีโรคประจำตัว ไม่เคยเข้าโรงพยาบาล อันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยเลยสักครั้ง  

     รายละเอียดเกี่ยวกับการตีมีดของ   “พ่อว่อน  ขำสุข ”

         ในชุดแรก ๆ มีที่ทำออกมาแล้วและได้จำหน่ายไป ไม่ได้มีการทำตราหรือสัญลักษณ์ ลงบนตัวมีด ทางพ่อว่อนเองก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า เราควรจะมีสัญลักษณ์อะไรสักอย่าง อยู่กับตัวมีดหรืออุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ที่ทำขึ้นมา เพื่อเป็นการบ่งบอกได้ว่า มีดหรือ เครื่องมือต่าง ๆที่ทำออกมานั้น มาจากการทำของท่าน  ดังนั้นท่านจึงได้กำหนดว่า จะใช้ตัวพยัญชนะตัว  “  ว  ” เพื่อสื่อความหมายว่า ช่างว่อน ตีเหล็ก หลังจากได้ใช้ตัว “  ว  ” สลักลงบนมีด พร้อมทั้งสลักปี ที่ทำลงบนตัวมีดด้วย

    กระบวนการทำมีด(มีดเหน็บ) 

          ก่อนอื่นขอกล่าวถึงวัตถุดิบ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ที่ใช้ในการทำมีดกันก่อนนะครับ

    1. เหล็กที่ใช้สำหรับตีมีด  เช่น เหล็กสำเร็จ , เหล็กแหนบรถบรรทุก , บาร์เลื่อยยนต์ , เลื่อยไฟฟ้า , เหล็กบาร์รางรถไฟ

    2. ค้อนสำหรับตีมีด ขนาด 3 ปอนด์ 5 ปอนด์ และขนาด 8 ปอนด์

     
    ค้อนขนาดเล็กและขนาด 3 ปอนด์  ค้อนขนาด 8 ปอนด์

    3. คีมสำหรับจับเหล็ก (ทำขึ้นเอง) จำนวน  2 - 4 อัน แล้วแต่ขนาด

     
    4. ทั่ง สำหรับรองตีมีด 
    5.พัดลมสำหรับเป่าเตาไฟ ( ซึ่งสมัยก่อนจะใช้เป็นแบบสูบลม เข้าเตา)

    6. ถ่าน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ถ่านสำหรับตีมีด กับถ่านไม้ลวก ไว้สำหรับเผามีดตอนชุบ
    7. ตะไบหยาบและตะไบละเอียด สำหรับขัดผิว และทำคม

     

     8.เหล็กสกัด เอาไว้สำหรับตัดเหล็กออกให้เป็นรูปทรงตามที่ต้องการ ( ทำขึ้นเอง )

     

     เหล็กสกัดแต่ละขนาด        เหล็กสกัดที่พร้อมใช้งาน
    9.โต๊ะที่ตัดตั้ง ปากกาจับชิ้นงาน
    10.สายรัดยางพลาสติก
    11.ไม้สำหรับทำด้ามีด ขนาดประมาณ 8 นิ้ว

     

    ตะไบ บ้ง สำหรับตะไบด้ามมีด
    สว่านมือ,ดอกสว่านสำหรับเจาะไม้

    12.  ตะไบ บุ้ง สำหรับตะไบด้ามมีด
    13.  สว่านมือ , ดอกสว่านสำหรับเจาะไม้ 
    14.  ดินสอดำ ( แท่งใหญ่ ) 
    15.  น้ำ สำหรับเอาไว้รดถ่านในเตา เพื่อให้ถ่าน สามารถใช้งานได้นาน ๆ
    16.  ค้อนขนาดกลางเพื่อใช้ตกแต่งรูปทรงมีด

     
    17. ไม้ลวก สูงประมาณ 100 cm. สำหรับค้ำปลายมีด เวลาตะไบคูมมีด
    18. หินเจียไฟฟ้า สำหรับเก็บงานหยาบ


     
    19. เลื่อยตัดเหล็ก  
    20. ไม้วัดขนาด(นิ้ว,ซอก)

    เพิ่มเติม : กรณีใช้เหล็กสำหรับทำมีดโดยเฉพาะ(พ่อว่อนจะเดินทางไปซื้อเหล็กที่บางมูลนาค จังหวัดพิจิตร  หรือ ที่ตลาดอำเภอชุมแสง )เหล็ก 1 เส้น สามารถแบ่งออกได้ 4 ชิ้น การแบ่งเหล็ก แต่เดิมเคยใช้วิธีใช้เลื่อยตัดเหล็ก ตัดออกทีละชิ้น  ต่อมาพ่อว่อน ได้เปลี่ยนวิธีการตัดเหล็กมาเป็นการนำเหล็กไปเผาไฟ แล้วใช้เหล็กสกัดตัดออกแทน วิธีนี้จะสะดวก และเร็วกว่าวิธีเดิมมาก ส่วนเหล็กชนิดอื่น ๆ ที่นำมาทำ พ่อว่อน ก็จะใช้วิธีนำแบบมีดมาทาบลงบนเหล็กแล้ว ขีดเส้น หลังจากนั้นก็นำไปเผ่าไฟแล้วนำมาตัดออก

      

    เหล็กเมื่อตัดออกมาเป็นชิ้นที่พอดีสำหรับมีด 1  เล่ม

    เหล็กเมื่อตัดออกมาเป็นชิ้นที่พอดีสำหรับมีด 1 เล่ม                             
    หลังจากตัดเหล็กเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะเริ่มกระบวนการทำมีดดังต่อไปนี้ 

    1. นำเหล็กที่ตัดไว้แล้วเผาไฟให้ร้อนจนเหล็กเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้ม
    2. นำเหล็กออกมาทำการตีด้วยค้อน 8 ปอนด์ เพื่อทำการรีดเหล็กออกให้ยาวสำหรับทำกั่นมีด

     

    เหล็กก่อนเริ่มตีเป็นมีด

    เหล็กที่เริ่มตีบริเวณกั่นมีด

    เหล็กที่ทำกั่นมีแล้ว

    3.หลังจากทำกั่นมีได้แล้ว ก็จะเริ่มตีเหล็กให้เข้ารูป

    4.ทำการตีเหล็กให้แบน เพื่อรีดให้เข้ากับรูปแบบที่กำหนดไว้ ซึ่งจะเริ่มตีจากปลายมีด ไล่จนมาถึงกั่นมีด
    5.หลังจากรีดเหล็กออกมาจนได้เป็นรูปเป็นร่างแล้วด้วยค้อน 8 , 5 และ 3ปอนด์ ที่ผมกับพ่อได้ใช้แล้ว ส่วนที่เหลือจากนี้ พ่อว่อน ท่านจะเป็นคนจัดการเองทุกอย่าง ซึ่งก่อนที่จะทำการตะไบ นั้น พ่อว่อนก็จะทำการสลักตัว ไว้ที่บริเวณตรงกลางของตัวมีด  ส่วนผมจะช่วยอีกทีก็ตอนใช้ตะไบหยาบเพื่อทำการเก็บรายละเอียดของตัวมีดให้สวยงาม และใช้ตะไบละเอียดเพื่อตะไบคมมีดให้มีความคมเพิ่มมากขึ้น  การทำคมมีดนี้ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ควรแทงให้ได้คมที่เท่ากันทั้งสองด้านและมีความคมตลอดทั้งเล่ม

     
                   ทำการสลักตัว และปีที่ทำ ลงบนมีด 

    6.หลังจากได้มีดที่มีความคมแล้ว ต่อไปจะเป็นการชุบ มีดให้มีความคมและแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ในการชุบมีดนี้ ถ่านที่ใช้ทำเชื้อเพลิงนั้น จะใช้ถ่านคนละอย่างกับที่ใช้ตีมีดในตอนแรก  ถ่านตอนชุบนี้จะใช้เป็นถ่านที่มาจากการเผาไม้ลวก เพราะถ่านไม้ลวกจะให้ไฟที่แรงและความคมจะดีกว่าถ่านไม่ธรรมดา  (ตามที่พ่อว่อนได้บอกไว้)

      วิธีการชุบมีด จะทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ 

    1. เตรียมมีดที่จะทำการชุบคมตัด
    2. ติดเตาไฟและใช้ถ่านไม้ลวก เผาให้ร้อนโดยทั่วกัน
    3. นำมีดเข้าไปวางไว้ในเตา โดยให้เอาบริเวณคมมีดลง เพื่อให้ถูกไฟเผาโดยจะค่อย ๆ เลื่อนตัวมีดไปมา  เพื่อให้ความร้อนของไฟไปได้ทั่วถึงคมมีดทั้งเล่ม
    4. เมื่อคมมีดได้รับความร้อนจนทั่วทั้งเล่มแล้ว พ่อว่อนก็จะนำไปทำการชุบในอ่างน้ำที่เตรียมไว้สำหรับการชุบมีด โดยให้คมมีดสัมพันธ์กับน้ำ ซึ่งลักษณะการฟันมีดลงในน้ำ โดยให้คมมีดสัมผัสน้ำเพียงแค่ประมาณ  5 มิลลิเมตร ก็พอ การฟันมีดลงในน้ำจะเริ่มจากท้องมีด เรื่อยไปจนถึงปลายมีดโดยเวลาที่ใช้ค่อนข้างรวดเร็ว เพราะถ้าช้าจะทำให้ความแข็งของคมมีดเปลี่ยนไป


      ตัวมีดที่ทำออกมาเสร็จแล้ว
    5.หลังจากชุบคมมีดเสร็จแล้ว ต่อไปเป็นการเตรียมทำด้ามมีด โดยพ่อว่อน จะใช้ไม้ประดู่ นำมาเลื่อยออกแล้วตัดแบ่งตามขนาดที่ต้องการ โดยความยาวประมาณ 1 คืบของพ่อว่อน หลังจากนั้น พ่อว่อนก็จะนำไม้ที่ตัดแบ่งออก มาตกแต่งให้ได้ตามแบบที่พ่อว่อนออกแบบไว้
    6.เมื่อได้ด้ามมีดเรียบร้อยแล้ว ก็จะทำร่องเพื่อไว้สำหรับสวมปลอกด้ามมีด เพื่อเพิ่มความแข็งแรง
    7.ทำการเจาะรูที่ด้ามมีดเพื่อนำกั่นมีดใส่เข้ากับด้ามมีด การใส่มีดเข้าด้าม จะเริ่มจากเตรียมวัสดุดังนี้
    8.ด้ามมีดที่เจาะรูไว้ พร้อมกับใส่ปลอกเรียบร้อยแล้ว

    9.1 ตัดยางรัดของความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร จำนวน 5  -  7เส้น
    9.2 มีด , เลื่อยตัดเหล็ก
         เริ่มจากนำยางที่ตัดไว้ ใส่เข้าไปในรูที่เจาะไว้ให้เต็ม  จากนั้น ก็ให้นำมีดเผาไฟโดยใช้บริเวณ กั่นมีดเผาให้ความร้อนพอประมาณแล้ว ก็นำมาเสียบกั่นลงไปในรูที่เจาะไว้ก่อน การใส่ให้ดูทิศทางของกั่นมีดกับด้ามให้ตรงกัน หลังจากนั้นก็ให้กดมีดลงไปในด้าม และกระแทกด้ามเพื่อให้มีดลงไปให้สุด ซึ่งขณะใส่เข้าไป ยางที่ใส่ไว้ก็จะละลายติดกับตัวมีดและยึดติดกับด้ามมีดไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความหนาแน่นอีกทางหนึ่งด้วย หลังจากนั้นก็ให้รอจนกว่า ยางที่ละลายเย็นตัวลง เสร็จแล้วก็ให้ใช้เลื่อย ๆ เอาเศษยางที่ทะลักออกมาจากรูของด้ามมีดออกให้หมดทั้งสองด้าน  เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้แล้ว ถือว่าการทำมีดก็ได้เสร็จสมบูรณ์ พร้อมที่จะจำหน่ายได้แล้ว ซึ่งมีดก่อนที่จะจำหน่ายออกไปนั้น พ่อว่อนจะนำมีดมารับใหม่ให้คม พร้อมที่จะนำไปใช้งานได้ทันที

    นอกจากมีดทุกชนิดแล้ว พ่อว่อนได้ทำอุปกรณ์และเครื่องมือไว้หลายอย่างด้วยกัน เช่ 

    1. เคียวเกี่ยวข้าว 2. เหล็กขีดปลาหรด 3. ซ่อมแทงปลาไหล 4. กะแหล่ง คล้องคอวัว ควาย 5. มีดขอ มีดหวด มีดอีโต้ มีดสำหรับสับหมู 6. เหล็กขูดหน่อไม้
    7. ฉมวกแทงปลา 8. เหล็กแฉลง 9. เสียม 10. จอบ 11. เหล็กขอสำหรับเอาไว้สอยลูกมะพร้าว 12. เหล็กสำหรับปอกเปลือกมะพร้าว 

    ตัวอย่างเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้ทำไว้  (บางส่วนที่ยังพอหาได้)

    มีดสำหรับหั่นเนื้อหมู,เหล็กสำหรับปอกเปลือกมะพร้าว,ขอเกี่ยวมะพร้าว,เคียวสมัยพ่อว่อนเคยใช้งาน,เคียวที่ยังรอทำคม,มีดสำหรับหั่นเนื้อหมู,มีดขนาดเล็กพร้อมฝัก,มีดขนากลางพร้อมฝัก,อุปกรณ์สำหรับบัดกรีตะกั่ว,ซ่อมแทงปลาไหล(ส่วนปลาย),ซ่อมแทงปลาไหล(ส่วนด้ามจับ)

    หมายเหตุ...เนื่องจากรูปที่คุณวิฑูรย์ ขำสุขส่งมาเป็นรูปประกอบบทความที่เป็นเวิร์ด จึงต้องปริ้นข้อความออกมา แล้วนำรูปไปสแกนอีกที รูปอาจไม่ชัดเจนเท่าต้นฉบับ.

    เนื้อหานิทรรศการเพื่อช่วยกันพิจารณาครับ


    ผมลองรวบรวมหัวข้อบันทึกที่มีอยู่แล้วที่พอจะดึงออกมาทำเป็นเนื้อหานิทรรศการ เลยขอนำมาให้ทุกท่านในเวทีคนหนองบัวได้ช่วยกันดู เลือกหัวข้อ เสนอแนะการปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งในส่วนอื่นๆที่พอจะทำเพิ่มกันได้ในช่วงเวลาสั้นๆนี้นะครับ

    ผมเพิ่งมีโอกาสมานั่งรวบรวมเรื่องราวที่เกี่ยวกับหนองบัวก็ในครั้งนี้นี่เอง นี่ยังไม่ใช่ทั้งหมดหรอกนะครับ ยังมีอีกหลายหัวข้อ และเป็นหัวข้อที่คนเข้าไปคุยรวบรวมเรื่องราวต่างๆไว้เยอะเสียด้วย พอเห็นภาพรวมแล้วเลยเข้าใจว่าทำไมท่านพระอาจารย์มหาแลท่านจึงบอกว่าเรื่องของหนองบัวเยอะ

    ผมจะเลือกเพียงบางส่วนไปทำเป็นแผ่นนิทรรศการนะครับ แต่พอรวบรวมมาแล้วก็เลือกไม่ถูก ทุกเรื่องจะเดินอ่านก็ได้ทั้งความคิดและความรู้เรื่องวิถีชีวิตกับเรื่องความเป็นหนองบัวมิติต่างๆ โดยเฉพาะที่สะท้อนอยู่ในเรื่องราวของชาวบ้าน หรือจะเดินดูรูปถ่าย-รูปวาด ก็จะมีรูปให้ดูทุกเรื่อง ชวนกันเดินดูและพูดคุย หรือคนนั่งเฝ้านิทรรศการจะเป็นคนนำชม ก็สามารถพากันเดินคุยและได้นำเอาความรู้ความจำเกี่ยวกับหนองบัวที่อยู่ในวิถีชีวิตออกมาเคลื่อนไหวให้ได้ความสุขกันเป็นอย่างดีละครับ

    อีกสองเรื่องที่น่าสนใจมากก็คือเรื่องพัฒนาการทางด้านงานสุขภาพและสาธารณสุขท้องถิ่น ผ่านเรื่องของหมอหนิมและเรื่องของหมออรุณ ซึ่งเนื้อหามีอยู่แล้วแต่ต้องดึงออกมาจัดให้เป็นหัวข้อต่างหากครับ

    ถ้าเป็นไปได้อยากเสนออาจารย์เพิ่มเติมอีกสักสี่เรื่อง ซึ่งสี่เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นความรู้ทั่วไปกว้างๆที่มีอยู่ในสังคม แต่สี่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องราวชีวิตของบ้านขนานแท้เป็นวิถีดั้งเดิมที่ชาวบ้านรู้จริง ผ่านประสบการณ์นี้มาทั้งชีวิต เชื่อว่าท่านสามารถเล่าขานบอกกล่าวถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ได้อย่างงดงาม และสนุกดีด้วย

    อาจารย์ลืมความเป็นหนองบัวไปอย่างสองอย่างแล้วนะเนี่ย สำคัญเสียด้วยซิ หนองบัวพันธ์แท้ต้องมีเรื่องพริกเกลือและเรื่องกินดอง ขาดสองเรื่องนี้ไประวังจะไม่สมบูรณ์นะจะบอกให้ ไม่พูดถึงเรื่องนี้เดี่ยวจะโดนทักว่าไม่รู้จริงนะ จากสี่เรื่องก็เป็นหกเรื่อง ชาตินิยมมากไปไหมเนี่ย(อาตมามีรายละเอียดเรื่องกินดองที่ไม่ได้ลงในเวทีคนหนองบัว เป็นงานวิจัยชุมชนของนักเรียนม.๕โรงเรียนหนองคอก-หนองบัว งานวิจัยชิ้นนี้แม้จะเป็นของเด็กนักเรียนระดับมอปลายก็ตาม แต่ในสายตาอาตมาถือว่าดีเด่น สืบค้นเจอ(๒๕๕๒) เดี่ยวจะรีบส่งไปให้อาจารย์วันสองวันนี้เลย

    ต้องขอชมอาจารย์ว่าเลือกได้ครบถ้วนสมบูรณ์มาก ทั้งหมดที่เลือกมานี้ จึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ชาวบ้านที่มีชีวิต ครบทุกรส สดทุกเรื่อง

    ฉาย : เทคโนโลยีและวิถีความรู้ชาวนา
    จับเขียด หาลูกปลา ลงเบ็ด : วิถีทำกินและอาหารจากน้ำตามฤดูกาล
    หลุมโจน : ศิลปะการหาปลาในวิถีชาวบ้าน
    เก็บข้าวตก : การเรียนรู้ใช้ชีวิตและรับผิดชอบตนเอง

    ส่วนเรื่องของหมอหนิมและเรื่องของหมออรุณนั้น
    ด่วนๆตอนนี้ที่ไว้แล้ว คือการดึงข้อมูลที่มีอยู่แล้วและหลายท่านได้ช่วยกันเขียนไว้ อาตมาแยกออกมาเย็บเล่มได้ประมาณ ๖๐ กว่าหน้า เดี่ยวจำนำไปวางโชว์ที่หน้างาน

    ใช้ชื่อเรื่องที่อาจารย์ตั้งไว้คือหมอหนิม หมออรุณ : ประวัติศาสตร์พัฒนาการสุขภาพชุมชนที่ยังมีลมหายใจของอำเภอหนองบัว

    นึกขึ้นได้อีกสองเรื่องคือเรื่องหมอหลุยกับเรื่องโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัว

    ยังไม่ค่อยมีเวลาอ่านที่ท่านพระคณเจ้าและพี่วิรัตน์เสนอมาอย่างละเอียด

    อยากเพิ่มเติมเรื่องดอกอุ้มน้อง ที่ป่าใหญ่ครีเอชั่น เสนอในรายการทุ่งแสงตะวันทางช่อง3 เมื่อกลางปีที่แล้ว และนสพ.ข่าวสดเสนอเพิ่มเติมเป็นสารคดีข่าวในช่วงเวลาใกล้ๆกัน ใครมีเวลาลองค้นดู เพื่อจะได้ติดต่อขอข้อมูลกับทางรายการ

     

    มาตามคำเรียกร้องคุณฉิก
    อาตมาได้รวบรวมเนื้อหาเฉพาะดอกอุ้มน้องจากหนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์บริษัทป่าใหญ่ครีเอชั่น เว็บไซต์โรงเรียนหนองคอก และจากเวทีคนหนองบัวเราได้เนื้อหา ๒๕ หน้า เอาของจริงมาโชว์คุณฉิกด้วยแหละ

    อาตมาเขียนไว้ในคำนำดังนี้ "การจัดพิมพ์เอกสารเรื่องดอกอุ้มน้องชุดนี้  จัดเป็นสามส่วนด้วยกัน ดังนี้ (๑) ส่วนที่สื่อหนังสือพิมพ์นำเสนอ (๒ )จากข้อเขียนในเวทีคนหนองบัวเว็บไซต์โกทูโน(Gotoknow) (๓ ) ข้อมูลวิชาการจากเว็บไซต์โรงเรียนหนองบัว-หนองคอก(http://www.nongbua.ac.th/srt.html) อำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์"

    ส่วนรายการทุ่งแสงตะวันเรื่องดอกอุ้มน้องนั้น ได้ให้พระในวัดท่านโหลดไว้แล้ว แต่ไฟล์ที่ทางรายการลงไว้เป็นไฟล์เล็ก โหลดออกมาเมื่อเปิดเต็มจอทีวีภาพจะเบลอๆนิดนึงแต่พอดูได้

    ถ้าใครสะดวกติดต่อเจ้าของสารคดีคือคุณนิรมล เมธีสุวกุลได้ก็จะน่าจะได้ต้นฉบับที่สมบูรณ์

    ใจดี ขอแถมเรื่องนี้ให้คุณฉิกอีกหนึ่งเรื่อง คิดว่าคุณฉิกน่าจะสนใจ เล่มนี้หนาจำนวน ๓๐ หน้า
    หาอ่านยากหน่อยนึง เพราะอยู่กระจายๆในบล็อกแถวๆนี้แหละ แต่นี่อาตมาจัดให้...นั่งเฝ้าเต้นท์(มีคู่มือ)อ่านไปคุยไปบรรยยายไปด้วยสบายๆ

     

    กราบนมัสการพระอาจารย์ พระมหาแล อาสโย ขำสุข พระอธิการ และสวัสดีค่ะชาวหนองบัวทุกท่านค่ะ

    • นานๆ เข้ามาทีก็ให้ตื่นเต้นไปกับความคึกคักกับการเตรียมการสำหรับเวทีคนหนองบัว ของชาวหนองบัวทุกๆ ท่านนะคะ .. ดูๆ ไปจะยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างจนถอยไม่ได้อย่างที่คุณฉิกว่าไว้จริงๆ
    • โอ๊ะ! นี่เป็นเวทีย่อย หรือที่ขอเรียกว่า พรีเวทีคนหนองบัว ก่อนที่จะมีอีกประมาณตุลา-พฤศจิกา ในตีม เวทีมหิดล-คนหนองบัว  หรือจะ เหลียวหน้า มองหลัง หรือ จากเวทีชุมชนออนไลน์ สู่เวทีสาธารณะชุมชน ฯลฯ นี้เหรอนี่ .. คือตอนแรกเข้าใจว่ารอบนี้จะเป็นไปในลักษณะของการเข้าชุมชน พบปะชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อขอเก็บข้อมูล เก็บภาพ เพื่อรวบรวมข้อมูล และเติมเต็มให้กับข้อมูลบางส่วน (หรือส่วนใหญ่) ที่ทางอาจารย์ ดร.วิรัตน์ได้ริเริ่ม เขียนนำร่องขึ้นมา ในเว๊บโกทูโน ที่จะนำมาใช้ในเวทีใหญ่ปลายปีนี้ และประชาสัมพันธ์งานครบรอบ ๖๐ ปีอำเภอหนองบัว หรือครบรอบ ๕๐ ปีโรงเรียนวันครู โรงเรียนหนองบัว เพื่อพบปะพลเมืองหนองบัว และศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันหน่ะค่ะ ..
    • แต่ชุดองค์ความรู้ที่เกิดจากในเวทีหนองบัว แค่เห็นหัวข้อที่ท่านอาจารย์พระมหาแล และอาจารย์ ดร.วิรัตน์ รวบรวมมาให้ดู ก็ตื่นเต้นค่ะเพราะเยอะมากกกจริงๆ
    • อ้อ! สำหรับ สารคดีชุด "ดอกอุ้มน้อง" ของทางบริษัทป่าใหญ่ครีเอชั่น นั้น ได้ลองประสานไปทางคณะทำงานของป่าใหญ่ฯ ให้แล้วหล่ะค่ะ น้องเค้าบอกว่า ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ อาจารย์ทนง และภรรยาของท่าน ซึ่งเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนประจำอำเภอหนองบัว (เข้าใจว่าโรงเรียนหนองบัว) ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลเรื่องราวของดอกอุ้มน้องแก่ทางป่าใหญ่ฯ นั้นทางป่าใหญ่ฯ ได้ให้ DVD ชุดนี้ไว้กับทางโรงเรียนบ้านหนองไผ่แล้ว ๑ ชุดค่ะ ถ้าท่านใดพอจะรู้จักท่านอาจารย์ทนง ลองประสานเพื่อขอยืม DVD มาเผยแพร่ได้ค่ะ ..
    • อยากเห็นผลงานของชาวหนองบัว หมายถึงในวันงานงิ้ว จังค่ะ คงสนุกสนานเชียว ..

    กราบนมัสการพะคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล
    สวัสดีครับฉิก อาจารย์ณัฐพัชร์ และทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    ชอบหัวข้อที่ท่านพระอาจารย์มหาแลตั้งว่า หมอหนิม หมออรุณ : ประวัติศาสตร์พัฒนาการสุขภาพชุมชนที่ยังมีลมหายใจของอำเภอหนองบัว มากเลยละครับ หากเขียนเรียบเรียงใหม่เพื่อจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ละก็จะขออนุญาตใช้ชื่อนี้นะครับ อีกสองเรื่องคือเรื่องหมอหลุยกับเรื่องโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัว ก็เป็นอีกมิติหนึ่งในความเป็นหนองบัวเลยนะครับ อันที่จริงอยากชวนโรงพยาบาลหนองบัวและสำนักงานสาธารณสุขมาเล่นด้วยจังเลย งานลักษณะอย่างนี้นั้น ใช้ประเด็นเรื่องสุขภาพ การศึกษา กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเป็นตัวเดินเรื่อง จะเป็นเรื่องที่ทำได้ในระยะยาว แตกออกไปสู่เรื่องอื่นๆได้ดีครับ แต่ผมจำไม่ค่อยได้แล้วว่ารู้จักใครบ้าง ดูเหมือนจะมีลูกหลานหมอหลุยทำงานทางด้านสาธารณสุขอยู่ด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าผมเคยเจอที่หนองบัวหรือที่สำนักงานที่จังหวัดโน่นเลย กับอีกท่านหนึ่งที่ผมรู้จักเนื่องจากเป็นญาติกันด้วยคือหมอรุ่ง แผนกเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชน ของโรงพยาบาลหนองบัว จะลองชักชวนดูครับ

    รายการสารคดี ดอกอุ้มน้อง ของป่าใหญ่ครีเอชั่น ที่คุณฉิกอยากได้มาฉายด้วยนั้น ต้องขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์มากเลยละครับที่ให้ข้อมูล ผมเลยลองโทรไปถามท่านอาจารย์ทนงที่อาจารย์ณัฐพัชร์กล่าวถึงแล้วละครับ แต่ท่านคืออาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่และภรรยา คือ อาจารย์สุนันท์ จันทร์ดิษฐ์ หัวหน้าสาขาคณิตศาสตร์ โรงเรียนหนองบัว เลยได้ทราบข้อมูลยืนยันตามที่อาจารย์ณัฐพัชร์ได้ลองติดต่อเพื่อนที่ป่าใหญ่ครีเอชั่นแล้วละครับ

    นอกจากยืนยันว่ามีแผ่นซีดีที่ป่าใหญ่ครีเอชั่นได้ส่งไปให้แล้ว อาจารย์พนมก็ยังบอกอีกว่ากำลังทำก๊อปปี้ลงแผ่นซีดีแผ่นหนึ่งเพื่อส่งให้ท่านพระอาจารย์มหาแล ท่านบอกว่าท่านพระอาจารย์มหาแลได้ส่งหนังสือทำเองไปให้และออกปากขอหนังสารคดีจากท่านอาจารย์พนมด้วย ผมก็เลยเรียนให้ทราบว่า ทางคณะจัดนิทรรศการอาจจะมีคนมาขออีก เลยขอความอนุเคราะห์ท่านไว้ว่าขอรบกวนและขอความอนุเคราะห์ไว้ล่วงหน้าด้วย

    นอกจาก ผอ.พนมจะออกปากว่ายินดีสนับสนุนให้อย่างเต็มที่แล้ว ท่านก็ลองเสนอให้อีกอย่างซึ่งน่าจะดีมากอย่างยิ่งด้วยว่า สักเย็นวันใดวันหนึ่ง แทนที่จะฉายหนังเรื่องดอกอุ้มน้องวนไปเฉยๆ ก็น่าจะจัดเวทีนั่งคุยกัน เล่นดนตรีนำรายการก่อน เสร็จแล้วก็ชวนเด็กๆที่ออกรายการทีวีและชวนคนเฒ่าคนแก่มานั่งคุย คุยให้มีความสุข ให้ได้การเรียนรู้สังคมหนองบัว จากนั้นจึงนั่งฉายหนังเรื่องดอกอุ้มน้องดูไปด้วยกัน

    ผมว่ารูปแบบนี้ก็ยิ่งเข้าท่ามากเลยละครับ แดดร่มลมตกก่อนจะเข้าบ้าน ก็แวะไปเจอกันที่เกาะลอยข้งเต๊นท์นิทรรศการแล้วก็จัดรายการเสวนากันสนุกๆอย่างที่ว่านี้ขึ้น ดนตรีนั้นท่านก็บอกประเดี๋ยวจะลองชวนคุณครูกับเด็กๆหมวดดนตรีและขับร้องจากโรงเรียนบ้านหนองไผ่มาเล่นนำรายการให้ ผมนึกเห็นภาพเลย น่าทำครับ เปิดเวทีให้กับเด็กๆดีมากด้วย

    ผอ.พนมบอกว่าจะบอกกล่าวประสานงาน อบต.และหน่วยานต่างๆไปด้วย เพื่อให้ทราบความเคลื่อนไหวและร่วมทำไปด้วยกันตามความสะดวก ในส่วนของพวกเราที่พอทำงานข้อมูลและค่อยๆนั่งคุยกับคนหลายๆแหล่งเพื่อสร้างความรู้และข้อมูลต่างๆไปด้วย ก็จะค่อยๆทำไป ทั้งหมดนี้ เมื่อจะเชื่อมโยงให้เป็นเวทีหนองบัวอีกทีหนึ่ง ก็เชื่อว่าจะมีพลังความรู้และมีพลังความร่วมมือร่วมใจกันดีมากเลยนะครับ

    กราบนมัสการพระอาจารย์ มหาแล , ท่านอ.วิรัตน์ และเวทีคนหนองบัวทุกท่าน

        เรื่องราวต่างๆ ของเวทีคนหนองบัวช่วงนี้เคลื่อนไหว ดูคึกคักมากครับ  สำหรับเรื่องของช่างว่อน ขำสุข ดูแล้วค่อนข้างละเอียดมาก เนื่องจากข้อมูลได้จากบุตรชายคนเล็กของท่านโดยตรง   ส่วนการจัดงาน มีสิ่งใดที่จะให้ Support ก็ยินดีครับ เดี๋ยวจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้พวกที่อยู่ที่หนองบัวได้ทราบ หากมีเวลาจะแวะไปเยี่ยมชมบูทด้วยครับ

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาและ, สวัสดีอาจารย์วิรัตน์ พี่ฉิก และ ชาวเวทีหนองบัวทุกท่านค่ะ

    ไม่ได้เข้ามาเสียหลายวัน เวทีนี้ดูคึกคักและก้าวหน้าไปมากในเรื่องการจัดงานแสดงเวทีหนองบัวในงานงิ้ว

    พูดถึงงานงิ้วหนองบัว ดิฉันไม่ได้ไปงานตั้งแต่ จบ ม.๖ คิดแล้วก็อยากไป แต่อยู่ไกลเหลือเกิน

    ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานค่ะ

    อ.วิรัตน์ค่ะ โรงหนังหนองบัวรามา นี่ใช่อยู่ใกล้ๆ กับที่ว่าการอำเภอหนองบัว หรือเปล่าค่ะ ดิฉันเคยไปดูหนังครั้งแรก ก็เรือง "น้ำพุ" และ "ข้างหลังภาพ" ซึ่งเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาตอนเรียนหนังสือค่ะ

    คนในหนองบังจะเรียกโรงหนังว่า "วิก" ใช่ไหมคะ

    ชุมชนแถวนั้นก็เรียกว่าชุมชนข้างวิกค่ะ

    ขอส่งแรงใจให้งานที่ทุกๆท่านตั้งใจทำเพื่อเวทีชาวหนองบัว ประสบผลสำเร็จนะคะ

    อัญชัน

    ขอร่วมแสดงความเสียใจกับอุบัติภัยคลื่นสึนามิกับเพื่อนๆประเทศญี่ปุ่น
    และคนไทยในประเทศญี่ปุ่นครับ

    สวัสดีครับธนกฤตครับ

    เห็นด้วยกับธนกฤตมากเลยครับ ยังสนใจอยู่ว่าอยากจะหาโอกาสไปนั่งคุยกับลูกหลานช่างว่อนและศึกษารวบรวมข้อมูลเพิ่มไว้ให้อีกบางด้าน เป็นภูมิปัญญาและเทคโนโลยีท้องถิ่นที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับวิถีชุมชนเกษตรกรรมของชาวบ้าหนองบัวหลายมิติครับ

    งานนี้นึกอะไรได้ก็ไปร่วมเลยนะครับ ท่าทางคงจะสนุกดีเหมือนกัน อาจจะเป็นการริเริ่มที่ทำให้เกิดความคิดดีๆต่อไปอีกหลายเรื่อง

    สวัสดีครับอัญชัญครับ

    วิกหนังหนองบัวรามานี่อยู่ฝั่งตรงข้ามหน้าอำเภอน่ะครับ แต่ว่าเยื้องๆออกไปทางตัวเมืองเข้ามาหน่อยหนึ่ง คุณอัญชันส่งกำลังใจไปร่วมทำกิจกรรมกับพวกเราและเพื่อนๆนะครับ

    อยากให้มีภาพเก่าเล่าเรื่องประวัติอำเภอหนองบัวและกิ่งอำเภอหนองบัว

    ในหนังสือประวัติการเรียนและการปฏิบัติงานของป้าหมอหนิมมีภาพถ่ายสุขศาลากิ่งอำเภอหนองบัว และที่ทำการกิ่งอำเภอหนองบัว ที่ใช้ศาลาวัดหนองกลับเป็นที่ทำการภาพโรงพยาบาลคริสเตียนหนองบัวก็มีอยู่หลายภาพ ภาพกิ่งอำเภอหนองบัวมีอยู่๗-๘ ภาพ บางภาพยังไม่ได้โพสต์ในเวทีคนหนองบัว

    ถ้าเป็นไปได้ ใครมีภาพถ่ายเก่าๆที่บอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญๆในหนองบัว จะนำมาจัดนิทรรศการร่วมกันในครี้งนี้ได้ คิดว่าจะเป็นประโยชน์ได้ทั้งความรู้และมีสีสันดีด้วย(ขอมากไปหรือเปล่าเนี่ย)

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล

    สวัสดีพี่วิรัตน์ และสมาชิกเวทีคนหนองบัว ทุกๆท่าน

     

    ขอแสดงความเสียใจและเป็นห่วงพี่น้องชาวญี่ปุ่นที่กำลังประสพอุบัติภัยจากแผ่นดินไหว สึนามิ และนิวเคลียร์ เห็นภาพในทีวีแล้วอดสลดใจไม่ได้

     

    วันนี้ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด พี่วิรัตน์น่าจะเข้าไปที่หนองบัวเพื่อพูดคุยรายละเอียดกิจกรรมของพวกเรากับคณะกก.จัดงานงิ้ว พวกเรารอฟังข่าวจากพี่วิรัตน์อยู่ และผมได้นัดพูดคุยกับพี่วิรัตน์เกี่ยวกับการจัดงานนี้หลังจากพี่วิรัตน์กลับจากนบ./นว.

     

    ผมก็คาดหวังว่างานครั้งนี้ พี่น้องชาวหนองบัวจะเข้ามาร่วมกิจกรรมกับพวกเราแล้วกลับไปค้นรูปเก่าๆที่บ้านมาให้พวกเราได้บันทึกสะสมเก็บไว้ มีตัวอย่างภาพเก่าๆที่ผมไปถ่ายมาจากหนังสือ "ประวัติหลวงพ่อเดิม" รวบรวมโดยวัดหนองบัว พ.ศ.2538

    เห็นหอระฆังแล้วได้ยินเสียงย่ำกลองย่ำระฆังช่วงเข้าพรรษาตอนเย็น ตะลุ่มตุ้ม เม้ง    ตะลุ่มต้ม เม้ง     ตะลุ่มต้ม เม้ง ตุ้ม เม้ง ตุ้ม เม้ง รวมทั้งเคยขึ้นไปงีบตอนกลางวันเป็นบางครั้ง ตอนนี้หอระฆังได้ถูกรื้อเพื่อสร้างวิหารหลวงพ่อเดิมในปัจจุบัน

    เรื่องวิกหนัง เยื้องๆกับ ที่ว่าการอำเภอกับ รร.หนองบัว (เทพฯ) นั้น รู้สึกว่าจะชื่อ "ไทยประเสริฐ" หรือเปล่า

    หนองบัวราม่า ใช่ของตาแหวงที่อยู่ที่ตลาด ระหว่างตลาดกับโรงสีบุ่งกวงหรือเปล่า เดี๋ยวจะลองหาข้อมูลมา

     

    นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแลฯที่เคารพ

    ผมได้รับหนังสือที่ท่านได้กรุณารวบรวมจากข้อเขียน/ความเห็นจากเวทีคนหนองบัวเมื่อหลายวันก่อน  ได้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นของพระคุณเจ้าที่ทุ่มเทให้กับเวทีคนหนองบัวบ้านเรา  ยากที่จะหาใครทัดเทียมได้

    ขอกราบคารวะและแสดงความนับถืออย่างจริงใจครับ

    แต่ความเห็นของ.....คนห้วยปลาเน่า......นั้น  ผมคิดทบทวนอยู่ว่าเคยใช้นามนี้ไว้ที่ใดบ้าง  ก็พอนึกออกครับ  แล้วก็เริ่มชอบนามปากกานี้ที่พระคุณเจ้ามอบให้เสียจริง ๆ

     

    สวัสดีครับอาจารย์ยุพินครับ

    เสียดายนะครับที่มาหนองคายแล้วไม่ได้พบกัน  ปลายเดือนนี้ คณะ อบต.ห้วยถั่วเหนือหลายสิบคนติดต่อไว้ว่าจะมาตระเวณอีสานแล้วข้ามไปเวียงจันทน์  คิวต่อไปก็คงเป็น อบต.ห้วยใหญ่   

    ไม่ไกลเลยใช่ไหมครับ อำเภอหนองบัวกับเวียงจันทน์ ระยะทางประมาณ 500 ก.ม.เอง

    ผมมีคนที่รู้จักดีคนหนึ่งชื่อไพฑูรย์  รอดประพันธ์ เป็นคน(พูดภาษา)ลาว  บ้านอยู่ห้วยด้วนครับ  เห็นนามสกุลอาจารย์ย็ยังนึกถึงเขาอยู่เลย  ไม่ได้เจอกันมาเกือบ 20 ปีแล้ว

    ผมผ่าน GotoKnow แว๊บ ๆ เห็นมีการเดินทางไปเชียงขวางและกล่าวถึงเพลงอยู่เพลงหนึ่งใน blog นั้น  ชมกันเหลือเกินว่าเพลงนี้ไพเราะมากและใช้ประกอบการเต้นจังหวะบั๊ดสะโล๊ป  เห็นมีบางท่านในเวทีคนหนองบัวเข้าไปแสดงความเห็นด้วย

    ใช่ครับ  เพลงดังกล่าวไพเราะ  เนื้อหาดี  จังหวะเร้าใจนั่นคือเพลง...สาวเซียงขวาง...สำรวจดูแล้วหาเนื้อเพลงที่สมบูรณ์และถูกต้องได้ยาก  จึงขอนำมาจารึกไว้ ณ ที่นี้ครับ

    1.เทิงแผ่นดินอันแสนฮักแพง  ของประซาลาวผู้อาจหาญ  ญังมีสาวสวยงามเหลือเกิน  เซิญแหม้เซิญ  อ้ายทหาร พนักงานทั่วหน้า  เซิญมาแว่ยามสาวเซียงขวาง  มาแว่เบิ่งจักมื้อจักวัน

    2.เมื่อฮอดญาม  ข้าวในนาเขียวงามอุ้มทุม  ป่ามันต้น  ไฮ่สาลีเขียวอุ่มทั่วโนนภู  ไผก่ะญ้องว่าสาวบ้านเฮา  จังแม่นเก่งแท้หนา

    3.เฮ็ดนาก็ได้ไปลำเลียงก็เก่ง  สาวเซียงขวางจิตใจปลอดใส  ดั่งน้ำญานที่รินไหลเย็น  อยู่ก้องฮ่มแปกลมพัดวี่วอน  หน้าออนซอนแม่สาวกองหลอน  แห่งกองฮ้อยสิบสามมิลลิแปด  ได้ฝึกแอบวิซาทหาร  ไว่ต้านทานกับโจรอากาศ  เมริกา

    (ซ้ำ) โอ  สาวเซียงขวาง  สาวบ้านเฮา  สมที่เป็นญิงหนุ่มลาว  พีระอาจหาญ  สมเป็นลูกหลานของประซาซน  เหมือนนกแอ่นบินเจิดทั่วเมืองลาว  น่าฮักแท้แม่สาวเซียงขวาง  หน้าสวย ๆ ตาดำ ๆ คอกลมคิงบาง

    4.บ่าพายปืน  ญิ้มแญ้มแจ่มใส  พวมก้าวไป  ตามเส้นทางปลดปล่อยประเทศซาติ.....

     

    ท่อนที่ 3. ดั่งน้ำญานที่รินไหลเย็น  แก้เป็น  ดั่งน้ำญวนที่รินไหลเย็น...ครับ  นอกนั้นเหมือนเดิม

    คำอธิบายศัพท์ครับ

    มันต้น.....มันสำปะหลัง  แปก.....สน  ไฮ่สาลี....ไร่ข้าวโพด  ญิงหนุ่ม....หญิงสาว  พวม....กำลังจะ/กำลัง  ญ่อง....ชม/ชมเชย/ยกย่อง  นกแอ่น.....นกนางแอ่น  คิง/คีงบาง.....เอวบางร่างน้อย/อรชรอ้อนแอ้น  ฝึกแอบ....ซ้อมรบ

    เจริญพรคุณฉิก

    ทั้งภาพและคำบรรยายของคุณฉิกนี้นึกตามไปแล้ว ทำให้คิดถึงเรื่องต่างๆไปได้อีกหลายอย่างเลยเนาะ

    อย่างช่วงเข้าพรรษาเวลาตีสี่พระนวกะผู้บวชใหม่ทุกรูปจะหมุนเวียนกันวันละสองรูป(รูปเดียวไม่กล้าไปหรอกเช้ามืด เพราะยุคนั้นแถวหอระฆังนี้นับว่าห่างกุฏีพระแต่ใกล้เมรุว่างั้นถอะ)ไปตีระฆังให้สัททะสัญญาณเป็นการปลุกพระทั้งวัดเพื่อเตรียมตัวทำวัตรเช้า อีกทั้งเป็นการบอกเวลาและปลุกพุทธศาสนิกชนให้ตื่นขึ้นมาอนุโมทนาบุญยามรุ่งอรุณ พร้อมกันนั้นชาวบ้านชาวช่องก็ได้ตระเตรียมหุงหาอาหารเพื่อไปนาไปไร่อีกด้วย

    ภาพหอระฆังนี้ทำให้นึกถึงต้นมะม่วงป่าที่ข้างโบสถ์ ต้นมะขวิด ต้นตาล ปรัมพิธี ระยะยาวไกลไปอีก มีภาพหนุ่มสาวเล่นโล่ชิงช้างานกุด(ตรุษ)สงกรานต์ผุดขึ้นมาในความทรงจำเมื่อตอนเป็นเด็ก ในบริเวณกล้ๆต้นสำโรง ต้นมะขวิด ต้นโพธิ์

    ขอบคุณอาจารย์สมบัติที่ชอบนามปากกา"คนห้วยปลาเน่า"
    อาตมาได้ความรู้เรื่องห้วยปลาเน่าเพิ่มขึ้นอีกหลายเรื่อง เลยทำให้ประทับใจ จึงได้คัดลอกความเห็นและรวบรวมไว้เพื่อคนห้วยปลาเน่าโดยเฉพาะ

    ขอบคุณที่ช่วยสร้างความรู้บันทึกข้อมูลชุมชนบ้านห้วยปลาเน่าไว้ในเวทีคนหนองบัว

    เมื่อวานนี้(๑๕มีนาคม๒๕๕๔)ได้เข้าไปดูที่ไฟล์อัลบั้มของคุณคนปรุงแผ่นดิน ได้พบภาพที่อยากเจอภาพหนึ่ง คือเกาะลอย ภาพนี้คุณคนปรุงแผ่นดินกล่าวว่าได้มาจากคุณเวช ช่างตัดผมในศูนย์

    เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศงานงิ้วปีนี้(๒๕๕๔) เลยขออนุญาตคุณคนปรุงแผ่นดินนำภาพนี้มาจัดนิทรรศการทางออนไลน์ และฝากทุกท่านก่อนที่จะถึงงานงิ้วด้วยเลย

    ขอขอบคุณคุณคนปรุงแผ่นดินที่นำภาพนี้มาเผยแพร่


    เกาะลอย : สระน้ำขนาดใหญ่ในเขตเทศบาลตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เกาะลอยแห่งนี้ถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับคนหนองบัวที่ใช้อุปโภคกันทั้งตัวเมือง และเกาะลอยนี้ก็ใช้เป็นสถานที่จัดงานเทศกาลประจำปีของอำเภอหนองบัวมาแต่อดีต จวบจนปัจจุบัน(งานงิ้ว) เดิมแต่สระนี้มีเกาะอยู่กลางสระ ต่อมาเกาะดังกล่าวได้ถูกไถทิ้งออกไปแล้ว
    ที่มา...http://gotoknow.org/file/yhj143/Picture.jpg

     

                             Large_electricitygeneratornb 

    ศาลาที่เห็นในรูปนั้นใช่เลยละครับ รวมทั้งต้นหางนกยูงขนาบข้าง และสะพานที่เชื่อมต่อเกาะลอยกับถนนรอบเกาะ เหมือนอย่างผมวาดไว้นี่เลยนะครับ ในรูปที่ผมวาดไว้นั้น ยังมีโรงไฟฟ้าแห่งแรกของหนองบัวและข้างๆนั้นก็เป็นที่จุดธูปไหว้เจ้าด้วยครับ ตอนนี้ไม่มีโรงไฟฟ้าแล้ว แต่ที่จุดธูปและเผากงเต๊กนั้น ขยับออกไปอยู่ตรงริมอ่างน้ำห่างออกจากตำแหน่งในรูปวาดไปนิดเดียว ที่ตั้งศาลาเจ้าพ่อเจ้าแม่ในช่วงที่มีงานในวันที่ผมไปดูสถานที่นั้น ก็ยังคงอยู่ตรงบริเวณคนถีบจักรยานในรูปเหมือนเมื่อก่อนทุกประการ

    ไปหนองบัวเมื่อวานนี้เพื่อไปดูสถานที่เกาะลอยที่จัดงานงิ้วนั้น ผมได้พบกับคุณปรุงแผ่นดินด้วยครับ แต่ผมไม่ได้ขออนุญาตเขาไว้ จึงขอสงวนตัวตนจริงไว้ก็แล้วกันนะครับ แต่เดิมนั้นผมดูสำนวนการเขียนแล้วก็คะเนเอาว่าหากไม่เป็นนายตำรวจ นายทหาร ก็น่าจะเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในอำเภอ ยังนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นนายทหารเรืออยู่ด้วยซ้ำละครับ แต่พอได้พบตัวจริงแล้วปรากฏว่าไม่ใช่ทั้งเพ เขาเป็นคนคนหนึ่งที่มีบทบาทมากในสังคมคนหนองบัวเลยละครับ รวมทั้งเป็นคนดำเนินชีวิตและทำสิ่งต่างๆในเชิงอุทิศตนเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆตามอุดมคติของตนอีกด้วยครับ

                             

    หนังสือของท่านพระอาจารย์มหาแล ผมนำไปเข้าเล่มทำปกเสร็จเรียบร้อยแล้วครับ สวยงามมากเลยละครับ หากนำไปจัดวางในเต๊นท์นิทรรศการแล้วละก็ รับรองว่าต้องเป็นที่ตื่นตาตื่นใจและสร้างความภูมิอกภูมิใจให้แก่คนหนองบัวได้เป็นอย่างมากเลยละครับ

    เข้าปกแล้วดูดี น่าจับต้อง และคงสร้างความดึงดูดใจแก่คนหนองบัวที่พบเห็นให้นึกอยากอ่านบ้างเป็นแน่
    ขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยจัดทำให้อย่างดี


    มีเล่มเก่ามาฝากด้วย หนองบัว วันวาน วันนี้ และวันพรุ่ง เล่มนี้ทำขึ้นครั้งแรกมีอยู่สองเล่มด้วยกัน เล่มนี้เป็นนี้เล่มที่สอง
    เป็นหนังสือหนามาก หน้าหลายร้อยหน้า รวมจากหลายบันทึกในเวทีคนหนองบัว
    แค่เห็นขนาดหนังสือ ก็เกรงว่าชาวบ้านจะอ่านไม่ไหว ต่อมาก็เลยแยกเป็นเล่มเล็กๆบางๆ คิดว่าเหมาะกับชาวบ้านแบบพอเพียงพอดีๆ

    การทำเองและเรียนรู้ให้ค่อยพัฒนาขึ้นจากประสบการณ์ตรงกับเรื่องย่างนี้
    เป็นการทำให้มีคนทำงานความรู้ในวิถีชาวบ้านเพิ่มมากยิ่งๆขึ้นนะครับ

    ยุพิน รอดประพันธ์

    กราบนมัสการหลวงตา สวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ และทุกท่านที่เวทีหนองบัวค่ะ

             แหววเห็นชิ้นงานของหลวงตา และที่อาจารย์ทำแล้ว ทำให้มองเห็นว่าหนองบัวมีอะไรมากมายที่แหววเองก็ยังไม่รู้ ถ้ายังไงงานงิ้วปีนี้ แหววคงต้องไปขออ่านบ้างแล้วล่ะค่ะ ต้องขออนุญาตล่วงหน้านะคะ เพราะยังไงก็คงต้องอยู่ประจำที่หนองบัวอีกนานค่ะ

    ยุพิน รอดประพันธ์

    สวัสดีค่ะท่านอาจารย์สมบัติ

                 แหววเองไปทัศนศึกษาที่ประเทศลาว เนื่องจากราชภัฎนครสวรรค์ไปศึกษาดูงานที่อุบลน่ะค่ะ แต่ก็ไปเที่ยวลาวใต้ คงย้อนไปเหมือนประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้วนะคะ แต่ก็ได้บรรยากาศดีค่ะ แหววเป็นคนห้วยด้วนเหมือนที่อาจารย์พูดแหล่ะค่ะ แต่ปัจจุบันเค้าเรียกว่า ธารทหารค่ะ และก็เป็นน้องสาวของคนที่อาจารย์ถามหาด้วยค่ะ พอดีเป็นครูที่ได้อยู่บ้านตัวเองค่ะ ก็เลยอยู่ประจำที่หนองบัวเป็นส่วนใหญ่ค่ะ

    สวัสดีครับอาจารย์ยุพินครับ

    อย่างไรก็หาโอกาสไปเจอกันนะครับ จะได้ไปนั่งกินข้าวและคุยกัน ได้รู้จักกันไว้ครับ ผมกะว่าจะทำแผ่นนิทรรศการแล้วก็ส่งให้พรรคพวกที่อยู่หนองบัวช่วยกันเอาไปติดตั้งตามแต่อยากจะให้เป็นอย่างไร และถ้าหากมาหนองบัวได้ ก็คงจะมาในวันแห่คือวันเสาร์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔ แล้วก็จะอยู่ตอนเย็นเพื่อเจอกับเพื่อนๆซึ่งเขามักจะถือเอาวันแห่เป็นวันเจอกันด้วยอยู่เสมอ แต่ถ้าจัดระเบียบชีวิตได้ดี ก็อยากจะมาก่อนสักวันสองวันเพื่อร่วมทำด้วย ในโอกาสหน้าจะได้มีประสบการณ์เอาไปจัดงานต่างๆในอำเภอและชุมชนกันน่ะครับ 

    เจริญพรคุณครูยุพิน

    ดีใจและชื่นใจอย่างบอกไม่ถูกเลย ที่คนหนองบัวมาบอกว่าอยากจะอ่านเรื่องหนองบัว
    ทุกท่านสามารถติดตามอ่านได้ที่เต้นท์นิทรรศการซึ่งมีประมาณยี่สิบเรื่องยี่สิบเล่ม

    ในเมื่อครูยุพินตั้งใจจะมาชมนิทรรศการงานงิ้วครั้งนี้แล้ว ก็เลยอยากจะฝากครูยุพินให้ช่วยประชาสัมพันธ์บอกกล่าวเชิญชวนคนในชุมชนให้มาชมและอ่านกันมากๆด้วยก็แล้วกัน เพื่อจะได้เป็นกำลังใจแก่คนจัด

                                                 

    ประธานรุ่น อาจารย์สืบศักดิ์และรองประธานซุ่งล้ำ บอกฝากให้ประชาสัมพันธ์ว่า ปี ๒๕๕๔ นี้ ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว รุ่นที่ ๑๔ ที่อยู่หนองบัวและที่ได้มีโอกาสกลับบ้านหนองบัว จะพบปะสังสรรค์กันในตอนเย็นของวันแห่ คือ วันเสาร์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่สนามโรงเรียนหนองคอก เชิญทุกคนด้วยนะครับ ไปคุย ไปแบ่งปันความเป็นมาเป็นไปของชีวิตการงาน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ รวมทั้งถือโอกาสไปมาหาสู่กันนะครับ

    หนองบัวรุ่น ๑๔  รุ่นรองสืบ : อาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์, คุณครูพิมพ์ทิพย์ บัวสนิท,อาจารย์สุนันท์ จันทร์ดิษฐ์,คุณครูผัน อินทรชิต, เบิ้ม : รัชทนงค์ โพธิ์พรหมณ์,ศิริจิตร์ เชาวน์ไกลวงศ์,ซุ่งล้ำ,สม,ปริญญารัตน์,หมออมรเทพ,อาจารย์ทองสุข อยู่ศรี,คุณครูประสิทธิ์ รอดนิล,คุณครูบาง,คุณครูบุญส่ง มาลา,ผอ.นิจ เพ็ชรคง ฯลฯ,รศ.ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต,ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์,ประเวศ รักษพล,รักษ์ พิทักษ์อำนวย ฯลฯ 

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล, สวัสดีอาจารย์วิรัตน์ และ ชาวเวทีหนองบัวทุกท่าน

    เห็นหนังสือเรื่องหนองบัวแล้ว น่าอ่านเชียวค่ะ ไม่ทราบว่าต้องทำอย่งไรต้องขอถ่ายเอกสารหรือเปล่าค่ะ เพราะดิฉันอยากได้ไว้อ่าน  จะเก็บเอาไว้อ่านให้ลูกๆ ฟังค่ะ ว่าเค้ามีแม่เป็นคนหนองบัวค่ะ

    ท่าทางงานงิ้วคึกคักน่าดูนะคะ มีนัดพบรุ่น๑๔ ด้วย

    เห็นเพื่อนๆ รุ่นของดิฉัน คือ มัธยมปลาย รุ่นที่ ๑ เค้าคุยผ่านกันทางเฟรชบุค ว่าจะนัดเจอกันที่งานงิ้วเช่นกันค่ะ

    เป็นกำลังใจให้คนทำงานเพื่อหนองบัวค่ะ

    ปล. วันนี้หิมะตกที่สวีเดนค่ะ ตกหนาเชียวค่ะ หลังจากที่หิมะเก่าที่ตกสะสมมาตั้งแต่ ปีที่แล้วเริ่มละลาย จนแทบไม่เหลือให้เห็นแล้ว คิดว่าฤดูใบไม้ผลิจะมาแล้วเสียอีก อากาศแปรปรวนค่ะ

    สวัสดีครับคุณอัญชัน

    ผมเองก็ถ่ายเอกสารไว้ดูเองด้วยแล้วชุดหนึ่งเหมือนกันครับ เสร็จแล้วก็เข้าปกเย็บเล่มสวยงาม จะเก็บเอาไว้ดูเป็นหมายเหตุในระยะแรกๆที่เวทีคนหนองบัวมีเอกสารความรู้และสื่อสิ่งพิมพ์เรื่องราวต่างๆในอีกหลายด้านที่เริ่มศึกษารวบรวมขึ้นจากวิถีชีวิตของคนหนองบัว แล้วจึงค่อยเชื่อมโยงออกไปให้กว้างขวางอย่างไม่จำกัด

    ตอนนี้ที่บ้านเราอากาศเย็นตัวลงอย่างฉับพลันต่อเนื่องกันเมื่อสองสามวันมานี้ จากที่กำลังร้อนแล้งก็กลายเป็นหนาว ถึงกับต้องห่มผ้าและใส่เสื้อกันหนาวเลยทีเดียว

    นำบรรยากาศยามเที่ยงคืนที่วัดศรีโสภณมาฝากเวทีคนหนองบัว
    เนื่องด้วยวันนี้(๑๙ มีนาคม ๒๕๕๔)เวลาเที่ยงคืนมีปรากฎการณ์"ซุปเปอร์มูน" โดยดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ ๑๙ ปี

     

                       

      

    ในบรรดาเพลงลาว มีเพลงหนึ่งที่ผู้เขียนรู้จักและฟังมาตั้งแต่เด็กจนก่อนบวช คือเพลงไทยดำรำพัน ที่ร้องโดยก.วิเศษ เมื่อก่อนก็ฟังเพลินๆสนุกๆอย่างเดียว
    วันนี้ได้กลับมาฟังเพลงอมตะเพลง"ไทยดำรำพัน"นี้อีกครั้ง หลังจากไม่ได้ฟังมาหลายสิบปี
    เหตุที่ฟังเพลงนี้เพราะได้ลองอ่านเขียนภาษาลาว เน้นที่เขียนและอ่าน ส่วนคำศัพท์ภาษาลาวยังแปลไม่ได้ อีกทั้งเดาก็ยังเดาไม่ออก

    ฟังครานี้ฟังอย่างตั้งใจ และก็ได้ความรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์มากมาย บทเพลงได้รำพันถึงชนกลุ่มหนึ่งที่ร่วมกันสร้างบ้านสร้างเมืองและอยู่กันอย่างเป็นสุข ต่อมาได้แยกย้ายกันต่างคนต่างไป การจากบ้านเกิดเมืองนอนไปตายดาบหน้าถือเป็นเรื่องเศร้าใจอย่างหนึ่ง

    วันนี้ได้เขียนเนื้อเพลงเป็นภาษาลาว ซึ่งมีหลายคำที่แปลไม่ออก
    และยังไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเขียนถูกต้องหรือไม่ คงต้องขอแรงผู้เชี่ยวชาญช่วยชี้แนะอีกที
    ฟังเพลงไทยดำรำพันได้ที่...

    http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=blueballoon&month=08-2007&date=15&group=12&gblog=26

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล
    และสวัสดีทุกท่านในเวทีคนหนองบัวนะครับ

    • วันนี้ผมได้รับต้นฉบับหนังสือที่ท่านพระอาจารย์มหาแลส่งไปให้ผม ๒๑ แล้วนะครับ ผมได้รีบดำเนินการเอาไปเข้าปกเย็บเล่มแล้ว จะได้มะรืนนี้คือ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๔ ตอนเย็น
    • ทางพรรคพวกที่หนองบัว ได้แจ้งให้ทราบว่า นิทรรศการในครั้งนี้จะเปิดในวันแห่คือวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔ โดยนายเมธี ปรัชญาสุกลท่านนายอำเภอหนองบัวจะให้เกียรติมาเปิดหลังจากที่ท่านเปิดขบวนแห่เจ้าพ่เจ้าแม่และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ของหนองบัวแล้ว
    • ผมเลยจะทำหนังสือเป็นที่ระลึกของนิทรรศการในครั้งนี้ไว้เป็นหมายเหตุของหนองบัวเราด้วยเสียเลย ในเล่มจะรวบรวมเนื้อหาของนิทรรศการไว้ แต่จะทำเป็นหนังสือทำกันเองนะครับ จะเข้าปกเย็บเล่มอย่างดีสัก ๒-๓ เล่มเพื่อนำมาวางให้คนได้ชมและเก็บไว้เป็นที่ระลึก ให้คนที่เขาจะทำต่อๆไปได้มีอิฐก้อนแรกสำหรับเหยียบและก้าวเดินไปข้างหน้าให้ดียิ่งๆขึ้น ผมได้รวบรวมผู้เกี่ยวข้องและหน่วยงานต่างๆที่ให้การสนับสนุน ท่านพระอาจารย์มหาแลและทุกท่านอยากให้กล่าวถึงเพื่อให้ความขอบคุณแก่ใครและหน่วยงานใดบ้างรีบบอกนับแต่ตอนนี้ก่อนถึง ๘ โมงเช้าของพรุ่งนี้นะครับ 
    • ชื่อเต๊นท์นิทรรศการนั้น ท่านรองผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว อาจารย์สืบศักดิ์ปฏิสนธิ์และอาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ช่วยคิดต่อเติมไปกับผมว่าให้ชื่อหัวข้อ  เวทีคนหนองบัว : สานสำนึกรักท้องถิ่น พลังสามัคคี และความงามที่หลากหลาย
    • ชื่อหัวข้อนิทรรศการ จะทำเป็นป้ายขนาดใหญ่ ๑ x ๓ เมตร แขวนหน้าเต๊นท์
    • เต๊นท์ยังไม่ทราบว่าจะตั้งเมื่อๆไหร่ รบกวนฉิกถามท่านกำนันหรือกรรมการจัดงานให้ก่อนนะครับ
    • อาจารย์แแหวว : อาจารย์ยุพิน รอดประพันธ์ หรือใครที่เข้ามาอ่านและได้ทราบ ช่วยประสานงานต่อให้หน่อยสิครับว่า ขอความอนุเคราะห์อาจารย์สืบให้ใครเอาบอร์ดจากโรงเรียนมาวางที่เต๊นท์ให้สัก  ๕ บอร์ดสิครับ บอร์ดขนาดกว้างยาว ๑๒๕x๒๕๐ ซม.น่ะครับ ส่วนโต๊ะและเก้าอี้ฉิกและรองประธานจัดงานเขาจะประสานงานให้ครับ
    • โรงเรียนบ้านหนองไผ่ รวมทั้งมูลนิธิสยามกัมมาจล เขาจะให้หนังสือและมีเรื่องดีๆไปร่วมวางในเต๊น ร่วมจัดนิทรรศการด้วยนะครับ โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งโรงเรียนบ้านหนองไผ่เป็นหนึ่งในโรงเรียนของประเทศ สถานศึกษา หน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน และปัจเจก ที่จะถือโอกาสนำเอาสิ่งต่างๆมาแสดงเพื่อสังคมท้องถิ่นหนองบัวครั้งนี้ด้วยกันก็เชิญเลยนะครับ
    • ทางผู้ที่อยากให้มีเวทีเสวนา เขาออกปากว่าอยากกราบอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มหาแลไปร่วมเวทีในครั้งนี้ด้วย อีกทั้งไปเป็นกำลังใจแก่ญาติโยมคนหนองบัวด้วยครับ ผมนั้นเห็นด้วยและสนับสนุนความเห็นนี้เป็นอย่างยิ่งครับ

    ได้ส่งรายชื่อบุคคลไปให้อาจารย์ทางอีเมลแล้ว "รายชื่อผู้ช่วยเหลือประสานงานและชาวบ้านผู้ที่จะไปร่วมพูดคุยเรื่องราวในชุมชนที่เต็นท์นิทรรศการ"

    อาตมาคงได้ไปเยี่ยมพบปะญาติโยมแน่นอน

    ไม่ทราบว่าตอนนี้เรื่องบอร์ด มีคนช่วยจัดทำหรือยัง
    ถ้าจะหาคนไปช่วยบรรทุกบอร์ดที่โรงเรียนจะต้องติดต่อใครได้บ้าง
    จะลองติดต่อชาวบ้านที่บ้านเนินตาโพซึ่งอยู่ใกล้ตลาด จะสะดวกในการช่วยประสานงาน

    สวัสดีครับอาจารย์แหววครับ

    รู้สึกดีใจครับที่ทราบว่าเป็นน้องสาวของเพื่อน  ตั้งแต่จบม.3 จากโรงเรียนหนองบัวยังไม่เจอกันเลย ....เกือบ 30 ปี...เห็นจะได้   ตอนไปรับราชการอยู่ภาคใต้  ทางบ้านเคยส่งข่าวให้ทราบว่าไพฑูรย์  รอดประพันธ์  เพื่อนที่อยู่ห้วยด้วนมาถามหาที่บ้าน  แต่ก็ยังไม่ได้พบกันอยู่ดี ม.1/1 - ม.3/1  ที่หนองบัว  นั่งรถเมล์ไปเรียนสายเดียวกันตลอด  จำได้ว่าบางครั้งไพฑูรย์ก็ขี่จักรยาน  เป็นภาพที่ติดมามาจนทุกวันนี้

    เรื่องที่ห้วยด้วนเปลี่ยนชื่อเป็นธารทหาร ก็พอทราบอยู่ครับ  แต่ยังดีใจอยู่ว่าชื่อวัดยังเป็น...วัดห้วยด้วนอยู่ (ถ้าไม่เปลี่ยนอีก)  แต่ที่บ้านผมสิครับเปลี่ยนไปหมดทั้งชื่อวัด ชื่อบ้านและชื่อโรงเรียน  ไม่เหลืออะไรที่เป็นห้วยปลาเน่าเลย  เวลาไปตลาดหนองบัว  แม่ค้าเห็นหน้าแปลก ๆ คือไม่ค่อยคุ้นหน้าน่ะครับ  ถามว่าเป็นคนที่ไหน  ผมมักตอบทุกครั้งไปว่าบ้านอยู่ห้วยปลาเน่า  เขาทำหน้าสงสัยว่า  ห้วยปลาเน่านี่อยู่ใกล้ ๆ กับห้วยวารีหรือเปล่า   พอตอบว่า  ห้วยปลาเน่ากับห้วยวารีเป็นหมู่บ้านเดียวกัน  เขาก็จะทำหน้างง ๆ รำพึงเบา ๆ ว่า อ๋อ...เหรอ 

    เวลากลับบ้าน  ขับรถผ่าน ศรีมงคล โคกสะอาด เขาอีต่วม  ความทรงจำเดิม ๆ จะกลับมา  จำได้ว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่เรียกหมู่บ้านเหล่านี้ว่า  หนองงูเหลือม  หนองพิลู่หรือหนองผีลู่  เขาอีต่วม  ที่ภาคอีสานก็มีครับประเภทชอบเปลี่ยนชื่อเนี่ย    อำเภอกุดลิง  คนที่มาจากภาคกลางก็เปลี่ยนชื่อใหม่ซะสวยหรูว่า....วานรนิวาส  หาความหมายที่เป็นเค้าเดิมไม่เจอเลย  ความจริงแล้ว  กุด  ในภาษาลาวหรือภาษาทางภาคอีสาน  ก็คือห้วยด้วนดี ๆ นี่เอง

    นมัสการท่านพระมหาแลฯ ครับ

    เพลงไตดำรำพันนั้นคุ้นเคยกับคนไทยมาหลายสิบปี  ถ้าไม่ทราบความเป็นมา  หลาย ๆ ท่านอาจเข้าใจไปว่าเป็นเพลงไทยไปแล้วก็มี เช่นเดีบวกับเพลง  กุหลาบปากซัน

    บทพูดตอนท้ายของเพลงไตดำรำพันนั้น  พอจะแปลความได้ว่า.....

    เมื่อหวลคิดขึ้นมา(คราใด)  น้ำตา(คน)ไต(มัก)ไหล(ริน)  ยามเมื่อจากไกล  ปู่เจ้าเซินลา (วิญญาณบรรพบุรุษของพี่น้องชาวไตดำซึ่งอยู่ที่เมืองเซินลา  หรือ Son La ในเวียดนามเหนือ  ใกล้ ๆ กับเมืองแอด  แขวงหัวพันของลาว) 

    อพยพหลบลี้ไพรีมา(อันนี้ชัดอยู่แล้ว)  ไตดำตั้วหน้า(ทั้งมวล)ยังคนึงหา(ถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนของตน) อย่างไม่เคยลืมเลือน 

    ยังมีอีกหลายหมู่บ้านครับที่อยู่บริเวณใกล้เคียง  อาทิ  โคกยายแหวะ  เป็น  โคกสามัคคี  กระโดนปม  เป็น  เนินประดู่ 

    ขอประทานอภัยครับ  ข้อความก่อนหน้านี้  จากเขาอีต่วม  เป็น  เขานางต่วมครับ

    นมัสการท่านพระมหาแลฯ  ที่เคารพครับ

    ผมขออนุญาตให้คะแนนตั้งใจ(เขียนภาษาลาว) 100 คะแนนเต็มครับ  แต่ว่าตัวอักษร น.นก  กับ ม.แมว  ต้องสังเกตดูดี ๆ ส่วนใหญ่แล้วคนไทยมักสับสนกับอักษรลาว 2 ตัวนี้  โดยเฉพาะอักษรควบคือ  ตัวหนอ กับตัวหมอ  ถ้าผิดนิดเดียว  คำว่าหนา  ก็จะกลายเป็นหมา  หรือคำว่าหมาก็จะอ่านว่าหนาไป  เป็นซะอย่างนั้น

    อีกอย่างครับ  ปีพุทธศักราช  ขอยกตัวอย่างเมื่อวานนี้ผมไปเวียงจันทน์มา(ความจริงก็ไปเกือบทุกวัน)  ขณะขับรถอยู่ได้เปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาวฟังไปด้วย 

    คนลาวนี่ถ้าเป็นทางการ  เขาใช้คริสตศักราช เช่น 2011  ถ้าเป็นเรื่องในทางพระพุทธศาสนา  ประเพณี  วัฒนธรรม  เขาจะใช้พุทธศักราชครับ

    เมื่อวานโฆษกสถานีอ่านว่าปีพุดทะสังกาด 2553 (อ่านว่า  สองพันห้าฮ้อยห้าสิบสาม)  คนที่นั่งรถไปกับผมถามว่าโฆษกอ่านผิดหรือเปล่า  ผมตอบว่า  ไม่ผิดหรอกครับ  เขาอ่านถูกต้องแล้ว  ปี 2554 ของลาว(ปีนี้)เขาจะเริ่มต้นในวันที่ 14 เมษายน 2554

    คนที่นั่งไปด้วยหลาย ๆ คน  ต่างก็ไม่เคยทราบมาก่อนว่า  ประเทศลาวเขาใช้วิธีนับปีพุทธศักราชกันอย่างนี้

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
    ยังไม่ได้รับอีเมล์จากพระคุณเจ้าเลยครับ
    อย่างไรก็แล้วแต่ ตอนที่เตรียมหนังสือที่ระลึกเสร็จแล้วนั้น
    พอรุ่งขึ้นเช้าผมก็ไปประชุมที่ต่างจังหวัดเสียสองวัน
    เลยนำเอาต้นฉบับหนังสือไปเข้าปกเย็บเล่มแล้วละครับ
    วันนี้กลับมาก็ได้รับแล้วพร้อมกับของพระคุณเจ้าด้วยอีก ๑๙ เล่ม
    คืนนี้ก็คาดว่าแผ่นโปสเตอร์นิทรรศการจะเสร็จ
    ผมได้ไปช่วยมือกราฟิคอาร์ตของบริษัทที่เขารับทำให้ดูแล้วละครับ
    สวยและดูเข้าท่ามากทีเดียวครับ

    ผมได้ติดต่อไปยังกำนันวิรัตน์ บัวมหะกุล รองประธานกรรมการจัดงานงิ้วฯ
    ท่านได้แจ้งให้ทราบว่าตอนนี้ทางคณะกรรมการเขาตั้งเต๊นท์ให้เราเรียบร้อยแล้วละครับ
    ไปติดตั้งได้เลย แล้วเขาก็บอกว่าท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์จะมาเปิดให้ด้วยครับ เป็นรองผู้ว่าที่เขาบอกว่าเป็นคนหนองบัวอีกด้วยครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ
    เข้ามาอ่านเรื่องตัวหนอ กับตัวหมอ ของคุณสมบัติแล้วก็ขำดีครับ
    เมื่อวานก่อนได้ไปนั่งกินข้าวในร้านอาหารที่เขาร้องเพลงกับเปียโน
    พรรคพวกขอเพลงไทยดำรำพันให้ฟัง ปรากฏว่ามือเปียโนร้องให้ฟังเอง
    เพราะมากเลยครับ นอกจาก ก.วิศษแล้ว
    ก็เพิ่งจะได้ยินคนร้องเพลงไทยดำรำพันได้ไพเราะอย่างนี้

     นมัสพระอาจารย์มหาแล,สวัสดีท่านอ.วิรัตน์และเวทีคนหนองบัวทุกท่าน

       ช่วงงานงิ้วหนองบัว อยากจะหาเวลาแวะเวียน เข้าไปชมงานนี้มาก แต่ก็ยังหาเวลาไปไม่ได้เลย ช่วงนี้ภาระกิจแน่นมากเลยครับ   หากไม่ได้ไปอย่างไร ก็จะรอชมภาพบรรยากาศจากบอร์ดแห่งนี้ครับ เนื่องจากบรรยากาศงานงิ้วหนองบัว ไม่ได้เห็นเป็นเวลานานมากแล้วครับ

    เมื่อวาน(๒๖มีนาคม๒๕๕๔)ไปหนองบัวและมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมนิทรรศการ เวทีคนหนองบัว : สานสำนึกรักท้องถิ่น พลังสามัคคี และความงามที่หลากหลาย
    เป็นการกลับไปเยี่ยมชมงานงิ้วหนองบัว หลังจากที่ห่างหายจากงานงิ้วไป ๓๑ ปี
    เมื่อวานที่หนองบัวมีงานบวชนาคหมู่ด้วย ในช่วงแห่นาคหมู่รอบเมืองนั้น อยู่ที่บ้านโยมไม่มีคนไปถ่ายภาพนาคหมู่ เลยไม่ได้ภาพนาคหมู่ยุคปัจจุบันมาฝากทุกท่าน
    แต่นำบรรยากาศนาคหมู่ในยุคอดีตมาฝากเวทีคนหนองบัวแทน
    นาคหมู่ในภาพกำลังทำพิธีกรรมโดยการขอขมาบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน (คนหนองบัวเรียกกิจกรรมวันนี้ว่า วันลา)
    นาคหมู่ชุดนี้ คาดว่าอายุประมาณรุ่นราวคราวเดียวกับคุณอัญชัน
    เพื่อให้เข้าบรรยากาศเทศกาลบวชนาคหมู่
    จึงขอฝากภาพนาคหมู่หนองบัวภาพนี้ไปถึงคุณอัญชันที่ประเทศสวีเดนด้วยเลย

    แห่นาคหมู่หนองบัว : ก่อนจะทำการบวชหนึ่งวัน จะนำนาคหมู่ทั้งหมดแห่รอบเมืองหนองบัวโดยการนำนาคขึ้นคานหาม(เสลี่ยง) คานหามละ ๒ องค์หรือ ๓ องค์ ในคานหามหนึ่งๆจะมีเด็กผู้ชายตัวเล็กๆนั่งประจำทุกคานหามด้วยจำนวน ๒ คน




                         
                         นาคที่มีคู่ดอง ก็จะเรียกกันว่าสีกานาค เป็นผู้ถือหมอน ถ้านาคองค์ใดไม่มีคู่ดองก็จะให้ญาติผู้หญิงเป็นถือหมอน ส่วนแม่ถือผ้าไตร พ่อก็ถือตาลปัตรสะพายบาตร
    ในภาพนี้คือสีกานาค(คู่ดองนาค)

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลค่ะ

    ขอบคุณพระอาจารย์ค่ะที่นำภาพบวชนาคมาฝาก พอดิฉันเข้ามาดูรูปก็คลิกดูรูปทั้งหมดก่อนจะอ่านคำบรรยาย กำลังนึกอยู่ทีเดียวเชียวว่า มีผู้ใหญ่หลายคนเลยในภาพที่ดิฉันรู้จัก

    ต้องบอกว่า รูปงานบวชนาคชุดนี้ ก็คงเป็นรุ่นใกล้เคียงดิฉัน แต่ตัวนาคน่าจะเป็นรุ่นพี่ แต่สีกา คงจะเป็นรุ่นราวคราวเดียวกับดิฉัน ก็คงเกิน ๒๐ ปีที่แล้วน่ะค่ะ

    ตัวดิฉันเอง ชอบมาก กับงานบวชนาค และ ชอบเครื่องแต่งกายของพ่อนาคด้วย ซึ่งสมัยนี้ นาค แต่งตัวเพียงสีขาวสีเดียว

    ตอนเด็กๆ จำได้ว่า พวกลูกพี่ลูกน้องที่เป็นผู้หญิงเค้าจะปักผ้ากันเพื่อให้คู่ดองไว้ใช้ตอนบวชนาคน่ะค่ะ

    ส่วนสาวๆ สีกา หรือ ผู้คนที่ไปร่วมงาน ดิฉันชอบมากที่เค้านุ่งซิ่น ใส่เสื้อผ้าลูกไม้ ผ้าชีฟองหรือผ้าจอเจียร์ (ขอนอกเรื่องนิดหนึ่ง) ซึ่งส่วนตัวดิฉัน ชอบผ้า ๓ ชนิดนี้มากค่ะ อาจจะเป็นเพราะตอนเราเด็กๆ ที่อยู่หนองบัว เค้าจะใส่ผ้าพวกนี้กัน เวลาไปงานหรืองานบุญใหญ่ๆ เลยทำให้ชอบมาถึงทุกวัน

    ยิ่งตอนนี้มาอยู่ต่างประเทศ หากมีงานไหนพอที่เราจะใส่ผ้าไทย ผ้าลายไทยไปได้ ก็จะใส่ให้ฝรั่งรู้ว่าเราเป็นคนไทยใช้ผ้าไทยค่ะ

     

    ขอบคุณนะคะ ที่นำภาพวันวานมาให้ดูค่ะ

    อัญชัน

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล และพระอธิการโชคชัย

    สวัสดีพี่วิรัตน์ อาจารย์พนม และแฟนๆเวทีคนหนองบัวทุกท่าน

    ดีใจมากครับที่ได้เห็นเวมีคนหนองบัว ไปปรากฏอยู่ที่หนองบัว และมีพี่น้องและลูกหลานชาวหนองบัวเข้ามาดู ได้เจอท่านพระมหาแลและพระอธิการโชคชัย และคุณณัชพัชร์

    ตอนนี้ผมกลับมากทม.แล้วตั้งแต่เมื่อคืนวันอาทิตย์ แต่ลืมกล้องไว้ที่หนองบัว ก็เลยฝากเจ้างักเพื่อนที่ไปหนองบัวด้วยกัน ที่จะกลับมากทม.วันนี้แวะไปเอากล้องมาด้วย ตอนนี้ก็เลยยังไม่มีรูปบรรยากาศงานงิ้วมาให้พวกเราได้ดู  ได้เห็นขบวนแห่นาค แต่จังหวะนั้นไม่มีกล้องอยู่ในมือ เลยไม่มีรูปงานบวชนาคหมู่มาให้พวกเราดู อย่างไรก็อดใจรออีกซักนิดนะ

    เห็นพี่วิรัตน์ทำหัวข้อย่อยเกี่ยวกับกิจกรรมในครั้งนี้ออกมามากมายเลย เกรงว่าคนที่เข้ามาในเวทีคนหนองบัวครั้งแรกจะงงสับสน หรือว่าจะแสดงความคิดเห็นตรงไหนดี ก็อยากจะบอกว่าแสดงความเห็นกันได้ตรงนี้เลย เดี๋ยวผมว่าจะทำลิ้งค์ไปยังหัวข้อต่างๆที่พี่วิรัตน์ได้ทำแบ่งเอาไว้ แต่ตอนนี้ขอแค่นี้ก่อนครับ ไว้ตอนค่ำๆดึกๆจะเข้ามาพูดคุยต่อถึงบรรยากาศที่ได้ไปเจอะเจอมา 

    เคยมีคนแก่คนเฒ่าเล่าให้ฟังว่าการบวชนาคหมูจะต้องนั่งบนแคร่แล้วเขย่า ถ้าถ้าองค์ไหนไม่ร่วงก็แสดงว่ามีบุญที่จะบวช  และสิ่งที่สวยงามมากคือเครื่องทรงนาคของชาวหนองบัวที่สวยงามและปรานีต

    ข้อมูลภาพถ่ายและภาพเล่าเรื่องที่ท่านพระอาจารย์มหาแลนำมาเผยแพร่และบันทึกรวบรวมไว้ชุดนี้งดงามมากเลยนะครับ

    เพื่อสานต่อข้อสังเกตของคุณฉิก ก็เลยนำเอาหัวข้อต่างๆที่แตกออกไปจากหัวข้อหลักและเป็นเรื่องที่ลงรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆของหนองบัว มารวบรวมไว้ที่นี่ด้วยเพื่อให้ทุกท่านได้แวะเข้าไปอ่านและเยี่ยมชมนะครับ โดยเฉพาะคนที่ห่างไกลบ้าน จะได้ย่อโลกให้ได้เห็นความใกล้ชิดบ้านเกิดและญาติพี่น้องมากกว่าเดิม มีพลังใจในการดำเนินชีวิตและทำการงาน เรื่องต่างๆที่รวบรวมไว้ในช่วงงานงิ้วและงานบวชนาคหมู่ของหนองบัว ประจำปี ๒๕๕๔ มีดังนี้ครับ...

    คลิ๊กไปอ่าน ดูรูป และแลกเปลี่ยนทรรศนะต่างๆกันได้ตามสบายเลยครับ มีคนหนองบัวเป็นจำนวนมากพอสมควรที่อ่านและทราบเรื่องราวต่างๆของหนองบัวและสังคมรอบข้างจากสื่อเวทีคนหนองบัวนี้ของเราครับ และเป็นจำนวนไม่น้อยที่เป็นญาติพี่น้อง รวมทั้งลูกหลานของเราเอง

    นำบรรยากาศงานงิ้วหนองบัว ๒๕๕๔ นิทรรศการเวทีคนหนองบัว มาฝากคุณธนกฤตและทุกท่าน

    เทศกาลงานไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่-หลวงปู่ฤาษีนารายณ์หนองบัว ๒๕๕๔ (งานงิ้วหนองบัว ๒๔ - ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๔) นิทรรศการ : เวทีคนหนองบัว สานสำนึกรักท้องถิ่น พลังสามัคคี และความงามที่หลากหลาย

    ถ่ายภาพโดย : นายบุญเกิด แสนเมือง นิสิตปริญญาโท คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร และพระอธิการโชคชัย ชยวุฑฺโฒ เจ้าอาวาสวัดพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก


     

    รวมภาพงานงิ้วหนองบัว๒๕๕๔ชุดที่สอง



    ภาพล่างสุดญาติๆที่บ้านเนินตาโพกำลังชมหนังสือสูจิบัตรงานนิทรรศการ : เวทีคนหนองบัว สานสำนึกรักท้องถิ่น พลังสามัคคี และความงามที่หลากหลาย
    (๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔)

     

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลและท่านพระอธิการโชคชัย เจ้าอาวาสวัดพรหมพิราม พิษณุโลก
    สวัสดีทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    เห็นท่านพระอาจารย์มหาแลพูดถึงคุณธนกฤตแล้วก็เลยนึกถึงคุณธนกฤตและอีกหลายคนนะครับ ไม่รู้ว่าได้เจอกันแต่ไม่รู้ว่าใครเป็นใครบ้างหรือเปล่านะครับ แต่ก็เชื่อว่าเมื่อเห็นกิจกรรมต่างๆที่หลายท่านช่วยกันนำมารายงานถ่ายทอดสู่กันนี้แล้วก็คงจะร่วมยินดีไปด้วยกันนะครับ เพราะเป็นคนร่วมคิดมาด้วยกันและทำงานอยู่เบื้องหลังอยู่ตลอดมา

    อันที่จริงข้างๆเต๊นท์นิทรรศการของเวทีคนหนองบัวนั้น ก็มีรถมาออกหน่วยเคลื่อนที่ของบริษัททรูอยู่ด้วยนะครับ ไม่รู้ว่าเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณธนกฤตด้วยหรือไม่นะครับ เสียดายที่วันงานก็ได้แต่มองดูไม่ยักกะฉุกคิด เลยปากหนักไปหน่อย ไม่ได้ถามดู

    เห็นรูปที่ท่านพระอาจารย์มหาแลนำมาโพสต์แล้ว ก็อยากกล่าวถึงผู้คนและหน่วยงานต่างๆเพื่อให้เครดิตกันสักหน่อยนะครับ จะได้ชื่นชม เป็นกำลังใจ และเห็นผู้คนที่เป็นทุนสิ่งดีของหนองบัวสะสมเพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้น

                           

    ซ้ายมือสุดของภาพบน คือคุณนพดล ไชยสุกัญญาสัญ ประธานคณะกรรมการจัดงานไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ หลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ประจำปีนี้ ถัดไปที่ใส่เสื้อม่อฮ่อมนั้นคือผู้เขียนเอง ถัดไปทางซ้ายมือ ท่านสุภาพบุรุษที่สวมเสื้อสีชมพูร่างสูงใหญ่นั้น คืออดีตรองผู้ว่าราชาการจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นคนเกาะลอย หนองบัว และให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีเปิดขบวนแห่ของปีนี้ ซ้ายมือของท่านอดีตรองผู้ว่า ที่สวมเสื้อสีส้มแดงนั้น คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัวท่านปัจจุบัน พระคุณเจ้าสองรูปถัดไปนั้น รูปซ้ายที่สวมแว่น คือท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) จากวัดศรีโสภณ พิษณุโลก และอีกท่านหนึ่งคือ ท่านพระอธิการโชคชัย เจ้าอาวาสวัดพรหมพิราม พิษณุโลก ถัดไปคืออาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว และริมขวาสุด อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ สาขาหนองบัว

    สุภาพสตรีสองท่านในภาพมุมขวาล่าง ซ้ายมือคืออาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ นักวิจัยอิสระและเป็นทีมทำงานวิชาการของผมในหลายโอกาส ซึ่งผมของความอนุเคราะห์ให้ไปช่วยเวทีกิจกรรมของชาวหนองบัวโดยคาดว่าหากมีประเด็นที่สามารถยกระดับการทำงานด้วยกันของคนหนองบัวต่อไปได้ ก็อาจจะนำไปสู่การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการเพื่อชุมชนท้องถิ่นหนองบัวด้วยกันต่อไปในอนาคต ซึ่งในระหว่างงานก็ช่วยพวกเรามากมาย โดยเฉพาะเดินตระเวนถ่ายรูปเก็บบันทึกข้อมูลหนองบัวให้พวกเราชุดใหญ่ ขวามือคือเพื่อนของครูตาล ลูกป้าอี๊ดหรือป้าสาหร่าย ชาวบ้านเกาะลอย ครูตาลและเพื่อนเป็นครูของโรงเรียนหนองบัว

                           

    สุภาพบุรุษในภาพบนและล่างที่ยืนพูดไมโครโฟน คือคุณฉิก ศักดิ์ศิริ พิทักษ์อำนวย คนในตลาดหนองบัว ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว เป็นวิศวกร ปริญญาตรีจากเทคโนพระนครเหนือ กรุงเทพฯ และปริญญาโทด้านการบริหารจัดการธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวตั้งตัวตีคนหนึ่งที่ทำให้เกิดการทำงานนี้ด้วยกันของเวทีคนหนองบัวในงานงิ้ว สุภาพสตรีที่นั่งเก้าอี้คือคุณครูวิกานดา บุญเอก จากโรงเรียนหนองบัว เป็นน้องสาวคนเล็กของผู้เขียน และเป็นรุ่นน้องที่โรงเรียนหนองบัวของคุณฉิกด้วย ริมขวาสุดคือแม่ของผู้เขียน นางบุญมา คำศรีจันทร์ และเด็กที่ยืนหันหลังก็คือหลาน คุณครูวิกานดาต้องช่วยคณะกรรมการจัดงานไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ คอยจัดการบันทึกและเป็นผู้เดินรับเงินไหว้เจ้ากับเงินระดมทุนของแต่ละบ้านทั่วตลาดในอำเภอหนองบัวที่ขบวนแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ หลวงปู่ฤาษีนารายณ์ผ่านไป จากนั้นก็มาช่วยกันจัดบอร์ดนิทรรศการและเป็นผู้ร่วมนั่งสนทนาในเวทีเรียนรู้เรื่องราวหนองบัว ต้องอยู่ตลอดวันไปจนถึงเที่ยงคืน เลยต้องขอเอาแม่และหลานมาอยู่ด้วยกันใกล้ๆ

    คุณฉิกนั้น เป็นสารพัดสำหรับงานนี้ ทั้งวิ่งประสานงานในเรื่องต่างๆให้กับพวกเราที่จัดนิทรรศการ เพราะเป็นคนที่อยู่ตลาด เป็นนักกิจกรรมและรู้จักผู้คนทั่วไปหมด เมื่อมีจังหวะก็จำไมโครโฟนคุยเรื่องหนองบัวกับผู้คนที่เดินผ่านเต๊นท์ไปมา เป็นที่สนุกสนานและสร้างคามมีชีวิตชีวามากเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันก็หอบเอาชุดไฟแสงสว่างไปจากกรุงเทพฯแล้วไปติดตั้งเสริมเข้ากับไฟในเต๊นท์ ทำให้บรรยากาศในเต๊นท์นิทรรศการได้บรรยากาศของการเรียนรู้และน่าเดินชมเพิ่มมากขึ้นไปอีก บางช่วงก็เดินถือกล้องออกไปถ่ายรูปเก็บไว้

                            

    ภาพบนจากริมซ้าย คุณเกศศรณ์ศิน ลูกมหาจำลอง เป็นคนเกิดและเติบโตอยู่ในตลาดหนองบัว ปัจจุบันไปตั้งรกรากและเป็นเจ้าของกิจการเบเกอร์รี่อยู่ที่ลำปาง เพิ่งได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดหนองบัวครั้งแรกหลังจากหนองบัวไปหลายปี จึงมาร่วมรำลึกและคุยบันทึกข้อมูลหนองบัวด้วยกันอย่างสนุกสนทนาตั้งแต่ ๔ โมงเย็นไปจนถึงกว่าเที่ยงคืนของวันแห่ สร้างความประทับใจแก่เวทีมาก

    ถัดไปทางขวามือคือป้าอี๊ด หรือป้าสาหร่าย คนเกาะลอยและเป็นแม่ของครูตาล ป้าสาหร่ายแวะมาชมนิทรรศการและนั่งเสวนากับทุกคนในเวทีก่อนที่จะไปนอนวัดหนองกลับเพื่อเป็นกำลังในการจัดงานแห่นาคและอุปสมบทหมู่ งานสำคัญอีกงานหนึ่งของชาวหนองบัว ป้าสาหร่ายมีความทรงจำและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวรอบด้านของหนองบัวที่ดีมาก สามรถบอกเล่า สืบทอด และสะท้อนระบบวิธีคิดที่อยู่ภายใต้เรื่องราวต่างๆให้เวทีได้ทราบอย่างลึกซึ้ง

    ถัดไปคืออาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว ซึ่งเป็นคนประสานงานหลักคนหนึ่งในการจัดนิทรรศการนี้ด้วยกัน เป็นผู้ร่วมระดมความคิด ประสานงานคนในพื้นที่ ผู้นำชุมชน จัดหาบอร์ดและเป็นศูนย์กลางในการสื่อสารบอกกล่าวแก่ฝ่ายต่างๆในหนองบัว ริมขวาของภาพบนสุดคือคุณเบิ้ม รัชทนงค์ โพธิ์พรหม ผู้จัดการฝ่ายโรงงานของบริษัทเหมืองแร่ในหนองบัวและเป็นคนเก่าแก่ที่อยู่ในตลาดหนองบัวที่ช่วยประสานงาน สื่อสาร เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และแวะเวียนมาช่วยกันจัดนิทรรศการอยู่เป็นระยะๆ

    สุภาพบุรุษที่สวมเสื้อเหลือง คือ อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ ซึ่งเป็นโรงเรียนดีประจำตำบล ของอำเภอหนองบัว สำหรับงานครั้งนี้แล้ว อาจารย์พนมเป็นผู้ซึ่งช่วยกันทำในทุกเรื่องนับแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นกิจกรรม ทั้งการหาความคิด การวางแผนเนื้อหา การติดต่อประสานงานคนในอำเภอ การติดต่อประสานงานกับกำนันวิรัตน์ บัวมหะกุลและคณะกรรมการจัดงาน รวมไปจนถึงการเป็นวิทยากร โฆษก และผู้ดำเนินกิจกรรมให้มีความเคลื่อนไหว ได้ความเป็นเวทีเรียนรู้ที่มีพลังมากอย่างยิ่ง

    สุภาพสตรีเสื้อลายสก๊อต คือคุณปริญญารัตน์ โพธิ์นาค ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว และเป็นคนค้าขายอยู่ในตัวตลาด ปริญญารัตน์เป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนหนองบัวของผม เป็นคนเรียนเก่งและเป็นหัวหน้าห้องที่เป็นผู้หญิงอยู่หลายครั้ง การจัดนิทรรศการครั้งนี้ก็มาร่วมวางแผน ติดตั้ง ประสานงาน และจัดการสิ่งต่างๆ เลยเที่ยงคืนอยู่ทุกวันถึง ๒-๓ วัน

                            

    ผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้อีกท่านหนึ่ง คือ กำนันวิรัตน์ บัวมหะกุล สุภาพบุรุษที่สวมเสื้อสีโอลด์โรสยืนในรูปบนขวา กำนันตำบลธารทหาร และเป็นรองประธานกรรมการจัดงานไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ หลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ประจำปีนี้ กำนันเป็นผู้อำนวยการ อำนวยความสะดวก และร่วมดำเนินการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม นับแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นงาน เดินเลือกสถานที่ด้วยกันกับทีมทำงาน คอยดูแลสิ่งของเครื่องใช้ จัดหาเต๊นท์ ดูแลอาหารการกิน ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิด มองไป    ข้างหน้าด้วยกัน และแวะเวียนมาร่วมเวทีอยู่ตลอดเวลา เป็นที่ประทับใจของทุกคน

                            

    ท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย (ขำสุข) รวมทั้งท่านพระอธิการโชคชัย พระคุณเจ้าทั้งสองเป็นผู้นำทางจิตใจและเป็นผู้นำของชาวบ้านที่เมื่อได้สัมผัสแล้วก็มีความงดงามเป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง ท่านพระอาจารย์มหาแลนั้นต้องนับว่าเป็นผู้ริเริ่มและตระเตรียมสิ่งต่างๆอย่างทุ่มเทจริงจังเพื่อนำมาสู่การจัดนิทรรศการและจัดเวทีเรียนรู้ความเป็นชุมชนหนองบัวในครั้งนี้ด้วยกัน หนังสือที่ท่านประดิษฐ์ประดอยทำขึ้นมาด้วยความยากลำบากนั้น เป็นสื่อนิทรรศการที่ทำให้เต๊นท์นิทรรศการกลายเป็นมหาวิทยาลัยเลื่อนที่ได้เลยทีเดียว ทำให้คนเข้าไปอ่านและอยู่ในบรรยากาศของการเรียนรู้ได้หลากหลายกิจกรรม เป็นกำลังแห่งความดีงามของเวทีคนหนองบัว โดยเฉพาะสร้างพลังความเชื่อมั่นในวิถีแห่งปัญญาและการพากันเรียนรู้ของชาวบ้าน

    รับสมัครอาสาสมัครนักวิจัยประจำหมู่บ้าน : อสวม
    จากทุกตำบลและหมู่บ้านในอำเภอหนองบัว นครสวรรค์

    จากเวทีเรียนรู้ชุมชนหนองบัว ระหว่างที่พวกเราได้จัดนิทรรศการและเวทีเสวนากันในวันแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่หลวงปู่ฤาษีนารายณ์ และอีกด้านหนึ่งก็เป็นวันแห่นาคและอุปสมบทหมู่ ในประเณีแห่นาคและอุปสมบทหมู่ของชุมชนอำเภอหนองบัว ได้มีนักธุรกิจคนทำมาค้าขายซึ่งเป็นคนหนองบัวพอครอบครัวกลับไปเยี่ยมบ้าน แต่มีธุรกิจของตนเองอยู่ในกรุงเทพฯและอีกหลายแห่งของประเทศ ได้เข้าไปนั่งคุยกันในเวทีเสวนากับผมและได้แสดงความสนใจในการทำสิ่งต่างๆเพื่อหนองบัว รวมทั้งเพื่อสังคมไทยผ่านการทำให้กับหนองบัว โดยปวารนาตน จะร่วมเป็นเครือข่ายริเริ่มสิ่งต่างๆด้วยตนเองและยินดีให้การสนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆด้วยกันที่เน้นการพัฒนความรู้ พัฒนาการเรียนรู้ และทำให้สิ่งดีๆของหนองบัวซึ่งมีอยู่มากมาย ปรากฏออกมาด้วยการเรียนรู้และดำเนินการสิ่งต่างๆช่วยกันที่ดี

    • ทำพื้นที่เรียนรู้หนองบัวที่มีรสนิยมนำสู่ทางเลือกออกจากกระแสหลักของสังคมโลก : จะพยายามดัดแปลงที่ทางของตนเอง บ้าน และอาคารร้านค้าของตนเอง ให้มีส่วนที่เป็นศูนย์การเรียนรู้และเผยแพร่เรื่องราวต่างๆของหนองบัวในแนวที่ตนเองมุ่งให้ความสนใจส่งเสริม โดยเฉพาะการอนุรักษ์และจัดแหล่งเรียนรู้เพื่อชื่นชมซาบซึ้งลักษณะการสร้างบ้านด้วยไม้ หน้าต่างทำด้วยไม้ตามอาคารร้านค้าของหนองบัว รวมทั้งวิถีชีวิตและวิถีวัฒนธรรมต่างๆแต่เก่าก่อนของหนองบัว
    • ทำสื่อและช่องทางการเผยแพร่ความเป็นหนองบัว : จะให้การสนับสนุนและร่วมทำสื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หนองบัวให้เป็นที่รูจักและเข้าถึงได้โดยสะดวกมากขึ้นของโลกภายนอก
    • ทำเว๊บ หนองบัวดอทคอม : nongbua.con เพื่อเป็นเวทีเผยแพร่สื่อสารของหนองบัวที่ช่วยกันทำขึ้นด้วยเครือข่ายภาคประชาชน

    ผมรู้สึกชื่นชมและต้องการเป็นกำลังใจในความริเริ่มหลายอย่าง อันที่จริงเป็นครอบครัวค้าขายที่มีบทบาทมากของหนองบัวและเป็นเพื่อนผมกับเพื่อนพี่น้องของหลายคนในหนองบัว ทว่า ขอสงวนนามไว้ก่อนเพื่อจะได้ไม่ต้องอึดอัดใจหากยังไม่สะดวก อีกทั้งอยากให้มีเวลานั่งคิดและค่อยๆคุย ค่อยๆทำสิ่งต่างๆไปให้ลงตัว พิพิถัน หากมีบางสิ่งที่คิดว่าดีกว่าหรืออยากเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมไปตามเงื่อนไขตนเอง ก็จะได้มีความสะดวกใจ ไม่ลำบากใจ กระนั้นก็ตาม ดูวิธีคิด ความสามารถ และศักยภาพทุกด้านแล้ว ก็เชื่อว่าสิ่งที่ครอบครัวค้าขายครอบครัวนี้คิดนั้น เป็นสิ่งที่อยู่ในมือและทำได้เป็นอย่างดีอย่างแน่นอน เลยก็ขอเคลื่อนไหวอย่างอื่นคู่ขนานไปด้วย เพื่อจะได้เป็นการเตรียมการและทำสิ่งต่างๆไปด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างหลังคือการทำหนองบัวดอทคอม

    ผมจึงขออาสาเสริมกำลังในส่วนที่เป็นงานสร้างคนและพัฒนางานทางความรู้ให้นะครับ หากมีหนองบัวดอทคอมก็ต้องมีคนสร้างเนื้อหาเรื่องราวเข้ามาป้อน เวทีคนหนองบัวจะช่วยกันสร้างรูปแบบการสร้างความรู้ขึ้นจากชุมชนหมู่บ้านและจากวิถีชีวิตของชาวบ้านให้ทั่วหนองบัวเพื่อให้หนองบัวดอทคอมทำให้หนองบัวมีความรู้และข้อมูลข่าวสารจากทุกหมู่บ้าน โดยใช้รูปแบบซึ่งขอเรียกไปก่อนว่า อาสาสมัครนักวิจัยชุมชนของหมู่บ้าน : อสวม.

    คุณสมบัติและคุณลักษณะของ อาสาสมัครนักวิจัยชุมชนของหมู่บ้าน : อสวม.

    • เป็นผู้มีพื้นจิตใจรักความรู้ รักการเรียนรู้ การอ่าน เขียน การฟังผู้อื่น การศึกษาค้นคว้า การบันทึกถ่ายทอด การสร้างมรดกทางปัญญาเพื่อสังคมและชุมชน ศรัทธาวิถีสังคมแห่งความรู้และมุ่งปัญญาปฏิบัติ เปิดกว้างต่อโลกแห่งความแตกต่างหลากหลายทั้งระดับท้องถิ่นและโลกกว้าง ไม่จำกัดอายุ เพศ ศาสนา อาชีพ และระดับการศึกษา
    • เป็นคนหนองบัวหรือเป็นคนในชุมชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในชุมชนหมู่บ้าน หรือในกลุ่มหมู่บ้านและละแวกบ้านที่ตั้งถิ่นอาศัยเป็นชุมชนหมู่บ้านที่อยู่ด้วยกัน
    • มีทักษะในการเรียนรู้ชุมชนและโลกรอบข้างผ่านการดำเนินชีวิตและการแสวงหาประสบการณ์ชีวิตชุมชน
    • มีคุณลักษณะการเป็นผู้เปิดกว้างต่อการเรียนรู้ มุ่งพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองและใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อความริเริ่มสร้างสรรค์สุขภาวะชุมชนเพื่อตนเอง ชุมชน และผู้อื่น ด้วยสัมมาปฏิบัติ
    • มีความสมดุลในการดำเนินชีวิตจากประสบการณ์ตรงและผ่านการศึกษาค้นคว้าจากสื่อและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
    • สามารถใช้อินเตอร์เน็ตและเขียนเว็บบล๊อก หรือให้ความสนใจในการพัฒนาตนเองเพื่อสร้างความรู้ชุมชนและเผยแพร่ผ่านเว็บบล๊อก
    • มีคอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายภาพที่สามารถบันทึกข้อมูลภาพ รวมทั้งเทคโนโลยีเพื่อการทำงานความรู้ผ่านเว็บบล๊อกและอินเตอร์เน็ต หรือหากไม่มีเป็นของตนเอง ก็ควรมีความสามารถเข้าถึงและใช้เพื่อการทำงานด้วยวิธีพึ่งตนเองหรือรวมกลุ่มทำด้วยกันเป็นกลุ่มสนใจของตนเองได้

    บทบาทของ อสวม.

    • เก็บบันทึกรวบรวมข้อมูลของชุมชนหมู่บ้าน คุ้ม ซอย ละแวกบ้าน ของตนเอง ในรูปของข้อมูลภาพ เอกสาร รูปวาด เสียง ภาพเคลื่อนไหว และอื่นๆ ประมวลผลและรวบรวมไว้ให้เป็นระบบมากขึ้นในเว๊บบลล๊อก และในอนาคต จะเป็นเครือข่ายช่วยกันรวบรวมไว้ในหนองบัวดอทคอม
    • สร้างความรู้และเขียนความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆของหมู่บ้านและของหนองบัว ตลอดจนของสังคมวงกว้างที่สร้างขึ้นจากทรรศนะของตน
    • สื่อสารถ่ายทอดและแบ่งปันความรู้ของหมู่บ้านตนเองกับโลกภายนอกผ่านเว๊บบล๊อกและในอนาคตผ่านหนองบัวดอทคอม เป็นกำลังทางปัญญาและเป็นกำลังทางความรู้ของหมู่บ้านตนเอง

    ขั้นตอนการอาสาและสมัครเป็น อสวม.

    • ระบุชื่อจริงนามสกุลจริงของตนเอง และสมัครผ่านเว๊บบล๊อก GotoKnow ในเวทีคนหนองบัวนี้ไปก่อน เพียงแต่แสดงเจตนาไว้ หรือหากจะบอกกล่าวกันก็สามารถบอกกล่าวแก่ทุกคนไว้ได้ ทั้งท่านพระอาจารย์มหาแล ผม และทุกท่านในเวทีคนหนองบัวที่ท่านพอจะรู้จักคุ้นเคยและบอกกล่าวกันได้
    • ระบุหมู่บ้านที่จะเป็นชุมชนซึ่งจะเน้นเป็นพิเศษว่าเป็นหมู่บ้านใด ตำบลใดของอำเภอหนองบัว ที่สนใจศึกษา เรียนรู้ และนำเอาเรื่องราวต่างๆมาแบ่งปันกับสาธารณะพร้อมกับเก็บรวบรวมไว้ให้เป็นระบบมากขึ้นในเว๊บบล๊อก
    • เมื่อสมัคร บอกกล่าว และแสดงเจตนาไว้แล้ว ก็ค่อยๆเรียนรู้เพื่อที่จะทำบทบาทการเป็น อสวม.ของตนเองไปได้เลย

    เงื่อนไข

    • หมู่บ้านต่างๆสามารถเสนอคนของตนเองได้ ที่สำคัญคือควรหาโอกาสสร้างคนและสร้างลูกหลานผ่านการได้ทำงานและใช้ให้เกิดประโยชน์ในสังคมจริงๆ
    • จะเพิ่มหรือถอนตัวออกไปก็ทำได้ตามสะดวกเพราะเป็นสิ่งที่ควรจะต้องทำไปได้ในระยะยาว จึงต้องยืดหยุ่นไปกับความเป็นจริงของชีวิต

    สิ่งที่ อสวม.จะได้รับการสนับสนุน

    • อสวม. จะเป็นผู้ทำให้หมู่บ้านต่างๆของหนองบัว มีเวทีย่อยของตนเองในหนองบัวดอทคอม เพื่อหมู่บ้านของตนจะได้มีแหล่งสร้างและสะสมความรู้ ตลอดจนสะสมภูมิปัญญาและสิ่งดีงามต่างๆ ไว้ใช้เพื่อการพัฒนาตนเองได้ดียิ่งๆขึ้นของชุมชนในอนาคต เป็นผู้ทำให้ชุมชนหมู่บ้านปรากฏและเข้าถึงได้ด้วยวิธีค้นหาในโลกของความรู้ซึ่งจะมีบทบาทมากยิ่งๆขึ้นในอนาคต
    • ได้ประสบการณ์ตรงของตนเอง ในการพัฒนการเรียนรู้และพัฒนาตนเองไปตลอดชีวิต อยู่ในวิถีแห่งการเรียนรู้ วิถีแห่งปัญญา มีสุขภาวะที่ดีที่มีความสมดุลทางวัตถุกับจิตใจ
    • ผมจะเขียนความรู้สนับสนุนไปตามประเด็นที่เกิดขึ้นจากปัญหาปฏิบัติ ผ่านเว๊บล๊อก GotoKnow นี้ และในอนาคตก็จะเป็นเวทีหนึ่งในหนองบัวดอทคอม

    เมื่อทำหนองบัวดอทคอมได้ลงตัว ก็เชื่อว่าพอจะมีเครือข่ายคนเขียนความรู้และเป็นสื่อความรู้ของชุมชนต่างๆในหนองบัวกเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและกว้างขวางมากยิ่งๆขึ้น บทเรียนและวิธีการอย่างที่ท่านพระอาจารย์มหาแลได้ทำนำไปก่อนนั้น เชื่อว่าจะทำให้เราเห็นภาพและมีความหวังที่จะเรียนรู้และลงมือทำด้วยตนเอง เราจะทดลองใช้เครือข่ายเว๊บบล๊อกนี้สร้างและบันทึกความรู้ของสังคมท้องถิ่นหนองบัวไปด้วยกัน ซึ่งก็จะเกิดประโยชน์เฉพาะหน้าอยู่ในตนเอง อีกทั้งหากในปีหน้าต้องการจัดแสดงนิทรรศการเรียนรู้หนองบัวอีก ก็เชื่อว่าจะเป็นเตรียมเรื่องราวช่วยกันได้ดีขึ้นกว่าเดิม.

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล ,สวัสดี อ.วิรัตน์ และ ชาวเวทีหนองบัวทุกท่านค่ะ

    เข้ามาเยี่ยมชม ดูงาน นิทรรศการเวทีคนหนองบัว ในงานงิ้วหนองบัวค่ะ

    เห็นบรรยากาศแล้วคิดถึง ดิฉันไม่ได้กลับไปเที่ยงานงิ้ว ๒๐ กว่าปีแล้วค่ะ

    แต่ดูจากภาพ เวทีหนองบัว คึกคักและประสบความสำเร็จมากค่ะ

    ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ คนนะคะ

    อัญชัน

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล และพระอธิการโชคชัย

    สวัสดีพี่วิรัตน์ และชาวเวทีคนหนองบัวทุกท่าน

    เมื่อเช้าไม่รู้ว่าบล็อกเป็นอะไร เข้าไม่ได้เลย ขึ้น Application Error ก็เลยไม่ได้เข้ามา

    ขอแก้ไขและเพิ่มเติมข้อมูลพี่วิรัตน์ที่ได้กล่าวถึงข้างบนนี้

    อันดับแรก ชื่อผม ศักดิ์ศรี ครับ ไม่ใช่ ศักดิ์ศิริ เดี๋ยวคนจะเข้าใจว่าเป็นคนเดียวกับ อ.ศักดิ์สิริ มีสมสืบ กวีซีไรท์และอดีตครู รร.ชุมแสงชนูทิศ

    ป้าอี๊ดหรือพี่อี๊ด ชื่อ สาลี สายภู่, ที่ได้มาเสวนาในเย็นวันเสาร์26 มี.ค. พี่อี๊ดเป็นลูกสาวคนโตของกำนันเทินหรือกำนันเชิญ นวลละออง, ข้อมูลเกี่ยวกับหนองบัวในตัวพี่อี๊ดนี่เยอะจริงๆ หลายๆเรื่องผมก็เพิ่งเคยได้ยินในวันนั้นเอง สีหน้าพี่อี๊ดอิ่มเอิบมีควาสุขมากที่ได้มาเล่าเรื่องราวต่างๆให้พวกเราฟัง ยังมีแอบมากระซิบบอกผมอีกว่าอย่าไปบอกแดงนะ อายมัน (แดงเป็นน้องสาวคนเล็กของพี่อี๊ด เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับผม) ที่ไหนได้วันรุ่งขึ้นโทรไปเล่าให้น้องสาวฟังซะละเอียดยิบเลย พี่อี๊ดยังเป็นวิทยากรพิเศษให้กับหน่วยงานด้านศาสนาและวัฒนธรรมในหนองบัวด้วย ส่วนป้าหร่ายหรือพี่สาหร่าย นารี แม่ครูตาลนั้นเป็นน้องสาวพี่อี๊ดอีกที (ข้อมูลจากแดง)

    คุณเกศศรณ์ศิน ชื่อนี้คนทั้งหนองบัวไม่มีใครรู้จักแน่ๆ แต่ถ้าบอกว่า เจ๊จิ๋มลูกเจ๊หงส์ นี่ทุกคนร้องอ๋อเลย เจ๊จิ๋มนี่เป็นลูกหนองคอกรุ่น15 รุ่นน้องพี่วิรัตน์1ปี รุ่นพี่ผม2ปี รุ่นนี้น่าจะมีจิ๋มเยอะที่สุดเลย เท่าที่รู้ก็3จิ๋มแล้ว อีก2คือพี่จิ๋มลูกสาวครูอุดม และพี่จิ๋มลูกป้าสีไพรขายล็อตเตอรี่ที่ตลาด ต้องขอบคุณพี่จิ๋มมากที่เข้าไปช่วยกันเสวนากันในงาน

    อีกท่านหนึ่งที่พี่วิรัตน์ลืมกล่าวถึงคือผู้ใหญ่หวั่น สกุลมี อดีตผู้ใหญ่บ้านชุมชนเกาะลอยที่ได้มาเล่าเรื่องราวเก่าๆและร่วมร้องเพลงโต้ตอบและต่อเพลงกับพี่อี๊ดอย่างสนุกสนาน

    ยังมีปราชญ์หนองบัวอีกหลายท่านที่ไม่ได้เข้ามาร่วมเสวนากับพวกเรา คงจะต้องค่อยๆหากัน เช่นที่พี่วิรัตน์กำลังจัดทำ อาสาสมัคร อสวม. เดี๋ยวผมจะฝากเรื่องนี้ผ่านไปยังพรรคพวกที่เป็นครูที่หนองบัวช่วยเฟ้นหา

    มีอีกท่านที่มีข้อมูลเกี่ยวกับหนองบัวไม่น้อยไปกว่าพี่อี๊ดเลยคือ ลุงเที่ยง ซึ่งได้ข่าวว่าจะเข้ากทม.มาที่พุทธมณฑลเกี่ยวกับเรื่องฉลองตำแหน่งพระครูไกร หรืออะไรประมาณนี้แหละ ในวันที่ 22 เม.ย.นี้พร้อมชาวคณะหนองบัว รายละเอียดผมก็ยังไม่ค่อยทราบนัก แต่เห็นว่าอยู่ใกล้ๆกับบ้านและที่ทำงานพี่วิรัตน์ ถ้าไม่ผิดไปจากนี้อยากจะชวนพี่วิรัตน์ลองจัดตารางเวลาไปนั่งคุยกัน

    Ico48

    ต้องขอทักทายและต้อนรับคุณข้าวสู่เวทีคนหนองบัวนะครับ
    เพิ่งสมัครเข้ามาแล้วก็เข้ามาคุยในเวทีคนหนองบัวเลย เยี่ยมไปเลยละครับ
    อย่าคุยเฉพาะในเวทีคนหนองบัวนะครับ ออกไปคุยทั่วไปเลย
    เพียงแต่แวะเวียนมาเขียนเรื่องราวต่างๆ
    ถ่ายทอดไว้ในเวทีคนหนองบัวของเราไว้เป็นระยะนะครับ

    เรื่องแห่นาคแล้วต้องเขย่าเสลี่ยงให้แรง ยิ่งแรงและนาคไม่หล่นก็จะยิ่งได้บุญมากนี่
    มีความเชื่อกันอย่างนั้นจริงครับ อย่าว่าแต่หามและแห่ด้วยเสลี่ยงเลย
    แม้แต่ขี่คอเต้น ก็จะเต้นจะพ่อนาคหน้าเขียวโน่นแหละ
    แล้วก็มักจะได้ยินพระท่านเทศน์สั่งสอนอยู่เสมอว่าให้เลิกเชื่อและแห่ด้วยอาการอย่างนั้น
    เพราะแทนที่จะได้บุญก็กลับจะได้ทุกข์กันเสียมากกว่า

    หลายแห่งก็จะห้ามแห่แหนที่อึกกระทึกครึกโครมและให้เดินอย่างสงบ เจริญสติ
    แต่เรื่องอย่างนี้นั้นไม่ได้มีมิติเดียว องค์ประกอบต่างๆที่เห็นอยู่ในวิถีปฏิบัติของชุมชนนั้น
    มักมีระบบวิธีคิดที่มีเหตุผลเพื่อสุขภาวะและความงอกงามของการอยู่ร่วมกันอยู่เสมอ

    สวัสดีครับคุณอัญชัญครับ
    เวทีคนหนองบัวภาคออกไปเคลื่อนไหวสังคมนอก GotoKnow
    ประสบความสำเร็จใช้ได้เลยละครับ
    เสียดายนะครับที่ยังไม่ได้ไปทำกิจกรรมอย่างด้วยด้วยกัน
    และไม่ได้ไปอยู่บรรยากาศอย่างในงานนี้ด้ยกันกับพรรคพวกหลายคน
    แต่ก็มีหลายคนนำเอาภาพถ่ายมาแบ่งกันดู

    สวัสดีครับฉิกครับ

    • อ่านแล้วก็ยิ้มไปด้วยหลายเรื่องเลย ดูเหมือนว่าพี่จะเรียกศักดิ์ศรี-ฉิก เป็นศักดิ์ศิริไปเสียเป็นส่วนใหญ่เลยเชียวแหละ
    • ขอบคุณเรื่องป้าอี๊ด สาลี กับป้าสาหร่าย นารี นะครับ พี่หลงจำว่าเป็นคนเดียวกันเสียอีก รวมทั้งเรื่องผู้ใหญ่หวั่น สกุลมีด้วยนะครับ
    • น้องเกศศรณ์ศินนี่ต้องชื่นชมในสปิริตมากจริงๆ หากผ่านไปทางลำปางต้องแวะไปเยือนสักหน่อย 

    การจัดแสดงในนิทรรศการเวทีคนหนองบัว Unseen Nong Bua

                             

                            

                            

    การจัดแสดงในนิทรรศการเวทีคนหนองบัว Unseen Nong Bua : หนังสือเรียนรู้คำศัพท์ภาษาเพื่อบ้าน โดย คนหนองบัว คุณสมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง คนบ้านห้วยวารี

                             

                             

    การจัดแสดงในนิทรรศการเวทีคนหนองบัว Unseen Nong Bua : บทเรียนโครงการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และโครงการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองไผ่ โรงเรียนดีประจำตำบล ของอำเภอหนองบัว

    งานพบปะสังสรรค์
    ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว รุ่นที่ ๑๔
    ณ ลานบัวขาว โรงเรียนหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

                             

                             

                             

    ซิ่วฮวง ปริญญารัตน์ แมว ลูกเถ้าแก่ต๋า และคุณครูบาง รอดสการ คนห้วยร่วม ช่วยกันลงทะเบียน

                              

    อาจารย์โสภณ สารธรรม ศิษย์เก่าหนองบัวรุ่นที่ ๕ และเป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว กล่าวต้อนรับลูกศิษย์ลูกหา พูดคุยสนทนารำลึกเรื่องราวต่างๆด้วยความสุขสนุกสนาน อาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว เป็นแม่งาน เป็นโฆษก และเป็นคนขับรถรับส่งครูอาจารย์กับเพื่อนๆ 

                             

    เบิ้ม รัชทนงค์ โพธิ์พรหม สีกระป๋อง ประสิทธิ์ รอดนิล และทองสุข อยู่ศรี ร่วมกันร้องเพลงขับกล่อม ชวนเพื่อนๆสนทนากัน ได้ความสุขใจและได้อยู่ในบรรยากาศเก่าๆด้วยกัน

                              

                             

    ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน ศิษย์เก่าหนองบัวรุ่น ๑๔ นี้มี ๓ ห้อง มาร่วมพบปะกันได้มากพอสมควร รวมทั้งผู้ที่อยู่ห่างไกลก็ยังสามารถมาร่วมงานและถือโอกาสได้กลับมาเยือนบ้านเกิด เช่น อาจารย์ทองสุข อยู่ศรี ผู้อำนวยการสพฐ.เขตพื้นที่ ๒ จังหวัดกำแพงเพชร และอีกหลายท่านจากกรุงเทพฯ


    ประทับใจครอบครัวคำศรีจันทร์
    แม่บุญมา  คำศรีจันทร์
    แม่ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ อุตส่าห์เดินทางจากบ้านตาลินกับบุตรสาวคุณครูวิกานดา บุญเอกและหลานชายลูกครูวิกานดา มาเป็นขวัญกำลังใจลูกชายที่เต็นท์จัดแสดงนิทรรศการ
    เห็นแล้วมีกำลังใจและอบอุ่นดี




    ไปงานงิ้วหนองบัวคราวนี้ ได้รับเสื้อGotoKnow.org จากดร.วิรัตน์  คำศรีจันทร์ กลับมาวัดด้วยหนึ่งตัว

    วันที่๒๘ มีนาคม๒๕๕๔ที่ผ่านมา อาตมาเดินทางไปหนองบัวอีกครั้ง(๒๖มีนาคมไปงานงิ้วแล้วก็กลับ) ญาติเล่าให้ฟังว่าได้เจอแม่คุณบุญเลิศ(คุณน้าไปล่)ที่งานแต่งงานลูกหลานในหมู่บ้าน
    น้าไปล่เล่าให้ญาติฟังว่าบุญเลิศได้เข้าไปเขียนเรื่องราวเก่าๆในอินเตอร์เน็ตกับพระมหาแล คนบ้านเนินตาโพและมหาแลบอกว่าเป็นญาติกันด้วย(แม่คุณบุญเลิศบอกว่าแปลกใจนิดนึงที่ลูกชายรู้จักมหาแลด้วย ปรกติจากบ้านมานานก็ไม่ค่อยรู้จักใครมากนัก-แม่ยืนยันมาอย่างนั้น)

    พอดีระยะนี้เห็นคุณบุญเลิศเงียบหายไปสักพักหนึ่งแล้ว
    เลยขอรายงานข่าวทางบ้านให้ทราบ

     

    ขอรายงานความสุขเล็กๆน้อยให้บล็อกเกอร์หนองบัวทราบ
    วันที่ไปงานงิ้วหนองบัว(๒๖มีนาคม๒๕๕๔) ได้เจอหลานสาวที่บ้านเนินตาโพ เขาเล่าให้ฟ้งว่าหลวงอาหนังสือที่ส่งมาให้อ่านสนุกมากเลย เขาบอกว่าสนุกตรงข้อความแสดงความคิดเห็น ได้ทั้งความรู้และอ่านเพลินดี
    นี่คำบอกเล่าจากคนรุ่นใหม่
    ได้ยินผู้อ่านบอกว่าดี คนเขียนก็พลอยมีความสุขไปด้วย

    วันนี้ได้รับกล้องคืนมาแล้ว เลยรีบเอาไฟล์มาโหลดให้พวกเราได้ดูกัน

    การแสดงของนักเรียนรร.อนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)

    การแสดงอีกชุดของนักเรียนรร.อนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) ชุดนี้น่าจะเป็นนักเรียนป.4-ป.6

    รูปยังมีอีกเยอะครับ แต่เวลาหมดแล้วครับ มาดูกันใหม่พรุ่งนี้

    นมัสการ พระมหาแล

                    น่าเสียดายอย่างมากที่ไม่สามารถกลับบ้านช่วงงานงิ้วหนองบัวปีนี้ได้ เพราะต้องพาหลานไปสอบเข้ามหาลัยศิลปากร วังสนามจันทร์ นครปฐม  ทีแรกก็บอกกับแม่ไว้เหมือนกันว่าจะกลับช่วงงานงิ้ว กะว่าจะไม่ร่วมงานเวทีคนหนองบัว เผื่อจะได้เห็นตัวจริงทุกๆ ท่าน และอีกทั้งเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันก็นัดเจอกันด้วย แต่ก็ไปไม่ได้

                    ที่จริงแล้วตั้งแต่เข้ามาเห็นเวทีคนหนองบัววันแรก ที่ได้ยินชื่อคนต้นเรื่องก็น่าจะเป็น พระมหาแล ที่พอจะรู้จักบ้าง จึงได้โทรกลับไปถามแม่ว่าเป็นคนบ้านไหน แม่ก็บอกว่าน่าจะเคยอยู่บ้านใหญ่แล้วย้ายบ้านไปอยู่เนินตะโพ รุ่นแม่ใหญ่(ยาย)ก็เป็นญาติๆ กัน  ผมเองจากบ้านมานานมากแล้ว จะไม่ค่อยรู้จักใครมากนักอย่างที่แม่บอก โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่  มีงานทีก็จะได้พบปะรู้จักกัน แต่ถามว่าถ้าเจอกันที่อื่นก็คงจำกันไม่ได้

    ขอบคุณครับ

    DekThape.

    สวัสดี สมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกๆ ท่าน

                    เทศกาลสงกรานต์ใกล้เข้ามาแล้ว อดนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ บ้านเราช่วงนี้ไม่ได้ สมัยเด็กก็จะได้เล่นสาดน้ำ อาบน้ำพระ แต่การละเล่นที่จะขาดไม่ได้ของคนเฒ่าคนแก่ และคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องหนึ่งของหนองบัวเรา ที่น่าจะเก็บรวบรวมไว้ นั่นก็คือ เพลงพื้นบ้าน แต่ก็ไม่ทราบว่าที่อื่นๆ จะมีเนื้อร้องเหมือนกันหรือเปล่า

    ขอยกตัวอย่าง

    (๑)          เขาดิน เอ๋ย วัณณา  หนุ่มโสภาเขามาเดินเล่น เดินคนเดียวเหลียวมองหาคู่ เห็นอยู่กับแม่เนื้อเย็น

    (ซ้ำ) ไปไหนกันละจ๊ะ ฉันจะไปเที่ยวเล่น

    ไปซื้อหวานเย็น มาให้เธอกิน

    (๒)          ใจหญิงพูดไม่จริงสักอย่าง นำทางให้ผู้ชายหลงเดิน ใจนางช่างร้ายเหลือเกิน .........

    (๓)          สายหยุด สายหยุด สุดส่ง เกสรเกศแก้วมณี........

    ผมว่าน่าจะมีอีกหลายเพลง ถ้ามีโอกาสได้อัดเทปไว้ แล้วนำมาถอดเป็นเนื้อเพลงเก็บรวบรวมไว้ต่อไปก็จะดี แต่ก็ไม่ทราบว่าทุกวันนี้จะมีกิจกรรมนี้หรือไม่

    ขอบคุณครับ

    DekThape

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข)

    แม่ผมกับคนเก่าๆของหนองบัวนี่มักจะถึงกันครับ คนแต่ก่อนมักเป็นกลุ่มที่ไปมาหาสู่กัน ทำบุญด้วยกัน เอาข้าวของมาแลกเปลี่ยนแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ในตลาด แต่แม่ก็ไม่เคยไปงานงิ้ว ตั้งแต่จำความได้นี่นอกจากฟังรายการวิทยุแล้ว ผมก็ไม่เคยเห็นและไม่เคยรู้เลยว่าแม่จะไปเที่ยวดูงานมหรสพ ส่วนใหญ่แม่จะไปเป็นคนทำกับข้าว ล้างถ้วยชาม ปัดกวาดปูเสื่อศาลาวัด จัดแจงพิธีการ ฟังเทศน์ เลยอยากให้แม่ได้ไปนั่งอยู่ในบรรยากาศในวันแห่ของงานงิ้วหนองบัวดูบ้าง 

    หนังสือที่พระคุณเจ้าจัดรูปเล่มเป็นเล่มย่อยๆนั้น คนชอบมากครับ และทำให้เต๊นท์นิทรรศการคึกคัก มีเรื่องราวหลากหลายที่จับต้องได้ ผมได้อยู่ในเต๊นท์เป็นส่วนใหญ่ ก็มักจะได้เห็นคนแวะเวียมานั่งอ่านอย่างจริงๆจังๆ เห็นแล้วก็พลอยมีความสุขใจและตื้นตันใจ เพราะบางคนก็เป็นคณะกรรมการจัดงานและเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่พอว่างจากความจอแจก็แวะมานั่งอ่าน นี่เป็นการสร้างสังคมแห่งการอ่านและสังคมแห่งการเรียนรู้เป็นอย่างดีมากเลยนะครับ

    สวัสดีครับฉิก
    รูปของฉิกนี่ มุมมองและรายละเอียดของภาพเห็นได้ชัดเลยนะครับว่าเป็นการบันทึกและบอกเล่าจากสายตาของคนวงใน รู้จังหวะและรู้วิธีเข้าถึงได้อย่างใกล้ชิด

    สวัสดีครับคุณเด็กเทพฯครับ
    เมื่อวันงานก็มีชาวบ้านที่มาเล่าและร้องเพลงท้องถิ่นให้ฟังหลายเพลง พร้อมกับอธิบายเรื่องราวต่างๆที่สะท้อนอยู่ในเพลงไปด้วย มีอยู่ท่านหนึ่งที่แต่งเพลงเองและรู้เรื่องราวต่างๆดีมาก ชื่อพี่ดำหรืออย่างไรนี่แหละ แกมาดูนิทรรศการ พูดคุยสลับกับร้องเพลงและท่องบทกวีเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆไปอย่างต่อเนื่องอย่างกับการแสดงสด หนองบัวในด้านศิลปะอย่างนี้ก็น่าสนุกมากครับ

    สวัสดีครับคุณเด็กเทพฯ

    อย่างที่พี่วิรัตน์บอกแหละครับ มีพี่ป้าน้าอามาพูดคุยสลับร้องเพลงเป็นที่สนุกสนาน เสียดายไม่ได้ฟังพี่ดำมาเล่ามาร้องเพลง น่าจะมาดูงานในวันศุกร์นะ เพราะผมไปวันเสาร์เลยไม่ได้เจอกัน

    มาดูรูปกันต่อครับ ชุดนี้เป็นการแสดงของรร.วัดเทพสุทธาวาส ที่มี ครูชูศักดิ์ น้อยทา เป็นผอ. เพื่อนหนองคอก17รุ่นเดียวกัน

    การแสดงของนักเรียนรร.หนองบัว หรือหนองคอกนั่นแหละ

    และชุดรำสัมพันธ์ไทย-จีนของรร.หนองบัว

    ขบวนล่อโก๊ว เป็นขบวนปิดท้าย ที่จะแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ มาให้พี่น้องในตลาดได้กราบไหว้ถึงหน้าบ้าน

    ประชาชนก็จะเตรียมจุดธูปและพวงมาลัยดอกไม้มากราบไหว้ บางบ้านก็จัดโต๊ะวางเครื่องไหว้อาทิผลไม้และขนม และแขวนประทัดไว้  ทางทีมงานก็จะให้ธูป3ดอก และพวงมาลัยดอกไม้ที่ผู้คนก่อนหน้านี้ได้กราบไหว้คืนเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่บ้านและครอบครัวและตัวผู้กราบไหว้เอง ผมและเพื่อนๆก็จะนัดกันมาหามเก๋งเจ้าพ่อเจ้าแม่ หรือหลวงปู่ฤาษี หรือกระถางธูป 

     

    เสร็จแล้วก็จะจุดประทัดที่แขวนไว้ เสียงดังของประทัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายต่างๆให้พ้นจากบ้านและชุมชน ส่วนสีแดงเป็นสัญญลักษณ์ของความสุขและความเป็นสิริมงคล (แก้ไขคำว่า ศิริมงคลเป็นสิริมงคล จากคคห.ข้างบนด้วย)

    ประมาณบ่าย2-บ่าย3 ขบวนต่างๆก็จะทยอยกลับเข้าสู่บริเวณงาน และจะแสดงถวายอีกครั้งเป็นอันเสร็จพิธี สุดท้ายจะอันเชิญเจ้าพ่อเจ้าแม่ และหลวงปู่ฤาษีขึ้นไว้บนหิ้ง ตอนนี้คณะกรรมการจัดงานและผู้ศรัทธาก็จะช่วยกันส่งขึ้นไว้บนหิ้ง คล้ายกับตอนที่กำลังส่งนาคเข้าโบสถ์

    มีหลายขบวนที่ผมไม่ทันได้ถ่ายรูปมาเช่น ขบวนแห่ของรร.พรหมมานุสรณ์ ขบวนสิงโต และเด็กๆหาบกระเช้า และสาวๆเขี่ยเปีย 

     

    สวัสดีค่ะ พี่ฉิก (ขออนุญาต เรียกพี่นะคะ) และ สวัสดีชาวเวทีหนองบัวทุกท่านค่ะ

     

    ขอบคุณค่ะ ที่นำภาพบรรยากาศ งานงิ้วมาให้ดูค่ะ

    โห...เห็นบรรยากาศแล้วนึกถึง สัก เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้วที่แล้วที่อัญเรียนโรงเรียนวัดเทพฯก็ได้แต่งตัวทาปากทาแก้ม ร่วมเดินในขบวน แห่งานงิ้วเช่นกัน โอย..ตอนนั้นรองเท้ากัดด้วย เหนื่อย ร้อน แต่ภูมิใจ ดีใจที่ได้ร่วมเดินในขบวน

     

    เห็นบรรยากาศแล้วอยากพาลูกๆ ไปเที่ยวจัง คงต้องหาโอกาสกลับไปร่วมงานให้ได้สักปี

     

    ขอบคุณพี่ฉิกอีกครั้งที่เอารูปมาแบ่งปันค่ะ

     

    เป็นกำลังใจให้คนทำงานในเวทีหนองบ้ว ทุกคนนะคะ

    อัญชัน

     

               
                ต่างเวลา
                เช้า-ภาพซ้ายเด็กผู้ชายหัวแถวก่อนแห่กระตือรือร้นสดใส 
                บ่าย-เดินกลับบ้านด้วยความเมื่อยล้า

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล และท่านอธิการโชคชัย

    สวัสดีพี่วิรัตน์ น้องอัญชัญ และสมาชิกเวทีคนหนองบัว ทุกๆท่าน

     

    ภาพผู้เข้าร่วมขบวนแห่ เดินตีนเปล่าหิ้วรองเท้าหรือไม่ก็เดินกะโผลกกะเผลกเพราะรองเท้ากัดนี่ เป็นภาพที่อยู่คู่กับขบวนแห่งานงิ้วทุกปี ปีนี้ก็มีให้เห็น ปีนี้ดีหน่อยสภาพอากาศไม่ร้อนมีเมฆครึ้มทั้งวัน

    พูดถึงสภาพอากาศแล้วช่วง1-2ปีถึงปัจจุบัน น่ากังวลว่าเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ สัปดาห์นี้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมาถึงเมื่อวานอากาศทั่วไทยหนาวเย็นยิ่งกว่าหน้าหนาวอีก มีวันนี้ที่เห็นตะวันแผดจ้าปกติ แถมภาคใต้ฤดูนี้เป็นฤดูท่องเที่ยว ที่เขาเรียกว่าช่วงไฮซีซั่น เหมาะแก่การเที่ยวทางทะเลมาก แต่ปีนี้ฝนตกไม่ลืมหูลืมตาตั้งแต่พฤหัสที่แล้วจนถึงเมื่อวาน อ่วมไปทั้งด้ามขวานเลย วันนี้รู้สึกอากาศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หรือญี่ปุ่นที่ประสบแผ่นดินไหวและสึนามิ แล้วตามมาด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก เวทีคนหนองบัวก็ขอส่งความห่วงใย ความปรารถนาดีและเป็นกำลังใจให้กับทุกๆท่านที่กำลังประสบเคราะห์กรรม ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ ให้ก้าวผ่านความหายนะครั้งนี้ไปด้วยดี

     

    มีรูปที่ได้ถ่ายร่วมกับท่านพระอาจารย์มหาแลและเสี่ยงักเพื่อนสนิทที่ผมได้อาศัยรถกลับหนองบัวในครั้งนี้ ที่หน้าเต็นท์นิทรรศการ เป็นภาพถ่ายมุมกว้างที่ได้เห็นผลงานต่างๆที่พระมหาแลและพี่วิรัตน์นำไปแสดงในครั้งนี้ และมีรูปร่มบินหรือพารามอเตอร์ที่เทศบาลหนองบัวบินขึ้นเหนือท้องฟ้ายามเย็นเพื่อตรวจตราเหตุการณ์และสร้างสีสันบรรยากาศยามเย็นในวันแห่งานงิ้ว

     

    ไปครั้งนี้ดีใจที่ได้พบกับท่านมหาแลและท่านอธิการโชคชัยเป็นครั้งแรก มีพี่น้องชาวหนองบัวหลายคนที่ได้ติดตามผลงานของพวกเราในเวทีแห่งนี้ เพียงแต่ไม่ได้แสดงตัวออกมา อยากจะเห็นและก็ได้เห็นกับท่านพระอาจารย์ทั้งสองรวมทั้งพี่วิรัตน์ด้วย สำหรับผมส่วนใหญ่ก็จะรู้จักกันอยู่แล้ว ซึ่งผมก็พยายามชักชวนให้ทุกคนได้เข้ามาแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ต่างๆด้วยกันที่นี่ เช่นเดียวกับความพยายามของท่านอธิการโชคชัยที่ท่านจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ อ.พรหมพิราม บ้านเกิดของท่าน ซึ่งผมก็บอกว่าอีกไม่นานก็คงจะมีพี่น้องชาวพรหมพิรามได้เข้ามาเห็นและร่วมด้วยช่วยกันแบบเดียวกับที่พวกเรากำลังทำที่เวทีคนหนองบัวแห่งนี้ ซึ่งการพูดคุยกันในรูปแบบตัวหนังสือหรือสื่อสมัยใหม่ในอินเตอร์เน็ตก็ดีไปอย่างตรงที่มันไม่หายไปในอากาศธาตุ หรืออยู่ในความทรงจำเฉพาะคนที่ได้ยินได้เห็นในขณะนั้นเท่านั้น แต่มันจะถูกบันทึกเก็บไว้ให้คนอื่นได้มาเห็นได้มารับรู้ไปอีกนานเท่านาน เปรียบเหมือนเราค่อยๆหยอดสตางค์ใส่กระปุกออมสินทีละเล็กทีละน้อย จนมาถึงวันหนึ่งจึงรู้สึกว่าข้อมูลที่พวกเราได้พูดคุยกันมันก็เยอะมันก็หลากหลาย สามารถจะแยกแยะออกไปเป็นหมวดหมู่ได้มากมาย หลายๆเรื่องมันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกชุมชนในเมืองไทยมีกันเช่นเรื่อง นุ่น หรือการทำนา แต่พวกเราโดยเฉพาะพี่วิรัตน์ก็สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ หรือที่พี่วิรัตน์ชอบพูดว่า ถอดบทเรียน ออกมาให้ได้อ่านกัน ถ้าเราพูดคุยกันแบบสภากาแฟ เราก็คงไม่มีข้อมูลที่จะไปนำเสนอให้พี่น้องหนองบัวได้ดูกัน อย่างไรก็เป็นกำลังใจให้ท่านอธิการโชคชัย ให้ความตั้งใจของท่านประสบความสำเร็จโดยเร็ว

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีค่ะชาวหนองบัว และกัลยาณมิตรของชาวหนองบัวทุกท่านค่ะ

    • ไม่น่าเชื่อนะคะจากที่เคยได้แต่อ่านตัวหนังสือ ดูจากภาพถ่าย กันมาถึง ๒ ปี แล้วในที่สุดเรา โดยเฉพาะตัวเองจะได้ไปเห็นของจริง ได้ไปชิม ได้พบเจอตัวเป็นๆ เพราะเวทีคนหนองบัว แห่งนี้ .. 
    • รับรู้ได้ถึงพลังงานอันมหาศาลในทุกด้านของชาวหนองบัว ประนึงจะนำพลังอันนี้ไปสร้างเมือง สร้างชาติกันได้เลยเชียว ..
    • ดีใจที่ได้ไปร่วมกิจกรรม และยินดีที่ได้รู้จักทุกๆ ท่านนะคะ ..
    • เห็นภาพสีสันของงานงิ้วที่คุณฉิกนำมาให้ชมนี่วงในของจริงเลยนะคะ สวยจังค่ะ ขอบคุณที่นำภาพให้ชมในอีกมุมนึงที่ไม่ได้เห็นค่ะ (เลยไม่กล้าอวดของตัวเองเลย ฮ่า ฮ่า) คุณฉิกเป็นคนเก่งและตื่นตัวตลอดเวลาเลยค่ะ ชอบจัง ง และยังได้พาเพื่อนมาช่วยติดไฟเพื่อความสว่างไสวให้กับนิทรรศการเราอีกด้วย ขอบคุณค่ะ ..
    • กราบนมัสการขอบพระคุณพระคุณเจ้าพระมหาแล อาสโย ขำสุข สำหรับ พริกเกลือ และปลาส้ม ค่ะ กลับบ้านไปแม่บุญมา ทำให้ชิมเลยค่ะ อร่อยมากๆ ค่ะ ..
    • กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัย จับไมค์เมื่อใดแล้วไม่ผิดหวังค่ะ ต้องได้อะไรดีๆ จากการถอดบทเรียนเวทีคนหนองบัว และเสียงหัวเราะ .. หวังว่าทีสิสจะคืบหน้าและสำเร็จตามประสงค์โดยเร็วนะคะท่าน ..
    • ท่านอาจารย์พนม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ แม้งานจะยุ่งท่านก็แวะเวียนมาช่วยเวทีคนหนองบัว มาช่วยเป็นผู้ดำเนินรายการ พูดคุยและพาชาวหนองบัวเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเวที และนำวิดีโอชุด ดอกอุ้มน้อง ของบริษัทป่าใหญ่ครีเอชั่น มานำเสนอในเวที เป็นที่น่าสนใจยิ่ง ..
    • อาจารย์สืบ รอง ผอ.โรงเรียนหนองบัว อาจารย์ป่อง, พี่ครูสุนันท์ ภรรยาท่านอาจารย์พนม อีกทั้งยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่น หนองคอกรุ่นที่ ๑๔ ของท่านอาจารย์วิรัตน์ด้วย พี่ครูน้อง น้องสาวคนเก่งของท่านอาจารย์วิรัตน์ และคณะครูจากโรงเรียนหนองบัว มาช่วยเวทีคนหนองบัวตลอดรายการอย่างไม่รู้เหนื่อย ..
    • กำนันวิรัช ท่านให้ความสนใจเวทีคนหนองบัว ช่วยดูแลสถานที่จัดนิทรรศการ จัดเตรียมเต้นท์ โต๊ะ เก้าอี้ ไฟ และยังเดินมาดูแลความเรียบร้อยให้กับเวทีคนหนองบัวตลอดเวลา ..
    • พี่ปราณี จากร้าน กานต์ เครื่องเขียน หัวตลาดหนองบัว เพื่อนร่วมรุ่นหนองคอก ๑๔ ของอาจารย์วิรัตน์ที่ให้ยืมจักรยานมาใช้ในช่วงเตรียมของ ตระเตรียมงาน และติดตั้งนิทรรศการ ขอบคุณค่ะที่ทำให้เหมียวไม่เมื่อยจากการเดินไป เดินมาเพื่อซื้ออุปกรณ์จัดนิทรรศการ เดินจากเกาะลอยไปหัวตลาดหลายรอบเลย ..
    • พี่ครูเบิ้ม เพื่อนร่วมรุ่นหนองคอก ๑๔ ที่เพิ่งทราบว่าเป็นญาติกับท่านอาจารย์วิรัตน์ ชอบตรงที่ประกาศบนเวทีเลี้ยงรุ่นหนองคอกรุ่น ๑๔ ที่โรงเรียนหนองบัวว่าท่านได้ญาติเพิ่มวันนี้ น่ารักและจริงใจมากๆ เลยค่ะ .. พี่ครูเบิ้มก็มาช่วยเวทีคนหนองบัวตลอดเช่นกัน ..
    • พี่ซิ่ว ฮวง พี่สาวที่น่ารัก เพื่อนร่วมรุ่นหนองคอก ๑๔ ของท่านอาจารย์วิรัตน์ มาช่วยและดูแลเวทีคนหนองบัวตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย เท่านั้นยังไม่พอ อยู่จนเที่ยงคืนเพื่อช่วยเก็บชุดนิทรรศการทุกคืนเช่นกันอย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อยจริงๆ
    • ชาวหนองบัวที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียน แชร์ข้อมูลกันไม่ขาดสาย ลูกหลานช่างว่อน นำมีดและพริกเกลือมาฝากเวทีคนหนองบัว เช่นกัน .. ป้าอี๊ด ลุงผู้ใหญ่หวั่น ครูตาลและเพื่อน ท่านอื่นๆ อีกมากมาย ..
    • ขอบพระคุณครอบครัว คำศรีจันทร์ ค่ะ แม่บุญมา พี่ครูน้อง และน้องบอมบ์ หลานตัวน้อยที่น่ารัก ..
    • ๒ ปีผ่านไป กับเวทีคนหนองบัว เลยขออัพเดทข้อมูลซะหน่อยค่ะกับ TOP ๑๐ บันทึกหนองบัว มีข้อมูลที่น่าสนใจ ลองดูนะคะ ๑๐ บันทึกจาก ๕๕ บันทึก ...

           

    • งวดนี้มหาฉิกถ่ายทอดได้จับใจดีแท้
    • ชอบทั้งวิธีคิดและทุกประเด็นที่หยิบยกมาพูดคุยทบทวนให้กันได้คิดเลย
    • พอพูดถึงพรหมพิรามกับการทำงานแนวชุมชนอย่างนี้ของท่านพระอธิการโชคชัย ก็เลยทำให้ผมรำลึกขึ้นได้ว่าผมเคยไปถอดบทเรียนคนทำงานแนวประชาคมในพรหมพิราม เพื่อเป็นแนวคิดและแนวทำงานกันของชุมชนในวิถีใหม่ๆ ที่จะส่งเสริมการบริหารจัดการภาคสาธารณะของชุมชนในระดับอำเภอให้กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยในยุคที่ประเทศไทยกำลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือกว่า ๑๕ ปีมาแล้ว ที่เน้นการมีส่วนร่วมและการพัฒนาองค์กรการจัดการตนเองของภาคประชาชนเพื่อมีส่วนร่วมดูแลสุขภาวะความเป็นส่วนรวมด้วยตนเองได้มากขึ้น
    • หากมีโอกาสไปอีกก็อยากไปถอดบทเรียนย้อนหลังให้อีกครับ

    สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

    • ของอาจารย์ณัฐพัชร์นี่ก็ดีอีกแล้ว ไม่กี่วันเองทำไมไปได้ทั่วตลาดหนองบัวและได้รู้จักผู้คนมากมายเลยละครับเนี่ย
    • แถมวิเคราะห์และประมวลภาพให้เห็นแง่มุมที่งอกเงยขึ้นทีละนิด-ละนิดให้กับเวทีคนหนองบัวด้วย
    • ตารางและตัวแบบพิมพ์ดีดอย่างนี้นี้ทำอย่างไรและเอามาจากไหนครับเนี่ย ประเดี๋ยวไปขอวิชาหน่อยนะครับ ดูดีครับ

                            

    พริกเกลือกับปลาส้มที่ท่านพระอาจารย์มหาแลได้บิณฑบาตรญาติโยมของท่านมาและมีเมตตานำมามอบให้ผมได้ลิ้มลองฝีมือของต้นตำรับหนองบัว กับพริกเกลือของกลุ่มเพื่อนๆน้องๆลูกหลานช่างว่อนและกลุ่มพริกเกลือของคุณเสวก ใยอินทร์นั้น ผม อาจารย์ณัฐพัชร์ แม่ น้า และน้องๆ ได้ชิมกันอย่างทั่วหน้าเลยครับ

    อาจารย์ณัฐพัชร์นั้นติดใจมากเลยขอติดมือไปด้วยหนึ่งกล่อง แต่ข่าวว่าพอไปถึงบ้านพักก็ได้กลิ่นตรลบอบอวล เลยเปิดกระเป๋าเสื้อผ้าออกมาดู แล้วก็พบว่ากล่องใส่พริกเกลือปิดไม่สนิท พริกเกลือจากปลาร้าของเราเลยไหลใส่เสื้อผ้าไปเรียบร้อย เลยทั้งได้กินและอาบเลยละครับ!!!!

    ไม่ค่อยได้เห็นงานงิ้วที่มีการเก็บรายละเอีดยขวนแห่ได้มากอย่างนี้
    คุณฉิกทำได้ดีเยี่ยม
    สมที่เป็นคนใน คลุกคลีอยู่กับงานงิ้วมายาวนาน

    เจริญพรอาจารย์ณัชพัชร์

    แง่มุมอาจารย์ณัชพัชร์ด้านการขีดเขียนนี่ไม่สงสัยแล้ว เขียนได้ดีมากจริงๆ

    แต่อยากให้อาจารย์ปล่อยของเอ้ยไม่ใช่ ปล่อยภาพงานงิ้วออกมาโชว์บ้าง
    จะได้เห็นมุมมองจากภายคนนอก
    มาเป็นกองเชียร์โดยเฉพาะเลยนะเนี่ย
     

    เห็นสำรับกับข้าวแล้ว
    นึกถึงคำพูดป้าอี๊ดเลย
    ในเวทีฯวันนั้นท่านกล่าวว่า
    ท่านรองเจ้าคณะภาค ๔
    ถ้าจำไม่ผิดจะอยู่สุทัศน์ฯกรุงเทพฯ
    ท่านมาหนองบัวคราใด
    พระสงฆ์และญาติโยมจะรู้เลยว่า
    ต้องมีเมนูหมกพริกเกลือ ขาดไม่ได้(ถ้าไม่มี ท่านจะเรียกร้องเมนูนี้ทุกครั้ง)

     

    แหม...หลังจาก ดูภาพงานงิ้ว จนเหมือนได้เข้าไปงานด้วยตัวเอง แถมมีตบท้ายด้วยสำรับกับข้าว แบบหนองบัวแท้ๆ ที่ต้องมีพริกเกลือ สำรับนี้ครบชุด นี่เห็นแล้วกลืนน้ำลายเอี๊อกเลยค่ะ แต่ว่าที่บ้านดิฉันที่สวีเดน ตู้เย็น (ไม่มีตู้กับข้าว) ไม่เคยขาดกระปุกพริกเกลือเลยค่ะ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีชาวหนองบัวทุกท่านค่ะ

    เห็นพระคุณเจ้าพระมหาแล อาสโย ขำสุข เอ่ยถึงว่าทายาทช่างว่อนได้เข้ามาร่วมพูดคุยในบันทึกของคนหนองบัว เลยนำภาพของน้องๆ ลูกหลานช่างว่อนที่ในวันงานงิ้วหนองบัวคืนแรกได้แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียนเวทีคนหนองบัวที่เกาะลอย ยังไม่พอยังนำมีดฝีมือดั้งเดิมของช่างว่อน ที่ขึ้นชื่อด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำพริกเกลือ อาหารท้องถิ่นของชาวหนองบัวมาฝากอาจารย์วิรัตน์และคณะด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ .. (ภาพจาก Clip vdo เลยอาจจะไม่ชัดนักค่ะ)

              

             

             

             

             

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล,ท่านอ.วิรัตน์ และเวทีคนหนองบัวทุกท่าน

        ไม่ได้มีโอกาสไปร่วมในงานงิ้วในครั้งนี้ แต่ก็เหมือนอยู่ในบรรยากาศเลยทีเดียวครับ เนื่องจากภาพต่างๆ ที่แต่ละท่านได้นำมาปะติดปะต่อกันก็ ถือได้ว่าเป็นมุมมองที่ครบเลยทีเดียวครับ  

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล
    สวัสดีทุกท่านครับ คุณอัญชัน อาจารย์ณัฐพัชร์ คุณธนกฤต
    คุณฉิก เสี่ยงัก และทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    • งานนี้ผมว่าทุกท่านได้ทำสิ่งต่างๆมอบให้หนองบัวที่มีความหมายมากหลายอย่างเลยนะครับ
    • เข้าไปดูการเข้ามาสนทนาของลูกหลานช่างว่อนด้วยแล้วครับ เคยเป็นสมาชิกเชิดหัวมังกรอีกด้วย
    • คนอยู่ไกลบ้านอย่างคุณอัญชัน และคุณธนกฤตแม้นไม่ได้กลับหนองบัว ก็เหมือนกับได้รู้เรื่องราวในถิ่นฐานบ้านเกิดได้อย่างใกล้ชิด เหมือนนั่งคุยอยู่ในบรรยากาศเดียวกันเลยนะครับ เป็นสื่อแบบทำกันเองที่ใช้ได้ดีทีเดียว

    เมื่อวันศุกร์ที่ 1 เม.ย. 54 คณะครูและเจาหน้าที่ รร.วังบ่อวิทยา นำโดยผอ.ขุน โอภาษี ได้เดินทางมาถวายพระพรในหลวงที่รพ.ศิริราช และจากนั้นก็ได้แวะเยี่ยมและให้กำลังใจ อาจารย์สำอางค์ โอภาษี คู่ชีวิต ผอ.ขุนที่มารักษาตัวที่สถาบันมะเร็ง

    พอดีได้โทรคุยกับผอ.ขุน หลังถวายพระพรแล้ว ซึ่งผอ.ขุน ก็ได้ถามข่าวคราวเรื่องที่พวกเราได้ไปออกนิทรรศการช่วงงานงิ้ว ซึ่งผมก็ได้บอกไปว่าได้รับการต้อนรับอย่างดี และมีแผ่นโปสเตอร์ได้ให้ไว้ที่รร.หนองบัว ผอ.ขุนเสียดายที่ช่วงนั้นไม่ได้อยู่หนองบัว ต้องมาเฝ้าดูแลอาจารย์สำอางค์ 

    เป็นกำลังใจให้อาจารย์และครอบครัวนะครับ สู้ๆ

    เมื่อก่อนนี้ตอนที่ยังไม่มีสี่แยกหนองบัวหรือสี่แยกต้นอีซึก คือยังไม่มีถนนสาย11 อินทร์บุรี-เขาทรายนั้น หนองบัวถือว่าเป็นเมืองปิด จะออกสู่โลกกว้างต้องไปเริ่มต้นที่ชุมแสงนั้น แถววังบ่อและหนองไผ่นั้นก็ยิ่งกว่าเมืองปิดอีก เรียกว่าปิด 2 ชั้นเลย ต้องออกมาที่หนองบัวก่อน เรียกว่าออกจากวังมา พอจะกลับบ้านก็บอก กลับวัง ฟังดูเหมือนเป็นคนมีศักดินาสูงส่งน่าดู

    หลังจากมีถนนสาย225 ตัดผ่านกับสาย11  ไปสมอทอดหรือบึงสามพัน ก็เลยทำให้วังบ่อ หนองไผ่เป็นเมืองเปิดออกสู่โลกภายนอกไปในตัว ถนนนี้จะยาวไปสมอทอดตัดกับสาย 21 พุแค-เพชรบูรณ์ตรงแยกราหุล และถ้าต่อไปอีกก็จะเข้าอีสานที่อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ผมเคยใช้เส้นนี้เข้าหนองบัวครั้งหนึ่ง เข้าใจความหมายที่ว่าอีสาน เป็นดินแดนที่ราบสูงได้อย่างดีเลย เพราะระหว่างเขตชัยภูมิกับเพชรบูรณ์นั้น เป็นเหวเป็นเขาตลอดทางเพื่อลงจากที่ราบสูงมาสู่ที่ราบต่ำ ลงมาแล้วมองย้อนหลังกลับไป เอออีสานอยู่สูงจริงๆ

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล

    สวัสดี อ.วิรัตน์ พี่ฉิก และชาวเวทีหนองบัวทุกท่าน

     

    ฝากถึงพี่ฉิกค่ะ หากพี่ฉิกได้มีโอกาสคุยกัน อ.ขุน และไปเยี่ยม อ.สำอางค์ ฝาก กราบสวัสดี อาจารย์ทั้งสองด้วยนะคะ และขอเป็นกำลังใจให้ อ.สำอางค์ ต่อสู้กับโรคมะเร็งนะคะ เพราะแม่ของอัญเองก็เป็นมะเร็งมา ๑๐ กว่าปีแล้วค่ะ แต่แม่ ท่าน ก็ สู้ๆๆ โดยมี หลานๆ เป็นกำลังใจให้ค่ะ

    คิดถึงซาลาเปา ของ อ.สำอางค์ ตอนเป็นนักเรียนเป็นลูกค้าประจำของอาจารย์ ฝากพี่ฉิก บอก อาจารย์ด้วยนะคะ ว่า ตอนนี้อัญทำซาลาเปา เองเป็นแล้วค่ะ

    ขอเป็นกำลังใจให้ ครอบครัวอ.ขุนและ อ.สำอางค์นะคะ สู้ๆๆ ค่ะ

    อัญชัน

    ขอเยี่ยมและคารวะภรรยาพี่ขุน พี่ขุน และครอบครัวด้วยครับ
    สู้นะครับ

    ฝากสวัสดีท่านอาจารย์ขุนและ

    ฝากเยี่ยมอาการป่วยของท่านอาจารย์สำอางค์มา ณ ที่นี้  ที่ซึ่งลูกศิษย์  พี่น้องและกัลยาณมิตรของท่าอาจารย์ทั้งสองได้ใช้เป็นเวทีในการเสวนากันด้วยครับ

    ขอบคุณครับ

    ต้นอ้อยช้าง

    มีต้นไม้ที่หน้ากุฏิอยู่ต้นหนึ่ง เฝ้ารดน้ำดูความเติบโตมาหลายปีแล้ว แต่ไม่รู้จักว่าคือต้นอะไร ถามใครหลายคนก็ไม่มีใครรู้จัก
    แต่ตอนนี้กำลังออกดอก เลยขอความรู้จากหลวงตาในวัด พอท่านเห็นดอกเท่านั้นแหละ ความจำครั้งอดีตก็พลั่งพรูออกมาทันที
    หลวงตาสี่รูปยืนยันตรงกันว่าคือต้นอ้อยช้าง
    ทำไมชื่ออ้อยช้าง ท่านตอบว่าช้างชอบกิน กินทั้งใบและดอก ท่านให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าต้นอ้อยชั้งนั้นเปลือกลอกง่ายมาก และช้างก็ชอบกินเปลือกด้วย โดยใช้งาแทงเปลือก แล้วลอกออกมากิน

    เปลือกอ้อยช้างคนก็กินได้ด้วย
    หลวงตาองค์หนึ่งท่านถากเอาเปลือก มาฉันกับหมากแทนเปลือกคูณ
    และที่สำคัญยอดอ่อนก็กินได้อีก
    เมื่อรู้ว่ากินได้ วันนี้ก็เลยนำมาเป็นเมนูคู่กับพริกเกลือเสียเลย

    • เมื่อก่อนนี้ตามทุ่งนาก็มักมีต้นไม้ที่เรียกว่า 'ต้นช้าง' ออกลูกลักษณะเป็นช่ออย่างนี้เหมือนกัน พวกนกแก้ว นกกะลิง นกปรอดหัวจุก นกเอี้ยงโครง นกโพระดก นกกรอด ชอบมาเกาะกินเต็มไปหมด
    • ผิวลำต้นเหมือนกับลักษณะในรูป แต่กิ่งและลำต้นเปราะ หักง่าย เนื้ออ่อนและสวย นำมาแกะสลักและตบแต่งให้เป็นรูปต่างๆได้ง่าย แต่ไม่แข็งแรง ใช้ทำเครื่องตบแต่งได้ ไม่ทราบว่าจะเป็นต้นอ้อยช้างนี้หรือเปล่านะครับ
    • แต่ต้นมันใหญ่กว่านี้มาก และไม่เคยทราบเลยครับว่ายอดมันกินได้

    คงเป็นต้นใหญ่อย่างที่อาจารย์ว่าจริงๆ
    ในพระไตรปิฏกเรียกว่าต้นมหาโสณกะ : ต้นอ้อยช้างใหญ่
    เป็นโพธิญาณพฤกษาของพระพุทธเจ้าสามพระองค์ด้วยกัน
    (๑)พระปทุมพุทธเจ้า(๒)พระนารทพุทเจ้า(๓)พระเวสสภูพุทธเจ้า
    ทั้งสามพระองค์ได้ตรัสรู้ที่ควงไม้อ้อยช้างใหญ่
    โพธิญาณพฤกษาคือต้นไม้ที่พระโพธิสัตว์ประทับบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้
    อย่างต้นโพธิ์ก็เป็นต้นไม้โพธิญาณพฤกษาของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

    หลวงตาท่านให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เปลือกอ้อยช้างสามารถนำไปทำเป็นเบาะรองหลังช้างหรือรองแหย่งช้างได้
    แหย่งช้างคือที่นั่งบนหลังช้าง หรือสัปคัป
    ที่นั่งบนหลังช้างทำด้วยไม้เนื้อแข็ง แรงกดทับของไม้อาจเสียสีครูดผิวหนังช้างจนเกิดอันตรายได้
    เมื่อนำเปลือกอ้อยช้างมาทำเป็นเบาะรองจึงช่วยป้องกันการบาดเจ็บได้อย่างดี

    ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยว ฝาดนิยมรับประทานเป็นผัก
    เมื่อวานฉันกับพริกเกลือเข้ากันได้ดี


    สัปคัป(สับ-ปะ-คับ) : แหย่งช้าง,ที่นั่งบนหลังช้าง
    ข้อมูล http://cd.m-culture.go.th/ubon/index.php?c=showitem&item=120

    กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    ผมเองได้เข้ามาชมการจัดเวทีการเรียนรู้ของชุมชนหนองบัว ท่านอาจารย์ณัฐพัชร์กล่าวถึงคณะครูมาช่วยงานกันหลายท่านและยังมีพี่น้องชาวหนองบัวแวะเวียนเข้ามาชมกันตลอดรู้สึกว่าความรักและความอบอุ่นของคนหนองบัวยิ่งเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คุณอาฉิกได้นำภาพขบวนแห่ของน้องๆผมเองเห็นแล้วทำให้นึกถึงวันเก่าๆได้ดีเพราะผมเองก็เคยเล่นวงดุริยางค์มาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนจบมัธยม แดดร้อนๆรองเท้ากัด บ่ายมาฝนตกเป็นอย่างนั้นมาหลายปีบอกได้เลยครับว่าสนุกสุดๆครับลืมได้เลยว่าเหนื่อย

    ท้ายนี้ผมเองต้องขออภัยท่านอาจารย์วิรัตน์ด้วยนะครับที่ไม่ได้ไปร่วมงานผมเองรู้สึกเสียดายงานนี้จริงๆครับ

     

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
    เรื่องต้นอ้อยช้างมีเรื่องราวต่างๆเชื่อมโยงอยู่ด้วยอย่างน่าสนใจหลายมิตินะครับ
    ผมเลยแยกหัวข้อให้ต่างหากอีกหัวข้อหนึ่งที่นี่นะครับ http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/434626 

    สวัสดีครับคุณเสวกครับ

    ไม่ต้องเสียดายครับ เพราะครั้งนี้เราไปลองทำกันดูเพื่อประเมินความสามารถที่จะทำสิ่งต่างๆกันดูว่าจะทำอะไรกันได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งช่วยกันเป็นหัวหอกริเริ่มและบุกเบิกกันดู คนอื่นจะได้มีข้อมูล บทเรียน และทำกันอีกในโอกาสต่อๆไปได้อย่างดี เมื่อถึงตอนนั้น ทั้งคุณเสวกและคนอื่นๆก็คงจะไปทำสิ่งต่างๆด้วยได้อีกเยอะครับ

    ครั้งที่ผ่านมานี่ คนส่วนใหญ่ รวมทั้งคุณเสวกเอง ถึงแม้จะสนใจและอยากไปทำอะไรด้วยกันมากอย่างไร แต่ก็นึกไม่ออกว่าจะไปทำอะไรกันได้บ้าง อย่าว่าแต่คนอื่นเลย (ทำท่าป้องปากกระซิบหน่อยๆ....!!!!) ผมเองก็ไม่รู้เลยว่าจะทำอย่างไรและมันจะออกมาเป็นอย่างไร จะว่าไปแล้วนี่ จนป่านนี้ที่เสร็จเรียบร้อยและผลออกมาดีมากเลยแล้วนี่ ผมก็ยังต้องมานั่งคิดทบทวนดูว่างานนี้เริ่มจากตรงไหนและพัฒนาการไปกันอย่างไรนี่ ท่านพระมหาแล คุณฉิก ผม คุณคนปรุงแผ่นดิน อาจารย์พนม อาจารย์สืบศักดิ์ และอีกหลายท่านในเวทีคนหนองบัวนี้ ไม่รู้ว่าใครชวนใครเลยละครับ

    แต่ตอนนี้พอจะนึกภาพออกบ้างแล้วครับว่าเราจะทำอะไรกันได้บ้าง หนองบัวมีสิ่งดีๆอะไรอยู่ แล้วกิจกรรมอย่างนี้ที่เราพอช่วยกันได้ จะเข้าไปเสริมเพื่อระดมพลังให้ลูกหลานคนหนองบัวได้ไปสมทบเคลื่อนไหวสิ่งดีๆเหล่านั้นได้อย่างไร คุณเสวกและกลุ่มพริกเกลือนี่เป็นกลุ่มที่ผมและหลายท่านรำลึกถึงมากเลยละครับ

    นมัสการท่านพระมหาแลฯ ครับ อ้อยช้างกับอ้อยช้างงามนี่ไม่ทราบว่าเป็นเครือญาติอะไรกันหรือเปล่าครับ เวลากลับบ้าน บางครั้งลองเปลี่ยนเส้นทางจากโคกสะอาด - หนองไผ่ - ร่องดู่ - หนองบัว - ห้วยด้วน เป็น โคกสะอาด - เขานางต่วม- วังบ่อ - นำสาดเหนือ - ห้วยด้วน พบว่ามีหมู่บ้านหนึ่งชือ....อ้อยช้างงาม เคย

    ทราบเพียงว่าเป็นหมู่บ้านตั้งขึ้นใหม่ที่แยกจากบ้านน้ำสาดเหนือใกล้ๆกับหมู่บ้าน บ้านวังใหญ่
    อาตมาไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนเลย
    เพิ่งจะเห็นชื่อนี้เมื่อไม่นานมานี่เอง
    ผ่านไปก็จะเห็นชื่อสำนักสงฆ์อ้อยช้างงาม ทราบว่าตอนนี้ยกฐานะจากสำนักสงฆ์เป็นวัดแล้ว

    เคยนึกสงสัยเหมือนกันว่ามีที่มาอย่างไร
    เมื่อสักครู่ได้โทร.ไปถามเจ้าอาวาสท่านหนึ่งในเขตตำบลวังบ่อ ท่านเองก็ไม่ทราบประวัติความเป็นมาอีกเช่นกัน
    แต่ท่านรู้จักต้นอ้อยช้างด้วย โดยเรียกต้นอ้อยช้างว่าต้นหัวช้าง และท่านได้บรรยายลักษณะให้ฟังเพิ่มเติมว่าใบต้นหัวช้างนั้นคล้ายกับใบสะเดา

    ขอแจ้งข่าว อาจารย์สำอางค์ ได้ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อเย็นวันนี้เอง

    เมื่อตอนเที่ยงผมก็ได้แวะไปเยี่ยมที่รพ. ซึ่งอาจารย์ไม่รู้สึกตัวมาตั้งแต่วันจันทร์แล้ว

    หมอได้บอกว่าให้ทำใจ ร่างกายไม่ไหวแล้ว ไม่น่าเกิน 24 ชม.

    แต่ผมก็ได้กลับมาก่อน

    จะทำพิธีที่วัดหนองกลับ แต่รายละเอียดผมยังไม่ทราบ

    วันอาทิตย์-จันทร์นี้ผมไป ตจว. ฝากอัพเดทข่าวด้วยครับ

    ขอแสดงความเสียใจกับอ.ขุนและครอบครัวด้วยครับ

    ขอดวงวิญญาณของอาจารย์จงไปสู่สุขคติ

    คอม : ทำด้วยไม้ที่มีลักษณะโค้ง เพื่อให้พาดคอควายหรือวัว โดยถากปลายทั้งสองด้านให้มีรอยเพื่อจะได้มัดเชือก ๒ ด้าน เชือกนี้เรียกว่าทามบ้าง,อ้อมบ้าง ที่ทำจากเปลือกข่อย, เปลือกอ้อยช้าง,ถักด้วยหวาย,ถักด้วยเชือก,ทำด้วยสายพานเครื่องสีข้าว,ทำด้วยกาบตาล.

    นี่คือข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นอ้อยช้างจากหลวงตาในวัด
    ที่จังหวัดพิจิตรและพิษณุโลกชาวบ้านนำเปลือกอ้อยช้างมาทำทาม หรืออ้อม(คนวังทองเรียกทามว่าอ้อม) แต่ที่หนองบัวไม่เคยทราบว่ามีชาวบ้านนำเปลือกอ้อยช้างมาทำทามเลย ส่วนเปลือกข่อยนั้นเคยเห็นอยู่บ้าง

    คอมนี้ ถ่ายจากศาลาใต้ร่มไม้ข้างกุฏิ 

                                                 

                    
                     ในภาพนี้ชาวนากำลังหัด(ฝึก)ควายไถนา
                     คอมคือไม้ที่พาดคอหรือบ่าควาย ส่วนทามหรืออ้อมคือเชือกมัดปลายคอมทั้งสองด้านที่ใต้คอ
    ที่มา...
    http://gotoknow.org/blog/lanandaman/364225?page=1

    ขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของอาจารย์สำอางค์ โอภาษี

    ขอร่วมไว้อาลัยกับอาจารย์สำอางค์ โอภาษี ด้วยครับ

    ขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของอาจารย์สำอางค์ โอภาษี และ ขอแสดงความเสียใจกับ อาจารย์ขุน และครอบครัวด้วยค่ะ

    อัญชัน

    ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวพี่ขุน
    ในการจากไปของอาจารย์สำอางค์ โอภาษี ภรรยา
    และขอเป็นกำลังใจพี่ขุนด้วยครับ

    ขอร่วมไว้อาลัยกับการจากไปของท่านอาจารย์ สำอางค์ โอภาษี ครูจะอยู่ในใจของศิษย์ทุกคนตลอดไป จากคณะตัวแทนศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวและสมาชิกกลุ่มพริกเกลือ

     

                            

     

    ในฐานะศิษย์ของท่านอาจารย์ทั้งสอง

    ขอส่งกำลังใจมายังท่านอาจารย์ขุน

    และขอดวงวิญญาณของท่านอาจารย์สำอางค์ จงไปสู่สุคติในสัมปรายภพด้วยเทอญ

    เชิญคุย โยนความคิด และช่วยกันแสดงความสนใจครับ
    เปิดรวบรวมความเห็นไปก่อนนะครับ หากมีเวลาผมจะเรียบเรียงและแยกไปทำหัวข้อรองรับให้ต่างหากของเวทีคนหนองบัวนะครับ

    ๑. แก่นเรื่องสำหรับคุยและเขียนสะสมข้ามปีไปถึงงานงิ้วปีหน้า เพื่อเสร็จงานแล้วจะได้พัฒนาพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นไปด้วย

    คุณสมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ ซึ่งมาช่วยพวกเราเวทีคนหนองบัวจัดนิทรรศการ และน้องๆทีมวิจัยของผมที่มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อได้เห็นผมและพรรคพวกที่ช่วยกันจัดนิทรรศการ มอบชุดสื่อนิทรรศการกับหนังสือท่านพระอาจารย์มหาแล ๒๖ เล่ม ให้แก่โรงเรียนหนองบัวผ่านอาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ กับศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว รุ่นที่ ๑๔ อาจารย์วิกานดา บุญเอก และอาจารย์สุนนันท์ จันทร์ดิษฐ์ หัวหน้าหมวดคณิตศาสตร์ โรงเรียนหนองบัว เพื่อนำไปทำเป็นแหล่งการเรียนรู้และแหล่งข้อมูลสำหรับพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ในหลักสูตรท้องถิ่น หรือทำสิ่งต่างๆให้เป็นประโยชน์ต่อลูกหลานคนหนองบัวต่อไปตามแต่โรงเรียนอยากจะทำแล้ว ก็ชอบวิธีการที่ทำให้เป็นผลดีต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันไปหลายอย่างในลักษณะอย่างนี้ เลยเสนอแนะว่า หากจัดปีต่อไปก็น่าจะวางแนวคิดและตั้งจุดหมายไปเลยว่าเสร็จงานแล้วจะมอบชุดสื่ทอนิทรรศการกับหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ไปที่ไหนอีก เพื่อที่จะได้วางแผนเขียนเรื่องราวและทำสื่อสะสมให้อยู่ในแก่นเรื่องเดียวกัน พอเสร็จก็จะได้ระดมไปให้ที่ใดที่หนึ่งได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

    ๒.พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชุมชนคนหนองบัว ตลาดหนองบัว เทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาพื้นบ้าน ในวิถีพอเพียง

    ผมเลยขอนำร่องไปก่อนนะครับ ผมเห็นด้วยมากกับแนวคิดและข้อเสนอแนะนี้ แล้วก็นึกถึงศูนย์กลางชุมชนในระดับหมู่บ้านต่างๆของหนองบัว นึกถึงหมู่บ้านที่มีกลุ่มวัฒนธรรมย่อยที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มไทยพวนและไทยทรงดำที่บ้านคุณสมบัติ นึกถึงโรงเรียนในชุมชนรอบนอกตัวเมืองหนองบัว รวมทั้งนึกถึงโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ใช่เพียงในฐานะโรงเรียนขนาดเล็กของอำเภอหนองบัว แต่ในฐานะเป็นอนุสรณ์ของบทบาทของครูและการศึกษาไทยต่อการพัฒนาทางสังคมในชนบทในระยะครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เยอะจนน่าทำไปหมด

    เลยเลือกที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่วัดหนองกลับ กับตัวตลาดหนองบัวก่อน ปีนี้หากเขียนเรื่องราวต่างๆแล้วละก็ อยากฝากเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนหนองบัวที่จะไปเชื่อมโยงกับสิ่งของที่มีเก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัดหนองกลับอยู่แล้ว กับเรื่องราวของร้านค้า สิ่งของ ผู้คน หรือหมายเหตุทางสังคมที่สำคัญๆที่มีร่องรอยของสถานที่ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของหนองบัวอยู่ในตัวมันเองอยู่ เหล่านี้ ให้เป็นเรื่องที่อยู่ในใจและช่วยกันเขียนตามแต่จะสะดวกไปด้วยบ้างนะครับ เช่น เรื่องเครื่องหีบน้ำอ้อยของคุณเสวก ใยอินทร์ (ในพิพิธภัณฑ์มีเครื่องหีบอ้อยตั้งไว้แสดงแล้ว แต่ไม่มีเรื่องราวอธิบาย) เรื่องการทำพริกเกลือของท่านพระอาจารย์มหาแล (ในพิพิธภัณฑ์ มีเครื่องมือหาปลา เครื่องจักสานสวยงาม สะสมไว้มากมาย แต่ไม่มีเรื่องราวบอกเล่าและอธิบายเลย)

    เรื่องราวลักษณะนี้ เมื่อทำสื่อใช้จัดนิทรรศการและทำเวทีเรียนรู้ทำให้งานประจำปีมีเชื่อมโยงกับชีวิตและความสำคัญต่อสังคมหนองบัวมากยิ่งๆขึ้นแล้ว พอเสร็จงาน ก็พากันไปจัดพิพิธภัณฑ์เสียหใม่ไปเลย สิ่งของที่จัดแสดงจะกลายเป็นมีเรื่องราวให้เห็นมิติชีวิตและความเป็นสังคม ทำให้บอกเล่าและให้การเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ดีขึ้น

    หากใครมีรูปเก่าๆหรือวาดรูปได้ก็สามารถเข้ามาสะสมไปด้วยกันได้ หรือหากมีเยอะ จะบอกให้ผมหรือคุณฉิกไปถ่ายก๊อปปี้มารวบรวมไว้อย่างที่พี่ธวัช อังศุธรรม อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงเทพสาขาหนองบัวที่ท่านได้ทำแล้ว ก็จะยินดีไปถ่ายรูปเก็บไว้นะครับ

    ๓. ฟื้นฟูชีวิตเรียบง่าย สำรวจศูนย์ข้อมูลเรียนรู้หนองบัวและเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรม เรียนรู้หนองบัว

    หลังจากเวทีคนหนองบัวและนิทรรศการที่ทำด้วยกันเมื่องานงิ้วแล้ว ลูกเขยเถ้าแก่ต๋า ประทับใจที่ได้กลับบ้านและได้ไปเห็นกิจกรรมที่พวกเราทำ จึงอยากมีส่วนร่วมทำต่อเนื่องไปอีก แรกเลยก็ปวารนาตัวว่าจะร่วมมือกับพวกเราเวทีคนหนองบัวทำเว็บหนองบัวดอทคอมให้คนหนองบัว รวมทั้งอยากแวะเวียนกลับมาทำกิจกรรมที่หนองบัว อยากทำท่องเที่ยวจักรยานในหนองบัวและแหล่งอนุรักษ์ประตูหน้าต่างไม้สไตล์บ้านของชาวบ้านหนองบัว ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจและสอดคล้องกับเมื่อปีที่แล้วที่มีใครสักคนหนึ่ง ดูเหมือนว่าจะชื่อคุณกัลยา ลูกเถ้าแก่โรงสี ได้เข้ามาคุยและบอกว่าทางครอบครัวจะเลิกกิจการอย่างอื่นและตนเองอยากออกไปอยู่นอกตัวเมือง ทำนาและบ้านในสวนแนวเกษรอินทรีย์หรือเกษตรทางเลือก

    ตัวอย่างหลากหลายเหล่านี้ น่าจะสามารถใช้เป็นแกนหลักออกแบบกิจกรรมชีวิตและกิจกรรมชุมชนที่จะสามารถเป็นเครือข่ายจัดการที่ดีของหนองบัวต่อไปได้ในอนาคต ดังนั้น หากใครจะหาเวลาว่างทำงานในหัวหรือท่องเที่ยวสำรวจเส้นทางนับแต่รอบเกาะลอย ตลาด เลยไปจนถึงเขาพระ หาบ้านเก่า อาคารที่ทิ้งร้าง เหล่านี้ มาหาแนวปรับปรุงทำเป็นเส้นทางและแหล่งให้ข้อมูลเรียนรู้ ทำร้านกาแฟ ขายของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ชาวบ้าน เชื่อมต่อกับกิจกรรมที่จะเคลื่อนไหวผ่านงานความรู้ของเวทีคนหนองบัวไปด้วย ก็จะเป็นแรงเสริมผสมผสาน เชื่อมต่อถึงกันได้ทีละนิด สบายๆนะครับ 

    ๔.เครือข่ายถอดบทเรียนและขยายผลบทเรียนการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้กับการพัฒนาสุขภาวะสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ของชุมชนอำเภอหนองบัว

    เพื่อให้ทำกิจกรรมในพื้นที่ได้อย่างดี มีความหมายทั้งต่อหนองบัวและเป็นประโยชน์ต่อสังคมวงกว้าง อย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งทำให้ผมสามารถเชื่อมโยงบทบาทของมหาวิทยาลัยมหิดลในส่วนที่เป็นงานวิจัย การเรียนการสอน การบริการวิชาการ รวมทั้งงานทำนุบำรุงและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เข้ามาเสริมไปด้วยกันได้ ผมเลยจะลองทำอำเภอหนองบัวให้เป็นพื้นที่ชุมชนนำร่องเพื่อพัฒนาเครือข่ายสร้างความรู้และปฏิบัติการเรียนรู้เคลื่อนไหวสิ่งดีๆของชุมชน ผ่านเครือข่ายผสมผสานระหว่างชุมชนในท้องถิ่นกับเครือข่ายชุมชนความรู้ใน GotoKnow ซึ่งเป็นชุมชนเคลื่อนไหวทางเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีสื่อสารเรียนรู้แบบออนไลน์ เชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์บทเรียนของหนองบัวกับชุมชนอื่นๆในประเทศผ่านการเสริมศักยภาพเครือข่ายบล๊อกเกอร์ทุกสาขาในการถอดบทเรียนและเป็นนักปฏิบัติการวิจัยชุมชนผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งน่าจะเริ่มออกไปจากเครือข่ายบล็อกเกอร์ใน GotoKnow และอาจจะทำในรูปของเครือข่ายโครงการวิจัยโครงการย่อยกับ สสส.ที่เสนอผ่าน GotoKnow ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นี้นะครับ ด้านหนึ่งก็ยกระดับวิธีดำเนินการผ่านเวทีคนหนองบัวให้มีตัวมีตนขึ้นมานิดหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่ง ก็จะทำเป็นโครงการหาบทเรียนของประเทศไทยดูว่าในระดับชุมชนนั้น มีรูปแบบที่ดีในการเคลื่อนไหวการเรียนรู้เพื่อการจัดการตนเองที่ดีของชุมชนอย่างที่พอจะริเริ่มได้ในหนองบัว ได้อย่างไรบ้าง และการผสมผสานความเป็นท้องถิ่น กับความเป็นโลกาภิวัตน์ ผ่านวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่กับภูมิปัญญาปฏิบัติของชุมชนที่พอเหมาะพอดี-พอเพียง อยู่ตรงไหน ต้องทำอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น

    ใครสนใจและมีความคิดดีๆอย่างไรเชิญพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันได้เลยนะครับ ในการทำตรงส่วนนี้ ผมจะทำเป็นข้อเสนอเชิงแนวคิดไปยัง GotoKnow ก่อนนะครับ จะขออนุญาตกล่าวถึงและอ้างถึงท่านพระอาจารย์มหาแล และทุกท่านในเวทีคนหนองบัวว่าเป็นเครือข่ายความรู้ของเวทีคนหนองบัวนะครับ  

    มาเยือนและขอยืมภาพไปด้วยครับ


    สวัสดีครับท่านอาจารย์โสภณครับ
    ขอบคุณที่มาเยือนเวทีคนหนองบัวครับ
    ด้วยความยินดีเลยครับอาจารย์
    สุขสันต์วันสงกรานต์ด้วยเช่นกันครับ

    เงียบจัง ยังไม่ได้มาเล่าถึงงานศพครูแตน /อาจารย์สำอางค์ โอภาษี เมื่อ 14 เม.ย. ที่ผ่านมาที่วัดหนองกลับ (ไม่ได้ถ่ายรูปมา เลยไม่มีรูปมาให้ดู) มีเพื่อนครู ผู้หลักผู้ใหญ่ และลูกศิษย์ของอาจารย์ มาร่วมไว้อาลัยเยอะมาก ได้รับหนังสืออนุสรณ์มา 1 เล่ม จัดทำโดยลูกศิษย์อาจารย์นั่นแหละ นร.ห้องม.6/2 รุ่น10 หนองคอก ไม่รู้ว่า เป็นรุ่นที่เท่าไหร่ของหนองคอก เพราะตอนที่จบออกมาเพิ่งจะมี ม.1รุ่นแรก (ร่นของน้องสมบัติ ฆ้อนทอง) มีภาพหน้าปกมาฝากให้พวกเราดูกัน

    เนื้อหาภายใน มีการทำอาหาร "สูตรเด็ดเคล็ดลับฉบับครูแตน" ที่ชาวหนองบัวหลายคนได้เคยลิ้มรสฝีมือของครูแตนไปบ้างแล้ว มี ขนมจีบ,ซาลาเปา,คุกกี้,น้ำสลัด,แกงพริกเกลือ อย่างที่น้องอัญชันได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ หลายครั้งที่ผมได้กลับหนองบัว จะมีของเล็กๆน้อยๆไปฝากครูขุนครูแตนอยู่บ่อยๆ และก็มักจะได้รับความเมตตาจากครูแตนจัดทำคุกกี้ ขนมจีบ ซาลาเปาให้ผมนำกลับกทม.มาทานเองและฝากเพื่อนฝูง นี่แหละมิตรจิตมิตรใจของพวกเรา ฝากสูตรเด็ดเคล็ดลับฉบับครูแตน

    "แกงพริกเกลือ"

    • ขอแสดงความเสียใจแด่ครอบครัวของ คุณครูสำอางค์ โอภาษี และร่วมไว้อาลัยแด่คุณครูสำอางค์ด้วยค่ะ

    สวัสดีค่ะพี่ฉิก

    • ได้อ่านสูตรเด็ด แกงพริกเกลือ ของคุณครูสำอางค์แล้วน้ำลายสอ และก็ทำให้ทราบว่าที่เคยเข้าใจว่าพริกเกลือคือปลาร้าสับผสมสูตรตามชอบ แล้วนำมาผัดทานจิ้มกับผักสารพัดชนิด อย่างที่แม่บุญมา คำศรีจันทร์ ทำให้ชิมเท่านั้น แต่ยังมีสูตรเด็ดอีกคือนำพริกแกงมาละลายน้ำ ทำเป็นแกงใส่กบ ปู ปลาที่พอหาได้ พร้อมด้วยผักพื้นบ้าน ถ้าได้ทานกับข้าวสวยร้อนๆ ด้วยหล่ะก็ คงอร่อยจนต้องขอเพิ่มข้าวเลยเชียว แกงพริกเกลือ ก็เลยกลายเป็นอาหารอร่อยขึ้นชื่อของหนองบัวเช่นกัน แม๊ อย่างนี้ต้องขอกลับไปหาชิมที่หนองบัวอีกซักรอบแล้วหล่ะค่ะ =)

    วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตภัณฑ์ปลา โดยป้าอร นุชเฉย บ้านเนินตาโพ : บ้านไร่โพธิ์ทอง หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

    ภาพชุดนี้ถ่ายเมื่อไปชมนิทรรศการงานงิ้วหนองบัว(๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔) ในช่วงบ่ายได้พาท่านอธิการโชคชัย เจ้าอาวาสวัดพรหมพิราม เมืองพิษณุโลก ไปเยี่ยมชมบ้านป้าอร นุชเฉย เจ้าของผลิตภัณฑ์พริกเกลือและอาหารชุมชนที่บ้านเนินตาโพ

    ท่านเจ้าอาวาสสนใจอาหารชุมชนและการทำพริกเกลือของอำเภอหนองบัวอย่างมาก โดยขอเดินเยี่ยมชมถึงแหล่งผลิตพริกเกลือและพูดคุยกับป้าอร สอบถามรายละเอีดยการทำและประวัติอาหารชุมชน แต่ข้อมูลที่ได้มาในวันนั้นตอนนี้ยังหาไม่เจอ ท่านบอกว่าข้อมูลของป้าอรที่เขียนไว้นั้นตั้งใจว่าจะให้อาจารย์วิรัตน์ ไม่ทราบว่าได้มอบให้อาจารย์วิรัตน์แล้วหรือไม่

    อย่างไรก็ชมภาพไปก่อน วันหน้าค่อยหารายละเอียดมาเพิ่มเติมให้ทีหลัง



                             
                           
                         
                           
                                

     

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล, สวัสดีค่ะ พี่ฉิก และ ชาวเวทีหนองบัวทุกท่านค่ะ

    ขอบคุณพี่ฉิกค่ะ ที่นำภาพ อ.สำอางค์มาฝาก อัญไม่ได้เจออาจารย์เลย ตั้งแต่ จบ ม.๖ ก็ ๒๐ กว่าปีแล้วค่ะ เห็นแล้วก็คิดถึง ยังนึกถึง ซาลาเปา คุกกี้ ของอาจารย์อย่างที่พี่ฉิกพูดถึง

    ซึ่งตอนนี้ ตัวอัญเอง ทำได้แทบทุกอย่าง ทั้งอาหารไทย อาหารเทศ จากคนที่ไม่เคยทำอาหาร แบบเป็นชิ้นเป็นอัน ตั้งแต่ จบ ม.๖ (เพระอยู่หอพัก ไม่อำนวยในการทำอาหาร อีกอย่างซื้อทาน ก็สะดวกประหยัด) จนกระทั่งแต่งงานเมื่อ ๖ ปีที่แล้ว แล้วย้ายไปอยู่สวีเดน ก็เลยได้เริ่มหัดทำอาหาร จนตอนนี้ ชอบทำอาหารไปแล้วค่ะ

    แล้วยิ่ง อ่านคำบรรยาย วิธีทำแกงพริกเกลืและ พระอาจารย์ นำภาพ ปลาร้า มาให้ ดูโอย..คิดถึงบรรยากาศ บ้านเรา

    แต่ขอบอกว่า ถึงแม้ อยู่ไกล ถึง สวีเดน ก็ไม่ขาด ปลาร้า และ พริกเกลือ นะคะ ปีที่แล้ว แม่ (เป็นสะใภ้หนองบัว เรียนรู้การทำปลาร้าเมื่อมาอยู่หนองบัว) ได้ทดลองใช้ปลาที่นี่ ซึ่งตัวใหญ่มาก ตัวแบนๆ เหมือนปลานิล แต่ใหญ่กว่ามาก ตัวละเกือบ โล หรือ มากกว่าโล เป็นปลาน้ำจืด จากทะเลสาบ มาทำปลาร้าค่ะได้ผล โอย..หอมหวลไปทั้งห้องเติมฟืน (ห้องทำความร้อน) ต้องเอามาเก็บไว้ที่ห้องทำความร้อนค่ะเพราะอากาศมันจะอุ่นหน่อย ตอนเอาไปเก็บไว้ที่ห้องใต้ดิน (ห้องสำหรับ เก็บอาหาร) เป็นปลาร้าช้า ค่ะ เพราะ มันเย็นเหมือนตู้เย็น

    เอามาเก็บไว้ห้องเติมฟืน ก็มีกลิ่นหน่อยๆ เวลาเปิดไปเติมน้ำกะเกลือ อิๆๆ สามีก็บ่นหน่อย แต่ไม่ว่าไรค่ะ

    ปลาตัวใหญ่เป็นปลาร้าช้าหน่อย และอากาศที่นี่ก็ไม่ร้อน เหมือนบ้านเรา ผ่านไป ๖ เดือน กินได้แล้วค่ะ อร่อย หอมมากกกกกกกกกก ตอนนี้มีทังปลาร้า มีทั้งพริกเกลือค่ะ

    ตอนนี้ที่สวีเดน อากาศดีแล้วค่ะ ประมาณ ๑๕ ถึง ๒๐ องศา ค่ะ

    อัญชัน

    ได้เห็นถึงความตั้งใจหลายๆท่านที่มีจิตรอาสา พี่มีเรื่องชีวิตของเด็กวัด มาเล่าย้อนอดีด โดยเฉพาะกุฏิพระปลัดกี่ง เป็นกุฏิที่มืเด็กวัดมากที่สุด ในจำนวน5กุฏิ และอยากให้พี่ๆเพื่อนๆน้องๆเด็กวัดหนองบัว ได้ฝากความทรงจำเอาไว้ ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวกันหรือเปล่า ดว้ยใจแล้วเห็นหลายๆท่านแสดงความเห็นเอาไว้เยอะมากๆ เลยไปกระตุ้นแรงใจภายในให้อยากมีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่ง ของคนหนองบัว

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล ท่านพระอธิการโชคชัย
    และสวัสดีทุกท่าน ฉิก คุณอัญชัน อาจารย์ณัฐพัชร์ พี่ทัศน์ และทุกท่านในเวทีคนหนองบัวนะครับ

    ข้อมูลของการแปรรูปอาหารและป้าอรนั้น ท่านพระอาจารย์มหาแลได้มอบไว้ที่ผมครับ อีกทั้งมีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อด้วย ผมเลยสามารถโทรติดต่อและชวนป้าอรกับลูกหลานคุยเรื่องราวต่างๆให้ฟังได้อีกนะครับ

    บันทึกของคุณครูแตนเรื่องพริกเกลือที่ฉิกนำมาเผยแพร่และรวบรวมไว้ในนี้นั้น ผมนำไปทำไว้ต่างหากเป็นหัวข้อหนึ่งแล้วด้วยนะครับ จะได้เป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีและลูกศิษย์ลูกหาจะได้สื่อแสดงความเคารพคุณครูของเขาได้เสมอๆ

    เรื่องราวชีวิตของเด็กวัดอย่างที่พี่ทัศน์อยากนำมาถ่ายทอดแบ่งปันไว้ด้วยนั้น ก็น่าสนใจมากนะครับ เพราะเด็กวัด รวมไปจนถึงญาติโยมศรัทธา และพระเณร ของวัดหนองบัว ลูกศิษย์หลวงพ่ออ๋อยนั้น ออกไปทำการงานและดำเนินชีวิต มีบทบาทต่อหนองบัวที่อื่นๆอยู่ไม่น้อย อย่างท่านพระอาจารย์มหาแลที่เป็นตัวตั้งตัวตีอย่างมากในเวทีคนหนองบัวนี้นั้น ก็เป็นลูกศิษย์หลวงพ่ออ๋อย และเชื่อว่าคงเป็นแรงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้ท่านได้หาโอกาสนำหลายอย่างมาสืบทอดไว้ในนี้อยู่เสมอๆ เพื่อเป็นเครื่องน้อมรำลึกแสดงความเคารพต่อครูอุปัชฌาจารย์ และแสดงกตัญญูกตเวทิตาต่อถิ่นฐานบ้านเกิด

    • แกงพริกเกลือค่ะ จากทายาทช่างว่อนที่แวะมามอบให้ในวันงานงิ้วหนองบัว ขอบคุณค่ะ แต่จะจากร้านไหนนี่มิทราบได้ ทราบแต่ว่า อร๊อย อร่อยค่ะ =)

             

    สวัสดี สมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกๆ ท่าน

    ‡‡ ได้รับทราบข่าวการจากไปของท่าน อ.สำอาง โอภาษี แล้ว ต้องขอแสดงความเสียใจกับท่าน อ.ขุน โอภาษี และครอบครัว ด้วย ‡‡

    ถ้าจะพูดถึงแกงพริกเกลือ สมัยรุ่นผมเป็นเด็กๆ ก็สามารถทำกินกันได้เองแล้ว เข้าป่าดักแย้ ยิงแย้ ช่วงเที่ยงก็รวมแย้ที่ได้กัน คนละ 2-3 ตัว นำมาสับ ส่วนผักก็หาผักซึกใบอีนูน ถึงจะถูกกัน นำทั้งผักและเนื้อแย้ พริกเกลือ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่น้ำลงไป ที่จะขาดไม่ได้เลยคือ ยอดมะขามอ่อนและใบกระเพา ใช้หม้อดำตั้งไฟจนเดือน (ต้องเป็นหม้อดำน๊ะ ถ้าวันไหนใครเอาหม้อขาวๆไป กลับบ้านโดนแม่ดุแน่) ทิ้งไว้จนเดือดสักพักยกลงแล้วรับประทานได้ และเมื่อโตขึ้นมาหน่อย ถ้าจะให้ครบรสชาด จะต้องหายอดสะเดามาเผาไฟ แล้วกินแอ้มกัน ก็อร่อยอย่าบอกใคร แต่หลังๆ มานี้แย้ บ้านเราจะหากินยาก ต้องหันมาเป็นไก่บ้าน หรือนกเขา ก็พอได้ แต่ถ้าเป็นไก่บ้าน ขอแนะนำท่านที่ยังไม่เคยรอง วิธีการหมก ก็อร่อยไม่แพ้กัน ขั้นตอนก็คล้ายๆ กัน เพียงแต่การแกงเราจะต้องใส่น้ำแล้วตั้งไฟ ส่วนการหมกก็ไม่ต้องใส่น้ำ แต่เราใช้ใบตองแทน (จะเป็นใบตองกล้วย หรือ ใบตองควง ก็ได้) แนะนำให้ใช้หนาๆ หน่อย ไม่เช่นนั้นจะไหม้ก่อนที่จะสุก

    สำหรับผมแล้ว ถ้ามีโอกาสได้กลับหนองบัว จะไม่เคยพลาดเมนูพริกเกลือ แต่เมื่อมาอยู่กรุงเทพ หาโอกาสทำกินยาก เพราะเกรงใจเพื่อนข้างห้อง กลิ่นนั้นค่อนข้างแรง ใครไม่ชอบปลาร้าคงจะรับไม่ได้ แต่มีเพื่อนบางคนไม่กินปลาร้า แต่พอทำแกงพริงเกลือกลับชอบกินก็มี

    DekThape

    อ่านเรื่องราวที่คุณเด็กเทพฯถ่ายทอดประสบการณ์ออกมานี่
    ผมต้องอ่านไปแล้วก็นั่งอมยิ้มไปเลยนะครับ

    ภาพความเป็นชีวิตวัยเด็กของคุณเด็กเทพฯที่ถ่ายทอดออกมานี่ มันช่างเป็นภาพเมื่อก่อนของเด็กหนองบัวได้ชัดแจ๋วดีจริงๆ นับแต่พากันออกไปหาแย้ เก็บผักอีซึก ใบอีนูน รวมทั้งอริยาบทต้มทำน้ำแกงจากพริกเกลือ หรือห่อใบตองปิ้งพริกเกลือ

    สวัสดีครับพี่ทัศน์

    รอฟังอยู่นะครับชีวิตเด็กวัด

    เพื่อนผมก็เป็นลูกศิษย์วัดอยู่ก็หลายคนนะ

    จำไม่ได้ว่าเมื่อก่อนมีกุฏิอยู่จำนวนเท่าไร พอจะได้เลาๆว่ามีกุฏิหลวงพ่ออ๋อยที่อยู่หลังบ้านหมอหลุย และทอดอีก1หลังที่ทอดยาวไปตามแนวหลังบ้านของห้องแถว

    ส่วนกุฏิที่เหลือจะขนานไปตามแนวขอบสระวัด อีกประมาณ 4-5 กุฏิ ที่อยู่กลางๆก็มีกลองเพลใบใหญ่ ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ยังมีกลองอยู่หรือเปล่า ไม่ได้ยินเสียงกลองเพลนานแล้ว

    กุฏิท้ายๆ ก็จะมีโบสถ์อยู่ด้านหน้ากุฏิ ระหว่างกุฏิกับโบสถ์ก็จะมีสถูปเจดีย์อยู่ มีต้นพิกุลอยู่ 1 ต้น ตอนเล็กๆผมและเพื่อนๆชอบมาเล่นลิงชิงหลักอยู่ใต้ถุนกุฏิแถบๆนี้ เพราะพื้นใต้ถุนจะสูง พระเณรจะกวาดลานวัดและใต้ถุนสะอาด และต้นไม้เยอะร่มรื่น และอยู่ใกล้โบสถ์ด้วย เบื่อเล่นลิงชิงหลัก ก็ไปเล่นซ่อนแอบกันที่โบสถ์ อีกอย่างก็คืออยู่ห่างจากกถฏิหลวงพ่อด้วย กลัวโดนดุ

    มีสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวกับวัดที่เปลี่ยนแปลงชีวิตผมคือการกินข้าวนอกบ้าน

    ตอนเล็กๆ แทบจะไม่ค่อยได้ลิ้มรสชาติอาหารจากนอกบ้านเลย กินอยู่แต่เฉพาะในบ้าน ทั้ง 3 มื้อเลย ไปเรียนหนังสือยังต้องเดินกลับมากินข้าวกลางวันที่บ้านทุกวัน ทำให้ฝืนความรู้สึกมากในการที่จะต้องไปกินกับข้าวของบ้านอื่น และจะเป็นทุกข์มากเวลาที่ครูสั่งให้เอาข้าวมากินด้วยกันที่โรงเรียนตอนกลางวันในวันพิเศษต่างๆ จนเมื่อเรียนอยู่ประมาณป.6 ป7. มีเพื่อนชื่ออ๊อด/วิชัย (เสียชีวิตแล้ว) รู็สึกจะอยู่กุฏิใบฎีกาเหลืองหรือไรนี่แหละ ผมได้ไปคลุกคลีกับอ๊อดค่อนข้างบ่อย และหลายครั้งอ๊อดเค้าก็จะชวนกินข้าวก้นบาตรกลางวัน เราก็จะบ่ายเบี่ยงอยู่ตลอด หรือจะเลือกกินกับข้าวที่รสชาติสากลไม่ผิดเพี้ยนจากที่บ้านมากนักเช่นไข่เจียว จนมีอยู่ครั้งหนึ่งได้ลองชิมแกงส้ม แล้วรู้สึกว่าอืม อร่อยดีนี่หว่า จากนั้นตัวเราก็ค่อยๆทลายกำแพงตรงนี้ออกมาได้ จนเดี๋ยวนี้นี่กินแทบจะทุกอย่างเลย

    การเล่าเกร็ดประสบการณ์ตรงนี้ของฉิกมีคอนเซ็ปและประเด็นดีมากเลยนะครับ
    เป็นเรื่อง การเรียนรู้เพื่อการปลี่ยนแปลง หรือ การเกิดประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้การจำกัดกรอบการคิดการปฏิบัติของตนเอง อยู่กับกรอบใดกรอบหนึ่ง เปลี่ยนแปลงไประดับพื้นฐาน ซึ่งเป็นแง่มุมนิดเดียวแต่ส่งผลให้เปลี่ยนแปลงตนเองไปได้อย่างก้าวกระโดด ย้ายฐานความคิดและได้แบบแผนของตนเองอย่างใหม่ที่รอบด้านและกว้างขวางกว่าเดิม

    จะขอดึงออกไปทำเป็นหัวข้อย่อยของเวทีหนองบัว สะสมเป็นเรื่องเล่าที่สะท้อนบทเรียนดีๆไปด้วยอีกหัวข้อหนึ่งนะครับ

    พริกเกลือ                                          
    เห็นสูตรพริกเกลือของคุณครูสำอางค์ โอภาษี ที่คุณฉิกนำมาเผยแพร่เมื่อหลายวันก่อนแล้ว ทำให้นึกอยากจะขอทำเองปรุงเองดูสักครก เพื่อรำลึกถึงบรรยากาสวันเก่าๆ

    อุปกรณ์มีเกือบครบ พอดีวันนี้ที่วัดมีตลาดนัด เลยให้โยมซื้อปลาร้ามาครึ่งกิโล
    ส่วนผสมมีอะไรบ้าง พริกป่น หอม กระเทียมคั่ว(ไม่มีเตาอังโล่เผากระเทียม)ใบมะกรูดคั่ว ขาดมะขาดเปียก(ปีนี้มะขามเปรี้ยวแพงมาก หายาก)

    พริกเกลือครกนี้ ลองฉันแล้ว รับรอง พอไปวัดไปวาตอนสายๆ สายขนาดใกล้ๆน้องเพลได้อย่างสบายเลยแหละ(นำมาอวดคุณอัญชัน คุณบุญเลิศ)

    อ้อขอบอกไปถึงอาจารย์ณัชพัชร์ด้วยว่า คนหนองบัวนั้นสามารถทำพริกเกลือได้ทุกคนทุกครัวเรือน




    แม่ผมก็เล่าให้ฟังเรื่องคนหนองบัวทำพริกเกลือครับ รายละเอียดก็เหมือนอย่างที่คุณครูสำอางค์ท่านบันทึกไว้เลยละครับ แต่มีบางส่วนที่อาจจะให้ภาพบางแง่มุมเพิ่มขึ้นมาอีก คือ แม่ผมบอกว่าชาวบ้านหนองบัวเขาจะทำพริกเกลือไว้เยอะๆในคราวเดียวกันเลย พอจะไปไหนมาไหนก็ตักแบ่งใส่กลักพริกเกลือ เวลาออกเดินทางไปไหนก็จะทำให้ไปได้เร็ว ไม่เรื่องมาก และเมื่อถึงป่าหรือที่ต่างๆแล้ว พริกเกลืออย่างเดียวก็จะกลายเป็นเครื่องปรุงที่เกิดอาหารต่างๆตามมาอีกหลายอย่าง แล้วแต่จะใช้ปรุงกับวัตถุดิบอะไร 

    ต้นไม้แหย่แย้


    ไม้แหย่แย้ : ที่หน้ากุฏิและข้างๆกุฏิ มีต้นไม้ที่หลวงตาท่านนำมาปลูกไว้สองกอ เราไม่รู้จักมาก่อน เมื่อสอบถามท่านเลยได้รู้จักว่าคือต้นไม้แหย่แย้

    ลักษณะต้นก็บ่งบอกว่าน่าจะเป็นไม้ที่ชื่ออย่างนี้ได้ เพราะต้นเล็ก ลำต้นตรง ยาว ไม่มีกิ่ง ดูต้นแล้ว ก็เหมาะที่จะนำไปเป็นอุปกรณ์สำหรับแหย่แย้ได้พอดี ด้วยความสงสัยถึงที่มาของชื่อว่าไม้ชนิดนี้คงมีอะไรพิเศษบางอย่าง เช่นมีกลิ่นแปลกจากไม้อื่นหรืออย่างไร เมื่อนำไปแหย่แย้ แล้วแย้ได้กลิ่นวิ่งออกจากรูทุกครั้งเลยใช่ไหม

    ได้คำตอบจากทุกคนว่าไม่ทราบ และบอกต่อว่าไม่น่าจะใช่อย่างนั้น จำจากคนเก่าๆบอกต่อกันมา

    ที่หนองบัวไม่เคยเห็นและก็ไม่ได้ยินชื่อไม้ชนิดนี้เลย เคยใช้แต่ไม้สาบเสือและไม้อื่นๆที่มีกิ่งยาวๆ เช่นไม้ฟอง

     

    แย้ตัวแรก

    อยู่วัดศรีโสภณมาหลายปี ไม่เคยนึกว่าจะได้พบแย้ตัวเป็นๆ
    คนที่นี่เล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนที่นี่แย้เยอะ เมื่อก่อนที่ว่านั้นคงตกประมาณ ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมา

    วันนี้ตอนสายๆ มีโยมมานิมนต์พระนั่งพูดคุยกันสักพักก็ลากลับ
    โยมไปแล้ว ก็เดินไปข้างๆกุฏิ(ตรงบริเวณรอบๆกุฏิอาตมาถือว่ามีสภาพเป็นป่ามากที่สุดในวัด)กะว่าจะทำความสะอาดกวาดใบไม้สักหน่อย ยังไม่ทันได้จับไม้กวาด มองเห็นแมวคาบอะไรสักอย่างเดินตรงมาหาเรา หรือจะเดินเข้ากุฏิก็ไม่ทราบ

    สังเกตว่าไม่ใช่นก เดินไปดูใกล้ๆ ตอนแรกคิดว่าเป็นปอมหรือกิ่งก่า ไม่น่าใช่ เพราะลำตัวดูคล้ายแย้มากๆ ปรากฏว่าเป็นแย้จริงๆ

    พอร้องเรียกเหมียว...แค่นั้นแหละวิ่งแน่บเลย ด้วยความตกใจที่จะไม่ให้เราจับ แย้หลุดออกจากปากวิ่งหนีอย่างเร็ว โชคดีที่เจ้าเหมียวดำแค่คาบเบาๆ ยังไม่ได้กัด แย้น้อยเลยรอดชีวิต หนีไปได้อย่างปลอดภัย ได้ข้อมูลมาว่าแย้ไทย เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธ์

    รอดจากกรงเล็บแมวแล้ว ก็วิ่งวนเวียนอยู่แถวนั้น เลยตามเก็บภาพมาฝาก วันนี้นำมาให้ชมทั้งไม้แหย่แย้ และแย้น้อยตัวแรก(คงไม่ใช่ตัวสุดท้ายของวัด)


    ที่มาของแย้ : เจ้าแมวดำที่กุฏิอาตมานั่นเอง

    มาร่วมแบ่งปันรูปแย้ด้วยครับ ถ่ายที่ "ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท" หาดทุ่งวัวแล่น จ.ชุมพร เมื่อครัังไปเที่ยวเขื่อนรัชชประภา/สุราษฎร์ฯ กับครอบครัวเมื่อตอนสิ้นปี2551 เป็นแย้ที่ตัวใหญ่ที่สุดที่เคยเจอมา ทางรีสอร์ทคงเลี้ยงดูปกป้องเขาด้วยแหละ จึงเชื่องและตัวใหญ่ขนาดนี้ ไม่งั้นคงกลายเป็นแย้ผัดกระเพราไปนานแล้ว พูดถึงแย้แล้ว ต้องมีด้วงดักแย้ด้วย ใครมีรูปประกอบ เอาขึ้นมาโชว์หน่อย

    ลิ้งค์ข้อมูลเรื่องแย้

    แย้ วิกิพีเดีย

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล
    สวัสดีฉิกและทุกท่านในเวทีคนหนองบัวนะครับ

    • ต้นแหย่แย้นี่เพิ่งเคยได้ยินและเพิ่งเคยเห็นนะครับ
    • เดี๋ยวนี้หาแหล่งที่มีแย้วิ่งอยู่ตามลานดินคงจะยากน่าดูเหมือนกันนะครับ
    • แย้ในรูปของฉิกนี่ตัวใหญ่มากจริงๆ
    • วันนี้ผมได้ส่งหนังสือที่เคยทำก๊อปปี้ของท่านพระอาจารย์มหาแลไว้หนึ่งชุด มาให้ท่านพระอาจารย์มหาแลนะครับ แต่เดิมนั้นกะว่าจะเก็บไว้ดูและเก็บไว้เป็นที่ระลึกของตนเอง แต่เห็นพระคุณเจ้าได้มีโอกาสไปตามที่ต่างๆ ได้พบปะกับชาวบ้าน รวมทั้งอยู่ต่างจังหวัดคงจะไม่ค่อยมีที่เข้าเล่มหนังสือได้สะดวกเหมือนผม ก็เลยคิดว่าส่งมอบถวายให้ท่านดีกว่านะครับ ผมนั้นมีโอกาสที่จะทำได้อีกอยู่เรื่อยๆครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า และสวัสดีชาวหนองบัวและกัลยาณมิตรทุกท่านค่ะ

    • เอ่อ นึกว่าเข้าผิดบล๊อค เป็น animal planet channel ของ true vision ซะอีก
    • เป็นคนนึงที่แยกที่ไม่ออกระหว่าง กบ อึ่งอ่าง หรือ เขียด หรือปาด หรืออะไรที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน ก็จะเรียกเหมารวมไปหมดว่ามันคือ 'กบ' หล่ะค่ะ
    • เจ้าแย้ นี่ก็เหมือนกันค่ะ เห็นตัวอะไรที่คล้ายๆ กันก็จะเหมาเรียกว่า 'กิ้งก่า' ค่ะ วันนี้ก็เพิ่งจะได้เห็นกันเต็มๆ จนน่ากลัว เพราะมันตัวโต เห็นลายชัดเจนจริงๆ
    • และเพิ่งเคยเห็นการจับแย้รึเปล่าไม่แน่ใจค่ะ เมื่อเดือนก่อน เค้าใช้เวลาในขณะที่นั่งอยู่บนท้ายรถปิ๊กอัพ จังหวะรอรถเลี้ยวขึ้นถนนใหญ่ เห็นเจ้าตัวนี้ปุ๊บ อุปกรณ์พร้อม ยื่นไม้ไป วางห่วง แฟร๊บบบ บบ!! ได้มาแล้ว และหันมาส่งยิ้มด้วยความภาคภูมิใจให้รถคันข้างหลังที่ต้องรอเข้าขยับรถถึงจะไปต่อได้ โห! เห็นแล้วต้องทึ่งในความสามารถ ..
    • แต่ เอ่อ ... บันทึกหน้านี้ต้องขอเปิดผ่านไปอย่างรวดเร็วเหมือนกันค่ะ แฟร๊บบบ บบ!!! ^^"
    • ก็ปนกันอยู่ดีนะครับอาจารย์ณัฐพัชร์
    • ที่อาจารย์ณัฐพัชร์เล่าเรื่องการได้เห็นการจับแย้นั่นผมจำได้ มันบ่แม่นแย้เน้อ มันคือขี้กะปอม !!! ที่อาจารย์เห็นน่ะเขาจับขี้กะปอมหรือกิ้งก่าน่ะ !!!!
    • ผมกับเพื่อนๆเคยไปบ้านเพื่อนที่กระทุ่มแบนเมื่อครั้งยังมีความเป็นชนบทอยู่ แล้วก็เก็บผักหาปลา ทำอาหารกินกัน คืนหนึ่งเพื่อนซึ่งเป็นเด็กเทพฯ เรามักเรียกเพื่อนๆที่เป็นคนกรุงเทพฯอย่างนั้น เขาสนุกกับการได้ใช้ชีวิตอย่างชนบทซึ่งมันเหมือนกับได้ประสบการณ์แปลกใหม่ไปหมด ได้ออกไปจับกบ
    • ผ่านไปสักชั่วโมงก็กลับมาด้วยความตื่นเต้นและภาคภูมิใจเพราะเขาได้กบเป็นจำนวนมาก มากกว่าครึ่งตะข้อง ซึ่งทุกคนก็รู้สึกแปลกใจและตื่นเต้นไปด้วย เลยห้อมล้อมเข้าไปดูเหมือนเขาอวดผลงาน
    • พอชะโงกเข้าไปเห็นก็ต้องผงะและหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็งครับ เนื่องจากว่ามันไม่มีกบเลยสักตัว มีแต่อึ่งกับคางคก มิน่าว่าทำไมถึงจับได้เยอะ เพราะโดยทั่วไปแล้ว อึ่งกับคางคกนั้นมันเยอะและไม่ค่อยกระโดดหนี เจอคนก็หมอบติดดินอย่างเดียวเลยจับง่าย แต่ตอนนั้น เพื่อนเขายังดูไม่ออกว่ากบ เขียด อึ่ง คางคก มันต่างกันตรงไหน เลยจับมาเรียบ ยกเว้นกบ เพราะกบจะกระโดดหนีเก่ง   

    กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และทุกๆท่านครับ

    เที่ยงแล้วได้เมนูอะไรกันหรือยังครับ วันนี้ผมเอาเมนูแนะนำมาฝากครับ ร้อนๆอย่างนี้ต้องแกงกริกเกลือร้อนๆครับ

          แกงพริกเกลือ

     

    • เห็นแกง ที่ทำจากพริกเกลือแล้วน้ำลายไหลเอื๊อกเลยคุณเสวก

    ท่านกำนันวิรัตน์ บัวมหะกุล และคุณนภดล ไชยสุกัญญาสัญ ประธานจัดงานงิ้วหนองบัว ประจำปี ๒๕๕๔ ทุกท่านในเวทีคนหนองบัว และทุกท่านที่ได้ทำกิจกรรมด้วยกันเมื่องานงิ้วเดือนมีนาคมที่ผ่านมานะครับ

    เมื่อวาน ระหว่างประชุมประจำเดือนของภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทางภาควิชาการได้เชิญนายแพทย์สมพงษ์ ยูงทอง คนนครสวรรค์และเป็นรองอธิการบดี ฝ่ายวิทยาเขตมหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์ ไปคุยแนวคิดและความก้าวหน้าของการทำมหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์ให้กับอาจารย์และคนในภาควิชาฯฟัง ผมเลยถือโอกาสที่เจอคุณหมอและคณะ เล่าและรายงานที่เราทำกิจกรรมต่างๆกันในงานงิ้ว ว่าจะเป็นทุนประสบการณ์ให้เคลื่อนไหวการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์ได้อย่างไรหรือไม่

    รวมทั้งได้ใช้บทเรียนที่คนหนองบัว สามารถค่อยๆทำได้ที่หนองบัว สะท้อนข้อสังเกตในการระดมพลังการมีส่วนร่วมและการสร้างแรงสนับสนุนของท้องถิ่น ในการทำมหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์ไปด้วยบางประการว่า หากมีกระบวนการเรียนรู้ สร้างความรู้ และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆต่อสังคมให้ดีๆก่อน ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีกำลังความคิดและผู้คนในท้องถิ่นจะสามารถคิดริเริ่มบางด้านของความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีมิติใหม่ๆสำหรับท้องถิ่น รวมทั้งสำหรับสังคมไทย และร่วมสร้างประโยชน์สุขของปวงชนในสากลตามประเด็นส่วนรวมต่างๆได้

    การสื่อสาร บอกกล่าว และการถือโอกาสเชื่อมต่อกันเล็กๆน้อยๆเมื่อมีโอกาสอย่างนี้ คงจะเป็นสื่อได้อย่างหนึ่ง ให้คนที่มีความสำนึกต่อส่วนรวมร่วมกัน และอยากทำสิ่งดีๆด้วยกัน  สามารถเดินต่องานหรือประสานความร่วมมือกัน ได้มากยิ่งๆขึ้นนะครับ โดยเฉพาะหนองบัวนั้น ก็มีคนในรุ่นต่างๆที่เก่งๆและกระตือรือล้นที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาต่างๆอยู่ไม่น้อย ก็เลยถือโอกาสนี้มาเล่าให้ได้ทราบนะครับ ผมได้เรียนให้คุณหมอได้ทราบด้วยว่าผมได้เจอและทำงานกิจกรรมร่วมกับกำนันและคนในหนองบัวซึ่งเคยเป็นเครือข่ายทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับท่านมานับ ๑๐ ปีแล้ว

    ด้วง : เครื่องจับสัตว์(ด้วงดักแย้)

    ตัวด้วงส่วนใหญ่ทำจากไม่ไผ่ แต่ด้วงอันนี้ทันสมัยมาก ทำจากท่อพีวีซี คงทนกว่าไม้ไผ่มาก

                   
                        

    เมื่อไปดักแย้ในป่า จะต้องมีเศษผ้าหรือถุงพลาสติกมัดปลายคันด้วง เพื่อให้สังเกตเห็นด้วงได้ง่ายๆ
    ที่ต้องปักด้วงในที่เตียนๆแบบนี้ ก็เพราะว่าแย้จะนิยมขุดรูในบริเวณที่โล่งแจ้ง
    เท่าที่จำได้ แย้จะออกหากินในเวลาสายๆ วันที่มีแดดจ้า โดยเฉพาะตั้งแต่ประมาณ๘โมงเช้าถึงเที่ยงจะพบเห็นได้มากที่สุด คนที่ไปหาก็ต้องไปตอนเช้า ก่อนที่แย้จะออกจากรู

    ด้วยการนำด้วงไปปักที่ปากรู อย่างในภาพที่สองนั้น เป็นวิธีเตรียมการดักแย้เสร็จเรียบร้อยแล้ว

                    
    วิธีดักแย้ ที่ตัวกระบอกด้วงจะมีสายบ่วงและลิ้น เมื่อแย้ขึ้นมาที่ปากรู พบสิ่งกีดขวางอยู่ก็จะออกแรงดัน ลิ้นจะหลุดจากที่เกาะ คันด้วงที่โก่งอยู่ก็จะตวัดกลับไป สายบ่วงก็จะรัดคอแย้ทันที
                                

    ข้อมูล : จากชาวบ้านวัดศรีโสภณ บ้านเสือลากหาง ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ถ่ายภาพและบันทึกรวบรวมไว้เพื่อการศึกษาเรียนรู้ของชุมชนโดยพระมหาแล อาสโย (ขำสุข) วัดศรีโสภณ จังหวัดพิษณุโลก

    • อาจารย์ครับ มีเรื่องอยากบอกที่บ้านไผ่ มันโดนมอดกิน
    • เลยเปลี่ยนมาเป็นท่อพีวีซี
    • ทนมาก
    • แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำบาปแล้ว
    • ตรงปากด้วง ที่บ้านไร่เรียกว่าฝาละมี
    • ต้องหลาวบางๆๆ
    • แย้มาโดนหน่อยเดียวก็ลั่นแล้ว
    • แต่แย้บางตัวฉลาดเห็นด้วง เลยเจาะออกข้างด้วง
    • เลยรอดตาย 555
    • บางตัวฉลาดกว่านั้น ออกตรงปล่องเลย
    • นานมาแล้ว เคยดักแย้บนภูเขา  เหนือเขื่อนศรีนครินทร์
    • แย้ตัวใหญ่มาก  ลากด้วงผมไปไกลเกือบ 50 เมตร หาแทบตาย
    • ตอนหลังเลยต้องเอาเชือกผูกต้นไม้ไว้ด้วย กันด้วงโดนแย้ลากไป555
    • ขอบคุณครับ
    • ทันทีที่ไปบ้านไร่พนมทวนจะเอาภาพด้วงดักแย้มาฝากนะครับ

    ลืมบอกอาจารย์ ท่านมหา และคุณฉิก ผมเจอแย้วิ่งหนึ ถ้าเราผิวปาก แย้จะหยุดและผงกหัวฟังแบบกิ้งก่าครับ...

    เจริญพรอาจารย์ขจิต

    เออ...จริงด้วยนะอาจารย์
    ประสบการณ์แบบนี้ พออาจารย์พูดถึง ก็นึกขึ้นได้ทันทีเลยแหละ
    เลยทำให้นึกถึงวิธีเรียกแย้ อีกวิธีหนึ่งด้วยตามมาติดๆเลย 
    คือใช้วิธีผิวปากเรียก เรายืนนิ่งๆ แล้วลองผิวปาก พอแย้ได้ยินเสียง ก็จะค่อยๆวิ่งเข้ามาหา
    วิธีนี้ใช้ได้เป็นบางคน(น่าจะเกี่ยวกับเสียงด้วยหรือไร เสียงผิวปากเพราะไม่เพราะ)
    วิธีนี้ไม่ทราบอาจารย์ขจิตเคยใช้บ้างไหม
    ขอบคุณอาจารย์ที่มาแบ่งปันข้อมูลความรู้

    เรียนท่านมหา อาจารย์วิรัตน์และคุณฉิก

    ตอนแหย่รูแย้ ที่บ้านใช้กิ่งเสือหมอบ แต่ตอนหลังใช้ไม้ไผ่ที่หลาวเป็นพิเศษ บางครั้งก็ใช้ลมสูบเข้าไปในรูแย้ ตรงปล่องมัน แต่ต้องมีหมาไปช่วยไล่แย้หลายๆๆตัว แย้จะวิ่งออกมาจากรู ไม่ต้องดัก เพิ่งเคยเห็นต้นไม้แหย่รูแย้ ทึ่งมากๆๆ

    เรื่องการผิวปาก ผมผิวปากเสียงสูง เสียงต่ำ แย้จะหยุดวิ่งและผงกหัว แต่ไม่เคยวิ่งเข้ามาหา ตอนเขาหยุดวิ่ง ผมก็ยิงด้วยหนังสะติก สมัยก่อนยิงแม่นมาก ผมมีลูกศิษย์คนหนึ่ง ซ้อนท้ายไปด้วย เขาบอกครูๆๆหยุด ผมนึกว่าหยุดยิงแย้ที่ไหนได้ หยุด เก็บแย้ โอโห เขายิงตอนรถวิ่งครับ

    เจออาจารย์แล้วจะลองผิวปากให้ฟัง แต่ตอนนนี้เลิกทำบาปทุกชนิดแล้วครับ รู้สึกชีวิตดีขึ้นครับ....

    แย้กับปอม หรือกิ้งก่า ต่างกันอย่างไร

                      
                      
    กิ้งก่าต่างจากแย้ คือ
    -อยู่บนต้นไม้
    -เปลี่ยนสีได้
    -พฤติกรรมชอบกยลำตัวช่วงหน้าสูงขึ้นเล็กน้อย ทั้งผงกหัวขึ้น-ลง หรือชอบขย่มลำตัวขึ้น-ลง

    นี่เป็นข้อสังเกตแบบชาวบ้านๆของอาตมาเองที่ไม่อาศัยหลัยวิชาการใดๆเลย
    ไม่ทราบว่าคำตอบนี้พอจะเป็นคำตอบข้อสงสัยของอาจารย์ณัชพัชร์ได้หรือไม่

     

     

     

                        

    เมื่อกี้ถามหลวงตาในวัดแล้ว ท่านเคยมีประสบการเรื่องนี้ด้วย ตอนที่ท่านยังไม่บวชเคยล่าแย้ ก็ใช้วิธีผิวปาก ท่านบอกว่าบางครั้งเมื่อผิวปาก แย้ที่กำลังวิ่งจะหยุดฟัง บางตัวก็ค่อยๆขยับมาใกล้ๆ

    อนุโมทนาที่อจารย์ขจิตหยุดทำปาณาติบาต
    สาธุ

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล ขอคารวะอาจารย์ขจิตที่แวะเวียนมาเยือนเวทีคนหนองบัวให้ได้ความดีใจและอุ่นใจ สวัสดีฉิกและทุกท่านครับ

    • อ่านและชมภาพไปก็ยิ้มไปด้วย คุยกันแบบวงพบปะสนทนากลางลาน ประสาลูกบ้านนอกเลยนะครับ
    • แถวบ้านผมนี่ไม่มีแย้ แต่เวลาไปทำไร่แถวเขามรกตและที่ลานวัดหนองกลับ รวมทั้งในป่าข้างโรงเรียนหนองคอกในยุคผมนี่เห็นแย้เยอะแยะครับ เมื่อก่อนนี้แถวบ้านผมก็เลยกินแย้กันไม่เป็น พอเห็นก็ได้แต่วิ่งไล่เล่น แต่เดี๋ยวนี้คงจะกินเป็นหมดแล้วละครับ ทั้งบนดิน ในน้ำ และในอากาศ
    • เรื่องผิวปากเรียกแย้นี่ก็ขำดีครับ ผมก็เคยวิ่งๆไล่แย้กับเพื่อนก็นึกถึงสูตรนี้ได้ครับ ก็เลยหยุดไล่และยืนผิวปากเพื่อจะให้แย้หยุดวิ่งหนี แต่ผิวไม่ดังครับ เพราะเหนื่อยซี่โครงบาน

    นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแลฯ ที่เคารพครับ

    การที่พระคุณเจ้า จุดประเด็นแย้ขึ้นมานี่ ทำให้อดคิดถึงบ้านร่องดู่ไม่ได้ ที่นั้นเป็นดินร่วนปนทราย คล้าย ๆ ป่าหลังโรงเรียนหนองบัว ผมเคยกินผัดเผ็ดแย้ครั้งแรกก็ที่นั่น....ที่บ้านอา    ลูกอาเข้าป่าแต่ละครั้งหาได้เป็นพวง ๆ เห็นตอนที่เขาทำด้วยครับ  ไม่ได้กินมานานมากแล้ว  ทุกวันนี้เวลากลับบ้านแวะตลาดสดหนองบัว  ก็ยังพอมีวางขายอยู่บ้างครับแต่ไม่กล้าซื้อมากิน  ที่พอจะซื้อไปให้ญาติพี่น้องทางบ้านทำเป็นอาหารก็มีอย่างอื่นครับ  เช่น กบ  ปลาไหล  อึ่ง

     

    ไม้แหย่แย้นี่ ผมได้เห็นและได้ยิน เป็นครั้งที่สองครับ...ไม่นึกว่าจะมีจริง

    ครั้งแรก ได้ยินจากการที่ ส.ส.ปราจีนบุรีคนหนึ่ง ทวงไม่แหย่แย้คืนจากว่าที่อดีตนายกรัฐมนตรี

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล และ สวัสดีอาจารย์วิรัตน์และ ชาวเวทีหนองบัวทุกท่าน

    โห...เห็นวิธีทำพริกเกลือ แล้วคิดถึงหนองบัว ซึ่งแม่ดิฉันได้สับให้ดูเป็นตัวอย่างที่สวีเดนเมื่อปีที่แล้วเหมือนกัน

    แกงพริกเกลือ ชอบกิน ค่ะ

    แต่แย้ ไม่เอา ค่ะ ไม่กิน แต่จริงๆ แย้ ก็เป็นแหล่งโปรตีนของเด็กๆ บ้านนอกอย่างเราๆ และเป็นกีฬาล่าสัตว์อย่างหนึ่งของบรรดา เด็กผู้ชาย

    ดิฉันยังจำได้ น้องชายดิฉัน เค้าชอบยิงแย้ ดักแย้มาก ตอนเค้าอายุ ประมาณ ๑๐ ถึง ๑๒ ขวบ เมื่อได้มา ดิฉันเองไม่ทำ ไม่กิน กลัว น้องชายของดิฉันนี้ ชอบมาก เรื่อง ดักแย้ หา กบ เขียด อึ่ง ตกปลา ยิงนก (แหล่งโปรตีนชั้นดีจากธรรมชาติ ของเด็กบ้านนอกอย่างเรา) แต่ดิฉันกินปลา อย่างเดียว

    ส่วนตัวดิฉันเอง ไม่เอาอะไรเลย พวกหาสัตว์ มากิน หาก จะกินปลา ก็ต้องรอให้มันตาย ก่อน ซึ่ง รสชาติมันจะไม่เหมือนปลาเป็นๆ แต่ก็ยอมค่ะ ส่วนมากกินไข่อย่างเดียวค่ะ ที่บ้านเลี้ยงเป็ดค่ะ พ่อซื้อเป็ดให้ดิฉันโดยเฉพาะ เพราะไม่ค่อยกินอย่างอื่น

    เอาเป็นว่า บันทึกเรื่อง แย้ ยกให้บรรดา หนุ่ม เค้าคุยกันแล้วกันค่ะ อิๆๆๆ

    อัญชัน

    อ่านเรื่องส.ส.ทวงไม้แหย่แย้คืนจากว่าที่อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็อดขำตามไปด้วยไม่ได้
    สงสัยไม้แหย่แย้นี้จะเป็นไม้หายากจริงๆซะแล้ว
    หนองบัวบ้านเรา ตอนนี้เกือบจะไม่มีป่าเหลือให้เห็นแล้ว ที่เคยเป็นป่า มีแย้ชุกชุมก็กลายเป็นไร่มันสำปะหลังไป

     

    การขยายพันธ์ไม้แหย่แย้

    ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากหลวงตาในวัดศรีโสภณว่าไม้แหย่แย้นั้นปลูกง่ายมาก
    เพราะต้นแหย่แย้ ที่ลำต้นจะมีข้อคล้ายไม้ไผ่ และข้อนั้นก็มีตาอยู่ด้วย กิ่งที่แตกจากข้อนี้สามารถตัดไปปักดินปลูกได้เลย

    หลวงตาท่านบอกอีกว่าต้นแหย่แย้ เมื่ออยู่ในร่มจะมีสีเขียว แต่ถ้าอยู่กลางแจ้ง ถูกแสงแดดประจำจะออกสีแดงๆคล้ายกับสีของแย้เลย

    นำตัวอย่างมาให้ชมด้วย

         

              


     

    เจริญพรคุณอัญชัน

    ฟังคุณอัญชันเล่าเรื่องการกินแล้ว ทำให้นึกถึงคนหนองบัวหลายคนที่ไม่กินหนู บางครั้งก็น่าเห็นใจมาก
    เหตุผลที่ไม่กิน จะบอกรังเกียจรึก็ไม่ใช่ คงไม่นึกอยากกินเฉยๆ
    อย่างอาตมเอง ไม่กล้าฉันตั๊กแตน แมงกระชอน จิ้งหรีด ฯลฯ
    เคยไปจังหวัดสระแก้ว ไปกิจนิมนต์ที่บ้านโยมกับเจ้าอาวาส ตอนฉันข้าวท่านแนะนำให้ฉันแมงกระชอน บอกว่าเป็นของหายาก
    เราก็ได้แต่บอกท่านว่าไม่เคยฉัน ฉันอาหารอย่างอื่นไปเรื่อยๆ จนอิ่ม ตกลงมื้อนั้นก็เลยไม่ได้ฉันแมงกระชอน

    ถามว่ารังเกียจไหม ไม่รังเกียจ แต่ไม่กล้า เดี๋ยวนี้มีจิ้งหรีดขาย แถมแพงอีกด้วย

    แย้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าคนที่ไม่รู้จักมาก่อน ว่าสัตว์ชนิดนี้กินได้ เมื่อมาเห็นตัวเป็นๆลายพล้อย ก็ดูน่ากลัวอยู่ไม่น้อยเหมือนกันแหละ ก็เลยนึกถึงคนที่ไม่กินสัตว์ประเภทต่างๆว่าเหตุผลหนึ่ง ก็น่าจะมีความกลัวนี้แฝงอยู่ด้วยอย่างแน่นอน 

     

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    ถามว่ารังเกียจสัตว์ต่างๆ ที่ พูดถึงไหม ไม่ได้รังเกียจเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น นก หนู งู กบ เขียด แย้ หรือ แมลงต่างๆ

    ดิฉันไม่ได้รังเกียจเลยค่ะ อาจะมีความกลัวนิดๆ เพราะเป็นสัตว์ป่า และไม่กล้าทำ เช่น เอาหนังออกหรือทำให้เป็นอาหารค่ะ อย่างพระอาจารย์บอก ไม่นึกอยากกินเฉยๆ ค่ะ จริงๆ คิดอย่างนั้นจริงๆ ค่ะ ไม่คิดอยากกินเฉยๆ

    ดิฉันเอง ตั้งแต่โตมา แทบจะไม่เคยทุบหัวปลา เลย ไม่กล้า ค่ะ แล้ว หากมันตายเองทำค่ะ หากจะให้ทุบหัวมันไม่ทำค่ะ แต่กิน

    จริงๆ มันก็เป็นธรรมดาของสัตว์ที่เกิดมาเป็นอาหาร แต่ ใจไม่กล้าเท่านั้นเอง

    ตอนนี้ก็กินแค่พวกเนื้อสัตว์พื้นๆ ทั้วๆ ไป ค่ะ กินเพื่ออยู่ค่ะ

    อัญชัน

    มนัสการพระอาจารย์แลและสวัสดีอาจารย์วิรัตน์ ชาวเวทีหนองบัวทุกท่าน ผมเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว ม.ศ.3รุ่นสุดท้าย คือผมติดตามเวทีหนองบัวและชมรมพริกเกลือ ของอาจารย์วิรัตน์ :ซึ่งอยู่บ้าน ตาลิน อาจจะเป็นพี่เพื่อนของผมซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่โรงเรียนหนองบัวในปัจจุบัน วิกานดา บุญเอก(สมปอง คำศรีจันทร์) พริกเกลือ สุดยอดของหนองบัว พี่ของผมเป็นรุ่นเดียวกับอาจารย์วิรัตน์หรือเปล่าอาจจะใช่เพราะรุ่นเดียวกับรศ.ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต ผมอยู่หนองกลับ

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล,สวัสดีท่าน อ.วิรัตน์ และพี่น้องเวทีคนหนองบัวทุกท่านครับ

    เห็นภาพ แย้ แล้วนึกถึงอดีตตอนเป็นเด็กอยู่หนองบัวครับ ได้เข้าไปหาแย้ตามประสาเด็กในป่าแถวเขาลูกจันทร์

    และใช้ด้วงดักแย้ เป็นเครื่องมือในการหา ภาพดังกล่าวยังจดจำได้ดีอยู่ครับ ด้วงดักแย้ก็ทำขึ้นมาเอง เลียนแบบผู้ใหญ่

    พอใช้ได้งานได้ สนุกสนานไปตามประสาเด็กครับ

    ตอนนี้พอดีมาทำงานอยู่ที่ จูไห่ ประเทศจีน สภาวะอากาศกำลังดี ไม่ร้อนและไม่มีฝนครับ อีกไม่กี่วันก็จะกลับแล้ว

    เห็นภาพแกงพริกเกลือของ คุณเสวก แล้วนึกถึงเมืองไทยครับ เนื่องจากอาหารที่นี่รสชาติจะแซบสู้อาหารไทยไม่ได้เลยครับ

    โอ้โฮ คึกคักอย่างยิ่งครับ
    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล และสวัสดีทุกท่านเลยครับ : คุณสมบัติ คุณอัญชัน คุณธนกฤต
    รวมทั้งขอต้อนรับคุณมานัด พรมอ่อน ด้วยนะครับ

    • ในแง่วงจรอาหารและระบบนิเวศน์ของชุมชนนี่ แย้น่าจะมีบทบาทเหมือนการเลี้ยงไก่และสุนัข ไว้ตามไต้ถุนบ้าน หรือเปล่านะครับ เขาชอบออกมาเก็บเศษอาหารไปกิน ทำให้พื้นสอาด ไม่รู้ว่าการมีแย้อยู่นี่จะสามารถบอกถึงความชุ่มชื้นของป่าหรือบริเวณนั้นๆอยู่ด้วยได้หรือเปล่านะครับ
    • ผมเคยไปต่างจังหวัดกันครั้งหนึ่ง ที่ขอนแก่น หลังเลิกประชุมในตอนเย็นแล้ว ก็พากันไปเดินในเมือง เหมือนตลาดนัดแบบปิดถนนให้เป็นตลาดคนเดิน ระหว่างที่เดิน ก็เห็นรถเข็นขายแมลงทอดนานาชนิด ผมก็เลยชวนเชิญพรรคพวกให้เตร่เข้ามาดูแล้วก็ชวนกันซื้อคนละถุงสองถุง และเลือกหลายชนิดคละกันไป มีตั๊กแตน แมงกระชอน จิ้งหรีด หนอนอ้อย แล้วก็เดินกิน คุย ชมตลาด และบอกเล่ารสชาติของแมลงต่างๆ
    • มีน้องคนหนึ่งที่ไปด้วยกัน ต่อมาไปเป็นเลขาของนายแพทย์ทหารผู้บริหารของโรงพยาบาลทหารแห่งหนึ่ง แล้วก็มีครอบครัวเป็นทหารเหมือนกัน พอมีลูก อยากอยู่ดูแลลูกเองเลยลาออก พอเริ่มมีเวลาทำอะไรได้บ้าง เธอก็เลยอยากขายของ บุคลิกของเธอน่าจะขายกิฟต์ช็อปหรือร้านกาแฟขนมปัง แต่ปรากฏว่าเธอประทับใจแมลงครับ เลยขายแมลง เป็นเรื่องเป็นราวเชียว
    • ผมเองนั้น เดี๋ยวนี้กินได้หมดครับ เมื่อก่อนนี้แพ้ไปหมดเหมือนกัน อย่างน้ำพริกแมงดานานั้น ชอบสุดชอบ แต่กินทีไรก็มีอันต้องผื่นขึ้นและเป็นไข้เป็นวันเลย กุ้ง ปลาหมึก แพ้หมดครับ มาเมื่อสักกว่า ๑๐ ปีเรื่อยมานี้ ก็กลับหายไป มีอยู่ปีหนึ่งน้องที่ทำงานซึ่งอยู่ใต้ซื้อปลาหมึกมาฝาก ผมนั้นนึ่งกินจนฟันโยกเลย
    • มานัด พรมอ่อนนี่ น้องของ ส.ต.อ.มานะ พรมอ่อน และญาติของน้องนพรัตน์ พรมอ่อน ใช่ไหมครับ มานะนี่เพื่อนกันครับ เมื่อตอนเรียนก็เคยไปเที่ยวบ้านที่วัดเทพฯด้วยน้อนพรัตน์นี่เป็นญาติของมานะและเป็นดรัมเมเยอร์ เมื่อหลายปีมาแล้วเคยเจอที่โรงพยาบาลแถวมโนรมย์หรือนครสวรรค์นี่แหละครับ ผมเป็นพี่วิกานดาน่ะครับ พี่ๆน้องๆผมจบที่หนองคอกทุกคนเลย
    • คุณธนกฤตไปจูไห่นี่ ขอให้มีความสุขและได้ประสบการณ์ดีๆมากมายเลยนะครับ ถ่ายรูปมาแบ่งกันดูมั่งสิ ชอบเห็นสภาพบ้านช่อง วิธีชีวิต งานหัตถกรรม เสื้อผ้าและการแต่งกายของชาวบ้านจีน

    เมื่อวาน(๖ พ.ค.๒๕๕)ได้รับหนังสือเวทีคนหนองบัวที่อาจารย์นำไปทำปกจำนวน ๗ เล่ม
    เข้าปกแล้วสวยงามน่าอ่านมากเลย
    สงสัยจะต้องหาโอกาสทำอย่างนี้บ้างแล้ว
    อนุโมทนา

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    ผมนั่งนกมินิจากอุดรไปเชียงใหม่ พอรู้ว่าจะได้ไปเชียงใหม่ไม่รู้เป็นไง นึกถึงอาจารย์ทุกที ไปถึงอำเภอเวียงแหงสุดแดนไทยที่ชายแดนพม่า 3 วันเต็ม ๆ ที่เชียงใหม่ไม่มีแย้ แมลงต่าง ๆ ให้ได้ชิม จึงลิ้มลองแต่หนอนไม้ไผ่ครับ...ที่ถนนคนเดินทั้งสองแห่ง/สองคืน

    ที่เวียงแหง ผมเลือกทานแต่อาหารไทยใหญ่ รสชาดวิเศษจริง ๆ ครับ ลงจากดอยมาตัวเมืองก็เลือกทานแต่อาหารพื้นเมือง

    เห็นป้ายบอกทางในตัวเมืองเชียงใหม่แล้ว อดนึกถึงท่านอาจารย์พระมหาแลฯไม่ได้ เนื่องจากป้ายที่นั่น มีภาษาเมืองซึ่งเป็นภาษาเขียนดั้งเดิมของเชียงใหม่ติดไว้ทุกหนทุกแห่ง ...เหมือนสิบสองปันนาหรือสิบสองพันนาเลย เข้าใจว่าจะเป็นเครือญาติกับภาษาไทยใหญ่ ที่ท่านพระอาจารย์แลฯชอบนำเสนอในเวทีนี้

    ช่วงกลางวันของวันอาทิตย์ เพื่อนขับรถพาตระเวณไปทั่วทุกจุดท่องเทียวสำคัญของเชียงใหม่ .......ฯลฯ........รวมทั้งวัดห้วยส้มที่น่าจะอยู่ใกล้บ้านอาจารย์ด้วยครับ ไปพบพระน้อย(สามเณร) กำลังวิ่งเล่นกันอยู่ ลองสอบถามถึงบ้านอาจารย์เผื่อพบจะได้แวะไปขอน้ำดื่มสักขัน พระน้อยซึ่งบวชช่วงปิดเทอมอัธยาสัยดีมากครับ รับอาสานั่งรถพาไปส่ง...ปรากฏว่าไปผิดบ้านครับ เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นบ้านโรงงัว

    ขณะนั้นเป็นเวลาหลังเที่ยงแล้ว พระน้อยจะพาไปร้านก๋วยเตี๋ยว ตอนแรกก็นึกว่าพระน้อยหิว พอถามว่าท่านยังไม่ได้ฉันเพลหรือ ท่านตอบว่าฉันแล้ว แต่จะพาโยมไปกินก๋วยเตี๋ยว....น่ารักมากครับ พระน้อยรูปนี้เรียนอยู่ชั้น ป.5 ที่โรงเรียนของอีกหมู่บ้านหนึ่งแต่พ่อแม่ให้มาบวชวัดนี้

    ขากลับ กลับเส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพฯ พอถึงเขตชุมแสง มองลงไปเห็นชัดเลยครับว่าเป็น เกยไชย เพราะมีแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่านไหลมาบรรจบกันตรงนั้นพอดี.

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ

    หากทำแถวพิษณุโลกไม่สะดวกหรือไม่ถูกใจ ผมก็ขอปวารนาไว้เลยนะครับ เมื่อพิมพ์เนื้อหาออกมาแล้ว ก็สามารถออกแบบสร้างสรรค์รูปแบบปกเองได้อย่างเต็มที่เลยนะครับ จะทำเอง หรือให้ชาวบ้านทำ หรือให้เด็กๆ พระเณรได้ทำ ก็ทำได้อย่างที่เราต้องการ แล้วผมจะส่งให้เขาทำเล่มเข้าปกให้ครับ หนังสือและสื่อความรู้ที่ทำเองด้วยมือนี่ดูมันมีเสน่ห์ดีมากเลยนะครับ เห็นภาพสะท้อนความมีพลังใจ ความพากเพียร ความซื่อๆและบริสุทธิ์ใจต่อการสร้างสรรค์สิ่งดีๆไว้ให้สังคม ดูแล้วเท่ครับ เลยต้องส่งมาให้ครับ

    อีกชุดหนึ่งซึ่งมีถึง ๒๖ เล่มนั้น ผมได้มอบให้โรงเรียนหนองบัวไว้ทำสื่อความรู้สำหรับทำหลักสูตรท้องถิ่นให้ลูกหลานของเรานะครับ ได้ทั้งทำทานด้วยปัญญาและความรู้ และเป็นทุนน้ำใจความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกับโรงเรียน ให้มีกำลังความริเริ่มทำสิ่งต่างๆแก่การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้แก่เด็กๆ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    ได้ความประทับใจไปด้วยเป็นอย่างยิ่งเลยละครับ เพราะเมื่ออาทิตย์ก่อนนี้ ภรรยาผมเล่าให้ฟังว่า พ่อตาผมไปวัด หลวงพ่อที่วัดเล่าให้ฟังว่ามีคนไปถามหาบ้านผม เลยก็คงจะเป็นคุณสมบัติและคณะนี่เอง บ้านโรงงัวนี่ก็อยู่ไม่ไกลจากบ้านผม เลยไปอีกทางหนึ่งนิดเดียวครับ นี่คงพอออกจากวัดห้วยส้มแล้วก็ออกถนนใหญ่ ก็เลยไปอีกทางหนึ่งน่ะครับ แต่วัดห้วยส้มนี่แค่หันหัวรถกลับไปอีกทางหนึ่งก็จะไปทางบ้านผม แค่เลี้ยวออกไปสัก ๒ นาทีเท่านั้นมั๊ง

    ทางเหนือนั้น เขาจะเชิดชูสามเณรมากครับ ทั้งเนื่องจากเป็นกระบวนการให้การศึกษาอบรมแก่เด็กๆอย่างหนึ่งด้วยไตรสิกขา และทั้งเนื่องจากความหมายของการสร้างบุญกุศลด้วยการบวชสามเณรแก้วนั้น นับว่าเป็นการลงทุนสร้างทุนมนุษย์เพื่อสืบสานพระศาสนธรรมให้มีความมั่นคงยั่งยืนในระยะยาว ในสังคมวัฒนธรรมล้านนานั้น เมื่อสามารถจัดบวชสามเณรแก้วได้ก็จะมีพิธีทำบุญกุศลอย่างงดงามและยิ่งใหญ่เลยทีเดียว

    ความเห็นที่ #1 เมื่อ 7 มิถุนายน 2553 9:50 [118.172.178.237] เห็นภาพนี้แล้วอยากย้อนกลับไปอยู่ในยุคนั้นจังเลย ชอบบรรยากาศธรรมชาติไม่วุ่นวาย Attachment: 50114_1.gif

    ความเห็นที่ #3 เมื่อ 9 มิถุนายน 2553 7:42 [118.172.173.1] ขอบคุณนะคะสำหรับประวัติหนองบัว มีประโยชน์มากเรยค่ะ

    ความเห็นที่ #4 เมื่อ 25 มิถุนายน 2553 16:07 [118.172.177.153] อยู่มาก็นาน เพิ่งรู้จริงๆนะบางเรื่องเนี่ย ขอขอบคุณม๊ากมาก

    ที่มา...เว็บบอร์ดโรงพยาบาลหนองบัว

    http://www.bkk.in.th/Topic.aspx?TopicID=4729

    นี่คือกระทู้ความเห็นของผู้อ่านบทความเรื่อง แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์จากเว็บบอร์ดโรงพยาบาลหนองบัว

    อ่านความเห็นจากเว็บบอร์ดโรงพยาบาลหนองบัวแล้ว ทำให้นึกถึงเมื่อสมัยเด็กๆเวลาไปโรงพยาบาลหนองบัว(รพ.คริสเตียน) ยังจำได้จนถึงวันนี้เลย ที่โรงพยาบาลจะมีหนังสือให้อ่าน เป็นแผ่นพับบ้าง หนังสือเล่มเล็กๆบ้าง เรื่องราวต่างๆในหนังสือทั้งหมดก็เกี่ยวกับคำสอนของคริสตศาสนา คิดว่าหลายคนน่าจะยังจำได้

    ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากเห็นบรรยากาศแห่งการอ่านหนังสือในโรงพยาบาลหนองบัวหวนกลับมาอีกครั้ง จะเป็นไปได้ไหมหนอ 
    คิดอยู่คนเดียวไม่มีใครได้ยิน ก็เลยขอถือโอกาสนี้เชิญชวนชาวหนองบัวหลายๆคนช่วยกันแสดงความเห็น

    คิดว่าถ้านำข้อมูลจากเวทีคนหนองบัวนี้ ไปเผยแพร่ในสถานพยาบาลบ้านเรา น่าจะเป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านบ้าง(อาจารย์วิรัตน์ชวนทำหนังสือ ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยไปตามประสา) 

     

     

    มีข่าวมาบอกวันนี้เข้าไปดูเว็บไซต์โรงเรียนหนองบัว-หนองคอก มีกิจกรรมหลายอย่างน่าสนใจโดยที่กิจกรรมเหล่านั้นอยู่ในรูปคลิปวิดีโอและทำเป็นวีดีทัศน์ด้วย แล้วก็ลงไว้ที่youtube

    นอกจากนั้นยังได้เห็นนักเรียนลูกหลานคนหนองบัวแสดงความสามารถทางด้านศิลปะพื้นบ้าน(เพลงฉ่อย)อีกด้วย

    http://www.youtube.com/watch?v=ULKc_GXJI4c

    นำลิงค์มาเพิ่มเตม : เพลงฉ่อยนักเรียน(โครงการTo Be Namber One โรงเรียนหนองบัว ๒๕๕๒)

    http://www.youtube.com/watch?v=fWJkiqyMTqk

    http://www.youtube.com/watch?v=ULKc_GXJI4c

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลครับ

    • เห็นตอนแรกคิดว่าไปดึงมาจากในเวทีคนหนองบัวซึ่งมีเป็นพันๆหน้าเสียอีกนะครับ  ยังแปลกใจว่าหาอย่างเจาะจงหน้าได้อย่างไร
    • แต่ข้อมูลและรายละเอียดที่ทางเว็บบอร์ดของโรงพยาบาลช่วยกันเผยแพร่ด้วยนั้น เป็นยุคแรกๆที่ผมได้เขียนนำร่องและรวบรวมไว้ในเวทีคนหนองบัว แล้วก็ได้ปรับปรุงไปด้วยเมื่อได้ข้อมูลถูกต้องกว่าหรือได้ข้อมูลและข้อแนะนำเพิ่ม รายละเอียดบางส่วนในบล๊อก GotoKnow ได้ปรับปรุงไปบ้าง ทางเว็บบอร์ดของโรงพยาบาลจะไปดึงเอามาอัพเดทเสียใหม่ก็จะดีนะครับ
    • แนวคิดของพระคุณเจ้าน่าสนใจนะครับ รวมทั้งตามสถานีอนามัย ท่ารถโดยสาร โรงเรียน และตามหัวตลาดต่างๆ แต่ต้องเก็บเอาไว้คิดไปด้วยกัน เพราะคงต้องใช้กำลังเยอะเหมือนกันนะครับ 

    สวัสดีค่ะอาจารย์

    ตามมาจากลิ้งค์ที่พระคุณเจ้านำมาเพิ่มเติมไว้

    เห็นความพยายามค้นหาเรื่องราวในแง่มุมต่างๆของชุมชนหนองบัวแล้ว อดคิดไม่ได้นะคะ ถ้าทุกชุมชนสามารถทำได้อย่างชุมชนหนองบัว ประเทศไทยคงรู้จักรากเหง้าตนเองมากกว่านี้ และคงรัก คงหวงแหนทรัพยากร รักชุมชนมากกว่านี้

    และคงขยายไปถึงความอยากที่จะพัฒนาตนเองเพื่อให้สามารถทำงานให้ชุมชนได้มากกว่านี้นะคะ

    สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ

    • สนับสนุนมุมมองนี้ของคุณณัฐรดาอย่างยิ่งเลยละครับ
    • แต่ก็ต้องอาศัยบล๊อกเกอร์และคนที่เขียนความรู้ เชื่อมโยงชุมชนกับสิ่งต่างๆในวิถีชีวิตเข้ากับเครือข่ายสื่อสารความรู้และข้อมูลอย่างเช่น GotoKnow นี้จำนวนหนึ่งนะครับ ซึ่งก็พอมีที่จะกระจายไปตามถิ่นที่ต่างๆอยู่เหมือนกันนะครับ
    • กระนั้นก็ตาม ดูแล้วก็หายากอยู่เหมือนกันนะครับ ยิ่งเทคโนโลยีสำหรับการติดต่อสื่อสารกันนั้นไปเร็วมากอย่างยิ่ง คนจำนวนหนึ่งที่พอเข้าถึงเครื่องมือและระบบเหล่านี้ได้ และมีส่วนน้อยที่จะมีโอกาสทำอย่างในแนวคิดนี้อยู่แล้ว ก็อาจจะยิ่งน้อยมากเข้าไปอีกเมื่อมีวิธีสื่อสารกันอย่างอื่นสะดวกรวดเร็วกว่า 
    • อย่างย่อยงานวิจัย งานความรู้ และเขียนความรู้ ตลอดจนสื่อสารงานความคิดเพื่อสร้างสังคมการเรียนรู้ต่างๆ อย่างที่ผม คุณณัฐรดา และหลายคนใน GotoKnow พยายามทำ รวมทั้งในเวทีคนหนองบัวนี้นั้น หากไม่พยายามอดทนทำก็คงจะเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสมากเหมือนกันนะครับ
    • รูปแบบอย่างนี้ สำหรับชาวบ้านและคนทั่วไป ที่เราอยากให้มีสื่อความรู้อย่างนี้ให้หลากหลายมากขึ้น เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ทางสังคมและมิติต่างๆมากขึ้น ทำเรื่องราวของชุมชนที่ไม่มีข้อมูลและความรู้สะสมไว้ ให้ปรากฏและเป็นระบบมากยิ่งๆขึ้น เหล่านี้แล้ว ก็ดูว่ามันจริงจังและมากไป ในขณะที่แนวการทำงานวิชาการ ก็จะดูว่ามันอ่อนไป
    • ดังนั้น หากจะอดทนทำจริงๆก็ต้องหลับตาทำ ทำด้วยเห็นความจำเป็นว่าควรต้องทำ เหมือนคนหาฟืน หาฟืนให้คนได้ใช้ แต่จะใช้อย่างไรหรือไม่ก็ไม่รู้ เพื่อเชื่อมโยงสังคมให้มีกำลังเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
    • ด้านหนึ่งก็คงจะเหมือนกับการต้องทำหน้าที่เป็นก้อนอิฐให้คนได้เหยียบขึ้นพร้อมกับบอกว่าไม่ทำไม่ได้นะ เพราะอย่างไรเสียความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของโลกรอบข้างก็จะถาโถมทั่วไปหมด เราจะอยู่แบบปล่อยให้ดำเนินไปตามยถากรรม หรือจะช่วยกันเรียนรู้เพื่อให้พอจะสามารถเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงต่างๆด้วยตนเองกันได้บ้าง
    • ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็เป็นเหมือนการทำหน้าที่ทอดบันไดให้คนจำนวนหนึ่งที่พอจะเห็นความสำคัญ ได้เดินลงมาหาเพื่อนในสังคมตนเองหน่อย เรียนรู้ที่จะเสริมกำลังทางปัญญาให้กับส่วนที่เป็นแขนขาของสังคมกันบ้าง ไม่ไหลขึ้นข้างบนของยอดปิรามิดในโครงสร้างของสังคมต่างๆอย่างเดียว ทั้งหมดก็เป็นสังคมเดียวกันแหละ ซึ่งจะเป็นอย่างที่คิดอย่างไรบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าควรต้องทำในส่วนที่เราพอทำได้
    • พอเป็นอย่างนี้ ผมเลยมักพูดเล่นๆกับน้องและทีมทำงานของผม แต่ก็หมายความอย่างนั้นจริงๆอยู่เหมือนกันว่า งานอย่างนี้นั้นอาจจะเป็นเหมือนเนื้อเยื่อและเอ็นข้อต่อ ที่เชื่อมโยงองคาพยพในระบบต่างๆของร่างกายของสังคม ให้เกิดปฏิสัมพันธ์และเคลื่อนไหวตนเอง คนอื่นอาจจะเป็นสมอง เป็นกระดูกแข็งแรง ดูเหมือนว่าสำคัญมาก ทว่า หากแยกส่วน ขาดเอ็นและเนื้อเยื่อ ช่วยเชื่อมต่อ สานความเป็นระบบและสื่อสะท้อนพลังความประสานสอดคล้องสู่กันและกัน ก็จะไม่มีความหมายแต่อย่างใดเลย
    • คุยเพื่อร่วมเสริมกำลังใจแก่คนที่ทำงานในแนวทางอย่างนี้ ให้มีมากยิ่งๆขึ้นน่ะครับ

    อ่านเรื่องเนื้อเยื่อและเอ็นข้อต่อของสังคมแล้ว ทำให้นึกถึงการอุปมาข้อธรรมของคนโบราณที่กล่าวถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องซึ่งกันและกันข้อหนึ่งที่กล่าวว่า "คนเปรียบเหมือนบ้าน"

    บ้านมีเสา หลังคา และพื้น
    หน้าที่ การงาน เหมือน พื้นบ้าน หลังคาบ้าน
    เสาบ้าน เหมือน ความดีงามของคน

    เสาต้องใช้เสาดีๆมีคุณภาพ บ้านจึงจะมั่นคงแข็งแรงอยู่ทนนาน

    คนส่วนใหญ่สนใจแต่จะมีหน้าที่ การงาน ให้คุณค่าเรื่องงานเป็นหลัก มักนำงานมาอวดกันข่มกันในทำนองว่า ใครใหญ่กว่าใคร ฉันใหญ่เหนือแก แกต้ำต้อยกว่าฉัน หรือจะพูดว่าคนเราไปสนใจแค่เปลือก โดยลืมแก่นไปเสียสิ้น

    แก่นคืออะไร แก่นก็คือเสา ถ้าเราไปสนใจแต่การงานใหญ่โต แต่เสา(ธรรม)มันเล็กนิดเดียว บ้าน(การงาน)หลังที่ใหญ่โตมโหฬารหลังนั้น ก็ไม่สามารถจะรับน้ำหนักได้ มีแต่จะพังเสียหายเกิดโทษภัย เสาสำคัญฉันใด ธรรมก็สำคัญฉันนั้น ด้วยประการฉะนี้(มาแนวธรรมโบราณสักเล็กน้อย)

    เอ ว่าแต่ว่า...มันเกี่ยวกันไหมเนี่ย

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลครับ

    อ่านมุขปิดท้ายของพระคุณเจ้าแล้วพลันก็รู้สึกได้อารมณ์ขันเลยละครับ
    มุมมองและการถกแถลงกระทู้นี้ลงตัวมากเลยนะครับ ชัดเจน ครอบคลุม แหลมคมและลึกซึ้ง กระชับสั้น ให้บทสรุปเจาะจง และดูสบายๆดีมากเลยครับ

    เมื่อวานได้อ่านบันทึกยายธี กล่าวถึงการอยู่ไฟสมัยก่อนว่าตัวท่านเคยเห็นคนคลอดลูก นอนอยู่ไฟ แล้วใกล้ๆคนนอนอยู่ไฟนั้นมีสากกะเบือหักวางอยู่ข้างๆกายด้วย คนเฒ่าคนแก่อธิบายว่าเพื่อป้องกันผีมาเอาเด็กไป ท่านบอกว่าตอนนั้นฟังแล้วก็เฉยๆไม่ได้สงสัยอะไร แต่เริ่มมาสงสัยเมื่อเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็ยังหาคำตอบไม่ได้
    ท่านก็เลยมีคำถามฝากผู้อ่านว่าใครมีข้อมูลเรื่องนี้ช่วยนำมาแบ่งปันกันบ้าง ทำนองนั้น

    อาตมาไม่เคยได้ยินมาก่อน จึงลองหาข้อมูลแต่หาไม่ได้

    พอดีวันนี้(๑๖พ.ค.๒๕๕๔)ตอนสายๆมีเด็กม.๔ มาเยี่ยมหลวงตาที่อยู่กุฏิเดียวกัน เด็กคนนี้วาดเขียนได้ จึงขอให้ช่วยวาดภาพคนอยู่ไฟ ก็บังเอิญอีก ได้คุยกับหลวงตาถามท่านว่าเคยได้ยินเรื่องนี้ไหม ท่านบอกว่าเคยเห็นเคยทำมาแล้ว

    นอกจากเรื่องสากกะเบือแล้วยังมีเรื่องแหครอบคนอยู่ไฟอีกเรื่องหนึ่งด้วย ข้อมูลที่เด็กได้มาเป็นสำนวนคำพูดของหลวงตาดังนี้

    "คนอยู่ไฟเหตุที่ใช้แหครอบไว้ ก็เพื่อป้องกันผีที่จะมาเอาเด็กเกิดใหม่ไป เพราะว่าสมัยก่อนนั้น ภูตผีมันเยอะ จึงต้องหาอะไรมาเป็นเครื่องป้องกันไว้ เพราะคนโบราณนั้น ท่านมีคำพูดที่ศักดิ์สิทธิ์ หมายถึงท่านจะนำวัตถุอะไรมาใช้ วัตถุนั้นๆ ก็ถือว่าใช้ได้ เป็นเครื่องป้องกัน
    และที่ใช้สากกะเบือวางไว้ข้างกายหรือข้างกองไฟ ก็เพราะคนโบราณเชื่อว่าสากกะเบือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ป้องกันสิ่งไม่ดีได้ ใช้ทำพิธีแก้คุณไสยต่างๆได้"

     

                       
                        อยู่ไฟ : วาดภาพโดย ณรงค์ งามขำ

    สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

    ช่วงวันหยุด อยู่เวียงจันทน์มาสามวันติด ๆ ดึก ๆ อย่างนี้นั่งดูทีวีจนไม่รู้ว่าจะดูอะไร แวะเข้ามาทักทายครับ

    เมื่อวันพุธ - ศุกร์กลับบ้านที่หนองบัวมา ผ่านเส้นทางหนองบัว - ตากฟ้า -บ้านหมี่ที่ผมไม่ได้ผ่านนานแล้ว ผ่านป่าสัก ยูคา ทุ่งนา แปลงไร่ คลองชลประทาน ต้นไม้เขียวขจีดูแล้วสดชื่นมากครับ

    ขากลับหนองคาย จากห้วยปลาเน่า ผ่านห้วยด้วน ผ่านทางเข้าวัดห้วยธารทหาร วัดอ้อยช้างงาม วังใหญ่ วังบ่อ เขานางต่วม ผ่านแปลงนา ไร่ ภูเขาเตี้ย ๆ ก็มีความสวยงามดีไม่แพกันครับ.

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล
    และสวัสดีทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    เรื่องการอยู่ไฟและอุปกรณ์กับพิธีกรรมการอยู่ไฟที่พระคุณเจ้าและทีมเล็กๆช่วยกันรวบรวมและนำมาบันทึกไว้นี้น่าสนใจมากหลายอย่างเลยนะครับ....

    • สะท้อนระบบวิธีคิดต่อกระบวนการชีวิตและทรรศนะต่อระบบนิเวศของชีวิต ในโลกทัศน์ของชาวบ้านในท้องถิ่น
    • เรื่องราวเหล่านี้ได้สั่งสมและยังดำรงอยู่ในประสบการณ์ชีวิต ของผู้คนที่ยังร่วมสมัยอยู่ในชีวิตชุมชนปัจจุบัน จึงเป็นระบบวิธีคิดและองค์ความรู้เพื่อปฏิบัติ ที่ยังคงมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านอยู่
    • มีการพัฒนาวิธีเก็บข้อมูลไปตามกำลัง ค่อยๆเป็น ค่อยๆคิด ค่อยๆทำดีครับ

    ผมเลยได้ดึงออกไปทำเป็นหัวข้อไว้ต่างหากให้อีกหัวข้อหนึ่งนะครับ จะได้เป็นหมวดหมู่ เพื่อค้นหาและต่อเติมข้อมูลสะสมไว้ได้ง่ายมากขึ้นครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    • มีชื่อวัดอ้อยช้างงามด้วยนะครับน่ะ แถวนั้นคงจะเคยมีต้นอ้อยช้างเป็นที่สังเกต
    • เส้นทางออกไปทางวังใหญ่ วังบ่อ เขานางต่วม มีสภาพภูมิประเทศ แมกไม้ ทิวเขา และผืนนาไร่ ที่สวยงามอย่างที่คุณสมบัติว่าจริงน่ะครับ อย่างกับทางเหนือแน่ะ 

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ น้องสมบัติ คุณณัฐรดา และทุกๆท่าน

    • เห็นการอุปมาอุปมัย เรื่อง คนกับบ้านแล้ว นึกถึงกลอน ระหว่าง วัดกับบ้าน ขึ้นมา
    • วัดจะดี มีหลักฐาน เพราะบ้านช่วย
      บ้านจะสวย เพราะมีวัด ดัดนิสัย
      บ้านกับวัด ผลัดกันช่วย ยิ่งอวยชัย
      ถ้าขัดกัน ก็บรรลัย ทั้งสองทาง

      เป็นบทกลอนอีกบทหนึ่งที่อยู่ในใจผมตลอด

    • ช่วงวันหยุดที่ผ่านมาไปพักผ่อนที่ชะอำ-หัวหิน ได้อ่านนสพ.ข่าวสด วันเสาร์ 14 พ.ค. มีเรื่อง หลวงพ่อคล้าย อดีตเจ้าอาวาสวัดพนมรอก ท่าตะโก ที่มี ท่านเจ้าพระคุณพระเทพสิทธินายก และหลวงพ่ออ๋อย เป็นพระเถระศิษย์ รายละเอียดตามลิงค์นี้ (หลวงพ่อคล้าย)
    • เรื่องการเผยแพร่ข้อมูลที่พวกเราพูดคุยกันไว้ในนี้ เห็นด้วยถ้าจะจัดทำเป็นรูปเล่มหมวดหมู่ และนำไปวางไว้ให้ชาวหนองบัว เจ้าของเวทีตัวจริง ได้อ่านได้รับรู้ มีอะไรให้ช่วยในเรื่องนี้ก็บอกมาได้นะครับ

    เจริญพรคุณฉิก

    ขออนุญาตแปลงสารสักหน่อยได้ไหมเนี่ย(ดึงเข้าวัด เข้าเว็บซะเลย)

    เว็บจะดีมี     หลักฐาน     เพราะบ้านช่วย(ช่วยให้ข้อมูล)
    บ้านจะสวย  เพราะมีเว็บ   โกทูไง         (สวยด้วยสมอง,ความรู้)
    เว็บกับวัด    ผลัดกันช่วย  ยิ่งอวยชัย     (แลกเปลี่ยนเรียนรู้)
    ยิ่งแบ่งปัน   ความรู้ไป   ยิ่งใหญ่เอย.  (ธรรมทาน : ทานปัญญา)  

    กลอนเดิมของเขาดีๆอยู่ ไม่รู้ว่าแปลงสารแล้ว จะทำให้เสียของหรือเปล่าหนอ
    จากคนเขียนกลอนไม่เป็น 

    เรียนท่านพระมหา เจริญพรคุณฉิก

    อุเหม..เผอแป๊บเดียว# ท่านมหากลายเป็นปูฤาษาแปลงสารไปแล้ว..ตกลงว่า เว็บ กะ วัด เนี๊ย..ผมไม่รู้ว่าจะช่วยใคร?.. มึนไปหมดแล้ว(ความดันขึ้น).. เอาเป็นว่า ผมเห็นด้วยก็แล้วกันกับท่านทั้งสอง และจะขออนุญาตย้ายวัดมาเข้าเว็บ...(โกทูโน) ก็แล้วกัน.......555555 

    ท่านอธิการโชคชัยครับ

    แปลงสารแบบนี้คงไม่เป็นไรมั้งครับ
    ถ้าแปลงที่เป็นทุน(เศรษฐกิจ) คงไม่ใช่ฤาษีแน่(อิอิ)

    นำภาพแย้ตัวที่ถูกแมวจับได้และที่อยู่แย้มาฝาก

                   
                    รูแย้เปิด : เมื่อแย้ออกหากิน ดินที่ปิดปากรูในตอนกลางคืน ก็จะถูกเปิดออก
                    
                    รูแย้ปิด : เมื่อถึงเวลาเข้านอน(บ่ายๆสักสามสี่โมงเย็น) แย้ก็กลับบ้านเข้านอน ด้วยการนำดินมาปิดปากรู เพื่อป้องกันอันตราย นอนหลับสบายทั้งคืน

                   
                    เมื่อตอนบ่าย สองวันที่แล้ว(๑๙ พ.ค.๒๕๕๔) เจอแย้วิ่งเข้ารู สักพักก็ออกมา ไปหยิบกล้องมาถ่ายได้ภาพแย้กำลังโผล่ออกมาจากรูพอดี

    แย้ตัวนี้อยู่ในวัด บริเวณใกล้ๆกุฏิอาตมา หลังจากที่เจ้าเหมียวดำจับได้ แล้วคาบมาที่กุฏิ(๓ พ.ค.๒๕๕๔) เขาไม่บาดเจ็บเลย เพราะเจ้าเหมียวเพียงคาบเฉยๆ ยังไม่ทันกัด จึงปลอดภัย มีหลายคนเป็นห่วงว่าเป็นอันตรายประการใด ยังอยู่ไหม หรือว่าตายไปแล้ว

    แต่เมื่อสองสามที่ผ่านมา อาตมาถากหญ้าบริเวณข้างห้องน้ำวัด พอดีไปเจอตัว เขากลัวคน เลยวิ่งหายไปในพงหญ้า เดินตามไปดู ปรากฏว่าเข้ารูไปแล้ว 

    ทำให้เจอทั้งตัวเป็นๆและก็ที่อยู่(รู)ด้วย
    ภาวนาขอให้รอดพ้นอันตรายจากแมวๆทั้งหลายด้วยเถิด(เพี้ยง)

    เมื่อวันที่ ๑๙ พฤภษคม ๒๕๕๔ ที่ผานมาไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ที่แผนกงานบริการคลีนิคแพทย์แผนไทย และซื้อยาสมุนไพรฝากญาติๆ มีท่านอธิการโชคชัย เอี่ยมยังไปด้วย โดยอาศัยรถคุณโยมชุติมา วิมุตติพงศ์ คนใจบุญชาวพิษณุโลกนำส่งถึงโรงพยาบาล

    โรงพยาบาลแห่งนี้ได้ยินชื่อทางสื่อต่างๆมานานแล้ว ว่าเป็นโรงพยาบาลที่ทำการรักษาโดยใช้ยาสมุนไพร แพทย์แผนไทย

    วันนี้มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมถึงสถานที่จริง ไปถึงก็หาที่จอดรถ รถเยอะเต็มไปหมด วนหาที่จอดหนึ่งรอบไม่มีที่ว่าง เลาะไปเรื่อยทางทิศตะวันตก ที่หน้าอาคารกลุ่มสมุนไพรครบวงจรฯ

    จอดรถแล้ว จุดแรกท่านอธิการโชคชัย ชวนไปที่คลีนิคกายภาพบำบัด ลองไต่ราวไม้ไผ่หัดเดิน(เดินเหยียบกะลามะพร้าว) กันคนละหนึ่งรอบแล้วถ่ายรูป

    จากนั้นก็ไปสอบถามเจ้าหน้าที่ที่แผนกทำบัตร เจ้าหน้าที่แนะนำให้ทำบัตร ก็เลยยืนรอประมาณ๒๐ นาที ก็ทำบัตรเสร็จ

                           
                     
                     รับบัตรจากหน้าที่แล้ว ก็ไปที่อาคารเรือนสมุนไพร

                       
                        ที่เรือนสมุนไพร วันนี้มีพิธีไหว้ครูประจำปี ไหว้เสร็จก็ประมาณเพลพอดีเลย ซึ่งเป็นเวลาที่พระจะต้องทำภัตตกิจ(ฉันอาหาร) ดังนั้น คุณธันวา จันดี เภสัชกรรมชำนาญงาน คนรู้จักคุ้นเคยกับคุณโยมชุติมา วิมุตติพงศ์ มาก่อนก็เลยจัดแจงถวายอาหารเพลแก่พระสงฆ์ผู้จรมาโดยมิได้นัดหมาย จึงเป็นอันว่าทุกท่านที่อยู่ในงานทั้งป้าหมอผู้ทำพิธี เจ้าหน้าที่ นิสิตนักศึกษาฝึกงานอีกหลายท่าน ก็ได้ร่วมกันถวายอาหารเพลโดยพร้อมเพรียง(ภาพบนถวายภัตตาหาร : คุณโยมชุติมา วิมุตติพงศ์ และคุณธันวา จันดี)

    ฉันภัตตาหารเสร็จพระก็อนุโมทนาให้พร
    บรรยากาศวันนั้น เหมือนงานบุญเลย
    เป็นบรรยายากาศแบบไทยๆในชมรมแพทย์ไทย
    ขออนุโมทนาบุญในธารน้ำใจอันเป็นกุศลกับทุกท่าน สาธุ     

                       
                        
                        

    เอกสารข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของโรงพยาบาลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก
    ผลิตภัณฑ์มีหลายชนิดด้วยกัน ทั้งประเภทลูกกลอน ประเภทยาชง ประเภทยาน้ำ ประเภทแคปซูล ประเภทอื่นๆ ประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ รวมแล้วเกือบ ๑๐๐ ชนิด

    รายชื่อผลิตภัณฑ์ในเอกสารนี้ มีจำหน่ายที่เรือนสมุนไพร

       
          
                        

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล ขำสุข

    พระอาจารย์ครับท่านจัดภาพบรรยากาศ.. ดีม๊ากมากครับ คนไข้เห็นหายป่วยเลยครับ.

    อย่างนี้ต้องบอกโยมชุติมา พาไปบ่อยๆ น่ะครับ.

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล ท่านพระอธิการโชคชัย
    สวัสดีครับฉิกและทุกท่านครับ

    • ผมได้ไปต่างจังหวัดเสีย ๓ วันครับ ไปดูงานโรงเรียนทางเลือกและรูปแบบการพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน ของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ PDA : Population and Community Development Association ของคุณมีชัย วีระไวทยะ ที่จังหวัดบุรีรัมย์
    • กลับมาก็เห็นความคึกคักของเวทีคนหนองบัวที่ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ นี่คนอ่านและเข้ามาดูของเวทีคนหนองบัวจะแตะ ๓ หมื่นแล้วนะครับนี่
    • สิ่งที่ได้จากการไปดูงานของชุมชนที่บุรีรัมย์ครั้งนี้อย่างหนึ่งนั้น ผมได้เห็นความพยายามเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาศูนย์ IT ชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมเเพียงส่วนหนึ่งของอีกหลายอย่างที่ผสมผสานอยู่กับเรื่องอื่นๆของแหล่งที่ไปดูงาน ซึ่งเขาช่วยกันโดยบริษัทไมโครซอล์ฟกับชุมชนและสถาบันพัฒนาประชากรและชุมชนแล้ว ก็ให้นึกถึงเวทีคนหนองบัวเลยละครับ
    • นอกจากได้สิ่งดีๆต่างๆจากเขามากมายแล้ว หลายเรื่องก็อยากช่วยเชื่อมโยงเครือข่ายเรียนรู้ของเขาเข้ากับแหล่งอื่นๆให้ โดยเฉพาะเวทีคนหนองบัว เพื่อเป็นเครือข่ายร่วมเรียนรู้และต่างแบ่งปันประสบการณ์ในด้านที่มีอย่างแตกต่างกัน
    • อยากให้เครือข่ายผู้นำชาวบ้านและนักวิชาการของชุมชนในท้องถิ่นที่จะเข้าไปดำเนินการระบบความรู้และระบบ IT ในชุมชน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของเวทีคนหนองบัว เพื่อที่จะได้เริ่มต้นทำระบบ IT ด้วยการเรียนรู้และพัฒนาบทบาทความจำเป็นของงานความรู้ เตรียมชุมชนที่มีวัฒนธรรมการสร้างและใช้ความรู้ในวิถีปฏิบัติของชุมชน รองรับการติดตั้งระบบ IT เพื่อที่จะได้มีความรู้และศักยภาพในการบริหารจัดการบนฐานความรู้และการรักความรู้ก่อน แล้วจึงค่อยได้เครื่องมือ
    • ระบบดำเนินการต่างๆจะได้มีโอกาสยั่งยืนมากกว่าได้แต่ความทันสมัยไปเป็นภาระ แต่ก็ไม่รู้จะให้ไปหาใคร เพราะจะว่าไปแล้ว เวทีคนหนองบัวของเรามีความเป็นการเคลื่อนไหวบนเครือข่ายระยะไกลและไม่มีตัวตนแบบองค์กรในความหมายเดิม แต่ละคนอยู่คนละตำแหน่งแห่งหนในสังคม
    • เลยก็ส่งกำลังใจให้แก่เขาในทางอ้อมว่าของให้ได้มีโอกาสพัฒนาการเรียนรู้ ให้สามารถสร้างกลุ่มคนจำนวนหนึ่งได้เหมือนกับเวทีคนหนองบัว พร้อมกับได้พัฒนาระบบ IT ชุมชนไปด้วย 
    • ได้เห็นพัฒนาการและความก้าวหน้าของท่านพระมหาแลในการใช้ข้อมูลและทำบันทึก ทั้งเพิ่มความเป็นระบบ ได้ข้อมูลมาบันทึก ได้วิธีนำเสนอที่ดี และมีความสวยงาม มากยิ่งๆขึ้นเลยนะครับ

    บุกอะไร สวยรูป รวยกลิ่น

    วันนี้(๒๖ พ.ค.๒๕๕๔)ตอนเช้าก่อนเดินทางไปหนองบัว
    เวลาประมาณ ๐๘.๐๐ น.คุณโยมชุติมา วิมุตติพงศ์ บ้านอยู่ต.แสงดาว อ.เมือง จ.พิษณุโลกโทรศัพท์มาถามอาตมาเรื่องบุก ได้เล่าว่าที่บ้านมีบุกชนิดหนึ่งกำลังออกดอก ดอกใหญ่มาก กลิ่นของดอกบุกเหม็นมาก กลิ่นเหม็นไปไกลเป็นหลายสิบเมตร  

    ด้วยความที่รู้ว่าอาตมาสนใจเรื่องพืชพันธุ์ธรรมชาติเรื่องชุมชน ถ้าสนใจก็ดูได้
    ตอนแรกฟังที่คุณโยมเล่าให้ฟัง คิดว่าน่าจะเป็นบุกรอ ก็คิดว่าจะไม่ไปดู
    พอวางโทรศัพท์ได้สักครู่ ก็ได้โทร.กลับไปบอกโยมว่า ขอไปดูสักหน่อย คิดว่าคงได้ถ่ายรูปมาดูเอง

    แต่เมื่อไปถึงบ้านโยม ยังไม่ได้เห็นต้นบุกว่าอยู่ตรงไหนเลย สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือกลิ่นเหม็นนั่นเอง โยมบอกว่าตอนเช้ากลิ่นแรงกว่านี้มาก

    ถามเจ้าของบ้านซึ่งเป็นคนอยู่ในเมืองว่ารู้จักไหมว่าบุกอะไร ตอบว่าไม่รู้จัก
    ชื่อท้องถิ่นใน ต.วังดินสอ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เรียกว่า"บุกหมาเน่า" ชื่อนี้บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าบุกชนิดนี้มีกลิ่นแรงขนาดไหน 

    คุณโยมเจ้าของบ้านที่พาไปดูให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับดอกบุกที่มีกลิ่นเหม็นมากๆนี้ว่าคงเป็นเพราะบุกมีดอกสวย สัสันงดงาม ความสวยงามของดอกบุกนี้อาจเป็นสิ่งดึงดูดความสนใจจากสัตว์ต่างๆให้มาทำลายได้ จึงสร้างกลไกป้องกันตนเองด้วยการปล่อยกลิ่น เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดปลอดภัย(แล้วกลิ่นก็ทำให้ปลอดภัยจริงๆด้วย)

    ขอถามท่านผู้อ่านเป็นความรู้ว่าใครรู้จักบุกนี้บ้าง และเรียกชื่อว่าอะไร(รู้แล้วบอกต่อด้วย)  

                    
                       
                     
                     
                     

    • แถวบ้านที่บ้านตาลินหนองบัวนั้น เคยกินขนมบุกอยู่เป็นประจำเมื่อตอนเป็นเด็ก
    • แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เห็นบุกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเลยนะครับ
    • อย่างที่เห็นในภาพนี่ แสดงว่าสภาพแวดล้อมยังพอมีระบบนิเวศน์ที่ดีพอสมควรกระมังนะครับ

    ส้มแผ่น

                 
                 
                  ส้มแผ่น(คนหนองบัว-หนองกลับเรียกส้มแผ่น)หรือมะม่วงแผ่น,มะม่วงกวนนั่นเอง

    เมื่อวานนี้(๒๗พ.ค.๒๕๕๔)ไปหนองบัว ตอนจะกลับวังทอง หลานสาวได้ถวายส้มแผ่นมาสามสี่ถุงเป็นส้มแผ่นที่เจ้าตัวเขาบอกว่าทำเอง
    ยังไม่ได้ฉันเลย จึงไม่รู้ว่ารสชาดเป็นอย่างไร

    เห็นคุณอัญชันหายเงียบไปช่วงนี้
    เลยขอนำส้มแผ่นหนองบัวมาฝากคุณอัญชันซะหน่อย

    การเปลี่ยนแปลงของโกทูโนล่าสุดนี้
    อาตมาตามไม่ทันอย่างหนึ่งคือ
    หน้าประวัติของบล็อกเกอร์ที่เดิมจะมีข้อมูลหลายอย่างให้ติดตามอ่านได้ มีประวัติ ศูนย์รวมข้อมูล ไฟล์ บล็อก ฯลฯ(ที่เหลือก็นึกไม่ออกเสียแล้ว)
    เช่นบล็อกเกอร์บางท่านมีหลายบล็อก ผู้อ่านเปิดไปที่ประวัติก็สามารถตามอ่านบันทึกของท่านได้อย่างสะดวก

    อย่างใกล้ๆตัวในที่นี้ เมื่อเข้ามาที่เวทีคนหนองบัว ก็จะตามไปอ่านบล็อกศิลปะ,ประชากรศึกษา,บล็อกชุมชน,บล็อกดังลมหายใจ ฯลฯ ได้ทุกบล็อก

    แต่ตอนนี้ หาไม่เจอเลย หรือว่าเราเป็นคนโลเทคไปแล้วก็ไม่รู้เนี่ย

    ไม่รู้จะถามใคร ก็เลยเล่าสู่กันฟังแค่นั้นแหละ

    พิมพ์ไปที่บล็อกตัวเอง ก็เข้าระบบแล้ว
    แต่เมื่อมาที่เวทีคนหนองบัว พิมพ์แล้วก็คลิกบันทึกเลย
    ปรากฏว่าลืมเข้าระบบ ก็เลยไม่ทราบว่าข้อความข้างบนเป็นของใคร
    เลยต้องเข้ามาแจ้งว่า เป็นของฉันเอง

    แหมผมไม่น่าเข้ามาดูตอนดึกๆอย่างนี้เลย มันทำให้พอเห็นส้มแผ่นแล้วน้ำลายไหลจี๊ดและคิดถึงแม่ คิดถึงบ้าน เลยละสิครับ

    หลานสาวคนที่ทำและถวายมานั้น บอกว่าส้มแผ่นเค็มไปหน่อย เราก็นึกว่าคงเค็มโด่งแน่เลย แต่เมื่อได้ฉันแล้ว รสชาดก็ดี ไม่เค็มดังที่เจ้าตัวเขาบอก

    เมื่อวันที่ ๒๗ พ.ค.๒๕๕๔ หลังจากนำพระหลวงตาที่ไปด้วยกันจากวัดศรีโสภณ เข้าชมพิพิธภัณฑ์วัดหนองกลับและศาลาหลวงพ่อเดิมเสร็จแล้ว ก็ออกจากวัดมาทางถนนด้านหลังที่ว่าการอำเภอหนองบัว แวะเยี่ยมป้าหมอหนิม พร้อมทั้งนำหนังสือไปให้ป้าหมอด้วย

    ตอนนั้นประมาณโรงเรียนเลิกพอดี ที่คลีนิคก็มีคนไข้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาหาคุณป้าหมอสองสามคน บรรยากาศเป็นกันเองมากๆ เพราะคนที่มาหาป้าหมอนั้น พูดคุยกับป้าดุจญาติผู้ใหญ่ เรียกป้า เรียกยาย เหมือนที่ผู้เขียนเคยเห็น บรรยากาศเดียวกันเลย หมอพื้นบ้านตามหมู่บ้าน คนที่มาหาจะเรียกแต่ลุง ตา ปู่ ยาย ป้า จะเรียกหมอบ้างก็เรียกโดยกล่าวถึงเป็นบุคคลที่สามเท่านั้น

                           
                          

    หลวงตาท่านเห็นป้าอ่านหนังสือโดยไม่ใช้แว่นตา จึงสอบถาม ป้าตอบว่ายังอ่านได้โดยใช้แว่นตา
    ป้าหมอแม้จะอายุ ๘๕ ปีแล้วแต่ก็ยังดูแข็งแรงเรียกว่าหนุ่มกว่าอายุมากทีเดียว เคล็ดลับย่อๆคือนิยมทานกล้วยน้ำว่า ไม่ชอบทานหวาน และยังบอกอีกว่าผลไม้ต่างประเทศนั้นไม่แตะเลย

    ช่วงหลังมานี้เน้นทานผักเป็นส่วนใหญ่

    ป้าหมอหนิมเป็นหมอรักษาคนหนองบัว ตั้งแต่ยังไม่มีถนน ซึ่งสมัยนั้นการเดินทางไปยังหมู่บ้านต่างๆมีทั้งเดินเท้า ขี่ม้า ขี่เกวียน

    แต่นั้นมาจนบัดนี้เป็นเวลาเกือบ ๗๐ ปีแล้ว ที่ป้าหมอหนิมรับใช้คนหนองบัวมาตลอด ยังไม่ได้หยุดเลย นับว่าเป็นเวลาที่ยาวนานมากๆ

    ผมอยากหาโอกาสไปนั่งคุยสัมภาษณ์กับป้าหมอหนิมและบันทึกวิดีโอไว้จังเลยละครับ  แล้วก็อีกหลายคนที่เป็นชาวบ้านหนองบัว ฝากเรียนหลายๆท่านไว้ล่วงหน้าให้ซ้อมๆเผื่อๆไว้หน่อยนะครับ คงจะต้องหาคนร่วมดำเนินรายการจากคนกันเองนี่แหละ สบายๆและเป็นธรรมชาติดี อยากได้บรรยากาศแบบที่เรานั่งคุยกันเมื่อครั้งจัดนิทรรศการเกาะลอยเมื่อตอนงานงิ้วน่ะครับ เป็นต้นว่าอาจารย์พนม ท่านพระอธิการโชคชัย ท่านพระอาจารย์มหาแล ฉิก แถวๆนี้แหละนะครับ

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล, สวัสดีอาจารย์วิรัตน์ และ ชาวเวทีหนองบัวทุกท่าน

    แหม..เหมือนมีคนบ่นถึงไม่ได้เข้ามาเสียหลายวัน

    ต้องขอบคุณพระอาจารย์นะคะ ที่นำส้มแผ่นมาฝาก แหม..ต้องยืมคำพูด อ.วิรัตน์หน่อย กำลังจะเข้านอนเชียว ตอนนี้ ห้าทุ่ม (ตีสี่บ้านเรา) เห็นส้มแผ่นกลืนน้ำลายเอี๊อกเลย อยากกิน

    ชอบกินค่ะ มาสวีเดนปีแรก ตอนท้องลูกสาว ใช้มะม่วงกระป๋องกวนเอง แล้วตากในเตาอบ อร่อยดีค่ะ สามีก็ชอบ

    พอแม่รู้ว่า ลูกเขย ชอบ เลยกวนมามาฝากทุกปีค่ะ

    อ้อ..ดิฉันชอบ มะม่วงกะล่อน ที่ฝานทั้งเปลือกแล้วใส่เกลือหน่อย แล้วตากให้แห้ง เวลากินจะเคี้ยว เหนียวๆ เปลือกหน่อย แต่อร่อยดี ไม่ได้กิน นานแล้วค่ะ เป้นสิบๆ ปี แล้ว ไม่รู้เค้ายังทำกันอยู่ไหม มะม่วงกะล่อนนี่ หรือว่า เค้าไม่ปลูกกันแล้ว มะม่วงชนิดนี้ หลวงพี่ช่วย บอกด้วยนะคะ

    เห็นรูป คุณยายถนิม ดูท่านยังแข็งแรงนะคะ

    ไม่ได้มาเสียหลายวัน พาลูกๆ ไป สต็อคโฮห์ม มาค่ะ พาลูกๆ ไปทำหนังสือเดินทางไทย ที่สถานทูตไทย ค่ะ หลังจากได้ใบเกิดมาเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็เลยพาเค้าไปทำหนังสือเดินทางไทย และ กลับไทย คราวนี้ จะเอาชื่อลูกๆ เข้าทะเบียนบ้านไทย ค่ะ จะได้ เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ค่ะ

    ต้องขอตัวไปนอนก่อนค่ะ

    อัญชัน

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์คุณอัญชันและผู้อ่านทุกท่าน

    ความคิดที่จะไปพูดคุยกับป้าหมอหนิม แล้วบันทึกทำเป็นวีดิโอนี้ คิดไว้ตั้งแต่เมื่อไปเยี่ยมป้าหมอ ในคราวแรกประมาณต้นเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา

    แต่ก็คิดในใจเฉยๆ ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ถามใคร ชวนใคร เมื่อตอนไปงานงิ้วก็อยากจะชวนหลายท่าน แต่ก็ไม่มีจังหวะและโอกาสที่พอจะพูดคุยได้ทัน ก็ผ่านมา เมื่ออาจารย์มีโครงการนี้ รู้สึกตื่นเต้นดีใจ และยินดีจะไปร่วมด้วยช่วยกัน

    ขอบอกคุณอัญชันว่าคุณป้าหมอหนิมนั้น ยังสุขภาพร่างกายแข็งแรง เป็นผู้สูงอายุที่ยังทำงานด้านสาธารณสุขเหมือนเดิม ไม่ต่างจากเมื่อหกสิบปีที่แล้วเลย

    เหมือนเคยได้ข่าวว่าคุณอัญชันมีโปรแกรมจะกลับเมืองไทยใช่ไหม ถ้าไปหนองบัวมีโอกาสก็อย่าลืมแวะไปเยี่ยมป้า

     

    เมื่อครั้งที่ไปจัดงานกันผมและน้องๆก็มีความคิดแล้วครับ ได้ไปเดินดูชุด wirelesss microphone ที่มีไมค์เล็กๆเหมือนเข็มกลัด แล้วก็ขาตั้งสามขา เพื่อที่จะเอามาเป็นอุปกรณ์บันทึกเสียงให้คุณภาพดีหน่อย ไปดู ลองซ้อมทำ ดูราคา แล้วก็หมายตาไว้แล้วละครับ ตอนนี้ขอรวบรวมตังค์ก่อน ไม่แพงหรอกครับ ผมลองบันทึกโดยไม่ใช้ไมโครโฟนกันแล้ว คุณภาพอย่างอื่นได้หมดครับ แต่เสียงไม่ค่อยดีมากกว่าเพื่อน เลยคิดว่าต้องใช้ไมโครโฟนช่วย

    มะม่วงกะล่อน

    คุณอัญชันสอบถามเรื่องมะม่วงกะล่อน ถามมาจากแดนไกลประเทศสวีเดนโน่น
    เมื่อก่อนที่บ้านหนองบัวเรานั้น มะม่วงกะล่อนเยอะมากๆ เยอะจนแทบจะหามะม่วงใหญ่ไม่เจอเลย(มะม่วงใหญ่นี่มะม่วงอะไรบ้างละ นอกจากมะม่วงกะล่อนแล้ว คนตะก่อนจะเรียกมะม่วงใหญ่นะ ก็มี มะม่วงกำปั้น มะม่วงแก้ว มะม่วงอกร่อง มะม่วงพิมเสน ฯลฯ)

    ด้วยที่มีเยอะแยะนี่แหละ ชาวบ้านจึงนำมะม่วงกะล่อนมาแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น มะม่วงดิบ ก็ทำเป็นมะม่วงดอง เมื่อสุกกินไม่หมดกินไม่ทัน ทำเป็นส้มแผ่นบ้าง ทำเป็นมะม่วงตากบ้าง(ฝานเป็นชิ้นบางๆโรยเกลือ แล้วตากแดดให้แห้ง มะม่วงตากแห้งนี้ ชาวบ้านใกล้ๆวัดศรีโสภณเรียกว่ามะม่วงหนังควาย เพราะเหนียวมาก เคี้ยวฟังโยมเลยแหละ แต่ก็อร่อยดี)

    มะม่วงกะล่อนนี้ เห็นคนเฒ่าคนแก่ชอบนำมากินกับข้าว เป็นอาหารของคนสูงอายุได้ดี แม้มะม่วงกะล่อนจะมีเนื้อไม่มาก แต่รสชาดก็หอมอร่อย

    นอกจากจะกินลูกสุกแล้ว ที่เหลือก็นำไปแปรรูปได้อีกหลายอย่างดังที่กล่าวมา หลังฤดูมะม่วงสุกเราก็ยังมีมะม่วงส้มแผ่นกินอีก ที่เก็บไว้ได้นานและกินหลังสุดเลยก็คือมะม่วงตาก

    ตอนนี้มะม่วงล่อนในหมู่บ้านเหลือน้อยแล้ว บางกลุ่มหมู่บ้านก็ไม่มีแม้ต้นเดียว เริ่มจะหากินยากแล้วแหละ

    เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมาอาตมาไปกิจนิมนต์ที่หมู่บ้านดอนม่วง ต.วังทอง
    ไปรูปเดียว ที่บ้านโยมมีงานปลูกบ้านใหม่ ข้างบ้านมีต้นมะม่วงกะล่อนทองต้นใหญ่หลายต้น หลายแห่งที่มีที่ดินจำกัด เมื่อจะขยายบ้านปลูกบ้านเพิ่มขึ้นมา ก็มักจะโค่นต้นมะม่วงทิ้งไป

    แต่บ้านนี้ ท่านปลูกบ้านห่างจากต้นมะม่วงใหญ่มาก ห่างจนพ้นอันตรายถ้าต้นมะม่วงหักหรือโค่นล้มลงมา และเหตุผลที่ปลูกห่างต้นมะม่วงก็เพราะไม่อยากโค่นต้นมะม่วงกะล่อนนั้นเอง

    ภาพมะม่วงกะล่อนที่นำมาฝากคุณอัญชันในวันนี้ เป็นมะม่วงกะล่อนทอง มะม่วงกะล่อนทองนี้ ลูกจะใหญ่กว่ามะม่วงกะล่อน

    วันนั้นได้พูดคุยกับโยมเจ้าของบ้าน คุยเลียบๆเคียงๆสอบถามเรื่องมะม่วงกะล่อนทองนี่แหละ คุยไปคุยมาดูท่าแล้ว ไม่มีวี่แววว่าจะได้มะม่วงกลับวัดแน่(โยมคงคิดว่าของบ้านบ้านอย่างนี้ จะนำไปทำบุญก็เป็นของพื้นๆเกินไป และเคยได้ยินชาวบ้านคนเก่าๆบอกว่าบางทีก็อาย เมื่อถวายของที่ทำอยู่ทำกิน ต้องซื้อของที่ตลาดไปทำบุญอะไรประมาณนั้น จึงจะมีความมั่นใจ) เลยต้องเอ่ยปากขอมะม่วงกลับไปวัดสักนิดหน่อย ก็ได้มาหลายลูกพอสมควร จุดประสงค์จริงๆก็เพื่อจะได้ถ่ายรูปเก็บไว้ดูแค่นั้นเอง(ไปกิจนิมนต์ก็ไม่กล้าเอากล้องไป)

    เมื่อตอบคำถามคุณอัญชันแล้ว ก็เลยนำภาพมาฝากด้วย(ไม่มีภาพมะม่วงตาก)

                        
                        
                        
                        
                         
                         ภาพ : มะม่วงกะล่อนทอง

    สวัสดีครับ อ.มหาเมื่อ 26 พ.ค.ที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปพักที่วัดศรีโสภณกับพระโชคชัย ผมไม่มีโอกาสไปกราบท่านขออภัยมาน๊ะที่นี้

    ผมได้ติดตามผลงานของท่าน อ.มหา กับ ดร.วิรัตน์และอีกหลายๆๆ คน หลายประเด็นจากเว็บบ้างจากการบอกเล่าของพระโชคชัยบ้าง ผมสนใจมาก โดยส่วนตัวผมทำงานชุมชนที่บ้านบึง ศรีภิรมย์ ผมทำงานเกี่ยวกับชุมชนมาประมาณ 10 กว่าปี จนไฟในตัวใกล้มอด มาลุกโพลงตอนเจอเว็บนี้ เหมือนมีเพื่อนทำงานร่วมกระบวนเดียวกัน พระโชคชัยก็จะให้สมัครสมาชิก ตอนนี้ผมติดตรงที่ผมไม่เก่งเรื่องคอม กับภาษาเขียน ผมคิดว่าคงอีกสักพักคงต้องสมาชิกร่วมกระบวนกับด้วย ขอฝากตัวด้วยน๊ะครับ

    สวัสดีท่านพระอาจารย์สมบัติ เขมวีโร

    ไปไงมาไงละเนี่ย
    แหมดีใจจังนะครับที่มาเยี่ยมถึงบ้านถึงช่องเลยนี่
    ขอคารวะและต้อนรับด้วยความยินดียิ่ง
    เป็นธรรมะจัดสรรจริงๆครับ
    คือวันพรุ่งนี้ผมนัดกับโยมไว้ว่าจะไปเยี่ยมท่านที่วัดสวนร่มบารมีพอดีเลยครับ
    ฉันเพลแล้วค่อยเดินทาง
    งั้นพรุ่งนี้เจอกันนะครับ
    ว่างๆก็นิมนต์มาเยี่ยมเวทีคนหนองบัวนี้บ่อยๆก็ได้
    นิมนต์เลยนะครับ
    ขอบคุณที่ติดตามอ่าน ถือเป็นกำลังใจที่ดีเยี่ยม
    ขอบพระคุณมากครับ

    • โอ้โฮคึกคักนะครับ
    • มะม่วงกะล่อนนี่นึกถึงกินกับน้ำพริกปลาย่างเลยนะครับ
    • ฝานแล้วตากอย่างที่คุณอัญชันว่านี่ก็เยี่ยมครับ ฝานแล้วชุบน้ำเกลือแล้วก็ตาก
    • เวลาไปทำนาทำไร่หรือเลี้ยงควาย ก็เอาไปกินเป็นขนมของว่าง เคี้ยวเพลินไปเลย นะครับ เปลือกมันห๊อม-หอม

    ขอนำภาพมะม่วงกะล่อนจากบล็อกคนหนองบัวกับพริกเกลือของคุณเสวก ใยอินทร์ มาฝากคุณอัญชันอีกชุดหนึ่ง
    คุณเสวกกลับไปหนองบัวเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา แล้วได้นำมะม่วงกะล่อนมาฝากเพื่อนๆที่กรุงเทพฯ เพื่อนๆต่างก็ไม่ได้กินมะม่วงกะล่อนมานานแล้ว ก็เลยถูกใจเพื่อนๆกันถ้วนหน้า

    เลยแจ้งให้คุณอัญชันทราบเพิ่มเติมว่าที่หนองบัวยังมีมะม่วงกะล่อนอยู่ แม้จะไม่มากเหมือนเมื่อก่อนก็ตาม
    http://www.gotoknow.org/blog/pknongbur/281711                           
                
                 ภาพบนมะม่วงกะล่อน ภาพล่างมะม่วงกะล่อนทอง จะเห็นว่าขนาดต่างกันอย่างเห็นได้ชันเจนทีเดียว กะล่อนทองลูกจะโตกว่า ส่วนรสชาดก็หอมหวานพอๆกัน

    จาก งานตลาดนัดความรู้ "เครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียง" ครั้งที่ ๓ ที่บันทึกนี้ :

    http://www.gotoknow.org/blog/nongnarts/441752

    ผอ.พนม จันทร์ดิษฐ์ แห่ง รร.บ้านหนองไผ่ จ.นครสวรรค์ :

    ..รับมอบ เกียรติบัตร การเป็นรร.ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"

    ..รับเข็มรางวัล "พอ" จากโครงการเรื่องเล่า "บทเรียนความสำเร็จในการใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจัดการเรียนรู้"

    ..เป็น แกนนำรร.ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ความสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง

    ..นำพานักเรียนจัดซุ้มนิทรรศการเศรษฐกิจพอเพียงที่น่าสนใจ และหอบ ต้นมะกล้ามะขามป้อม จาก รร.บ้านหนองไผ่ มาแจกจ่ายผู้ร่วมงาน พร้อมกับ สาธิตการทำ น้ำมะขามป้อมพอเพียง เลิศรส ชุ่มคอ แก่ผู้เข้าร่วมชมงานเป็นที่ประทับใจมากค่ะ..

     

           

            

            Large_img_4678 

           

    สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์และทุกท่านครับ

    ครึ่งเดือนผ่านไปเพิ่งมีโอกาสเข้ามาครับ ช่วงดังกล่าวมีโอกาสไปร่วมแสดงความยินดีกับคนหนองบัว ที่นำเอาความเป็นคนหนองบัวไปเชื่อมโยงกับโลกภายนอก หลานชายรับปริญญาโทที่สถาบัน AIT ร่วมกับผู้คนอีก 27 ประเทศที่จบปริญญาโท จำนวน 200 คนและ จบปริญญาเอกอีก 26 คน

    ผมเองเคยเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรสองครั้ง รูปแบบและพิธีการไม่เหมือนกับการรับปริญญาที่ สถาบัน AIT พิธีที่นี่มีนักเปียนโนชาวเกาหลีมาบรรเลงพร้อมกับการร้องเพลงโอเปร่าสด ๆ ของนักร้องชาวตะวันตก มีการปรบมือให้จังหวะแล้วก็โยนดอกไม้ด้วยบรรยากาศสบาย ๆ และสนุกสนานจริง ๆ ครับ

    ขากลับตอนลงเครื่องที่สนามบินอุดรธานี เห็นคนๆหนึ่งจำได้ว่าเห็นแว๊บ ๆ ในพิธีรับปริญญาแต่ไม่มีโอกาสได้ทักทายกันเพราะคนเยอะ แต่เมื่อพบกันที่อุดรฯ ใช่เลยครับ ผมรีบเข้าไปทักทาย ท่านคือปลัดกระทรวงการเงินของประเทศลาวครับ และได้เดินทางไปร่วมแสดงความยินดีกับลูกสาวที่จบการศึกษาแห่งเดียวกับคน(ยวนปนลาว)บ้านน้ำสาดกลาง อำเภอหนองบัวของเรา

    มหาบัญฑิตคนที่ว่าเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว ขณะนี้ย้ายจากจังหวัดยะลามาประจำอยู่ที่ สน.ชนะสงครามเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ

    ขอร่วมแสดงความชื่นชมกับโรงเรียนบ้านหนองไผ่ ผอ.พนม ครูอาจารย์และผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน และหนูๆนักเรียนของโรงเรียนบ้านหนองไผ่ ที่ได้ไปมีบทบาทเผยแพร่บทเรียนที่เกิดจากการเรียนรู้ ความทุ่มเท ความร่วมแรงร่วมใจ ความเป็นผู้นำทั้งทางวิชาการและการบริหารของผอ.พนมในการระดมความร่วมมือกันของคุณครูและทุกฝ่าย น่าชื่นชมและภูมิใจไปด้วยมากๆครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ
    คนห้วยน้ำสาดนี่เก่งๆหลายคนเลยเนาะ
    ต้องขอแสดงความยินดีและต้องชื่นชมไปด้วยมากๆเลยละครับ

    เมื่อวันที่๑มิถุนายน๒๕๕๔ที่ผ่านมาได้ไปวัดสวนร่มบารมี อ.พรหมพิราม วันนั้นมีพระจากวัดศรีโสภณไปด้วย ท่านป่วยเป็นหลายโรค จุดประสงค์เพื่อไปเอายาสมุนไพรที่วัดสวนร่มฯ    

                       
                        หลวงพ่อพระครูโฆสิตธรรมสุนทร เจ้าอาวาสวัดสวนร่มบารมี(รูปกลาง)พาคณะอาตมามีท่านอธิการโชคชัย,ท่านสุนทร ปภากโร โยมชุติมา วิมุตติพงศ์ และอาตมาเดินชมสถานที่ก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ร่มบารมี
                        
                        สถานที่ที่จะสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ร่มบารมี

    วันนั้นได้เจอท่านสมบัติ เขมวีโร ท่านรูปนี้เป็นพระนักปฏิบัติจัดทำค่ายอบรมเยาวชนมากับท่านโชคชัยมาเป็นสิบปีแล้ว เรียกว่าทำมาเป็นร้อยเป็นพันค่าย

    นอกจากนั้นท่านยังมีความสามารถทางช่างอีกหลายแขนง อีกทั้งสนใจเรื่องเกษตรทางเลือก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมัก ทำเป็นทุกอย่าง มีแปลงทดลอง ทำกันเองในวัด

    ก่อนจะกลับวัดท่านถามอาตมาเรื่องเตาชีวภาพ ซึ่งเรื่องนี้อาตมาไม่มีความรู้เลย แต่ก็รับปากว่าเดี่ยวจะลองสอบถามโยมที่วังทองดูว่ามีใครทำบ้าง

                         
    อีกสองวันต่อมาได้ทราบจากท่านสุนทร ปภากโร ว่าเรื่องเตาชีวภาพที่ท่านสมบัติฝากถามมานั้น ตอนนี้ท่านบอกว่ามีคนทำเป็นที่หมู่บ้านดอนม่วง อยู่หลังวัดศรีโสภณ คืออดีตผู้ใหญ่บ้านนั่นเอง ซึ่งก็เป็นคนรู้จักกันดี

    บ่ายแก่ๆของวันที่๓มิถุนายน๒๕๕๔ ก็เลยไปบ้านท่าน ไปถึงพูดคุยสักพักก็ขอให้ท่านสาธิตให้ดู ก่อไฟต้มน้ำร้อนเสร็จแล้ว ก็ยกขึ้นรถกลับมาวัด ท่านบอกว่าพระลองไปทำดู

    เมื่อได้เตาชีวมวลมาแล้ว ก่อนฉันเพลวันนี้(๕มิถุนายน๒๕๕๔)
    จะลองหุงข้าวด้วยเตาชีวมวลดูสักตั้ง ด้วยที่ไม่เคยรู้จักเตาชนิดนี้มาก่อน ไม่เคยเห็นใครทำ(หุงข้าว)อีกด้วย

    จึงเป็นครั้งแรกที่ทำเอง วันนี้ไม่มีลูกทีมช่วยเลย

                      
                      ไม้ฟืน สำหรับเตาชีวมวล

                      
                      เตาชีวมวล

                      
                       ช่องลมด้านหน้า เปิด-ปิด
                     

                      
                       ลองตั้งหม้อดูก่อน ยังไม่ก่อไฟ
                       
                       เริ่มเดือดแล้ว

    หลังจากรินน้ำข้าวเสร็จแล้ว ก็ดงข้าว ด้วยการพลิกหม้อสลับไปมาให้ได้สี่ด้าน เพื่อให้ข้าวระอุ

             
             

    ดงระอุแล้ว หน้าตาก็เป็นยังงี้

                       
                       
    ถือว่าไม่ดิบ ไม่แฉะ ไม่ไหม้ ก็เป็นอันว่าหุงข้าวด้วยเตาชีวมวลครั้งแรกนี้ สอบผ่าน

    ที่เขียนและลงภาพให้ดูมากมายนี้ ก็เพราะว่าพระวัดสวนร่มบารมีท่านสนใจ ขอความรู้มา

    จึงลองทำดู ก็พอทำได้

    อดีตผู้ใหญ่บ้าน เจ้าของเตาชีวมวล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เตาชีวมวลนี้ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้มาทีเดียว

    แต่ท่านบอกว่าคนรุ่นใหม่ ไม่นิยม เพราะทำลำบากยุ่งยาก

    ได้ทำเองในวันนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ยุคใหม่ที่มีราคาแพงแล้ว ก็ต้องบอกว่าทำยากในสายคนรุ่นใหม่ เราคนเก่าพอทำได้ พอสู้ได้

    เคยได้ยินมาว่า แม้แต่คนที่มีหม้อไฟฟ้า เตาแก็ส อยู่ที่บ้านแท้ๆ ยังบอกว่าการทำอาหารเองนั้นยุ่งยาก เสียเวลา นับประสาอะไรกับเตาฟืน เตาถ่าน เตาแกลบ ที่ต้องใช้เวลาและต้องเรียนรู้มากมาย ฉะนั้นสิ่งนี้จะมีประโยชน์มีคุณค่าบ้าง ก็คงเป็นคนรุ่นเก่าๆแค่นั้นเองละมั้ง

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล และสวัสดีชาวเวทีหนองบัวทุกท่านค่ะ

    ขอบคุณพระอาจารย์ที่นำภาพมะม่วงกะหล่อนมาฝาก เห็นแล้วยอยากกินเชียว น้ำลายสอเลย ลูกสาวดิฉันชอบมะม่วงมาก ขนาดมะม่วงที่สวีเดนมาจากแถบไหนก็ไม่ทราบแต่ไม่ได้มาจากเมืองไทย ต้องซื้อประจำ ทั้งเปรี้ยวทั้งแข็ง เค้าก็ชอบกิน นานๆ จะเจอมะม่วงหวานๆ ซักที ที่ซื้อที่สวีเดน แล้วแต่จังหวะและฤดูค่ะ

    ขอบคุณที่นำภาพการหุงข้าวแบบเช็ดน้ำด้วยเตาถ่านมาฝากค่ะ และเห็นสำหรับกับข้าว แล้วหิวเลยค่ะ วันนี้ กินอาหารฝรั่งตลอดทั้งวัน (วันนี้วันชาติสวีเดนค่ะ เด็กๆ ขอ อาหารฝรั่ง หลังจากกินอาหารไทยกันมาหลายวัน)

    เห็นแล้วอยากกินน้ำข้าว กะ เกลือ หรือปลาเค็มตากแห้งๆ ปิ้ง แบบคนหนองบัวเนอะ

    จะว่ายุ่งยากก็คงจะยุ่งยากสำหรับคนรุ่นใหม่นะคะ

    เมื่อก่อนจะย้ายไปสวีเดน เวลากล้บไปเยี่ยมป้าที่หนองบัว ป้าของดิฉันยังใช้เตาถ่านหุงข้าวแบบเช็ดน้ำอยู่เลย แล้วก็ยังใช้หม้อดำๆ แกงพริกเกลือด้วย

    แต่กลับไปครั้งที่แล้ว แกใช้เตาแกสแล้วเพราะอายุเยอะแล้วค่ะ

    อ้อ..แม่ดิฉันที่ชลบุรี ก็ยังมีเตาถ่านใช้ และ เผาถ่านเองค่ะ เผาไว้ย่างปลา และ ทำแกง แม่บอกว่าเวลาแกสแพงๆ ก็ใช้เตาถ่านสลับกันไปค่ะ แม่บอกว่าย่างของเตาถ่านอร่อยกว่าค่ะ

    อัญชัน

    เจริญพรคุณอัญชัน

    ต้องขอชื่นชมคุณอัญชันอย่างหนึ่งที่อยู่ไกลถึงประเทศสวีเดน อยู่ในสภาพแวดล้อมวัฒนธรรมที่ต่างจากหนองบัวมาก แต่ก็ต่างเพียงสถานที่ ส่วนรูปแบบการดำเนินชีวิตก็ยังเป็นแนวลูกทุ่งๆดี อีกทั้งการเลี้ยงลูกก็ใช้วิธีเลี้ยงแบบผสมผสาน ทั้งแบบไทยแบบยุโรปสวีเดน อันนี้รู้สึกประทับใจ

    ที่หุงข้าวด้วยเตาชีวมวลนี้ ก็เพราะมีพระคุณเจ้าที่อำเภอพรพิรามรูปหนึ่งท่านสนใจ สอบถามอาตมาเรื่องนี้ในคราวที่ไปเยี่ยมท่าน เมื่อกลับมาวัดก็ทราบว่าที่หมู่บ้านดอนม่วงบ้านอดีตผู้ใหญ่บ้านมีเตาชีวมวลนี้พอดี อีกสองวันต่อมาก็ได้ไปดู เสร็จแล้วเจ้าของเตาให้นำมาใช้ที่วัด

    เรื่องของเรื่องก็คืออาตมาเองก็ไม่รู้จักเตาชีวมวลนี้มาก่อนเลยด้วย เมื่อนำมาแล้วเมื่อวานมีโอกาสก็ลองทำ(หุง)ดู เนื่องจากที่กุฏิไม่มีไม้ฟืนเลย ฉะนั้นกว่าจะเตรียมอุปกรณ์(ไม้ฟืน-เศษไม้)ได้ แล้วก็ก่อไฟ ตั้งหม้อข้าว ก็ใช้เวลามากเลยแหละ

    เมื่อลองทำดู เลยทำให้นึกถึงเมื่อตอนบวชใหม่ๆ(๒๕๒๓)อยู่ที่วัดใหญ่วัดหนองกลับโน่นเชียว นึกถึงช่วงเข้าพรรษา ช่วงนี้ก็ประมาณเดือน๘-๑๐ เป็นเวลาที่โยมพ่อโยมแม่พระบวชใหม่ทุกรูป ต้องไปนอนนา ไปทำนาเพราะเมื่อก่อนนี้จะทำนาดำกันเยอะ

    ก่อนไปนอนนาโยมพ่อโยมแม่พระใหม่ ก็จะเตรียมสะเบียงเครื่องครัวทุกอย่างให้ลูกพระ มีข้าวสาร พริกแห้ง หอมกระเทียม ปลาร้า ถ่านหุงข้าว อีกทั้งปัจจัย

    ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะเมื่อสามสิบปี่ที่แล้ว ทั้งวัดใหญ่ วัดน้อยวัดเทพฯ แค่สองวัดนี้เท่านั้น มีพระรวมกัน ก็เป็นร้อยรูปแล้ว แล้วเมื่อก่อนนี้ลูกศิษย์วัดก็เยอะด้วย

    อย่างกุฏิหลวงน้าใบฏีกาส้ม แก้วนิคม(คณะ๖)ที่อาตมาอยู่นั้น กุฏิเดียว มีพระเกือบยี่สิบรูป
    เข้าไปแล้ว ลูกศิษย์อีกหลายคนไม่มีห้องนอน ต้องนอนข้างนอก

    พระเยอะลูกศิษย์เยอะอย่างนี้ อาหารบิณฑบาตที่ได้มาไม่พอถึงเพล มื้อเพลเป็นมื้อที่ต้องอาศัยทำกันเอง โดยหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันทำทุกวัน

    ถามว่าแล้วเอาอะไรมาทำฉันกันละ ทุกกุฏิก็ทำเหมือนๆกันคือพระใหม่รวมทั้งอาจารย์เจ้าคณะด้วย จะรวมรวบปัจจัยจากทุกรูปเอามาเป็นกองกลางเป็นทุนอาหารกลางวัน(อาหารเพล)โดยเฉพาะสำหรับไว้ซื้อข้าวของผักต่างๆมาทำกับข้าวมื้อเพล แล้วก็ทำเผื่อให้ไว้ลูกศิษย์มื้อเย็นหลังกลับจากโรงเรียนด้วย

    คนอาสาไปซื้อของมีสองคน ปัจจุบันยังอยู่ อายุเข้าขั้นเป็นสว.แล้ว

    เล่ามาถึงตรงนี้เลยทำให้นึกถึงข้อเขียนคุณฉิกที่กล่าวถึงเพื่อนๆเมื่อไม่นานมานี้ว่าเป็นศิษย์วัดใหญ่อยู่กับพระอาจารย์ใบฏีกาบุญเหลือ พระใบฏีกาบุญเหลือที่คุณฉิกกล่าวถึงนั้นก็คือพระใบฏีกาส้มนั่นเอง ปัจจุบันท่านก็ยังอยู่

    คุยเรื่องเตา แต่ก็โยงไปถึงหนองบัวจนได้
    วิสัชนามาพอสมควรแก่เวลา
    เอวัง

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล สวัสดีคุณอัญชันและทุกท่านครับ

    • เป็นการทดลอง เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆจากการได้ทำเอง ทำให้เห็นความสามารถที่จะเรียนรู้ได้อยู่ตลอดเวลาของชีวิต โดยเฉพาะการต้องพึ่งตนเองอยู่เสมอของคนที่อยู่ในต่างจังหวัดและชนบทเลยนะครับ
    • นอกจากใช้เป็นปัจจัยในการดูแลชีวิตการเป็นอยู่ พอให้เอื้อต่อการทำกิจต่างๆได้พอสมควรแล้ว ใช้เป็นเครื่องมือและวิธีการเรียนรู้ หาความลึกซึ้งและความแยบคายใฝนชีวิต รวมทั้งทำให้เป็นแบบอย่างของวิถีปฏิบัติ เพื่อเปิดวาระความสนใจและเชื่อมโยงไปสู่การให้การศึกษาอบรมเรื่องราวต่างๆที่ชาวบ้านจะสามารถนำเอาพุทธธรรมไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดีเหมือนกันนะครับผมว่า
    • เมื่อก่อนนี้ การต้มน้ำ ชงชา เคี่ยวตังเม ก็เป็นวงสนทนาธรรมกับชาวบ้านของพระที่ผมชอบไปนั่งและเลียบๆเคียงๆเมียงมองดู (เมื่อก่อนผู้ใหญ่ปลูกฝังว่าไม่ให้เข้าไปป้วนเปี้ยนในวงที่ผู้หลักผู้ใหญ่เขาคุยกัน)

    เรียนท่านพระมหาแล เจริญพรโยม ดร.วิรัตน์ และชาวเวทีคนหนองบัว

             เมื่อก่อนนี้ สมัยผมเรียนอยู่ชั้นประถม/มัธยม ต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี 4 เพื่อลุกมาก่อไฟหุงข้าวทำกับข้าวเลี้ยงน้องแล้วถึงจะได้ไปโรงเรียน(แบบเช็ดนํ้าเนี่ยแหละ) วันไหนถ่านหุงข้าวหมดก็ใช้ฟืน แต่มีข้อเสียตรงที่ว่าข้างหม้อข้าวจะดำมาก กลับจากโรงเรียนมาขัดหม้อข้าวไม่หวัดไม่ไหว.. ที่หลังไปเห็นยายแก่ข้างบ้าน (ข้างแพ/สมัยก่อนอยู่แพ,ชาวแพ) นำดินเหนียวมายาข้างหมอข้าว แล้วใช่หม้อนั้นหุงข้าว สักสองสามวันดินเหนียวถึงจะหลุดที ปรากฎว่าข้างหม้อข้าวไม่ดำ ไม่ติดควันไฟเลย.. (ภูมิปัญญาที่ผู้เฒ่า ผู้แก่สอนลูกหลานไว้)  บ้านผมเรียกว่าเตาอังโล่(เตาฟืน,เตาถ่าน) เห็นเตาชีวมวลของสำนักพลังงาน จังหวัด ที่ท่านพระมหาแลนำมาทดลองใช้หุงข้าว ต้ม ผัด แกง ทอด แล้วน่าใช้กว่ากันเยอะเลย..เสียดายน่ะวิถีชีวิตคนในปัจจุบัน(เด็ก เยาวชน/พ่อแม่ ยุคใหม่ฯ )ไม่รู้จัก..หนักไปยิ่งกว่านั้นคือ หุงข้าวไม่เป็น .. 

              เอาแบบใกล้ตัวเลย เมื่อก่อน..มีงานบุญ งานบวชทีไรภายในวัด/บ้าน ก็จะมีแผนกหุงข้าว หุงข้าวแบบใส่กะทะใบบัว กะทะใหญ่มาก..ใส่ฟืนใส่ข้าวเยอะมาก เรียกว่ากะเอาเอง แต่ก็ยังหุงข้าวจนสุกและสามารถเลี้ยงพระ/แขกที่มาในงานได้สบาย..และผมชอบมากเลยครับตรงที่ข้าวไหม้ติดก้นกะทะนำมากินเล่นและโรยนํ้าตาลเล็กน้อย หอม กรอบ อร่อยรสชาติดี..แต่ปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นกะทะไฟฟ้าไปแล้ว(หม้อหุงข้าวไฟฟ้าเบอร์ 40/60) 

             เห็นด้วยกับอาจารย์ ดร. วิรัตน์ "เครื่องมือและวิธีการเรียนรู้ หาความลึกซึ้งและความแยบคายในชีวิต...ด้วยหลักพุทธธรรมในการดำเนินชีวิต"

    ท่านอธิการโชคชัยครับ

    หนองบัวบ้านผมนี่การรับรู้เรื่องวิถีชาวแพคนอยู่แพแบบที่ท่านเล่ามานี้ มันช่างห่างไกลมากเลย ไกลเสียจนจินตการไม่ออกเลยซิคร้บ

    บ้านผมนั้นแค่น้ำนองล้นห้วย ล้นคลอง อย่างมากก็ท่วมหลังควาย ขี่ควายข้ามห้วยข้ามคลอง นี่ก็ขาสั่นแล้วครับ กลัวตกน้ำครับ(คนบ้านดอน) ถ้าไปป่าไปเขาแล้วละก็พอได้

    ท่านอธิกาโชคชัยเคยแซวอาตมาให้โยมฟังว่า แม้แต่แย้วิ่งผ่านกุฏิท่านก็นำมาเขียนสารดีลงบล็อกแล้ว
    วันนี้ก็เช่นกัน(๙มิถุนายน๒๕๕๔)สักประมาณ๐๙.๐๐น.ได้ไปถ่ายรูปต้นบุกที่ขึ้นอยู่บริเวณปลวกเก่า ซึ่งสภาพหน้าดินแบบนี้เหลือเพียงที่เดียวแล้ว นอกนั้นลานวัดส่วนใหญ่จะเป็นพื้นดินที่นำดินมาถมใหม่ทั้งหมด(มองไม่ออกว่าเป็นจอมปลวกเพราะพื้นลานวัดถมดินจนสูงดูเสมอกันไปแล้ว)

    ช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มหน้าฝน ตามป่าเขาท้องนาท้องไร่ ก็จะมีพืชพันธุ์ไม้ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ไปทางไหนก็จะเห็นความเขียวชอุ่มของป่าเต็มไปหมด

    เมื่อฝนเริ่มตกประมาณเดือนหกเดือนเจ็ด บุกก็จะขึ้นในช่วงนี้พอดี และก็จะหากินได้ไปตลอดหน้าทำนา 

    ชาวบ้านนิยมนำหัวบุกมาทำอาหารได้หลายอย่างทั้งของคาวของหวาน
    บุกที่นำหัวมาทำขนมได้นั้น ต้องเป็บบุกต้นใหญ่ บุกรอ บุกคางคก
    แต่บุกต้นเล็กที่เห็นอยู่นี้ ทำได้เพียงนำต้น ดอก ใบ มาปรุงเป็นอาหารอย่างเดียว แกง หรือต้มจิ้มน้ำพริก

    จากประสบการณ์ในท้องทุ่งนา แกงบุกมื้อกลางวันเป็นเมนูที่อร่อยเลยแหละ เครื่องแกงคือพริกเกลือ บุกมียางเหนียว และยางนี่แหละที่ทำให้คัน คันน้องๆบอนเลยเชียว

    ไม่ว่าแกงหรือต้ม ต้องเคี่ยวไม่ให้มีเมือก ถ้าต้มต้องเคี่ยวให้เละ แกงบุกนั้นถ้าไม่ใส่ใบมะขามอ่อน หรือมะขามเปียกแล้วละก็ ได้เรื่องแน่คือคันกินไม่ได้ ฉะนั้นแกงบุกอย่าลืมใส่มะขามเปียก ใบมะขามอ่อนเป็นอันขาด ขอบอก

                      
                      บุกหางงัว ชื่อนี้คงได้มาจากลักษณะใบที่บิดเป็นเกลียวคล้ายหางวัว
                              
                              
                              

    และบริเวณเดียวกันนี้ก็มีต้นไม้หลายชนิดสะเดามะค่าแต้ และก็ผักหวานอยู่ด้วยหนึ่งต้น
                       
                      
                       ต้นผักหวานและต้นบุกขึ้นอยู่ใกล้ๆกันในที่ที่เป็นจอมปลวกเก่า

    ท่านพระอาจารย์มหาแลครับ แกงบุกกับพริกเกลือใส่ใบมะขามอ่อนคงจะอร่อยเหาะ..

    ฉันข้าวได้เยอะเลย..

    ท่านอธิการโชคชัยครับ

    แกงบุกกับพริกเกลือถ้าจะให้อร่อยสุดๆนะครับ ต้องแกงแบบมีส่วนร่วม แกงแบบมีหุ้นส่วนครับ แกงแบบซุกหุ้น(คือแกงกินคนเดียวอร่อยน้อยไปนิดหนึ่งครับ-ไม่เกี่ยวกับการซุกหุ้นนะครับ)

    แกงแบบไม่ซุกหุ้นคืออย่างไรหนอ
    ไม่ยากเลยครับก็คือเมื่อก่นอนั้นคนหนองบัว-หนองกลับ เวลาไปป่า ไปเขา ไปเลี้ยงงัว-เลี้ยงควาย ไปกันหลายคน ไปเป็นหมู่คณะครับ

    ทุกคนจะห่อข้าวไปกินกัน ส่วนอาหารไปหาเอาข้างหน้า และกับข้าวที่ขาดไม่ได้เลยคือพริกเกลือครับ ในท้องทุ่งคือแหล่งอาหารตามธรรมชาติเยอะแยะครับ แถมปลอดสารพิษอีกด้วยแนะ เช่น ผักบุ้ง ตำลึง บุก หน่อไม้ ดอกอุ้มน้อง ดอกกุ่ม ยอดกุ่ม ยอดจิก สะเดา ผักหวาน เห็ด ยอดอีซึก ผักอีนูน ผักกาดน้ำ ผักแขยง ผักเสี้ยน ส้มกบ ส้มชะมวงฯลฯ

    เหล่านี้ บางชนิดสามารถนำมาจิ้มพริกเกลือได้เลยก็มี หรือบางอย่างก็นำมาปรุงเป็นผักใส่แกงดีนักแล

    ชาวบ้านทุกคนมีความสามารถที่จะหาสิ่งเหล่านี้ได้เองอยู่แล้ว เมื่อช่วยกันหาผักเอามารวมกันกะปริมาณว่าพอกินสักมื้อก็พอ ใกล้ๆเที่ยงวัน ก็ถึงเวลาแกง โดยนำหุ้น(พริกเกลือ)จากทุกคนมารวมกัน ทำเป็นเครื่องแกง นี่แหละที่บอกว่าอร่อยอย่างมีส่วนร่วมละครับ(เข้าทำนองพุทธภาษิตที่ว่ากินคนเดียวไม่เป็นสุข สุขในที่นี้ผมสันนิษฐานเอาเองว่าน่าจะหมายถึงความอร่อยด้วยแน่เลย)

    รสชาดของพริกเกลือหลายเจ้าอร่อยแตกต่างจากพริกเกลือเจ้าใดเจ้าหนึ่งหรือเจ้าเดียวครับ เพราะเป็นรสชาดผสมหลากหลายสูตรของแต่ละบ้าน(ไม่ทราบท่านอธิการโชคชัย พอจะนึกภาพออกไหมเนี่ย)

    เดี๋ยวอย่างไรเสีย ตอนที่ท่านอธิการโชคชัยไปเก็บข้อมูลวิจัยที่หนองบัว คงจะได้เจอบรรยากาศอย่างที่เล่ามาบ้างไม่มากก็น้อยชัวร์

    เมื่อก่อนนั้น ในทุ่งนามีจอมปลวก,หัวปลวกหรือโพนเยอะมาก บุกก็ขึ้นตามปลวกเยอะไปหมดเลย

    หรือตามหัวไร่ปลายนา ที่ป่าละเมาะ ตามโนนที่สูงทำนาไม่ได้ก็มีบุกเยอะด้วย

    ต่อมาจอมปลวกถูกไถทิ้งออกหมด บุกก็หายไปด้วย ชาวนารุ่นหลังอาจไม่รู้จักจอมปลวกก็อาจเป็นไปได้ครับ

    มีรูปต้นไม้ชนิดหนึ่งมาฝาก
    ในวันไปวัดสวนร่มบารมี อำเภอพรหมพิราม เมื่อ๑มิถุนายน๒๕๕๔ ที่ผ่านมา
    วันนั้นไม่มีจังหวะได้ถามเจ้าของสถานที่
    แต่พิจารณาดูจากภาพนี้แล้ว คล้ายไม้มะเลียบของชาวบ้านหนองบัวจังเลย(ถ้าใช่ไม้มะเลียบ ก็เป็นไม้พื้นบ้านที่หายากอีกชนิดหนึ่งในตอนนี้-ไม้มะเลียบนี้สามารถนำไปทำเป็นอาหารได้ด้วย)

    สงสัยจะต้องหาวิธีส่งคำถามไปที่วัดสวนร่มบารมีเสียแล้วละ เพื่อนำคำตอบมาเฉลยให้ทราบต่อไป

    ผู้อ่านท่านใดทราบก็แบ่งปันความรู้กันได้ หรือท้องถิ่นของท่านมีไม้นี้อยู่ แต่เรียกอีกชื่อหนึ่ง ก็ช่วยบอกชื่อท้องถิ่นของไม้นี้มาให้ทราบด้วยก็จะยิ่งดี

                      

                    

    เมื่อช้างเจอต้นอ้อยช้าง

    ๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ มีคณะการแสดงช้างจากภาคอีสาน คณะหนึ่งมาพักที่วัดศรีโสภณ มีช้างทั้งหมดสามเชือกด้วยกัน ทำการแสดงวันละสองรอบสองแห่ง ปิดวิกล้อมผ้าเก็บค่าเข้าชมเด็ก๒๐บาทผู้ใหญ่๓๐บาท(กะว่าไปดูสักหน่อยพอถึงเวลาก็ลืมเสียสนิทเลย)

    ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าของช้างก็นำช้างมาอาบน้ำที่หน้ากุฏิอาตมา ซึ่งบริเวณนี้ก็มีต้นอ้อยช้างอยู่ด้วย เห็นเขาอาบน้ำให้ช้างอยู่ก็เลยไปหยิบกล้องมาถ่ายภาพ

    เมื่อเขาไปแล้วก็นึกขึ้นได้ว่าเสียดายที่ลืมถามโยมว่ารู้จักต้นอ้อยช้างไหม ความสงสัยที่ว่าช้างกินอ้อยช้างไหม ก็เลยยังเป็นข้อสงสัยต่อไป(แต่หลวงตาในวัดท่านเคยยืนยันว่าช้างกินอ้อยช้างแน่นอน)

    ข้อกังขาข้างต้นน่าจะหมดไปจริงๆด้วย เพราะไปได้ข้อมูลจากหลวงพ่อพร ภิรมย์ เจ้าของเพลงชมดง ในบทเพลงชมดงนั้น มีเนื้อหาของเพลงท่อนหนึ่งที่กล่าวถึงต้นอ้อยช้างไว้ ดังนี้

    "...โน่นช้างชนกันแย่งต้นอ้อยช้าง แทงฉาดเลือดฉานช้างดุพอใช้..."

    ข้อมูลในเพลงชมดงของพร ภิรย์นี้ เลยไปสอดคล้องกับคำบอกเล่าของหลวงตาที่ว่าช้างใช้งาแทงเปลือกอ้อยช้าง แล้วก็ลอกเปลือกมากิน

    ขอบคุณหลวงตาและหลวงพ่อพร ภิรมย์
    สำหรับท่านที่สนใจฟังเพลงชมดงแบบเต็มๆทั้งเพลง ก็เชิญเข้าไปฟังได้ที่เว็บนี้
    http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3613.15

                             
                                     ยืนและนอนอาบน้ำใกล้ๆต้นอ้อยช้างหน้ากุฏิ
                      
                      ยืนคอยเตรียตัวอาบน้ำ
                     
                      ยืนเมื่อย นอนอาบดีกว่า
                     
                     
                    

                               
                                ดูภาพนี้แล้ว อาจจะเข้าใจว่าช้างกำลังจะเดินไปหาต้นอ้อยช้างหรือเหมือนกับว่าช้างทำท่าจะแทงต้นอ้อยช้าง เหมือนเนื้อหาในเพลงชมดง จริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะเท่าที่สังเกตช้างยืนนิ่งๆ ไม่มีทีท่าสนใจต้นอ้อยช้างอ้อยที่อยู่ใกล้ๆเลย

    เพื่อให้ดูสมจริงสมจังและไปกันได้กับเนื้อหาบทเพลงชมดงของพร ภิรมย์ ก็เลยนำภาพช้างมาแสดงประกอบบทเพลงซะหน่อยนึง ถือว่าเป็นมิวสิคประกอบเพลงก็แล้วกัน

                                                             (๑)อดีต

                            
                        
                         (๒) ปัจจุบัน อาตมาถ่ายอาทิตย์ที่แล้ว
                               
    เมื่อวันเสาร์(๑๑มิถุนายน๒๕๕๔)ที่ผ่านมา นายณรงค์ งามขำนักเรียนม.๔มาที่วัด
    มาคราใด ก็มักได้ว่านติดมือไปทุกครั้ง เธอผู้นี้เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องราวเก่าๆ อยู่มาก
    และช่วงนี้กำลังสะสมว่านมงคล หลวงตาในวัดที่ท่านพอมีว่านอยู่บ้าง ทุกรูปล้วนสนับสนุนเธอ และก็เต็มใจให้กันทั้งนั้น

    ก่อนกลับบ้านขอแรงให้ช่วยวาดภาพ วาดได้หลายภาพ
    วันนี้ของลงภาพคนเกี่ยวข้าว

    ก่อนพ.ศ.๒๕๒๓ที่หนองบัวไม่มีรถเกี่ยวข้าวเลย
    ที่อื่นคงมีแต่ในหนองบัวอาตมาไม่เห็นและไม่รู้จักรถเกี่ยวข้าว

    ทำนากี่สิบไร่ หรือเกือบร้อยไร่ ก็ใช้แรงงานคนอย่างเดียวเท่านั้น(เกี่ยวข้าว) เกี่ยวกันทั้งวัน หลังขดหลังแข็ง ปวดหลังอย่าบอกใครเชียว

    อาทิตย์ที่แล้วเห็นรถเกี่ยวข้าวในนาข้างวัด พื้นที่สักสองสามไร่ ใช้เวลาไม่นานเลยจริงๆ
    ถ้าใช้คนเกี่ยวเห็นท่าจะสักสองสามวัน(สองคน)

    ดูแล้วก็สะดวกดี แต่อดสงสัยไม่ได้ว่าชาวนารุ่นใหม่(ที่พกโทรศัพท์ แทนพกเคียว)จะเกี่ยวข้าวเป็นกันไหมหนอ

    คนเลี้ยงช้าง.. การเกี่ยวข้าว(ยุคเก่า) เป็นอาชีพที่ชาวเกษตรกรไทย ดำรงวิถีชีวิตแบบนี้มาช้านาน..ผมชอบบรรยากาศแบบเก่าๆ ครับพระอาจารย์ (รู้สำนึกความเป็นลูกชาวนา) สาธุ.  

    เจริญพรโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศีรจันทร์

    • อาตมาขออนุญาตใช้เวทีนี้ถามข้อสงสัยสักเล็กน้อยครับ
    • กลุ่มผู้ริเริ่มและผู้เสนอความคิด จัดเป็นสมาชิกบล็อกเวทีคนหนองบัวหรือเปล่าครับ
    • การเป็นสมาชิกบล็อกเวทีคนหนองบัว ดูจากสถิติผู้อ่านและผู้เขียนสนทนาในเวทีคนหนองบัว ได้หรือไม่ อ่าน: 28754 
      ความเห็น: 1419(16 มิ.ย. 54 เวลา 21.08 น.)
    • และถ้าจะแบ่งออกเป็นกลุ่มตัวอย่างได้อย่างไรครับ
    • เจริญพร ขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้   

    ตามอ่านมาเรื่อย ๆ ครับ

    การเมืองกำลังเข้มข้น คนหนองบัวบ้านเราก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นเรื่องการเมือง

    สมัยเด็ก ๆ เดินผ่านหลังอำเภอและแฟลตตำรวจไปโรงเรียน ผ่านบ้าน พ.ต.ท.ชม จิตรชนะ (จำได้แม่นยำมาก) เป็นประจำ อย่างน้อยก็ 3 ปีที่เรียนหนองบัว ท่านผู้นี้ชาวบ้านเรียกท่านว่า ผู้กองชม ที่จำได้ก็เพราะว่าท่านสมัคร ส.ส.ทุกครั้งที่มีการสมัครรับเลือกตั้ง จำไม่ได้ว่าสังหัดพรรคไหน แต่ไม่เคยได้ยินว่าท่านได้เป็นส.ส.สักที่

    ที่ได้ยินมาตั้งแต่เด็กมีแต่ นายสวัสดิ์ คำประกอบ นายวสันต์ อินทรสูตร ......ฯลฯ

    แต่ปีนี้คนหนองบัวบ้านเรา จะได้เป็นส.ส.สมัยที่สองหรือไม่ ก็มาลองลุ้นกันดูครับ

    ที่ว่าคนหนองบัวนั้น ......หนองบัวจริง ๆ ครับ เพราะ ส.ส.คนที่ว่านี้ เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของคนพื้นเมืองเดิมในชุมชนหนองบัวทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ แต่มาเกิดที่บ้านห้วยปลาเน่าหรือบ้านห้วยวารี บ้านตา/ยายก็อยู่ริมคลองห้วยปลาเน่า ระหว่างวัดห้วยปลาเน่าเหนือกับวัดห้วยน้อย ............พ.ต.ท.นุกูล แสงศีริ พรรคเพื่อไทยครับ ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว

    นอกจากนั้นแล้วยังมีผู้สมัครอีกหลายท่าน หลายพรรคครับ แต่เป็นคนถิ่นอื่นจึงไม่ค่อยทรายประวัติเท่าใดนัก

    ทราบแต่ว่า ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งใหม่ มีดังนี้ครับ (ถ้าทราบแล้วต้องขออภัยด้วย)

    หนองบัวเราอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 4 ของจังหวัดนครสวรรค์ ประกอบด้วย 2 อำเภอครึ่ง ได้แก่ หนองบัว ไพศาลีและอำเภอท่าตะโกเฉพาะ 6 ตำบลต่อไปนี้คือ สายลำโพง วังใหญ่ พนมรอก พนมเศษ ดอนคา และทำนบ

    เชิญชวนทุกท่านนะครับ...... 3 กรกฎาคม 2554.... เลือกคนที่รัก เลือพรรคที่ชอบ เพื่อเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยครับ

    อ้อ......ที่ประเทศลาว เพิ่งเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง พระภิกษุ สามเณร แม่ชี ฤาษี ก็มีสิทธิ์เลือกตั้ง.....จริง ๆ ครับ.

    นำภาพรุ้งกินน้ำที่วัดศรีโสภณมาฝากเวทีคนหนองบัว

    เมื่อวานนี้(๑๘มิถุนายน๒๕๕๔)ตอนเย็นฝนตก เวลา ๑๗.๓๔ นาที มีปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำที่วัดศรีโสภณ ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ในขณะนั้นท่านพระครูฉันทธรรมโสภณ(พระอาจารย์มะลิ)เจ้าอาวาส ได้เห็นปรากฏการณ์นั้นพอดี จึงไปนำกล้องมาถ่ายภาพ เลยได้ภาพสวยๆสองสามภาพดังที่เห็น(เพิ่งรู้ว่าท่านเป็นนักถ่ายภาพที่เลือกมุมได้สวยงามดี)

        
         รุ้งกินน้ำ : ศาลาการเปรียญวัดศรีโสภณ เวลา ๑๗.๓๔ นาที ถ่ายโดยเจ้าอาวาส
       
        รุ้งกินน้ำ : ศาลาการเปรียญวัดศรีโสภณ เวลา ๑๗.๓๔ นาที ถ่ายโดยเจ้าอาวาส
       
        รุ้งกินน้ำ : หอระฆังวัดศรีโสภณ เวลา ๑๗.๓๕ นาที ถ่ายโดยเจ้าอาวาส

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล ท่านพระอธิการโชคชัย
    สวัสดีคุณสมบัติและทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    • คึกคักน่าดูเลยนะครับ แต่ชุดนี้มีแต่เรื่องราวและของใหญ่ๆทั้งนั้นเลยนะครับเนี่ย ทั้งเรื่องป่า ภูเขา ช้าง รถเกี่ยวและนวดข้าว
    • ตรงที่ท่านพระอธิการโชคชัยถามนั้น หากให้ได้ความเข้าใจและถูกต้อง ผมขอแนะนำให้ถามคุณมะปรางเปรี้ยว หรือท่านอื่นๆที่มีส่วนได้ร่วมงานใกล้ชิดกับ gotoknow มากกว่าดีกว่าไหมครับ เช่น ดร.ขจิต คุณอาร์ม คุณเอกจตุพรฯ
    • ส่วนผมนั้นก็เป็นเพียงสมาชิกผู้ใช้เหมือนกับพระคุณเจ้านั่นแหละครับ ถึงแม้จะได้เห็นหลายครั้งที่ gotoknow แจ้งแนวนโยบายว่าทุกคนเป็นเจ้าของและร่วมกันสร้างระบบ gotoknow แต่โดยความรู้ ความเข้าใจ และความเป็นผู้ริเริ่มใกล้ชิด ก็คงเป็นทีมของ ดร.ธวัชชัย ดร.จันทวรรณ และคนทำงานที่เป็นลูกศิษย์ในทีมต่างๆของท่านคือคุณมะปรางเปรี้ยวและเพื่อนๆ...นี่ตามความเข้าใจของผมและเท่าที่ทราบนะครับ
    • ในบล๊อกเวทีคนหนองบัวนั้น เป็นเพียงพื้นที่ข่าวสาร สื่อ และแหล่งที่มีความแน่นอนระดับหนึ่ง ที่ทุกท่านคนหนองบัวและคนอื่นๆทั้งในและต่างประเทศ จะสามารถมาสนทนา เขียนความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และทรรศนะต่างๆด้วยกัน โดยมีเรื่องราวของหนองบัวเป็นแกนกลาง แต่ก็เป็นเพียงหัวข้อที่เปิดเวทีรองรับกลุ่มความสนใจเท่านั้น ผู้ที่จะเข้ามาคุยได้ก็จะต้องเป็นสมาชิกของ gotoknow ไม่ใช่สมาชิกเวทีของคนหนองบัวน่ะครับ ความเป็นสมาชิกของเวทีคนหนองบัวคงจะเป็นในทางปฏิบัติบนฐานความเป็นคนหนองบัวและคนที่เข้ามาเขียนพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็เป็นเพียงเรื่องหนึ่งในอีกหลายเรื่องที่เขาเข้ามาคุยใน gotoknow เท่านั้นน่ะครับ
    • ในส่วนของผู้มาสนทนาในเวทีคนหนองบัวนั้น มีบ้างเหมือนกันที่เข้ามาอ่านและสนทนาโดยไม่ผ่านการลงทะเบียนและเข้าสู่ระบบโดยลงทะเบียนผ่าน gotoknow อีกทั้งในหัวข้อย่อย ผมก็ไม่ได้เปิดให้ลงทะเบียนเป็นผู้มีรหัสเข้าระบบเป็นผู้เขียนร่วม เคยให้น้องๆสอนให้และทำเป็นอยู่เหมือนกันครับ แต่ลืมไปแล้ว
    • ในความเห็นผมแล้ว หากเป็นแหล่งอื่นๆนอกเหนือจากเวทีคนหนองบัวแล้ว ผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกนั้น ไม่ควรเข้าไปแสดงความคิดเห็น แต่ในเวทีคนหนองบัวนั้น เป็นบล๊อกที่ผมต้องดูแล อีกทั้งนอกจากเปิดเป็นเครื่องมือและวิธีทำงานเพื่อใช้งานตามที่ต้องการต่างๆของผมแล้ว ก็ต้องการให้เป็นแหล่งหนึ่งที่คนหนองบัวและคนอื่นๆที่เข้ามาด้วยความสนใจเรื่องของหนองบัว จะได้มีแหล่งให้ค่อยๆเรียนรู้เพื่อเข้าถึงโลกแห่งการเรียนรู้ในระบบออนไลน์ ผมเลยยืดหยุ่นให้บ้าง แต่หากเป็นการแสดงความคิดเห็นและเขียนเรื่องราวไปเกี่ยวข้องกับคนอื่น ก็จะขอลบออกเพราะมันทำให้ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเขียน
    • การยืดหยุ่นให้อย่างนี้ จะทำให้คนหนองบัวและชาวบ้านทั่วๆไปไปพอได้มีแแหล่งค่อยๆเรียนรู้อย่างมีพี่เลี้ยงและคนคอยช่วยพาเดิน พอมีความแคล่วคล่องและทำได้เองแล้ว ก็จะค่อยๆหาวิธีสมัครเป็นสมาชิกและทำสิ่งต่างๆเป็นของตนเองไปเองได้น่ะครับ
    • ในส่วนของจำนวนผู้อ่านกับจำนวนความเห็นนั้น หากจะทำวิจัยและศึกษา ก็เห็นจะใช้ไม่ได้อย่างเปป้นระบบน่ะครับ
    • ตรงเครื่องนับจำนวนที่มีธงชาติและบอกจำนวนผู้เข้าชมจากประเทศต่างๆนั้น ใช้จำแนกผู้เป็นสมาชิกและลักษณะการเข้ามาอ่านของคนที่เป็นสมาชิกกับคนที่เข้ามาใหม่ได้ครับ แต่ปัญหาก็คือผมเพิ่งจะติดตั้งไว้หลังจากท่านพระอาจารย์มหาแลกับผม รวมทั้งอีกหลายท่านได้เปิดหัวข้อเวทีคนหนองบัวและคนก็เข้ามาอ่าน-สนทนากันไปมากมายผ่านไปแล้วเป็นครึ่งปีเลยน่ะสิครับ
    • ลองค้นหาวิธีวิจัยในอินเทอร์เน็ตนะครับ น่าจะมีข้อแนะนำนะครับว่าเขามีวิธีการต่างๆอย่างไร

    เจริญพรโยมอาจารย์ ดร.วิรัตน์

    ขอบพระคุณครับ.. ที่โยมกรุณาให้ข้อมูล และแรงบันดาลใจ ในการศึกษาค้นคว้าฯ: กรณีการจัดการความรู้เวทีคนหนองบัวผ่านเว็บบล็อกโกทูโน..  อาตมาเห็นแนวทางการศึกษาฯเพิ่มมากขึ้น

    เจริญพร.

    กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ

    • ดูประสบการณ์ของพระคุณเจ้า รวมทั้งกิจกรรมที่ท่านได้ทำเชื่อมโยงกับการสร้างความเป็นชุมชนในมิติต่างๆ แล้ว ก็นับว่าวัตถุดิบเยอะนะครับ
    • งานวิจัยเดี๋ยวนี้ มุ่งให้เป็นการวิจัยที่ได้ใช้แก้ปัญหาต่างๆได้ไปด้วยระหว่างกระบวนการวิจัย ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่มีการส่งเสริมให้ทำกันมากขึ้นนะครับ
    • รูปแบบหนึ่งที่อาจจะทำได้ก็คือ การมีกิจกรรมทำงานเชิงสังคมจริงๆแล้วก็มีบันทึก เก็บข้อมูล วิเคราะห์แล้วก็ตั้งคำถามย่อยๆร่วมกัน แล้วก็สะท้อนกลับไปสู่วงจรปฏิบัติการ กลับไปกลับมาสักระยะหนึ่ง จากนั้นก็นำเอาข้อมูลทั้งหมดมาสังเคราะห์หาบทสรุป แล้วก็วิเคราะห์ในเชิงเหตุปัจจัย อย่างนี้ก็เป็น design ที่น่าสนใจครับ
    • ในเวทีคนหนองบัวนี่ผมว่ามีข้อมูลพื้นฐานให้ทำได้พอสมควรนะครับ
    • ขอให้กำลังใจครับผม

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลและทุกท่านครับ

    เมื่อวันสองวันนี้ ทางโรงเรียนหนองบัวได้รับการตรวจเยี่ยมจากคณะทำงาน สมศ.ซึ่งเป็นกลไกติดตามดูแลเรื่องการประกันคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา น้องผมซึ่งเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนด้วยได้เล่าให้ฟังว่าทางโรงเรียนได้มีโอกาสนำเอาหนังสือเรื่องราวท้องถิ่นหนองบัวที่ท่านพระคุณเจ้ากับผมดึงเรื่องราวที่คนหนองบัวและเครือข่ายเรียนรู้ออนไลน์ช่วยกันบันทึกถ่ายทอดไว้ออกมาจากบล๊อกเวทีคนหนองบัวแล้วทำเป็นเล่ม รวมทั้งสื่อนิทรรศการที่พวกเราเวทีคนหนองบัวได้ไปจัดนิทรรศการร่วมกับคณะทำงานงานงิ้วที่เกาะลอย ไปนำเสนอให้กับคณะทำงานของ สมศ.ได้เห็นถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับท้องถิ่นของการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของโรงเรียน

    จึงนับว่าแรงกายแรงใจ รวมทั้งการทำทานด้วยงานทางปัญญาและการสร้างความรู้ของทุกท่านในเวทีคนหนองบัว นอกจากจะช่วยเป็นสื่อให้กับชุมชนบ้านเกิดเมืองนอน และเผยแพร่สิ่งดีๆแก่สาธารณะแล้ว ก็ได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหลาน อีกทั้งช่วยเสริมกำลังคุณครูและคนทำงานสร้างเด็กๆ เป็นกำลังให้กับโรงเรียน ทำให้ระบบสร้างความเป็นส่วนรวมของหนองบัวมีความเข้มแข็ง สามารถริเริ่มและทำสิ่งต่างๆด้วยการระดมพลังความร่วมมือจากภายนอกของเราได้มากยิ่งๆขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีที่เมื่อทุกท่านได้ทราบก็จะได้มีกำลังใจและมีความยินดีไปด้วยนะครับ

    ขอบคุณครูวิกานดา บุญเอก ครูโรงเรียนหนองบัวที่แจ้งข่าวสารชิ้นนี้ให้ทราบ
    ข่าวนี้บล็อกเกอร์หนองบัวหลายท่านคงดีใจภูมิใจ ที่งานสร้างสรรค์ชุมชนบ้านเกิดชุดนี้ ได้มีโอกาสไปเปิดตัวในสถานศึกษา ซึ่งบล็อกเกอร์หนองบัวหลายท่านก็เป็นศิษย์เก่าของสถานศึกษาแห่งนี้ด้วย 

    ส่วนคนที่ไม่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนแดง หนองคอกหนองบัวอย่างอาตมา ก็พูดได้คำเดียวว่าดีใจอย่างแรง

    พระคุณเจ้าที่ทำวิจัยชุมชนหนองบัว เล่าให้ฟังว่ามักถูกอาจารย์ที่ปรึกษาถามว่า เรื่องราวข้อมูลชุมชนเวทีคนหนองบัว มีใครนำสื่อ นวัตกรรมการศึกษาชุมชน(ผลิตภัณฑ์) ไปใช้ ไปทดลองใช้บ้าง

    ท่านก็เล่าให้ฟังว่าท่านได้ตอบอาจารย์ไปว่าตัวท่านเอง ได้นำสื่อจากเวทีคนหนองบัวพร้อมทั้งข้อมูลอีกหลายเรื่องไปใช้ในเวทีอบรมทั้งเยาวชนผู้นำชุมชนมาหลายเวทีแล้ว
    ทั้งเยาวชนและชาวบ้านต่างก็ชอบสื่อชุดนี้เพราะได้เรียนรู้เรื่องชุมชนร่วมกัน

    ปีนี้โรงเรียนหนองบัวรับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ.โดยโรงเรียนได้นำข้อมูลชุมชน จัดทำบอร์ดนำเสนอข้อมูลสื่อเวทีคนหนองบัว หนังสือชุดองค์ความรู้ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ชุมชน

    นี้คือการนำสื่อนวัตกรรมชุมชนไปใช้ล่าสุด และจะเป็นข้อมูลช่วยให้พระคุณเจ้าผู้ทำวิจัยนำไปใช้อ้างอิงได้

    ขอส่งข่าวสารนี้ไปถึงพระคุณเจ้าด้วยก็แล้วกัน

    เมื่อวาน(๒๓มิถุนายน๒๕๕๔)ได้รับหนังสือจากท่านพระครูโสภณปริยัติสุธี(ศรีบรรดร ถิรธมฺโม)ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา

    ที่นำมาบอกกล่าวในที่นี้ ก็เพราะคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ เป็นแรงบันดาลใจให้คนหนองบัวและคนทั่วๆไป ที่คิดจะทำงานชุมชนท้องถิ่นบ้านเกิดได้มีกำลังใจ ด้วยมีคนทำให้ดูสามารถนำมาเป็นแบบอย่างได้
    ท่านกล่าวว่า ตอนทำงานชุมชนใหม่ๆเมื่อสิบกว่าที่แล้ว มีแต่ความโดดเดี่ยว ทำคนเดียว

    ทำถึงขนาดใช้นามโยมพ่อโยมแม่มาตั้งชื่อเป็นกองทุน ใช้ทุนส่วนตัวในการจัดพิมพ์หนังสือชุมชนเผยแพร่แบบให้เปล่า จำหน่ายจ่ายแจก ให้ชุมชนสถานศึกษาเยาวชนประชาชนจังหวัดพะเยา(ข้อมูลรายจ่ายค่าพิมพ์หนังสือ ที่บันทึกไว้ เป็นจำนวนเงินถึงล้านกว่าบาท ในเวลาสิบกว่าปี)

    ด้วยปณิธานอันมุ่งมั่นจริงจังว่า "เพื่อความเจริญแพร่หลายแห่งวัฒนธรรมเมืองพะเยา และความเจริญงอกงามแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น"

    ท่านพระครูนับเป็นกัลยาณมิตรทางไกล ที่ยังไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย รู้แต่เพียงโดยการติดตามอ่านบันทึกของท่านในเว็บโกทูโนนี้เอง เมื่อสักสองเดือนที่แล้ว

    ที่รู้สึกประทับใจท่านพระครูก็เพราะได้เห็นผลงานของท่านที่นำมาเผยแพร่นั้น ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเรื่องราวชุมชนบ้านเกิดของท่านเอง คือจังหวัดพะเยา ข้อมูลประวัติชุมชนเมื่อ๙๐๐ ปีที่แล้ว ตั้งแต่พะเยาเป็นอาณาจักรหนึ่งในสมัยโบราณคืออาณาจักรภูกามยาว(รัฐพะเยาในอดีต)

    ท่านได้ตอบคำถามอาตมาที่ถามไปว่า ทำอย่างไรจึงได้ข้อมูลชุมชนทุกตำบลทุกหมู่บ้าน
    ท่านตอบว่าท่านไปเก็บข้อมูลทั้งหมดทั้งจังหวัดพะเยาด้วยตัวท่านเอง งานชิ้นนี้เป็นงานที่ใช้เวลามากที่สุดหลายปี ใช้ทุนมากที่สุดด้วย

    ผลงานที่เผยแผ่แล้วจำนวน ๑๔ รายการ รวม ๕๓,๗๐๐ เล่ม รวมทั้งสิ้นมากกว่าหนึ่งล้านบาท

    หนังสือที่ได้รับเมื่อวานนี้มีสามเล่มคือ
            
             เล่มนี้เป็นการนำเรื่องของชื่อบ้านนามเมืองของเมืองพะเยามาเล่าขยายสู่กันฟัง
    นำเสนอทั้งหมด ๗ อำเภอ ๒ กิ่ง ๖๘ ตำบล ๘๑๓ หมู่บ้านในจังหวัดพะเยา(๒๕๔๘)
            
             เล่มนี้นิทานพื้นบ้านเมืองพะเยา เนื้อหาได้นำเอานิทานพื้นบ้านที่อยู่ในเมืองพะเยา
    มาเล่าจนเป็นตำนานของพะเยาโดยเฉพาะ ทั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนิทานล้านนาหรือจังหวัดอื่นๆมีทั้งหมด๙เรื่อง(ฉบับที่เห็นนี้ไม่ใช่ฉบับเต็ม เป็นฉบับการ์ตูน สำหรับเด็กเรื่อง ตำนานช้างปู้ก่ำงาเขียว และน้ำแม่ร่องช้าง)
                   
                    เล่มนี้เนื้อหาเกี่ยวกับสังคมทางการเมืองการปกครองของรัฐพะเยา หรืออาณาจักรภูกามยาว

    ท่านที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านบันทึกของท่านพระครูโสภณปริยัติสุธี(ศรีบรรดร ถิรธมฺโม)ได้ที่นี่
    http://www.gotoknow.org/profiles/users/sribandorn

    เจริญพรโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ ครับ

             ขออนุโมทนาบุญ ขอบพระคุณโยมอาจารย์ที่ให้กำลังใจ และแนะนำแนวคิดดี ๆ งานศึกษาวิจัย ฯ การพัฒนารูปแบบการจัดการความรู้ กรณีการจัดการความรู้เวทีคนหนองบัวผ่านเว็บบล็อก GotoKnow คืบหน้าไปตามลำดับ ครับ อยู่ในช่วงอาจารย์ที่ปรึกษาอ่านงานอยู่ครับ และโอกาสหน้าอาตมาคงจะรบกวนโยมอาจารย์อีกครับ. เจริญพร

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลและท่านพระอธิการโชคชัยครับ

    • เห็นผลงานและเรื่องราวของท่านพระครูโสภณปริยัติสุธีแล้วแสนจะประทับใจและตื่นเต้นมากครับ
    • นี่เป็นบทบาทของความเป็นคลังทางปัญญาและขุมความรู้ชุมชน ขุมความรู้ท้องถิ่น ที่วัดและพระสงฆ์เคยมีบทบาทต่อสังคมไทยมากในยุคที่ความเป็นชุมชนเกษตรกรรมและชุมชนหมู่บ้านยังเป็นลักษณะส่วนใหญ่ของสังคม แล้วต่อมาก็เลือนหายไปเมื่อสังคมต่างๆเคลื่อนเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ ซึ่งมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะสามารถสืบสานปูมท้องถิ่น และยังพอมีบทบาทเป็นแหล่งศิลปวิทยาการของชุมชนในบางด้านที่พระสงฆ์จะมีฐานที่เข้มแข็ง ซึ่งเรื่องนี้เราเคยคุยกันมาพอสมควรในเวทีคนหนองบัว
    • เห็นงานและร่องรอยที่สะท้อนถึงเจตนารมย์ต่างๆแล้ว ต้องกราบเลยนะครับ แค่ได้เห็นเป็นความงดงามของวิถีแห่งปัญญาอย่างนี้ก็พลอยได้มีกำลังใจไปด้วยนะครับ
    • ผมเคยไปที่วัดศรีโคมคำ เมืองพะเยานี้ ครั้งเดียว แต่แปลกว่าผมจำภาพหลายอย่างได้เป็นอย่างดีครับ นึกถึงบรรยากาศของตัวเมืองที่ดูเรียบง่าย ธรรมมาสน์ที่สะท้อนฝีมือเชิงช่างของท้องถิ่นได้งามจริงๆ
    • นึกถึงกลุ่มครูประถมที่อำเภอดอกคำใต้ที่ผมกับอาสมัครของมูลนิธิสิกขาเอเชียเคยไปกินนอนอยู่ในโรงเรียนเพื่อเวิร์คช็อปดว้ยกัน พัฒนาสื่อ วิธีเล่านิทาน วิธีสอน วิธีทำห้องดาราศาสตร์และห้องสอนวิทยาศาสตร์ วิธีออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยกิจกรรม เมื่อสองสามวันมานี้ผมเพิ่งนำภาพการ์ตูนและกล่องฉายภาพแบบทำมือซึ่งผมกับกลุ่มที่เวิร์คช็ิปครั้งนั้นทำขึ้น แล้วผมมีโอกาสใช้สื่อกับเครื่องมือเทคโนโลยีการศึกษาแบบทำกันเองชุดนั้นอบรมให้ครูกับคนทำงานด้านการศึกษาของประเทศลาวครั้งหนึ่งด้วย ผมทิ้งสื่อที่ผมเคยใช้ไปเกือบหมดเพราะชีวิตต้องเร่ร่อนไปหลายที่ แต่ชุดนี้ยังพอมีรูปวาดหลงเหลือเก็บไว้ดูเป็นที่ระลึก
    • ท่านสามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับท่านพระอธิการโชคชัยได้เป็นอย่างดีเลยนะครับเนี่ย
    • แล้วก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่น่าจะเป็นครูของเวทีคนหนองบัวได้เป็นอย่างดีอีกด้วยเลยนะครับ

    วันนี้(๒๘มิถุนายน๒๕๕๔)ก่อนเที่ยงไปส่งพัสดุที่ไปรษณีย์วังทอง
    ออกจากวัด ผ่านเส้นทางถนนหน้าเรืองจำกลางพิษณุโลก ข้างถนนหน้าเรือนจำมีคนขายพืชผัก ผลไม้หลายเจ้า มีอยู่เจ้าหนึ่งที่ขายสะตอและลูกเนียง ด้วยช่วงนี้ก็เป็นฤดูที่สะตอและลูกเนียงออกผลพอดี

    โยมชุติมาที่อาสาพาไป ท่านเป็นคนภาคใต้แต่มาอยู่พิษณุโลกนานแล้วเกือบสี่สิบปี
    พอเห็นมีสะตอลูกเนียงวางขายอยู่ ก็จอดรถลงไปซื้อทันที

    ผักต้นฤดูนั้นมีน้อย มีคนนิยมมาก ก็เลยขายดี ราคาก็จึงแพงตามไปด้วย(ฝักละ๑๐บาท)
    ชาวใต้บอกว่าทั้งสะตอและลูกเนียงของภาคเหนือ(วังทองพิษณุโลก)นั้น จะแตกต่างจากสะตอและลูกเนียงของภาคใต้ทั้งด้านรสชาติ,เนื้อและกลิ่น คือสะตอภาคใต้จะเนื้อนิ่ม-เนื้อแน่น,กรอบ,กลิ่นฉุน ลูกเนียงก็เช่นเดียวกัน เนื้อแน่น กรอบ รสมัน

    ส่วนสะตอภาคเหนือเนื้อจะแข็ง ไม่กรอบ กลิ่นไม่ฉุน ลูกเนียงภาคเหนือเนื้อจะเหนียว กลิ่นฉุนน้อยกว่าลูกเนียงทางใต้ เนื้อไม่กรอบ

    ที่แตกต่างกันอีกอย่างหนึ่งระหว่างคนเหนือกับคนใต้ในเรื่องการรับประทานลูกเนียงก็คือคนใต้นิยมกินลูกเนียงสดๆดิบๆ ส่นคนเหนือไม่กินสดๆ กินชนิดต้มสุกอย่างเดียว(สดๆจะมีกลิ่นฉุน)

    ถามคนที่กินสะตอกินลูกเนียงครั้งแรก จะได้คำตอบคล้ายๆกันว่าขม,ฝาด ส่วนอาตมานั้นอยู่ภาคใต้หลายปี ช่วงนั้นก็ฉันบ่อยจนลืมความขมความฝาดไปหมดแล้ว

      
                     

    วันนี้โยมมาถวายอาหารที่กุฏิ เห็นสะตอวางอยู่คู่กับลูกเนียง ถามว่าลูกอะไรนะอาจารย์ บอกว่าลูกเนียง เขาก็หัวเราะแล้วถามว่าเอามาทำอะไร เขาบอกว่าสะตอนะรู้จัก แต่ลูกเนียงนั้นไม่เคยเห็นเลย

    เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาอ่านรู้จักลูกเนียงผักพื้นบ้านได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็เลยไปหาข้อมูลมาเพิ่มเติมให้ ดังนี้

                                        เนียง

    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Archidendron jiringa Nielsen 
     ชื่อพ้อง : Pithecellobium lobatum Benth.,
    P. jirniga (Jack) Prain ex King
    วงศ์ : Fabaceae
    ชื่ออื่นๆ : ขาวแดง คะเนียง ชะเนียง ชะเอียง เจ็งโกล ตานิงิน เนียง เนียงใหญ่ เนียงนก ผักหละต้น พะเนียง มะเนียง มะเนียงหย่อง ยิริงหรือยือริง ยินิกิง หย่อง
    ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เนียงเป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง 10-15 ม. เปลือกต้นสีเทาหรือน้ำตาลอ่อนปนเทา เรือนยอดเป็นพุ่มกลมใหญ่ ดอกสีขาว ขนาดเล็ก ออกเป็นช่อ ผลเป็นฝักแบนเป็นเกลียวไปทางเดียวกัน คล้ายรูปเกือกม้า ผิวสีน้ำตาลคล้ำหรือน้ำตาลอมม่วง เมล็ดมีลักษณะ คล้ายเมล็ดถั่ว 2 ฝา

    จริงๆ แล้วลูกเนียงหรือเมล็ดเนียง เป็นผักที่ นิยมรับประทานกัน โดยเฉพาะทางภาคใต้ของไทย เรา ซึ่งนิยมรับประทานเป็นผักสด ใช้ลูกอ่อนปอก เปลือกจิ้มน้ำพริก หรือรับประทานร่วมกับอาหารรส เผ็ด หรือบริโภคลูกเนียงเพาะ (นำลูกเนียงไปเพาะในฟางจนต้นอ่อนงอก) ลูกเนียงดอง หรือทำให้สุก โดยต้มหรือย่าง ลูกเนียงนับเป็นผักที่มีคุณค่าทาง อาหาร คือ มีโปรตีน 7.9 กรัม % คาร์โบไฮเดรท 36.2 กรัม % ไขมัน 0.2 กรัม % วิตามินบี 1 บี 2 วิตามินซี กรดโฟลิค และแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก มีกรดอะมิโน 18 ชนิด และมี กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบทั้ง 8 ชนิด โดย ทั่วไปคนส่วนมากรับประทานลูกเนียงแล้วมักไม่เกิด อาการผิดปกติใดๆ มีบางคนเท่านั้นที่รับประทานลูก เนียงแล้วเกิดอาการพิษ แม้แต่ในสัตว์ทดลองก็ให้ผล ผลแตกต่างกัน เช่น ในรายงานการวิจัยของ มงคล โมกขะสมิต ให้สุนัขกินลูกเนียงดิบ 8-9 ลูก/วัน พบ ว่าสุนัขมีปริมาณปัสสาวะ 24 ชม. ลดลงเล็กน้อย และไม่มีความเป็นพิษต่อไตของสุนัขเลย
    มีรายละเอียดอื่นๆอีกสามารถเข้าไปอ่านได้ที่...
    http://www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/poison/lukniang.htm

                         
                         

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล ท่านพระอธิการโชคชัย
    และสวัสดีทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    วันนี้มีข่าวที่น่ายินดีมาบอกต่อแก่ทุกท่านนะครับ คือ ทางคุณครูสมัคร รอดเขียน คณะครู และทีมผู้บริหาร ของโรงเรียนหนองบัว ได้ติดต่อประสานงานมายังผมว่า ทางคุณครูของโรงเรียนหนองบัว และโรงเรียนมัธยมอีกหลายโรงของจังหวัดนครสวรรค์ประมาณ ๗๐-๘๐ ท่าน ได้รวมตัวกันและมีความสนใจที่จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อศึกษาและพัฒนากระบวนการเรียนการสอน ที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและการมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนเพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้จากความเป็นจริง รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคสังคมของท้องถิ่น ตลอดจนทรัพยากรทางความรู้และทุนทางสังคมวัฒนธรรมของท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมต่อการพัฒนาการศึกษาและร่วมปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ เสริมพลังเป็นเพื่อครูและเสริมพลังให้แก่โรงเรียนของลูกหลานของเรา

    เสร็จแล้ว ก็เห็นว่าโรงเรียนหนองบัว มีความคืบหน้าทางด้านนี้ โดยเฉพาะการมีตัวอย่างองค์ความรู้ท้องถิ่นที่เวทีคนหนองบัวและหลายๆท่านได้ช่วยทำสิ่งต่างๆไปสบทบ ดังเช่น ลูกหลานของช่างว่อน ก็ได้นำมีดของช่างว่อนมาจัดแสดงในนิทรรศการงานงิ้วเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมาและผมได้มอบให้เก็บรักษาไว้เพื่อการศึกษาที่โรงเรียนหนองบัว เหล่านี้ เขาเลยให้โรงเรียนหนองบัวเป็นศูนย์กลางบุกเบิกริเริ่มการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างพลังความเข้มแข็งทางวิชาการและการพัฒนาการเรียนการสอนที่เกิดจากพลังการรวมตัวกันของคุณครูดังกล่าวต่อไป

    ทางโรงเรียนเลยประสานงานมายังผมครับ เบื้องต้นนี้ คาดว่าจะจัดในวันที่ ๑๓-๑๔ กรกฏาคม ๒๕๕๔ ที่จะถึงนี้ ทางโรงเรียนได้ให้ผมออกแบบกระบวนการเวทีและขอให้จัดวิทยากรไปช่วย พอผมทราบแล้ว งานนี้เลยขอสิบแต่จะให้สักเกินหลายๆร้อยเลยละครับ ผมขอประสานงานคร่าวๆนะครับ

    • งานนี้จะช่วยกันทำเพื่อเป็นปฏิบัติบูชาพระคุณครูบาอาจารย์และถิ่นฐานบ้านเกิดของเราคนหนองบัวนะครับ ใครอยากทำและอยากร่วมอย่างไร เชิญริเริ่มผสมไปด้วยเหมือนงานทอดผ้าป่าทำทานปัญญาและทำทานความรู้ให้ลูกหลานคนหนองบัวด้วยกันเต็มที่เลยนะครับ
    • จะส่งหนังสือ หรือจะเขียนฝากไว้ในบล๊อกนี้แล้วผมกับท่านพระอาจารย์มหาแลก็จะรวบรวมไปเข้าเล่มให้อีกก็ได้นะครับ
    • งานนี้ หากได้วิทยากรจากท่านเหล่านี้ไปคุยด้วยกันก็จะคงดีไม่น้อยละครับ : ตัวแทนสมาชิกกลุ่มพริกเกลือ, คุณสมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง, ท่านพระอาจารย์มหาแลและลูกหลานช่างว่อน ขอนั่งนึกอีกสักพักนะครับ
    • จะขนสื่อ รูปเขียนบอกเล่าและนำเสนอข้อมูลชุมชน ไปให้คณะคุณครูได้ดูหาไอเดียเต็มที่ รวมทั้งจะออนไลน์สื่อเวทีคนหนองบัวแนะนำให้เครือข่ายคุณครูได้ใช้เป็นช่องทางเพื่อนร่วมพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ให้แก่เด็กๆครั้งนี้อย่างเต็มที่ 
    • จะจัดเป็นกิจกรรม ๖๐ ปีอำเภอหนองบัว และ ๕๐ ปีของการก่อตั้งโรงเรียนหนองบัวด้วยนะครับ
    • ในใจผมอยากให้ประชุมเชชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาข้อเสนอชุดโครงการพัฒนาเครือข่ายสร้างความรู้และวิจัยปฏิบัติการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะชุมชนไปด้วยเลย จะลองยกระดับเป็นโมเดลที่มีการขับเคลื่อนเชิงระบบเต็มพื้นที่ น่าจะเป็นผลดีทั้งต่อคนหนองบัวและเป็นบทเรียนนำร่องให้กับหลายแห่งของประเทศซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่มีเงื่อนไขเหมือนหนองบัว

    เชิญร่วมเสนอแนะและร่วมคิดได้อย่างเต็มที่ครับ

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    อ่านข่าวนี้ด้วยความยินดีในยามดึก
    ดูปฏิทินวันจัดงานแล้ว นับว่าเป็นช่วงที่เหมาะสมมากเลย เพราะเป็นช่วงเทศกาลอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาพอดี เป็นวันหยุดยาวสองสามวัน

    ในเทศกาลบุญใหญ่เข้าพรรษานี้ ก็เป็นเทศกาลบุญขนมห่อของหนองบัวอีกด้วย ซึ่งลูกหลานชาวหนองบัวที่ไปทำงานต่างถิ่น ไปศึกษาต่างจังหวัดและศิษย์เก่าหนองคอกหลายคนคงมีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านทำบุญเป็นปรติอยู่แล้ว

    และปีนี้ชาวหนองบัว ศิษย์เก่าหนองคอกหรือท่านใดที่มีกำหนดจะกลับไปเยี่ยมบ้าน ก็น่าจะหาโอกาสไปพบปะเยี่ยมเยียนกันที่งานนี้ด้วย ถ้าเป็นศิษย์เก่าก็จะได้ถือเอาโอกาสนี้เป็นการไปเยี่ยมสถานศึกษากราบคารวะคุณครูและให้กำลังใจท่านไปในตัวด้วยเลย

    สำหรับฆราวาสแล้วเทศกาลหยุดยาวหลายวันเช่นนี้ จะเดินทางไปไหนหรือทำกิจกรรมใดๆย่อมสะดวกด้วยประการทั้งปวง

    แต่สำหรับพระสงฆ์แล้วเทศกาลนี้จะไม่สะดวกเท่าที่ควรในการสัญจรไปในที่ต่างๆ(ยกเว้นเดินทางระยะใกล้ๆ) เพราะติดเงื่อนไขการอธิษฐานเข้าพรรษา ถ้าเป็นสมัยก่อนสักสามสิบสี่สิบปีที่แล้ว ระหว่างอำเภอวังทอง-อำเภอหนองบัว ซึ่งระยะทางแค่ร้อยกว่าโลนี้ เห็นท่าจะหมดโอกาสเดินทางไปร่วมงานในวันเช่นนี้อย่างแน่นอน

    อาตมาคิดว่าคงไปได้ เดี๋ยวจะลองดูตารางเวลาอีกที ว่าจะสะดวกไปได้วันไหนอย่างไร

     

    สงสัยจะดึกไปหน่อยเลยตาลาย ดูปฏิทินผิดวันไปนิดนึง
    ที่จริงเขาจัดงานก่อนเทศกาลเข้าพรรษาตั้ง ๒ วัน(๑๓-๑๔ กค.๒๕๕๔)
    ส่วนวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาคือวันที่๑๕,๑๖ กรกฎาคม
    นึกเอะใจว่าจัดงานตรงกับเทศกาลงานบุญ เลยไปดูปฏิทินเพื่อความแน่ใจอีกที
    ก็ปรากฏว่าจำผิดซะแล้วพี่น้อง

     

    อาตมาได้โทร.คุยกับคุณวิฑูรย์ ขำสุข ผู้เขียนบันทึกเรื่องราวการทำมีดของช่างว่อน
    ได้สอบถามไปว่าพอจะมีเวลาว่างไปร่วมงานที่โรงเรียนจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯครั้งนี้ สักวันได้ไหม 

    จากการพูดคุยคร่าวๆเรื่องจัดคิวเวลาแล้ว คุณวิฑูรย์บอกว่าคงไปไม่ได้ แต่เขาได้สอบถามอาตมากลับมาว่า ไม่ทราบว่าทางผู้จัดงานประสงค์จะให้ลูกหลานช่างว่อนพูดเรื่องอะไรบ้าง

    คุณวิฑูรย์เสนอแนะมาว่าถ้าทราบข้อมูลจากผู้จัดงานหรือจากอาจารย์วิรัตน์เป็นแนวทาง ก็จะสะดวกกับคุณวิฑูรย์ที่จะประสานงานไปถึงญาติๆที่หนองบัว โดยเขาจะเป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อช่วยให้ญาติๆพี่ๆที่ไม่มีประสบการณ์ในการบอกเล่าสื่อสารเรื่องราวข้อมูลอย่างนี้มาก่อนเลย ได้มีข้อมูลเตรียมพร้อมนำติดมือไปขึ้นเวทีประมาณนั้น

    นอกจากวิฑูรย์แล้วยังมีผู้ช่วยอีกท่านหนึ่งที่ทำงานเป็นลูมมือช่างว่อนมานานนั่นก็คือลูกเขยของช่างว่อนนั่นเอง ท่านนี้คุณวิฑูรย์บอกว่าสามารถให้รายละเอียดการทำมีดได้ดีกว่าตัวเขาเองเสียอีก เพราะอยู่ใกล้ชิด จึงมีโอกาสได้ช่วยทำมีดค่อนข้างมาก

    อีกทางหนึ่งนั้น อาตมาเองก็จะลองประสานงานติดต่อไปด้วยเช่นกัน

     

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ

    • กราบขอบพระคุณครับที่ได้ทาบทามลูกหลานช่างว่อน รวมทั้งขอบคุณลูกหลานช่างว่อนด้วยครับที่ให้ความสนใจด้วยเช่นกัน
    • เมื่อคืนผมได้ออกแบบกระบวนการเวทีคร่าวๆแล้ว เกือบออนไลน์เพื่อปรึกษาและรวบรวมข้อสังเกตดีๆเอาไปทำให้หนองบัวเราไปแล้วสิครับ ตอนแรกอยากได้ตัวแทนกลุ่มพริกเกลือไปคุยด้วย แล้วก็มีดกับตีเหล็กช่างว่อนเอาไปจัดแสดงนิทรรศการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมดู ส่วนพระคุณเจ้ากับท่านพระอธิการโชคชัยก็ขอนิมนต์ชวนเชิญไปร่วมเป็นทีมวิทยากรและเทียมบันทึกความรู้ ผมเสนอให้เชิญหลายท่านใน gotoknow ด้วย คือ คุณเอก หนานเกียรติ ครูคิม ดร.ขจิต จุดหมายหลักก็คือพัฒนาเครือข่ายออกไปจากเวทีคนหนองบัวกับโรงเรียนหนองบัว
    • แต่ตอนนี้ต้องออกแบบใหม่และขอตระเตรียมใหม่อีกรอบหนึ่งครับ เนื่องจากว่า เมื่อเช้านี้ทางคุณครูโรงเรียนได้ให้ข้อมูลเพิ่ม ก็เลยพบว่า เมื่อว่านี้ผมคิดว่าเป็นงานสำคัญและมีความหมายดีต่อคนหนองบัว แต่พอทราบมากเข้าไปอีกในวันนี้ ก็พบว่าไม่ใช่เพียงเป็นงานสำคัญของคนหนองบัวอย่างเดียว แต่เป็นงานใหญ่และเป็นงานสำคัญของจังหวัดนครสวรรค์อีกด้วย คือ ...กลุ่มผู้เข้าร่วมเวทีไม่ใช่กลุ่มครูที่สนใจในหนองบัว แต่เป็นทั้งจังหวัดที่เขาให้โรงเรียนหนองบัวเป็น ศูนย์วัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน แล้วก็จะได้รับเชิญมาเรียนรู้ประสบการณ์จากโรงเรียนหนองบัวและชุมชนหนองบัวน่ะครับ 
    • แต่ก็อยากให้มีการจัดนิทรรศการ จัดบู๊ต และมุมเรียนรู้เรื่องราวต่างๆที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและการเรียนรู้ระบบสังคมที่เชื่อมโยงกันสร้างสุขภาวะชุมชนอยู่ดีน่ะครับ  อาจจะเหนื่อยและยุ่งยาก ทว่า จะทำให้ได้สิ่งต่างๆในสองวันได้ลึกซึ้งและดีที่สุดน่ะครับ
    • ตอนนี้เลยขอวางแนวคิดและวางกระบวนการใหม่อีกสักนิดหนึ่งครับ

    เรียนท่านพระมหาแล เจริญพรโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ และคนเวทีหนองบัวทุกท่านครับ

    ทราบข่าวงานนี้ตั้งแต่ตอนบ่าย ขอยกมือไปด้วยคนแล้วแต่ปรากฎว่าอากาศแปรปรวนฝนตก สัญญาณเน็ตล้ม

    จึงขอเข้ามารายงานตัวอีกครั้งว่าไปแน่นอน และตื่นเต้นที่จะไปเยี่ยมหนองบัวอีกครั้ง โยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ครับ

    กระบวนการเวทีเรียนรู้ การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้น่าสนใจมากครับและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยของอาตมามากเลยครับ

    จะได้เห็นการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ ทีเวทีคนหนองบัวเข้าไปจัดการทุกขั้นตอนขององค์ความรู้ นั่นคือการสร้างความรู้ การประมวลความรู้ การเผยแพร่ความรู้ และการใช้ความรู้ อาตมาอยากเห็นเครือข่ายคุณครู ผู้บริหารโรงเรียน เข้ามาร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มาก ๆ ครับ และขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งสองที่กรุณาเมตตาต่อกระผม.. ขอบคุณครับ

    อยากให้มีนิทรรศการ จัดบู๊ด มีมุมเรียนรู้วิถีชุมชนให้ชาวบ้านได้มีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนรู้แบบชาวบ้านๆเหมือนเมื่องานงิ้วที่ผ่านมา อย่างนี้ละก็ชาวบ้านพอมีช่องทางทำได้พอสมควร

    อาตมาไม่มีประสบการณ์ เลยยังมองการจัดงานครั้งนี้ไม่ชัด นึกเอาเองว่าเป็นการประชุมวิชาการ เป็นเรื่องการสัมมนาวิชาการไปโน่นเลย หรือการไปเยี่ยมชมศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น

    อาตมาสามารถประสานงานเชิญชวนชาวบ้านอย่างน้อยสองกลุ่มคือกลุ่มลูกหลานช่างว่อนและกลุ่มพริกเกลือในพื้นที่หนองบัวให้มาร่วมจัดบอร์ดและยืนคุยกับคนเดินดูนิทรรศการทั้งสองเรื่องนี้ได้(ถ้ามีนิทรรศการ)

    เรียนท่านอธิการโชคชัยครับ

    ครั้งแรกที่เห็นข่าวนี้ตอนที่อาจารย์วิรัตน์นำมาบอกกล่าวให้ทราบนั้น ผมมีความรู้สึกประมาณนี้ครับ
    ๑)ดีใจแรกคือรู้สึกภูมิใจอย่างมากที่เห็นคุณครูในหนองบัวและที่อื่นๆรวมตัวกันได้ขนาดเกือบร้อยท่าน มาสนใจเรื่องชุมชนท้องถิ่นหนองบัว
    ๒)ดีใจที่สองคือดีใจแทนเด็กนักเรียนในหนองบัวว่าคราวนี้ละ เด็กหลายโรงเรียนคงได้เรียนรู้เรื่องท้องถิ่นบ้านตนเองซะที
    ๓)ดีใจที่สามคือคราวนี้ละหนอชาวบ้านชาวช่องทั้งหลายในชุมชนจะได้แสดงบทบาทเป็นผู้ถายทอดวิชาความรู้ ประสบการณ์ชีวิตทั้งหมดทั้งมวลมาสู่ลูกหลานอย่างเป็นระบบในสถานศึกษา
    ๔)ดีใจที่สี่ดีใจแทนนักวิจัยที่ทำวิจัยเรื่องชุมชนหนองบัวคือท่านอธิการโชคชัย ผมมองเห็นกลุ่มประชากร(ครู,ผู้บริหารสถานศึกษา)ที่จะนำนวัตกรรมการศึกษาชุมชนไปทดลองใช้ เอาไปใช้จริง
    ๕)ดีใจที่ห้าดีใจแทนกลุ่มบล็อกเกอร์นักเขียนหนองบัว ที่หลายท่านเคยปรารภอยากเห็นสื่อภาพวาด,ข้อมูลเรื่องราวในชุมชนหนองบัวที่มีอยู่พอสมควรในอินเตอร์เน็ตนี้ ออกสู่สายตานักเรียน เดินเข้าบ้าน เดินเข้าชุมชน เดินเข้าบ้านนักเรียน

    และยิ่งเห็นอาจารย์วิรัตน์ดีใจซะขนาดนั้น ผมเลยนึกจินตนาการต่อไปอีกว่า อย่างน้อยปีการศึกหน้า คงมีหลักสูตรท้องถิ่นเกิดขึ้นในหนองบัวแน่เลยเชียว

    แต่ต่อมาอีกวันมีข่าวล่ามาเร็วๆ แจ้งให้ทราบว่างานนี้โรงเรียหนองบัวอำเภอหนองบัวได้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งตอนนี้ผมเองก็ยังไม่ทราบชัดเหมือนกันครับ

    คงรออีกสักครู่น่าจะได้ทราบว่างานนี้ เป็นงานรูปแบบใด

    นี่เป็นความรู้สึกแรกที่เห็นข่าวนี้ครับท่านอธิการครับ(ขอเล่าสู่กันฟัง)

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล, สวัสดี อ.วิรัตน์ และ ชาวเวทีหนองบัวทุกท่านค่ะ

    แวะมาทักทายให้กำลังค่ะ ในฐานะศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว ขอเป็นกำลังใจในการจัดงานประชุมค่ะ

    ไว้กลับเมืองไทยจะหาโอกาสกลับไปเยี่ยมคุณครูที่โรงเรียนค่ะ

    เห็นสะตอแล้วอยากกินค่ะ ตั้งใจว่าจะซื้อสะตอแกะแล้ว กลับสวีเดน สัก ๑ โล มาใส่ช่องแช่แข็งไว้ เวลาคิดถึงอยากกินก็จะได้เอาออกมาผัดกะปิสะตอค่ะ

    อัญชัน

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล
    และขอสวัสดีทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    • ตอนนี้ผมได้ประสานงานกับทางโรงเรียนเพื่อเลื่อนไปเป็นวันจันทร์ ๒๕-อังคารที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ แล้วครับ โอกาสอย่างนี้คงจะจัดได้ไม่บ่อยนัก ก็เลยอยากมีเวลาพอได้เตรียมการด้วยกันสักนิดหนึ่งน่ะครับ
    • คณะครูและผู้บริหารสถานศึกษาที่เข้า มาจากโรงเรียนต่างๆทั่วนครสวรรค์น่ะครับ แต่ของหนองบัวคงจะได้เข้ามากกว่าเพื่อน แต่นี่ก็เป็นการคาดการณ์เอาไปตามธรรมเนียมน่ะครับว่าคนอยู่ใกล้และเป็นเจ้าบ้านย่อมได้ข่าวสารได้ดีกว่าก็คงจะสามารถขอเข้าได้มากกว่า
    • ผมจะลองกราบเรียนถามคุณครูที่ดูแลโครงการด้วยนะครับว่าหากจะขอให้เชิญโรงเรียนรอบๆหนองบัวให้ได้เข้าด้วย อย่างน้อยก็สัก ๑ คน พอจะได้ไหม
    • และอีกทางหนึ่ง เราขอเรียนรู้จากเวทีนี้ไปด้วยก็ดีเหมือนกันครับ หลังจากนี้แล้วก็หาโอกาสจัดให้แก่ครูและคนหนองบัวกันเองก็ท่าจะดีไม่น้อย
    • แกนเนื้อหาหลักของการเวิร์คช็อปในครั้งนี้ ก็จะอยู่ที่การพัฒนาเครือข่ายครูและโรงเรียนในการพัฒนาวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาการเรียนรู้ของชุมชน ให้พลังภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมชีวิตชุมชน เข้ามาสู่การพัฒนากระบวนการเรียนรู้และการจัดการศึกษาที่อิงถิ่นฐานให้ลูกหลานได้เรียนรู้จากของจริง ไม่หลุดจากรากเหง้า พร้อมกับทำให้โรงเรียนเป็นหน่วยทางวิชาการ ที่ทำให้ภูมิปัญญาของสังคมในท้องถิ่นมีเครือข่ายฟื้นฟูให้มีชีวิต เป็นแรงขับเคลื่อนสุขภาวะสังคมและสังคมอุดมปัญญา เรียกว่าเป็นการเรียนรู้เพื่อรู้จักความเป็นตัวของตัวเอง แต่ไม่เพียงอนุรักษ์อย่างไม่มีความหมาย ทว่า ทำให้มีบทบาทต่อการเป็นทุนชีวิตและทุนทางภูมิปัญญาของสังคม เพื่อพัฒนาตนเองไปอย่างสมดุลและดีงามในท่ามกลางเงื่อนไขความจำเป็นทั้งของท้องถิ่นและในกระแสโลกาภิวัตน์
    • เท่าที่นั่งคิดไปพลางก่อนนะเวลานี้ ก็เลยมีกรองคำถามเพื่อออกแบบกระบวนการและดำเนินการต่างๆอยู่ประมาณ้ครับ.....
      ๑. เรียนรู้ความเป็นหนองบัว : ความเป็นหนองบัวคืออะไร เป็นอย่างไร มีสิ่งต่างๆที่สื่อแสดงและสะท้อนอัตลักษณ์ดังกล่าวอย่างไรบ้าง
      ๒. ดูและเรียนรู้วิธีจัดการภูมิปัญญาท้องถิ่นของหนองบัว : ทางด้านวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นของหนองบัว เป็นอย่างไร มีอะไรที่เป็นสิ่งยึดโยงมิติต่างๆของความเป็นชุมชนและวิถีชีวิตผู้คนให้มีความเป็นเอกลักษณ์ แต่ละด้านเป็นอย่างไร เข้าถึง ค้นหา สร้างความรู้ รวบรวมวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นและดำเนินการต่างๆอย่างไร
      ๓. ดูและเรียนรู้ประสบการณ์ในการริเริ่มและเชื่อมโยงพลังการมีส่วนร่วมของหนองบัว : การพัฒนากระบวนการเรียนรู้วัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน ดำเนินการอย่างไร หน่วยงานและกลุ่มผู้เกี่ยวข้องที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างไรบ้าง ระดมพลังการมีส่วนร่วม พัฒนาความมีสำนึกร่วมกัน และประสานความร่วมมือ เพื่อเชื่อมโยงการดำเนินการต่างๆกันได้อย่างไร ดำเนินการสิ่งต่างๆกันอย่างไร โรงเรียน เด็กและเยาวชนมีบทบาทอย่างไร ชุมชน ปัจเจก ประชาชน พ่อค้าและภาคประชาสังคมท้องถิ่น ทำอย่างไร
      ๔. ดูคลังข้อมูลและตัวอย่างที่คนหนองบัวทำให้โรงเรียนและภาคสาธารณะของหนองบัว : การเชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนออนไลน์ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสังคมเรียนรู้ออนไลน์เข้าสู่การเสริมพลังการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการเรียนรู้ที่อิงถิ่นฐานกันได้อย่างไร พัฒนาคลังภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องราวของชุมชน แกลลอรี่ภาพวิถีชุมชนและพิพิธภัณฑ์ชีวิตชุมชนออนไลน์ มีกระบวนการดำเนินการอย่างไร ก่อเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีนัยสำคัญและมีผลสืบเนื่องในการเคลื่อนไหวสังคมการเรียนรู้และการก่อให้เกิดสังคมสุขภาวะที่น่าสนใจอย่างไร สร้างคนในท้องถิ่นและเชื่อมโยงผู้คนให้ช่วยกันทำอย่างไร
      ๕.เรียนรู้แนวคิดและพัฒนาทักษะปฏิบัติการเพื่อไปทำเองและพัฒนาเครือข่ายร่วมเรียนรู้สร้างสุขภาวะชุมชนและสร้างโรงเรียนในฝันไปด้วยกัน : หากจะขยายผลไปดำเนินการในแหล่งอื่นๆ จะทำอย่างไร ศึกษาข้อมูล เรียนรู้ชุมชน เขียนบันทึก เผยแพร่ และนำเสนอในสื่อออนไลน์และในโอกาสต่างๆได้อย่างไร

    แนวคำถามเพื่อทำงานความคิดและจัดกระบวนการต่างๆในลักษณะนี้ก็เชื่อว่าจะครอบคลุมพอสมควร

    วัตถุดิบและสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้ที่นึกถึงได้ก็มีหลายอย่างที่ล้วนน่าสนใจทั้งสิ้นครับ คือ....

    • เว็บบล๊อกและสื่อของเวทีคนหนองบัว รูปวาดบอกเล่าเรื่องราวของหนองบัว ๔๐ กว่ารูป หนังสือของท่านพระอาจารย์มหาแลและที่ผมรวบรวมไว้
    • ตลาดเก่าหนองบัว ประเพณีและวัฒนธรรมการบวชนาคหมู่ งานเจ้าพ่อเจ้าแม่หลวงปู่ฤาษีนารายณ์และเทศกาลงานประจำปีหนองบัว
    • ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่งดงามและสื่อสะท้อนกระบวนการกล่อมเกลาวิถีชีวิตชุมชน เช่น ประเพณีกินดอง เพลงพวงมาลัย การลงแขกและเอาแรงในกระบวนการผลิต และในการสร้างความเป็นสาธารณะ
    • วัฒนธรรมย่อย เช่น ลาวโซ่ง หนังสือคำศัพท์ไทย ลาว อังกฤษ ของคุณสมบัติ
    • พริกเกลือของคนหนองบัว ซึ่งมีบันทึกของคุณครูสำอางค์ โอภาษีฝากไว้ให้ด้วย แล้วก็มีกลุ่มพริกเกลือของคนหนองบัว ดอกอุ้มน้อง ก็มีเด็กๆของโรงเรียนบ้านหนองไผ่และสื่อของรายการทุ่งแสงตะวัน
    • เครื่องมือเกษตรและภูมิปัญญาเครื่องมือโลหะของช่างว่อน
    • หนังเก่าและเครื่องฉายหนังของหลวงพ่อหลุยของคุณครูวิมูลศักดิ์

    นี่เพียงนึกคร่าวๆนะครับ เยอะและดีมากจริงๆครับ ใครนึกอะไรได้ก็ช่วยกันรวบรวมนะครับ แล้วจะนำมาออกแบบจัดเป็นองค์ประกอบต่างๆของกิจกรรมกันต่อไปครับ ใชเรื่องราวของหนองบัวเพียงเป็นตัวอย่างจุดประกาย เชื่อว่าในเวทีจะทำให้เกิดการสร้างความรู้และเข้าถึงเรื่องราวดีๆที่ใกล้ชิดวิถีชาวบ้านและทำให้คนทั่วไปสามารถเป็นผู้เรียนรู้ที่ตื่นตัวได้ ขึ้นมากอีกในชุมชนของอำเภออื่นๆ ในนครสวรรค์ไปด้วยในเวทีครั้งนี้ เหมือนกับเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อเกิดภาพสำหรับเดินไปข้างหน้าด้วยกัน

    ช่วยหาข้อมูลชุมชนหนองบัวมาเพิ่มเติมให้อีกสองเรื่องเป็นงานวิจัยของเด็กนักเรียน(๒๕๕๒)
    โครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือของโรงเรียนในอำเภอหนองบัวที่เห็นมีอยู่๓เรื่อง สองเรื่องข้างต้นยังไม่มีการเผยแพร่
    เรื่องหนึ่งได้ทำเป็นหนังสือแล้วนำไปจัดแสดงที่เต้นท์แสดงนิทรรศการงานงิ้วในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คือเรื่อง พัฒนาการของประเพณีการดินดองในชุมชนบ้านกุฏฤาษี อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสรรค์
    ทีมวิจัยมี ๓ คน เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ของโรงเรียนหนองบัว(หนองคอก)คือนางสาววิวรรธนา ฤทธิ์เทพ นางสาวกัลยรัตน์  เพ็งพรม นางสาววรรณิศา มั่นกิจ
    ครูที่ปรึกษา นางลัญฉกร อาสา (๒๕๕๒)

                          
                                            
                                             หลวงพ่อสวาสดิ์(พระครูนิรุติธรรมธร จนฺทาโภ/สุวรรณทอง ๒๔๔๙-๒๕๒๕) วัดห้วยร่วม ต.ห้วยร่วม อ.หนองบัว จ.นครสรรค์
                           

    และข้อมูลชุมชนที่น่าประทับใจอีกชุดหนึ่ง
    หมอหนิม หมออรุณ : ประวัติศาสตร์พัฒนการสุขภาพชุมชนที่ยังมีลมหายใจของอำเภอหนองบัว
    มูลนิธิหนองบัว : มรดกชีวิตและจิตวิญญาณของคุณครูอุดม โต๊ะปรีชา เพื่อพัฒนาการศึกษาและสังคม
    โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔)และบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว
    กระยาสารท : ความเป็นชุมชนบนอาหาร
    การทำนุ่นและเครื่องนอนของชาวบ้านหนองบัว : หัตถกรรมและมรรควิถีพอเพียง
    การเลื่อยกระดานทำเสาจากต้นไม้ทั้งต้น และการสุมไฟทำครก
    คาราวานเกวียนหาไม้และอาหารจากป่า

    • เห็นแล้วอยากรวบรวมสื่อเหล่านี้ จัดบอร์ดนิทรรศการให้ได้บรรยากาศการเรียนรู้ตัวเองของคนท้องถิ่น คงคึกคักและจุดประกายความคิดได้เป็นอย่างดีนะครับ
    • ใช้บทเรียนเท่าที่มี  ออกแบบจังหวะการก้าวเดินไปข้างหน้าอีกก้าวเล็กๆนี่ หนองบัวสามารถเป็นตัวอย่างและนำทั้งจังหวัดในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาวะสังคมอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและชุมชนบนฐานของตนเองได้เป็นอย่างดีเลยนะครับ
    • ขยายผลบทเรียนที่มี ทำให้เกิดสังคมแห่งการอ่าน ศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญาชุมชน บันทึกความรู้ สื่อสารและสร้างการเรียนรู้กับโลกกว้าง เห็นอนาคตเลยละครับว่าเด็กๆและคนหนองบัวจะเริ่มต้นจากการเป็น Local Wisdom-Based Learning Communication for Social Change Catalyst
    • ผมทำกำหนดการเวทีและออนไลน์เพื่อหารือและรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆไว้ที่นี่แล้วนะครับ เวิร์คช็อปเครือข่ายครูนครสวรรค์พัฒนาการเรียนรู้อิงถิ่นฐานอย่างบูรณาการ

    สามหมื่น

    วันนี้ขอแสดงความดีใจกับเวทีคนหนองบัวและร่วมฉลองที่เวทีฯแห่งนี้จะมีผู้อ่านเข้ามาเยี่ยมชมด้วยสถิติ(๒๙,๙๘๐ ณ เวลา ๑๑.๐๐น.)ที่เหลืออีก๒๐ท่าน จะครบสามหมื่น(๓๐,๐๐๐)แล้ว ด้วยเมนูอาหารพื้นบ้านสองภาค มีพริกเกลือ,น้ำบูดู,แกงไตปลา,ผัดสะตอ,ลูกเนียงสด,สะตอสด(เจ้าภาพคือโยมชุติมา)

    นับตั้งแต่อาจารย์วิรัตน์เริ่มนับจำนวนผู้อ่านเมื่อ มีนาคม ๒๕๕๓ - กรกฎาคม ๒๕๕๔ นี้ ก็ย่างเข้าเดือนที่๑๖ เป็นเวลาปีกว่าๆ

    ขออนุญาตฉลองล่วงหน้าคนเดียวเงียบๆไปก่อนก็แล้วกันนะ(ถึงเวลาฉันเพลพอดี)

                            

    เข้ามาอีกครั้ง ณ เวลา ๑๕.๒๗ นาที
    เลยขอบันทึกเป็นความประทับใจไว้อีกครา ณ ตอนนี้
    ด้วยจำนวนผู้เข้ามาเยี่ยมชมเวทีคนหนองบัวเรา
    ผ่านฉลุยเลยสามหมื่นไปแล้วหนึ่งท่าน

    ภาพถ่ายจากหนังสือสวดมนต์วัดเทพสุทธาวาส
    หนังสือเล่มนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจเช่นประวัติวัดเทพสุทธาวาสและประวัติท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก(ห้อง ท้วมเทศ)
    เดี๋ยวเมื่อได้ไปหนองบัว จะไปขอจากท่านเจ้าอาวาส นำไปร่วมจัดนิทรรศการในงานเวิร์คช็อปเครือข่ายครูนครสวรรค์พัฒนาการเรียนรู้อิงถิ่นฐานอย่างบูรณาการ  ที่โรงเรียนหนองบัวในวันที่ ๒๕-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔

            
            
                                
    อธิบายภาพ:(๑)หลวงพ่อเดิม (๒)พระเทพสิทธินายาก(ห้อง ท้วมเทศ) (๓)หลวงพ่ออ๋อย (๔)หลวงพ่อปาน(๕)พระครูนิมิตศีลาภรณ์

    ภาพจากหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพพระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงปู่อ๋อย) พ.ศ.๒๕๓๒

               
           
    อธิบายภาพ: ภาพ(๑)หลวงพ่ออ๋อย ภาพ(๒)รูปเกจิอาจารย์ในพิธีพุทธาภิเศกใหญ่ ๑๐๘ องค์ ฉลองวิหารหลวงพ่อเดิมและคณะผู้จัดพิมพ์สอบถามช่างฉิม พุทธรักษา บ้านโคกไม้เดนเรื่องราวการทำมีดด้ามงา ขณะนี้ยังทำมีดอยู่เป็นประจำ ฝีมือยังสวย ปี พ.ศ.๒๕๒๙

    ภาพ(๓)งานวัดเกิดหลวงพ่ออ๋อย ๑๗ กุมภาพันธ์ ของทุกปี คณะศิษย์สรงน้ำหลวงพ่ออ๋อย ปี ๒๕๒๕ ภาพ(๔)ศิษย์ชายหญิงสรงน้ำหลวงพ่ออ๋อยในงานวันเกิด ๑๗ กุมภาพันธ์๒๕๒๕ และนายสนอง รอดโพธิ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นมัสการหลวงพ่ออ๋อย ปี ๒๕๒๕ ณ ศาลาวัดหนองกลับ

    ภาพถ่ายตั้งแต่เป็นพระสมุห์และเป็นพระครูเจ้าคณะอำเภอหนองบัว

                          
                           
                           

    • แค่ได้เห็นรูปก็นั่งท้องร้องจ๊อกๆเลยละครับ มีพริกเกลือ แกงใต้ และน้ำบูดู ครบเครื่องเลยนะครับ
    • เป็นการเฉลิมฉลองเวทีคนหนองบัวที่มีผู้อ่านเข้ามาเยือนครบ ๓ หมื่น ที่เป็นการแนะนำการกินการอยู่ในวิถีชีวิตชาวบ้านไปด้วยเลยนะครับ

    ได้ปริ้นเอ้าข้อมูลในเวทีคนหนองบัวนี่แหละออกมาทำหนังสือได้อีกห้าเล่มเพื่อร่วมจัดนิทรรศการเวิร์คช็อปเครือข่ายครูนครสวรรค์พัฒนาการเรียนรู้อิงถิ่นฐานอย่างบูรณาการ

    (๑)ช่างว่อน ขำสุข รวบรวมเรื่องราวช่างตีมีดจากลูกและคนอื่นๆ(๒๒ หน้าA4)
    (๒)ห้วยน้อยห้วยปลาเน่า : แหล่งอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนหนองบัวในอดีต และข้อเขียนของคนห้วยปลาเน่า สมบัติ ฆ้อนทอง(๘๑ หน้า)
    (๓)สีสันตระการตา งานงิ้วหนองบัว ๒๕๕๔ รวบรวมบันทึกของอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์๖ บันทึก และบันทึกของอาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ ๓ บันทึก (๑๑๘ หน้า)
    (๔)ที่มาการจัดนิทรรศการเวทีคนหนองบัว(งานงิ้วหนองบัว๒๕๕๔) รวบรวมเรื่องราวการพูดคุยสนทนากันในเรื่องการจัดนิทรรศการเวทีคนหนองบัว เป็นการทำงานในโลกไซเบอร์ คล้ายๆประชุมปรึกษาหารือทางไกลประมาณนั้นเลย แต่ก็สำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์ ได้เห็นความประทับใจดีๆ หลายอย่าง เลยขอเก็บบันทึกเรื่องราวนี้ไว้เป็นหนังสือแห่งความภูมิใจส่วนตัวสักหน่อย(๘๒ หน้า)
    (๕)ทุนสังคมวัฒนธรรม อำเภอหนองบัว : ข้อมูล เรียนรู้ชุมชน.. พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) ข้อมูลชุมชนหลากหลายเรื่องราว งานงิ้วคราวที่แล้วพิมพ์ไม่ทัน(๑๖๙ หน้า)

    ขอปรึกษาทางไกลสักหน่อยว่า ตั้งใจว่าจะขออนุญาตส่งเอกสารชุดนี้ไปให้อาจารย์วิรัตน์เข้าเล่มให้ด้วย เสร็จงานแล้วก็ขอมอบให้โรงเรียนหนองคอกไว้เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาต่อไป

                               
                                
                                            

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล, สวัสดี อ.วิรัตน์ และชาวเวทีหนองบัวทุกท่าน

    โห...พระอาจารย์ เอาสำรับอาหารเพลมาอวด ไม่เกรงใจคนไกลบ้านอย่างดิฉันเลย เห็นแล้วท้องร้อง น้ำลายไหล เหมือน อาจารย์ว่าเลย

    ดูช่วงนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับ หนองบัว เรา คึกคักไม่เบา

    ดิฉันเองไม่มีมีข้อมูล อะไรมานำเสนอ ได้แต่เข้ามาเยี่ยมชม ติดตามมาอ่าน และให้กำลังใจค่ะ

    ช่วงนี้อากาศที่สวีเดน ร้อนมากค่ะ ๒๗ องศา ร้อนมากกกกกกกก แต่ก็คงไม่ถึงกับร้อนแบบบ้านเราค่ะ

    อัญชัน

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล เจริญพรโยม อ.ดร.วิรัตน์ และญาติโยมเวทีคนหนองบัว

           เห็นสำรับกับข้าวท่านพระอาจารย์มหาแล แล้ว อิ่มท้อง.. กระผมหายเงียบไปเพราะได้ไปทำโครงการ "อิ่มบุญ ๙๙๙ วัด" เยาวชนปฏิบัติธรรม ๘๔,๐๐๐ คน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ณ.วัดถํ้าชาละวัน ต.คลองคะเชนทร์ อ.เมือง จ.พิจิตร โดยมีนักเรียนมัธยมศึกษาที่๑-๒ จากโรงเรียนเมธีพิทยา ต.ท่าฬ่อ อ.เมือง จ.พิจิตร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๔๑ กระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมโครงการจำนวน ๑๑๐ คนและคณะครู นักเรียนพี่เลี้ยง จำนวน ๑๕ คน ระหว่างวันที่ ๘-๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ผลประโยชน์ที่ได้รับ อิ่มบุญ อิ่มอกอิ่มใจที่ได้ทำเป็นปฏิบัติบูชา พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ถวายเป็นพระราชกุศล จึงได้นำบุญมาแบ่งปัน..นมัสการ/เจริญพร.   

    เจริญพรคุณอัญชัน

    อยู่ภาคใต้มาหลายปี เลยพอรู้เรื่องอาหารมาบ้าง(รู้รสชาติอาหาร) อย่างน้ำบูดูที่โยมนำมาถวายวันก่อนนั้น ก็เป็นน้ำบูดูจากปักษ์ใต้ขนานแท้ ดูบูที่มีชื่อเสียงโด่งดังก็คือที่สายบุรี ปัตตานี

    มื้อเพลวันนั้นเป็นมื้อเพลที่ครบเครื่องอาหารท้องถิ่นล้วนๆ เรื่องอาหารพื้นบ้านนี้ไปกันได้ดีตลอดมา เรื่องนี้ไม่ทราบว่าเป็นเพราะท้องถิ่นนิยม หรือว่าเพราะบวชนานก็ไม่ทราบได้

    พระบวชนานๆนี่เรื่องอาหารประเภทแกงกะทิ ผัดน้ำมัน อาหารหวานๆ หลายท่านไม่ค่อยเจริญอาหารเท่าที่ควร(คงฉันบ่อยประมาณนั้น) คนวัดคนวาส่วนมากก็จะรู้ดีเลยแหละว่าถ้าจะทำภัตตาหารถวายพระเก่าๆนี่ ต้องอาหารพื้นบ้าน น้ำพริก หรืออาหารลูกทุ่งๆ ถ้าอยู่ในเกณฑ์นี้ละก็ ท่านมักจะฉลองศรัทธาได้สมเจตนารมย์ของเจ้าภาพ

    ขออนุโมทนาบุญและขอบคุณท่านอธิการโชคชัยที่นำบุญมาฝากครับ

    ผมนั้นเป็นศิษย์เก่าเมธีพิทยาครับ(๒๕๒๔-๒๕๒๕) โรงเรียนเมธีพิทยานี้เดิมเป็นโรงเรียนวัดครับ ก่อตั้งโดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระเมธีธรรมประนาท(ถม ปนาโท)เจ้าอาวาสวัดท่าฬ่อ และเจ้าคณะอำเภอเมืองพิจิตร จ.พิจิตร

    โรงเรียนวัดส่วนมากในประเทศไทยไม่มีพระเณรเรียนหนังสือร่วมกันกับเด็กใช่ไหมครับ แต่ที่โรงเรียนเมธีพิทยานี้ มีพระภิกษุ สามเณรเรียนหนังสือร่วมกับนักเรียนด้วย มีตั้งแต่ป.๕ ป.๖ ม.๑ ม.๒ ม.๓ ทุกห้องจะมีพระเณรเรียนรวมกันกับเด็กๆ

    หลังจากหลวงพ่อเมธีธรรมประนาทมรณภาพแล้วอีกหลายปี ทางวัดก็มอบโรงเรียนเมธีพิทยาให้เป็นของรัฐ(ช่วงที่ยังไม่มอบให้รัฐมีถึงม.๓ )

    ช่วงที่ผมอยู่จำพรรษานั้นหลวงพ่อพระเมธี ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่อายุมากแล้ว พระเดชพระหลวงพ่อเมธีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับหลวงพ่ออ๋อย สุวณฺโณ อุปัชฌาย์ผมด้วยครับ และท่านก็รู้จักกันด้วย ก่อนเข้าพรรษาหรือปิดเทอมเวลาผมกลับหนองบัวหลวงพ่อเมธีก็จะฝากความระลึกถึงไปหาหลวงพ่ออ๋อย โดยท่านจะจำและเรียกสมณศักดิ์เดิมของหลวงพ่ออ๋อยว่าท่านสมุห์(อ๋อย)

    คราวหนึ่งกลับหนองบัวผมมีโอกาสได้นำคำฝากความระลึกถึงของหลวงพ่อเจ้าคุณเมธีในฐานะสหธรรมิกไปถึงหลวงพ่ออ๋อย เมื่อไปถึงวัดแล้วผมได้ไปกราบเรียนให้หลวงพ่ออ๋อยทราบว่าหลวงพ่อเมธีฝากความระลึกถึงมา

    เมื่อท่านทราบเรื่องแล้วท่านก็ดีใจแล้วก็ถามถึงเจ้าคุณเมธีเป็นอย่างไรบ้าง สบายดีไหมแล้วก็เล่าความเป็นมาในการคบหากับเจ้าคุณเมธี มีคำถามหนึ่งที่หลวงพ่ออ๋อยถามผมและเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไปของคนบ้านท่าฬ่อ ตลอดถึงคนที่รู้จักหลวงพ่อเจ้าคุณเมธีคือท่านถามว่าเดี๋ยวนี้เจ้าคุณเมธีแก่แล้วยังดุเหมือนเมื่อก่อนไหม

    ฟังคำบอกเล่าจากชาวบ้านพระผู้ใหญ่เล่าให้ฟังตรงกันว่าเจ้าคุณเมธีนั้น เป็นคนตรงไปตรงมา พูดจริงทำจริง ทำงานจริงจัง สนับสนุนเรื่องการศึกษาสร้างโรงเรียนเอง(สรุปแบบชาวบ้านว่าดุมาก) ในปี๒๕๒๔-๒๕๒๕ ท่านอยู่ในวัยชราภาพแล้ว ในความรู้สึกของผมนั้น ผมว่าท่านปล่อยวางมากแล้ว แต่ผู้คนก็ยังเคารพนับถือยำเกรงท่านมากๆ

    ท่านอธิการพูดโรงเรียนเมธีพิทยานิดนึง ผมต่อยอดไปซะเยอะแยะเลย

    • เห็นอัญชันบอกว่า ๒๗ องศาเซลเซียสร้อนนี่ ผมนั่งยิ้มเลย เพราะบ้านเรานี่ หากนอนห้องเปิดแอร์สัก ๒๕-๒๗ องศานี่ผมพอนอนไหวครับ แต่หากต่ำกว่านี้ละก็ให้มีอันต้องนอนคลุมโปง เคยไปประชุมและเขาให้นอนกับเพื่อนผู้เข้าร่วมประชุมด้วยกัน เขาชอบแอร์เย็นและเปิด ๒๒ องศา นอนๆไป ผมก็ต้องขอหลบลงไปนอนบนพื้นเพื่อซุกข้างซอกเตียง เขาตื่นขึ้นมาคิดว่าเขาโดนผีอำเพราะมองไม่เห็นผม
    • ขอร่วมอนุโมทนาบุญกิจกรรมอิ่มบุญ ๙๙๙ วัดกับท่านพระอธิการโชคชัยด้วยครับ
    • ขอร่วมรำลึกถึงหลวงพ่อเจ้าคุณเมธี ครูอุปปัชฌาจารย์ของท่านพระอาจารย์มหาแลด้วยครับ
    • วันเสาร์-อาทิตย์ช่วงเข้าพรรษานี้ ผมจะได้ไปบ้านหนองบัวแน่ะครับ ว่าจะไปดูสถานที่และเตรียมการต่างๆสำหรับจัดเวิร์คช็อปให้เครือข่ายคุณครูจากเครือข่ายโรงเรียนในฝันของจังหวัดนครสวรรค์ด้วยครับ

    ทางโรงเรียนหนองบัวซึ่งได้เป็นผู้จัดและเป็นศูนย์ประสานงานเครือจ่ายในครั้งนี้ บอกว่าอยากให้โชว์เว็บบล๊อกเรื่องราวของเวทีคนหนองบัวด้วย ผมกำลังคิดว่าจะขอยืมโน๊ตบุ๊คและเครื่องฉายภาพหลายๆตัว แล้วก็เปิดออนไลน์ให้ผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อปได้เข้ามาดูได้หลายๆเครื่องพร้อมกัน คงจะเป็นการหารูปแบบจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้รูปแบบดึงข้อมูลมาจัดแสดงผ่านสื่อออนไลน์อย่างกว้างขวางเลยละครับ

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล เจริญพรโยมอ. ดร.วิรัตน์

       โอโฮกระผมเอามะพร้าวหาวมาขายสวนหรือนี่..จุดใต้ตำตอมาเจอศิษย์เก่า รร.เมธีซะได้กำลังจะเล่าต่อหลังจากฟังโยมตาสมพร มีแดนไผ่ ศิษย์เก่าเมธีรุ่นแรกๆ ท่านยังจำได้ขนาดผ่านมาแล้วกว่า ๙๐ ปี หลวงพ่อเจ้าคุณเมธี มีบทบาทสำค็ญมากต่อชุมชน คนท่าฬ่อ ขนาดกระผมลองถามเด็กนักเรียนดู เด็กนักเรียนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าท่านดุ และเป็นคนจริงใจในการพัฒนา น่าชื่นใจน่ะครับที่ลูกหลานยังทราบประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชน และบุคคลสำคัญ

    คุณโยมตาสมพร มีแดนไผ่ อายุ ๗๗ ปี ศิษย์เก่าโรงเรียนเมธีพิทยารุ่นแรกๆ ครับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เล่าประวัติความมาวัดท่าฬ่อ / รร.เมธี / หลวงพ่อเจ้าคุณเมธี เพื่อให้ลูกหลานได้ซึมซับวิถีชีวิตคนท่าฬ่อและถํ้าชาละวัน เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของชุมชนอย่างน่าสนใจ เด็กนักเรียนตั้งใจฟังมากครับเพราะบางเรื่องไม่เคยได้ยินมาก่อน(อย่างนี้ต้องรบกวนท่านพระอาจารย์มหาต่อยอดแล้วละครับทำเครือข่ายวัดสู่วัดน่ะครับ)

     

     

    ท่านอธิการโชคชัยครับ

    ขอบคุณมากเลยที่นำภาพกิจกรรมการอบรมเยาวชนมาฝากกัน
    ค่ายนี้ดีจังเลยครับ เด็กๆได้เรียนรู้ประวัติชุมชนจากคนเก่าๆของชุมชน
    คุณตาสมพร ท่านเป็นศิษย์เมธีพิทยารุ่นแรกๆเลยรึครับ เทียบกับผมนี่ ผมเป็นรุ่นท้ายๆก่อนมอบให้รัฐ ห่างกันมาก ประมาณตากับหลานได้เลยนี่ ผมอยู่ระยะสั้นๆเลยไม่ค่อยรู้จักศิษย์เก่ารุ่นอื่นๆ

    อย่างคุณตาสมพรนี่ก็นึกไม่ออกว่าเคยเจอท่านบ้างไหม

    หลวงพ่อเจ้าคุณเมธีธรรมประนาทนั้น ในหมู่คุณครูศิษย์เก่าและนักเรียนจะนิยมเรียกนามย่อๆของหลวงพ่อด้วยความเคยชินโดยเรียกตามๆกันไปว่าหลวงพ่อ"เม"

    หลวงพ่อเมนี้ท่านเป็นทั้งเจ้าของโรงเรียน,เป็นครูใหญ่,เป็นครูสอน บริหารจัดการโรงเรียนเองสร้างสรรค์ชุมชนให้ลูกชาวบ้านมีการศึกษาทั้งบรรพชิตและเยาวชนจำนวนมากมาย

    ในช่วงที่ผมอยู่นั้น อาจารย์ใหญ่คือเลขานุการเก่าของท่านที่ลาสิกขาแล้ว ไปทำหน้าที่แทนหลวงพ่อเพราะท่านอายุมาก

    ศิษย์เก่าเมธีพิทยาผมลองหาในกูเกิลแบบเร็วๆเจออยู่สองท่าน เป็นพระผู้ใหญ่ที่ท่านบวชให้ก็มีเจ้าคณะกรุงเทพมหานครรูปปัจจุบันคือพระเทพสิทธิเมธี(เฉลิม ฉ่ำอินทร์) วัดจันทาราม วรวิหาร แขวงบางยี่เรือเขตธนบุรี กทม. เจ้าคณะกรุงเทพฯท่านเป็นศิษย์เก่าที่จบนักธรรมตรี โท จากวัดท่าฬ่อ ก่อนจะเข้ากรุงเทพฯ ดร.สุรเสน ทั่งทอง ผอ.สพป.พิจิตร เขต ๑ นี่เป็นศิษย์เก่าเมธีพิทยา(มัธยม)

    ตอนที่เป็นโรงเรียนราษฏร์(เอกชน)เปิดสอนถึงม.๒ ต่อมาก็ขยายถึงม.๖

    ที่ท่านอธิการบอกว่าเด็กๆสามารถตอบได้ว่าหลวงเมดุนั้น ผมคำณวนอายุเด็กๆมัธยมต้นแล้ว เป็นเหลนหลวงพ่อเมได้ครับ แต่เขาก็รับรู้ได้ว่าหลวงพ่อเมดุ ผมนึกออกเลยครับว่าทำไมเด็กๆจึงจำได้ว่าหลวงเมดุ จำจากคำบอกเล่าของพ่อแม่ ปู่ย่าตายายแน่เชียว

    อย่างผมเองก็รับรู้จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าให้ฟังว่า เจ้าคุณห้อง :พระเทพสิทธินายก คนหนองบัวอดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์นั้น ดุมากแม่ผมก็เคยเล่าให้ฟังอย่างนั้น

    ทั้งๆที่หลวงพ่อเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกนั้น ท่านมรณภาพตั้งแต่ผมยังไม่เกิดโน่นแนะ แต่คำล่ำลือที่บอกว่าท่านเป็นคนเข้มงวด กวดขวน เจ้าระเบียบ แนะนำสั่งสอนจริงจัง(ชาวบ้านเลยว่าท่านดุ) ก็ยังมีอิทธิพลส่งถึงคนรุ่นผมได้

    เหมือนเด็กๆชาวบ้านท่าฬ่อบอกที่ว่าหลวงพ่อเมดุ ทั้งๆที่เด็กรุ่นนี้เกิดหลังหลวงพ่อ มรณภาพตั้งหลายสิบปี

    • ตอนที่เป็นโรงเรียนราษฏร์(เอกชน)เปิดสอนถึงม. ๓ ต่อมาก็ขยายถึงม.๖

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย

           ท่านเล่าเหตุการณ์ได้ละเอียดดีมากเลยครับ น่าเสียดายที่กระผมทำกระบวนการเวทีเรื่องนี้ได้ไม่มาก ยังไม่สามารถถอดบทเรียนออกมาไ้ด้แต่มาฟังท่านเล่าแล้วรู้สึกว่ามองเห็นภาพย้อนรอยในอดีตเลยครับ  และได้ไปสัมผัสจริงกับตัวเองแล้วรู้สึกว่าบทบาทพระสงฆ์ในอดีตมีความสำคัญมาก เรียกว่าทำงานแบบทั้งเชิงลุกและเชิงรับเลยน่ะครับ  คราวหน้าถ้ามีโอกาสจัดค่ายอบรมอีก แนวการอบรมเกี่ยวกับข้อมูลชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่น ฯลฯ ต้องขอกราบนิมนต์ไปร่วมกิจกรรมและให้แนวคิดอย่างนี้อีก นั่งนึกดูแล้วกระผมว่าผู้เฒ่า ผู้แก่ คงชอบใจมากเพียงแค่มีคนสนใจที่จะสอบถามเรื่องราวความเป็นมาในอดีตที่ท่านเหล่านั้นเคยสร้างเคยทำมา แนวคิดที่ท่านมหาและอาจารย์ดร.วิรัตน์ พร้อมกับพี่น้องในเวทีคนหนองบัวจัดทำไว้ในบล็อก GotoKnow เป็นแม่แบบที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ได้จริงๆ กระผมขอยืนยันการันตี ๅ๐๐ % 

    ขอบคุณท่านอธิการโชคชัยอย่างมากเลยนะครับ
    ที่ทำให้ผมคิดถึงหลวงพ่อเมธีขึ้นมาตะหงิดๆเลยแหละ เลยต้องไปค้นหาข้อมูล ไปเจอภาพถ่ายและเรื่องราววัดท่าฬ่อพร้อมเกร็ดประวัติหลวงพ่อเมธีธรรมประนาทอีกชุดหนึ่ง แม้ข้อมูลไม่มากแต่ก็ให้ภาพที่พอจะปะติดปะต่อได้พอสมควรเลยครับ

    ชุมชนบ้านท่าฬ่อนี่เป็นชุมชนที่เก่าแก่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจหลายอย่างมาก โดยเฉพาะศูนย์รวมของชุมชนคือวัดท่าฬ่อ เป็นแหล่งแห่งสรรพวิชาทุกแขนงเลยครับ ไม่ว่าจะด้านวิชาอาคมขลังก็มีพระเถระดังระดับประเทศประจำสำนักอยู่ด้วย สิ่งเคารพบูชาของคนท่าฬ่อคือพระพุทธรูปนามหลวงพ่อหิน

    ในด้านที่เป็นแหล่งสร้างคนก็มีโรเรียนเมธีพิทยา ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเมธีพิทยาก็เป็นพระธรรมกถึก(นักเทศน์)ชื่อดังแห่งเมืองพิจิตร เป็นนักบริหาร นักปกครอง นักการศึกษา อีกทั้งท่านก็ส่งเสริมด้านวัฒนธรรมอีกด้วย(วัดมีเรือแข่ง มีประเพณีแข่งเรือทุกปี)

    โดยที่วัดท่าฬ๋ออยู่ติดกับแม่น้ำน่านและแม่น้ำน่านก็ไหลผ่านชุมชนนี้ เป็นชุมชนแรกๆของพิจิตรอีกด้วย จึงทำให้คนพิจิตรมีความผูกพันกับสายน้ำสำคัญนี้อย่างมาก ช่วงที่ผมอยู่หน้าวัดจะมีแพไว้สำหรับพระเณรสรงน้ำอาบน้ำ ที่กุฏิวัดสร้างห้องสุขาอย่างเดียว ส่วนห้องน้ำให้ไปอาบที่แม่น้ำน่าน แม่น้ำน่านนี่สีอะไรนะ คนพรหมพิรามคงนึกออกนะครับ(ออกสีแดงๆ)สีดินโคลน

    เดิมเลยวัดฬ่อจะเป็นไปตามสมัยนิยมของยุคนั้นคือสมภารเจ้าวัดมักเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงด้านอาคมไสยเวทย์ แต่เมื่อหลวงพ่อเมธีมาเป็นผู้บริหารวัดแล้วท่านได้ทำให้วัดท่าฬ่อเป็นแหล่งศึกษาของลูกชาวบ้านในชุมชนด้วยการตั้งโรเรียนวัดขึ้นมา พระเณรก็เรียนได้ พระจบจากอินเดียมาเป็นครูสอน จบจากมจร.มาเป็นครู ครูพระมีหลายองค์สอนเก่งทั้งคณิตศาสตร์วิทย์อังกฤษ ภาษาไทย

    ผมเห็นด้วยที่ท่านอธิการบอกว่าในอดีตนั้นพระสงฆ์มีบทบาทอย่างมากเลย และเป็นบทบาทที่โดดเด่นหลายด้านด้วย พระได้แสดงบทบาททำหน้าที่ในสังคมครอบคลุมไปทุกศาสตร์เลยเชียว ยุคนี้เรียกว่าเชี่ยวชาญ

    ว่าจะต่อยอด เอายอดสั้นๆนะเนี่ย ยาวอีกแล้วครับท่าน
    ขอบคุณข้อมูลภาพ
    http://www.siamnava.com/fff/index.php?topic=2730.48

                        
                         ภาพเก่า : เจ้าคุณพระเมธีธรรมประนาท(๒๔๔๕-๒๕๒๖)อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าฬ่อ และเจ้าคณะอำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเมธีพิทยา
                        
                         ภาพ : พระเมธีธรรมประนาท(พระราชาคณะสามัญเปรียญ)อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าฬ่อ และเจ้าคณะอำเภอเมืองพิจิตร พระมหาเถรรัตตัญญู และพระธรรมกถึก ชื่อดังเมืองพิจิตร ในยุคท่านเจ้าคุณเมธี ฯ ได้ขุดเรือศรีธารา ลำใหม่ เป็น เรือยาวกลาง ขนาด ๓๘ ฝีพาย แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์หัวมังกรไว้ พร้อมขุดเรือน่านนที เรือยาวใหญ่ ๔๘ ฝีพาย เรือดารารัศมี (ปัจจุบัน ทำสาวใหม่ ลงน้ำในนาม เรือศรีธารา แทน)เจ้าคุณเมธี จะตั้งชื่อเรือยาววัดท่าฬ่อในยุคนี้ ด้วยคำสัมผัสที่สอดคล้องต่อเนืองกัน ไพเพราะ คือน่านนที  ศรีธารา ดารารัศมี

                           
                                      ประวัติพระเมธีธรรมประนาท วัดท่าฬ่อ

    ประวัติพระเมธีธรรมประนาท มีนามเดิมว่าถม ฉายา ปนาโท เป็นบุตรนายทรัพย์  นางถนอม ชนะธรรมโกศล  เกิดที่บ้านท่าขมิ้น หมู่ที่ ๑  ตำบลท่าขมิ้น  อำเภอโพทะเล(บางคลาน) จังหวัดพิจิตร  เมื่อวันพฤหัสบดีที่  ๑๐  กรกฎาคม  ๒๔๔๕  ตรงกับเดือน  ๘  ขึ้น  ๖  ค่ำ ปีขาล  อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๒  เมษายน  ๒๔๖๖  ที่วัดวังตะโก  ตำบลบางคลาน  อำเภอโพทะเล  จังหวัดพิจิตร  พระครูพิทักษ์ศีลคุณ(ล้อม)วัดบางมูลนาก  จังหวัดพิจิตร เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการภู่ วัดหนองดง จังหวัดพิจิตร เป็นกรรมวาจาจารย์

    การศึกษาจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ น.ธ.เอก ป.ธ.๔  งานทางการศาสนา เป็นครูสอนปริยัติธรรมวัดวังบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เป็นครูสอนปริยัติธรรมวัดบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร เป็นครูสอนปริยัติธรรมวัดหนองเต่า จังหวัดพิจิตร  ๑ พรรษา เป็นครูสอนปริยัติธรรมวัดท่าหลวง เป็นพระวินัยธร จังหวัด เป็นเผยแผ่จังหวัด เป็นศึกษาจังหวัด  ๒๒ สิงหาคม  ๒๔๘๗  เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองพิจิตร  ๒๕  พฤศจิกายน ๒๔๙๑  เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าฬ๋อ มีสมณศักดิ์ เป็นพระครูนิพัทธรรมโกศล  ๒๔๙๔ เป็นพระอุปัชฌาย์

    ต่อมาเป็นพระราชาคณะที่พระเมธีธรรมประนาท

    นับตั้งแต่พระเมธีธรรมประนาทดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าฬ่อ ท่านได้สร้างถาวรวัตถุหลายอย่าง เช่น ปฏิสังขรณ์อุโบสถหลังเก่า วิหารหลังเก่า สร้างวิหารหลวงพ่อหิน สร้างศาลาการเปรียญ สร้างฌาปนสถาน ศาลาธรรมสังเวช สร้างอุโบสถหลังใหม่  ก่อตั้งโรงเรียนเมธีพิทยา กุฎิสงฆ์

    นับว่าท่านประกอบด้วยสุขุมคัมภีรภาพ มีความอุตสาหวิริยะในกิจการแห่งพระพุทธศาสนามิได้ย่อหย่อน ชักนำพุทธศาสนิกชนให้สามาทานในกุศล จริยา จัดการศึกษาทั้งในทางโลกทางธรรมให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเป็นอันมาก

    พระเมธีธรรมประนาท มรณภาพ  วันที่ ๘ มีนาคม  ๒๕๒๖

    ให้สามาทานในกุศล  ให้สมาทานในกุศล

    • เด็กๆรู้จักและมีรายละเอียดสืบทอดไว้ด้วยนี่ แสดงว่าชุมชนและในครอบครัวก็ยังพอจะมีวิถีการเรียนรู้อยู่ในชีวิตประจำวันอยู่บ้างนะครับ ถือว่าเป็นสัญญาณทีดีนะครับเนี่ย
    • การทำให้มีโอกาสเรียนรู้และนำเอาเรื่องราวต่างๆของชุมชนมาพูดคุยและเคลื่อนไหวไปกับกิจกรรมต่างๆนี่ มีความหมายมากเลยนะครับสำหรับชุมชนบ้านนอก

    พระอาจารย์ครับกระผมกำลังเชียร์ให้คณะครู / ผอ.รร.เมธีพิทยา คนปัจจุับันนายชาญยุทธ ปั้นเพชร และนักเรียน เข้ามาดูเวทีคนหนองบัวที่พระอาจารย์ต่อยอดให้ เป็นข้อมูลและความรู้ที่ดีมากเลยครับ..

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า และสวัสดีชาวหนองบัว และกัลยาณมิตร หลังวันพระใหญ่ และวันเข้าพรรษาทุกท่านค่ะ

    • แวะไปชมหนังเด็กในเทศกาลหนังเด็ก ครั้งที่ ๓ ที่โรงหนังศรีศาลายา ณ หอภาพยนต์ ที่พุทธมณฑล สาย ๕ ส่วนหนึ่งก็ไปให้กำลังใจทีมของหอภาพยนต์ค่ะ เพราะแต่ละรอบจะมีผู้ชมไม่เกิน ๑๐ ท่านหรอกค่ะ นอกจากดูภาพยนต์แล้ว ซึ่งรอบนี้ผู้ดูแลบอกว่าเป็นหนังฟิล์มด้วยค่ะ แต่หนังยังใหม่เมื่อปี ๒๕๕๒ นี้เองค่ะ รอบๆ มีบรรยากาศของโรงหนังสมัยก่อนพอให้เป็นบรรยากาศ ทำให้นึกถึงคุณนุกูล เลยนำภาพมาฝากทั้งคุณนุกูล และชาวหนองบัวค่ะ =)

               

                         

               

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า และสวัสดีชาวหนองบัว และกัลยาณมิตร หลังวันพระใหญ่ และวันเข้าพรรษาทุกท่านค่ะ

    • แวะไปชมหนังเด็กในเทศกาลหนังเด็ก ครั้งที่ ๓ ที่โรงหนังศรีศาลายา ณ หอภาพยนต์ ที่พุทธมณฑล สาย ๕ ส่วนหนึ่งก็ไปให้กำลังใจทีมของหอภาพยนต์ค่ะ เพราะแต่ละรอบจะมีผู้ชมไม่เกิน ๑๐ ท่านหรอกค่ะ นอกจากดูภาพยนต์แล้ว ซึ่งรอบนี้ผู้ดูแลบอกว่าเป็นหนังฟิล์มด้วยค่ะ แต่หนังยังใหม่เมื่อปี ๒๕๕๒ นี้เองค่ะ รอบๆ มีบรรยากาศของโรงหนังสมัยก่อนพอให้เป็นบรรยากาศ ทำให้นึกถึงคุณนุกูล เลยนำภาพมาฝากทั้งคุณนุกูล และชาวหนองบัวค่ะ =)

     

         

     

    ท่านอธิการโชคชัยครับ ท่านชวนคุยเรื่องนี้ ทำให้ผมได้นั่งทบทวนนึกถึงบรรยากาสวัดท่าฬ่อเมื่อปี ๒๕๒๔-๒๕๒๕ โน่นเลยครับ

    ปี๒๕๒๔ ก็ย่างเข้าพรรษาที่๒ ครับ ยังเป็นพระบวชใหม่อยู่เลย
    บ้านท่าฬ่อแม้จะอยู่ในอำเภอเมืองพิจิตรก็จริง แต่สภาพชุมชนนั้นเป็นบ้านนอกครับ พูดได้ว่าวัดท่าฬ๋อเป็นวัดบ้านนอกก็ได้ เพราะเป็นชุมชนชายแดนด้านทิศเหนือของพิจิตร ที่มีเขตติดต่อกับจังหวัดพิษณุโลกคืออำเภอบางกระทุ่ม

    สำนักท่าฬ่อ : ฝึกเรื่องความอดทนและพอเพียง

    หลวงพ่อเมธีฝึกเรื่องความอดทน ฝึกอย่างไร โดยทางวัดสร้างโอกาสให้แก่พระหนุ่มเณรน้อยที่ขาดโอกาสทางการศึกษา พลาดโอกาสจากโรงเรียนรัฐ เรียกว่าชมกลุ่มนี้จะมีรถวิ่งมากี่ขบวนๆก็พลาดหมด ให้ได้มีช่องทางเล่าเรียน กลุ่มพระเณรที่เดินทางมาเรียนโรงเรียนเมธีพิทยานั้น ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด

    อันดับแรกหลวงพ่อเมธีฝึกการเป็นอยู่ ฝึกการใช้ชีวิตแบบนักศึกษา คือพึ่งตนเองเป็นสำคัญ เช่นอาหารการขบฉันก็อาศัยจากศรัทธาญาติโยมชาวบ้านที่ทำบุญด้วยอาหารบิณฑบาต วัดไม่มีโรงครัว(การพึ่งตนเองในเรื่องการขบฉันภาษาพระแปลได้ตรงๆเลยว่าพึ่งลำแข้งครับ)พอฉันบ้าง ไม่พอบ้าง ทำไมไม่พอฉันละ เพราะสายบิณฑบาตแต่ละสายนั้น มีพระเณรจำนวนมากหลายรูป พระที่ได้อาหารมากหน่อย ก็คือพระรูปที่อยู่หัวแถว กลับถึงวัดแล้วท่านจะพิจารณาเณรรูปท้ายๆ ที่ได้อาหารน้อย ด้วยการแบ่งปันให้ได้พอฉัน ผมนึกถึงภาพนี้แล้วก็รู้สึกประทับใจอย่างมากเลยครับ

    พระเณรที่มาจากวัดบ้านเกิดที่อะไรๆก็พอมีพอฉันไม่ขัดสน พอมาเจอสภาพดังกล่าวก็ต้องทำใจสักพักครับ อีกไม่นานก็ปรับตัวได้ ชาวบ้านท่าฬ่อทำบุญดีครับ โดยเฉพาะโยมที่รู้และเข้าใจสภาพการเป็นอยู่ของพระเณรที่เป็นนักเรียน และมีความห่วงใยลูกพระลูกเณรของหลวงพ่อเมธี เมื่อท่านได้มีโอกาสมาทำบุญเลี้ยงพระเณรละก็ ดูแลเอาใจใส่เต็มที่

    ผมได้เห็นพระผู้เฒ่าพระมหาเถระที่เขากล่าวกันว่าดุมาก ในอีกมุมหนึ่งเป็นมุมที่ฉายภาพของท่านออกมา ภาพนั้นคือท่านเป็นคนมีพื้นจิตใจที่ดี มีเมตตา ถึงภาพบุคลิกภายนอกจะดูเข้มแข็งจริงจังไปบ้าง แต่ลึกๆแล้วท่านเป็นคนเสียสละมักน้อยสันโดษ สมถะและเรียบง่ายมากๆ ชีวิตของท่านไม่เห็นสะสมอะไรเลย มีแต่ให้จริงๆ

    ฝึกข้อต่อมาคือพระเณรวัดฬ่อนั้น ต้องรับผิดชอบเรื่องค่าไฟเองครับ หลายท่านบวชแล้วก็ไม่เคยเจอเรื่องอย่างนี้ พอมาเจอเข้าทำให้ต้องคิดหน้าคิดหลังเลยครับ ระวังเรื่องรายจ่ายต้องบริหารจัดการกันเองภายในกุฏิของแต่ละท่าน โดยพระเณรที่อยู่กุฎิเดียวกันก็ต้องช่วยกันรับผิดชอบ ถึงเณรไม่มีกิจนิมนต์ไม่มีรายรับมาจุนเจือตัวเอง ก็จะปฏิเสธไม่รับผิดชอบในส่วนของตัวเองไม่ได้ครับ

    ถ้าหลวงพี่จะมีเมตตาช่วยจ่ายค่าไฟก็พอให้ได้นะ แต่อย่างไรเสีย เณรก็ต้องรับผิดชอบบ้าง ยิ่งเณรที่อยู่รวมกันกุฏิเดียว อันนี้หลีกภาระไม่พ้นแน่นอน

    วิถีชีวิตแบบพระๆอย่างนี้(สู้ชีวิต)คงหาไม่ได้ในปัจจุบันสมัยเสียแล้ว ยุคก่อนโน้นการที่พระเณรจะหาที่เรียนหนังสือได้นั้น ต้องเป็นผู้แสวงหา ดิ้นรนไปกันเองครับ ลำบากพอดู นึกแล้วช่างต่างกับตอนนี้เหลือหลายจริงๆ ที่มีที่เรียนมากมาย ไม่มีปิดกั้น เรียกว่าแทบจะไปรับไปส่งถึงวัดกันเลย(เมื่อก่อนวัดในเมืองบางวัดพระเณรที่มีใจใฝ่ต่อศึกษาต้องแอบไปเรียนหนังสือนอกวัดโดยไม่แจ้งให้สมภารทราบ)ก็มีให้เห็นกันอยู่

    ขอบคุณท่านอธิการที่ช่วยให้ผมได้ลำรึกถึงหลวงพ่อเมธีและเรื่องราวอื่นๆไปพร้อมกันด้วย

    เจริญพรอาจารย์ณัฐพัชร์

    อาตมากำลังจะเขียนเรื่องหนังกลางแปลงของวัดท่าฬ่ออยู่พอดีเลย
    ทำไมหนังกลางแปลงจึงชุกมากตลอดปี เป็นเรื่องราของคนท่าฬ่อ ที่มีความเคารพศรัทธาต่อหลวงพ่อหิน พระพุทธรูปหินสลัก พระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่มาของหนังกลางแปลง

    คุณครูอนุกูลหายเงียบไปเลย ตอนงานงิ้วที่ผ่านมา(๒๕๕๔)ก็เสียดายที่ไม่ได้เจอกัน
    ขอเวลาสักครู่เดี๋ยวจะเล่าเรื่องหนังแก้บนหลวงพ่อหินให้ฟัง

    คำขวัญโรงเรียนเมธีพิทยา

    โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา : เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก (ว.ว.)

    เพราะเมตตาการุณย์ค้ำจุนโลก     กำจัดโศกความทุกขเป็นสุขี
    ทุกทั่วถ้วนมวลสัตว์สวัสดี           ต่างเปรมปรีดิ์ปราโมทย์โชตนา
    ไร้เบียดเบียนเฆี่ยนตีปรานีรัก       มีแต่จักสร้างสรรค์ต่างหรรษา
    โลกธาตุขาดธรรมคือเมตตา        ทั่วโลกาฉับพลันอันตราย

    จากหนังสือพุทธศาสนสุภาษิตคำกลอน โดย พระพิพัฒน์ปริยัตยานุกูล

    อักษรย่อ ว.ว. คือพระนามย่อของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ทรงเป็นพระสังฆราช องค์ที่๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    เคยเห็นหลายท่านกล่าวอ้างคำบาลีข้างต้น ว่าเป็นพุทธภาษิต ที่จริงคำนี้ไม่ใช่พุทธพจน์ เป็นคำประพันธ์ขององค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า องค์ที่ ๑๐

    พูดเรื่องโรงเรียนเมธีพิทยามาหลายวันแล้ว
    วันนี้เลยขออนุญเวทีคนหนองบัวลอคำขวัญโรงเรียน และคิดว่าน่าจะมีอะไรให้ไดพูดคุยต่อไปอีกหลายเรื่องหลายราว

     

    นโยบายเรียนฟรี : โรงเรียนเมธีพิทยาทำได้จริงและทำได้อย่างพอเหมาะพอเพียง

                           
                            หลวงพ่อพระเมธีธรรมประนาท(ถม ปนาโท,ชนะธรรมโกศล,๒๔๔๕-๒๕๒๖) อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าฬ่อ และเจ้าคณะอำเภอเมืองพิจิตร จ.พิจิตร ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเมธีพิทยา ต.ท่าฬ่อ อ.เมือง จ.พิจิตร
                       
                        อธิบายภาพ : แผนที่ความคิดหรือมายแม็บเกี่ยวกับบุคคลสำคัญของชุมชนบ้านท่าฬ่อที่ทำขึ้นโดยนักเรียนโรเรียนเมธีพิทยา ในโครงการ"อิ่มบุญ ๙๙๙ วัด" เยาวชนปฏิบัติธรรม ๘๔,๐๐๐ คน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ณ.วัดถํ้าชาละวัน ต.คลองคะเชนทร์ อ.เมือง จ.พิจิตร โดยมีนักเรียนมัธยมศึกษาที่๑-๒ จากโรงเรียนเมธีพิทยา ต.ท่าฬ่อ อ.เมือง จ.พิจิตร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑ กระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมโครงการจำนวน ๑๑๐ คนและคณะครู นักเรียนพี่เลี้ยง จำนวน ๑๕ คน ระหว่างวันที่ ๘-๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ วิทยากรโดยพระอธิการโชคชัย เอี่ยมจัง วัดพรหมพิราม พระธนพล ธนปาโล วัดศรีโสภณ จ.พิษณุโลกและทีมงาน

    เมื่อเช้านี้ท่านอธิการโชคชัย ท่านได้นำมายแม็บแผนที่ความคิดที่นักเรียนทำทั้งหมดมาให้อาตมาดู ขอบอกตามตรงในฐานะศิษย์เก่าว่าจำเรื่องนี้ไม่ได้ หรือว่าลืมเรื่องนี้ไปแล้ว ก็ชักไม่แน่ใจ หรือว่าแก่แล้วลืมเลยก็ไม่ทราบได้

    โครงการเท่ๆของหลวงพ่อเมธี เรื่องเรียนฟรีของโรงเรียนเมธีพิทยานี้ ต้องขอบคุณศิษย์น้อง(ที่จริงจะเรียกว่าลูกหลานก็ยังได้เลย)นักเรียนม.๑ ม.๒ที่ยังจำโครงการเท่ๆของพระเดชพระคุณหลวงพ่อเมได้ และนำมาเผยแพร่ ศิษย์แก่ๆอย่างเรานี่ทำไมมาหลงลืมเรื่องนี้ไปได้อย่างไรก็ไม่รู้แย่จัง

    โครงการเรียนฟรี ๑ : ๓ โดยมีเงื่อนไขว่าครอบครัวใดมีบุตร๓ คน ให้เสียค่าเทอม๒คน อีกหนึ่งคนไม่คิดค่าเล่าเรียนไม่เสียค่าเทอม แหมหลวงพ่อเมธีนี่คิดได้ไงเนี่ย ไม่ทราบว่าโครงการนี้มีผลทางจิตวิทยาต่อการเพิ่มของประชาการชาวท่าฬ่อบ้างหรือเปล่า

    ที่จริงโรงเรียนราษฏร์อย่างเช่นโรงเรียนวัด มีจุดประสงค์มิได้ทำเพื่อกำไรเพื่อการค้าแต่ประการใดทั้งสิ้น เป็นกิจการที่ปราศจากหวังผลกำไรทางธุรกิจ ทำเพื่อเป็นบุญเป็นกุศล ทำด้วยใจเมตตา ถ้าจะหวังผลก็มีอยู่อย่างเดียวคือหวังช่วยคนสร้างคนให้มีความรู้มีปัญญามีการศึกษา เข้าทำนองว่าสร้างคนดี ดีกว่าทุกสิ่ง

    เลยเกิดความสงสัยตามประสาคนขี้สงสัยขึ้นมาอีกว่าถ้าผิดจากเงื่อนไขนี้แล้ว(มีลูก๓คน)ก็คงไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้สิทธิเรียนฟรีแน่เลยใช่ไหม อันที่จริงก็ไม่น่าสงสัยนะเนี่ย โรงเรียนเมธีพิทยา ก่อตั้งในสมัยที่สังคมไทยนิยมมีบุตรหลายคนด้วย ถ้าอย่างนั้นเกณฑ์นี้ก็สอดคล้องกับสภาพสังคมโดยทั่วไปพอดี แล้วก็คงเป็นโอกาสดีของหลายครอบครับแน่เลยที่ได้ใช้สิทธินี้

    โครงการนี้ของหลวงพ่อเป็นโครงการที่จับต้องได้สัมผัสได้ ทำได้จริง ทำได้อย่างพอเพียงมากๆ โครงการนี้ใช้หลักความเมตตาเป็นตัวตั้งช่างเข้ากับคำขวัญของโรงเรียนได้อย่างพอเหมะพอดีจริงๆ

    ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเป็นทั้งเจ้าของ ครูใหญ่ ครูสอน ผู้บริหาร ท่านเลยใช้ปรัชญาเรื่องความเมตตาเป็นหลักในการบริหารโรงเรียน หลักความเมตตาของท่านนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรงเลย โดยการช่วยครอบครัวที่มีบุตร๓คน ให้ได้เรียนฟรีหนึ่งคน อย่างนี้ก็ต้องถือว่าคุณธรรมจับต้องได้

    จับหลักความคิดของหลวงพ่อเมธีได้ว่า การช่วยคนนั้น น่าจะมีหลักคิดในการช่วยด้วย คือช่วยให้เขาพึ่งตนเองได้ ไม่ใช่ช่วยทั้งหมดแบบให้เปล่า ให้ทั้งหมดฝ่ายรับก็จะแบมือรับอย่างเดียว อาจไม่เห็นคุณค่าสิ่งที่ได้รับมา อีกทั้งทำให้ผู้รับหวังแต่จะพึ่งคนอื่นอยู่ถ่ายเดียว ไม่ทำก็ได้เพราะมีผู้ให้อยู่แล้ว การที่โรงเรียนของท่านเก็บค่าเล่าเรียนสองคน อีกคนให้เรียนฟรี มองในทางธรรมก็มองได้ว่านี่ก็คือการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของคนในชุมชนนั่นเอง หลักการนี้น่าคิดมากเลย หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์ก็ต้องอาศัยชาวบ้านพึ่งชาวบ้าน

    เมื่อพึ่งเขาแล้ว ก็คิดถึงความมีน้ำใจของชาวบ้านชาวช่องที่มีต่อพระต่อวัดต่อพระศาสนา วัดเองจะมีอะไรที่พอจะช่วยเขาได้บ้าง ก็มาลงตรงที่การศึกษา ชาวบ้านช่วยสร้างวัดสร้างโรงเรียน เสร็จแล้ววัดซึ่งก็ตั้งอยู่ในชุมชน ก็ต้องคิดถึงชุมชนก่อนอื่นอยู่เอง เลยเป็นที่มาของโครงการพึ่งพาแบ่งปันกันและกันทั้งสองฝ่าย(สรุปเอง)

    ชุมชนใดท้องถิ่นใดจะนำหลักการนี้ไปประยุกต์ใช้บ้าง ก็น่าลองทำดู ไม่สงวนลิขสิทธิ์แต่ประการใด หรืออาจหาโอกาสไปเรียนรู้จากชุมชนบ้านท่าฬ่อเลยก็น่าจะได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์

    โครงการวัดพึ่งบ้าน บ้านพึ่งวัด(เรียนฟรี)นี้หลวงพ่อเมธีธรรมประนาท ทำมากับมือ ทำสำเร็จได้ด้วยดี ทำมาก่อนใคร ก่อนที่จะมียุคประชานิยมถึง๓๐-๔๐ปี

     

     

     

     

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

           กระผมพระอธิการโชคชัย เอี่ยมยัง ฉายา ชยวุฑฺโฒ(ไม่ใช่ เอี่ยมจัง)ฮาๆๆ...  น่าปลื้มใจแทนญาติพี่น้องชาวบ้านท่าฬ่อน่ะครับ ที่พระอาจารย์เขียนบันทึก ข้อมูลความรู้ประวัติความเป็นมาของวัดท่าฬ่อ และบุคคลสำคัญ เช่น หลวงพ่อเจ้าคุณเมธีธรรมประนาทได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง...

            กระผมมอบแผนที่ความคิดที่เยาวชน รร.เมธี ได้นำเสนอประเด็นไว้ เช่น ประวัติชุมชนท่าฬ่อ/บุคคลสำคัญ/เทศกาล/ประเพณี-พิธีกรรม/และสถานที่สำคัญ มอบไว้ให้พระอาจารย์ต่อยอด ขยายความรู้และแนวคิดต่อน่ะครับ.. 

     

     

     

    ขอขั้นรายการที่ท่านอธิการโชคชัย เอี่ยมยัง ขอมาสักเล็กน้อยนะครับ ด้วยการนำภาพสถานีรถไฟท่าฬ่อ ต.ท่าฬ่อ อ.เมือง จ.พิจิตร มาลงให้ดูเพลินๆไปก่อน และก็เพื่อเป็นการรำลึกอดีตเส้นทางการบินเมื่อ๓๐ ที่แล้วด้วยครับ เป็น ๓๐ ปีที่ผ่านไปเร็วจริงๆ

    สถานีรถไฟท่าฬ่อ : เส้นทางสายการบิน(บิณฑบาต)ของพระเณรวัดท่าฬ่อ ระหว่างที่จำพรรษาที่วัดท่าฬ่อเมื่อปี ๒๕๒๔-๒๕๒๕ ผมใช้เส้นทางนี้ เป็นเส้นทางโคจรบิณฑบาตเลี้ยงชีพอยู่เป็นประจำ สายนี้จึงเป็นสายที่มีพระเณรมาบิณฑบาตมากที่สุด เพราะที่สถานีรถไฟมีตลาดที่ใหญ่ที่สุดในท่าฬ่อ ในชุมชนท่าฬ่อมีตลาดอยู่ ๒ แห่ง ๑)ตลาดที่อยู่ติดกับวัดท่าฬ่อ ซึ่งเป็นตลาดเล็กๆชาวบ้านเรียกว่าตลาดเหนือ ๒)ตลาดที่สถานีรถไฟ ชาวบ้านเรียกว่าตลาดใต้ มีร้านค้ามากกว่าที่ตลาดเหนือ(ตอนนี้ตลาดใต้เป็นเทศบาลตำบลท่าฬ๋อ)

                                      
                      
                                
              
    ขอบคุณภาพจาก...
    http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=1068&start=30&postdays=0&postorder=asc&highlight=

     

     

    ด้วยระยะทางจากวัดท่าฬ่อถึงสถานีรถไฟท่าฬ๋อ เป็นระยะทางที่ไกลพอสมควรเลยแหละ คำนวนจากความทรงจำไม่น่าจะน้อยกว่า๑,๕๐๐ เมตร(๑กิโลเมตรครึ่ง) เพราะเหตุที่สายบิณฑบาตสายนี้(ตลาดใต้-สถานีรถไฟ)ไกลหนึ่ง จึงทำให้สายนี้มีแต่พระหนุ่มเณรน้อยที่มีร่างการแข็งแรง มาบิณฑบาตกัน

    ส่วนพระผู้เฒ่าเลยต้องหาโอกาสไปบิณฑบาตเส้นทางอื่นๆที่สะดวกและใกล้กว่าแทน อีกเหตุหนึ่งคือทางเดินลำบากด้วย เป็นทางเดินแคบๆไหล่ทางรถไฟ ที่มีแต่หินก้อนเขื่องๆที่ใช้รองหมอนรถไฟ เต็มทางเดินไปหมด แม้แต่รถมอเตอร์ไซต์ก็วิ่งไม่สะดวก

    ได้เห็นภาพชัดๆอย่างนี้แล้ว ทำให้นึกถึงบรรยากาสเมื่อสามทศวรรษที่ผ่านมาจังเลย
    ดีที่ดูภาพสถานีรถไฟแล้ว ดูเหมือนมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เลยเป็นแง่มุมที่ดีที่ทำให้ยังนึกถึงและจดจำสภาพเก่าๆได้ชัดขึ้น

    สถานที่อื่นๆนอกจากนี้ คิดว่าในรอบสามสิบปี สภาพชุมชนคงเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

         
         
         
    ขอบคุณภาพจาก...
    http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=1068&start=30&postdays=0&postorder=asc&highlight=

    มาพูดเรื่องนักบินและสายการบินต่อจากเมื่อคืน
    พระคุณเจ้าและญาติโยมทั้งหลาย
    ภาพทางรถไฟชัดเจนดีมากเลย ภาพสวยงามดี
    ต้องขอบคุณผู้ถ่ายภาพชุดนี้อย่างมากด้วย
    แล้วก็ขออนุญาตยืมภาพมาใช้ประกอบเรื่องในการพูดคุย

    ท่านทั้งหลายเห็นภาพทางรถไฟชันเจนอย่างดีเลยใช่ไหม ทางรถไฟไม่ว่าทั้งข้างบนและไหล่ทางเต็มไปด้วยหินก้อนขนาดเขื่องๆที่เมื่อเราเหยียบโดยไม่ใส่รองเท้า ทำให้ฝ่าเท้าเราจะได้สัมผัสกับความคมแหลมของหินอย่างเต็มที่ ไม่ต้องบรรยายต่อก็ได้ว่าเจ็บเพียงใด

    ปรกติเมื่อเราใส่รองเท้าเดิน ถึงจะมีหินมากมาย ก็เดินได้สะดวกพอสมควร แต่เมื่อออกบิณฑบาต ปราศจากรองเท้า ก็เลยได้เจริญสติกันทุกวัน แค่ตัวเปล่าก็พอทำเนาเดินได้ไม่ลำบาก แต่เมื่อต้องเดินด้วยสภาพที่อุ้มบาตถือของใส่บาตไปพร้อมกันอีกด้วย ก็ยิ่งต้องเพิ่มการเจริญสติและแถมได้ความอดทน ถือเป็นบทฝึกที่ดีมากๆ

    ในหน้าฝนหรือหน้าหนาวในสภาพอากาศเช่นนั้น ความหนาวเย็นเมื่อเดินเหยียบหินแค่เล็กน้อยก็เจ็บแล้ว ยิ่งเดินกะย่องกะแย่งละก็เจ็บเท้าดีแท้ๆ ทางเดินที่เป็นร่องเป็นหลุมช่วงหน้าฝนเวลาฝนตก จึงมีน้ำขังก็เดินลุยน้ำที่มีก้อนหิน อย่าพลาดก็แล้วกัน เจ็บตัวแน่

    นี่คือสายการบินที่ให้ความทรงจำแก่ผู้ผ่านทางเส้นนี้ แม้จะลำบากบ้างแต่ก็ช่วยสอนบทเรียนชีวิตได้อย่างดีตลอดมา

    บ้านท่าฬ่อเป็นบ้านนอก แต่มีเส้นทางสัญจรได้หลายรูปแบบครบเลย มีทั้งรถไฟ รถยนต์ ทางเรือแม่น้ำน่าน ไม่มีรถยนต์โดยสารเข้าเมือง ผู้คนในชุมชนเกือบทั้งหมดก็ใช้รถไฟ
    ยกเว้กคนมีรถส่วนตัว พระเณรมีธุระจำเป็นต้องเดินทางเข้าพิจิตร ซึ่งส่วนมากก็ไปซื้อหนังสือตำราเรียน เพราะพระเณรทั้งวัดเป็นนักเรียน ยกเว้นพระผู้เฒ่าที่มีไม่กี่รูป

    จำได้ว่าทั้งเดินจากวัดไปสถานี และกลับจากพิจิตรลงที่สถานีท่าฬ่อ จะใช้บริการเก้าเก้าคือเดินนับหมอนรถไฟไปเพลินดี มีไม่กี่ครั้งเองที่ใช้บริการรถรับจ้าง(มอเตอร์ไซต์)
    นั่งชมภาพชุดนี้แล้ว นึกถึงบรรยากาสเก่าๆของวัดท่าฬ่อ โรงเรียนเมธีพิทยา

     

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล อาสโย ขำสุข และพระอธิการโชคชัย

    เวทีหนองบัว ขอกราบนมัสการพระอาจารย์วิทยากรเจ้าค่ะ

                            

    เจริญพรอาจารย์ณัฐพัชร์

    อาตมาไปงานฌาปนกิจศพหนานเกียรต เกียรติศักดิ์ ม่วงมิตร ที่จังหวัดตาก เพิ่งกลับถึงวัดเมื่อตอนเย็นๆ ก่อนค่ำ

    พรุ่งนี้ออกเดินทาง จากพิษณุโลก ไปกับท่านอธิการโชคชัย โดยรถประจำทางเที่ยวแรกช่วงเช้า เวลา ๐๙.๓๐ น. ถึงสี่แยกต้นอีกซึก แยกหนองบัว ประมาณเที่ยงวัน

    เจ้าค่ะ

                                 Large_page2

    • กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล อาสโย ขำสุข ถ้าพระคุณเจ้าเดินทางมาถึงหนองบัวแล้วกรุณาโทรฯ ถึงอาจารย์วิรัตน์ ด้วยค่ะ จะออกมารับพระคุณเจ้านะคะ ที่เบอร์ ๐๘ ๖๖๗๐ ๒๙๗๒ เจ้าค่ะ ...

    เวทีคนหนองบัว : ขออาลัยต่อการจากไปของหนานเกียรติ เกียรติศักดิ์ ม่วงมิตร อย่างสุดซึ้ง

                                                     เสียดายคนดี : หนานเกียรติ
                

                   Large_loveness_landscape
                   ทัศนียภาพของความรัก : รำลึกหนานเกียรติ เกียรติศักดิ์ ม่วงมิตร 
                   โดยดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

                   กลิ่นของสัตบุรุษ(คนดีมีคุณธรรม)

                  นะ ปุปผคันโธ ปฏิวาตเมติ
                  นะ จันทนัง  ตครมัลลิกา วา
                  สตญฺจ คนฺโธ ปฏิวาตเมติ
                  สัพพา ทิสา สัปปุริโส ปวายติ.

                 กลิ่นดอกไม้ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้
                
    กลิ่นจันทน์ กฤษณา หรือมะลิ
                 ก็ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้

                 ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษ(คนดีมีคุณธรรม)
                 หอมฟุ้งไปได้ทั่วทุกทิศ

    สัตบุรุษสุดดีกลิ่นศรีสม           หอมทวนลมโบกพัดสะบัดหวน
    กระจายกลิ่นรินฟุ้งจรุงอวล       แสนชื่นชวนชอบจิตสนิทใจ
    กลิ่นศีลธรรมนำผลให้พ้นทุกข์  หอมเป็นสุขนานเนิ่นเกินสมัย
    ถึงหอมกลิ่นบุปผาสุมาลัย        เพียงชื่นใจพักครู่ไม่สู้นาน
    ประพันธ์โดย : พระพิพัฒน์ปริยัตยานุกูล 

     

     

                                         หนังสืออนุสรณ์แห่งคนดี

          
           หนังสืออนุสรณ์งานศพ หนานเกียรติ เกีรยติศักดิ์ ม่วงมิตร ชื่อ ด้วยเกียรติ
    อนุสรณ์แห่งคนดี "หนานเกียรติ" เกียรติศักดิ์ ม่วงมิตร

    หนังสือเล่มนี้ได้รับเมื่อวาน(๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔)ในงานฌาปนกิจศพหนานเกียรติ เกียรติศักดิ์ ม่วงมิตร ที่วัดไผ่ล้อม อำเภอเมือง จังหวัดตาก

    มีคำโปรยที่หน้าปกว่า

    เกียรติศักดิ์ ม่วงมิตร หรือ "หนานเกียรติ" อโชก้าเฟลโลว์ ปี ๒๕๔๕(2002) ผู้เผยแพร่แนวคิด และริ่เริ่มโครงการเพื่อส่งเสริมให้ภิกษุและสถาบันศาสนาแสดงบทบาทนำและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนอย่างเข้มแข็ง และต่อเนื่อง ผู้เป็นแรงบันดาลใจแก่พวกเรา และคนรุ่นหลังต่อไป

    เมื่อวานนี้(๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔)มีคนไปร่วมงานฌาปนกิจศพหนานเกียรติ เกียรติศักดิ์ ม่วงมิตร ที่จังหวัดตาก เป็นจำนวนมาก พิธีกรกล่าวถึงคุณงามความดีของหนานเกียรติด้วยความภาคภูมิใจอย่างมาก และกล่าวเชิดชูยกเป็นบุคคลตัวอย่างของจังหวัดตาก ฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้งประทับใจตามไปด้วย

         Large_p1013669 
         ปกหลังหนังสือ : ด้วยเกียรติ อนุสรณ์แห่งคนดี "หนานเกียรติ" เกียรติศักดิ์ ม่วงมิตร

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล และท่านพระอธิการโชคชัยครับ
    ตอนนี้ทางโรงเรียนหนองบัว และเครือข่ายโรงเรียน ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน จังหวัดนครสวรรค์ ได้เตรียมการต่างๆเพื่อจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยนำเอาประสบการณ์ของเวทีคนหนองบัว มาเป็นกรณีศึกษาทางด้านการสร้างความรู้ท้องถิ่น ส่วนเนื้อหาและวิธีคิด ก็จะบูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กับการเคลื่อนไหวสังคมท้องถิ่นด้วยกระบวนการเรียนรู้เรื่องราวตนเองของชุมชน เพื่อระดมสรรพกำลังเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ และพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อทุกคน

    ตอนนี้ ผมและคณะอยู่ที่หนองบัวแล้วครับ เมื่อถึงหนองบัวแล้ว พระคุณเจ้าได้โปรดกรุณาโทรบอกผมนะครับ จะขอความอนุเคราะห์โรงเรียนให้จัดรถมาอำนวยความสะดวกให้ครับ

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์

    ถึงหนองบัว ประมาณใกล้ๆเที่ยง
    ถ้าไปถึงแล้วจะติดกับอาจารย์อีกที

    แต่ตอนนี้ ขอตัวไปบิณฑบาตก่อน

      บ้านเตาอิฐ ตำบลห้วยถั่วเหนือ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ 

    บ้านเตาอิฐเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆกลุ่มหนึ่ง เดิมอยู่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอหนองบัว ปัจจุบันเป็นชุมชนของคนหลายหมู่บ้านของตำบลห้วยถั่วเหนือ อำเภอหนองบัว

          เมื่อประมาณ 70 ปี ที่ผ่านมามีเพียง 2 ครอบครัว คือครอบครัวปู่ไหล พูลสวัสดิ์ และปู่พลอย อาศัยอยู่ที่นาของตนเองที่ปราศจากไฟฟ้า น้ำปะปา และถนนหนทาง พ่อแม่ของผู้เขียนก็ต้องเดินทางมาทำนาที่อยู่ใกล้กับนาของปู่ไหลเป็นประจำตั้งแต่ ตี 3 - ตี4 และเมื่อปี พ.ศ. 2504 ซึ่งเป็นปีที่แม่ให้กำเหนิดน้องสาวคนที่ 5 ของผู้เขียน พ่อก็พาแม่มาปลูกบ้านอยู่ใกล้ๆกับบ้านของ  ปู่ไหลในที่นาของตนเอง นับจากนั้นมาหมู่บ้านนี้ก็เจริญเติบโตจวบจนปัจจุบันมี 10 ครอบครัว  ที่มีไฟฟ้า น้ำปะปาและถนนลาดยางเดินทางไปมาสดวก

           ชีวิตของผู้เขียนทั้ง 2 ยุคช่างแตกต่างกันมาก เมื่ออายุประมาณ 7-12 ปี เป็นช่วงที่มีความสุข สนุกสนานมาก ทุกครอบครัวมีความเป็นอยู่แบบชนบทไปบ้านใหนก็ได้กินของอร่อยๆไม่ว่าจะเป็นข้าวขยำน้ำปลาร้า ข้าวขยำน้ำปลาที่แสนอร่อย เมื่อกลับบ้านพ่อแม่ก็จะถามว่าไปเล่นใหนมาทำไมไม่มากินข้าวบ้าน ไปกินข้าวบ้านใครมา แล้วก็จะถูกดุ ถูกคาดโทษจะตีบ้าง

           ปัจจุผู้เขียนอายุ 50 กว่าปี สภาพความเป็นอยู่เปลี่ยนไปพี่ๆน้องๆแยกย้ายกันไปทำงานอาชีพที่อื่น นานๆจึงจะมาพบปะกัน ผู้คนในหมู่บ้านก็มุ่งแต่การประกอบอาชีพหารายได้เลี้ยงครอบครัวต้องทำงานตั้งแต่เช้าจนเย็น ค่ำลงก็เข้านอนบ้านใครบ้านมัน หมู่บ้านของเราอยู่อย่างสงบสุขไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันดี หากไม่มีงานหรือธุระก็ขาดการพบปะพูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกัน มันเป็นชีวิตที่รู้สึกเหงาๆเหมือนขาดอะไรบางอย่างไปทำใหนอย่างหวนกลับคืนความเป็นอยู่อย่างเดิม

                                                                                                   ครูจันทร์

        

     

    ได้มาอบรม 2 วัน เรื่อง ศิลปวัฒนธรมเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน ที่โรงเรียนหนองบัว ได้ความรู้มากๆเลยคะ คิดถึงบ้านเกิดเมื่อยังเป็นเด็กจังค่ะ ถ้ามีโอกาสอยากให้อาจารย์วิรัตน์ นำความรู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกนะคะ

    เจริญพรโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ และทีมงาน

    อาตมาขออนุโมทนาบุญ ในความเป็นผู้ให้..ของท่านและทีมงาน

    "หว่านพืชเช่นไร..ย่อมได้ผลเช่นนั้น.." สาธุ...

                             เวทีคนหนองบัวขอร่วมรำลึกถึงคนดีที่โลกไม่มีวันลืม

                           
                            

    @@@คนคนหนึ่งเกิดมาใต้ฟ้ากว​้าง
    หวังเดินทางตามหาสิ่งที่ฝัน
    แต่ก็ต้องสะดุดหยุดเดินพลัน
    และมีอันเป็นไปด้วยภัยพาล@@​@

    บทกลอนของคุณครู(kruqui Chutima)

    • บันทึกเรื่องบ้านเตาอิฐของคุณครูจันทร์ ได้แยกไปทำเป็นหัวข้อบันทึกเฉพาะต่างหากไว้ที่นี่ด้วยนะครับ http://www.gotoknow.org/blog/nongbua-community/451995
    • ขอเป็นกำลังใจคุณครูเคียวโกะนะครับ นำเรื่องราวจากโรงเรียนวังบ่อและชุมชนแถววังบ่อมาเล่าแบ่งปันกันเสมอๆนะครับ ฝากรำลึกถึงและคารวะพี่ขุน โอภาษี ผอ.โรงเรียนด้วยนะครับ
    • กราบนมัสการและอนุโมทนาทุกสิ่งสรรพ์จากท่านพระอธิการมหาแลและท่านพระอธิการโชคชัยด้วยเช่นกันครับ
    • ท่านอื่นๆที่ถึงแม้ได้รว่มรับทราบก็ถือว่าได้ร่วมกันสร้างพื้นฐานก่อนหน้านั้นมาหลายอย่าง ก็ขอได้ร่วมยินดีและได้รับการอนุโมทนาไปด้วยนะครับ ทั้งคุณฉิก คุณสมบัติ คุณเสวก คุณอัญชัน คุณคนปรุงแผ่นดิน และทุกๆท่านเลยครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล และพระอธิการโชคชัย

    สวัสดีพี่วิรัตน์ และสมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกๆท่าน

    ไม่ได้เข้ามาพูดคุยในนี้ซะนานเลย รู้ว่ามีกิจกรรมเวิร์คช็อบที่หนองคอก แต่พอดีไม่ค่อยว่างช่วงนี้

    รออ่านความเคลื่อนไหวของกิจกรรมที่หน้าหลักที่ดูประจำนี้ ก็ไม่ค่อยเห็นมีมาอัพเดท

    ที่แท้เขาไปตั้งหัวข้อใหม่ตั้งหลายหัวข้อ เดี๋ยวจะตามไปอ่านดูนะครับ

    แค่นี้ก่อน เดี๋ยวต้องออกไปธุระข้างนอกแล้ว

    ตอนที่ไปเวิร์คช็อปพวกเราพูดถึงฉิกกับกลุ่มพริกเกลืออยู่นะครับ
    แต่ครั้งนี้ได้ไปร่วมกับทางโรงเรียนซึ่งจัดครั้งแรก ยังประมาณหน้าตาไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร เลยยังชวนเชิญหลายคนยังไม่ถนัด แต่งานและบรรยากาศออกมาดีมากครับ หากจัดในจังหวะงานงิ้วได้ละก็สนุกแน่เลย ไปจัดในตลาดได้เลย

    เลยลิ๊งก์หัวข้ออีกหลายหัวข้อมาไว้ที่หน้าหลักนี้ด้วยนะครับ

    บ้านเตาอิฐ อำเภอหนองบัว นครสวรรค์    
    การเรียนรู้อิงถิ่นฐาน : ๖.การบูรณาการในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนและเครือข่ายในนครสวรรค์    
    การเรียนรู้อิงถิ่นฐาน : ๕. รวมการบรรยายเสริมความรู้และให้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาเครือข่าย    
    การเรียนรู้อิงถิ่นฐาน : ๔. ชุมชนเรียนรู้ออนไลน์เวทีคนหนองบัวกับการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน    
    การเรียนรู้อิงถิ่นฐาน : ๓. ปลายทางเพื่อพัฒนาการเรียนรู้อิงถิ่นฐานและตัวชี้วัดกระบวนการเชิงยุทธศาสตร์    
    การเรียนรู้อิงถิ่นฐาน : ๒. การสะสมทุนเดิมกับวิธีประสานงานผ่านสื่อออนไลน์    
    การเรียนรู้อิงถิ่นฐาน : ๑. บูรณาการเวทีคนหนองบัวกับเครือข่ายโรงเรียนในฝันนครสวรรค์    
    เวิร์คช็อปเครือข่ายครูนครสวรรค์พัฒนาการเรียนรู้อิงถิ่นฐานอย่างบูรณาการ

    นำลิ๊งก์คณะคุณครูและเครือข่ายโรงเรียน ของหนองบัว ไพศาลี ท่าตะโก ตากฟ้า และหลายแห่งของนครสวรรค์ ที่อบรมศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐานด้วยกันแล้วเปิดบล๊อกทำบันทึกขึ้นมาใช้เอง มาแนะนำให้แก่ทุกท่าน.......

    ครูต้นเทียน : สุนันทา แข็งแรง >> แลหน้าวิถีโลก มองย้อนวิถีไทย : ยุ้งข้าวหายไปไหน >> http://www.gotoknow.org/blog/totien2/451128
    ครูสุชาติ นุ่มมาก (ครูไพศาลี) >> http://www.gotoknow.org/media/files/741961
    ครูวิกานดา >> http://www.gotoknow.org/profiles/users/krunongbt
    ครูนัทธมน หลีจู จาก รร.หนองดู่  >> http://www.gotoknow.org/profiles/users/leejus
    ครูภัทรานิษฐ์ อิ่มศิล จาก รร.วังบ่อวิทยา >> http://www.gotoknow.org/blog/krupay/450941
    ครูสุภาวดี ประสิทธิพร  >> http://www.gotoknow.org/profiles/users/supavade
    ครูภานิณี เภา สุขโชคพานิช >> http://www.gotoknow.org/profiles/users/panine

    เมื่อวาน(๘ สิงหาคม ๒๕๕๔)มีกิจนิมนต์ไปสวดมนต์ฉันเพล ที่สำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่ ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก วัดแห่งนี้เป็นวัดที่อยู่ในป่า เป็นชุมชนเล็กๆในสภาพที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ อาศัยไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์

    จากจุดเริ่มต้นปากทางเข้าวัดที่ถนนสายวังทอง-หล่มสัก ที่หมู่บ้านวังนกแอ่นเป็นระยะทางประมาณ ๗-๘ กิโลเมตร (จากวัดศรีโสภณประมาณ ๒๕ กม.)แต่ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓๐ นาที ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูง ทางรถจึงมีหินมาก รถเลยวิ่งเร็วไม่ได้

    เจ้าของรถ(โยมชุติมา)ไปด้วย ซึ่งเป็นคนอยู่ในเมืองไม่ชำนาญทาง จึงไม่กล้าขับเอง ต้องอาศัยคนในพื้นที่บนเขาลงมารับที่วัดศรีโสภณและช่วยเป็นพลขับให้

                           
                            สภาพสำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่ พรรษานี้มีพระสงฆ์จำพรรษา๒รูป รูปหนึ่งต้องไปเรียนมจร.ทุกวัน เทียวไปมาจากบนเขาไม่ไหว เลยต้องลากิจตามวินัยบัญญัติโดยสัตตาหะมาพักที่วัดศรีโสภณ พอถึงวันโกนก็กลับไปสำนักสงฆ์ฯเพื่อไปร่วมปฏิบัติศาสนกิจในวันสำคัญทางศาสนาคือวันธรรมสวนะ(วันพระ)หมายถึงเป็นวันประชุมของพุทธศาสนิกชนชาวพุทธเราเพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตรสามทานอุโบสถศีล เป็นต้น(ภาพซ้ายบนวัดศรีโสภณ)

    ในสำนักสงฆ์มีผลไม้ป่าที่รู้จักอยู่ชนิดสองชนิด ในภาพคนหนองบัวเรียกว่ามะรื่น แต่แถววังทองเรียกว่ามะจิ้ม

                    
                    
                    
                    
                     ทำไมคนวังทองจึงเรียกว่า มะจิ้ม คำเฉลยน่าจะอยู่ที่ภาพล่างสุดนี่แหละ

    มะรื่นหรือมะจิ้มนี้ จะกินผลอ่อนหรือกินเปลือกคงไม่น่าอร่อยเลย คนที่รู้จักและเคยกินก็จะทราบดีว่าส่วนใดกินได้และอร่อยดี เมื่อลูกแก่นำมาผ่าแล้วจะเห็นเนื้อในสีขาว ผ่าแล้วกว่าจะกินได้นั้น ต้องมีไม้แหลมๆ ไว้แคะหรือจิ้ม จึงจะนำเนื้อในออกมากินได้

    ดูแล้วก็มีเนื้อในอยู่นิดเดียว ไม่น่าจะพอให้กินอิ่มกินหนำได้ แต่คนก็ชอบกิน จะบอกว่าเป็นประเภทของขบเคี้ยวของชาวบ้านก็พอได้อยู่ รสชาติหรือก็ออกมันๆ เคี้ยวเพลินๆ

    ที่บอกว่ากินเปลือกไม่จะอร่อยนั้น เพราะเมื่อวานนี้มีคนที่ไปด้วยกัน ซึ่งไม่รู้จักมะรื่น ขณะนั้นยืนคุยกันอยู่ เมื่อท่านเห็นก็ถามว่อะไร ก็บอกไปว่ามะรื่น ถามต่อว่ากินได้ไหม รสชาติเป็นไง กินได้ซิ แล้วส่งไปให้ดูหนึ่งลูก เมื่อรู้ว่ากินได้ รับไปแล้วก็กัดทั้งลูกเคี้ยวทั้งเปลือกเลย

    ยังไม่ทันกลืนเลย แค่พอรู้ชาติเท่านั้น ก็รีบคายออกทันทีเหมือนกัน ไม่ทันได้ถามต่อว่ากินยังไงเลย ก็คุยเรื่องอื่นต่อโดยที่ท่านยังไม่ทราบว่ากินยังไง(บอกและอธิบายวิธีกินมะจิ้มไม่ทันจริงๆทั้งคนพื้นที่และอาตมา)

    เมื่อก่อนชาวหนองบัว ไปเก็บที่ป่าเหนือตามเขาพระฯ เก็บลูกที่ล่วงใต้ต้น นำมาให้งัวควายกินเปลือก กินเปลือกเสร็จแล้ว เจ้าทุยและงัวก็ปล้อนเม็ดคายเม็ดออก เหลือแต่เม็ดแข็งๆ แล้วคนก็ไปนำมาผ่า ใช้ไม้อันเล็กๆปลายแหลม แคะ จิ้มเนื้อในสีขาวกินกันอร่อยดี

     

    ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในป่าผืนเล็กๆที่สำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่ ยังพอมีให้เห็นได้ทั่วๆไปโดยสังเกตได้จากบริเวณใกล้ๆกุฏีพระหลังหนึ่ง มีไส้เดือนดงจำนวนมาก

    บริเวณใกล้ๆกุฏี เป็นที่โล่งเตียน จึงมีขุยไส้เดือนดงเต็มไปหมดเลย ไม่เห็นตัว ดูจากขุยแล้ว น่าจะตัวใหญ่ ดินขุยไส้เดือนสีดำมากๆ ที่ผ่านเคยเห็นตามท้องนา เป็นแค่ขุยเล็กๆเอง และตรงบริเวณไหน มีขุยไส้เดือนมากๆ ตรงนั้นข้าวจะเจริญงอกงามดี

    ขุยไส้เดือนดงบนเขา จะเห็นดินสีดำอย่างมากด้วย ถ้านำไปใส่ต้นไม้หรือพืชผักต่างๆ งามแน่เชียว

                                   

                     
                     

    ผลไม้ป่ากินได้บนเขาสำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่

    ท้องถิ่นแถวนี้เรียกว่าต้นคอม,ต้นมะคอม

                                
                                
                                

    ที่บ้านฉันเรียกว่าต้นไม้ลายใช่ไหมเอ่ย ? ลูกสุกกินได้ด้วย

    เคยใช้ทำเป็นลูกกระสุนใส่กระบอกไม้อีโบ๊ะ ยิงเล่นกันสนุกสนานไม่น้อยเลย

                 
                  เพื่อให้เห็นภาพโดยไม่ต้องจินตการ เลยไปนำภาพจากบันทึกเรื่องอีโบ๊ะของคุณครูธนิตย์ สุวรรณเจริญ มาให้ชมกันชนิดใกล้ๆ

    ตามไปอ่านเรื่องอีโบ๊ะของคุณครูธนิตย์ได้ที่นี่ http://www.gotoknow.org/blog/tnitsu/254749

    สำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่

    อยู่ในป่าเขา เงียบสงบ บรรยากาสแวดล้อมด้วยแมกไม้ธรรมชาติ นานาพันธุ์ สัตว์ป่าหลากหลายชนิด
    ไปสัมผักเพียงครึ่งวัน ก็ได้ความสดชื่น กลิ่นไอธรรมชาติแสนสดใส อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติทำให้เย็นใจสบายตา

                        
                         
             

    มองจากบริเวณหน้ากุฏี เห็นยอดเขาอีกลูกหนึ่งที่อยู่ไกลๆ
                    
                     
                              
                               เมื่อค่ำลง ก็ก่อกองไฟใต้ถุนกุฎี ไล่ยุง ป้องกันสัตว์ร้ายต่างๆ โดยข้างกองไฟก็มีจะมีน้องหมา หมาวัดมานอนผิงไฟกันหลายตัวสร้างความอบอุ่นทั้งเจ้าของกุฏีและผู้อาศัยตลอดคืน 

    มาดูเส้นทางไปสำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่กันนิดนึง

    ทำไมจึงเลือกถ่ายแต่ช่วงที่ถนนเลียบๆตลอด ก็ไม่รู้เหมือนกัน

    สงสัยช่วงทางไม่เลียบ ก็นั่งโยกตัวไปมา เลยถ่ายไม่ถนัด

    ทั้งไปและกลับเจอชาวบ้านหาเก็บของป่า คนเลี้ยงวัว(คนสองคน) นี่เป็นหน้าฝนเลยมีคนหาของป่าบ้าง ถ้าเป็นหน้าแล้ง อาจจะไม่เจอใครเลยตลอดเส้นทาง

             
              ป้ายสำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่
             
             
                       
            
             

    ของป่าข้างวัด : เห็ดคาย

    ช่วงนี้เป็นฤดูฝน ในป่าจึงมีผักป่า หน่อไม้ เห็ดต่างๆ ของป่า ผลไม้ป่ามากมาย และก็ช่วงนี้นี่แหละที่ชาวบ้านได้ศัยความอุดมสมบูรณ์จากป่าจากธรรมชาติสร้างรายได้โดยไม่ต้องลงทุน ฟังมาว่าแต่ละคนรายได้ต่อวันอย่างน้องไม่ต่ำกว่าพันบาท

    โดยเฉพาะเห็ดโคนนั้นแพงสุด กิโลละ ๕๐๐ บาท

    เนื่องจากไปถึงสำนักสงฆ์ฯสายแล้ว เลยไม่เจอเห็ดโคน เจอแต่เห็ดคายแถวๆข้างวัด ขอถ่ายหน้าตาเห็ดคายที่อยู่ในป่ามาให้ชมซะเลย

                               
                               
                               
                               

    ที่บ้านไผมเรียกเห็ดไผ่ หรือเห็ดรวกครับ

    เจริญพรอาจารย์ขจิต

    ขอบคุณอาจารย์ที่มาบอกให้ทราบ
    เห็ดคายหรือเห็ดไผ่ มีสองชื่อด้วยกัน ชาวบ้านที่นี่ก็เรียกเห็ดไผ่ด้วย

    ของป่าที่สำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่อีกอย่างหนึ่งคือต้นนมแมวป่า ลูกสุกกินได้ พระท่านพาไปดูและได้ลองฉันด้วย มีรสมันๆ

    เพิ่งจะรู้จักและได้กินเป็นครั้งแรกด้วย

                             
                             
                             
                              

    มีคนเก็บเห็ดขี้ไก่ เห็ดหน้าเขียว (เรียกชื่อชาวบ้าน)มาให้ดูและถวายกลับวัดด้วย

                           
                           

    ของฝากจากสำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่

    ฉันเพลเสร็จแล้วฝนตก หลังจากนั้นบ่ายๆก็กลับวัด ก่อนจะกลับพระคุณเจ้ามีพืชผักสดๆจากป่ามาถวายพระหลายอย่างเลย

                                 
                                 

    มะเลื่อม : มะจิ้ม

    เมื่อวานได้อธิบายผลไม้ป่าที่ไปพบบนสำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่ว่า
    คนหนองบัวเรียกว่ามะรื่น แต่แถววังทองเรียกว่ามะจิ้ม

    พอดีวันนั้นได้นำลูกมะจิ้ม(มะเลื่อม)ลงมาจากเขาด้วย เช้านี้กลับจากบิณฑบาต มองเห็นลูกมะจิ้มวางอยู่บนเขียง เลยนึกถึงชื่อไปด้วย แล้วก็คิดถึงว่าเมื่อวานทำไมจึงบอกว่ามะรื่น

    เมื่อนึกถึงต้นของมัน จึงร้องอ๋อว่าเมื่อวานบอกผิดไปแล้ว

    ฉะนั้นจึงขอแก้ไขให้ถูกต้องเสียเลย ในภาพนี้คือมะเลื่อม(มะจิ้ม)

                    
                    
                    
                    
                     ทำไมคนวังทองจึงเรียกว่า มะจิ้ม คำเฉลยน่าจะอยู่ที่ภาพล่างสุดนี่แหละ

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล

    • ตามมาอ่านเวทีคนหนองบัวครับ
    • ช่วงนี้ ฝนตก นํ้าท่าดี อากาศดี..จึงทำให้พืช ผัก สมุนไพร ที่อยู่ตามป่าเขาผลิดอกออกผลดีน่ะครับ..
    • มะเลื่อม(มะจิ้ม) อย่างนี้แถวบ้านผมไม่รู้จักหรอกครับ..แต่มองคล้ายๆเหมือนลูกมะปริงหรือมะดัน.. จังเลยครับ..

    ท่านอธิการโชคชัยครับ

    จริงเหมือนที่ท่านว่าเลยครับ มะเลื่อม,มะจิ้มนี้ จะขึ้นตามป่า ตามเขา พื้นที่สูงเท่านั้นครับ (เท่าที่ผมสังเกตมานะครับ) ตามพื้นราบ ท้องนาทั่วไปไม่เคยพบเลยครับ ก็เป็นไปดังที่ท่านว่าเพราะอำเภอพรหมพิราม เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ท้องทุ่งนา จึงไม่มีมะเลื่อมและก็ไม่รู้จักมะจิ้มแน่นอน

    ผมนึกถึงเหตุการณ์วันนั้นแล้วก็ขำครับ คือวันนั้นผมไปถ่ายรูปมะจิ้มที่ใต้ต้น แล้วเก็บมาเกือบสิบลูกได้ เจอคนเมืองที่ไปด้วยกันซึ่งไม่รู้จักว่าคืออะไรยืนคุยกันไป ก็สงสัยแล้วถามว่าอะไร เราก็บอกไปว่าผลไม้ป่า กินได้ด้วย

    ด้วยความสังสัยของผู้ถาม แล้วก็คงอยากรู้ว่ารสชาติเป็นยังไง เลยหยิบให้ลองชิมหนึ่งลูก เมื่อรับไป ก็คงนึกว่ากินได้เลย โดยที่ยังไม่ทันได้ถามเราว่ากินยังไง ก็เคี้ยวทั้งเปลือกเลยครับ คงเจอรสฝาดละมั้ง เห็นคายออกทันที

    เมื่อนำลูกมะเลื่อมกลับมาที่วัด มีอีกท่านหนึ่งซึ่งก็ไม่รู้จักมะจิ้มนี้อีกเช่นกัน เราบอกว่ากินได้นะ ท่านก็ไม่ถามว่ากินยังไง หยิบได้ก็เคี้ยวทั้งเปลือก ร้องอือรสชาติดี ฝาดนิดๆ กินต่อไปเรื่อย ท่านบอกว่าชุ่มคอดีมาก

    ผมนึกแล้วก็ขำในเหตุการณ์ทั้งสองกรณีดังกล่าว ขำทั้งตอนที่เห็นท่านกินต่อหน้าเราในตอนนั้น และตอนนี้เมื่อถึงเหตุการณ์นั้นก็ยังอดขำไม่ได้เลยครับ

    ที่จริงมะจิ้ม,มะเลื่อมนี้ ต้องกินลูกแก่ๆครับ ลูกอ่อนกินไม่อร่อยดอก ผมแนะนำวิธีกินให้พร้อมแล้วครับ ต้องผ่ากลางลูก อย่างในภาพสุดท้ายนั่นแหละครับ ผ่าแล้วจะเห็นเนื้อในสีขาว ใช้ไม้แหลมๆ แคะหรือจิ้ม แค่นี้ก็นำเนื้ออร่อยๆรสชาติมันๆออกมากินได้สบายเลยครับ

    สรุปว่าทั้งสองท่านที่กล่าวถึงนั้น ยังไม่ทราบนะครับว่าลูกมะเลื่อมเขากินกันยังไง

    วันที่ไปสำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่(๘สิงหามค๒๕๕๔)นั้น คนที่อยู่ในตัวอำเภอ ที่มีความเป็นเมืองมากกว่าคนที่อยู่บนเขานิดหน่อย รู้สึกตื่นเต้นว่าจะได้เจอของป่าประเภทอาหารปลอดสารพิษบ้าง

    เมื่อไปถึงเขตป่าเขา นั่งอยู่บนรถก็มองข้างทางตลอดเลย คิดว่าคงได้พบเห็ดบ้างแหละหนา จนแล้วจนรอด ก็ไม่พบ แต่ที่พบกลับไม่ใช่เห็ด กลายเป็นคนเก็บของป่าแทน

    มีคนบอกว่าคนต่างถิ่น มีโอกาสไม่มากนักที่จะได้พบของป่า นอกจากบังเอิญ หรือของป่ามีจำนวนมากมาย อย่างนั้นละก็มีโอกาสพบได้ค่อนข้างง่าย คนเก็บของป่าประจำย่อมรู้ว่ามีของกินได้อยู่ตรงไหนบ้าง รู้และจำรายละเอียดกระทั่งว่าพืชผักของป่าชนิดไหน ออกดอกออกผลวันไหนบ้าง รู้ทั้งเวลาและสถานที่ว่างั้นเถอะพี่น้องเอ๋ย เรียกว่ากำหนดวันเก็บได้ไม่มีพลาด เหมือนกับเกษตรที่กำหนดวันเก็บเกี่ยวผลิตได้เลยอย่างนั้นแหละ

    อย่างนี้คนนอกพื้นที่ที่ไปหาของป่า ก็คงได้แห้วกลับบ้านกันเป็นแถวแน่เชียว ถึงจะไม่ได้พบกับความตื่นเต้นอย่างที่คิดไว้ แต่ก็ได้พบกับบรรยากาสความเป็นธรรมชาติแห่งป่าดงพงไพรอันแสนงดงามเกินคุ้มแทน

    ความตื่นเต้นที่ไม่คาดคิดมาก่อน กลับมาเกิดขึ้นเช้าวันนี้(๑๐สิงหาคม๒๕๕๔) ที่ข้างๆกุฎีอาตมานี่เองแหละ ที่กระถางต้นไม้มีเห็ดโคนดอกใหญ่เกิดขึ้นสองดอกด้วยกัน เจอโดยบังเอิญจริงๆ เห็ดโคนดอกใหญ่สองดอกนี้งามดีจัง ขอถ่ายรูปเอามาอวดกันซะเลย

                                   
                                    
                                    
                                    
                                   

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลและพระคุณเจ้าท่านพระอธิการโชคชัยครับ
    และขอสวัสดีทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ

    • ข้อมูลภาพและเรื่องราวที่ค่อยๆรวบรวมไว้นี่น่าสนใจและมีคุณค่าทั้งในการบันทึกไว้และสำหรับให้ผู้คนได้ศึกษาค้นคว้าต่อไปมากเลยนะครับ
    • ผมจะหาเวลาแยกหัวข้อเป็นบันทึกไว้ต่างหากให้นะครับ รวบรวมไว้ในหน้าแรกนี้ด้วยกันก็ดีมากอยู่แล้วเหมือนกันครับ แต่มันใส่คำหลักและคำสำหรับค้นไม่ได้ ทำให้เวลาค้นหาข้อมูลแล้ว นอกจากคนที่คุ้นเคยเรื่องราวและรูปแบบในเวทีคนหนองบัวนี้แล้ว ก็เชื่อว่าคนอื่นๆที่ไม่ค่อยรูและไม่คุ้นเคยคงจะหาเจอได้ยาก แยกเป็นบันทึกต่างหากอยู่เสมอๆจะค้นและเป็นหัวข้อจำเพาะสำหรับให้คนอื่นๆนำข้อมูลมาช่วยสะสมไปด้วยได้ง่ายมากขึ้นครับ
    • ในชุดหลังนี้ผมเห็นภาพบางอย่างซึ่งน่าสนใจมากเลยละครับ คือกำลังเห็นภาพบทบาทของวัดและพระในการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรพืชต่างๆของท้องถิ่น นี่ถ้าหากแต่ละวัดมีการบันทึกรวบรวมและทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นอกจากจะเป็นสื่อการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่ามากอยู่ในตัวเองแล้ว ก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่เป็นจุดแข็งของสิ่งแวดล้อมที่ดูแลด้วยวัดและพระสงฆ์เลยนะครับ เพราะฉนั้น ตอนแยกเป็นหัวข้อย่อยนั้น ผมจะทำให้เป็นชุดเรื่องพืชท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม และต้นไม้ในวัด ทำนองนี้ ให้เลยนะครับ จะน่าสนใจมากเลยทีเดียว
    • ตอนนี้กำลังหารือกับคนที่เขามีความรู้ครับว่า ทำอย่างไรจะแยกบันทึกเวทีคนหนองบัวนี้ให้เป็นบล๊อกต่างหากแล้วใช้รูปแบบการบันทึกโดยเป็นชุมชนเรียนรู้และบันทึกโดยเครือข่ายผู้เขียนร่วมกันหลายคน ใครเข้ามาก็สามารถใช้รหัสส่วนตัวของตนเองได้เลย ลองทดลองดูแล้วสามารถทำได้ครับ เวทีหนองบัวจะได้เป็นแหล่งพบปะเสวนาและเป็นคลังรวบรวมข้อมูลที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือได้ดียิ่งๆขึ้นนะครับ  ขอเวลาศึกษาดูก่อนนะครับ ทางเทคนิคนั้นทำได้แล้วครับ แต่การโอนย้ายข้อมูลนี่ เนื่องจากมีลิ๊งก์ต่างๆเข้ามายังบันทึกเวทีคนหนองบัวนี้หลากหลายมากพอสมควร ไม่รู้ว่าพอย้ายข้อมูลนี้จะส่งผลกระทบอะไรอย่างไรหรือไม่ เท่านี้แหละครับ

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล เจริญพรโยมดร.วิรัตน์ และทุกท่านในเวทีคนหนองบัว

    • เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ..
    • ยิ่งทำให้บทบาทของวัดและพระในการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรพืชต่างๆของท้องถิ่น ได้เด่นชัดขึ้น เกิดกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน..ได้จริงครับ
    • สื่อข้อมูล/ความรู้ ภาพถ่าย คือการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่าเป็น"ห้องเรียนธรรมชาติ.."
    •                          
    • อธิบายภาพ: "ห้องเรียนธรรมชาติ วัดพรหมพิราม.." 
    • อาจจะเป็นประเด็นการเรียนรู้ ที่เป็นกุศโลบายสร้างยุทธศาสตร์การคิดและยุทธศาสตร์การพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในวัดและแหล่งปฏิบัติธรรม ให้มุ่งสู่ความเป็นแหล่งอยู่กับธรรมชาติ ความเรียบง่าย ความสงบวิเวความเป็นแหล่งสัปปายะต่อการอยู่กับตนเองและเห็นธรรมชาติความเป็นจริงอันลึกซึ้งได้ง่ายขึ้น เลยนะครับ
    • เป็นแหล่งการเรียนรู้และปฏิบัติธรรม พร้อมไปกับการให้การเรียนรู้เพื่อผูกพันและซาบซึ้งความเป็นถิ่นฐาน มีความรู้เกี่ยวกับตนเอง ส่งเสริมให้ประสบการณ์ชีวิตและคนในท้องถิ่นได้นำเอาความรอบรู้เกี่ยวกับต้นไม้ พืชพันธุ์ และระบบธรรมชาติ ที่ได้จากการเรียนรู้ในชีวิต มาใช้เพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาวะของส่วนรวมทั้งในวัด ชุมชน และการถ่ายทอดสื่อสารให้กับสาธารณะ
    • ยิ่งมีเว็บบล๊อกช่วยเป็นสื่อและเป็นเครื่องมือช่วยขยายกำลังสติปัญญา ขยายความสามารถในการพึ่งตนเองจัดการความรู้เพื่อส่วนรวม เหล่านี้ ผมว่าน่าสนใจและเป็นเรื่องสร้างสรรค์มากอย่างยิ่งครับ
    • คงจะเป็นหัวหอก นำร่องให้วัดและแหล่งสาธารณะชุมชนบางส่วน หันมาให้ความสำคัญต่อการสร้างสิ่งแวดล้อมและรักษาระบบธรรมชาติ ดีกว่าไปสร้างวัตถุที่ฟุ่มเฟือย ได้เป็นอย่างดี ช่วยแก้วิกฤติสังคมและส่งเสริมการเพิ่มพูนทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แต่เดิมของวัดและชุมชน ได้มากเลยละครับ

    เมื่อวันที่๑๐สิงหาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมาโยมไวยาวัจกรวัดศรีโสภณ มาชวนไปเยี่ยมโยมผู้สูงวัย(อายุ๘๐ปี)ท่านหนึ่งที่โรงพยาบาลพุทธชินราช ซึ่งป่วยอยู่ในห้องไอซียู โยมป้าท่านนี้เป็นคนวัดศรีโสภณ เป็นคนใจบุญสุนทรทานช่วยเหลืองานวัดหลายสิ่งหลายอย่างตลอดมาตั้งแต่สมภารองค์ก่อนจนปัจจุบัน

    ขณะยืนพูดคุยอยู่ข้างเตียงคนไข้กับพระที่ไปด้วยกันอยู่นั้น ก็ได้รับโทรศัพท์จากพระที่วัดโทร.ไปหา โดยบอกว่ามีญาติโยมจากจังหวัดตากมาถามหาอาตมา ถามไปว่าใคร เพราะไม่เคยรู้จักใครเลยในจังหวัดตาก พระท่านบอกว่าโยมได้อ่านเรื่องต้นไม้แหย่แย้ในบล็อกที่อาตมาเขียนไว้เมื่อหลายเดือนก่อน

    วันนี้มาประชุมที่พิษณุโลก คงจะเสร็จสิ้นเรื่องการประชุม จึงได้เดินทางมาที่วัดศรีโสภณเพื่อมาพบพระมหาแล และก็มีความประสงค์จะขอแบ่งต้นแหย่แย้ไปปลูกที่บ้านด้วย

    เลยได้บอกพระให้พาโยมไปดูต้นแหย่แย้ที่กุฏิ บอกว่าต้นที่ชำไว้นั้นถ้าโยมจะแบ่งไปปลูก ก็นำไปได้เลย หรือถ้าจะตัดกิ่งหรือต้นไปปักชำเองก็ได้ โยมคงเกรงใจจึงไม่นำต้นที่ชำไว้ไป แต่ไปตัดที่ต้นใหม่ซึ่งมีอยู่กอหนึ่งที่ผู้ช่วยเจ้าอาวาสท่านปลูกไว้เมื่อหลายปีก่อน

    ทราบจากพระว่าโยมข้าราชการจากจังหวัดตามมากันหลายคน ได้ตัดไปจำนวนหนึ่งบอกว่าเดี่ยวจะนำไปแบ่งกันปลูก

    ขอบคุณโยมจากจังหวัดตากที่ช่วยกันรณรงค์เผยแพร่พันธุ์ไม้ชนิดนี้

    วันนั้น(๘สิงหาคม๒๕๕๔)พระที่จำพรรษาในสำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่ ท่านได้พาไปดูต้นปลาไหลเผือกที่อยู่ข้างศาลาการเปรียญ ต้นไม้ชนิดนี้ได้ยินชื่อมานาน แต่ยังไม่เคยเห็นต้นเลยสักครั้ง ก่อนหน้าที่จะขึ้นไปเขาทรัพย์ประดู่ ก็เคยได้เห็นรากปลาไหลเผือกที่กุฎีของหลวงตาในวัดศรีโสภณมาแล้ว เห็นแค่เพียงรากอย่างเดียว ที่โค้งคด งอไปมา และยาวมากนั้น อาจจะนึกไปได้ว่าต้นปลาไหลเผือกคงเป็นเถาวัลย์หรือไม่ก็ไม้เรื้อยแน่เลย

    เพราะดูจากรากแล้ว ไม่น่าจะเป็นไม้ยืนต้นเหมือนไม้ทั่วไป 

    ถ้าใครเคยอ่านศึกษาตำรายาไทย สมุนไพรไทยมาบ้าง ก็จะพบต้นไม้ชื่อแปลๆนี้อยู่ไม่น้อย รวมทั้งสรรพคุณทางยาก็มีคำร่ำรือจากผู้ใช้อย่างน่าทึ่ง ส่วนจะมีสรรพคุณดีอย่างไรบ้างนั้น ผู้สนใจก็หาอ่านได้จากอินเตอร์เน็ทก็แล้วกัน

    วันนี้มีภาพมาให้ดู ทั้งต้นและรากพร้อมกันเลย

                               
                                 รากปลาไหลเผือก   
                               
                               
                        
                         ต้นปลาไหลเผือก เป็นไม้พุ่มขนาดกลางในป่าเต็งรังสูงประมาณ๓เมตรชอบขึ้นตามภูเขาที่มีหินมากๆ รากสามารถชอนไชไปตามร่องหินได้ไกลๆด้วย และต้นปลาไหลเผือกนั้นจะมีรากยาวมาก บางต้นรากจะยาวกว่าความสูงของลำต้นเสียอีก

    ที่มาของชื่อสมุนไพรชนิดนี้น่าจะมาจากลักษณะของรากที่เหมือนปลาไหลเผือกคือมีสีขาวๆคล้ายปลาไหลเผือก

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล เจริญพรโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    • เคารพครู.. วันนี้บล็อกพระอธิการโชคชัย ครบรอบ 1 ปี(13 ส.ค. 2554) ซึ่งได้เรียนรู้จากเวทีคนหนอง"หนองบัวโมเดล"
    • ท่านพระอาจารย์มหาแล เขียนบันทึกไปได้ไกลมากเลยน่ะครับ..ถึงกับขึ้นเขา ลงห้วย เขาป่า เขารก..หาเห็ด หน่อไม้ ฯลฯ มาฝากตลอดเวลา ทำให้ชุมชนออนไลน์ เครือข่ายอินเตอร์เน็ตมีสีสัน อินกับธรรมชาติจริงๆ เยี่ยมครับ..ขอสิบนิ้วพนมมือ..สาธุ กราบขอบพระคุณครับ 
    • ขออนุโมทนาบุญขอบคุณโยมอาจารย์ ดร.วิรัตน์ ที่กรุณาถวายความรู้ และแนวคิด ทฤษฎี กระบวนการเรียนรู้กับชุมชน วิถีปฏิบัติ และเพื่อบทบาทพระสงฆ์ต่อชุมชน
    • กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งสองครับ.

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
    ไม่เคยเห็นเลยนะครับต้นปลาไหลเผือกเนี่ย เป็นของแปลกดีครับ
    เป็นคลังข้อมูลและความรู้ที่น่าสนใจมากเลยครับ สะสมไว้ให้เด็กๆและคุณครูทำเป็นสื่อการเรียนรู้และแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับท้องถิ่น ก็จะเป็นความร่วมมือกันของผู้คนอีกเรื่องหนึ่ง ที่ส่งเสริมความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ได้มากยิ่งๆขึ้นนะครับ ขออนุโมทนาอย่างยิ่งครับ

    กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ
    ขอร่วมแสดงความยินดีกับบล๊อกของพระคุณเจ้าที่ทำมาได้ครบหนึ่งปีแล้ว
    เป็นการงอกงามตามกำลังทีละเล็กละน้อย ที่เริ่มมีสิ่งต่างๆสั่งสมเป็นทรัพยากรทางปัญญาของชุมชนได้มากขึ้นเรื่อยๆเลยนะครับ

    ตะโกนา : จากผลไม้ในท้องทุ่งรุ่นคุณย่า มีคุณค่าพืชสมุนไพร ผลใช้ย้อมเครื่องมือจับสัตว์น้ำ สู่ไม้ดัด ไม้ประดับ

    เมื่อพูดถึงไม้ตะโก คิดว่าคนสมัยนี้จะนึกถึงและรู้จักตะโกในฐานะไม้ดัด ไม้ประดับเท่านั้นละมั้ง เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็จะเห็นแต่ต้นตะโกไม่ว่าต้นเล็กต้นใหญ่ ล้วนเป็นไม้สวยงามไปทุกที่ เพราะตะโกอยู่ในรูปไม้ดัด ไม้ประดับที่ถูกตกแต่งเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ เรียยร้อยแล้ว

    หลายคนอาจจะไม่เคยเห็นต้นตะโกที่ขึ้นเองเจริญเติบโตตามธรรมชาติจริงๆเลยก็ได้ มีแต่เห็นคราใด ต้นตะโกก็ถูกดัดแปลง เปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างไปแล้วทุกที เมื่อนำมาทำเป็นไม้ดัด ไม้ประดับ เปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่าง แปลงร่างเปลี่ยนโฉมโนมพรรณไปตามความต้องการของคน เลยทำให้ตะโกเปลี่ยนสถานะไปด้วย ตอนนี้ตะโกต้นใหญ่ๆตามท้องนาก็ถูกขุดมาปลูกตามบ้านเรือนสำนักงานมากมาย เมื่อมาอยู่ที่แห่งใหม่ก็ถูกดัดแปลงให้เป็นคนใหม่อีกด้วย จากที่เคยอยู่ตามธรรมชาติเมื่อถึงฤดูมีผล ก็ไม่สามารถมีลูกมีผลได้ตามธรรมชาติ เพราะถูกดัดแปลงให้ผิดธรรมชาติไปหมดแล้ว

    ต่อไปคนที่พบเห็นแต่ตะโกดัดเป็นประจำอาจเข้าใจว่าต้นตะโกที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ที่รูปทรงอาจไม่สวยงามเหมือนตะโกดัด จะนึกและเข้าใจไปว่าตะโกตามธรรมชาติผิดปกติแน่เชียว

    ตะโกนาเป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อละเอียด เนื้อไม้สีขาว และเป็นไม้ที่มีเนื้อเหนียวนั่นเองชาวบ้านมักนำไปทำเสา รอด ตรง เครื่องมือทางการเกษตร เช่น แอกน้อย คอม ฯลฯ

    ลูกตะโกสุกกินได้มีรสหวาน เมื่อก่อนในท้องทุ่งนาช่วงฤดูฝนหน้าทำนา ตะโกจะสุกพอดี ชาวนาก็ได้กินตะโกนี่แหละเป็นผลไม้ประจำฤดู ด้วยไม่มีอะไรผลไม้อื่นๆให้กิน ได้กินลูกตะโกก็ถือว่าอร่อยใช้ได้ โดยเฉพาะเด็กๆก็จะชอบไปขึ้นกินตะโกสุกอยู่บนต้น บนต้นตะโกสุกนั้นมดแดงเยอะเป็นพิเศษด้วย แล้วมดแดงเฝ้าตะโกก็หวงและดุเสียด้วย เมื่อคนขึ้นไปเก็บตะโกแย่งมดแดงกิน ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องถูกมดแดงเจ้าของบ้านกัดเอา เล่นเอาปวดแสบปวดร้อนเลย มดกัดแล้วเยี่ยวรดแผลที่กัดทำให้แสบปวดไม่ใช่เล่น

    ลูกตะโกนอกจากเมื่อสุกจะกินได้แล้ว ลูกดิบก็สามารถใช้เป็นสีย้อมผ้า แห อวน ยอ สวิงได้อีกด้วย โดยทุบลูกให้ละเอียดแล้วแช่น้ำ น้ำจากยางตะโกจะออกสีดำๆ หลังจากนั้นก็นำสิ่งที่จะย้อมไปแช่น้ำยางตะโก แช่จนสียางตะโกเคลือบเป็นสีดำ รสฝาดของยางตะโกจะช่วยทำให้สีติดเนื้อผ้าหรือแห อวน ยอ แน่น ทนทาน

    คุณค่าทางยาตะโกนาก็จัดเป็นสมุนไพรที่เด่นตัวหนึ่งเหมือนกัน ใช้ได้ทั้งเปลือก ผล และราก ตะโกเป็นยาอายุวัฒนะ

    เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน เลยนำภาพตะโกนา ทั้งต้นตะโกที่ไม่ได้ดัด และต้นที่ดัด ลูกสุกๆ พร้อมทั้งเครื่องมือจับสัตว์น้ำ มีแห อวน ยอ สวิง ที่เมื่อก่อนเครื่องมือเหล่านี้ล้วนแต่ย้อมด้วยสีตะโกนาทั้งสิ้น

                      
                               
                              
                               
                                ภาพ : ต้นตะโกข้างโบสถ์วัดศรีโสภณ (วัดเสือลากหาง) ถ่ายเมื่อวันที่ ๔  สิงหาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา

                                
                                 ภาพ : แห
    ที่มา...http://www.siamscubadiving.com/board/view.php?tid=3623
                                146834
                                ภาพแห : การถักแหหนึ่งปากอย่างในภาพนี้ต้องใช้เวลาถักหลายวันกว่าจะแล้วเสร็จ
    ที่มา...http://www.vcharkarn.com/uploads/146/146834.jpg

                              
                              ภาพ : อวน
    ที่มา...www.oknation.net/blog/print.php?id=42901    

                                ภาพ : ยอ(ยอมี ๒ ชนิด คือยอยก กับยอประจำที่)
    ที่มา....bangkrod.blogspot.com/2010/11/2.html

            
    ภาพ : ยอขันช่อ
    ที่มา... สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดนครศรีธรรมราช
    http://www.fisheries.go.th/sf-nakhonsri/web2/images/stories/dsc03599

                                            
                                             ภาพ : สวิง
    ที่มาhttp://province.mculture.go.th/phichit/museumPhichit/R_know/infor/images/pic4/p17.jpg

                               เซิ้งสวิง
                               ภาพ : เซิ้งสวิง
                                   เซิ้งสวิง
                                   ภาพ : หญิงถือสวิง ชายสะพายข้อง(กะม่อง)
    ที่มา...http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/index.php?transaction=serngswing.php

                               ภาพที่แนบมา
                               ภาพ : คนหว่านแห
                                ภาพที่แนบมา
                                
    ภาพ : คนหว่านแห
    ที่มา... http://www.photogangs.com/webboard/index.php?showtopic=4587

    บันทึกเสร็จ เปิดดูหาเท่าไหร่ก็ไม่มีภาพตะโกดัด เลยต้องนำมาให้ชมหน่อย

                              
                               
                               
                               ตะโกดัดข้างโบสถ์วัดศรีโสภณ(หรือตะโกตัด ตัดกิ่ง)

    ตะโกนา ตะโกตัด มีแล้ว ยังขาดอยู่ตะโกหนึ่งคือตะโกดัด ที่วัดมีครบทั้งสามอย่าง วันนี้เลยขอนำภาพมาเพิ่มเติมให้อีก     
                               
                                ตะโกดัด

    สำนวนไทยที่กล่าวว่า"ต่อหน้ามะพลับ ลังหลังตะโกคบไม่ได้" หรืออีกสำนวน"ลูกใครก็ไม่รู้ดำเหมือนตอตะโก" นี่แสดงว่าคนเมื่อก่อนนี้ รู้จักตะโกเป็นอย่างดี เปลือกตะโกนั้นสีดำสนิทเชียว ดำจนเป็นลักษณะเด่น คนเลยนำมาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพพจน์

    ทั้งสองสำนวนนี้ กลายเป็นสัญญลักษณ์ในแง่ไม่งดงามของตะโกไปเลย

    ถ้าเราอ่านข่าว ก็จะพบสื่อมวลชนใช้สำนวน"ดำเป็นตอตะะโก"นี้อยู่บ่อยๆ เช่น อุบัติเหตุสยอง โดนไฟคลอกดำเป็นตอตะโก ไฟไหม้อาคารย่างสยองสองศพดำเป็นตอตะโก

    ตะโกตอนที่ยังเป็นต้นเล็กๆอยู่นั้น ต้นจะมีสีขาว แต่พอเป็นต้นใหญ่สีก็จะดำสนิททุกต้น

    วันนี้(๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๔)ตอนเช้าพระสุนทร ปภากโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดศรีโสภณ,ประธานสงฆ์สำนักทรัพย์ประดู่ บ้านวังนกแอ่น อำเภอวังทอง พิษณุโลก ได้นิมนต์อาตมาพร้อมด้วยพระสงฆ์อีกสี่รูป ไปสวดพระพุทธมนต์ทำบุญอุทิศให้ญาติซึ่งเป็นพี่ชายของท่านและฉันเพลที่สำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่

    เนื่องจากไปถึงสำนักสงฆ์ไม่สายมากนัก ยังพอมีเวลาอีกนานกว่าจะถึงเวลาสวดมนต์ พระเจ้าถิ่นได้พาเดินชมป่า ชมต้นไม้รอบๆสำนัก ได้พบผลไม้ป่าหลายอย่างเลย ผักป่าก็มีหลายชนิดทีเดียว

    ขอนำภาพผลไม้ป่ามาให้ชมก่อน นี่คือต้นไข่เต่า ไข่เต่าเป็นไม้พุ่มไม่สูงนัก มักขึ้นรวมกันเป็นกอหลายๆต้นอย่างในภาพ เป็นผลไม้ป่าที่กินอร่อยมากชนิดหนึ่งในยุคนี้เลยแหละ รสหวาน มีคนไปเก็บมาให้ได้มาสักสิบกว่าลูก ดูหน้าตาของลูกไข่เต่าแล้ว คนที่ไม่เคยเห็นไม่รู้จักมาก่อน อาจจะนึกว่าทำไม่มองดูไม่สะอาดเลย และก็มีโอกาสสูงที่จะทำให้ไม่อยากจะลองกินก็เป็นไปได้

    ถึงรูปร่างจะไม่สระสวยงดงาม แต่เรื่องรสชาตินั้นรับรองเลยว่าถ้าใครได้ลองกินแล้วจะพูดได้คำเดียวว่านึกไม่ถึงจริงๆว่าลูกอะไรรูปร่างหน้าตาขี้เหร่อย่างนี้ก็อร่อยได้ ขณะนั้นพระคุณเจ้ากำลังฉันผลไม้อื่นอยู่ เมื่อชวนให้ลองฉันลูกไข่เต่า ท่านก็ฉลองศรัทธาทันที ฉันเพียงลูกแรกเท่านั้น ท่านบอกว่าผลไม้ที่ฉันไปก่อนหน้านี้ซึ่งก็จัดว่าหวานอยู่ด้วย ก็กลายเป็นเปรี้ยวไปเลย

    ลูกไข่เต่าปัจจุบันมีคนรู้จักไม่มากนักแล้ว และในป่าก็เริ่มจะหายากเข้าไปทุกที ยิ่งป่าเหลือน้อยเท่าไหร่ ต้นไข่เต่าก็จะหมดไปตามป่าที่หมดไปด้วยและก็จะหากินได้ยากขึ้น

    ก่อนไปบนเขาพระที่ไปด้วยกันที่ท่านรู้จักต้นไข่เต่า ท่านก็ถามอาตมาว่ารู้จักไหม ก็ตอบไปว่าไม่แน่ใจเลย แต่พอไปพบต้นได้เห็นลูกเท่านั้นแหละ เหมือนความทรงจำในตอนเป็นเด็ก มันจะบอกว่าเอ๊ะลูกพะนี้นี่ ทำไมมันคุ้นๆจังเลย เหมือนเคยกินมาก่อนแน่นอน

    เมื่อลองชิมก็เลยแน่ใจว่าไข่เต่านี้ เราเคยกินมาแล้ว นี่ความทรงจำมันบอกอย่างนั้นเลย กินที่ป่าเหนือ ป่าเลี้ยงควายที่หนองบัวเลยเชียว โดยไม่ต้องนึกเลยภาพในอดีตเมื่อสามสิบถึงสี่สิบปีที่แล้วมันแจ่มชัดขึ้นอีกครั้งโดยอัตโนมัติ

               
                    
                      ต้นไข่เต่า : สำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่                                  
             
    ลูกไข่เต่าสุก

     

                         
                          ต้นไข่เต่า ขึ้นเป็นพุ่ม บางพุ่มจะหนามากๆ เวลามีลูกมักจะมองไม่ค่อยเห็นชัด ถ้าไม่พิจารณาให้ดีก็จะนึกว่าต้นนี้ไม่เห็นมีลูกเลย วิธีหาลูกไข่เต่าที่ดีคือต้องมองใกล้ๆต้น แต่ข้อควรระวังอย่างยิ่งเลยก็คือที่ต้นไข่เต่านี้ มักมีรังแตน หรืองูอยู่ด้วย ไม่ดูให้ดีก่อนเดินดุ่มๆไปถึงก็แหวกใบที่ปิดปกคลุมลูกไว้อย่างดี ถ้ามีรังแตนอยู่ ก็รับรองได้เลยว่าเจ็บตัวแน่

    ลูกไข่เต่านี้ สัตว์ป่าหลายชนิดชอบกินด้วย เช่น นก หนู กระรอก กระแต

    ตะขบป่า

    ที่บ้านโยมข้างสำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่มีต้นตะขบป่าอยู่ต้นหนึ่ง พระท่านพาไปดูเลยถ่ายรูปเสียหลายภาพเลย ตะขบป่าที่เคยรู้จักมาก่อนนั้น จะเป็นตะขบป่าที่ต้นมีหนามและลูกเล็กๆ แต่ที่เห็นวันนี้เป็นตะขบป่าที่ไม่มีหนาม ลูกก็ใหญ่มากเลย ชนิดนี้ยังไม่เคยกินจึงไม่รู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร

                           
                           
                                   
                                    ภาพตะขบป่าสำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่
                           

    ต้นรักป่า

    เมื่อพูดถึงต้นรัก ไม้ป่าชนิดนี้คงมีหลายคน(คนสูงวัย)แน่เลยที่ไม่อยากจะกล่าวถึง ที่ไม่อยากจะกล่าวถึงก็ไม่ใช่อะไรหรอก ก็เพียงแค่เคยมีอดีตฝังใจอันเจ็บปวดกับต้นรักเท่านั้นเอง อดีตดังว่าก็คือเคยแพ้พิษรัก..เอ้ยไม่ใช่ ที่บ้านฉันเขาเรียกว่าแพ้รัก แพ้ต้นรักป่า คือต้นรักป่านั้นมีเกสรหรือยางที่มีสารเป็นพิษอะไรสักอย่างประมาณนั้นแหละไม่แน่ใจ พิษที่ว่านี้สามารถทำลายผิวหนังคนที่แพ้ จนหน้าตาบวม คันยุบยับ(ถ้าจำไม่ผิด ที่บ้านฉันเขาจะเรียกว่าโดนรักกิน ฟังดูน่ากลัว)ที่เป็นอาการอย่างนี้ต้องสัมผัสต้นรักโดยตรง เช่น เลื่อย ตัด ฟัน ถากต้น

    จำได้ลางๆจากคนแก่เล่าให้ฟังว่าคนแพ้ตันรักนั้น ไม่ต้องสัมผัสถูกต้นก็เป็นได้ เพียงแค่เดินผ่านไปใต้ต้นก็ได้เรื่องเลย ขนาดนั้นเชียว

    เคยถามหลวงตาที่วัดเรื่องคนแพ้ไม้รัก และท่านก็บอกวิธีรักษาให้ด้วย จดไว้เหมือนกันแต่ตอนนี้หาไม่เจอซะแล้ว เป็นวิธีการรักษาที่ฟังแล้วอดขำไม่ได้เลย คือคนที่มีอาการแพ้ไม้รักหน้าบวมเป่งนี้ เมื่อเป็นแล้ว ให้ปฏิบัติตัวดังนี้ คือไปแก้ผ้ารำวนรอบใต้ต้นจิก ๓ รอบ ไม่ใช่รำอย่างเดียว มีร้องเพลงประกอบการเต้นด้วย ตอนที่หลวงตาท่องบทเพลงรำใต้ต้นจิกให้ฟังนั้นฮาเลยแหละ ตลกๆขำๆเอง ไม่มีคำหยาบคายอะไรเลย แหมเสียดายไม่น่าลืมเลย(เดี๋ยวไปถามเรื่องเพลงแก้บนนี้จากผู้รู้ก่อน แล้วจะมาเล่าต่อ)

                         
                                   
                                  
                                   ภาพต้นรักป่า ต้นนี้อยู่ข้างทาง ก่อนถึงสำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่

                          

    ผักกาดป่า

    เมื่อวานได้เห็นผักป่าอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีอยู่มากในป่าและตอนพระฉันเพลโยมได้ไปเก็บมาสองกำ บริเวณใกล้ๆศาลานั่นแหละมาถวายพระ เลยได้จิ้มน้ำพริก กินกับลาบ แอ้มลาบ จิ้มลาบพอดีเลย ก็เข้ากันได้อย่างดี

                      
                                
                                 ผักกาดป่า : สำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๔

    ต้นไข่เน่า

    ต้นไข่เน่านี้ก็เป็นไม้ที่เริ่มหายากมากขึ้น หลายคนก็ลืมเลือนหายไปจากความทรงจำ ในหลายแห่งหลายที่เหลือแต่ชื่อที่คนเฒ่าคนแก่ยังจำได้ดี แต่ต้นจริงไม่มีให้เห็นแล้ว

    เมื่อไม่มีต้นจริงๆให้ดูก็เลยไม่อยู่ในความสนใจของผู้คน ต้นไข่เน่าจึงเป็นไม้ไทยที่ใกล้สูญพันธ์ไปอีกหนึ่งอย่าง

    พระที่อยู่จำพรรษาบนเขาทรัพย์ประดู่ ซึ่งอยู่ในวัยผู้ใหญ่แล้ววัยเกือบครึ่งคนได้ ท่านบอกว่าเคยถามเพื่อนๆ ที่รู้จักกัน ได้รับคำตอบมาว่าเกือบทั้งทุกท่านลืมต้นไข่เน่าไปแล้ว ยิ่งคนที่เคยได้กินเพียงไม่กี่ครั้งด้วยแล้ว ไม่ต้องถามถึงเลย ต้นไข่เน่าคนตำบลท่าหมื่นราม อำเภอวังทอง เรียกว่าลูกขี้อีเห็น บางภาคเรียกลูกหม้อ เพราะลูกมีสีดำเหมือนหม้อ

    ในป่าบนเขาที่วัดแห่งนี้ ท่านก็เพิ่งพบเพียงสองต้นนี้เท่านั้นเอง และต้นก็ยังเล็กมาก

    ไข่เน่าจะสุกประมาณช่วงเริ่มต้นทำนา สักเดือนพฤษภาคม-มิถุนายม ประมาณนี้ได้ เมื่อก่อนจะพบเห็นต้นไข่เน่า ต้นใหญ่ๆอยู่กลางทุ่งนา หาได้ไม่ยากนัก เวลาสุกลูกจะมีสีดำ อยากกิน ก็ไปเก็บลูกที่หล่นตามใต้ต้นเยอะแยะไปหมด จิ้มเกลือกินก็อร่อยดี หรือคลุกเกลือให้เข้ากันดีตากแดด ก็กินดี

    พระท่านเล่าว่าไปเจอที่สุพรรณบุรี เขามีขาย ขายแบบนับลูกเลยแหละ ว่างั้น 

                           
                           
                           
                                  
                                    ต้นไข่เน่า : สำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๔

    เห็นแต่ต้นเล็กๆ คิดว่าหลายท่านอาจนึกไม่ออกว่าหน้าตาลูกไข่เน่าเป็นอย่างไร เลยไปยืมภาพจากอินเตอร์เน็ทมาให้ดูกันเพลินๆ อย่างนี้

                               

                         
                          ภาพลูกไข่เน่าจากอินเตอร์เน็ทที่มาhttp://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=5905.120




     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    วิธีรักษาเมื่อถูกรักกัด รักกิน

    หลังจากที่เมื่อคืนได้เขียนเรื่องรักกัดและวิธีการรักษาของชาวบ้านวังทอง พิษณุโลก ฟังดูแปลกๆ และตลกดี คือเมื่อถูกรักกัดจะมีวิธีแก้หรือรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการอันแสนจะแปลกคือต้องไปแก้ผ้าไปรำวนใต้ต้นจิก ๓ รอบ ไม่ว่าหญิงว่าชาย อีกทั้งต้องร้องเพลงประกอบการเต้นรำด้วย ซึ่งเมื่อคืนนึกเนื้อเพลงไม่ได้ ก็เลยยุติค้างไว้แค่นั้น

    วันนี้หลังฉันเพลแล้ว พระคุณเจ้าท่านหนึ่งซึ่งเป็นคนพื้นที่ บ้านอยู่ใกล้ๆวัด ท่านมีธุระไปบ้านโยม ก็เลยถือโอกาสฝากให้ท่านไปถามเรื่องนี้กับผู้เฒ่าผู้แก่ที่ท่านรู้จัก ก็เลยได้บทร้องประกอบการเต้นรำแก้โรครักกัดมาจริงๆ เมื่อท่านมาถึงกุฎีก็เลยบอบให้ทราบ และก็ประจวบเหมาะกับมีโยมที่เคยมีประสบการณ์พาคนที่ถูกรักกัดผ่านมาพอดีเลย ก็เล่าให้ฟังและก็ตรงกันกับที่พระคุณเจ้าบอก

    คนที่ถูกรักกัด ผิวหนังจะบวมไปทั้งตัว หน้าตานี่บวมมาก พิษจากรักกัดจะปวดมาก และคันด้วย วิธีรักษาก็คือต้องแก้ผ้ารำวนใต้ต้นจิก ๓ รอบดังกล่าว รำไปก็ร้องเพลงไปด้วย ให้ร้องว่า "จิก ๆ กระดิกหางหมู รักกัดกู กูจะไปอยู่กับจิก" เมื่อคนร้องออกเสียงเหน่อๆหน่อยก็จะได้ยินเสียงว่า จิ๊กๆ

    นี่คือเคล็ดลับในการรักษาที่ใช้ได้ผลมาแล้ว จากผู้มีประสบการณ์ตรงของคนรุ่งเก่า ส่วนคนรุ่นใหม่ก็จะวิเคราะห์และเชื่อไปอีกแนวทางหนึ่งโดยอธิบายให้เหตุผลในความเข้าใจของตนว่าต้นรักนั้น มียางมากและยางนี่เองน่าจะมีสารอะไรที่เป็นพิษและสารพิษที่ว่านั้นอาจไปทำลายผิวหนังกับคนบางคน เพราะคนส่วนมากก็จะไม่เป็น ทั้งๆที่ก็ตัด เลื่อย ถาก

    แต่บางคนเข้าใกล้ได้เลย คือไม่ถึงกับตัด หรือเลื่อย แค่เดินผ่านไปใต้ต้นก็โดนรักกัดแล้ว
    คนรุ่นเก่าท่านก็ไม่ได้อธิบายเหตุผลว่าทำไมต้องไปแก้ผ้ารำใต้ต้นจิก มีคนอธิบายให้เหตุผลว่าเกสรของต้นจิก อาจมีคุณสมบัติรักษาโรคได้หรือไม่ก็อาจมีคุณสมบัติโดยเฉพาะที่มีฤทธิ์แก้สารพิษจากยางรักป่าก็ได้ นี่ก็ฟังมาจากคนรุ่นใหม่ มีคำอธิบายต่อไปว่าถ้าเกสรจิกแก้พิษยางรักป่าได้จริง เหตุผลก็พอจะฟังได้ว่าทำไมต้องรำวนใต้ต้นจิกหลายรอบด้วย เพราะขณะรำนั้น เกสรจิกก็ล่วงลงมาถูกตัว ยิ่งรำช้าๆโอกาสที่จะได้รับเกสรก็มากขึ้นตามไปด้วย ฟังเขามาอย่างนั้นก็เลยนำมาเล่าต่อ

    จะอย่างไรก็ตาม ก็อดชื่นชมกุศโลบายของคนโบราณไม่ได้ ที่ใช้ความเชื่อให้คนปฏิบัติตาม ก็ให้ถือเสียว่าเรื่องราวประเภทนี้เป็นเรื่องของการศึกษาเรียนรู้อย่างหนึ่งก็แล้วกัน

                              
                               ต้นรักป่า
                              

    หลังจากที่เจ้าถิ่นพาเดินชมไม้ชมป่าสักพักใหญ่ พอใกล้ๆน้องเพล(สี่โมงเช้ากว่าๆ) ก็พาไปลุ้นระทึกเล็กๆที่ข้างๆต้นไม้ต้นหนึ่ง ที่ข้างบนนั้นมีรังต่อหัวเสืออยู่ด้วย เมื่อเดินไปถึงก็ได้สังเกตดูความเคลื่อนไหวของเจ้าของบ้านซึ่งบินว่อนอยู่ที่รัง

    เรื่องความดุร้ายของต่อหัวเสือนั้นเคยรับรู้จากข่าวทางสื่อว่ากัดต่อยคนถึงขั้นเสียชีวิต แสดงว่าเป็นสัตว์มีพิษร้าย พอทราบฤทธิ์เดชความร้ายกาจของเขาว่าไม่ใช่ย่อยแล้ว ก็เลยทำให้นึกกลัวขึ้นมาทันทีเหมือนกัน ที่ทำใจกล้าไปดูก็เพราะมีคนนำนั่นเอง อีกอย่างเราก็ไม่เคยเห็นต่อหัวเสือมาก่อนเลย

    ผู้เขียนเองไม่ทราบว่าต่อหัวเสือมีนิสัยดุร้ายหรือไม่ คิดว่าที่ต่อแสดงความโหดร้ายกัดต่อยคนถึงตายก็น่าจะมีเหตุมาจากมีคนไปรบกวน หรือไปทำลายเผารังของมันแน่เลย

                                 
                                 
                                 
                                  รังต่อหัวเสือ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๔

    ต้นโมกมัน

    ในบรรดาไม้มงคลของไทย ไม้โมกคนไทยถือว่าเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง อาจจะเนื่องด้วยว่าไม้โมกมีเนื้อสีขาวละเอียด ดูสะอาดบริสุทธิ์ สื่อความหมายในทางดีงาม เลยจัดเป็นไม้มงคลซะเลย หรืออาจจะถือเอาความหมายจากชื่อก็ได้ ชื่อโมกนี้ไปพ้องกับคำว่าโมกข์หรือโมกษะในภาษาแขกที่แปลว่าความหลุดพ้น พ้นจากปัญหาต่างๆ ในความหมายนี้ก็ถือว่าเป็นยอดมงคล เป็นอุดมมงคลอันสูงสุด 

    ด้วยเนื้อไม้โมกไม่แข็งไม่นัก จึงเหมะที่จะนำมาใช้ในงานแกะสลักต่างๆได้อย่างดี เช่น เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ตู้ เตียง พระพุทธรูป งานศิลป์ แกะเป็นรูปงาช้าง เหล่านี้ถือเป็นภูมิปัญญาไทยเกี่ยกับไม้โมกมัน

    ปัจจุบันจะหาโมกต้นใหญ่ๆที่มีอายุใช้งานได้ เพียงต้นสองต้นก็ยากเต็มที ที่เห็นทั่วไปในป่ามีแต่ต้นเล็กๆทั้งนั้นเลย ในสำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่มีต้นใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง

                                 

                               
                                
                                 ต้นโมกมัน : สำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๔

    ไปพบข้อมูลเรื่องต้นไม้พันธุ์ไม้ประจำจังหวัดที่เว็บแห่งหนึ่ง
    ระบุถึงไม้โมกมัน ว่าเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดราชบุรี
    ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นถิ่นฐานมาตุภูมิบ้านเกิดอาจารย์ณัฐพัชร์ กัลยาณมิตรเวทีคนหนองบัวนี่เอง

    เลยขอยืมภาพต้นไม้โมกมัน(กิ่งและดอก)ในเว็บดังกล่าวมายืนยันซะหน่อย

                                  ต้นไม้ประจำจังหวัดราชบุรี - ต้นโมกมัน
    ที่มา  http://www.panmai.com/PvTree/tr_50.shtml

    เลยทำให้ได้ความรู้เรื่องต้นไม้ประจำจังหวัดนครสวรรค์บ้านเกิดตัวเองเพิ่มมาอีก
    ต้นเสลา หรือต้นตะแบกขนเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดนครสวรรค์

                                       ต้นไม้ประจำจังหวัดนครสวรรค์ - ต้นเสลา
                                       ต้นเสลา : ต้นไม้ประจำจังหวัดนครสวรรค์
    ที่มา  http://www.panmai.com/PvTree/tr_23.shtml

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล และชาวเวทีคนหนองบัว

    • ฤดูฝนปีนี้.. เวทีคนหนองบัวคึกครักไปด้วยแมกไม้นานาพันธ์น่ะครับ..มีทั้งเอาไว้รับประทาน และเอาไว้โชว์ อีกทั้งเป็นไม้ป่าหายาก
    • สมัยไปเดินป่า ผมเคยฉันลูกไข่เตา หรือ มักไข่เต่า ครับ..อร่อยรสชาติีดี..
    • มีผลไม้ป่าอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ต้นนมวัว(ภาษากลาง) นมวัว (พิษณุโลก กระบี่) นำภาพและข้อมูลมาฝากครับ
    • ขออนุญาตนำรูปมาลงในบล็อกนี้อีกครั้ง เดียวท่านอื่นจะนึกภาพต้นนมวัวไม่ออก

         

                              ผลสีเหลืองสดใส สวยงาม แต่ยังไม่สุกงอม

         

                ผลสีแดงสีสัน สดสวย สุกงอมกินได้ รสชาติแปลกอร่อยดี...ขอบอก  

    •  แหล่งที่พบ: วนอุทยานน้ำตกชาติตระการ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ถ่ายภาพโดย พระอธิการโชคชัย ชยวุฑโฒ

         

    • ช่วงนี้อากาศเย็นสบาย/ฝนตกมาก แต่ถ้าหมดฝนแล้วเชิญชวนเพื่อนพ้องน้องพี่ ไปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ป่าธรรมชาติกันน่ะครับ
    • ข้อมูลต้นนมวัว : 

    ชื่อที่เรียก: ต้นนมวัว ชื่ออื่นๆ หมากผีผ่วน,ผีผ่วนนมแมว(ภาษากลาง) นมวัว (พิษณุโลก   กระบี่) พีพวน (อุดร) บุหงาใหญ่(ภาคเหนือ) 

    หมวดหมู่ทรัพยากร : ยังไม่ได้ระบุ 

    ลักษณะ : นมควายเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยมีความสูง 5 เมตร กิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรีหรือ รูปไข่ผิวใบมีขนสีน้ำตาลแดงทั้งสองด้าน กว้าง 2.5-3.5 ซม. ยาว 4.5-10 ซม. ดอกจะออกเป็นกระจุก 2-3 ดอก ที่กิ่งก้าน กลีบดอกสีแดงเข้ม กลิ่นหอม ผลเป็นผลกลุ่ม รูปไข่หรือรูปไข่กลับ เมื่อสุกมีสีแดงสด

    การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด

    ประโยชน์ : แก่นและราก ต้มดื่ม แก้ไข้ซ้ำ ไข้กลับ เนื่องจากกินของแสลง ราก แก้ผอมแห้งแรงน้อย สำหรับสตรี ที่อยู่ไฟไม่ได้หลังคลอดบุตรและช่วยบำรุงน้ำนม ผล ตำผสมกับน้ำ ทาแก้เม็ดผดผื่นคัน

    แหล่งที่พบ : ป่าชุมชนบ้นโนนหินผึ้ง ตำบลดงบัง อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี

    ศักยภาพการใช้งาน : รับประธานผล

    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Uvaria rufa Bl.

    ชื่อวงศ์ : Annonaceae

    แหล่งที่มาของข้อมูล : ป่าชุมชนบ้นโนนหินผึ้ง

    ช่วงฤดูฝนแล้วถ้ามีผลไม้ป่าออกผลจะส่งข้อมูลไปให้ครับ

    ยังมีผลไม้ป่าที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักอีกเช่น ลูกมักเพชร,มักคายข้าว,มักไข่เต่า,คอแลน,มะไฟป่าฯลฯ

                     

    อธิบายภาพ: ขออนุญาตินำกิ่งพันธ์ มาปลูกที่วัดพรหมพิราม ชอบอิงอาศัยกับต้นไม้ใหญ่ เช่น ประดู่ ..

    ขอถวายความเคารพ..

     

    ท่านอธิการโชคชัยครับ

    แหมเข้าบรรยากาสหน้าฝนพอดีเลยครับ ถือเป็นการร่วมกันรณรงค์ปลูกต้นไม้ไทย ไม้หายาก และไม้ที่เราไม่รู้จักทั้งกำลังจะสูญพันธ์ไปในตัว ดีจังเลยครับที่นำผลไม้ป่ามาปลูกที่วัดเพื่อให้คนได้เรียนรู้พันธ์ไม้ที่บางอย่างอยู่ไกลตัวมากๆ

    ไม้พื้นบ้านที่เคยมีมากมายเริ่มสูญหายไปทีละอย่างสองอย่าง ที่มีอยู่บ้างชาวบ้านก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก

    เมื่อไม่ให้ความสำคัญโอกาสที่จะถูกโค่นตัดทิ้งมีสูงยิ่ง ผมลองสอบถามชาวบ้านดู ส่วนใหญ่รู้จักแทบทั้งนั้น เมื่อถามต่อว่าไม้พื้นบ้านชนิดที่รู้จักนั้น ยังมีไหม บอกว่าโค่นไปแล้วไม่เหลือแล้ว มีแต่โค่นทิ้งอย่างเดียว ไม่มีปลูกทดแทนเลยครับ เป็นกันไปอย่างนี้ซะหมดแล้วคิดว่าจะเหลืออะไรเล่าครับ

    นั่งคิดอยู่ว่าถ้าช่วยกันรณรงค์ปลูกไม้ไทยๆไม้พื้นบ้าน หรือไม้ประจำจังหวัด ช่วยกันคนละเล็กละน้อยค่อยๆไป ชักชวนเด็กๆคนในชุมชนให้หันมาเรียนรู้สิ่งเดิมๆที่เคยมีอยู่แล้ว อย่างเรื่องไม้พื้นบ้านต่างๆ ผมว่าน่าทำนะครับ แถมทันสมัยเสียด้วย

    สองอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ซื้อต้นสมอไว้จำนวนหนึ่ง แล้วผมก็ชักชวนทายกวัดให้ช่วยกันปลูกคนละต้นสองต้น ทายกท่านมีโครงการจะปลูกผลไม้ในที่ดินท่านพอดี ผมเลยให้ไป พระคุณเจ้าในวัดที่ญาติของท่านอยากได้ก็ให้ไปเช่นกัน

    เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหามคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมาผมไปกิจนิมนต์ฉันเพลที่สำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่ พระที่นั่นท่านขอต้นสมอที่ผมซื้อไว้ โดยท่านจะนำไปปลูกที่วัดที่อยู่บนเขา เพราะที่นั่นสมอหายาก เมื่อนำขึ้นไปถึงวัดท่านชักชวนให้ผมช่วยปลูกให้ด้วย ก็เป็นอันว่าเจ้าของต้นไม้ปลูกเองครับ ท่านให้ถ่ายรูปไว้ ก็เลยมีรูปผมกับพระคุณเจ้าที่ร่วมกันปลูกต้นสมอบนเขาในวันนั้นมาฝากด้วย

    ต้นนมวัวที่ท่านอธิการนำมาฝากนี้ ผมไม่รู้จักและก็แน่นอนครับไม่เคยกินด้วย

                          
                           ปลูกต้นสมอ สำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่ โดยพระคุณเจ้าท่านอาสาขุดหลุมให้ แล้วร่วมด้วยช่วยกันปลูก ๑๘ สิงหามคม ๒๕๕๔

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า ท่านพระอาจารย์มหาแลและท่านพระอธิการโชคชัย
    และสวัสดีทุกท่านครับ

    • เพิ่งได้ทราบนะครับว่าต้นเสลาหรือตะแบกขน เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำจังหวัดนครสวรรค์ อ่านบันทึกของพระคุณเจ้านี่ ได้ความรู้เกี่ยวกับลักษณะท้องถิ่นที่อยู่ในพืชพรรณ และได้ความรู้รอบตัว จากเกร็ดเล็กๆน้อยๆอยู่ตลอดเวลาเลยนะครับ เรื่องราวเหล่านี้จะหาจากสื่ออื่นๆที่เป็นเรื่องกว้างๆทั่วๆไปก็คงจะยาก ต้องได้จากคนท้องถิ่นและคนที่สัมผัสสิ่งเหล่านี้จากการใช้ชีวิต เห็นทีไรก็อยากให้ชาวบ้าน เด็กๆ ชุมชน องค์กรท้องถิ่น และคนท้องถิ่น ได้มีโอกาสเข้าถึงความรู้ หรือได้มีโอกาสมีสื่ออย่างนี้ เอาไว้สื่อสารความรู้ ให้ได้ปัญญาและชีวิตที่รอบรู้เกี่ยวกับสิ่งรอบตัว ต้องขอกราบอนุโมทนาท่านพระอาจารย์มหาแลนะครับ ที่นำมาบันทึกรวบรวมไว้ก่อน
    • ที่วัดศรีโสภณนี่ น่าไปนอน ไปนั่งอ่านและเขียนหนังสือจังเลยนะครับ 

    จากคำบอบเล่าของคนเลี้ยงผึ้งที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับต่อหัวเสือ เล่าให้ฟังว่าเมื่อสมัยไปทำงานเป็นพนักงานอยู่ที่ศูนย์ผึ้งโดยทำงานหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือนำผึ้งไปเลี้ยง ผึ้งเลี้ยงนั้นจะเลี้ยงในกล่องหรือหีบเลี้ยงผึ้ง เคยนำผึ้งไปเลี้ยงยังสถานที่ต่างๆในหลายจังหวัดแถวภาคเหนือตอนล่าง

    คราหนึ่งเคยถูกต่อหัวเสือกัดต่อยที่หลังแค่ตัวเดียว ถึงกับเป็นไข้เลย เหตุที่ถูกต่อหัวเสือต่อยก็คือตอนนั้นได้นำหีบเลี้ยงผึ้งหรือกล่องเลี้ยงผึ้ง ไปเลี้ยงที่ป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดสุโขทัย คนเลี้ยงผึ้งต้องคอยระวังพวกสัตว์ที่จะมากินตัวอ่อนผึ้ง เช่น มด กิ้งก่า คางคก และตัอ ต่อถือเป็นศัตรูร้ายของผึ้ง ต่อหัวเสือนี่ชอบกินตัวอ่อนของผึ้ง โดยต่อมีไม่กี่ตัวก็สามารถบุกจู่โจมถึงรังผึ้งได้โดยง่าย ถึงผึ้งจะมีสัญชาติเป็นนักสู้ สู้จนตัวตายก็ตาม แต่ผึ้งก็เสียเปรียบต่ออย่างมาก เพราะผึ้งตัวเล็กกว่าตัวต่อมาก อีกทั้งต่อก็มีปีกแข็ง ผึ้งกัดต่อยเท่าไหร่ ก็ไม่ระคายเคือง กัดไม่เข้า

    แต่เมื่อต่อกัดผึ้งทีไร ความรุนแรงถึงขั้นลำตัวขาดกลางได้เลย ท่านบอกว่าเมื่อเห็นต่อหัวเสือจะมากินตัวอ่อนผึ้ง ก็เข้าไปขัดขวางไม่ให้เข้าถึงรังผึ้ง จังหวะที่เข้าไปขวางนั้นเอง ก็มีต่อตัวหนึ่งมาด้านหลัง ไม่ทันระวังและมองไม่เห็น ก็บุกถึงตัวและต่อยได้ด้วย โดนไปตัวเดียวถึงกับไข้ขึ้นดังกล่าว

    ตอนไปถ่ายรูปก็ยืนอยู่ไม่ห่างจากรังมากนัก ก็นึกกลัวอยู่แต่ไม่กล้าบอกกับผู้ที่พาไป

                                  Large_p1014316
                                  รังต่อหัวเสือ:สำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๔

    ได้พูดคุยวางแผนระยะไกลหลายเดือนข้างหน้ากับพระคุณเจ้าที่จำพรรษาอยู่บนเขาทรัพย์ประดู่ว่าหน้าหนาวอากาศหนาวกำลังดีบรรยากาสเหมาะ น่าจะได้ขึ้นไปเผาข้าวหลามนั่งชมดาวเดือนยามค่ำคืนสักครา

    วัดศรีโสภณ เมื่อเปรียบเทียบกับสำนักสงฆ์บนเขาแล้ว ถือว่าวัดศรีโสภณก็จะเป็นวัดคามวาสีเป็นวัดประเภทวัดเมืองไปเลย สำนักสงฆ์บนเขานั้นเหมาะแก่การไปเยี่ยมชมพืชพรรณไม้ต่างๆอยู่มาก ความเป็นธรรมชาติที่ไม่ไกลเมืองมากนัก ชาวบ้านอยู่แบบพอเพียง ไฟฟ้ายังไม่มีใช้ ใช้โซล่าเซล พลังงานแสงอาทิตย์ การเดินทางไปก็สะดวก บรรยากาสเงียบสงบ ถือว่าเหมาะสำหรับไปอ่านหนังสือ ได้อยู่กับตัวเอง ปฏิบัติภาวนาเรียนรู้ภายใน

    ถ้าอาจารย์มีโอกาสผ่านไปผ่านมาแถวนี้ ก็เชิญแวะมาได้เลย จะพาไปชมสัมผัสธรรมชาติอันเงียบสงบปราศจากแสงสีโดยสิ้นเชิง

                     
                      บนเขาบ้านทรัพย์ประดู่จะมีไม้เต็งไม้รังไม้เหียงจำนวนมาก
                              
                              ทางขึ้นเขาทรัพย์ประดู่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๔

                    

    และในสำนักสงฆ์พระคุณเจ้าท่านก็ได้นำไม้ประดับภายในบ้าน แต่อยู่ในป่าแถวๆนั้น มาติดไว้ตามต้นไม้จำนวกมาย เห็นแล้วก็งดงามดี

                          
                          
                          
                           สำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๔

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล และสวัสดีเครือข่ายเวทีคนหนองบัว

    • ตามมาอ่านงานธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพระอาจารย์ครับ
    • ชุดหลังเนี๊ย..กระเช้าสีดาหรือชายผ้าซิ้นสีดา สวยงามดีน่ะครับ..ชอบครับ
    • เป็นไม้อิ่งอาศัยตระกูลเฟิร์นครับ ที่บ่งบอกถึงระบบนิเวศน์ของป่า ที่ยังอุดมณ์สมบูรณ์อยู่..เหมือนป่าเต็งลังเขาทรัพย์ประดู่
    • "ความชุ่มชื้น..ความแห้งแล้ง..อย่างไหนที่เราชอบกัน...."

    ท่านอธิการโชคชัยครับ

    วันไปกิจนิมนต์ฉันเพลที่สำนักทรัพย์ประดู่วันนั้น พระคุณเจ้าที่ไปด้วยกัน ท่านรู้จักท่านอธิการและก็รู้ว่าท่านอธิการนั้นมีไม้ประดับ สะสมไม้ดอกไว้จำนวนมาก โดยท่านยังกล่าวถึงท่านอธิการโชคชัยว่า แหมวันนี้ถ้าหลวงพี่โชคมาด้วยนะ รับรอง ท่านจะต้องขอกระเช้าสีดาและไม้อย่างอื่นกลับวัดแน่เลย ผมได้ยินท่านกล่าวทำนองนี้แหละครับ

    ว่างๆจะนิมนต์ท่านอธิการไปเยี่ยมพระที่สำนักสงฆ์ทรัพย์ประดู่ด้วยกันสักครั้งนะครับ

    เมื่อตอนเย็นผมได้ไปถ่ายรูปกระเช้าสีดาที่หน้ากุฏีท่านเจ้าอาวาสวัดศรีโสภณ เลยนำมาฝากท่านอธิการอีกชุดหนึ่งครับ 

                               
                               
     กระเช้าสีดา : วัดศรีโสภณ  ๒๕  สิงหามคม  ๒๕๕๔

    ลีลาการแผ่ใบ กับเส้นขอบใบของเขานี่ น่าสนุกมากเลย
    ดูพุ่ง เคลื่อนไหว และมีพลังชีวิตชีวามากดีจริงๆนะครับ

    เว็บโกทูโนไม่ว่าทราบเป็นอะไรตั้งแต่เมื่อวานตอนบ่าย(๒๕สิงหาคม ๒๕๕๔)และวันนี้ ไม่สามารถเปิดเข้ามาอ่านบันทึกเวทีคนหนองบัวได้เลย ลองพิมพ์คำว่าเวทีคนหนองบัว คนหนองบัว ลานปัญญาคนหนองบัว และอีกหลายคำที่เกี่ยวกับหนองบัว ก็เข้าไม่ได้

    คือเมื่อก่อนพิมพ์ข้อความดังกล่าว แล้วคลิ๊กก็สามารถเข้ามาอ่านบันทึกเวทีคนหนองบัวได้เลย แต่สองวันมานี้ พิมพ์ข้อความที่ว่านั้น เมื่อคลิ๊กจะปรากฏเป็นหน้าแรก(home)แทน เลยทำให้หาบันทึกเวทีคนหนองบัวไม่เจอ

    เมื่อเป็นเช่นนั้น อาตมาในฐานะเป็นสมาชิกเว็บโกทูโน ลองใช้สองวิธีในการเข้ามาที่เวทีคนหนองบัว(๑)เข้าระบบ เมื่อเข้าระบบแล้วก็ตามไปอ่านบันทึกดังกล่าวได้ตามปกติ ถ้าไม่ใช่สมาชิกเข้าไม่ถึง หาไม่เจอเลย (๒)ลองพิมพ์คำที่เกี่ยวกับหนองบัว ลองพิมพ์ไปหลายคำก็เข้าไม่ได้(คือพิมพ์คำที่เกี่ยวกับหนองบัว แล้วลองคลิ๊กเปิด จะไปขึ้นที่หน้าแรก(home)ทุกครั้ง)

    ลองต่อไปอีก ก็สามารถเข้าไปอ่านบันทึกได้ ด้วยคำสองคำคือการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน กับบ้านเตาอิฐหนองบัว สองวันนี้จึงเข้าถึงเวทีคนหนองบัวได้ด้วยการเข้าระบบและพิมพ์ข้อความสองคำดังกล่าว

    คิดว่าเป็นที่นี่ที่เดียว จึงได้ลองเข้าไปที่บันทึกของตัวเอง ปรากฏว่าเข้าไม่ได้หาไม่เจอเหมือนกันเลย ต้องเข้าระบบจึงจะหาบันทึกของตัวเองเจอ

    ไปตรวจสอบอีกที่หนึ่งที่ทุนสังคมของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ หาไม่เจออีก เจอแต่หน้าแรก(home)อีกแล้ว

    ถ้าเป็นอย่างนี้ไปหลายวัน คนภายนอกก็ไม่สามารถหาข้อมูลความรู้ได้เลย งง ๆและแปลกใจนิดนึง

    • งั้นเป็นอีกหลายอาการเลยละครับ
    • ทีแรกผมคิดว่าอาจจะเป็นเพราะผมเพิ่งลงโปแกรมเครื่องใหม่
    • คิดว่าเครื่องคนอื่นเขาคงไม่เป็น
    • ถ้าอย่างนั้นก็คงกำลังปรับปรุงระบบ อย่างที่ก็ต้องทำเป็นระยะๆ กระมังนะครับ

        ขอหารือและขอทาบทามครับ   

    • ทาง gotoknow โดยท่านอาจารย์ ดร.จันทวรรณ และคุณมะปรางเปี้ยว จะลองยกระดับเครือข่าย bloger และชุมชนเรียนรู้จำนวนหนึ่ง ที่ทำงานความรู้บนเว็บบล๊อกด้วย และเชื่อมโยงกับการทำงานเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ชุมชนต่างๆ หรือในวิถีชีวิต การทำงาน และการประกอบอาชีพ ให้เป็นชุมชนผู้ปฏิบัติ CoP : Community of Practice ผ่านการร่วมกันเขียนความรู้และถอดบทเรียนร่วมกันในเรื่องที่กำลังทำกันอยู่และมีศักยภาพที่พอจะนำมาสังเคราะห์ประสบการณ์และเขียนคตวามรู้-เขียนบทเรียนออกมาได้ กลุ่มละสัก ๑ ชุด
    • ในระยะแรกนี้ จะมีสัก ๕ กลุ่ม แต่ละกลุ่ม CoP จะทำสิ่งต่างๆตามความสนใจของตนเองอย่างที่ต้องการและเขียนบันทึกความรู้เพื่อสร้างเป็นบทเรียนด้วยกัน ดังนั้น ก็จะเป็นเครือข่ายที่ช่วยยกระดับประสบการณ์ สร้างขึ้นเป็นความรู้ขึ้นมาชุดหนึ่งที่จะสามารถนำมาขยายผล เผยแพร่แก่สาธารณะได้
    • ขณะเดียวกันก็จะเชื่อมโยงกันเป็นชุดโครงการ โดย gotoknow จะเป็นเวทีกลางและเป็นองค์กรร่มที่ครอบคลุมชุดโครงการย่อยๆของแต่ละกลุ่มอีกทีหนึ่ง
    • แต่ละโครงการจะรวมกลุ่มตามแต่จะเชื่อมโยงกันเองได้ แต่ขอให้มีคณะกรรมการของ สสส หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเข้าร่วมเป็นเครือข่ายด้วย ๑ คน สสส จะให้การสนับสนุนการทำชุดความรู้และบทเรียนนี้ ผ่าน gotoknow และหากมีส่วนที่สนใจนอกเหนือจากนี้ ก็จะสามารถพัฒนาโครงการนำเสนอต่อ สสส ได้โดยตรง
    • ในจำนวนนี้ ทาง gotoknow เห็นว่า เวทีคนหนองบัว มีองค์ความรู้และมีเครือข่ายทำงานเชิงสังคมโดยใช้สุขภาวะท้องถิ่นหนองบัวเป็นจุดเชื่อมโยง แต่ก็ให้คุณูปการหลายอย่างทั้งต่อท้องถิ่นและต่อสังคมทั่วไปด้วย อยู่จำนวนหนึ่ง เลยชวนเชิญเป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งที่จะมีกลุ่มคนช่วยกันถอดบทเรียนเขียนชุดความรู้นี้ขึ้น โดยในกลุ่ม CoP ก็สามารถชวนคนมาช่วยกันทำได้สัก ๑๐ คน สามารถมีมากกว่านี้ได้ แต่ ๑๐ คนนี้จะของให้เป็นกลุ่มหลัก กลุ่มนำร่อง
    • รูปแบบคร่าวๆ ที่นึกได้ ณ เวลานี้ก็คงจะเป็นชุมชนเรียนรู้และปฏิบัติการไปด้วยแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และมีกิจกรรมเคลื่อนไหวไปบนประเด็นการทำงานต่างๆที่ทำอยู่แล้วไปด้วย แต่ด้านที่ทำงานถอดบทเรียนและเขียนความรู้นั้น จะใช้วิธีทำงานผ่านเว๊บบล๊อก gotoknow นี้โดยเป็นหลัก โดยช่วยกันเขียน วิเคราะห์ ถอดบทเรียนตนเอง สะท้อนบทเรียนออกจากตนเองแต่ใช้ข้อมูลจากประสบการณ์ที่ร่วมกันทำกับผู้อื่นในเครือข่าย
    • ระยะเวลา : ใช้เวลาต่อจากนี้ไปสัก ๕-๖ เดือน ก็นำมารวบรวมและสรุปบทเรียน จัดเวทีนำเสนอร่วมกันและทำเป็นชุดความรู้เผยแพร่สร้างความเคลื่อนไหวทางความรู้ต่างๆกันต่อไป
    • ในการประสานงาน หรืออาจจะมีคนลงไปถอดบทเรียนเป็นรายกรณี อยากจะมีมือวิชาการประสานงาน ช่วยจัดการ และเขียนความรู้ตรงกลางให้สัก ๑ คน เหมือนกับเป็นนักวิจัยหรือนักเขียนอิสระที่ ทำงานระยะสั้นๆสัก ๑๐ เดือน ควรจะจบปริญญาโท หรือกำลังเรียนปริญญาเอก และปริญญาโทที่จบภาคทฤษฎีแล้ว จำเพาะคนทำตรงส่วนนี้อาจจะตั้งงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนให้ คนที่ทำตรงนี้  แรกที่สุดเลยอยากให้เป็นคนหนองบัวหรืออำเภอใกล้เคียง ในนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก หรือในแถบภาคเหนือตอนล่างและกลางตอนบน หากนอกเหนือจากนี้ โดยเป็นคนจากที่ไหนก็ได้ ก็อยากให้เป็นคนที่ชอบทำงานกับชาวบ้าน เป็นคนรักทำงานแนวนี้ ชอบเดินทำงานกับคนหลากหลาย และแน่นอน เขียนบันทึกความรู้ถ่ายทอดลงบล๊อกได้ ทุกท่านช่วยกันเสนอหน่อยนะครับ หรือใครทราบและสนใจจะแนะนำตัวเองก็ได้ครับ
    • ในส่วนของผู้ที่จะร่วมกันเขียนนั้น ผมมองเห็นจากคนที่กำลังทำได้อยู่แล้วเป็นหลักนี่แหละครับ เพื่อจะได้สร้างคนและชุมชนความรู้ขึ้นมาด้วย ไม่ได้มุ่งให้ได้ชุดความรู้อย่างเดียว
    • ผมนึกถึงกลุ่มครูโรงเรียนหนองบัวที่เป็นเจ้าของโครงการเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้อิงถิ่นฐานด้วย แต่เพื่อไม่ให้กระทบกับภารการสอนเด็กๆ อีกทั้งจะได้เป็นตัวเชื่อมระดมพลังภูมิปัญญาจากชุมชนข้างนอกไปช่วยโรงเรียนสร้างลูกหลานของเราเองด้วย ก็จะขอให้คณะครูนั้นทำงานเป็นกลุ่ม นับเป็นหนึ่งหน่วย ไม่หนักแรงแต่ช่วยเสริมกำลังในแนวทางใหม่ๆให้โรงเรียนได้เป็นอย่างดี
    • ท่านอื่นๆในท้องถิ่นที่หนองบัวนั้น ผมก็นึกถึง : ท่านพระอาจารย์มหาแล ท่านพระอธิการโชคชัย (ขอนิมนต์ร่วมเป็นคนหนองบัวโดยจิตวิญญาณและภาคปฏิบัติเลยนะครับ) คุณเสวก ใยอินทร์ คุณคนปรุงแผ่นดิน ตัวผมเอง
    • อันที่จริงมีเยอะเลย แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ถนัดเขียนบล๊อก หากหาวิธีแก้ปัญหานี้ได้ละก็จะมีนักวิชาการท้องถิ่นเยอะเลยครับ หลายท่านแสดงความสนใจไว้แล้ว เช่น คุณครูสุรินทร์และภรรยา ซึ่งทำเรื่องแนวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและคติชนวิทยาอยู่แล้ว คุณครูชัยยุทธ ภู่เกต
    • เครือข่ายข้างนอก แต่มุ่งใช้บทเรียนและการปฏิสัมพันธ์กับกรณีตัวอย่างของเวทีคนหนองบัวและชุมชนหนองบัว เป็นประสบการณ์ตรงและเป็นข้อมูลเขียนความรู้ด้วยกัน ก็คงมีอยู่ จะลองค่อยๆช่วยกันโยนความคิดและนำเสนอ ก็คงจะค่อยๆต่อความคิดกันได้นะครับ

    ผมจะค่อยๆคุยและรวบรวมความคิดให้นะครับ ทำเพื่อยกระดับประสบการณ์ของคนที่พอมี แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งและเพียงบางด้านนะครับ หากเคลื่อนได้ดีและสามารถคิดทำสิ่งต่างๆเข้ามาเสริมต่อไปได้อีกก็ค่อยคิดค่อยริเริ่มกันต่อไปได้ครับ 

    นับเป็นโอกาสดีของเวทีคนหนองบัว ชุมชนหนองบัว ที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายหรือเป็นส่วนหนึ่งในส่วนเล็กๆที่จะได้ร่วมกันสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ เชื่อมต่อแลกเปลี่ยนรู้กับชุมชนอื่นๆ

    และก็เป็นโอกาสดีมากๆของครูในหนองบัวอีกด้วย โดยที่ครูมีกลุ่มทำงานอยู่กลุ่มหนึ่งแล้ว คือกลุ่มเครือข่ายการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน

    ขอเป็นแนวร่วมกับคุณครูในหนองบัวเพิ่มอีกแรงหนึ่งก็แล้วกัน(คุณครูสู้สู้)

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล และพระอธิการโชคชัย
    สวัสดีพี่วิรัตน์ และสมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกๆท่าน

    แจ้งข่าว คืนนี้ (อังคาร 30 ส.ค.) รายการ คนค้นคน ช่อง9 เวลาประมาณ4ทุ่ม มีการนำเสนอเรื่องราวของผู้ใหญ่ดิษฐ์ (ลูกกำนันแหวน) ถ้ามีเวลาก็ลองรับชมและพิจารณาด้วยครับ ถอดรหัสชีวิต-คนค้นคน

    อีกเรื่องเมื่อเช้าได้รับรายงานว่าที่หนองบัวฝนตกหนักมาก ตั้งแต่ตี 5 ถึง 9 โมงเช้า แต่น้ำท่วมไม่หนักมากเท่ากับเมื่อปีที่แล้ว ไม่ทราบว่าที่พิษณุโลกเป็นอย่างไรบ้างครับ แจ้งข่าวแค่นี้ก่อนครับ ไว้มีเวลาว่างๆจะกลับมาพูดคุยมากขึ้น แต่ก็แอบดูอยู่บ่อยๆนะครับ

    เจริญพรคุณฉิก

    กำลังคิดถึงอยู่พอดีเลย เห็นเงียบๆไป นึกว่าหายไปไหนแล้ว
    ขอบคุณที่แวะมาส่งข่าว บอกเล่าเรื่องราวในชุมชนให้ได้รับรู้
    คุณฉิกนี่เป็นผู้ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวได้ทันเหตุการณ์ดีจัง

    เท่าที่นึกได้เมื่อคราวก่อนที่รายการทุ่งแสงตะวันได้ทำสารคดีดอกอุ้มน้อง ออกทีวีช่อง ๓ ก็คุณฉิกนี่เองที่ได้มาบอกกล่าวให้ทราบก่อน

    เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาท่านอธิการโชคชัย ท่านบอกอาตมาว่าได้ชมรายการสภาโจ๊ก ช่วงหนึ่งทางรายการได้นำเสนอบุคคลผู้ดำรงตนในวิถีชีวิตแบบพอเพียง เป็นเรื่องราวของคนในอำเภอหนองบัวท่านหนึ่ง ท่านยืนยันกับอาตมาว่าเป็นคนหนองบัวแน่นอน แต่จำชื่อท่านไม่ได้เสียแล้ว

    บุคคลดังกล่าวทำเรื่องเศรษฐิกพอเพียง ด้วยที่ดินหนึ่งงานพอเพียง หล่อเลี้ยงครอบครัวหรืออะไรประมาณนี่แหละ

    นี่ก็หลายวันแล้ว อาตมาก็ยังไม่ทราบเลยว่าเรื่องราวของคนหนองบัวที่ทางรายการสภาโจ๊กนำไปออกทีวีนั้นคือใคร

     

    ลืมบอกคุณไปว่า วันนี้พิษณุโลกฝนตกเกือบทั้งวันเลย
    เมื่อวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ยินข่าวทางวิทยุประกาศว่าท่านนายรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ มาพบปะพี่น้องประชาชนชาวพิษณุโลกที่ประสบอุทกภัยที่อำเภอบางระกำ

    ตามรายงานข่าว แจ้งว่าทางการยกอำเภอบางระกำ เป็นโมเดลของประเทศ ทราบเพียงแค่นี้ไม่ติดตามรายละเอียด บางระกำนี่น้ำท่วมทุกปี มากบ้าง น้อยบ้าง

    อาจารย์เชิญชวนให้แนะนำคนหนองบัวที่จะมาช่วยทำงานเป็นเครือข่ายเขียนความรู้ชุมชนผ่านเว็บโกทูโน ในระดับการศึกษาที่จบปริญญาโทแล้ว ได้เจอคนรุ่นใหม่เมื่อเดือนที่แล้ว เลยขอแนะนำให้รู้จักสักท่านหนึ่ง

    ในครั้งไปงานเวอร์คชอปที่โรงเรียนหนองบัวกับท่านอธิการโชคชัยครานั้น(๒๕-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔) ตอนเย็นไปพักค้างที่กุฏิท่านเลขา.เจ้าคณะอำเภอหนองบัว โดยพักห้องพระบวชใหม่ จากการสนทนากับพระใหม่เจ้าของห้อง จึงทราบว่าท่านเป็นคนหนองบัว

    ไปเรียนที่กรุงเทพฯหลายปี จบปริญญาโท ออกพรรษาแล้วคงลาสิกขาเพื่อจะไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ท่านยังอยู่ในวัยหนุ่มวัยเบญจเพศ จากการพูดคุยกันเพียงเล็กน้อย ทำให้ทราบว่าท่านจากหนองบัวไปเรียนหนังสือตั้งแต่เด็กๆ โอกาสที่จะได้รู้จักชุมชนบ้านเกิดจึงมีน้อย

    ท่านเล่าว่าเมื่อตอนที่วัดใหญ่มีกิจกรรมงานบุญ มีหลวงน้าพระผู้ใหญ่ในวัดได้พาพระใหม่ออกไปเยี่ยมญาติโยมบอกข่าวงานบุญในชุมชนหลายหมู่บ้านแถวหนองบัว-หนองกลับ ด้วยที่ท่านไม่เคยไปเห็นมาก่อน เมื่อเห็นบ้านเยอะแยะมากมาย ก็เกิดความสงสัยว่าเอ๊ะ หนองบัวมีชุมชนมีบ้านมากมายขนาดนี้เชียวหรือ

    ถึงท่านจะได้ออกสัมผัสชุมชนครั้งแรก แต่ก็ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ด้วยบุคลิกลักษณะของท่านเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ใฝ่เรียนรู้ มีมนุษย์สัมพันธ์ดี จึงสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่เกี่ยวข้องได้ดี

    จึงขออนุญาตแนะนำโดยที่เจ้าตัวไม่ทราบไปก่อน เดี๋ยวจะลองติดต่อกับท่านอีกที ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบ

    • สวัสดีครับฉิก หายแซ๊บไปเลยนะ
    • มีน้องๆเขาลิ๊งก์ Youtube รายการที่ถ่ายทอดเรื่องราวคนหนองบัวมาให้เหมือนกันครับ หนองบัวยังมีสิ่งดีๆอีกเยอะทั้งในผู้คนและในชุนของพื้นที่ต่างๆเลยนะ
    • กราบขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแลอย่างยิ่งครับ
    • เริ่มได้รับการต่อเติมความคิดและเพิ่มพูนข้อมูลสำหรับการเดินเข้าหากันบ้างอย่างนี้ย่อมคึกคักและได้พลังในการคิด-ทำสิ่งต่างๆด้วยกันไปอีกเยอะเลยนะครับ
    • สองวันที่ผ่านมา ผมได้ไปกราบนมัสการพระเดชพระคุณท่านพระราชกิตติเมธี เจ้าคณะจังหวัะดสิงห์บุรีและเจ้าอาวาสวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร ปฏิบัติบูชาเพื่อพระบำรุงความงอกงามศาสนาและร่วมสร้างสุขภาวะชุมชนกับพระเดชพระคุณท่าน โดยร่วมเป็นวิทยากรเวทีเสวนาและปฏิบัติเจริญสติภาวนาเนื่องใน ๑๐๐ ปีชาตกาลหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
    • มีเครือข่ายพระสังฆาธิการ เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าอาวาส จากทุกอำเภอของจังหวัดสิงห์บุรีมาร่วมเวทีด้วย เลยให้นึกถึงพระคุณเจ้ากับท่านพระอธิการโชคชัย
    • ผมพยายามโหลดบล๊อกเวทีคนหนองบัว เพื่อจะเล่าให้เวทีฟังถึงวิธีทำงานแบบสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันขอวงชุมชนกับวัด และหน่วยงานราชการในท้องถิ่น โดยวิธีเรียนรู้และสร้างความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น จากประสบการณ์ของเวทีคนหนองบัว แต่เสียดายโหลดไม่ขึ้นและติดขัดไปหมด
    • แต่ถึงแม้จะยังนำเสนอไม่ได้ ก็ยังได้เห็นถึงความเคลื่อนไหวที่ดีๆ ของการทำงานเชิงสังคมของชุมชนในพื้นที่ ที่นำโดยเครือข่ายพระสงฆ์ของสิงห์บุรีครับ หนองบัวเป็นเครือข่ายชุมชน สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเป็นเครือข่ายความร่วมมือกันได้เป็นอย่างดีแน่นอนเลยละครับ

    วันนี้(๗กันยายน๒๕๕๔)ตอนบ่ายได้ไปเยี่ยมสองตา-ยาย ที่หมู่บ้านดอนม่วง ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก บ้านอยู่ในป่าติดทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน อยู่ห่างจากบ้านคนอื่นๆจนเรียกไม่ได้ยิน อายุของท่านทั้งสองเท่ากันพอดีเลย คือ ๘๔ ปี

    อยู่สองคนตา-ยาย ลูกๆอยู่ในเมือง เสาร์อาทิตย์จึงจะได้มาเยี่ยมพ่อแม่ ยายสุขภาพแข็งแรงหน่อย หุงหาอาหารทำกับข้าวเองทุกวัน ส่วนคุณตาสุขภาพไม่ดีเดินไม่คล่อง

    ทุกเช้าคุณยายจะไปใส่บาตรทุกวัน โดยเดินจากบ้านไปรอพระคุณเจ้าที่ถนนใหญ่ระยะทางไกลจากบ้านพอสมควร ถ้าไม่เป็นผู้หมั่นเรื่องบุญทานการกุศลละก็ ยากที่จะมีความเพียรไปได้ทุกวี่วันเช่นนั้น

    งานบุญในหมู่บ้านก็จะเจอคุณยายเป็นประจำ บ้านใครมีงานบุญท่านจะมาร่วมทำบุญตลอด เดินออกจากบ้านแต่เช้าไปบ้านงาน ระหว่างทางเจอชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ก็รู้จักท่านกันทั้งหมู่บ้าน ก็จะพาไปส่งที่บ้านงาน ขากลับก็อาศัยรถจากในงานไปส่งที่บ้าน

    วันพระสองตายายนี้ก็บำเพ็ญบุญตลอดปีไม่ขาด มาเมื่อสามสี่ปีนี้เท่านั้นที่คุณตาป่วยเดินไม่ได้ ก็จะเห็นคุณยายเพียงคนเดียวมาทำบุญที่วัด ก่อนที่คุณตาจะป่วย ในช่วงหลายปีอาตมาได้เห็นกิจวัตรประจำวันของสองตายายก็คือทุกเช้าสองท่านจะนำอาหารมาถวายหลวงตาหรือเจ้าอาวาสหรือพระในวัดเป็นประจำ

    ถามคนในพื้นที่ที่เป็นพระที่มีอายุ ท่านบอกว่าสมัยเมื่อเจ้าอาวาสรูปก่อนยังไม่มรณภาพ ทุกวันก็จะเห็นสองท่านนี้มาถวายอาหารท่านสมภารเป็นประจำเหมือนกัน คงปฏิบัติเช่นนี้ตั้งแต่เจ้าอาวาสรูปก่อน จนถึงรูปปัจจุบัน(ขับสามล้อเครื่อง) เมื่อชราภาพมาไม่ไหวก็เลยหยุดกิจประจำวันนี้ไป แต่ยังมาทำบุญในวันพระอยู่(ช่วงนี้คุณยายมาคนเดียว)

    นั่งอยู่ที่บ้านของท่านมองออกไปในทุ่งนาข้างบ้าน เห็นน้ำกำลังท่วมอยู่พอดี ยายคงจะกลัวน้ำท่วมถึงบ้านเลยได้เห็นท่านเก็บข้าวของขึ้นไว้บนม้านั่งใต้ถุนบ้านเต็มไปหมด

    ผู้สูงอายุโดยทั่วไปเมื่ออยู่ในสภาพที่ลูกหลานอยู่ห่างไกลเช่นนี้ มักตกอยู่ในอาการโดดเดี่ยวเดียวดาย เหงาหงอย

    แต่สองท่านนี้ไม่เป็นเช่นนั้นเลย แววตาอารมณ์จะสัมผัสได้อย่างหนึ่งว่าท่านมีจิตใจเข้มแข็งมาก(แม้สุขภาพกายไม่แข็งแรงก็ตาม) พูดจาพาทีอารมณ์ดีหัวเราะได้ตลอด

    ยิ่งมีคนไปเยี่ยมเยือนถึงบ้านเช่นนี้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้นอีกมากมาย

    ก่อนกลับวัดได้สังเกตเห็นต้นกล้วยข้างยุ้งข้าว หัวปลีสีชมพูเชียวแปลกตาดี เจ้าของบ้านบอกว่าไปรับมาจากบ้านผู้ใหญ่บ้าน เขาเรียกว่ากล้วยราชินี ไม่เคยรู้จักมาก่อน เลยถ่ายรูปมาฝากเวทีคนหนองบัว

                                

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ สวยดีนะครับเนี่ย เคยเห็นอยู่เหมือนกันครับ
    แต่แปลกใจว่าหมู่บ้านนี้อยู่ในหุบเขาหรือไม่ค่อยมีลมแรงหรือครับ ใบกล้วยไม่ค่อยแตกน่ะครับ

    หมู่บ้านดอนม่วงอยู่ในทุ่งนา ใกล้ๆกับบึงน้ำขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพิษณุโลกคือบึงราชนก

    ในบริเวณบ้านและที่ใกล้เคียงคล้ายเป็นโคกบ้านเก่า จึงเห็นมีต้นใหญ่ๆอยู่รายรอบบ้านเยอะแยะไปหมด เลยทำให้ต้นกล้วยที่เห็นปลอดลมไปด้วย

    ได้เข้าไปดูที่บล็อกคนหนองบัวกับพริกเกลือ บล็อกของคุณเสวก ใยอินทร์
     http://www.gotoknow.org/blog/pknongbur/281711?page=9

    เห็นมีกิจกรรมของชมรมกลุ่มพริกเกลือ กลุ่มร่มไม้ของคนหนองบัวที่ทำงานอยู่ในจังหวัดระยอง โดยทางกลุ่มฯได้รวมตัวกันจัดหากองทุนเล็กๆน้อยๆ แล้วนำกองทุนมาทำประโยชน์เพื่อเด็กๆและชุมชนแห่งหนึ่งในหนองบัว โดยทำห้องสมุดให้โรงเรียนวัดหนองปลาไหล ตำบลธารทหาร อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

    สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดความเป็นมาของกิจกรรมนี้ได้ที่บล็อกคุณเสวก
    ขอนำภาพกิจกรรมการสร้างห้องสมุดมาลงที่นี่อีกสักที่หนึ่ง คงไม่ว่ากันนะ คุณเสวก

    เดี่ยวจะบริจาคหนังสือทำมือ ทำเอง จากเวทีคนหนองบัวไปให้สักชุด

                         
                          การทำพิธียกเสาเอกห้องสมุดโรงเรียนวัดหนองปลาไหล

                          
                          หลวงน้าหนุ่มทำพีธียกเสาเอก

                         
                          ผลงานร่วมแรงร่วมใจจากพ่อใหญ่แม่ใหญ่พี่น้องทุกท่านที่ร่วมกันสร้างห้องสมุด

    วันนี้(๑๐กันยายน๒๕๕๔)ตอนสายๆท่านเจ้าอาวาสชวนไปเยี่ยมบ้านโยมที่รู้จัก ทราบข่าวว่าน้ำกำลังท่วมบ้านพอดีเลย บ้านอยู่ที่ตำบลบางสะพาน อำเภอวังทอง จ.พิษณุโลก ห่างจากวัดศรีโสภณประมาณสัก ๕ กิโลเมตร

    ไปถึงบ้านใกล้เพล ก็เลยฉันเพลที่บ้านอีกหลังหนึ่งที่น้ำท่วมไม่ถึง บ้านหลังที่เห็นนี้น้ำท่วมแล้ว น้ำเยอะรถไม่สามารถจอดได้ ช่วงที่ไปถึงน้ำกำลังขึ้น ฉันข้าวเสร็จน้ำขึ้นอีกหลายเซ็น

                     

    สวนหลังบ้านและถัดไปเป็นทุ่งนาที่ข้าวยังไม่ได้เกี่ยว จมน้ำเสียหายไปทั้งหมด

                    

    ส่วนบ้านอีกหลังที่อยู่คนละฝั่งถนน จมน้ำเกือบถึงหลังคาบ้าน เจ้าของบ้านบอกว่าเก็บข้าวของในบ้านไม่ทันเลย น้ำมาเร็วมาก

                         

     

    เจ้าของบ้านกำลังเก็บข้าวของหนีน้ำ

                       

     

    คนที่มีบ้านอยู่ลึกเข้าไปในทุ่งนา ไม่ประมาท ปลอดภัยไว้ก่อน ไม่ไว้วางใจว่าคืนนี้น้ำจะท่วมไหม เลยรีบเก็บขนของจากบ้านตัวเอง นำไปฝากบ้านญาติ

                    

    สิงสาราสัตว์คราน้ำท่วม ก็พากันหนีน้ำอย่างจ้าละหวั่น บ้างก็หนีทัน บ้างก็จมน้ำ บ้างก็เป็นอาหารปลา มีมากมายหลายชนิด

    ไส้เดือนหนีน้ำมารวมตัวกันที่เนินดิน

                      

    สัตว์ตัวน้อยๆที่เห็นนี้ น่าจะปลอดภัยนะ เพราะเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำคือเขียด และตั๊กแตนน้อย มาชุมนุมกันที่กำแพงรั้วบ้าน

                   

    แมงป่องก็หนีน้ำด้วย เกาะอยู่บนกิ่งไม้ที่ปริ่มน้ำเลยเชียว

                        

    เราอยู่ใกล้ๆกันดีกว่านะ (แมงป่องเกาะอยู่บริเวณใกล้ๆ ๓ ตัว)

                     

    ที่น่าเห็นใจคือแย้ สัตว์บกไม่ชอบน้ำ แต่วันนี้หนีน้ำท่วม เลยต้องขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ ดีที่เด็กน้อยและหลวงพ่อไปพบ เลยจับมาปลอดในที่ปลอดภัย

                     

    นี่แมงป่องช้าง ตัวใหญ่หน่อย หนีน้ำท่วม แอบไปอยู่ใกล้ๆกับเจ้ากบน้อย(ระวังตกน้ำนะเจ้าป่อง)
        

          

     

    ร้านค้าข้างถนน บ้านบางสะพาน

                         

    น้ำไหลแรง ไหลข้ามถนนบ้านบางสะพาน รถยังวิ่งผ่านได้

                   

    ไม่ห่างจากถนนที่น้ำกำลังท่วมมากนัก มีสองสามีภรรยา กำลังเก็บดอกโสน

                    

    ชาวบ้านกลับจากไปซื้อของในตลาดอำเภอวังทอง

                    

    นาข้าว ที่มองไม่เห็นต้นข้าว

                    
                    
                    

    แวะไปดูนาไวยาวัจกรวัดศรีโสภณ
                             
                              ท่านบอกว่านาแปลงนี้ซื้อมาได้สามสี่ปี เพิ่งมีปีนี้ที่น้ำท่วมถึงใต้ถุนห้างนา โดยปีนี้อีกเหมือนกันที่เริ่มปลูกไม้ผลหลายอย่าง แต่ก็เจอน้ำท่วมพอดี
                              
                             
                              กล้วยและข้าวหอมมะลิ จมน้ำไปเยอะแล้ว
                             
                               รัฐจะช่วยชาวนาที่ประสบอุทกภัย ไร่ละ๒,๐๐๐บาท ชาวจึงจำเป็นต้องไปยืนแช่น้ำถ่ายภาพอย่างในภาพนี้เลย ส่วนเจ้าของนาที่น้ำลึกแค่คอ คงลำบากหน่อยแหละ

    หลังจากนั้นก็จะนำรูปถ่ายนี้ไปประกอบคำร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐต่อไป(ท่านบอกว่าข้าวหอมมะลิที่น้ำท่วมในภาพนั้น ถ้าไม่จมน้ำเสียหายซะก่อน ก็จะขายได้ราคาประมาณเกวียนละเกือบสองหมื่นบาท)

     

    หลังจากถ่ายรูปในน้ำ(นาข้าว)กันเสร็จแล้ว ก็ไปซื้ออุปกรณ์เครื่องตัดหญ้าในตลาดวังทอง

    เลยได้เห็นน้ำท่วมอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นฝั่งตะวันออกของเทศบาลวังทอง น้ำมากขนาดไหน ดูห้างนาก็รู้แล้ว มองเห็นบ้านไกลๆที่เชิงเขาน้ำก็ยังท่วมถึง
          
                        
                       
                        
                       
                                                                   

     

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข)
    และขอสวัสดีทุกท่านครับ

    • ต้องขอกราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าที่อาสาเป็นสื่อท้องถิ่น บันทึกและถ่ายทอดให้เห็นสภาพน้ำท่วม เห็นสภาพความลำบากของชาวบ้าน ชุมชน และพระสงฆ์องคเจ้า เป็นรายงานภาพที่เห็นได้อย่างทั่วถึงและเห็นรายละเอียดจากผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่กับสถานการณ์ไปด้วย
    • ขอเอาใจช่วยกับทุกท่านที่กำลังประสบความเดือดร้อนจากหน้าน้ำหลากและท่วมในครั้งนี้นะครับ ดูรายงานทั่วไปจากสื่อต่างๆ บางครั้งก็เห็นบอกว่าหลายพื้นที่ของนครสวรรค์ ชุมชมแสง หนองบัว ก็อยู่ในสภาพน้ำท่วมด้วย แต่แถวบ้านผมนอกตัวเมืองหนองบัว น้องและญาติพี่น้องแถวบ้าน บอกว่าน้ำเอ่อและหลากไปตามทุ่งนาเหมือนอย่างที่เป็นตามฤดูน้ำหลาก และปลาก็เยอะมากว่างั้น
    • สำหรับชาวนาและชุมชนที่กำลังรอคอยหน้าน้ำ ก็คงกำลังมีความสุข หวังที่จะได้กุ้งหอยปูปลาที่มากับน้ำ และได้ข้าวที่งอกงาม ให้ได้เก็บเกี่ยวอย่างมีความสุขในอีกไม่กี่เดือน

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า และสวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์ และชาวหนองบัวทุกท่าน

    จริงหรือครับนี่ ขอแสดงความยินดี ชื่นชม และต้องขอดีใจไปด้วยในฐานะที่เป็นคนหนองบัวนะครับ ในมุมมองผมนี่ นวัตกรรมสุขภาพที่มุ่งไปที่กลุ่มเด็กและมารดานั้น นอกจากจะเป็นการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ดีโดยทั่วไปที่จะต้องทำแล้ว ก็จัดว่าเป็นเป็นจุดคานงัดที่สำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเชิงระบบที่จะสร้างผลกระทบเชื่อมโยงต่อปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ ของการสร้างเสริมสุขภาวะสังคม โดยเฉพาะต่อสังคมไทยและประเทศกำลังพัฒนาที่ปัจจัยด้านอื่นอาจจะไม่เข้มแข็งเพียงพอ ซึ่งการลงทุนที่ปัจจัยมนุษย์จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ทั้งต่อเป้าหมายระยะใกล้และเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต  

    ดูเหมือนว่าแถวชุมแสงก็เป็นตัวอย่างความสำเร็จในการใช้คู่มือมารดา ที่ท่านอาจารย์ศิริกุลและเครือข่ายเคยเป็นพี่เลี้ยงให้อยู่ด้วยเหมือนกัน ขอถือโอกาสร่วมแสดงความยินดี โดยพาชาวหนองบัวไปรู้จักท่านอาจารย์ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงศิริกุล อิศรานุรักษ์ตามนี้ครับ  http://www.gotoknow.org/blog/livelesson/318661

    วันนี้(๑๖ กันยายน๒๕๕๔)ประมาณ ๐๙.๐๐ น.ได้ไปเยี่ยมบ้านโยมสองตา-ยายที่บ้านดอนม่วงพร้อมทั้งนำยาสมุนไพรไปฝาก หลังจากไปเยี่ยมคราวที่แล้ว(๑๐กันยายน๒๕๕๔)คราวนั้นน้ำกำลังนองพอดี ยังไม่ท่วมบ้าน รถสามารถเข้าไปได้ถึงบ้าน

    อีกสองวันต่อมาน้ำก็ท่วมบ้านจนถึงวันนี้ วันนี้รถเข้าไปไม่ได้ ไปได้เฉพาะเรือหรือเดินไป

    ก่อนที่จะแวะเข้าไปในบ้าน ได้ไปนาโยมไวยาวัจกรวัดศรีโสภณก่อน เพื่อไปถ่ายรูปน้ำท่วมนาแปลงที่สอง ที่อาทิตย์ที่แล้วน้ำไม่ท่วม เจ้าของนึกจะรอดให้ได้เก็บเกี่ยวได้กินบ้าง มาถึงวันนี้ ท่วมหมดอีกแปลง สองแปลงท่วมหมด

    รัฐบาลประเมินต้นทุนการทำนาไร่ละประมาณ ๔,๐๐๐ บาท เมื่อถูกน้ำท่วมรัฐจะช่วยครึ่งหนึ่งคือไร่ละ๒,๐๐๐ บาท 
             
              เขาสมอแคลง อำเภอวังทอง : มองจากคันคลองส่งน้ำในทุ่งนาบ้านครองเรือ ต.วังทอง ผ่านผืนน้ำที่เจิ่งน้ำปริ่มยอดข้าวที่เน่าเสียเกือบหมดแล้ว จะเห็นเจดีย์อยู่ไกลๆบนเขา เจดีย์นี้คือวัดสระสองพี่น้อง ส่วนเจดีย์ยอดด้วนที่อยู่บนยอดเขาสมอแคลงนั้นมองไม่เห็น

    กิจกรรมในท้องทุ่ง ตอนน้ำท่วม
                      
                       ทุ่งนาบ้านคลองเรือ

                    
                     นกกระยางจับบนไม้ค้างต้นถั่วในนาข้าว
                    
                     ถนนในทุ่งนา
                    
                     คันคลองส่งน้ำชลประทาน รถยังวิ่งได้
                    
                     ถึงถนนน้ำจะท่วม จักรยานก็ยังไปได้
                     
                     

                     

    ข้าวหอมมะลิ เกวียนละเกือบสองหมื่นบาท จมหายไปกับสายน้ำ
                    
                     เจ้าของนาได้ค่าชดเชยจากรัฐบาลไร่ละ๒,๐๐๐ บาท
                    
                     คลองส่งน้ำชลประทาน
                    
                     ยานพาหนะของชาวบ้านไปได้ทุกที่ แม้จะท่วมก็ไปได้
                   
                    ชาวบ้านต้องนำวัวมาเลี้ยงหรือมาล่ามไว้ในที่สูง
                    
                    

    หลังจากเจ้าของนายืนดูน้ำท่วมนา ข้าวกล้าล่มจมด้วยความละเหี่ยใจ ก็กลับ
    แวะบ้านคุณยาย ทางเข้าบ้าน ไม่รู้ว่าถนนหรือคลอง
                    
                    
                     
                     ยายเจ้าของบ้าน(อายุ๘๓ปี)เตรียมเรือไปรับผู้มาเยี่ยาที่ปากซอย
                    
                     ลานบ้าน
                    
                     เรือคุณยายซื้อไว้หลายปีแล้ว ตั้งแต่น้ำท่วมเมื่อคราวก่อนนานมาแล้ว ปีนี้ได้มีโอกาสนำออกมาใช้อีครั้ง(ครั้งที่สอง)
                    

    เมื่อวันที่๑๐กันยายน๒๕๕๔ที่ผ่านมา ตรงบริเวณนี้ไม่มีน้ำ รถมาได้ถึงบ้าน วันนี้ต้องมาเรือเท่านั้น
                       
                      
                       
                       บ้านสองชั้น น้ำท่วมแค่บันไดขึ้นที่สามเอง
                     
                      ไก่ถูกขังไว้ในเล้า และหมาก็ไปไหนไม่ได้นอนอยู่แต่บนร้านใต้ถุนบ้าน
                     
                      คงอีกหลายทีเดียว กว่าน้ำจะแห้ง คุณตา-คุณยาย เล่าว่าน้ำเคยท่วมมากท่วมถึงบันไดขึ้นที่ห้า แต่ตอนนั้น น้ำยุบเร็วมาก ไม่เดือนร้อนอย่างทุกวันนี้

    ทั้งสองท่าน แสดงความคิดเห็นและมีความสงสัยว่า ทำไมปัจจุบันนี้ น้ำท่วมทีไร น้ำจึงแห้งช้าจัง แต่ละวันๆน้ำไม่เห็นน้ำยุบเลย น้ำมันติดอะไรตรงไหน

                     
                     
                      

    สถานการณ์ช่วงนี้หลายสิบจังหวัดประสบกับอุทกภัยน้ำท่วมไปเรียบร้อยแล้ว ล่าสุดเห็นมีบันทึกในบล็อกสองแห่งด้วยกันคือที่นครสวรรค์และพิษณุโลก น้ำกำลังจะท่วมอำเภอเมืองของทั้งสองจังหวัด ส่วนรอบนอกหลายอำเภอทั้งนครสวรรค์และพิษณุโลกนั้น ถูกน้ำท่วมไปนานแล้ว

    ที่หนองบัวทราบว่ามีน้ำนองแล้ว น้ำนองนี่ยังไม่ถึงขั้นท่วม
    ขอนำภาพน้ำท่วมล่าสุดทั้งสองจังหวัดมาให้ดูเป็นตัวอย่างสักเล็กน้อย

    Ico64

     

    สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดนครสวรรค์
                             
                             

    วันน้ำหลากที่พิษณุโลก 4

                             

    Ico64

     

    เชิงสะพานนเรศวร 16 09 2554

    โยมที่นาถูกน้ำท่วมคุยให้ฟังว่าเมื่อสามสิบปีที่แล้ว เคยทำนาในหนองในบึงที่มีความลึกของระดับน้ำเป็นเมตรๆ แต่ข้าวไม่ตาย ที่ข้าวไม่ตายเพราะใช้ข้าวพันธุ์นาเมืองชื่อข้าวขึ้นน้ำนั่นเอง

    ข้าวขึ้นน้ำมีความสามารถในการหนีน้ำได้ดีมากด้วยการยืดปล้องข้าวให้พ้นน้ำ ข้าวชนิดนี้จะใช้ได้เพฉาะในพื้นที่นาลุ่มที่นำท่วมขังมากๆเท่านั้นจึงจะดี ถ้านำไปปลูกในที่นาดอนมีน้ำน้อย กลับไม่งอกงามเท่าที่ควร คือถ้าน้ำน้อยไปจะได้ผลผลิตต่ำหรือออกรวงได้ไม่เต็มที่

    โยมบอกว่าข้าวขึ้นน้ำนั้นเวลาน้ำนองมากๆ แค่วันสองวันจะเห็นต้นข้าวหนีน้ำต้นยาวเหมือนผักบุ้งเลย ข้าวขึ้นน้ำนี้ถือเป็นข้าวหนัก มีอายุเก็บเกี่ยวหลังข้าวเบา ข้าวกลาง เกี่ยวข้าวกลางเสร็จแล้ว ข้าวขึ้นน้ำก็สุกพอดี

    ตอนทำนาที่ห้วยน้อยนั้น เนื่องจากพื้นที่นาต่างระดับกัน ต่างระดับถึงสามระดับ ดอนมากก็ทำข้าวเบา ลาดต่ำลงมาก็ข้าวกลาง ในร่องน้ำลึกหรือในหนองน้ำ ก็ต้องใส่(ใช้)ข้าวขึ้นน้ำจึงจะได้กิน(ข้าวอื่นจมน้ำตายหมด)

    น้ำท่วมเสียหายไปหมดแล้ว ไม่มีพันธุ์ข้าวปลูกจะปลูกในฤดูใหม่ถัดไป ต้องซื้อข้าวปลูกโยมบอกว่าข้าวปลูกก็แสนแพงอีกด้วย

    จะหาข้าวขึ้นน้ำมาปลูก ในปัจจุบันท่านบอกว่าหาไม่ได้แล้วข้าวขึ้นน้ำ

                        
                         ในภาพนี้ ไม่ใช่ข้าวขึ้นน้ำ แต่เป็นข้าวสำลักน้ำ น่าสงสาร

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล และพระอธิการโชคชัย
    สวัสดีพี่วิรัตน์ และสมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกๆท่าน

    ได้เห็นภาพและคำบรรยายของพระคุณเจ้าแล้ว ก็ได้แต่ภาวนาให้น้ำลดลงเร็วๆ ช่วงนี้ก็ไม่มีฝนหนักๆลงมาหลายวันแล้ว สถานการณ์น่าจะดีขึ้น แต่ติดตามข่าวปริมาณน้ำที่ไหลผ่านนครสวรรค์มันเพิ่มขึ้นทุกวันๆ ช่วงต้นเดือนปริมณน้ำยังอยู่ประมาณ3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีอยู่เลยซึ่งก็เกิดน้ำท่วมแล้ว มาวันนี้เป็น 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแล้ว อาการก็น่าจะหนักกว่าคราวก่อนเยอะพอควร
    วันก่อนได้ข่าวที่เทศบาลนครสวรรค์ เตือนให้ปชช.คอยฟังเสียงพลุเตือนภัย จะจุดขึ้นถ้าเขื่อนที่กั้นริมตลิ่งเอาไม่อยู่ ระดับน้ำในแม่น้ำอยู่สูงกว่าระดับบ้านเรื่อนไม่ต่ำกว่า 2เมตร
    หนองบัวน่าจะเป็นไม่กี่อำเภอในนครสวรรค์ละมั้งที่ได้รับผลกระทบไม่มาก ตามข่าวจากพรรคพวกที่อยู่ในท้องที่ ในตลาดจะมีท่วมบ้างก็ต่อเมื่อเจอฝนหนัก ระบายน้ำออกไม่ทัน แต่รอบนอกยังมีท่วมบ้าง นาข้าวอาจจะไม่เสียหายเท่าไหร่ ถ้าท่วมไม่มากต้นข้าวพอเอาตัวรอดได้ แต่ไร่มันสำปะหลังน้ำท่วมจนหัวมันเน่าอยู่ใต้ดินส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ อยากได้ผู้สื่อข่าวในท้องที่ได้รายงานสถานการณ์ให้ทราบเหมือนกัน เอาใจช่วยทุกคนที่กำลังประสบภัยน้ำท่วมอยู่นะครับ
    พูดถึงเรื่องการเตรียมการรับมือเรื่องน้ำในแต่ละปี ไม่รู้ว่าวิทยาการด้านนี้ก้าวหน้าไปขนาดไหนแล้ว เห็นมีปัญหาทุกปี แต่ก็น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ต้องคอยบริหารทรัพยากรน้ำอยู่เหมือนกัน เหมือนคนกะเก็งเล่นหวยเล่นหุ้น ถ้าคาดเดาว่าปีนี้น้ำท่าจะเยอะ ก็จะได้เตรียมล้างเขื่อนรอได้ ถ้ากะเก็งได้ถูกต้องก็รอดตัวไป ชาวนาก็จะได้เลือกพันธุ์ข้าวมาปลูกให้เหมาะกับสภาพน้ำที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้ามันไม่เป็นไปอย่างที่คิดก็คงจะเสียผู้เสียคนไปเลย และความเสียหายก็จะตามมาอีก
    ที่เห็นว่ามีการพัฒนามากขึ้นก็คือการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน จำได้เมื่อหลายปีก่อน มีน้ำท่วมในตลาดตัวเมืองนครสวรรค์โดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน สร้างความเสียหายไปมากโข แต่เดี๋ยวนี้ทุกปีพอถึงหน้าน้ำ ก็จะมีการเตรียมสร้างพนังสร้างเขื่อนกันไม่ให้น้ำเข้ามาท่วมในตัวตลาดได้ เช่นเดียวกับที่หนองบัวเมื่อปีที่แล้ว ที่ได้รับบทเรียนเรื่องน้ำท่วมเป็นครั้งแรก

    เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา ไปงานฌาปนกิจเพื่อนที่เรียนที่หนองคอกมาด้วยกัน บิ/ศิริพร น้องสาวของเจ๊ฮวง/ศิริรัตน์ เพื่อนพี่วิรัตน์ ที่วัดแก้วแจ่มฟ้า สี่พระยา มีเพื่อนๆที่ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ6คน และมาจากนครสวรรค์อีก 2 คนมาร่วมไว้อาลัยการจากไปด้วย  

    ขอเป็นกำลังใจกับ พ่อแม่พี่น้อง ที่ได้รับผลกระทบ กรณีน้ำท่วมนะครับ

    สวัสดีครับฉิก

    นครสวรรค์ปีนี้เสียหายจากน้ำท่วมหนักเลยนะ หนองบัวปีนี้คงไม่โดนไปด้วย เพราะน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้วเป็น้ำจากฝนตกที่บ่าลงมาจากแนวเขาของหนองบัว แต่ปีนี้น้ำท่วมนครสวรรค์เป็นน้ำหลากมาจากทางเหนือ ซึ่งจะท่วมแถบที่ลุ่มอย่างชุมแสง ปากน้ำโพ และนครสวรรค์ แต่ขึ้นไม่ถึงที่ดอนอย่างหนองบัว

    ขอเสียใจกับการถึงแก่กรรมของบิ/ศิริพรอย่างยิ่งด้วยนะครับ ขอบคุณฉิกมากเลยที่นำมาบอกกัน ไม่มีใครบอกให้ทราบตั้งแต่ตอนป่วยเลยเนาะ ที่จริงพวกเราคนหนองบัว หากใครทราบข่าวคราวอะไรกัน ก็สามารถอาศัยบันทึกออนไลน์นี้เป็นสื่อช่วยบอกกล่าวสารทุกข์สุกดิบกันไว้ได้นะครับ

    นี่ท่านอาจารย์ณัฐพงษ์จากมหาวิทยาลัยราชมงคลภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เกียรติแวะมาเยือนเวทีศึกษาและสร้างสุขภาวะหนองบัวด้วย ต้องขอสันถวะ ขอขอบคุณ และขอเรียนเชิญแวะมาแบ่งปันเรื่องราวต่างๆใก้กับชุมชนหนองบัวเมื่อมีโอกาสบ้างนะครับ

    ชีวิตคนไทยช่วงนี้ เฝ้าติดตามข่าวน้ำท่วมอย่างเดียวเลย

    สุดท้ายวันนี้ตอนสายๆ ตัวเมืองนครสวรรค์ก็เอาไม่อยู่ หลังจากยื้อมาเป็นเดือน

    เอาใจช่วยให้กู้คืนมาโดยเร็ว

    <table border="0" width="660">

    <tbody>

    <tr>

    <td width="100%" align="left">

    <object width="640" height="390">

    <param name="movie" value="http://www.youtube.com/v/AhDP4PbUrjY" />

    <param name="wmode" value="transparent" /><embed type="application/x-shockwave-flash" width="640" height="390" src="http://www.youtube.com/v/AhDP4PbUrjY" wmode="transparent"></embed>

    </object>

    </td>

    </tr>

    </tbody>

    </table>

    ขอโทษที พยายามจะเอา YouTube คลิปข่าว Thai PBS มาแปะไว้ในนี้ งั้นทำลิ้งค์ไว้ละกัน

    ผมมี Advisee อยู่คนหนึ่ง เป็น Ph.D.Candidate แล้ว กำลังทำงานวิจัยดุษฎีนิพนธ์ แต่เป็นผู้บริหารโรงเรียนในนครสวรรค์ด้วย ก่อนหน้านี้ก็ทำงานวิจัยด้วยความเคร่งเครียด กว่าจะนัดเจอกัน นัดคุยหารือและดูความคืบหน้าต่างๆด้วยกัน ก็ต้องบริหารจัดการจังหวะไปตามภารกิจอื่นๆไปด้วย แต่ช่วงนี้ ทั้งเขียนส่งไปให้ผมดู ทั้งคุยกันอย่างสนุกครึกครื้น จนน่าแปลกใจ เลยอดถามไถ่ไม่ได้ คุยไปคุยมาเลยทราบว่าตอนนี้น้ำท่วม ต้องหยุดทำงาน ปิดโรงเรียน ออกไปไหนมาไหนไม่สะดวก จิตใจละวาง เลยหมกมุ่นทำวิจัยและรู้สึกสนุก เบาสบาย.....ในความทุกข์และเดือดร้อน แล้วปลดปล่อนตนเองไปทำงานได้อีกนี่ ต้องถือว่าเป็นทักษะชีวิตและเป็นความสามารถทางจิตใจอย่างหนึ่งนะนี่นะ 

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล และ สวัสดี อ.วิรัตน์ และ ชาวเวทีหนองบัวทุกท่านค่ะ

    ห่างหายไปเสียนาน ไปอ่านหนังสือสอบใบขับขี่ค่ะ ตอนนี้ผ่านแล้วค่ะ ได้ใบขับขี่มาทดลองใช้ ๒ ปี เมื่อวันที่ ๓ ตค ที่ผ่านมา ซึ่ง ข้อสอบยากมาก ดิฉันสอบไป ถึง ๕ ครั้ง ถึงได้ผ่าน ค่ะ

    ตอนนี้ดูข่าวจาก ทีวี น้ำท่วม บ้านเรา โดยเฉพาะเมื่อวาน น้ำท่วมที่ปากน้ำโพ เห็นแล้วสงสาร และเห็นใจมาก และที่เห็นใจเป็นที่สุดคือ ชาวนา เพราะดิฉัน เป็นลูกชาวนา และ ตอนนี้ญาติพี่น้องก็ยังเป็นชาวนาอยู่

    เฮ่อ...อยากให้สถานการณ์น้ำท่วม ผ่านไปโดยเร็ว และขอเป็นกำลังใจให้นะคะ

    ขอส่งกำลังใจผ่านทางเวทีหนองบัวนี้นะคะ

    อัญชัน

    • ยินดีกับการได้ใบขับขี่เป็นของตนเองนะครับ
    • สามารถพึ่งตนเองและมีโอกาสดูแลผู้อื่นได้มากขึ้น
    • ตอนนี้น้ำท่วมยังหนักหนาในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เขตอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยา
    • บางพื้นที่ก็เริ่มมีอากาศหนาวเย็นเข้ามาอีกด้วยแล้ว
    • แต่ผู้คนก็ไม่ค่อยตื่นตระหนกแล้ว เริ่มตั้งหลักได้และมีสติ สื่อมวลชนทำหน้าที่รายงานสังคมและส่งเสียงเรียกร้องแทนความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย รวมทั้งเข้าถึงพื้นที่ บอกลักษณะความเดือดร้อน ลักษณะความจำเป็น สภาพการเผชิญปัญหากันของคนในพื้นที่ ทำให้ผู้คนที่ต้องการระดมความช่วยเหลือ พอจะมีข้อมูลหาทางช่วยเหลือและเป็นเครือข่ายความร่วมมือทางด้านต่างๆให้กันในยามเดือดร้อนถ้วนหน้ากันอย่างนี้
    • หนองบัวบ้านเรา ถามไถ่ดูแล้วไม่ประสบกับน้ำท่วมเหมือนกับชุมแสงและตัวเมืองนครสวรรค์หรอกครับ หนองบัวเป็นที่ดอน เมื่อปีก่อนโดนท่วมเพราะฝนตกลงมาในบริเวณแนวเขาของหนองบัวแล้วน้ำหลากลงมาถล่มใส่ตัวเมือง แต่ปีนี้น้ำที่ท่วมเป็นน้ำที่หลากมาจากทางเหนือ เลยท่วมตามที่ราบลุ่มน้ำเสียเป็นส่วนใหญ่

    เจริญพรคุณณอัญชัน

    คุณอัญชันหายเงียบไปซะนานเลย
    ที่ประเทศสวีเดนคงไม่มีน้ำท่วมเนาะ
    นำภาพทุ่งนาที่มีข้าวสุกเหลืองอร่ามสวยๆมาฝากคุณอัญชันด้วย

    สถานการณ์เมืองไทยในตอนนี้ ประสบกับอุทกภัยอย่างหนักหนาสาหัสครึ่งค่อนประเทศ ขอเอาใจช่วยให้พี่น้องที่เดือดร้อน รอดพ้นจากวิกฤติภัยพิบัตินี้โดยเร็ว

    หลายท่านคงได้ติดตามเหตุการณ์น้ำท่วมมานานเป็นเดือนแล้ว ภาพข่าวที่นำเสนอในสื่อน้ำท่าช่างมากมายเสียเหลือเกินในทุ่งนา มากเสียจนแยกไม่ออกว่าเป็นท้องนา หรือทะเล

    วันนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศพาไปชมทุ่งรวงทองที่สดชื่นในท้องทุ่งที่รอดปลอดภัยจากน้ำท่วม(ภาพนี้ถ่ายเมื่อ ๙ ตุลาคม๒๕๕๔)

    โดยเมื่อเช้า(๙ตุลาคม๒๕๕๔)ที่ผ่านมาไปเก็บภาพในทุ่งนาที่ข้าวกำลังสุกเหลืองอร่าม เป็นทุ่งรวงทองทุ่งเล็กๆที่รอดพ้นจากน้ำท่วม ในทุ่งนาท้ายหมู่บ้านที่ห่างออกไปไม่ไกลนัก ก็จมน้ำเสียหายหมด

    และในวันนี้(๙ ต.ค.๕๔)เช่นกัน ตอนสายๆ เจ้าของนาก็ได้ไปทำการเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อย และได้นำภาพมาฝากกันด้วย ไปชมกันเลย








    ทุ่งนาในหมู่บ้านข้างวัด : ๙ ตุลาคม ๒๕๕๔

    สังเกตเมล็ดข้าวที่เกี่ยวในวันนี้ ยังแก่ไม่เต็มที่เลย และไม่สม่ำเสมอ ก็จำเป็นต้องรีบเกี่ยว ไม่ใช่ข้าวราคาดีแล้วรีบเกี่ยวเอาไปขาย แต่เจ้าของบอกว่าถ้ารอให้สุกพร้อมกันมากกว่านี้ เกรงว่าข้าวที่สุกก่อนต้นจะล้ม ทำให้เก็บเกี่ยวยากขึ้นไปอีก(รถเกี่ยว)

    ที่ข้าวสุกไม่เสมอกันพร้อมกัน เนื่องจากการทำซ้ำสองครั้ง ทำ(หว่าน)ครั้งแรกข้าวเสียหายไปบางส่วนอาจไม่ขึ้นหรือตาย เลยต้องทำซ่อมในส่วนที่เสีย ทำให้ข้าวออกรวงไม่พร้อมกันและก็แก่ไม่พร้อมกันไปด้วย

     

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล และ สวัสดี ท่านอาจารย์วิรัตน์ และ ทุกท่านในเวทีคนหนองบัวครับ 

             ตามที่หลวงอาได้เคยแจ้งไว้เรื่องการสร้างฝันให้น้องของกลุ่มพริกเกลือร่วมกับกลุ่มชมรมร่มไม้ ในการสร้างห้องสมุดโรงเรียนวัดหนองปลาไหล กลุ่มชมรมร่มไม้ได้แจ้งมาว่า ขอเลื่อนการส่งมอบห้องสมุดออกไปประมาณเดือน พฤศจิกายน 2554 ประมาณปลายเดือน เนื่องจากการเดินทางบำลาก และบางเส้นทางที่ไปได้อาจไม่ชำนาญการใช้เส้นทางเพราะมีสมาชิกชมรมร่มไม้ที่จะเดินทางมาจำนวนมากยากต่อการดูแล ดังนั้นกลุ่มพริกเกลือได้ปรึกษาหาลือกันว่าจะขอเลื่อนตามเพราะจะได้ส่งมอบพร้อมกัน จึงขอแจ้งมาให้ทุกท่านที่สนใจจะไปร่วมกิจกรรมทราบโดยพร้อมกัน แล้วกำหนดการจะแจ้งให้ทราบภายหลังอีกครั้งครับ

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล
    และสวัสดีคุณเสวก ใยอินทร์ กับทุกๆท่านครับ

    อยากหาหนังสือ สื่อการศึกษา หรือเครื่องเขียนสำหรับเด็กๆ ส่งไปมีส่วนร่วม
    ร่วมเป็นกำลังใจและแสดงความชื่นชมในความริเริ่มของกลุ่มพริกเกลือกับชมรมร่มไม้ด้วย
    จะส่งไปให้คุณเสวกหรือสมาชิกที่เตรียมจัดงานได้อย่างไรดีครับ

    กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    ก่อนอื่นในฐานะตัวแทนของพริกเกลือและร่มไม้ผมต้องขอขอบพระคุณแทนน้องๆโรงเรียนวัดหนองปลาไหลด้วยครับ ขออนุโมทนาบุญกับท่านอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ด้วยด้วยครับ

     ส่งมาได้ที่ นาย ปฐมพงษ์ ฉ่ำน้อย 40/4 หมู่ 3 ตำบลทับมา อำเภอเมือง จังหวัดระยอง 21000 (ประธานชมรมพริกเกลือ)

    วันนี้วันที่๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นวันลอยกระทง
    ที่อำเภอวังทอง พิษณุโลก มีประเพณีบุญประจำปีของท้องถิ่นที่นี่ที่ทำสืบทอดกันมาร่วมศตวรรษ(ร่วมร้อยปี)

    คือประเพณีทำบุญผ้าป่าหมู่อุทิศส่วนบุญให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งนิยมทำกันในช่วงหลักจากออกพรรษาแล้ว จนถึงวันลอยกระทง

    คนเฒ่าคนแก่ที่นี่เล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนเวลาถึงช่วงทำบุญผ้าป่าหมู่ครั้งใด เป็นเรื่องสนุกมาก ที่สนุกก็เพราะทำบุญเอาแรงกัน เอาแรงกันข้ามเขตข้ามตำบลกันเลย ทำให้งานนี้คนมากมายพระสงฆ์สามเณรก็มาก โดยแต่ละวัดจะหมุนเวียนกัน ในชุมชนที่เป็นหมู่เล็กๆคนไม่มาก แต่เมื่อทำบุญด้วยวิธีเอาแรงกัน หมู่บ้านที่มีคนไม่มากนั้น ก็เป็นที่รวมคนจากหมู่บ้านอื่นๆทำให้ชุมชนคึกคักมีชีวิตชีวา

    บุญนี้เลยทำให้ชาวบ้านต่างตำบลได้มีโอกาสพบปะสังสรรคเชื่อมความสัมพันธ์เกิดความรักความสามัคคีเชื่อมสายสัมพันธ์เป็นพี่เป็นน้องเป็นเพื่อนมีความผูกพันรักใคร่ดุจดังญาติมิตร

    ฟังท่านเล่าให้ฟังแล้ว ได้บรรยากาศงานทอดผ้าป่าจริงๆเลย เพราะวัดสมัยก่อนจะมีป่าช้าอยู่ด้วยกันทุกวัด และป่าช้าของวัดในยุคโน้นมันคือป่าจริงๆด้วยซิ ป่าช้ามันน่ากลัวเสียนี่กระไร บอกได้เลยว่าไปไหนคนเดียวแล้วมีความจำเป็นต้องเดินผ่านป่าช้า เล่นเอาขาสั่นได้ง่ายๆเลยแหละ

    บางวัดก็ไปจัดทอดผ้าป่าหมู่ในป่าช้าซะเลย เพื่อให้เหมาะกับชื่องานว่างั้น พระใหม่ได้ประสบการณ์นี้แล้วจำไม่ลืมกันเลยทีเดียวเป็นบททดสอบความกล้าพระใหม่ด้วย

    เจ้าภาพผ้าป่าเขานำผ้าไปแขวนไว้ในป่าพร้อมข้าวของไทยทานอื่นๆ ข้าวของหาไม่ยากแต่เมื่อในงานนี้เขาใช้วิธีจับฉลากมีหมายเลขติดไว้ โดยให้พระคุณเจ้าทุกรูปจับฉลาก
    ได้ฉลากแล้ว ก็เดินตามหาเบอร์ที่ท่านเองจับได้(หลวงตาที่ท่านบวชครั้งแรกเมื่อ๔๐กว่าปีที่แล้วตอนอายุ๒๐ บอกว่าแม้พระจะมากคนเยอะแต่ก็รู้สึกตื่นเต้นแล้วก็กลัวไม่น้อย)

    ประเพณีที่ร่วมมือร่วมใจกันทำนี้ ชุมชนได้ร่วมทำกันมายาวนาน หลังจากนั้นก็เจือจางหายไป โดยต่อมาชุมชนแต่ละแห่งก็จัดกันเฉพาะในชุมชนของตนตราบจนถึงปัจจุบัน

    ในเวลาหนึ่งทุ่มวันนี้ที่วัดศรีโสภณได้จัดทอดผ้าป่าหมู่โดยประชาชนจากสามหมู่บ้านมาร่วมกันทำบุญ ทางวัดได้จัดให้ญาติโยมและพระสงฆ์นั่งที่พื้นดินกลางลานวัด

    ทั้งพระและญาติโยมทุกท่านจับฉลาก โดยเฉลี่ยให้ทุกรูปมีจำนวนเจ้าภาพเท่าๆกัน ส่วนท่านรูปใดจะได้จตุปัจจัยไทยทานมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับบุญและฝีมือ(จับฉลาก)ของแต่ละองค์ไม่ว่ากัน

    อาตมาจับฉลากได้หมายเลข๓ ญาติโยมทุกท่านที่มาก็เตรียมข้าวของไทยทานเพื่อทำผ้าป่าอุทิศ แต่ก็มีคุณโยมท่านหนึ่งท่านคงไม่มีโอกาสไปลอยกระทงแน่เลย ท่านจึงทำกระทงมาถวายพระด้วย และกล่าวฝากให้อาตมาช่วยนำไปลอยกระทงให้ด้วย พระก็รับปาก ทำไงในวัดก็ไม่มีสระ ห้วย หนอง คลอง บึงเสียด้วยซิ น้ำที่มากมายเมื่อเดือนที่แล้ว ก็ไหลไปกรุงเทพฯหมดแล้ว เลยต้องลอยกระทงในกะละมังพลาสติกในสวนป่าข้างๆกุฏิ 
                       Large_page01245                      Large_p1015766
                             Large_page123045
    โดยขออธิษฐานแทนคุณโยมเจ้าของกระทง ด้วยการน้อมบูชารอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอามิสบูชา

    และขอปฏิบัติบูชาต่อพระแม่คงคงด้วยการดูแลแหล่งน้ำให้สะอาด ไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลสิ่งสกปรกลงน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัดไม่ฟุมเฟือย สำนึกในคุณค่าของน้ำที่มีความสำคัญต่อมนุษย์

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแลครับ

    • ไม่ได้เข้ามาเยี่ยมเยียนเวทีคนหนองบัวเสียนานทุกอย่างแปลกตาไปหมดเลย
    • เห็นงานทอดผ้าป่าหมู่อุทิศฯ ของชาวอำเภอวังทองน่าสนใจครับ และควรสืบสานประเพณีอันดีงามเหล่านี้ไว้ ซึ่งปัจจุนี้ก็ไม่ค่อยได้พบเห็นอยู่ทั่วไปแล้วแม้กระทั่งที่พรหมพิราม
    • กิจกรรมนี้แฝงไปด้วยวิถีคิด วิถีธรรม..สู่..ลานบุญ ลานธรรม และลานปัญญา..น่าอนุโมทนาครับ
    • ท่านพระอาจารย์มหาครับ ลอยกระทง ปี 54 นี้ท่านลอย..แบบพอเพียง จริงๆ อันมีกะละมังนํา 1 ลูก, กระทง 1 ใบ แถมแมวเหมียว 1 ตัว..
    • แปลกจริงหนอ...สาธุ  

    สวัสดีครับคุณเสวกและคณะครับ

    • ขอบคุณครับคุณเสวก
    • เมื่อตอนน้ำท่วมนครสวรรค์และอีกหลายที่กระทั่งถึงตอนนี้ ให้นึกถึงกลุ่มพริกเกลือและพริกเกลือของคนหนองบัวเลยเชียว
    • บทเรียนความขาดแคลนอาหารการกิน และความเดือดร้อนในการอยู่กับน้ำท่วม ทำให้เห็นภูมิปัญญาอันลึกซึ้งภายใต้ความเป็นพริกเกลืออาหารเอนกของคนหนองบัวเลย
    • หากมีปลา ก็ละลายเป็นน้ำแกงแกงปลา หากมีผักก็ละลายน้ำข้นเป็นน้ำพริก หากขาดแคลนน้ำก็จิ้มและคลุกข้าวกิน กินดิบ-กินสุก หรือแม้แต่มีพริกเกลือติดตัวอยู่กระบอกเดียวก็เข้าป่าไปหาอาหารป่าเอาดาบหน้า ไม่เพียงดำรงชีพและอยู่รอดได้เท่านั้น แต่อร่อย มีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่พอเพียง มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำได้และมีอย่างไร ก็ทำกินอย่างที่มี
    • คนถูกน้ำท่วม หากมีพริกเกลือบ้านละกระปุก กับข้าวสาร ก็หาปลา หาผักน้ำ แปรทุกข์ให้พออยู่เป็นสุขได้ดีขึ้น ก็เลยทำให้ต้องนึกถึงเลยเชียว

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ

    • ขอร่วมอนุโมทนาบุญกับชาวบ้านอำเภอวังทองด้วยครับ
    • ดูเรียบง่าย งดงาม และได้ความแยบคาย พอเพียงดีจังเลยนะครับ
    • เป็นการจัดการทรัพยากรชุมชนและการพัฒนาวัฒนธรรมการจัดการชีวิตส่วนรวมอย่างมีส่วนร่วมให้กับชาวบ้านอยู่เสมอๆในทุกวงจรของวันพระและวงรอบของการลอยกระทงกับออกพรรษาเลยนะครับ

    กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ

    • ช่วงนี้กระทงวิทยานิพนธ์ของพระคุณเจ้าก็คงพอจะลงตัว
    • เริ่มลอยได้เรื่อยเฉื่อยฉิวแล้วนะครับ
    • หากยังคงเป็นเรื่องที่มีเวทีคนหนองบัวเป็นตัวอย่างการวิจัย งานงิ้วต้นปีหน้า ก็น่าหาทางไปทำอะไรเล่นกันในงานงิ้วของหนองบัวอีกนะครับผมว่า

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล, สวัสดีอาจารย์วิรัตน์ และ ชาวเวทีหนองบัวทุกท่านค่ะ

    ขอบคุณพระอาจารย์ที่นำเอาภาพ ทุ่งข้าวมาฝากค่ะ ดิฉันโทรถามญาติพี่น้องที่หนองบัว น้ำไม่ท่วมค่ะ

    ขอบคุณอาจารย์วิรัตน์ที่แสดงความยินดีเรืองใบขับขี่ค่ะ วันอังคารที่ ๑๕ นี้ ก็จะเริ่มขับไปเรียนแล้วค่ะ จะไปเรียนภาษาสวีเดนภาคบังคับสำหรับชาวต่างชาติต่อให้จบ หลังจากเรียนค้างไว้ตั้งแต่ ปี ๒๕๔๘ ตั้งแต่ตอนมาอยู่ปีแรก และลาคลอดอยู่บ้าน จนถึงทุกวันนี้

    สำหรับเรื่องน้ำท่วม ดูข่าว ติดตามข่าว แล้ว เห็นพี่น้องชาวไทย เดือดร้อนก็อยากจะช่วยเหลือ

    ตอนนี้ ดิฉันกับเพื่อนๆ ชาวไทย ที่อยู่ในเมืองเดียวกัน กำลังจะจัดงาน "น้ำใจไทยในสวีเดน สู่น้ำท่วมไทย"

    ซึ่งเริ่มคิดและลงมือดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ ๒๒ ตค. ต้องวิ่งหาที่จัดงาน วิ่งหาคนช่วยซึ่งก็ได้ ทีมคนไทยประมาณร ๙ คนค่ะ ในการออกแรงและออกทุน ตอนนี้ บัตรเริ่มขายไปตังแต่ ๕ พย. ค่ะ ณ วันนี้ ขายบัตรได้เกิน ๕๐% แล้วค่ะ

    ส่งโครงการมาให้ดูตามข้างล่างค่ะ

    อัญชัน

    โครงการ: น้ำใจไทยในสวีเดน สู่ น้ำท่วมไทย

    สถานที่ : Valhallaskolans-Matsal Oskarshamn

    วัน/เวลา : วันเสาร์ที่ ๒๖ พฤษจิกายน ๒๕๕๔ (26 Nov,2011)

    เวลา : 17.00-22.00

    วัตถุประสงค์การจัดงาน 1.รายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในไทย

    2 เพื่อเผยแพร่กิจกรรมของไทยให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

    3 เพื่อให้คนไทยใน Oskarshamn มีความสามัคคีร่วมกัน

    สีสรรในงาน : แฟชั่นโชว์ชุดไทย , รำไทย, ร้องคาราโอเกะ

    รูปแบบการจัดงาน - จัดให้มี Buffe’ อาหารไทย

    - จัดการแสดงแสดงแบบไทยๆ

    - จัดฉายสไลด์ เกี่ยวกับในหลวง, ประเทศไทย และ ภาพจากอุทกภัย

    - จุดเทียนชัย ถวายในหลวง

    - จัดให้มีกิจกรรมสอยดาว

    - จัดให้มีรางวัลพิเศษผู้โชคดีเลขท้ายหางบัตรเข้างาน ๕ รางวัล

    รายได้ รายได้จากการจัดงานโดยไม่หักค่าใช้จ่าย : ส่งมอบให้ “มูลนิธิชัยพัฒนา” www.chatpat.or.th

    โดยผ่าน Swedbank ใน Oskarshamn

    หลักการจำหน่ายบัตร :จำนวนบัตร ๑๐๐ ถึง ๑๕๐ ใบ

    ผู้ใหญ่ราคา ราคา ๑๒๐ โครน

    เด็กอายุ ๑๐ ปีขี้นไป ราคา ๗๐ โครน

    นักเรียนราคา ราคา ๙๐ โครน

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    • อนุโมทนาขอบคุณโยมอาจารย์ ที่ห่วงใยถามถึงงานกระทงวิทยานิพนธ์
    • กระทงวิทยานิพนธ์หลงทางไปพักหนึ่ง..แต่ก็ยังลอยริวเฉื่อยฉิวมุ่งหน้าไปยังเวทีคนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ครับโยมอาจารย์
    • คาดว่าช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนธันวาคม 2554 นี้อาตมาต้องเดินทางไปอยู่อำเภอหนองบัว เพื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูลสัมภาษณ์และจัดเวทีสนทนากลุ่มกับเครือข่ายครูและชาวหนองบัวครับ
    • ช่วงนี้อาตมาต้องขอคำแนะนำจากโยมอาจารย์ด้วยครับ
    • งานงิ้วในต้นปีหน้า อาตมายินดีร่วมด้วย ช่วยกันเต็มที่ครับ..เจริญพร.

    กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ทุกท่านที่ให้กำลังใจในเวทีคนหนองบัวครับ

    กำหนดการส่งมอบห้องสุมดโรงเรียนวัดหนองปลาไหล ตอนนี้ได้กำหนดการที่เป็นทางการแล้ว คือจะทำการส่งมอบกันวันอาทิตย์

    ที่ 20 พฤศจิกายน 2554 นี้ ก็เชิญชวนกันอีกครั้งทุกท่านที่จะไปร่วมกิจกรรมพบปะสนทนากับน้องๆ กลุ่มพริกเกลือ และชมรมร่มไม้จากจังหวัดระยองขอเชิญครับ

    สวัสดีครับคุณเสวกครับ

    • อีกไม่กี่วันก็จะถึงแล้วนะครับ
    • งั้นขอร่วมสมทบเป็นเงินเลยดีกว่านะครับ เพราะตอนนี้กลับไปหาอหนังสือและขนของที่บ้านพักกรุงเทพฯยังไม่ได้เลยครับ ร่วมมอบเป็นทุนการศึกษาให้เด็กๆบ้านหนองปลาไหลไปซื้อดินสอยางลบแทนดีไหม
    • ผมปวารนามอบทุนให้ไปจัดกิจกรรมกับเด็กๆสนุกๆ ๒ พันบาทนะครับ เพื่อเป็นรางวัลมอบแก่เด็กๆรางวัลละ ๑ ร้อยบาท ประเดี๋ยวจะเขียนรายละเอียดเป็นแนวทำกิจกรรมโพสต์ไว้ในนี้และจะแยกเป็นหัวข้อต่างหากให้อีก ๑ หัวข้อนะครับ
    • คุณเสวกให้เลขบัญชีธนาคารที่ผมจะโอนเงินมาให้ได้นะครับ หรือกดส่งไปให้ทางมือถือก็ได้นะครับ ที่มือถือผม ๐๘๖๖๗๐๒๙๗๒

         รางวัลหนองบัว ๖๐+๕๐+๑       

    โดยเวทีคนหนองบัว กลุ่มพริกเกลือ และกลุ่มชมรมร่มไม้

    • รำลึกวาระ ๖๐ ปีการก่อตั้งอำเภอหนองบัว นครสวรรค์
    • วาระ ๕๐ ปีของโรงเรียนวันครู ๑ ใน ๕ แห่งในประเทศของโรงเรียนประชาบาลที่สร้างด้วยเงินบริจาคของครูทั่วประเทศในปี ๒๕๐๔ เพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้และสร้างพลเมืองไทยรุ่นใหม่ในชนบท  
    • และ +๑ เป็นรางวัลมอบแก่เด็กและเยาวชนเนื่องในโอกาสมอบห้องสมุดและที่อ่านหนังสือแก่โรงเรียน

    รางวัลเชิดชูเด็กและเยาวชนหนองบัวเพื่อชุมชนและเพื่อสังคมไทย
    อายุ ๗-๑๓ ขวบ

    ๑.  รางวัลเด็กเก่งความรู้ : มีผลการเรียนดีหลายด้าน
    ๒.  รางวัลเด็กนักอ่านศึกษาค้นคว้า : รักการอ่านหนังสือ รักหนังสือ ดูแลหนังสือของตนเองและของส่วนรวม รู้จักขีดเขียนบันทึก สะสมสื่อและแหล่งความรู้จากสื่อและหนังสือ
    ๓.  รางวัลเด็กพูดไพเราะ  : พูดนอบน้อม กล้าคิดกล้าพูด พูดรู้จักกาลเทศะ 
    ๔.  รางวัลเด็กเก่งศิลปะและฝีมือความสร้างสรรค์  : ทำงานฝีมือสวยงาม มีความสามารถในการขีดเขียน คัดลายมือ วาดรูป
    ๕.  รางวัลเด็กรักษ์ภูมิปัญญาชุมชน : สนใจมีส่วนร่วมกิจกรรมชุมชน กิจกรรมศาสนาในชุมชน ปฏิบัติดีต่อผู้ใหญ่ พ่อแม่ พระสงฆ์ หรือผู้นำศาสนาที่ตนเองนับถือ สนใจเรียนรู้เรื่องราวชุมชน
    ๖.  รางวัลเด็กดีของชุมชน : เอาใจใส่ต่อเรื่องส่วนรวมของชุมชน
    ๗.  รางวัลเด็กกตัญญู : มีการปฏิบัติแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อพอ่แม่ ครู พระสงฆ์ ผู้ใหญ่
    ๘ . รางวัลเด็กมีคุณธรรมต่อส่วนรวม : เอาใจใส่ต่อสมบัติและสิ่งของสาธารณะ ดูแลสิ่งของส่วนรวม มีส่วนร่วมต่อการทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมและของชุมชน
    ๙.  รางวัลเด็กมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ : มีความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ช่วยเหลือ นึกถึงผู้อื่น
    ๑๐.รางวัลเด็กขยันหมั่นเพียร : มีความขยัน ช่วยเหลือพ่อแม่และผู้ใหญ่ ขวนขวายต่อการทำประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
    ๑๑.รางวัลเด็กฉลาดกินฉลาดอยู่ : ใช้สอยเงินและสิ่งของอย่างเหมาะสม ประหยัดอดออม ไม่ฟุ่มเฟือย เคารพต่อการกินและบริโภค ไม่กินทิ้งขว้าง
    ๑๒.รางวัลเด็กเก่งสอนและแนะนำเพื่อน : รู้จักแนะนำสิ่งดีมีประโยชน์ต่อเพื่อนและเด็กรุ่นน้อง มีความสามามรถในการถ่ายทอดบอกกล่าวสิ่งดี
    ๑๓.รางวัลเด็กมีความเคารพนอบน้อม
    ๑๔.รางวัลเด็กรอบรู้ประเทศเพื่อนบ้านและสังคมอาเซียน
    ๑๕.รางวัลเด็กสร้างชื่อเสียงแก่ชุมชน
    ๑๖.รางวัลเด็กรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ
    ๑๗.รางวัลเด็กจิตอาสา : ชอบช่วยเหลือผู้เอื่น
    ๑๗.รางวัลเด็กจิตสาธารณะ : เอาใจใส่ดูแลส่วนรวม มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น
    ๑๘.รางวัลเด็กสืบทอดและทำนุบำรุงพระศาสนา
    ๑๙.รางวัลเด็กรักเรียนและกตัญญูต่อครู
    ๒๐.รางวัลเด็กฉลาดใช้เทคโนโลยี

    รายละเอียดสำหรับเป็นแนวการพิจารณาสามารถเปลี่ยนแปลงและคณะทำงานหรือชาวบ้านช่วยกันคิดขึ้นเองได้ ข้อที่ไม่ได้ใส่รายละเอียดขยายความนั้น เนื่องจากเชื่อว่าสามารถเข้าใจได้อยู่แล้ว

       การพิจารณามอบรางวัล  

    ๑. ขอคุณครูและชาวบ้าน ๕ คน ร่วมกันเป็นกรรมการพิจารณารางวัลแก่เด็กๆที่มาร่วมงานอายุอยู่ในช่วง ๗-๑๓ ขวบทุกคน หรือแล้วแต่จะเปลี่ยนแปลง
    ๒. เด็กๆทุกคนในช่วงอายุดังกล่าวจะได้รับรางวัลทุกคนในด้านที่มีอยู่ในเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน
    ๓. เด็กๆ หลายคน อาจได้รับรางวัลเดียวกันได้
    ๔. แนวการพิจารณา ให้กรรมการนำรายชื่อเด็กๆเข้ามาพิจารณาทีละคน โดยเริ่มพิจารณาว่า เด็กคนดังกล่าวที่กำลังพิจารณานั้น มีทุนความดีและความเก่งอยู่ในตนเองสอดคล้องกับรางวัลใดมากที่สุด พิจารณาไปจนครบเด็กๆทุกคน
    ๕. เมื่อประกาศรางวัล ก็จะสามารถประกาศทีละรางวัล ว่ารางวัลดังกล่าว ได้แก่เด็กๆคนใดบ้าง
    ๖. ขอให้ผู้ใหญ่ พ่อแม่ คนเฒ่าคนแก่ คุณครู พระสงฆ์ และอื่นๆ ที่คณะทำงานต้องการทำให้มีความหมายต่อการเชิดชูคตวามดีงามของชุมชน ให้เป็นผู้ร่วมกันมอบรางวัล

    หากผมสามารถโอนเงินมาให้กลุ่มพริกกับเกลือและคณะทำงานของงานนี้แล้ว จำนวนรางวัล จำนวนเงิน ชื่อรางวัล สามารถเปลี่ยนแปลงได้นะครับ ผมคิดขึ้นเองเพื่อทำให้เป็นกิจกรรมที่มีความหมายแก่เด็กๆ โรงเรียน และชุมชนบ้านวัดหนองป่าไหล รวมทั้งให้เป็นเหตุการณ์ความทรงจำสำหรับเด็กๆเพื่อได้ร่วมหมายเหตุการมีห้องสมุดในโรงเรียนและชุมชนของเขาน่ะครับ รวมทั้งจะไม่ใช้เป็นเงินมอบรางวัล นำไปใช้ทำอย่างอื่นเกี่ยวกับห้องสมุดที่กลุ่มพริกกับเกลือและกลุ่มชมรมร่มไม้ได้ร่วมกับชาวบ้านทำมอบให้กับโรงเรียน หรือเกี่ยวกับกิจกรรมการศึกษาของโรงเรียน หรือจะนำไปใช้ทำกิจกรรมต่างๆของกลุ่มก็ได้ตามอัธยาศัยครับ

    ชื่อรางวัลนั้นก็เปลี่ยนได้ครับ ไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อรางวัลอย่างไรดี

    ขอจองและร่วมมอบรังวัลให้เด็กๆห้ากลุ่มนี้
    ๒. รางวัลเด็กนักอ่านศึกษาค้นคว้า : รักการอ่านหนังสือ รักหนังสือ ดูแลหนังสือของตนเองและของส่วนรวม รู้จักขีดเขียนบันทึก สะสมสื่อและแหล่งความรู้จากสื่อและหนังสือ
    ๔. รางวัลเด็กเก่งศิลปะและฝีมือความสร้างสรรค์ : ทำงานฝีมือสวยงาม มีความสามารถในการขีดเขียน คัดลายมือ วาดรูป
    ๕. รางวัลเด็กรักษ์ภูมิปัญญาชุมชน : สนใจมีส่วนร่วมกิจกรรมชุมชน กิจกรรมศาสนาในชุมชน ปฏิบัติดีต่อผู้ใหญ่ พ่อแม่ พระสงฆ์ หรือผู้นำศาสนาที่ตนเองนับถือ สนใจเรียนรู้เรื่องราวชุมชน
    ๖. รางวัลเด็กดีของชุมชน : เอาใจใส่ต่อเรื่องส่วนรวมของชุมชน
    ๗. รางวัลเด็กกตัญญู : มีการปฏิบัติแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อพอ่แม่ ครู พระสงฆ์ ผู้ใหญ่

    ไปเจอเอกสารของโรงเรียนวัดหนองปลาไหลเรื่องขอบริจาคสมทบสร้างห้องสมุด ที่ทางกลุ่มพริกเกลือส่งไปให้คุณเสวกประชาสัมพันธ์ในบล็อกคนหนองบัวกับพริกเกลือเมื่อ๑กันยายน ๒๕๕๔

    ขอนำข้อความดังกล่าวและเบอร์โทรศัพท์มาประชาสันพันธ์ต่อที่นี่อีก เพื่ออาจารย์จะติดต่อพูดคุยกับผอ.ได้สะดวกยิ่งขึ้น

    "หากท่านใดต้องการร่วมสร้างห้องสมุดและอุปกรณ์การศึกษาสามารถสมทบทุนมายัง ชมรมร่มไม้ และกลุ่มพริกเกลือ หรือท่านสะดวกมาด้วยตนเอง ให้ติดต่อสอบถามได้ที่โรงเรียนวัดหนองปลาไหลตามหนังสือแนบตามระบุด้านล่างได้เลยครับ"

    เบอร์โทรศัพท์ติดต่อที่ให้ไว้ในเอกสารข้างล่างมองเห็นไม่ชัดเจนเลยอ่านได้ประมาณนี้(๐๘๑ ๒๕๖๖๘๑๖)
    บล็อกคุณเสวก ใยอินทร์http://www.gotoknow.org/activities/users/sawek-yai-in

    เมื่อประมาณ ๒๒.๐๐ น.ที่ผ่านมาได้โทรศัพท์ไปหาคุณเสวก เพื่อติดต่อขอให้คุณเสวกแจ้งหมายเลขบัญชีธนาคารของกลุ่มพริกเกลือ ซึ่งเวลาสี่ทุ่มที่โทร.ไปเป็นเวลาเข้าทำงานของคุณเสวกพอดีเลย

    ดังนั้น คุณเสวกได้แจ้งมาว่าพรุ่งนี้(๑๘พฤศจิกายน๒๕๕๔)เวลาประมาณสามเช้า จะติดต่อไปที่กลุ่มพริกเกลือ แล้วก็จะโทร.ติดต่ออาจารย์กับอาตมาอีกที

    เมื่อสักครู่ได้คุยกับประธานชมรมร่มไม้(จ.ระยอง) พิเชฏ:กิติพร บุญจิตร

    เลยได้ทราบว่าคณะชมรมร่มไม้ที่จะเดินทางจากจังหวัดระยอง ไปมอบอาคารห้องสมุดให้โรงเรียนวัดหนองปลาไหล ที่อำเภอหนองบัวนั้น เป็นคณะใหญ่พอสมควร ประมาณร้อยกว่าคน ประธานพิเชฎบอกว่าชมรมร่มไม้ที่จะเดินทางไปในวันพรุ่งนี้(๑๙ พฤศจิกายน๒๕๕๔)ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนระยอง

    และชมรมนี้ก็เป็นคณะที่มีส่วนร่วมในการบริจาคสมทบสร้างห้องสมุดถือว่าเป็นเจ้าภาพหลักด้วย โดยชมรมนี้ได้เป็นผู้ริเริ่มเป็นแกนนำทำกิจกรรมนี้ร่วมกับชมรมพริกเกลือในการสร้างห้องสมุด

    ในการไปครั้งนี้ทางชมรมร่มไม้เตรียมของไปมอบให้เด็กๆเป็นจำนวนมาก อาทิ หนังสือ อุปกรณ์กีฬาต่างๆ

    ได้พูดคุยหารือกับประธานกลุ่มพริกเกลือคุณปฐมพงษ์ คุณเสวก คุณพิเชฎ เรื่องการมอบทุนให้เด็กๆและการจัดกิจกรรมที่อาจารย์วิรัตน์เสนอไว้ ทุกท่านทราบเรื่องที่อาจารย์วิรัตน์เสนอไว้ให้แล้วนั้น ต่างก็เห็นด้วยและยินดีรับไว้

    แต่หลายท่านก็เสนอแนะว่าอยากให้ชมรมพลิกเกลือนำกิจกรรมดังกล่าว ไปทำเฉพาะกลุ่มพริกเกลือต่างหากอีกที ซึ่งทางกลุ่มพริกเกลือก็ได้วางแผนคร่าวๆว่าจะเดินทางไปประมาณต้นเดือนหน้า(ธันวาคม๒๕๕๔)

    ทีมงานปรึกษากันแล้ว ก็เลยยกการจัดกิจกรรมมอบทุนให้เด็ก นำไปจัดในครั้งหน้า(ธันวาคม๒๕๕๔)โดยชมรมพลิกเกลือ

    ฉะนั้น ก็เลยยังพอมีเวลาให้ทางโรงเรียนวัดหนองปลาไหล วัด และชุมชนได้มีโอกาสพิจารณาคัดเลือกเด็กๆเพื่อมารับทุนเล็กๆน้อยๆในครั้งต่อไปด้วย(ส่วนกำหนดการจัดงานแน่นอนวันไหนอย่างไร ทางชมรมพลิกเกลือคงแจ้งให้ทราบในที่นี้อีกครั้ง)

    ในฐานะคนหนองบัวก็รู้สึกดีใจและขออนุโมทนาในกุศลจริยาของชรมรมร่มไม้ ชมรมพลิกเกลือที่สร้างบุญกุศลด้วยการให้ความรู้ให้ปัญญาเป็นทาน ในทางพระศาสนาถือว่าการให้ความรู้ให้ปัญญาเป็นทานที่เรียกกันว่าธรรมทานนั้น ชนะการให้ทั้งปวง(สัพพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ)

    ตลาดสามชุก : ตลาดร้อยปี อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
    Large_pb266751
    เมื่อวันที่ ๒๔-๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา พระในวัดท่านได้ไปเยี่ยมญาติที่อำเภอศรีประจันต์ สุพรรณบุรี โดยนิมนต์พระสงฆ์ไปด้วยจำนวนหนึ่ง และญาติก็ถือโอกาสทำบุญเลี้ยงพระที่บริษัทนั่นเลย สำหรับพระก็ไม่ต้องไปที่วัดเพราะที่บริษัทมีห้องพักคนงานหลายห้อง ก็ถวายให้พระจำวัดหนึ่งห้อง

    เจ้าของบริษัทได้นำพาพระและโยมที่ไปด้วยกันจากพิษณุโลก ทัวร์ไหว้พระเก้าวัด สิบวัดทั้งในจังหวัดสุพรรณบุรีและอ่างทอง อิ่มบุญกันถ้วนหน้า

    ขากลับพิษณุโลก(๒๖พ.ย.๒๕๕๔)ได้แวะชมตลาดสามชุก : ตลาดร้อยปี ของอำเภอสามชุก จ.สุพรรณบุรี ในแวบแรกที่เห็นตลาดห้องแถวไม้ ๒ ชั้นจำนวนมาก คนพิษณุโลกนึกถึงและกล่าวถึงตลาดวังทอง ที่ตอนนี้ยังพอมีห้องแถวให้เห็นอยู่บ้างทันที ส่วนเราเองก็นึกในใจและเห็นภาพห้องแถวที่ตลาดหนองบัวแจ่มชัดเลยเชียว

    ในขณะที่เดินชมความเก่าของตลาดสามชุก ไม่ทราบเป็นอะไรใจก็พลันหวนนึกถึงบรรยากาศเก่าๆของงานงิ้วหนองบัวไปด้วย

    ในวันนั้นเป็นวันหยุดคือวันเสาร์ คนก็เยอะพอสมควร
    ขอบคุณช่างภาพ(ท่านจักรินทโร ภิกฺขุ-เดี่ยว)โดยในภาพชุดนี้ไม่ปรากฏว่ามีรูปถ่ายของช่างภาพเลยสักภาพ






    จากบันทึกประวัติชุมชน ตลาดสามชุกเกือบถูกรื้อทิ้ง
    ก่อนที่ตลาดสามชุก จะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปอย่างทุกวันนี้

    คราวหนึ่งทางราชการมีโครงการปรับปรุงที่ดิบริเวณตลาดสามชุก โดยจะทำการรื้ออาคารไม้เก่าออก เพื่อสร้างอาคารพานิชย์ขึ้นแทน

    แต่โชคยังดีที่ชาวสามชุกมีความสามัคคีแน่นแฟ้น มีผู้นำชุมชนที่มองการณ์ไกล รู้จักใช้ประโยชน์และเห็นคุณค่ามรดกอันเก่าแก่ในชุมชน ไม่อย่างนั้นแล้ว ตลาดสามชุกก็คงจะเหลือแต่ชื่อ เหมือนกับชุมชนอีกหลายแห่งของประเทศ ที่ต้านกระแสแห่งการพัฒนาไม่ไหว ที่สุดก็ถูกทุบทิ้ง







     

    กราบนมัสการหลวงพ่อโต : วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อ.เมือง
    จ.สุพรรณบุรี(๒๕ พ.ย.๒๕๕๔)

    กล่าวกันว่าหากมีโอกาสไปจังหวัดสุพรรณฯลฯ ต้องไปไหว้หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ฯลฯให้ได้ จึงจะเรียกว่าไปถึงสุพรรณฯลฯ ถ้าไม่ได้ไปไหว้ ก็จะถือว่ายังไปไม่ถึงสุพรรณฯลฯ

    ญาติพระคุณเจ้า เจ้าของบริษัทคงเกรงว่าพระและโยมที่มาจากพิษณุโลกจะมาไม่ถึงสุพรรณฯลฯกระมัง เลยพาไหว้พระเสียหลายวัด ได้กล่าวกับพระเป็นเชิงคำถามว่าเรามาสุพรรณฯลฯสองวันแล้ว ยังไม่ถึงสุพรรณฯลฯเลยนะเนี่ย ท่านทำท่างงๆ เลยบอกท่านไปว่าเท่าที่สังเกตสำเนียงการพูดของคนสุพรรณฯลฯหลายคน ยังไม่ได้ยินเหน่อสุพรรณฯลฯเลย

    ผิดกับเมื่อคราวไปสุพรรณฯลฯครั้งแรกเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว(๒๕๒๓)ถ้าจำไม่ผิดทั้งที่จอนเจดีย์ วัดไผ่โรงวัว วัดป่าเลไลยก์ ในสถานที่ดังกล่าว จะได้ยินเสียงแม่ค้าและเด็กๆพูดเหน่อๆ ฟังแล้วรู้สึกว่าเพราะดีมีเสน่ห์มากเลย 

    อาจเป็นไปได้ว่าคนสุพรรณฯลฯยุคนี้ เห็นคนต่างถิ่นพูดกลางก็เลยพูดกลางไปด้วย ไม่ได้แอบฟังนะ แต่ได้ยินคนงานในบริษัท เขาคุยกันด้วยภาษาถิ่นสุพรรณชัดเจนเลย(ยังมีพูดเหน่ออยู่)
                Large_page7487945
                Large_page758420
                Large_page831240

    เนื่องจากการไปสุพรรณบุรี(๒๔-๒๖ พ.ย.๒๕๕) ได้รับนิมนต์แบบกระชั้นชิดผู้นิมนต์ไม่ได้บอกล่วงหน้าและตั้งใจพักคืนเดียว ไปถึงตอนเย็นเช้าทำบญเสร็จ เจ้าของบ้านพาไปไหว้พระหลายวัดข้ามไปไหว้ถึงจังหวัดอ่างทองด้วย จึงต้องพักต่ออีกหนึ่งคืน

    เลยทำให้ไม่มีเวลาได้หาข้อมูลสถานที่สำคัญๆที่น่าสนใจในสุพรรณบุรี เมื่อกลับมาพิษณุโลกลองหาข้อมูลที่ทางจังหวัดสุพรรณบุรีแนะนำสถานที่ที่น่าสนใจ ปรากฏว่ามีเยอะแยะเลย ทั้งในอำเภอเมืองและอำเภอรอบนอก

    สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้และเห็นชัดเจนในจังหวัดสุพรรณบุรีก็คือเรื่องการพัฒนาถนนหนทาง ชลประทาน ฯลฯ พัฒนาได้ล้ำหน้าจังหวัดอื่นๆมาก ด้วยนี้เหตุเอง จึงมีคำกล่าวถึงบุคคลท่านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญและสร้างความเจริญให้เมืองสุพรรณบุรี โดยนำชื่อของท่านมาเรียกเป็นชื่อจังหวัดว่า จังหวัดบรรหารบุรี(อดีตนายกฯบรรหาร ศิลปอาชา)

    อย่างสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆสองสามแห่งของสุพรรณบุรีก็เป็นผลของท่านทั้งเป็นผู้นำในการบูรณะและสร้างใหม่ เช่น หอคอยบรรหาร-แจ่มใส เป็นหอคอยแห่งแรกที่สูงที่สุดในประเทศไทย(เสียดายไม่ได้ไปชม) บึงฉวาก(ก็ยังไม่ได้ไปชมเช่นกัน) พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร เป็นต้น
            Large_page8453
            อธิบายภาพ : พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ตั้งอยู่ภายในบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ก่อตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยและประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบ ๒๐ ปี ภายในแบ่งเป็นห้อง จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัยของอารยธรรมจีน ที่ยาวนานกว่า ๕,๐๐๐ ปี

    อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย
    ผู้ใหญ่ ๒๙๙ บาท เด็ก ๑๔๙ บาท
    วันนั้นทั้งคณะเดินชมอุทยานมังกรสวรรค์และถ่ายรูปเป็นที่ระลึกไม่ได้เข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร สถานแห่งนี้เป็นที่ที่สวยงามควรค่าแก่การแวะชม
                     Large_pb256385

     

    ประกาศข่าว : พระครูวุฒิธรรมารักษ์(พระครูสงวน โอภาษี)มรณภาพ

    เนื่องด้วยเมื่อวันที่๑๑ ธันวาคม๒๕๕๔ ที่ผ่านมา พระครูสงวน โอภาษี รองเจ้าอาวาสวัดหนองกลับ และอดีตเจ้าคณะตำบลหนองกลับ ได้มรณภาพลง ณ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์

    ทางวัดได้นำศพของท่านมาบำเพ็ญกุศลที่วัดหนองกลับ มีกำหนด ๗ วัน โดยวันศุกร์ที่๑๖ ธันวาคม๒๕๕๔ นี้เป็นวันสุดท้ายและจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันเสาร์ที่๑๗ ธันวาคม๒๕๕๔ ที่จะถึงนี้

    จึงขอแจ้งข่าวให้พุทธศาสนิกชนพี่น้องชาวหนองบัวศิษยานุศิษย์ตลอดทั้งผู้เคารพนับถือในพระเดชพระคุณทราบโดยทั่วกัน

    กำหนดการพระราชทานเพลิงศพ
    พระครูวุฒิธรรมารักษ์(สงวน โอภาษี) รองเจ้าอาวาสวัดหนองกลับ และอดีตเจ้าคณะตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

    วันเสาร์ที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๔
    ณ เมรุวัดหนองกลับ ตำบลหนอง
    อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

    รำลึกถึงหลวงน้าปลัดสงวน(พระครูวุฒิธรรมารักษ์ : ๒๔๘๔-๒๕๕๔)

    วงการสงฆ์และชาวบ้านอำเภอหนองบัวได้สูญเสียพระเถระผู้ใหญ่ไปอีกท่านหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ คือท่านพระครูวุฒิธรรมารักษ์(ปลัดสงวน  โอภาษี) รองเจ้าอาวาสวัดหนองกลับ และอดีตเจ้าคณะตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ พระครูวุฒิธรรมารักษ์นั้น ท่านดำรงสมณเพศด้วยการครองตนตามหลักพุทธภาษิตในข้อที่ว่ามีสันตุฎฐีธรรม คือเป็นผู้ที่มีความสันโดษในการครองตน 
         ปลัดหงวน(ชื่อนี้จะเป็นชื่อที่ทั้งชาววัดและชาวบ้านเรียกกันจนติดปากมาอย่างยาวนาน) แล้วต่อมาท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูวุฒิธรรมารักษ์ แต่ชาวบ้านญาติโยมก็ยังนิยมเรียกชื่อเดิมของท่านอยู่ แต่เปลี่ยนจากปลัดหงวน เป็นพระครูหงวนแทน ถึงท่านจะได้พระเป็นครูแล้วก็ตาม ก็ยังมีคนเก่าๆผู้เฒ่าผู้แก่ ยังเรียกขานท่านว่าปลัดหงวนเหมือนเดิมด้วยความเคยชินก็ยังมี อย่างผู้เขียนนี้ก็นับถือท่านดุจญาติ ก็เลยเรียกท่านว่าหลวงน้าปลัด ช่วงหลังจึงได้เรียกหลวงน้าพระครู
         ในด้านการบำเพ็ญประโยชน์แก่ชุมชนชาวบ้านหนองบัว-หนองกลับและประชาชนทั่วๆไปนั้น ท่านได้ถือข้อวัตรปฏิบัติตามแบบพระอุปัชฌาย์ของท่าน นั่นก็คือพระเดชพระคุณพระครูนิกรปทุมรักษ์(หลวงพ่ออ๋อย )โดยท่านพระครูวุฒิฯ ได้สืบทอดวิชาอาคมต่าง ๆ จากหลวงพ่ออ๋อย และเป็นผู้ได้รับการถ่ายวิชาอาคมและสรรพตำราต่างๆ ของหลวงพ่ออ๋อยเอาไว้ 
          ดังนั้น เมื่อพระอุปัชฌาย์มรณภาพลง ประชาชนต่างก็ได้พึ่งพาท่าน โดยท่านได้เป็นขวัญกำลังใจสำหรับชาวบ้านมาหลายสิบปี เป็นเสมือนหนึ่งได้ทำหน้าที่เยี่ยงพระอุปัชฌาย์ ตั้งแต่นั้นมา จนถึงปัจจุบัน  
          ในบทบาทดังกล่าวนี้ ประกอบกับท่านมีศีลาจารวัตรอันงดงาม จึงก่อให้เกิดความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่าน  ด้วยเหตุนี้  จึงทำให้ท่านมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับชาวบ้าน  เมื่อชาวบ้านมีงานบุญ งานมงคลต่าง ๆ ก็มักจะนิมนต์โดยระบุเจาะจงองค์ท่าน ไปเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมนั้น ๆ  อยู่เสมอ ๆ มิได้ขาด
          ด้วยบุคลิกลักษณะของท่านที่เป็นคนอารมณ์ดีไม่ถือตัวใจดีมีเมตตาเป็นกันเองกับทุกคน ไม่น่าเชื่อว่าท่านพระครูวุฒิฯ จะมีปัญหาสุขภาพมาตั้งแต่เด็กเลย คือท่านมีโรคประจำตัวที่น่าเห็นใจมากๆโรคหนึ่ง คือโรคนอนไม่หลับ โรคนี้ท่านบอกว่าเป็นมาตลอดชีวิต ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยเป็นฆราวาสก่อนบวช ช่วงนั้นทำนาทำไร่ ทำงานหนัก ร่างกายเมื่อยล้าอย่างมาก ตกกลางคืนแทนที่ร่างกายจะได้พักผ่อนนอนหลับอย่างคนอื่นเขาบ้าง กลับต้องข่มตานอน แสนทรมาน กว่าจะหลับได้ก็ถึงดึกดื่นค่อนคืน
          หลังจากนั้นมา ก็มีโรครุมเร้าอีกหลายโรคด้วยกัน เพียงแค่โรคนอนไม่หลับโรคเดียว ก็นับว่าหนักหนาเอาการอยู่แล้ว เมื่อมาเจอโรคอื่น ๆ ผสมเข้าไปอีก ทำให้สภาพร่างกายทรุดโทรมลงไป ประกอบกับอายุมากขึ้น ทำให้ความสามารถของร่างกายที่จะต่อสู้กับโรคภัยต่าง ๆ ก็พลอยอ่อนแรงลงตามไปด้วย ในที่สุดท่านก็ต่อสู้กับโรคาพยาธิที่รุมเร้านั้นไม่ไหว ได้จากทุกคนไปอย่างไม่มีวันกลับ 
          อนึ่งในฐานะที่ท่านหลวงน้าพระครูวุฒิธรรมารักษ์และผู้เขียนเป็นศิษย์ร่วมอุปัชฌาย์อาจารย์เดียวกัน โดยความต่างของอายุห่างกันเป็น ๒๐ ปี จึงถือว่าผู้เขียนเป็นศิษย์รุ่นน้อง ที่เทียบอายุแล้วเป็นระดับรุ่นลูกได้เลย ขอแสดงความอาลัยเสียใจต่อการจากไปของท่าน และก็ขอแสดงความเสียใจต่อญาติๆของท่านด้วย

         ด้วยอำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และบุญกุศลคุณงามความดีที่ท่านพระครูวุฒิธรรมารักษ์(สงวน  โอภาษี)ได้ปฏิบัติมาตลอดชีวิต ขอจงเป็นพลวปัจจัยหนุนนำส่งให้ท่านพระครูวุฒิธรรมารักษ์(สงวน  โอภาษี )ได้ไปสู่สุคติสถานในสัมปรายภพด้วยเทอญ

    พระมหาแล  อาสโย (ขำสุข)
    ๑๕ ธันวาคม  ๒๕๕๔

    เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ได้เดินทางมางานศพพระครูวุฒิธรรมารักษ์(สงวน ธมฺมาราโม :โอภาษี)รองเจ้าอาวาสวัดใหญ่ : วัดหนองกลับ ตอนนี้(๑๙ ธค.๒๕๕๔)งานศพเสร็จเรียบร้อยแล้วและก็ยังไม่ได้กลับวังทอง ในเช้าวันนี้ได้ไปที่กุฏิหลวงพ่ออ๋อย ซึ่งตอนนี้ได้ทำการบูรณะใหม่ ภายในกุฏิทางวัดได้รวบรวมภาพถ่ายเก่าๆ ของหลวงพ่ออ๋อยไว้ โดยไม่มีรายละเอียดระบุในภาพถ่ายเลย

    ไปพบรูปถ่ายในกรอบไม้เก่ารูปหนึ่ง ซึ่งถ่ายภาพหลวงพ่ออ๋อยในช่วงที่สุขภาพของท่านยังแข็งแรง นับว่าเป็นภาพที่หายากภาพหนึ่ง เพราะภาพถ่ายที่เผยแพร่โดยทั่วไปนั้น ส่วนมากจะถ่ายในช่วงวัยที่ท่านชราภาพแล้ว ซึ่งตอนนั้นท่านมีปัญหาทางสายตามองไม่เห็น(ท่านเป็นต้อกระจกเมื่อตอนอายุมาก)

    ก่อนที่จะได้ข้อมูลเรื่องนี้มาเขียนได้ ต้องอาศัยการสืบค้นสอบถามจากบุคคลหลายฝ่ายด้วยกัน ตอนเช้าได้นำภาพไปให้หลวงพ่อไกร เจ้าอาวาสวัดหนองกลับดู ท่านดูแล้วไม่สามารถบอกรายละเอียดจากภาพได้ จากนั้นได้นำภาพไปให้พระเถระในวัดอีกสองรูปดู มีท่านหนึ่งที่ท่านจำชื่อบุคคลในรูปถ่ายได้คือท่านหลวงน้าส้ม แก้วนิคม แล้วท่านแนะนำให้อาตมานำภาพถ่ายไปสอบถามลูกหลานบุคคลในภาพดู

    ท่านแรกที่ไปสอบถามคือทายกวัดหนองกลับ เมื่อเห็นภาพถ่ายท่านก็ระบุชื่อบุคคลในภาพได้ทุกคนและก็เป็นญาติๆของท่านเอง แต่ท่านก็ไม่ทราบรายละเอียดว่า ถ่ายจากงานอะไร ที่ไหน แต่ท่านสันนิษฐานว่าคงเป็นงานทำบุญกระดูหรืองานแจงรวมญาติอะไรสักอย่างหนึ่ง

    เมื่อได้ข้อมูลยังไม่ชัดเจน ท่านก็พาไปหาบุคคที่มีความใกล้ชิดกับบุคคลในภาพซึ่งเป็นผู้สูงอายุ(อายุ ๙๒ ปี)คือลูกชายของบุคคลในภาพนั่นเอง เนื่องจากท่านอายุมาก มีปัญหาทางด้านการได้ยินเล็กน้อย ลูกหลานหลายคนจึงเล่าให้ท่านฟังว่าเคยนำกระดูกและรูปถ่ายพ่อแม่ไปจัดงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ที่วัดสมัยหลวงพ่ออ๋อยยังหนุ่มๆและยังดูสุขภาพแข็งแรงบ้างไหม

    ท่านบอกว่าเคยจัดงานแจงให้พ่อแม่ครั้งหนึ่งที่วัดแต่จำไม่ได้ ว่าจัดปีไหน นอกจากนั้นก็มีลูกหลานคนอื่นๆช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณตาคนละนิดละหน่อย จนได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์จากภาพถ่ายภาพนี้ภายในวันเดียว

    ขอบคุณทุกท่านที่ได้มีส่วนทำให้ข้อมูลเรื่องนี้สมบูรณ์


    อธิบายภาพ : พระเดชพระคุณหลวงพ่ออ๋อย(พระครูนิกรปทุมรักษ์) เจ้าอาวาสวัดหนองกลับในขณะนั้น  มีเมตตาถ่ายภาพเป็นที่ระลึกเนื่องในงานแจง ทำบุญอุทิศให้ตระกูล “รักนา และ อินแดน” และท่านได้รับเป็นประธานจัดงานแจงดังกล่าวให้ผู้ล่วงลับด้วย สถานที่ : วัดใหญ่ : วัดหนองกลับ บริเวณลานวัดด้านทิศตะวันออกศาลาการเปรียญระหว่างต้นสำโรงข้างโรงลิเก กับ ต้นมะขวิด ซึ่งจัดในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๔  ซึ่งในปีดังกล่าวนั้นหลวงพ่ออ๋อยท่านมีอายุ  ๖๐ ปี

    ผู้ล่วงลับทั้ง ๔  ท่านคือ : ) ภาพซ้ายคือนายกรี  อินแดน สามีของนางสุด อินแดน ๒) รูปถัดมาคนสวมเครื่องแบบชุดทหารคือนายแคล้ว  รักนา คือสามีของนางทุเรียน  รักนา ๓) นางทุเรียน  รักนา  ลูกสาวของนางสุด รักนา  ๔) ภาพขวาสุดคือนางสุด  อินแดน  การจัดงานครั้งนี้บรรดาญาติ ๆ ได้รวบรวมเงินเพื่อทำบุญแจงได้จำนวนเงินหมื่นกว่าบาท ซึ่งในขณะนั้น ข้าวเปลือกราคาเกวียนละ ๖ บาท  ในงานดังกล่าวมีการแบ่งแผนกช่วยกันรับผิดชอบกันเป็นเจ้าภาพดังนี้  โดยนายทำ รักนา และครอบครัว รับผิดชอบเป็นเจ้าภาพเลี้ยงภัตตาหารพระและถวายจตุปัจจัยไทยทาน ส่วนนายเล็ก  รักนา และครอบครัว รับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายเลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่มาร่วมงานทั้งหมด
    หมายเหตุ...นางทุเรียน  รักนา เป็น “หมอตำแย” หรือหมอทำคลอดพื้นบ้านนั่นเอง ซึ่งหมอตำแยในยุคก่อน นับเป็นสตรีที่มีบทบาทด้านการส่งเสริมอนามัยแม่และเด็กเป็นอย่างมาก  ด้วยสมัยก่อนระบบสาธารณสุขของรัฐยังไม่แพร่หลายถึงชุมชน ประชาจึงพึ่งพาระบบสาธารณสุขจากหมอพื้นบ้านนี้กันโดยทั่วไป  ดังนั้นสตรีที่ตั้งครรภ์จำนวนหลายหมู่บ้านในตำบลหนองกลับ ก็ได้อาศัยนางทุเรียน รักนา  เป็นผู้ทำคลอดให้เป็นระยะเวลาหลายสิบปี

    ผู้ให้ข้อมูล : นายเล็ก  ลักษณา อายุ  ๙๒  ปี บุตรของนายแคล้ว-นางทุเรียน รักนา(สกุลเดิมนายเล็กคือรักนา ต่อมาเปลี่ยนเป็นลักษณา) บ้านเนินขี้เหล็ก ตำบลหนองกลับ  อำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์
    สัมภาษณ์และเก็บข้อมูลโดย
    : พระมหาแล  อาสโย (ขำสุข), พระอมรเทพ  อธิจิตฺโต  วันที่  ๑๘  ธันวาคม ๒๕๕๔

     

    ตอนนี้(๑๙  ธค.๒๕๕๔)
    แก้เป็น(ตอนนี้ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๔)

    เพิ่มเติมข้อมูลจากลูกหลานตระกูล"รักนาและอินแดน"ที่ให้ข้อมูลเรื่องการจัดงานทำบุญอุทิศ ที่ได้ไปเก็บข้อมูลมาเมื่อวานนี้ และเมื่อวานนี้ได้ลงรายชื่อผู้ให้ข้อมูลไว้เพียงท่านเดียวคือลุงเล็ก ลักษณา อายุ ๙๒ ปี ส่วนท่านอื่นๆที่ให้ข้อมูลยังมีอีกหลายท่าน

    เพื่อให้ข้อมูลเรื่องนี้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ วันนี้เลยขอนำรายชื่อที่เหลืออยู่มาลงให้ครบ โดยมีรายนามดังต่อไปนี้ ๑)นายทิศ อินแดน(ทายกวัดหนองกลับ)อายุ ๗๔ ปี ๒)นายเชิด ฉ่ำน้อย อายุ ๗๐ ปี ๓)นางแจ้ว แก้วนิคม อายุ ๕๕ ปี

        ป่าช้าวัดหนองกลับ  ปัจจุบัน  ด้านหน้า ตรงข้ามซุ้มประตูวัดหนองกลับหรือวัดหลวงพ่ออ๋อย ซึ่งยังคงเป็นศูนย์กลางของความเป็นชุมชน อำเภอหนองบัวอยู่นั้น ผู้คนอาจจะเห็นว่ามีธนาคารกสิกร ย่านอาคารพาณิชย์ ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ห้องแสดงสินค้า และที่อยู่อาศัยหนาแน่น  เหมือนกับเป็นใจกลางของตัวอำเภอแห่งหนึ่งเลยทีเดียว 

        ทว่า หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมาแล้ว บริเวณดังกล่าวนั้น เป็นป่าช้าฝังศพทั้งของชาวไทยและชาวไทยจีน ป่าละเมาะ ดงต้นพุดทรา และทุ่งหญ้าเลี้ยงวัวควายของชาวบ้าน  บรรยากาศเปลี่ยวและน่ากลัวทั้งกลางวันกลางคืน  เมื่อถึงหน้างานประจำปีของวัดหนองกลับ  ก็จะถูกปรับสถานที่ให้เป็นที่ฉายหนังกลางแปลง  โรงลิเก  ร้านหมอลำ  และกิจกรรมบันเทิงต่างๆ ณ เวลานั้น ไม่มีทางที่จะจินตนาการออกได้เลยว่าจะมีสภาพความเป็นชุมชนเมืองอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

        ต่อมา ประมาณในช่วงย่างเข้าสู่ทศวรรษ 2520  จึงมีงานรื้อป่าช้า  โดยทำพิธีแบบชาวจีนผสมผสานไปทั้งพราหมณ์ พุทธ และไสยศาสตร์  มีซินแสและคนเข้าทรง  คอยวิ่งชี้แหล่งที่มีกระดูกและศพฝังอยู่  แล้วชาวบ้านก็จะช่วยกันขุดขึ้นมาทำพิธีขอขมาและทำบุญให้  ซึ่งพบกระดูกมากมาย  หลังจากนั้นจึงเริ่มพัฒนาการเป็นย่านชุมชนเมืองดังที่เห็นในปัจจุบัน

    อ้างอิงจาก บันทึกประชากรและประชาสังคมศึกษา โดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ในหัวข้อ แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๒) : โทรทัศน์สี ร้านหนังสือ น้ำบ่อทราย ห้วยปลาเน่า เรือโดยสาร ป่าช้าวัดหนองกลับ สามล้อถีบ

    บันทึกเมื่อธันวาคม  ๒๕๕๑ 

     

     

    http://www.gotoknow.org/blogs/posts/232582

    เพื่อให้เห็นภาพจริงและได้บรรยากาศแบบที่บทความได้กล่าวถึงข้างบนนั้น เลยนำภาพป่าช้าวัดหนองกลับในวันทำพิธีรื้อป่าช้ามาให้ชมกันแบเต็มๆ โดยไม่มีตัดต่อเลย เนื่องด้วยเมื่อวาน(๑๘ ธันวาคม๒๕๕๔)อาตมาไปได้ค้นหาภาพถ่ายเก่าๆที่กุฏิหลวงพ่ออ๋อย และได้เจอภาพถ่ายในวันทำพิธีรื้อป่าช้าด้วย มีคนบอกว่าในภาพถ่ายดังกล่าวมีคุณครูมหาย้อย นวลจันทร์ไวยาวัจกรวัดหนองกลัยอยู่ด้วย

    และในวันนี้(๑๙ ธ.ค.๒๕๔)ตอนก่อนเพลครูมหาย้อย ได้เข้ามาที่วัดและเลยไปกุฏิพระครูสงวน โอภาษี ซึ่งท่านพระครูกับครูมหาย้อยนั้นคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยที่คุณครูท่านจะไปพบปะสนทนากับท่านพระครูหงวนที่กุฏิเกือบจะทุกวันก็ว่าได้(ในสมัยที่ท่านพระครูหงวนยังมีชีวิตอยู่)

    หลังจากพระฉันเพลแล้ว มีทายกและคุณครูรวมทั้งหมดสามสี่ท่านได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันด้วย เมื่อทานอาหารเสร็จแล้ว อาตมาได้ชวนครูมหาไปดูภาพถ่ายวันรื้อป่าช้า ที่กุฏิเลขาเจ้าคณะอำเภอหนองบัว เหตุที่ชวนครูมาดูภาพถ่ายก็เพราะอยากจะทราบรายละเอียดต่างๆว่าเหตุการณ์รื้อป่าช้านั้น ทำขึ้นปีใด เมื่อท่านได้ดูภาพถ่ายแล้วก็บอกว่าไม่แน่ใจว่าบุคคลในภาพที่มีบุคคลระบุบอกว่าเป็นท่านนั้น ก็ยังไม่กล้ายืนยันและไม่แน่ใจว่าเป็นตัวเอง

    ประกอบกับวันนี้ท่านไม่ได้นำแว่นตามาด้วย เลยทำให้การดูภาพถ่ายที่ค่อนข้างเก่า เห็นได้ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร และอีกอย่างก็นึกรายละเอียดของงานรื้อป่าช้าในครั้งนี้ไม่ค่อยแจ่มชัด(ท่านยังสงสัยว่าตัวเองนั้นร่วมอยู่ในเหตุการณ์นี้หรือเปล่าอีกด้วย)

    เชิญชมภาพเหตุการณ์รื้อป่าช้าได้ ณ บัดนี้


    ภาพประกอบพิธีทางศาสนา โดยมีหลวงพ่ออ๋อย เป็นประธานสงฆ์ ในภาพหลวงพ่ออ๋อยนั่งริมซ้ายสุด รูปที่สองหลวงพ่อพระครูไกร(ศรสุรินทร์) รูปที่สามหลวงพ่อปลัดสงวน(โอภาษี) รูปที่สี่หลวงพ่อใบฏีกาส้ม(แก้วนิคม) รูปที่ห้าพระอาจารย์กุล กุศลจิตฺโต นอกจากนั้นไม่ทราบข้อมูล

    ฆราวาสญาติโยมในภาพนี้ มีคนให้ข้อมูลได้ยืนยันว่าบุคคลที่สวมเสื้อชุดสีกากีนั้นคือครูมหาย้อย นวลจันทร์(คนที่ห้าจากซ้ายมือ)ส่วนอีกท่านหนึ่งที่นั่งหันหลัง(คนที่หกจากซ้ายมือ)คือท่านกำนันเทียน ท้วมเทศ นอกนั้นเท่าที่ตรวจสอบตอนนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดเลย

     



    เหตุการณ์รื้อป่าช้าครั้งนี้
    มีพระเถระสองรูปที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น และยังพอจำรายละเอียดต่างๆได้พอสมควรคือพระอาจารย์ส้ม แก้วนิคม และพระอาจารย์กุล กุศลจิตฺโต ส่วนรายละเอียดเรื่องพ.ศ.ทั้งสองท่านยืนยันสอดคล้องกันว่า น่าจะอยู่ในราวปี ๒๕๑๗ หรือ ๒๕๑๘ ปีใดปีหนึ่ง(รอตรวจสอบอีกครั้ง)


    บุคคลทั้งสองในภาพนี้คือคนซ้ายมือใส่ชุดขาวกำลังประพรมน้ำมนต์คือหมอมากหรือที่ชาวบ้านเรียกอาจารย์มาก ปานขลิบ และศึกษาธิการอำเภอหนองบัวคือนายย้วน แสนเนียม

    Large_dsc00015031245
    Large_pc186965
    สภาพป่าบริเวณป่าช้า
    ในเมื่อสภาพป่าที่รกชัฏหมดไป ความน่ากลัวที่เคยมีก็พลอยจางหายไปด้วย
    อาคารไม้หลังยาวที่มองเห็นทางด้านซ้ายมือนั้นคืออาคารเรียนโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม(อนุบาลหนองบัว) ถ้ดมาคือศาลาปรกเป็นศาลาคู่เมรุสร้างในสมัยหลวงพ่ออ๋อย(บริเวณนี้เป็นป่ารกน่ากลัวมาก) ถัดมาก็เป็นปล่องเมรุและประตู่ซุ้มหน้าวัด


    ภาพนี้ เป็นพิธีสวดถอน
    พระทั้งสองรูปที่ทำพิธีสวดถอนนั้นคือพระปลัดสงวน(โอภาษี)และพระใบฎีกาบุญเหลือหรือส้ม แก้วนิคม โดยมีประชาชนกลุ่มหนึ่งทั้งเด็กและผู้ใหญ่ยืนพนมือฟังพระสวดอยู่ด้วย

    จะเห็นว่าสภาพป่าช้าเมื่อถูกไถรื้อถอนป่าไม้ออกไปหมดแล้ว ก็เป็นสภาพพื้นที่โล่งๆ มองเห็นกำแพงหน้าวัดและถนนสายหนองบัว-ชุมแสง โดยไม่หลงเหลือร่องรอยความเป็นป่าช้าให้เห็นอีกต่อไป ตั้งแต่บัดนั้น

    น้อมส่งหลวงน้า พระครูสงวน สู่สุคติภพ สาธุ

    ขอบคุณพระคุณเจ้าที่เสนอข้อมูลอยู่เนืองๆ ส่วนผมตอนนี้ขอเป็นผู้ดูไปก่อน ไว้พอมีเวลาจะเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยครับ

    • เป็นข้อมูลที่มีคุณค่ามากเลยครับ
    • เป็นความเพียรพยายามของพระคุณเจ้าและคนเก่าแก่ของหนองบัวอีกหลายท่าน ที่ช่วยกันเสาะหาและค่อยๆปะติดปะต่อข้อมูลจากคนเก่าแก่เท่าที่ทำได้แล้วก็นำมารวบรวมไว้ก่อน ทำให้มีการจัดเก็บเพื่อเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างแพร่หลายได้มากขึ้น
    • ผมเองก็จะรายละเอียดไม่ค่อยได้ครับ เหมือนกับทันได้เห็นงานแจงและงานล้างป่าช้าของหนองบัว แต่รู้สึกว่ามันเป็นงานใหญ่ มีมหรสพมากมาย กินเวลาหลายวัน มีพิธีของชาวไทยจีนด้วย ช่วงเวลาก็น่าจะประมาณปี ๑๖-๑๘
    • ผมจะแยกเป็นหัวข้อต่างหากไว้อีกนะครับ เป็นพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ของชุมชนหนองบัวอีกเรื่องหนึ่ง

    ไฟไหม้บ้าน ณ บ้านสระงาม
    Large_toonw217247
    Large_tooro217248
            
              
               อธิบายภาพ : ภาพข้างบนเป็นภาพไฟไหม้บ้าน เหตุเกิดที่บ้านนายเพลิน-นางรวย มีสวัสดิ์ ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๔ เวลาประมาณ ตีสอง ที่ผ่านมา โดยเมื่อเช้านี้(๒๑ ธ.ค.๒๕๕๔)หลวงพ่อไกรท่านได้ให้ผู้ช่วยเลขานุการเจ้าคณะอำเภอหนองบัว(พระอมรเทพ อธิจิตฺโต)ไปเก็บข้อมูลและได้ภาพมาส่วนหนึ่ง เป็นภาพสถานที่เกิดเหตุและภาพที่มีกลุ่มบุคคลนำสิ่งของไปช่วยเหลือ และผู้ช่วยเลขาฯได้นำภาพดังกล่าวมาติดแผ่นฟิวเจอร์บอร์ด เพื่อนำไปติดตั้งประชาสัมพันธ์บอกข่าวแก่ประชาชนที่หน้ากุฏิเจ้าอาวาสวัดหนองกลับ

    วันนี้(๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๔)ได้มีญาติของผู้ที่ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้บ้าน ณ บ้านสระงาม ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอหนองบัว จ.นครสวรรค์ มาแจ้งข่าวไฟไหม้บ้านและขอความเมตตาหลวงพ่อไกรเจ้าอาวาสวัดหนองกลับให้ช่วยอนุเคราะห์บอกบุญประชาชนชาวบ้านหนองบัว เมื่อท่านได้รับทราบข่าวแล้ว ท่านก็ได้ประกาศแจ้งข่าวทางหอกระจายข่าวของวัดให้ชาวบ้านและพี่น้องชาวตลาดหนองบัวทราบ

    จากนั้นก็ได้มีผู้ที่มีจิตเป็นกุศลได้แสดงความจำนงขอร่วมบริจาคสิ่งของและเงินเพื่อสมบทคนละเล็กละน้อยตามกำลังศรัทธา

    กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่หลวงพ่อไกร ท่านได้ทำมานานเป็นที่ทราบกันดี เมื่อชาวบ้านประสบภัยดังกล่าวท่านก็จะเป็นผู้นำด้วยการชักชวนคณะสงฆ์และชาวบ้านให้ร่วมกันบริจาคสิ่งของต่างๆ แล้วนำไปช่วยเหลือตลอดมา

    ครั้งนี้ก็เช่นกัน ท่านก็เป็นผู้นำและชักชวนพระสงฆ์องค์เจ้าประชาชนให้นำความช่วยเหลือไปให้ โดยท่านจะนำสิ่งของที่ได้รับบริจาคจากผู้มีจิตเมตตา ไปมอบให้ถึงที่บ้านผู้เสียหายด้วยตัวท่านเอง ในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๔

    เจริญพรคุณฉิกและอาจารย์วิรัตน์

    ขณะนี้กำลังค้นหาภาพเก่า ในชุมชนบ้านเรา ได้เจอภาพและข้อมูลดีๆเยอะเลย โดยบางภาพยังไม่ทราบรายละเอียดใดๆด้วยก็มี ภาพเพียงภาพเดียวบางทีต้องใช้บุคคลช่วยกันตรวจสอบเป็นสิบคน ช่วยกันบอกเล่า ช่วยกันรำลึกเหตุการณ์ ก็สนุกสนานเพลิดเพลินดีเหมือนกัน

    ศาลาหลวงพ่อเดิม : ศาลาการเปรียญวัดหนองกลับ

    ศาลาหลังนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ในสมัยที่หลวงพ่ออ๋อยเป็นเจ้าอาวาส โดยท่านได้นิมนต์หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ มาเป็นประธานในการก่อสร้าง ใช้พลังมวลชนคนหนองบัวระดมกันมาทั้งอำเภอ โดยได้ไปตัดไม้ในป่าทุ่งเขาพระเขาสูง ซึ่งห่างจากวัดไปประมาณ ๔-๕  กิโลเมตร ในการไปตัดไม้มาทำศาลาหลังนี้ใช้แรงงานคนโดยเฉพาะ ทั้งตัดทั้งชักลาก ลากด้วยยานพาหนะที่ชาวบ้านหนองบัวทำขึ้นมาเพื่อใช้ในการนี้โดยเฉพาะเรียกว่า “พิรุณ”

    Large_toyo41217255

    อธิบายภาพ : พระบวชใหม่ถ่ายรูปกับครูบาอาจารย์เพื่อเป็นที่ระลึกในระหว่างบวชเรียนที่หน้าศาลาการเปรียญ วัดใหญ่ : วัดหนองกลับ
    ภาพจากซ้ายมือรูปที่หนึ่งพระแห้งหรือเณร อ่อนสด(เสียชีวิตแล้ว)บ้านโคกมะตูม ต.หนองบัว รูปที่สองพระปลั่ง ขำสุข บ้านหนองไผ่ ต.หนองบัว รูปที่สามพระที แก้วปรีชา บ้านโคกมะตูม รูปที่สี่พระพริ้ง เชื้อนุ่น(เสียชีวิตแล้ว) บ้านโคกมะตูมรูปที่ห้าพระอาจารย์บุญ พุกน้อย บ้านใหญ่ ต.หนองกลับ(หลานหลวงพ่ออ๋อย) รูปที่หกไม่ทราบชื่อ รูปที่เจ็ดไม่ทราบชื่อ รูปที่แปดพระลือ สกุลช่วย(เสียชีวิตแล้ว) รูปที่เก้าพระบุญมี บ่ายยิ้ม บ้านใหญ่ รูปที่สิบพระครูสงวน โอภาษี(๒๔๘๕-๒๕๕๔/มรณภาพ วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๔)ที่ผ่านมา

    ต้นมะม่วงใหญ่ที่อยู่ด้านหลังพระยืนนั้น อยู่หน้าศาลา ติดกับทางเดิน วันหนึ่งฝนตกหนักมีพายุลมแรง ในขณะนั้นได้มีเด็กๆและผู้ใหญ่เดินผ่านมาบริเวณนั้นพอดี จึงได้พากันไปหลบพายุฝนแอบอยู่ใต้มะม่วง ทันใดนั้นได้เกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหวที่ต้นมะม่วงใหญ่ เสียงดังโครม ต้นมะม่วงได้โค่นล้มลงมา หลายคนปลอดภัย แต่มีเด็กคนหนึ่งโชคร้ายไม่สามารถที่จะหนีได้ทัน ได้ถูกต้นมะม่วงใหญ่โค่นทับเสียชีวิตในทันที

    เหตุการณ์อันสะเทือนใจในครั้งนี้ เกิดเมื่อประมาณ ๔๐ ปีที่แล้วต้นไม้ที่มองเห็นไกลๆทางมุมขวาของภาพนั้น คือต้นสำโรงอยู่ข้างโรงลิเก เป็นต้นไม้เก่าแก่คู่วัดมานมนาน ปัจจุบันต้นที่เห็นนั้น ก็ไม่มีแล้ว แต่บริเวณใกล้ๆกันนั้น ตอนนี้ก็มีต้นสำโรงอยู่แต่เป็นต้นที่ขึ้นมาใหม่

    ในเวทีคนหนองบัวแห่งนี้ได้มีสมาชิกของเวทีหลายท่านได้กล่าวถึงบริเวณลานวัด ศาลาหลวงพ่อเดิม โรงลิเก ต้นสำโรง ต้นมะสัง ต้นมะขวิด ต้นตาล ต้นมะม่วง ศาลาปรก แล้วก็ได้บรรยายถึงบรรยากาศในยุคโน้นว่ามีแต่ความเงียบ วังเวง โดยเฉพาะบริเวณต้นโพใหญ่ ใกล้ๆเมรุแถวศาลาปรก คนร่วมสมัยจะนึกภาพดังกล่าวออกทันที

    แค่ได้อ่านก็นึกถึงบรรยากาศแบบนั้นได้ไม่ยาก วันนี้ได้ข้อมูลในเรื่องที่กล่าวถึงกันอยู่เนืองๆนั้นมาแล้ว เลยอดใจไม่ได้ที่จะต้องนำเสนอให้เห็นภาพจริงๆของยุคนั้นว่าเป็นจริงดังที่ว่ากันไว้มากน้อยเพียงใด คนสมัยก่อนนั้นที่จะนึกถ่ายภาพเอาเฉพาะวิวทิวทัศน์โดยไม่มีคนเป็นองค์ประกอบในภาพเลยนั้นหายากมาก และเมื่อมีบุคคลเกี่ยวข้องอยู่ด้วย จึงจำเป็นต้องหาข้อมูลเท่าที่จะหาได้ ที่ต้องทำอย่างนั้น ก็เพื่อให้เห็นเรื่องราวต่างๆที่เป็นองค์ประกอบในภาพชัดเจนขึ้น จึงได้ไปสอบถามพระอาจารย์ส้ม แก้วนิคม ซึ่งท่านเป็นรุ่นน้องพระครูสงวนไม่กี่ปี เรียกว่ามีวัยใกล้เคียงกัน ยังพอจดจำเหตุการณ์บุคคลได้ค่อนข้างดีมาก พระอาจารย์ท่านพยายามดูภาพถ่ายแต่ละภาพอย่างละเอียดละออถี่ถ้วน รู้สึกทราบซึ้งใจที่ท่านมีเมตตาช่วยเป็นธุระให้ ผู้เขียนขอกราบขอบพระคุณท่านไว้เป็นอย่างสูง

    ขอบคุณผู้ให้ข้อมูล : พระอาจารย์ส้ม แก้วนิคม วัดหนองกลับ
    ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๔

    หมายเหตุ...ท่านพระครูสงวน ได้เก็บภาพนี้ไว้ แล้วตัวท่านก็เพิ่งจะมรณภาพไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง(๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๔)
    ผู้ให้ข้อมูลได้คำนวณอายุของภาพถ่ายว่าน่าจะอยู่ราวๆ ๔๗-๔๘ ปี

    เรียนท่านพระอาจารณ์มหาแล เจริญพรโยม อาจารณ์ดร.วิรัตน์และชาวเวทีคนหนองบัวทุกท่าน

    • ไม่ได้เข้ามาเยี่ยมเยียนนานเลยครับ ทุกท่านสบายดีน่ะครับ
    • ภัยน้ำท่วมหายไป..ภัยหนาวเข้ามาเยือนอีกแล้ว..พรหมพิรามหนาวมาก
    • เห็นท่านพระมหาแลเปิดกรุภาพเก่า.. เล่าเรื่องแล้ว น่าสนไจเป็นอย่างยิ่งขออนุโมทนากับการค้นคว้าด้วยครับ
    • เสียดายที่กระผมไม่ได้ไปร่วมงานมรณะภาพ ท่านพระครูสงวน ครับ
    • คาดการณ์ว่าจะไปเยี่ยมหนองบัวก่อนปีใหม่ครับ...

    สวัสดีท่านอธิการโชคชัยครับ

    ทางหนองบัวนี้ ก็อากาศหนาวพอสมควรครับ
    อุทกภัยผ่านไป วาตภัยหนาวก็มาแทน หลังจากนี้เดี๋ยวก็เข้าสู่ทุพภิกขัยภัยแล้วก็มาเยือนอีกแล้วครับ

    เมื่อไม่กี่วันมานี้ที่หนองบัวที่บ้านสระงาม มีอัคคีภัยไฟไหม้บ้านเกิดขึ้น ตอนเย็นๆผมนั่งอยู่ที่กุฏิท่านเลขาเจ้าคณะอำเภอ ก็ได้ยินหลวงพ่อไกรกับทายกประกาศบอกบุญขอความเมตตาจากผู้ใจดีทั้งหลาย มีคนมาร่วมบริจาคสิ่งของเครื่องใช้มากมายหลายคน

    ถ้าจะมาหนองบัวเมื่อไหร่ ก็ติดต่อมาที่ผมก่อนได้เลยนะครับ เพราะช่วงนี้ยังอยู่ที่หนองบัว


    เช้านี้(๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๔)ได้ข้อมูลจากพระอาจารย์ส้ม แก้วนิคม มาเพิ่มเติมและแก้ไขข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ดังนี้ พระรูปซ้ายมือ(รูปแรก)คือพระแห้งหรือเณร อ่อนสด แก้ไขเป็นอ่องสกุล

    ส่วนรูปถ่ายนั้นได้ข้อมูลมาเพิ่มเติมเรื่องปีที่ถ่าย ดังนี้ ท่านพระอาจารย์ส้ม ท่านบอกว่าพระที่ถ่ายรูปหมู่พร้อมกันครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะบวชเพียงพรรษาเดียวเท่านั้น วิธีนับง่ายๆก็คือปีที่พระบวชพรรษาเดียวแล้วสึกนั้นบวชพร้อมพระครูสงวน ส่วนท่านพระครูสงวนท่านมีจิตศรัทธาบวชตลอดชีวิตตั้งแต่อายุ ๒๐ ปี แล้วนับตั้งแต่ปีบวชจนถึงปีนี้(๒๕๕๔) ก็ได้ ๕๐ ปี ฉะนั้นภาพถ่ายหน้าศาลาหลวงพ่อเดิมครั้งนี้ จึงมีอายุครบ ๕๐ ในปีนี้พอดี(๒๕๕๔)

    ศาลาหลวงพ่อเดิม วัดหนองกลับ ตั้งแต่เริ่มสร้าง(๒๔๖๖) จนถึงปัจจุบัน(๒๕๕๔)มีอายุถึงเกือบ ๙๐ ปีแล้ว(คือ๘๘ ปี) มีสภาพความเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ พอจะแบ่งได้เป็น ๓ ยุคด้วยกัน คือ(๑)ยุคแรกที่สร้างโดยหลวงพ่อเดิม พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๕๑๗(๕๑ ปี)
    (ยุค ๒ และ ๓ รวมๆกัน)คือตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ ที่หลังคาศาลาได้พังลง จนถึงปัจจุบัน มีภาพมาให้ชม

    ยุคแรก(๒๔๖๖)ด้านที่เห็นนี้เป็นหน้าศาลาด้านทิศใต้ หลังคามุงกระเบื้อง มีหน้าบัน
              
              ภาพนี้เป็นหน้าศาลาด้านทิศใต้ เป็นหน้าศาลาด้านเดียวกับภาพข้างบน แต่หน้าบันไม่มีแล้ว เปลี่ยนจากกระเบื้องเป็นหลังคาสังกะสีตั้งแต่หลังคาพังลง(๒๕๑๗) 

    สองภาพนี้น่าจะจัดเป็นยุค ๒ เพราะตั้งแต่เริ่มสร้าง จนถึงยุคในภาพนี้ หน้าศาลาจะมีอยู่สองด้านด้วยกันคือด้านทิศเหนือ ด้านนี้คนตำบลหนองกลับจะใช้ประจำ ส่วนด้านทิศใต้(ที่เห็นในภาพ) ชาวบ้านตำบลหนองบัวและชาวบ้านในตลาดหนองบัวจะใช้ นอกจากจะมีบันไดทั้งสองทิศแล้ว ยังมีด้านทิศตะวันตกอีก ๑ บันได

    พอถึงปัจจุบัน หน้าศาลาในภาพนี้ เป็นด้านทิศตะวันออก ซึ่งแต่เดิมคือหลังศาลานั่นเอง
    Large_wert
    นี่เป็นหน้าศาลาด้านทิศใต้ ในปัจจุบัน
     Large_ytgh
    ภาพนี้เป็นด้านทิศตะวันตกศาลา เดิมเคยเป็นทางขึ้นโดยมีบันไดหันมาทางทิศตะวันตก       

    • ศาลาหลังเก่านี่งามมมากเลยนะครับ
    • เครื่องชัดลาก หรือเครื่องบรรทุกไม้ที่สร้างขึ้นและให้ชื่อเรียกว่า 'พิรุณ' นี่ ลักษณะเป็นอย่างไรครับ เพิ่งเคยได้ยินเลยนะครับ มีรูปถ่ายหลงเหลืออยู่ที่ไหนบ้างหรือเปล่าครับ ใครพอทันได้เห็น จำได้ และเล่าสืบทอดให้คนรุ่นหลังๆไว้ก็คงจะดีไม่น้อยนะครับ
    • เป็นการประดิษฐ์คิดค้นในวิถีพอเพียงอีกตัวอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในวิถีชุมชนไทย จากบทเรียนของชาวบ้านหนองบัว


    พิรุณ : เป็นพาหนะที่ใช้สำหรับลากไม้ขนาดใหญ่ ตัวพิรุณมีลักษณะคล้ายเกวียนที่มีสองล้อ(แคบกว่าเกวียน) แต่ล้อพิรุณจะแตกต่างจากล้อเกวียนคือล้อล้อพิรุณจะมีเพียงดุม อย่างเดียว โดยล้อพิรุณทำด้วยไม้ ที่เลื่อยจากต้นไม้ด้านขวางเนื้อไม้  ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๒๐ นิ้ว  ตัวล้อไม่มีกำ ลักษณะวงล้อเป็นแผ่นทั้งวงกลม คล้ายเขียง ความหนาของแผ่นวงล้อ หนาประมาณ ๕-๘ นิ้ว

    วิธีใช้ :  นำไม้ที่เลื่อยและถากเสร็จเรียบร้อยแล้ว ด้านโคนต้นซึ่งเป็นด้านใหญ่สุดของต้นไม้ ยกขึ้นวางบนเพลาระหว่างล้อ ดังในภาพวาด ส่วนปลายไม้อีกด้านหนึ่งปล่อยให้จดพื้นดิน แล้วใช้เชือกหนังที่ทำจากหนังควายโดยฝั้นให้เป็นเส้นเชือก แล้วก็ใช้เชือกหนังฯผูกไม้ที่วางบนเพลา แล้วก็ช่วยกันชักลาก โดยมีคนคอยช่วยประคองปลายไม้ให้อยู่ในแนวตรง(ลักษณะคัดท้าย)

    นี่คือเครื่องมือที่ชาวบ้านหนองบัวประดิษฐ์ขึ้นใช้สำหรับไว้ลากไม้เต็งขนาดใหญ่จากป่าทุ่งเขาพระเขามรกต มาทำเสาศาลาการเปรียญวัดหนองกลับเมื่อปี ๒๔๖๖

    ผู้เขียนได้ยินชื่อนี้มานานแต่นึกไม่ออกจริงๆว่าลักษณะเป็นอย่างไร เมื่อหลายวันมานี้ได้ลองสอบถามผู้สูงอายุทั้งพระและโยม จากที่ไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นอย่างไร ก็ค่อยๆปะติดปะต่อทีละน้อยๆ จนพอจะเห็นรูปร่าง เลยลองวาดภาพดู แล้วนำไปให้พระและโยมดู ก็ได้รับคำตอบว่าพิรุณหน้าตาเป็นอย่างนี้แหละ เลยโล่งใจ

    ทั้งชีวิตไม่เคยวาดรูปอะไรมาก่อนเลย ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่วาดภาพแล้วนำมาใช้งาน เหมือนไม่เหมือนก็ไม่ต้องว่ากันละ แต่เห็นความจำเป็น ที่จะต้องเผยแพร่เพราะเราอายุตั้ง๕๐กว่าปีแล้ว ยังไม่รู้จักเลย นับประสาอะไรที่ลูกหลานรุ่นหลังเรา จะใส่ใจศึกษาเรียนรู้ ที่ทำนี่ อย่างน้อยก็สนองความไม่รู้ของตนเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว

    พระอาจารย์ส้ม แก้วนิคม(อายุ ๖๗ ปี)ท่านเล่าว่าตอนท่านบวชใหม่ๆนั้น ท่านเคยเห็นพิรุณที่ทางวัดเก็บไว้อยู่เหมือนกัน แต่ต่อมาไม่รู้สูญหายไปไหนหมด ตอนนี้รูปถ่ายก็ไม่มี คนที่จะบอกเล่าให้ทราบเรื่องราวข้อมูลก็หายากมากแล้ว

    พยายามวาดและลองอธิบายหลักการใช้เล็กน้อยเท่าที่ตัวเองทำได้ ไม่ทราบผู้อ่านจะเข้าใจไหม

    ปู่ย่าตายาย คนเก่าเล่าต่อกันมาว่าการไปตัดไม้มาทำศาลาครั้งนั้น สนุกสนานกันมาก ทั้งๆที่ต้องเหน็ดเหนื่อยต้องไปในป่ารก
    ที่ว่าสนุกก็เพราะคนเยอะมาก ทั้งหนองบัวหนองกลับไปกันหมดบ้านหมดชุมชนเลย
    นี่เขียนจากคำบอกเล่าข้อมูลอาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เท่าที่ควร

    หมายเหตุเพิ่มเติม ได้ข้อมูลใหม่มาจากพระอาวุโสในวัดหนองกลับท่านเล่าว่าหมอสงวน หมอพื้นบ้านในชุมชนหนองบัวยุครุ่นหลวงพ่ออ๋ย ที่ให้การูดแลรักษาคนทั้งชุมชนคนหนองบัวหนองกลับ ซึ่งท่านเสียชีวิตไปประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว ตอนที่ทำศาลาหลังใหญ่นั้นท่านยังหนุ่มอายุประมาณ ๒๐ กว่าปี ตัวท่านก็ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย....เคยเล่าให้ฟัง(พระท่านจำคำบอกเล่าได้)ว่าการชักลากไม้มาทำศาลาวัดหนองกลับนั้น ก่อนจะทำการชักลากไม้  ต้องนำไม้ทั้งต้น ขึ้นมาวางบนเพลาพิรุณ โดยให้ไม้ทั้งสองด้าน หัว-ท้าย มีน้ำหนักเท่า ๆ กัน แล้วใช้เชือกหนังผูก ให้คนจำนวนมากทั้งลาก(ดึง)และดันไปพร้อมกัน อีกทั้งคนที่ดันก็ต้องช่วยคอยประคองไม่ให้ไม้ เลื่อนไหลในเวลาชักลากอีกด้วย

    ขอเวลาอีกสักวันสองวัน(กะว่าจะไปวันนี้)จะไปสอบถามคนในชุมชน จากผู้เฒ่าผู้แก่อายุ ๙๐ กว่าปี มีคนแนะนำว่าน่าจะได้ข้อมูลท่าน ได้ผลเป็นประการใดแล้ว จะมาบอกต่อ
    (ภาพวาดและข้อมูลที่ได้มา ได้มาจากคำบอกเล่า ตอนนี้ยังไม่สอดคล้องกัน เลยต้องไปหาข้อมูลมาเพิ่มเติมอีก)

    อย่างนี้นี่เอง เคยเห็นและแถวบ้านผมก็ต้องทำอย่างนี้เหมือนกันครับ แต่ไม่ยักรู้ว่ามีชื่อเรียกอย่างโก้ว่า 'พิรุณ' ด้วย แถวบ้านผมนั้น เมื่อจะต้องบรรทุกท่อนซุง ก็จะต้องถอดเรือนเกวียนออก โครงเกวียนจะเหลือแต่ล้อ แกนเพลา และคันเทียมวัว-ควาย หากต้องบรรทุกท่อนซุงที่หนักมาก ก็จะต้องถอดล้อและเปลี่ยนล้อให้เล็กลงแต่แข็งแรงกว่าเดิม คล้ายอย่างในรูปนี้เหมือนกันครับ แต่หลักการเดียวกันนี้ เมื่อนำมาทำเป็น 'พิรุณ' อย่างเป็นการเฉพาะ ก็คงทำให้กระทัดรัดและระดมแรงกันทำได้มากกว่า

    เห็นรูปวาดแล้วก็ชอบมากเลยครับ เป็นวิธีพัฒนาเครื่องมือศึกษาและเก็บข้อมูลชุมชนที่เท่มากเลยครับ ต้องให้ดอกไม้สัก ๑๐ ดอก

    สงสัยเวทีคนหนองบัว ด้วยเฉลิมฉลองปีใหม่กันด้วยการมีผู้อ่านและแวะเข้ามาชมเกิน ๔ หมื่นคนแล้วเป็นแน่เลยนะครับ

    พระพิรุณ : เครื่องชักลากไม้ด้วยแรงงานคน

    วิธีใช้ : 
    นำไม้ที่ลอกเปลือกเสร็จเรียบร้อยแล้ว มามัดไว้ใต้เพลา ระหว่างล้อ ดังในภาพวาด แล้วใช้เชือกหนังที่ทำจากหนังควายโดยฝั้นให้เป็นเส้นเชือก แล้วก็ใช้เชือกหนังฯผูกที่ปลายไม้ แล้วก็ช่วยกันชักลาก โดยมีคนคอยช่วยประคองท่อนไม้ทั้งสองข้าง และมีคนคอยช่วยดันท้าย

    ผู้ให้ข้อมูล : คุณตาอายุ ๙๑ ปี  ชื่อวาน  บุญกิจ 
    บ้านข้างสระน้ำวัดหนองกลับ บ้านเลขที่  ๓๓ หมู่ที่ ๙  ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
    เก็บข้อมูลโดย : พระมหาแล  อาสโย(ขำสุข) นายบล อ่อนคง
    วันที่  ๑  มกราคม  ๒๕๕๕
    Large_cccc1038
    วาดภาพพระพิรุณโดย : 
    น้องมีน : นายพงศ์นรินทร์   อินทะศร
    บ้านเนินตาโพ หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓  โรงเรียนหนองคอก(หนองบัว) ๓  มกราคม  ๒๕๕๕

    วันนี้(๓ มกราคม ๒๕๕๕)ได้ข้อมูลเรื่องพระพิรุณมาจากลุงวาน บุญกิจ อายุ ๙๑ ปี คนในชุมชนหนองบัวที่มีอายุเกือบร้อยปี ยังมีความจำได้แม่นยำหลายเรื่อง และเรื่องพระพิรุณนี้ก็เช่นกัน ท่านยังทันได้เห็นพระพิรุณที่ทางวัดเก็บวัด แต่ต่อมาได้สญหายไป

    ข้อมูลนี้ถือว่าถูกต้อง
    และได้ให้หลานคนบ้านเนินตาโพ ชื่อน้องมีน พงศ์นรินทร์ อินทะศร ซึ่งมีความสามารถในทางวาดภาพ ลองช่วยวาดให้ดู ปรากฏว่า ได้ภาพที่แจ่มชัดมากๆ

    ขอขอบคุณ คุณลุงวาน บุญกิจ และหลานมีน พงศ์นรินทร์ อินทะศร อย่างมากที่ช่วยให้เรื่องราวชุดนี้สมบูรณ์

    หมายเหตุ  คนเก่าๆในหนองบัวเรียกเครื่องมือชนิดนี้ว่า พระพิรุณ เหตุที่เรียกอย่างนั้น ก็เพราะความใหญ่โตของพระพิรุณนั่นเอง ล้อพระพิรุณนั้น สูงท่วมหัว เพลาทำด้วยไม้ตะคร้อขนาดใหญ่ ล้อต้องสูงใหญ่ขนาดนี้ จึงจะสามารถลากต้นไม้เต็งขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ที่นำมาทำเสาศาลาหลวงพ่อเดิมวัดหนองกลับได้

    ขอสวัสดีปีใหม่ 2555..พ่อแม่ พี่น้อง ชาวเวทีคนหนองบัว..ทุกๆท่าน..เจริญสุข สวัสดี.

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ

    • นับว่าเป็นการศึกษาและรวบรวมข้อมูลชุมชนที่เกือบสูญหายไปแล้ว ให้สามารถนำกลับมาสืบทอดไว้ได้อีกอย่างทันการณ์เลยนะครับ 
    • วิธีศึกษาก็น่าสนุกและน่าประทับใจมากครับ เป็นการเรียนรู้ชุมชนไปด้วยและสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ไปด้วย เดินบวกกันและถักทอการช่วยกันทำได้คนละอย่างสองอย่างแบบสหวิทยาการเลยครับ

    กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ
    ท้องฟ้าและลีลาของกิ่งไม้สวยมากเลยครับ

    สคส.ปีใหม่ ๒๕๕๕ แด่ชาวหนองบัว : บทความวิชาการและร่วมเขียนตำรา
    ถ่ายทอดประสบการณ์และบทเรียนเวทีคนหนองบัวให้กับสังคม

    ผมเหมือนได้ร่วมทำหน้าที่สืบทอดและนำส่งประสบการณ์ทางสังคม ของคนหนองบัวและเครือข่ายสุขภาวะชุมชนศึกษาในเวทีคนหนองบัว ให้เผยแพร่ไปสู่สังคมวงกว้าง รวมทั้งถ่ายทอดไว้ให้คนรุ่นหลังๆได้มีความรู้และได้เรียนรู้เรื่องราวดีๆจากสังคมของตนเองเพิ่มพูนขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง โดยได้มีโอกาสนำเอาประสบการณ์และบทเรียนเวทีคนหนองบัว กับชุมชนอำเภอพุทธมณฑล และอีกหลายแห่ง ไปเขียนเป็นบทความวิชาการและร่วมเขียนประกอบตำรา ที่อยากนำมาบอกกล่าวและมอบคารวะเป็นของขวัญปีใหม่ของชาวหนองบัว คนพุทธมณฑล คนทำงานเชิงสังคม และชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆด้วยครับ ตั้งใจไว้นานแล้ว แต่รอหลายเดือนเพื่อให้เห็นการตีพิมพ์เผยแพร่เรียบร้อยก่อน

               

    เรื่องแรก เป็นงานร่วมเขียนหนังสือตำรา เอกสารการสอนชุดวิชามนุษย์กับระบบนิเวศ (Human Being and Ecosystems) สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เรื่อง ระบบนิเวศทางสังคมวัฒนธรรม ได้ใช้รูปและเรื่องราวที่แสดงมิติชุมชน วิถีชีวิต และความเป็นสังคมวัฒนธรรมที่สะท้อนอยู่ในการทำกระยาสารทของชุมชนหนองบัวและชุมชนต่างๆของสังคมไทย ที่ได้ร่วมกันสั่งสมรวบรวมไว้ในบล๊อกเวทีคนหนองบัว ไปเป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งให้นักศึกษาและผู้สนใจ ได้เห็นระบบนิเวศและความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของสิ่งต่างๆ ในมิติสังคมวัฒนธรรมกับระบบอื่นๆ ที่ผสมกลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิต

               

    อีกเรื่องหนึ่ง เป็นบทความวิชาการ การพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีการศึกษาชุมชนเพื่อส่งเสริมการจัดการกระบวนการเรียนรู้ในระดับชุมชน ทดลองนำเสนอบทสังเคราะห์วิธีใช้เว็บบล๊อก gotoknow.org ของเครือข่ายเวทีคนหนองบัว นครสวรรค์ ได้รับการตีพิมพ์ใน วารสารร่มพฤกษ์ ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔-มกราคม ๒๕๕๕

    ทั้งสองเรื่องนี้ สักระยะหนึ่งผมจะทำเป็นบทความออนไลน์ เผยแพร่ในเว๊บบล็อกให้คนได้สามารถอ่านและนำไปใช้ประโยชน์ตามความสนใจได้ต่อไปอีกครับ แต่ตอนนี้ยังกู้ต้นฉบับไม่ได้เลย โน๊ตบุ๊คผมกำลังเป็นอะไรไปก็ไม่ทราบครับ เปิดก็ไม่ได้ และข้อมูลมากมายรวมทั้งต้นฉบับบทความกับหนังสือทั้งสองเรื่องนี้ก็อยู่ในนั้น

    งานนี้นอกจากจะเป็นงานสร้างความรู้และบริการวิชาการแก่สังคมที่ก็ต้องทำอย่างทั่วๆไปแล้ว ก็มีความหมายในแง่ของการช่วยกันหาวิธีการทางวิชาการที่เหมาะสมท ในอันที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ทางปัญญาปฏิบัติแก่สังคม พร้อมๆกับเคลื่อนไหวให้เกิดโครงสร้างการจัดความสัมพันธ์ของตนเองของปัจเจกและชุมชนกับความเป็นส่วนรวมในแนวทางใหม่ๆ ไปด้วย โดยแสดงให้เห็นพลังความสร้างสรรค์อีกด้านหนึ่งที่มีอยู่จริงและสามารถริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ด้วยพลังการเรียนรู้ที่เหมาะสมของชุมชนต่างๆดังเช่นหนองบัว พุทธมทณฑล และอีกหลายแห่งว่า จากชุมชนที่เหมือนเป็นชนบท ขาดโอกาสหลายอย่าง และเหมือนกับจะต้องรอรับสิ่งต่างๆจากโลกภายนอกที่ดีกว่านั้น เมื่อสามารถพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้และช่วยกันสร้างสรรค์ความเปลี่ยนแปลงที่ดีๆออกจากสิ่งที่มีอยู่ในตนเองแล้ว นอกจากจะเกิดประโยชน์อยู่ในตนเองแล้ว ก็กลับทำให้ชุมชนมีประสบการณ์และเกิดบทเรียนทางการปฏิบัติ ที่สามารถเป็นครูของตนเองและถ่ายทอดให้กับสังคมทั่วไปได้ เป็นการสร้างและเพิ่มพูนโอกาสที่เอื้อให้เกิดสิ่งดีๆแก่สังคมให้มากยิ่งๆขึ้นได้ เช่นเดียวกับชุมชนหนองบัว ก็สามารถแบ่งปันสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นจากเรื่องราวของตนเองให้กับชุมชนอื่นๆในสังคมไทยและสังคมอื่นๆได้

    ทั้งหมดนี้ เป็นการทำงานต่อยอดสิ่งที่ทุกท่านในเวทีคนหนองบัวได้ช่วยกันริเริ่มสร้างสรรค์ ทางมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและมหาวิทยาลัยเกริก ส่งมาให้ได้ชมเมื่อตอนปีใหม่พอดี จึงขอนำมามอบให้เป็นพลังใจและเป็น สคส.สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๕ แด่ทุกท่านครับ

    ขอแสดงความยินดีกับเวทีคนหนองบัวในเดือนแรกแห่งปี(๒๕๕๕)นี้ ด้วยข่าวที่สร้างความสุขและปลื้มใจอย่างมาก ที่เวทีฯแห่งนี้มีส่วนสร้างงานวิชาการขยายผลสู่สังคมในวงกว้าง

    นับเป็นกำลังใจที่ดีแก่ทุกท่าน แล้วก็รู้สึกภาคภูมิใจแืืทนคนหนองบัวเป็นอย่างยิ่งด้วย

    ที่มาบ้านนอก  บ้านใน ของตำบลหนองกลับ ตำบลหนองบัว 

    บ้านนอก บ้านใน มาจากชื่อวัด คือวัดหนองบัว(วัดใน) และวัดนอก(วัดหนองกลับ) โดยแต่เดิมวัดทั้งสองอยู่ในที่แห่งเดียวกันคือวัดหนองกลับในปัจจุบัน ที่ตั้งวัดในหรือวัดหนองบัวในอดีตนั้น ปัจจุบันเป็นสระน้ำวัดหลวงพ่ออ๋อย

    ต่อมาวัดทั้งสอง ได้รวมเป็นวัดเดียวกัน ชื่อวัดหนองกลับ เหตุที่รวมกัน เพราะมีพระวัดหนองบัว(วัดใน)เป็นโรคอหิวาต์มรณภาพลง พระที่เหลือจึงย้ายมาอยู่รวมกันกับพระวัดนอก(วัดหนองกลับ) ตั้งแต่นั้นมาวัดทั้งสองก็รวมเป็นวัดเดียวกัน

    ต่อมาคำว่าวัดนอก วัดใน ก็เลือนหายไป แต่คำว่า ”นอก” และ “ใน” ยังคงอยู่ แล้วชื่อดังกล่าวก็กลายมาเป็นชื่อหมู่บ้านแทน คือบ้านนอก บ้านใน ดังปัจจุบัน

    เรื่องนี้เคยเขียนไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ไม่มีรายละเอียดที่มาของชื่อบ้านนอก บ้านใน เมื่อปีใหม่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ไ้ด้ไปสอบถามข้อมูลชุมชนกับผู้สูงอายุท่านหนึ่งคือคุณตาวาน บุญกิจ อายุ ๙๑ ปี ท่านมีวิธีจำปีเกิดของท่านได้แม่นยำมาก คือท่านจำข้อมูลปีสร้างศาลาหลวงพ่อเดิมได้แม่นคือ(๒๔๖๖) แล้วตัวท่านนั้นเกิดก่อนศาลาหลังนี้สองปีคือ(๒๔๖๔) วันนั้นท่านเล่าที่มาของชื่อบ้านนอก บ้านในให้ฟัง พอฟังจบ ก็เข้าใจทันทีเลย ที่แล้วมาไม่เคยมีใครให้ข้อมูลแบบนี้มาก่อนเลย แต่ละท่านที่ให้ข้อมูลเรื่องนี้มาไม่สามารถเชื่อมโยงไปหาชื่อดังกล่าวได้เลย เลยทำให้ลูกหลานที่นั่งฟังอยู่ด้วย ก็พลอยทราบไปด้วย ขอบคุณคุณตาเป็นอย่างมากที่ทำให้ทราบเรื่องราวประวัติชุมชน

    Large_ooof1017901
    ผู้ให้ข้อมูล : ลุงวาน  บุญกิจ  บ้านอยู่ข้างสระน้ำวัดหลวงพ่ออ๋อย เลขที่ ๓๓ หมู่ที่ ๙  ตำบลหนองบัว  อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ อายุ ๙๑ ปี   

    เก็บข้อมูลโดย : พระมหาแล อาสโย(ขำสุข),นายบล อ่อนคง 
    วันที่ ๑ มกราคม  ๒๕๕๕ 

    Large_aaswqimg
    กระชุก : เป็นภาชนะขนาดใหญ่ที่สานด้วยไม้ไผ่ ลักษณะคล้ายรูป “ฟักตัด” โดยผ่าด้านยาวของลูกฟัก แล้ววางนอนลงบนพื้นเกวียนแสลกบัง สำหรับใส่ข้าวของเครื่องใช้ของชาวนา ชาวไร่ เช่น ข้าวเปลือก และอื่นๆ บรรทุกได้ประมาณ ๘๐ สัด(ข้าวเปลือก ๑ เกวียน หรือ ๑ ตัน)

    ผู้ให้ข้อมูลเรื่องกระชุกมี ๕ ท่านคือ
    Large_p1017904
    คนขวามือลุงวาน : วาน บุญกิจ อายุ ๙๑ ปี
     
    รูปซ้าย: ยายหริ อินทชิต(พินแหลม) อายุ ๘๖ ปี, รูปขวา: ยายกุหลาบ จิตรชนะ(พินแหลม)อายุ ๘๔ ปี ทั้งสองท่านอยู่บ้านเนินตาโพ หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
    ภาพนี้ถ่ายปีที่แล้ว : วันที่ ๒๘ ธันวาคม  ๒๕๕๓
     Large_dsc04653
    กำนันเทียน ท้วมเทศ อายุ ๘๖ ปี ๑ มกราคม ๒๕๕๕ 
     Large_p1017821
    โยมพ่อของอาตมา : ผล ขำสุข อายุ ๗๙ ปี บ้านเนินตาโพ(บ้านไร่โพทอง)
    ต.หนองกลับ
     Large_cccc1038
    ผู้วาดกระชุก : มีน : นายพงศ์นรินทร์ อินทะศร นักเรียนมัธยมชั้นปีที ๓ โรงเรียนหนองคอก หนองบัว ลูกชายคุณครูอาภรณ์ อินทะศร

    หลังจากงานศพท่านพระครูสงวน โอภาษี เมื่อ(๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๔)แล้ว จากนั้นได้อยู่ที่หนองบัวอีกหลายวัน ช่วงที่อยู่นั้นได้ตระเวนหาข้อมูลชุมชนจากผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านด้วยกัน และก็ได้ข้อมูลความรู้ใหม่(เก่า)ที่ไม่เคยรู้มาก่อนหลายเรื่องอีกเช่นกัน พอคุยกับคนเก่าก็เลยได้เรื่องเก่ามาบอกต่อเล่าต่อ อย่างกระชุกนี้ ก็น่าสนใจอย่างมาก

    ได้ลองสอบถามเรื่องกระชุกกับคนวัยเดียวกัน ใกล้เคียงกัน ไม่มีใครรู้จักเลย และไม่รู้ว่าคนหนองบัวใช้กระชุกมาก่อน(เรียกว่าพอจะหาเพื่อนได้บ้าง) ได้้ข้อมูลมาแล้ว ก็หาคนวาดภาพ พอพอดีมีหลานชายสองพี่น้องวาดภาพเก่งคนพี่เรียนที่นครสวรรค์ เลยให้คนน้องวาด คนเฒ่าคนแก่ได้พยายามอธิบายให้คนที่ไม่รู้จักไม่เคยเห็นฟัง เล่าซะหลายรอบกว่าจะนึกกันได้ โดยเฉพาะหลายชายอายุ๑๕ปีคนวาดภาพนั้น เมื่อฟังพ่อเฒ่า แม่เฒ่าเล่าให้ฟังโดยบอกว่ากระชุกวางบนตู้เกวียน ก็จินตนาการถึงเกวียนก่อน แล้วลองวาดดูก็ไม่เหมือน วาดใหม่อีก

    พอเฒ่าผล ขำสุข บอกหลานว่ากระชุกคือบุ้งกี๋ปากกว้างขนาดใหญ่เ่ท่ากับตู้เกวียนสองลูก-ใบ วางปากซ้อน(เกย)กันในตู้เกวียน(เรือนเกวียน) หลานจึงพอจะนึกออกแล้ววาดให้ดู พ่อเฒ่า แม่เฒ่าก็บอกว่าใช่เลย

    นี่คือภาพวาดกระชุกสองใบจากคำบอกเล่า โดยคนวาดไม่เคยเห็นภาพ ไม่เคยเห็นของจิรงเลย (ถ้านำไปวางบนเกวียนจะต้องวางปากกระชุกซ้อนกัน จึงจะใส่ข้าวเปลือกได้) เกวียนขนาดใหญ่เ่ท่านั้นจึงจะใส่กระชุกได้ เพราะกระชุกที่กล่าวถึงนี้บรรทุกข้าวเปลือกได้ถึง ๘๐ สัด หรือ ๑ เกวียน หรือ ๒ บั้น คือ ๑ ตันนั่นเอง

    เป็นอันว่าได้เรื่องเก่าของหนองบัวมาเผยแพร่อีกหนึ่งเรื่อง

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลที่เคารพครับ

    • ทั้งน่าประทับใจ มีคุณค่า และน่าสนุกมากเลยครับ
    • กระชุกนี่เคยเห็นและเคยใช้ครับ แต่ดูเหมือนจะมีหลายทรงหรือเปล่านะครับ
    • แถวบ้านผมนี่ทรงเหมือนโอ่งขนาดใหญ่ แต่จะใช้ตอกด้านที่เป็นผิวไม้ไผ่สาน การสานจะสานแบบลายขัดสองชั้นและสนิทแน่น แล้วก็ยาด้วยขี้วัวขี้ควาย ใช้ใส่ข้าวเปลือก ข้าวพันธุ์
    • ประทับใจความเอาจริงเอาจังของพระคุณเจ้าอย่างยิ่งครับ แปรทุกโอกาสให้เป็นการได้เรียนรู้ ถักทอเรื่องราวของหนองบัวที่หลายอย่างกำลังจะเลือนหายไป ให้กลับสามารถนำมาบันทึกรวบรวมและสืบทอดไว้ได้ทีละเล็กละน้อย
    • ประทับใจพ่อหนุ่มน้อยนักวิจัยผู้ช่วยของพระคุณเจ้าด้วยครับ ที่ร่วมศึกษาและใช้ฝีมือเป็นเครื่องมือศึกษาวิจัยชุมชนไปกับพระคุณเจ้า รูปกระชุนี่ ในแง่ศิลปะและการนำมาใช้เป็นเครื่องมือศึกษาชุมชนแล้วละก็ นำว่าใช้ได้และฝีมือจัดเจนคืบหน้าขึ้นมากเลยทีเดียวครับ เริ่มมีทักษะการสังเกตและจัดวางความสัมพันธ์เชิงมิติ ที่เริ่มเห็นการเกิดทักษะบางอย่างเกิดขึ้นในนประสบการณ์การเรียนรู้ของเขาไปด้วยแล้วละครับ
    • เป็นงานทางปัญญา ที่สร้างทั้งความรู้ สร้างคน และสร้างสังคม ผสมผสานไปด้วยกันอย่างน่าประทับใจมากเลยครับ
    • ผมจะหาโอกาสแวะกลับมาดึงออกไปทำบันทึกแยกให้เป็นสัดส่วนเฉพาะอีกครั้งนะครับ
    • ปีนี้ทำเวทีคนหนองบัวในงานงิ้วกันอีกไหมครับ ผมลองประสานงานไปยังคนในพื้นที่หนองบัวของเราแล้วละครับ หากทำอีก ก็ว่าจะขอเต๊นท์เพิ่มขึ้นอีกเป็นสองเต๊นท์น่ะครับ

    มีเพื่อนที่สุรินทร์ เล่าให้ผมได้ทราบว่า ได้รู้จักกับลุงคนหนึ่งชื่อพยนต์ โอภาษี ข้าราชการบำนาญ อดีตนักวิชาการซี ๘ ของกรมอาชีวอนามัย ของกระทรวงสาธารณสุข คุยกันไปคุยกันมาก็ทำให้รู้ว่าพื้นเพเป็นคนหนองบัว กระทั่งมีการนำเอาสื่อความรู้เกี่ยวกับหนองบัวมาแบ่งกันดู ลักษณะที่เขาเล่าให้ฟังนั้น เชื่อว่าเป็นหนังสือเย็บเล่มเองที่พระคุณเจ้าทำนั่นเอง ผมบอกเพื่อไปว่าดูนามสกุลแล้วน่าจะรู้จัก ท่านไปอยู่ที่สุรินทร์ แต่มีที่ทางและสวนป่าสักอยู่ที่สันป่าตองด้วย น่าจะไม่ไกลจากบ้านผม ข้อมูลและงานความรู้ของเวทีคนหนองบัวมีบทบาทไปไกลดีจริงๆเลยนะครับ

    ความเป็นมาและพัฒนาการของชุมชนบ้านหนองบัว หนองกลับ : ด้านประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นจากอดีตถึงปัจจุบัน

    ก. ประวัติชุมชน  ชื่อสาถนที่ หมู่บ้าน,วัด,ห้วย, หนอง, คลอง,บึง, สระ, บ่อ, ได, ภูเขา,  ถนน, ตรอก-สอก, ซอย, นิทาน, ตำนานพื้นบ้าน ประวัติบุคคลสำคัญในชุมชน

    ข. ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น : ภาษาถิ่น อาหารพื้นบ้าน การละเล่น–เพลงพื้นบ้าน ประเพณีกินดอง ประเพณีบวชนาคหมู่  บุญขนมห่อ  บุญข้าวเม่า  ลงแขกเกี่ยวข้าว การทำหรือปลูกเรือนหอ การฝัดข้าว,การยกเรือน-การปลูกเรือนหอ, วัฒนธรรมการลงแขก การเอาแรง การขึ้นแรง การใช้แรงคืน

    ค. ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ-งานช่าง งานฝีมือประจำท้องถิ่น : เกวียนแสลกบัง กระชุก พระพิรุณ : เครื่องชักลากไม้ด้วยแรงงานคน กระซ่อ กระบุง กระเช้า ฉาง ต่าง(วัวต่าง-ควายต่าง-ควายถัด)  ครุตัก(หาบ)น้ำ  สัดตวงข้าว  เครื่องมือช่าง  เครื่องมือทางการเกษตร  เครื่องจักสาน  เครื่องหีบอ้อย  ไถอาสา ทำมีด เคียว ฝักมีด แหมมีด เครื่องมือจับสัตว์  เครื่องมือที่ใช้ในการปรุงยาสมุนไพร เครื่องใช้ในครัวเรือน (๗ มกราคม ๒๕๕๕)

    เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว(๗ มค.๒๕๕๕)ได้ลองประมวลรวบรวมหัวข้อเรื่องราวใกล้ๆตัวเท่าที่นึกได้ ปรากฏว่าได้หลายเรื่องพอสมควร บางเรื่องเหลือแต่คำบอกเล่า วัตถุสิ่งของเหล่านั้นไม่หลงเหลือให้เห็นอีกแล้ว เมื่อเขียนเล่นๆก็กลัวจะหายไปกับสายลม เลยขอนำมาบันทึกไว้ก่อน และก็อยากจะขอเชิญชวนชาวหนองบัว หนองกลับ ที่พอจะมีข้อมูลความรู้เหล่านี้อยู่บ้าง หรือสามารถสืบค้นได้จากคนเก่าๆในชุมชนที่ยังพอมีความทรงจำและยินดีถ่ายทอดให้เราได้เรียนรู้ ก็อยากจะเจริญพรสนับสนุนให้รวบรวมบันทึก ถ่ายภาพ บันทึกเสียงเก็บไว้ 

    ทำไมจึงทำเฉพาะหนองบัว หนองกลับ เรื่องนี้เกิดขึ้นกับตัวเอง แม้เรื่องใกล้ตัวที่สุดที่อยู่ในวิถีชีวิตของเราแท้ๆ ยังหลงลืมหรือเริ่มเลือนหายไปแล้วก็มี การทำเรื่องใกล้ตัวนั้น มีโอกาสทำได้ง่ายกว่าเรื่องที่ไกลตัวและก็ไม่มีข้อมูล

    เขียนมาถึงตรงนี้ นึกถึงคำพูดของคนเก่าๆที่กล่าวว่าใครกินน้ำสระหลวงพ่ออ๋อยแล้วต้องกลับมาอีก พูดให้ดูเท่ๆแบบทันสมัยหน่อยก็จะประมาณว่า ใครมาหนองบัวแล้ว ถ้ายังไม่เข้าถึงข้อมูลความรู้ชุมชน ถือว่าไม่ได้มาหนองบัวนะ

     

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล เจริญพรโยมดร. วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    • เวทีคนหนองบัว ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 แล้วนะ ยังมีประเด็นที่หลากหลายและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง..
    • ยิ่งปีใหม่นี้ ปี 2555 ท่านพระอาจารย์มหานำองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ ท่านโยมดร.วิรัตน์ นำบทความวิชาการร่วมทั้งเขียนตำรา จัดทำเป็น สคส. ปีใหม่ 2555 แด่ชาวหนองบัว  มาเผยแพร่ในสื่อออนไลน์เวทีคนหนองบัวอย่างต่อเนื่องน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก (อย่างนี้เวทีคนพรหมพิรามขอสั่งจองและจ่ายตังค์ล่วงหน้าครับ)
    • เป็นกระบวนการจัดทำชุมชนปฏิบัติการด้านการเรียนรู้ จริงๆ ที่สัมผัสจับต้องได้"ของจริง" ครับ ขอบอก..
    • ขออนุญาต..ส่งข่าว ว่าในวันอังคาร ที่ 17 มกราคม 2555 นี้ กระผมอยากชวนไปเที่ยวหนองบัวบ้านท่านอีกครั้ง กระผมจะไปสัมภาษณ์เครือข่ายครูหนองบัวครับ
    • ไปแล้วกลับครับนำรถไปเอง.. 


    ขอนมัสการสวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๕ แด่ท่านอธิการโชคชัย ชยวุฑฺโฒ

    ขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมา ผมอยู่ที่หนองบัว ช่วงก่อนสิ้นปี๒๕๕๔ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหนองกลับและเลขานุการเจ้าคณะอำิเภอหนองบัว ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะอำิเภอหนองบัว
    ผมและพระใหม่ที่อยู่กับท่านเลขาฯ สองสามรูปได้ช่วยกันทำปฏิทินชุมชนหนองบัว จำนวนหนึ่งไม่มาก ถวายพระและญาติโยมในงานดังกล่าว

    ยินดีด้วยนะครับที่งานวิจัยมีความก้าวหน้า ถึงขั้นลงพื้นที่เก็บข้อมูลแล้ว ขอให้ประสบความสำเร็จสมประสงค์ทุกประการนะครับ สาูธุ

    และขออนุญาตนำปฏิทินชุมชนหนองบัวมาอภินันทนาการน้อมถวายแด่ท่านอธิการในเวทีแห่งด้วยนะครับ
     Large_t47314
    หลวงพ่อพระเทพสิทธินายก(ห้อง ท้วมเทศ,๒๔๓๘-๒๔๙๙)
     Large_eerty
     หลวงพ่ออ๋อย : พระครูนิกรปทุมรักษ์(๒๔๔๒-๒๕๒๙)

    กราบขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแลมากครับที่ให้กำลังใจ

    ปฏิทินชุมชนหนองบัว มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์บุคคลสำคัญมากครับ กระผมจะขอกราบสักการะบูชาเป็นอย่างดี และขอสวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๕ ปีมะโรง มานะโอกาสนี้ด้วยครับ.

            เกวียนแสลกบัง : เกวียนยุคแรกของชาวบ้านหนองบัว
     Large_rrrrr14
     วาดโดย น้องมีน : นายพงศ์นรินทร์ อินทะศร อายุ ๑๕ ปี ๓ มกราคม ๒๕๕๕

    เกวียนในภาพวาดนี้ คนหนองบัวเรียกเกวียนแสลกบัง ความเก่าแก่ของเกวียนชนิดนี้มีมานาน นานถึงขนาดโยมพ่ออาตมา อายุ ๗๙ ปี บอกว่าไม่ทันได้ใช้ แต่ยังได้เห็นอยู่บ้างตอนเป็นเด็ก เป็นเกวียนที่คนหนองบัวทำขึ้นใช้เอง เกวียนแสลกบังปัจจุบันในอำเภอหนองบัวไม่มีเหลือให้เห็นแม้แต่เล่มเดียว ที่เห็นอยู่ในวัดหนองกลับ ๑ เล่ม ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อไำกร เจ้าอาวาสวัดหนองกลับ นำมาตั้งไว้ข้างโบสถ์นั้น ก็ไม่ใช่เกวียนแสลกบังของชาวหนองบัว ได้นำมาจากที่อื่น

    ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูว่าแตกต่างจากเกวียนโดยทั่วไปตรงไหนบ้าง ในภาพนี้ในตู้เกวียน(เรือนเกวียน)จะมีกระชุกวางอยู่ด้วย กระชุก สองใบ สามารถบรรทุกข้าวเปลือกได้ ๘๐ สัด(๑ เกวียน หรือ ๑ ตัน) บรรทุกหนักขนาดนี้จะใช้ควาย เทียมเกวียนลากไปกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะควายนั้นตัวใหญ่และแข็งแรงมาก  

    ภาพวาดนี้โยมป้าหริ อินทชิต(พินแหลม) อายุ ๘๖ ปี และโยมป้ากุหลาบ พินแหลม อายุ ๘๔ ปี เห็นแล้วชอบมากๆ ถูกใจที่หลานวาดได้อย่างงดงาม

    เกวียนใหญ่ทั่วๆไปปลายทวก(ธูป)จะสั้นและไม่งอน ตะพองก็จะตรงไม่งอน(ภาพวาดนี้น่าจะเป็นเกวียนลูกครึ่ง เพราะตะพองไม่งอน ผิดกับเกวียนหนองบัวตะพองจะงอน) แต่ชาวหนองบัวมีความคิดสร้างสรรค์ จะทำให้ปลายทวกนั้นยาว งอนโค้งขึ้น ตะพองก็จะงอนโค้งขึ้นเช่นกัน แล้วนำกระดิ่งมาห้อยไว้ ส่วนกระดิ่งอีกสองลูกก็ห้อยไว้ที่ตะพอง เวลาไปมาไหนต่อละที กระดิ่งก็จะดังฟังเพลิน

    บางคนที่มีความสามารถทางช่าง ก็จะนำไม้มาแกะทำเป็นรูปกระต่ายมัดไว้ที่หัวเกวียน(ปลายทวก) โยมลุงวาน บุญกิจ อายุ ๙๑ ปี เล่าว่าเกวียนที่มีปลายทวกงอนสวยๆนั้น ก็ดูดีหรอก แต่เวลาใช้งานจริงต้องไปตามท้องไร่ปลายนา ปลายทวกก็จะเกะกะ ไปเกี่ยวกิ่งไม้บ้าง อะไรบ้าง โยมลุงกำนันเทียน ท้วมเทศ อายุ ๘๖ ปี บอกว่าพ่อของท่านเป็นช่างทำบ้าน ทำเกวียนแสลกบังเก่ง

    ทั้งสามท่านให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าสมัยก่อนจะใช้เกวียนแสลกบัง ที่มีกระชุก บรรทุกข้าวเปลือกไปขาย-แลกสิ่งของ ของกินของใช้ที่อำเภอชุมแสงทุกปี ลุงวานเล่าว่าตอนนั้นใช้เงินกันไม่เป็นด๊อกแหน่ อยากได้อะไรก็เอาข้าวเปลือกแลกเอา น้ำมันก๊าดปีบหนึ่งใช้ได้ตลอดปี ยุคนั้นไปกลับต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๕-๗ วัน ไปหลายวันอย่างนี้ ต้องนำเสบียงพร้อมทั้งมีด ขวาน สิ่ว เลื่อย เครื่องมือจับสัตว์ เช่น สุ่ม ติดไปด้วยเพื่อไปสุ่มปลาตามคลอง หนองน้ำซึ่งปลาชุกชุม เมื่อมีเหตุการณ์อุปกรณ์เกวียนหักแตก ก็สามารถซ่อมแซมทำใหม่ได้เลย

    ตกกลางคืนเวลาจะนอนก็ถอยเกวียนหันหน้าเข้า ตีวงล้อมเป็นวงให้วัวควายนอนในกลางวงล้อม คนนอนใต้ถุนเกวียน

    เกวียนแสลกบัง ต่อมาเสื่อมความนิยมลง โดยมีเกวียนจากเมืองเหนือ แพร่ ลำปาง เป็นเกวียนนำเข้า และเข้ามาครอบครองเต็มพื้นที่หนองบัวร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นมาคนหนองบัวก็ไม่ทำเกวียนแสลกบังใช้อีกเลย ถือเป็นการปิดตำนานเกวียนแสลกบังและ  กระชุกลงโดยปริยาย

    Large_ddd1017824
    อธิำบายภาพ : ดุมเกวียนเก่า เกวียนแสลกบัง

    • ดุมเกวียนเก่านี้โยมพ่ออาตมาเก็บไว้
    • เป็นดุมเกวียนของพ่อเฒ่าไล้ พินแหลม(๒๔๓๙-๒๕๒๖)
    • คือตาของอาตมา ท่านทำเอง 
    • เป็นชิ้นส่วนของเกวียนแสลกบังที่เหลืออยู่เพียงชิ้นเดียว
    • อายุประมาณ ๗๐-๘๐ ปี
    • ถ่ายภาพ ๑ มกราคม ๒๕๕๕
    Large_rrrrr2214
    หมายเหตุ : แสลกบังคือโครงไม้ที่ต่อกับปลายดุมเกวียนด้านนอกทั้งสองข้าง โดยแสลกบังด้านหน้าและด้านหลังวางอยู่ใต้ทวกเกวียน มีไ้ม้ค้ำยันสี่อันระหว่างตะพองกับโครงไม้ด้านล่าง

     

    เพิ่มเติมข้อมูลเรื่องพระพิรุณ
     
    พ่อเฒ่าไล้ พินแหลม(๒๔๓๙-๒๕๒๖)
    ตาไล้เป็นพ่อของโยมแม่ของอาตมา

    ลุงชู้ : โยมลุงชู้ พินแหลม(แหลมเทียน) อายุ ๗๘ ปี
    ลุงท่านเป็นพี่ของโยมแม่ของอาตมา
    อยู่บ้านโคกมะกอก ข้างถนนสายหนองบัว-ชุมแสง
    หมู่ที่ ๗ ต.หนองบัว อำเภอหนองบัว 
    ๒๕  ธันวาคม ๒๕๕๔ 

    ขออนุญาตนำข้อมูลชุมชนเรื่องพระพิรุณมาบันทึกเพิ่มอีกสักเล็กน้อย ในปลายปีที่ผ่านมา(๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๔)ได้ไปหาข้อมูลเรื่องพระพิรุณกับโยมลุงในตอนสายๆที่บ้านของท่าน โดยท่านได้ให้ข้อมูลตรงกับคุณตาวาน บุญกิจ อายุ ๙๑ ปี ทุกประการ

    ลุงเ่ล่าว่าปู่ไล้ พินแหลม คือพ่อของลุงนั่นเอง เป็นคนร่วมสมัยกับหลวงพ่ออ๋อย คือเกิดก่อนหลวงพ่ออ๋อยเพียงสี่ปี ดังนั้น ช่วงทำศาลาคนรุ่นนี้ในชุมชนส่วนใหญ่จึงได้ช่วยกันทำอย่างเต็มที่ ตา-ยาย ได้เล่าให้ลูกหลานจำกันต่อมาว่า ขณะสร้่างศาลานั้น ลูกคนโตของตาไล้-ยายก้อน ยังเล็กมากๆ คือลูกคนโตนั้นเกิดปี(๒๔๖๓-๒๕๔๙)

    พ่อได้เล่าเรื่องพระพิรุณลากไม้จากป่าแถวๆหนองคอก สี่แยกหนองบัว สี่แยกต้นอีซึก มาทำศาลาวัดหลวงพ่อเดิม วัดหนองกลับให้ฟังบ่อยๆ ฟังจนลูกๆจำได้ ลุงบอกว่ารายละเอียดขของพระพิรุณนั้น จำลักษณะได้แย่นยำชัดเจนมากจากคำบอกเล่าของพ่อในตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ นับเป็นหนึ่งในสองท่านที่ยังสามารถจดจำเรื่องนี้ได้ตรงกัน

    ในวันนั้น(๒๕ ธันวาคม๒๕๕๔)โยมลุงชู้ พินแหลมได้เล่าราวอื่นๆนอกจากเรื่องพระพิรุณให้ฟังด้วย ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับตัวลุงโดยตรงเลย คือเมื่ออายุ ๙ ขวบ(๒๔๘๖)พ่อไล้ แม่ก้อน พ่อแม่ของลุง ได้พาไปหาหลวงพ่อเดิมให้โกนผมแกละให้ ที่วัดหนองกลับ ซึ่งปีนั้นท่่านพักอยู่กุฏิหลวงพ่ออ๋อย หรือกุฏิกลอง(ปัจจุบบันคืออาคารพิพิธภัณฑ์ของวัด) 

    ในครั้งนั้น มีเพื่อนบ้านที่มีอายุเท่ากันในหมู่บ้าน บ้านเนินตาโพที่พ่อแม่พาไปด้วยหนึ่งคนเป็นผู้หญิงคือโยมป้าเรียน โอภาษี (ปัจจุบันป่วย เดินไม่ได้)

    เรื่องนี้เกี่ยวความเชื่อของคนโบราณ หลังจากทำพิธีโกนผมไฟแล้ว เด็กก็จะไว้ผมแกละ ผมจุก ผมเปีย เมื่อย่างเข้าวัยรุ่นหรือเริ่มโต ส่วนมากก็จะนิยมตอนอายุ ๙ ขวบ พ่อแม่ก็จะพาไปหาพระสงฆ์ให้โกนหรือตัดผมเปีย ผมจุก ผมแกละให้ ซึ่งในสมัยก่อนนั้นการตัดหรือโกนผมแกละ ผมเปีย ผมจุกของเด็กนั้น จะมีพิธีกรรม ความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ต้องนำวันเดือนปีเกิดของเด็กไปให้โหรหาฤกษ์ให้ จึงจะทำพิธีได้ วันไหนโกนจุกได้ วันไหนห้ามโกนจุก

    ในวันโกนจุกโดยหลวงพ่อเดิมครั้งนั้น มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรมชาติของสังขารร่างกายมนุษย์เราคือกิน ขับถ่าย ผายลม เรื่องนี้เวลาคนเก่าๆเล่าให้ฟังทีไร ทั้งคนเล่าและคนฟังก็จะขำไปด้วยกันทุกที คือในขณะที่หลวงพ่อกำลังโกนผมเปียอยู่นั้น หลวงพ่อท่านก็ขยับตัวไปมา ในจังหวะที่ท่านขยับตัวนั้นพอดี ก็มีเสียงผายลมจากหลวงพ่อดังออกมาด้วย(หลวงพ่อเดิม ตด : ลุง ป้า ท่านใช้คำนี้ เลยขออนุญาตใช้ตามท่าน) คนอื่นได้ยินก็แค่อมยิ้มเท่านั้น แต่ป้าเรียนซึ่งเป็นเด็ก กลั้นหัวเราะไว้ไม่อยู่ พอได้ยินเ้สีงดัง ก็ปล่อยก๊ากทันทีเลย หลวงพ่อเดิมได้ยินเด็กหัวเราะ ท่านก็ฺไม่พูดอะไร เพียงแต่มีเสียงหัวเราะในลำคอของท่่านดังฮึ! ออกมาเ่ท่านั้น(ขออนุญาตเล่าเรื่องนี้ไว้ เพราะคิดว่าไม่มีอะไรเสียหาย หรือไม่เหมาะควร แต่ถ้าไม่เหมาะสม ก็ขออภัยต่อทุกๆท่านไว้ในที่นี้ด้วย)

    • เมื่อตอนก่อนสิ้นปี๒๕๕๔(ปลายเืดือน ธันวาคม)
    • ในเช้าวันหนึ่งได้ถ่ายภาพสระน้ำวัดหลวงพ่ออ๋อย วัดหนองกลับ
    • สระน้ำของวัดมีสองสระ เนื้อที่ทั้งสองสระประมาณยี่สิบไร่
    • ซึ่งบริืเวณสระดังกล่าวนี้ เดิมเคยเป็นที่ตั้งวัดในหรือวัดหนองบัวมาก่อน
    • แต่เมื่อยุบสองวัดรวมกันแล้ว ที่ตั้งวัดหนองบัวหรือวัดใน ก็ได้ถูกนำมาใช้ขุดสระวัดแทน ดังปัจจุบัน



     

    มหายน : อาจารย์พยนต์ โอภาษี : มหาเปรียญมหาบัณฑิตจากอินเดียยุคแรกๆของชุมชนหนองบัว ต่อจากยุคแรกสุดคือหลวงพ่อพระเทพสิทธินายก(ห้อง ท้วมเทศ)

                                       
                                       นามบัตรอาจารย์พยนต์ โอภาษี(อาย ๗๐ ปี) ได้พบท่านในงานศพท่านพระครูสงวน โอภาษี(๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๔)และได้ขอนามบัตรนี้ไว้ ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ ทำกิจการส่วนตัวเกี่ยวกับแพทย์แผนไทยเปิดคลีินิคชื่อ "โอภาษีคลีนิกการแพทย์แผนไทน" อยู่ที่จังหวัดสุรินทร์

    • ชื่อมหายนนี้ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก รู้ว่าท่านเป็นคนอยู่บ้านโคกมะตูม ตำบลหนองบั นามสกุลโอภาษีนี้ ในหนองบัวถือว่าเป็นนาสกุลใหญ่ นามสกุลดังนามสกุลหนึ่ง
    • รู้จักแต่ชื่อมาตลอดไม่เคยเห็นตอนที่ท่านอยู่ในเพศบรรพชิตเลย ลาสิกขาแล้วท่านก็ไม่ได้กลับมาอยู่หนองบัวด้วย ก็เลยไม่ได้รู้จักท่านเป็นการส่วนตัว(ไม่เคยพบท่านด้วย) 
    • กำลังจะหาโอกาสรวบรวมมหาเปรียญของหนองบัวก็ยังไม่พร้อมสักที เ่ท่าที่นึกได้คร่าวๆในตอนนี้อาจารย์หมาพยนต์น่าจะเป็นมหาเปรียญคนแรกของตำบลหนองบัวและรวมทั้งคนในเขตบ้านในด้วย ได้เจออาจารย์ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ว่าจะสอบถามหลายเรื่องหลายราวในหนองบัวก็เลยไม่มีโอกาสอีกตามเคย
    • ฟังมาแบบรวบรัดย่อๆว่าท่านบวชเรียน บวชแล้วไปอยู่วัดหัวเมือง: วัดนครสวรรค์ จากนครสวรรค์ไปอยู่วัดเบญจมบพิตรฯ กรุงเทพฯ จากนั้น ไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย จบปริญญาโทจากอินเดีย 
    • สันนิษฐานต่อไปว่าท่านน่าจะเป็นพระจากหนองบัวรูปแรกซะละมั้งที่ไปเรียนต่อถึงประเทศอินเดีย ในช่วงที่ศึกษาอยู่ ไม่มีคนส่งเรียนไม่มีทุนการศึกษา ทุนที่ได้ก็ได้จากญาติพี่น้องของท่านที่บ้านโคกมะตูก ตำบลหนองบัวนี่เอง 
    • ญาติพี่น้องทำนาทำไร่ ขายข้าวได้ก็แบ่งเป็นกองทุนงบการศึกษาให้พระได้ใช้เล่าเรียน ญาติพี่น้องได้ทำเช่นนี้อยู่หลายปี หมดเงินไปเยอะ แต่พระคุณเจ้าก็ไม่ทำให้ญาติพี่น้องผิดหวัง ศึกษาจนสำเร็จเป็นมหาเปรียญ มหาบัณฑิตสมปรารถนา 
    • สึกออกมาได้ข่าวว่ารับชาการอยู่กระทรวงสาธารณสุข จนเกษียณก็ไม่มีโอกาสได้รู้จักท่านสักที 
    • จนเมื่องานศพท่านพระครูสงวน จึงได้พบปะพูดคุยกับท่าน พอดีตอนไปงานศพท่านพระครูได้นำหนังสือทำเองจากเวทีคนหนองบัวไปหลายเล่ม เมื่อท่านจะเดินกลับจังหวัดสุรินทร์ จึงได้มอบหนังสือดังกล่าวไปหลายเรื่อง 
    • ได้ทราบแนวคิดดีๆจากญาติของท่านที่อยู่บ้านโคกมะตูม โดยญาติเล่าให้ฟังว่ามหายนเคยปรึกษาหารือกับคุณครูสุธี นาคสุทธิ์ อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) ท่านอยากทำบันทึกชุมชนหนองบัว โดยจัดหาที่ดินสักแปลงสร้างเป็นอาคาร วัตถุประสงค์คือจะรวบรวมสืบค้นความเป็นมาของตระกูลหรือนามสกุลต่างๆในหนองบัว 
    • เสร็จแล้วให้นำข้อมูลทั้งหมดมารวมอยู่ในที่ดังกล่าว ญาติบอกว่าได้ยินคุยกันมานานแล้ว เรื่่องนี้โยมได้เล่าให้อาตมาทราบหลังจากที่อาจารย์กลับไปสุรินทร์แล้ว
    • เลยไม่ได้สอบถามเรื่องนี้จากตัวท่าน นี่ก็ได้นามบัตรท่านมาหลายวันแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้โทร.คุยกับท่านสักที 
    • แนวคิดนี้ดีจริงๆ ถูกใจและชอบมากเลย ขอเชียร์และสนับสนุนเต็มที่ และก็ญาติๆของท่านอีกนั่นแหละที่ได้บอกว่ามหายนมีที่ดินที่เชียงใหม่ แต่ลืมรายละเอียดไปแล้วว่าอยู่อำเภอไหน 
    • ที่อาจารย์วิรัตน์ ทราบข้อมูลมาก็ถือว่าใช่ท่านแน่นอน เดี๋ยวอย่างไร ถ้าติดต่อท่านได้ และช่วงที่ท่านเิดินทางไปพักอยู่ที่เชียงใหม่ ถือว่าใกล้ๆบ้านอาจารย์วิรัตน์แล้ว
    • อาตมาว่างน่าจะได้ไปเยี่ยมญาติจากหนองบัวที่นี่สักครั้ง ไปคราวเีดียวได้พบสองท่าน ได้นอนทั้งสองบ้านเลยนะเนี่ย(ขอจองกฐินล่วงหน้าไว้ก่อน ก็แล้วกัน)
    • บทความที่เขียนเกี่ยวกับอาจารย์พยนต์ รู้สึกจะมีคำผิดหลายคำจัง
    • แต่คำที่ผิดนั้น พอจะอ่านได้ใจความไม่ยากเท่าไหร่ เลยปล่อยไปก่อน
    • ส่วนคำผิดที่ต้องแก้อย่างด่วนเลย คือคำว่าอาจารย์หมายนต์ แก้เป็นอาจารย์มหาพยนต์
    • คำทำนองนี้เคยผิดมาแล้วครั้งหนึ่งที่เขียนถึงพระอาจารย์มหาคล่อง โดยครั้งนั้นอาจารย์วิรัตน์ฺเป็นผู้ตรวจปรู๊ฟให้
    • วันนี้(๒๐ มกราคม ๒๕๕๕)เวทีคนหนองบัวมีผู้เข้าเยี่ยมชมเกินครึ่งแสนแล้ว(๕๐,๑๙๗ คน/ครั้ง) 
    • ระยะนี้เวทีคนหนองบัว มีสถิติคนเข้ามาอ่านแต่ละวันเป็นจำนวนมาก
    • เมื่อคืนตอนเข้ามาแก้คำผิดก่อนสี่ทุ่ม จำนวนผู้อ่านประมาณ ๔๙,๓๘๐ กว่าๆ
    • พอเช้าวันนี้ มาดูอีกทีเกินห้าหมื่นแล้ว
    • ขอขอบคุณผู้อ่านที่ให้เกียรติเข้ามาเยี่ยมชมเวทีคนหนองบัว 
    • เห็นแล้วให้เกิดสนุก คึกคัก กระชุ่มกระชวยในหัวใจไปด้วยเลยนะครับ เมืท่อวานก่อนแม่ผมก็ได้บอกว่าท่านพระอาจารย์มหาแลกับท่านพระอธิการโชคชัยได้เดินทางไปนั่งคุยกับชาวบ้านหนองบัวและเก็บข้อมูลต่างๆ
    • เมื่อวานนี้ได้ขึ้นเวทีดำเนินการเสวนาในงานมหกรรมสุขภาพชุมชนครั้งที่สองที่อิมแพคเมืองทองธานี ก็ได้เจอ ผอ.พนม จันทร์ดิษฐ์ อาจารย์พนมก็เล่าให้ฟังด้วยเช่นกัน สักพักหนึ่ง น้องสาวผมและคุณครูของโรงเรียนหนองบัว ก็บอกกล่าวทางโทรศัพท์ให้ผมทราบอีก เรียกว่าพระคุณเจ้าทั้งสองไปหนองบัวนั้น ก็ได้ต้อนรับและรู้กันทั่วเลยทีเดียว
    • ขออนุโมทนาและร่วมเป็นพลังใจด้วยครับ

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล เจริญพรโยมอ.ดร.วิรัตน์ และเวทีคนหนองบัวทุกท่าน

    กระผมรู้สึกอบอุ่นและมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้นหลังจากไปพบเครือข่ายครู ชาวบ้านชุมชนอำเภอหนองบัว และเยี่ยมเยียนตามโรงเรียนต่างๆ จะพยายามเขียนงานให้ดีที่สุดครับ.

                              
                              หลวงพ่อเดิม พุทธสโร วัดหนองโพ(๒๔๐๓-๒๔๙่๔)

    การบูรณะพัฒนาวัดหนองกลับ อำเภอหนองบัว ของพระครูนิวาสธรรมขันธ์ : หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๙๓   

    • หลวงพ่อไกร  ฐานิสฺสโร(ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์,หน้า ๑๒) กล่าวถึงการพัฒนาวัดหนองกลับของหลวงพ่อเดิมไว้  ดังนี้
    • พ.ศ. ๒๔๖๖ สร้างศาลาการเปรียญอาคารทรงไทย เสาไม้เต็งรัง เสาไม้ขนาดใหญ่ หลวงพ่อเดิมตั้งใจสร้างให้เสาใหญ่   เป็นที่ปรากฏตลอดไป สิ้นค่าก่อสร้าง ๑๐,๐๐๐ บาท
    • พ.ศ. ๒๔๖๗  สร้างกุฏิ อาคารไม้ จำนวน  ๕ หลัง  และทำการขุดสระ  ๑  ลูก  เนื้อที่  ๘  ไร่  สร้างรั้ววัดเป็นเสาไม้มะค่าโดยรอบ
                                        
                                        เขียนโดยหลวงพ่อไกร ฐานิสฺสโร เจ้่าอาวาสวัดหนองกลับ
    หลวงพ่อเดิมได้บูรณะวัดหนองกลับใหม่หมดทั้งวัด  : พระมหาเถระผู้บูรณะวัดหนองบัว – หนองกลับ
    • พ.ศ. ๒๔๗๔  สร้างอุโบสถ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลัง คือ เทคอนกรีตแทน กระเบื้อง กว้าง  ๗  เมตร  ยาว   ๒๑  อุโบสถสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๖๓  บูรณะโดย หลวงพ่อเดิม สร้างใหม่แทนอุโบสถหลังเก่า
                                          
                                          ปกหลังหนังสือประวัติวัดหนองกลับ
     เลือดนักพัฒนา : ของหลวงพ่อเดิม
    • หลวงพ่อไกร  ฐานิสฺสโร  เขียนไว้ในหนังสือประวัติวัดหนองกลับ(ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า ๓๒)เรื่องการพัฒนาของหลวงพ่อเดิมว่า ....หลวงพ่อเดิมท่านได้พัฒนาคนหนองบัวให้เป็นคนขยัน ทดทน และเชื่อผู้นำโดยในสมัยท่านมาบูรณะวัดหนองบัว-หนองกลับนั้น ท่านชักนำให้รู้จักทำงานส่วนรวมทุกปี มิได้ขาดจนเป็นนิสัย เช่น 
    • (๑) ให้ทอดผ้าป่ากลางเดือน ๑๒  ทุกปีพร้อม ๆ กัน เป็นผ้าป่าประเพณีทอด อุทิศส่วนกุศลให้ ผู้ตาย จนถึงทุกวันนี้ชาวหนองบัวยังถือปฏิบัติสืบมา (๒) ให้ประชาชนขุดสระน้ำเพื่อความเจริญของท้องถิ่นทุกปี ปีละ  ๑  หลุมต่อครัวเรือน  ชาวหนองบัวได้ขุดสระน้ำกันมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๐  (๓) ประเพณีบวชนาคหมู่ ซึ่งชาวหนองบัวได้ถือปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้  (๔) ให้ประชาชนขนทรายเข้าวัดทุกปี ในงานเทศกาลสงกรานต์ ขณะนี้ยังนิยมทำตลอดมา  (๕) เวลาก่อสร้างเสนาสนะ จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างทุกคน เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ รักใคร่ในสิ่งที่ตนสร้าง อย่างเมื่อสร้างอุโบสถ  วัดหนองบัว -หนองกลับ ทรายผสมปูนซึ่งใช้เป็นจำนวนมาก ท่านให้ประชาชนทุกคนไปขนทรายมา ด้วยการให้คนหามทรายมาร่วมสร้าง  คนจนก็มีส่วนในการสร้างทุกคน
    • ด้วยเหตุนี้ เมื่อทางราชการต้องการพัฒนาชุมชนให้เกิดความสามัคคี  จึงสัมฤทธิ์ผลได้ดี  เพราะหลวงพ่อเดิมท่านได้วางรากฐานให้คนหนองบัวจนเป็นนิสัยนั่นเอง

    ข้อมูลจาก :  หนังสือประวัติวัดหนองกลับ  ตำบลหนองกลับ  อำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์  โดย หลวงพ่อไกร  ฐานิสฺสโร  เจ้าอาวาสวัดหนองกลับ (ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์)



    ก่อนไปงานศพท่านพระครูสงวน(๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๔)ที่หนองบัว ไม่กี่วันได้ไปเยี่ยมเว็บไซต์ อบจ.นครสวรรค์ ได้พบข้อมูลความรู้ของเมืองสี่แควอย่างมากมาย มีเรื่องราวต่างๆ ที่ทางเว็บไซต์นำมารวบรวมไว้ มีครบทุกอำเภอ(๑๕ อำเภอ)

    ข้อมูลของแต่ละอำเภอนั้น มีทั้งประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม  ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตชุมชน เข้าไปที่นั่นที่เดียวได้ความรู้ทั้งจังหวัดเลยทีเดียว

    ทางเว็บไซต์ได้จัดทำในรูปนิตยสารออนไลน์ ชื่้ออบจ.นครสวรรค์ e-Magazine มีห้องแสดงภาพสวยงาม อ่านในเว็บก็สะดวก โหลดนำไปอ่านก็ได้

    ได้ลองโหลดข้อมูลทั้ง ๑๕ เก็บไว้ แล้วรวมเล่มได้เกือบสามสิบหน้า ปริ้นออกมาเย็บเล่มก็สวยงามดี ภาพข้างล่างที่นำมาให้ดูนี้เป็นภาพหน้าปกที่ทางเว็บไซต์จัดทำไว้ อาตมานำมาเข้าเล่ม โดยจัดเรียงข้อมูลแต่ละำอำุเภอตามตัวอักษร เห็นว่าน่าสนใจเลยนำมาให้ดู และอยากเชิญชวนชาวหนองบัวและผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเวทีคนหนองบัว และผู้ที่สนใจ แวะไปชมได้ตามอัธยาศัย 

    ที่มาเว็บไซต์อบจ.นครสวรรค์ตามเข้าไปอ่านได้เลย http://www.nsezine.com/handbook.html

                               
                               หน้าปก : ๑ อำเภอ : ๑ แหล่งท่่องเที่ยว : จังหวัดนครสวรรค์
     

    ขออภัย หน้าเว็บไซต์ที่แนะนำไว้ข้างบนนั้น เป็นหน้าเว็บที่ทางผู้จัดทำนิตยสารออนไลน์แนะนำวิธีใช้แมกกาซีน เมื่อเข้าไปในเว็บดังกล่าวแล้ว จะไปหน้าอื่นๆต่อไป ก็ไปไม่ได้

    เลยต้องไปนำเว็บไซต์หน้าหลักของเว็บไซต์อบจ.นครสวรรค์มาให้ใหม่แทน เข้าไปเว็บนี้แล้ว สามารถอ่านได้ครบทุกคอลัมน์

    http://www.nsezine.com/

    • นึำกๆไปก็ขำตัวเองเหมือนกันเนาะ
    • ที่จริงทั้งเว็บแรกและเว็บที่สองนั้น สามารถเข้าไปอ่านในหน้าอื่นๆได้ทั้งหมดเหมือนกันนั่นแหละ
    • นี่ละหนอคนโลเทค มองอะไรก็ไม่ชัดเจน กลัวคนอื่นจะงง ที่ไหนได้ ตัวเองงงซะเองเป็นซะงั้น เฮ้อแย่จัง
    • วันนี้ได้เข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์วัีดหนองกลับ ซึ่งจัดทำโดยคุณครูบุษกร ปนสันเทียะ ครูโรงเรียนหนองบัว
    • ในเว็บดังกล่าวได้นำข้อมูลวัดหนองกลับไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งหมด ๙ ภาษา(รวมทั้งไทยด้วย ๑๐ ภาษา) คือไทย,ลาว,พม่า,กัมพูชา,มาเลเซีย,สิงคโปร์,เวียดนาม,บรูไน,อินโดนีเซีย,ฟิลิปปินส์
    • คุณครูบุษกร กล่าวถึงเหตุผลในการแปลเป็นภาษาต่างประเทศเมื่อตอนไปขออนุญาตเจ้าของบทความคือดร.วิรัตน์(๓ ตุลาคม ๒๕๕๔)ว่า "นื่องจากจะมีการแข่งขันโครงงานคอมพิวเตอร์ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ปี 54 ทางโรงเรียนจึงอยากนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของอำเภอหนองบัวออกสู่สายตาชาวอาเซียนในรูปของเว็บไซต์ "
    • ในกลุ่มอาเซียนนี้อ่านได้ภาษาเดียวคือภาษาลาว


    ที่มา http://www.nongbua.ac.th/nk/laos.html

    • ขออนุญาต เขียนภาษาลาวด้วยอักษรไทย โดยเขียนตามเสียงอ่าน ดังนี้
    • วัดหนองกับ วัดหนองกับ เป็นวัดที่เก่าแก่ของอำเภอหนองบัว เป็นสูนรวมทางจิตใจและเป็นสูนกางในกานให้กานสึกสาแก่ลูกหลาน ของประซาซนซุผู้ซุคนในอำเภอหนองบัวมาย่างดนนาน ในเอกกะสานหลายบ่อนก่าวไว้ว่าเป็นวัดที่ส้างแปงมาตั้งแต่สะหมัยลัดชะกานที่ ๒(ในลาดชะวงจักกีของไท)
    • เมื่อวันที่๑๐ มกราคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ได้พาโยมพ่อ น้องๆหลานๆและญาติจากบ้านเนินตาโพ ไปไหว้พระบาท : พระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
    • ก่อนบวชอายุประมาณ ๑๐-๑๕ ปี ได้เ่คยไปไหว้มาครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนั้นไปกับญาติผู้ใหญ่เป็นส่วนมาก สมัยนั้น ถนนสายหนองบัว-ชัยภูมิ,ถนนหนองบัว-ตากฟ้า- หนองบัว-วังทอง ยังไม่ได้สร้างเลย
    • ไปพระบาทครานั้น จึงต้องเดินทางหลายทอด เริ่มแต่นั่งรถเมล์โดยสารจากหนองบัว ไปลงที่ชุมแสง จากนั้นก็ขึ้นรถไฟ ไปลงที่สถานี่ลพบุรี นับเป็นการขึ้นรถไฟครั้งแรกของชีวิตเลยทีเดียว ต่อรถจากจังหวัดลพบุรี ไปลงที่อำเภอพระพุทธบาท
    • นั่งรถหลายต่อขนาดนี้ ไม่มีโอกาสไปกลับภายในวันเดียวได้ ต้องพักค้างคืนที่วัด ประสบการณ์จากการนอนวัดครานั้น เล่าสู่กันฟังโดยไม่มีวันลืมเลย คนไปครั้งนั้น เป็นช่วงที่วัดมีงานนมัสการพระบาทพอดี คนเลยเยอะแยะไปหมด
    • ตกกลางคืนผู้แสวงบุญทั้งหลายก็นอนรวมกันที่ศาลา คนมากอย่างนี้ก็ไม่ต้องกางมุ้งกันแล้ว ทางวัดจัดบริการให้เสื่อ กับหมอน หมอนนี่แหละที่หลายคนยังจำได้ดีจริงๆ หมอนทำด้วยปูนซีเมนต์ ขนาดเท่าหมอนพอดี ทั้งหนักทั้งแข็งเป๊กทีเดียว
    • เคยนอนหนุนหมอนยัดนุ่นที่ว่าแข็งๆ ตื่นเช้ามาคอเคล็ด ก็เทียบไม่ได้กับหมอนปูนซีเมนต์
    • ไปกันหลานคน แต่มีเพียงสามคนเท่านั้นที่ได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกลับบ้าน
    • ของที่ระลึกจากพระบาทครั้งนั้น คือไม้ตะพด คิดว่าคนที่ไปพระบาทยุคนั้น คงซื้อไม้ตะพดกลับบ้านทุกคน ทำไม้ตอ้งซื้อ ที่ซื้้อก็เพราะจะได้เอาไปเคาะระฆังที่มีเป็นร้อยใบ ที่แขวนไว้ที่ระเบียงทางขึ้นมณฑปรอยพระบาท(ทางวัดไม่มีบริการให้เหมือนสมัยนี้)
    • เหตุที่ไปพ.ศ.๒๕๕๕ นี้ ก็เพราะผู้เฒ่าผู้แก่ เคยปรารภบ่อยๆว่าก่อนตายอยากจะไปไหว้พระบาทสักครั้ง หรือพูดในทำนองว่าสงสัยจะตายเปล่าเสียแล้วเรา เห็น่าจะไม่ได้ไปไหว้พระบาทกับเขาซะแล้วประมาณนี้ สมัยนี้ลูกหลานมีรถยนต์ส่วนตัวกันหลายคน หลายคราที่กล่าวอาสาว่าจะพาไป แต่ก็ยังไม่่ว่างติดภาระกิจการงานกัน
    • ๑๐ มกราคม ๒๕๕๕ ขึ้นพ.ศ.ใหม่ได้ไม่นาน รถว่างคนขับว่างพอดี ก็เลยได้ไปกันในวันนี้
    • ก่อนจะได้ชมพระบาทในสมัยปัจจุบัน ขออนุญาตพาไปชมพระบาทเมื่อเกืือบสี่สิบปีกันก่อน
    Large_ttttt00004
    ญาติๆที่ไปพระไหว้พระบาทครั้งก่อน : ถ่ายรูปทางขึ้นหน้ามณฑป(รอยพระบาทอยู่ในมณฑป) ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๑๙ ไปกันหลายคน แต่ที่ถ่ายรูปไว้ดูมีเพียงสามคนนี้


    นี่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๕ เช้ามืดก่อนเดินทาง น้องๆก็ตระเตรียมสะเบียงให้พร้อม


    ซุ้มประตูวัดพระพุทธบาท ติดถนนใหญ่ ห่างจากวัดประมาณ ๑ กิโลเมตร

    ออกเดินทางประมาณ ๐๘.๓๐ น. ถึงพระบาท เพลพอดี




    กินข้าวเสร้จแล้ว ก็ขึ้นไปปิดทองรอยพระบาทกัน

    ญาติโกโหติกาและหลานๆ

    โยมป้าและหลานๆบนเขา


    หลานๆถ่ายรูปหน้าพระพุทธฉาย บนยอดเขา

    ปัจจุบันทางวัดมีไม้ตะพดไว้บริการ(สมัยก่อนต้องซื้อจากแม่ค้าในวัด ตีระฆังแล้วก้นำกลับบ้าน)

    ทางขึ้นมณฑปด้านข้าง(ทิศตะวันตก วิวสวยกว่าทางขึ้นด้านหน้า)

    โยมพ่อเสียดายไม่ได้ไปดูบ่อพรานบุญล้างเนื้อ ซึ่งอยู่ที่ภูเขาอีกลูกหนึ่ง ช่วงนี้ไม่มีเจ้่าหน้าของวัดคอยดูแล เลยไม่ให้นักท่องเที่ยวไปชม เกรงจะไม่ปลอดภัย(ช่วงมีงานปิดทองพระบาท จะอนุญาตให้ผู้แสวงบุญไปชมได้ตลอดงาน)

    ถ่ายมุมสูงจากภูยอดเขา

    เนื่องจากในวันนั้นไม่ตรงกับวันเสาร์ วันอาทิตย์ เลยทำให้ผู้คนไม่มาก ซึ่งก็สะดวกดีหลายประการ ถ้าไปในช่วงมีงานหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์คนก็จะเยอะแน่นวัด แออัดไม่สะดวกสำหรับผู้สูงอายุเท่าไหร่ วันนั้นปิดทองขึ้นเขาไปกราบพระ ชมบริเวณวัดจนบ่ายแก่ๆ ก็เดินทางกลับ

    โยมป้าดีใจบอกว่ามีบุญที่ได้มาไหว้พระบาท เราฟังแล้วก็ชื่นใจสุขใจดีไม่น้อย


     

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล

    ถ้าได้ไปนมัสการกราบไหว้สักครั้งหนึ่งในชีวิต..หน้าจะเป็นมงคลชีวิตในปีใหม่นี้น่ะครับ

    บ่อพรานล้างเนื้อที่โยมพ่ออยากจะไปดู แต่วันนั้นไม่ได้ไปดู กลับมาถึงบ้านได้บอกโยมว่าเดี่ยวกลับไปพิษณุโลก จะลองหาข้อมูลและภาพมาให้ เมื่อสองวันก่อนได้ค้นในอินเตอร์เน็ท ก็เจอทั้งภาำพและข้อมูลสั้นๆในเว็บแห่งหนึ่ง เลยขออนุญาตนำมาให้อ่านกัน ดังนี้

                                                     บ่อพรานล้างเนื้อ

    Rangers cleared the pond drained.

         Rangers cleared the pond drained.
         ภาพบ่อพรานล้างเนื้อจากเว็บนี้ : http://www.mochit.com/place/2360

    ถึงบ่อหนึ่งมีน้ำคำบุราณ 
    ว่าบ่อพรานล้างเนื้อที่ในไพร
    พิเคราะห์น้ำสมคำบุราณกล่าว 
    ยังมีคาวเหม็นหืนจนคลื่นไส้ 

    ที่ตั้ง : บ่อพรานล้างเนื้อ ตั้งอยู่ที่ ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี  ในบริเวณเดียวกับพระพุทธบาททางด้านใต้

    ความสำคัญ : ลักษณะเป็นบ่อหินขนาดย่อม   ภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงก่อเสริมปากบ่อขึ้นบริเวณปากบ่อมีรอยเข่าคน ใกล้ๆ กันนั้นเป็นลานหินลาด และมีหลุมขนาดเท่ากระป๋องนมลึกลงไป เล่ากันว่า บ่อน้ำแห่งนี้เป็นบ่อที่พรานบุญนำเนื้อที่ล่าได้มาล้างเป็นประจำ จนปากบ่อเกิดเป็นรอยเข่า  ส่วนหลุมที่ลึกลงไปนั้นเป็นรอยที่พรานบุญปักหอกไว้ขณะล้างเนื้อ  หลุมปักหอกของพรานบุญนี้มีน้ำไหลออกมาตลอดทั้ง

    ข้อมูลและบทกลอนจากเว็บนี้ :(http://www.sb.ac.th/linkthai/taewprabad1/sec05p07.html)

    บทกลอนที่กล่าวถึงบ่อพรานล้างเนื้อนั้น ในเว็บดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าใครเป็นผู้แต่ง(ถ้าจะให้สันนิษฐาน อาตมาจะสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นท่านกวีเอกแห่งกรุงรันตโกสิทนร์คือสุนทรภู่เป็นผู้แต่ง โดยจะนึกไปถึงงานเขียนของท่านชิ้นหนึ่งที่เขียนเกี่ยวกับสถานแห่งนี้โดยตรงเลย นั่้นก็คือนิราศพระบาท(ใครทราบเรื่องนี้แล้ว จะช่วยให้ข้อมูลหน่อยก็ดี)
     

    ท่านอธิการโชคชัยครับ

    • คนโบราณเชื่อว่าชีวิตนี้ถ้าได้ไปกราบไหว้สถานที่ัศักดิ์สิทธิ์หนึ่งในสามของเมืองไทย แห่งใดแห่งหนึ่งคือพระบาท สระบุรี,พระแท่นดงรัง กาญจนบุรี,พระแท่นศิลาอาสน์ อุตรดิตถ์ ชีวิตจะไม่ไปทุคติครับ ความเชื่อนี้มีิอิทธพลต่อพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนอย่างยาวนาน ตราบเท่่าทุกวันนี้ แม้ปัจจุบันความเชื่อนี้จะดูลดลงไปบ้างก็ตาม
    • สมัยหนึ่งคือสมัยอยุธยาคนไทยไม่ทราบว่ามีรอยพระบาทอยู่ในประเทศ จึงคราหนึ่งคณะสงฆ์จากอยุธยาได้เดินทางไปนมัสการรอยพระบาทที่ประเทศลังกา(ศรีลังกา) ไปถึงลังกาพระลังกาถามว่าทำไมพวกท่านจะต้องลำบากลำบนเดินทางมาไหว้พระบาทถึงลังกาเล่า ก็ที่ประเทศไทยก็มีรอยพระบาทอยู่แล้ว
    • เมื่อท่านกลับประเทศก็ได้แจ้งให้ทางบ้านเมืองทราบ แล้วทางการก็ได้ส่งคนไปช่วยค้นหารอยพระบาท แล้วก็มาสืบทราบว่ามีรอยพระบาทบนเขาแห่งหนึ่งที่เมืองสระบุรี(อำเภอพระพุทธบาท)
    • สมัยโบราณการไปนมัสการพระบาทถือเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญมากๆ ต้องใช้ความอุตหาสะวิริยะอย่างแรงกล้าเลยทีเดียวเชียว สมัยนั้นการเดินทางคงลำบากมากและต้องใช้ความอดทนอย่างสูงยิ่ง การไปมายากเช่นนี้ ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกว่าการไปได้ไหว้สถานที่ศักด์สิทธิ์แม้สักครั้งเดียวในชีวิต ก็จะเกิดความภูมิใจได้ความอิ่มบุญมีปีติ มีพลังชีวิตอย่างล้นเหลือ สุขใจอย่างไม่รู้ลืม จนถึงขั้นที่ว่าสามารถนำชีวิตไปสู่สรางสวรรค์นั่นเทียว 
    • เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล,ท่านพระอธิการโชคชัย
    สวัสดีชาวอำเภอหนองบัวใน gotoknow และทุกท่านครับ

    • ขอร่วมแสดงความภาคภูมิใจกับคุณครู โรงเรียนหนองบัว และลูกหลานของเวทีคนหนองบัว ที่สามารถริเริ่มทำสื่อการเรียนรู้ทางสังคมจากชุมชนท้องถิ่น ของสังคมไทย กับเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมไปจนถึงผู้อ่านทั่วโลก
    • เป็นความร่วมแรงร่วมใจกันของชุมชนเพื่อระดมพลังสนับสนุนการพัฒนาเด็กๆและโรงเรียน ของเวทีคนหนองบัวของเราที่น่าสนใจมากอย่างยิ่งมากเลยนะครับ เป็นอิฐก้อนแรกๆ ที่เป็นการริเริ่มและก้าวเดินออกจากสิ่งที่มีอยู่ในความเป็นตัวของตัวอย่างแท้จริงของหนองบัว ที่งอกเงยออกมาจากการช่วยกันคนละนิดละหน่อย ที่เป็นตัวอย่างให้เกิดความมั่นอกมั่นใจได้เป็นอย่างดีว่า หากช่วยกันค่อยๆทำอย่างนี้สั่งสมไปเรื่อยๆแล้วละก็ พลังสังคมเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ ย่อมสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆขึ้นจากตนเองได้อีกมากเลยนะครับ 
    • ขอร่วมอนุโมทนากับแรงกายแรงใจของพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลและทุกท่านในความงอกงามเล็กๆนี้ด้วยครับ ในฐานะได้มีส่วนร่วม ผมเองก็พลอยได้มีกำลังใจและดีใจไปด้วยครับ จะหาโอกาสวิเคราะห์และถอดบทเรียนสะสมไปด้วย  เพื่อให้ความริเริ่มของหนองบัว ได้นำร่องเป็นความรู้และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติให้กับที่อื่นๆของประเทศไปด้วยนะครับ
    • ขอบันทึกความประัทับใจไว้อีกสักครั้ง สืบเนื่องจากเมื่อเช้าวันที่๒๐ มกราคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา มีผู้เข้ามาเยี่ยมเวทีคนหนองบัวห้าหมื่นเศษๆ(๕๐,๑๙๗ คน/ครั้ง) 
    • จากวันนั้น(๒๐ มกราคม) ถึงวันนี้ คือวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๕ เวลา ประมาณ ๑๘.๔๕ นาที (รวม เฉพาะ ๔ วันที่ผ่านมา มีผู้่เข้ามาอ่านรวม ๑๐,๕๒๓ คน/ครั้ง)
    • รวมทั้งหมด ได้หกหมื่นกว่าๆ(๖๐,๗๒๐ คน/ครั้ง)
    • ขอฉลองสถิติหมื่นที่หกด้วยความยินดี


    บันไดขึ้นเขา : เขาวัดพระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท สระบุรี พาญาติขึ้นไปไหว้พระ(๑๐ มกราคม ๒๕๕๕)

    เมื่อกลางเดือนธันวาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา เพิ่งจะมีคนเข้ามาคลิ๊กครบ ๔ หมื่นคน/คลิ๊ก
    ซึ่งก็น่าประทับใจมากอยู่แล้วนะครับ แต่ตอนนี้ ผ่านไปเพียงเดือนเดียว ก็มีจำนวนการคลิ๊กเพิ่มขึ้นมาอีก ๒ หมื่นคลิ๊ก/คน รวมเป็นกว่า ๖ หมื่นคลิ๊ก/คนแล้ว กระโดดพรวดพราดเลยนะครับ 

    • เมื่อปลายที่แล้ว(ธันวาคม ๒๕๕๔)ได้เจอท่านอดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ คือโยมอุปถัมภ์  อินสุธา(อดีตสจ.เขตอำเภอหนองบัว)
    • ท่านได้เก็บภาพเก่าไว้ชุดหนึ่ง ซึ่งท่านเองก็ไม่ทราบรายละเอียดว่าภาพดังกล่าว ถ่ายที่ไหน เมื่อไหร่ ทำอะไร อย่างไร 
    • แต่มีอยู่ภาพหนึ่งที่มีภาพอาคารเรียนโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม(อนุบาลหนองบัว)หลังเก่าิิ ที่อยู่ติดถนนสายหนองบัว-ชุมแสงอยู่ด้วย ท่านอดีตสจ.สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นการระดมคนหนองบัวสร้างอาคารเรียนโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม สมัยนายอำเภออรุณ วิไรรัตน์ และมีภาพหลวงพ่ออ๋อย เจ้าอาวาสวัดหนองกลับในขณะนั้น คอยดูแลการก่อสร้างอยู่ด้วย
    • อาตมาได้นำภาพชุดนี้ไปให้พระอาจารย์ส้ม แก้วนิคม(อายุ ๖๗ ปี) ช่วยตรวจสอบบุคคลในภาพ ท่านพระอาจารย์จำบุคคลในภาพได้ชัดเจนสามท่านคือปู่โทน ขำสุข(ต่อมาเป็นเปลี่ยนเป็นสุขคนธ์) อยู่บ้านโคกมะตูม ต.หนองบัว ซึ่งปู่โทนนี้เป็นญาติกับอาตมาด้วย โดยท่านเป็นน้องของปู่ของอาตมาคือปู่กร่าง ขำสุข(ตามศักดิ์แล้ว ท่านก็เป็นปู่)
    • อีกสองท่านคือโยมไสว บุญรอด อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๑ ต.หนองกลับ อยู่บ้านโนนนายายแรม(ปัจจุบัน เป็นบ้านจันทร์แรม) ท่านเสียชีวิตไปแล้วเมื่อไม่นาน และทายกวัดหนองกลับ คือทายกทิศ อินแดน (อายุ ๗๔ ปี) อยู่บ้านโคกขี้เหล็ก ต.หนองกลับ
    • เมื่อได้ข้อมูลชัดเจนอย่างนี้ ก็ได้นำภาพดังกล่าวไปให้เจ้าตัวคือทายกทิศดู เมื่อดูแล้วปรากฏว่าท่านจำไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว จำไม่ได้ว่าถ่ายที่ไหน ทำอะไรกัน และทำที่ไหน(จำไม่ได้แม้ภาพตัวท่านเอง) คนที่จำภาพทายกทิศได้มีอยู่ ๓ คนคือพระอาจารย์ส้ม ลูกชายทายกทิศ และหลานปู่ของทายกทิศ หลานชายอยู่อนุบาลอายุ ๕ ขวบ 
    • อาตมาให้หนูน้อยดูภาพถ่ายโดยไม่บอกว่าคนไหนเป็นปู่ของเขา เด็กน้อยดูภาพไม่ถึงสองนาที สามารถชี้บุคคลในภาพได้เลยว่าปู่ของเขาคนไหน ทั้งสองภาพที่มีปู่ของอยู่ เขาสามารถบอกได้อย่างแม่นยำไม่พลาดเลย
    • จะไปถามคนบ้านใกล้กันคือผู้ใหญ่ไสว บุญรอด ก็ไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะท่านได้เสียชีวิตไปซะแล้ว ภาพชุดนี้ก็เลยยังเป็นปริศนาต่อไป
    • แต่ได้มาแล้ว ครั้นจะไม่นำเสนอเลย ก็กระไรอยู่ คิดอยู่หลายวัน ที่สุดก็อดใจไม่ได้ เลยขอนำมาฝากทุกท่าน ดังนี้(ใครทราบบุคคลในภาพที่ตอนนี้ ท่านเหล่านั้น เป็นผู้สูงอายุแล้ว อาจเป็นญาติเรา เป็นบุคคลที่เรารู้จัก ช่วยบอกมาหน่อยจะขอขอบคุณล่วงหน้า)

                        
                        หลวงพ่ออ๋อย เจ้าอาวาสวัดหนองกลับ
                         
                         มีคนกำลังปราศัย โดยชาวบ้านยืนฟังอย่างตั้งใจ
                         
                         รถกำลังลากไม้จากป่า คนหนองบัวเรียกรถด๊อด(ยุคนั้นทราบว่าทั้ง                                อำเภอหนองบัวมีไม่กี่คันเอง)
                         Large_lnn00023.
                         บุคคลในภาพที่มีศรชี้กลางภาพคือผู้ใหญ่ไสว บุญรอด ส่วนภาพศรชี้ทางขวามือคือทายกทิศ อินแดน
                         
                         บุคคลที่ศรชี้คือปู่โทน ขำสุข(สุขคนธ์)
                         
                         ภาพหมู่ชุดนี้ พระอาจารย์สัม แก้วนิคม ยืนยันว่าเป็นกลุ่มคนบ้านใน เขตตำบลหนองบัว ซึ่งท่านจำหน้าได้เป็นบางท่าน แต่นึกชื่อไม่ออก
                        
                        ภาพนี้ เป็นภาพกำลังเตรียมยกเสา
                         Large_jdd00019.
                         หยุดพักกินข้าวกลางป่า บุคคในภาพที่ศรชี้นั้น หลานทายกทิศยืนยันว่าเป็นปู่ของเขา ซึ่งก็ดูกันหลายท่านทุกคนบอกว่าใช่ชัวร์
                        
                        ภาพนี้แหละ ที่อดีตสจ.อุปถัมภ์ อินสุธา บอกว่าภาพเหตุการณ์ทั้งหมดในชุดนี้ น่าจะเป็นภาพเหตุการณ์การสร้างโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม ที่โยมพ่ออาตมาเคยบอกว่าทำสมัยนายอำเภออรุณ วิไรรัตน์ การทำครั้งนั้นเกณฑ์ชาวบ้านมาช่วยกันเลื่อยไม้ในป่า ใครมีไม้อยู่แล้ว ก็สามารถนำมาบริจาคให้โรงเรียนด้วยก็ได้ ซึ่งครั้งนั้นโยมทายกทิศ ก็ไปช่วยตัดไม้ในป่าด้วย ยังจำได้ดี แต่เมื่อให้ดูภาพถ่าย ท่านนึกไ่ม่ออกเสียแล้วว่าครานั้นมีการถ่ายรูปด้วยหรือไม่ ถ้าถ่ายท่านบอกว่าไม่เคยมีใครนำมาให้ดูเลย 

    ได้สอบถามเรื่องนี้กับท่านกำนันเทียน ท้วมเทศ ท่านจำได้ว่าปีที่มีการสร้างอาคารเรียนหลังใหม่หลายหลังครั้งนั้น ปีพ.ศ. ๒๕๐๒ แต่เนื่องจากท่านอายุมาก เมื่อให้ดูภาพถ่าย ก็ไม่สามารถระบุรายละเอียดเหตุการณ์ในภาพชุดนี้ได้ ซึ่งก็เป็นเหมือนท่านผู้สูงอายุอีกหลายท่านที่บอกเล่าเหตุการณ์ได้ แต่เมื่อให้ดูรูปถ่ายท่่านสว.ทั้งหลายก็มองไม่ค่อยเห็นและก็นึกไม่ออกแล้ว(คงต้องสืบค้นบุคคลในภาพกันต่อไป ได้รายละเอียดแล้วจะมาเฉลยให้ทราบ)
                        
                         


                         


                         
                         
                        


    • ไปอ่านงานประเภทนิราศทั้ง ๙ เรื่องของพระสุนทรโวหาร(ภู่)หรือสุนทรภู่ จึงทราบว่าบทกลอนที่ได้นำมาประกอบบทความเรื่องบ่อพรานล้างเนื้อ เมื่อวันก่อนนั้น คือบทประพันธ์ของท่่าน นั่นคือนิราศพระบาทนั่นเอง ที่มา http://www.thai-tour.com/thai-tour/east/rayong/data/soontornphu1.htm
    • นิราศพระบาทนี้สุนทรภู่แต่งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๒๓๕๐ เรื่องราวนิราศพระบาทบรรยายถึงการเดินทางในคราวไปกับพระองเจ้าค์ปฐมวงศ์ เื่พื่อไปนมัสการรอยพระบาทสระบุรี การเดินทางจากกรุงเทพฯไปพระบาทยุค พ.ศ.๒๓๕๐ นั้น ต้องเดินทางทั้งทางน้ำและทางบก กว่าจะถึงพระบาทใช้เวลาเดินทางถึง ๓ วันด้วยกัน พักค้างที่พระบาท ๔ วัน รวมเดินทางไปกลับพักค้างของขบวนเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ครั้งนั้นแล้ว ๙-๑๐ วัน อ่านแล้วไ้ด้ความรู้ประวัติท้องถิ่นหลายแห่ง ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม คิตความเชื่อ ความศรัทธาประเพณีต่างๆในอดีต มีทั้งเรื่องสนุกและความลำบากทุกข์ยากของขบวนเดินทางปนเปกันไป 
    • บันทึกที่ระบุถึงการพักค้างคืนที่พระบาทคือ
      ....แต่รอยบาทอนุญาตไว้ยอดเขา        บุญของเราได้มาเห็นก็เย็นเศียร 
      บังคมคัลวันละสองเวลาเวียน              แต่จำเนียรนับไว้ได้สี่วัน
    • สุนทรภู่กราบรอยพระบาทพร้อมกับเจ้านายพระองค์นั้นแล้ว ก็อธิษฐานวานไหว้ขอพรพระ อ่านแล้วก็ได้ความทราบซึ้งใจ และได้ความรู้คติคนรุ่นเก่าเืมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ว่าไหว้พระแล้วเขาพรอย่างไรกันบ้าง สุนทรภู่อธิษฐาน ดังนี้

     ๏ พี่เข้าเคียงเบื้องขวาฝ่าพระบาท       อภิวาทหัตถ์ประนังขึ้นทั้งสอง 
    กราบกราบแล้วก็ตรึกรำลึกปอง            เดชะกองกุศลที่ตนทำ 
    มาคำรพพบพุทธบาทแล้ว                  ขอคุณแก้วสามประการช่วยอุปถัมภ์ 
    ฉันเกิดมาชาตินี้ก็มีกรรม                    แสนระยำยุบยับด้วยอับจน 
    ได้เคืองแค้นแสนยากลำบากบอบ        ไม่สมประกอบทรัพย์สินก็ขัดสน 
    แม้นกลับชาติเกิดใหม่เป็นกายคน         ชื่อว่าจนแล้วจงจากกำจัดไกล 
    สตรีหึงหนึ่งแพศยาหญิง                    ทั้งสองสิ่งอย่าได้ชิดพิสมัย 
    สัญชาติชายทรชนที่คนใด                  ให้หลีกไกลร้อยโยชน์อย่าร่วมทาง 
    ถ้ารักใครขอให้ได้คนนั้นด้วย                บุญจงช่วยปฏิบัติอย่าขัดขวาง 
    อย่ารู้มีโรคาในสารพางค์                     ทั้งรูปร่างขอให้ราวกับองค์อินทร์ 
    หนึ่งบิดรมารดาคณาญาติ                   ให้ผุดผาดผาสุกเป็นนิจสิน 
    ความระยำคำใดอย่าได้ยิน                  ให้สุดสิ้นสูญหายละลายเอง 
    ทั้งหวายตรวนล้วนเครื่องที่ลำบาก         ให้ปราศจากทั้งคนเขาข่มเหง 
    ใครปองร้ายขอให้กายมันเป็นเอง           ให้ครื้นเครงเกียรติยศปรากฏครัน

    • บทข้างต้นนี้สอดคล้องกับความเชื่อและมีอิทธิพลต่อสังคมไทยเรื่อยมาจนมาถึงคนเฒ่าคนแก่ในสมัยนี้ด้วย เพราะโยมป้าโยมพ่อกล่าวว่าดีใจที่ได้มาไหว้พระบาท
    • ต่อไปบทกลอนที่กล่าวถึงบ่อพรานล้างเนื้อในนิราศพระบาท เนื้อหาในบทนี้บทเต็มๆมีว่า
    • ถึงถ้ำหนึ่งชื่อถ้ำกินนรนั้น         สะพรั่งพรรณพฤกษาป่าระหง
      ดูคูหาก็เห็นน่ากินนรลง           เป็นเวิ้งวงลึกแลตลอดริม
      พาดพะองจึงจะลงไปเล่นได้    เป็นเหวใหญ่ลองโยนด้วยก้อนหิน
    • เสียงโก้งก้างก้องกึกไม่ถึงดิน   กว่าจะสิ้นเสียงผาเป็นช้านาน
      พี่กลัวตายชายชวนไปชมอื่น    ร่มระรื่นรุกขาขึ้นขนาน
    • ถึงบ่อหนึ่งมีน้ำคำบุราณ          ว่าบ่อพรานล้างเนื้อที่ในไพร
      พิเคราะห์น้ำสมคำบุราณกล่าว  ยังมีคาวเหม็นหืนจนคลื่นไส้
    • ถนอมหอมกลิ่นนุชเป็นสุดใจ    โอ้เป็นไรจึงไม่ติดอุรามา
      น่าฉงนจนใจสงสัยจ้าน           ด้วยรอยพรานจารึกอยู่กับผา
      แต่กล่าวไว้ว่าพรานไล่มฤคา     รอยตีนหมาก็ยังมีสำคัญครันฯ
    • ขอตั้งข้อสังเกต และนึกสงสัยอยู่ในใจว่าทำไมคนที่ได้เีรียนหนังสือแค่ประถมศึกษาอย่างโยมป้าโยมพ่อ(โยมป้าไม่จบประถม)ซึ่งระดับประถมไม่ได้เรียนเรื่องนิราศพระบาท แต่มีความรู้เรื่องราวเหล่านี้ได้พอสมควร นับเป็นความรู้่นอกตำรา นอกโรงเรียน แถมมีความศรัทธาลึกซึ้งกับเรื่องนี้ด้วย ต่างจากพวกเราไหม ที่ได้เรียนรู้เรื่องนิราศพระบาทจากหลักสูตร เรียนในห้องเรียน ซึ่งทุกท่านก็อ่านมาแล้ว สอบผ่านมาแล้ว แต่ความลึกซึ้งความผูกพันดูไม่แน่นแฟ้นเท่าไหร่
    • ตามธรรมเนียนการทำบุญของคนโบราณ เมื่อทำบุญแล้ว ก็จะนึกถึงคนที่ไม่ไปด้วย พอกลับจากวัดมาถึงบ้าน ก็จะนำบุญมาฝากให้ผู้ที่ไม่ได้ไปได้อนุโมทนา สุนทรภู่ก็เช่นกัน ในนิราศพระบาทบทสุดท้าย ท่านก็นำบุญจากการไปไหว้พระบาทมาฝากผู้อ่านผู้ฟังถ้วนทั่วทุกคน ดังนี้
    ๏ จอมนรินทร์เทวราชประภาษสั่ง          จะกลับยังอาวาสเกษมสันต์ 
    วันรุ่งแรมสามค่ำเป็นสำคัญ                  อภิวันท์ลาบาทพระชินวร 
    ถึงท่าเรือลงเรือไม่แรมหยุด                  ก็เร็วรุดตั้งหน้ามาหาสมร 
    แต่ตัวพี่ยังมาในสาคร                         น้ำใจจรมาถึงเสียก่อนกาย 
    ได้วันครึ่งถึงเวียงประทับวัด                  โทมนัสอาดูรค่อยสูญหาย 
    นิราศนี้ปีเถาะเป็นเคราะห์ร้าย                เราจดหมายตามมีมาชี้แจง 
    ที่เปล่าเปล่ามิได้เอามาเสกใส่               ใครไม่ไปก็จงจำคำแถลง 
    ทั้งคนฟังคนอ่านสารแสดง                   ฉันขอแบ่งส่วนกุศลทุกคนเอย 

     

     

    • มื่อต้นปีที่ผ่านมา(มกราคม ๒๕๕๕) ไปบ้านที่หนองบัว ไ้ด้ลองสำรวจเครื่องมือเกษตรของญาติโยม พบว่าเครื่องมือทำนาในอดีตหลายสิ่งหลายอย่างได้สูญหายไปกับกาลเวลา มีทั้งเก่าผุพังหมดอายุและปลานาสการหาไม่เ่จอ
    • มีบางอย่างที่พบก็เปลี่ยนวัสดุไปแล้ว จากทำด้วยไม้ ก็เป็นทำ้ด้วยเหล็กแทน อย่างกะฉาย, คันฉาย อันเก่าเคยทำด้วยไม้ใช้มาหลายสิบปี เทียบเท่าอายุคนคนหนึ่ง ตอนนี้หายาก แต่น่าจะมีเหลืออยู่บ้าง(ต้องสำรวจไหม่อีกครั้ง)
    • ตอนนี้หลายบ้านก็จะมีคันฉาย,กะฉาย เป็นเหล็กเสียมาก
                             
                             
                             
                             
                             ในวันหนึ่งได้ยืมกะฉายจากญาติมาถ่ายรูป ตอนนั้นเองก็มีหลานๆมาดูด้วย ญาติๆและยาย,แม่ใหญ่ของเด็ก เห็นหลานๆสนใจก็ได้โอกาสลองสอบถามดูว่าหลานๆจะรู้จักกะฉายไหม หลานๆตอบแล้ว ก็ทำให้ผู้ใหญ่หัวเราะชอบใจ ด้วยว่าหลานๆไม่เคยรู้จักกะฉายมาก่อนเลย "ตะขอ" คือคำตอบที่ได้จากหลานๆ

     

    • ดูจากลักษณะรูปทรงของกะฉายแล้ว มันก็คือตะขอนี่ิเอง ฉะนั้นหลานๆตอบว่าตะขอ ก็เป็นคำตอบที่ถูกต้องเลยเชียว
    • ต่อจากนั้นญาติๆก็ได้แนะนำให้หลานๆทราบชื่อที่ถูกต้อง ซึ่งหลานๆก็จำได้ดี โดยวันต่อๆมา ก็ได้ลองสอบถามหลานอีกหลายครั้ง ซึ่งหลานก็ตอบได้ถูกต้องแม่นยำ
    • เพื่อจะให้ได้เห็นของจริง วันหนึ่งญาติๆได้ไปป่ากัน เลยฝากให้ตัดไม้ไผ่มาทำกะฉายด้วย ได้ไม้ไผ่มาแล้วก็ได้ขอร้องให้ผู้เชี่ยวชาญทำ คือโยมพ่ออาตมานั่้นเอง
    • เนื่องจากไม้ไผ่ที่ญาตินำมาให้นั้น มีลักษณะเป็นไม้กะฉายอยู่แล้ว ที่เกือบจะใช้งานได้โดยไม่ต้องดัดก็ได้ ฉะนั้นโยมพ่อจึงตบแต่งนิดหน่อยแล้วนำไปดัดทิ้งไว้แค่วันสองวันเอง จากนั้นก็นำมารมไฟ ก็เป็นกะฉายที่สมบูรณ์พร้อมใช้งาน
                                 Large_p1017821. 
                                 โยมพ่อกำลังดัดกะฉายด้วยวิธีรมไฟ(๑ มกราคม ๒๕๕๕)           

     

     

     

     

     

     


    • สุนทรภู่ แต่งนิราศพระบาทให้ความรู้หลายอย่าง ท่านเดินทางผ่านถึงสถานที่ใด ก็มักจะกล่าวถึงตำนานชื่อบ้านนามเมือง กล่่าวถึงผู้คน บ้านช่องเรือนชาน สะท้อนภาพสังคมในสมัยนั้นได้อย่างดี แล้วก็จะนำชื่อเหล่านั้นมากล่าวเปรียเทียบชื่อคนรักของตนคือนางจันทุกครั้งครา อีกทั้งกล่าวคร่ำครวญถึงสุดที่รักอยู่ร่ำไปตลอดทางอีกด้วย  ที่มานิราศพระบาท http://www.thai-tour.com/thai-tour/east/rayong/data/soontornphu1.htm
    • อ่านไปก็นึกภาพตามไปด้วย จะได้อรรถรสยิ่ง ทุกสิ่งที่เห็นที่พบท่านสามารถนำมากล่าวเปรียบเทียบชีวิตของท่านได้อย่างกลมกลืนที่สุด อย่างบทกลอนที่จะนำมาให้อ่านข้างล่างนี้ อ่านแล้วเห็นภาพตามที่ท่านบรรยายได้ชัดเจนที่สุดบทหนึ่ง
    • อยุธยาเคยเป็นราชธานีรุ่งเรืองสุดขีด แต่ในเวลานั้นท่านผ่านมาเห็นมันเงียบเหมือนป่าช้า ไร้ผู้คน มีแต่เสียงนก สองฝั่งแม่น้ำก็มีแต่ต้นแฝก ต้นแขมขึ้นรกเรื้อไปหมด ท่านบรรยยายว่าเสียดายที่เกิดไม่ทันมาเห็นอยุธาสมัยที่รุ่งเรือง มาเห็นเอาตอนเป็นเมืองร้าง เงียบเหงา แล้วก็กล่าวเปรียบเทียบไปถึงชีวิตครอบครัวของตนว่า อย่าให้เหมือนกรุงเก่าที่ต้องร้างโรย ขอให้เทวดาดลใจอย่าให้น้องเป็นเหมือนอยุธยา แต่ขอให้เป็นเหมือนกรุงเรา ที่จะรักกันยั่งยืนตลอดไป

    ๏ อนิจจาธานินสิ้นกษัตริย์                    เหงาสงัดเงียบไปดังไพรสณฑ์ 
    แม้กรุงยังพรั่งพร้อมประชาชน                จะสับสนแซ่เสียงทั้งเวียงวัง 
    มโหรีปี่กลองจะก้องกึก                        จะโครมครึกเซ็งแซ่ด้วยแตรสังข์ 
    ดูพาราน่าคิดอนิจจัง                            ยังได้ฟังแต่เสียงสกุณา 
    ทั้งสองฝั่งแฝกแขมแอร่มรก                   ชะตาตกสูญสิ้นพระชันษา 
    แต่ปู่ย่ายายเราท่านเล่ามา                     เมื่อแรกศรีอยุธยายังเจริญ 
    กษัตริย์สืบสุริย์วงศ์ดำรงโลก                  ระงับโศกสุขสุดจะสรรเสริญ 
    เราเห็นยับยังแต่รอยก็พลอยเพลิน            เสียดายเกิดมาเมื่อเกินน่าน้อยใจ 
    กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก                        ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้ 
    ยังให้มันข้ามเข้าเอาเวียงชัย                    โอ้อย่างไรเหมือนบุรีไม่มีชาย 
    หรือธานินสิ้นเกณฑ์จึงเกิดยุค                  ไพรีรุกรบได้ดังใจหมาย 
    เหมือนทุกวันแล้วไม่คัณนาตาย                ให้ใจหายหวั่นหวั่นถึงจันทร์ดวง 

    ๏ พี่ดูใจค่ายนอกออกหนักแน่น                 ดังเขตแคว้นคูขอบนครหลวง 
    ไม่เห็นจริงใจนางในกลางทรวง                 ชายทะลวงเข้ามาบ้างจะอย่างไร 
    ขอเทเวศร์เขตสวรรค์ชั้นดุสิต                    ดลใจมิตรอย่าให้เหมือนกับกรุงใหญ่ 
    ให้เหมือนกรุงเราทุกวันไม่พรั่นใคร              นั่นแลใจเห็นจะครองกับน้องนาน

     


    • วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๕ เวลา ๒๓.๒๐ นาที 
    • เวทีคนหนองบัว มีผู้เข้ามาเยี่ยมชมจำนวน ๗๐,๒๔๒ คลิ๊ก 
    • ผ่านหมื่นที่เจ็ดไปแล้ว

                              
                              ปีพ.ศ. ๒๕๔๙ เจ้าอาวาสให้พระในวัดช่วยกันนำล้อเกวียนของวัดมาปลูกสร้างประกอบเป็นที่นั่งพักใต้ต้นไม้ ภายในวัดศรีโสภณ
                             
                             ปีพ.ศ. ๒๕๕๐ พระสวัสดิ์ ฮวบนวม พระในวัดซึ่งมีความรู้ทางช่างหลายแขนง มีศรัทธาสร้างพระและรูปปั้นอื่นๆถวายไว้ในพระศาสนา ต่อมาท่านสึกไปทำงานที่เรือนจำกลางพิษณุโลก ในวันที่๑กุมภาพันธ์๒๕๕๕ที่ผ่านมา ได้แวะมาหาวัด เลยขอร้องให้ช่วยซ่อมแซมพระให้หน่อย(ทาสีองค์พระ) พระนี้ทำมาหลายปีแล้ว สีเดิมเริ่มจางไปบ้าง
                              
                              อันดับแรกให้ช่างผสมสีให้ดูเลย
                              
                              จากนั้นก็เริ่มสาธิตให้ดู
                              
                              สมภารกลับจากวิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราชแวะมาเยี่ยมให้กำลังใจ
                              
                              
                              เจ้าชายสิทธัตถะรูปปั้นเดิมเป็นสีขาว ทาด้วยสีทองเหลืองอร่ามงดงาม
                             
                             
                             พระพุทธรูปปางตรัสรู้ ก่อนทาด้วยสีทอง
                             
                             ขณะกำลังล้างองค์พระ แมวตามมาอยู่เป็นเพื่อน
                             
                             นักเรียนเห็นแมวมานั่งที่พระเลยมาขอถ่ายรูปคู่น้องแมวหน่อย
                             
                             
                             พระปางปรินิพพานสีเดิมเป็นสีทอง 
                             
                             หลังจากให้ช่างสาธิตให้ดูแล้ว วันนี้อาตมาลองทาสีทองรองพื้นบางๆไปก่อน
                            
                            เมื่อทาสีทองแล้ว ก็สวยงามตา
                            
                              
                             
                               

    เมื่อวาน(๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕)ได้ัรับหนังสือสองเล่มจากท่านพระครูโสภณปริยัิติสุธี(ศรีบรรดร ถิรธมฺโม)ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ อ.เมือง จังหวัดพะเยา

    ทั้งสองเล่มมีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานชุมชนเมืองพะเยา ที่เขียนโดยท่านพระครูโสภณปริยัติสุธี เป็นหนังสือเล่มเล็กๆแต่เนื้อหามีทั้งสำนวนโบราณ สำนวนร่วมสมัย และมีภาพการ์ตูนประกอบด้วย น่าสนใจมาก เป็นงานสร้างสรรค์ที่ประณีตงดงาม มุมมองเกี่ยวกับชุมชนตำนานพื้นบ้านเรื่องราวต่างๆในชุมชนฉายภาพออกมาอย่างชัดเจนเข้มข้น ด้วยลีลาการเขียนของท่านพระครู น่าอนุโมทนาที่ท่านพระครูทำงานนี้อย่างจริงจังทุ่มเทสุดฤทธ์สุดเดช เห็นผลงานที่ออกมาอย่างมากมายแล้ว ขอกราบคราวะความมุ่งมั่นในการทำงานเชิงรุกทำเื่พื่อบ้านเกิด ลงทุนลงแรงอย่างมหาศาล บทบาทการพัฒนาชุมชนอย่างที่พระคุณเจ้ากำลังทำอยู่ในขณะนี้หาไ้ด้ยากแล้วในปัจจุบัน

                                    
                                  
                                    

    แจ้งข่าว

    อ.เทิน ราชสันเทียะ ถึงแก่กรรม พระราชทานเพลิง วันเสาร์ที่ 11 ก.พ. 2555 เวลา 16.00น.ที่วัดหนองกลับ

    เพิ่งทราบข่าวจากเพื่อนที่หนองบัวเมื่อเช้านี้ เลยรีบมาแจ้งให้ทราบ

    ผมคงไม่ได้ไปหนองบัวในช่วงนี้ ก็ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของอาจารย์ด้วย

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล
    และสวัสดีครับฉิก

    • งานของท่านพระครูพระครูโสภณปริยัติสุธี(ศรีบรรดร ถิรธมฺโม) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ อ.เมือง จังหวัดพะเยานั้น มีคุณค่าทั้งตัวเนื้อหาความรู้ เจตนารมณ์ และความพากเพียรทุ่มเทกายใจ สร้างขึ้นมาให้เป็นสมบัติของสังคม มากอย่างยิ่งเลยนะครับ เห็นได้เป็นอย่างดีเลยนะครับว่า หากงานอย่างนี้เมื่อทำโดยพระสงฆ์และภายใต้บทบาทของวัดแล้ว ก็ได้ความงดงามและได้พลังปัญญาที่กอปรด้วยบริสุทธิคุณ ที่แตกต่างและยากจะหาได้จากงานความรู้เพื่อสังคมที่สร้างขึ้นโดยชุมชนทางวิชาการอื่น
    • ข่าวการถึงแก่กรรมของท่านอาจารย์เทินนั้น ทำไมปัจจุบันทันด่วนเหลือเกิน ไม่มีข่าวข่าวว่าอาจารย์จะมีปัญหาสุขภาพอะไรมาก่อน อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้เองก็ได้ทราบอยู่ว่าอาจารย์ได้เป็น สจ.ของนครสวรรค์ หรืออย่างไรนี่แหละ 
    • ขอน้อมกราบรำลึกถึงพระคุณของท่าน ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย และความดีงามทั้งหลาย ที่อาจารย์ได้สร้างสมมาตลอดห้วงชีวิต ได้เป็นกำลังหนุนส่งให้ดวงวิญญาณอาจารย์ถึงซึ่งสุคติภพ ขอไว้อาลัยและขอร่วมแสดงความเสียใจกับคุณครูฤดีวรรณ ครอบครัวลูกหลาน และญาติมิตรของอาจารย์ทั้งสองท่าน รวมทั้งขอร่วมแสดงความเสียใจกับเพื่อนๆศิษย์เก่าหนองคอก และคนนครสวรรค์ที่เคารพนับถือท่าน มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
    • ขอบคุณฉิกนะครับที่นำข่าวคราวมาบอกกัน

    เรียน อ. วิรัตน์

     

    ขอแนบภาพประกาศโฆษณางานงิ้วประจำปี พ.ศ. 2555 ครับ

    ต่อท้ายอีกเล็กน้อย

    * ผมเพิ่งจะโพสต์ภาพครั้งแรก ก็เลยไม่ได้ลงรายละเอียดเพิ่มเติมไว้ (กลัวภาพไม่ขึ้นนั่นเอง แต่ครั้งต่อไปคงจะได้ Upload ภาพเข้าบล็อกได้อีกเรื่อยๆ)

    * เนื่องจากภาพโฆษณานี้ ผมไปได้มาจากร้านอินเตอร์เน็ตในตลาด เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม และก็ยังไม่มีตัวแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่แบบไวนิล ก็เลยนำฉบับนี้แทน เมื่อคืนจะนำเสนอแล้วครับ แต่เว็บ gotoknow อืดมาก เลยเข้ามานำเสนอในตอนสายของวันนี้แทน

    * ช่วงงานงิ้วก็ไม่ได้ไปไหนอยู่แล้วครับ อีกอย่างหนึ่ง ผมได้ร้องขอกับผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ดูแลเว็บไซต์เพื่อนคนรักหนัง เนื่องจากกำลังจะมีโครงการจัดตั้ง "หอภาพยนตร์อีสาน" ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งผมเป็นหนึ่งในที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของโครงการนี้ด้วย ว่าถ้าบังเอิญไปชนกับงานงิ้วนี้เข้า ก็คงไปไม่ได้ (ยกเว้นหลังวันที่ 26 มีนาคม) เพราะตั้งใจที่จะพบปะกับ "เวทีคนหนองบัว" อยู่แล้ว และยังมีศิลปินจากค่ายอาร์สยาม ซึ่งผมรู้จักและสนิทกันเป็นการส่วนตัว (เกือบทุกคนในค่าย) อีก ไม่อยากพลาดโอกาสนี้ครับ

    * จะบอกว่าผมได้ทำสปอตโฆษณางานงิ้วไว้ ซึ่งทำขึ้นมาเองครับ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายจัดงานแต่อย่างใด เพราะเชื่อว่าคงมีการจัดทำมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะโปรโมทผ่านบริการหนังกลางแปลงในงานประจำปีวัดหนองบัว (หนองกลับ) ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ น่าจะเป็นช่วงวันท้ายๆ ของงาน เพราะตอนนี้ได้กลับมาให้บริการอีกครั้งในชื่อ "บีเคเอ็น แอดเวอร์ไทซิ่ง" ครับ

    คณะครูและนักเรียน โรงเรียนหนองบัว อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ ในโครงการ To Be Number One ไปร่วมกิจกรรมนำเสนอผลงานและแข่งขันทักษะผู้เรียนในการทำโครงการ To Be Number One ในโรงเรียน ที่จังหวัดเชียงใหม่

                               

                               

                               

    ระหว่างร่วมกิจกรรม คณะผู้บริหารและคุณครู ได้แวะเยี่ยมบ้านผมที่บ้านห้วยส้ม สันป่าตองด้วย ด้วยความซาบซึ้งใจและดีใจไปกับเด็กๆ ที่ได้มีโอกาสดีๆในชีวิตอย่างนี้ ในรุ่นเก่าก่อนนั้น คนหนองบัวและเด็กๆของโรงเรียนหนองบัว เพียงได้ออกไปพักแรมในแนวป่าเขาสูงและเขามรกต หรือป่าใกล้โรงเรียนที่เป็นสนามกีฬาในปัจจุบัน ก็นับว่าได้ไปเปิดหูเปิดตาไกลบ้านไกลโรงเรียนที่สุดแล้ว

    และในบางปี ที่นับว่าเป็นกรณีพิเศษซึ่งจะไม่สามารถจัดได้ทุกปีก็คือการได้เดินทางไปแข่งกีฬาในตัวจังหวัดนครสวรรค์ การที่จะได้ไปไกลถึงเชียงใหม่ และบางโครงการได้ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์วิชาการในต่างประเทศนั้น เกินที่จะสามารถคิดฝันกันได้เลยทีเดียว จึงขอแสดงความดีใจและขอชื่นชมคณะคุณครูกับทีมผู้บริหารโรงเรียนด้วยครับ

    ชิญร่วมรำลึกและเขียนเพื่อน้อมคารวะคุณครูของชาวโรงเรียนหนองบัว ๒ ท่านที่ได้ถึงแก่กรรมครับ คลิ๊กบนชื่อหรือบนภาพเพื่อลิงค์ไปยังบันทึก คุณครูรวีวรรณ เปรมจิตต์ และ คุณครูเทิน ราชสันเที๊ยะ

     

                         คุณครูรวีวรรณ เปรมจิตต์                                                          คุณครูเทิน ราชสันเที๊ยะ        

    เรียน อ. วิรัตน์

    ถึงช่วงปลายเดือนมกราคม และคาบเกี่ยวต้นเดือนกุมภาพันธ์ ก็เป็นช่วงของการเข้าค่ายพักแรมลูกเสือ - เนตรนารีครับ

    มานั่งนึกถึงบรรยากาศความหลังของการเข้าค่ายพักแรมที่ทางโรงเรียนหนองบัวจัดขึ้น ช่วงระหว่างปีการศึกษา พ.ศ. 2533 ถึง พ.ศ. 2538 (เรียงตามตั้งแต่ ม.1 ถึง ม.6 ส่วนวันที่เข้าค่ายจริงๆ ต้องเป็นปีถัดไปตามปฏิทิน) ก็รู้สึกตื่นเต้นเป็นธรรมดา ตลอดระยะเวลา 6 ปี เคยได้พักแรมซึ่งออกนอกเขตอำเภอหนองบัว 2 ครั้ง คือ ม. 3 ที่ทุ่งแสลงหลวง ด้านจังหวัดพิษณุโลก และ ม. 5 ที่กรมทหารพรานที่ 35 อ. คลองลาน จ. กำแพงเพชร นอกนั้นก็อยู่ในเขตอำเภอหนองบัว อาจเป็นเพราะเรื่องความปลอดภัยด้วยส่วนหนึ่ง ส่วนสถานที่กางเต๊นท์ก็ในบริเวณป่า ถัดจากห้องฝึกงานเข้าไปข้างในอีกหน่อย และทำอาหารรับประทานกันเอง คือได้บรรยากาศของคำว่า "พักแรม" จริงๆ

    ถ้าเป็นกรณีของการทัศนศึกษานอกสถานที่ จะมีอยู่ 2 ครั้งคือ ที่ท้องฟ้าจำลองและเล่นน้ำที่สวนสยาม ตอน ม.1 และงาน World Tech 95 ที่มหาวิทยาลัยสุรนารี จ. นครราชสีมา ตอน ม. 6 ซึ่งทั้ง 2 ครั้งที่กล่าวมานั้น ถือเป็นการเดินทางที่ไกลจากโรงเรียนมากที่สุดแล้ว

    นอกจากนี้ ช่วงปลายปีประมาณเดือนพฤศจิกายน ก็จะมีงาน "โลกวิชาการอาชีพ" ที่โรงเรียนนครสวรรค์ เนื่องจากโรงเรียนหนองบัวได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมตามหมวดวิชา ในส่วนของทางโรงเรียนก็จัดให้นักเรียนที่สนใจรวมเดินทางทัศนศึกษา (แต่ความจริงแล้วก็คือไปเที่ยวมากกว่า) เพื่อชมงานนี้ด้วย ส่วนผมเองก็ไม่เคยพลาด เพราะเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ถึงพ.ศ. 2537 ก่อนที่จะหยุดจัดไป ที่ไปตอนนั้นก็เพราะจะได้ช้อปที่ห้างแฟรี่แลนด์ (เนื่องจากในขณะนั้นเป็นที่นิยมและรู้จักกันโดยทั่วไป ก่อนที่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ตามมาในภายหลัง)

    มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ยังจำได้ไม่ลืมเกี่ยวกับกิจกรรมนี้ ไม่แน่ใจว่าจะเป็นปี พ.ศ. 2536 หรือ พ.ศ. 2537 นั่นคือ ก่อนหน้าที่งานจะเริ่มขึ้นประมาณเดือนเศษ ก็เกิดกระแสข่าวลือจากปากต่อปากว่า มีคนฝันเห็นรถบรรทุกโลงศพจำนวนมาก ก็ถามประมาณว่า เกิดอะไรขึ้น คนขับรถบรรทุกก็ตอบว่าเกิดเหตุร้ายแรงที่นครสวรรค์ บ้างก็ว่าเป็นอัคคีภัยในห้าง บ้างก็ว่ารถชนกัน ฯลฯ แต่พอเวลาเดินทางจริงๆ ก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นเลยครับ

    สวัสดีครับคุณครูอนุกูลครับ

    หากได้จัดเวทีหนองบัวเพื่อถอดบทเรียนเป็นระยะๆนี่ เราใช้รูปแบบแบกเป้แล้วไปนอนข้างป่าของโรงเรียน พร้อมกับชวนเด็กๆกับชาวบ้านมานั่งล้อมรอบกองไฟแล้วก็คุยและแสดงสร้างสรรค์ต่างๆไปด้วยกันนี่ คงจะให้ความประทับใจและมีพลังมากเลยนะครับ

    ช่วงงานงิ้วปีนี้ คุณครูอนุกูลชวนนั่งคุยและชวนดูหนังฟังเพลงสักเย็นของวันหนึ่งได้ไหมครับ ผมช่วย หรือออกแบบกิจกรรมย้อนรำลึกหนองบัวกับสังคมไทย ที่สนทนาและมองผ่านหนัง หรือโรงหนังหนองบัวในอดีต ทำนองนี้น่ะครับ

    เรียน อ. วิรัตน์

    มองดูปฎิทินแล้วเหลืออีกไม่ถึงเดือนเศษๆ ก็จะถึงงานงิ้วแล้ว และจากครั้งที่แล้วที่ผมมาทราบในภายหลังจนถึงช่วงวันแห่ของงาน ก็เลยมีโอกาสน้อยมาก และปีนี้ตั้งใจถึงขนาดที่ว่าต้องร้องขอให้งดติดต่อกับผมเพื่อออกนอกเขต อ. หนองบัว ตลอดงานงิ้วนี้ เพื่อตั้งใจจะมาร่วมงานโดยเฉพาะ ซึ่งผมเองก็ยังไม่ทราบเลยว่าจะจัดแสดงในเต๊นท์ตลอดทั้ง 5 คืนหรือตามความสะดวกของอาจารย์ครับ

    ตอนนี้ก็ค้นหาภาพที่เกี่ยวข้องโรงภาพยนตร์และเตรียมไว้สำหรับจัดแสดง ในส่วนของการติดตามเกี่ยวกับฟิล์มภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับอำเภอหนองบัว ก็เจออุปสรรคใหญ่ที่ทราบมาจากคนที่ทำหนังกลางแปลง ซึ่งอยู่ในอำเภอหนองบัว นั่นคือ คุณสมบูรณ์ ศรีสูงเนิน กล่าวคือฟิล์มภาพยนตร์ 16 ม.ม. ที่ถ่ายโดย อ. นุช เจริญสุข นั้น ไปอยู่ที่ กทม. ทั้งหมดเลย (แต่โดยส่วนตัวก็รู้สึกเสียดาย เพราะถ้าเก็บรักษาไม่ดี ก็เสื่อมสภาพจนฉายไม่ได้ นั่นหมายความว่าทุกความเคลื่อนไหวในอำเภอหนองบัวเมื่อครั้งอดีตเป็นอันสูญ เหลือเพียงแต่ข้อความให้อ่านเพื่อจินตนาการเท่านั้น)

    นอกจากนี้ก็ยังต้องติดตามข้อมูลเกี่ยวกับฟิล์ม 16 ม.ม. อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์วัดหนองกลับ ที่เมื่อตอนผมมบวชอยู่นั้นเห็นมีเป็นจำนวนมาก ก่อนที่จะหายไป ปรากฏว่า ท่านเจ้าอาวาสได้มอบให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัยเจ้าพระยาท่านหนึ่ง และต่อมาอาจารย์คนดังกล่าวก็เป็นสมาชิกเว็บไซต์ "เพื่อนคนรักหนัง" อีก ก็ได้ข้อมูลมาว่าฟิล์มภาพยนตร์ 16 ม.ม. จากพิพิธภัณฑ์ฯ อยู่ที่เขาทั้งหมด ซึ่งบางส่วนก็เสียหายไปแล้ว จากนั้นก็ถามถึงฟิล์มที่เกี่ยวข้องกับอำเภอหนองบัว ซึ่งน่าจะมีบางส่วนติดอยู่ที่นั่น ก็ทราบว่ามีเฉพาะส่วนที่เป็นภาพยนตร์ให้ความรู้ หรือภาพยนตร์สารคดีที่ถูกต่อรวมกับภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ แต่ฟิล์มม้วนนั้นเสียหายและได้ทำลายไปแล้ว ก็ยอมรับว่ามารู้จักกันช้าไปหน่อย จนในที่สุดก็ได้นำฟิล์มภาพยนตร์ 16 ม.ม. บางส่วนไปถ่ายเป็นแผ่นดีวีดีเก็บไว้ ร่วมกับภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่เป็นฟิล์ม 16 ม.ม. โดยไปไกลถึงจังหวัดอุดรธานี ซึ่งยังเหลืออีก 2 ม้วนที่เป็นภาพยนตร์ข่าวกีฬาจากต่างประเทศ เป็นการแข่งขันกรีฑาในร่ม ซึ่งติดมากับภาพยนตร์เรื่อง "ดรรชนีนาง" ที่มาฉายในโรงภาพยนตร์ศรีปทุม และภาพยนตร์ข่าวพิธีเปิดศาลคดีเด็กและเยาวชน โดย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปี พ.ศ. 2497 ที่ยังไม่ได้ดำเนินการถ่ายลงแผ่น เพราะติดเรื่องเวลาทำงาน แต่สภาพของฟิล์มโดยรวมถือว่ายังดีอยู่

    สำหรับในงานงิ้วตลอด 5 วัน สมมติว่า เวทีหนองบัว จัดอยู่ในงานตลอด 5 คืนนะครับ วันที่ผมจะอยู่ที่เวทีคนหนองบัวอย่างเต็มที่คือ วันที่ 23 (คืนที่สอง) และวันที่ 26 (คืนสุดท้าย) ครับ ขณะที่คืนวันที่ 22, 24 และ 25 ก็จะอยู่ได้ไม่เกิน 2 ทุ่ม เนื่องจากจะต้องไปถ่ายภาพการแสดงของศิลปินลูกทุ่ง เพราะจะต้องลงเฟซบุค เนื่องจากมีรายการทีวีดาวเทียมขอนำภาพดังกล่าวไปออกอากาศครับ

    สวัสดีครับคุณครูอนุกูลครับ
    ดูท่านน่าจะสนุก สร้างสีสันของงาน
    และได้สร้างความรู้เกี่ยวกับหนองบัวได้อีกหลายด้านเลยนะครับ
    ค่อยๆช่วยก้นจัดโปแกรมให้ลงตัวไปเรื่อยๆนะครับ

    กรานมัสการพระอาจาร์มหาแล พระอธิการโชคชัย ท่านอาจาร์วิรัตน์ และคุณอาศักดิ์ศรี-ฉิก

    ผมไม่ได้เข้ามาเยี่ยมนานแล้วเข้ามาทีไรมีแต่เรื่องราวความรู้ใหม่ๆเพิ่มขึ้นมากมาย ผมเองได้มีโอกาสได้กลับบ้านที่หนองบัวเมื่อสองวันก่อนแต่มีเวลาไม่หลายวันเลยตั้งใจว่าจะหาอะไรมาเป็นของฝากจากหนองบัว

    กังหันลม หรือที่ชาวบ้านหนองบัวคนรุ่นเก่ามักเอ่ยเรียกออกเสียงเหนอๆว่า   จิ่งหั่น  ตามสำเนียงท้องถิ่นชาวบ้านหนองบัว กังหันลมที่พบเห็นตามบ้านหนองบัวจะทำจากไม้ที่มีเนื้ออ่อนและเหนียว ซึ่งสามมารถขัดเกลาได้ง่าย

    ไม้ที่ชาวบ้านนิยมนำมาทำกังหันนี้ส่วนมากหาได้ยากนักจากป่าหนองบัว แต่บัจจุบันก็ยังพอมีหามาได้เช่นไม้สัก ไม้ลาย ไม้ข่าย เป็นต้นตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่ยังเหลืออยู่  ต้องเป็นไม้ที่ไม่มีตาไม้ เพราะจะทำให้แตกหักได้ง่าย ลักษณะเด่นของกังหันลมที่บ้านหนองบัวนั้นเมื่อเกิดลมพัดแรงๆจะมีเสียงดังเกิดขึ้น กังหันจะดังไพรเราะ เมื่อลมพัดจะเกิดเสียงครางก่อนแล้วค่อยๆดังหนักขึ้นเป็นจังหวะ  กังหันลมจะเล่นกันหน้าหนาวเพราะช่วงนี้จะมีลมมากจนถึงช่วงปลายเดือนมีนาคมก็จะเลิกเล่นกัน   กังหันลมมักติดตั้งไว้ตามต้นไม้สูงๆเพื่อให้รับลมได้ดี ส่วนห่างด้ามเพลาจะมีหญ้าแฝกมัดแน่นเป็นหางเสือ พริ้วตามทิศทางลม ยิ่งสมัยก่อนช่วงเกี่ยวข้าวชาวบ้านจะนำไปติดตั้งตามตนไม้เสียงกังหันจะดังก้องท้องนาน่าเพลินทั้งยังเป็นของเล่นเด็กๆควบคู่ไปกับการวิ่งว่าว แต่สำหรับเด็กนั้นจะมีขนาดเล็กตามความเหมาะสม หากใช้ขนาดเท่าของผู้ใหญ่ จะไม่สามมารถตานแรงลม และใบกังหันจะไม่พ้นดิน เวลาวิ่งต้องเชิดหน้าขึ้นให้พ้นดิน

    นายแดง มากน้อย บ้านเนินขี้เหล็ก  หมู่12 หนองกลับ พูดไม่ได้ หูไม่ได้ยิน มาตั้งแต่เกิด แก่มีฝีมือทางด้านช่างไม้ แต่แกก็สามมารถทำกังหันลมได้ไม่แพ้คนปกติ สามารถรับรู้ได้ว่าเสียงดีไม่ดี จะให้ครางมากครางน้อยทำได้หมด รับรู้เสียงได้จากแรงสั่นสะท้านบนด้ามจับ

    ติดตั้งกังหันกับบนต้นไม้

    ภาพวาดไอ้แบ้ยาลาน ด้านบนขวามือที่ผมวาดไว้เมื่อปี /2552 ภาพกังหันตั้งอยู่บนต้นไม้ข้างห้างนา

     

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล เจริญพรโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ และเครือข่ายครู เวทีคนหนองบัว


               เช้าวันนี้ ได้จัดส่ง มะยมชิด(มะปรางไข่ไก่) จำนวน 22 กิโลกรัม บรรจุใส่กล่องกระดาษ 3 กล่องใหญ่ ฝากรถ บขส. ป.2 สายเชียงราย-นครราชสีมา เที่ยว 10.30 น. ไปยังเครือข่ายครูโรงเรียนหนองบัว ลงชื่อถึง อาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว นำไปแจกจ่ายเครือข่ายครู ถือว่าเป็นของฝากจากพรหมพิรามครับ สดจากไร่.. ใหม่จากสวน (ที่บ้านโยมอาตมาเอง)

    ตอนที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลงานศึกษาวิจัยได้รับความอนุเคราะห์ สงเคราะห์จากเครือข่ายครูโรงเรียนหนองบัวเป็นอย่างดี โดยเฉพาะท่านอาจารย์สืบศักดิ์ ท่านกรุณาอำนวยความสะดวกขับรถรับ-ส่งเป็นอย่างดี..ขอนุโมทนาขอบคุณ

    ตอนนี้เชื่อว่าท่านพระอาจารย์มหาแล คงจะลองฉันบ้างแล้วน่ะครับ..แต่ผมจะทำอย่างไงดีครับอยากให้ท่านอาจารย์ดร.วิรัตน์ ลองรับประทานของฝากจากพรหมพิรามดูบ้าง..

                            

                           

    อธิบายภาพ: มะยมชิด(มะปรางไข่ไก่) ของดีเมืองพรหม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก (สวนลุงเบิ้ม) ภาพถ่ายโดย พระอธิการโชคชัย

    สวัสดีครับคุณเสวกครับ

    • เห็นรูปวาดไอ้แบ้ทีไรก็ชอบและนึกเห็นภาพชีวิตชนบทอันรื่นรมย์ ให้ครึ้มอกครึ้มใจไปด้วยได้ทุกที การวาดรูปเป็นภาษาสื่อสะท้อนประสบการณ์และการมีความลึกซึ้งต่อชีวิต หากสามารถทำให้คนรู้วิธีพากันเห็นภาพและวาดใจ แล้วจึงค่อยถ่ายทอดภาษาภาพออกมาด้วยมือหรือทางใดทางหนึ่ง สังคมก็จะสามารถถ่ายทอดสื่อสารความละเอียดอ่อนลึกซึ้งต่อสิ่งต่างๆของมนุษย์ได้อย่างไร้ข้อจำกัดมากยิ่งๆขึ้นไปอีกนะครับ
    • กังหันลมบนหลังคา ยอดไม้ หรือยอดตาลของชาวบ้านนอกนั้น นอกจากเป็นของเล่นสร้างความเลิพดเพิลนใจแล้ว ก็นับว่าเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบชาวบ้านในการบอกทิศทางลมเพื่อคำนวณการทำงานและการทำมาหากินต่างๆ ที่มีความสำคัญมากเลยนะครับ การเล่นว่าวและการเล่นกังหัน ต้องเล่นกับลมบน ภายใต้ความเพลิดเพลินของว่าวลอยลมและการหมุนของกังหันนั้น ชาวนา โดยเฉพาะชาวนาข้าว จะสามารถถัวเฉลี่ยทิศทางลม คาดคะเนความแรงและความผันผวนของลม ว่าจะเป็นอย่างไร หากจะฝัดข้าว ทั้งหลังจากนวดข้าวและสีข้าวเพื่อตำด้วยครกกระเดื่อง เมื่อโยนแกลบและบวกกับข้อมูลของกังหันลมแล้ว ก็ทำให้พอจะรู้ว่าควรจะตั้งสีฝัดข้าวทางด้านไหนของลานข้าวและตัวบ้าน ซึ่งจะทำให้แกลบและคายข้าว ไม่ลอยปลิวเข้าบ้าน
    • ชอบเรื่องของนายแดง มากน้อย บ้านเนินขี้เหล็ก จังเลยครับ เป็นการสะสมเรื่องราวของชุมชนที่มีอยู่ในผู้คนที่งามดีครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอธิการโชคชัยครับ

    • เห็นแล้วก็ให้น้ำลายไหลไปหลายหยดเลยละครับ
    • เป็นมะยมชิดที่แสนจะอร่อยและหอมหวานเข้าไปถึงจิตวิญญาณยิ่งกว่ามะยมชิดไหนๆเลยนะครับ เพราะเป็นมะยมชิดจากน้ำใจและความรำลึกถึงกัน จะไปซื้อหาจากที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะไม่สามารถประเมินค่าเป็นเงินทองได้ นี่ขนาดเป็นเพียงคนได้รับรู้ก็ให้รู้สึกหอมหวานและเกิดความอิ่มในใจไปด้วยเลยนะครับ
    • สำหรับผมนี่ หากส่งไปที่อาเขตสถานีรถทัวร์ของเชียงใหม่ แล้วให้เขาโทรไปบอกให้ผมไปรับที่ ๐๘๖-๖๗๐๒๙๗๒ ก็ได้ครับ แต่มันจะลำบากคนส่งและพระคุณเจ้าน่ะสิครับ .... ฮ่าาาา ทำปากว่าตาขยิบน่ะครับ

    เจริญพรโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์

    เดี๋ยวอาตมาจัดให้ครับ...ตอนนี้คุณครูโรงเรียนหนองบัว

    ชมและชิมกันอย่างเอร็ดอร่อยเลยครับ..

    สบายใจและมีความสุขทั้งผู้รับและผู้ให้ครับ.

    ท่านอธิการโชคชัยครับ

    ผมได้ฉันแล้วครับมะยมชิตของดีเมืองพรหม กรอบหอมหวานดี
    ผลใหญ่ ผลสวย ทราบว่าโลหนึ่งราคาเกินร้อยบาท ไม่พอขายด้่วย
    เมื่อวานพระคุณเจ้าถวายมาหนึ่งโล ขอบอกว่ารสชาดสมราคาครับ 
    ขอบพระคุณมากครับ
                                     
                                    มะยมชิตของดีเมืองพรหม(พรหมพิราม) 

    ทราบว่าโลหนึ่งราคาเกินร้อยบาท
    แก้เป็น เกินครึ่งร้อยบาทครับ

    เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ผมพานักศึกษาไปดูงานที่จังหวัดนครนายก
    เห็นกิโลกรัมละตั้ง ๒-๓ ร้อยบาทแน่ะครับ ราคาลงเร็วมากเลยนะครับ

            ราคาในท้องตลาดยังขายแพงมากครับ ราคาอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ150-300ร้อยบาท(ช่วงต้นฤดู) แต่ที่สวนปลูกไว้เพื่อรับประทานกันเอง เพียงแค่ 20 กว่าต้น เหลือแล้วก็แบ่งปันให้ชาวบ้านใกล้เคียงได้รับประทานด้วย ในราคาบ้านบ้านครับ เมื่อ 2 ปีกว่าขายส่งกิโลละ 50 บาท แต่ปัจจุบันขอปรับขึ้นเป็น 60 บาท เพราะค่า GDP มันสูงขึ้น..ฮ่าฮ่า..

           ขอบอกที่สวนลุงเปิ้มนี้ ใช้สารชีวภาพแทนการใช้สารเคมีครับ เช่น น้ำส้มควันไม้ ช่วยเร็งการติดตาดอก และไม่มีแมลงรบกวน ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคครับท่าน.. 

    ในสังคมชาวบ้านเมื่อตอนเป็นเด็กและอยู่บ้านนอกที่หนองบัวนั้น ผลไม้พวกมะปราง ชมพู่ มังคุด ส้ม อะไรเทือกนี้ ต้องถือว่าเป็นของราคาแพง คนมีเงินถึงจะมีโอกาสได้กิน ส่วนชาวบ้านนั้น ก็จะมีพวกมะขามหวาน เมล็ดมะขามคั่ว แตงไทย มะขวิด มะตูม เล็บเหยี่ยว มะละกอ ขนุน มะม่วง ลูกไข่เน่า กล้วย ซึ่งก็เยอะกระทั่งทั้งกินและใช้ขว้างหัวกันเล่นแล้วก็ยังเหลือเฟือ

     

    เจริญพรโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์

             อาตมาจัดส่งมะยมชิดฝากถึงโยมอาจารย์แล้วนะ เมื่อบ่ายวันนี้ทางรถ บขส. นครชัยแอร์ จากพิษณุโลก จะถึงสถานีขนส่งเชียงใหม่เวลา 08.00 น. ลองชิมเล่นๆ นะครับ 15 กิโลกรัม(พอดีโยมไปหากล่องมาใหญ่หน่อยนะครับ..) เมื่อเวลา 18.29 น. โทรถามเครือข่ายครูหนองบัวโทรติดและรับ คือ ครูปอง และบอกว่าได้รับแล้ว..แจกจ่าย แบ่งปันกันทั่วถึง ดีใจครับ..ที่ได้รับแล้ว..อาตมานำรูปมาฝากครับ

       

      

    มะยมชิด เก็บจากต้นสดๆ และบรรจุลงกล่อง ผ่านไปหนึ่งคืน สองคืน รสชาติจะดีมากครับหวานฉ่ำ ดับความร้อนได้ดีนักแล...ถือว่าเป็นของฝากจากพรหมพิราม โดยพระอธิการโชคชัยและญาติโยมครับ. เจริญพร

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล

    แหม..รู้สึกว่าผลไม้ตามฤดูกาล เวทีคนหนองบัวปีนี้จะออกดอกออกผลเยอะดีนะครับ

    มีให้เลือกชิมและชม หลายมะ...ดีครับ ผลไม้ไทยๆ นับวันจะหายากแล้วครับ เช่น มะขวิด สมัยผมเด็กๆ ผมกินจนถ่ายไม่ออกเลยครับ เม็ดมันเยอะ แต่จริงๆแล้วมะขวิดเป็นยาถ่าย ยาระบายอย่างดีเชียว..

    ท่านอธิการโชคชัยพูดถึงผลไม้ไทยๆ เลยนึกขึ้นได้อีกหลายอย่างเลยนะครับ
    ฝรั่งขี้นกครับ ตอนนี้ก็เริ่มจะหากินแล้วนะ เมื่อปีที่แล้ว(๑๙ กันยายน ๒๕๕๔)มีคนนำมาถวายผมเยอะเลยครับ เมื่อจิ้มพริกเกลือก็คิดถึงบ้านเลยแนะ เป็นอย่างนั้นจริงๆครับ ไปนาทำงานหนักๆ กลับถึงบ้านตอนเย็นๆ ได้ฝรั่งขี้นกจิ้มพริกเกลือนี่ ชื่นใจหายเหนื่อยเลยครับ
     
             
             นำมาจากบันทึกคนหนองบัวกับพริกเกลือที่นี่ครับ :
     http://www.gotoknow.org/blogs/posts/281711

    ส้มซ๋า

    ส้มซ๋าเืมื่อก่อนที่หนองบัวก็เยอะนะครับ ในตอนนั้นผลไม้ชนิดนี้ถือว่าเป็นของฝากในชุมชนที่มีระดับเลยแหละ โดยเฉพาะเด็กๆนี่กินได้ทุกวัน ไม้ซ่าวยาวๆสอย ฟาด เขย่า หรือบางทีก็ใช้กระบองขว้างเอา ใครมีฝีมือในการยิง ก็หนังสะติ๊กนี่แหละ ยิงก็พอได้กิน

    ส้มซ่าผลคล้ายมกรูดครับ ผิวขรุขระเล็กน้อย เปลือกหนากว่าส้มทั่วไป รสชาติอมเปรี้ยวเล็กน้อย นอกจากจะกินผลสุกแล้ว ผลดิบหรือเปลือกส้มซ่านี่ก็เข้ายาไทยได้หลายขนาน
    ส่วนใบอ่อนนำไปทำเป็นเครื่องปรุงใส่ต้มอ่าง อร่อยมากเลย ผมไม่ได้เห็นต้นและกินส้มซ่านานมากแล้วครับ
    ภาพนี้ยืมมาจากบล็อกเกอร์นครสวรรค์ในโกทูโนครับ 
                               
                               ส้มซ่า:โดยคุณnana กรุณา สุขแท้

    Ico64กรุณา สุขแท้ 
    นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ 
    ศูนย์อนามัยที่ 8
     http://www.gotoknow.org/blogs/posts/372273

    น้ำลายไหลหลายหยดแล้วครับท่านพระอาจารย์มหา มีแต่ของเปรี้ยวๆ ทั้งนั้นเลย..คลายร้อนไปได้เยอะครับ..

    ใบอ่อนนำไปทำเป็นเครื่องปรุงใส่ต้มอ่างอร่อยมากเลย คือ อะไรครับ

    วันนี้ไ้ด้ทราบว่าท่านอธิการโชคชัย จะนำมะยมชิตส่งไปให้อาจารย์วิรัตน์ที่เชียงใหม่ เลยถือโอกาสฝากให้ท่านช่วยซื้อให้ด้วย จำนวน ๓ กิโลกรัม ญาติท่านอธิการซึ่งเป็นเจ้าของสวนรู้ว่าพระสั่ง ก็เลยร่วมทำบุญถวายเพิ่มมาให้มาอีกหนึ่งโล
    ขออนุโมทนาบุญกับเจ้าของสวนและท่านอธิการด้วยครับ
                                 

     

    กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ

    • ผมได้ไปรับมะยงชิดที่พระคุณเจ้าได้จัดส่งไปให้มาเรียบร้อยแล้วครับ แกะออกดูแล้วก็ให้ระลานตา ลูกมันโตอย่างกับไข่ไก่ รวมทั้งเยอะมากเลยครับ เต็มกล่องเลย กราบขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับ รวมทั้งขอบพระคุณโยมของพระคุณเจ้า และขอบใจเจ้าหนูน้อยพ่อค้าและชวนสวนมะยงชิดตัวเล็กๆ ๒ คน
    • เลยตั้งใจว่าจะขอรับเพียง ๕ กิโลนะครับ อีก ๑๐ กิโลนี่ขอให้ผมได้ซื้อเป็นกำลังและเป็นทุนการศึกษาของเจ้าหนูตัวเล็กสองคนนั่น รวมทั้งเป็นกำลังใจญาติโยมของพระคุณเจ้าด้วยนะครับ ผมคิดราคาและรวมค่าใช้จ่ายในการส่งให้เสร็จสรรพด้วย สักเท่าไหร่ดีครับ สัก ๗๐๐ บาทก็แล้วกัน ตอนไปจัดกิจกรรมเวทีคนหนองบัว ในงานงิ้วปีนี้ด้วยกันปลายเดือนมีนาที่จะถึงนี้ จะขอความอนุเคราะห์ฝากไปกับพระคุณเจ้าอีกทีหนึ่งนะครับ

                                         

                                         

    • ผมกับครอบครัวเลยขอเสริมส่งการปฏิบัติทานบารมีของพระคุณเจ้าและญาติโยมจากพรหมพิรามเนื่องในวันมาฆะบูชานี้ โดยจัดการแบ่งมะยงชิดใส่ถุงเล็กๆได้กว่า ๑๐ ถุง เตรียมเอาไปแจกจ่ายคนเฒ่าคนแก่ ชาวบ้าน และครอบครัวของญาติๆ
    • อีกส่วนหนึ่ง ก็จัดตะกร้า พากันไปน้อมถวายแด่พระคุณเจ้าเจ้าอาวาสวัดห้วยส้ม ซึ่งท่านและกลุ่มศรัทธากำลังเตรียมจัดงานปอยหลวง เฉลิมฉลองการสร้างศาลาการเปรียญ ร่วมกันของวัดและชุมชน
    • ท่านกำลังอาพาธ เป็นไข้หวัดลงคอ ก็นับว่าเหมาะแก่กาลพอดี พรุ่งนี้หากได้ฉันผลไม้ก็จะช่วยให้ชุ่มคอและบรรเทาความระคายคอ
    • เมื่อทราบเจตนาและทราบความเป็นมาแล้ว ท่านก็กล่าวอนุโมทนาและให้ศีลให้พร มีความสุขครับ
    • พอเสร็จแล้วผมเลยได้ชิม อร่อยชื่นใจมากครับ หมดเป็นครึ่งกิโลครับ เลยไม่รู้ว่าจะเรียกว่าชิมได้หรือเปล่า

    เจริญพรโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ครับ

            อาตมาเห็นแล้วก็ชื่นใจ หายเหนื่อย.. โยมจัดใส่ตะกร้าแล้วก็ดูดีนะครับ สวยงามแบบไทยๆ เหมาะเป็นของฝากเข้าคารวะขอพรผู้เฒ่า ผู้แก่จริงๆ (อาตมาตั้งใจเป็นของฝากให้โยมอาจารย์นะครับ) ปีนี้มะยมชิดของฝากจากพรหมพิราม ได้ไปถึงห้วยส้มและได้ถวายพระคุณเจ้าอีกด้วย  เมื่อปีที่แล้วก็ได้จัดถวายหลวงพ่อพระพยอม จากวัดสวนแก้ว ไปตะกร้าหนึ่งเช่นกัน ท่านได้มีโอกาสมาเทศนาธรรม ณ เทศบาลตำบลพรหมพิราม และถ้าญาติโยมอาตมาเห็นท่านก็คงอิ่มบุญไปด้วยเช่นกัน ทีแรกก็จะเอาไปฝากกันช่วงงานงิ้วนั่นแหละครับ แต่มะยมชิดอยู่ไม่ถึงก็เลยจัดให้เสียตอนนี้เลย..ขออนุโมทนาบุญร่วมด้วยครับ..

           ท่านเจ้าอาวาสวัดห้วยส้ม ดูคุ้นๆ นะครับน่าจะเคยเจอกันสมัยทำงานเครือข่ายพระสงฆ์ ต้านภัยยาเสพติด พระวิทยากร "กองทัพธรรม กองธรรมไทย" วัดห้วยส้มก็มีบทบาทร่วมกับวัดเจดีย์หลวง ในการทำงานของบทบาทพระสงฆ์และอีกหลายวัดในจังหวัดเชียงใหม่ ถ้าบอกว่าอาตมามาจากวัดสวนร่มบารมี ตำบลวงฆ้อง อำเภอพรหมพิราม ซึ่งจัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงาน จัดอบรม สัมมนาเครือข่ายพระสงฆ์ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด พระอาจารย์น่าจะร้องออ..(ถ้าผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ)

            อาตมาคุยเรื่องมะยมชิด ของฝากจากพรหมพิราม ยาวไปหน่อย ถือว่ามีปีละครั้งนะครับโยมอาจารย์ เสมือนวันมาฆบูชา..เจริญพร

    ใกล้จะถึงงานงิ้วปีนี้แล้ว (๒๒-๒๖ มีนาคม ๒๕๕๕)
    ถือโอกาสเชิญชวนบล็อกเกอร์หนองบัว ที่อยู่ในพื้นที่,ต่างจังหวัด,ต่างประเทศ ถ้าในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีโอกาสกลับหนองบัว ก็อย่าลืมแวะไปชมไปเชียร์กันสักหน่อยก็จะดี

    และอีกกลุ่มสองกลุ่มที่อยากเชิญชวนไปเที่ยวงานงิ้วปีนี้คือกลุ่มพริกเกลือกลับกลุ่มชมรมร่มไม้ ที่ทำงานอยู่จังหวัดระยอง กลับไปเยี่ยมบ้านตอนงานงิ้วแล้วละก็เชิญไปร่วมกันจัดกิจกรรมได้เลยขอบอก

    บล็อเกอร์หนองบัวที่ไปร่วมกันจัดงานก็มีสามท่านคือดร.วิัรัตน์ ครูอนุกูล และอาตมา ส่วนที่เหลืออีกสิบกว่าท่านก็เจริญพรทุกท่านเลยคือ

    (๑)วิฑูรย์ ขำสุข(๒)อ้อย : สุภาเพ็ญ นุชเฉย (๓)อัญชัน แสนเหมือน(๔)เสวก ใยอินทร์ (๕)ฉิก : ศักดิ์ศรี  พิทักษ์อำนวย (๖)สมบัติ  ฆ้อนทอง (๗)อำนาจ(ธนกฤต)รอดแสวง (๘)บุญเลิศ ทรงทอง(๙)กิตติ ป้อมเสน (๑๐)ยุพิน รอดประพันธ์ (๑๑)รัชทนง รัชโพธิ์พรหม

     งานงิ้วหนองบัว : วาระรักชาติ วาระรักบ้านเกิด

    ของฝากงานงิ้วหนองบัว ๒๕๕๕
    สองสามวันที่ผ่านมาได้ขอแรงพระในวัด(พระกิตติพงษ์ สุเมโธ)
    ให้ช่วยทำเอกสารแผ่นพับเล็กๆกระดาษเอ๔(๒ แผ่น,๘ หน้า)
    โดยนำตำนานเมืองหนองบัวมารวบรวมไว้หนึ่งเรื่อง
    สำหรับแจกเด็กๆและชาวบ้าน
    ที่มาเที่ยวงานงิ้วที่จะถึงนี้(๒๒-๒๖ มีนาคม ๒๕๕๕)

    ประชาสัมพันธ์บอกกล่าวในที่นี้เลยว่าไปงานงิ้ว อย่าลืมไปชมนิทรรศการพบปะพูดคุยกันได้ที่เต้นท์เวทีคนหนองบัวและรับเอกสารกลับไปอ่านที่บ้าน
                       
                                
                                                          หน้าปกเอกสาร
                                
                                
                                                            ปกหลัง 

    เห็นแล้วสนุก คึกคัก น่าดีใจแทนเด็กๆ ชาวบ้านชุมชนรอบเกาะลอยและหนองกลับ และคนหนองบัวครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล และพระอธิการโชคชัย

    สวัสดีพี่วิรัตน์ และสมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกๆท่าน

    รู้สึกผิดมากๆๆๆเลยในฐานะลูกหลานคนหนองบัว ที่ไม่ค่อยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดนิทรรศการครั้งนี้

    อีกอย่าง ผมจะแว่บเข้ามาดูมาอ่านเฉพาะในบันทึกหลัก "เรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว" ไม่ทราบว่าพี่วิรัตน์ได้ทำบันทึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิมรรศการครั้งนี้ เดี๋ยวจะรีบตามไปอ่านไปอัพเดทข้อมูลเพื่อจะได้มาช่วยต่อยอดออกไปอีก

    ผมจะไปหนองบัวเสาร์-อาทิตย์ 24-25 มี.ค.นี้ เอาเป็นว่าจะให้ผมช่วยอะไรบอกได้เลยนะครับ เดี๋ยวจะชวนเพื่อนๆที่หนองบัวและที่จะกลับหนองบัวมาร่วมงานด้วย

    เจริญพรคุณฉิก

    ปีที่แล้วได้อาศัยคุณฉิกช่วยประสานงานในหลายด้านได้อย่างดีมาก
    จนงานจัดนิทรรศการสำเร็จไปได้อย่างงดงาม 
    ปีนี้ดูหลายอย่างก็ลงตัวดี จะมีเพิ่มเติมจากปีแล้วก็คือปีนี้ได้นำสื่อความรู้ ตำนานพื้นหนองบัว หนองกลับ ที่บันทึกไว้เมื่อปีที่แล้ว มีภาพวาดประกอบด้วย

    คิดว่าสื่อชุดนี้ จะถูกใจเด็กๆชาวบ้านมากๆแน่นอน
    เรื่องราวเหล่านี้ก็มีหลายคนที่ยังจดจำไว้ได้
    แต่การถ่ายทอดยังไม่ชัดเจน เหมือนมีสื่อประกอบ
    เป็นตำนานที่มาของชื่อหนองบัว หนองกลับ เกาะลอย หลวงปู่ฤาษีนารายณ์

    เมื่อคนมาเที่ยวงานงิ้ว ได้ชมอ่านสื่อนี้แล้วก็ได้บรรยากาศมากๆ เพราะเข้ากับงานงิ้ว
    เกาะลอย รู้ความเป็นไปเป็นมา (ยังไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อนเลย)

    คงได้เจอกันในงานอีกครา

    งานงิ้วเิริ่ม ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๕
    เวทีคนหนองบัวจะได้ไปจัดนิทรรศการในสามวันหลัง(๒๔-๒๖)
    โดยนิทรรศการเวทีคนหนองบัวของเราเริ่มจัดวันแรกนั้น 
    ก็คือในวันที่สามของงาน(๒๔ มีนาคม ๒๕๕๕)

    ที่จัดวันที่๒๔ ก็เพราะผู้จัด(ดร.วิัรัตน์)ติดภาระกิจช่วงนั้นพอดี 

    พรุ่งนี้งานงิ้วเริ่มแล้ว(๒๒มีนาคม๒๕๕๕)
    ก่อนจะได้ไปชมงานในปีนี้
    จะขออนุญาตนำคลิปการจัดนิทรรศการ
    ของเวทีคนหนองบัวในงานงิ้วปีที่แล้ว(๒๕๕๔)
    มาฝากคุณฉิกและทุกท่านที่เข้ามาอ่านในหน้านี้เป็นประจำ
    (นำมาเผื่อบางท่านที่อาจจะไม่มีเวลาไปอ่านที่บันทึกเพิ่มเติมต่างหากในเรื่องเดียวกันนี้)
    คลิปเวทีคนหนองบัวชุดนี้
    จัดทำโดยอาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ Ico48ณัฐพัชร์ 

    Clip เวทีคนหนองบัว ๒๕๕๔(๑/๓)

    <object width="420" height="315"><param name="movie" value="http://www.youtube.com/v/C7q51oMnVcU?version=3&amp;hl=en_US&amp;rel=0"></param><paramname="allowFullScreen" value="true"></param><param name="allowscriptaccess" value="always"></param><embed src="http://www.youtube.com/v/C7q51oMnVcU?version=3&amp;hl=en_US&amp;rel=0" type="application/x-shockwave-flash" width="420" height="315" allowscriptaccess="always" allowfullscreen="true"></embed></object>

    Clip เวทีคนหนองบัว ๒๕๕๔(๒/๓)

    <object width="420" height="315"><param name="movie" value="http://www.youtube.com/v/2McrcVNf9Mo?version=3&amp;hl=en_US&amp;rel=0"></param><paramname="allowFullScreen" value="true"></param><param name="allowscriptaccess" value="always"></param><embed src="http://www.youtube.com/v/2McrcVNf9Mo?version=3&amp;hl=en_US&amp;rel=0" type="application/x-shockwave-flash" width="420" height="315" allowscriptaccess="always" allowfullscreen="true"></embed></object>

    Clipเวทีคนหนองบัว ๒๕๕๔ (๓/๓)

    <object width="420" height="315"><param name="movie" value="http://www.youtube.com/v/ZIJNszTizRI?version=3&amp;hl=en_US&amp;rel=0"></param><paramname="allowFullScreen" value="true"></param><param name="allowscriptaccess" value="always"></param><embed src="http://www.youtube.com/v/ZIJNszTizRI?version=3&amp;hl=en_US&amp;rel=0" type="application/x-shockwave-flash" width="420" height="315" allowscriptaccess="always" allowfullscreen="true"></embed></object>

    ที่มาคลิปเวทีคนหนองบัวในบันทึก : เนื้อหานิทรรศการเวทีคนหนองบัวในงานงิ้นปี ๒๕๕๕ นี้
    http://www.gotoknow.org/blogs/posts/482375

    สวัสดีครับฉิก
    ฉิกช่วยประสานงานอีกทางหนึ่งด้วยก็จะยิ่งดีเลยครับ แม้นจะไปในวันแห่เลย แต่ฉิกคุ้นเคยกับกรรมการจัดงานหลายคน จะสามารถโทรติดต่อโดยตรงกับหลายคนได้ ผมได้ติดต่อประสานงานกับกำนันวิรัตน์ไว้บ้างแล้ว แต่ตอนนี้จะถึงวันงานแล้ว ยังไม่ได้ติดต่อย้ำอีก อีกทั้งต่างก็กำลังติดงานอื่นๆกันไปด้วย เลยจังหวะจะติดต่อกันได้ตรงกันก็ยากอยู่เหมือนกัน เมื่อวานได้ติดต่ออาจารย์พนม ผอ.โรงเรียนบ้านหนองไผ่ เพื่อนชวนเชิญมาเป็นคนพูดเชิญชวนและสื่อสารสร้างการเรียนรู้ให้กับชาวบ้านระหว่างการดูนิทรรศการ ก็ได้ฝากประสานงานด้วยทางหนึ่ง

    ฉิกจะช่วยโทรติดต่อโดยตรงอีกก็จะยิ่งดีครับ เพราะแต่ละคนของคณะที่จะไปจัด ไม่ว่าจะผม ท่านพระอาจารย์มหาแล และคนที่จะพากันไปช่วยนั้น จะไปเจอกันในวันงานก่อนวันแก่คือ ๒๓ มีนา. แม้จะติดต่อประสานงานและทำสิ่งต่างๆไปด้วยกันอยู่ตลอดเวลา แต่ทั้งหมดนี้ทำจากระบบออนไลน์ทั้งสิ้นเลย ตัวจริงยังอยู่คนละทิศละทาง ตอนนี้ผมก็ยังอยู่ที่สงขลา จะกลับและไปหนองบัวก็วันที่ ๒๒ โน่นเลย ซึ่งหากคนยังไม่เห็นเขาก็จะเข้าใจว่ายังไม่เห็นมีอะไรคึกคักและอาจจะติดตั้งเต๊นท์ในวันนั้นเลย ซึ่งก็จะขลุกขลัก

                         

    เต๊นท์ โต๊ะ เก้าอี้ รวมทั้งบริเวณที่จะติดตั้ง อยากให้เป็นเหมือนเมื่อปีที่แล้ว หรือคือ ๒ เต๊นท์และอยู่ติดกับศาลาเจ้าพ่อเจ้าแม่ฯเลย หากเพิ่มได้ก็เพิ่มอีก ๑ เต๊นท์ อย่างในผังน่ะครับ เมื่อจัดงานแล้ว ก็อยากขอให้ทุกคนได้ทำเหมือนกับปีที่แล้วอีกครับ คือหากมีกล้องก็ถ่ายรูปเก็บข้อมูลให้รอบด้านที่สุดตรงที่ตนเองเข้าถึงได้ แล้วก็นำมาเขียนและออนไลน์รวบรวมไว้ด้วยกัน ปีนี้ทางระบบออนไลน์ของ gotoknow เขาสนับสนุนให้เวทีหนองบัวได้ถอดบทเรียน ก็คิดว่าจะใช้เป็นโอกาสประมวลภาพและประมวลข้อมูล มาจัดทำเป็นสื่อ โดยเฉพาะให้เป็นต้นฉบับหนังสือและสิ่งตีพิมพ์ ซึ่งจะทำให้เริ่มมีองค์ความรู้และใช้เป็นตัวป้อนให้กับความริเริ่มสิ่งต่างๆในระดับอำเภอต่อไปได้อีกมากมาย  ในรายละเอียดนั้น จะมีในบันทึกต่างหากอีกบันทึกหนึ่งครับ ที่นี่ครับ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/482464

    จะนำแผ่นพับ ใบปลิว จากเวทีคนหนองบัวจำนวน ๒ เรื่องคือ
    เชิญชมนิทรรศการ
    เวทีคนหนองบัว : วาระรักชาติ วาระรักบ้านเกิดและถิ่นอาศัย
    และชุมชนและคนหนองบัว จะไปร่วมเสวนาเวทีคนหนองบัวในงานงิ้วปี ๒๕๕๕ นี้ได้อย่างไร

    โดยปริ้นเอ๊าออกมา ได้สองหน้ากระดาษ A๔(หน้าหลัง)
    จะนำไปให้ญาติโยมและอาสาสมัครที่หนองบัวช่วยแจกในชุมชนและตลาดหนองบัว
    พร้อมทั้งเชิญชวนให้เที่ยวงานงิ้วและมาพบปะพูดคุยสนทนาประสาญาติพี่น้องที่เวทีคนหนองบัวด้วย
    แจกก่อนเปิดงานเวทีคนหนองบัว สักวัน สองวัน(๒๒,๒๓ มีนาคม๒๕๕๕) 

    อยากเห็นแผ่นพับ ใบปลิวจังเลยครับ

    เดี๋ยวจะโทรบอกครูออดที่หนองบัวให้มาช่วย

    แล้วเจอกันวันเสาร์ครับ

    สวัสดีทุกๆท่าน

    ดีใจที่ได้มีโอกาสไปร่วมนิทรรศการเวทีคนหนองบัวช่วงงานงิ้วที่ผ่านมา เมือคืนวันเสาร์ 24 มี.ค.2555
    หลายๆท่านที่รอฟังข่าวสารเกี่ยวกับงานดังกล่าวอาจจะรู้สึกว่าทำไมเงียบจัง ขอให้ท่านได้คลิกตรง สารบัญ จึงจะเห็นหัวข้อย่อยที่พี่วิรัตน์ได้ทำแยกแต่ละเรื่องราวไว้ (ให้ดูรูปด้านล่างนี้นะว่าสารบัญมันอยู่ตรงไหน) ก่อนนี้ผมก็ตามข่าวแต่เฉพาะในนี้ (เรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว) เลยตกข่าวไปหลายๆเรื่อง
    ไปคราวนี้ไม่ค่อยมีเวลาเท่าไหร่ ไปถึงหนองบัวเอาเกือบบ่ายสาม ขบวนแห่ต่างๆกำลังทยอยกลับเข้าสู่ศาลเจ้าแล้ว เลยไม่ได้ถ่ายรูปไว้ เดี๋ยวจะลองติดต่อคณะกรรมการจัดงานขอรูปขอวิดีโอเอามาลงให้ดูกัน
    ส่วนงานนิทรรศการช่วงกลางคืน สนุกมาก ผมก็กำลังรอดูรูป/วิดีโอที่ทางทีมงานได้บันทึกไว้อยู่เหมือนกัน ไว้ว่างๆจะมาเล่าให้ฟังกันใหม่

    • ขอบคุณที่ฉิกช่วยแนะนำวิธีเห็นเนื้อหาและเข้าไปอ่านได้สะดวกมากขึ้น
    • นิทรรศการกับการนั่งสเวนากันในวันแห่สนุกมากเลยเนาะ อีกทั้งเป็นโอกาสได้เก็บรวบรวมเรื่องราวต่างๆไว้เยอะเลย
    • วันสุดท้ายของงานก็สนุกไม่แพ้กัน แต่เป็นวงนั่งคุยแบบเกิดขึ้นเอง ได้ความสนิทสนมอย่างคนหนองบัวด้วยกันดีมากเลย
    • ฝากแสดงความประทับใจครูออดเพื่อนร่วมรุ่นของฉิกมากๆหลายเรื่องเลยนะครับ

    หลังจากงานงิ้วปี ๒๕๕๕ นี้แล้ว เวทีคนหนองบัวมีข้อมูลและบันทึก ถ่ายทอดและรวบรวมเรื่องราวต่างๆไว้เพิ่มขึ้นอีกหลายเรื่อง เชิญติดตามอ่านและชม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยกันแก้ไขและเพิ่มเติมข้อมูล ตามอัธยาศัย ดังนี้ครับ

    การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีกับความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งระบบ      
    กลุ่มพริกเกลือ คนหนองบัว      
    พื้นที่สื่อสารและถักทอชีวิตส่วนรวมในวิถีชาวบ้าน      
    ยูงทองบานสะพรั่งที่วัดบ้านใต้      
    แคบ้าน-แคป่า : 'รับประทาน'อาหารและผักหญ้าจากฟ้าดิน      
    ขุดลอกและฟื้นฟูระบบคูคลองห้วยน้อย หนองบัว นครสวรรค์      
    ไม่รู้ว่าลูกอะไร      
    ทัศนียภาพรอบเกาะลอย หนองบัว นครสวรรค์ เมษายน ๒๕๕๕      
    ภาพศาลหลวงปู่ฤาษีนารายณ์และเจ้าพ่อเจ้าแม่หนองบัว      
    ภาพแหล่งหย่อนใจและออกกำลังกายรอบสระเกาะลอย หนองบัว นครสวรรค์      
    ภาพชุมชนรอบเกาะลอย หนองบัว นครสวรรค์ เมษายน ๒๕๕๕      
    การคัดวัวและทำเวทมนต์ให้หลุดจากเกณฑ์ทหาร      
    สื่อและกระบวนการเรียนรู้สร้างสุขภาวะ ที่ศึกษาและพัฒนาขึ้นจากบริบทของชุมชนอย่างค่อยเป็นค่อยไป      
    คลองมะรื่น การกินเนื้อวัวควาย กับวัฒนธรรมและวิถีการผลิตของชุมชนหนองบัว      
    นายอำเภออรุณ วิไลรัตน์และรถแทรกเตอร์ : อนุสรณ์ความสามัคคีและพลังความสำนึกต่อส่วนรวมของคนหนองบัว      
    เวทีคนหนองบัวกับการร่วมกันส่งเสริมภาวะผู้นำทางวิชาการของครูและผู้นำชุมชน      
    ริ้วคลื่นจากก้อนหินสู่ผิวน้ำ : วงสนทนาหลังเสร็จงานเวทีคนหนองบัว ๒๕๕๕      
    เกาะลอย พื้นที่สร้างสุขภาวะสาธารณะและแหล่งน้ำในตัวเมืองหนองบัว      
    แหล่งภูมิปัญญาบุคคลเพลงพวงมาลัยของหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์      
    หมอกวน ดำโต : แพทย์แผนไทย,อสม ดีเด่น และแหล่งภูมิปัญญาบุคคลของหนองบัว

    เก็บตกจบแล้ว...

           กราบขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย (ขำสุข) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ เครือข่ายครูโรงเรียนหนองบัว และเครือข่ายเวทีคนหนองบัวในเว็บบล็อก GotoKnow.org ทุกๆ ท่าน .. ฯ ผู้วิจัยขอเจริญพรขอบคุณเป็นอย่างยิ่งในความกรุณาที่ให้คำปรึกษา และแนะนำตลอดมาตั้งแต่ต้นจนจบ..

           คุณค่าและประโยชน์อันใดพึงมีจากงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยขอน้อมนำคุณค่าและประโยชน์นั้นกลับมาเป็นเครื่องบูชาพระคุณของบิดา มารดา บูรพาจารย์ ผู้ให้ความรู้แก่ผู้วิจัย รวมทั้งวิทยานิพนธ์เล่มนี้.

    ยินดีด้วยเป็นอย่างยิ่งเลยนะครับ
    ในที่สุดก็จบจนได้ในนาทีสุดท้ายเลยใช่ไหมครับ

    ต่อไปก็คงมีเวลาทำเวทีคนพรหมพิรามได้เต็มที่เลยเนาะ
    จะคอยติดตามนะครับ

    กราบนัมสการพระคุณเจ้าทั้งสอง
    ท่านพระอาจารย์มหาแล และท่านพระอธิการโชคชัยครับ

    หายเงียบไปเป็นครู่ ท่านพระอธิการโชคชัยนั้น มาอีกครั้งก็นำข่าวดีมารายงานให้ได้ร่วมรับทราบและแสดงความปีติยินดีไปด้วยกันเลยนะครับ ขอร่วมอนุโมทนาในการผ่านการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์แล้วนะครับ รวมทั้งขอแสดงความยินดีกับชาวหนองบัวและเครือข่ายเรียนรู้ในเวทีคนหนองบัวด้วยอีกทางหนึ่ง ที่วิทยานิพนธ์ขั้นมหาบัณฑิตของท่านพระอธิการโชคชัยที่ได้ลุล่วงความสำเร็จมาโดยลำดับ กระทั่งสำเร็จเสร็จสิ้นเกือบทั้งหมดกระบวนการที่ต้องทำแล้วนี้ เป็นงานวิจัยวิทยานิพนธ์ที่ท่านได้ใช้อำเภอหนองบัวและเวทีคนหนองบัวเป็นกรณีศึกษา ดังนั้น เวทีคนหนองบัวจึงมีส่วนได้ร่วมสร้างมหาบัณฑิตให้กับสังคมไปด้วย ๑ ท่าน และได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้เกิดการวิจัย สร้างความรู้เกี่ยวกับหนองบัว ซึ่งนับว่าเป็นผลดีทั้งต่อหนองบัวและต่อสังคมส่วนรวม

    ส่วนท่านพระอาจารย์มหาแลนั้น ท่านหายไปเป็นครู่ ก็มองหาและคิดถึงอยู่เสมอละครับ คิดอยู่นะครับว่าในช่วงนี้เป็นฤดูกาลของการเว้นจากการทำนาทำไร่ ชาวบ้านทั่วประเทศจึงมักจะถือเป็นโอกาสบวชลูกหลานกันในช่วงนี้ ก็เลยพอจะจินตนาการออกถึงเหตุปัจจัยให้ท่านต้องปลีกไปทำกิจต่างๆสักพักหนึ่งก่อน นานๆครั้งที่ท่านเข้ามานี่ ก็ค่อยทำให้เวทีคนหนองบัวมีชีวิตชีวาหน่อยละครับ

    ขอกราบนมัสการแสดงความยินดีกับมหาบัณฑิตใหม่จากพรหมพิรามค่ะ ^^

    ขอเชิญชาวหนองบัว ร่วมงาน
    'เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มหาราชินี
    ฉลองกาล
    ๘๙ ปี โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)'



    อ่านรายละเอียดและดูข้อมูลเพิ่มเติมที่บันทึก : ๑๒ สิงหา Back to School คนหนองบัว
    http://www.gotoknow.org/blogs/posts/490557

    เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล เจริญพรโยมอาจารย์ ดร.วิรัตน์

    ขอเชิญชาวหนองบัว ร่วมงาน 'เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มหาราชินี ฉลองกาล ๘๙ ปี โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)' ถ้าไม่ติดภาระกิจงานศาสนากิจจะเดินไปร่วมงานเหมื่อนเดิมครับ..

     

    เมื่อวานวันนี้(๒๘ มกราคม ๒๕๕๖) ไปงานศพโยมป้าหริ อินทะชิต ที่บ้านเนินตาโพ ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ โยมป้าหรินั้น ท่านเป็นพี่สาวคนที่สามของแม่ที่มีอายุมากที่สุด ในบรรดาพี่สาวสี่คนของแม่ท่ี่ยังมีชีวิตอยู่(แม่พี่น้องแทั้งหมด ๘ คน) ป้าเสียชีวิตด้วยโรคชรา อย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๖ ด้วยวัย ๘๗ ปี



    ป้าหริ อินทะชิต ได้เคยให้ข้อมูลความรู้เรื่องประวัติบ้านเนินตาโพ เมื่อสองปีที่แล้ว(๒๕๕๓) และได้นำมาลงไว้ในที่นี่แล้ว

    ไม่ได้เข้าโกทูโน หลายเดือน พอเข้ามาก็งง ๆ กับระบบเล็กน้อย จะนำไฟล์รูปมาแนบลงในที่นี้ ก็ทำไม่ได้ หาอะไรไม่เจอเลย
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท