การนวดข้าวด้วยควายเหยียบของชาวนาหนองบัว


                            

                           อธิบายภาพ : การนวดข้าวด้วยควายเดินวน ใช้ตะเกียงเจ้าพายุ ระหว่างนวดด้วยควายเดินวน ชาวนาก็จะใช้คันฉายรุฟางข้าวเพื่อพลิกให้ฟางขึ้นมาอยู่ด้านบนและสงเมล็ดข้าวให้หล่นลงด้านล่าง คนเฒ่าคนแก่นั่งกินหมากเป็นกำลังใจ เด็กๆเล่นเงาตะเกียง มีน้ำแข็งเป็นมือใส่กระติกแช่น้ำยาอุทัยหมอมี

  การนวดข้าว    รุข้าวที่แต่ละบ้านมีลอมข้าวฟ่อนขนาดใหญ่มากๆ ปริมาณข้าวฟ่อนเป็นพันสองพันฟ่อนนั้น หากต้องนวดด้วยครอบครัวเดียวสามสี่คน ก็จะต้องหมดแรงกันเลยทีเดียว เมื่อก่อนใช้ควายนวดทั้งคนและควายเหนื่อยหอบตามๆกัน ควายนวดข้าวหลายๆวันเข้าเมื่อยมากๆถึงกับนอนคาตกข้าวในกองฟางเลยหนา เดินมากจนเล็บควายที่เหยียบฟ่อนข้าวฟางข้าวหลายวันนั้นเล็บเลื่อมเป็นมัน เล็บคมเพราะเสียดสีฟางข้าว

ควายชอบกินเมล็ดข้าวเปลือกเวลาหยุดพักเอาฟางลอยออก ฟางลอยคือฟางที่เมล็ดข้าวร่วงแล้ว เมื่อสง(เขี่ย)ฟางด้านบนออกนอกลาน ควายแต่ละตัวก็จะบุ๋นฟางจนถึงเมล็ดข้าวกินอย่างสบายโดยเจ้าของก็จะถือว่าเป็นรางวัลค่าตอบแทนการนวดข้าว แต่ถ้ามูมมามกินมากเกินไปก็จะถูกเตือนเล็กๆน้อยๆย้ายที่ซะ ควายบางตัวกินข้าวเปลือกมากเราจะสังเกตได้เวลาถ่ายมูล(ขี้)จะเหลวสีเหลืองเหมือนข้าวเปลือกเลย

วิธีที่ที่จะช่วยให้เราเหนื่อยน้อยหน่อยในการนวดข้าวก็คือการเอาแรงกัน ขึ้นแรงกัน เรียกว่าเอาแรงรุข้าว เพราะข้าวแต่ละตก(จำนวนฟ่อนข้าวที่นำมานวดแต่ละครั้ง)นั้น ตกน้อยก็เป็นร้อยสองร้อยฟ่อน ถ้าลานใหญ่ก็ตกใหญ่หลายร้อยฟ่อน ตอนรุข้าวนี่แหละเล่นเอาลิ้นห้อยเลย ต้องงัดข้าวฟ่อนที่ยังไม่ได้ตัดตอก ทุบ ตี ฟาด เขย่าฟ่างฟ่อนข้าวให้เมล็ดข้าวที่ร่วงไม่หมดให้ร่วงหล่น เมื่อยจนแขนจะหลุด ทั้งคายทั้งคันทั้งร้อนทั้งฝุ่นลองข้าว นี่แหละรสชาตินวดข้าวละ

ฉะนั้นการเอาแรงกันขึ้นแรงกันนวดข้าวในหมู่ญาติเพื่อนบ้านจะสนุก ได้พูดคุยเสวนาหัวเราะกันในขณะรุข้าวนี่เลย ไม่มีซีเรียด ไม่เคร่งเครียด เรียกว่าเหนื่อยแต่ก็สนุก

การนวดข้าวรุข้าวมีทั้งเหมือนและแตกต่างจากชุมนุมสมัยนี้แลยแหละ เหมือนอย่างไรละ ที่เหมือนก็คือมันคึกคักเพราะช่วยกันรุข้าวหลายคนนั่นเอง ที่ต่างก็เห็นจะเป็นเรื่องสีรุข้าวส่วนมากสีเขียว สีดำ สีน้ำเงิน กางเกงจีนสีดำ(ม่อฮ่อม)

                                          พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) วัดศรีโสภณ จังหวัดพิษณุโลก 
                                          ใน เวทีสร้างสุขภาวะคนหนองบัว
http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/295169

  ตอนเป็นเด็ก   ผมก็มีคันฉายประจำตัวเหมือนกันครับ มีการจุดตะเกียงเจ้าพายุ ใช้ควาย (วน ๆ ) นวดข้าวเหมือนกัน เหมือนในภาพของท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์เปี๊ยบเลยครับ

ที่บ้านออกเสียง...คันฉาย.....ได้กันทุกคน เพราะมีพ่อเป็นคนไทย/พูดภาษาไทยกับลูก ๆ ตลอด แต่ญาติพี่น้องที่มีพ่อแม่เป็นลาว เป็นพวน เป็นยวน เป็นแง้ว เป็นโซ่ง ออกเสียงเป็น....คันสาย.....กันทั้งนั้น

แต่ที่สำคัญ พวกแม่ครัวก็จะช่วยกันเตรียมอาหารไว้เลี้ยงแขกที่มาช่วยนวดข้าว ซื้อน้ำแข็งเป็นมือ ๆ มาแช่ในถังน้ำขาดใหญ่ไว้ให้แขกได้ดื่มกินยามเหน็ดเหนื่อย ส่วนใหญ่บ้านใหนก็บ้านนั้นครับ อาหารหลัก ๆ มักจะเป็นแกงไก่ใส่หน่อไม้เปรี้ยว/ใส่ฟักทอง/ใส่ฟักแฟง น้ำพริกปลาร้า/ผักต้ม ประเภทผักบุ้ง/ผักตำลึง/สะเดา ส่วนอาหารหวานนั้นก็พื้น ๆ ครับเป็นจำพวกข้าวเหนียวเปียกใส่แห้ว/มะพร้าว/ลำใยแห้ง/เผือก

                                             สมบัติ ฆ้อนทอง นักวิชาการศุลกากร ชำนาญการ  ด่านศุลกากรหนองคาย
                                             ใน เวทีสร้างสุขภาวะคนหนองบัว
http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/295169

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                          ข้อมูลและบรรยาย  : พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) วัดศรีโสภณ พิษณุโลก
                                                                                        สมบัติ ฆ้อนทอง นักวิชาการศุลกากร ชำนาญการ หนองคาย
                                                         
               วาดภาพ  : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์
                                                                                        ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
                                                                                        มหาวิทยาลัยมหิดล

คำสำคัญ (Tags): #การนวดข้าว
หมายเลขบันทึก: 348165เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2010 05:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • การนวดข้าวแบบใช้ความเหยียบ  เคยเห็นค่ะ แต่ปัจจุบันควายแทบไม่มีให้เห็นแล้วนะคะ
  • เมื่อวานขับรถผ่านทุ่งนา  แถวบ้านบึงพร้าว ก่อนขึ้นเขาวังน้ำเย็นไปอำเภอนครไทย เห็นเขาเกี่ยวข้าวด้วยรถ วางไว้เป็นแถวมีระเบียบสวยงาม
  • คนที่รับจ้างเกี่ยวข้าวด้วยเคียว  ก็จะไม่มีงานทำ
  • ภายหลังที่ใช้รถเกี่ยวแล้วเขาก็ใช้รถนวดและสีข้าวไปด้วยเลยค่ะ
  • บันทึกของอาจารย์เป็นประโยชน์ของโรงเรียนแถบหยองบัวมากนะคะ  ในการนำมาจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นค่ะ
  • การเอาแรง...หากไม่มีกิจกรรมนี้หลงเหลืออยู่ ความรัก ความผู้กพัน ความสามัคคีก็จะลดน้อยลงไปนะคะ

สวัสดีครับอาจารย์

บ้านปู่เป็นชาวนา ช่วงปิดเทอมและวันหยุดเสาร์อาทิตย์จะต้องไปช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ในไร่นา

ตอนนวดข้าว ที่บ้านมิได้ใช้ควายครับ

คนที่บ้านจะช่วยกันดายหญ้าและปรับพื้นดินให้เรียบเนียน แล้วก็เอาขี้วัวมาละเลงบนลานดินจนเต็ม

พื้นดินที่ถูกขี้วัวละเลงจะเป็นพื้นที่นวดข้าว โดยไม่ต้องเอาผ้าหรือพลาสติกมารอง

การรวบรวมข้าวที่ตกกระจายไปบนลานเพียงแค่นำไม้กวาดมากวาดกองรวมกันเท่านั้น

การนวดข้าวส่วนใหญ่ใช้เวลาเย็น เลยไปกระทั่งดึกดื่น

บางคราวก็นอนกันที่ลานนวดข้าว

ผมเองก็สนุกสนานกับกิจกรรมในลานนวดนี้มาก ๆ

...

ระลึกถึงอาจารย์ครับ

สวัสดีค่ะพี่ชาย อาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  • เคยไปช่วยเขานวดข้าวที่ใช้ควายวนค่ะ  พอน้าลอมข้าวได้หนึ่งรอบ  ช่วยเขาตัดตอกที่มัดข้าวฟ่อน  ควายจะได้เหยียบง่าย ข้าวหลุดจากรวงได้หมด
  • ยายเคยสอนว่า "กินข้าวให้หมดจานนะอย่าให้เหลือแม้แต่เม็ดเดียว อย่าให้หกเลอะเทอะด้วย  กว่าจะเก็บมาจากลานแต่ละเม็ดแต่ละรวง มันลำบากยากเย็น" สมัยพวกเราๆเข้าใจดี  แต่เดี๋ยวนี้ต้องสอนว่า  อย่ากินทิ้งกินขว้าง (เพราะเหลือเป็นจานๆ) ข้าวแพงมากนะ  ถุงละตั้ง200 บาท
  • หลังจากนวดข้าวเสร็จ จะขนขึ้นยุ้งเหลือจากขายก็เอาไปสีเป็นข้าวสาร โดยเอาข้าวสารและข้าวปลายแลกเป็นค่าจ้างสีข้าว ไม่ต้องใช้เงิน
  • lสมัยก่อนคนบ้านนอกมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่กันแบบแลกเปลี่ยน  ทั้งเอาแรงทำไร่ทำนา  อาหารการกิน ผลหมากรากไม้  เหมือนเนื้อเพลง   "เอามะกรูดมาแลกมะนาว".....  ไม่ต้องใช้เงินค่ะ
  • แต่ปัจจุบันนี้จะเห็นว่าใช้เงินซื้อทุกอย่างที่เราทำเองไม่ได้  ส่วนใหญ่จะซื้อ...ขายกันค่ะ                                                 

                 

                      โรงสีเก่าตรงข้าวัดป่าโค  ริมแม่น้ำป่าสัก  จ.พระนครศรีอยุธยา

                                เห็นบรยากาศแบบนี้แล้วเย็นกายเย็นใจค่ะ

  สวัสดีครับคุณครูคิมครับ 

เลยขออนุญาตเปลี่ยนชื่อ 'การนวดข้าวแบบควายเดินวน' เป็น 'การนวดข้าวแบบควายเหยียบ' อย่างที่คุณครูคิมเรียกเลยดีกว่านะครับ แถวบ้านเขาเรียกย่ำ แต่ออกเสียง ญอ แบบลาวน่ะครับ เป็น ญ่ำ ใช้เรียกเวลาญ่ำลาน ซึ่งหมายถึงเอาควายเดินย่ำให้ดินแข็งก่อนเคลือบผิวหน้าด้วยขี้ควาย

แถวบ้านผมเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีวัว-ควายเหลือแล้วครับ เกวียน-ไถและเครื่องมือทำนาแบบเก่าก็ไม่มีแล้ว เหลือแต่ยุ้งข้าวและสีข้าว แต่ก็ไม่ได้ใช้ ยุ้งข้าวนั้นเหลือไว้รำลึกถึงพ่อ ส่วนสีข้าวก็เก็บไว้รำลึกถึงแม่กับจิตวิญญาณของบ้านเก่าที่พวกเราได้สีข้าวและซ้อมข้าวกิน

ระหว่างที่เดินบวกไปกับความริเริ่มของท่านพระมหาแลและคนหนองบัวหลายท่าน รวมทั้งท่านอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยกันเขียนในเวทีของคนหนองบัวนี้ ผมก็คิดและมองเห็นโอกาสที่จะสามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนแก่เด็กๆอย่างที่คุณครูคิมตั้งข้อสังเกตเลยครับ ไม่เพียงแต่จะสามารถพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเท่านั้น แต่เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งสร้างทักษะการศึกษาค้นคว้าและกล่อมเกลาให้เด็กๆรักการเรียนรู้ มีวัฒนธรรมการอ่านและสร้างความรู้ขึ้นมาใช้เพื่อการดำเนินชีวิตในชุมชนของตนเองได้ดีขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามโรงเรียนต่างๆนั้น มักขาดจะสื่อกับหนังสือตำราที่มีความจำเพาะเจาะจง สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีความเชื่อมโยงกับชุมชนและแหล่งประสบการณ์ชีวิตของเด็ก บันทึกและสื่อรูปภาพทั้งการวาดและถ่ายรูป ตลอดจนข้อมูลชุมชนจากผู้คนหลากหลายรุ่น ที่รวบรวมและประมวลไว้ในบันทึกนี้ ก็จะช่วยลดข้อจำกัดดังกล่าวนั้นได้บ้าง เลยคิดว่าคงจะเป็นการสนับสนุนโรงเรียนและครูในทางอ้อมได้ดีเหมือนกัน

นอกจากเด็กๆและคุณครูในโรงเรียนแล้ว ก็คิดว่าจะเป็นเหมือนเวทีเรียนรู้สังคมและตลาดวิชาของคนหนองบัวทั่วไปด้วย น่าจะทำให้เป็นสื่อท้องถิ่นที่ทรงพลังได้มากเลยทีเดียวครับ โดยเฉพาะช่วยเปิดออกให้ทุกคนในชุมชนสามารถลุกขึ้นมาเป็นสื่อพลเมืองด้วยตนเอง

  สวัสดีครับหนานเกียรติ   รำลึกถึงหนานเกียรติด้วยเช่นกันนะครับ การทำลานนวดข้าวที่ยาลานด้วยขี้วัวขี้ควายนี่เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม พอเพียง รักษาความเป็นหนึ่งกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากเลยนะครับ เพราะพอหมดหน้าทำนา ขี้วัวควายที่เคลือบลานก็เหมือนกับจะหมดอายุ ดินก็จะอ่อนตัว พอฝนตกและน้ำหลากซ้ำมาอีก ลานดินก็คืนสภาพดังเดิม

 สวัสดีครับน้องนก คุณครูจุฑารัตน์ครับ คลับคล้ายคลับคราว่าจะเคยเห็นนะครับเนี่ย ถ่ายรูปสวยจังเลยนะครับ ขอให้มีความสำเร็จอยู่เสมอๆครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ตกข้าวตกนี้(ภาพวาด)เป็นตกเล็กๆมีควายสองตัวแต่คนไล่ควายคนเดียว ขอเพิ่มเติมแบบชาวบ้านๆสักเล็กน้อย ดังนี้

การนวดข้าวใช้ควายสองตัวโดยไม่ผูกติดกันเหมือนภาพนี้ ยากพอสมควรทีเดียวเพราะควายมักจะเดินซ้ำรอยเก่าหรือเดินรอยเดิมซึ่งทำให้ฟางที่ถูกเหยียบป่น ฟางที่เหลือจากนั้นเมล็ดข้าวไม่ร่วง ถ้าจะให้สงฟาง-เขี่ยฟางออกได้พร้อมกันต้องให้ควายเหยียบสลับกันทั้งรอบใน รอบนอกโดยทั่วเสมอกัน

ตกเล็กๆสำหรับครอบครัวจะได้ข้าวเปลือกประมาณเกวียนกว่าๆ(๑ ตัน=๑พัน กิโลกรัม)ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับน้ำหนักข้าวฟ่อน ถ้าข้าวดีมีน้ำหนักมาก ก็จะได้ข้าวเยอะ แต่ถ้าข้าวฟ่อนเบาหลายฟ่อนยังไม่ได้ถึงหนึ่งถังอีก ก็จะคำนวณได้ยากด้วยปริมาณฟ่อนข้าว

นาบางแปลงได้ข้าวฟ่อนจำนวนมากมาย ลอมข้าวใหญ่โตยาวเหยียด ใครเห็นตกใจว่าบ้านนี้รวยแน่แต่พอนวดเสร็จได้ข้าวเปลือกนิดเดียว เพราะข้าวฟ่อนเบามาก นาดีจะได้ข้าวดีด้วยฟ่อนเดียวได้ข้าวเปลือกเกือบหนึ่งถัง พันฟ่อนก็คำนวณได้เลยว่าแปดร้อยถึงเก้าร้อยถัง(เกือบสิบเกวียน)อย่างนี้เจ้าของยิ้มแก้มปริ ข้าวเต็มยุ้งแน่ชัวร์

เวลาการนวดข้าวที่เหมาะสมที่สุดต้องเริ่มตั้งแต่แดดร่มลมตก ตะวันคล้อยได้ระดับยอดไผ่สีสุก อาศัยยอดไผ่สีสุกบังเงาแดดก็เริ่มสตาร์ทนวดได้เลย พอค่ำก็จุดตะเกียงเจ้าพายุ(กะเตียงโคม)ถึงตีหนึ่งตีสองก็พักนอน เบื้องต้นใช้ควายตัวเดียวก่อนขึ้นเหยียบฟ่อนข้าวที่ตั้งเรียงเป็นวงกลมสองร้อยกว่าฟ่อนหรือมากกว่าก็ขึ้นอยู่กับลานเล็กลานใหญ่ ทำไมต้องขึ้นตัวเดียวก่อน เพราะข้าวฟ่อนตั้งเรียงตรง ๙๐ องศาเหยียบได้ยากลำบากมาก ทั้งเล็บและกีบเล็บควายบางทีก็ถูกซังข้าวบาดจนเลือดออกเพราะซังข้าวเมล็ดข้าวนั้นแข็งและต้องเหยียบสวนลงด้านล่างโดยตรงทั้งคนและควายจะเหนื่อยช่วงแรกนี้

เมื่อเหยียบจนข้าวฟ่อนที่ตั้งนั้นล้มลงราบกับพื้นจากนั้นก็จะใช้ควายเพิ่มอีกได้อย่างมากสองตัวรวมเป็นสามตัวเหยียบจนเมล็ดข้าวด้านบนหล่นหมด ก็หยุดพักเหยียบไว้ก่อน ขั้นต่อไปก็เป็นคิวการรุข้าว

เมื่อรุข้าวแล้วฟางที่สงเสร็จก็ถูกกระจายจนกองฟางนั้นสูงท่วมหัว ทีนี้ก็สามารถใช้ควายได้ถึงห้าตัวหกตัวโดยผูกติดกันเรียงเป็นวงใช้เชือกจากตะพายแต่ละตัวผูกคอตัวอยู่ข้างหน้าจนถึงตัวรองสุดท้าย

การไล่ควายนวดข้าวนี่เด็กๆชอบมากสนุกดีด้วย เด็กบางคนก็ขี่ควายตัวหน้า-ตัวแรกซะเลย ช่วงที่เด็กจะได้ไล่ควายก็ช่วงที่ผู้ใหญ่กินข้าวเป็นการเปลี่ยนกะ เปลี่ยนผลัดกับพ่อแม่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ผลปรากฏคืออะไรเมื่อเด็กนวดข้าว ปกติควายจะนิยมเดินซ้ำรอยเดิมรอยเก่าโดยจะไม่ยอมเปลี่ยนช่องที่น้องควายเดินประจำ เด็กเธอก็สนุกโดยไม่สนใจว่าควายเดินรอยเดิมรอยใหม่อะไรหรอก ขออย่างเดียวเดินไม่หยุดเป็นใช้ได้อะไรประมาณนั้น

ควายเดินรอยเดียวจนพ่อแม่ผู้ใหญ่กินข้าวอิ่มนั้น ฟางที่ควายเดินเป็นช่องเป็นล่องลึกเมล็ดข้าวก็ร่วงแล้วร่วงอีก ส่วนที่เหลือฟางก็สูงและไม่ถูกเหยียบด้วย เมล็ดข้าวก็ไม่ร่วงนะซิ นี่คือผลงานเด็กๆละ อิ่มข้าวแล้วผู้ใหญ่ก็ต้องมาเคลียงานสะสางงานที่เจ้าตัวน้อยทำค้างไว้ให้สำเร็จเรียบร้อยอีกโดยไล่ควายเหยียบกองฟางสลับให้ทั่วทั้งด้านในด้านนอกอย่างสม่ำเสมอจนเมล็ดข้าวร่วงไปหมดจนฟางลอยก็เขี่ยฟางออกได้ด้วยประการฉะนี้

                            Buffalo

อ่านแล้วทำให้นึกถึงรายละเอียดต่างๆได้อีกเยอะเลยครับ ดีจริงๆ

สวัสดีค่ะพี่อาจารย์...

บ้านครูอ้อยนานมาแล้วใช้วัวนวดผูกวัวแบบการแข่งวัวลานคือผูกวัวเป็นแพประมาณ4-5ตัว มีเสาตรงกลางลานนวดข้าว เรียกว่า "เสาเกียรติ" เสาเกียรตินี้ทำด้วยไม้ไผ่ลำตันๆแข็งแรงทานแรงดึงของวัวได้ มักจะมีลำไม้ไผ่อีก2ท่อนขนาบ2ข้างของเสาสูงประมาณเอวของผู้ใหญ่และให้เสาเกียรติเป็นเสาตรงกลางยาวขึ้นไปอีกประมาณ1.20เมตร ปลายเสาจะมีผ้าแพร 3 สีและชะลอมเล็กใส่เครื่องไหว้ผูกไว้...(เหมือนในรูปจำลองนี้ แต่วัวจะไม่ใส่ตะกร้อค่ะ พ่อ-แม่ ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา บอกว่าให้เขาได้มีโอกาสกินข้าวบ้างเถอะเขาทำมาเหนื่อยเหมือนกัน)

สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์และทุก ๆ ท่านครับ

ตามมาหาความรู้ครับ ขอบคุณครับสำหรับทุกความคิดเห็น

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ เห็นภาพลายเส้น การนวดข้าวด้วยควายเดินเหยียบ ของอาจารย์แล้ว มองเห็นอยู่ ๒-๓ ประการค่ะ เห็นถึง .....

 ความอบอุ่น  ของกลุ่มคน ๓ วัย วัยเด็ก วัยทำงาน และวัยผู้สูงอายุ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันแต่ยังแสดงให้เห็นถึงความอบอุ่นของญาติพี่น้อง ที่ทำกิจกรรมตามวัยในบริเวณเดียวกันที่ ลานกว้างหน้าบ้าน ลานวัฒนธรรมของครัวเรือน ที่ๆ ซึ่งสามารถทำกิจกรรมของครอบครัวได้สารพัดชนิด เด็กๆ เล่นซนแต่สร้างสรรค์ไปตามประสาเด็ก ซึ่งอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ คนวัยทำงาน ก็ขยันขันแข็ง เห็นถึงความสามัคคีช่วยกันคอนโทรลวัวพาเดินเหยียบ ช่วยกันรุข้าวด้วยคันฉาย เพื่อให้ควายเหยียบข้าวได้ทั่วๆ เหนื่อยๆ ก็ไปดื่มน้ำแช่ก้อนน้ำแข็งเย็นๆ ผสมน้ำยาอุทัย(ต้อง)หมอมี(เท่านั้น) ให้ชื่นนนใจ .. ถ้าเป็นเพลงก็คงมีนักร้องเกิดกันกลางวงการนวดข้าวให้เพลินใจ สนุกสนาน แค่เหนื่อยกันไป (แถวๆ นั้นไม่มีวิทยุทรานซิสเตอร์เหรอค่ะ หรือใช้เฉพาะเวลาออกนา แขวนตามเถียงนาน้อย) ... ส่วนวัยที่ผ่านการกรำงานมาหนัก ผู้สูงอายุ ผู้เฒ่า ผู้แก่ ถึงเวลาที่ได้พักผ่อน ตำหมาก เคี่ยวหมาก นั่งมอง ลูกๆ หลานๆ เจริญเติบโต ตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน  อยู่อย่างพอเพียง  อย่างมีความสุข สบายใจ ดูแล้วอบอุ่นค่ะ ...

 ความอุดมสมบูรณ์  ของชาวนาหนองบัว ประมวลจากภาพลายเส้นหลายๆ ภาพของอาจารย์แล้ว ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในยุ้งข้าวมีข้าวเปลือก แผ่นดินทองจริงๆ เล๊ยย เมืองไทยเราเนี่ยะ อุดมสมบูรณ์จริงๆ (แม้ควายที่หนองบัวยังดูอ้วนพี เอ๊ะ หรือจะพุงโร ค๊ะ) ... มีความอุดมสมบูรณ์ในวิถีวัฒนธรรม มีปราชญ์ชาวบ้าน ความชาญฉลาดแบบชาวบ้านๆ ที่ไม่ต้องเรียน ป.โท ป.เอก ก็สามารทำได้ และเป็นอยู่ ...

 ความผูกพัน  เห็นอาจารย์เอ่ยถึงยุ้งข้าวที่ยังเก็บไว้เพื่อเป็นที่รำลึกถึง พ่อ ของอาจารย์ จึงขอนำภาพนี้มาโพสไว้ในเวทีหนองบัวนี้ด้วยค่ะ ... เป็นความผูกพันทางจิตใจนะค่ะ ยุ้งข้าว หลังนี้ ไม้กระดานแต่ละชิ้นมีความหมาย และสามารถอธิบายภูมิปัญญาของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี (โดยเฉพาะกับชาวนา)ด้วยตัวของมันเอง ... ซึ่งในภาพลายเส้นยุ้งข้าวได้กลายเป็นฉาก หรือ วิก หนังให้เด็กๆ มาเล่นสนุกกับเงาของตัวเองไป (เดาเอาเองค่ะว่าคงจะเป็นยุ้งข้าว) ...

                                

 พระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล  ท่านเอ่ยถึง ข้าวตก ทำให้นึกถึง น้ำนมข้าวตก ที่แม่ของอาจารย์ได้ทำนั้น ไม่ทราบว่ามาจากกรรมวิธีของ ข้าวตก ที่พระคุณเจ้าเอ่ยถึงหรือเปล่าค่ะ .... (อร่อยมากๆ ค่ะ)

                                

ดื่ม น้ำนมข้าวตก ฝีมือแม่ แล้วจะเก่ง ฉลาด และแข็งแรงเหมือนอาจารย์ค่ะ (ฮ่า) ...

 สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก : คลับคล้ายคลับคราว่าแถวบ้านผมก็จะมีเสาอย่างแถวบ้านน้องคุณครูอ้อยเล็กมีเหมือนกันครับ

  • สวัสดีครับคุณสมบัติครับ
  • ด้วยความยินดีและรำลึกถึงครับ
  • มีความสุขครับ

สวัสดีค่ะ

แวะมาเรียนรู้กับบันทึกนี้ด้วยคนนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ^__^

 สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • อาจารย์ณัฐพัชร์มองอย่างนักวิเคราะห์ทางสังคมไปด้วยเลยนะครับ
  • วิทยุทรานซิสเตอร์นี่ เป็นของที่ต้องมีในทุกลานนวดข้าวเลยละครับ ขาดไม่ได้หรอก
  • นักร้องนี่ก็มีเหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานครับ แล้วมันก็ได้บรรยากาศที่ดีมากเลย
  • ควายแถวบ้านนี่อ้วนท้วน แข็งแรงครับ ใครเลี้ยงควายแล้วทำให้ตรงชายโครงตอบ-บุ๋มนี่ เสียคุณธรรมของการเลี้ยงควายมากครับ ทุกๆวันจะต้องเลี้ยงควาย หาหญ้า-ฟาง ให้ควายกินกระทั่งพุงกาง ชายโครงอิ่มเต็ม ไม่บุ๋ม หากยังบุ๋มอยู่แสดงว่าควายยังไม่อิ่ม จะรู้สึกผิดและเป็นบาปมาก หากไม่ติดว่ามืดค่ำหรือมีเหตุจำเป็นแล้วละก็ เมื่อเห็นชายโครงของควายยังบุ๋ม ก็จะต้องปล่อยให้ควายกินหญ้าต่อไป หากเอาเข้าคอกก่อนก็ต้องไปเอาฟางไปให้เขากินเองต่อ ควายส่วนใหญ่ก็จะอ้วนพีอย่างในรูปนี้แหละครับ
  • ขอบคุณอาจารย์ที่เอาภาพเล้าข้าวที่บ้านผมมาให้ดูเพื่อคิดถึงบ้านครับ
  • น้ำนมข้าวที่แม่ทำนี่ เป็นข้าวจากข้าวตกครับ เวลามีข้าวตกออกรวง แม่บอกว่าเสียดายข้าว ก็จะไปเดินเก็บตอนที่ข้าวเป็นข้าวน้ำนมแล้วก็เอามาทำน้ำนมข้าวตกไว้แจกและเป็นของฝากลูกหลาน ญาติๆ และคนที่ผ่านมาเยี่ยมยามกัน
  • ตอนอาจารย์ณัฐพัชร์และพวกเราไปกันก็เป็นจังหวะที่ข้าวตกออกรวงเริ่มแก่ทำนมข้าวตกได้พอดี

สวัสดีครับหนูต้นเฟิร์นครับ ด้วยความยินดีนะครับ มีความสุขครับ

สวัสดีค่ะ

  • แวะมาเรียนรู้การแลกเปลี่ยนทางเม้นท์ค่ะอาจารย์
  • ดิฉันตกขอบเรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ดั้งเดิมของคนไทยมากค่ะ
  • ยังไม่สายที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม

สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

สมัยยังเป็นเด็ก ที่บ้านมีควายอยู่ 2 ตัวครับ ชื่อไอ้ลานกับอีคูน

แถว ๆ บ้านเป็นที่ลุ่ม น้ำจากทางเหนือจะมารวมกันที่นั่นก่อนไหลลงบึงบรเพ็ด (ต้องผ่านบ้านอาจารย์มาก่อนแน่ ๆ ) ชื่อก็บอกยี่ห้ออยู่แล้วว่า....บ้านห้วยวารีหรือห้วยปลาเน่า เมื่อถึงฤดูน้ำหลากต้องหาโคกหรือจอมปลวกให้ควายอยู่ ควายจะหาหญ้ากินเองก็ลำบาก จึงเป็นภาระของเรา...หรือจะพูดว่าเป็นหน้าที่ของคนทั้งครอบครัวเลยก็ว่าได้ครับ

ผมเคยพายเรือไปหาเกี่ยวหญ้าให้เจ้าควาย 2 ตัวนี้กินเป็นประจำตลอดฤดูน้ำท่วม บางครั้งไปกับแม่ บางครั้งก็ไปกับพี่สาว ได้หญ้าจนเต็มลำเรือเชียวครับก่อนที่จะหันหัวเรือกลับบ้าน

พูดถึงควายแล้ว มีความรู้สึกรักและผูกพันกับมันอย่างบอกไม่ถูกเหมือนกัน เหมือนกับเป็นเพื่อนซี้ยังไงยังงั้นหรือยิ่งกว่า ยากที่จะอธิบาย

คนในเมืองที่ไม่เคยเลี้ยงควายนั้น คงเข้าใจเรื่องนี้ยากเหมือนกันนะครับ.

 สวัสดีครับคุณครูคิมครับ  : ไม่สายครับไม่สาย เรียนรู้ได้เสมอ ตลอดเวลา และตลอดชีวิตแหละครับ อันที่จริงคนพิษณุโลกนี่เป็นคนเมืองหลวงเก่าของรัฐอิสระแห่งหนึ่งนะครับ เลยไม่ตกขอบหรอกครับ มีความดั้งเดิมอยู่ในตนเองหลายอย่างครับ

 สวัสดีครับคุณสมบัติครับ : คุณสมบัติพูดเรื่องควายและความเป็นเพื่อนซี้กับควายอย่างเข้าถึงจิตใจและได้จิตวิญญาณของคนบ้านนอกเลยทีเดียวครับ 

                            Maddog 
  เมื่อตอนเป็นเด็ก   เด็กๆมักจะได้รับมอบให้เป็นเพื่อนควายอย่างน้อยก็ตัวหนึ่ง ทุกคนเลยมีของเล่นเป็นควาย บางทีก็อวดกัน เอาความแสนรู้มาคุยอวดกันเพราะมันสะท้อนความสามารถในการเลี้ยงควาย การเลี้ยงควายเลยเป็นเรื่องสนุกและมีกิจกรรมการเล่นตามมาอีกมากมาย

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

ผมรู้สึกผิดมากที่จำชื่อควายเพื่อนยากผิดไป เหมือนกับลืมความหลังและไม่ให้ความเป็นธรรมกับมัน ไอ้ลานนั้นเป็นควายเพื่อนบ้านครับ

อันที่จริงแล้วควายผมชื่อ.....ไอ้สำลีกับอีคูนครับ ...เห็นบรรยากาศการเลี้ยงควายของอาจารย์แล้ว บอกได้คำเดียวว่า.....ใช่เลย บางที่ควายมันไปนอนตามปลักตม มุดไปหากินหญ้าตามราวป่าหรือนอนข้าง ๆ จอมปลวก หาไม่ค่อยเจอ วิธีที่พวกเรา (เด็กเลี้ยงควาย)ชอบทำกันคือปีนขึ้นไปดูบนยอดไม้ บางครั้งเลยเถิดจนกลายเป็นไล่จับกันบนต้นไม้ไปเลย ส่วนมากแล้วก็ไม่ค่อยมีใครตกต้นไม้ เพราะแต่ละคนล้วนแล้วแต่เป็นเซียนและมือเหนียวเป็นตุ๊กแกกันทั้งนั้นครับ.

  สวัสดีครับคุณสมบัติครับ 

  • อ่านแล้วก็ขำดีครับ แต่เข้าใจได้ เพราะตอนนี้ผมก็จับสลับกันไปหมดแล้วเหมือนกันครับ
  • แต่ควายของผมนี่จำได้ไม่ลืมครับ เพราะเป็นควายเผือกทั้งแม่และลูก ๒ ตัว แม่มันก็เรียกอีเผือก ลูกก็ไอ้เผือก
  • เมื่อหลายเดือนก่อนผมลงไปเก็บข้อมูลทำวิจัยเรื่องหนึ่ง ช่วงที่ไปทางอีสาน ก็ได้เจอควายฝูงเดินอยู่ข้างถนนอยู่เป็นระยะๆหลายฝูง
  • เห็นแล้วก็สะท้อนใจ เพราะควายเป็นฝูงอย่างนั้นไม่ใช่ควายเลี้ยงทำนาแน่ๆ แต่คงเป็นควายเลี้ยงเพื่อขายไปทำอาหาร เห็นแล้วก็ทำใจไม่ได้ครับ จนถึงวันนี้ก็เลยรำลึกไว้อยู่เสมอว่าจะไม่กินเนื้อวัวควายอีก เว้นเสียแต่ว่าไม่รู้

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์

  • เมื่อวานได้คุยกับคุณเริงวิชญ์ถึงสมัยเด็กๆ ของคุณเริงวิชญ์ว่าต้องเลี้ยงดู ควาย อยู่หลายตัว และจะมีชื่อเรียกทุกตัวเช่นกัน เค้าไล่ชื่อมาให้ฟังแต่ตอนนี้จำไม่ได้เสียแล้วค่ะ มีการแข่งขันเลี้ยงควายกันในหมู่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ใครเลี้ยงเก่ง เลี้ยงเชื่อง ว่าง่ายไม่ดุดัน ทำให้สนิทสนมกับเจ้า ควายเพื่อนยาก ไปเลย เช่นเดียวกับอาจารย์เลยค่ะ ...
  • จนอยู่มาวันนึง ในขณะที่คุณเริงวิชญ์ไปโรงเรียน พี่ชายของคุณเริงวิชญ์นำเจ้าควายเพื่อนยากที่คุณเริงวิชญ์เคยเลี้ยงมากับมือไปขาย แล้วไม่ได้บอกกล่าวกันก่อน เมื่อกลับมาจากโรงเรียน ไม่เจอควายเพื่อนยากแล้ว คุณเริงวิชญ์บอกว่านั่งร้องไห้ไม่หยุดเลย เพราะด้วยความผูกพัน ถึงแม้จะรู้ว่าสักวันหนึ่งมันก็จะต้องไปจากเรา ..
  • ฟังแล้วเศร้าตามไปด้วยเลยค่ะ ...

   สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ  

แถวบ้านผมก็เคยมีการขายควายไปเหมือนกันครับ แต่เวลาเลี้ยงควายนั้น พวกเด็กๆและชาวบ้านจะเลี้ยงด้วยกันเป็นฝูง-เป็นทุ่ง ทั้งคนและควายเลยแทบจะเป็นเพื่อนและผูกพันกันไปหมด พอขายไปสักตัวหนึ่งก็กระเทือนจิตใจกันทั้งหมู่บ้านเหมือนต้องเสียญาติและเพื่อน จำได้ว่าเดินไปส่งรถบรรทุกควายแล่นออกจากหมู่บ้านพร้อมกับร้องไห้น้ำตาไหลกันทั้งหมู่บ้านเช่นกันครับ แต่มีไม่บ่อยนัก แล้วก็แปลกนะครับ เจ้าควายมันก็จะร้องไห้และส่งเสียงร้องไปตลอดทาง

ตอนที่มีญาติๆขายควายนั้น ก็เนื่องจากมีอยู่คู่หนึ่งมันขวิดกันเอาเป็นเอาตายข้ามวันข้ามคืนจนเลือดอาบหัวกระโหลก ถึงกับต้องจุดตะเกียงเจ้าพายุนั่งเฝ้าให้มันขวิดกัน นึกถึงแล้วก็รู้สึกว่าแปลกจริงๆ ปรกติแล้วควายจะขวิดกันเป็นเรื่องปรกติ มีแทบทุกปี แต่ก็เพียงเป็นครั้งขาว แป๊บเดียวก็วิ่งหนีและจัดการปกครองในฝูงกันเองได้

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ครับ

เมื่อพูดถึงเรื่องควายแล้ว ความทรงจำดี ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมันผุดขึ้นมาเหมือนเพิ่งเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่เวลาผ่านล่วงมาแล้วกว่า 30 ปี

เป็นการเล่าสู่กันฟังนะครับ...

ผมมีเรื่องสะเทือนใจเกี่ยวกับควายอยู่ไม่น้อยเลย ผมมีลูกควายตู้ ขี้ดื้อ ที่ผมรักอยู่ตัวหนึ่ง มันชอบวิ่งเล่นไปไกล ๆ มันไม่ค่อยชอบอยู่กับพ่อแม่และฝูงของมัน ผมละเหนื่อยกับเจ้าลูกควายตัวนี้มาก จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดฝนตกตอนใกล้ค่ำ เจ้าควายตู้ตัวนี้ก็ดีใจมันเล่นน้ำฝนและออกวิ่งอย่างสุดชีวิต ทางบ้านช่วยกันตามหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ ....ใจเริ่มไม่ค่อยดีแล้ว.... จนมืดค่ำ ได้แต่ฝากบอกชาวบ้าน(ห้วยวารีใต้)ให้ช่วยดูถ้าพบเห็น ตอนเช้าไปตามหาอีกครั้งก็ไร้วี่แวว คิดว่าคงไม่ได้พบกันอีกแล้ว เมื่อนึกถึงตอนนั้นรู้สึกเสียใจและหดหู่หัวใจสิ้นดี

เวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี มีคนมาบอกว่า ไอ้บ้านที่เราไปถามนั่นแหละ เอาควายตู้ของผมไปฆ่ากินในวันรุ่งขึ้น

มาคิด ๆ ดูแล้ว เป็นเพื่อนบ้านกันแท้ ๆ ไม่น่าจะโหดเหี้ยม ใจคอโหดร้าย ทำกับลูกควายตัวเล็ก ๆ ได้ลงคอ

เลยทั้งเศร้าใจและเสียใจสองต่อเลยนะครับ ขนาดอ่านและรับรู้เฉยๆยังรู้สึกสะอึกเลย

เวลานั่งรถโดยสารมักเจอรถบรรทุกงัว-ควายเต็มคันรถ ส่วนใหญ่วิ่งเข้าเมือง ถ้าวิ่งไปตาลดนัดโค-กระบือก็ชื่นใจหน่อย แต่ละตัวถูกผูกมัดไว้กับคร่าวเชือกขึงกลางรถ ข้างรถ เห็นอาการอิดโรยมองแล้วต้องเบือนหน้าหนี สงสารจับใจ ในใจก็นึกไปที่นั่นที่นี่ บางทีโชว์เฟอร์ก็มาชวนกระเป๋าคุยถึงชะตาชีวิตของพวกเขาอีก ทำให้เราเจ็บปล๊าบไปถึงใจเลย

  • แสดงว่าแถวบ้านหนองบัวอย่างแต่ก่อน สิ่งที่เป็นทุนทางจิตใจและทุนทางสังคมที่มีความหมายมากเลยนะครับ

                            Pebulls 

  • เมื่อก่อนที่มีวัวหลวงพ่ออ๋อยและไอ้เป๋ อยู่อย่างผู้ที่ไม่ต้องอยู่เรือนและไม่ต้องมีสิ่งใด แต่เขาก็ปล่อยให้เดิน กิน นอน ตามย่านตลาด วัวไม่ถูกเอาไปทำอย่างอื่น และคนที่ดูแลตนเองไม่ก็ไม่สิ้นไร้ผู้คนให้การดูแล พอเห็นภาพเปรียบเทียบเมื่อสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ก็จะเห็นสิ่งที่ชาวบ้านมีอยู่เมื่อก่อนนี้ได้ว่ามีคุณค่ามาก แง่มุมอย่างนี้จึงน่าภาคภูมิใจ
  • ดูเหมือนว่าบางช่วงจะมีคนเอาแพะมาปล่อยให้อยู่ตามวัดและตลาดอีกด้วย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท