แตรวงร่วมบันเทิงศิลป์ : หนึ่งตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งในภาวะความทันสมัย


                       

                        ภาพที่ ๑ : วัดใหม่นิกรประทุมรักษ์ บ้านตาลิน อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ มองจากด้านสนามหน้าอาคารเรียน โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

                       

                         ภาพที่ ๒ : แตรวงคณะ ร่วมบันเทิงศิลป์ บ้านห้วยร่วม อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นแตรวงเครื่อง ๕ ประกอบด้วย แซกโซโฟนสำหรับเสียงเบส ๑ ตัว แซกเทิร์นเนอร์เสียงกลาง ๒ ตัว และทรัมเป็ตเสียงกลางอีก ๒ ตัว หากนับเครื่องเคาะจังหวะเป็นอีก ๑ องค์ก็เรียกแตรเครื่อง ๖ สมาชิกของวงเป็นชาวนาและเป็นญาติพี่น้องกัน คนแรกด้านขวาที่นั่งพับเพียบนั้นเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย ชายอาวุโวถัดไปเล่นทั้งทรัมเป็ตและแซกเทิร์นเนอร์ เป็นพ่อตาของชายที่นั่งอันดับสองจากซ้ายซึ่งเล่นแซกโซโฟน ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

                       

                         ภาพที่ ๓แตรวงร่วมบันเทิงศิลป์ มีฝีมือการเล่นเพลงเป็นวงที่ไพเราะ ทั้งวงยังคงมีเอกลักษณ์ของการเล่นวงดนตรียุควงชาร์โดเหมือนกับวงดิอิมพอสสิเบิ้ลคือต้องมียูนิฟอร์มและดูเรียบร้อย ดูด้วยสายตาชาวบ้านด้วยกันแล้ว รูปลักษณ์อย่างนี้ก็ต้องจัดว่าเกษตรกรและชาวบ้านทั่วไปจะไม่มีเงินซื้อและหากมีชุดสะอาดๆอย่างนี้ชาวบ้านทั่วไปก็จะไม่กล้าใส่เพราะดูดีเกินฐานะความเป็นชาวบ้าน ทั้งวัยและบุคลิกของวงจึงมีความเป็นปัญญาชนชาวบ้าน มีความรอบรู้ทั้งชีวิต การทำมาหากิน และความรู้ในการขับเคลื่อนกิจกรรมสังคมผ่านการเล่นแตรวง ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

                       

                        ภาพที่ ๔ : มือเล่นแซกเทิร์นเนอร์สมาชิกของวงคนหนึ่ง นอกจากเล่นแตรวงแล้วก็เป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

                       

                        ภาพที่ ๕ : การเล่นของสมาชิกแตรวงร่วมบันเทิงศิลป์ เป็นการเล่นระดับอยู่มือทุกคน มือทรัมเป็ตที่เห็นด้านซ้ายมือของภาพนั้น จะเห็นว่าเดินเป่าอย่างสบายโดยปล่อยมือซ้ายให้อิสระซึ่งการเดินเป่าและไล่นิ้วทรัมเป็ตได้ด้วยมือเดียวอย่างนี้ต้องเป็นผู้ที่ปากอยู่ตัวและเล่นจนรู้จังหวะตนเองเป็นอย่างดีแล้วเท่านั้น ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

 เมื่อวันที่ ๑๒-๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา  ผมกลับบ้านเกิดที่อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ เพื่อไปร่วมงานศพแม่ใหญ่หอม ทศดี ยายซึ่งเป็นน้องร่วมท้องกับยายของผม และทั้งตัวยายกับลูกหลานของยายก็ผูกพันกับครอบครัวของผมมากที่สุดครอบครัวหนึ่ง บ้านของของยายอยู่ที่บ้านป่ารัง อำเภอหนองบัว ห่างจากบ้านตาลินเกือบ ๓ กิโลเมตร หลังจากตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านแล้ว วันฌาปนกิจก็เคลื่อนศพไปยังศาลาและฌาปนสถานวัดใหม่นิกรประทุมรักษ์ ที่บ้านตาลิน

ตลอดการบำเพ็ญกุศลในวันที่จะเป็นวันฌาปนกิจบนศาลาวัดนี้ น้าและญาติพี่น้องของผมได้ว่าแตรวงมาเล่นแทนการเปิดเพลงจากเครื่องเสียง ชื่อแตรวง 'ร่วมบันเทิงศิลป์' เป็นแตรวงเครื่อง ๖ มีเครื่องเป่า ๕ ชิ้นและเครื่องให้จังหวะอีก ๑ องค์ เครื่องเป่าทั้ง ๕ ชิ้น ประกอบด้วย แซกโซโฟนหรือแซกใหญ่ ๑ ตัว แซกเทิร์นเนอร์หรือแซกเล็ก ๒ ตัว และทรัมเป็ตอีก ๒ ตัว แต่บางครั้งก็จะมีผู้เรียกว่าวงเครื่อง ๕ โดยนับแต่เครื่องดนตรีที่นอกเหนือจากเครื่องให้จังหวะอันได้แก่กลอง ฉิ่ง ฉาบ กรับ แกระ ซึ่งเป็นสิ่งยืนพื้น แซกใหญ่ในเครื่องทองเหลืองและเครื่องเป่านั้นก็ให้เสียงเบสและคุมเสียงทุ้มต่ำ ส่วนแซกเทอนเนอร์และทรัมเป็ตก็จะให้เสียงกลาง เมื่อบรรเลงแล้วภาพรวมของกลุ่มเสียงของแตรวงร่วมบันเทิงศิลป์จึงเป็นเสียงที่นุ่มนวล กลมกลึง

ผมฟังเพลงและการเล่นของวงตั้งแต่อยู่นอกศาลาก็รู้สึกได้ว่าแตรวงวงนี้เล่นเพลงดี แน่น ไพเราะและเข้าทางกันจนผมต้องเงี่ยหูฟัง ดูทางเพลงและวิธีโยนจังหวะกับตัวโน๊ตกันแล้วผมก็คะเนเอาว่าน่าจะเป็นแตรวงของบ้านห้วยร่วมหรือมีครูแตรจากแตรวงบ้านห้วยร่วม

 เมื่อขึ้นไปนั่งบนศาลา และได้ฟังบรรเลงอีกก็ยิ่งเป็นที่น่าสนใจ ศิลปะของแตรวงและการแสดงความรู้ของคนเล่นแตรวงนั้น ส่วนหนึ่งก็จะอยู่ที่การเลือกเล่นเพลงรับและส่งกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเพลงสำหรับประกอบพิธีกรรมซึ่งในงานนี้ก็คือการรับและส่งกิจกรรมของพระสงฆ์ นับแต่การถวายภัตตาหารเช้า เพล การสวดให้พร การแสดงธรรมเทศนา ตลอดจนการเปลี่ยนกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนศาลา ซึ่งฟังดูแล้วก็รู้ว่าแตรวงวงนี้เป็นแตรวงชั้นครู มีเพลงตับเพลงเถาสำหรับบรรเลงและให้อารมณ์ดนตรีในช่วงกิจกรรมต่างๆอย่างเหมาะสมมาก ที่สำคัญคือ เมื่อมองดูสมาชิกของวงแล้วก็พบว่ามีแต่กลุ่มผู้ใหญ่และผู้อาวุโส ไม่มีวัยรุ่นและคนที่อยู่ในวัยหนุ่มเลย การแต่งกายก็เป็นระเบียบเรียบร้อย อดไม่ได้ที่จะขอแตร่เข้าไปนั่งคุย

 แตรวงร่วมบันเทิงศิลป์  เป็นแตรวงของชาวบ้าน บ้านห้วยร่วมอย่างที่ผมคาดจริงๆ ทางเพลงและการเล่นนิ้วนั้นผมคุ้นหูมากแต่ผมไม่รู้จักเลยสักคน ผมก็เลยแนะนำตนเองว่าผมเคยเล่นแตรวง ช.ลูกทุ่ง และครูแตรของผมคือตาปุ่น บ้านรังย้อย ปรากฏว่าได้ผลครับ เพราะมีสมาชิกของวงเริ่มจำได้ทั้งครูแตรและชื่อแตรวง ช.ลูกทุ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ก็รู้จักคุ้นเคยกับทิดสามารถหรือทิดมาดมือทรัมเป็ตและแซกโซโฟนของแตรวง ช.ลูกทุ่ง เป็นอย่างดี

เครื่องเล่นทุกชิ้นของแตรวงบันเทิงศิลป์ดูแล้วก็บอกถึงความเก่าแก่ของวง จุดต่างๆที่นิ้วและมือสัมผัสนั้นสึกกร่อนลงไปจนเห็นเนื้อทองเหลืองที่อยู่ใต้โครเมี่ยม ทรัมเป็ตตัวหนึ่งต้องใช้ยางวงรัดให้มีแรงสปริงที่นิ้วคุมระดับเสียง สภาพดังที่เห็นนี้หากไม่เปลี่ยนมือเลยก็ต้องเป็นวงที่เล่นมานานกว่า ๒๐-๓๐ ปี และเมื่อดูสมาชิกของวงแล้วก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะล้วนเป็นผู้ใหญ่ในวัยฉกรรจ์และผู้สูงวัย ผู้ที่สูงวัยมากที่สุดดูจากภายนอกแล้วน่าจะสูงวัยกว่า ๖๐ ปีและผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มที่สุดก็น่าจะมากกว่า ๔๐ ปี สมาชิกคนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านและเล่นแซกเทิร์นเนอร์

แตรวงร่วมบันเทิงศิลป์มีงานเล่นตลอดและสมาชิกทุกคนก็ทำนาไปด้วย มุ่งเล่นแตรวงในแนวอนุรักษ์และย้อนยุค ซึ่งต้องเผชิญกับกระแสความทันสมัยของสังคมและความเคลื่อนไหวเปลี่ยนต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแตรวงและการรวมกลุ่มเล่นดนตรีกันโดยทั่วไปจะสู้ไม่ไหว โดยเฉพาะกระแสของเครื่องคาราโอเกะคอมพิวเตอร์ เครื่องไฟที่ดัดแปลงให้พ่วงเครื่องดนตรีไฟฟ้าและเล่นคนเดียว แคนวง เหล่านี้ ซึ่งทั้งราคาถูก เสียงดังและเล่นเอามันอย่างถูกใจผู้คนส่วนใหญ่ที่ชอบความโฉ่งฉ่างอึกกระทึกคึกโครม แต่สมาชิกของวงก็รักษาแนวการเล่นแตรวงไว้อย่างเหนียวแน่น

ผมนั่งคุยกับแตรวงร่วมบันเทิงศิลป์แล้วก็ได้เห็นภูมิปัญญา วิธีคิด และการเรียนรู้ที่จะต่อสู้เพื่อธำรงรักษาสิ่งที่ตนเองหวงแหนไว้ให้ได้อย่างแข็งขัน การเล่นแตรวงต้องมีการซ้อมและต่อเพลงไว้อยู่ตลอดเวลา การดำรงความเป็นกลุ่มก้อน ทำบทบาทหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมทางศิลปะและสังคมวัฒนธรรมในวิถีชาวบ้านอยู่ท่ามกลางภาวะความทันสมัยและความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงต่างๆได้เป็นอย่างดีนี้ เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่เข้มแข็งมาก ผมตั้งใจว่าจะหาโอกาสตามไปคุยกับแตรวงร่วมบันเทิงศิลป์อีก

 ก่อนที่ผม จะปลีกตัวออกไปช่วยงานอื่นๆบนศาลา แตรวงร่วมบันเทิงศิลป์ก็ชวนเชิญผมให้เลือกหยิบทรัมเป็ตหรือแซกเทิร์นเนอร์เพื่อเล่นเพลงแขกวรเชิดด้วยกัน ผมรู้สึกตื้นตันใจ เพราะในสังคมและวัฒนธรรมแตรวงนั้น เครื่องดนตรีทุกชิ้นมีครูและเป็นที่รู้กันว่าคนทั่วไปจะไม่ไปแตะต้องอย่างไม่เป็นการเคารพ อีกทั้งเพลงแขกวรเชิดนั้นถือเป็นเพลงบูชาครู เป็นเพลง ๓ ชั้นและมีทางออกก่อนจบที่เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นจะต้องผสมผสาน แสดงการเล่นด้วยกันอย่างเป็นรายชิ้นเหมือนกับเป็นเพลงแจ๊ส เป็นเพลงสำหรับแจมกันอย่างมีความนัยสองประการ คือ การแจมกันของคนที่เป็นเพลงแตร และการแจมกันเพื่อแสดงความมีครูเหมือนกัน จัดว่าเป็นการสันถวะและให้เกียรติกันอย่างที่สุดในวิถีชาวแตรวง

ผมขอบคุณอย่างซาบซึ้งใจ และขอบอกตามตรงว่าผมเหลือแต่นิ้วเพลงเท่านั้น ริมฝีปากอ่อนจนกักลมไม่อยู่แล้ว หากเป่าไปก็คงเล่นได้ไม่กี่ตัวโน๊ต จึงขอนั่งฟังและบันทึกการบรรเลงของวงเป็นคลิปวิดีโอไว้เป็นที่ระลึก.

หมายเลขบันทึก: 359173เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2010 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เอาอดีตคนเล่นแตรวงมาฝากค่ะ...พ่อสอนดนตรีด้วย..เวลามีงานบวชนาคพ่อก็จะทำแตรวงด้วย...พ่อเล่นแซกโซโฟนแบบครูพักลักจำจนเกิดทักษะความชำนาญที่ได้จากพรแสวง...และได้ร่วมเล่นกับวงดนตรียุพิน แพรทองอยู่พักหนึ่งในวัยหนุ่มค่ะ...

ในภาพนี้ถ้าพ่อได้ร่วมวงด้วยก็คงอายุพอกันนะคะเพราะพ่อในตอนนี้ก็เข้าวัย68ปี..งานสีดำแบบนี้พ่อก็ไปค่ะ...

สุดยอดไปเลยละครับ คุณพ่อน้องคุณครูอ้อยเล็กเล่นกับอีเลคโทนและเล่นให้นักร้อง ทั้งการร้องขับกล่อมในงานเลี้ยงอย่างในภาพและกับวงดนตรีลูกทุ่ง ซึ่งต้องเน้นความไพเราะในอีกบรรยากาศหนึ่งอย่างนี้ต้องจัดว่าเป็นมืออีกชั้นหนึ่งเลยละครับ ผมเล่นได้อย่างมากก็เชียร์รำวงครับ

อาจารย์พี่ม่อยค่ะ ดูภาพและอ่านเรื่องเล่าทำให้เหมือนเข้าไปยืนดูเหตุการณ์ด้วยค่ะ ภาพนี้ต่อไปจะกลายเป็นภาพลายเส้นด้วยหรือเปล่าคะ

และมาขอบคุณในความคิดเห็นที่อาจารย์ให้ไว้ จะนำไปต่อยอดต่อไปค่ะ ดีใจจัง

และได้รับหนังสือ "ดังลมหายใจ" จากน้องหน่อยแล้วค่ะขอบคุณมากค่ะ พี่แต๋มกับน้องหน่อยแอบท้า(แต่ไม่ได้พนัน) กันว่า จะต้องถามหาลายมือชื่อ(เซ็นสดๆ) ก่อนแน่ๆ เลยค่ะ

สวัสดีครับน้องต๋อยครับ

  • คิดอยู่เหมือนกันครับว่าจะเขียนออกมา เลยขอเก็บไว้เป็นหัวข้อสำหรับทำงานความคิดในใจเรื่องหนึ่งนะครับ 

                                

  • ภาพร่างความคิดที่น้องต๋อยและทีมจัดการความรู้ พัฒนาห้องสมุดแห่งการสร้างสรรค์ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สรุปบทเรียนและออกแบบเค้าโครงเนื้อหากับการแสดงวิธีคิดเพื่อวางแผนไปนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการนี่ยอดไปเลยนะครับ
  • เห็นความลงตัวความบูรณาการระหว่างนักครีเอตีฟ คนวาง Copy Write  คนทำสื่อ นักนิเทศศาสตร์ นักเทคโนและโสตทัศนศึกษา คนทำงานเชิงวิชาการ นักวิเคราะห์ระบบและบริหารงานวิชาการ สะสมวิธีการอย่างนี้และพัฒนาไปเยอะๆจะเป็นเครื่องมือวิเคราะห์งานและเป็นเครื่องมือทำงานวางแผนเป็นกลุ่มของคนทำงานเชิงสร้างสรรค์ เพื่อแปรความคิดไปสู่การสื่อสารกับสังคม ที่เหมาะสมและเท่อย่างคนทำสื่อมากๆครับ

แวะมาเก็บความเป็นไทยในโลกดนตรีค่ะ

ขอบคุณค่ะ

อยากให้คุณครูkrutoitingและท่านที่สนใจได้เห็นจากของจริงไปด้วยเลยละครับ จะเห็นแง่งามอีกหลายอย่างของการอยู่ด้วยกันของชาวบ้านและเห็นโลกที่เคลื่อนไหวไปด้วยพลังชีวิตอีกแบบหนึ่งที่มีอยู่อย่างมั่งคั่งในสังคมไทยแต่เราอาจมองผ่านไปมากมาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท