การเลื่อยกระดาน ทำเสาจากไม้ทั้งต้น และการสุมไฟทำครก


  ศาลาวัดหนองกลับ   หรือที่เรียกว่าวัดหลวงพ่อเดิม และวัดหลวงพ่ออ๋อย เป็นศาลาวัดที่มีเสาไม้ขนาดใหญ่กลมกลึงและทำด้วยไม้ทั้งต้น รวมทั้งมีคานไม้และแผ่นกระดานขนาดใหญ่เป็นพื้นศาลา กระดานบางแผ่นมีหน้ากว้างเป็นเมตร เช่นเดียวกับเสาศาลาซึ่งทำจากไม้ทั้งต้นก็ขนาดใหญ่จนเกินจะโอบรอบด้วยคนคนเดียว เสา คาน และกระดาน เหล่านี้ เป็นผลจากความสามัคคีและความเหนื่อยยากของคนหนองบัวที่เข้าไปชักลากไม้มาจากป่าหนองบัวและทำขี้นมาจากแรงมือด้วยภูมิปัญญาการช่างของชาวบ้าน

                                                         การระดมแรงงานและระดมทรัพยากรชุมชน :
                                                         การลงแขกและระดมแรงงานช่างชาวบ้านในการเลื่อยกระดาน 
                                                         ทำเสาจากต้นไม้ทั้งต้น และการสุมไฟทำครก
                                                         วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์  ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓

  การหาไม้ 

การหาไม้เป็นทักษะที่ต้องใช้จินตนาการและความรู้เกี่ยวกับลักษณะของไม้ชนิดต่างๆเป็นอย่างดี การนำไม้มาทำเครื่องใช้สอยแต่ละขนิดจำเป็นต้องเลือกไม้ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ที่สำคัญคือ ไม้สำหรับทำคันไถ ไม้สำหรับทำเสาบ้าน ไม้สำหรับทำคาน ไม้สำหรับทำฝา ไม้สำหรับกระดานพื้นบ้าน ไม้สำหรับทำเสาทั้งต้น ไม้สำหรับทำวัด สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยและเครื่องใช้พื้นฐานในชีวิตประจำวัน จึงเป็นวิชาและความรู้เพื่อชีวิตที่ชาวบ้านต้องได้เรียนรู้และซึมซับผ่านการดำเนินชีวิตร่วมกันในวิถีชุมชน

ไม้สำหรับทำคันไถ จำเป็นต้องเลือกไม้ที่เห็นจากภายนอกแล้วสามารถจินตนาการเห็นแก่นและเส้นเนื้อไม้ที่โค้งเป็นแนวคันไถจึงจะได้คันไถที่แข็งแกร่งและเหนียว หากทำด้วยไม้แบบทั่วไป ถึงแม้จะเป็นแก่นไม้ที่แข็งแรงแต่หากขาดเส้นเนื้อไม้ที่พลิ้วเป็นรูปคันไถแล้ว ก็จะทำให้คันไถดังกล่าวขาดความยืดหยุ่น หากไถกินดินลึก ติดรากไม้ หรือชนกับดินดาน ก็จะทำให้คันไถขาดสะบั้นได้  

การเลือกไม้และทำเครื่องมือต่างๆของชาวบ้านจึงเป็นศิลปะการใช้ความรู้ในธรรมชาติอย่างยิ่ง ต้องรู้จักต้นไม้และธรรมชาติของไม้แต่ละชนิด ต้องรู้จักวิธีใช้สอยเครื่องมือและสิ่งของที่จะใช้ไม้สร้างขึ้นมาอย่างลึกซึ้ง และต้องมีความรู้การปฏิบัติเพื่อทำเครื่องมือและสิ่งของเป็นอย่างดี สามารถทำงานในความคิดและเห็นแง่มุมต่างๆอย่างทะลุปรุโปร่ง สิ่งเหล่านี้จะทำให้สามารถสร้างสรรค์วิธีคิดและเลือกไม้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม เห็นชิ้นงานที่สำเร็จไปแล้วตั้งแต่ในความคิดก่อนที่จะเลือกและตัดไม้ จึงใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้อย่างสูงสุดและทำความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

  การทำเสาจากต้นไม้ทั้งต้น 

เสาที่ทำจากไม้ทั้งต้นนั้น ชาวบ้านจะต้องเดินทางเข้าไปหาไม้ให้ได้ขนาดที่ต้องการและมีลำต้นที่ตรง ไม้ในกลุ่มใช้ทำสิ่งของที่ทนทานแข็งแกร่งทำเครื่องมือทำนาและทำเสาบ้านได้จะเรียกรวมๆว่า "ไม้จริง" เช่น ไม้มะค่าโมง ประดู่ ชิงชัน ส่วน "ไม้ทำฝา" จะเป็นกลุ่มไม้ที่เนื้ออ่อนรองลงไป เช่น ยาง เต็งรัง สัก กระบาก ซึ่งเหมาะใช้สำหรับทำฝา ฝ้า เพดาน ตู้ ลูกกบระเบียง "ไม้ทำคาน" ก็จะเป็นทั้งไม้จริงและไม้ที่เนื้ออ่อนลงไปแต่ลักษณะไม่สวยมาก เหล่านี้เป็นต้น 

ไม้จริงสำหรับทำเสานั้นโดยมากแล้วก็จะต้องเข้าไปในป่าลึกจึงจะได้พบต้นไม้เหล่านี้เบียดเสียดลำต้นสูงใหญ่และตรงได้ขนาดที่ต้องการ หากอยู่ในป่าลึกมากและสามารถหาได้ในบริเวณเดียวกันได้หลายต้น ก็จะระดมแรงงานกันเข้าไปถากเปลือกและกะพี้ออกแล้วก็รวมกันไว้ชั้นหนึ่งก่อน เมื่อได้จำนวนหนึ่งแล้วจึงจะชักลากออกมาทำต่อในชุมชน

แต่ถ้าหากมีจำนวนไม่มาก ก็จะเข้าไปชักลากทั้งต้นมารวมกันไว้หลายเที่ยว แล้วจึงค่อยถากและเกลาให้กลมเป็นเสา เครื่องมือที่ใช้ถากไม้มีลักษณะเหมือนจอบซึ่งทำด้วยเหล็กและหน้าแคบประมาณฝ่ามือ ภาษาชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า ‘จก’  ช่างชาวบ้านจะยืนถากไม้ด้วยจกให้ได้ขนาดที่ต้องการ จากนั้นก็จะมีเครื่องมือตบแต่งรายละเอียด เมื่อพื้นผิวเกือบเรียบแล้วจึงไสกบอีกทีหนึ่ง ทำให้เสากลมกลึงสวยงาม

  การเลื่อยไม้กระดาน 

ช่างชาวบ้านจะเลือกไม้สำหรับทำกระดานโดยดูขนาดใหญ่เป็นหลักและสามารถโค้งงอได้ แต่ละช่วงที่โค้งงอนั้นก็จะมีส่วนที่สามารถทำให้เป็นท่อนๆเพื่อทำเป็นแผ่นกระดานท่อนละชุด การเลื่อยไม้กระดานจะเลื่อยโดยใช้เลื่อยคันชักซึ่งต้องช่วยกัน ๒ คนต่อเลื่อย ๑ คัน

ช่างชาวบ้านที่ชำนาญนั้นสามารถที่จะช่วยกัน ๔ คนเพื่อเลื่อยไม้ท่อนเดียวกันด้วยเลื่อยคันชัก ๒ คันโดยเริ่มเลื่อยเข้าหากันจากคนละด้าน การเลื่อยไม้ด้วยเลื่อยคันชักจะเป็นการทำงานที่ประสานสอดคล้องกันมากของคน ๒ คน เมื่อคนหนึ่งชัก อีกคนจะต้องผ่อนมือข้างหนึ่งพร้อมกับใช้มืออีกข้างช่วยออกแรงผลักเพื่อส่งแรงให้กับการชักของอีกคน สลับกันไปมา ต้องใช้ประสบการณ์และเรียนรู้การแก้ปัญหาซึ่งสะท้อนภูมิปัญญางานช่างที่กว่าจะสามารถเลื่อยไม้ได้ก็ต้องเรียนรู้และฝึกหัดหลายสิ่งด้วยกัน

.......พ่อใหญ่น้อยเคยเล่าให้ฟังว่า

กระดานที่แผ่นใหญ่และหนาก็ถากเอาเช่นกัน แล้วส่วนที่เป็นพื้นบ้าน แผ่นจะบางมากและบางบ้านจะแผ่นไม่โต ผมเคยสงสัยว่าทำไมแต่ก่อนไม้ไล่ก็มีตั้งมากมาย สาเหตุที่ให้ต้องเช่นนั้น การที่จะเอาแผ่นใหญ่ๆมานั้นการขนลากจูงค่อนข้างลำบาก ไม้ใหญ่ๆก็เชือดลงเตาเผาถ่าน แต่ก่อนคนไม่ค่อยพกไม้บรรทัด ก็เอากล่องไม้ขีดทาบระยะความหนาเอาแบบง่ายๆ ตอนผมเองยังเด็ก ผมชอบคอยหยอดน้ำเวลาเค้าเลื่อยไม้กัน แล้วจะไปหาถ่านไฟฉายเก่ามาทุบใส่กะลาผสมน้ำไว้คอยตีเส้น การเลื่อยนั้นไม่ใช่ใครก็ทำได้ หากรักษาจังหวะไม่ได้ไม้ก็จะเป็นคลื่น การเลื่อยไม้นั้นคนหนองบัวต้องยกมือให้ตาแป้นบ้านป่ารัง เลื่อยมาตั้งแต่ยังไม่มีเลื่อยเครื่อง...การเลื่อยนั้นแต่ก่อนจะนับเป็นกี่ยก กี่คลอง แล้วแต่ความยาวว่าจะกี่ศอก....
                                                                              เสวก  ใยอินทร์  กลุ่มพริกเกลือ คนหนองบัว [Click here]
                                                                              ใน เวทีเรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว[Click here]
                                                                              dialogue box ๖๐๕

เมื่อเริ่มเลื่อยไม้กระดานนั้น ช่างชาวบ้านจะมีขั้นตอนการเลื่อย ๓ ขั้น อันได้แก่
(๑) เลื่อยเปลือกและกะพี้ออก : เลื่อยเปลือกและกะพี้ออกให้เหลือจำเพาะเนื้อไม้เป็นท่อน ๔ เหลี่ยม สำหรับตีเส้นและเลื่อยทำไม้กระดานต่อไป
(๒) เลื่อยกระดานแต่ไม่ให้ขาดออกจากกัน : ใช้เชือกชุบดินประสิวจากถ่านไฟฉายผสมน้ำจนได้สีดำสนิท ตีเส้นบนท่อนไม้สี่เหลี่ยมให้ได้แนวเหมือนเส้นบรรทัดในสมุดเพื่อเป็นเส้นนำร่องการเลื่อยให้ได้ความหนาของแผ่นกระดานที่ต้องการ จากนั้นจึงเลื่อยไปจนเกือบสุดอีกปลายข้างหนึ่งแต่ไม่ให้ขาดออกจากกันเพราะจะทำให้ไม้ที่เหลือน้ำหนักน้อยลง ทำให้ท่อนไม้โคลงเคลงและเลื่อยยาก
(๓) เลื่อยแยกแผ่นกระดานออกจากกัน : เมื่อเลื่อยไม้ทั้งท่อนให้เป็นกระดานหมดแล้ว ปลายท่อนไม้ด้านหนึ่งจะยังไม่ได้เลื่อยให้ขาด ดังนั้น ช่างชาวบ้านก็จะกลับไปเลื่อยด้านที่เนื้อไม้ยังยึดกระดานแต่ละแผ่นให้ติดกันนั้นให้ขาดออกจากกัน ในขั้นนี้บางครั้งก็อนุญาตให้เด็กๆขึ้นไปนั่งเล่นเพื่อให้มีแรงกดท่อนไม้ไปในตัว

กว่าจะทำให้ไม้ทั้งท่อนเป็นกระดานสักยกหนึ่ง ชาวบ้านจะต้องเลื่อยไม้เป็นเดือน หากต้องการไม้ให้พอสำหรับทำบ้านหรือเรือนหอ ก็จะต้องเลื่อยสะสม ๓-๕ ปี การปลูกเรือนหอจึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านหนองบัวให้คุณค่ามากต่อการใช้เป็นเครื่องหมั้นหมายคู่ดอง บ่งบอกถึงการมีความพากเพียร มีวิชาชีวิต มีศิลปะการช่างเพื่อสร้างครอบครัวและทำมาหากิน ส่วนการทำไม้สำหรับสร้างวัด โรงเรียน หรือสิ่งสาธารณะ ชาวบ้านจะระดมการลงแขกจากทั้งชุมชน ซึ่งจะได้ไม้เท่าที่ต้องการในระยะเวลาไม่นาน บ่งบอกถึงพลังความสามัคคีและความมีสำนึกต่อส่วนรวมของผู้คนในชุมชน

  การสุมไม้ทำครก 

การทำครกสำหรับทำครกกระเดื่องหรือครกตำข้าวซ้อมมือ ชาวบ้านจะเลือกท่อนไม้ "ไม้จริง"ที่มีขนาดใหญ่และตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการทำครก จากนั้นก็จะตั้งตากแดดให้แห้งแล้วนำมาก่อไฟสุมที่ด้านหนึ่ง เมื่อสุมไปได้ระยะหนึ่งก็จะดับไฟแล้วขุดส่วนที่เนื้อไม้ไหม้ไฟ จากนั้น ก็จะสุมไฟใหม่ต่อไปอีกแล้วก็ดับและขุดเนื้อไม้ออก ทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่องซึ่งกว่าที่จะได้ครกหนึ่งลูกนั้น จะใช้เวลาถึงหนึ่งฤดูแล้งเลยทีเดียว

การเลื่อยกระดาน ทำเสาจากต้นไม้ทั้งต้น และการสุมไฟทำครก ดังที่กล่าวมานี้ เป็นงานช่างและวิชาชีวิตที่ชาวบ้านหนองบัวทุกคนเมื่อโตแล้ว โดยเฉพาะผู้ชาย ต้องเรียนรู้และฝึกทำให้เป็น และบางครั้งผู้หญิงก็อาจเรียนรู้ที่จะทำช่วยกันในครอบครัว การทำบ้าน ทำศาสนสถาน รวมทั้งการทำศาลาวัดหนองกลับในยุคหลวงพ่อเดิมและหลวงพ่ออ๋อย ก็ต้องทำในลักษณะนี้ คนรุ่นหลังอาจจะไม่เคยเห็นแล้ว จึงอาจจะจินตนาการไม่ถูกว่าเสากลมจากต้นไม้ทั้งต้นนับเป็น ๑๐๐ ต้น และกระดานไม้ขนาดใหญ่ ที่นำมาทำศาลาวัดหนองกลับนั้น ชาวบ้านในอดีตทำกันอย่างไร 

เห็นความยากลำบากที่กว่าจะได้กระดานแต่ละแผ่นและเสาแต่ละต้นแล้ว คนหนองบัวจะต้องยิ่งภาคภูมิใจและหวงแหนสิ่งสาธารณะที่คนเก่าแก่ได้สร้างไว้.

หมายเลขบันทึก: 361959เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2010 02:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับท่านอาจารย์ วิรัตน์

ได้รับหนังสือแล้วครับ ขอบคุณครับ

อ่านบันทึกนี้แล้ว คนที่มีประสบการณ์ จะนึกภาพออก บอกต่อได้ถึงวิธีการ ให้ได้มาถึงเสา ครก กระดาน

การขุดเรือก็ใช้สุมไฟเหมือนการทำครกครับ (เรือขุด)ส่วนเรือต่อ ใช้กระดานแต่ละแผ่นมาต่อกัน ไม่ต้องสุมไฟเผา

เลื่อย ที่ใช้สมัยก่อนมีเลื่อย กระทุ้ง เลื่อยหางเข้ (แต่ไม่เห็นรูปเลื่อยเหล่านี้มาหลายปีแล้วครับ)

อีกวิธีที่ทำเสาคือใช้ขวาน ถากเหลื่ยม แล้วถากกลมตามต้องการ คนที่ถากไม้ได้สวย มักได้รับเกียรติให้ถากไม้ ทำวัด ทำมัสยิด มีคำพูดว่า "ถากไม้เหมือนหมาเลีย" คือสวยลืน แววไม่มีรอยสดุด"(ลูกพ่อคนหนึ่งหุงข้าวสวยเหมือนนึ่ง ลูกพ่อคนหนึ่งถากไม้เหมือนหมาเลีย)คือสุดยอดฝีมือครับ

สวัสดีครับ วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- ครับ

  • ผมเห็นชื่อ วอญ่า ทีไรก็นึกถึงเพลง Its never rain in Southern California แล้วก็นึกถึงเสียงฟลุตของวงดนตรี The Four Singers ที่ราชบุรี และวง ๔ เต่าทองเมืองไทย : ดิมอิมพอสสิเบิ้ล ทุกทีเลยละครับ ทั้งที่ทราบว่าที่มา ที่ วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--  เล่าว่ามาจากคำว่า บ้านตัวอย่าง บนป้ายที่ตัวหนังสือหลุดหายไป
  • ในเพลงนี้มีวรรคหนึ่งที่ออกเสียงเหมือน วอญ่า ซึ่งผมได้ยินเพลงนี้ครั้งแรกจากวง The Four Singers และพอเห็นชื่อก็พอจะคาดไปได้ว่าได้รับอิทธิพลจาก วง ๔ เต่าทอง : เดอะบี๊ตเทิ่ล ของอังกฤษ เหมือนกับ วงดิอิมพอสสิเบิ้ล ซึ่งสมาชิกคนหนึ่งของวงคือ วินัย พันธุรัตน์ เป็นรุ่นพี่ของผมที่โรงเรียนเพาะช่าง
  • ลูกพ่อคนหนึ่งหุงข้าวสวยเหมือนนึ่ง ลูกพ่อคนหนึ่งถากไม้เหมือนหมาเลีย .... ผมนึกไม่ออกว่าเคยเห็นจากงานเขียนของใคร นิคม รายวา ไล่ๆกับ ตลิ่งสูงซุงหนัก และ ตะกวดกับคบผุ หรือเปล่าครับ

สวัสดี ครับ อาจารย์วิรัตน์

วันหยุดได้ทำอะไรมากมาย อย่างใจคิด หลังจากอาบน้ำแล้ว มานั่งอ่านบันทึกที่เข้าใจวิถีชนบทในมุมของอาจารย์ เพิ่มขึ้นอีก

อิ่มอกอิ่มใจ ในวิถีแบบนี้มาก ๆ ครับ อาจารย์

...

คิดขึ้นได้ ผมเคยเลื่อยไม้ยางพารา ที่หักร่วงอยู่ในสวนหลังบ้าน มาทำฝืนหุงต้ม และทำกับข้าว ไม้ที่เลื่อยได้ก็จะกองเอาไว้ ใกล้เตาถ่านที่วางไว้หน้าโรงยาง

เด็ก ๆ ชอบมากครับ กับการได้ปิ้งย่าง อาหาร กัน

เป็นความสุขในครอบครัว ที่มีให้เห็นบ่อย ๆ

เล่าให้อาจารย์ฟัง..แล้วมีความสุข ครับ

ด้วยความเคารพรัก

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ

  • ดีใจครับที่อ่านและดูรูปวาดแล้วสัมผัสได้ถึงความรื่นรมย์ของชีวิตชนบท
  • อย่างนี้ต้องถือว่าเป็นการอ่านเพื่อสร้างความสุข สร้างสุขภาพใจ และให้พลังชีวิต ได้เหมือนกันนะครับ
  • มีความสุขครับ

ไม่ได้เห็นเลื่อยปื้นใหญ่ๆๆแบบนี้มานาน ปกติตอนเด็กๆๆเคยใช้เลื่อยไม้ครับ แล้วไม้มันหนีบเลื่อย ต้องใช้จารบีหรือน้ำมันหล่อให้เลื่อยง่ายๆๆครับ ตอนเลื่อยต้องหาสีดีดให้เป็นเส้น เพื่อเลื่อยให้ตรง ผมถือคลองเลื่อย เลื่อยไม่ตรงประจำเพราะตัวเล็ก ดันใช้เลื่อยใหญ่ๆๆครับ

  • แสดงว่าการนั่งหยอดน้ำเพื่อเลี้ยงใบเลื่อยให้เย็นและลื่นนี่ เหมือนกับเป็นการลงทะเบียนเพื่อเริ่มเรียนวิชาเลื่อยไม้เหมือนกันเลยนะครับ
  • คุณเสวกก็เคยทำหน้าที่นี้ และผมเองก็ต้องเริ่มทำหน้าที่อย่างนี้เหมือนกันเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท