หลวงพ่ออ๋อย ศิษย์หลวงพ่อเดิม : ผู้ร่วมสร้างพื้นฐานความเป็นปึกแผ่นชุมชนหนองบัว


                                                                           พระครูนิกรปทุมรักษ์    
                                                                   (หลวงปู่อ๋อย สุวณฺโณ /พรมบุญ)
                                                                            พ.ศ.๒๔๔๒-๒๕๒๙

พระครูนิกรปทุมรักษ์ หรือหลวงพ่ออ๋อย อดีตเจ้าคณะอำเภอหนองบัวรูปแรก (๒๔๙๙-๒๕๑๖) เป็นชาวหนองบัว เกิดที่บ้านใหญ่ หมู่ที่ ๒ ตำบลหนองกลับ เป็นศิษย์หลวงพ่อคล้าย วัดพนมรอก อำเภอท่าตะโก โดยหลวงพ่อคล้ายบวชให้ และก็เป็นศิษย์หลวงพ่อเดิมด้วย เป็นผู้นำชุมชนเมืองหนองบัวรุ่นแรก ๆ ที่ได้นำกลุ่มศรัทธาชาวหนองบัว-หนองกลับ ช่วยกันสร้างสรรค์ประโยชน์ให้ชุมชนไว้อย่างมากมาย เช่น เมื่อท่านเป็นเจ้าอาวาสได้กราบนิมนต์หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ให้มาเป็นประธานในการสร้างศาลาการเปรียญ สร้างกุฏิ บูรณะอุโบสถ วัดหนองกลับ

โดยเฉพาะศาลานั้นเป็นศาลาไม้ขนาดใหญ่เสาร้อยกว่าต้น เสาศาลาใหญ่ ขนาดโอบคนเดียวไม่รอบ การสร้างศาลาหลังนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อชุมชน ด้วยเป็นศาสนสถานที่มั่นคงและเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจยุคแรกในหนองบัว การระดมรวมพลังคนสร้างเสนาสนะครั้งนี้ โดยใช้แรงศรัทธาคนทั้งเมืองร่วมกันทำ เลยต้องถือว่าเท่ากับเป็นการสร้างเมืองหนองบัวนั่นเอง

พระเดชพระคุณหลวงปู่เป็นที่รู้จักและเคารพศรัทธาเลื่อมใสแก่คนในชุมชนและจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบจำนวนมาก จนคนทั่วไปนำชื่อของท่านไปเรียกเป็นชื่อวัดก็มี เช่น วัดหนองกลับ ก็เรียกว่าวัดหลวงพ่ออ๋อยเป็นต้น สิ่งที่หลวงปู่ท่านสร้างไว้ล้วนเป็นร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ของชุมชน เป็นที่มาแห่งความสามัคคีของคนหนองบัว

ประเพณีบวชนาคหมู่ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ท่านก็มีส่วนในการริเริ่มจัดขึ้นร่วมกับหลวงพ่อเดิม และประเพณีบวชนาคหมู่ที่ริเริ่มโดยหลวงพ่อเดิมนั้น ต่อมาหลวงปู่ท่านก็ได้สืบสานงานชิ้นนี้อย่างเข็มแข็งและต่อเนื่อง จนกระทั่งการบวชนาคหมู่ได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์ประจำอำเภอในที่สุด

ท่านเป็นผู้มีอายุยืนยาว ดำรงอยู่ในสมณเพศเกือบ ๗๐ ปี ถึงแม้จะเป็นพระสงฆ์ก็ตาม แต่ท่านก็ถือคตินิยมแบบโบราณในการสร้างสรรค์ความดีตามยุคสมัยของสังคม โดยท่านได้บริจาคที่ดินของวัดให้สร้างสถานศึกษาซึ่งเป็นสถานศึกษาแห่งแรกของอำเภอหนองบัวอีกด้วย นั่นก็คือโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ซึ่งปัจจุบันคือ โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) ทางด้านสาธารณูปโภคก็มีสระน้ำหลวงพ่ออ๋อยซึ่งมีจำนวน ๒ สระนั้น ก็กินพื้นที่ถึงเกือบยี่สิบไร่แล้ว และสระน้ำแห่งนี้ก็เป็นแหล่งน้ำสำคัญของอำเภอหนองบัวที่คนทั้งอำเภอได้ใช้อุปโภคบริโภคกันตลอดมา

ศาสนสถานวัดวาอารามในอำเภอหนองบัวท่านก็ได้สร้างขึ้นใหม่และบูรณะของเดิมไว้หลายแห่งด้วยกัน การที่หลวงปู่ท่านเป็นที่เคารพนับถือของคนจำนวนมาก ทำให้การเป็นอุปัชฌาย์ของท่านนั้นมีบทบาทต่อกุลบุตรอย่างมากทั้งในหนองบัวและจังหวัดใกล้เคียง โดยแต่ละปีจะมีผู้มาสมัครขอบรรพชาอุปสมบทอย่างมากมายนับร้อยคน คนหนองบัวหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงรุ่นหลานต้องผ่านการบรรพชาอุปสมจากท่านด้วยกันทั้งนั้น

แม้แต่ช่วงที่ท่านชราภาพแล้ว ทั้งสุขภาพไม่ค่อยดี มีปัญหาทางด้านสายตาด้วย ก็ยังมีผู้คนทั้งอำเภอมาบวชกับท่านเป็นประจำ โดยเฉพาะคนรอบนอกอำเภอ จะนิยมมาบวชตอนเช้ามืด นาคต้องเตรียมตัวออกเดินทางจากบ้านกลางดึก ตีหนึ่ง ตีสอง ถึงวัดหนองกลับ ตีสี่ ตีห้า บวชเสร็จแล้วยังไม่สว่างเลย เหตุการณ์อย่างนี้(บวชเช้ามืด) ผู้เขียนยังไม่ได้ยินว่าที่อื่น ๆ จะมีเช่นนี้

 กรณีเช่นนี้นับเป็นความมีเมตตาธรรมและความเสียสละของพระเดชพระคุณหลวงปู่อย่างมาก ที่ท่านได้ทำหน้าที่ของสงฆ์อย่างองอาจ อาจหาญ อดทน ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่ออนุเคราะห์สงเคราะห์ชุมชน ประชาชน สังคม ฉลองศรัทธาปสาทะ อย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิต แม้แต่เมื่อสู่วัยชรา อีกทั้งมีปัญหาสุขภาพก็ตาม

หลวงปู่อ๋อยท่านมีชีวิตเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์และทำสิ่งดีงามทั้งหลายไว้ในชุมชนเมืองหนองบัวมากมาย  โดยเฉพาะสิ่งที่ท่านสร้างไว้ที่เป็นวัตถุสิ่งของที่นับจำนวนได้ก็ต้องถือว่าท่านเป็นผู้นำชุมชนในยุคแรกที่ได้พัฒนาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ มากกว่าผู้ใดทั้งสิ้นในหนองบัว(ในช่วงชีวิตของท่าน) 

เราทั้งหลายซึ่งเป็นคนรุ่นหลัง เมื่อได้เรียนรู้ เห็นคุณค่า คุณประโยชน์และเกิดความซาบซึ้งในความดีงามเหล่านั้นแล้ว ก็จะยิ่งเพิ่มความเคารพนับถือศรัทธาในองค์ท่านมากยิ่ง ๆ ขึ้น.

 

ผู้จัดเตรียมข้อมูล : พระมหาแล  อาสโย (ขำสุข) 
วัดศรีโสภณ ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง  จังหวัดพิษณุโลก
๑๔  กรกฏาคม  ๒๕๕๓ 

..............................................................................................................................................................................

  หมายเหตุ   :

             (๑)  รูปหลวงปู่อ๋อยรูปนี้ถ่ายเมื่ออายุ ๖๓ ปี (๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕) ในงานทำบุญครบรอบ  ๖๓ ปี
             (๒)  อ้างอิงภาพและบทความ : จาก dialogue box ๗๒๕ และ ๗๒๖ โดย พระมหาแล อาสโย(ขำสุข) อ้างถึงใน เสวก ใยอินทร์ ใน เวทีคนหนองบัว ใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ที่ http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/295169#2107972

หมายเลขบันทึก: 379070เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2010 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับ  เข้ามาเยี่ยมอ่านครับ   ได้เรียนรู้ผู้ทำคุณประโยข์แก่แผ่นอีกหนึ่งท่านครับ  ขอบคุณ

  • สวัสดีครับคุณธนา นนทพุทธครับ
  • มาไกลคนละฟากฟ้าเลยนะครับ หนองบัว-หาดใหญ่ สงขลา
  • ขอยินดีต้อนรับ และขอร่วมคารวะครับ เชิญมาร่วมสนทนาและแลกเปลี่ยนทรรศนะต่างๆกับคนหนองบัวตามอัธยาศัยครับ
  • บทความนี้ เป็นผลงานของพระมหาแล อาสโย(ขำสุข) และคุณเสก ใยอินทร์ สมาชิกเวทีคนหนองบัวครับ ท่านเขียนและเผยแพร่ลงในบล๊อกเวทีคนหนองบัว ผมจึงขอนำมารวบรวมให้เป็นหัวข้อย่อย เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่คนท้องถิ่นในอันที่จะศึกษาเรียนรู้ ให้ได้กำลังสัมมาทรรศนะทั้งต่อการสร้างสรรค์ชุมชนและต่อสังคมวงกว้างต่อไปยิ่งๆขึ้นครับ

สวัสดี ครับ อาจารย์วิรัตน์

หลวงปู่อ๋อยท่านมีชีวิตเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์และทำสิ่งดีงามทั้งหลายไว้ในชุมชนเมืองหนองบัวมากมาย  โดยเฉพาะสิ่งที่ท่านสร้างไว้ที่เป็นวัตถุสิ่งของที่นับจำนวนได้ก็ต้องถือว่าท่านเป็นผู้นำชุมชนในยุคแรกที่ได้พัฒนาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ มากกว่าผู้ใดทั้งสิ้นในหนองบัว(ในช่วงชีวิตของท่าน) 

อาจารย์ ครับ ที่ไหนก็ตามที่เป็นผืนแผ่นดินไทย ...

รู้สึกได้เลยครับว่า..นั้นคือความดีงามที่คงไว้ชั่วลูกชั่วหลาน

...

อ่านบันทึกนี้แล้ว...ทานข้าวได้เยอะจังเลย

นำอาหารเที่ยงมาฝากอาจารย์ด้วย นะครับ

 

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ

  • ขอบคุณอาหารมื้อเที่ยงครับ ไข่เจียวกับผัดพริกแกงทะเลน่าทานจริงๆ
  • เป็นบรรยากาศไทยๆแบบบ้านนอก-บ้านนอกดีนะครับ
  • คงมีเรื่องราวที่งดงามอยู่ในท้องถิ่นต่างๆของสังคมไทย ที่รอให้ผู้คนเข้าไปมองเห็น เรียนรู้ แล้วก็นำมาสืบสานต่อยอดให้เป็นพลังการพัฒนาตนเองของสังคม คล้ายกับเรื่องของหลวงพ่ออ๋อย วัดหนองกลับ และคนชุมชนหนองบัว อย่างในเวทีคนหนองบัวนี้ อยู่อีกมากมายเลยนะครับ

สวัสดีค่ะ

มาเรียนรู้เรื่องราวของคนดี พระดีในชุมชนค่ะ

เหมือนคำกล่าวที่ว่าตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอนนะคะท่านอ.

ผู้คนในชุมชนประพฤติปฏิบัติตัวดีมีเมตตาธรรม

สูงค่าด้วยคุณงามความดีอย่างหลวงปู่เหมือนตำราเล่มโตให้คนรุ่นหลัง

ได้ศึกษา และเห็นแนวทางปฏิบัติตาม และต่อยอดความรู้ได้ไม่รู้จบจริงๆ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณครูkrutoitingครับ

  • ผมก็ได้ความยินดีและประทับใจมากไปด้วยเช่นกันครับ เป็นความงอกเงยและความงอกงามที่ค่อยๆเกิดขึ้นไปเอง ทั้งทำให้ได้มีส่วนร่วมและทำให้ได้ความตื่นตาตื่นใจไปด้วยครับ
  • ผมเองนั้น ถึงแม้จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันสร้างความเป็นเวทีคนหนองบัว ทว่า ก็รู้และได้สัมผัสเพียงบางด้าน ทั้งด้วยความเป็นคนหนองบัว เรียนโรงเรียนหนองบัวที่หลวงพ่ออ๋อย หลวงพ่อเดิม และท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกท่านนำชาวบ้านสร้างไว้ให้คนหนองบัว และเล่นแตรวงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมประเพณีบวชนาคหมู่ที่เกิดจากบารมีหลวงพ่ออ๋อย
  • ต่อเมื่อได้การบันทึกและช่วยกันถ่ายทอดผสมผสานกันไว้เพิ่มขึ้นอีกหลายด้าน ทั้งโดยท่านพระมหาแล คุณเสวก คุณฉิก คุณสมบัติ ฆ้อนทอง และชาวหนองบัวอีกหลายท่าน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งองคนหนองบัวและมีประสบการณ์ชีวิตในชุมชนในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป ก็ยิ่งทำให้เรื่องราวของชุมชนเกิดการถักทอ สะสมเป็นความมั่งคั่งของข้อมูลและสิ่งที่เป็นความรู้เกี่ยวกับตนเอง มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ น่าประทับใจดีครับ

เรียนท่านอ. ที่กล่าวมาข้างบนนั้นคือลายแทงสำหรับการศึกษาชุมชน

และการทำเวทีเลยนะคะ ช่วยให้ผู้สนใจมองเห็นภาพของการนำพากัน

เข้าสู่เวทีเรียนรู้ และพัฒนาต่อยอดด้วยลำแข้งของชุมชนเอง

ขอบคุณค่ะ

 

สวัสดีครับคุณครูkrutoitingครับ

  • ชอบคำว่า "...พัฒนาต่อยอดด้วยลำแข้งของชุมชนเอง..." ของคุณครูต้อยติ่งจริงๆเลยละครับ
  • ที่คุณครูต้อยติ่งเรียกว่าเป็นลายแทงการศึกษาชุมชนและการทำเวทีเคลื่อนไหวการเรียนรู้สังคมท้องถิ่นในลักษณะนี้นี่ก็ชอบและถูกกับแนวคิดที่ผมและคนรอบข้างกำลังเรียนรู้จากประสบการณ์และกำลังเกิดประเด็นการหารือกันอยู่พอดีเช่นกันครับ
  • ผมกำลังหารือกันว่าจะหาวิธีถอดบทเรียนเวทีและพัฒนาให้บทเรียนและการสั่งสมสิ่งดีๆทีละเล็กละน้อยอย่างนี้ สามารถเป็นฐานการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับชุมชนต่างๆต่อไปได้อย่างไร และจะทำให้บทเรียนของคนหนองบัว รวมทั้งชุมชนหนองบัว ให้เป็นแหล่งประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับแหล่งอื่นๆ ที่พอเหมาะพอควร ได้อย่างไร
  • กำลังคุยกันอยู่ในวันนี้พอดีเลยครับ แสดงว่าคงมีองค์ประกอบที่หลายท่านก็คงเห็นว่ามีบทเรียนดีๆเกิดขึ้นมากพอสมควรด้วยเช่นกันนะครับ
  • ขอบพระคุณคุณครูต้อยติ่งนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท