เจ้าทุย : สินสอดอันทรงคุณค่าและสร้างความภูมิใจแก่เจ้าบ่าวชาวบ้านหนองบัว*


                                                 ภาพวาดโดย : เสวก ใยอินทร์  คนหนองบัว
                                                 สมาชิกกลุ่มพริกเกลือ ในบล๊อก คนหนองบัวกับพริกเกลือ

สังคมไทยเป็นเกษตรกรรมมาแต่โบราณ การทำนาถือเป็นอาชีพหลัก ทำไร่ ทำสวน ก็รองๆลงมา ระบบการผลิตแบบดั้งเดิมของพี่น้องชาวนาของเรานั้น ต้องอาศัยแรงงานจากสัตว์ใหญ่ไม่ว่าช้าง ม้า วัว ควาย

นับว่าสัตว์ดังกล่าวได้มีบทบาทต่อการประกอบอาชีพเกษตรอย่างสูง พูดง่ายๆว่าในอดีตนั้นการเกษตรขาดแรงงานจากสัตว์ไม่ได้เลย คนไทยจึงมีความผูกพันกับสัตว์ โดยเฉพาะวัว-ควายอย่างมาก ถึงกับยกให้เจ้าทุยเป็นสัตว์มีบุญคุณ

นาห้าไร่ สิบไร่ ยี่สิบไร่หรือมากกว่านั้น ดูเหมือนไม่มากมายอะไรนัก แต่เมื่อทำจริงๆแล้วจะรู้ว่าโหดเลยแหละ เจ้าทุยของเราไถนากว่าจะได้แต่ละไร่ เหนื่อยมาก หอบลิ้นห้อยทีเดียว คนก็หอบไม่แพ้กัน เหนื่อยหอบตับแลบ

ด้วยความสำคัญดังกล่าว เจ้าทุยไม่ใช่สัตว์เลี้ยง สัตว์เศรษฐกิจ ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงโชว์ ไม่ใช่สัตว์สวยงาม ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงประดับบารมีเกียรติยศ ไม่ใช่สัตว์ที่เลี้ยงไว้ในสวนสัตว์  แต่สัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นสมาชิกในบ้านที่มีความสำคัญมากกว่าความเป็นสัตว์ ทำนองว่า ขาดฉัน(เจ้าทุย)แล้วเธอจะรู้สึก(อดข้าวแน่)

สินสอดงานแต่งงานของคนหนองบัว-หนองกลับ นอกจากเรือนหอหลังใหม่ เงิน ทอง ที่เป็นสินสอดแล้ว ก็ยังจะมีเจ้าทุยและวัวด้วย วัวก็หนึ่งคู่ ใช้เทียมเกวียนเล่มใหม่เอี่ยม ถ้าเป็นรถยนต์ก็ออกใหม่ชนิดไม่ต้องดาวน์ เป็นเกวียนมือหนึ่งอย่างเดียวเท่านั้น เจ้าทุยที่เป็นสินสอดงานแต่งงานนี้ก็ขึ้นอยู่กับฐานะเจ้าบ่าว ถ้าเจ้าบ่าวมีพี่น้องหลายคน น้องๆยังมีความจำเป็นต้องใช้เจ้าทุยไถนาอีกหลายปี กรณีนี้การนำเจ้าทุยไปเพียงตัวเดียวก็พอ  เพราะกว่าจะได้บ้านเรือนหอแต่งงาน เกวียน วัวหนึ่งคู่ เจ้าทุย ๑-๒  ตัวนั้น ไม่ใช่จะหาได้ง่ายๆเพียงสองปี พ่อแม่ต้องตระเตรียมสิ่งเหล่านี้ให้ลูกแต่ละคนด้วยเวลาหลายปีทีเดียว ลูกชายแต่ละคนกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ต้องผ่านงานสักสองสามงาน งานหมั้น(งานดอง) งานบวช  คัดเลือกทหาร

ส่วนบ้านหรือเรือนหอนั้น ส่วนใหญ่ก็ทำขึ้นใหม่ ถ้าในกรณีลูกสาวคนเล็ก ส่วนมากพ่อแม่จะยกบ้านของท่านให้เป็นเรือนหอ  ไม่ต้องทำเรือนหอก็เรียกว่าแต่งบ้านเก่า  ภาษาท้องถิ่นจะมีคำพูดว่าแต่งบ้านใหม่ แต่งบ้านเก่า –แต่งเรือนใหม่ แต่งเรือนเก่า

เจ้าทุยและวัวบ้านหนองบัว-หนองกลับ จะถูกแยกออกจากบ้านเดิมไปอยู่เรือนหลังใหม่กับเจ้าบ่าวในวันนี้ทั้งเจ้าทุยและวัวจะดูดีกว่าทุกวัน  จะมีคนคอยดูแลทำความสะอาด เช็ดถูเนื้อตัวให้ดูดี เขาก็ทาน้ำมันเลื่อมเป็นเงาดำเมื่อม

ทั้งวัวและเจ้าทุยที่นำมาเป็นสินสอดวันแต่งงานนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นสมบัติของเจ้าบ่าวมาก่อนหน้านี้แล้วสองสามปี  คือถูกเลือกใช้หรือพ่อแม่เตรียมยกให้ลูกชายตั้งแต่ยังไม่บวชโน่นแล้ว และเจ้าบ่าวนั้นก็เคยนำไปช่วยงานคู่ดองไถนาบ้าง เข็นข้าวฟ่อนบ้าง นวดข้าวบ้าง ตั้งแต่ดองกัน ก่อนบวช และต่อมาจนกระทั่งถึงวันแต่ง

นี่ก็คือบทบาทของเจ้าทุยหนองบัว**ที่พิเศษกว่าในท้องถิ่นอื่น ๆ

...............................................................................................................................................................................

   หมายเหตุและเชิงอรรถบทความ   

* บทความนี้เขียนและบันทึกถ่ายทอดไว้ในเวทีคนหนองบัว โดย ท่านพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) ในชื่อหัวข้อเดียวกันนี้ที่ dialogue box 756 ของเวทีคนหนองบัว เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมและค้นหาอ่านได้ง่าย รวมทั้งเพิ่มพูนศักยภาพการเขียนสะสมความรู้ สร้างวัฒนธรรมการอ่านและใช้ความรู้ในวิถีชีวิต ส่งเสริมให้ชาวบ้านและคนทั่วไปเข้าถึงความรู้ของท้องถิ่นที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ของคนจากชุมชน ผ่านระบบค้นหาความรู้และข้อมูลทางเทคโนโลยี IT บูรณาการมิติชุมชนเข้ากับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมความรู้ผสมผสาน ต่อยอดขึ้นจากพื้นฐานชนบท ซึ่งจะส่งเสริมให้ชุมชนมีภูมิปัญญาปฏิบัติในชีวิตและเป็นองค์ประกอบการก่อเกิดสุขภาวะและสังคมเข้มแข็งในชุมชน ผมจึงขอนำมารวบรวมไว้เป็นหัวข้อเฉพาะนี้อีกครั้งหนึ่ง และเพื่อให้ความเคารพในความสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมเขียนข้อมูลความรู้จากเรื่องราวในวิถีชีวิตสะสมเป็นภูมิปัญญาสาธารณะ ผมจึงขอรักษาความเป็นต้นฉบับไว้โดยจัดย่อหน้าให้ง่ายต่อการอ่านและปรับแต่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

* อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

หมายเลขบันทึก: 399108เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • อาจารย์ครับ
  • เดี๋ยวนี้เจ้าทุยหายากจัง
  • ผมอยากเลี้ยง แต่ไม่มีปลักให้เขานอน
  • เลยเลี้ยงวัวแทน เผื่อเอาไปหมั้นสาวได้ ฮ่าๆๆ
  • เจ้าหมาน้อยสองตัว เป็นหมาน้อยเลี้ยงวัวครับ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ

  • แถวบ้านผมเมื่อก่อนนี้ก็ชอบเลี้ยงวัวครับ
  • วัวนั้นเลี้ยงง่าย ไม่ดื้อ กินง่าย ใบไม้และหญ้าแห้งก็กินได้ ปล่อยไว้ตรงไหนก็แทบจะอยู่ตรงทุ่งนาแปลงนั้นเลย ไม่เดินไกลและไม่ค่อยคึกคะนอง ขี่หลังเล่นก็ไม่ค่อยได้ มันมักจะสบัดเด็กๆให้ตกจากหลังไปง่ายๆ
  • คนแก่และผู้ใหญ่ที่ออกไปเก็บผักเก็บหญ้าอย่างอื่นด้วยจึงมักจะชอบเลี้ยงวัวครับ
  • แต่เด็กๆจะชอบเลี้ยงควายมากกว่า เพราะมันเป็นเพื่อนและเป็นของเล่นโลดโผนได้สารพัดด้วย ขี่วิ่งแข่งกัน ขี่ไปลอยคอในน้ำด้วยกัน จะกระโดดโลดโผนบนหลังอย่างไรมันก็ไม่แสดงความรำคาญเหมือนวัว
  • ดูๆแล้ววัว ๔ ตัวของอาจารย์นี่ เหมือนกับจะเป็นคนละรุ่น ๔ Generation เลยใช่ไหมครับ แต่ละตัวนี่คงจะอายุห่างกัน ๒ ปี ปะเหมาะถึงปีที่ตัวไหนโตก่อนก็พร้อมที่จะหมั้นได้ ครอบคลุมโอกาสเผื่อเจอเนื้อคู่ได้ถึง ๘ ปีเลยนะครับอาจารย์
  • เล็ดรอด-คลาดแคล้วกันไปได้ ก็ให้รู้กันไปสิเนาะ
  • ราคาคุยเสียละมั๊งอาจารย์ขจิตครับ ??? !!!!
  • เอาอย่างนี้ดีกว่า หากผ่านโปรภายใน ๘ ปีละก็ ผมให้วัวอาจารย์อีก ๓ ตัว สำหรับเจ้าบ่าวและเจ้าสาวคนละตัว และลูกวัวตัวเล็กๆสำหรับสมาชิกใหม่ ๑ คน อีก ๑ ตัวเลยเอ้า ฮ่าาา
  • แต่ถ้าหากเลย ๘ ปีแล้วละก็ผมจะให้หญ้าอ่อนๆอาจารย์ ๑ ตะกร้า และถ้าหากเลย ๑๐ ปี ก็จะให้คานซีแพ็ค ๑ คาน
  • ผมเตรียมไว้เลยดีกว่า ฮ่าาาา
  • เจริญพรอาจารย์ขจิต

    • ที่หนองบัวนั้นสาวไม่เรียกสินสอกทองหมั้นแพงหรอกนะอาจารย์ ขอแค่บ้านหนึ่งหลัง(เรือนหอ) เกวียนหนึ่งเล่ม วัวหนึ่งคู่ เจ้าทุยหนึ่งตัว หนองบัวต้องได้ประมาณนี้จึงจะถือว่าเข้าขั้นมาตรฐาน
    • ปัจจุบันได้ข่าวว่าเปลี่ยนเป็นรถไถเดินตาม รถตุ๊กๆ บ้าน เงิน ทองหนักอีกหลายบาท
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท