วัว-ควายคู่ห่อ : ผู้ร่วมสร้างพื้นฐานสำหรับการเริ่มต้นชีวิตคู่ของชาวบ้านหนองบัว*


                                    ภาพ : ชาวบ้านปล่อยฝูงควายเล็มกินหญ้ากลางทุ่ง จะสังเกตเห็นว่ามีทั้งควายดำและควายเผือก ชาวบ้านแถวหนองบัวเชื่อว่าควายทนแดดและความร้อนแล้งได้น้อยกว่าวัว แต่ลุยน้ำย่ำโคลนเพื่อการไถนาได้ดีกว่า ส่วนวัวนั้น ใช้ลากจูงในหน้าแล้ง ทนแดดและความร้อนได้ดีกว่าควาย แต่ไถนาหน้าฝน ย่ำโคลน และลากจูงในสภาพน้ำท่วมขังได้ไม่ดีเท่าควาย จึงมักกล่าวว่าควายปั้นด้วยดินเหนียวและวัวปั้นด้วยดินทราย
                                    ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์  สงกรานต์เมษายน ๒๕๕๓

  คำว่า วัว-ควายคู่ห่อ นี้   สำหรับคนนอกพื้นที่ชุมชนอำเภอหนองบัว** เห็นแล้วคงจะคาดเดาและตีความไปต่าง ๆ นาน ๆ ตามความเข้าใจของตน หรืออาจจะนึกว่ามันคืออะไร ถ้าอย่างนั้นเรามาทำความเข้าใจกันถึงศัพท์นี้ก่อนดีกว่า คู่ห่อ คืออะไร คู่ห่อ ก็คือ คู่หอ นั่นเอง  คงมีบางท่านสงสัยต่อไปอีกว่าเอ  ...แล้วคู่หอนี่คืออะหยังหนอ  เฉลยดีกว่าเดี่ยวยิ่งอ่านจะยิ่งงงไปกันใหญ่

คำๆนี้คนหนองบัว-หนองกลับ*** นำมาพูดย่อๆ โดยละไว้ในฐานที่(ไม่)เข้าใจ คนเก่าๆเวลาพูดถึงคำว่าหอ มักจะออกเสียงว่าห่อ  ฉะนั้นคู่ห่อในที่นี้ก็คือคู่เรือนหอ  คนหนองบัว-หนองกลับเมื่อลูกจะแต่งงานมีครอบครัว นิยมสร้างเรือนหอให้ลูก กิจกรรมนี้เป็นงานใหญ่ที่พ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายต้องทำต้องจัดให้ลูกตน จนเป็นประเพณีของชุมชนอย่างหนึ่งทีเดียว

                                     ภาพ : ไถอาสา เครื่องมือทำนาของชาวบ้านหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ และเป็นวัฒนธรรมชุมชนในการใช้เป็นสิ่งแสดงการเป็นคู่ดองของหนุ่มสาวชาวบ้านหนองบัว
                                     อ้างอิงภาพและผู้ถ่ายภาพ : ถ่ายภาพโดย เสวก  ใยอินทร์ คนหนองบัว สมาชิกกลุ่มพริกเกลือ เผยแพร่ในบล๊อก เวทีคนหนองบัว ที่ dialogue box ๑๙๕

   ภารกิจนี้    คนหนองบัวไม่ปล่อยให้ลูกของตนแต่งงานแล้วค่อยทำบ้าน ซึ่งต่างจากชุมชนอื่นๆ ที่สร้างบ้านหลังแต่งงาน ถ้าผู้อ่านที่ไม่เคยไปหนองบัว และไม่เคยเห็นเรือนหอ คงจะนึกว่าแค่เรือนหอหลังเล็กๆ อยู่กันสองคน น่าจะทำหลังแต่งงานก็ได้อะไรประมาณนั้น ถ้าบ้านหลังเล็กๆ จริงดังที่กล่าวมานั้นก็ทำไม่ยากหรอก  แต่นี่เป็นเรือนหอคนหนองบัว-หนองกลับ เป็นบ้านหลังใหญ่มาก ใหญ่จริงๆ ถ้าปล่อยลูกเราสองคนทำกันเองคงใช้เวลาหลายปีเป็นแน่

คนจากชุมชนอื่นที่มาเป็นเขยหนองบัว ส่วนมากจะสู้ค่าสินสอดเป็นเงิน เป็นทอง มากกว่าที่จะสร้างบ้านขึ้นใหม่  นี่ถือเป็นตัวชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่าการสร้างบ้านหรือเรือนหอนั้นงานช้างเลยแหละ การทำบ้านต้องใช้แรงงานจากญาติพี่น้องทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันทำเป็นเดือน เป็นการขึ้นแรงกันบ้าง เอาแรงกันบ้าง

บางครั้งทั้งสองฝ่ายขาดความพร้อมที่จะทำคราวเดียวให้เสร็จ เพราะเศรษฐกิจฝืดเคือง การเงินไม่คล่อง นาแล้ง น้ำท่วม ก็จะเลื่อนไปเป็นปีหน้าต่อไป โดยปีนี้แค่ยกบ้านไว้ก่อนก็มี รุ่งขึ้นอีกปีขายข้าวได้แล้วค่อยมาทำบ้านต่อให้เสร็จแล้วจึงแต่งงาน

ปลูกเรือนหอแค่นั้นยังไม่พอ ต้องมีของอย่างอื่นประกอบด้วย อะไรบ้าง เกวียน ๑ เล่ม วัว ๑  คู่  ควาย  ๑  ตัว สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อการทำอยู่ ทำกิน สร้างฐานะสร้างตัวเริ่มต้นชีวิตคู่ ถ้าได้อย่างนี้  ถือว่าได้มาตรฐาน เกณฑ์ทั่วๆไปก็ประมาณนี้ จะเห็นได้ว่าการเริ่มต้นชีวิตคู่ของชาวบ้านหนองบัวค่อนข้างสมบูรณ์ทีเดียว มีเรือนหอหลังใหม่ และมีสิ่งที่คู่กับเรือนหออย่างพร้อมสรรพอีกด้วย มีเกวียน วัว ควาย ไถ ตู้ ชั้ว และเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ

พอจะกล่าวได้ว่า นี่ก็คือสวรรค์บ้านนาของชาวบ้านทุ่งของเราได้กระมัง

...............................................................................................................................................................................

   หมายเหตุและเชิงอรรถบทความ   

* บทความนี้เขียนและบันทึกถ่ายทอดไว้ในเวทีคนหนองบัว โดย ท่านพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) ในชื่อหัวข้อเดียวกันนี้ที่ dialogue box 757 ของเวทีคนหนองบัว เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมและค้นหาอ่านได้ง่าย รวมทั้งเพิ่มพูนศักยภาพการเขียนสะสมความรู้ สร้างวัฒนธรรมการอ่านและใช้ความรู้ในวิถีชีวิต ส่งเสริมให้ชาวบ้านและคนทั่วไปเข้าถึงความรู้ของท้องถิ่นที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ของคนจากชุมชน ผ่านระบบค้นหาความรู้และข้อมูลทางเทคโนโลยี IT บูรณาการมิติชุมชนเข้ากับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมความรู้ผสมผสาน ต่อยอดขึ้นจากพื้นฐานชนบท ซึ่งจะส่งเสริมให้ชุมชนมีภูมิปัญญาปฏิบัติในชีวิตและเป็นองค์ประกอบการก่อเกิดสุขภาวะและสังคมเข้มแข็งในชุมชน ผมจึงขอนำมารวบรวมไว้เป็นหัวข้อเฉพาะนี้อีกครั้งหนึ่ง และเพื่อให้ความเคารพในความสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมเขียนข้อมูลความรู้จากเรื่องราวในวิถีชีวิตสะสมเป็นภูมิปัญญาสาธารณะ ผมจึงขอรักษาความเป็นต้นฉบับไว้โดยจัดย่อหน้าให้ง่ายต่อการอ่านและปรับแต่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

** อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

*** คนท้องถิ่น ชาวบ้านหนองบัว จะเรียกตัวเมืองหนองบัวว่า หนองกลับ เนื่องจากเรียกตามชื่อวัดหนองกลับ ซึ่งเป็นวัดหลวงพ่อเดิมและหลวงพ่ออ๋อยศิษย์หลวงพ่อเดิม ในอดีตนั้นศูนย์กลางเดิมของชุมชนอยู่ที่วัดเทพสุทธาวาสและเรียกชุมชนเดิมซึ่งมีความเป็นชุมชนหนาแน่นมากกว่านั้นว่าชุมชนหนองบัว ส่วนวัดหนองกลับและชุมชนบ้านหนองกลับ อยู่นอกชุมชน ทว่า ต่อมา วัดหนองกลับและชุมชนบ้านหนองกลับซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างเกิดขึ้น ทั้งการตัดถนนผ่าน สระน้ำของวัดหลวงพ่ออ๋อย โรงไฟฟ้า โรงพยาบาล ท่ารถเมล์ ร้านค้าปลีก ทำให้มีพัฒนาการเป็นชุมชนหนาแน่นมากกว่าชุมชนหนองบัวเดิมกระทั่งกลายเป็นชุมชนหลักของตัวเมืองอำเภอหนองบัว  แต่คนดั้งเดิมและคนท้องถิ่นก็เรียกกันว่าหนองกลับ

หมายเลขบันทึก: 399126เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบคุณค่ะ..เป็นการเตรียมรากฐานของชีวิตคู่ครองที่มั่นคงในถิ่นกำเนิดโดยบุพการี สะท้อนวงจรชีวิตที่ผูกพันอย่างแน่นแฟ้น..สืบสานวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่พึ่งพาซึ่งกันและกันอย่างลงตัว..

                       

                          เยาวชนกล้าใหม่-ใฝ่รู้ปี ๕

   สวัสดีครับคุณพี่นงนาทครับ   

ที่ชุมชนมีการรวบรวมสิ่งของเหล่านี้ จัดไว้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ สืบสาน ที่วัดหนองกลับ ของอำเภอหนองบัวด้วยครับ แต่เนื้อหาความรู้และเรื่องราวอย่างที่ท่านพระมหาแลนำมาบันทึกไว้ในนี้ รวมทั้งที่ผมและอีกหลายท่านได้ช่วยกันเขียนรวบรวมไว้ในนี้นั้น ยังไม่แน่ใจนักครับว่าจะได้ทำขึ้นเพื่อจัดแสดงให้เป็นเนื้อหาเพื่อการศึกษาเรียนรู้ควบคู่ไปกับการเก็บรักษาสิ่งของไว้ในพิพิธภัณฑ์บ้างแล้วหรือไม่

ผมเคยไปดูพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวนี้เมื่อหลายปีก่อน ก็ยังไม่มี ตอนนี้อาจจะมีคนไปช่วยกันทำบ้างแล้วก็ได้ครับ กระนั้นก็ตาม ยิ่งช่วยกันสร้างความรู้สะสม ไปทำให้พิพิธภัณฑ์และทรัพยากรทางปัญญาเหล่านี้ในชุมชน ให้สามารถเป็นแหล่งชมมรดกทางสังคมวัฒนธรรม พร้อมไปกับเป็นแหล่งอ่าน ศึกษาค้นคว้า และเรียนรู้เพื่อซาบซึ้ง สืบทอดภูมิปัญญาและความรู้ความเข้าใจทุกแง่ทุกมุ่มเกี่ยวกับชุมชนได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นการดีมากเท่านั้น

  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชาวบ้าน  

  • สะท้อนคุณลักษณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชาวบ้านให้ได้ศึกษา เรียนรู้ พินิจพิจารณาไปด้วยได้เป็นอย่างดีมากอีกด้วยนะครับ
  • วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชาวบ้านนั้น มีความพอเหมาะ พอเพียง ยืดหยุ่นและเหมาะสมไปกับหลายเงื่อนไขของวิถีชีวิตและโลกความเป็นจริงของชาวบ้าน
  • มีมิติบูรณาการ ทั้งการทดแทนข้อจำกัดและขยายขีดความสามารถของมนุษย์  ประโยชน์ใช้สอยในวิถีการผลิตและการดำเนินชีวิต ความเหมาะสมในการบริหารจัดการทรัพยากรจากธรรมชาติและจากชุมชน องค์ประกอบทางสุนทรียภาพ ความเป็นศิลปะ และการสื่อสะท้อนความละเอียดอ่อนจากภาวะด้านในในอุดมคติของชุมชนนั้นๆ รวมทั้งการใช้ภูมิปัญญาและทักษะการปฏิบัติที่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างสูงสุด
  • มีการใช้แรงงานคนและมีช่องว่างให้กระบวนการทางสังคมเข้าไปผสมผสานกับความเป็นกลไก รวมทั้งมีช่องว่างให้ระบบธรรมชาติเข้าไปทำหน้าที่ควบคุมกิจกรรมของคนและความเป็นทั้งหมดของระบบย่อยที่สังคมมนุษย์ผลิตสร้างสรรค์ขึ้น
  • จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาการไปกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ให้วิธีคิดต่อการหาความพอดีของความทันสมัยทางวิทยาการและเทคโนโลยีของชุมชน กับกระบวนการทางสังคมและกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
  • ในแง่การเป็นระบบและการกำหนดโครงสร้างหน้าที่ ตลอดจนกระบวนการทางการประพฤติปฏิบัติของปัจเจกและของสังคม ก็จะเชื่อมโยงกับมิติประเพณีวัฒนธรรม ขับเคลื่อนชีวิตชุมชนและวิถีสังคมไปด้วยอย่างกลมกลืน มีความสมดุลและลงตัวระหว่างโลกทางวัตถุกับจิตใจ สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติกับการดำรงชีวิตของมนุษย์

  ความรู้และข้อมูลสารสนเทศสังคมชุมชน ที่ร่วมกันสร้างขึ้นจากประชาชน 

  • ในอีกแง่หนึ่ง นอกจากได้ร่วมมือกันแล้ว ก็ได้เรียนรู้จากของจริงไปกับท่านพระมหาแลกับท่านอื่นๆที่เข้ามาเขียนเรื่องราวต่างๆในเวทีคนหนองบัวไปด้วยครับ
  • ความรู้ท้องถิ่นและประสบการณ์ทางสังคมจากชุมชนท้องถิ่น ที่ร่วมสร้างและเขียนขึ้นจากคนของท้องถิ่นและภาคประชาชนนั้น มีลักษณะที่แตกต่างจากกรรมวิธีการเขียนโดยวิธีสร้างความรู้ของบุคคลภายนอกไม่ว่าจะโดยวิธีใดๆอย่างเห็นได้ชัดมากเลยนะครับ
  • เมื่อผสมผสานทั้งสองมิติเข้าด้วยกัน ก็จะยิ่งทำให้สังคมของเรายิ่งมีความร่ำรวยมั่งคั่งทางความรู้และทรัพยากรทางปัญญาเกี่ยวกับตนเอง มากยิ่งๆขึ้น ถึงแม้จะเพียงเล็กน้อย แต่ก็มากกว่าสภาพโดยทั่วไปของสังคม
  • แต่การสร้างบรรยากาศให้ปัจเจกและคนทั่วไป ได้เกิดความใส่ใจที่จะทำอย่างหลายท่านในเวทีคนหนองบัวทำ รวมทั้งการพัฒนาการเรียนรู้ประชาชนให้สามารถทำได้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ บทเรียนอย่างนี้จึงสำคัญและมีคุณค่าอย่างยิ่ง
  • ความรู้ที่สร้างขึ้นจากคนชุมชนที่มีประสบการณ์ตรงต่อชุมชนในลักษณะต่างๆ นับแต่การเป็นถิ่นเกิด  การเป็นสมาชิกชุมชน และการทำการงาน-ประกอบอาชีพในชุมชน ไม่ได้มีมิติเพียงเป็นข้อมูลและสารสนเทศที่อิสระออกจากบริบทของท้องถิ่น ทว่า ผสมผสานความรู้สึกผูกพันและมีความสำนึกเป็นเจ้าของส่วนรวมของสังคม บันทึก ถ่ายทอด และสื่อสะท้อนทรรศนะด้วยความเป็นเจ้าของและการสังเกตตนเอง มากกว่าการมองเข้ามาในชุมชนจากจุดยืนของผู้อื่นซึ่งมีระยะห่างและจัดวางไปตามกรอบที่ผู้อื่นต้องการ มากกว่าจะเป็นไปตามสิ่งที่ชุมชนเป็นและต้องการให้ผู้อื่นได้เห็น-ได้เรียนรู้
  • มักอ้างอิงความเป็นชีวิต อ้างอิงความเคารพนับถือกันของผู้คนและสถาบันทางจิตใจของสังคมชุมชน
  • สื่อความหมายและสร้างความหมายที่เชื่อมโยงกับมิติสังคมวัฒนธรรม และบริบทจำเพาะที่ให้ความรู้สึกการสมานกลมกลืน สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน ของผู้ที่ผ่านการเป็นสมาชิกของชุมชนเดียวกัน หรือมีภาษาถิ่น จิตวิญญาณและความรู้สึกจำเพาะ ที่ผสมผสานอยู่ในเรื่องราวต่างๆไปด้วย

แง่มุมเหล่านี้ สักระยะหนึ่งผมจะลองตกผลึก สังเคราะห์ และนำเสนอให้เป็นการถอดบทเรียนของเวทีคนหนองบัวครับ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์และได้พัฒนาวิธีศึกษาชุมชน เพื่อได้ความคิด ตั้งคำถามใหม่ๆ และสร้างวิถีทรรศนะใหม่ๆ รวมทั้งได้ทำความแยบคายต่อการเรียนรู้สังคม ขึ้นจากหลายสิ่งที่ผู้คนในสังคมของเราอาจจะผ่านเลยไปนะครับ

เจริญพรคุณโยมนงนาท สนธิสุวรรณ

  • ขอบคุณคุณโยมนางนาทอย่างมากที่เข้ามาเยี่ยมเยียน
  • ความรู้ชุดนี้อยู่ในความทรงจำของคนรุ่นเก่า(อายุประมาณห้าสิบปีขึ้น)
  • ถ่ายทอดโดยวิถีทำกิน ยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลหรือสืบสานกันเป็นกิจลักษณะ อีกไม่นานก็สูญหายไปกับกาลเวลา
  • พอจะมีหวังและมองเห็นอยู่บ้างก็ตรงที่เวทีคนหนองบัวนี้แหละ ที่หลายคนได้ช่วยกันบันทึกไว้

1.กรานมัสการ ท่านพระมหาแล  สำหรับการบันทึกสิ่งดีๆเพื่อเป็นประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นหลัง และโยมจะได้แนะนำ blog นี้ต่อผู้สนใจอื่นๆนะคะ..

2.ขอบคุณ อาจารย์วิรัตน์  ที่นำกรุณาฝากภาพเหมือนของท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง ไว้ที่บันทึก ทำให้รำลึกถึงความทรงจำที่ประทับใจของพวกเราที่มีต่อท่านอย่างไม่รู้ลืม..

...ในคืนหนึ่งที่ท่านกลับมาประเทศไทย พวกเราไปชุมนุมกราบคารวะท่านที่บ้านของ ดร.อัมมาร์ สยามวาลา ...พี่มีภาพเก่าที่ท่านกรุณาให้ถ่ายภาพด้วยค่ะ..

  

ขอบคุณพี่นงนาทครับ
เลยขอนำมาเผยแพร่ในนี้ไปด้วยเลยครับ แถมแนวคิดการพัฒนาคุณภาพแห่งชีวิตของท่านศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้อีกด้วยเลย ทำให้เห็นหลักคิดที่ให้ความบันดาลใจและใช้มองแนวการพัฒนาสังคม การพัฒนารัฐสวัสดิการ รวมทั้งทั้งการวางจุดหมายการพัฒนาชีวิต ที่ยังไม่ล้าสมัยเลยนะครับ

                        

คุณภาพแห่งชีวิต
  ปฏิทินแห่งความหวัง
 จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน 
ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์
และได้รับความเอาใจใส่ และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก

ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีอยู่ และแม่ จะต้องไม่มีลูกถี่นัก
พ่อกับแม่จะแต่งงานกันถูกกฏหมายหรือธรรมเนียมประเพณีหรือไม่ไม่สำคัญ
แต่สำคัญที่พ่อกับแม่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ทำความอบอุ่นให้ผมและพี่น้อง
ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม ซึ่งร่างกายและสมองของผมกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ

ผมต้องการให้แม่ผมกับตัวผม ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์
ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวผมหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน
จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมมีสติปัญญาเรียนชั้นสูงๆขึ้นไป
ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวยหรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น
เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการอาชีพที่มีความหมายทำ
ให้ได้รับความพอใจว่า ตนได้ทำงานที่เป็นประโยชน์แก่สังคม

บ้านเมืองที่ผมอาศัยอยู่ จะต้องมีขื่อมีแป ไม่มีการข่มขู่ กดขี่ หรือประทุษร้ายกัน
ประเทศของผมควรมีความสัมพันธ์อันชอบธรรมและเป็นประโยชน์กับโลกภายนอก
ผมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความคิดและวิชาของมนุษย์ทั้งโลก
และประเทศของผม จะได้มีโอกาสรับเงินทุนจากต่างประเทศ มาใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
ผมต้องการให้ชาติของผม ได้ขายผลิตผลแก่ต่างประเทศด้วยราคาอันเป็นธรรม
ในฐานะที่ผมเป็นชาวนาชาวไร่ ผมก็อยากมีที่ดินของผมพอสมควร
สำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้ยืมเงินมาขยายงาน
มีโอกาสรู้วิธีทำกินแบบใหม่ๆ มีตลาดดี และสินค้าได้ราคายุติธรรม
ในฐานะที่ผมเป็นกรรมกร ผมควรมีหุ้นส่วน มีส่วนในโรงงาน
บริษัทห้างร้านที่ผมทำอยู่
ในฐานะที่ผมเป็นมนุษย์ ผมต้องการอ่านหนังสือพิมพ์และหนังสืออื่นๆที่ไม่แพงนัก
จะฟังวิทยุดูโทรทัศน์ก็ได้ โดยไม่ต้องทนการรบกวนจากโฆษณามากนัก
ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมอย่างฟรี
กับบริการการแพทย์ รักษาบริการอย่างถูกอย่างดี
เจ็บปวยเมื่อใด หาหมอหาพยาบาลได้สะดวก

ผมจำเป็นต้องมีเวลาว่างสำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว
มีสวนสาธารณะที่เขียวชะอุ่ม สามารถมีบทบาทและชมศิลปะ วรรณคดี
นาฏศิลป์ ดนตรี วัฒนธรรมต่างๆ เที่ยวงานวัด ลอยกระทง
งานนักขัตฤกษ์ งานกุศลอะไรได้พอสมควร


ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำบริสุทธิ์สำหรับดื่ม
เรื่องอะไรที่ผมทำไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ดี ผมก็จะขอความร่วมมือกับเพื่อนฝูงในรูปสหกรณ์หรือสโมสร หรือสหภาพ จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน
เรื่องที่ผมเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ
ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัวผม ได้มีส่วนในการ
วินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ
เมียผมก็ต้องการโอกาสต่างๆเช่นเดียวกับผม และเราสองคน
ควรจะได้รับความรู้และวิธีการวางแผนครอบครัว
เมื่อแก่ ผมและเมียก็ควรได้ประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา
เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายใน
สงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะ
อุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ

เมื่อตายแล้วมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใช้ใน
ชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้เลี้ยงให้โต แต่ลูกที่โตแล้วไม่ให้
นอกนั้น รัฐบาลควรเก็บไปให้หมด จะได้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่นๆบ้าง

ตายแล้วเผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป

นี่แหละคือความหมายแห่งชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่จะควรให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน

สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลาย ที่อุตส่าห์อ่านมาจนจบ ขอความสุขสวัสดีและสันติสุข
จงเป็นของท่านทั้งหลาย
และพระท่านกล่าวไว้ดังนี้ เกี่ยวกับความสวัสดี

เราตถาคต ไม่เห็นความสวัสดีอื่นใดของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญาเครื่องตรัสรู้
ความเพียร ความสำรวมอินทรีย์ และความเสียสละ
"

หมายเหตุ : ตัวเน้นโดยผู้เขียนบล๊อก, วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

สวัสดีค่ะ

อาจารย์สบายดีนะคะ  อ่านแล้วทำให้เพิ่งเข้าใจเรื่องราวความคิดต้นแบบของภูมิปัญญาจริง ๆ นะคะ "การให้วัวควายคู่ห่อเป็นขวัญถุงแก่ลูกหลาน"

อ่านตรงนี้ทำให้นึกถึงเพื่อเขาเป็นชาวหนองบัว  อีกคนเป็นชาวบางมูลนาค  เขาออกเสียง "หนึ่งทุ่ม สองทุ่ม"  เป็น "หนึ่งทุ้ม สองทุ้ม"

เคยได้ยิน "ปลูกเรือนหอรอรัก"  น่าจะมีการฟื้นฟูกันอีกนะคะว่าก่อนแต่งงาน ควรรปลูกเรือนหอกันก่อน  แต่ก็อาจมีบ้างสำหรับคนสมัยใหม่

ส่วนใหญ่ปลูกกันเองหรือซื้อกันหลังจากมีครอบครัวหรือมีลูกแล้ว  บ้านจัดสรรจึงโผล่เป็นดอกเห็ด  ก็เพื่อขายให้สำหรับครอบครัวใหม่ทั้งนั้นนะคะ

บันทึกเกี่ยวกับหนองบัวของอาจารย์  เป็นหลักสูตรท้องถิ่นของสถานศึกษาในหนองบัวได้ดีมาก ๆ ค่ะ

ขอขอบพระคุณค่ะ

  • ภาษา การออกเสียง คล้ายหลายที่แถวๆนี้ครับ(จ.สุโขทัย อ.พรานกระต่าย อ.พรหมพิราม อ.วัดโบสถ์ ต.บ้านกร่าง) ถ้าเป็นที่บ้านผมเอง(อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร)จะออกเสียงว่า"วัวควายขูห่อ"
  • ได้นึกเปรียบเทียบกับชุมชนที่บ้านกร่างเลย เพราะเด็กๆหลายคนที่เป็นลูกศิษย์(เข้าใจเอง จากที่ได้พูดคุย สอบถาม) ส่วนใหญ่พ่อแม่แยกทางกันครับ บางคนบอกทั้งพ่อแม่อยู่ไหนแล้วไม่รู้ด้วยซ้ำ อาศัยอยู่กับปู่ ย่า ตา หรือยาย มาตั้งแต่เล็กๆ ฉะนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้เรียนดี ตั้งใจเรียน มุ่งมั่นสร้างอนาคต เพื่อความสำเร็จในชีวิตนั้น มีน้อยเต็มที แต่ชุมชนที่นี่(หนองบัว)ต่างกันลิบ ดูแลลูกเต้า จนถึงช่วยสร้างครอบครัวใหม่ สร้างเรือนหอ ให้อุปกรณ์ทำมาหากิน อย่างนี้ลูกหลานเหลนที่จะเกิด หรือเด็กๆในชุมชน กรณีปัญหาไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ไม่ได้รับความอบอุ่นจากครอบครัว คงแทบไม่มี สวรรค์บ้านนา ดังที่อาจารย์ว่าไว้จริงๆครับ..อาจารย์สบายดีนะครับ
  • ขอบคุณความรู้ครับ

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

  • ออกเสียงทุ่มว่า ทุ้ม นี่คงจะมีแต่สำเนียงท้องถิ่นหนองบัวนี่แหละครับ
  • อีกหลายคำพอได้ยินก็อาจจะเดาไว้ก่อนได้ครับว่าเป็นคนหนองบัวหรือนครสวรรค์ หรือแถวๆนั้นแหละ
  • เช่น ปั่ง  แปลว่า ต่อให้ก่อน อ่อยให้ก่อน เช่น เด็กๆเดินช้า หากจะแข่งกัน ก็ต้องปั่งให้ก่อน ๑๐ ก้าว หมายความว่าให้เดินล่วงหน้าและต่อให้ก่อน ๑๐ ก้าว
  • แจ้ง  แปลว่าสว่าง ตื่นเถอะ แจ้งแล้ว หมายถึง ตื่นกันเถอะ สว่างแล้ว
  • มันแจ้งจัดเลยหว่า แสบตาเลยสิหล่าว  แปลว่า สว่างจังเลย แสบตา

                        

  • ผมสบายดีครับ ขอบพระคุณครับ
  • ตอนนี้คุณครูคิมคงกำลังทำความรู้จัดกับนพวรรณคนใหม่ อยู่อย่างตื่นตาตื่นใจใช่ไหมครับ
  • ผมเลยนำเรื่องราวของเกษตรทฤษฎีใหม่มาฝากครับ เป็นของคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาดครับ อยู่เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯครับ ผมพานักศึกษาของผมไปเดินเรียนรู้กับท่าน นักศึกษาชอบมากและปวารนาตัวพร้อมจะไปช่วยเป็นลูกมือให้ทันทีหากมีกลุ่มผู้เรียนชาวต่างประเทศมาศึกษาดูงานด้วย ด้านล่างคลิ๊กชมเพลินๆได้อีก ๒ ตอนครับ
  • คุณครูวรินทร์ท่านเกษียณออกมาแล้วก็ทำที่นา สวน และทั่งบ้าน ให้เป็นโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ไปเลย ตอนนี้ท่าเลยกลับยิ่งเป็นครู..ครูของสังคม คุณครูคิมก็มีเส้นทางคล้ายอย่างนี้เลยนะครับ
  • ผมว่าเดินเส้นทางอย่างนี้ก็ดีนะครับ ในแง่มุมหนึ่งก็อาจจะเสียดายและอาลัยชีวิตข้าราชการครู เพราะทำมาจนเป็นชีวิตและจิตวิญญาณ
  • แต่ก็ได้โอกาสที่จะดำเนินไปในจุดหมายของชีวิตในอีกทางหนึ่ง  ในแต่ละสังคมมีบางส่วนที่พอจะเดินอย่างคุณครูคิมได้บ้าง ก็คงทำให้สังคมเติมเต็มความงอกงามให้แก่ตนเองได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งๆขึ้นนะครับ

สวัสดีครับคุณครูธนิตย์ครับ

  • สบายดีครับผม ขอบพระคุณครับ อาจารย์ก็คงสบายดีนะครับ
  • ตอนนี้นักศึกษาส่วนใหญ่ลงไปเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์กันครับ
  • เลยก็คล้ายๆได้ปิดเทอมไปกับเขาเหมือนกันครับ ได้หยุดงานทางการสอนไปเขียนหนังสือ ให้การปรึกษานักศึกษา คุมวิทยานิพนธ์ เขียนงานวิจัย แล้วก็พอจะรับบรรยายและหาเวทีต่างๆไปนำเสนองานวิชาการบ้าง ทั้งเพื่อได้เผยแพร่งาน บริการวิชาการ กับการได้ไปสัมผัสกับประเด็นสังคมต่างๆอยู่เสมอครับ
  • เดี๋ยวนี้หนองบัวแถวบ้านผมก็หนาแน่น มีความเป็นเมืองเยอะมากแล้วเหมือนกัน แต่คนท้องถิ่นก็ยังคงมีความเป็นชาวบ้านเยอะครับ
  • สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์
  • ขอบคุณ ที่นำประสบการณ์ดีๆมาแบ่งปัน

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท