หนังสือที่ระลึกนิทรรศการเวทีคนหนองบัว ครั้งแรกในงานเทศกาลประจำปีหนองบัว ๒๕๕๔


หนังสือที่ระลึกการจัดนิทรรศการหนองบัวครั้งแรกในงานเทศกาลประจำปี ๒๕๕๔

                   

คำนำและเนื้อหาในเล่ม

หนังสือนี้เป็นเอกสารเย็บเล่ม ทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกการจัดนิทรรศการ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลงานประจำปีไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่หนองบัวและหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ของปี ๒๕๕๔ ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง วันที่ ๒๔-๒๘ มีนาคม ๒๕๕๔ หัวข้อนิทรรศการ คือ เวทีคนหนองบัว : สานสำนึกรักท้องถิ่น พลังสามัคคี และความงามที่หลากหลาย ซึ่งริเริ่มและดำเนินการขึ้นเป็นครั้งแรกของหนองบัวโดยมุ่งให้เป็นกิจกรรมและการทำงานด้านความรู้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการเรียนรู้และสร้างความรู้ทางด้านต่างๆเกี่ยวกับหนองบัว ให้มีความแพร่หลาย มากยิ่งๆขึ้น เนื้อหาในเล่มจำนวน ๒๖ เรื่อง ประกอบด้วย
      ๑. แผนที่ ภาพถ่าย และภาพถ่ายทางดาวเทียม อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
      ๒. เรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว
      ๓. ที่มาของ “เทพวิทยาคม” หลังชื่อโรงเรียนหนองบัว และวัดเทพสุทธาวาสของอำเภอหนองบัว
      ๔. หลวงพ่ออ๋อย ศิษย์หลวงพ่อเดิม ผู้ร่วมสร้างพื้นฐานความเป็นปึกแผ่นของชุมชนหนองบัว
      ๕. บวชนาคหมู่ เอกลักษณ์ของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ เบ้าหลอมชุมชน
      ๖. ไอ้เป๋หนองบัวกับวัววหลวงพ่ออ๋อย...ธรรมชาติการดูแลกันของชุมชน
      ๘. การเลื่อยกระดาน ทำเสาจากต้นไม้ทั้งต้น และการสุมไฟทำครก
      ๙. คาราวานเกวียนหาไม้และอาหารจากป่า
     ๑๐. ประเพณีกินดอง
     ๑๑. วัวควาย-คู่ห่อ : ผู้ร่วมสร้างพื้นฐานสำหรับการเริ่มต้นชีวิตคู่ของชาวบ้านหนองบัว
     ๑๒. เจ้าทุย : สินสอดอันทรงคุณค่าและสร้างความภูมิใจแก่เจ้าบ่าวชาวบ้านหนองบัว
      ๑๓. การทำนุ่นและเครื่องนอนของชาวบ้านหนองบัว : หัตถกรรมและมรรควิถีพอเพียง
     ๑๔. เก็บข้าวตก : การเรียนรู้ใช้ชีวิตและรับผิดชอบตนเอง
     ๑๕. การลงแขกของชาวบ้านหนองบัว
     ๑๖. การนวดข้าวด้วยควายเหยียบของชาวนาหนองบัว
     ๑๗. กระยาสารท : ความเป็นชุมชนบนอาหาร
     ๑๘. ตลาดแลกข้าวกับสินค้าในอดีตที่ชุมแสง นครสวรรค์
      ๑๙. ไดเจ๊กห้า : แหล่งบุกเบิกเกษตรผสมผสานและเศรษฐกิจพอเพียงของหนองบัว
     ๒๐. โรงเรียนวันครูและบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว
     ๒๒. แรกมีของอำเภอ หนองบัว : ๑ โรงหนัง โรงไฟฟ้า ถ่ายรูป วงเวียน และไอติม
     ๒๓. แรกมีของอำเภอ หนองบัว : ๒. โทรทัศน์สี ร้านหนังสือ น้ำบ่อทราย ห้วยปลาเน่า เรือโดยสาร ป่าช้าวัดหนองกลับ สามล้อถีบ
     ๒๔. แรกมีของอำเภอ หนองบัว : ๓.โรงเรียนประจำอำเภอ วงดนตรีและดุริยางค์โรงเรียน สนามบาสเกตบอลมาตรฐาน
     ๒๕. แรกมีของอำเภอ หนองบัว : ๔.น้ำบ่อทรายและสระวัดหนองกลับ
     ๒๖. แปรวิกฤติน้ำท่วมเป็นโอกาสเรียนรู้ตนเองของชาวหนองบัวเพื่อทำวันนี้....ให้ดีกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาที่รวบรวมเก็บไว้เป็นที่ระลึกในนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเนื้อหาการจัดนิทรรศการเท่านั้น ทั้งนี้ ก็เนื่องจากการริเริ่มและร่วมกันจัดนิทรรศการขึ้นเป็นครั้งแรกที่มุ่งให้เป็นส่วนหนึ่งของงาน ไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่หนองบัวและหลวงปู่ฤาษีนารายณ์นี้ เป็นริเริ่มกันขึ้นโดยคนหนองบัวที่ได้ไปอยู่ในที่อื่นๆ นอกหนองบัว แต่ได้เขียนและติดต่อสื่อสาร ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเรื่องต่างๆ รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับหนองบัว ผ่านเว็บบล๊อก GotoKnow ซึ่งเป็นเว๊บบล๊อกที่ดำเนินการให้เป็นช่องทางจัดการความรู้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเคลื่อนไหวสังคมทางด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ของเครือข่ายโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส)โดยคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งต่อมาก็เกิดความคิดที่จะร่วมกันจัดนิทรรศการนี้ขึ้น โดยต่างก็เตรียมกันเองไปตามข้อมูลและสิ่งจัดแสดงที่มีอยู่ในมือของตน จากนั้น จึงนำไปจัดนิทรรศการร่วมกันที่เกาะลอยอันเป็นบริเวณจัดงานเทศกาลประจำปีของคนหนองบัว ทำให้มีข้อจำกัดที่จะรวบรวมทั้งหมดมาเก็บไว้ได้อย่างทั่วถึง

เนื้อหาในหนังสือนี้เป็นเนื้อหาที่นำมาจัดแสดงนิทรรศการ โดยดึงออกมาจากบันทึกที่ช่วยกันสะสม ไว้ในเว๊บบล๊อก GotoKnow เป็นผลงานจากการเขียนบันทึกถ่ายทอดไว้หลายคน ที่สำคัญคือท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย (ขำสุข) วัดศรีโสภณ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งพื้นเพเป็นคนหนองบัว คุณเสวก ใยอินทร์ คนหนองบัวซึ่งไปอยู่เก้าเลี้ยวและพยายามร่วมกับเพื่อนๆรณรงค์กลุ่มพริกเกลือซึ่งเป็นอาหารเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของท้องถิ่น และผู้เขียนเอง ท่านที่สนใจสามารถเข้าไปร่วมเขียนและเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆช่วยกันได้ที่ www.http://gotoknow.org/blog/nongbua-community

หนังสือนี้มุ่งให้เป็นที่ระลึกของการจัดนิทรรศการนี้ขึ้นดังได้กล่าวแล้วในข้างต้น การจัดนิทรรศการดังกล่าวริเริ่มและดำเนินการขึ้นได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจ รวมทั้งการสนับสนุนของหลายฝ่าย จึงใคร่ขอกล่าวถึงไว้เป็นการรำลึกถึงและแสดงความขอบคุณ ประกอบด้วยนายเมธี ปรัชญาสกุล นายอำเภอหนองบัว สภาวัฒนธรรมอำเภอหนองบัว นายนพดล ไชยสุกัญญาสัญ ประธานคณะกรรมการจัดงานไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่หนองบัวและหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ กำนันวิรัตน์ บัวมหะกุล รองประธานกรรมการ อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่และคณะครู นักเรียน อาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว คุณฉิก : ศักดิ์ศิริ พิทักษ์อำนวย ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว อาจารย์ยุพิน รอดประพันธ์ โรงเรียนบ้านทับลุ่มและศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว มูลนิธิคุณครูอุดม โต๊ะปรีชา เพื่อพัฒนาหนองบัว และกลุ่มบล๊อกเกอร์ของ GotoKnow ทั้งที่เป็นคนหนองบัวและจากแหล่งต่างๆของประเทศ โดยเฉพาะคุณนงนาท สนธิสุวรรณ มูลนิธิสยามกัมมาจล ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งได้มอบหนังสือและสื่อการเรียนรู้จากบทเรียนของหลายแห่ง ทั่วประเทศมาร่วมจัดแสดงนิทรรศการของคนหนองบัวและเวทีคนหนองบัวในครั้งนี้ รวมทั้งขอขอบคุณภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ให้การสนับสนุนทางวิชาการ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมแก่เวทีคนหนองบัว

                                                                                                  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์
                                                                                                  ภาควิชาศึกษาศาตร์ 
                                                                                                  คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
                                                                                                  มหาวิทยาลัยมหิดล
                                                                                                  และคณะทำงาน มีนาคม ๒๕๕๔

หมายเลขบันทึก: 432524เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2011 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

ขอบพระคุณดอกไม้กำลังใจจากอาจารย์หมอ JJ อาจารย์ณัฐพัชร์ และคุณลำดวน มากอย่างยิ่งครับ

ในนิทรรศการครั้งนี้ นอกจากหนังสือที่ระลึกนี้แล้ว
ก็จะมีหนังสือและสื่อต่างๆอีกจากหลายแหล่งที่เกี่ยวกับหนองบัวไปวางจัดแสดงด้วย คือ

  • หนังสือที่จัดทำขึ้นโดยท่านพระมหาแล ซึ่งเป็นเรื่องราวของหนองบัวอีก ๒๖ เล่ม
  • หนังสือพจนานุกรมลาว-ไทย-อังกฤษ ของ คุณสมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง คนหนองบัวที่น่าภาคภูมิใจ และคนไทยคนหนึ่งที่ทำงานสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว
  • หนังสือและเรื่องราวการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แนวปฏิรูปเพื่อเรียนรู้แนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองไผ่ กับเครือข่ายโรงเรียนและสถานศึกษาแนวปฏิรูปทั่วประเทศอีก ๑๗ โรงเรียน โดย โรงเรียนบ้านหนองไผ่กับมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์
  • วิดิทัศน์และ หนังสารคดีเรื่องดอกอุ้มน้อง ของชุมชนอำเภอหนองบัว ของรายการทุ่งแสงตะวัน ป่าใหญ่ครีเอชั่น
  • หนังสือ ดังลมหายใจ เรื่องราววิถีชีวิตชุมชนที่เดินเรื่องด้วยเรื่องราวบุคคล (Autoethnography) โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์
  • หนังสือ การพัฒนาเครือข่ายจิตอาสาเพื่อพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตชุมชน โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ สนับสนุนทุนวิจัยโดยมหาวิทยาลัยมหิดล
  • หนังสือ การบริหารจัดการชุมชนเข้มแข็งอย่างมีส่วนร่วม โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ สนับสนุนการจัดพิมพ์โดยสถาบันพัฒนาการสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
  • หนังสือสื่อการ์ตูนพัฒนาการอ่าน การเรียนรู้ท้องถิ่น และพัฒนาการเรียนรู้สร้างความเป็นพลเมืองรักถิ่น รักษ์คลอง-รักถิ่น โดย จริยา ศรีเพชร และคณะ เขียนภาพการ์ตูนโดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และรุจิรา คำศรีจันทร์ ทุนอุดหนุนการวิจัยโดย มหาวิทยาลัยมหิดล  

*พี่ใหญ่ยินดีอย่างยิ่งค่ะ ที่ได้มีส่วนเล็กๆในงานยิ่งใหญ่ด้วยคุณค่าต่อชุมชนหนองบัวครั้งนี้..

*ประเด็นและเนื้อหาของหนังสือและนิทรรศการในงานนี้ครอบคลุมสาระดีๆมากมาย สามรถถอดบทเรียนและต่อยอดในหลายบริบท เป็นแบบอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมาก..อยากอ่านจังเลย..

*สมาชิก G2K  ๕ คน ได้จับมือร่วมกันในกิจกรรมของน้องมะปราง เพื่อถอดบทเรียน "ดังลมหายใจ" จาก blog ของอาจารย์ ดังที่พี่ใหญ่ได้เรียนให้ทราบแล้วครั้งหนึ่ง มีสมาชิก คือ คุณแสงแห่งความดี / อ.ณัฐพัชร์ /คุณณัฐรดา / ตุณครูอ้อยเล็ก / พี่ใหญ่

.. ประเด็นเบื้องต้นที่ร่างไว้ และพวกเราจะช่วยกันใส่เนื้อหาถอดบทเรียน คือ :

1.แก่นสาระหลัก (theme) ของบันทึก "ดังลมหายใจ"

2.บทเรียนที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจของสายสัมพันธ์ในครัวเรือนและชุมชน

3.การหล่อหลอมสังคมด้วยพุทธศาสนา

4.ความคาดหวังต่อการรักษาและพัฒนาวัฒนธรรมของสถาบันครอบครัวสู่สังคม

     อาจารย์มีความเห็นเพิ่มเติมอย่างไรบ้างคะ...ลูกศิษย์ขอน้อมรับไปปรับปรุงค่ะ

             

เรื่องราวที่อยากนำมาจัดแสดงเผยแพร่ให้ชุมชนหนองบัวได้เรียนรู้และภาคภูมิใจ ได้รู้จักตนเอง เห็นพลังแห่งทุนทางปัญญาและเห็นศักยภาพในตนเองมากยิ่งๆขึ้น แต่เนื่องจากพวกเรายังไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำเวทีสาธารณะด้วยกิจกรรมทางความรู้และการเคลื่อนไหวการเรียนรู้ของสังคมแบบนี้ ผมจึงเพียงได้แต่กล่าวถึงแบบบอกกล่าวไปตามโอกาส ไม่ได้ติดต่อประสานงานอย่างเป็นทางการเพราะไม่มีกำลังและยังประเมินความสามารถที่จะทำได้ยังไม่ถูก

กระนั้นก็ตาม หากมีสื่อที่เคยทำขึ้นและนำไปเผยแพร่ในโอกาสต่างๆบ้างอยู่แล้ว ก็อยากจะชวนเชิญนำมาจัดแสดงด้วยกัน ซึ่งมีอยู่หลายเรื่องที่น่าสนใจและควรเผยแพร่ไปอยู่เสมอมาก คือ.....

  • เรื่องราวของหนองบัว ซึ่งทำวิจัยโดยกลุ่มเด็กนักเรียนลูกหลานคนหนองบัว ผมได้เห็นจากเอกสารที่ท่านพระอาจารย์มหาแลท่านส่งไปให้ชมแล้ว เป็นเรื่องที่มีคุณค่าอย่างยิ่งทั้งต่อความเป็นเรื่องราวเพื่อการเรียนรู้หนองบัวและต่อการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของเด็กเพื่อสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ของสังคมไทยด้วยวิธีเรียนรู้และมีประสบการณ์ตรงต่อสังคมด้วยวิธีการที่เป็นระบบ เรื่องนี้จะมีตัวอย่างหนังสือและผลงานนักเรียนไปวางในงานบ้างแล้ว แต่ถ้าหากมีป้ายแสดงเรื่องราวด้วยก็จะน่าสนใจมากครับ
  • เรื่องราวของกลุ่มพริกเกลือ หากคุณเสวกหรือสมาชิกสามารถทำแผ่นป้ายหรือเขียนด้วยมือก็ได้ มาจัดแสดงประกอบกับหนังสือซึ่งท่านพระมหาแลกับผมทำให้แล้ว ก็จะงามอย่างยิ่งเลยละครับ และถ้าเป็นไปได้ หากชุมชนและกลุ่มชาวบ้านกลุ่มไหนมีผลิตภัณฑ์พริกเกลือกับผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเฉพาะมีดและเครื่องมือเหล็กจากตระกูลช่างว่อน จะนำมาวางด้วยได้ก็จะยิ่งน่าสนใจมากครับ ใครจะบอกลูกของช่างว่อนนำมาวางสักวันหนึ่ง โดยเฉพาะวันเสาร์ที่ ๒๖ มีนาคม หรือวางไว้ตลอดงานเลยก็จะยิ่งดีครับ
  • ภาพเก่าๆของหนองบัว รวมทั้งภาพเก่าๆที่สื่อถึงความเป็นมาของงานงิ้ว รวมทั้งชุมชนในตัวตลาด หากใครมีจะนำมาติดตั้งช่วยกันก็จะดีครับ เพราะหลังจากงานนี้แล้ว ผมจะหาคนมาศึกษาเรื่องราวและพัฒนาการของงานงิ้ว ในฐานะพัฒนาการด้านสังคมวัฒนธรรมที่อยู่บนความหลากหลายของหนองบัว เพื่อเก็บรวบรวมไว้ให้ครับ รวมทั้งผมเองก็จะศึกษาไว้ให้ด้วย
  • เรื่องอื่นๆตามแต่ถนัดและเห็นว่าน่าสนใจ นำมาจัดแสดงเผยแพร่ไว้ด้วยกันก็ดีทั้งนั้นแหละครับ
  • ในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันแห่ ผมจะหาน้องๆทีมจัยบวกกับมือวิชาการของเราในหนองบัวหลายคน ให้ช่วยกันระดมเก็บบันทึกข้อมูลมิติต่างๆของหนองบัวไว้ เมื่อเสร็จงานแล้ว ก็จะได้ทำเป็นหนังสือภาพและหนังสือบันทึกเหตุการณ์สำคัญของหนองบัวที่เป็นความร่วมแรงร่วมใจกันไว้สักเล่มหนึ่ง จะได้ใช้เพื่อริเริ่มทำสิ่งต่างๆต่อไปของคณะบุคคลและหน่วยงานต่างๆต่อไปได้อีกครับ
  • วันนี้ผมและทีมจะขนโปสเตอร์กับหนังสือไปหนองบัว คงจะถึงบ่ายแก่ๆ หากจัดวันนี้และมีคนเฝ้าให้ได้ก็จะจัดนิทรรศการวันนี้เลย เพราะทางคุณนพดล ไชยสุกัญญาสัญ ประธานกรรมการจัดงาน ได้มอบให้กำนันวิรัตน์ บัวมหะกุล ให้พาคนไปตั้งเต๊นท์ จัดโต๊ะ เก้าอี้ ไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ใครพอมีจังหวะแวะไปช่วยกันก็จะดีมากเลยนะครับ หรือไปนั่งคุยกินข้าวด้วยกันก็ยังดีครับ อาจารย์ยุพิน คุณธนกฤต คุณฉิก คุณเสวก หากได้กลับบ้านตอนนี้ก็เชิญแวะไปนะครับ ตอนนี้ก็คงจะมีผม อาจารย์พนม โรงเรียนบ้านหนองไผ่ กำนันวิรัตน์ บัวมหะกุล อาจารย์สืบ คุณครูวิกานดา โรงเรียนหนองบัว คุณฉิก กับพรรคพวกที่อยู่หนองบัวหลายคนพอสมควร เป็นแกนหลักครับ ก็คึกคักพอใช้ได้ครับ ท่านพระมหาแลและชาวบ้านหนองบัว ก็คงจะมาสมทบด้วยเช่นกัน
  • ตอนนี้ท่านอาจารย์พนมเจออากาศเปลี่ยนเลยไม่สบาย ท่านช่วยประสานงานกับทุกฝ่ายในหนองบัวให้อยู่ตลอดเวลา แต่ตอนนี้หากไม่มีคนช่วยก็ท่าจะแย่ต่อสุขภาพครับ
  • ผมจะขอให้รุ่นพี่ซึ่งเป็นชาวบ้านและญาติที่บ้านตาลิน มาช่วยเป็นโฆษก นั่งคุยและสื่อสารบอกกล่าวเรื่องราวที่น่าสนใจให้ได้สัก ๑ วัน หรืออาจจะมากกว่านั้นถ้าเขาจะกรุณา วันที่ควรจะมีคนนั่งคุยทางเครื่องเสียง โดยเฉพาะในตอนเย็น ก็คงจะเป็นตั้งแต่วันที่ ๒๖ ๒๗ และ ๒๘ ส่วนวันที่ ๒๖ ซึ่งเป็นวันแห่นั้น คงจะต้องนั่งคุยตั้งแต่ตอนเช้าไปจนถึงทั้งวัน ส่วนตอนกลางคืนอาจจะไม่ต้องมีคนนั่งคุยทางเครื่องเสียง เพราะตอนเย็นของวันแห่จะมีงานเลี้ยงและเปียของ เสียงจะตีกัน
  • แต่ทุกวันก็น่าจะมีคนนั่งอยู่ในเต๊นท์และพาคนคุย เป็นไกด์พาทัวร์ความรู้หนองบัว
  • อาจจะมีการจัดนั่งเสวนากันเรื่องหนองบัวให้สนุกสักวันหนึ่ง ซึ่งผม อาจารย์พนม  อาจารย์สุนันท์ อาจารย์วิกานดา อาจารย์ยุพิน และอาจารย์สืบ จะช่วยกันเตรียมอีกทีครับ อยากเชิญคนเก่าแก่ของหนองบัว รวมทั้งชาวบ้าน ผู้นำชุมชน อสม. พระ ที่มีประสบการณ์และวิธีคิดดีๆ มานั่งคุยกัน ช่วยกันแนะนำและช่วยกันหาหน่อยนะครับ
  • ผมคงจะอยู่ได้เพียงวันที่ ๒๖ ที่เป็นวันแห่ วันอื่นๆจะมีใครดูแลหรือทำกิจกรรมอะไร อย่างไรนี่ ถึงเวลาทำก็คงจะมีคนช่วยกันเยอะ มีคุณฉิก อาจารย์พนม และอาจารย์สืบ คอยดูแลให้อยู่แล้ว

ลืมไป งานนี้ต้องถือว่าบทบาทของ GotoKnow ทำให้เราชาวหนองบัวคิดริเริ่มและทำอย่างนี้ด้วยกันขึ้นมาได้ ผมเลยขอความอนุเคราะห์คุณมะปรางเปรี้ยว ผู้ประสานงานของอาจารย์ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ อาจารย์ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ และทีมงาน GotoKnow ที่ได้ทำเสื้อยืดรูปวาดการ์ตูนการจัดการความรู้ของประเทศไทย ให้เสื้อยืด ๑๒ ตัว ตอนนี้เหลือ ๑๐ ตัว เพื่อแจกจ่ายร่วมเผยแพร่คุณูปการและการสนับสนุนของ GotoKnow จะมอบถวายแด่ท่านพระอาจารย์มหาแลเพื่อให้ท่านนำไปให้ลูกศิษย์ลูกหาหรือญาติโยมตามแต่จะพึงประสงค์ ที่เหลือก็นึกถึงคุณฉิก อาจารย์พนม และท่านอื่นๆที่จะเจอกันที่งานนะครับ เสื้อสวยครับ แต่เสื้อหนองบัวของเราตอนนี้ต้องงดทำไปก่อนครับ (ทำท่าแบบลิเกป้องปากบอกแก่ผู้ชมว่า ตอนนี้ หลังจากทำโปสเตอร์และหนังสือไปแล้ว หากทำเสื้อเพิ่มอีก หลังจากเสร็จงานแล้วก็ทำท่าว่าจะต้องกลับไปขายนาสักแปลงเสียแล้วละครับ ฮ่าา) แต่หลังจากงานนี้แล้วก็ยังอยากทำอยู่ดีครับ  

ประเด็นดีจังเลยครับพี่ใหญ่ครับ
เป็นการร่วมกันเขียนหนังสือไปในตัววิธีหนึ่งเลยนะครับ
ผมเองก็จะนำมาเขียนบทสังเคราะห์เชิงทฤษฎีเพิ่มเข้าไปอีกส่วนหนึ่งด้วยเช่นกันครับ
จะเพิ่มระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพในแนว Autoethnography เข้าไปครับ
เชื่อว่าจะเป็นระเบียบวิธีที่เหมาะมากสำหรับวิธีทำประสบการณ์ชีวิตและประวัติศาสตร์สังคมที่สะท้อนอยู่ในเรื่องราวตัวบุคคลให้เป็นการสร้างความรู้และวิธีเรียนรู้ทางสังคม สำหรับสังคมที่มีพื้นฐานที่ดีมากมายแต่มีช่วงเวลาการพัฒนาสังคมแห่งความรู้ทีหลังประเทศที่พัฒนามาก่อนของโลกดังเช่นสังคมไทย

แต่ละท่านนี่สามารถเน้นบางด้านที่เป็นการสกัดประเด็นและสร้างความรู้ต่อยอดขึ้นจากกรณีตัวอย่างที่ใช้เป็นวัตถุดิบการถอดบทเรียนด้วยกัน ในแง่มุมที่แตกต่างหลายด้านเลยนะครับ

  • อย่างคุณแสงแห่งความดีก็น่าจะเชื่อมโยงไปยังการพัฒนาการเรียนรู้จากชีวิตชุมชน
  • คุณณัฐรดานี่ได้รอบด้านเลย โดยเฉพาะเรื่องระบบวิธีคิดทางพุทธธรรม ศิลปะ
  • อาจารย์ณัฐพัชร์น่าจะเชื่อมโยงไปที่เรื่องศิลปะและสื่อภาพกับการวิจัยชุมชน โดยเฉพาะวิธีทำให้การพรรณาและเรื่องเล่าเพื่อนำเสนอการวิจัยเชิงคุณภาพให้มีพลังต่อการแสดงสิ่งซึ่งมีความเป็นนามธรรมมากกว่าข้อมูลตัวหนังสือ
  • น้องคุณครูอ้อยเล็กนี่น่าจะโยงไปที่การพัฒนาการเรียนรู้จากการเล่นและกิจกรรมชีวิตชุมชน และการพัฒนาการเรียนรู้ศิลปะแบบบูรณาการ
  • ส่วนของพี่ใหญ่นี่ นอกจากโยงไปที่ประเด็น ๒, ๓, ๔ อย่างอยู่มือได้เป็นอย่างดีแน่นอนแล้ว เรื่องการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมในบ้าน ในชุมชน รวมทั้งจากแหล่งประสบการณ์ที่มีอยู่หลากหลายในสังคม เช่น กลุ่มเพื่อน หนังสือและการอ่าน ศิลปะวรรณกรรม เหล่านี้พี่ใหญ่ก็มองเชื่อมโยงได้ลึกซึ้งและกว้างขวางครับ

อย่างไรก็แล้วแต่ครับ วางอยู่บนฐานของการเห็นและรู้สึกได้ออกมาจากข้างในแล้วก็ว่าไปตามนั้นนี่ดีที่สุดครับ จะสบายและเป็นการได้ทำเพื่อเรียนรู้ตัวเอง เบาๆ และบอกเล่าสะท้อนความบันดาลใจได้ดีกว่าวิธีอื่นครับ

หน้าปลื้มใจจริง ๆ

ขอตามมาเป็นกำลังใจให้แก่ท่านอาจารย์วิรัตน์และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุก ๆ ท่านครับ

วันนี้(๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔)เป็นวันเริ่มงานวันแรกของงานงิ้ว
มารายงานให้ทราบว่าอีกสองวันจะได้ไปดูนิทรรศการสดๆที่ขอบเวที(๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔)
ถือคติว่ามาช้าดีกว่าไม่มา

สวัสดีครับอาจารย์ ขอมาร่วมงานทางบันทึก

หนองบัวโมเดล คือภาพฝันที่อยากเห็น อยากทำนำไปสู้ชุมชนสุขภาวะ ที่ฝัน

สวัสดีครับคุณสมบัติครับ
ผมไปถึงหนองบัวเมื่อมืดค่ำพอดีครับ แรกเลยก็กะว่าจะช่วยกันจัดบอร์ดในคืนนี้ เพราะเข้าใจว่าวันนี้จะไม่ค่อยมีคน ที่ไหนได้ คนเยอะแยะเลยครับ อีกทั้งมีการแสดงของคณะอังกอที่หน้าศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์เสียอีก ในเต๊นท์ที่เขาเตรียมสถานที่ไว้ให้ก็มีคนมาเที่ยวงานใช้จอดมอเตอร์ไซค์เสียเต็ม เลยก็จัดบอร์ดยังไม่ได้ ได้แต่ช่วยกันติดตั้งป้ายชื่อนิทรรศการไว้ก่อน แล้วพรุ่งนี้จึงจะติดตั้งได้

ผมเอาหนังสือถ้อยเสียงสำเนียงลาวของคุณสมบัติไปด้วยนะครับ จะวางโชว์และแนะนำว่าเป็นหนังสือของคนหนองบัว ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองคอก มีแง่มุมที่ควรจะแนะนำอย่างอื่นเพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้สนใจสักนิดฟนึ่งไหมครับ จะเขียนให้แล้วติดคู่กับหนังสือน่ะ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ
เห็นพรรคพวกที่หนองบัวบอกว่าจะมีการบวชนาคหมู่ด้วยครับ ดูเหมือนว่าจะเป็นวันอาทิตย์ แต่ผมจะไม่ได้อยู่ด้วยละสิครับ จะอยู่ได้แค่วันแห่คือวันเสาร์น่ะครับ ผมชวนน้องๆที่อาจจะเป็นเครือข่ายทำงานวิชาการให้กับพวกเราในหนองบัวได้ในอนาคต แต่ตอนนี้ไปได้แค่คนหนึ่ง อาจจะตามไปในวันเสาร์อีกคน-สองคน จะให้เขาช่วยเก็บข้อมูลช่วยและให้ได้เจอเพื่อนๆน้องๆในหนองบัว เผื่อจะมีโอกาสเชื่อมต่องานกันเองในอนาคต แต่ก็เป็นการเผื่อไว้เฉยๆครับ อยากให้ได้มาสัมผัสและช่วยกลับไปเขียนบล๊อกเผยแพร่เรื่องราวต่างๆของหนองบัว แค่นี้ก็มากแล้ว อย่างอื่นหากได้ทำก็ถือว่าเป็นกำไรนะครับ

สวัสดีครับเฒ่าวอญ่าครับ
เป็นความพยายามช่วยกันเล็กๆตามกำลังที่พอทำกันได้น่ะครับ

งานไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ หลวงปู่ฤาษีนารายณ์
หรือ
งานงิ้วหนองบัวคืนแรกเริ่มแล้วอย่างงดงาม
มีสีสัน เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา 

                       

                      

                      

                      

                      

                      

                      

นึกในใจว่างานงิ้วหนองบัวบ้านเรา คงมียรรยากาศเงียบๆเหมือนงานปิดทองลูกนิมิตของบางวัด(คากการณ์แบบคนไม่ได้เที่ยวงานเทศกาลทุกประเภทมาหลายสิบปี)
ที่ไหนได้ คึกคัก มีสีสันไม่เบาเลย
งานงิ้วยังมีลมหายใจอีกยาวไกล

สวัสดีครับ  ท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

อำเภอหนองบัวของเรา  เป็นสังคมที่มีผู้คนหลากหลายมาอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีความสุขตามอัตภาพ  ผู้คนในสังคมที่เรียกว่าอำเภอหนองบัว  มีทั้งกลุ่มคนที่อาศัยอยู่มาแต่เดิม  ที่คนรอบนอกเรียกกันว่า.....ไทยหนองบัว.....  และกลุ่มคนที่มาภายหลังซึ่งประกอบด้วย  คนที่มีเชื้อสายจีน ( ส่วนใหญ่อยู่ในตัวอำเภอ)  รวมทั้งที่ไปตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย/ประกอบอาชีพค้าขายและแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกับคนท้องถิ่นที่อยู่รอบนอก  ถ้านับระยะทางก็ 5 ก.ม.ขึ้นไป  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นคนเชื้อสายลาวที่อพยพมาจาก  จังหวัดสระบุรี  เพชรบุรี  ลพบุรี  นครราชสีมา  ร้อยเอ็ด  ขอนแก่น  ฯลฯ 

เมื่อกาลเวลาผ่านไปหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน  ก็เป็นเวลาเกือบจะ 100 ปีแล้ว  คนทั้ง 3 กลุ่มนี้ต่างก็ได้หล่อหลอมความแตกต่างเข้าด้วยกัน  จนแทบจะเป็นเนื้อเดียว ที่เรียกว่า.....คนอำเภอหนองบัว.....  มีความรักถิ่นฐานบ้านเกิด  ถ้าอยู่ในท้องถิ่นอาจจะรู้สึกธรรมดา    แต่ถ้าไปเรียนหนังสือ  ไปประกอบอาชีพหรือไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในที่อื่น ๆ ซึ่งอยู่ห่างไกลและนาน ๆ จะได้กลับบ้านสักครั้ง  ความรู้สึกผูกพัน  รักและคิดถึงบ้านจะมีมากและเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

อาจารย์ครับ  ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่รอบนอกตัวอำเภอ  ได้เข้ามาเรียนหนังสือในตัวอำเภอ  ได้รู้จักครูบาอาจารย์  ได้มามีเพื่อน ได้เห็นความแตกต่างและความหลากหลายของผู้คนซึงประกอบเข้ากันเป็น.....ชาวอำเภอหนองบัว  เมื่อมีโอกาสมารับราชการอยู่ที่ชายแดนลาว  จึงซึมซับข้อมูลและรายละเอียดของความเป็นลาวได้อย่างรวดเร็วและลึกซึ้ง  ได้เห็นว่า  สังคมไทย - ลาว  มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง  แม้ว่าความแตกต่างจะมีไม่มาก  แต่ก็น่าจะทำความเข้าใจในความแตกต่างนั้นได้   ทั้งนี้ เพื่อมิตรภาพ/สัมพันธภาพและความเข้าใจอันดีต่อกัน 

บรรยากาศและพื้นฐานทางด้านวิถีชีวิต ภาษา  วัฒนธรรมของชาวอำเภอหนองบัวนี่เอง  นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความคิดและการก่อเกิดของหนังสือ.....ถ้อยเสียงสำเนียงลาว  หรือ  คำศัพท์ 3 ภาษา : ลาว - ไทย - อังกฤษ เล่มนี้ พร้อมทั้งประกาศตัวเป็นชาวอำเภอหนองบัว  อย่างเปิดเผยและภาคภูมิใจ  ครับ

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
ผมก็เหมือนกันครับ แต่เดิมก็คิดว่างานงิ้วหมดสภาพความเป็นเทศกาลทางสังคมวัฒนธรรมและงานประเพณีไปแล้ว คิดว่าเป็นงานเหงาๆและคณะกรรมการที่จัดก็ต้องทำหน้าที่เข็นกงล้อประวัติศาสตร์เล็กๆของสังคมท้องถิ่นนี้ไปข้างหน้าเรื่อยๆอย่างเหนื่อยยากแกนๆ แม้ขาดความสนใจของผู้คนก็ต้องทำเพื่อให้ได้ทำอย่างที่ผู้คนรุ่นเก่าก่อนสืบทอดส่งต่อมาให้ ที่ไหนได้ ยังคึกคักและดูจะมีชีวิตชีวาไปอีกยาวนานอย่างที่พระคุณเจ้าว่าเลยนะครับ

สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

ผมได้ช่วยส่งความรักความผูกพันถิ่นฐานบ้านเกิดหนองบัว รวมทั้งความมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลต่อสังคมไทยกับสังคมประเทศเพื่อนบ้าน ที่นำมาสู่การทำงานสร้างสรรค์เป็นหนังสือคำศัพท์ ๓ ภาษาอย่างถ้อยเสียงสำเนียงลาว ไปอวดต่อสายตาของชาวหนองบัวและผู้มาเยือนทั้งหลายด้วยนะครับ เพื่อให้รู้จักคนเก่ง-ดีของหนองบัวและศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองบัวกับในชุมชนบ้านเกิด ดูภารกิจแล้วผมก็คาดว่าคุณสมบัติกับอีกหลายคนคงจะไม่มีจังหวะได้กลับบ้านตรงช่วงงานงิ้วนี้

แต่สิ่งดีๆอย่างนี้บอกเล่าและให้แรงบันดาลใจต่อการทำสิ่งดีแตกออกไปไดอีกหลายอย่างโดยตัวมันเอง ผมก็เลยอาสาเอาไปวางจัดแสดงในเต๊นท์นิทรรศการไปด้วยนะครับ รวมทั้งขากลับ ก็ผ่านออกไปทางเขาพนมรอกเพื่อหาโอกาสแวะเยี่ยมน้องๆที่อยู่แถวนั้นไปด้วย เลยก็ได้ผ่านบ้านห้วยวารี เลยถ่ายรูปมาฝากจะได้ชมเพื่อคลายความคิดถึงบ้านนะครับ

การจัดแสดงในนิทรรศการเวทีคนหนองบัว : Unseen Nong Bua

                         

                        

                        

การจัดแสดงในนิทรรศการเวทีคนหนองบัว Unseen Nong Bua : หนังสือเรียนรู้คำศัพท์ภาษาเพื่อบ้าน โดย คนหนองบัว คุณสมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง คนบ้านห้วยวารี

                        

หนังสือที่ทำเป็นสูจิบัตรและที่ระลึกนิทรรศการในงานเทศกาลประจำไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ หลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ประจำปี ๒๕๕๔ ในครั้งนี้ ได้เก็บไว้และมอบให้แต่จำเพาะหน่วยงานกับบุคคลจำนวนหนึ่งอย่างจำกัด คือมอบให้แก่ท่านอาจารย์ชัยยุทธ ภู่เกตุและอาจารย์เสาวนิตย์ ภู่เกตุ ๑ เล่ม เพราะท่านเป็นอดีตประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอหนองบัว และเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งทางด้านการศึกษา วัฒนธรรม และงานทางสังคม ทั้งในหนองบัวและนครสวรรค์ รวมทั้งท่านให้ความชื่นชมกับกิจกรรมในครั้งนี้มาก ท่านเป็นคนต้นเรื่องทางด้านการศึกษาและอีกหลายด้านของหนองบัว อีกทั้งจะเป็นกำลังทางสติปัญญาเคลื่อนไหวงานทางความรู้และการพัฒนาการเรียนรู้ของชุมชนอีกยาวนาน

มอบถวายแด่ท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย ขำสุข ๑ เล่ม ทั้งเพื่อเป็นกำลังใจ กราบขอบพระคุณร่วมกับคนหนองบัว และเพื่อกราบอนุโมทนาในความเป็นผู้ริเริ่มทำความรู้และงานทางปัญญาเป็นทาน และอีกหลายอย่างที่มีส่วนอย่างสำคัญให้การทำงานความรู้เคลื่อนไหวสิ่งดีๆด้วยกันให้แก่สังคมท้องถิ่นหนองบัวครั้งนี้มีความสำเร็จอย่างงดงามเกินคาดคิด ขณะเดียวกันก็มอบถวายแด่ท่านพระอธิการโชคชัย เจ้าอาวาสวัดพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ที่มาเยือนหนองบัวด้วยกันกับท่านพระอาจารย์มหาแล อีก ๑ เล่ม เพื่อท่านจะได้เป็นกำลังทางปัญญาของชาวบ้านและสังคมระดับชุมชนที่จะผ่านเข้ามาตามเส้นทางชีวิตการงานทั้งในปัจจุบันและอนาคตของท่าน ตามความสนใจกับทุนศักยภาพที่ท่านมีเป็นทุนอยู่อย่างมากมาย

อีก ๑ เล่ม ได้มอบให้แก่โรงเรียนหนองบัว พร้อมกับแผ่นภาพนิทรรศการอีก ๑๑ แผ่นและหนังสือของท่านพระอาจารย์มหาแลอีก ๒๓ เล่ม กับมีดและฝักจากไม้มะค่าอันสวยงามจากฝีมือของช่างว่อนอีก ๑ เล่มที่ทางลูกหลานของช่างว่อนนำไปมอบให้ผมได้จัดแสดงในนิทรรศการ(แต่ผมขอไว้ว่าหากลูกหลานช่างว่อนต้องการคืนก็ขอให้มอบคืบได้เพราะช่างว่อนได้ถึงแก่กรรมแล้ว ไม่มีใครทำได้อย่างช่างว่อนอีก) เพื่อทางโรงเรียนจะได้นำไปใช้เป็นสื่อจัดแสดงให้เป็นแหล่งการเรียนรู้แก่ลูกหลานของคนหนองบัว ก่อเกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างกว้างขวางและยืนนานมากยิ่งๆขึ้นต่อไป 

ทางโรงเรียนมีนโยบายพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นและพัฒนาแหล่งความรู้ รวมทั้งแหล่งจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น แต่ก็มีข้อจำกัดในการรวบรวมสิ่งของเนื่องจากขาดทั้งกำลังคน ขาดแคลนทั้งงบประมาณดำเนินการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

ดังนั้น การร่วมสนับสนุนงานของโรงเรียนเพื่อการศึกษาของลูกหลานหนองบัวในครั้งนี้จึงเหมือนร่วมสร้างทุนตั้งต้นให้โรงเรียนมีกำลังริเริ่มสิ่งสำคัญอย่างนี้ได้ อีกทั้งจะได้เป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชน ศิษย์เก่า และผู้คนที่เอาธุระกับความเป็นส่วนรวมในลักษณะอย่างนี้ เห็นเป็นช่องทางในการเดินเข้าร่วมมือกันในการข้ามข้อจำกัดและริเริ่มสิ่งดีๆให้กับหนองบัวได้ แม้จะขาดแคลนทรัพยากรและปัจจัยอีกหลายด้าน งานนี้ เลยได้มีสิ่งดีๆเกิดสืบเนื่องกันไปได้หลายอย่างเพราะมีการต่อความคิดกันคนละเล็กละน้อย หากมีโอกาสผมก็จะนำมาทบทวนเพิ่มมากขึ้นเพื่อเห็นผู้คนและเห็นสิ่งต่างๆที่ส่งเสริมเกื้อหนุนกัน ที่อาจจะกล่าวถึงและบันทึกรวบรวมไว้ได้ไม่ทั่วถึง

สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

เพี่งเสร็จภารกิจ  เป็นแม่งานในการสานความสัมพันธ์ไทย - ลาว  ตามที่ท่านอาจารย์ได้เขียนแนะนำในงานงิ้วที่หนองบัว  เรียบร้อยทุกประการครับ  ทั้งสัมมนาทางวิชาการและกีฬามิตรภาพระหว่างศุลกากรไทยกับพาสีลาว 

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ

หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาแทบไม่ได้แวะเข้าหน้าจอเลย  นอกจากเข้ามาดูเรื่องงานบ้าง  นอกนั้นเตรียมเอกสารแปลภาษาลาวเพื่อใช้ในการสัมมนาเป็นปึก ๆ ต้องแปลเองครับ  คนที่เก่ง ๆ ภาษาอังกฤษ  ญี่ปุ่น จีน  ฝรั่งเศสนั้นพอมีครับ  แต่คนแปลภาษาลาวเพื่อใช้งานที่เป็นเรื่องเป็นราวนี่  พูดไปก็ไม่น่าเชื่อนะครับ  หายากจริง ๆ

ที่ผมเข้ามาตอนดึกอย่างนี้  ก็เพราะว่าก่อนเข้ามา (วันนี้) ได้รับบัตรเชิญไปงานปีใหม่ที่สถานทูตลาวในกรุงเทพฯ  คือวันที่ 14 เมษายนนี้มีงานใหญ่ที่นั่นครับ  เป็นงานเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาวในระดับสูงสุด  หลังจากที่ผมได้กระทำไปและเพิ่งจบลงเมื่อวานนี้  แม้ว่าจะเป็นงานเล็ก ๆ และไม่ใหญ่เท่าก็ตาม

ก็บังเอิญมีข่าวแว๊บเข้ามาเรื่องที่ท่านอ้วน  พรหมจักร  เอกอัครรัฐทูต สปป.ลาวประจำประเทศไทยรับหนังสือขอโทษของอธิการบดี มธ.จากอาจารย์ปริญญาฯ  เหตุเกิดจาก นศ.มธ.กลุ่มหนึ่ง  เมื่อวานนี้ผมเข้าไปธุระที่สถานทูตไทยในเวียงจันทน์ (ทูตพาณิชย์)  ก็พอทราบเรื่องนี้คร่าว ๆครับ  

ก่อนหน้านี้ประมาณ 30 นาที่ไล่อ่านทางเนต/กระทู้ต่าง ๆ /youtube  พบว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ไทย - ลาวเลย 

คนทำงานด้านนี้ต่างพากันทำตัวเป็นเกลียวและอย่างทุ่มเท  แต่การทำลายนี่ทำได้ในระยะเวลาอันสั้น  โดยไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง หรือคิดถึงผลลัพธ์ที่จะติดตามมาเลย

สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

ตกข่าวครับ หากคุณสมบัติไม่นำมาถ่ายทอดให้ทราบก็คงจะไม่รู้เรื่องเลยทีเดียว เลยทำให้ผมต้องเข้าไปหาดู ทั้งของนักศึกษา มธ. แล้วก็เลยได้ดูคลิ๊ปที่ทำขึ้นตอบโต้ จากผู้ที่คนดูแล้วกล่าวถึงว่าน่าจะเป็นนศ.ของสปป.ลาว โดยเนื้อหาที่ได้ดูแล้วก็น่าสนใจดีนะครับ เพียงแต่เผยแพร่ทั่วไปแล้วอาจจะเป็นเหตุให้การรับรู้ที่ต่างกันของผู้คน ก่อให้เกิดการสนองตอบที่สร้างความหงุดหงิดไม่สบายใจกันได้

คลิ๊ปของนศ.มธนั้นผมก็ว่าเห็นประเด็นการเรียนรู้ที่ใส่ใจความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อตั้งประเด็นให้หาเหตุผลและเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติต่อกันที่อยู่ในความคุ้นเคยของคนไทยต่อสังคมเพื่อนบ้าน เป็นการพุ่งเข้าหาตนเองเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองเสียมากกว่า ทำเพื่อเป็นส่วนหนึ่งเพื่อสร้างการเรียนรู้ เมื่อแยกออกมาเผยแพร่โดยไม่เห็นองค์ประกอบอีกหลายอย่างก็คงทำให้คนเกิดความไม่สบายใจได้

ส่วนคลิ๊ปที่ตอบโต้ก็เช่นกัน ดูแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่าการต้องให้ผู้คนมีโอกาสได้เรียนรู้เพื่อคิดและแสดงออกต่อสังคมด้วยตนเองบ้าง ใจเขาใจเราน่ะนะ

ผมถึงว่านะครับว่าหนังสือของคุณสมบัติและบทบาทการทำงานต่างๆนั้นมีความสร้างสรรค์ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญที่จะช่วยกันทำ แต่มักจะทำเรื่องไม่เป็นเรื่อง ให้กลายเป็นเรื่องเป็นราวกันไปได้นะครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ครับ

ผมเห็นภาพป้าย...วัดห้วยวารี  แล้วรู้สึกตื่นตาจริง ๆ ครับ  

เวลากลับบ้านมีแต่ขับรถหรือเดินผ่าน  ไปที่ไหนผมมักมีกล้องถ่ายรูปติดตัวไปด้วยเสมอ ยอมรับว่าไม่เคยถ่ายภาพป้ายวัดห้วยวารีเลยจริง ๆ  กลับไปคราวนี้คงต้องถ่ายเก็บไว้บ้าง

 ภาพนี้อาจจะเป็นภาพแรกที่  วัดห้วยวารีได้มีโอกาสเผยแพร่ออกไปในโลกกว้าง  หน้าคำว่า...วัดห้วยวารีที่ถูกปิดไว้นั้น  คือคำว่า...โรงเรียนครับ  โรงเรียนวัดห้วยวารีเหนือนี้  ถูกยุบไปเกือบ 40 ปีแล้ว  เด็ก ๆ จึงต้องไปเรียนกันที่โรงเรียนห้วยวารีใต้ (สมัยนั้นท่านอาจารย์บุญส่ง  ว่องสาริกิจ  เป็นอาจารย์ใหญ่) ที่อยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 1.5 ก.ม.  แต่ป้ายก็ยังคงแข็งแรงดีอยู่ครับ

ผมกลับบ้านครั้งหลังสุด  ก็เพิ่งทราบว่า  เจ้าของบ้านสร้างใหม่ที่อยู่เยื้อง ๆ กับบ้านผม  เป็นคนบ้านตาลิน  และเป็นหลานของตาลินซึ่งเป็นชื่อของหมู่บ้านนั้นด้วย  แล้วก็แปลกอยู่ที่ว่า  เขยห้วยวารีหรือห้วยปลาเน่าเหนือคนนี้  สามารถพูดได้ทั้งภาษาลาวและภาษายวนครับ

สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

  • คิดถึงอาจารย์บุญส่ง ว่องสาริกิจนะครับ ท่านเคยย้ายไปอยู่ที่โรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) ที่บ้านผม
  • เมื่อก่อนนี้ ธารทหารกับห้วยวารีนั้น เดินลัดทุ่งนาแป๊บเดียวถึงเลยนะครับ ผมเคยไปเป่าแตรแห่นาคอยู่เหมือนกันครับ ไม่เหมือนขับรถอย่างเดี๋ยวนี้เลยนะครับ ถนนมันโค้งและดูเหมือนไกลมากเลย

วัสดีครับ ดร.วีรัตร์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท