ต้นอ้อยช้าง : เชิญร่วมสะสมและรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น


   ต้นอ้อยช้าง  

     

มีต้นไม้ที่หน้ากุฏิอยู่ต้นหนึ่ง เฝ้ารดน้ำดูความเติบโตมาหลายปีแล้ว แต่ไม่รู้จักว่าคือต้นอะไร ถามใครหลายคนก็ไม่มีใครรู้จัก แต่ตอนนี้กำลังออกดอก เลยขอความรู้จากหลวงตาในวัด พอท่านเห็นดอกเท่านั้นแหละ ความจำครั้งอดีตก็พลั่งพรูออกมาทันที หลวงตาสี่รูปยืนยันตรงกันว่าคือต้นอ้อยช้าง

ทำไมชื่ออ้อยช้าง ท่านตอบว่าช้างชอบกิน กินทั้งใบและดอก ท่านให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าต้นอ้อยชั้งนั้นเปลือกลอกง่ายมาก และช้างก็ชอบกินเปลือกด้วย โดยใช้งาแทงเปลือก แล้วลอกออกมากิน

      

เปลือกอ้อยช้างคนก็กินได้ด้วย หลวงตาองค์หนึ่งท่านถากเอาเปลือก มาฉันกับหมากแทนเปลือกคูณ และที่สำคัญยอดอ่อนก็กินได้อีก เมื่อรู้ว่ากินได้ วันนี้ก็เลยนำมาเป็นเมนูคู่กับพริกเกลือเสียเลย

                                                                                                                 พระมหาแล อาสโย (ขำสุข)
                                                                                                                 วัดศรีโสภณ จังหวัดพิษณุโลก
                                                                                                                 ๗ เมษายน ๒๕๕๔

  • เมื่อก่อนนี้ตามทุ่งนาก็มักมีต้นไม้ที่เรียกว่า 'ต้นช้าง' ออกลูกลักษณะเป็นช่ออย่างนี้เหมือนกัน พวกนกแก้ว นกกะลิง นกปรอดหัวจุก นกเอี้ยงโครง นกโพระดก นกกรอด ชอบมาเกาะกินเต็มไปหมด
  • ผิวลำต้นเหมือนกับลักษณะในรูป แต่กิ่งและลำต้นเปราะ หักง่าย เนื้ออ่อนและสวย นำมาแกะสลักและตบแต่งให้เป็นรูปต่างๆได้ง่าย แต่ไม่แข็งแรง ใช้ทำเครื่องตบแต่งได้ ไม่ทราบว่าจะเป็นต้นอ้อยช้างนี้หรือเปล่านะครับ
  • แต่ต้นมันใหญ่กว่านี้มาก และไม่เคยทราบเลยครับว่ายอดมันกินได้
  •                                                                                                          วิรัตน์ คำศรีจันทร์
                                                                                                             มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
                                                                                                             ๘ เมษายน ๒๕๕๔

                              

    คงเป็นต้นใหญ่อย่างที่อาจารย์ว่าจริงๆ
    ในพระไตรปิฏกเรียกว่าต้นมหาโสณกะ : ต้นอ้อยช้างใหญ่ เป็นโพธิญาณพฤกษาของพระพุทธเจ้าสามพระองค์ด้วยกัน (๑)พระปทุมพุทธเจ้า(๒)พระนารทพุทเจ้า(๓)พระเวสสภูพุทธเจ้า ทั้งสามพระองค์ได้ตรัสรู้ที่ควงไม้อ้อยช้างใหญ่ โพธิญาณพฤกษาคือต้นไม้ที่พระโพธิสัตว์ประทับบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้ อย่างต้นโพธิ์ก็เป็นต้นไม้โพธิญาณพฤกษาของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

    หลวงตาท่านให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เปลือกอ้อยช้างสามารถนำไปทำเป็นเบาะรองหลังช้างหรือรองแหย่งช้างได้ แหย่งช้างคือที่นั่งบนหลังช้าง หรือสัปคัป ที่นั่งบนหลังช้างทำด้วยไม้เนื้อแข็ง แรงกดทับของไม้อาจเสียสีครูดผิวหนังช้างจนเกิดอันตรายได้ เมื่อนำเปลือกอ้อยช้างมาทำเป็นเบาะรองจึงช่วยป้องกันการบาดเจ็บได้อย่างดี

    ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยว ฝาดนิยมรับประทานเป็นผัก
    เมื่อวานฉันกับพริกเกลือเข้ากันได้ดี

                                                        

    สัปคัป(สับ-ปะ-คับ) : แหย่งช้าง,ที่นั่งบนหลังช้าง
    ข้อมูล http://cd.m-culture.go.th/ubon/index.php?c=showitem&item=120

                                                                                                             พระมหาแล อาสโย (ขำสุข)
                                                                                                             วัดศรีโสภณ จังหวัดพิษณุโลก
                                                                                                             ๘ เมษายน ๒๕๕๔

    .....................................................................................................................................................................

    หมายเหตุ :

     ต้นอ้อยช้าง  : เป็นข้อมูลจากบันทึกในเวทีคนหนองบัว บันทึกและนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเก็บรวบรวมไว้โดยท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย (ขำสุข) ( คลิ๊กดูรายละเอียดได้ที่นี่ http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/295169 ) ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ เช่น บ่งบอกลักษณะความเป็นท้องถิ่นทั้งในด้านชีววิทยา ความเชื่อ การใช้อสอยซึ่งเชื่อมโยงกับลักษณะทางสังคมวัฒนธรรม

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นอาหารและยา ที่จะรู้จักและเข้าถึงได้ก็ด้วยการมีภูมิปัญญาของท้องถิ่นให้รู้จัก จึงมีความเชื่อมโยงกับความเฉพาะตนของสังคมไทยและวิถีวัฒนธรรมชุมชน ตลอดจนความรู้ที่อยู่ในประสบการณ์ของชาวบ้านท้องถิ่นต่างๆมาก หากสามารถช่วยกันศึกษา รวบรวม ข้อมูลและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆไว้ก็เชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อไปมากอย่างยิ่ง ผมจึงนำมาแยกไว้เป็นหัวข้อต่างหากเพื่อที่คนอื่นๆจะได้เข้าถึงและค้นพบได้ง่าย พร้อมกับอำนวยความสะดวกให้คนที่มีความรู้ช่วยกันสะสมเรื่องราวต่างๆไปด้วยได้ง่ายขึ้น

    จึงขอเชิญทุกท่านที่มีข้อมูลต่างๆรวบรวมและสะสมไว้ได้ตามความสะดวก เช่น

    • ชื่อเรียกท้องถิ่น เรื่องราวและเรื่องเล่าในท้องถิ่นต่างๆทั้งในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน
    • การใช้สอย ผลงานศิลปหัตถกรรม สิ่งประดิษฐ์ต่างๆจากส่วนต่างๆของต้นอ้อยช้าง รวมทั้งกูปและสัปคัปของภูมิภาคต่างๆ
    • สรรพคุณด้านอาหารและยา รวมทั้งวิธีปรุงอาหารและการบริโภค ตลอดจนความเชื่อและภูมิปัญญาต่างๆที่เกี่ยวข้อง
    • รูปถ่าย รูปวาด และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
    หมายเลขบันทึก: 434626เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2011 16:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (23)

    ขอบคุณดอกไม้จากคุณ Univeral perspective และคุณกานต์ครับ

    ขอแสดงความยินดีกับคุณกานต์
    ที่เข้ามาเขียนใน GotoKnow ได้อีกครับ
    ผมนี่ก็มักชอบลืมอีเมล์ของตัวเอง
    และกว่าจะเข้าได้ก็ต้องสุ่มคลำกันเป็นพักเลยละครับ

    ขอบคุณค่ะ..เพิ่งเคยเห็น..นอกจากสรรพคุณทางโภชนการและยาแล้ว..ยังเชื่อมโยงกับพุทธประวัติและที่นั่งบนหลังช้าง..คิดๆดูแล้ว..พี่ใหญ่ช่างอ่อนเยาว์ในเรื่องเหล่านี้จริงๆค่ะ..

    พี่ใหญ่นำมาแลกกันดูค่ะ..(ขออภัยหากเคยทราบแล้ว)

    หญ้าม่านพระอินทร์(หญ้าหมอน้อย)..

     *ภาพนี้ ได้เห็นว่างอกงามเองที่มุมดอกไม้ที่ระเบียงบ้านคุณพ่อใน กทม.

    *ครั้งแรกคิดจะถอนทิ้ง แต่เห็นรูปทรงดีจึงเก็บไว้ และไปค้นข้อมูลมาว่า มีสรรพคุณทางยามากมาย..

     

    โปรดคลิ๊กดูข้อมูลที่ :

    http://www.magnoliathailand.com/webboard/index.php?topic=459.0

    Large_dscn3484 

    ภาพถ่ายดอกหญ้าม่านพระอินทร์ของพี่ใหญ่ภาพนี้เป็นภาพเล่าเรื่องที่งามมากเลยครับ

    สวัสดีค่ะอาจารย์

    ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยค่ะ

    ทั้งต้นอ้อนช้างของอาจารย์ และหญ้าม่านพระอินทร์ของพี่ใหญ่

    ขอบคุณทั้งสองท่านเลยค่ะ

    ขออภัยค่ะ พิมพ์ผิด

    อ้อยช้าง เลยกลายเป็นอ้อนช้างไป

     

    อะไรที่เป็นอ้อยๆนี่ดูดีนะคะ..^__^..

    ขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยเผยแพร่ เลยนำข้อมูลจากเวทีคนหนองบัวมาเพิ่มเติมอีกชุด

    คอม : ทำด้วยไม้ที่มีลักษณะโค้ง เพื่อให้พาดคอควายหรือวัว โดยถากปลายทั้งสองด้านให้มีรอยเพื่อจะได้มัดเชือก ๒ ด้าน เชือกนี้เรียกว่าทามบ้าง,อ้อมบ้าง ที่ทำจากเปลือกข่อย, เปลือกอ้อยช้าง,ถักด้วยหวาย,ถักด้วยเชือก,ทำด้วยสายพานเครื่องสีข้าว,ทำด้วยกาบตาล.

    นี่คือข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นอ้อยช้างจากหลวงตาในวัด ที่จังหวัดพิจิตรและพิษณุโลกชาวบ้านนำเปลือกอ้อยช้างมาทำทาม หรืออ้อม(คนวังทองเรียกทามว่าอ้อม) แต่ที่หนองบัวไม่เคยทราบว่ามีชาวบ้านนำเปลือกอ้อยช้างมาทำทามเลย ส่วนเปลือกข่อยนั้นเคยเห็นอยู่บ้าง

    คอมนี้ ถ่ายจากศาลาใต้ร่มไม้ข้างกุฏิ 

                                                 

                    
                     ในภาพนี้ชาวนากำลังหัด(ฝึก)ควายไถนา
                     คอมคือไม้ที่พาดคอหรือบ่าควาย ส่วนทามหรืออ้อมคือเชือกมัดปลายคอมทั้งสองด้านที่ใต้คอ
    ที่มา...
    http://gotoknow.org/blog/lanandaman/364225?page=1

    สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ
    ดอกนี้ผมเคยเห็นบ่อยมากเลยละครับ แต่เพิ่งได้รู้จักนี่แหละครับ
    ในหน้าหนาวและตอนพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า
    ดอกนี้ก็จะมีน้ำค้างพราวและล้อแสงแดดสวยงามมากครับ
    หากได้เห็นแล้วจะเห็นว่าน่าวาดสีน้ำสักช่อหนึ่งเลยละครับ

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
    นี่เป็นภูมิปัญญาในการทำเทคโนโลยีการผลิตที่พอเพียง
    และสะท้อนคุณธรรมในความรู้จักเลือกสรรใช้ไม้อีกด้วยนะครับ

    สนใจพืชพื้นบ้าน พืชพื้นถิ่นเช่นกันค่ะ ตัวเองก็พยายามทำความรู้จักอย่างน้อยต้นไม้ที่ขึ้นในขอบเขตบ้าน มีหลายชนิดมากที่เมื่อครั้งเป็นคนเมืองก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จัก

    ได้รู้จัก ต้นอ้อยช้าง ที่นี่เป็นครั้งแรก ขอบคุณค่ะ

    ภาพดอกหญ้าม่านพระอินทร์ของพี่ใหญ่ถ่ายได้สวยมากนะคะ ปกติถ่ายภาพดอกหญ้าจะทำได้ยาก

    แปลกดีจังครับ เมื่อเช้าผมนึกถึง ดร.ยุวนุช กับสถาปนิกคู่หูและนาธรรมบ้านแพรกครับ
    นึกจินตนาการไปถึงอาณาบริเวณโดยรอบ ร่มไม้ ศาลากลางน้ำ แล้วก็พยายามนึกภาพว่า
    พื้นศาลาเป็นอย่างไร หากคนทำงานและคนสูงอายุไปนอน นอนและอยู่กับตัวเองเหมือนไปถือศีลอุโบสถ คงจะเงียบสงบดี พอบวกกับความเป็นโรงพยาบาล ก็คงจะเป็นโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพทางจิตวิญญาณ แล้วก็คิดไปเรื่อยๆ จนแม้กระทั่งว่าแล้วอยุธยาจะมียุงไหม นอนกลางคืนบนศาลาเพื่อรับลมเย็นๆได้ไหม

    จนปิดท้ายที่ว่า การจัดวางทางกายภาพ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์สังคม และการออกแบบสถาปัตยกรรมชุมชนอย่างนาธรรมบ้านแพรกนี่ จะขับเคลื่อนระบบสุขภาพและความเป็นโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ หรือให้ความหมายใหม่ในเชิงพื้นที่สังคมวัฒนธรรมสุขภาพได้ไหม คิดเหมือนนำมาเรียนรู้และใคร่ครวญหามุมมอง เพื่อนำไปใช้เป็นวิธีคิดของตัวเองน่ะครับ เหมือนกับกำลังนึกๆอยู่ก็กลับมาเจอ ดร.ยุวนุชมีน้ำใจมาเยือนเวทีคนหนองบัว เดินโผล่ขึ้นมาตรงหัวกระไดนี่แหละครับ

    เข้ามาต้นอ้อยช้าง เห็นรูปแล้ว นึกถึง ต้นมะกอก(น้ำ) หรือ มะกอกไทย Spondias mombin (ไม่ใช่ มะกอกฝรั่ง olive : Olea europaea ที่ทำน้ำมันมะกอก)

    ลองหาเรื่องราวของต้น มหาโสณกะ : google ไม่ให้เรื่องที่ใกล้คำ, ลองพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ไม่เจอคำ, ลอง พจนานุกรม บาลี ใน digital pali reader ก็ไม่ได้อะไร (อาจจะเป็นเพราะ สะกดผิด)

    ใครรู้แหล่งข้อมูล ต้นมหาโสณกะ ช่วยบอกหน่อยครับ

    ต้นอ้อยช้าง : ต้นมหาโสณกะ

    ให้เข้าไปดูข้อมูลได้ที่นี่...

    http://dhammasatta.igetweb.com/index.php?mo=5&qid=239099

    Thank you, Venerable

    I apologise for using English -- I happen to use a computer with no Thai keyboard support.

    I actual tried searching Digital Pali Reader (DPR) dictionary with 'so.na' and found 2 meanings: one refers to 'dog' (sunakha) and another to 'syonaaka' a Bodhi tree of Buddha Paduma and Buddha Naarada.

    From the url you give above. I learn that this tree has common names like 'Indian Ash tree' and 'Wodier' and is a cousin of cashew nut trees. http://www.flowersofindia.net/catalog/slides/Indian%20Ash%20Tree.html has this:

    <<

    Common name: Indian Ash Tree, Moya, Wodier • Hindi: मोहिन Mohin • Manipuri: আমন Aaman • Marathi: मोई moi, शेमट shemat, शिमटी shimati, शिंटी shinti • Tamil: ஒதி Oti • Malayalam: ഒടിയന്മരമ് Otiyan-maram • Telugu: అజశృంగి Ajasrngi • Kannada: ಗೊದ್ದ Godda, ಗುಮ್ಪಿನ gumpina, ಕುರಟಿಗ kuratige, ಉದಿಮರ Udimara • Bengali: জিওল Jiola • Oriya: Indramai, Moi • Konkani: मोई Moi • Coorgi: ಗೊದ್ದನಮರ Goddana-mara • Assamese: জিযা Jia • Gujarati: માવૅડી Mavedi • Sanskrit: Jhingini

    Botanical name: Lannea coromandelica Family: Anacardiaceae (Cashew family)

    Synonyms: Dialium coromandelicum, Lannea grandis, Odina wodier

    --------------------------------------------------------------------------------

    Indian Ash Tree is a deciduous tree, growing up to 14 m tall. Branchlets are minutely covered with starry hairs. Alternately arranged leaves are pinnate, with a single terminal leaflet (pinnae) at the end. The spine carrying the leaflets is up to 7 cm long. Leaflets are usually 5, each laterals opposite, ovate, base rounded, densely velvet-hairy when young. Flowers are unisexual, greenish, the male in compound and female in simple racemes. Sepals 4, about 1 mm long, broad ovate. Petals 4, 2 mm long, oblong, green yellow. Fruit is ovoid, compressed, in panicles, at the end of leafless branches. Flowering: January-March.

    >>

    Thank you again.

    • ผมลองใช้ชื่อ ต้นอ้อยช้าง ค้นหาดูด้วยกูเกิ้ล ก็พบว่ามีข้อมูลบันทึกไว้พอสมควรนะครับ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นข้อมูลนิดเดียวกันของต้นอ้อยช้างหน้ากุฎีท่านพระอาจารย์มหาแลหรือเปล่านะครับ
    • พอลองใช้ชื่อทางพฤษศาสตร์ Lannea coromandelica ที่คุณ sr ให้ไว้ ค้นหาดู ก็มีข้อมูลภาพและรายะเอียดให้มากพอสมควรเหมือนกัน
    • แต่รายละเอียดหลายอย่าง บางส่วนก็ต่างจากที่คุณ sr ไปค้นเจอนะครับ เช่น ช่วงเวลาออกดอก แต่ลักษณะของกิ่งใบก็ดูคล้ายๆกัน

    รู้จักต้นอ้อยช้าง เพราะบันทึกนี้ค่ะ ต้องขอบคุณที่นำมาแบ่งปัน

    ขออนุญาตบอกว่า ตัวหนังสือสีเขียวเรืองแสง(ตรงหมายเหตุ)อ่านได้ไม่ชัดเจน ค่ะอาจารย์ หรือว่าสายตาไม่ดีเองน๊า 

    สวัสดีครับคุณครูปอสองครับ
    ขอบคุณอย่างยิ่งที่กรุณาให้เสียงสะท้อนการอ่านและชมครับ
    เลยได้ปรับให้เข้มขึ้นนะครับ แต่เดิมให้สีอ่อนและน้ำหนักจางๆ
    เพื่อจะได้ไม่ทำให้เนื้อหาหลักถูกแย่งชิงความสนใจ
    ผมรับแก้ไขทันทีเลยเพราะกำลังเจอกับตัวเองเรื่องปัญหาสายตาล้าและเบลอ
    เลยรู้สึกเข้าใจความลำบากในการอ่านที่เกิดขึ้นไปด้วย ขอบคุณครับผม

    สวัสดีครับท่านผมเป็นเด็กหนองกลับครับ อยู่แถววัดเทพตอนนี้มาอยู่ระยอง

    ขณะนี้เราได้ตั้งกลุ่มพริกเกลือขึ้น และตอนนี้ก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเลื่อยๆ ถ้าท่านอยาก

    ประชาสัมพันธ์ เวบไซด์ของท่าน สามารถติดต่อมาทางเราได้ครับยินดีรับใช้ด้วย

    ความเต็มใจครับ

    เจริญพรคุณทวีป ฉ่ำน้อย

    นี่คุณทวีป เข้ามาเยี่ยมบันทึกนี้ ตั้งสองปีที่แล้วเลยเหรอ นับจากวันนี้(๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๖) ก็คงจะประมาณปี(๒๕๕๔)ละมั้ง
    ระยองนี่มีกลุ่มพริกเกลือและกลุ่มอื่นๆด้วย ทราบว่ามีกิจกรรมเพื่อส่วนรวมที่บ้านเกิดหลายครั้งแล้ว น่าอนุโมทนา
    ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมกันที่เวทีคนหนองบัวแห่งนี้ และก็เช่นกันนะที่นี่ถือเป็นแหล่งพบปะคนระยองก็ได้หรือกลุ่มอื่นๆก็ได้ มีกิจกรรมอะไร จะนำมาเผยแพร่ที่นี่ก็ได้อีกเช่นกัน

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท